[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2557 14:20:46



หัวข้อ: "โลหะปราสาท" วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 27 สิงหาคม 2557 14:20:46
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/14171756431460_2.JPG)
โลหะปราสาท สมัยรัชกาลที่ ๕

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/36666962959700_1.JPG)  
โลหะปราสาท
วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
เอกพุทธศิลปสถาปัตยกรรมไทย ที่คงเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก

เมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดารามวรวิหารขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาที่ทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง ทรงคิดแบบและวางผังการสร้างวัดด้วยพระองค์เอง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาท เป็นอาคารประธานของวัด

สันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้โลหะปราสาทเป็นที่สำหรับพระภิกษุสงฆ์ใช้จำพรรษาหรือปฏิบัติธรรม ตามที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าโลหะปราสาทคืออาคารหลายชั้นมีหลังคาทำด้วยโลหะอีกสองแห่งที่เคยปรากฏในโลกคือ ที่กรุงสาวัตถีประเทศอินเดีย และที่กรงอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา  ซึ่งทั้งสองแห่งชำรุดสูญสลายลงไปนานนับพันปี  โลหะปราสาทของไทยจึงเป็นแห่งที่ ๓ ของโลก และเป็นแห่งเดียวที่ยังคงปรากฏสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน

โลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม ถือเป็นพุทธศิลปสถาปัตยกรรมอันเป็น “เอก” แห่งหนึ่งในบรรดาสถาปัตยกรรมไทยทั้งมวล มีลักษณะโดดเด่นด้วยเป็นอาคารขนาดสูงใหญ่ ๗ ชั้น ทางขึ้นเป็นบันไดเวียนบริเวณกลางอาคาร หลังคาเป็นปราสาทยอดมณฑป ๓๗ ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม หัวข้อธรรมในพุทธศาสนา ๗ หมวด ๓๗ ประการ อันเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้

โลหะปราสาทของไทยมิได้สร้างเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะมีความพยายามที่จะสร้างเสริมเติมต่อมาเป็นระยะ แต่ด้วยปัญหาและอุปสรรคนานับปการ ทำให้โลหะปราสาทมีสภาพที่ยังไม่สมบูรณ์ ตราบถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ประชาชนชาวไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภิกษุ ฆราวาส พ่อค้า ประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันจัดหางบประมาณเพื่อการบูรณปฏิสังขรณ์ ก่อสร้าง ต่อเติมด้วยการผสานองค์ความรู้ของงานสถาปัตยกรรม ช่างศิลป์ไทย และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมีกรมโยธาธิการ กระทวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานในช่วงแรก (พุทธศักราช ๒๕๐๖-๒๕๒๐) และกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานจนแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐

ณ ยอดบนสุดของโลหะปราสาท เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ พระราชทานและเสด็จมาบรรจุเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ นับเป็นพระราชพิธีแรกในพระราชพิธีมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๓๙



ประวัติการก่อสร้างโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
พุทธศักราช ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชนัดดาราม โดยมีโลหะปราสาทเป็นอาคารประธานของวัด
พุทธศักราช ๒๓๙๔ รัชกาลที่ ๓ เสด็จสวรรคต การสร้างโลหะปราสาทชะงัก สำเร็จเพียงในส่วนที่เป็นโครงอิฐสลับศิลาแลง
พุทธศักราช ๒๔๙๔-๒๔๕๒ โลหะปราสาทได้รับการบูรณะเพิ่มเติมโดยพระยาเพชรปาณี มรรคนายก และพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทัตโต) เจ้าอาวาส
พุทธศักราช ๒๕๐๖-๒๕๒๐ กรมโยธาเทศบาล ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท โดยเสริมความแข็งแรงโครงสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำระบบระบายน้ำฝน ปรับปรุงบันไดเวียน ประตูหน้าต่าง และตกแต่งผิวอาคาร
๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ณ บุษบกโลหะปราสาท วัดราชนัดดาราม
พุทธศักราช ๒๕๔๑ กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการสำรวจและขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนการบูรณะ
พุทธศักราช ๒๕๔๒ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะแรก บูรณะส่วนมณฑปยอดกลาง และปรับภูมิทัศน์โดยรอบโลหะปราสาท
พุทธศักราช ๒๕๔๓ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ ๒ บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นกลาง จำนวน ๑๒ ยอด
พุทธศักราช ๒๕๔๕ กรมศิลปากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท ระยะที่ ๓ บูรณะส่วนยอดมณฑปชั้นล่าง จำนวน ๒๔ ยอด
พุทธศักราช ๒๕๕๐ โครงการบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท แล้วเสร็จ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71286541513270_4.jpg)
พระบรมสารีริกธาตุ ประดิษฐาน ณ ยอดโลหะปราสาท

โลหะปราสาทปูชนียสถานที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นแทนเจดีย์ประจำวัด ในการสร้างพระอารามที่ทรงมีพระราชศรัทธาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองและเพื่อพระราชทานแด่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ซึ่งแล้วเสร็จเพียงปราสาทโกลนเท่านั้นก็สิ้นรัชกาล  ต่อมาได้มีการบูรณะอีกหลายครั้งกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ เนื่องด้วยโลหะปราสาทยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์แบบแห่งเดียวในโลก มีลักษณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมไทย โดยเฉพาะเป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอดมณฑปรวม ๓๗ ยอด โดยชั้นที่หนึ่งมี ๒๔ ยอด ชั้นที่สองมี ๑๒ ยอด และชั้นที่สามมีเพียงยอดสูงสุดยอดเดียว นับเป็นปริศนาธรรมแห่งพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นแนวทางไปสู่การตรัสรู้

เมื่อได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดโลหะปราสาทแห่งนี้แล้ว จึงนับเป็นเจติยสถานที่มีความสมบูรณ์พร้อมเพื่อเป็นเครื่องน้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบไป



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/68111748165554_5.JPG)

โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนาแบบลัทธิ “ลังกาวงศ์”

ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศาสนาในลังกาทวีปได้สูญสิ้นไปจากผืนแผ่นดิน พระเจ้ากิตติราชสิงหะ กษัตริย์ลังกาในขณะนั้น ส่งทูตมาขอ่่่พระสงฆ์จากไทยไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป สมัยนั้นตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบรมโกศจึงได้ส่งพระสมณทูตไทยจำนวน ๑๐ รูป มีพระอุบาลีเป็นหัวหน้า นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานให้เจริญขึ้น และทำการบรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรชาวลังกาถึงสามพันคน  ณ เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา จึงเรียกพระพุทธศาสนาในศรีลังกาครั้งนั้นซึ่งสืบต่อมาถึงปัจจุบันว่า “สยามวงศ์” สัมพันธไมตรีระหว่างไทยและศรีลังกาจึงมั่นคงมาแต่โบราณ

ตราบถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติตลอดรัชกาล เฉพาะการพระศาสนาได้มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมหลายประการ ทั้งศิลปกรรม เอกสาร พระไตรปิฎก คัมภีร์ต่างๆ และการส่งธรรมทูตไปมาหากัน.



• มูลเหตการสร้างโลหะปราสาท
การสร้างปูชนียวัตถุเพื่อน้อมถวายไว้ในพระพุทธศาสนา คือความเลื่อมใสศรัทธาอันบริสุทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ สิ่งก่อสร้างทั้งปวงล้วนมีมูลเหตุของการสร้างขึ้นว่าประสงค์ให้เกิดประโยชน์อย่างใด ด้วยอานิสงส์ของการสร้างนั้นได้ถ่ายทอดอิทธิพลอันเป็นแรงบุญแก่บรรดาผู้ที่ทุ่มเทจิตใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ดังเช่นพระพุทธเจดีย์ในดินแดนพุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศ ต่างมีพุทธลักษณะอันเป็นพุทธศิลป์ตามถิ่นของตน

หนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารทางพุทธศาสนาของศรีลังกา ได้เล่าถึงมูลเหตุของการสร้างโลหะปราสาทสถานที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาว่า โลหะปราสาทเป็นสถานที่สงัดสำหรับพระภิกษุบำเพ็ญญานสมาบัติในศาสนสถานภายในพระอาราม มิต้องปลีกวิเวกออกไปอยู่ตามลำพัง กำหนดให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่แต่ละชั้นตามความรู้ของตน คือองค์ที่มีสมณศักดิ์สูงอยู่ชั้นบนและรองลงมาตามลำดับ

“โลหะปราสาท” เป็นชื่อดั้งเดิมของอินเดีย เรียกมาแต่ครั้งพุทธกาล หมายถึง คฤหาสน์ที่มียอดเป็นโลหะ สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีหลายชั้นและใช้ประโยชน์เป็นส่วนสังฆาวาส อุบัติขึ้นในโลกเพียง ๓ แห่ง บันทึกไว้ว่า แห่งแรกสร้างขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพุทธกาล ณ วัดบุพพาราม เมืองสาวัตถี  โดยนางวิสาขา บุตรีเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี อุบาสิกาผู้อุปัฏฐากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า    ด้วยความศรัทธาในศาสนา จึงนำเครื่องประดับมาประมูล ได้เงิน ๙ โกฏิ ๑ แสน  แล้วนำเงินสร้างที่อยู่ให้พระสงฆ์ มีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ มีชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท ตามสมญานามของนางวิสาขาที่ได้ชักชวนให้มิคารเศรษฐี สหายบิดาของสามีตนเองเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เกิดความปลื้มปีติสำนึกคุณ ยกย่องนางวิสาขาเสมือนมารดาตน โลหะปราสาทหลังนี้สูญสลายไปเป็นเวลานานแล้ว



(http://www.trekkingthai.com/webboard/backpacker/1033-58.jpg)
เสาที่ยังคงเหลือของ Brazen Palace หรือโลหะปราสาท ๑,๖๐๐ ต้น
ภาพจาก : trekkingthai.com

• โลหะปราสาทแห่งที่ ๒ ของโลก
พระเจ้าอโศกมหาราช แผ่ขยายพระพุทธศาสนาจากอินเดียไปยังศรีลังกาจนเจริญขึ้นอย่างที่สุด จึงมีการสร้างปูชนียสถานทุกอย่างตามที่ปรากฏสร้างในอินเดีย

มีการสร้างโลหะปราสาท (แห่งที่ ๒) ขึ้นในประเทศศรีลังกา ประมาณปีพุทธศักราช ๓๘๗ บางแห่งว่า ๓๘๒ โดยพระเจ้าทุฏคามณีอภัย กษัตริย์ผู้ครองกรุงอนุราชธปุระ โปรดประชุมสงฆ์และมอบหมายให้คณะสงฆ์โดยพระอรหันต์ ๘ องค์เป็นผู้ออกแบบ อยู่ใกล้ต้นศรีมหาโพธิ์ มีด้านกว้าง ยาว และสูงด้านละ ๑๐๐ ศอก มี ๙ ชั้น มีห้อง ๑,๐๐๐ ห้อง หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังทำด้วยไม้ประดับหินมีค่าและงาช้าง ในรัชกาลต่อมาโลหะปราสาทหลังนี้เกิดเพลิงไหม้และถูกทำลาย  พระเจ้าสัทธาติสสะโปรดให้สร้างขึ้นใหม่บนที่เดิม สูง ๗ ชั้น ปัจจุบันเหลือแต่ซากกองอิฐปรักหักพังและเสาหินประมาณ ๑,๖๐๐ ต้น


• สืบคติการโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก (แห่งสุดท้ายในปัจจุบันยุค)
คำพรรณนาถึงโลหะปราสาทของศรีลังกาในหนังสือมหาวงศ์ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า มีพระราชศรัทธาแรงกล้าในการสร้างพุทธเจดีย์โลหะปราสาทนี้บนผืนแผ่นดินไทย เพื่อประกาศให้ชาวโลกรับรู้ว่า แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินแห่งพระพุทธศาสนาที่มั่นคง และเพื่อสะท้อนให้พสกนิกรในแผ่นดินรู้จักพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในอดีตว่ามีความยิ่งใหญ่ไพศาลอย่างใด กล่าวกันว่าโปรดให้ช่างเดินทางไปศรีลังกาถึง ๒ ครั้ง เพื่อนำคติการสร้างและลักษณะอาคารมาเป็นแบบอย่าง

ครั้นพุทธศักราช ๒๓๘๙ โปรดให้สร้างวัดราชนัดดารามเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี ขณะเมื่อดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี เมื่อพระชันษาบริบูรณ์ที่จะประกอบพิธีโสกันต์ (ต่อมาภายหลัง ทรงเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

การสร้างพระอาราม ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญ หมู่กุฏิสงฆ์ และให้โลหะปราสาทเป็นพุทธเจดีย์ประธานของพระอาราม (อยู่ในวัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สถานที่รับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัดเทพธิดาราม)  โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่งพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา เป็นแม่กองดำเนินการสร้าง โดยให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นพุทธศิลป์แบบไทย

โลหะปราสาทของไทย ยอดของเจดีย์ทุกองค์ทำจากโลหะสีดำ แต่ไม่เป็นสนิม บนยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เป็นโลหะปราสาทแห่งที่ ๓ ของโลก ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด และเหลือเพียงแห่งเดียวในโลก แต่ถูกบดบังอยู่พักใหญ่ ช่วงรัฐบาลสร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทยเป็นโรงหนังแห่งแรก ตรงหัวมุมถนนราชดำเนิน ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.๒๔๘๑-๒๔๘๗)

กระทั่งปี ๒๕๓๒ เมื่อรื้อศาลาเฉลิมไทย จึงเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้เห็นความงดงามของโลหะปราสาทที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว



พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโลหะปราสาทแทนการสร้างเจดีย์ ตามประวัติพระพุทธศาสนา มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท ๓ ชั้น มียอด ๓๗ ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรค ๘ อันเป็นหลักธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยนำไปสู่การหลุดพ้นหรือพระนิพพาน

กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น ๖๗ ขั้น  เริ่มก่อสร้างในปี ๒๓๘๙ นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ ๕ ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลนก็สิ้นรัชกาล จึงหยุดชะงักไป และมาสร้างต่อในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมัยพระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทัตโต) เป็นเจ้าอาวาส แต่ยังไม่สมบูรณ์


การบูรณะครั้งใหญ่มาเริ่มในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรังสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในปี ๒๕๐๖ โดยพยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไว้ให้มากที่สุด นับว่าบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาในช่วงรัฐบาลจัดงานฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลปัจจุบันทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๓๙ ทรงให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริก ธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรกแห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และเสด็จพระราช ดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

จากนั้นจึงเกิดโครงการบูรณะโลหะปราสาทในปี ๒๕๓๙ เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติเป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และนายประพิศ แก้วสุริยา เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

ปรากฏความงดงามสมบูรณ์มาถึงปัจจุบัน


ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
           เว็บไซท์ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี
           เว็บไซท์ ผู้จัดการออนไลน์
           ข้อมูลจากส่วนจัดแสดงนิทรรศการ "โลหะปราสาท" วัดราชนัดดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/79187657352950_6.jpg)
ลายเส้นสถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/56361530141697_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/35585849194063_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/60312807394398_5.jpg)
ภูเขาทอง ถ่ายจากโลหะปราสาท

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/51334783683220_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81539717523588_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70221706769532_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/99654758969942_8.jpg)