[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 04 มกราคม 2558 09:10:07



หัวข้อ: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี -ตามรอยอารยธรรมบ้านผือ ตอนที่ 2
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 มกราคม 2558 09:10:07
.

ในอดีตเมื่อราว ๒,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ดินแดนส่วนหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน เป็นที่ก่อกำเนิดของอารยธรรมมนุษย์ในสมัยโบราณ
ที่สร้างสรรปฏิมากรรมอันล้ำค่าจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีตามอยู่ตามธรรมชาติ  
กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่ยังปรากฏร่องรอยทางโบราณคดี  
อันยากจะหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทน  ควรค่าแก่การศึกษาพัฒนาการทางสังคมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
จึงสมควรร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถานและป่าเขาบริเวณนี้ไว้สืบไป

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/23920541298058_1.JPG)

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
PHU PHRA BAT HISTORICAL PARK
บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
เรื่อง-ภาพ : kimlehg

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีชื่อว่า “ป่าเขือน้ำ”   ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๓,๔๓๐ ไร่   อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นอกจากจะมีธรรมชาติอันสวยงาม ยังปรากฏร่องรอยของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว ๒,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว  จากการสำรวจพบร่องรอยการดัดแปลงโขดหินและเพิงผาธรรมชาติให้กลายเป็นที่อยู่อาศัย หรือศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ของผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดี ลพบุรี สืบต่อกันมาจนถึงวัฒนธรรมล้านช้าง

แหล่งโบราณคดีนี้ ถูกผูกเป็นเรื่องราวในนิทานพื้นบ้าน ‘นางอุสากับท้าวบารส’  นิทานเรื่องนี้เป็นที่รู้จักกันดีของผู้คนในภาคอีสานและในประเทศลาว ซึ่งได้เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน  เพิงหินที่มีลักษณะแปลกต่างๆ ได้รับการตั้งชื่อตามตำนานนิทาน เช่น กู่นางอุสา (หรือหอนางอุสา)  คอกม้าท้าวบารส วัดพ่อตา วัดลูกเขย  ซึ่งสภาพทางภูมิศาสตร์ของสถานที่ในเรื่องเล่าล้วนสอดคล้องกับนิทานดังกล่าวอย่างน่าประหลาด  ชาวบ้านจึงเชื่อว่านิทานพื้นบ้านของตนนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต ไม่ใช่นิยายที่ผูกขึ้นอย่างลอยๆ

ใต้เพิงผาอีกหลายสิบแห่ง ยังพบภาพเขียนสีที่มีคุณค่าทางศิลปะและโบราณคดีอย่างยิ่ง  หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าในอดีตดินแดนแถบนี้เป็นที่เกิดของอารยธรรมที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่งของโลก จะหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทนอีกไม่ได้ หากมิได้รับการดูแล สงวนรักษา คงจะถูกทำลายไปโดยคนที่ไม่รู้คุณค่าหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จึงควรที่จะจัดให้เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีผู้รับผิดชอบดูแลรักษาอย่างจริงจัง  

ด้วยเหตุนี้ กรมศิลปากรจึงขอใช้พื้นที่ ป่าสงวนจำนวน ๓,๔๓๐ ไร่ จากกรมป่าไม้ โดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถานภูพระบาท ไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๘ ตอนที่ ๖๓ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๔  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/11132047904862_2_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/52664344219697_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/59960898177491_9.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91863470731510_6.JPG)
บ่อน้ำธรรมชาติ มีความลึก ๘๐ เซนติเมตร น้ำบ่อนี้ไม่แห้งมีน้ำขังตลอดปี
ด้านหลังคือ หอนางอุสา หรือกู่นางอุสา ต้นเค้าของตำนานพื้นบ้าน เรื่อง นางอุสากับท้าวบารส


.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30706410151388_b.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91479176986548_7.JPG)

วัดพ่อตา
“วัดพ่อตา” เป็นเพิงหินที่ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป
และประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา โดยการสกัดหินก้อนล่างให้เป็นห้องโล่ง
อยู่รอบแกนหินที่เหลือไว้รองรับเพิงหลังคาด้านบน บนพื้นห้องใต้แนวขอบชายคา
พบร่องรอยการเจาะหลุมกลมหลายหลุม สันนิษฐานว่าเป็นที่ปักเสาไม้
เพื่อช่วยค้ำยันก้อนหินที่เป็นเพิงหลังคา หรือเป็นเสาไม้โครงสร้างที่ใช้ยึดผนังห้องที่ทำด้วยไม้


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/45500764623284_10.JPG)
ร่องรอยคล้ายพระพุทธรูป ปรากฎที่ผนังแกนหิน

ที่ผนังแกนหินบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีร่องรอยการระบายด้วยสีแดง และเว้นพื้นที่บางส่วนไว้
ทำให้เห็นเป็นรอยคล้ายพระพุทธรูป
สันนิษฐานว่าแต่เดิมคงมีพระพุทธรูปสลักหินประดิษฐานไว้โดยรอบแกนหิน
และมีการระบายสีแดงบนผนังด้านหลังโดยไว้บริเวณที่องค์พระพุทธรูปบังอยู่
แต่ปัจจุบันพระพุทธรูปได้ถูกเคลื่อนย้ายและแตกหักไปเป็นส่วนใหญ่
ยังมีชิ้นส่วนเหลืออยู่จำนวนหนึ่งแต่ไม่สมบูรณ์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30338565674092_c.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18152786708540_8.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/71383285067147_a.JPG)
บริเวณนี้ สันนิษฐานว่าเป็นที่บำเพ็ญเพียรวิปัสสนามาแต่โบราณกาล

ถัดไปทางทิศใต้มีเพิงหินขนาดเล็กเรียกว่า “โบสถ์วัดพ่อตา” หรือ “ถ้ำพระวัดพ่อตา
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ๓ องค์ ซึ่งสร้างโดยชาวบ้านท้องถิ่น
ก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามาดูแล เพิงหินนี้มีร่องรอยการเจาะสกัดหินก้อนล่างเป็นคูหามาแต่เดิม
คงใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือบำเพ็ญเพียรวิปัสสนามาแต่สมัยโบราณ
แต่ผนังด้านนอกได้ถูกต่อเติมขึ้นในภายหลัง

นิทาน อุสา-บารส เล่าถึงวัดพ่อตาว่า เป็นสถานที่ซึ่งท้าวกงพานสร้างขึ้น
เพื่อแข่งขันกับท้าวบารสที่สร้างวัดลูกเขย ท้าวกงพานพ่ายแพ้
ในกลอุบายของฝ่ายท้าวบารส จึงสร้างวัดไม่สำเร็จ



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/70540727468000_10.JPG)
พระพุทธรูปยืนองค์ในสุด (ซึ่งอาจเป็นพระโพธิสัตว์)
มีร่องรอยการสลักหิน ตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นผ้าโจงกระเบนสั้น ในแบบศิลปะเขมร

ถ้ำพระ
“ถ้ำพระ” เป็นเพิงหินธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงเป็นสถานที่
ประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ตั้งแต่ช่วงที่รับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรโบราณ

ในปัจจุบันเพิงหินหลังคาได้หักพังลง เผยให้เป็นประติมากรรมสลักหินที่แกนแท่งหิน
ด้านในของถ้ำพระทางด้านทิศตะวันตก สลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งภายในซุ้ม
จำนวน ๒ ซุ้ม แต่เหลือพระพุทธรูปในซุ้มใหญ่เพียงซุ้มเดียว
ด้านบนเป็นแถวพระพุทธรูปยืนเรียงกันอยู่ ด้านทิศเหนือของแกนและส่วนผนังห้อง
ด้านทิศตะวันออกสลักเป็นภาพพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่งอีกหลายองค์
แต่ชำรุดแตกหักไปมากแล้ว พระพุทธรูปยืนองค์ในสุด (ซึ่งอาจเป็นพระโพธิสัตว์)
มีร่องรอยการสลักหิน ตรงส่วนของผ้านุ่งเป็นผ้าโจงกระเบนสั้นในแบบศิลปะเขมร
ถัดจากองค์พระยืนเข้าไปด้านในสลักเป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ ๑ องค์
แต่ส่วนของพระเศียรถูกเพิงหินด้านบนพังทับชำรุดไปแล้ว

ด้านนอกของเพิงหินพบร่องรอยหลุมเสา สันนิษฐานว่าเดิมอาจมีการเสริมหลังคาเครื่องไม้
ออกมาด้านนอก และมีร่องรอยการปักใบเสมาไว้ตามทิศต่างๆ ปัจจุบันยังเห็นได้อยู่ ๖ ทิศ


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57167944850193_d.JPG)
บริเวณคอกม้าท้าวบารสและคอกม้าน้อย

บริเวณคอกม้าท้าวบารสนี้มีก้อนหินตั้งซ้อนกันโดยธรรมชาติ
รอบๆ บริเวณยังคงปรากฏเสมาหินทรายขนาดใหญ่ล้มนอนอยู่กระจัดกระจาย
ระหว่างหินก้อนบนและล่างมีช่องว่างเป็นโพรงที่ถูกมนุษย์ดัดแปลงโดยสกัดฝาผนังให้ลึกเข้าไป
สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นที่ประกอบพิธีสังฆกรรมทางพุทธศาสนาของคนโบราณมาก่อน 
ชาวบ้านเชื่อกันว่าท้าวบารสได้ผูกม้าไว้ที่เพิงหินนี้ ก่อนไปพบนางอุสา แต่จากหลักฐาน
ทำให้สรุปได้ว่าบริเวณนี้คงเป็นเขตศาสนสถาน หรือใช้เป็นที่พักอาศัยของคนหรือพระสงฆ์
คงไม่ใช่คอกม้าโบราณตามจินตนาการของนิทานพื้นบ้านอย่างแน่นอน


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91236300932036_1_1.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32949763246708_1_2.JPG)
บ่อน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค เกิดจากการสกัดหินเป็นรูปสี่เหลี่ยม
มีความลึก (ถ้าจำไม่ผิดมากกว่า 10 เมตร)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/61243079064620_1_3.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/18879634597235_1_4.JPG)
ลักษณะของหินบนภูพระบาท มีสีสันต่างๆ เช่น แดง น้ำตาล เหลือง ฯลฯ
คนโบราณใช้วาดรูปต่างๆ ปรากฎอยู่ทั่วไปตามผนังเพิงหินในอุทยานประวัติศาสตร์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97599895505441_1_5.JPG)
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ประจำอุทยานประวัติศาสตร์ท่านนี้เป็นอย่างสูงค่ะ
ที่กรุณานำชมสถานที่และให้ข้อมูลความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและการนำมาเผยแพร่

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/45833819483717_aa.JPG)
มีเวลาเข้าไปเที่ยวชม กรุณาไปกับผู้นำทางท่านนี้ค่ะ
(ทราบว่าอุทยานมีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ฯ เพียง 2 ท่าน)


หัวข้อ: Re: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี -ตามรอยอารยธรรมบ้านผือ ตอนที่ 2
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2558 18:31:39
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/20858229862319_2.JPG)
กู่นางอุสามีรูปลักษณ์คล้ายหอคอย ตั้งอยู่บนลานหินกว้างใหญ่ มองเห็นแต่ไกล
ลักษณะโครงสร้างเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งซ้อนกันโดยธรรมชาติ หินก้อนบนยื่นล้ำออกมา ใช้เป็นหลังคา
ใต้หลังคาถูกมนุษย์สกัดหินทำเป็นห้องขนาดเล็ก ด้านข้างโดยรอบเอาหินมาก่อเป็นกำแพงอัดด้วยดินเหนียว
มีหน้าต่างขนาดเล็ก มีประตูทางเข้าออก โดยใช้บันไดพาดสำหรับขึ้นลง  ชาวบ้านเชื่อกันว่า ‘กู่นางอุสา’
เคยเป็นที่อยู่อาศัยของนางอุสาขณะเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ กับฤๅษีจันทา

นิทานพื้นบ้านเรื่องนางอุสา
ที่มา : หนังสือร่องรอยจากอดีต โดย สุมิตร ปิติพัฒน์
ผู้พิมพ์ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๒๐

นางอุสาเป็นธิดาของเจ้าเมืองพาน ชื่อพญากงพานและนางแสงเดือน เมื่อนางเจริญวัยพอที่จะได้รับการศึกษาแล้ว พญากงพานได้นำนางไปฝากกับฤๅษีจันทาแต่เพียงลำพัง เพื่อเล่าเรียนศิลปวิทยาต่างๆ บิดานางได้สร้างหอคอยสูงให้อยู่เพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายในป่า  นางอุสาได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่กับฤๅษีจันทาเป็นเวลาหลายปี จนนางเติบใหญ่อยู่ในวัยสาวอายุได้ ๑๖ ปี นางมีผิวพรรณผ่องใสและรูปร่างอ่อนช้อยงดงามยิ่ง หากผู้ใดพบเห็นก็จะหลงใหลในรูปโฉมของนาง ดังคำกลอนอีสานที่ผูกไว้ว่า
     “อุสาน้อยงามยิ่งสมจิตร
     ผิดชนเหยียบพื้นดินเดินพื้น
     ไผผู้มืนตาพอเห็นพระนางดิ้นด่าวดั่น
     แม้นพระจันทร์อยู่บนฟ้ากะรองเจ้าเทื่อสาม
     งามหยดย้อยเสียงจาเว่าอ่อนหวาน
     น่าสะออนวาดเจ้างามซ้อยดังอรุณ”

คำแปล
ไผ=ใคร  มืนตา=ลืมตา  พ้อ=พบเห็น  กะรอง=ก็เป็นรอง  เทื่อสาม=สามเท่า  จาเว่า=พูดจา  น่าสะออน=น่ารัก  วาด=ท่าที กริยา  ช้อย=อ่อนช้อย

นางอุสาอยู่ในป่ากับฤๅษีเพียงผู้เดียวไม่ค่อยได้พบปะกับผู้คนจึงรู้สึกเหงาและว้าเหว่ ประกอบกับอยู่ในวัยสาวพอที่จะมีคู่ครองได้ จึงอยากมีคู่ไว้แอบอิง มาวันหนึ่งนางได้ไปเก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยและเขียนเป็นกลอนภาษาอีสานเสี่ยงทายลงบนกลีบดอกไม้อย่างวิจิตรบรรจงว่า
     “จากที่เคหังห่องหอดินถิ่นน้องอยู่
     เทิงภูพานย่านกว้างดอยด้าวแดนไพร
     ในหทัยของน้องคงอยากมีสองซ้อนตู
     อยู่ผู้เดียวอ้ายภายนี้จึงแต่งสาส์น
     ข้าขอวานพระอินทร์เจ้าเอาสาส์นนำส่ง
     จุดประสงค์ผู้เคยได้กล่อมกลิ้งซ้อนฮ่วมมา
     อย่าสิคาขัดข้องตามนทีให้เถิงที่
     คันบุญมีขออ้ายได้ฟังฟ้าวสาวก้าวฮอดเฮียม”

คำแปล
เคหัง=ที่พัก  ห่อ=ห้อง  ย่าน=สถานที่  สองซ้อนตู=มีคู่สอง  อย่าสิคา=อย่าได้ติดขัด  เถิงที่=ถึงที่  คัน=ถ้า  ฟ้าว=รีบ ฮอด=มาถึง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57451658282015_3.JPG)

นางอุสาได้นำพวงมาลัยใส่ลงในกระทง ซึ่งประดิษฐ์เป็นรูปหงส์อย่างสวยงาม แล้วนำกระทงลอยไปตามลำธารที่ไหลผ่านหอคอย พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้กระทงนี้ลอยไปพบกับเนื้อคู่ โดยหวังว่าเมื่อเขาได้อ่านสาส์นนี้แล้วก็จะเดินทางติดตามหานาง กระทงอธิฐานได้ลอยไปตามกระแสน้ำจากลำธารลงไปยังแม่น้ำโขง และลอยไปถึงเมืองพะโค ซึ่งมีท้าวมาลัยและนางคำเขื่อนแก้วเป็นผู้ครองเมือง ขณะนั้นท้าวบารสลูกเจ้าเมืองพะโคกำลังอาบน้ำอยู่แม่น้ำโขงพอดี กระทงอธิษฐานได้ลอยมาวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวท้าวบารส ทำให้ท้าวบารสเกิดความสงสัยจึงนำกระทงนั้นมาดู และได้พบสาส์นเสี่ยงรักของนางอุสา ท้าวบารสบังเกิดความเห็นใจและใคร่ที่จะได้พบนางอย่างมาก จึงได้ขออนุญาตจากบิดาและมารดาออกเสาะแสวงหานาง ท้าวบารสขี่ม้าออกเดินทางไปยังเทือกเขาภูพานอันเป็นที่พำนักของนางอุสา เมื่อเข้ามาใกล้บริเวณหอนางอุสาในตอนพลบค่ำก็ได้ยินเสียงร้องเพลงชมเดือนหงายของนางอุสา ท้าวบารสจึงผูกม้าไว้ที่เพิงหินแห่งหนึ่ง และเดินตามเสียงนั้นไปจนกระทั่งถึงตัวนาง ก็เกิดความรักใคร่หลงใหลในรูปโฉมของนาง หลังจากได้ซักไซร้และไต่ถามความกันจนเข้าใจกันดีแล้ว ต่างได้ตกลงปลงใจที่จะเป็นคู่ครองของกันและกัน ทั้งคู่จึงแต่งงานกันโดยลำพังไม่ได้ปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ พญากงพานได้ทราบข่าวการแต่งงานของตนกับท้าวบารส ก็บังเกิดความไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงพยายามทัดทานและขัดขวาง แต่นางอุสาก็มิได้เชื่อฟัง พญากงพานจึงได้แต่แค้นใจและคิดหาทางกำจัดลูกเขยเสีย พญากงพานจึงท้าลูกเขยให้สร้างวัดแข่งกันแต่ต้องสร้างให้เสร็จภายในครึ่งคืน โดยเริ่มลงมือสร้างหลังพระอาทิตย์ตกดินและให้เสร็จก่อนดาวเพชรหรือดาวประกายพฤกษ์ขึ้น หากใครสร้างเสร็จไม่ทันถือว่าแพ้พนัน จะถูกตัดศีรษะ ท้าวบารสยอมรับการท้าของพ่อตา ในการก่อสร้างวัดนั้น คู่แข่งขันพร้อมด้วยบริวารของแต่ละฝ่ายได้ลงมือสร้างทันทีหลังพระอาทิตย์ตก แต่ฝ่ายท้าวบารสมีบริวารน้อยกว่าเกรงว่าจะแพ้พนัน จึงได้ออกอุบายให้บริวารจุดเทียนขึ้นผูกติดกับปลายไม้บนยอดเขาก่อนดาวเพชรขึ้น เพื่อลวงให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจว่าดาวเพชรขึ้นแล้วจะได้หยุดสร้างวัด ด้วยความไม่รู้เท่าทันอุบายของลูกเขย พญากงพานจึงสั่งให้หยุดการก่อสร้างวัดของตน ส่วนท้าวบารสยังคงสร้างวัดต่อไปจนเสร็จ จึงเป็นผู้ชนะการแข่งขันสร้างวัด พญากงพานเสียรู้ท้าวบารส จึงถูกท้าวบารสตัดศีรษะตามสัญญา ต่อจากนั้นท้าวบารสและนางอุสาจึงได้ครอบครองเมืองพานและอยู่กินด้วยความสุขสืบมาจวบจนสิ้นอายุขัย

นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ได้ให้คติสอนใจว่า “ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว” นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นค่านิยมของชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเรื่องการใช้สติปัญญาและความเฉลียวฉลาด เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ การใฝ่หาความรู้และวิทยาการ การมีความรักและเลือกคู่ครองแบบเสรี ฯลฯ ซึ่งอาจแตกต่างไปจากค่านิยมของคนไทยในภาคอื่นๆ ชาวบ้านแถบนี้มีความนิยมนิทานเรื่องนี้มาก และได้เรียกชื่อสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงวัดพระพุทธบาทบัวบก


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57042505178186_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74650555062625_7.JPG)
เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานผู้โพสต์ มีความสูง 185 เซนติเมตร
ยืนข้างเสมาที่สกัดจากหินในบริเวณเทือกเขาภูพาน และมีอยู่จำนวนมาก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97082395396298_8.JPG)


หัวข้อ: Re: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 มกราคม 2558 18:45:31
.

ตำนานนิทานพื้นบ้านเรื่อง นางอุสาท้าวบารส
พิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81843633825580_usaa_baars.jpg)
ภาพจาก : นิตยสารกรมศิลปากร

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "อุสา-บารส"

นิทานพื้นบ้านเรื่อง "อุสา-บารส" เป็นนิทานที่ผู้คนในท้องถิ่นได้นำเอามาตั้งชื่อโบราณสถานที่ต่างๆ บนภูพระบาท การเที่ยวชมโบราณสถานบนภูพระบาทจึงควรต้องรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านเรื่องนี้ เพื่อจะได้เข้าใจที่มาของชื่อตลอดจนทราบถึงคติความเชื่อของชุมชน

            มีเมืองใหญ่เมืองหนึ่งตั้งอยู่บริเวณภูพระบาทชื่อ เมืองพาน มีท้าวกงพานเป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้ไปขอนางอุสา (เป็นผู้เกิดมาจากดอกบัวบนเทือกเขา และพระฤๅษีจันทาผู้เป็นอาจารย์ของท้าวกงพานได้นำมาเลี้ยงไว้) มาเป็นราชธิดา นางอุสาเป็นผู้มีความงามเป็นเลิศ และมีกลิ่นกายหอมกรุ่น เมื่อเติบใหญ่ได้มีเจ้าชายหลายเมืองมาสู่ขอ แต่ท้าวกงพานไม่ยินยอมยกให้ผู้ใด และด้วยความหวงแหนจึงได้สร้างตำหนักเป็นหอสูงไว้บนภูเขา เพื่อให้นางอุสาอยู่อาศัยขณะเรียนวิชากับฤๅษีจันทาผู้เป็นอาจารย์
             วันหนึ่งนางอุสาไปเล่นน้ำที่ลำธารใกล้ตำหนัก นางได้เก็บดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยรูปหงส์และลอยน้ำไปพร้อมเสี่ยงทายหาคู่ พวงมาลัยได้ลอยไปจนถึงเมืองปะโคเวียงงัวที่มีท้าวบารสเป็นโอรสของเจ้าเมือง ท้าวบารสเก็บพวงมาลัยได้จึงออกตามหาเจ้าของจนถึงเขตเมืองพาน
             ท้าวบารสและบริวารได้ขี่ม้าจนถึงหินก้อนหนึ่ง ม้าก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระองค์จึงหยุดพักม้าไว้ ส่วนบริวารก็แยกไปผูกม้าที่หินอีกก้อนหนึ่ง ท้าวบารสได้เดินเที่ยวป่าพบนางอุสาที่กำลังอาบน้ำอยู่ และรู้ว่าเป็นเจ้าของพวงมาลัยทั้งคู่เกิดความรักและลักลอบได้เสียกันโดยที่ท้าวกงพานไม่รู้ ต่อมาท้าวกงพานทราบเรื่อง ก็ทรงพิโรธจะประหารท้าวบารส แต่เสนาอำมาตย์ห้ามไว้เพราะเกรงฤทธิ์เดชพระราชบิดาของท้าวบารส ท้าวกงพานจึงคิดอุบายให้แข่งขันสร้างวัดในหนึ่งวันให้แล้วเสร็จ
             โดยเริ่มนับตั้งแต่เช้าจนดาวประกายพรึก (ดาวเพ็ก) ขึ้น ผู้ใดสร้างไม่เสร็จต้องถูกตัดเศียร ท้าวกงพานได้เกณฑ์ไพร่พลจำนวนมากมาสร้างวัดที่เมืองกงพาน ส่วนท้าวบารสมีบริวารเพียงเล็กน้อยที่มาด้วยจึงสร้างได้ช้ากว่า พี่เลี้ยงนางอุสาจึงคิดหาวิธีช่วยโดยให้ท้าวบารสนำโคมไฟไปแขวนบนยอดไม้ใหญ่ในเวลาดึก ฝ่ายพวกเมืองพานมองเห็นคิดว่าดาวขึ้นแล้วจึงหยุดสร้างวัด ส่วนท้าวบารสก็ได้เร่งสร้างวัดของตนเองจนแล้วเสร็จ เมื่อเป็นดังนี้ท้าวกงพานจึงเป็นฝ่ายแพ้ และถูกตัดเศียรสิ้นชีพไป
            ต่อมาท้าวบารสได้พานางอุสากลับเมืองปะโค แต่เนื่องจากท้าวบารสมีชายาอยู่แล้วจึงถูกชายาเหล่านั้นกลั่นแกล้ง โดยไปสมคบกับโหราจารย์ให้ทำทายว่าท้าวบารสมีเคราะห์ต้องออกเดินป่าผู้เดียวเป็นเวลาหนึ่งปี จึงจะพ้นเคราะห์ ท้าวบารสก็ออกเดินป่า ทิ้งนางอุสาไว้ที่เมืองปะโค นางอุสาถูกทำร้ายและกลั่นแกล้งจึงหนีกลับไปเมืองพานและล้มเจ็บด้วยความตรอมใจ เมื่อท้าวบารสกลับถึงเมืองและทราบข่าวก็รีบออกเดินทางไปยังเมืองพาน แต่พบว่านางอุสาสิ้นใจแล้ว จึงฝังศพนางไว้ที่หินก้อนหนึ่ง ส่วนพระองค์ก็ตรอมใจตายตามกันไป เหล่าบริวารจึงฝังศพท้าวบารสเอาไว้เคียงข้างกับศพนางอุสา



หัวข้อ: Re: อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี -ตามรอยอารยธรรมบ้านผือ ตอนที่ 2
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 กุมภาพันธ์ 2558 16:21:04
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/30706410151388_b.JPG)
Mckaforce คนขวามือ สวมเสื้อเขียว

ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม ให้ไทยนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 'อุทยานแห่งชาติภูพระบาท' เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลก ในปี ๒๕๕๙ เผยเข้าหลักเกณฑ์ถึง ๔ ข้อ กำหนดพิจารณารอบแรกปลายปีนี้ และไปตัดสินกลางปีหน้า...

เมื่อวันที่ ๒๗ ม.ค. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ การที่ประเทศไทยจะนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานแห่งชาติภูพระบาท จ.อุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกในปี ๒๕๕๙ ตามที่ วธ.เสนอ

ดังนั้น ขั้นตอนจากนี้ไป กรมศิลปากรจะส่งเอกสาร การบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไปยังคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก จากนั้นคณะกรรมการ ๑ ใน ๕ คนจะเดินทางมาตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อประเมินว่าเอกสารที่ไทยจัดส่งไปกับสถานที่จริงมีความสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งหากเอกสารมีความสมบูรณ์ก็เข้าสู่กระบวนการต่อไป แต่หากไม่สมบูรณ์ไทยจะต้องทำเอกสารเพิ่มเติม ก่อนเข้าสู่การพิจารณารอบแรกของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน ธ.ค. ๒๕๕๘ และพิจารณารอบสองในเดือน มี.ค.๒๕๕๙ จากนั้นจะประกาศผลว่าจะเป็นมรดกโลกหรือไม่ ในเดือน มิ.ย.๒๕๕๙

พร้อมกันนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการจัดทำเอกสารเสนอเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของการนำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย

นายวีระ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจ และมีข้อซักถามถึงผลดี ผลเสียของการนำเสนอภูพระบาทเป็นมรดกโลก ซึ่งตนชี้แจงว่า หากได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก จะมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน โดยเฉพาะการสร้างเกียรติภูมิของประเทศไทย ความภูมิใจในชาติ และเป็นที่ยอมรับในนานาชาติมากขึ้น รวมถึงจะเกิดผลดีที่ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศ การสร้างงานในชุมชน เช่น สุโขทัย ที่มีการลงทุน มีการเดินทางท่องเที่ยวจากหลักพัน เป็นหลักล้าน จนถึงปัจจุบันเป็นหลายพันล้านบาท

นอกจากนี้ ในกรณีในภาวะที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ที่จะมีผลต่อโบราณสถาน ทางยูเนสโกก็จะรณรงค์ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงน้ำท่วมก็ได้เงินช่วยเหลือจากทั่วโลกด้วย

"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเข้าหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน ๔ ข้อ คือ หลักเกณฑ์ที่ ๓.เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม หลากหลายรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ ปรากฏอยู่เพียงภาพเขียนสีและโบราณวัตถุ หลักเกณฑ์ที่ ๔.เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้าง อาทิ เพิงหิน แท่งหิน ลานหิน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภูพระบาท หลักเกณฑ์ที่ ๕.เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม อาทิ ภูพระบาทเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากมาย มีความโดดเด่น ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

และหลักเกณฑ์ที่ ๖. มีความคิด หรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือบุคคลที่มีความสำคัญ หรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส และพระกึดพระพาน อันมีต้นกำเนิดจากเรื่อง พระอนิรุทธ์ และนางอุสา ในมหากาพย์มหาภารตะ อีกทั้งตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานอุรังคธาตุ ล้วนแต่เป็นที่รู้จักดี และมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรดกในภูพระบาท"


แหล่งที่มาข้อมูล : ไทยรัฐออนไลน์