[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 05 พฤษภาคม 2558 13:13:27



หัวข้อ: เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 05 พฤษภาคม 2558 13:13:27
.

(http://farm6.static.flickr.com/5172/5420444371_49311ff3e7.jpg)
เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เขยพระเจ้ากรุงจีน
ค้นหาเบาะแส เจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

การสัมมนาทางวิชาการ เรื่องการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม บนเส้นทางการค้าทางทะเล เมื่อ ๘-๙ พ.ค.๒๕๕๗...ชุดความรู้เรื่องร่องรอยของเจิ้งเหอ ในคาบสมุทรมลายู และมะละกา ของ รศ.ปิยะแสง จันทรวงศ์ไพศาล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นหนึ่งในหลายบทความ ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติจัดพิมพ์เผยแพร่

ในสมุทรยาตรา ๗ ครั้ง สมุทรยาตราครั้งที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ.๑๙๕๐-๑๙๕๒ มีบันทึกว่า กองเรือเจิ้งเหอ จอดแวะพักอาณาจักรจามปา อาณาจักรสยาม (อยุธยา) อาณาจักรมัชฌปาหิตบนเกาะชวา เซมู–ดารา และชายฝั่งด้านเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นจึงเดินเรือต่อไปศรีลังกา

ปี พ.ศ. ที่เจิ้งเหอเยือนอยุธยาครั้งแรก เป็นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา ในสมัยราชวงศ์อู่ทอง ช่วงปลายแผ่นดินสมเด็จพระรามราชาธิราช มีบันทึกบางฉบับของจีนกล่าวว่า มีทูตจากอยุธยาตามกองเรือเจิ้งเหอไปราชสำนักหมิง ที่นครหนานจิง และติดตามกลับสยามในการสมุทรยาตราครั้งต่อมา แต่ข้อมูลนี้ไม่มีในเอกสารฝ่ายไทย

สมุทรยาตราครั้งที่ ๓ ราชสำนักหมิงของจีน ให้ความสำคัญกับการปกครองมะละกาของพระเจ้าปรเมศวร มีบันทึกถึงอำนาจราชวงศ์หมิงที่ให้ความคุ้มครองดินแดนในช่องแคบมะละกา แล้วจึงเคลื่อนกองเรือมาอาณาจักรสยาม

การมาสยามใน พ.ศ. ๑๙๕๓ ครั้งนี้ของเจิ้งเหอ ตรงกับเหตุการณ์ผลัดแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยา เมื่อเจ้านครอินทร์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์อยุธยา สืบแทนสมเด็จพระรามราชาธิราช แห่งราชวงศ์อู่ทอง

ทรงพระนาม สมเด็จเจ้าอินทราชา

ปัญหาทางการเมืองและความไม่สงบในอยุธยา ไม่มีบันทึกว่าเจิ้งเหอได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยาม และหลังสมุทรยาตราครั้งนี้ เจิ้งเหอก็ไม่ได้หวนกลับมาสยามอีก แต่กลับมีตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านเรื่องศาลเจ้าซำปอกง เชื่อมโยงไปถึงตำนานเรื่องศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก

ชุมชนชาวจีนที่ตั้งถิ่นฐานตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าขานกันถึงเจิ้งเหอ ซึ่งชาวจีนแต้จิ๋วออกเสียงว่า “แต้ฮั้ว” กับการสร้างวัดพนัญเชิง ริมแม่น้ำป่าสัก ตำบลคลองสวนพลู ทิศใต้ฝั่งตรงข้ามของเกาะเมือง วัดนี้มีหลักฐานการสร้างก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา

พงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้ครองอโยธยา เป็นผู้สร้าง ตรงที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก และพระราชทาน นามวัดว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง

แต่บันทึกประวัติวัดบอกว่า คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายถึง พระนั่งขัดสมาธิ

พระพุทธรูปใหญ่ในพระวิหารวัดพนัญเชิง สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๖๗ ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ๒๖ ปี ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต ชาวจีนเรียกว่า ซำปอกง ซึ่งมีความหมายถึงชื่อเจิ้งหอ ซึ่งแปลว่าผู้คุ้มครองทางทะเล

พระ “ซำปอกง” ที่ชาวจีนนับถือปัจจุบันมีสามองค์ องค์แรก ที่วัดพนัญเชิง องค์สอง ที่วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพมหานคร และองค์ที่สาม ที่วัดอุภัยภาติการาม ฉะเชิงเทรา เรื่องน่าแปลกก็คือ ชื่อเรียก “ซำปอกง” ถูกเปลี่ยนมาเป็นชื่อพระพุทธรูป

ประติมากรรมรูปปั้นเจิ้งเหอ พบในศาลเจ้า ในวัดวาอารามในประเทศจีน และประเทศอื่นๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากมาย แต่ในประเทศไทยแห่งเดียว มีซำปอกงเป็นพระพุทธรูป

การอ้างอิงตำนานพื้นเมือง ไม่ใช่ข้อสรุปเชิงวิชาการ แต่อาจเป็นเบาะแสให้เค้าลางบางอย่าง ทำให้สามารถติดตามสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงได้ในอนาคต โดยเฉพาะประเด็นตำนานพื้นบ้านการสร้างศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในวัดพนัญเชิง

ภายในศาลเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมากในเครื่องแต่งกายสตรีจีนโบราณ ชาวจีนแต้จิ๋วเรียกจูแซเนี้ย จีนกลางเรียกจู้เซิงเหนียง เทพเจ้าสตรีที่คอยปกป้องคุ้มครองหญิงมีครรภ์ การคลอดบุตร การประทานบุตร การขอคู่ครอง และการสมรส นับถือกันแพร่หลายในแถบมณฑลฝูเจี้ยน ไต้หวัน และในชุมชนจีนโพ้นทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตำนานเล่าเรื่องพระนางสร้อยดอกหมากว่า มีเด็กหญิงคนหนึ่งเกิดอยู่ในจั่นหมาก พระเจ้ากรุงจีนเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อเติบโตรูปโฉมงดงาม ขณะเจ้าชายสายน้ำผึ้งจากอยุธยาเสด็จไปกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนจัดอภิเษกสมรสให้

เจ้าชายสายน้ำผึ้งเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาก่อน ขบวนเรือสำเภาพระนางสร้อยดอกหมากตามมาทีหลัง เมื่อเรือเทียบท่ากรุงศรีอยุธยา เจ้าชายสายน้ำผึ้งมารับช้า เมื่อถูกตัดพ้อเจ้าชายสัพยอกว่า เมื่อไม่อยากขึ้นจากเรือก็จงอยู่ที่นี่เถิด พระนางก็กลั้นใจตาย

พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสียพระทัยมาก เชิญศพพระนางขึ้นพระราชทานเพลิง และทรงสร้างวัดเป็นอนุสรณ์พระนางสร้อยดอกหมาก ตั้งชื่อวัดว่า วัดพระนางเชิญ

เรื่องจริง...ที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ปีที่เจิ้งเหอนำกองเรือมากรุงศรีอยุธยา อยู่ระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๖๗ ที่สมเด็จพระอินทราชา หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีนครินทราธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทรงครองราชย์

และตามประวัติ เจ้านครอินทร์ ที่กล่าวขานกันนั้น ก็เล่ากันว่าเคยเสด็จไปกรุงจีน จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า...พระเจ้าสายน้ำผึ้ง คือเจ้านครอินทร์ หรือสมเด็จพระอินทราชา ...หรือไม่

ตำนานเจ้าแม่สร้อยดอกหมากบังเอิญสอดคล้องกับตำนานของชาวมะละกา ที่เล่าถึง เจ้าหญิงฮัง ลี โปห์ ซึ่งเดินทางมากับกองเรือเจิ้งเหอ และได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านแห่งมะละกา

แม้เรื่องนี้ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน แต่การอภิเษกสมรสก็ถูกใช้เชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างอาณาจักรจีนกับต่างแดนมาหลายยุคหลายสมัย.
...จาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ