[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 24 ธันวาคม 2558 14:21:43



หัวข้อ: ความหมายของ ปรมัตถธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 ธันวาคม 2558 14:21:43
(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSnvD_Uo1Tljikv7AQZ9NEl48G1lzQjCQuZHQa735TZnep0Jqha)

ความหมายของ ปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง

ปรมัตถธรรม นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สภาวธรรม
 
ปรมัตถธรรมหรือสภาวธรรม มี ๔ ประการคือ
๑ จิต
๒ เจตสิก
๓ รูป
๔ นิพพาน
 
ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้
จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น ได้ยิน รับกลิ่น รับรส รู้สัมผัสถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดการคิด นึก จำนวนของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ที่จิตไปรับรู้)
 
จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ มโน มนัส มนินทรีย์ มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ มนายตนะ เป็นต้น
 
เจตสิก คือธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรม ที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต
 
สภาพของจิตเป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธหรือจิตโลภ เป็นเพราะมีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิตเปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกก็เกิดโดยไม่มีจิตไม่ได้เช่นกัน เนื่องจาก จิต และ เจตสิก เป็นสิ่งที่ต้องเกิดร่วมกันตลอดเวลา ดังนั้น การอธิบายบางแห่ง ในหนังสือเล่มนี้จึงเขียนว่า "จิต + เจตสิก" เพื่อให้ระลึกไว้อยู่เสมอว่าจิตและเจตสิกนั้นเป็นธรรมชาติ ที่ต้องเกิดร่วมกัน ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้
 
รูป คือธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับสลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย
 
นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลส พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
 
นิพพานโดยปริยาย มี ๒ ลักษณะคือ
๑ สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึงการที่ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ (จิต เจตสิก รูป) ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
๒ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) ที่สิ้นอายุขัยไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต + เจตสิกและรูปก็จะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อตายไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีกหรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก) นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็นอริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้



เรียบเรียงโดย นายวิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ