[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 พฤษภาคม 2558 13:53:13



หัวข้อ: เดินจงกรม - บำเพ็ญเพียรเพื่อสุขภาพกายและใจ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 พฤษภาคม 2558 13:53:13
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47335809634791_view_resizing_images_3_.jpg)

การเดินจงกรม

เอกสารเผยแพร่ของโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประโยชน์ของการเดินจงกรมเอาไว้ ๕ ข้อ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันปิฎก ระบุไว้ว่า "ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล เป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปได้ดี สมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน" ทั้งนี้ การมีอาพาธน้อย หมายถึงสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย

ปัจจุบันมีผลการวิจัยทางการแพทย์ที่พิสูจน์ให้เห็นประโยชน์ของการเดินจงกรมต่อสุขภาพ คือช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกาย และบรรเทาอาการของโรคเรื้อรังต่างๆ โดยสถาบันสุขภาพองค์รวมในสหรัฐอเมริกาได้อธิบายเรื่องการเดินจงกรมทางด้านอายุรเวทว่า การเดินจงกรมช่วยเสริมการทำงานของธาตุไฟในร่างกาย ฟื้นฟูการทำงานของระบบย่อยและระบบขับถ่าย ช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง ส่งผลด้านจิตใจช่วยคลายเครียด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและ ลำไส้เป็นปกติ ลดการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและภาวะกรดเกิน ทั้งการเดินจงกรมยังช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของ ผู้ป่วยในระยะ พักฟื้น เพิ่มความแข็งแรงและสร้างความทนทานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา เข่า สะโพกได้เป็นอย่างดี มีผลให้เวลาการฝึกเดินน้อยลงและได้ผลดีกว่าการฝึกเดินทั่วไป

ด้าน รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนให้ความรู้ว่า การเดินจงกรมคือการเดินกลับไปกลับมาเพื่ออบรมจิตใจ วิธีการเดินในแต่ละสำนักจะแตกต่างกัน บ้างให้กำหนดรู้ทุกก้าว เช่น ยก-ย่าง-เหยียบ หรืออาจกำหนดรู้อย่างละเอียด เป็น เผยอ-ยก-ย่าง-ลง-แตะ-เหยียบ-กด

การกำหนดรู้จะช่วยประคองจิตภายในให้นิ่ง แต่การเดินจงกรมในการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวเป็นการเดินแบบธรรมดาตามธรรมชาติของบุคคลนั้น เพียงแค่ให้วางจิตให้นิ่งเฉยไม่คิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งในเรื่องอดีตหรืออนาคต ให้รู้ว่าเท้าได้เหยียบสัมผัสพื้นเท่านั้น การเดินจงกรมจึงเหมือนการเดินออกกำลังกาย แต่วิธีการเดินใช้ทางเดินสั้นกว่าจึงเดินที่ใดก็ได้

โดยกำหนดทางเดินประมาณ ๘-๑๒ ก้าว ถ้าทางเดินสั้นกว่า ๘ ก้าว เมื่อหมุนตัวบ่อยครั้งอาจรู้สึกเวียนศีรษะ แต่ถ้าทางเดินยาวเกินกว่า ๑๒ ก้าว จิตผู้เดินอาจล่องลอยง่าย การเดินจงกรมจึงเหมือนการออกกำลังกายอย่างเบา เช่น การเดินอย่างช้า คือใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงทุกวัน สำหรับสถานที่และเวลาที่เหมาะสม ถ้ายังไม่สามารถควบคุมจิตได้ ควรเดินในเวลาเงียบสงบ เช่น เวลาเช้ามืด แต่ถ้ามีความชำนาญแล้ว เดินเวลาใดก็ได้

ในส่วนของท่าเดินจงกรม ควรเดินตัวตรงธรรมดาตามองไปด้านหน้า ไม่แกว่งแขนเพื่อควบคุมจิตให้อยู่เฉยๆ โดยกอดอกหรือกุมมือไพล่หลังหรือกุมมือไว้ด้านหน้า พื้นทางเดินจงกรมควรเรียบไม่มีวัสดุสะดุดเท้า อาจเดินเท้าเปล่าเพื่อให้ความรู้สึกสัมผัสดีขึ้น แต่เมื่อชำนาญสวมรองเท้าเดินก็ได้

การเดินจงกรมควรเดินในขณะท้องว่าง เช่นเดียวกับการออกกำลังกายอื่นๆ เพราะอาจเกิดอาการง่วงนอนได้ง่ายหลังรับประทานอาหาร อาการง่วงนอนจะเกิดในระยะแรก และควรแก้ไขโดยเดินเร็วขึ้น หรือเดินถอยหลัง ถ้าอาการง่วงทุเลาก็จะเดินได้นานขึ้น

การเดินจงกรมเป็นวิธีการออกกำลังกายซึ่งง่ายต่อการปฏิบัติ ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ยุ่งยาก และถ้ามีความศรัทธาในพุทธศาสนาว่าช่วยดับทุกข์ได้ พร้อมช่วยให้บรรลุจุดประสงค์ได้อานิสงส์ทั้งกายและใจ การเดินจงกรมจึงเป็นการออกกำลังของกายและการพักผ่อนทางใจที่ดี


ข้อมูล-ภาพ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด