[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 12 มกราคม 2559 10:05:07



หัวข้อ: ฉากจบ ของ "อีสป"
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 12 มกราคม 2559 10:05:07
.

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/6/63/Aesop_pushkin01.jpg/200px-Aesop_pushkin01.jpg)

ฉากจบ ของ "อีสป"

นิทานอีสบเล่ากันมาเกือบสามพันปี ชีวิตของอีสปผ่านเวลามายาวนาน เล่ากันหลายเรื่องราว และเรื่องที่รู้แล้วไม่อยากเล่า ก็คือตอน “อีสป” ตาย

อีสปเกิดราว ๖๒๐-๕๖๐ ปีก่อนคริสตกาล ในกรีกโบราณ (เกาะแห่งหนึ่งอยู่นอกชายฝั่งตุรกี) รูปร่างพิการไม่แข็งแรง ทั้งยังขี้เหร่...ขายตัวเป็นทาสรับใช้...ไม่มีใครซื้อ

แต่อีสปคนนี้มีสมอง เขาชวนเพื่อนชายกำยำแข็งแรง ชื่อเอียดมอน ออกเดินทางเสนอตัวขายเป็นทาส โดยให้ซื้อเอียดมอนและเอาตัวเองเป็นของแถม และช่วงเวลานั้นเขาชดเชยความด้อยด้านร่างกายด้วยการเล่านิทาน

สมัยเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีที่แล้ว การสร้างแนวคิดโน้มน้าวใครไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ใครเผลอตัวตั้งตนเป็นปราชญ์ชี้ถูกชี้ผิด มีโทษถึงตาย อีสปจึงเลี่ยงเล่าพฤติกรรมของสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เชื่อมโยงพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น สุนัขจิ้งจอกเหมือนมนุษย์เจ้าเล่ห์  กระต่ายเสมือนผู้ใสซื่อ  สิงโตเป็นผู้หยิ่งทระนงมีศักดิ์ศรี

นิทานที่อีสปเล่ามีคนชอบฟังมาก ในที่สุดก็ได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาส เล่านิทานเลี้ยงตัวเอง

ความดีความสนุกสนานของนิทานอีสป ได้ยินไปถึงราชสำนัก กษัตริย์เครซุส แห่งอาณาจักรลิเดีย   กษัตริย์เครซุสเรียกอีสปมาเล่านิทานให้ฟัง  ทรงพอพระทัยคิดจะใช้ประโยชน์จากอีสปให้มากกว่าเป็นแค่นักเล่านิทาน

แต่งตั้งอีสปเป็นราชทูตไปเจรจาความเมือง

นิทานเรื่องกบเลือกนาย นิทานเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ ฯลฯ และนิทานเรื่องเหลือบฝูงใหม่ ที่คนสมัยต่อๆมา เอาไปเล่ากันแล้วก็เล่ากันอีก  อีสปเล่าในช่วงที่เปลี่ยนฐานะจากทาสเป็นทูตนี่แหละ

จนถึงงานเป็นทูตในเมืองเดลฟี่  อีสปอยู่เมืองนี้ไม่นานก็พบว่ากษัตริย์ก็อ่อนแอ ข้าราชสำนักก็ขี้ฉ้อ อีสปก็เปรียบเปรยเป็นนิทาน ปลุกระดมประชาชนให้ร่วมตัวกันต่อต้านอำนาจรัฐ

ผลก็คือความเคียดแค้นของผู้มีอำนาจ แผนการกำจัดอีสปจึงเริ่มขึ้น

จู่ๆ ขันทองของใช้ประจำตัวของพระองค์กษัตริย์ก็หายไป กระบวนการตามมา มาถึงกองสัมภาระของอีสป เมื่อพบขันทอง อีสปก็ถูกจับ  ศาลเมืองเดลฟี่ตั้งข้อหาขโมยและลบหลู่กษัตริย์ พิจารณาไม่นานก็ตัดสินให้เอาตัวขึ้นหน้าผา และจับโยนเขาลงจากหน้าผาไปสู่หุบเหว

อีสปตายไปแล้ว แต่นิทานของเขาไม่ตาย ปราชญ์รุ่นต่อๆมา เอาไปเล่าต่อ โสเครตีสเล่าให้ศิษย์อย่างเพลโตหรืออริสโตเติลฟัง นิทานอีสปกลายเป็นปรัชญาของปัญญาชน

ต่อมา ลีซิฟัส ชาวเอเธนส์ ได้ปั้นรูปอีสปไว้ที่หน้าอนุสาวรีย์ของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ดของเอเธนส์ แสดงว่าฐานะของอีสปยิ่งใหญ่ไม่น้อยหน้าปราชญ์สำนักใดเลย


ที่มา : คอลัมน์ ชักธงรบ "ฉากจบ...ของอีสป" โดยกิเลน ประลองเชิง น.๓ นสพ.ไทยรัฐ, ฉบับประจำวันพุธที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๙