[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2557 20:16:23



หัวข้อ: วัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชร : ต้นกำเนิด "พระซุ้มกอ" ๑ ในพระเครื่องชุดเบญจภาคี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 กรกฎาคม 2557 20:16:23
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59139688519967_1_2_.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93978518413172_4.JPG)
 
วัดพระบรมธาตุ
ต้นกำเนิด "พระซุ้มกอ" ๑ ในพระเครื่องชุดเบญจภาคีอันขึ้นชื่อลือลั่น

วัดพระบรมธาตุนครชุม เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕ หมู่ที่ ๓ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร  สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นวัดประจำจังหวัด ขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๘ ในสมัยต้นสุโขทัย

วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็น ๑ ในโบราณสถานนครชุมที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนาน มีความเจริญรุ่งเรืองมากว่า ๒๐๐ ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมล่มสลาย เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองพังพินาศ ความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชรได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า ๓๐๐ ปี จนกระทั่งถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ตามตำนานเล่าขานกันว่า เดิมทีเป็นพระธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ๓ องค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ราวปีพ.ศ. ๑๙๐๐ หรือประมาณ ๖๐๐ ปีก่อน

วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๙ องค์ พระอุโบสถหลังเก่า พระวิหารโบราณ วิหารพระนอน ศาลาเรือนไทย และศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29472599012984_1.JPG)
พระบรมธาตุนครชุม
สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อย่างศิลปะสุโขทัย แต่ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่า
เนื่องจากเศรษฐีพม่าผู้หนึ่งได้มาบูรณะเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปี มาแล้ว

พระบรมธาตุองค์นี้ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสำเภาเงินอยู่ถึง ๙ องค์
มีความเชื่อว่า ผู้ใดได้บูชาพระบรมธาตุเหมือนกับได้นบพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง
ทำให้ประชาชนจำนวนมากมายพากันมาสักการบูชาพระบรมธาตุ นครชุม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันมาฆบูชาและวันสงกรานต์

วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนจากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า...

ใน พ.ศ. ๒๓๒๙ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม มาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จ ได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์  ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร พระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ไปป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง พบเจดีย์ตามจารึก จึงปฏิสังขรณ์ขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ (ซงพอ หรือ พระยาตะก่า) พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีศรัทธาจะบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๘ ซงพอถึงแก่กรรม การปฏิสังขรณ์ชะงักไป จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๔๘ พะโป้จึงรวบรวมทุนทรัพย์ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จและยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเดือน ๖ พ.ศ. ๒๔๔๙ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพง เพียง ๓ เดือน



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/25662444863054_2_2_.JPG)
ต้นพระศรีมหาโพธิ เป็นต้นโพธิ์มหึมาขนาด ๙ คนโอบ
ชาวกำแพงเพชรเชื่อกันพระยาลิไท ทรงปลูกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐
ผู้คนแต่โบร่ำโบราณเชื่อว่า ถ้าผู้ใดกราบไหว้บูชาต้นโพธิ์เสมือนได้บูชาพระพุทธเจ้าเช่นกัน
แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้ได้จางหายไป


• เมืองนครชุม   
เมืองนครชุมปรากฏในศิลาจารึกหลัก ที่ ๓ (จารึกนครชุม) จารึกหลักนี้ ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. ๑๙๐๐ มีเนื้อหาว่าพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทรงมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และปลูกต้นโพธิ์ที่นำมาจากลังกาที่เมืองนี้ เดิมมีการอ่านตีความจารึกหลักนี้เป็นคำว่า "นครปุ"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า นครปุ ที่ว่านี้น่าจะหมายถึงกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่มีบริเวณกว้างขวางนอกเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปทิศเหนือ

แต่ในภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจสอบแล้วว่าน่าจะเคยปักอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ ฝั่งตะวันตกของเมืองกำแพงเพชรมาก่อน และมีการแก้คำอ่านเป็น นครชุม

นครชุมอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พบโบราณสถานแบบสุโขทัยจำนวนมาก อาทิ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/28778603672981_1.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35865573833386_2.jpg)
วัดซุ้มกอ ปัจจุบันเหลือเพียงซากเจดีย์เก่าองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีสภาพเป็นวัด

• เมืองต้นกำเนิดพระซุ้มกอ
ในปี พ.ศ. ๒๓๙๒ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เดินทางมากำแพงเพชรและพบซากปรักหักพังของเจดีย์ ๓ องค์ ท่านจึงให้พระยาน้อย เจ้าเมืองกำแพงเพชรบูรณะเจดีย์ทั้ง ๓ องค์

เมื่อรื้อเจดีย์ทั้ง ๓ องค์ก็พบพระพุทธรูป กรุพระเครื่องต่างๆ มากมาย อาทิ พระทุ่งเศรษฐี พระท่ามะปราง พระพลูจีบ พระเม็ดขนุน พระเปิดโลก ที่สำคัญที่สุด คือพบพระซุ้มกอ มีหลากหลายพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์ขนมเปี๊ยะ

ส่วนพระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ นครชุม กล่าวถึงเรื่องราวของกรุพระเครื่องของวัดพระบรมธาตุ ว่า ตามตำนานการสร้างพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรจากจารึกลานเงินที่พบในกรุวัดพระบรมธาตุเมืองนครชุม ค้นพบโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

มีใจความสำคัญว่า มีฤๅษี ๑๑ ตน ฤๅษีเป็นใหญ่ ๓ ตน ชื่อฤๅษีพิลาไลย ฤๅษีตาไฟ ฤๅษีตางัว คิดทำพระเครื่องถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราช จึงไปนำวัตถุมงคลมาประกอบเป็นพระเครื่องปลุกเสกเป็นพระเครื่อง

พระราชวชิรเมธีเล่าว่า จากการที่เมืองกำแพงเพชรของเรามีพระดี ทำให้วัดทุกวัดกว่าร้อยวัด ถูกขุดไม่มีชิ้นดีในช่วง ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา ราว พ.ศ. ๒๔๗๐ คนทุกสารทิศต่างมาล่าพระเครื่องเมืองกำแพงกันอย่างชุลมุน แม้จะผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครเกรงกลัว ต่างขุดกันจนทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุพินาศสิ้นแม้ในปัจจุบัน (ปี พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ยังมีการลักลอบขุดกันเนืองๆ

"มีผู้เฒ่าเล่าว่า ผู้คนที่ขุดพบจะเอาเฉพาะพระบูชา ส่วนพระว่านหน้าทองนั้น ก็จะลอกเอาเฉพาะทองไปหลอมสิ้น เพื่อทำลายหลักฐาน ทิ้งองค์พระไว้ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ปล่อยให้สลายไปตามธรรมชาติ ผู้ขุดพบพระว่านหน้าทอง เล่าว่าจะพบไม่มาก ในกรุๆ หนึ่ง พบทั้งพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระท่ามะปราง พระเปิดโลก พระพลูจีบ"

 
(http://www.bloggang.com/data/zumpolkontrang/picture/1212765941.jpg)
พระซุ้มกอ (พิมพ์มีกนก ) เมืองกำแพงเพชร
ภาพจาก : เว็บไซต์ bloggang.com

พระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีลายกระหนกเป็นพระที่รับศิลปะแบบลังกา มีประภามณฑล และมีซุ้มที่เราเรียกว่าซุ้มกระหนก

นายวิศาล เตชะวิภาค หรือเซียน ต้อย เมืองนนท์ อธิบายหลักของการพิจารณา ไว้ดังนี้
 ๑. ขอบซุ้มด้านขวาหนากว่าด้านซ้าย
 ๒. ขอบบนปลิ้นออกมาและอูม
 ๓. ประภามณฑลหรือส่วนโค้งๆ รอบเกศมีลักษณะเหมือนลิ่ม หรือหมอนขวาน คือฐานใหญ่บนเล็ก มีความคม
 ๔. ประภามณฑลด้านขวาไม่จรดไหล่ แต่ด้านซ้ายจรดที่ไหล่
 ๕. ปลายเกศคล้ายดอกบัว มีรอยหลักบุ๋มลงไป ไม่เป็นแท่ง
 ๖. มีเส้นที่หน้าผาก มีกำไลคอทุกองค์
 ๗. หูด้านขวาติดลึกกว่าหูด้านซ้าย
 ๘. หน้าอกกว้างใหญ่ ในซอกแขนจะลึกมาก ลึกแบบเหว
 ๙. นั่งสมาธิมือขวาทับมือซ้าย มือประสานคล้ายก้ามปู
๑๐. ในซอกแขนด้านขวา ชายผ้าสังเกตเห็นชัดเจน แต่ชายผ้าที่ซ้อนเข้าไปใต้รักแร้อยู่ต่ำกว่าราวนม
๑๑. ในซอกแขนรักแร้ด้านซ้ายสังเกตเห็นก้อนเล็กๆ ติดอยู่ด้านใน
๑๒. ชายผ้าสังฆาฏิพาดเลยบ่า
๑๓. อกใหญ่ เอวคอด เอว ๒ ข้างมีรอยครูดเป็นเหลี่ยมขึ้นมา ไม่มน
๑๔. เข่าสองข้างนูนโหนก บางองค์เลยกรอบออกไป
๑๕. ปลายเท้าด้านบนมีรอยเว้าระหว่างนิ้วเท้า ไม่เป็นแท่ง ส่วนนิ้วเท้าจะกระดกงอขึ้นมา
๑๖. บัวด้านล่างเห็นชัดอยู่ ๕ กลีบ แต่จริงๆ มี ๗ กลีบ
๑๗. ซุ้มเถาวัลย์ยอดบนลึกที่สุด เห็นก้านซุ้มชัดเจน
๑๘. ตัวซุ้มกระหนกด้านขวา มีลักษณะเหมือนตัวอักษรอังกฤษและตัวเลข C ๖ G ซุ้มด้านซ้ายลักษณะจะคล้ายหัวพญานาค
๑๙. ซุ้มด้านซ้ายปลายเถาวัลย์เหนือไหล่แตกออก ๒ แฉก
๒๐. การตัดกรอบ หลังจะเล็กกว่าด้านหน้า
๒๑. พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่เป็นพระที่แก่เกสรและว่านจนมองเห็นว่านดอกมะขามสีแสดๆ ส้มๆ ได้อย่างชัดเจน
๒๒. จุดสำคัญของพระซุ้มกอทุกองค์จะมีว่านดอกมะขามและรารักที่เป็นจุดดำๆ ตามซอกที่เกิดโดยธรรมชาติ เกิดจากเนื้อ และเกิดจากความเก่าที่อยู่ในกรุ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63804203809963_2.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52826523449685_3.JPG)
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนนครชุม
เป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง มี ๒ ชั้น ๓ หลังเชื่อมติดต่อกัน
ชั้นบนเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ

• ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน วัดพระบรมธาตุ
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม เกิดจากดำริของท่านเจ้าคุณพระศรีวชิราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร (มหานิกาย) ที่ได้เล็งเห็นว่าการอนุรักษ์และรวบรวมโบราณวัตถุและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไว้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งของอนุชนรุ่นหลัง ท่านจึงได้รวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบภายในวัดและที่พุทธศาสนิกชนนำมาบริจาคให้ทางวัด จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น นอกจากนี้ยังรับบริจาคเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของชาวนครชุมในอดีตจากพุทธศาสนิกชน ทำให้มีผู้นำสิ่งของมาบริจาคเป็นจำนวนมากด้วย

โบราณวัตถุต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงไว้ อาทิเช่น ขวานหินขัดและภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เครื่องสังคโลก เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องเขิน ภาชนะทองเหลือง พระกรุเมืองกำแพงเพชร-นครชุม ฉัตรพระบรมธาตุสมัยรัชกาลที่ ๕ พัดรองที่ระลึก เงินโบราณ ตราชั่งโบราณ ตราสัญลักษณ์และอุปกรณ์ไปรษณีย์โทรเลข เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของชาวนครชุมในอดีต รวมถึงการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณนครชุมและการเสด็จประพาสต้นของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕

ชั้นล่างถูกแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกเป็นห้องโถงใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและจัดกิจกรรมต่างๆ ส่วนที่สอง เป็นห้องที่ใช้สำหรับการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับเมืองโบราณนครชุม วัดพระบรมธาตุและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน สำหรับผู้มาเยือนที่มาเป็นหมู่คณะและต้องการฟังบรรยายข้อมูล ในบางครั้งก็ใช้เป็นที่ประชุมของพระสังฆาธิการในจังหวัดกำแพงเพชรด้วย ส่วนสาม อยู่ด้านหลังเป็นห้องน้ำที่มีอยู่กว่าสิบห้อง ไว้สำหรับบริการผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

ศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมเปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26458191499113_4.JPG)
อาคารทาสีขาว คือกุฏิพระสงฆ์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/41664826621611_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97754837034477_5.JPG)
อาคารไม้หลังนี้ คือ หอฉัน (ที่รวมพระภิกษุฉันภัตตาหารเช้า และ เพล)
กุฏิสงฆ์ และหอฉัน เป็นศาสนสถานเก่าแก่นับร้อยปี
วัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชร ได้บูรณะพื่อสืบสานภูมิปัญญาบรรพชนในอดีต
ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้
โดยได้ทำการปรับปรุงซ่อมแซม และเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ๆ เหมาะสม
(ห่างจากที่เดิมไม่กี่สิบเมตร)
ภาพถ่ายเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗


สำหรับการเดินทางมายังวัดพระบรมธาตุนครชุม
- การเดินทางโดยรถยนต์ ให้ใช้ถนนสายเอเชียมุ่งตรงเข้าสู่ตัวเมืองกำแพงเพชร เลี้ยวขวาตรงแยกไปบ้านท่าขุนราม ตรงไปตำบลนครชุม ก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำปิง ทางเข้าวัดอยู่ทางซ้ายมือ
- การเดินทางโดยรถประจำทาง มีรถโดยสารประจำทางทั้งธรรมดาและปรับอากาศเส้นทางสายเหนือ ออกจากขนส่งกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองกำแพงเพชรทุกวัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-5561-6228-9, 0-5561-6366 โทรสาร 0-5561-6230



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81685833012064_3.JPG)