[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 17:09:40



หัวข้อ: ฝันเห็นเสือ (จาก “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุง ริมโปเช)
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 17:09:40
(http://www.tigertemplecharity.org/images/column_1258203873/tibet1.gif)


ฝันเห็นเสือ


เราต้องเข้าใจก่อนว่าสรรพสิ่งทั้งมวลเป็นเพียงภาพฉายของจิต เมื่อเราตรวจสอบลงไป เราก็จะพบว่าสรรพสิ่งที่ดูเหมือนว่าอยู่ภายนอกและเป็นจริง ล้วนแล้วแต่เป็นเหมือนกับความฝัน เป็นเพียงภาพฉายของจิตและไม่เป็นจริงในตัวเอง จากนั้นเราก็ก้าวต่อไปยังขั้นตอนของการตรวจสอบธรรมชาติของจิตนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ขั้นตอนแรกนี้จึงได้ชื่อว่า “การรับรู้ว่าสิ่งต่างๆเป็นเพียงจิต” (snang ba sems su grub pa “snang ba” แปลว่า “ภาพ” “สิ่งปรากฏ” ส่วน “sems” แปลว่า “จิต”)

สำหรับเราแล้วการทำความเข้าใจความคิดนี้ด้วยตัวอย่างอาจจะง่ายขึ้น เมื่อพระอาจารย์ชาวอินเดียอตีศะเดินทางไปยังทิเบตเพื่อสอนธรรมะ ท่านก็ใคร่ครวญว่าจะสอนธรรมะให้แก่ชาวทิเบตอย่างไรดี เนื่องจากชาวทิเบตไม่คุ้นเคยกับคัมภีร์ทางธรรมของอินเดีย ท่านอยากจะสอนคำสอนเรื่องจิตรมาตรหรือคำสอนที่บอกว่ามีแต่จิตเท่านั้น ท่านจึงไต่ถามว่าชาวทิเบตรู้จักนักเล่นมายากลบ้างหรือไม่ และก็ได้คำตอบว่าไม่รู้จัก

ในประเทศอินเดียนั้นมีนักเล่นมายากลที่พบเห็นได้ทั่วไป เดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง เพื่อแสดงมายากลต่างๆ พระอาจารย์ในพระพุทธศาสนาในอินเดียต่างก็ใช้ตัวอย่างของนักเล่นมายากลนี้ เนื่องจากชาวพุทธมักอ้างตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปในแต่ละท้องที่มาสนับสนุนประเด็นที่ต้องการจะสอน การสอนธรรมะให้แก่ชาวบ้านในอินเดียว่าสิ่งต่างๆล้วนแล้วแต่เป็นของว่าง และภาพปรากฏของสิ่งเหล่านี้ไม่มีความจริงในตัวเอง พระอาจารย์มักจะอ้างการเล่นกลของนักมายากลเหล่านี้ เพื่อแสดงว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เหมือนกับมายากล เมื่อนักเล่นมายากลแสดงให้เราเห็นว่าเกิดมีมายาที่เราเห็นเป็นจริงเป็นจังอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันมิได้เป็นเช่นนั้น เช่นมายากลที่แสดงว่ามีผู้หญิงที่ถูกเลื่อยออกเป็นสองท่อน ฯลฯ ภาพที่เราเห็นไม่ใช่ความจริง แต่เป็นเพียงการเข้าใจผิดของจิตที่ทำให้เราคิดไปว่ามันเป็นจริง ชาวอินเดียก็จะสามารถเข้าใจประเด็นนี้ได้โดยง่ายโดยเปรียบกับตัวอย่างเช่นนี้

ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์อตีศะรู้ว่าชาวทิเบตไม่มีนักมายากลที่ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ ก็ถามว่าชาวทิเบตรู้จักฝันหรือเปล่า เมื่อท่านทราบว่าชาวทิเบตก็ฝันเหมือนกัน ท่านก็ตกลงจะเปรียบเทียบกับความฝัน ทุกคนที่เคยฝันจะเข้าใจว่าในขณะที่ฝันอยู่นั้น เรารู้ตัวอยู่ว่ามีสิ่งต่างๆอยู่มากมายที่ดูราวกับเป็นจริง ความดูเหมือนจริงนี้มีมากจนกระทั่งว่าเรามีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยอารมณ์ต่างๆราวกับว่ามันเป็นจริงจริงๆ ราวกับว่าภาพที่เราเห็นในความฝันนั้นดำรงอยู่ภายนอกตัวเรา และดูราวกับว่าตัวเรานั้นขึ้นอยู่กับภาพในฝันที่เราเห็นอยู่นั้นเอง เช่นเราฝันเห็นเสือวิ่งมาหาเรา เราก็ตอบสนองด้วยความกลัวและความปรารถนาจะหนี แต่เมื่อเราตื่นขึ้น เราก็รู้ว่าเพียงแค่ฝันไป และเสือนั้นก็ไม่เคยมีอยู่จริง เสือนั้นเป็นเพียงภาพฉายของจิตในฝันเท่านั้น ปฏิกิริยาของเราต่อภาพในความฝันนั้นเป็นความผิดพลาด จิตไม่ได้รับรู้ว่าจริงๆแล้วเป็นเพียงแค่ความฝัน คือเป็นเพียงภาพของเสือที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเองในความฝัน

ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐานจะต้องเรียนรู้ที่จะมองสรรพสิ่งทั้งมวลในขณะที่ตื่นอยู่ ว่าเป็นเหมือนกับภาพฉายของจิตที่เห็นในความฝัน แม้ว่าภาพปรากฏในขณะที่ตื่นอยู่จะดูเป็นจริงเป็นจังในสายตาของผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิ หรือผู้ที่ยังไม่ตรัสรู้ แต่ในสายตาของผู้ปฏิบัติสมาธิแล้วทั้งหมดไม่ต่างอะไรจากภาพในฝัน ผู้ปฏิบัติธรรมจะรับรู้ภาพเหล่านี้ว่าเป็นเพียงการที่จิตแสดงตัวออกมาแล้วก็เข้าไปยังขั้นตอนต่อไป ดังนั้นเราจึงรับรู้จิตว่าเป็นต้นกำเนิดของประสบการณ์ของทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่รู้สำนึก แล้วก็เข้าใจความสำคัญของการรับรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของจิต

(จาก “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุง ริมโปเช)

http://soraj.wordpress.com/2009/03/22/%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad/ (http://soraj.wordpress.com/2009/03/22/%e0%b8%9d%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b9%87%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad/)


หัวข้อ: Re: ฝันเห็นเสือ (จาก “การเห็นทางธรรมสามระดับ” ของเตชุง ริมโปเช)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 26 พฤศจิกายน 2553 18:47:58

ผมชอบท่อนนี้จัง

อ้างถึง

พระอาจารย์มักจะอ้างการเล่นกลของนักมายากลเหล่านี้
เพื่อแสดงว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เหมือนกับมายากล เมื่อนักเล่นมายากลแสดงให้เราเห็นว่าเกิดมีมายาที่เราเห็น
เป็นจริงเป็นจังอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันมิได้เป็นเช่นนั้น
เช่นมายากลที่แสดงว่ามีผู้หญิงที่ถูกเลื่อยออกเป็นสองท่อน ฯลฯ ภาพที่เราเห็นไม่ใช่ความจริง
แต่เป็นเพียงการเข้าใจผิดของจิตที่ทำให้เราคิดไปว่ามันเป็นจริง
ชาวอินเดียก็จะสามารถเข้าใจประเด็นนี้ได้โดยง่ายโดยเปรียบกับตัวอย่างเช่นนี้


ชอบการอุปมาอุปมัย มันเห็นภาพดีถ้าเทียบแบบนี้

อีกอย่างมายากลเป็นตัวเปรียบเทียบที่ดีกับเรื่องมายา