[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 09 สิงหาคม 2558 10:32:48



หัวข้อ: พระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล) วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 09 สิงหาคม 2558 10:32:48
.

(http://www.dhammajak.net/board/files/__122.jpg)

พระธรรมเจดีย์(จูม พันธุโล)
พระวิปัสสนาจารย์อีสาน
วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี


"หลวงปู่จูม พันธุโล" หรือพระธรรมเจดีย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี พระวิปัสสนาจารย์สายอีสาน

มีนามเดิมว่า จูม จันทรวงศ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี 24 เม.ย. 2431 ชาติภูมิอยู่บ้านท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาทำไร่

เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม จนจบหลักสูตรประถมศึกษาบริบูรณ์

ต่อมา เมื่ออายุ 12 ปี บิดามารดาประสงค์จะให้ลูกชายได้บวชเรียน จัดการให้บรรพชาเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2442 มีพระครูขันธ์ ขันติโก วัดโพนแก้ว อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อบวชแล้วอยู่ที่วัดโพนแก้ว ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม อักษรขอม อักษรธรรม และภาษาไทย

มีความสนใจในการศึกษา สามารถเขียนอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว มีสติปัญญาเฉียบแหลม จนเป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์

นอกจากนี้ ท่านยังฝึกหัดเทศน์มหาชาติ (เวสสันดรชาดก) เป็นทำนองภาคอีสาน ปรากฏว่าเป็นที่นิยมชมชอบของบรรดาญาติโยม

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 ย้ายไปอยู่วัดอินทร์แปลง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แต่ก็อยู่ได้เพียงปีเดียว

พ.ศ.2446 พระอาจารย์จันทร์ เขมิโย ซึ่งเป็นพระอาจารย์ มีความสนใจการปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นพิเศษ ปรารภจะเดินทางไปกราบขออุบายธรรมจากพระอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายกัมมัฏฐาน คือ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ดังนั้น สามเณรจูมและหมู่คณะจึงติดตามมุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี

คณะพระอาจารย์จันทร์และลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ และพระอาจารย์มั่น ที่สำนักวัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และฝากถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ

ตลอดเวลา 3 ปี สามเณรจูมได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างดี จนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัตรปฏิบัติ ทำให้สามเณรจูมประพฤติดีปฏิบัติชอบ สร้างสมบารมีเรื่อยมา จนได้เป็นพระมหาเถระผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นปูชนียบุคคลของชาวอีสานในกาลต่อมา

พ.ศ.2449 พระอาจารย์จันทร์กราบลาพระอาจารย์ใหญ่ทั้งสอง พาคณะพระภิกษุและสามเณรกลับจังหวัดนครพนมอันเป็นถิ่นมาตุภูมิ

เมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2450 ที่พัทธสีมาวัดมหาชัย อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี มีพระครูแสง ธัมมธโร วัดมหาชัย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสีมา สีลสัมปันโน วัดจันทราราม อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์จันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ที่สำนักวัดเทพศิริน ทราวาส เป็นเวลาหลายพรรษา สามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท ต่อมาสอบไล่ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค

ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสเป็นเวลานานถึง 15 ปี เมื่อได้รับพระบัญชาจากคณะสงฆ์ จึงอำลาวัดเทพศิรินทราวาส เดินทางสู่จังหวัดอุดรธานี ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2466 เป็นต้นมา

เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ท่านเร่งพัฒนาวัดโพธิสมภรณ์ให้เจริญรุ่งเรือง ทั้งทางด้านศาสนสถาน ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล และศาสนธรรม

ด้านการปกครอง ท่านเป็นผู้นำปกครองพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ด้วยหลักพรหมวิหารธรรม เป็นพระเถระที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย

ส่วนทางด้านการศึกษา พระเดชพระคุณเอาใจใส่และให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี และท่านเป็นครูสอนปริยัติด้วยตนเอง

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2473 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชเวที พ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพกวี

พ.ศ.2488 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมเจดีย์

เริ่มอาพาธมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 จนถึงเดือนมีนาคม 2505 คณะแพทย์โรงพยาบาลศิริราชได้รักษาอย่างสุดความสามารถ

กระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม 2505 จึงมรณภาพด้วยอาการอันสงบ ที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุ 74 พรรษา 55