[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 15 มิถุนายน 2558 18:24:32



หัวข้อ: ตำนานพระนางพญา จ.พิษณุโลก
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 15 มิถุนายน 2558 18:24:32
.

(http://www.thailovetrip.com/admin/photo2/586.jpg)

ตำนานพระนางพญา จ.พิษณุโลก
โดย  ราม วัชรประดิษฐ์

"วัดนางพญา จ.พิษณุโลก" เป็นวัดเก่าแก่ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือ "วัดใหญ่" และ "วัดราชบูรณะ"

ที่เรียกว่า "วัดนางพญา" สันนิษฐานว่ามาจากชื่อของพระวิสุทธิกษัตรี ซึ่งเป็นอัครชายาของพระมหาธรรมราชา และพระราชมารดาของพระสุพรรณกัลยา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าทรงสถาปนาพระอารามแห่งนี้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ต่อมาวัดถูกทิ้งร้างเป็นเวลานานอันเนื่องจากศึกสงคราม กระทั่งเมื่อมีการขุดค้นพบ "พระนางพญา" วัดนางพญาจึงกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้งหนึ่ง

ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือในปี ร.ศ.120 (พ.ศ.2444) ทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า "....อนุสนธิรายงานวันที่ ๑๙ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่วัดมหาธาตุ แล้วเดินไปจนสุดถนน อันเป็นถนนเดิมปูด้วยอิฐลายสองตามถนนริมน้ำไปเข้าวัดนางพญา เดินไปริมคู ฤาสระรอบวัด...อนึ่ง ที่เล่าถึงเมื่อเวลาเช้านี้ขาดไปหน่อยหนึ่ง เมื่อเสร็จการจุดเทียนไชยแล้ว ไปดูวัดนางพญา ซึ่งอยู่ต่อจากวัดมหาธาตุติดกันทีเดียว วัดนี้ มีแต่วิหาร ไม่มีอุโบสถ มีโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมตั้งอยู่ในนั้นโรงหนึ่ง พระสอน มีนักเรียนมาก ที่คับแคบไม่พอ..."

การพบพระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก "ตรียัมปวาย" ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ "ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 2 เรื่อง นางพญาและพระเครื่องสำคัญ" ว่า มีโอกาสได้พบ ผู้ใหญ่เลี่ยว ปาลิวณิช นักพระเครื่องอาวุโสของจังหวัดพิษณุโลก ท่านเล่าว่า "กรุพระนางพญา" เป็นพระเจดีย์ที่พังทลายฝัง จมดินอยู่บริเวณด้านหน้าของวัด ตรงหน้ากุฏิท่านสมภารถนอม คราหนึ่งมีผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นางถนอม มาขุดพบพระนางพญาที่บริเวณหน้ากุฏิได้พระเป็นจำนวนมาก ในคราวนั้นปรากฏว่าชาวเมืองพิษณุโลกไม่ได้ให้ความสนใจ ดังนั้น พระนางพญาที่ถูกค้นพบจึงถูกเก็บไว้ที่วัดนางพญา และบางส่วนอาจถูกนำไปบรรจุกรุยังที่อื่นๆ อีกด้วย

ท่านตรียัมปวายยังได้บันทึกหลักฐานเพิ่มเติมอีกว่า มีการพบพระพิมพ์นางพญา กรุวัดนางพญาขึ้นที่กรุวัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร จากการสืบสาวเรื่องราวได้พบว่าเป็นนางพญาพิมพ์เดียวกับกรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก พร้อมหลักฐานที่สอดคล้องกัน จากคำจารึกบนแผ่นลานเงิน ลานทอง และลานนาก มีความว่า "พระพิมพ์ที่บรรจุอยู่ในกรุนี้ เป็นพระพิมพ์ที่เอามาจากวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนมัสการพระพุทธชินราชและทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง ในวาระดิถีอันเป็นมหามงคลนี้ ได้มีราษฎร ผู้จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นำพระพิมพ์มาถวายแด่ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นอันมาก และเมื่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับไว้ ก็ได้พระราชทานจ่ายแจกแก่พระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายใหญ่น้อย ตลอดจนบรรดาข้าราชบริพารที่ตามเสด็จในครั้งนั้นโดยทั่วถึงกัน และเนื่องจากพระพิมพ์นี้มีจำนวนมาก ส่วนหนึ่งจึงได้มีผู้รวบรวมมาบรรจุไว้ในกรุพระเจดีย์นี้ ..."

พระนางพญา วัดนางพญา เป็นพระเนื้อดินเผา รูปทรงสามเหลี่ยม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้ทราบว่าพระนางพญาเป็นการผสมผสานทางด้านศิลปะของสุโขทัยและอยุธยา มีการตัดขอบแม่พิมพ์ด้วยตอกชิดองค์พระ ส่วนด้านหลังจะมีรอยหดตัวด้วยอายุการสร้าง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอายุประมาณ 500-600 ปี พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดที่พระชานุ (หัวเข่า) พระหัตถ์ซ้ายวางตรงหน้าพระเพลา (หน้าตัก) พระเกศเมาลีมีลักษณะคล้ายปลีกล้วย

แบ่งแยกแม่พิมพ์ได้ทั้งหมด 6 พิมพ์ คือ พระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง, พระนางพญา พิมพ์เข่าตรง, พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่, พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ, พระนางพญา พิมพ์เทวดา และ พระนางพญา พิมพ์อกนูนเล็ก

พระพิมพ์นางพญา กรุวัดนางพญา จ.พิษณุโลก นับเป็นพระเครื่องที่มีความสำคัญ ที่ปรากฏหลักฐานการสร้างและการค้นพบมาแต่โบราณ มีพุทธลักษณะงดงามสง่า กอปรกับพุทธาคมที่ปรากฏเป็นเลิศเป็นที่เล่าขาน ทำให้ได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็นหนึ่งใน "พระชุดเบญจภาคี"

(http://bralee.tarad.com/img-lib/spd_20120902110634_b.jpg)
พระนางพญาเข่าโค้ง วัดนางพญา จ.พิษณุโลก