[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => นิทาน - ชาดก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 มกราคม 2559 13:26:13



หัวข้อ: ปัญญาสชาดก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 มกราคม 2559 13:26:13
.
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/425/2425/images/Suwanphum10.jpg)
ภาพจาก :oknation.net

ปัญญาสชาดก

ปัญญาสชาดก เป็นเรื่องราวหรือวรรณกรรมที่เขียนขึ้นไว้ด้วยภาษาบาลี มีทั้งคำประพันธ์ที่เป็นร้อยแก้วและบทคาถาหรือบทร้อยกรอง  มิได้เป็นพระพุทธพจน์  หมายความว่าเป็นชาดกนอกพระไตรปิฎก หรือชาดกนอกนิบาต  แต่งขึ้นเพื่อต้องการให้เกิดศรัทธาปสาทะในหมู่พุทธศาสนิกชน จึงอ้างว่าเป็นพระพุทธพจน์ เช่นเดียวกับนิบาตชาดก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า พระภิกษุชาวล้านนาได้รจนาชาดกเรื่องนี้ขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๐๐-๒๒๐๐  แต่ในเวลาต่อมามีผู้เสนอความคิดเห็นแตกต่างออกไป กล่าวคือ ผู้แต่งปัญญาสชาดก น่าจะเป็นสามเณรรูปหนึ่ง (ตามหลักฐานที่ได้จากพม่า) และน่าจะแต่งก่อนปี พ.ศ.๑๘๘๘ ซึ่งเป็นปีที่แต่งเรื่องไตรภูมิพระร่วง ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) เพราะในเรื่องไตรภูมิพระร่วงมีการกล่าวอ้างอิงถึงชาดกหลายเรื่องที่มีอยู่ในปัญญาสชาดก

ถึงแม้ว่า ปัญญาสชาดก จะเป็นชาดกนอกนิบาตร และภาษาบาลีที่ใช้ก็ยังไม่ดีนัก แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นยังได้แพร่กระจายไปยังดินแดนใกล้เคียง เท่าที่มีหลักฐานคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งในแต่ละประเทศต่างก็ได้แปลเนื้อเรื่องเป็นภาษาของตน การที่เป็นเช่นนี้เพราะปัญญาสชาดกมีเนื้อเรื่องที่สนุกสนานมากกว่านิบาตชาดก  มีความพิเศษแตกต่างจากชาดกโดยทั่วๆ ไป คือมุ่งเน้นการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณธรรมอย่างเลิศล้ำ มีการแทรกอิทธิปาฏิหาริย์ มีอาวุธวิเศษ เหาะเหินเดินอากาศ การผจญภัยของพระโพธิสัตว์และพระชายา ซึ่งมีชายาได้มากกว่า ๑ เสมอไป และมีคติธรรมแทรกอยู่ในเรื่องด้วย 

การดำเนินเรื่องในปัญญาสชาดก ในชั้นแรกเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในรูปของวรรณกรรมมุขปาฐะ อันมีเค้าโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นเมือง จากคัมภีร์ทิวยาวทาน จากมหาสุทัสสนะสูตร  และพระสุตตันตปิฏก  โดยกวีนำเรื่องของการพลัดพรากของคู่พระคู่นางมาเทียบกับความทุกข์   เมื่อความนิยมในปัญญาสชาดกได้แพร่หลายไปทั่ว กวีก็ได้นำเรื่องราวจากปัญญาสชาดกมาแต่งเป็นวรรณกรรมในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ปัญญาสชาดก เป็นพัฒนาการขั้นแรกที่สำคัญของงานวรรณกรรมร้อยกรองของไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา และความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นต้นเค้าของวรรณกรรมประเภทจักรๆ วงศ์ๆ หรือที่เรียกกันว่า “นิทานประโลมโลก”

ปัญญาสชาดก แปลว่า ชาดก ๕๐ เรื่อง  แต่ในฉบับที่หอสมุดแห่งชาติ ได้รวบรวมและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยพระบัญชาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๗๖๖ มีจำนวนชาดก ๖๑ เรื่อง ดังนี้
   ๑.สมุททโฆสชาดก
   ๒.สุธนชาดก
   ๓.สุธนุชาดก
   ๔.รัตนปโชตชาดก
   ๕.สิริวิบุลกิตติชาดก
   ๖.วิบุลราชชาดก
   ๗.สิริจุฑามณิชาดก
   ๘.จันทราชชาดก
   ๙.สุรามิตตชาดก
  ๑๐.สริธรชาดก
  ๑๑.ทุลกบัณฑิตชาดก
  ๑๒.อาทิตชาดก
  ๑๓.ทุกัมมานิกชาดก
  ๑๔.มหาสุรเสนชาดก
  ๑๕.สุวรรณกุมารชาดก
  ๑๖.กนกวรรณราชชาดก
  ๑๗.วิริยบัณฑิตชาดก
  ๑๘.ธรรมโสณฑกชาดก
  ๑๙.สุทัสนชาดก
  ๒๐.วัฏฏังคุลีราชชาดก
  ๒๑.โบราณกบิลราชชาดก
  ๒๒.ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
  ๒๓.จาคทานชาดก
  ๒๔.ธรรมราชชาดก
  ๒๕.นรชีวชาดก
  ๒๖.สุรูปชาดก
  ๒๗.มหาปทุมชาดก
  ๒๘.ภัณฑาการชาดก
  ๒๙.พหลาคาวีชาดก
  ๓๐.เสตบัณฑิตชาดก
  ๓๑.บุบผชาดก
  ๓๒.พาราณสิราชชาดก
  ๓๓.พรหมโฆสราชชาดก
  ๓๔.เทวรุกขกุมารชาดก
  ๓๕.สลราชาดก
  ๓๖.สิทธิสารชาดก
  ๓๗.นรชีวกฐินชาดก
  ๓๘.อติเทวราชชาดก
  ๓๙.ปาจิตตกุมารชาดก
  ๔๐.สรรพสิทธิชาดก
  ๔๑.สังขปัตตชาดก
  ๔๒.จันทเสนชาดก
  ๔๓.สุวรรณกัจฉปชาดก
  ๔๔.สิโสรชาดก
  ๔๕.วรวงสชาดก
  ๔๖.อรินทมชาดก
  ๔๗.รถเสนชาดก
  ๔๘.สุวรรณสิรสาชาดก
  ๔๙.วนาวนชาดก
  ๕๐.พากุลชาดก
  ๕๑.โสนันทชาดก
  ๕๒.สีหนาทชาดก
  ๕๓.สุวรรณสังขชาดก
  ๕๔.สุรัพราชาดก
  ๕๕.สุวรรณกัจฉปชาดก
  ๕๖.เทวันธชาดก
  ๕๗.สุบินชาดก
  ๕๘.สุวรรณวงศชาดก
  ๕๙.วรนุชชาดก
  ๖๐.สิรสาชาดก
  ๖๑.จันทคาธชาดก