[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ => ข้อความที่เริ่มโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:25:01



หัวข้อ: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:25:01

ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ
กระทู้ 15044 โดย: mayrin 13 พ.ค. 48.



ตอน ๑

กรรมโดยหลักการ

ความหมายและประเภทของกรรม
ก่อนจะพูดเรื่องกรรมนั้น เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า กรรมมีความหมายอย่างไร
แม้แต่เรื่องความหมายของคำก็เป็นปัญหาเสียแล้ว

ก. ความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน

ลองไปถามชาวบ้านดูว่า "กรรม" แปลว่า อะไร เอาคำพูดในภาษาไทยก่อน
บางทีเราพูดว่า "แล้วแต่บุญแต่กรรม" กรรมในที่นี้หมายถึงอะไร

กรรมในที่นี้มาคู่กับบุญ พอกรรมมาคู่กับบุญ เราก็แปลบุญเป็นฝ่ายดี
บุญอาจเป็นการกระทำที่ดีหรือผลดีที่จะได้รับ ส่วนกรรมก็กลายเป็น
การกระทำชั่วหรือผลชั่วที่ไม่น่าพอใจ

นี่คือความหมายหนึ่งที่ชาวบ้านเข้าใจ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากพอได้ยินคำว่า
กรรมแล้วไม่ชอบ เพราะมีความรู้สึกในทางไม่ดี มองกรรมว่าเป็นเรื่องร้าย

จากตัวอย่างนี้ คำว่า กรรมและบุญ จึงเป็นเครื่องชี้ชัดอย่างหนึ่งว่า คนเข้าใจ
ความหมายของกรรมในทางไม่ดี เอาบุญเป็นฝ่ายข้างดี
แล้วเอากรรมเป็นฝ่ายตรงข้าม


หัวข้อ: Re: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:26:44

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนผู้หนึ่งไปประสบเคราะห์ร้าย บางคนก็บอกว่า
"เป็นกรรมของเขา" คนนั่งเรือไปในทะเล เรือแตก จมน้ำตาย หรือถูก
พายุพัดมาแล้วเรือล่มตายไป อุบัติเหตุอย่างนี้ บางคนบอกว่าเป็นกรรมของเขา

คำว่า กรรมในที่นี้เรามองในแง่เป็นผลร้ายที่เขาได้รับ เป็นเคราะห์
หรือเป็นผลไม่ดีที่สืบมาแต่ปางก่อน

นี่ก็แสดงว่า เรามองคำว่ากรรมในแง่อดีต หรือมองในแง่ว่าเป็นเรื่อง
ผ่านมาแล้วมาแสดงผล และเป็นเรื่องที่ไม่ดี ได้ ๒ แง่ คือ
๑ เป็นเรื่องข้างไม่ดี ๒ เพ่งเน้นในทางอดีต

ในเวลาเดียวกันก็มองไปในแง่เป็นผลด้วย อย่างที่พูดว่า
"จงก้มหน้ารับกรรมไปเถิด" ที่ว่ารับกรรม ก็คือรับผลของกรรม

นายคนหนึ่งไปลักของเขามา ถูกจับได้ขังคุก คนอื่นก็มาปลอบใจว่า
เอ็งก้มหน้ารับกรรมไปเถิดนะ เราทำมาไม่ดี กรรมในที่นี้กลายเป็นผล
คือเป็นผลของกรรมนั่นเอง

นี้คือความหมายของกรรมที่เราใช้กันในภาษาไทย


หัวข้อ: Re: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:28:42

ในฐานะที่เป็นผู้เล่าเรียนศึกษาแล้ว ลองวินิจฉัยดูว่า ความหมายเหล่านี้
ถูกหรือไม่ ความหมายที่เน้นไปในทางไม่ดี เป็นเรื่องไม่ดีคู่กับบุญ
เป็นเรื่องที่เน้นอดีต และมองไปที่ผลอย่างนี้ ถูกหรือไม่

เมื่อพิจารณาตรวจดู เราก็จะมองเห็นได้ชัดว่า ถ้าเอาหลักธรรมแท้ๆ
มาวินิจฉัยแล้ว ความหมายเหล่านี้คลาดเคลื่อนได้เพียงแง่เดียว
ข้างเดียว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหมายที่แท้จริง

เพราะว่า "กรรม" นั้นแปลว่า การกระทำ เป็นกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้
บุญก็เป็นกรรม บาปก็เป็นกรรม หมายความว่าบุญคู่กับบาป แต่คนไทย
มีบ่อยๆ ที่เอาบุญมาคู่กับกรรม เอากรรมเป็นข้างร้าย

ส่วนที่ว่า ก้มหน้ารับกรรมไป ก็เป็นการมองที่ผล แต่ที่จริงนั้นกรรมเป็น
ตัวการกระทำ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไป ส่วนผลของกรรม ท่านเรียกว่า วิบาก
หรือจะเรียกว่าผลเฉยๆ ก็ได้ ตัวกรรมเองแท้ๆ นั้นไม่ใช่ผล

ในเมื่อ "กรรม" ในภาษาที่เราใช้กันนี้ มีความหมายคลาดเคลื่อน
ไม่ตรงกับหลักที่แท้จริง ก็เป็นเครื่องแสดงว่า ได้มีความเข้าใจ
ไขว้เขวในเรื่องกรรมเกิดขึ้น

เพราะภาษาเป็นเครื่องแสดงว่า คนมีความเข้าใจอย่างไร เพราะฉะนั้น
ในขั้นต้นนี้เราจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า กรรมคือะไร

ถ้าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากรรมเป็นเรื่องการกระทำที่ชั่ว
เราก็ต้องแก้ไขความเข้าใจให้เห็นว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ จะดีก็ได้ จะชั่วก็ได้

ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เรียกว่าบุญ หรือบุญกรรม ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็เรียกว่า บาป
หรือบาปกรรม หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า กุศลกรรม และอกุศลกรรม

จะต้องชี้แจ้งให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง นี้เป็นเรื่องพื้นฐานขั้นต้นๆ ซึ่งได้เห็นชัดๆ
ว่าแม้แต่ความหมายเราก็ไข้วเขวกันแล้ว


หัวข้อ: Re: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:30:34

ข. ความหมายที่ถูกต้องตามหลัก

เมื่อเรารู้ความเข้าใจของชาวบ้านไขว้เขวไป เราก็ต้องชักจูงเขาเข้ามาหา
ความเข้าใจที่แท้จริง คำถามข้อแรกก็คือความหายตามหลักว่าอย่างไร

ผมจะลองยกข้อความในพระสูตรหนึ่ง ชื่อว่า วาเสฏฐสูตร มาพูดสักนิดหนึ่ง
ในพระสูตรนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลเป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นโจรก็
เพราะกรรม เป็นพราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นกษัตริย์ก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิต
ก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นโน่นเป็นนี่ก็เพราะกรรม

จากข้อความที่ได้ฟังกันแค่นี้ ก็ขอให้มาสำรวจดูกันว่าใครเข้าใจคำว่ากรรม
ในความหมายว่าอย่างไร ถ้าบอกชาวบ้านว่า ที่เป็นชาวนานี่ก็เพราะกรรม

เขาก็คงคิดว่าหมายถึงชาติก่อนได้ทำกรรมอะไรบางอย่างไว้ จึงทำให้ชาตินี้
ต้องมาเกิดป็นชาวนา หรือถ้าบอกว่าเป็นกษัตริย์เพราะกรรม เขาก็คงจะเข้าใจไปว่า
คนนี้คงจะได้ทำอะไรดีไว้ อาจจะให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น ชาตินี้จึงมาเกิดเป็นกษัตริย์

แต่ลองไปดูในพระสูตรสิว่า ท่านหมายถึงอะไร ในพระสูตร คำว่าเป็นชาวนา
เพราะกรรม เป็นต้นนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองเลยว่า นายคนนี้ เขาดำนา
หว่านข้าว ไถนา เขาก็เป็นชาวนา การที่เขาทำนานั่นเอง ก็ทำให้เขาเป็นชาวนา
คือเป็นไปตามการกระทำ อันได้แก่อาชีพการงานของเขา

อีกคนหนึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดิน เขาก็เป็นปุโรหิตตามอาชีพ
การงานของเขา ส่วนนายคนนี้ไปลักของเขา ไปปล้นเขาก็กลายเป็นโจร

ตกลงว่า กรรมในที่นี้หมายถึง การกระทำ ที่เป็นอาชีพการงานทั้งหลาย
เป็นขั้นของการกระทำประจำตัวที่มองเห็นเด่นชัดง่ายๆ หยาบๆ ปรากฏออกมาภายนอก
 


หัวข้อ: Re: ความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา
เริ่มหัวข้อโดย: ไอย ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 16:32:03

นี่คือความหมายของกรรมที่น่าพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าท่านมุ่งเอาสิ่ง
ซึ่งมองเห็นปัจจุบันนี่แหละเป็นหลักก่อน เพราะการกระทำนี้เป็นคำกลางๆ
ไม่ได้พูดว่าเมื่อไร พอพูดขึ้นมาว่ากรรม ก็ต้องมองที่ปัจจุบันเป็นจุดเริ่มก่อน
แต่ถ้าพูดจำกัดลงไปว่าการกระทำเมื่อไรก็เมื่อนั้นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอดีต
ปัจจุบัน หรือนาคตก็ตาม การกระทำนั้นๆ ก็เป็นกรรมทั้งนั้น

แต่เมื่อจะดูความหมายที่ลึกเข้าไป ก็ต้องมองให้ถึงจิตใจ เมื่อมองลึกเข้าไปถึง
จิตใจ เราก็คงจะจำได้ถึงพุทธพจน์ ที่ให้คำจำกัดความบอกความหมายของกรรมว่า
เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ "ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม"
ตกลงว่า เจตนาคือตัวความคิดจงใจ เจตจำนง

ความตั้งจิตคิดมุ่งหมายนี่แหละเป็นกรรม เมื่อบุคคลจงใจ มีเจตนาอย่างใดแล้ว
ก็แสดงออกมาเป็นการกระทำทางกายบ้าง แสดงออกมาทางวาจาเป็นการพูดบ้าง
นี้ก็คือ ความหมายที่แท้จริงของกรรมที่ค่อยๆ มองละเอียดเข้ามา

เมื่อมองหยาบๆ ข้างนอก กรรม ก็คืออาชีพ การทำงาน การดำเนินชีวิตของเขา
แต่มองลึกเข้าไปถึงจิตใจ กรรม ก็คือตัวเจตนา