[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2557 15:15:45



หัวข้อ: ขอพร พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 พฤษภาคม 2557 15:15:45
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/45761017418569_1.JPG)
พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

ขอพร พระพุทธชินสีห์
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เขตบางลำภู กรุงเทพมหานคร  


หากจะนับวัดสำคัญที่มีมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร นับเป็นวัดที่มีความสำคัญมากวัดหนึ่ง นอกจากจะเป็นที่ประทับของ "สมเด็จพระสังฆราช" หลายต่อหลายพระองค์แล้ว ยังเป็นวัดที่องค์พระมหากษัตริย์ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์มีพระราชศรัทธา นิยมอุปสมบทและบรรพชา ณ วัดนี้

วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เดิมชื่อว่า 'วัดใหม่' ตั้งอยู่ภายในพระนครติดถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ ริมกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ พื้นที่สร้างวัดนี้แต่เดิมคงเป็นที่ว่างอยู่ในอาณาเขตวังหน้า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ (นามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร

พระองค์เจ้าอรุโณทัย ได้ทรงกรมเป็น กรมหมื่นศักดิพลเสพ ใน พ.ศ. ๒๓๕๐ ทรงกำกับราชการกลาโหม   ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓ มีข่าวพม่าจะยกทัพเข้ามาตีไทย ทรงเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปตั้งที่เมืองเพชรบุรี ทำศึกร่วมกับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ซึ่งยกทัพไปตั้งที่เมืองราชบุรี และกาญจนบุรี เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๗ จึงทรงอุปราชาภิเษกกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ พระมหาอุปราช แต่เรียกกันเป็นสามัญว่าวังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาขึ้น มีความสำคัญรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป

การสถานปนาวัดเมื่อแรกเริ่มนั้น ทรงสถาปนา วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดใหม่ ขึ้นภายหลังจากการทำการศพเจ้าจอมมารดาน้อย ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้าหญิงดาราวดี พระชายา ในพื้นที่บริเวณทิศเหนือของพระนครใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาสที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสร้างตั้งแต่สมัยรัชการที่ ๒

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ทรงสร้างพระอุโบสถขึ้นก่อน ลักษณะเป็นอาคารจตุรมุข ซึ่งมีมุขหน้ายาว มุขข้างและมุขหลังสั้น แต่ได้ผูกพัทธสีมาเฉพาะมุขหน้าเท่านั้น โดยได้อัญเชิญหลวงพ่อโต จากวัดสระตะพาน วังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโลหะ ลงรักปิดทองปางมารวิชัย ศิลปะแบบอู่ทองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ ขนานนามว่า 'พระสุวรรณเขต' และทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์ จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ล่องแพมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒  อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารด้วย


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54099846217367_3_1.JPG)

การก่อสร้างวัดดบวรนิเวศวิหารยังไม่เสร็จสิ้น สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๗๕...จนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาเจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมเด็จพระอนุชาธิราช ซึ่งขณะนั้นผนวชเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ฉะนั้น จำเป็นอยู่เองที่จะต้องบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธศาสนสถานให้งามสง่า จะปล่อยให้ทรุดโทรมอยู่ไม่ได้  จึงทรงเริ่มทำนุบำรุงและสร้างอาราม โบสถ์ วิหาร เจดีย์ สืบต่อจนสำเร็จบริบูรณ์สง่างาม

วัดบวรนิเวศวิหาร สร้างขึ้นด้วยศิลปะไทยผสมจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓  ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ ๒ องค์ คือพระประธาน อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี กับ พระพุทธชินสีห์ พระพุทธรูปที่มีความสำคัญระดับประเทศและมีพุทธลักษณะงดงามอย่างยิ่ง โดยอัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก และในปีถัดมาได้ปิดทองกาไหล่ พระรัศมี ฝังพระเนตรใหม่ และตัดพระอุณาโลม พระพุทธรูปองค์นี้

จึงควรที่สาธุชนทุกหมู่เหล่าจะได้หาโอกาสไปทำบุญและถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดบวรนิเวศวิหาร อันได้แก่ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระกริ่งปวเรศฯ, เจดีย์กะไหล่ทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ, พระไพรีพินาศ  รวมถึงองค์พระพุทธชินสีห์ ที่ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และถวายสักการะ ระลึกถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

สำหรับ "พระพุทธชินสีห์" นั้น ตีความตามนามมีความหมายว่า องค์พระพุทธผู้มีความงามสง่าประดุจพระยาราชสีห์ อันสามารถชนะศัตรูหมู่มารทั้งปวงได้  องค์พระหล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทอง ประทับนั่งปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย อายุเกือบ ๑,๐๐๐ ปี ผูกพันประวัติศาสตร์ร่วมกับ พระพุทธชินราช พระศรีศาสดา และพระเสสันตปฏิมา (พระเหลือ) แห่งวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ เมืองพิษณุโลก  ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๓ และผู้สร้างวัดบวรฯ) ได้อัญเชิญมาจากพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ปัจจุบันประดิษฐานอย่างสง่างาม เบื้องหน้าพระสุวรรณเขต หรือหลวงพ่อโต ซึ่งใต้ฐานบรรจุพระสรีรังคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เคยทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหารแห่งนี้ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47952797926134_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29752288675970_2.JPG)  

ส่วนพระเจดีย์กะไหล่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถนั้น สร้างในปี พ.ศ.๒๓๗๔ โดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ  ต่อมารัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างต่อจนแล้วเสร็จ ภายในพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ องค์พระเจดีย์เป็นแบบพระราชนิยมที่เรียกว่าพระเจดีย์ทรงลังกา สูงตั้งแต่ฐานถึงสุดยอดประมาณ ๒๕ วา ตั้งบนฐานทักษิณสี่เหลี่ยม ๒ ชั้น ที่องค์เจดีย์มีซุ้มจัตุรมุข ทางเข้าภายใน ๑ ซุ้ม ที่ทักษิณ ชั้นบนมีซุ้มยอดปรางค์ ๔ ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ที่แท่นรูปสี่เหลี่ยมประดิษฐานภาพสลักพระพุทธเจ้า ปางประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักรนิพพานเหลี่ยมละปาง

มีคำจารึกพระพุทธพจน์เป็นภาษาบาลีแปลความไว้ว่า ...
- ด้านเหนือ ปางประสูติ "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก ชาตินี้มี ณ ที่สุด บัดนี้ไม่มีภพใหม่"
- ด้านตะวันออก ปางตรัสรู้  "เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์ย่อมสิ้นไป
   เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ"
- ด้านใต้ ปางปฐมเทศนา "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนสุดของประการเหล่านี้อันบรรพชิตไม่พึงเสพ ฯลฯ อนึ่ง ปัญญาอันรู้เห็นเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
   ว่าความพ้นพิเศษของเราไม่กำเริบ ไม่มีที่เสื่อมถอยคืนคลาย ชาตินี้มี ณ ที่สุดแล้ว บัดนี้ความเกิดของเราบ่มิได้มี" และ
- ด้านตะวันตก ปางนิพพาน "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้เป็นตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม
   ความฉิบหายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด"


(http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/pic/sangkharaja.jpg)
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
(เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.๙)
ภาพจาก : dhammathai.org

ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด, www.watbowon.org (http://www.watbowon.org), วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58979261294007_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/37723147248228_5.JPG)

ภาพต่อไปนี้เป็นจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/19593102402157_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35109158025847_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83759358401099_8.JPG)