[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 23 เมษายน 2557 10:33:37



หัวข้อ: การสวด "โอ้เอ้วิหารราย"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 23 เมษายน 2557 10:33:37
.

(http://www.sookjaipic.com/images/3392732942__3650_3629_3657_3648_3629_3657.jpg)

โอเอ้วิหารราย

"โอ้เอ้วิหารราย" หรือ "โอ้เอ้พิหารราย" เป็นสำนวนหมายถึงอาการยืดยาด อ้อยอิ่ง ล่าช้า เป็นสำนวนอันนำมาจากการสวดแบบหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้มีพบใน สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ ท่านว่า เค้ามูลการสวดโอ้เอ้วิหารรายนั้น มาจากเมืองนครศรีธรรมราช การที่มีเด็กสวดตามศาลารายในวัดพระแก้ว เพิ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเป็นปฐมที่โรงทานข้างประตูต้นสน ครั้นถึงเทศกาลที่ขุนทินขุนทานสวดมหาชาติคำหลวง ในโบสถ์วัดพระแก้ว จึงโปรดฯให้จัดเด็กนักเรียนที่โรงทานมาสวดโอ้เอ้วิหารรายอย่างโบราณที่ศาลาราย เลยเป็นธรรมเนียมมาจนในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ จนกระทั่งเลิกโรงเรียนที่โรงทาน มีโรงเรียนชั้นประถมของหลวง จึงจัดเด็กตามชั้นประถมที่ต่างๆ มาสวดโอ้เอ้วิหารรายแทนเด็กโรงทานโรงเรียนละศาลา


(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/04/you02220457p2.jpg&width=360&height=360)    เมื่อเปลี่ยนเป็นสวดตามศาลา มิได้สวดตามวิหารรายอย่างเดิม บางทีอาจมีผู้เรียกเพี้ยนไปเป็นอย่างอื่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงทรงมีพระบรมราชาธิบายประกาศว่า "สวดหนังสือสวดอย่างเช่นเด็กๆ สวดนั้น เรียกชื่อว่าสวดโอ้เอ้พิหารราย จะสวดที่พิหารรายก็ดี สวดที่พระระเบียงก็ดี สวดที่พิหารใหญ่ ที่ศาลา กุฎี ที่ใดๆ ก็ดี ก็คงเรียกชื่อยืนอยู่อย่างเดียวว่า โอ้เอ้พิหารราย ไม่ยักย้ายไปตามที่สวดเลย" และต่อมานำคำว่า โอ้เอ้วิหารราย มาเป็นสำนวนหมายถึงช้าอ้อยอิ่ง เพราะการสวดแบบนี้สวดช้าๆ มีเอื้อนมีสร้อยประกอบยืดยาวยิ่งเด็กๆ สวดก็ยิ่งลากเสียงยานยาว

ยังมีความรู้เรื่องนี้จากกระทรวงวัฒนธรรม ว่า "การสวดโอ้เอ้วิหารราย" มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมคือการสวดของผู้ที่กำลังฝึกหัดสวดมหาชาติคำหลวง ซึ่งยังสวดไม่คล่อง ไม่ถูกทำนอง จึงนั่งฝึกซ้อมตามวิหารเล็กที่รายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เมื่อสวดจนชำนาญแล้วจึงได้ขึ้นไปสวดในวิหารใหญ่ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงฟัง ครั้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนหนังสือขึ้นที่โรงทาน และโปรดฯ นักเรียนโรงทานนำหนังสือที่เรียนเรื่องใดก็ได้มาเป็นบทสวด ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยให้สวดตามที่เรียนมาตามถนัด เป็น ๓ ทำนอง คือ ทำนองยานี ฉบัง และสุรางคนางค์ ทำให้การฝึกสวดมหาชาติคำหลวงเดิมเปลี่ยนเป็นการสวดกาพย์พระไชยสุริยาเสียเป็นส่วนใหญ่

หลังจากโรงทานเลิกไปแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดนักเรียนชั้นประถมศึกษาจาก ๖ โรงเรียนมารับหน้าที่สวดโอ้เอ้วิหารรายแทน ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนมหาวีรานุวัตร โรงเรียนวัดชัยชนะสงคราม โรงเรียนวัดพลับพลาชัย โรงเรียนวัดอมรินทราราม และโรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส ซึ่งทั้งหกโรงเรียนก็ได้รับหน้าที่สวดมาระยะหนึ่ง ก่อนจะหาผู้สืบทอดการสวดต่อไม่ได้ และเลิกไปในที่สุด

กล่าวโดยย่อ การสวดโอ้เอ้วิหารราย ก็คือทำนองอ่านหนังสือสวดของเด็กนักเรียน ซึ่งใช้กลอนสวดเป็นแบบเรียนฝึกการอ่านในสมัยที่วัดยังทำหน้าที่เป็นสถานศึกษาอยู่ และที่มาของชื่อก็คือ การที่ผู้อ่านหรือผู้สวดต้องมาสวดตามวิหารรายรอบพระอุโบสถในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งการสวดดังกล่าวนอกจากจะช่วยฝึกการอ่านแล้ว เด็กๆ ยังได้ซึมซับคำสอนดีๆ ที่มีอยู่ในบทสวดด้วย

ทั้งนี้ ศาลาราย หรือวิหารราย เป็นศาลาโถงที่สร้างขึ้นเป็นหลังๆ เรียงแถวกัน รอบพระอุโบสถหรือวิหาร
...นสพ.ข่าวสด