[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 07 มีนาคม 2559 20:09:22



หัวข้อ: พุทธภูมิศึกษา 'นครกบิลพัสดุ์'
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 07 มีนาคม 2559 20:09:22
.

(http://saisampan.net/pic/images/arx1403867440t.jpg)

พุทธภูมิศึกษา 'นครกบิลพัสดุ์'
โดย พระครูนิโครธบุญญากร
บันทึกการบรรยายโดย พระเฉลิมชาติ ชาติวโร

เนื้อหาสาระโดยสรุป
เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงประเด็นปัญหาว่า เพราะอะไรพระพุทธเจ้าจึงประสูติที่ลุมพินี? และพระพุทธเจ้าสามารถเดินได้ ๗ ก้าวเมื่อครั้งมีประสูติกาลจริงหรือไม่?

ซึ่งท่านอาจารย์พระครูฯ ก็ได้ไขปัญหาทีละประเด็น โดยประเด็นแรก คือ “เพราะอะไรพระพุทธเจ้าจึงประสูติที่ลุมพินี” ท่านให้เหตุผลว่า เพราะ
๑.เป็นพุทธพยากรณ์ ที่พระพุทธเจ้าทั้ง ๒๔ พระองค์ที่ผ่านมาได้พยากรณ์เอาไว้ ว่าพระพุทธเจ้าจะต้องมาประสูติที่ลุมพินีวัน และ
๒.เป็นมติของเทวสโมสร ที่มีมติร่วมกันว่าจะมาต้องรับพระโพธิสัตว์เมื่อแรกประสูติที่ลุมพินีวัน

ประเด็นที่ ๒ พระพุทธเจ้าเดินได้ ๗ ก้าวเมื่อประสูติจริงหรือ? ท่านอาจารย์พระครูฯ ตอบว่า เป็นเรื่องจริง โดยอ้างถึงพระพุทธวัจนะที่ได้ตรงตรัสไว้เองถึงการเดินได้ ๗ ก้าวเมื่อครั้งทรงมีพระประสูติกาล ซึ่งมีทั้งหมด ๕ แห่งในพระไตรปิฎก เช่น ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาส ในอัจฉริยอัพภูตธัมมสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ ทีฆนิกาย มหาวรรค ใน มหาปทานสูตร, ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อรรถกถา เล่มที่ ๗๓ หรือขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๒๕ เป็นต้น... ซึ่งเป็นปกติของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่จะตรัสรู้ ทุกพระองค์จะเดินได้ ๗ ก้าว

จากนั้นได้อธิบายถึงการเปล่งอสภิวาจาของพระมหาบุรุษ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงพระชาติสุดท้ายเท่านั้น ที่พระองค์ทรงตรัสเมื่อแรกประสูติ ในคราวที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระมโหสถและพระเวสสันดรก็ได้เปล่งวาจาเมื่อแรกเกิดเช่นกัน

จากนั้นท่านได้เล่าเรื่องของเทพตาเลจู อันเป็นเทพธิดาผู้พิทักษ์ของประเทศเนปาลมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเทพธิดาตาเลจูได้มาในรูปแบบของราชกุมารี เด็กน้อยที่ได้รับคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถันจากตระกูลศายกวงศ์ ซึ่งคงเป็นที่นับถือของชาวเนปาลมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปแล้ว แต่รัฐบาลที่ปกครองตลอดจนประชาชนทั้งหลายก็ยังคงให้ความนับถือราชกุมารีอยู่

จากนั้นท่านอาจารย์พระครูฯ ได้เล่าถึงประวัติของการเกิดขึ้นของเมืองกบิลพัสดุ์อย่างละเอียด... โดยนครกบิลพัสดุ์ ตั้งอยู่ในดงไม้สัก ที่เดิมเป็นอาณาบริเวณอาศรมของกบิลฤาษี กษัตริย์ผู้สละบัลลังก์ออกบวชมุ่งแสวงหาความสงบ จึงได้นามตามชื่อของฤาษีกบิลว่า “นครกบิลพัสดุ์” อาศัยเหตุที่อยูในเขตดงไม้สัก จึงตั้งชื่อแคว้นว่า “สักกชนบท”

พระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าโอกกากราช บรมกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ ๔ คู่ เว้นพระเชษฐภคินีได้เป็นผู้มาสร้างเมืองกบิลพัสดุ์ และได้อภิเษกจับคู่สืบสายโลหิต เพื่อไม่ให้แปดเปื้อนด้วยสายโลหิตอื่นใด เป็นสาเหตุให้เกิดสายพระวงศ์ว่า “ศากยวงศ์” วงศ์ที่เกิดจากสายเลือดตนเอง... ศากยวงศ์แห่งนครกบิลพัสดุ์สืบรัชทายาทติดต่อกันเรื่อยมา จนถึงสมัยแห่งเจ้าผู้ครองนครนามว่า “สุทโธทนราชา” อันมีองค์อัครชายาพระนามว่า “สิริมหามายา” ราชเทวี พระบรมโพธิ์สัตว์จึงอุบัติถือปฏิสนธิในศากยวงศ์นี้ นครแห่งนี้จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “เมืองพุทธบิดา”

ท่านได้อธิบายตำนานการสร้างเมืองกบิลพัสดุ์จนถึงเรื่องราวการประสูติของพระโพธิสัตว์จนกระทั่งถึงเวลา ๑๐.๕๐ น. แล้วจึงยุติการบรรยายในภาคเช้าลง


“พุทธภูมิศึกษาเทวทหนคร”
โดย พระมหาสุพจน์ กิตฺติวณฺโณ - บรรยายแทนโดย พระครูนิโครธบุญญากร

เนื้อหาสาระโดยสรุป

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาเรื่องเมืองเทวทหะ ท่านพระครูฯ ได้กล่าวถึงรายละเอียดของกุมารี เทพธิดาตาเลจู อีกครั้ง โดยเล่าว่า คนที่จะได้รับคัดเลือกให้เป็นราชกุมารีนั้นไม่ใช่ง่าย เพราะนอกจากจะต้องเป็นสายเลือดของศากยวงศ์แล้ว ยังต้องผ่านการคัดเลือกอีก ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ

๑.การตรวจลักษณะทางกายภาค ที่ต้องมีพร้อมทั้ง ๙ ลักษณะ คือ มีรูปร่างกลมเหมือนต้นกล้วย, มีขาเหมือนกวาง, มีอกเหมือนสิงโต, มีลำคอเหมือนหอย คือ เป็นปล้องๆ, มีเสียงใสเหมือนนกการะเวก, มีผมดำสนิท, ลิ้นไม่ยาวและสั้นเกินไป, ไม่มีโรค และต้องไม่มีกลิ่นตัว

๒.การตรวจลักษณะทางด้านจิตใจ ที่ต้องไม่ตกใจง่าย ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง และต้องมีเมตตา

๓.การตรวจโดยนำเครื่องทรงของราชกุมารีพระองค์ก่อนๆ มาให้เลือก ว่าชุดไหนเป็นของกุมารีพระองค์ใด

พระราชกุมารีจะต้องผ่านการคัดเลือกตามขั้นตอนดังที่กล่าวมานี้แล้วเท่านั้น จึงจะสามารถขึ้นรับตำแหน่งเป็นที่กราบไหว้เคารพบูชาของประชาชนทั้งประเทศได้ แต่กุมารีจะหมดวาระเมื่อมีเลือดออกจากร่างกาย คือ ส่วนใหญ่หมดวาระตอนมีระดู อายุประมาณ ๑๓-๑๔ แล้วจึงมีการคัดเลือกกุมารีพระองค์ใหม่ โดยเลือกกันตั้งแต่อายุประมาณ ๒ ขวบครึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีกุมารีทั้งหมด ๓ พระองค์ คือ
๑.ในเมืองกาฐมาณฑุ
๒.ในเมืองภัตตาปูร์ และ
๓. นเมืองปาตัน

ในเมืองกาฐมาณฑุนั้น มีสถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ ซึ่งยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน... เมืองโปกขรา ในอดีตมีความเชื่อว่า คือ สระอโนดาษ

จากนั้นท่านอาจารย์พระครูฯ ได้กล่าวถึงประวัติของเมืองกบิลพัสดุ์อีกเล็กน้อย ต่อเนื่องจากภาคเช้า โดยกล่าวถึงประวัติของเมืองโดยเชื่อมโยงกับพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่องสมัยแรก ทรงมีอีกพระนามหนึ่งว่า เจ้าชายอังคีรส อันเป็นพระนามที่พระเจ้าสุทโธทนะชอบเรียก จากนั้นได้เล่าถึงชีวิตในสมัยเมื่อยังทรงประทับอยู่ในพระราชวัง ว่ามีความสุขสบายมากขนาดที่วันหนึ่งได้เสวยอาหารวันละ ๑๘๐ ชนิด ไม่ซ้ำกัน มีปราสาท ๓ ฤดู และมีนางสนมกำนัล ๔ หมื่นนางคอยห้อมล้อมอยู่ตลอด ที่ถึงที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะก็ทิ้งความสุขสบายเป็นเป็นโลกียสุขเหล่านั้น เพื่อออกแสวงหาความหลุดพ้นและช่วยเหลือเหล่าสัตว์ให้พ้นวัฏฏทุกข์

จากนั้นได้เข้าสู่เนื้อหาของเมืองเทวทหะ โดยเล่าถึงตำนานการกำเนิดขึ้นของเมืองเทวทหะ แล้วกล่าวถึงสภาพทางภูมิประเทศว่า เมื่อง ๑๔๐ ล้านปีก่อน ภูเขาเขตหิมวันตประเทศ เคยเป็นทะเลมาก่อน เพราะมีการค้นพบซากฟอสซิลเป็นจำนวนมาก แล้วท่านอาจารย์พระครูฯ ได้กล่าวถึงพระนางสิริมหามายา ว่ามีความงามเป็นเลิศหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้ ด้วยอิตถีลักษณะ ๖๔ ประการ และลักษณะความสมบูรณ์แบบของผู้ที่จะอุ้มท้องพระโพธิสัตว์อีก ๓๒ ประการ โดยการจะเป็นพุทธมารดาได้ จะต้องอธิษฐานตั้งความปรารถนามาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งพระนางสิริมหามายาและพระนางปชาบดีโคตมี ได้อธิษฐานมาร่วมกันว่า คนหนึ่งจะเป็นผู้ให้กำเนิด และอีกคนหนึ่งจะเป็นผู้เลี้ยงดู

หลังการปรินิพพาน ๗ ปี พระมหากัสสปะ ได้บอกพระเจ้าอชาตศัตรูว่า ต้องการจะรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุไว้เพื่อป้องกันรักษาพระบรมสารีริกธาตุให้อยู่ในที่เดียวกัน จะทำให้ดูแลรักษาได้ง่ายกว่า ท่านสามารถรวบรวมจากพระสถูปได้ทั้งหมด ๗ แห่ง มี ๑ แห่งที่ไม่สามารถนำพระบรมสารีริกธาตุออกมาได้ คือ ที่ “รามคามสถูป” เมืองเทวทหะ ซึงสถูปนี้ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีประวัติว่ามีผู้ใดเคยขุดค้นพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมา นอกจากนี้ชาวบ้านยังเล่าขานกันมาว่า ในทุกวันพุธ จะมีเสียงฆ้องเสียงประโคมดนตรีดังขึ้นเอง โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “กรกชนาคราช” ที่มีเกล็ดสีขาว คอยปกป้องดูแลพุทธสถานแห่งนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน

“รามคามสถูป” ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่พระสงฆ์ในโครงการฯ จะได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมกันในครั้งที่เข้าศึกษาเชิงปฏิบัติการที่ประเทศเนปาล

จากนั้นพระครูนิโครธบุญญากรได้เปิดโอกาสให้มีการถามคำถาม

พระครูสุตตธรรมประภาส ถามว่า จะยืนยันได้อย่างไรว่าจุดใดเป็นสถานที่ประทับจริงๆ ของเจ้าชายสิทธัตถะ ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์ฝั่งอินเดีย กับฝั่งประเทศเนปาล? ...ตอบ เมืองกบิลพัสดุ์ในประเทศเนปาล มีหลักฐานและการยืนยันจากนักโบราณคดีอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องประตูเมืองที่เจ้าชายทรงออกมหาภิเนษกรม หรือซากปราสาท ๓ ฤดู ส่วนฝั่งอินเดียจะเห็นเฉพาะสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและซากสังฆราม

พระครูสังฆรักษ์ไพบูลย์ ถามว่า กบิลพัสดุ์ฝั่งเนปาล เคยมีประวัติการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุบ้างหรือไม่ ...ตอบ ทางเนปาลไม่นิยมขุดพระบรมสารีริกธาตุจากพุทธสถาน อย่างในสวนลุมพินีก็มีสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ ซึ่งทางเนปาลก็ไม่ได้ขุด หรือที่รามคาม หรือภายในนครกาฐมาณฑุ ก็ไม่ได้มีการขุดพระบรมสารีริกธาตุขึนมา เพราะชาวเนปาลเชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุได้อยู่ในที่อันสมควรแล้ว

พระสุโกศล (จากกัมพูชา) ถามว่า พระนางสิริมหามายา มีชื่อพระบิดาและพระมารดา ปรากฎในคัมภีร์หรือไม่? ...ตอบ มีพระราชบิดา คือ พระเจ้าสีหนุ พระมารดา คือ พระนางกัญจนา

พระสมุห์จิรวัฒน์ อาจารสุโก ถามว่า ราชกุมารีตาเลจู เมื่อได้รับการสถาปณาแล้ว ทางครอบครัวจะอยู่ในฐานะได้ และจะได้รับสวัสดิการใดบ้างหรือไม่ ...ตอบ ทางการจะดูแลให้เบี้ยหวัดตลอดเวลาที่ลูกสาวยังเป็นกุมารีอยู่ แต่จะไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ รองรับ

พระครินทร์ ผลญาโณ (หัวหน้ากลุ่มปรินิพพาน) ถามว่า ตอนเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช บางท่านก็กล่าวว่า หนีออกผนวชบ้าง บ้างท่านก็บอกว่าทรงลาพระบิดา พระมารดา พระนางพิมพา แล้วจึงออกบวชบ้าง ตกลงว่าอย่างใดจึงจะเป็นเรื่องจริง ...ตอบ ในคัมภีร์ก็มีบอกไว้ชัดเจนว่า พระองค์ทรงหนีออกผนวช อย่างครั้งที่พระพุทธเจ้าทรงนิวัติกลับนคร ที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปโปรดพระนางพิมพา แล้วพระนางกราบทูลว่า “หม่อมฉันทำผิดอะไร ทำไมพระองค์จึงไปไม่บอกลา...” อันนี้ก็ชัดเจน ซึ่งเหตุที่พระองค์ไม่บอกใครก็เพราะกลัวว่าจะถูกทัดทาน

พระเงิน (จากประเทศเวียดนาม) ถามว่า เจ้าชายสัทธัตถะออกผนวชที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์ไกลหรือไม่? ...ตอบ จุดที่เจ้าชายทรงปลงพระเกศา ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา อยู่ห่างจากเมืองกบิลพัสดุ์ประมาณ ๓๐ กม.

จากนั้นพระครูนิโครธบุญญากรจึงได้ปิดการเรียนการสอนในภาคบ่ายลงที่เวลา ๑๕.๒๐ น.


bodhigaya980.org