[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 มิถุนายน 2557 16:20:55



หัวข้อ: ความสำคัญของผ้าไทยและการแต่งกายไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มิถุนายน 2557 16:20:55
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/01/lad01280157p1.jpg&width=360&height=360)

ผ้าไทยและการแต่งกายไทย

เพื่อสืบสานพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้คนไทยมีชุดประจำชาติไว้สวมใส่ในโอกาสต่างๆ ทั้งยังเป็นการเผยแพร่คุณค่าผ้าไทยและเอกลักษณ์การแต่งกายไทยที่ใช้ผ้าเพียงผืนเดียว สามารถนำมานุ่ง ห่ม จับ จีบ จนกลายเป็นชุดที่ประณีตงดงาม โดดเด่น และมีเสน่ห์เป็นอย่างมาก เหล่านี้เป็นสมบัติล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่ลูกหลานควรร่วมกันอนุรักษ์หวงแหนและรักษาไว้ให้คงอยู่

พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นอีกหนึ่งในพระราชดำริที่ทรงจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าทั้งในราชสำนักและท้องถิ่น ตลอดจนประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของไทย ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเล็งเห็นว่าผ้าไทยงดงามและมีเอกลักษณ์ ควรแก่การอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหาย

การศึกษาค้นคว้าการแต่งกายของไทยแบบต่างๆ ในอดีต เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสืบสานเอกลักษณ์การแต่งกายไทยและผ้าไทย ได้แก่ สไบ ผ้าแถบ ผ้าแถบปล่อยชาย โจงกระเบน ลอยชาย ตะเบ็งมาน สะพัก จีบหน้านางคลี่ชายพก จีบหน้านาง หางไหล แพรสะพาย และซิ่น โดยเชื่อว่าการนุ่งห่มจับจีบผ้านั้นยังสามารถนำมาปรับใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย และมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป  

ลอยชาย เป็นการนุ่งผ้าแบบลำลองเมื่ออยู่กับเรือนชานของผู้ชายไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยไม่สวมเสื้อ แต่จะมีผ้าพาดบ่าไว้ใช้สอยใกล้ตัว แม้จะเป็นเพียงการแต่งกายอยู่บ้าน แต่การนุ่งลอยชายยังคงความพิถีพิถัน โดยเฉพาะการจับจีบชายผ้านุ่งให้เกิดริ้วสวยงาม

ตะเบ็งมาน สะท้อนภาพสังคมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างชัดเจน ด้วยตลอดระยะสมัยรวม ๔๑๗ ปี กรุงศรีอยุธยาต้องเผชิญหน้ากับสงครามรอบด้านโดยตลอด เป็นเหตุให้ไม่ว่าชายหรือหญิงมักอาสาเข้าร่วมเป็นนักรบเพื่อปกป้องแผ่นดิน เมื่อผู้หญิงร่วมออกศึกสงครามจะต้องห่มตะเบ็งมาน โดยไขว้ผ้าพันรอบอกไปผูกไว้ที่ด้านหลัง เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกคล่องแคล่วและทะมัดทะแมงเฉกเช่นผู้ชาย

ผ้าแถบปล่อยชาย เป็นการห่มผ้าแถบแบบดั้งเดิมของผู้หญิงไทยทุกชนชั้น เหมาะสมกับสภาพอากาศเมืองร้อน และกิจวัตรประจำวันที่ต้องดูแลงานบ้านงานเรือน การห่มผ้าแถบนั้นจะใช้ผ้าผืนยาวหน้าแคบมาพันรอบอกอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องกลัดหรือเย็บ ทว่ามีความแน่นหนาและสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่วสะดวกสบาย โดยประยุกต์ให้สวยงามอ่อนช้อยมากขึ้น เป็นการห่มผ้าแถบปล่อยชาย หากเป็นหญิงสาวชาวบ้านชายผ้าแถบจะใช้ประโยชน์ในการซับหน้าซับเหงื่อขณะทำงานได้อย่างดี

ไม่เพียงแต่การสร้างสรรค์รูปแบบการนุ่ง ห่ม จับ จีบ การดูแลรักษาเครื่องนุ่งห่มเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนภูมิปัญญาอันน่ายกย่องของคนรุ่นก่อน ดังเช่นการดูแลรักษาผ้าไหมของหญิงชาววังที่จะนำผ้ามาซักด้วยน้ำมะพร้าวหนึ่งครั้งก่อนซักในน้ำสะอาด จะทำให้ผ้าไหมนุ่มเนียนสวมใส่สบายและคงทนใช้ได้นาน

รูปแบบการแต่งกายของไทยยังสามารถประยุกต์ใส่ได้ในงานสำคัญต่างๆ ในปัจจุบัน อาทิ ห่มสะพัก ที่เจ้าสาวมักใช้สวมใส่ในงานหมั้น โดยนุ่งจีบหน้านาง หรือนุ่งหางไหลเข้าชุดกัน เป็นรูปแบบการแต่งกายที่สะท้อนความประณีตบรรจงของสตรีไทยในอดีต

การห่มสะพักนั้นหมายถึงการห่มผ้าทับลงไปบนผ้าสไบอีกชั้นหนึ่ง หรือห่มผ้าทับลงไปบนเสื้อ ซึ่งผ้าชิ้นที่ไม่สัมผัสโดนผิวนี้จะเรียกว่าผ้าสะพัก ทั่วไปแล้วผู้หญิงชาววังฝ่ายในจะห่มสะพักเมื่อเข้าร่วมงานพระราชพิธีที่ต้องแต่งกายเต็มยศเท่านั้น ส่วนแขกที่เข้าร่วมงานพิธีอาจห่มแพรสะพาย คู่กับนุ่งซิ่น มีความสวยงามแบบไทย แต่ดูทันสมัย มีเอกลักษณ์

ความสำคัญของผ้าไทยและการแต่งกายไทยนั้น ผ้าเพียงผืนเดียวนำมาผ่านกรรมวิธีการทอผ้าที่ต้องอาศัยฝีมือช่างและทอด้วยความพิถีพิถัน บวกกับภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่รู้คิดหยิบจับผ้านำมานุ่งห่ม จับพับจีบ เป็นเครื่องนุ่งห่มที่ประณีตสวยงาม ปราศจากการตัดเย็บ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย
...ความสรุปจาก 'นุ่ง ห่ม จับ จีบ อวดภูมิปัญญาไทย' หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด

(http://www.sookjaipic.com/images/9201250796_SAM_5172.JPG)
ภาพจาก : อาคารพิพิธภัณฑ์ 'นิทรรศน์รัตนโกสินทร์'
ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  


หัวข้อ: Re: ความสำคัญของผ้าไทยและการแต่งกายไทย
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มิถุนายน 2557 16:38:47
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2011/05/you02230554p1.jpg&width=360&height=360)

ผ้าไทย

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๕ กล่าวถึงผ้าไทย ว่า ผ้าที่คนไทยเราใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนั้น จะค้นคิดประดิษฐ์ได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานแน่นอนเด่นชัด ทราบแต่ว่าคนไทยรู้จักนำเอาฝ้าย ปอและไหม มาทอเป็นผ้าได้นานแล้ว หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบ แสดงให้เห็นว่าบนแผ่นดินไทยมีร่องรอยการใช้ผ้าและทอผ้าได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือเมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว

ยังมีจดหมายเหตุจีนที่บันทึกเกี่ยวกับดินแดนของไทยเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ ปรากฏข้อความเกี่ยวกับผ้าอยู่ในภาพเขียน "คนไทย" ของ เซียะสุย (Hsich-Sui) จิตรกรแห่งราชสำนักจีน ใน ค.ศ. ๑๗๖๒ รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ซิง เป็นหลักฐานสำคัญถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของไทยที่มีมานานนับพันปี โดยเฉพาะเรื่องผ้า

ความว่า "สยาม ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแจ้นเฉิน ในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังเรียกประเทศนี้ว่า ซื่อถู่กวั๋ว แปลว่าประเทศที่มีดินสีแดง ต่อมาซื่อถู่กวั๋วแบ่งออกเป็นสองรัฐ รัฐหนึ่งเรียกว่าหลัวฮู่ รัฐหนึ่งเรียกว่าฉ้วน (เสียนหรือเสียมในภาษาแต้จิ๋ว) ต่อมารัฐฉ้วนถูกรัฐหลัวฮู่เข้าตีและรวมกันได้ พระเจ้าหงอู่แห่งราชวงศ์หมิงจึงทรงเรียกประเทศใหม่ว่า ฉ้วนหลัว" และ "ตำแหน่งขุนนางมี ๙ ชั้น ๔ ชั้นแรก ปกติจะสวมหมวกทองที่มียอดสูงและประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ชั้นต่ำลงมาใช้ผ้าโพกศีรษะ ซึ่งจีนเรียกว่าหลงต้วน ทำด้วยผ้าไหม กำมะหยี่ ผ้าเหล่านี้ปักอย่างสวยงามและทอด้วยเส้นทอง หรือมีผ้าสั้นที่มีลายพิเศษด้านนอก ผู้ชายมีผ้าคาดเอวทำด้วยผ้าปักไหม ผ้าคลุมชั้นนอกมี ๕ สี ส่วนผ้าชั้นในมีสีสันสวยงามและทอผสมกับเส้นทอง ผ้านุ่งยาวมากกว่าตัวผู้นุ่ง ๒-๓ ชั้น"

ผ้าไทยมี "ผ้ากรองทอง" ผ้าถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทองเป็นลวดลาย ส่วนมากนำมาทำเป็นผ้าสไบใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบและผ้าสไบอีกชั้นหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิง

"ผ้าขาวม้า" เดิมเรียกผ้ากำม้า ผ้าประจำตัวของผู้ชายใช้สารพัด เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง

"ผ้าเขียนทอง" ผ้าพิมพ์เน้นลวดลาย แล้วเขียนเส้นทองตามขอบลาย เกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๑ ใช้เฉพาะกษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น

"ผ้าตาโถง" ผ้าลายตาสี่เหลี่ยมหรือตาทะแยง เป็นผ้านุ่งของผู้ชายคล้ายผ้าโสร่ง

"ผ้าปักไทย" ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดีปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน ถ้าใช้ไหมสีทองมากก็เรียกว่าผ้าปักไหมทอง

"ผ้าปูม" หรือมัดหมี่ เป็นผ้าส่วยของหลวงมาจากเมืองเขมรที่ใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนาง เดิมไทยเรามีโรงไหมของหลวงทอผ้าสมปักปูมและสมปักเชิงกรวยพระราชทาน ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นลายสีต่างๆ มีสมปักปูมเป็นชนิดสูงสุด สมปักริ้วเป็นชนิดต่ำสุด ดังนั้น ผ้าปูมคงหมายถึงเฉพาะผ้าสมปักปูม

"ผ้าพิมพ์" ในสมัยอยุธยามีช่างเขียนลายบนผ้าอยู่แถววัดขุนพรหม และน่าจะมีสั่งทำจากอินเดียด้วย ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่า สั่งทำผ้าพิมพ์หรือผ้าลายจากอินเดียตามแบบลายไทยที่สั่งไป เรียกว่าลายอย่าง ต่อมาอินเดียทำผ้าพิมพ์เองโดยเขียนเป็นลายแปลงของอินเดียผสมลายไทย เรียกลายนอกอย่าง

"ผ้าเปลือกไม้" ทอจากใยที่ทำจากเปลือกไม้ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และเข้าใจว่าคงจะทอใช้เรื่อยมาจนสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

"ผ้ายก" คำว่ายกมาจากกระบวนการทอ เวลาทอเส้นด้ายหรือไหมที่เชิดขึ้นเรียกว่าเส้นยก ที่จมลงเรียกว่าเส้นข่ม แล้วพุ่งกระสวยไประหว่างกลาง และเมื่อเลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้นก็จะเกิดลายยกขึ้น

"ผ้าสมปัก" ผ้านุ่งพระราชทานให้ขุนนาง ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นสีและลายต่างๆ

"ผ้าสมรด" หรือสำรด ผ้าคาดทับเสื้อครุยในงานพระราชพิธีของขุนนางชั้นสูง หรือเรียกว่าผ้าแฝง ทำด้วยไหมทอง บางทีหมายถึงผ้าคาดเอวที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้น ปักปีกแมลงทับ

"ผ้าไหม" ผ้าทอด้วยเส้นไหม
... นสพ.ข่าวสด