[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2558 18:19:51



หัวข้อ: ตามรอย 'เจ้าพระยาอภัยภูเบศร'
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2558 18:19:51
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/94100628337926_1.jpg)

ตามรอย 'เจ้าพระยาอภัยภูเบศร'
เมืองแฝด ปราจีนบุรี - พระตะบอง

หน้าประวัติศาสตร์ไทยเรื่องของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง มีบันทึกไว้ไม่มากนัก แต่หลังสยามเสียดินแดนส่วนนี้ให้กับฝรั่งเศส ชาวบ้านบางส่วนได้อพยพตามเจ้าพระยาอภัยภูเบศร มาตั้งบ้านเรือนยัง จ.ปราจีนบุรี ที่น่าสนใจนอกจากท่านไม่ยอมทิ้งประชาชนที่ติดตามมาย้ายไปยังกรุงเทพฯ แล้ว ยังเห็นถึงแนวคิดในการสร้างบ้านเรือน ที่ทั้ง ปราจีนบุรี-พระตะบอง ต่างเป็น “เมืองอกแตก” ที่มีแม่น้ำไหลผ่านกลางเมือง นั่นคือจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของสองเมืองแฝด

ภญ.ดร.สุภาพร ปิติพร เลขานุการ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าถึงโครงการศึกษาศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมในยุคอภัยภูเบศร ตั้งแต่ จ.ปราจีนบุรี ถึงเมืองพระตะบองว่า ประวัติศาสตร์ทำให้เรารู้ถึงอดีต เริ่มจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ถูกทิ้งร้างไว้ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งค่อยๆ ฟื้นฟูตึกหลังนี้มาเรื่อยๆ และจากการตามรอยค้นหาประวัติของท่านทำให้รู้ว่า กว่าจะเป็นแผ่นดินไทยอย่างทุกวันนี้ต้องมีคนอย่างท่าน

ตอนนั้นไทยแพ้ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ รศ.๑๑๒ แต่รักษาเมืองจันทบุรีและตราดไว้ได้ ซึ่งต้องเสียเมืองพระตะบอง ตอนนั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ปรึกษากับท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า ต้องรักษาเมืองตราดกับเมืองจันทบุรีไว้ เพราะถ้าข้าศึกเข้ามายังสองเมืองนั้นจะเข้าถึงพระนครได้ง่าย แต่เมื่อยกพระตะบองให้ฝรั่งเศส เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้นำไพร่พลกลับมาอยู่ในเมืองปราจีนบุรี ทั้งที่ท่านมีสิทธิเลือกที่จะอยู่ในพระตะบองต่อไป

การสำรวจเมืองพระตะบองจะเห็นร่องรอยที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร มีความผูกพันกับแผ่นดินไทยคือ การสร้างวัดกระโดน หรือวัดปราบปัจจามิตร ที่มีตราสยามอยู่บริเวณหน้าบัน ซึ่งเป็นวัดที่มีศิลปะที่ผสมผสานระหว่างของไทยกับกัมพูชา และวัดนี้ถือเป็นวัดแรกที่สยามมาสร้าง


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/96822240038050_2.jpg)
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่กัมพูชา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/12059046121107_3.jpg)
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ปราจีนบุรี

เรื่องการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่การเก็บรักษา แต่เรื่องราวเป็นความงดงาม ถ้าเราไม่เก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้จะหายไป ซึ่งเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในประวัติศาสตร์ไทยค่อนข้างมีน้อย แต่ในเมืองพระตะบองมีเรื่องราวเกี่ยวกับวัดที่ท่านสร้างไว้อย่าง วัดดำเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือกท่านสร้างให้กับภรรยา โดยท่านเป็นผู้ตัดลูกนิมิต เป็นวัดที่มีความสวยงามด้านสถาปัตยกรรม มีเรื่องเล่าว่า ท่านไปบน เนื่องจากภรรยาเวลาได้ยินเสียงอะไรจะกรีดร้อง ทำให้ท่านต้องฆ่าสุนัขทั้งเมือง เพราะตอนกลางคืนหมาหอนภรรยาท่านจะกรีดร้องทำให้นอนไม่ได้ ท่านเลยไปบนว่าถ้าภรรยาหายจะสร้างวัดให้ พอเริ่มหายท่านก็สร้างวัดดำเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือก แต่หลังจากนั้นภรรยากลับไปมีอาการดังกล่าวอีก ชาวบ้านเลยนินทาว่า ท่านไม่เลิกมีภรรยาน้อยเสียที

แต่ท่านรักภรรยามาก เมื่อต้องย้ายมาอยู่ที่ปราจีนบุรีก็หอบเถ้ากระดูกภรรยามาด้วย โดยนำอัฐิมารวมไว้กับท่านที่ใต้ฐานพระอภัยทาน (พระอภัยวงศ์) ที่วัดแก้วพิจิตร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งท่านสร้างให้เหมือนกับวัดดำเร็ยซอ หรือวัดช้างเผือก ที่พระตะบองที่สร้างให้ภรรยาครั้งยังปกครองพระตะบอง



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89254267306791_5.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/54400203087263_4.jpg)
บ้านเก่าอายุ ๑๐๐ ปี ที่ฝาบ้านมีลายมือภาษาไทยเขียนไว้
ตั้งแต่เจ้าของบ้านมีชีวิตว่า "พระตะบอง"

เคยมีบันทึกของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรว่า การที่ไม่ย้ายไปอยู่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นห่วงคนที่อพยพตามมาครั้งตั้งแต่อยู่พระตะบอง โดยตอนที่ท่านอพยพมามีคนตามมาด้วยเกือบทั้งเมือง มีบางกลุ่มกลับไปพระตะบอง แต่บางกลุ่มเดินทางย้ายไปตั้งรกรากที่บุรีรัมย์ ที่พระตะบองยังมีบ้านโบราณ ๑๐๐ ปี เป็นบ้านของเลขาฯท่านชื่อ “หลวงพิมลสิเนหา” มีบันทึกฝั่งไทยระบุว่า เลขาฯ ของท่านได้ตามไปปราจีนบุรีด้วย แต่ลูกหลานของท่านบอกไม่ได้ตามไป ที่น่าสนใจคือ ที่ฝาบ้านโบราณมีลายมือภาษาไทยเขียนไว้ตั้งแต่เจ้าของบ้านมีชีวิตว่า “พระตะบอง” ซึ่งลายมือนั้นเหมือนกับลายมือเลขาฯท่านเมื่อส่งจดหมายมายังสยาม

การสอบถามลูกหลานของ “หลวงพิมลสิเนหา” บอกว่าท่านคิดจะตามเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปทีหลัง แต่เห็นมีคนที่ไปก่อนแล้วกลับมาพระตะบอง เนื่องจากปราจีนบุรีตอนนั้นมีแต่ป่า ถ้าเทียบกับเมืองพระตะบองแทบไม่ได้ เพราะพระตะบองสมัยนั้นรุ่งเรืองและเป็นเมืองใหญ่ที่รองจากกรุงเทพฯ

ถ้าดูวัดที่ท่านสร้างที่พระตะบองจะเห็นถึงสถาปัตยกรรมที่มีการผสมผสาน ทำให้มีความเฉพาะตัวเกิดขึ้น โดยสามารถบอกได้ว่าเป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพราะไม่มีที่อื่น

คนไทยที่จะมาตามรอยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง จะเห็นถึงคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ วัดที่มีปูนปั้นสวยที่สุดคือ วัดดำเร็ยซอ และได้เห็นถึงสถาปัตยกรรมยุโรปที่มีในเอเชีย ซึ่งจะเห็นตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง สร้างก่อนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ปราจีนบุรี ตึกนี้เป็นประตูที่สำคัญ ซึ่งเปิดไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินโดจีน

ตอนที่ไทยยกพระตะบองให้กับฝรั่งเศสท่านได้เลือกที่จะอยู่ดีมีสุขที่พระตะบองต่อ โดยทำงานให้กับฝรั่งเศส แต่ท่านเลือกที่จะอพยพมาอยู่ในไทย ที่ปราจีนบุรี ซึ่งพอ ร.๕ ทราบว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศรมาอยู่ในไทย อีกปีหนึ่งท่านก็เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยม โดยตอนนั้นสร้างพลับพลาให้ท่านประทับ เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเลยสร้างตึกเพื่อรองรับ ร.๕ โดยที่ท่านซึ่งเป็นคนสร้างไม่เคยเข้าไปอาศัยในบ้านหลังนั้น เพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะสร้างให้ตนเอง.



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/63990345390306_7.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72054851882987_8.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83640325855877_6.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/91486282191342_9.jpg)


ประวัติเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔ จ.พระตะบอง สมัย ร.๔ เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) และท่านผู้หญิงทิม ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง

เมื่อถึงอายุที่เข้ารับราชการได้ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) บิดา ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์ ร.๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภัยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา ครั้นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทนบิดา

พ.ศ. ๒๔๓๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเขมร ๔ เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ เข้าเป็นมณฑล เรียกว่า “มณฑลบูรพา” โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๖ พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัย พิริยบรากรมพาหุ”

พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ต้องแลกมณฑลบูรพากับเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส ท่านตัดสินใจทิ้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งที่ฝรั่งเศสชวนท่านปกครองเมืองพระตะบองต่อ ร.๕ ทรงตระหนักในความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่ากับฝรั่งเศสถึงเรื่องท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในที่ประชุมปรึกษาทำหนังสือสัญญานั้น คงตกลงกันว่า ฝรั่งเศสยอมชดใช้เงินให้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และยอมให้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอพยพครอบครัวและบุตรหลาน ทรัพย์สมบัติอันเป็นส่วนตัวเข้ามาในพระราชอาณาจักรได้

ท่านจึงอพยพครอบครัวและบุตรหลานมาเป็นข้าราชการธรรมดา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลเชิงสะพานยศเส จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อสายต่อจากนั้นไปว่า “อภัยวงศ์” หลังจากนั้นท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ประเทศชาติและจังหวัดปราจีนบุรีมากมาย เช่น บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญ คือ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดแก้วพิจิตร ที่เมืองปราจีนบุรี โดยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบเอง และนับเป็นวัดประจำสกุล “อภัยวงศ์”

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้รับพระราชทานโกศ โดยได้เชิญศพไปตั้งบนตึกที่ท่านสร้างไว้ และได้รับพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดแก้วพิจิตร.


ที่มา (ภาพและข้อมูล) : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ น.๔ ฉบับประจำวัพุทธที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘