[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 มีนาคม 2553 20:47:53



หัวข้อ: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 มีนาคม 2553 20:47:53
ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้


สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวด เป็นที่รู้จักของชาวไทยทุกภูมิภาคในฐานะพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้าจนได้สมญาว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” ประวัติอันพิสดารของท่านมีเล่าสืบกันมาไม่รู้จบสิ้น ยิ่งนานวันยิ่งซับซ้อนและขยายวงกว้างออกไปกลายเป็นความเชื่อความศรัทธาอย่างฝังใจ

หลวงพ่อทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่มทั้งที่เป็นตำนานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่างๆ พอจะให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า หลวงพ่อทวดคือใคร เกิดในสมัยใดและได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาไว้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นคติเตือนใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

 
(http://www.itti-patihan.com/images/stories/buddha/buddha_28.jpg)


 

  ทารกอัศจรรย์

         เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็กๆ ฐานะยากจนแร้นแค้น แต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ทารกน้อยผู้

 นี้มีนายว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเป็นเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เห็นเป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดาทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนือทรวงอกของทารกกลับมีดวงแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่การทำมาหากินก็จำเริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา

สามีราโม

         เมื่อกาลล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฏิหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือเด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบทมีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม” เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่นๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้วจึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมดบรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง

         เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา

         เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่ วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษาที่วัดราชนุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ

 



รบด้วยปัญญา

         กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงปู่ทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ สมัยนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงาน ท้องพระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อ ทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม ตามพระอภิธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ จำนวน 84,000 ตัว จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรืองสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณ และของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์

         เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของกษัตริย์ตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ มีใจความในพระราชสาส์นว่าพระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นนี้เป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุกๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย

พระสุบินนิมิต


เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความ ดังนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด

ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม

รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการกราบถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อยเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที

อักษรเจ็ดตัว

         ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ “เจ้าสามีราม” ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า “เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ณ โอกาสนี้” ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดคนได้ประมาทเจ้าสามีรามโดยว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่ออกมาแต่ครรภ์พระมารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามท่านได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม  


 


หัวข้อ: Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 มีนาคม 2553 20:48:46
         ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด” ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิตอธิษฐานว่า “ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวดาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าสำเร็จสมปรารถนาเถิด”

         ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำเริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญญาบารมี กฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทพยาดาทั้งหลายจึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวกไม่ติดขัดประการใดเลย

         ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือ ตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนวน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น



พระราชมุนี

         สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์” ในเวลานั้น พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี ด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา

โรคห่าเหือดหาย

         ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มี นิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเจ้าเฝ้า ท่านได้ช่วยไว้อีกครั้งโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและดวงแก้ววิเศษ แล้วทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายขาดด้วยอำนาจ คุณความดีและคุณธรรมอันสูงส่ง ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราชมีนามว่า “พระสังฆราชคูรูปาจารย์” และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือจะบูรณะวัดวาอารามใดๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”

กลับสู่ถิ่นฐาน

         ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯได้เข้าเฝ้า ถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทานเพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา

         ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามแนวทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพสักการะบูชามาถึงบัดนี้ ได้แก่ที่บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง

สมเด็จเจ้าพะโคะ


ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างซึ่งชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะว่า “วัดพะโคะ” มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพระโคะเสื่อมโทรมมาก เนื่องจากถูกข้าศึกทำลายโจรกรรม มีสภาพเหมือนวัดร้างสมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ยินดีและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง โปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน และทรงพระราชทานสิ่งของต่างๆ และเงินตราเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะหรือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียสมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแผ่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา

 

 

เหยียบน้ำทะเลจืด

         ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เท้า 3 คด” ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเลจีน ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารพากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยกระหายน้ำเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเลทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกโจรจีนไปได้

         เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากพื้นน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก่พวกเขาต่อไป จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป

         เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา “ไม้เท้า 3 คด” พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิกกลับคดๆ งอๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่าต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งปรากฏอยู่ถึงทุกวันนี้

         สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา

 สังขารธรรม

         หลังจากนั้นหลายพรรษา สมเด็จเจ้าฯ หายไปจากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะไปหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่าท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา” และได้ไปพำนักที่วัดช้างไห้ ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านช้างให้” ดังนี้ ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่าหากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพพักแรมนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตรงนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่มาไม่นานเท่าไร ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ปวงศาสนิกก็นำพระศพมาไว้ที่วัดช้างให้ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯ เคยพำนักอยู่ หรือไปมา นับได้ดังนี้ วัดกุฎิหลวง วัดสีหยัง วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช กรุงศรีอยุธยา วัดพะโคะ วัดเกาะใหญ่ วัดในไทรบุรี และวัดช้างให้

ปัจฉิมภาค

         สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์หน่อพระพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยกฤษดาภินิหารและปาฏิหาริย์ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่สถานที่ใด ที่นั่นจะเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์คือช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ธรรมะให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ตลอดไป



หัวข้อ: Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 มีนาคม 2553 20:51:40
ข้อมูลทั้งสองตอนข้างบน

ได้มาจากเวบไซท์ อิทธิปาฏิหาริย์


หัวข้อ: Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 10 มีนาคม 2553 20:54:13
ส่วนนี้เป็นประวัติหลวงปู่ จากเวบไซท์วัดช้างไห้


(http://www.watchanghai.com/images/wat-016.jpg)


หลวงพ่อทวด
เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วหัวเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทยเล่าลือกันมาว่า ทุกๆ สมัย เกิดมีพระภิกษุสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จ ๔ องค์ด้วยกัน คือ
๑. สมเด็จเจ้าเกาะยอ
๒. สมเด็จเจ้าเกาะใหญ่
๓. สมเด็จเจ้าจอมทอง
๔. สมเด็จเจ้าพะโคะ

   

    แต่ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะตำนานสมเด็จเจ้าพะโคะโดยตรง ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะองค์นี้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์"จากสมเด็จพระมหาธรรมราชาสมัยพระองค์ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและกล่าวไว้ว่าสมเด็จเจ้าพะโคะ ชาตะ วันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๒๕ บิดาชื่อตาหู มารดาชื่อนางจันทร์ มีอายุมากแล้วจึงคลอดบุตรเป็นชายชื่อเจ้าปู่ และได้คลอดบุตรคนนี้ที่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระ (อำเภอสะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ในเวลานี้)
ตาหู นางจันทร์ เป็นคนยากจนได้อาศัยอยู่กับคหบดีผู้หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏนาม สองสามีภรรยาเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมเมื่อนางจันทร์ออกจากการอยู่ไฟเนื่องจากการคลอดบุตรแล้ว วันหนึ่งนางจันทร์ได้อุ้มลูกน้อยพร้อมด้วยสามีออกไปทุ่งนา เพื่อช่วยเก็บข้าวให้แก่เจ้าของบ้านที่พลอยอาศัย ครั้นถึงทุ่งนาได้เอาผ้าผูกกับต้นเหม้าและต้นหว้า ซึ่งขึ้นอยู่ใกล้กันให้ลูกนอน แล้วพากันลงนาเก็บเกี่ยวข้าวต่อไป ขณะที่สองผัวเมียกำลังเก็บเกี่ยวข้าวอยู่นั้น นางจันทร์ได้เป็นห่วงลูกและได้เหลียวมามองที่เปล ปรากฎว่ามีงูบองตัวโตกว่าปกติได้ขดตัวรวบรัดเปลที่เจ้าปู่นอน สองสามีภรรยาตกใจร้องหวีดโวยวายขึ้นเพื่อนชาวนาที่เกี่ยวข้าวอยู่ใกล้เคียงก็รีบพากันวิ่งมาดู แต่ก็ไม่มีใครจะสามารถช่วยอะไรได้งูใหญ่ตัวนั้นเห็นคนเข้าใกล้ก็ชูศรีษะสูงขึ้น ส่งเสียงขู่คำรามดังอย่างน่ากลัวจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปใกล้เปลนั้นเลย
          ฝ่ายนายหูนางจันทร์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในบุญกุศลยืนนิ่งพินิจพิจารณาอยู่ ปรากฏว่างูใหญ่ตัวนั้นมิได้ทำอันตรายแก่บุตรน้อยของตนเลยจึงเกิดความสงสัยว่างูบองใหญ่ตัวนี้น่าจะเกิดจากเทพนิมิตรบันดาล คิดดังนั้นแล้วก็พากันหาดอกไม้และเก็บรวงข้าวเผาเป็นข้าวตอกนำมาบูชาและกราบไหว้งูใหญ่พร้อมด้วยกล่าวคำสัตย์อธิษฐานขอให้ลูกน้อยปลอดภัย ในชั่วครู่นั้นงูใหญ่ก็คลายขนดลำตัวออกจากเปลอันตรธานหายไปทันที นายหูนางจันทร์และเพื่อนพากันเข้าไปดูทารกที่เปลปรากฏว่าเจ้าปู่ยังนอนหลับเป็นปกติอยู่ แต่มีแก้วดวงหนึ่งวางอยู่ที่คอในที่ลุ่มใต้ลูกกระเดือกแก้วดวงนั้นมีสีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสีสองสามีภรรยาจึงเก็บรักษาไว้ คหบดีเจ้าของบ้านทราบความจึงขอแก้วดวงนั้นไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตาหูนางจันทร์ก็จำใจมอบให้คหบดีผู้นั้นเมื่อได้แก้วพยางูมาไว้เป็นสมบัติของตนแล้วต่อมาไม่นานก็เกิดวิปริตให้ความเจ็บไข้ได้ทุกข์แก่คหบดีจนไม่มีทางแก้ไขได้ จนถึงที่สุดคหบดีเจ้าบ้านจึงคิดว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นครั้งนี้คงเป็นเพราะยึดดวงแก้วพยางูนั้นไว้จึงให้โทษและเกรงเหตุร้ายจะลุกลามยิ่ง ๆ ขึ้น จึงตัดสินใจคืนแก้วดวงนั้นให้สองสามีภรรยากลับคืนไป ต่อมาภายในบ้านและครอบครัวของคหบดีผู้นั้นก็ได้อยู่เย็นเป็นสุขตามปกติ ขณะที่นายหูนางจันทร์ได้ครอบครองแก้ววิเศษอยู่นั้นปรากฏว่าเจ้าของบ้านก็มีความเมตตาสงสารไม่ใช้งานหนัก การทำมาหาเลี้ยงชีพก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับอยู่สุขสบายตลอดมา
          เมื่อกาลล่วงมานานจนเจ้าปู่อายุ ๗ ปี บิดามารดาได้นำไปถวายสมภารจวงให้เรียนหนังสือ ณ วัดดีหลวง เด็กชายปู่ศึกษาเล่าเรียนมีความเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าเพื่อนคนใด ๆ เมื่อเด็กชายปู่มีอายุ ๑๕ ปี สมภารจวงผู้เป็นอาจารย์ได้บวชให้เป็นสามเณร ต่อมาท่านอาจารย์ได้นำไปฝากท่ารพระครูสัทธรรมรังสีให้เรียนหนังสือมูลกัจจายน์ ณ วัดสีหยัง (วัดสีคูยัง อ.ระโนด เวลานี้)
สามเณรปู่เรียนมูลกัจจายน์อยู่กับท่านพระครูสัทธรรมรังสี ซึ่งคณะสงฆ์ส่งท่านมาจากกรุงศรีอยุธยาให้เป็นครูสอนวิชามูล ฯ ทางหัวเมืองฝ่ายใต้ ในสมัยนั้นมีพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนกันมากสามเณรปู่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดส่อนิสัยปราชญ์มาแต่กำเนิด ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชามูล ฯ อยู่ไม่นานก็สำเร็จเป็นที่ชื่นชมของอาจารย์เป็นอย่างมาก เมื่อสามเณรปู่เรียนจบวิชามูล ฯ แล้วได้กราบลาพระอาจารย์ไปเรียนต่อยังสำนักพระครูกาเดิม ณ วัดสีเมือง เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อครบอายุบวชพระครูกาเดิมผู้เป็นอาจารย์จัดการอุปสมบทให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา ทำญัติอุปสมบทให้ฉายาว่า "สามีราโม" ณ สถานที่คลองแห่งหนึ่งโดยเอาเรือ ๔ ลำ มาเทียบขนานเข้าเป็นแพทำญัติ ต่อมาคลองแห่งนั้นมีชื่อเรียกกันว่าคลองท่าแพจนบัดนี้
          พระภิกษุปู่เรียนธรรมอยู่สำนักพระครูกาเดิม ๓ ปี ก็เรียนจบชั้นธรรมบทบริบูรณ์พระภิกษุปู่ได้กราบลาพระครูกาเดิมจากวัดสีมาเมืองกลับภูมิลำเนาเดิม ต่อมาได้ขอโดยสารเรือสำเภาของนายอินทร์ลงเรือที่ท่าเมืองจะทิ้งพระจะไปกรุงศรีอยุธยาพระนครหลวงเพื่อศึกษาเล่าเรียนธรรมเพิ่มเติมอีกเรือสำเภาใช้ใบแล่นถึงเมืองนครศรีธรรมราช นายอินทร์เจ้าของเรือได้นิมนต์ขึ้นบกไปนมัสการพระบรมธาตุตามประเพณีชาวเรือเดินทางไกลซึ่งได้ปฏิบัติกันมาแต่กาลก่อน ๆ เพื่อขอความสวัสดีต่อการเดินทางทางทะเลแล้วพากันลงเรือสำเภาที่คลองท่าแพ เรือสำเภาใช้ใบสู่ทะเลหลวงเรียบร้อยตลอดมาเป็นระยะทาง ๓ วัน ๓ คืน วันหนึ่งท้องทะเลฟ้าวิปริตเกิดพายุ ฝนตกมืดฟ้ามัวดินคลื่นคนองเป็นคลั่งเรือจะแล่นต่อไปไม่ได้จึงลดใบทอดสมอสู้คลื่นลมอยู่ถึง ๓ วัน ๓ คืน จนพายุสงบเงียบลงเป็นปกติ แต่เหตุการณืบนเรือสำเภาเกิดความเดือดร้อนมากเรพาะน้ำจืดที่ลำเลียงมาหมดลง คนเรือไม่มีน้ำจืดดื่มและหุงต้มอาหารนายอินทร์เจ้าของเรือเป็นเดือดเป็นแค้นในเหตุการณ์ครั้งนั้นหาว่าเป็นเพราะพระภิกษุปู่พลอยอาศัยมาจึงทำให้เกิดเหตุร้ายซึ่งตนไม่เคยประสบเช่นนี้มาแต่ก่อนเลย ผู้บันดาลโทสะย่อมไม่รู้จักผิดชอบฉันใดนายเรือคนนี้ก็ฉันนั้น เขาจึงได้ไล่ให้พระภิกษุปู่ลงเรือใช้ให้ลูกเรือนำไปขึ้นฝั่งหมายจะปล่อยให้ท่านไปตามยะถากรรม ขณะที่พระภิกษุปู่ลงนั่งอยู่ในเรือเล็กท่านได้ยื่นเท้าลงเหยียบน้ำทะเลแล้วบอกให้ลูกเรือคนนั้นตักน้ำขึ้นดื่มกินดู ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำที่มีรสจืดสนิท ลูกเรือคนนั้นจึงบอกขึ้นไปบนเรือใหญ่ให้เพื่อนทราบพวกกะลาสีบนเรือใหญ่จึงพากันตักน้ำทะเลตรงนั้นขึ้นไปดื่มแก้กระหาย พากันอัศจรรย์ในอภินิหารของพระภิกษุหนุ่มยิ่งนัก ความทราบถึงนายอินทร์เจ้าของเรือจึงได้ดื่มน้ำพิสูจน์ดูปรากฏว่าน้ำทะเลที่จืดนั้นมีบริเวณอยู่จำกัดเป็นวงกลมประมาณเท่าล้อเกวียนนอกนั้นเป็นน้ำเค็มตามธรรมชาติของทะเลจึงสั่งให้ลูกเรือตักน้ำในบริเวณนั้นขึ้นบรรจุภาชนะไว้บนเรือจนเต็ม นายอินทร์และลูกเรือได้ประจักษ์ในอภินิหารของท่านเป็นที่อัศจรรย์เช่นนั้นก็เกิดความหวาดวิตกภัยภิบัติที่ตนได้กระทำไว้ต่อท่านจึงได้นิมนต์ให้ท่านขึ้นบนเรือใหญ่แล้วพากันการบไหว้ขอขมาโทษตามที่ตนได้กล่าวคำหยาบต่อท่านมาแล้วและถอนสมอใช้ใบแล่นเรือต่อไปเป็นเวลาหลายวันหลายคืนโดยเรียบร้อย
          ขณะเรือสำเภาถึงกรุงศรีอยุธยาเข้าจอดเทียบท่าเรียบร้อยแล้วนายอินทร์ได้นิมนต์ท่านให้เข้าไปในเมืองแต่ท่านไม่ยอมเข้าเมือง ท่านปรารถนาจะอยู่ ณ วัดนอกเมืองเพราะเห็นว่าเป็นที่เงียบสงบดีและได้ไปอาศัยอยู่ ณ วัดราชานุวาส ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองขณะนั้นพระมหาธรรมราชาครองกรุงศรีอยุธยา
          ในสมัยนั้นประเทศลังกาอันมีพระเจ้าวัฏฏะคามินีครองราชเป็นเจ้าแผ่นดินมีพระประสงค์จะได้กรุงศรีอยุธยาไว้ใต้พระบรมเดชานุภาพ แต่พระองค์ไม่มีประสงค์จะก่อสงครามให้เกิดการรบราฆ่าฟันและกันให้ประชาชนข้าแผ่นดินเดือดร้อนจึงมีนโยบายอย่างหนึ่งที่สามารถจะเอาชนะประเทศอื่นโดยการท้าพนัน พระองค์จึงตรัสสั่งให้พนักงานพระคลังเบิกจ่ายทองคำในท้องพระคลังหลวงมอบให้แก่นายช่างทองไปจัดการหลอมหล่อเป็นตัวอักษรเท่าใบมะขามจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด แล้วมอบให้แก่พราหนณ์ผู้เฒ่า ๗ คน พร้อมด้วยข้าวของอันมีค่าบรรทุกลงเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยพระราชสาส์นให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๗ นำลงเรือสำเภาใช้ใบแล่นไปยังกรุศรีอยุธยา เมื่อเรือสำเภาจอดท่ากรุศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๗ ได้พากันเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาและถวายสาส์น
          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงไทยทรงอ่านพระราชสาส์นความว่า พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าพระเจ้ากรุงไทยให้ทรงแปลพระธรรมในเมล็ดทองคำและเรียบเรียงลำดับให้เสร์จภายใน ๗ วัน ถ้าแปลแและเรียบเรียงได้ทันกำหนดพระเจ้ากรุงลังกาขอภวายข้าวของอันมีค่าทั้ง ๗ ลำเรือสำเภาเป็นบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงไทย แต่ถ้าพระเจ้ากรุงไทยแปลเรียงเมล็ดทองคำไม่ได้ตามกำหนดให้พระเจ้ากรุงไทยจัดการถวายดอกไม้เงินและทองส่งเป็นราชบรรณาการแก่กรุงลังกาทุก ๆ ปีตลอดไป
          เมื่อพระองค์ทรงทราบพระราชสาส์นอันมีข้อความดังนั้น จึงทรงจัดสั่งนายศรีธนญชัยสังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศให้เข้ามาแปลธรรมในพระมหานครทันกำหนด เมื่อประกาศไปแล้ว ๖ วัน ก็ไม่มีใครสามารถแปลเรียบเรียงเมล็ดทองคำนั้นได้ พระองค์ทรงปริวิตกยิ่งนักและในคืนวันนั้นพระองค์ทรงสุบินนิมิตว่ามีพระยาช้างเผือกผู้มาจากทิศตะวันตกขึ้นยืนอยู่บนพระแท่นในพระบรมมหาราชวังได้เปล่งเสียงร้องก้องดังได้ยินไปทั่วทั้งสี่ทิศ ทรงตกพระทัยตื่นบรรทมในยามนั้นและทรงพระปริวิตกในพระสุบินนิมิตเกรงว่าประเทศชาติจะเสียอธิปไตยและเสื่อมเสียพระบรมเดชานุภาพทรงพระวิตกกังวลไม่เป์นอันบรรทมจนรุ่งสาง
          เมื่อได้เสด็จออกยังท้องพระโรงสั่งให้โหรหลวงเข้าเฝ้าโดยด่วนและทรงเล่าสุบินนิมิตให้โหรหลวงทำนายเพื่อจะได้ทรงทราบว่าร้ายดีประการใด เมื่อโหรหลวงทั้งคณะได้พิจารณาดูยามในพระสุบินนิมิตนั้นละเอียดถี่ถ้วนดีแล้ว ก็พร้อมกันกราบถวายบังคมทูลว่าตามพระสุบินนิมิตนี้จะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมาจากทิศตะวันตกอาสาเรียงและแปลพระธรรมได้สำเร็จ พระบรมเดชานุภาพของพระองค์จะยั่งยืนแผ่ไพศาลไปทั่วทั้งสี่ทิศเมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วก็คลายพระปริวิตกลงได้บ้าง
          ด้วยเดชะบุญบันดาลในเช้าวันนั้นบังเอิญศรีธนญชัยไปพบพระภิกษุปู่ที่วัดราชานุวาส ได้สนทนาปราศรัยกันแล้วก็ทราบว่าท่านมาจากเมืองตะลุง ( พัทลุงเวลานี้ ) เพื่อศึกษาธรรม ศรีธนญชัยเล่าเรื่องกรุงลังกาท้าพนันให้แปลธรรม แล้วถามว่าท่านยังจะช่วยแปลได้หรือ พระภิกษุปู่ตอบว่าถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ ศรีธนญชัยจึงนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ณ ที่ประชุมสงฆ์ ขณะที่พระภิกษุปู่ถึงประตูหน้าวิหาร ท่านย่างก้าวขึ้นไปยืนเหยียบบนก้อนหินศิลาแลง ทันทีนั้นศิลาแลงได้หักออกเป็นสองท่อนด้วยอำนาจอภินิหารเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อเข้าไปในพระวิหารพระทหากษัตริย์ตรัสสั่งพนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันสมควร แต่ก่อนที่ท่านจะเข้านั่งที่แปลพระธรรมนั้นท่านได้แสดงกิริยาอาการเป็นปัญหาธรรมต่อหน้าพราหมณ์ทั้ง ๗ กล่าวคือ ท่าแรกท่านนอนลงในท่าสีหะไสยาสน์ แล้วลุกขึ้นนั่งทรงกายตรงแล้วกะเถิบไปข้างหน้า ๕ ที แล้วลุกขึ้นเดินเข้าไปนั่งในที่อันสมควร พราหมณ์ผู้เฒ่าทั้ง ๗ เห็นท่านแสดงกิริยาเช่นนั้นเป็นการขบขันก็พากันหัวเราะและพูดว่า นี่หรือพระภิกษุที่จะแปลธรรมของพระบรมศาสดา อะไรจึงแสดงกิริยาอย่างเด็กไร้เดียงสา พราหมณ์พูดดูหมิ่นท่านหลายครั้ง ท่านจึงหัวเราะ แล้วถามพรามณ์ว่า ประเทศชาติบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน ท่านไม่เคยพบเห็นกิริยาเช่นนี้บ้างหรือ ? พราหมณ์เฒ่าฉงนใจก็นิ่งอยู่ ต่างนำบาตรใส่เมล็ดทองคำเข้าประเคนท่านทันที
          เมื่อพระภิกษุปู่รับประเคนบาตรจากมือพราหมณ์มาแล้วท่านก็นั่งสงบจิตอธิษฐานแต่ในใจว่า ขออำนาจคุณบิดามารดาครูบาอาจารย์และอำนาจผลบุญกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนและอำนาจเทพยดาอันรักษาพระนครตลอดถึงเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบัลดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางขอให้แปลพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์สำเร็จสมปรารถนาเถิด ครั้นแล้วท่านคว่ำบาตเททองเรี่ยราดลงบนพรมและนั่งคุยกับพราหมณ์ตามปกติ
ด้วยอำนาจบารมีอภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาประกอบกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่เสื่อมเสียอธิปไตย เทพยดาทั้งหลายจึงดลบันดาลเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับตัวอักษรโดยเรียบร้อยใน้วลานั้น ชั่วครู่นั้นท่านก็ได้เหลียวกลับมาลงมือเรียบเรียงและแปลอักษรในเมล็ดทองคำจำนวน ๘๔,๐๐๐ เมล็ด เป็นลำดับโดยสะดวกและไม่ติดขัดประการใดเลย นับว่าโชคชะตาของประเทศชาติยังคงรุ่งเรืองสืบไป
          ขณะที่พระภิกษุปู่เรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้วปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไป ๗ ตัว คือตัว สํ วิ ทา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์พราหมณ์ทั้ง ๗ คนยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้แก่ท่านโดยดี ปรากฏว่าพระภิกษุปู่แปลพระไตรปิฎกในเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้นและทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงปี่พาทย์ประโคมพร้อมเสียงประชาชนโห่ร้องต้อนรับชัยชนะเสียงดังสนั่นหวั่นไหวทั่วพระนครศรีอยุธยาเป็นการฉลองชัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่งจึงตรัสสั่งถวายราชสมบัติให้พระภิกษุปู่ครอง ๗ วัน แต่ท่านไม่ยอมรับโดยไห้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณเพศไม่สมควรที่จะครองราชสมบัติอันผิดกิจของสมณควรประพฤติ พระองค์ก็จนพระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันใหญ่ยิ่งให้แก่ท่านในครั้งนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าทรงแต่งตั้งให้พระภิกษุปู่ดำรงสมณศักดิ์ ทรงพระราชทานนามว่า "พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์" ในเวลานั้น
          พระภิกษุปู่หรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาสศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเวลาหลายปีด้วยความสงบร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา กาลนานมาปีหนึ่งในพระมหานครศรีอยุธยาเกิดโรคระบาดขึ้นร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค
ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่งนักสมัยนั้นหยูกยาก็ไม่มีนิยมใช้รักษาป้องกันด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยพระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมาก เพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้และทรงระลึกถึงพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ขึ้นได้จึงตรัสสั่งให้ศรีธนญชัยไปนิมนต์ท่านมาเข้าเฝ้าทรงปรารภในเรื่องทุกข์ร้อนของพลเมืองที่ได้รับทุกข์ยุกเข็ญด้วยโรคระบาดอยู่ในขณะนี้ ท่านจึงทำพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์แล้วนำไปพรมให้แก่ประชาชนทั่วพระนคร ปรากฏว่าโรคระบาดได้ทุเลาเหือดหายไปในไม่ช้าประชาชนได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ในหลวงทรงพระปรีดาปราโมทย์เป็นอันมาก ทรงเคารพเลื่อมใสในองค์ท่านอย่างยิ่ง วันหนึ่งได้ทรงตรัสปรารภกับท่านว่า ต่อไปนี้หากพระคุณเจ้ามีความปรารถนาสิ่งอันใดขอนิมนต์ให้ทราบความปรารถนานั้น ๆ จะทรงพระราชทานถวาย ขอพระคุณเจ้าอย่าได้เกรงพระทัยเลย
          การล่วงมานานประมาณว่า พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์มีวัยชราแล้ว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาจะกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงเกรงใจท่านไม่กล้านิมนต์ขอร้องแต่อย่างใด ได้พระราชทานอนุญาตตามความปรารถนาของท่าน เมื่อพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์กลับภูมิลำเนาเดิมแล้วครั้งนั้ยปรากฏมีหลักฐานว่าไว้ว่าท่านเดินกลับทางบกธุดงค์โปรดสัตว์เรื่อยมาเป็นเวลาช้านาน จนถึงวัดพระสิงห์บรรพตพะโคะตามแนวทางเดินที่ท่านเดินและพักแรมที่ใดต่อมาภายหลังสถานที่ที่ท่านพักแรมนั้นเกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นได้ทำการเคารพบูชามาถึงบัดนี้ คือปรากฏว่าขณะที่ท่านพักแรมอยู่ที่บ้านโกฏิในอำเภอปากพนัง เมื่อท่านเดินทางจากไปแล้วภายหลังประชาชนยังมีความเคารพเลื่อมใส่ท่านอยู่มากจึงได้ชักชวนกันขุดดินพูนขึ้นเป็นเนินตรงกับที่ท่านพักแรมไว้เป็นที่ระลึก รอบ ๆ เนินดินนั้นจึงเป็นคูน้ำล้อมรอบเนินและสถานที่แห่งนี้ต่อมาก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนถึงบัดนี้
          เมื่อท่านเดินทางมาถึงหัวลำภูใหญ่ในอำเภอหัวไทรในเวลานี้เป็นสถานที่ที่มีหาดทรายขาวสะอาดต้นลำภูแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่นเย็นสบาย ท่านจึงอาศัยพักแรมอยู่ใต้ต้นลำภูนั้น ทำสมาธิวิปัสสนา ประชาชนในถิ่นนั้นได้พร้อมใจกันมากราบไหว้บูชาและฟังท่านแสดงธรรมอันเป็นหลักควรปฏิบัติของพระพุทธศาสนา ต่อมาประชาชนเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาแรงกล้าจึงพร้อมใจกันสร้างศาลาถวายขึ้นหนึ่งหลังและท่านได้จากสถานที่นี้ไปนี้ต่อมาภายหลังไม่นานศาลาหลังนี้เกิดเป็นศาลาศักดิ์สิทธิ์ประชาชนชาวบ้านถิ่นนั้นและใกล้เคียงจึงชักชวนกันมาทำพิธีสมโภชศาลาศักดิ์สิทธิ์หลังนั้นเป็นการระลึกถึงท่านถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันพิธีชักชวนกันทำขนมโคมาบวงสรวงสมโภชทุกๆ วันพฤหัสฯ เป็นประจำจนเป็นประเพณีมาจนกระทั่งบัดนี้
          เมื่อท่านจากหัวลำภูใหญ่เดินทางมาถึงบางค้อนท่านได้หยุดพักแรมพอหายเมื่อยล้าแล้วก็เดินทางต่อไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ หลังจากที่ท่านจากไปแล้วสถานที่บางค้อนก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ปรากฏมาจนบัดนี้
พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือพระภิกษุปู่กลับถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ ครั้งนี้ประชาชนชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ ประชาชนได้พร้อมใจกันขนานนามท่านขึ้นใหม่เรียกกันว่า "สมเด็จเจ้าพะโคะ" ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ต่อมาวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะอันเป็นชื่อเดิมก็ถูกเรียกย่อ ๆ เสียใหม่ว่า "วัดพะโคะ"จนกระทั่งบัดนี้
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะนี้มีพระอรหันต์ ๓ องค์ เป็นผู้สร้างขึ้น คือ
๑. พระนาไรมุ้ย
๒. พระมหาอโนมทัสสี
๓. พระธรรมกาวา
          ต่อมาพระมหาอโนมทัสสีได้เดินทางไปประเทศอินเดียอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระบรมศาสลับมา พระยาธรรมรังคัลเจ้าเมือง "จะทิ้งพระ" ในสมัยนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธา จัดการก่อสร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่สูงถึง ๒๐ วา ขึ้นถวายแล้วทำพิธีสมโภชบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในเจดีย์องค์นั้นและคงมีปรากฏอยู่จนบัดนี้
          ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะหรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ได้หยุดพักผ่อนนานพอสมควร ท่านได้ตรวจดูเห็นปูชนียสถานและกุฏิวิหารเก่าแก่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากควรจะบูรณะซ่อมแซมเสียใหม่ ดังนั้นท่านจึงได้เดินทางเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาเข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชาอีกวาระหนึ่ง (ในตำนานมิได้กล่าวไว้ว่าท่านไปทางบกหรือไปทางน้ำ) เมื่อได้สนทนาถามสุขทุกข์กันแล้ว ท่านก็ทูลถวายพระพรพระองค์ตามความปรารถนาที่จะบูรณะและปฏิสังขรณ์วัดให้พระองค์ทรงทราบ ครั้นได้ทราบจุดประสงค์ก็ทรงศรัทธาเลื่อมใสร่วมอนุโมทนาด้วย จึงตรัสสั่งให้พระเอกาทศรถพระเจ้าลูกยาเธอ จัดการเบิกเงินในท้องพระคลังหลวงมอบถวาย และจัดหาศิลาแลงบรรทุกเรือสำเภา ๗ ลำ พร้อมด้วยนายช่างหลวงหลายนาย มอบหมายให้ท่านนำกลับไปดำเนินงานตามความปรารถนาปรากฏว่าท่านได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและปลูกสร้าง (วัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ) อยู่หลายปีจึงสำเร็จบริบูรณ์
          สมเด็จพระเจ้าพะโคะ เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระมหาธรรมราชายังกรุงศรีอยุธยาครั้งหนึ่งปรากฏว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสเคารพต่อท่านเป็นยิ่งนัก ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระทานที่ดินนาถวายแก่ท่านเป็นกัลปนา ขึ้นแก่วัดพัทสิงห์บรรพตพะโคะ จำนวน ๙๐ ฟ้อน พร้อมด้วยประชาราษฎรที่อาศัยอยู่ในเขตที่ดินนั้น มีอาณาเขตติดต่อ โดยถือเอาวัดพัทธสีห์บรรพตพะโคะเป็นศูนย์กลางดังนี้
๑. ทางทิศเหนือ ตั้งแต่แหลมชุมพุกเข้ามา
๒. ทางทิศใต้ ตั้งแต่แหลมสนเข้ามา
๓. ทางทิศตะวันออก จดทะเลจีนเข้ามา
๔. ทางทิศตะวันตก จดทะเลสาบเข้ามา
          ขณะที่สมเด็จเจ้าพะโคะกลับจากกรุงศรีอยุธยาได้ประจำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ
ครั้งนี้คาดคะเนว่าท่านมีอายุกาลถึง ๘๐ ปีเศษอยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์ประจำตัว ไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น ๓ คด ชาวบ้านเรียกว่าไม้เท้า ๓ คด ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังฝั่งทะเลจีน และขณะที่ท่านเดินเล่นรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลี่ยบชายฝั่งมา พวกโจรสลัดจีนเห็นสมเด็จเดินอยู่ คิดเห็นว่าเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเข้าขึ้นฝัง นำเอาท่านลงเรือไป เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุมหัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้น คือเรือลำนั้นจะแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนได้พยายามแก้ไขจนหมดความสามารถ เรือก็ยังไม่เคลื่อนจึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั่นเป็นเวลาหลายวันหลายคืน ที่สุดน้ำจืดที่ลำเลียงมาบริโภคในเรือก็ได้หมดสิ้นจึงขาดน้ำดื่มและหุงต้มอาหาร พากันเดือดร้อนกระวนกระวายด้วยการกระหายน้ำเป็นอย่างยิ่ง สมเด็จท่านสังเกตเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกเรือถึงขั้นที่สุดแล้วท่านจึงเหยียบกราบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล ทั้งนี้ย่อมไม่พ้นความสังเกตของพวกจีนไปเมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากผิวน้ำทะเลแล้วก็สั่งให้พวกโจรจีนตักน้ำตรงนั้นขึ้นมาดื่มชิมดู พวกจีนแม้ไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ได้ปรากฏว่าน้ำทะเลเค็มจัดที่ตรงนั้นแปรสภาพเป็นน้ำจืดเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรสลัดจีนได้เห็นประจักษ์ในคุณอภินิหารของท่านเช่นนั้นก็พากันหวาดเกรงภัยที่จะเกิดแก้พวกเขาต่อไปจึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วพาท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป
          เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะขึ้นจากเรือเดินกลับวัดถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านหยุดพักเหนื่อยได้เอาไม้เท้า ๓ คด พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้นลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนสภาพจากเดิมกลับคด ๆ งอ ๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่า ต้นยางไม้เท้า ยังมีปรากฏอยู่ถึงเวลานี้
          สมเด็จพะโคะหรือพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ครองสมณเพศจำพรรษาอยู่วัดพะโคะเป็นที่พึ่งของประชาราษฎร์มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยการเจ็บไข้ได้ทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนได้ตลอดมา
ตอนนี้ได้รับความกรุณาจากพระอุปัชฌาย์ดำ ติสฺสโร สำนักวัดศิลาลอย อำเภอจะทิ้งพระเป็นผู้เล่าตามนิยายต่อกันมา โดยท่านพระครูวิริยานุรักษ์ วัดตานีสโมสรเป็นผู้บันทึกความดังต่อไปนี้
          ในสมัยสมเด็จเจ้าพะโคะพำนักอยู่วัดพะโคะครั้งนั้นยังมีสามเณรน้อยรูปหนึ่งเข้าใจว่าคงอาศัยอยู่วัดใดวัดหนึ่งในท้องที่อำเภอหาดใหญ่เวลานี้ สามเณรรูปนี้ได้บวชมาแต่อายุน้อย ๆ ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมีความขยันหมั่นเพียรก่อแต่การกุศลในพระพุทธศาสนาและตั้งจิตอธิษฐานจะขอพบพระศรีอริยะอย่างแรงกล้า อยู่มาคืนหนึ่งมีคนแก่ถือดอกไม้เดินเข้ามาหาแล้วประเคนดอกไม้ส่งให้แล้วบอกว่า นี่เป็นดอกไม้ทิพย์ไม่รู้จักร่วงโรยพร้อยกับกล่าวว่า พระศรีอริยะโพธิสัตว์นั้นขณะนี้ได้จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์เพื่อโปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนาสามเณรเจ้าจงถือดอกไม้ทิพย์นี้ออกค้นหาเถิดหากผู้ใดรู้จักกำเนิดของดอกไม้แล้วผู้นั้นแหละเป็นพระศรีอริยะที่จุติมา เจ้าจงพยายามเที่ยวค้นหาคงจะพบเมื่อกล่าวจบแล้วคนแก่นั้นก็อันตรธานหายไปทันที
          สมาเณรน้อยมีความปิติยินดีเป็นยิ่งนักวันรุ่งเช้าจึงกราบลาสมภารเจ้าอาวาสถือดอกไม้ทิพย์เดินออกจากวัดไป สามเณรเดินทางตรากตรำลำบากไปทั่วทุกหนทุกแห่งก็ไม่มีใครทักถามถึงดอกไม้ทิพย์ที่ตนถืออยู่นั้นเลยแต่สามเณรก็พยายามอดทนต่อความเหนื่อยยากต้องตากแดดกรำฝนไปเป็นเวลาช้านาน วันหนึ่งต่อมาสามเณรน้อยเดินทางเข้าเขตวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะในเวลาใกล้จะมืดค่ำเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงส่องรัศมีจ้าไปทั่วท้องฟ้าและเป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ลงทำสังฆกรรมในอุโบสถ สามเณรถือดอกไม้ทิพย์เดินเข้าไปยืนถือดอกไม้ทิพย์อยู่ริมอุโบสถรอคอยพระสงฆ์ที่จะลงมาอุโบสถ พอถึงเวลาพระภิกษุทั้งหลายก็เดินทะยอยกันเข้าอุโบสถผ่านหน้าสามเณรไปจนหมดไม่มีพระภิกษุองค์ใดทักสามเณรเลย เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งในอุโบสถเรียบร้อยแล้วสามเณรจึงเดินเข้าไปนมัสการถามพระสงฆ์เหล่านั้นว่า วันนี้พระมาลงอุโบสถหมดแล้วหรือ พระภิกษุตอบว่า ยังมีสมเด็จอยู่อีกองค์วันนี้ไม่มาลงอุโบสถ สามเณรทราบดังนั้นก็กราบลาพระสงฆ์เหล่านั้นเดินออกจากอุโบสถมุ่งตรงไปยังกุฏิของสมเด็จเจ้าฯ ทันที
          ครั้นถึงสามเณรก็คลานเข้าไปใกล้ก้มกราบนมัสการท่านอยู่ตรงหน้าสมเด็จเจ้าฯ สมเด็จเจ้าฯ ได้ประสพดอกไม้ในมือสามเณรถืออยู่ จึงถามสามเณรว่า นั่นดอกไม้ทิพย์เป็นดอกไม้เมืองสวรรค์ผู้ใดให้เจ้ามา สามเณรรู้แจ้งใจตามที่นิมิตจึงคลานเข้าไปก้มลงกราบที่ฝ่าเท้าแล้วประเคนดอกไม้ทิพย์นั้นแก่สมเด็จเจ้าฯ ทันที เมื่อสมเด็จเจ้าฯ รับประเคนดอกไม้ทิพย์จาดสามเณรน้อยแล้วท่านได้สงบอารมณ์อยู่ชั่วครู่มิได้พูดจาประการใด แล้วลุกขึ้นเรียกสามเณรเดินตรงเข้าไปในกุฏิปิดประตูลงกลอนและเงียบหายไปในคืนนั้น มิได้มีร่องรอยแต่อย่างใดเหลือไว้ให้พิสูจน์จนเวลาล่วงเลยมาบัดนี้ประมาณสามร้อยปีเศษแล้ว
          การหายตัวไปของสมเด็จเจ้าพะโคะครั้งนั้นประชาชนเล่าลือกันว่าท่านได้สำเร็จสู่สวรรค์ไปเสียแล้วด้วยอำนาจบุญบารมีอภินิหารท่านแรงกล้า ตามที่กล่าวลือกันเช่นนี้เพราะมีเหตุอัศจรรย์ปรากฏขึ้นในคืนนั้นว่าบนอากาศบริเวณวัดพะโคะ ได้มีดวงไฟโตขนาดเท่าดวงไต้ส่องรัศมีต่าง ๆ เป็นปริมณฑลดังพระจันทร์ทรงกลดลอยวนเวียนรอบบริเวณวัดพะโคะส่องรัศมีจ้าไปทั่วบริเวณวัดเมื่อดวงไฟดวงนั้นลอยวนเวียนอยู่ครบสามรอบแล้วลอยเคลื่อนไปทางทิศอาคเนย์เงียบหายมาจนกระทั่งบัดนี้
          วันรุ่งเช้าประชาชนมาร่วมประชุมกันที่วัดและต่างคนต่างก็เข้าใจว่าสมเด็จเจ้าฯ ท่านสำเร็จสู่สวรรค์ไปจึงได้พากันพนมมือขึ้นเหนือศรีษะพร้อมกับเปล่งเสียงว่าสมเด็จเจ้าพะโคะโล่ไปเสียแล้วเจ้าข้าเอย เมื่อสมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะครั้งนั้น สมเด็จเจ้าฯ ท่านได้ทิ้งของสำคัญไว้ให้เป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตลอดมาคือ
          ๑. ดวงแก้วที่พระยางูใหญ่ให้ครั้งเป็นทารกอยู่ในเปล ๑ ดวง และสมภารทุกๆ องค์ของวัดพะโคะได้ เก็บรักษาไว้จนถึงบัดนี้ปรากฏว่า แก้วดวงนี้ไม่มีใครกล้านำออกจากบริเวณวัดพะโคะเพราะเกรงจะเกิดภัย
๒. ก่อนที่สมเด็จเจ้าฯ จะโล่หายไปปรากฏว่าท่านได้ขึ้นไปทำสมาธิอยู่บนชะง่อนผาภูเขาบาท ได้เอาเท้าซ้ายเหยียบลงบนลาดผาลึกเป็นรอยเท้าเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนมาจนกระทั่งบัดนี้ (ท่านพระครูวิสัยโสภณวัดช้างให้ได้ไปนมัสการมาแล้ว)
สมัยที่สมเด็จเจ้าพะโคะโล่หายไปจากวัดพะโคะ ตำบลชุมพล อำเภอจะทิ้งพระ จังหวัดสงขลา ครั้งนั้นได้มีพระภิกษุชรารูปหนึ่งปรากฏตัวขึ้นที่เมืองรัฐไทรบุรีเวลานี้พระภิกษุรูปนี้เป็นปราชญ์ทางธรรมและเชี่ยวชาญทางอิทธิอภินิหารเป็นยอดเยี่ยมชาวเมืองไทรบุรีมีความเคารพเลื่อมใสมาก ซึ่งสมัยนั้นคนมลายูในเมืองไทรบุรีนับถือศาสนาพุทธ ต่อมาท่านก็ได้เป็นสมภารเจ้าวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้น
มีเรื่องชวนคิดอยู่ว่า พระภิกษุชรารูปนี้ไม่มีประชาชนคนใดจะทราบได้ว่า ท่านชื่ออย่างไร ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีใครซักถาม จึงพากันขนานนาม เรียกกันว่า " ท่าน ลังกาองค์ดำ " ท่านปกครองวัดด้วยอำนาจธรรมและอภินิหารอย่างยอดเยี่ยม เป็นที่พึ่งทางธรรมปฏิบัติและการเจ็บไข้ได้ทุกข์ของประชาชน ด้วยความเมตตาธรรม ประชาชนเพิ่มความเคารพเลื่อมใสท่านตลอดถึงพระยาแก้มดำ เจ้าเมืองไทรบุรีสมัยนั้น และท่านมีความสุขตลอดมา ( ท่านลังกาองค์นี


หัวข้อ: Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 12 มีนาคม 2553 11:39:05

(http://i3.photobucket.com/albums/y91/Khunnai/Water%20Lily/IMG_0135.jpg)

สาธุ สาธุ สาธุ ค่ะน้องแม๊ค


หัวข้อ: Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด วัดช้างให้
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 12 มีนาคม 2553 12:56:15
ประวัติพระอริยเจ้าท่านอื่น ๆ กำลังทยอยลงครับ ข้อมูลมีแล้ว

แต่งานยังรัดตัวอยู่

ไว้จะทยอยเอามาลงเรื่อย ๆ ครับ