[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 23 พฤศจิกายน 2553 12:45:55



หัวข้อ: พลูโต อาจกลับมาเป็น ดาวเคราะห์ หลังถูกปลดจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมาหลายปี
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 23 พฤศจิกายน 2553 12:45:55
เมื่อปี 2006 พลูโตถูกลดขั้นจาก "ดาวเคราะห์" ไปเป็น "ดาวเคราะห์แคระ" ถือได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ที่สุดในวงการดาราศาสตร์ระดับโลก การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่โตขนาดนี้ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสหภาพดาราศาสตร์สากลก็ยังยึดถือชื่อ​ "ดาวเคราะห์แคระพลูโต" เรื่อยมานับจากนั้น แต่จากข้อมูลใหม่ในปี 2010 นี้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมีความหวังที่จะได้เห็น "ดาวเคราะห์พลูโต" กลับมาอีกครั้ง

ย้อนความกลับไปสักหน่อย วันวานอันแสนชื่นที่วงการดาราศาสตร์เชื่อกันว่าระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์อยู่ 9 ดวงต้องมีอันพังทลายลงหลังจากการค้นพบ Eris ในปี ค.ศ. 2005 ในตอนนั้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่า Eris มีขนาดและมวลมากกว่าพลูโตอยู่เล็กน้อย แต่โคจรห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 15,000 ล้านกิโลเมตร ไกลกว่าวงโคจรของพลูโตเกือบสองเท่า ความจริงข้อนี้รบกวนจิตใจของนักดาราศาสตร์ผู้อ่อนไหวอย่างไม่อาจจะทานทน เพราะเริ่มเกิดความไม่แน่ใจว่าควรจะนับ Eris เป็นดาวเคราะห์ดีหรือไม่ แล้วถ้าอนาคตเกิดเจออะไรแบบ Eris เพิ่มขึ้นมาอีก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบสุริยะของเรามีดาวเคราะห์กี่ดวงกันแน่

ในปี 2006 สหภาพดาราศาสตร์สากล หรือ International Astronomical Union (IAU) จึงประกาศคำนิยามของดาวเคราะห์เสียใหม่ โดยกำหนดให้วัตถุในอวกาศที่จะเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะได้ต้อง

- โคจรรอบดวงอาทิตย์เท่านั้น ไม่ใช่โคจรอยู่วงโคจรของดาวเคราะห์หรือวัตถุในอวกาศอื่นที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อีกที
- มีขนาดใหญ่พอที่จะคงรูปร่างทรงกลมได้ด้วยแรงโน้มถ่วงของตัวเอง แต่ไม่ใหญ่จนเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันแบบดาวฤกษ์ได้
- มีอาณาบริเวณของวงโคจรแยกออกจากวัตถุในอวกาศอื่นๆ อย่าง "ชัดเจน" (clearing its neighborhood)

ข้อที่สำคัญที่สุดและเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือข้อสาม เนื่องจากพลูโตและดวงจันทร์ของมัน "ชารอน" ล่องลอยและดูเหมือนว่าจะโคจรไปกับวัตถุอื่นๆ ใน Kuiper Belt (กลุ่มวัตถุนำ้แข็งที่โคจรรอบระบบสุริยะ อยู่เลยจากวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป) อาณาบริเวณอย่างชัดเจนของพลูโตจึงเป็นที่น่ากังขายิ่งนัก

ดังนั้นตามคำนิยาม นักดาราศาสตร์เลยจัดกลุ่มใหม่ให้พลูโตอยู่ในประเภทที่เรียกว่า "ดาวเคราะห์แคระ" (Dwarf planet) ซึ่งคำว่า "ดาวเคราะห์แคระ" อันนี้ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับวัตถุอวกาศที่เกือบได้เป็นดาวเคราะห์แต่ขาดข้อกำหนดข้อสามข้อเดียว และเพื่อความสบายใจ Eris ก็ถูกเหมายกเข่งให้เป็นดาวเคราะห์แคระไปด้วยเลยในคราวเดียวกัน วงการดาราศาสตร์จะได้จบปัญหากวนใจไปตลอดกาล

แน่นอนว่าในตอนนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย หลายคนข้องใจกับคำนิยามนี้มากๆ บางคนก็อ้างว่ามีนักดาราศาสตร์เข้าร่วมโหวตคำนิยามนี้แค่ 5% เอง จะเอามาตัดสินใจแทนนักวิทยาศาสตร์ทั้งโลกได้อย่างไร




หัวข้อ: Re: พลูโต อาจกลับมาเป็น ดาวเคราะห์ หลังถูกปลดจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมาหลายปี
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 23 พฤศจิกายน 2553 12:48:29
ผ่านมา 4 ปี คำวิจารณ์ต่างๆ ก็เริ่มจะซาลงแล้ว จนกระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน 2010 ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง กระแส "ดาวเคราะห์พลูโต" ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะจากการวัดครั้งใหม่ Eris ดันมีขนาดเล็กกว่าพลูโต

ขนาดของ Eris ที่วัดได้ใหม่นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 2,340 กิโลเมตร เล็กกว่าพลูโตซึ่งมีขนาด 2,342 กิโลเมตร อยู่ตั้ง 2 กิโลแหนะ

ความต่าง 2 กิโลเมตรนี้ก็เกินพอแล้วที่จะทำให้ฝ่ายที่อยากให้พลูโตเป็นดาวเคราะห์ยกขึ้นเอามาเป็นข้ออ้างให้ IAU พิจารณาการปลดพลูโตใหม่อีกรอบ ทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุมีผลสนับสนุนความคิดตัวเอง

เริ่มจากฝ่ายที่เชียร์ "ดาวเคราะห์พลูโต" Alan Stern นักดาวเคราะห์วิทยาจาก Southwest Research Institute ให้ความเห็นถากถางคำนิยามของ IAU ว่า "ถ้าจะนับกันตามนี้เคร่งๆ ก็ยกเลิกดาวเคราะห์ไปให้หมดได้เลย เพราะไม่เห็นจะมีอะไรในระบบสุริยะที่จะมีอาณาบริเวณชัดเจนสักอัน"

อ้างถึง

If you take the IAU's definition strictly, no object in the solar system is a planet. No object in the solar system has entirely cleared its zone.

Stern ให้ความเห็นว่าข้อกำหนดอันที่สามมันตลกสิ้นดี ในระยะที่ห่างจากดวงอาทิตย์มากๆ จะเอาอะไรเป็นตัววัดอาณาบริเวณ มีแต่ดาวเคราะห์แบบใหญ่เบิ้มๆ เท่านั้นจึงจะพอกะประมาณอาณาบริเวณที่ว่าได้ ถ้าเอาโลกไปไว้ในวงโคจรของดาวยูเรนัส ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้เห็นอาณาบริเวณของโลก แล้วอย่างนี้จะถือว่าโลกไม่ใช่ดาวเคราะห์ได้หรือไม่?

Stern เสนอให้ยกเลิกข้อกำหนดข้อสามซะ แล้วก็รับพลูโตกลับเข้ามาเป็นวงศ์วาน "ดาวเคราะห์" แบบเดิม รวมไปถึง Eris และวัตถุอื่นๆ ที่ผ่านเกณฑ์สองข้อแรกด้วย

อีกเหตุผลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการวัดครั้งใหม่ก็คือ เรื่องความผิดปรกติของมวลของ Eris แม้ว่า Eris มีขนาดพอๆ กับพลูโต (หรือเล็กกว่านิดหน่อยตามมุมมองของฝ่ายโปรดาวเคราะห์พลูโต) แต่มวลของมันกลับมากกว่าพลูโตเกือบ 25% ความแตกต่างเช่นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่ามันอาจจะเป็นวัตถุคนละประเภทกัน ดังนั้นคำถามที่ตามมาคือ การจัด Eris กับพลูโตไว้ในกลุ่มดาวเคราะห์แคระเหมือนกันเป็นเรื่องสมควรหรือไม่?



หัวข้อ: Re: พลูโต อาจกลับมาเป็น ดาวเคราะห์ หลังถูกปลดจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมาหลายปี
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 23 พฤศจิกายน 2553 12:50:47
ฝ่ายที่จะเอา "ดาวเคราะห์แคระพลูโต" ก็มีความเห็นของเขาเหมือนกัน

อย่าง Mike Brown นักดาราศาสตร์จาก Caltech ผู้ค้นพบ Eris เชื่อว่าการตั้งพลูโตเป็นดาวเคราะห์ในตอนแรกเป็นความผิดพลาดของประวัติศาสตร์ ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่ามี Kuiper Belt อยู่ (พลูโตถูกค้นพบในปี 1930 ส่วน Kuiper Belt ค้นพบในปี 1992) Brown เชื่อว่าถ้ารู้มาตั้งแต่แรก คงไม่มีคนสติดีคนไหนเรียกพลูโตว่าเป็นดาวเคราะห์หรอก



อ้างถึง

It's just a funny historical accident that we found Pluto so early, and that it was the only thing known out there for so long. No one in their right mind would not have called it a planet back then, because we didn't know any better.



อีกคนที่อยากเห็นพลูโตเป็นดาวเคราะห์แคระ คือ Neil deGrasse Tyson ผู้อำนวยการหอดูดาว Hayden Planetarium ในนิวยอร์ค คิดว่า "พลูโตคงจะดีใจที่ในที่สุดมันก็ได้มีครอบครัวเป็นของตัวเองสักที" ไม่ต้องเป็นดาวเคราะห์ข้าวนอกนาอีกต่อไป


อ้างถึง


I group Pluto with the other icy bodies in the Kuiper Belt. I think it's happier there, actually. Pluto has family in the outer solar system.



บางคนคงจะรู้สึกเหนื่อยหนาระอาใจกับนักดาราศาสตร์สองก๊วนนี้เต็มทน จะเอาอะไรกันหนักกันหนากับแค่ชื่อ ขนาดพลูโตเองมันยังไม่เห็นออกมาโวยอะไร จริงๆ แล้ว "ชื่อ" ก็มีส่วนสำคัญอยู่พอสมควร ฝ่ายที่ชอบ "ดาวเคราะห์พลูโต" ก็อ้างว่าคำว่าดาวเคราะห์มันดึงดูดให้คนสนใจมากกว่า เพราะมันให้ความรู้สึกว่าเป็นเหมือนๆ กันกับโลก ฝ่ายที่ชอบ "ดาวเคราะห์แคระ" ก็ไม่อยากจะเพิ่มรายชื่อดาวเคราะห์ให้มันยาวเหยียดแบบไม่รู้จบรู้สิ้น ปัจจุบันนักดาราศาสตร์หลายคนเริ่มที่จะไม่อยากใช้คำว่า "ดาวเคราะห์" แบบเดิมอีกแล้ว เพราะคำนี้ใช้กันมาตั้งแต่โบราณกาลในยุคที่ความรู้ดาราศาสตร์ยังไม่มากเท่าปัจจุบัน ทางออกอีกทางที่น่าจะดีกว่าคือการจัดชนิดของวัตถุในอวกาศใหม่หมดเลยให้ครอบคลุมสิ่งที่เรารู้หรือจะรู้เพิ่มในอนาคต แยกไปเลยอันไหนเป็นดาวยักษ์ ดาวน้ำแข็ง ดาวปฐพี ดาวรูหนู ดาวรูแมว ฯลฯ แล้วไม่ต้องมาเถียงกันอีก อันไหนตรงอันไหนก็ยัดใส่อันนั้น




หัวข้อ: Re: พลูโต อาจกลับมาเป็น ดาวเคราะห์ หลังถูกปลดจากการเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมาหลายปี
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 23 พฤศจิกายน 2553 12:52:41
ตอนนี้โพลล์ความเห็นเรื่องจะเอาพลูโตกลับมาเป็นดาวเคราะห์หรือไม่ที่ SPACE.com ยังถือว่าสูสีกันอยู่พอควร ตามเวลาที่ผมเขียนอยู่ตอนนี้ (13.00 น. วันที่ 21 พ.ย. 2010 ตามเวลาประเทศไทย) คะแนนของฝ่าย "ดาวเคราะห์พลูโต" อยู่ที่ 44%, ฝ่าย "ดาวเคราะห์แคระพลูโต" 36%, และพวก "แทงกั๊กขอดูก่อน" มีคะแนนอยู่ที่ 20%



ดูผลโหวตได้ที่

http://www.space.com/common/forums/viewtopic.php?f=12&t=27043 (http://www.space.com/common/forums/viewtopic.php?f=12&t=27043)




ที่มา : http://jusci.net/node/1357 (http://jusci.net/node/1357)