[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:04:59



หัวข้อ: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:04:59

ย้อนรอยวิวัฒนาการของอาหาร

Story

การหวนกลับไปรับประทานอาหารเหมือนบรรพบุรุษจะทำให้เราสุขภาพดีขึ้นได้หรือ

ถึงเวลามื้อเย็นในที่ลุ่มกลางป่าแอมะซอนของโบลิเวีย  อนา กัวตา ไมโต กวนกล้วยกับมันสำปะหลังให้เป็นโจ๊ก เหนือเปลวไฟที่ลุกโชนบนพื้นดินในกระท่อมหลังคามุงจาก พลางเงี่ยหูฟังเสียงสามีซึ่งกลับมาจากป่าพร้อมสุนัขล่าเนื้อตัวผ่ายผอม

เดโอนิซีโอ นาเต ผู้เป็นสามี ออกจากบ้านไปพร้อมปืนไรเฟิลและมีดพร้าตั้งแต่รุ่งสางของเช้าวันนี้ในเดือนมกราคม แต่เขากลับบ้านมือเปล่า  ชายวัย 39 ปีผู้นี้บ่นว่า การหาเนื้อสัตว์ให้พอเลี้ยงครอบครัวที่มีภรรยาสองคน (ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยของคนในเผ่านี้) และลูก 12 คนเป็นเรื่องยาก พวกตัดไม้ทำให้สัตว์ป่าหนีไปหมด และเขายังหาปลาในแม่น้ำไม่ได้เพราะพายุพัดเรือแคนูหายไป

เรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้นกับทุกครอบครัวในอนาเชเรที่ผมไปเยือน 

อนาเชเรเป็นชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองโบราณชื่อ ซิมาเน มีลูกบ้านประมาณ 90 คน ช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่ล่าสัตว์หรือหาปลาได้ยากที่สุด ชนเผ่า ซิมาเนกว่า 15,000 คนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านราวหนึ่งร้อยหมู่บ้านตามริมฝั่งแม่น้ำสองสายในลุ่มน้ำแอมะซอนใกล้เมืองซานบอร์คาซึ่งเป็นเมืองการค้าหลัก ห่างจากกรุงลาปาซ 360 กิโลเมตร แต่จากซานบอร์คาไปอนาเชเรต้องเดินทางโดยเรือยนต์เป็นเวลาสองวัน ดังนั้นชาวซิเมเนที่อาศัยอยู่ที่นั่นจึงยังหาอาหารส่วนใหญ่จากป่า แม่น้ำ หรือสวนครัวของตนเอง

ผมเดินทางไปกับ อาเชอร์ รอซิงเกอร์ นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยอาหารในป่าฝน ของชนเผ่าซิมาเน โดยมีวิลเลียม เลนเนิร์ด นักโบราณคดีชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น เป็นหัวหน้าคณะวิจัยคนหนึ่ง  พวกเขามุ่งหาคำตอบว่า สุขภาพของชนพื้นเมืองในแถบนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  เมื่อพวกเขาหันหลังให้อาหารท้องถิ่นและวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยกิจกรรม และเริ่มซื้อขายแลกเปลี่ยนของป่ากับน้ำตาล เกลือ ข้าว น้ำมัน เนื้อแห้ง และปลากระป๋อง

หากมองไปข้างหน้าถึงปี 2050 ที่เราจะต้องเลี้ยงดูประชากรเพิ่มขึ้นอีกสองพันล้านคน คำถามที่ว่า อาหารประเภทใดจะเหมาะสมที่สุดก็กลายเป็นวาระเร่งด่วนอย่างใหม่ อาหารที่เราเลือกกินในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะสร้างผลกระทบต่อโลกอย่างยิ่ง พูดง่ายๆคือ อาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิถีการกินที่นิยมมากขึ้นในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา จะเบียดเบียนทรัพยากรของโลกมากกว่าอาหารที่ประกอบด้วยธัญพืชไม่ขัดสี ถั่ว และผักผลไม้

ก่อนที่เกษตรกรรมจะพัฒนาขึ้นเมื่อราว 10,000 ปีก่อน  มนุษย์ได้อาหารจากการล่าสัตว์ เก็บของป่า และการหาปลา ต่อเมื่อการเพาะปลูกเริ่มต้นขึ้น ชนเผ่าเร่ร่อนเก็บของป่าล่าสัตว์ล่าสัตว์ก็ค่อยๆ ถูกผลักดันออกจากที่ดินชั้นดีสำหรับทำเกษตร  ในที่สุดพวกเขาก็ถูกจำกัดให้อยู่แต่ในป่าแอมะซอน ทุ่งหญ้าแห้งแล้งในแอฟริกา หมู่เกาะห่างไกลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทุ่งทุนดราในแถบอาร์กติก  ปัจจุบัน เหลือชนเผ่าเก็บของป่าล่าสัตว์กระจัดกระจายอยู่ในโลกเพียงไม่กี่เผ่าเท่านั้น

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามเรียนรู้เรื่องอาหารการกินและวิถีชีวิตแบบโบราณ ก่อนที่ทุกอย่างจะสูญสิ้นไปตลอดกาล

ที่ผ่านมา การศึกษาเกี่ยวกับชนเผ่าเก็บของป่าล่าสัตว์ เช่น ชาวซิมาเนแห่งแอมะซอน อินูอิตแถบอาร์ติก และฮัดซาในแอฟริกา พบว่า ชนเผ่าเหล่านี้เดิมทีไม่มีภาวะความดันโลหิตสูง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง ตลอดจนโรคหัวใจและหลอดเลือด “หลายคนเชื่อว่า อาหารที่เรากินอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับลักษณะทางสรีรวิทยาที่บรรพบุรุษของเราวิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อกินอาหารบางอย่าง”

ผลการศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า  ชนเผ่าพื้นเมืองมีสุขภาพแย่ลง เมื่อพวกเขาหันหลังให้อาหารพื้นเมืองและเปลี่ยนจากวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยกิจกรรมมาใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้าทศวรรษ 1950 ชาวมายาในอเมริกากลางไม่เป็นเบาหวานกันเลย แต่หลังจากเปลี่ยนมากินอาหารตะวันตกซึ่งมีน้ำตาลสูง อัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวานก็พุ่งทะยาน  ชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงปศุสัตว์ในไซบีเรียที่มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่างชาวอีเวงก์และยาคุตกินอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นหลัก แต่พวกเขาแทบไม่เป็นโรคหัวใจเลย  จนกระทั่งเมื่อเริ่มอยู่เป็นหลักแหล่งและกินอาหารที่หาซื้อได้จากตลาดมากขึ้น  เลนเนิร์ดเสริมว่า ปัจจุบันชาวยาคุตที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆราวครึ่งหนึ่งมีน้ำหนักเกิน และเกือบหนึ่งในสามมีภาวะความดันโลหิตสูง ส่วนชาวซิมาเนแห่งแอมะซอนซึ่งกินอาหารจากตลาดก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าพวกที่ยังคงล่าสัตว์และเก็บของป่า

ในหมู่พวกเราที่มีบรรพบุรุษซึ่งปรับตัวให้เข้ากับอาหารที่ประกอบด้วยพืชเป็นหลัก และคนทำงานนั่งโต๊ะ การไม่กินเนื้อสัตว์มากเท่าชาวยาคุตอาจเป็นการดีที่สุด  ผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ยืนยันการค้นพบก่อนหน้านั้นว่า แม้มนุษย์จะกินเนื้อแดงมานานสองล้านปีแล้ว แต่การบริโภคมากเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคมะเร็งในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ และตัวการร้ายไม่ได้มีเพียงไขมันอิ่มตัวหรือคอเลสเตอรอลเท่านั้น แบคทีเรียในลำไส้ของเราย่อยสารอาหารในเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า แอล-คาร์นิทีน (L-carnitine) ในการศึกษากับหนูครั้งหนึ่ง  การย่อยแอล-คาร์นิทีนกระตุ้นให้เกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแดง งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า  ระบบภูมิคุ้มกันในมนุษย์โจมตีน้ำตาลในเนื้อแดงที่เรียกว่า นิว5จีซี (Neu5Gc) ทำให้เกิดการอักเสบระดับต่ำในหนุ่มสาว  แต่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ในที่สุด “เนื้อแดงดีอยู่หรอกครับ ถ้าคุณอยากมีชีวิตอยู่ถึงแค่อายุ 45” เป็นคำแนะนำจากอาจิต วาร์คี แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตแซนดีเอโก ซึ่งเป็นผู้นำร่วมในการศึกษานิว 5 จีซี

การเปลี่ยนไปกินอาหารแปรรูปอันเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้เอง  มีส่วนทำให้เกิดโรคอ้วนและโรคที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ถ้าผู้คนส่วนใหญ่ในโลกกินผักผลไม้ในท้องถิ่นมากขึ้น แล้วกินเนื้อสัตว์สักเล็กน้อย ปลา และธัญพืชไม่ขัดขาว (อย่างเช่นอาหารเมดิเตอร์เรเนียน) และออกกำลังกายวันละหนึ่งชั่วโมง ก็น่าจะเป็นข่าวดีต่อสุขภาพของเราและต่อโลก.


หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:06:05

โบลิเวีย

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1264.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : ชาวซิมาเนแห่งโบลิเวียได้อาหารส่วนใหญ่จากแม่น้ำ ป่า และเรือกสวนไร่นาที่แผ้วถางจากผืนป่า



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1265.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : เศษสวะที่น้ำป่าพัดพามาขวางบริเวณน้ำตื้นของแม่น้ำมานิกีที่กัวเนย์ใช้เป็นที่อาบน้ำ
เงาผีเสื้อเหลืองกำมะถันปลายปีกส้มซึ่งพบทั่วไปในป่าแอมะซอนทาบลงบนแผ่นหลังของเขา
แม้จะอยู่ในวัยชรา ชาวซิมาเนส่วนใหญ่ยังผ่ายผอมจากการเดินป่าวันละหลายกิโลเมตรเพื่อหาอาหารมาปะทังชีวิต



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1266.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : โคเซ มาเยร์ กัวเนย์ วัย 78 ปี มองหากล้วยที่พร้อมจะตัดได้ใกล้ ชาโก หรือแปลงเกษตรขนาด 1.5 ไร่
ที่ผู้อาวุโส ชาวซิมาเนคนนี้กับเฟลิเป มาเยร์ เลโร ลูกชาย ช่วยกันแผ้วถางในป่าแอมะซอนของโบลิเวีย สมาชิกสี่รุ่นของครอบครัว
อาศัยผลไม้ ข้าวโพด และพืชผลอื่นๆที่ปลูกที่นี่เลี้ยงปากท้อง แต่อาหารที่พวกเขาถือว่ามีค่ามากที่สุดต้องออกหาเอง ได้แก่ ปลา ไก่ป่า และสัตว์ป่าอื่นๆ



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1267.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ในชุมชนอานาเชเร เด็กสาวเหลือบมองสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวของเธอนำกลับมาจากการออกไปหาอาหารในป่า
ฝักถั่วเหล่านี้คือผลของต้นอินกา พวกมันมีรสหวานและเป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ ชาวซิมาเน




หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:08:23

แทนซาเนีย

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1268.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : ชาวฮัดซาแห่งแทนซาเนียเป็นชนเผ่าเก็บของป่า ล่าสัตว์เต็มเวลาเผ่าสุดท้ายของโลก
พวกเขายังชีพด้วยสิ่งที่หาได้ ทั้งสัตว์ป่า น้ำผึ้ง และพืชผัก ซึ่งรวมถึงพืชหัว ลูกไม้ และผลเบาบับ



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1269.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : วานเดกับสามีชื่อโมโคอา ออกหาอาหารด้วยกัน เธอใช้ท่อนไม้ติดปลายมีดขุดหัวเผือกหัวมัน
ซึ่งเป็นอาหารหลักโดยเฉพาะในฤดูฝน ส่วนโมโคอาพกขวานเพื่อถากรังผึ้งจากต้นไม้ และใช้คันธนูกับลูกศรในการล่าสัตว์และป้องกันตัว



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1270.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : น้ำผึ้งแหล่งพลังงานสำคัญของชนเผ่าฮัดซาในแทนซาเนีย



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1271.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ลูกไม้อย่างเช่น กองโกโลบ (Grewia bicolor) ที่เห็นอยู่นี้ เป็นอาหาร
ที่ชาวฮัดซาเก็บมาจากป่า พวกเขามักกินทันทีมากกว่าจะเก็บไว้กินในภายหลัง หลังจากอิ่มอร่อยแล้ว
ชาวฮัดซาจะคายเมล็ดและหว่านลงบนพื้นบริเวณรอบๆ เพื่อให้ต้นอ่อนมีโอกาสเติบโตขึ้นทดแทน



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1272.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : พรานหนุ่มชาวฮัดซาสำรวจหุบเขายาเอดา (ขวา) ครอบครัวของพวกขาจะกินสัตว์ชนิดใดก็ตาม
ที่พรานเหล่านี้นำกลับบ้าน กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ที่ดินส่วนใหญ่ซึ่งเคยเป็นของเผ่าถูกคนเลี้ยงปศุสัตว์ครอบครอง
และทำให้สัตว์ป่าหนีหาย อีกทั้งยังตกเป็นของชาวนาที่ตัดฟันต้นไม้ซึ่งผึ้งอาศัยทำรังมาทำรั้ว




หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:10:04

กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก)

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1273.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : ชาวอินูอิตในกรีนแลนด์แทบไม่กินอย่างอื่นนอกจากเนื้อสัตว์ตลอดหลายชั่วอายุคน
เนื่องจากภูมิประเทศแร้นแค้นเกินกว่าพืชส่วนใหญ่จะงอกเงยได้ ปัจจุบัน แม้พวกเขาจะหาซื้อข้าวของ
จากตลาดได้หลากหลาย แต่ความชื่นชอบเนื้อสัตว์ยังคงอยู่



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1274.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ลูกบ้าน 64 ชีวิตในหมู่บ้านไอซอร์ทอกอันห่างไกลทางตะวันออกของกรีนแลนด์
ยังคงล่าสัตว์และจับปลา แต่ผสมผสานอาหารพื้นเมืองของชาวอินูอิตกับของที่ซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต
(อาคารใหญ่สีแดงด้านหน้า) อาหารจานโปรดคือ เนื้อแมวน้ำจิ้มซอสมะเขือเทศและมายองเนส



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1275.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : เด็กหญิงชาวอินูอิตป้อนตับชิ้นเล็กๆ จากแมวน้ำที่พ่อล่าได้ให้น้องชาย (ซ้าย)
ส่วนที่ไม่ได้กินทันทีจะถูกปล่อยให้แช่แช็งอยู่ในเพิงนอกบ้าน “ตู้แช่แข็ง” ของครอบครัวหนึ่ง (บน) มีเนื้อ ซี่โครง
และขากรรไกรของวาฬเพชฌฆาต และครีบหน้าของแมวน้ำเบียร์ด



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1276.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : สุนัขลากเลื่อนเลียครีบของวาฬเพชฌฆาต หลังจากชาวอินูอิตชำแหละเนื้อที่ได้มาจากการล่า
พวกเขาจะบริโภคบางส่วนทันที โดยเก็บส่วนที่เหลือไว้ในเพิงพัก เศษเนื้อและอื่นๆ เป็นอาหารให้สุนัขลากเลื่อน



หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:11:16

มาเลเซีย

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1277.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : อาหารเกือบทั้งหมดที่ชาวบาจาวในมาเลเซียกินนั้นได้จากการจับปลาและดำน้ำหามา
หลายคนอาศัยอยู่ในบ้านบนชายหาดหรือบนบ้านเสา ขณะที่อีกหลายคนอาศัยอยู่ในเรือ



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1278.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : อัลไพดาทาหน้าด้วยแป้ง เบดักเซอจุก หรือแป้งเย็นที่ทำจากข้าวและใบเตย
เธอพายเรือไปเยี่ยมเพื่อนที่อาศัยอยู่ในบ้านบนเสาค้ำ สาวน้อยและครอบครัวของเธอเป็นชนเผ่าที่รู้จักกัน
ในนาม บาจาวทะเล (Sea Bajau) เพราะอาศัยอยู่ใน เลปาเลปา หรือเรือบ้านตลอดทั้งปี



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1279.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ชาวประมงชาวบาจาวกำหมึกยักษ์ที่แทงได้ นอกจากอาหารจานหนึ่ง
ที่ปรุงจากมันสำปะหลังแล้ว อาหารของชาว บาจาวทั้งหมดล้วนมาจากทะเล ทารกชาวบาจาว (ซ้าย)
หลับปุ๋ยข้างหอยเป๋าฮื้อในกระทะซึ่งจะเป็นอาหารมื้อเย็นของครอบครัว



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1280.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ชาวบาจาวอาจสวมใส่เครื่องแต่งกายตะวันตกอย่างกางเกงยีนรัดรูปแต่พวกเขา
ยังคงจับปลาอย่างที่เคยทำมาตลอดหลายศตวรรษ พวกเขาจะออกเรือไปตามแนวปะการัง มองลงไปในน้ำจนกว่าจะเห็นปลา
จากนั้นจึงดำลงไปพร้อมฉมวก ในภาพนี้หนุ่มชาวบาจาวชื่อ ดิโด จับปลาหูช้างวัยเยาว์ได้



หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:13:01
อัฟกานิสถาน

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1281.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : ชาวคีร์กีซแห่งชุมเขาปามีร์ทางเหนือของอัฟกานิสถาน อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง
ซึ่งปลูกพืชผลไม่ขึ้น การดำรงชีพต้องพึ่งพาสัตว์ที่พวกเขารีดนม ฆ่าเพื่อเอาเนื้อ และแลกเปลี่ยนกัน



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1282.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : เค้กคูรุตตากแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมจามรีเคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ
เป็นเวลาหลายชั่วโมง แล้วขึ้นรูปตามภาชนะที่ใส่หรือปั้นเป็นเค้กด้วยมือ ก่อนนำไปวางบนเสื่อหรือหลังคา
เพื่อตากให้แห้ง เค้กที่แห้งและแข็งตัวดีสามารถเก็บไว้เป็นอาหารในฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่จามรีให้นมน้อย
พวกเขาจะแช่มันในน้ำร้อนเพื่อให้อ่อนนุ่มอีกครั้ง



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1283.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : หญิงชาวคีร์กีซใช้มือแยกขนจามรีและเศษผงอื่นๆ ออกจากน้ำนม
คนเลี้ยงจามรีในชิมชาลปามีร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ห่างไกลทางเหนือของปากีสถานและมีเขตแดนติดกับจีน
ดูแลฝูงจามรีของตน (ขวา) ในฤดูร้อน พวกเขาจะขุนจามรี แพะ และแกะให้อ้วนพีในทุ่งเลี้ยงสัตว์
เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อให้พวกมันมีชีวิตรอดและเลี้ยงผู้คนได้ตลอดช่วงฤดูหนาว



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1284.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : อายีม ข่าน สวมรองเท้าบู๊ตที่ยืมจากพ่อและคลุมผ้าคลุมศีรษะสีแดง
ตามประเพณีของเด็กหญิงชาวคีร์กีซที่ยังไม่ได้แต่งงาน เธอรีดนมจามรีของครอบครัววันละสองครั้ง
ลิ่มน้ำนมบางส่วนจะนำไปตากแห้งไว้กินในฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่จามรีให้นมน้อยลง



หัวข้อ: Re: วิวัฒนาการของอาหาร
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 04 กันยายน 2557 19:13:55

กรีซ

(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1285.jpg)
ภาพโดย : NGM Maps
คำบรรยายภาพ : ประชากรบนเกาะครีตซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของกรีซ กินอาหารหลากหลาย
ที่ได้มาจากสวน ฟาร์ม และทะเล พวกเขารู้จักและบริโภค “อาหารเมดิเตอร์เรเนียน” นี้มาช้านาน
ก่อนที่มันจะกลายเป็นอาหารยอดนิยมในปัจจุบัน



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1286.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : ที่หมู่บ้านมัวเรส บนเกาะครีต เกษตรกรฟานัวริส โรมานาคิส ตัดแต่งกิ่งต้นมะกอกของเขา
ในฤดูใบไม้ผลิเพื่อที่พวกมันจะได้ ออกผลมากขึ้น ครอบครัวโรมานากิสทำน้ำมันมะกอกซึ่งเป็นแหล่งที่มา
ของรายได้และเป็นอาหารหลักของพวกเขา พวกเขายังใช้พื้นที่ส่วนที่เหลือในสวนเพื่อปลูกมันฝรั่ง ถั่วฟาวา และพืชผักอื่น ๆ



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1287.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : อาหารกลางวันทั่วไปในชนบทของเกาะครีตอาจมีปลาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
หอยและผักจากไร่ รวมถึงไวน์ที่ทำจากองุ่น ในท้องถิ่น ที่หมู่บ้านไพรกอสซึ่งเห็นอยู่ทางด้านหลัง อะดอนิส กลิกอริส
(ซ้าย ด้านหน้า) เก็บผักชีฝรั่งพร้อมกับเด็กๆ และ เพื่อนๆ ครอบครัวของกลิกอริส อาศัยเก็บกินและขายผลไม้
จากในไร่ สวนมะกอก และไร่องุ่น



(http://www.ngthai.com/Images/Albums/Album-115-IMG-1288.jpg)
ภาพโดย : มัททีเยอ ปาเลย์
คำบรรยายภาพ : อาหารกลางวันของวันเสาร์เป็นมื้อที่ยาวนานและอุดมสมบูรณ์ที่สุด
ของครอบครัวโปปี และคอสตาส มอสโคนัส ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเมอโรนัสทางตอนกลางของเกาะครีต
ครอบครัวนี้เสิร์ฟไวน์โรเซ่บ่มเองและอาหารทำจากส่วนผสมในท้องถิ่น (จากซ้าย): ใบองุ่นชุบแป้งทอด,
ไข่เจียวสมุนไพร และมันฝรั่งทอดในน้ำมันมะกอก