[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ อนามัย => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 06 มิถุนายน 2558 18:05:24



หัวข้อ: 6 เทคนิค 'ลด ละ เลี่ยง' โรคความดันโลหิตสูง
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 06 มิถุนายน 2558 18:05:24
.

(http://www.navamin9.com/image/HealthTips/9-1.jpg)

6 เทคนิค 'ลด ละ เลี่ยง' โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง จัดเป็นภัยซ่อนเร้นที่ใกล้ตัวมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวาย และโรคอัมพาต

นพ.มงคล จิรสถาพร อายุรแพทย์ ร.พ.กรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ความดันโลหิตสูง หมายถึง แรงดันของเลือดที่กระทำต่อผนังหลอดเลือด ซึ่งจะมีค่ามากหรือน้อยขึ้นกับแรงบีบตัวของหัวใจของแต่ละคน ค่าความดันโลหิตที่วัดจากเครื่องวัดความดัน จะมี 2 ค่า คือความดันโลหิตตัวบน คือแรงดันขณะหัวใจบีบตัว และความดันโลหิตตัวล่าง คือแรงดันหัวใจขณะคลายตัว สำหรับค่าความดันโลหิตที่ปกติ คือความดันโลหิตตัวบน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 ม.ม.ปรอท และความดันโลหิตตัวล่างน้อยกว่าหรือเท่ากับ 80 ม.ม.ปรอท

แต่ถ้าวัดความดันโลหิตตัวบนได้มากกว่า 120 ม.ม.ปรอท แต่ไม่เกิน 139 ม.ม.ปรอท และ/หรือความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 80 ม.ม.ปรอท แต่ไม่เกิน 89 ม.ม.ปรอท จะเรียกว่าเป็น ภาวะก่อนเกิดความดันโลหิตสูง ถ้าวัดความดันโลหิตตัวบนได้มากกว่า 140 ม.ม. ปรอท ขึ้นไป และ/หรือ ความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 90 ม.ม.ปรอท จะเรียกว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง

ส่วนใหญ่ความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีความดันโลหิต สูงมากๆ มักมีอาการปวดทั่วศีรษะ ปวดที่ท้ายทอย ผู้ป่วยที่เป็นมานาน อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการหัวใจวายเฉียบพลัน, ไตวาย, เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบ

การรักษาโรคที่เริ่มเป็นจะเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติได้โดยไม่ต้องกินยา นอกจากนี้ยังมีหลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความดันโลหิตสูงง่ายๆ
1.ลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักลง 10 ก.ก. จะลดความดันโลหิตได้ 5-20 ม.ม.ปรอท
2.หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เมื่อได้รับ "เกลือ" หรืออาหารรสเค็มต่างๆ ร่างกายจะดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น เป็นผลให้ปริมาณสารน้ำในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและควบคุมได้ยาก งดผงชูรส รับประทานปลาแทนเนื้อหรือหมู เลี่ยงอาหารไขมันสูงต่างๆ ขนมหวาน
3.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงมากหรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย
4.งดบุหรี่การสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ
5.ลดแอลกอฮอล์ เนื่องจากผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์มีมากกว่าผลดีมาก
6.ลดความเครียด เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้นได้ ควรปล่อยวาง หางานอดิเรกที่ชอบทำ

หากเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็น ผู้ป่วยควรพบแพทย์สม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง