[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 18 สิงหาคม 2558 18:08:38



หัวข้อ: ภาพยนต์ 3 มิติ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 18 สิงหาคม 2558 18:08:38

(http://www.siamzone.com/board/upload/2425/2425652.jpg)

ภาพยนต์ 3 มิติ


สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า ภาพยนตร์ 3 มิติ เกิดจากการใช้เครื่องถ่ายภาพยนตร์ 2 เครื่อง ซ้ายและขวา ถ่ายภาพเดียวกันในเวลาเดียวกัน ในการฉายก็ใช้เครื่องฉาย 2 เครื่อง ฉายภาพ 2 ภาพลงไปบนจอภาพยนตร์พร้อมกัน ในยุคแรก ดูภาพยนตร์ 3 มิติได้โดยวิธีใช้แว่นสีแดง-น้ำเงิน ส่วนยุคปัจจุบันการดูภาพยนตร์ 3 มิติต้องสวมแว่นโพลารอยด์

1.การดูภาพยนตร์ 3 มิติโดยใช้แว่นสีแดง-น้ำเงิน การดูภาพยนตร์ 3 มิติด้วยวิธีนี้ ใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ 2 เครื่อง เครื่องแรกฉายผ่านกระจกกรองแสงสีแดงฉายภาพที่มีสีแดง เครื่องที่สองฉายผ่านกระจกกรองแสงสีน้ำเงินฉายภาพที่มีสีน้ำเงิน ฉายพร้อมกันไปที่จอภาพยนตร์ โดยให้ผู้ชมสวมแว่นที่ข้างหนึ่งเป็นสีน้ำเงินและข้างหนึ่งเป็นสีแดง

หากใช้ปากกาสีแดงและสีน้ำเงินเขียนตัวหนังสือลงบนกระดาษสีขาว เมื่อมองผ่านแว่นสีแดงจะเห็นกระดาษขาวทั้งแผ่นกลายเป็นสีแดง และตัวหนังสือสีแดงจะกลมกลืนไปทำให้มองไม่เห็น แต่สีน้ำเงินจะผ่านแว่นสีแดงไม่ได้ จึงมองเห็นตัวหนังสือเป็นสีดำ ทำนองเดียวกันเมื่อมองผ่านแว่นสีน้ำเงินจะมองไม่เห็นตัวหนังสือสีน้ำเงิน แต่มองตัวหนังสือสีแดงกลายเป็นสีดำ ดังนั้น เมื่อผู้ชมสวมแว่นสีแดงและสีน้ำเงินมองภาพสีแดงและสีน้ำเงิน ตาข้างหนึ่งก็จะมองเห็นแต่ภาพของสีน้ำเงิน ขณะที่ตาอีกข้างหนึ่งจะเห็นแต่ภาพสีแดง สมองจะรวมภาพจากตาทั้ง 2 ข้าง และสร้างภาพในการรับรู้ของเราเป็นภาพ 3 มิติ

2.การดูภาพยนตร์ 3 มิติโดยใช้แว่นโพลารอยด์ ภาพยนตร์ 3 มิติอีกระบบหนึ่งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ผู้ชมต้องสวมแว่นโพลารอยด์ ภาพยนตร์ 3 มิติแบบนี้นำปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ของแสง มาประยุกต์ใช้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือโพลาไรเซชั่นของ แสง (polarization of light) คือ แสงเป็นคลื่น แม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งมีสนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลงทิศกลับไปกลับมา โดยสนามทั้งสองอยู่ในระนาบที่ตั้งฉากกันและยังตั้งฉากกับทิศในการเคลื่อนที่ของแสง แสงจากแหล่งกำเนิดแสงโดยทั่วไป เช่น ดวงอาทิตย์ หลอดไฟ จะปล่อยคลื่นแสงซึ่งไม่ได้มีทิศของสนามไฟฟ้าเพียงทิศเดียว (และสนามแม่เหล็ก) แต่จะมีทิศของสนามไฟฟ้าต่างกันมากมาย เรียกแสงที่มีทิศการสั่นของสนามไฟฟ้าในแนวเดียวว่าแสง โพลาไรซ์ และเรียกแสงที่มีทิศของสนามไฟฟ้าในหลายแนว เช่น แสงจากหลอดไฟว่า แสงไม่โพลาไรซ์

ภาพยนตร์ 3 มิติใช้หลักการโพลาไรเซชั่นของแสง จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้แสงธรรมดา (แสงไม่โพลาไรซ์) กลายเป็นแสง โพลาไรซ์ ซึ่งทำได้โดยการให้แสงธรรมดาเคลื่อนที่ผ่านแผ่น โพลารอยด์ เพราะแผ่นโพลารอยด์มีแกนผลึกซึ่งจะดูดกลืนสนามไฟฟ้า และยอมให้เฉพาะสนามไฟฟ้าที่มีทิศขนานกับแกนผลึกของแผ่นโพลารอยด์ผ่านออกมาได้

ดังนั้น แสงที่ผ่านออกมาจากแผ่นโพลารอยด์ จึงกลายเป็นแสงโพลาไรซ์ เมื่อแสงธรรมดาผ่านแผ่นโพลารอยด์แผ่นที่ 1 แสงที่ออกมาจะเป็นแสงโพลาไรซ์ (มีทิศของสนามไฟฟ้าเพียงแนวเดียว)

และถ้าให้แสงเดินทางต่อไปยังแผ่นโพลารอยด์แผ่นที่ 2 ซึ่งมีแกนของแผ่นโพลารอยด์ตั้งฉากกับแผ่นแรก แสงจะไม่สามารถผ่านแผ่นโพลารอยด์แผ่นที่ 2 ออกไปได้ คือหากนำแผ่น โพลารอยด์ 2 แผ่นซึ่งมีแกนของผลึกตั้งฉากกันมาซ้อนกันและใช้ส่องมองดวงไฟ เราจะไม่เห็นแสงจากดวงไฟเลย

สำหรับแว่นโพลารอยด์ที่ใช้ชมภาพยนตร์ 3 มิติ ทิศทางของแกนโพลาไรซ์ของแสงที่ผ่านแว่นตาทั้งสองจะอยู่ในแนวตั้งฉากกัน แสงโพลาไรซ์ที่ผ่านแว่นข้างขวาได้จะไม่สามารถผ่านแว่นข้างซ้ายได้ และแสงโพลาไรซ์ที่ผ่านแว่นข้างซ้ายได้ก็จะไม่สามารถผ่านแว่นข้างขวาได้เช่นเดียวกัน เมื่อใช้เครื่องฉายภาพยนตร์ 2 เครื่อง แต่ละเครื่องมีแผ่นโพลารอยด์กั้น ฉายภาพที่เป็นแสงโพลาไรซ์พร้อมกันทั้ง 2 เครื่องไปยังจอภาพยนตร์ที่ทำจากโลหะ ทำให้ทิศทางการสั่นของแสงโพลาไรซ์ทั้ง 2 ชุด อยู่ในแนวตั้งฉากกัน ภาพที่เห็นปรากฏบนจอโดยไม่สวมแว่นโพลารอยด์จึงเป็นภาพ 2 ภาพซ้อน เหลื่อมกัน

ผู้ชมที่สวมแว่นโพลารอยด์แว่นข้างซ้ายจะให้ภาพจากเครื่องฉายด้านซ้ายผ่านได้เท่านั้น ขณะที่แว่นข้างขวาก็จะให้ภาพจากเครื่องฉายด้านขวาผ่านได้เท่านั้น สมองจะรวมภาพจากตาทั้ง 2 ข้าง และสร้างภาพในการรับรู้ของเราเป็นภาพ 3 มิติ

nachart@yahoo.com