[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปรษณีย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 29 กรกฎาคม 2557 17:30:37



หัวข้อ: ภาพเก่าเล่าอดีต
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 29 กรกฎาคม 2557 17:30:37
.

ภาพเก่าเล่าอดีต

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-302.jpg)
ภาพ : ทีฆายุโกโหตุ สังฆราชา
ภาพโดย : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประสูติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ทรงเข้าพิธีบรรพชารับใช้พุทธศาสนาตั้งแต่พระชนมายุเพียง 14 ปี ณ วัดเทวสังฆาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาทรงเข้าพิธีอุปสมบทขณะเจริญพระชันษาครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร และได้รับประทานฉายาว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” ด้วยพระศีลาจารวัตรอันงดงามและความรอบรู้ในพระธรรมวินัย ทำให้เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ในปี พ.ศ. 2499 สมเด็จพระญาณสังวรซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระโศภนคณาภรณ์ ได้รับความไว้วางใจจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระราชอุปัธยาจารย์ให้เป็นพระอภิบาลของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในภาพนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระญาณสังวรเพื่อทรงมาเยี่ยมพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระญาณสังวรทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 – หทัยภัทร นวปราโมทย์



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-949.jpg)
ภาพ : เขื่อนทำมือ
ภาพโดย : จอห์น สโกฟีลด์, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE

คำบรรยายภาพ : “กำลังกายของมนุษย์ล้วนๆ ที่ยกสิ่งก่อสร้างนี้ขึ้นทีละนิ้ว” คือคำบรรยายภาพ เขื่อนนาคารชุนสาครบนแม่น้ำกฤษณา ในประเทศอินเดียภาพนี้ ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤษภาคม ปี 1963 คำบรรยายภาพอธิบายต่อไปว่า “คนงานราว 125,000 คนทุ่มเทแรงกายในการสร้างเขื่อนและคลองชลประทาน ทีมคนงานที่ประกอบด้วยผู้ชายสองคนลำเลียงก้อนหินหนักกว่า 130 กิโลกรัมขึ้นไปตามทางลาดทำจากไม้ไผ่ ขณะที่พวกผู้หญิงเทินถาดปูนขาวเดินตามขึ้นไปอย่างไม่ขาดสาย อินเดียประหยัดงบประมาณในการซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ก้อนโตด้วยการใช้แรงงานคนในประเทศแทน”

โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 1955 และเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 1972
เขื่อนนาคารชุนสาครสูง 124 เมตรและยาวหนึ่งกิโลเมตร เป็นเขื่อนหินก่อขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังใช้งานอยู่ —มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-1043.jpg)
ภาพ : อุ่นกาย
ภาพโดย : มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์

คำบรรยายภาพ : สาวน้อยสาวใหญ่เคยคลายหนาวด้วยการมาใช้บริการอ่างน้ำวนที่มีอุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียสทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ที่ยุโรเปียนเฮลท์สปาในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก รัฐฟลอริดา ส่วนพวกผู้ชายสามารถมาใช้บริการได้ในวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ไม่มีข้อมูลว่าสปาเปิดให้บริการในวันอาทิตย์หรือไม่

ภาพนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1973 โดยเป็นภาพประกอบสารคดีเรื่อง “ความเจริญของฟลอริดาและปัญหาที่ตามมา” (Florida’s Booming—and Beleaguered—Heartland”) ปัจจุบันสปาแห่งนี้กลายเป็นร้านขายสุราไปแล้ว


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-615.jpg)
ภาพ : สูงเสียดฟ้า
ภาพโดย : มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์

คำบรรยายภาพ : เมื่อปี 1902 ตึกแฟลติรอนซึ่งเป็นหนึ่งในตึกระฟ้ายุคแรกของมหานครนิวยอร์ก สร้างขึ้นบนที่ดินรูปสามเหลี่ยมที่เกิดขึ้นหลังการตัดสี่แยกระหว่างถนนฟิฟท์อเวนิว ถนนบรอดเวย์ และถนนสายที่ 23 ภาพนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 1918 เพื่อประกอบสารคดีเรื่อง “นิวยอร์ก มหานครแห่งมนุษยชาติ” ในสารคดีเรื่องนั้น วิลเลียม โจเซฟ โชว์วอลเตอร์ นักเขียน บอกว่า “ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน หรือมองด้วยวิธีใด นิวยอร์กก็กระตุ้นความสนใจและปลุกเร้าจินตนาการของใครต่อใครได้เสมอ”


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-542.jpg)
ภาพ : เรียงหน้ากระดาน
ภาพโดย : บี. แอนโทนี สจวร์ต, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE

คำบรรยายภาพ : กำแพงปลาพอลล็อกแช่แข็งบ่งบอกถึงความสำเร็จของการตกปลาช่วงสุดสัปดาห์ในทะเลสาบมิลล์แลกส์ ที่กลายเป็นน้ำแข็งในรัฐมินนิโซตา ภาพนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนธันวาคม ปี 1958 โทมัส เจ. อะเบอร์ครอมบี ช่างภาพประจำของนิตยสาร เขียนไว้ว่า “ชาวเมืองมินนีแอโพลิส...ตั้งแคมป์อย่างสะดวกสบายในรถเทรลเลอร์ความยาว 13 เมตร พวกเขาขับรถไปบนทะเลสาบที่กลายเป็นน้ำแข็ง เปิดเครื่องปั่นไฟแบบพกพาเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แคมป์เคลื่อนที่ ขุดรูในน้ำแข็ง เตรียมอุปกรณ์ตกปลา หย่อนเบ็ด และเฝ้าดูอยู่หลังหน้าต่างที่ปิดสนิท เมื่อทุ่นเบ็ดขยับ ทุกคนจะรีบวิ่งออกไปดูว่าจับได้ปลาอะไร”

ทะเลสาบมิลล์แลกส์ขึ้นชื่อเรื่องปลาพอลล็อกมาช้านาน แต่ประชากรของพวกมันในทะเลสาบแห่งนี้กำลังลดลง เมื่อปี 2013 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของรัฐมินนิโซตาออกกฎระเบียบเพื่อจำกัดการจับปลาชนิดนี้ โดยกำหนดขนาดและปริมาณปลาที่จับได้เพื่อช่วยปกป้องปลาวัยเยาว์และปลาขนาดเล็ก ตลอดจนเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะมีปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มากพอสำหรับการขยายพันธุ์ต่อไปในอนาคต - มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-514.jpg)
ภาพ : เห็นเต็มตา
ภาพโดย : บี. แอนโทนี สจวร์ต, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE

คำบรรยายภาพ : ผู้คนพากันหยุดดูเครื่องบินโบอิ้ง 377 สแตรโตครูสเซอร์วิ่งข้ามทางด่วนแวนวิกในย่านควีนส์ มหานครนิวยอร์ก

ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เครื่องบินสแตรโตครูสเซอร์เป็นเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่สุดและหรูหราที่สุดรุ่นหนึ่ง บริษัทโบอิ้งบรรยายสรรพคุณว่า “บันไดวงกลมนำไปสู่ห้องเครื่องดื่มบนดาดฟ้าชั้นล่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเตรียมอาหารร้อนๆ สำหรับผู้โดยสาร 50 ถึง 100 คนในห้องครัวอันทันสมัย” ภาพนี้ถ่ายในบริเวณใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาตินิวยอร์กซึ่งตอนนั้นนิยมเรียกกันว่า ไอเดิลไวลด์ แต่ได้รับการเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเพื่อเป็นเกียรติแด่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อปี 1963 ทางด่วนสายนี้ยังคงอยู่ที่นั่น โดยได้รับการเสริมความแข็งแกร่งเพื่อรองรับเครื่องบินที่มีน้ำหนักมากกว่าสแตรโตครูสเซอร์มานับแต่นั้น — มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-387.jpg)
ภาพ : ภาพมีชีวิต
ภาพโดย : มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์

คำบรรยายภาพ : ผู้บุกเบิกการเต้นรำสมัยใหม่ รูท เซนต์ เดนิส และเท็ด ชอว์น โพสท่าให้ช่างภาพ แฟรงกลิน ไพรซ์ นอตต์ เก็บภาพโดยใช้กระบวนการถ่ายภาพสียุคแรกๆ ที่เรียกว่า ออโตโครม (Autochrome) ภาพนี้ได้รับตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายน ปี 1916 การร่ายรำชุด “อุทยานแห่งกามา” ในภาพเป็นหนึ่งในผลงานจำนวนมากที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียของศิลปินคู่นี้ซึ่งแต่งงานกันเมื่อปี 1914 ปัจจุบัน หอจดหมายเหตุของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เก็บรักษาภาพถ่ายบนกระจกถ่ายภาพออโตโครมเกือบ 15,000 ภาพ นับเป็นคอลเล็กชันภาพถ่ายประเภทนี้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-26-IMG-281.jpg)
ภาพ : คลื่นลูกเก่า
ภาพโดย : มาร์กาเร็ต จี. แซ็กโควิตซ์

คำบรรยายภาพ : เขื่อนกั้นน้ำทะเลบนทางหลวงเบลต์พาร์กเวย์ใกล้กับย่านฟอร์ตแฮมิลตันในเขตบรุกลิน ไม่สามารถป้องกันน้ำทั้งหมดจากพายุที่พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ปี 1948 พายุที่โหมกระหน่ำเป็นปัญหารุมเร้าถนนช่วงนี้ซึ่งทอดไปตามแนวอ่าวนิวยอร์กใกล้สะพานเวอร์ราซาโน-แนร์โรวส์ ตอนที่พายุเฮอร์ริเคนแซนดีพัดถล่มภูมิภาคนี้เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2012 ถนนหลายช่วงจมอยู่ใต้น้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง บางจุดน้ำลึกถึง 1.5 เมตร เขื่อนกั้นน้ำทะเลซึ่งถูกพายุถล่มเสียหายได้รับการซ่อมแซมนับตั้งแต่นั้น ทว่าชาวเมืองยังคงหวาดกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับพายุใหญ่ลูกต่อไป


ที่มา ngthai.com