[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => นิทาน - ชาดก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 20 มกราคม 2559 20:01:18



หัวข้อ: มฆชาดก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 20 มกราคม 2559 20:01:18
(http://www.dhammathai.org/chadoknt/pic/nt102.gif)

มฆชาดก
มฆชาดก เป็นชาดกลำดับที่ ๑๑ ในชุดปัญญาสชาดก หรือชาดก ๕๐ เรื่อง ซึ่งพระเถระชาวเชียงใหม่เรียบเรียงขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐-๒๒๐๐ ต้นฉบับที่ใช้ศึกษามาจากวัดสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ จารเมื่อ พ.ศ.๒๓๗๙  ชาดกเรื่องนี้ตรงกับกุลาวกชาดกในชาตกัฏฐกถา มีใจความสรุปเรื่องดังนี้

มีภิกษุ ๒ รูป ร่วมเดินทางจากเมืองสาวัตถีไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร ภิกษุรูปหนึ่งมี “ธัมมกร็อก” หรือ ธัมมกรก คือที่กรองน้ำแต่ไม่ยอมให้อีกรูปหนึ่งใช้ร่วมด้วย ภิกษุรูปนั้นจึงต้องฉันน้ำโดยไม่ผ่านการกรอง เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเหตุจึงติเตียนพระรูปนั้นและทรงนำอดีตนิทานมากล่าวว่า บัณฑิตผู้ครองเทวโลกในปางก่อนไม้จะเตลิดหนีภัยจากศัตรูก็ยังเลี่ยงมิให้เกิดความเดือดร้อนแก่สัตว์อื่น นิทานที่ทรงนำมาตรัสเล่า คือ มฆชาดก มีใจความโดยสรุปว่า

ครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมฆมาณพในหมู่บ้านมจลคามในเมืองมคธ มีสหายอีก ๓๒ คน สหายทั้งหมดช่วยกันสร้างศาลา สร้างถนนและสาธารณประโยชน์อื่นๆ พร้อมกับรักษาศีลทำบุญให้ทานอยู่เสมอ นายบ้านเห็นว่าชายหนุ่มดังกล่าวทำให้บ้านเมืองขาดผู้ร้าย ซึ่งทำให้ตนขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมสินไหมจากชาวบ้านที่ก่อการวิวาทหรือประพฤติผิดกฏหมาย จึงคิดจะให้ชาวบ้านเลิกรักษาศีลเสีย แต่ก็ไม่เป็นผล จึงไปกราบทูลใส่ความว่า ชายหนุ่มกลุ่มดังกล่าวเป็นโจร ซึ่งพระราชาก็ให้จับมาลงโทษโดยให้ช้างเหยียบ แต่มฆมาณพก็สอนสหายให้แผ่เมตตาแก่นายบ้าน พระราชาและช้าง ทำให้ช้างไม่อาจเหยียบกลุ่มชายหนุ่มเหล่านั้นได้ แต่กลับแล่นเตลิดหนี แม้จะให้ช้างเชือกอื่นมาเหยียบก็ไม่เป็นผล

พระราชาสงสัยว่า โจรเหล่านั้นมีอะไรดี จึงเรียกไปสอบถาม มฆมาณพจึงทูลว่าพวกตนรักษาศีลห้า พระราชาจึงโปรดให้ริบทรัพย์นายบ้านและนำมาพระราชทานแก่มฆมาณพ ส่วนช้างเชือกนั้นและนายบ้าน พระองค์ก็ให้เป็นรางวัลแก่เหล่าสหายชายหนุ่มด้วย

ชายหนุ่มเหล่านั้นชวนกันสร้างศาลาที่สี่แพร่งและไม่ยอมให้ผู้หญิงมาเกี่ยวข้องด้วยแม้แต่ภรรยาทั้งสี่ของมฆมาณพก็ตาม แต่ภรรยาของมฆมาณพชื่อนางสุธัมมา อยากร่วมทำบุญด้วย จึงจ้างช่างไม้ทำช่อฟ้าอันงามไว้ เมื่อสร้างศาลาเสร็จช่างจึงอ้างว่าลืมช่อฟ้าและไม่อาจทำด้วยไม้ใหม่ได้ ช่างขอร้องให้รับช่อฟ้าของนางสุธัมมาให้นางมีส่วนร่วมทำบุญ โดยกล่าวว่า ยกเว้นพรหมโลกแล้ว ไม่มีที่ใดที่ปราศจากสตรี นางสุจิตตาก็ได้สร้างสวนอุทยาน นางสุนันทาให้สร้างสระโบกขรณี แต่นางสุชาดาภรรยาคนที่สี่ของมฆมาณพมิได้ร่วมการกุศลกรรมในครั้งนั้น

นอกจากรักษาศีลแล้ว มฆมาณพยังให้สหายปฏิบัติวัตรบท ๗ ประการด้วย เมื่อบุคคลทั้งหลายดังกล่าวตายแล้วก็ได้ไปเกิดร่วมกันในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งขณะนั้นพวกอสูรครองอยู่ โดยมีมฆมานพเป็นหัวหน้า ดำรงสภาพเป็นพระอินทร์

พระอินทร์ไม่ประสงค์จะอยู่ร่วมกับอสูร จึงหลอกมอมเหล้าพวกอสูรแล้วจับโยนลงไปที่เชิงเขาพระสุเมรุ อสูรทั้งหลายจึงถือเอาบริเวณใต้เขาพระสุเมรุเป็นอสุรพิภพ มีไม้แคฝอยเป็นต้นไม้ประจำพิภพนั้น เมื่อต้นแคฝอยบานสะพรั่งพวกอสูรก็คิดอยากจะชิงเอาสวรรค์ชั้นชาวดึงส์คืน จึงพากันยกพลไปรบ ครั้งนั้นพระอินทร์ประทับบนเทวรถชื่อเวชยันต์รถ รบกับอสูรจากหลังสมุทรไปถึงป่าไม้งิ้ว ซึ่งเป็นที่อยู่ของครุฑ ต้นงิ้วหักแหลกระเนนเป็นอันมาก บรรดาลูกครุฑตกใจกลัวจึงส่งเสียงร้องกันระงม พระอินทร์จึงทรงสั่งให้มาตุลีเทวบุตร ซึ่งเป็นสารถีชักรถกลับ เพื่อรักษาชีวิตลูกครุฑโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพระองค์ พวกอสูรเห็นพระอินทร์คืนมาสู่สนามรบก็เข้าใจว่ามีพระอินทร์จากจักรวาลอื่นไปช่วย จึงแตกหนีกลับไปอยู่อสุรพิภพด้วยความกลัว เมื่อพระอินทร์กลับถึงดาวดึงส์แล้ว ทันใดนั้นก็บังเกิดเวชยันต์ปราสาทสูงได้พันโยชน์ขึ้นกลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น

หลังจากนั้นพระอินทร์จึงจัดตั้งด่านป้องกันมิให้อสูรขึ้นไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ได้ ด่านป้องกันดาวดึงส์ทั้งห้าชั้นเริ่มจากด่านชั้นแรก คือด่านนาค ซึ่งอยู่ระหว่างนครของอสูรและดาวดึงส์ นาคนั้นมีกำลังในน้ำ จึงให้รักษาสมุทร ต่อมาชั้นที่สองคือด่านครุฑ ชั้นที่สาม สี่ ห้า คือด่านกุมภัณฑ์ ด่านยักษ์ และด่านของท้าวจตุโลกบาล เมื่อใดที่พวกอสูรยกขึ้นไปยังดาวดึงส์ก็จะต้องฝ่าด่านต่างๆ ไปตามลำดับ เมื่อใดที่เทวดาแพ้ก็ถอยกลับดาวดึงส์เสียแล้วปิดประตู พวกอสูรนับแสนก็ไม่อาจทำประการใดได้ เมื่อใดเทวดาชนะอสูร พวกอสูรก็จะล่าถอยไปถึงเมืองแล้วปิดประตูไว้ แม้เทวดานับแสนก็ไม่อาจทำอะไรแก่อสูรได้เช่นกัน  นครทั้งสองจึงชื่ออยุชฌบุรี ด้วยเหตุที่ไม่มีผู้ใดรบชนะได้

พระอินทร์เป็นใหญ่เหนือทวยเทพทั้งหลาย เสวยทิพยสมบัติพร้อมบาทบริจาริกา มีนางสุธัมมาผู้มีปราสาทแก้วชื่อสุธัมมาสภาคศาลาสูง ๕๐๐ โยชน์ เกิดคู่บุญ พระอินทร์ประทับเหนือแท่นทองสูง ๑ โยชน์ ใต้ทิพยเศวตฉัตรบริหารกิจต่างๆ ณ เทวสภาแห่งนี้ นางสุจิตรามีสวนชื่อจิตรลดาวัน เกิดมาคู่บุญ ด้วยเหตุที่เคยสร้างสวนเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนแต่ปางก่อน นางสุนันทาก็มีนันทาโบกขรณีเกิดคู่บุญเพราะเคยสร้างสระบัวมาแต่ปางก่อนเช่นกัน

ส่วนนางสุชาดาไปเกิดเป็นนกยางเพราะไม่เคยทำบุญมาก่อน เมื่อพระอินทร์มิได้เห็นนางในสวรรค์และรู้ว่านางเป็นนกยางจึงพามาสู่ดาวดึงส์ ให้นางได้เห็นสุธัมมาเทวสภาคศาลา จิตรลดาวันและนันทาโบกขรณี แล้วสอนนางว่าเมื่อเป็นมนุษย์นางมิได้ทำบุญ จึงต้องเกิดเป็นเดียรัจฉาน ฉะนั้นนางจงรักษาศีลห้า กินแต่ปลาตาย ครั้งหนึ่งพระอินทร์ทดลองว่านางรักษาศีลหรือไม่ จึงแปลงเป็นปลาตาย ครั้นนางจะกินก็ทำให้เห็นว่ากระดิกได้ นางนกก็ปล่อยปลานั้นเสีย นางรักษาศีลตลอดชีวิต ชาติต่อมาจึงเกิดเป็นธิดาช่างทอหูกในเมืองพาราณสี พระอินทร์ก็นำผลแตงทองคำใส่เต็มเกวียนเข้าไปในเมือง ประกาศว่าจะให้แก่ผู้รักษาศีล แต่ไม่มีผู้ใดรู้จักศีลเลย นอกจากนางสุชาดา พระอินทร์จึงมอบทั้งเกวียนและแตงทองคำแก่นาง

เมื่อนางสุชาดาตายก็ไปเกิดเป็นธิดาของเวปจิตติอสูร นางมีรูปงามอย่างยิ่ง ด้วยอานิสงส์ที่นางรักษาศีลติดต่อกันมาสองชาติ ครั้นนางเจริญวัยสมควรจะมีคู่ครอง พญาอสูรจึงประกาศให้อสูรทั้งหลายไปประชุมกันให้นางเลือกคู่ พระอินทร์ทรงทราบก็แปลงกายเป็นอสูรชราเข้าไปในที่ประชุม นางสุชาดาได้เห็นก็เลือกพระองค์เพราะเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ปางก่อน พระอินทร์จึงนำนางไปสู่นครดาวดึงส์ ให้นางเป็นใหญ่เหนือนางฟ้าทั้งหลายสองโกฏิกึ่ง

เมื่อพระพุทธองค์เทศนาจบก็กล่าวแก่ภิกษุว่า นักปราชญ์แต่ก่อนแม้เสวยทิพยสมบัติในสวรรค์เช่นพระอินทร์ ยังยอมที่จะสละชีวิตตนดีกว่าทำให้สัตว์อื่นเสียชีวิต และทรงตำหนิภิกษุผู้ดื่มน้ำโดยไม่พิจารณาว่าไม่ควรแก่เพศภิกษุ แล้วทรงเล่าว่าพระมาตลีในชาตินั้นมาเป็นพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก ส่วนพระอินทร์ครั้งนั้นก็คือพระพุทธองค์