[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 09 มกราคม 2559 20:25:18



หัวข้อ: พระวิษณุกรรมไม่ใช่พระวิษณุ
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 09 มกราคม 2559 20:25:18
.

(http://img-66.uamulet.com/forum/newsImages/2014/4/15/4-U1355943-635331464402709032-1.JPG)

พระวิษณุกรรมไม่ใช่พระวิษณุ

กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรฯ มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" หมายถึง กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งเทวดานั้น "พระวิษณุกรรม" เป็นผู้สร้าง ตามพระบัญชาของพระอินทร์

ซึ่งตรงตามตำนานที่กล่าวว่า พระวิศวกรรม เป็นเทวดานายช่างใหญ่ของพระอินทร์ เป็นผู้สร้างเครื่องมือและสิ่งของต่างๆ ให้เกิดขึ้น และเป็นแบบอย่างให้กับมนุษย์จนมีการพัฒนารูปแบบสืบมาถึงปัจจุบัน

ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระวิศวกรรม เป็นผู้สร้างอาศรมให้แก่พระโพธิสัตว์หลายพระองค์ ก่อนที่จะอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า เช่น ในพระเวสสันดรชาดก เป็นผู้สร้างบันไดเงิน บันไดทอง บันไดแก้ว ทอดจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมายังโลกมนุษย์ ที่เมืองสังกัสสนคร ซึ่งเป็นเส้นทางที่พระพุทธเจ้าใช้เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ในช่วงเข้าพรรษา

นอกเหนือจากการเป็นสถาปนิกและวิศวกรด้านโยธาและสำรวจดังกล่าวแล้ว ท่านยังเป็นวิศวกรเครื่องกลอีกด้วย กล่าวคือเป็นผู้สร้างวาฬสังฆาตยนต์ ซึ่งเป็นกงล้อ หมุนรอบองค์พระสถูป ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหลังพุทธปรินิพพาน ในคราวที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับส่วนแบ่งมาเพื่อปกปักรักษาไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าได้

แต่ด้วยเหตุที่พระวิศวกรรมมีชื่อเรียกที่หลากหลาย คือ พระวิษณุกรรม, พระวิสสุกรรม, พระเวสสุกรรม หรือพระเพชรฉลูกรรม ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักเรียกว่า "พระวิษณุกรรม" มาแต่โบร่ำโบราณ

ต่อมาจึงเกิดการกร่อนคำลงเหลือเพียง "พระวิษณุ" อันกลายเป็นชื่อ 1 ใน 3 เทพเจ้าองค์สำคัญของศาสนาฮินดู ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า "พระวิษณุ" เป็นเทพแห่งวิศวกรรม ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่ใช่องค์เดียวกันครับผม

พระวิศวกรรมหรือพระวิษณุกรรม ถือเป็นราชาแห่งช่างเทพเจ้า เป็นบรมครูแห่งช่างทั้งปวง ผู้เปี่ยมล้นไปด้วยความเมตตากรุณา มีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ และทรงมีอิทธิฤทธิ์สูงส่งในการเนรมิตสิ่งต่างๆ ให้บังเกิด และนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 โลก คือ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกบาดาล

เครื่องทรงของพระวิษณุกรรมจะมีลักษณะคล้ายคนธรรพ์ คือ ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้ารัดเข็มขัดทองลงยา ใส่สนับเพลา ประดับทองกรกรองคอ สวมสังวาลเต็ม สวมกำไลที่ข้อแขน ต้นพระหัตถ์ และที่ข้อพระบาท พระหัตถ์ขวาทรงถือจอบ เพื่อใช้ในการขุดแต่งดินในการฝังเสาผูกหลักตามพระฤกษ์แห่งการก่อสร้าง จึงเป็นที่มาแห่งฉายา "ช่างก่อ" พระหัตถ์ซ้ายทรงถือลูกดิ่ง มีเฟืองทองผ่องอำไพแผ่รัศมีเจิดจ้าอยู่เบื้องหลัง แสดงถึงความเที่ยงตรง แม่นยำแห่งกาลเวลา ในการขับเคลื่อนกงล้อแห่งฟันเฟืองมาแต่ครั้งโบราณกาล จึงเป็นที่มาแห่งฉายา "ช่างยนต์" อีกทั้งยังได้กำลังหนุนช่วยจากพระอสุนีบาตสาดแสงเต็มทั่วท้องฟ้าทั้งกลางวันกลางคืน จนกิจการงานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงเป็นที่มาแห่งฉายา "ช่างไฟ"

รวมไปถึงงานด้านศิลปะที่ต้องใช้ความประณีตบรรจงในการรังสรรค์และเนรมิตสิ่งต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้สรวงสวรรค์นั้นงดงามสว่างไสวระยิบระยับอยู่ตลอดเวลา ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ศิลปกรรม และหัตถกรรมแขนงต่างๆ จึงเป็นที่มาแห่งฉายา "ช่างศิลป์" และกิจการงานในด้านการเซ่นสังเวยบวงสรวงเทพยดา ในการบอกกล่าวขอพรให้การดำเนินการสำเร็จลุล่วงด้วยดี ต่อองค์พระอินทร์และพระพรหม จึงเป็นที่มาแห่งการเจรจา วาจาสิทธิ์ จึงเป็นที่มาแห่งฉายา "พาณิชยกรรม"

การช่างของไทยในแขนงต่างๆ จึงให้ความเคารพบูชา "พระวิษณุกรรม" ในฐานะครูช่าง หรือเทพแห่งวิศวกรรมของไทย จะสังเกตได้ว่าตามสถานศึกษาทางช่างทุกสถาบันมักจะมีรูปจำลององค์พระวิษณุกรรม ไว้สักการะขอพรให้ประสบความสำเร็จในงานช่างต่างๆ ตามที่ปรารถนา

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วนิยมสร้างอยู่ 2 ท่า คือ "ท่าประทับนั่งห้อยพระบาท" พระหัตถ์ข้างหนึ่งถือผึ่ง (จอบสำหรับขุดไม้) และอีกข้างถือดิ่ง และ "ท่าประทับยืน" พระหัตถ์ขวาถือไม้เมตรหรือไม้วา พระหัตถ์ซ้ายถือลูกดิ่งและไม้ฉาก ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือดังกล่าวเป็นเครื่องมือของช่างก่อสร้างมาแต่สมัยโบราณ ใช้สำหรับวัดระยะและวัดความเที่ยงตรง

ดังนั้น สถาบันที่เปิดสอนวิชาชีพช่างก่อสร้าง จึงมักสร้างรูปเคารพในท่าประทับยืน แต่หากสถาบันใดเปิดสอนวิชาชีพสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ช่างก่อสร้างอยู่ด้วย มักจะใช้ท่าประทับนั่ง นอกจากนี้รูปเคารพยังแฝงด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิตไว้ด้วย คือ แม่นยำ เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงในทางปฏิบัติ


พันธุ์แท้พระเครื่อง
ราม วัชรประดิษฐ์