[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 05 ธันวาคม 2557 10:42:10



หัวข้อ: พระลือ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 ธันวาคม 2557 10:42:10
.
(http://toom.samroiwit.ac.th/yupacai/images/4.png)

พระลือ


พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย เป็นพระโอรสของพระยาเลอไทย เป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระนามทางการ พระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระนามรอง พระยาลิไทย พระยาลือไทย

ชาวสวรรคโลก ชาวสุโขทัย นับถือพระร่วง คือพ่อขุนรามคำแหง...และพระลือ คือพระลือไทย ยิ่งกว่ากษัตริย์สุโขทัยพระองค์อื่น

ในหนังสือ นามานุกรม พระมหากษัตริย์ไทย (จัดทำโดยมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กรมศาสนา พิมพ์ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๔) ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร เขียนไว้ว่า พระยาลือไทย ทรงเป็นพระมหาอุปราช อยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๓๓ ทรงพระนิพนธ์ไตรภูมิพระร่วง พ.ศ.๑๘๘๘
พ.ศ.๑๘๙๐ เสวยราชย์ ครองกรุงสุโขทัย

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต พ.ศ.๑๘๔๑ อาณาจักรสุโขทัยก็แตกสลาย เมืองต่างๆ เช่น เมืองคนที (กำแพงเพชร) พระบาง (นครสวรรค์) เชียงทอง (ระแหง ตาก) ตั้งตัวเป็นเอกราช มาถึงสมัยพระยาลือไทย ทรงเริ่มขยายอาณาจักรสุโขทัยออกไปใหม่ แต่ไม่กว้างขวางเหมือนเดิม  ทางทิศใต้ถึงพระบาง (นครสวรรค์) คนที (กำแพงเพชร) ทรงตีได้เมืองแพร่ ได้เมืองน่าน และเชาบุรี (ชวา หรือหลวงพระบาง)  ทรงมีเมืองเหล่านี้เป็นบริวาร เริ่มแต่สระหลวง สองแคว (พิษณุโลก) ทางทิศตะวันออกของสุโขทัย เวียนตามเข็มนาฬิกาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่อไปทางทิศใต้ ถึงเมืองปากยม (พิจิตร)  พระบาง (นครสวรรค์)  ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม (กำแพงเพชร) กวาดไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ กลับไปทิศตะวันออก ซึ่งรวมเมืองราด สะค้า ลุมบาจาย (น่าจะอยู่แถวอุตรดิตถ์ ไม่ใช่เพชรบูรณ์ เพราะต้องอยู่เหนือสระหลวงสองแคว ขึ้นไป)

ตามพงศาวดารโยนก และชินกาลมาลี– ปกรณ์ว่า อยุธยายึดชัยนาท (พิษณุโลก) ได้ พระยาลิไทยทูลขอคืนจากอยุธยาได้ แล้วทรงไปครองชัยนาทแต่นั้นมา  อาจสันนิษฐานได้ว่า พ.ศ.๑๙๐๔ พระยาลือไทยทรงผนวช อยุธยาจึงมายึดพิษณุโลก พระยาลือไทยทรงขอพิษณุโลกคืนได้ จึงทรงครองพิษณุโลกเป็นเมืองหลวง จนสิ้นรัชกาล เมื่อ พ.ศ.๑๙๑๑

จารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ.๒๐๕๒ กล่าวถึงศาสนาในรัชกาลนี้ว่า มี ๑ พุทธศาสตร์ ๒ ไสยศาสตร์ และ ๓ เทพกรรม จารึกหลักอื่น นอกจากไสยศาสตร์ ยังมีคำว่า ไศพาคม ซึ่งหมายถึงศาสนาพราหมณ์  แต่ไม่มีใครทราบว่า พระเทพกรรมหมายถึงอะไร อาจจะเป็นเรื่องถือผี ถือเทพารักษ์ ทางล้านนาสมัยนั้น นับถือพวกเสือ เสื้อนา เสื้อฝาย ฯลฯ สุโขทัย มีผีพระขพุง

อนึ่ง ก่อนไปคล้องช้าง ต้องมีพิธีบวงสรวง พระเทพกรรม ได้แก่พระคเณศ และพระขันธกุมาร

พระยาลือไทย ทรงศึกษาศาสนาพุทธอย่างลุ่มลึก ทรงพระปรีชาสามารถในศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ เช่น ทรงรู้จักชื่อดาวกว่าพันดวง ทรงเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ และพฤติบาศ ทรงคำนวณวันเดือนปีที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ วันสิ้นศาสนา วันสิ้นกัลป์ ถูกต้องตามพระคัมภีร์  ทรงแก้ไขปฏิทินให้ถูกต้อง ทรงปัญจศีลทุกเวลา ทรงพระไตรปิฎก ทรงพร่ำสอนพระวินัย พระอภิธรรมให้ภิกษุสงฆ์ ทรงก่อเจดีย์ ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงส่งคนไปจำลองพระพุทธบาท ที่สุมนกูฏ บรรพต มาประดิษฐานไว้บนเขา ในเมืองที่พระองค์ทรงขยายอาณาเขต

พ.ศ.๑๙๐๔ ทรงอัญเชิญพระมหาสามี สังฆราชจากนครพัน (เมาะตะมะเก่า) มาจำพรรษาในป่ามะม่วง และพระองค์ทรงพระผนวชในปีนั้น เมื่อทรงลาสิกขา เสด็จไปประทับที่พิษณุโลก

ตำนานมูลศาสนากล่าวว่า พระสงฆ์ลัทธิลังกาวงศ์ (เก่า) นำศาสนามาจากนครพัน และถือเอาเมืองพิษณุโลก เป็นศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปยังอโยธยา ชวา (หลวงพระบาง) น่าน สุโขทัย และเชียงใหม่

พระยาลือไทยทรงอุปถัมภ์ศาสนาอื่นด้วย พ.ศ.๑๘๙๒ เสด็จไปประดิษฐานรูปพระมเหศวร รูปพระวิษณุ ในหอเทวาลัยมหาเกษตรในป่ามะม่วง ทรงยึดหลักปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อเชลยศึก เมื่อประชาชนสิ้นชีวิต ก็ให้ทรัพย์สมบัติตกเป็นของลูกและน้อง ทรงดำริให้ยกพนังจากพิษณุโลกมาถึงสุโขทัย เพื่อการชลประทาน และการประมงของประชาชน  การควบคุมกำลังพลของสุโขทัย เป็นแบบเดียวกับวิธีของล้านนา ที่ปรากฏในมังรายศาสตร์ กล่าวคือ ไพร่สิบคน ให้มีนายสิบควบคุม นายร้อยหรือหัวปากควบคุมนายสิบ ๑๐ คน และมีหัวพันหรือเจ้าพัน หัวหมื่นหรือเจ้าหมื่น เจ้าแสน ควบคุมขึ้นไปตามลำดับชั้น

“การปกครองกันตามลำดับชั้นนี้ ไทอาหม ก็ใช้” อาจารย์ประเสริฐว่า

ศิลปะทางพุทธศาสนา ในรัชกาลพระยาลือไทย คือพระพุทธบาทจำลอง มาจากเขาสุมนกูฏในลังกา พระพุทธรูปปางลีลา และพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  

จารึกหลักที่ ๔๒ กล่าวถึงการสร้างพระพิมพ์ จำนวนเท่ากับอายุของผู้สร้าง เป็นจำนวนวัน เช่น แม่เฉา อายุ ๗๕ ปี สร้างพระพิมพ์ ๒๗,๕๐๐ องค์ จึงมีพระพิมพ์ ให้คนไทยได้บูชาทั่วถึงกันมา จนทุกวันนี้.


ข้อมูล : 'พระลือ' โดย บาราย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ภาพ :
toom.samroiwit.ac.th