[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 29 กรกฎาคม 2557 12:41:20



หัวข้อ: ถ้ำผานางคอย มหัศจรรย์หินย้อยแพร่
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 29 กรกฎาคม 2557 12:41:20
.

(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/07/bud02290757p1.jpg&width=360&height=360)
ถ้ำผานางคอย
มหัศจรรย์หินย้อยแพร่
ข้อมูลและภาพ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ฉบับวันอังคารที่ี ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗

สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สักการบูชาชาวภาคเหนือนั้น มีอยู่หลากหลายแห่งด้วยกัน ทั้งวัดวาอาราม ตลอดจนถ้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างเช่น ถ้ำผานางคอย อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ขึ้นชื่อว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และมากด้วยอาถรรพ์

สมัยก่อนไม่มีใครเยื้องกรายเข้ามาใกล้บริเวณถ้ำผานางคอยเลย

อาถรรพ์ที่ว่านั้น มีตำนานความเป็นมาว่า เมื่อประมาณ ๘๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ท้าวแสนหวีมีธิดาพระนามว่า "พระนางอรัญญาณี" ซึ่งพบรักกับ "คะนองเดช" ผู้เป็นหัวหน้าฝีพาย จนพระนางทรงตั้งครรภ์ได้ ๓ เดือน

หากแต่ความรักของพระนางนั้นถือเป็น การกระทำผิดราชประเพณี ความนี้ทราบถึงท้าวแสนหวี พระนางจึงต้องถูกลงทัณฑ์

ระหว่างนั้นคะนองเดชช่วยเหลือพระนางให้พ้นจากทัณฑ์และหนีไป ด้วยอาศัยม้าขาวเป็นพาหนะ ด้านพระบิดาให้ทหารติดตามไปในช่องเขาแห่งหนึ่ง ทหารได้ใช้ธนูยิงหมายเอาชีวิตคะนองเดช แต่พลาดเป้า เพราะศรธนูได้ปักลงกลางพระอุระของพระนาง คะนองเดชจึงนำร่างที่บอบช้ำของพระนางไปซ่อนไว้ในถ้ำ ส่วนพระนางเองเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่คะนองเดช จึงบอกให้คะนองเดชหนีไป แล้วตรัสว่า "หญิงจะรอคอยอยู่ที่นี่จนชั่วกัลปาวสาน"

สุดท้ายพระนางได้สิ้นพระชนม์

กล่าวกันว่า ด้วยแรงอธิษฐานของพระนาง เป็นเหตุบันดาลให้ธรรมชาติปรากฏหินจำหลักเป็นรูปของพระนาง นั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนมือก็โอบกอดพระโอรสไว้บนตัก ซึ่งหินลักษณะดังกล่าวนี้ได้ปรากฏอยู่ในถ้ำจนถึงทุกวันนี้

ด้วยเหตุที่พระนางได้ตั้งจิตอธิษฐาน รอคอยคนรักในถ้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อถ้ำ "ผานางคอย"

ปัจจุบัน ถ้ำผานางคอยได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ มีบันไดซีเมนต์ให้ประชาชนขึ้นไปชมความงามในถ้ำ

ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นายชลอ ธรรมศิริ อดีตนายอำเภอร้องกวาง บูรณะให้ถ้ำผานางคอยเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยร่วมกับสำนักวิปัสสนา วัดศรีบุญเรือง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ค้นคว้าประวัติความเป็นมาและริเริ่มจัดงานประจำปีขึ้น กำหนดวันที่ ๑๓-๒๐ เมษายน ของทุกปี



(http://www.khaosod.co.th/view_resizing_images.php?filename=news-photo/khaosod/2014/07/bud02290757p3.jpg&width=360&height=360)

ภายในถ้ำผานางคอย ประกอบด้วย หินงอกหินย้อนที่สวยงามระยิบระยับ บางแห่งเป็นรูปโคมสูง ซึ่งมีการตั้งชื่อแต่ละจุดภายในถ้ำ ๑๓ จุด ด้วยกัน คือ คูหาสวรรค์วิเศษ เทพอารักษ์นครา นาคาสถิต งามพิศอนงค์สนาน หิมพานต์พิจิตร เนรมิตม่านแก้ว มรกตเพริศแพร้ววิจิตรา บูชาพระมุนี นทีชลเนตร ธารเทพอธิษฐาน คชสารพิทักษ์ ลานรักพระนาง และหินนางคอย

ระหว่างทางเดินในถ้ำก่อนถึงหัวใจสำคัญของถ้ำผานางคอย จะปรากฏหินย้อยที่ตามตำนานกล่าวว่า เป็นน้ำตาของพระนางอรัญญาณี ที่เฝ้าคอยคนรักตราบนานเท่านานโดยไม่มีกำหนด จึงโศกเศร้าเสียใจจนน้ำตาเป็นสายธาร กลายเป็นหินย้อยในที่สุด

บริเวณท้ายสุดของถ้ำ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา ซึ่งถ้ำผานางคอยนี้ จะมีทั้งทางเข้าและทางออก เมื่อเข้าไปในถ้ำแล้ว จะทะลุออกด้านหลังถ้ำ ทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก

ต่อมา "หลวงพ่อเสียน ธัมมวโร" หรือ "ตุ๊เจ้าเสียน" ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวร้องกวาง เข้ามาพำนักจำพรรษาอยู่บริเวณเชิงเขา และตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้น คือ "วัดศรีบุญเรือง" ในปัจจุบัน ท่านได้มองหาสถานที่ปฏิบัติจิตตภาวนา นั่นคือ ถ้ำผานางคอย

ในทุกๆ วันขึ้น ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ ท่านจะมานั่งภาวนาในถ้ำผานางคอยเป็นประจำ

พ.ศ. ๒๕๔๗ หลวงพ่อเสียนมรณภาพ หลังจากนั้นไม่มีพระสงฆ์รูปใดมาพำนักที่วัดถ้ำผานางคอย ทำให้ที่วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดร้างมานานหลายปี

กระทั่ง "หลวงพ่อกาหลง จันทวังโส" ธุดงค์ผ่านมา เข้าปักกลดอยู่ที่ไร่บริเวณใกล้กับผานางคอย ด้วยวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ทำให้ชาวบ้านชักชวนให้ท่านอยู่จำพรรษาที่วัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของถ้ำผานางคอย

ผู้ที่ต้องการเดินทางมาเที่ยวชมทัศนียภาพอันสวยงามตระการตา ซึ่งรังสรรค์โดยธรรมชาติ หรือต้องการแวะกราบนมัสการหลวงพ่อกาหลง จันทวังโส เพื่อร่วมบุญสร้างโรงทานและบูรณะอุโบสถ

สอบถามเส้นทางไปที่วัดศรีบุญเรือง อ.ร้องกวาง จ.แพร่  โทร. 08-1169-9230