[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 24 กรกฎาคม 2558 15:27:56



หัวข้อ: ชื่อพิลึก "เห็ดหำพระ" ของดีในป่า มากสรรพคุณ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 24 กรกฎาคม 2558 15:27:56
.

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/209/44209/images/had8.jpg)
เห็ดหำพระ บำรุงสุขภาพสตรี

เห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ แม้เป็นเพียงพืชชั้นต่ำจำพวกรา (fungi) ที่ไม่สามารถสร้างอาหารโดยการสังเคราะห์แสงเหมือนพืชชั้นสูงสีเขียวอื่นๆ ที่มีคลอโรฟิลล์ (chlorophyll) ก็ตาม   แต่เห็ดก็ไม่เบียดเบียนอาศัยเกาะกินร่างคนเหมือนโรคเชื้อราร้ายอื่นๆ ตรงกันข้าม มันดำรงชีวิตอยู่ด้วยการดูดซึมสารอาหารจากซากอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ ในดิน แล้วก่อรูปเป็นเห็ดชนิดต่างๆ ทั้งที่มีพิษและไม่มีพิษ

เห็ดประเภทหลังนี้เองที่กลายมาเป็นเมนูอาหารเก่าแก่ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักกินข้าวเสียอีก เพราะมนุษย์ยุคโบราณที่หาอยู่หากินตามป่าดง ย่อมรู้จักเก็บเห็ดกินก่อนที่จะรู้จักเพาะปลูกข้าวหลายพันปี โดยมีหลักฐานที่พบในโบราณสถานของชนเผ่าอินคาในชิลีว่า มนุษย์รู้จักการใช้ประโยชน์จากเห็ดมาไม่น้อยกว่า 13,000 ปี

ต่อมาเห็ดจึงพัฒนากลายมาเป็นยารักษาโรค และเมนูอาหารชั้นสูงขนาดขึ้นโต๊ะเสวยของจักรพรรดิโรมันและฮ่องเต้เมื่อราวหลายร้อยปีก่อนพุทธกาล

ในประเทศไทยเราเองก็เป็นแดนอุดมด้วยเห็ดนับพันชนิดให้เก็บกินเก็บขายได้ไม่มีวันหมด เฉพาะอีสานบ้านเฮาเองก็มีเห็ดป่าตามธรรมชาติที่ชาวบ้านสามารถเก็บมาบริโภคได้ถึงกว่า 600 ชนิด  ที่สำคัญคือมีเห็ดป่าที่สามารถนำมาใช้เป็นทั้งอาหารและยาตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านถึง 38 ชนิด  

ในที่นี้ขอแนะนำเห็ดป่าตัวหนึ่งที่นิยมใช้กินเป็นยาและอาหารรสเด็ด คือ เห็ดหำพระ

ฟังชื่อเห็ดชนิดนี้แล้ว ทั้งประสกและสีกาสมัยใหม่ก็คงสะดุ้งไปตามๆ กัน ว่าเห็ดอีสานชื่อพิลึกแบบนี้มีด้วยหรือ?

คนกรุงอาจจะฟังแปลกๆ แต่สำหรับชาวบ้านนั้น เขาเห็นเป็นเรื่องปกติเพราะชาวบ้านกับวัดเขาใกล้ชิดกัน การที่คนอีสานตั้งชื่อเห็ดชนิดนี้ว่า เห็ดหำพระ เขามิได้คิดลบหลู่พระสงฆ์องค์เจ้าแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการบ่งบอกรูปลักษณ์ของเห็ดชนิดนี้อย่างตรงไปตรงมา ให้ง่ายต่อการแยกแยะไม่ผิดตัว

เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ มีรูปกลมๆ หรือค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 ซม. ไม่มีครีบ ไม่มีโคนขาเหมือนฟองไข่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “หำ” ในภาษาอีสาน

และเอกลักษณ์ที่โดนตาที่สุดคือ สีเหลืองอ๋อยเหมือนสีจีวรพระของเจ้าเห็ดชนิดนี้นี่เอง ทำให้มีการนำพระ-เณรเข้าไปเกี่ยวข้อง  

- ถ้าเห็ดดอกใหญ่ก็เอิ้นว่า เห็ดหำพระ
- ถ้าดอกเล็กก็เอิ้นว่า เห็ดหำเณร

เห็ดชนิดนี้พบเป็นดอกเดี่ยวกระจัดกระจายหรือเกาะเป็นกลุ่ม 3-4 ลูกบนพื้นดินที่มีใบไม้ผุพังทับถมอยู่ตามป่าโคก ป่าเบญจพรรณ ป่าแดงและป่าเต็งรัง ทั้งทางภาคอีสานและเหนือ

เนื่องจากเห็ดเป็นลูกสีเหลืองสังเกตเห็นได้ง่ายเรี่ยรายอยู่กลางดินสวยงาม จึงมีคนโรแมนติกตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ลูกทองคำแห่งแผ่นดินอีสาน”

ช่วงหาเห็ดชนิดนี้คือช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน

ในด้านคุณค่าอาหารก็เป็นที่รู้กันว่า เห็ดทุกชนิดเป็นแหล่งโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และใยอาหารที่มีปริมาณสูงกว่าที่พบในผักชนิดอื่นๆ  ส่วนสรรพคุณทางยาถ้ากล่าวเฉพาะเห็ดหำพระเอง หมอพื้นบ้านใช้เห็ดหำพระในการบำรุงรักษาสุขภาพ สตรีที่มีปัญหามดลูกหย่อนคล้อยและเต้านมหย่อนยาน ให้กลับมาฟิตและเฟิร์ม ช่วยขับประจำเดือนให้เป็นปกติ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าเห็ดชนิดนี้ช่วยทำให้ก้อนเนื้อมะเร็งยุบลงได้ด้วย

การปรุงเห็ดหำพระเป็นยาก็ง่ายมาก คือเพียงนำเห็ดสด (ไม่ต้องขัดเอาสีเหลืองออก) หนัก 100 กรัม ต้มกับน้ำประมาณ 1 ลิตร จนเห็ดสุก เอาแต่น้ำดื่มเป็นยา ครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 เวลา ก่อนอาหารเช้า-เย็น

เห็ดหำพระไม่มีพิษข้างเคียงใดๆ สามารถนำมาต้มน้ำดื่มบำรุงสุขภาพได้ทุกวัน ส่วนเนื้อเห็ดก็นำไปปรุงอาหารได้

เห็ดหำพระเป็นเห็ดที่สามารถนำมากินสดได้ไม่มีโทษ แต่ต้องขัดเอาผิวสีเหลืองออกเสียก่อน มิฉะนั้นจะมีรสขม

ชาวบ้านมีวิธีง่ายๆ ในการกินเห็ดหำพระ โดยนำมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วเสียบไม้ย่างไฟอ่อนๆ เหมือนลูกชิ้นปิ้งจนสุกได้ที่แล้วจึงลูบเอาเปลือกสีเหลืองออก ชุบน้ำเกลือแล้วนำไปย่างไฟต่อพอแห้ง จะได้เห็ดตำรับบาร์บิคิวที่หอมกรุ่น เนื้อนุ่ม เคี้ยวหนึบอร่อย

คนอีสานเขาเรียกสูตรตำรับนี้ว่า “จ่ามเห็ดหำพระ” หรือบาร์บิคิวอีสานนั่นเอง



(http://www.isan.clubs.chula.ac.th/para_norkhai/up_files/20130919124313.jpg)

ถ้าอยากจะกินแซบขึ้นอีกขอแนะนำสูตรเด็ด แกงเห็ดหำพระ ประสกกินได้ สีกากินดี ดังนี้

ส่วนผสม
1. เห็ดหำพระอ่อนๆ ย่างไฟขัดเอาสีเหลืองออกหมดแล้ว 1 ขีด
2. พริกแห้ง 5 เม็ด
3. กระเทียมเผา 2 หัว
4. ข่าหั่น 1 หัว
5. ตะไคร้ซอย 2 ต้น
6. หอมเผา 4 หัว
7. ขิงเผา 1 หัว
8. เกลือ 1 หยิบมือ
9. เนื้อปลาที่หาได้ในท้องถิ่น 1 ถ้วย
10. ข้าวคั่ว 2-4 ช้อนโต๊ะ
11. ใบโหระพา 10-20 ใบ

วิธีปรุง
นำวัตถุดิบเครื่องแกงตั้งแต่รายการที่ 2-8 มาโขลกในครกให้แหลกเป็นเนื้อแกงเดียวกัน จากนั้นนำเห็ดหำพระย่างที่หั่นแล้วใส่ลงในหม้อ เติมน้ำเล็กน้อยพอท่วมเห็ด ต้มพอสุก ใส่พริกแกงและเนื้อปลาลงไปคลุกเคล้าเยาะน้ำปลาเล็กน้อยให้ได้รสชาติตามต้องการ ใส่ข้าวคั่ว แล้วต้มอีกสักพักเพื่อให้รสเข้มข้นหอมมัน  จากนั้นโรยใบโหระพาลงไปปิดฝาหม้อ ยกลงพร้อมเสิร์ฟได้เลย

เห็ดเป็นอาหารสุขภาพชั้นดีกินเท่าไรก็ไม่อ้วน มีสารอาหารโปรตีน วิตามินเกลือแร่พอสมควร  แต่ถ้าจะให้ได้สารอาหารครบถ้วน ควรได้แหล่งโปรตีนจากธัญพืชจำพวกถั่วด้วยสำหรับนักมังสวิรัติ

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ต้องการลดน้ำหนักควรได้โปรตีนจากปลาเสริม เพราะเห็ดส่วนใหญ่มีโปรตีนเพียง 2-10% โดยน้ำหนัก ยกเว้นเห็ดหอมที่มีโปรตีนถึง 20%   วสันต์ฤดูนี้ ถ้ายังมีฝนตกหยิมๆ ให้เก็บเห็ดได้มากมาย เราก็คงจะได้เพลิดเพลินเจริญอาหารกับเมนูเห็ดป่าเลิศรสหลากหลายชนิดที่เป็นทั้งยาและอาหารสุขภาพชั้นดี โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยาที่เป็นเคมีเภสัชเลยด้วยซ้ำไป


ที่มา : คอลัมน์ สมุนไพรเพื่อสุภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย “เห็ดหำพระ บำรุงสุขภาพสตรี” หน้า 102 หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1823 ประจำวันที่ 24-30 กรกฎาคม 2558