[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 26 กรกฎาคม 2557 16:07:20



หัวข้อ: จากแพลงก์ตอนถึงปลาค้อดและวาฬ อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์คือสายน้ำที่โอบอุ้มสรรพชีวิต
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 26 กรกฎาคม 2557 16:07:20
.

จากแพลงก์ตอนถึงปลาค้อดและวาฬ
อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์คือสายน้ำที่โอบอุ้มสรรพชีวิตโดยแท้


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-866.jpg)
ลูกแมวน้ำลายพิณที่เกิดบนน้ำแข็งเมียงมองโลกใต้น้ำใกล้หมู่เกาะแมกดาเลนในรัฐควิเบกของแคนาดา

เซนต์ลอว์เรนซ์คืออ่าวที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างจากขุนเขาและสายน้ำน้อยใหญ่ที่มีต้นกำเนิดอยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ทั้งตะกอน น้ำชะล้างจากผืนแผ่นดิน และใบไม้ใบหญ้า ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ก่อให้เกิดชุมชนอันคลาคล่ำไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ส่องประกายและล่องลอยไปกับกระแสน้ำอันรุ่มรวยและหลากหลายไม่แพ้น่านน้ำใดในโลก

หากพิจารณาในเชิงธรณีวิทยาแล้ว อ่าวแห่งนี้ถือเป็น “น้องใหม่” ในโลก ย้อนหลังไปเมื่อ 19,000 ปีก่อน อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ทั้งหมดอยู่ใต้น้ำแข็งหนาเกือบสองกิโลเมตร ต่อมาเมื่อแผ่นดินยกตัวและน้ำแข็งละลาย อ่าวก็หลากล้นไปด้วยสายน้ำและชีวิต ปลาน้ำจืดอพยพลงมาตามแม่น้ำเซนต์ลอว์เรนซ์ ส่วนปลาน้ำเค็ม เม่นทะเล ดาวทะเล แพลงก์ตอน และวาฬก็แห่กันมาจากมหาสมุทรแอตแลนติก

เกาะเคปเบรตันแยกชายขอบทางใต้สุดของอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์จากทะเล ผืนน้ำทางตะวันออกของเกาะนั้นเย็นเยือกและปั่นป่วน ส่วนทางตะวันตก ท้องน้ำอุ่นกว่าและสงบกว่า พวกเก็บของป่าล่าสัตว์กลุ่มแรกๆ บนเกาะเคปเบรตัน คือบรรพบุรุษของชาวมิกมอ (Mi‘kmaq) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคแมริไทม์ของแคนาดา (ประกอบด้วยสามรัฐทางตะวันออก ได้แก่ นิวบรันสวิก โนวาสโกเชีย และพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์) พวกเขามาถึงอ่าวแห่งนี้อย่างน้อยราว 9,000 ปีก่อน แล้วแยกย้ายไปทั่วอาณาบริเวณที่ปัจจุบันคือรัฐโนวาสโกเชียและ นิวฟันด์แลนด์ พวกเขาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันอุดมตามความพอใจและความจำเป็นของชีวิต

ชาวประมงจากฝรั่งเศส แคว้นบาสก์ และโปรตุเกส เริ่มเข้ามาค้าขายกับคนท้องถิ่นตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก ผู้มาทีหลังพากันตั้งหลักแหล่งรอบๆ ชุมชนคนพื้นเมือง เพราะพวกเขาก็ต้องพึ่งพาสิ่งมีชีวิตในอ่าวและใช้ชีวิตตามวัฏจักรที่ผันแปรของผืนน้ำแห่งนี้เช่นกัน เมื่อประชากรปลาค้อดเพิ่มขึ้น จำนวนเรือประมงก็เพิ่มตาม ครั้นวอลรัสทวีจำนวนขึ้นเหล่านักล่าก็มากขึ้นตาม

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-867.jpg)
ปลานกขุนทองคันเนอร์มุ่งตรงไปยังกอสาหร่ายเคลป์ที่แสงแดดสาดส่อง เพื่อล่าทุกอย่างตั้งแต่กุ้งตัวเล็กๆ
ไปจนถึงแมงกะพรุนในน่านน้ำอันอุดมไปด้วยสารอาหารของอ่าวบอน นอกชายฝั่งตะวันตกของนิวฟันด์แลนด์

สำหรับชาวยุโรปผู้คุ้นเคยกับการจับปลาเกินขนาดในน่านน้ำแถบบ้านเกิด สรรพชีวิตในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ดูช่างอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก แต่การค้นพบนี้ก็ก่อเกิดคลื่นแห่งการแสวงประโยชน์ที่ถาโถมเข้ามา นั่นคือการเปิดฉากตักตวงทรัพยากรในระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกในดินแดนโลกใหม่ เริ่มจากปลานับพันๆ ตัวถูกจับ เพิ่มเป็นหลายหมื่น และไม่ช้าก็กลายเป็นหลักล้าน พอถึงศตวรรษที่สิบเจ็ด ปลาค้อด วาฬ และสัตว์ทะเลอื่นๆ ตันแล้วตันเล่าถูกจับขึ้นมาจากอ่าวแล้วส่งไปยังทวีปยุโรป ภายใต้แรงกดดันเช่นนี้ ประชากรสัตว์น้ำจึงเริ่มแพ้พ่าย สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีวันหมดสิ้นย่อมมีวันสิ้นสุดจนได้

ชนิดพันธุ์ต่างๆ ในอ่าวได้รับผลกระทบจากการทำประมงของชาวยุโรป (ตามมาด้วยชาวอเมริกาเหนือในเวลาต่อมา) มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดที่ถูกจับและจังหวะชีวิตของชนิดพันธุ์นั้นๆ วาฬ วอลรัส และปลาสเตอร์เจียน ล้วนเติบโตช้า นานๆ ครั้งจึงจับคู่ผสมพันธุ์ และตายตอนอายุมาก พวกมันจึงได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก เมื่อไม่นานมานี้ ประชากรวาฬบางชนิดเริ่มฟื้นตัว แต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ วอลรัสยังคงหายหน้าไปจากอ่าว เว้นแต่พวกที่พลัดหลงมาจากน่านน้ำแถบมหาสมุทรอาร์กติก ส่วนปลาสเตอร์เจียนยังคงพอหยัดยืนอยู่ได้ ดังเช่นที่พวกมันเคยทำมาตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมา

ปลาหลายชนิดโตเต็มวัยเร็วกว่า ออกลูกออกหลานบ่อยกว่า และประชากรฟื้นตัวเร็วกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดใหญ่ แต่กระทั่งพวกมันก็อยู่ในสถานการณ์เปราะบางล่อแหลมเช่นกัน แม้ชนิดพันธุ์เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ก็จริง แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะเลี้ยงปากท้องผู้คนมากมายที่พึ่งพาอาศัยพวกมัน ทุกวันนี้ ปลาค้อดเริ่มหายาก และในบางพื้นที่ก็ถึงกับใกล้สูญพันธุ์

ตลอดหลายพันปีที่ผ่านมาอ่าวแห่งนี้เป็นสถานที่ให้เราตักตวงทรัพยากร แต่ปัจจุบันสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ผู้คนที่พึ่งพาผืนน้ำอันอุดมหามีเพียงชายหญิงในเรือประมง หากยังรวมถึงผู้บริหารของบริษัทปิโตรเลียม

แผนการขุดเจาะบ่อน้ำมันแห่งแรกในอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในบริเวณที่เรียกว่า โอลด์แฮร์รี นักสิ่งแวดล้อมมองน้ำมันเป็นโศกนาฏกรรมที่ต่างไปจากเรื่องเศร้าเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับอ่าวแห่งนี้ บางทีอาจเป็นเช่นนั้น  คุณอาจเห็นว่ามันเป็นแค่อีกทางเลือกหนึ่งในการตักตวงผลประโยชน์ของเรา เราจับปลาค้อดมาเป็นอาหารและทำน้ำมัน เติมตะเกียงเพื่อให้แสงสว่าง เราจับวาฬด้วยเหตุผลเดียวกัน ถ้าเราสูบน้ำมันขึ้นมาจากแหล่งโอลด์แฮร์รี มันจะหมดไปเร็ว กว่าวาฬหรือปลาค้อดเสียอีก แต่สุดท้ายมันจะเป็นเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันของเรา ช่วยขับเคลื่อนการเดินทางและการค้าขาย ไม่ต่างจากปลาค้อดหรือวาฬ

ข่าวดีคือตอนนี้เรามีโอกาสเลือกได้ ขณะที่อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ยังอุดมไปด้วยส่ำสัตว์และสรรพชีวิตอีกนับล้านๆ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยความหวังและความฝันนานา


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-868.jpg)
ปลาหมาป่าแอตแลนติกซึ่งได้ชื่อนี้เพราะเขี้ยวอันแหลมคม กำลังอิงแอบกันอยู่ในรังที่อ่าวบอน
ปลาเพศเมียจะจากไป หลังวางไข่ ปล่อยให้เพศผู้เฝ้าฟูมฟักดูแลต่อไป

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-869.jpg)
จอห์น เทย์เลอร์ คนที่สองจากขวา และลูกเรือช่วยกันลากอวนซึ่งเต็มไปด้วยปลาเฮร์ริง
ขึ้นมาจากช่องแคบเบลล์ไอล์ “ผมคงเป็นรุ่นสุดท้ายแล้วละครับ” เทย์เลอร์บอกอย่างนั้น
ลูกๆ ของเขาพากันหันหลังให้วิถีชีวิตยากลำบากของชาวประมง

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-870.jpg)
ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุดของวาฬเบลูกา ไม่ใช่การต่อสู้กับเพศผู้ด้วยกัน
ซึ่งทิ้งรอยฟันไว้บนผิวหนังของเจ้าวาฬวัยเยาว์ตัวนี้ แต่เป็นสารปนเปื้อนจากอุตสาหกรรม
และการถูกเรือชนในถิ่นอาศัยของมัน

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-871.jpg)
แมงกะพรุนแผงคอสิงโต ซึ่งลอยละล่องอยู่ในอ่าวบอน
อาจเติบใหญ่จนมีลำตัวกว้างถึง 2.5 เมตร

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-872.jpg)
แซลมอนแอตแลนติกตัวเต็มวัยว่ายทวนน้ำขึ้นไปตามแม่น้ำดาร์ตมัธเพื่อไปยังแหล่งวางไข่
บนคาบสมุทรกาสเปในรัฐควิเบก แม่น้ำที่ใสสะอาดของคาบสมุทรแห่งนี้มีชื่อเสียง
ในเรื่องการเป็นแหล่งตกปลาแบบฟลายฟิชชิ่งในฤดูร้อน การทำประมงเชิงพาณิชย์
ของปลาแซลมอนแอตแลนติกที่อพยพผ่านอ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์สิ้นสุดลงในแคนาดาตั้งแต่ปี 2000

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-873.jpg)
ในน่านน้ำนอกชายฝั่งคาบสมุทรกาสเป แมวน้ำสีเทาผู้อยากรู้อยากเห็น
อ้าปากกว้างราวกับจะทักทาย เจนนิเฟอร์ เฮย์ส ช่างภาพ ชาวประมงและนักวิทยาศาสตร์บางคน
กล่าวโทษแมวน้ำที่หิวโหยเหล่านี้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การฟื้นตัวของประชากรปลาค้อดเป็นไปอย่างล่าช้า

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-874.jpg)
ศิลาอายุนับพันล้านปีจากมหายุคพรีแคมเบรียนก่อตัวขึ้นเป็นกำแพง
และปรากฏให้เห็นรางๆ ที่ก้นสระเวสเทิร์นบรุก ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำใสราวกระจก
ในอุทยานแห่งชาติโกรมอร์น

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-875.jpg)
ฝูงห่านหิมะบินปกคลุมท้องฟ้าเหนือแม่น้ำเซนต์แฟรนซิสในรัฐควิเบก
พวกมันอพยพมาจากมหาสมุทรอาร์กติกในฤดูใบไม้ร่วง และหยุดพักที่นี่ระหว่างทาง
ไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อหาอาหารและพักผ่อน

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-876.jpg)
 ปลาสิงโตหนามสั้นซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเกล็ดปลาใต้ท่าเทียบเรือ
บล็อง-ซาบลงในรัฐควิเบก เจ้าปลาจอมตะกละชนิดนี้ไม่เป็นที่ต้องการของชาวประมง
เพราะแทบไม่มีราคาค่างวดเนื่องจากคนไม่บริโภค

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-877.jpg)
ลูกแมวน้ำลายพิณซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนแพน้ำแข็งเริ่มผลัดขนสีขาว
หลังลืมตาดูโลกได้สองสัปดาห์ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่แม่ของมันจากไป
เจนนิเฟอร์ เฮย์ส ช่างภาพ ถ่ายทอดสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกแมวน้ำ
ซึ่งเป็นพฤติกรรมใต้น้ำที่แทบไม่เคยได้รับการบันทึกมาก่อน

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-878.jpg)
แม่แมวน้ำลายพิณ คะยั้นคะยอลูกน้อยขนสีขาวปุกปุยให้ลงจากน้ำแข็ง
มาหัดว่ายน้ำใกล้ๆ กับเกาะพรินซ์เอดเวิร์ดไอแลนด์ เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นและน้ำแข็ง
ซึ่งปกคลุมอ่าวละลายอย่างรวดเร็ว ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่แม่คอยประคบประหงม
ไม่อาจรับรองได้ว่าลูกที่เพิ่งเกิดใหม่จะรอดชีวิต

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-879.jpg)
เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นและน้ำแข็งซึ่งปกคลุมอ่าวละลายอย่างรวดเร็ว
ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่แม่คอยประคบประหงมไม่อาจรับรองได้ว่า
ลูกที่เพิ่งเกิดใหม่จะรอดชีวิต

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-880.jpg)
เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นและน้ำแข็งซึ่งปกคลุมอ่าวละลายอย่างรวดเร็ว
ช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่แม่คอยประคบประหงมไม่อาจรับรองได้ว่าลูกที่เพิ่งเกิดใหม่จะรอดชีวิต

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-91-IMG-881.jpg)
แมวน้ำลายพิณผู้โดดเดี่ยวเกาะแผ่นน้ำแข็งบางๆ ใกล้หมู่เกาะแมกดาเลน
ลูกแมวน้ำใช้ชีวิตช่วงเดือนแรกอยู่บนแพน้ำแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลที่จัดว่า
สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ขณะที่น้ำแข็งในอ่าวหดเล็กลงเรื่อยๆ จากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น

(http://www.ngthai.com/Images/Magazine/1405/Gulf01.jpg)


ขอขอบคุณ เว็บ.ngthai.com