[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ห้องสมุด => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 27 กันยายน 2558 07:40:06



หัวข้อ: ตำราพิชัยสงครามของซุนวู
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 27 กันยายน 2558 07:40:06
.

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/94/Bamboo_book_-_binding_-_UCR.jpg/220px-Bamboo_book_-_binding_-_UCR.jpg)

ตำราพิชัยสงครามของซุนวู

ตำราพิชัยสงคราม เป็นคำที่ใช้เรียกหนังสือหรือเอกสารที่รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการรบ อาทิ การรุก การตั้งรับ การแปรขบวนทัพ การใช้อุบายทำลายข้าศึก เป็นต้น หนังสือจำพวกนี้ในบางที่จะใส่เนื้อหาที่เป็นความเชื่อด้านโหราศาสตร์เข้าประกอบ เช่น การดูฤกษ์ยามในการเคลื่อนทัพ การทำพิธีข่มขวัญข้าศึกและบำรุงขวัญฝ่ายตน ฯลฯ โดยรูปแบบเนื้อหาอาจเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ได้

สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความศัพท์ตำราพิชัยสงคราม ว่าเป็นตำราว่าด้วยวิธีการเอาชนะข้าศึกในสงครามซึ่งนักปราชญ์ทางทหารสมัยโบราณได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์และจากการทดลอง เพื่อให้แม่ทัพนายกองใช้ศึกษา และเป็นคู่มืออำนวยการรบให้หน่วยทหารมีชัยชนะแก่ข้าศึก

ตำราพิชัยสงครามที่นับว่ามีชื่อเสียงระดับโลก คือตำราพิชัยสงครามของซุนวู (ภาษาจีน ซุนจื่อปิงฝ่า, ภาษาอังกฤษ The Art of War, ความหมายตามอักษร ยุทธศิลป์) ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อราว 600 ปีก่อนคริสตกาล อันอยู่ในช่วงยุครณรัฐของจีน โดย ซุนวู นักยุทธศาสตร์คนสำคัญในยุคจ้านกว๋อ เนื้อหามี 13 บท แต่ละบทเน้นถึงแต่ละแง่มุมของการสงครามเป็นตำรายุทธศาสตร์การทหารเล่มหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยนับได้ว่าเป็นตำราเล่มแรกและเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเชิงยุทธศาสตร์ และมีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อแนวคิดทางการทหาร กลยุทธ์ทางธุรกิจ และแนวคิดเรื่องอื่นๆ ทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

ซุนวูถือเป็นบุคคลแรกที่ตระหนักในความสำคัญของตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ซึ่งจะได้รับผลกระทบทั้งจากเงื่อนไขเชิงรุกในด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และความคิดเชิงรับของฝ่ายคู่แข่งในสภาพแวดล้อมดังกล่าว เขาสอนว่ายุทธศาสตร์ไม่ใช่เพียงการวางแผนกำหนดสิ่งที่จะลงมือทำเท่านั้น แต่ยังต้องการการตอบสนองอย่างรวดเร็วและเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
 
ตำราพิชัยสงครามเล่มนี้แปลเป็นภาษาตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1782 แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยบาทหลวงฌอง โชแซฟต์ มารี อามีโอต์ (Jean Joseph Marie Amiot) นักบวชในศาสนาคริสต์นิกายเยซูอิต ปัจจุบันนี้นอกจากการประยุกต์ใช้ในด้านการทหาร หลักการในตำราพิชัยสงครามของซุนวูยังถูกนำมาปรับใช้ในกลยุทธ์เชิงธุรกิจและด้านการจัดการ

ตำราพิชัยสงครามแบ่งเนื้อหาออกเป็น 13 บรรพ ดังนี้ 1.การประเมิน 2.การวางแผน 3.ยุทธศาสตร์การรบรุก 4.ท่าที 5.กำลังพล 6.ความอ่อนแอ-เข้มแข็ง 7.การดำเนินกลยุทธ์ 8.สิ่งผันแปร 9 ประการ 9.การเดินทัพ 10.ภูมิประเทศ 11.พื้นที่ต่างกัน 9 อย่าง 12.การโจมตีด้วยไฟ 13.การใช้สายลับ

ตัวอย่างเนื้อหา "รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" ซุนวูกล่าวว่า ถ้ารู้จักวางแผนที่จะรบชนะทุกร้อยครั้ง เหมือนสิงโต คราวใดที่ไม่สามารถจะล่าเหยื่อได้จะไม่ออกล่า ในสงคราม เมื่อรู้กำลังของกองทัพของเราเอง รู้ความสามารถของแม่ทัพ รู้ความสามารถของกองทหารของฝ่ายเรา โอกาสรบชนะมีครึ่งหนึ่ง เมื่อใดก็ตามที่เรียนรู้กองกำลังของข้าศึก เรียนรู้ความสามารถของแม่ทัพข้าศึก และรู้ความสามารถของกองทหารของข้าศึก โอกาสรบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็ไม่ไปไหนไกล แต่เมื่อใดก็ตามที่ออกรบ แม่ทัพไม่รู้กำลังของตัวเอง ไม่รู้กำลังของกองทหารตัวเอง ไม่ว่าจะออกรบกี่ครั้ง ต้องแพ้ย่อยยับกลับมาทุกครั้ง

"จงสู้รบให้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ" คือ ไฟ-เมื่อยามบุกจงบุกให้เหมือนไฟ รุกกระหน่ำให้โหมหนักไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างมอดไหม้, ภูเขา-เมื่อยามตั้งรับจงนิ่งสงบอย่างหุบเขา ไม่ให้ศัตรูจับได้ว่าเราซ่อนตัวอยู่ที่ไหน, ลม-เมื่อยามเคลื่อนทัพจงเคลื่อนให้เหมือนสายลม รวดเร็วโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ซุนวู หรือซุนอู่ หรือซุนจื่อ นามนี้แปลว่า ปราชญ์แซ่ซุน  เจ้าตำราพิชัยสงครามเล่มสำคัญของโลก



(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/37/Enchoen27n3200.jpg/200px-Enchoen27n3200.jpg)
รูปปั้นซุนวู ผู้แต่ง "ตำราพิชัยสงครามของซุนวู"
(ตั้งอยู่ที่เมืองยุริฮิมะ จังหวัดทตโตะริ ประเทศญี่ปุ่น)


ประวัติของซุนวู
ซุนวู หรือ ซุนอู่ หรือ ซุนจื่อ (Sun Tzu) แปลว่า ปราชญ์แซ่ซุน เป็นผู้เขียน "ตำราพิชัยสงครามของซุนวู" (ซุนจื่อปิงฝ่า) ที่นับว่าเป็นตำรายุทธศาสตร์ทางทหารที่มีอิทธิพลมาก และปัจจุบันยุทธศาสตร์ในตำรามีผู้ประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางในวงการธุรกิจและการเมือง

ข้อมูลที่มีหลงเหลืออยู่เกี่ยวกับชีวประวัติของซุนวูคือชีวประวัติที่เขียนขึ้นในช่วง 2 ศตวรรษก่อนคริสตกาล โดย ซือหม่าเชียน นักเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บรรยายถึงซุนวูว่า เป็นแม่ทัพที่อาศัยอยู่ในรัฐอู๋ ในช่วงประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล ยุคเดียวกันกับ ขงจื๊อ นักปรัชญาจีนผู้ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามชีวประวัตินี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่นๆ ของยุคนั้น รวมทั้งลักษณะการเขียนและเนื้อหาของตำราพิชัยสงครามของซุนวู ที่บ่งชี้ว่าไม่น่าจะเป็นงานที่เขียนขึ้นในช่วง 400-320 ปีก่อนคริสตกาล

ตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้ทิ้งเบาะแสเป็นนัยๆ ถึงชีวิตของซุนวู เช่น รถม้าใช้ในการสงครามที่อธิบายโดยซุนวู มีการใช้เพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงยุค 400 ปีก่อนคริสตกาล ดังนั้นจึงถือว่าบางส่วนของงานเขียนนี้ก็อยู่ในช่วงเวลานั้น คาดว่าซุนวูมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ทั้งนี้ ตำราพิชัยสงครามของซุนวูได้ถูกกล่าวถึงหลายคราในนิยายเรื่อง สามก๊ก

ขณะที่ใน เลียดก๊ก ซุนวู เป็นสหายกับ อู๋จื่อซี เขาชักชวนซุนวูให้มารับราชการในแคว้นอู๋ ทำหน้าที่ฝึกทหารให้แก่ อู๋อ๋องเหอหลี อ๋องแห่งแคว้นอู๋ ซุนวูได้เสนอแผนพิชัยสงคราม 13 บรรพ แต่ อู๋อ๋องเหอหลียังไม่เชื่อ ซุนวูจึงขอฝึกนางสนมของอู๋อ๋องเหอหลี ในการฝึก มีนางสนม 2 นางเอาแต่หัวเราะเล่นสนุกสนาน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของซุนวู ซุนวูจึงสั่งประหารสนม 2 นางนั้นทันที เพื่อให้เห็นถึงความเอาจริง

ท้ายที่สุด อู๋อ๋องเหอหลีเชื่อมั่นในตัวซุนวูและตำราพิชัยสงครามอย่างเต็มที่ ก่อนคริสต์ศักราช 507 ปี อู๋อ๋องเหอหลีแต่งตั้งให้ซุนวูเป็นแม่ทัพ อู๋จื่อซีและป๋อผีเป็นรองแม่ทัพยกพลหนึ่งแสนไปตีแคว้นฉู่ สามารถตีแคว้นฉู่ที่ใหญ่กว่าเข้มแข็งกว่าได้สำเร็จ แต่ต่อมาสถานการณ์พลิกผันเพราะ ฉู่เจาอ๋อง อ๋องแคว้นฉู่ หลบหนีไปเสียก่อน เยว่อ๋องยุ่นฉาง อ๋องแห่งแคว้นเยว่ ฉวยโอกาสที่แคว้นอู๋ว่างเปล่ายกทัพมาตีแคว้นอู๋ อู๋อ๋องเหอหลีจึงรีบยกทัพกลับทันที และผูกใจเจ็บคิดจะล้างแค้นเย่ว อ๋องยุ่นฉางตลอดไป

ก่อนคริสต์ศักราช 497 ปี เย่วอ๋องยุ่นฉางถึงแก่กรรม โกวเจี้ยนผู้บุตรขึ้นครองแคว้นแทน อู๋อ๋องเหอหลีคิดฉวยโอกาสไปตี ซุนวูและอู๋จื่อซีคัดค้าน แต่อู๋อ๋องเหอหลีไม่ฟัง ยกทัพสามหมื่นไปตีแคว้นเยว่ ผลคือทั้งคู่ปะทะกันที่จุ้ยหลี่ ในที่สุดอู๋อ๋องเหอหลีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ตนเองถูกอาวุธจนบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่กรรมระหว่างเดินทางกลับแคว้นอู๋

อู๋อ๋องฟูซาขึ้นครองแคว้นสืบต่อจาก อู๋อ๋องเหอหลีผู้บิดา อู๋อ๋องฟูซาแรกทีเดียวดำเนินการอย่างเข้มแข็งหมายจะล้างแค้นให้บิดาให้ได้ แต่ความประพฤติกลับเหลวไหล หลงแต่สุราและนารีจากแผนนางงามไซซี จนในที่สุดต้องฆ่าตัวตายเมื่อก่อนคริสต์ศักราช 485 ปี ส่วนของซุนวูเมื่อได้รู้ถึงนิสัยที่แท้จริงของอู๋อ๋องฟูซา คิดว่า ต่อไปภายภาคหน้าแคว้นอู๋ต้องล่มสลายแน่ จึงลาออกจากราชการในก่อนคริสต์ศักราช 495 ปี

"รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" คนส่วนใหญ่อาจเคยได้ยินวลีนี้และว่าเป็นคำสอนของซุนวู แต่แท้จริงเป็นการรวมคำพูด 2 ประโยคที่ซุนวูพูดไว้ คือ "การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง" กับ "หากรู้เขารู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขาแต่รู้เพียงตัวเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธนั้นแล" ฉะนั้นคำสอน "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" จึงไม่มีปรากฏในตำราพิชัยสงครามแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม มีบางกระแสระบุว่า งานเขียนของซุนวู ที่จริงแล้วเขียนขึ้นโดยนักปรัชญาจีนไร้นาม และซุนวูอาจไม่มีบุคคลจริงในประวัติศาสตร์


(http://thai.cri.cn/mmsource/images/2012/05/22/27ab1646f0e34aea94b3e4dff2d1bb79.jpg)

nachart@yahoo.com