[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ตลาดสด => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:00:08



หัวข้อ: พิธี การเสียผี หรือผิดผี ของชาวล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 13:00:08
.

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/302/5302/images/01-DSCN8800.jpg)

พิธีเสียผี หรือผิดผี ของชาวล้านนา

เสียผี หรือผิดผี หรือใส่ผี คือพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวล้านนา จัดทำขึ้นเมื่อเกิดการผิดผีขึ้นในครัวเรือน เพราะในเรือนนั้นจะมีผีเรือนหรือผีบรรพบุรุษคอยดูแลลูกหลานอยู่  

การ “เสียผี หรือผิดผี” ในกรณีนี้หมายถึงการที่สาวถูกชายหนุ่มที่ยังไม่คิดจะอยู่กินกันด้วยกันจับมือถือแขน ถูกเนื้อต้องตัวทั้งในที่ลับและที่แจ้งโดยเจตนา หรือเมื่อฝ่ายชายขยับเข้าใกล้หญิงสาว สาวจะขยับตัวหนีจนถึงธรณีประตูเรือนนอน ที่สุดจะข้ามไปอยู่ด้านใน ชายจะไม่กล้าล่วงล้ำเข้าไป ถ้าชายใดข้ามล่วงธรณีประตูเข้าไป ถือว่าผิดผี สาวจะต้องบอกแก่พ่อแม่ของตนภายใน ๓ วัน ถ้าปิดบัง ผีจะโกรธและดลบันดาลให้สัตว์เลี้ยงและพืชพันธุ์ที่มีอยู่ในครอบครัวมีอันเป็นไป หากคนในครอบครัวมีการเจ็บป่วย หญิงสาวจะถูกสมาชิกในครัวเรือนตำหนิติเตียนว่าไม่เคร่งครัดต่อประเพณี  

เมื่อพ่อแม่หญิงสาวรู้ว่ามีการผิดผีเกิดขึ้น จะต้องเจรจากับชายผู้นั้น ทั้งโดยความยินยอมและไม่ยินยอมของหญิงก็ตาม เนื่องจากถือว่ามีการผิดผีขึ้นแล้ว พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะแจ้งให้พ่อแม่ของฝ่ายชายรับรู้ และฝ่ายชายจะต้องไปเสียผี หรือเลี้ยงผีบรรพบุรุษตามประเพณีทุกกรณี เมื่อเลี้ยงผีแล้ว ถ้าหญิงไม่ชอบชาย ฝ่ายพ่อแม่หญิงสาวจะไม่จัดพิธีแต่งงาน และไม่ยอมพูดคุยกับชายคนนั้นอีกเลย

ในกรณีที่ชายไปทำให้ผิดผีขึ้น และฝ่ายหญิงก็ตกลงปลงใจที่จะได้ชายนั้นมาเป็นคู่ครอง ฝ่ายหญิงก็จะบอกให้พ่อแม่ของตนไปสัญญา คือบอกกล่าวแก่ผู้ใหญ่ฝ่ายชายว่า ชายไปผิดผีสาวแล้ว ให้ไปเสียผีตามประเพณีและจะได้จัดการแต่งงานกันต่อไป การเสียผีในกรณีนี้เรียกว่า ใส่เอา

ส่วนการเสียผีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าใส่บ่เอา คือการผิดผีแล้วไม่เลือกอยู่กินด้วยกัน อาจเพราะฝ่ายหญิงสืบรู้ว่าชายมีความประพฤติไม่ดี เช่น เป็นคนดื่มเหล้า เล่นการพนัน  พ่อแม่ฝ่ายสาวจะไม่อนุญาตให้ลูกสาวแต่งงานด้วย ฝ่ายชายจะต้องเสียผี การเสียผีแบบนี้ต้องเสียเงินมากกว่าการใส่เอา และฝ่ายหญิงจะคืนเงินค่าผีให้ฝ่ายชายไป เรียกการคืนเงินค่าผีว่า ผีขืน แล้วฝ่ายหญิงจะจัดการเลี้ยงผีเรือนเอง เมื่อมีกรณีนี้เกิดขึ้นข่าวจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วหมู่บ้าน และขยายไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง นับเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างยิ่ง หญิงสาวที่ถูกชายผิดผีแล้วไม่เอาเป็นเมียนั้นจะถูกนินทาว่าใจง่าย  และจะไม่มีชายมาเยี่ยมเยือน บางคนถูกหนุ่มหลอกผิดผีหลายครั้งจนอายถึงกับต้องย้ายไปอยู่ถิ่นอื่นก็มี  ฝ่ายชายจะไปแอ่วสาวเรือนไหนก็ไม่มีใครต้อนรับและต้องการพูดคุยด้วย

การเสียผีหรือใส่ผีนี้ จะต้องจัดขันดอกไม้ธูปเทียน หัวหมูต้ม สุรา ขนม ข้าวต้ม (มัด) และอาจมีไก่ต้ม ๔ ตัว อีกตามที่ฝ่ายหญิงจะบอก มีขันหมากใส่หมาก ๑ หัว พลู ๑ มัด (หมาก ๑ หัว มี ๑๐ ไหม แต่ละไหมมี ๓๖ คำ พลู ๑ มัด มี ๕ แหลบ แต่ละแหลบมีจำนวน ๒๐ ใบ รวมเป็น ๑๐๐ ใบ) และจะมีเงินค่าผีอีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะขึ้นอยู่กับฐานะของผีในตระกูลนั้นๆ อาจเป็น ๖, ๑๒, ๒๔ หรือ ๑๐๐ หรือพันบาทก็ได้ ไปขอขมาและสังเวยเลี้ยงผีที่หอผีหรือหิ้งผีที่ติดไว้กับเสาเบื้องหัวนอนของเรือนฝ่ายหญิง เมื่อบอกกล่าวและวางเครื่องสังเวยแก่ผีไว้เป็นเวลาสมควรแล้วก็นำเอาสุราและอาหารนั้นไปปูเสื่อเลี้ยงดูกันได้

ในกรณีที่ใส่เอาคือเสียผีแล้ว มีเจตนาจะอยู่ร่วมครองเรือนกันอย่างจริงจังนั้น เมื่อเสียผีเสร็จแล้ว ชายก็มีสิทธิเช่นเดียวกับสมาชิกในครัวเรือนของหญิงนั้น และเมื่อเสียผีเสร็จแล้วก็จะมีพิธีการไตว่ผีเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย คือ ฝ่ายหญิงจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบอกกล่าวให้ผีทางฝ่ายชายทราบว่า บัดนี้ ทางฝ่ายหญิงได้มาร่วมเป็นสมาชิกในวงศ์เดียวกับชายแล้ว


เรียบเรียงจาก : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ  และ ข้อมูลประเพณีล้านนา โดย สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่