[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 16 กันยายน 2558 05:16:43



หัวข้อ: หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง พระเกจิดังแห่งเกาะภูเก็ต
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 16 กันยายน 2558 05:16:43
.

(http://www.phuketport.com/th/trip/wat2/images/watphuket.jpg)
พระครูวิสิทธิวงศาจารย์ (แช่ม) วัดฉลอง (ขวา)
กับ หลวงพ่อไข่ วัดมงคลนิมิตร ( วัดกลาง) จังหวัดภูเก็ต
(ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หจช.16-0481)
ภาพจาก .phuketport.com]www.phuketport.com

หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง
พระเกจิดังแห่งเกาะภูเก็ต

พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี หรือ หลวงพ่อแช่ม พระเกจิชื่อดังแห่งวัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ชาวเมืองภูเก็ตให้ความเลื่อมใสศรัทธายิ่ง

จนถึงมีคำขวัญประจำเมืองภูเก็ต ว่า "ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้ หาดทราย สีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม"

หลวงพ่อแช่ม เกิดที่ ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาครอบครัวอพยพหนีภัยพม่า มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านฉลอง จ.ภูเก็ต พ่อแม่ส่งท่านไปเป็นลูกศิษย์วัดฉลอง ขณะนั้นมี พ่อท่านเฒ่า เป็นเจ้าอาวาสวัดฉลอง

ครั้นเจริญวัยพอสมควร บิดา-มารดา ให้บวชเป็นสามเณร และเมื่ออายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ได้อุปสมบทที่วัดฉลอง มีพ่อท่านเฒ่า เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดฉลอง ศึกษาเล่าเรียนวิชาต่างๆ จากพ่อ ท่านเฒ่า จนมีความเชี่ยวชาญทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสมาธิจิตสูง รวมทั้งได้ศึกษาวิชาคาถาอาคมต่างๆ วิชาแพทย์แผนโบราณ

พ.ศ.2393 พ่อท่านเฒ่ามรณภาพ หลวงพ่อแช่มได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน นับว่าเป็นเจ้าอาวาสที่มีอายุน้อยมาก เพียง 23 ปีเท่านั้น

ชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดเจน เมื่อคราวที่หลวงพ่อแช่ม เป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ในปี พ.ศ.2419 เมื่อคนจีนก่อความไม่สงบ ออกไปปล้นชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์ท่านจึงไปช่วยพาหลวงพ่อแช่ม หนีไปด้วย

ท่านตอบว่า "ข้าอยู่ในวัดนี้มาตั้งแต่ยั เป็นเด็ก จนอายุป่านนี้แล้ว ทั้งเป็นสมภารเจ้าวัดอยู่ด้วย จะทิ้งวัดเสียอย่างไรได้ พวกสูจะหนีก็หนีเถิด แต่ข้าไม่ไปล่ะ จะต้องตายอยู่ในวัด อย่าเป็นห่วงข้าเลย"

ชาวบ้านเห็นว่า ท่านไม่ยอมทิ้งวัดไป จึงพูดกับท่านว่า "ถ้าขรัวพ่อไม่ไป พวกผมก็อยู่เป็นเพื่อน แต่ขออะไรพอคุ้มตัวสักอย่าง"

หลวงพ่อแช่ม จึงนำผ้าขาวม้าลงยันต์ทำเป็นผ้าประเจียดแจกให้ชาวบ้านคนละผืน ออกไปสู้รบกับพวกจีนอั้งยี่ ในที่สุดจีนอั้งยี่พวกนั้นล้มตายแตกหนีกระจัดกระจายไปหมด

นับแต่นั้นมา พวกจีนอั้งยี่ก็ไม่กล้าไปปล้นที่บ้านฉลองอีก ชาวเมืองภูเก็ตเริ่มนับถือท่านว่าเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ในทางวิทยาคมอย่างผู้วิเศษ

คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่มให้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ มีพระราชประสงค์จะปฏิสันถารด้วยพระองค์เอง

หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู วิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต

ในโอกาสเดียวกันทรงได้พระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยธาราราม

ครั้งหนึ่ง พวกชาวเรือออกไปหาปลาในทะเล ถูกคลื่นพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ก็บนหลวงพ่อแช่มว่า "ขอให้หลวงพ่อแช่มบันดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่ม"

เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่คลื่นลมสงบโดยพลัน ครั้นกลับถึงบ้านชาวเรือกลุ่มนั้นเตรียมทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่มเล่าให้หลวงพ่อแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน

หลวงพ่อแช่ม บอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไงให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป

ชาวบ้านกลุ่มนั้น บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดจะทำให้เกิดอาเพศอีก ในที่สุดหลวงพ่อแช่มจำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่าน โดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก จนถือเป็นธรรมเนียม

นับเป็นพระภิกษุรูปแรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

หลวงพ่อแช่ม มรณภาพเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2451 สิริอายุ 81 ปี พรรษา 61

แม้จะละสังขารไปแล้ว แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในคุณงามความดี ยังคงมีอยู่อย่างมั่นคง



อริยะโลกที่ 6