[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 02 มีนาคม 2559 14:31:38



หัวข้อ: นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 02 มีนาคม 2559 14:31:38
.

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83436746191647__3588_3619_3641_3648_3627_3617.jpg)

นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก
โดย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ. ๙)
ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์ข่าวสด

นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก (๑)

ความสำคัญของนรก-สวรรค์ ในแง่พุทธศาสนา

เริ่มแรกมาดูว่า ในแง่พระพุทธศาสนา นรก-สวรรค์มีความสำคัญแค่ไหน

ศาสนาทุกศาสนามีเรื่องนรก-สวรรค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนถามกันมาตลอดว่ามีจริงไหม เป็นอย่างไร

ในประเพณีของเรา ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับนรก-สวรรค์ ในวรรณคดีก็ตาม ศิลปกรรมก็ตาม ก็มีเรื่องนรก-สวรรค์ไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น ภาพฝาผนังตามปูชนียสถานต่างๆ มีเรื่องเหล่านี้มากมาย

แต่เราควรมาดูในแง่หลักการก่อนว่า เรื่องนรก-สวรรค์ กับพระพุทธศาสนา มีความสัมพันธ์กันแค่ไหนเพียงใด

ได้บอกแล้วว่า นรก-สวรรค์เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเทียบกับศาสนาทั่วๆ ไปแล้ว มาดูในแง่พระพุทธศาสนา ความสำคัญของนรก-สวรรค์ลดลงไป

ทำไมจึงว่าอย่างนั้น คือ ในศาสนาเป็นอันมาก นรก-สวรรค์เป็นจุดสุดท้ายแห่งการเดินทางชีวิตของมนุษย์

บางศาสนาบอกว่ามีนรกนิรันดร เช่นว่า เราอยู่ในโลก มีชีวิตครั้งนี้ ทำความดีความชั่ว เมื่อตายไป วิญญาณจะไปรอจนถึงวันสิ้นโลก แล้วก็มีการตัดสิน ผู้ที่ควรได้รับโทษ ก็จะถูกตัดสินให้ตกนรกนิรันดร

ในแง่นี้ นรก-สวรรค์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็น จุดสุดท้าย เป็นจุดหมาย

ที่นี้มามองดูในพระพุทธศาสนา เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วความสำคัญของนรก-สวรรค์จะด้อยลงไป

เอาสวรรค์ก็แล้วกัน เพราะเป็นสิ่งที่เราต้องการ สวรรค์ไม่ใช่จุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่พระพุทธศาสนาบอกว่า มีสิ่งที่สูงกว่านั้น สิ่งที่สำคัญกว่าสวรรค์คือ นิพพาน เมื่อสวรรค์ไม่ใช่จุดหมาย ความสำคัญของมันก็ด้อยลงไป

เมื่อเราปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้าจะปฏิบัติให้แท้จริง ให้ตรงตามหลักการ เราก็บอกว่าไม่ใช่เพื่อจะไปสวรรค์ แต่เพื่อนิพพาน สวรรค์กลายเป็นเรื่องขั้นตอนที่อยู่ในระหว่าง ย่อมจะลดน้อยลงไป น้อยกว่าสิ่งที่เป็นจุดหมายสุดท้าย นี้เป็นเรื่องธรรมดา

ประการต่อไป นรก-สวรรค์ตามที่รู้กัน หรือพูดถึงกันอยู่เป็นเรื่องที่ได้รับหรือไปประสบหลังจากตายแล้ว ศาสนาอื่นๆ ทั่วไปว่าอย่างนี้ เมื่อตายแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ ดังนั้น จุดหมายสูงสุดของศาสนาเหล่านั้น จึงเป็นเรื่องของชีวิตข้างหน้า

แต่จุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่บรรลุได้ในชาตินี้ นิพพานสามารถบรรลุได้ในชาตินี้ ตั้งแต่ยังเป็นๆ อยู่

นี่เป็นแง่ที่สอง ที่ทำให้ความสำคัญของนรก-สวรรค์น้อยลงไป เราอาจบรรลุจุดหมายสูงสุดได้ในชาตินี้แล้ว เราก็ไม่ต้องพูดเรื่องหลังจากตายแล้ว เรื่องนรก-สวรรค์ก็ไม่ต้องมาเกี่ยวข้อง

ต่อไปข้อที่สาม ในพระพุทธศาสนา นรก-สวรรค์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสังสารวัฏ คือการเวียนว่ายตายเกิด

สังสารวัฏมีการเปลี่ยนแปลงได้ ชีวิตเราเดินทางไปในสังสารวัฏ มีหมุนขึ้นหมุนลง

ตกนรกแล้ว ต่อไป ถ้าเรามีกรรมดี ก็กลับไปขึ้นสวรรค์ หรือมาเกิดเป็นมนุษย์ คนที่เกิดเป็นพระพรหมด้วยกรรมดีบำเพ็ญฌานสมาบัติ ต่อไปเมื่อสิ้นบุญแล้ว กลับไปตกนรก เพราะมีกรรมชั่วในหนหลังก็ได้ หมุนเวียนไปมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ นรก-สวรรค์จึงเป็นเพียงส่วนที่หมุนเวียนอยู่ในระหว่าง แล้วก็เป็นของชั่วคราว เพราะฉะนั้น ความสำคัญก็ลดลง เพราะเรามีโอกาสที่จะแก้ไขตัวได้มาก พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นขั้นตอนของความก้าวหน้าในวิถีของการพัฒนาสูงขึ้นไป

นี้เป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้น เพื่อจะได้เห็นฐานะของนรก-สวรรค์ในพระพุทธศาสนา

ในแง่นี้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับศาสนาที่ถือเรื่องนรก-สวรรค์เป็นนิรันดร เป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะประสบ ซึ่งไม่มีทางแก้ไขได้เลย ก็จะมีความแตกต่างกันอย่างมาก เมื่อทำความเข้าใจเบื้องต้นอย่างนี้แล้ว ก็พูดถึงเนื้อหาของเรื่องนรก-สวรรค์ได้โดยตลอด

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนรก-สวรรค์

พูดถึงเรื่องนรก-สวรรค์ เข้าสู่เนื้อหาของเรื่องนรก-สวรรค์ ซึ่งมีแง่ที่ต้องแยกอีก ๒ อย่าง

แง่ที่หนึ่ง คือ ความมีอยู่จริงหรือไม่ นรก-สวรรค์มี จริงไหม

แง่ที่สอง คือ ท่าทีของชาวพุทธ หรือท่าทีของพุทธศาสนาต่อเรื่องนรก-สวรรค์

ต้องพูดทั้งสองแง่ จะพูดแง่เดียวไม่พอ เพราะมันสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สำหรับพุทธศาสนานี้ขอพูดไว้ก่อนว่า เรื่องท่าที่ต่อนรก-สวรรค์เป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะต้องวางท่าทีให้ถูกต้อง

พูดเกริ่นไว้หน่อยว่า เรื่องนรก-สวรรค์จัดอยู่ในประเภทสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ สำหรับคนสามัญ

ที่ว่าพิสูจน์ไม่ได้นี้หมายถึง ทั้งในแง่ลบและแง่บวก คือจะพิสูจน์ว่ามี ก็ยังเอามาแสดงให้เห็นไม่ได้ จะพิสูจน์ว่าไม่มี ก็ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าไม่มีให้มันเด็ดขาด พูดไม่ได้ทั้งสองอย่าง



นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก (๒)

บางคนบอกว่า เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่ามี มันก็ไม่มี อย่างนั้นก็ไม่ถูก ในเมื่อตัวเองไม่มีความสามารถที่จะพิสูจน์

ในการพิสูจน์นั้น ต้องพิสูจน์ด้วยอายตนะที่ตรงกัน สิ่งที่จะรู้ด้วยการเห็น ก็ต้องเอามาให้ดูด้วยตา สิ่งที่จะรู้ได้ด้วยการได้ยิน ก็ต้องพิสูจน์ด้วยการเอามาทำให้ฟังได้ด้วยหู ฯลฯ

เป็นอันว่า ต้องพิสูจน์ให้ตรงตามอายตนะ จะพิสูจน์ว่าเสียงมีหรือไม่มี พิสูจน์ด้วยตาได้ไหม ก็ไม่ได้ พิสูจน์ว่ารสมีไหม จะพิสูจน์ด้วยหูก็ไม่ได้ ไม่ได้เรื่อง มันต้องตรงอายตนะกัน

ทีนี้ นรก-สวรรค์พิสูจน์ด้วยอะไร พิสูจน์ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ลิ้น กายไม่ได้ มันต้องพิสูจน์ด้วยชีวิตที่ใจนั่นเอง

ดูหลักง่ายๆ ไม่ต้องพูดลึกซึ้ง เราถือว่าจิตเป็นแกนของชีวิต เป็นตัวทำหน้าที่เกิด จะพิสูจน์เรื่องนรก-สวรรค์ว่าตายแล้วไปเกิดหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ด้วยจิต คือ ลองตายดู

ทีนี้ พอบอกว่าพิสูจน์ด้วยตาย ก็ไม่มีใครยอม เพราะต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง จะให้คนอื่นพิสูจน์ไม่ได้

เราบอกว่าคนหนึ่งตายแล้ว เขาไปเกิดที่ไหน เราไม่รู้ ตัวเขาเป็นผู้พิสูจน์ เราเป็นแต่ผู้ไปดู เหมือนเขาลิ้มรส แล้วเราดูเขาลิ้มรส เราจะไปรู้ได้อย่างไรว่าเขารู้รสจริงหรือเปล่า และรสนั้นเป็นอย่างไร เราไม่ได้ลิ้มรส ก็ได้แต่ดูเท่านั้นเอง

เรื่องของชีวิตนี้ก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวจิต เมื่อจะพิสูจน์ด้วยการที่ต้องตาย เราก็ทำไม่ได้ ไม่มีใครกล้าทำ เกิดเป็นปัญหาติดอยู่ ตรงนี้ที่พิสูจน์ไม่ได้ นี่เป็นเรื่องเกร็ดแทรกเข้ามา เราจะต้องพูดกันต่อไปอีก

รวมความในตอนนี้ นรก-สวรรค์เป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ว่ามีหรือไม่มี

สำหรับสิ่งที่พิสูจน์ออกมาให้เห็นชัดไม่ได้อย่างนี้ ทางพุทธศาสนามีหลักให้ปฏิบัติ คือถือว่าวางท่าทีเป็นสำคัญ

เรื่องบางอย่าง ถ้ารอให้พิสูจน์เสร็จ มนุษย์เลยไม่ต้องทำอะไร ได้แต่รอแบบพวกนักปรัชญา

พวกนักปรัชญาจะเอาให้รู้ความจริงเสียก่อน เช่น รู้ความจริงเกี่ยวกับโลกว่า โลกนี้เป็นอย่างไรแน่ มันเกิดเมื่อไร มันจะไปอย่างไร พวกนักปรัชญาจะเถียงกัน ใช้สมองใช้สติปัญญาในการโต้เถียง เมื่อแกยังตอบเรื่องโลกและชีวิตไม่ได้ เช่น ด้วยวิธีอภิปรัชญาแกก็ต้องเถียงกันต่อไป นี่ก็เถียงกันมาห้าพันปีแล้วโดยประมาณ

ทีนี้ถ้าแกจะต้องเถียงกันจนกว่าจะรู้คำตอบ แล้วจึงจะปฏิบัติได้ เพราะแกอาจจะบอกว่า เรายังไม่รู้ความจริงว่ามันเป็นอย่างไร เราจะไปปฏิบัติกับมันอย่างไร แกจะต้องรอให้รู้ความจริงอันนั้นแล้วจึงจะวางหลักปฏิบัติ แกตายไปแล้วกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง จนกระทั่งลูกหลานเหลนของแกเองก็ตายไป โดยที่ยังทำอะไรไม่ได้และยังไม่ได้ทำอะไร

พระพุทธศาสนาบอกว่า สำหรับเรื่องนี้ คือสำหรับเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ มันสำคัญที่ปฏิบัติ

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการปฏิบัติ

เรามีวิธีปฏิบัติต่อสิ่งที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ โดยให้ถือการปฏิบัตที่ไม่ผิด

อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า การวางท่าทีเป็นสำคัญ นรก-สวรรค์ก็อยู่ในประเภทนี้ การวางท่าทีหรือการที่จะปฏิบัติต่อมันอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญกว่า

เป็นอันว่า มีเรื่องที่ต้องพูดสองแง่ คือ แง่ว่ามีจริงไหม กับจะวางท่าทีต่อมันอย่างไร และเน้นแง่การวางท่าที หรือการปฏิบัติ ทีนี้ มาพูดถึงหัวข้อสองอย่างนั้น เอาแง่ที่หนึ่งก่อน

๑.นรก-สวรรค์ มีจริงหรือไม่?

แง่ที่หนึ่งคือ มีจริงไหมในแง่ของพระพุทธศาสนา และก็จะพูดจำกัดตามที่อาจารย์ได้กำหนดไว้ว่าเฉพาะในพระไตรปิฎก

ขอแบ่งว่า พระพุทธศาสนาพูดเรื่องนี้ไว้เป็น ๓ ระดับ
๑) นรก-สวรรค์ หลังตาย


ระดับที่หนึ่ง คือเรื่องนรก-สวรรค์ที่เราพูดกันทั่วๆ ไปว่าหลังจากชาตินี้ ตายแล้วไปรับผลกรรมในทางที่ดีและไม่ดี ถ้ารับผลกรรมดี ก็ถือว่าไปสวรรค์ ถ้ารับผลกรรมชั่ว ก็ไปเกิดในนรก เรื่อง นรก-สวรรค์แบบนี้เรียกว่าระดับที่หนึ่ง พระพุทธศาสนาว่าอย่างไร

สำหรับระดับนี้ ถ้าถือตามตัวอักษร พระไตรปิฎกกล่าวไว้มากมาย เมื่อพูดกันตามตัวอักษรก็ต้องบอกว่ามี มีอย่างไร นรก-สวรรค์หลังจากตายนี้ มักจะมีในขั้นเอ่ยถึงเท่านั้น ไม่ค่อยมีคำบรรยาย

ในพระไตรปิฎก เรื่องนี้หาได้ทั่วไป ในคำสรุปท้ายที่แสดงผลของการประพฤติดีประพฤติชั่ว คือในแง่สวรรค์บอกว่า เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ล่วงลับดับชีพไปแล้ว จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี่ฝ่ายดี


มีต่อ


หัวข้อ: Re: นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 04 มีนาคม 2559 16:32:31
.

นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก (๓)

ส่วนในฝ่ายร้ายก็กล่าวว่า เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

สำนวนในบาลี มีอย่างนี้มากมายเหลือเกิน

สำนวนความนี้ ไม่ได้บรรยายว่าสวรรค์เป็นอย่างไร นรกเป็นอย่างไร ได้แต่สรุป และโดยมากมาห้อยท้ายกับคำแสดงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ซึ่งจะเริ่มด้วยผลที่จะได้รับในชาตินี้ก่อนว่า ผู้มีศีลประพฤติดีแล้ว จะได้ผลอย่างนั้นๆ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วสุดท้าย หลังจากแตกกายทำลายขันธ์แล้ว จะไปสุคติ

ดังเช่นว่า เจริญเมตตา มีอานิสงส์อย่างนี้ คือ หลับเป็นสุข ฝันดี...บอกผลดีในปัจจุบันเสร็จแล้ว จึงห้อยท้ายว่า ตายแล้วไปสวรรค์ ไปพรหมโลก นี่เป็นเพียงการเอ่ยถึงผลของการทำดี ทำชั่ว

นอกจากนั้น เราต้องสังเกตด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องนรก-สวรรค์นั้น พระองค์ตรัสในข้อความแวดล้อมอย่างไร มีเรื่องราวเป็นมาอย่างไร เราจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลในปัจจุบันมากมายก่อน แล้วอันนี้ไปห้อยท้ายไว้

เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว จะได้จัดฐานะของนรก-สวรรค์ได้ถูกต้อง นี้บอกไว้ให้เป็นข้อสังเกต

เป็นอันว่า เราจะพบคำบาลีที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่บ่อยๆ ว่าเมื่อตายแล้วจะไปนรกหรือสวรรค์ หลังจากได้รับผลกรรมดีกรรมชั่วในปัจจุบันนี้แล้ว ตรัสบ่อยๆ โดยไม่มีคำบรรยาย

ข้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่มีคำบรรยายว่านรก-สวรรค์เป็นอย่างไร มีน้อยแห่งเหลือเกิน

แห่งที่นับว่ามีคำบรรยายมากหน่อย กล่าวถึงการลงโทษในนรก เริ่มจากว่าตายไปแล้วเจอยมบาล พญายมถามว่า ตอนมีชีวิตอยู่เคยเห็นเทวทูตไหม? เทวทูตที่หนึ่งเป็นอย่างไร?... เขาตอบไม่ได้ ยมบาลต้องชี้แจงว่า เทวทูตที่หนึ่ง คือ เด็กเกิดใหม่ ที่สอง คือ คนแก่ ที่สาม คือ คนเจ็บ ที่สี่ คือ คนถูกลงโทษทัณฑ์อาญา ที่ห้า คือ คนตาย

ยมบาลอธิบายให้ฟังแล้วก็ซักต่อว่า ท่านเคยเห็นไหม เคยเห็นแล้ว เคยได้ความคิดอะไรบ้างไหม มีความสลดใจบ้างไหม ในการที่จะต้องคิดเร่งทำความดี ท่านเคยรู้สึกบ้างไหม ไม่เคยเลย ถ้าอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของตัวเองทำกรรมไม่ดี ก็ต้องได้รับโทษ มีการลงอาญา เรียกว่า *กรรมกรณ์* ซึ่งเป็นวิธีลงโทษประการต่างๆ ในนรก

เรื่องนี้มีมาใน พาลบัณฑิตสูตร และเทวทูตสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ถ้าต้องการค้นหา ก็บอกข้อบอกหน้าไปด้วย คือ เล่ม ๑๔ ข้อ ๔๖๗ หน้า ๓๑๑ และเล่ม ๑๔ ข้อ ๕๐๔ หน้า ๓๓๔ (สำหรับพระไตรปิฎกแปลภาษาไทย ก็ไปต้นดูตามข้อ หน้าไม่ตรงกัน เพราะนี่เป็นหน้าบาลี) โดยมากพูดถึงนรก ไม่ค่อยพูดถึงสวรรค์

นอกจากนี้ก็ยังมีบางแห่งพูดถึงอายุเทวดาในชั้นต่างๆ เช่นชั้นจาตุมหาราช หรือชั้นโลกบาล ๔ ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี แต่ละชั้นมีอายุอยู่นานเท่าไร อย่างนี้มีในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๕๑๐ หน้า ๒๗๓ และไปมีซ้ำในเล่ม ๒๓ ข้อ ๑๓๑-๑๓๕ หน้า ๒๕๓-๒๖๙ และยังมีอายุมนุษย์ ถึงรูปพรหม แสดงไว้ในฝ่ายอภิธรรม พระไตรปิฎกเล่ม ๓๕ ข้อ ๑๑๐๖-๑๑๐๗ หน้า ๕๖๘-๕๗๒

บางแห่งแสดงเรื่องราวว่า ในวัน ๘ ค่ำ ท้าวมหาราช ๔ คือ ท้าวจตุโลกบาล ส่งอำมาตย์มาตรวจดูโลก ว่ามนุษย์ประพฤติดีปฏิบัติชอบหรือเปล่า ถ้าเป็นวัน ๑๔ ค่ำ โอรสมาเที่ยวดู

ถึงวัน ๑๕ ค่ำ ก็เสด็จมาเที่ยวตรวจดูเอง แล้วกลับไปแจ้งต่อที่ประชุมเทวดาในสุธรรมสภา สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งมีพระอินทร์เป็นประธานว่า เดี๋ยวมนุษย์โดยมากประพฤติดี หรือประพฤติชั่ว

ถ้ามนุษย์ประพฤติดี เทวดาก็จะดีใจ ว่าต่อไปสวรรค์จะมีคนมาเกิดเยอะ ถ้าหากมนุษย์ประพฤติชั่วมาก เทวดาก็จะเสียใจว่าต่อไปฝ่ายเทวโลกจะมีแต่เสื่อมลง อะไรทำนองนี้

เรื่องอย่างนี้ก็มีในเล่ม ๒๐ เหมือนกัน ข้อ ๔๗๖ หน้า ๑๘๐ เป็นการกล่าวแทรกอยู่บางแห่ง มีไม่สู้มาก

นอกจากนี้ก็มีกระเส็นกระสาย เล็กๆ น้อยๆ ชื่อนรก ๑๐ ขุม ก็มีในพระไตรปิฎกด้วย คือในเล่ม ๒๔ อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ข้อ ๘๙ หน้า ๑๘๕ และนรก ๘ มีในคาถาชาดก เล่ม ๒๘ ข้อ ๙๒ หน้า ๓๙

อันนี้ก็เป็นฐานให้อรรถกถานำมาชี้แจงอธิบายเรื่องนรกต่างๆ แจกแจงให้เห็นเรื่องราวพิสดารยิ่งขึ้น แต่ในที่นี้จะไม่พูดถึง

คัมภีร์กลุ่มชาดก ในขุททกนิกาย เป็นแหล่งที่จะหาเรื่องราวคำบรรยายเกี่ยวกับสภาพในนรกและสวรรค์ได้มากกว่าที่อื่น เนมิราชชาดก ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๕๒๕-๕๙๙ หน้า ๑๙๘-๒๒๓ เป็นเรื่องการไปทัศนาจรนรกและสวรรค์โดยตรงทีเดียว

(ในมฆเทวสูตร ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๔๕๘-๔๖๐ หน้า ๔๒๑-๒๔๔ ก็มีเรื่องที่พระเจ้านิมิ หรือนิมิราช กษัตริย์ทรงธรรม เป็นธรรมราชา แห่งมิถิลานคร ได้รับเชิญจากพระอินทร์ไปพบกับเหล่าเทวดาที่สุธรรมเทวสภา ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์)




นรก-สวรรค์ ในพระไตรปิฎก (๔)

คัมภีร์เปตวัตถุ ที่ว่าด้วยเรื่องของเปรต แม้จะต่างภพกับนรก แต่ก็อยู่ในประเภทอบายเหมือนกัน

ถ้ารับเข้ามาพิจารณาด้วย ก็จะได้คัมภีร์เปตวัตถุ และ วิมานวัตถุ เข้ามาร่วมในกลุ่มนี้ด้วย และจะพบเรื่องราวมากมายทีเดียว ได้แก่ พระไตรปิฎก เล่ม ๒๖ ข้อ ๑-๑๓๖หน้า ๑-๒๕๙

แม้ในพระไตรปิฎกจะได้พูดถึงนรก-สวรรค์แบบนี้ เราก็อย่าเอาไปวุ่นกับการเขียนภาพและคำบรรยายในวรรณคดีให้มากนัก เพราะวรรณคดีบวกจินตนาการเข้าไป ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของกวี แม้จะบรรยายอารมณ์มนุษย์ ก็ต้องบรรยายให้เห็นภาพ เมื่อจะบรรยายนรก-สวรรค์ ก็ต้องพูดให้เห็นจริงเห็นจัง หรือจะมาเขียนเป็นภาพประกอบ จะให้คนธรรมดาเกิดความสนใจ ก็ต้องนำเสนอในรูปแบบที่ทำให้เกิดความเข้าใจง่าย เทียบเคียงหรือประยุกต์เข้ากับสิ่งที่คนรู้เห็นกันในยุคนั้นถิ่นนั้น

เพราะฉะนั้น เราจะเอาวรรณคดีรุ่นหลังๆ หรือภาพตามฝาผนังเป็นมาตรฐานไม่ได้ เพราะนี่เป็นรูปของการทำให้ง่ายแล้ว จะว่าตามนั้นทีเดียวไม่ได้

ก็เป็นอันว่า ในแง่ที่หนึ่ง สำหรับคำถามว่า นรก-สวรรค์หลังจากตายในพระไตรปิฎกมีไหม? เมื่อถือตามตัวอักษร ก็เป็นอันว่ามีดังที่กล่าวมาแล้ว

ส่วนที่ว่าอาจมีบางท่านแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้สัมพันธ์กับความเชื่อที่มีดั้งเดิม เช่นว่าพระพุทธเจ้าอาจจะตรัสไปตามที่คนเชื่อกันอยู่ นั่นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป นอกจากนี้ใครจะตีความอย่างไรต่อไป อาตมาไม่เกี่ยว

๒) นรก-สวรรค์ ที่อยู่ในใจ

ต่อไประดับที่สองเลย เพื่อย่นเวลา นรก-สวรรค์ในระดับที่สองก็คือที่เราพูดกันว่า "สวรรค์ในอก นรกในใจ" เป็นเรื่องที่มีในชาตินี้

นรก-สวรรค์แม้ในชาติหน้า ก็สืบไปจากที่มีในชาตินี้ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในสภาพจิต ภูมิของจิต ชั้นของจิต ระดับของจิตใจ จิตของเรามีคุณภาพหรือคุณสมบัติอยู่ในระดับไหน ถึงเวลาตาย ถ้าระดับจิตเป็นนรก ก็ไปนรก ถ้าระดับจิตเป็นสวรรค์ ก็ไปสวรรค์ นี่เกี่ยวกับสภาพจิตที่เป็นอยู่ตลอดเวลา

ที่พูดมานั้นคือ เมื่อว่าโดยหลักทั่วไป ในชีวิตประจำวัน ซึ่งดำเนินไปในเวลายาวนานหลายๆ ปี ระดับจิตของเราอยู่แค่ไหนเวลาตาย โดยทั่วไป ถ้าไม่ใช่กรณียกเว้น มันก็อยู่ในระดับนั้นแหละ

ส่วนในกรณียกเว้น ถ้าเวลาตายนึกถึงอารมณ์ที่ดี เช่น ทำกรรมชั่วมามาก แต่เวลาตายนึกถึงสิ่งที่ดี ก็ไปเกิดดีได้ ถ้าหากเวลาอยู่ ทำกรรมดี แต่เวลาตายเกิดจิตเศร้าหมอง ระดับจิตตกลงไป ก็ไปเกิดในที่ต่ำ

เมื่อการไปเกิดขึ้นอยู่กับระดับจิตอย่างนี้ ก็หมายความว่าเราพร้อมจะไปนรกหรือสวรรค์ได้ตั้งแต่ปัจจุบัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า คนที่จะไปนรก ก็คือคนที่จิตใจอยู่ในระดับนรกอยู่แล้วในชาตินี้ ส่วนคนที่จะไปสวรรค์ ก็คือคนที่มีจิตใจในระดับสวรรค์อยู่แล้ว

ตกลงว่า เรื่องนรก-สวรรค์นี้มีตั้งแต่เดี๋ยวนี้อยู่แล้ว ปัจจุบันนี่เองมันส่อข้างหน้า เพราะฉะนั้น ถ้าจะคาดการณ์เรื่องข้างหน้าเราไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงสวรรค์ที่ไกลด้วยซ้ำ เอาปัจจุบันนี่เป็นเกณฑ์ เพราะคนเราสร้างสมกรรมด้วยชีวิตที่เป็นอยู่ สร้างระดับจิตของตนไว้ สั่งสมระดับจิต ซึ่งทำให้พร้อมอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น เรื่องสวรรค์ในอกนรกในใจ ก็ย่อมมีได้ตามหลักนี้ คือระดับจิตของเรานั่นเอง ที่มันอยู่ในนรกหรือสวรรค์

ถ้าระดับจิตของเราอยู่ในนรก ก็เป็นนรก และไปนรก ถ้าระดับจิตของเราอยู่ในสวรรค์ ก็เป็นสวรรค์ และไปสวรรค์

ทีนี้ เราทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว เรารู้ เรามีความรู้สึกเป็นประสบการณ์เฉพาะตัวเกี่ยวกับกรรมดี-กรรมชั่วที่ทำไว้ ถ้าทำกรรมชั่วไว้ เรารู้สึกเดือดร้อนใจ ทางพระท่านใช้คำว่า "วิปฏิสาร" ความวิปฏิสารนี่แหละ เป็นสภาพจิตที่เป็นทุกข์ ซึ่งนับเป็นนรก

ในนิวรณ์ ๕ ก็มีข้อหนึ่งว่า "กุกกุจจะ" อันได้แก่ความไม่สบายใจ กังวลใจ รำคาญใจ ไม่สบาย เดือดร้อนใจ สิ่งที่ดีเราไม่ได้ทำ สิ่งที่ได้ทำ ก็ชั่ว ไม่ดี

ในทางตรงข้าม ถ้าทำกรรมดี ก็เกิดปราโมทย์ มีปีติ มีความอบอุ่นใจ อิ่มเอิบ ร่าเริง บันเทิง เบิกบานใจ ปลื้มใจ เปรมใจ มีความสุข จิตใจอยู่ในระดับสวรรค์

อย่างนี้ก็เป็นเรื่องสวรรค์ในอก นรกในใจ

ถ้าพูดถึงเรื่องวิปฏิสาร และเรื่องปีติปราโมทย์ ในการทำชั่วและทำดีอย่างนี้ ก็มีในพระไตรปิฎกมากมายเช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องอ้างขึ้นมาเลย

เป็นอันว่านรก-สวรรค์แง่นี้ เป็นเรื่องระดับจิต ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่ปัจจุบัน