[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 20 ตุลาคม 2558 19:11:06



หัวข้อ: หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 20 ตุลาคม 2558 19:11:06
.

(http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph_1_446.jpg)

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

"หลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ" พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนคร ศรีอยุธยา วัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง หลวงพ่อดู่ ล้วนเป็นที่หมายปองของบรรดานักนิยมสะสมในวงการพระ

เกิดในสกุล หนูศรี เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2447 ที่บ้านข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเป็นทารก ต่อมาบิดาก็จากไปเมื่ออายุเพียง 4 ขวบ จึงอาศัยอยู่กับยาย โดยมีพี่สาวเป็นผู้ดูแล เริ่มศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

อายุ 21 ปี อุปสมบทที่วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมี หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อแด่ เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา พรหมปัญโญ

ในพรรษาแรก ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า วัดประดู่โรงธรรม กับเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม และหลวงพ่อรอด(เสือ) เป็นต้น ด้านการปฏิบัติพระกรรมฐานศึกษากับหลวงพ่อกลั่น และหลวงพ่อเภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา รวมทั้งจากตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และเดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสระบุรี

พรรษาที่ 3 เดินธุดงค์จากอยุธยามุ่งตรงสู่สระบุรี กราบนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท จากนั้นไปยังสิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กระทั่งอาพาธด้วยโรคเหน็บชาจึงพักธุดงค์ ทั้งนี้ ท่านตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์นอกวัด ตั้งแต่ก่อนปี 2490 และถือข้อวัตรฉันอาหารมื้อเดียวมาตั้งแต่ก่อนปี 2500

ภายหลังในปี 2525 ศิษย์ต้องกราบนิมนต์ให้ท่านฉัน 2 มื้อ

หลวงพ่อดู่ท่านเป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษ ใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้สรงน้ำไม่เคยใช้สบู่ แต่ก็ไม่มีกลิ่นตัว แม้ในห้องท่านจำวัดมีผู้ปวารณาจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลยอันจะเสียสมณสารูป และใช้สอยพอให้ผู้ถวายเกิดความปลื้มปีติ ก่อนยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม ข้าวของต่างๆ ที่เป็นสังฆทาน ถึงเวลาเหมาะควรท่านก็จะระบายออก จัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลน

หลวงพ่อดู่ย้ำเสมอว่า ท่านเป็นคนบ้านนอกไม่มีความรู้ ดังนั้น เวลาพูดจาสนทนากับลูกศิษย์ ก็พูดกันแบบชาวบ้าน ไม่มีพิธีรีตองหรือวางเนื้อวางตัว แต่พูดแล้วแทงเข้าไปถึงก้นบึ้งหัวใจของผู้ฟัง เมื่อมีผู้เลื่อมใสมาก มีผู้เสนอตัวเป็นนายหน้าคอยจัดแจงเกี่ยวกับแขกที่จะเข้ามานมัสการ ด้วยเจตนาดีอันเกิดจากความห่วงใยในสุขภาพก็ถูกท่านห้ามปรามเสมอ เพราะไม่ต้องการให้ผู้ดั้นด้นมาเสียกำลังใจ หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ท่านจะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

หลวงพ่อดู่เป็นเหมือนพ่อของลูกศิษย์ทุกคน นอกจากความอดทนอดกลั้นเป็นเลิศ ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม) วัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่เรียกกันว่า "ท่านเจ้าคุณเสงี่ยม" ซึ่งมีอายุพรรษามากกว่าท่าน 1 พรรษา เข้ามานมัสการ โดยยกย่องเป็นครูอาจารย์ เมื่อท่านเจ้าคุณเสงี่ยมกราบท่านเสร็จแล้ว ท่านก็กราบตอบ ต่างองค์ต่างกราบกันและกัน

แม้จะมีวัตถุมงคลที่มากด้วยประสบการณ์ แต่ท่านมิได้ตั้งตัวเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่สร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่อง เพราะเห็นประโยชน์ เนื่องจากบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ท่านมิได้จำกัดศิษย์เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ศิษย์ของท่านจึงมีกว้างขวางออกไป ทั้งที่ใฝ่ใจในธรรมหรือที่ยังต้องอิงกับวัตถุมงคล

ปัจจุบันวัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่อง รางของขลังของหลวงพ่อดู่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ลูกศิษย์

ปกติท่านจะอยู่ประจำกุฏิ ปีหนึ่งๆ จะออกมาอุโบสถเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือวันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันโมทนากฐิน เพราะรับแขกโปรดญาติโยมไม่ขาดมาตั้งแต่ปี 2500 จนปลายปี 2532 สุขภาพจึงทรุดโทรมลง

แม้จะมีโรคมาเบียดเบียนอย่างหนัก ท่านสู้ออกโปรดญาติโยมเหมือนปกติ บางครั้งถึงขนาดที่ต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น ยังไม่เคยปริปากให้ใครต้องกังวล

วันอังคารที่ 17 ม.ค.2533 หลวงพ่อดู่ มรณภาพด้วยโรคหัวใจ สิริอายุ 85 ปี 8 เดือน พรรษา 65


อริยโลกที่ 6