[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 23 ธันวาคม 2553 17:26:28



หัวข้อ: 'วิถีชีวิต...จิตอาสา' ความดีคือกำไรใจคือทุน
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 23 ธันวาคม 2553 17:26:28
(http://www.dailynews.co.th/content/media/image/image_201009041424559456278C-B8D8-513C-211D23791FF6C945.jpg)

เรียนรู้แนวทางแห่ง 'ฉือจี้'
'วิถีชีวิต...จิตอาสา' ความดีคือกำไรใจคือทุน


คำว่า “จิตสำนึกสาธารณะ” “จิตอาสา” อาจเรียกต่างกัน หากแต่ 2 คำนี้ล้วนมีวัตถุประสงค์เดียว ราชบัณฑิตยสถานนิยามความหมายว่า การตระหนักรู้และคำนึงถึงส่วนรวมร่วมกัน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติให้ความหมายว่า หมายถึง การรู้จักเอาใจใส่เป็นธุระและเข้าร่วมในเรื่องของส่วนรวมที่เป็นประโยชน์ มีสำนึกและยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงาม และมีความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

เรื่องนี้สำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตผู้คนในสังคมปัจจุบัน เมื่อเร็ว ๆ นี้นสพ.“เดลินิวส์” ร่วมเดินทางไปกับคณะของ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ โรงพยาบาลชลประทาน มหา วิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่ไปศึกษาดูงาน “โมเดลจิตอาสา” ของ มูลนิธิพุทธฉือจี้ แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดองค์กรการกุศลและอาสาสมัครที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก กล่าวโดยย่อ มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวัน ก่อตั้งโดยภิกษุณีเมื่อราว 40 ปีก่อน โดยธรรมาจารย์ “เจิ้งเอี๋ยน” มีภารกิจให้บริการแก่สังคม ปัจจุบันมีสาขาและจุดประสานงานกระจายอยู่ 60 ประเทศทั่วโลก

ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของมูลนิธิ มาจากการบริจาคของประชาชนและอาสาสมัคร ซึ่งมีสมาชิกคอยให้การสนับสนุนด้านการเงินประมาณ 10 ล้านคนทั่วโลก และจากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงกลุ่มแม่บ้านราว 30 คน ปัจจุบันมีอาสาสมัคร หรือที่เรียกกันว่า “ชาวฉือจี้” ทำหน้าที่ปฏิบัติงานกรณีต่าง ๆ กระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 4 ล้านคน รวมถึงในประเทศไทยด้วย ทั้ง นอกจากภารกิจบรรเทาทุกข์ ก็ยังมีภารกิจสำคัญ ๆ ทั้งด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล รวมถึงการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้ปรัชญาที่มาจากคำว่า “ฉือ” ที่หมายถึง เมตตา และ “จี้” ที่หมายถึง การช่วยเหลือสงเคราะห์ อย่างไรก็ดี ขนาดและจำนวนอาจเป็นเรื่องเล็ก เมื่อพินิจภารกิจและสาระของฉือจี้ เพราะนี่ถือเป็น “ต้นแบบจิตอาสา” ที่สำคัญ

กับมุมมองคนไทยที่ไปดูงานฉือจี้ พงศ์โศภณ ดอนเส ประธานสภานิสิต กล่าวว่า มุมมองในเรื่องจิตอาสาเพิ่มขึ้นมาก หลังได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวฉือจี้ ที่นำเรื่องนามธรรมมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้คนทุกชนชั้นมีโอกาสทำความดีได้โดยง่าย ขณะที่ สังคมไทยมักจะแค่คิด แต่ไม่ทำ มีเพียงความรู้สึก แต่ไม่มีพลังขับเคลื่อนให้เกิดผลจับต้องได้ “พลังจิตอาสาของคนที่นี่เข้มแข็งมาก แม้แต่เด็กที่มาทำงานก็สัมผัสได้ถึงความจริงจังทุ่มเท ทุกคนไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษ ไม่เกี่ยวกับคะแนนสอบหรืออะไร แต่เลือกที่จะทำ เพราะเชื่อว่าถ้าสังคมดี ชีวิตเขาจะดีตามด้วย”

ธนทัต อนิวรรตน์ นายกองค์การนิสิต กล่าวว่า การบ่มเพาะจิตใจในระบบการศึกษาของฉือจี้มีส่วนช่วยแก้ปัญหาสังคมได้เยอะ ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ทำให้คนเห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว “ชื่นชมที่ฉือจี้ปลูกฝังเรื่องการเคารพตนเอง การเคารพผู้อื่นได้ดีมาก รวมถึงกล่อมเกลาให้ผู้คนมีจิตใจที่อ่อนโยน และกระหายที่จะสร้างความดี ซึ่งแตกต่างจากสังคมไทยในปัจจุบัน” ธนทัตให้ความเห็น

ทพ.วินัย นันทสันติ หนึ่งในคณะ สะท้อนมุมมองว่า เป็นพลังจิตอาสาที่แข็งแรงมาก จุดเด่นที่พบและคิดว่าน่าจะทำให้มูลนิธิแห่งนี้เติบโตและหยั่งรากลงสู่จิตใจผู้คนทั่วโลก น่าจะเกิดจากความเพียรของอาสาสมัครที่ทำงานหนัก โดยทราบว่าทุกคนที่มาช่วยไม่มีใครมีสิทธิพิเศษ ซ้ำยังต้องควักทุนตนเองเพื่อทำงานช่วยเหลือสังคม และไม่เฉพาะคนธรรมดา แม้แต่ ภิกษุณี ก็มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัด และทุกคนต้องทำงานโดยไม่มีการแบ่งแยก สิ่งที่ประทับใจคือ แม้งานหนักเหนื่อยแต่ไม่มีใครบ่น หากมีรอยยิ้มเจือปนใบหน้าเสมอ

สิ่งนี้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการทำความดีอย่างยิ่ง และอีกส่วน คือวิธีการกล่อมเกลาจิตใจของฉือจี้ที่มีการ นำเอาวิชาจริยศาสตร์ เช่น การชงชา, การจัดดอกไม้ ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทุกระดับ ทำให้จิตใจทุกคนดูอ่อนโยน ตรงนี้เป็นความลุ่มลึกที่ลึกซึ้งของฉือจี้ “เมื่อมองย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาไทยที่ส่วนใหญ่เน้นไปที่การผลิตคนเก่ง แต่มีคำถามเรื่องความดีงาม จุดนี้ถ้าเราสามารถนำมาปรับใช้ได้ก็น่าจะเป็นเรื่องดี ถือว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจของฉือจี้”

พญ.กนิษฐา กิจสมบัติ ก็แสดงความเห็นว่า ประทับใจวิธีการที่ใช้ดึงความดีงามในจิตใจของคนออกมาได้โดยไม่ได้ทำให้เป็นคนดีอย่างเดียว แต่ทำให้ความดีแสดงออกมาด้วย ส่วนตัวประทับใจวิธีการที่ฉือจี้ใช้ในการบ่มเพาะ “เมล็ดพันธุ์ความดีงาม” ให้กับผู้คนทุกระดับ โดยเฉพาะการปลูกฝังเรื่องจิตสงสาร เรื่องความเมตตาในบุคลากรทางการแพทย์ทำให้บุคลากรมีความเป็นจิตอาสาพร้อมทำงานช่วยเหลือสังคมเต็มที่แบบไม่ต้องบังคับ เมื่อมองสะท้อนมาที่ไทย เชื่อว่าสังคมไทยมีความเมตตาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีกระบวนการหรือยังไม่มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ความดีแสดงพลังออกมาได้แบบฉือจี้

อีกเรื่องที่ประทับใจ คือเรื่อง “บรมครูผู้ไร้เสียง” หรือที่คนเรียนแพทย์รู้จักดี ในชื่อ “อาจารย์ใหญ่” คือผู้บริจาคร่างสำหรับการเรียนของนิสิตแพทย์โดยกระบวนการคล้ายกับไทย ต่างกันที่รายละเอียด ที่นี่จะนำครอบครัวของผู้บริจาคมาพูดคุยกับนิสิต เพื่อให้ทราบเรื่องราวและเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของผู้บริจาค วิธีการที่เขาใช้ แสดงออกถึงการให้เกียรติและการให้ความเคารพอย่างสูง “ระบบของเราก็คล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่รายละเอียด จุดเด่นของฉือจี้คือทำให้นิสิตแพทย์เกิดจิตสงสาร เกิดจิตเมตตา เพราะทำให้เกิดความผูกพันและเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ให้ และเคารพในความเป็นมนุษย์”

นพ.สมดี รัตนาวิบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ กล่าวว่า การได้เยี่ยมชมฉือจี้ ทำให้ตระหนักในเรื่องการทำความดี วิธีการที่จะช่วยให้สังคมมั่นใจในการทำความดี แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้สัมผัส แต่ก็รู้สึกได้ว่ากระบวนการสร้างความเป็นจิตอาสาของที่นี่มีความลุ่มลึกและยั่งยืนมากในการปฏิบัติ นอกจากจะสร้างจิตอาสาให้กับผู้คนในองค์กรแล้ว ฉือจี้ยังหว่านเมล็ดพันธุ์จิตอาสาออกไปให้กับผู้คนทั้งโลก ผ่านภารกิจและการปฏิบัติตน ทำให้เกิดคำถามไม่รู้จบ ทำให้เกิดความเลื่อมใส นอกจากนี้ ด้วยความที่องค์กรมีปณิธานชัดเจนในการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและความขัดแย้งใด ๆ โดยยึดหลัก “ช่วยเหลือแบบไม่มีข้อแม้” จึงทำให้ฉือจี้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพรมแดนหรือเชื้อชาติ จึงสามารถเข้าไปปฏิบัติภารกิจในประเทศต่าง ๆ ได้ง่าย โดยที่องค์กรอื่นอาจทำไม่ได้ เรื่องของฉือจี้จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
“ผมมองว่า แม้ไทยเราจะทำได้ไม่ง่าย แต่เชื่อว่าคงไม่ยากเกินไป ถ้าเข้าใจวิธีการ จุดเด่นของฉือจี้คือผู้คนมีความเป็นจิตอาสาที่เข้มแข็ง ผมมองว่าสังคมไทยควรศึกษาวิธีการและหลักคิดของฉือจี้ ถ้าเราทำได้ผมเชื่อว่าเราคงจะมีโซเชี่ยลโพรฟิต และมีสังคมที่ดีขึ้นกว่านี้แน่นอน”

โมเดลสร้างคนดี

นพ.เฉลิมชัย บุณยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มศว ระบุถึงการเยือนเพื่อศึกษาแนวทางของมูลนิธิฉือจี้ว่า... เพื่อต้องการสะท้อนและทำให้เกิดความมั่นใจว่าเรื่องของ “จิตอาสา” มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้จริงอยู่ในโลก จิตอาสามีการทำสำเร็จในโลกนี้จริง ซึ่งเวลาเราคิดทำเรื่องจิตอาสา หรือสอนให้คนทำความดี เรามักบอกแต่เรื่องทางนามธรรม แต่ที่นี่สามารถจับต้องรับรู้ได้

การผลิตคนของฉือจี้เน้น “การสร้างคนดีทุกระดับ” โดยนำวิชาการเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกับคุณธรรมความดี ซึ่งกับความประทับใจในฉือจี้ แบ่งเป็น 5 ประเด็นใหญ่คือ
1.การชอบทำงานที่คนอื่นคิดว่าทำแล้วทุกข์ มีการสอนว่าทำงานต้องมีความสุข ต้องไม่ลืมว่าความสำเร็จมีวันเดียว แต่วิธีการไปถึงอาจต้องใช้เวลานาน ถ้าคนทำงานมีความสุข ไม่ว่าเป้าหมายจะนานแค่ไหน คนทำก็จะไม่หยุดเพราะมีความสุขในการทำ ซึ่งเป็นวิธีที่ยั่งยืน
2.การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการปลูกฝังอาสาสมัครว่าต้องเคารพ ให้เกียรติ และขอบคุณคนที่รอความช่วยเหลือว่าเป็นผู้มีพระคุณที่เปิดโอกาสให้ได้ทำดี
3.การสอนให้ทำงานด้วยปณิธาน ปัญญา และประณีต
4.การสอนให้ทำความดีทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข ทำได้แค่ไหนเอาเท่านั้น ห้ามตั้งข้อแม้เมื่อจะทำความดี
5.ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

“เรื่องแรก เป็นวิธีสอนให้อดทน
เรื่องที่สอง สอนให้เราลดตัวเองให้เล็กลง
เรื่องที่สาม เตือนว่าเวลาเราทำความดีต้องทำอย่างมีสติ มีเหตุผล มีความ ละเมียดละไม เข้าใจในความเป็นมนุษย์
เรื่องที่สี่ สอนให้เรารู้ว่าความดีทำได้ทุกที่ ไม่ต้องรอให้พร้อมก่อนถึงจะทำ ให้ทำไปเลย ไม่ต้องตั้งเงื่อนไข
เรื่องสุดท้าย คือเมื่อทำงานจิตอาสาซึ่งเป็นงานเสียสละ ไม่ควรร้องขอมากเกินไป เพราะแทนที่จะได้ช่วยอาจกลายไปเป็นการเพิ่มภาระให้คนอื่นแทน

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีคิดที่ฉือจี้ทำออกมาได้ดีมาก เพราะถ้าคุณทำงานแบบนี้ คำถามพวกนี้ต้องไม่มี แล้วงานมันจะเดินง่าย การมาเห็นฉือจี้ทำให้เรารับรู้ว่าแบบไหนที่เรียกว่าจิตอาสาที่แท้จริง”


เดลินิวส์ 5 กย.53