[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 09:32:09



หัวข้อ: ดาวเคราะห์เดือนนี้ (กุมภาพันธ์ 2553) [ดาราศาสตร์]
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 09:32:09
ดาวพุธ ยังคงปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดต่อเนื่องมาจากเดือนมกราคมซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีที่สุดในปีนี้ ดาวพุธจะออกจากกลุ่มดาวคนยิงธนูเข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเลในวันที่ 10 ก.พ. แล้วย้ายเข้าไปในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในวันสุดท้ายของเดือน วันสุดท้ายที่มีโอกาสเห็นดาวพุธน่าจะอยู่ในราววันที่ 12 ก.พ. ซึ่งดวงจันทร์เสี้ยวจะมาอยู่ใกล้ดาวพุธด้วยระยะห่างเพียง 2 องศา ตลอดช่วงวันที่ 1-12 ก.พ. ความสว่างของดาวพุธเกือบไม่เปลี่ยนแปลงที่โชติมาตร -0.2 ช่วงเวลาเดียวกันนั้นพื้นผิวด้านสว่างเพิ่มขึ้นจาก 71% เป็น 83% และมีขนาดปรากฏเล็กลงจาก 6.2 เป็น 5.5 พิลิปดา

ดาวศุกร์ (โชติมาตร -3.9) ออกจากกลุ่มดาวแพะทะเลเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำในวันที่ 9 ก.พ. ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในวันที่ 17 ก.พ. แต่ไม่สามารถมองเห็นได้เนื่องจากอยู่ห่างดวงอาทิตย์เพียง 9 องศา ราวกลางเดือนมีนาคมดาวศุกร์จึงจะกลับมาปรากฏเป็นดาวประจำเมืองบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ

ดาวอังคาร กำลังเคลื่อนที่ถอยหลังอยู่ในกลุ่มดาวปู ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และใกล้โลกที่สุดเมื่อปลายเดือนมกราคม ทำให้เดือนนี้จะเริ่มเห็นดาวอังคารได้ตั้งแต่เวลาพลบค่ำเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก และอยู่บนท้องฟ้าเกือบตลอดทั้งคืนโดยเคลื่อนขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม แล้วตกลับขอบฟ้าในเวลาเช้ามืด ดาวอังคารออกห่างจากโลกมากขึ้นทำให้ตลอดเดือนนี้ความสว่างและขนาดปรากฏของดาวอังคารลดลงเป็นลำดับ มันจางลงจากโชติมาตร -1.3 ไปที่ -0.6 เส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมก็ลดลงจาก 14.0 เป็น 12.2 พิลิปดา

ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร -2.0) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนยังพอจะสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้โดยอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนถูกแสงอาทิตย์กลบ ราวปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ดาวพฤหัสบดีจึงจะกลับมาให้เห็นบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในเวลาเช้ามืด

ดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.7) อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว สังเกตดาวเสาร์ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 4 ทุ่ม ซึ่งดาวเสาร์จะอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก ดาวเสาร์ขึ้นไปอยู่สูงเกือบถึงจุดเหนือศีรษะในเวลาประมาณตี 3 ก่อนคล้อยต่ำลงไปทางทิศตะวันตก

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.9) อยู่ในกลุ่มดาวปลาใกล้เขตที่ติดกับกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ สังเกตได้ยากเนื่องจากอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้าในเวลาหัวค่ำ

ดาวเนปจูน (โชติมาตร +8.0) อยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล อยู่ร่วมทิศกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 15 ก.พ.

ดวงจันทร์ ครึ่งแรกของเดือนเป็นข้างแรม มองเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าทุกวันในเวลาเช้ามืด วันที่ 3 ก.พ. ดวงจันทร์อยู่ห่างดาวเสาร์ประมาณ 8 องศา จากนั้นผ่านใกล้ดาวรวงข้าวในเช้ามืดของวันถัดไป ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในเช้ามืดวันที่ 6 ก.พ. อีกสองวันถัดมาดวงจันทร์อยู่ใกล้ดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่อง วันที่ 12 ก.พ. น่าจะเป็นวันสุดท้ายที่เห็นดวงจันทร์ในเวลาเช้ามืดก่อนจันทร์ดับ ซึ่งวันนั้นดวงจันทร์จะอยู่สูงเหนือดาวพุธเพียง 2 องศา

วันที่ 15 ก.พ. ดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบางเฉียบเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตกในเวลาพลบค่ำ สังเกตได้ดีในเวลาประมาณ 25 นาทีหลังดวงอาทิตย์ตก และเป็นเวลาที่ดวงจันทร์มีมุมเงยราว 7 องศา ต่ำลงเยื้องไปทางซ้ายของดวงจันทร์เป็นตำแหน่งของดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี แต่อาจไม่เห็นดาว 2 ดวงนี้เนื่องจากใกล้ขอบฟ้ามากและท้องฟ้าอาจสว่างเกินไป ค่ำวันที่ 21 ม.ค. ดวงจันทร์สว่างเกือบครึ่งดวงอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่โดยเข้าใกล้กันที่สุดก่อนดวงจันทร์ตก วันที่ 26 ก.พ. ดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงอยู่ใกล้ดาวอังคารและกระจุกดาวรังผึ้ง จันทร์เพ็ญเดือนนี้เกิดขึ้นในคืนวันสุดท้ายของเดือนซึ่งเป็นวันที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกด้วย