[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 18 มีนาคม 2559 16:44:49



หัวข้อ: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 มีนาคม 2559 16:44:49
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQyHHSLz1vWooVHeX3RXiVDeS-x2bm5spiJyqW7HizQIY6hDRF7)

ธรรมะเบาสมอง

หลวงพ่อจะได้นำเรื่องเบาสมองมาคลายความเครียด เพราะว่าประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาเป็นเวลาเจ็ดแปดวัน ก็รู้สึกว่าเครียด ถ้าว่าเครียดก็เครียด ถ้าว่าสบายก็สบาย

วันนี้ต้องการที่จะปรับความเข้าใจเป็นบางสิ่งบางประการที่ผ่านมา เบื้องต้นก็คือเรื่องการทำวัตร โดยเฉพาะทำวัตรเย็น ทางคณะพระอาจารย์กรรมพากันสวดทุกวันๆ กรณียเมตตสูตร และ วิรูปักเข (ขันธปริตตคาถา)

ท่านทั้งหลาย แต่ละวันๆ ก็จะได้สวด ๒ บทนี้ อาจจะรำคาญ เบื่อ น่าจะสวดมากๆ กว่านี้ อะไรทำนองนี้ เหตุนั้น อะไรที่ไม่สบายใจก็ขออภัยหลายๆ ด้วย คือบางท่านคิดว่าน่าจะสวดบทนั้นสวดบทนี้ จะได้อานิสงส์มาก จะได้บุญมาก การปฏิบัติจะได้ก้าวหน้ากว่าที่เป็นไปอยู่ทุกวันนี้ อาจจะคิดอย่างนี้

แต่มันมีเรื่อง ท่านทั้งหลาย ที่สวดมนต์บทนี้ มีเรื่อง คำว่า มีเรื่อง ในที่นี้ เพราะว่าในสมัยหนึ่งที่หลวงพ่อปฏิบัติธรรมอยู่ สมัยนั้นต่อสู้กับพวกอมนุษย์อย่างรุนแรง จนจะเอาชีวิตไว้ไม่ได้ เวทมนตร์กลคาถาอะไรที่เราได้เรียนได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ที่ว่าดีอย่างนั้น วิเศษอย่างนี้ ฉมังอย่างนั้นอย่างนี้ เรานำมาใช้หมด แต่ก็สู้เขาไม่ได้

จนปีนั้นคิดว่า เอ๊ะ เรานี้ ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมืองเราผ่านมาแล้ว แต่ทำไมจึงมาแพ้เอาดื้อๆ อย่างนี้ จึงคิดไปคิดมา นึกถึงพุทธาวุธที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบให้แก่พระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป ที่ไปเจริญพระกัมมัฏฐานในป่า อมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี ไม่ได้รับความเมตตา ก็มาทรมานพระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นให้เจริญพระกัมมัฏฐานไม่ได้ ออกพรรษาแล้วมาเฝ้ากราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ แล้วก็ได้กลับมา พระพุทธเจ้าตรัสให้กลับไปที่เดิม ไปปฏิบัติในที่เดิม และก็ทรงประทานพุทธาวุธให้ พระภิกษุเหล่านั้นไปปฏิบัติตาม ก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

มีเรื่องอยู่ ในสมัยที่หลวงพ่อมาอยู่นี้ พวกอมนุษย์มันรุนแรงเหลือเกิน คร่าเอาชีวิตคน ใครไปใครมา หลายสิบ ผู้ที่มาอยู่พักพาอาศัย คนส่วนมากจะไหลตายกันไปเรื่อยๆ คนนี้ตายๆ ในสมัยที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ก็ยังเป็นอยู่ คือมันมีเรื่องว่า บางครั้งเรานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องฝันนะ ขอปรับความเข้าใจนะว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องฝัน ไม่ใช่เป็นเรื่องหลับตา เป็นเรื่องลืมตา

บางครั้งพวกนกแสก ทางอีสานเขาเรียกว่า นกผีพราย นกแสกมันจับอยู่ที่สายไฟที่ดาดฟ้าเพดาน มันจับอยู่ ก็เอ๊ะ นกตัวนี้มันมาอยู่ได้อย่างไร มันเข้ามาวิธีไหน หลวงพ่อก็ลืมตาดู พิจารณาดู เอ๊ะ มันมาได้อย่างไร มันเข้าจุดไหน มันเข้าทางประตูหรือหน้าต่าง กำลังๆ ที่เราพิจารณาอยู่นั้นแหละ มองอยู่นั่นแหละ มันกระโดดลงมาแช็บ เข้าไปในหัวใจเลย ตรงทรวงอกเลย

เจ็บก็เจ็บ ปวดก็ปวด ใจอ่อนก็ใจอ่อน ก็คิดว่า เออ เรานี้ ถ้าตายคงตายในครั้งนี้แหละ มีสติขึ้นมากำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า รู้หนอๆ นกแสกตัวนั้นก็ตึงตังๆๆ กระโดดออกไป บางทีมันออกทางหน้าอก เราก็ผงะไปด้านหลัง ขอเล่าเรื่องย่อๆ เพราะว่าเรื่องมันพิสดาร ขอเล่าพอเป็นแนวทางสำหรับปรับให้เข้ากับเรื่อง กรณียเมตตสูตร ที่สวดกันอยู่ทุกวันนี้

บางครั้งเรานั่งอยู่ นั่งอยู่ เสียงมันแว่วขึ้นมาเลยว่า อาจารย์ๆ หมาตัวนี้จะเข้าไปกัดอาจารย์ เราก็เตรียมตัวปิดประตู บางทีปิดประตูได้ มันก็เข้ามาไม่ได้ บางครั้งปิดประตูไม่ได้ มันก็กรูเข้ามา มันจะกัด รีบเอาไม้เรียวไปเฆี่ยนมัน มันถึงวิ่งออกไป เราก็ตามไปๆ โน่นไปถึงหน้าโบสถ์ มันก็หายไป

บางครั้งมีเสียงแว่วเข้ามา คือมันคล้ายๆ เสียงแว่วๆ คล้ายๆ ว่าเสียงอีกเสียงหนึ่ง เป็นเทวดาสัมมาทิฏฐิ อาจจะเป็นอารักขเทวดาก็ได้ อาจารย์ๆ ผู้หญิงคนนี้มันจะไปนอนคร่อมอาจารย์ มันเป็นผู้หญิงสาวๆ มันกรูเข้ามามันจะมานอนคร่อม มานอนเต็ง (ทับ) หลวงพ่อก็ปิดประตู ถ้าครั้งไหนปิดประตูได้ก็แล้วไป แต่ถ้าปิดประตูไม่ได้ ไม่ทัน มันก็กรูเข้ามา มันจะนอนคร่อม เราก็เอาไม้เรียวนี้เฆี่ยนมัน มันก็วิ่งออกไป เราก็เดินตามไป ไม่ได้วิ่งตามไปนะ เราก็เดินตามไปๆ ผลสุดท้ายเราก็ตามไปถึงบริเวณหน้าอุโบสถ มันก็หายไป บางทีมันหายไปแล้วมันก็วิ่งกลับเข้ามา ย้อนเข้ามาอยู่ใต้ถุนอีก ไม่ใช่หนเดียว

บางครั้งเราไปฉันเช้าอยู่ที่กุฏิ เรามองเข้าไป ทางอีสานเขาเรียกว่า นัย ก็ประเภทหนูนั่นแหละ แต่ทางอีสานเขาเรียกว่า นัย เอ๊ะ นัยตัวนี้มันมาอยู่ในที่ฉันได้อย่างไรหนอ มันมาอยู่ใต้โต๊ะบูชาได้อย่างไร หลวงพ่อก็มองเข้าไปๆ เอ๊ะ มันมาได้อย่างไร มันจะวอบแวบๆ กำลังมองอยู่ๆ มันกระโดดแช็บ เข้ามาหัวใจ แช็บ เข้ามา

โอ๊ย เจ็บก็เจ็บ ปวดก็ปวด ใจอ่อนก็ใจอ่อน ก็คิดว่า เออ เรานี้ ถ้าจะตายคงตายในครั้งนี้แหละ แต่ในขณะนั้นก็มีสติขึ้นมา รู้หนอๆ ในขณะที่กำหนดรู้หนอๆๆ มันก็กระโดดแช็บ ออกไป ส่วนมากมันก็ออกทางด้านหน้า มันดันออกมา บ้านเฮาว่ามันยัน ยันหน้าอกนี้แหละ เราก็ผงะไปข้างหลัง มันก็หายไป

บางครั้งเรากำลังไหว้พระทำวัตรอยู่ในห้องของเรานี้ (อมนุษย์) มันเอาไม้เรียวประมาณสักสองหรือสามนิ้ว กำลังสวดมนต์เพลินๆ อยู่น่ะ มันก็เอาไม้ตีเปรี้ยงๆๆ เราก็ทำใจ รู้หนอๆๆ มันก็หายไป แต่บางครั้งมันเอาสากน่ะ บ้านเราเรียกสากโปง เอาสากมากระทุ้งเสากุฏิตึงๆๆ เหมือนกับว่าเสากุฏิของเราจะพัง ก็กำหนดรู้หนอๆๆ ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็หลายเรื่อง หลายสิ่ง หลายอย่าง หลายประการ แต่ไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง เป็นแค่เพียงความรู้พิเศษ เพราะว่ามันทำลักษณะอย่างนี้ ๑ พรรษา

ท่านทั้งหลายคิดดูว่า ๑ พรรษา มันรบกวนทั้งพรรษา เราคิดว่า เอ๊ เรานี้ หากว่าลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้น เราออกพรรษาแล้ว เราคงต้องออกจากวัดนี้ไปอยู่ที่อื่น คงจะสู้เขาไม่ได้แล้ว ถ้าลักษณะอย่างนี้ คิดไปคิดมา เวทมนตร์กลคาถาที่ร่ำเรียนมาแล้ว (เราได้ใช้) หมดไปแล้ว มันกันไม่ได้ ป้องกันไม่ได้ ตอนนี้เราจนตรอกแล้ว จะหาทางไปแล้ว

ตอนนี้ก็นึกถึงพุทธาวุธ ก็คือ กรณียเมตตสูตร นึกถึงคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่พระภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูปน่ะ ยกเอากรณียเมตตสูตรมาสวด สวดทุกวัน เช้าก็สวด ก่อนจะนอนก็สวด เผลอๆ กลางวันก็สวด หลังจากนั้นมา พวกอมนุษย์สมัยที่มารังควาญหลวงพ่อ พวกมันมีอยู่ ๕ ตน หลวงพ่อเรียกว่า ๕ ตน หลังจากนั้นมา มันยอมศิโรราบ ขอขมาโทษ ยอมแพ้ ตอนนี้มันยอมแพ้แล้ว

เมื่อมันยอมแพ้แล้ว (ได้กลาย) เป็นอุปัฏฐากที่ดีที่สุด พระไปทำอะไรที่ไหน เช่นว่า พระเณรไปกินข้าวเย็น มันก็มาบอกหลวงพ่อว่า อาจารย์ๆ สามเณร ๗-๘ รูป ไปกินข้าวเย็นที่ต้นมะขาม หลวงพ่อก็เดินไปดู ก็เห็นกินจริงๆ บางทีว่า หลวงพ่อๆ เณรไปกินแกงเห็ดอยู่ในห้องภายในกุฏิ ก็เดินไปดู ก็กินจริงๆ

เมื่อก่อนโน้น หลวงพ่อทำอาหาร กำลังนั่งตำมะละกออยู่ สามเณรก็อยู่ข้างหน้า มันก็บอกหลวงพ่อว่า อาจารย์ๆ เณรรูปนี้ เมื่อคืนนี้กินข้าวกับปลาร้า หลวงพ่อก็ว่า เณรเมื่อคืนนี้ เจ้ากินข้าวกับปลาร้าอยู่บ้อ

บางครั้ง พระไปทำไม่ดีไม่งาม มันมาบอก บางครั้ง ในหน้าตรุษสงกรานต์ (พระ)ไปเล่นสาดน้ำ เล่นจนเกินพอดี พวกพระยังไม่กลับมา มันมาบอกก่อนแล้ว อาจารย์ๆ พระรูปนั้นรูปนี้ มันมาบอก อาจารย์ คุณชาญไปกำ(จับ)นมเขานะ มันบอก ไปจับนมเขานะ มันบอก หลวงพ่อก็เฉยๆ รู้แล้วก็แล้วไป พอดี(พระนั้น)มาถึงก็บอก(ถามไป)ว่า คุณชาญไปเล่นสงกรานต์วันนี้ ไปกำนมเขาบ่ ไปจับนมเขาบ่ ยอมแพ้ (พระนั้นก็ยอมรับ) จะปฏิเสธอย่างไรก็ไม่ได้ อะไรหลายสิ่งหลายประการ เล่าเพียงย่อๆ

บางทีพระเณรทำไม่ดี เวลาทำงานนั้นไม่ช่วยเพื่อนทำงาน หลวงพ่อนึกในใจว่า เอ๊ะ คุณนี้ทำไมไม่ช่วยเพื่อน เพื่อนเขาลำบากลำบน ทำไมมานอนอยู่เฉยๆ เทวดาอารักษ์ไม่ดุเขาหรือ ทำไมไม่ดุเขาไม่บอกเขาบ้าง

เพียงเราคิดเท่านั้นแหละ เพียงเราคิดเท่านั้น อ้าว มันเอาแล้ว จัดการแล้ว ร้องเป็นเสียงผี พระเณรทั้งหมด รวมทั้งญาติโยมที่มาร่วมทำการทำงาน อาจารย์ๆ คุณบันตายแล้วๆ เอาน้ำมารดกันเป็น ๑๐ คุ หลวงพ่อก็ไม่ได้ไปดูนะ นึกแต่ในใจ (ห้าม) อย่าให้เขาตายนา แล้วมันก็หายไป

สรุปแล้วว่า ในสมัยนี้ สมัยที่อยู่นี่ มีอะไรที่ภายในบ้านก็ดี ภายในวัดก็ดี มีเรื่องอะไรๆ (เทพนั้นก็) มารายงานหมด มารายงานวิธีไหนหลวงพ่อ เราอยู่ในสถานที่ใดก็รายงานได้ทั้งหมด บอกได้ทั้งหมด คือจะมีเสียงมากระซิบที่หู บอกเลย มากระซิบที่หูว่าคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ โยมโน้นไปทำอย่างนั้น พระนี้ไปทำอย่างนี้ จัดการบอก เขารายงานเลย สมัยนั้นเขาว่าหลวงพ่อมีตาทิพย์ ใครจะไปทำอะไรๆ ที่ไหน ก็รู้ทั้งหมด เขาว่า หลวงพ่อก็เฉยๆ ก็ว่ามี สังฆการีเป็นผู้ทำงานให้ ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นผู้วิเศษขึ้นมาในตัว

นี้เรื่องอย่างนี้ละท่านทั้งหลาย เมื่อนำเอา พุทธาวุธมาสวดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ราบรื่น การวัดการวา การบ้าน ก็สบายๆ การปกครองทุกสิ่งทุกอย่างก็สบาย หลวงพ่อจึงได้น้อมมาใช้ทุกวันนี้ ไปอยู่ที่ไหนๆ ก็ตาม เพราะเวลาสวดมนต์ของเรามีน้อย ต้องการสมาธิมาก เพราะฉะนั้น ต้องสวดกรณียเมตตสูตร ถ้าสวดกรณียเมตตสูตรแล้ว เราปฏิบัติอยู่ที่ไหนๆ แล้ว ก็ไม่มีภัยอันตราย อยู่ที่ไหนก็สบาย นี้พูดกันโดยย่อๆ นะ ถ้าต้องการความพิสดาร มีโอกาสมีเวลาค่อยมาคุยกับหลวงพ่อใหม่

ทีนี้ สำหรับ วิรูปักเข (ขันธปริตร) ก็ต้องสวด เมื่อสวดกรณียเมตตสูตรแล้วก็ต้องสวด วิรูปักเข เพราะเหตุไร จึงต้องสวดวิรูปักเข เพราะว่าป้องกันภัย แผ่เมตตาให้เป็นมิตรสหาย เพราะในวิรูปักเข มีอยู่ว่า วิรูปักเขหิ เม เมตตัง เมตตัง เอราปะเถหิ เม เป็นต้น

ความว่า สัตว์ ๒ เท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์ ๔ เท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์มากเท้าจงเป็นมิตรกัน สัตว์หาเท้ามิได้จงเป็นมิตรกัน สัตว์ ๒ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ ๔ เท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์มากเท้าอย่าเบียดเบียนเรา สัตว์หาเท้ามิได้อย่าเบียดเบียนเรา นี้เป็นเนื้อหาย่อๆ ในวิรูปักเข

ถ้าเราสวดบทนี้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่มีอันตราย พวกสัตว์ประเภทต่างๆ สองเท้า สี่เท้า มากเท้า หาเท้ามิได้ จะไม่เบียดเบียนเราเลย มีแต่เป็นมิตรเป็นสหาย อยู่ที่ไหนๆ ก็สบาย บางทีหลวงพ่อไปทำกัมมัฏฐานอยู่ที่โน่นทำกัมมัฏฐานอยู่ที่นี่ พอดีไปถึงแค่นั้นแหละ ไปถึงที่จะทำงาน ถึงที่พักเท่านั้นแหละ พวกสัตว์มันมาต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว บางทีมาถึงแล้วก็มาต้อนรับ พวกที่มาต้อนรับเป็นพิเศษๆ คือพวกผึ้ง

พวกผึ้งพวกต่อนี้ เวลาไปถึงแล้ว พวกมันจะมาจับอยู่ที่ข้างๆ ที่พักนั่นแหละ บางทีก็มาจับที่พุ่มไม้ บางทีก็มาจับข้างๆ ที่จุดใดจุดหนึ่ง ห่างจากเราไปไม่ถึง ๒๐ เมตร ส่วนมากก็เป็น ๕ เมตร ๑๐ เมตร มันอยู่แถวนั้นแถวนี้ ไปอยู่ที่ไหนพวกมันก็มาต้อนรับ คล้ายๆ กับรู้ภาษากัน เวลาเราไปถึงก็ต้อนรับ เวลาที่จะจากไป มันก็ไปด้วยกัน บอกลา มันก็ไป เออ จะได้ลาแล้วเด้อ ขออนุโมทนาเด้อ ที่มาต้อนรับปราศรัย ในขณะที่ได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในสถานที่แห่งนี้

เราแผ่เมตตาให้เขาเสร็จแล้ว ในขณะที่ได้สั่งเสร็จแล้ว มันก็ออกบินเลย บางทีก็ตามไปส่งถึงรถ เราไปนั่งอยู่ในรถมันก็ไปล้อมเต็มเลย พวกแมลงผึ้งล้อมเต็ม มันก็บินตามๆ เห็นพอสมควรแล้ว เออ ขออนุโมทนาเด้อ ขอบใจเด้อ ที่ตามมาส่ง มันก็บินขึ้น ต่างคนต่างไป อย่างนี้คืออานิสงส์ของ วิรูปักเข

บางที ในสถานที่มันแข็ง อย่างดอนเจ้าปู่ บ้านพนา (ปัจจุบันคือ อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ) อย่างนี้ หลวงพ่อไปอยู่ตอนนั้น พอดีไปถึง ผึ้งมันอยู่ข้างๆ แคร่ที่พักอยู่นั้น ก็รู้ว่า เออ เจ้าปู่มาต้อนรับ ก็ขอขอบใจ อนุโมทนา ในวันนั้นพอดีกลางวันที่หลวงพ่อไปปฏิบัติ สามเณรก็หยุดพัก สามเณรนั้นไปเบียดเบียนพวกลิง เอากล้วยให้กินแล้วตี

พอดีหลวงพ่อก็กลับมาถึงที่พัก พวกผึ้งก็หนีไปแล้ว เณรมาบอกว่า หลวงพ่อๆ ดูซินั่น อะไร ผึ้งหายแล้วๆ เณรว่า เวลาตอนนั้นก็เฉยๆ พอดีถึงเวลาค่ำแล้ว อ้าว เจ้าปู่ก็เอาเลยทีนี้ ดุอย่างใหญ่ มาขอเณร ๒ รูปนั้น ขอเลย บ้านเราถ้าว่าขอไปแล้วก็ตาย

ขอ ๆ อยู่ หลวงพ่อก็หาวิธี หลายสิ่งหลายประการว่า อย่าทำเลย ถ้าเราไปฆ่าเณร ทำลายเณร แทนที่เราจะไปเกิดในภพที่ดีกว่านี้ ก็อาจจะไปตกนรกอีกก็ได้ ก็ไม่ฟัง มีแต่จะฆ่า จะฆ่า จะฆ่า อย่างเดียว ว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง โอ้ มันคงจนด้วยเกล้าบ่ มันไม่ยอม ไม่ยอมเลย

(คุยกัน) รู้ได้ด้วยวิธีอย่างไรหลวงพ่อ? อย่างนี้คือ ในขณะที่เราอยู่อย่างนี้ เขานึกอย่างไร เราก็รู้ รู้ได้ทางใจ เรานึกอย่างไร เขาก็รู้ คือมันพูดกันทางใจ เรารู้กัน เพียงแต่เรานึกในใจ พูดกันทางจิตใจ เราพูดเขาก็รู้ เขาพูดเราก็รู้ เขานึกอย่างไรเราก็รู้ มันรู้กันตอนนั้น

ผลสุดท้ายก็บอกว่า เอาอย่างนี้ซะท่านปู่ ถือว่ายกโทษให้เขาเถอะ ถ้ามันผิดครั้งต่อไป ไม่ต้องมาขออาตมาเลย ไม่ต้องมาบอกอาตมา เอาเลย ถ้ามันบอกไม่ฟัง พูดไม่ฟัง อย่างไรคราวนี้ก็ขอชีวิตเขาไว้เถอะ ภาคทัณฑ์เขาสักครั้งหนึ่ง จึงยอมนะ สุดท้ายก็หาวิธีส่งเณรกลับ เดี๋ยวจะเกิดอันตราย นี่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย

ส่วนในวันออกอัพภานกรรม หลวงพ่อก็ว่า โอ้ เจ้าปู่ วันนี้จะออกอัพภานแล้วนะ จะจากกันแล้วนะ จะได้ลากันแล้ว ถ้าว่าท่านปู่มีความเคารพกันจริงๆ นับถือกันจริงๆ รักกันจริงๆ ละก็ ขอจงแสดงอภินิหารให้ดู ให้รู้ว่ามีความเคารพเลื่อมใสกันจริงๆ อย่างไรก็ขอดูด้วย ขอทราบด้วย

วันนั้น ก็พอดีไปขึ้นอัพภาน หลวงพ่ออัพภานทีหลัง ให้พวกครูบาอาจารย์รูปอื่นๆ อัพภานก่อน พอดีไปนั่งรออัพภาน พวกลิงมันมีเป็น ๓ พวก ลงมาแล้ว มันมาส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวๆ มารวมกัน และลงมาบนพื้น ก็นึก เอ้อ ท่านปู่มาต้อนรับ มาแสดงความเคารพ ความเลื่อมใส ก็นึกอนุโมทนาในจิตในใจ พวกลิงทั้งหมดในดอนลิงมันลงมารวมกันทั้งหมด พอดีหลวงพ่อจะเข้าขออัพภานกรรมเป็นรูปสุดท้าย

แต่ว่าพอหลวงพ่อไปนั่งในท่ามกลางสงฆ์นั่นล่ะ ลิงทั้งหมดน่ะ ล้อมเลย ล้อมโบสถ์เลย ล้อมรอบเลย พวกลิงเป็นร้อยเป็นพัน มันมานั่งล้อมหมด หลวงพ่อก็นั่งหลับตา ฟังไป ก็นึกอนุโมทนาในใจ นึกขอบใจในใจนั้น

พอดีพระสวดไปถึงว่า โส ภาเสยฺย, ตสฺมา ตุณฺหี เอวเมตํ ธารยามิ พอดีจบ โส ภาเสยฺย เท่านั้น ลิงทั้งหมดก็ลุกพรึบทั้งหมด พร้อมกัน ตึงตังๆๆ เจี๊ยวจ๊าวๆๆ กลับไป ทั้งหมด หลวงพ่อก็นึกอนุโมทนาในใจ และก็ขอแสดงความขอบใจ อุทิศแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ นี่มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย จึงได้ให้สวดวิรูปักเข

วันหนึ่ง เราผ่านไปทางอำเภอพนา วันนั้น ในช่วงอย่างนี้แหละ ไม่มีปัจจัยค่าภัตตาหารจะเลี้ยงลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัติ ไม่มี มันหมดแล้ว มันหมดบาทสุดท้ายแล้ว ก็เข้าไปงานแล้วแวะมา ถือกล้วยขึ้นไปหวีหนึ่ง ท่านปู่ วันนี้ มาวัดลำดวน มาในงานสังฆทาน จะกลับไปนี้ จึงแวะมาเยี่ยม แค่นึกในใจนะ(ว่า) ตอนนี้ทางวัดน่ะลำบากลำบน ภัตตาหารไม่พอ ขอเจ้าปู่ได้ช่วยเหลือด้วยเด้อ แล้วก็กลับ

พอไปถึงอำเภอตระการฯ เห็นโยมโบกมือขึ้นมา หยุดก่อนๆ ก็เลยลงไปนั่งอยู่ที่เก้าอี้ (เขา) ว่า หยุดดื่มน้ำเสียก่อน อยู่ที่นี้สักพัก จะหาของมาถวายให้ หายตัวไปแพล็บหนึ่ง เขากลับมาแล้วก็บอกว่า ไม่มีอะไรจะถวายให้ มีเงินอยู่นี้ ๘,๐๐๐ บาท นิมนต์เอาไปใช้ให้หน่อย เจ้าปู่นี้ช่วยให้ผลทันตาเลยตั๊ว

นี่ละท่านทั้งหลาย เรื่องเป็นมาอย่างนี้ จึงได้นำมาสวดจนทุกวันนี้ และถ้าว่าเราสวดมนต์บทนี้ มันพิเศษ มันดีสำหรับพวกเรา เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่มีอันตราย ญาติโยมก็จะได้เกิดปสาทะศรัทธา ที่โน้นก็มาทำบุญ ที่นี้ก็มาทำบุญ

สรุปแล้วว่า ญาติโยมทั้งหลายที่มาทำบุญนั้น นอกจากด้วยบารมีของท่านทั้งหลายแล้ว ก็เป็นอานิสงส์ของการสวดกรณียเมตตสูตรและวิรูปักเข จึงได้มาเกิดปสาทะศรัทธา ได้มาช่วยเกื้อหนุนกัน นอกจากนี้ มันเป็นเรื่องยาว ถ้าจะเล่าไปมันยาว

สำหรับกุฏิของหลวงพ่อนั้น เมื่อก่อนโน้นไม่ได้เป็นอย่างนี้ เพราะว่าเราไม่ได้ปูกระเบื้อง มันเข้าได้ออกได้ บางทีพวกคางคกนี้ เป็นร้อยๆ มาอยู่ในกุฏินี่ บางทีก็มาขันบูชาในห้องพระ ข้างนอกข้างในมันเต็มไปหมด และก็มาทำงานให้ เวลาจะมีเรื่องมีราวอะไรมันก็ขัน มันขัน และก็รู้ว่ามันรู้กันทางใจ มันขัน โอ้ โยมคนนั้นจะทำบุญ เออ โยมคนนั้นตายแล้ว นี่มันรู้กัน รู้จักกัน

บางทีมันมีอยู่สองตัว ตัวหนึ่งข้างนอก ตัวหนึ่งข้างใน ตัวอยู่ข้างในมันก็คอยปลุก ตีสี่ปกติจะลุกแล้ว วันหนึ่งหลวงพ่อทำเป็นเฉยไม่ลุก มันปลุกเลย ต็อกๆ เราก็เฉย นาฬิกาก็ปิดไว้ เราภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ไปเรื่อยๆ มันก็ร้องอีก เราไม่ลุก มันก็ร้องอีกๆ เราก็เลยยอมแพ้ ยอมแพ้แล้ว ลุกก็ลุก พวกสัตว์นี้ เรามีงานอะไรก็รู้จักกันเลย นี่มันมาทำงานให้ นี่พวกสัตว์มันเป็นมิตรกัน

บางทีจะไปโน้นไปนี้ เมื่อก่อนถือย่ามนะ หลวงพ่อจึงไม่ถือย่ามมาแต่วันนั้น จะไปธุระที่โน้นที่นี้ ต้องสะพายเอา สะพายไปหน่อย (ก็มีเสียง)กุรุๆ เอ้า อะไรเกิดขึ้น นึกว่าเป็นงู บางทีก็เป็นงูนะ เปิดย่ามดู เอ้า มานอนอยู่ได้อย่างไรนะ เออ นอนก็นอนไป มาถึงบ้านแล้วก็เออ อยากออกก็ออก อยากไปก็ไป

บางทีจิ้งเหลนนี่ บ้านเฮาเอิ้นว่าขี้โก๋ จิ้งเหลนนี่ บางทีก็เข้าไปในย่ามเลย จะนอนละก็ ต้องคอยลูบดูๆ ใครมานอนอยู่บ้าง มีเด็กน้อยมานอนมั้ย ลูบดูๆ ก็เห็น โอ้ ไม่นอน เอ้านอนซะ เราจะนอนที่นี้

สรุปแล้วว่า มนต์ที่พากันสวดนี้ ไม่ใช่มนต์ปรัมปรา มีบุญมีอานิสงส์จริง ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราสบายและก้าวหน้า เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ มันมีอีกมาก มันเป็นเกร็ดความรู้ และก็ไขความข้องใจของการสวดมนต์ ขอชี้แนะท่าน เมื่อออกจากห้องกัมมัฏฐานแล้ว ถ้าจะไปสอนกัมมัฏฐานที่โน้น จะไปสอนกัมมัฏฐานที่นี้ อย่าลืมกรณียเมตตสูตรกับวิรูปักเข ยักษ์ก็แพ้ มารก็แพ้ แพ้เรา ไม่เหมือนกันกับคาถาอย่างอื่น

หลวงพ่ออยากขอเสนอแนะแก่ท่านทั้งหลายได้ใช้วิธีกรรมบางสิ่งบางอย่าง เพื่อประกอบการสอนธรรมะ ซึ่งหลวงพ่อทำสำเร็จมาแล้ว คือการสอนพระกัมมัฏฐานนี้ ถ้าใช้เฉพาะวิปัสสนา ไม่มีใครรู้จัก แม้เราจะได้มรรคได้ผล ได้บรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่มีใครรู้จักเรา เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่รู้เฉพาะตัว

สมัยหนึ่งหลวงพ่อเคยคิดไปว่า เอ เราสอนพระกัมมัฏฐานมา ครูบาอาจารย์ผู้มาปฏิบัติได้มรรคได้ผล มีจำนวนมากมายก่ายกอง แต่ก็ไม่มีใครรู้จัก เราจะหาวิธีไหนหนอ เพื่อปลูกศรัทธาของสาธุชนทั้งหลาย ให้พวกเขาได้เกิดปสาทะศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ก็คิดไปคิดมา เอ้อ เราจะฝึกสมาธิ เอาสมาธิง่ายๆ ฝึกให้เขาอ่านหนังสือ ฝึกให้หลับตาอ่านหนังสือ ถ้าเราฝึกได้ เอาความรู้นี้ไปเผยแผ่ เพื่อปลูกปสาทะศรัทธาคนที่มาวัดวาอาราม หลวงพ่อก็ตั้งใจฝึก แต่ก่อนที่จะฝึกก็พิจารณาว่า เอ ใครหนอ เคยสร้างบารมีเรื่องนี้มา ใครหนอ ภพก่อนชาติก่อนเคยสร้างบารมีร่วมกันมา เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็นึกไปๆ ก็โอ้ โยมลอง เขามีบุญทางนี้

เพราะเหตุไรจึงรู้อย่างนี้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏเป็นแผนที่แนวทางของการปฏิบัติ หรือว่าเป็นแผนที่ของบุญกุศลที่เคยสร้างสมอบรมไว้ เป็นแผนที่เป็นแผนผังที่ในภพก่อนชาติก่อน เราเคยทำบุญมาอย่างไร สร้างบารมีมาอย่างไร ใครที่เคยสร้างบารมีร่วมกัน มันปรากฏเลย มันปรากฏเป็นแผนที่เลย คือคนที่เคยสร้างบารมีร่วมกันมา มันจะปรากฏเลยว่า คนโน้นๆๆ มันเห็นเลย

สมัยนั้นก็เห็นโยมลองนี้ล่ะปรากฏ ก็คิดว่า เอ้อ โยมลองนี้มีบุญมีวาสนา เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ขอร้องโยมลองนั้นให้มาปฏิบัติ สมัยนั้นเขาฝึกสมาธิได้ ๒๔ ชั่วโมง มาหัดอ่านหนังสือ ที่พูดนี้เพื่อให้ท่านทั้งหลายจำไว้นะ จำไปใช้เป็นแนวทางของการปฏิบัติ

วิธีที่ใช้นั้น ใช้วิธีละเอียด คือเอากระดาษสีน่ะ อย่างน้อย ๗ สี เขาจะรู้ว่า สีอะไรๆ รู้หมด สีนี้ๆ บอกเขาให้รู้เสียก่อน เสร็จแล้วก็ให้หลับตา ให้ตั้งสมาธิแล้วอ่าน(บอก)ว่า สีอะไร สีแดง ถ้าเขาทายถูก เราก็จับเอา สีน้ำเงิน ทายถูกก็จับเอา ถ้าทายไม่ถูก เราก็ไม่ว่ากระไร เอ้า ทายใหม่ เพ่งอีกๆ เขาอ่านถูกทุกสี กลับไปกลับมา ไม่ใช่แพล็บเดียวเอาเลยนะ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญก่อน เป็นหลายชั่วโมงๆ เสร็จแล้ว อ่านสีเสร็จแล้ว ไม่พลาดแล้ว อ่านได้ทุกครั้งๆ ไม่พลาดแล้ว

ทีนี้ก็เอาตัวอักษรมาให้อ่าน คือเราเขียนตัวอักษรตัวโตๆ เช่น ตัว ก พยัญชนะมี ๔๔ ตัวใช่ไหม อาจารย์มหาโอวาท ๔๔ ตัวน่ะเอามา ให้เขาหลับตาอ่าน เขาอ่านถูกหมดทุกตัวแล้วก็วางลงเก็บไว้ แล้วก็เอาสระ สระ-อะ สระ-อา สระ-อิ สระ-อี สระ-อุ สระ-อู เอาสระแต่ละตัวๆ มาตั้งให้หลับตาอ่าน พออ่านได้ถูกหมดทุกตัวแล้วก็เก็บไว้ทีนี้ก็ผสมกันให้อ่าน จะให้อ่านเรื่องอะไรก็ตาม เราเขียนมา เขียนเป็นตัวหนังสือ เขียนตัวอะไรก็แล้วแต่ความถนัด นี่มันเป็นการเกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติ วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

เราตั้งให้เขา(หลับตา)อ่าน เขาอ่านได้หมด ให้อะไรๆ มาก็อ่านหมด อ่านหมด ก็ถือว่าเราสำเร็จในหลักการฝึกอ่านหนังสือ ทีนี้ถึงคราวเราจะสาธิตก็สาธิตได้ หลวงพ่อใช้ผ่านมาแล้ว ท่านทั้งหลายที่เคยมาปฏิบัติธรรมร่วมกันก็จะรู้ และในขณะนั้นก็รู้ได้เลยนะ

ถ้าเอาอะไรวางผ่านหน้านี่ รู้ได้หมด เอาเณรน้อยมานั่งให้ดู ก็เห็นหมด เอาพระพุทธรูป เอาแจกัน เอาใครอะไรก็ตามมาวาง มันรู้หมด หลวงพ่อ เลข(หวย)มันจะออกงวดนี้ ฮู้อยู่บ่ บ่แม่นโลด บ่ได้เอาถึงมวลนั้น (ไม่เอาถึงพวกนั้น) ห้ามเลย ถ้าเอาถึงขนาดนั้น เขาบอกว่า หลวงพ่อ มันทุกข์หลาย เพ่งให้หน่อยน่า หยุด เราสอนธรรม จะทำอย่างนี้ไม่ได้ แม้ว่าเราลำบากทุกข์ยากข้นแค้นอนาถาในการหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็ตาม เรายอมตาย แต่ว่าเราไม่ยอมทำลายธรรมะเป็นเด็ดขาด เพราะฉะนั้น โยมที่ฝึกจึงไม่มีใครกล้าทำ

นี่แหละท่านทั้งหลาย เมื่อทำได้อย่างนี้แล้ว เมื่อก่อน ฝึกใหม่ๆ นะ หลวงพ่อให้หลับตาธรรมดา หลับตา แต่เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของผู้ชม หลวงพ่อจึงเอาผ้าขาว ๖ ชั้นมัด(ปิด)ตาไว้เลย แล้วให้อ่าน

สำหรับการอ่านหนังสือนั้น ไม่ใช่ว่าปุ๊บปั๊บจะอ่านได้ทันทีเลยนะ ต้องฝึกเสียก่อน ฝึกให้ชำนาญ ให้เข้าได้เร็ว คือก่อนจะสาธิตนี่ เราต้องฝึกเสียก่อนสัก ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๒ ชั่วโมง วันละ ๑ ชั่วโมง หรือว่า ๒ ชั่วโมง ให้ฝึกเสียก่อน ที่ฝึกนี้เพื่อต้องการให้ทำสมาธิ คือในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานแล้วใช้บท อะระหัง ให้ภาวนา อะระหังๆ ไปเรื่อย อะระหัง แปลว่า ผู้ไกลกิเลส

ถ้าว่า ขณะที่สมาธิยังไม่ดี สมาธิมันยังกระจายอยู่ ตัวหนังสือที่ผ่าน(หน้า)น่ะ มันก็ไหลๆ เหมือนกับเราฉายภาพยนตร์ มันก็ไหลผ่านไปผ่านมาๆ มันก็รวมเข้า มันรวมแสงเข้าไป รวมเข้าๆ รวมจิตรวมใจ รวมเข้าไปๆ เมื่อสมาธิได้ที่แล้ว มันหยุดแล้ว พอหยุดตัวหนังสือ มันก็มองเห็นเลย หลับตานี้ก็มองเห็นตัวหนังสือเลย เอาหนังสือมาวางแล้วก็อ่านเอาๆ แต่ถ้าสมาธิของเราไม่ดี มันก็มองไม่เห็นนะ เลือนเสียก่อนๆ เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกให้ชำนาญ

สมาธิขั้นนี้ ท่านทั้งหลาย มันใช้ประโยชน์ได้เหลือที่จะนับพรรณนาได้ ถ้าเราจะใช้อย่างใดก็สามารถจะใช้ได้ แต่หลวงพ่อขอร้องว่า อย่าใช้ในทางที่ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมายของบ้านเมือง สมัยก่อนนั้น บางทีก็มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายเขามาขอหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ชี้แนะแนวทางให้ มีพระลูกศิษย์อยู่แถวนี้ แถว (อำเภอ) โพธิ์ไทรนี่ เขาไปเห็นทอง แต่เป็นทองนาก สูงเกือบครึ่งศอก แต่ความกว้างก็เหมือนกับพาข้าว (ถาดอาหาร) ของเรานี่ล่ะ

ก็มาขอหลวงพ่อให้พาไปเอาทอง ที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง หลวงพ่อบอกแล้วว่า ทรัพย์ในดินสินในน้ำนี่ หลวงพ่อเลิกแล้วๆ ตั้งแต่บัดโน้นมาจนบัดนี้หลวงพ่อไม่เอา ถึงจะเห็นก็ไม่เอา จะเห็นเป็นแท่งๆ ก็ไม่เอา เห็นวัตถุโบราณที่โน้นที่นี้ เห็นเต็มตา หลวงพ่อก็ไม่เอา เพราะหลวงพ่อได้ให้คำปฏิญญากับเจ้าของทรัพย์ไว้แล้ว ที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง ที่หลวงพ่อ(เคย)ผ่านไป

เมื่อก่อนโน้น หลวงพ่อหาทรัพย์ในดินสินในน้ำ ไม่ใช่ไม่หา มันมีของที่ไหนๆ ล่ะก็ไปแล้ว สมัยนั้น คล้ายๆกับว่าเป็นเจ้าวิชา (ร้อนวิชา) สมัยนั้น เดินธุดงค์สมัยนั้นถ้ารู้ว่า ที่นี้มีเงิน ที่นั้นมีทอง ก็จัดการไปเลย

สำหรับวิธีนั้น พอรู้แล้วว่ามีของ บางทีมันไม่เห็น เราก็เสี่ยงเอาด้วยการเสกมะนาว เป่าฟู๊ดดด... แล้ววางลง ลูกมะนาวก็กลิ้งตั้นๆ(ขลุกๆ) หมุนไปเลย ไปถึงที่แล้วมันก็หยุด หยุดแล้วก็ขอเอา บอกเขา ขอเอา ถ้าเขาไม่ให้ ก็จัดการเลย บอกขอเอา สมัยนั้นไม่มีเทศน์ให้ฟัง มีแต่ขอๆ เอา ถ้าไม่ให้ก็เอาเลย

ถ้ามันแข็งหรือแข็งขืนแล้ว ก็เจริญพระคาถา เจริญๆ ไป เกิดฟ้าผ่าเปรี้ยงขึ้นมาเลย เกิดฟ้าผ่า เปรี้ยง หินมันก็แตกกระจาย ก็เหลือแต่ก้อนเงินก้อนทอง แล้วก็เอามา ครั้นเอามาแล้วก็ไม่ให้ถึงบ้านนะ พอถึงกลางทาง เราสวดทำน้ำมนต์ แล้วก็เอาน้ำมนต์มาต้ม แล้วก็เอาพวกทองพวกเงินไปต้มให้มันจืด เราก็เอามาใช้ได้

การที่เราเอาเงินเอาทองนี้ ไม่ต้องกลัวว่าคนโน้นจะมาขโมย คนนั้นจะขโมย เอาไปเลย ถ้าเงินหรือทองยังไม่ต้มนี่ เอาไปใช้ เจ้าของมันจะหักคอเลย ของพวกนี้ เจ้าของเขามาตามเอาคืน

ตั้งแต่นั้นมาจนมาอยู่ที่นี้ หลวงพ่อไม่เอา บอกแต่วิธีเท่านั้น ถ้าต้องการจริงๆ หลวงพ่อก็ชี้แนะได้อยู่ แต่ใช้วิธีทางพระพุทธศาสนา ไม่ใช้พวกวิธีพวกเวทมนตร์กลคาถา ถ้าท่านอยากได้จริงๆ ท่านก็ไป เมื่อไปถึงที่แล้วก็บอกเจ้าที่เจ้าทางแล้ว นั่งสมาธิ

ถ้าเรามีสมาธิ สมาธิของเราสูง ได้ถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เข้าฌานไปเสียก่อน ออกจากฌานมาแล้วก็ให้นึกถึงเจ้าของทรัพย์ พอดีนึกถึงเจ้าของทรัพย์ เจ้าของทรัพย์เขาก็จะมาปรากฏทันที เราก็ขอเขา ภาษาอีสานว่า แผ่เขา ขอเขา ถ้าเขาไม่ให้ เราก็เทศน์ให้ฟัง เทศน์ก็ขอนั่นแหละ เหมือนกับเราไปขอนั้นขอนี้ล่ะว่า บัดนี้... เวลาไปแผ่เขา ก็เทศน์ให้เลย เรื่องที่จะเทศน์นั้นก็เรื่อง อุปาทาน คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น เทศน์ให้เขาฟัง

ถ้ายังไม่ฟัง (ไม่ยอมให้) ก็เทศน์ไปเรื่อยๆๆๆ ว่า อีหล่าซ่างขอ ตัวงอขี้ถี่ ต้องขอนานๆ ขอจนเขาให้ เวลาเขาให้ เขาก็จะมีข้อแม้ว่า ต้องทำบุญอย่างนั้นทำบุญอย่างนี้ให้เขา เราได้มาแล้วก็เอาไปทำบุญทำทานให้เขา ช่วงนั้น เขาไปเอามา เอามาให้หลายนะ เขาตัดมาให้เป็นแท่งๆ ขนาดนี้แหละ (ยกฝ่ามือให้ดู) ขนาดฝ่ามือ เป็นแท่งๆ หลวงพ่อบอกว่า หลวงพ่อเลิกแล้ว ไม่เอาแล้ว

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านเอาไปใช้ซะ แต่อย่าลืมนะ อย่าลืมคำปฏิญญาที่ให้เขาไว้นะ ให้ปฏิญญาเขาไว้อย่างใด ก็ทำได้อย่างนั้น ผลสุดท้าย เขาก็นำไปขายที่อุบลฯบ้าง ที่กรุงเทพฯบ้าง ก็เลยได้เงินมาสร้างวัด แกก็สร้างเลย สร้างเสร็จแล้ว

นี่แหละท่านทั้งหลาย ธรรมะของเรานี้ ถ้าใช้ให้เป็นก็ได้ประโยชน์ อย่าข่มเหงเต็งหนีบเขา ไม่ต้องผิดศีลผิดธรรม เราฉลาดเราก็สามารถทำได้ วิธีการขอนี้ เราไม่จำเป็นต้องสมาธิถึงขั้นจตุตถฌานก็ได้ เราเพียงใช้สมาธิขั้นปฐมฌานเท่านั้นแหละ เพราะสมาธิขั้นปฐมฌานนี้ก็สามารถพูดกันได้ เข้าใจกันได้ ติดต่อกับโลกภายนอกได้

สมาธิขั้นปฐมฌานนี้ ติดต่อกับพวกมนุษย์ได้ ติดต่อกับอมนุษย์ได้ ติดต่อกับภูตผีปีศาจได้ ติดต่อกับพวกเทวดา มาร พรหม มันติดต่อกันได้ เราใช้สมาธิขั้นนี้ สมาธิขั้นนี้แหละที่หลวงพ่อนำมาใช้อ่านหนังสือ ขั้นนี้มันยังมีการบริกรรมอยู่ พองหนอ ยุบหนอ หรือ อะระหังๆ เรานึกได้อยู่ ไม่เหมือนสมาธิขั้นที่สอง สมาธิขั้นที่ ๒ ไม่มีการบริกรรม มันสงบแล้ว สงบละเอียดไปแล้ว อันนี้ก็ขอพูดคร่าวๆ เพื่อเป็นเกร็ดความรู้ที่ท่านทั้งหลายต้องการจะรู้

แต่สมาธิทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว หรือฌานทั้งหลายที่กล่าวมาแล้ว ท่านอย่าเอาไปใช้ในทางผิดศีล ในทางผิดพระวินัย อย่าเอาไปใช้ในทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ของทุกอย่างมันมีทั้งคุณทั้งโทษ เพราะฉะนั้น ให้ใช้ให้เป็น



หัวข้อ: Re: ธรรมะเบาสมอง
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 มีนาคม 2559 16:47:10

ธรรมะเบาสมอง (ต่อ)

อีกอย่างหนึ่ง เรื่อง ฌาน จะกล่าวพอสังเขปพอเป็นแนวทางปฏิบัติ คือการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ มันได้ทั้ง ๒ อย่าง แล้วแต่บุญวาสนาบารมี ถ้าผู้ใดมีอุปนิสัยทางวิปัสสนา ก็จะเข้าวิปัสสนาไปก่อน เข้าสู่วิปัสสนาไปเรื่อย สู่สภาวะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ไปจนถึงอริยมรรค อริยผลเลย นี่ในทางสายวิปัสสนา

ถ้าเคยสร้างบารมีมาทางสายสมถะ คือเคยเจริญฌานมามาก เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน บริกรรมบทเดียวกันว่า พองหนอ ยุบหนอ นี้แหละ ถ้าสร้างบารมีทางวิปัสสนามามาก มันก็ไปสายตรงเลย เข้าสู่วิปัสสนาญาณ เข้าถึงมรรคถึงผล

แต่ถ้าว่าเราเคยสร้างบารมีมาทางด้านสมถะ สมถะก็จะเกิดทันที นั่งไปไม่นานก็เกิดแล้ว เริ่มแต่ชั่วโมงแรกก็เกิดแล้ว พอดีผ่านไปๆๆ มันก็เป็นสภาวะของสมาธิเกิดขึ้นมา ขั้นแรกเกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา มันจะเกิดขึ้นทันที เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อองค์ฌานทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้นมาปั๊บ ปฐมฌานก็เกิดทันที หลวงพ่อขอพูดย่อๆ นะ

ปฐมฌานเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฌานเกิดแล้ว เราจะรู้ได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย คือในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเรามันแน่วแน่อยู่กับบทพระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ มันก็อยู่ที่พองที่ยุบ ไม่ไปทางอื่น ไม่คิดเรื่องข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง มันอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อย่างนี้

ขณะนั้น จิตใจของเราไม่วอกแวกหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใดๆ เสียงที่มากระทบก็เฉยๆ หากว่าเขาจะมายิงปืนจุดประทัดในที่ใกล้ๆ เรา เปรี้ยงๆๆ ขึ้นมา ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ภาษาอีสานว่า บ่ตื่น แม้ว่ามะม่วงมะพร้าวมันจะหล่นลง เปรี้ยง ขึ้นมา ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ก็นั่งเฉยอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ

ในขณะนั้น ความรู้สึกของเราก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันจะเหลือประมาณสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ละเอียดเข้าไปนะ ความรู้สึกของเรามันไม่เหมือนเมื่อก่อน ละเอียดเข้าไปๆ มันหายไปแล้ว ความรู้สึกเหลือประมาณสัก ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย แสดงว่าเราได้ขั้น ปฐมฌาน แล้ว และก็ทำไปๆ พองหนอ ยุบหนอๆ อารมณ์พระกัมมัฏฐานก็จะละเอียดเข้าไปๆ

(ทุติยฌาน)เมื่อมันละเอียดเข้าไปอีก มันก็จะทิ้งวิตก วิจาร ทีนี้ เมื่อทิ้งวิตกวิจารแล้ว ก็ไม่ได้ (มีคำ) ภาวนา ทีนี้ พองหนอ ยุบหนอ ไม่ได้ว่าแล้ว พองหนอ ยุบหนอ ไม่ได้ว่าเลย นั่งเฉยอยู่ แต่ว่าใจก็ยังรู้ หูก็ยังได้ยินอยู่ แต่ว่าเสียงก็ดี ความรู้ก็ดี ยังเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ เสียงที่ได้ยินก็ประมาณสัก ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ความรู้ก็มีประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ สังเกตเอาง่าย ๆ เมื่อถึงฌานนี้แล้ว จะไม่มีการบริกรรม เมื่อเราทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าได้ทุติยฌาน

(ตติยฌาน) เมื่อเราทำพระกัมมัฏฐานไปๆๆ องค์ฌานก็ละเอียดเข้าไปๆๆ ทิ้งวิตก วิจาร เกิดปีติขึ้นมา เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้วท่านทั้งหลาย เราสังเกตง่ายๆ เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้ จะมีอาการเกร็งตัว แต่ไม่ใช่อาการเครียดนะ จะมีอาการเกร็งตัว คำว่า เกร็งตัว ในที่นี้ คือมีปัสสัทธิสูงนะ ถ้าปัสสัทธิสูงจะมีอาการเกร็งตัว คือมีอาการแข็ง มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง

เราอยากก้ม(ลง)ก็ก้มไม่ได้ อยากเงยก็เงยไม่ได้ อยาก (เหลียว) มองซ้ายมองขวา ก็มองไม่ได้ เราอยากกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็กระดิกไม่ได้ เราจะยกแขนยกเท้า ก็ยกไม่ได้ เมื่อก่อนนั่งไม่ตรง มาถึงนี้จะนั่งตรงแล้ว เหมือนกับเอาเหล็กแหลมมาตอกศีรษะของเราตรึงไว้กับพื้น เหมือนกับเราปิ้งปลา ย่างปลา ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าเราถึงฌานที่ ๓ แล้วนะ

(จตุตถฌาน) เมื่อถึงฌานที่สามแล้ว เรายังไม่ลุกตอนนั้น ทำต่อไปเรื่อย กำหนดไปเรื่อย ละเอียดเข้าไปๆ ทิ้งไปเลย องค์ฌาน (คือวิตก วิจาร ปีติ สุข) นั้นทิ้งไปเลย เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา เกิดขึ้นมา ทีนี้ เมื่อฌานที่ ๔ เกิดขึ้นมาแล้ว ลมหายใจจะหมดไป ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจะหมดไป

มีพระบาลีกล่าวรับรองไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ลมหายใจย่อมไม่มีในบุคคล ๔ ประเภท คือ
๑) คนตาย ก็ไม่มีลมหายใจ
๒) เด็กในครรภ์ของมารดา ก็ไม่มีลมหายใจ
๓) คนดำน้ำ ก็ไม่มีลมหายใจ
๔) บุคคลผู้เข้าถึง จตุตถฌาน ก็ไม่มีลมหายใจ

นี่ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าถึงฌานที่ ๔ แล้ว

อานิสงส์ของฌาน ๔ นอกจากข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้แล้ว ก็สามารถได้วิชชา ๓ และก็อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทายังไม่ได้นะ ปฏิสัมภิทา ๔ นั้นยังไม่ได้ เพราะยังไม่ครบสมบูรณ์

(สมาบัติ ๘) ถ้าว่าเราต้องการให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญอรูปกัมมัฏฐานอีก อรูปกัมมัฏฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ให้ครบเสียก่อน เมื่อเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานทั้งสองประเภท คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้ว ก็เอาอรูปฌานทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔

เพราะฉะนั้น ให้จำหลักนี้เอาไว้ เราจะไปว่าได้เพียงรูปฌาน ๔ ก็สามารถได้ปฏิสัมภิทา ๔ อย่างนั้นไม่ถูกนะท่านทั้งหลาย เราอย่าไปว่า มันไม่ถูก ผู้ที่จะได้ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ต้องได้รูปฌานอรูปฌานทั้ง ๘ นี้เสียก่อน

สรุปว่า ฌานทั้ง ๘ นี้ ถ้าว่าเอาเป็นพื้นในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเร็วขึ้น บรรลุได้อย่างไร ที่ว่าเร็วขึ้นๆๆ น่ะคือว่า เมื่อได้ฌานเหล่านี้แล้วท่านทั้งหลาย มันง่าย เราก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนาเลย

สมมติว่านั่งไปๆ เรายกขึ้นสู่วิปัสสนา กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ดูรูปดูนาม พองหนอ ยุบหนอๆ ไปเรื่อย สมาธิของเรามันก็จะดิ่งเข้าไปๆๆๆ และในขณะที่มันดิ่งเข้าไปนั้น พระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพร้อม อริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทั้ง ๔ นี้เกิดพร้อมในขณะนั้น ดิ่งเข้าไปๆ ดับพึ่บลงไป ขณะดับพึ่บลงไปนั้น เรารู้เลยทันทีว่า มันดับไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ เพียงแค่นี้แหละท่าน สำหรับวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขึ้นสู่วิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วนะ

เพราะเหตุไรจึงจัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะในขณะที่จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ นั้น หรือมันสงบลงไปนั้น เมื่อสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมกันไป

เมื่อทำไปๆ อาการเกิดดับๆ ก็เกิดขึ้นมา คือขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอๆ มันดิ่งเข้าไปๆ ดับพึ่บลงไป จำได้เลยว่า มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก มันรู้เลย คือในขณะนั้น รูปก็ดับ นามก็ดับ กิเลสก็ดับ จำไว้นะ

ลักษณะของการดับ รูปดับมันเป็นอย่างไร อาการลมหายใจเข้าออก พองหนอ ยุบหนอ มันดับ นามคือความรู้สึกของเรา มันก็ดับ กิเลสโลภโกรธหลงก็ดับลงไป ตามกำลังของมรรค คือมรรคนี้มันจะดับกิเลสตัณหาอยู่ถึง ๔ ครั้ง มันจึงจะหมด

เท่าที่บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอจบลงแต่เพียงเท่านี้


www.watpit.com


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มิถุนายน 2559 15:19:43
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTh4FvWdcIxGNNjKLiTCadnL97h2Hd2zW4VuKxKOVV0ZoN58csk)

ของหายาก ๔ ประการ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ของหายาก ๔ ประการ มาบรรยาย

ของหายาก ๔ ประการนั้น คือ

ประการที่ ๑ มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ การที่จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากนักยากหนา เพราะเหตุอะไรจึงได้เป็นเช่นนั้น เพราะเหตุที่ว่า การจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น ในภพก่อนชาติก่อน จะต้องได้บำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้ว จึงจะสามารถเกิดเป็นมนุษย์ในภพนี้ชาตินี้ได้ และขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ใส่ใจว่า

คำว่า มนุษย์ กับคำว่า คน นั้นไม่เหมือนกัน พอเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา เขาก็เรียกว่า คน แล้ว คลอดออกมาเขาก็เรียกว่า คน เจริญเติบโตขึ้นมาเขาก็เรียกว่า คน ยังเรียกว่าเป็น มนุษย์ ไม่ได้ ต่อเมื่อใดเราได้บำเพ็ญมนุษยธรรม คือ สุจริตธรรม ๑๐ ประการ หรือศีล ๕ ประการให้สมบูรณ์แล้ว จึงจะเรียกว่าเป็นมนุษย์ได้

ท่านทั้งหลายลองสังเกตดู ในวันที่เราอุปสมบท ท่านพระอาจารย์ได้สอบถามอันตรายิกธรรมบทหนึ่ง มีอยู่ว่า มนุสฺโสสิ เจ้าเป็นมนุษย์หรือ ทำไมท่านจึงถามคำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ ท่านก็ถามว่า เป็นมนุษย์หรือ ถ้าเราตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต ข้าพเจ้าไม่ใช่มนุษย์ ท่านก็ไม่บวชให้

คำนี้ โบราณท่านกล่าวเอาไว้ว่า มีพญานาคมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงแปลงกายมาบวชในพระศาสนา วันหนึ่ง จำวัดตอนกลางวัน ขาดสติ ไม่ทันระวังตัว เพศจึงกลับมาเป็นพญานาคตามเดิม พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้สึก พญานาคก็ยอมสึกและขอพรว่า ผู้ใดมาบวช ขอให้ชื่อว่า นาค

ที่จริง ถ้าพูดตามหลักการ หรือพระไตรปิฎกแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านถามว่า มนุสฺโสสิ ท่านเป็นมนุษย์หรือ เราจะตอบว่า อาม ภนฺเต ขอรับ กระผมเป็นมนุษย์ ก็ต่อเมื่อเราบำเพ็ญมนุษยธรรม หรือมีมนุษยธรรมประจำจิตประจำใจเสียก่อน จึงจะตอบว่า อาม ภนฺเต ได้

เหตุนั้น ก่อนจะมาอุปสมบท ท่านจึงให้มามอบตัวเป็นศิษย์วัดเสียก่อน ให้เรียนคำขอบวช ให้เรียนวิธีบวช ท่านเรียกว่า นาค ตอนนี้ นาคะ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้มาสู่ทางอันประเสริฐ ในขณะที่มาเป็นนาคนี้ ท่านต้องการที่จะให้เจ้านาคนั้นบำเพ็ญมนุษยธรรมให้สมบูรณ์ จึงจะบรรพชาอุปสมบทได้

เหตุนั้น เวลาบรรพชาอุปสมบทนี้ หลวงพ่อเอาจริงเอาจัง ถ้าผู้ใดเข้าโบสถ์แล้วมีกลิ่นเหล้ามานี้ หลวงพ่อไม่บวชให้เลย ไล่ออกจากโบสถ์ไปเลย ต้องไปสมาทานศีลใหม่ หมดกลิ่นเหล้าแอลกอฮอล์ไปแล้ว สมาทานศีลใหม่ ประพฤติปฏิบัติใหม่เสียก่อน เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว จึงจะบวชให้ เหตุนั้น ที่พวกเราทั้งหลาย ได้มานั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ มีร่างกายสมบูรณ์ด้วยอวัยวะทุกส่วน ไม่มีบรรพชาโทษ คือพระวินัยท่านไม่ห้าม เราสามารถบวชในพระศาสนา ทั้งจิตใจก็สมบูรณ์ อันนี้ก็หมายความว่าเราได้พบของหายากประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ พุทฺธภาโว จ ทุลฺลโภ การที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว จะได้พบพระพุทธศาสนา เป็นของหายากนักยากหนา เพราะเหตุไร เพราะพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้แต่ละพระองค์ๆ นั้น ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนแล้ว จึงจะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ จะมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยทีเดียว เป็นไปไม่ได้ เหตุนั้นท่านจึงแบ่งจึงจัดระยะการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้า ไว้ดังนี้คือ

ถ้าพระโพธิสัตว์เจ้าองค์ใด เป็นประเภท ปัญญาธิกะ คือมีปัญญามาก มีปัญญามากกว่าศรัทธาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป คือหมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๗ อสงขัย ออกปากว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๙ อสงขัย นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมาว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้านามว่าอย่างนั้นๆ ตั้งแต่วันนั้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๔ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมด ๒๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าของเรานี้

พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท สัทธาธิกะ คือมีศรัทธามากกว่าปัญญาและความเพียร จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป หมายความว่า นึกอยู่ในใจอยู่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๔ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๑๘ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้ามีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘ อสงขัยกับแสนกัป รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าพระองค์ใด เป็นประเภท วิริยาธิกะ คือยิ่งด้วยความเพียร มีความเพียรมากกว่าศรัทธาและปัญญา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๘๐ อสงขัย หมายความว่า นึกอยู่ในใจว่าจะเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๒๘ อสงขัย ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านานถึง ๓๖ อสงขัย นับตั้งแต่ได้ลัทธพยากรณ์จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่า ผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า มีพระนามว่าอย่างนั้นๆ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จะต้องบำเพ็ญบารมีอยู่นานถึง ๑๖ อสงขัย รวมทั้งหมดเป็น ๘๐ อสงขัยกับแสนกัป จึงจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พระโพธิสัตว์เจ้าที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ จึงแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ นิยตโพธิสัตว์ และ อนิยตโพธิสัตว์

อนิยตโพธิสัตว์นี้ ยังมีคติไม่แน่นอน คือยังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งพยากรณ์ว่า ในอนาคตกาลข้างหน้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้า มีคติไม่แน่นอน สามารถเปลี่ยนคำอธิษฐานได้ สามารถเปลี่ยนจิตใจได้

แต่ถ้าเป็นประเภทนิยตโพธิสัตว์ จะมีคติอย่างมั่นคงแน่นอน โดยได้รับคำพยากรณ์จากสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระโพธิสัตว์ประเภทนี้เปลี่ยนจิตไม่ได้

เพราะเหตุใด

เพราะว่า พระวาจาของพระพุทธเจ้านั้น เป็นพระวาจาสิทธิ์ ใครจะมาเปลี่ยนพระดำรัสของพระองค์ไม่ได้ เมื่อพระองค์ตรัสไว้อย่างไรแล้ว ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าพระองค์ตรัสว่า ผู้นี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า ผู้นี้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า ก็เป็นอย่างนั้น

อย่างเช่นพระอานนท์ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ว่า จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันปฐมสังคายนา พระอานนท์บำเพ็ญเพียรตลอดคืนยันรุ่ง ก็นึกว่าพระองค์ทรงพยากรณ์ผิด อ่อนจิตอ่อนใจก็เอนหลังลงเพื่อจะนอน ในขณะที่เอนหลังลงนอน หัวยังไม่ทันถึงหมอน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

อันนี้ก็หมายความว่า พระวาจาของพระองค์เป็นพระวาจาสิทธิ์ พระองค์ตรัสอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่นตรัสว่า พระเจ้าสุปปพุทธะ ที่ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า จะถูกธรณีสูบที่เชิงบันไดปราสาท ๗ ชั้น นับตั้งแต่วันนี้ไป ๗ วัน เมื่อถึงวันที่พระองค์ตรัสไว้ แม้พระเจ้าสุปปพุทธะจะทำการป้องกันอย่างไรๆ ก็ไม่พ้น ต้องถูกธรณีสูบที่ตรงนั้นจนได้

นี่แหละท่านทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ประเภทนิยตะนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะได้บำเพ็ญบารมีจนครบสมบูรณ์แล้วจึงจะตรัสรู้ได้

แต่บัดนี้ พวกเราทั้งหลาย มานั่งรวมกันอยู่ในที่นี้ แม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าเราได้พบพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เท่ากับว่าเราได้พบพระพุทธองค์ เพราะก่อนจะทรงปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเราตถาคตปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมก็ดี พระวินัยก็ดี ที่เราตถาคตได้แสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วนั้นแหละ จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย

คือพระองค์ไม่ได้ให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำหน้าที่แทนพระองค์ แต่พระองค์เอาธรรมวินัยที่ทรงประกาศไว้แล้ว ที่ตรัสไว้แล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์ สืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ และบัดนี้ พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน ก็ยังสมบูรณ์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ธรรมเหล่าใด ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรคอริยผล เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็ยังสมบูรณ์อยู่ทุกประการ

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบรรพชาอุปสมบท บวชในพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้มาเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนานี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๒

ประการที่ ๓ ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลได้เกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น ก็ยากนักยากหนา

เพราะเหตุใด เพราะผู้ที่จะมาบวชในพระศาสนานั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ที่ตนได้สั่งสมไว้ในภพก่อนชาติก่อน และก็ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันประกอบกันเข้า จึงจะมีโอกาสบวชได้ บางท่านมีความประสงค์อยากบวช แต่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยก็บวชไม่ได้ หรือบางท่าน สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเอื้ออำนวย ยินดีที่จะให้บวช แต่เราไม่มีปสาทะศรัทธาในการที่จะบวชในพระพุทธศาสนานี้ ก็บวชไม่ได้

แต่พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้ นับว่าได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติจนล้นฟ้าล้นดิน จึงได้มีโอกาสมาบวชในพระศาสนา การมาบวชในพระพุทธศาสนาของเราทั้งหลายในขณะนี้ ก็นับว่าได้พบของหายากเป็นประการที่ ๓

ประการที่ ๔ วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ การที่บุคคลเกิดขึ้นมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา มาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้ว จะได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ก็เป็นของยากนักยากหนา

ท่านทั้งหลายลองนึกดูสิว่า รอบตัวของเรา ภายในหมู่บ้านของเรานั้นแหละ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าในวัดของเรา ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา มากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือภายในตำบลของเรา ผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนามากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ดังนั้น ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนา ท่านจึงอุปมาเหมือนเขาโค แต่ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา อุปมาเหมือนกันกับขนโค ขนโคนั้นย่อมมากกว่าเขาโคฉันใด ผู้ที่ไม่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ย่อมมากกว่าผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนาภาวนาฉันนั้น

บัดนี้ พวกเราทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในสถานที่แห่งนี้ และก็ได้มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนาอยู่นี้ ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญ ได้พบของหายากประการที่ ๔

การเจริญภาวนานั้น มีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สมถภาวนา ภาวนาเป็นอุบายสงบใจ ภาวนาประเภทนี้ ไม่เกี่ยวด้วยปัญญา เพียงแต่ว่าต้องการที่จะทำใจให้สงบเป็นสมาธิเท่านั้น

อารมณ์ของสมถภาวนา ตามที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค มีอยู่ ๔๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

ก็แล ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการนั้น มีนิมิต ๓ อย่าง มีภาวนา ๓ อย่าง

นิมิต ๓ คือบริกรรมนิมิต นิมิตในบริกรรม อุคคหนิมิต นิมิตติดตา ปฏิภาคนิมิต นิมิตเทียบเคียง

บริกรรมนิมิต กับ อุคคหนิมิต ๒ อย่างนี้ ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น แต่ปฏิภาคนิมิตนี้ ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๒๒ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑

ภาวนา ๓ คือ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา

บริกรรมภาวนานั้น ได้ทั่วไปในกัมมัฏฐานทั้งสิ้น อุปจารภาวนา ได้เฉพาะกัมมัฏฐาน ๑๐ ประการคือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณัสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน

(กัมมัฏฐาน ๑๐) เหล่านี้ ย่อมให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาหรืออุปจารฌานเท่านั้น เพราะว่ากัมมัฏฐานเหล่านี้เป็นกัมมัฏฐานที่สุขุม ละเอียดยิ่งนัก ไม่ปรากฏชัดได้ จิตและเจตสิก ไม่สามารถแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน จึงให้สำเร็จเพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น

ส่วนอัปปนาภาวนานั้น ได้ในกัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ เหล่านี้ย่อมให้สำเร็จตลอดถึงอัปปนาภาวนา

เพราะเหตุใด เพราะกัมมัฏฐานเหล่านี้ อารมณ์ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกเข้าไปแนบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

กัมมัฏฐาน ๓๐ ประการ อันจะให้สำเร็จถึงอัปปนาภาวนา จะมีอานุภาพเสมอกันก็หาไม่

อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ รวม ๑๑ ประการนี้ ให้สำเร็จเพียงรูปาวจรปฐมฌานอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เว้นแต่ท่านผู้ใดมีสติปัญญา เมื่อเจริญอสุภกัมมัฏฐาน หรือกายคตาสติ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเจริญไปๆ ถ้ามีสีปรากฏชัดขึ้นมา เช่น มีสีแดง สีขาว สีเขียว เป็นต้น ปรากฏขึ้นมา หลังจากนั้นเราเอาสีนั้นมาบริกรรมเป็นกสิณ ก็สามารถให้สำเร็จถึงจตุตถฌานได้ แต่ถ้าเราบริกรรมแค่อสุภะหรือกายคตาสติอย่างเดียว ก็ให้สำเร็จเพียงปฐมฌานเท่านั้น

สำหรับพรหมวิหาร ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา มีอานุภาพให้สำเร็จตั้งแต่ปฐมฌาน ถึงจตุตถฌาน (ว่าตามปัญจกนัย ถ้าตามจตุกกนัยก็ถึงตติยฌาน แต่ว่าโดยองค์ฌานแล้วมีองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา เหมือนกัน)

อุเบกขาพรหมวิหาร มีอานุภาพให้สำเร็จได้เพียงแต่รูปาวจรจตุตถฌาน หรือรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว

อรูปกัมมัฏฐาน ๔ ก็ให้สำเร็จเพียงอรูปฌาน ๔ เท่านั้น หมายความว่า อรูปกัมมัฏฐานที่ ๑ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ก็ให้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ โดยเฉพาะๆ สลับกันไม่ได้

รวมกัมมัฏฐานที่ให้สำเร็จรูปาวจรฌานมี ๒๖ และให้สำเร็จอรูปาวจรฌานมี ๔ เป็น ๓๐ ประการ ที่ให้สำเร็จอัปปนาภาวนา เหลือจากนั้น ให้สำเร็จอุปจารภาวนา หรืออุปจารฌานเท่านั้น

อานิสงส์ของการเจริญสมถภาวนา เมื่อเราเจริญให้ยิ่งให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถให้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และก็เป็นเหตุให้เกิดคุณสมบัติขึ้นมา เช่นว่า ให้สำเร็จซึ่งวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อีกด้วย

๒. วิปัสสนาภาวนา ภาวนาเป็นอุบายเรืองปัญญา คือการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ ต้องใช้ปัญญา ต้องให้เกิดปัญญาทันรูป ทันนาม ทันปัจจุบัน เห็นไตรลักษณ์ เห็นอริยสัจ ๔ จึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา

ถ้าเจริญไปๆ เท่าไรก็ตาม สติสัมปชัญญะของเราไม่ทันปัจจุบัน ไม่ทันรูปทันนาม ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่รู้อริยสัจ ๔ แม้เจริญเท่าไรก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา

อารมณ์ที่ใช้เจริญวิปัสสนาภาวนา คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ แต่เมื่อสรุปแล้ว ก็ได้แก่ รูปกับนามนั่นเอง ย่นเข้าในการปฏิบัติ ก็ได้แก่ อาการพอง อาการยุบ เป็นต้น นี้เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา

อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น ย่อมจะเป็นปัจจัยให้รู้แจ้งแทงตลอด ซึ่งสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติ คือสิ่งใดเป็นอยู่ ก็สามารถที่จะรู้สิ่งนั้นตามธรรมชาตินั้น เช่น รู้สังขารทั้งหลายที่มีใจครองก็ดี ไม่มีใจครองก็ดี ว่าสังขารเหล่านี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ดับไป เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้แล้วดับไป เป็นต้น

การรู้สภาวธรรมของธรรมชาติ มีประโยชน์อย่างไร

มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ อย่างต่ำที่สุด ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยไม่ให้พวกเราทั้งหลายหลงใหลอยู่ในสมมติบัญญัติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้มานะทิฏฐิลดน้อยลงไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทานลดน้อยลงไป หรืออ่อนกำลังลงไป ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลชั้นใดเลย นี้เป็นอย่างต่ำ อย่างสูง ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความข้องใจสงสัยอยู่ว่า บัดนี้ พระศาสนาก็ล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ยังจะมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ยังจะมีพระอรหันต์อยู่อีกหรือ อาจจะสงสัยอย่างนี้ก็ได้

ข้อนี้ ขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ หน้า ๑๑๑ ถึง ๑๑๒ บรรทัดที่ ๒๑ และบรรทัดที่ ๑ ที่ ๒ ท่านกล่าวไว้ว่า

ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๑ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาหนึ่งพันปี ในช่วงหนึ่งพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว หากว่าเราได้สั่งสมบุญกุศลไว้ในปุเรกชาติ ก็สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ด้วย

ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ นั้นคือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในการกล่าวนิรุตติ์

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

ฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสองพันปี ในช่วงสองพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามารถที่จะยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้สั่งสมอบรมบารมีไว้แล้วในชาติปางก่อน คือ สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ สามารถได้หูทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ มีตาทิพย์ รู้วิธีที่จะทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ นี้ สามารถเกิดขึ้นได้

เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสามพันปี ในช่วงสามพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้

วิชชา ๓ นั้นคือ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นว่าผู้นี้เขามาเกิดที่นี้ด้วยบุญกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วไปเกิดในที่ไหนก็รู้ได้ และอาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

แต่ทั้งนี้ ก็ต้องได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมาในภพก่อนชาติก่อนมาแล้ว คือเคยตั้งสัจจะอธิษฐานว่า สาธุ ด้วยอานิสงส์บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมอบรมไว้นี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าสำเร็จวิชชา ๓ ในอนาคตกาลข้างหน้าเถิด เหมือนดังหลวงพ่อพากล่าวคำบูชาอธิษฐานจิตในวันอาสาฬหบูชานั้นว่า

ด้วยบุญกุศลที่ทำการบูชาพระรัตนตรัย เนื่องในวันอาสาฬหปุณณมีครั้งนี้ ขอจงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุซึ่งสมาธิสมาบัติ ให้ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ มโนมยิทธิ

อย่างนี้เรียกว่า เราได้สั่งสมอบรมบารมีไว้ ถ้าว่าในภพก่อนชาติก่อนเราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าในภพก่อนชาติก่อนไม่เคยตั้งจิตอธิษฐานไว้เลย ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงสี่พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนาภาวนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สำเร็จโดยแห้งแล้ง ไม่มีคุณสมบัติพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงทำลายความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานให้หมดไปจากขันธสันดานเท่านั้น เรียกว่าบรรลุโดยแห้งแล้ง

ปาติโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ ช่วงพันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี

หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึงห้าพันปีนี้ แม้ว่าเราจะทำความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถเป็นพระอรหันต์ อย่างสูงเพียงแต่ได้เป็นพระอนาคามีเท่านั้น

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย หากว่าเข้าใจผิดมา ก็ขอให้กลับจิตกลับใจเสียใหม่ ผลของการปฏิบัตินั้น หากว่าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติอยู่ ผลก็ย่อมมีอยู่เป็นธรรมดา ดุจเราปลูกต้นไม้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจปลูก พรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืช ก็จะผลิดอกออกผลมาให้เราเชยชมได้ ข้อนี้ฉันใด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน หากว่าเรานั้นมีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริง ย่อมมีผลตามมาเป็นธรรมดา เพราะธรรมดาเป็นมาอย่างนี้

อนึ่ง การเจริญภาวนาที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน คือสำนักหนึ่งก็ภาวนาไปอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกุศโลบายของอาจารย์ท่านผู้สอน คือ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆ

บางสำนักภาวนาว่า สัมพุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวาๆ

บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ

บางสำนักหายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ

บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า นะมะพะทะ หายใจออกภาวนาว่า นะมะพะทะ

บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า นั่งหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ถูกหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า กระทบหนอๆ

บางสำนัก ท้องพองขึ้นภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ

บางสำนักภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม

บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

บางสำนัก ยกมือไปยกมือมาภาวนาว่า เกิดดับๆ

บางสำนัก หายใจเข้าหายใจออก นั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร

ส่วนการเดินจงกรมนั้นก็ไม่เหมือนกัน

บางสำนัก เวลาเดินจงกรมภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

บางสำนักภาวนาว่า พุทโธๆ

บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม

บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ

บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ

บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ

บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ

บางสำนัก กำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก

ถูกด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสำนักไหนผิดเลย คือหมายความว่า การภาวนานั้น เราภาวนาต้องการที่จะทำจิตของเราให้สงบเป็นสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถภาวนา หรือสมถกัมมัฏฐาน

แต่ถ้าเราภาวนาหรือบริกรรมเพื่อจะทำให้เกิดปัญญา เพื่อจะให้รู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม หรือสิ่งที่ตนภาวนานั้น เช่น เรากำหนดท้องพองท้องยุบ ท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุทโธ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า พุทโธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงไปภาวนาว่า ยุบหนอ เราต้องการจะรู้ว่า ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบเป็นอย่างไร สุดยุบเป็นอย่างไร เราสำเหนียกในใจให้รู้สภาวะความเป็นจริงในอารมณ์กัมมัฏฐานที่ตนบริกรรมหรือฝึกภาวนานั้น ก็ถูกแบบวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเราใช้เพียงขั้นบริกรรม ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน คือเพียงบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอพองหนอไปเรื่อยๆ ทำใจให้สงบเป็นอุปจารสมาธิ อย่างนี้ก็ถูกแบบสมถภาวนา

แต่ถ้าเราใช้วิธีกำหนด เช่นในเวลาเดินเราภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ก็กำหนดรู้ไปด้วยว่า เริ่มยกเป็นอย่างไร เหวี่ยงเท้าไปเป็นอย่างไร เหยียบลงเป็นอย่างไร ขาไหนหนัก ขาไหนเบา ในเวลานั่งภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ก็กำหนดรู้อาการพองอาการยุบว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร เรากำหนดรู้ตามอาการของมัน ถ้าใช้วิธีกำหนดแบบนี้ ก็ถูกตามแบบวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐาน

แต่ถึงอย่างไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจว่าการบริกรรมก็ดี การกำหนดก็ดี เราไม่เอา เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ รอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหาก

อุปมาเหมือนกับเราต้องการจะดื่มเครื่องดื่มสักขวด เราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว ก็เปิดดื่มแต่น้ำเท่านั้น ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราจะใช้บริกรรมหรือกำหนดบทไหนก็ตาม เราบริกรรมเพื่อรอการเกิดของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เท่านั้น เมื่อสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือภาวนานั้นเราก็ทิ้งไป เราเอาสมาธิ เอามรรค ผล เอานิพพานต่างหาก

และขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุไร การบริกรรมการภาวนานั้นจึงมีมาก เพราะเหตุว่า ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก คือมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ดังนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติ ใครจะเอาที่ไหนๆ มาบริกรรม มาภาวนา มากำหนด ได้ทั้งนั้น ใครจะบริกรรมอย่างไร ภาวนาอย่างไร หรือกำหนดอย่างไรก็ตาม ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด

อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลายที่ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น ผู้ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน ผู้ทำไร่ก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน พวกเสริมสวยก็ต้องการเงิน พวกเลี้ยงสัตว์ก็ต้องการเงิน ผู้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน พวกเดินรถก็ต้องการเงิน ผู้เป็นข้าราชการก็ต้องการเงิน ผู้ทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน

หนักๆ เข้า ผู้ที่ไปลัก ไปขโมย ไปปล้น ไปจี้ จับคนไปเรียกค่าไถ่ ก็ต้องการเงินด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินของคนไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ต้องการที่จะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือ มรรค ผล นิพพานทั้งนั้น แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้เข้าใจหลักการและวิธีการประพฤติปฏิบัติในพรรษานี้ ขอให้ปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน เพื่อสะดวกในการสอบการสอน ถ้ารูปนั้นปฏิบัติอย่างหนึ่ง รูปนี้ก็ปฏิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเกรงว่าการปฏิบัติตามแนวที่ทางสำนักนี้ปฏิบัติอยู่จะทำให้สภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมานั้นเสื่อมไป ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าเข้าใจผิด

หลาย ๆ รูปที่มาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาอยู่ ตั้งใจมาศึกษา แต่พอมาแล้ว ทิฏฐิมานะไม่ยอมลด เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้นไป ไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ยอมทำตาม ขอให้ภาวนาอย่างที่สำนักนี้ให้ภาวนาก่อนเถิด ออกจากวัดไปแล้วค่อยภาวนาอย่างอื่นไป แต่ก็ไม่ยอม

สมมติว่า เคยเพ่งลูกแก้วมาอย่างนี้ ก็อยากเพ่งอยู่อย่างนั้นแหละ เมื่ออยากเพ่งก็เพ่งลูกแก้วนั้นอยู่ตลอดเวลา การประพฤติปฏิบัตินั้นก็ไม่เดินหน้า การสอบ การแนะนำ การสอนก็เป็นไปได้ยาก ไม่เข้ากัน

ความจริง เราไม่ควรที่จะเกรงว่าสภาวธรรมที่เราเคยปฏิบัติมาตามแบบของตนจะเสื่อม ท่านทั้งหลายจะภาวนาหมวดไหนอย่างไรก็ตาม ก็ดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่าข้อสำคัญ ครั้งแรกนี้ เราต้องทำให้ได้ให้ถึงเสียก่อน เมื่อเราเคยได้เคยถึงแล้ว ต่อไปเราจะภาวนาอย่างไรได้ทั้งนั้น

สมมติว่า เราเคยภาวนาอย่างนี้แล้วเข้าฌานได้ เคยเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เคยเข้าอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ เมื่อเราเคยได้อย่างนี้แล้ว ต่อไปเราจะเข้าสมาธิอีก เราไม่ต้องภาวนาเลย เรานั่งดูวัตถุอย่างไรอย่างหนึ่งก็ได้ โดยที่สำรวมจิตแล้วนั่งเพ่งถึงวัตถุนั้นๆ จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ เป็นนาฬิกาก็ได้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

หรือไม่อย่างนั้น เราจะใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่ที่จริงเราไม่ขี้เกียจ แต่เราใช้คำภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกันทั้งนั้น หรือเราจะภาวนาว่าอยากตายหนอๆ แต่เราไม่ได้อยากตาย ใช้เป็นคำภาวนาว่าอยากตายหนอๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้เหมือนกัน

ถ้าเราเคยเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง มาแล้ว ทีนี้เราจะมาเพ่งอะไร ภาวนาว่าอย่างไร เราก็สามารถเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ได้เหมือนกัน แต่มีข้อแม้ว่าเราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ถึงที่เสียก่อนจึงจะทำอย่างนั้นได้ หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึง เราจะมาภาวนาว่าอย่างนี้ไม่ได้



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มิถุนายน 2559 15:23:03


ของหายาก ๔ ประการ (ต่อ)


ต่อไปเป็นองค์คุณของผู้ปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติธรรมต้องการที่จะให้การประพฤติปฏิบัติได้ผลเร็วนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยองค์คุณทั้งหลายเหล่านี้ คือ

๑. สติมา ต้องมีสติ คือสติสมบูรณ์ กำหนดให้ทันปัจจุบัน เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ต้องกำหนดให้ทันปัจจุบัน

๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อม คือ จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้รู้ตัวทุกขณะ เหมือนกับเราเขียนหนังสือ สมมติว่าเราจะเขียนตัว ก เราก็ต้องรู้ว่าอักษร ก มีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ ก็เขียนไป ในขณะที่เขียน เขียนถูกก็รู้ว่าเขียนถูก เขียนผิดก็รู้ว่าเขียนผิด

๓. อาตาปี มีความเพียร คือ มีความหมั่น ความขยัน มีฉันทะ พอใจทำกัมมัฏฐาน มีวิริยะ แข็งใจทำกัมมัฏฐาน มีจิตตะ ตั้งใจทำกัมมัฏฐาน มีวิมังสา ฉลาดทำกัมมัฏฐาน

เมื่อท่านทั้งหลาย ตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นได้ผลเร็ว และขอรับรองว่า ไม่เสียสติ ไม่เป็นบ้า แต่ถ้าขาดคุณธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ อาจเสียสติเป็นบ้า เสียผู้เสียคนไปก็ได้

เอาละ เท่าที่บรรยายมา ก็พอสมควรแก่เวลา.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 มิถุนายน 2559 16:38:10
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRcPkUvu-urZumKn-vJ7ih4gyWzrGx8readBI_9ImZKtRBkUH2QXA)

การเตรียมตัว ๕ ประการ

ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธนํ [๑]

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง การเตรียมตัว ๕ ประการ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า เตรียมตัว ๕ ประการ นั้น คือ
๑.เตรียมตัวก่อนตาย
๒.เตรียมกายก่อนแต่ง
๓.เตรียมน้ำก่อนแล้ง
๔.เตรียมแบงก์ก่อนไป
๕.เตรียมใจก่อนสู้

๑.เตรียมตัวก่อนตาย เพราะเหตุไรจึงเตรียมตัวก่อนตาย เพราะว่าชีวิตของคนเราไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตายเท่านั้น ตายแล้ว หากว่ากิเลสตัณหาบาปกรรมยังมีอยู่ ก็ต้องเคลื่อนไปสู่ภพภพใดภพหนึ่ง ตามอำนาจของบาปกรรมและบุญกรรม ดังบทวิเคราะห์ว่า ติภวํ อยตีติ ตาโย ชื่อว่า ตาย เพราะอรรถว่า ย่อมเคลื่อนไปสู่ภพ ๓ ภพใดภพหนึ่ง คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ

หมายความว่า ถ้าผู้ใดจุติด้วยอำนาจของความโกรธ คือขณะนั้นตายด้วยอำนาจของความโกรธ หรือความโกรธเกิดขึ้นในจิตในใจก่อนแล้วจึงตาย ก็ต้องไปบังเกิดในนรก ถ้าจุติด้วยอำนาจของโลภะเป็นเหตุ เมื่อจุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ถ้าจุติด้วยอำนาจของความหลง จุติแล้วก็ต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจุติเพราะระลึกนึกถึงศีล ๕ ประการ หรือมนุสสธรรมที่ตนสั่งสมอบรมมา ที่เคยประพฤติปฏิบัติมา เมื่อจุติแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์ภูมิ  ถ้าจุติด้วยอำนาจกามาวจรกุศล คือระลึกถึงบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมมา เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แต่ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถ้าจุติเพราะจิตเป็นกามาวจรกุศลอย่างนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ถ้าจุติด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผลอันสูงสุด ก็เข้าสู่พระนิพพาน เป็นอันสรุปได้ว่า คนเรานั้น ไม่ใช่ว่าจะจบลงแค่ตาย เมื่อเรายังมีชีวิต ยังมีบุญมีบาปอยู่ บุญบาปนั่นแหละที่จะพาเราไปสู่ภพใดภพหนึ่ง ตามบุญกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ เราได้เกิดมานี้ ได้สร้างสมอบรมกุศลไว้อย่างไรหนอ ได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ได้รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เป็นต้น เมื่อนึกถึงบุญกุศลของตนเสร็จ จึงค่อยนอนอย่างนี้ ท่านเรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย เมื่อถึงคราวตาย บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมไว้จะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง มาปรากฏเป็นกรรมนิมิตบ้าง มาปรากฏเป็นคตินิมิตบ้าง

เพราะเหตุไร ท่านจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ
๑) เพราะชีวิตเป็นของน้อย
 ท่านอุปมาไว้ว่าชีวิตนี้เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อยที่คอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืนแล้วก็ดับไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วในโลกนี้ ก็พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า พอถูกแสงพระอาทิตย์ พลันแต่จะเหือดแห้งไป ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ก็พลันแต่จะดับไปไม่ยากเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลัง สามารถที่จะบ้วนเขฬะน้ำลายให้พ้นไปจากปากโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็พลันแต่จะดับไปไม่ยาก ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับชิ้นเนื้ออันย่างด้วยไฟอันร้อนโชน ก็จะถูกไฟไหม้ให้เป็นเถ้าเป็นถ่านไปโดยไม่ยาก ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วก็ถูกไฟทุกข์ไฟกิเลสเผาผลาญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พลันแต่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนสตรีทอหูก ข้างหน้าน้อยเข้าไปๆ ทุกวันๆ ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ใกล้เข้าสู่ความตายทุกวันๆ เหมือนกัน ฉันนั้น

วันคืนล่วงไปๆ นั้น มิใช่ล่วงไปเปล่า มันกินอายุของสรรพสัตว์ทั้งหลายไปด้วย วันคืนล่วงไปๆ ชีวิตของพวกเราทั้งหลายก็น้อยเข้าไปๆ ใกล้ต่อความตายเหมือนกันฉันนั้น เหตุนั้นจึงให้เตรียมตัวก่อนตาย

อนึ่ง ความตายนั้น ไม่ยกเว้นว่าเป็นไพร่ฟ้าพระมหากษัตริย์ สมณะ ชี พราหมณ์ เกิดขึ้นมาแล้ว ล้วนมีความตายด้วยกันทั้งนั้น ดังที่พระพุทธองค์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลาย ได้ตรัสเตือนพุทธบริษัททั้งหลาย ก่อนที่จะดับขันธปรินิพพานว่า

     ทหราปิ จ เย วุฑฺฒา เย พาลา เย จ ปณฺฑิตา
     อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ  สพฺเพ มจฺจุปรายนา ฯ  
     ยถาปิ กุมฺภการสฺส  กตํ มตฺติกภาชนํ  
     ขุทฺทกญฺจ มหนฺตญฺจ  ยญฺจ ปกฺกํ ยญฺจ อามกํ  
     สพฺพํ เภทปริยนฺตํ  เอวํ มจฺจานชีวิตํ ฯ

แปลความว่า “ดูก่อนพุทธบริษัททั้งหลาย สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดขึ้นมาแล้วไม่เลือกว่าเป็นเด็กเป็นหนุ่มเป็นคนแก่ คนโง่คนฉลาด คนร่ำรวยคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น เหมือนกันกับหม้อดิน แม้จะเป็นใบเล็กใบใหญ่ เผาสุกแล้วหรือดิบอยู่ก็ดี ก็มีการแตกสลายไปในที่สุด ฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ล้วนมีความตายกันทั้งนั้นไม่ช้าเราตถาคตก็จะจากพวกท่านไป”   (มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค (บาลี) ๑๐/๑๐๘/๑๔๑.)

นี้ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นของน้อย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็พลันจะดับไป

๒) เพราะชีวิตไม่จบลงเพียงแต่ตายเท่านั้น  เมื่อเราตายไปแล้ว บาปบุญยังมีอยู่ ยังจะต้องได้เที่ยวไปในห้วงมหรรณพภพสงสารอีก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีโทสะมาก มีโทสจริต มีโทสะเป็นเจ้าเรือน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในนรก ผู้ที่มีโลภะมาก มีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยโลภะ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นเปรต อสุรกาย ผู้ที่มีโมหะมาก มีดวงตาคือปัญญาอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ผู้ที่ทรงคุณธรรม มีศีล ๕ ประการ และมนุษยธรรม ได้บำเพ็ญธรรมเหล่านี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานแล้ว ก็จะกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีกต่อไป ผู้ที่บำเพ็ญกามาวจรกุศล คือเป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะ สละออกซึ่งจตุปัจจัยไทยธรรม มาทำทานมีการสร้างกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถนนหนทาง บ่อน้ำ โรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็จะไปบังเกิดในฉกามาวจรสวรรค์

สำหรับท่านผู้บำเพ็ญรูปาวจรกุศล เจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้วก็จะไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้นตามกำลังของฌาน ผู้บำเพ็ญอรูปาวจรกุศลจนได้สำเร็จอรูปฌานสมาบัติ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม

สำหรับท่านที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ก็เข้าสู่พระนิพพาน นี้พระองค์ได้ตรัสทางแห่งชีวิตหรือการดำเนินชีวิตไว้ดังนี้ พระองค์ยังตรัสต่อไปว่า เหตุนั้น พวกเธอทั้งหลายจงปฏิบัติดังนี้

     อัปปมัตตา อย่าพากันประมาท
     สติมันโต จงมีสติ
     สุสีลวันโต จงรักษาศีลให้ดี
     สุสมาหิตสังกัปปา จงตั้งใจไว้ให้ถูกทาง
     สจิตตมนุรักขถะ จงตามรักษาจิตของตนให้ดี

ผู้ใดอยู่ด้วยอุบายอันไม่ประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น หวังที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตน ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

ท่านสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เราแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือเราใช้เป็นเวลาทำการทำงานเพื่อแสวงหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวและครอบครัวของตัวเสีย ๑๐ ชั่วโมง ให้เป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนอีก ๘ ชั่วโมงเหลือเวลาอีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงนี้เราใช้เป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลาน กับญาติมิตรที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง ยังเหลืออีก ๑ ชั่วโมง เวลา ๑ ชั่วโมงนี้เราเอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ก่อนนอน ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่าเราเกิดมาถึงป่านนี้ เราได้ให้ทานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ศีล ๕ ประการนี้ เรารักษาได้กี่ข้อ มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราได้ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาประมาณกี่ครั้งกี่หน เรานึกถึงบุญกุศลของเราเสียก่อน จึงค่อยไหว้พระสวดมนต์ เจริญภาวนาโดยจะบริกรรมว่า พุทโธๆ หรือสัมมาอะระหังๆ หรือว่า นะมะพะทะๆ หรือว่า พองหนอยุบหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ประมาณ ๓๐ นาทีแล้วจึงนอน

เมื่อเราทั้งหลาย พากันประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของตนได้ คือเวลาเราจุติจากอัตภาพนี้ ขณะเรากำลังใกล้จะดับจิตนั้นแหละ บุญกุศลทั้งหลายที่เราทำไว้แล้วก็จะมาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น

เห็นขันข้าวที่เคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่เราเคยเอาไปทำบุญทำทาน เห็นกองมหากฐิน กองผ้าป่าสามัคคี เห็นกองบวชนาค เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นโบสถ์วิหาร เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เห็นเทวดา เห็นวิมานของเทวดา เครื่องทรงของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึดแล้วดับลงไป คือตายไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้แล้ว

อุปมาเหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำไว้ชำนาญแล้ว เมื่อเรือล่ม เราก็สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้ว เมื่อเราหัดระลึกไว้ให้ชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวตาย ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยของตนได้ นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  ถ้าหากว่าเราทำบุญทำกุศลแล้ว ไม่ระลึกไว้ให้ชำนาญ คือไม่ระลึกไว้เลยว่าเราเกิดมานี้ได้ทำบุญทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราไม่เคยระลึกไว้เลย เมื่อถึงคราวจะตายแล้วจึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้  เพราะเหตุไร
     ๑) เพราะทุกขเวทนาเข้าครอบงำ
     ๒) เพราะไม่อยากตาย
     ๓) เพราะห่วงผู้อยู่ข้างหลัง ห่วงทรัพย์สมบัติ

เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ระลึกไม่ได้ บาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยทำไว้ ก็มาปรากฏเป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เช่น เห็นสัตว์ที่เราเคยฆ่า จะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา เป็ด ไก่ก็ตาม ตลอดถึงเห็นคนทั้งหลาย กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เห็นเปลวเพลิง เห็นนรก เห็นนายนิรยบาล เห็นโคลน เห็นแม่น้ำ เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด แล้วก็ดับลง เมื่อตายแล้วเราก็ไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ตามบาปกรรมที่เราเคยทำไว้  

เหมือนกับเราไม่เคยหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อเรือล่มเราจึงมาหัดว่ายน้ำ ก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้นข้อนี้ ฉันใด บุญกุศลที่เราสั่งสมไว้มากพอสมควรแล้ว แต่เราไม่เคยหัดนึกไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวตาย จึงจะมาระลึก ก็ระลึกไม่ได้ เราจะเตือนให้ว่า สัมมาอะระหังๆ ก็ว่าไม่ได้ จะเตือนให้ว่า พุทโธๆ ก็ว่าไม่ได้ เพราะไม่เคยหัดระลึกไว้ให้ชำนิชำนาญ

เหตุนั้นแหละญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมงนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม เอาเป็นเวลาของเราให้ได้ ๓๐ นาทีก่อนนอน โดยมาระลึกถึงบุญกุศลของตนที่ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา ๓๐ นาที แล้วจึงนอน อันนี้เรียกว่า เตรียมตัวก่อนตาย

ถ้าเราไม่เตรียมตัวไว้อย่างนี้ โดยเกิดความประมาท ขาดสติ มาคิดว่าเมื่อแก่เสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าร่ำรวยเสียก่อนแล้วจึงจะทำบุญทำทาน หรือให้ลูกโตมีเหย้ามีเรือนเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน หรือว่าเกษียณอายุราชการเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทาน ถ้าเราคิดอย่างนี้ อาจจะเสียทีพระยามัจจุราชได้ คือพระยามัจจุราชอาจจะมาปลิดชีวิตของเราไปเสียก่อน ก่อนที่เราจะได้ทำบุญทำทานก็ได้

เหมือนกับพ่อใหญ่เดิมนี้แหละ เวลาเข้ามาวัดมาวา ก็พูดว่าผมเกษียณอายุเสียก่อน จะมาบวช จึงจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐานกับท่านพระครู พูดกับพระกับเณรที่หน้าโบสถ์ที่บริเวณโบสถ์ หรือสนทนาปราศรัยกับญาติโยมเวลามาทำงานที่วัด ก็บอกว่าผมเกษียณอายุแล้วผมจะมาบวชผมจะมาปฏิบัติกับท่านทั้งหลาย แต่ที่ไหนได้ ยังไม่ทันเกษียณอายุเลย พระยามัจจุราชก็มาปลิดชีวิตไปเสียก่อน  เหตุนั้นแหละ หากว่าผู้ใดประมาท อาจเสียทีพระยามัจจุราช ไม่มีโอกาสบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลก็ได้ เหตุนั้น โบราณท่านจึงกล่าวเตือนไว้ว่า

เตรียม สร้างทางชอบไว้  หวังกุศลตัว สุขส่งเสริมผล เพิ่มให้ก่อน แต่มฤตยูดลปลิดชีพเชียวนา ตาย พรากจากโลกได้  สถิตด้าวแดนเกษม.

๒.เตรียมกายก่อนแต่ง เตรียมกายก่อนแต่งนี้ เราจะแต่งอะไร คือเราจะแต่งกายของเรานั่นแหละ ให้เป็นกายวิเวก แต่งจิตของเราให้เป็นจิตวิเวก การเตรียมกายก่อนแต่งนี้เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
     ๑) การตกแต่งภายนอก ได้แก่ การตกแต่งด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ รัตนะ ๗ ประการ เป็นต้น ซึ่งเป็นประเพณีที่เขานิยมกัน อันนี้หลวงพ่อจะไม่บรรยาย จะบรรยายแต่ในแนวของธรรมะล้วนๆ เท่านั้น
     ๒) แต่งภายใน ได้แก่ แต่งด้วยธรรมะ คือเราเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่งกาย เรียกว่าธรรมาภรณ์ อาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องแต่งกายของเรา

คนเรานั้นเกิดขึ้นมา แม้จะมีกายงดงามสักเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าว่ากิริยามรรยาทยังไม่ดี ก็จะจัดว่าสวยแท้ งามจริงยังไม่ได้ เมื่อใด ร่างกายก็สวยด้วย กิริยามารยาทก็สวยด้วย จึงจะเป็นคนสวยแท้งามจริง

ผู้ใดมีธรรมะดังกล่าวมาแล้วนี้เป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติผู้นั้นชื่อว่ามีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ มีอาภรณ์คือธรรมะเป็นเครื่องประดับกาย เมื่อผู้ใดมีธรรมะเป็นเครื่องประดับกายอย่างนี้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีกายงาม มีกิริยามารยาทงาม

แต่ถ้าคนใดขาดธรรมะดังกล่าวมาแล้วนั้น คือไม่มีธรรมะดังกล่าวเป็นเครื่องปฏิบัติ เป็นเครื่องประดับร่างกายแล้ว ถึงเราจะแต่งตัวด้วยผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวน เงินทอง รัตนะ ๗ ประการ หรือจะมีเครื่องประดับที่เรียกว่ามหาลดาปสาธน์ มีทองคำถึง ๙ โกฏิก็ตาม ก็หาได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรูปสวยไม่ ดังคำกลอนที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     คนจะงาม งามน้ำใจ  ใช่ใบหน้า
     คนจะสวย สวยจรรยา ใช่ตาหวาน
     คนจะแก่  แก่ความรู้  ใช่อยู่นาน
     คนจะรวย  รวยศีลทาน ใช่บ้านโต

เมื่อเราทั้งหลายแต่งกายได้แล้ว กายของเราก็จะเป็นกายวิเวก คือมีความสงัดกาย มีกายอันสงบ เมื่อกายเป็นกายวิเวกแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เกิดปัญญาสัมมาทิฏฐิ จิตใจของเราก็จะสะอาด สว่าง สงบ

การที่จะแต่งกายให้สงบนั้น เราต้องเอาธรรมะมาเป็นเครื่องแต่ง ธรรมะอะไรจะมาเป็นเครื่องแต่งกายกายของเราจึงจะงาม ธรรมะที่จะเป็นเครื่องแต่งกายนั้น ได้แก่ สุจริตธรรม คือ
     ๑) เราต้องเป็นผู้มีจิตประกอบไปด้วยเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เว้นจากปาณาติบาต ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ประหัตประหารกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน
     ๒) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยชอบ ตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ในทางสุจริต ไม่เลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง ไม่ทำอทินนาทาน คือไม่ลักขโมยทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เป็นต้น
     ๓) สทารสันโดษ ถ้าเป็นฆราวาสก็ยินดีในสามีภรรยาของตน ไม่ล่วงเกินภรรยาสามีผู้อื่น ไม่ทำชู้สู่สมกับสามีภรรยาของผู้อื่น และบุตรหญิงบุตรชายของผู้อื่นโดยทางที่ผิดจารีตประเพณี ถ้าเป็นพระเป็นเณร ก็ตั้งอกตั้งใจรักษาพรหมจรรย์ของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสกาม วัตถุกาม
     ๔) สัจจะ คือความจริงใจ พูดแต่คำสัตย์คำจริง ไม่พูดโกหกให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ทำด้วยความจริงใจ คิดด้วยความจริงใจ เป็นสุจริตธรรม
     ๕) อัปปมาทธรรม เว้นจากสิ่งที่ให้โทษแก่ร่างกาย เช่น เว้นจากการสูบบุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ดมกาว เหล่านี้เป็นต้น ตลอดถึงการเว้นจากการประพฤติชั่วโดยประการต่างๆ คือเราระวังใจของเรา ไม่ให้กำหนัด ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้หลง ไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ขัดเคือง ลุ่มหลง มัวเมา

เป็นผู้ไม่ประมาทในการละอกุศล บำเพ็ญกุศล เป็นผู้ไม่ประมาทในการละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ประมาทในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี พยามสร้างสติของตนให้สมบูรณ์ ไม่ให้ตกไปอยู่ภายใต้ของความประมาท พยายามรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นี้เรียกว่า เรามีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย

สำหรับการพูดก็เหมือนกัน เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง ชักนำให้คนทั้งหลายมีความสามัคคี ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดแต่วาจาที่ไพเราะเสนาะหู ทำให้ผู้ฟังดูดดื่มไว้ในจิตในใจของตน ไม่พูดคำหยาบ อันเป็นคำที่ฟังแล้วไม่รื่นหู ทำให้ผู้ฟังนั้นเจ็บอกเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ประกอบไปด้วยประโยชน์ ไม่พูดวาจาที่ไร้สาระไร้ประโยชน์

เมื่อใดเราประพฤติตามธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้เรียกว่าเป็นผู้มีธรรมะเป็นเครื่องแต่งกาย มีธรรมะเป็นธรรมาภรณ์ เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกายของเราให้งามแล้ว เมื่อเรามีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือเป็นเครื่องประพฤติปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ย่อมได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ ได้แก่
     ๑) นวัชชพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ
     ๒) นเวรพหุโล จะเป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร
     ๓) กิตติสัทโท ชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปทั่วทิศานุทิศ
     ๔) อสัมมุฬโห จะไม่เป็นผู้หลงตาย คือเวลาตายจะมีสติสัมปชัญญะ สามารถระลึกถึงบุญกุศลของตนได้
     ๕) สุคติ เมื่อตายแล้ว ก็จะไปสู่สุคติตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้

ผู้ใดที่เกิดมาแล้ว เป็นผู้ไม่มากไปด้วยโทษ เป็นผู้ไม่มากไปด้วยเวร ไปที่ไหนชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไปในทิศานุทิศ เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วนี้ กายของผู้นั้นย่อมเป็นกายสงบ ซึ่งเรียกว่ากายวิเวก ผู้มีกายวิเวกชื่อว่าเป็นผู้มีธรรมาภรณ์ประดับกาย ทำให้กายสวยสดงดงามไปด้วยธรรมะ เมื่อกายของเรางามแล้วอย่างนี้ ก็สามารถที่จะแต่งใจของเราได้ คือในลำดับต่อไปเราต้องแต่งใจของเรา

เราจะเอาอะไรมาแต่งใจของเรา ธรรมะที่เอามาแต่งใจหรือประดับใจให้ใจของเรางามนั้น ได้แก่ สมาธิ คือสมาธินี้เป็นธรรมาภรณ์เครื่องแต่งใจ เมื่อใดใจของเราเป็นสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ธรรมอันเป็นอารมณ์ของสมถะและวิปัสสนาภาวนาแล้ว เมื่อนั้นก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการลงได้

คำว่า นิวรณ์ธรรม แปลว่า ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือกั้นจิตไว้ไม่ให้ถึงคุณงามความดี มีทาน ศีล ภาวนา มรรค ผล นิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา

เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม นิวรณ์นี้ก็จะกั้นจิตของเราไว้ ไม่ให้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ ไม่ให้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ ไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ไม่ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงจัดว่า นิวรณ์ คือธรรมอันเป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี

นิวรณ์ นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ
     ๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่น่าปรารถนา
     ๒) พยาบาท ความไม่พอใจในอารมณ์คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำจิตใจของเรานี้ ให้เกิดโทมนัส ขัดใจ น้อยใจ แห้งผากใจ เกิดความคิดพยาบาท อาฆาต จองล้างจองผลาญผู้อื่น      ๓) ถีนมิทธะ ความที่จิตท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอนเซื่องซึม ไม่สามารถบำเพ็ญบุญกุศลได้ เวลาเจริญสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้กระฉับกระเฉงได้ จิตไม่สามารถที่จะจับอารมณ์ได้แม่นยำ
     ๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความที่จิตคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปตามอารมณ์ และหงุดหงิดรำคาญใจ จิตจับอารมณ์ไม่มั่นคง จับอารมณ์โน้นบ้าง จับอารมณ์นี้บ้าง คิดไปร้อยแปดพันประการ
     ๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตน เช่น มีความสงสัยในเรื่องบุญ เรื่องบาป หรือสงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยในเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน ว่ามีจริงหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อใด เรามีนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการนี้เป็นเครื่องกั้นจิตอยู่ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดี แต่เมื่อใดข่มนิวรณ์ธรรมนี้ลงได้ ด้วยการเจริญสมถภาวนา จนทำให้จิตของเราเป็นอัปปนาสมาธิ แน่วแน่อยู่ในองค์ฌาน เมื่อนั้น จิตของเราก็เป็นจิตวิเวก คือสงัดจิต จิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อใดจิตสงบจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ก็เป็นจิตที่สว่าง สะอาด สงบเย็น

เหตุนั้น การที่เรามีสุจริตธรรมและสมาธิเป็นเครื่องแต่งกายแต่งใจอย่างนี้ท่าน จึงเรียกว่าเตรียมกายก่อนแต่ง
๓. เตรียมน้ำก่อนแล้ง  แยกเป็น ๒ ประการ คือ
     ๑) น้ำภายนอก ได้แก่ การที่เราเตรียมน้ำที่ใช้ในการงาน สมมุติว่าเราจะทำนา ทำสวน ทำไร่ เราต้องเป็นผู้ที่ฉลาดว่า ขณะนี้มีน้ำมากเกินไป สมควรที่จะไขน้ำออก เราก็ไขน้ำออก หรือในขณะนี้น้ำน้อยเกินไป ควรที่จะทดน้ำไว้ เราก็ทดน้ำไว้ เมื่อไรที่ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ เป็นผู้ที่ฉลาด ก็ย่อมได้พืชพันธุ์ธัญญาหารตามความประสงค์
     ๒) น้ำภายใน แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ
       ประเภทที่ ๑ น้ำใจ คือต้องเป็นผู้มีใจงาม เช่นว่าน้ำใจระหว่างเรากับมิตรอย่างนี้ เราทำอย่างไรจึงมีมิตรมีสหายมาก ไปที่ไหนจึงจะมีความสะดวกสบาย มีพรรคมีพวก ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องว้าเหว่ เราก็ต้องเป็นผู้หนักในปฏิสันถาร หมายความว่า เราต้องเอาใจใส่ในการต้อนรับญาติพี่น้อง แขกไปใครมา ด้วยอามิส หมาก พลู ข้าวน้ำ เป็นต้น ให้ได้รับความอบอุ่นในการไปมาหาสู่ การปฏิสันถารกันด้วยธรรมะ คือพูดแนะนำตักเตือนกัน ให้รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และไม่ใช่ประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่าเราหนักในปฏิสันถาร เมื่อใดเราหนักในปฏิสันถารแล้ว ก็เรียกว่าเราเป็นผู้มีใจงาม

       ประเภทที่ ๒ น้ำคือบุญกุศล ก็แยกออกเป็น ๔ คือ
       ๑) กามาวจรบุญ คือบุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในกามภพ
       ๒) รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภพ
       ๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาให้ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภพ
       ๔) โลกุตตระบุญ คือบุญที่ทำแล้วให้ถึงซึ่งมรรค ผล และพระนิพพาน

เพราะคนเรานั้น อาจจะได้รับความทุกข์ เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เกิดขึ้นมาแล้วแทนที่จะได้รับความสุขความเจริญ ก็ไม่ได้รับความสุขความเจริญ ดังเราทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้

บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนมั่งมีศรีสุข เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เป็นเศรษฐีกุฎุมพีมีทรัพย์สมบัติมาก แต่บางคนเกิดขึ้นมาแล้วยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง บางคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย บางคนเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นคนง่อยเปลี้ยพิกลพิการต่างๆ เป็นต้น อันนี้ก็แสดงว่า เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นคนประมาทไม่ได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้

เหตุนั้นแหละ การที่เราทั้งหลายพากันเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีน้ำคือบุญกุศลนี้ไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์ เมื่อจุติแล้วจะได้ไม่ไปสู่ภพที่เป็นทุกข์ แต่น้ำภายในคือบุญกุศลดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แล้งได้เหมือนกัน หมดได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านจึงให้เตรียมน้ำก่อนแล้งนี้ หมายความว่า เมื่อใดเราบำเพ็ญบุญกุศลทั้ง ๔ ประเภทนั้น ให้สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา อย่าให้เสื่อมสิ้นไป เช่น
     ๑) กามาวจรบุญ อย่างนี้เราจะทำอย่างไร กามาวจรบุญจึงจะสมบูรณ์ เราก็พยายามบำเพ็ญกามาวจรบุญเหล่านั้นให้เต็มเปี่ยมขึ้นมาในขันธสันดาน แล้วก็พยายามรักษากามาวจรบุญนั้นให้คงอยู่ ให้เต็มอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเรารักษาน้ำโดยที่เราต้องตักไว้ใส่ตุ่มให้เต็มอยู่ตลอดเวลา
     ๒) รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในรูปภพ
     ๓) อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาไปเกิดในอรูปภพ

บุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ยิ่งเสื่อมเร็ว ยิ่งแห้งเร็วยิ่งหมดเร็ว ที่ว่าเสื่อมเร็ว แห้งเร็ว หมดเร็ว ในที่นี้ สมมติว่าพวกเราทั้งหลายบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ จนสามารถได้สมาธิ ได้ฌาน เมื่อเราได้สมาธิได้ฌานแล้วเราไม่รักษาไว้ไม่พยายามเข้าสมาธิ ไม่พยายามเข้าฌาน ไม่สังวร ไม่สำรวม ไม่ระวัง ปล่อยจิตปล่อยใจไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นไปตามอำนาจของอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

เมื่อใดเราขาดความสำรวมระวัง ฌานของเราก็เสื่อม เมื่อก่อนโน้น เราสามารถเข้าสมาธิได้ ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถเข้าได้ แต่เมื่อเราประมาทดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ เหตุนั้น เมื่อเราได้สมาธิ ได้ฌานแล้ว ก็พยายามรักษาฌานนั้นไว้ อย่าให้เสื่อม ก็เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้งเหมือนกัน

     ๔) โลกุตตระบุญ นี้ก็น้อยลงไปหมดลงไปได้เหมือนกัน สมมุติว่าเราได้สั่งสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน จนสามารถ(เพียงพอ)ที่จะทำให้บรรลุหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์(ในปัจจุบัน)ได้ แต่เราก็ไม่รีบบำเพ็ญเสียในขณะที่ยังหนุ่มยังแน่น ยังอยู่ในปฐมวัย ต่อเมื่อเราแก่แล้วจึงมาบำเพ็ญ แทนที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างมากก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จเลย  เพราะเหตุไร  เพราะเหตุว่า คนเฒ่าคนแก่สติไม่สมบูรณ์ สติฟั่นเฟือน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้โดยสมบูรณ์ เหตุนั้น บุญกุศลที่เราสั่งสมอบรมไว้ แม้สมควรจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ถึงคราวแก่มีอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้วจึงมาเจริญพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ อย่างมากที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเท่านั้น หรือว่า ถ้าเราได้บำเพ็ญในขณะที่ยังเป็นหนุ่ม ยังเป็นวัยกลางคนอย่างนี้ ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นอนาคามี ถ้าแก่ขึ้นไปหน่อยก็ให้สำเร็จเพียงสกทาคามี เมื่อแก่ถึงที่แล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ให้สำเร็จเพียงพระโสดาบันเท่านั้น หรือหากว่า แก่จนสติฟั่นเฟือนแล้วจึงจะมาบำเพ็ญ ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลใดๆ ได้เลย

เหตุนั้น จึงสรุปได้ว่า บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นกามาวจรบุญก็ดี ที่เป็นรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นอรูปาวจรบุญก็ดี ที่เป็นโลกุตตรบุญก็ดี มีโอกาสเสื่อมคุณภาพไปได้ หมดไปได้เหมือนกัน เหตุนั้น ก็ขอให้พยายามรักษาสมาธิหรือฌานที่ได้แล้ว หมั่นเจริญบ่อยๆ

เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว บุญกุศลเหล่านี้ก็จะเป็นยานแก้วนำเราไปสู่สุคติภพ ตามบุญญาธิการที่เราสั่งสมอบรมไว้ ก็การที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลไว้ให้เต็มเปี่ยมสมบูรณ์อย่างนี้แหละ เรียกว่าเตรียมน้ำก่อนแล้ง ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     อันบุญกรรม ทำไว้ ทีละน้อย
     แต่ทำบ่อย ค่อยเพิ่ม เติมกุศล
     เหมือนตุ่มน้ำ เปิดหงาย รับสายชล
     ย่อมเต็มล้น เหมือนอุทก ที่ตกลง




หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 มิถุนายน 2559 16:40:14
การเตรียมตัว ๕ ประการ (ต่อ)


๔. เตรียมแบงก์ก่อนไป แยกออกเป็น ๒ ประเภท
     ๑) แบงก์คือทรัพย์ภายนอก
     ๒) แบงก์คือทรัพย์ภายใน

ทรัพย์ภายนอกนั้น สำหรับผู้ที่เป็นฆราวาส เราก็ต้องเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติสมบูรณ์พอที่จะใช้จ่ายบำรุงตัวเองและครอบครัวได้ เราต้องเป็นผู้ไม่ประมาทในการแสวงหาทรัพย์สมบัติ เมื่อเรามีทรัพย์สมบัติแล้ว จะอยู่ที่บ้านหรือจะไปที่ไหนก็สบาย เมื่อเราทั้งหลายจะไปธุระต่างๆ ในตำบล อำเภอ จังหวัด หรือต่างประเทศอย่างนี้ เราต้องเตรียมเสบียงที่จำเป็น และขาดไม่ได้คือสตุ้งสตังค์ เราต้องเตรียมไป ถ้าไม่เตรียมไปแล้ว ก็ไม่มีใช้ ไม่มีของใช้ เราก็ได้รับความเดือดร้อนเท่านั้น ฉันใด

เราทั้งหลาย ที่ยังต้องเวียนว่ายไปในมหรรณพภพสงสารทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมแบงก์คือทรัพย์ภายในเหมือนกัน ฉันนั้น ทรัพย์ภายในนั้น ได้แก่ อริยทรัพย์ ๗ ประการ

พวกเราทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราทั้งหลายยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สิ้นภพสิ้นชาติ ไม่ใช่ว่าจุติแล้วก็จะแล้วไปเพียงแค่นี้ เรายังจะไปสู่ภพต่างๆ ไม่รู้ว่ากี่กัปกี่กัลป์ เช่นว่า เราอาจจะไปสู่กามภพบ้าง รูปภพบ้าง อรูปภพบ้าง เมื่อเรายังมีทางที่จะไปสู่ภพต่างๆ อย่างนี้เราต้องเตรียมแบงก์คือบุญกุศลไว้ให้เพียบพูนสมบูรณ์เสียก่อน เราจึงไปสู่ภูมิต่างๆ ตามที่ต้องการได้

สำหรับแบงก์ที่เราจะต้องเตรียม ในการที่จะไปสู่ภพภูมิต่างๆ นั้น ก็ได้แก่ อริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ หรือว่า ทรัพย์ของท่านผู้ประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่ไกลจากข้าศึก พระราชาหรือโจรจะมายึดมาเอาไปก็ไม่ได้ น้ำก็ไม่ท่วม ไฟก็ไม่ไหม้ เป็นอมตะทรัพย์ คือเป็นทรัพย์ที่ไม่ตาย เป็นทรัพย์ที่ติดตามตัวไปทุกฝีก้าว ฉายา อิว ดุจเงาติดตามตัว เราจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ก็ยังสามารถติดตามไปในภพที่ตนเกิด

เหตุนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณเต็มเปี่ยมในสรรพสัตว์ทั้งหลายซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ พระองค์ได้ตรัสสอนให้พวกเราได้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ภายในนี้ไว้ให้มาก เพื่อจะได้มีไว้ใช้จ่ายในการเดินทางไปในวัฏสงสาร คือให้สร้างสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ไว้ให้มาก คือ
     ๑. ศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อ คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บาปมีจริง นรกมีจริง สวรรค์มีจริง มรรคผลพระนิพพานมีจริง แล้วก็ละชั่ว กระทำแต่คุณงามความดี
     ๒. ศีล ได้แก่ การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย โดยเราแบ่งศีลออกเป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
        ๑) ปกติศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ที่พวกเราพากันสมาทานรักษาอยู่ทุกวันนี้
        ๒) ปรมัตถศีล ได้แก่ ศีลที่มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา
๓. หิริ คือความละอายบาป มีความขยะแขยง ไม่กล้าทำบาป เหมือนกับชายหนุ่มหญิงสาวที่แต่งตัวดีแล้ว ประดับประดาร่างกายดีแล้ว ย่อมมีความขยะแขยง ไม่กล้าที่จะไปลุยโคลนลุยตม ฉันใด ผู้มีหิริก็มีความละอาย มีความขยะแขยงในการก่อกรรมทำบาปเหมือนกัน ฉันนั้น
๔.โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป กลัวต่อผลของบาป ไม่กล้าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อุปมาเหมือนกันกับคนทั้งหลาย ที่กลัวต่ออสรพิษหรือสัตว์ร้ายต่างๆ มีหมี เสือ ช้างเป็นต้น ไม่กล้าเข้าไปในสถานที่ที่มีสัตว์ร้ายนั้น ฉันใด ผู้มีโอตตัปปะก็มีความสะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาป ทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้งเหมือนกัน ฉันนั้น
๕.สุตะ ได้แก่ เป็นผู้ที่สดับตรับฟังมาก ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งในทางโลก ทั้งในทางธรรม
๖.จาคะ จาคะ ได้แก่ การบริจาค แบ่งเป็น ๒ ประการ
         ประการที่ ๑ บริจาคภายนอก ได้แก่ บริจาคปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคเป็นต้น
       ประการที่ ๒ บริจาคภายใน ได้แก่ การที่เราทั้งหลายเสียสละความโลภ ความตระหนี่ เสียสละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากขันธสันดาน ตลอดถึงเสียสละอุปสรรค คือความขัดข้อง โกสัชชะคือความเกียจคร้านเป็นต้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา
๗.ปัญญา คือความรอบรู้ ทั้งทางโลก ทั้งทางธรรม รอบรู้สิ่งที่ควรรู้ คือรอบรู้ว่าสิ่งใดที่เราประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ รอบรู้เหตุแห่งความทุกข์ ความเสื่อม และเหตุแห่งความสุข อย่างนี้เรียกว่า ปัญญา

อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นทรัพย์ที่สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด ไม่เหมือนกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอกเป็นของที่ใช้ในวงจำกัด เช่นว่าทรัพย์ที่ใช้จ่ายในประเทศของเราทุกวันนี้ เช่น ธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทก็ดี ก็ใช้จ่ายได้เฉพาะในประเทศของเราเท่านั้น หากว่าเราจะนำไปใช้ในประเทศอื่น ก็ต้องแลกต้องเปลี่ยนจึงจะนำไปใช้ได้ แต่สำหรับอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ เราใช้ได้ตลอดไป เราจะนำไปใช้ในที่ไหนก็ได้ไม่ต้องแลกต้องเปลี่ยน เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้ จึงเป็นของใช้ได้ทั่วไป ไม่จำกัด อนึ่ง อริยทรัพย์เป็นของที่ใช้ไม่หมด คือยิ่งใช้เท่าไหร่ก็ยิ่งได้กำไรมาก

ดังที่มีท่านครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี และญาติโยม มาทั่วประเทศ ตลอดถึงต่างประเทศก็มี ซึ่งมารับเอาจากหลวงพ่อไป ยิ่งหลวงพ่อให้ไปมากเท่าไหร่ หลวงพ่อก็ยิ่งได้มาก ได้กำไรมาก เหตุนั้น อริยทรัพย์นี้จึงใช้ไม่หมด ไม่เหมือนกันกับทรัพย์ภายนอก ทรัพย์ภายนอก สมมติว่าเรามีเงินสัก ๒๐ ล้าน เราก็สามารถใช้ให้หมดไปได้ แต่ว่าอริยทรัพย์ภายในนี้ ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด

อริยทรัพย์นี้เป็นอสาธารณะ คือเป็นสมบัติส่วนตัว ใครสร้างสมอบรมไว้ ก็เป็นสมบัติของผู้นั้น โจรจะมาลักเอาก็ไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม เป็นของติดตามตัวไปได้ทุกฝีก้าวดุจเงาติดตามตัว ตายไปแล้ว ไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ยังสามารถติดตามตัวไปในภพที่เราเกิด แล้วก็เป็นทรัพย์ที่สามารถให้สำเร็จสมประสงค์ทุกอย่าง เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสิ่งใดๆ สามารถได้สิ่งนั้นๆ สมความมุ่งมาดปรารถนาทุกอย่าง ก็เพราะอาศัยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้

ผู้ใดประพฤติอยู่ในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ หรืออริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้มีแก่บุคคลใด มีในขันธสันดานของผู้ใดพอสมควร คือแม้มีไม่มาก บุคคลผู้นั้นก็สามารถที่จะได้รับความสุขความเจริญในขณะที่เรายังเป็นมนุษย์อยู่ เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดเป็นมนุษย์ และอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในภพที่เราเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สูงขึ้นไป เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ตามกำลังของอริยทรัพย์นั้น

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติในอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการให้สูงขึ้นไปอีก เช่นเราเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน บริกรรมจนได้สำเร็จฌาน ก็สามารถไปเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน ถ้าเราเจริญให้สูงขึ้นไปกว่านั้น โดยเอาอรูปกัมมัฏฐานมาบริกรรมจนได้สำเร็จอรูปฌาน เมื่อจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว ก็สามารถไปบังเกิดในอรูปภพ อรูปพรหม ตามกำลังของฌาน

ถ้าหากว่าเราบำเพ็ญให้สูงๆ ขึ้นไป โดยการที่มาเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี และเราทั้งหลายเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ จนได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตนแล้ว ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ สามารถที่จะนำไปใช้ให้ถึงพระนิพพานได้ หมายความว่า ทำให้กลายเป็นโลกุตตระสมบัติได้

ดังตัวอย่างเรื่องของ นายสุปปพุทธกุฏฐิ ถึงจะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการขอทาน มิหนำซ้ำ เป็นโรคเรื้อนในกาย วันหนึ่ง ได้ไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ที่ไกลๆ โน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังไปๆ ก็ส่งจิตส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็อยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้นั้นในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าจะเข้าไป กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจ ในขณะนั้น พระอินทร์ทราบก่อนแล้ว ก็แปลงร่างมาทดลองว่าผู้นี้เขามีจิตใจถึงธรรมจริงหรือ

เมื่อมาแล้วก็บอกว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆ อย่างท่าน ไหนลองพูดซิว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ ถ้าท่านว่าได้ ฉันจะให้ทรัพย์สมบัติท่าน อยากได้เท่าไหร่ ฉันก็จะให้ถ้าท่านว่าได้

     สุปปพุทธกุฏฐิก็ตอบว่า เอ๊ นี่ท่านเป็นใครมาจากไหน
     ฉันเป็นพระอินทร์มาจากเทวโลก
     ไปๆ เทวดาขี้ชั่ว เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านเสียอีกที่เป็นคนจน

พระอินทร์หายวับไป เข้าไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า นิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินสักเท่าไหร่ก็ไม่เอา เพียงแต่ให้กล่าวว่าพระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ ก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า

พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็แต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน [๒]
     ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ  อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ มีในผู้ใด จะเป็นผู้หญิงก็ตามผู้ชายก็ตาม
     อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ จึงเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราทั้งหลายพากันมาประพฤติปฏิบัติอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนี้ หากผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมานี้เรียกว่า เตรียมแบงก์ก่อนไป คือเราเตรียมสร้างสมอบรมอริยทรัพย์ให้สมบูรณ์ในขันธสันดานของเรา เพื่อจะได้นำไปใช้ในวัฏสงสารต่อไป จนกว่าเราจะถึงฝั่ง คือพระอมตมหานฤพาน

แต่ถ้าท่านผู้ใดไม่ประมาท สามารถสั่งสมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ในภพชาตินี้ จุติแล้วก็ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายได้โอกาสมาประพฤติปฏิบัติธรรมในขณะนี้ ก็ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่มีโอกาสสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท พยายามสั่งสมอบรมอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ให้สมบูรณ์ในขันธสันดาน เมื่อใดเราสั่งสมให้สมบูรณ์แล้ว ก็อาจจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้

เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราพ้นแล้วจากสังสารวัฏ เราสามารถหักกงกรรมของสังสารวัฏได้สิ้นแล้ว สามารถตัดตัณหาอันเป็นตัวก่อภพก่อชาติได้แล้ว เราจะไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

๕. เตรียมใจก่อนสู้ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยการต่อสู้ ชีวิตนี้เต็มไปด้วยการต่อสู้ คือ
     ๑) ต่อสู้กับความลำบาก ในเวลาประกอบการงาน เช่น เราทำนา ทำสวน ทำไร่อย่างนี้ ชีวิตคือความเป็นอยู่เต็มไปด้วยความลำบาก ต้องตรากตรำแดด ตรากตรำฝนหนาวร้อนก็ต้องสู้ทน การงานของเราจึงจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
     ๒) ต่อสู้กับทุกขเวทนา เช่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของเรานี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของธรรมดา บางทีเหมือนกับว่าทุกขเวทนานี้จะปลิดชีวิตของเราไป บางทีต้องร้องครวญครางเพราะอำนาจของทุกขเวทนาเข้าครอบงำ จนขาดสติขาดสัมปชัญญะไปก็มี

บางที เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ เป็นสามเณร เป็นแม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมายังพากันร้องครวญครางเป็นที่อับอายขายหน้า อย่าลืมนะท่านทั้งหลาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมานี้ถ้าว่าชาวบ้านเขาพากันร้องครวญครางเพราะอำนาจทุกขเวทนานั้น ก็ค่อยยังชั่ว ยังพอมองดูได้  แต่ถ้าเป็นพวกนักบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาว แม่ชี เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมา ร้องครวญครางนั้น เป็นที่อับอายขายหน้ายิ่งนัก อับอายขายหน้าญาติโยมชาวบ้าน อับอายขายหน้าทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลาย ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใส เพราะว่าผู้ที่เป็นนักบวช ผู้บำเพ็ญเพียรนี้ ต้องเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นอย่างแรงกล้า อะไรๆ เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่น ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่ทำอะไรให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน เรื่องนี้ในอดีตกาลมีมาแล้ว

มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ตั้งตัวเป็นคณาจารย์ เป็นอาจารย์ใหญ่ สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย แต่วันหนึ่ง ขณะที่เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา พระอาจารย์องค์นั้นก็ร้องครวญครางด้วยอำนาจของทุกขเวทนา ในขณะนั้นมีพระราชาองค์หนึ่ง ซึ่งทรงมีปสาทะศรัธาอย่างแรงกล้า เพราะทราบถึงกิตติศัพท์ของพระอาจารย์องค์นี้ ว่าท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้บรรลุธรรมเบื้องสูงแล้ว ก็มีพระราชหฤทัยเลื่อมใส จึงพร้อมด้วยข้าราชบริวารทั้งหลาย มากราบนมัสการพระเถระรูปนั้น

แต่เมื่อมา ยังไม่ถึงเลย เพียงแต่เข้ามาภายในวัดได้ยินเสียงร้องครวญครางของพระภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ จึงตรัสถามพระภิกษุทั้งหลายว่า นี้เป็นเสียงของใคร ใครร้องครวญคราง เพราะเหตุไร พระสงฆ์ทั้งหลายจึงถวายพระพรให้ทรงทราบ พระราชาจึงตรัสว่า ที่ไหนว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว มีทุกขเวทนาเพียงแค่นี้ ยังจะมาร้องครวญครางอยู่อีกหรือ ข้าพเจ้าตั้งใจจะมานมัสการท่าน บัดนี้ ข้าพเจ้าขอลาก่อนละ

นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่นักบวชของเรานี้ เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดขึ้นมาแล้ว ยังมาร้องครวญครางเพราะทุกขเวทนาอยู่นั้น ทำให้ต้องอับอายขายหน้า ให้ผู้อื่นหมดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส ยิ่งมีผู้ใดผู้หนึ่งล้มหายตายไป เช่น พ่อแม่ตายจากไป หรือว่าลูกๆ หลานๆ พี่น้องตายจากไป อย่างนี้เรามาร้องห่มร้องไห้ ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายขายหน้ายิ่งนัก เหตุนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องเตรียมใจก่อนสู้ คือต้องสู้กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำขันธสันดานของตนให้ได้

   ๓) ต่อสู้กับการล่วงเกินของผู้อื่น เราทั้งหลายที่อยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าเราทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติอะไรๆ ถูกจิตถูกใจกันไปทั้งหมดนั้นหามิได้ เราต้องมีการล่วงเกินกันบ้าง บางครั้งบางคราวล่วงเกินทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราต้องมีอธิวาสนขันติความอดกลั้นอย่างแรงกล้า ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เขาจะทำอย่างไร เราก็ต้องอดกลั้นได้ ไม่ทำการล่วงเกินซึ่งเป็นการตอบโต้ ทำเหมือนกับว่าไม่มีอะไรๆ เกิดขึ้นแก่ตัวเราเลยดังตัวอย่างพระสารีบุตร

ท่านพระสารีบุตรนี้ มีกิตติศัพท์ว่าเป็นผู้มีความอดกลั้นอย่างแรงกล้า จนเป็นที่สรรเสริญเยินยอของบรรดาพระสงฆ์ สามเณร ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายว่าพระคุณเจ้าของเรานี้เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่งนัก ไม่มีความโกรธเลย อะไรๆ ก็ไม่โกรธ

วันนั้น มีพราหมณ์คนหนึ่ง คิดขึ้นมาว่าพระสารีบุตรนี้เป็นผู้ไม่โกรธจริงหรือ อดทนต่อความโกรธได้จริงหรือ เป็นผู้ดับความโกรธได้จริงหรือ คิดอยากจะทดลองดู เมื่อเห็นพระสารีบุตรเดินไปบิณฑบาต พราหมณ์คนนั้นก็เดินไปข้างหลัง พอไปถึงก็เอากำปั้นทุบหลังท่าน แต่ท่านพระสารีบุตรไม่สะทกสะท้าน ไม่หันกลับมามองดูเลย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเดินบิณฑบาตไปเรื่อยๆ ตามธรรมดาของตน ผลสุดท้ายพราหมณ์คนนั้นก็เกิดความเดือดร้อนอย่างแรงต้องขอขมาโทษ

นี้แลท่านทั้งหลาย การที่อดทนได้ ไม่ทำการโต้ตอบผู้ที่ล่วงเกินตน เรียกว่า เตรียมใจก่อนสู้ ประการหนึ่ง

     ๔) ต่อสู้กับอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น  เราทั้งหลายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากตกอยู่ภายใต้อำนาจกิเลส ตกอยู่ในอำนาจของความโลภ ต้องลักต้องขโมย หาเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางที่ไม่ชอบธรรม บางครั้งก็ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ต้องด่า ต้องฆ่า ต้องเฆี่ยนต้องตี ต้องประหัตประหาร ต้องผูกพยาบาท ต้องอาฆาตจองล้างจองผลาญกัน

บางครั้ง ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของโมหะ ทำอะไรๆ ก็ทำไปตามอำนาจของโมหะ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ จะทำมาค้าขายก็ค้าขายด้วยการโกง มีการโกงตาชั่งเป็นต้น บางครั้งเราก็ต้องตกอยู่ในอำนาจของราคะ ประพฤติปฏิบัติไปตามอำนาจของราคะ มีการข่มขืนชำเรา เป็นต้น บางครั้งก็ตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหา คือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางครั้งก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอุปาทาน เหตุนั้น เมื่อกิเลสมีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น เราต้องไม่ทำอะไรไปตามอำนาจกิเลสตัณหานั้น เราอดได้ทนได้ จึงเรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้

เมื่อชีวิตคือความหวัง ชีวิตคือการต่อสู้อย่างนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะมีกำลังใจในการต่อสู้ เราต้องมีคุณธรรมเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ต้องมีคุณธรรมประจำใจ เพราะว่าเราขาดคุณธรรมประจำใจแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้

สำหรับคุณธรรมประจำใจ ที่ทำให้จิตใจของเรากล้าหาญนั้น เรียกว่า เวสารัชชกรณธรรม คือธรรมอันทำใจให้กล้าหาญ มีอยู่ ๕ ประการ คือ
๑.สัทธา (ศรัทธา) ความเชื่อมี ๔ อย่าง คือ
        ๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว
     ๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าผลที่ได้รับ มีความสุขความเจริญ ความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าผลของความดีความชั่วที่เราทำไว้
     ๓) กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อที่ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่เหมือนกัน บางคนก็ยากจนข้นแค้นอนาถา บางคนก็มั่งมีศรีสุข บางคนมีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงามมีจิตใจสมบูรณ์ มีปัญญาดี มีไหวพริบดี มีความฉลาดดี บางคนก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา คนทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดมา ไม่เหมือนกันเช่นนี้ เพราะกรรมจำแนกให้เป็นไปต่างกัน ดังวจนะประพันธ์พุทธภาษิตว่า
กมฺมํ สตฺเต วิภชติ  ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมแล ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย ให้เป็นไปต่างๆ กัน คือให้เลวและประณีต (ม. อุ. ๑๔/๕๙๖/๓๘๕)
     ๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือเราเชื่อว่าพระองค์นั้น เป็นพระสยัมภูผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ พระองค์ทรงสอนธรรมะที่ทำผู้ปฏิบัติตามธรรมนั้น ให้ได้ผลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ
๒.ศีล คือความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย
๓.พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ที่ศึกษามามากได้สดับตรับฟังมามาก เมื่อศึกษามาก ความรู้มาก ก็ทำให้จิตใจกล้าหาญ
๔.วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร หมายความว่า เราจะทำการงานอะไรก็ตาม เราก็แข็งใจทำจนสามารถทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เช่น เราจะทำไร่ทำนา เราจะท่องหนังสือ อ่านหนังสือ ดูหนังสือ เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานก็ตาม วิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม เราต้องแข็งใจทำ ถ้าไม่แข็งใจทำแล้ว ใจของเราก็จะเป็นจิตใจที่อ่อนแอ ไม่มีสมรรถภาพ ไม่มีความเข้มแข็ง แต่เมื่อใดเราประกอบด้วยวิริยารัมภะคือปรารภความเพียร ในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายเป็นตาย แข็งใจทำ ก็ทำให้จิตใจของเรามีกำลัง มีอำนาจ มีความกล้าหาญขึ้นมา
๕.ปัญญา คือรอบรู้ในสิ่งที่ควรรู้ รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และรอบรู้สิ่งที่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเสื่อม

เมื่อใด บุคคลทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยศรัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ และปัญญา ตั้งมั่นอยู่ในอิทธิบาท ๔ คือมีฉันทะพอใจในการปฏิบัติ มีวิริยะแข็งใจในการปฏิบัติ มีจิตตะตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีวิมังสาฉลาดในการปฏิบัติแล้ว เมื่อนั้น จิตใจของเราย่อมเป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นจิตที่กล้าหาญ เป็นจิตที่มีกำลัง สามารถที่จะต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นได้โดยสะดวกสบาย คือสามารถที่จะต่อสู้กับการงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยความลำบากตรากตรำ มีตรากตรำแดดฝนเป็นต้น และสามารถที่จะอดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการล่วงเกินของผู้อื่น อดทนต่อกิเลสตัณหาได้ มีจิตใจเข้มแข็ง เรียกว่า เราเตรียมใจก่อนสู้ เป็นประการที่ ๕

สรุปว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามธรรมะดังกล่าวมาแล้ว ทั้ง ๕ ประการ คือ ๑) เตรียมตัวก่อนตาย ๒) เตรียมกายก่อนแต่ง ๓) เตรียมน้ำก่อนแล้ง ๔) เตรียมแบงก์ก่อนไป ๕) เตรียมใจก่อนสู้ ทั้ง ๕ ประการนี้แล้วเรียกว่าเราทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์

ต่อไป ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า พระนิพพานนั้นไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราคิดไว้ว่าพระนิพพานจะเป็นอย่างโน้น พระนิพพานจะเป็นอย่างนี้ เปล่าเลย ไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ ฟ้ากับดินถึงแม้จะไกลแสนไกลกัน เราก็ยังมองเห็นได้ แต่สำหรับพระนิพพานนั้น แม้ว่าจะมีอยู่ภายในกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นได้

เหตุนั้น พระนิพพานนี้ จึงไม่เหมือนกันกับที่เราคิดไว้ เราจะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ธรรมะขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ คือเราจะมาพิสูจน์ว่าพระนิพพานนั้นเป็นอย่างไร การบรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นอย่างไร การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ เป็นอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เราจะพิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่ได้

เรามีความรู้ขั้นปริญญาตรี-โท-เอก จะเอาความรู้ขั้นปริญญานี้มาพิสูจน์ก็ไม่ได้ หรือว่าเราเรียนจบนักธรรมชั้นตรี-โท-เอก เรียนจบพระอภิธรรม จบเปรียญ ๙ จบพระไตรปิฎกก็ตาม เราจะเอาความรู้ด้านปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่ได้ หากว่าท่านทั้งหลายอยากรู้จริงๆ แล้ว ก็ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ฟังทุกเมื่อเชื่อวัน ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการนั้น เมื่อใดท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้ว เราก็สามารถที่จะรู้ได้

ดังมีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งมาประพฤติปฏิบัติ ท่านเรียนจบขั้นปริญญา ก็เอาความรู้ขั้นปริญญามาพิสูจน์อย่างโน้นอย่างนี้ พิสูจน์อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จนหลวงพ่อได้เตือนว่า คุณๆ จะเอาความรู้ขั้นปริยัติมาพิสูจน์ขั้นปฏิบัตินั้นไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ หากว่าคุณอยากรู้จริงๆ แล้วก็ขอให้ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนทุกวันๆ นี้เถอะ ไม่ช้าไม่นานหรอก เราก็จะสามารถรู้ได้เห็นได้ แกก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายก็หายจากความข้องใจสงสัย

เอาละท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ เรื่อง เตรียมตัว ๕ ประการ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

     เมื่อชำระร่างกาย อย่าลืมชำระล้างใจ
     เมื่อให้อาหารทางกาย อย่าลืมให้อาหารทางใจ
     เมื่อศึกษาทางร่างกาย อย่าลืมศึกษาทางจิตใจ
     เมื่อทำสิ่งต่างๆ ภายนอก อย่าลืมทำความรู้สึกตัวภายใน.
    [๑] สํ.ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖
     [๒](๒๓/๖/๔-๗ ธมฺมปทฏฺฐกถา ตติโย ภาโค หน้า ๑๒๙)



ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 มิถุนายน 2559 15:34:36
(https://sites.google.com/site/weerayut12345/_/rsrc/1313587206078/home/%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%A7.bmp?height=241&width=400)

ความมุ่งหมายของการฟังธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จำเป็นหรือที่พวกเราทั้งหลายจะต้องฟังธรรมะประกอบการปฏิบัติทุกๆ วัน บางท่านก็เห็นว่าไม่จำเป็น เพราะว่าการฟังธรรมะนั้น อาจจะเป็นอุปาทาน ทำให้ติดในทางปริยัติมากเกินไป ทำให้การปฏิบัตินี้ลดหย่อนผ่อนลงไปเช่นนี้ก็มี

แต่บางท่านก็เห็นว่า ควรที่จะฟังทุกวัน ถ้าวันไหนไม่ได้ฟังธรรม วันนั้นจะรู้สึกว่าหมดกำลังใจ หรือทำให้การปฏิบัตินี้กร่อยลงไป ไม่กระฉับกระเฉง อาจจะคิดอย่างนี้ก็มี

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็มีทั้งดีและไม่ดีรวมกัน คือการฟังทุกวัน ถ้าเราฟังให้เป็นก็เกิดประโยชน์เหมือนกัน ถ้าเราฟังไม่เป็นก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่มีการฟังการบรรยายธรรมะเลย แต่เราตั้งอกตั้งใจรู้หลักการรู้วิธีการ ได้ศึกษาปริยัติมามากพอสมควร ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ได้ผลเหมือนกัน ขอทำความเข้าใจเพียงเท่านี้

สำหรับความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่หลายสิ่งหลายประการ แต่จะนำมาบรรยายประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ เพียง ๔ ประการ คือ ๑.ฟังเพื่อเอาความรู้ ๒.ฟังเพื่อเอาบุญ ๓.ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย ๔.ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ มีอธิบายดังนี้

๑.ฟังเพื่อเอาความรู้ คือการฟังนี้ทำให้เกิดความรู้เกิดความฉลาดขึ้นมา ความรู้จะเกิดขึ้นแก่เรานั้นมีอยู่ ๓ ทางคือ
     ๑) สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฟัง เรียกว่า สุตาญาณ คือความรู้ที่เกิดขึ้นทางหู เราได้ยินทางหู เมื่อได้ยินได้ฟังก็เกิดความรู้ขึ้นมา เกิดความจำได้ขึ้นมา ความรู้ขั้นนี้ ยังอยู่ในขั้นสัญญา คือเป็นแต่เพียงจำได้
     ๒) จินตมยปัญญา ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการคิด คือเราฟังแล้วนำมาคิดอีกทอดหนึ่ง สมมติว่าเราได้ยินท่านเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป

เราฟังแล้ว ก็นำมาคิดต่ออีกว่า รูปนามนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงหรือ เราคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมา ความรู้อย่างนี้เรียกว่า จินตมยปัญญา หรือจินตาญาณ

ความรู้ขั้นนี้ เป็นความรู้ที่กระตุ้นเตือนจิตของเราให้มีอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติต่อไป เช่น เราได้ฟังธรรมว่า ถ้าหากว่าผู้ใดเป็นผู้มีความโกรธเป็นเรือนใจ หรือว่าเป็นผู้มากไปด้วยความโกรธ อยู่ในโลกนี้ก็ตกนรกแล้ว ถ้าตายจากโลกนี้ไปก็ไปตกนรกอีก เพราะว่า นรก แปลว่าผู้มีความร้อนใจเหมือนไฟเผา ถ้าผู้ใดมีความร้อนใจเหมือนไฟเผา หรือว่ามีความร้อนใจด้วยอำนาจของโทสะ อยู่ในมนุษย์นี้ก็ตกนรกแล้ว ตายแล้วก็ไปตกนรกจริงๆ

ผู้ใดมีความโลภประจำขันธสันดาน เป็นผู้มากไปด้วยโลภะคือความโลภ ไม่รู้จักพอ อยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต ผู้มีจิตคิดเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นเปรตแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต

ถ้าผู้ใดมีความกลัว หมายความว่า มีความโลภแล้วยังไม่พอ ก็เกิดความกลัวขึ้นมา เช่นว่า เราไปโกหกพกลม ต้มตุ๋นเขาไม่สำเร็จ กลัวจะประพฤติทุจริตไม่สำเร็จ กลัวขโมยของเขาไม่สำเร็จ หรือทำอะไรในทางทุจริตมาแล้ว ก็กลัวว่าจะถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการติดคุกติดตะราง ผู้ที่มีความกลัวเป็นเรือนใจอย่างนี้ หรือฝังอยู่ในจิตใจเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นอสุรกายแล้ว ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย

ถ้าผู้ใดมีใจมากไปด้วยโมหะ มืดมนอนธการ ไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ลืมคุณท่านผู้มีพระคุณ ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น ผู้มีจิตประกอบไปด้วยโมหะเช่นนี้ อยู่ในโลกนี้ก็เป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว ใจเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไป ก็ไปบังเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ฟังเช่นนี้แล้วก็นำมาคิดอีกทอดหนึ่ง เมื่อมาคิดไปๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่าเป็นจริง ตามที่ท่านเทศน์จริงๆ เกิดความรู้ขึ้นมาเช่นนี้ ฉุกคิดขึ้นมาเช่นนี้ ความรู้ขั้นนี้แหละเป็นแรงกระตุ้นเตือนใจของเรา ให้เรานั้นมีความอุตสาหะในการที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความอุตสาหะที่จะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา นี้เรียกว่า จินตมยปัญญา

     ๓) ภาวนามยปัญญา หรือภาวนาญาณ เป็นความรู้ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญวิปัสสนา มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร พร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๓ อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาถึง ๑๖ ประการคือ
        (๑) นามรูปปริเฉทญาณ ปัญญาที่พิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้
        (๒) ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม
        (๓) สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยจินตาญาณ
        (๔) อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม
        (๕) ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม
        (๖) ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว
        (๗) อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม
        (๘) นิพพิทาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย
        (๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม
        (๑๐) ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่พิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข้ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอามรรคผลพระนิพพานให้ได้
        (๑๑) สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม
        (๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง
        (๑๓) โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้า คือพระโสดาบัน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
        (๑๔) มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน
        (๑๕) ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคปหานกิเลสไว้แล้ว
        (๑๖) ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรค ผล พระนิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และยังเหลืออยู่

ปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ จะเกิดเฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา ทำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ก็จะเกิดปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ขึ้นมาทันที เมื่อปัญญาทั้ง ๑๖ ขั้นเกิดขึ้นมาครั้งที่หนึ่ง เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ดังตัวอย่างพระสารีบุตร

ท่านพระสารีบุตร เมื่อครั้งยังเป็นอุปติสสะมาณพ ไปพบกับพระอัสสชิ เห็นอิริยาบถของพระอัสสชิเรียบร้อยน่าเลื่อมใส ใคร่จะถามถึงครูอาจารย์ที่เป็นผู้สอน แต่ไม่กล้าที่จะถามในขณะที่ท่านกำลังเดินเที่ยวภิกขาจารอยู่

เมื่อท่าน (พระเถระ) กลับ จึงเดินสะกดรอยตามไป หลังจาก (พระเถระ) เสร็จจากฉันบิณฑบาตแล้ว ท่านอุปติสสะหรือพระสารีบุตรนี้ก็เข้าไปถามว่า ท่านขอรับ อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาเป็นครูสอนของท่าน ศาสดาของท่านสอนอย่างไร

พระอัสสชิเถระก็ตอบว่า ผู้มีอายุ ก็เราบวชเฉพาะพระสมณะโคดม ซึ่งออกบวชจากศากยสกุล ท่านนั้นแลเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมะของท่าน

แล้วท่านอุปติสสะก็ถามว่า ครูของท่านสอนว่าอย่างไร

ท่านผู้มีอายุ เราเพิ่งมาสู่พระธรรมวินัยใหม่ๆ ไม่สามารถที่จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ท่านฟังโดยพิสดารได้ เราจะกล่าวแต่หัวข้อ

ท่านผู้เจริญ ท่านไม่จำเป็นต้องกล่าวให้มากเลย ท่านกล่าวเฉพาะหัวข้อเถิด ข้าพเจ้าต้องการเฉพาะหัวข้อ

ท่านพระอัสสชิก็แสดงธรรมให้อุปติสสะมาณพฟังว่า

เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา  เตสํ เหตุํ ตถาคโต
ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น
(วิ.๔/๖๕/๗๔)

อุปติสสะมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมทันที ได้เกิดปัญญาขึ้นมาทันทีว่า ในพระศาสนานี้สอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อจะเกิดก็เพราะมีเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับก็เพราะเหตุดับก่อน ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

นี้แลท่านทั้งหลาย ความรู้ที่กล่าวมานี้ จะเกิดขึ้นเฉพาะผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น และก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรานั้น เป็นความรู้ชนิดไหนเกิดขึ้นจึงถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

คือถ้ามีความรู้เกิดขึ้นเพราะการฟัง เป็นสุตาญาณนี้ก็จัดว่ายังไม่เป็นการบรรลุ แต่ถ้าความรู้ประเภทใดเกิดขึ้นแก่เราแล้วสามารถที่จะเปลี่ยนจิตใจของเราได้ คือความรู้ประเภทนี้ เมื่อเกิดขึ้นมา ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป จิตใจก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ

เมื่อก่อนนั้นเป็นปุถุชนอยู่ แต่ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้วความเป็นปุถุชนนั้นหมดไปสูญไป ความเป็นอริยบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาทันที

สรุปเอาสั้นๆ ว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นแก่เรา ที่ท่านว่าบรรลุๆ นั้น ก็คือเมื่อความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลงหมดไป นิสัยก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกลับหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้าความรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นมาเมื่อใด ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้จำไว้เถิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อันนี้เป็นประเภทที่ ๑

๒.ฟังเพื่อเอาบุญ การฟังธรรมนี้ได้บุญอย่างไร ได้บุญอย่างนี้คือ ในขณะที่เราฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่นี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี เป็นศีลแล้ว ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

แต่ศีลที่พากันสมาทานอยู่ทุกวันนี้ ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย เรียกว่าเป็นปกติศีล มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น เราไม่ฆ่าไก่ ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลา ก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็มีสุราเมรัยเป็นอารมณ์ นั้นยังเป็นปกติศีลอยู่ ยังไม่สามารถที่จะทำให้ได้บรรลุมรรคผล

แต่ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะที่เจริญกัมมัฏฐาน สมมติว่าท่านทั้งหลายนั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็กำหนดไปด้วยว่า ได้ยินหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่ง กำหนดตามไปอย่างนี้ ศีลที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนี้ เป็นปรมัตถศีล มีรูปนามเป็นอารมณ์ เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะให้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ในขณะที่เราฟังการบรรยายธรรมอยู่นั้น จิตใจของเราจดจ่อ ไม่เผลอจากธรรมะที่บรรยายนั้น เป็นสมาธิ คือเป็นขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว สามารถที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นั้น ถ้าเกิดความรู้ขึ้นมา หมดความสงสัย มีความเข้าใจ จิตใจของเราเกิดปีติ มีความผ่องใส มีความเห็นถูกนั้นเป็นปัญญา การฟังเทศน์ฟังธรรมได้บุญอย่างไร มีอุทาหรณ์ที่ท่านกล่าวไว้ในมงคลทีปนีว่า

มีแม่ไก่ตัวหนึ่ง ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะอยู่ที่โรงธรรมสภาศาลา ในขณะที่พระสอนธรรมนั้น แม่ไก่ตัวนั้นก็เงี่ยหูฟังธรรมไปด้วยความดีใจ เพลิดเพลินไปกับเสียงพระสอนธรรม บังเอิญในขณะนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็นแม่ไก่ตัวนั้นแล้วก็บินโฉบลงมาฉวยเอาคอไก่ตัวนั้นตายไป และในขณะที่แม่ไก่ตัวนั้นจะตาย เผอิญได้เห็นพระธิดาของพระราชากำลังเสด็จเลียบพระนคร

เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ก็ไปบังเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์ในพระนครนั้น เพราะเหตุไร แม่ไก่แท้ๆ จึงสามารถไปเกิดเป็นคน เป็นธิดาพระมหากษัตริย์ได้ ก็เพราะค่าที่แม่ไก่ตัวนั้นมีความปลื้มปีติใจในการที่พระท่านสอนธรรมะ และมีความดีใจที่ได้ฟังพระท่านสอนธรรมะนั้น ค่าที่มีความดีใจในธรรมะที่ตนฟังอยู่นั้นแหละ เป็นกรรม เป็นกรรมนิมิต เป็นคตินิมิต เกิดเป็นธิดาของพระมหากษัตริย์

เมื่อเกิดเป็นธิดาพระมหากษัตริย์แล้ว เจริญวัยขึ้นมา ออกบวชเจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้ฌานโลกีย์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกมาเป็นลูกเศรษฐี จุติจากลูกเศรษฐีมาเกิดเป็นลูกสุกรบ้าน

เห็นพระพุทธเจ้าแล้วมีความยินดี ด้วยความยินดีที่เห็นพระพุทธเจ้านั้น จุติจากลูกสุกรบ้านนั้นจึงไปบังเกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ จุติจากธิดาของกษัตริย์มาเกิดในบ้านคามวาสี จุติจากบ้านคามวาสีมาเกิดเป็นลูกพ่อค้า จุติจากความเป็นลูกพ่อค้ามาเกิดเป็นลูกนายสำเภา จุติจากความเป็นลูกของนายสำเภามาเกิดที่เมืองอนุราธบุรี เป็นธิดาของกุฎุมพีในเมืองอนุราธบุรีชื่อว่า สุมนา เมื่อนางเจริญวัยขึ้นมาได้เป็นภรรยาของอำมาตย์ในเมืองอนุราธบุรีนั้น

วันหนึ่ง ท่านอุตตระเถระพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปบิณฑบาตด้วยกัน เห็นนางจึงกล่าวกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ท่านขอรับ ลูกสุกรบ้านมาเกิดที่นี้อีกแล้ว พอนางได้ฟังท่านพระเถระกล่าวว่าตนนั้นเป็นลูกสุกรบ้าน ก็เกิดความสังเวชสลดใจจึงไปลาสามีออกบวช เมื่อสามีอนุญาตแล้วก็ออกบวช ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้วนี้

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องกบฟังธรรม มีกบตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ที่ริมสระโบกขรณี วันหนึ่ง ในขณะที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่เหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย กบตัวนั้นพอได้ยินเสียงแสดงธรรมของพระพุทธองค์ก็เกิดความดีใจเงี่ยหูฟังธรรมไปๆ

ในขณะนั้น มีคนเลี้ยงโคผ่านมาโดยที่ไม่ได้พิจารณา ไม้เท้าที่ถืออยู่ก็ไปถูกกบตัวนั้นตาย เมื่อกบตัวนั้นตายไปแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก ชื่อว่า มัณฑุกเทพบุตร แปลว่า เทพบุตรกบ เทพบุตรนั้นก็พิจารณาว่า สมบัติอันเป็นทิพย์ทั้งปวงนี้ เราได้เพราะบุญอะไรหนอแล อนุสรณ์ย้อนระลึกถึงหนหลังถึงอดีตกาลที่ผ่านมาก็ทราบได้ว่า ไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรไว้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อครู่นี้ได้ฟังเทศน์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้มาเกิดเป็นเทพบุตรในที่นี้ ด้วยบุญเพราะความเลื่อมใสในพระสัทธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแท้ๆ

นึกถึงพระคุณขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ลงมาเฝ้ากราบแทบเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระบรมโลกนาถอยู่ พระองค์ได้ตรัสว่า โก เม วนฺทติ ปาทานิ ใครหนอไหว้เท้าเราอยู่เดี๋ยวนี้

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์เมื่อครู่นี้ เป็นกบอยู่ริมสระโบกขรณี ได้ฟังสมเด็จพ่อเทศน์ด้วยความดีใจ แต่บังเอิญถูกพวกคนเลี้ยงโคฆ่าตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรนึกถึงพระคุณของสมเด็จพ่อ จึงได้ลงมาเฝ้า เพื่อสมเด็จพ่อจะได้เทศน์โปรด

พระองค์ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ฟัง เทพบุตรนั้นก็ส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมได้ผลได้อานิสงส์ ดังกล่าวมาแล้ว นี้เป็นประการที่ ๒

๓.ฟังเพื่อเป็นอุปนิสัย การฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นอุปนิสัยได้อย่างนี้ คือ สมมติว่าท่านทั้งหลาย นับตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราได้ฟังธรรมไปหลายเรื่องแล้ว เมื่อฟังแล้วเราก็จำได้ การจำได้นั่นแหละเป็นอุปนิสัยแล้ว

ถ้าวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า เราบังเอิญได้ไปฟังธรรมะเรื่องนั้นๆ อีก เราก็จำได้ทันทีว่า ธรรมะเรื่องนี้มีความหมายอย่างนี้ๆ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา พระองค์ต้องตรวจดูอุปนิสัยของผู้ฟังก่อนว่า ผู้นี้บุคคลนี้ เมื่อก่อนโน้นเขาได้ทำบุญทำทานไว้อย่างไร จะแสดงพระสัทธรรมเทศนาเรื่องอะไรจึงจะเกิดประโยชน์โสตถิผลแก่เขา

เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้วจึงทรงได้นำเอาธรรมะเรื่องนั้นมาเทศน์มาแสดงให้ฟัง เมื่อฟังแล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลทันที เพราะเหตุไรจึงได้บรรลุ ก็เพราะว่าธรรมะเรื่องนั้น ได้เคยฟังมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ได้บำเพ็ญไว้เป็นอุปนิสัยปัจจัยแล้ว

การฟังเทศน์จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยอย่างไรนั้น จะยกเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย มาเป็นอุทาหรณ์ มีเรื่องเล่าไว้ว่า

ในศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีงูเหลือมใหญ่ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในโพรงไม้ใกล้โรงธรรมสภาศาลา วันหนึ่ง ได้ฟังพระท่านได้สาธยายธรรมะเรื่อง อายตนกถา งูเหลือมใหญ่ตัวนั้น ก็เงี่ยหูฟังด้วยความดีอกดีใจ ค่าที่ฟังธรรมะด้วยความดีอกดีใจนั่นแล จุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในเทวโลก

สํสรนฺโต ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ เมื่อถึงศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ จุติลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ในตระกูลพราหมณ์ในเมืองปาฏลีบุตร เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้ออกบวชเป็นนักบวชนอกศาสนาชื่อโสณาชีวก เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้อภิญญาโลกีย์ พระเจ้าวินทุสารผู้ครองราชสมบัติได้ถวายพระองค์เป็นตระกูลอุปัฏฐาก

วันหนึ่ง พระมเหสีของพระองค์ทรงครรภ์ เกิดอาการแพ้ท้องขึ้นมา คือพระนางอยากเหยียบพระจันทร์ด้วยพระบาทเบื้องหนึ่ง อยากเหยียบพระอาทิตย์ด้วยพระบาทอีกเบื้องหนึ่ง อยากเสวยหมู่ดาวนักขัตฤกษ์ รากดิน ไม้ใหญ่ พอดีพระเจ้าวินทุสารทรงทราบเช่นนั้นก็ทรงดีพระทัย จัดทำพิธีกรรมเพื่อให้พระนางหายแพ้ท้อง คือทรงตรัสสั่งให้คนทั้งหลายทำขนมเบื้องเป็น ๒ แผ่นใหญ่

เมื่อทำเสร็จแล้วก็นำไปถวายพระนางแล้วบอกว่า นี้เป็นพระอาทิตย์ นี้เป็นพระจันทร์ เสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายทำขนมต้มที่มีสีดังดาว และทำขนมแดกงาซึ่งมีลักษณะเหมือนเหง้าไม้และรากดินที่จะเสวย เมื่อทำเสร็จแล้วก็ให้คนทั้งหลายกวาดหน้าพระลานหลวง แล้วเอาเสื่อลำแพนมาเจาะเป็นรูๆ แล้วเอาขนมยัดใส่ตามช่องนั้นๆ นำถวายพระนางให้ทรงเสวย เมื่อเสวยแล้ว อาการแพ้ท้องนั้นก็หายไป

วันหนึ่ง พระเจ้าวินทุสารมีพระประสงค์อยากทราบว่า เพราะเหตุไร พระมเหสีจึงมีอาการแพ้ท้องอย่างนี้ จึงตรัสถามโสณาชีวก โสณาชีวกก็ถวายพระพรแก่พระราชาว่า พระราชกุมาร ที่อยู่ในพระครรภ์ของพระมเหสีนี้ จะเป็นผู้มีบุญญาวาสนาบารมี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว จะขึ้นครองราชสมบัติ จะครอบงำพระยาทั้งหลายทั้ง ๑๐๑ พระองค์ จะมีอำนาจแผ่ไปทั้งเบื้องบนและท่ามกลางได้ถึง ๑ โยชน์

เมื่อโสณาชีวกพยากรณ์แล้ว ก็ออกจากเมืองปาฏลีบุตรไปไกลถึง ๑ โยชน์ เพื่อให้พ้นจากอำนาจของพระราชกุมาร เมื่อถ้วนทศมาสแล้ว พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ได้ทรงขนานพระนามโอรสว่า อโศกราชกุมาร เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้นมา ได้ครองราชย์สมบัติแทนพระราชบิดา

อยู่มาวันหนึ่ง พระมารดาได้เล่าเรื่องทั้งหมดนั้นให้พระกุมารฟัง อโศกราชกุมารมีความประสงค์อยากจะทำการบูชาโสณาชีวก จึงสั่งให้คนทั้งหลายเอาคานทองไปเชิญเอาโสณาชีวกมาสู่พระราชวัง เมื่อโสณาชีวกรับแล้วก็ขึ้นสู่คานทอง คนทั้งหลายก็หามมาตามมรรคา แต่บังเอิญหนทางที่มานั้นต้องผ่านวัดแห่งหนึ่งของท่านพระอัสสคุตต์เถระ พระอัสสคุตต์เถระนั้นเป็นพระอรหันต์อภิญญาที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม

บรรดาสัตว์ป่าทั้งหลายจึงมาอาศัยวัดท่านอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อโสณาชีวกไปถึงวัดของท่านแล้วก็ลงจากคานหามเดินเข้าไปภายในวัด แล้วก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่า สัตว์เหล่านี้มาอยู่รวมกันที่นี้ได้อย่างไรเป็นจำนวนมากมายถึงขนาดนี้ แล้วต่างตัวต่างก็เป็นมิตรกัน เช่น พวกสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์ พวกเสือ อย่างนี้ ตามปกติมันจะเป็นศัตรูกัน แต่ในที่นี้เป็นมิตรกันได้อย่างไร มีความสงสัย แล้วก็เข้าไปถามท่านพระอัสสคุตต์เถระว่า

ท่านขอรับ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่ออะไร มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร

แทนที่ท่านพระอัสสคุตต์เถระจะตอบในทันทีก็หาไม่ ท่านได้ใช้ปัญญาของท่านที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ระลึกถึงอดีตกาลที่ผ่านมา ว่าเมื่อก่อนโน้น โสณาชีวกนี้ได้เคยทำบุญทำทานไว้อย่างไร ให้คำตอบอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ชีวกนี้

เมื่อระลึกไปๆ ท่านก็ทราบด้วยปัญญาญาณของท่านว่า เมื่อครั้งศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ชีวกนี้ได้เป็นงูเหลือมใหญ่อยู่ในโพรงไม้ ได้ฟังพระท่านสาธยายซึ่ง อายตนกถา หากว่าเราพูดเรื่องอายตนะแล้ว โสณาชีวกนี้จะเกิดหิริโอตตัปปะ เกิดความเลื่อมใส และจะบรรลุคุณอันใหญ่หลวง

เมื่อท่านทราบเช่นนี้แล้วก็ตอบโสณาชีวกว่า ดูก่อนโสณาชีวก สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ชื่อ อายตนะ พอโสณาชีวกได้ฟังว่า สัตว์เหล่านี้ชื่อ อายตนะ เท่านั้น ก็เกิดหิริโอตตัปปะ มีความละอายบาป มีความสะดุ้งกลัวต่อบาปขึ้นมาทันที นั่งยองๆ จะกราบพระเถระ ท่านก็โยนผ้าอาบน้ำให้ แล้วก็กราบท่านขอบวชในสำนักของท่าน เมื่อบวชแล้วก็ได้เจริญวิปัสสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นเป็นอุปนิสัยปัจจัยดังกล่าวมา เหตุนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมหรือว่าการทำบุญทำทานต่างๆ นั้น พวกเราจึงนิยมการฟังธรรม เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือว่าจัดงานมงคลที่ไหนขึ้นมา หากว่างานมงคลนั้นๆ ไม่มีการเทศน์ ไม่มีการบรรยายธรรมะ งานจะกร่อยขึ้นมาทันที จืดชืดไม่มีรสไม่มีชาดขึ้นมา

พวกเราทั้งหลายจึงได้ถือเป็นประเพณี คือเมื่อมีงานมงคลที่ไหน ตลอดถึงงานศพก็ตาม จึงมีการฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย ส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนกว่าจะได้บรรลุอมตธรรม การฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัยดังกล่าวมานี้เป็นประการที่ ๓



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 มิถุนายน 2559 15:37:41


ความมุ่งหมายของการฟังธรรม (ต่อ)



๔.ฟังเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยจำแนกออกเป็น ๒ คือ
     ๑) ฟังแล้วจำไว้ เมื่อมีโอกาสจะได้นำมาปฏิบัติ
     ๒) ถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมชั้นสูง เราฟังในขณะนี้แล้วก็ปฏิบัติในขณะนี้ทันที เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้

ท่านทั้งหลายที่นั่งฟังการบรรยายธรรมอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูง คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เมื่อเป็นเช่นนี้ ในขณะที่เราฟังธรรมอยู่นี้ ก็ปฏิบัติในขณะนี้ได้เลยทันที เพราะเหตุไรจึงว่าอย่างนี้ เพราะว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น เราเอารูป เอานามเป็นอารมณ์

ในขณะที่ฟังการบรรยายธรรมะอยู่ในขณะนี้ รูปนามเกิดพร้อมหมดแล้ว คือเสียงที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะอยู่นี้ก็เป็นรูป หูของท่านทั้งหลายเป็นรูป ใจของท่านทั้งหลายที่รู้ธรรมะนี้ก็เป็นนาม รูปนามเกิดขึ้นพร้อมกันหมดแล้ว เหตุนั้นเมื่อท่านทั้งหลายฟังไปๆ กำหนดไปๆ ว่าได้ยินหนอๆ หรือว่ารู้หนอๆ หรือว่าพุทโธๆ ตามไป ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย เมื่อเราฟังไป หากว่ามัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นก็ได้บรรลุ หากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับฌานวิถี ก็เป็นสมาบัติไปทันที

การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างไร เราทั้งหลายได้ศึกษามาแล้ว เช่นว่า เราได้ศึกษามาในเรื่องพุทธประวัติ เราก็จะเห็นว่าพวกปัญจวัคคีย์ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี ก็เพราะการฟังธรรม

พระยสะพร้อมทั้งบิดามารดา และสหายทั้ง ๕๕ คน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันหรือพระอรหันต์ ก็เพราะการฟังธรรม พระเจ้าพิมพิสารกับทั้งบริวารจำนวน ๑๑ หมื่น (๑๑ นหุต) ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ก็เพราะการฟังธรรมทั้งนั้น

ข้อนี้เพื่อเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ให้เด่นชัดขึ้น จึงจะได้นำเรื่องของ พาหิยทารุจีริยะ มาแสดง

มีเรื่องเล่าไว้ว่า มีตระกูลอยู่ตระกูลหนึ่งมีบุตรชายอยู่คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยะ เมื่อเขาเจริญวัยขึ้นมา บิดาก็ได้ตายไป พาหิยะนั้นอยู่กับมารดาเรื่อยมา วันหนึ่งเขาอยากไปกับพวกพ่อค้าสำเภาจึงไปลามารดา แต่มารดาไม่อนุญาต ถึงมารดาไม่อนุญาตเขาก็หาฟังไม่ ได้ไปกับพวกพ่อค้าสำเภาทั้งหลาย

เมื่อเรือสำเภาแล่นไปกลางทะเลเป็นเวลา ๗ วัน เรือก็ได้อับปางจมลงในมหาสมุทร บรรดาคนทั้งหลายที่อยู่ในเรือนั้นก็ต่างว่ายน้ำเอาตัวรอด บางคนก็เป็นอาหารของพวกปลาพวกเต่าไป บ้างก็จมน้ำตาย แต่บังเอิญพาหิยะนี้ได้กระดานแผ่นหนึ่ง อาศัยแหวกว่ายไปในมหาสมุทรนั้น เครื่องนุ่งห่มก็หลุดลุ่ยไปหมด

เขาได้ล่องลอยตามกระแสน้ำได้ ๗ วันก็ถึงฝั่ง ขึ้นไปบนบ้านแห่งหนึ่ง และบ้านที่เขาขึ้นไปนั้นเป็นบ้านที่นับถือผู้ที่ไม่นุ่งไม่ห่มว่าเป็นพระอรหันต์ พอพาหิยะเข้าไปเท่านั้น ประชาชนทั้งหลายก็พากันมากราบไหว้ว่า พระคุณเจ้าของเรามาแล้ว พระอรหันต์ของพวกเรามาแล้ว ต่างก็พากันมากราบไหว้สักการะบูชา นำจตุปัจจัยไทยธรรมมาถวาย

พาหิยะก็คิดว่า การไม่นุ่งไม่ห่มนี้ เขาถือว่าเป็นพระอรหันต์ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่นุ่งไม่ห่มละ ก็เที่ยวเตร่ไปๆ มาๆ แสดงตนเป็นอรหันต์

ร้อนถึงพระพรหมบนพรหมโลก ซึ่งเมื่อก่อนได้เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้เป็นพระอนาคามีแล้วไปบังเกิดอยู่ในพรหมโลก ลงมาบอกว่า ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เพศที่เธอถืออยู่นี้ ไม่ใช่เพศของพระอรหันต์ เป็นอเจลกะเปลือย เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา โน้นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก อยู่ที่เมืองสาวัตถี

พอพาหิยะได้ฟังดังนั้นก็เกิดความละอายขึ้นมาในจิตใจ เกิดความสลดสังเวชในจิตใจ จึงได้ออกวิ่งทันที วิ่งตลอดทั้งคืน พอดีรุ่งเช้าก็ไปถึงกรุงสาวัตถี ซึ่งเป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกเที่ยวภิกขาจาร

พาหิยะนั้น กำลังเหนื่อยกระหืดกระหอบอยู่นั้นเอง ก็เข้าไปกราบแทบพระยุคลบาทของพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์จงได้ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ข้าพระองค์ได้ฟังด้วยเถิด

พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ ขณะนี้เราตถาคตกำลังเที่ยวบิณฑบาต เมื่อตถาคตกลับจากบิณฑบาตเสียก่อนแล้วจึงค่อยฟัง

พระพุทธเจ้าข้า ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์อาจจะตายก่อน หรือมิฉะนั้น พระองค์อาจจะปรินิพพานเสียก่อนก็ได้

พระองค์จึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เธอจงตั้งใจฟังให้ดี แล้วพระองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า “ดูก่อนพาหิยะทารุจีริยะ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน” พาหิยะก็ได้กำหนดตามไปว่า เห็นหนอๆ ได้ยินหนอๆ สองคำเท่านั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพาหิยะก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระองค์ทรงยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายทาง ขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็ว

นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ เมื่อพาหิยะได้ฟังธรรมได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไปแสวงหาผ้าเพื่อจะมาขอบวช ขณะนั้น นางยักษิณีซึ่งเป็นเจ้ากรรมนายเวร ได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้แก่กันในปางก่อน ได้ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกันไว้ ได้แปลงร่างเป็นแม่โคมาคอยอยู่ก่อนแล้ว พอพาหิยะเดินผ่านมา ก็กระโดดเข้าขวิดทันที พาหิยะก็ปรินิพพานในที่นั้น

และในวันนั้นเอง พวกภิกษุก็ได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า ท่านทั้งหลาย พาหิยะได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ได้เที่ยวแสวงหาผ้าเพื่อจะมาบวช แต่ได้ถูกแม่โคขวิดตาย เมื่อตายแล้วเขาจะไปเกิดในที่ไหน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบแล้ว จึงได้เสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายได้สนทนากันด้วยเรื่องอะไร

พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพาหิยะว่า เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน

พระองค์ได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราปรินิพพานแล้ว อันนี้เป็นเรื่องในอดีต

ต่อไปนี้ เราวกเข้ามาในเรื่องปัจจุบันกัน คือในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานในขณะฟังนี้ ก็มีเป็นจำนวนมากเหมือนกัน จะขอยกเอาบุคคลแรกที่หลวงพ่อได้ประสบการณ์มา

คือมีโยมคนหนึ่งมาถามหลวงพ่อว่า ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนนั้นการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นท่านฟังกันอย่างไรจึงได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หลวงพ่อก็ได้เล่าให้ฟังเหมือนกับที่บรรยายให้ท่านฟังนี้แหละ พอดีโยมคนนั้นกลับไปบ้าน

วันนั้น เป็นเดือนสิบเพ็งบุญสลากภัต พระท่านเทศน์เรื่องปฐมสมโพธิกถา โยมคนนั้นก็สมาทานอุโบสถศีล รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้วก็นั่งฟังธรรม กำหนดไปๆ ไม่ช้าไม่นานก็ได้สมาธิ นั่งสงบจิตใจขาดความรู้สึกอยู่นั้น พอดีออกจากสมาธิมา พระสงฆ์สามเณรตลอดถึงผู้รักษาอุโบสถศีลด้วยกันก็ฉันภัตตาหาร รับประทานอาหาร ให้พรเสร็จแล้ว เป็นเวลาตั้ง ๓ ชั่วโมงเศษๆ ถ้าเราฟังเป็นก็ได้อย่างนี้

และก็มีโยมคนหนึ่งชื่อว่า โยมแดง วันนั้นไปฟังเทศน์ตอน ๔ โมงเย็น ตามปกติในพรรษาได้ตีระฆังสัญญาณเพื่อฟังธรรมตอนค่ำ โยมแดงนั้นก็มาฟังธรรม ประนมมือฟังธรรมไปๆ เกิดปีติ มีอาการสั่นๆ ขึ้นมา พระผู้เทศน์ก็บอกว่าเอามือลงๆ เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงดำรงสติให้มั่น ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า พุทโธๆ ตามไป โยมคนนั้นก็กำหนดตามไปๆ ไม่ช้าไม่นานจิตก็สงบเป็นสมาธิ นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นเป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ออกจากสมาธิแล้ว พระสงฆ์สามเณรต้องไปส่งที่บ้าน

นี้แลท่านทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ถ้าว่าเราฟังเป็นก็สามารถที่จะได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานในขณะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในสำนักนี้ก็เหมือนกัน ทุกปีๆ ที่มีการจัดปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ผู้ที่ได้สมาธิ หรือบรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้มีเป็นจำนวนมาก แต่มีพิเศษอยู่ปีหนึ่ง คือปี พ.ศ. ๒๕๒๔

วันนั้น ก่อนจะบรรยายธรรมก็เตือนสติให้กำหนดในเวลาฟังเทศน์ และธรรมะที่บรรยายก็กัณฑ์เดียวกันนี้ พอดีบรรยายธรรมจบ พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่ได้สมาธิ ที่คลายจากสมาธิ ก็พากันกราบพระแล้วลุกไป ทางคณะปะขาวแม่ชีก็เหมือนกัน ผู้ที่นั่งอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ลุกไปแล้วก็มี แต่ทางบรรดาลูกเณรทั้งหลาย เห็นนั่งกันเต็มเพียบ ไม่กระดุกกระดิก ไม่ไหวติง

ก็นึกในใจว่า เอ วันนี้เป็นอะไรหนอ บรรดาลูกเณรทั้งหลายจึงน่ารักเหลือเกิน ทุกวัน เวลาฟังเทศน์นั้นต้องคุยกัน กระดุกกระดิก คนนั้นผลักคนนี้ คนนี้หยิกคนนั้น แต่วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อหลวงพ่อบรรยายเสร็จกราบพระแล้วก็เดินไปสำรวจลูกเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย บรรดาลูกเณรจำนวน ๓๕ รูปนั้น เข้าสมาธิไปหมดแล้ว จนครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอ้โฮ มันเป็นไปได้ถึงขนาดนี้เชียวหรือ

แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็เป็นไปแล้ว แม้จะไปสอนกัมมัฏฐานที่ไหนก็ดี ทุกปีๆ ที่สอนกัมมัฏฐานนั้นจะมีผู้ได้สมาธิเวลาฟังนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ปีที่กลับมาจากบ้านนาตาลใต้ มีเวลาว่างอยู่ ๑๐ กว่าวันก็มาจัดที่วัด

บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายที่พากันมาปฏิบัติธรรมมาฟังการบรรยายธรรมตอนค่ำ ก็พากันนั่งข้างหน้าหลวงพ่อ หลวงพ่อบอกว่า ให้ตั้งอกตั้งใจนั่งสมาธิฟังให้ดี วันนั้นเป็นวันแรก บรรยายธรรมประมาณ ๔๕ นาที ท่านทั้งหลายเพียง ๔๕ นาทีเท่านั้น บรรดาลูกสาวน้อยทั้งหลายอายุ ๙ ปีก็มี ๑๐ ปี ๑๑ ปี ๑๒ ปี ๑๓ ปีก็มี ได้สมาธิไปตั้ง ๑๒ คน ไม่ถึงชั่วโมงเลย ๔๕ นาทีเท่านั้น ได้สมาธิถึง ๑๒ คน

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ได้บุญได้อานิสงส์ เป็นอุปนิสัยปัจจัย สามารถที่จะได้สมาธิ ได้สมาบัติ หรือบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ถ้าเราฟังเป็น

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า สมาธิที่เกิดขึ้นนั้น เราจะจัดเป็นการบรรลุหรือไม่ได้บรรลุ เราแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของฌานชวนะวิถี สมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นสมาบัติไป ยังเป็นโลกิยสมาบัติอยู่

แต่หากว่าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นแก่เราในขณะนั่งฟังนั้นเกิดขั้นในลำดับมัคควิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล

เมื่ออัปปนาสมาธิเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๑ ก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว

เราฟังธรรมต่อไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นมาในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ ก็ได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว

เราฟังไปๆ ฟังต่อไปอีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๓ ก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว

เราก็ฟังไปๆ อีก อัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถีอีกครั้งที่ ๔ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

การบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที หรือเพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปฏิปทาและชวนวิถี จึงเป็นอันว่าการฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นได้บุญได้อานิสงส์ ดังที่ได้บรรยายมาฉะนี้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง ความมุ่งหมายของการฟังธรรมมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 สิงหาคม 2559 12:52:00
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQRvNraHYwqflgLGWER3nl7tSQEZ3qHYldYOpBLhbWpIgO_ZyMd)

ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด

วันนี้ หลวงพ่อจะได้นำธรรมะ เรื่อง ชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียรเถิด มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า ชีวิต ได้แก่ สันตติ ความสืบต่อ ระบายลมหายใจเข้าออก

ชีวิตนี้ท่านจัดเป็นของน้อยเพราะว่ากำหนดประมาณไม่ได้ กำหนดไม่ได้ว่าเราจะตายวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น กำหนดไม่ได้เลย จะกำหนดได้เฉพาะวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิดเท่านั้น สำหรับวันตาย เดือนตาย ปีตาย เรากำหนดไม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ได้อภิญญาจิตเท่านั้นจึงจะกำหนดได้

เพราะว่าความตายนี้ ไม่เลือกหน้าว่าเป็นพระภิกษุสามเณรหรือชาวบ้าน อยู่ในวัยใดก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ดังวจนะประพันธ์ภาษิตที่กล่าวไว้ว่า
อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ      สพฺเพ มจฺจุปรายนา
สพฺพํ เภทปริยนฺตํ    เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ
   
   
ทั้งคนมั่งมีทั้งคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าด้วยกันทั้งนั้น ภาชนะดินมีอันแตกสลายไปเป็นที่สุดฉันใด ชีวิตของพวกสัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้น

ถ้าจะเปรียบชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น ท่านอุปมาไว้เหมือนกันกับน้ำค้างที่ติดอยู่บนปลายหญ้า เมื่อถูกแสงพระอาทิตย์ ก็จะเหือดแห้งไปโดยฉับพลันฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง ท่านอุปมาเหมือนกันกับแสงหิ่งห้อยซึ่งคอยวับๆ แวบๆ ในเวลากลางคืน ชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้นก็ดับไปฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วพลันแต่ที่จะดับไปเหมือนกัน ฉันนั้น

หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษผู้มีกำลังกล้าสามารถที่จะบ้วนเขฬะให้พ้นไปจากปากได้โดยไม่ยากฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก ฉันนั้น

หรืออีกอย่างหนึ่งชีวิตของสรรพสัตว์นี้ านอุปมาเหมือนกับชิ้นเนื้อซึ่งย่างด้วยไฟอันร้อนโชนก็จะถูกไหม้เป็นเถ้าถ่านโดยไม่ยากฉันใดชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องถูกความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถูกไฟกิเลส ไฟทุกข์ทั้งหลาย เผาลนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็พลันแต่จะดับไปโดยไม่ยาก เหมือนกันฉันนั้น

หรือจะเปรียบให้เห็นง่ายๆ ก็อุปมาได้เหมือนกันกับสตรีทอหูก (หลอดหูก) ข้างหน้าน้อยเข้าไปทุกทีฉันใด ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ใกล้เข้าไปต่อความตายทุกวันเหมือนกันฉันนั้น วันคืนเดือนปีล่วงไปแต่ละวันนี้ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เคลื่อนคล้อยใกล้เข้าไปสู่ความตายฉันนั้น

เหตุนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายนั้นจึงทรงตรัสว่า ชีวิตนั้นเป็นของน้อย คือเกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงปัจฉิมวัย บางทีอาจตายเสียแต่ปฐมวัยหรือมัชฌิมวัยก็ได้ เพราะว่าความตายนี้ เราไม่มีอำนาจอะไรที่จะมาขัดขวางได้

แม้เราจะมีเวทมนต์กลคาถามาต่อสู้กับมัจจุราชผู้ที่มีเสนาใหญ่ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ หรือเราจะมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์สักปานใดมาเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าความตายนั้นไม่เลือกว่าไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ คนยากจน คนมั่งมี ก็ล้วนแต่มีความตายด้วยกัน ฉันนั้น เมื่อมีชาติคือความเกิดในเบื้องต้น ก็ต้องมีความตายเป็นที่สุด

ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระบวรสันดานเต็มเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงในมวลสัตว์ทั้งหลายผู้ที่เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์จึงได้ทรงนำเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา ๖ พรรษา ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ รู้จักมรรคปฏิปทาอันเป็นหนทางที่จะให้พ้นจากความทุกข์ ถึงฝั่งคืออมตะมหานฤพานมาชี้แจงแสดงไขให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทพยดาและมนุษย์ ตลอดถึงพรหม ให้ได้รู้ได้ประพฤติได้ทราบได้ปฏิบัติตาม เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น

ธรรมะที่พระองค์ได้ทรงแนะนำพร่ำสอน เพื่อที่จะให้เราทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติ เพื่อที่จะดับเพลิงกิเลสและกองทุกข์นั้น โดยย่อมีอยู่ ๔ ประการ

๑.สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดานของตน เช่นว่าเวลาเดินจงกรม ใจของเราอยู่กับรูปกับนาม อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาที่เรานั่ง ใจของเราอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เมื่อได้ปัจจุบันทันรูปนามดีแล้ว โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นแหละชื่อว่า ระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดาน

ตัวบาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้วก็ได้แก่ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่ทำบาปตายแล้วตกนรก จะเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ เป็นผลซึ่งเกิดจาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ต่างหาก

แต่เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้ว ความโลภโกรธหลงนั่นแหละที่เป็นตัวบาป เมื่อใดเรายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ ก็แสดงว่าเรายังมีบาปที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา เมื่อใดความโลภความโกรธความหลง ไม่มีอยู่ในสันดานของเรา ก็แสดงว่าเมื่อนั้น บาปไม่มี มีแต่กุศลนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา

เหตุนั้นแหละ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิ เรากำหนดอาการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ เราก็กำหนดอยู่ทุกอิริยาบถ นี้เรียกว่า สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนเอง

๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมไป และเพียรไม่ให้บาปใหม่เกิดในขันธสันดานอีกต่อไป ได้แก่ เพียรในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนดังที่พวกเราทั้งหลายกำลังเจริญกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่น เราภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบนั้นตลอดไปมีเผลอน้อย

ขณะนั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี นั่นแหละจัดว่าเป็นศีล ใจของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับอาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ไม่เผลอไปจากรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เป็นสมาธิ คือขณิกสมาธิ สมาธิขั้นนี้ จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้นชื่อว่าปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว กิเลสคือบาปทั้งหลาย อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็เป็นอันว่าละได้แล้ว โดยตทังคปหานบ้าง ละได้โดยสมุจเฉทปหานบ้าง

เมื่อใดเราได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปตามลำดับๆ จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่ฆ่ากิเลสตาย คลายกิเลสออก สำรอกกิเลสหลุด ผุดเป็นวิสุทธิสงฆ์ สำเร็จเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าละบาปได้หมดสิ้น ไม่มีอยู่ในขันธสันดานอีกต่อไป

ดังตัวอย่างของพระอังคุลิมาล มีเรื่องที่เล่าไว้ในอังคุลิมาลสูตรในโลกวรรค ธรรมบท ท่านกล่าวไว้ว่า

พระอังคุลิมาลนั้น เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในเมืองสาวัตถี มารดาชื่อว่า มันตานีพราหมณี ในวันที่ออกจากครรภ์ของมารดานั้น ก็เกิดเหตุอาเพศขึ้นมา คืออาวุธยุทโธปกรณ์ หรือพระขรรค์ ซึ่งอยู่ในคลังอาวุธก็ดี ที่อยู่ตามบ้านของชนทั้งหลายก็ดี ก็เกิดแสงสว่างไสวรุ่งโรจน์โชติช่วงดังเปลวเพลิงขึ้นมา เกิดเหตุอาเพศอันน่าอัศจรรย์

สำหรับปุโรหิตผู้เป็นบิดาก็คิดว่า นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ จึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นมา จึงออกไปข้างนอก แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ทั้งปวง ก็ทราบได้ทันทีว่า ฤกษ์นี้เป็น ฤกษ์แห่งมหาโจร ถ้าผู้ใดเกิดในฤกษ์นี้ ผู้นั้นเจริญวัยขึ้นมาจะเป็นมหาโจร แม้บุตรของเราก็เกิดในฤกษ์นี้เหมือนกัน บุตรของเรานี้เกิดขึ้นมาและเจริญวัยขึ้นมาแล้วจะเป็นมหาโจร อย่ากระนั้นเลย เราหาวิธี หาอุบาย เพื่อที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลมดีกว่า จะปล่อยให้บุตรของเรากลายเป็นมหาโจรไม่ได้

เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้พระองค์ทรงทราบแล้วกราบทูลให้พระองค์นำบุตรของตนไปประหารชีวิตเสีย แต่ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้ทรงกระทำตาม ตรัสสั่งให้เลี้ยงไว้ต่อไป และก็ทรงตั้งชื่อว่า อหิงสกะกุมาร แปลว่ากุมารผู้ไม่เบียดเบียน ที่ตั้งชื่อเช่นนี้ เพื่อว่าเป็นการแก้เคล็ด โดยที่คิดว่าเมื่อเจริญวัยขึ้นมาแล้ว อาจจะไม่เป็นมหาโจรก็ได้

ในเมื่ออหิงสกะกุมารนั้นเจริญวัยขึ้นมา สมควรที่จะศึกษาศิลปะวิทยาแล้ว บิดามารดาก็ได้นำไปมอบให้แก่ทิศาปาโมกข์อาจารย์ อังคุลิมาลนั้นเป็นคนที่มีสติปัญญามาก มันสมองดี สามารถที่จะศึกษาศิลปะวิทยาได้คล่องแคล่ว สำเร็จก่อนศิษย์ทั้งหลายที่ร่วมอาจารย์เดียวกัน

บรรดาศิษย์ทั้งหลายก็เกิดความอิจฉาตาร้อนขึ้นมาหาทางที่จะกำจัดอหิงสกะกุมาร ก็ปรึกษาหารือกันว่าพวกเราจะทำอย่างไรดี อหิงสกะกุมารนี้เกินหน้าพวกเรา ล้ำหน้าพวกเรา เราควรที่จะกำจัดเขาเสียดีกว่า เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม แล้วให้กลุ่มที่ ๑ เข้าไปหาอาจารย์ และก็ยุยงอาจารย์ว่าอหิงสกะกุมารนี้คิดไม่ดีต่อท่านอาจารย์ หาทางที่จะทำร้ายอาจารย์ หาทางที่จะฆ่าอาจารย์

สำหรับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมื่อได้ฟังดังนั้นก็คิดว่าจะเป็นไปได้หรือ อหิงสกะกุมารนี้ ไม่เห็นเขามีอากัปกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องส่อพิรุธว่าเขาจะทำร้ายเรา หรือคิดมิดีมิร้ายต่อเรา แล้วก็ไล่ตะเพิดศิษย์กลุ่มนั้นออกไป เมื่อศิษย์กลุ่มที่ ๑ ออกไปแล้ว กลุ่มที่ ๒ ก็เข้ามายุยงอีกว่า อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่อท่านอาจารย์

ขณะนั้น อาจารย์ก็มีจิตใจไขว้เขวว่า เป็นอย่างไรหนอเรื่องนี้ หากว่าอหิงสกะนี้ไม่คิดมิดีมิร้ายอย่างนั้นจริง ไฉนลูกศิษย์จึงจะบอกเช่นนี้ ตอนนี้จิตใจก็ชักจะลังเล แต่ก็ไม่เชื่อโดยสนิทใจ และก็ไล่ลูกศิษย์กลุ่มที่ ๒ นั้นออกไป แล้วกลุ่มที่ ๓ ก็เข้ามาอีก เข้าไปยุยงอีกว่า อาจารย์อหิงสกะกุมารนี้ คิดมิดีมิร้ายต่ออาจารย์อย่างนั้นอย่างนี้ สรรหาถ้อยคำมายุยงให้อาจารย์เชื่อ

ตอนนั้นอาจารย์ปลงใจเชื่อสนิท ถ้าว่าไม่จริงแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาคงจะไม่มาบอกเราถึง ๓ ครั้ง เราจะทำอย่างไรดีหนอ ถ้าเราทำเองคนทั้งหลายก็จะหาว่าทิศาปาโมกข์อาจารย์นี้เป็นคนที่ใจร้าย ฆ่าลูกศิษย์ที่ไปศึกษาศิลปวิทยา ต่อมาคนทั้งหลายก็จะไม่มาศึกษาเล่าเรียน ลาภสักการะก็จะเสื่อมไป อย่ากระนั้นเลย เราปล่อยมือให้คนอื่นดีกว่า

เมื่อคิดหาอุบายวิธีได้อย่างนั้นแล้ว จึงเรียกอหิงสกะกุมารเข้ามาหาบอกว่า อหิงสกะกุมาร อาจารย์มีมนต์วิเศษอยู่บทหนึ่ง ชื่อว่าวิษณุมนต์ มนต์นี้ใครเรียนสำเร็จจะสำเร็จความประสงค์ทุกอย่าง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ผู้ที่เรียนวิษณุมนต์ จะต้องฆ่าคนถึงพันคนจึงจะเรียนได้ เพราะฉะนั้น หากว่าเธอต้องการที่จะเรียนวิษณุมนต์ ต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์แล้ว เธอต้องเข้าป่าหาฆ่าคนถึงพันคนแล้วจึงจะเรียนได้

ครั้งแรก อหิงสกะกุมารก็ไม่กล้าที่จะฆ่า เพราะว่าตนนั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์ ไม่ฆ่าสัตว์มาตั้งแต่เล็กตั้งแต่น้อย แต่เพราะต้องการที่จะสำเร็จในวิชามนต์ จึงจำเป็นที่ต้องทำ เสร็จแล้วก็ได้ถือเอาอาวุธเข้าป่าหาฆ่าคนไปตามลำดับๆ ครั้งแรกก็ไม่ตัดเอานิ้วมือ เป็นแต่เพียงนับว่า ๑, ๒, ๓ ไปเท่านั้น ผลสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าฆ่าไปเท่าไหร่ เป็นเพราะโทษที่ฆ่าคน ทำให้สติฟั่นเฟือน จำไม่ได้ ภายหลังฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมือไว้คนละนิ้วๆ ร้อยเอาไว้ เขาจึงให้ชื่อใหม่ว่า อังคุลิมาล แปลว่า โจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย

ตั้งแต่อังคุลิมาลเที่ยวฆ่าคนอยู่นั้น ฆ่าไปแล้ว ๙๙๙ คน ยังเหลืออยู่อีกคนเดียวเท่านั้นก็จะครบ ๑,๐๐๐ คน จึงจะได้เรียนมนต์

โวโลเกตฺวา วันนั้น จวนจะสว่าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แผ่พระญาณตรวจดูสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า วันนี้เราสมควรที่จะไปโปรดใคร ใครหนอจะได้บรรลุคุณวิเศษ อังคุลิมาลโจรก็ปรากฏในข่ายพระญาณของพระองค์ และทรงพิจารณาเห็นว่า อังคุลิมาลโจรนี้ได้อบรมบารมีมาพอสมควรพอที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้าเขาไปฆ่ามารดาของเขาเสีย เขาจะไม่สามารถที่จะได้บรรลุคุณอันใหญ่หลวง อย่ากระนั้นเลยเราจะไปโปรดอังคุลิมาลโจรให้ได้

ซึ่งในขณะนั้น คนทั้งหลายได้ไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า มีโจรเที่ยวฆ่าคนในชนบท พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงตรัสสั่งเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งมหาชนทั้งหลายให้ตามล่าอังคุลิมาลโจรนั้นมาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง

ฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตกับภรรยาได้ปรึกษากันว่า ได้เกิดมหาโจรขึ้นมาแล้ว มหาโจรนี้ไม่ใช่ใครอื่นเลยต้องเป็นบุตรของเราแน่ๆ ปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรดี ภรรยาก็ให้สามีของตนไปตามบุตรมาไว้ในบ้าน เพื่อจะไม่ให้คนทั้งหลายจับตัวได้ แต่ว่าสามีไม่กล้าออกไป ด้วยเกรงว่าบุตรของตนจะจำไม่ได้แล้วฆ่าเสีย

ธรรมดาหัวอกของมารดานั้นย่อมมีความรักความผูกพันในลูก ถึงว่าลูกของตนนั้น จะชั่วช้าสารเลวเพียงใด ก็ตามก็ยังรักอยู่ เมื่อสามีไม่ไป นางจึงจำเป็นต้องไปเอง เมื่อนางมันตานีพราหมณีออกไปสู่ป่าเพื่อจะพาบุตรของตนเข้ามาไว้ในบ้าน พออังคุลิมาลมองเห็นมารดาเท่านั้น ก็ปรี่เข้าจับมารดาเพื่อจะนำไปฆ่าเอานิ้วมือ

ขณะนั้น เป็นเวลาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาถึงพอดี เมื่ออังคุลิมาลโจรเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนใจว่า เราจะไม่ฆ่ามารดา เราจะฆ่าสมณะนี้ดีกว่า แล้วจึงปล่อยมารดา วิ่งตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป

พระพุทธองค์ได้ทรงบันดาลด้วยพุทธาภิสังขาร ให้อังคุลิมาลนั้นตามไม่ทัน ในขณะที่พระองค์ทรงพระดำเนินไปตามปกติ แต่อังคุลิมาลวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันพระองค์ได้ จึงคิดว่า เมื่อก่อนนั้นเราสามารถที่จะวิ่งผลัดช้างผลัดม้าผลัดรถได้ แต่บัดนี้ เหตุไฉนหนอ สมณะนี้เดินไปตามปกติ แต่ว่าเราวิ่งจนสุดแรงเกิด ก็ไม่สามารถวิ่งตามทันได้ นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ เมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะ หยุดก่อนๆ

พระองค์จึงตรัสว่า เราหยุดแล้วๆ ทั้งที่พระองค์ยังทรงพระราชดำเนินไปอยู่ เมื่ออังคุลิมาลตามไม่ทัน ก็ร้องเรียกขึ้นอีกว่า สมณะหยุดก่อนๆ พระองค์ก็ตรัสว่า เราหยุดแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น อังคุลิมาลโจรจึงพูดขึ้นมาว่า สมณะนี้พูดโกหก กล่าวว่าหยุดแล้ว แต่ยังเดินไปอยู่

พระองค์จึงทรงมีพระดำรัสขึ้นว่า ดูก่อนอังคุลิมาล เราหยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปอกุศล เราหยุดแล้ว หยุดจากการฆ่า แต่เธอต่างหาก ยังไม่หยุด ยังตามฆ่าเราอยู่

ธรรมดาผู้ที่มีสติปัญญา ได้ฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัสเพียงแค่นี้ ก็ได้สติสัมปชัญญะขึ้นมาทันทีว่า โอ เป็นความจริง เพราะว่าพระองค์หยุดแล้ว หยุดจากการทำบาปทำอกุศล แต่เรานี่ซิยังไม่หยุด ยังตามฆ่าพระองค์อยู่ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็จึงทิ้งอาวุธ เข้าไปกราบแทบเบื้องพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลขึ้นว่า โอ นานเหลือเกิน นานเหลือเกิน พระพุทธเจ้าข้า กว่าพระองค์จะเสด็จมาโปรดข้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมให้ฟัง เมื่ออังคุลิมาลฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว มีความเลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ เมื่อบวชแล้ว ได้เรียนวิธีเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลีกออกจากหมู่ไปเจริญสมณธรรม ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วหลีกไปอยู่ที่สงัด หลบเร้นเสวยวิมุตติสุขอยู่

เมื่อจะปรินิพพาน ท่านได้เปล่งอุทานว่า คนที่ประมาทมาก่อน แต่ภายหลังไม่ประมาท ย่อมยังโลกให้สว่างไสวได้ เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น เมื่อเปล่งอุทานเช่นนี้แล้ว ก็ดับขันธ์ปรินิพพาน

อยู่มาวันหนึ่ง พวกภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า พระอังคุลิมาลนี้ เขาฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน บัดนี้ ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา และก็ได้มรณภาพไปแล้ว เมื่อท่านตายแล้วไปเกิดที่ไหนหนอ

องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงได้สดับความนั้นแล้ว จึงเสด็จไปสู่โรงธรรมสภาศาลา ตรัสถามซึ่งภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายสนทนากันด้วยเรื่องอะไร

พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องของพระอังคุลิมาล ว่าท่านตายแล้วไปเกิดในที่ไหน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรานิพพานแล้วเมื่อพระองค์ตรัสดังนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงขึ้นมาทันที แล้วกราบทูลว่า พระองค์ตรัสเรื่องอะไร เป็นไปได้หรือ พระอังคุลิมาลนี้ฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน จะนิพพานได้อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า หรือว่าผลของบุญบาปไม่มี

พระองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนี้เลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนนั้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรสักคนเลย จึงได้ทำความชั่วมีประมาณเท่านั้นๆ แต่ภายหลังได้กัลยาณมิตรเป็นปัจจัย ไม่ประมาทแล้ว เพราะค่าที่เธอไม่ประมาทนั้นแหละ จึงละชั่วนั้นเสียได้ด้วยความดี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนิพพาน แล้วจึงตรัสพระคาถาว่า

ผู้ที่ละความชั่วที่ตนทำเสียได้ด้วยความดี ย่อมยังโลกนี้ให้สว่างไสวได้ เหมือนพระจันทร์โคจรออกจากกลุ่มเมฆหมอก ฉะนั้น

คติจากเรื่องนี้ ได้ความว่า พึงชำระล้างความชั่วด้วยความดี พึงไถ่ถอนตนจากความชั่ว ด้วยการทำความดีให้ยิ่งกว่าความชั่วที่ตนทำแล้ว

ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เรียกว่า ปหานปธาน คือเพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป และหนทางที่เราทั้งหลายจะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียวเท่านี้ คือการเจริญวิปัสสนา เมื่อใดเราได้เจริญวิปัสสนา จนบรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคไปแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องเกิดเป็นเปรต ไม่ต้องเกิดเป็นอสุรกาย ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

ท่านทั้งหลายลองพินิจพิจารณาดูเรื่องพระอังคุลิมาลนี้ ว่าฆ่าคนมาตั้ง ๙๙๙ คน ตามปกติการฆ่าคนนั้น เพียงแต่ฆ่าคนเดียวเท่านั้น ตายไปแล้วต้องไปตกอเวจีมหานรก แต่พระอังคุลิมาลนั้นทำไมจึงไม่ไปตกนรก เพราะว่าท่านได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อบรรลุแล้ว ก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ มีพระนิพพานเป็นเครื่องปิดกั้นประตูอบายภูมิ

ถ้าเราทั้งหลายไม่เจริญวิปัสสนาภาวนา ถึงแม้ว่าจะทำบุญให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา จนได้ฌานได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ ก็ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ แต่เมื่อใดเรามาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตนแล้ว จึงจะได้ชื่อว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด

๓.ภาวนาปธาน เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของตน ได้ให้ความหมายว่า ปุนปฺปุนํ ภาเวตพฺพา วชฺเชตพฺพาติ ภาวนา การยังศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดขึ้นมีขึ้นบ่อยๆ คือหมั่นเจริญบ่อยๆ เรียกว่า ภาวนา คือให้นึกในใจตามไปกับอาการที่ท้องพองท้องยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง เวลาเจ็บ เวลาปวด เวลาเมื่อย เวลาคัน เวลาคิด ก็ให้ภาวนาไปตามอาการนั้นๆ ว่า พุทโธๆ หรือเจ็บหนอๆ คันหนอๆ คิดหนอๆ หรือรู้หนอๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามไปไม่หยุด

แม้เวลานอน ก็กำหนดอาการพองอาการยุบว่าพุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คำใดคำหนึ่งตามไปจนกว่าจะหลับ พยายามจำให้ได้ว่า จะหลับไปตอนไหน หลับไปตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ก็พยายามจำให้ได้ การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เรียกว่า ภาวนาปธาน คือเพียรพยายามให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน

๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วนั้นให้คงอยู่และยิ่งๆ ขึ้นไป คือรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ให้อยู่กับรูปนาม ไม่ให้เผลอมาก จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน สิ้นอาสวะกิเลส จึงจะนอนใจได้ ถ้ายังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ก็อย่าเพิ่งนอนใจ

ดังที่องค์สมเด็จพระจอมไตรพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า  ภิกขุ วิสฺสาสมาปาทิ  อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ  ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อตนยังไม่ถึงมรรคผลนิพพาน ยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส อย่าเพิ่งนอนใจ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ มาเพื่อฝึกฝนอบรมตนให้คล่องแคล่ว ให้ชำนาญ เพื่อจะได้มีกำลังใจต้านทานต่ออารมณ์ดีอารมณ์ชั่วอันจะเกิดขึ้นแก่ตนในอนาคตกาลข้างหน้า

เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ หรือว่ายังอยู่ในห้องกรรมฐานนี้ก็ดี เราก็จะได้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงต่อสู้กับอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วทั้งหลายทั้งปวงที่จะมาแผ้วพาน และการฝึกนั้นมีอยู่ ๒ อย่างคือ
๑) ฝึกด้วยบุพพภาคมรรค ได้แก่ การลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
๒) ฝึกด้วยอริยมรรค ได้แก่ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น พยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วก็พยายามเจริญต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เรียกว่า ฝึกด้วยอำนาจอริยมรรค

ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาฝึกม้าก็ดี ฝึกช้างก็ดี เขาฝึกไว้ทำไม เขาฝึกไว้เพื่อให้ชำนาญ ให้เชื่อง เมื่อฝึกจนชำนาญจนเชื่องแล้วก็สามารถที่จะนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ สมมติว่า เขาฝึกช้างจนชำนาญแล้ว สามารถที่จะนำไปลากซุง ไปใช้ในราชการสงครามได้ เขาฝึกม้าให้ชำนิชำนาญแล้วเขาจะเอาไปเป็นม้าแข่งก็ได้ เขาจะเอาไปใช้ในราชการสงครามก็ได้ฉันใด พวกเราทั้งหลายฝึกตนเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อให้บรรลุสุขอันไพบูลย์ตามประสงค์เหมือนกันฉันนั้น

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายทั้งปวงที่เขาพากันฝนพร้าฝนมีดหรือลับพร้าลับมีดนั้น โดยมีความประสงค์ ๒ อย่างคือ
๑) ต้องการให้สนิมหมดไป
๒) ต้องการให้มันคมดี

เมื่อพร้าหรือมีดของเราหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปใช้ในกิจการต่างๆ เช่น ใช้ตัดโน้นฟันนี้เป็นต้น ฉันใด เราทั้งหลายซึ่งมากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกวันนี้ ก็ชื่อว่าเราทั้งหลาย มาฝนหรือมาลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรา ให้หมดสนิม ให้คมดี

อะไรเป็นสนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ?

สนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น ก็คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะระลึกรู้ กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในเมื่อได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ นั้นแหละเรียกว่า เราฝนหรือลับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ให้หมดสนิมหรือให้คมดี เมื่อหมดสนิมหรือคมดีแล้ว ก็สามารถที่จะนำไปตัดกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ให้หมดไปจากขันธสันดานได้

อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันอบผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มด้วยของหอมมีแก่นจันทน์เป็นต้น ก็เพื่อว่าให้กลิ่นหอมเหล่านั้นติดอยู่กับเครื่องนุ่งห่มของเขา ฉันใด พวกเราทั้งหลายมาอบกาย อบวาจา อบใจ ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้กลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา เกลือกกลั้วติดอยู่ในตัวของเรา หรือเพื่อจะให้ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญาเมื่อใด ตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว กิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ไม่สามารถจะมาจับกาย จับวาจา จับใจ หรือไม่สามารถที่จะมานอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเราได้อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายเขาพากันรมตัวของเขาก็ดี หรือเครื่องนุ่งห่มของเขาก็ดี ด้วยควันไฟหรือด้วยความร้อนแห่งไฟ เขารมเพื่อต้องการให้ควันไฟ หรือไอของไฟ หรือว่าความร้อนของไฟนั้นเกลือกกลั้วติดอยู่ที่ตัวของเขาฉันใด การที่พวกเราทั้งหลายมารมตา รมหู รมจมูก รมลิ้น รมกาย รมใจ ด้วยการตั้งสติสัมปชัญญะกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ และกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพื่อต้องการให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วติดไปด้วยมรรคผลนิพพาน หรือเพื่อให้ตัวของเรานี้ติดอยู่ในโลกุตรธรรมเหมือนกันฉันนั้น

สรุปความแล้วว่า การที่เรามาฝึกฝนอบรมตนนี้ ด้วยการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็เพื่อต้องการให้ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เกิดมีขึ้นที่ตัวของเรา หรือให้ตัวของเรานี้เกลือกกลั้วไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เหตุนั้น องค์ภควันตบพิตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การฝึกฝนอบรมตน การฝึกจิตของตนเป็นการดีแล้ว เป็นสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเจริญ ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ (ในคาถาธัมมบท ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่มที่ ๒๕ ข้อ ๑๓ หน้า ๑๙ ) ว่า  จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ  จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ  การฝึกฝนจิต เป็นความดีแท้ จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว นำแต่ความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

ก็สกนธ์ร่างกายนี้ เมื่อรวมลงแล้วมีอยู่ ๒ ประการคือ กายกับใจ ถ้าใจดี เวลาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ดีตามไปหมด แต่ถ้าจิตใจชั่ว การทำ การพูด การคิด ก็ชั่วไปหมด

เพราะฉะนั้น นักปราชญ์นักพรตทั้งหลายจึงนิยมการฝึกฝนตนอบรมตนคือกายใจนี้ให้ดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับความสุขความเจริญทั้งแก่ตัวเองและสังคม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ชีวิตเป็นของน้อยควรรีบทำความเพียร มาบรรยาย เพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

ที. มหาวคฺค. ๑๐ / ๑๐๘ / ๑๔๑
(ขุ. ขุทฺทก-ธมฺมปทคาถา ๒๕/๒๙/๕๑)

ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 สิงหาคม 2559 17:30:38

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQtPQ2thfXQok-JdhmEmTNW_m4QKsHh0wWOwJOircvbSo7vsCsd)
บาป ~ บุญ

เป็นวันสอบสนามหลวงหรือสอบไล่ ไม่เหมือนกับวันก่อนๆที่ผ่านมา อันนั้นเป็นการสอบซ้อม วันนี้สอบจริง การสอบจริงนี้ก็เพื่อจะวัดผลของการปฏิบัติ ว่าเราเดินทางมาค่อนๆ พรรษานี่ หรือว่าครึ่งพรรษากว่าๆ นี้ ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร คุ้มการสอนหรือไม่

การเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่เสียสละลงไป จตุปัจจัยไทยธรรม ตลอดถึงสติปัญญาอะไรนานาประการ ที่เสียสละลงไป มันคุ้มค่าเสียสละไหม การประพฤติปฏิบัติของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายนั้น คุ้มค่าที่ญาติโยมได้เสียสละลงไปหรือไม่ คุ้มค่ากับคณะครูบาอาจารย์เสียสละไปหรือไม่ ก็อยากดูในวันนี้

เพราะฉะนั้น ในวันนี้ถือว่าเป็นวันวัดผล ทั้งเป็นการวัดผลครั้งแรกในหน้าพรรษา เหตุนั้น ก็ขอให้บรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาลูกพระ ลูกชี ทั้งหลาย ได้นั่งสมาธิ เข้าสมาธิให้หลวงพ่อได้ดูได้ชมสักครั้งหนึ่ง พอเป็นเครื่องชื่นใจจะได้หายเหน็ดหายเหนื่อย จะได้หายเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่เป็นมากระปอดกระแปดตลอด ตั้งแต่เข้าพรรษามาถึงวันนี้จะได้ชื่นอกชื่นใจหายเจ็บ หายไข้ หายป่วย หายสภาวะความอ่อนแอลงไปบ้าง

ขอให้ตั้งใจอธิษฐานสมาธินะ หลวงพ่อจะเป็นผู้จับเวลาเตรียมแล้วนะ ๑ ๒ ๓ พยายามทำใจดีๆ ทำใจให้สบายๆ อย่าคิดว่าเราจะทำไม่ได้และอย่าคิดว่า เราก็หนึ่งละสามารถทำสมาธิได้ ที่ปฏิบัติมาด้วยกันจนครึ่งพรรษานี้ เราสามารถทำสมาธิได้ทุกวัน หาใครสู้มิได้

ถ้าเราคิดอย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ เพราะจิตใจของเรากระเพื่อมแล้ว หรือว่าผู้ใดเกิดความหวังว่า เรานี้ทำไม่ได้แล้ว คงจะเป็นผู้ไม่มีบุญวาสนาบารมี หรือว่าบุญวาสนาของเราคงมีเพียงเท่านี้ คงไม่สามารถทำสมาธิได้ คงจะเป็นที่อับอายขายหน้าครูบาอาจารย์ ตลอดถึงเพื่อนฝูงและญาติโยม ตลอดถึงปะขาว แม่ชีที่มารักษาอุโบสถศีลด้วยกัน หากเผื่อว่าเราทำไม่ได้ จะเอาหน้าไปไว้ไหนหนอ ถ้ามัวแต่คิดอย่างนี้ ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้

เหตุนั้น ขอให้ทำจิตใจเป็นกลางๆ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานที่เราได้ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ ตลอดครึ่งพรรษาเศษๆ นี้ กำหนดไป ทำจิตใจให้สบายๆ ขณะที่กำลังทำสมาธิอยู่นี้ หลวงพ่อก็จะบรรยายธรรมควบคู่กันไปพอคร่าวๆ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่การทำสมาธิของบรรดาท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย นับตั้งแต่เราได้เริ่มปฏิบัติมานี้ ทุกเช้า ทุกเพล ทุกเย็น จะได้ยินแต่เรื่อง บาปๆ บุญๆ อยู่ตลอดเวลา เช้าก็พูด เรื่องบาป เรื่องบุญ เพลก็พูดเรื่องบาป เรื่องบุญ ค่ำก็พูด เรื่องบาป เรื่องบุญ สนทนาปราศรัยกัน ก็สนทนาปราศรัยกันแต่ เรื่องบาป เรื่องบุญ

เราได้เคยสำเหนียกกันหรือไม่ว่า คำว่า บาป คืออะไร คำว่า บุญ คืออะไร

คำว่า บาป นี่พูดเอาภาษาบ้านเรา หมายถึง ความชั่ว การคิดชั่ว การทำชั่ว การพูดชั่ว นั้น ถือว่าเป็นบาป ส่วนคำว่า บุญ ก็หมายความว่า สภาวธรรมที่ทรงไว้ซึ่งคุณความดี คือการคิดดี การทำดี การพูดดี ถือว่าเป็นบุญ สภาวธรรมเหล่าใดที่ คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว ทำให้เราต้องเดือดร้อน และคนอื่นเดือดร้อนด้วย ก็ถือว่าเป็นบาป แต่สภาวธรรมเหล่าใดที่ คิดแล้ว ทำแล้ว พูดแล้ว เราเองก็มีความสุขใจ คนอื่นก็พลอยมีความสุขไปด้วย ถือว่าสภาวธรรมนั้นๆ เป็นบุญ เป็นกุศล

แต่คนส่วนมาก ถ้าพูดเรื่องบุญเรื่องบาปนี้ ถือว่าบุญบาปนี้ไม่มี เพราะว่าเราไม่เข้าใจว่า บาปคืออะไร บุญคืออะไร ถ้าเราเข้าใจแต่เพียงย่อๆ ว่า บาปคือความชั่ว บุญคือความดี ทีนี้เราก็มาย้อนลงไปว่า คนในโลกนี้ ความดียังมีอยู่หรือ ความชั่วยังมีอยู่หรือ ผลของความดียังมีอยู่หรือ ผลของความชั่วยังมีอยู่หรือ ถ้ายังมีอยู่ ก็ถือว่าบุญก็มี บาปก็มี

บาปนี้ ถ้ากล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ได้แก่ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะ ความหลง นี้ล่ะเป็นตัวบาป ขอย้ำอีกครั้ง ตัวบาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ก็ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ ตัวนี้ เป็นตัวบาป ทีนี้ เราลองคิดดูว่า ขณะนี้ โลภะ โทสะ โมหะ ของเรายังมีอยู่หรือ ถ้ายังมีอยู่ ก็แสดงว่า บาปยังมีอยู่

สำหรับตัวบุญ กล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ก็ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ คือความ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง หรือพูดให้เข้าใจชัดลงไป ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้เป็นตัวบุญ

สำหรับคนที่ว่าบาปไม่มี ถ้าพูดถึงเรื่องบาปก็จะคัดค้านขึ้นมาทันทีว่า บาปไม่มี ถ้าบาปไม่มี ตำรวจเขาจะมีไว้ทำไม ตำรวจนี้เขามีไว้เพื่อปราบคนทำบาป ถ้าคนทำบาปไม่มี ตำรวจก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี เพราะเหตุไร จึงมีตำรวจ เพราะว่ายังมีคนทำบาปอยู่ ยังมีคนบาปอยู่ เมื่อยังมีคนทำบาปและก็ยังมีบาปอยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีตำรวจสำหรับปราบปรามคนที่ทำบาป

อีกอย่างหนึ่ง พวกศาลยุติธรรมก็ดี ศาลฎีกาก็ดี อนุฎีกาก็ดี เขามีไว้ทำไม เขามีไว้เพื่อไต่สวนหรือพิจารณาโทษของคนผู้ทำบาปว่า ผู้นี้เขาได้ทำบาปมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าเขาไม่ได้ทำบาป แต่ถูกใส่ความ ถูกกล่าวหา ผู้พิพากษาก็จะได้พิจารณาโทษ พิจารณาค้นหาความจริงว่า มันเป็นความจริงหรือที่เขากล่าวมานี้ ผู้พิพากษาหรือศาลต่างๆ ที่เขาตั้งไว้ก็เพื่อพิจารณาโทษของผู้ทำบาป ถ้าคนทำบาปไม่มี ก็ไม่จำเป็นต้องมีศาลยุติธรรม มีศาลฎีกา ศาล อนุฎีกา อะไรทำนองนี้ ก็ไม่ต้องมี

อีกอย่างหนึ่ง เรือนจำนี้ เขามีไว้ทำไม เรือนจำเขามีไว้สำหรับทรมานหรือกักขังบุคคลผู้ทำบาป ถ้าหากว่าคนทำบาปไม่มีหรือว่าบาปไม่มี ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีคุกมีตะราง ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเรือนจำ แต่เพราะว่ายังมีคนทำบาปอยู่ จึงจำเป็นต้องมีเรือนจำ หรือว่ามีคุกมีตะรางสำหรับลงโทษผู้ที่ทำบาป นี่สำหรับเรื่องบุญเรื่องบาป มันเป็นอย่างนี้

ทีนี้ หากว่าพูดไปหนักกว่านี้ คนทั้งหลายก็ยิ่งคัดค้านใหญ่ ถ้าพูดถึงเรื่องนรกก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี คนส่วนมากก็ยิ่งมีความคิดไขว้เขวใหญ่ ก็คิดว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี พรหมโลกก็ไม่มี เทพบุตร เทพธิดา เปรต อสุรกาย อะไรทำนองนี้ก็ไม่มี ส่วนมากคนทั้งหลายคิดอย่างนี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ลึกลับมองไม่เห็น

ข้อนี้ ขอย้อนถามท่านอีกครั้งหนึ่งว่า เรารู้ไหมว่า เราเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น เช่นว่า เราเกิดวันอาทิตย์ เดือน ๕ ปีมะโรง อะไรทำนองนี้ หรือรู้ตั้งแต่เราออกจากครรภ์ คลอดจากครรภ์ของมารดา หรือว่าเมื่อโตแล้วจึงรู้ รู้เมื่อโตแล้ว เมื่อเข้าโรงเรียนแล้วจึงรู้ ใครบอกหรือว่ารู้เอง

พ่อแม่ของเราเป็นผู้บอกเราก็รู้ และเชื่อไหมล่ะว่า เราเกิดวันนั้น เดือนนั้น ปีนั้น ตามที่พ่อแม่บอก เราเชื่อ เพราะเหตุไรเราจึงเชื่อ เพราะว่าท่านเป็นพ่อเป็นแม่ของเรา ถ้าเราไม่เชื่อพ่อเชื่อแม่ของเราแล้ว เราจะไปเชื่อใคร และเราก็เชื่อว่า พ่อแม่นี้คงจะไม่โกหกเรา ข้อนี้ฉันใด

เราก็เหมือนกัน เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าเรายังไม่ได้เห็นนรก ยังไม่ได้เห็นเปรต ยังไม่ได้เห็นอสุรกาย ยังไม่ได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา อินทร์พรหม แต่ท่านกล่าวไว้ในตำรับตำรา เราก็เชื่อ

เพราะเหตุไร เราจึงเชื่อ เพราะว่าสมเด็จพ่อ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราเป็นผู้บอก เราก็เชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อสมเด็จพ่อของเรา เราจะไปเชื่อใคร ข้อนี้ ฉันใด เรื่องนรก สวรรค์ มรรค ผล พระนิพพาน ก็เหมือนกัน

ทีนี้ ถ้าหากว่า นรกมีจริง เปรต อสุรกายมีจริงสวรรค์ และพรหมโลกมีจริง ทำไมไม่เห็น ทำไมเราไม่สามารถที่จะมองเห็นด้วยตาเปล่า และจะทำอย่างไร เราจึงจะเห็น ทำอย่างไร เราจึงจะทราบว่า มันมีของเหล่านี้ ข้อนี้ มันเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา

ส่วนมาก สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดก็จะมองไม่เห็น ตัวอย่าง ขนตาของเรานี้ล่ะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วมีขนตาด้วยกันทั้งนั้น แต่ท่านทั้งหลายเห็นไหม สามารถมองผ่านออกมาแล้วเห็นขนตาของตัวเองไหม ไม่เห็น ใครก็ตามไม่สามารถที่จะมองเห็นขนตาตัวเองได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีกระจกเงามาส่องดูก็มองไม่เห็น ข้อนี้ ฉันใด พวกนรก พวกเปรต พวกอสุรกาย พวกเทวดา พวกพรหมเหล่านี้ก็เหมือนกัน เพราะว่าเราไม่มีเครื่องรับ ก็มองไม่เห็น เมื่อใดเรามีเครื่องรับ เราก็สามารถจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้

อุปมาเหมือนกันกับสถานที่ที่เรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ล่ะ มีใครบ้างสามารถปฏิเสธได้ว่า ไม่มีคลื่นวิทยุ ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่า สถานที่นี้ ไม่มีคลื่นวิทยุ แต่ทำไมเราถึงไม่เห็น ไม่สามารถที่จะฟังเสียงวิทยุได้ ก็เพราะว่าเราไม่มีเครื่องรับ

ทีนี้ เราจะทำอย่างไร จึงจะรู้ว่ามันมีคลื่นวิทยุ เราก็เอาวิทยุมาเปิดฟัง เราเปิดวิทยุให้ตรงกับไซเกิล (Cycle) ของสถานีที่ส่งมา เช่นว่า สถานี ป.ส.ส. อุบลราชธานีก็ดี กรมประชาสัมพันธ์ก็ดี ที่ส่งมานั้น ว่าระยะที่ส่งมานั้นเท่าไรไซเกิล (cycle) เท่าไร เมกะเฮิร์ตซ์ (megahertz) เท่าไรเมตร เราก็เปิดวิทยุของเราให้มันตรงกับไซเกิลที่สถานีส่งมา ก็ฟังเสียงได้ทันที

หรือว่าในสถานที่เรานั่งฟังอยู่นี้ ท่านทั้งหลายสามารถปฏิเสธได้ไหมว่า ไม่มีคลื่นทีวี ปฏิเสธไม่ได้ มีครบไปหมด สถานีที่เขาส่งอยู่ในประเทศไทยของเราทุกวันนี้ เช่นว่า ช่อง ๓ ช่อง ๕ ช่อง ๗ ช่อง ๙ ช่อง ๑๑ ก็ดี มีครบหมด เต็มไปหมด ไม่มีที่ว่าง

แต่เพราะเหตุไร เราจึงมองไม่เห็น เพราะไม่มีเครื่องรับ ถ้าเรามีเครื่องรับ เราก็มองเห็นทันที ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะดูได้ จึงจะรู้ได้ว่ามันมีคลื่นทีวี เราก็เอาทีวีมาเปิดดู เปิดให้ตรงกับช่องที่เขาส่งมา เราต้องการช่อง ๓ มันมีไหม ช่อง ๕ มันมีไหม ช่อง ๗ มีไหม ช่อง ๙ มีไหม ช่อง ๑๑ มีไหม เมื่อเราเปิดให้ตรงกับช่องที่เขาส่งมา ก็จะเห็นภาพ เห็นทั้งภาพ ทั้งได้ยินเสียง ทันที ข้อนี้ ฉันใด

หากว่าพวกเราทั้งหลายต้องการที่จะทราบว่า สวรรค์ก็ดี นรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี เทวดาก็ดี พระพรหมก็ดี มีจริงไหม เราก็ต้องสร้างเครื่องรับขึ้นมา อะไรเป็นเครื่องรับ อภิญญาจิต เรียกว่า อภิญญาจิตเป็นเครื่องรับขึ้นมา

สมมติว่า เราอยากจะเห็น เราก็ต้องสร้างทิพยจักษุอภิญญาขึ้นมา เมื่อใดเราสร้างทิพยจักษุอภิญญาขึ้นมาได้ มีตาล่วงสามัญชนธรรมดา มีตาทิพย์แล้ว ก็สามารถที่จะมองเห็นสิ่งลึกลับ ซึ่งชาวโลกทั้งหลายมองไม่เห็น หรือว่า คนธรรมดาๆ มองไม่เห็น เราก็สามารถมองเห็นได้ เช่นว่าภายในวัดของเรา วันนี้มันเป็นบุญสลากภัต มีพวกสัตว์นรกประเภทไหนบ้าง มารับไทยธรรมจากญาติโยม

วันนี้ญาติของเรามาไหม ญาติของผู้นั้นมาไหม และผู้ที่รับไทยธรรมในวันนี้ มีมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราสามารถมองเห็นได้เลย สัตว์นรกเราก็สามารถเห็นได้ พวกเปรต พวกอสุรกาย ก็สามารถมองเห็นได้ เทพบุตร เทพธิดา อินทร์ พรหม ก็สามารถที่จะมองเห็นได้

ทีนี้เรามองเห็นเฉยๆ แต่ว่าไม่รู้ความหมาย คือฟังเสียงของเขาไม่รู้ เห็นแต่ภาพ แต่ไม่ได้ยินเสียง เราก็ต้องสร้างเครื่องรับขึ้นมาอีกนั่นแหละ เราต้องสร้างเครื่องรับคือ โสตอภิญญา คือหูทิพย์ เมื่อใดเราได้ทิพยโสตอภิญญา คือหูทิพย์แล้ว เราก็ได้ยินเสียงเขาด้วย เขาพูดเราก็ได้ยินคือตาก็เห็น หูก็ได้ยินเสียงด้วย

เมื่อใดเราได้เพียงแค่ทิพยโสตอภิญญาและทิพยจักษุอภิญญานี้ ก็เป็นอันว่าหมดความสงสัยแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไต่ถามครูบาอาจารย์รูปโน้นรูปนี้ แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องแสวงหา หรือไปปฏิบัติสำนักโน้นสำนักนี้ เพราะอะไร เพราะมารู้เฉพาะตนเสียแล้ว หมดความสงสัยเสียแล้ว

นี้ล่ะท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรม จะหมดความสงสัยได้ เรื่องบาป เรื่องบุญนี่ เรื่องนรก เรื่องเปรต เรื่องอสุรกาย เรื่องเทวโลก เรื่องพรหมโลกนี้ ก็ต่อเมื่อเราได้อภิญญาจิต ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อใดเราได้อภิญญาจิตแล้ว ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัย เราสามารถที่จะรู้ได้ เช่นว่า ทุกวันๆ เวลาเราตีระฆังทำวัตรก็ดี หรือว่า เวลาเรา ยะถา สัพพี ให้พรญาติโยมก็ดี หมามันเห่า มันหอนขึ้นมา หอนขึ้นมาจนผิดปกติ

เราจะรู้ทันทีว่า เสียงหอนของมันนั้น ถ้าแปลออกมาเป็นภาษามนุษย์เราแล้วมันว่าอย่างไร ความหมายของมัน มันว่าอย่างไร เรารู้ได้ทันที หรือบางทีเรานั่งไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตา แผ่เมตตาอยู่ มีตุ๊กแกมันทักขึ้นมา ร้องขึ้นมา หรือว่ามีจิ้งจกมันร้องขึ้นมา แจ๊บๆ ขึ้นมา จนขนหนังหัวพองสยองเกล้าก็มี

เพราะเหตุไร ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ เราก็รู้ทันทีว่า จิ้งจกนี้มันร้องว่าอย่างไร ความหมายของมันถ้าแปลเป็นภาษาคนแล้ว มันหมายความว่าอย่างไร ตุ๊กแกที่มาร้องนี้ ในขณะอย่างนี้ มันทักอย่างนี้ มันหมายความว่าอย่างไร รู้ได้ทันที

บางทีเราไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์เสร็จแล้ว ก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ในขณะที่เรากำลังส่งจิต ส่งใจแผ่บุญแผ่กุศลให้บรรดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นล่ะ บรรดาสุนัขที่อยู่ภายในวัดก็ดี ในบ้านก็ดีก็เห่าหอน เสียงโหยหวนเย็นเข้าไปในจิตใจของเรา คนที่ไม่รู้ก็นึกว่าภูตผีปีศาจมันมาเที่ยวตามบ้านตามช่องของเรา

แต่ถ้าผู้มีอภิญญาจิต จะรู้ทันทีว่า สุนัขมันเห่ามันหอน มีเสียงอันโหยหวนเยือกเย็น ทำให้หนังหัวพองสยองเกล้า เกิดความกลัวในขณะนี้ มันหมายความว่า อย่างนี้ๆ ถ้าแปลเป็นภาษาคน เราจะรู้ทันที

บางที เรานั่งอยู่ เสียงไก่มันร้อง เสียงไก่ตัวผู้มันขันอย่างนี้ เวลาเสียงไก่ตัวผู้มันขัน เสียงไก่ตัวผู้นี่มันขัน มันหมายความว่าอย่างไร ถ้าเราได้อภิญญาจิต พวกนี้จะรู้ทันทีว่า ไก่ที่มันขันนี้ มันขันว่าอย่างนี้ๆ มันไม่เป็นเสียงไก่เลยมันเป็นเสียงคน ถ้าเราได้อภิญญาจิต เรารู้ว่ามันขันแล้วมันเป็นเสียงคนขึ้นมา

นี้ล่ะท่านทั้งหลาย เมื่อใดเราได้อภิญญาจิตดังที่หลวงพ่อกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องนรก เปรต อสุรกาย เทวโลก พรหมโลก หมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องโลกนี้ โลกหน้า เช่น บางทีในที่ที่เรานั่งอยู่นี้ อาจจะมีวิญญาณเป็นพันๆ ดวงมาเพื่อแสวงหาที่เกิด มาเพื่อคอยรับอนุโมทนาส่วนบุญส่วนกุศลที่เราทั้งหลายทำอยู่ก็เป็นได้

ทีนี้ ถ้าหากว่า เราไม่เห็น เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องหาเอาหลักฐานเข้าวัดเอา เช่นว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เรื่องสมาธิ เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เราเห็นกันอยู่นี้ว่า ผู้นั่งได้ ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ก็มีอยู่

เมื่อของลึกลับซึ่งเป็นของที่ไม่สามารถทำได้ คนทั้งหลายก็ยังทำได้อยู่ พระสงฆ์สามเณรก็ยังทำได้อยู่ ไฉนเลยเรื่องอื่นนั้นจะไม่มี เรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มี เมื่อของจริงของที่ลึกลับ หรือเมื่อของสูงๆ ที่ลึกซึ้งไม่น่าจะมี มันก็มีได้ ของเล็กๆ น้อยๆ ไฉนเลยจะไม่มี เราก็จะเกิดความเชื่อ เกิดศรัทธาขึ้นมา

บัดนี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอนิมนต์ครูบาอาจารย์ ที่อยู่ทางห้องกัมมัฏฐาน ได้เข้ามาดูมาชมบรรดาลูกน้อยทั้งหลายที่นั่งสมาธิ และสาธิตสมาธิในวันนี้ให้ดูว่า เราฟังเทศน์กันมาตลอดทั้งเกือบพรรษานี้ มีผู้ทำได้ไหม เพียงแต่นั่งสมาธิฟังเทศน์วันละ ๓๐ นาที ๓๐ กว่านาทีเศษๆ สามารถเข้าสมาธิได้

การเข้าสมาธินี้ หากว่าปัสสัทธิสูง ตัวจะแข็งมาก แข็งจนสามารถหามไปยกไปไหนต่อไหนก็ได้ สมมุติว่าเข้าในอิริยาบถนอนอย่างนี้ เราเอาศีรษะนี้พาดโต๊ะอีกอันหนึ่ง แล้วก็เอาเท้าพาดโต๊ะอีกอันหนึ่งเหมือนกับท่อนไม้ นี่ถ้าปัสสัทธิสูง แต่ถ้าสมาธิสูง ปัสสัทธิหย่อน ก็ธรรมดาๆ แต่ถ้าสมาธิกับปัสสัทธิเท่าๆ กัน ก็ระหว่างกึ่งกลางไม่แข็งจนเกินไป และไม่อ่อนจนเกินไป ก็ขอให้เข้าใจตามนี้ด้วย

ครูบาอาจารย์ก็ฟังไป หลวงพ่อก็จะพูดเรื่อยๆ ไป ดังที่หลวงพ่อได้เคยบรรยายธรรมะให้ฟังแล้วว่า เรื่องสมาธิ เรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าว่าเราฟังเป็น ฟังเทศน์ฟังธรรมเป็นนะ ได้สมาธิในขณะที่เราฟังอยู่นี้ล่ะ

ในขณะที่ฟังการบรรยายธรรมวันละ ๓๐ นาที ๔๐ นาที ๔๕ นาที ๑ ชั่วโมงนี้ สามารถได้สมาธิในขณะที่ฟัง บางทีเราฟังเพียง ๑๕ นาทีได้สมาธิแล้ว ดังหนูน้อยๆ คนหนึ่ง ไม่เคยมาประพฤติปฏิบัติสักทีเลย เวลามาฟังเทศน์ฟังการบรรยายธรรม วันนั้น ๑๕ นาที ก็ได้สมาธิสามารถเข้า สมาธิได้เป็นชั่วโมง เทศน์สั้นๆ เท่านั้น ก็สามารถที่จะทำได้

จิตที่จะได้สมาธินี้ เวลาเป็นมหัคคตจิต จิตที่มีอำนาจมาก มีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถที่จะทำสิ่งอะไรๆ ที่คนธรรมดาทำไม่ได้ สามารถทำได้ แต่หลวงพ่อไม่สอน ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ผ่านการปฏิบัติไปพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงจะสอน เพราะว่าพวกนั้นมีจิตใจที่มีกิเลสตัณหาเบาบางลงไปแล้ว จะไม่ไปทำบาปอีก

ถ้าผู้ที่ยังไม่ผ่านวิปัสสนาญาณเลยนี่ จิตใจมันก็ยังมีกิเลสตัณหาอยู่ เมื่อกิเลสตัณหาเกิดขึ้นมา อาจจะทำบาปทำกรรม ใช้สมาธิจิตนี้ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามได้ สมาธิที่เข้าอย่างนี้ ที่ทำได้อย่างนี้ สามารถที่จะนั่งหลับตาแล้วพับผ้าขาว ๖–๗ ชั้นนี่มัดตาไว้ เอาหนังสือมาอ่าน ก็สามารถอ่านได้ แต่ปีนี้ หลวงพ่อไม่ได้สาธิต เพราะคิดว่าสาธิตมาหลายปีแล้ว ก็สาธิตแต่สมาธิ และสมาธิที่สาธิตในปีนี้ เป็นสมาธิที่ไม่ได้ฝึกเลย เอากันเลย สอบกันเลย

ตามปกติทุกปีนั้น ก็ต้องเอาไปฝึกเสียก่อน ๕ วันเป็นอย่างน้อย แล้วจึงจะเอามาสาธิตให้ท่านครูบาอาจารย์ได้ดูได้ชม แต่ปีนี้ว่าเอากันสดๆ ไปเลย ไม่ต้องฝึกล่ะ เทศน์ให้ฟังทุกวันๆ ว่า การเทศน์ให้ฟังทุกวันๆ นี้ ผลของการเทศน์มีไหม ที่หลวงพ่อว่าให้นั่งสมาธิฟัง ขอให้ได้สมาธิในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมนี้เถอะจะดีที่สุด เพราะเราจะได้ไม่ทรมานในการประพฤติปฏิบัติ

ทีนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่า มันได้ตามที่หลวงพ่อพูดหรือไม่ หรือหลวงพ่อนี้พูดโกหกเรา หรือว่าพูดเพื่ออวดดีอวดเด่น อะไรทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิสูจน์เอาเอง สมาธินี้มันเป็นขั้นๆ อยู่ มันมีขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓

แต่หลวงพ่อจะยังไม่เทศน์ โน้นใกล้ๆ จะจบแล้วจึงจะเทศน์ว่า ขั้นที่ ๑ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๒ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๓ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๔ เป็นอย่างไร ขั้นที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ นั้นเป็นอย่างไร นั้นยังไม่ได้เทศน์ตอนนี้ ให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปก่อน สมาธินั้นเราจะเทศน์เพื่อสรุปทีหลัง เมื่อสรุปเรื่องการทำสมาธิเสร็จแล้ว หมายความว่า สรุปสายสมถะเสร็จแล้ว ก็สรุปสายวิปัสสนา เมื่อสรุปทั้งสายสมถะและสายวิปัสสนาเสร็จแล้ว ก็ถือว่าปิดรายการการปฏิบัติภาคหน้าพรรษา แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่สรุป อยากให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปพลางๆ ก่อน

เวลาของเรายังมีอีกมาก อันนี้ก็เป็นเพียงเครื่องยืนยันเท่านั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าผลของการปฏิบัตินั้นมีไหม การฟังเทศน์ฟังธรรมนี้สามารถได้สมาธิไหม หลวงพ่อก็เป็นเพียงทำให้ดูให้ชม แต่ไม่ใช่อวดอุตริมนุสสธรรม ก็ขอให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจตามนี้ด้วย และการปฏิบัติในหน้าพรรษานี้ จะหนักไปทางวิปัสสนา

หากว่าท่านทั้งหลายอยากปลูกลูกศิษย์ลูกหา เพื่อจะเป็นคู่มือในการสอนในสำนักของท่าน เมื่อท่านออกไปแล้ว ในหน้าฤดูหนาว ขอให้ส่งบรรดาลูกเณร และก็พวกโยมผู้หญิงมาฝึก

เพราะในหน้าหนาวนี้ เช่นว่า เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี้ การปฏิบัติภาคหน้าหนาวนี้ ไม่ได้ปฏิบัติเหมือนที่พวกเราปฏิบัติอยู่นี้ ไม่เหมือนหน้าพรรษา ต้องพาเดินจงกรม พานั่งสมาธิ ทีนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติ สมมติว่ามีสามเณร ๖๐ รูปอย่างนี้ ก็สามารถเข้าสมาธิได้ทั้ง ๖๐ รูป มีชีเป็น ๓๐๐ - ๔๐๐ อย่างนี้ ไปยางกระเดา ชีตั้ง ๓๐๐ เศษๆ ก็สามารถเข้าสมาธิได้ทั้ง ๓๐๐ เศษๆ

ทีนี้ ที่ว่าเข้าสมาธิได้นี้ ไม่ใช่ว่าเข้าได้ตามปรัมปรา ต้องเข้าได้ออกได้ตามความประสงค์ อยากเข้าสมาธิเวลาใด ก็เข้าได้ อยากออกเวลาไหนก็ออกได้ เข้าได้ตามกำหนด อยากเข้าอยู่ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็สามารถที่จะทำได้ตามความต้องการ เรียกว่าทำได้

เมื่อได้สมาธิแล้ว ก็เอาไปฝึกให้ชำนิชำนาญในวสี เมื่อชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็สามารถเข้าได้ออกได้ตามความประสงค์ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สมาธิที่ได้นี้เป็นของที่มีประโยชน์มาก ดังที่เคยกล่าวเคยเล่าให้ฟังแล้ว เหตุนั้น จึงไม่พูดถึง พูดเอาเฉพาะที่

สมมติว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่นี้ หากว่ามีสมาธิอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีกำลังใจดี โรคภัยไข้เจ็บก็หายเร็ว หรือบางทีเราเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเป็นโรคอะไรอย่างนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปหาหมอ เราใช้สมาธิเราดูก็รู้ว่า เราเป็นโรคอะไร หรือบางทีจะมีการผ่าตัดอย่างนี้ ถามหมอว่าจะใช้เวลาผ่าตัดนี้เท่าไร หมอบอกว่า ๒ ชั่วโมง

เราก็อธิษฐานจิตเข้าสมาธิ ๓ ชั่วโมง เราขอร้องหมอว่า ไม่ต้องฉีดยาชา ไม่ต้องวางยาสลบ ให้ผ่าเลย อาตมารับรองว่าไม่เป็นไร ให้เขาผ่าเลยได้อย่างสบาย เราไม่รู้สึกตัวเลย ถ้าสมาธิมันถึงที่แล้ว พอดีหมอทำบาดแผลผ่าตัดเสร็จแล้ว ๓ ชั่วโมง เราฟื้นมาเลย ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต นี่มันได้ประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทำให้มีอายุมั่นขวัญยืน แล้วก็ไม่หวั่นไม่พรั่นพรึงต่อความตาย ตายเวลาไหนเราก็ยอมตาย เพราะเรามีสมาธิจิตอยู่แล้ว

สมาธิจิตที่เราได้นี้ ก็เป็นเครื่องประกันแล้วว่า เมื่อเราตายในสมาธิ สมาธิไม่เสื่อม ตายในสมาธิ เราก็ไปบังเกิดในพรหมโลกแล้ว คนเราเมื่อมีเครื่องยืนยัน มีใบประกันชีวิตเช่นนี้แล้ว ก็ไม่หวั่นต่อความตาย จะตายวินาทีนี้ หรือนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอม ไม่เป็นไร สบายใจไม่ต้องสะทกสะท้าน ไม่ต้องเศร้าโศกวิโยคศัลย์ บ่นพิไรรำพึงรำพันต่างๆ นานาประการ

ท่านครูบาอาจารย์ ตลอดถึงปะขาวแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่พร้อมเพรียงกันมาประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ทำพิธีสอบภาคปฏิบัติก่อนที่จะออกพรรษา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ผลอันใดที่เกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ ท่านทั้งหลายก็เห็นเป็นสักขีพยานแล้ว และก็เวลาของเรายังมีอยู่อีกกว่าจะออกพรรษาก็ยังอีกหลายวัน

หากว่ามรรคใด ผลใดหรือสามัญผลใดๆ ที่เรายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ยังไม่สายเกินแก้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย หากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ชะล่าใจ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทั้งหลายจะไม่พลาดจากผลอันจะพึงได้พึงถึง

เอาล่ะ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ ในท้ายที่สุดนี้ ขออานุภาพคุณพระพุทธเจ้า ขออานุภาพคุณพระธรรมเจ้า ขออานุภาพคุณพระสงฆเจ้า ขออานุภาพบารมีธรรมที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมา พร้อมทั้งอำนาจบารมีธรรมที่หลวงพ่อได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่ปุเรกชาติจนถึงปัจจุบันชาตินี้ ขอจงได้เป็นตบะเดชะเป็นพลวะปัจจัยให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้เป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ ไปด้วยสติสัมปชัญญะ ความเพียร สมาธิ ศรัทธา และปัญญา ได้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา ก่อนท่านทั้งหลายจะออกจากห้องกรรมฐานแห่งนี้ไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


[ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 กันยายน 2559 13:09:10

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSKI5nxu4ZyI7lX5qUBTxGWCT8C1lvHjfllWKGlE63YsybnxhiBOw)

การทำบ่อยๆ
การทำบ่อยๆ
ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ  สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโยติ.[๑]

วันนี้ เป็นวันธัมมัสสวนะ คือวันประชุมฟังธรรม เมื่อถึงวันเช่นนี้ ชาวพุทธผู้หวังความบริสุทธิ์ หวังบุญกุศล หวังผลกำไรแห่งชีวิต ต่างก็มีจิตเป็นกุศล อุทิศตนเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา พากันมุ่งหน้ามาสู่วัดวาอารามเพื่อให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ตามสมควรแก่สติปัญญาของตนๆ ถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล

เพราะมีผลานิสงส์ให้ท่านสาธุชนได้รับฟัง ได้ความรู้ ได้ความฉลาด สามารถน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส ตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ย่อมมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาในชาติหนึ่งๆ

บัดนี้ เป็นเวลาที่จะได้สดับรับฟังพระสัทธรรมเทศนา จะได้แสดงธรรมในหัวข้อเรื่องว่า บ่อยๆ ตามที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๕๕ อุทยสูตร ดำเนินตามใจความว่า

ครั้งนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์ ลำดับนั้น อุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็ม ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ครั้งที่สองในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและถือจีวร เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์ ลำดับนั้นอุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็มถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ครั้งที่สามในเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของอุทยพราหมณ์

แม้ในครั้งที่สามอุทยพราหมณ์เอาข้าวใส่บาตรจนเต็ม ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระสมณะโคดมนี้ ติดในรสอาหาร คือติดใจในอาหาร จึงเสด็จมาบ่อยๆ

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ ฝนย่อมตกบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ทานบดีให้บ่อยๆ แล้วก็เข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ ผู้ต้องการนมย่อมรีดนมบ่อยๆ ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์(การเกิด)บ่อยๆ สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ส่วนผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ดังนี้

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้อย่างนี้แล้ว อุทยพราหมณ์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิดไว้ บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้

คำว่า บ่อยๆ นี้ แปลมาจากศัพท์บาลีว่า ปุนปฺปุนํ ซึ่งนักบาลีนิยมแปลกันว่า บ่อยๆ คือ เสมอๆ เนืองๆ หรือ ถี่ๆ เป็นคำกลางๆ ยังไม่เจาะจงลงไปว่า เป็นฝ่ายดี หรือเป็นฝ่ายชั่ว

ถ้าเป็นฝ่ายไม่ดี ให้เติมคำที่เป็นฝ่ายไม่ดีลงไปข้างหน้า เช่น ทำบาปบ่อยๆ เกียจคร้านบ่อยๆ ทำชั่วบ่อยๆ ดังนี้ เป็นต้น ถ้าเป็นฝ่ายดี ต้องเติมคำที่เป็นฝ่ายดีลงไปข้างหน้า เช่น ทำบุญบ่อยๆ ทำทานบ่อยๆ รักษาศีลบ่อยๆ ไหว้พระสวดมนต์บ่อยๆ เจริญกัมมัฏฐานบ่อยๆ ดังนี้ เป็นต้น

แต่ในที่นี้จะได้อธิบายขยายความไปในทางที่ดีตามเนื้อหาสาระ ในพระสูตรนี้ พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเอาในทางที่ดี มีประโยชน์ดังนี้ คือ

กสิกรย่อมหว่านพืชบ่อยๆ เมื่อหว่านพืชบ่อยๆ ก็ได้พืชบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ได้ขายบ่อยๆ ได้เงินบ่อยๆ ไม่อดไม่อยากบ่อยๆ มั่งคั่งสมบูรณ์บ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ได้น้ำบ่อยๆ อาบได้บ่อยๆ ต้นไม้งามบ่อยๆ ผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์บ่อยๆ ขายดีบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ร่ำรวยบ่อยๆ ชาวนาย่อมไถนาบ่อยๆ เมื่อไถนาบ่อยๆ หญ้าตายบ่อยๆ ได้ปุ๋ยบ่อยๆ ดินดีบ่อยๆ ข้าวงามบ่อยๆ ได้เก็บเกี่ยวข้าวบ่อยๆ ได้ข้าวมากบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ ขายข้าวได้เงินบ่อยๆ ได้ทำบุญทำทานบ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ

แว่นแคว้นย่อมบริบูรณ์ด้วยธัญชาติบ่อยๆ เมื่อบริบูรณ์ก็ไม่อดไม่อยากบ่อยๆ ส่งไปขายเมืองนอกบ่อยๆ นำเงินปอนด์นำเงินดอลลาร์เข้ามาประเทศของตนบ่อยๆ ร่ำรวยบ่อยๆ ยาจกย่อมขอบ่อยๆ เมื่อขอบ่อยๆ ก็ได้เงินบ่อยๆ เมื่อมีเงินแล้วอยากได้อะไรก็ซื้อได้บ่อยๆ ทานบดีก็ให้บ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ ตายแล้วก็ได้ไปเกิดในสวรรค์บ่อยๆ มีความสุขบ่อยๆ สบายบ่อยๆ

ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานย่อมเดินจงกรมบ่อยๆ เมื่อเดินจงกรมบ่อยๆ ย่อมแข็งแรงบ่อยๆ มีสมาธิดีบ่อยๆ เกิดปัญญาบ่อยๆ เมื่อปัญญาเกิดบ่อยๆ ย่อมได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานบ่อยๆ ได้โลกุตตรสมบัติบ่อยๆ

แม่ค้าพ่อค้าย่อมขายของบ่อยๆ เมื่อขายของบ่อยๆ ก็ได้เงินบ่อยๆ ได้กำไรบ่อยๆ ได้บริโภคบ่อยๆ มั่งคั่งสมบูรณ์บ่อยๆ ตั้งตนได้บ่อยๆ ดังนี้ ผู้ต้องการนมย่อมรีดนมบ่อยๆ เมื่อรีดนมบ่อยๆ ก็ได้น้ำนมบ่อยๆ ได้ดื่มบ่อยๆ ได้ขายบ่อยๆ ได้ทำบุญบ่อยๆ ได้บุญบ่อยๆ ได้ทรัพย์ภายนอกและอริยทรัพย์ภายในบ่อยๆ

ลูกโคย่อมเข้าหาแม่โคบ่อยๆ เมื่อเข้าหาแม่โคบ่อยๆ ก็ได้ดื่มน้ำนมแม่บ่อยๆ ไม่หิวบ่อยๆ อิ่มบ่อยๆ ร่างกายสมบูรณ์ด้วยดีบ่อยๆ แข็งแรงบ่อยๆ ราคาแพงบ่อยๆ บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อยๆ เมื่อลำบากในการทำงานหาเงิน หาปัจจัย ๔ ศึกษาเล่าเรียนและดิ้นรนขยันทำงานบ่อยๆ ก็ย่อมจะได้งานบ่อยๆ ได้เงินบ่อยๆ ได้ปัจจัย ๔ บ่อยๆ เรียนจบบ่อยๆ สอบได้บ่อยๆ มีความรู้มากบ่อยๆ งานก็มีมากบ่อยๆ สมดังคำที่ท่านผู้รู้กล่าวสอนไว้ว่า

การเรียนเพียรยิ่งแล้ว  เกิดความ รู้เอย
รู้เลิศเกิดกิจการตาม เพราะรู้
การกิจผลิตผลงาม  คือทรัพย์ สมบัตินา
ทรัพย์ช่วยอำนวยกู้  ก่อให้ สุขเกษม

คนเขลาย่อมเข้าถึงครรภ์บ่อยๆ หมายความว่า คนโง่ไม่มีปัญญา ไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ได้เห็นอริยสัจ ๔ ภพชาติก็ไม่มีทางที่จะสิ้นสุดยุติลงได้ วัฏสงสารก็เพิ่มความยาวออกไปอีกเรื่อยๆ สมดังพระบาลีว่า จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา ดังนี้เป็นต้น ใจความว่า การที่เราท่านทั้งหลายพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงไปได้ แท้ที่จริงเพราะเราไม่เห็นอริยสัจ ๔ นั้นเอง ดังนี้

สัตว์ย่อมเกิดและตายบ่อยๆ ที่เกิดบ่อยๆ ก็เพราะอำนาจแห่งตัณหา เพราะตัณหาพาให้สัตว์เกิดบ่อยๆ ดังพระบาลีว่า ตณฺหา ชเนติ ปุริสํ ตัณหายังสัตว์ให้เกิดบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ ก็ตายบ่อยๆ ที่ตายบ่อยๆ ก็เพราะเกิดบ่อยๆ เกิดเท่าไหร่ตายเท่านั้น ไม่มีเหลือ สมดังท่านผู้รู้ได้สอนไว้ว่า

อันสังขารเกิดขึ้นแล้ว แตกดับ
เพราะว่าสังขารนับ เยี่ยงหม้อ
มีเกิด แก่ ตายยับ ตลอดทั่ว กันนา
มี มิมี ไม่เหลือล้อ  เพิ่มพื้น พสุธา

บุคคลทั้งหลายย่อมนำซากศพไปป่าช้าบ่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะคนตายบ่อยๆ คนตายบ่อยๆ ก็เพราะสิ้นบุญบ่อยๆ และสิ้นทั้งสองอย่างบ่อยๆ เมื่อหมดบุญหมดอายุก็ต้องตายบ่อยๆ

บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อได้มรรคแล้วไม่เกิดอีก ข้อนี้หมายความว่า คนที่มีปัญญานั้นเป็นผู้ไม่ประมาท พิจารณาเห็นความเกิด แก่ เจ็บ ตายว่าเป็นภัยที่น่ากลัว เป็นกองทุกข์อันยิ่งใหญ่ จึงได้พยายามสร้างบุญสร้างกุศล สร้างบารมีไม่ย่อท้อ เช่น ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังธรรม เจริญสมถะวิปัสสนาบ่อยงใหญ่จึงได้พยายามสๆ เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานบ่อยๆ โดยถือว่าถ้าไม่ได้บรรลุในปฐมวัย ก็จะได้บรรลุในมัชฌิมวัย ถ้าไม่ได้บรรลุในมัชฌิมวัย ก็จะได้บรรลุในปัจฉิมวัย

ถ้าไม่ได้บรรลุในปัจฉิมวัย ก็จะได้บรรลุในเวลาใกล้จะตาย ถ้าไม่ได้บรรลุในเวลาใกล้จะตาย ตายแล้วก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ แล้วปฏิบัติบนสวรรค์โน้น ถ้ายังไม่ได้บรรลุบนสวรรค์ เมื่อกลับลงมาเกิดในเมืองมนุษย์ ได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง จะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นแน่แท้

เมื่อไม่ได้พบพระพุทธศาสนาเพราะเป็นสุญกัป ก็จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้มรรคผลนิพพานด้วยตนเอง จะได้สิ้นภพสิ้นชาติ สิ้นกิเลสทั้งปวง ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในห้วงมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ดังนั้น คนฉลาดคนมีปัญญาจึงได้สร้างบุญบ่อยๆ และยังความพอใจให้เกิดขึ้นในบุญนั้นบ่อยๆ

เพราะถือว่าบุญเท่านั้น ที่จะให้เกิดความสุข ตั้งแต่ขั้นต่ำกระทั่งถึงพระนิพพาน สมดังเทศนาบรรหารที่ได้ยกไว้เป็นหัวข้อในเบื้องต้นนั้นว่า ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา ดังนี้ เป็นต้น ใจความว่า หากว่านรชนจะทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้นบ่อยๆ เพราะว่าการสั่งสมบุญบ่อยๆ ให้เกิดความสุขบ่อยๆ ทั้งในโลกนี้ทั้งโลกหน้า ดังนี้

คำว่า บุญ แปลว่า ชำระ คือชำระกายวาจาใจให้สะอาดก็ได้ แปลว่า กรอง คือกรองเอาบาปออก เอาของไม่ดีออก เอาไว้แต่ของดีๆ ก็ได้ แปลว่า เต็ม คือ ผู้ทำบุญต้องเต็มใจทำ ทำด้วยความเต็มใจ และทำบุญเพื่อยังบารมีให้เต็มก็ได้

บุญเป็นชื่อของความสุขทั้ง ๑๐ ประการ คือสุขของมนุษย์ สุขทิพย์ สุขในฌาน สุขในวิปัสสนา สุขในมรรค สุขในผล สุขคือพระนิพพานก็ได้ บุญนั้นมี ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา บุญมี ๔ คือ กามาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวในกามภูมิ ๑ รูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ ๑ อรูปาวจรบุญ บุญที่ทำแล้วพาท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภูมิ ๑ โลกุตตรบุญ บุญเหนือโลกทั้งสามนั้น ได้แก่บุญที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

บุญ ๑๐ นั้น คือ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ๑ สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล ๑ ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ๑ อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลผู้เจริญโดยวัยโดยคุณและโดยชาติ ๑ เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ ๑ ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ ๑ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ๑ ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑ ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม ๑ ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรงคือทำความเห็นให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าบาปมี บุญมี สวรรค์มี นรกมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น ๑

อานิสงส์ของบุญ มีดังนี้คือ ใครจะมาแย่งเอาบุญไปไม่ได้, บุญสามารถติดตามตนไปทุกฝีก้าว ดุจเงาติดตามตนไปทุกหนทุกแห่งฉะนั้น เมื่อละร่างนี้ไปแล้วยังสามารถถือเอาบุญติดตามไปได้ในที่ตนเกิดอีกด้วย, บุญไม่ทั่วไปแก่คนอื่น ใครทำใครได้ บุญโจรลักไปไม่ได้,

บุญให้สมบัติที่เราต้องการได้ทุกอย่าง, เทวดาและมนุษย์ปรารถนาสมบัติใดๆ ได้สมบัตินั้นๆ ตามปรารถนาก็เพราะบุญ, มีเสียงไพเราะ มีทรวดทรงงาม มีรูปสวยก็เพราะบุญ, ได้เป็นใหญ่ มีบริวารซื่อสัตย์จงรักภักดี ได้เป็นพระราชาในประเทศหนึ่งๆ ก็เพราะบุญ, ได้อิสริยยศ โภคยศ กิตติยศ สัมมานยศก็เพราะบุญ, ได้เพื่อนดี ได้วิชชา ได้วิมุติ ได้วิโมกข์ ๓ ได้วิโมกข์ ๘ ก็เพราะบุญ, ได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะบุญ

บุญเป็นต้นเหตุของความสุขทุกประการ, บุญเป็นรากเหง้าของสมบัติทั้งปวง, บุญเป็นที่ตั้งอาศัยโภคสมบัติทุกอย่าง, บุญเป็นเครื่องป้องกันอันตรายอันประเสริฐสำหรับบุคคลผู้เดินทางไกลกันดารคือวัฏสงสาร, ที่พึ่งอื่นเช่นกับบุญนั้นไม่มี, บุญเป็นเช่นกับที่อยู่ของราชสีห์,

บุญเป็นเช่นกับพื้นแผ่นดิน เพราะเป็นที่พึ่งอาศัย, บุญเป็นเช่นกับเชือก เพราะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของใจ, บุญเป็นเช่นกับเรือ เพราะพาข้ามโอฆะสงสาร, บุญเป็นเช่นกับบุคคลผู้แกล้วกล้าในสงคราม, บุญเป็นเช่นกับพระนครที่บุคคลตกแต่งดีแล้ว, บุญเป็นเช่นกับดอกปทุม เพราะไม่เปรอะเปื้อนด้วยของสกปรกและมีกลิ่นหอม, บุญเป็นเช่นกับไฟ เพราะเผาบาปให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน,

บุญเป็นเช่นกับอสรพิษ เพราะกัดบาปออกทิ้ง, บุญเป็นเช่นราชสีห์ เพราะทำให้องอาจกล้าหาญ, บุญเป็นเช่นกับโคอุสุภราช เพราะประเสริฐวิเศษสุด, บุญเป็นเช่นกับพญาช้าง เพราะมีกำลัง, บุญเป็นเช่นกับม้าวลาหกตัวประเสริฐ เพราะพาข้ามโอฆะสงสารได้อย่างรวดเร็วดุจม้าอัสดรตัวที่มีฝีเท้าดีฉะนั้น

บุญเป็นหนทางที่นักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้ดำเนินไปแล้ว, และบุญเป็นวงศ์ของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เอวํ มหตฺถิกา เอสา ยทิทํ ปุญฺญสมฺปทา บุญดี มีประโยชน์ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล ดังบรรยายมาฉะนี้

ตสฺมา ธีรา ปสํสนฺติ  ปณฺฑิตา กตปุญฺญตํ
เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายจึงยกย่องสรรเสริญบุคคลที่ทำบุญไว้แล้ว ว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดังนี้ 

ดังนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเตือนเหล่าพุทธบริษัทไว้ว่า
ปุญฺญญฺเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนํ ปุนปฺปุนํ
ตมฺหิ ฉนฺทํ กยิราถ  สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโยติ.

หากว่า นรชนจะทำบุญ ก็จงทำบุญนั้นบ่อยๆ จงทำความพอใจในบุญนั้นบ่อยๆ เพราะบุญที่ตนได้สั่งสมไว้แล้ว ให้เกิดความสุขทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า

เอาล่ะญาติโยมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้แสดงพระสัทธรรมเทศนามา ในเรื่องคำว่า บ่อยๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.



[ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 กันยายน 2559 11:38:38

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQLV3UVpWhyyUd_dE1m8f1_GTA4eVgmFOwsvQ_3F9x0pHcHSxIe)

การบวช


วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง การบวช มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านทั้งหลายที่บวชใหม่ บวชหน้าเข้าพรรษา จะได้สดับตรับฟังไว้ ให้พอเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติต่อไป

คำว่า บวช ในที่นี้มาจากคำว่า ปวัชชะ ซึ่งแปลว่า เว้น การเว้นในที่นี้ หมายความว่า เว้นจากการประพฤติที่ไม่สมควรแก่สมณสารูป คือ ไม่สมควรแก่นักบวชนั่นเอง

การเว้นในที่นี้ จัดเป็น ๓ ระดับ คือ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง

การเว้นอย่างต่ำ ได้แก่ การเว้นด้วยการสมาทานรักษา หรือตั้งมั่นอยู่ในศีลอันเป็นสิกขาบทของตนๆ เว้นตามข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ได้แก่ เว้นจากการประพฤติทุจริต เช่น เว้นจากการฆ่ากัน เว้นจากการพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญกัน เว้นจากการลักการขโมย เว้นจากการประพฤติผิดประเวณี เว้นจากการพูดโกหก เว้นจากการพูดส่อเสียด ยุยงให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคี ทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้าลามก ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เว้นจากการพูดถ้อยคำที่ไร้สาระ หาประโยชน์มิได้

การเว้นอย่างกลาง ได้แก่ เว้นด้วยการเจริญสมถภาวนา จนสามารถทำจิตใจให้สงบ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิตามลำดับ ในขณะที่จิตของเราเป็นสมาธิอยู่นั้น ความชั่วอย่างกลาง คือปริยุฏฐานกิเลส หรือนิวรณ์ ๕ ประการ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ เราเว้นจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ นั้นได้ ในขณะที่จิตอยู่ในสมาธิ

การเว้นอย่างสูง ได้แก่ เว้นด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะ ทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ จนสามารถเข้าสู่มัคควิถี ยังมัคคจิตผลจิตให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถประหารความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา และอุปาทาน ให้หมดไปตามกำลังของมรรค กิเลสตัณหาเหล่าใด ที่มรรคประหารแล้ว กิเลสตัณหาเหล่านั้น ก็ไม่กลับเกิดขึ้นอีก เป็นอันว่าเราเว้นอย่างเด็ดขาด

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ที่ได้มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนา และได้มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราทั้งหลายมาบำเพ็ญคุณงามความดี สร้างสมอบรมคุณงามความดี ให้เกิดมีขึ้นในขันธสันดาน ด้วยการอยู่กรรม ด้วยการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

การบวชนั้นมีหลายประการ ดังที่โบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า ๑. บวชรับ ๒. บวชลับ ๓. บวชลอง ๔. บวชครองประเพณี ๕. บวชหนีสงสาร ๖. บวชผลาญข้าวสุก ๗. บวชสนุกตามเพื่อน ๘. บวชเปื้อนศาสนา ๙. บวชหาของเล่น

๑. บวชรับ คำว่า บวชรับ ในที่นี้ หมายความว่า บางทีเราเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติของเราป่วย เราได้บนบานศาลกล่าวที่ศักดิ์สิทธิ์ที่นั้นที่นี้ว่า ถ้าเราหายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือบางที เราไปประสบเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็รับไว้ในจิตใจว่า ถ้าพ้นจากเหตุภัยนี้ไปแล้ว จะขอบวชเพื่อเป็นการตอบแทน เมื่อเราหายจากอาการป่วยเช่นนั้น หรือพ้นจากภาวะอันไม่พึงปรารถนาเช่นนั้นแล้ว เราก็มาบวชในพระพุทธศาสนา ตามโอกาสตามเวลาอำนวย อย่างนี้เรียกว่า บวชรับ

๒. บวชลับ คำว่า บวชลับ ในที่นี้ หมายเอาว่า เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ไม่ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ บวชมาแล้วก็ลับๆ ลี้ๆ การศึกษาไม่เอาถ่าน การงานไม่เอาไหน การประพฤติปฏิบัติยิ่งไปกันใหญ่ บวชมาแล้ว ไม่เอาใจใส่ในการเล่าเรียน ในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำกิจทางพระพุทธศาสนา ลับๆ ลี้ๆ อยู่ตลอดเวลา

๓. บวชลอง คือผู้บวชนั้นคิดว่า การบวชนั้นจะมีรสชาติเป็นอย่างไร ได้รับความสุขความสบายมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือว่าได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างไร ผู้ที่บวชนั้นมีความเป็นไปอย่างไร คิดอยากจะลองดู แล้วก็มาลองบวชดูว่าจะเป็นอย่างไร อันนี้เรียกว่า บวชลอง

๔. บวชครองประเพณี ตามธรรมดาชาวไทยของเรา หากว่ามีบุตรชายแล้ว ก็ต้องบวชก่อนจะแต่งงาน หรือว่าบางทีทำราชการเป็นครู เป็นทหาร เป็นตำรวจ เป็นต้น เมื่อได้โอกาสได้เวลาก็ลาราชการมาบวชตามประเพณี คือประเพณีของไทยเรานั้น ผู้ชายต้องบวช ถ้าใครไม่ได้บวชก็ถือว่าเป็นคนดิบ อันนี้เราเรียกว่า บวชครองประเพณี

๕. บวชหนีสงสาร หมายความว่า ผู้ที่จะมาบวชในพระพุทธศาสนานั้น มีความเบื่อหน่ายในการครองฆราวาสเพราะเห็นทุกข์เห็นโทษที่เกิดขึ้น จากการอยู่ครองฆราวาส เห็นว่า การเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ ก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากความทุกข์ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากไฟกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เผาผลาญให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา เกิดความสังเวชสลดใจ จึงเสียสละการงานทุกสิ่งทุกอย่าง สละการครองฆราวาส มาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วก็ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพื่อจะทำลายไฟทุกข์ไฟกิเลสซึ่งเผาผลาญอยู่ตลอดเวลานั้น ให้ดับสิ้นสูญลงไป จะได้อยู่อย่างสบาย อันนี้เรียกว่า บวชหนีสงสาร

๖. บวชผลาญข้าวสุก หมายความว่า ผู้มาบวชนั้น บางทีขาดญาติพี่น้อง ขาดลูกหลาน หรือบางทีก็ไม่มีพ่อแม่ที่จะอุปถัมภ์ หากินก็ฝืดเคือง หรือบางทีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูลอยู่ แต่ขี้เกียจทำงาน ไม่อยากทำการทำงาน อยู่ที่บ้านเห็นว่าลำบากลำบน สู้ไปบวชไม่ได้

พวกไปบวชนี้ ถึงเวลาก็ตีระฆังสัญญาณ บิณฑบาตมาฉัน ไม่บิณฑบาตก็มีญาติโยมมาส่ง ตอนเพลก็มีญาติโยมมาส่ง ไม่ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนแสวงหา ตรากตรำแดด ตรากตรำฝนหนาวร้อนอะไร อยู่อย่างสบาย กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน คิดไปอย่างนี้

คิดว่าการบวชนี้มีแต่นั่งกินนอนกิน หรือบางทีคนเฒ่าคนแก่คิดว่า อยู่ไปก็ไม่สามารถเลี้ยงตัวได้ อาศัยการไปบวชคงพอที่จะเลี้ยงตัวได้ คงจะไม่ลำบากลำบนอะไรทำนองนี้ ก็เสียสละฆราวาสมาบวชในพระพุทธศาสนา อันนี้เรียกว่า บวชผลาญข้าวสุก คือบวชมาเพื่อจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

๗. บวชสนุกตามเพื่อน คือเห็นเพื่อนบวชมากๆ เพื่อนคนนั้นก็บวช เพื่อนคนนี้ก็บวช คิดว่ามีแต่เพื่อนไปบวช หากเราไปก็คงจะสนุกสนาน คงจะไม่จืดชืด คงจะไม่เชยทำนองนี้ เห็นเพื่อนบวชก็บวชตาม อย่างนี้เรียกว่า บวชสนุกตามเพื่อน

๘. บวชเปื้อนศาสนา หมายความว่า ผู้บวชประเภทนี้ บวชเข้ามาแล้วไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะรักษาหรือปฏิบัติตามธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่าฝืนระเบียบกฎหรือกติกาของนักบวช เดี๋ยวก็ทำสิ่งนั้นบ้าง เดี๋ยวก็ทำสิ่งนี้บ้าง ดังที่เราทั้งหลายได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ

บางทีก็ไปยักยอกเอาเงินสงฆ์ บางทีก็ไปเกี้ยวพาราสีไปเสียเนื้อเสียตัวกับสีกาก็มี บางทีก็ไปเล่นการพนัน เล่นไพ่ เล่นหวย อะไรนานัปการ ทำให้ศาสนานี้ต้องเปรอะเปื้อนไป อันนี้พูดเอาง่ายๆ ว่าบวชมาแล้วไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ล่วงเกินพระวินัย ไม่เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ไม่ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ไม่ปฏิบัติตามข้อธรรมอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสตัณหาหมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน ทำไปตามใจชอบ ทำไปตามอำเภอใจ สุดท้ายก็ทำให้เปื้อนศาสนา

๙. บวชหาของเล่น หมายความว่า บวชเข้ามาแล้วก็หาสิ่งนั้นมาเล่น หาสิ่งนี้มาเล่น สรวลเสเฮฮากัน อะไรที่เป็นของเล่นนั้น ก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายคิดเอาเองว่า อะไรที่เรานำมาเล่นนำมาใช้สอยแล้วไม่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา แก่สังคมส่วนรวม มิหนำซ้ำชาวบ้านเขายังติเตียนนินทาเอา ประเภทนั้นแหละ เรียกว่า บวชหาของเล่น

ทีนี้การบวชทั้ง ๙ ประการนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาเอาว่า เราอยู่ในประเภทไหน และเราบวชอย่างไรจึงจะถูกต้อง เลือกเอาวิธีไหนจึงจะถูกต้อง ก็ขอให้เลือกเอา

การบวชมีหลายประเภทดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุนั้น ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงจัดการบวชของบุคคลไว้เป็น ๔ จำพวก ได้แก่

บุคคลจำพวกที่ ๑ มีกายออกจากบ้าน แต่ใจไม่ได้ออกไปด้วย ได้แก่ ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนา มีการมาบวชจริง แต่ใจไม่ได้มาบวช เมื่อมาบวชแล้ว ใจยังเกาะติดอยู่กับวิตก ๓ คือ

๑) กามวิตก มีความคิดไปในทางกาม คิดถึงแต่รูปที่สวยๆ เสียงที่ไพเราะ กลิ่นที่หอมๆ รสที่เอร็ดอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่มที่ดีๆ อยู่ใต้อำนาจของกามคุณ ตกอยู่ภายใต้ของอำนาจกิเลสกามอันมีโลภะเป็นมูล

๒) พยาบาทวิตก คือบวชมาแล้วก็คิดแส่หาแต่เรื่องที่เราทำไว้ก่อนซึ่งไม่ดี คิดพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญ จองเวรผู้นั้นผู้นี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ขาดน้ำอดน้ำทน มีการล่วงเกินอะไรๆ กันเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่รู้จักข่มใจ ไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักเสียสละ บางทีต้องทะเลาะวิวาทกัน บางทีก็ผูกพยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญกัน บ้างก็โกรธกัน จนถึงฆ่ากันตายก็มี ดังที่เราได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์หรือฟังข่าวทางวิทยุดูทีวีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้

๓) วิหิงสาวิตก เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็ยังคิดเบียดเบียนบุคคลอื่นสัตว์อื่น ขาดเมตตาธรรม อารมณ์ใดที่ไม่ถูกใจก็คิดแช่งอยู่ว่า ขอให้เขาเดือดร้อนลำบาก สาปให้เขาพินาศให้เขาฉิบหายไป วุ่นอยู่ในจิตใจในขณะนั้นไม่สร่างซา แต่ว่าไม่ล่วงออกมาภายนอก คิดอยู่แต่ในจิตใจด้วยอำนาจของโมหะ

บุคคลประเภทนี้ เรียกว่า บวชแต่กาย ใจยังไม่ได้บวช บวชมาแล้วก็ไม่ได้อานิสงส์ ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่ได้บุญ ไม่ได้กุศลที่ตรงไหน มิหนำซ้ำ มีแต่บาปแต่กรรม สร้างแต่บาป สร้างแต่กรรมให้แก่ตนไปเรื่อยๆ

บุคคลจำพวกที่ ๒ คือ มีใจออกจากบ้าน แต่กายไม่ได้ออก ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนาเหมือนพวกเราทั้งหลาย ไม่มีโอกาสมาบวชเป็นพระ เป็นเณร เป็นแม่ชี เป็นปะขาว เพราะว่าสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แต่ว่าเป็นผู้มีใจอันงดงาม มีใจเป็นมหากุศล

ทุกเช้า ทุกเย็น ทุกเพล ทุกค่ำ หรือว่างเมื่อใด ก็เอาใจใส่ในการบำเพ็ญกุศล เป็นต้นว่าให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาอยู่กับบ้านกับเรือนของตน เอาใจใส่อุปถัมภ์อุปัฏฐากพุทธบุตร

ดังญาติโยมทั้งหลายที่มาถวายภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพลนี้ เป็นต้น เขาไม่มีโอกาสมาบวช แต่เขาบำรุงพุทธบุตรคือบุตรของพระพุทธเจ้า ใครคือบุตรของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่พวกเราทั้งหลาย นี้เรียกว่า กายไม่ได้บวช แต่ใจบวช

บุคคลจำพวกที่ ๓ คือบุคคลบางคน กายก็ไม่ได้ออกจากบ้าน ใจก็ไม่ได้ออกจากบ้าน ได้แก่ คนที่ไม่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อไม่มีโอกาสมาบวชแล้วยังไม่พอ การปฏิบัติยังประกอบไปด้วยอบายมุขเครื่องฉิบหาย

เช่นว่า เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงเจ้าชู้ เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน เที่ยวคลับเที่ยวบาร์ ขี้เกียจทำงาน ไม่เอาใจใส่ในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี มีการไหว้พระ สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น ไม่สนใจในการทำบุญทำทาน เขามาบอกข่าวป่าวร้องว่า วันนี้มีการทำงานที่นั้นที่นี้เป็นสาธารณะ เช่นว่า ซ่อมถนนหนทาง โรงพยาบาล อนามัย โรงเรียน ทำทำนบ เป็นต้น ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่ช่วยเหลือ ความประพฤตินั้นฝักใฝ่อยู่แต่อบายมุขอยู่ตลอดเวลา เช่นนี้เรียกว่า กายก็ไม่ได้บวช ใจก็ไม่ได้บวช

บุคคลจำพวกที่ ๔ คือบุคคลบางคน มีกายออกจากบ้านและมีใจออกจากบ้านด้วย ได้แก่ ผู้ที่มีโอกาสมาบวชในพระพุทธศาสนาเป็นพระภิกษุ สามเณร ปะขาว แม่ชี

เมื่อบวชมาในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา มรรค ผล พระนิพพาน ดังที่พวกเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ อย่างนี้เรียกว่า บวชทั้งกายบวชทั้งใจ

เมื่อท่านทั้งหลายได้ทราบประเภทของการบวช หรือได้ทราบบุคคลทั้ง ๔ จำพวกดังกล่าวมาแล้ว ก็ขอให้นำมาพิสูจน์ตรวจตราดูตัวของเราว่า เราอยู่ในประเภทไหน ขณะนี้การบวชของเราสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง

ต่อไป ก็ขอยกเรื่อง บุรุษอาชาไนย กับ ม้าอาชาไนย มาเปรียบเทียบกัน ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ม้าอาชาไนยกับบุรุษอาชาไนยนั้น มีอยู่ ๔ ประเภท คือ

ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๑ พอเห็นปฏักก็เกิดความสำเหนียกรู้เหตุการณ์ แล้วก็ทำตามคำสั่งนายสารถีให้ถูกต้องโดยเร็วพลันทันที ไม่ต้องแทงปฏัก เพียงแต่เงื้อปฏัก เห็นเงาปฏัก ก็รู้ความประสงค์ของนายสารถีของเจ้าของทันที

ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๒ แม้จะเงื้อปฏักขึ้น ก็ยังไม่กลัว นายสารถีผู้เป็นเจ้าของต้องเอาปฏักแทงจนถึงขน จึงจะรู้ถึงเหตุการณ์ จึงจะทำตามคำสั่งของนายสารถีได้ถูกต้อง

ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๓ แม้จะแทงถึงขนแล้ว ก็ยังไม่กลัว เจ้าของต้องแทงจนถึงเนื้อ จึงจะรู้เหตุการณ์ และทำตามคำสั่งของนายสารถีผู้เป็นเจ้าของได้ถูกต้อง

ม้าอาชาไนยประเภทที่ ๔ แม้จะใช้ปฏักแทงจนถึงเนื้อ ก็ยังไม่รู้สึกตัว ไม่กลัว นายสารถีผู้เป็นเจ้าของต้องเอาปฏักแทงจนถึงกระดูก จึงจะสำเหนียก จึงจะรู้เหตุการณ์ จึงจะทำตามคำสั่งของนายสารถีได้ถูกต้อง โดยฉับพลัน

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏะทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวกเหมือนกัน คือ

บุคคลจำพวกที่ ๑ พอได้ยินข่าวว่า หญิงโน้น ชายโน้น หญิงนั้น ชายนั้น อยู่บ้านนั้น ตำบลนั้น ถึงทุกข์หรือตายไปเท่านั้น ก็เกิดความสลดสังเวชใจว่า เรานี้ก็ต้องเจ็บต้องตายเหมือนกับเขา แล้วก็เริ่มตั้งความเพียร เจริญสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถรู้แจ้งแทงตลอดถึงอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันยิ่งของตน

บุคคลจำพวกที่ ๒ แม้จะได้ยินข่าวว่า หญิงนั้นชายนี้ อยู่บ้านนั้นบ้านนี้ เจ็บไข้ได้ป่วย หรือตายลงไป ก็ยังไม่กลัว ยังไม่เกิดสลดสังเวชใจ ต่อเมื่อได้เห็นหญิงชายนั้นตายหรือเจ็บไข้ได้รับความทุกข์ ด้วยตาของตนจริงๆ จึงจะเกิดความกลัว เกิดความสังเวช เกิดความสลดใจ แล้วออกปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจริญสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

บุคคลจำพวกที่ ๓ แม้จะเห็นหญิงก็ตาม ชายก็ตาม ตายอยู่ต่อหน้าตน ก็ยังไม่เกิดความสังเวชสลดใจ ต่อเมื่อเห็นบิดามารดา ญาติสายโลหิต มิตรสหาย ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกับตน ได้รับทุกข์หรือตายลงไป จึงจะเกิดความกลัว จึงจะเกิดความสลดสังเวชใจ จึงจะได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

บุคคลจำพวกที่ ๔ แม้ได้ยินข่าวก็ตาม หรือเห็นด้วยตาของตนเองก็ตาม หรือเห็นพ่อเห็นแม่ ญาติสายโลหิตมิตรสหายที่อยู่ใกล้ชิด ตายลงไปแล้ว ก็ยังไม่กลัว ไม่เกิดความสลดสังเวชใจเลย

ต่อเมื่อใด ตนเองได้รับความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา จึงเกิดความกลัว จึงจะเกิดความสลดสังเวชใจแล้วจึงจะได้ตั้งปณิธานในใจว่า ขอให้ข้าพเจ้านี้ หายจากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือพ้นทุกข์พ้นร้อนในคราวเคราะห์ครั้งนี้ หากว่าข้าพเจ้าพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนในครั้งนี้ ข้าพเจ้าหายแล้วจะบวช หรือจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญวาสนาบารมีของข้าพเจ้า

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย บุคคลในโลกนี้มีอยู่ ๔ จำพวก ดุจม้าอาชาไนย ดังนี้

เพราะเหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงรีบทำความเพียรเสียแต่วันนี้ เพราะวันพรุ่งนี้ เราไม่ทราบว่าความตายจะมาถึงแก่เราหรือไม่ อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ ขอท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

ส่วนบุคคลนอกจาก ๔ จำพวกดังกล่าวมาแล้วนี้ ทั้งเห็นภัยเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทั้งถูกชักนำ ทั้งถูกนำไปดูการประพฤติปฏิบัติในสถานที่ต่างๆ ทั้งทราบว่า การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ยากเท่าไร ถึงกระนั้นก็ไม่เข้าใจ ไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ เรียกว่าเป็นประเภท ปทปรมะ คือมีบทเป็นอย่างยิ่ง จะบอกจะสอนพร่ำเตือนอย่างไร ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจที่จะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา

บุคคลจำพวกนี้ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ทรงโปรด และก็ไม่จัดเข้าในเวไนยสัตว์ ไม่จัดเข้าเป็นสาวกของพระพุทธองค์

ส่วนบางคน เพียงแต่ทราบว่า เขามีการปฏิบัติที่โน้น เขามีการปฏิบัติที่นี้ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่นี้แหละ ท่านทั้งหลายได้ทราบว่าที่วัดพิชโสภาราม ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จะมีการเข้าปริวาสกรรมในหน้าพรรษา มีการปฏิบัติทั้งสมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐานควบคู่กันไป ก็เกิดความดีอกดีใจ

แม้จะลำบากยากเย็นสักเพียงไรก็อุตส่าห์พยายามมาประพฤติปฏิบัติ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดิน ถ้าจัดอยู่ในบุคคล ๔ จำพวก ก็อยู่ในจำพวกที่ ๑ ถ้าเป็นม้าอาชาไนยก็เป็นม้าอาชาไนยประเภทที่ ๑

และท่านทั้งหลายที่มาบวชในพระพุทธศาสนานี้ ถือว่าเราได้ยกตนขึ้นจากหล่ม จากโคลนตม จากป่า จากไพร จากหลุมถ่านเพลิง

เพราะเหตุไร ?

เพราะว่า ผู้ครองฆราวาสนั้น เหมือนกับตกอยู่ในตมจมอยู่ในโคลนตลอดเวลา ต้องทนทุกข์ทรมานในการประกอบการงานตลอดทั้งวัน ปากกัดตีนถีบ ถึงกระนั้นก็ยังไม่พออยู่พอกิน และผู้ที่อยู่ในฆราวาสนั้น เหมือนกันกับอยู่ในป่า เหมือนกันกับอยู่กลางป่าซึ่งเต็มไปด้วยสัตว์ร้าย ไม่รู้ว่าจะหาทางออกจากป่าได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง ยังต้องประกอบการงาน ตรากตรำแดด ตรากตรำฝน หนาวร้อนอยู่ตลอดเวลา รวมแล้วผู้ที่อยู่ครองฆราวาสนั้นถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ทั้งไฟกิเลสและไฟทุกข์ ท่านทั้งหลายที่มาบวช จึงถือว่า เราได้ยกตนขึ้นจากตม จากโคลน จากป่า จากไพร จากหลุมถ่านเพลิง

อนึ่ง ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนานั้น มีโอกาสที่จะแสวงหาความสุขความเจริญ ได้หลายสิ่งหลายประการ สามารถที่จะตั้งอยู่ใน ภูมิธรรม ๒๓ ประการ ได้ คือ

อัคโค ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันเลิศด้วยศีลคุณ ๑

นิยโต ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันแน่นอนคือศีลคุณ ๑

อาจาโร ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันมีมารยาทประเสริฐด้วยศีลคุณ ๑

วิหาโร ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรมอันล้ำเลิศ ๑

สัญญโม ตั้งอยู่ในความสำรวมตามสิกขาบทบัญญัติ ๑

สังวโร ตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิสีล ๔ ประการ ๑

ขันติ ตั้งอยู่ในขันติคุณ อดทนทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๑

โสรัจจะ ตั้งอยู่ในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย ๑

เอกันตาภิรติ ยินดีเฉพาะทางธรรมอันนำความเย็นมาให้ ๑

หิริ มีภูมิธรรมประจำใจคือความละอายใจในการกระทำความชั่ว ๑

โอตตัปปะ มีภูมิธรรมประจำใจคือความกลัวต่อผลของการกระทำชั่ว ๑

วิริยะ ตั้งอยู่ในความเพียรอันแกล้วกล้า เอาชนะมารจนได้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ ๑

อัปปมาโท เป็นผู้ไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ๑

สิกขาปะทัง อุทเทสัง ปริปุจฉา มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนโอวาทคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเต็มความสามารถ ๑

สีลาทิภิรติ ตั้งอยู่ในภูมิธรรมอันดีมีศีลเป็นที่รัก ๑

นิราลยตา ถอนขึ้นซึ่งความอาลัย ๑

สิกขาปะทัง ปริปูรติ มีศีลบริบูรณ์ ๑

ปริสุทโธ เป็นผู้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากความเศร้าหมอง ๑

มหันตภาโว เป็นผู้ไม่คับแคบใจ ๑

ปริสุทธภาโว มีพระธรรมวินัยเป็นเครื่องป้องกันแข็งแรงมิให้ทำความชั่วช้าลามก ๑

ปาปวิคตภาโว ปราศจากคนเลวทราม ๑

ธัมมวิเสสลภนภาโว เป็นผู้ใกล้ต่อการบรรลุคุณวิเศษ คือมรรค ผล พระนิพพาน ๑

รวมธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ เป็นคุณธรรมที่ไม่มีสิ่งใดจะเปรียบปาน เป็นภูมิธรรมบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง เป็นของหาได้ยาก

หากเราอยู่ครองฆราวาส ไม่สามารถจะยังคุณธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย เว้นไว้แต่ผู้ที่ได้มาบวชในพระพุทธศาสนา ตั้งอกตั้งใจรักษาปฏิบัติ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่นั่งรวมกันอยู่ในขณะนี้ จึงจะยังคุณธรรมทั้ง ๒๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลายที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว หากว่าตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ตั้งมั่นอยู่ในศีล คือพยายามรักษาศีลโดยเคร่งครัด เป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่า อธิสีลสิกขา มีศีลยิ่ง มีศีลมาก มีศีลสมบูรณ์ ท่านทั้งหลายก็จะมีโอกาสบรรลุเป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

แต่ท่านใด เมื่อบวชเข้ามาแล้วตั้งอกตั้งใจฝักใฝ่ในทางเจริญภาวนา เป็นผู้มีจิตยิ่งด้วยสมาธิ คือมีสมาธิมาก สามารถได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ผู้ที่มากด้วยสมาธิอย่างนี้ สามารถบรรลุเป็นพระอนาคามีได้

ถ้าผู้ที่บวชเข้ามาแล้วเป็นผู้ยิ่งด้วยปัญญา คือได้ศึกษา ได้เล่าเรียนมามาก หรือได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนอยู่ทุกวัน และก็เจริญพระวิปัสสนาภาวนา สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นครบบริบูรณ์ ท่านผู้นั้นก็สามารถที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์

อันนี้เป็นอานิสงส์ของการบวชมาในพระพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลาย การบวชนี้มีความมุ่งหมายอยู่หลายสิ่งหลายประการ แต่เมื่อสรุปลงมาสั้นๆ พอเหมาะแก่การศึกษา และพอเหมาะแก่กาลเวลา จะนำมาบรรยายสัก ๓ ประการ

๑. พวกเราทั้งหลาย เมื่อบวชมาแล้ว ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนา คือพระศาสนาจะเจริญถาวรตั้งมั่นอยู่ได้ ก็อาศัยพวกเราทั้งหลายที่เป็นพระภิกษุ เป็นสามเณร เป็นปะขาวแม่ชี เป็นอุบาสกอุบาสิกา

เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ก็ตั้งอกตั้งใจศึกษาเล่าเรียนประพฤติปฏิบัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ปฏิบัติตามธรรมะอันเป็นแนวทางให้เจริญไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุสุขอันไพบูลย์คือมรรคผลนิพพาน เมื่อใด เราตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ก็สามารถสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้ได้ พระศาสนาก็จะเจริญถาวรตั้งมั่นอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปได้

๒. เราบวชมาเพื่อบำเพ็ญบารมี คือเราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ อาศัยบุญเก่ากุศลเก่า ที่เราทั้งหลายได้สั่งสมอบรมไว้ตั้งแต่ปุเรกชาติ เป็นพลวปัจจัยให้เราทั้งหลายมาเกิดเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา และมีโอกาสได้มาบวช

การมาบวชในพระพุทธศาสนาในครั้งนี้ เราบวชมาเพื่อสร้างบุญใหม่กุศลใหม่ เพื่อจะได้เป็นกำไรชีวิตในวันหน้า เดือนหน้า ปีหน้า ภพหน้า ชาติหน้าต่อไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน

๓. เราบวชมาเพื่อจะทดแทนค่าน้ำนม ค่าข้าวป้อน ค่าอุปการะ ที่บิดามารดามีต่อเรา บิดามารดาเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก จะหาวิธีตอบบุญสนองคุณบิดามารดานั้น ไม่อาจที่จะตอบแทนท่านได้หมด แม้ว่าเราจะเอาผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวนเงินทองนพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินให้เพียงปลายพร้าวปลายตาล เพื่อจะทดแทนบุญคุณของท่าน ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้

แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา เอาแม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาท่านจะไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาเราไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาท่านจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาเราจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรา เวลาท่านจะหลับจะนอน ก็ให้ท่านหลับท่านนอนอยู่บนบ่าของเรา

เวลาท่านถ่ายหนักถ่ายเบา ก็ให้ท่านอยู่บนบ่าของเรา ให้ท่านขี้เยี่ยวรดตัวของเรา จนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้ เว้นไว้แต่ผู้ใด ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ตั้งอกตั้งใจเจริญสมณธรรม จะเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม

เมื่อเราตั้งอกตั้งใจมั่นอยู่ในสิกขาทั้ง ๓ ประการ คือศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ได้สั่งสมอบรมบุญกุศลให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน แล้วก็อุทิศส่วนบุญกุศลนั้นไปให้พ่อแม่ของเรา จึงจะทดแทนบุญคุณของท่านได้

หรือหากว่าเรามีโอกาสมีเวลา มีความสามารถ เราก็นำธรรมะที่เราได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติมานี้ ไปแนะนำพ่อแม่ของเรา ให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ หรือหากว่าผู้ใด สามารถที่จะเอาพ่อแม่ของตนเข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ผู้นั้นชื่อว่าได้ทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่โดยสมบูรณ์แบบ มีท่านพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่บวชเข้ามาแล้ว ก็ขออย่าได้ลืมบุญคุณของพ่อแม่ที่ท่านมีพระคุณแก่เรา ทุกเช้า ทุกเย็น ทุกเพล ทุกค่ำ ที่เดินจงกรมนั่งสมาธิแล้ว ขอได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ท่าน หรือหากว่าท่านใดมีโอกาสไปเทศน์โปรดพ่อโปรดแม่ จนพ่อแม่ได้มีโอกาสมาบวชด้วย จะเป็นเดือนหนึ่ง หรือ ๒-๓ เดือนก็ตาม หรือเป็นปีก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ภูมิใจเถิดว่า เราได้ทำหน้าที่ของผู้เป็นลูกได้ดีแล้วหนอ เพราะเราเกิดมานี้ ได้อาศัยพ่ออาศัยแม่

เมื่อเราได้นำท่านมาบวชมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์คือมรรคผลนิพพาน เราสามารถที่จะนอนตาหลับได้ เพราะว่าเราได้ทำหน้าที่ของบุตรโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายมีปีติปราโมทย์รื่นเริงบันเทิงใจได้

แต่สำหรับท่านใด หากไม่มีโอกาสจะทำได้ ก็ขอให้พยายามทำต่อไป หรือหากว่าท่านใด พ่อแม่จากเราไปแล้ว ล่วงลับไปสู่ปรโลกเบื้องหน้าแล้ว ก็มีวิธีเดียว คือเราตั้งอกตั้งใจสั่งสมอบรมคุณงามความดี และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงพ่อแม่ เพื่อเป็นการตอบบุญสนองคุณของท่าน

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะเรื่อง การบวช มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 กันยายน 2559 10:43:37

(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ2mf0TCfMjSiqMOp0bqgC4Dujdd46JrncUJb-wTMfv2y7nqHpcbA)

ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก

ขอเตือนสติท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งโดยย่อ คือ การฟังการบรรยายธรรม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามประคับประคองจิตให้ดำเนินไปตามธรรมะที่บรรยายจริงๆ คือต้องใคร่ครวญตริตรองพิจารณาให้รู้เนื้อหาสาระของธรรมะ เพื่อจะทำให้การฟังนั้นเข้าใจ เพราะธรรมะบางข้อบางประการนั้น เราฟังเผินๆก็ไม่เข้าใจ ต้องใคร่ครวญ ตริตรองพิจารณาจริงๆ จึงจะเข้าใจ

แต่ว่าธรรมะนั้น บางประการก็เป็นธรรมะเผินๆ เป็นธรรมะที่เหมาะสมแก่ญาติโยมชาวบ้านที่เป็นอุบาสกอุบาสิกา ตลอดถึงบรรดาลูกเณรทั้งหลายที่ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมใหม่ๆ

แต่ธรรมะบางข้อบางประการก็สลับซับซ้อน ผู้ที่จะเข้าใจก็ต้องเป็นครูบาอาจารย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลานานพอสมควรจึงจะเข้าใจ

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าเราตั้งใจจดจ่อต่อกระแสธรรมะที่บรรยาย ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ผลสุดท้ายก็จะรู้เอง

เหมือนเมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่สมัยหลวงพ่อยังเป็นพระบวชปีแรก มีความสงสัยธรรมะเป็นบางสิ่งบางประการ แต่เวลาไปกราบเรียนถามครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้ปกครองหรือผู้เป็นครูบาอาจารย์ แทนที่จะได้รับความเห็นใจ แทนที่ท่านจะบรรยายให้ฟัง แก้ข้อข้องใจให้เราฟัง ก็ถูกท่านเอ็ดเอา ว่าเอา ด่าเอาว่า เรานี้ไปสอนครูบาอาจารย์ อวดรู้ อวดดี อะไรทำนองนี้

ต้องใช้เวลาค้นคว้าทางการประพฤติปฏิบัติ หาดูในตำรับตำรา อ่านพระไตรปิฎก ไม่พบก็ต้องมาใช้แรงของสมถะของวิปัสสนา ผลสุดท้ายปัญหาที่ข้องใจสงสัยมานานเป็นแรมๆ ปี เป็นตั้งสิบปี ยี่สิบปี ก็สามารถคลี่คลายปัญหานั้นได้

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ส่งใจไปตามพระธรรมที่ได้นำมาบรรยาย ถึงจะรู้บ้าง หรือไม่รู้บ้าง แต่เราตั้งใจฟังจริงๆ ผลสุดท้ายความเคลือบแคลงสงสัยก็จะหมดไปเอง

สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก มาบรรยาย เพื่อเป็นการประดับสติปัญญาของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

คือ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อก็คิดว่าจะนำเอาธรรมะที่เราควรจะละจะเลิกจะลดจะทำลาย ให้มันสูญสิ้นไปจากขันธสันดานของเรา มาบรรยายเพื่อจะให้เราได้รู้ได้ทราบว่า อกุศลธรรมเหล่านี้ หรือบาปธรรมเหล่านี้ หรือกิเลสที่ลามกเหล่านี้ ยังมีในจิตในใจของเราอยู่(หรือไม่) ถ้าเห็นว่ายังมีอยู่ เราก็จะได้หาโอกาส หาเวลาชำระสะสางล้างให้หมดจากจิตจากใจของเรา เท่าที่โอกาสและเวลาจะอำนวย เท่าที่บุญวาสนาบารมีของเราจะทำได้

ร่างกาย ซึ่งท่านเปรียบด้วยจอมปลวกนั้น เพราะเหตุ ๔ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ธรรมดาจอมปลวกย่อมคายสัตว์ต่างๆออกมา เช่น ตัวปลวกบ้าง งูบ้าง พังพอนบ้าง เป็นต้น ฉันใด แม้ร่างกายของคนทั่วๆไปในโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือ ย่อมคายของโสโครกออกมา เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน และตัวพยาธิปากขอ ต่างๆ ออกมาจากร่างกาย เหมือนกันฉันนั้น

แต่คำว่า คาย ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าคายออกจากปากเท่านั้น หมายความว่า คายออกจากร่างกายทั่วไป เพราะร่างกายทั้งสิ้นเป็นเหมือนกันกับปากแผลทุกๆ แห่งไป ที่เห็นได้โดยง่าย คือ ทวารทั้ง ๙ และรูขุมขน สิ่งโสโครกต่างๆ ย่อมไหลออกจากทวารทั้งเก้า และรูขุมขนเสมอเป็นนิจ สมกับพระพุทธภาษิตที่พระองค์ทรงตรัสไว้แก่นางเขมา ว่า

อาตุรํ อสุจึ ปูตึ  ปสฺส เขเม สมุสฺสยํ
อุคฺฆรนฺตํ ปคฺฆรนฺตํ  พาลานํ อภินนฺทิตํ.[1]

เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาด เน่าใน ไหลเข้าไหลออกอยู่เป็นนิจ แต่คนพาลมีจิตปรารถนายิ่งนัก ดังนี้

ประการที่ ๒ ตัวปลวกทั้งหลายย่อมช่วยกันคาบเอาดินมาคายออก ก่อให้สูงขึ้นประมาณเพียงบั้นเอวบ้าง เพียงศีรษะบ้าง หรือต่ำสูงเกินกว่าที่กล่าวมาแล้วบ้าง ตามแต่กำลังของตัวปลวก หรือสถานที่ปลวกขนเอาดินมาก่อไว้ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายของบุคคลในโลกนี้ก็ฉันนั้น คือ ย่อมก่อร่างสร้างตัว หาอาหารมาบำรุงบำเรอโดยรอบด้าน เพื่อให้เติบโตขึ้นไปโดยลำดับๆ เพราะร่างกายนี้ยังเป็นที่คายความรักใคร่ของพระอริยะเจ้าออกให้หมดสิ้น พระอริยะเจ้ามิได้มีความรักใคร่ใยดีในร่างกายเลย เหตุนั้น ท่านจึงเปรียบเทียบให้เห็นว่าจอมปลวกนั้น ได้แก่ ร่างกาย

ประการที่ ๓ ตัวปลวกที่ขนดินมาก่อนั้น ย่อมคายยางเหนียวคือน้ำลายของมันออกทำเป็นน้ำเชื้อสำหรับทำให้ดินเหนียว ส่วนมนุษย์เราเมื่อจะทำดินเหนียวสำหรับทำภาชนะสิ่งของต่างๆ มีปั้นหม้อ ปั้นอิฐ หรือกระเบื้อง เป็นต้น ย่อมใช้น้ำท่าหรือน้ำยาประสมดินขยำดินให้เหนียวก่อนจึงทำเป็นสิ่งนั้นๆ ได้ ส่วนปลวกไม่มีปัญญาที่จะทำเหมือนมนุษย์เราได้ จึงต้องใช้น้ำลายต่างน้ำท่าหรือน้ำยา โดยเหตุนี้ ดินภายในจอมปลวก หรือดินที่ปลวกกำลังก่อขึ้นมาใหม่นั้นจึงเหนียว ข้อนี้ฉันใด

ร่างกายของมนุษย์ทุกมุมก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมเกลือกกลั้วไปด้วยของสกปรก ปฏิกูล น่ารังเกียจ ย่อมคายน้ำลายออกผสมกับอาหารในเวลาเรารับประทานอาหาร คือในขณะที่เรารับประทานอาหาร จะเป็นอาหารชนิดใดก็ตามที่เราวางลงไว้บนลิ้นแล้วก็เคี้ยวอาหาร

ในขณะที่เราเคี้ยวอาหารนั้น ถ้าว่าน้ำลายเราไม่มีมาผสมกับอาหาร การเคี้ยวอาหารไม่สามารถที่จะเคี้ยวได้ ไม่สามารถที่จะกลืนลงไปได้ แต่สำหรับอาหารที่เราเคี้ยวนั้น มีอาการเหลวนั้น ก็เพราะอาศัยน้ำลายซึ่งเยิ้มอยู่ใต้ลิ้นมาผสมกับอาหารที่เรารับประทานเข้าไป และก็ในขณะที่เราเคี้ยวอยู่ น้ำลายเหล่านั้นก็มาผสมกับอาหาร จึงทำให้อาหารมีอาการเหลว ในขณะที่รับประทานอาหารอยู่นั้น น้ำลายก็ผสมกับอาหารทำให้อาหารมีอาการเหลวแล้วส่งไปเลี้ยงร่างกาย

อีกอย่างหนึ่ง ร่างกายนี้ยังเป็นที่คายสิ่งหลอกลวงออกแห่งพระอริยะเจ้าทั้งหลาย คือ สิ่งที่หลอกลวงสัตว์ทั้งหลายให้ลุ่มหลงติดอยู่ อันมีอยู่ในร่างกายที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยกระดูกสามร้อยท่อน หุ้มด้วยหนัง ตรึงมัดด้วยเส้นเอ็นน้อยใหญ่ ชุ่มอยู่ด้วยโลหิต ฉาบไล้ด้วยผิวหนังตลอดถึงอาการ ๓๒ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น หรืออวัยวะต่างๆ มีหน้า มีตา มีแขน มีขา มีมือ มีเท้า เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเครื่องหลอกลวงให้สัตว์บุคคลหลงรักใคร่เกลียดชัง บางทีก็รักสิ่งนั้น บางทีก็เกลียดสิ่งนั้น หรือรักทั้งหมด บางทีเกลียดทั้งหมด ในส่วนที่มีอยู่ในร่างกาย

ส่วนพระอริยะเจ้าทั้งหลาย ย่อมคายเสีย ถอนเสีย ละเสีย ซึ่งสิ่งหลอกลวงทั้งสิ้นนั้น มีอาการปานประหนึ่งจอมปลวกอันเป็นที่คายน้ำลายของปลวกทั้งหลายออกมาฉันนั้น

ประการที่ ๔ ดินในจอมปลวก เมื่อเอามาขยำด้วยมือบีบคั้นให้แรงๆ ย่อมมียางไหลออก มีอาการเหนียวคล้ายกับน้ำเชื้อสำหรับปั้นอิฐ ยางเหนียวนั้นเกิดจากน้ำลายของตัวปลวก ฉันใด ร่างกายของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วสากลโลกนี้ก็ฉันนั้น

เพราะร่างกายนี้เต็มไปด้วยยางเหนียวคือตัณหาทั้ง ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภวตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในความอยากมีอยากเป็นในภพ วิภวตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในความไม่อยากมีในความไม่อยากเป็น ความทะยานอยากในอรูปภพ

ร่างกายเรานี้เต็มไปด้วยยางเหนียว ๓ ประการ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วก็คายตัณหาทั้งสามประการนี้ออกไป หารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาธรรมารมณ์ อยู่เสมอๆ แล้วก็ผูกมัดรัดรึงตรึงสรรพสัตว์ไว้ ให้ติดอยู่ในวัฏสงสารหรือสังสารวัฏตัดไม่ขาด ทำให้ลุ่มหลง ทำให้หมุนเวียนอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสารตลอดกาลอันยืดยาวนาน ไม่มีที่สิ้นสุดยุติลงได้

ส่วนพระอริยะเจ้าทั้งหลาย อาศัยกายนี้คายยางเหนียวเหล่านั้นออก คือละยางเหนียวเสียได้ ไม่หลงใหลติดอยู่ เพราะท่านมีปัญญาฉลาดเฉลียว สามารถละยางเหนียวคือตัณหาทั้ง ๓ ประการ ซึ่งได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ได้โดยเด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งมัคคญาณ

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่ารู้ในสกนธ์กายอันมีอุปมากับจอมปลวกนี้อีกมาก ธรรมดาว่าจอมปลวกย่อมมีลักษณะ ๔ อย่าง คือ
๑.ปสูติฆรสถาน เป็นที่เกิดแห่งปาณกชาติทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายก็เป็นที่เกิดแห่งสัตว์ทั้งหลายเหมือนกัน ฉันนั้น คือสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเกิดอาศัยอยู่ในผิวหนังบ้าง อาศัยอยู่ในหนังบ้าง อาศัยอยู่ในเนื้อบ้าง อาศัยอยู่ในเส้นเอ็นบ้าง อาศัยอยู่ในกระดูกบ้าง

สัตว์เหล่านั้นได้แก่ กิมิชาติ คือหมู่หนอนประเภทต่างๆ จะเป็นร่างกายของคนยากจนเข็ญใจก็ตาม จะเป็นร่างกายของคนมั่งมีก็ตาม จะเป็นร่างกายของคนผู้ดีก็ตาม จะเป็นร่างกายของไพร่ฟ้าประชาชนก็ตาม จะเป็นร่างกายของพระราชามหากษัตริย์ก็ตาม จะเป็นร่างกายของผู้มีอานุภาพสักปานใดก็ตาม ย่อมเป็นปสูติฆรสถาน คือเรือนเป็นที่เกิดของหมู่หนอนเหมือนกันทุกประเภท มิได้มีพิเศษแตกต่างกันเลยแม้แต่คนเดียว อันนี้ก็เป็นอุปมาข้อที่หนึ่ง

คือหมายความว่า ร่างกายของสัตว์โลกทั้งหลายนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หรือว่าเป็นคนมั่งมี เป็นคนผู้ดี เป็นไพร่ฟ้าประชาชน เป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือเป็นผู้มีอานุภาพมากสักปานใดก็ตาม ก็ย่อมเป็นที่เกิดของหมู่หนอนทั้งหลายซึ่งอยู่ในร่างกายแต่ละส่วนๆ ตลอดถึงเนื้อ หนัง กระดูก และไส้ใหญ่ ไส้น้อย ตลอดถึงเกิดตัวพยาธิต่างๆ ขึ้นในร่างกายของตน ไม่ยกเว้น

เหตุนั้น ร่างกายนี้ท่านจึงอุปมาเหมือนกันกับปสูติฆรสถาน คือเป็นที่เกิดของบรรดาหมู่หนอนและตัวพยาธิทั้งหลายซึ่งมีในร่างกาย

๒.วัจจกุฎี ธรรมดาจอมปลวก ย่อมเป็นวัจจกุฎีที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะของสัตว์ทั้งหลาย มีตัวปลวก เป็นต้น ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นวัจจกุฎีที่ถ่ายมูตรคูถแห่งหมู่หนอน ฉันนั้นเหมือนกัน คือหมายความว่า ท่านอุปมาเหมือนกันกับวัจจกุฎีอันหนึ่ง

ร่างกายของเรานี้ อุปมาเหมือนกับวัจจกุฎี ถ้าภาษาโบราณเรียกว่า ถาน ในสมัยนี้เขาเรียกว่า ห้องน้ำหรือห้องสุขา ร่างกายของเรานี้ก็เป็นห้องสุขาอันหนึ่ง แต่ห้องสุขาคือร่างกายของเรานี้ เป็นที่ถ่ายออกซึ่งอุจจาระปัสสาวะของหมู่หนอนต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย ตลอดถึงตัวพยาธิต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย มันจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เหตุนั้น ร่างกายอันยาววาหนาคืบของร่างกายของเรานี้ จึงอุปมาเหมือนกับวัจจกุฎี

๓.คิลานศาลา ธรรมดาจอมปลวกย่อมเป็นโรงพยาบาลหรือโรงเจ็บป่วยของหมู่ปลวกทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายนี้ก็เป็นคิลานสถาน คือที่เจ็บป่วยของหมู่หนอน ฉันนั้นเหมือนกัน คือหมายความว่า เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องอาศัยอยู่ในจอมปลวก ข้อนี้ ฉันใด ร่างกายของเรานี้ก็เป็นโรงพยาบาล ถือว่าเป็นโรงพยาบาลของหมู่หนอนทั้งหลายซึ่งอยู่ในร่างกาย เป็นโรงพยาบาลของตัวพยาธิทั้งหลายที่อยู่ในร่างกายของพวกเรา

๔.สุสานสถาน ธรรมดาจอมปลวกย่อมเป็นป่าช้าของตัวปลวกทั้งหลาย ฉันใด ร่างกายนี้ย่อมเป็นสุสานสถาน คือป่าช้าของหมู่หนอนและสัตว์ทั้งหลายอื่นๆ อีกเป็นอันมาก ที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้ ของที่เรารับประทานเข้าไป มีพวกเนื้อพวกวัวบ้าง พวกสุกรบ้าง พวกเป็ดไก่บ้าง พวกกุ้งหอยปลาบ้าง เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะคำนวณได้ว่ามีสัตว์ประเภทไหนบ้าง สัตว์เหล่านั้นตายเพราะปากของเรา สัตว์ทั้งหลายตายเพราะท้องของเรา

สัตว์ทั้งหลาย ตายเพราะปากเพราะท้องของมนุษย์แต่ละคนนี้ ประมาณเท่าไร เราคำนวณไม่ได้ ดังนั้น ร่างกายของบุคคล ท่านจึงเปรียบไว้ว่า เป็นเหมือนกันกับป่าช้าอันเป็นที่ฝังศพ ฉันนั้น คือร่างกายของเรานี้เป็นป่าช้าสำหรับฝังศพของสัตว์ทั้งหลาย บางครั้งก็ต้องเอาวัวมาฝัง บางทีเอาสุกรมาฝัง บางทีก็เอาเป็ดเอาไก่มาฝัง บางทีก็เอาหอยเอากุ้งเอาปลามาฝัง บางทีเอาแมลงต่างๆ มาฝัง

สรุปแล้วว่า ร่างกายนี้เป็นป่าช้า เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจน่าสะอิดสะเอียน แต่ถ้าหากว่า ผู้มีสติปัญญาพิจารณาเกิดปัญญาแล้ว จะรู้จักถือเอาประโยชน์ในร่างกายซึ่งอุปมาเหมือนกันกับป่าช้านี้มาเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะบรรลุถึงที่หมายปลายทางได้

สมมติว่าท่านทั้งหลาย บางท่านอาจจะเป็นพวกราคจริตอย่างนี้ พวกราคจริตมีความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามอย่างแรงกล้า หากเมื่อใดเรามาพิจารณาร่างกายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็สามารถที่จะผ่อนคลายราคะความกำหนัดนั้นให้เบาบางลงได้ บางทีก็สามารถจะทำลายให้หมดสิ้นไปเลย

โดยเหตุผลทั้ง ๔ ประการนี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก

อีกประการหนึ่ง ร่างกายหรือรูปนามนี้ นอกจากจะเป็นปสูติฆรสถาน คือเป็นที่เกิดแห่งปาณกชาติคือหมู่หนอนทั้งหลายและตัวพยาธิทั้งหลายแล้ว ยังเป็นปสูติฆรสถาน เรือนอันเป็นที่เกิดของบาปทั้งหลาย คือบาปทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน ก็อาศัยอยู่ในร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นปสูติฆรสถาน คือที่เกิดของความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน

สรุปแล้วว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เมื่อจะเกิดก็เกิดที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นปสูติฆรสถาน คือที่เกิดของกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด แต่วันนี้จะนำมาบรรยายเฉพาะบาปคือความโกรธ

ความโกรธนี้ ถ้าคิดอีกอย่างหนึ่ง ควรที่จะเรียงไว้เบื้องหน้า เพราะว่าคนเราทั้งหลายนั้น ที่ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ โดยมากนั้นเกิดเพราะอำนาจของโทสะคือความโกรธ สำหรับโลภะก็ดี สำหรับโมหะก็ดี ถึงจะมีฤทธิ์มีอำนาจอย่างแรงกล้า แต่ก็ไม่สามารถจะทำให้จิตใจของเราทั้งหลายร้อนเท่าใดนัก ไม่สามารถจะทำให้คนทะเลาะวิวาท บาดหมาง ผิดใจกัน เถียงกัน เท่าใดนัก ไม่สามารถจะทำให้ระหว่างหมู่คณะตลอดถึงญาติต่อญาติทะเลาะวิวาทบาดหมางกันเท่าใดนัก

แต่สำหรับโทสะนี้ หากว่าเกิดขึ้นในกลุ่มใด คณะใด หรือเกิดขึ้นในบ้านใด วัดใด ตำบลใด อำเภอใด ประเทศใด หรือระหว่างประเทศต่อประเทศ ก็จะเกิดทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน เกิดสงครามประหัตประหารกันทันที

เหตุนี้เอง วันนี้ หลวงพ่อจึงจะได้น้อมนำมาเฉพาะเรื่องความโกรธ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ความโกรธ ก็เกิดขึ้นที่ปสูติฆรสถาน คือร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจไว้ ความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน มีลักษณะเป็นอันเดียวกัน แต่ว่าหนักเบากว่ากันเท่านั้น หรือมีลักษณะต่างกันนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น

ถ้าจะพูดโดยอรรถแล้ว เหมือนกัน แต่ถ้าจะพูดโดยพยัญชนะแล้วต่างกัน แต่ที่จริงแล้วก็อันเดียวกันนั่นหละ ความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน คือจะมีความขุ่นใจ มีลักษณะพองขึ้น เหมือนกันกับอึ่งอ่าง ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง คือความโกรธก็ดี โทสะก็ดี ปฏิฆะก็ดี เป็นอันเดียวกัน มีความขุ่นใจ มีลักษณะพองขึ้น เหมือนกับอึ่งอ่าง โดยอธิบายว่า อึ่งอ่างก็ดี กบก็ดี เวลาร้องย่อมพองตัวโตขึ้นกว่าปกติแล้วร้องอวดเสียงของตนด้วย

เหยี่ยว หรือกา หรืองู หรือตะขาบ เป็นต้น หรือคนได้ยินเสียง ย่อมพากันจับเอามากินเป็นอาหาร อึ่งอ่างหรือกบหรือเขียดนั้น ย่อมตายเพราะมือและปากของข้าศึกเพราะความพองและเสียงของตน ฉันใด ความโกรธก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้น จะทำให้บุคคลตกอยู่ในเงื้อมมือของข้าศึก ฉันนั้น

เมื่อความโกรธเริ่มเกิดขึ้น ย่อมทำให้ฮึกเหิม เบ่งกำลังกายเบ่งกำลังใจขึ้นอย่างผิดปกติ ถ้าห้ามไม่หยุดย่อมปรากฏออกมาทางตา ทางปาก ทางมือ ทางเท้า คือหน้าสยิ้วคิ้วขมวด ตาพราว ปากก็พูดคำหยาบด่าว่า มือคว้าไม้ศัสตราอาวุธ เท้าขยับออกย่าง เป็นต้น เมื่อห้ามไม่ฟังในขณะนั้น ก็ย่อมลงมือประหารผู้อื่น

บางทีก็เกิดการต่อสู้กันขึ้น ทำให้บุคคลผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของความโกรธ ตกอยู่ในเวรภัยโทษทัณฑ์อาญามีประการต่างๆ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหลายอย่าง เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ต้องได้รับโทษทุกข์ในอบายภูมิต่างๆ นานาประการ

ขอให้ท่านทั้งหลายได้คิดว่า คนทั้งหลายที่ถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะรางตลอดชีวิตก็ดี ถูกประหารชีวิตก็ดี ก็เพราะอำนาจของความโกรธนี้ มีไม่น้อยเลยเหมือนกัน

เหตุนั้น ความโกรธนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าว่าเราระงับไม่ไหว ผลที่ได้รับก็คือโทษทุกข์อย่างเดียว คืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้จิตใจของเราเป็นทุกข์ เกิดความเดือดร้อน เหมือนกับไฟเผาไฟไหม้อยู่ในจิตในใจ เหมือนกับถูกไฟสุมอยู่ในจิตในใจ ไม่รู้จักสร่างจักเย็นลงไปได้ ถ้าเป็นไปอย่างแรงกล้า ก็ทำการประหัตประหารกันทำร้ายร่างกายกัน ผลที่ได้รับ ก็คือถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ เหมือนกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ไปแล้ว ก็มีนรกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เป็นอันว่า ความโกรธให้โทษ ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แต่สำหรับผู้อื่นย่อมได้รับโทษเพียงถูกด่า ถูกว่า ถูกทุบตี ถูกฆ่า ถูกฟัน หรือถูกบั่นทอนชีวิต ให้สิ้นไปเท่านั้น หรือบางทีก็ถูกล้างผลาญทรัพย์สมบัติให้พินาศไปในปัจจุบันนี้เท่านั้น

ส่วนผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธ ย่อมได้รับโทษทั้งชาตินี้และชาติหน้า อย่างน้อยที่สุด แม้เพียงโกรธอยู่ในใจ ก็ทำให้เสียคุณธรรมลงไปแล้ว ให้หมดคุณธรรมไปแล้ว คือทำให้หมดเมตตา ทำให้หมดกรุณา ทำให้หมดมุทิตา ทำให้กำลังของสมถะและวิปัสสนาเสื่อมลงไปได้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

รวมความตามบรรยายมานี้ชี้ให้เห็นว่า ความโกรธมีอาการทำให้ใจและกายพองขึ้น เหมือนกันกับอึ่งอ่างหรือกบเขียดในเวลาร้อง ฉันนั้น

ความโกรธ [2] มี ลักษณะ รส หน้าที่ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ชิด ดังนี้
๑.จณฺฑิกฺกลกฺขโณ ความโกรธมีความดุร้ายเป็นลักษณะ เหมือนกันกับอสรพิษที่ถูกตี ฉันนั้น เราทั้งหลายลองนึกดูว่า สมมุติว่า หมาบ้าอย่างนี้ เวลาถูกเราตีนั้น มันจะต่อสู้ทันที หรือมิฉะนั้น พวกงูพิษ เมื่อถูกเราตี มันจะต่อสู้ทันที หรือพวกราชสีห์ พวกเสือ ถ้าถูกเราตีเราเฆี่ยนมันจะต่อสู้ขึ้นมาทันที ข้อนี้ฉันใด

พวกโทสะก็เหมือนกัน จะมีความดุร้ายเป็นลักษณะ เหมือนกับอสรพิษที่ถูกตี เมื่อกระทบอะไรนิดอะไรหน่อยก็จะทำอาการต่อสู้ขึ้นมาทันที บางทีต้องด่ากัน บางทีต้องตีกัน ประหัตประหารกัน บางทีต้องแทงกัน บางทีต้องยิงกัน อะไรทำนองนี้ ที่พวกเราทั้งหลายได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะตัวโทสะนี้เป็นเหตุ

๒.วิสปฺปนรโส ความโกรธมีความพลุ่งพล่านเป็นรส เปรียบเหมือนกันกับยาพิษที่ใส่ลงไปในน้ำ แล้วแผ่ซ่านไปในน้ำนั้น ทำให้สัตว์ที่มากินถึงแก่ความตายได้ อุปมาเหมือนกันกับว่า อันนี้เป็นโอ่งน้ำ เราเอายาดีดีทีก็ดี ยาโพลิดอนก็ดีใส่ลงไป ยานั้นจะแพร่ไปในน้ำ ทำให้น้ำนั้นมีพิษได้

สมมติว่า น้ำฝนทั้งถังนี้ เป็นน้ำที่สะอาดและก็บริสุทธิ์ เราดื่มกินได้ แต่ถ้าเอายาพิษเจือลงไป ยาดีทีทีก็ดี โพลิดอนก็ดี เจือลงไปในถังน้ำนี้ ท่านนักปฏิบัติคิดดูสิว่าจะเป็นอย่างไร น้ำนี้ก็พลอยเป็นน้ำที่มีพิษทันที ใครไปดื่มกินก็ถึงแก่ความตายได้ ข้อนี้ฉันใด

ความโกรธก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็แพร่ไปทั่วสรรพางค์กาย ผู้ใดไปล่วงเกินขณะที่ความโกรธของเขากำลังเดือดพล่านอยู่นั้น ผู้นั้นอาจจะถึงแก่ชีวิตได้ อาจถูกเขาฆ่าตาย อาจถูกเขาด่า อาจถูกเขาว่า อาจถูกเขาตี อาจถูกเขาฆ่าตายก็ได้ เหตุนั้น ความโกรธนี้ ท่านจึงกล่าวว่ามีความพลุ่งพล่านเป็นรส

๓.อตฺตโน นิสฺสยทหนรโส ความโกรธมีอาการแผดเผานิสัยของตนเป็นหน้าที่ เปรียบเหมือนกันกับไฟป่าที่กำลังเผาป่าให้ไหม้เป็นจุณๆ ไปฉันนั้น คือหมายความว่าความโกรธนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะเปลี่ยนนิสัยของบุคคลทันที เรามองดูเผินๆ จะเห็นว่าเขาเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอสุภาพและเยือกเย็นดี แต่ในขณะใดถูกความโกรธเข้าครอบงำเป็นทาสของความโกรธแล้ว ก็จะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที ด้วยอำนาจของความโกรธ เมื่อแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาแล้ว เขาคนนั้นก็สามารถที่จะทำลายสิ่งที่มากีดขวางให้พินาศอันตรธานไป ให้สิ้นไป สูญไป หมดไป เหมือนกันกับไฟป่าที่ไหม้ป่าหรือเผาป่าให้เกรียมไปฉะนั้น

๔.ทุสฺสนปจฺจุปฏฺฐาโน ความโกรธนั้น มีความประทุษร้ายเป็นอาการปรากฏ เหมือนกันกับข้าศึกผู้ได้โอกาสฉะนั้น ธรรมดาข้าศึกรบกัน ถ้าฝ่ายใดมีอำนาจมีพลังมีความฉลาดเพียงพอ พอดีข้าศึกฝ่ายตรงกันข้ามเสียหลักไปนิดหนึ่งเท่านั้นล่ะ เขาก็จะโหมเข้าทันที เขาก็สามารถทำลายข้าศึกได้

หรืออุปมาเหมือนกันกับนักมวยที่เขาชกกัน นักมวยที่ชกกันนั้น ระหว่างคู่ต่อสู้นั้น หากว่าผู้ใดผู้หนึ่งเห็นคู่ต่อสู้นั้นเสียหลัก เขาก็จะกระโดดเข้าใส่ และทำร้ายทันที ผลสุดท้าย คู่ต่อสู้ก็ต้องพ่ายแพ้ไป ข้อนี้ฉันใด ความโกรธก็เหมือนกันฉันนั้น

เมื่อใด ความโกรธเกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว หากว่ามีผู้ใดเป็นข้าศึกแสดงอาการเป็นข้าศึก หรือแสดงทางกาย ทางวาจา ทางใจ ออกมาให้เขาเห็น และก็ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของเขา เขาจะเข้าทำร้ายทันที ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาก่อน บางทีก็คบกันมาตั้งแต่โน้น ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี ๑๕ ปี จนอายุ ๖๐ ปี ๗๐ ปี ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันมาเลย แต่เมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำในขณะใด ผู้นั้นก็สามารถทำลายมิตรนั้นให้พินาศอันตรธานไปได้

๕.อาฆาตวตฺถุปทฏฺฐาโน อีกอย่างหนึ่ง ความโกรธนั้นมีอาการอาฆาตวัตถุสิบประการเป็นเหตุใกล้ชิดที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น โทสะนี้เปรียบเหมือนน้ำมูตรเน่าที่เจือด้วยยาพิษ และเปรียบเหมือนก้อนเหล็กแดงที่กำลังลุกโชนอยู่ ผู้ที่กำลังโกรธก็เปรียบเหมือนผู้ที่กำลังจับมูตรเน่าเจือยาพิษ และเปรียบเหมือนผู้ที่กำลังจับก้อนเหล็กแดง ฉันนั้น

เหตุให้เกิดความโกรธนั้นมีอยู่ถึง ๕ ประการ คือ
๑.โทสชฺฌาสยตา มีโทสะเป็นอัธยาศัยมาแต่กำเนิด

๒.อคมฺภีรปกติตา มีความคิดไม่ละเอียดไม่ลึกซึ้งเป็นปกติ ขาดโยนิโสมนสิการ ขาดการใคร่ครวญตริตรองพิจารณาหาเหตุผล ไม่ได้คิดถึงโทษความโกรธที่เกิดขึ้น ผลสุดท้าย ก็ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจลงไปได้ ความโกรธก็เกิดขึ้นมาทันที

๓.อปฺปสุตฺตา มีการศึกษามีการสดับรับฟังน้อย เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมา ก็ไม่มีความรู้ที่จะมายับยั้งความโกรธได้ ก็เป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้นมา

๔.อนิฏฺฐารมฺมณสมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีอยู่เนืองๆ คือได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ แต่ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจไม่น่าชอบใจ ก็เป็นเหตุทำให้เกิดความโกรธขึ้น

๕.อาฆาตวตฺถุสมาโยโค[3] ได้ประสบกับอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการเนืองๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง

อาฆาตวัตถุ คือ มูลเหตุให้ผูกอาฆาตกันนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ
๑.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา แล้วก็เป็นเหตุให้คาดคิดอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความโกรธขึ้นมา
๒.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๓.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา
๔.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๕.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำความเสื่อมเสียให้แก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๖.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำความเสื่อมเสียแก่คนที่รักที่พอใจของเรา
๗.ความอาฆาตเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำประโยชน์แก่คนผู้ที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๘.ความอาฆาตความโกรธเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้กำลังทำประโยชน์ให้แก่คนผู้ที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๙.ความอาฆาตความโกรธเกิดขึ้นด้วยคิดว่า ผู้นี้จักทำประโยชน์แก่คนที่ไม่เป็นที่รักที่พอใจของเรา
๑๐.ความอาฆาตเกิดขึ้นโดยฐานะอันไม่สมควร เช่น เมื่อเดินไปสะดุดตอไม้ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ข้อนี้พวกเราทั้งหลายเป็นกันเกือบทุกรูปทุกนามนะ บางทีไปเหยียบเสี้ยนเหยียบหนามอย่างนี้ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว

บางทีเดินเข้าประตู เดินออกประตู ไปชนกับประตูขอบประตู ไปชนกับขอบหน้าต่าง เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว บางทีได้พร้าโต้มา ก็ฟันประตูจนพังไปก็มี บางทีเห็นว่าหม้อเขาเอาไว้ไม่ดี ไปทุบหม้อทุบโอ่งน้ำแตกก็มี บางทีวิทยุฟังอยู่ดีๆ ขวานทุบลงไปแตกก็มี นี้เรียกว่า เกิดขึ้นในฐานะที่ไม่สมควรเกิด บางทีไปโดนของแตก แล้วก็เกิดความโกรธขึ้นมาเป็นต้น อันนี้เราทั้งหลายคิดให้กว้างๆ คิดให้ซึ้งๆ เราจะเห็นทันที มันไม่น่าจะโกรธก็โกรธขึ้นมา เพราะเหตุใด เพราะว่า ความโกรธมันมีอยู่ในจิตในใจแล้ว

ดังหลวงพ่อได้บอกแล้วว่า ร่างกายนี้เป็นปสูติฆรสถาน คือเป็นที่อยู่ของความโกรธด้วย ความโกรธมันไปนอนอยู่ในจิตในใจของเรา ไม่รู้ว่าแต่เมื่อไหร่ พอดีกระทบอะไรนิดๆหน่อยๆ ซึ่งไม่สมควรโกรธ มันก็โกรธขึ้นมา บางครั้งเราเขียนหนังสืออย่างนี้ ปากกาเขียนหนังสือ ดินสอดำมันออกไม่ดี ปากกามันออกไม่ดี เกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ทุบปากกานั้นแตกไปเลย มันเป็นอย่างนี้

บางทีดื่มน้ำไป อ้อ น้ำมันร้อนเกินไป มันไปทำให้ลิ้นเราร้อนเกินไป ไปลวกลิ้นของเรา ทุบแก้วทิ้งก็มี บางทีเดินไปโดนโน้นโดนนี้ เขาเก็บไม่ดีเขาวางไม่ดี ทุบแตกเลยก็มี อันนี้เรียกว่า ความโกรธเกิดขึ้นโดยฐานะที่ไม่สมควรโกรธ แต่ทำไมมันถึงโกรธ สาเหตุที่มันจะโกรธเพราะว่า โทสะตัวนี้มันไปนอนอยู่ในขันธสันดานของเรามาแล้วตั้งนมตั้งนาน ตั้งแต่อ้อนแต่ออกโน้น มันเป็นอนุสัยกิเลสติดตามมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน จนมาถึงภพนี้ชาตินี้ด้วย มันสั่งสมอยู่นานแล้ว มันมีอานุภาพมีพลังอยู่นานแล้ว เมื่อมันได้โอกาสได้เวลาเมื่อใดก็แสดงอาการขึ้นมาทันที



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 22 กันยายน 2559 10:46:55

ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก (ต่อ)

ขอเตือนสติท่านทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งโดยย่อ คือ การฟังการบรรยายธรรม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามประคับประคองจิตให้ดำเนินไปตามธรรมะที่

ความโกรธเกิดขึ้นแล้วให้โทษเป็นอเนกประการ เช่น
๑.ทำให้คนประพฤติชั่วทางกาย เช่น ฆ่ากัน เบียดเบียนกัน เป็นต้น
๒.ทำให้คนประพฤติชั่วทางวาจา เช่น ด่ากันบ้าง ส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นเถียงกันทะเลาะวิวาทบาดหมางกันบ้าง ด่าผู้อื่นให้เจ็บใจบ้าง พูดสิ่งที่ไร้สาระประโยชน์บ้าง เป็นต้น
๓.ทำให้คนประพฤติชั่วทางใจ เช่น พยาบาทอาฆาต จองล้างจองผลาญเขาบ้าง
๔.ทำลายประโยชน์ตน ทำลายประโยชน์ผู้อื่น
๕.ทำลายประโยชน์ภพนี้ ทำลายประโยชน์ภพหน้า

ดังตัวอย่าง พระนางโรหิณี มีเรื่องเล่าไว้ในธัมมปทัฏฐกถาว่า

พระนางโรหิณี ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านพระอนุรุทธะนี้ เป็นโรคผิวหนัง คือเป็นโรคผิวหนังเกิดขึ้นตามสรีระร่างกายของตน มีความละอายจนไม่กล้าออกมารับแขก ไม่กล้ามาให้คนอื่นเห็นตนเอง ส่วนพี่ชายของพระนางคือท่านพระอนุรุทธะได้สั่งให้นางขายเครื่องประดับ ราคา ๑๐,๐๐๐ กหาปณะ และก็สั่งให้นำทรัพย์จำนวนนั้นไปสร้างโรงฉัน ๒ ชั้น

ในขณะที่กำลังสร้างโรงฉันยังไม่เสร็จนั้น ท่านพระอนุรุทธเถระผู้พี่ชายให้นางปูอาสนะไว้เสมอ พร้อมทั้งให้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้ นางเป็นผู้ปัดกวาดตามพื้นเป็นต้นเนืองๆ คือพยายามทำความสะอาดพื้นที่โรงฉันของตนเนืองๆ เมื่อนางทำบุญมีการกวาดพื้นโรงฉันอยู่เนืองๆ โรคผิวหนังได้หายไปจนหมดสิ้น บ้านเราว่า เซาเป็นขี้ทูด เซาเป็นขี้หิด (หายจากโรคเรื้อน หายจากหิด)

เมื่อโรงฉันได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ถวายขาทนียะโภชนียะอันประณีตแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขนั่งเต็มโรงฉัน พระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงตรัสถามว่า นี้เป็นทานของใคร คือในขณะที่ถวายทานนั้น นางโรหิณีไม่ได้มาถวายทาน เพราะมีความละอาย สาเหตุที่ตนเป็นโรคผิวหนัง และก็มีความละอาย ไม่กล้าออกมาสู่ท่ามกลางของพวกแขก

เมื่อฉันเสร็จแล้วพระองค์จึงได้ตรัสถามหาว่า นี้เป็นทานของใคร ท่านพระอนุรุทธะก็กราบทูลว่า เป็นทานของนางโรหิณีซึ่งเป็นพระน้องนางของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้เรียกนางโรหิณีมา แต่พระนางไม่ปรารถนาจะมา แต่ก็จำเป็นต้องมา เพราะว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียก และจะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรๆ ถึงมีความละอายอย่างไร พระนางก็ต้องมา

เมื่อพระนางเสด็จมาถวายบังคม ประทับนั่งแล้ว พระองค์จึงตรัสถามว่า โรหิณี เหตุใดเธอจึงไม่มา พระนางทูลตอบว่า หม่อมฉันเป็นโรคผิวหนัง มีความละอายเพราะโรคนั้น จึงมิได้มา

พระศาสดาตรัสว่า เธอรู้ไหมว่า โรคนั้นอาศัยกรรมอะไรของเธอจึงได้เกิดขึ้นเช่นนี้ พระนางโรหิณีกราบทูลว่า หม่อมฉันไม่ทราบพระพุทธเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า โรคนั้นอาศัยความโกรธของเธอจึงเกิดขึ้น หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้พระพุทธเจ้าข้า พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า

ดูกร โรหิณี ในอดีตกาลนั้น อัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ผูกอาฆาตหญิงนักฟ้อนของพระราชา ทรงดำริว่า เราจะให้ทุกข์เกิดขึ้นแก่หญิงนั้น แล้วให้เขาเอาลูกเต่าร้างใหญ่มา (ลูกเต่าร้างนั้นไม่มีในบ้านเรานะ ลูกเต่าร้างนั้นมันต้นคล้ายๆกับต้นหมาก ผลก็เหมือนกับผลหมาก แต่ผลโตกว่า เมื่อลูกแก่ๆ ขึ้นมาก็เหมือนกับตำแยบ้านเรา หรือทางภาคกลางเรียกว่าหมามุ่ย แต่หมามุ่ยนั้นเป็นฝัก แต่ลูกเต่าร้างนี้มันเป็นผลเหมือนกับผลหมาก มีพิษสงเหมือนกันกับหมามุ่ยหรือตำแย)

นางให้เขาเอาลูกเต่าร้างใหญ่มาแล้ว รับสั่งให้หญิงนักฟ้อนนั้นมายังสำนักของตนแล้ว ให้ใส่ผงเต่าร้างบนที่นอน ที่ผ้าห่ม และระหว่างเครื่องใช้ เป็นต้น ของนางนั้น โดยมิให้นางรู้ตัว โปรยลงตามร่างกายของนาง ราวกับว่าทำความเย้ยหยันเล่น ทันใดนั้นเอง สรีระของนางนั้นได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มใหญ่ ไปนอนบนที่นอนก็ถูกอีก เวทนากล้ายิ่งนักได้เกิดขึ้นแล้วแก่นาง นางได้รับความลำบากมาก

พระอัครมเหสีในกาลนั้นก็คือเธอนี่เอง โรหิณี ในกาลนั้น เธอได้ทำกรรมไว้เพราะอาศัยความโกรธ จึงได้รับโทษเห็นปานนี้ แล้วตรัสว่า

โรหิณี ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ก็ไม่ควรทำเลย

แล้วทรงตรัสเทศนาโปรดพระนางว่า

บุคคลพึงละความโกรธเสีย พึงละมานะให้เด็ดขาด พึงก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เจริญวิปัสสนา ไม่ติดข้องในรูปนาม ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล คือ ราคะ โทสะ เป็นต้น

พระนางส่งจิตส่งใจตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง ผลสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะที่ฟังธรรม เมื่อนางจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีรัศมีช่วงโชติและโชตนาการยิ่งกว่าทวยเทพธิดาทั้งหลาย

เพราะว่านางได้เป็นเทพธิดาประเภทพระอริยะ คือหมายความว่า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วก็เป็นพระอริยะ เมื่อเป็นเทพธิดาประเภทพระอริยะ ก็ย่อมมีรัศมีช่วงโชตนาการกว่าบรรดาเทพธิดาทั้งหลายที่เป็นปุถุชน บรรดาเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายก็มีความสนใจใฝ่ฝันมาเชยชม แต่ผลสุดท้าย นางก็ได้เป็นอัครมเหสีของท้าวสักกเทวราช

นี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความโกรธนี้มีพิษร้ายแรงยิ่งนัก ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหตุที่เราทั้งหลายจะทำลายความโกรธให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ หรือจะบรรเทาความโกรธลงไปได้นั้น มีหลายสิ่งหลายประการ แต่ก็ขอบรรยายเพียงคร่าวๆ คือ

ประการที่ ๑ เราต้องใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ถึงโทษของความโกรธว่า ความโกรธนี้ดีหรือไม่หนอ ถ้าเราโกรธลงไปแล้วจะเป็นอย่างไร เราต้องพิจารณา

ประการที่ ๒ ก็ให้เราเจริญเมตตามากๆ นึกถึงคนที่ไม่ชอบใจขึ้นมาเมื่อใด ก็จงเจริญภาวนาว่า ขอท่านจงเป็นสุขเถิด ขอเจ้าจงเป็นสุขเถิด ขอท่านจงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด ก็จะผ่อนคลายความโกรธลงไปได้ ก็จะบรรเทาความโกรธลงไปได้

มิฉะนั้น เราก็พิจารณาว่า อัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันอยู่ เราโกรธเขาเพื่อประโยชน์อะไร เราชังอะไรของเขา เราโกรธตาเขาหรือ หรือโกรธหูเขา หรือโกรธจมูกเขา หรือว่าโกรธลิ้นเขา หรือโกรธผมเขา หรือโกรธขาเขา โกรธแขนเขา เราไล่ไปๆ

ผลสุดท้าย ก็จะสามารถบรรเทาความโกรธไปได้ เพราะว่าเรารู้แล้วว่า เราเจริญวิปัสสนามานี้ เราเห็นว่าอัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันอยู่ เมื่อหมดสภาพแล้วก็สลายไป แล้วเราจะโกรธธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ เพื่อประโยชน์อะไร

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะบรรเทาความโกรธลงไปได้ หรือมิฉะนั้น สำหรับท่านที่ได้สมาธิ ที่สามารถเข้าสมาธิได้ ก็อธิฏฐานจิตเข้าสมาธิ เมื่อเราออกจากสมาธิมา ความโกรธก็จะบรรเทาเบาบางลงไป หรือมิฉะนั้น ถ้าเราจะทำลายให้เด็ดขาดไป โดยที่ไม่มีเหลือหลอในขันธสันดานของเรา ก็ต้องตั้งอกตั้งใจเจริญวิปัสสนาภาวนา

เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา ผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ ก็สามารถทำลายโทสะนี้ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ โดยที่ไม่มีเศษมีเหลือในขันธสันดานอีกต่อไป จิตใจของเราก็จะชุ่มเย็น หรือหวานฉ่ำ เหมือนกันกับเอาไปหล่อเลี้ยงไว้ในน้ำผึ้ง

คือเมื่อความโกรธดับไปแล้ว ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หลวงพ่อไม่สามารถที่จะหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ว่า มันเย็นใจสักแค่ไหนเพียงไร จึงได้เปรียบว่าเหมือนกันกับเอาหัวใจของเรานี้ เอาดวงใจของเรานี้ไปแช่ไว้ในน้ำผึ้ง ที่เรากรองสะอาดเรียบร้อยดีแล้ว แล้วก็เป็นน้ำผึ้งที่สดๆ เราเอาดวงใจของเรานี้ไปแช่ไว้ในน้ำผึ้งที่เย็นฉ่ำ แล้วก็เป็นน้ำผึ้งที่สะอาดปราศจากธุลีทั้งหลายทั้งปวง

เราคิดดูสิว่า มันจะได้รับความชุ่มฉ่ำและหวานเย็นสักปานใด ข้ออุปมานี้ฉันใด จิตใจของเรา เมื่อมันหมดความโกรธแล้ว จะทำให้เรานี้มีความสุขใจอยู่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ มีความเย็นชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะกระทบอารมณ์อะไร ก็จะไม่มีความกระทบกระทั่งแห่งจิต จะไม่ทำให้ความโกรธนี้เกิดขึ้นมาได้ แล้วก็ในทำนองเดียวกัน

เมื่อความโกรธหมดไป กามราคะ คือความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามก็หมดไปด้วย เมื่อความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามหมดไป คือหมดทั้งความโกรธด้วย หมดทั้งกามราคะด้วย ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านก็ลองนึกดูสิว่า มันจะมีความสุขสักแค่ไหนเพียงไร

พวกเราทั้งหลายมีความทุกข์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ บวชเป็นเณรก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ บวชเป็นพระก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงได้ บวชเป็นผ้าขาวแม่ชี ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงลงไปได้ ก็เพราะตัว(กามราคะ)นี้เป็นตัวเหตุสำคัญที่หนึ่ง เป็นเบอร์หนึ่ง ซึ่งทำลายเราให้ได้รับความลำบากและเดือดร้อนดิ้นรนกระวนกระวายในการประพฤติพรหมจรรย์

หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ไม่สามารถที่จะอยู่ในเพศพรหมจรรย์ได้ตลอดไป คือหมายความว่า ไม่สามารถที่จะบวชเป็นเณรได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถที่จะบวชเป็นพระได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถที่จะบวชเป็นผ้าขาวแม่ชีได้ตลอดชีวิต ตัวการสำคัญก็คือตัวกามราคะ นี้เอง

เมื่อใดเราทำลายกามราคะได้แล้ว ความคิดที่จะสร้างเหย้าสร้างเรือน ความคิดในการมีลูกมีเมียมีลูกมีผัวก็หมดไปแล้ว เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงหมดไป กามราคะก็หมดไป ความโกรธก็หมดไป ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความสุขนี้ไม่มีอะไรที่จะมาเทียบได้

ทีนี้ขอย้ำนิดหนึ่งว่า หากว่าท่านทั้งหลาย ยังทำลายความโกรธนี้ยังไม่ได้ มีวิธีหนึ่งเอาง่ายๆ อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีง่ายๆ ที่สุด ท่านทั้งหลาย เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมา ก็ให้กำหนดทันทีว่า โกรธหนอ โกรธหนอ หรือว่า หยุดหนอ หยุดหนอ เราใช้วิธีเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ยับยั้งความโกรธลงไปได้

ประการที่สอง ตั้งปณิธานจิต เรียกว่า มหาปณิธานจิต มีพระรูปหนึ่งเป็นคนเจ้าโทสะ กระทบอะไรนิดอะไรหน่อยก็โกรธขึ้นมาทันที หลวงพ่อได้แนะวิธีให้เขาตั้งสัจจะปฏิญาณว่าจะไม่โกรธอีกต่อไป เขาก็อธิษฐานว่า

สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานว่า ขอให้แผ่นดินทั้งแผ่นนี้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ ยังไม่ละลายเป็นน้ำไป หากว่าขณะใดที่ข้าพเจ้ามีความโกรธอยู่ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลย ข้าพเจ้าจะไม่เคียดคนนั้น ไม่เคียดคนนี้ (เคียด เป็นภาษาอิสาน คือ โกรธ) หรือจะไม่ด่าคนนั้นไม่ด่าคนนี้ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลย

หมายความว่า เมื่อใดมีความโกรธอยู่ในจิตในใจ ข้าพเจ้าจะไม่พูดเลยเป็นอันขาด ให้เขาตั้งปณิธานจิตอย่างนี้

ผลสุดท้าย เขาก็ตั้งปณิธานจิตตามที่หลวงพ่อบอก ความโกรธก็ค่อยเบาบางไป เบาบางไปทีละน้อยๆ การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็ค่อยดีขึ้นๆ ในที่สุดก็สามารถทำลายความโกรธได้

เอาล่ะท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ร่างกายเปรียบด้วยจอมปลวก มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


[1] (ขุ. อปทานํ พุทฺธวํโส จริยาปิฏกํ ๓๓ / ๑๕๘ / ๓๐๗)
[2] (ขุ.อฏฺฐกถา อิติวุตฺตกวณฺณนา ปรมตฺถทีปนี หน้า ๗๐)
[3] (โทสมูลจิต จากคัมภีร์สังคหะ หน้า ๕)

ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 กันยายน 2559 17:57:30

(https://lh3.googleusercontent.com/-HnhaQUxq3sI/VZuibWPOwYI/AAAAAAACo2U/XREcWk02Q5Q/s506/58%2B-%2B1)

อุบายบรรเทาความโกรธ

ณ โอกาสบัดนี้ จักได้บรรยาย อุบายบรรเทาความโกรธ ๑๐ ประการ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านผู้สนใจใคร่ในธรรมทั้งหลาย สืบต่อไป

อุบายบรรเทาความโกรธนั้น มีดังต่อไปนี้

๑.ด้วยการปรับเข้าฌานใหม่ หมายความว่า ถ้าบุคคลเจริญเมตตาจนได้เมตตาฌานแล้ว ขณะส่งจิตส่งใจไปในผู้ที่เป็นคู่เวรกันนั้น ความโกรธแค้นย่อมเกิดขึ้นมาเสีย เพราะหวนนึกคิดถึงความผิดที่เขาก่อกรรมทำไว้แต่ก่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ โยคีบุคคลจงหวนกลับไปเข้าเมตตาฌานที่ตนทำให้เกิดแล้วในบุคคลพวกก่อนๆ มีคนเป็นที่รักเป็นต้น จำพวกใดจำพวกหนึ่ง หลายๆหน ออกจากฌานแล้วจึงค่อยเจริญเมตตาไปในผู้ที่เป็นคู่เวรกันอีกแล้วๆเล่าๆ บรรเทาความโกรธให้หายไป

๒.ด้วยการพิจารณาถึงพุทธโอวาท ถ้าโยคีบุคคลได้มีความพยายามปฏิบัติอยู่โดยทำนองนั้นเป็นอย่างดีแล้ว ความโกรธแค้นนั้นก็ไม่ดับหายไป แต่นั้นจงพยายามให้หนักขึ้น เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นให้จงได้ โดยการพิจารณาถึงพุทธโอวาทที่ตรัสสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เอามาพร่ำสอนตัวเอง ด้วยประการดังจะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ

เฮ้ย เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า

๑) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกโจรผู้มีใจบาปหยาบช้าจะพึงเอาเลื่อยมีด้ามสองข้างมาเลื่อยอวัยวะทั้งหลาย แม้ขณะพวกโจรกำลังเลื่อยอยู่นั้น ผู้ใดเกิดมีใจประทุษร้ายต่อพวกโจรนั้น เขาชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของเรา เพราะเหตุที่มีใจประทุษร้ายนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง

๒) ผู้ใดโกรธต่อบุคคลผู้โกรธก่อน ผู้นั้นชื่อว่าเป็นคนเลวเสียกว่าบุคคลผู้โกรธก่อน เพราะเหตุที่โกรธตอบนั้น ผู้ใดไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธก่อนนั้น ผู้นั้นชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้อย่างแสนยาก ผู้ใดรู้ว่าคนอื่นโกรธแล้ว เป็นผู้มีสติยั้งความโกรธไว้เสียได้ คือไม่โกรธตอบ ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและคนอื่นด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ประการหนึ่ง

๓) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อกุศลกรรม ๗ ประการ ที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ที่ศัตรูพึงทำให้แก่กัน จะมาถึงสตรีหรือบุรุษผู้ที่โกรธเอง คือ

ประการที่ ๑ ศัตรูในโลกนี้ ย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตัวเองว่า ทำอย่างไรหนอ คนนี้จึงจะมีผิวพรรณชั่ว เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจที่จะให้ศัตรูมีผิวพรรณงาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว ถือแต่ความโกรธเป็นเบื้องหน้านี้ ถึงเขาจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดดีแล้ว ไล้ทาผิวพรรณให้ผุดผ่องดีแล้ว ตัดผมและโกนหนวดเคราให้เรียบร้อยดีแล้ว นุ่งห่มผ้าที่ขาวสะอาดดีแล้วก็ตามที แต่เขาผู้ถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมชื่อว่ามีผิวพรรณชั่วอยู่นั่นเอง

ประการที่ ๒ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จะพึงอยู่เป็นทุกข์

ประการที่ ๓ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีทรัพย์มาก

ประการที่ ๔ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีโภคะมาก

ประการที่ ๕ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มียศศักดิ์

ประการที่ ๖ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้จึงจะไม่มีพวกพ้องมิตรสหาย

ประการที่ ๗ ศัตรูย่อมคิดร้ายหมายโทษให้แก่ศัตรูของตนว่า ทำอย่างไรหนอ เจ้าคนนี้ นับตั้งแต่แตกกายทำลายชีพไปแล้ว จึงจะไม่ไปบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะศัตรูย่อมไม่พอใจให้ศัตรูไปบังเกิดในโลกสวรรค์

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุรุษมักโกรธ อันความโกรธครอบงำแล้ว ถือความโกรธเป็นเบื้องหน้านั้น ย่อมประพฤติทุจริตทางกายก็ได้ ทางวาจาก็ได้ ด้วยเหตุที่เขาประพฤติทุจริตทางกายวาจานั้น นับแต่เวลาที่แตกกายทำลายชีพไปแล้ว เขาผู้ซึ่งถูกความโกรธครอบงำแล้วนั้น ย่อมจะไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดังนี้ประการหนึ่ง

๔) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฟืนสำหรับเผาศพที่ไฟไหม้ปลายทั้ง ๒ ข้าง ซ้ำตรงกลางเปื้อนคูถสุนัข ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในบ้านด้วย ย่อมไม่สำเร็จเป็นฟืนในป่าด้วย ฉันใด เรากล่าวว่า คนที่โกรธแล้วก็มีลักษณะอาการเหมือนอย่างนั้น ดังนี้ประการหนึ่ง

ก็บัดนี้ เจ้ามัวแต่โกรธเขาอย่างนี้ จักได้ชื่อว่าไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย จักได้ชื่อว่าเป็นคนเลวเสียกว่าคนที่โกรธก่อนด้วย จักไม่ได้ชื่อว่าชนะสงครามอันบุคคลจะชนะได้แสนยากด้วย จักได้ชื่อว่าทำอกุศลกรรมที่ศัตรูต้องการให้มีแก่กัน ให้แก่ตนเสียเองด้วย จักได้ชื่อว่ามีลักษณะอาการเหมือนกับฟืนเผาศพด้วย

๓.ด้วยมองคนในแง่ดี เมื่อโยคีบุคคลพยายามเชิญพุทธโอวาทมาสอนตนอยู่ด้วยประการอย่างนี้ ถ้าความโกรธแค้นสงบลงเสียได้ นั่นเป็นการดี แต่ถ้ายังไม่สงบ ทีนั้น จงเพียรพยายามทำอุบายอย่างอื่นต่อไป

กล่าวคือ ถ้าคุณธรรมส่วนใดๆก็ตามที่คนคู่เวรนั้นมีอยู่ เช่น ความสะอาดเรียบร้อยของเขาบางประการ เมื่อนำมาพิจารณาดูให้ดีแล้ว สามารถที่จะทำให้เกิดความเลื่อมใสพอใจขึ้นได้ ก็จงระลึกถึงคุณธรรมส่วนนั้นๆมาบรรเทาความอาฆาต และเพียรทำความอาฆาตเคียดแค้นให้หายไปโดยประการดังต่อไปนี้

มีความจริงอยู่ว่า คนบางคนมีมารยาททางกายเรียบร้อยแต่อย่างเดียว และความเรียบร้อยทางกายนั้น คนทั่วไปจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเขาบำเพ็ญวัตรปฏิบัติไปนานๆ แต่มารยาททางวาจาและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางวาจาและทางใจของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางกายของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

บางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางวาจาอย่างเดียวเท่านั้น และความเรียบร้อยทางวาจานั้น คนทั่วไปย่อมจะรู้ได้ เพราะว่าคนที่มีมารยาททางวาจาเรียบร้อยนั้น โดยปกติแล้วเป็นคนฉลาดในการปฏิสันถาร เป็นคนนิ่มนวลพูดเพราะรื่นเริง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสทักทายก่อน ถึงคราวสวดสรภัญญะก็สวดด้วยเสียงอันไพเราะ ถึงคราวแสดงธรรมก็แสดงได้ชัดถ้อยชัดคำ ด้วยบทและพยัญชนะอันกลมกล่อม แต่มารยาททางกายและทางใจของเขาไม่เรียบร้อย สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาทในทางกายและทางใจของเขา จงระลึกถึงมารยาททางวาจาของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

คนบางคนมีมารยาทเรียบร้อยแต่ทางใจอย่างเดียว และความเรียบร้อยทางใจนั้น จะปรากฏชัดแก่คนทั่วไปก็ในขณะเขาไหว้พระเจดีย์เป็นต้น กล่าวคือผู้มีจิตใจไม่สงบเรียบร้อยนั้น เมื่อจะไหว้พระเจดีย์หรือต้นศรีมหาโพธิ์ หรือจะกราบไหว้พระเถระทั้งหลาย เขาย่อมกราบไหว้ด้วยกิริยาอาการอันไม่เคารพ

เมื่อนั่งอยู่ในโรงธรรม ก็นั่งอยู่อย่างงุ่นง่านหรือพูดพล่ามไป ส่วนคนผู้มีจิตใจสงบเรียบร้อย ย่อมกราบไหว้ด้วยความสนิทสนม ด้วยความเชื่อมั่น ถึงคราวฟังธรรมก็เงี่ยโสตฟังด้วยดี ถือเอาเนื้อความได้ แสดงอาการเลื่อมใสออกทางกายหรือทางวาจาให้ปรากฏ แต่เขาเป็นผู้มีมารยาททางกายและทางวาจาไม่เรียบร้อย สำหรับบุคคลเช่นนี้ โยคีบุคคลอย่าได้ระลึกถึงมารยาททางกายและทางวาจาของเขา จงระลึกถึงแต่มารยาททางใจของเขาอย่างเดียวเท่านั้น

คนบางคนไม่มีความเรียบร้อยแม้สักประการเดียวในมารยาททั้ง ๓ ประการนั้น แต่คนเช่นนั้นก็ยังไม่เป็นที่เหลือวิสัยทีเดียว โยคีบุคคลจงยกเอาความกรุณาขึ้นมาตั้งไว้ในใจแล้วปลงให้ตกลงไปว่า คนเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะได้เที่ยวขวางหูขวางตาคน ก็อยู่ในมนุษย์นี้แต่ในปัจจุบันชาติเท่านั้น ต่อไปไม่ช้าไม่นานสักเท่าไร เขาก็จะต้องท่องเที่ยวไปเกิดในมหานรก ๘ ขุม และในอุสสทนรกทั้งหลายโดยแท้ เพราะอาศัยแม้เพียงความกรุณาเช่นนั้น ความอาฆาตเคียดแค้นก็อาจจะสงบลงได้

คนบางคนย่อมมีมารยาทเรียบร้อยครบทั้ง ๓ ประการ สำหรับคนเช่นนี้ โยคีบุคคลมีความชอบใจในมารยาทของเขาประการใดๆ ก็จงเลือกระลึกเอามารยาทประการนั้นๆ ตามอัธยาศัยเถิด เพราะการเจริญเมตตาในบุคคลเช่นนี้ ย่อมปฏิบัติได้โดยไม่ลำบากเลย

ก็แล เพื่อจะแสดงความเรื่องบุคคลผู้มีมารยาทต่างกันทั้ง ๕ จำพวกดังกล่าวมานี้ ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นอีก ขอให้โยคีบุคคลจงตรวจดูเอาใน อาฆาตปฏิวินยสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ หน้า ๑๘๙)

๔.ด้วยการพร่ำสอนตนเอง แม้ว่าโยคีบุคคลจะได้พยายามบรรเทาความอาฆาตเคียดแค้นโดยอุบายวิธีที่กล่าวมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่ความอาฆาตเคียดแค้นก็ยังบังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป แต่นั้นโยคีบุคคลจงเปลี่ยนวิธีใหม่ กล่าวคือจงพยายามพร่ำสอนตัวเองด้วยอุบายวิธีดังต่อไปนี้

๑) ก็เมื่อคนคู่เวรทำทุกข์ให้แก่เจ้า ก็ทำได้แต่ตรงที่ร่างกายของเจ้า เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะหอบเอาทุกข์นั้นเข้ามาใส่ไว้ในจิตในใจของตน อันมิใช่วิสัยที่คนคู่เวรจะพึงทำให้ได้เล่า

๒) หมู่ญาติซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณเป็นอันมาก ทั้งๆที่มีหน้าอันชุ่มด้วยน้ำตา เจ้าก็ยังอุตส่าห์ละทิ้งเขามาได้ ก็เหตุไฉนจึงจะละไม่ได้ซึ่งความโกรธอันเป็นศัตรูผู้ทำความพินาศให้อย่างใหญ่หลวงเล่า

๓) เจ้าอุตส่าห์รักษาศีลเหล่าใดไว้ แต่เจ้าก็ได้พะนอเอาความโกรธอันเป็นเครื่องตัดรากเหง้าของศีลเหล่านั้นไว้ด้วย ใครเล่าที่จะโง่ทึบอย่างเจ้า

๔) เจ้าโกรธว่า คนคู่เวรได้ทำความผิดใหญ่หลวงให้แก่เจ้า แต่เหตุไฉนเจ้าจึงปรารถนาที่จะทำความผิดเช่นนั้นด้วยตนเองเล่า

๕) ก็เมื่อคนคู่เวรปรารถนานักหนาที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้นแก่เจ้า จึงได้ทำสิ่งที่ไม่พอใจยั่วยุเจ้า เหตุไรเจ้าจึงจะทำความปรารถนาของเขาให้สำเร็จเสียเอง ด้วยการยอมให้ความโกรธเกิดขึ้นเล่า

๖) เมื่อเจ้าโกรธขึ้นมาแล้ว เจ้าจักได้ก่อทุกข์ให้แก่คนอื่นผู้ทำความผิดให้แก่เจ้านั้นหรือไม่ก็ตามที แต่เป็นอันว่าเจ้าได้เบียดเบียนตนเองด้วยทุกข์คือความโกรธอยู่ทีเดียว

๗) ก็เมื่อคนคู่เวรได้เดินไปสู่ทางผิดคือความโกรธ ซึ่งไม่นำประโยชน์อะไรมาให้แก่ตนเองเลย แม้เมื่อเจ้ายังโกรธเขาอยู่ ก็ชื่อว่าได้คล้อยไปตามทางเขาละซิ

๘) ศัตรูได้ทำสิ่งที่ไม่น่าพอใจให้แก่เจ้า ด้วยอาศัยความโกรธของเจ้าอันใด เจ้าจงรีบถอนความโกรธนั้นออกไปเสียเถิด เจ้าจะเดือดร้อนในสิ่งที่ไม่สมควรทำไมกัน

๙) ขันธ์ ๕ อันใดที่ทำสิ่งที่ไม่พอใจให้แก่เจ้า ขันธ์ ๕ เหล่านั้นก็ได้ดับไปแล้ว เพราะสภาวธรรมทั้งหลายดับไปชั่วขณะนิดเดียว แล้วก็มีขันธ์ ๕ อื่นเกิดขึ้นมาแทน บัดนี้ เจ้าจะมาหลงโกรธใครในที่นี้เล่า ความโกรธต่อขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ซึ่งไม่มีความผิดนั้น เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง

๑๐) ผู้ใดทำความผิดให้แก่ผู้ใด เมื่อไม่มีผู้ทำความผิดนั้นแล้ว ผู้ที่จะทำความผิดตอบนั้น จะพึงทำความผิดให้แก่ใครที่ไหนเล่า ตัวเจ้าเองนั้นแหละเป็นตัวการแห่งความผิด ฉะนั้น เจ้าจะไปโกรธคนอื่นทำไม ไฉนจึงไม่โกรธตนเองเล่า

๕.ด้วยการพิจารณาถึงกรรม ก็แล แม้โยคีบุคคลจะได้มีความพยายามพร่ำสอนตัวเองด้วยประการดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็ยังไม่สงบลง แต่นั้นโยคีบุคคลจงใช้วิธีพิจารณาถึงภาวะที่ตนเองเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเป็นอันดับแรก ดังต่อไปนี้ว่า

นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ เจ้าโกรธคนอื่นเขาแล้ว จักได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเจ้านี้ จักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เจ้าเองมิใช่หรือ ด้วยว่า เจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เจ้าได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เจ้าจักได้รับผลของกรรมนั้น

อนึ่ง กรรมอย่างนี้ของเจ้า ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิ อันใดอันหนึ่งได้ และไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม พระอินทร์ หรือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย

ตรงกันข้าม กรรมของเจ้านี้ จักขับไล่ไสส่งให้เจ้าออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้เกิดเป็นคนขอทานเที่ยวกินเดนคนอื่น และให้ประสบทุกข์อันใหญ่หลวง มีการทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

อันตัวเจ้านี้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าเผาตัวของตัวเองทั้งเป็น และทำตัวเองให้มีชื่อเสียงเน่าเหม็นเป็นคนแรกนั่นเทียว

เมื่อได้พิจารณาถึงภาวะที่ตัวเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้แล้ว จะพิจารณาถึงภาวะที่บุคคลอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน ในลำดับต่อไปนี้

แน่ะ เขาผู้นั้นโกรธเจ้าแล้ว เขาจักไม่ได้ประโยชน์อะไร กรรมอันมีความโกรธเป็นเหตุของเขาผู้นั้น จักบันดาลให้เป็นไปเพื่อความฉิบหายแก่เขาเองมิใช่หรือ เพราะว่าผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตน เป็นผู้มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง เขาได้ทำกรรมสิ่งใดไว้ เขาก็จักได้รับผลของกรรมนั้น

อนึ่ง กรรมของเขาผู้นั้น ไม่สามารถที่จะบันดาลให้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และสาวกภูมิได้ ไม่สามารถที่จะให้สำเร็จสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ในบรรดาสมบัติต่างๆ เช่น ความเป็นพระพรหม ความเป็นพระอินทร์ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ความเป็นพระเจ้าประเทศราชได้เลย

ตรงกันข้าม กรรมของเขาผู้นั้น มีแต่จะขับไล่ไสส่งให้เขาออกจากพระศาสนา แล้วบันดาลให้ประสบผลอันประหลาดต่างๆ เช่น ทำให้บังเกิดเป็นคนขอทานกินเดนคนอื่น และทำให้ประสบทุกข์อย่างใหญ่หลวง เช่น ทำให้บังเกิดในนรกเป็นต้นอย่างแน่นอน

เขาผู้นั้น เมื่อขืนทำกรรมอยู่อย่างนี้ ย่อมชื่อว่าโปรยธุลีคือความโกรธใส่ตนเอง เหมือนบุรุษผู้โปรยธุลีใส่คนอื่น แต่ไปยืนโปรยอยู่ทางใต้ลม ฉะนั้น ข้อนี้สมด้วยพุทธนิพนธ์สุภาษิต ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย ว่า

โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
สุขุโม รโช ปฏิวาตํ ว ขิตฺโต.[๑]

ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ที่ไม่มีความประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส บาปจะส่งผลให้เขาผู้นั้นซึ่งเป็นคนพาลเสียเอง ดุจธุลีอันละเอียดที่บุคคลซัดไปทวนลม ย่อมจะปลิวมาสู่ตัวเอง ฉะนั้น

๖.ด้วยพิจารณาถึงพระพุทธจริยาในปางก่อน ก็แล ถ้าว่าโยคีบุคคลจะพยายามพิจารณาถึงภาวะที่ตนและคนอื่นเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนอย่างนี้แล้ว ความโกรธแค้นก็ได้สงบไป แต่นั้นจงระลึกถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระศาสดาในปางก่อน เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นต่อไป ในพุทธจริยาวัตรในปางก่อนนั้น มีส่วนที่โยคีบุคคลควรนำมาพิจารณาเตือนตน ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ พระบรมศาสดาของเจ้าในปางก่อน ตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศน์อยู่ถึง ๔ อสงขัยกับหนึ่งแสนมหากัปนั้น พระองค์ก็ไม่ได้ทำพระหฤทัยให้โกรธเคืองแม้ในศัตรูทั้งหลายผู้พยายามประหัตประหารพระองค์อยู่ในชาตินั้นๆ มิใช่หรือ ดังมีตัวอย่างแต่เพียงย่อๆ ดังต่อไปนี้

๑) เรื่องพระเจ้าสีลวะ ในสีลวชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามว่าพระเจ้าสีลวะ อำมาตย์ผู้ใจบาปหยาบช้าลอบล่วงประเวณีกับพระอัครมเหสีของพระองค์ แล้วไปเชื้อเชิญพระราชาผู้เป็นปฏิปักษ์มายึดเอาพระราชสมบัติในที่มีอาณาบริเวณถึง ๓๐๐ โยชน์

พระเจ้าสีลวะโพธิสัตว์ก็มิได้ทรงอนุญาตให้หมู่อำมาตย์ผู้จงรักภักดีลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้าน ต่อมาพระองค์พร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์พันหนึ่ง ได้ถูกเขาขุดหลุมฝังทั้งเป็นลึกแค่พระศอตรงที่ป่าช้าผีดิบ พระองค์ไม่ได้ทรงเสียพระทัยแม้แต่น้อย อาศัยพวกสุนัขจิ้งจอกที่พากันมาคุ้ยกินซากศพ ได้ขุดคุ้ยดินออกให้พระองค์จึงได้ทรงใช้ความเพียรของลูกผู้ชายด้วยกำลังพระพาหาทรงตะเกียกตะกายออกมาจากหลุม จึงทรงรอดชีวิตได้

และด้วยอานุภาพของเทวดาช่วยบันดาลให้พระองค์ได้เสด็จขึ้นไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ทรงเห็นพระราชาผู้เป็นศัตรูบรรทมอยู่ที่พระแท่นบรรทม พระองค์ก็มิได้ทรงพิโรธโกรธแค้นแต่ประการใด กลับทรงปรับความเข้าพระทัยดีต่อกันและกัน ทรงตั้งพระราชาผู้เป็นศัตรูไว้ในฐานะแห่งมิตร และได้ตรัสสุภาษิตว่า

อาสึเสเถว ปุริโส  น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ  ยถา อิจฺฉึ ตถา อหุ.[๒]

ชาติชายผู้บัณฑิต พึงทำความหวังโดยปราศจากโทษไปเถิด ไม่พึงเบื่อหน่ายท้อถอยเสียเลย เราปรารถนาที่จะสถาปนาตนไว้ในราชสมบัติโดยไม่เบียดเบียนใครๆ ด้วยประการใด เราก็จะปฏิบัติโดยประการนั้น

๒) เรื่องขันติวาทีดาบส ในขันติวาทีชาดก พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบส เมื่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองแคว้นกาสีทรงพระนามว่ากลาพุ ได้ตรัสถามพระโพธิ์สัตว์ขันติวาทีว่า

สมณะ พระผู้เป็นเจ้านับถือวาทะอะไร พระโพธิสัตว์ทูลตอบว่า อาตมภาพนับถือขันติวาทะ คือนับถือความอดทน ทีนั้น พระเจ้ากลาพุได้ตรัสสั่งให้เฆี่ยนพระโพธิสัตว์ด้วยแส้มีหนามแหลมเป็นการพิสูจน์ ในที่สุดถูกตัดมือและตัดเท้า แต่แล้วพระโพธิสัตว์ก็มิได้ทำความโกรธเคืองแม้แต่น้อย

๓) เรื่องธัมมปาลกุมาร การที่พระโพธิสัตว์เป็นผู้ใหญ่แล้วและดำรงอยู่ในเพศบรรพชิต สามารถอดกลั้นได้เหมือนพระเจ้าสีลวะและขันติวาทีดาบสนั้น ยังไม่เป็นสิ่งที่อัศจรรย์เท่าไร

ส่วนในจุลลธัมมปาลชาดก พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็นธัมมปาลกุมาร ทรงเป็นทารกยังนอนหงายอยู่แท้เทียว ถูกพระเจ้ามหาปตาปะผู้เป็นพระบิดามีพระราชบัญชาให้ตัดพระหัตถ์และพระบาททั้งสอง ดุจว่าตัดหน่อไม้ ในขณะที่พระมารดาคร่ำครวญอยู่ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ แขนทั้งสองของพ่อธัมมปาละผู้เป็นรัชทายาทในแผ่นดิน ซึ่งไล้ทาแล้วด้วยจันทน์หอม กำลังจะขาดไปอยู่แล้ว หม่อมฉันก็จะหาชีวิตไม่ได้แล้ว

แม้กระนั้นแล้ว พระเจ้ามหาปตาปะก็ยังมิได้ถึงความสาสมพระหฤทัยได้ ทรงมีพระราชโองการไปอีกว่า จงตัดศีรษะมันเสีย ฝ่ายพระธัมมปาลกุมารก็มิได้แสดงออกแม้อาการเสียพระทัย ทรงอธิษฐานทรงสมาทานแน่วแน่แล้ว

ทรงโอวาทพระองค์ว่า ขณะนี้เป็นเวลาที่จะต้องประคองใจของตนไว้ให้ดีแล้วนะ พ่อธัมมปาละผู้เจริญ บัดนี้ เจ้าจงทำจิตให้เสมอในบุคคลทั้ง ๔ คือ ในพระบิดาผู้ทรงบัญชาให้ตัดศีรษะ ๑ พวกราชบุรุษที่จะตัดศีรษะ ๑ พระมารดาของเจ้า ๑ ตัวของเจ้า ๑

๔) เรื่องของพระยาช้างชื่อฉัททันตะ ก็พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมนุษย์ แล้วทรงอดกลั้นได้ต่อการทารุณกรรมต่างๆจากศัตรู เหมือนอยู่ในเรื่องทั้ง ๓ ที่แสดงมาแล้วนั้น แม้ข้อนี้ก็ยังเป็นสิ่งไม่น่าอัศจรรย์มากนักส่วนเรื่องที่น่าอัศจรรย์มากกว่านั้นคือ พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสัตว์เดรัจฉานในกำเนิดต่างๆ และได้รับทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ดังเรื่องนี้ คือ

พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นช้างชื่อฉัททันตะ แม้พระองค์จะถูกนายพรานยิงด้วยลูกศรอันกำซาบด้วยยาพิษที่ตรงสะดือ ก็ไม่ได้เคืองใจในนายพรานผู้ซึ่งทำความพินาศให้แก่พระองค์อยู่เช่นนั้น ข้อนี้สมด้วยข้อความพระบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า พระยาช้างฉัททันตะ แม้จะถูกทิ่มแทงด้วยลูกศรเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ได้มีจิตประทุษร้ายในนายพราน

กลับพูดกับเขาอย่างอ่อนหวานว่า ข้าแต่สหาย ท่านต้องการอะไรหรือ ท่านยิงเราเพราะเหตุแห่งสิ่งใด หรือการที่ท่านมา ณ ที่นี้แล้วทำแก่เราอย่างนี้ มิใช่เป็นด้วยอำนาจของท่านเอง ดังนั้น การพยายามทำเช่นนี้ ท่านทำเพื่อพระราชาองค์ใดหรือ หรือเพื่อมหาอำมาตย์คนใด

ก็แล ครั้นพระโพธิสัตว์ถามอย่างนี้แล้ว นายพรานก็ตอบตามเป็นจริงว่า ท่านผู้เจริญ พระราชเทวีของพระเจ้ากาสีได้ทรงส่งข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการงาของท่าน ทีนั้น พระโพธิสัตว์เมื่อจะทำพระประสงค์ของพระเทวีนั้นให้สำเร็จบริบูรณ์ จึงให้ตัดงาทั้ง ๒ ของตน อันมีความงามดุจทองคำธรรมชาติ สุกปลั่งด้วยแสงอันเปล่งออกแห่งรัศมีอันประกอบด้วยสี ๖ ประการ แล้วก็มอบให้แก่นายพรานนั้นไปถวาย

๕) เรื่องพญานาคชื่อภูริทัต ครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อภูริทัต ได้อธิษฐานเอาอุโบสถศีลแล้วขึ้นไปนอนอยู่บนจอมปลวก ครั้งนั้น พวกพราหมณ์หมองูได้เอาโอสถมีพิษเหมือนกับไฟประลัยกัลป์สาดไปทั่วทั้งตัว กระทืบด้วยเท้า กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจับยัดใส่ข้องเล็กๆ แล้วนำไปเล่นกลให้คนดูไปทั่วชมพูทวีป

พระโพธิสัตว์ก็ไม่แสดงอาการแม้เพียงนึกขัดเคืองใจในพราหมณ์นั้นแต่ประการใด ข้อนี้สมด้วยบาลีคัมภีร์จริยาปิฎกว่า เมื่อหมองูชื่ออารัมภานะจับเรายัดใส่ในข้องเล็กๆก็ดี ย่ำเหยียบเราอยู่ด้วยส้นเท้าให้อ่อนกำลังก็ดี เราไม่ได้โกรธเคืองในหมองูอารัมภานะนั้นเลย ทั้งนี้ เพราะเรากลัวศีลของเราจะขาดด่างพร้อยไป

๖) เรื่องพญานาคชื่อจัมเปยยะ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคชื่อจัมเปยยะ ได้ถูกหมองูจับทรมานอยู่ด้วยประการต่างๆ ก็มิได้แสดงอาการนึกขัดเคืองในใจ

ข้อนี้สมด้วยบาลีจริยาปิฎกว่า แม้ในชาติเป็นจัมเปยยะนาคราชนั้น เราก็ได้ประพฤติธรรมจำอุโบสถศีล หมองูได้จับเราไปเล่นกลอยู่ที่ประตูพระราชวัง เขาประสงค์จะให้เราแสดงเป็นสีอะไร คือจะเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือสีแสด เราก็ให้เป็นไปตามประสงค์ของเขา เรามีความตั้งใจอยู่ว่า ขอให้หมองูนี้จงได้ลาภมากๆเถิด

และด้วยเดชอานุภาพของเรา เราสามารถที่จะบันดาลให้ที่ดอนกลายเป็นน้ำก็ได้ บันดาลให้ที่น้ำกลายเป็นดอนก็ได้ ถ้าเราจะพึงโกรธแก่หมองูนั้น เราก็สามารถที่จะทำให้เขากลายเป็นเถ้าถ่านในชั่วครู่เท่านั้น แต่ถ้าว่าเราตกอยู่ในอำนาจของอกุศลจิตเช่นนั้น เราก็จะเสื่อมจากศีล เมื่อเสื่อมจากศีลแล้ว ความปรารถนาขั้นสุดยอดคือความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าของเราก็จักไม่สำเร็จสมประสงค์

๗) เรื่องพญานาคชื่อสังขปาละ ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญานาคราชชื่อสังขปาละ ได้ถูกบุตรนายพราน ๑๖ คน ช่วยกันเอาหอกอย่างแหลมแทงเข้าที่ลำตัวถึง ๘ แห่ง แล้วเอาเครือวัลย์ที่มีหนามร้อยเข้าไปตามรูแผลที่แทงนั้นๆ เอาเชือกอย่างเหนียวร้อยที่รูจมูก แล้วช่วยกันลากไป ลำตัวเสียดสีไปกับพื้นดิน ได้เสวยทุกข์อย่างใหญ่หลวง แม้พระโพธิสัตว์สามารถจะบันดาลให้บุตรนายพรานนั้นๆ แหลกละเอียดเป็นเถ้าธุลี ด้วยกรรมวิธีเพียงแต่โกรธแล้วจ้องมองเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทำอาการโกรธเคืองลืมตาจ้องมองดูเขาเหล่านั้นเลย

ข้อนี้สมด้วยบาลีในคัมภีร์ชาดกว่า ดูกรนายอฬาระ เราอยู่จำศีลอุโบสถเป็นนิจ ทุกวัน ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ คราวครั้งนั้น ได้มีบุตรนายพราน ๑๖ คน พากันถือเอาเชือกและบ่วงอย่างมั่นเหนียวไปหาเรา แล้วเขาได้ช่วยกันร้อยจมูกเรา ฉุดดึงเชือกที่ร้อยจมูกผูกตรึงเราหมดทั้งตัวแล้วลากเราไป ทุกข์อย่างใหญ่หลวงถึงเพียงนั้นเราก็ยังอดกลั้นได้ ไม่ยอมทำให้อุโบสถศีลกำเริบเศร้าหมอง

แท้ที่จริงนั้น พระบรมศาสดาไม่ได้ทรงทำสิ่งที่อัศจรรย์ไว้เพียงที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้เท่านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญจริยาวัตรอันน่าอัศจรรย์แม้อย่างอื่นๆไว้เป็นอเนกประการ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกต่างๆ ก็แลบัดนี้ เจ้าได้อ้างอิงเอาพระผู้มีพระภาคผู้ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ผู้มีพระขันติคุณอย่างไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งในโลกมนุษย์และเทวดา ว่าเป็นศาสดาของเจ้าดังนี้แล้ว การที่เจ้าจะยอมจำนนให้จิตโกรธแค้นครอบงำได้อยู่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ชอบไม่สมควรเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

๗.ด้วยการพิจารณาความสัมพันธ์กันในระหว่างสังสารวัฏ ก็แล โยคีบุคคลผู้ซึ่งได้เข้าถึงความเป็นทาสของกิเลสมานานหลายร้อยหลายพันชาติ แม้จะได้พยายามพิจารณาถึงพระคุณคือพระจริยาวัตรของพระบรมศาสดาในปางก่อนโดยวิธีดังกล่าวมาสักเท่าใดก็ตาม ความโกรธแค้นนั้นก็ยังไม่สงบอยู่นั่นแล ทีนี้โยคีบุคคลพึงพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันระหว่างสังสารวัฏอันยาวนาน ซึ่งสาวหาเบื้องต้นเบื้องปลายกันมิได้ โดยอุบายวิธีดังต่อไปนี้

ก็เรื่องนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย นิทานวรรคว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์เกิดขึ้นมาในโลกนี้ ที่จะไม่เคยเป็นมารดากันเป็นบิดากัน ไม่เคยเป็นพี่น้องชายกัน ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิงกัน ไม่เคยเป็นบุตรกัน และไม่เคยเป็นธิดากัน เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายเลย เพราะฉะนั้น โยคีบุคคลพึงส่งจิตไปในบุคคลคู่เวรกันนั้นอย่างนี้

ได้ยินว่า สตรีผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาในชาติปางก่อน เขาเคยได้บริหารรักษาเราอยู่ในครรภ์ ๑๐ เดือน ได้ช่วยล้างอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำมูก เป็นต้น ให้แก่เราโดยไม่รังเกียจ เห็นสิ่งปฏิกูลพวกนั้นเป็นเหมือนจันทน์หอม ได้ช่วยประคองเราให้นอนอยู่ระหว่างอก อุ้มเราไปด้วยสะเอว ได้ทะนุถนอมเลี้ยงเรามาเป็นอย่างดี ฉะนี้

บุรุษนี้ได้เคยเป็นบิดาของเรามา เมื่อเขาประกอบการค้าขาย ต้องเดินทางไปในที่กันดาร เช่น ต้องไปด้วยแพะเป็นที่อาศัยเป็นพาหนะ และต้องเกี่ยวเหนี่ยวรั้งไปด้วยไม้ขอเป็นต้น แม้ชีวิตก็ยอมเสียสละเพื่อประโยชน์แก่ตัวเรา ครั้นในยามที่เกิดสงครามประชิดติดกัน ก็ต้องเอาตนเข้าสู่สนามรบ บางทีต้องแล่นเรือผ่านมหาสมุทรอันเต็มไปด้วยภัยอันตราย และได้ทำกิจการอย่างอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ด้วยยากด้วยความลำบากยากเย็น พยายามสั่งสมทรัพย์ไว้ด้วยอุบายต่างๆ ด้วยมั่นหมายว่า จะเลี้ยงดูลูกๆทั้งหลายให้เป็นสุข ฉะนี้

บุรุษผู้นี้เคยเป็นพี่น้องชายของเรามา สตรีผู้นี้เคยเป็นพี่น้องหญิงของเรามา บุรุษนี้เคยเป็นบุตรของเรามา สตรีนี้เคยเป็นธิดาของเรามา และแต่ละบุคคลนั้น เคยได้ทำอุปการะแก่เรามาหลายอย่างหลายประการเป็นอันมาก เพราะเหตุนั้น การที่เราจะทำใจให้โกรธแค้นในบุคคลนั้นๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ฉะนี้

๘.ด้วยพิจารณาถึงอานิสงส์เมตตา ก็แล โยคีบุคคลได้พยายามพิจารณาถึงความสัมพันธ์กันมาในสังสารวัฏดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ แต่นั้น โยคีบุคคลพึงพิจารณาถึงอานิสงส์ของเมตตา โดยอุบายวิธีดังนี้

นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสอนไว้แล้วมิใช่หรือว่า คนผู้เจริญเมตตาภาวนา พึงหวังได้แน่นอนซึ่งอานิสงส์ ๑๑ ประการของเมตตาเจโตวิมุตติที่ตนส้องเสพหนักแล้ว ทำให้เจริญขึ้นแล้ว ทำให้มากๆแล้ว ทำให้เป็นดุจยานที่เตรียมพร้อมแล้ว ทำให้เป็นดุจฐานอันแน่นหนาแล้ว ทำให้มั่นคงแล้ว สั่งสมด้วยวสีทั้ง ๕ ดีแล้ว ทำให้บังเกิดขึ้นด้วยดีแล้ว คือ

๑) หลับเป็นสุข คือไม่กลิ้ง ไม่กรน หลับอย่างสนิทเหมือนเข้าสมาบัติ มีลักษณะท่าทางเรียบร้อยน่าเลื่อมใส

๒) ตื่นเป็นสุข ตื่นขึ้นมาแล้วไม่ทอดถอนหายใจ ไม่สยิวหน้า ไม่บิดไปบิดมา มีหน้าตาชื่นบานเหมือนดังดอกประทุมที่กำลังแย้มกลีบบาน ฉะนั้น

๓) ไม่ฝันร้าย คือไม่ฝันเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น พวกโจรรุมล้อม สุนัขไล่กัด ตกเหว ฝันเห็นแต่นิมิตที่ดี เช่น ไหว้พระเจดีย์ ทำการบูชา และฟังพระธรรมเทศนา

๔) เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย คือเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของคนทั้งหลาย เหมือนพวงไข่มุกที่ห้อยอยู่ที่หน้าอก หรือดอกไม้ที่ประดับอยู่บนเศียร

๕) เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย คือไม่ใช่เป็นที่รักของคนอย่างเดียว ยังเป็นที่รักของเหล่าเทวาอารักษ์ด้วย

๖) เทวดาทั้งหลายคอยเฝ้ารักษา คือเทวดาทั้งหลายย่อมคอยตามรักษา เหมือนมารดาบิดาคอยตามรักษาบุตรและธิดา

๗) ไฟ ยาพิษ หรือศัสตรา ไม่กล้ำกรายในตัวของเขา คือไม่ถูกไฟไหม้ ไม่ถูกวางยาพิษ ไม่ถูกศัตราวุธประหาร

๘) จิตเป็นสมาธิเร็ว คือเมื่อเจริญกัมมัฏฐาน จิตสำเร็จเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ได้เร็ว

๙) ผิวหน้าผ่องใส คือหน้าตามีผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส เหมือนลูกตาลสุกที่หล่นจากขั้วใหม่ๆ

๑๐) ไม่หลงทำกาลกิริยา คือไม่หลงตาย ตายมีสติ

๑๑) เมื่อไม่ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูง อย่างต่ำก็จะบังเกิดในพรหมโลก คือถ้าไม่ได้บรรลุพระอรหัตต์อันเป็นคุณเบื้องสูงยิ่งกว่าเมตตาฌานในชาติปัจจุบัน พอเคลื่อนจากมนุษย์โลก ก็จะได้เข้าสู่พรหมโลกทันที เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น

นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ ถ้าเจ้าจักไม่ทำจิตที่โกรธแค้นอยู่นี้ให้ดับไปเสียแล้ว เจ้าจักเป็นคนอยู่ภายนอกอานิสงส์ (ของเมตตา) ๑๑ ประการ ฉะนี้



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 กันยายน 2559 17:59:28

อุบายบรรเทาความโกรธ (ต่อ)

๙.ด้วยการพิจารณาแยกธาตุ ถ้าโยคีบุคคลยังไม่อาจที่จะทำความโกรธแค้นให้ดับลงได้ด้วยวิธีดังแสดงมา คราวนี้จงนึกเอาคนคู่เวรนั้นมาพิจารณาแยกออกให้เห็นเป็นเพียงสักว่าธาตุส่วนหนึ่งๆ คือพึงพร่ำสอนตนเองด้วยวิธีแยกธาตุว่า

นี่แน่ะ พ่อมหาจำเริญ เมื่อเจ้าโกรธเขานั้น เจ้าโกรธอะไรเขาหรือ คือในอาการ ๓๒ เจ้าโกรธผมหรือ เจ้าโกรธขนหรือ เจ้าโกรธเล็บหรือ เจ้าโกรธฟันหรือ เจ้าโกรธหนังหรือ เจ้าโกรธเนื้อ โกรธเอ็น โกรธกระดูก โกรธเยื่อในกระดูก โกรธม้าม โกรธหัวใจ โกรธตับ โกรธพังผืด โกรธไต โกรธปอด โกรธไส้น้อยไส้ใหญ่ โกรธอาหารใหม่อาหารเก่า โกรธมันสมองหรือ

หรือเจ้าโกรธดี เสลด น้ำหนอง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมันเหลว น้ำลาย น้ำมูก น้ำมันไขข้อ น้ำมูตรของเขา หรือว่าในธาตุ ๔ เจ้าโกรธธาตุดินของเขาหรือ หรือเจ้าโกรธธาตุน้ำของเขา หรือเจ้าโกรธธาตุลม หรือเจ้าโกรธธาตุไฟ

อนึ่ง คนคู่เวรนั้น เพราะอาศัยขันธ์ ๕ หรืออายตนะ ๑๒ หรือธาตุ ๑๘ เหล่าใด เขาจึงได้ชื่ออย่างนั้น ในขันธ์ ๕ นั้น เจ้าโกรธรูปขันธ์หรือ หรือโกรธเวทนาขันธ์ หรือโกรธสัญญาขันธ์ หรือว่าโกรธสังขารขันธ์ หรือว่าโกรธวิญญาณขันธ์

หรือในอายตนะ ๑๒ นั้น เจ้าโกรธจักขวายตนะหรือ หรือโกรธรูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ มนายตนะ ธัมมายตนะ

หรือในธาตุ ๑๘ นั้น เจ้าโกรธจักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุหรือ หรือว่าเจ้าโกรธโสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

เมื่อโยคีบุคคลพิจารณาแยกธาตุ กระจายคนคู่เวรนั้นออกโดยภาวะที่เป็นธาตุ คือเป็นเพียงชิ้นส่วนอันหนึ่งๆประกอบกันไว้ ดังแสดงมานี้ ก็จะมองเห็นสภาวธรรมด้วยปัญญาเห็นชัดแจ้งว่า ฐานะที่สำหรับจะรับรองความโกรธ ย่อมไม่มีในบุคคลคู่เวรนั้น

เพราะธาตุทั้งหลายแต่ละธาตุๆมีผมเป็นต้นนั้น เป็นสิ่งอันใครๆไม่ควรจะโกรธ และนอกเหนือไปจากธาตุทั้งหลายมีผมเป็นต้นนั้นแล้ว ก็หามีคนไม่ เปรียบเหมือนฐานสำหรับรองรับเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่มีที่ปลายเหล็กจานเหล็กแหลม และฐานสำหรับรองรับจิตรกรรม ไม่มีในอากาศ ฉะนั้น

๑๐.ด้วยการให้ปันสิ่งของ ส่วนโยคีบุคคลผู้ไม่สามารถจะพิจารณาโดยวิธีแยกธาตุดังแสดงมา ก็พึงทำการให้ปันสิ่งของของตนให้แก่บุคคลคู่เวรตน ตนเองก็ควรรับสิ่งของๆบุคคลคู่เวรด้วย

ก็แล ถ้าบุคคลคู่เวรเป็นผู้มีอาชีวะบกพร่อง มีบริขารชำรุดใช้ไม่ได้ ก็พึงให้เครื่องบริขารของตนนั่นแหละแก่เธอ เมื่อโยคีบุคคลทำการให้ปันได้อย่างนี้ ความอาฆาตเคียดแค้นก็จะระงับลงได้โดยสนิททีเดียว และแม้ความโกรธของบุคคลคู่เวรซึ่งติดตามมาตั้งแต่อดีตชาติ ก็จะระงับลงโดยทันทีเช่นเดียวกัน

เหมือนดังความโกรธของพระมหาเถระรูปหนึ่ง ระงับลงเพราะได้บาตรของพระปิณฑปาติกะเถระผู้ถูกขับออกจากเสนาสนะจิตตบรรพตถึง ๓ ครั้ง ได้มอบถวายพร้อมกับเรียนว่า ท่านขอรับ บาตรใบนี้ราคา ๘ กหาปณะ อุบาสิกาผู้เป็นโยมหญิงของกระผมถวาย เป็นลาภที่ได้มาโดยชอบธรรม ขอท่านได้กรุณาทำให้เป็นบุญลาภแก่มหาอุบาสิกานั้นด้วยเถิด

ขึ้นชื่อว่า การให้ปัน นี้ มีอานุภาพอันยิ่งใหญ่ สมด้วยคาถาประพันธ์อันโบราณาจารย์ได้ประพันธ์ไว้ว่า

อทนฺตขมนํ ทานํ  ทานํ สพฺพตฺถ สาธกํ
ทาเนน ปิยวาจาย  อุณฺณมนฺติ นมนฺติ จ.

การให้ปัน เป็นอุบายทรมานคนพยศให้หายได้ การให้ปัน เป็นเครื่องบันดาลให้ประโยชน์ทุกๆอย่างสำเร็จได้ ฝ่ายผู้ให้ปันย่อมฟูใจขึ้น ฝ่ายผู้รับปันย่อมอ่อนน้อมลง ทั้งนี้ด้วยการให้ปันและด้วยปิยวาจา เป็นเหตุฉะนี้

นี้แหละท่านทั้งหลาย ที่ได้บรรยายมาทั้งหมดนี้ เป็นอุบายวิธีที่จะบรรเทาความโกรธลงไปจากขันธสันดานได้ ขอให้ท่านผู้สดับตรับฟังทั้งหลายผู้เห็นโทษของความโกรธ ได้นำอุบายวิธีทั้ง ๑๐ ประการดังที่บรรยายมานี้ เป็นเครื่องพินิจพิจารณา เพื่อจะบรรเทาความโกรธทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา

เมื่อใด ความโกรธหมดไปจากขันธสันดานของเราแล้ว เราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ดี เราจะมีใจเยือกเย็น เต็มเปี่ยมไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เมื่อเรามีจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ เราจะอยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขกายสบายใจ ละโลกนี้ไปแล้ว เราก็จะไปสู่สุคติภพ.


[๑] (สํ. สคาถวคฺโค ๑๕/๖๓๙/๒๔๑)
[๒] (ขุ. ชาตก. ๒๗/๕๑/๑๗)

ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 12 ตุลาคม 2559 11:32:11

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRh0eaur_vy7KeiQswaKfgi2d6tggha1CsAZbNJW0akFsSYY-eU_g)

ทรัพย์ ๒ ประการ
(อริยทรัพย์ ๗)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

การที่เราทั้งหลายมีความอุตสาหะพยายาม อดทนกัดฟันต่อสู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อว่าต้องการที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดีไว้ ทำของโลกีย์ให้เป็นโลกุตระ ทำทรัพย์สมบัติภายนอกให้เป็นทรัพย์สมบัติภายใน

ดังนั้น วันนี้จึงได้นำเรื่อง ทรัพย์ ๒ ประการ มาบรรยาย คือ สามัญทรัพย์ ๑ อริยทรัพย์ ๑

๑.สามัญทรัพย์ คือทรัพย์สามัญทั่วไป แบ่งเป็น ๒ คือ
๑) ทรัพย์ ได้แก่ วัตถุเครื่องปลื้มใจ
๒) สมบัติ ได้แก่ วัตถุอันถึงพร้อม

ทรัพย์สมบัตินี้มีอยู่ในบุคคลผู้ใด ก็ย่อมทำให้บุคคลผู้นั้นมีความปีติ เอิบอิ่ม ยินดี ปลื้มใจ ดีใจว่า ทรัพย์สมบัติของเรามีอยู่

สามัญทรัพย์นี้ เมื่อแยกออกแล้วมีอยู่ ๒ ประการ
๑) สวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่มีวิญญาณครอง เช่น สามี ภรรยา ลูกๆ หลานๆ ตลอดถึงช้าง ม้า โค กระบือ แพะ แกะ เป็ด ไก่ สุกร เป็นต้น
๒) อวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณครอง มีผ้าผ่อนแพรพรรณ แก้วแหวนเงินทอง รัตนะ ๗ ประการเป็นต้น

ทรัพย์ทั้ง ๒ ประการนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑) สังหาริมทรัพย์ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวง ที่เราสามารถนำเคลื่อนที่ไปได้
๒) อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไปไม่ได้ มีที่นา ที่สวน เป็นต้น

ทรัพย์ดังกล่าวมาแล้วนี้ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย ได้ตรัสว่าเป็นของที่ไม่เป็นแก่นสาร เพราะเหตุว่าจะต้องอันตรธานไปด้วยภัยทั้ง ๔ คือ
- ราชภัย ถูกพระราชาหรือรัฐบาลยึดเอาไปบ้าง
- โจรภัย ถูกโจรฉกชิงวิ่งราวปล้นสะดมเอาไปบ้าง
- อัคคีภัย ถูกไฟไหม้บ้าง
- อุทกภัย ถูกน้ำท่วมให้ฉิบหายย่อยยับไปบ้าง

หากว่าเราจะเอาทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ไปฝังไว้ในดินหรือจมไว้ในน้ำ คิดว่าจะไม่ให้อันตรธาน ก็ไม่พ้น ถ้าเราเอาไปฝังลึกนัก อมนุษย์อาจทำให้เคลื่อนที่ได้ ถ้าเราฝังตื้นเกินไป โจรผู้ร้ายอาจจะขโมยไปก็ได้ ถ้าเราจะเอาทรัพย์เหล่านี้ไปจมไว้ในน้ำ อาจจะมีพรานข่ายพรานแหเอาไป หากว่าเราคิดจะเอาทรัพย์เหล่านี้ไปฝากไว้ในคลังหรือธนาคาร ปรารถนาจะไม่ให้อันตรธาน ก็ย่อมไม่เป็นอันฝัง ย่อมผุพังไปเป็นธรรมดา

เหตุนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ทรัพย์นี้ไม่เป็นแก่นสาร พระองค์ตรัสให้พวกเราทั้งหลาย ทำทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ให้เป็นแก่นสาร คือให้รู้จักใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ พระพุทธองค์ทรงได้ตรัสหลักการใช้ทรัพย์ คือเมื่อเราทั้งหลายแสวงหาทรัพย์สมบัติมาได้โดยชอบธรรมแล้ว ท่านได้แยกหลักการใช้โภคทรัพย์ไว้ ๕ ประการ คือ
๑.เลี้ยงตัวของตัวเอง ตลอดถึงบิดามารดา บุตร ภริยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข
๒.เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข
๓.บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่างๆ เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น
๔.ทำพลี ๕ อย่าง ได้แก่
   ก.ญาติพลี สงเคราะห์ญาติ
   ข.อติถิพลี ต้อนรับแขก
   ค.ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
   ง.ราชพลี ถวายเป็นของหลวง เสียภาษีอากร
   จ.เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา
๕.บริจาคให้สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

นอกจากนี้ เราควรใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่สังคม เป็นต้นว่าสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ ศาลาการเปรียญ สร้างถนน สร้างบ่อน้ำ สร้างโรงเรียน สร้างสถานพยาบาลเหล่านี้เป็นต้น ก็ชื่อว่าเราใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อเราใช้ให้เป็นก็เป็นประโยชน์แก่เราและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าหากว่าเราใช้ไม่เป็น ในปัจจุบันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์ อนาคตก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์

เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เป็นของส่วนกลางสำหรับโลก เมื่อเรายังไม่เกิดมา ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็มีอยู่ เมื่อเราเกิดมา เราก็ใช้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้เท่าที่เราสามารถแสวงหามาได้ เมื่อเราตายไป ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เราก็ทิ้งไว้ในโลกนี้ ให้เป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป เราจะมาหวงห้ามว่า ไม่ให้ผู้นั้นใช้ ไม่ให้ผู้นี้ใช้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตกไปตามกฎของธรรมชาติ

เหตุนั้น ผู้มีปัญญาฉลาดรอบคอบเท่านั้น จึงสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมได้ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานว่า เราจะรักษาทรัพย์สมบัติอยู่ตลอดไป

เราทั้งหลายลองนึกดูซิว่า เมื่อเราเกิดมานั้นก็มีแต่ตัวล่อนจ้อน ทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่ง ก็หาติดตัวเรามาไม่ เราอาศัยบุญกรรมที่เราสร้างสมอบรมไว้พามาเกิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะแสวงหาทรัพย์ได้มากได้น้อย ก็อาศัยบุญกรรมที่เราสั่งสมอบรมไว้ ถ้าชาติก่อนเราได้สั่งสมอบรมทานบารมีถวายทานไว้มาก เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็จะเป็นผู้ที่มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพูนไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวาร ไม่อดไม่อยาก หากว่าเราเป็นคนตระหนี่ เกิดมาแล้วย่อมเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง

เหตุนั้น การที่เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันนี้ ก็คือมาทำทรัพย์สมบัติภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ทำทรัพย์ที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตระ ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นอนุคามินีทรัพย์ติดตามเราไปสู่สัมปรายิกภพภายภาคหน้า ดังที่กล่าวมานี้เป็นสามัญทรัพย์โดยย่อ

๒.อริยทรัพย์ แปลว่า ทรัพย์อันประเสริฐ หรือทรัพย์ของท่านผู้ประเสริฐ หรือทรัพย์ที่ไกลจากข้าศึกคือกิเลส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกเราจะเห็นได้ในหลัก ทิฏฐธัมมิกัตถธรรม ที่พระองค์ตรัสไว้ คือผู้ที่จะตั้งตนได้ในปัจจุบัน จะต้องประกอบไปด้วยธรรม ๔ ประการ คือ

๑) อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความขยันความหมั่นเพียรในการงานอันเป็นหน้าที่ของตน
๒) อารักขสัมปทา พยายามรักษาการงานที่ตนประกอบนั้นไว้ให้ดี ตลอดถึงพยายามรักษาทรัพย์สมบัติที่เป็นผลซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของเราไว้ให้ดี
๓) กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดี ไม่คบคนชั่ว
๔) สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่ตนหามาได้

ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ ไม่ใช่ว่าการแสวงหาทรัพย์นั้นจะเป็นกิเลสตัณหาดังคนทั้งหลายเข้าใจกัน

การที่จะจัด(ว่าการแสวงหาทรัยพ์)เป็นกิเลสตัณหาได้นั้น ก็หมายความว่า การที่อยากได้ทรัพย์สมบัติในทางทุจริตแล้วก็แสวงหาเอาในทางที่ทุจริต จึงจะเป็นโลภะเป็นตัณหา แต่นี่เราอยากได้แล้วก็แสวงหาเอาในทางที่สุจริต ไม่จัดเป็นโลภะ

นอกจากนี้ พระองค์ยังส่งเสริมการแสวงหาทรัพย์ที่เราจะนำไปใช้ในวันข้างหน้า ภพหน้า ชาติหน้าต่อไป ดังหลักธรรมที่พระองค์ได้ตรัสไว้ คือ สัมปรายิกัตถธรรม ธรรมอันเป็นเหตุให้สมหวัง หรือเป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ประสงค์ในภพหน้าชาติหน้า ๔ ประการ คือ

๑) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา
๒) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล
๓) จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาคทาน
๔) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา

นอกจากนี้ พระองค์ยังตรัสให้แสวงหาทรัพย์อันประเสริฐ อันจะเป็นบ่อเกิดซึ่งอริยมรรคอริยผล คือพระองค์ทรงสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายประกอบไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ เพราะว่าอริยมรรคทั้ง ๘ ประการนี้ เป็นธรรมะที่จะให้สำเร็จซึ่งโลกุตตระสมบัติ

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้เราก็รู้ได้ทันทีว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายนั้น พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมคนเกียจคร้าน แต่ทรงส่งเสริมคนขยันหมั่นเพียรหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม หาทรัพย์ทั้งที่เป็นประโยชน์โลกนี้ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

เพราะเหตุไรธรรมะจึงจัดเป็นทรัพย์ เมื่อมีปัญหาอย่างนี้ เราควรหาเอาทรัพย์ที่เป็นวัตถุมาเป็นตัวตั้ง เช่น ธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ๒๐ บาทบ้าง ใบละ ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาทบ้าง แผ่นกระดาษแท้ๆ ทำไมจึงเรียกว่า ทรัพย์ ก็เพราะว่าเป็นของที่แลกเปลี่ยนได้สมประสงค์ เป็นของที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ข้อนี้ฉันใด ธรรม ๗ ประการ มีศรัทธาเป็นต้น ก็เป็นของที่ให้สำเร็จสมประสงค์ได้เหมือนกัน เหตุนั้นท่านจึงเรียกว่า อริยทรัพย์

ปัญหาเศรษฐศาสตร์ทางโลก เขาตีราคาค่าของต่างๆ เป็นมูลค่าบ้าง คุณค่าบ้าง เมื่อแยกประเภทออกไปแล้วมีอยู่ ๒ ประการ

๑) อัคฆะ คือ สิ่งที่ตีราคาได้ เช่น สมุด กระดาษ ดินสอ ปากกา นาฬิกา แว่นตา เครื่องขยายเสียง ไมโครโฟน เหล่านี้เป็นต้น เขาตีราคาได้ว่า มีราคาเท่านั้นบาท เท่านั้นร้อย เท่านั้นพัน เท่านั้นหมื่น เท่านั้นแสน แม้แต่ค่าแรงงานเขาก็ตีเป็นราคาได้ สมมติว่า คนนี้มีความสามารถขนาดนี้ ควรจะได้วันหนึ่ง ๔๕ บาท ๕๐ บาท หรือ ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท เขาตีราคาได้ ทรัพย์ประเภทนี้ เรียกว่า อัคฆะ ตีราคาได้

๒) อนัคฆะ คือ สิ่งที่ตีราคาไม่ได้ ประเมินราคาไม่ได้ว่ามีราคาเท่าไร สิ่งที่ไม่สามารถที่จะกำหนดราคาหรือตีค่าตีราคาขึ้นได้ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความสุภาพเรียบร้อย ความฉลาด ศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพานเป็นต้น

เราไม่สามารถที่จะตีราคาขึ้นมาได้ว่า ความสัตย์นี้จะตีราคาเท่าไร ความฉลาด ความสุภาพเรียบร้อยนี้จะตีราคาเท่าไร เราตีราคาไม่ได้ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือมรรค ผล นิพพานนี้ มีราคาเท่าไร เราตีราคาไม่ได้ ประเมินราคาไม่ได้ เหตุนั้น ทรัพย์ประเภทนี้จึงเรียกว่า อนัคฆะ หาค่าไม่ได้

เพราะเหตุไร ธรรมะ ท่านจึงเรียกว่า เป็นทรัพย์ ก็เพราะว่า เป็นทรัพย์ประเภท อนัคฆะ คือตีราคาไม่ถูก เป็นธรรมที่พระอริยเจ้าแสดงไว้

ทรัพย์ทั้ง ๒ ประเภท คือสามัญทรัพย์ และ อริยทรัพย์นี้ มีคุณลักษณะต่างกัน คือ

สามัญทรัพย์นั้น สามารถที่จะใช้ให้หมดไป สมมติว่า เรามีเงินเป็นร้อยๆ ล้าน ก็สามารถที่จะใช้ให้หมดไป ดังที่เราได้ทราบข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวในวิทยุเป็นต้น ธนาคารที่มีเงินเป็นหลายๆ ร้อยล้านก็ยังล้มละลายได้ หรือเศรษฐีมีเงินเป็นสิบๆ ล้าน ก็ยังล้มละลาย เป็นอันว่าสามัญทรัพย์นั้น เป็นทรัพย์ที่สามารถจะใช้ให้หมดไปได้

ส่วนอริยทรัพย์นั้น ใช้ไม่หมด ยิ่งใช้เท่าไรก็ยิ่งมาก ยิ่งได้กำไรมากไปตามลำดับๆ เหมือนกันกับท่านทั้งหลายที่พากันมาสู่สำนัก มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลวงพ่อก็ให้อริยทรัพย์แก่ทุก ๆ ท่านไป ยิ่งให้ไปมากเท่าไรก็ยิ่งมีมาก ได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น เหตุนั้น อริยทรัพย์จึงเป็นของใช้ไม่หมด

อีกอย่างหนึ่ง สามัญทรัพย์ นั้น เป็นสาธารณะทั่วไปแก่คนทั้งหลายทั้งปวง คือหมายความว่า สามัญทรัพย์นั้น เมื่อเรายังไม่เกิดมาก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราใช้สอยทรัพย์สมบัติเหล่านี้ที่เราได้มา เราจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ตลอดไปก็ไม่ได้ อาจมีคนอื่นมาแย่งเอาไปบ้าง มาโกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเอาไปบ้าง หรือเราตายไปแล้วทรัพย์สมบัติเหล่านี้ก็ตกเป็นของคนอื่นไป เราจะหอบหิ้วหาบหามไปฝากเทวดาหรือฝากพระอินทร์พระพรหมในเทวโลกในพรหมโลกไม่ได้ เราอาศัยแต่บุญกรรมที่สั่งสมอบรมมาเท่านั้นพาไป

ส่วนอริยทรัพย์นั้น เป็นของตนแท้ๆ สามารถติดตามตนไปทุกฝีก้าว ฉายา อิว ดุจเงาติดตามตัว ตายแล้วเกิดชาติใหม่ ยังสามารถนำไปใช้ในภพที่ตนเกิดอีกต่อไป

สามัญทรัพย์นั้น ใช้ในวงจำกัด เช่นว่า ธนบัตรใบละ ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ บาท ๕๐๐ บาท ก็ใช้ได้ภายในประเทศไทยของเราเท่านั้น จะเอาไปใช้ในประเทศอื่น ก็ต้องเอาไปแลกไปเปลี่ยนเสียก่อน จึงจะใช้ได้

แต่สำหรับอริยทรัพย์นี้สามารถใช้ได้ทั่วโลก ไม่ต้องแลกไม่ต้องเปลี่ยน ใช้ในประเทศไหนได้ทั้งนั้น

อีกอย่างหนึ่ง สามัญทรัพย์ นั้น เป็นของที่ไม่แน่ว่าจะนำไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ หรือให้สำเร็จพระนิพพาน ตัวอย่าง คนมีเงินมีทองแล้วอาจใช้เงินทองนั้นทำบาป ก็ได้ เช่น เอาเงินไปซื้อวัวมาฆ่าบ้าง ซื้อควายมาฆ่าบ้าง ซื้อเป็ดซื้อไก่มาฆ่าบ้าง หรือเอาเงินไปจ้างให้เขาฆ่ากันบ้าง เหล่านี้เป็นต้น ถ้าเราทำอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นจากการมีทรัพย์นั้น เราจุติจากชาตินี้แล้วก็ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน สามัญทรัพย์นั้นจึงเป็นของที่ไม่แน่นอนว่าจะพาผู้เป็นเจ้าของไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ได้ อาจจะพาไปสู่อบายภูมิก็ได้

แต่ อริยทรัพย์ นี้ เป็นของแน่นอนที่สุด ที่จะนำเจ้าของให้ตรงไปสู่มนุษย์ สวรรค์ และพระนิพพาน คืออริยทรัพย์นี้ ถ้าผู้ใดสั่งสมให้มากเท่าใดๆ ก็ให้บรรลุสมบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าทำพอประมาณ ก็ให้ได้มนุษย์สมบัติ สูงขึ้นไปก็ให้สำเร็จสวรรค์สมบัติ ตลอดถึงพรหมสมบัติ และพระนิพพานสมบัติ เหตุนั้น อริยทรัพย์ นี้จึงจัดเป็นทรัพย์อันประเสริฐ

อริยทรัพย์นั้น มีอยู่ ๗ ประการ คือ
๑.ทรัพย์ คือ ศรัทธา
๒.ทรัพย์ คือ ศีล
๓.ทรัพย์ คือ หิริ
๔.ทรัพย์ คือ โอตตัปปะ
๕.ทรัพย์ คือ สุตะ
๖.ทรัพย์ คือ จาคะ
๗.ทรัพย์ คือ ปัญญา

๑.คำว่า ศรัทธา ความเชื่อ มีอยู่หลายอย่างหลายประการ แต่ในที่นี้จะนำมาบรรยายเพียง ๒ ประการคือ

๑) ปกติศรัทธา เชื่อตามปกติของสามัญชน คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำบาปได้บาป ทำบุญได้บุญ เชื่อต่อคุณของพระรัตนตรัย ดังประชาชนชาวไทยของเราพากันเชื่ออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้

ปกติศรัทธานี้ อาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น มีผู้มาว่าศาสนานั้นดีอย่างนั้นอย่างนี้ ลัทธิโน้นดีอย่างนั้น ลัทธินี้ดีอย่างนี้ เราอาจจะเลิกละจากศาสนาพุทธไปถือศาสนาอื่น หรือลัทธิอื่นก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธา ศรัทธาธรรมดาอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ดังที่พวกเราเห็นอยู่ทุกวันนี้แหละ บางทีเรานับถือศาสนาพุทธอยู่ดีๆ พอเขามาโฆษณาเขามาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็ไปถือศาสนานั้นหรือลัทธินั้น

๒) ภาวนาศรัทธา ได้แก่ ความเชื่อของบุคคลที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เชื่ออย่างหนักแน่นมั่นคง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ไม่หวั่นไหว เรียกว่า อจลศรัทธา

หมายเอาความเชื่ออันเกิดจากภาวนาซึ่งตนได้ลงมือประพฤติปฏิบัติ พิสูจน์เห็นแจ้งประจักษ์มาแล้ว ดังหลักฐานปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๕ ว่า

อิธ ภิกฺขเว อริยสาวโก สทฺโธ โหติ สทฺทหติ ตถาคตสฺส โพธึ อิติปิ โส ภควา… พุทฺโธ ภควาติ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สทฺธาธนํ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระอริยสาวกในพระศาสนานี้ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อต่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุคคลอย่างยอดเยี่ยม เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นผู้มีโชค ดังนี้

ความเชื่อดังที่กล่าวมานี้ เรียกว่า สทฺธาธนํ ทรัพย์คือ ศรัทธา

๒.คำว่า ศีล แปลว่า ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ในที่นี้จะได้นำเรื่องศีลมาบรรยายเพียง ๒ ประการ

๑) ปกติศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลอุโบสถ ศีล ๒๒๗ ที่บุคคลรักษากันอยู่ทุกวันนี้ เป็นศีลขั้นสามัญ ศีลสังคม
๒) ภาวนาศีล ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ของผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นศีลในองค์มรรค เกิดแก่ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณไปจนถึงมัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ เรียกว่า ภาวนาศีล เป็นศีลที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ที่ว่า สีลธนํ ทรัพย์คือศีลในที่นี้หมายเอา ภาวนาศีล อย่างนี้

๓.คำว่า หิริ แปลว่า ความละอายต่อบาป ต่อทุจริต ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

๔. คำว่า โอตตัปปะ แปลว่า ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

หิริกับโอตตัปปะนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑) เหตุภายนอก มีอยู่ ๔ อย่าง คือ
   ก.กลัวต่อการถูกติเตียนตนด้วยตนเอง
   ข.กลัวต่อการถูกติเตียนจากผู้อื่น
   ค.กลัวต่อราชทัณฑ์คือกฎหมายบ้านเมือง
   ง.กลัวต่อภัยในอบายภูมิ

๒) เหตุภายใน มีอยู่ ๘ ประการคือ
   ก.กุละ มีความละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงตระกูลของตน
   ข.วยะ มีความละอายบาปกลัวบาปโดยคำนึงถึงวัยของตน
   ค.พาหุสัจจะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงการศึกษาของตน
   ง.ชาติมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงชาติอันประเสริฐของตน
   จ.สัตถุมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงพระพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ บิดามารดา
   ฉ.ทายัชชมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงมรดก ว่าเราทั้งหลายนี้ จะต้องได้รับมรดกธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และจากครูบาอาจารย์ จะต้องได้รับมรดกจากพ่อแม่ ตนเองผู้รับมรดกนั้น จะต้องรักษามรดกนั้นไว้ให้ดีตลอดไป เมื่อคิดขึ้นมาได้อย่างนี้ ก็มีความละอายบาปกลัวบาปขึ้นมา
   ช.สพรหมจารีมหัตตะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงเพื่อนฝูงที่ดี ซึ่งเคยพบเห็นกันมา
   ซ.สุรภาวะ มีความละอายบาปกลัวบาป โดยคำนึงถึงความกล้าหาญ และความสงบเสงี่ยมเจียมตัว

เมื่อบุคคลระลึกถึงเหตุภายนอกเหตุภายในเหล่านี้แล้ว จะเกิดความละอายต่อบาป กลัวต่อผลของบาป ไม่กล้าทำชั่วทางไตรทวาร ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ย่อมจะได้รับความสุขกายสบายใจทั้งในภพนี้และภพหน้า

หิริและโอตตัปปะทั้ง ๒ นี้ ที่จัดเป็นอริยทรัพย์นั้น หมายเอาเฉพาะ หิริโอตตัปปะ ที่เกิดขึ้นแก่ท่านผู้เจริญวิปัสสนาผ่านญาณ ๑๖ ไปดีแล้ว ย่อมงดเว้นจากอกุศลมีปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุ มิจฉาจาร มุสาวาท และเว้นจากการดื่มสุราเมรัยเป็นต้น

๕.คำว่า สุตะ แปลว่าการสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนา เพื่อให้เกิดความรู้ หรือเกิดปัญญา เกิดพหุสูต

พหุสูตนั้น มีอยู่ ๓ ประการคือ
๑) ปริยัติพหุสุตะ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก ได้สดับตรับฟังมามาก

๒) ปฏิปัตติพหุสุตะ เป็นพหุสูต เพราะลงมือปฏิบัติธรรมมามาก ย่อมฉลาด ย่อมสามารถ ย่อมเข้าใจในการปฏิบัติธรรม ในการแก้อารมณ์ของตนและคนอื่น เช่น เวลาเกิดนิมิตมีซากศพเป็นต้นเกิดขึ้นมา จะต้องกำหนดให้นิมิตนั้นหายไป ถ้าเรากำหนด ๓-๔ ครั้งไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญาของเรายังหย่อน ต้องลุกไปเดินจงกรมเพิ่มสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที ๓๐ นาที จึงมานั่งสมาธิต่อไป สติ สมาธิ ปัญญา และญาณจะได้ดีขึ้น

๓) ปฏิเวธพหุสุตะ เป็นพหุสูตเพราะรู้แจ้งแทงตลอดสภาวธรรมนั้นๆ ตามขั้นแห่งการปฏิบัติของตน เช่น รู้แจ้งปัจจุบันธรรม รู้แจ้งรูปนาม รู้แจ้งพระไตรลักษณ์ รู้แจ้งมรรคผลพระนิพพาน หรือรู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิ ๗ รู้แจ้งแทงตลอดญาณ ๑๖ สุตะที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้หมายเอาปฏิเวธพหุสูตนี้

๖.คำว่า จาคะ แปลว่า การบริจาค แบ่งเป็น ๓ คือ
   ๑) บริจาคตามปกติ เช่น บริจาคไทยธรรมต่างๆ มีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า บริจาคปัจจัย ถวายทาน เป็นต้น
   ๒) บริจาคอย่างกลาง เรียกว่า ปริจาคโวสสัคคะ คือผู้นั้นมาเจริญวิปัสสนา ละกิเลสเพียงตทังคปหาน คือละได้ชั่วครู่ชั่วขณะบ้าง ละด้วยอำนาจของวิกขัมภนปหานบ้าง คือข่มกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ด้วยกำลังของฌาน ในขณะที่กำลังของฌานมีอยู่ กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ ดุจเอาหินทับหญ้าไว้ ฉะนั้น
   ๓) บริจาคอย่างสูง เรียกว่า ปักขันทนโวสสัคคะ คือการสละกิเลสเครื่องเศร้าหมองโดยเป็น สมุจเฉทปหาน แล่นไปสู่พระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านหมายเอามัคคญาณ

รวมความว่า บริจาค นั้นมี ๓ อย่าง คือ
(๑) บริจาคทานตามปกติ เช่น บริจาคปัจจัย ๔ มีจีวร บิณฑบาตเป็นต้น อย่างหนึ่ง
(๒) บริจาคโดยการละกิเลส ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานชั่วครู่ชั่วคราว แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างหนึ่ง
(๓) และการละกิเลสโดยเด็ดขาดด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นอย่างหนึ่ง

ย่อให้สั้นจำได้ง่าย ก็ได้แก่การบริจาคของภายนอก มีจตุปัจจัยไทยธรรมเป็นต้น บริจาคภายในกล่าวคือการละความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

จาคะ ที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้ ได้แก่การละกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานเท่านั้น

๗.คำว่า ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ มี ๔ คือ
๑) สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการสดับตรับฟัง เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน

ใครเรียนมากก็รู้มาก ใครเรียนน้อยก็รู้น้อย เช่น เรียนนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก หรือเปรียญ ๓ เปรียญ ๔ เปรียญ ๕ เป็นต้น เราก็ได้ความรู้ขั้นนั้น ถ้าใครเรียนได้มาก ผู้นั้นก็ได้ความรู้มาก ทางโลกก็เหมือนกัน เราเรียนน้อยก็ได้ความรู้น้อย เรียนมากก็ได้ความรู้มาก จนสำเร็จถึงขั้นปริญญาตรี โท เอก

๒) ววัตถปัญญา ได้แก่ ปัญญาของบุคคลที่ได้เริ่มลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เริ่มกำหนดรูปนามเป็นอารมณ์

๓) สัมมสนปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้ที่ลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน กำหนดรูปนาม รู้รูปนาม รู้เหตุปัจจัยของรูปนาม รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้ความเกิดและความดับของรูปนาม รู้เฉพาะความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว

เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม อยากออกอยากหนี อยากหลุดพ้นไปจากรูปนาม มีความเพียรเข้มแข็ง มีใจเฉยๆ เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๓ คือโคตรภูญาณนั่นเอง เรียกว่า สัมมสนปัญญา

๔) อภิสมยปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้แก่ ญาณที่ ๑๔ คือมัคคญาณนั่นเอง ญาณนี้เป็นโลกุตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

ปัญญาที่จัดเป็นอริยทรัพย์ในที่นี้ ได้แก่ ปัญญาข้อที่ ๔ คือ อภิสมยปัญญา เท่านั้น

ปัญญาทางโลกจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยบุคคลศึกษาเล่าเรียนค้นคว้า ถ้าคนฉลาดสามารถมีปัญญาดีแล้ว ย่อมหาเงินได้ง่ายๆ คือหาเอาจากมนุษย์ก็ได้ เช่น ทำหวีหวีผมมาขายบ้าง ทำสบู่ฟอกตัวบ้าง ทำแปรงสีฟันบ้าง ทำยาสีฟันบ้าง ทำน้ำมันทาผมบ้าง ทำเครื่องวิทยุโทรทัศน์ โทรภาพบ้าง เป็นต้น ในทางโลกถ้าคนฉลาดสามารถ มีปัญญาดี ก็หาเอาเงินทองได้จากภายในตัวเรานี้เอง ข้อนี้ ฉันใด ในทางธรรมก็เหมือนกัน ฉันนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงค้นคว้าหาเอามรรค ผล นิพพาน จากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ดังบาลีรับสมอ้างที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๖๔ บรรทัดที่ ๑๐ ว่า

อิมสฺมึเยว พฺยามมตฺเต กเฬวเร สสญฺญมฺหิ สมนเก โลกญฺจ ปญฺญาเปมิ โลกสมุทยญฺจ โลกนิโรธญฺจ โลกนิโรธคามินิญฺจ ปฏิปทนฺติ ฯ

ในอัตภาพอันยาววาหนาคืบอันเป็นกเฬวรากซากศพ ซึ่งเป็นไปกับด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ เราย่อมประกาศให้ทราบว่า อริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ

๑. โลกัญจะ โลกคือทุกข์
๒. โลกสมุทยัญจะ เหตุเกิดของโลก คือ สมุทัย
๓. โลกนิโรธัญจะ ความดับของโลก คือนิโรธ ได้แก่ พระนิพพาน
๔. โลกนิโรธคามินิญจะ ปฏิปะทัง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ได้แก่มรรค ดังนี้

ทั้งหมดนี้ เป็นหลักของอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ

พอจะกล่าวได้ใจความว่า ในทางโลกนั้น คนฉลาดย่อมหาเอาทรัพย์สมบัติจากร่างกายของเรานี้เอง เราลองไปดูตามร้านขายของทุกประเภท จะเป็นเครื่องอะไรก็ตาม ถ้านึกมาใส่ตัวเราแล้ว เขาขายเพื่อให้เรานี้มาปรนเปรอร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ขายเครื่องดื่มก็ดี ขายผ้าผ่อนแพรพรรณก็ดี ขายเครื่องเพชรเครื่องทองก็ดี ขายกะปิน้ำปลา ขายเกลือ อะไรต่างๆ ก็ขายเพื่อให้เราได้บำรุงบำเรอร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้

เพราะเหตุนั้น คนที่มีปัญญา มีความเฉลียวฉลาด เขาสามารถหาเอาเงินจากร่างกาย อันยาววาหนาคืบนี้ ไม่จำเป็นต้องไปหาที่ประเทศนอก ประเทศอื่น ข้อนี้ ฉันใด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าอรหันต์สาวก เหล่าอริยบุคคลที่ท่านได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานนั้น ท่านก็หาเอาจากอัตภาพอันยาววาหนาคืบนี้ ฉันนั้น

ผู้ที่ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติก็ดี ได้วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญาก็ดี สมบัติและคุณวิเศษเหล่านี้ เมื่อจะเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นก้อนสัจธรรม ธรรมะทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์คาถาก็รวมอยู่ที่นี้

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติ เราอย่าไปเหม่อมองหรือใฝ่ฝัน หรือนึกถึงแต่เรื่องนอกตัวของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างขอให้ระลึกถึงตัวของเราเป็นหลักไว้ว่า ธรรมะอยู่ที่นี้ เราบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานอะไรนั้น ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ ครูบาอาจารย์ท่านจึงได้สอนว่า ให้มีสติสัมปชัญญะดูร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ ผลสุดท้ายก็จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานเอง

อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ มีแก่บุคคลใด เป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ย่อมเป็นผู้มีความเชื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวเลย มีความเชื่ออยู่ตลอดไปจนกว่าจะถึงนิพพาน ดังมีเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง

ในครั้งพุทธกาล มีบุรุษคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน ชื่อว่านายสุปปพุทธกุฏฐิ วันหนึ่งไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่งอยู่ที่ไกลๆ โน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นจะรังเกียจ เมื่อฟังไปๆ ก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง ส่งจิตตามไปพิจารณาตามไปๆ ผลสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ได้นั้นในสำนักขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา

ขณะนั้น ท้าวสักกะทรงทราบแล้วจึงปรากฏกายให้เขาเห็นแล้วพูดว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ เธอเป็นมนุษย์ขัดสน เป็นมนุษย์ยากไร้ ถ้าเธอกล่าวว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธ พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา เพียงเท่านี้ ฉันจะให้เงิน ฉันจะให้ทรัพย์สมบัติมากมายหาที่สุดมิได้ จนๆ อย่างเธอนี้ว่าซิ เธอจะเอาเท่าไร ฉันจะให้

เมื่อสุปปพุทธกุฏฐิได้ยินคำนั้นจึงถามว่า ท่านนี้เป็นใคร มาจากไหน “ฉันเป็นเทวดา เป็นพระอินทร์มาจากเทวโลก” เมื่อท้าวสักกะกล่าวดังนั้น สุปปพุทธกุฏฐิจึงกล่าวขึ้นว่า อเปหิ เทวเต ไปๆ เทวดาอันธพาล เทวดาขี้ชั่ว อย่ามาพูดกับข้าพเจ้าว่า เป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านนั่นแหละเป็นคนจน

พระอินทร์หายวับไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรมนี้ แม้จะจนแสนจน เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าใดๆ ก็ไม่เอา เพียงแต่ให้พูดว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา เพียงแค่นี้ก็ไม่เอา วิสัยของคนถึงธรรมนี้ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยจริงๆ ไม่หวั่นไหว แม้ตนจะจนแสนจน ก็ไม่ยอมละพระรัตนตรัยพระพุทธเจ้าข้า



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 12 ตุลาคม 2559 11:33:19


ทรัพย์ ๒ ประการ (อริยทรัพย์ ๗) (ต่อ)

องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบเช่นนั้นแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน เป็นคนร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน ถึงจนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในไม่จน มีบริบูรณ์พร้อมมูลแล้วทุกอย่าง แล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการ (ในสุตตันตปิฎกบาลี เล่มที่ ๒๓ ธนวรรค สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๔-๗) มาตรัสเทศนาว่า

สทฺธาธนํ สีลธนํ  หิรี โอตฺตปฺปิยํ ธนํ
สุตธนญฺจ จาโค จ  ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ  อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา
อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ  อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้มีแก่บุคคลใด เป็นหญิงก็ตาม ชายก็ตาม ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย นักปราชญ์กล่าวบุคคลนั้นว่าไม่จน เป็นคนร่ำรวยที่สุด

ดังนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอจงได้ภาคภูมิใจ ปลื้มใจ ปีติปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจ ดีใจได้แล้ว ที่เราได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างสมอบรมอริยทรัพย์อันประเสริฐให้เกิดให้มีขึ้นในตน อันโจรหรือใครก็ลักไปไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม เป็นอนุคามินี ติดตามตนไปทุกฝีก้าว

เราจะไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา จะได้อาศัยอริยทรัพย์เป็นเสบียงเดินทางไปสู่สุคติภพจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข เป็นอวสาน.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 ตุลาคม 2559 14:29:33

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSQhTCJ8tb2rH-QKOlHq_QPNCTi_SSx03tdAD0t0Tu9JQV8DqsH6A)

การเจริญพระพุทธมนต์

ขณะใดที่เราตั้งอกตั้งใจเจริญพระพุทธมนต์จริงๆ (ขณะนั้น) ความเกียจคร้านย่อมไม่มี ความหดหู่ท้อแท้ไม่มี ความเผลอไม่มี ความฟุ้งซ่านไม่มี เรามีสติทันปัจจุบัน ไม่เผลอจากบทที่สวด

ขณะใดที่เรามีสติทันปัจจุบัน ไม่เผลอในการเจริญพุทธมนต์ ในขณะนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชวนจิตของเราเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มสวดจนถึงสวดจบบท

ในขณะใดที่เราตั้งอกตั้งใจสวดพุทธวจนะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชวนจิตดวงที่ ๑ ของเราก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อชวนจิตดวงที่ ๒ ดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาบทมนต์ที่สวด ชวนจิตดวงที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๕ ก็จะเกิดขึ้นมาเสพบุญเป็นอัตโนมัติ เกิดขึ้นมาเสพบุญที่เกิดขึ้นได้จากการเจริญพระพุทธมนต์อยู่ชั่วขณะจิตแล้วก็ดับไป เมื่อดับลงไปแล้ว สภาวะชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์นั้น ลงสู่ภวังค์แล้วก็ดับไป

เมื่อถึงภวังค์แล้ว ภวังค์นั้นก็จะทำหน้าที่รักษาบุญกุศลที่สวดพระพุทธมนต์นี้ไว้ภายในห้วงแห่งภวังคจิตนั้น ไม่มีอำนาจใดๆจะมาทำให้หมดไปได้ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดอยู่ในที่นั้นตลอดเวลา นี่มันได้บุญอย่างนี้ แต่ขณะเดียวกันที่บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์นี้ลงปวัตติไปตามวิถีจิตลงสู่ภวังค์

ในขณะนั้น บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้เบาบางลงไป หรือให้หมดไปทีละน้อยๆ ตามลำดับๆ

เราจะสังเกตเวลาเราเจริญพระพุทธมนต์ ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ยิ่งวันนี้ สวดอิมัสมิง มงคลจักรวาล ๘ ทิศ ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ยิ่งเพลินก็ยิ่งสวด ยิ่งสวดก็ยิ่งเพลิน ในขณะนั้นก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว เป็นบุญโดยที่เราไม่สามารถจะพรรณนาว่าได้แค่ไหนเพียงไร

หากว่าถึงคราวที่จะตายจากโลกนี้ไป ในขณะนั้น เรานึกถึงบุญที่เราเจริญพระพุทธมนต์อยู่ในขณะนี้ ถ้าจิตใจของเราดับไปในขณะนั้น เมื่อดับไป ก็ขอรับรองว่า ตายแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน บุญที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระพุทธมนต์ มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย

สำหรับการเจริญพระพุทธมนต์ทุกวันนี้ ถือว่าเป็นกัมมัฏฐาน เป็นทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นการเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ คือเจริญพร้อมกันหลายๆ รูป ถือว่าเป็นการเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ พระกัมมัฏฐานที่เจริญอย่างนี้ แยกได้เป็นสองประเภท

หากว่าในขณะที่เราสวดอยู่นี้ สติสัมปชัญญะของเราดี ไม่เผลอจากบทที่สวด สวดไปๆ จิตใจก็ดิ่งเข้าไป ผ่านขณิกสมาธิและอุปจารสมาธิ ผลสุดท้ายก็เข้าสู่อัปปนาสมาธิ เมื่อเข้าสู่สมาธิ ก็ถือว่าได้บุญได้กุศลในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ ไม่ใช่ไม่ได้นะ

คือเมื่อเรากำหนดไปๆ สวดไปๆ จิตของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ แล้วก็อุปจารสมาธิ เฉียดฌานเข้าไป เฉียดมรรคเข้าไป จนถึงอัปปนาสมาธิ ถึงฌาน ถึงมรรค ก็ถือว่าเราได้บุญในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าเราตั้งใจทำจริงๆ ก็ได้จริงๆ ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าสวดเล่นๆไป สักแต่ว่าสวด ก็ไม่ได้บุญอะไร ซ้ำอาจจะเป็นบาปอีก

การที่จะทำให้บุญเกิดได้สมบูรณ์ที่สุดในขณะที่เจริญพระพุทธมนต์นี้ ขอให้จำไว้ให้ดี คือในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ เจริญไปๆ จิตใจของเราดิ่งเข้าไปๆ ความรู้สึกก็น้อยเข้าไปๆ ในขณะนั้น หากว่าเป็นไปได้ เราหยุดเจริญพระพุทธมนต์ คือนั่งนิ่งไปจนจิตใจของเราขาดความรู้สึกเป็นสมาธิไป ถือว่าได้สมาธิได้ฌานในขณะนั้น

ทีนี้หากว่าจิตใจของเราเกิดปีติขึ้นมาในขณะนั้น เจริญไปๆ ในขณะที่จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาในขณะที่สวดอยู่นั้น

ในขณะนั้นสติสัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์ จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ และในขณะนั้นในวินาทีนั้น หรือในเสี้ยววินาทีนั้น พระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เมื่อเกิดขึ้นมาก็ดับปั๊บลงไป ก็ถือว่าเราได้บุญเป็นกรณีพิเศษ สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานได้

หมายความว่า สมาธิที่ได้ในขณะที่เราเจริญภาวนาอยู่นั้น ดิ่งเข้าไปๆ เกิดความรู้สึกเงียบเข้าไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ สมาธินั้นก็ถือว่าเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

เมื่อเราถึงฌานแล้วอย่างนี้ แม้ร่างกายของเราเป็นพระเป็นเณรธรรมดา แต่จิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว มันได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าสวดมนต์แล้วไม่ได้อะไร ได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่ปฏิปทาของเรา

ทีนี้หากว่าในขณะที่เราเจริญพระพุทธมนต์ จิตของเรามันดิ่งเข้าไปๆ ในขณะนั้นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้ว ดับปั๊บลงไป ขาดความรู้สึกลงไป และในขณะที่มันขาดความรู้สึกลงไปนั้น เราก็รู้ว่าเราสวดมนต์ไปถึงบทไหน มันดับไปหรือขาดความรู้สึกไป เราจำได้

ถ้าจำได้อย่างนี้ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสมาธิที่เกิดในลำดับของมัคควิถี สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล

ถ้าเกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ครั้งที่ ๒ ก็เป็นสกทาคามี ครั้งที่ ๓ เป็นอนาคามี

การที่ได้บรรลุโสดาบัน สกทาคามีนี้ อาจจะใช้เวลาเพียงไม่เกิน ๓ นาที เมื่อทำได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย การเจริญพระพุทธมนต์นี้ ใช่ว่าจะไม่ได้อานิสงส์ ถ้าหากเรารู้วิธีสวด รู้วิธีปฏิบัติ ย่อมได้ทั้งสมถะ ได้ทั้งวิปัสสนา ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา

หลวงพ่อขอยกตัวอย่างที่ได้เคยสอนลูกศิษย์ลูกหามาเป็นเวลานานพอสมควร วันหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่งชื่อว่า สงกรานต์ อายุประมาณสัก ๑๔ ปี เวลาเจริญพระพุทธมนต์นี้ เจริญไปๆ ดับปั๊บลงไปเลย ขาดความรู้สึกไป เมื่อขาดความรู้ลึกลงไปแล้ว หลังจากนั้นแกก็พยายามหัดสวดบ้าง นั่งสวดบ้าง ทำสมาธิไปบ้าง ผลสุดท้าย หลวงพ่อก็มาฝึก(สามเณร)ให้ชำนาญในวสี ๕ คือ

๑. อาวชฺชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการนึกตรวจองค์ฌานที่ตนออกแล้ว

๒. สมาปชฺชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการเข้าฌานได้รวดเร็ว

๓. อธิฏฺฐานวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการรักษาไว้มิให้จิตตกลงสู่ภวังค์

๔. วุฏฺฐานวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการออกจากฌานเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ

๕. ปจฺจเวกฺขณวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน

เอามาฝึกจนสามารถทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง สามเณรสงกรานต์นั้นทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง เมื่อทำสมาธิได้ถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ก็มาพิจารณาดูว่า สมาธิที่ได้นี้ยังเป็นสมถะอยู่ ยังเป็นฌานอยู่ ยังไม่ถึงอริยมรรคอริยผล ภายหลังพอมาฝึกใหม่ให้เจริญวิปัสสนาต่อ ผลสุดท้ายก็สามารถผ่านมัคควิถีไปได้ สามารถถึงมรรคถึงผลได้ นี่ท่านทั้งหลาย การเจริญพระพุทธมนต์ มันได้อย่างนี้

สามเณรอีกรูปหนึ่งชื่อ สามเณรพล อยู่บ้านใกล้ๆบ้านอีเติ่ง เวลาสวดมนต์เจริญพระพุทธมนต์อยู่นี้ก็เป็นเหมือนกัน สวดไปๆ เกิดปีติขึ้นมา หลังจากปีติเกิดแล้วก็ดำเนินไปตามวิถี จนถึงฌานชวนวิถี จิตก็ดับเข้าสู่ฌานธรรม ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันได้อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ถ้าทำเป็น

หลังจากได้แล้ว ก็มาฝึกให้ชำนาญในการเข้า ในการออก ในการอธิษฐาน ทุกอย่าง ตามหลักวิชาการ แล้วก็มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ทางอำเภอเขื่องใน เวลาเจริญพระพุทธมนต์อยู่นี้ เจริญไปๆ จิตก็ตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌานดังกล่าวแล้วข้างต้น

อาจารย์เจ้าอาวาสขู่เอาเลยว่า ทำไมถึงทำกันได้เร็วนัก แกล้งทำเอาอย่างนั้น แกล้งทำเอาอย่างนี้ ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ เรานี้สวดมนต์มาตั้ง ๒๐ กว่าปียังทำไม่ได้ สามเณรตัวน้อยๆนี้ทำแป๊บเดียวเท่านั้น ทำไมถึงทำได้ หาว่าสามเณรนั้นแกล้งทำ อะไรจิปาถะ ก็ขู่เอา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หากเรารู้วิธีการรู้หลักการ แล้วก็อยู่ในกลุ่มของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม มีความคิดเหมือนกัน มีการกระทำเหมือนกัน การพูดเหมือนกัน เมื่อเราทั้งหลายมีการคิดเหมือนกัน การพูดเหมือนกัน การกระทำเหมือนกัน มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามปัญหาหรือเรื่องที่เรากระทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อทำถูกวิธีถูกหลักการแล้ว ก็สามารถที่จะทำได้ แม้ครั้งพุทธกาลก็มีหลายๆท่านที่ได้สมาธิ ได้ฌาน หรือได้อริยมรรคอริยผลในเวลาประพฤติปฏิบัติ

ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้เคยอ่านธรรมบท มงคลทีปนี หรือชาดกต่างๆ เราก็จะรู้ว่า มันได้อย่างนี้ การสวดมนต์ได้อย่างนี้ การเจริญกัมมัฏฐานได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าการทำวัตรสวดมนต์นี้ลำบากลำบนเหลือเกิน เสียเวลาเรียนเหลือเกิน

ขอให้ท่านทั้งหลายจำหลักการ หลักวิชาการที่หลวงพ่อชี้แนะแนวทางให้รู้ให้เข้าใจ และนำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะที่หลวงพ่อพูดอย่างนี้ หลวงพ่อได้สอนลูกศิษย์ลูกหามาแล้ว มีทั้งพวกโยมผู้หญิง โยมผู้ชาย มีทั้งแม่ชี มีทั้งปะขาว มีทั้งสามเณร มีทั้งครูบาอาจารย์ ได้เคยปฏิบัติมาแล้ว ได้เคยสัมผัสเรื่องนี้มาแล้ว

เพราะฉะนั้น เรื่องทุกสิ่งทุกอย่างที่หลวงพ่อนำมาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเหลวไหล หลวงพ่อได้อาศัยประสบการณ์มานานพอสมควร จึงได้นำเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้จากการศึกษาเล่าเรียน จากการประพฤติปฏิบัติ มาแนะนำพร่ำสอน หรือมาชี้แจงแสดงไข ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ เกี่ยวกับการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เหมือนดังที่เราท่านทั้งหลายกระทำอยู่ในขณะนี้ (ว่ามีอานิสงส์อย่างไร ดีเลิศประเสริฐเพียงไหน)

เอาละ หลวงพ่อได้เอาสิ่งละอันพันละน้อยมาเล่าสู่ฟังก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 พฤศจิกายน 2559 11:05:45

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTUyx3Kb_ftG8Wc7NwPVjcthWz3cCTNcAG_BJxztP2pB1SUg6wKLA)

อิทธิบาทธรรมทำให้อายุยืน

ในสมัยนี้ อายุของคนเรานั้นท่านกำหนดไว้ว่า กัปหนึ่งๆนั้นมี ๗๕ ปี ๗๕ ปีเป็นอายุกัป

สมัยนี้ถ้าผู้ใดมีอายุ ๗๕ ปี ผู้นั้นชื่อว่ามีอายุยืนได้กัปหนึ่งแล้ว

การที่บุคคลจะมีอายุได้ถึงกัปหรือเกินกว่ากัปนั้น จะต้องตั้งมั่นอยู่ใน อิทธิบาทธรรม ๔ ประการ

หลวงพ่อเองก็ยังไม่ถึง ๗๕ ปี ยังไม่ถือว่าครบกัป เต็มกัปคือ ๗๕ ปี แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา ส่วนมากนั้นท่านจะมีอายุถึง ๗๕ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือถึง ๑๐๐ ปี ประมาณนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราผู้ที่มีจิตใจตั้งมั่นอยู่ในธรรมแล้ว ขอให้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย เพื่อประโยชน์ของคนอื่นด้วย

หลวงพ่อพิจารณาดูอยู่ตลอดเวลาว่า ชาวบ้านแก้ง บ้านคำม่วง บ้านเรืองอุดม ตายยาก ปีหนึ่งๆ อย่างมากตายเพียง ๓-๕ คน บ้านใกล้เรือนเคียงนี่ตายเอาๆ ตายกันบ่อย พระนี่แทบจะไปไหนไม่ได้ ต้องเฝ้าศพสวดศพอยู่ตลอดเวลา เวลาใครโทรศัพท์ไปถามก็ว่า โอ้ หลวงพ่อไปไหนไม่ได้ดอก ติดงานศพอยู่

แม้คนที่ไม่ควรจะตายก็ตาย ที่น่าจะอายุยืนก็ไม่อายุยืน เพราะอะไร ก็เพราะว่าขาดอิทธิบาทธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะขาดคุณธรรม

หลวงพ่อได้พูดอยู่ตลอดเวลาว่า วัดใดที่มีครูบาอาจารย์ มีพระสงฆ์องค์เณรผู้ทรงศีลทรงธรรม ก็เหมือนกับมีอนามัยมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้ๆ คือว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยอันตรายขึ้นมา ก็จะมีแพทย์มีหมอ หาหยูกหายามาได้ง่ายๆ สำหรับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล ค่าปฐมพยาบาลเวลาที่โรคภัยมันเบียดเบียน ก็ไม่มาก อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อายุยืน ข้อนี้ฉันใด วัดใดที่มีพระ มีสามเณร มีผู้ปฏิบัติธรรม ทรงศีลทรงธรรม สถานที่นั้นๆก็ย่อมอยู่เย็นเป็นสุข (การที่วัดนั้นมีพระสงฆ์องค์เณรผู้ทรงศีลทรงธรรมทรงวินัยอันดีงามไว้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนในสังคมนั้น บ้านนั้น มีจิตใจดีงามและมีอายุยืน)

การเจ็บไข้ได้ป่วยก็ถือว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอาการรุนแรง หรือที่บ้านเราเรียกว่าบ้านร้อนเมืองร้อนอะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ชาวบ้าน ไม่ใช่ว่ายกยอปอปั้นนะ ชาวบ้านแก้งทั้ง ๓ คุ้มนี่แหละ นับแต่หลวงพ่อมาอยู่และได้ชักนำให้ประพฤติปฏิบัติธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ แม้ว่าปฏิบัติได้บ้างไม่ได้บ้าง สมบูรณ์บ้างไม่สมบูรณ์บ้าง ลุ่มๆดอนๆ ไม่เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ชาวบ้านเราก็ยังมีอายุมั่นขวัญยืน อยู่เย็นเป็นสุขตามปกติดี ไม่ต้องเดือดร้อนกันจนเกินไป

เหตุนั้น หลวงพ่อจึงใคร่ขอบิณฑบาตให้พ่อแม่ญาติโยมทั้งหลายได้น้อมเอาธรรมคือ อิทธิบาทธรรมนี้ไปประพฤติปฏิบัติกัน เพื่อว่าเราจะได้มีอายุยืน

เมื่อเราได้ประพฤติปฏิบัติแล้ว ญาติโยมทั้งหลาย ลูกของเราที่จะเกิดขึ้นมาแล้ว แทนที่จะมีอายุสั้น ก็กลับมีอายุยืนขึ้นมา เพราะอำนาจธรรมะทั้ง ๔ ประการนี้ คือเด็กๆของเราเมื่อเกิดขึ้นมาก็จะมีอายุยืนขึ้นไปอีก ถ้าว่าบรรพบุรุษของเราไม่ปฏิบัติธรรมะทั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ปู่ย่าตายายของเราก็จะอายุสั้น อายุลูกของปู่ของตา(คือพ่อแม่)ของเราก็สั้นลงไปอีก และเมื่อพ่อแม่ของเราอายุสั้นลง ลูกๆของพ่อแม่(คือรุ่นเรานี้)ก็อายุสั้นลงไปอีก

ที่คนมีอายุสั้นลงไปๆ ก็เพราะขาดคุณธรรม แต่ถ้าพวกเราปฏิบัติได้ดังกล่าวแล้ว สมมุติว่าลูกของเราจะมีอายุ ๕๐ ปี และคนที่อายุ ๕๐ ปีนี้พากันปฏิบัติตามธรรมทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว ลูกของคนที่อายุ ๕๐ ปีนั้น เกิดมาก็จะมีอายุ ๕๑ ปี หรือ ๕๒ ปี คือจะมีอายุสูงขึ้นเป็นขั้นๆขึ้นไป

นี่แหละท่านทั้งหลาย เรามองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง เมื่อเรามองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง เหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นก็เป็นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น จึงขอบิณฑบาตให้ญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติกัน และชาวบ้านแก้งต่อไปก็อาจจะมีอายุยืนขึ้นอีก หรืออาจจะเกิดความระส่ำระสาย

เพราะเหตุไรจึงว่าอย่างนี้

เพราะว่า (ชาวบ้านทุกวันนี้) เมื่อเห็นพระเจ้าพระสงฆ์แล้ว ส่วนมากก็ไม่สนใจ ไม่ยกมือไหว้ เมื่อก่อนโน้น เวลาเดินผ่านพระเจ้าพระสงฆ์ก็พากันยกมือไหว้ สมัยนี้จะหาคนที่จะยกมือไหว้พระนั้น หายาก

ลูกๆหลานๆ ทั้งๆที่หลวงพ่อสั่งไว้ตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ในครรภ์ของแม่ หลวงพ่อสั่ง(คนที่เป็นพ่อเป็นแม่)ไว้ว่า ให้เทศน์ให้ลูกฟัง แต่ละวันๆ อย่างน้อย ๑ ครั้ง เทศน์ให้ลูกฟัง เอาธรรมะมากล่อมแล้วลูบท้องบอกว่า แม่จะเทศน์ให้ลูกฟัง ให้ตั้งใจฟังนะลูกนะ แล้วก็เอาหนังสือธรรมะนี้แหละอ่านให้ฟังสัก ๒ บรรทัด หรือ ๓ บรรทัด แล้วก็วางไว้ วางแล้วก็ว่า จบแล้วนะ วันใหม่ค่อยฟังต่อ วางหนังสือไว้ข้างที่นอนแล้วค่อยอ่านใหม่ อย่างนี้แหละ ลูกของเราเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะเป็นผู้มีสติปัญญา ตอนนี้เกือบจะไม่มีแล้ว เกือบจะไม่มี

เมื่อก่อนโน้นเราเข้าวัดเข้าวา เราจะถอดรองเท้าไว้ ไม่กั้นร่ม เราเอาร่มวางไว้ที่ใดที่หนึ่ง ถอดรองเท้าไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว แทบจะเอาวางไว้บนหัวพระ หลวงพ่อจึงบอกไว้ตลอดมา (ทุกวันนี้) ทั้งพระทั้งเณร เวลาขึ้นมาที่ศาลานี้ รองเท้าใส่มาถึงหน้าพระพุทธรูป คือเวลาเข้ามาที่พระนั่งฉันก็เอารองเท้ามาวางไว้ด้วย ใส่รองเท้าเข้ามาด้วย ความเคารพอย่างนี้มันก็หมดไป

นี่อย่างหนึ่ง ที่เราไม่มีความเคารพคารวะอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ต่อครูบาอาจารย์และสถานที่ ก็ทำให้ความเคารพของคนเรามันลดน้อยลงไป นี้อย่างหนึ่ง ที่จะทำให้ชาวบ้านแก้งมีอายุลดน้อยลงไป หรือโรคภัยไข้เจ็บจะเกิดขึ้นมา

สอง เพราะว่าเราชอบฆ่าตัวเองด้วย ฆ่าผู้อื่นด้วย ฆ่าพระ ฆ่าเณรด้วย ทุกวันนี้เรากำลังฆ่ากันๆ เป็นอย่างไรญาติโยมเฮ็ดอยู่บ่ เราฆ่าลูก เราฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ เราฆ่าพระฆ่าเณร แล้วก็ฆ่าตัวเราเอง ก็ยังไม่ทราบว่าฆ่าตัวเองด้วย เราฆ่าลูกของเรา แต่ไม่รู้ว่าฆ่าลูกของเรา เราฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ แต่ไม่รู้ว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่ เราฆ่าพระฆ่าเณร แต่ไม่รู้ว่าฆ่าพระฆ่าเณร

ทำไมหลวงพ่อจึงพูดอย่างนี้

ท่านทั้งหลาย อาหาร การกิน การอยู่ ทุกวันนี้มันมีแต่สารพิษ ข้าวก็มีสารพิษ ผักทุกชนิดที่เรากินกันก็มีสารพิษ ปลาก็มีสารพิษ เนื้อก็มีสารพิษ ปลาที่จับมาแต่ทะเลก็มีแต่สารพิษ ลำไยก็มี เงาะก็มี ทุเรียนก็มี ผลไม้ทุกชนิดก็มีแต่สารพิษ ผักที่เรากินกันทุกวันนี้มันมีสารพิษ

เรากักเก็บสารพิษไว้ในร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราอยากอายุยืนก็อายุยืนไม่ได้ เพราะว่าร่างกายของเรามันเต็มไปด้วยสารพิษ กักเก็บไว้ๆ ที่หลวงพ่อป่วยกระเสาะกระแสะมา ก็เพราะสารพิษ มันป่วยมาตั้งแต่โน้น ขออภัย เพราะแตงโม ชิ้นไม่ใหญ่หรอก ฉันกับข้าวไปสัก ๕ คำเท่านั้นแหละ ฉันแล้วหลวงพ่อไปพักที่ห้อง พอเอนหลังลงเท่านั้น ก็หลับไปเลย ลืมตาขึ้นมาดูนาฬิกา ๓ ชั่วโมง

ผลคือ เวลาเคลื่อนไหวร่างกาย มันก็สั่นวิงเวียนรู้สึกหมุนติ้วๆขึ้นมา อาเจียนออกมาเป็นกระโถนๆเลย ลูกศิษย์ก็หาหยูกหายามาพยาบาล อย่างนี้แหละหลวงพ่อจึงตั้งใจว่า แต่นี้ต่อไปจะไม่ฉันแตงโมละ หรือไปจ่ายตลาดเองก็ต้องถามก่อนว่า ฉีดยาบ่ ถ้าฉีดยาก็บ่เอา เพราะหลายครั้งแล้วที่เป็นอย่างนี้ หลังจากฉันแตงโมมาแล้ว ท้องก็เดินตลอดเวลา ฉันอะไรๆ ก็ถ่ายออกมาหมด ฉันอันนั้นก็ถ่าย ฉันนี้ก็ถ่าย ผลสุดท้ายก็ต้องไปหาหมอ

ไปหาหมอแล้วก็ถามหมอว่า มันไม่มีสารซันฟาบ่ ถ้ามีสารซันฟา หลวงพ่อแพ้ยานี้ หมอบอกว่าไม่มี หลังจากนั้นแหละก็มาถึงวัด ดึกแล้วก็ฉันยา ก็เลยถามว่ามีสารซันฟาอยู่บ่ ถ้ามีต้องตายแน่นอน บังเอิญไม่มีอะไรก็เลยไม่เป็นไรๆ คุณหมอบอกว่าไม่มีๆ แล้วก็กินยาเข้าไปประมาณ ๕ นาทีเท่านั้น อาการท้องพองขึ้นๆ เหมือนศพที่กำลังอืด ต้องรักษาพยาบาลพอสมควรจึงหาย

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย แม้พวกเราอยากจะมีอายุยืนก็อายุยืนไม่ได้ เพราะว่าเราประมาท ไม่ควรทำบาปเพราะเห็นแก่กิน พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ ไม่ใช่เพราะไปฆ่าคนนั้นคนนี้ แต่เพราะว่าการกินของเรานี้เป็นเหมือนกับว่าเรากำลังฆ่าตัวเอง ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าลูกของเรา หนักๆเข้าฆ่าทั้งพระฆ่าทั้งเณร เมื่อเราฆ่าตนเองอย่างนี้ เป็นเพชฌฆาต

ธรรมะที่พระองค์ทรงประทานให้อยู่นี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้มีอายุยืนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านทั้งหลาย ที่จริง อะไรที่จะพอปลูกพอฝังก็พากันปลูกกันฝังเอา เพราะแผ่นดินมันกว้างมันใหญ่ ฉะนั้น เราอย่าเห็นแก่กิน นึกถึงชีวิตของเราด้วย นึกถึงชีวิตของลูกของหลานของพระของเณรด้วย นึกถึงชีวิตจะอยู่กับโลกเขาด้วย อย่าฆ่าตัวเอง

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้พูดสิ่งละอันพันละน้อย ก็เป็นการโสรจสรงองค์ศรัทธาของคณะครูบาอาจารย์และญาติโยมที่มาถวายเพลวันนี้ เพื่อเป็นการถวายกุศลเหล่านี้แด่หลวงพ่อ หลวงพ่อขออนุโมทนาสาธุการ

ด้วยอำนาจบุญบารมีที่ท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา พร้อมด้วยอำนาจบารมีที่ท่านได้เคารพนับถือบูชากราบไหว้ ขอเดชพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านผู้มีพระคุณ และบุญกุศลที่หลวงพ่อได้สร้างสมอบรมมา ขอจงได้เป็นตบะ เป็นเดชะ เป็นพลวปัจจัย ให้ท่านทั้งหลายมีอายุมั่นขวัญยืน เพียบพูนไปด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ โชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เจริญในหน้าที่การงานตลอดไป

และขอให้มีโอกาสได้เข้ามาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรค ผล นิพพาน ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 พฤศจิกายน 2559 11:08:44

(http://4.bp.blogspot.com/_JMs4F7eZVxY/TUk_OIKQh2I/AAAAAAAAAAk/3mRVMUJF1Aw/s375/f8r2aakhbr2hjp46cgxu.jpg)

การพัฒนาจิต

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ตลอดถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สืบไป

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในสมัยนี้ หรือว่ายุคนี้ ท่านใช้คำศัพท์ใหม่ ไม่เหมือนกันกับที่ผ่านมา คือท่านให้ความหมายจากคำว่าการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต อย่างที่หลวงพ่อได้ไปร่วมในการปฏิบัติ โดยที่คณะอาจารย์ขั้นบริหารมาปฏิบัติที่เมืองอุบลฯ ของเราที่ผ่านมานั้นมี ๔ รุ่น รุ่นละ ๒๕๐ ท่าน

คำว่า ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นี้ ท่านหันมาใช้คำว่า พัฒนาจิต แทน คือเพื่อจะไม่ให้ซ้ำกัน เพื่อจะไม่ให้ซ้ำซาก หรือเพื่อเหมาะแก่ภาวะของผู้ปฏิบัติ ก็เลยใช้คำว่า พัฒนาจิต ที่จริงก็ถูก

คือว่า การพัฒนาจิต ก็หมายความว่า ทำจิตของตนให้ดีขึ้น ทำจิตของตนให้เจริญขึ้น ทำจิตของตนให้ประเสริฐ ทำจิตของตนให้ดีเด่น ทำจิตของตนให้พ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่า พัฒนาจิต

เพราะเหตุไรจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต

เพราะว่า การพัฒนาจิตก็คือการทำจิตของเราให้ดีขึ้น หรือว่ายกจิตของเราให้ดีขึ้น

เพราะเหตุไรจึงว่าเช่นนี้ หรือว่าจิตของเราที่ผ่านๆมานั้นยังไม่ดี

ที่จริงที่ผ่านมานั้นจิตของเราก็ดีอยู่ แต่ว่ายังดีไม่พอ หรือดีไม่พร้อม ดีไม่ถึงที่ ส่วนมากจิตของเรานั้นตกอยู่ในอำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง ที่เราทั้งหลายเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน บางทีได้ข่าวทางหนังสือพิมพ์บ้าง ข่าวทางทีวีบ้าง ทางวิทยุบ้าง ว่าฆ่ากันที่โน้น ฆ่ากันที่นี้ ขโมยของกันที่โน้น ขโมยของกันที่นี้ ตั้งแต่ของเล็กๆน้อยๆ จนถึงของใหญ่โตรโหฐาน มีการล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน หนักๆเข้า พ่อข่มขืนลูก ครูบาอาจารย์ข่มขืนลูกศิษย์ลูกหา ตลอดถึงการโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน เพื่ออยากได้ทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง หนักเข้าก็เสพยาเสพติด ดื่มสุรายาเมา ฝิ่น เฮโรอีน ผงขาว ดมกาว สมัยนี้ก็มียาบ้าเพิ่มขึ้นมา

หลวงพ่ออ่านหนังสือพิมพ์เมื่อวานนี้ ที่เขาจับได้เมื่อวานนี้ ยาบ้า จับยาบ้าได้สี่ล้านเม็ด ท่านทั้งหลายคิดดูสิว่าเกือบจะครึ่งประเทศไทย สี่ล้านเม็ดนี่ ถ้าไปแจกคนโน้นบ้าง แจกคนนี้บ้าง ฐานะของประเทศชาติมันจะเป็นอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า สภาวะที่มันเป็นอยู่นี้ หรือสิ่งที่มันเป็นอยู่นี้ ประเทศไทยของเรานั้นล่อแหลมต่ออันตรายยิ่งนัก ล่อแหลมต่ออันตรายมาก

คิดๆแล้ว ทุกวันนี้ เขาใช้วิธีรบกับพวกเราด้วยวิธีอื่น เช่น เขา (ประเทศอื่น) รบกับประเทศไทย รบด้วยเศรษฐกิจบ้าง เดี๋ยวนี้ก็เอายาบ้ามามอมเมาประชากรของประเทศไทย หากว่าเขาทำสำเร็จแล้ว ประเทศไทยของเราจะเป็นอย่างไร

หลวงพ่อว่า ถ้ามันหนักเข้าๆ หากว่าเขายกทัพจับศึกเข้ามา ไทยเราก็คงสู้เขาไม่ได้ อย่างประเทศลาว สมัยที่ฝรั่งปกครองอยู่โน้น ฝรั่งมันก็มอมเมาประชาชนชาวลาว โดยที่ให้ดื่มเหล้า ปลูกฝิ่น ปลูกกัญชา เล่นการพนันได้โดยอิสระ ไม่มีกฎหมายบังคับ ผลสุดท้ายประชากรของประเทศลาวก็ไม่คิดที่จะพัฒนาประเทศชาติของตนให้เจริญรุ่งเรืองถาวรได้ ข้อนี้ฉันใด

ประเทศไทยของเรา หากว่าภาวะมันเป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ จนทั่วทุกหัวระแหงแห่งที่แล้ว ในสถาบันต่างๆ ทางโรงเรียนก็ดี ทางหน่วยราชการอื่นๆก็ดี หนักเข้าทะลักเข้ามาภายในวัด ถ้าว่ามันเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่ามันจะเป็นอย่างไร

สรุปแล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอย่างนี้ ก็เกิดขึ้นจากจิตที่ยังไม่ได้พัฒนา คือจิตยังไม่ดี ประเทศแต่ละประเทศที่มีสัมพันธ์ต่อกัน ก็หาวิธีที่จะเอาชนะซึ่งกันและกัน พูดคร่าวๆอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็พอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดี๋ยวนี้เขารบกันวิธีไหน

ประเทศไทยหากยังเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยจะตกเป็นทาสเขาไหม หรือว่าจะเอาชนะเขาได้ไหม อะไรทำนองนี้ ต้องคิด ต้องพิจารณา เพื่อจะหาทางช่วยเหลือประชาชนคนไทยของเราทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เป็นขี้ข้าประเทศอื่นชาติอื่น พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราทั้งหลายได้ช่วยตัวเองด้วย และก็ช่วยประเทศชาติบ้านเมืองด้วย เพื่อจะให้อยู่รอด

สภาวะที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าจิตของพวกเราทั้งหลายแต่ละรูปแต่ละนามนั้น ยังไม่ได้พัฒนา หรือว่าพัฒนาแล้วแต่ยังไม่ดีพอ ยังไม่ดีพร้อม เหตุนั้น หน่วยราชการที่เล็งเห็นมองเห็นการณ์ไกล จึงได้จัดการอบรมครูอาจารย์ ผู้ที่จะไปบริหารประเทศชาติบ้านเมืองให้ดำรงคงมั่นอยู่ไปได้ ประชากรของประเทศนั้น แต่ละคนๆ ต้องอาศัยครูเป็นสำคัญ คือครูนี้เป็นผู้ให้ความรู้ทุกสิ่งทุกประการ

ประชากรทุกคนๆนั้น หากว่าไม่ได้มีการศึกษาเล่าเรียน ก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจว่า ประเทศชาติควรจะดำเนินไปอย่างไร ทำอย่างไรประเทศชาติของเราจึงจะเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของประเทศอื่น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ต้องอาศัยครูเป็นผู้กำบังเหียนอันสำคัญ ถ้าขาดครูเสียแล้ว ประเทศชาติบ้านเมืองก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ความสุขความเจริญได้

เหตุนั้น ครั้งแรกจึงเอาเฉพาะครูอาจารย์ชั้นบริหารมาอบรมแต่ละหน่วยๆ ขณะนี้มีทั้งครูมัธยม มีทั้งครูประถม ก็เป็นโชคอันดีที่เราได้มาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาจิต เรียกว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนาภาวนา

เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา หรือว่าจึงใช้คำว่า พัฒนาจิต เพราะว่าจิตของเรานั้นส่วนมากตกอยู่ใต้อำนาจของสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตของเราตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น เมื่อรวมแล้วสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นตกอยู่ในระบบที่ไม่ดี ท่านแยกประเภทไว้มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. โลภะ จิตของคนเราทั้งหลายนั้น ตกอยู่ในอำนาจของโลภะ คือความคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนเองในทางทุจริต นับตั้งแต่อยากได้ของเล็กๆน้อยๆ มีราคาค่างวดไม่เท่าไหร่ แล้วก็อยากได้ของใหญ่โตขึ้นตามลำดับๆ

ถ้าเป็นประเทศแต่ละประเทศก็อยากได้ประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้นของประเทศตัวเอง ที่เราทั้งหลายก็ทราบกันแล้วว่า โลภะความอยากได้นี้มันเพิ่มทวีขึ้นไปตามลำดับๆ จนกลายเป็นตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

เมื่อโลภะยังไม่สงบระงับไปจากจิตจากใจของเรา ความอยากได้หรือความต้องการก็ยิ่งเพิ่มประมาณขึ้นไปเรื่อยๆ เพิ่มดีกรีขึ้นไปเรื่อยๆ ตัวโลภะนี้ก็ถือว่าเป็นแรงอันหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ ขาดคุณธรรม ขาดศีลธรรมอันดีงาม

๒. โทสะ คือความโกรธ ความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจ เกิดโทมนัสความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความคับแค้นใจ เมื่อเกิดความโกรธขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน ฆ่ากันประหัตประหารกัน ด้วยกำลังศัสตราอาวุธ ตลอดถึงยาพิษ อะไรนานาประการ ตามอำนาจของความโกรธที่เกิดขึ้นว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะสามารถเอาชนะคนอื่นได้ ก็ต้องหาวิธีที่จะเอาชนะคนอื่น ว่าวิธีไหนอย่างไร ที่จะเอาชนะคนอื่นได้ ก็หาวิธีนั้น หรือประกอบกรรมทำเข็ญด้วยวิธีนั้นๆ ก็ถือว่าโทสะนี้เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้

๓. โมหะ คือความหลงผิด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ไม่รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างไรจะทำให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้รับความเดือดร้อน ทำอย่างไรประชาชนทั้งหลายจะได้รับความสุขความเจริญ

ทำให้เป็นผู้มีใจอันมืดบอด ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่งคือมรรคผลพระนิพพาน ไม่รู้จักคุณพ่อคุณแม่ คุณครูบาอาจารย์ และท่านผู้มีพระคุณเป็นต้น อันนี้เป็นลักษณะของโมหะ

๔. มานะ คือความถือตัว คือถ้าตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลิศกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเสมอเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา, หรือว่าตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลิศกว่าเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเสมอเขา ตัวเลวกว่าเขาก็สำคัญว่าตัวเลวกว่าเขา

มานะคือความถือตัวนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้สังคมเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ เราทั้งหลายไปในสังคมแต่ละสังคม เราจะเห็นอำนาจของมานะนี้ มันทำให้แยกหมู่แยกคณะ แยกพรรคแยกพวก แยกชั้นวรรณะ ทำอะไรๆก็ลำบาก ต้องทำให้ถูกตามกฎตามเกณฑ์

ถ้าว่าไม่ถูกตามลักษณะ สมมติว่า ผู้มีอายุ ๕๕ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ส่วนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ๆ มีอายุเพียง ๓๐ ปี แต่ว่ามีวุฒิสูงกว่า สำเร็จปริญญาโทอย่างนี้ ผู้ที่มีอายุตั้ง ๕๕ ปี ก็ต้องลงไปอยู่ในการปกครองของผู้ (มีอายุน้อยคราวลูก แต่) มีความรู้มากกว่า เช่นที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นในสถาบันต่างๆ ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้

ที่มันเป็นอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะอำนาจของมานะคือความถือตัว เมื่อถือตัวแล้วก็ถือพรรคถือพวก ถือกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ พวกนั้นพวกนี้ ชาตินั้นชาตินี้ ประเทศนั้นประเทศนี้ ไปเรื่อยๆ ก็เป็นอำนาจของมานะ

ถ้าว่าถิ่นไหนหรือสถาบันใดๆ ที่มีมานะมากๆ มีแต่ผู้มีมานะมากๆแล้ว มีมานะกล้าแล้ว กลุ่มนั้นสถาบันนั้นก็จะอยู่ด้วยความลำบาก นี้ก็ถือว่าเป็นตัวมานะ ก็ถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้สังคมเดือดร้อน

๕. ทิฏฐิ คือความเห็นผิด คือเป็นความเห็นที่ขัดต่อสภาวธรรมจริงๆ สมมติว่าเห็นไปว่า พระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ไม่มี ครูบาอาจารย์ไม่มีพระคุณ พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี นรก สวรรค์ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี เป็นต้น อันนี้เป็นอำนาจของทิฏฐิ เมื่อมีทิฏฐิคือความเห็นผิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายคิดผิด ทำผิด พูดผิด ทำให้สังคมเดือดร้อน

๖. วิจิกิจฉา คือความสงสัย ความสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติ เช่นว่า สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน

สงสัยข้อวัตรปฏิบัติของตนที่ปฏิบัติอยู่นี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน จริงหรือไม่ อะไรอย่างนี้ เรียกว่า วิจิกิจฉา คือความสงสัย เมื่อคนเรามีความสงสัยแล้วก็ไม่กล้าทำอะไรลงไป

๗. อุทธัจจะ คือความคิดมาก กิเลสตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นในขันธสันดานของผู้ใด หรือผู้ใดที่มากไปด้วยอุทธัจจะแล้ว ผู้นั้นหรือบุคคลนั้นจะเป็นคนคิดมาก

สมัยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พวกวิตกจริต คือคิดมาก เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ คิดจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโรคประสาท ให้เกิดความดันสูง คนที่เป็นโรคประสาท เป็นบ้า เกิดความดันสูง ก็เพราะอุทธัจจะนี้เป็นตัวการสำคัญอีกตัวหนึ่ง

ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆไปว่า ตัวนี้มันหนัก มันมีพิษสงขนาดไหน เราก็คิดดูว่า หนักถึงเขาต้องตั้งโรงพยาบาลประสาท เช่น ที่อุบลฯ ของเรานี้ ก็มีโรงพยาบาลศรีมหาโพธิ์ เป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคประสาท แต่ละจังหวัดๆ ก็มีโรงพยาบาลประเภทนี้อยู่ทุกจังหวัด ในส่วนกลางเช่นกรุงเทพฯ ก็ต้องมีโรงพยาบาลประเภทนี้ ที่รักษาโรคประสาท

ทีนี้ โรคประสาทเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความคิดมาก ซึ่งเกิดจากอำนาจของอุทธัจจะ เพราะฉะนั้น ตัวอุทธัจจะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนไม่กล้าทำอะไร และทำอะไรส่วนมากก็ไม่ถูกต้อง หนักๆเข้าก็เป็นโรคประสาท เป็นความดันสูง

๘. ถีนะ คือความท้อใจ เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อใจ ความท้อใจมีอยู่กับบุคคลผู้ใดหรือหน่วยงานใด บุคคลผู้นั้นหรือหน่วยงานนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปดีได้ หรือไม่กล้ากระทำ

สมมติว่าจะศึกษาเล่าเรียน ก็เกิดความท้อใจมาแล้ว จะไปสอบความรู้ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำไร่ทำนาก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว จะทำงานอุตสาหกรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว

พอจะมาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว เมื่อบวชมาแล้วจะศึกษาเล่าเรียนพุทธมนต์หรือพุทธวจนะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ท้อใจขึ้นมาแล้ว จะเรียนนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ก็ท้อใจ จะเรียนบาลีเพื่อจะสอบเป็นเปรียญธรรม ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ก็เกิดความท้อใจขึ้นมา

เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เกิดความท้อใจในการจะประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานขึ้นมา เมื่อมีความท้อใจอยู่ที่ไหนหรืออยู่ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็ไม่กล้ากระทำงานทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม ทั้งด้านปริยัติ ทั้งด้านปฏิบัติ การงานอื่นๆ ถีนะก็ถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๙. อหิริกะ ความไม่ละอาย คือไม่ละอายบาป ไม่ละอายผลของบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายคนอื่น ไม่ละอายพ่อแม่ ไม่ละอายครูบาอาจารย์ ไม่ละอายประชาชน ไม่ละอายเทวดาฟ้าดิน คนเราเมื่อไม่มีความละอายแล้ว ก็สามารถทำความชั่วได้ทุกอย่าง ความไม่ละอายนี้ก็ถือว่าเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ซึ่งสิงอยู่ในจิตใจของแต่ละบุคคล

๑๐. อโนตตัปปะ คือความไม่กลัว ไม่กลัวความชั่ว และไม่กลัวการทำความชั่ว กล้าทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ไม่กลัวต่ออำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

เช่นว่า พูดถึงครอบครัว ลูกไม่กลัวพ่อไม่กลัวแม่ สามีไม่กลัวภรรยา ภรรยาไม่กลัวสามี ลูกๆ หลานๆ ไม่กลัวพ่อกลัวแม่ คนในหมู่บ้านไม่กลัวผู้ปกครองของหมู่บ้าน อำเภอไม่กลัวผู้ปกครองภายในอำเภอ หนักเข้า รวมทั้งประเทศ ก็ไม่กลัวอำนาจของผู้ปกครองระดับประเทศ เรามาบวชในวัดในวา ก็ไม่กลัวครูบาอาจารย์ หนักๆเข้า ไม่กลัวตัวเองด้วย

สรุปแล้วว่า ไม่กลัวตัวเองด้วย ไม่กลัวคนอื่นด้วย กิเลสตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งทำให้คนเราทั้งหลายเดือดร้อน

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ว่า สภาวะของจิตของคนทั้งหลายที่อยู่ในสังคมอยู่ทุกวันๆนี้ ย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มากก็น้อย เมื่อจิตใจของเรามันตกอยู่ในสภาวะทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าจิตใจของเราไม่ดี จิตใจของเรายังไม่ดีพอ จิตใจของเรายังสกปรกโสมมอยู่ เป็นจิตใจที่ทำให้ตัวเองและสังคมได้รับความเดือดร้อน

เหตุนั้น ผู้ที่เห็นการณ์ไกลจึงได้จัดระบบการอบรมขึ้นมาใหม่ เรียกว่า พัฒนาจิต ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็เรียกว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเมื่อก่อนโน้น ต่างคนต่างทำ ต่างสำนักต่างทำ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคำสั่งตู้มออกมาเลย เป็นข้อปฏิบัติระดับประเทศ คือแต่ละจังหวัดต้องมีศูนย์วิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อไปๆ ก็ต้องมีมาถึงอำเภอถึงตำบล ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาจิตหรือเจริญวิปัสสนาภาวนานั้นจะเป็นอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้จะเข้าใจว่า เมื่อใด จิตที่เราได้พัฒนาแล้ว ก็จะเป็นจิตที่ดีที่เลิศที่ประเสริฐ เป็นจิตที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจความชั่วทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นมาเป็นขั้นๆ เช่นว่า สีลวิสุทธิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ด้วยความสุขความสบาย มีระเบียบ ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องอยู่ในกฎระเบียบของสังคม เช่นว่า ครอบครัวก็ต้องมีระเบียบของครอบครัว ชาววัดก็ต้องมีระเบียบของชาววัด ชาวบ้านก็ต้องมีระเบียบของชาวบ้าน ระเบียบของสังคมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็คือศีล ๕ ประการ

การที่เราทั้งหลายตั้งอยู่ในศีล ๕ ประการนี้ ก็ถือว่าจิตของเรามีระเบียบ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติในกฎระเบียบของสังคมก็ดี ของครอบครัวก็ดี ของหมู่บ้านก็ดี ของตำบล ของอำเภอ ของจังหวัด ของประเทศชาติ ก็ทำให้เกิดความสงบสุขขึ้นมา ไม่เดือดร้อน

พวกเราทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราถือศีล ๑๐ บ้าง ศีล ๘ บ้าง ศีลอุโบสถบ้าง หรือศีล ๒๒๗ บ้าง เมื่อใดเราตั้งอยู่ในศีลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การแสดงออกของสังคมนั้นๆ เป็นผู้มีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ เมื่อมีกายอันสงบ มีวาจาอันสงบ มีจิตใจที่ไม่พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน ต่างคนก็ตั้งอยู่ในระบบของสังคม หรือตั้งอยู่ในระเบียบของสังคม สังคมของเราก็อยู่เย็นเป็นสุข

สรุปแล้วว่า เมื่อเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลของเราบริสุทธิ์แล้ว ศีลนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเยือกเย็น ให้สังคมเยือกเย็นน่าอยู่ สังคมก็อยู่เย็นเป็นสุข

เมื่อจิตใจของเราเยือกเย็นแล้ว คือจิตใจของเรามันมีความสุขซึ่งเกิดขึ้นจากสีลวิสุทธิ คือ มีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราก็เยือกเย็นเป็นปกติ เมื่อจิตใจของเราไม่เดือดร้อนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ

จิตใจของเราจะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดี เช่นว่า เราตั้งจิตตั้งใจไว้ในอารมณ์ไหน จิตใจของเราก็จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้น เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การคิดของเรามีระบบ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนสมาธิยังไม่มี มันจะคิดอะไรร้อยแปดพันประการ ขณะนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ คิดอย่างหนึ่ง อีกนาทีต่อไป ชั่วโมงต่อไป คิดอีกอย่างหนึ่ง บางที ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาที คิดไปเป็นหมื่นๆเรื่อง เป็นความคิดที่ไม่มีระบบ

เมื่อจิตใจของเรามีสมาธิแล้ว การคิดจะมีระบบ ซึ่งเรียกว่า จิตตวิสุทธิ คือมีจิตอันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่จิตที่เป็นสมาธินั่นเอง เมื่อสมาธิสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา คือสมาธินี้จะอบรม เมื่อสมาธิอบรมดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

เมื่อเกิดปัญญามาแล้วท่านทั้งหลาย ผู้อยู่ทางโลกก็จะเห็นความเป็นไปของทางโลกว่ามันเป็นไปอย่างไรๆ ที่เป็นอยู่นี้ สังคมโลกขณะนี้มันถูกไหม การดำเนินวิถีชีวิตอย่างนี้มันถูกต้องไหม เราอยู่ในสมณเพศ การดำเนินวิถีชีวิตของเรานี้ขณะนี้ มันถูกต้องไหม การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันถูกต้องไหม เกิดความเห็นขึ้นมา

ผลสุดท้าย เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็จะเห็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เช่นว่า เห็นรูปเห็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เช่นว่า เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ก็จะเกิดความรู้ขึ้นมา ไม่ใช่ว่าทำเล่นๆ

ยืนหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เวลาเราเจ็บเราปวดกำหนดว่า ปวดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม หรือเวลาเกิดความสุขขึ้นมา กำหนดว่า สุขหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม

เมื่อเวลาเราคิดโน้นคิดนี้ก็กำหนด เอาสติกำหนดว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า ในขณะที่กำหนดว่า คิดหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อตาเห็นรูปก็กำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เวลารับประทานอาหารเรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาเราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า อ่อนหนอ แข็งหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ อะไรทำนองนี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

ปัญญาดังกล่าวมาแล้วนี้ เกิดจากอำนาจของสมาธิ สมาธิที่เราบำเพ็ญดีแล้ว มันจะให้เกิดปัญญาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น และก็ปัญญานี้ เมื่อเกิดก็จะเกิดตามวิถีของมัน ไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่จิตของเรายังไม่เป็นระบบ การคิดยังไม่เป็นระบบ

เมื่อการคิดของเราเป็นระบบแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะอบรมปัญญาให้เกิดความรู้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นระบบ ไม่ไปทางโน้นไปทางนี้ คือความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ มันจะเป็นระบบของมันเอง เมื่อเห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาข้ามพ้นความสงสัย

เมื่อก่อนโน้น เรามีความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง เรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน เป็นต้น ความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็จะหมดไป เช่นว่า คนเรานี้มาจากไหน มาเกิดในที่นี้ เกิดขึ้นมาเพราะกรรมอะไร คนผู้นี้เขามีความรู้สูง มีสติปัญญาดี มันเกิดขึ้นเพราะอะไร มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา

สรุปเอาสั้นๆว่า มันจะเกิดความรู้ขึ้นว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม มันจะเกิดความรู้ รูปนามนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูปเกิดนาม มันจะเกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามลำดับๆ ปัญญาของเราก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับๆ ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องดังกล่าวมาแล้วข้างต้น คือเห็นว่า รูปมันเกิดมาจากอันนี้ นามเกิดมาจากนี้ รูปนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด นามนี้มีอันนั้นเป็นเหตุเกิด ดังที่ท่านกล่าวไว้ในหลักของการปฏิบัติว่า

รูป เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

เวทนา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

สัญญา เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

สังขาร เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

วิญญาณ เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา นามรูป และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

นี้เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คือการเกิดของคนเรา มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาอย่างนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว จนหมดความเคลือบแคลงสงสัยว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูป อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม หมดความสงสัยแล้ว

เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งต่อกันไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือจะมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก การคิด การทำ การพูดอย่างนี้มันผิด แล้วก็จะได้ละ การคิด การทำ การพูด อย่างนี้เป็นทางถูก ก็จะได้ดำเนินต่อไป ประพฤติปฏิบัติต่อไป เมื่อประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว ก็จะเป็นปัญญา นี้ก็ส่งกันเป็นขั้นๆ

ขอย้อนอีกครั้งหนึ่ง สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ จะเกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับๆ จนเห็นความเกิดความดับของรูปนาม เห็นเฉพาะความดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

เบื่อหน่ายในรูปในนาม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไป จากรูป จากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามต่อไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น ไม่ท้อถอย พร้อมจะต่อสู้ พร้อมจะตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ยอมสู้ตาย ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดก็เอาคางเกาะไป เมื่อใด หากว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นยังไม่สามารถทำลายสภาวธรรมที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นจะไม่ลดละความพยายาม

เมื่อใด หากโลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มานะก็ดี ทิฏฐิก็ดี วิจิกิจฉาก็ดี อุทธัจจะก็ดี ถีนะก็ดี อหิริกะก็ดี อโนตตัปปะก็ดี ยังไม่หมดไปจากขันธสันดานแล้ว เมื่อนั้น จะไม่หยุดความเพียร ไม่เลิกการประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด เรายอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดยอมเอาคางเกาะไป

เมื่อใด เรายังไม่สามารถทำลายสภาวะที่ชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อนั้นเราจะไม่ละการปฏิบัติ เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า จะต้องทำให้จิตใจเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือว่ามันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย

เมื่อใดยังเอาชนะสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ เมื่อนั้นเราจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด จิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมาแล้ว เห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งที่ไม่ดี ที่ให้โทษแก่ตัวเองและสังคม จิตใจก็จะเด็ดเดี่ยวขึ้นมา ยอมสู้ตายเพื่อเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี

อุปมาเหมือนกับเข้าสู่สนามรบ ยอมสู้ตาย เมื่อใดยังเอาชนะข้าศึกไม่ได้ ก็จะไม่วางปืน ไม่วางอาวุธ ยอมตาย เอาหัวเป็นประกัน เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แต่เมื่อใดเอาชนะข้าศึกได้แล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจ ข้อนี้ฉันใด เมื่อได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ จิตใจของเราจะเกิดความกล้าหาญ จิตใจจะเข้มแข็ง หนักแน่น ยอมสู้ตาย จนสามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

เมื่อปฏิบัติผ่านไป เห็นว่าช่องทางนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้กิเลสตัณหามันหมดไปจากขันธสันดาน เห็นแนวทาง เห็นวิธีการ เห็นหลักการ ที่จะทำให้กิเลสตัณหาหรือความชั่วทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นหมดไปแล้ว ก็ทำให้ใจสบาย เออ เรารู้มันละ เรารู้มันแล้ว เราเห็นทางแล้ว เราเห็นทางต่อสู้แล้ว เราเห็นทางที่จะเอาชนะมันได้แล้ว ตอนนี้เราจะพักผ่อนก่อน เอากำลังซะก่อน แล้วจึงจะได้บุกไปข้างหน้าในชั่วโมงหน้าต่อไป จิตใจของผู้ปฏิบัติก็สบายๆ มาถึงนี้ ชื่อว่ามันดำเนินในปฏิปทาที่ถูกต้องแล้ว

ทีนี้ เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันไปตามลำดับๆ ปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ปัญญาขั้นสุดท้าย เรียกว่า โลกุตตรปัญญา แต่ที่อธิบายมาแล้วข้างต้นนั้นเป็นโลกิยปัญญาอยู่

เมื่อโลกิยปัญญาสมบูรณ์แบบแล้ว มีอานุภาพ มีกำลัง มีพลัง มีสมรรถนะสูงเต็มที่แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดโลกกุตตรปัญญา เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือจะเห็นหนทางเอาชนะโรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หรือสภาวะที่ลามกทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น มันจะเห็นช่องทางแล้วตอนนี้

เมื่อเห็นช่องทางแล้วว่า โอ หนทางที่จะเอาชนะพวกนี้ มีหนทางเดียว คือเราต้องทำให้เกิดปัญญารู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจิตใจของเรามันดำเนินปฏิปทามาอย่างนี้ ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารตัวที่ผูกพันกับกิเลสเหล่านี้อยู่

ตัวอะไรที่มันผูกพันตัวนี้ คือ โคตรภูญาณ หมายความว่า จิตใจของคนเราทุกวันนี้ มันผูกพันอยู่กับสิ่งชั่วช้าลามกทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 พฤศจิกายน 2559 11:10:42

การพัฒนาจิต (ต่อ)

คนเรามันทำดีไม่ถึงที่ เพราะว่าจิตใจของเรานั้นผูกอยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตใจของเรามันผูกอยู่กับ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ใจของเรามันผูกอยู่ในสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้ผูกอยู่กับจิตใจของเรา มันจึงไปไม่พ้นจากสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จิตใจของเราจึงไม่เป็นอิสระ จิตใจของเราจึงตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้

เราจะหาวิธีอย่างไรที่จะทำลายมัน เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว มันก็รู้วิธีทันทีว่า เออ กูต้องฆ่ามันๆ ก็ต้องทำลายให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ปัญญาขั้นนี้ก็จะเกิดขึ้นมาทันที เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำลายโคตรของปุถุชน ซึ่งหนักแน่นหรือหนาแน่นไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนะ อหิริกะ อโนตตัปปะ ให้ดับไป ให้สิ้นไป ให้สูญไป จากขันธสันดานทันที คือ ตัดโคตรของปุถุชน ก้าวเข้าสู่โคตรของพระโสดาบัน

หลังจากทำลายได้แล้ว มัคคญาณ ผลญาณ ก็เกิดขึ้นมาในขันธสันดาน หมายความว่า ถึงนิพพานแล้ว ตอนนี้ถึงโลกุตตระแล้ว ถึงพระนิพพานแล้ว จิตของเราถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต หรือ ๒ ขณะจิตแล้ว เมื่อเราดำเนินมาจนสามารถยังมัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว ก็เรียกว่าเราได้ความบริสุทธิ์ขั้นสุดท้าย คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์แล้ว

ทีนี้ความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาที่ทำจิตใจของเราให้ชั่วช้าลามกมาตั้งหลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ จนมาถึงปัจจุบันชาตินี้ บัดนี้เราทำลายมันหมดแล้ว จิตใจของเราเป็นอิสระแล้ว ไม่ตกอยู่ในอำนาจของฝ่ายต่ำอีกต่อไปแล้ว

ในขณะนี้ ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง เราจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

อันนี้เป็นอานิสงส์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือว่าเป็นอานิสงส์ที่หน่วยราชการตั้งชื่อว่า พัฒนาจิต เมื่อทางหน่วยราชการจัดการอบรมพัฒนาจิตอยู่ทุกวันนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน เว้นไว้แต่ว่าหน่วยอบรมนั้นๆ จะประพฤติปฏิบัติไปได้มากได้น้อยแค่ไหนเพียงไร

ถ้าว่าเราปฏิบัติได้ถึงขึ้นสูงสุดยอดแล้ว ก็ถือว่าสังคมนั้นอยู่เป็นสุขร่มเย็น ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าว่ายังไม่ถึงนั้น (อย่างน้อย) ก็ทำให้สังคมของเราสงบ การอยู่ของสังคมมีระบบ ทั้งทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ ทำสังคมให้อยู่อย่างผาสุกไม่เดือดร้อน

สำหรับผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าอยู่ในพระศาสนา เป็นพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี ก็อยู่สบายๆ ผู้อยู่ครองฆราวาสก็อยู่สบายๆ จิตใจของเราไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา อันนี้เป็นความมุ่งหมาย หรือว่าเป็นผลประโยชน์ ที่เกิดขึ้นจากการอบรมพัฒนาจิตหรือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

สรุปว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สามารถทำลายความชั่วทั้ง ๑๐ ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ให้หมดไป ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัตินี้ แม้ว่าจะเป็นวิถีทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ แต่เราต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคหลายๆอย่าง เช่น ในขณะนี้ที่เราจากวัดจากวามา เราก็ต้องตัดความห่วง ความกังวล ความผูกพันให้หมดไปจากจิตจากใจ เราจึงจะสามารถปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้

ปลิโพธ คือความกังวล หรือความห่วงใยในสิ่งต่างๆนั้น ท่านกล่าวไว้ ๑๐ ประการ คือ

๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่

๒) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓) โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ

๔) กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่ตนทิ้งมา

๕) โรคปลิโพธ ห่วงเกรงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บอย่างโน้นอย่างนี้

๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกลว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว เราต้องเดินกลับไป สะตุ้งสตังค์ของเราก็ไม่มี เราจะกลับได้อย่างไร อะไรทำนองนี้ หรือว่าอยากไปโน้นอยากไปนี้ เรียกว่าอัทธานปลิโพธ

๗) คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ คือเห็นว่าปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาแล้ว อยากให้หมู่ให้คณะมาประพฤติปฏิบัติ อยากให้พ่อให้แม่ ครูบาอาจารย์ อยากให้ผู้ที่เคารพนับถือได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

๘) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติที่อยู่เบื้องหลังว่า ขณะนี้ญาติของเราจะเป็นอย่างไร คนโน้นจะเป็นอย่างไร คนนี้จะเป็นอย่างไร ก็เกิดความห่วงใย เกิดความผูกพันขึ้นมา

๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียนว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้เรียนหนังสือเลย มีแต่เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความรู้ที่มีอยู่มันก็จะหมดไป เสื่อมไป สูญไป ความรู้ของเราที่เรียนมาแล้วก็จะลืมไป อะไรทำนองนี้ หรือว่าคิดอยากจะไปเรียนหนังสือที่โน้น คิดจะไปเรียนหนังสือที่นี้ คิดอยากดูหนังสือสอบ อะไรทำนองนี้ ก็เกิดขึ้นมา เรียกว่าคันถปลิโพธ ห่วงการเรียน

๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์ เช่น ผู้ปฏิบัติจะคิดว่า เรามานี้ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย ถ้าว่าเราอยู่วัดของเรา เราสวดทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก แจกวัตถุมงคล คงจะได้สะตุ้งสตังค์ อย่างโน้นอย่างนี้ ก็เกิดความห่วงขึ้นมา

ความห่วงทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็ถือว่าเป็นสภาวธรรมที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ให้ดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพยายามตัดความห่วงใยทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน

เอาละท่านทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายขอให้ กำหนดต้นจิต สมมติว่า เรานั่งอยู่นี้ เวลานั่งอยู่อย่างนี้ เราอยากพลิกก็ให้กำหนดว่า อยากพลิกหนอๆ แล้วก็พลิกหนอๆ เราอยากเหยียดเท้าเหยียดแขน ก็กำหนดว่า อยากเหยียดหนอๆ แล้วก็เหยียดหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ ขึ้นมา อยากนอน ก็กำหนดว่า อยากนอนหนอๆ

เวลานอนลงไปก็กำหนด นอนหนอๆ เมื่อนอนลงไปแล้ว กำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหลับ ก็พยายามจำให้ได้ว่า มันจะหลับไปตอนเรากำหนดพองหนอ หรือหลับไปตอนกำหนดยุบหนอ ก็พยายามกำหนดให้ได้

อย่างอื่นที่ไม่ได้กล่าวมานี้ ก็ขอให้กำหนด คือให้กำหนดอิริยาบถใหญ่แล้วก็อิริยาบถย่อยด้วย อิริยาบถใหญ่ ก็คือยืน เดิน นั่ง นอน นี้เป็นอิริยาบถใหญ่ ก็ให้กำหนด อยากยืน ก็กำหนดว่า อยากยืนหนอๆ แล้วก็ยืนหนอๆ อยากเดิน ก็กำหนดว่า อยากเดินหนอๆ แล้วก็เดินหนอๆ อยากนั่ง ก็กำหนดว่า อยากนั่งหนอๆ แล้วก็นั่งหนอๆ เวลาอยากลุก ก็กำหนดว่า อยากลุกหนอๆ แล้วก็ลุกหนอๆ อันนี้เป็นการกำหนดอิริยาบถใหญ่

เมื่อกำหนดอิริยาบถใหญ่ได้แล้ว ชำนาญแล้ว ก็ให้กำหนดอิริยาบถย่อย เช่น กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องพยายามกำหนดให้ทัน

ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ แต่ละบทเรียน แต่ละบทที่ต้องปฏิบัตินั้น คล้ายๆกับมันไม่มีความหมาย ไม่เหมือนกับเรียนชั้นประถม มัธยม หลักสูตรปริญญาตรี โท เอก ไม่เหมือนอย่างนั้น

มันคล้ายของพื้นๆ ใครๆก็มีอยู่ แต่ว่ามันเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องทำให้ได้ คือต้องฝึกให้ได้ และก็ต้องทำให้ได้ เพราะเราทำอยู่นี้ก็เพื่อว่าให้สติของเรามีพลังมีอำนาจ เพื่อจะนำไปปราบกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นต้น ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

หากว่าเราฝึกฝนอบรมปฏิบัติอยู่นี้ กำลังยังมีไม่พอ คือสติของเรามีกำลังไม่พอ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีโมหะเป็นประธานนั้นให้สิ้นไปได้

เหตุนั้น เราต้องอย่าชะล่าใจ พยายามฝึกอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่ามันจะยากลำบากอย่างไร ก็ขอให้อดทน กัดฟันต่อสู้ พยายามฝึกให้ได้ ถ้าว่าเราไม่ฝึกสติ สติของเราก็จะไม่สมบูรณ์ ไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถเอาชนะกิเลสตัณหาได้

บทเรียนมิใช่ว่าจะมีเฉพาะเท่านี้ เราต้องพยายามเรียนไปตามลำดับๆ เห็นว่าบทนี้ทำได้แล้ว ชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนขึ้นไปอีก มันเป็นบทๆอยู่ บทนี้ชำนาญแล้ว ก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ

เหมือนกันกับเราเรียนหนังสือจบ ม.๑ แล้ว ก็ต้องเรียน ม.๒ จบ ม.๒ แล้วก็ต้องเรียน ม.๓ จบ ม.๓ แล้วก็ต้องเรียน ม.๔ จนเรียน ม.๖ แล้วก็สอบได้แล้วนั่นแหละ จึงจะสำเร็จการเรียน

และก็เพิ่มบทเรียนไปเรื่อยๆ เพิ่มไปๆ เมื่อบทเรียนของเราสมบูรณ์ การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นสมบูรณ์ ก็สามารถเอาความรู้ที่เราเรียนมาปฏิบัติ จนสามารถทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ให้มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ เพื่อนสหธรรมิก ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้ประมาท พยายามกำหนดตามบทเรียนที่ถวายหรือที่มอบให้ทุกบทนั้นให้ชำนิชำนาญเถิด

เอาละ เท่าที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 พฤศจิกายน 2559 10:18:19

(http://hilight.kapook.com/img_cms2/other/350_15.jpg)

องค์คุณของนักปฏิบัติธรรม ๗ ประการ

ลำดับต่อไปนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ในเรื่อง องค์คุณของนักปฏิบัติ สืบต่อไป

องค์คุณของนักปฏิบัตินั้น มีอยู่ ๗ ประการ ดังพระบาลีว่า สตฺตหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ อาหุเนยฺโย โหติ เป็นต้น

แปลใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นองค์คุณของนักปฏิบัติ ๗ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ ควรแก่สักการะวรามิส ควรแก่การกราบไหว้นับถือ เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก

องค์คุณทั้ง ๗ ประการนั้นคือ

๑. ธัมมัญญู รู้ธรรม

๒. อัตถัญญู รู้อรรถ

๓. อัตตัญญู รู้ตน

๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ

๕. กาลัญญู รู้กาล

๖. ปริสัญญู รู้บริษัท

๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล

๑. ธัมมัญญู คำว่า ธัมมัญญู รู้ธรรมนั้น ในแนวปฏิบัติ หมายเอาวิปัสสนาภูมิ ๖ ได้แก่ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท

เมื่อจะกล่าวโดยย่อในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดรูปนาม คืออาการพอง อาการยุบ ใช้สติกำหนดไว้ที่ท้อง ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ย่อมถูกขันธ์ ถูกธาตุ ถูกอายตนะ ถูกอินทรีย์ ถูกอริยสัจ ถูกปฏิจจสมุปบาท และถูกทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้รู้ธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ได้ในอรรถว่า ธัมมัญญู ผู้รู้ธรรม คือรู้ทั้งภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ รู้ทั้งภาคปฏิเวธ

๒. อัตถัญญู รู้อรรถนั้น คือรู้ความหมายของธรรมะ รู้ใจความของภาษิตเป็นต้น ตัวอย่างที่พระอัสสชิแสดงธรรมโดยย่อแก่พระสารีบุตรว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต เป็นต้น แปลความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น ก็เข้าใจความหมายของธรรมทันทีว่า

ในพระศาสนานี้สอนว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเกิด ก็เพราะเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับ ก็เพราะเหตุดับก่อน ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา และรู้ชัดขึ้นว่า ในศาสนานี้ สอนให้ละตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

๓. อัตตัญญู รู้ตน คือรู้ว่า ขณะนี้คุณธรรมทั้ง ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา (ปัญญา ๔ คือ หีนปัญญา มัชฌิมปัญญา มหาปัญญา อุตตมปัญญา) ปฏิภาณ ได้แก่ มีเชาวน์ไวไหวพริบ มีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ เฉียบแหลม คมคาย สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี มีอยู่ในตนเอง การรู้ธรรมทั้ง ๖ ประการนี้เรียกว่า รู้ตน

๔. มัตตัญญู รู้ประมาณ คือ

๑) รู้ประมาณในการบริโภคโภชนะ

๒) รู้ประมาณในการใช้จ่าย

๓) รู้ประมาณในปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น

๔) รู้ประมาณในอายุสังขารของตน

๕) รู้ประมาณในการปฏิบัติธรรม

๖) รู้ประมาณในการคบหาสมาคมกับบุคคลภายนอก

นอกจากนี้ ยังต้องรู้ประมาณกับคุณธรรมภายใน ได้แก่ รู้ปัจจุบันธรรม รู้รูปนาม รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล พระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า มัตตัญญู คือเป็นผู้รู้ประมาณ

๕. กาลัญญู รู้กาล หมายความดังนี้

๑) อยํ กาโล อุทฺเทสสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรเรียน ควรฟังธรรม ก็ต้องเรียน ต้องฟังธรรม

๒) อยํ กาโล ปริปุจฺฉาย รู้ว่ากาลนี้ควรสอบอารมณ์ ควรสอบถามปริยัติ ก็ต้องไปสอบอารมณ์สอบถามปริยัติกับครูบาอาจารย์ตามสมควร

๓) อยํ กาโล โยคสฺส รู้ว่ากาลนี้ควรทำความเพียร ก็ต้องรีบทำความเพียรไม่ชักช้า มิได้ผลัดวันประกันพรุ่ง

๔) อยํ กาโล ปฏิสลฺลานาย รู้ว่ากาลนี้ควรหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เพื่อให้ได้ความสงบ ๓ ประการคือ

(๑) กายวิเวก สงัดกาย คือ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่

(๒) จิตตวิเวก สงัดจิต คือ สงบจากสิ่งรบกวนภายนอกและภายใน

(๓) อุปธิวิเวก สงัดกิเลส คือ มีใจสงัดจากกิเลส ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด

สรุปความย่อๆ ได้แก่ ผู้ที่ไม่ประมาทในวัยและไม่ประมาทในชีวิต รีบทำกิจคือปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั่นเอง

๖. ปริสัญญู รู้จักบริษัท หมายความว่า รู้จักขัตติยบริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท และรู้จักบริษัท ๓ คือ

๑) อคฺควตี ปริสา บริษัทที่เลิศที่ประเสริฐ ไม่มักมาก ไม่ขี้เกียจ ไม่ท้อถอย ไม่ทอดธุระการงาน ไม่ทอดธุระในการบำเพ็ญ น้อมใจไปในวิเวกทั้ง ๓ ประการ ปรารภความเพียร เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน

๒) วคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่แตกกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน ทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก เสียดสีกัน กีดกันซึ่งกันและกัน อิจฉาริษยากัน เอารัดเอาเปรียบกัน โกงกัน ฆ่ากัน ข่มเหงเบียดเบียนกันและกันโดยประการต่างๆ ไม่ปรองดองกัน ไม่มีความสามัคคีกัน ถือพวก ถือหมู่ ถือก๊ก ถือเหล่า รังเกียจเหยียดหยามซึ่งกันและกัน

๓) สมคฺคา ปริสา ได้แก่ บริษัทที่พร้อมเพรียงกันดี เพลิดเพลินต่อกันและกัน ไม่ทะเลาะกัน รักใคร่กัน ดุจดื่มน้ำนมจากแม่คนเดียวกัน และดูแลกันด้วยจิตเอ็นดู สงสารกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยพรหมวิหารธรรม

สมัยนั้น ได้บุญมาก เป็นอยู่อย่างประเสริฐ เกิดปีติปราโมทย์ เกิดปัสสัทธิ สงบกายสงบใจ เกิดความสุข เกิดสมาธิ เกิดปัญญา อุปมาเหมือนฝนตกลงมายังพื้นแผ่นดิน ย่อมยังพื้นพสุธาให้ชุ่มชื่น ยังห้วยหนองคลองบึงให้เต็มเปี่ยม ตลอดจนยังทะเลหลวงชลาลัยให้เต็มฉะนั้น

เมื่อรู้ว่าบริษัทไหนดีแล้ว ให้เข้าไปหาบริษัทนั้น นำเอาจริยาวัตรและข้อปฏิบัติของท่านมาปฏิบัติ เพื่อเป็นการอบรมตนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมวัฒนธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป อย่างนี้เรียกว่าปริสัญญู รู้บริษัท

๗. ปุคคลปโรปรัญญู รู้จักเลือกบุคคล ท่านจำแนกวิธีเลือกบุคคลไว้ในพระไตรปิฎก ๗ ประการ คือ

๑) เทฺว ปุคฺคลา ในระหว่างบุคคล ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากเห็นพระภิกษุ อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากเห็นภิกษุ ควรเลือกคบพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรสรรเสริญ

๒) เทฺว ทสฺสนกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากเห็นภิกษุนั้น ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง อยากฟังพระสัทธรรม อีกจำพวกหนึ่ง ไม่อยากฟังพระสัทธรรม ควรเลือกคบหาสมาคมกับจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๓) เทฺว โสตุกามา ในบุคคลจำพวกที่อยากฟังพระสัทธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ตั้งใจฟังพระสัทธรรม อีกพวกหนึ่ง ไม่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ควรเลือกจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม เพราะเป็นบุคคลควรแก่การสรรเสริญ

๔) เทฺว โอหิตโสตา ในบุคคลจำพวกที่ตั้งใจฟังพระสัทธรรม ยังแบ่งออกไปอีก ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำได้ จำพวกหนึ่ง ฟังแล้วจำไม่ได้ ควรเลือกคบบุคคลที่ฟังแล้วจำได้ เพราะควรแก่การสรรเสริญ

๕) เทฺว ปุคฺคลา สุตฺวา ธมฺมํ ธาเรนฺติ ในบุคคลที่ฟังธรรมแล้วจำได้นั้น ยังแบ่งออกอีกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ย่อมพิจารณาธรรมที่จำได้ อีกจำพวกหนึ่ง ย่อมไม่พิจารณา ควรเลือกคบบุคคลจำพวกต้น เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๖) เทฺว ปุคฺคลา ธตานํ ธมฺมานํ อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ ในบุคคลจำพวกที่พิจารณาไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ปฏิบัติธรรมตามควรแก่ธรรม คือได้เจริญวิปัสสนาสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ จำพวกหนึ่ง รู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผลแล้ว ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ควรเลือกคบบุคคลจำพวกที่ ๑ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

๗) เทฺว ปุคฺคลา อตฺถมญฺญาย ธมฺมมญฺญาย ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺนา ในบุคคลจำพวกรู้อรรถ รู้ธรรม รู้เหตุ รู้ผล แล้วปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรมนั้น ยังแบ่งออกเป็น ๒ จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น อีกจำพวกหนึ่ง ปฏิบัติธรรมเพื่อประโยชน์ตนด้วย เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย ควรเลือกคบคนจำพวกสุดท้ายนี้ เพราะเป็นผู้ควรแก่การสรรเสริญ

เอวํ โข ภิกฺขเว ภิกฺขุ ปุคฺคลปโรปรญฺญู ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ชื่อว่าเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล โดยอาการอันบรรยายมานี้

แม้ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็เพื่อให้เกิดโพชฌงค์ ๗ เพื่อให้ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ท่านก็ให้คบกับบุคคลที่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน มีศรัทธาจริง ปฏิบัติจริง เช่นเดียวกัน

ถ้าผู้ใดมีคุณธรรมทั้ง ๗ ประการมีธัมมัญญูรู้ธรรมเป็นต้นดังกล่าวมาแล้วนี้อยู่ในตน ผู้นั้นชื่อว่า เป็นนักปฏิบัติธรรมแท้จริง เป็นสัตบุรุษ เป็นผู้ควรแก่การเคารพ เป็นแขกผู้มีเกียรติสูง ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้บูชา เป็นเนื้อนาบุญยอดเยี่ยมของโลก ถูกต้องตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ดังมีแจ่มแจ้งอยู่ในบทสังฆคุณแล้ว

เมื่อใด เราประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้น แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง คือเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ก็จะได้สมาธิสมาบัติ ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา

ข้อนี้ ขอยกอุทาหรณ์ที่ได้ประสบการณ์มา ไม่ใช่เรื่องอดีตในครั้งพุทธกาล แต่เป็นเรื่องในปัจจุบัน คือ

มีโยมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธากล้า ได้มาบวชเป็นปะขาวอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เพื่อบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อบวชแล้ว แกก็ไม่อยากอยู่ที่นี้ บวชแล้วอยากไปอยู่หนองคาย ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดเนินพระเนาว์ (อำเภอเมืองหนองคาย)

ในสมัยนั้น ก็มีท่านพระอาจารย์ปาน เป็นอาจารย์สอนอยู่ มีชื่อเสียงมากในภาคอีสานของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ ขณะนี้เราเพิ่งบวชเข้ามาใหม่ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรเราก็ยังไม่ชำนิชำนาญ ยังไม่ช่ำชอง เราจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรตามกฎหรือกติกาในสำนักของท่าน เอาเป็นว่าพรรษานี้ประพฤติปฏิบัติในที่นี้เสียก่อน หากว่าปฏิบัติในที่นี้แล้วไม่เป็นผลพอใจ ออกพรรษาแล้วจึงค่อยขยับขยายไปอยู่ที่หนองคายก็ได้ ก็เลยตกลงปลงใจประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้

พอประพฤติปฏิบัติ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ปฏิบัติแบบหนักเอาเบาสู้ ยอมสู้ตาย เอาชีวิตเป็นเดิมพัน และปีนั้นก็เป็นปีเริ่มให้ญาติโยม พระสงฆ์ สามเณร ทำวัตรทั้งตอนเช้าตอนเย็น พอดีโยมคนนั้นแกได้ฟังคำทำวัตรแปล โดยเฉพาะบทสังฆคุณ คือพรรณนาคุณของพระสงฆ์ เมื่อได้ยินก็เกิดความสังเวชสลดใจว่า

เรามาบวชนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติดี ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติตรง ไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ ยังไม่ถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติสมควร เรานี้ยังไม่สมควรที่จะรับไทยธรรมที่ญาติโยมเขาถวาย คุณธรรมของเรายังไม่มี

เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เกิดความอุตสาหะพยายามขึ้นมาว่า ถึงอย่างไรๆก็ตาม เราจะประพฤติปฏิบัติจริงๆ ถึงจะตายก็ให้มันตายรู้แล้วรู้รอดไป ตายในเวลาประพฤติปฏิบัตินี้คงจะไม่เป็นบาป คงจะได้อานิสงส์ แกก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ

ผลสุดท้าย การปฏิบัติในปีนั้น แกปฏิบัติได้ดีกว่าเพื่อนๆทั้งหลายที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี แกประพฤติปฏิบัติผ่านไปได้ถึง ๓ ขั้น คือผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ นี้ไปถึง ๓ ครั้ง

พอออกพรรษาปวารณาแล้ว ก็ให้ลาศีลกลับไปเสียก่อน เพราะจัดการมรดกทางบ้านยังไม่เรียบร้อย ก็เลยให้กลับไปก่อน เมื่อจัดการมรดกทุกสิ่งทุกประการเสร็จแล้ว ก็มาบวชใหม่เป็นพระ เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็ประพฤติปฏิบัติต่อไปอีก แล้วท่านก็ปฏิบัติได้ถึงที่สุด แต่ก็น่าเสียดาย แทนที่จะได้อยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนาร่วมกัน ท่านก็มาด่วนมรณภาพไปเสียก่อน

นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าเรามีศรัทธาจริง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย รักและอยากได้มรรคผลจริงๆ ก็สามารถที่จะทำได้ อันนี้อยู่ที่จิตที่ใจของเราเอง ถ้าว่าเรามีความรักจริงๆ ต้องการที่จะบรรลุจริงๆ ต้องการที่จะสลัดตัวออกจากอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ จริงๆ เราก็สามารถที่จะทำได้

เพราะเหตุไร

เพราะว่าพวกเราที่รวมกันอยู่นี้ หรือมาประพฤติปฏิบัติธรรมในที่นี้ ก็ล้วนแต่เป็นผู้มีศรัทธาความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัตินั้นมีผล จึงได้ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างมาประพฤติปฏิบัติ

แต่มีอยู่อย่างเดียวว่า เมื่อมาประพฤติปฏิบัติแล้วชะล่าใจ จิตใจของเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา ผลสุดท้ายจิตใจของเราก็พลอยเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เลยทำให้การเจริญวิปัสสนาของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร

เหตุนั้น ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ในเวลาน้อยนิดเดียวที่ยังมีเหลืออยู่นี้ หลวงพ่อคิดว่า หากว่าเราคิดสู้ขึ้นมา ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆแล้ว ก็สามารถที่จะสมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนาได้


ลพ.บุญเรือง สารโท


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 มกราคม 2560 14:14:52

(http://f.ptcdn.info/042/007/000/1373346934-2301-o.jpg)

องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

ที่ว่ายากเพราะเราไม่รู้วิธีปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็ถือว่าการปฏิบัตินั้นดำเนินไปได้ยากหรือบางทีดำเนินไปไม่ได้เสียเลย

บางทีในขณะที่ปฏิบัติอยู่นั้น บางอย่างมันไม่พร้อมหรือบางครั้งเกิดความเห็นแก่ตัวมากเกินไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ความเห็นแก่ตัวมันมากเกินไป คือโลภะมันมากเกินไป ถ้าอย่างนี้ก็ดำเนินไปได้ช้า

หรือบางที เวลาประพฤติปฏิบัติ โทสะมันมากเกินไป ได้ยินเสียงก็หงุดหงิด ได้ยินคนนั้นพูดก็หงุดหงิด ได้เห็นผู้นั้นทำอย่างนี้ๆ ก็หงุดหงิด มันหงุดหงิดอยู่ตลอด มันเกิดความหงุดหงิด ไม่พอใจอยู่ในอารมณ์ตลอดเวลา การปฏิบัติก็ทำได้ยาก หรือบางทีขาดสติ คือสติมันไม่พอ สติไม่สมบูรณ์ เวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส อะไรนานาประการ เราไม่มีสติกำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็ถือว่าทำได้ยาก การประพฤติปฏิบัตินี่ก็ทำได้ยาก เช่นว่า เวลาเราเดินไปตามวัดนี่ เราเดินไป ที่โน้นที่นี้ ห้องน้ำ ห้องสุขา อะไร เราไม่ได้กำหนดไปเลย

ขวาซ้ายๆ หรือว่า พุทโธๆ ไป เราไม่ได้กำหนดเลยเดินไปตามธรรมชาติ ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปตามธรรมชาติ อย่างนี้ก็เรียกว่า ทำไม่ถูก บางทีเราจะพูด จะคุย เราจะพูดกับคนโน้น เราจะคุยกับบุคคลนี้ เราจะพูดกับพระรูปนั้นพระรูปนี้ เราไม่มีสติ หรือไม่กำหนดเสียก่อนว่า เราจะพูด เราจะพูดอะไร เราจะพูดเรื่องอะไร การพูดอย่างนี้ดีมั้ย เราไม่ได้คิดอยากพูด ก็พูดเลย อันนี้เรียกว่าขาดสติ

เวลาเราเดินมาฉันเช้าฉันเพลก็เหมือนกัน มาตามถนน เราไม่รู้ว่ากำหนดหรือไม่กำหนดว่า ขวาซ้ายๆ มา บางทีเราไม่ได้กำหนด บางทีเดินกันไป พูดกันไป คุยกันไป เฮกันไป เรื่องที่พูดที่คุย บางทีก็มีสาระ บางทีก็ไม่มีสาระ อย่างนี้ก็เรียกว่า การปฏิบัติของเราไม่ถูก

บางทีทั้งเดินทั้งพูด ก็ถือว่าทำไม่ถูก ขาดสติ เวลาเราเหยียดเท้า เหยียดแขน คู้แขน เหยียดขา คู้ขา เราจะหลับจะนอน อะไรทำนองนี้ เราไม่ได้กำหนด ปล่อยสติให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าทำอย่างนี้ก็ถือว่า การปฏิบัติของเรายังไม่ถูกต้องสมควร ถือว่าทำให้การปฏิบัติของเรานั้นยาก โอกาสที่จะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวธรรม คือสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันดำเนินไปได้ช้า ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าไม่สำคัญนะ

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราต้องการสติมากที่สุด ถ้าผู้ใดมีสติมาก แล้วก็มีความเพียรสมบูรณ์ ผู้นั้นสามารถปฏิบัติผ่านไปได้เร็ว บางทีปฏิบัติเช้านี้ก็ได้เช้านี้ บางทีปฏิบัติพรุ่งนี้ ก็ได้พรุ่งนี้

ส่วนมากเท่าที่หลวงพ่อสังเกต ผู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนเคยปฏิบัติมาก่อน เวลามาประพฤติปฏิบัติ ๔-๕ วันผ่านไปแล้ว การปฏิบัติผ่านไปแล้วรอบหนึ่งก็มี ๗ วันผ่านไปสองรอบก็มี เหตุนั้น ก็พึงสังวรระวังไว้ให้มากๆ เราทั้งหลายคิดเสมอว่า เรามีปากก็ถือว่าคล้ายกับคนใบ้ พูดไม่เป็น มีปากก็ทำคล้ายกับคนใบ้ มีร่างกายแข็งแรงก็ทำเหมือนกับคนเปลี้ยคนง่อย เราอยู่กับสติ มีสติอยู่ตลอดเวลา

ถ้าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในลักษณะอย่างนี้ รูปนาม ขันธ์ ๕ ปรากฏขึ้นชัด วิปัสสนาญาณก็จะแก่กล้าเร็ว เราก็จะสามารถที่จะผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้เร็ว ที่ว่ามันง่ายก็เหมือนดังกล่าวมา

ผู้ปฏิบัติง่ายก็หมายความว่า ผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแล้ว สติก็สมบูรณ์ ความเพียรก็แก่กล้า สมาธิก็ดี ศรัทธาก็สมบูรณ์ มีศรัทธาคือความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเต็มเปี่ยม มีความเชื่อความเลื่อมใสในเรื่องโลกนี้โลกหน้า ตลอดถึงความเชื่อเรื่องมรรคผลนิพพาน เชื่อเรื่องกรรม เรื่องพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เรามีความเชื่ออย่างสมบูรณ์

เมื่อมีความเชื่อโดยสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุให้เกิดปีติ เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็หมายความว่าเราได้อาหารใจแล้ว เมื่อได้อาหารใจแล้ว เราก็สามารถเดินทางได้ เท่าที่หลวงพ่อสังเกต บางรูปปฏิบัติวันนี้ ผ่านไปวันนี้ก็มี บางรูปก็ ๒ วัน บางรูปก็ ๓ วัน บางรูปก็ ๕ วัน บางรูปก็ ๗ วัน ก็ผ่านการปฏิบัติไปได้

นี้เห็นว่าการประพฤติปฏิบัติง่าย ก็เหมือนอย่างที่หลวงพ่อกล่าวมาแล้วข้างต้นคือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยบารมี เคยสร้างสมอบรมบารมีมาสมบูรณ์แล้ว การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามวิถีทางที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ ผู้ใดที่ตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติดังกล่าวมาแล้วนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผลตามบุญญาธิการที่ได้สั่งสมอบรมไว้

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ บางท่านที่เป็นผู้บวชใหม่ก็ดี หรือเคยบวชมานานแล้วก็ดี บางคนถ้าพูดเรื่องมรรคเรื่องผลก็คัดค้าน บางคนก็พูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลแล้ว มรรค ผล นิพพาน ไม่มีแล้ว พูดอย่างนี้ก็มีนะ ที่มาหาหลวงพ่อ บางทีไปบรรยายธรรมในหน่วยปฏิบัตินั้นบ้าง หน่วยนี้บ้าง

บางทีญาติโยมก็สนทนากันว่า สมัยนี้พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มีแล้ว เพียงแต่เราอยู่ๆไป ทำกันไป อยู่กันไปเท่านั้น เพียงแต่ศึกษาเล่าเรียน แต่ว่ามรรค ผล พระนิพพาน ไม่มีแล้ว บางทีเคยชี้หน้าหลวงพ่อ เวลาขึ้นหอธรรมะ (ธรรมาสน์) ชี้หน้าหลวงพ่อว่า ท่านจะมาเทศน์ทำไม สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มี

หลวงพ่อก็ไม่ได้พูดว่ากระไร แต่ถึงเวลาบรรยายธรรมะ ถึงเวลาเทศน์ หลวงพ่อก็พูดไปตามธรรมดาๆ ค่อยๆโปรดเขาไป มันไปด้วยกันนั่นแหละ พอดีหลังจากบรรยายธรรมะแล้ว เทศน์แล้ว บางคนก็คลานเข้ามาขอขมาโทษ บางคนก็ไม่คัดค้านอีก ไม่มีกระแสคัดค้านอีก มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย

แต่หลวงพ่อก็พูดไปในแนวเดียวกันว่า ญาติโยมทั้งหลาย หรือว่าท่านทั้งหลาย เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพานนี้ แม้จะมีหรือไม่มี หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และก็จะปฏิบัติอยู่อย่างนี้ หากว่าปฏิบัติตลอดชีวิตแล้วไม่ได้อะไร ก็คงไม่ขาดทุน คุณความดีที่เกิดจากการปฏิบัติ ก็ต้องมีไม่มากก็น้อย

อุปมาเหมือนกันกับเราปลูกพริก จะมีผลหรือไม่มีผล เราก็ปลูก เมื่อเราปลูก เราพรวนดินใส่ปุ๋ยรดน้ำ กำจัดศัตรูพืชอยู่อย่างนี้ๆแล้ว หากว่ามันไม่มีผล ก็จะได้เห็นกันไปว่ามันจะเป็นอย่างไร เราก็จะดูกันไป เราปลูกต้นมะพร้าวก็ดี ต้นมะม่วงก็ดี ส้มเขียวหวานก็ดี เงาะก็ดี ทุเรียนก็ดี มังคุดก็ดี น้อยหน่าก็ดี หลวงพ่อว่า มันจะผลิดอกออกผลก็ตาม หรือจะไม่ผลิดอกออกผลก็ตาม หลวงพ่อก็จะสอนอยู่อย่างนี้ และแนะนำให้คนทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้

ถ้าเราทำอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ หากว่าผลไม้นั้นไม่ออกลูกมาก็ให้มันเห็นไป บางทีครูบาอาจารย์ท่านต่อว่า บางทีก็ต่อต้าน บางทีครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ก็เคยต่อต้านว่า มันไม่มี มรรค ผล นิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี (ผมก็เลยถามว่า) หลวงพ่อ ที่พูดมาอย่างนี้ หลวงพ่อเคยปฏิบัติมาหรือยัง ปฏิบัติมามากน้อยแค่ไหนเพียงไร อึ้งเลย ไม่ตอบ ส่วนมากจะไม่ตอบ

หากว่าสมัยนี้มรรคผลพระนิพพานไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี เมื่อเห็นว่าไม่มีแล้ว หลวงพ่อจะไม่แนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์ สามเณร ให้ปฏิบัติหรือ จะไม่สอนให้เขาปฏิบัติหรือ จะไม่แนะนำให้เขาทำหรือ อยู่ๆ พอถึงวันแล้วมันก็จะได้มรรคผลนิพพานเองอย่างนั้นหรือ ส่วนมากเวลาหลวงพ่อพูดอย่างนี้ ท่านก็ไม่พูด นี่แหละท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเครื่องแก้ความเห็นผิดของชาวพุทธทั้งหลาย

ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ โยมที่จะนำกฐินมาถวายปีนี้แหละ มาครั้งไรๆ เขาก็พูด แต่หลวงพ่อก็คิดว่าจะเทศน์โปรดเขาอยู่ แต่เมื่อไรหนอจึงจะมีโอกาสเทศน์โปรด เพราะเหตุใด จึงจะเทศน์โปรด เพราะว่าเขาจะนำกฐินมาที่วัด เมื่อจะนำมาถวายที่วัด แต่ผู้เป็นเจ้าภาพยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ เขารู้จักแต่ทำบุญแหละ แต่เขาไม่รู้จักบุญ เขามาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อไม่ต้องห่วงไม่ต้องพูดกันล่ะ เรื่องมรรคผลพระนิพพาน สมัยนี้ไม่มีแล้ว พระอริยบุคคลไม่มีแล้ว หลวงพ่อก็คิดว่าจะตอบเขาอยู่หลายๆครั้ง แต่ว่ายังไม่มีโอกาส นี้ล่ะเรื่องอย่างนี้มันเป็นไปได้

สรุปแล้วว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คือมันง่ายที่รู้วิธีปฏิบัติ รู้หลักการในการประพฤติปฏิบัติ มีสติ มีความเพียร มีสมาธิ มีศรัทธา มีปัญญาสมบูรณ์ มีบารมีที่สร้างสมอบรมมาสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้การปฏิบัตินั้นปฏิบัติง่าย

แต่ผู้ที่ว่าปฏิบัติยาก ก็หมายความว่า ไม่รู้วิธีการปฏิบัติ และการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่ดำเนินไปตามวิถีที่ถูกต้อง ถือว่ามันเป็นการทำให้ยาก กล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ก็ล่วงมานานแล้ว พระศาสนานับตั้งแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานล่วงมาถึงป่านนี้ นานถึง ๒๕๔๓ ปีแล้ว พระอริยบุคคลจะยังมีอยู่ในโลกหรือไม่ อาจจะคิดอย่างนี้

หากว่าท่านทั้งหลายมีความสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อจะขอน้อมนำเอาธรรมะที่ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า

๑.ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่หนึ่ง เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๑ พันปี ในช่วง ๑ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐานให้สมบูรณ์แล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุ และสามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือ

๑) ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
๒) อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
๓) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ
๔) นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา สามารถพูดธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุม คัมภีรภาพ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายๆ

ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ สามารถที่จะเกิดได้

๒.ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๒ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปี ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรือสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็สามารถจะยังอภิญญา ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้

อภิญญา ๖ ประการนั้น คือ
๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้
๒) ทิพพโสตะ ได้หูทิพย์
๓) ทิพพจักขุ ได้ตาทิพย์
๔) ปรจิตตวิชานนะ สามารถที่จะรู้วาระจิตของผู้อื่น
๕) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้
๖) อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน

อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้สร้างสมอบรมบารมีมาแล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน เมื่อภพก่อนชาติก่อนได้สร้างสมอบรมบารมี ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้อธิษฐานจิตไว้แล้วว่า สาธุ ด้วยบุญที่ข้าพเจ้าบำเพ็ญครั้งนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ตาทิพย์ หรือว่าได้หูทิพย์ หรือว่าแสดงฤทธิ์ได้ หรือให้รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือให้ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่าให้ข้าพเจ้ารู้วิธีหรือหลักการทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน อธิษฐานไว้แล้วอย่างนี้

เมื่อเราอธิษฐานไว้แล้วแต่ภพก่อนชาติก่อน ในภพนี้ชาตินี้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญาทั้ง ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราไม่เคยอธิษฐานจิตไว้เลย ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิด

๓.เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือหมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๓ พันปี ในช่วง ๓ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถที่จะยังวิชชา ๓ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดขึ้นได้

วิชชา ๓ ประการนั้น คือ
๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้
๒) จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น ว่าผู้นี้เขามาจากไหนมาเกิดที่นี้ ตายแล้วไปเกิดในที่ไหน สามารถที่จะรู้ได้
๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

๔.สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๔ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดมาเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานได้

แต่ว่าไม่สามารถที่จะยังปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ วิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ หมายความว่า ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี ไม่สามารถที่จะเกิดได้ เป็นแต่เพียงว่าสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน ท่านผู้นี้เรียกว่า เป็นพระอรหันต์ขีณาสพประเภท สุกขวิปัสสกะ

๕.ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หมายความว่า พระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๕ พันปี ในช่วง ๕ พันปีนี้ แม้ว่าผู้ใดมาทำกัมมัฏฐาน จะทำความเพียรมากสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นแต่เพียงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี ได้เท่านั้น

อันนี้(คือ)หลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกายปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายจะตัดสินอย่างไรก็แล้วแต่ท่านทั้งหลายจะตัดสินเอา

แต่ขอร้องอย่างเดียวว่า หากว่าเราประพฤติปฏิบัติยังไม่ถึงที่ ขอร้องว่า ท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจว่า มรรคผลพระนิพพานนั้นไม่มี คือบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเรายังไม่รู้ เราจะปฏิเสธเสียเลยว่าไม่มี ก็ไม่ได้ เราต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องเอาตัวของเราไปพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า มีหรือไม่ เราค่อยว่ากันทีหลัง

แต่ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ปฏิบัติแล้วไม่มี ไม่ได้ ไม่ถึง ก็ขออย่าได้เข้าใจว่า มันไม่มี เพราะว่าบางสิ่งบางอย่าง มันก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย ถ้าบารมีของเราไม่พร้อม มันก็อาจจะไม่เกิด

เหตุนั้น เราอย่าไปคัดค้านว่า มันไม่มีอย่างนั้น ไม่มีอย่างนี้ กัมมัฏฐานที่ประพฤติปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ กำหนดอยู่ทุกวันนี้ เราไม่เอา เช่นว่า กำหนดพองหนอ ยุบหนอ หรือว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือปวดหนอ เจ็บหนอ คิดหนอ ร้อนหนอ เย็นหนอ อะไรทำนองนี้

คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้ เราไม่เอา เช่น ท่านทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันๆ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ นี่เราไม่เอา เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของอริยมรรคอริยผลเท่านั้น หรือว่าเราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิสมาบัติ เมื่อสมาธิ สมาบัติ อริยมรรคอริยผล เกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้เราสลัดทิ้ง ไม่เอาแล้ว อุปมาเหมือนกับว่า เราข้ามแม่น้ำโขง เราต้องอาศัยเรือไปยังฝั่งโน้น เมื่อถึงฝั่งแล้วเราก็สลัดเรือทิ้ง เราก็ขึ้นไปบนฝั่งที่เราต้องการ ข้อนี้ฉันใด

เราทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อได้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งนี้เราก็สลัดไป อุปมาเหมือนกับเราจะดื่มเครื่องดื่ม สมมติว่า เครื่องดื่ม เป็นพวกโค้ก สไปรท์ เป๊ปซี่ แฟนต้า อะไรทำนองนี้ เวลาที่เราไปซื้อเราก็ซื้อมาทั้งขวด เมื่อซื้อมาแล้ว เราก็เปิดดื่มเฉพาะน้ำของมัน พวกขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด เราภาวนาหรือบริกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ เราภาวนาหรือบริกรรมก็เพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ต่างหาก

แม้แต่อาการที่เราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ เมื่อภาวนามันได้ที่แล้ว มันก็จะทิ้งไปทันที เรียกว่าในขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์อยู่ เราก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อย เมื่อภาวนาไปๆ จิตของเราก็จะผ่านบริกรรมเข้าสู่อุปจาระ

เมื่อเข้าสู่อุปจาระ มันเฉียดฌานเข้าไป เฉียดมรรคเข้าไป เมื่อใดวิถีจิตของเรามันถึง มันเดินเข้าไปจนถึงฌาน คำบริกรรม มันก็ทิ้งไปเลย หรือเมื่อถึงมรรคแล้วก็ทิ้งไปเลย

เมื่อใดที่เราภาวนาไปตามลำดับ เมื่อวิถีจิตของเรามันถึงฌานถึงมรรคแล้ว คำบริกรรมอยู่ในขณะนี้ ทิ้งไปเลย คำบริกรรมเราก็ไม่รู้เลย จำไม่ได้ มันก็หายไปเลย ทิ้งไปเลย จิตของเราก็มีแต่สมาธิรักษาอยู่ตลอดเวลา เพราะในขณะเข้าสู่ฌานธรรมนี้ จิตก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง รูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไปแล้ว เมื่อถึงมรรค การดับมันก็ยิ่งละเอียดขึ้นไปๆ รูปนาม ขันธ์อะไรมันก็ดับไปหมด

ต่อไป องค์คุณของผู้ปฏิบัติ

ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราต้องการดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ก็จริงอยู่ หรือการปฏิบัติของเรานี้ เพื่อต้องการจะทำให้ได้ฌาน ได้มรรค ผล นิพพาน เพื่อละกิเลสตัณหา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง ให้สิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน แต่ว่าเราต้องมีองค์คุณสมบัติจึงจะดำเนินไปได้ ถ้าขาดองค์คุณสมบัติ ก็ไม่สามารถผ่านไปได้

องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัตินั้นคือ
๑.มีสติ หมายความว่า เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะกิน จะดื่ม จะคิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม อย่าขาดสติ มีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา มองซ้าย แลขวา เดินหน้า ถอยหลัง นุ่งสบง ทรงจีวร หรือเครื่องนุ่งห่มอะไรก็ตาม ให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลา

หรือว่า ในขณะที่เรานั่งบริกรรมอยู่ พองหนอ ยุบหนอ อยู่นี้ บางทีเรานั่งไปๆ มันเกิดเผลอไปหลับไปอย่างนี้ เราก็ต้องมีสติให้ทันปัจจุบันว่า มันหลับตอนท้องพอง หรือหลับไปตอนท้องยุบ ในขณะที่เรานั่งอยู่ตรงๆนั่นแหละ หากว่าเรามีอาการคล้ายๆว่ามันจะหลับ ง่วงๆ ก็ปล่อยให้มันหลับไปเลย

แต่ว่าเราต้องมีสติจำให้ได้ว่า เรานั่งหลับไปตอนไหน เรากำหนดพองหนอหรือยุบหนอ พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเรานอน เรานอนกำหนด พองหนอ ยุบหนอ นอนหนอ เราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนพองหนอ ยุบหนอ หรือว่ากำหนดว่า ถูกหนอ ก็พยายามจำให้ได้ หรือว่าเวลาเราภาวนาอยู่ว่า ปวดหนอๆ อาการปวดของเรามันหายไปเมื่อไหร่

พอกำหนดมาถึงตรงนี้ มันหายไปเลยอาการปวด พยายามจำให้ได้ หรือเวลาเราคิดอย่างนี้ เรากำหนดว่า คิดหนอๆ ให้เรารู้ว่า ความคิดมันเกิดขึ้นในขณะใด ความคิดมันดับไปขณะใด กำหนดให้ทันปัจจุบัน อย่างนี้เรียกว่า มีสติ ประการที่หนึ่ง

๒.มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คือทุกสิ่งทุกอย่าง ให้มีสัมปชัญญะ รู้ตัวตลอดเวลา สมมติว่า เราจะเหยียดแขนอย่างนี้ เราคิดซะก่อน สติมันคิดซะก่อนว่าจะเหยียด และเมื่อเราคิดว่า เราจะเหยียด แล้วก็เหยียดไป ในขณะที่เหยียดไปนั้น มีสัมปชัญญะกำหนดไป เหยียดหนอๆ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

สรุปแล้วว่า ยืน เดิน นั่ง นอน พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

๓.มีความเพียร วิริยะความพากเพียรในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือ
๑) มีฉันทะ พอใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน
๒) มีวิริยะ แข็งใจเจริญกัมมัฏฐาน

แม้เจริญพระกัมมัฏฐานนี้ มันจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใด เราก็ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป หากว่าเรายังไม่บรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะไม่ลดละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เอาชีวิตแลก ยอมตายเอาดาบหน้า จนสามารถได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามเจตนาที่เราตั้งไว้

๓) มีจิตตะ ตั้งใจในการเจริญพระกัมมัฏฐาน ไม่เหลาะแหละ ไม่เหลวไหล แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ แล้วก็อยากได้จริงๆ อยากถึงจริงๆ อยากรู้จริงๆ คนเราเมื่อมีจิตใจตั้งมั่น คิดจะเอาอะไรมันก็สามารถที่จะทำได้

เราตั้งใจว่า เราจะเรียนให้จบชั้น ม.๑ หรือ ม.๒, ม.๓, ม.๔, ม.๕, ม.๖ มันก็สามารถที่จะทำได้ หากว่าเราตั้งใจที่จะเรียนให้มันจบ ถ้าว่าคนที่จิตใจไม่ตั้งมั่น ทุกสิ่งทุกอย่าง การงานที่ทำ คำที่พูด สิ่งที่คิด มันก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เหตุฉะนั้น เราผู้เป็นนักปฏิบัติต้องมีจิตตะ ตั้งใจปฏิบัติจริงๆ อย่าถอยหลัง

๔) มีวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาปฏิบัติมันต้องใช้ปัญญา ผู้ที่จะให้ทานก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่จะรักษาศีลก็ต้องประกอบด้วยปัญญา ผู้ที่เจริญภาวนาก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญสมถะก็ต้องอาศัยปัญญา ผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ต้องอาศัยปัญญา ถ้าขาดปัญญาแล้วก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้ถึงฝั่งได้

แต่เมื่อใดเรามีปัญญา เราอาศัยปัญญาพิจารณาอยู่ตลอดเวลา การปฏิบัติวันนี้ ทำไมมันเป็นอย่างนี้หนอ การปฏิบัติทำไมมันไม่ก้าวหน้าหนอ การปฏิบัติทำไมมันถอยหลัง การปฏิบัติทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ ทำไมมันจึงง่วงนอน ทำไมมันเกียจคร้าน

เราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา มันจะเห็นข้อแก้ไขทันทีว่า เออ วันนี้เราเดินอย่างนี้ เรานั่งอย่างนี้ เราภาวนาอย่างนี้ พูดอย่างนี้ คุยอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็ทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ก็จะได้แก้ไข

เมื่อใด นักปฏิบัติตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัติอย่างนี้ การปฏิบัติก็สามารถที่จะได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

๑.อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เช่น เดินแขนแข็งๆไว้ เหมือนกับคนยกแขนไม่ได้ เดินก็เดินช้าๆ ในเวลาฉันเช้า เพื่อนๆก็ฉันไปก่อนแล้ว นี้เรียกว่า ทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็ไม่เดินตามปกติ นั่งก็ไม่นั่งตามปกติ นอนก็ไม่นอนตามปกติ คือหมายความว่า การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง มันทะแม่งๆ พูดง่ายๆว่า คล้ายกับแกล้ง หรือว่าเป็นการดัดจริต แทนที่เราจะปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติที่มีอยู่อย่างนี้ๆ กลับไม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ เรียกว่าดัดจริต ภาษาทุกวันนี้เขาเรียกว่า ดัดจริต

ถ้าลักษณะนี้เกิดขึ้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี ต่อไปอย่าทำอีก เพราะจะทำให้คนอื่นจับผิดเรา บางทีจะหาว่าเราเสียจริตไปแล้ว เสียสติไปแล้ว หรือวิปลาสไปแล้ว อะไรทำนองนี้ เขาจะจับผิดเรา แทนที่จะให้คนอื่นมาปฏิบัติ เขาก็จะไม่มา ผลสุดท้ายเขาก็จะคลายความเลื่อมใส ไม่อยากมาประพฤติปฏิบัติ เกรงว่าถ้าไปประพฤติปฏิบัติแล้วจะเป็นบ้าอย่างนั้น เป็นบ้าอย่างนี้

เหมือนกันกับที่เคยไปเรียนปฏิบัติมา หลวงพ่อก็ไปสำนักพ้นอเวจีพ้นนรก สำนักปฏิบัติธรรมเหนือนรก พากันปฏิบัติเพื่อจะละสังขารไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนจะปฏิบัติก็ให้พระรูปอื่นเอาเชือกมัดติดกับเก้าอี้ รูปนั้นก็มัด รูปนี้ก็มัด ทางหน้าห้องก็ให้พระใส่กุญแจไว้ ล็อกกุญแจไว้ ข้าวน้ำก็อด ไม่กิน ผลสุดท้ายก็ถึงแก่มรณกรรมไป

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า มันทำไม่ถูก เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าให้ผิดปกติ ให้เป็นไปตามปกติ แต่สำคัญหน้าที่ของเราคือต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

๒.อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น สมมติว่า เราเดินจงกรม บางทีมันเกิดความต้องการขึ้นมาว่า เราจะเดินจงกรมให้ดีที่สุด เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาน ในขณะที่เดินจงกรมอยู่นี้ หรือว่าเราจะให้มรรคผลนิพพานมันเกิดในขณะที่เดินจงกรมอยู่อย่างนี้ หรือเราจะเดินจงกรมให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ปล่อยให้ความต้องการเกิดขึ้น

ถ้าเราคิดอย่างนี้แล้วปฏิบัติอย่างนี้ก็เกิดโทษ ถ้าหากว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดตามที่เราคิดไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดโลภะ เกิดวิสมโลภะว่า เราสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ เกิดความเห็นผิดขึ้นมา

ถ้าว่ามันไม่เกิดตามที่คิดไว้ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ไม่อยากประพฤติปฏิบัติอีกต่อไป เห็นว่าการปฏิบัติมันก็ได้แค่นี้ล่ะ ไม่มีอะไรก้าวหน้า เลยไม่อยากประพฤติปฏิบัติ

๓.อย่าเครียด คำว่า เครียด ในที่นี้หมายความว่า ตึงเครียด อย่าให้เกิดความเครียด ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรก็ตาม ขออย่าให้เกิดความเครียด คนเราถ้าเกิดความเครียดแล้ว เราจะเห็นทันที คือคิดมาก ความอยากได้ก็เกินประมาณ เมื่อคิดมาก เวลานอนก็นอนไม่หลับ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท เข้าโรงพยาบาลประสาท ผู้ปฏิบัติอย่างนี้เรียกว่า อาการเครียดมันเกิดขึ้นมาแล้ว เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ค่อยได้ ผลสุดท้ายก็เป็นโรคประสาท

๔.อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ เช่นว่า อยากมีหูทิพย์ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดหรือการตายของบุคคลหรือสัตว์อื่น อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดคิดหนักๆ เรื่องอย่างนี้ ผู้นั้นร้อยทั้งร้อยที่มาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมาก เป็นบ้า ผู้ใดมาปฏิบัติอยากได้อย่างนี้ หรือมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่า เราได้คุณวิเศษแล้วอย่างนี้ๆ ส่วนมากเป็นบ้า ไม่บ้ามากก็บ้าน้อย

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้มากๆ อย่าให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้น เวลาประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐาน

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านครูบาอาจารย์ ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ตลอดทั้งคณะแม่ชี ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หลวงพ่อพระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 มีนาคม 2560 09:24:03
(http://www.horasaadrevision.com/images/1115454002/1Abuddha1.gif)

ธรรมะเบ็ดเตล็ด

เรียนท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา เพื่อนสหธรรมิก ลูกพระลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย คิดว่าได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายถวายความรู้เป็นเวลาหลายราตรีมาแล้ว กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเกิดความเบื่อหน่าย วันไหนๆ ก็ได้ฟังแต่หลวงพ่อพูด ก็กลัวว่าท่านทั้งหลายจะเบื่อหน่ายคลายศรัทธา คลายอุตสาหะในการประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป

เหตุนั้น วันนี้จะไม่บรรยายธรรม จะถือโอกาสคุยกันวันนี้ แต่จะใช้เวลานานเท่าใด หรือมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

วันนี้ จะคุยเรื่อง บาป เรื่อง บุญ เสียก่อน เพราะว่าเรื่องบาปเรื่องบุญนี้ พวกเราทั้งหลายผู้เป็นชาวพุทธ ไม่ได้หมายเอาพวกเรา แต่(หมายถึง)ผู้ที่ไม่ได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ส่วนมากยังเข้าใจคำว่า บุญ คำว่า บาป ผิด ก็เพราะว่า ถ้าพูดเรื่องบุญเรื่องบาปแล้ว จะทำให้จิตใจของผู้ฟังนั้นไขว้เขว หรือเปลี่ยนแปลง แล้วก็ไม่สบายใจว่างั้นเถอะ ถ้าพูดเรื่องบาป ก็ว่าบาปไม่มี ไม่กลัวหรอก บาปมันไม่ขี่ช้างสูบบุหรี่มาดอก อะไรทำนองนี้

มีนักศึกษาหลายๆ คนที่มาคุยกับหลวงพ่อ คุยไปคุยมา พูดไปพูดมา เขาก็พูดว่า หลวงพ่อ ผมว่าบาปมันไม่มีหรอก หลวงพ่อก็พูดว่า อ้าว ถ้าบาปมันไม่มี คุณก็ลองเอาขวานจามหัวแม่คุณดูสิ มันจะเป็นอย่างไร

ก็พูดตัดบทถึงขนาดนี้ เขาก็เงียบไป แล้วก็ไม่พูดอะไรอีกแล้ว ก็พูดต่อไปว่า เรือนจำ หรือตะราง หรือคุกนั้น เขาสร้างไว้ทำไม การที่เขาประหารชีวิตคนโน้นคนนี้ ด้วยการยิง ด้วยการช็อตด้วยไฟฟ้าก็ดี เพราะเหตุอะไรเขาจึงประหาร ทำไมเขาจึงฆ่า หลวงพ่อก็พูดเพียงเท่านี้

ท่านทั้งหลาย คำว่า “บาป” นี้ ถ้าหากว่ากล่าวโดยสภาวะอย่างสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ คือสภาวะใดที่ทำให้เราได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทุกข์ ด้วยอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ เราก็ถือว่าสภาวะนั้นเป็นบาป แต่ว่าคนที่ได้ทำบาปแล้ว ผลที่ได้รับจากการทำบาปนั้นก็คือทุกข์ แต่ผลที่ได้รับพิเศษที่พวกเราทั้งหลายทราบกันดีอยู่แล้ว

ถูกปรับไหมใส่โทษ ถูกจองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต หรือว่าตายแล้วไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต ไปเกิดเป็นอสุรกาย ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อันนั้นเป็นผลพลอยได้ ซึ่งเกิดจากการทำบาปต่างหาก แต่สภาวะที่เป็นบาปแท้ๆ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์

คำว่า บุญ ซึ่งหลวงพ่อได้บรรยายมาหลายๆ วันที่ผ่านมา โดยสภาวะได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นตัวบุญแท้ๆ สำหรับบุญเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความสุขใจ

ส่วนที่ท่านกล่าวว่า ทำบุญแล้วทำให้เกิดเป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน ไม่ตายง่าย หรือว่าเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติบริวารนานาประการ ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติ อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดจากบุญ หรือเกิดจากการทำดี คิดดี พูดดีต่างหาก

ทีนี้ก็ขอพูดถึงเรื่อง บาป นี่ เกิดขึ้นแก่เราได้อย่างไร ในเมื่อมันเกิดแล้วไปอยู่ที่ไหน มีอะไรเป็นเครื่องรับรองไว้ นี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจ เรื่องบาปนี้ก็ขอพูดสั้นๆ แต่หัวข้อ ซึ่งไม่ทำให้เกินเวลากินเวลาไปมาก ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า โลภะ โทสะ โมหะ นี้ ถือว่าเป็นบาป

ทีนี้ เมื่อบาปนี้มันเกิดขึ้นแก่เรา ไม่ว่าจะเป็นโลภะก็ตาม เป็นราคะก็ตาม เป็นโทสะก็ตาม เป็นโมหะก็ตาม เวลามันเกิดขึ้นแก่เรา เพราะตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ จะเป็นโลภะก็ตาม โทสะก็ตาม โมหะก็ตาม

วินาทีแรกที่มันเกิดขึ้น จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง มี ๓ ประโยคคือ วาระจิตของเราจะนึก จะคิด จะสั่ง อาการนึก อาการคิด อาการสั่ง นี้มันเกิดขึ้นมา ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป ถ้าจะพูดภาษาธรรมะก็เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้เปลี่ยนมาเป็นคำพูดง่ายๆ ว่า

เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว จิตของเรามันก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อชวนจิตดวงแรกเกิดขึ้นแล้วก็ดับลงไป สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไป

สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว

โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอา โลภะ โทสะ โมหะ นั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็จะดับลงไป

ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพ โลภะ โทสะ โมหะ นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๓ ขณะ ขณะที่ ๔ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๕ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๖ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่ ๗ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เมื่อชวนจิตเกิดขึ้น ๗ ขณะแล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว

ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาโลภะ โทสะ โมหะนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เกิดขึ้นมาหนึ่งขณะจิตแล้วก็จะดับไป เมื่อลงไปถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว ภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นมารักษา โลภะ โทสะ โมหะ นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราต่อไป ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ที่เรียกว่าอนุสัย

ราคานุสัยก็ดี ปฏิฆานุสัยก็ดี อวิชชานุสัยก็ดี หรือว่าอนุสัยต่างๆ ทั้ง ๗ ประการ หรือบาปทั้งหลายทั้งปวงที่เรียกว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็จะนอนอยู่ในส่วนลึกของจิตใจของเรา คือนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเรา มันก็จะนอนอยู่อย่างนั้นร่ำไป ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายมันได้ ตายแล้วเกิดอีกๆ มันก็อยู่อย่างนั้นของมัน ไม่มีอำนาจใดๆ จะทำลายได้เลย

เราจะให้ทานหมดทรัพย์เป็นพันๆ ล้านบาท หรือเป็นหลายโกฏิ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายบาปหรือกิเลสตัณหา ที่มันนอนจมอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราให้หมดไปได้

เราจะรักษาศีล ๕ ศีล ๘ อุโบสถศีล ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ จนตายแล้วรักษาอีก อย่างไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย รักษาร่ำไป ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ตายแล้วเกิดอีก รักษาต่อไปอีก ไม่รู้ว่ากี่ชาติ กี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายให้มันหมดสิ้นลงไปได้ มันก็จะนอนเนื่องอยู่อย่างนั้นตลอดไป เมื่อมันมีโอกาสมีเวลาเมื่อใด ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อุปมาเหมือนกันกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้หรือพุ่มไม้ ซึ่งมันคอยจ้องที่จะตะครุบกินอาหารที่ผ่านไปผ่านมา มีกบและเขียดเป็นต้น มันจะนอนอยู่อย่างนั้นแหละ แต่พอเห็นเหยื่อผ่านมาเท่านั้น มันก็ฉกกัดทันที ข้อนี้ฉันใด

พวกอนุสัยกิเลสทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าบาปทั้งหลายทั้งปวงที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ตามปกติแล้วมันจะไม่ปรากฏ ไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อใดมีอารมณ์มายั่ว คือมีอารมณ์มาเกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัวกิเลสทั้งหลายทั้งปวงมีอนุสัยเป็นต้น ก็จะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อันนี้เป็นหลักการ หรือหลักทฤษฎีในเรื่องบาปมันเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้อย่างไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วมันดำเนินไปตามวิถีจิตอย่างไร และก็มันไปอยู่ที่ไหนและก็เมื่อไรที่จะทำลายให้หมดสิ้นไป เรื่องบาปนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ก่อน

ทีนี้คุยเรื่องบุญ คำว่า บุญ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ของเรานี้ ไม่ใช่ว่ามันไปเกิดที่อื่น คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้มันเป็นที่เกิดของบุญของบาป ทีนี้ เมื่อบุญเกิดขึ้นเพราะการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้

สมมติว่า เรานึกจะทำบุญเท่านั้น หรือนึกจะเดินจงกรม นึกจะนั่งภาวนาเท่านี้ เมื่อ มหากุศลจิตมันเกิดขึ้นมา ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป

เมื่อดับไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมารับเอาบุญ เช่นว่า บุญที่เกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น มันก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์นั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบุญซึ่งเกิดจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสวยบุญหรือว่าเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต คือเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ๗ ขณะจิต จึงเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ

อุปมาเหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละพันบาทมาใบหนึ่ง เราก็มาพิจารณาดู เพราะว่าธนบัตรใบละพันบาทนี้ก็ถือว่าเป็นของมีค่า ถ้าเราชะล่าใจ ไม่รอบคอบ ไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ได้มาแล้วก็เอาไปใช้เลย หรือเก็บไปเลย บางทีเป็นธนบัตรปลอม เราก็เสียใจ เหตุนั้น เราต้องพิจารณาว่า ธนบัตรนี้มันใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ พลิกดูด้านหน้า พลิกดูด้านหลัง พลิกกลับไปพลิกกลับมา ๗ ครั้ง จึงว่า เออ ธนบัตรนี้ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย เราก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด ชวนจิต ก็เหมือนกันฉันนั้น

เมื่อบุญที่ได้จากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตไปจนถึงชวนจิต

แล้วชวนจิตก็จะเสพบุญอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมารักษาบุญซึ่งเกิดขึ้นจากการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตต่อไป

สรุปว่า ภวังคจิต นี้ ทำหน้าที่รักษาทั้งบุญและบาป บุญเกิดขึ้นก็รักษา บาปเกิดขึ้นก็รักษา และในขณะที่มันอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้น ขณะใดบาปมันมีกำลังมาก มีกำลังกล้า และก็ได้โอกาส บาปก็ให้ผลเป็นทุกข์ ขณะใดบุญมีกำลังกล้า มีอานุภาพเหนือกว่าบาป ขณะนั้น บุญก็ให้ผล นี่มันสลับกันอย่างนี้

สรุปแล้ว จิตของเรานี้ ถ้าจะพูดในทางเชิงเล่านิทานให้ลูกให้หลานฟัง ก็ว่าจิตของเรานี้มีพระราชาครองอยู่ ๒ องค์ คือ ๑) พระยาโมหะ ๒) พระยาสติ พระยาโมหะก็หมายความว่าเป็นราชาแห่งบาปทั้งหลาย สติก็เป็นราชาแห่งบุญกุศลทั้งหลาย

บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้น มีสติเป็นราชาเป็นใหญ่ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สำหรับบาปก็มีโมหะความหลงเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาทั้ง ๒ องค์นี้ ต่างก็แย่งกันครองร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบาป และก็เป็นลักษณะที่เกิดขึ้นของบุญ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็ปวัตติ(ผัน)ไปตามวิถีของจิต ไปจนถึงห้วงแห่งภวังค์ และก็อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ของเราต่อไป

อนึ่ง ที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นภาคปริยัติผสมกับภาคปฏิบัติ แต่ถ้าจะพูดหรือจะคุยให้เข้าใจง่ายๆว่ามันใช้เวลานานเท่าใด คือการที่บาปก็ดี บุญก็ดี มันเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตนั้น ใช้เวลานานเท่าไร ประมาณ ๕ วินาทีเท่านั้น ท่านทั้งหลาย

สมมติว่า เราดีดนิ้วมือของเรานี้ มันยังช้ากว่า ถ้าอุปมาก็เหมือนกับการถ่ายภาพ เราเอากล้องถ่ายรูปนั้นถ่ายรูป พอดีเรากดชัตเตอร์เท่านั้นแหละ ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์ม ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราคิดจะทำบุญหรือทำบาป พอเราคิดจะทำบุญทำบาปเท่านั้นแหละ มันไปแล้ว มันไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิตเราแล้ว มันลงไปถึงที่แล้ว นี่เราพูดในหลักของการปฏิบัติ

แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัตินั้น คล้ายๆ กับว่ามันจะใช้เวลานานๆ ต้องมานึกมาคิดให้รู้ให้เข้าใจเสียก่อนแล้วถึงจะสั่ง เสร็จแล้วก็ถึงจะขึ้นมารับเอาบุญเอาบาป เมื่อรับไปแล้วจึงจะได้มาพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วจึงจะมาตัดสินรับเอา เมื่อตัดสินรับเอาแล้วจึงจะมาเสพ มาดูว่ามันเป็นบุญเป็นบาปได้อย่างไร เสร็จแล้วก็จึงจะมารับไปเก็บไว้ในที่ที่เราต้องการ คือภวังคจิต เหมือนกับว่าใช้เวลาเป็น ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง เราฟังแล้ว คล้ายๆ ว่าจะเป็นอย่างนั้น

แต่ที่จริงแล้ว มันเกิดเร็วจนไม่สามารถที่จะคิดทัน คือมันเกิดขึ้นประมาณสัก ๕ วินาทีเท่านั้น มันก็ถึงห้วงแห่งภวังคจิตแล้ว เหมือนกับเราถ่ายภาพ พอเรากดชัตเตอร์เท่านั้น ภาพก็ไปติดอยู่ในฟิล์มแล้ว ข้อนี้ฉันใด บาปก็ดี บุญก็ดี ที่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็เหมือนกันฉันนั้น

ทีนี้ บาป เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะนอนอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตของเราอย่างนั้นตลอดไป ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะกำจัดให้มันหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราได้

แม้ว่าเราจะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนา จนได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ เป็นต้น ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไปได้

หนทางก็มีอย่างเดียว คือเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังที่เราท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ คืออานุภาพของการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ เป็นสภาวธรรมที่มีอำนาจ ที่มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานได้

ดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย ทรงได้ทำลายกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดผู้สร้างเหย้าสร้างเรือนให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จนได้พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ในการตรัสรู้ เป็นพระสยัมภู ผู้รู้เอง ตรัสรู้เอง หรือเหมือนกับเหล่าพระอริยเจ้าทั้งหลายที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า

ท่านก็ทำลายกิเลสตัณหาโดยวิธีเดียวกันหรือในลักษณะเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว นี่เป็นกฎ เป็นหลักสัจธรรม หรือเป็นหลักของอมตธรรม คือเป็นธรรมะที่ไม่ตาย ใครที่มาประพฤติปฏิบัติ จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นอุบาสก อุบาสิกา ชาติไหนภาษาใดก็ตาม จะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมก็ตาม มาประพฤติปฏิบัติเพื่อทำลายบาป มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ต่อเมื่อใดที่เรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะสมบูรณ์แล้ว เมื่อสติสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นรูปเห็นนาม ว่าในร่างกายยาววาหนาคืบของเรานี้ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม

เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นสภาวะทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป นอนเนื่องอยู่ในรูปในนามของเรา หรือนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เมื่อเห็นบาปเห็นบุญนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง สภาวะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่เป็นบุญเป็นบาป เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป มันจะเห็นพระไตรลักษณ์

เมื่อใดเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้น ขณะใด วินาทีใด ขณะนั้น หรือว่าวินาทีนั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ ของเราก็จะนึก จะคิด จะสั่งทันที คือ เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ พอดีเราเห็นพระไตรลักษณ์ จะเป็นอนิจจังก็ตาม เป็นทุกขังก็ตาม เป็นอนัตตาก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้น มันไม่เหมือนกัน

บางท่านก็อนิจจังปรากฏชัด ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยได้ให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว ก็จะเห็นอนิจจังชัด แต่ทุกขังและอนัตตาก็มีอยู่ แต่มันไม่ชัดเท่าอนิจจัง

ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมาแล้ว ได้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานไว้มาก ทุกขังก็จะปรากฏชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา

ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้น ได้เจริญวิปัสสนามามาก ได้บำเพ็ญวิปัสสนามามากกว่า การให้ทาน รักษาศีล การเจริญสมถะ เมื่อเป็นเช่นนี้ อนัตตาก็จะปรากฏชัดเจน

เมื่ออนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นปั๊บวินาทีใด วินาทีนั้น ชวนจิต ของเรา ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็จะดับลงไป มันจะเกิดขึ้นขณะเดียว แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สัมปฏิจฉนจิต ก็เกิดขึ้นมา รับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิตก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นอยู่ชั่ว ๗ ขณะจิต ดังกล่าวมาข้างต้น คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ชั่ว ๗ ขณะจิต แล้วก็จะดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมานำเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิต แล้วก็จะดับไป

เมื่อดับไปแล้ว ภวังคจิต ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นไว้ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นต่อไป

ในทำนองเดียวกันนี้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันลงไปถึงห้วงแห่ง ภวังคจิต มันก็จะทำหน้าที่ทำลายกิเลสตัณหา ทั้งที่เป็นโลภะ ทั้งที่เป็นโทสะ ทั้งที่เป็นโมหะ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพราะว่า ในขณะนี้ก็ถือว่าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันมีกำลังกล้าแล้ว

เมื่อศัตรูไปพบกัน ท่านทั้งหลายก็คงคิดได้ว่ามันเป็นอย่างไร เมื่อใดศัตรูมาพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไพรีต่อไพรีไปพบกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดไฟกับน้ำไปเจอกัน มันก็ทำลายกันทันที เมื่อใดน้ำมากกว่าไฟ น้ำก็ดับไฟทันที เมื่อใดไฟมากกว่าน้ำ ไฟก็ลุกโพลงไหม้โน่นเผานี่ทันที ข้อนี้ฉันใด

ในขณะที่พระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้น แล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต จนไปถึงห้วงแห่งภวังค์ เมื่อถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว มันก็จะทำลายโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเรา ถ้าหากว่ามันมีกำลังไม่มาก มันก็จะค่อยทำลายไปๆ ตามลำดับๆ

เหมือนกับที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ขณะนี้ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อยากนั่งหนอๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ คิดหนอ ปวดหนอ เฉยหนอ ดีใจหนอ ทุกข์ใจหนอ อะไรทำนองนี้ ถ้าหากว่ากำลังพระไตรลักษณ์ไม่มาก หรือไม่มีกำลังพอ มันก็จะทำลายกิเลสหรือบาป ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิตนั้นให้ค่อยหมดไปๆ ตามลำดับๆ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ค่อยดับไปๆ

ไม่ใช่ว่ามันจะดับไปพับเดียวเลยนะท่านทั้งหลาย มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้วก็มันเกิดพั่บขึ้นมา ก็จะทำลายกิเลสตัณหาให้ดับพึ่บไปเลยทีเดียว เหมือนกันกับจุดระเบิดปรมาณู หรือทิ้งระเบิดปรมาณูหรือนิวเคลียร์ ไม่ใช่อย่างนั้น คืออำนาจศีล สมาธิ ปัญญา หรือพระไตรลักษณ์นี้ มันจะค่อยทำลายบาปให้หมดไปๆ ตามลำดับๆ

เหมือนกันกับเราใช้กรดลบหมึก ถ้ากรดลบหมึกนั้นมันมีความเข้มข้น คือความเปรี้ยวของมันนั้นมันมาก มันเข้มข้น เราหยดลงไปที่แผ่นน้ำหมึก จะเป็นหมึกสีน้ำเงินก็ตาม สีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม หมึกนั้นก็จะค่อยจางไปทันที ถ้าว่ารสเปรี้ยวมันเข้มข้นมาก เราหยดลงไปพั่บ หยดเดียวเท่านั้น ภาพหมึก(หรือรอยน้ำหมึก)นั้นก็หายไปเลย แต่ถ้าว่าความเข้มข้นของมันไม่มาก มันก็ค่อยจางไปๆ ตามลำดับจนหมดไป ข้อนี้ฉันใด วิธีที่พระไตรลักษณ์ทำลายกิเลสตัณหาก็เหมือนกัน

อุปมาเหมือนเราตีงู ตีที่หัวของมัน มันก็ตายแล้ว หัวของมันก็กระดุกกระดิกไม่ได้แล้ว แต่ว่ากลางตัวและหางของมันยังกระดุกกระดิกอยู่ ยังเคลื่อนไหวได้อยู่ เราก็เอาแส้มาเฆี่ยน เฆี่ยนไปๆ จนถึงสะดือของมัน ตั้งแต่สะดือขึ้นมาถึงหัว มันก็จะค่อยๆ หมดกำลังไม่กระดุกกระดิกไม่เคลื่อนไหวแล้ว แต่หางของมันยังกระดิกอยู่ ยังกระดิกยิกๆอยู่ เราก็เฆี่ยนไป เฆี่ยนไปตามหางของมัน ผลสุดท้ายมันก็หมดสภาพ กระดุกกระดิกไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงซึ่งนอนเนื่องอยู่ในห้วงแห่งภวังคจิต เมื่ออำนาจของศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นเพราะการเจริญวิปัสสนาของพวกเราทั้งหลาย กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็จะค่อยดับไปๆ ตามลำดับๆ จนสามารถเป็นสมุจเฉทปหานเป็นครั้งสุดท้าย คือมันจะดับไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นวิกขัมภนปหานบ้าง ตทังคปหานบ้าง ผลสุดท้ายก็จะเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นวิมุตติหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง

อันนี้เป็นหลักการหรือวิธีการที่เราจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป เหตุนั้นแหละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราท่านทั้งหลายเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ทุกวันๆ นี้ เราทำเพื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อจะออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเราจะทำบ้าๆ บอๆ หรือว่าเราจะทำเพราะว่าครูบาอาจารย์สั่งไว้อย่างนี้ หรือว่าเราทำเพื่อให้ถูกตามตำรับตำราที่ครูบาอาจารย์เขียนไว้อย่างนี้ ไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นการเข้าใจผิดแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็เป็นการเข้าใจผิด

คือการที่เราเดินจงกรมกำหนดบทพระกัมมัฎฐานอยู่ตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็กำหนด ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ เราก็กำหนดอยู่ตลอดเวลา

เพราะเหตุไรเราจึงกำหนด เพราะว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างสติของเราให้มีอานุภาพ มีอำนาจ มีพลัง มีสมรรถนะสูง เมื่อใดสติของเรามีอานุภาพ มีพลัง มีกำลัง มีสมรรถนะสูงแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่คนทั้งหลายเขาจะดับไฟมันไหม้บ้าน ไหม้ตึกรามบ้านช่อง หรือไหม้ตลาด หรือไหม้ในตัวอำเภอ ตัวจังหวัด ดังที่เราเคยประสบพบเห็นมา เขาจะดับไฟด้วยวิธีอย่างไร บางทีเขาก็ใช้น้ำฉีด บางทีก็ใช้ดินกลบ ถ้าเอาน้ำฉีดยังไม่ดับ เอาดินกลบมันก็ยังไม่ดับ จำเป็นก็ต้องใช้สารเคมี โปรยลงไปๆ ผลสุดท้ายไฟมันก็ดับ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน เราจะดับกิเลสตัณหา หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้น เราจะเอาอย่างอื่นไปดับ มันก็ไม่สามารถที่จะดับได้เลยท่านทั้งหลาย

ที่ท่านกล่าวไว้ว่า การให้ทานเป็นการกำจัดหรือทำลายมัจฉริยะ จริงอยู่ท่านพูดก็จริงอยู่ แต่มันไม่ใช่ว่าทำลายโดยเด็ดขาด เป็นแค่เราข่มมันไว้ สะกดมันไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น ในขณะที่เราให้ทานนั้น เราสามารถข่มมัจฉริยะความตระหนี่ หรือโลภะความโลภนี้ ให้มันสงบลงไป แน่นิ่งลงไป ไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาเท่านั้น แต่ว่ามันยังไม่ดับ

ส่วนการรักษาศีลเพื่อจะทำลายความโกรธ หรือว่าเจริญเมตตาเพื่อว่าจะทำลายความโกรธอย่างนี้ ที่จริงในขณะนั้นความโกรธมันก็ยังไม่ดับ เป็นแต่ว่ามันอ่อนกำลังลงไป หรือว่ามันสงบแน่นิ่งอยู่ในภวังคจิตเท่านั้น แต่เพราะว่าศีลของเรามีกำลัง หากเมตตาภาวนาของเรามันมีกำลัง เมื่อมันมีกำลังเหนือโทสะแล้ว โทสะก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาไม่ได้ แต่มันยังไม่หมด ยังไม่สิ้น

ถ้าเราเจริญสมถะภาวนาเพื่อทำลายโมหะ ที่ท่านพูดไว้ก็จริงอยู่ แต่มันยังทำลายไม่ได้หมด เป็นแต่เพียงว่าในขณะนั้นเราสามารถข่มโมหะ หรือว่าข่มอวิชชานี้ให้สงบลงไป ให้แน่นิ่งลงไป เพื่อว่าจะไม่ให้มันแสดงปฏิกิริยาขึ้นมาต่อต้านเราในขณะที่เจริญภาวนาอยู่นั้น แต่ว่ามันยังไม่หมด

สรุปสั้นๆว่า การให้ทาน การรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนานี้ เป็นแต่เพียงอุบายวิธีที่จะข่มโลภะ โทสะ โมหะ นั้นให้อ่อนกำลังลงไป ให้เบาบางลงไป แต่ยังไม่หมดยังไม่สิ้น

ต่อเมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนมีสติสัมปชัญญะแก่กล้า เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สติของเรานี้ก็จะทำหน้าที่ดับกิเลสตัณหาที่มีอวิชชาเป็นประธานเป็นใหญ่ทันที คือการที่จะดับกิเลสตัณหานั้น เราจะเอาอะไรๆ ไปดับมันก็ดับไม่ได้ นอกจากวิปัสสนา

เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาภาวนา เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจะเอาสติของเรานี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นบริวาร ให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา

ถ้าเราดับได้ครั้งหนึ่ง คือสติเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง เห็นพระไตรลักษณ์ชัดเจนแจ่มแจ้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป แต่ยังไม่หมดสิ้น คือกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ถ้ากล่าวตามหลักอภิธรรมก็ว่า โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตปั๊บขึ้นมาครั้งหนึ่ง โลภะเราจะละได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะก็ทำลายไปได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ถ้าหากว่าสติของเรามันสมบูรณ์ครั้งที่ ๒ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถยังมัคคจิตให้เกิดปั๊บขึ้นมาครั้งที่ ๒ ก็จะสามารถทำโลภะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้อ่อนกำลังลงไป แต่ยังดับไม่ได้นะ เป็นแต่เพียงทำให้อ่อนกำลังลงไป

ถ้าสติของเรามันสมบูรณ์แบบครั้งที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคจิตครั้งที่ ๓ เมื่อมัคคจิตเกิดครั้งที่ ๓ มัคคจิตที่ประกอบด้วยสตินั่นแหละ ก็สามารถทำลายโลภะได้เพียง ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะหมดไป ตอนนี้โทสะหมดไปแล้ว

ถ้าสติของเรามันเกิดพร้อมด้วยมัคคจิตครั้งที่ ๓ โทสะหมดไปแล้ว กามราคะ คือการคิดจะสร้างเหย้าสร้างเรือน มีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย การที่คิดว่าจะสึกไปเอาลูกเอาเมีย สร้างครอบสร้างครัว อะไรทำนองนี้ ไม่มีแล้ว หมดแล้ว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา

ถ้าเราเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถทำให้สติของเรามันสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ในกาลใด ในกาลนั้น จตุตถมรรคคือมรรคที่ ๔ ก็จะเกิดขึ้นมาทำหน้าที่ประหารกิเลสตัณหาที่เหลืออยู่ ให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ หรือว่าโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ ตามแนวของอภิธรรม

เมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นมาครั้งที่ ๔ นี้ จะสามารถทำลายโลภะทั้ง ๘ ตัวนั้นให้หมดไป ส่วนโทสะมันหมดไปก่อนแล้ว โมหะที่ยังเหลืออีก ๑ ตัวคืออวิชชาก็จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน

ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ของเรามันจบแล้ว มีชาติสิ้นแล้ว มีข้อวัตรปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติ ก็ได้ปฏิบัติให้สมบูรณ์แบบแล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราได้เราถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน

นี่แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วิธีการหรือหลักการหรือว่าภาคทฤษฎี ที่บาปก็ดี บุญก็ดี เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา มันเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ และมันดับไปก็ดับไปในลักษณะดังที่กระผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อันนี้เป็นการคุยเรื่องบุญเรื่องบาป แล้วก็เรื่องการทำลายบาปทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป

ต่อไปก็ขอคุยเรื่องปฏิบัติสักเล็กน้อย ท่านทั้งหลาย เรื่องการปฏิบัตินี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือการเดินจงกรมนี้ ไม่สามารถที่จะสนองปสาทะศรัทธาของท่านครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ให้เต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเพียง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ทำไม่ได้

เพราะเหตุใดจึงทำไม่ได้ เพราะสถานที่ของเราสร้างยังไม่เสร็จ บริเวณที่จะเดินจงกรมนั้น ยังไม่พอ ยังไม่มี ต้องทำอีกสักหนึ่งปีหรือหนึ่งแล้ง จึงจะมีสถานที่เดินจงกรม ก็คิดว่าจะไปหาปูนฉาบ แล้วก็จะหาหญ้าหาแฝก หรือว่าเทคอนกรีต อะไรทำนองนี้ เป็นหลังคา พอเราจะเดินจงกรมได้

ในขณะนี้ สถานที่ที่จะเดินจงกรมนั้นไม่มีเลย จะมีก็มีแต่คูสระ หรือปรกกรรมที่ใกล้ๆ ที่ท่านทั้งหลายอยู่ ที่ไม่ได้สั่งว่าเดินจงกรมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เพราะเหตุนั้นแหละเป็นปัจจัย ก็คิดว่าท่านครูบาอาจารย์ทุกรูปโดยส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าก็คงจะได้เดินจงกรมตามกำลัง ตามความสามารถ ตามโอกาสหรือสิ่งแวดล้อมมันเอื้ออำนวย

เหตุนั้น ก็ขอใ


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 07 มีนาคม 2560 16:38:19

(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQgY41efZtSzr0DVOslm2STSPqFUDvExEas4_nMjZLZUvncpuJB)

สติกับโมหะ

วันนี้ จะได้นำธรรมะอันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติสืบไป

คำว่า สติ คือความระลึกได้ หมายความว่า เราระลึกได้เสียก่อน จึงทำ จึงพูด จึงคิด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราระลึกเสียก่อนจึงทำกิจนั้นๆ จึงเรียกว่ามีสติ

สตินี้มีอุปการะแก่ธรรมทั้งหลายในฝ่ายกุศล นับตั้งแต่การให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ไหว้พระก็ดี ทำวัตรสวดมนต์ก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี ตลอดถึงเจริญสมถภาวนาวิปัสสนาภาวนาก็ดี ก็มีสติเป็นอุปการะ หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราจะได้มาซึ่งฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติก็ดี หรือว่าจะสำเร็จซึ่งวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผลก็ดี ต้องอาศัยสติเป็นอุปการะทั้งนั้น ถ้าขาดสติ เราก็ไม่สามารถจะบรรลุคุณธรรมเหล่านั้นได้ สตินั้นเป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลายในฝ่ายที่เป็นกุศล

สำหรับตัว โมหะ แปลว่า ความหลง มีความหมายถึง ๗ ประการ

๑. หมายความว่า รู้สิ่งที่ไม่ควรรู้ ได้แก่ รู้ทุจริตทั้ง ๓ คือรู้การประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ได้ดีที่สุด เช่น รู้วิธีฆ่าสัตว์ รู้วิธีลักทรัพย์ รู้วิธีประพฤติผิดในกาม รู้วิธีทำชู้สู่สม ล่วงเกินลูกเขาเมียเขาผัวเขาได้ดีที่สุด รู้วิธีโกหกต้มตุ๋น ยักยอกหลอกลวง ฉุดคร่าอนาจาร เนรคุณ อกตัญญู และรู้วิธีพูดคำหยาบ คำที่ไร้สาระประโยชน์ได้ดีที่สุด

๒. หมายความว่า ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้สุจริตทั้ง ๓ ประการ คือไม่รู้จักเจริญเมตตา ไม่รู้จักสันโดษยินดีด้วยของๆ ตนตามมีตามได้ ไม่รู้จักสทารสันโดษยินดีเฉพาะภรรยาสามีของตน ไม่รู้จักค่าของการพูดคำสัตย์คำจริง ไม่รู้จักพูดวาจาอ่อนหวาน ไม่รู้จักคำพูดที่ทำให้ผู้อื่นสมานสามัคคี เคารพนับถือรักใคร่กัน ไม่รู้จักพูดคำอันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ไม่รู้จักวิธีทำบุญให้ทาน และอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน ทั้งไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน เป็นต้น

๓. หมายความว่า ไม่รู้จักขันธ์ ๕ และความหมายของขันธ์ ๕

๔. หมายความว่า ไม่รู้จักอริยสัจ ๔ คือไม่รู้จักทุกข์ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักความดับทุกข์ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

๕. หมายความว่า ยังสรรพสัตว์ให้แล่นไปผิดทางให้หลงทาง คือให้แล่นไปในวัฏสงสารหาที่สุดมิได้

๖. หมายความว่า หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์

๗. หมายความว่า ไม่รู้จักวิปัสสนาภูมิ คือไม่รู้จักทางที่จะให้เกิดปัญญา ได้แก่ ไม่รู้จักอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น

โมหะนี้ มีความไม่รู้สภาวะตามความเป็นจริง คือไม่รู้รูปนาม ไม่รู้ปัจจุบัน ไม่รู้พระไตรลักษณ์ ไม่รู้มรรค ไม่รู้ผล ไม่รู้นิพพาน มีใจอันมืดบอด

โมหะนี้แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ โมหะอย่างหยาบ ๑ โมหะอย่างกลาง ๑ โมหะอย่างละเอียด ๑

โมหะอย่างหยาบ ได้แก่ ความหลงที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา พาให้เกิดการฆ่ากัน ลักของกัน ประพฤติผิดประเวณี โกหกต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของผู้อื่น พูดคำหยาบเป็นต้น

โมหะนี้ เวลาโลภะเกิดก็เกิดด้วย เวลาโทสะเกิดก็เกิดด้วย ถ้าโลภะโทสะไม่เกิด ก็เกิดได้เองตามลำพัง โมหะนี้เป็นตัวสำคัญกว่าโลภะและโทสะ โลภะและโทสะนั้นถึงจะมีโทษมากอยู่ก็จริง แต่ถ้าจะพูดถึงอำนาจและการละได้ยากนั้น ก็ได้แก่ตัว โมหะ

โมหะนี้ มีคติคล้ายกับปัญญา คล้ายกับญาณ ดังนั้นในหลักธรรมท่านจึงกล่าวไว้ว่า ญาณคติธรรม แปลว่า ธรรมที่มีคติคล้ายกับปัญญา คือความรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ มีอยู่ ๕ อย่างคือ วิตก วิจาร ทิฏฐิ โลภะ โมหะ

ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมควรระวัง ญาณคติธรรม นี้ให้มาก คือญาณคติธรรมนี้เมื่อเกิดขึ้น จะเหมือนกับเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล หรือเหมือนกับเราได้ฌานหรือเข้าฌาน เพราะว่าเข้าฌานก็ต้องผ่านวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

แต่ญาณคติธรรมนี้ แปลกแยกกัน ๓ องค์เบื้องปลาย คือเบื้องต้น วิตก วิจาร มีเหมือนกัน แต่เมื่อมาถึงองค์ที่ ๓ ถ้าทิฏฐิเกิดเป็นญาณคติธรรม เราจะทำการสังเกตญาณคติธรรมได้ง่ายๆ คือเมื่อผ่านวิตกวิจารไปแล้ว ทิฏฐิความเห็นผิดจะเกิดขึ้นมา โลภะ คือความปลื้มใจ ดีใจ พอใจจะเกิดขึ้นมาผิดปกติ หลังจากนั้นโมหะก็จะเกิดขึ้น

โมหะเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ลืม ทำให้จำอารมณ์ไม่ได้ จำบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี ไม่ได้ปัจจุบันธรรม กำหนดอยู่ว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ อยู่ก็ตาม ทำให้เผลอให้ลืมไป ทำให้ขาดความรู้สึกไปนิดหนึ่ง แล้วก็รู้สึกขึ้นมา เรียกว่า ญาณคติธรรม

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายเพียรพยายามตั้งสติสัมปชัญญะให้มั่น เวลาจะสัปหงกไปข้างหน้า หรือผงะไปข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวา ก็พยายามจำให้ได้ว่ามันไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ก็จำให้ได้ อย่าให้ญาณคติธรรมนี้เกิดครอบงำจิตใจของเราได้

เพราะว่า ญาณคติธรรมนี้เป็นเหตุให้เราเข้าใจผิด หลงผิด ได้ของปลอม คือได้สมาธิปลอม ได้สมาบัติปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม

เมื่อญาณคติธรรมเกิดอย่างรุนแรง ก็เป็นเหตุให้เกิดวิปลาสขึ้นมา เช่น จิตวิปลาส คิดผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงาม บางทีก็เข้าใจผิดว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์แล้ว

โมหะอย่างกลาง นี้เกิดขึ้นในใจของแต่ละบุคคล เช่น นึกถึงกามคุณ ๕ แล้วพอใจ ลุ่มหลง ติดอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ ไม่ได้ปรากฏออกมาภายนอกให้ผู้อื่นรู้ รู้เฉพาะตนคนเดียวเท่านั้น

โมหะอย่างละเอียด นั้นได้แก่ อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจของแต่ละบุคคล ดุจขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม หรือดุจยางที่ต้นโพธิ์ต้นไทร หรือดุจเหง้าอุตพิดฉะนั้น

ธรรมดาต้นโพธิ์ต้นไทร เรามองไม่เห็นยางของมัน แต่ถ้าเอามีดไปกรีดจะเห็นยางได้ ฉันใด อนุสัยกิเลสที่นอนดองอยู่ในใจก็เหมือนกันฉันนั้น เรามองดูเผินๆ เหมือนกับว่า คนนี้ไม่มีกิเลสตัณหา แต่พอมีอารมณ์มากระทบเท่านั้น ก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาทันที

อุปมาเหมือนกับงูที่นอนอยู่ในโพรงไม้ ถ้ามองดูเผินๆ เหมือนกับมันไม่มีความหิว ความอยากอะไร แต่ถ้าบังเอิญมีกบหรือเขียดผ่านมาเท่านั้น งูตัวนั้นก็จะจับเอากบหรือเขียดนั้นกินเป็นอาหารทันที ข้อนี้ ฉันใด อนุสัยกิเลสก็เหมือนกันฉันนั้น

โมหะกิเลสนั้น เมื่อเกิดขึ้นจะให้โทษแก่ผู้นั้น คือทำให้ลืมคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ลืมคุณพ่อแม่ ลืมบาปลืมบุญ ลืมคุณลืมโทษ ลืมประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ลืมคุกลืมตะราง ประพฤติออกนอกลู่นอกทาง คือประพฤติชั่วช้าหยาบคาย ทางกาย ทางวาจา ทำให้ละเมิดศีลธรรม ทำตนเองและบุคคลเหล่าอื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตัดประโยชน์โลกนี้โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน โดยมาก เวลาตาย โมหะนี้จะนำไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังมีหลักฐานรับรองไว้ว่า

โมเหน หิ นิจฺจํ สมฺมุฬฺหํ ติรจฺฉานโยนึ อุปปชฺชนฺติ

จริงอยู่บุคคลทั้งหลายตายไปเกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีความลุ่มหลงมัวเมาอยู่เป็นนิจ ก็เพราะอำนาจแห่งโมหะ ดังนี้

โมหะนี้เป็นราชาแห่งธรรมทั้งหลาย ในฝ่ายอกุศลฝ่ายบาป

สติที่เป็นพระราชาฝ่ายบุญกุศลนั้น ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นนครหรือเป็นราชสมบัติ

ส่วนโมหะที่เป็นพระราชาฝ่ายบาปอกุศล ก็ยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ อันยาววาหนาคืบนี้ เป็นพระนครหรือเป็นราชสมบัติเหมือนกัน

หมายความว่า กายนครคือร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะนี้ มีสภาวธรรมที่เป็นใหญ่หรือปกครองอยู่ ๒ อย่างคือสติกับโมหะ

อุปมาเหมือนกับพระราชาซึ่งครองนครเดียวกัน ต่างองค์ต่างก็แย่งชิงกันปกครอง เมื่อใดพระยาสติมีกำลังเข้มแข็งพอ ก็กรีฑาทัพยึดกายนครนี้มาปกครอง ตกแต่งกายนครนี้ให้สวยสดงดงาม น่าอยู่น่าอาศัย พาทำบุญทำทาน พาเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

ขณะใดพระยาสติอ่อนกำลังลง แต่พระยาโมหะมีกำลังเข้มแข็ง พระยาโมหะก็จะกรีฑาทัพยึดกายนครไว้ในอำนาจ แล้วก็บัญชาการให้ลูกสมุนเที่ยวฆ่า เที่ยวเบียดเบียน เที่ยวลักขโมยปล้นจี้ เที่ยวฉุดคร่าข่มขืนกระทำชำเราอนาจาร โกหกหลอกลวงต้มตุ๋น ยุยงให้ประชาชนแตกกัน เกลียดกัน แตกร้าวสามัคคีกัน เป็นนักเลงเจ้าชู้ นักเลงสุรา เข้าคลับเข้าบาร์ เป็นนักเลงเล่นการพนัน กำหมัดกัดฟัน พูดจาหยาบคาย วางเพลิงจุดบ้านเผาเมือง เป็นต้น

เหตุนั้น การที่เราท่านทั้งหลายมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการเข้าสู่สมรภูมิสนามรบ รบกันที่ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันธรรมเป็นสนามรบของสติกับโมหะ เหมือนกันกับการทำศึกสงคราม ศัตรูข้าศึกรบกัน ณ ที่ใด ที่นั้นชื่อว่าสนามรบ

วิปัสสนาจะเอาสัมมาสติอันเป็นแม่ทัพฝ่ายกุศลมารู้ทันปัจจุบันธรรมก่อน มีสัมมาวายามะเพียรชอบเป็นเครื่องสนับสนุน มีโสภณเจตสิกเหล่าอื่นเป็นเครื่องเสริมให้สติสมบูรณ์ ให้เอาชนะโมหะได้

สติกับโมหะรบกันที่ปัจจุบันธรรม ดังจะแสดงดังต่อไปนี้

๑. เมื่อขณะเห็น สติระลึกรู้ทัน โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศล คือศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา แต่ถ้าในขณะเห็นไม่มีสติรู้ทัน บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้น บาปอกุศลก็เข้าไปในขันธสันดานของเรา

๒. เมื่อขณะได้ยินเสียง สติรู้ทันคือเราได้กำหนด โมหะตัวเผลอเข้าไปไม่ได้ บุญกุศลคือศีล สมาธิ ปัญญาเป็นต้น ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา เมื่อขณะได้ยิน สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา

๓. เมื่อขณะรู้กลิ่น สติระลึกทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้กลิ่น สติรู้ไม่ทัน คือไม่ได้กำหนดหรือว่ากำหนดไม่ทัน บุญกุศลก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีแต่โมหะตัวเผลอและบาปอกุศลทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น

๔. เมื่อขณะรู้รส สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อขณะรู้รส สติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอพร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เกิดขึ้น เป็นเหตุให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

๕. เมื่อขณะรู้สึกทางกาย สัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น มีสติรู้ทัน จิตสะอาดบริสุทธิ์ โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายก็เกิดขึ้น ถ้าสติรู้ไม่ทัน โมหะตัวเผลอ พร้อมทั้งบาปอกุศลทั้งปวงก็เข้าไปได้ ทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

๖. เมื่อขณะนึกคิด คู้ เหยียด เคลื่อนไหว เป็นต้น สติรู้ทัน โมหะตัวเผลอก็เข้าไปไม่ได้ บุญกุศลทั้งหลายคือศีล สมาธิ ปัญญา ก็เกิดขึ้น ขณะใดรู้ไม่ทัน คือไม่ได้ตั้งสติเอาไว้ ความเผลอได้โอกาสเข้ามาพร้อมทั้งอกุศลทั้งหลายทั้งทำจิตใจของเราให้เศร้าหมอง

เหตุนั้น ท่านผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลายพึงประคองสติ บำรุงสติให้สมบูรณ์ ขยันหมั่นเพียรตั้งสติบ่อยๆ โมหะตัวเผลอซึ่งเป็นศัตรูของสติก็จะลดน้อยลงๆ เบาบางลงตามลำดับ จนกระทั่งดับสิ้นเชื้อสิ้นยางแล้ว จะได้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว

อุปมาเหมือนกันกับปลูกต้นไม้ ต้องหมั่นพรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชอยู่เสมอ ต้นไม้จึงจะเจริญงอกงามได้ แล้วผลิดอกออกผลให้แก่เรา ถ้าไม่เอาใจใส่พรวนดินรดน้ำใส่ปุ๋ยกำจัดศัตรูพืชเป็นต้น ต้นไม้ของเราก็จะอับเฉาลงไปตามลำดับๆ และเจริญเติบโตขึ้นไปไม่ได้ ผลและดอกที่จะออกมาให้เห็นก็ไม่มี ฉันใด แม้สติของเราถ้าไม่หมั่นบำเพ็ญเสมอแล้ว อาจจะเสื่อมลงได้ ฉันนั้น

แต่สุดท้ายก็จะมีรูปนามขันธ์ ๕ ที่เศร้าหมองเพราะบาปอกุศลทั้งปวงไม่อาจที่จะพ้นทุกข์ได้ แต่ถ้านักปฏิบัติธรรมท่านใดเป็นผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญสติให้ระลึกรู้ทันอยู่เสมอ ผู้นั้นชื่อว่าเดินทางพร้อมด้วยวาสนาบารมีที่จะถึงที่สุดคือพระมหานฤพานได้

ดังนั้น ขอท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงได้เร่งขวนขวายพยายามตั้งสติให้ทันปัจจุบัน ถึงแม้การกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้มุมานะกัดฟัน อดทนพยายามที่จะกำหนดร่ำไป หรือหากว่าการปฏิบัติพระวิปัสสนาของเราทั้งหลายจะได้รับความลำบากยากเย็นสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายหมั่นเตือนสติตนเองอยู่เสมอว่า ความทุกข์ทั้งหลายที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ สู้ความทุกข์ที่เราจะได้รับในอบายไม่ได้

หากว่าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตภาพนี้ไปแล้ว เกิดประมาทหรือพลาดพลั้งเมื่อใด อาจจะไปตกอบายได้ หากว่าเราไปตกอบายแล้ว ก็จะได้รับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอย่างนับไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตของเราก็จะเกิดความพยายามในการประพฤติปฏิบัติต่อไป

อนึ่ง ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า หากเปรียบเทียบกับความทุกข์ที่เราเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารแล้ว เป็นความทุกข์เพียงนิดเดียวเท่านั้น ส่วนความทุกข์ที่เราจะเวียนว่ายอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น เป็นความทุกข์เหลือที่จะพรรณนาให้จบลงได้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นเหมือนกับภิกษุใจเพชร ที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป ได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว ได้พากันออกป่าทั้ง ๓๐ รูป เมื่อถึงป่าแล้ว ก็ได้ตั้งสัจจะปฏิญญาต่อกันว่า

เราท่านทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพร้อมกันแล้ว เรามาสู่สถานที่นี้เพื่อบำเพ็ญความเพียร เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เราอย่าพูดอย่าคุยกัน ให้อยู่ที่ละรูปๆ อย่าอยู่รวมกันถึง ๒ รูป ให้อยู่แห่งละรูปๆ ตั้งอกตั้งใจเจริญสมณธรรม เพื่อจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามเจตนารมณ์ที่เราท่านทั้งหลายตั้งไว้ เมื่อถึง ๑๕ วันเราจึงมาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ

นัดหมายกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ที่ละองค์ๆ ที่ละรูปๆ นั่นแหละ ไม่อยู่ที่เดียวกันถึงสองรูป

แต่อนิจจา พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นหาทราบไม่ว่า ในป่านั้นมีเจ้าป่ารักษาอยู่หรืออาศัยอยู่ พระภิกษุจำนวน ๓๐ รูปนั้นหารู้ไม่เลย เมื่อประพฤติปฏิบัติไป ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง จวนจะสว่างก็จะพากันพักผ่อนหลับนอน เสือใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าป่า เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องมาคาบพระภิกษุไปกินวันละรูปๆ ในขณะที่เสือคาบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปกินนั้น พระภิกษุรูปนั้นก็หาได้ปริปากไม่ ไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือแม้แต่คำเดียว

เพราะเหตุไร

เพราะได้ตั้งสัจจะไว้แล้วว่าเราจะไม่พูดกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เสือมันจะคาบไปกินก็ไม่พูด เพราะจะเป็นการผิดสัจจะที่ให้ไว้ต่อกัน เพราะว่าต่างรูปก็ต่างอยู่เฉพาะที่ของตน

ในขณะนั้น พระเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์จึงเอ่ยเผยวาจาขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความฉงนสนเท่ห์ใจยิ่งนัก ชะรอยในป่านี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งแก่พวกเราเป็นแน่นอน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอะไรเกิดขึ้น ขอให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือกัน เสร็จแล้วก็ลงอุโบสถจบแล้วก็แยกย้ายกันไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

วันนั้นเป็นวันพระอุโบสถ ต่างก็ประพฤติปฏิบัติธรรมยันรุ่งจนจะสว่าง และในขณะจวนๆ จะสว่างนั้น ภิกษุรูปหนึ่งก็เอนกายลงไป เผื่อว่าจะพักผ่อนหลับนอน แต่หาทราบไม่ว่า ในขณะนั้นมีเสือใหญ่ตัวหนึ่งอยู่ใกล้ๆ ท่าน จ้องที่จะตะครุบท่านไปกินอยู่แล้ว

ท่านก็ไม่ได้สนใจ คือไม่ได้สำรวจ ปฏิบัติธรรมมาแล้วก็เอนกายลงไป กำลังจะม่อยหลับไปนั้นแหละ เสือใหญ่ตัวนั้นก็ตะครุบท่านทันทีจะคาบไปกิน พอพระภิกษุรูปนั้นรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว รู้ว่าตนอยู่ในปากเสือแล้ว ก็จึงร้องบอกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วยๆ เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว

พระภิกษุทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ได้ยินสำเนียงเสียงร้องขอความช่วยเหลือ พระภิกษุทั้งหลายจำนวน ๑๔ รูป ก็วิ่งไล่ตามไป ไล่ตามไปๆ เสือก็คาบพระรูปนั้นวิ่งไปเรื่อย พระภิกษุทั้งหลายก็วิ่งไล่ไปเรื่อยๆ จนไปถึงตีนเขา เมื่อถึงตีนเขา เสือตัวนั้นก็คาบพระภิกษุรูปนั้นวิ่งขึ้นไปยอดเขา คือเป็นทาง ก็วิ่งขึ้นไปๆ จนถึงยอดเขา พระภิกษุที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันก็ไม่สามารถที่จะตามไปช่วย

ก็ได้แต่ร้องบอกอยู่ที่เชิงเขาว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ได้ตามมาช่วย พวกผมทั้งหลาย ตามมาช่วยท่านจนหมดความสามารถที่จะช่วย บัดนี้ผมทั้งหลายไม่สามารถที่จะตามไปช่วยท่านได้แล้ว เราท่านได้เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

พระภิกษุรูปนั้น ซึ่งถูกเสือคาบอยู่ในขณะนั้น เสือมันก็วางพระภิกษุรูปนั้นไว้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็ได้ฟังเสียงพระภิกษุเพื่อนๆ ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน แว่วเสียงมาแต่ตีนเขา ก็มีสติสัมปชัญญะทันที ยึดเอา เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินที่นิ้วเท้าของท่านแล้วกัดกินนิ้วเท้า กัดเข้าไปๆ กินเข้าไป

ท่านก็เจริญพระกัมมัฏฐานว่า ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อย ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อย วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นจากญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงข้อเท้าเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

แต่เมื่อท่านสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังไม่ลดละความพยายาม ยังมีขันติความอดทนเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานร่ำไปว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เกิดไปเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นเสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ กัดกินเข้าไป กัดเข้าไป กินเข้าไป พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงหัวเข่า ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

แต่ถึงกระนั้น ท่านยังมีขันติความอดทนอย่างแรงกล้า ไม่ยอมลดละการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังกัดฟันอดทน ต่อสู้ เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปใหม่ และในขณะนั้น เสือก็เริ่มกัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ท่านก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ว่า ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอ เจ็บหนอไปเรื่อยๆ สลับกันไปเรื่อยๆ พอเสือกัดกินเนื้อของท่านไปถึงสะดือ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

แต่พระภิกษุใจเพชรเหมือนดังท่านจะด่วนปรินิพพานนั้นก็ยังหาไม่ ท่านยังมีสติสัมปชัญญะ ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้ประกอบไปด้วยอธิวาสนขันติ คืออดทนอย่างแรงกล้า ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นเด็ดขาด ตายก็ให้มันตายอยู่ที่ปากเสือนี่ คาปากเสือนี่

ท่านก็ตั้งจิตตั้งใจ รวบรวมกำลังทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งกำลังกาย ทั้งกำลังใจ กำลังสติปัญญา เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ ไปเรื่อยๆ เจริญไปๆ วิปัสสนาญาณก็สูงขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ไปเรื่อยๆ เสือก็กัดกินเนื้อของท่านไปเรื่อยๆ ในขณะเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านนั้นแหละ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านพิจารณาดูว่า เราบวชมานี้ ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม ท่านพิจารณาไปๆ ว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดี ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เราประมาทไปหน่อยหนึ่งเท่านั้นแหละ จึงถูกเสือคาบมากินในที่นี้ แต่ช่างเถอะ เรื่องนี้แล้วๆ ไป แต่บัดนี้เราบังเอิญได้พระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนสามารถยึดเอา พระอรหันตคุณ ไว้ได้ในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไม่ช้าไม่นานก็ปรินิพพาน พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป ถึงโลกุตตรสุข

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ที่เราได้รับอยู่ในขณะนี้ หลวงพ่อคิดว่า ถ้าเปรียบเทียบกับความทุกข์ของภิกษุใจเพชรแล้ว ไม่เท่าเสี้ยวหนึ่งของท่าน เพราะเหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

เพราะว่า การที่ท่านทั้งหลาย ได้เสียสละเวลามาประพฤติปฏิบัติ บ้างก็ลาญาติโยมมา บ้างก็ลาราชการมาบวช ก็ขอให้ท่านทั้งหลายถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ถึงจะทุกข์ยากลำบากสักเพียงใดก็ตาม ก็ขอให้เราใช้อธิวาสนขันติ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนกว่าจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุด หรือจนสามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคเป็นอย่างต่ำ

ในเมื่อเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขั้นปฐมมรรคแล้วก็เป็นอันว่าเราไว้ใจได้ เราได้ใบประกันชีวิต จุติจากอัตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เราเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ เป็นผู้มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน เราสามารถจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในวันข้างหน้า

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติกับโมหะ มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 10 มีนาคม 2560 16:17:59

(https://encrypted-tbn2.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSo4prL08yajfccJOx2FRElPkofKTp-qrNH57wBcQSvoGC1fgnmdQ)

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๑)

ท่านครูบาอาจารย์ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวอะไรให้พิสดาร กว้างขวาง สุขุม เพราะว่าเท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนแต่ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันแล้ว ยังเหลือไม่กี่รูปเฉพาะพระบวชใหม่ เหตุนั้น เกี่ยวกับกฎของการปริวาสนี้ กระผมจะขอพูดคร่าวๆ พอเข้าใจแก่ผู้ที่บวชใหม่ ปฏิบัติใหม่

การเข้าปริวาสนี้ เราทำเพื่อความบริสุทธิ์ ต้องการให้กายของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้วาจาของเราบริสุทธิ์ ต้องการให้ใจของเราบริสุทธิ์ เพราะว่ากาย วาจา และใจของเรายังไม่บริสุทธิ์ การเจริญพระกัมมัฏฐานนั้นก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของเราได้

เหตุนั้น เราจึงต้องประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าปริวาส ก็ขอปรับความเข้าใจว่า หลวงพ่อไม่ได้หมายความว่า ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันต้องครุกาบัติ เรื่องอย่างนี้หลวงพ่อไม่ได้คิด และก็หลวงพ่อไม่มองท่านทั้งหลายในแง่อกุศล แต่หลวงพ่อคิดอย่างเดียว เข้าใจอย่างเดียวว่า ท่านทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้

ประการที่ ๑ ต้องการที่จะมาปฏิบัติธรรม เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และบูชาครูบาอาจารย์ เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ตั้งใจไว้แล้ว

ประการที่ ๒ เพื่อให้การประพฤติวัตรของเรานี้สนับสนุนเกื้อกูลแก่การปฏิบัติ ต้องการให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อจะได้ช่วยกันจรรโลงพระศาสนาของเรา ให้เจริญรุ่งเรืองถาวรตั้งมั่นอยู่ได้ อันนี้เป็นความในจิตในใจโดยย่อ

เหตุนั้น ก่อนอื่นก็ขอปรับความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ เรื่องการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ คือการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ หากว่าเราทั้งหลายมีความระแวง หรือความสงสัย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในการปฏิบัติ เช่นว่า ต้องครุกาบัติข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นการเผื่อเหนือตกใต้ เพื่อต้องการไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้นในขันธสันดาน

พวกเราทั้งหลายจึงได้จัดงานปฏิบัติธรรมนี้ขึ้นมา หากว่าเราปฏิบัติธรรมแล้ว การปฏิบัติของเราก็ก้าวหน้า หากว่าเราไม่ทำศีลของเราให้บริสุทธิ์ แม้ว่าเราจะมาปฏิบัติกัมมัฏฐาน ในแง่ของสมถกัมมัฏฐาน จะเดินจงกรมทั้งวันทั้งคืน จนเท้าแตก จะนั่งสมาธิเป็นหลายๆ ชั่วโมง ก็ไม่สามารถที่จะยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้เลย ไม่สามารถที่จะยังปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และอรูปฌานทั้ง ๔ ประการ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้เลย

หากว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดในขันธสันดาน ไม่สามารถที่จะบรรลุสามัญผล นับตั้งแต่ขั้นปฐมมรรคก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะอะไร เพราะว่า อกุศลจิตฝังจนแน่นอยู่ในจิตใจของเรา เป็นเกราะป้องกัน กั้นจิตของเราไม่ให้บรรลุคุณธรรมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

หากว่าเรามาประพฤติวุฏฐานวิธี เพียงแต่คืนเดียว วันเดียว หากว่าบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งสมาธิสมาบัติ สามารถที่จะได้มรรคได้ผลตาม บุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่าเราเมื่อก่อนโน้นยังไม่ได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้อยู่กรรมเลย โอกาสที่จะได้บรรลุคุณสมบัติหรือสามัญผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ ไม่สามารถที่จะบรรลุได้

และการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ สมมติว่า เราปกปิดอาบัติไว้ ๑ วัน การประพฤติวุฏฐานวิธีก็ต้องประพฤติ ๑ วัน เสร็จแล้วจึงจะขอมานัตต์ได้ ถ้าเราต้องครุกาบัติมาเป็นหลายเดือนหลายปี เราปกปิดไว้ เมื่อประพฤติวุฏฐานวิธี เราก็ต้องอยู่ปริวาสจนครบกำหนดที่เราปิดไว้เสียก่อนจึงจะขึ้นมานัตต์ได้ แต่ถ้าเราทั้งหลายได้ประพฤติวุฏฐานวิธี ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย ก็สามารถที่จะยังสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า ทำไมเรานี้ต้องครุกาบัติมาเป็นเดือนหรือเราต้องครุกาบัติมาเป็นปีๆ มาประพฤติวุฏฐานวิธีเพียง ๓ วัน มันจะบริสุทธิ์ได้หรือ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้ ส่วนมากพวกเราเข้าใจกันในลักษณะดังนี้ เพราะเราทั้งหลายบวชมาแล้ว ส่วนมากก็เกิดความประมาท อาจจะทำพลาดไปบางสิ่งบางประการ เมื่ออกุศลจิตมีมาในจิตในใจของเราเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เกิดวิปฏิสารเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดได้ว่า การที่เราปกปิดอาบัติไว้นานๆ นั้น ถ้าพูดให้จริงๆ ลงไปแล้ว ส่วนมากเราไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะเหตุใดจึงไม่ได้ปกปิดอาบัติ เพราะว่า เรานับตั้งแต่บวชมา เราบวชเข้ามาแล้ว ส่วนมากเราปลงอาบัติกันเกือบทุกวัน สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ จนถึงวรรคสุดท้ายว่า สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ หมายความว่า เราบอกไว้ทั้งอาบัติเบา ทั้งอาบัติหนัก ในเวลาเรา สัพพา ตา หรือปลงอาบัตินั้น เราได้บอกทั้งอาบัติหนัก ทั้งอาบัติเบา

อาบัติเหล่าใดที่เป็นอาบัติเบา ตั้งแต่ ทุกกฎ ทุพภาษิต ขึ้นมาจนถึง ถุลลัจจัย ก็เป็นอันว่าเราได้บอกไว้แล้ว บริสุทธิ์ไปแล้ว แต่อาบัติเหล่าใดที่เป็น ครุกาบัติ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว ไม่ถือว่าปกปิด ส่วนมากเราคิดว่าเราปกปิด แต่ที่แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ปกปิด คือเราบอกอาบัติทุกวัน สัพพา ตา ทุกวัน ถึงแม้ว่าเราจะปกปิดไว้มาก หรือไม่ได้ปลงอาบัติ ไม่ได้ สัพพา ตา มาถึงจะมากเท่าไหร่ก็ตาม ก็จะไม่เกิน ๑๕ วัน เพราะเหตุใด เพราะ ๑๕ วันนี้เราลงอุโบสถครั้งหนึ่ง ในขณะที่ลงอุโบสถนั้นเราก็ สัพพา ตา หรือบอกประจานตัว เพื่อความสมบูรณ์ และก็บอกอาบัติทุกวันๆ

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจว่าเราปกปิดอาบัติไว้ พวกเราทั้งหลายเมื่ออัพภานกรรมแล้ว ความบริสุทธิ์ก็เกิดขึ้นมา เพราะอาศัย สงฆ์วีสติวรรค เป็นผู้รับรองหรืออาศัยบารมีของท่าน

แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายเคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็มาบวชพระทีหลัง อาบัตินั้น ในเมื่อเรามาบวชเป็นพระนี่ เวลาเราเข้ากรรมมาฝึกปฏิบัติ ก็บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เป็นพระนี้เท่านั้น แต่ในสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายต้องไปเข้ากรรมใหม่อย่างน้อย ๑ ครั้ง เมื่อเข้าแล้วก็ออกปริวาสกรรม เสร็จแล้วก็ขึ้นมานัตต์แล้วก็ขออัพภานก็จึงจะบริสุทธิ์ได้ ดังนี้

หลวงพ่อพูดเพียงคร่าวๆ ก็พอสรุปได้ว่า เราเข้าปริวาสนี้ก็เพื่อให้ศีลของเราบริสุทธิ์ หากว่าศีลของเราไม่บริสุทธิ์ การปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่ได้ผล ถ้าเจริญพระกัมมัฏฐาน ในส่วนของสมถะก็ไม่สามารถที่จะได้ฌานได้สมาบัติ แต่ถ้าเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหตุนั้น เผื่อเหนือตกใต้ เผื่อความผิดพลาด เราทั้งหลายจึงได้ให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีควบคู่กันไป ขอจบสั้นๆ ในเรื่องอยู่ปริวาสเพียงเท่านี้

ต่อไปเรื่องการปฏิบัติ หลวงพ่อก็จะไม่พูดอะไรให้มาก เพราะว่าท่านครูอาจารย์ทั้งหลาย ส่วนมากก็เคยประพฤติปฏิบัติมาด้วยกันทั้งหมดแล้ว ผู้ที่ยังไม่เคยปฏิบัติก็ไม่กี่รูป แต่เพื่อผู้บวชใหม่ให้เข้าใจในแนวทางการประพฤติปฏิบัติ ก็จะขอกล่าวโดยย่อ พอเข้าใจ พอจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติ

คือการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ส่วนมากปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้ผลคุ้มค่า ครูอาจารย์หรือญาติโยมผู้ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐากก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า ผู้ประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผลคุ้มค่า เหนื่อยเปล่าเสียเป็นส่วนมาก เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะอาศัยที่ว่าเราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะได้ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อด่านะ

ส่วนมาก เราไม่สามารถที่จะข่มทิฏฐิมานะลงไปได้ การประพฤติปฏิบัติธรรม นอกจากอกุศลธรรมอื่นๆ แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มานะทิฏฐิ ผู้ใหญ่ก็มานะทิฏฐิมาก ผู้ที่เป็นพระเล็กเณรน้อย ก็มีทิฏฐิมานะเหมือนกันทั้งนั้น แต่จะมากหรือน้อยนั้น ก็แล้วแต่อุปนิสัย

เพราะเหตุใดจึงไม่ได้บรรลุ ไม่ได้คุณธรรมสมบัติหรือไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า เพราะอะไรๆ ก็ถือว่า กู กูดีแล้ว กูรู้แล้ว กูเข้าใจแล้ว อะไรๆ ก็เข้าข้างตัวทั้งหมดด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ เดินจงกรมก็ว่า กูได้ปฏิบัติมาแล้ว เราเคยเดินมาแล้ว นั่งสมาธิกูเคยทำมาแล้ว กูเคยทำได้แล้ว

เราไปที่โน้นที่นี้ เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ กูเคยปฏิบัติมาแล้ว เคยฟังมาแล้ว ครูบาอาจารย์เทศน์อย่างนั้นสอนอย่างนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เราไปที่นั้นที่นี้ว่า เทศน์ไม่ดี แสดงไม่ดี การเทศน์การสอนไม่ได้เรื่อง สำหรับตัวเองก็สรุปแล้วว่า คนอื่นสู้เราไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของเราจึงไม่ได้ผล ที่พูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อว่าเป็นการสรุป นับตั้งแต่หลวงพ่อได้สอนธรรมะภาคปฏิบัติมา ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้

เพราะเหตุใด บรรดาผู้ปฏิบัตินั้นผู้ที่ได้ผลจึงมีน้อย ผู้ที่ไม่ได้ผลจึงมีมาก หลวงพ่อก็มาสรุปว่า มันอยู่ที่ไหน เพราะอะไร มันผิดที่ตรงไหน เมื่อสรุปๆ ลงมาแล้วก็เข้าใจว่า ที่ไม่สามารถทำได้เพราะอำนาจมานะทิฏฐิความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว เท่านี้แหละท่านทั้งหลาย ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัวนี้ เป็นสภาวะกั้นจิตของเรา ไม่ให้บรรลุคุณงามความดี พูดสั้นๆ ท่านทั้งหลายไปคิดเอาเอง ไปคำนวณเอง

สมมติว่า เราไปสถานที่ต่างๆ ไปเข้าปริวาสไปปฏิบัติที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง กฎกติกาอะไรที่ครูบาอาจารย์ให้ไว้ถวายไว้ ส่วนมากพวกเราทำไม่ได้ ท่านไม่ให้คุยกัน เราก็คุยกัน ท่านไม่ให้สูบบุหรี่ เราก็สูบบุหรี่ ท่านบอกไม่ให้ทำอย่างโน้น ท่านบอกให้ทำอย่างนี้ เราก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่ทำตาม ท่านให้เดินอย่างนั้น ท่านให้นั่งอย่างนี้ เราก็ไม่ทำตาม ท่านไม่ให้คุยเราก็คุย อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ขออภัยหลายๆ พูดความจริงที่ค้นคว้ามาแล้วว่ามันสรุปมาแล้วเป็นอย่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่างนะท่านทั้งหลาย

สรุปว่า ที่เราทำไม่ได้ เพราะอำนาจทิฏฐิมานะ ท่านทั้งหลายอาจจะว่าหลวงพ่อด่า สูบบุหรี่ กินหมากอะไร แต่ไหนๆ มาหลวงพ่อไม่เคยว่า หากครูบาอาจารย์องค์อื่นท่านจะว่า หลวงพ่อก็ไม่ว่าและไม่ห้าม บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ สูบบุหรี่นี่ผิดไหม มันเป็นการห้ามการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลหรือ อะไรทำนองนี้ก็ตาม หลวงพ่อก็จะพูดคำเดียวว่า การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่ก็ดี ผู้กินหมากก็ดี สามารถที่จะได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พรหมสมบัติ โลกุตตรสมบัติได้เหมือนกัน ผู้สูบบุหรี่ก็สามารถที่จะถึงนิพพานได้ ถึงสวรรค์ได้ ถึงพรหมโลกได้ และก็ได้มาซึ่งมนุษย์สมบัติได้

หากว่า เราพอที่จะอดได้ก็อดไป พอที่จะทนได้ก็ทนไป โดยเฉพาะเวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หากเป็นไปได้ก็งดเสียก่อน เพราะเราอยากเลิก อยากฝึกเดินจงกรม เวลาเดินจงกรมก็อย่าสูบอย่าเคี้ยว หรือว่าพอเป็นไปได้เราก็งดมันเลย เพราะไหนๆ มาแล้ว เรามาปฏิบัติธรรมขั้นสูง ทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไปสิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน แค่หมากพลูบุหรี่ เราคงทำได้ หลวงพ่อว่าอย่างนี้ แต่ไม่ใช่หลวงพ่อด่าหลวงพ่อว่านะ

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายที่มาสู่สถานที่แห่งนี้ อย่าคิดว่า วัดพิชฯ นี้ ระบบการปกครองทุกสิ่งทุกอย่างเคร่งครัดเหลือเกิน อะไรๆ ก็จะแตะต้องไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ ก็ถือว่าคิดผิด เพราะเหตุใด ลองมองดูสามเณรตัวน้อยๆ เขาก็ยังทำได้ เราก็สามารถทำได้เหมือนกัน ถ้าว่าระบบการปกครองนั้นเคร่งเกินไป บรรดาพระเล็กเณรน้อยก็คงเดือดร้อนเหมือนกัน คงเดือดร้อนไปตามๆ กัน เพื่อเป็นการทำความเข้าใจ

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติธรรมะของเรามันไม่ก้าวหน้า ก็เพราะว่า เราข่มมานะทิฏฐิลงไม่ได้ เหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย เรามาประพฤติปฏิบัติ ณ สถานที่แห่งนี้ เรามาปฏิบัติเพื่อกายสามัคคี วาจาสามัคคี จิตสามัคคี เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์

เราเอาสิ่งใดไปบูชาในสิ่งที่เราจะบูชา คือเราจะบูชาพระพุทธเจ้า เราจะบูชาพระธรรมเจ้า เราจะบูชาพระสังฆเจ้า เราจะบูชาครูบาอาจารย์ พ่อ แม่ ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เราก็ต้องทำดอกไม้ธูปเทียนของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อนให้ดีเสียก่อน ให้สวยให้งามเสียก่อนจึงจะบูชาได้ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายจะบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ เราก็ทำกายของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำวาจาของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำใจของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน ทำความคิดของเราให้บริสุทธิ์เสียก่อน จึงจะสมควรว่า เราได้บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ครูบาอาจารย์

ถ้าเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย เวลา ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ เป็นเวลาที่คุ้มค่ามาก ไม่ใช่ว่าของไม่มีคุณค่า ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ถือว่าเป็นของที่มีคุณค่ามาก เพราะเหตุใดจึงมีคุณค่ามาก เพราะ ๗ วัน ๘ วัน ๙ วันนี้ ทุกวินาที ครูบาอาจารย์มอบให้เราแล้ว ถวายเราแล้ว ครูบาอาจารย์ถวายเราผู้ปฏิบัติธรรมทุกวินาที ลักษณะอย่างนี้เป็นของหายากนะท่านทั้งหลาย

พวกเราทั้งหลายส่วนมากชีวิตความเป็นอยู่ของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น เนื่องด้วยสังคม เดี๋ยวก็โน้น เดี๋ยวก็นี้ อะไรจิปาถะ บางวันเกือบจะไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เกือบจะไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ถือว่าเป็นของที่ทำได้ยาก ไม่ใช่ว่านั่งอยู่นอนอยู่ก็จะได้ไป

การที่คณะครูบาอาจารย์จะมอบถวายชั่วโมง นาที วินาทีให้พวกเราเป็นของที่หายากเหลือเกิน สำหรับครูบาอาจารย์ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านเสียสละเพื่อเราทั้งนั้น ทำงานเพื่อพวกเราทั้งนั้น ญาติโยมที่ถวายอุปถัมภ์อุปัฏฐาก ก็เพื่อพวกเราทั้งนั้น ท่านไม่ขอแม้แต่วินาทีเดียว

เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาถึงแล้ว ก็ขอให้ใช้เวลาที่มีอยู่นี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เวลาเดินจงกรมก็ขอให้ตั้งใจเดินจริงๆ อย่าให้เป็นแต่เดิน เวลาเดินขอให้ทันปัจจุบันจริงๆ ต้นยก กลางยก สุดยก อะไรทุกสิ่งทุกอย่างให้มันทันจริงๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตาม ขอให้ทันมันทุกอย่าง ความคิดที่เกิดขึ้นก็ขอให้ทันมันทุกอย่าง

เมื่อใดเราสามารถทำให้ทันมัน ตามันเคลื่อนไหวหรือมีปฏิกิริยาอย่างไร เราก็ทันมัน เห็นอย่างไร เราก็ทันมัน และขณะนั้นใจของเรามันคิดอย่างไร เราก็ทันมัน หูได้ยินเสียง เสียงที่เราได้ยิน ก็ให้ทันมัน ให้ทันเสียง แล้วก็ใจที่รู้ว่าเสียงนั้น ก็ให้ทันมัน จมูกได้กลิ่น ก็ให้ทันมัน ทันการเคลื่อนไหวของจมูก กลิ่นที่มากระทบกับจมูก แล้วก็ใจที่รู้อาการกระทบกลิ่นนั้น ก็ขอให้ทันมัน

เวลาใจของเรารู้จักสัมผัสอาการ รสต่างๆ ก็ขอให้ทันมันว่า รสอะไร เปรี้ยวหวานอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงมากระทบอย่างนี้ และใจที่รู้อาการกระทบของกลิ่นนั้น ก็ให้ทันมัน กายของเรามันถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ให้ทันมัน แล้วก็รู้ให้ทันใจของเราให้รู้ทันมัน

ส่วนมากพวกเราไม่ทันตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เวลามันมีอะไรเกิดขึ้นมาเราไม่ทัน ปล่อยให้ใจเพลินไปตามอารมณ์ เพลินไปตามรูป เพลินไปตามกลิ่น เพลินไปตามรส เพลินไปตามเสียง เพลินไปตามสัมผัส เราอยู่ในประเภทที่ว่า แมลงภู่ แมลงผึ้ง ที่บินแสวงหาเกสรดอกไม้ ตามปกติแมลงภู่ก็ดี แมลงผึ้งก็ดี มันจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ มันบินแสวงหาซึ่งกลิ่นอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด

ใจของเราก็เหมือนกัน มันไม่อยู่นิ่ง แล้วก็วิ่งไปตามรูป วิ่งไปตามเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เมื่อมันวิ่งไปแล้ว มันไม่วิ่งไปเฉยๆ มันเอาความโลภ โกรธ หลง เอามานะทิฏฐิ อะไรจิปาถะเข้ามาด้วย พูดสั้นๆ ว่า มันเอาความดีใจเสียใจเข้ามาด้วย มันไม่ไปเฉยๆ

เพราะฉะนั้น ใจของเรานี้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้อาการเคลื่อนไหวของรูป ของนาม รูปมันเคลื่อนไหวอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร ก็ขอให้ทัน ให้รู้ทันว่า ใจของเรามันเคลื่อนไหวอย่างไร และขณะที่มันเคลื่อนไหวอยู่นั้น มีอะไรที่เกิดขึ้น ความโลภ โกรธ หลง มีไหม ใจเรามีไหมบุญกุศล

ก็ขอให้มันรู้ตลอดเวลา รู้แม้เมื่อเรากำหนดอิริยาบถยืนว่าเป็นอย่างไร หรือแม้แต่ว่า อาการพองอาการยุบเหมือนกัน พองหนอ ยุบหนอ ไม่ใช่ว่าเราจะพูดแต่ปากเปล่า ก็ต้องรู้ว่าอาการพอง ต้นพอง กลางพอง สุดพองนั้นเป็นอย่างไร อาการพอง อาการยุบ เกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นอย่างไร ขณะนั้นมันเป็นอย่างไร มันหยาบมันละเอียดแค่ไหนเพียงไร ในขณะมันกระทบอยู่นั้น โลภ โกรธ หลง มันมีไหม โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชามีไหม เราต้องดูมันให้เห็นให้ทันเวลา

เพราะเหตุใด จึงให้ทันมันทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพราะว่าคุณสมบัติที่เราต้องการ อยากได้ อยากถึงนั้น เช่น สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ที่เราต้องการ ที่จะได้นั้น หากว่า เราไม่ทำสภาวะดังกล่าวให้สมบูรณ์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะได้มาซึ่งสามัญผล

เพราะว่าสามัญผลคือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน หรือว่า กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล หรือโลกุตตรกุศลจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น สมาธิก็ดีหรือฌานก็ดีจะเกิดขึ้น ก็เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พองยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง มองข้ามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มองข้ามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มองข้ามอาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง เรามองข้ามสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เพราะเหตุใดจึงมองข้าม

เพราะว่าเป็นสภาวะที่เคยชินแล้ว เมื่อเป็นสภาวะที่เคยชินก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของมัน การที่ปล่อยไปตามธรรมชาตินั้นแหละ สามัญผลจึงไม่เกิดขึ้นแก่เรา เพราะว่าเราลืมไปเผลอไปตามอารมณ์ที่มันเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า โบราณท่านกล่าวว่า อันร่างกายยาววาหนาคืบนี้เป็นแก้วสารพัดนึก สามารถที่จะนึกได้ดังใจหมาย ถ้ามีความฉลาด

แต่พวกเราก็มองข้ามอีกนั่นแหละ ก็คิดว่าแก้วสารพัดนึกนั้นเป็นของวิเศษอยู่เขาลูกนั้นอยู่เขาลูกนี้ หรืออยู่กับผู้ที่วิเศษอย่างนู้น อยู่กับผู้วิเศษอย่างนี้ มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง ไม่มองตัวเอง ไปมองอย่างอื่น มันก็จึงยังไม่ได้สามัญผลที่เราต้องการ หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เราย่อมมุ่งหวังจะได้สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ความอยากได้ของเรานี้มีจริง แต่มองข้ามสิ่งที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ ผลที่เราต้องการจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า หลวงพ่อพูดอยู่เสมอว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบเป็นสิ่งที่สามารถจะให้เกิดทรัพย์สมบัติได้ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นโลกุตตระ ไม่ใช่ว่ามันจะไปเกิดอยู่ที่อื่น มันเกิดอยู่ที่นี้

หมายความว่า ผู้ที่แสวงหาทรัพย์ทั้งทางโลกและทางธรรม เขาก็แสวงหาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ เพราะว่าเขาฉลาดในการแสวงหา เขาแสวงหาจากจมูก หู คอ ลิ้น กาย ใจ จากข้อมือ ข้อเท้า จากแขนอะไร เขายังได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี อย่างนี้ถึงจะได้

ถ้าเราฉลาดในการแสวงหา ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เพียงแต่เขาแสวงหาจากเท้าเท่านั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ หาเงินจากข้อมืออย่างเดียวนั้นก็ได้เป็นเศรษฐีได้ เขาหาเอาจากฟันของเราอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะเป็นเศรษฐีได้

สรุปแล้วว่า คนที่มีความฉลาด สามารถที่จะแสวงหาเอาทรัพย์ที่เป็นโลกิยทรัพย์ได้จาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรานี้ มันเกิดจากตัวนี้ ไม่ใช่ไปแสวงหาเอาที่อื่น แต่เพราะพวกเรามองข้ามปัญหาใกล้ตัว แล้วก็มีแต่อยากสบาย มีแต่อยากได้ แต่มองข้ามปัญหาใกล้ตัว จึงแสวงหาในสิ่งที่ไกลตัวออกไป ผลสุดท้าย แทนที่จะได้ผล กลับช้ำใจ เมื่อเราทั้งหลายแสวงหาเอาทรัพย์สมบัติในส่วนที่เป็นทางคดีโลกจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ฉันใด

พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านแสวงหาเอาโลกุตตรทรัพย์ ท่านก็แสวงหาเอาจากร่างกายยาววาหนาคืบนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปแสวงหาเอาที่อื่น คือตาของเราที่มีอยู่นี้ สามารถที่จะแลกเอาซึ่งโลกุตตระได้ หูที่ฟังอยู่นี้ สามารถให้เกิดโลกุตตระได้

จมูกที่ได้กลิ่นอยู่นี้ ทั้งเหม็นทั้งหอม สามารถที่จะให้เกิดซึ่งโลกุตตระได้ ปากของเรานิดเดียวเท่านั้น สามารถทำให้เกิดโลกุตตระได้ ร่างกายของเราทุกส่วน สามารถที่จะทำให้เกิดโลกุตตระได้ ท้องพองท้องยุบของเราที่พองขึ้นยุบลงนี้ สามารถจะทำให้เกิดโลกุตตระได้ โลกุตตรธรรมจะเกิดก็เกิดที่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดที่อื่น

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ต้องดูให้เป็น อย่าเป็นแต่ดู กำหนดให้เป็น อย่าเป็นแต่กำหนด ที่หลวงพ่อว่าโลกุตตระมันเกิดที่นี้ ก็เพราะว่า เวลาจะบรรลุจริงๆ แล้ว บางทีเราเพ่งแต่ตาอย่างเดียว เห็นหนอๆ ก็สามารถให้เกิดโลกุตตระได้ คือสามารถที่จะให้เกิดโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี เป็นต้นได้ เพ่งดูที่ตาอย่างเดียว กำหนดที่ตาอย่างเดียว สามารถที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้

ถ้าหากว่าเราพิจารณาดูแต่หูอย่างเดียว กำหนดเสียงอย่างเดียว ได้ยินหนอๆ เมื่อเรากำหนดไปๆ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อเกิดสติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ เมื่อสมาธิเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นมรรค ผล พระนิพพานได้ มันเกิดที่ตรงนี้

จมูกของเราก็เหมือนกัน โลกุตตรธรรมสามารถที่จะเกิดขึ้นในขณะที่เราสูดกลิ่นนี้ กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆ อย่างเดียว ก็ได้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ ได้ฌาน ได้มรรค ได้ผลที่ตรงนี้ ลิ้นของเราก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า รสหนอๆ อย่างเดียว สามารถที่จะสำเร็จสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ หรือว่าเรากำหนดว่า ถูกหนอๆ แข็งหนอๆ อย่างเดียวสามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน

หากว่าเรากำหนดพองหนอยุบหนออย่างเดียว ก็สามารถที่จะได้มาซึ่งฌาน ซึ่งสมาบัติ ได้มรรค ได้ผล หรือว่าเราจะกำหนดตามเวทนาว่า สุขหนอๆ หรือว่า ทุกข์หนอๆ ไม่ต้องเอาอย่างอื่น ทุกข์หนอๆ สุขหนอๆ อย่างเดียวก็สามารถที่จะได้ฌาน สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล

หรือว่าเราจะกำหนดความคิดอย่างเดียว คิดหนอๆ กำหนดที่หัวใจของเรา กำหนดว่า คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ก็สามารถที่จะได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล ส่วนมากพวกกำหนดจิตอย่างเดียวนี่ เท่าที่สังเกตมาจะได้ฌานมากกว่าอย่างอื่น

สรุปแล้วนะท่านทั้งหลายว่า ร่างกายยาววาหนาคืบนี้ถือว่าเป็นสมบัติมหาศาล โลกิยทรัพย์ก็เกิดอยู่ที่ตรงนี้ จะเป็นโลกิยทรัพย์ของมนุษย์ก็ดี ของเทพก็ดี ของพรหมก็ดี ก็เกิดอยู่ในนี้ โลกุตตรทรัพย์ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ก็เกิดอยู่ที่นี้ ไม่ใช่ว่าจะไปเกิดอยู่ที่อื่น

แต่เพราะพวกเราทั้งหลายถูกตัณหา มานะ ทิฏฐิครอบงำ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมของที่มีอยู่ ลืมตา ลืมหู ลืมจมูก ลืมลิ้น ลืมกาย ลืมใจ ลืมอาการพองอาการยุบ ลืมเวทนาที่เกิดขึ้นเป็นต้น ไปแสวงหาทรัพย์ภายนอก ไม่แสวงหาทรัพย์ภายใน ไม่แสวงหาทรัพย์ที่อยู่ใกล้ตัวเอง การบรรลุหรือว่าจะได้มาซึ่งฌาน สมาบัติ การบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน จึงเป็นของหายากได้ยาก

เราจะสังเกตได้ว่า เวลามาประพฤติปฏิบัติร่วมกัน ส่วนมากชั่วโมงการปฏิบัติของเรามีน้อย มีเวลาส่งจิตส่งใจไปตามอารมณ์เสียเป็นส่วนมาก มัวคลุกคลีกัน คุยกันอะไรกันเสียเป็นส่วนมาก จะเดินก็ปล่อยอารมณ์ เวลานั่งก็ปล่อยอารมณ์ เวลากินก็ปล่อยอารมณ์ ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ ส่วนมากเมื่อเราปล่อยอารมณ์แล้ว ไม่รักษาอารมณ์ เราจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ (โดยปล่อยใจไปตามอารมณ์ต่างๆ) จากวันนี้ถึงวันตาย หลวงพ่อขอรับรองว่า ไม่ได้อะไร เสียแรงเปล่าๆ

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ไหนๆ เราก็มาปฏิบัติ เพื่อตนเองบ้าง เพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ด้วย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยการมีสติ สัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่ามองข้ามปัญหาใกล้ตัว ขอให้มองดูตัวของเราตั้งแต่ตา หู จมูก ลิ้น ถึงใจ มองดูอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของเรา มองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในใจของเราว่า ใจของเรานั้น ขณะนี้มันมีอะไรอยู่บ้าง ร่างกายของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง เรารู้แล้ว

แต่ในใจของเรามันมีอะไรอยู่บ้าง มีอะไรอยู่ในใจของเรานี้ มันดีหรือมันชั่ว มันดีสมบูรณ์แบบแล้วหรือยัง หรือว่ามันยังไม่สมบูรณ์ มันบริสุทธิ์แล้วหรือยังไม่บริสุทธิ์ มองดู ทีนี้เราไม่เป็นวัวลืมตีน ให้เราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมะ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลายประทานแล้ว

ถึงที่เราต้องการถึงมรรคผล ถึงสามัญผลใดๆ ที่เราต้องการ หากว่าเรายังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง คือเรายังไม่ถึงโลกุตตระ เราก็ยังสามารถที่จะได้มาซึ่งโลกิยะ ในส่วนที่เป็นฌาน เป็นสมาบัติ หรือเป็นอภิญญา อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

เอาละ ท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้ชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติทั้งด้านพระวินัย คืออยู่ปริวาสกรรมและก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอจะเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายได้แล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 มีนาคม 2560 10:02:13

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๒)

ขอปรับความเข้าใจท่านครูบาอาจารย์ นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า ธรรมะที่นำมาถวายความรู้แต่ละวันๆ นั้น ไม่ใช่ธรรมบรรยาย และก็ไม่ใช่ธรรมเทศนา เพราะว่าในช่วงหน้าเทศกาลพรรษาก็ดี นอกพรรษาก็ดี หลวงพ่อใช้วิธี แนะแนวทางของการปฏิบัติ หรือการสอนเป็นบางสิ่งบางประการ เพื่อเป็นการเสริมความรู้

อาจจะผิดไปจากที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะพวกเรา เวลาประพฤติปฏิบัติ หรือเวลาสอน เรายังไม่รัดกุมเท่าที่ควร เวลาปฏิบัติก็เหมือนกัน ส่วนมากการประพฤติปฏิบัตินั้น ไม่รัดกุมเท่าที่ควร คือยังหย่อนยานอยู่ จะว่าเคร่งก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ก็ยังไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาแท้ คือยังไม่ถึงครึ่ง

เราจะสังเกตได้ อย่างเช่นการเดินจงกรมอย่างนี้ เราใช้วิธีกำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ระยะอื่นก็เหมือนกัน แล้วแต่การปฏิบัติของเรา เวลาที่ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เราก็มีแต่ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ แต่เมื่อเราคิดซึ้งๆ ไปแล้ว ยังไม่สมบูรณ์ สติของเรายังขาดช่วงอยู่ แทนที่ขวาย่างหนอ สติของเราจะทันตั้งแต่เริ่มยกขึ้น ก้าวไป เหยียบลง เราไม่ทันเป็นส่วนมาก ถ้าเราทันจริงๆ นะท่านทั้งหลาย ทำให้สภาวะเปลี่ยนแปลงไปได้เร็ว สามารถที่จะเพิ่มความรู้ด้านภาวนามยปัญญานี้ได้เร็ว

ถ้าหากว่าเรากำหนดจริงๆ แล้วก็สมบูรณ์ถึง ๘๐ ๙๐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ การปฏิบัติของเรามันก็ก้าวหน้าแล้วก็ได้ผลเร็ว อย่างเช่น เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี้ สามารถจะทำสมาธิ เกิดฌาน เกิดมรรค เกิดผลได้ ดังที่กล่าวแล้วเมื่อคืนนี้ว่า สมาธิ มรรค ผล พระนิพพาน เกิดได้ทุกขณะ ในขณะที่เรามีสติกำหนดบทกัมมัฏฐาน กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ สามารถที่จะทำให้ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ทำให้เกิดฌานได้

ตัวอย่าง พระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ทองพูน มาปฏิบัติในสถานที่แห่งนี้ ปีนั้นปฏิบัติอยู่ตรงห้วยใกล้ๆ กันนี่แหละ ปีนั้นหลวงพ่อนั่งดูการปฏิบัติ คือนั่งอ่านหนังสือไป ดูบรรดาลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติธรรมไป ดูไปและก็อ่านหนังสือไป พระรูปนั้นเดินจงกรมกลับไปกลับมา ในเมื่อเดินจงกรมไป เดินไปๆ ก็เห็นยืนอยู่ ยืนอยู่ตรงๆ และในขณะนั้นก็อยู่ในช่วงก้าวขา ก้าวเท้าออกไป ขวาย่างหนอ ก้าวเท้าออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงเท้าลงไปเลย กำลังก้าวออกไป ยังไม่ได้เหวี่ยงลง ก็เห็นยืนอยู่อย่างนั้น

หลวงพ่อว่า พระทองพูน ทำไม เดินจงกรมจึงยืนอยู่อย่างนั้นนานเหลือเกิน แทนที่จะเหวี่ยงลง ก็ไม่เห็นเหวี่ยงสักที ก็เลยเดินไปดู เมื่อเดินไปดูแล้วก็สำรวจอาการหายใจ สำรวจดู อาการพอง อาการยุบ แล้วก็สัมผัสดู ที่ไหนได้ ท่านทั้งหลาย ได้สมาธิ ได้สมาธิในขณะที่กำลังก้าวเท้าไป ถ้าเราทำได้ทันจริงๆ มันเกิดนะ หรือว่าในขณะที่เรากำหนดว่า ยืนหนอๆ ถ้าสติของเรามันดีจริงๆ นะ ทันปัจจุบันจริงๆ สามารถได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่ยืนอยู่ก็มี

เช่น หลวงปู่แดง มาปฏิบัติธรรมในช่วงหน้าพรรษา ฉันเช้าแล้วก็ลุกออกไป ถึงเวลาก็เดิน เริ่มปฏิบัติเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ กลับไปกลับมา ไปถึงต้นแถว คือต้นแถวของการเดินจงกรม แล้วก็หันกลับมา จะเดินต่อ ก่อนที่จะเดินต่อแล้วก็กำหนดว่า ยืนหนอๆ แล้วก็อยากเดินหนอๆ ในขณะที่กำหนดว่า ยืนหนอๆ อยู่นั้น ได้สมาธินะท่านทั้งหลาย ตอนนั้นช่วงสักสองโมงเช้าเศษๆ แล้วก็เริ่มปฏิบัติ หลวงปู่แดงยืนอยู่ในท่ายืนจนถึงเที่ยงครึ่ง (๐๘.๐๐-๑๒.๓๐ น.) จึงกระดุกกระดิก ก็ลืมตาขึ้นมา

ก็เป็นอันว่า สามารถทำสมาธิได้ ในขณะที่ยืนอยู่นั้น ในขณะที่เราเหยียดแขนไป อยากเหยียดหนอๆ หรือว่า อยากคู้หนอๆ สามารถทำสมาธิได้ในขณะที่เราทำอาการคู้อาการเหยียดก็มี หรือว่าสามารถตั้งสมาธิ สามารถที่จะได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ในขณะที่นั่งอยู่ก็มี

ดังเช่นโยมคนหนึ่งอยู่บ้านโคก แต่ที่จริงเขาเรียกว่าบ้านโคกเท่อเล่อ คือมันมีแต่พวกกรวด มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้ เรียนวิธีปฏิบัติอยู่ที่นี้ เดินจงกรมนั่งสมาธิเสร็จแล้วก็กลับไป ตอนกลางคืนหลังจากอาหารเย็นเสร็จแล้วก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ แต่เวลาปฏิบัติ ลืม! ลืมคำบริกรรม ลืมคำภาวนา นึกได้อย่างเดียวว่า นั่งหนอๆ ก็กำหนดอาการนั่งนั้นร่ำไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถทำสมาธิให้เกิดในขณะที่กำหนดคำว่า นั่งหนอๆ มันทำได้ท่านทั้งหลาย และบางคนก็สามารถทำได้ในอิริยาบถนอน

เหตุนั้น การกำหนดบทกัมมัฏฐาน หลวงพ่อจึงย้ำว่า เรายังไม่ทันปัจจุบันเต็มที่ ได้แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เหตุนั้น บทพระกัมมัฏฐานที่ศึกษาเล่าเรียนมา ท่านทั้งหลายก็รู้มาทุกขั้นๆ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้น หลักวิชาการที่เราเรียนมานั้น เราเอาไปใช้ไม่เต็มที่

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามให้เต็มที่ เช่นว่าเวลาเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ เราต้องรู้ว่า ต้นพอง กลางพอง สุดพอง เป็นอย่างไร ยุบหนอ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เป็นอย่างไร และในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น ต้องสังเกตสภาวะคือนามด้วย ในขณะที่กำหนดอยู่นี้ โลภ โกรธ หลง มีไหม หมายความว่า ความดีใจ ความเสียใจ มันมีไหม นี่เราต้องรู้ คือต้องรู้ทั้งรูป รู้ทั้งนาม คือรู้ทั้งอาการพอง อาการยุบ และก็รู้ทั้งนาม

ถ้าความรู้สึกในขณะนั้น ในขณะที่เรากำหนดเวทนาว่า ทุกข์หนอๆ หรือ สุขหนอๆ หรือว่า เฉยหนอๆ เราต้องให้ทันอาการที่ทำให้เกิดสุข อาการที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วก็อาการเฉย และในขณะนั้นเราต้องรู้สภาวะที่เป็นนามด้วยว่า ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น ความดีใจ ชอบใจคือโลภะมีไหม ความไม่พอใจคือโทสะมีไหม ความไม่เอาใจใส่ในการกำหนด(โมหะ)ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ กำหนดแต่สักว่ากำหนด คือขาดสติมีไหม คือมันมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะไหม มีความเห็นแก่ตัวไหม อะไรจิปาถะนะ เราต้องรู้ทันมัน

ในขณะกำหนดเวทนา และในขณะกำหนดการคิดก็เหมือนกัน เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะคิดหนอๆ เสียเฉยๆ เราต้องรู้หทัยรูปคือสภาวะที่กำหนดที่ใต้ราวนมข้างซ้าย ๓ นิ้ว ต้องรู้ ต้องมีสติรู้ที่ตรงนี้ และในขณะที่เรากำหนดว่า คิดหนอๆ อยู่นี้ จิตของเรามี(โลภะ)ความชอบใจไหม หรือมี(โทสะ)ความไม่พอใจไหม หรือว่า (โมหะ) จิตใจของเรามันลืมสภาวะ ปล่อยไปตามธรรมชาติหรือไม่

ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็หมายความว่า โลภะ โทสะ โมหะ ยังมีอยู่ในจิตในใจอยู่ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเวลากำหนดว่า คิดหนอๆ ส่วนมากบางครั้งก็เกิดความชอบใจ พอใจ บางครั้งก็เกิดความหงุดหงิดไม่พอใจ บางทีก็เฉยๆ ไม่ได้กำหนด

แล้วในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น สภาวะที่เรากำหนดอยู่นั้น กิเลสต่างๆ ที่เรากำหนดอยู่สมมติว่า นิวรณ์ทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ ความพอใจชอบใจมีไหม พยาบาท ความไม่พอใจ หงุดหงิด แค้นเคืองมีไหม ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ซึมเซา หดหู่ ง่วงเหงาหาวนอนมีไหม อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดมาก ฟุ้งซ่าน รำคาญใจมีไหม วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยมีไหม ในขณะนั้น เมื่อเรากำหนดให้ดีๆ แล้ว มันจะเห็นธรรม ทั้งกุศลและอกุศล

ในขณะที่กำหนดอยู่นั้น สภาวะคือความศรัทธามันมีไหม ความเพียรมีไหม สมาธิคือความตั้งใจมีไหม อะไรจิปาถะ เราต้องรู้ รู้สภาวธรรม คือ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เราต้องรู้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราปฏิบัติตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือมันไปพร้อมกัน มันมีอยู่ด้วยกัน เราต้องรู้

อีกอย่างหนึ่งในขณะที่เรากำหนดได้ดังนี้ อิริยาบถย่อยที่มี เราก็ต้องปฏิบัติ เช่นว่า เวลาตาเห็นรูปนี้ เราก็ต้องกำหนดว่า เห็นหนอๆ อย่างนี้ คือในขณะที่เรากำหนดอยู่นี้มันมีทั้งรูป มีทั้งนาม คือตาที่เราเห็นก็ดี สีที่เราเห็นก็ดี เป็นรูปธรรม ใจที่รู้อาการเห็นนั้นก็เป็นนาม เป็นนามธรรม หูได้ยินเสียง เราก็กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น รูปธรรมนามธรรมต้องมีพร้อม

ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็คือเสียงที่เราได้ยิน หูก็ดี เสียงก็ดี ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไร ว่าเสียงดี ว่าเสียงที่ชอบ ใจที่รู้ก็เป็นนามธรรม หรือในขณะที่เรากำหนดว่า กลิ่นหนอๆ รูปธรรมนามธรรมมันมีพร้อมแล้ว กลิ่นที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็นอย่างไรนั้น กลิ่นที่รู้ก็เป็นรูปธรรม จมูกของเราก็เป็นรูปธรรม ใจที่รู้ว่ามันหอมมันเหม็น เป็นนามธรรม ในขณะที่ลิ้มรสก็เหมือนกัน รสเปรี้ยว รสหวาน เป็นรูปธรรม และใจที่รู้ว่ามันเปรี้ยว มันหวาน ก็เป็นนามธรรม มันอยู่ในตัวของมัน

เหตุนั้น เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน อิริยาบถใหญ่คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่เป็นอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อย คือกำหนด ตา หู จมูก ตลอดถึงอาการคู้ เหยียด อะไรจิปาถะ เราต้องทำให้ทัน

เมื่อใดเราทำได้ทันปัจจุบันธรรมแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรามันก้าวหน้าและได้ผล ส่วนมากเราไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องเหล่านี้ เพราะว่าเราอยู่ในที่ว่าพวกมากลากไป ไม่ใช่หลวงพ่อว่าให้นะ เพราะว่าพวกเรานั้น พวกมากลากไป เราวิ่งไปตามกระแสของสังคม พวกมากลากไป ถ้าเราไม่พูดไม่คุย ก็เกรงว่าเพื่อนจะว่าเอา

เวลาเดินไปตามทาง สมมติว่าเราเดินไปฉันเช้าฉันเพล หรือทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น หรือจะเดินไปสรงน้ำ อาบน้ำนี้ ถ้าเราจะเดินไปโดยที่มีสติ ไม่พูดไม่จา เดินไป ในขณะเดินนั้น เราตั้งสติอยู่ตลอดเวลา เราก็ทำไม่ได้ล่ะทีนี้ เพราะอะไร เพราะเราพูดไป เดินไป คุยไป เดินไป

เพราะเหตุใด เพราะว่าเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป การกำหนดมันก็ขาดจังหวะขาดช่วง ตลอดทั้งเวลาฉันนั่นแหละ เวลาฉันแทนที่เราจะทำสติของเราให้สมบูรณ์ เราก็ฉันไปคุยไปๆ พวกเราวิ่งตามกระแสสังคม พวกมากลากไป ผลสุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ลืมบทพระกัมมัฏฐานคือการกำหนด ลืมสติ

เมื่อลักษณะดังนี้มีอยู่ในพวกเราผู้ปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ได้แต่หลักการ ได้แต่วิธีการ แต่สภาวะที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานนั้น ไม่ได้ หลวงพ่อสังเกตท่านทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นแต่ว่าพวกเรา ที่มาปฏิบัติในพรรษาก็ดี หรือในช่วงหน้าพรรษาก็ดี ส่วนมากผู้ที่ได้สามัญผลนั้น มีน้อยเหลือเกินนะท่านทั้งหลาย เกือบจะว่าไม่มี ยิ่งไปเรื่องมรรคเรื่องผลนี้ยิ่งหาได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหาไม่ได้ ยังหาได้อยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ แต่มันมีน้อยท่านทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น หากท่านทั้งหลายตั้งจิตตั้งใจว่าอยากได้จริงๆ อยากได้สมาธิสมาบัติ อยากได้มรรคได้ผลจริงๆ เราก็ควรที่จะปลีกวิเวกอยู่ ต่างรูปต่างอยู่ ต่างรูปต่างทำ เพราะเวลาของเรามีน้อย ๙ วันนี้ วันแรกก็เสียไปแล้ว ๑ วัน วันพรุ่งนี้ก็เสียอีก ๑ วัน วันสุดท้ายก็เสียอีก ๑ วัน เสียไป ๓ วัน ได้เพียง ๖ วัน แล้วก็ไม่สมบูรณ์เสียด้วย เมื่อเป็นอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย การที่จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน มันหาได้ยาก หาได้น้อยเหลือเกิน ไม่ใช่ว่านะ นี่พูดตรงนี้นะ

เหตุนั้น หากว่าเรามีโอกาสมีเวลา เราได้ปฏิบัติธรรมในสำนักต่างๆ เวลาท่านจัดขึ้น ก็ขอให้สังวรระวัง ปฏิบัติให้ดีที่สุดเท่าที่จะดียิ่งๆ เพราะว่าการปฏิบัติต่อสังคม ส่วนมากก็จะอยู่ปริวาส แต่ในงานปริวาสงานปฏิบัติในหน้าพรรษานี้ บางทีที่เราปลีกจากวัด เพราะว่ารำคาญหลวงพ่อเจ้าอาวาส ใช้ไปโน้น ใช้ทำโน้นทำนี้ ลำบาก ขี้เกียจ ก็หนีหลวงพ่อเจ้าอาวาสมา เมื่อมาถึงแล้วที่นี่ มีแต่เสวนากัน ชั่วโมงปฏิบัติหรือนอกชั่วโมงปฏิบัติ เราก็ไม่ทำสติให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่มันได้อยู่ แต่ว่ามันไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ท่านทั้งหลาย ที่เรามีกะจิตกะใจมาอยู่ในสถานที่นี้มาปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าบุญล้นฟ้าล้นดิน เกือบจะมีบุญล้นฟ้าล้นดิน แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์แบบ คือสิ่งที่เราต้องการอยากได้จริงๆ คือ เรื่องสมาบัติ ฌาน มรรค ผล นี่เป็นสิ่งที่เราต้องการอยากได้ที่สุด

เพราะเหตุใดจึงอยากได้ เพราะว่า การที่ทำให้จิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง เป็นอัปปนาสมาธิ เมื่อจิตใจของเราเป็นอัปปนาสมาธิ เราก็สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ หรือสามารถข่มกิเลสทั้งหลายทั้งปวงให้สามารถสงบระงับลงได้ ทำให้เกิดความสุข เกิดความสุขแล้วก็จะทำให้การปฏิบัติของเรานั้นก้าวหน้า ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว จิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตใจของเราบริสุทธิ์สามารถที่จะข่มกามคุณทั้ง ๕ ได้แล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิเกือบจะได้แล้ว

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็เกือบจะปิดประตูอบายภูมิได้เต็มที่แล้ว ถ้าหากว่าเราทำได้อย่างนี้ เรานั่งอยู่ตรงนี้ก็ดี หรือนั่งอยู่ที่ไหนก็ดี ร่างของเราเป็นพระธรรมดา เป็นเณรธรรมดา แต่จิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว สามารถข่มกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว

หากว่าเราสร้างสมอบรมบารมีมามาก ความเพียรของเราก็แก่กล้า เราก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัติก้าวหน้า จึงจะทำให้สติของเราสมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รู้รูปรู้นาม

เมื่อทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ เห็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วมันดับไป เห็นรูปนามเป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็นรูปนามนี้เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

เมื่อใดเราเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเกิดความดับไปของรูปของนาม หรือว่าในขณะที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ รูปนามที่ดับไปเราก็รู้ แล้วก็ทันปัจจุบัน ในขณะรูปดับไปเราก็รู้ ในขณะที่นามดับไปเราก็รู้ ในขณะเดียวกัน ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้ คือถ้าจิตใจของเรามันทันจริงๆ นะ

ถ้าสติของเราทันปัจจุบันจริงๆ แล้ว มันจะเห็นอาการดับทั้งรูปดับทั้งนามและทั้งกิเลส คือว่าถ้าเราทำได้อย่างนี้แล้ว มันจะมีอาการ จะเห็นอาการเกิดอาการดับของรูปนามและเห็นกิเลส คือในขณะนั้นรูปมันดับไปเราก็ทัน ทันว่ามันดับไป เราก็รู้ว่ามันดับไป นามดับไปคือความรู้สึกของเรามันดับไปเราก็รู้ และขณะนั้นความชอบใจดีใจ คือกิเลสตัณหามันดับไปเราก็รู้

เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนา เห็นทั้งการเกิด เห็นทั้งความดับ เห็นทั้งกิเลสตัณหามันดับไป ก็ถือว่าปิดประตูอบายภูมิได้ โอกาสที่เราจะไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเราปิดได้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัตินั้น ต้องทำให้ทันปัจจุบัน ต้องมีสติจริงๆ และต้องทันปัจจุบันจริงๆ เวลากำหนด ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนด พองหนอ ยุบหนอก็ดี กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิตก็ดี กำหนดธรรมก็ดี กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กายก็ดี ให้ทันปัจจุบัน

เมื่อเราทำได้อย่างนี้ เราก็ว่าเราปฏิบัติมานานพอสมควรแล้ว ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ต้องสังเกตดู เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร การปฏิบัติธรรมของเรานี้ก้าวหน้าหรือไม่เพียงไร สังเกตดู

ลักษณะของการสังเกตนั้น คือ

๑. อาการพอง อาการยุบนั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั้น อันไหนสั้น อันไหนยาว เราต้องสังเกต

๒. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ปรากฏชัด พองหนอ ยุบหนอนี่ ตัวไหนปรากฏชัด ตัวไหนไม่ปรากฏชัด

๓. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด พองหนอมันหยาบหรือมันละเอียด ยุบหนอมันหยาบหรือมันละเอียด

๔. อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน เช่นว่า พองหนอ ยุบหนอ อันเดียวกันหรือคนละอัน

๕. อาการพองกับอาการยุบ ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร เราต้องรู้มัน อาการพอง อาการยุบ พองหนอยุบหนออยู่นั้น มันเร็วขึ้นๆ มีไหม ต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย

๖. อาการพองอาการยุบของเรานั้น บางครั้งมีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือมันอึดอัด เหมือนใจจะขาด มันแน่นอึดอัดสูงขึ้นๆ แล้วหายไป มีไหมในขณะนั้น ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะกำหนดอาการพองอาการยุบของเรา รู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดมีไหม

๗. อาการพองอาการยุบ บางครั้งสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราก็ละเอียดไปๆ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ บางทีเหมือนกันกับว่ามันหมดไป หรือบางทีเหมือนกับจะดับ ตัวของเราจะตายไป ลักษณะนั้นมีไหม

การประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อกล่าวให้กว้างขวางพิสดาร มันก็มีมาก แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติจริงๆ เอาเท่านี้ท่านทั้งหลาย เราต้องสังเกตอารมณ์ที่เรากำหนด เช่นว่า กำหนดหายใจเข้า หายใจออก

สมมติว่า เรากำหนดลมหายใจเข้าหายใจออกว่า พุทโธๆ หรือหายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อะไรทำนองนี้ บางครั้งลมหายใจของเรามันเร็ว มันหายใจเร็วขึ้นๆ มันมีไหม หรือบางครั้งอาการลมหายใจเข้าหายใจออกมันรู้สึกฝืดๆ เหมือนจะหายใจไม่ได้ หรือหายใจไม่ออกมันมีไหม หรือบางครั้งอาการหายใจเข้า หายใจออกในขณะที่กำหนดพุทโธๆ อยู่นั้น มันสม่ำเสมอดี

บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เหมือนกับไม่มีลมหายใจ มันมีไหม เราต้องสังเกตนะท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่า พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ สัมมาอรหัง อะไรทำนองนี้ หรือว่ากำหนดโดยที่ไม่มีพรมแดน ไม่มีจุดหมายปลายทาง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปฏิบัติอย่างนี้มันได้ผลน้อย หรือไม่ได้ผลเสียเลย

เมื่อท่านทั้งหลายกำหนดได้ดังนี้ สังเกตได้อย่างนี้ เราก็สังเกตต่อ ๆ ไปว่า เพราะถ้าอาการอย่างนี้มันมีแล้ว มันก็มีอยู่เป็นอยู่บ่อยๆ นั่งสมาธิครั้งหนึ่งอาจจะมีอยู่ ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง มันเกิดลักษณะอย่างนี้มันเกิด มันอาจจะมี หากลักษณะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นมันมี

ทีนี้สังเกตต่อไปว่า เมื่อเรากำหนดต่อไป อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้างมีไหม คือบางทีมันก็เร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง หรือผงะไปข้างหลังบ้าง หรือไปข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง หรือบางทีมันขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน มันมีไหม ท่านทั้งหลายต้องสังเกต

หรือบางทีกำหนดพองหนอยุบหนออยู่นั้น อาการฝืดๆ อึดอัดๆ แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นๆ แล้วสัปหงกไปข้างหน้าบ้างไปข้างหลังบ้าง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเรามันไม่ต่อกัน ลักษณะดังนี้ มีไหม เป็นไหม

บางทีอาการพองอาการยุบมันเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง มีไหมลักษณะอย่างนี้ ถ้าเรากำหนดได้อย่างนี้แล้ว โบราณท่านว่า อเนกานิสังสา มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ หลวงพ่อว่า ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ปฏิบัติได้อย่างนี้ เราก็ปฏิบัติใกล้มรรคผลนิพพานแล้ว ใกล้จะถึงแล้ว ใกล้จะสำเร็จแล้ว

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะจริงๆ แล้วก็ได้ผลได้อานิสงส์จริงๆ อย่าให้เสีย อย่าให้ต้องมาแล้วก็ไม่ได้อะไร ขาดทั้งทุน สูญทั้งกำไร

หลวงพ่อได้น้อมนำเอา หลักของการปฏิบัติโดยย่อ มาถวาย แนวทางของการประพฤติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในการสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งถ้าท่านทั้งหลายออกไปแล้ว ก็จะได้ไปสอนญาติสอนโยม สอนลูกศิษย์ลูกหา ก็ขอให้จำหลักการไว้ให้ดี เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการสอนต่อไป หรือการปฏิบัติต่อไป

หลวงพ่อน้อมนำธรรมะมาถวายความรู้เพื่อเป็นแนวทางของการปฏิบัติของการสอน ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 มีนาคม 2560 13:43:10

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8a/StandingBuddha.jpg/220px-StandingBuddha.jpg)

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๓)

ท่านอาจารย์ทั้งหลาย หลวงพ่อในนามคณะสงฆ์ ขอเจริญพรขอบใจ ขออนุโมทนาท่านคณาจารย์ทั้งหลาย ที่ได้เสียสละเวลาอันมีค่ามาประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกัน ณ สถานที่แห่งนี้

พิธีกรรมหรือปฐมนิเทศใดๆ เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติผ่านมาแล้วตอนกลางวัน คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อจึงไม่จำเป็นที่จะพูดอะไรให้มาก

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เท่าที่สังเกต ท่านทั้งหลายล้วนได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาแล้ว ส่วนมากเรียนมากกว่าหลวงพ่อ จบปริญญาตรี จบปริญญาโท จบปริญญาเอก การเรียนวิชาการต่างๆ ท่านทั้งหลายได้เรียนมากกว่าหลวงพ่อ หลวงพ่อ(จบ)เพียงแต่ชั้น ป.๔ เท่านั้น เหตุนั้น การพูดจาภาษาใดๆ อะไรก็ตาม หากว่าขาดตกบกพร่องหรือไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ

ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจเดินทางมาสู่สถานที่นี้ตามนโยบายของรัฐบาล มาปฏิบัติ สำหรับการปฏิบัติท่านทั้งหลายก็รู้ก็เข้าใจ เคยปฏิบัติมาแล้ว จะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่จำเป็นที่หลวงพ่อต้องสาธยายอะไรให้มาก แต่ขอชี้แนะแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ

การประพฤติปฏิบัตินี้ เราต้องการความรู้ขั้น ภาวนาญาณ เท่านั้น เพราะความรู้ด้าน สุตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เรียนมาแล้ว ความรู้ด้าน จินตาญาณ ท่านทั้งหลายก็ได้เคยใช้มาแล้ว แต่ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ส่วนมากเราไม่ได้ใช้กันเท่าที่ควร หรือว่าใช้ก็ไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย แม้จะจบปริญญาเอก แต่ส่วนมากความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ พวกเราไม่จบ น้อยคนที่จะจบ

ลูกศิษย์ลูกหาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ หลายๆ พันรูป หลายๆ พันคน ที่จะเรียนรู้ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ หาสักร้อยคนก็หายาก คือไม่จบ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ไม่จบ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเป็นอันว่า ความรู้ใดๆ ที่พวกเราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ขอยกไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอามาใช้ เก็บไว้ก่อน หลวงพ่อต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายศึกษาหาความรู้ด้านภาวนาญาณ

ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ เราจะศึกษาหาจากตำรับตำราอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ความรู้ใดๆ ที่มีอยู่ในตำรับตำรา แม้แต่ความรู้ในด้านปริยัติ คือพระไตรปิฎก ความรู้ในด้านพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้ ถือว่าเป็นความรู้ด้านปริยัติ เป็นปริยัติ แล้วก็เป็นจินตาญาณ เป็นสุตาญาณ ยังไม่ถึงขั้นภาวนาญาณ

ความรู้ด้าน ภาวนาญาณ นี้ เราต้องทำเอาเอง ศึกษาเอง ก็รู้เองเข้าใจเอง การที่เราจะอ่านตำรับตำราหลายคัมภีร์สักเท่าใดก็ตาม ไม่จบ การเรียนรู้เรื่องภาวนาญาณนี้ บางท่านก็เรียนไม่จบเลย คือมันเป็นขั้นๆ ความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ ถ้าจะแบ่งก็มีอยู่ ๔ ระดับ ๔ หมวด

แล้วความรู้ด้านภาวนาญาณนี้ เราเรียนจากไหน

เราเรียนจากร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เรียนที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียนที่ พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น เราเรียนที่นี้ ไม่ได้เรียนที่อื่น

เพราะเหตุไรจึงเรียนที่นี้ (ที่กายนี้)

เพราะว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นบ่อเกิดความรู้ด้าน ภาวนาญาณ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด

แต่ส่วนมาก พวกเราทั้งหลาย มองข้ามปัญหาใกล้ตัวเอง คือมองข้ามเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ เรามองข้ามเลย ไม่เอามาขบคิดปัญหาให้ทะลุปรุโปร่ง หรือให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสภาวะที่เป็นภาวนาญาณได้

วิธีที่เรียนรู้ บทที่ประกอบ หรือคู่มือที่เอามาประกอบก็คือ

๑.มีสติ คือมีสติอยู่ตลอดเวลา จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม รู้ตัวตลอดเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรามีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา (สติมา)

๒.มีสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวทั่วพร้อม เราจะทำงานใดๆ จะทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง จะเคลื่อนไหวอวัยวะน้อยใหญ่ของเรา เราก็รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับเราเขียนหนังสือ ตัว ก. ตัว ต. นั้นเป็นอย่างนี้ นี้เป็นสติ แล้วก็ลักษณะของตัวนั้นเป็นอย่างไรๆ นี้เป็นลักษณะของสัมปชัญญะ (สัมปชาโน)

๓.มีวิริยะความเพียร คือมีฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ วิริยะ แข็งใจในการปฏิบัติ จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ และวิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ (อาตาปี)

นี่คือคู่มือหรือลูกกุญแจที่จะเปิดเอาความรู้ด้านภาวนาญาณ เมื่อเราเอากุญแจไปเปิดตำรับตำราเรื่องภาวนาญาณ มันจะเห็นตั้งแต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันจะเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็รู้มันก็เห็น แล้วก็อาการขวาย่างซ้ายย่าง มันจะเห็นอาการขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นอย่างไร มันจะเห็นได้

เพราะอะไร

เมื่อเรามีสติกำหนดอารมณ์ดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นทีนี้ มันจะเห็นว่า พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ลักษณะมันเป็นอย่างไร คือมันจะปรากฏกายขึ้นมาเอง พองหนอ ยุบหนอ มันเป็นอย่างไร ก็จะเห็น ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็จะเห็น มันเกิดขึ้นในเวลาเราเดินจงกรม

มันเจ็บ มันปวด บางทีก็เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ บางทีก็มีความสุข บางทีก็เฉยๆ มันจะเห็นอยู่ที่นี้ เห็นตรงนี้ มันเห็นอัตโนมัติ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็นเอง มันเป็นอัตโนมัติ

ในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่ก็ดี เรากำหนดเดิน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ก็ดี มันจะทำเหมือนกับสภาวะที่ซ้อนอยู่ในร่างกายและจิตใจของเรา มันมีสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน อะไรที่เป็นสภาวะที่ซ้อนอยู่(ข้าง)ใน มันจะเห็นเองโดยอัตโนมัติ เราบอกกันไม่ได้ ถ้าบอกได้มันก็เป็นปริยัติ มันก็เป็นสุตาญาณ หรือจินตาญาณ แต่นี้เราต้องการภาวนาญาณ มันจะเห็นเอง ถ้าเห็นเอง รู้เอง เข้าใจเอง แทงตลอดเอง เรียกว่า ภาวนาญาณ มันจะเห็น

แล้วความรู้ขั้นนี้ ขณะที่เรากำหนดจิตของเรา คิดหนอๆ เรากำหนดอยู่อย่างนี้ร่ำไป มันจะเห็นอาการนะ มันจะเห็นอาการคิดของเรา มันคิดเรื่องอะไร มีอะไร เหตุเกิดที่แอบแฝงอยู่ในจิตในใจของเรา มีอะไร มันเกิดความคิดขึ้นมา ความคิดที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างนี้ เขาเรียกว่า ภาวนาญาณ

ภาวนาญาณนี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน เมื่อเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว หรือมีสติสมบูรณ์แล้ว มันจะเห็น ดังนี้ คือ

ปัญญาขั้นที่ ๑ เห็นรูป เห็นนาม (นามรูปปริจเฉทญาณ) เช่นว่า ขวาย่างหนอ นี่ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม มันจะเห็นเอง ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาตาเห็นรูป เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เวลาลิ้นรับรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เวลาสัมผัสอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ อ่อนหนอ แข็งหนอ อะไรก็ตาม ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ขวาย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูปตรงไหนเป็นนาม ซ้ายย่างหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม พองหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ยุบหนอ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

เมื่อเรากำหนดอยู่อย่างนี้ เฝ้าดูอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ กำหนดอยู่อย่างนี้ ดูมันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันก็จะเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ เมื่อแยกรูปแยกนามออกจากกันได้แล้ว มันจะเห็นอะไรลึกๆ ไปกว่านั้นอีก มันจะเห็นของลึกๆ อยู่ในนั้น เรียกว่า เป็นของที่เกิดโดยภาวนาญาณ

ปัญญาขั้นที่ ๒ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เมื่อเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็จะเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เมื่อเห็นเหตุเห็นปัจจัยแล้ว ก็จะเห็นรูปนามนั้นเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นทุกขัง คือสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นอนัตตา คือสภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป (ปัจจยปริคคหญาณ)

ที่หลวงพ่อพูดนี้เป็นปริยัตินะ แต่ที่เราต้องการรู้คือ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ๆ ไป มันจะรู้ คือความรู้ด้านภาวนาญาณนี้มันเกิดขึ้นมาเอง อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ของรูปของนาม มันจะเห็นเอง

ปัญญาขั้นที่ ๓ เห็นพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลำดับที่ ๓ เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะเห็นความเกิดความดับของรูปของนาม (สัมมสนญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๔ เห็นความเกิดดับของรูปนาม เมื่อเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม ที่แม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ท่านว่าอย่างนี้ ถ้าเราเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เรามีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี (อุทยัพพยญาณ)

ถ้าเรามาถึงปัญญาขั้นนี้แล้ว หากว่าเราตายไปในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ หรือในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราตายไปเพราะจิตดวงนี้หรือดับไปเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ประพฤติธรรม ได้ปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรม

ปัญญาขั้นที่ ๕ เห็นความดับของรูปนาม เมื่อปัญญาขั้น(เห็นความเกิดดับของรูปนาม)นี้แก่กล้าแล้ว ปัญญาขั้นที่ห้า (ภังคญาณ) ก็จะ เห็นเฉพาะความดับไป ของรูปนาม ความดับของรูปนามเป็นอย่างไร มันจะเห็น เห็นความดับของรูปนาม

ปัญญาขั้นที่ ๖ เห็นรูปนามปรากฏโดยความเป็นของน่ากลัว ปัญญาขั้นที่หก เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวคือ รูปนามที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นี่ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ นี่ มันจะปรากฏเห็นเป็นของน่ากลัว แล้วก็เห็นด้วยภาวนาญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม คือเมื่อเห็นว่ารูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัวแล้ว ก็จะเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามเป็นลำดับที่เจ็ด เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม (อาทีนวญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๘ เห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ในลำดับที่แปด เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้ว ก็จะเห็นรูปนามเป็นของน่าเบื่อหน่าย ทั้งร่างกายตนเอง และร่างกายของคนอื่น (นิพพิทาญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๙ เกิดความอยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปนาม ปัญญาขั้นที่เก้า คือเมื่อเบื่อหน่ายรูปนามแล้ว ก็จะอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน อยากไปให้พ้น อยากออก อยากหนี ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป (มุญจิตุกัมยตาญาณ)

ถ้าปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะไม่จบภาคการปฏิบัติ เมื่อเวลาของเรามีอยู่ แต่เมื่อการปฏิบัติมาถึงขั้นนี้ นั่งสมถกัมมัฏฐานก็ไม่อยากนั่ง เดินก็ไม่อยากเดิน คือ มีแต่อยากออก อยากหนี อยากเลิก อย่างเดียว

ปัญญาขั้นที่ ๑๐ จิตใจของผู้ปฏิบัติก็เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ (ปฏิสังขาญาณ)

ปัญญาขั้นที่ ๑๑ คือ สังขารุเปกขาญาณ ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ นั่งกัมมัฏฐานก็นั่งสบายๆ นี่เป็นความรู้ด้านภาวนาญาณ

เมื่อปัญญาขั้นนี้สมบูรณ์แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี เข้าสู่มัคควิถีคือ เห็นความเกิดความดับของรูปนามด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็จะก้าวเข้าสู่มัคคญาณ ผลญาณ

เมื่อเราถึงมัคคญาณผลญาณแล้ว เราจะเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญา ชัดอย่างไร ถ้าเราเห็นความเกิดความดับชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว รูปของเราก็ดับ นามก็ดับ กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็ดับไป

ถ้าเราสามารถเห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา ๔ ระดับแล้ว ก็ถือว่า กิเลสตัณหานั้นหมดไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่ติดตามหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน นี่เป็นความรู้ที่จะเกิดขึ้นจากการเจริญภาวนา เรียกว่า ภาวนาญาณ

ท่านทั้งหลาย (อาจจะคิดว่า) มีเวลาน้อยนิดเดียวเท่านั้น มันจะถึงไหมหลวงพ่อ หลวงพ่อว่า แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

บางคนเวลาน้อยนิดเดียว เราปฏิบัติตอนนี้ สามารถที่จะรู้ได้ตอนกลางคืนหรือตอนเช้า คือเราปฏิบัติตอนเช้า อาจได้ผลตอนเย็นก็ได้ แล้วแต่ปฏิปทาของใครของมัน บางคนปฏิบัติง่ายแล้วก็ได้บรรลุง่าย บางคนปฏิบัติง่ายแต่รู้ช้า บางคนปฏิบัติลำบากแต่รู้เร็ว บางคนปฏิบัติลำบากและก็รู้ช้า แล้วแต่ปฏิปทาของแต่ละท่าน

ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อพูดมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีมรรคผลพระนิพพานอยู่หรือ พระอริยบุคคลยังมีอยู่หรือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ยังมีอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ แล้วก็เข้าใจอย่างนี้ เรื่องนี้หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูที่เรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)

แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาถึงปานนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผลของการปฏิบัตินี้ มีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องฌานเรื่องสมาบัตินี่ ผู้ที่สามารถทำฌาน ทำสมาบัติ สามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง มีเป็นจำนวนมากพอสมควร

เมื่อเหตุปัจจัยในปัจจุบันเป็นหลักฐานอ้างอิงอยู่อย่างนี้ ตำรับตำราที่ท่านว่าไว้ก็มีเป็นอย่างนี้ แล้วครูบาอาจารย์ที่สอน ผู้ที่ปฏิบัติเพราะครูบาอาจารย์สอนก็มีอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย อย่าไปเชื่อตำรับตำรา(อื่นๆ )ที่เขากล่าวไว้ในเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่า ศาสนาจะเป็นอย่างนั้น ศาสนาจะเป็นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลายอย่าไปเชื่อ ถ้าจะเชื่อก็ให้ถือตามหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตามที่กล่าวมาแล้ว

เพราะตามตำรานี้ หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหามาจนถึงบัดนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ยังเป็นพระเจ้าพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพอสมควร แล้วผู้ได้ฌานได้สมาบัติ ก็มีมากพอสมควร

ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น หลักการของการปฏิบัติไม่เหมือนกัน แต่ละสำนักแต่ละอาจารย์(สอน)ไม่เหมือนกัน คือ

๑) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พุทโธๆ
๒) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง
๓) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า สัมพุทโธ
๔) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า อิติปิ โส ภะคะวา
๕) บางสำนัก หายใจเข้า ภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ
๖) บางสำนัก หายใจเข้าภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกภาวนาว่า พุทโธ
๗) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นะมะพะทะ ไปเรื่อยๆ
๘) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า รู้หนอๆ
๙) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งหนอ ถูกหนอ
๑๐) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ถูกหนอๆ
๑๑) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า กระทบหนอๆ
๑๒) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ
๑๓) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า นั่งเป็นรูป รู้เป็นนาม
๑๔) บางสำนักใช้คำภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
๑๕) บางสำนัก ยกมือไป ยกมือมา ภาวนาว่า เกิดดับๆ ว่าไปเรื่อยๆ
๑๖) บางสำนัก หายใจเข้า หายใจออก ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร นั่งดูอารมณ์เฉยๆ ภาษาบ้านเราเรียกว่า ซอมเบิ่งอารมณ์ นั่งดูเฉยๆ
อันนี้เป็นการบริกรรม ว่าถึงเรื่อง คำบริกรรม ที่ต่างกันไปในแต่ละสำนัก

ส่วนการเดินจงกรม ก็มีแตกต่างกันในแต่ละสำนัก ถ้าจะพอจำแนกได้ ก็มีดังนี้
๑) บางสำนัก ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
๒) บางสำนัก ขวาย่าง ภาวนาว่า พุทโธ ซ้ายย่าง ภาวนาว่า พุทโธ
๓) บางสำนักภาวนาว่า ก้าวหนอๆ
๔) บางสำนักภาวนาว่า ก้าวเป็นรูป รู้เป็นนาม
๕) บางสำนักภาวนาว่า ย่างหนอๆ
๖) บางสำนักภาวนาว่า ยก ย่าง เหยียบ
๗) บางสำนักภาวนาว่า รู้หนอๆ
๘) บางสำนักภาวนาว่า เกิดดับๆ
๙) บางสำนักภาวนาว่า ไหวนิ่งๆ
๑๐) บางสำนักกำหนดรู้เฉยๆ ไม่ต้องภาวนาว่ากระไร
๑๑) บางสำนักเดินจงกรมภาวนาว่า นะมะพะทะ

นี่ (การบริกรรม/คำภาวนา) ที่ท่านสอนกันภายในประเทศของเรา และในต่างประเทศ สอนกันอยู่ในลักษณะอย่างนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีอีก แต่ละสำนักๆ ก็ใช้ไม่เหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะถือเอาอย่างไร สำนักไหนผิด สำนักไหนถูก (ขอตอบว่า) ถูกด้วยกันทั้งนั้น

ที่ตอบว่าถูกด้วยกันทั้งนั้น คือ ถ้าเดินจงกรมและนั่งภาวนา โดยต้องการที่จะให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นฌาน ก็ถูกแบบสมถะ คือ ถ้าภาวนาก็ดี เดินจงกรมก็ดี เราตั้งใจบริกรรม ตั้งใจที่จะทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มันก็ถูกแบบสมถะ

แต่ถ้าใช้วิธีกำหนด กำหนดรู้ ต้องการจะให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถูกแบบวิปัสสนา คือ ถ้าใช้วิธีกำหนดรู้ รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้ รู้รูป รู้นาม รู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็ถูกแบบวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น เราผู้ปฏิบัตินั้น แล้วแต่จะเลือกเอา แต่จะเอาอย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลาย การที่เราจะเลือกเอาสมถะ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้ผลดังใจอยากได้ หรือว่าเราอยากได้วิปัสสนา ก็ไม่ใช่ว่าจะสมใจที่เราอยากได้ มันอยู่ที่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

ถ้าสมมติว่าเราภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี่คำเดียวนี่แหละ พองหนอ ยุบหนอ นี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีในทางสมถะมาก่อน คือตั้งแต่ชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะมาก่อน หรือเมื่อก่อนโน้นได้ให้ทานรักษาศีลมากกว่าอย่างอื่น เวลามาเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดพองหนอ ยุบหนอ อย่างนี้แหละ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เมื่อสติสัมปชัญญะของเรามันสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เกิดฌาน ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกันแหละ

นี่ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีทางสมถะมามาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามที่หลวงพ่อเคยสอนๆ มา บางคนก็สามารถทำสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง บางคนก็ทำได้ถึง ๓๐ ชั่วโมง

แต่ส่วนมากหลวงพ่อสอนไปถึง ๓๐ ชั่วโมง แล้วก็คิดว่า ๓๐ ชั่วโมงนี่ ก็นานพอสมควรแล้ว ถ้าเราตายในฌานเพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สอนได้เพียงแค่นี้ แต่ว่าการทำสมาธิหรือฌานที่เราทำในสมัยนี้ ถ้าเราตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ก็สามารถอยู่ในสมาธิในฌานได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีทางวิปัสสนามาก่อน คือเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ อย่างนี้แหละ ถ้าเราได้เคยสร้างสมอบรมบารมีในทางวิปัสสนามาก่อน คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวเข้าสู่ญาณชวนวิถี เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ผ่านไปตามลำดับๆ จนไปถึงมัคคญาณ ผลญาณ บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่มันผลไม่เหมือนกัน

สมถะหรือว่าผลของสมถะ แม้ว่าเราจะเดินจงกรม ได้สมาธิ ได้ฌาน เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ปิดประตูอบายภูมิยังไม่ได้นะ หากว่าเราประมาทไม่ได้ตายในฌาน ตายแล้วก็ยังไปเกิดในอบายภูมิได้

แต่วิปัสสนาภาวนานี้ ถ้าว่าเราได้วิชาวิปัสสนาเพียงแค่ ปฐมมรรค สามารถทำได้ครั้งเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปปธัมโม เป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ สัมโพธิปรายโน จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถที่จะสำเร็จได้

ต่อไปก็ ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

๑. การประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อจะให้ได้ถึงมรรคถึงผลนี้ ต้องประกอบด้วย องค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติธรรม ดังนี้
๑) ต้องมีสติ รู้ทันปัจจุบัน
๒) มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม
๓) มีวิริยะความเพียร คือ พอใจปฏิบัติ ตั้งใจปฏิบัติ แข็งใจปฏิบัติ แล้วก็ฉลาดในการปฏิบัติ
อันนี้เป็นคุณสมบัติ เหมือนกันกับท่านทั้งหลายไปสอบเข้าโรงเรียนที่โน้นที่นี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ต้องมีคุณสมบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติแล้วไปไม่ได้

๒. นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติ จะต้องสังวรระวังในการปฏิบัตินั้น คือ
๑) อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ เวลาเดินก็เดินตามปกติ คือ เวลาเดินก็เดินตามปกติ อย่าไปแข็งๆ เหมือนกับคนเป็นเปลี้ยเป็นง่อย อย่าทำให้อิริยาบถผิดปกติ
๒) อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น เช่นว่า นั่งภาวนาอยู่ หรือเดินจงกรมอยู่ จะเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาให้เห็นนรกให้เห็นสวรรค์ ให้เห็นโน้นให้เห็นนี้ ให้เห็นหวยที่มัน จะออกในวันที่ ๑๖ นี้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่า อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น คือพยายามอย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น ถ้าทำให้ความต้องการเกิดขึ้น เวลาปฏิบัติกัมมัฏฐานมันก็จะรั่ว การปฏิบัติไม่ได้ผล
๓) อย่าเครียดจนเกินไป ถ้าเครียดเกินไป มันจะทำให้จิตใจของเราคิดมาก จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก ถ้าอาการเครียดมาก เวลาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากปฏิบัติไม่ได้ผล หนักๆ เข้าก็เป็นบ้า เพราะอะไร เพราะว่ามันขาดสติ สติของเราไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความเครียด แล้วก็อย่าเครียดจนเกินไป แล้วก็อย่าหย่อนยานจนเกินไป
๔) อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ อยากได้หูทิพย์ อยากได้ตาทิพย์ อยากรู้วาระจิตของผู้อื่น อยากระลึกชาติหนหลังได้ อะไรทำนองนี้ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี่ ร้อยทั้งร้อย เป็นบ้า เป็นบ้ามากหรือน้อยนี่ก็แล้วแต่ แต่มีอย่างเดียวก็คือ เป็นบ้า

เพราะฉะนั้น ก็ขออย่าให้ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้เกิดขึ้น

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายให้ความรู้ เพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 31 มีนาคม 2560 11:14:50

(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/8a/StandingBuddha.jpg/220px-StandingBuddha.jpg)

แนะแนวทางการปฏิบัติ (๔)

ขอกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดอำนาจเจริญ วันนี้ รู้สึกซาบซึ้ง ยินดี ปีติ ตื้นตันใจ เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านทั้งหลายได้จัดพิธีปฏิบัติธรรม ก็นับว่าท่านทั้งหลายมีจิตใจกว้างขวาง

เพราะผู้ที่มาปฏิบัติธรรมนี้ อยู่หลายจังหวัด ไม่ใช่ว่าอยู่เฉพาะจังหวัดอำนาจเจริญ และก็หลายๆ จังหวัดรวมกัน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมด้วยความสามัคคีพร้อมเพรียงกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะบรรยายธรรมะ หรือชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติธรรม ก็ขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางประการ เผื่อว่าจะได้สะดวกแก่การฟังแก่การพูด หากว่าท่านผู้ใด หลวงปู่ หลวงตา หรือว่าอุบาสก อุบาสิกา มีอายุพรรษาตั้งแต่ ๗๐ กว่าไป ๗๓, ๗๔, ๗๕ ก็ขอยกไว้เป็นพ่อเป็นแม่ ฟังคำอะไรที่พูดไปก็ขอให้เข้าใจว่า วันนี้เราเป็นพ่อเป็นแม่ สำหรับท่านรูปใดที่อายุพรรษาอ่อนกว่า ๔๓ ปี ก็ถือว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหา

ขอสรุปเอาสั้นๆ ว่า ไหนๆ เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันแล้ว ก็ขอใช้คำรวมๆ กันว่า หลวงพ่อ ก็แล้วกัน ในขณะที่เราฟังอยู่นี้ เราเป็นลูก เราเป็นโน้นเป็นนี้ ก็สมมติในจิตในใจเอา แต่ในขณะที่นั่งฟังอยู่ ก็ถือว่า ตอนนี้หลวงพ่อเป็นพ่อเป็นแม่ เราเป็นลูกเป็นหลาน ก็คิดเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน

ก่อนที่จะกล่าวธรรมะเพื่อเป็นการฉลองศรัทธาปสาทะของท่านทั้งหลาย ก็ขอปรับความเข้าใจเป็นบางสิ่งบางประการ โดยเฉพาะการพูดจาปราศรัย หลวงพ่อนั้นเป็นพระลูกทุ่ง ภาษาอีสาน พูดจาปราศรัยอะไร บางทีบางครั้งก็จะเป็นถ้อยคำที่ฟังไม่รื่นหู ก็ขออภัยหลายๆ ด้วย

อีกอย่างหนึ่ง นับตั้งแต่หลวงพ่อเบื่อ (แพ้) แตงโม ตั้งแต่โน้นมาจนถึงบัดนี้ ประสาททางการพูดกระท่อนกระแท่น ภาษาที่เขาเรียกว่า ลิ้นพัน เหตุนั้น ถ้อยคำอันใดที่ฟังมาแล้วไม่รื่นหู ก็ขอให้นึกว่าเป็นสภาวะของสังขารก็แล้วกัน

สำหรับวันนี้ การปฏิบัติธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น พวกท่านทั้งหลายก็ได้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เท่าที่สังเกต ทุกท่านถือว่าปฏิบัติกันมาพอสมควรแล้ว เว้นไว้แต่บางท่าน ในชีวิตนี้ที่ยังไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติรุ่นก่อนก็ถือว่าให้โอกาสให้เกียรติผู้ที่มาทีหลัง สำหรับการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น เราท่านทั้งหลายเข้าใจอยู่แล้วว่า ท่านปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ท่านทั้งหลายก็รู้มาแล้ว

เพราะว่า แนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมโดยพิสดารนั้น มีหลายสิ่งหลายประการ ถ้าคิดเป็นสำนักๆ แล้วก็มีอยู่เกือบ ๒๐ สำนัก (หรือ ๒๐ แนวทาง) การปฏิบัติหรือกุศโลบายของผู้ปฏิบัติของผู้เป็นครูบาอาจารย์นั้นไม่เหมือนกัน แต่ผลที่ต้องการนั้นเหมือนกันหมด คือต้องการให้ทุกคนนั้นได้พ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน แม้จะใช้ คำบริกรรม อย่างไรๆ ก็แล้วแต่ จุดหมายปลายทางเหมือนกันหมด แต่จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่ปฏิปทาหรือบุญวาสนาบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมมา

ส่วนการภาวนา ถ้าเราได้รู้ได้เข้าใจแล้ว แม้เราจะภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายนะ แต่เราใช้คำบริกรรมว่า อยากตายหนอๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิให้ได้ฌาน ผลสุดท้ายสติปัญญาแก่กล้า ก็สามารถที่จะได้ถึงมรรคถึงผลได้เหมือนกัน

สมมติว่าเรานั่งอยู่บนสาดบนเสื่อน้ำมันนี้ เรามองดูบริกรรมว่า เห็นหนอๆ เพ่งอยู่ เพ่งไปๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานเหมือนกัน หลวงพ่อได้ทดลองดูบางคนก็ได้สมาธิได้ฌานถึง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่าเราจะใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง ก็ดี อิติปิ โส ภควา พองหนอ ยุบหนอ หรือจะใช้คำว่าอะไรก็ตาม

การบริกรรมการภาวนามันแตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้ก็แล้วแต่กุศโลบายของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ แต่เมื่อสรุปแนวทางของการปฏิบัติ ทุกคนทุกท่านต้องการผลของการปฏิบัติเหมือนกัน คือต้องการจะพ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลนิพพาน

สำหรับพวกเราทั้งหลาย ที่ใช้คำภาวนาอยู่ในขณะนี้ ส่วนมากเราใช้สติปัฎฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะเหตุไรจึงใช้สติปัฏฐาน ๔ เพราะว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นธรรมที่ครอบจักรวาล เป็นธรรมหรือบทปฏิบัติที่รวมยอด ผู้ใดจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม จะเป็น ๑๐ สำนัก ๑๐๐ สำนักก็ตาม แต่เมื่อรวมลงไปแล้วก็รวมลงในจุดเดียวกันคือ สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เห็นหนอ ได้ยินหนอ รสหนอ ถูกหนอ ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม หมายความว่า สิ่งใดที่เราสามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสด้วยประสาททั้ง ๕ ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ว่า สิ่งใดที่ไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ก็คือ ใจ ของเรา ใจนี่เป็นนามธรรม

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราเอารูปเอานามเป็นอารมณ์ สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงไปแล้ว ก็มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น เช่นว่า อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ถือว่าเป็นรูปธรรม สำหรับใจที่รู้ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม

ก็เป็นอันว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เมื่อรวมกันแล้วได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น หากว่าจะขยายออกไปมากกว่านี้ เช่น เวทนานี้ เวลาเราเจริญพระกัมมัฏฐานว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ อันนี้เป็นรูปเป็นนามอยู่ด้วยกัน เช่นว่า มันเจ็บก็ดี ปวดก็ดี เฉยก็ดี อันนี้ใครเป็นผู้เฉย ใจของเราเป็นผู้เฉย ใจนี้ก็ถือว่าเป็นนามธรรม หรือว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ใครเป็นผู้คิด ใจของเราเป็นผู้คิด เราก็กำหนด คิดหนอๆ ก็ถือว่าเป็นนามธรรม สำหรับธรรมทั้งหลายทั้งปวง ธรรมที่เป็นกุศลก็ดี ธรรมที่เป็นอกุศลก็ดี เช่น ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี มันเป็นนามธรรม

หากว่าเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้ สิ่งที่ได้ผลเร็วที่สุด คือเราใช้ จิตตานุปัสสนา เช่น เรากำหนดคิดหนอๆ ผู้ต้องการฌานต้องการสมาธินั้นจะได้ก่อนเพื่อน เพราะเหตุไร เพราะว่าเมื่อเราควบคุมระบบความคิดแล้ว เมื่อเราควบคุมได้แล้ว ความคิดของเราจะน้อยลงไปๆ ถ้าว่าเรากำหนด คิดหนอๆ ความคิดของเรามันจะหยุดลงไป เมื่อมันคิดใหม่ เราก็กำหนดใหม่ เรากำหนดได้ มันก็หมดพลังไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้

หากว่าในขณะเจริญพระกัมมัฏฐานมันคิดมากเกินไป เราก็พยายามกลั้นลมหายใจ เรากลั้นใจไว้ ประมาณสัก ๔ สัก ๕ หรือสัก ๓๐ วินาที หรือว่า ๔๐ วินาที แล้วค่อยๆ ปล่อยลมไปๆ หากว่ามันคิดอีก เราก็กลั้นใจไว้อีก มันคิดอีก กลั้นใจไว้อีก ไม่ช้าไม่นาน มันก็อ่อนกำลังลง ทำให้จิตใจของเราสงบเป็นสมาธิได้

หรือว่ายังไม่หาย ถ้าปานนี้มันยังไม่หายก็ลงน้ำไปเลย ดำอยู่ในน้ำนั่นแหละ เพราะอะไร เพราะว่าคนดำน้ำอยู่นั้นมันไม่คิด คิดไม่ได้ นี้วิธีที่จะทำลายความคิดเราให้อ่อนกำลังลงไป แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้สมาธิ การเจริญพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้ผลที่ได้ เมื่อสรุปลงแล้ว บางท่านที่ได้สร้างสมอบรมบารมีมาในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน หรือว่าท่านทั้งหลายที่เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ตั้งแต่โน้น ตั้งแต่หลายปี หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เราเจริญสมถกัมมัฏฐานมามาก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌานก่อน

แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมามาก คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พ้นทางวิปัสสนา ทั้งๆ ที่ใช้คำบริกรรมเหมือนกัน คือ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนอ เหมือนกันหมด

แต่ว่าผลที่ออกมานั้น ไม่เหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา ถ้าผู้ใดเคยบำเพ็ญในทางสมถกัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน ถ้าเคยเจริญวิปัสสนามาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้มรรคได้ผล แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมา

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ในสมัยนี้ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดอย่างนี้ เพราะเท่าที่ไปสอนธรรมะหลายๆ แห่ง กระแสต่อต้านก็มีหลายแห่งเหมือนกัน ส่วนมากผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นก่อนเขาเห็นว่าสมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานไม่มี และคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้เขาก็คิดกันอย่างนี้ เขาคิดว่า มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ผู้ได้ฌานได้สมาบัติไม่มี

แต่เรื่องนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานอย่างจริงจังมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ ผู้ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผู้ที่ได้สมาธิได้ฌานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เช่นปีที่ผ่านมา ที่บ้านอีเติ่ง ก็มีผู้ทำสมาธิทำฌานได้ มีถึง ๓๐๐ เศษๆ เข้าได้ออกได้ตามอำนาจกำลังสมาธิของใครของมัน แล้วก็เอามาฝึกให้ทำสมาธิได้ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็ ๓๐ ชั่วโมง ที่บ้านอีเติ่ง

นอกจากนี้ สำนักหรือวัดต่างๆ ที่หลวงพ่อไปเทศน์ไปสอน ก็รู้สึกว่ามีผู้ที่สามารถทำสมาธิได้เป็นจำนวนมาก เป็นอันว่า เมื่อเราฟังมาถึงนี้ ก็ถือว่าหมดปัญหาที่จะคัดค้าน ในเมื่อผลของการปฏิบัติปรากฏอยู่อย่างนี้

ส่วนท่านทั้งหลายจะคัดค้านก็ถือว่าเป็นบาปเป็นบุญของท่าน หรือว่าท่านจะคัดค้านก็เป็นเรื่องของท่าน ท่านจะรักษาทิฏฐิมานะนี้ไว้ตลอดชีวิต หรือภพหน้าชาติหน้าก็จะรักษามิจฉาทิฏฐิไปก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย อันนี้ก็แล้วแต่เจตนารมณ์ของท่านผู้ปฏิบัติธรรม

แต่สำหรับผลของวิปัสสนานั้นเราบอกกันไม่ได้ เพราะรู้เฉพาะตน เพราะว่าผลของวิปัสสนานั้น หากว่าเราจะเอามาประกาศเอามาโฆษณาว่า ผู้นั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ฉันได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วนะ ผู้นั้นเป็นสกทาคามีแล้ว โน้นสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราทำอย่างนี้คนก็หมั่นไส้ คนอื่นก็หมั่นไส้ เขาก็หาว่าเราอวดอุตริมนุสธรรม

เหตุนั้น เราจึงพูดกันในลักษณะอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราสังเกตเอากิริยาอาการต่างๆ การไปการมา การพูดจาปราศรัย สังเกตให้มากๆ หน่อยว่า กิเลสเขามีมากน้อยแค่ไหน เพียงใด เราก็สังเกตได้

หากพูดอย่างนี้ท่านทั้งหลายยังไม่สบายใจ หรือไม่ปักใจเชื่อ หลวงพ่อก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะที่กล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีอัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ (ดูเรื่อง องค์คุณของผู้ปฏิบัติธรรม)

ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ บางท่านก็ไม่เชื่อ เพราะเหตุใด เพราะว่าเราได้ฟังตำรับตำราของครูบาอาจารย์ผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านแต่งมาเขียนมา (ในยุคหลังๆ) เช่นว่าหนังสือความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นมีตอนหนึ่งว่า พระศาสนาล่วงเลยไปถึง พ.ศ. นั้น เป็นอย่างนั้นๆ เป็นต้น มีเขียนแทรก(เพิ่มเติม)อยู่ในหนังสือนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มาใหม่ หรือศึกษามาน้อยก็จะเชื่อว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน

มีโยมคนหนึ่งที่มาทอดกฐินที่วัดหลวงพ่อ ทั้งๆ ที่เขาเป็นเจ้าภาพที่จะทอดกฐิน มาทีไรๆ ก็จะพูดว่า หลวงพ่อ สมัยนี้ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพานดอก สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพาน อย่าคิดอะไรให้ลำบาก เอาแต่เพียงให้ทานรักษาศีลก็พอแล้ว เขาก็พูดอยู่นั่นแหละ

เพราะว่าตอนที่จะทอดกฐินก็ได้คุยกันไม่กี่ครั้ง หลวงพ่อก็คิดว่า เอ เราจะเอาอย่างไรหนอ หากว่าเราไม่สามารถจะทำลายทิฏฐิมานะของโยมคนนี้ได้ เราก็จะไม่รับกฐินเลย รับไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะว่าเขายังเป็นเจ้ามานะทิฏฐิอยู่

พอดีใกล้ๆ วันจะทอดกฐิน เขาก็มาพูดอีกว่า หลวงพ่อ สมัยนี้มรรคผลนิพพานไม่มีดอก พระโสดาบันก็ไม่มี พระสกทาคามี พระอนาคามีก็ไม่มี หลวงพ่อก็เลยได้โอกาส ก็เลยถามว่า คุณโยมเคยปฏิบัติมาหรือยัง คุณโยมได้ปฏิบัติมาหรือไม่ ตอบว่าไม่เคยปฏิบัติมา ถ้าว่าไม่เคยปฏิบัติจะรู้อย่างไรว่า มรรคผลนิพพานไม่มี เขาก็เก้อ เขาก็พูดไม่ได้ หลวงพ่อก็เลยบอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ (๑) อย่าเพิ่งปฏิเสธ (๒) อย่าเพิ่งรับ ทุกสิ่งทุกอย่าง หากว่าเราไม่พิสูจน์ด้วยตัวเองก็อย่าเพิ่งเชื่อ หรืออย่าเพิ่งปฏิเสธ ขอให้เราใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาตริตรองเสียก่อน แล้วจึงตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อ ผลสุดท้ายโยมที่จะมาทอดกฐินนั้นก็ยอมแพ้ ละทิฏฐินั้น

เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้ปัญญาพิจารณาตริตรองให้รอบคอบว่า เราจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย แต่หลวงพ่อเชื่อ

เพราะเหตุไร หลวงพ่อจึงเชื่อ

เพราะว่าองค์สมเด็จพ่อท่านตรัสไว้

ท่านตรัสไว้ที่ไหน

ท่านตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เรื่องมรรคเรื่องผล ในสูตรนั้นบ้าง สูตรนี้บ้าง เหตุนั้น หลวงพ่อจึงเชื่อ ตกลงก็เป็นอันว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน มีอยู่นะท่านทั้งหลาย เพราะหลวงพ่อได้พยายามแนะนำพร่ำสอน แนะนำพร่ำเตือนลูกศิษย์ลูกหามาหลายๆ พันรูป หลายพันคนแล้ว

สมัยนี้สมาธิสมาบัติก็ยังมีอยู่ เพราะว่ายังมีผู้สามารถทำสมาธิทำฌานได้ ตั้งแต่ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมงไปจนถึง ๗๒ ชั่วโมง ก็ยังมีอยู่ แต่สำหรับผู้ที่ได้ผลทางวิปัสสนา ก็พอที่จะเห็นได้ พอที่จะสังเกตได้ จะสังเกตได้จากลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัตินั้น ว่าคนนี้ได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เราพอที่จะพิสูจน์ได้ เมื่อพิสูจน์ได้อย่างนี้ ก็พอที่จะพิสูจน์ได้ว่า สมัยนี้ยังมีมรรคผลนิพพานอยู่

ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกัน เราอยู่ไม่เหมือนกัน บางท่านก็เป็นครูบาอาจารย์พระเจ้าพระสงฆ์ บางท่านก็เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา แต่คำภาวนาคำบริกรรมนี่ เราใช้เหมือนกันหมด มันจะได้มรรคผลนิพพานอย่างไร ท่านทั้งหลาย การภาวนานั้นจะใช้คำไหนอย่างไรก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกา สามเณรก็ตาม ได้ผลเหมือนกันหมด บางทีก็จะคิดว่า เอ หลวงพ่อชักพูดไปกันใหญ่แล้ว มันได้ผลเหมือนกันอย่างไร

ท่านทั้งหลาย เราเจริญพระกัมมัฏฐาน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พองหนอ ยุบหนออยู่นั้น อะไรมันเกิด สติของเรามันเกิดแล้ว นี่สติของเรามันจะสมบูรณ์ขึ้นๆ

เมื่อสติของเราสมบูรณ์มีพลังมีอำนาจ เราก็เอาสตินี่แหละไปทำลายกิเลสตัณหา ก่อนที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานนั้น เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ

๑. อนิจจัง สภาวธรรมที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

๒. ทุกขัง สภาวธรรมที่เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

๓. อนัตตา สภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันแล้ว ในขณะที่เราเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ ก็จะคิดจะนึกจะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดมาพิจารณาพระไตรลักษณ์ ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาเสพอารมณ์พระไตรลักษณ์ เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

หมายถึงว่า มาถึงชวนจิตดวงที่ ๕ เป็นจิตที่เสวยอารมณ์พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันกับเราได้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทมา ใบละ ๑,๐๐๐ บาทนั้นเป็นของมีราคาค่างวด เราต้องใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาว่ามันปลอมไหม มันใช้ได้ตามกฎหมายไหม เราก็พลิกไปพลิกมา กลับหน้ากลับหลังดูว่า เออ มันใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ในที่ปลอดภัย ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามลำดับๆ จนถึงจิตดวงที่ ๕ แล้ว เมื่อจิตดวงที่ ๕ ดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นเก็บลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เมื่อลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ ก็จะรักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์ไว้ในภวังค์ หรือว่า ภวังค์นี้เป็นผู้รักษาพระไตรลักษณ์

สรุปแล้วว่า สมมติเราทำบาป เช่นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็จะ ปวัตติ ไป คือหมุนไปตามวิถีของจิต ตั้งแต่จิตดวงที่ ๑ จนถึงดวงที่ ๗ แล้วภวังคจิตก็จะรักษาบาปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไว้ และบาปที่อยู่ในภวังคจิตนั้นก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปทำลายได้ เราจะทำลายด้วยการให้ทานรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เมตตา ภาวนา ก็ไม่สามารถที่จะทำลายได้ มันก็อยู่ในจิตในใจของเรานั้นตลอดเวลา

ทีนี้ทำอย่างไรเราจะทำลายมันได้ มีหนทางเดียวท่านทั้งหลาย คือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์แล้ว บุญกุศลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจพระไตรลักษณ์นี่แหละก็จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ในภวังคจิต ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน มันทำลายกันอยู่ตรงนี้

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า หลวงพ่อ มันเชื่อไม่ได้ๆ จะเชื่อได้หรือไม่ได้ ก็แล้วแต่ท่านทั้งหลาย ขอร้องแต่ว่าให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมไปเถอะ ผลสุดท้ายแล้วก็จะรู้เองว่า มันทำลายกันได้อย่างไร คือเมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ เช่น กำหนดพองหนอยุบหนอไปอย่างนี้

เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าเมื่อเราปฏิบัติไปๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา มันจะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลัง ลงไปๆ เช่นว่า คนที่ชอบโกรธ ผลสุดท้ายก็ไม่โกรธ คนที่อยากได้ด้วยความทะยานอยากที่ว่าตัณหามาก เมื่อปฏิบัติไปอย่างนี้ความอยากได้มันจะอ่อนกำลังลงไปๆ เรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็หมดสิ้นเชื้อสิ้นยางไป ด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำลายบาปที่ท่านกล่าวว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ มันจะหมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะรู้ได้ว่า การปฏิบัติธรรมของเราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงใด แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องมีองค์คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติ เมื่อไม่มีองค์คุณสมบัติ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล

เหมือนกับคนที่ต้องการจะทำปริญญา เช่นว่า ต้องการที่จะเป็นผู้บริหาร เป็นครู อะไรทำนองนี้ เราต้องเรียนให้จบเสียก่อน จึงจะสามารถเป็นครูได้ จึงจะทำงานประเภทนั้นๆ ได้ แต่ถ้าเราเรียนไม่จบ เขาประกาศว่า ต้องการปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่เราไม่ได้ปริญญาอะไร ก็เป็นครูกับเขาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด เราก็เหมือนกัน ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าไม่มีองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็ปฏิบัติไม่สำเร็จ

องค์คุณของนักปฏิบัติธรรมนั้น มีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจในการปฏิบัติ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม พอใจเดินจงกรม พอใจนั่งสมาธิ พอใจในการกำหนด

๒. วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ การปฏิบัติจะลำบากยากเย็นเพียงใดก็แข็งใจ กัดฟัน อดทนต่อสู้ ยอมตายดาบหน้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลดละการปฏิบัติเป็นอันขาด เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์

๓. จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ ตั้งใจกำหนด คือเราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด จะทำกิจใดๆ ก็ตาม เราก็พยายามตั้งใจกำหนดตามอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

ถ้าเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ มันก็ไม่ได้ผลอะไร คือ เห็นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้กลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ได้รสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้อง อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เมื่อเราปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติมันก็ไม่ได้ผล เรียกว่าไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติ คือไม่ตั้งใจ

๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ

เมื่อเราตั้งอยู่ในองค์คุณของการปฏิบัตินี้ การปฏิบัติของเรามันก็ได้ผล

ต่อไปก็ ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลายว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ

๑. เราต้องมีศรัทธา พูดง่ายๆ ว่าต้องเป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ และสิ่งใดที่จะทำให้เกิดศรัทธา เราก็หาวิธีที่จะทำให้เกิดศรัทธา เพราะว่าคนเรานี้ ถ้าไม่มีศรัทธาแล้วจะทำอะไรมันก็ไม่ได้ผล เรียนก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เรียนบาลีประโยคนั้นประโยคนี้ ถ้าไม่มีศรัทธาก็เรียนไม่จบ ผู้ทำการงานแผนกนั้น แผนกนี้ ถ้าไม่มีศรัทธา การทำงานก็ไม่ได้ผล

สรุปว่า งานทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นงานทางโลกก็ตาม ทางธรรมก็ตาม หากไม่มีศรัทธา ผลก็ไม่เกิด แต่ถ้ามีศรัทธาแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหลือวิสัย งานทุกอย่างก็สามารถที่จะทำสำเร็จได้ เช่น พวกเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าเรามีศรัทธาความเชื่อมั่นแล้ว ผลของการปฏิบัติมันก็เกิดมาเป็นธรรมดา

๒. อย่าเร่งจนเกินไป หมายความว่า อยากได้มากเกินไป เช่นว่า เดินจงกรมจะให้ได้สมาธิ เดินจงกรมให้ได้มรรค ผล นิพพาน หรือเดินจงกรมในขณะนี้จะได้ตาทิพย์ รู้วาระจิตผู้อื่น ดังนี้เป็นต้น ก็อย่าเร่งเกินไป

ถ้าเราเร่งจนเกินไป ต้องการที่จะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ เดินจงกรมจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ นั่งสมาธิจะให้ได้ผลเดี๋ยวนี้ หรือว่านั่งสมาธิไป จะให้ได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ นั่งสมาธิไปจะได้เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว นั่งสมาธิไปจะได้เห็นเทพบุตร เทพธิดา เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า หรือนั่งสมาธิจะเห็นพระอินทร์ อะไรทำนองนี้ เรียกว่า เราเร่งเกินไป

หากว่าเราเร่งเกินไป อะไรมันเกิดขึ้น คือสติของเราไม่สมบูรณ์ ถ้าเป็นคนคิดมาก สติของเราก็ไม่สมบูรณ์ สติไม่มี นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง เหตุนั้น การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่เราอย่าเร่ง ถ้าเราเร่งเกินไป ใจของเราก็ไม่สงบ เราก็ไม่สามารถควบคุมจิตของเราได้

๓. อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าเราหย่อนเทิบทาบจนเกินไป เช่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเราปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้ผล

๔. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษนี้ ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน ที่มาปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ไม่ได้อะไรเลย มิหนำซ้ำจะทำให้เป็นบ้า เพราะว่าคนคิดมากนี่จะเป็นบ้า คนที่เป็นบ้าเพราะคิดมาก เหตุนั้น ผู้ที่มาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่อยากเป็นผู้วิเศษนั้น ร้อยทั้งร้อย พันทั้งพัน มันไม่ได้ผล มิหนำซ้ำก็เกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมา

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจแนวทางปฏิบัติโดยย่อที่หลวงพ่อได้น้อมนำมาบรรยายถวายความรู้ ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาแนวทางของการปฏิบัติ

หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะมาโสรจสรงองค์ศรัทธาชี้แนะแนวทางการปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 10 เมษายน 2560 10:30:47

(http://thailandsworld.com/sites/thailandsworld_com/images/North_Thailand%2FSukhothai_BronzeBuddha.jpg)

พระไตรลักษณ์

บัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยายถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบต่อไป

คำว่า ไตรลักษณ์ คือลักษณะที่มีส่วนเสมอกันของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่มีใจครองก็ดี อนุปาทินนกสังขาร คือสังขารที่ไม่มีใจครองก็ดี ล้วนตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการ คือ

อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป

ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

รูป นาม ขันธ์ ๕ ที่เราทั้งหลายกำหนดอยู่ทุกวันนี้ พร้อมทั้งปัจจัยที่เป็นเหตุให้เกิดขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ทั้งที่เป็นส่วนอดีตก็ดี เป็นส่วนอนาคตก็ดี เป็นส่วนปัจจุบันก็ดี ที่เป็นส่วนภายในก็ดี เป็นส่วนภายนอกก็ดี รูปนามที่เป็นของหยาบก็ดี เป็นของละเอียดก็ดี เป็นของเลวก็ดี เป็นของประณีตก็ดี ที่อยู่ไกลก็ดี อยู่ใกล้ก็ดี ล้วนเป็นของไม่เที่ยง เพราะเหตุไร เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมสิ้นไป ดับไป สูญไป ในกาลนั้นๆ ในที่นั้นๆ

รูปและนามใดที่เป็นอดีต รูปและนามนั้น ก็จักดับสิ้นไปในกาลอันเป็นอดีต หาถึงกาลอันเป็นปัจจุบันไม่ รูปและนามใดที่เป็นอนาคต รูปและนามนั้นก็จักดับสิ้นไปในอนาคต จักไม่ถึงกาลในอนาคตเบื้องหน้าอีกต่อไป รูปและนามใดที่เป็นปัจจุบัน รูปและนามนั้นก็จะดับสิ้นไปในกาลปัจจุบันนี้ หาไปถึงกาลอนาคตไม่ แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่บนแผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่บนแผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ อุปมาฉันใด

รูปและนาม ก็เหมือนกันฉันนั้น หมายความว่า ถ้าดวงตรานั้นเป็นดวงตราที่สวยงาม เมื่อเราประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นก็พลอยสวยงามไปด้วย แต่ถ้าดวงตรานั้นไม่สวยงาม เราเอาประทับลงไปบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราที่ติดอยู่ในแผ่นกระดาษนั้น ก็ไม่สวยไม่งาม

รูปและนามนี้ก็เหมือนกัน หากว่ารูปนามที่เป็นอดีตผ่านมาแล้ว เป็นรูปนามที่ดี คือเป็นรูปนามที่เป็นมหากุศลในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ ระวังตัวอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอไปตามบาปอกุศล หมั่นให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น นี้ก็แสดงว่ารูปนามของเราดีแล้วในอดีต เมื่อมาเกิดในปัจจุบันรูปนามก็พลอยดีไปด้วย

ทีนี้ รูปนามในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าว่ารูปนามในปัจจุบันเป็นรูปนามที่ดี หากไม่ประมาท พยายามสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพิ่มเติมเสริมส่งบารมีของเราให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป มีการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนาเป็นต้น เมื่อรูปนามนี้ดับไป หากว่าบาปบุญยังมีอยู่ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในชาติหน้า ภพหน้า เมื่อไปเกิดแล้ว รูปนามก็พลอยดีไปด้วย

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าในอดีตรูปนามไม่ดี เพราะว่า ในอดีตโน้นเราตั้งอยู่ในความประมาท ไม่แสวงหาคุณความดี เมื่อมาถึงภพนี้ชาตินี้ รูปนามก็พลอยไม่ดีไปด้วย และเมื่อเราเกิดอยู่ในชาตินี้ภพนี้เราประมาทอีก ไม่ได้สร้างสมอบรมคุณงามความดีไว้ เมื่อไปภพหน้า ชาติหน้า รูปนามก็ไม่ดีเหมือนกัน

เหตุนั้น รูปนามจะดีหรือชั่วนั้น ขึ้นอยู่กับบุญกรรมหรือบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ และรูปนามทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วนั้น ทั้งที่เป็นภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ดับไป สิ้นไป สูญไปทั้งนั้น คือ

รูปนามที่เป็นภายใน ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายใน หาถึงความเป็นรูปนามภายนอกไม่

รูปนามใดที่เป็นภายนอก ก็ดับสิ้นไปในกาลที่เป็นภายนอก หาถึงความเป็นรูปนามภายในไม่

รูปนามใดที่หยาบ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่หยาบนั้น หาถึงความเป็นรูปนามที่ละเอียดไม่

รูปและนามใดที่ละเอียด ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ละเอียด หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่หยาบไม่

รูปและนามที่เลว ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่เลว หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่ดีไม่

รูปและนามที่ดี ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่ดี หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่เลวไม่

รูปและนามที่อยู่ใกล้ ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ไกลไม่

รูปและนามที่อยู่ไกล ก็ดับสิ้นไปในความเป็นรูปนามที่อยู่ไกล หาเข้าถึงความเป็นรูปนามที่อยู่ใกล้ไม่

เหตุนั้น รูปนามจึงเป็นของไม่เที่ยงเพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมดับสิ้นไปในกาลนั้นๆ ไม่ล่วงพ้นกาลนั้นๆ ไปได้

รูปนามใดเป็นของไม่เที่ยง รูปนามนั้นเป็นทุกข์ เพราะถูกความเกิดขึ้นและความดับไป เบียดเบียนบีบคั้นอยู่เป็นนิตย์

รูปและนามใดเป็นทุกข์ รูปและนามนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง รูปใดไม่เที่ยง รูปนั้นเป็นทุกข์ รูปใดเป็นทุกข์ รูปนั้นเป็นอนัตตา รูปใดเป็นอนัตตา รูปนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

เวทนา อนิจฺจา เวทนาคือความทุกข์ความสุข หรือความเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

สญฺญา อนิจฺจา สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ในอารมณ์ต่างๆ เป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือความปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว หรือคิดไม่ดีไม่ชั่ว เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณคือความรู้อารมณ์ เป็นสิ่งไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา

เหตุนั้น ตามที่กล่าวมานี้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นทั้งอนิจจัง เป็นทั้งทุกขัง เป็นทั้งอนัตตา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านี้ เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน คือ

รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นของไม่เที่ยง

เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นของไม่เที่ยง

สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นของไม่เที่ยง

สงฺขารา อนิจฺจา สังขารไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นของไม่เที่ยง

วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นของไม่เที่ยง

รูปํ ทุกฺขํ รูปเป็นทุกข์ ธรรมเหล่าใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น รูปจึงเป็นทุกข์ไม่มีสุข

เวทนา ทุกฺขา เวทนาเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น เวทนาจึงเป็นทุกข์ ทนได้ยาก

สญฺญา ทุกฺขา สัญญาคือความจำได้หมายรู้เป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิด ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สัญญาจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

สงฺขารา ทุกฺขา สังขารเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น สังขารจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

วิญฺญาณํ ทุกขํ วิญญาณเป็นทุกข์ ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นทุกข์เหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณจึงเป็นทุกข์ไปด้วย

รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น รูปนี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น เวทนานี้จึงเป็นอนัตตาไปด้วย

สญฺญา อนตฺตา สัญญาเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัญญาเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สัญญานี้จึงเป็นอนัตตา

สงฺขารา อนตฺตา สังขารเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สังขารเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น สังขารนี้จึงเป็นอนัตตา

วิญฺญาณํ อนตฺตา วิญญาณเป็นอนัตตา ธรรมใดเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดขึ้น ถึงธรรมนั้นก็เป็นอนัตตาเหมือนกัน เหตุนั้น วิญญาณนี้จึงเป็นอนัตตา

เท่าที่ได้บรรยายมานี้ พอได้ใจความว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งในที่ไกลที่ใกล้ ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ทั้งที่เลวและประณีต ทั้งที่หยาบและละเอียด ทั้งที่ดีและชั่ว ทั้งที่เป็นปัจจุบันก็ดี เป็นมาแล้วในอดีตก็ดี จะเป็นไปในอนาคตก็ดี มีความเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และล้วนแต่เกิดจากเหตุปัจจัยอันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีรูปนามใดที่เกิดขึ้นมาโดยปราศจากเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุเป็นแดนเกิด

เหตุปัจจัยที่ให้เกิดรูป คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม อาหาร ก็แล อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และอาหารนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น เมื่อรูปเกิดจากสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปที่เกิดขึ้นมาจึงเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

เวทนา คือ ความสุขความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดี หรือสัญญา ความจำได้หมายรู้ก็ดี หรือสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งให้คิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่วก็ดี เกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ผัสสะ ก็แล อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่ตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวทนา สัญญา สังขาร จึงตกอยู่ในพระไตรลักษณ์ด้วย คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

วิญญาณ ความรู้อารมณ์ เกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม และนามรูป ก็อวิชชาเป็นต้นนี้ เป็นสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น วิญญาณก็จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปด้วย

แต่ว่าส่วนมาก ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา จะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ ถึงเห็นก็เห็นขั้นต่ำๆ คือขั้นสุตาญาณหรือจินตาญาณ ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้

เพราะว่า สันตติ คือความสืบต่อ อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ฆนสัญญา ความสำคัญว่าอัตภาพอันยาววาหนาคืบนี้เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ปิดบังเอาไว้ เพิกไม่ออก

ฉะนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมอย่าได้ชะล่าใจ อย่าประมาท พยายามใช้ความเพียร ใช้สัมปชัญญะ ใช้สติกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกัน เพราะการกำหนดเป็นการเพิกเครื่องปิดกั้นหรือเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ออกไป เมื่อใดเราเพิกเครื่องปิดบังอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ ก็สามารถที่จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งอริยสัจ ๔ และวิโมกข์ ๓ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมมา

อีกอย่างหนึ่ง ในขณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นนั้น ท่านทั้งหลายที่ไม่เคยได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่เคยได้ประพฤติปฏิบัติมา และไม่เคยฟังธรรมเรื่องแว่นธรรม ก็จะไม่รู้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติกับภาคปริยัติไม่เหมือนกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปริยัตินั้น เราท่องบ่นสาธยายกินเวลาไปตั้ง ๖ วัน ๑๐ วัน ก็ยังไม่จบ

แต่มาปฏิบัติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดนิดเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

เหมือนกับเราเดินไปในตัวจังหวัดหรือกรุงเทพฯ อย่างนี้ เราไม่รู้ว่าถนนสายนี้เขาเรียกชื่อว่าอย่างไร แต่เราก็สามารถที่จะเดินไปได้ หรือเราบริโภคผลไม้ชนิดที่ไม่เคยบริโภคเลย รสชาติผลไม้เป็นอย่างไรเราก็รู้ แต่ไม่รู้จักชื่อของผลไม้นั้นว่ามีชื่ออย่างไร ข้อนี้ฉันใด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ฉันนั้น

ส่วนมาก เวลาเกิดขึ้น ถึงได้เคยฟังธรรมมาก็จริงอยู่ บางท่านได้ฟังเทศน์ในเรื่องแว่นธรรมตั้งหลายครั้งหลายหน แต่เมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ แล้วไม่รู้จักว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า ธรรมะด้านภาวนาญาณไม่เหมือนกันกับสุตาญาณและจินตาญาณ

สุตาญาณและจินตาญาณนั้น เราฟังเอาได้ คิดเอาได้ แต่สำหรับขั้นภาวนาญาณนี้ เราคิดเอาตามไม่ได้ คือถึงเวลาเกิดก็เกิดเองแล้วก็ดับเอง เราอยากให้เกิดก็ไม่เกิด คือไม่ถึงเวลา สภาวธรรมไม่สมบูรณ์เต็มที่ อินทรีย์ ๕ หย่อน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะไม่เกิด

แต่หากว่าธรรมอันเป็นองค์คุณให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น คือมีสติทันปัจจุบันรูปนาม สามารถกำหนดรูปนามติดต่อกัน ไม่เผลอ เมื่อเราไม่เผลอ อินทรีย์ ๕ ก็จะสมดุลกันขึ้นมา ไม่มากก็น้อย เมื่อเป็นดังนี้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะเกิดขึ้นทันที

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ส่วนมากจะเกิดไม่นาน เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้น อย่างมากจะไม่ถึง ๑ นาที หรือผู้ที่เกิดชัดที่สุดก็ประมาณ ๑ นาที แล้วก็หายไป ไม่ใช่ว่าจะเกิดอยู่ตลอดเวลา บางท่านก็อนิจจังเกิดชัด บางท่านก็ทุกขังเกิดชัด บางท่านก็จะอนัตตาเกิดชัด แต่จะเกิดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ทั้งนั้น

เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัตินี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติมักจะใช้สติไปพิจารณาว่า อันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ก็อยู่ในขั้นจินตาญาณไปแล้ว ไม่ใช่ขั้นภาวนาญาณ

ในขั้นภาวนาญาณนี้ ต้องเกิดขึ้นมาเอง เมื่อพระไตรลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาก็ตาม เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบชัดเต็มที่เมื่อใด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ปฐมมรรคขึ้นไป ตามบุญตามกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นพระเป็นเณรก็ตาม เป็นปะขาวแม่ชีก็ตาม เป็นโยมผู้ชายผู้หญิงก็ตาม เป็นเด็กก็ตาม มีอายุตั้งแต่ ๗ ปีขึ้นไป ก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ดังตัวอย่างนางกุณฑลเกสีเถรี (ภิกษุณี)

กิระ ดังได้สดับมาว่า มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง อยู่ในกรุงราชคฤห์ อายุ ๑๕–๑๖ ปี มีรูปสวยน่ารัก หญิงที่ตั้งอยู่ในวัยนี้ชอบมัวเมาใฝ่ใจโลเลในบุรุษเสมอ ฉะนั้น มารดาบิดาของเธอจึงให้อยู่บนปราสาทชั้น ๗ ให้นางทาสีคนหนึ่งคอยรับใช้บำรุง

วันหนึ่ง พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งมา เฆี่ยนด้วยหวายทีละ ๔ ครั้งๆ นำไปสู่ที่ฆ่า ในลำดับนั้น ธิดาเศรษฐีได้ยินเสียงครวญครางของโจรจึงมองดูทางหน้าต่าง เห็นโจรนั้นแล้วเกิดมีจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ อยากได้โจรนั้นมาเป็นสามี เธอจึงนอนอดอาหารอยู่บนเตียงในห้อง

ฝ่ายมารดารู้เรื่องจึงเข้าไปหาธิดาแล้วสอบถาม ธิดาเศรษฐีนั้นจึงบอกว่า คุณแม่ พวกราชบุรุษจับโจรคนหนึ่งแล้วเฆี่ยนตีด้วยหวายไปเรื่อยๆ หากว่าลูกไม่ได้โจรคนนั้นมาเป็นสามี ลูกเห็นจะตายเป็นแน่ มารดาบิดาห้ามแล้วห้ามเล่า ธิดานั้นหาได้ยินยอมไม่ คงยืนกรานอย่างนั้น บิดาจึงให้ทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะแก่ราชบุรุษแล้วให้ปล่อยโจรมา ให้ฆ่าบุรุษอื่นแทน

ครั้นธิดาเศรษฐีได้โจรมาเป็นสามีแล้วจึงขะมักเขม้นทำงานเพื่อให้ถูกใจสามี ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่ตนเองจะทำได้ เพื่อให้สามีรัก แต่แล้วสันดานโจรก็คงเป็นโจรอยู่วันยังค่ำ ครั้นพอได้โอกาสโจรก็ทำเป็นอดอาหารนอนอยู่บนเตียง ภรรยาผู้น่ารักจึงเข้าไปถามสามีด้วยความเป็นห่วงว่า พี่ พี่เป็นอะไรไป

สามีเห็นได้โอกาสจึงรีบบอกว่า น้องรัก พี่ได้ทำพลีกรรมแก่เทวดาไว้ก่อน ที่ได้มาอยู่ร่วมกันกับน้องก็ด้วยอำนาจเทวดานั้น บัดนี้ก็ถึงเวลาทำพลีกรรมแก่เทวดาแล้ว

โธ่พี่ เรื่องแค่นี้จะยากเย็นอะไร ของมีอยู่เต็มบ้าน พี่ต้องการอะไรก็บอกน้องมา น้องจะจัดแจงมาให้

โจรก็กระหยิ่มอยู่ในใจว่า สิ่งที่เราต้องการจะสำเร็จวันนี้แหละ จึงได้บอกภรรยาถึงสิ่งที่ตนต้องการ

ฝ่ายภรรยาก็กุลีกุจอ กลัวจะไม่ถูกใจสามี เมื่อจัดแจงสิ่งของเสร็จแล้วก็ได้เวลาเดินทาง สามีภรรยาพร้อมด้วยบริวารก็มุ่งหน้าไปสู่ภูเขาลูกหนึ่งอันเป็นที่ทิ้งโจร คือเขาฆ่าโจรแล้วก็นำไปทิ้งในเหวบนภูเขาลูกนั้น

เมื่อไปถึงภูเขา โจรจึงหันมาพูดกับภรรยาของตนว่าให้บอกบริวารกลับไป ภรรยาก็บอกให้พวกบริวารนั้นกลับไป เหลือเพียงสองสามีภรรยาเท่านั้น ขึ้นไปบนยอดเขา ถึงแม้หนทางจะลำบากบ้าง นางก็อดทนเอาด้วยความรักและเป็นห่วงในสามี เมื่อถึงที่ทำพลีกรรมแล้ว นางจึงได้บอกให้สามีกระทำพลีกรรมตามความประสงค์

แต่โจรกลับตวาดว่า ไม่ใช่เราจะทำพลีกรรมแต่อย่างใด หากแต่เราจะทิ้งเจ้าลงในเหวนี้ แล้วถือเอาสิ่งของของเจ้าเท่านั้น จงเอาสิ่งของของเจ้ามาโดยดี ฝ่ายภรรยาจึงอ้อนวอนขอชีวิตไว้ว่า หากว่าต้องการสิ่งใดในตัวดิฉันแล้ว ก็จงถือเอาสิ่งนั้นไปเถิด โจรไม่เอา กลับบอกว่าฉันจะฆ่าเธอ

นางเห็นไม่ได้การจึงอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนอีกและกล่าวต่อไปว่า ถ้าจะฆ่าดิฉันจริงๆ แล้วละก็ ขอให้ดิฉันได้เวียนรอบสามีผู้เป็นที่รักของดิฉันสัก ๓ ครั้ง เป็นการกระทำประทักษิณสามีเสียก่อน

โจรฟังแล้วจึงยอมตามใจของนาง เมื่อธิดาเศรษฐีได้โอกาสเช่นนั้นก็เวียนรอบสามี พอดีครบ ๓ รอบ ก็ทำทีเข้าไปกอดสามี รวบทั้งแขนซ้ายและขวาอย่างมั่นคง เมื่อนางกอดได้ที่เหมาะๆ และโจรแพ้กุศโลบายของนาง เผลอตัว นางจึงผลักโจรนั้นลงเหวตายไปอย่างน่าอเนจอนาถ

เทวดาที่สิงอยู่ที่ภูเขานั้นได้ให้สาธุการว่า สาธุ บุรุษไม่ใช่จะเป็นบัณฑิตในที่ทุกสถาน แม้สตรีก็เป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถานเหมือนกัน

ธิดาเศรษฐี ครั้นฆ่าโจรแล้วก็คิดว่า ถ้าเราจะกลับบ้าน มารดาบิดาก็คงจะลงโทษ เพราะว่าสามีนี้ มิใช่ว่าได้มาเปล่า ต้องเอาทรัพย์สมบัติแลกเอาจึงได้มา นางจึงตัดสินใจไม่กลับไปบ้าน ได้เดินทางไปในเมืองอื่น และนางได้เข้าไปสู่สำนักของปริพาชกลัทธิหนึ่ง ขอบรรพชาอยู่ในสำนักของปริพาชกนั้น พวกปริพาชกเหล่านั้นก็ให้นางบวชอยู่อย่างง่ายดาย

ครั้นบวชแล้ว ธิดาเศรษฐีนั้นได้ถามวิธีปฏิบัติตามลัทธิของปริพาชก ทราบว่าในลัทธินั้นสอนการบริกรรมกสิณ ๑๐ จนได้ฌาน และการเรียนวาทะพันหนึ่ง

นางคิดว่า เราคงไม่อาจที่จะทำฌานให้เกิดได้ จึงเลือกเรียนวาทะพันหนึ่ง เมื่อได้เรียนจบแล้ว พวกปริพาชกก็มอบกิ่งหว้าให้แล้วบอกให้นางออกเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อหาคนโต้วาทะ ถ้ามีผู้ที่สามารถที่จะตอบปัญหาวาทะได้ หากเป็นคฤหัสถ์ ก็ให้เป็นภรรยาของผู้นั้น หากเป็นนักบวชแก้ปัญหาได้ ก็ให้บวชในสำนักของท่าน

นางได้เที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ จนไม่สามารถที่จะหาคนโต้ตอบปัญหากับนางได้ ชื่อเสียงของนางเป็นที่เล่าลือ เหตุนั้น นางมีชื่อว่าชมพูปริพาชิกา เพราะนางเที่ยวเอากิ่งหว้าไปปักไว้ในที่ต่างๆ ประกาศว่า ถ้าใครต้องการที่จะได้โต้ปัญหาวาทะกับนาง ก็ให้ทำลายกิ่งหว้านั้น แม้แต่พวกเด็กๆ ก็ไม่มีใครกล้าทำลาย

วันหนึ่ง นางได้เอากิ่งหว้าไปปักไว้ที่กองทรายใกล้กับประตูเมือง ขณะนั้นเวลาเช้า พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาต ไปถึงที่นั้นแล้วเห็นกิ่งไม้นั้นจึงถามพวกเด็กๆ ดู พอทราบความแล้วก็สั่งให้พวกเด็กๆ ทำลาย พวกเด็กๆ ก็ทำตาม นางมาถึง มีความโกรธเป็นกำลังที่ถูกพวกเด็กๆ ทำลายกิ่งไม้ของตนที่ปักไว้ พวกเด็กจึงบอกว่า พระเถระเป็นผู้ใช้ให้ทำลาย นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นดีแล้ว เราจะได้ถามปัญหากับพระเถระ

ประชาชนชาวเมืองสาวัตถีก็ได้มีความแตกตื่น เพราะจะได้ฟังสองบัณฑิตโต้ปัญหากัน จึงพากันมาฟังเป็นจำนวนมาก ครั้นได้โอกาส นางปริพาชิกาจึงเริ่มถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า นางถามจนหมดวาทะพันหนึ่งที่ตนได้ร่ำเรียนมา พระสารีบุตรเถระเจ้าก็แก้ได้ทั้งหมด นางจึงอ่อนใจ

ดังนั้น พระเถระเจ้าจึงได้ถามเป็นปฐมปัญหาแก่นางว่า อะไรชื่อว่าพุทธมนต์

นางตอบปัญหาของพระเถระเจ้าไม่ได้เลย จึงขอบวชในสำนักของท่าน ท่านส่งไปในสำนักของนางภิกษุณี บวชแล้วได้มีชื่อว่า กุณฑลเกสีเถรี นางได้ทำความเพียรโดยที่ล่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า การฟังธรรมของนางกุณฑลเกสีเถรีมีนิดเดียวเท่านั้น ทำไมจึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนาเรื่องอะไรกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้น พระองค์จึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เรากล่าวแล้ว พวกเธออย่าได้กำหนดว่าน้อยหรือมาก บทตั้งร้อยบทที่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ประเสริฐ สู้บทแห่งธรรมที่ประกอบด้วยประโยชน์แม้บทเดียวก็ไม่ได้

นางกุณฑลเกสี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็เพราะว่านางได้เจริญวิปัสสนาภาวนา ปลงปัญญาลงสู่ไตรลักษณ์ คือได้พิจารณารูปนามให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น จึงสามารถได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ เข้าถึงพระนิพพานอันเป็นขันธวิมุตติพ้นจากขันธ์ ๕ เป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

เหตุนั้น พวกเราประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมกันทุกวันนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คืออยากพ้นไปจากเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง เพราะว่าเราเกิดขึ้นมาชาติเดียวก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ท่านทั้งหลายก็คงจะรู้ดี เป็นผู้น้อยก็ทุกข์สมผู้น้อย เป็นผู้ใหญ่ก็ทุกข์สมเท่ากับผู้ใหญ่ เป็นสามเณรก็ทุกข์เท่ากับฐานะที่เป็นสามเณร เป็นพระก็ทุกข์เท่าเป็นพระ เป็นหลวงปู่หลวงตา ก็ทุกข์สมเท่ากับหลวงปู่หลวงตา

อีกอย่างหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ผู้บริหารเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ก็ต้องมีความทุกข์มากขึ้น เป็นแม่ชีก็มีความทุกข์มากเหมือนกัน ไหนจะทำนั้นทำนี้ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ต้องทำกับข้าว นึ่งข้าวปรุงอาหาร เพื่อจะถวายแก่พระสงฆ์สามเณร เสร็จแล้วก็ต้องขัดต้องล้าง อยู่ในวัดก็ต้องทำ ออกจากวัดไปอยู่บ้านเราก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ไม่มีเวลาไหนที่จะไม่มีความทุกข์ ยืน เดิน นั่ง นอน ตลอดทั้งวันทั้งคืน มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น

เราเกิดมาชาติเดียวนี้ เราก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้ว ยิ่งมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ความทุกข์ก็มีมากขึ้น บางทีเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว เงินทองที่จะรักษาพยาบาลก็ไม่มี บางทีมีครอบครัวก็ต้องหย่าร้างกัน ต้องทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน ต้องแตกร้าวสามัคคีกัน ต่างคนต่างอยู่ บางทีสามีจากไป ลูกตั้งห้าคนหกคน ไหนจะต้องหาเลี้ยงลูก ไหนจะเลี้ยงตนเอง

การเกิดมาภพชาติเดียวนี้เป็นทุกข์เหลือเกิน เป็นทุกข์เหลือทนจริงๆ ส่วนมากคนทั้งหลายไม่ได้คิดกัน เหตุที่ไม่คิด ก็เพราะว่ามีเครื่องกีดกัน มีเครื่องกำบังอนิจจังความไม่เที่ยง

อะไรบังไว้ ? สันตติ ความสืบต่อปิดบังอนิจจังไว้ ทำให้เรามองไม่เห็น

สมมุติว่า ผมของเรา ถ้าไม่ได้ตัดออก จะยาวแค่ไหนเพียงไร ของทุกอย่างเป็นของใหม่หมด ของเก่าหายไป ของใหม่เกิดขึ้น หรือว่าเล็บอย่างนี้ มีแต่ของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว ตั้งแต่เป็นเด็กมันหมดไปแล้ว กี่วันเราตัดเล็บ ๕ วัน ๖ วัน เราตัดเล็บทิ้งไปเรื่อยๆ เรามองครั้งใดๆ ก็เห็นแต่เล็บเท่าเดิม แต่ว่ามันเป็นของใหม่ ของเก่าหมดไปแล้ว

สันตติ มันสืบต่อกันไว้อย่างนี้ ผมก็เหมือนกัน เส้นเก่าหมดไป เหลือแต่เส้นใหม่เท่านั้น เนื้อหนังของเราก็เหมือนกัน เซลล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นครั้งแรกหมดไปๆ เซลล์ใหม่เกิดแทนขึ้นมา เป็นอยู่อย่างนี้อยู่ตลอดเวลา ความเป็นเด็กหายไป ความเป็นหนุ่มเป็นสาวเกิดขึ้นมาแทน ความเป็นหนุ่มเป็นสาวหายไป ความเป็นคนแก่เกิดขึ้นมาแทน สันตติสืบต่อกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เราเลยไม่เห็นอนิจจังความไม่เที่ยงของสังขารซึ่งเปลี่ยนแปลงไป

อีกอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าหายใจออกอย่างนี้ ก็สืบต่ออยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็หายใจเข้า เดี๋ยวก็หายใจออก ลมที่หายใจเข้าไปเก่าหมดไปๆ ลมที่หายใจเข้าไปใหม่ก็ทดแทนอยู่ตลอดเวลา

คนส่วนมากไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จึงไม่สามารถจะเห็นอนิจจังได้ เพราะถูกสันตติปิดบังไว้ ที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เพื่อให้เห็นสันตติ เพิกสันตติออก

นอกจากอนิจจังแล้วก็ยังเป็นทุกขัง คือทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ เราอยากให้อยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ เราอยากจะเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็อยู่ไม่ได้ อยากมีความสุขความสบายตลอดไป ก็ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับพระอาทิตย์อุทัยขึ้นในตอนเช้า แล้วก็ผ่านไปๆ เคลื่อนไปๆ และก็อัสดงไปในเวลาเย็น ข้อนี้ฉันใด รูป นาม ขันธ์ ๕ ก็เหมือนกันฉันนั้น เราอยากอยู่อย่างนี้ตลอดไปก็อยู่ไม่ได้

แต่พวกเราส่วนมากมองไม่เห็น เพราะเหตุไร เพราะว่าอิริยาบถทั้ง ๔ ปิดบังไว้ จึงไม่เห็นทุกข์ นั่งนานเข้าเป็นทุกข์ เราก็ลุกขึ้นยืน ยืนนานเป็นทุกข์ ก็เปลี่ยนเป็นเดิน เดินนานไปเมื่อยก็เปลี่ยนเป็นนั่ง นั่งนานเกินไปเมื่อยอีก ก็นอน นอนนานเมื่อยก็ลุกขึ้น

อิริยาบถทั้ง ๔ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ยืนเดิน นั่ง นอนอยู่อย่างนี้ เมื่อเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ บังอยู่อย่างนี้ เราเลยไม่เห็นตัวทุกขัง เมื่อไม่เห็นทุกขัง ก็เหมาเอาว่าเป็นสุข เกิดมาแล้วมีความสุข

สำหรับอนัตตาก็เหมือนกัน คนส่วนมากถ้าไม่ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว จะไม่รู้ไม่เห็นตัวอนัตตา เพราะอะไร เพราะว่าคนเราเกิดมาก็มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งว่า ร่างกายนี้เป็นก้อน เป็นตัว เป็นตนที่เรียกว่า ฆนสัญญา และยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามาเจริญกัมมัฏฐานแล้ว จะเห็นว่าไม่เป็นเรา ไม่เป็นของเรา ถ้าเราได้เรียนเรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาแล้วปฏิบัติพร้อมกันไป จึงจะเห็นว่า รูปนามขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงแต่รูปนามขันธ์ ๕ เท่านั้น

เมื่อใด เราสามารถเพิกเครื่องปิดบังพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ ประการนี้ได้แล้ว เราก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดด้วยปัญญา พร้อมทั้งเห็นอริยสัจ ๔ ควบคู่กันไปด้วย และในขณะเดียวกัน วิโมกข์ ๓ ก็จะเกิดขึ้นมา ทั้งที่เป็นอนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และสุญญตวิโมกข์

เมื่อใด เรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน จนสามารถเพิกสันตติ เพิกอิริยาบถ และเพิกฆนสัญญา ให้หมดไปจากจิตใจของเรา ให้มีแต่ปัญญาแจ่มแจ้ง สว่างไสว ได้เกิดญาณ คือเริ่มแต่ นามรูปปริเฉทญาณ ไปตามลำดับๆ จนถึง มัคคญาณ ผลญาณแล้ว ชื่อว่าทำลายเครื่องปิดกั้นได้เต็มที่ และในขณะเดียวกันก็จะเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมทั้งวิโมกข์ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้น เราก็จะสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

เหตุนั้น ท่านครูบาอาจารย์ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อย่าได้เข้าใจว่า การกำหนดบทกัมมัฏฐานนี้เป็นของทำเล่น ท่านให้กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้กำหนด

เมื่อกำหนดอย่างนี้ นอกจากจะเป็นการทำลายตัวอุปาทานแล้ว ยังเป็นกุศโลบายทำลายเครื่องปิดกั้นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้หมดไป เมื่อใดเราทำลายเครื่องปิดกั้นพระไตรลักษณ์ได้หมดไปแล้ว เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปได้. 


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 19 เมษายน 2560 16:29:20
(https://encrypted-tbn1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSrp2nyyhq1nrkKRAR59jVKofWcaKGtSVXvUQun4y_VMw7jGxgL)

พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัย

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามปกติของในโลกนี้ ย่อมมีของคู่กัน คือ มีมืดก็ต้องมีสว่าง มีเย็นก็ต้องมีร้อน มีชั่วก็ต้องมีดี ควบคู่กันไป

ในทางธรรมะก็เหมือนกัน มีบาปก็ต้องมีบุญ มีกิเลสก็ต้องมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องทำลาย ตามธรรมดานิยมของโลก เป็นมาอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไร

เหตุนั้น แม้ว่าขันธสันดานของเรานี้ท่านจะแบ่งไว้ว่า มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดครอบงำอยู่ หรือเป็นนายเหนือหัวของจิตของใจเราอยู่ก็จริง แต่กิเลสนั้นจะมีมากมายสักปานใดก็ตาม ก็มีธรรมเป็นเครื่องทำลายให้หมดไปได้เหมือนกัน

เราทั้งหลายลองนึกย้อนหลังดูองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลายว่า เมื่อก่อนนั้น ท่านก็มีกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเหมือนกับพวกเรา แต่ก็ได้อาศัยธรรมะซึ่งเป็นปฏิปักษ์ตรงข้ามกับกิเลส ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปสิ้นไปสูญไป

พระองค์ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และยังได้ทรงมีพระกรุณาสั่งสอนธรรมะนั้นให้เหล่าเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

ทั้งมนุษย์ เทวดา มาร พรหม ได้พากันประพฤติปฏิบัติตาม ต่างก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง พระอนาคามีบ้าง ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง ไปตามๆ กัน

ธรรมดาในขันธสันดานของเรานี้ หรือในจิตใจของเรานี้ ส่วนลึกนั้นมีอนุสัยกิเลสเป็นเครื่องนอนดองอยู่ เหมือนขี้ตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม อันบุคคลจะทำลายได้โดยยากที่สุด เราจะให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ ก็ไม่สามารถทำลายได้ ต้องเอาธรรมะที่เป็นปฏิปักษ์ตรงกันข้าม ซึ่งมีพลานุภาพมาก มีกำลังมาก มาทำลาย จึงจะสามารถมาทำลายได้

เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง พระไตรลักษณ์ มาบรรยาย เพราะว่า พระไตรลักษณ์นี้เป็นธรรมะที่มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้น ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราทั้งหลายได้

อันธรรมดาว่าลายเสือย่อมอยู่กับตัวเสือ เห็นเสือก็เห็นลายฉันใด แม้ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อรู้ทันปัจจุบันจนเห็นรูปนามดับไปๆ ชัดด้วยปัญญา ก็ฉันนั้น ย่อมจะเห็นลักษณะของรูปนามอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระไตรลักษณ์ คือ

๑. อนิจจัง ไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป

๒. ทุกขัง ทนได้ยาก ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป

๓. อนัตตา ไม่ใช่ตน บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป

ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลวดลายของรูปนาม เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะขุดทำลายอนุสัยอันเป็นตัวกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานให้หมดไป อุปมาเหมือนกันกับทำลายรัง หรือขุดรากของต้นหญ้าฉะนั้น

เพราะเมื่อทำลายได้สิ้นเชิงเมื่อใด ก็จะไม่เจริญขึ้นอีกเมื่อนั้น เพราะเหตุว่าวิปัสสนาญาณเข้าไปพิสูจน์รู้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนามขันธ์ ๕ แล้ว เป็นปัจจัยทำลายต่อกันไป จนกว่าจะสิ้นอนุสัย

อนุสัย นอนเนื่องอยู่ในภวังคจิตได้อย่างไร พระไตรลักษณ์ประหารอนุสัยได้อย่างไร จะได้แสดงไปตามลำดับ แต่ก่อนอื่น ขอแสดงถึงเรื่องวิถีของจิตเสียก่อน

วิถีจิตนั้น เป็นทางเดินของจิต เป็นที่หลั่งไหลของบุญและบาปเข้าสู่ภวังค์

บุญเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีจิตนี้ บาปเมื่อเกิดขึ้นก็จะไหลลงสู่ห้วงแห่งภวังคจิตตามวิถีของจิตนี้เช่นเดียวกัน คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต จนลงสู่ห้วงภวังค์ตามวิถีของจิต ดังนี้

เมื่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นรูปารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะตาเห็นรูปก็ดี สัททารมณ์ที่เกิดขึ้นขณะหูได้ยินเสียงก็ดี เป็นต้น เกิดขึ้นมา สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง

เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้น ๑ ขณะจิต พิจารณาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นแล้วดับไป เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอารูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง แล้วเป็นปัจจัยให้ ชวนจิต เกิดขึ้นมาเสพรูปารมณ์เป็นต้นนั้น ๗ ขณะ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ครั้ง เมื่อชวนจิตดับลงครบ ๗ ขณะแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต เกิดขึ้น ๒ ขณะจิต รับเอาอารมณ์มีรูปารมณ์เป็นต้นนั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ หลังจากนั้น ภวังคจิต ก็ทำหน้าที่รักษารูปารมณ์เป็นต้นนั้นไว้ในห้วงแห่งภวังค์ต่อไป

(การเกิดขึ้นของวิถีจิตที่มีสัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นนี้ เป็นวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ คือทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และได้เฉพาะอารมณ์ ๕ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เท่านั้น ในขณะที่มีธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจนั้น สัมปฏิจฉนจิตเป็นต้นนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น คือเมื่อธรรมารมณ์เกิดขึ้นกับใจแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนะ ตัดสินรับเอาธรรมารมณ์นั้นทันที ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิตเสพธรรมารมณ์นั้น ๗ ขณะแล้วเป็นตทาลัมพณะ เป็นภวังค์ต่อไป)

ในลักษณะเดียวกัน อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนั้นก็เกิดขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ปวัตติไปตามวิถีของจิตตามลำดับๆ จนถึงตทาลัมพนะ เก็บลงสู่ภวังค์จนเป็นสันดาน เรียกว่า อนุสัย เป็นกิเลสอย่างละเอียด ซึ่งมีอยู่ ๗ ประการ คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฎฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย ทั้ง ๗ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นเมื่อกระทบอารมณ์ต่างๆ

เช่นว่า ราคะความกำหนัด เกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์น่าใคร่ น่าพอใจ น่าชอบใจ เกิดราคะขึ้นมา ก็เป็นปัจจัยให้ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้น มารับเอาอารมณ์อันประกอบไปด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับไป

เมื่อดับลงไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้ สันตีรณจิต เกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะแล้วดับไป เมื่อดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต ขึ้น เสพอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นติดต่อกันไป ๗ ขณะแล้วดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะ เก็บอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นลงสู่ภวังค์ เมื่อตทาลัมพนจิตดับลง ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่รักษาอารมณ์อันประกอบด้วยราคะนั้นไว้ภายในจิตต่อไป ราคะนั้นได้ชื่อว่า ราคานุสัย

ทีนี้หากว่าโทสะก็ดี ทิฏฐิความเห็นผิดก็ดี วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยก็ดี มานะความถือตัวก็ดี ภวราคะความยินดีในภพก็ดี และอวิชชาความเขลาก็ดี เกิดขึ้นเพราะประสบอารมณ์ที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม สัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัย คือโทสะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชานั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลงไป ก็เป็นปัจจัยให้เกิด สันตีรณจิต ขึ้นมาพิจารณาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วดับลง

เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้ โวฏฐัพพนจิต เกิดขึ้น ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด ชวนจิต เสพอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นนั้น ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ตทาลัมพนจิต ขึ้น ๒ ขณะจิต เก็บเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ อันมีโทสะเป็นต้นลงสู่ภวังค์ ต่อจากนั้น ภวังคจิต ก็เกิดขึ้นรักษาอารมณ์อันประกอบด้วยอนุสัยทั้ง ๖ มีโทสะเป็นต้นไว้ภายในห้วงภวังค์ เป็นปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย นอนดองอยู่ในขันธสันดาน ตลอดไป

อุปมาเหมือนกันกับเราถ่ายรูป พอเราเปิดหน้ากล้องแล้วกดชัตเตอร์เท่านั้น รูปก็เข้าไปติดอยู่ที่ฟิล์มนั้นตลอดไป อนุสัยนั้นก็เช่นกัน ก็จะอยู่ในส่วนลึกของจิตใจตลอดไป

อนุสัยกิเลส ที่นอนดองในขันธสันดานนี้ เราจะให้ทานจนหมดทรัพย์สินที่เรามีอยู่ก็ดี จะไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ รักษาศีลได้ดีจนกระทั่งวันตายก็ดี เราจะเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยนั้นได้ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนาภาวนา

เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันธรรมแล้ว วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยภาวนาญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สัมปฏิจฉนจิตก็จะเกิดขึ้นรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้โวฏฐัพพนจิต ตัดสินรับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลง

เมื่อดับลงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิต (กุสลญาณสัมปยุต) เสพอารมณ์ที่ประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้น ๗ ขณะจิต อุปมาเหมือนกับเราได้ธนบัตรใบละ ๕๐๐ มาใบหนึ่ง แล้วก็มาพลิกดูด้านหน้าด้านหลังว่า ใช้ได้หรือเปล่าหนอ พลิกกลับไปกลับมา ๗ ครั้ง เห็นว่าธนบัตรนี้ใช้ได้ตามกฎหมาย แล้วก็เก็บไว้ ข้อนี้ฉันใด

เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง ๗ ขณะแล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดตทาลัมพนจิตขึ้น ๒ ขณะ รับเอาอารมณ์อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์นั้นลงสู่ภวังค์แล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รักษาอารมณ์พระไตรลักษณ์นั้นเป็นองค์สำคัญอยู่ภายในจิตในใจต่อไป

อธิบายว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในกาลใด ในกาลนั้นชวนจิตทั้ง ๗ ขณะก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และในขณะที่เสพพระไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็จะตัดอนุสัยทั้ง ๗ ประการ คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา ไม่ให้เข้ามาเป็นตัวอนุสัย และไม่ให้เกิดขึ้นเป็นตัวอนุสัยอีกต่อไป เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์มากเท่าไรๆ อนุสัยก็จะเบาบางน้อยลงไปเท่านั้นๆ จนดับสิ้นเชื้อสิ้นยาง ไม่มีเหลือค้างอยู่ในจิตสันดาน

อุปมาเหมือนกับน้ำหมึกที่เราเขียนเป็นตัวอักษรลงในแผ่นกระดาษ จะเป็นหมึกสีดำก็ตาม สีแดงก็ตาม สีน้ำเงินก็ตาม เรามีโอกาสที่จะลบมันได้โดยที่ใช้กรดลบหมึก เมื่อเราเอากรดลบหมึกมาหยดใส่ ถ้ากรดลบหมึกนั้นมีความเข้มข้นเพียงพอ พอเราหยดลงไป สีดำ สีแดง สีน้ำเงินเหล่านั้นก็จางหายไปเลย ไม่มีอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่ถ้าว่ากรดลบหมึกนั้นไม่เข้มข้น เมื่อเราหยดลงไป ก็จะยังเป็นคราบสีดำ สีแดง สีน้ำเงินให้เห็นอยู่ ข้อนี้ฉันใด

เรื่องอนุสัยกิเลสกับพระไตรลักษณ์ก็เหมือนกัน พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น หากว่าอำนาจของพระไตรลักษณ์นั้นมีกำลังอ่อน เมื่อมีกำลังอ่อนเช่นนั้นแล้ว ก็ปวัตติไปตามวิถีของจิต เมื่อลงถึงภวังคจิตก็ไม่สามารถทำลายอนุสัยได้เด็ดขาดเหมือนกรดลบหมึกที่ไม่เข้มข้น ไม่สามารถที่จะลบรอยหมึกได้เด็ดขาด

แต่ถ้าขณะใด พระไตรลักษณ์มีอำนาจเต็มที่ หมายถึงในขณะที่พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นนั้น สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่ ไม่ถูกอะไรครอบงำเลย เป็นสติที่มีกำลังมีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังแก่กล้า พระไตรลักษณ์ก็มีกำลังแก่กล้า มีอานุภาพ เมื่อพระไตรลักษณ์ที่มีอานุภาพ ปวัตติไปตามวิถีของจิตลงสู่ภวังค์ อนุสัยกิเลสก็จะหมดไปไม่มีเหลือ ทำลายได้เด็ดขาด

เหตุนั้น การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ครูบาอาจารย์จึงแนะแล้วแนะอีก พร่ำเตือนแล้วพร่ำเตือนอีกว่า ท่านทั้งหลายอย่าชะล่าใจ ต้องบำเพ็ญสติให้สมบูรณ์ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม จะสรงน้ำ ถ่ายหนักถ่ายเบา นุ่งสบง ห่มจีวร ก็ขอให้มีสติ ให้กำหนดเสียก่อน อนึ่ง ที่แนะนำพร่ำเตือนอย่างนี้ ต้องการอยากให้ท่านทั้งหลายปลุกสติให้มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก เมื่อสติมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก พระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้น ก็มีอานุภาพมาก มีกำลังมาก เมื่อพระไตรลักษณ์มีกำลังมาก มีอานุภาพมาก ก็สามารถที่จะทำลายอนุสัยกิเลสนั้นให้หมดไปจากจิตจากใจในพริบตาเดียวได้เมื่อเกิดขึ้น

เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ส่วนมากชะล่าใจ อยู่ในอำนาจของอนุสัยกิเลส ไม่อยากที่จะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน และมัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มัวพูดจาปราศรัยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ผลสุดท้ายก็เลยเห็นการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นของธรรมดา เมื่อเป็นดังนี้ เราก็ไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้

อนึ่ง การเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่งที่ถูกแก่อัธยาศัย อาสวะกิเลสที่ไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในขันธสันดานนั้น คือ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิก็ดี กามาสวะ อาสวะคือกามก็ดี ภวาสวะ อาสวะคือภพก็ดี อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชาก็ดี ก็จะถูกทำลายลงไปตามลำดับๆ และจะไหลเข้ามาหมักดองอยู่ในใจอีกเหมือนกาลก่อนไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาสวะที่มีอยู่ก่อนก็จะบรรเทาเบาบางลงไปทีละน้อยด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณจนสิ้นไป เมื่อสิ้นอาสวะกิเลสขณะใด ก็จะบรรลุสันติลักษณะ คือลักษณะที่สงบจากทุกข์ทั้งปวง ได้แก่พระนิพพาน โดยอาศัยลำดับญาณทั้ง ๑๖ คือเริ่มตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณไปตามลำดับๆ จนถึง อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ และก็เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ เกิดครบสมบูรณ์ถึง ๔ ครั้ง ก็ได้ชื่อว่า อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิเลสสิ้นแล้ว การประพฤติพรหมจรรย์ประพฤติจบแล้ว มีจิตอันเกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน โอกาสต่อไป หน้าที่ของเราก็เผยแผ่ศาสนา แนะนำลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมให้ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติอย่างที่เราได้เคยประพฤติปฏิบัติแล้ว

นอกจากนี้ก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งว่า วันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวันโกน วันต่อไปก็จะเป็นวันพระใหญ่ เป็นวันอุโบสถด้วย วันเช่นนี้ ก็ถือว่าได้เคยเตือนมาแล้วว่า สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปจะเกิดขึ้นมาขัดขวางจิตใจของเรา หรือทำจิตใจให้ผิดปกติ มีอาการหงุดหงิดและกลุ้มใจ อยากออก อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป บางทีก็หนีไปเลยก็มี

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น พึงสังวรระวังให้ดี พยายามอย่าทำสิ่งใดๆ ที่เป็นไปตามอำนาจของมารตามที่กล่าวมาแล้ว เพราะว่า ถ้าเราทำตามอำนาจของมาร ก็จะทำลายล้างคุณงามความดีที่เราจะพึงได้พึงถึงนั้นให้หมดไป สิ้นไป สูญไป

ตามปกติ วันพระนี้มักจะเป็น ทั้งๆที่เราประพฤติปฏิบัติมาดีๆอยู่ แต่พอถึงวันโกนวันพระก็เป็นขึ้นมาเกิดขึ้นมา การพูดฟังแล้วก็ไม่รื่นหู การทำทุกสิ่งทุกอย่าง มองดูแล้วไม่น่าเลื่อมใส สำหรับใจของเราก็ไม่ค่อยเป็นปกติ

เหตุนั้น พึงสังวรพึงระวัง พยายามใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ความเพียร กำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ดี เพื่อจะยังสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะตามปกติการบรรลุหรือการผ่านการประพฤติปฏิบัติส่วนมากก็จะบรรลุหรือผ่านในวันโกนวันพระ

ดังนั้น ในวันโกนวันพระเช่นนี้ ขอให้กำหนดให้ติดต่อกันไป และพยายามอยู่ดึกกว่าวันปกติสักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังผลซึ่งเราได้ตั้งอกตั้งใจไว้ จะได้คุ้มค่าเหน็ดค่าเหนื่อย ถ้าไม่ชะล่าใจ เพียรกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ การปฏิบัติของเราก็ได้ผลเร็ว แต่ถ้าการปฏิบัติของเราย่อหย่อน ก็ได้ผลช้า ได้ผลไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้ผลเสียเลย ขออย่าต้องเป็นผู้เสียใจในภายหลัง.


บรรยายธรรม โดย พระราชปริยัตยากร (บุญเรือง สารโท)
วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 เมษายน 2560 15:51:08

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcSuNwNuz4nSnW7NyLBJ6Xavrn0_f_9yU6sQKf7BOi4tLtaBiMnNJA)

การปรับปรุงจิต

สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง การปรับปรุงจิต เพื่อจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้ได้ผลตามที่เราตั้งใจไว้

หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หากว่าเราไม่รู้จักการปรับปรุงจิต ไม่รู้จักการยักย้าย หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง หรือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ฉลาดในการปฏิบัติแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้บรรลุสามัญผลตามที่เราต้องการได้

เหตุนั้น จึงจักนำเรื่อง การปรับปรุงจิต มาบรรยายเพื่อเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

การปรับปรุงจิตนั้น ดังนี้คือ

ในขณะที่เราเดินจงกรมหรือนั่งภาวนาอยู่ รู้สึกว่าจิตไม่ผ่องแผ้วมั่นคง เช่น มักจะเผอเรอ ท้อถอย ใจไม่สงบ สมาธิหย่อน จิตฟุ้งซ่าน ใจคอเหี่ยวแห้ง รู้สึกโงกง่วง หรือจิตใจยึดมั่นในตัวตน และไม่สามารถที่จะพิจารณากำหนดให้อารมณ์เหล่านี้หายไปได้ ผู้ปฏิบัติจะต้องทำการปรับปรุงจิต ดังต่อไปนี้ คือ

ถ้าผู้ปฏิบัติมักจะเผอเรอในการกำหนด เพื่อที่จะให้มีสติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสติ หรือเพิ่มสติให้มากๆ ดังนี้

๑. ใช้สติติดตามอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าได้ขาด

๒. สติกำหนดนั้นๆ ต้องสม่ำเสมอ และติดต่อกัน

๓. เว้นจากการคบคนที่มีสติเผอเรอ

๔. ควรคบกับคนที่มีสติมั่นคง

แต่ถ้าหากว่า ผู้ปฏิบัตินั้นบรรลุถึงญาณต่างๆ ได้ช้า หมายความว่า เวลาประพฤติปฏิบัติ สภาวะแต่ละอย่างๆ นั้น เปลี่ยนไปช้ามาก ญาณต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงช้าหรือเกิดช้า ผู้ปฏิบัติต้องปรับปรุงจิต ดังนี้

๑. หมั่นสอบถามวิธีปฏิบัติกับครูบาอาจารย์

๒. ทำร่างกายและที่อยู่อาศัย ตลอดทั้งเครื่องนุ่ง ห่มให้สะอาด

๓. ทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ให้สม่ำเสมอกัน เท่าๆ กัน ส่วนสตินั้นไว้กลางๆ

๔. เว้นห่างจากคนที่ไม่มีปัญญาในด้านปฏิบัติ

๕. คบกับคนที่มีปัญญา

๖. พิจารณาให้เข้าใจรูปนาม และปฏิจจสมุปบาท คือให้รู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นต้น มิใช่ว่าเราจะกำหนดหยาบๆ เพียงแต่กำหนดอาการพอง อาการยุบว่า พุทโธ หรือยุบหนอ พองหนอ เท่านั้น ก็หามิได้ เราต้องรู้ว่า ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เป็นต้น

เมื่อทำอย่างนี้ก็ยังไม่สามารถทำสมาธิปัญญาให้เกิดขึ้น และผู้ปฏิบัติมีความเพียรน้อย ผู้ปฏิบัติต้องปลูกฝังความเพียรให้มากขึ้นด้วยการปฏิบัติ ดังนี้

๑. ระลึกถึงภัยในอบายภูมิ คือพิจารณาว่า ความทุกข์ที่ได้รับในขณะที่ทำความเพียรนี้ ถึงแม้จะเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ถ้าหากว่าเราประมาทเสีย จุติแล้วไปบังเกิดในอบายภูมิ ยิ่งจะได้รับความทุกข์ร้อนมากกว่านี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะเกิดความพยายามในการที่จะบำเพ็ญความเพียรต่อไป

๒. เล็งเห็นว่า ความเพียรจะนำไปสู่มรรค ผลนิพพาน คือต้องเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในธรรมะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ว่าสามารถนำเราผู้ปฏิบัตินี้ให้บรรลุถึงมรรค ผลนิพพานได้

๓. ระลึกว่า เราจะต้องดำเนินไปตามทางของพระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้าได้ดำเนินไปแล้ว ทางสายนี้ คนเกียจคร้านไม่สามารถดำเนินไปได้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดอุตสาหะในการบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมา

๔. สำหรับนักบวชควรระลึกว่า เราฉันอาหารที่ผู้มีศรัทธาถวายแล้ว ควรทำตนให้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่ประมาทว่าเราฉันอาหารของญาติโยม กว่าญาติโยมได้อาหารมาต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อุตสาหะหาอาหารมาถวาย

เราบริโภคอาหารของผู้มีศรัทธาแล้วไม่ควรที่จะประมาท ควรจะรีบเร่งบำเพ็ญความเพียรเพื่อจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เพื่อจะยังสามัญผลให้เกิดขึ้นในตน เพื่อจะทำให้บุญกุศลของญาติโยม ซึ่งถวายอาหารนี้ มีอานิสงส์มาก มีบุญมาก

๕. ระลึกว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ตั้งอยู่ในความเพียร เราควรปฏิบัติตาม จึงจะได้ชื่อว่าบูชาพระองค์ท่าน

๖. พระธรรมเป็นมรดกตกทอดมาจากพระพุทธองค์ เราควรรับเอาไว้ ซึ่งจะรับได้ก็ด้วยมีความเพียรเท่านั้น ถ้าว่าเราขาดความเพียรแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรับมรดกธรรมได้

๗. เว้นจากการคบคนเกียจคร้าน

๘. คบคนที่มีความเพียร

๙. ทำความเพียรให้มากๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุให้มีความเพียรเกิดขึ้น

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติ มีความเลื่อมใสในการปฏิบัติน้อย ต้องปฏิบัติดังนี้

๑. ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

๒. ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

๓. ระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์เจ้าเนืองๆ

๔. ระลึกถึงคุณของศีลเนืองๆ

๕. ระลึกถึงการบริจาคเนืองๆ

๖. ระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาเนืองๆ

๗. ระลึกถึงคุณของพระนิพพานเนืองๆ

๘. เว้นจากการคบคนที่ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย

๙. คบหาสมาคมกับคนที่มีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

๑๐. เตือนใจให้เลื่อมใสในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้อยู่เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปสาทะศรัทธา เกิดอุตสาหะวิริยภาพอย่างแรงกล้า ในการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปได้

แต่ถ้าผู้ประพฤติปฏิบัติ มีใจกระวนกระวายไม่สงบ ต้องดำเนินตามปฏิปทาดังต่อไปนี้

๑. บริโภคอาหารอันประณีต ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เว้นจากของที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บของตนเสีย

๒. อยู่ในที่สบาย

๓. เคลื่อนไหวอิริยาบถให้สบาย

๔. ปฏิบัติแต่พอเหมาะ อย่าให้เคร่งเครียดจนเกินไป

๕. เว้นจากการคบคนที่มีจิตใจกระสับกระส่าย

๖. คบกับคนที่มีกายใจสงบ

๗. พยายามรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อยอยู่เสมอ

๘. เตือนใจให้ตั้งอยู่ในความสงบ

เมื่อประพฤติปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็จะสามารถที่จะระงับความที่จิตไม่สงบ ระงับความฟุ้งซ่าน ระงับความกระวนกระวายในจิตลงได้

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้ว่า สมาธิของตัวหย่อนไป หรือไม่มีสมาธิเลยในเวลาปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. รักษาความสะอาด ทั้งร่างกายตัวเอง ตลอดทั้งเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่

๒. มีความฉลาดรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นว่าอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นให้รีบกำหนดทันที ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ก็ให้เข้าใจว่า สติสมาธิของเราหย่อน ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มสัก ๕-๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สมาธิ ญาณ จะดีขึ้นและจะได้เกิดขึ้น

๓. พยายามรักษาอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกัน

๔. ถ้าจิตท้อถอยหรือเกิดเบื่อหน่ายคลายความเพียร ต้องทำจิตให้ดีขึ้น คือพยายามนึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่าพระสาวกทั้งหลาย ให้เป็นทิฏฐานุคติเป็นตัวอย่าง หรือมิฉะนั้นก็นึกถึงคุณงามความดีของตน ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความอุตสาหะ และให้เกิดสมาธิขึ้น

๕. ถ้าจิตฟุ้งซ่าน ต้องข่มจิตลง

๖. ถ้าจิตเหี่ยวแห้ง ต้องทำจิตให้ร่าเริงสดชื่น

๗. ถ้าจิตวางเฉย ไม่หดหู่ ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ท้อถอย ก็ให้ประคับประคองจิตไว้ ให้อยู่ในลักษณะนั้นตลอดไป

๘. เว้นจากบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น

๙. คบกับคนผู้มีจิตตั้งมั่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้น

แต่ถ้าจิตของผู้ประพฤติปฏิบัติ เกิดท้อถอยขึ้นมา ไม่มีอุตสาหะในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีความท้อใจ มีความอ่อนใจ บางทีก็คิดจะเลิกการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องแก้ไข ดังนี้คือ

๑. เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา หมายความว่า ต้องอดต้องทน ต้องข่มใจในการปฏิบัติ

๒. ทำความเพียรให้มากๆ อย่าเกียจคร้าน ทำความเพียรร่ำไป ถึงจะมีความอ่อนใจ หรือท้อถอยอย่างไร ก็จะต้องข่มใจ

โดยบางครั้งอาจตั้งสัจจะปฏิญญาว่า เราจะทำความเพียรอย่างนี้ตลอดไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เมื่อใดยังไม่ได้บรรลุ จะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงแม้ว่าเลือดจะหมดไป เนื้อหนังจะเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูกก็ตาม ก็จะไม่ละความเพียรเป็นเด็ดขาด

๓. พยายามปฏิบัติให้ก้าวหน้า

๔. อย่ารับประทานอาหารมากเกิน ควรให้บริโภคแต่พอดีๆ

๕. เปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง คืออย่านั่งอย่างเดียว ถ้านั่งถึงกำหนดแล้ว ก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม แล้วจึงมานั่งต่อ

๖. เพ่งดูแสงจันทร์ แสงไฟคบเพลิง หรือแสงอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นอ่อนๆ หรือก่อนจะอัสดงตกไป ห้ามเพ่งแสงอาทิตย์เวลากล้า

๗. อยู่ในที่แจ้ง อย่าไปนั่งในห้องนอน

๘. คบมิตรที่ดี

๙. สนทนาแต่เรื่องที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ

๑๐. เตือนใจไม่ให้ท้อถอย

เมื่อเรานึกอย่างนี้ หรือปฏิบัติดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะทำให้ความท้อถอยนั้นหมดไป และให้เกิดอุตสาหะในการปฏิบัติต่อไป

แต่ถ้าจิตใจของผู้ปฏิบัติฟุ้งซ่านคิดมาก ต้องปฏิบัติดังนี้

๑. เจริญปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขาให้มาก หมายความว่า พยายามกำหนดบทกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป อาจจะเหลือแต่หายใจเข้ากำหนดท้องพองว่า พุท ท้องยุบลงไปกำหนดว่า โธ อย่างนี้ก็ได้ หรือท้องพองขึ้นมากำหนดว่า พอง ท้องยุบลงไปกำหนดว่า ยุบ พอง ยุบ ๆ ร่ำไปก็ได้ คือพยายามเพิ่มสมาธิให้มากๆ ลดความเพียรลง

๒. เอาใจใส่ในการปฏิบัติวิปัสสนา

๓. สอบถามอารมณ์กับครูบาอาจารย์บ่อยๆ

๔. คบแต่คนดีๆ

๕. สนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควร ที่เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติธรรม

สำหรับในเรื่องสนทนาแต่สิ่งที่ชอบที่ควรอันจะเป็นอุปการะแก่การปฏิบัตินั้น มีเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง คือมีคนมาบวชและได้มาปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่ในที่นี้ แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติควบคู่กัน อาจารย์รูปนั้นคิดอะไรร้อยแปดพันประการ คิดจนผอม นั่งอยู่ ๕ นาทีคิดจะสร้างแต่บุญแต่กุศล ส่วนมากก็คิดแต่เรื่องที่ดีๆ คิดว่าเอากฐินไปทอดวัดนั้นวัดนี้ ไปทอดแล้วไม่มีผู้เทศน์ผู้ฉลอง ก็จะขึ้นเทศน์เองอย่างนั้นอย่างนี้ คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดจนตัวคล้ำไป

พอเดินไปเดินมา ไปเจอเอาภิกษุนวกะรูปนั้นเข้า ภิกษุนวกะรูปนั้นก็พูดขึ้นว่า คนที่ไปตกนรกมากๆ นั้น ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ คนที่เป็นบ้า ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ พอพูดอย่างนั้นพระรูปนั้นก็ได้สติขึ้นมาทันที ก็หายจากอาการฟุ้งซ่าน จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตของผู้ปฏิบัติหดหู่ เหี่ยวแห้ง จิตใจไม่ร่าเริงเบิกบาน จะต้องปฏิบัติดังนี้คือ

๑. ให้เจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้มากๆ คือใคร่ครวญ พิจารณาธรรมที่ได้ฟังมา แล้วก็พยายามบำเพ็ญความเพียร พยายามนึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ เพื่อให้เกิดความปีติอิ่มใจ ปราโมทย์รื่นเริง บันเทิงใจในขันธสันดานของตน

๒. ให้พิจารณาถึงชาติ ชรา พยาธิ มรณะ และความทุกข์ในอบาย ตลอดถึงความทุกข์ในอดีต อนาคต และปัจจุบันที่เราได้รับอยู่ เช่น เราพิจารณาว่า การเกิดบ่อยๆ นี้เป็นทุกข์

การที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความชราภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุกข์ เกิดขึ้นมาแล้ว มีความเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรนานัปการเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ การไปเกิดในอบายภูมิเป็นทุกข์ เรานี้โชคดีที่ได้มีโอกาสปฏิบัติ เพื่อดำเนินไปสู่ทางพ้นทุกข์เหล่านี้ เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ก็เป็นเหตุให้จิตของเราเกิดความร่าเริงเบิกบาน หายจากอาการหดหู่เหี่ยวแห้ง

๓. ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยเนืองๆ

อีกอย่างหนึ่ง ถ้าใจของผู้ปฏิบัติยึดมั่นในตัวตน คือยึดมั่นในร่างกายของตัวเอง และบุคคลอื่น ว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นต้น จะต้องทำใจให้เป็นอุเบกขาวางตัวเป็นกลาง ดังนี้

๑. วางตัวเป็นกลางในสัตว์ในบุคคล คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในบุคคลโน้นบุคคลนี้ว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นของเรา ของเขา

โดยคิดว่า สัตว์ก็ดี บุคคลก็ดี เขาก็มาตามบุญกรรมบาปกรรมของเขา เมื่อจากโลกนี้ไป เขาก็ไปเพราะบุญเพราะบาปของเขา เราจะไปห่วงใยเขาเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่าเราก็มาเพราะบุญบาปของเรา เมื่อคิดดังนี้ ก็จะหมดความยึดมั่นถือมั่นไปได้

๒. วางตนเป็นกลางในสังขาร คือเห็นว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นของว่างเปล่า

สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ มันเป็นสมบัติส่วนกลางของโลกอยู่อย่างนี้ตลอดไป แม้เรายังไม่มาเกิด มันก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ก็ทิ้งอยู่ในโลกนี้ ปล่อยให้เป็นสมบัติของผู้อื่นต่อไป ไม่สามารถที่จะติดตามตนไปในสัมปรายภพได้

๓. เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นถือมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

๔. คบกับบุคคลที่ไม่มีความยึดมั่นในสัตว์ บุคคล และสังขาร

เมื่อเราทำเราประพฤติอย่างนี้ ก็จะทำให้ความยึดมั่นในตัวตนว่าเป็นเรา เป็นของเราหมดลงไปได้ และก็จะทำให้เกิดความอุตสาหะในการเจริญวิปัสสนาต่อไป

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำมาปรับความเข้าใจ หรือชี้แนะแนวทางแก่ท่านทั้งหลาย ในเรื่องการปรับปรุงจิตนี้ เป็นแต่เพียงส่วนย่อๆ ไม่ได้อธิบายให้พิสดาร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายไปใคร่ครวญพิจารณา ท่านผู้ใดที่เป็นในลักษณะไหน ก็ขอ ให้ดัดแปลงแก้ไข พยายามปรับปรุงจิตของตนเอง ให้เข้ารูปเข้ารอย เพื่อว่าจะให้การปฏิบัติได้ผล.



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 พฤษภาคม 2560 15:04:54
(https://masss0330.files.wordpress.com/2014/01/download.jpg)

ปรับความเข้าใจผู้ปฏิบัติธรรม

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ มิใช่ว่าเราจะปฏิบัติไปรวดเดียวแล้วก็จะบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นสุดยอดเลยทีเดียวนั้น เป็นไปไม่ได้

การปฏิบัตินี้ ต้องดำเนินไปตามลำดับของภาวนามยปัญญา คือจะต้องดำเนินไปตามหลักของวิปัสสนาญาณ

เมื่อเราปฏิบัติครั้งแรก มีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนามแล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

หลังจากนั้นก็จะเกิดปัญญาญาณขึ้นมา ตั้งแต่ญาณที่ ๑ นี่ขอรวบรัดเอาเลย ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว ก็ถือว่าเป็นที่สุดของญาณโลกีย์ เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ และกำลังวิปัสสนาของเรามีกำลังเต็มที่แล้ว หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคควิถีทันที

คำว่า มัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่อริยมรรค เมื่อเข้าสู่มัคควิถีแล้ว ก็จะดำเนินถึง สัจจานุโลมิกญาณ เมื่อถึงสัจจานุโลมิกญาณแล้ว จะตั้งอยู่ในสัจจานุโลมิกญาณ ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่ โคตรภูญาณ จะตั้งอยู่ในโคตรภูญาณอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นก็เข้าสู่มัคคญาณ จะตั้งอยู่ในมัคคญาณ ๑ ขณะจิต เมื่อถึงมัคคญาณแล้ว ก็สามารถทำลายกิเลสตัณหาได้ตามกำลังของมรรค

ถ้าเกิดขึ้นครั้งที่ ๑ ก็สามารถจะละโลภะได้ ๔ ตัว สำหรับโทสะนั้นละไม่ได้ ละโมหะได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา และตั้งอยู่ในมัคคญาณนั้น ๑ ขณะจิต หลังจากนั้น ผลจิตก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตามลักษณะของติกขบุคคลหรือมันทบุคคล ถ้าติกขบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๓ ขณะจิต ถ้าว่าเป็นมันทบุคคลก็จะเกิดขึ้น ๒ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่ออยู่ในผลญาณ ๒ หรือ ๓ ขณะจิตแล้ว จิตของเราก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็น ปัจจเวกขณญาณ คือเป็นญาณที่ ๑๖

เป็นอันว่า เมื่อเราประพฤติปฏิบัติถึงญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เราก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันอริยบุคคล เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว หลังจากนั้น หากว่าผู้ปฏิบัตินั้นได้เคยสั่งสมอบรมบารมีมา สมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงๆ ขึ้นไป วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นมาใหม่ โดยที่ละจากปัจจเวกขณญาณ

การที่ละจากปัจจเวกขณญาณนี้ มิใช่ว่าเราจะเลิกเองนะ ปัจจเวกขณญาณ คือการพิจารณามรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ตนละได้แล้วและยังเหลืออยู่ อันนี้เป็นภาคปริยัติ แต่สำหรับภาคปฏิบัติแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น

ในเมื่อถึงปัจจเวกขณญาณ บางรูปบางท่านอาจจะคิดว่า เอ อันนี้มันอะไรกันหนอ เอ ทำไมเมื่อตะกี้นี้มันหลับไป หรือว่ามันเป็นอะไรไป หรือบางทีสัปหงกวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา ทำไมมันงงๆ อย่างนี้ มันหลงทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้ เพียงแค่นี้แหละ ปัจจเวกขณญาณ เพียงแค่นี้

ไม่ใช่คิดว่า โอ บัดนี้เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว เราละกิเลสได้เท่านั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่เท่านั้นๆ อันนี้พิจารณาในด้านปริยัติ แต่ว่าด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

ทีนี้คำว่า ละจากการพิจารณา นั้น มิใช่ว่าเราจะคิดเอาว่า เออ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะละจากปัจจเวกขณญาณ ไม่พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วหรือยังเหลืออยู่ จะไม่พิจารณาต่อไป บัดนี้เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไป มิใช่ว่าเราจะคิดเอาอย่างนี้

เป็นแต่เพียงว่า พอบรรลุถึงขั้นปัจจเวกขณญาณแล้ว หากว่าเรายังมีบุญญาวาสนาบารมี สมควรที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานต่อไป ปัจจเวกขณญาณก็จะไม่เกิดต่อไป ในขณะที่เรากำลังนั่งอยู่นั่นแหละ ยังไม่ทันลุกเลยก็มี ล่วงไป ๑ ชั่วโมง ล่วงไป ๑ คืน ๑ วัน ๑ เดือน ๑ ปีก็มี คือจะละจากปัจจเวกขณญาณเองตามธรรมชาติ

หมายความว่า พอดีปัจจเวกขณญาณเกิดผ่านพับขึ้นไปแล้ว ถ้าผู้มีบุญมาก มีวาสนามาก วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นใหม่เลยทีนี้ แต่เริ่มเกิดทีหลังนี้ จะเริ่มเกิดตั้งแต่ญาณที่ ๔ ขึ้นมา สำหรับญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นั้น ทิ้งไปแล้ว เหลือแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เมื่อญาณที่ ๔ เกิดขึ้นมา ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งที่ ๒ นี้ รูปนามนั้นเบามาก และละเอียดมาก แต่ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นชัดได้ตามความเป็นจริง คือวิปัสสนาญาณของเราจะคมกล้า สามารถที่จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นความดับไปของรูปนาม

เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นของที่น่าเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ไม่ท้อถอย จะเอาจะบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ และก็มีความเฉยมาก เฉยต่อรูปนาม

วิปัสสนาญาณนี้จะคมกล้าเป็นพิเศษ คมกล้ากว่าครั้งที่ ๑ พอดีถึง สังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิด อาวัชชนจิต ทางมโนทวาร ๓ ขณะจิต คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี้เป็นชวนจิตครั้งที่ ๓ คืออาวัชชนจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ขึ้นสู่ อนุโลมญาณ เมื่อขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๑ ขณะจิตแล้ว ก็ผ่านโวทาน คือผ่านโวทานโคตร ของพระโสดาบัน แล้วก็จิตของเราจะอยู่ในอนุโลมญาณนั้น ๑ ขณะจิต จะอยู่ในโวทานนั้น ๑ ขณะจิต

หลังจากนั้น สกทาคามิมัคคจิต ก็จะเกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต หลังจากสกทาคามิมัคคจิตดับลงไปแล้ว สกทาคามิผลก็เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง หรือว่าสกทาคามิมรรค สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นทันที พอดีสกทาคามิผลเกิดขึ้นแล้ว ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วจิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์แล้ว พอดีขึ้นจากภวังค์มา ก็จะได้พิจารณาปัจจเวกขณญาณ และปัจจเวกขณญาณนี้ก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

หากว่าผู้นั้นมีบุญวาสนาบารมี สมควรที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสูงๆ อีกต่อไป และได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก บารมีแก่กล้า จะอยู่ในปัจจเวกขณญาณนั้น อาจจะอยู่เพียง ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที จะอยู่ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๑ ปี ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมี

ถ้าผู้มีบุญวาสนามาก พอดีผ่านปัจจเวกขณญาณแล้วเท่านั้นแหละ วิปัสสนาญาณก็เกิดต่อเลยทีเดียว คือจะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ มาใหม่อีก ทีนี้เมื่อย้อนไปถึงญาณที่ ๔ นี้ รูปนามนั้นยิ่งเบากว่าเดิม ยิ่งเบากว่า ยิ่งละเอียดกว่า เพราะเหตุไร เพราะว่ากิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมากแล้ว

เมื่อกิเลสตัณหาเบาบางไปเป็นจำนวนมาก รูปนามของเราก็ละเอียด รูปนามของเราก็เบา ทุกสิ่งทุกอย่าง การประพฤติปฏิบัติทั้งทางกายทั้งทางจิตใจของเราก็คล่องแคล่วในการประพฤติปฏิบัติ แต่ว่าถึงรูปนามนั้นจะเบาหรือละเอียดสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณของเราก็จะคมกล้า เหมือนกันกับดาบที่ลับแล้วเป็นพันๆ ครั้ง สามารถที่จะพิสูจน์เห็นความเกิดดับของรูปนาม ตลอดถึงทุกข์โทษของรูปนาม ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

วิปัสสนาญาณก็จะผ่านไปตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ พอถึงที่ ๑๑ แล้ว หลังจากนั้นก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี พอดีเข้าสู่มัคควิถีพับเท่านั้นหละ อาวัชชนจิตทางมโนทวารก็เกิดขึ้นมา ๓ ขณะจิต แล้วก็ดับลง ดับลงแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอนุโลมญาณอีก ๑ ขณะจิต แล้วดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวทานจิตก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

เมื่อดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้นมา ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็จะลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะเป็นปัจจเวกขณญาณ เมื่อผ่านได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ชื่อว่าได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคลสมบูรณ์ในพระศาสนาแล้ว

ทีนี้ หากว่าผู้มีบุญวาสนาบารมีแก่กล้า สมควรจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพนี้ชาตินี้ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดต่ออีกทันที เริ่มเกิดเลย ในขณะที่เรานั่งอยู่นั้นก็ได้ หรือล่วงไปวันหนึ่งสองวันก็ได้ แล้วแต่บุญวาสนา หรือ ขิปปาภิญญา หรือว่า ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็วหรือตรัสรู้ช้า ในปฏิปทา ๔

พอดีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งนี้ วิปัสสนาญาณนั้นก็ยิ่งละเอียด ยิ่งเบายิ่งละเอียดกว่าเดิมเป็นอันมาก ถึงกระนั้น วิปัสสนาญาณก็มีความคมกล้า สามารถที่จะไปพิสูจน์เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดถึงเห็นความเกิดดับของรูปนามเป็นต้น ผ่านญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อถึงที่ ๑๑ แล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี

แล้วทีนี้ ถ้ากำลังพอก็ขึ้นสู่มัคควิถีทันที เมื่อขึ้นสู่มัคควิถี อาวัชชนจิตก็เกิดขึ้น ๓ ขณะ แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว อนุโลมญาณก็เกิดขึ้นอีก ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลง เมื่อดับลงแล้ว ก็เกิดโวทานจิต ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อโวทานจิตดับลงไปแล้ว มัคคจิตก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ผลจิตก็เกิดขึ้นมา ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็ลงสู่ภวังคจิต ๑ ขณะ แล้วก็ขึ้นจากภวังค์มา ก็เป็นปัจจเวกขณญาณ แล้วก็จึงจะได้พิจารณามรรคผลพระนิพพาน

เมื่อผ่านมาได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันตบุคคล เป็นผู้มีพรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว มีธรรมอันเกษมล่วงส่วนแล้ว เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอรหันต์ จุติแล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน

หากว่าท่านยังไม่จุติ ขันธ์ของท่านก็เป็น วิสุทธิขันธสันดาน คือมีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ เหมือนน้ำมันซึ่งกรองแล้วเป็นพันๆ ครั้ง เป็นขันธสันดานที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นขันธสันดานอันบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าผ่านได้ถึง ๔ ครั้งอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงขั้นสูงสุดยอดแล้ว หมดกิจที่จะต้องทำแล้ว คือหมดกิจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติต่อไปแล้ว หน้าที่ของเราก็มีแต่แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาและญาติโยมให้รู้ตามให้ได้บรรลุตามเท่านั้น

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ท่านทั้งหลาย การปฏิบัติครั้งที่ ๑ นี้ก็ไม่ลำบากเท่าไร ถ้าหากว่าเราปฏิบัติไปในรอบที่ ๒ หลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครั้งที่ ๒ นี่ ความเกิดดับก็ชัดกว่าเดิม หากว่าเวทนาคือความทุกข์ก็จะทุกข์มากกว่าเดิม ถ้ามีสุขก็จะสุขมากกว่าเดิม แต่ว่าความสุขนี่หาได้ยาก หาได้ยากที่สุด จะมีเวทนาก็มีเวทนามากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าคิดก็คิดมากกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้าเบื่อก็เบื่อกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว ถ้ากลุ้มใจก็กลุ้มใจกว่าเดิมเป็น ๒ เท่าตัว

ถ้าจิตใจเข้มแข็ง ก็เข้มแข็งกว่าเดิมเป็น ๓ เท่าตัว บางทีนั่ง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี เดินจงกรม ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี มันเป็นอย่างนี้ สำหรับความเฉยมีนิดเดียวเท่านั้น คือหาความสุขได้เพียงนิดเดียว ส่วนมากมีแต่ทุกข์ทั้งนั้น นี่ท่านทั้งหลายพึงสังวร

ทีนี้ หากว่าเราปฏิบัติในอันดับที่ ๓ หากว่าเราปฏิบัติในรอบที่ ๓ นี่ เวทนาก็จะเกิดขึ้น ๓ เท่าตัว ถ้าคิดก็จะคิดเป็น ๓ เท่าตัว ความเกิดดับก็จะเห็นชัดเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเกิดความกลัวก็จะกลัว ๓ เท่าตัว ถ้าเจ็บนี่ปวดโน่น ทุกขเวทนาก็จะมีมากเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าเบื่อหน่ายก็เบื่อหน่ายเป็น ๓ เท่าตัว ถ้าหากว่ากลุ้มใจก็จะกลุ้มใจเป็น ๓ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้น มีนิดเดียว นี่พึงสังวรระวัง

ถ้าปฏิบัติในรอบที่ ๔ คือ รอบสุดท้าย รอบที่ ๔ นี้ถือว่าเป็นรอบสุดท้าย การปฏิบัติในรอบที่ ๔ นี้ อะไรๆ ที่มีอยู่มันโหมขึ้นมาทั้งหมด กิเลสตัณหาเหล่าใดที่มันยังเหลืออยู่ มันก็แสดงปฏิกิริยามาทั้งหมด ความเกิดดับของรูปนามก็ชัดกว่าเดิม

ถ้าเกิดความกลัวก็กลัวมากกว่าเดิม บางทีอยู่ในห้องกัมมัฏฐานจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี่รูปเดียวไม่ได้ อยู่ในห้องชีจะเดินมากุฎีหลวงพ่อนี้ คนเดียวนั้นเดินมาไม่ได้ หรือจะเดินมาหน้าโบสถ์นั้น ก็เดินมาไม่ได้ กลางวันแสกๆ ก็ไม่สามารถที่จะเดินมาได้ คล้ายกับคนเป็นโรคประสาท จะเดินเข้าไปในโบสถ์คนเดียวก็ไม่ได้ บางทีมีเพื่อนๆ มานอนล้อมอยู่ตั้ง ๖๗ รูป ก็ยังมีความกลัวอยู่ ทำอย่างไรๆ ก็ยังมีความกลัวอยู่ ความกลัวเท่าไรมันมีอยู่ มันจะโหมโรงเข้ามาทั้งหมด

ถ้าหากว่าเกิดความเบื่อหน่าย ก็เบื่อหน่ายจนไม่อยากปฏิบัติต่อไปนั่นแหละ บางทีอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี บางทีน้ำสุกกะนี่มันไหลออกไป เหมือนกับเราไปฟันต้นโพธิ์ต้นไทร เอาพร้าหรือเอามีดไปกรีดที่ต้นโพธิ์ต้นไทรหรือต้นยางนี่ มันไหลตลอดทั้งวัน เราไม่ได้ไปแตะไปต้องมันก็ไหลตลอดทั้งวัน มันน่าเบื่อหน่ายจริงๆ

บางทีมันไม่เป็นอย่างนั้น น้ำสุกกะนี่มันไหลออกมาทางปากเลย ไหลออกมาทางปาก หลั่งไหลออกมาทางปาก แล้วก็อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป แล้วก็ไหลขึ้นมาอีก อาเจียนออกไป บางทีอาเจียนอยู่ตั้ง ๒ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันก็มี เมื่อถึงลักษณะอันเบื่อหน่ายมันเป็นอย่างนี้

บางคนต้องร้องห่มร้องไห้ นึกว่า โอ ถ้าประพฤติปฏิบัติ เราปฏิบัติรอบที่ ๓ นี้ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก อายุของพรหมนี่มันช่างยืนยาวเหลือเกินหนอ เราจะไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในชั้นพรหมนี้ ไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จึงจะพ้นได้ นึกถึงจะไปอยู่ในชั้นพรหมก็เกิดความน้อยใจขึ้นมา บางทีร้องห่มร้องไห้ เพราะพิจารณาเห็นทุกข์ในการที่ตนจะไปทรมานอยู่ในชั้นพรหม ก็เกิดร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา อยากถึงพระนิพพานแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น นี่มันเบื่อจริงๆ

เมื่อก่อนนั้น ไม่เบื่อเท่าไร แต่ถ้ามาถึงขั้นนี้แล้ว เบื่อทั้งเมืองมนุษย์ เบื่อทั้งเมืองเทวดา เบื่อทั้งเมืองพระพรหม จะปรินิพพานอย่างเดียวเท่านั้นดี นอกนั้นไม่มีอะไรดีเลย นี่มันเป็นลักษณะอย่างนี้ พอดีถ้ามีความเข้มแข็งก็มีความเข้มแข็งเป็น ๔ เท่าตัว แต่สำหรับความเฉยนั้นมันนิดเดียว คือความสบายมีนิดเดียว

ก็ขอสรุปสั้นๆ ว่า เมื่อเราปฏิบัติครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นี้ ความสุขนั้นหาได้น้อยที่สุด เกือบจะเห็นว่าไม่มีความสุขเสียเลย มีแต่ความทุกข์อย่างเดียว เห็นแต่ทุกข์แต่โทษอย่างเดียวเท่านั้น

หากว่าท่านรูปใดหรือท่านผู้ใดจิตใจไม่เข้มแข็งพอ ไม่รักในการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุได้ บางทีก็ถอยเลย ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติต่อไป แต่ถึงอย่างไร หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายที่ตั้งใจมาประพฤติปฏิบัติในครั้งนี้ก็คงจะมีสัจจปฏิญาณอันแน่วแน่ในการที่จะปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดยอด อย่างน้อยที่สุดก็ได้ขั้นปฐมมรรค อันนี้ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจตามนี้ด้วย

ต่อไปก็ขอเตือนบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า วันพรุ่งนี้ก็จะพากันออกไปเทศนาโปรดญาติโยมแล้ว ถ้าว่าการไปนี้ หลวงพ่อว่า ถ้าวัดไหนมันใกล้ๆ ก็เดินเอา เช่นว่า วัดนาหนองทุ่ง วัดนาแมด วัดห่องไผ่ วัดนาขนัน อย่างนี้ มันใกล้ๆ เราก็เดินเอา ต่างออกกำลัง เพราะเราอยู่กับที่มานานแล้ว ออกกำลังเอา ทีนี้ถ้าว่าวัดไหนมันอยู่ไกลก็ให้รถนำไปส่ง ตอนกลับก็ให้รถนำกลับเอา

ผู้ใดที่จะกลับพร้อมรถให้รถมารับก็บอกรถเขาไว้ ถ้าว่าจะเดินเอาก็แล้วแต่ ต้องบอกเขาไว้ ค่ำคืนวันนี้ก็เตรียมซะ แต่หลวงพ่อว่าถ้าพอเป็นไปได้ ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติทุกบ้านนั่นแหละ ไม่เป็นไรหรอก เราเทศน์กัณฑ์เดียวกันนั่นล่ะ ถ้าพอเป็นไปได้ก็ขอให้เทศน์ธรรมะในภาคปฏิบัติ เหมือนกันกับหลวงพ่อบรรยายธรรมะเป็นสัมโมทนียกถาในภาคปฏิบัติ ที่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายได้ยินได้ฟังแล้วนั่นแหละ

การเจริญภาวนานั้นเป็นของง่ายนิดเดียว เพียงแต่เราจะทำอะไรก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ ว่าไปตามลำดับๆ จนโน้น ถึงเราจะนั่งอยู่ภาวนาอยู่ก็ดี ก็ขอให้จำได้ มันจะนั่งหลับไปตอนไหน ตอนพองหรือตอนยุบ ก็ขอให้จำได้ เราจะนอนหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ ก็ขอให้จำได้

เราเทศน์ในภาคปฏิบัตินั้นจะดีมาก เพราะว่าญาติโยมที่มารักษาอุโบสถศีลนั้น จะได้ถือเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่สำหรับผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่ยากหรอก ทีนี้เราเผื่อว่า บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่มาสมาทานอุโบสถศีลใหม่ มาปฏิบัติใหม่ เพื่อจะให้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ขอให้เตือนสติญาติโยมว่า

การประพฤติปฏิบัตินี้ องค์คุณของผู้ปฏิบัติ

๑. ต้องมีสติ (สติมา)

๒. มีสัมปชัญญะให้ทันปัจจุบัน (สัมปชาโน) แล้วก็

๓. มีความเพียร (อาตาปี)

๔. อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น

ถ้าเรามีความต้องการเกิดขึ้น ถ้ามันเกิดขึ้นตามความประสงค์ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว บางทีเห็นว่าครูบาอาจารย์ก็สู้เราไม่ได้ ถ้ามันไม่เกิดตามความคิด ก็จะให้เกิดโทมนัส หรือเกิดความโกรธ ความท้อแท้ใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความขี้เกียจ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติต่อไป แล้วก็

๕. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

๖. อย่าทำอิริยาบถให้ผิดปกติ

ก็ขอให้แนะนำญาติโยมไว้อย่างนี้ เราพูดเอาง่ายๆ เพราะการพูดเอาง่ายๆ มันได้ประโยชน์กว่า เราเทศน์จบแล้วก็ให้โอกาสแก่ญาติโยมได้สนทนาปัญหา ได้ไต่ถาม ข้อไหนญาติโยมสงสัย ก็เปิดโอกาสให้โยมได้ไต่ถามได้ซักถาม เราก็แนะนำเอา อันนี้ก็ขอให้ไปเทศน์ในแนวนี้

เอาละ ที่บรรยายมาก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ด้วยกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จงทุกท่านๆ เทอญ.


พระราชปริยัตยากร




หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 มิถุนายน 2560 10:00:04
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRO4g-_tBfwIk1OYc0crJSPn8fOiTxvqn0G9V7K8mgK3srJazG9)

โรค ๒ ประการ

สำหรับวันนี้ ก่อนที่จะได้รับพร ก็ขอนำธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าว ในลักษณะที่ว่าเป็นสัมโมทนียกถา เป็นถ้อยคำที่กล่าวเพื่อให้เกิดความชื่นใจ ความดีใจ ความเบิกบานใจ ความปลื้มใจ ความปราโมทย์

วันนี้ หลวงพ่อจะกล่าว เรื่อง โรค ๒ ประการ

โรค คือ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ดีมาเบียดเบียน

โรคมี ๒ ประการ คือ ๑) โรคกาย ๒) โรคใจ

สำหรับ โรคกาย ขอยกไว้ก่อน เอาไว้กล่าวตอนท้าย จะขอกล่าวเรื่องของโรคใจก่อน

คือ โรคใจ เป็นโรคที่รักษายาก ถ้าจะหายาไม่ว่าจะเป็นยามโหสถ ยาโรงพยาบาล ยาตามร้านค้า หรือเป็นยาที่วิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ก็ไม่สามารถที่จะมาบำบัดหรือรักษาโรคใจได้ แม้ว่าเขาจะศึกษาเล่าเรียนมาจนจบวิชาทางแพทย์โดยตรงก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะรักษาได้

แม้แต่ผู้ที่มีเดชานุภาพ มีอภิญญาจิต แม้ว่าผู้ที่มีกายทิพย์ มีใจทิพย์ เช่น เทพบุตร เทพธิดา ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจให้หายไปได้ แม้แต่ผู้ที่บำเพ็ญสมถภาวนาจนได้สมาบัติ ๘ ประการ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้จบสมาบัติ ๘ ประการ ได้จบอภิญญาจิต ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้

ถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ ผู้ที่ยังอยู่ในเมืองมนุษย์ มีศักดาเดชานุภาพ แม้ผู้ที่เป็นพระราชา มหากษัตริย์ พระเจ้าจักรพรรดิราช ก็รักษาไม่ได้ หากว่าผู้ที่เป็นพระเจ้าพระสงฆ์ ทรงสมณเพศเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยมหันตคุณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็รักษาโรคได้ครึ่งๆ กลางๆ รักษายังไม่ได้หมด ต่อเมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงจะรักษาโรคได้หมด

อีกอย่างหนึ่ง หากว่าทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จด้วยทิพย์ หรือผู้มีกายทิพย์ มีใจอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ มีอำนาจอันเป็นทิพย์ เช่น เทวดาในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ก็ไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจได้ เพราะเทวดาก็ยังมีโรคใจอยู่บางสิ่งบางประการ แม้แต่เป็นพระพรหมก็ดี จะเป็นรูปพรหมก็ดี เป็นอรูปพรหมก็ดี ถึงแม้จะได้ฌาน ได้อภิญญาจิต ก็ยังไม่สามารถที่จะรักษาโรคใจนี้ได้ รักษาได้ก็เป็นบางส่วน รักษาได้ยังไม่หมด

โรคใจมีหลายอย่าง แต่หลวงพ่อจะสรุปสั้นๆ เพื่อให้เหมาะแก่เวลา

โรคใจประการที่ ๑ ความโลภคือโลภะ อันนี้ถือว่าเป็นโรคทางด้านจิตใจของเราเหมือนกัน เมื่อถูกโรคนี้เข้าเบียดเบียน ก็จะทำให้กินไม่ได้นอนไม่หลับ ต้องกระเสือกกระสน ดิ้นรนหาสิ่งที่ต้องการ เพื่อมาป้อน มาบำรุงบำเรอ หนักๆ เข้าก็ประพฤติไม่ดีไม่งาม ล่วงเกินกฎหมายบ้านเมือง ล่วงเกินศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

อย่างเช่น ไปเบียดเบียนเอาของเขา ไปยักยอกเอาของเขา ไปกดขี่ข่มเหงเอาของเขา หนักๆ เข้า ก็ไปปล้นไปทำร้ายผู้อื่นจนถึงตายไปก็มี ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความโลภคือโลภะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทะเยอทะยานให้เกิดความอยากได้อยากมี ไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้นี่ อยากได้นั่น เช่น อยากได้ทีวี พัดลม ตู้เย็น สเตอริโอ อยากได้ไปร้อยแปดพันประการ แม้จะได้เป็นร้อยล้าน พันๆ ล้านก็ไม่พอ เป็นต้น

สรุปสั้นๆ ว่า แม้จะหาทรัพย์สมบัติในโลกมนุษย์นี้มากองพะเนินให้เต็มเรือนชานบ้านช่อง กองเต็มสถานที่ที่อยู่ก็ยังไม่พอ นี่แหละคือโรคความโลภ ที่เป็นเหตุให้ผู้มีความโลภหรือโลภะ เกิดความทุกข์ทรมานในจิตใจ เพราะความอยากได้นั่น อยากได้นี่ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาแล้วยังไม่พอ ยังอยากจะได้อีก ยกตัวอย่าง เช่น มีภรรยาอยู่แล้วยังไม่พอ ยังอยากจะมีคนที่ ๒ อยากมีคนที่ ๓ อยากมีคนที่ ๔ มันอยากไม่สิ้นสุด

ทีนี้จะทำอย่างไรถึงจะรักษาโรคคือโลภะได้ เราจะรักษาได้อย่างต่ำๆ คือการให้ทาน เช่น ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ การให้ทานก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผ่อนคลายความโลภให้เบาบางลง แต่ยังไม่สิ้นสุด เพียงแต่ข่มไว้ไม่ให้มันรุนแรงเกินไป เมื่อเราบริจาคทานแล้วก็จะช่วยข่มความโลภได้ ข่มมัจฉริยะคือความตระหนี่ ให้เบาบางลงไปได้ แต่ว่ามันยังไม่หมด มันยังไม่ขาด เพียงแต่มันสงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา

อุปมาเหมือนกับต้นหญ้า ถ้าเอาศิลาหรือก้อนหินไปทับเอาไว้ มันก็เกิดไม่ได้ แต่เหง้ามัน รากมันยังไม่ตาย แต่เมื่อใดเรายกศิลาหรือก้อนหินออก หญ้านั้นมันก็เกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด เมื่อเราทั้งหลายบำเพ็ญทานอยู่ขณะนี้ความโลภคือโลภะ มัจฉริยะคือความตระหนี่ มันก็สงบตัวอยู่ ไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา

ทีนี้ถ้าเราจะทำลายให้เด็ดขาดไป การเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน ก็ยังรักษาไม่ได้ เป็นแต่เพียงข่มไว้ ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์พระสงฆ์องค์เณร ที่มาเจริญอยู่ทุกวันนี้ เมื่อเจริญวิปัสสนาภาวนาไปตามลำดับขั้น ญาณในด้านวิปัสสนาญาณก็จะเกิด ภาวนามยปัญญาก็จะเกิดขึ้นมาๆ เห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เมื่อใดที่เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น โลภะก็จะค่อยๆ หมดไปๆ ตามลำดับ เมื่อใดที่สำเร็จปฐมมรรค คือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

โลภะทั้งหมดนั้นมีอยู่ ๘ ตัว เมื่อเราสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีแล้ว โลภะทั้งหมดที่มีอยู่ ๘ ตัว ก็จะละได้ ๔ ตัว เหลืออีก ๔ ตัว เมื่อใดที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงจะสามารถละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว อันนี้พูดโดยย่อ

โรคใจประการที่ ๒ ความโกรธคือโทสะ มันทำให้จิตใจของเราเร่าร้อนกระวนกระวาย และเดือดดาลตลอดเวลา ไม่มีที่สิ้นสุด มีอะไรมากระทบนิดหน่อย ก็จะเกิดความหงุดหงิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้นมา เห็นรูปที่ไม่งามก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เกิดความแห้งใจ ความคับแค้นใจ ความท้อใจ ความทุกข์ใจ

ทุกอย่างที่กล่าวมาคือตัวโทสะทั้งหมด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะทำให้ไม่พอใจในอารมณ์ ไม่พอใจในสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เช่น เห็นรูปไม่สวย ก็ไม่พอใจ ได้ยินเสียงไม่เพราะ ก็ไม่ถูกใจ ได้ลิ้มรสอาหารที่ไม่อร่อย ก็ไม่ถูกใจ ได้กลิ่นที่ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ ได้สัมผัสถูกต้องเสื้อผ้าเครื่องใช้ไม้สอยที่ไม่ดี ก็ไม่ถูกใจ หนักๆ เข้าก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฆ่ากันให้เบียดเบียนกัน

ดังที่เราเห็นกันอยู่ เช่น สามีฆ่าภรรยา ภรรยาฆ่าสามี แม่ฆ่าลูกตั้งแต่อยู่ในท้องหรือคลอดออกมาแล้ว ก็สามารถที่จะฆ่าได้ เพราะโทสะสามารถฆ่าได้แม้กระทั่งสามีตัวเอง ภรรยาตัวเอง ลูกตัวเอง สามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ สามารถที่จะฆ่าแม้ครูบาอาจารย์ได้ สามารถที่จะฆ่าผู้ที่มีพระคุณได้

การพูดจาปราศรัยสามารถจะด่าได้หมด ด่าได้แม้กระทั่งแดด ด่าลม ด่าแผ่นดิน แผ่นฟ้า ด่าพระอาทิตย์ ด่าพระจันทร์ ด่าดวงดาว ด่าได้ แม้กระทั่งพระ เณร พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ด่าไปได้หมด ทำไมถึงด่าได้ ที่ด่าได้ก็เพราะโทสะ ถ้าคิดดูดีๆ ก็จะเห็นว่าสิ่งที่ไม่ดี ไม่พอใจต่างๆ ที่เกิดมา ก็คือโทสะทั้งหมด ฉะนั้น เราจะต้องหาวิธีแก้ วิธีทำลาย

ตัวโทสะจะมีอยู่ ๒ ตัว คือ

๑) ความโกรธที่เกิดขึ้นโดยมีสิ่งกระตุ้น เช่น มีผู้มายุยงให้โกรธ ได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ทำให้โกรธ เป็นต้น

๒) ความโกรธที่เกิดขึ้นเองโดยลำพัง มันนอนอยู่ในจิตในใจของเรา เช่น นอนสบายๆ อยู่เฉยๆ ก็เกิดความโกรธขึ้นมาเอง คิดเกลียดคนนั้น คิดเกลียดคนนี้

หนักเข้าพอตื่นเช้าขึ้นมา แทนที่จิตใจจะร่าเริงแจ่มใสเบิกบาน ได้ยินเสียงต่างๆ กลับไม่พอใจไปหมด เช่น ได้ยินเสียงเมียตื่นขึ้นมาหุงข้าวก็ไม่พอใจ หาว่าทำเสียงดัง เราจะหลับจะนอน ได้ยินเสียงลูกหลาน เปิดเพลง เปิดวีดีโอ ก็ไม่พอใจแล้ว ได้ยินเสียงระฆังที่วัด ก็ไม่พอใจว่า ทำไมถึงตีตั้งแต่เช้า คนกำลังหลับกำลังนอน นี่แหละคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาทำให้ไม่พอใจ จึงเกิดความโกรธ เป็นต้น

วิธีรักษาความโกรธ อย่างต่ำคือการรักษาศีล เหมือนกันกับญาติโยมทั้งหลายสมาทานรักษาอยู่นี้ เช่น การรักษาศีล ๕ การรักษาศีล ๘ การรักษาศีลอุโบสถ การรักษาศีล ๑๐ การรักษาศีล ๒๒๗ ก็เป็นการผ่อนคลายความโกรธให้เบาบางลง แต่ยังรักษาได้ไม่หมด ถึงแม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติ แม้จะเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ มีฤทธิ์ มีเดช ก็ยังรักษาไม่ได้หมด

อีกอย่าง คือการเจริญเมตตาปรารถนาให้สรรพสัตว์มีความสุขทั่วหน้ากัน เช่น เมื่อนึกถึงบุคคลที่ทำให้เราไม่พอใจ ที่มันผ่านมาหลายวันแล้วก็ตาม ให้เรานึกถึงหน้าเขาแล้วเจริญเมตตา ขอให้บุคคลที่เรานึกถึงนั้น จงมีความสุขเถิด ขอท่านจงมีความสุขเถิด

เราทำอย่างนี้จะช่วยให้ผ่อนคลายความโกรธได้ ถ้าเราคิดได้ตอนไหน ก็ให้เจริญเมตตาทุกเวลาๆ ที่คิดได้ ถ้าเราเห็นใครไม่ถูกใจ ก็ให้เจริญเมตตา ขอให้คุณจงเป็นผู้มีความสุขเถิด ถ้าเจริญเมตตาอยู่เรื่อยๆ จะทำให้ความโกรธนี้เบาบางลงไปเรื่อยๆ อ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ มันจะเป็นอุปนิสัย ถ้าเราหัดอยู่แบบนี้ เจริญเมตตาอยู่แบบนี้ไป ถึงจะมีโกรธอยู่ ยังไม่หมด นี่แหละ คือวิธีบรรเทา

ถ้าจะรักษาให้หายอย่างเด็ดขาด ก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่กำลังเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเจริญไปๆ ผ่านปฐมมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไป และเมื่อผ่านทุติยมรรค ความโกรธก็จะเบาบางลงไปอีก และเมื่อผ่านตติยมรรค คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธก็หมดเลย ไม่มีเหลืออยู่ในใจอีกเลย นี่แหละคือวิธีแก้อย่างเด็ดขาด

ถ้าว่าความโกรธหาย แต่ทำไมหลวงพ่อจึงชอบด่าจัง ใช่สิพอหลวงพ่อพูดอะไรก็ว่า หลวงพ่อด่า หลวงพ่อชี้แนะแนวทางก็ว่าแต่หลวงพ่อด่า ทั้งๆ ที่เวลาที่หลวงพ่อพูดไปไม่ได้มีจิตมีใจที่จะด่าเลย มีแต่ญาติโยม พระสงฆ์ องค์เณร คิดไปเองว่าหลวงพ่อด่า เพียงแค่สำนวนสำเนียงที่พูดออกไปมันไม่รื่นหู ที่พูดไปมันฟังไม่รื่นหู ก็เลยคิดเอาว่าหลวงพ่อด่า

สรุปสั้นๆ ว่า เราจะแก้ความโกรธให้มันหายไปหมดก็ต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณได้ ๓ ครั้ง ความโกรธมันถึงจะหมดไป

โรคใจประการที่ ๓ โมหะคือความมืดบอด ความหลง ความไม่รู้จักผิดชอบ ชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ไม่รู้จักประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือไม่รู้จักมรรคผลพระนิพพาน มืด ๘ ด้าน ไม่รู้ว่าบุญเป็นยังไง ไม่รู้ว่าบาปเป็นยังไง

ถ้าพูดถึงเรื่องนรกสวรรค์ก็ไม่รู้จัก พูดถึงเรื่องมรรค ผล นิพพานก็ไม่รู้จัก เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกนี้ เป็นผู้ตัดเสียซึ่งประโยชน์โลกหน้า และก็ตัดเสียซึ่งประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรค ผล พระนิพพาน อันนี้แหละคืออำนาจของโมหะ เป็นคนที่โง่เขลาเบาปัญญา อยู่ในสังคมใด ก็ไม่ฉลาด ไม่ทันคนอื่นเขา นี่แหละตัวโมหะ

ทีนี้ โมหะ นี้ ทำอย่างไรมันถึงจะหมดเบาบางลงไป วิธีที่จะทำมีอยู่ ๒ ประการ คือ

วิธีที่ ๑ ทำให้เบาบางลง การที่จะทำให้เบาบางลงก็คือการอ่านตำรับตำราธรรมะ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาอ่าน อ่านทั้งทางโลกและทางธรรม ก็จะทำให้มันเบาบางลงเหมือนกันกับครูบาอาจารย์ที่มีความรู้อยู่ทุกวันนี้

ก็เพราะเราบำเพ็ญตัวนี้ และจากการศึกษาเรียนรู้มาจากพ่อจากแม่ พ่อแม่แนะนำเรา เราก็รู้ เราไปโรงเรียนประถม มัธยม ก็ทำให้เราเกิดความรู้ขึ้นมา จึงทำให้โมหะเบาบางลงไป เรียนไปจนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะทำให้โมหะค่อยๆ เบาบางลงไปเรื่อยๆ

สรุปแล้ว ถ้าสิ่งไหนไม่รู้ ก็ให้เรียนสิ่งนั้นๆ ก็จะทำให้ความโง่ความไม่รู้เบาบางลงไปๆ

วิธีที่ ๒ ให้ถามครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ท่านผู้รู้ ไต่ถามสิ่งที่เราไม่เข้าใจ สิ่งที่เราข้องใจสงสัย ให้ท่านอธิบายชี้แจงให้ฟัง จนหมดความสงสัย นี่อย่างต่ำ อย่างสูงก็ให้เจริญวิปัสสนาภาวนาเหมือนที่พากันเจริญอยู่ทุกวันนี้ เจริญไปๆ จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์โน่นแหละจึงจะหมด โมหะ ซึ่งจะมีอยู่ ๒ ตัวคือ

๑) หลง หลงด้วยอำนาจอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน คือหลงเพราะคิดมาก คิดมากก็ทำให้เกิดความหลงได้

๒) หลง ด้วยอำนาจวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ

จิตใจฟุ้งซ่านมากก็เป็นเหตุให้เกิดโมหะ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล ก็ยังละโมหะได้เพียงตัวเดียว คือวิจิกิจฉา ความลังเลความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ บุญบาป โลกนี้โลกหน้า นรกสวรรค์ มรรคผลพระนิพพาน ความสงสัยเหล่านี้มันหมดไป (คือละได้แล้ว)

ต่อเมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณที่ ๑๖ ครั้งที่ ๔ จึงจะสามารถละโมหะได้หมด คือละตัวอุทธัจจะความคิดมากนี่ก็จะหมดไป จะไม่คิดจนเป็นบ้าเหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนนี่คิดจนเป็นบ้า คิดจนเป็นโรคประสาท คิดจนความดันสูง แต่พอผ่านวิปัสสนาญาณไปจนครบแล้ว ความคิดดังกล่าวมันก็หมดไปจากขันธสันดาน

ถ้ามันหมดทั้ง ๓ ตัว ตัวอื่นไม่ต้องกล่าวถึง ตัวนี้เป็นพ่อมัน แม่มัน ปู่มัน ย่ามัน ถ้าเราฆ่ามันแล้ว ฆ่าปู่ฆ่าย่าฆ่าพ่อฆ่าแม่มันแล้ว ตัวอื่นมันก็ตายหมด หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า เราฆ่าหัวหน้าทัพมันแล้ว ลูกน้องมันก็ตายหมด นี่คือวิธีรักษา

ถ้าเราฆ่ามันหมดจากจิตจากใจของเราแล้ว เราก็มีใจที่สบายๆ อยู่ในโลกนี้ก็เหมือนกับได้บรรลุพระนิพพานแล้ว เหมือนกับอยู่ในปรินิพพาน เพราะว่าพระนิพพานเป็นโลกุตตรสุข ไม่เหมือนสุขของโลก ไม่มีความเสียใจดีใจ เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา มีจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน ชุ่มเย็นอยู่ตลอด ได้กระทบอารมณ์ใดๆ ก็ตาม อารมณ์ที่ดีก็ตาม อารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม ก็มีใจสบายๆ ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว

หลวงพ่อคิดว่า พ่อออกแม่ออกบ้านเรา คงจะดีใจ พอใจ อิ่มใจ ปลื้มใจ หรือเต็มใจในการรักษาโรคใจ ๒ ประการ ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะว่าพวกเราก็ได้ประพฤติปฏิบัติกันมา แต่ปีนี้หรือในยุคสมัย ไอเอ็มเอฟ นี้ ไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าใด

เพราะว่าปีนี้ไม่ค่อยสัปปายะ ไม่ว่าอาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไม้สอย เงินทองกองแก้วก็ไม่สัปปายะ หนักๆ เข้า มาปีนี้ อากาศก็ไม่สัปปายะ เพราะว่าความร้อนมันไม่เหมือนทุกปี ปีนี้รู้สึกว่าร้อนๆ เหมือนกับเหงื่อมันจะมาเผาเนื้อเผากายเราให้สุก มันไม่สัปปายะ

การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สะดวกสบายเหมือนทุกปี ครูบาอาจารย์ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ลำบากลำบน เพราะมันร้อนมาก ก็เลยบอกว่า ผ้านี่ไม่ต้องห่มต้องคลุมดีมากหรอก ในห้องกัมมัฏฐานนี่ เอาผ้าจีวรพาดบ่าเอาเลย มันถึงจะสะดวก สำหรับโรคใจ ก็ขอพักไว้เพียงเท่านี้ ไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว โรคใจคือกิเลสที่กล่าวมาข้างต้น

ทีนี้สำหรับ โรคกาย กายอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เราจะรักษาอย่างไร โรคกายของเรา วิธีรักษาเราก็จะต้องไปหามดหาหมอ โรงพยาบาลใดมีหมอดี ที่ไหนมียาดี เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาเราก็ไปหาท่าน โรคกายรักษาได้ด้วยหยูกยา หากว่าเราจะรักษาด้วยธรรมะ เราก็บำเพ็ญ เราก็เว้นจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นบุคคลอื่น และก็เว้นจากการฆ่าบุคคลอื่นสัตว์อื่น เป็นผู้มีจิตใจอันประกอบไปด้วยเมตตา ก็สามารถที่จะผ่อนคลายโรคกายนี้ให้เบาบางลงไปได้ สำหรับโรคกายรักษาได้ด้วยยา

แต่ถ้าเราจะเอาธรรมะไปรักษาด้วย เราก็ต้องเจริญเมตตาไปด้วย เช่น ไม่ฆ่ากัน ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ข่มเหงกัน ไม่ทำร้ายกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ทรมานกัน ก็จะสามารถเบาบางลงไปได้

แต่สำหรับโรคกายต้องรักษาด้วยยา พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง สำหรับยาก็พอจะหาแพทย์หาหมอได้ สำหรับโรคกายก็ให้พากันรักษาเอา แต่อย่าให้มากเกินไปนัก มันทำให้เสียสุขภาพทีหลัง บางทีเราคิดไม่ถ่องแท้ มันก็เสีย

เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแสดงไขในเรื่อง โรคใจ ๒ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 มิถุนายน 2560 10:31:53

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR4djnszTvhJhSYRt2BXYOy-eOkS53ibA7hH-daHe5aN7FMF-jAMw)

โรคใจ ๑๐ ประการ

วันนี้ จะได้บรรยายเสริมการปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า โรค นั้นมันมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. โรคที่เกิดขึ้นทางกาย ก็เรียกว่า โรคกาย
๒. โรคที่เกิดขึ้นทางจิต ก็เรียกว่า โรคใจ

โรคกาย นั้น หากว่าเรารักษาไม่หาย ในโลกนี้มันก็มีจุดจบ คือเมื่อถึงกองฟอน เขาเอาไฟจุดแล้วก็หมดไป

แต่สำหรับ โรคใจ นั้น หากว่าเรารักษาไม่หายในโลกนี้ แม้ตายแล้วก็ยังไม่หาย คือยังจะติดตามเราไป ในภพหน้าชาติหน้าที่เราเกิด แล้วก็ยังเป็นโรคที่ติดอยู่ในจิตในใจของเราตลอดไปจนกว่าเราสามารถที่จะรักษา คือกำจัดให้มันหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจแล้วนั้นแหละ จึงจะชื่อว่ารักษาโรคใจได้ โรคใจจึงจะหายได้ โรคใจ นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑.โรคโลภะ ความอยากได้ในทางทุจริต คืออยากได้ในอารมณ์ ๖ อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าพอใจ น่าชอบใจ น่าปรารถนา น่าใคร่

๒.โรคโทสะ ความโกรธ ความพยาบาทอาฆาต คือไม่พอใจในอารมณ์ทั้ง ๖ ประการ คือไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ

๓.โรคโมหะ ความหลง ไม่รู้ตามความเป็นจริง

๔.โรคมานะ ความเย่อหยิ่งถือตัว

๕.โรคทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นชอบ ว่าบุญบาปไม่มี เป็นต้น

๖.โรควิจิกิจฉา ความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย ว่ามีจริงหรือไม่

๗.โรคอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตส่าย ใจวอกแวก

๘.โรคถีนะ ความหดหู่ ซึมเซาท้อถอยจากการงาน อยากนอนอย่างเดียว

๙.โรคอหิริกะ ความไม่ละอายต่อบาปทุจริตต่างๆ

๑๐.โรคอโนตตัปปะ ความไม่กลัวต่อบาปทุจริต

โรคโลภะ โรคโทสะ โรคโมหะ โรคมานะ โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉา โรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคไม่ละอายบาป โรคไม่กลัวบาป คุกตะรางสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอใส่ คนที่ไปติดคุกติดตะรางหรือถูกขังอยู่ที่เรือนจำ ก็เพราะเป็นโรค อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนี้ ผู้ใดไม่มีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้นั้นจะเป็นผู้มีความสุขในโลกนี้

ก็โรคใจนี้ ไม่เหมือนกันกับโรคภายนอก คือไม่เหมือนกับโรคกาย โรคกายนั้นอย่างมากก็เป็นแค่กาย ยาอื่นรักษาไม่หาย พระเพลิงก็รักษาหายหมด ส่วนโรคใจนั้น ถ้าชาตินี้รักษาไม่หาย ก็จะติดไปอีกในชาติหน้า ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน โรคนี้ก็ตามไปด้วย แต่ว่าโรคนี้ไม่ใช่ว่าจะตามไปให้คุณ แต่ตามไปให้โทษ ถ้าเรามีโรค ๑๐ อย่างนี้ก็เท่ากับมีเพื่อนชั่ว ๑๐ คน คือ

๑.โรคโลภะ โรคประเภทนี้ ชวนให้ลักของเขา ปล้นจี้เขา หลอกลวงเขา ฉ้อราษฎร์บังหลวง คอร์รัปชั่น เป็นต้น ล้วนแต่อำนาจของโลภะทั้งสิ้น

ดังเราที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ที่เขาพูดกัน ซึ่งพวกเราไม่น่าจะนำมาพูดกัน หรืออะไรทำนองนี้ เช่นว่า โรคกินเสาไฟฟ้า กินทองแดง โรคกินหิน โรคกินทราย โรคกินปูน กินกรวด อะไรทำนองนี้ ก็ล้วนแต่โลภะนี้เป็นต้นเหตุ ถ้าหากว่าไม่มีโรคคือโลภะ การอยากอย่างนั้น หรือการกินอย่างนั้น คอร์รัปชั่น ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างนั้น ก็คงไม่มี

๒.โรคโทสะ ทำให้เป็นคนดุร้ายเนรคุณ ตัวอย่างที่ลูกฆ่าพ่อแม่ด่าพ่อแม่ ก็เพราะโรคโทสะ นักเรียนทำร้ายครู ศิษย์คิดฆ่าอาจารย์ สามีฆ่าภรรยา หรือภรรยาฆ่าสามี พี่น้องออกจากท้องเดียวกันฆ่ากันได้ ก็เพราะโรคโทสะเป็นต้นเหตุ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ระหว่างสามีภรรยา บางทีไปคบชู้สู่สมมา เอายาพิษให้สามีกิน หรือสามีเอายาพิษให้ภรรยากิน อะไรทำนองนี้ ล้วนแต่เป็นโรคตัวโทสะนี้เป็นต้นเหตุ

๓.โรคโมหะ ทำให้หลงเพลิดเพลินในกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ พาหลงไปหาสุรานารี พาชีกีฬาบัตร อกตัญญูเนรคุณ ฉุดคร่าอนาจาร กระทำชำเรา จุดบ้านเผาเมือง

ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ได้แก่ ไม่รู้ทุจริต ๓ คือ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ทำให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ทำชู้สู่สมกับผัวเขาเมียเขาลูกเขา โกหก ต้มตุ๋น ยักยอก หลอกลวง พูดชั่วเป็นต้น ไม่รู้ขันธ์ ๕ ไม่รู้ความหมายของขันธ์ ๕ ไม่รู้อริยสัจ ๔ หลงติดอยู่ในบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้จักประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน

๔.โรคมานะ ทำให้เกิดความลำพอง สำคัญตัวเองว่าเราดีกว่าเขาบ้างหละ หรือว่าเราเสมอเขาบ้างละ เราเลวกว่าเขาบ้างละ ทำอะไรมักจะทำตามใจชอบ ใครจะบอกก็ไม่เชื่อ ว่าก็ไม่ฟัง กลายเป็นคนว่ายากสอนยาก คนประเภทนี้แข็งนอกอ่อนใน เจริญเติบโตไม่ได้

ถ้าอยู่ในวงข้าราชการ ก็ไม่สามารถที่จะเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงๆ ขึ้นไปได้ แม้จะอยู่ในวัดวาอารามก็ไม่สามารถที่จะเจริญงอกงามไพบูลย์ ในพระบวรพุทธศาสนาได้

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้อย่างนี้ ต้นไม้บางชนิดมันแข็งนอกแต่อ่อนใน แข็งนอกอ่อนในนี้ ส่วนมากก็เจริญไม่ได้ แข็งในแต่อ่อนนอกเจริญได้ เช่น ต้นกะบาก ต้นยางอะไรอย่างนี้มันเจริญได้ แต่ประเภทแข็งนอกอ่อนใน เช่นต้นมะพร้าว ต้นตาล ก็โตไม่มาก

คนเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แม่ชีไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ดังที่เราฟังกันทุกวันว่า วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ พร ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ ยศถาบรรดาศักดิ์ ย่อมเจริญ แก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้เคารพต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ

๕.โรคทิฏฐิ ความเห็นผิด คือมีความเห็นว่าคนเราที่เกิดมานี้ บางคนมั่งมี บางคนยากจน มิใช่เป็นผลที่ทำไว้แต่ปางก่อน ชาติก่อน ที่มั่งมีหรือยากจนนั้น เกิดจากพระพรหมบันดาล เกิดจากพระเจ้าบันดาลบ้าง หรือมีความเห็นว่าการทำดีทำชั่วในชาตินี้ จะไม่ส่งผลให้ได้รับในภพหน้า ชาติหน้า นอกจากว่าไปลักของเขาให้เขาจับได้ นั่นแหละจึงจะได้รับโทษจึงจะเป็นบาป ถ้าเจ้าของเขาจับไม่ได้ก็ไม่เป็นบาป

บางคนก็มีความเห็นว่า การทำดีทำชั่วนั้น ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป เป็นแต่กิริยาเท่านั้น หมายความว่า ใครทำดี ใครทำชั่ว ก็ไม่ได้รับผลของความดี ของความชั่ว บางคนเห็นผิด ขนาดว่าพ่อแม่ ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ก็ไม่มีบุญคุณอะไรกับตนเลย เกิดมาหลงอย่างหนัก

๖.โรคถีนะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่เป็นธรรมชาติให้จิตของเราหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ เกิดอาการสะลึม สะลือ การทำงานอะไรก็ไม่กระฉับกระเฉง ท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา เวลาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจับปัจจุบันธรรมได้

เช่น ครูอาจารย์แนะนำพร่ำเตือนว่า ท่านจะนั่งหลับไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือตอนนั่ง ตอนถูก ก็พยายามจับให้ได้ หรือว่าท่านจะนอนหลับไป ตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือตอนนอน ตอนถูก ก็พยายามจำให้ได้ เราก็ไม่สามารถที่จะจำได้ จำแล้วก็จำอีกๆ คืนแล้วก็คืนเล่าๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี ก็ไม่สามารถที่จะจำได้

เพราะเหตุไร ก็เพราะโรคคือตัวถีนะนี่แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามันท้อแท้ เซื่องซึม เฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง จิตใจของเราจับอารมณ์ไม่มั่น เลยจับปัจจุบันธรรมไม่ได้

๗.โรคอุทธัจจะ โรคชนิดนี้ เป็นธรรมชาติที่ทำจิตให้ฟุ้งซ่าน คือจิตรับอารมณ์ไม่มั่น เดี๋ยวจิตคิดอารมณ์โน้นบ้าง คิดอารมณ์นี้บ้าง จิตใจฟุ้งซ่าน คิดมาก อุปมาเหมือนกันกับรถที่วิ่งบนถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้ว แผ่ซ่านกระจายไปทั่วทิศานุทิศ สรุปแล้วคือจิตไม่เป็นสมาธินั่นเอง

๘.โรควิจิกิจฉา ความสงสัยลังเลใจในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่อง บุญบาป โลกนี้ โลกหน้า ในเรื่องนรกสวรรค์ มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น

๙.โรคอหิริกะ โรคชนิดนี้เป็นโรคที่ไม่ละอายบาป ไม่ละอายตัวเอง ไม่ละอายผู้อื่น ไม่นึกถึงศักดิ์ศรี และหน้าที่การงาน ฐานะ เพศ ภูมิของตน สามารถทำความชั่วได้ทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประเภทนี้สามารถที่จะทำได้

๑๐.โรคอโนตตัปปะ โรคอโนตตัปปะนี้ เป็นโรคที่ไม่กลัวบาป ไม่กลัวใครว่า ไม่กลัวใครนินทา เช่น ลูกทำผิดไม่กลัวพ่อแม่ ศิษย์ทำผิดไม่กลัวครูอาจารย์ นักเรียนทำผิดไม่กลัวครู สามีเจ้าชู้ ทำชู้สู่สมกับหญิงอื่น นอกใจภรรยา ไม่กลัวภรรยาตำหนิ หรือภรรยาไปคบกับชายอื่น เป็นการนอกใจโดยไม่กลัวสามีตำหนิ ข้าราชการประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่กลัว

อโนตตัปปะตัวนี้ ทำให้คนกล้าฆ่ากัน ลักขโมยกัน ทำชู้ผิดประเวณี พูดโกหก พูดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาท ผิดเถียงกัน แตกร้าวสามัคคีกัน พูดถ้อยคำที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บใจ สามารถพูดถ้อยคำที่ไร้สาระประโยชน์ หยาบโลน กล้าสูบกัญชา เฮโรอีน ผงขาว บุหรี่ เหล้า นำเข้าซึ่งของเสพติดโดยไม่กลัว กล้าทำบาปโดยไม่กลัวว่า ชาตินี้จะต้องถูกตำหนิปรับไหม ใส่โทษจองจำ พันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต ไม่กลัวผลของกรรมที่จะนำไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในอนาคต เป็นต้น

โรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ ที่ผ่านๆ มานี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญตริตรอง พิจารณาและใส่ใจดูว่า มันยังมีในจิตในใจของเราอยู่ไหม เพราะเรามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ประการหนึ่งที่จะละเว้นไม่ได้ ก็คือมารักษาโรคใจทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้มันหายไป สิ้นไป สูญไป และโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ นับตั้งแต่วันเริ่มปฏิบัติพระวิปัสสนามาจนถึงวันนี้ มันเบาบางลงไป หรือว่ามันหมดไปจากจิตจากใจของเรามากน้อยแค่ไหนเพียงไร

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเอา คือโรคพวกนี้ โรคโลภะนี้ พระโสดาบันละได้ครึ่งหนึ่ง คือโรคโลภะนี้มันจะมีอยู่ ๘ ตัว พระโสดาบันนั้นละได้ รักษาให้หายไปได้ครึ่งหนึ่งคือ ๔ ตัว สำหรับพระสกทาคามีนั้น ทำให้โรคโลภะที่ยังไม่หายนั้นเบาบางลง สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามี ละได้ทั้งหมด

โรคโลภะนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี ละได้ครึ่งหนึ่ง คือทำลายได้ครึ่งหนึ่ง พระสกทาคามี นั้นทำให้เบาบางลง ยังละไม่ได้ สำหรับโรคโทสะนั้น พระอนาคามีหรือผู้ที่สำเร็จพระอริยมรรคอริยผลขั้นที่ ๓ ก็สามารถที่จะรักษาโรคโทสะนี้ให้หมดไป

โรคโทสะ นั้นมันมี ๒ ประการ คือ

๑.โทสะที่เกิดขึ้นโดยลำพัง โดยที่ไม่มีใครยุยงส่งเสริม ก็เกิดขึ้นมาเอง โดยไม่อาศัยอารมณ์ทั้ง ๖ ประการมากระตุ้น

๒.โทสะที่เกิดขึ้นเพราะมีผู้มากระตุ้น คือเกิดขึ้นเพราะมีอารมณ์ ๖ มากระตุ้นคือ มีผู้ใดมากระตุ้นหรือมายุยงส่งเสริมเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ โรคโทสะทั้ง ๒ นี้ ถ้าว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว มันจะหมดไป ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ

ท่านทั้งหลายจะต้องวัดดูว่า ขณะนี้เรายังมีความโกรธอยู่ไหม กระทบอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังมีความหงุดหงิด ยังมีความน้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ คิดอยากฆ่าเขา คิดอยากแก้แค้นเขา คิดพยาบาท อาฆาต จองล้าง จองผลาญเขาอยู่ไหม ถ้ามันมี ก็แสดงว่าเรายังไม่ถึงขั้นอนาคามี

แต่ถ้ามันไม่มี เขาพูดไม่ดีก็เฉย ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย จิตใจของเราไม่เปลี่ยนแปลง จิตใจของเรายังเป็นปกติอยู่ คือถูกว่าในสิ่งที่ไม่ดี หรือกระทบในสิ่งที่ไม่ดีก็เฉยๆ ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี้ก็แสดงว่าโรคโทสะมันหายไป เมื่อโรคโทสะมันหายไป ก็แสดงว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านจวนจะจบอยู่แล้ว ถ้าเราผ่านการปฏิบัติได้อีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

สำหรับโรคทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นชอบว่าบุญบาปไม่มีเป็นต้น และก็โรควิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัยเป็นต้น โรค ๒ ตัวนี้ พระโสดาบันละได้หมด คือพระโสดาบันรักษาให้หายไปจากจิตจากใจ

โรคทิฏฐิ โรควิจิกิจฉานี้ เมื่อได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันไปแล้ว จะไม่มีในขันธสันดานของท่านอีกเลย คือจะไม่มีความเห็นผิด ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลพระนิพพาน พูดเอาสั้นๆ ว่า ไม่มีความสงสัยในเรื่องพระรัตนตรัยแล้ว หมดแล้ว ไม่มีแล้ว

ทีนี้ สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดนั้น ก็ไม่มีแล้วทีนี้ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าว่าเราสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็สามารถที่จะรักษาให้หายได้ สำหรับโรคอุทธัจจะ โรคถีนะ โรคอหิริกะ โรคอโนตตัปปะนั้น พระอรหันต์จึงจะละได้เด็ดขาด

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว โรคอุทธัจจะก็ดี โรคถีนมิทธะก็ดี โรคอหิริกะก็ดี โรคอโนตตัปปะก็ดี จะหมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมะนี้ ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรักษาโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เพียงแต่ว่าเรารักษาให้หายไปสักครึ่งหนึ่งอย่างนี้ เราก็มีความสุขแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข และความสุขที่ได้รับก็เป็นความสุขที่ชุ่มฉ่ำ เรียกว่าเป็นความสุขที่บอกไม่ถูกว่า มันสุขแค่ไหนเพียงไร เราบอกไม่ถูก เพียงแต่ว่ามีความสุขในฌานอย่างนี้

สมมติว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปจนได้บรรลุถึงตติยฌานที่ ๓ ได้รับความสุขในฌาน ถ้าเราได้ฌานที่ ๓ นี้ เราก็มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก เพราะว่าความสุขในโลกนี้ ซึ่งเป็นขั้นโลกิยะนั้น ก็มีความสุขในฌานที่เป็นความสุขที่ยอดเยี่ยม เราก็ถือว่ามีความสุขเต็มที่แล้ว

แต่ถ้าหากว่าเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี อย่างนี้ ความสุขที่เราได้รับนี้ ก็มีความสุขเพิ่มขึ้นจากความสุขที่อยู่ในฌานที่ ๓ เพราะว่าความสุขที่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้รับนั้น เป็นโลกุตตรสุขแล้ว คือพ้นจากโลกิยสุข เป็นโลกุตตรสุขแล้ว เป็นสุขที่จะนำเข้าสู่พระนิพพานแล้ว

แต่ถ้าหากว่าเราสามารถรักษาโรคให้หายทั้ง ๑๐ ประการ ความสุขนั้น เราบอกไม่ถูกว่ามันสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เราอยู่ในโลกนี้ แต่พ้นแล้วจากโลกนี้ เราอยู่ในโลกนี้ แต่ไม่ข้องเกี่ยวในโลกนี้ อารมณ์ใดๆ ที่มีอยู่ในโลก จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม ไม่สามารถที่จะทำลายระบบจิตใจของเราให้เปลี่ยนแปลงไปได้เลย

จะไม่มีความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ ไม่มีผู้ใดจะมาทำให้รัก ไม่มีผู้ใดจะสามารถทำให้ชังได้ คือความรักมันก็หมดไป ความชังมันก็หมดไป ความเศร้าโศก โสกะ ปริเทวะ บ่นพิไรรำพันต่างๆ นานามันก็หมดไป ทั้งๆ ที่เราคิดว่ามันไม่น่าจะหมด อย่างความรักมันไม่น่าจะหมด ความชังมันไม่น่าจะหมด

ความโศกเศร้าโศกาอาดูรปริเทวะ บ่นเพ้อพิไรรำพันต่างๆ นานาประการ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมดสิ้นไป ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ความแห้งผากใจ ความน้อยใจ ความหงุดหงิดในจิตในใจ มันไม่น่าจะหมดแต่มันก็หมด เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หมดไป ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า มันจะมีความสุขแค่ไหน

เพราะว่าเราทั้งหลายที่มีความทุกข์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็ว่าเพราะเรายังมีโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความทุกข์ใจ และเกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าเรารักษาให้หายจากโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็ถือว่าเราได้รับความสุขอันสูงสุดยอดเยี่ยม เป็นเอกันตบรมสุข ไม่มีสุขใดที่เสมอเหมือนได้ อยู่ในโลกนี้ก็ถือว่าเราได้ถึงนิพพานแล้ว ซึ่งเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน ถึงนิพพานแล้ว คือจิตใจของเรามันหมดโรคแล้ว

โรคทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปแล้ว คือโรคทั้ง ๑๐ ประการนี้ มันดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเราแล้ว มันยังเหลือแต่เบญจขันธ์เท่านั้น ในเบญจขันธ์นี้ สำหรับใจของเราก็ไม่มีโรคใดๆ ที่จะมาทำลายระบบจิตใจของเราให้เป็นทุกข์ได้ เราจะมีแต่ความสุขอยู่ตลอดเวลา อยู่ในโลกก็พ้นจากโลกแล้ว และเมื่อเราจุติแล้ว คือดับทั้งขันธ์ดับทั้งกิเลสแล้ว ก็เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน

ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาดูว่า เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงวันนี้ เราสามารถรักษาโรคของเราให้หายไปได้กี่ตัว ยังเหลืออยู่เท่าไร หายไปแล้วเท่าไร ถ้ามันหายไปแล้วทั้งหมด หลวงพ่อก็สาธุอนุโมทนา ถือว่าการทำการทำงานการปฏิบัติธรรมของท่านก็ไม่ไร้ค่า

การสอนของหลวงพ่อและคณะครูบาอาจารย์ ก็ไม่ไร้ประโยชน์ คือได้ประโยชน์เกื้อกูลทั้งสองอย่าง ญาติโยมที่ถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐากทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกเช้าทุกเพล ก็ไม่ไร้ประโยชน์ น้ำปานะที่ลูกเณรถวายทุกเย็น ก็เป็นประโยชน์โสตถิผลแก่ลูกเณร และก็เป็นบุญเป็นอานิสงส์ของท่านทั้งหลายด้วย

ขอให้เราท่านทั้งหลายได้คิดอยู่เสมอว่า เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ เราจะทำภัตตาหารหรือปัจจัยสี่ ที่ผู้มีศรัทธาถวาย ให้เป็นปัจจัยที่ถวายแก่พระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน เผื่อจะทำอานิสงส์ของผู้ที่มีศรัทธาบริจาคนั้น ให้มีอานิสงส์มากยิ่งขึ้น และเราเองก็จะได้บรรลุโลกุตตรสุข เราจะไม่วกไปสู่อบายภูมิอีกต่อไป เราจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตัวอย่างพระภิกษุใจเพชร มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุททกนิกาย (มีเนื้อหาดังที่เล่าไว้แล้วในเรื่อง สติกับโมหะ)

นี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายเป็นลูกของพระพุทธเจ้า และเป็นเหล่ากอของพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ขอให้เราเข้มแข็งเหมือนพระพุทธเจ้า เข้มแข็งเหมือนกันกับพระอรหันต์ทั้งหลาย ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมลดละการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอันขาด ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป

ให้คิดเสียว่า ทุกข์นี้ที่เรารับอยู่ในทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะสู้ทุกข์ที่เราจะต้องรับในนรก ในการที่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นไม่ได้ ทุกข์ในอบายภูมินั้น มากกว่าทุกข์ที่เราได้รับอยู่นี้ร้อยเท่าทวีคูณ เมื่อเราคิดอย่างนี้แล้ว เราจะมีแก่จิตแก่ใจในการที่จะเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แจงแถลงไขในเรื่องโรคใจ ๑๐ ประการ พร้อมทั้งเตือนสติมาก็เห็นว่า พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
   พระราชปริยัตยากร




หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 มิถุนายน 2560 11:40:41
(http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2010/10/Y9866787/Y9866787-2.jpg)

การประหารกิเลส ๑๐ ประการ

ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพ ท่านนักปฏิบัติธรรมที่เป็นห่วง ที่นับถือ และที่รักทุกท่าน เราได้เรียนเรื่อง ธาตุ ขันธ์ อายตนะ มาพอสมควรแล้ว ก็คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะพอรู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ก็คงจะเข้าใจถ่องแท้สมบูรณ์แบบแล้ว

นับตั้งแต่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน อาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็คิดว่าครูบาอาจารย์ ตลอดจนท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน คงเข้าใจดีว่า ตรงนี้มันเป็นรูป ตรงนี้มันเป็นนาม คงจะทำความเข้าใจและสำเหนียกได้พอสมควรแล้ว วันนี้เราก็มาศึกษากันต่อ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อใดเราใช้สติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน มีสติทันปัจจุบันธรรมคือรูปนามสมบูรณ์แล้ว ก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ซึ่งเป็นลายของรูปนาม ถ้าว่าคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะจะบอกว่าตนเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น เป็นไปไม่ได้

อุปมาเหมือนกันกับบุคคลที่จะเห็นลายเสือ ก็ต้องเห็นตัวเสือเสียก่อน ถ้าว่าเราไม่เห็นตัวเสือจะเห็นลายเสือได้อย่างไร ข้อนี้ฉันใด ผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานก็เหมือนกัน จะเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องเห็นรูปเห็นนามเสียก่อน

เพราะว่า รูปนามอุปมาเหมือนกับตัวเสือ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป นี้อุปมาเหมือนกับลายของเสือ

หมายความว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลายของรูปนาม เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว จึงเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นพระไตรลักษณ์ก็คือการเห็นรูปเห็นนามนั่นเอง เมื่อเราเห็นรูปนามชัดด้วยปัญญา คือเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังกล่าวมาข้างต้น หลังจากนั้นก็จะเห็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

อะไรเป็นสิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม

ได้นำมาบรรยายบ้างแล้วในเจตสิก ๕๒ ดวง แต่สิ่งเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในรูปนามนั้นมีมาก มีทั้งบุญทั้งบาป แต่วันนี้ จะได้นำมาบรรยายเฉพาะส่วนที่เป็นบาป ได้แก่ กิเลส ๑๐ ประการ ที่ซ่อนอยู่ในรูปนาม พร้อมทั้งบรรยายการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ควบคู่กันได้ด้วย

ทุกท่านย่อมทราบเป็นอย่างดีแล้วว่า การที่เราจะประหารกิเลสตัณหาอันมีฤทธิ์ร้าย มีอยู่วิธีเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุโลกุตตรภูมิ เมื่อบรรลุแล้ว ก็สามารถปราบกิเลสตัณหาได้อย่างเด็ดขาดเป็นชั้นๆ ไป

อันกิเลสตัณหานั้นมีอยู่มิใช่น้อย ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด เพื่อความเข้าใจง่ายจึงได้ประมวลลงในกิเลส ๑๐ ประการ อันเป็นหลักใหญ่ๆ คือ

๑. โลภะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความพอใจ ความอยากได้

๒. โทสะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตใจของเราเกิดความโกรธ หรือความพยาบาท เป็นต้น

๓. โมหะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความมัวเมาลุ่มหลง มีอาการมืดบอด

๔. มานะกิเลส คือกิเลสอันเป็นเหตุให้ถือตัว

๕. ทิฎฐิกิเลส คือสภาวะที่ให้เกิดความเห็นผิด

๖. วิจิกิจฉากิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความสงสัย

๗. ถีนะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความท้อแท้

๘. อุทธัจจะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้จิตฟุ้งซ่านคิดมาก

๙. อหิริกะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่ละอายในการทำบาป

๑๐. อโนตตัปปะกิเลส คือกิเลสที่ทำให้เกิดความไม่กลัวในการทำบาป

ต่อไปจะกล่าวถึงโลกุตตรภูมิที่ทำการประหารกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนั้นโดยลำดับ

ผู้ที่ได้ปฏิบัติพระวิปัสสนาภาวนาจนได้บรรลุถึงโลกุตตรภูมิอันดับแรก สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล ด้วยอำนาจแห่งโลกุตตรภูมิชั้นนี้ ย่อมทำให้สามารถละกิเลสได้ ๒ ตัว คือ

๑. ทิฎฐิกิเลส ได้แก่ สักกายทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดในขันธ์ ๕ เข้าไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เช่น ในการยืน เดิน นั่ง นอน ก็เข้าใจว่าตนเป็นผู้ยืน ผู้เดิน ผู้นั่ง ผู้นอน ความเข้าใจผิดเช่นนี้ ชื่อว่าสักกายทิฏฐิ อันเป็นความเห็นผิดในความหมุนเวียนของวัฏฏะ

เรื่องสักกายทิฏฐินี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย ดังปรากฏในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระบาลีว่า

สตฺติยา วิย โอมฏฺโฐ  ทยฺหมาโนว มตฺถเก
สกฺกายทิฏฺฐิปหานาย  สโต ภิกฺขุ ปริพฺพเช

ซึ่งแปลความว่า

ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร รู้สึกตนประหนึ่งถูกศาสตราวุธอันมีคมทิ่มแทงอยู่บนศีรษะแล้ว พึงเป็นผู้มีสติไม่ประมาทอยู่เถิด เพื่อจะได้กำจัดเสียซึ่งสักกายทิฏฐิ (๑๕/๕๗/๑๙)

อธิบายว่า เหมือนบุคคลผู้ถูกอาวุธแหลมคมหรือว่าหอกปักคาอยู่ที่อก ถ้าบุคคลนั้นมีปัญญา ก็มีหน้าที่เพียรพยายามเพื่อจะถอนหอกนั้นออกจากอก ยิ่งกว่าจะคิดไปทำธุระอย่างอื่น

อีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ถูกไฟเผาอยู่บนศีรษะ ได้รับความเร่าร้อนกระวนกระวายยิ่งนัก ถ้าบุคคลนั้นเป็นผู้มีสติดี ก็ต้องคิดที่จะรีบดับไฟบนศีรษะตนเสียโดยเร็ว อุปมานี้ฉันใด สักกายทิฏฐิก็ฉันนั้น

บุคคลทั้งหลายต้องได้รับความเดือดร้อน วนเวียนอยู่ในวัฏทุกข์ โดยไม่อาจนับภพนับชาติได้ ก็ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐินั่นเอง ฉะนั้น ผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สามารถทำลายสักกายทิฏฐิให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานได้แล้ว ก็เท่ากับว่าถอนหอกที่ปักอกหรือดับไฟบนศีรษะของตนได้สำเร็จ

๒. วิจิกิจฉากิเลส ได้แก่ ธรรมชาติที่ทำให้เกิดความสงสัย ทำให้ตัดสินใจลำบาก คือสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามธรรมดาผู้ยังมีวิจิกิจฉาอยู่ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาไหนก็ตาม ย่อมสงสัยในพระรัตนตรัยอยู่เสมอ เช่น

๑) สงสัยในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้าพระพุทธเจ้ามีจริง พระองค์ตัดกิเลสได้จริงหรือ พระองค์ทรงคุณพิเศษ สามารถแสดงธรรมเพื่อที่จะยังสัตว์ให้พ้นจากวัฏสงสารได้จริงหรือ พระองค์ทรงพ้นจากทุกข์เสด็จเข้าสู่แดนอมตมหานฤพานได้จริงหรือ ดังนี้เป็นต้น

๒) สงสัยในพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้นจริงหรือ พระธรรมที่เร้นลับมองไม่เห็นต่างๆ เช่น เรื่องนรก สวรรค์ เรื่องมรรคผลพระนิพพานเป็นต้นนั้นมีอยู่จริงหรือ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้ว จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพานจริงหรือไม่ เป็นต้น

๓) สงสัยในพระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระอริยสงฆ์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงท่านสามารถดับกิเลสได้จริงหรือ ท่านสามารถได้บรรลุมรรคผล นิพพานจริงหรือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาจนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลเป็นผู้เข้าสู่กระแสพระนิพพาน ได้ดื่มอมตรสกล่าวคือพระนิพพานแล้ว มีหรือ

ความสงสัยในพระรัตนตรัยดังกล่าวมาก็จะขาดสิ้นไปจากขันธสันดาน ทั้งนี้ก็เพราะว่าตนได้ประสบยอดของธรรมกล่าวคือพระนิพพานแล้ว จึงมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐอย่างแน่แท้ เพราะสามารถทรงนำพระนิพพานอันเป็นอมตธรรมมาเผยแผ่ให้ปรากฏแก่ชาวโลกได้ และในบรรดาธรรมทั้งหลายนั้น พระนิพพานได้ชื่อว่าเป็นยอดแห่งธรรม

ก็เมื่อพระนิพพานอันเป็นยอดแห่งธรรมมีจริง เพราะตนได้ประสบพบเห็นด้วยตนเองมาแล้วอย่างนี้ เหตุไฉน ธรรมอันพระองค์ตรัสไว้จะไม่มีจริงเล่า พระอริยสงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่จริงๆ เพราะการที่จะได้เป็นพระอริยสงฆ์ ก็โดยอาศัยการได้ลิ้มรสอมตธรรมคือนิพพาน อีกอย่างหนึ่ง ตนเองก็ได้ลิ้มรสพระนิพพานแล้วเหมือนกัน ฉะนั้น ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ก็เป็นอันหมดสิ้นไป

เมื่อหมดความสงสัยในพระรัตนตรัยโดยเอาตนเองเข้าเป็นพยานแล้ว ก็จะมีจิตผ่องแผ้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างหนักแน่น มีความเคารพบูชาในพระรัตนตรัยอย่างซาบซึ้ง เป็นผู้ที่มองเห็นคุณค่าของพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง และในขณะนี้เอง ตัววิจิกิจฉากิเลสก็จะหมดสิ้นไปจากขันธสันดาน ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล

จึงเป็นอันว่า พระโสดาบันบุคคลเป็นผู้สามารถตัดกิเลสขาดออกไปจากขันธสันดานได้แล้ว ๒ ตัว คือ ทิฏฐิกิเลส และ วิจิกิจฉากิเลส ดังนั้น ในวิสุทธิมรรค อรรถกถา ท่านจึงแสดงไว้ว่า

กิเลเสสุ ทิฏฺฐิวิจิกิจฺฉา ปฐมญาณวชฺฉา

บรรดากิเลสทั้งหลาย ทิฏฐิกิเลส และวิจิกิจฉากิเลส ทั้งสองนี้ มัคคญาณที่ ๑ คือโสดาปัตติมัคคญาณ ประหารได้โดยเด็ดขาด

๓. โลภะกิเลส ได้แก่

๑) รูปราคะ คือ ความใคร่ ความยินดีพอใจในรูปภพหรือรูปฌาน มีความพอใจไปเกิดในรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ พระอรหันต์จึงจะละได้โดยเด็ดขาด

๒) อรูปราคะ ความยินดีพอใจในอรูปภพหรืออรูปฌาน มีความยินดีพอใจไปเกิดเป็นอรูปพรหม ความยินดีพอใจในสภาวธรรมดังกล่าวมานี้ เป็นโลภะกิเลสที่ละเอียดที่สุด พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนกามราคะนั้น พระอนาคามีละเป็นสมุจเฉทปหานได้แล้ว

๔. โทสะกิเลส ได้แก่ กิเลสที่ทำให้เป็นคนเหี้ยมโหดทารุณ เป็นอันธพาล พยาบาทอาฆาตกัน ประหัตประหารกัน ทำให้เป็นคนเนรคุณ เป็นต้น ตลอดจนถึงทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติหรือในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูบาอาจารย์ เป็นต้น นี้เป็นลักษณะของโทสะ โทสะกิเลสนี้ พระอนาคามีบุคคลละได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว

๕. มานะกิเลส ได้แก่ ความถือตัว (ขุทฺทกนิกาย อัฏฐกถา ปฏิสมฺภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี หน้า ๖๗๙)

มานะนี้เป็นกิเลส เพราะเมื่อว่าตามสภาวะ ย่อมเป็นการปฏิบัติผิด โดยยึดเอารูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นเราเป็นเขา จึงเป็นเหตุให้ตกอยู่ในวัฏทุกข์ประการหนึ่ง มานะกิเลสนี้ แบ่งเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ ๒ ส่วน คือ

๑) อยาถาวมานะ ความถือตัวที่ไม่เป็นไปตามความจริง ได้แก่

ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

ตนเป็นคนชั้นสูง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นกลาง แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นต่ำ แต่ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

อยาถาวมานะ ทั้ง ๖ ประการนี้ พระโสดาบันบุคคลละได้โดยเด็ดขาดแล้ว เพราะเป็นกิเลสที่หยาบมาก

๒) ยาถาวมานะ ความถือตัวอันเป็นไปตามความเป็นจริง ได้แก่

ตนเป็นคนชั้นสูง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นสูง

ตนเป็นคนชั้นกลาง ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นกลาง

ตนเป็นคนชั้นต่ำ ก็ถือว่าตนเป็นคนชั้นต่ำ

ยาถาวมานะ ทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นกิเลสที่ประณีตกว่า อยาถาวมานะ แม้พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเห็นพระนิพพานมา ๒ - ๓ ครั้งตามลำดับแล้ว ก็ยังไม่สามารถละมานะเหล่านี้ได้เด็ดขาด เป็นแต่เพียงทำให้เบาบางลงเท่านั้น ต่อเมื่อใดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงสามารถประหารกิเลสนี้ให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด

๖. อุทธัจจะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ทำจิตใจให้ฟุ้งซ่าน จับอารมณ์ไม่แน่นอน หรือสภาพที่ไม่สามารถตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานๆ อุทธัจจะเป็นอกุศลชาติ ซึ่งเป็นเครื่องปิดกั้นความดีไม่ให้เกิดขึ้น พระอรหันต์เท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด

ในกรณีนี้ก็จะมีปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็จะยังมีอุทธัจจะอยู่ ทำให้สงสัยว่า เมื่อยังมีอุทธัจจะความฟุ้งซ่านคิดมากอันเป็นเครื่องปิดกั้นความดีแล้ว จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้อย่างไร

แก้ว่า ก็เพราะว่า ในขณะที่มรรคผลจะเกิดขึ้นแก่ท่านแต่ละครั้งๆ สมาธิแห่งวิปัสสนาของท่านจะมีกำลังเข้มแข็งเป็นอันมาก สามารถข่มอุทธัจจะกิเลสนี้ลงได้ชั่วขณะหนึ่ง และในขณะที่อุทธัจจะกิเลสนี้ดับลงไปนั้นเองอริยมรรคอริยผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล ย่อมพลันจะเกิดมีแก่ท่านทันที ทำให้ท่านสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้เป็นลำดับมา แต่ยังไม่สามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่ออรหัตตมรรคอุบัติเกิดขึ้น จึงจะสามารถประหารอุทธัจจะกิเลสนี้ให้หมดไปจากขันธสันดาน

๗. ถีนะกิเลส ได้แก่ กิเลสที่ทำให้จิตง่วงเหงาท้อถอย ถีนะกิเลสนี้ ย่อมมีอยู่ในขันธสันดานของปุถุชนและพระเสขบุคคล เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงจะสามารถกำจัดถีนะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานได้

หมายความว่า การที่พระอรหันต์ทั้งหลายยังมีการหลับนอนอยู่นั้น หาใช่เป็นไปตามอำนาจของถีนะกิเลสไม่ ที่แท้เป็นเพราะร่างกายของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่มาระยะหนึ่งแล้ว ย่อมมีการอ่อนเพลียหมดกำลัง จิตตกภวังค์ไปเฉยๆ ตามธรรมดาแห่งอุปาทินนกสังขาร ซึ่งจะมีการพักผ่อนหลับนอนไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ

อนึ่ง ถีนะกิเลสตัวนี้ จะเกิดขึ้นในขณะที่จิตเป็นสสังขาริก คือในขณะที่จิตจับอารมณ์ไม่เข้มแข็ง เช่น ในขณะที่ง่วงจวนจะหลับหรือในขณะที่ตื่นนอน แต่ไม่ใช่เกิดขึ้นเวลาหลับ เพราะในเวลาหลับนั้น จิตเป็นภวังค์ ซึ่งถีนะกิเลสไม่สามารถเกิดขึ้นร่วมได้ คือขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจไว้ว่า เวลาเรานอนหลับนั้น ไม่ใช่ว่าถูกถีนะกิเลสเข้าครอบงำ

เวลาเรานอนหลับนั้น จิตของเราลงสู่ภวังค์ จิตเป็นภวังค์ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์ ถีนะกิเลสเกิดร่วมไม่ได้ ถีนะกิเลสนี้จะเกิดร่วมได้ตอนเราง่วง หรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ หรือว่าเรารับประทานอาหาร ฉันอาหารอิ่มใหม่ๆ เราไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ ขณะนั้นถีนะกิเลสเกิดร่วมได้

๘. อหิริกะกิเลส ได้แก่ สภาพที่ไม่ละอายต่ออกุศลทุจริต ย่อมเป็นที่รังเกียจแห่งบัณฑิตทั้งหลาย ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีกล่าวไว้ว่า ก้อนเหล็กที่เปรอะเปื้อนไปด้วยอุจจาระ คนที่ฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเป็นของที่น่ารังเกียจ สะอิดสะเอียน ฉันใด อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะถูกต้อง เพราะมีใจหยั่งลงสู่ลัชชีธรรม คือความละอายแก่ใจในการที่จะแตะต้องอกุศลทุจริตอันเป็นบาปเป็นความชั่วนั้น

ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำ ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยปราศจากความละอาย อันเป็นอลัชชีธรรม คือสภาพที่ไม่ละอาย ไม่รังเกียจในอกุศลทุจริต นี้เรียกว่าอหิริกะ ซึ่งพระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะละได้เด็ดขาด

ที่ว่าพระอรหันต์เท่านั้นจึงจะสามารถละอหิริกะนี้ได้หมดสิ้นนั้น ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ซึ่งเป็นพระเสขบุคคลทั้งหลาย ก็ยังมีความพอใจในการประพฤติทุจริตอีกอยู่หรือ

แก้ว่า พระเสขบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น มิได้มีความพอใจในอกุศลทุจริตเหมือนปุถุชน แท้ที่จริงแล้ว โดยอำนาจอริยมรรคที่เกิดขึ้น ท่านได้กำจัดกิเลสนี้เป็นขั้นๆมาแล้ว คือ พระโสดาบัน สามารถประหารอหิริกะกิเลสในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือกิเลสที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้แล้ว

ส่วนพระสกทาคามีและพระอนาคามี แม้ยังไม่สามารถประหารอหิริกะกิเลสอันเป็นส่วนละเอียดสุขุมได้ทั้งหมด แต่ก็ทำให้เบาบางลงจากขันธสันดานได้เป็นอันมาก ส่วนพระอรหันต์ ย่อมสามารถกวาดล้างอหิริกะกิเลสนี้ไม่ให้เหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย

๙. อโนตตัปปะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริต ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องได้รับความทุกข์ในวัฏสงสาร ขึ้นชื่อว่าอกุศลทุจริตนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมมีความเกรงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ให้ผลเป็นทุกข์แก่ผู้ประพฤติเป็นอย่างมาก

ในคัมภีร์อัฏฐสาลินีอรรถกถาท่านกล่าวว่า ก้อนเหล็กแดงที่ถูกไฟเผาลุกโชน คนฉลาดย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะเกรงกลัวความร้อนที่ก้อนเหล็กแดงนั้น ซึ่งถ้าแตะต้องย่อมได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส อกุศลทุจริตก็เช่นเดียวกัน บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ปรารถนาที่จะแตะต้อง เพราะมีปัญญาหยั่งทราบด้วยดีว่า อกุศลทุจริตนี้ มีแต่จะให้ทุกข์ให้โทษอย่างเดียว มิให้คุณเลย

ส่วนพาลชนถูกโมหะครอบงำจิต ย่อมสามารถทำอกุศลทุจริตได้โดยไม่มีความเกรงกลัวเลย สภาวะที่ไม่เกรงกลัวต่ออกุศลทุจริตนี้ ชื่อว่า อโนตตัปปะ ซึ่งพระอรหันต์บุคคลเท่านั้นจึงจะละได้โดยเด็ดขาด ส่วนพระเสขบุคคลคือพระโสดาบัน สามารถประหารอโนตตัปปะที่เป็นอปายคามินีนำพาไปสู่อบายภูมิได้ พระสกทาคามี แม้ว่า อโนตตัปปะ ส่วนที่สุขุมละเอียดจะมีอยู่ในขันธสันดาน แต่ก็เบาลงมากแล้ว ส่วนพระอรหันต์สามารถประหารได้โดยไม่มีเหลือ

๑๐. โมหะกิเลส ได้แก่ สภาวะที่มืดมน ปิดบังปัญญามิให้เห็นจตุราริยสัจธรรม คืออริยสัจ ๔

โมหะกิเลสก็คืออวิชชาความไม่รู้นั่นเอง

ถามว่า ไม่รู้อะไร

ตอบว่า ไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ ๑) ไม่รู้ทุกข์ ๒) ไม่รู้เหตุให้เกิดทุกข์ ๓) ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ๔) ไม่รู้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์

โมหะกิเลสนี้ พระอรหันตบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถกำจัดกวาดล้างให้หมดไปจากขันธสันดานได้โดยเด็ดขาด

ในกรณีนี้ ถ้าจะมีปัญหาถามว่า อวิชชาคือความไม่รู้จตุราริยสัจนี้ เหตุใดจึงมีเหลืออยู่จนต้องให้พระอรหัตตมรรคประหารอีก ในเมื่ออริยมรรคเบื้องต่ำคือโสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค เกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ ก็เห็นจตุราริยสัจทำลายกิเลสได้ทุกครั้งไปอยู่แล้ว

วิสัชนาว่า ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอริยมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ เมื่อเกิดขึ้น ทำให้เห็นจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ก็จริง แต่ว่าบรรดามรรคเหล่านั้น มีสภาพธรรมเป็นวิชชูปมาธรรม (คือธรรมที่อุปมาเหมือนฟ้าแลบ) ส่วนอริยมรรคขั้นสูงสุดคืออรหัตตมรรคนั้น เมื่ออุบัติขึ้นย่อมจะทำให้เห็นอริยสัจกำจัดอวิชชาได้อย่างเด็ดขาด เพราะว่าอรหัตตมรรคนี้ มีสภาพเป็น วชิรูปมาธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว โมหะก็ถูกประหารเป็นสมุจเฉทไป

อุปมาว่า ธรรมดาสายฟ้าที่ฟาดหรือผ่าลงมานั้น ย่อมมีกำลังกล้ายิ่งนัก เมื่อผ่าลงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม สิ่งนั้นย่อมแตกทำลายไป อุปมาข้อนี้ฉันใด อรหัตตมรรคเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กิเลสตัวหนึ่งตัวใดที่ไม่ถูกทำลายนั้นเป็นอันไม่มี กิเลสทั้งหลายที่อริยมรรคอื่นๆทำลายไม่ได้จะต้องถูกทำลายไปด้วยอรหัตตมรรคให้หมดไปสิ้นไป ฉันนั้น

อรหัตตมรรคนี้เป็น วชิรูปมาธรรม คือเปรียบเหมือนฟ้าผ่า การบรรลุอรหัตตมรรค หรือว่าอรหัตตมรรคเกิดขึ้นมาแล้วย่อมจะสามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ นี้ ให้หมดไปจากขันธสันดาน

กิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หากว่ามรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ ทำลายแล้ว แต่ว่ายังดับไม่สนิท ความร้อนของกิเลสเหล่านี้ยังมีอยู่ ก็จะถูกอรหัตตมรรคที่เกิดขึ้นทำลายให้หมดสิ้นไป เหมือนกันกับสายฟ้าที่ฟาดลงมาบนต้นไม้หรือโคตรเพชรโคตรเหล็กก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะแข็งสักปานใด ก็จะต้องแหลกลาญเป็นจุณวิจุณไป และไม่มีวันที่จะกลับเกิดขึ้นมาอีก ข้อนี้ฉันใด กิเลสที่ถูกอรหัตตมรรคทำลายได้แล้ว ก็จะหมดไปสูญไป ไม่มีวันเกิดขึ้นอีก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น อรหัตตมรรคนั้น ท่านจึงอุปมาเป็นคำจำกัดความว่า วชิรูปมาธรรม คือธรรมที่เปรียบเหมือนฟ้าผ่า

สรุป กิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ทิฏฐิกิเลส วิจิกิจฉากิเลส พระโสดาบันละได้เด็ดขาด สำหรับโทสะกิเลส โลภะกิเลส มานะกิเลส อุทธัจจะกิเลส ถีนะกิเลส อหิริกะกิเลส อโนตตัปปะกิเลส และโมหะกิเลสนั้น ในส่วนที่เป็นอปายคามินี คือที่จะพาไปเกิดในอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานนั้น พระโสดาบันละได้แล้ว ไม่สามารถที่จะพาให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

ส่วนพระสกทาคามี ทำกิเลสที่เหลืออยู่จากที่พระโสดาบันละได้แล้วให้เบาบางลง พระอนาคามีละโลภะส่วนที่เป็นกามราคะและละโทสะได้ ส่วนพระอรหันต์ละกิเลสที่ยังเหลืออยู่ได้หมดสิ้นทุกสิ่งทุกประการ

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หนทางที่เราท่านทั้งหลายจะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานก็มีอยู่หนทางเดียวคือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น เมื่อใดเรายังไม่สามารถทำลายกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ตัวใดตัวหนึ่งให้ดับไปสิ้นไปสูญไป โอกาสที่จะไปเกิดในอบายภูมิก็ยังมี

เราเป็นพระแล้ว มิใช่ว่าเราจะปิดประตูอบายภูมิได้ เป็นพระก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน เป็นสามเณร ปะขาว แม่ชี ก็มีโอกาสไปตกนรกได้เหมือนกัน ยิ่งเป็นพระเป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชีนี้ ยิ่งมีโอกาสที่จะไปตกนรกได้เร็วกว่าโยมเขา

เพราะเหตุใด

เพราะว่า ชีวิตของเรานั้นเนื่องด้วยคนอื่น และนอกจากนี้ ข้อวัตรปฏิบัติของเรามีมากกว่าโยม ธรรมดาเมื่อเราทำผิดศีลของเรา ก็มีโอกาสที่จะไปสู่อบายภูมิได้

ทีนี้ เมื่อใดเราผ่านมัคคญาณผลญาณได้ครั้งหนึ่ง ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตัวอย่างนายตัมพทาฐิกะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

นายตัมพทาฐิกะนั้นเป็นผู้มีร่างกายกำยำ มีเคราแดง มีตาเหลือกเหลือง เป็นคนที่น่าเกรงกลัวที่สุด เขาคิดอยากจะเป็นโจร จึงได้ไปขออาศัยอยู่ในสำนักของพวกโจร แต่หัวหน้าโจรดูลักษณะของเขาแล้วคิดว่า บุรุษคนนี้มีจิตใจกล้าแข็งยิ่งนัก เขาสามารถที่จะเชือดนมมารดาหรือสามารถจะเชือดเอาเลือดจากลำคอของบิดามาดื่มกินได้ จึงไม่รับเขาไว้

แต่นายตัมพทาฐิกะนั้นไม่ยอมกลับ ไปอาศัยอยู่กับบริวารของโจร พยายามทำความดีทุกสิ่งทุกประการ จนบริวารโจรคนนั้นเชื่อใจไว้ใจแล้วก็พาเขาไปหาหัวหน้าโจร บอกว่าบุรุษคนนี้เป็นคนดี ไม่เกียจคร้าน สามารถทำงานได้ทุกอย่าง หนักเอาเบาสู้ ซื่อสัตย์สุจริต ควรที่จะรับเขาไว้ ผลสุดท้ายหัวหน้าโจรก็ใจอ่อนรับนายตัมพทาฐิกะนั้นไว้

ก็เป็นธรรมดาของโจรย่อมไม่อยู่เฉยๆ พวกโจรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน ๕๐๐ ก็พากันออกเที่ยวปล้นตามสถานที่ต่างๆ จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระราชา พระองค์จึงตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่พร้อมทั้งประชาชนออกตามล่าโจร จนสามารถจับโจรมาได้ทั้ง ๕๐๐ เมื่อนำมาแล้ว ศาลได้ตัดสินให้ประหารชีวิตโจรทั้ง ๕๐๐ นั้นด้วยการตัดคอ ครั้งนั้น ในพระนครนั้นไม่มีใครสามารถที่จะกล้าตัดคอโจรเหล่านั้นได้ จึงไปถามหัวหน้าโจร หัวหน้าโจรก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะว่าเคยได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ได้อยู่กันมานาน

คนทั้งหลายจึงถามไปตามลำดับ แต่ไม่มีใครยอมทำ จนกระทั่งถามมาถึงนายตัมพทาฐิกะว่า ท่านสามารถที่จะฆ่าโจรเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าท่านยอมฆ่า พวกเราจะไว้ชีวิตท่าน เขาก็ตอบรับว่า ข้าพเจ้าสามารถ ชนทั้งหลายจึงมอบดาบให้แก่เขา เขาได้ดาบแล้วก็ตัดคอโจรไปทีละคนๆ ขาดไป โดยไม่มีความสะทกสะท้าน จนหมดทั้ง ๔๙๙ คน

ผลสุดท้าย พวกคนก็พากันให้ความยกย่องนับถือ แล้วตั้งเขาไว้ในตำแหน่งเพชฌฆาต หลังจากนั้นมา เมื่อจับโจรได้ ศาลสั่งประหารชีวิต ก็นำมาให้เขาฆ่าคราวละ ๒๐๐ บ้าง ๓๐๐ บ้าง ๕๐๐ บ้าง คราวละ ๒-๓ คนบ้าง

ตั้งแต่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เป็นเวลา ๕๕ ปี ได้ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อชีวิตของเขาย่างเข้าสู่วัยชรา ก็ไม่อาจที่จะตัดคอโจรทีเดียวให้ขาดไปได้ ต้องตัด ๒-๓ ที ทำให้นักโทษต้องได้รับความลำบากมากทรมานมาก ชนทั้งหลายจึงได้ถอดเขาออกจากตำแหน่ง

ในระหว่างที่เขาเป็นนายเพชฌฆาตอยู่นั้น เขาไม่ได้ทำกิจ ๔ อย่างนี้เลย คือ การนุ่งผ้าใหม่ การดื่มยาคูเจือน้ำนมที่ปรุงด้วยเนยใสใหม่ การประดับดอกมะลิ การทาด้วยของหอม ในวันที่เขาออกจากตำแหน่งนั้น ชนทั้งหลายได้ทำกิจ ๔ อย่างนั้นแก่เขา

ในเช้าวันนั้น เขาจึงลงไปอาบน้ำชำระร่างกาย นุ่งผ้าใหม่ ประดับประดาร่างกายด้วยดอกไม้ ทาน้ำหอม แล้วก็เตรียมตัวที่จะบริโภคข้าวยาคูเจือน้ำนมปรุงด้วยเนยใสใหม่ของตน

ในเช้าวันนั้นเอง พระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติแล้วได้พิจารณาว่า ใครจะเป็นผู้มีศรัทธา จะเป็นผู้ได้รับผลบุญอันยิ่งใหญ่ ก็พิจารณาเห็นว่า นายตัมพทาฐิกะเป็นผู้มีศรัทธา เขาจะได้บรรลุคุณธรรมอันใหญ่หลวง เมื่อทราบดังนั้นแล้วจึงนุ่งสบงทรงจีวรถือบาตรมาสู่บ้านของนายตัมพทาฐิกะ ยืนอยู่ที่ประตูบ้าน

ขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะกำลังจะบริโภคยาคูนั้น พอดีเหลือบมาเห็นท่านพระสารีบุตรเข้า เกิดความปีติดีใจว่า เราเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนเป็นจำนวนมาก เราไม่เคยทำบุญทำทานเลยสักครั้งเดียว เราพ้นจากตำแหน่งวันนี้ ชนทั้งหลายทำกิจ ๔ อย่างแก่เราวันนี้ และพระเถระเจ้าก็มาโปรดเราในวันนี้ บัดนี้ ไทยธรรมของเราก็มีอยู่

เมื่อเขาคิดได้ดังนั้นแล้ว จึงนิมนต์พระสารีบุตรเถระขึ้นไปบนบ้าน เมื่อท่านนั่งลงเรียบร้อยแล้ว จึงนำเอาข้าวยาคูมาใส่ลงในบาตร นิมนต์ให้ท่านฉัน ส่วนตนเองนั่งพัดให้พระเถระ กลิ่นของข้าวยาคูทำให้เขากระวนกระวาย เพราะไม่เคยได้ลิ้มรสมานาน พระเถระทราบอัธยาศัยจึงบอกให้เขาไปทานข้าวยาคูของเขา เมื่อเขาทานข้าวยาคูเสร็จก็มาพัดพระเถระต่อ

เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงแสดงพระธรรมเทศนาแก่นายตัมพทาฐิกะ แต่เขาไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ เกิดความฟุ้งซ่านคิดมาก นึกถึงแต่บาปกรรมที่ตนได้ทำไว้

พระเถระทราบวาระจิตจึงได้กล่าวขึ้นว่า อุบาสก เหตุใดท่านจึงไม่สามารถส่งใจไปตามธรรมเทศนาได้ ท่านขอรับ ผมเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน เมื่อผมฟังเทศน์อยู่ ภาพคนที่ผมฆ่าก็มาปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้ กระผมจึงไม่สามารถจะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้

ท่านพระมหาเถระเป็นผู้ฉลาดจึงคิดว่า เราจะใช้กุศโลบายสอนบุรุษนี้ แล้วจึงถามนายตัมพทาฐิกะว่า อุบาสก เวลาอุบาสกฆ่าคน อุบาสกฆ่าเองหรือว่าผู้อื่นสั่งให้ฆ่า นายตัมพทาฐิกะจึงตอบว่า ผมไม่ได้ฆ่าเอง ผู้อื่นสั่งให้ฆ่า ก็เมื่ออุบาสกไม่ได้ฆ่าเอง บาปนั้นก็ไม่ตกอยู่ที่อุบาสก

เมื่อพระเถระกล่าวอย่างนี้ นายตัมพทาฐิกะจึงมีความสำคัญว่าตนเองไม่มีบาป เกิดความอิ่มใจ รื่นเริงใจ พระเถระก็แสดงธรรมต่อ เขาส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระเถระแสดงธรรมจบ ลากลับ เขาจึงตามส่งพระเถระหน่อยหนึ่ง กลับมาตามหนทาง ถูกนางยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรในปางก่อนแปลงร่างเป็นแม่โคกระโดดขวิดตายไป

วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า นายตัมพทาฐิกะนี้ เขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี ฆ่าคนไปสองพันกว่าคน ในวันที่เขาพ้นจากตำแหน่ง ชาวบ้านได้ทำกิจ ๔ อย่างแก่เขา เขาได้ทำบุญแก่พระสารีบุตรในวันนั้น และในวันนั้นเองเขาก็สิ้นชีวิต เมื่อเขาตายแล้ว เขาจะไปเกิดที่ไหนหนอ

องค์พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันเรื่องของนายตัมพทาฐิกะว่า เขาตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหนหนอ พระองค์จึงทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปบังเกิดแล้วในดุสิตบุรี เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายก็งงว่า เป็นไปได้อย่างไรกัน หรือว่าผลของบาปไม่มี


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 มิถุนายน 2560 11:43:28

การประหารกิเลส ๑๐ ประการ (ต่อ)

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย ข้อนี้เป็นความจริง เพราะเมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรเลย จึงได้ทำบาปมีประมาณเท่านี้ แต่บัดนี้ บุตรของเราได้กัลยาณมิตร ได้พบกับพระสารีบุตร ได้ถวายทานแก่ท่าน ได้ฟังเทศน์ของท่าน ยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เหตุนั้น เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราคิดดูซิว่า ฆ่าคนเพียงคนเดียว หรือเราฆ่าตัวเราเองชีวิตเดียวเท่านั้น เราก็จะต้องไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว นี่นายตัมพทาฐิกะฆ่าคนตั้งสองพันกว่าคน ทำไมจึงไม่ต้องตกอเวจี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงกระแสพระนิพพานแม้เพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็ถือว่ามีพระนิพพานเป็นที่ไปเป็นที่ถึงเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปย่อมไม่จมไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

อุปมาเหมือนกันกับเรายืนอยู่บนสะพานสูงๆ เราจะทิ้งก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ลงไปในแม่น้ำ แต่ในแม่น้ำนั้นมีเรือเป็นเครื่องรองรับอยู่ เราทิ้งลงไปก็ค้างอยู่บนเรือ ไม่จมไปในน้ำ ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว ก็แสดงว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ ตายแล้วก็ไม่มีจมไปสู่อบายภูมิ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในคราวนี้ ถือว่าท่านทั้งหลายมีบุญล้นฟ้าล้นดิน การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในหน้าพรรษานี้ หากว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือชี้แจงให้ หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทั้งหลายต้องได้บรรลุธรรมวิเศษ อย่างน้อยที่สุดต้องได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

สามเดือนนี้มีโอกาสมีเวลาที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ถ้าประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการจริงๆ เว้นไว้แต่ท่านทั้งหลายจะประมาท ไม่เอาเถ้าเอาถ่าน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการ ปฏิบัติแบบให้วันและคืนผ่านไป ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม หลวงพ่อก็ยังคิดว่า ท่านทั้งหลายคงมีวิริยะอุตสาหะพยายามฝ่าฟันอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่าง แม้จะมีความเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หิวกระหาย หรือเบื่อหน่ายกลุ้มใจอย่างไร ก็คงเอาชนะได้ เมื่อใดท่านทั้งหลายสามารถเอาชนะได้ อริยมรรคอริยผลที่ท่านต้องการหรือปรารถนาก็คงจะเป็นสมบัติของท่านอย่างไม่ต้องสงสัย.


พระราชปริยัตยากร




หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 กรกฎาคม 2560 16:54:10

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTv5jZTnSBJitlHzHZtHoM6-ed9xxqB8x_5vrVes90LhWvPLlmD)

นิวรณ์ ๕ ประการ

ณ โอกาสบัดนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ธรรมะที่จะนำมาบรรยายในวันนี้ ได้แก่ เรื่องนิวรณ์ ๕ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม ไม่สำเร็จตามความประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง หรือมีอันตรายเกิดขึ้น ฉันใด การเจริญพระกัมมัฏฐานของเราไม่สำเร็จสมประสงค์ ก็เพราะมีสิ่งที่เป็นอุปสรรค หรืออันตรายเข้ามาขัดขวาง ฉันนั้น

ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาเรื่อง นิวรณ์ ๕ ประการ ซึ่งเป็นมหาภัยอันยิ่งใหญ่ ในการขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราท่านทั้งหลาย ไม่ให้ดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรค อริยผล

นิวรณ์ธรรม นี้เป็นธรรมฝ่ายอกุศล เป็นธรรมเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี คือ สมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผลไม่ให้เข้าถึงตัวเรา

หมายความว่า นิวรณ์ธรรม นี้ เป็นธรรมที่กั้นความดีไว้ ไม่ให้เข้ามาถึงตัวเรา หรือว่ากั้นจิตใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึงคุณงามความดี

อุปมาเหมือนกันกับแผ่นกระดาษหรือพลาสติก หรือน้ำยากั้นกระแสไฟฟ้าไม่ให้ช็อตกัน ข้อนี้ฉันใด นิวรณ์นี้ก็เป็นบาปหรือกิเลสกั้นบุญไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา เช่น เวลาที่พวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็กั้นศีล กั้นสมาธิ กั้นปัญญา กั้นพระไตรลักษณ์ กั้นอริยมรรคอริยผล กั้นพระนิพพานไว้ ไม่ให้เกิดขึ้นแก่เรา หรือว่ากั้นจิตกั้นใจของเราไว้ ไม่ให้เข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา พระไตรลักษณ์ อริยมรรค อริยผล นิพพาน

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ

๑. กามฉันทะนิวรณ์ ได้แก่ ความรักใคร่พอใจในอารมณ์ที่น่ารักน่าปรารถนา เช่น พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ น่าชอบใจ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในความสุข ในความสบาย ในความเฉย หรือพอใจในความคิดของตัวเอง

พอใจในการทำงาน พอใจในการพูดการคุยการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ พอใจในการเล่น ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เช่น เรานั่งไป เห็นแม่น้ำ เห็นภูเขา เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ซึ่งหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพรหม เห็นพ่อแม่ ซึ่งได้ล่วงลับจากเราไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เห็นครูบาอาจารย์ เห็นพระพุทธเจ้าเป็นต้น ก็มีความใคร่ความพอใจในนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่เรา

ตลอดถึงมีความใคร่ความพอใจในแสงสว่างที่เกิดขึ้น ในเวลาปฏิบัติ มีความใคร่ความพอใจในปีติ ในปัสสัทธิ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในสติ ในญาณะคือ ความรู้ ในอุเบกขาความเฉย

หรือมีราคะดำกฤษณา กำหนัดกล้า เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมพินาศอยู่ เมื่อเหตุปัจจัยถูกตัดรอน คือเอาสติไปกำหนดจิตที่ถูกกามฉันทะเข้าครอบงำ ก็จะเกิดความดิ้นรน เหมือนสุนัขบ้าที่เต็มไปด้วยความดุร้าย ทำให้จิตใจใฝ่ฝันหาแต่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ดีๆ นึกถึงแต่รสกามคุณที่เคยสัมผัส จนเป็นเหตุทำอะไรนอกรีตนอกรอยของธรรมวินัย

ขาดหิริความละอายใจตัวเอง ขาดโอตตัปปะความเกรงกลัวต่อผลของบาป ขาดการยั้งคิด ขาดความเข้มแข็ง จิตใจอ่อนแอ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของราคะดำกฤษณา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ลงไปแล้วจะเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าละอายที่สุด เพราะว่าผู้ที่ยินดีในกามคุณหรือบริโภคกามคุณ ก็อุปมาเหมือนกันกับสุนัขที่แทะกระดูกซึ่งไม่มีเนื้อ ตนเองนึกว่าเอร็ดอร่อย แต่ที่ไหนได้ต้องกลืนกินน้ำลายตัวเอง ข้อนี้ฉันใด ผู้บริโภคกามคุณ ซึ่งนึกว่ามีความเอร็ดอร่อย ในรสอันเลอเลิศ ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

๒. พยาปาทะนิวรณ์ ความปองร้าย เช่น นึกถึงคนที่เคยล่วงเกินขึ้นมา ก็เกิดความโกรธ เกิดความแค้นใจ ผูกใจเจ็บ คิดจะแก้แค้นขึ้นมา

ตลอดถึง ไม่พอใจในผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ไม่พอใจในการเดินจงกรมของเพื่อน ซึ่งบางท่านอาจเดินไปพูดไปคุยไป หรือบางครั้งก็ไม่พอใจในการพูด การจาม การไอ การเข้าห้องน้ำ การสรงน้ำ ซึ่งทำให้เกิดเสียงดังรบกวน หรือไม่พอใจในการฉันอาหารของเพื่อนที่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน

หรือไม่พอใจในผู้เทศน์ผู้สอน ผู้สอบอารมณ์ ไม่พอใจในการบรรยายธรรมะ ตลอดถึงไม่พอใจในสถานที่อยู่ ไม่พอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจ อันเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี

และไม่พอใจในความเจ็บปวด ความคิดที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง คือไม่ชอบใจไม่พอใจในสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทำให้ใจหงุดหงิดโกรธง่าย เผาผลาญรูปนามให้ไหม้เกรียมอยู่เป็นนิจ ดุจดังว่าอาวุธที่เสียบแทงดวงใจอยู่ ให้ปวดร้าวแสนสาหัส ฉะนั้น

๓. ถีนมิทธะนิวรณ์ คือความหดหู่ท้อถอย กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง หรือจิตจับอารมณ์ไม่มั่น ทำให้เวลาเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี ทำให้สติสัมปชัญญะหย่อน

ผู้ถูกถีนมิทธะเข้าครอบงำนี้ ไม่เพียงแต่จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิเท่านั้นที่กำหนดไม่ได้ดี แม้ว่าในขณะที่ฟังบรรยายธรรมะ หรือเทศน์หรือสอนก็ดีก็หลงๆ ลืมๆ จับต้นชนปลาย จับหลังใส่หน้า จับหน้าใส่หลัง ไม่รู้ว่าอะไรเริ่มต้น ท่ามกลาง และสิ้นสุด คือฟังไม่รู้เรื่อง

หรือว่าประกอบการงานอย่างอื่นเช่นว่า แม่ครัวทำครัวก็ทำไม่ได้ดี บางทีไฟไหม้หม้อข้าวก็มี บางทีลืมไปเอาอย่างโน้นมาประกอบอย่างนี้ ผลสุดท้ายก็เสียไป สำหรับผู้ทำการงานบางอย่าง เช่นขับรถ หากว่าถีนมิทธะเข้าครอบงำ บางครั้งทำให้หลับในได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเกิดอันตรายขึ้นแก่ตนได้ทุกขณะ

ถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาหาวนอนนี้ มีโมหะเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมทำลายล้างสติไม่ให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันรูปนาม มันซึมอยู่เนืองๆ ดุจฝุ่นที่ฟุ้งขจรไปปิดกั้นทางสัญจร ไม่ให้คนเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่เห็นทาง ฉะนั้น

๔. อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ ความร้อนใจเมื่อนึกถึงบาปกรรมอันตนเคยทำมาแล้ว

ทุกคนที่เกิดขึ้นมาแล้ว มิใช่ว่าจะทำแต่คุณงามความดีอย่างเดียว คิดดี ทำดี พูดดี อย่างเดียวหามิได้ ทุกรูปทุกนามเกิดขึ้นมาแล้ว บางครั้งก็อาจทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วด้วยกันทั้งนั้น เหตุนั้น การทำดี พูดดี คิดดีก็ตาม การคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วก็ตาม เวลามาเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จะเกิดขึ้นในจิตในใจของเรา

โดยเฉพาะนึกถึงบาปกรรมที่ตนเคยทำมาแล้ว และบุญไม่ได้ทำ หรือทำเพียงเล็กน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนใจ เพราะนึกถึงแต่บาปกรรมที่ตนเคยทำไว้ และเป็นเหตุให้เกิดคิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ คิดวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา ทั้งเรื่องในอดีต ทั้งเรื่องในอนาคต วุ่นวาย ทับถมจิตใจ ทำให้เหินห่างต่อการที่จะกำหนดรู้ในปัจจุบันธรรม ดุจดังในวสันตฤดู หมู่เมฆจากทิศานุทิศปิดบังสุริยแสงให้มืดครึ้ม อีกฝนฟ้าก็คะนอง เป็นอุปสรรคต่อบุรุษผู้ต้องการเดินทาง ฉะนั้น

เมื่อใด อุทธัจจกุกกุจจะ ครอบงำจิตใจของเราอยู่ เมื่อนั้น แม้ว่าเราจะฟังธรรม สาธยายธรรม หรือว่าเราจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถบรรลุสามัญผลตามที่ต้องการได้ ตัวอย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ (เรื่องมีเล่าไว้แล้วในเรื่อง การประหารกิเลส ๑๐ ประการ)

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เราลองนึกดูซิว่า(คนที่เคย) ฆ่าคนตั้ง ๒ พันกว่าคน แทนที่ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ แต่นี่นายตัมพทาฐิกะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพียงแต่เป็นมรรคครั้งแรกเท่านั้น ก็ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายไปแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่ได้เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นผู้มีธรรมไม่กำเริบ มีคติเที่ยง สัมโพธิปรายโน จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในวันข้างหน้า

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หนทางที่เราจะปฏิบัติไม่ให้บาปกรรมทั้งหลายที่เราทำไว้ติดตามทัน มีหนทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญวิปัสสนา เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานครั้งนี้ นับว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะ นี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้จิตใจของเราเกิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ เกิดซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถบรรลุคุณธรรมได้ เมื่อใดเราข่มอุทธัจจกุกกุจจะลงได้ จิตใจของเราเกิดปีติ เกิดความสุข เกิดความสงบสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เหมือนกับนายตัมพทาฐิกะ

๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัย เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงไหม ใครไปเห็นมา นรกสวรรค์มีจริงไหม ไม่เห็นว่าจะน่าเชื่อที่ตรงไหน คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิดจริง ไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ บาปบุญนรกสวรรค์ พระนิพพานมีจริงไหม การบวชได้บุญจริงหรือ เราสึกดีกว่า เพราะเราไม่ได้บวชเอาบุญ เราบวชตามประเพณีต่างหาก

ตลอดทั้ง สงสัยในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ นั่งกำหนดไปเห็นนิมิตเกิดขึ้นมา เช่น เห็นแม่น้ำ เห็นป่าไม้ภูเขา ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น ก็เกิดความสงสัยเอะใจขึ้นว่านี่อะไรกัน ก็เป็นตัววิจิกิจฉาความสงสัยแล้ว

เมื่อเอะใจขึ้นมา สมาธิของเราก็ตก เมื่อสมาธิตก การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น ตัววิจิกิจฉานี้ จึงเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นเจริญขึ้นได้ มีความกังขาสงสัยอยู่ในใจเสมอว่า รูปนามเป็นอย่างไรหนอ สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานนั้น เป็นอย่างไร ดุจบุรุษผู้เดินไปถึงทาง ๒ แพร่ง ทั้งไม่ทราบว่าจะไปตรงไหนจึงจะถูกต้อง ได้แต่นั่งรำพึงอยู่ว่า ทางไหนหนอๆ สิ้นกาลนานฉะนั้น

นิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ ที่กล่าวมานี้แหละ เป็นสิ่งที่กั้นกระแสจิตของเรา ไม่ให้บรรลุ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน หรือกั้นสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานไว้ ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา ดังนั้น นิวรณ์นี้จึงเป็นภัยใหญ่อันสำคัญ ที่ขัดขวางหรือกั้นกาง ไม่ให้บรรลุปฏิเวธธรรม

เมื่อนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการเกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย รีบกำหนดทันที เมื่อใดเรากำหนดได้ นิวรณ์ ๕ นี้สงบลง เราก็สามารถที่จะได้ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมมา

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง นิวรณ์ ๕ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 31 กรกฎาคม 2560 15:50:19

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTv5jZTnSBJitlHzHZtHoM6-ed9xxqB8x_5vrVes90LhWvPLlmD)

มาร ๕ ประการ

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง มาร ๕ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

มาร ๕ ประการ นี้ ถือว่าเป็นมหาภัยกั้นกาง หรือขัดขวางการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ของท่านทั้งหลาย ไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

คำว่า มาร ได้แก่ สิ่งที่มุ่งร้าย เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง หรือขัดขวางการกระทำความดี ในที่นี้ หมายเอาสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ไม่ให้บรรลุผล หรือได้ผลน้อย ได้ผลไม่คุ้มค่า

มาร ๕ ประการ นั้นคือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร มีอธิบายดังนี้

มารตัวที่ ๑ คือตัวหลอกลวง ได้แก่ กิเลสมาร มารคือกิเลส มารคือกิเลสนี้ เป็นมารที่มาขัดขวางความดีทุกอย่างไม่ให้เกิดขึ้น เป็นมารที่ทำจิตใจให้เศร้าหมอง เป็นสภาวะที่ลามก หมักดองอยู่ในขันธสันดาน กิเลสมารนี้ มีมากถึงพันห้าร้อย แต่จะยกมาประกอบการบรรยายสัก ๑๐ ประการ เรียกว่ากิเลส ๑๐ คือ

๑) โลภะ อยากได้ในอารมณ์ ๖ คืออยากได้รูปที่สวยๆ อยากฟังเสียงที่ดีๆ อยากได้กลิ่นที่ดีๆ อยากได้รสที่เอร็ดอร่อยที่ดีๆ อยากได้สัมผัสที่ดีๆ อยากได้ธรรมารมณ์ที่ดีๆ สรุปแล้วว่า อยากได้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าชอบ น่าปรารถนา น่าพอใจนั่นเอง

ตัว โลภะ นี้ เป็นตัวที่ทำให้เกิดความอยากได้อย่างโน้นบ้าง อย่างนี้บ้าง เช่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็อยากให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น อยากให้สมาธิเกิดขึ้น อยากให้โอภาสคือแสงสว่างเกิดขึ้น อยากเห็นนรก อยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งจากโลกนี้ไปแล้วสู่ปรโลกเบื้องหน้า เป็นต้น หากว่าเกิดขึ้นกับคนธรรมดา ก็พาให้เป็นคนโกง ลักทรัพย์ ค้าของเถื่อน หาเลี้ยงชีพในทางทุจริต เป็นต้น

แต่โลภะนี่ ขอให้เข้าใจว่า โลภะในภาคปริยัติ กับ โลภะในภาคปฏิบัตินี้ ไม่เหมือนกัน ถ้าโลภะในภาคปริยัติ หมายเอาการอยากได้ทรัพย์สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตนในทางทุจริต และก็หาเอาในทางทุจริต เช่น ลักขโมยเอาบ้าง ปล้นเอาบ้าง จี้เอาบ้าง ยักยอก หลอกลวงเอาบ้าง ถ้าเรามีความอยากได้ในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริตอย่างนี้ แม้จะได้มาเพียง ๑ บาท ๒ บาท ก็ถือว่าเป็น โลภะ แล้ว แต่ถ้าอยากได้ในทางสุจริต แล้วก็หาเอาในทางสุจริต แม้จะได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท ก็ไม่ถือว่าเป็นโลภะ

ส่วนโลภะในด้านปฏิบัติแล้วเอาละเอียดกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในเวลาปฏิบัติ ถ้ามีความชอบใจ ก็เป็น โลภะ แล้ว ไม่ชอบใจจัดเป็นโทสะ สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เราไม่ได้กำหนด ก็จัดเป็นโมหะ อันตัวโลภะ โทสะ โมหะ ในด้านปฏิบัตินี้ เราเอาละเอียดกว่าด้านปริยัติ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี

การบรรยายธรรมะ การเทศน์ หรือการสอนธรรมะ เราอย่าเอาปริยัติกับปฏิบัติไปผสมกัน แล้วก็จะทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา เพราะว่าธรรมะในด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ หมายเอาละเอียดกว่ากันดังกล่าวมาแล้ว

๒) โทสะ ความโกรธ ทำให้ใจเศร้าหมอง หงุดหงิด โกรธง่าย มีอะไรนิดหน่อยเกิดขึ้น ก็โกรธ ก็ขัดใจ ทำตัวเป็นศัตรู แห้งผากใจ น้อยใจ คับแค้นใจ ร้อนใจเหมือนไฟเผาอยู่ตลอดเวลา หากเกิดกับคนธรรมดาสามัญ ก็ทำให้ด่ากัน ฆ่ากัน วางเพลิง จุดบ้าน เผาเรือนกัน เป็นต้น

๓) โมหะ ความหลง ไม่รู้สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะไม่รู้อริยสัจ ๔ คือไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้บาป บุญ คุณ โทษ ไม่รู้ประโยชน์โลกนี้ ไม่รู้ประโยชน์โลกหน้า ไม่รู้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ทำให้เป็นคนหัวดื้อ ขี้เมา ฉุดคร่าอนาจาร บ้ากาม ประมาท เกียจคร้าน เป็นต้น

คนทั้งหลาย ที่ติดอยู่ในของเสพติดมีประการต่างๆ เช่น ติดอยู่ในหมากพลู กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล้า ผงขาว ดมกาว อะไรนานัปการ จนหลงติดอยู่กับอบายมุข ๖ ประการ มีการพนัน เป็นต้น ก็ล้วนแต่เป็นไปตามอำนาจของโมหะทั้งนั้น เพราะว่า โมหะ ทำให้เราเข้าใจสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ว่าเป็นของดี และก็เป็นเหตุให้หลวมตัวเข้าไป ผลสุดท้ายก็ต้องเสียผู้เสียคน เสียคุณงามความดี อันจะพึงได้พึงถึง เสียอนาคตของตัวเอง เหตุนั้น โมหะนี้ ก็จึงถือว่าเป็นตัวหลอกลวงตัวหนึ่ง

๔) อหิริกะ ความไม่ละอายบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป สามารถทำความชั่วได้ ไม่ละอายทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๕) อโนตตัปปะ ความไม่กลัวบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป ถือว่าชาตินี้ตัวเป็นสุขก็พอ คนอื่นจะเดือดร้อนเช่นไรก็ช่างเขา ขอแต่เราเป็นสุขในชาตินี้ก็พอแล้ว ชาติหน้าจะเป็นไส้เดือนกิ้งกือก็ช่างมัน อันนี้เป็นลักษณะของตัว อโนตตัปปะ

๖) ทิฏฐิ ความเห็นผิด เช่น เห็นว่าโลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี มรรคผลนิพพานไม่มี บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ หามีคุณไม่ เป็นคนอกตัญญู เนรคุณแก่ท่านผู้มีพระคุณต่อเรา

๗) มานะ ความถือตัวว่าไม่เท่าเพื่อน ถือว่าดีกว่าเพื่อนบ้าง เลวกว่าเพื่อนบ้าง ทำให้เป็นคนหัวดื้อถือรั้น ว่ายากสอนยาก ชอบเอาแต่ใจตนเองเป็นต้น

๘) อุทธัจจะ ความที่จิตฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เช่น จิตคิดไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต

เวลาทำกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดได้ปัจจุบันธรรม คือไม่สามารถที่จะจับรูปนาม ให้ทันปัจจุบันธรรม เมื่อเราไม่ได้ปัจจุบันธรรม พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เหตุนั้น พึงสังวรให้ดี เวลาอุทธัจจะเกิดขึ้น พยายามตั้งจิตตั้งใจให้ทันปัจจุบัน

๙) ถีนะ ความท้อถอยต่ออารมณ์ต่างๆ ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม จิตใจอ่อนแอ จับอารมณ์ไม่มั่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ทันปัจจุบัน ไม่สามารถกำหนดได้อย่างกระฉับกระเฉง มีแต่เซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา

๑๐) วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธเจ้า สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ เช่น สงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ใครไปเห็นมา พระธรรมที่ตรัสไว้เป็นจริงหรือ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรม ได้บรรลุมรรคผลนิพพานจริงหรือ ชาติหน้ามีจริงหรือ ถ้ามีไม่เห็นมีใครระลึกชาติได้ สวรรค์มีจริงหรือ ถ้ามีจริงผู้ไปเกิดในสวรรค์ไม่เห็นมีใครมาบอก เป็นต้น

กิเลสมาร เป็นมารได้อย่างไร

เป็นมารได้อย่างนี้คือ เพราะว่ากิเลสมารนี้ เป็นสภาพทำลายล้างคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป และกีดกันขัดขวางคุณงามความดีคือบุญกุศลใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น เช่นเวลาปฏิบัติธรรม ก็ทำลายล้างศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้ว มีขึ้นแล้วให้หมดไป และกีดกันศีล สมาธิ ปัญญาอริยมรรค อริยผลใหม่ ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา

กิเลสแต่ละชนิดแต่ละตัวนั้น ล้วนแต่เป็นมารเป็นศัตรูทำลายล้าง และกีดกันคุณงามความดีทั้งนั้น ที่ร้ายที่สุดก็พวกตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า และพวกอภิชัปปา คือกิเลสกระซิบที่จิต ทำให้เราเข้าใจผิด และทำให้การปฏิบัติผิด เดินทางไม่ถูก ผลสุดท้าย ก็ไม่อาจบรรลุอริยมรรคอริยผล

เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของกิเลสมาร มีหนทางเดียวเท่านั้น คือต้องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุพระนิพพานแล้วนั่นแหละ จึงจะพ้นจากอำนาจของมารได้ ข้อนี้มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับกัปปะมาณพว่า

เรากล่าวว่า พระนิพพาน อันไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่มีตัณหาเครื่องถือมั่น เป็นที่สิ้นแห่งชราและมรณะ นี้แหละ เป็นดุจเกาะ หาใช่ธรรมอื่นไม่ ชนเหล่าใดรู้พระนิพพานนั้นแล้ว เป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้น ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่ต้องเดินไปในทางของมารเลย ดังนี้

มารตัวที่ ๒ คือ ตัวทวงสิทธิ์ ได้แก่ ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕

เพราะเหตุไรขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงจัดว่าเป็นมาร เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ เป็นสภาวธรรมที่ให้เกิดความลำบากอยู่เป็นนิจ บางครั้งก็ลำบากจนเหลืออดเหลือทน เดี๋ยวก็ปวดที่โน้น เดี๋ยวก็เจ็บที่นี้ เดี๋ยวก็ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย หิวกระหาย อ่อนเพลีย เดี๋ยวก็ทำให้เป็นโรคกระเพาะ โรคความดันสูง โรคประสาท เป็นต้น

มีเงินมีทองหามาบำรุงเยียวยาเท่าไรก็ไม่พอ หนักๆ เข้าก็คิดทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตาย ยิงตัวตาย แทงตัวตาย ผูกคอตาย กระโดดน้ำตาย กระโดดตึกตาย บางครั้งก็เอาน้ำมันราดเผาตัวเองตาย กินยาพิษตาย แล้วก็ต้องไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในอบายภูมิ ยิ่งได้รับความทุกข์มากขึ้น

สัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้นทุกวันนี้ ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ เพราะมีความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ว่า เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเขา เป็นของเขา หารู้ไม่ว่าเบญจขันธ์นี้เป็นสภาวธรรมที่เบียดเบียนเรา ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ ไม่มีความสงสัย

ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนกับบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดี ผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์สมบัติ แต่มาคิดว่า คฤหบดีนี้เขารักษาตัวดีนัก เราจะฆ่าโดยพลการนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องฆ่าโดยอุบาย เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว จึงเข้าไปขอเป็นคนรับใช้อยู่ในบ้านของคฤหบดี

คฤหบดีก็รับไว้ แต่หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนั้นเขาจะมาเพื่อฆ่าตน ในขณะที่ใช้เขาอยู่ก็ไม่ได้รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน จนคฤหบดีนั้นไว้เนื้อเชื่อใจทุกสิ่งทุกประการ เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจแล้วก็มอบความเป็นใหญ่ให้ มอบหน้าที่การงานทุกอย่างให้ บุรุษนั้นก็สามารถทำงานโดยอิสระ เข้านอกออกในได้ตามความประสงค์

อยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่คฤหบดีนอนหลับอยู่ บุรุษนั้นได้นำดาบมา แล้วตัดคอคฤหบดีนั้นตายไป ท่านทั้งหลาย ในขณะที่บุรุษนั้นมาอยู่ด้วย คฤหบดีก็ดี คนทั้งหลายก็ดี ก็หารู้ได้ไม่ว่า บุรุษนี้เขามาเพื่อจะพยายามฆ่า ในขณะที่ใช้เขาอยู่ ก็ไม่รู้ว่าบุรุษนั้นจะฆ่าตน และในขณะที่เขาฆ่าคฤหบดีตายไปแล้ว คฤหบดีนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นผู้ฆ่า หรือคนในบ้านนั้นก็หารู้ไม่ว่าบุรุษคนนี้เป็นคนฆ่า ข้อนี้ฉันใด

ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ ก็เป็นสภาวธรรมที่ทำลายล้างและเบียดเบียน ฆ่าเราอยู่ตลอดเวลา ทำลายคุณงามความดีที่มีอยู่ให้หมดไป คนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ทำความชั่วช้าลามกนานาประการ ก็เพราะว่าไม่รู้ความจริง หรือว่าไม่รู้ความเป็นไป ไม่รู้ธาตุแท้แก่นแท้ของขันธ์ ๕ ประการนี้ว่าเป็นอย่างไร เลยหลงยึดมั่นว่า เป็นเรา เป็นของเรา อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นเหตุให้ทำความชั่วนานัปการ เมื่อตายแล้วก็ไปตกอบายภูมิ

ดังนั้น การไปตกนรก ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะมีเบญจขันธ์เป็นเหตุ การที่คนไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ก็ดี ในพรหมโลกก็ดี ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ สัตว์โลกทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น ก็เพราะเบญจขันธ์นี้เป็นเหตุ เหตุนั้น เบญจขันธ์นี้จึงถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่ร้ายกาจที่สุด

เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของขันธมาร เราต้องปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเกิดปัญญา เกิดนิพพิทา เกิดวิราคะ เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็จะพ้นได้

ดังมีพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระราธะว่า “ราธะ สิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่า มาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นของธรรมดา ชื่อว่า มาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย แล้วมารก็จะตามไม่ทัน ก็จะเป็นเหตุละขันธมารได้”

มารตัวที่ ๓ คือตัวอิทธิพล ได้แก่ อภิสังขารมาร มารคือบาป บาปในที่นี้ หมายถึงบาปที่เราเคยทำไว้ในอดีตตามสนองบ้าง และก็หมายเอาบาปที่เราทำไว้ในภพนี้ชาตินี้บ้าง บวกกันทั้งอดีตทั้งปัจจุบัน

บาป จัดเป็นมารได้อย่างไร

บาปจัดเป็นมารได้ เพราะว่าบาปนี้ เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้สำเร็จ เป็นสภาวะที่ทำลายล้าง คือเผาไหม้กุศลจิตให้เหี้ยมเกรียมไป ทำน้ำที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือบุญกุศลให้หมดไป ยกตัวอย่างผู้ทำอนันตริยกรรม ๕ ประการ มี ปิตุฆาตฆ่าบิดา มาตุฆาตฆ่ามารดา อรหันตฆาตฆ่าพระอรหันต์ โลหิตุปบาททำลายพระพุทธเจ้าเพียงพระโลหิตห้อ สังฆเภททำลายสงฆ์ให้แตกกัน

เมื่อเราทำอนันตริยกรรม ๕ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่าเราเป็นอภัพพบุคคล ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณงามความดีได้เลย แม้จะสำเร็จสมาบัติ ๘ ประการ อันนับว่าเป็นกุศลที่สูงสุดฝ่ายโลกิยะ แต่หากว่าได้ทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า สมาบัติทั้ง ๘ ประการนั้นก็เสื่อม

ตัวอย่าง พระเทวทัต เมื่อก่อนโน้นได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่เมื่อทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำพระโลหิตให้ห้อ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฌานและอภิญญาจิตก็เสื่อม เพราะเหตุไร เพราะจิตใจของผู้ทำอนันตริยกรรมนั้น ถูกกิเลสเผาไหม้จนเหี้ยมเกรียมไปหมดแล้ว อุปมาเหมือนกับไฟที่ไหม้ต้นไม้หรือท่อนไม้ให้เป็นถ่านเป็นเถ้าไป เมื่อไม้นั้นเป็นถ่านเป็นเถ้าไป ก็ไม่สามารถจะนำไม้นั้นมาใช้ประโยชน์ได้

อนึ่ง หากว่าเราทำบาปไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า เราล่วงเกินพ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ ให้ท่านต้องเจ็บใจ ต้องน้ำตาตกเพราะเราเป็นต้นเหตุ เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ไม่สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงจัดเป็นอภิสังขารมาร คือ บาป นี้เป็นมารตัวร้ายกาจตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล

เราจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะพ้นจากอภิสังขารมารได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น ต้องเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไป จนสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลแล้วเท่านั้นแหละ มารจึงจะตามไม่ทัน

ดังพระพุทธพจน์ ที่ทรงตรัสแก่เมตตคูมาณพว่า ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิคือกรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดขึ้นมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนโง่เขลาไม่รู้ ย่อมกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้น เมื่อรู้เห็นว่าอุปธิเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้เกิดให้มีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะทำการละอภิสังขารมารนี้ได้

มารตัวที่ ๔ คือตัวกลมารยา ได้แก่ เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร เทวบุตรนั้นมีอยู่ ๓ จำพวกคือ

๑) สมมติเทวบุตร ได้แก่ เป็นเทวบุตรโดยสมมติ เช่น พระราชา พระราชินี บิดา มารดา เป็นต้น

๒) อุปปัตติเทวบุตร ได้แก่ เทวบุตรโดยกำเนิด

๓) วิสุทธิเทวบุตร ได้แก่ ท่านผู้มีความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจ คือผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

เทวบุตรมาร ในที่นี้หมายเอาจำเพาะประเภทที่ ๑ และที่ ๒ เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ที่ปกครองบุตรธิดาหรือลูกศิษย์ลูกหาอย่างไม่ยุติธรรม ลำเอียงเพราะรักคนโน้นชังคนนี้เป็นต้น ทำอะไรขาดเหตุผล ขาดวิจารณญาณ คอยแต่จะให้ร้ายอยู่เสมอ ท่านจึงจัดว่าเป็น มาร

และประเภทที่ ๒ หมายเอา ผู้ที่เป็นเทวบุตรจริงๆ เช่น รุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอารักขเทวดาบ้าง หรือเป็นอากาสัฏฐเทวดาบ้าง แต่เป็นเทวดาที่เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไม่เลื่อมใสในบุญกุศล ไม่เลื่อมใสในพระธรรม เมื่อเห็นผู้หนึ่งผู้ใดบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือประพฤติปฏิบัติธรรม ก็หาทางกีดขวางนานัปการ แสดงตัวให้ปรากฏเป็นภาพที่น่าพิลึกสะพรึงกลัว บางทีทำให้เหมือนสัตว์ร้าย เหมือนเปรต เหมือนอสุรกาย เหมือนภูตผีปีศาจ มาหลอกมาหลอนบ้าง มีเสียงข่มขู่ให้ตกใจกลัวบ้าง อันนี้ก็ถือว่าเป็นมารตัวสำคัญที่สุด ที่ทำลายล้างการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ให้เกิดขึ้น หากว่าผู้มีความกลัวเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้วยิ่งร้าย ไม่สามารถที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปได้เลย

ทีนี้เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของเทวบุตรมาร ทำอย่างนี้คือ

๑) เจริญเมตตา แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญกุศลให้

๒) ใช้ความเพียรตั้งสติกำหนดให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่ก็จะหลีกไปเอง

ดังครั้งหนึ่ง พระศาสดา ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กหญิงจำนวน ๕๐๐ ชาวบ้านพราหมณ์ปัญจสาละ ว่าควรแก่การที่จะบรรลุพระโสดาบัน เช้าขึ้นมาพระองค์ก็นุ่งสบง ทรงจีวร มีกรจับบาตร ลีลาศเข้าไปสู่หมู่บ้านพราหมณ์ปัญจสาละนั้นเพื่อบิณฑบาต และจะได้โปรดเด็กหญิงทั้ง ๕๐๐ นั้น

ในขณะที่พระองค์ทรงเที่ยวบิณฑบาตอยู่ มารก็เข้าดลใจชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้เลื่อมใส ไม่ให้นึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงกำลังบิณฑบาตอยู่ ท่านทั้งหลายลองนึกดูซิว่า มารนี้มีกำลังร้ายแรงขนาดไหน สมเด็จพระบรมครูของเรา เป็นถึงพระพุทธเจ้าแล้ว มารยังกล้าเบียดเบียน ได้ดลจิตดลใจชาวบ้านให้เฉยอยู่ ไม่ทำความสำคัญในพระองค์เลย ราวกับว่าพระองค์เป็นคนธรรมดา

เมื่อพระองค์เสด็จบิณฑบาตจนทั่วหมู่บ้านแล้ว ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลย พระองค์ก็เสด็จออกจากบ้านนั้น ไปถึงประตูบ้านที่พวกเด็กหญิง ๕๐๐ คนกำลังเดินมาถึงประตูบ้านพอดี และในขณะนั้น พระยามารเห็นว่าพระองค์กำลังจะเสด็จออกจากบ้าน เลิกจากการบิณฑบาต ก็เข้าไปหาพระพุทธองค์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ไม่ได้บิณฑบาตหรือ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนมาร ก็เธอทำชาวบ้านทั้งหลายไม่ให้นึกถึงเราตถาคตผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ แล้วยังจะมีหน้ามากล่าวเช่นนี้อีกหรือ มารก็กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์จงเสด็จไปใหม่เถิด คราวนี้ชาวบ้านจักเลื่อมใส

พระองค์จึงได้ตรัสพระถาคาว่า ดูก่อนมาร เราผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ย่อมอยู่เป็นสุขดีหนอ เราจะเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา เหมือนเหล่าเทพชั้นอาภัสสร ฉะนั้น เวลาจบพระคาถา หญิงทั้ง ๕๐๐ คนซึ่งพากันนั่งฟังพระพุทธเจ้าสนทนากับพระยามาร ส่งกระแสจิตกระแสใจไปตามพระดำรัสของพระองค์ ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้เราพ้นจากเทวบุตรมาร ก็มีดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

มารตัวที่ ๕ คือตัวล่าสังขาร ได้แก่ มัจจุมาร มารคือความตาย เพราะเหตุใดความตายจึงจัดว่าเป็นมารเพราะว่า ความตาย เป็นที่ตัดชีวิตเสียก่อนจะได้บำเพ็ญคุณงามความดีให้เต็มที่ เช่น จะก่อสร้างศาสนวัตถุให้สำเร็จ จะศึกษาเล่าเรียนให้สำเร็จ จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้สำเร็จ จะเผยแผ่ธรรมะให้กว้างขวางออกไปให้สำเร็จ ก็มาปลิดชีวิตไปเสีย

อีกอย่างหนึ่ง ความตาย ที่จัดว่าเป็นมาร เพราะคนเรามีความกลัวตาย ไม่กล้าทำความดี ไม่กล้าต่อสู้ เพราะกลัวตาย เช่น เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจ็บปวด อ่อนเพลีย เบื่อหน่าย หิวกระหาย ขี้เกียจ กลุ้มใจ ลำบากสักหน่อย ก็เลิกปฏิบัติ หยุดปฏิบัติ เพราะกลัวตาย

การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องตายเสียก่อนตาย จึงจะสำเร็จ คือตายเสียก่อนที่มัจจุราชจะมาปลิดชีวิตของเรา เราไม่ยอมให้มัจจุราชฆ่าเราตาย แต่เราตายของเราเอง เรียกว่าตายอย่างพระอริยเจ้า เมื่อการปฏิบัติธรรมต้องตายเสียก่อนตายอย่างนี้

ทีนี้ เราจะทำอย่างไร จึงจะพ้นจากอำนาจของมัจจุราช การที่จะพ้นจากอำนาจของมัจจุราชนั้น ต้องปฏิบัติธรรมตามที่พระพุทธองค์ตรัสพระพุทธพจน์แก่โมฆราชมาณพว่า ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า ถอนความตามเห็นว่าตัวของเราเสียทุกเมื่อเถิด ท่านจะข้ามล่วงมัจจุราชเสียได้ บุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้แล มัจจุราชจึงจะไม่ตามทัน

สรุปแล้วว่า วันนี้ ได้นำมหาภัยสิ่งที่มาขัดขวาง หรือกั้นกางการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผล มาบรรยาย ๕ ประการ ก็ได้แก่ มาร ๕ ประการ คือ ๑. หลอกลวง ๒. ทวงสิทธิ์ ๓. อิทธิพล ๔. กลมารยา ๕. ล่าสังขาร

เมื่อใดมารทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้น ก็จะทำลายล้างสภาวธรรมที่ดีคือบุญกุศล หรือศีล สมาธิ ที่มีอยู่ให้เสื่อมไป และเป็นสิ่งที่กั้นกางขัดขวาง ศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล ไม่ให้เกิดขึ้น

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ท่านจงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป ให้มีเผลอน้อย ทั้งนี้เพื่อจะไม่ให้มารได้ช่องได้โอกาส เข้าแทรกแซงหรือทำลายล้างคุณงามความดีของเรา

ท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง มาร ๕ ประการ มาบรรยาย เพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 สิงหาคม 2560 16:29:20

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRRUiYaBB3hYOTas6KxZX2_iiuDIgSj3UJb24EDPjCFB_DqywRw)

ภาพ ๕ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ภัยใหญ่ของวิปัสสนา มิใช่ว่าจะมีเฉพาะที่ได้เคยกล่าวมาแล้วนั้นก็หาไม่

เมื่อใด เราใช้สติเพ่งลึกลงไปตามลำดับๆ จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับรูปนาม อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่เผลอ สมาธิก็เกิดขึ้น พอสมาธิเกิดแล้ว ก็จะสร้างนิมิตต่างๆ นานาประการ ให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๕ ประการ ๑. ภาพล้อ ๒. ภาพล่อ ๓. ภาพหลอก ๔. ภาพลวง ๕. ภาพล้าง

ภาพทั้ง ๕ ประการนี้ จะเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้ใดมีมนสิการสำเหนียกไว้ในใจ พยายามรักษาสติอารมณ์ ข่มจิตใจไม่ให้เกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ไม่ให้เกิดถีนะความท้อแท้ง่วงเหงาหาวนอน จิตใจของเราไม่เผลอไปจากอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนดอาการพองอาการยุบ จิตใจก็จับอยู่ที่อาการพองอาการยุบตลอดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมา

เมื่อสมาธิเกิด จิตใจก็ปลอดจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ ทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ เมื่อจิตใจสะอาด สว่าง สงบ ประณีตดีแล้ว จิตใจก็จะสร้างนิมิตต่างๆ ขึ้นมา เช่น บางครั้งนั่งไป ก็จะเห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ จิตเป็นผู้ที่สร้างขึ้นมา แต่เมื่อรวมแล้ว ก็ได้แก่ภาพ ๕ ประการนั้นเอง

๑. ภาพล้อ นิมิตที่เรียกว่าภาพล้อนั้น บางท่านเรียกว่า กายทิพย์ คือจะปรากฏมีอีกภาพหนึ่ง เหมือนกับตัวของเราเอง

ผู้ปฏิบัติทำอะไร ภาพนั้นก็จะทำตามบ้าง เราจะยืนก็ยืนบ้าง เมื่อจะเดินก็เดินบ้าง เมื่อเราก้ม เหยียด คู้ เงย เคลื่อนไหว ก็ทำเช่นนั้นบ้าง เป็นดังว่าภาพนั้นล้อเลียนเรา บางทีผู้ปฏิบัติจะนึกใช้ให้ไปทำอะไรที่ไหนก็ได้ตามความนึกคิดในขณะนั้น อันนี้เรียกว่าภาพล้อ คือล้อเลียนเรา เลียนแบบเราทุกสิ่งทุกอย่าง

เรานั่งพระกัมมัฏฐานอยู่ ก็ปรากฏเป็นรูปๆ หนึ่งนั่งอยู่ข้างหน้า เรามองดูแล้วก็เป็นรูปของเรานี้เอง เรากำหนดพองหนอยุบหนอ หรือว่าพุทโธๆ มันก็พองหนอยุบหนอหรือว่าพุทโธๆ เหมือนกับเรา เรามองซ้ายแลขวา มันก็มองซ้ายแลขวาด้วย เราลุกไปเดินจงกรม มันก็ลุกไปเดินจงกรมด้วย เรานึกเราคิดอย่างไรก็รู้หมด

บางท่าน เป็นคนที่มีขวัญอ่อน จิตใจไม่เข้มแข็ง ก็นึกว่าวิญญาณของเราออกไปแล้ว ภาษาบ้านเราภาคอีสานว่า ขวัญดิบออกแล้ว ทำให้เกิดจิตใจห่อเหี่ยวแห้งแล้ว หมดสมรรถภาพ ไม่เข้มแข็ง กลัวว่าจะตาย อะไรทำนองนี้ ผลสุดท้าย ก็ไม่กล้าที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าเป็นชาวบ้าน บางทีก็ต้องหาหมอสู่ขวัญมาเรียกขวัญ เชิญขวัญกัน บางคนจิตใจไม่เข้มแข็งถึงตายไปก็มี แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เป็นจิตใจของเรานี้แหละ ออกมาหลอกมาล้อเลียนเรา

นิมิตที่เรียกว่าภาพล้อนี้จะหายไปได้ ก็โดยที่เราตั้งอกตั้งใจกำหนดให้ทันปัจจุบันรูปนาม ไม่เอาใจใส่แล้วในที่สุดก็จะหายไปเอง คือเราเอาสติมาตั้งไว้ที่ตา กำหนดว่าเห็นหนอๆ หรือรู้หนอๆ เท่านั้น นิมิตนั้นก็จะหายไป

ถ้ากำหนดแล้ว ภาพหายไปช้าๆ กำหนด ๓-๔ ครั้งก็ยังไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังหย่อน พยายามลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มอีก ๕ นาที ๑๐ หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อ สมาธิและญาณจะดีขึ้น ถ้ากำหนดเพียง ๑-๒ คำเท่านั้น ก็หายไปแสดงว่าสมาธิของเราดีแล้ว พยายามนั่งต่อไป สมาธิ ญาณ ปัญญา จะได้ดียิ่งขึ้น

๒. ภาพล่อ นิมิตที่เรียกว่า ภาพล่อ นั้น ได้แก่ นิมิตที่ปรากฏการณ์ด้วยความประณีตของจิต จึงสร้างนิมิตอันสวยงาม ให้หลงติดหลงดู ด้วยความชอบใจในนิมิตนั้น

เช่น บางครั้งนั่งไปจนเห็นดอกไม้ที่มีสีสัณฐานสวยสดงดงามบ้าง บางครั้งเห็นพระเจดีย์ที่หุ้มด้วยทองคำอร่ามเรืองบ้าง บางครั้งเห็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองคำอร่ามเรืองบ้าง บางทีก็เห็นสวนดอกไม้ มีสีสวยสดงดงามเป็นที่รื่นรมย์ ทำให้จิตใจสบายบ้าง บางครั้งนั่งไปเห็นเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นวิมานของเทวดาบ้าง ล้วนแต่ทำให้เกิดความสุขขึ้นอย่างแปลกประหลาด ล่อให้ติดให้หลงใหลอยู่

ท่านนักปฏิบัติธรรมท่านใด มาติดอยู่กับนิมิตนี้แล้ว วิปัสสนาญาณจะเจริญขึ้นไม่ได้เลย เมื่อวิปัสสนาไม่บังเกิดขึ้นแล้ว ตนก็จะต้องหลงติดอยู่กับนิมิตนั้น ให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด

นิมิตที่เรียกว่า ภาพล่อ นี้ จะหายไปได้ด้วยการกำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบัน โดยไม่เอาใจใส่กับนิมิตนั้น ผลสุดท้าย นิมิตนั้นก็จะหายไปเอง

๓. ภาพหลอก นิมิตที่เรียกว่า ภาพหลอก นั้น ได้แก่ นิมิตที่ทำให้เกิดความตกใจกลัว

เช่น บางครั้งนั่งไป เห็นเป็นสัตว์ร้ายต่างๆ เป็นงูจะเข้ามากัดบ้าง เป็นสุนัขมากัดบ้าง เห็นเสือ เห็นช้าง จะมาทำร้ายบ้าง เหมือนจะมีคนมายิงมาแทงบ้าง บางครั้งปรากฏเห็นซากศพเป็นต้นบ้าง ซึ่งล้วนแต่ทำให้เกิดความสะดุ้งหวาดกลัวและตกใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจก็จะพรากออกจากสมาธิ ทำให้วิปัสสนาหยุดชะงักลงไป ท่านทั้งหลายพึงสังวรพึงระวัง ในเวลามาประพฤติปฏิบัติ ถ้านิมิตอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้ว ส่วนมากมีแต่ทำให้ตกใจกลัว ไม่กล้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

บางทีก็ปรากฏเห็นภูตผีปีศาจ เห็นพวกเปรตสูงเท่ายอดมะพร้าวยอดตาลก็มี วิธีไหนที่เราจะเกิดความสะดุ้งตกใจ และเกิดความกลัว จิตของเราก็จะสร้างขึ้นมาเอง บางทีเราค้นคว้าอยู่เป็นเดือนๆ ก็ยังไม่รู้ความจริงว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านทั้งหลายพึงระวังให้มาก สิ่งอื่นมาหลอกนั้นไม่เท่าไหร่ จิตของเราออกมาหลอกนี้มันสำคัญที่สุด คือจิตหนึ่งหลอกจิตหนึ่ง ก็เกิดความกลัวขึ้นมา

นิมิตที่เรียกว่า ภาพหลอก นี้ จะหายไปได้ ด้วยการใช้สติปัญญากำหนดอารมณ์รูปนาม ให้ทันปัจจุบันธรรม โดยที่ไม่เอาใจใส่ในนิมิตนั้นแล้ว ผลสุดท้าย ภาพหลอกนี้ก็จะอันตรธานหายไปเอง

๔. ภาพลวง นิมิตที่เรียกว่าภาพลวงนั้น จะเรียกว่า ปฏิภาคนิมิต ก็ได้ คือเรานึกถึงดวงจันทร์ ก็จะปรากฏเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้น จะนึกให้ใหญ่ ดวงจันทร์ก็ใหญ่ขึ้นตามใจนึก นึกให้มีขนาดเล็ก ก็เล็กลงตามใจนึก เป็นต้น หรือนึกถึงนรก ก็จะเห็นนรก นึกถึงสวรรค์วิมาน ก็จะเห็นสวรรค์วิมานตามใจนึก นึกถึงพวกเทวดาพวกพรหม ก็เห็นพวกเทวดาพวกพรหมตามใจนึก

นึกถึงพระอรหันต์ ก็จะเห็นพระอรหันต์ตามใจนึก นึกถึงพระพุทธเจ้าก็จะเห็นพระพุทธเจ้าตามใจนึก ทำให้เข้าใจผิดหลงไปว่า พระอรหันต์ละจากอัตภาพนี้ปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีรูปมีร่างอยู่ พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีรูปมีนามอยู่ พระนิพพาน ก็เป็นเมืองเหมือนเมืองกรุงเทพฯ เมืองอเมริกา มีพระพุทธเจ้า มีพระอรหันต์เต็มไปหมด หรือบางที เรานึกถึงแสนโกฏิจักรวาล ก็เห็นไปทั้งแสนโกฏิจักรวาลตามใจนึก อย่างนี้เรียกว่า ภาพลวง เพราะเป็นนิมิตไม่ใช่สภาวธรรมที่แท้จริง คือเป็นของลวง เราเข้าใจผิดต่างหาก นักปฏิบัติธรรมส่วนมาก จะมาติดอยู่ที่ตรงนี้

เช่น พระรูปหนึ่ง ที่มาปฏิบัติอยู่ที่สำนักของเรานี้ เวลาภาพเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านก็บอกว่าได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุคุณพิเศษ บรรลุอภิญญาแล้ว ใช้เวลาแนะนำให้เป็นชั่วโมงก็ไม่เอา เพราะทิฏฐิมานะ ความเห็นผิด ความถือตัวเกิดขึ้นมาพร้อม แนะนำอย่างไรท่านไม่เอา ผลสุดท้ายก็หาว่าครูบาอาจารย์สู้เขาไม่ได้ เมื่อไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เราก็ปล่อยตามยถากรรม ในที่สุดไปที่นั้นที่นี้ ใครๆ เขาก็หาว่าเป็นบ้า ไปที่ไหนๆ เขาก็ไม่ให้อยู่ ตกลงแผ่นดินทั้งแผ่นในประเทศไทยก็คับแคบไปหมด ไม่มีที่จะอยู่ ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี อย่าไปหลงใหลในนิมิตดังกล่าวมา

นิมิตที่เรียกว่า ภาพลวง นี้ จะหายไปได้ ก็ต่อเมื่อพยายามกำหนดรู้รูปนามให้ทันปัจจุบัน โดยที่ไม่เอาใจใส่ในภาพลวงนั้นอีกต่อไป ภาพนั้นก็จะหายไปเอง

๕. ภาพล้าง นิมิตที่เรียกว่าภาพล้างนั้น เป็นด้วยเหตุภายนอก ที่มาทำลายล้างผลาญ ไม่ให้ได้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น หรือเจริญขึ้นไม่ได้ และภาพล้างนี้ก็เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

๑) เกิดจากพวกเปรตมาขอส่วนบุญ คือพวกเปรตทั้งหลายที่เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต จะมาขอส่วนบุญ เห็นว่าพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี มาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล หรือว่าพวกญาติๆ มาบวช มาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ ก็มาแสดงตัวขอส่วนบุญ

พวกนี้ เมื่อก่อนที่วัดของเรามีมากเต็มไปหมด ภาพนั้นมาปรากฏบ้าง ภาพนี้มาปรากฏบ้าง พอดีพระสงฆ์มาเจริญพระกัมมัฏฐาน พากันแผ่ส่วนบุญส่วนกุศล ก็หายไปทีละเล็กละน้อย จนทุกวันนี้เกือบจะไม่มีมาปรากฏแล้ว

มีปีหนึ่งจำไม่ได้ว่า พ.ศ. เท่าไร ปีนั้นครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่มาปฏิบัติเสียเป็นส่วนมาก มีเจ้าคณะตำบล มีพระครูชั้นตรี ชั้นโท มาประพฤติปฏิบัติ แต่ท่านก็เป็นผู้ใหญ่มีอาวุโสเหนือกว่าเรา ท่านเป็นถึงขั้นหลวงพ่อ เวลาอธิบายธรรมะอะไรๆ ส่วนมาก ท่านจะไม่ยอมรับ ไม่ยอมฟัง คือไม่ตกลงปลงใจเชื่อ นั่งฟังไปตามธรรมดา เพราะท่านถือว่าท่านเป็นขั้นหลวงพ่อของเรา

ท่านเข้าใจว่าเราเป็นเด็กเป็นเล็กอยู่ อะไรๆ ก็คงสู้ท่านไม่ได้ เราอธิบายธรรมะก็ไม่คล้อยตามไม่ปฏิบัติตาม เวลาบอกว่า ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย เวลานั่งสมาธิออกแล้วจะเป็นตอนเช้าก็ดี ตอนเย็นก็ดี ตอนกลางคืนก็ดี ก็ขอให้แผ่เมตตา เจริญเมตตา อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย ท่านก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม

วันหนึ่ง พวกอมนุษย์เหล่านี้พากันไปฟ้องว่า หลวงพ่อๆ ครูบาอาจารย์ชุดนี้ขาดเมตตาธรรม ก็สงสัยทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอมาสอบอารมณ์ก็เลยถามท่านดูว่า ท่านอาจารย์ เวลานั่งกัมมัฏฐานแล้ว ได้แผ่เมตตาอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไหม ท่านก็ตอบว่า บางครั้งนั่งไม่ได้ดี ก็ไม่แผ่เมตตา ถ้านั่งได้ดีจึงแผ่เมตตา

นี่แหละมันเป็นผลสะท้อนกลับอย่างนี้ พวกเปรตนี้มาปรากฏ เราจะสังเกตเห็นง่ายๆ ถ้าอดอาหารไม่มีอาหาร ไม่ได้รับอาหาร เรามองดู ร่างกายก็ซูบผอม อดโซ เราก็รู้ทันทีว่า พวกนี้ไม่ได้บริโภคอาหาร บางตัวนั้นมองดูไม่มีเครื่องนุ่งห่ม เราก็รู้ว่าญาติไม่ได้ทำบุญทำกุศล ไม่เคยเอาผ้ามาถวายพระ ไม่เคยอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ เราก็ตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ผลสุดท้ายก็หายไปเอง

๒) เกิดจากเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา เห็นพระสงฆ์ สามเณร ปะขาว แม่ชี ท่านผู้มีศรัทธาปสาทะมาบำเพ็ญธรรมะ ก็หาวิธีขัดขวางหรือกีดกันให้การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ดำเนินไปไม่ได้ ขัดขวางกั้นกางไม่ให้ สมาธิ สมาบัติ ไม่ให้มรรคผลนิพพานเกิดขึ้น

พวกนี้รุนแรง ในครั้งพุทธกาลก็มี ดังมีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีภิกษุจำนวน ๕๐๐ รูป เรียนพระกัมมัฏฐานเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจบแล้ว ก็พากันออกไปสู่ป่าเพื่อเจริญสมณธรรม บังเอิญป่าที่ภิกษุเหล่านั้นจะไป เป็นที่อาศัยอยู่ของบรรดารุกขเทวดา คือเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้ เมื่อพวกเทวดาเห็นภิกษุไปสู่ราวป่าซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกตน ก็พากันลงมาจากต้นไม้สู่เบื้องล่าง

เพราะว่า พระภิกษุนี้เป็นพุทธบุตร บุตรของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม เทวดาจะอยู่เหนือพระไม่ได้ ให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า แม้เทวดาก็ต้องกราบต้องไหว้พระ พวกพรหมก็ต้องกราบต้องไหว้พระ คือพระเรานี้ยังเหนือกว่าเทวดา กว่าพรหมอยู่ เทวดาทั้งหลายก็ลงจากต้นไม้มาเบื้องล่าง คิดว่า เราอาศัยที่ภาคพื้นดินไปพลางๆ ก่อน อีก ๔-๕ วัน ภิกษุทั้งหลายนี้คงจะหลีกไป จึงค่อยขึ้นไป

แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ภิกษุเหล่านั้นตั้งใจจะจำพรรษาเจริญสมณธรรมที่นั่น และในขณะที่อยู่นั้น ภิกษุทั้งหลายก็ขาดเมตตาธรรม ไม่ได้แผ่เมตตาให้เทพบุตร เทพธิดา และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพวกนั้นไม่ได้รับเมตตาธรรมก็เกิดความไม่พอใจ แสดงอาการต่างๆ บางทีก็ทำให้มีเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว หนังหัวพองสยองเกล้า ขนลุกชูชัน จะทำกัมมัฏฐานก็ไม่เป็นอันทำ สมาธิไม่เกิด บางทีนั่งไปก็ทำให้เกิดมีกลิ่นเหม็นไปทั่ว เหมือนกันกับมีซากศพ เหมือนกับมีคนมาตายอยู่ที่นั้น บางทีเดินจงกรมหรือไปบิณฑบาต ก็เห็นคนหัวขาดบ้าง เห็นคนตายบ้างนานัปการ เทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย แสดงอาการเพื่อเป็นการทรมานพระภิกษุเหล่านั้นให้ได้รับความเดือดร้อน

ตลอดไตรมาสพรรษาสามเดือนนี้ ไม่เป็นอันเจริญสมณธรรม ไม่สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ พอออกพรรษาแล้ว ก็พากันไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้มีปฏิสันถารตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรม บรรลุถึงที่สุดแห่งทุกข์หรือยัง พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระพุทธเจ้า ไม่สามารถที่จะเจริญสมณธรรมได้ แล้วนำเรื่องทั้งหลายกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ

พระองค์จึงตรัสสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไปอยู่ที่เดิม ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็ทูลว่า ไม่สามารถที่จะไปอยู่ได้อีก พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงกลับไปอยู่ที่เดิมนั่นแหละ เพราะว่าเมื่อก่อนนั้น เธอไม่ได้นำพุทธาวุธไป จึงได้ถูกเบียดเบียนจากเทวดาเหล่านั้น แต่นี้เธอจงเรียน พุทธาวุธ แล้วไปอยู่ที่นั้นเถิด

ภิกษุเหล่านั้นก็เรียนเอาพุทธาวุธจนจบแล้วกลับไปป่านั้นอีก พอไปถึงชายป่า ก็พากันเจริญ กรณียเมตตสูตร อันเป็นพุทธาวุธที่พระองค์ประทานมา หลังจากนั้นก็พากันเจริญทุกเช้าทุกค่ำทุกวันๆ เหมือนที่พวกเราได้พากันสวดอยู่ทุกวันนี้ เป็นประจำเป็นการสวดเพื่อเราด้วย เพื่อญาติเราด้วย เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย

เมื่อท่านพากันสวดอย่างนี้ บรรดาเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ที่ได้รับเมตตาธรรม ก็มีความอบอุ่นใจเยือกเย็นใจ มีความดีใจ พากันอุปถัมภ์บำรุงภิกษุทั้งหลายไม่ให้เกิดความเดือดร้อน มิหนำซ้ำ เทวดาเหล่านั้น ยังช่วยไล่พวกนก พวกกา พวกสัตว์ทั้งหลายที่ร้องเสียงดัง ที่ทำให้เสียงนั้นมารบกวนการประพฤติปฏิบัติธรรมของภิกษุ

ครานั้น สถานที่นั้นได้เป็นที่สงบเงียบ ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นก็ได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สมความประสงค์ด้วยกันทุกรูป นี้เป็นเรื่องที่มีในสมัยพุทธกาล แต่เทวดามิจฉาทิฏฐินี้ใช่ว่าจะมีในครั้งพุทธกาลเท่านั้น แม้ในปัจจุบันก็มี ที่หลวงพ่อได้ประสบการณ์ก็มีมาก แต่จะไม่ขอนำมาเล่าในที่นี้

ทีนี้เราจะทำอย่างไร เมื่อเทวดามิจฉาทิฏฐิไม่เลื่อมใสในพระศาสนามาทรมานเราให้ได้รับความลำบาก เพื่อที่จะทำลายล้างวิปัสสนาของเราไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้เจริญขึ้น และเป็นสิ่งขัดขวางไม่ให้บรรลุอริยมรรคอริยผล มีหนทางเดียวเท่านั้น ท่านทั้งหลาย คือเรากำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบันโดยที่ไม่เอาใจใส่ ผลสุดท้ายพวกเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ก็จะหลีกไปเอง หรือเราแผ่ส่วนบุญกุศลให้ อุทิศส่วนบุญกุศลให้ก็จะหลีกไปเอง

การแผ่ส่วนกุศลให้นี้ บางทีพวกเทวดามิจฉาทิฏฐิก็ไม่ยอมรับ ไม่ดีใจ เราก็อย่าไปเอาใจใส่ อย่าไปสนใจเลย เรามาสนใจเฉพาะรูปนามคืออาการพองอาการยุบที่เรากำหนดอยู่นี้ กำหนดให้ทันปัจจุบัน ผลสุดท้ายทำอะไรเราไม่ได้ก็จะหายไปเอง

ท่านทั้งหลาย ภัยใหญ่ของวิปัสสนานี้ มีมากมายหลายสิ่งหลายประการ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอยู่ผู้เดียว ส่วนมากไปไม่ได้ ต้องอาศัยครูบาอาจารย์คอยประคับประคอง เช่นอย่างภาพทั้ง ๕ ประการนี้ ถ้าว่าผู้ใดเกิดขึ้นแล้ว หากไม่มีครูบาอาจารย์ช่วยประคับประคองชี้แนะหนทางให้ ก็จะทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นดวงธรรม หรือได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว หรือบางท่านเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เกิดความสะดุ้งตกใจ เกิดความกลัว ไม่กล้าที่จะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก สุดท้ายการปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

สรุป อันตรายทั้ง ๕ ประการ ที่กล่าวมานี้ คือ ภาพล้อ ภาพล่อ ภาพหลอก ภาพลวง ภาพล้าง ก็ล้วนแต่จิตของเรานี้เป็นผู้สร้างขึ้นมา ขออย่าไปสำคัญว่าเป็นดวงธรรม อย่าไปสำคัญว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

เอาละ ท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ภาพ ๕ ประการ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 กันยายน 2560 09:29:15

(https://hilight.kapook.com/img_cms/other/pj-13.jpg)

สิ่งขวางกั้นการบรรลุธรรม

ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทุกท่าน

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราก็รู้กันอยู่ว่าเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือเป็นปฏิปทาที่นำพาให้ผู้ที่ปฏิบัติได้ดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทาง คือพระนิพพาน อันเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่าก่อนที่เราจะถึงซึ่งมรรค ผล พระนิพพานนั้น มีหลายสิ่งหลายประการที่เป็นอุปสรรคขัดข้องแก่การปฏิบัติ คือ ดี ก็เป็นสิ่งขัดข้อง หมายความว่า ดีเกินไป ก็ถือว่าเป็นสิ่งขัดข้อง ไม่ดี ก็ถือว่าเป็นสิ่งขัดข้อง คือ

๑.มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าเรามีความเห็นผิด เพียงแต่เรามีความเห็­นผิด เช่น เห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมไม่มี พระสงฆ์ไม่มี บิดา มารดา ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่มีคุณ นรกสวรรค์ไม่มี โลกนี้ โลกหน้าไม่มี อะไรทำนองนี้ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ มีความเห็นผิด

หมายความว่า เห็นผิดจากความเป็นจริง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมีอยู่อย่างนี้ๆ แต่เราเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่นว่า พระพุทธเจ้ามีอยู่ แต่มิจฉาทิฏฐิเห็นว่าพระพุทธเจ้าไม่มี พระธรรมมีอยู่ ทั้งๆ ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือว่าธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีถึง ๘๔,๐๐๐ ข้อ และเป็นธรรมะที่ให้ประโยชน์ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด แต่เราก็เห็นว่าไม่มี พระธรรมนี้ก็ไม่มี พระสงฆ์ก็ไม่มี เป็นแต่เรื่องสมมุติ อย่างเราเป็นพระ ผู้นั้นเป็นพระ ผู้นี้เป็นเณร ผู้นั้นเป็นอุบาสก ผู้นี้เป็นอุปัชฌาย์ เราก็เห็นว่าไม่มี เป็นแต่เรื่องสมมุติ ทั้งๆ ที่มารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณ แต่เราก็เห็นว่าไม่มี เห็นว่าเราเกิดจากความใคร่ของท่าน เกิดจากราคะดำกฤษณา เกิดจากความใคร่ของท่าน เสพสุขกันแล้วเราก็เกิดเป็นเราขึ้นมา เพราะฉะนั้น มารดาบิดาหามีคุณไม่

อีกอย่างหนึ่ง เห็นว่าโลกนี้ไม่มี ทั้งๆ ที่มันมีอยู่มิจฉาทิฏฐิก็เห็นว่าไม่มี เป็นแต่ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุผสมกันขึ้นมาเท่านั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิไปหมด โลกหน้าก็ไม่มี คนตายแล้วก็เป็นอันว่าหมดไป การที่จะเกิดใหม่ ภพใหม่ ชาติใหม่นั้นไม่มี ทั้งๆ ที่เหตุปัจจัยมันมีอยู่

สิ่งทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมีเหตุก็มีปัจจัย เหมือนกันกับเมล็ดถั่ว เมล็ดข้าว เมื่อมันมีเหตุคือยางอยู่ ก็ต้องเกิดอีก เมื่อมันหมดเชื้อหมดยางก็ไม่เกิด คนเรานั้นเหมือนกัน เมื่อยังมีกิเลสตัณหา ยังมีบุญมีบาป ก็ต้องเกิดอีก แต่มิจฉาทิฏฐิเห็นว่าไม่มี

สรุปแล้วว่า การที่เรามีความเห็นผิดจากความจริงที่มีอยู่ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ เราเกิดมิจฉาทิฏฐิขึ้นมาว่า ผลของการประพฤติปฏิบัติไม่มี สมาธิ สมาบัติไม่มี ฌานไม่มี ฌานสมาบัติไม่มี ผลสมาบัติไม่มี นิโรธสมาบัติไม่มี นรก สวรรค์ นิพพานไม่มี อะไรทำนองนี้ ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

เมื่อใดเรายังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ คือยังมีความเห็นผิดจากความเป็นจริงอยู่ ก็ถือว่าเป็นสภาวธรรมที่กั้นไม่ให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เมื่อใดเรายังละมิจฉาทิฏฐินี้ไม่ได้ โอกาสที่จะได้มาซึ่งมรรค ผล พระนิพพาน ก็ไม่มี อันนี้อย่างหนึ่ง

๒.อนันตริยกรรม คือทำกรรมหนัก เช่นว่า เราไป ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม หรือเราไปฆ่าพระพุทธเจ้า ฆ่าพระอรหันต์ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม คือกรรมหนัก

ถ้าผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้ว ก็หมายความว่า หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนกับท่อนไม้ที่เขาเอามาเผาเป็นเถ้าถ่าน จะทำเป็นไม้จิ้มฟัน จะเอาไปทำโน้นทำนี้ก็ไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด ถ้าเราไปฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้ว ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เมื่อจุติแล้วก็ไปสู่อบายภูมิ หากว่ามาประพฤติปฏิบัติธรรม มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานนั้นก็หมดโอกาสแล้ว จะต้องใช้กรรมนี้ไปอีกนานแสนนาน

เมื่อใดที่อนันตริยกรรมนี้หมดอายุหมดสภาพแล้วนั้น เมื่อนั้นจึงจะได้รับผลบุญที่ได้สั่งสมอบรมมา หรือว่าเราไปทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้น ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เมื่อเราได้ทำร้ายพระพุทธเจ้าอย่างนี้ โอกาสที่จะได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานก็ไม่มี

เพราะเหตุไร การทำร้ายพระพุทธเจ้าเพียงพระโลหิตให้ห้อขึ้นเท่านั้น ก็จัดเป็นอนันตริยกรรม

เพราะว่า ผู้ใดหรือใครผู้หนึ่ง หรือสิ่งใด ที่จะมาทำร้ายพระพุทธเจ้าให้สิ้นพระชนม์ได้นั้นไม่มี คือไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะทำร้ายพระพุทธเจ้าให้ถึงนิพพานไปได้ อย่างมากที่สุด ก็ทำได้เพียงแค่พระโลหิตให้ห้อขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตให้ห้อนั้น เป็นอนันตริยกรรม ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้เลย หรือการฆ่าพระอรหันต์ให้ตายไป ก็เป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนัก หรือว่าการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมเหมือนกัน

หากว่าเราทั้งหลาย เคยทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ นี้แล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้นั้นไม่มีโอกาสจะได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานได้เลย โน้นแหละ อนันตริยกรรมต้องให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ ทั้งหมด เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลหมดแล้ว กรรมอื่นจึงจะให้ผลต่อไป หากว่าผู้ใดเคยทำอนันตริยกรรมแล้ว ก็ถือว่าหมดสภาพ ชาตินี้ทั้งชาติหมดสภาพแล้ว

การที่จะปฏิบัติให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ไม่มีโอกาสเลย ทีนี้ถ้าเราไม่ทำถึงขนาดนั้น สมมุติว่า เราฆ่าพ่อฆ่าแม่ แต่ไม่ถึงตาย ก็ถือว่าเป็นบาปหนัก หากว่าเราไม่ขอขมาลาโทษท่านเสียก่อนแล้ว คือท่านมิได้อโหสิกรรมให้เรา ก็ไม่มีโอกาสจะได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานเลย

เพราะฉะนั้น พ่อแม่ถือว่าเป็นผู้สำคัญที่สุด ถ้าว่าเราทำไม่ถูก ก็จะเป็นเครื่องกั้นกางให้การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผล แม้ถ้าพ่อแม่ของเราตายไปแล้วก็ตาม เมื่อตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ เราได้ทำร้ายท่าน เราล่วงเกินท่าน แต่ยังไม่ถึงขั้นอนันตริยกรรม ได้ล่วงเกินพ่อแม่ ได้ทำให้พ่อให้แม่น้ำตาไหล ทำให้พ่อให้แม่ต้องเจ็บใจ ทำให้พ่อแม่ต้องเป็นทุกข์ ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อน อะไรทำนองนี้ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้เลย

เหตุนั้น เราต้องไปขอขมาลาโทษท่าน หากว่าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ไปขอขมาลาโทษท่านที่หลุมศพ ถ้าหลุมฝังศพไม่มี เราก็ไปขอขมาลาโทษท่านที่อัฐิในเจดีย์ที่ก่อไว้ หรือหากเจดีย์ไม่มี ทีนี้เราจะทำอย่างไร เราก็นิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูป มาเป็นสักขีพยาน แล้วก็ขอขมาลาโทษท่าน ต่อหน้าพระสงฆ์

เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็สามารถที่จะได้มาซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน อันนี้ (คือวิธีปฏิบัติ) ถ้าเราได้ล่วงเกินต่อพ่อแม่ของเรา แต่ถ้าว่าทำอนันตริยกรรมแล้ว ก็หมดเลย หมดสภาพไปเลย ไม่รู้อีกเมื่อไหร่ กี่ภพ กี่ชาติ กี่กัป กี่กัลป์ อนันตริยกรรมนั้นหมดสภาพแล้ว ให้ผลสมบูรณ์ก่อนแล้ว กรรมอื่นจึงจะให้ผล

นอกจากนี้ หากว่าไม่ถึงนั้น ถ้าเราล่วงเกินพ่อแม่ของเรา ไม่ถึงขนาดให้ต้องเจ็บอกเจ็บใจ ไม่ถึงกับต้องน้ำตาร่วง ไม่ถึงกับต้องร้องห่มร้องไห้ อะไรทำนองนี้ แต่เราพูดหยอกล้อท่าน ในฐานะที่เราเป็นลูกของท่าน กระแนะกระแหนท่าน หยอกล้อท่าน หยอกล้อพ่อของเราว่า โอ..พ่อนี่รูปหล่อ สาวๆ ชอบ พ่อของเราชอบของคาว ชอบไปหาสาวนั้นสาวนี้ พูดทำให้พ่อไม่สบายใจ แต่ไม่ถึงกับต้องร้องไห้ ไม่ถึงกับต้องน้ำตาไหล ไม่ถึงต้องเจ็บอกเจ็บใจขนาดนั้น (ท่าน)ก็ขัดใจ ไม่พอใจ ลูกพูดเช่นนั้น (ท่าน)ก็ขัดใจไม่พอใจ แต่จะว่าอะไร(ลูก)ไม่ได้

เพียงเท่านี้แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติ ยกเว้นวิปัสสนา แต่สมถะเราต้องการให้ได้มาซึ่งกสิณฌาน คือเพื่อได้ซึ่งอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต ไม่มีโอกาสเลย เพียงเราไปเพ่งกสิณทั้ง ๑๐ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อต้องการให้เกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตนี้ ไม่มีโอกาสเลยท่านทั้งหลาย นี่เป็นบาปขั้นต่ำที่ขัดขวางหรือกั้นกางการเจริญภาวนา

แต่ถ้าเป็นวิปัสสนายังไปได้อยู่ ทำบาปเช่นนี้แล้วก็ยังพอไปได้อยู่ การที่เรากระแนะกระแหนพูดให้พ่อให้แม่ของเราเจ็บใจนี้ ยังพอจะปฏิบัติวิปัสสนาไปได้อยู่ แต่สมถะนี้ไปไม่ได้ ต้องขอขมาลาโทษเสียก่อน อันนี้เป็นเรื่องอันหนึ่ง ที่เราทั้งหลายผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ต้องทำความเข้าใจ หากว่า เรายังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นอกุศลจิตดังที่กล่าวมาแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่ก้าวหน้า ไม่สามารถจะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้เลย

๓.อริยุปวาท คือกล่าวร้ายพระอริยเจ้า หรือท่านผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า หมายความว่า เราล่วงเกินพระอริยเจ้า ด้วยการพูดก็ดี ด้วยการกระทำก็ดี เมื่อเราล่วงเกินพระอริยเจ้าอย่างนี้ โอกาสที่จะปฏิบัติให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ก็ไม่สามารถที่จะทำได้เลย

ทีนี้ มันมีข้อแม้อยู่ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้นี้เป็นพระอริยเจ้า ผู้นี้ไม่ใช่พระอริยเจ้า นี่มันเป็นปัญหาอย่างนี้ท่านทั้งหลาย เหตุนั้น เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ จึงพึงสังวร คือเราไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้เลยว่า ผู้นี้เป็นพระโสดาบัน ผู้นี้พระสกทาคามี ผู้นี้เป็นพระอนาคามี ผู้นี้เป็นพระอรหันต์

โยมชีที่มาปฏิบัตินี้ หรือผู้ที่มาถือศีลกินเพลอยู่ในขณะนี้ ผู้นี้ได้คุณสมบัติชั้นไหน เป็นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์แล้ว เราก็ไม่รู้เลย เราจะไปด่า ไปสบประมาท(ผู้นั้น)ว่า เป็นคนชั่วช้า กิเลสหนา ปัญญาหยาบอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ผู้นั้นเป็นเพียงแค่คนถือศีลกินเพล ได้มาประพฤติปฏิบัติ เขาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว(หรือยัง)

พูดง่ายๆ ว่า อุบาสกอุบาสิกาเขาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว(หรือยัง) สกทาคามีแล้ว หรือว่าอนาคามีแล้ว หรือแม่ชีได้เป็นโสดาบันแล้ว สกทาคามีแล้ว อนาคามีแล้ว หรือว่าสามเณรได้เป็นโสดาบันแล้ว สกทาคามี อนาคามีแล้ว หรือว่าพระ(ภิกษุ)ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว สกทาคามี อนาคามีแล้ว(หรือยัง) เราก็ไม่รู้

เพราะว่า แต่ละรูปแต่ละท่าน เมื่อประพฤติปฏิบัติแล้ว ก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเราได้บรรลุอย่างโน้น เราได้บรรลุอย่างนี้ ไม่ได้แสดงออก ถ้าขืนแสดงออก แต่เราไม่ได้ไม่ถึงจริง ปรับอาบัติปาราชิก เหตุนั้น พระอริยบุคคล เมื่อท่านได้สำเร็จอริยมรรคอริยผลแล้ว จึงไม่แสดงออก

ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้แสดงออกก็ตาม หากเราล่วงเกินท่าน อย่างเรื่องของนาง ขุชชุตตรา ที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังนั้น เพียงแต่ล่วงเกินเท่านั้น ท่านทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นบาป เป็นสิ่งขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติธรรมะของเราไม่ให้ได้ผล และบาปที่ได้เพราะล่วงเกินนั้นก็จะติดตามเราไปหลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์

เหตุนั้น เราทั้งหลาย เมื่อถึงคราวจะประพฤติปฏิบัตินี้ เราจึงได้ทำพิธีขอขมาลาโทษท่านลับหลัง เพื่อป้องกันบาปที่เคยล่วงละเมิดท่านนั้น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประพฤติปฏิบัติ หมายความว่า อุปสรรคที่เป็นอกุศลอันขัดขวางการประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล

๔.ปรารถนาพุทธภูมิ สิ่งที่เป็นมหากุศล ก็ขัดขวางหรือกั้นกางได้เหมือนกัน ดังที่เราท่าน(หากได้)ปรารถนาพุทธภูมิอย่างนี้ เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า อย่างที่ท่านทั้งหลายที่มาปฏิบัติ มีศรัทธากล้า เมื่อได้ดื่มด่ำธรรมะ ยังปีติ ปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจให้เกิดขึ้นในจิตในใจแล้ว ก็มีศรัทธาอย่างบอกไม่ถูก จนอธิษฐานจิตหรือปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าว่า

สาธุ..ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง ในอนาคต

เพียงแค่นี้แหละท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้เลย เพราะเหตุไร เพราะว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็ต้องบำเพ็ญบารมีไปเรื่อยๆ จนบารมีเต็มสมบูรณ์แล้วนั้นแหละ จึงจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณครั้งเดียว

เหตุนั้น ที่มีผู้กล่าวว่า ผู้ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ยังมาเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกได้อยู่ การพูดอย่างนี้ไม่ถูก ดังที่ได้ยินได้ฟังว่า ผู้นี้เมื่อก่อนโน้นเป็นพระสารีบุตร พระสารีบุตรกลับชาติมาเกิดเป็นผู้นี้ๆ (ผู้นั้น)หมดแล้ว หมดสภาพแล้ว ถ้าพูดอย่างนี้ หรือผู้นี้ เมื่อก่อนโน้นเป็นพระมหากัสสปะ ได้เคยเผาพระบรมศพของพระพุทธเจ้า กลับจากชาติพระมหากัสสปะมาเกิดเป็นผู้นี้ๆ คำกล่าวอย่างนี้เรียกว่าเป็น โมฆะ ใช้ไม่ได้

สรุปแล้วว่า ผู้ใดปรารถนาพุทธภูมิแล้ว สมมุติว่า ผู้นั้นเป็น(พระมหาโพธิสัตว์เจ้า)

ประเภทปัญญาธิกะ ก็ต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๔ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัป นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์มา จึงจะได้ตรัสรู้

ประเภทสัทธาธิกะ ก็ต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๘ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัป นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมา จึงจะได้ตรัสรู้

ประเภทวิริยาธิกะ ต้องบำเพ็ญบารมีอยู่ถึง ๑๖ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัป นับตั้งแต่ได้รับพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมา จึงจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

หากว่า บารมียังไม่ถึงล่ะ บำเพ็ญบารมียังไม่เต็ม ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้เลย เหตุนั้น ท่านผู้ใดที่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ภพนี้ ชาตินี้ ก็ไม่มีโอกาสได้บรรลุอริยมรรคอริยผล แม้เพียงแต่ชั้นพระโสดาบันก็ไม่ได้

ครูบาอาจารย์หลายๆ รูปที่มาปฏิบัติอยู่ที่นี้ เวลาปฏิบัติแล้วไปไม่ได้ หลวงพ่อก็คิดว่า เอ..หลวงปู่รูปนี้ หรือว่าท่านรูปนี้ เพราะเหตุไร จึงปฏิบัติไม่ได้ สภาวะทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนดี แต่การปฏิบัติไม่สามารถจะข้ามไปได้ ก็มาใคร่ครวญตริตรองพิจารณาดูว่า โอ...ท่านผู้นี้ หรือหลวงปู่รูปนี้ เคยปรารถนาพุทธภูมิไว้แล้ว ก็มาชี้แจงแสดงไขให้ท่านได้ทราบ

ท่านทั้งหลาย การที่ปรารถนาพุทธภูมิเช่นนี้ เป็นของที่ดี ที่เลิศ ที่ประเสริฐยิ่ง หาสรรพสัตว์ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะปรารถนาพุทธภูมินั้น หาได้ยากที่สุด พระโพธิสัตว์องค์ใดที่ปรารถนาใหญ่ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อที่จะขนสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากโอฆะแอ่งแหล่งกันดาร หายากมาก มีแต่พระโพธิสัตว์เท่านั้น ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ และท่านเล่า จะเอาอย่างไร หลวงปู่จะเอาอย่างไร

ถ้าเราจะปฏิบัติให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ชาตินี้ก็ไม่มีโอกาส ท่านจะต้องบำเพ็ญบารมีไปเรื่อยๆ อย่างนี้ จนบารมีเต็มเปี่ยมแล้วซะก่อน จึงจะได้บรรลุ ท่านจะเอาอย่างไร แต่ว่ามันมีวิธีแก้ไขได้อยู่

หากว่าเราปรารถนาพุทธภูมิแล้ว เรามาคิดอีกหน่อยหนึ่งว่า เรานี้คงจะไม่มีบารมีที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า หรือว่าการที่จะท่องเที่ยวไปๆ มาๆ บำเพ็ญบารมีให้เต็ม ๒๐ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัป หรือ ๔๐ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัป หรือ ๘๐ อสงไขย กับอีก ๑ แสนมหากัปนี้ โอ..มันยาวไกลเหลือเกิน

ขอแก้ตัวใหม่ ขอแก้คำอธิษฐาน โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์ หรือมีพระสงฆ์เป็นสักขีพยานก็ได้ แล้วกล่าวว่า

ข้าพเจ้าขอกราบคารวะประกาศต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมกับทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลาย และครูบาอาจารย์ เมื่อก่อนโน้น ข้าพเจ้าได้เคยปรารถนาพุทธภูมิมา

แต่บัดนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมีให้ถึงพุทธภูมิได้ ให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ ข้าพเจ้าจึงขอแก้คำอธิษฐานที่เคยปรารถนาพุทธภูมิ ข้าพเจ้าขอปรารถนาแต่เพียงให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นสกทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์ ต่อหน้าพระสงฆ์ต่อหน้าเหล่าทวยเทพนิกรเจ้า ต่อหน้าองค์พระประธาน ดังนี้ แล้วก็มาปฏิบัติ ก็สามารถที่จะผ่านไปได้

อย่างเช่นหลวงปู่ยันต์ กับหลวงปู่อ่อน ที่มาจากเมืองลาว เวลาที่มาประพฤติปฏิบัติ สภาวธรรมทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด สภาวะที่แก่กล้าเต็มไปหมด แต่ไม่สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติไปได้ หลวงพ่อจึงได้แนะนำ ชี้แนะแนวทางให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

หลวงปู่ก็ขอถอนคำปรารถนาพุทธภูมิ เข้าไปในโบสถ์ โบสถ์หลังนี้แหละ พอดีเข้าไปในโบสถ์(ถอนอธิษฐาน)แล้วก็ออกมาประพฤติปฏิบัติ พอดีเป็นตอนเช้า ปฏิบัติตอนเช้านั่นแหละ พอปฏิบัติตอนเช้าแล้วก็ผ่านการปฏิบัติไปได้เลยเพราะเหตุไร เพราะว่าสภาวะมันแก่กล้าเต็มที่แล้ว

นี่แหละ ท่านทั้งหลาย สภาวะทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ก็ถือว่า เป็นสิ่งกั้นกางการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราไม่ให้บรรลุ (เป็น) พระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี หรือพระอรหันต์

เหตุนั้น สิ่งละอันพันละน้อยดังกล่าวมาแล้วนี้ หากว่าเรายังไม่จุใจ ไม่พอใจ เราจะขอ(ฟัง)เป็นเรื่องส่วนตัวก็ได้ หรือว่าที่ทำมานี้ ก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติต่อๆ ไป หากว่าบุญวาสนาบารมีได้เคยสั่งสมอบรมมา ก็สามารถที่จะผ่านไปได้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 ตุลาคม 2560 09:46:35

(https://orawanpechtiem.files.wordpress.com/2015/08/14_1243257493.jpg)

สังโยชน์ ๑๐

การที่เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตัดสินใจเอาเอง

กิเลสนั้น ถ้ากล่าวโดยพระอภิธรรมจะมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ ตัว โทสะ ๒ ตัว แล้วก็โมหะอีก ๒ ตัว

โลภะ ๘ ตัวนั้น แยกเป็นความโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ตัว แล้วก็เป็นความโลภที่ไม่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิอีก ๔ ตัว รวมเป็น ๘ ตัว

สำหรับ โทสะ ความโกรธ แยกออกเป็น ๒ ตัว คือ

โทสะตัวที่ ๑ เป็นความโกรธที่เกิดขึ้นโดยลำพัง คือเป็นอสังขาริก ไม่มีเครื่องกระตุ้น หรือไม่มีผู้ชักจูง เกิดขึ้นเองโดยลำพัง ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าเรานึกย้อนหลัง ก็คงจะรู้ว่าความโกรธนี้ บางครั้งเรานอนอยู่เฉยๆ มันเกิดขึ้นมาเอง คือนึกถึงเรื่องอะไรที่ผ่านมาแล้วแต่อดีต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธขึ้นมา ความโกรธนั้นเกิดขึ้นมาอีก

โทสะตัวที่ ๒ เกิดขึ้นเพราะมีผู้ชักจูง คือมีแรงกระตุ้น เป็นสสังขาริก คือมีผู้ชักจูง หรือมีผู้กระตุ้นก่อนจึงเกิดขึ้น

สำหรับ โมหะ ๒ ตัวนั้น

ตัวที่ ๑ เป็นความหลงที่เกิดโดยอำนาจของวิจิกิจฉา

ตัวที่ ๒ เป็นโมหะคือความหลงที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของ อุทธัจจกุกกุจจะ

หมายความว่า เราคิดมาก จิตใจของเราคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายตามอารมณ์ต่างๆ คิดมากจนเกินไป คิดมากจนเกินขอบเขต ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความหลงขึ้นมาได้เหมือนกัน

กิเลสโดยแนวทางของอภิธรรมนั้นมีอยู่ ๑๒ ตัว ดังนี้

สำหรับผู้ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผ่านการประพฤติปฏิบัติไปได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จะละโลภะไปได้ ๔ ตัว โทสะละยังไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๒ (เป็นพระสกทาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะยังละไม่ได้ แต่ว่าอ่อนกำลังลง คือกิเลสที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดนั้นจะอ่อนกำลังลง แต่โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๓ (เป็นพระอนาคามี) โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม ส่วนโทสะละได้หมดทั้ง ๒ ตัว สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ (เป็นพระอรหันต์) จึงจะละโลภะได้หมดทั้ง ๘ ตัว คือโลภะที่ละไปแล้ว ๔ ตัว ยังอีก ๔ ตัว ก็จะละให้หมดไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ละได้ครบทั้ง ๒ ตัว คือเมื่อก่อนนั้นละโมหะ(ที่เกิดขึ้น)ด้วยอำนาจของวิจิกิจฉา เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ แล้ว จึงจะละโมหะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของอุทธัจจกุกกุจจะ

นี้แนวทางของพระอภิธรรมโดยคร่าวๆ

สำหรับกิเลส ๑๐ นั้น จะไม่พูดถึง จะขอพูดถึงเฉพาะเรื่อง สังโยชน์ ๑๐ กิเลส ๑๐ นั้น ได้เคยบรรยายมาแล้ว

สำหรับ สังโยชน์ ๑๐ นั้น กล่าวโดยพระสูตร คือมีในพระสูตร ดังนี้

สังโยชน์ แปลว่า เครื่องผูก ถ้าเป็นคุณบทของบุคคล ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกบุคคลไว้ ถ้าเป็นคุณบทของสัตว์ ก็เรียกว่าเป็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ หมายความว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาในกามภพก็ดี ในรูปภพก็ดี ในอรูปภพก็ดี ที่ยังข้องอยู่ในภพ ไม่สามารถที่จะออกจากภพจากภูมิที่ตนเกิดแล้วได้ ก็เพราะว่ามีสังโยชน์นี้เป็นเครื่องผูกไว้ ไปได้ยาก ออกได้ยาก สลัดออกได้ยาก

เราคิดง่ายๆ ผู้ที่ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานบางพวกคิดว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มีความสุขพอแล้ว ก็อยากเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่อย่างนั้นต่อไป ไม่อยากออกจากกำเนิดของสัตว์เดรัจฉาน นี่มันผูกไว้อย่างนี้ คือเห็นว่าการมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนี้ก็ดีอยู่แล้ว การมาเกิดเป็นประเภทนี้ก็ดีแล้ว มันเป็นอย่างนี้

หรือว่า ผู้ที่มาเกิดในมนุสสภูมิ คือพวกเราทั้งหลายที่มาเกิดในโลกมนุษย์ เมื่อเกิดในโลกมนุษย์ ได้บำรุงบำเรอด้วยกามคุณ ก็เห็นว่าการอยู่ในโลกมนุษย์นั้นมีความสุขแล้ว ยิ่งผู้มีอันจะอยู่จะกินเป็นกุฎุมพี เป็นเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี เป็นอภิมหาเศรษฐี เป็นพระราชา มหาราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็เห็นว่าการที่ได้มาเกิดอยู่ในเมืองมนุษย์แล้วก็อยู่ในฐานะอย่างนี้ ก็ถือว่ามีความสุขพอดีแล้ว ไม่จำเป็นที่จะแสวงหาความสุขอื่นอีกต่อไป

ผู้ที่คิดเห็นอย่างนี้มีเป็นจำนวนมาก ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เช่นว่า ในบ้านของเราที่ผ่านมาหลายปีดีดัก นับตั้งแต่มีการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาจนถึงป่านนี้ ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นมีน้อยนิดเดียว ผู้ไม่ปฏิบัตินั้นมีเป็นจำนวนมาก

ผู้ไม่ปฏิบัติโดยเฉพาะโยมผู้ชาย เวลามีการจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน คือเมื่อก่อนเราจัด ๓ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๔๐ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง จนได้ลดลงมาถึง ๑๐ วัน ถึงกระนั้น เราก็เห็นโยมผู้ชายมาประพฤติปฏิบัตินั้นเป็นจำนวนน้อยเต็มที ปีหนึ่งๆ นี้มีไม่ถึง ๒๐ คนบางครั้ง บางคนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าท่านจัดอะไร

อย่างพ่อใหญ่อยู่ใกล้ๆวัดนี้ เราจัดงานปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปตั้ง ๖, ๗, ๘ ปีแล้ว วันหนึ่งแกเข้ามาในวัด เห็นพระกำลังทำกุฏิกัมมัฏฐานกันอยู่ ทำปะรำบ้าง ทำกุฏิกัมมัฏฐานบ้าง กางกลดบ้าง ทำความสะอาดบ้าง แกก็ถามว่า เพิ่นทำอีหยังกัน เพิ่นเฮ็ดอีหยังกัน คือพระท่านทำอะไรกัน ครูบาอาจารย์ทำอะไรกัน คือไม่รู้เลยว่าทางวัดนี้ทำอะไร ทางบ้านทำอะไร มันเป็นอย่างนี้

แล้วก็โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน หายาก ยิ่งเป็นรุ่นใหม่มานี้ก็ยิ่งหายาก คือเห็นว่าการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีฐานะเป็นอยู่อย่างนี้ มีอาหารการบริโภค มีเครื่องบำรุงบำเรออยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นสุขพอดีแล้ว ก็อยากเป็นมนุษย์อยู่อย่างนี้ร่ำไป ผู้เป็นสามีภรรยากันก็อยากเป็นสามีภรรยากันตลอดไป ผู้เป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกัน ก็อยากเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกเป็นหลานกันตลอดไป นี่มันผูกมัดไว้ในภพอย่างนี้

หรือผู้ไปเกิดในฉกามาวจรสวรรค์ เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานี้ก็มีความสุขเหลือเฟือแล้ว ไม่สามารถที่จะกอบโกยเอาความสุขนั้นไปหมดได้ เพราะติดอยู่หรือข้องอยู่ในฉกามาวจรสวรรค์ หรือผู้ที่ไปเกิดเป็นรูปพรหม ก็เห็นว่าการได้เกิดเป็นรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว

ผู้ไปเกิดในอรูปพรหม ก็ถือว่าการไปเกิดในอรูปพรหมนี้ก็มีความสุขแล้ว ก็ไม่มีการแสวงหาความสุขอันเกษม ความสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส คือความสุขในพระนิพพาน ก็ไม่มีการแสวงหาอีก

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร ก็เพราะว่าสังโยชน์นั้นเป็นสิ่งที่ผูกรัดใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ข้องอยู่ ให้ติดอยู่ ในภพในภูมิที่ตนเกิดแล้ว

สังโยชน์นั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. สักกายทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุถือตัว คือเห็นว่าร่างกายอันยาววาหนาคืบ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เป็นเรา เป็นตัวของเรา โดยที่ไม่ได้พิจารณาแยบคายให้เห็นแจ้งประจักษ์โดยไตรลักษณ์

คือหลงติดอยู่ในสมมติว่าเป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นฆนะ หรือว่าเป็นก้อน ไม่ได้แยกออกไปว่า รูปนามนี้เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ประชุมกันอยู่ ก็สมมติว่าเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวของเรา คือหลงติดอยู่

แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าได้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดจนสามารถยังมัคคจิตผลจิตให้เกิดขึ้นในใจได้ครั้งหนึ่ง คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ก็เห็นแจ้งประจักษ์ทันทีว่า รูปนามขันธ์ ๕ นี้ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ ประชุมกันเข้าเท่านั้น ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวของเรา ก็เมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน ด้วยอำนาจใดๆทั้งสิ้น ถือว่าทำลายสักกายทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไป

แต่คนส่วนมากที่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็จะพากันยึดมั่นถือมั่นในตัวในตนว่า เป็นเรา เป็นของเรา ที่ทำสงครามประหารกันอยู่ทุกเมื่อทุกวันนี้ก็ดี การทะเลาะเบาะแว้งกัน การโกงกิน การคอร์รัปชั่น การทำลายกัน การประหัตประหารกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะสักกายทิฏฐินี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย

๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาของตน หมายความว่า มีความลังเลสงสัยในข้อปฏิบัติ

สมมติว่า เราได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ได้ฟังครูบาอาจารย์บรรยายธรรมะ นี้เป็นประเภทเบื้องต้น จัดเป็นกามาวจรกุศล ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมประเภทนี้แล้วหรือข้อนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพบุตรเทพธิดาในฉกามาวจรสวรรค์ ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมาว่า เอ๊ะ คนตายแล้วมันเกิดจริงหรือ มันไปเกิดได้อย่างไร เทพบุตร เทพธิดานั้นมีจริงหรือ สวรรค์นั้นมีจริงหรือ ถ้าสวรรค์มีจริง ไหน? ไม่เห็นเลย ไม่เห็นสวรรค์ปรากฏเลย

เครื่องบินบินขึ้นไปบนอากาศก็ไม่เห็นปราสาทวิมานของเทพบุตรเทพธิดา นักวิทยาศาสตร์เขาสามารถไปนอกโลก นำยานอวกาศไปลงบนดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร ดาวศุกร์ เป็นหลายๆล้านกิโลฯ แต่เขาก็ยังไม่เห็นปราสาทของเทพบุตรเทพธิดา คงจะเปล่าละมั้ง คงจะเป็นเรื่องโกหกกัน คงจะเป็นเรื่องหลอกให้หลงเชื่อให้ปฏิบัติตาม ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ในเรื่องการเกิด ในเรื่องวิญญาณ ในเรื่องภพนี้ภพหน้า ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา

ตลอดถึงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ท่านกล่าวไว้ในอดีตน่ะ มีจริงหรือ ดังที่พวกเราทั้งหลายเห็นประชาชนคนไทยทั้งหลายพากันสงสัย พวกเราพากันไปนมัสการพระบรมธาตุ พระธาตุพนมอย่างนี้ คนทั้งหลายก็หาว่าโกหกกัน ไม่ใช่ ไม่มีหรอก ไม่เป็นของจริง เรื่องโกหกพกลมกัน มีในประเทศอินเดียอย่างโน้นอย่างนี้ ก็ไม่ยอมเชื่อ และมีความลังเลสงสัยอยู่ตลอดเวลา

ถ้าพูดเรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน พระธรรมที่ท่านกล่าวไว้ว่า ข้อนี้ประพฤติปฏิบัติแล้วทำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทวดา ข้อนี้ไปเกิดเป็นพรหม ข้อนี้ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้ฌาน ปฏิบัติได้อย่างนี้ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระอริยบุคคล สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วก็จะไม่จมไปสู่อบายภูมิ มีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่ไป ก็เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา ไม่กล้าตัดสินใจ

สำหรับเรื่องพระสงฆ์ก็เหมือนกัน ก็สงสัยว่าพระอริยสงฆ์นี้มีจริงหรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ ก็เกิดความสงสัย พูดเอาง่ายๆ สมมุติว่าเราทั้งหลายอยู่ร่วมกันอยู่ในทุกวันนี้ ในวัดพิชโสภารามนี้ มีพระอริยบุคคลอยู่หรือ หรือว่าในบ้านแก้งเหนือ บ้านคำม่วง บ้านเรืองอุดมนี้ ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมร่วมกันนี้ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้นมีอยู่ด้วยหรือไม่หนอ มันมีความเป็นจริงหรือไม่

ผู้ที่ละกิเลสตัณหาได้นี่ มันละได้จริงๆหรือ เกิดความสงสัยขึ้นมา ที่จริงมันก็น่าจะสงสัยอย่างนั้น สมมุติว่าโลภะความโลภอย่างนี้ ถ้าเราคิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ ไม่น่าจะทำลายได้ เพราะว่ามันมีอำนาจจริงๆ หรือว่าโทสะคือความโกรธอย่างนี้ คิดแล้วมันไม่น่าจะละได้ มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา หรือโมหะความหลงอย่างนี้ มันก็ไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา

ราคะคือความกำหนัดในเพศตรงกันข้ามอย่างนี้ คิดๆแล้วมันไม่น่าจะหมดไปจากจิตใจของเรา หรือว่าความเศร้าโศก โสกะปริเทวะ ความน้อยใจ ความแห้งผากใจ ความขัดใจ ความคับแค้นใจเวลาประสบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง มันไม่น่าจะหมดไปจากจิตจากใจของเรา มันน่าจะมีอยู่อย่างนี้ เพราะว่าถือว่ามันเป็นธรรมชาติของมัน คือเราคิดแล้วว่ามันไม่น่าจะหมดไป

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็หมดไปได้ คือมันมีแล้ว มันเกิดขึ้นมาได้มันก็ดับได้ สิ่งใดมี สิ่งนั้นก็สูญไปได้เหมือนกัน มีร้อนก็ต้องมีเย็น มีชั่วก็ต้องมีดี มีบาปก็ต้องมีบุญ มีโลกิยะก็ต้องมีโลกุตตระ มันเป็นของคู่กันอย่างนี้

แต่สำหรับผู้มีวิจิกิจฉานั้นก็จะเป็นผู้มีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจในข้อวัตรปฏิบัติของตนอยู่ตลอดเวลา พูดธรรมะข้อใดๆก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ตลอดไป ไม่กล้าตัดสินใจได้ นี้เป็นตัววิจิกิจฉา

แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านโสดาปัตติมัคคญาณไปแล้ว คือยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ครั้งหนึ่ง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ หมดความเคลือบแคลงสงสัยในปฏิปทาคือข้อปฏิบัติของตนในทันที

๓. สีลัพพตปรามาส ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเข้าใจว่ามีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นว่า พวกเราทั้งหลายจะเห็นในตำรับตำรา หรือไปเห็นสถานที่ต่างๆ เขามีการบูชายัญ บูชาพระภูมิเจ้าที่ ตั้งศาลพระภูมิไว้ในบริเวณบ้านของตน ในเรือนของตน กราบไหว้ภูเขาแม่น้ำลำธาร ตลอดถึงการทรงเจ้าเข้าผีเป็นต้น โดยเข้าใจว่าการปฏิบัติเช่นนั้นทำให้พ้นทุกข์ ได้รับความสุข ทำให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์

บางทีก็บำเพ็ญตบะ เช่นว่า ถือการกินผลไม้เป็นวัตร ไม่ยอมรับประทานอาหารอย่างอื่น ไม่ยอมรับประทานพวกปลาพวกเนื้อ มีแต่ฉันผักผลไม้ บางทีก็ปฏิบัติเหมือนโค คือเดินเหมือนโค นอนเหมือนโค กินเหมือนโค เวลากินก็ไม่เอามือจับ เอาปากคาบเอาเลย คือโคมันกินอย่างไรก็กินอย่างนั้น เหมือนโคทุกอย่าง บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแพะ เหมือนแกะ เหมือนลา

บางทีก็ปฏิบัติเหมือนสุนัข บางทีก็ปฏิบัติเหมือนแมว คือสุนัขมันเป็นอย่างไร เวลานอนมันนอนอย่างไร เวลากินมันกินอย่างไร แมวก็เหมือนกัน เวลามันเดินมันเดินอย่างไร เวลามันจะนอนมันทำอย่างไร เวลามันกินมันกินอย่างไร ก็ปฏิบัติเหมือนอย่างนั้น

บางทีก็ถือการนั่งตากแดดเป็นวัตร บางทีถือการยืนตากแดดเป็นวัตร หมายความว่า จะนั่งตากแดดอย่างนั้น ทั้งวันก็จะนั่งตากแดดอยู่อย่างนั้น บางทีก็ถือการเดินบนขวากบนหนามหรือการนั่งการนอนบนขวากบนหนามเป็นวัตร โดยเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ ได้บุญได้กุศล หากจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ

บางพวกก็ทำตนให้หมกมุ่นพัวพันอยู่ในกาม คือกามสุขัลลิกานุโยค บางพวกก็ทรมานตนให้ได้รับความลำบากลำบน เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค

สรุปสั้นๆว่า การประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดำเนินไปตามทางของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จัดว่าเป็นสีลัพพตปรามาส

ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถานั้น ถ้าเราอนุโลมลงมามันจะได้กัน ถ้าว่าเป็นธรรมที่จะทำให้พ้นทุกข์ ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนาแล้ว จะไม่ขัดกับหลักของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือจะไม่ขัดกับกฎหลักของพระศาสนาคืออริยสัจ ๔ คืออริยมรรค ๘ ประการนั้น เมื่อย่อลงมาแล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้น เมื่อย่อลงมาก็มี ๓ ประการเท่านั้นคือ (๑) เป็นศีล (๒) เป็นสมาธิ (๓) เป็นปัญญา

เมื่อเรากล่าวมาอย่างนี้ก็พอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ข้อปฏิบัติใดๆที่ขัดกับหลักของศีล ขัดกับหลักของสมาธิ ขัดกับหลักของปัญญา หากว่าขัดต่อหลักทั้ง ๓ ประการนี้ ธรรมะหรือข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส ขอให้เข้าใจง่ายๆอย่างนี้ ถ้าว่าพูดไปอย่างอื่นก็จะเข้าใจได้ยาก

สรุปเอาสั้นๆว่า ข้อปฏิบัติข้อใด ถ้าขัดกับหลักศีลสมาธิปัญญาแล้ว ข้อปฏิบัตินั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นธรรมหรือเป็นสิ่งที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ ไม่สามารถจะออกจากภพชาติได้

สีลัพพตปรามาสนี้ เมื่อผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้ว ก็จะรู้จะเข้าใจได้ทันทีว่า การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ไม่ถูก การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้จึงถูก ก็จะละสีลัพพตปรามาสได้ทันที ไม่ยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติใดๆทั้งสิ้น ที่ขัดต่อหลักอริยมรรค ๘ ประการ หรือขัดกับหลักศีล สมาธิ ปัญญา

๔. กามราคะ ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม คือมีความกำหนัดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ ทั้งที่เป็นวิสภาคารมณ์

หมายความว่า ความกำหนัดในที่นี้ หากว่าพูดถึงบุคคล ก็จะมีความกำหนัดทั้งที่เป็นเพศเดียวกันด้วย ทั้งที่ต่างเพศด้วย ไม่ใช่ว่ากำหนัดเฉพาะเพศตรงข้ามเท่านั้น คือมีความใคร่ ความพอใจ ความชอบใจ ความติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ทั้งที่เป็นสภาคารมณ์ และวิสภาคารมณ์

แต่ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๓ คือสามารถยังอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็สามารถที่จะทำลายกามราคะให้หมดไปจากขันธสันดาน แม้ถ้าว่าผู้นั้นบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็สามารถที่จะบวชอยู่ได้ตลอดชีวิต หากว่าผู้นั้นอยู่ครองฆราวาส ก็จะออกบวช หากว่าไม่ออกบวช ก็จะไม่มีการบริโภคกาม

หากมีสามีภรรยา ก็ต่างคนต่างอยู่ เหมือนกันกับพี่กับน้อง คือจะไม่มีการร่วมสังวาส คือตัดขาดจากกามแล้ว ครั้นจุติแล้วก็จะไม่มาสู่กามภพอีก คือจะไม่มาเกิดในมนุสสภูมิ จะไม่ไปเกิดในเทวภูมิ ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี เมื่อจุติแล้วก็จะไปเกิดยังพรหมโลกในสุทธาวาสพรหมชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

หากผู้ใดมีความมั่นใจว่าเราพ้นแล้วจากกาม ไม่ข้องเกี่ยวในกามแล้ว ในภพนี้ชาตินี้ไม่คิดว่าจะมีลูกมีเมียจะมีลูกมีผัวอีกต่อไป ก็เป็นอันว่าเราประพฤติปฏิบัติจนสามารถยังอนาคามิมรรคอนาคามิผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน เป็นพระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ แล้ว

๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความหงุดหงิดด้วยอำนาจของโทสะ อันนี้ก็เป็นตัวโทสะนั่นเอง คือหมายความว่า เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังมัคคญาณผลญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานครั้งที่ ๓ แล้ว ปฏิฆะความกระทบกระทั่งแห่งจิต หรือความหงุดหงิดในเมื่อกระทบกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับสัมผัสใดๆนั้นก็ไม่มี

รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ที่เกิดขึ้นมา จะเป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ชอบใจพอใจก็ตาม จะเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจไม่พอใจก็ตาม ก็จะไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความกระทบกระทั่งในจิตในใจ จิตใจก็จะเฉยอยู่ตลอดเวลา พูดง่ายๆว่า ไม่โกรธ คือมันจะเป็นเรื่องดีๆเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เรื่องไม่ดีเกิดขึ้นมาก็เฉยๆ เหมือนกับคนไม่มีหัวใจ เหมือนคนใจจืดใจจาง

บางทีดูเหมือนกับคนบ้า ไม่รู้จักดีใจ ไม่รู้จักเสียใจ เขาได้ทองเป็นแท่งๆ ก็เฉยๆ เขาได้เงินเป็นล้านๆบาท หรือเป็นพันๆล้านบาท ก็เฉยๆ ขึ้นไปธนาคารเห็นเงินเขากองพะเนินเทินตั้ง ก็เฉยๆ เหมือนเห็นกระดาษธรรมดา คือความดีใจเสียใจจะไม่มี ใครจะมายั่วมายุยังไงก็ตาม ก็จะรู้สึกเฉยๆอยู่ตลอดเวลา

อันนี้ ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านผู้นั้นสามารถยัง มัคคญาณ ผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้ ๓ ครั้งแล้ว ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ข้อนี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ส่วนมากนักปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

เพราะว่าสภาวะจิตใจของพระอนาคามีกับพระอรหันต์นั้นมันคล้ายๆกัน มันคล้ายคลึงกันจริงๆ ได้บรรลุพระอนาคามีแล้วก็คล้ายๆกับว่าได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ คือว่า เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็คล้ายๆว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น คล้ายๆว่าไม่ได้ทำลายกิเลสตัณหาอะไรให้หมดไปเลย คือใจมันเฉยไปตั้งแต่เราผ่านอนาคามิมรรคครั้งที่ ๓ แล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ก็ได้เบาบางลงไปมาก

สังโยชน์ ๕ ข้อเบื้องต่ำนี้ เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ คือเป็นสังโยชน์อย่างต่ำ หรือว่าอย่างหยาบ

๖. รูปราคะ คือความใคร่ ความพอใจ ความติดใจอยู่ในรูปธรรม เช่น ชอบใจในบุคคลบางคน หรือวัสดุบางสิ่ง หรือในวัตถุอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌาน

มันแปลกนะท่านทั้งหลาย ความรักในเพศเดียวกันอย่างนี้ มันเป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำเหลือเกิน จนไม่อาจหาอะไรมาเปรียบเทียบได้ คือเราจะหาอะไรมาเปรียบมันก็เปรียบไม่ได้ สมมุติว่า พระไปรักสามเณรอย่างนี้ ก็เป็นความรักที่ชุ่มฉ่ำในจิตในใจ ไม่เคลือบแคลงด้วยกิเลสตัณหาอะไรทั้งนั้น

หากไปรักไปชอบเพศที่ตรงกันข้าม เช่นว่า เราเป็นผู้ชายไปชอบผู้หญิงอย่างนี้ ความชอบนั้นก็เรียกว่าเป็นไปโดยธรรม เป็นความชอบที่ไม่เจือด้วยกิเลสตัณหา แต่ในจิตในใจน่ะ คล้ายๆกับว่าความชอบนั้นไม่มีกิเลสตัณหาอะไรทั้งสิ้น นี้มันเป็นอำนาจแห่งอริยมรรคอริยผลทั้งสิ้นอย่างนี้

สรุปอีกอย่างหนึ่งว่า รูปราคะนี้ หมายความว่า จิตใจของผู้ปฏิบัติยังมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจ มีความใคร่อยู่ในรูปธรรม เช่น เราชอบใจในบุคคลบางคน หรือชอบใจวัสดุบางสิ่งบางประการ หรือชอบใจในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งรูปฌาน เช่นว่า เราเจริญสมถกัมมัฏฐาน เอากสิณ ๑๐ มาบริกรรมอย่างนี้ พอดีได้อุคคหนิมิต ได้ปฏิภาคนิมิตขึ้นมา ก็มีความชอบใจพอใจในปฏิภาคนิมิตนั้น

เช่น เราเอาดินมาเป็นอารมณ์อย่างนี้ พอดีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมา ก็เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณีสวยสดงดงาม เมื่อก่อนมันเป็นดินธรรมดา เมื่อมันเกิดปฏิภาคนิมิตขึ้นมาแล้ว จะเห็นดินนั้นมีแสงเหมือนกับแสงพระอาทิตย์แรกอุทัย เห็นดินนั้นเหมือนแก้วมณี ก็จะมีความพอใจชอบใจในสีในแสงนั้นๆที่เกิดขึ้น

กัมมัฏฐานอันอื่นก็ตาม เมื่อปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นมาแล้ว ปฏิภาคนิมิตนั้นจะแปรสภาพเป็นของที่สวยสดงดงามเหมือนกับของมีค่าและวัตถุล้ำค่า ผู้ปฏิบัติที่ยังละไม่ได้ก็จะมีความพอใจชอบใจ มีความติดใจหรือมีความใคร่ในรูปนั้นๆ

๗. อรูปราคะ ความติดใจอยู่ในอรูปธรรม เช่น พอใจในความสุขที่เกิดขึ้น นั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมา เกิดความสุขกายขึ้นมาก็ดี เกิดความสุขใจขึ้นมาก็ดี ก็พอใจ บางทีมีสัญญาคือความจำได้ ของต่างๆที่ล่วงมาเลยมาตั้ง ๑๐, ๒๐, ๓๐ ปี ก็จำได้ หรือว่าเราท่องหนังสืออ่านหนังสือ หรือว่าเราฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่น่าจะจำได้อย่างนี้ก็จำได้ จำได้โดยฉับพลัน จำเนื้อหาสาระได้มาก

สิ่งใดที่ผ่านมา โน้น เมื่ออายุของเรา ๓ ปี เราก็ยังจำได้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ ก็เลยติดอยู่ในสัญญานั้น บางทีเรามีความรู้ความฉลาด ก็ติดอยู่ในความรู้ความฉลาดความสามารถของเรา เรียกว่าติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม เรียกสั้นๆว่า ติดอยู่ในส่วนที่เป็นนามธรรม ตลอดถึงการติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน

ก็อรูปฌานนั้น เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่นว่า เอาวิญญาณคือความรู้ เอาสัญญาคือความจำได้หมายรู้อย่างนี้ มาบริกรรมเป็นอรูปฌาน ก็ติดใจอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ อันนี้ก็เป็นอรูปราคะ

๘. มานะ คือ ความถือตัว สำคัญตัวว่าเป็นโน่นเป็นนี่ เช่นว่า

(๑) เราเป็นผู้เลิศกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๒) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๓) เราเลิศกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที

(๔) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๕) เราเสมอเขา ก็สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๖) เราเสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา หรือบางที

(๗) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา

(๘) เราเลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา

(๙) เราเลวกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา

อันนี้เป็นลักษณะของมานะ

หากว่าผู้ปฏิบัติยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล มานะทั้ง ๙ ประการนี้ก็ยังมีอยู่ในขันธสันดาน โดยเฉพาะว่าเราเลิศกว่าเขาแต่สำคัญว่าเราเลวกว่าเขาอย่างนี้ คือมันเป็นการถ่อมตัวจนเกินไป ไม่เข้าใจฐานะตามความเป็นจริง ก็ถือว่าเป็นมานะ มานะนี้ ผู้ได้สำเร็จอรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว จึงจะละได้

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน คือความคิดพล่าน เช่น นึกอะไรๆก็เกินไปกว่าเหตุ จิตไม่สามารถยับยั้งอยู่ในอารมณ์อันเดียวได้นานๆ แล้วก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ภาษาบ้านเราว่า ตัวทำให้คิดมาก จนจิตไม่สามารถจับอารมณ์เดียวได้นานๆ เดี๋ยวก็คิดโน้น เดี๋ยวก็คิดนี้

ส่วนมาก สิ่งที่เป็นเหตุให้คิดนั้นก็เพราะกุกกุจจะ คือตัวที่ทำให้นึกถึงบาปเก่าที่ทำไว้ และบุญที่ไม่ได้ทำ ก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นมาในจิตในใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุทธัจจะ คือคิดมาก

อย่างพวกเราทั้งหลาย สมมุติว่าเราทำบาปมาก เราล่วงละเมิดศีลของเราอย่างนี้ เมื่อตายแล้วเราอาจไปตกนรก หรือไปเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ได้ทนทุกข์ทรมานอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความคิดมากขึ้นมา เลยกลายเป็นโมหจริตไป

อุทธัจจะ คือคิดมากตัวนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณครั้งที่ ๔ คือยังอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้แล้วโน้นแหละถึงจะละได้ ถ้าไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะละได้ทำลายได้

๑๐. อวิชชา ความเขลา อันเป็นเหตุให้ไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ สรุปแล้วก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือ แม้ว่าการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีมาแล้ว ก็ยังมีอวิชชาอยู่

ความหลงหรือความไม่รู้ในที่นี้ ก็คือความไม่รู้ว่าอาการบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้นจะเป็นอย่างไรหนอ เราไม่รู้ เพียงแค่ว่าเราสำเร็จเป็นพระอนาคามีเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะตัดสินใจว่าสภาวะความเป็นไปของพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร จิตใจของท่านเป็นอย่างไร ในเมื่อบรรลุอริยมรรคอริยผลครั้งที่ ๔ นั้น

การเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการจะเป็นอย่างไร เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นอย่างไร กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง เมื่อมันดับแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ยังมีความข้องใจสงสัยอยู่ แต่เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็หมดความเคลือบแคลงสงสัย ตัวอวิชชานี้ก็หมดไปจากขันธสันดาน



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 ตุลาคม 2560 09:50:59


สังโยชน์ ๑๐ (ต่อ)


สรุปทีนี้

(พระโสดาบัน) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๑ ได้ชื่อว่าบรรลุโสดาปัตติผลญาณ สามารถละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือละสังโยชน์ได้ ๓ ตัว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีคติเที่ยง ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิอีก มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

คือ พระโสดาบันนั้น แม้จะประมาทมากสักปานใดก็ตาม ก็จะไม่เกิดอีกในชาติที่ ๘ คือจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

(พระสกทาคามี) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ เป็นครั้งที่ ๒ ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ผู้ที่สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้วนี้ แม้ไม่สามารถที่จะละสังโยชน์ที่เหลืออยู่ให้หมดไปได้ แต่ก็ทำให้สังโยชน์ที่เหลืออยู่นั้นเบาบางลงไป คือแม้ท่านไม่สามารถละสังโยชน์ตัวใดตัวหนึ่งเพิ่มขึ้นได้อีก แต่ทำให้เบาบางลง ก็สามารถทำลายภพชาตินั้นให้น้อยลงไป

คือหมายความว่า ผู้ที่เป็นพระสกทาคามีนี้ จะมาสู่ภพสู่ภูมิอีกเพียงชาติเดียว คือจะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น พอมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

(พระอนาคามี) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกระทั่งสามารถยังอนาคามิมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์เพิ่มเติมได้อีก ๒ ตัว คือ กามราคะ และปฏิฆะ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพนี้อีก ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายของท่าน เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมในรูปพรหม แล้วก็เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ

(พระอรหันต์) ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ได้ครั้งที่ ๔ ยังอรหัตตมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สามารถละสังโยชน์ได้เพิ่มอีก ๕ ตัว คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ก็เป็นอันว่าพระอรหันต์นั้นสามารถละสังโยชน์ได้ครบทั้ง ๑๐ ตัว

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตามที่หลวงพ่อได้บรรยายมานี้ ก็พอที่จะทำให้ท่านทั้งหลายสามารถตัดสินใจได้แล้วว่า การที่เรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานครั้งนี้ เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร หรือได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็พอที่จะตัดสินใจเอาเองได้แล้วตอนนี้

หากว่าเราได้บรรลุแล้วก็จะได้เบาใจ หลวงพ่อก็สาธุ อนุโมทนา หากว่าเรายังไม่ได้บรรลุ เราก็มีโอกาสแก้ตัวอยู่ เพราะว่าเรายังเหลืออีก ๑๕ วันเศษๆ จึงจะออกจากห้องกัมมัฏฐานแห่งนี้ หรือในครั้งนี้เรายังไม่สามารถแก้ตัว ก็คิดว่าท่านทั้งหลายยังไม่ละสังขารไปในเร็ววัน ในปีนี้หรือปีต่อไป พวกเราทั้งหลายคงจะได้อยู่ในโลกนี้อีกหลายปีอยู่ เราก็มีโอกาสที่จะแก้ตัวได้

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้นำข้อวัตรปฏิบัติที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติมา ไปดำเนินในปฏิปทาให้ถูกต้อง ประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกว่าจะสามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เพื่อว่าจะไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารยาวนานอีกต่อไป

หากว่ายังมีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอยู่ เราก็จะไม่ได้ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน จะมีสุคติเป็นที่ได้ที่ถึง จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมเรื่อง สังโยชน์ ๑๐ ประการ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 02 พฤศจิกายน 2560 11:25:26

(http://www.dhammathai.org/buddha/data/imagedb/35.jpeg)

สิ่งที่วิปัสสนาควรละ (โอฆะ ๔)

ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา คณะแม่ชีทั้งหลาย หลายวันที่ผ่าน ๆ มา ท่านทั้งหลายก็พอที่จะสังเกตได้ว่า ภาคบ่ายนี้ธรรมะเกี่ยวกับการปฏิบัติจะไม่เกิดอาการเครียด คือจะไม่มีอารมณ์เครียด

เพราะว่า ธรรมะที่นำมาบรรยายให้ฟังแต่ละวันๆ ก็เป็นธรรมะที่ทำให้เบาสมอง เป็นธรรมะที่ทำให้สบายใจ ไม่ต้องเครียด เป็นธรรมะที่นำท่านทั้งหลายได้ไปตรวจดูผลของการปฏิบัติของเราว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ เราปฏิบัติได้ผลอย่างไร และเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาไปได้อย่างไร อะไรทำนองนี้

เหตุนั้น ธรรมะอาจจะไม่ได้กล่าวยืดยาวเพียงแต่หัวข้อเล็กๆ น้อยๆ ให้เบาสมอง เป็นวันๆ ไป สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะนำเรื่อง สิ่งที่วิปัสสนาควรละ มาให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา

สิ่งที่ผู้เจริญวิปัสสนาควรละนั้น ก็มีอยู่หลายประการ แต่สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะนำเรื่องของ โอฆะ ๔ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถา ประมาณสักสามนาทีหรือห้านาทีก็แล้วแต่ คำว่า โอฆะ แปลว่า ห้วงน้ำ เพราะว่า เป็นสภาวะที่เหมือนกันกับกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

โอฆะนั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. กาโมฆะ โอฆะคือกาม คือความใคร่อยู่ในรูปของมนุษย์ ทั้งชายทั้งหญิงบ้าง หรือมีความใคร่ความพอใจอยู่ในรูปของสัตว์เดรัจฉาน ทั้งตัวผู้ตัวเมียด้วย หรือมีความใคร่ความพอใจในวัสดุต่างๆ ที่เราได้ประสบ หรือว่ามีความใคร่ความพอใจในเสียงที่ไพเราะ สรุปแล้วว่า มีความใคร่ความพอใจในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

ความใคร่นี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ถอนได้ยาก การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่วนมากนั้น เราข้ามไม่ได้ เมื่อข้ามยากหรือทำจิตทำใจไม่ได้ เพราะจิตใจของเรานั้น มันถูกราคะท่วมจิตท่วมใจของเราอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ไปถูกรูปที่สวยๆ เช่น รูปของผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้เกิดความพอใจ ชอบใจ ติดใจ หลงใหลอยู่ไปในสิ่งเหล่านั้น ความใคร่อย่างนี้ ท่านจึงกล่าวว่าเป็น ดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์

สรุปง่ายๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ตาม มีชีวิตก็ตาม ไม่มีชีวิตก็ตาม เป็นชายก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นของที่มีวิญญาณก็ตาม ไม่มีวิญญาณก็ตาม สิ่งใดที่ทำให้เกิดความใคร่ ความพอใจ คนชอบ และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น สิ่งนั้นแหละถือว่า เป็นกาโมฆะ โอฆะคือกาม

กาโมฆะนี้ เป็นกระแสน้ำที่ท่วมทับใจสัตว์อยู่ ถอนได้ยาก เราทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า บางทีเราไปติดอยู่ในรูป เมื่อก่อนเรายังไม่บวช ก็ไปติด สมมติว่า ไปติดอยู่ในรูปของผู้หญิงอย่างนี้ เรามาบวชแล้วก็ยังไปติดอยู่ ถอนได้ยาก หากว่าเราไปชอบรูปผู้หญิง หรือชอบคนโน้น ชอบคนนี้ บางทีก็นอนไม่หลับ หนักๆ เข้าเป็นประสาท หนักๆ เข้าทำอัตตวินิบาตกรรม ฆ่ากัน ทำลายกัน อะไรจิปาถะ

สัตว์โลกทั้งหลาย เกิดความวุ่นวายทำการประหารกันอยู่ทุกวันๆ นี้ เพราะเรื่องกาโมฆะ เป็นสิ่งสำคัญ บางทีเราเองก็ไปติดเขา เด็กผู้หญิงอายุ ๑๐ ปี, ๑๑ ปี หรือ ๑๒ ปี ก็ต้องเป็นผู้ขายตัวแล้ว นี่มันติดกันอยู่อย่างนี้ เด็กผู้ชาย ๑๑ ปี,๑๒ ปี ไปสุงสิงติดอยู่ในรูปที่เป็นสภาคารมณ์ คือรูปผู้หญิง ถอนตัวได้ยาก เพียงแต่รูปอย่างเดียวเกือบตายแล้ว

พวกเราเจริญพระกัมมัฏฐาน แทนที่จะได้ผ่านไปได้เร็วๆ กลับมาติดอยู่ในรูปนี้ บางทีพรรษาทั้งพรรษา ปีทั้งปี ก็ยังไม่สามารถที่จะยกจิตยกใจให้พ้นจากกระแสของกามนี้ไปได้ หลงใหล ลุ่มหลงอยู่ตลอดเวลา คือว่าเป็นของที่รุนแรงพอสมควร

เพียงพูดย่อๆ อย่างนี้ เราทั้งหลายก็คงพอที่จะรู้ว่า เพียงแต่รูปอย่างเดียวก็เกือบตายแล้ว บางทีอยู่ไม่ได้ต้องลาสิกขาลาเพศไป บางทีต้องทำบาปทำกรรม ในขณะที่เรายังเป็นพระ เป็นเณร เป็นชีอยู่ ถ้าเราตกอยู่ในอำนาจของรูป เพราะมีความใคร่ในรูปนี้

๒. ภโวฆะ โอฆะคือภพ คืออยากอยู่ อยากเป็น อยากมี อยากเกิด ในภพที่ตนชอบ ที่ตนเห็นว่าเป็นสุข เช่น อยากอยู่ อยากเป็น อยากเกิดในภพทั้ง ๓ ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้าหากยังมีความเกิดอีก ก็ขอให้เกิดในมนุษย์นี้

บางคนก็ว่า ถ้าหากข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้ไปเกิดในเทวโลก หรือหากว่า ข้าพเจ้ายังเกิดอีก ก็ขอให้เกิดอยู่ในพรหมโลก แต่ก็ไม่มีใครปรารถนาที่จะไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน

ส่วนมากก็อยากไปเกิดในมนุษย์บ้าง เกิดในเทวโลกบ้าง เกิดในพรหมโลกบ้าง ทำบุญสุนทานอะไรๆ ก็ตาม ก็ปรารถนาแต่อยากไปเกิดในภพในภูมินั้นๆ โดยไม่ได้พิจารณาให้เห็นว่าภพทั้ง ๓ ก็เหมือนกันกับหลุมถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว พร้อมที่จะเผาไหม้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้เกรียมไปหมดไป

ภพทั้ง ๓ ที่ท่านว่าเป็น โอฆะ ก็เพราะว่าภพทั้ง ๓ ยังมีเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ แม้ว่าจะไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เป็นพรหมก็ยังมีเกิด มีแก่อยู่ ยังมีทุกข์ ยังเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาสภาวะที่บังคับบัญชาไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าเราขาดการพิจารณา เพราะตกอยู่ในอำนาจของภวตัณหา เหตุนั้น ความปรารถนาภพ หรือความข้องอยู่ในภพ ติดอยู่ในภพ จึงจัดเป็นโอฆะ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจของสรรพสัตว์อยู่ตลอดเวลา

๓. ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ หมายถึง มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เช่น สัสสตทิฏฐิ คือ เห็นว่าสัตว์โลกนี้เป็นของเที่ยง สมมติว่า คนเรานี้เที่ยง เกิดเป็นอะไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้น เกิดเป็นคนก็จะเป็นคนอยู่อย่างนั้นตลอดไป เกิดเป็นสัตว์อยู่ ก็เป็นสัตว์อยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเรียกว่า สัสสตทิฏฐิ

บางพวกก็เห็นว่าเป็น อุจเฉททิฏฐิ เห็นผิดว่าขาดสูญ คือเห็นว่าเกิดมาเป็นคนนี้ หากว่าตายแล้วก็ขาดสูญ ไม่เกิดในภพหน้าชาติหน้าอีกต่อไป

บางทีก็เป็นประเภท อกิริยทิฏฐิ เห็นว่าไม่เป็นอันทำ เห็นว่าคนฆ่ากัน ทำลายกันก็ไม่เป็นบาป เป็นแต่ธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กัน ก็ทำลายกัน เช่น ธาตุน้ำกับธาตุไฟ มันเป็นปฏิปักษ์ต่อกันก็ทำลายกัน หรือธาตุใดที่เกื้อกูลกัน เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำอย่างนี้ มันก็เกื้อกูลกัน เมื่อเกื้อกูลกัน แล้วก็ทำลายกัน ก็ไม่เป็นบาป ฉะนั้น การฆ่ากันเบียดเบียนกัน ก็ถือว่าไม่เป็นบาป เป็นเพียงธาตุแต่ละธาตุๆ ที่มันเป็นปฏิปักษ์กัน เกื้อกูลกันแล้วก็ทำลายกัน อะไรทำนองนี้ เขาเรียกว่าเป็นพวก อกิริยทิฏฐิ

บางทีก็เป็นประเภท อเหตุกทิฏฐิ คือหาเหตุไม่ได้ ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ถือว่าหาเหตุไม่ได้ เมื่อมันถึงคราวสุขมันก็สุขเอง ถึงคราวทุกข์มันก็ทุกข์เอง ผลของบุญของบาปนั้นไม่มี

บางทีก็เป็นประเภท นัตถิกทิฏฐิ คือ เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มี ขอพูดย่อๆ

มิจฉาทิฏฐินี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์ถอนได้ยาก เหตุนั้น ท่านจึงจัดเป็นโอฆะประการหนึ่ง

ทิฏฐิ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ หากว่ายังไม่สามารถที่จะละได้ ก็ถือว่าเป็นการปิดกั้นพระนิพพาน คือผู้ปฏิบัติ หากว่ามีทิฏฐิดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ถึงจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างไร ก็ไม่สามารถได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน แต่ไม่ห้ามสวรรค์ คือผู้มีทิฏฐิประเภทนี้ยังไปสวรรค์ได้อยู่ และมาเกิดเป็นมนุษย์ได้อยู่ ไปเกิดในเทวโลกได้อยู่ แต่ว่าจะไปพระนิพพานนั้นไม่ได้ หากว่ามีทิฏฐิอยู่อย่างนี้

๔. อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา ความโง่ ความเขลา ความไม่ฉลาด ความไม่รู้ โดยใจความ ก็คือไม่รู้อริยสัจ ๔ คือไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย คือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่รู้นิโรธความดับทุกข์ ไม่รู้มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ โดยมีอวิชชาเป็นรากเหง้า เป็นรากแก้วของกิเลสทั้งหลาย เป็นต้นสายของกิเลสทั้งปวง เป็นสภาวะที่พาให้สัตว์จมอยู่ในวัฏฏะ ล่องลอยอยู่ในสงสารสาคร มองไม่เห็นฝั่งคือพระนิพพาน เหตุนั้น อวิชชาจึงจัดว่าเป็น โอฆะ คือเป็นดุจกระแสน้ำท่วมทับใจสัตว์อยู่ประการหนึ่ง

โอฆะทั้ง ๔ นี้ บางทีก็เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ บางทีก็เรียกว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักดองอยู่ในขันธสันดาน เป็นสิ่งที่วิปัสสนาควรละ นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ยังมีอีก คือเรียกอีกหลายประการ บางทีก็เรียกว่า คันถะ เพราะเป็นเครื่องร้อยรัดใจของสัตว์ทั้งหลายอยู่ตลอดเวลา เช่น

อภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ พยาบาท ความปองร้าย อิทังสัจจาภินิเวส ความยึดมั่นว่า สิ่งนี้มีจริง สีลัพพตปรามาส ความยึดถือศีลพรต คือเห็นว่า(ความบริสุทธิ์ผ่องแผ้วแห่งดวงจิต) มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างโน้นอย่างนี้

สีลัพพตปรามาส นี้ถือว่าเป็นความเห็นผิดจากหลักธรรมของพระศาสนา ดังมีบาลีอภิธรรมว่า เอเตน สีเลน สุทฺธิ เอเตน วตฺเตน สุทฺธิ ฯเปฯ

การสำคัญผิดว่า ถ้าเราประพฤติศีลอย่างนี้ ประพฤติพรตอย่างนี้ จะบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสตัณหา

ความคิดอย่างนี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส ดังที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในเรื่องปริพาชกสองคน คนหนึ่งชื่อ ปุณณะ คนหนึ่งชื่อ เสณียะ

คนหนึ่งประพฤติอย่างนี้ คือไม่กินข้าว กินแต่หญ้า ไม่นุ่ง ไม่ห่ม เปลือยกายล่อนจ้อน ที่นอนไม่นอน ชอบนอนกับดิน ลงโคลนลงเลนไป เหมือนกันกับวัว

อีกคนหนึ่งกินข้าว แต่ไม่กินเหมือนคน เอาปากขม้ำกินเหมือนกันกับสุนัข ผ้าก็ไม่นุ่ง ไม่ห่ม เวลาจะนอน ก็ไปเดินวนก้อนเส้าเตาไฟเหมือนสุนัขเสียก่อน

การที่พวกเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ เพราะมีความเห็นว่า คนที่นุ่งผ้า ห่มผ้า กินข้าวอย่างนั้นเป็นคนมีกิเลส ต้องทำอย่างเขาจึงจะหมดกิเลส

ความเห็นความประพฤติอย่างนี้แหละเรียกว่า สีลัพพตปรามาส ความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ จัดเข้าในทิฏฐิสังโยชน์ ดังบาลีว่า ทิฏฺฐิคตํ ทิฏฺฐิคหนํ เป็นต้นใจความว่า ทิฏฐิ คือความเห็นผิด ความเห็นตกไปในทาง สีลัพพตปรามาส การถือมั่นศีลและพรตว่า(ความบริสุทธิ์)มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้

สรุปแล้วที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาสนี้ คือความประพฤติใดๆ ก็ตามที่ขัดจากอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ สิ่งนั้นถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หากว่าเรายังละไม่ได้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้เลย

สรุปว่า โอฆะทั้ง ๔ ประการ คือ กาโมฆะ โอฆะคือ กาม ภโวฆะ โอฆะคือภพ ทิฏโฐฆะ โอฆะคือทิฏฐิ อวิชโชฆะ โอฆะคืออวิชชา โอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจของสรรพสัตว์อยู่ ละได้ยาก

เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องละโอฆะคือ สภาวะที่ลามกท่วมจิตใจสรรพสัตว์อยู่นี้ ให้หมดไปสูญไปจากขันธสันดานถ้าว่าเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ ยังท่วมจิตใจของเราอยู่ เราก็ไม่มีโอกาสที่จะพ้นจากสังสารจักรไปได้ อุปมาเหมือนดอกบัวที่พ้นขึ้นมาจากน้ำแล้ว หากไม่มีแสงอาทิตย์ ก็ไม่สามารถที่จะบานได้ ข้อนี้ ฉันใด พวกเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน หากว่าเราไม่พยายามละโอฆะทั้ง ๔ ประการนี้ ให้หมดไปจากขันธสันดานแล้ว โอกาสที่จะบรรลุอริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานนั้น ไม่ได้เป็นอันขาด

เอาละท่านทั้งหลาย สำหรับเรื่องโอฆะ หลวงพ่อก็ขอพูดแต่ย่อ ๆ แต่เพียงแค่นี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 พฤศจิกายน 2560 10:12:10

(http://2.bp.blogspot.com/-XnYH79qaTeY/VaXyj8BylCI/AAAAAAAAC8Y/Bs9BHIdLrLg/s1600/15072015_IMG_1436917823_251.jpg)
อุปกิเลส ๑๑ ประการ

สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำมาเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบดีแล้วว่า เป็นมรรคาดำเนินไปสู่อริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นโสดาบันขึ้นไป จนถึงชั้นได้เป็นพระอรหันต์

แต่การดำเนินตามปฏิปทา เพื่อบรรลุสามัญผลนั้น ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางเป็นของธรรมดา การงานทุกอย่าง จะเป็นการงานทางโลกก็ตาม จะเป็นการงานทางธรรมก็ตาม ก็ย่อมมีอุปสรรค การศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จะเป็นนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอกก็ดี ธรรมศึกษาตรี โท เอกก็ดี หรือจะเป็นโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ก็ดี ต้องมีอุปสรรคกีดกันขัดขวางทั้งนั้น

หากว่าคนเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วไม่มีอุปสรรคขัดขวาง ป่านนี้โลกทั้งโลกคงมีแต่ความร่มเย็น ไม่มีสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นมาแทรกแซง ทุกคนคงจะมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาสำหรับบำบัดโรค

หากว่าทุกคนทำงานสำเร็จตามความประสงค์ ตามความตั้งใจทุกประการแล้ว โลกทั้งโลกคงเป็นแดนเทวโลกไป แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นไปตามต้องการของคนเรานั้น เพราะว่าการงานทุกอย่าง ทั้งทางโลกและทางธรรม มีอุปสรรคมากั้นกางขัดขวาง จึงไม่ได้ผลเต็มที่

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลายก็เหมือนกัน ตามปกติถ้าหากว่าผู้ไม่มีอุปสรรคขัดขวางในการปฏิบัติ เราปฏิบัติมาเดือนหนึ่งนั้น สามารถที่จะบรรลุเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามีได้ เพราะว่ากฎเกณฑ์การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถ้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูล และไม่มีอุปสรรคขัดขวางแล้ว ผู้เจริญตอนเช้าย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเย็น ผู้เจริญตอนเย็นย่อมได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตอนเช้า

หรือบางครั้ง ก็ผ่านไปวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน หรืออย่างมากที่สุด การได้บรรลุเป็นพระโสดาบันนี้ หากไม่มีอุปสรรคใดๆ ขัดขวาง ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือน

แต่ที่ไม่อาจเป็นไปตามที่กล่าวมานี้ได้ ก็เพราะว่ามีอุปสรรคเข้ามาขัดขวาง อุปสรรคนั้นมีมากมายหลายประการ แต่จะได้นำมาบรรยายวันนี้ เพียง ๑๑ ประการ[1] คือ

๑.วิจิกิจฉา ความสงสัย ความสงสัยนี้ เราแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

ความสงสัยอย่างต่ำ ได้แก่ สงสัยในเรื่องบาปมีจริงไหม บุญมีจริงไหม เปรตมีจริงไหม อสุรกายมีจริงไหม นรกสวรรค์ พระนิพพานมีจริงไหม นี้เป็นความสงสัยขั้นพื้นฐาน

ความสงสัยอย่างกลาง ได้แก่ การสงสัยซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญสมถภาวนา สภาวธรรมใดๆ เกิดขึ้น มีความสงสัยเอะใจว่า นี้หรือท่านว่า เป็นฌาน เป็นสมาบัติ นี้เป็นปฐมฌานหรือทุติยฌาน ตติยฌานหรือจตุตถฌานหนอ หรือว่าอันนี้เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หรืออย่างไรเป็นต้น จัดเป็นวิจิกิจฉาอย่างกลาง

ความสงสัยอย่างละเอียด เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือเมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานไป จะเกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม เป็นนิมิตเห็นป่าไม้ ภูเขา ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ก็ตาม เกิดปีติ เกิดโอภาสแสงสว่าง เกิดศรัทธา เกิดความเพียร เกิดอุปกิเลสอะไรก็ตาม มีความสงสัยเอะใจขึ้นมาว่า เอ๊ะ นี่อะไรหนอ เพียงแต่เอะใจเท่านั้น ยังไม่ได้คิดอะไรเลย จัดเป็นวิจิกิจฉาแล้ว วิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว

หมายความว่า สิ่งไรที่เกิดขึ้นมาทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางใจก็ดี สภาวะที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า อันนี้อะไรหนอ เพียงแต่ว่า เอ๊ะ เท่านั้น ยังไม่ว่าอะไรหนอ เป็นวิจิกิจฉาแล้ว

วิจิกิจฉานี้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราลังเล ถ้าเป็นไปอย่างสูง เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตของเราพรากจากสมาธิ ตกจากสมาธิ เมื่อจิตของเราตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

เหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงแนะนำพร่ำเตือนอยู่เสมอว่า มีอะไรเกิดขึ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ตาม ขออย่าได้มองเฉยอยู่ ให้กำหนดตามอาการของมัน เช่น เจ็บหนอ คันหนอ ปวดหนอ หรือเฉยหนอ อะไรทำนองนี้

ให้กำหนดตามอาการของมัน อย่าไปมองเฉยอยู่ ไม่รู้จักชื่อหรือไม่รู้จะกำหนดว่าอย่างไร ก็ให้กำหนดว่า รู้หนอๆ เรียกว่ารู้อาการของมัน อย่าปล่อยให้เอะใจ เมื่อเอะใจก็ขาดการกำหนด ทำให้เป็นตัวโมหะ ทำให้กั้นกางสภาวธรรมของเราไม่ให้เจริญขึ้นได้ ขอให้สังวรระวังให้ดี

๒.อมนสิการะ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ปกครองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ ไม่ได้เอา สติ หยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูป ของนาม ของอาการพองอาการยุบ

หรือในเวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาจิต ไม่ได้เอาสติปักลงไปในขณะเดิน ตั้งแต่ เริ่มยก กลางยก สุดยก เราไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาจิต เอาสติหยั่งให้ถึงที่เกิดที่ดับ เราจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม เป็นต้น ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

เมื่อเราไม่ประคองใจ ปล่อยใจไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ในเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ อยู่ก็ตาม ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา

๓.ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน เกิดขึ้นครอบงำจิต ทำให้การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง จิตจับอารมณ์ไม่ได้มั่นคง จิตไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป สัปหงกไปข้างหน้าข้างหลัง หรือข้างซ้าย ข้างขวา หรือหลับไป

หรือบังเอิญเข้าสมาธิไป ก็ไม่สามารถที่จะจำได้ว่า สัปหงกหรือผงะไป หรือนั่งหลับไป ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก หรือตอนที่ภาวนาว่าอย่างไร ก็ไม่รู้ จำไม่ได้ หรือว่าตอนเข้าสมาธินั้น เข้าไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ หรือกำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่าอย่างไรก็จำไม่ได้ ไม่สามารถตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล

๔.ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง หมายความว่าในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว มีตะขาบบ้าง งูบ้าง แมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปีศาจพวกนี้ เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งเกิดความกลัวขึ้นมา บางทีกลัวจะเป็นอันตราย กลัวจะเป็นบ้าเสียสติอะไรทำนองนี้

เมื่อจิตเกิดความกลัวเกิดความสะดุ้งเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ หรือ บางครั้ง จิตก็เกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าเราทำกัมมัฏฐานไป ได้ฌาน ได้สมาบัติ เราจะไม่ได้สิกขาลาเพศไปอยู่กับลูกกับผัว ไปอยู่กับลูกกับเมียอีก นี้ก็คิดขึ้นมา

หรือบางทีก็คิดว่า ถ้าเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปอย่างนี้ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เราคงไม่ได้ลูกได้เมียกับเขา เราคงไม่ได้ลูกได้ผัวกับเขา เพราะหลวงพ่อท่านว่า ถ้าใครบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว สามารถตัดความโกรธ ตัดกามราคะ ให้หมดไปจากขันธสันดาน ไม่มีการสร้างครอบครัวอีกต่อไป เรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว ยังไม่ได้ลิ้มรสทางโลกกับเขาเลยว่าเป็นอย่างไร อย่ากระนั้นเลย เราหยุดเพียงแค่นี้ก็พอแล้ว

เหมือนกันกับหลวงตารูปหนึ่ง ที่มาจากอำนาจเจริญ มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ได้สมาธิ นั่งสมาธิได้นานตั้ง ๖ ชั่วโมง หลังๆ มาแล้วไม่ยอมเดินจงกรม ไม่ยอมนั่งสมาธิเลิกปฏิบัติทั้งๆ ที่ครั้งแรกนั้น ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ พอไปถามว่า ท่านหลวงตา ทำไมไม่เดินจงกรม ทำไมตอนนี้ถึงไม่ปฏิบัติ ท่านก็บอกว่า ผมคิดว่าถ้าผมได้สมาธิอย่างนี้ๆ สมาธิผมดีขึ้นเรื่อยๆ แก่กล้าขึ้นไป ผมคงจะไม่ได้สึก ผมกลัวจะไม่ได้ไปหาลูกหาเมียที่อยู่ทางบ้าน พอพูดเท่านั้นแหละ เพื่อนๆ ก็หัวเราะขึ้นมา เป็นอย่างนี้ กิเลสสามารถที่จะทำให้จิตใจของเราเปลี่ยนแปลงไปได้

๕.อุพพิละ ความตื่นเต้น หมายความว่า แต่ก่อนเรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมดา เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สิ่งอันใดที่ยังไม่เคยรู้ก็รู้ ยังไม่เคยเห็นก็เห็น ยังไม่เคยเป็นก็เป็นขึ้นมา สิ่งอะไรลึกลับ เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดถึงเรื่องอย่างนี้เลย ก็ปรากฏขึ้นมา

บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง เห็นดวงแก้ว เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ บางครั้งนั่งไป ก็เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทพบุตรเทพธิดา บางทีก็เห็นเปรต เห็นอสุรกาย บางครั้งนั่งไป เห็นคนที่ตายไปแล้ว บางครั้งนั่งไปเห็นพ่อเห็นแม่ เห็นครูบาอาจารย์ บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์ เห็นพระพุทธเจ้า ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เราเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้น จิตก็ตกจากสมาธิ วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๖.ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ หมายความว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตามปกติแล้ว ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไร จิตก็ยิ่งประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป จิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

ในทางตรงกันข้าม แทนที่กิเลสหยาบเหล่านี้จะลดลงไป เบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน ยิ่งปฏิบัติไปก็ยิ่งหยาบขึ้นมา ความโลภก็เกิดขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ความโกรธก็ทวีขึ้น ความหลงก็เพิ่มขึ้น

พวกราคะ แทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราคิดดูแล้ว พวกราคะนี้ยิ่งรุนแรง เกิดขึ้นเป็น ๓๐ เท่า ๔๐–๕๐ เท่า บางทีเกิดราคะความกำหนัดอยู่ตั้ง ๓ วันก็มี ๕ วันก็มี ๗ วันก็มี

บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินในนิมิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางครั้งก็ให้ชอบใจพอใจในอารมณ์ต่างๆ นี่แหละ เมื่อเกิด ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบขึ้นมา ยิ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปเท่าไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

๗.อัจจารัทธวิริยะ ทำความเพียรเกินพอดี อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ความเพียรนี้เป็นของดี แต่หากว่ามันเกินพอดี ก็ใช้ไม่ได้ เพราะทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้าเสียสติได้

เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่า ความเพียรเกินพอดี คือเวลาเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลานั่งสมาธิอยู่ก็ดี จะคิดมาก ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง บางที ๑๐ นาที คิดสร้างหนังสือ แต่งหนังสือจบไปเป็นเล่มๆ หรือบางทีคิดอยากสร้างถาวรวัตถุคิดสร้างกุฏิวิหาร ๑๐ นาที เสร็จไปหลายๆ หลัง สามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหารวัดวาอาราม อะไรร้อยแปดพันประการ สร้างวิมานในอากาศ สร้างสมบัติบ้าขึ้นมา

ถ้าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังนี้ แสดงว่าความเพียรเกินพอดีแล้ว เกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้ว คิดมากไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะถ้าความเพียรมากเกินไป สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียสติเป็นบ้าไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามจำปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้

๘.อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเราหย่อนจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

อย่างไรเรียกว่าความเพียรหย่อนเทิบทาบ เช่นว่า วันหนึ่งนี้ ควรที่จะปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๐ ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเราย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีนอกจากชั่วโมงปฏิบัติกัมมัฏฐานไปแล้ว เราไม่ได้ตั้งสติกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไป

เราจะไปห้องน้ำห้องสุขา หรือจะเดินไปฉันภัตตาหาร หรือจะปัดกวาดวิหาร ลานพระเจดีย์ กุฏิที่อยู่อาศัย นุ่งสบงทรงจีวร เหล่านี้เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๙.อภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาปฏิบัติ ส่วนมาก หากว่าเรากำหนดไม่ทัน ก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือบางที เรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า อย่านั่งๆ เรานอนกำหนดดีกว่า หรือว่าการกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก บางทีเวลาเดินจงกรมก็มีเสียงกระซิบว่า อย่าเดินๆ นั่งเอาดีกว่า

บางทีก็กระซิบว่า ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุสกทาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ ขณะนี้เจ้าเป็นพระอรหันต์แล้วนะ เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทโพธิสัตว์นะ อะไรทำนองนี้

หรือบางทีก็กระซิบว่า เจ้านี้เมื่อก่อนทำบาปทำกรรมไว้มาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ไปหาซื้อไก่ซื้อเป็ดมา หรือไปหาขอเอาไก่เอาเป็ดชาวบ้านมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย หรือกระซิบว่า แต่ก่อนนั้นเจ้าได้ฆ่าหมู หากว่าอยากได้ผลจากการปฏิบัติ ต้องเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม ถึงเวลาฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะจูงหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ดังแม่ชีคนหนึ่ง ที่มาจากอำเภอตระการ บางทีก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม บางทีก็เอาหมูมาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม อภิชัปปา นี้ หากว่าเราทำไปตามอำนาจของมัน ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

บางที เรานั่งขัดสมาธิดีๆ มันก็มากระซิบว่า นั่งอย่างนี้ไม่ดี ไปหาหมอนมาพิงจะดีกว่า เหมือนกันกับหลวงปู่เดชา ที่ท่านกลับไปวัดแล้ว เวลาปฏิบัติ อภิชัปปา มากที่สุด เดี๋ยวให้ทำไปอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ท่านหลวงปู่ก็ทำไปตามนั้น แล้วมาเล่าให้ฟัง ก็คิดว่า อย่างนี้ไม่ได้การแล้ว ปล่อยไว้นานจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ก็เตือนไปว่าอย่าทำอะไรตามจิตสั่ง อย่าทำตามอำนาจของกิเลสกระซิบที่จิตเรา กำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคน ให้ทำอัตวินิบาตกรรมฆ่าตัวตายก็ได้ ชี้แจงแสดงไขไปหลายสิ่งหลายประการ ท่านก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติ พวกอภิชัปปานี้ เราพึงสังวรระวังให้มาก บางทีจะกระซิบว่า หยุดการปฏิบัติเสียเถิด ปฏิบัติในชาตินี้เพียงเท่านี้ก็พอ ขั้นสังขารุเปกขาญาณนี้พอแล้ว ไม่สามารถจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมี ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ด้านวิปัสสนากัมมัฏฐานชาตินี้พอแค่นี้ก่อน เพราะเต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่นไป อย่างนี้ก็มี

หรือบางทีก็กระซิบว่า ไม่สามารถที่จะทำไปได้หรอก เพราะยังขาดผู้บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน ก็ต้องสะพายบาตรแบกกลดไปเที่ยวโปรดเขา

บางทีกระซิบมาว่า ไม่ได้ๆ ต้องไปโปรดพ่อแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้ทำบุญร่วมกันมา ได้ปรารถนาร่วมกันมา ต้องไปโปรดพ่อแม่ก่อนจึงจะได้ผล เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง เป็นภาระต้องออกจากห้องปฏิบัติ ไปขอร้องพ่อแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ

เหตุนั้น ขอให้สังวรระวังให้ดี อย่าตกอยู่ใต้อำนาจของมัน และการกระซิบของ อภิชัปปา นี้ บางทีก็เป็นแบบฉุกคิดขึ้นมาเอง ไม่มีเสียง บางทีก็เป็นเหมือนมีผู้มาพูดอยู่ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ข้างหน้าบ้าง หรือเหมือนเทวดาเหาะมาพูดอยู่ข้างบนก็มี หรือมาพูดอยู่ใต้ที่นั่ง ใต้แคร่ใต้เตียงก็มี ได้ยินเสียงพูดมาจากนอกตัวเรา

แต่บางทีมันเกิดขึ้นอย่างแก่กล้า ก็จะมีเสียงดังขึ้นที่หัวใจของเราทีเดียว เกิดขึ้นที่ หทัยวัตถุ ของเรา เหมือนกันกับเราเอาวิทยุไปไว้ภายในอกของเรา ถ้าสภาวธรรมแก่กล้า สมาธิก็แก่กล้าแล้ว เพียงแค่คนอื่นคิดเท่านั้นก็มาดังอยู่ที่หัวใจของเราแล้ว บางทีก็เข้าใจผิดคิดว่าเราได้ ปรจิตตอภิญญาขึ้นมา อภิชัปปา นี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าทำตามอำนาจของอภิชัปปา ก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ได้บรรลุสามัญผลได้

๑๐.นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์นั้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง หลายอย่าง สับสน จับอารมณ์ไม่มั่น เช่น กำหนดว่า พุทโธๆ อย่างนี้ก็คิดว่าใช้ไม่ได้ สู้พองหนอยุบหนอไม่ได้ ก็กำหนดพองหนอยุบหนอไป แล้วก็คิดอีกว่า พองหนอยุบหนอไม่ดี สู้กำหนดว่ารู้หนอๆ ไม่ได้ ก็กำหนดรู้หนอๆ ไป

กำหนดรู้หนอๆ ไป แล้วก็คิดจะกำหนดอย่างอื่นไปอีก บางทีก็กำหนดว่า สัมมาอะระหังๆ บางทีก็กำหนดว่า นะมะพะทะๆ เปลี่ยนไปเรื่อย เดี๋ยวก็ภาวนาบทนั้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้ บางทีก็คิดว่า การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปนามเฉยๆ ไม่ได้ การตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปรมัตถ์แท้

ผลสุดท้ายก็นั่งอยู่เฉยๆ ทั้งวันทั้งคืน ไม่ได้ภาวนา ไม่ได้กำหนดเลย เมื่อจิตจับอารมณ์ไม่มั่น สับสนอย่างนี้หรือปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจจิตอย่างนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๑๑.อตินิชฌายิตัตตา เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเวลาทำกัมมัฏฐาน ก็ตั้งไว้ในจิตในใจว่า นั่งคราวนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น นั่งคราวนี้ จะทำสมาธิ สมาบัติให้เกิดขึ้น เราจะให้ได้อย่างนี้ๆ ในชั่วโมงนี้แหละ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเพ่งเกินไป เร่งเกินไป เพ่งเกินควร

หากว่าการปฏิบัติของเราตึงเครียดเกินไป อย่างนี้ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานอะไรได้ หนักๆ เข้าก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุปกิเลส ๑๑ ประการ มาบรรยายแล้วนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


----------------------------------------------
[1] (สุตฺต. ม. อุปริปณฺณาสก ๑๔/๔๕๙-๔๖๓/๓๐๗)

พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 พฤศจิกายน 2560 16:55:56

(http://www.bodhitree.co.th/media/catalog/category/V04-WS001_600x300pix.jpg)

อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการ

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง อันตรายที่เกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติวิปัสสนา ไม่ให้ได้ผล มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ๑๒ ประการ

อันตรายของวิปัสสนา ๑๒ ประการนั้นคือ

๑.กมฺมารามตา[1] ทำการงานไม่มีสติ คำว่า ทำงานไม่มีสติ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการทำงานใช้กำลังทั่วไป หมายเอาตั้งแต่เรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ดี จะมองซ้าย แลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดจนนุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ เป็นต้น เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ

เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือทำงานทุกสิ่งทุกประการ ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาดห้องนอนก็ดี กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเช่นนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน

การทำความสะอาด จะเป็นภายนอกก็ตาม ถ้าเรารู้จักนำมาใช้เป็นคติเตือนใจ คือนอกจากมีสติทันปัจจุบันแล้ว ก็พิจารณาควบคู่กันไป โดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นว่า ร่างกายของเรานี้ หากว่าอาบน้ำชำระฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากสภาวะความสกปรกฉันใด หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลงลงไปได้แล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้

หรือเมื่อทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราก็พิจารณาควบคู่กันไป เช่นว่าเครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อซักฟอกแล้วก็สะอาด มองดูสวยสดงดงามน่าดู เอามานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาเป็นต้น หากว่าใจของเราสามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย ความชื่นชมมากกว่านี้

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ให้เกิดความเพียรอุตสาหะในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหตุนั้น ในการทำงาน นอกจากจะกำหนดอยู่แล้ว ขอให้พิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการปฏิบัติของเราให้ได้ผลดีขึ้น

๒.นิทฺทารามตา มัวนอน คือนักปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้ วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เหตุไรนอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว ก็เพราะว่าหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานไป จิตตกภวังค์เป็นบางครั้งบางคราว จิตตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเดินจงกรมอยู่ จิตตกภวังค์วับเดียวเท่านั้น อิ่มอยู่ในตัว

ท่านทั้งหลายลองนึกดู เราปฏิบัติในตอนบ่ายนี้ เราเดินจงกรมมาแล้วนั่งสมาธิ ชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่าเหมือนได้สมาธิดี สงบดี พอได้เวลาแล้ว ลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วมานั่ง ชั่วโมงที่สองนี้จะไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยขาดความรู้สึก อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มี เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเราอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำให้หมดความรู้สึก หรือจะเข้าสมาธิไปได้

เหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าธรรมเกิดจริงๆ บางทีนอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็พอแล้ว และสิ่งที่ควรสังวรที่สุดก็คือไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าหากจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตมันอิ่มอยู่ตลอดเวลา และการจำวัดกลางวันนั้น มีโทษหลายอย่าง โดยเฉพาะ ทำให้จิตไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่าย เหตุนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไม่ป่วยแล้ว อย่าจำวัดกลางวัน

๓.ภสฺสารามตา มัวพูดคุย หมายความว่า เลิกจากชั่วโมงปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จก็คุยกันอีก กว่าจะลุกไปปฏิบัติ ก็เกินเวลาไปหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงๆ

พักการปฏิบัติ ก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การพูดคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยไปออกนอกเรื่องของพระ นอกเรื่องของการปฏิบัติ หรือคุยเรื่องของชาวบ้าน ผลสุดท้ายการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล หากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไปสมาธิก็ไม่เกิดปัญญาก็ไม่เกิด

๔.สงฺคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ ก็เป็นอันตรายต่อการประพฤติปฏิบัติ

ดังนั้น การปฏิบัติอยู่ในวัดของเรา หลวงพ่อก็เห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลาว่า ทำไมหนอ เราจึงมาตั้งหลักลงในที่นี้ เพราะว่าในที่นี้ พระเณรอยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ นอกจากจะไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ค่อยยังชั่ว แต่เดี๋ยวนี้มีไฟฟ้าใช้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถก็เกลื่อนกล่นไปหมด เป็นเหตุให้ไม่สบายใจ เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

แต่ก็มีวิธีที่จะเอาชนะได้ โดยพิจารณาว่าช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระหน้าที่ของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ สามเณรก็ทำหน้าที่ของสามเณร นักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา โยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้นมา เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิได้

ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐานเหมือนกัน ผู้ที่กำหนดเสียงอย่างเดียว ก็สามารถบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผลได้ ถ้าปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้ได้สมาธิเร็วที่สุด คือเวลากำหนดภาวนา หากว่ามีเสียงบรรยายธรรมะควบคู่ไปด้วย หรือเปิดเทปธรรมะเบาๆ แล้วก็นั่งสมาธิ กำหนดไปๆ ในที่สุดก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหมือนกับแม่ หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อที่กล่อมลูกของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับ ฉันใด

เมื่อเรากำหนดเสียงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็เข้าสมาธิได้ นี้เรารู้จักใช้ให้เป็น ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็น มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็มีความรำคาญในจิตในใจ มีแต่อยากไปอยู่ภูเขาลำเนาไพร อะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๕.อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้น ในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดความโลภ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะ เป็นต้น ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ แห้งผากใจ เป็นต้น

เหตุนั้น การสำรวมทวารคืออินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้สมาบัติ ไม่สามารถจะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญคือขาดการสำรวมระวังในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอด ในขณะที่กระทบอารมณ์ เช่น เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้

จิตของเราก็ออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูปก็เหมือนกัน จิตก็ออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ได้ธรรมารมณ์ ก็จะออกไปหาอารมณ์เหล่านั้น วิ่งไปหาอารมณ์นั้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถให้สมาธิเกิดขึ้นได้

หรือผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป การเจริญวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นก็ขอให้สำรวมระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ให้ตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดให้ดี

เมื่อเรากำหนดนั้น จิตก็วิ่งออกไปไม่ได้ ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ สมาธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาเกิดถึงที่แล้ว เราก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความตั้งใจ

๖.อโภชเนมตฺตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อันนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเป็นอาหารที่แสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเลย

ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงต่อโรค แต่เป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่น เปรี้ยวเกินไป เค็มเกินไป เป็นต้น ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ อาหารบางอย่าง เช่น พวกนมเนย กระเทียม ของหวานต่างๆ อย่างนี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ เวลาปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่ผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ

อาหารบางชนิดบริโภคเข้าไปแล้ว ก็เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน กะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยนมเนย ก็เป็นเหตุให้ความง่วงเกิดได้เหมือนกัน จึงขอให้สำรวมระวังเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้จิตใจ ทำให้ร่างกายสบาย อาหารประเภทใดทำให้ร่างกาย ทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ใคร่ครวญพิจารณา

อาหารประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคไป อาหารประเภทไหนไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติปฏิบัติ ก็งดเสีย อย่างที่ฉันนมฉันโอวัลตินตอนค่ำนี้ หลวงพ่อไม่ส่งเสริม เพราะเป็นบ่อเกิดของราคะ ก็พวกนม โอวัลติน ไมโล ไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน

เมื่อก่อนนั้นอยู่ที่นี้ หลวงพ่อห้ามฉันเด็ดขาดตั้งแต่เวลาเที่ยงแล้วไป เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะพวกนี้มามากต่อมาก และบางแห่งที่เขาเคร่งครัดเขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาจากไหน จากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันตก มากๆ เข้าก็มีพระหลวงปู่ หลวงตาผู้เฒ่า ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แก่แล้วจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ เลยอนุญาตเฉพาะพระหลวงตาหลวงปู่ ร่างกายมันต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้จะหาอะไรมาเยียวยา เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา

เมื่ออนุญาตให้หลวงปู่ หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอากันไป หลวงพ่อก็ได้แต่ปลง ช่างหัวมันเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ก็ปล่อยให้ไปนรกกัน ดีเหมือนกัน ยมบาลจะได้มีงานทำ ปลงธรรมสังเวชเอา ปล่อยเลยตามเลย ไม่ว่ากระไร จนถึงทุกวันนี้

เหตุนั้นท่านทั้งหลาย ก็ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่าบริโภคเข้าไปแล้วเป็นการสนับสนุนส่งเสริมกามราคะ ก็งดเสีย เห็นว่าร่างกายมันจะสะบักสะบอมเหลือเกิน เพราะได้รับความลำบากจากการเจริญกัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียก อ่อนเพลียเหลือเกิน จะดื่มจะฉัน ก็ให้พิจารณาอยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง ให้ถือภาษิตที่ว่า นิสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญแล้วจึงบริโภค จึงฉันดีกว่า

๗.จิตฺตํ วิมุตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ ไม่พิจารณาจิต คือไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ว่าขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร จิตมีโลภะไหม มีโทสะไหม มีโมหะไหม มีราคะตัณหา อุปาทานไหม เราก็ไม่รู้ จิตของเราเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เราก็ไม่รู้ ไม่ได้พิจารณาติดตามดู

มิใช่ว่าเราจะกำหนดภาวนาเอาอย่างเดียว เราต้องรู้ด้วยว่า ในขณะนั้นๆ จิตใจของเราเป็นอย่างไร มีกิเลสหรืออกุศลเกิดร่วมด้วยไหม หรือมีแต่บุญแต่กุศล หากเราไม่พิจารณาจิต ไม่ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

๘.มิจฺฉาทิฏฺฐิ ความเห็นผิด ความเห็นนี้สำคัญ ถ้าเราเห็นผิดแล้ว การประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาส เช่น จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด

เห็นผิดว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะคือเป็นของสวยของงามเป็นต้น ตลอดถึงมีความเห็นผิดว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี มรรคผล พระนิพพานไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มี

เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว ก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีทุกอย่างไม่อาจที่จะสำเร็จผลได้ตามต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทั้งทางโลกและทางธรรม ความเห็นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้ทำผิด พูดผิด คิดผิด ผลที่เกิดก็เป็นไปตามความคิด เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว สงสัยก็ให้ถามอาจารย์ผู้สอบอารมณ์ หรือครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้ชิด

๙.อนนฺตริยกมฺมํ[2] อนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด มีอยู่ ๕ ประการคือ

๑) มาตุฆาต ฆ่ามารดา

๒) ปิตุฆาต ฆ่าบิดา

๓) อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์

๔) โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป

๕) สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน

ผู้ที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว แม้ว่าเมื่อก่อนจะทำบุญทำกุศล เจริญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม ถ้าว่ามาทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นอันหมดเลย ฌานก็เสื่อม อภิญญาก็เสื่อม และอนันตริยกรรม ๕ นี้ ก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไป

สมมติว่า เมื่อก่อนนี้เราเข้าสมาธิได้ แต่ได้ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ก็เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนเรามีอภิญญาจิต พอไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า อภิญญาจิตก็ไม่เกิด เพราะอนันตริยกรรมต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลแล้ว กรรมอื่นจึงจะให้ผล

ถ้าหากว่าทำยังไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า พ่อแม่ของเรานี้ เราไม่ได้ฆ่าท่าน แต่ทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเราจะสงบหรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีอยู่นั้น กรรมประเภทนี้ก็จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที จิตก็จะพรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

เราจะทำอย่างไรจึงจะให้กรรมนั้นหายไป หากว่าพ่อแม่ยังอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างสถานที่กันไกลกัน ในพรรษาด้วย เราก็เขียนหนังสือไปขอโทษ ขอขมาท่านอย่างนี้ก็ได้ เพียงแค่ท่านรับทราบเท่านั้น กรรมนั้นก็หายไป แต่ถ้าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาที่หลุมฝังศพ ที่อัฐิของท่าน

ถ้าหลุมฝังศพหรืออัฐิไม่มี หรือว่าไม่รู้อยู่ไหน หาไม่เจอเสียแล้ว ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป ๕ รูป ให้เป็นสักขีพยานแล้วขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าคณะสงฆ์ หมายความว่า ขอขมาโทษลับหลังท่าน เมื่อทำดังนี้แล้วก็สามารถปฏิบัติผ่านพ้นไปได้

แต่ถ้าปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ยิ่งละเอียดกว่านี้ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ได้ตั้งอกตั้งใจทำให้ท่านเจ็บใจ หรือไม่สบายใจ แต่คำพูดนั้นไปทำให้ท่านเจ็บใจไม่สบายใจเข้า หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่น คำพูดกระแนะกระแหน เวลามาเจริญสมถกัมมัฏฐาน เช่น เราเพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่อาจที่จะเกิดอุคคหนิมิตได้เลย

บางทีเรานั่งอยู่กับพ่อหรือแม่ของเรา พูดไปพูดมาพูดทีเล่นทีจริง หรือพูดหยอกล้อ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ท่านเจ็บใจหรือไม่พอใจ แต่คำพูดไปกระทบกระเทือนจิตใจท่าน ทำให้ท่านไม่พอใจ หรือไม่สบายใจขึ้นมา เวลาเราไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตเลย หรือเราจะทำกับครูบาอาจารย์ก็เป็นทำนองเดียวกัน

๑๐.วิปาโก คำว่า วิบาก หมายถึง ผลของกรรม หมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้น ความโกรธยิ่งเกิดขึ้น ความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเลย เหตุนั้น เมื่อผลของกรรมคือความโลภ โกรธ หลง ปรากฏเกิดขึ้นอย่างนี้ ก็ขอให้รีบกำหนดให้ทันปัจจุบันในทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป การปฏิบัติของเราจะได้ผลเร็วขึ้น

๑๑.อริยุปวาโท[3] กล่าวร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า หมายความว่า เราไปด่าหรือใส่ร้ายพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้าเข้า

ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ ทั้งพระสงฆ์ ทั้งสามเณร ปะขาว แม่ชี เรียกว่า ประพฤติปฏิบัติเหมือนพระอริยเจ้า คือประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะออกจากกองทุกข์กองกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเราไปกล่าวร้ายใส่ร้ายท่าน ด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี ด้วยผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้เลย

ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตา กับ พระหนุ่ม อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกัน วันหนึ่ง ไปบิณฑบาตร่วมกัน พระหลวงตาปวดท้องอยู่ เมื่อโยมเอาข้าวยาคูกำลังร้อนๆ มาใส่บาตร เมื่อโยมไปแล้ว หลวงตาคิดว่า ขณะนี้เรากำลังปวดท้องอยู่พอดี ถ้าเราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ คงจะทำให้อาการปวดท้องหายไป เมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ก็มองซ้ายแลขวา หาที่นั่ง เห็นขอนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่ง ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูในบาตรมาซดเอาๆ

พระหนุ่มที่เดินตามหลังมา ก็เกิดความละอาย เพราะเป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอเดินไปถึงก็ตวาดว่า หลวงตา ทำไม่ถึงตะกละอย่างนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉยไม่ว่าไร ฉันของท่านไป

พอกลับถึงวัดพระหลวงตาก็ถามว่า คุณ ที่คุณปฏิบัติกัมมัฏฐานมา คุณได้มรรคผลชั้นไหน ผมได้โสดาบันขอรับ เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่ต้องปฏิบัติต่อไปอีกดอก พระหนุ่มได้ฟังก็ได้สติขึ้น พูดว่า หลวงตาโกรธผมหรือ ท่านก็พูดว่า ผมไม่โกรธหรอก คือหลวงตาท่านนั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

เมื่อภิกษุหนุ่มนั้นไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไร ก็ไม่สามารถยังสภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ ผลสุดท้ายต้องขอขมาโทษหลวงตา หลังจากนั้นจึงสามารถปฏิบัติให้ผ่านพ้นไปได้ นี่แหละ อริยุปวาท ก็เป็นเครื่องขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน

๑๒.ปรารถนาพุทธภูมิ หมายความว่า ผู้ใดปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว

จะปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ต้องเกิดอีกหลายกัปหลายกัลป์ จนกว่าจะได้บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมแล้วนั้นแหละ จึงจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่สามารถบรรลุโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ไม่สามารถบรรลุอรหันต์สาวก เพราะว่าได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากเราคิดว่าเกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนถึงขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทนแล้ว หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยม ไม่รู้ว่าจะได้รับทุกข์แสนสาหัสขนาดไหน

เรานึกถึงความทุกข์ที่จะมีแก่เรา ในการที่จะบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่าลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์กราบพระประธาน ตั้ง สัคเค แล้วอธิษฐานใหม่ว่า

แต่ก่อนโน้น ข้าพเจ้าได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้ตั้งจิตปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ ไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมี เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ข้าพเจ้าจึงขอเปลี่ยนคำอธิษฐาน

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกความปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล จนถึงเป็นพระอรหันตสาวกก็พอ ขอทวยเทพนิกรเจ้าเป็นสักขีพยานด้วย

เมื่อเราเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายถึงผู้ที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ คือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์ จากสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งมา เราแก้ได้

แต่ถ้าได้รับพุทธพยากรณ์มาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ เพราะวาจาของพระพุทธเจ้าเป็นวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนคำที่พระองค์ตรัสไว้แล้วได้ แต่เราก็มองดูง่ายว่า ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว หรือยังไม่ได้รับคำพยากรณ์ เราดูที่จิตใจ

ถ้าจิตใจยังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นคง ก็แสดงว่ายังไม่ได้รับคำพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจไม่คลอนแคลน มั่นคง มีทิฏฐิมานะกล้า จนไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้อื่น ถือว่า การปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดา เพราะว่าปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ถือว่ามีธรรมสูงกว่าพระเณรธรรมดา และก็มีจิตใจที่ไม่คิดจะเปลี่ยนคำอธิษฐานเลย แสดงว่าได้รับคำพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา

ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง อันตรายของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


------------------------------------------
[1] (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา ๒๒/๑๘๙-๑๕๐/๑๙๓-๔)

[2] (สุตฺต องฺ. ปญฺจกนิปาตา ๒๒/๓๖๔/๔๘๙)

[3] (วิสุทธิมคฺค ทุติโย ภาโค หน้า ๒๗๔)

พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 10:46:48
(http://icolorielanima.altervista.org/wp-content/uploads/2013/08/Buddhaorizzonte-480x240.jpg)

ชุมทางพระกัมมัฏฐาน

สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ชุมทางกัมมัฏฐาน มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์และท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การงานทั้งทางคดีโลกทั้งทางคดีธรรม จะดำเนินไปด้วยวิธีไหนอย่างไรนั้น ก็ต้องมีการประชุมกัน มีการรวมกัน มีการเสนอข้อคิดเห็นกัน เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด ในทางปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็ต้องมีชุมทางเหมือนกัน คือหมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐาน แล้วก็ดำเนินไปในทางที่ถูกที่ชอบ จึงจะถึงจุดหมายปลายทาง

อุปมาเหมือนกันกับเราเดินทางรถไฟอย่างนี้ รถไฟจากวารินฯ (อำเภอวารินชำราบ) ก็ไปรวมกันที่ชุมทางจังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็จะแยกกัน ใครจะไปสายไหน สายใต้ สายตะวันออก ก็ไปกัน

หรือว่าเราจะไปรถยนต์ก็เหมือนกัน เราจะไปทางไหน เช่นว่า ไปกรุงเทพฯ ก็ไปรวมกันที่ตลาดหมอชิต หลังจากนั้นใครจะไปสายไหน สายเหนือ ใต้ ตะวันออก ก็ไปกันตามความประสงค์ ผู้ที่จะมาอีสานก็มารถขบวนหนึ่ง ผู้ที่จะไปภาคใต้ก็ไปรถอีกขบวนหนึ่ง ข้อนี้ฉันใด

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จะเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม ก็ต้องเดินไปตามลำดับ ให้ถึงชุมทางกัมมัฏฐานเสียก่อน เมื่อไปถึงชุมทางแล้ว ใครสร้างบุญวาสนาบารมีไว้อย่างไรแล้ว ก็ต้องไปตามอำนาจบุญวาสนาของตน บางท่านอาจจะไปทางสมถะ บางท่านอาจจะไปทางวิปัสสนา

ชุมทางกัมมัฏฐานนั้น มีลักษณะดังนี้

บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ในขณะที่หลับตาภาวนาอยู่นั้น อาจจะมีแสงสว่างมาปรากฏ เท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าแสงไฟฉาย เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งไปปรากฏเหมือนคนเอาไฟฉายมาส่องหน้า บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงของตะเกียงเจ้าพายุ บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นแสงไฟฟ้า ไฟนีออน บางครั้งนั่งไปปรากฏเห็นดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็มี

ในขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่ บางครั้งสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเองก็มี บางทีเราเดินจงกรมตอนค่ำๆ ทั้งๆ ที่ดวงตะวันอยู่ทิศตะวันตก แต่เงาของเราก็ไปทางทิศตะวันตก แทนที่จะไปทางทิศตะวันออก หรือบางทีตอนเช้าๆ เราฉันเช้าแล้วไปเดินจงกรม ดวงอาทิตย์อยู่ทางทิศตะวันออก เวลาเราเดิน แทนที่เงาของเราจะไปอยู่ทางทิศตะวันตก กลับอยู่ทางทิศตะวันออก นี้ด้วยอำนาจแสงสว่างเกิดขึ้นทำให้เข้าใจผิด

บางทีสว่างในห้องเหมือนกันกับไม่มีฝากั้น นั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานก็สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เหมือนกับห้องไม่มีฝากั้น ไม่มีกระดานปิด บางครั้งสว่างจนเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ เช่น นั่งไป เห็นพระธาตุพนม เห็นพระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นอุบลฯ เห็นนครราชสีมา เห็นอเมริกา เป็นต้น คือเห็นสถานที่ต่างๆ นั้นมาปรากฏเฉพาะหน้า

บางครั้งสว่างจนเห็นประตูเปิดออก หน้าต่างเปิดออก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ จนต้องลุกไปปิด แต่แล้วประตูหน้าต่างก็ยังปิดอยู่ตามเดิมไม่ได้เปิด บางครั้งสว่างจนสามารถเห็นสวนดอกไม้ มีกลิ่นมีสี สวยสดงดงาม ปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ บางทีสว่างจนเห็นทะเลตั้ง ๑ โยชน์ พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายที่แหวกว่ายอยู่

บางครั้งมีแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของเรา บางทีปรากฏว่ามีแสงสว่างพุ่งออกจากดวงตาทั้งสองข้าง ออกจากศีรษะบ้าง ออกจากหัวใจบ้าง ออกจากมือบ้าง ออกจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งบ้าง พุ่งออกไปภายนอก แต่บางครั้งก็ปรากฏเห็นแสงสว่างพุ่งจากภายนอกมาหาตัวเรา บางครั้งสว่างมากจนสามารถน้อมนึกระลึกแสงสว่างนั้นให้เป็นรูปต่างๆ เป็นรูปช้าง รูปม้า รูปคน ให้เป็นรูปอะไรๆ ก็ได้ นี้ก็เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเจริญพระกัมมัฏฐานจะเกิดขึ้น

บางที ขณะที่นั่งหลับตาภาวนาอยู่นั้น ปรากฏเห็นสีขาวๆ คล้ายๆ ว่า เราจะมองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ในขณะนั้น แต่ว่ามองไม่เห็น บางครั้งทำให้เยือกเย็น ทำให้ขนลุกที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง บางทีทำให้เกิดอาการมึนๆ ตึงๆ หนักๆ ตามร่างกาย จะเดินจงกรมก็คล้ายๆ จะยกขาไม่ขึ้น บางครั้งคล้ายจะเป็นโรคเหน็บชา แต่บางทีก็เกิดน้ำตาไหลออกมา บางครั้งหนังหัวพองสยองเกล้า บางท่านอาจเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานี้ใหญ่ออกๆ บางทีจนเต็มกุฏิก็มี แต่บางทีปรากฏว่าตัวของเราเล็กเข้าไปๆๆ เท่าเด็กน้อยก็มี บางทีปรากฏเห็นแขนของเรายาวออกไป บางครั้งปรากฏว่าฟันของเรายาวออกไปๆ บางครั้งในขณะที่เรานั่งหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายๆ กับพระอาทิตย์แรกอุทัย คล้ายกับสีจีวรของพระภิกษุสามเณร

แต่บางครั้งจะเกิดในจักขุทวารเป็นประกายเหมือนกับสายฟ้าแลบ คือนั่งไปคล้ายกับมีฟ้าแลบอยู่เรื่อย นั่งอยู่ในห้องก็ต้องลุกออกมาดูว่าฝนจะตกหรืออย่างไรก็มี แต่บางทีไม่เป็นเช่นนี้ กลับมีประกายเหมือนดังตีเหล็กไฟ เหมือนขีดไฟแช็ค เป็นประกายออกมาเป็นแสงออกมา

บางทีมีอาการแสบทั่วกาย บางทีกายของเราก็แข็งขึ้นมา เหมือนกับเป็นโรคกระดูกแข็งหรือสันหลังแข็ง แขนแข็งมือแข็งขึ้นมา จะเดินไปก็ลำบาก จะก้มก็ลำบาก เราก็คิดว่าโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน บางทีเป็นดั่งแมลงเม่ามาจับตัวของเราแล้วก็ไต่ไปตามตนตามตัว

บางครั้งก็มีอาการร้อนตามร่างกาย ทั้งที่ฝนตกพร่ำๆ อยู่ก็ร้อนอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าเราเป็นไข้ บางครั้งหัวใจสั่นๆ ไหวๆ คล้ายกับว่าเป็นโรคหัวใจอ่อน บางคนก็คิดว่าจะเป็นบ้า ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป บางครั้งก็ขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีมีอาการคันยุบยิบตามหน้าตาเหมือนมดไต่ ลูบข้างนั้นไต่มาข้างนี้ ลูบที่หน้าไต่ขึ้นไปบนศีรษะก็มี

บางครั้งเป็นดังปลาตอด เป็นดังเส้นเอ็นชักหรือกระตุกขึ้นมา บางครั้งมีอาการเหมือนกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน บางครั้งมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ถ้าใครเคยเทน้ำใส่ไฟหรือเทใส่ดุ้นไฟที่เรายกมาแล้ว เวลาเทน้ำลงไปมันจะเกิดอาการซู่ขึ้น อันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน มีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย ร้อนขึ้นมา

บางครั้งเหมือนกันกับปลาผุดขึ้นในเวลาเราโยนเศษอาหารลงไป เราจะเห็นได้ว่าเวลาเราเอาอาหารให้ปลากิน ปลาอยู่ในสระในน้ำค่อยฟูขึ้น พอดีพ้นน้ำแล้วมันก็จมลงไป อาการเช่นนี้ก็เช่นเดียวกัน คล้ายกับว่ามีอะไรที่มีตัวตนอยู่ในท้องของเรา หรืออยู่ในหน้าอกของเรา ฟูขึ้นมาผิดปกติแล้วก็จมลงไป อันนี้เป็นในผู้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงๆ เป็นส่วนมาก

บางทีทำกัมมัฏฐานไป ทำให้เกิดอาการตัวไหวตัวเอนอยู่ตลอดเวลา บางทีก็ทำให้ตัวเอนไปข้างซ้าย บางทีก็เอนไปข้างขวา หรือเอนไปข้างหน้าข้างหลัง บางทีตัวของเรานี้ก็โยกไปมา บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า บางทีเรานั่งอยู่ดีๆ เหมือนมีคนมาพูดกับเรา เราก็พยักหน้าบ้าง สั่นศีรษะบ้าง บางครั้งมีอาการสั่นๆ บางคนก็สั่นมาก นั่งอยู่บนเตียงก็คล้ายกับเตียงจะคว่ำ นั่งอยู่บนพื้นดินก็สั่นๆ นั่ง ๓๐ นาทีสั่นทั้ง ๓๐ นาทีก็มี นั่ง ๑ ชั่วโมง ก็สั่นทั้งชั่วโมงก็มี เหมือนไข้จับสั่น

บางทีทำให้คล้ายจะอาเจียน บางทีอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี อันนี้เห็นนักปฏิบัติธรรมไปขอยาบ่อยว่า ขอยาแก้อาเจียน ที่จริงมันเป็นลักษณะของสภาวธรรมต่างหาก เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดอาการอยากจะอาเจียน ถ้าอดไม่ได้หรือกำหนดไม่ได้ก็อาเจียนออกมาจริงๆ ถ้าว่าไม่ทานยาเราก็กำหนดไป ผลสุดท้ายก็จะหายไปเอง ทีนี้บางครั้งเป็นดุจระลอกซัด คือเราอยู่ในน้ำแล้วคลื่นซัดมาถูกตัวเรา นี้ก็เป็นแบบเดียวกัน บางทีก็มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ที่ปักไว้ในน้ำไหล เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งภาวนาอยู่นั้น บางทีปรากฏในจักขุทวารเป็นสีเหลืองอ่อน

บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว มีอาการคล้ายจะเป็นไข้ บางคนต้องไปขอยาแก้ไข้ก็มี บางทีมีอาการวูบวาบมาจากข้างล่าง มาจากข้างบน บางท่านเข้าใจว่าเป็นภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางทีเหมือนกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล บางทีมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลียมาก บางครั้งได้ยินเสียงเหมือนใครมากระซิบ เช่น ตอนเช้าดึกๆ ก็มีคนมากระซิบ มาปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียร ลุกขึ้นเดินจงกรม

บางทีก็เหมือนกับได้ยินเสียงพวกเปรตร้องว่า ช่วยด้วยๆ อย่างนี้ก็มี บางทีเหมือนกันกับเสียงภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน บางครั้งเหมือนกับได้ยินเสียงทำวัตรสวดมนต์ บางทีก็ได้ยินเสียงเทศน์เสียงบรรยายธรรม เรื่องเสียงนี้ ถ้าใครสนใจเสียงของอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้นทันที

บางทีทำให้กายของเราสูงขึ้นตามลำดับ เรานั่งอยู่ปรากฏเหมือนกายของเราสูงขึ้นไปครึ่งฟ้า สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ ได้ บางทีตัวของเราเบาเหมือนกับไม่มีน้ำหนัก บางทีเบาจนลอยขึ้น ๑ ศอกบ้างก็มี บางทีนั่งอยู่บนพื้น ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิก็มี บางทีนั่งอยู่ในเรือนตัวเบาลอยขึ้นไปค้างบนขื่อเรือนก็มี บางทีก็ทำให้เกิดอาการลงท้องเป็นบิดจนเข้าโรงพยาบาลก็มี หมายความว่า อาการที่ไม่น่าจะเป็นก็เป็นไปได้ คือตนเองจะเข้าใจว่าเจ็บท้องจริงๆ ท้องเดินจริงๆ บางทีเลือดออกมาเป็นกระโถนก็มี แต่ว่ามันไม่เมื่อย มันธรรมดา

บางทีก็สัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง บางทีคล้ายกับคนมาผลักข้างหลังของเราคะมำไปข้างหน้าบ้าง บางทีคล้ายกับมาผลักข้างหน้าผงะไปข้างหลังบ้างก็มี บางครั้งคล้ายกับคนมาจับศีรษะหมุนไปมา เหมือนคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งอ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง เราจะเห็นบ่อยเวลาทำกัมมัฏฐาน ไปเดินสังเกตดู บางคนก็อ้าปากหุบปาก บางคนก็เคี้ยวปากเหมือนกันกับเคี้ยวอาหาร บางคนก็ทำปากงับๆ เราอาจจะคิดว่าเป็นจิตวิปลาสอะไรทำนองนี้ แต่ความจริงเป็นสภาวะ

บางทีเดินจงกรมไม่ตรง หกคะเมนถลำไป ขณะที่เรากำหนดเดินจงกรมอยู่นั่นแหละว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอเรายกเท้าเดินไปเท่านั้น ก็หกคะเมนถลำไปคล้ายจะล้ม บางทีล้มไปจริงๆ ก็มี บางทีปรากฏว่าตัวของเรานี้ไหลไปค้างอยู่ตามหลังคาโบสถ์บ้าง หลังคาศาลาบ้าง ตามต้นไม้บ้าง บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป คือขณะที่เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ กระโดดแว่บปลิวไปตั้ง ๕-๖ เมตรก็มี

บางครั้งกายกระดิกยกแขนยกเท้า คล้ายๆ กับว่าจะปลิวไปในขณะนั้น บางครั้งกายของเรานี้ก็เงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีมีสีปรากฏคล้ายกับสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น บางทีมือวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับคนมาจับคว่ำลง บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับว่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บางครั้งเวลาเรานั่งอยู่เฉยๆ จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกับต้นอ้อที่เอนไปตามลมขณะที่ลมพัด

บางทีก็จะมีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วกาย ไปตามกาย รู้สึกว่าเย็นชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ร่างกายก็เย็นสบาย จิตใจก็เย็นสบาย คล้ายๆ กับว่าได้บรรลุอมตธรรมแล้ว บางครั้งก็สงบเป็นพักๆ บางครั้งก็คันยุบๆ ตามตัว บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา เดินก็ไม่อยากลืมตา นั่งอยู่ก็ไม่อยากลืมตา บางครั้งก็ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย อยากอยู่นิ่งๆ นั่งอยู่อย่างไรก็อยากนั่งอยู่อย่างนั้น นอนอยู่อย่างไรก็อยากนอนอยู่อย่างนั้น ไม่อยากเคลื่อนไหว ไม่อยากกระดุกกระดิกเปลี่ยนอิริยาบถเป็นอย่างอื่น

บางทีมีอาการซู่ซ่า ตั้งแต่ศีรษะถึงปลายเท้า ตั้งแต่ปลายเท้าถึงศีรษะ เหมือนกับมีตัวอะไรวิ่งอยู่ตามร่างกาย จนขนลุกทั่วตัวขึ้นมา บางทีก็เกิดความกลัวขึ้นมาด้วย ลักษณะอย่างนี้ ควรสังวรระวังเวลาเกิดขึ้น บางทีก็มีอาการเย็นดุจอาบน้ำหรือถูกน้ำแข็ง หรืออยู่ในห้องแอร์ บางทีก็มีสีเหมือนสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้าในเวลานั่งภาวนา

บางทีก็ทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลืมตา อยากหลับตาอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งวันทั้งคืน บางทีก็เกิดอาการสงบเงียบดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้หูยังได้ยินอยู่ บางครั้งใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี ทำให้พอใจในการกำหนด บางทีความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าเราหลับไป บางครั้งร่างกายของเราเบาคล่องดี เวลาเรานอนอยู่ คิดจะตะแคงไปข้างซ้ายข้างขวา เราพลิกนิดเดียวเท่านั้นมันก็ตะแคงไปแล้ว คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เวลาเดินก็คล้ายกับร่างกายไม่มีน้ำหนัก เบาเหมือนปุยนุ่น นั่งอยู่ก็เบาเหมือนปุยนุ่น คล้ายกับว่านั่งอยู่กลางอากาศ

บางทีสมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่จำเป็นจะต้องขะมักเขม้นในการกำหนดแม้แต่ประการใด เพราะจิตใจของเราไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก บางครั้งจิตใจของเรารู้สึกเบาและนุ่มนวลอ่อนโยน คือนอกจากกายจะเบาแล้วจิตใจก็รู้สึกเบาเป็นพิเศษ รู้สึกว่ามีความสุข จิตใจนุ่มนวลอ่อนโยน อุปมาเหมือนกันกับว่าแช่อยู่ในน้ำผึ้งดีๆ น้ำผึ้งแท้สดๆ ชุ่มฉ่ำ หวานเย็นอยู่ตลอดเวลา

ถ้าผู้มีนิสัยดุร้ายเป็นอันธพาล ติดเหล้าเมาสุรา ติดฝิ่นกินกัญชามาแล้ว ก็จะเห็นว่าความประพฤติของเราเมื่อก่อนนั้นไม่ดี เรานี้ห่างไกลจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเกินไป แต่นี้ต่อไปเราจะตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญคุณงามความดี เราจะเลิกละสิ่งเสพติดทั้งปวงนี้ให้ได้ จะสอนตัวเอง นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน

บางทีเวลาทำกัมมัฏฐานไป เกิดความสุขขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก คือมีความสุขความสบายยินดีมาก ทำให้เพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่อยากออกจากการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อยากจะอยู่นานๆ อยากปฏิบัติอย่างนี้ตลอดไป บางคนระงับไม่ไหวจนเปล่งอุทานออกมาว่า สุขหนอๆๆๆ อยู่อย่างนี้ก็มี บางคนภูมิใจดีใจจนระงับไว้ไม่ไหวพูดขึ้นว่า ตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย อย่างนี้ก็มี บางคนก็นึกถึงบุญคุณครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนอบรม บางทีก็เห็นหน้าครูบาอาจารย์มายืนอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับว่าท่านจะมาช่วยเรา มาแนะนำเราในขณะนั้น

บางทีก็มีสีหน้าเบิกบาน อิ่มเอิบอยู่เป็นอันมาก บางครั้งนั่งสมาธิไป เห็นพระพุทธเจ้า ๑ องค์บ้าง ๕ องค์บ้าง ๑๐ องค์บ้าง ๑๐๐ องค์บ้าง บางครั้งนั่งไป เห็นพระอรหันต์เป็นพันองค์บ้าง เป็นเหตุให้เข้าใจผิดนึกอยากจะฟังเทศน์ฟังธรรม ก็นั่งสมาธิไปฟังธรรมกับพระพุทธเจ้า ใครจะเทศน์จะสอนจะแนะนำก็ไม่ฟัง เพราะคิดว่าตัวเองได้ฟังจากพระพุทธเจ้าแล้ว อย่างนี้ก็มี อันนี้เป็นชุมทางกัมมัฏฐานทั้งนั้น

ทีนี้บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เวลานั่งไป เกิดความเชื่อความเลื่อมใสมากเหลือเกิน อยากให้ทุกคนได้เข้าประพฤติปฏิบัติ หรืออยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ครูอาจารย์ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ นั่งไปก็นึกไปอยู่อย่างนี้ บางครั้งก็คิดอยากสนองบุญคุณของสำนัก บางครั้งอยากให้การปฏิบัตินี้ก้าวหน้าไปไกลและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากให้การปฏิบัตินี้แผ่ขยายกว้างขวางออกไป

บางครั้งนั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดอยากทำบุญทำทาน เหตุนั้น เวลาทำกัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อเคยเตือนอยู่เสมอว่า ปัจจัยนั้นให้เก็บไว้ด้วย เวลาศรัทธาเกิด คิดอยากแต่ทำบุญทำทาน เวลากลับบ้านเดี๋ยวจะไม่มีปัจจัยกลับบ้าน ถ้าอยากทำบุญก็หลังจากปฏิบัติปิดภาคแล้วจึงค่อยทำบุญทำทาน ต้องเตือนไว้ เพราะบางคนจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ มีแต่คิดอยากทำบุญทำทาน ทำเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ

แต่บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณผู้ที่ชักชวนตนเข้ามาปฏิบัติ ว่าถ้าไม่มีผู้นี้ชักชวนมาปฏิบัติ เราคงไม่มีโอกาสได้มาสัมผัสธรรมะซึ้งๆ อย่างนี้ ก็คิดอย่างนี้ขึ้นมา บางครั้งก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ นั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็คิดว่า วันนี้เราจะนำเอาอะไรดีหนอไปถวายหลวงพ่อ คิดอยากจะหาโน้นไปถวายหานี้ไปถวายครูบาอาจารย์ บางครั้ง ถ้าผู้ที่อยู่ในบ้านก็อยากออกบวช ถ้าผู้ที่อยู่ในวัดบวชแล้ว ก็อยากไปอยู่ที่สงบ บางท่านก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

บางครั้งก็มีศรัทธาเลื่อมใส แน่ใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษสุด เป็นธรรมที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือนได้ เป็นธรรมที่จะให้ผู้ประพฤติปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลนิพพาน บางครั้งก็อยากไปประกาศให้ชนทั้งหลายได้เข้าประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตสาหะพยายามสั่งสอนให้เป็นคนได้รู้ได้เห็นธรรมโดยไม่คำนึงถึงความลำบากของตัวเอง

บางครั้งไม่เป็นเช่นนั้น เกิดความขยันมากเกินไป ทำความเพียรตลอดทั้งวัน นั่งสมาธิแล้วก็เดินจงกรมอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่เช้าถึงเพล ฉันเพลเสร็จก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ บางทีเดินจงกรมไม่ยอมนั่งเลยก็มี บางทียืนขาเดียวตั้ง ๒-๓ ชั่วโมงก็มี บางครั้งนั่งสมาธิปวดเท่าไรก็อดกลั้นทนทานเอาจน ๒-๓ ชั่วโมงก็มี เรียกว่ามีความเพียรมากเกินไป

บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมตายวันนี้ ถ้าจะตายก็ให้ตาย ยอมตายดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป มีความขยันลุกขึ้นปฏิบัติอย่างกล้าหาญ ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอก ไม่ต้องมีใครเตือน เพียรเองตามธรรมชาติ บางครั้งมีความพยายาม มีความตั้งใจไว้มั่นคง ไม่ยอมให้เสียเวลา ไม่อยากให้ใครมาพูดด้วย ไม่อยากให้ใครมารบกวน อยากปฏิบัติจริงๆ ไม่ยอมหยุดยั้งการปฏิบัติ ไม่ยอมพูดจากับใครๆ แต่บางทีความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน ทำให้คิดฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ กว่าจะเลิกเดินจงกรมก็คิดไปหลายๆ เรื่อง เวลานั่งกัมมัฏฐานก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ นึกอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะเป็นวิปัสสนา กลายเป็นวิปัสสนึกไป เลยไม่ได้อะไร นั่งทั้งชั่วโมง คิดทั้งชั่วโมง

บางครั้งมีสติมากเกินไป เป็นเหตุให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตเรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบัน บางครั้งก็นึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้ว จนคล้ายกับว่าจะระลึกชาติได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง บางทีก็นึกแต่เรื่องอนาคต เช่นว่า เรากลับไปบ้านจะไปสอนพวกนั้น ให้พวกนั้นได้ปฏิบัติอย่างนี้ หรือว่าเราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน จะเทศน์ให้ดี จะสอนให้ดี เป็นต้น

บางครั้งก็อยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผล ให้เจริญกว่าที่เห็นทุกวันนี้ แต่บางครั้งนั่งพระกัมมัฏฐานไป เกิดความรู้ขึ้นมา คือความรู้ที่ยังไม่รู้ก็รู้ขึ้นมา ที่รู้แล้วก็รู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ความรู้ทางด้านปริยัติที่เราเรียนมา บางทีลืมไปนานแล้ว คิดไม่ได้ แต่เวลาทำกัมมัฏฐานไปก็กลับคิดนึกขึ้นมาได้อีก มนต์คาถาที่เราเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากอาจารย์ ไม่ได้ท่องบ่นไม่ได้สาธยายมาตั้ง ๙ ปี ๑๐ ปี ก็กลับท่องได้จำได้สบายก็มี บางคนก็เข้าใจผิดคิดว่าตนเองได้สำเร็จมรรคผลนิพพานแล้ว

บางครั้งก็ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น การเกิดดับ หรือว่าอาการพองเป็นรูปหรือเป็นนาม เหล่านี้เป็นต้น บางครั้งก็นึกถึงหลักฐานที่ตนศึกษาเล่าเรียนมา หรือได้เคยประพฤติปฏิบัติมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าตรงกันไหม ขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น บางทีเวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานนั้น ยังไม่ได้ปัจจุบันธรรม ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก นึกเอาเอง เป็นจินตาญาณ ไม่ใช่ภาวนาญาณ

แต่บางครั้ง เวลาปฏิบัติมักมีอาการหลงๆ ลืมๆ นั่งเฉยๆ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ หรือบางครั้งไม่เห็นพองยุบเลย บางครั้งใจลอยๆ ไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร บางครั้งเห็นพองยุบ บางครั้งไม่เห็น บางครั้งจิตใจดีไม่กระวนกระวาย มีอารมณ์ดีไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด กำหนดได้ดี อารมณ์ดีชั่วไม่ปรากฏมากระทบได้เลย แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มากระทบก็ไม่ยินดียินร้าย แต่ว่าไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์ภายนอก แต่บางครั้งคล้ายๆ กับว่ากิเลสไม่มี บางทีนึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ เกิดอาการเช่นนี้ขึ้นมา นึกว่าตนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็บอกเพื่อนว่า ท่านๆ ท่านลองเอาไม้ตีหัวผมดูซิว่าจะเป็นอย่างไร คืออยากให้เพื่อนตีลองดูว่าจะเจ็บไหม กิเลสยังมีอยู่ไหม ความโกรธยังมีอยู่ไหม สภาวะแบบนี้คล้ายๆ ว่ากิเลสตัณหาหมดไป จิตใจสะอาดจริงๆ

แต่ทีนี้ บางครั้งก็มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความใคร่ในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในสุข ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิดความรู้ ในสติ ในอุเบกขา บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป ปรากฏคนโน้นเอาข้าวมาถวาย เอาอาหารมาถวาย เกิดดีใจขึ้นมา บางทีก็รับเอา บางทีปรากฏเห็นเขาเอากล้วยมาป้อนใส่ปาก ก็หลงเคี้ยวกินไปก็มี บางทีปรากฏเห็นกับข้าวมากมาย

บางท่านก็เห็นพระพุทธรูป เห็นนรก เห็นสวรรค์ พระนิพพาน ก็เกิดมีความพอใจความใคร่ขึ้นมา ทั้งหมดนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

ผู้ที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานจะต้องผ่านชุมทางกัมมัฏฐานดังที่กล่าวมานี้ทุกท่านทุกคน แต่ว่าจะประสบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับบารมีแต่ละท่านละคนที่ได้สั่งสมอบรมมา แต่ต้องผ่านด้วยกันทั้งนั้น เมื่อผ่านชุมทางกัมมัฏฐานนี้แล้วก็จะแยกกัน ทางแยกมีหลายอย่าง ถ้าผู้ใดปราศจากครูบาอาจารย์ หรือว่าตกอยู่ในอำนาจตัณหา มานะ ทิฏฐิ ก็จะพาไปผิดทาง

บางทีก็ไปเล่นทางสายอภิญญา แล้วก็ว่า คนนี้เมื่อก่อนนี้เป็นแม่ของเรา คนนี้เมื่อก่อนเป็นภรรยาของเรา ชาติที่เท่านั้นเท่านี้เคยเป็นป้าของเรา เคยเป็นอาของเรา เล่นไปทำนองนี้ก็มี บางทีก็พาญาติโยมไปทัวร์นรก วันนี้พาไปสวรรค์ วันนี้พาไปพรหมโลก ท่านที่เล่นทางนี้ก็มี เป็นการไปผิดทางเสียแล้ว หลงทางไปแล้ว เลยตกไปในความประมาทอันเป็นทางแห่งความตาย เพราะว่าติดอยู่ในชุมทางกัมมัฏฐานนี้ ออกไม่ได้ไปไม่ได้

ทีนี้ บางท่านได้สร้างสมอบรมบุญบารมีมาทางสายสมถะ เวลามาถึงชุมทางก็ไม่ไปทางวิปัสสนา พอดีเกิดปัสสัทธิเกิดปีติขึ้นมา ก็เลยไปเลย เข้าสู่ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานไป คือจะไปสายสมถะเสียก่อน ดังที่เราทั้งหลายไปฝึกสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว

เวลาปฏิบัติมาถึงนี้เราก็พาปฏิบัติไปทางสายสมถะก่อน เพราะเวลาของเราน้อย มีเวลาเพียง ๙ วัน ๑๐ วัน เราก็พาเดินไปในสายสมถะก่อน เพราะการสอนสายสมถะได้ผลเร็วกว่าวิปัสสนา เมื่อไปสายสมถะ ฝึกสมาธิจนชำนาญในวสีแล้วก็จะยกขึ้นสู่วิปัสสนาต่อไป ถ้าผู้นั้นตามไป ปฏิบัติต่อไปอีก ก็สอนวิปัสสนา ให้แยกกันตรงนี้

แต่ถ้าหากว่าผู้ที่สร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนาภาวนา พอดีมาถึงนี้แล้วก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า รูป นาม ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจังไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องดับไป ปลงปัญญาลงสู่พระไตรลักษณ์เช่นนี้แล้ว หลังจากนั้น วิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ จนเข้าสู่สังขารุเปกขาญาณ เข้าสู่มัคควิถี แล้วก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล วิธีนี้เรียกว่า เดินไปทางสายวิปัสสนา

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจในสิ่งทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้ว่า ผู้ใดเป็นบ้าง ไม่ใช่ว่าเป็นหมดทุกข้อ บางท่านก็เป็นหมด บางท่านก็เป็นเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่จะเป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ท่านจะเป็นข้อไหนก็ตาม แสดงว่าท่านถึงชุมทางกัมมัฏฐานแล้ว

หลังจากนั้น ท่านจะเลือกเอาทางไหน จะไปสายสมถะหรือวิปัสสนา หรือจะไปสายนรก สวรรค์ก็ได้ แล้วแต่ถนัดใจ ถ้าไปไม่ถูกทางก็เป็นบ้า คนจะมาเป็นบ้าอยู่ตรงชุมทางกัมมัฏฐานนี้ คนที่ผูกคอตาย เชือดคอตาย กินยาตาย ก็มาตายอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้

ผู้ปฏิบัติมาหลายปียังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็เพราะว่ามาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานนี้ แต่สำหรับผู้ที่มาติดอยู่ที่ชุมทางกัมมัฏฐานแล้วเห็นว่าเป็นชุมทางกัมมัฏฐานต่างหาก ไม่ใช่เป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน แล้วตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พยายามทำต่อไป ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผล บรรลุพระนิพพาน

เพราะสิ่งทั้งหลายอันเป็นชุมทางกัมมัฏฐานที่เกิดมานี้ ไม่ใช่เป็นของเลว เป็นของดี เกิดจากความประณีตของจิต ขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานไป จิตใจของเราเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิก็ตาม อุปจารสมาธิก็ตาม เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วกิเลสก็เข้าครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระ เป็นจิตที่สะอาด สว่าง สงบเย็น ปราศจากสังกิเลสธรรมทั้งปวง

เมื่อจิตสะอาดปราศจากสังกิเลสธรรมแล้ว จิตใจก็จะสร้างสิ่งทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วขึ้นมาเอง เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว หากเราติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ก็จะพาหันเหไปในทางที่ผิด ทำให้เสียผู้เสียคน หรือเสียจริตไปได้ ถ้าเราสร้างสมอบรมคุณความดีมาทางสายสมถะ ก็จะไปทางสมถะ ถ้าสั่งสมมาทางสายวิปัสสนา ก็จะดำเนินไปสู่ทางวิปัสสนา จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

ดังนั้น จึงขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เวลาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิด ระวังให้ดี อย่าให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เกิดด้วย คือถ้าตัณหาเกิด ก็ทำให้ยินดีในสภาวธรรมเหล่านี้มากเกินไป ทำให้สมาธิตก ปัญญาไม่เกิด แต่ถ้ามานะทิฏฐิเกิด ก็ทำให้เห็นผิด ถือตัวว่าเป็นผู้ได้ถึงธรรมแล้ว ได้บรรลุแล้ว ผลสุดท้ายก็เสื่อมจากผลที่จะพึงได้พึงถึง

สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ขอให้ท่านทั้งหลายสำเหนียกให้ดี อย่าให้สิ่งเหล่านี้ครอบงำจิตใจได้ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ให้กำหนดตามอาการของมันว่า รู้หนอๆ จนมันหายไป แล้วจึงค่อยกำหนดพองยุบต่อไป

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ชุมทางพระกัมมัฏฐาน มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 08:37:39

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcToC1ZtD2DnXdeXP3zUyl1BvN8s4Mm92_ItiKkLfxA0-LWB2ueCsQ)

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ

วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระลูกชีทั้งหลายสืบต่อไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อันตรายของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มิใช่ว่าจะมีเฉพาะที่ได้นำมาบรรยายสู่ฟังนั้น ก็หามิได้ อันตรายอื่นนั้นยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก แต่ว่าวันนี้จะนำมาบรรยายถวายความรู้ เฉพาะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส คือ อุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ ประการ

หมายความว่า การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนูปกิเลสนี้จะต้องเกิดขึ้นแก่ทุกรูปทุกนาม คล้ายๆว่า นี่เป็นหลักสากลของการประพฤติปฏิบัติ จะต้องผ่านด่านนี้ไปเสียก่อนแล้วจึงจะดำเนินไปสู่ปฏิปทา จึงจะดำเนินไปสู่มัคควิถีได้

หลวงพ่อพูดอีกอย่างหนึ่ง ในเวลาประพฤติปฏิบัติจะให้ชื่อเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส นี้ว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน คล้ายๆกับชุมทางรถไฟ ชุมทางจิระ ชุมทางภาชี คือบรรดารถไฟทั้งหลายที่จะไปสายต่างๆ เมื่อไปแล้วก็จะผ่านชุมทางนี้แล้วก็แยกย้ายกันไป อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ดำเนินมาตามลำดับๆ แล้วก็ต้องมาตกอยู่ในภาวะนี้ เรียกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

วิปัสสนูปกิเลสนั้น มีอยู่ ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้

๑. โอภาส แสงสว่าง เมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้

๑) จะมีแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ คือในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะทำให้เห็นแสงสว่างปรากฏขึ้นเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นหมู่ดาว เห็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว

๒) บางทีสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง

๓) สว่างคล้ายกับว่าห้องไม่มีฝากั้น เรานอน เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เรานั่งกัมมัฏฐานในกุฏิก็ดี ในร่มก็ดี ในกลดก็ดี สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏในที่ใกล้ๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระธาตุพนม พระปฐมเจดีย์ เห็นกรุงเทพฯ เห็นประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

๔) สว่างคล้ายๆ กับเห็นประตูเปิดออกๆ บางทีเห็นประตูหน้าต่างมันเปิดออก ผู้ปฏิบัติยกมือไปปิดบ้าง เดินไปปิดบ้าง บางทีเดินเอามือไปปิดบ้าง

บางทีสว่างจนเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม ที่ลานพระเจดีย์ หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง บางทีสว่างจนเห็นทะเล คือนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นทะเลสุดลูกหูลูกตา พร้อมทั้งสัตว์น้ำทั้งหลายมีปลาและเต่าเป็นต้น ที่ลอยแหวกว่ายอยู่ในสายธารนั้น

บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากร่างกายของตัวเอง คือ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจ บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกที่ลูกตา บางทีแสงสว่างพุ่งออกทางศีรษะแล้วก็ลอยออกไปสู่ข้างนอก บางทีเห็นแสงสว่างลอยจากข้างนอกมาสู่ตัวเรา บางทีเมื่อแสงสว่างเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว เราสามารถที่จะน้อมนึกเอาแสงสว่างนั้นเป็นรูปนั้น เป็นรูปโน้น เป็นรูปนี้ได้ นึกให้แสงสว่างนั้นเป็นรูปช้างบ้าง นึกแสงสว่างนั้นเป็นรูปม้าบ้าง หรือนึกให้แสงสว่างเป็นพระพุทธรูป เป็นเจดีย์ ก็สามารถเป็นไปตามใจนึก เป็นลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่า โอภาส แสงสว่าง

๒. ปีติ คือความอิ่มใจ ความเอมอิ่ม ปราโมทย์ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆ น้อยๆ มีลักษณะดังนี้ ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลี ในขณะนั้น คล้ายๆ กับจะเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังมองไม่เห็น

บางทีก็มีอาการเยือกเย็น ขนลุก มึนตึงหนักๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เย็นผิดปกติ บางทีขนลุกซู่ขึ้นมาตามร่างกาย บางทีมีอาการมึนๆ คล้ายๆ ว่าเป็นโรคเหน็บชา บางครั้งมีอาการหนักๆ คล้ายกับว่าเราเป็นโรคเหน็บชา มีอาการผิดปกติ หนักแข้ง หนักขา หนักตามตนตามตัว บางท่านใจอ่อน นึกว่าเราเป็นโรคอัมพาตเป็นโรคเหน็บชา

บางทีนั่งกัมมัฏฐานอยู่ น้ำตามันไหลออกมา หรือเดินจงกรมอยู่ น้ำตามันไหลออกมา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้คิดอะไรมาก นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันไหลออกมา บางทีนึกถึงพ่อแม่ปู่ย่าตายาย น้ำตามันไหลออกมา บางทีหนังหัวพองสยองเกล้า ภาษาบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า ขนหัวลุก เหมือนกันกับพวกผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางครั้งตัวชา ตัวพองขึ้น คือปรากฏว่าตัวของเรานั้นพองขึ้นๆ จนเต็มกลดกัมมัฏฐาน หรือจนเต็มกุฏิกัมมัฏฐาน บางทีปรากฏว่าตัวของเรามันเล็กเข้าไปๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบเท่าเขียดก็มี บางทีปรากฏแขนยาว ขายาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ

หลวงพ่อจะไม่ได้อธิบาย พูดแต่หัวข้อ คือคิดว่าเนื้อความมันก็ชัดอยู่แล้ว หากมันมีอะไรก็ค่อยว่ากันทีหลัง ก็คิดว่าที่นำมาพูดเพียงย่อๆ คิดว่ามันชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่อธิบาย เพราะว่าตามปกติแล้ว แค่พูดตามหัวข้อนี้ก็ต้องใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถ้าเทศน์บรรยายพิสดารก็ใช้เวลามากกว่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พยายามทำความเข้าใจต่อไป

๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะเรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีแดงๆ ด่างๆ คล้ายกับจีวรของพระภิกษุสามเณร คล้ายกับพระอาทิตย์แรกอุทัย บางทีเกิดในจักษุทวารดุจสายฟ้าแลบ คือนั่งกัมมัฏฐานอยู่คล้ายกับสายฟ้ามันแลบ ภาษาอีสานเรียกว่า ฟ้าเลื่อม ภาษาลาวเรียกว่า ฟ้าเลี่ยม มันเกิดอาการคล้ายฟ้าแลบขึ้นมา เห็นแสงฟ้าแลบ

บางทีปรากฏในจักษุทวารนี้เป็นประกายเหมือนกันกับตีเหล็กไฟ คือ เมื่อเราขีดไม้ขีด ขีดไฟแช็ค ภาษาอีสานเรียกว่าไม้ไฟโป๊ก เอาหินมากระทบกัน ปรากฏมีประกายขึ้นมา บางทีแสบทั่วกาย บางทีกายของเรามันแข็งคล้ายกับว่าเป็นโรคตัวแข็ง

บางทีเป็นเหมือนแมลงเม่ามากัดมาไต่ไปตามตนตามตัว บางครั้งร้อนไปตามตนตามตัว บางทีหัวใจสั่นๆ ไหวๆ บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก บางทีคันยุบยิบคล้ายกับมดไต่ไรคลานตามหน้าตาตามตัว ตัวนี้ก็สำคัญอย่างหนึ่ง เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เวลาไปสอบอารมณ์ ส่วนมากครูบาอาจารย์จะถาม นี้เป็นอย่างไร มีอาการคันยุบๆ ยิบๆ ตามใบหน้าและตาไหม ถ้าตอบว่า ไม่มี ก็ถือว่ายังไม่ผ่าน ตามปกติมันต้องเกิดขึ้นทุกรูป คล้ายกับตัวไรมาไต่มาตอมตามหน้าตามตา ไต่ไปข้างนี้ไปข้างนั้น ไต่ข้างนั้นมาข้างนี้เหมือนกับตัวไร

บางทีคล้ายเป็นดั่งกับปลาตอด พวกทั้งหลายที่ลงอาบน้ำ ลงสรงน้ำ คงจะเคยเห็น เวลาเราแช่อยู่ในน้ำ ปลามันมากินเหงื่อกินไคลของเรา กัดที่โน้น กัดที่นี้ อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นไปตามร่างกาย บางครั้งเส้นเอ็นชักเหมือนปลาตอด คือเดินจงกรมอยู่ดีๆ เรานั่งอยู่ดีๆ มันชักกระตุกๆ บางทีเรามองเห็นมีอาการชักขึ้นมาตามร่างกาย ชักกระตุกๆ เป็นแห่งๆ ไป บางคนก็ตกใจ คิดว่าภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน

บางทีมีอาการคล้ายๆ กับน้ำร้อนกำลังเดือดพล่าน เหมือนกันกับเราเอาน้ำใส่ไฟที่กำลังเป็นเถ้าเป็นถ่าน เวลาเราเทลงไปมันจะมีอาการซู่ขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน มันมีอาการซู่ขึ้นมาตามร่างกาย คล้ายกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน

บางทีเหมือนกันกับปลาผุดขึ้น เวลาเราโยนเศษอาหารลงไป คือเวลาเราเลี้ยงปลา เราจะโยนเศษขนมปัง หรือเศษนั้นเศษนี้ลงไป ปลามันก็ค่อยๆ ฟูขึ้นๆ สูงขึ้นๆ แล้วก็สะดุดกึก คล้ายๆ กับว่ามันหายใจแล้วก็จมลงไปๆ สภาวะนี้ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นภายในร่างกายของเรา เหมือนกันกับอยู่ในท้อง อยู่ในทรวงอกของเรา มันฟูขึ้น สูงขึ้นๆ คล้ายๆ กับปลามันหายใจ สะดุด แล้วก็จมลงไป

๓) โอกกันติกาปีติ คือ ปีติเป็นพักๆ มีลักษณะอย่างนี้

(๑) ขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นี้ มีลักษณะตัวไหว ตัวเอน โยก โคลง มีอาการไหวๆ บางทีตัวเราเอนไปข้างซ้ายข้างขวาบ้าง ไปข้างหน้าข้างหลังบ้าง มันนั่งไม่ตรง บางทีก็มีอาการโยกโคลง เวลานั่งไปมันโยกไปโยกมาๆ

(๒) บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า มือของเราวางอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป เท้าของเราวางอยู่ดีๆ นั่งอยู่ดีๆ มันสะบัดพรึดออกไป บางทีก็มีอาการสะบัดหน้า คล้ายกับมีคนมาพูดด้วย บางทีก็พยักหน้า บางทีก็สั่นศีรษะ

(๓) บางทีก็มีอาการสั่นๆ หรือมีอาการสูงๆ ต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียง คล้ายกับตั่งกับเตียงจะพาคว่ำ

(๔) คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆ ก็มี ภาษาอีสานภาษาลาวว่า ปุ้นท้อง คือสิฮาก

(๕) บางทีเป็นดุจระลอกซัด

(๖) มีอาการสั่นระรัวๆ เหมือนกันกับไม้ปักไว้ที่น้ำไหล คือเวลานั่งอยู่คล้ายกับว่าตัวเรามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้ปักไว้ที่น้ำไหล ไม้ที่เราปักไว้มันก็สั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา อย่างนี้แหละ เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอสภาวะอย่างนี้จะเกิดขึ้น ร่างกายของเราจะปรากฏเหมือนกัน

(๗) บางทีมีสีเหลืองอ่อน สีดอกผักตบ ปรากฏเฉพาะหน้า ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นสีเหลืองๆ อ่อนๆ หรือสีดอกผักตบ บางทีกายของเรามันโยกไปโยกมาๆ บางทีมีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาวคล้ายๆ กับจะเป็นไข้ บางทีมีอาการวูบวาบจากข้างล่างขึ้นมาสู่ข้างบน บางทีอาการวูบวาบจากข้างบนไปสู่ข้างล่าง

บางทีคล้ายกับเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล คล้ายกับเราลงไปเดินหรือไปวิ่งอยู่ในน้ำไหล หรือเล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล แทนที่มันจะไปเร็วๆ คล้ายๆ กับมีอะไรมาโต้ไว้ วิ่งไปหรือลอยไป หรือเดินไปไม่สะดวก บางทีได้ยินเสียงเหมือนพรายกระซิบ ตี ๔ คล้ายกับมีคนมาปลุก ลุกๆ ลุกขึ้นทำกัมมัฏฐาน ลุกขึ้นเดินจงกรม อะไรทำนองนี้ มันเกิดขึ้นมา

๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีลักษณะดังนี้ คือ

กายของเรามันปรากฏสูงขึ้นจนเฉียดฟ้าก็มี เมื่อมองลงมาพื้นดิน สามารถมองเห็นสถานที่ต่างๆ เห็นตำบล อำเภอ จังหวัด หรือเห็นไปถึงอนันตจักรวาล มันจะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่อุปนิสัยของผู้ปฏิบัติ

บางทีตัวเบา ตัวลอย บางคนตัวลอยพ้นพื้นขึ้นไป คืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง บางทีลอยไปค้างอยู่บนขื่อเรือนหรือบนต้นไม้ ที่ในห้องกัมมัฏฐานนี้ เมื่อก่อน เวลาประพฤติปฏิบัติ บางทีนั่งอยู่ที่พื้นดิน มันก็ลอยขึ้นไปนั่งอยู่บนกุฏิพระกัมมัฏฐานก็มี บางทีลอยไป รู้สึกตัวขึ้นมาก็นั่งอยู่บนหมอนที่หัวนอน เอ้า ขึ้นมานั่งอยู่บนนี้ได้อย่างไร เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่บนพื้น แล้วมานั่งอยู่บนหมอนบนกุฏินี้ได้อย่างไร

บางทีมันลอยขึ้นไปบนขื่อเรือนก็มี รู้สึกตัวขึ้นมา บางคนก็ร้องไห้ บางคนก็หัวเราะดีใจ แต่เวลาลง ลงไม่ได้ ต้องเอาบันไดไปพาดให้จึงลงมาได้ บางคนเขาเข้าใจว่าตนได้อภิญญาจิต เหาะได้ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ เรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นระดับประเทศ คือในสมัยนั้นหลวงพ่อเป็นสามเณร เขาลงข่าวหนังสือพิมพ์ว่า สามเณรเหาะกับ(ด้วย)วิปัสสนากัมมัฏฐาน พาดหัวข่าวเบ้อเร่อเลย คือมีเรื่องอยู่ว่า

หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรีนั้น จะพาสามเณรน้อยมานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุฯ พอดีตื่นเช้าขึ้นมา สามเณรก็ดีอกดีใจว่าจะได้มานมัสการหลวงพ่อพระพิมลธรรม

ตื่นขึ้นมาก็เดินจงกรมกลับไปกลับมา อุพเพงคาปีติ เกิดขึ้นอย่างแรง ปลิววับโน้น ไปตก(ลง)ที่อยุธยา คิดดูว่า วัดระฆังฝั่งธนบุรีกับอยุธยามันไกลกันขนาดไหน ๒๕ กิโลฯ หรือเท่าใด มันไกลกว่านั้นนะ คิดว่ามันมากกว่านั้น ตีสี่ไปเคาะประตูบ้าน พี่สาวเปิดประตูออกมา เอ๊า น้องเณรมาได้อย่างไร ใครพาน้องเณรมา แต่เวลากลับเหาะกลับไม่ได้ ต้องขี่รถไฟกลับมา มันหมดฤทธิ์แล้ว

ปีนั้นเป็นข่าวเกรียวกราวกัน พอเรื่องนี้เกิดขึ้นมา คนก็เฮโลไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุฯ คนโน้นก็ไป คนนี้ก็ไป จนไม่มีสถานที่ที่จะอยู่ ผลสุดท้าย ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เกิดอิจฉาตาร้อนขึ้นมา เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองก็เข้าใจผิดว่าเป็นคอมมิวนิสต์มันจะยึดประเทศ (ตำรวจ)สันติบาลก็มาจับหลวงพ่อพระพิมลธรรมไปเข้าตะราง อยู่ในตะรางเป็นเวลา ๕ ปีพอดี เพราะเป็นการเข้าใจผิด แต่ผลสุดท้ายท่านก็ออกมาเป็นอิสระ แล้วก็ได้เป็นรักษาการฯ สมเด็จพระสังฆราช

บางทีก็มีอาการท้องเดิน เป็นบิด อาการท้องเดินคือท้องร่วง บางทีก็เป็นบิด จนเข้าโรงพยาบาลก็มี บางทีมีอาการสัปหงกพึบลงไป ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง บางทีคล้ายกับมีคนมาผลักหน้าคะมำลงไป บางครั้งคล้ายกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายกับคอของเราไม่มีกระดูก บางครั้งมีอาการปากงับๆ บ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง นั่งไปเคี้ยวปากไป นั่งไปเคี้ยวปากไป โดยเฉพาะ ส่วนมากจะเป็นเฉพาะกับโยมผู้หญิง

บางทีกายหกคะเมนถลำไป คือมันเดินไม่ตรง บางทีเวลาเรานั่งกัมมัฏฐานไปคล้ายๆ กับว่าตัวของเรามันไหลไปๆ ลอยไปๆ ไปค้างอยู่ต้นไม้บ้าง ค้างอยู่บนเจดีย์บ้าง หลังคาโบสถ์หลังคาวิหารบ้าง คล้ายๆ กับว่ามันไหลไป บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไป

บางคนก็ เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ มันกระโดดปลิววับไป ๕ เมตรก็มี ๑๐ เมตรก็มี โยมแม่ของหลวงพ่อนี้ ในสมัยที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เดินจงกรมอยู่บนบ้าน ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ก็ปลิววับไปจากห้องนี้ไปห้องนั้น ตั้ง ๓ เมตร ๖ เมตร บางทีมันปลิวไปถึง ๖ เมตร ก็มี ถ้าลักษณะอย่างนี้ บางคนก็เข้าใจว่าตัวเองเหาะได้แล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของปีติ

บางทีกายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า บางครั้งกายเงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง พูดง่ายๆ คือนั่งไม่ตรง เอนไปข้างนั้นข้างนี้บ้าง บางทีเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานหลับตาอยู่ ปรากฏเห็นสีไข่มุกสีขี้รม สีรุ้ง บางทีมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับให้คว่ำลงไป บางทีเราหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายกับว่าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางทีเรานั่งอยู่เฉย จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลม

๕) ผรณาปิตี ปีติซาบซ่าน มีลักษณะอย่างนี้

(๑) มีอาการแผ่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย

(๒) สงบเป็นพักๆ

(๓) คันยุบยิบๆ ตามตนตามตัว

(๔) มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา

(๕) ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย

(๖) บางทีมีอาการซู่ซ่า จากเท้าถึงศีรษะ

บางทีมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายกับปลาไหลมันไหลไปตามร่างกายของเรา มันชอนไปตามฝ่าเท้าของเรา ตามแข้งขาจนถึงศีรษะ ขนลุกซู่ทั่วสรรพางค์กาย คล้ายกับผีสิงในขณะนั้น

สมัยที่ปฏิบัติอยู่ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อคิดว่าผีมันเข้าไปสิง คล้ายกับปลาไหลมันชอนไชเข้าที่ฝ่าเท้า วิ่งไปตามแข้งตามขาไปจนถึงศีรษะ แล้วมันมานอนขดอยู่บนศีรษะ แต่เวลาไปเดินจงกรม มันกลับไชลงไปอีกถึงฝ่าเท้าแล้วก็ออกไปเลย เขาก็คิดว่ามันเป็นพวกผีปีศาจ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นลักษณะของผรณาปีติต่างหาก พยายามทำความเข้าใจตรงนี้ หากว่าท่านผู้ใดมีสภาวธรรมกล้าแล้วมันจะเกิดมันจะเกิดอย่างนี้ หรือมันจะมีลักษณะคล้ายอย่างนี้

บางทีกายเย็นดุจอาบน้ำแข็งหรืออยู่ในห้องเย็น บางทีขณะที่เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต บางทีทำให้เพลิดเพลินไม่อยากลุก ไม่อยากกระดุกกระดิกร่างกาย บางทีตาที่หลับอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย อันนี้เป็นลักษณะปีติ

๓. ปัสสัทธิ ความสงบ มีลักษณะดังนี้

๑) มีอาการสงบเงียบ ดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ เยือกเย็นสบาย ไม่กระวนกระวายใจ

๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี

๔) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายกับว่าหลับไป

๕) เบา คล่องแคล่วดี คล้ายกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก

๖) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม

๗) ไม่จำเป็นจะต้องขมักเขม้นในการกำหนดประการใด เพราะใจไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์

๘) ทั้งกายและจิตใจรู้สึกเบา นิ่มนวล แช่มช้อย และอ่อนโยน

๙) ผู้มีนิสัยดุร้าย โหดร้าย หรือเหี้ยมโหดทารุณ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่ว กระทำแต่ความดี บางคนผู้เป็นพาลเกเร เคยกินเหล้าเมาสุรา เคยสูบฝิ่นกัญชา ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้

๔. สุข ความสบายกายความสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความสุข มีความสบาย มีความเอิบอิ่มดีมาก ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน ไม่อยากออก อยากนั่งกัมมัฏฐานอย่างนั้นอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางคนดีใจคล้ายกับจะระงับไว้ไม่ไหว บางคนถึงกับพูดว่า นับตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยได้รับความสุขเช่นนี้เลย บางคนนึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ บางทีเห็นหน้าอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายกับว่าท่านจะมาช่วยเหลือเราอยู่ ในขณะนั้น มีสีหน้าเอิบอิ่ม ร่าเริง เบิกบาน เป็นอันมาก

๕. ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความเชื่อความเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย คนที่รู้จัก เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

บางทีก็อยากสนองบุญคุณของสำนัก สำนักมีพระคุณแก่เราเป็นอันมาก ก็อยากสนองคุณของสำนัก โดยคิดว่าจะไปหาผ้าป่ามาทอด อยากสร้างกุฏิวิหาร อยากหาจตุปัจจัยไทยธรรมมาปรับปรุงแก้ไขห้องกัมมัฏฐานให้ดีไปกว่านี้ อะไรทำนองนี้ มันคิดไปเอง บางทีก็อยากให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ

ข้อนี้สำคัญนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาที่สภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หมดเงินบ้างก็มี คือศรัทธามันแรงกล้า บางคนสามารถที่จะเอาผัวไปทาน เอาเมียไปทาน เอาลูกเอาหลานไปทาน ญาติของหลวงพ่อเคยเป็น

เมื่อก่อนเขาเคยมาบวชอยู่นี้แหละ เคยเอาลูกไปทาน ศรัทธามันแรงกล้า เอาลูกไปทาน เอาภรรยาไปทาน เอาโรงสีไปทาน สมัยนั้น จนตำรวจที่เป็นญาติเอาปืนมายิง ไม่ได้ยิงคน ยิงพระ ยิงขึ้นตรงหน้าจั่ว พวกนี้ถ้าเขาไม่รีบกำหนด มันจะเกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้า

บางที ครูบาอาจารย์มีปัจจัยเท่าไหร่เอาให้หมด พอไม่มีอะไรให้ เลือดที่อยู่ในร่างกายก็เอาไปบริจาค ทั้งที่เพิ่งบริจาคมาไม่กี่วัน ไม่ถึงเดือนก็ไปบริจาคแล้ว จนหลวงพ่อได้เอ็ดเอาก็มี แต่นี้ต่อไปถ้าจะบริจาคโลหิตต้องผ่านหลวงพ่อเสียก่อน ถ้าไม่ผ่านหลวงพ่อแล้ว ห้ามบริจาคเด็ดขาด ก็บอกว่า ผมไม่มีอะไรจะทำบุญทำทาน มีแต่เลือดเท่านั้นที่จะทำบุญทำทาน

หลวงพ่อไม่ห้ามหรอก การทำบุญทำทาน แต่ต้องให้มันครบกำหนดเสียก่อน มันอยู่ในเกณฑ์ที่จะบริจาคจึงจะให้บริจาค คือถ้าจะบริจาคบ่อยๆ ผลกระทบนี้ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบสมองไม่ทัน ทำให้เป็นบ้า

บางที ในขณะที่บิณฑบาตนี้แหละ ก็เลิกบิณฑบาตแล้ว มีอาจารย์รูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ พอดีสภาวะนี้มันเกิดขึ้นแล้วก็เลิกบิณฑบาต เดินจงกรม เดินไปเดินมา ศรัทธามันแรงกล้า บางรูปถวายปัจจัยจนหมด มาปฏิบัติร่วมกันนี้ก็มี หน้าฤดูหนาวก็มี

หลวงพ่อเคยบอกว่า ท่านทั้งหลาย ปัจจัยที่มีอยู่ให้เก็บไว้ให้ดี เวลาจะกลับวัด ทางสำนักไม่มีปัจจัยถวายเป็นค่าพาหนะ เพราะท่านทั้งหลายคงจะทราบว่าสำนักนี้เป็นอย่างไร ญาติโยมมาทำบุญทำทาน เขาจะถวายจตุปัจจัยไทยธรรมไหม เหตุนั้น ท่านทั้งหลายก็เก็บปัจจัยไว้ อย่าได้บริจาคจนหมด เวลากลับบ้านจะได้กลับไปได้อย่างสบาย

บางรูปถวายจนหมด บางทีหลังจากสวดออกอัพภานแล้วก็เข้ามาหาหลวงพ่อว่า หลวงพ่อๆ ผมขอปัจจัยกลับบ้านหน่อยครับ ไม่มีค่ารถกลับบ้าน หลวงพ่อก็บอกแล้วนี่ บอกแล้วก็บอกอีก มีปัจจัยให้เก็บไว้เป็นค่าพาหนะกลับบ้าน เพราะทางสำนักไม่มีปัจจัยที่จะถวาย เพราะว่าแต่ละวัน ค่าน้ำปานะ ค่าอาหาร ก็ไม่พออยู่พอฉันอยู่แล้ว

ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่จำพรรษาด้วยกันเสียก่อน เมื่อใดมีปัจจัยพอเป็นค่าพาหนะแล้วค่อยกลับบ้านก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก อยู่จำพรรษา ๓ เดือน ออกพรรษาแล้วค่อยกลับบ้าน ถ้าอยู่ในภาคฤดูหนาวก็บอกว่า ไม่เป็นไรหรอกท่าน นิมนต์อยู่ด้วยกันเสียก่อน ได้ปัจจัยเสียก่อนแล้วค่อยกลับ มันเป็นไปได้ท่านทั้งหลาย ศรัทธามันกล้า

บางทีก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยไม่นึกถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย บางทีก็อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์ บางทีถ้าอยู่ครองฆราวาสก็อยากออกบวช อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย บางทีก็อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเต็มที่

บางทีก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส เข้าใจว่าธรรมที่ตนปฏิบัติอยู่นี้เป็นธรรมที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมอื่นที่จะเสมอเหมือนได้ และก็เป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน บางทีก็อยากไปประกาศ ไปโฆษณาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจว่า สมัยนี้ มรรค ผล พระนิพพาน ยังมีอยู่ บางทีก็รู้สึกสำนึกในพระคุณของครูบาอาจารย์มาก

๖. ปัคคาหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ

ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุ(เร่งเร้าอีก)ไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ข้อนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย พอความเพียรเกิดขึ้นมา เราต้องมีสติกำหนดให้มันทัน

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความเพียรมันเกิด คือมันคิดมาก นั่ง ๕ นาที คิดแต่งหนังสือจบเป็นเรื่องๆ นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง ถ้าอย่างนี้เรียกว่า ความเพียรมันเกิดขึ้นมาแก่กล้าแล้ว ถ้ามีความเพียรอย่างเดียว สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เป็นบ้าได้

ตัวอย่าง ท่านอาจารย์ที่มาจากอำเภอม่วงสามสิบ ในสมัยนั้น คิดมาก อยากเป็นผู้วิเศษ หลวงพ่อนั่งดูอยู่ นั่งเขียนหนังสืออยู่ เมื่อก่อน เวลาเดินจงกรม หลวงพ่อก็มานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน ดูลูกศิษย์ลูกหาว่าเดินจงกรมถูกไหม การประพฤติปฏิบัติดำเนินไปในทางที่ดีไหม หลวงพ่อดูอยู่

อาจารย์รูปนั้นเดินจงกรมไปก็คุยไป คุยกับคนโน้น คุยกับคนนี้ เราก็ว่า พระองค์นี้มันแปลก ทำไมเป็นอย่างนี้ เดินไปสังเกตดูก็รู้ว่า พระองค์นี้คิดว่าตัวเองได้โทรจิตแล้ว ได้หูทิพย์แล้ว พูดกับคนโน้นกับคนนี้ หลวงพ่อก็จับเลย จับไปกุฏิแล้วก็เอ็ดว่า

คุณ ที่คุณปฏิบัติมา ความรู้ที่คุณปฏิบัติได้นี้มันเท่ากับหางอึ่งเท่านั้นนะ มันยังใช้ไม่ได้ ไป เข้าไปนอนอยู่ในห้องเสียก่อน

พอเข้าไปในห้องแล้วก็ปิดประตู แกล้งเอ็ดเอาแล้วก็ยัดเข้าห้องเลย พอเข้าห้องแล้วก็ปิดประตูล็อกกุญแจไว้ แกก็ทำเสียงดังโครมคราม พอดีความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วทำให้สมาธิมันตก พอสมาธิมันตกแกก็นั่งเงียบ เราก็ค่อยเปิดออก แกก็เข้ามากราบขออภัย กราบขอโทษ ผมเข้าใจผิดว่าผมได้บรรลุอย่างนั้นอย่างนี้

เหตุนั้น เป็นอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย พยายามสังวรระวังให้ดี บางทีก็ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง สู้ตาย หวังจะเอามรรค ผล พระนิพพานให้ได้ บางทีก็ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอดทน ไม่เกียจคร้าน ขยันอดทน มีความบากบั่นไม่ท้อถอย ไม่ต้องมีใครบอกใครเตือน ขยันขึ้นมาเองตามธรรมชาติ

บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง ไม่ยอมเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใคร บางทีไม่ยอมหยุดยั้งในการปฏิบัติ อยากประพฤติปฏิบัติจริง ไม่อยากให้ใครมารบกวนให้เสียเวลา ความเพียรนั้นดีอยู่ แต่สติสัมปชัญญะมันหย่อน เลยทำให้จิตใจฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ

๗. อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

สติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก บางทีนึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมา

บางทีก็นึกถึงอนาคต ผู้ปฏิบัติก็คิดว่า เราออกไปนี้ เราจะไปตั้งห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน จะสอนให้ดี จะเทศน์ให้ดี บางทีคล้ายกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางคนก็ระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี บางทีก็คิดอยากส่งเสริมการปฏิบัติให้ได้ผลและเจริญก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

๘. ญาณะ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ

๑) มีความรู้ทางด้านปริยัติเข้าผสมกันกับด้านปฏิบัติ ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนเองได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้ว

๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น

๓) นึกถึงหลักฐานที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนได้ปฏิบัติจากสำนักครูบาอาจารย์ เอามาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือมันขัดแย้งกันที่ตรงไหน กัมมัฏฐานที่หลวงพ่อสอนอยู่ในขณะนี้มันถูกไหม อะไรทำนองนี้ ชอบหาหลักฐานที่ตนได้เรียนมาได้เคยประพฤติปฏิบัติมา

ส่วนมากท่านนักปฏิบัติปฏิบัติมาถึงตรงนี้ โดยมากผู้ปฏิบัติไม่ได้ปัจจุบันธรรม เป็นจินตาญาณ คือเป็นความรู้ที่นึกที่คิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา แต่ที่จริงไม่ใช่วิปัสสนา เป็น วิปัสสนึก คือ นึกเอาเอง

๙. อุเบกขา ความวางเฉย มีลักษณะ ดังนี้ คือ

ใจเฉยๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ใจหลงๆ ลืมๆ พองยุบก็มัวๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย บางทีก็ใจลอยๆ เลือนๆ คล้ายกับว่าไม่ได้นึกไม่ได้คิดอะไร นั่งก็เหม่อไป เดินจงกรมก็เหม่อไป คล้ายกับไม่ได้กำหนด คล้ายกับไม่ได้คิดอะไรเลย บางครั้งเห็นอาการพองอาการยุบ แต่บางครั้งก็ไม่เห็นอาการพองอาการยุบ มีแต่หนังท้องตึงอยู่ตลอดเวลา

บางทีก็ไม่กระวนกระวายใจ จิตสงบดี บางทีก็ไม่ฟุ้งซ่านหงุดหงิด ไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งสิ้น เมื่อก่อนโน้น อยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ อยากได้โน้นอยากได้นี้ แต่เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงตรงนี้จะรู้สึกไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไร แม้แต่อารมณ์ดีชั่วก็ไม่ปรากฏรบกวนได้เลย นั่งปฏิบัติอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สบายๆ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย แต่ไม่ได้กำหนด ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามอารมณ์เป็นส่วนมาก

บางทีรู้สึกคล้ายกับว่ากิเลสไม่มี คล้ายกับว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันดับไปสูญไปจากขันธสันดานแล้ว คล้ายกับเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว บางทีก็พูดว่าตัวเองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์จริง

มีอาจารย์รูปหนึ่งมาประพฤติปฏิบัติด้วยกัน เวลามีครูบาอาจารย์มาจากที่โน้นจากที่นี้ จะไปคุยอวดตัวเองว่า การปฏิบัติเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ รูปนั้นได้ขั้นนั้น รูปนี้ได้ขั้นนี้ รูปนั้นได้โสดาบัน รูปนั้นได้สกทาคามี รูปนั้นได้อนาคามี ว่าไปว่ามา สำหรับผมนั้น ๒ (ขั้นแล้ว) คือหมายความว่า ตัวเองได้บรรลุสกทาคามีแล้ว คือชอบพูดมาก คล้ายกับตนเองได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว

๑๐. นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ

มีความใคร่ในอารมณ์ต่างๆ เช่นว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้น บางทีก็มีความใคร่ความพอใจในแสงสว่าง ในปีติ ในความสงบ ในความสูญ ในศรัทธา ในความเพียร ในความคิด ในความรู้ ในอุเบกขา ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

บางทีก็มีความใคร่ในนิมิตต่างๆ เช่น นั่งไป เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก แล้วนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก สมเป็นอุปกิเลส แท้ที่จริง สิ่งทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดีนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นของดีอยู่ และก็เกิดจากความประณีตของจิต

เมื่อใดจิตของเรามีสมาธิแล้ว เมื่อนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ก็เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ในขณะนั้นกิเลสตัณหามันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา

เมื่อจิตของเราเป็นอิสระแล้ว มันสร้างสิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เกิดขึ้น หลวงพ่อจึงว่า นี้เป็นอาการของจิต จิตแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา แสดงปรากฏการณ์ขึ้นมา ท่านจึงกล่าวว่า เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่ขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำให้ไม่ได้ผล ที่จัดว่าเป็นอุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจผิดว่า ตนได้บรรลุแล้ว ได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 08:39:34

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcToC1ZtD2DnXdeXP3zUyl1BvN8s4Mm92_ItiKkLfxA0-LWB2ueCsQ)

วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ (ต่อ)

ร้อยทั้งร้อย ท่านทั้งหลาย หากว่าเราไม่มีครูบาอาจารย์อยู่ใกล้ๆ จะเข้าใจผิด ท่านทั้งหลายลองย้อนหลัง จะนึกถึงสภาวธรรมที่หลวงพ่อได้นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เราทั้งหลายเข้าใจผิด บางรูป ๕ ปี ปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ได้ผล ก็เพราะว่ามาหลงติดอยู่ในญาณนี้ บางรูปปฏิบัติ ๑๐ ปี ๒๐ ปี บางรูป ๓๐ พรรษา

บางรูปตั้ง ๔๐ พรรษาที่มาอยู่กับหลวงพ่อ จะเป็น ๔๐ พรรษาหรือ ๕๐ พรรษาอย่างนี้ก็มี มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่กับหลวงพ่อ ท่านก็บอกว่า ท่านได้บรรลุธรรมอย่างโน้น บรรลุธรรมอย่างนี้ แต่ว่าพอเราสอบเข้าไปๆ สอบเข้าไปเรื่อยๆ ถามไปๆ ผลสุดท้ายยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ตกอยู่ในอำนาจของอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะสภาวะที่นำมาบรรยายนี้มันน้อยนิดเดียว ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ สภาวะที่ยังไม่เล่านั้นยังมีมากกว่านี้ แต่ให้เราเปรียบเทียบเอาว่าอะไรเป็นอะไร เปรียบเทียบเอา

สรุปแล้วว่า ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานนั้น ส่วนมากมาติดอยู่ในสภาวะของอุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นอยู่ตรงนี้ จะฆ่าตัวตายก็มาฆ่าตัวตายอยู่ตรงนี้

ตัวอย่าง หลวงปู่ทูล เวลาปฏิบัติ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ท่านว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เวลาจะแนะนำเตือนอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านก็บอกว่า อย่ามาแนะนำผมซิ ผมเป็นพระอรหันต์แล้ว คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ เวลาทานยาปวดหายนั้น ใช้ ๕ ซอง ฉีกรวมกันเลย เมื่อฉีกรวมกันแล้วก็ฉันทีเดียว เราก็บอกว่า หลวงปู่อย่าฉันมากเกินไป มันบีบหัวใจ คุณเป็นพระอรหันต์หรือ คุณยังเป็นปุถุชนอยู่ คุณจะมาสอนพระอรหันต์อย่างฉันได้อย่างไร ว่าเลย

อีกอาจารย์หนึ่ง อาจารย์วิเชียร อยู่ถ้ำพวง เมื่อก่อนสภาวะเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว คิดว่าจะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ นิพพานอยู่ใกล้ จะไปนิพพาน ผลสุดท้าย ก็เอามีดโกนมาเชือดคอตัวเองตาย มันเป็นอย่างนี้

เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจะเสียก็เสียอยู่ตรงนี้ ถ้าจะเป็นบ้าก็เป็นบ้าอยู่ตรงญาณนี้ จะฆ่าตัวตาย ส่วนมากก็เป็นอยู่ตรงญาณนี้ แต่ถ้าว่ามันผ่านสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไปได้ คนนั้นก็มีหวังได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท

แต่ที่ท่านจัดว่าเป็นอุปกิเลสเครื่องขัดขวางไม่ให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น ก็เพราะว่า เมื่อประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้ เกิดตัณหา มานะ ทิฏฐิ คือตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดร่วม ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า นึกว่าตนได้สำเร็จแล้ว มานะคือความถือตัว ทิฏฐิคือความเห็นผิด มานะทิฏฐิ ความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ว่าตนได้บรรลุแล้ว ตนได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพานแล้ว

เวลาทำกัมมัฏฐานไป บางรูป เวลาสภาวธรรมมันเกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนไปๆ ท่านมาบอกว่า หลวงพ่อ ผมได้สมาบัติ ๘ แล้ว ผมได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานแล้ว ผมได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว อย่างนี้ก็มี คือมันสำคัญผิด ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าจะไม่ให้มันหลงผิดเป็นเด็ดขาด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาจริงๆ มันหลงผิดนะท่านทั้งหลาย

ทุกสิ่งทุกอย่างคล้ายกับเป็นความจริง เช่น ปรจิตตญาณ คือ รู้วาระจิตของผู้อื่น รู้ความคิดของผู้อื่น รู้ใจของผู้อื่น เวลามันเกิดขึ้นมาคล้ายกับว่าเราได้บรรลุจริงๆ คนโน้นเดินมา คนนี้มาหา เขายังไม่มาถึง ทางนี้รู้ก่อนแล้ว พอดีมาถึงก็ทักเอาเลย คุณเป็นอย่างนี้นะ คุณพูดอย่างนี้นะ มันรู้เลย คล้ายกับว่าเราได้บรรลุแล้ว

แต่พอดีสภาวะมันเสื่อมลงไป ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเลย มันหลอกตัวเอง สรุปแล้วว่า สภาวะทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ มันดีอยู่ สภาวะนี้เกิดขึ้นจากความบริสุทธิ์ของจิต เมื่อจิตบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้ว ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา มันก็สร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่ที่ท่านเรียกว่าเป็น อุปกิเลส เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว ตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม เมื่อตัณหา มานะ ทิฏฐิ มันเกิดพร้อม ตัวอวิชชาก็เกิดขึ้นมาด้วย อุปาทานมันก็เกิดขึ้นมาด้วย ผลสุดท้ายทำให้หลงผิด

แต่ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วเราไม่หลงผิด อะไรเกิดขึ้นมาเราก็กำหนด รู้หนอๆ อะไรเกิดขึ้นมาก็กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง กำหนดรู้แล้วก็ปล่อยวาง ไม่จัดเป็นอุปกิเลส และไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจตามนี้

และต่อไปท่านทั้งหลาย มีสภาวะอย่างหนึ่งที่จะพึงสังวร คือเมื่อมันเกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดความกลุ้มใจ ระวังให้ดี เกิดกลุ้มใจ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น เลิกทำกัมมัฏฐานต่อไป อยากกลับวัด อยากกลับบ้าน ขี้น้อยใจ ครูบาอาจารย์ทำไม่ถูกใจ บางทีครูบาอาจารย์พูดนิดพูดหน่อยก็ไม่พอใจ โกรธ บางทีก็ร้องไห้อยู่เป็นวันๆ

มีพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เวลาสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา ก็เดินไปสอบอารมณ์คนโน้นบ้าง เดินไปสอบอารมณ์คนนี้บ้าง เดินไปถามคนโน้น เดินไปถามคนนี้ แนะนำผู้นั้น แนะนำผู้นี้ เดินจงกรมแล้วก็เทศน์ให้เพื่อนฟังไปด้วย เดินไปเทศน์ไปๆ

หลวงพ่อก็เลยไปแนะเอาว่า คุณ ตอนนี้เรามาปฏิบัตินะ ตอนนี้เรามาปฏิบัติ เรายังไม่อยู่ในขั้นที่จะแนะนำผู้อื่น ให้ออกจากห้องกัมมัฏฐานเสียก่อนเถอะแล้วค่อยเทศน์ แล้วค่อยสอน เดี๋ยวเขาจะเข้าใจผิด จะทำให้การปฏิบัติของเรามันเดินช้า โกรธขึ้นเป็นฟืนเป็นไฟเลย วันนั้นไม่ทำกัมมัฏฐานเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวันเลย นั่งร้องไห้ตลอดทั้งวัน ตอนเย็นจะทำวัตรอย่างนี้แหละ ไปเตือนสติ เขาก็รู้สึกตัวขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้

บางทีก็ข้ามกำแพงไปเลย บางทีไม่บอกครูบาอาจารย์ ไปเลย มันก็น่าน้อยใจเหมือนกันนะ ก็เหมือนกันกับที่เราอยู่ด้วยกันในขณะนี้แหละ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ครูบาอาจารย์ก็เอาใจใส่ทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ แต่เวลาจะไปไม่บอกครูบาอาจารย์เลย ขึ้นรถไปเลย บางทีไม่ขึ้นรถดอก เดินออกไปตามทางดำเลย เวลามารวมกัน ถามว่า องค์นี้ไปไหน องค์นี้อยู่ไหน ถามกัน ตามหากัน ถึงกับนั่งรถเหมารถตามหากันก็มี

สภาวะอย่างนี้มันสำคัญนะท่านทั้งหลาย ทำให้อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมก็เดินเฉยๆ ไม่กำหนด นั่งก็ไม่อยากนั่ง บางทีนั่งก็นั่งเฉยๆ ไม่อยากกำหนด บางทีนั่ง บางทีนอน บางทีลุก บางทีไปโน้นไปนี้

สภาวะอย่างนี้เป็นสภาวะที่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้จักอดรู้จักทน รู้จักข่มจิตข่มใจ ลักษณะที่เป็นเช่นนี้เป็นลักษณะของ อวิชชาปฏิจจสมุปบาท คือความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่เรากำหนดไม่ทัน มันจึงสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้น พึงระวังให้ดี

เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 ธันวาคม 2560 14:02:26

(http://www.thaipoem.com/common/images/m-content-poem/130271.jpg)
โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ มาบรรยายโดยสังเขปกถา พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญา และเป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโยคีบุคคลผู้บำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน อันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้บรรลุสามัญญผล

แต่โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ บางข้อหรือบางหมวด ได้บรรยายโดยพิสดารไปแล้ว สำหรับวันนี้จะได้นำมาบรรยายทั้ง ๓๗ ข้อ เมื่อธรรมะทั้ง ๓๗ ข้อ จะบรรยายให้จบวันเดียว จึงต้องบรรยายโดยสังเขปกถา พอให้รู้แนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ

ธรรมะที่เป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ย่อมประชุมพร้อม เมื่อวิปัสสนาเกิดสมบูรณ์ ในโยคีผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นเทศนาวิธีอย่างพิสดารอันเป็นทางไปสู่พระนิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหมวดธรรม ๗ หมวด คือ

๑. หมวดสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ สติเจตสิกหนึ่งดวง ที่ควบคู่อยู่กับกายานุปัสสนา ๑ เวทนานุปัสสนา ๑ จิตตานุปัสสนา ๑ ธัมมานุปัสสนา ๑ อันเป็นที่ตั้งของสติ

ก. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณากายอยู่เนืองๆ ด้วยมีสติเป็นที่ตั้ง เพื่อประหารสุภสัญญา อันเป็นสัญญาวิปลาส มีสติรู้ทันในอิริยาบถใหญ่น้อย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เป็นต้น ตลอดถึงพิจารณาให้เห็นให้รู้ว่าร่างกายนี้ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู ไม่น่ารัก ไม่น่าชม เป็นอสุภะแท้ๆ ดังนี้เป็นต้น แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา พิจารณาพระไตรลักษณ์ของรูปนาม เห็นความเกิดดับชัดด้วยปัญญา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ข. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพ่งพิจารณาเวทนาเนืองๆ ด้วยมีสติรู้ทันเป็นที่ตั้ง สุขก็รู้ทัน ทุกข์ก็รู้ทัน อุเบกขาไม่สุขไม่ทุกข์คือเฉยๆ ก็รู้ทัน เพื่อประหารวิปลาสในการเสวยสุข เสวยทุกข์ เสวยอุเบกขา ว่ามีความสุขความสบาย น่าชอบ น่าอยากได้ เป็นต้น

ตัณหาที่ประกอบกับเวทนาทั้งหมด เรียกว่า สุขวิปลาส เมื่อใดมีสติกำหนด ก็จะได้รู้การเสวยอารมณ์ต่างๆ ว่า หามีความสุขไม่ มีแต่ทุกข์ทนไม่ได้ทั้งนั้น ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดในนามเวทนาว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ด้วยมีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นปัจจัย

ค. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณาจิตตัวเองอยู่เนืองๆ ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ เป็นต้น ก็รู้ทัน ก็รู้ได้ว่า จิตนี้เกิดแล้วดับสูญหายไปทุกขณะ เหมือนกับฟ้าแลบ หาเที่ยงไม่ ถอนนิจจสัญญา ประหารนิจจวิปลาส ความเห็นว่าจิตนี้เป็นของเที่ยง ต้องเกิดดับรับอารมณ์ต่างๆอยู่ทุกขณะ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัด ด้วยพระไตรลักษณ์ฉะนั้นแล้ว ญาณก็จะเกิดขึ้นตามลำดับ ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะอาศัยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเบื้องต้น

ง. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ตั้งสติพิจารณาธรรมเนืองๆอยู่ว่า ธรรมนี้สักว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา คือมีสติรู้ทันจนเกิดปัญญา เห็นอนัตตาธรรม ประหารอัตตสัญญาความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน อันเป็นอัตตวิปลาส คือถือว่าเป็นอัตตา เป็นตัว เป็นตน เป็นบุคคล เป็นสัตว์ ตัวเรา ตัวของเรา มีอยู่เสมอ มีสติรู้ทันในนิวรณ์ ๕ ประการก็ดี ในอุปาทานขันธ์ ๕ ก็ดี ด้วยอาศัยสัมมัปปธาน เพียรพิจารณาจนเกิดปัญญา มีโพชฌงค์ ทั้ง ๗ เข้าประกอบ

รู้อริยสัจ ๔ เห็นแต่รูปธรรมนามธรรม ว่ามีการเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ก็รู้ว่าอัตตาตัวตนนี้ไม่มี มีแต่ธรรมคือรูปธรรมและนามธรรมรวมกันอยู่เท่านั้น และรูปธรรมนามธรรมนี้ก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะอาศัยธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นปัจจัย จึงพ้นโลกีย์ได้ด้วยวิโมกข์ ๓ อย่างใดอย่างหนึ่ง

๒. หมวดสัมมัปปธาน ๔ ได้แก่ วิริยเจตสิก ๑ ดวง ที่ควบคุมให้เกิดความเพียร และในหมวดนี้ได้บรรยายมาแล้วโดยพิสดาร เหตุนั้นก็ขอบรรยายโดยสังเขป คือ

ก. สังวรปธาน เพียรระวังมิให้บาปมิให้อกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เพียรมิให้อกุศลใหม่เกิดขึ้น อกุศลเก่าก็จะน้อยลงไปตามลำดับ

ข. ปหานปธาน เพียรละอกุศลที่เกิดแล้วให้หมดไป

ค. ภาวนาปธาน เพียรเพื่อให้กุศลเกิดขึ้น

ง. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อมไป

สัมมัปปธานนี้มีอธิบายว่า วิริยะเพียรตั้งสติรู้ทันต่อปัจจุบันธรรมของรูปนามทุกขณะ เมื่อรู้ทันขณะใด ก็ชื่อว่าได้ปิดกั้นมิให้อกุศล คือ ราคะ โทสะ โมหะ ไหลเข้ามาตามทวารทั้ง ๖ ได้ ส่วนอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในภวังคสันดานก็เกิดขึ้นไม่ได้ มีสติอันประกอบอันเป็นจอมของกุศลเกิดขึ้น กุศลธรรมเหล่าอื่นก็เกิดขึ้น ชื่อว่ากุศลธรรมเจริญขึ้น

การเพียรตั้งสติรู้ทันปัจจุบันบ่อยๆ นั่นเอง เป็นการรักษากุศลธรรมให้ทรงอยู่ อาศัยความเพียรเป็นบรรทัดฐานให้เกิดวิปัสสนาปัญญา รู้แจ้งชัดในรูปในนามธรรม เกิดดับๆ อยู่เสมอ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

ผู้เห็นอนิจจังชัด ก็พ้นโลกีย์ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ ผู้เห็นทุกขังชัด ก็พ้นโลกีย์ด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ ผู้เห็นอนัตตาชัด ก็พ้นจากโลกีย์ด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะอาศัยสัมมัปปธานทั้ง ๔ ประการดังกล่าว

๓. หมวดอิทธิบาท ๔ คือ ธรรมเป็นเหตุของความสำเร็จ เป็นทางแห่งความสำเร็จซึ่งโลกุตตระ ได้แก่

ก. ฉันทะ ความพอใจในทางโลกุตตระ

ข. วิริยะ ความเพียรในทางโลกุตตระ

ค. จิตตะ ความเอาใจใส่ในทางโลกุตตระ

ง. วิมังสา ความใคร่ครวญรู้แจ้งในทางโลกุตตระ

อิทธิบาทธรรม ในส่วนโพธิปักขิยธรรมนี้ ได้แก่ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก กุศลจิต และปัญญาเจตสิก รวมทั้งจิตและเจตสิกนี้ เป็นกำลังให้สำเร็จ โดยมีฉันทะพอใจในอมตบท ทางไปสู่พระนิพพาน คือมีสติรู้ทันปัจจุบันธรรม รู้ทันนามธรรมรูปธรรม เพียรตั้งสติอยู่เสมอ เอาใจจดจ่ออยู่กับรูปนามในทุกขณะ จนเกิดปัญญาวิมังสา เห็นพระไตรลักษณ์ของรูปนาม จนกระทั่งผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง เนื่องมาจากอิทธิบาทธรรมนี้เป็นมูลเหตุ

๔. หมวดอินทรีย์ ๕ คือธรรมที่เป็นใหญ่ ปกครองกุศลธรรมทั้งปวง คือ

ก. สัทธินทรีย์ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครองในความเชื่อความเลื่อมใสตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ไปสู่แดนโลกุตตระคือพระนิพพาน เชื่อมต่อทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ข. วิริยินทรีย์ ได้แก่ วิริยเจตสิก เพียรปฏิบัติวิปัสสนาด้วยความเป็นใหญ่ เป็นจอมวีระแกล้วกล้า เพื่อให้บรรลุโลกุตตระ

ค. สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก ที่เป็นใหญ่ปกครองในความระลึกได้ และรู้ทันปัจจุบันธรรมของรูปนาม เพื่อจะนำกุศลอันเป็นมรรคาไปสู่โลกุตตรธรรม

ง. สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ปกครองความเป็นใหญ่อยู่ในการทำหน้าที่ให้รู้แต่อารมณ์เดียว โดยไม่เผลอจากปัจจุบันธรรม จนให้ถึงโลกุตตรธรรม

จ. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ทำหน้าที่ปกครอง เป็นใหญ่อยู่ในความเห็นแจ้งรู้จริงในไตรลักษณ์ของรูปธรรมนามธรรม ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นโลกีย์ได้ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง เพราะอาศัยศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นปัจจัย จึงเป็นอินทรีย์ที่เป็นใหญ่ปกครองสหชาตธรรมในโพธิปักขิยธรรมให้สมบูรณ์ ส่งให้แก่โลกุตตรธรรม ไกลจากทุกข์ทั้งปวงได้

๕. หมวดพละ ๕ คือ กำลังธรรมที่เป็นกุศลฝ่ายโพธิปักขิยธรรม จะนำข้ามห้วงมหรรณพภพสงสาร หรือเป็นแม่ทัพที่จะรบกับข้าศึกคือกิเลสให้พินาศไป สิ้นสูญไปด้วยกำลัง ๕ ประการคือ

ก. สัทธาพละ กำลังคือศรัทธา เชื่อต่อปฏิปทาทางปฏิบัติทางไปพระนิพพาน ได้แก่เชื่อในทางพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง

ข. วิริยพละ กำลังคือความเพียรอันแกล้วกล้า ที่จะปฏิบัติทำสติให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันธรรมรูปนาม สามารถปราบปรามข้าศึกคือกิเลสให้สิ้นสูญไป เพื่อรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งโลกุตรธรรม

ค. สติพละ กำลังคือสติ ระลึกรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม เว้นโมหะตัวเผลอตัวหลงเสีย เพื่อเป็นปัจจัยแก่มรรค ผล นิพพาน

ง. สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ มีสติมั่นคงไม่เผลอ แน่วแน่ในปัจจุบันธรรมทุกขณะ เพื่อจะเป็นกำลังอันเยี่ยมที่จะก้าวไปสู่โลกุตตรธรรม

จ. ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา ความรู้ในปัจจุบันธรรม อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เห็นลักษณะของรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง โดยมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นกำลังสนับสนุน

๖. หมวดโพชฌงค์ ๗ คือองค์แห่งความตรัสรู้ ได้แก่ เจตสิก ๗ ดวง อันเป็นองค์อริยมรรคปัญญา รู้แจ้งแทงตลอดในโลกุตตรธรรม คือ

ก. สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ สติเจตสิก ที่ประกอบเป็นองค์แห่งความรู้รูปธรรมนามธรรม และโลกุตตรอารมณ์ทุกขณะของความเป็นไปแห่งกุศลจิต

ข. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่เป็นองค์แห่งความรู้รูปธรรมนามธรรม และโลกุตตรอารมณ์ ทุกขณะของความเป็นไปแห่งกุศลจิต

ค. วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ วิริยเจตสิก ที่เป็นองค์แห่งความเพียร คือรู้ในรูปธรรมนามธรรม เกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ผ่านญาณจนถึงมัคคญาณ ผลญาณ

ง. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปีติเจตสิก ที่เป็นองค์ประกอบความรู้กับรูปธรรมนามธรรม และประกอบกับมัคคจิต ผลจิต มีความอิ่มใจเหมาะใจเป็นลักษณะ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

จ. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ปัสสัทธิเจตสิก ความสงบ เป็นองค์ประกอบกับความรู้ในวิปัสสนาและโลกุตตรปัญญา ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

ฉ. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก อันประกอบกับองค์ความรู้รูปนามโดยไตรลักษณ์ และประกอบกับมัคคจิต โดยพระนิพพานเป็นอารมณ์อันเดียว เป็นสมาธิ

ช. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ความเป็นกลาง ประกอบกับความรู้รูปนาม มีญาณความรู้รูปนาม แล้ววางเฉยต่อสหชาตธรรมที่เกิดพร้อม กับวิปัสสนามีญาณความรู้เป็นต้น จนผ่านญาณ ๑๖ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ มีโลกุตตรจิตเข้าประกอบกับองค์ธรรมนั้นๆ สามารถที่จะให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงซึ่งโลกุตตระคือมรรค ผล นิพพาน

๗. หมวดมรรค ๘ คือหนทางไปสู่พระนิพพาน ได้แก่ เจตสิกธรรม ๘ ดวง รวมเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค หรือมรรคสามัคคี ความประชุมพร้อมองค์ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ย่อมมีในโลกุตตรจิต เกิดขึ้นในขณะได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ

ก. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เกิดวิปัสสนาญาณเห็นรูปนามเกิดดับอยู่เสมอ ทั้งเห็นพระนิพพานด้วยมัคคจิตได้ง่าย

ข. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ ได้แก่ วิตกเจตสิก ยกรูปนามขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อันใดอันหนึ่ง ให้ทันพร้อมกับรูปนามดับไป ว่าเป็นอนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา

ค. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ได้แก่ วิรตีคือสัมมาวาจาเจตสิก จะพูดหรือไม่พูดก็ตาม เว้นพูดผิดอยู่เสมอ มีสติอยู่ทุกขณะ

ง. สัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ ได้แก่ วิรตี คือสัมมาอาชีวเจตสิก ที่เว้นจากการพูดผิดและทำงานผิด ที่เกี่ยวกับอาชีพ มีการดำรงชีพไปในการบริโภคอาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ด้วยการมีสติอยู่เสมอ เรียกว่าเป็นอยู่ชอบ

จ. สัมมาวายามะ เพียรชอบ ได้แก่ วิริยเจตสิก คือเพียรตั้งสติ รู้ทันปัจจุบันธรรมบ่อยๆ นั่นเอง

ฉ. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ สติเจตสิกที่รู้ทันปัจจุบันธรรมรูปนามทุกขณะ

ช. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่มีสติรู้ทันปัจจุบันธรรมของรูปนาม ไม่เผอเรอ และประกอบกับอริยมัคคจิตได้ด้วย คือมั่นอยู่ในอารมณ์พระนิพพานเป็นอันเดียว พ้นจากโลกีย์ด้วยวิโมกข์ ๓ อันใดอันหนึ่ง

รวมโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ หมวด มีจำนวน ๓๗ ประการ ย่อมเกิดบริบูรณ์ได้เฉพาะในโลกุตตรจิตเท่านั้น แต่วิตกเจตสิก และ ปีติเจตสิก ทั้งสองนี้ บางทีไม่ได้เกิดขึ้นในโลกุตตรธรรมก็มี

เมื่อพระโยคาวจรผู้ปฏิบัติในวิสุทธิ ๕ ประการที่เป็นโลกียะอยู่นั้น โพธิปักขิยธรรมก็เกิดได้บ้าง ตามฐานะที่ควรได้ควรเป็น เช่น จิตเป็นญาณวิปปยุต ปัญญาย่อมไม่เกิด จิตเป็นทุติยฌาน วิตก วิจาร ย่อมไม่เกิด เป็นต้น

รวมโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ เป็นธรรมะที่จะให้ผู้ประพฤติอยู่ในโพธิปักขิยธรรมนี้ บรรลุอริยมรรค อริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

หากว่าการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานของเรา เว้นจากโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ และในขณะที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี เป็นพระอรหันต์ก็ดี หากว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ไม่รวมกัน หรือว่ารวมกันไม่พร้อม ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุหรือตรัสรู้ได้

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะถือว่ายากก็ยาก ถือว่าง่ายก็ง่าย ที่ว่ายากก็หมายความว่า เราไม่ตั้งสติกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้ติดต่อกัน โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อไม่มีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกัน เราก็ไม่ได้บรรลุ เพราะขาดองค์คุณสมบัติ

อุปมาแล้วก็เหมือนกับผู้แทนราษฏร สมมติการประชุมสภาเขาต้องการสมาชิกเข้าประชุม ๓๐๐ คน แต่ไปประชุมเพียง ๑๐๐ คน ก็ไม่สามารถประชุมได้ เพราะขาดองค์ประชุม อย่างน้อยก็ต้องครึ่งหนึ่งจึงประชุมได้ หรือสมมติว่า วันนี้เขาต้องการประชุมคณะรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง เขาต้องการรัฐมนตรีทุกๆกระทรวงอย่างนี้ แต่รัฐมนตรีไปประชุมเพียง ๔ หรือ ๕ กระทรวงเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะประชุมได้ ข้อนี้ฉันใด

เวลาที่โยคีบุคคลมาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ต้องการโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ให้รวมกัน เป็นมรรคสามัคคี และการรวมกันนี้ไม่เหมือนกันกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือประชุมคณะรัฐมนตรีผู้บริหารบ้านเมือง คือ โพธิปักขิยธรรมต้องครบทุกข้อจึงจะใช้ได้ จึงจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไป จนถึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

แต่ที่จริง เวลาเราประพฤติปฏิบัตินั้น โพธิปักขิยธรรมก็รวมกันอยู่ แต่รวมไม่พร้อม ที่เราปฏิบัติทุกวันๆ ก็จะรวมกันอยู่ บางทีก็รวมกัน ๑๐ ข้อ ๑๕ ข้อ หรือ ๒๐ ข้อ ๒๕ ข้อ แต่ไม่ถึง ๓๗ ข้อ ก็ไม่สามารถถึงจุดหมายปลายทางได้

ทีนี้เราจะทำอย่างไร จึงจะทำให้ธรรมะทั้ง ๓๗ ประการ เข้ามารวมพร้อมกันได้

ถ้าจะพูดในหลักปฏิบัติแล้วก็ไม่ยาก คือขอให้เราทั้งหลายตั้งสติกำหนดให้ติดต่อกันไป อย่าชะล่าใจ พยายามกำหนดอิริยาบถใหญ่น้อย จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ขอให้กำหนดติดต่อกันไป พยายามเอาสติปักลงจนถึงที่เกิดที่ดับของรูปของนาม หากว่าเรากำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกันได้เมื่อไร โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นพร้อมกันได้

อีกอย่างหนึ่ง โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ ถ้าว่าเราอยู่ในขั้นโลกีย์ จะไม่รวมกัน รวมกันไม่หมด รวมกันไม่พร้อม ไม่สามารถจะเป็นมรรคสามัคคีได้ แต่ถ้าขณะใดจิตของเราเข้าสู่มัคควิถี สมมติว่าเราปฏิบัติครั้งแรก ยังไม่บรรลุอริยมรรคอริยผลอะไรเลย พอดีผ่านวิปัสสนาญาณขึ้นไปตามลำดับ ตั้งแต่ญาณที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ขึ้นไป จนถึง สังขารุเปกขาญาณ เมื่อออกจากสังขารุเปกขาญาณแล้ว จิตก็จะเข้าสู่มัคควิถี ในขณะจิตเข้าสู่มัคควิถีนั่นแหละ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ จะมารวมกันเป็นมรรคสามัคคีทันที

เมื่อรวมกันเป็นมรรคสามัคคีเมื่อใด เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ซึ่งการรวมของโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการนี้ น้อยนิดเดียวเท่านั้น ไม่กี่ขณะจิต และในขณะที่โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ เกิดขึ้นพร้อมกันเป็นมรรคสามัคคีแล้วนั่นแหละ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดับไปด้วย ในเมื่อโลภะเป็นต้นดับไป อริยมรรคอริยผลก็เกิดขึ้นมา เราก็ได้ชื่อว่าถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล

พอพ้นจากผลแล้ว จิตก็ลงสู่ภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาก็จะได้พิจารณาปัจจเวกขณะ กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ โพธิปักขิยธรรมเมื่อผ่านได้แล้ว ก็เลิกแล้ว ไม่รวมกันแล้ว กระจัดกระจายไป ไม่เป็นมรรคสามัคคีแล้ว เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานรอบต่อไป

ในรอบที่สองขณะที่ถึงสังขารุเปกขาญาณ จะเข้าสู่มัคควิถี โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้จึงจะรวมกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรวมแล้วผู้ปฏิบัติก็จะได้บรรลุถึงพระสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล หลังจากนั้นก็ไม่รวม

เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก จนสามารถถึงสังขารุเปกขาญาณ รอบที่จะเข้าสู่มัคควิถีรอบที่ ๓ โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็จะรวมกันอีก เมื่อรวมกันแล้ว เราจึงจะสามารถบรรลุถึงอนาคามิมรรค อนาคามิผล หลังจากนั้นก็ไม่รวมกัน

เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปอีก จนผ่านตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ จนถึงสังขารุเปกขาญาณอีก ออกจากสังขารุเปกขาญาณก็เข้าสู่มัคควิถีครั้งที่ ๔ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ก็มารวมกันอีก และขณะนั้น กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดก็ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานของเรา ก็หมายความว่า กิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นหายไปไม่มีเลย พรหมจรรย์นี้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำไม่มีอีกแล้ว เป็นผู้ประเสริฐล่วงส่วน เกษมจากโยคะธรรมล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เข้าถึงอมตมหานฤพาน อันเป็นเอกันตบรมสุข

เหตุนั้น เราทั้งหลายมีเวลาน้อยนิดเดียว ก่อนจะปิดภาคอบรมในพรรษานี้ ก็ขอให้พยายามสร้างสมอบรมโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนี้ ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน อย่าได้ประมาท พยายามกำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ให้ติดต่อกันไป ผลสุดท้ายโพธิปักขิยธรรมก็จะรวมกันเอง

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยย่อๆ ไม่พิสดารนัก ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 ธันวาคม 2560 15:01:25

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcR6xexOdqHYOxrSRCCQ4SfwjQeaivabNay-XHlXBiM2o8AtNbbt)

สติปัฏฐาน ๔

วันนี้ จะได้นำเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นหนทางของการประพฤติปฏิบัติ หมายความว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอัครสาวกซ้ายขวา พระมหาสาวก ๘๐ พระองค์ หรือพระอรหันต์สาวกเจ้าทั้งหลาย ดำเนินไปแล้วสู่พระนิพพาน ก็เพราะปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้

ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี ก็เพราะปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ เหมือนกัน แม้พวกเราท่านทั้งหลายที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็ปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔

การปฏิบัตินี้ ถ้าหากว่าขาดสติปัฏฐานทั้ง ๔ แล้ว ไม่สามารถที่จะดำเนินถึงพระนิพพานได้ เพราะสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ เป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน ในเมื่อพระนิพพานมีหนทางที่จะไป ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ หากว่าเราไปเดินทางอื่นเสียนอกจากสติปัฏฐาน ๔ ก็ไม่สามารถจะถึงพระนิพพานได้

อุปมาเหมือนกันกับเราจะไปกรุงเทพฯ แต่เวลาเดินทางเราไปทางประเทศลาว หรือ ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา อย่างนี้ ก็ไม่สามารถที่จะถึงกรุงเทพฯ ได้ หรือว่าเราไปทางภายในประเทศ แต่ว่าเราไปทางจันทบุรี ระยอง ตราด เราไม่วกเข้าไปหาหนทางที่จะเข้าไปสู่กรุงเทพฯ เลย ก็ไม่สามารถที่จะถึงกรุงเทพฯ ข้อนี้ฉันใด

แม้ว่าเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ก็จริง แต่เราขาดสติปัฏฐานทั้ง ๔ ไม่ดำเนินตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือว่า ไม่น้อมนำเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔ อันเป็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานมาปฏิบัติ เราก็ไม่สามารถที่จะไปถึงนิพพานได้

คำว่า สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ อธิบายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ย่อมมีฐานเป็นที่ตั้ง เช่นว่า บาตรของเรานี้ก็มีฐานเป็นที่ตั้ง โต๊ะก็มีขาเป็นที่ตั้ง ธรรมาสน์ก็ต้องมีขาเป็นที่ตั้ง โต๊ะหมู่บูชาอย่างนี้ ต้องมีฐานเป็นที่ตั้ง แม้แต่ไมโครโฟนที่เราใช้อยู่นี้ก็มีขาเป็นที่ตั้ง ข้อนี้ฉันใด สติของเราก็ต้องมีที่ตั้งเหมือนกัน ถ้าสติไม่มีที่ตั้งแล้ว สติก็จะเลื่อนลอยไปต่างๆ นานาประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติได้

การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราเอาสติไปตั้งไว้ในกาย เวทนา จิต ธรรม หรือพูดอย่างหนึ่งว่า กาย เวทนา จิต ธรรม นั้น เป็นที่ตั้งของสติ เป็นฐานหรือเป็นเครื่องรองรับของสติ

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักมหาสติปัฏฐาน เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม เราแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นภายนอก ๑ และกาย เวทนา จิต ธรรม ที่เป็นภายใน ๑

อุปมาเหมือนดาบและฝักของดาบ ฝักของดาบนั้นต้องอยู่ภายนอก สำหรับดาบนั้น ต้องอยู่ภายในฝัก ข้อนี้ฉันใด กายที่เป็นภายในก็ดี เวทนาที่เป็นภายในก็ดี จิตที่เป็นภายในก็ดี หรือธรรมที่เป็นภายในก็ดี ต้องซ่อนอยู่ในกายนอก ในเวทนาที่เป็นภายนอก ในจิตที่เป็นภายนอก ในธรรมที่เป็นภายนอก เหมือนกันกับดาบที่ซ่อนอยู่ในฝักดาบฉะนั้น สติปัฏฐานนั้นมีอยู่ ๔ ประการคือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณากายให้เห็นกาย ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่น เราเห็นกายซึ่งประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเราพิจารณาเอาส่วนที่มีลักษณะแข้นแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกเป็นต้น ว่าเป็นธาตุดิน

ลักษณะที่มีอาการเอิบอาบ เช่น น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำมันข้น น้ำตา น้ำมูก เป็นต้น ว่าเป็นธาตุน้ำ ลักษณะคือความอบอุ่นในร่างกายของเรา ว่าเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่พัดขึ้นเบื้องบน พัดลงเบื้องต่ำ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ว่าเป็นธาตุลม

กายของเรานี้ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม จึงสำเร็จเป็นกายได้ เราพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก หรือเราพิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นเป็นแต่เพียงขันธ์ ๕ คือเห็นว่าเป็นรูป เห็นว่าเป็นเวทนา เห็นว่าเป็นสัญญา เห็นว่าเป็นสังขาร เห็นว่าเป็นวิญญาณ มาประกอบกันเข้า ก็เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก หรือเราพิจารณาร่างกายแยกเป็นส่วนๆ ตามอาการ ๓๒ ก็เรียกว่าเห็นกายที่เป็นภายนอก

ส่วนเห็นกายที่เป็นภายในนั้น เช่นว่า เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติมาเป็นเวลาพอสมควรนี้ ก็คงที่จะพอทราบได้ว่า เมื่อเรากำหนดอาการพองอาการยุบนั้น มีอาการอย่างไรบ้าง อาการพองอาการยุบมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร อาการพองอาการยุบนั้นมีการเกิดดับอย่างไรบ้าง

แม้แต่อาการขวาย่างซ้ายย่างที่เราเดินอยู่ มีอาการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไรบ้าง ในขณะที่เรากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ในขณะที่เรากำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอาการเกิดดับเป็นอย่างไรบ้าง

เราเห็นอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เห็นอาการเปลี่ยนแปลงของลมหายใจเข้าออก อาการเปลี่ยนแปลงของอาการพองอาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง เห็นการเปลี่ยนแปลงของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะที่กำหนดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็เห็นความเกิดดับควบคู่กันไปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง

ในเมื่อเห็นเช่นนี้แล้วก็พิจารณาว่า ธรรมชาติทั้งหลายนี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป จึงเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในกาย ในเมื่อเราพิจารณาในลักษณะอาการดังกล่าวแล้วนี้ คือเห็นอาการเปลี่ยนแปลงของอาการพองอาการยุบเป็นต้น ชื่อว่า เห็นกายที่เป็นภายใน

เมื่อใด เราเห็นกายทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอก จนสามารถถอน อัตตสัญญา คือความสำคัญยึดมั่นว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา ด้วยอำนาจของอุปาทานได้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบเย็น สามารถที่จะดับกิเลสตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้

ขอสรุปเอาย่อๆ ว่า เห็นกายที่เป็นภายนอกนั้น เห็นในด้านปริยัติ คือเห็นด้วยการคำนวณ เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นด้วยการศึกษาเล่าเรียน รู้ได้จากการสดับตรับฟังมาจากครูบาอาจารย์ แต่สำหรับกายที่เป็นภายในนี้ เราเห็นด้วยปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา

คือเมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดกายอยู่ตลอดเวลา ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของกายขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงของกายที่เราเห็นนั่นแหละ ถือว่าเห็นกายที่เป็นภายใน

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เรากำหนดแต่เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างเดียว ก็สามารถที่จะดำเนินไปสู่อมตมหานฤพานได้ คือสามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณาเวทนา เช่นว่า ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี โสมนัสก็ดี โทมนัสก็ดี อุเบกขาก็ดี เราพิจารณาเวทนาทั้ง ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน

เวทนาที่เป็นภายนอก เช่นว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนก็ดี หรือว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่หายจากโรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนก็ดี หรือโสมนัสความดีใจที่เกิดขึ้นเพราะได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าใคร่น่าชอบใจก็ดี หรือโทมนัสความทุกข์ใจที่ได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ไม่น่าชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เช่นนี้เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายนอก สรุปสั้น ๆ ว่า การเห็นเวทนาในขั้นปริยัติ หรือว่าเห็นด้วยตาเนื้ออย่างนี้ เรียกว่าเห็นเวทนาที่เป็นภายนอก

ส่วนเห็นเวทนาที่เป็นภายในนั้น เช่น เวลาปกติธรรมดาๆ นี้เราไม่มีความสุขความทุกข์ เฉยๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เวลาเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรากำหนดธรรมดาอยู่ หรือเดินไปธรรมดา ซึ่งไม่ควรที่จะปวดมันก็ปวดขึ้นมา เรานั่งขัดสมาธิ แทนที่มันจะปวดขาที่วางไว้ข้างล่าง แต่มาปวดขาที่วางไว้ข้างบน

มือของเราที่วางซ้อนกันอยู่ แทนที่จะปวดมือที่อยู่ข้างล่าง แต่มาปวดมือที่อยู่ข้างบน หรือเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ แทนที่จะปวดที่ก้นย้อย ตะโพก หรือขา แต่กลับมาปวดที่แขนหรือที่ศีรษะ อะไรทำนองนี้ นี่แหละเรียกว่า เวทนาที่เป็นภายใน เห็นด้วยอำนาจภาวนามยปัญญา คือเห็นด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา

เวทนา นอกจากเกิดขึ้นมาทางกายแล้ว บางครั้งก็เกิดขึ้นมาทางใจ เช่น บางครั้งก็มีความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก บางครั้งก็มีความทุกข์ใจจนบอกไม่ถูก บางครั้งก็เฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ อย่างนี้เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายใน

หรือบางที เวทนาเกิดขึ้นมา เรากำหนดลงไปเท่านั้น เวทนานั้นหายไปแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะหาย ปวดอยู่จนใจแทบขาด จนคิดว่าจะอดทนไม่ได้ แต่พอกำหนดว่าทุกข์หนอๆ เจ็บหนอๆ หรือปวดหนอๆ เท่านั้นแหละ หายวับไปเหมือนมีตนมีตัว อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เห็นเวทนาที่เป็นภายใน

เมื่อใด เราพิจารณาเวทนา ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก จนเห็นเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นเป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เห็นเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาบังคับเวทนาทั้ง ๕ นี้ ให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปเช่นนี้แล้ว เมื่อนั้น ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในเวทนา

เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัดในเวทนา ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก สามารถละเวทนาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน เมื่อเป็นเช่น นี้จิตของเราก็บริสุทธิ์ สงบ ดับกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ ท่านทั้งหลายกำหนดเวทนานี้อย่างเดียว ก็สามารถดำเนินไปสู่การบรรลุปฏิเวธธรรมได้

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นจิต ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่น จิตเศร้าหมองเพราะประสบกับอนิฏฐารมณ์อารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ เราก็รู้ หรือจิตเป็นสุขเพราะได้อารมณ์ที่ชอบใจ อันเกิดจากรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ เกิดความสุขใจขึ้นมาเราก็รู้ หรือบางครั้ง จิตเฉยๆ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ เราก็รู้ การรู้ความเปลี่ยนแปรไปของจิต ในด้านปริยัติ หรือว่าเห็นด้วยความรู้อันเป็นขั้นสุตมยปัญญาอย่างนี้ เรียกว่าเห็นจิตที่เป็นภายนอก

สำหรับเห็นจิตที่เป็นภายในนั้น เป็นการพิจารณาเห็นจิตด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา คือเราใช้ปัญญาพิจารณา ติดตามขบวนการของจิต ติดตามความเคลื่อนไหวของจิต จนสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของจิตว่า ขณะนี้จิตของเราเป็นอย่างไร จิตของเรามีโลภะไหม จิตของเรามีโทสะไหม จิตของเรามีโมหะไหม จิตของเรามีตัณหาไหม จิตของเรามีอุปาทานไหม หรือว่าจิตของเราประกอบไปด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เราก็สามารถรู้ความเคลื่อนไหวของจิต คือ จิตของเราตกอยู่ใต้กิเลสตัณหาเราก็รู้ จิตของเราเป็นอิสระไม่ตกอยู่ใต้ตัณหาเราก็รู้ จิตของเราคิดดีเราก็รู้ จิตของเราคิดชั่วเราก็รู้ จิตของเราอยู่เฉยๆ เราก็รู้

จิตของเรา เป็นสุขหรือเป็นทุกข์เราก็รู้ แต่การรู้ในที่นี้หมายถึงการรู้ด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา เมื่อเราพิจารณาเห็นจิตของเราอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เห็นจิตที่เป็นภายใน ท่านที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้วคงจะทราบเรื่องเหล่านี้ได้ดี

บางทีจิตของเราอยู่เฉยๆ เรื่องที่ไม่เคยรู้มันก็รู้ขึ้นมา เรื่องที่ไม่เคยคิด มันก็คิดขึ้นมา บางครั้งเกิดความคิดขึ้นมา เราเอาสติกำหนดก็หายไปแล้วกลับคิดใหม่ บางครั้งคล้ายกับจิตของเรานี้เป็นสองดวง ดวงหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง อีกดวงหนึ่งคิดอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าดวงหนึ่งคิดอาการพองอาการยุบ อีกดวงหนึ่งคิดไปร้อยแปดพันประการ บางครั้งคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็กลับคิดเรื่องใหม่ขึ้นมา สับสนปนเปกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

บางครั้งคล้ายๆ กับว่าจิตมี ๒ ดวง ถกเถียงกันหรือคัดค้านกันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็สนับสนุน จิตดวงหนึ่งคิดอย่างหนึ่ง จิตดวงหนึ่งก็สนับสนุน คล้ายๆกับว่า จิตของเรานี้เป็น ๒ ดวง ๓ ดวง ๔ ดวง เกิดปุจฉาวิสัชนากันขึ้นมา เหมือนกันกับพระเทศน์ ๒ ธรรมาสน์ ๓ ธรรมาสน์ ๔ ธรรมาสน์ อย่างนี้ก็มี

บางครั้งเหมือนมีคนมาพูด บางครั้งเหมือนมีเทวดามาบอก บางครั้งเหมือนกันกับมีมนุษย์หรือพรายมากระซิบ ได้ยินเสียงมาพูดข้างหน้าบ้าง ได้ยินเสียงมาพูดข้างหลังบ้าง ได้ยินเสียงพูดข้างขวาบ้าง ข้างซ้ายบ้าง บางครั้งคล้ายได้ยินเสียงสัตว์นรกพูดบ้าง บางทีมีเสียงพูดออกมาจากหทัยวัตถุของตัวเอง เหมือนกับเรามีวิทยุในหัวใจของเรา จิตของเราพูดได้ พูดอยู่ในทรวงอกของเรานี่แหละ พูดขึ้นมามีเสียงชัดถ้อยชัดคำจริงๆ

บางครั้งเหมือนมีครูบาอาจารย์มาพูดอยู่ในหัวใจของเรา บางครั้งเหมือนกับว่ามีลูกศิษย์ลูกหามีญาติมีโยมมาพูดอยู่ในหัวใจของเรา เหมือนกับฟังวิทยุ บางท่านก็เข้าใจว่า เราสำเร็จวิชาโทรจิตแล้ว ลักษณะดังกล่าวมานี้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติท่านใด ก็แสดงว่าท่านพิจารณาเห็นจิตในจิต ด้วยอำนาจของจินตามยปัญญาและภาวนามยปัญญา คือเรากำหนดจิตไปๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ

เมื่อใดเราเห็นจิต ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน จนเกิดปัญญาความรอบรู้ในจิตว่า จิตนี้มันเป็นอนิจจังไม่เที่ยงเหมือนกัน เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้เหมือนกัน

เมื่อเราพิจารณาไปอย่างนี้ ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด สามารถละอุปาทานได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในจิต ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่เป็นภายใน เมื่อละอุปาทานได้แล้ว จิตของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบเย็น สามารถดับกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์เสียได้ อันนี้เรียกว่าพิจารณาเห็นจิตในจิต

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็นธรรมในธรรม การพิจารณาเห็นธรรมนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ เห็นธรรมที่เป็นภายนอก ๑ เห็นธรรมที่เป็นภายใน ๑

การพิจารณาเห็นธรรมขั้นธรรมดา ซึ่งเกิดขึ้นจากการศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม เช่นว่า เราศึกษาพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ตลอดถึงการพิจารณาเห็นลักษณะของโลภะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน พิจารณาเห็นอานุภาพของการรักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญภาวนา เป็นต้น เรียกว่า เห็นธรรมในธรรมขั้นธรรมดา เห็นตามอำนาจของสุตมยปัญญา เพราะได้สดับตรับฟังมาจากครูบาอาจารย์ เหมือนกันกับเราเห็นฝักของดาบ

ส่วนเห็นธรรมที่เป็นภายในนั้น เป็นการเห็นที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นด้วยอำนาจจินตาญาณและภาวนาญาณ คือเมื่อใดเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน มีสมาธิจนสามารถเกิดปัญญาขึ้นมาในขันธสันดาน

พิจารณาเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี้ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสามารถได้บรรลุวิชชา ๓ คือ ระลึกชาติหนหลังได้บ้าง รู้การเกิดการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นบ้าง สามารถทำอาสวะให้สิ้นไปบ้าง หรือได้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ อภิญญา ๖ เห็นความเกิดความดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา เห็นภัยเห็นทุกข์ที่เกิดจากรูปนาม เกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็หาทางหนีทางหลุดทางพ้นจากรูปนาม จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพานให้ได้

แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางหนีไม่มีทางพ้น มิอาจที่จะหลีกไปจากรูปจากนามได้ จิตใจก็เกิดอุเบกขา วางเฉยต่อรูปนาม ซึ่งเรียกว่าเป็นธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือเมื่อเราพิจารณาไปจนเห็นรูปนามนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดด้วยปัญญา จนสามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน เข้าสู่กระแสพระนิพพาน การเห็นธรรมดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นการเห็นธรรมด้วยอำนาจภาวนาญาณ เรียกว่า เห็นธรรมในธรรม

เมื่อใด เราพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็จะพ้นจากอำนาจของกิเลสตัณหาอันเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อพ้นจากกิเลสตัณหาแล้ว จิตก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ การที่เราพิจารณาธรรมอย่างเดียว หรือเอาธรรมอย่างเดียวมาเป็นเครื่องเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

สรุปสั้นๆ ว่า การที่เห็นกายที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นเวทนาที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นจิตที่เป็นภายนอกก็ดี เห็นธรรมที่เป็นภายนอกก็ดี คือการเห็นในขั้นปริยัติ เป็นการเห็นด้วยอำนาจของสุตาญาณ เป็นการเห็นด้วยอำนาจของตาเนื้อ ส่วนการเห็นกายที่เป็นภายใน เห็นเวทนาที่เป็นภายใน เห็นจิตที่เป็นภายใน เห็นธรรมที่เป็นภายใน เป็นการเห็นด้วยอำนาจของจินตาญาณ หรือเป็นการเห็นซึ่งเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือเห็นด้วยอำนาจของภาวนาญาณ

เมื่อไรเราเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก เช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย เกิดวิราคะความคลายกำหนัด เมื่อจิตของเราคลายความกำหนัด ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ด้วยอำนาจอุปาทาน จิตของเราก็จะบริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใสแล้ว อริยมรรค อริยผล ก็เกิดขึ้น เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สติปัฏฐาน ๔ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 ธันวาคม 2560 11:09:42

(http://webboard.abhidhammaonline.org/old/picdb.thaimisc.com/d/dokgaew/11565-8.jpg@n)

การทำความเพียร ๔ (สัมมัปปธาน ๔)

ท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย และท่านผู้มีจิตอันเป็นมหากุศลทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ คือมาทำความเพียร เพื่อละชั่วกระทำดี บำเพ็ญบารมีให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป

การทำความเพียรนี้ ในหลักมหาปธานสูตร1 ท่านกล่าวไว้ ๔ ประการ คือ

๑. สังวรปธาน เพียรระวังบาป ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน

คำว่า บาป โดยสภาวะ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี้เป็นตัวบาป คือบาปนั้นกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ทำบาปแล้วจะต้องถูกปรับไหมใส่โทษจองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต ตายแล้วจะต้องตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำบาป

แต่บาปนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวธรรมล้วนๆ แล้ว ก็ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั่นเอง แต่ก็ขอออกนอกเรื่องนิดหนึ่ง คำว่า ความโลภ หรือคำว่า โลภะ นี้ ส่วนมากพวกเราทั้งหลายอธิบายผิด คืออธิบายไม่ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

เพราะเหตุไรถึงว่าอย่างนี้

เพราะว่า ส่วนมากเข้าใจว่า อยากได้อะไรๆ ก็เข้าใจว่าเป็นโลภะไปหมด อยากอาบน้ำ อยากดื่ม อยากฉัน อยากได้เครื่องนุ่งห่ม ก็เรียกว่าโลภะ

สรุปเอาสั้นๆ ว่าอยากได้อะไร ก็จัดว่าเป็นโลภะทั้งหมด อันนี้มันไม่ถูก ไม่ถูกตามหลักตามความประสงค์ หรือไม่ถูกตามความหมายของโลภะ

คำว่า โลภะ ในด้านปริยัติ หมายความว่า อยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัวในทางทุจริต แล้วก็หาเอาในทางทุจริต เช่น ลักเอา ขโมยเอา ปล้นเอา จี้เอา เป็นต้น จัดเป็นโลภะ แต่ถ้าเราอยากได้ในทางบริสุทธิ์ คืออยากได้ในทางสุจริต ก็หาเอาในทางสุจริต แม้ได้มาเป็นพันๆ ล้านบาท หรือหลายล้านหลายแสนล้านบาทก็ตาม ตามหลักของธรรมะ ท่านไม่จัดว่าเป็นโลภะ อันนี้ในทางปริยัตินะ

เมื่อเราทั้งหลายอธิบาย โลภะ ว่าอยากได้อะไรๆ ก็ถือว่าเป็นโลภะไปทั้งหมด ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนเรามีจิตใจเหี่ยวห่อท้อแท้ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่อยากเข้าวัดเข้าวา เพราะทำอะไรๆ ก็มีแต่โลภะไปหมด มีแต่บาปไปหมด ก็ทำให้ใจไม่แช่มชื่น ไม่เบิกบาน ไม่ร่าเริง ไม่ปราโมทย์ ในการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เพราะมองรอบ ๆ ด้าน ก็มีแต่บาปอกุศล

เหตุนั้น เมื่อเราทั้งหลายไปเทศน์ไปสอนเรื่องโลภะนี้ ก็ขอได้อธิบายให้ถูกต้อง ตามลักษณะของธรรมะในแง่ของปริยัติ คือในแง่ปริยัติต้องอธิบายดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ถ้าในแง่ปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เราอธิบายคนละลักษณะ เราจะเอาไปผสมผสานกันไม่ได้ ในเวลาเราได้เทศน์ได้สอนคนธรรมดา

โลภะ ในแง่ของภาคปฏิบัตินี้ หมายถึง ความอยากได้ในอารมณ์ เช่น อะไรเกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด มีความพอใจชอบใจในอารมณ์นั้นๆ ก็เป็นโลภะแล้ว

อารมณ์ใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด (เกิดความยินดี ชอบใจ พอใจ ในอารมณ์นั้นๆ ) ถือว่าเป็นโลภะแล้ว

ทีนี้ อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราก็รู้สึกไม่ชอบใจไม่พอใจด้วย และเราก็ไม่ได้กำหนดรู้ด้วย นี่ถือว่าเป็นโทสะแล้ว

อารมณ์ใดๆ ก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราไม่กำหนด เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจัดเป็นโมหะ

สรุปแล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ ถ้ารู้สึกชอบใจเป็นโลภะ ไม่ชอบใจเป็นโทสะ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นมาแล้ว เราไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นโมหะ

นี่ โลภะ โทสะ โมหะ ในภาคปฏิบัติละเอียดกว่ากันอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราไปอธิบายธรรมะ พยายามแยกแยะให้เป็น อย่าเอาปริยัติไปผสมกับปฏิบัติ เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิด บางครั้งเราไปเทศน์ในสถานที่ต่างๆ ในงานการกุศลต่างๆ ในงานศพ ในงานขึ้นบ้านใหม่ ในงานอะไรทำนองนี้ เราก็ต้องเทศน์ในแง่ปริยัติ

เพราะว่าผู้ที่นั่งในที่นี้ ส่วนมากอาจจะไม่เคยประพฤติปฏิบัติมา เราต้องเทศน์ในแง่ปริยัติ ถ้าว่าในเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมะ เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้ เราเทศน์ได้ทั้งแง่ปริยัติทั้งแง่ปฏิบัติควบคู่กันไป เพื่อจะทำความเข้าใจ

สรุปแล้วว่า เรามาสู่สถานที่นี้ เรามาทำความเพียร เพื่อระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในขันธสันดาน

ทีนี้เราจะเพียรอย่างไร จึงชื่อว่าเป็นการระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน

หลักการทำความเพียร เราเริ่มทำความเพียรแต่วันแรก คือในขณะที่เรากำหนดอาการท้องพองท้องยุบอยู่ว่า พองหนอ ยุบหนอ สติของเราไม่เผลอจากอาการพอง อาการยุบ ก็ถือว่าเป็นการระวัง เป็นการระวังบาปแล้ว โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้นไม่ได้ ในขณะที่เรากำหนดอยู่นี้

เวลาอยากยืน เรากำหนดว่า อยากยืนหนอๆ เวลาอยากเดิน กำหนดว่า อยากเดินหนอๆ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยืนหนอๆ นี่ก็ถือว่าเราระวังแล้ว ในขณะที่เราระวังนี้ บาปมันเกิดไม่ได้ ไม่ว่าเราประสบอารมณ์ทางตา เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ ได้ยินเสียงเรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ได้กลิ่นเรากำหนดว่า กลิ่นหนอๆ รู้รส เรากำหนดว่า รสหนอๆ

เวลาถูกอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ เวลาคิดเรากำหนดว่า คิดหนอๆ เวลาปวดเรากำหนดว่า ปวดหนอๆ เวลามีความสุขเรากำหนดว่า สุขหนอๆ เวลามันเฉยๆ เรากำหนดว่า เฉยหนอๆ เวลาโกรธเรากำหนดว่า โกรธหนอๆ เวลาอยากได้กำหนดว่า อยากได้หนอๆ เวลาง่วงกำหนดว่า ง่วงหนอๆ เป็นต้น

ในขณะที่เรากำหนดอยู่อย่างนี้ บาปคือความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราไม่ได้ ก็ถือว่าเราได้ระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว

๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรอย่างไร คือในขณะที่เราทำความเพียรอยู่นี้ ในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ในขณะที่เรากำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมารมณ์ อยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ของเราบริสุทธิ์ดี เป็นศีลแล้วตอนนี้ ถือว่ายังศีลกุศลให้เกิดขึ้นแล้ว

ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย คือในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย หรือกำหนดอาการ ขวาย่าง ซ้ายย่าง ก็เหมือนกัน เรากำหนดได้มากแล้วก็เผลอน้อย

ในขณะที่กำหนดเวทนาก็ดี กำหนดจิตก็ดี กำหนดธรรมารมณ์ก็ดี เรากำหนดได้มาก เผลอน้อย เรียกว่าจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว ลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นสมาธิแล้ว สมาธิกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว คือในขณะที่จิตของเราตั้งมั่นอยู่ในบทพระกัมมัฏฐาน ไม่เผลอหรือเผลอน้อย แต่กำหนดได้มาก เป็นสมาธิ ชื่อว่าบุญคือสมาธิเกิดขึ้นแล้วตอนนี้

ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี เราเห็นอาการพอง อาการยุบ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เราก็เห็น เราก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ในขณะที่กำหนดเวทนาว่า สุขหนอๆ หรือทุกข์หนอๆ หรือปวดหนอๆ เราก็รู้ เวทนาที่เรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันหายไหม กำหนดกี่คำมันจึงหาย หรือมันไม่หายเสียเลย หรือกำหนดกี่นาทีมันจึงหาย นี่ปัญญามันเกิดขึ้นแล้ว

เราจะกำหนดจิตของเราก็ดี เรากำหนดว่า คิดหนอๆ เราสำรวจว่า เราคิดเมื่อไหร่ เราคิดขณะที่หายใจเข้า หรือคิดขณะที่หายใจออก เรารู้ หรือว่ามันเริ่มคิดในขณะที่เราก้าวเท้าขวาไป หรือเริ่มคิดในขณะที่ก้าวเท้าซ้ายไป ความคิดที่เกิดขึ้นมาแล้ว มันหายไปเมื่อไหร่ มันหายไปในขณะที่เราหายใจเข้า หรือหายไปขณะที่หายใจออก หรือหายไปในขณะที่ก้าวเท้าขวาไป หรือมันหายในขณะที่ก้าวเท้าซ้ายไป เรารู้ การรู้อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นปัญญา ปัญญาเกิดแล้ว

สรุปว่า ในขณะที่เราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ เราจะกำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ก็ตาม หรือกำหนดกาย เวทนา จิต ธรรม เรากำหนดอยู่นี้ เราเห็นสภาวะที่เรากำหนดนั่นเปลี่ยนแปลงไป จะลองกำหนดอาการพองอาการยุบเราก็เห็น มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราก็รู้ เหมือนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาแล้วนะ ปัญญากุศลเกิดขึ้นมาแล้ว

เมื่อใดปัญญาเกิดขึ้นในขันธสันดาน ที่เรียกว่า พระไตรลักษณ์ ปัญญาสูงขึ้นจนเห็นพระไตรลักษณ์ เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี อาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการเดินก็ดี กำหนดอาการยืนก็ดี กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมก็ดี จนเห็นพระไตรลักษณ์ คือพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาในขันธสันดาน

เห็นอนิจจัง คือสภาวะของรูปนามไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

เห็นทุกขัง เห็นรูปนามเป็นสภาวะที่ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

เห็นอนัตตา ที่ติดอยู่กับรูปกับนาม คือเห็นว่ารูปนามนี้เป็นสภาวธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ อันนั้นเป็นอนัตตา

เมื่อใดเราเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ติดอยู่กับรูปกับนาม จนสามารถฆ่ากิเลสตาย คลายกิเลสออก สำรอกกิเลสหลุด ผุดเป็นวิสุทธิสงฆ์ ก็ถือว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ถือว่าเราได้ละกิเลสได้แล้ว โดยที่เป็นวิกขัมภนปหานบ้าง ตทังคปหานบ้าง สมุจเฉทปหานบ้าง เมื่อใดเราสามารถละกิเลสได้ถึงขั้นสมุจเฉทปหาน ก็ถือว่าเราได้เป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาในพระพุทธศาสนาแล้ว

เมื่อใดเราได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล เพียงแต่ขั้นปฐมมรรคคือขั้นพระโสดาบัน ก็ถือว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาดแล้ว ตายแล้วเราจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

เพราะเหตุไร เพราะว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง เมื่อถึงกระแสแห่งพระนิพพานแล้ว ก็ถือว่าเราสามารถตัดกระแสของวัฏฏะได้ไปแล้ว ๑ ขณะจิต เมื่อเราสามารถตัดกระแสวัฏฏะลงได้ ๑ ขณะจิตแล้ว เราก็จะเกิดอีกเพียง ๗ ชาติเป็นอย่างมากเท่านั้น แล้วจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานต่อไป

นี้เป็นอานิสงส์ของพระไตรลักษณ์ คืออานิสงส์ของปัญญา เจริญกัมมัฏฐานจนสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ติดอยู่กับรูปกับนามที่เรากำหนด เมื่อเราท่านประพฤติปฏิบัติได้ถึงนี้ ท่านทั้งหลาย ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว

เมื่อก่อนโน้น เรามีความวิตกกังวลหรือกระสับกระส่ายอะไรๆ ร้อยแปดพันประการว่า ทำอย่างไรหนอ เราเกิดขึ้นมานี้ หากว่าเราตายไป จะไม่ต้องตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราจะทำอย่างไรจึงจะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คิดอยู่ตลอดเวลา แม้หลวงพ่อก็เคยคิดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

คิดจนถึงขนาดว่า เราตายไปแล้ว หากว่าเราไปตกนรกจะไม่ละอายญาติโยมหรือ ญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพล ถวายความอุปถัมภ์อุปัฏฐากมาตลอดเวลา แต่เวลาตายลงไปแล้ว บังเอิญโยมไปเกิดในสุคติ แต่เรากลับไปตกนรกหรือไปสู่อบายภูมิ เราจะไม่ละอายญาติโยมหรือ หลวงพ่อคิดมาอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้ความวิตกอย่างนี้หายไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของเรา ก็มีหนทางเดียว คือเรามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ก็เป็นอันว่าเราปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาดแล้ว ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ

เพราะเหตุไรจึงสามารถปิดประตูอบายภูมิได้

ก็เพราะว่าผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมะถึงนี้ ถือว่าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อาจจะ ๑ ขณะจิต แล้วก็มีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายแล้วจึงไม่ไปสู่อบายภูมิ

เหมือนกันกับเรายืนอยู่บนสะพานสูงๆ แล้วก็ทิ้งของต่างๆ ลงไปในน้ำ เช่นว่า ก้อนหินบ้าง ก้อนกรวดบ้าง ทรายบ้าง สิ่งของวัตถุอะไรต่างๆ ที่เราทิ้งลงไป แต่บังเอิญในน้ำนั้น มีเรือเป็นเครื่องรองรับอยู่ มีเรือลอยอยู่ เมื่อเราทิ้งลงไปมันก็ไปค้างอยู่บนเรือ ไม่จมลงไปในน้ำ ข้อนี้ ฉันใด

ผู้ปฏิบัติธรรมจนยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว ชื่อว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ จุติแล้ว ตายแล้ว หรือมรณภาพแล้ว ก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีสุคติเป็นที่ไป เป็นที่ได้ เป็นที่ถึง เมื่อผู้ประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้

ท่านทั้งหลาย เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ก็ถือว่าเราได้ใบประกันชีวิตแล้ว เป็นแต่เพียงว่าเราได้ขั้นปฐมมรรคอย่างเดียวเท่านั้น ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ อย่างเรื่อง องคุลิมาลอย่างนี้ ท่านทั้งหลายก็เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว หรืออย่างเรื่องของนายตัมพทาฐิกะ มีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีบุรุษคนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายกำยำ แข็งแรง มีเคราแดง มีตาเหลือกเหลือง เป็นบุรุษที่น่ากลัวว่างั้นเถอะ วันหนึ่งนายตัมพทาฐิกะนี้ไปขออาศัยในสำนักของพวกโจร แต่ว่าหัวหน้าโจรไม่รับ โดยกล่าวว่า เขาไม่สามารถที่จะรับบุรุษคนนี้ได้ เพราะบุรุษคนนี้เป็นผู้มีร่างกายกำยำ น่ากลัว สามารถที่จะเชือดเอาเลือดในคอของมารดามาดื่มกินได้ เรารับไม่ได้ แล้วก็ปล่อยไป

แต่นายตัมพทาฐิกะก็ไม่กลับ ไปขออาศัยอยู่ในสำนักของสมุนบริวารโจรคนหนึ่ง และพยายามทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง จนบริวารโจรนั้นพอใจไว้ใจและเชื่อใจ แล้วก็ไปขอจากหัวหน้าโจรอีกครั้งหนึ่ง ผลสุดท้ายหัวหน้าโจรก็อนุญาตให้อยู่ได้

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมดาของโจรมันย่อมไม่อยู่เฉยๆ ต้องออกปล้นออกจี้ เพื่อแย่งชิงเอาทรัพย์สมบัติของคนโน้นคนนี้มาเลี้ยงอัตภาพร่างกายจึงจะอยู่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน นายตัมพทาฐิกะซึ่งอยู่ในพวกโจร ก็ต้องทำหน้าที่ของโจร หาปล้นหาจี้เอาทรัพย์สมบัติของคนโน้นคนนี้ จนประชาชนชาวเมืองทั้งหลายพากันเดือดร้อน ไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน

พระราชาตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่และมหาชนทั้งหลายไปตามล่าพวกโจร ๕๐๐ นั้นมาลงโทษตามกฎหมายของบ้านเมือง ผลสุดท้ายสามารถจับโจรทั้ง ๕๐๐ ได้ เมื่อจับได้แล้ว เจ้าหน้าที่พิพากษาตัดสินประหารชีวิตโจรทั้ง ๕๐๐ คนนั้นด้วยการตัดคอ คนทั้งหลายก็ไปถามหัวหน้าโจรก่อนว่า

ท่านหัวหน้าโจร ท่านสามารถที่จะประหารนักโทษ (บริวารโจร) ทั้งหลายเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ ก็จะไว้ชีวิตท่าน และจะให้คุณงามความดีจะชุบเลี้ยง หัวหน้าโจรก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เพราะว่าอยู่ด้วยกันมานานแล้ว โจรคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่สามารถที่จะประหารได้ เขาก็ถามไปตามลำดับๆ จนไปถึงคนสุดท้ายคือนายตัมพทาฐิกะนั่นเอง

เขาก็ถามว่า นายตัมพทาฐิกะ ท่านสามารถที่จะประหารโจรเหล่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้ เราจะให้ชีวิตให้ความดีความชอบ นายตัมพทาฐิกะบอกว่า ข้าพเจ้าสามารถ เขาก็ให้ดาบแก่นายตัมพทาฐิกะ

นายตัมพทาฐิกะก็ได้ฆ่าโจรเหล่านั้นด้วยการตัดคอ คนละทีๆ ตัดเพียง ๕๐๐ ครั้ง ก็หมด เมื่อฆ่าโจรทั้งหลายเหล่านั้นได้แล้ว เขาก็ให้ชื่อว่า บุรุษผู้ฆ่าโจร เขาให้ชีวิต ให้ความดีความชอบ ตั้งไว้ในตำแหน่งนายเพชฌฆาต

นับจากนั้นมา เขาก็เอานักโทษทั้งหลายมาให้นายตัมพทาฐิกะนั้นฆ่า ครั้งละ ๒-๓ คนบ้าง ๑๐๐ คนบ้าง ๒๐๐ คนบ้าง ๕๐๐ คนบ้าง จนนายตัมพทาฐิกะทำหน้าที่เป็นบุรุษผู้ฆ่าโจรอยู่เป็นเวลา ๕๕ ปี ภายใน ๕๕ ปีนี้ เขาฆ่าคนไปตั้ง ๒,๐๐๐ คน

เมื่อเขาแก่เฒ่าลงแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะตัดคอโจรทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้ขาดไปในครั้งเดียวได้เหมือนเมื่อก่อน แต่ต้องตัด ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง จึงขาด ทำให้นักโทษทั้งหลายต้องทนทุกข์ทรมาน คนเขาเห็นแล้วจึงยกเรื่องนี้เป็นเหตุ แล้วก็ถอดนายตัมพทาฐิกะนั้นออกจากตำแหน่งบุรุษผู้ฆ่าโจร

ตลอดเวลาที่นายตัมพทาฐิกะเป็นบุรุษผู้ฆ่าโจรอยู่ ๕๕ ปีนั้น เขาไม่ได้ทำกิจ ๕ ประการเลย คือ

๑) การอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์

๒) การนุ่งห่มผ้าใหม่ ก็ไม่ได้ทำ

๓) การทัดดอกไม้ของหอมมีดอกมะลิเป็นต้น เขาก็ไม่ได้ทำ

๔) การลูบไล้ร่างกายด้วยกระแจะ น้ำมัน เครื่องหอมต่างๆ เขาก็ไม่ได้ทำ

๕) การบริโภคข้าวยาคูซึ่งเจือด้วยเนยใส เขาก็ไม่เคยบริโภค

คือกิจทั้ง ๕ ประการนี้ เขาก็ไม่เคยรับเลยตลอด ๕๕ ปี วันที่เขาพ้นจากตำแหน่งบุรุษผู้ฆ่าโจร คนทั้งหลายก็ทำกิจ ๕ ประการนี้แก่นายตัมพทาฐิกะ

เช้าวันหนึ่ง นายตัมพทาฐิกะจะลงไปอาบน้ำเพื่อชำระร่างกายทำสรีระกิจ เพื่อทำกิจทั้ง ๕ ประการนั้นครบทุกอย่าง โอโลเกตฺวา ตอนนั้นเป็นเวลาใกล้จะสว่าง ท่านพระสารีบุตรเถระเข้านิโรธสมาบัติ ออกมาแล้วก็พิจารณาว่า วันนี้จะไปโปรดเขา เสร็จแล้วพระเถระเจ้าก็นุ่งสบงทรงจีวร มีกรจับบาตรลีลาศมาสู่บ้านของนายตัมพทาฐิกะ

ในขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะก็ได้อาบน้ำชำระร่างกายประดับประดาเครื่องหอมทุกสิ่งทุกอย่าง เสร็จแล้วก็กลับมาบ้านเพื่อบริโภคข้าวยาคู พอมาถึงบ้านก็มองเห็นท่านพระสารีบุตรยืนอยู่ที่ประตูบ้าน ก็คิดได้ทันทีว่า เราเป็นบุรุษฆ่าโจรอยู่ ๕๕ ปี ตลอดระยะเวลา ๕๕ ปีนี้ เราไม่ได้ทำบุญทำทานเลย เราพ้นจากตำแหน่งแล้ว พระเถระเจ้าก็มาโปรดเราในวันนี้ และไทยธรรมของเราก็มีพร้อมแล้ว จึงได้อาราธนาพระเถระเจ้าขึ้นไปบนบ้าน แล้วจัดอาหารถวาย เสร็จแล้วพระเถระเจ้าก็ฉันภัตตาหาร

ในขณะนั้น นายตัมพทาฐิกะก็มาทำงานพัดให้ คือมาพัดให้ พัดไปๆ กลิ่นข้าวยาคูนั้นก็มาถูกกับจมูก เกิดความกระหายขึ้นมา อยากดื่ม พระสารีบุตรเห็นอาการเช่นนั้นก็เลยพูดว่า ดูก่อนอุบาสก ก็ภัตของอุบาสกก็มีอยู่แล้ว อุบาสกไปบริโภคภัตรของตนเถิด

นายตัมพทาฐิกะก็หยุดจากงานพัด ไปบริโภคอาหาร เสร็จแล้วก็มากราบพระเถระเจ้า ท่านพระสารีบุตรก็แสดงพระสัทธรรมเทศนาให้ฟัง เมื่อเขาฟังพระสัทธรรมเทศนาไปก็ไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้ เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้แล้วนั้นเกิดขึ้นผุดขึ้นอยู่ในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา

พระเถระเจ้าจึงถามว่า ดูก่อนอุบาสก เพราะเหตุไร อุบาสกจึงไม่สามารถส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้

เขาก็เรียนตอบว่า ท่านผู้เจริญขอรับ กระผมทำบาปมาจนนับไม่ถ้วน ๕๕ ปีนี้ ผมฆ่าโจรไปตั้งสองพันกว่าคน เมื่อผมฟังธรรมะไป ภาพที่ผมทำบาปทำกรรมนั้น ผุดขึ้นมาในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา เรียกว่ามาปรากฏอยู่ในมโนทวารอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ กระผมจึงไม่สามารถทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ ไม่สามารถที่จะส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้

พระสารีบุตรท่านเป็นผู้เปี่ยมด้วยปัญญา ก็หากุศโลบายเพื่อเปลี่ยนความคิดของนายตัมพทาฐิกะ แล้วก็ใช้กุศโลบาย พระเถระเจ้าถามว่า ดูก่อนอุบาสก ในขณะที่ฆ่าโจรนั้น อุบาสกฆ่าเองหรือ หรือว่าคนอื่นใช้ให้ฆ่า เขาตอบว่า ท่านขอรับ ผมไม่ได้ฆ่าเอง พระราชาสั่งให้ฆ่า พระเถระจึงว่า เมื่ออุบาสกไม่ได้ฆ่าเอง พระราชาสั่งให้ฆ่า บาปก็ไม่ตกอยู่ที่อุบาสก บาปก็ตกอยู่ที่พระราชาโน้น

พอเขาได้ฟังเท่านั้นแหละ ก็ดีอกดีใจขึ้นมาทันทีว่า เรานี้ฆ่าคนตั้งสองพันกว่าคน การที่ฆ่าคนสองพันกว่าคนนี้ บาปกรรมเหล่านั้นไม่ตกอยู่ที่เราเลย ตกอยู่ที่พระราชาผู้เดียว ก็ดีอกดีใจขึ้นมา เกิดปีติฟังเทศน์ฟังธรรม ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา จนสามารถยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นภายในขันธสันดาน คือได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเป็นพระโสดาบัน

เมื่อเขาได้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว พระเถระเจ้าก็ยุติการแสดงพระธรรมเทศนา ลากลับวัด นายตัมพทาฐิกะนี้ก็ตามไปส่ง เมื่อส่งถึงที่แล้วก็กลับมา ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย บังเอิญหนทางที่จะกลับบ้านนั้น ยักษิณีที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรซึ่งทำบาปทำกรรมต่อกันมาแต่ชาติปางก่อน แปลงร่างมาในร่างของแม่โคลูกอ่อน มารออยู่ก่อนแล้ว พอนายตัมพทาฐิกะมาถึง แม่โคนั้นก็กระโดดขวิดอย่างแรง นายตัมพทาฐิกะก็ถึงแก่มรณกรรมไป

ในเช้าวันนั้น บรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายที่อยู่โรงธรรมสภาศาลา ได้สนทนากันในเรื่องนายตัมพทาฐิกะว่า ท่านทั้งหลาย นายตัมพทาฐิกะนี้ เขาเป็นโจรอยู่ ๕๕ ปี ๕๕ ปีนี้เขาฆ่าคนไปตั้งสองพันกว่าคน เขาพ้นจากตำแหน่งแล้ว ก็ได้ทำบุญทำทานแก่พระเถระเจ้าวันนี้ แล้วก็ได้ฟังธรรมะจากพระเถระเจ้าวันนี้ แล้วก็ถึงมรณกรรมตายไปวันนี้ เมื่อเขาตายแล้วไปเกิดในที่ไหนหนอ

ขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงทราบก็เสด็จมา และตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันในเรื่องอะไร พวกภิกษุกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์สนทนากันในเรื่องของนายตัมพทาฐิกะว่า เขาตายแล้วไปเกิดในที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไปเกิดแล้วในชั้นดุสิตบุรี

พอพระองค์ตรัสเช่นนั้น พระทั้งหลายก็งง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงตรัสเรื่องอะไร เป็นไปได้หรือ นายตัมพทาฐิกะเขาเป็นเพชฌฆาตอยู่ ๕๕ ปี เขาฆ่าคนไปตั้งสองพันกว่าคน เมื่อตายแล้วจะไปเกิดในชั้นดุสิตบุรีได้อย่างไร พระพุทธเจ้าข้า หรือว่าผลของบุญบาปไม่มี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายอย่าได้กล่าวเช่นนั้น เมื่อก่อนโน้น บุตรของเราไม่ได้กัลยาณมิตรแม้สักคนเลย แต่บัดนี้ บุตรของเราได้กัลยาณมิตรแล้ว ได้ถวายทานแก่พระสารีบุตร ได้ฟังธรรมของพระสารีบุตร สามารถยังอนุโลมขันติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน จุติแล้วจึงไปบังเกิดในชั้นดุสิตบุรี แทนที่จะตกนรกกลับไปเกิดในชั้นดุสิตบุรี

นี่แหละท่านทั้งหลาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนสามารถยังปฐมมรรคให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้อย่างนี้ ตายแล้วก็เป็นอันว่าปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด จะไม่ไปสู่อบายภูมิอีก อันนี้เป็นข้อที่ ๒ คือปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

๓. ภาวนาปธาน เพียรยังกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน ได้แก่ การเพียรและการเจริญกัมมัฏฐาน เหมือนอย่างที่เราท่านทั้งหลายทำอยู่ในทุกวันนี้ เราเพียรในการเจริญกุศล เพียรพยายามรักษาศีลของตัวเองให้บริสุทธิ์ เพียรยังสมาธิสมาบัติให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน เพียรอบรมบ่มปัญญา ทั้งที่เป็นโลกิยปัญญา ทั้งที่เป็นโลกุตตรปัญญา ทั้งสุตมยปัญญา ทั้งจินตมยปัญญา ทั้งภาวนามยปัญญา ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน

สรุปสั้นๆ ว่าเราเพียรให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา อย่างนี้เรียกว่า เพียรให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน หมายความว่า ในขณะที่เราเดินจงกรม เราก็กำหนดตามไป ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยืนหนอๆ อยากนั่งหนอๆ นั่งหนอๆ พองหนอ ยุบหนอ เจ็บหนอ ปวดหนอ สุขหนอ เฉยหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเพียรพยายาม

ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายพยายามกำหนดตามไปตลอดเวลา ไม่ลดละความพยายาม เรากำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ คือยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรามีสติสัมปชัญญะ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าเราเพียรพยายามให้บุญกุศลเกิดขึ้นในขันธสันดาน

บุญกุศลก็ตรงกันข้ามกับบาป บาปนั้น คือ โลภะ โทสะ โมหะ ว่าโดยสภาวะก็เป็นอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น สำหรับบุญก็เหมือนกัน บุญ เมื่อกล่าวโดยสภาวะ ก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่เป็นตัวบุญ

แต่ที่ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ทำบุญแล้ว อยู่ในโลกนี้ก็ไม่เดือดร้อน เป็นผู้ไม่มากด้วยเวร เป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ มีชื่อเสียงอันดีงาม เมื่อจะตายก็จะมีสติ ตายแล้วก็จะไปสู่สุคติ ตายแล้วไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปเกิดในเทวโลกบ้าง ไปเกิดในพรหมโลกบ้าง ไปสู่พระนิพพานบ้าง อะไรทำนองนี้ อันนั้นเป็นผลพลอยได้ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำบุญต่างหาก

บุญนั้น เมื่อกล่าวโดยสภาวะก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง ในขณะที่เรากำหนดบทพระกรรมฐาน เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ เรากำหนดอยู่ตลอดเวลา คือว่าเราเพียรพยายามยังบุญให้เกิดขึ้น ยังกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน

๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม ก็คือเราเพียรพยายามรักษาศีล รักษาสมาธิ รักษาปัญญาที่เราได้มาแล้วนั้น ให้อยู่กับขันธสันดานเรา หรือว่าให้อยู่กับกายกับใจของเรา

คือว่า เมื่อเราได้สมาธิสมาบัติ เราก็เพียรให้สมาธิสมาบัตินั้นอยู่กับตัวของเราตลอดไป หรือว่าเราได้อริยมรรค อริยผล จนถึงนิพพานแล้ว เราก็รักษาอริยมรรคอริยผลและนิพพานนั้นไว้ในตัวและตนของเราตลอดไป ถือว่าเรารักษาคุณงามความดีที่บำเพ็ญได้แล้วให้ดำรงอยู่ ให้ตั้งอยู่ในขันธสันดานของเราตลอดไป

ท่านทั้งหลาย คนที่มาสู่สถานที่นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เรามาฝึก มาฝน มาอบ มารม

ประการที่ ๑ ฝึก คนทั้งหลายที่เขาฝึกช้าง ฝึกม้า เขาฝึกไว้ทำไม เขาฝึกไว้ให้มันชำนิชำนาญ ถ้าม้าชำนิชำนาญแล้ว เขาก็เอาไปเป็นม้าแข่งบ้าง ใช้ราชการสงครามบ้าง ช้างก็เหมือนกัน เขาฝึกให้ชำนิชำนาญแล้ว เขาจะเอาไปลากซุงบ้าง เอาไปใช้ในราชการบ้าง ข้อนี้ฉันใด

เรามาฝึกตัวของเราในขณะนี้ โดยให้มีสติสัมปชัญญะทุกขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรากำหนดอยู่ตลอดเวลา เรียกว่า เรามาฝึกกาย ฝึกวาจา ฝึกใจของเรา ให้มีสติสัมปชัญญะ ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรามาฝึกกำหนดจิต กำหนดเวทนา กำหนดธรรมอยู่ตลอดเวลานี้ ในขณะนี้เรามาฝึก

ในเมื่อเราฝึกฝนอบรมดีแล้วให้คล่องแคล่วแล้ว เราฝึกตัวเองให้อาจหาญ ให้สามารถ ให้รู้หลักการ ให้รู้วิธีการ ในการที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดจากขันธสันดานของตนได้ เมื่อเราฝึกฝนจนเกิดความคล่องแคล่วว่องไว มีไหวพริบ มีสติปัญญาดีแล้ว เราก็จะไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

หมายความว่า เมื่อเราฝึกกำหนดอย่างนี้ๆ อยู่ตลอดเวลา สติของเราก็จะมีกำลัง มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สูงจนเหนือกว่าโมหะ เมื่อสติของเรามันสูงกว่าโมหะแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสทั้งหลายให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา หรือพูดอย่างหนึ่งว่า เมื่อสติมีกำลังสมบูรณ์แล้ว สตินี้ก็จะทำหน้าที่ดับโมหะให้หมดไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของสติ

ถ้าดับได้ครั้งหนึ่งแล้ว ก็ถือว่าเราได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าดับได้เป็นสมุจเฉทปหานครั้งที่ ๒ ก็ถือว่าเป็นพระสกทาคามี ถ้าดับได้ครั้งที่ ๓ ก็ถือว่าเป็นพระอนาคามี ถ้าดับได้ครั้งที่ ๔ ก็เป็นอันว่ากิเลสตัณหาหมดแล้ว เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย การเกิดอีกของเราไม่มี กิจอื่นที่จะต้องทำก็ไม่มี เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้ เป็นที่ถึง เป็นที่บรรลุแล้ว เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจเป็นอันขาด

สรุปเอาสั้นๆ ว่า เวลาจะเจริญพระกัมมัฏฐานนี่ ถ้าผู้ใดมีสติสมบูรณ์เร็ว ผู้นั้นก็จะได้บรรลุธรรมวิเศษเร็ว แต่ถ้าผู้ใดชะล่าใจ ไม่สนใจในการที่จะใช้สติกำหนดบทพระกัมมัฏฐานที่เรากำหนดอยู่ขณะนี้ ผู้นั้นก็บรรลุช้าหรือไม่ได้บรรลุเสียเลย

ขอสรุปเอาว่า เราทำกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ เราทำเพื่อต้องการให้สติของเรามีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง มีพลัง เมื่อสติของเราสูงสมบูรณ์แบบแล้ว เราก็จะเอาสตินี้ไปดับโมหะพร้อมทั้งกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงให้ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน เหตุนั้น เรามาสถานที่นี้ เราจึงมาฝึกตัวเราเอง เพื่อให้เกิดความสามารถดังกล่าวมาแล้วข้างต้น



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 ธันวาคม 2560 11:12:20

(http://webboard.abhidhammaonline.org/old/picdb.thaimisc.com/d/dokgaew/11565-8.jpg@n)

การทำความเพียร ๔ (สัมมัปปธาน ๔)- ต่อ

ประการที่ ๒ ฝน นอกจากฝึกแล้วก็ฝน คำว่า ฝน ภาษากรุงเทพเขาเรียกว่า ลับ แต่ขอพูดประโยคเดียวว่า ลับกับฝนอันเดียวกัน ถ้า ฝน นั้นเป็นภาษาอีสาน ถ้า ลับ เป็นภาษากรุงเทพฯ

เราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ เรามาฝนตัวของเรา ฝนอะไร ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจของเรา เราฝนอย่างไร เพราะเห็นว่า ตั้งแต่เวลามาอยู่ที่นี่ตั้งหลายวันแล้ว ไม่ได้เห็นฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจเลย บางท่านอาจจะคิดอย่างนี้

ท่านทั้งหลาย ตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น เราเริ่มฝนแล้ว ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ เอาอะไรฝน เอาสติฝน ฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ แล้วฝนอย่างไร ขณะที่ตาเห็นรูป เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ เริ่มฝนแล้วนะ ถ้ากำหนด ๓ ครั้ง ก็เรียกว่าฝน ๓ ครั้งแล้ว กำหนด ๗ ครั้ง ก็ถือว่าฝน ๗ ครั้งกลับไปกลับมาแล้ว

ในขณะที่หูได้ยินเสียงกำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ฝนหูแล้ว ในขณะที่จมูกได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ ฝนแล้ว ฝนจมูกแล้ว ในขณะที่ลิ้นได้รสกำหนดว่า รสหนอๆ นี่ฝนลิ้นแล้ว ในขณะที่กายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง กำหนดว่า ถูกหนอๆ เราฝนกายแล้ว

เพราะเหตุไรจึงต้องฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจ

เพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามันมีสนิม

อะไรเป็นสนิม

โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา นี่ถือว่าเป็นสนิมของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเราฝนตา เหมือนกับคนทั้งหลายก่อนที่เขาจะเอาพร้าเอามีดเอาขวานมาใช้ เขาก็ต้องฝนให้มันหมดสนิมเสียก่อน เมื่อพร้าก็ดี มีดก็ดี ขวานก็ดี มันหมดสนิมแล้ว และมันคมดีแล้ว เขาก็สามารถที่จะนำไปตัดโน่นฟันนี่ได้ตามประสงค์ ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราทั้งหลายมาฝนตา ฝนหู ฝนจมูก ฝนลิ้น ฝนกาย ฝนใจของเรา ให้มันหมดสนิมคือกิเลส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถือว่าเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่คมแล้วนะทีนี้ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเรามันคมแล้วด้วยสติ คมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เราก็สามารถเอาไปตัดกิเลสตัณหาให้หมดไปให้สูญไปจากขันธสันดาน เหตุนั้น เรามาสถานที่นี้ นอกจากมาฝึกแล้วก็มาฝนด้วย

ประการที่ ๓ อบ เรามาสู่สถานที่นี้ เรามาอบ มาอบกาย อบวาจา อบใจของเรา เหมือนกับคนทั้งหลายที่เขาอบเครื่องนุ่งห่มของเขา อบผ้า อบผ้านุ่งผ้าห่มของเขา

เขาอบเพื่ออะไร เพื่อต้องการให้ผ้าของเขาหอมไปด้วยกลิ่นของหอม เช่นว่า กลิ่นพิมเสน แก่นจันทร์ หรือเครื่องหอมต่างๆ เมื่อเขาอบแล้ว เครื่องนุ่งห่มก็จะหอมไปด้วยกลิ่นของหอมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนี้ฉันใด

เรามาอบกาย อบวาจา อบใจของเรา ด้วยการเจริญกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ก็คือเรามาอบกาย อบวาจา อบใจของเราให้หอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญา

เมื่อใด กายวาจาใจของเรามันหอมไปด้วยกลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา กิเลสหรือบาป ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ซึ่งเรียกว่า วีติกกมกิเลส หรือปริยุฏฐานกิเลส อนุสัยกิเลส ก็ไม่สามารถที่จะครอบงำขันธสันดานของเราได้ คือความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น ก็ไม่สามารถที่จะครอบงำจิตใจของเราได้

เหตุนั้น เรามาสู่สถานที่นี้ เราจึงมาอบตัวของเราให้หอมไปด้วยกลิ่นศีล หอมไปด้วยกลิ่นสมาธิ หอมไปด้วยกลิ่นปัญญา เมื่อตัวของเราหอมไปด้วยกลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญาแล้ว บาปทั้งอย่างหยาบ อย่างละเอียด และอย่างกลาง ก็จะมาเกาะมาจับตัวของเราไม่ได้

ประการที่ ๔ รม เรามาสู่สถานที่นี้ เรามารมตัวของเรา เหมือนกับคนทั้งหลายที่เขารมควันไฟ

เพราะเหตุไรเขาจึงรมควันไฟ

เพราะต้องการให้ความร้อนหรือไอของไฟนั้นจับอยู่หรือเกาะอยู่ที่ตัวของเขา ข้อนี้ฉันใด เรามารมตัวของเราด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนาอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อว่าให้กลิ่นศีล กลิ่นสมาธิ กลิ่นปัญญา กลิ่นมรรค กลิ่นผลนั้น เกาะอยู่หรือจับอยู่ที่ตัวของเรา หรือให้ตัวของเราเกาะอยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา กับอริยมรรค กับอริยผล

เมื่อใด ตัวของเรานี้มันหอม มันเกาะอยู่หรือจับอยู่กับศีล สมาธิ และปัญญา เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรค อริยผล เกาะอยู่หรือจับอยู่ที่ตัวของเรา

เมื่อนั้น ก็ถือว่าเราได้บรรลุสุขอันไพบูลย์แล้ว ชีวิตนี้เป็นชีวิตที่ประเสริฐแล้ว ไม่เสียชาติเกิด เกิดมานี้ไม่เสียชาติเกิด เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว แม้ไม่มีปสาทะศรัทธามาก่อน แต่ก็ยังมีโอกาสเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วได้รู้ธรรม ได้บรรลุธรรม

ท่านทั้งหลาย ในอัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เราทั้งหลายจงสังเกตดู หรือเราทั้งหลายก็พอที่จะรู้ว่า คนทั้งหลายเขาจะนำสัตว์มาใช้งาน เขาต้องฝึกเสียก่อน เช่นว่า จะนำช้างมาใช้งาน จะนำม้ามาใช้งาน หรือจะนำลิงมาเล่นละคร อย่างนี้เป็นต้น เขาต้องฝึกเสียก่อน จึงจะได้ประโยชน์จากการมีช้าง มีม้า หรือมีลิง หรือมีสัตว์ประเภทอื่นๆ ข้อนี้ฉันใด พวกเราทั้งหลายมาฝึกตัวของเราอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อว่าจะถือเอาประโยชน์จากการที่มีกายมีใจ

อีกอย่างหนึ่ง พวกทหาร เมื่อเขาจะเข้าสู่แนวรบ เขาก็ต้องฝึกฝนอบรม เขาต้องฝึกฝนให้รู้ ให้เข้าใจ ให้ชำนิชำนาญในยุทธภูมิ ในการใช้อาวุธ เรื่องการยิงปืน การยิงจรวด ในการใช้อาวุธนำวิถี เขาก็ต้องฝึกเสียก่อน จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ ฉันใด

เราเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะเอาชนะข้าศึกคือกิเลส เราก็ต้องฝึกเสียก่อน ถ้าเราไม่ฝึกมันก็ไม่สามารถจะเอาชนะกิเลสได้ เมื่อเราฝึกแล้วจึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้ เหตุนั้น เราทั้งหลายมาสู่สถานที่นี้ และปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี้ ก็คือเรามาฝึกตัวของเราให้ชำนิชำนาญ ให้รู้วิธีการ ให้รู้หลักการ ในการจะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน

ท่านทั้งหลาย คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้ว มีของ ๒ อย่างเท่านั้น คือมีกายกับมีใจ เมื่อเราเกิดมามีกายมีใจแล้ว เราไม่รู้จักใช้กายใช้ใจ หรือว่าเราไม่รู้วิธีใช้กายใช้ใจ ไม่รู้จักถือเอาประโยชน์ของการมีกายมีใจ ใช้กายใช้ใจไม่เป็น ก็ถือว่าเราขาดทั้งทุนสูญทั้งกำไร แต่เมื่อเรามีกายมีใจแล้ว เรารู้จักกายรู้จักใจ รู้วิธีใช้กายใช้ใจ และก็ใช้กายใช้ใจให้มันเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

อะไรที่จะได้ประโยชน์ เราจะถือเอาประโยชน์จากการมีกายมีใจได้อย่างไร เมื่อเห็นว่า เรามีกายมีใจแล้ว เราจะถือเอาประโยชน์จากกายจากใจนี้อย่างนี้ๆ เรารีบถือเอาประโยชน์จากกายจากใจนั้น จึงจะถือว่าเราได้ทั้งทุนได้ทั้งกำไร เกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด ไม่ขาดทุน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเรามีกายมีใจแล้ว หากว่าเราตั้งกายตั้งใจไว้ไม่ถูก เมื่อตั้งใจไว้ไม่ถูก การคิดก็ผิด การทำก็ผิด การพูดก็ผิด การคบกันก็ผิด ผลที่ได้รับ เราเองก็เดือดร้อน คนอื่นก็เดือดร้อน สังคมก็เดือดร้อน แต่ถ้าเราตั้งใจไว้ถูก การคิดก็ถูก การทำก็ถูก การพูดก็ถูก การคบกันก็ถูก ผลที่ได้รับ เราเองก็มีความสุข คนอื่นก็มีความสุข สังคมก็มีความสุข

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่สถานที่แห่งนี้ เรารู้แล้วว่า ตัวของเรานั้นมี ๒ อย่าง คือ กายกับใจ

ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามใช้กายใช้ใจให้เป็นประโยชน์ จงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ระวังอย่าให้เผลอไป อย่าเป็นผู้ประมาท พยายามใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ พยายามบำเพ็ญสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน พยายามอบรมบ่มปัญญาให้ขึ้นเกิดในตัวเอง

ที่แสดงมาก็เห็นพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
  พระราชปริยัตยากร
-------------------------------------------------
[1] (องฺ. จตุกฺก.๑๓/๑๓/๑๔)


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 ธันวาคม 2560 15:39:11

(http://book.dou.us/lib/exe/fetch.php?w=200&media=md101:meditate.jpg)

อินทรีย์ ๕

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อินทรีย์ ๕ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อินทรีย์ แปลว่า ความเป็นใหญ่ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. ศรัทธา เป็นใหญ่ในความเชื่อ เช่น

๑) กมฺมสทฺธา เชื่อกรรม คือเชื่อว่าการทำดี พูดดี คิดดี ถือว่าเป็นกุศลกรรม ย่อมทำให้ได้รับความสุข ถ้าทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เป็นอกุศลกรรม ทำผู้ประพฤติให้ได้รับความทุกข์

๒) วิปากสทฺธา เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายที่ได้รับความสุขอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้ทำดีไว้ในอดีต สัตว์ทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ ก็เนื่องจากผลกรรมที่สืบเนื่องมาจากเหตุคือได้ประพฤติชั่วไว้ในอดีตที่ผ่านมา

๓) กมฺมสฺสกตาสทฺธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของๆตน คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่เหมือนกัน บางคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว บางคนก็ร่ำรวยเป็นกุฎุมพี เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เป็นอภิมหาเศรษฐี บางคนก็รูปขี้เหร่ ไม่สวย บางคนก็มีรูปสวย บางคนก็เป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา บางคนก็มีสติปัญญาเฉียบแหลม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกรรมที่ทำไว้จำแนกให้เป็นไปต่างๆกัน ดังวจนะประพันธ์ธรรมภาษิตว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมแล ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปต่างๆ คือเลวและประณีต

๔) ตถาคตโพธิสทฺธา เชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือเชื่อว่าพระองค์เป็นพระสยัมภูผู้เป็นเองในทางตรัสรู้ เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณ คือมีปัญญาเฉลียวฉลาดเปรื่องปราดชาติกวี สามารถตรัสรู้อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ จนได้ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระองค์เป็นผู้มีพระบวรสันดานอันบริสุทธิ์สะอาดผ่องใส ปราศจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น พระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง ทรงเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลายผู้เร่าร้อนอยู่ในเพลิงกิเลสและกองทุกข์ จึงได้นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วมาชี้แจงแสดงไข มาชี้แนะแนวทางให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายได้ปฏิบัติตาม เพื่อจะให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

สรุป คำว่า ศรัทธา นี้หมายความว่า เชื่อว่าทำดีได้ดีจริง ทำชั่วได้ชั่วจริง นี้เรียกว่า ศรัทธา คือเป็นใหญ่ในความเชื่อ

๒. วิริยะ เป็นใหญ่ในความเพียร คือมีความเพียรพยายามอันประกอบไปด้วยมหาปธาน ๔ ได้แก่ สังวรปธาน เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ปหานปธาน เพียรพยายามละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ภาวนาปธาน เพียรพยายามให้บุญกุศลคือคุณความดีเกิดขึ้นมีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาบุญกุศลคือคุณงามความดีที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในความเพียรนี้ ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ท้อถอยในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำการทำงาน ถึงจะลำบากเหนื่อยยากสักปานใดก็ตาม พยายามกัดฟันทนสู้ตลอดไป ยอมตายดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป จนกว่าจะบรรลุผลที่ตนตั้งไว้จึงจะหยุด ผู้ที่มีความเพียรนี้ ย่อมประกอบไปด้วยองค์คุณสมบัติดังนี้

บางครั้งบางวันมีอาหารน้อย ได้ฉันภัตตาหารน้อย ได้รับประทานอาหารน้อย ก็จะพิจารณาว่า วันนี้เราบริโภคอาหารน้อย ร่างกายของเราเบาและคล่องแคล่วดี สมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติ

แต่ถ้าวันไหนได้อาหารมากก็จะพิจารณาว่า วันนี้เราได้อาหารมาก มีอาหารมาก ฉันภัตตาหารได้มาก ร่างกายอุดมสมบูรณ์ ปราศจากความหิวความกระหาย สมควรแก่การปฏิบัติ แล้วลงมือปฏิบัติทันที

บางคน เวลาจะเดินทางไกลก็พิจารณาว่า วันพรุ่งนี้เราจะเดินทางไกล ในขณะเดินทางจะไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ควรที่เราจะประพฤติปฏิบัติเสียเดี๋ยวนี้ แล้วลงมือปฏิบัติทันที

บุคคลบางคน เมื่อเดินทางถึงที่แล้วก็จะพิจารณาว่า ในขณะที่เดินทางอยู่นั้น เราไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมชั้นสูงอย่างนี้เลย บัดนี้เราเดินทางถึงที่แล้ว สมควรแก่การปฏิบัติ ก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที

หรือบางคน เมื่อมีอาพาธความเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็จะมาพิจารณาว่า อาพาธเกิดขึ้นแก่เรานี้เป็นแต่เพียงอาพาธเล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่เป็นอุปสรรคแก่การประพฤติปฏิบัติ หากว่าเราเกิดอาพาธหนักขึ้นไปกว่านี้ก็จะไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติ ควรที่เราจะลงมือปฏิบัติเสียเดี๋ยวนี้ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที

ทีนี้ เมื่อหายจากอาพาธแล้วก็จะพิจารณาว่า ในขณะที่เราอาพาธอยู่ ไม่มีโอกาสประพฤติปฏิบัติเลย หรือประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้เต็มที่ บัดนี้เราหายจากอาพาธแล้ว สมควรที่จะประพฤติปฏิบัติ แล้วก็ลงมือประพฤติปฏิบัติทันที นี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ประกอบไปด้วยความเพียร

แต่ถ้าคนเกียจคร้านแล้วจะไม่คิดอย่างนี้ ถ้ามีวันไหนได้ฉันอาหารน้อย ได้ทานอาหารน้อยก็คิดว่า วันนี้เราได้อาหารน้อย ร่างกายของเราอิดโรย มีความหิวมีความกระหาย เห็นควรที่จะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ ก็ล้มลงนอนเสีย ไม่ประพฤติปฏิบัติ

ถ้าวันไหนได้อาหารมาก ฉันอาหารได้มากๆ มีของหวานมากๆ ก็ว่าวันนี้ได้ฉันมากไปหน่อย รู้สึกว่ามันอืดอาดเหลือเกิน ไม่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ นอนเสียดีกว่า แล้วก็ล้มตัวลงนอน อะไรทำนองนี้ นี้เป็นลักษณะของคนที่ไม่มีความเพียร

๓. สติ เป็นใหญ่ในการระลึก สตินี้เป็นใหญ่ในการปกครองรักษาจิตไม่ให้เลินเล่อ ไม่ให้เผลอ ไม่ให้สะเพร่า ไม่ให้หลงลืม ให้รอบคอบ ไม่ให้หลงใหลไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ หรือราคะ ตัณหา อุปาทาน

สตินี้มีหน้าที่ระวังจิต รักษาจิต ไม่ให้ขัดเคืองในเมื่อประสบอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นรูปที่ไม่ดี ฟังเสียงที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ได้รสที่ไม่ดี ได้สัมผัสที่ไม่ดี ได้ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ก็ระวังจิตไว้ไม่ให้ขัดเคือง ไม่ให้โกรธในอารมณ์เหล่านั้น

รักษาจิต ระวังจิต ไม่ให้พอใจ ดีใจ ชอบใจ ในเมื่อประสบกับอิฎฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ เช่น เห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ ที่ดีๆ ก็ระวังรักษาจิตไว้ไม่ให้กำหนัดยินดี และสตินี้มีหน้าที่สำหรับกระตุ้นจิตให้ยินดีในการละอกุศลและหมั่นบำเพ็ญกุศล อันนี้เป็นหน้าที่ของสติ

๔. สมาธิ เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว คือถ้าผู้ใดมีสมาธิแล้ว สมาธินี้จะรักษาจิตไว้ ประคองจิตไว้ให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อใดจิตของเรามีอารมณ์เดียวแล้ว การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็สามารถที่จะได้ผลเร็ว สามารถที่จะได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน

แต่ถ้าคนที่ขาดสมาธิ ไม่มีสมาธิ จิตใจก็จะฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ นานาประการ เดี๋ยวก็ไปจับอารมณ์นี้บ้าง เดี๋ยวก็มาจับอารมณ์นี้บ้าง นี่ก็เพราะว่าขาดสมาธิ

สมาธินี้ เมื่อมีแล้วย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามีพลัง มีอำนาจ มีอานุภาพ จนสามารถที่จะให้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญาได้ สามารถที่จะนำไปทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ และสามารถที่จะรักษาจิตไว้ ประคองจิตไว้ ไม่ให้วิปริต และไม่ให้เกิดความวิปลาสไปต่างๆ นานา นี้เป็นลักษณะของสมาธิ

๕. ปัญญา เป็นใหญ่ในการรอบรู้กองสังขาร

อินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จะเป็นสมถภาวนาก็ดี วิปัสสนาภาวนาก็ดี ต้องปรับปรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้ให้สมดุลกัน คือ ให้สมาธิกับความเพียรเท่าๆกัน และให้ศรัทธากับปัญญาเท่าๆกัน

ถ้าสมาธิกล้าความเพียรหย่อน ถีนมิทธะย่อมครอบงำจิตได้ และก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเกียจคร้านในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้จิตใจท้อถอย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีความอุตสาหะ ไม่มีความพากเพียรในการปฏิบัติ

เพราะว่าสมาธิเป็นฝักฝ่ายของโกสัชชะอยู่แล้ว คือคนที่มีสมาธิมากนี้ ส่วนใหญ่ ถ้าหากว่าขาดสติเดี๋ยวเดียวเท่านั้น ถีนมิทธะคือความง่วงเหงาหาวนอน ความหดหู่ความเคลิบเคลิ้ม ย่อมเข้าครอบงำจิตใจได้ ผลสุดท้ายก็เป็นเหตุให้เกิดโกสัชชะความเกียจคร้านท้อถอยในการที่จะบำเพ็ญความเพียร

ทีนี้ ถ้าหากว่าความเพียรกล้าสมาธิหย่อน คือความเพียรมากกว่าสมาธิ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ คิดโน้นบ้างคิดนี้บ้าง จิตใจไม่สามารถที่จะจับอารมณ์เดียวได้นานๆ

เพราะว่าความเพียรนี้ก็เป็นฝักฝ่ายของอุทธัจจะอยู่แล้ว เราจะสังเกตได้ทันทีว่า ขณะใดที่ความเพียรของเรากล้า หรือว่าขณะใดความเพียรเกิดขึ้นมา จะเริ่มคิดทันที เดี๋ยวก็คิดโน้นคิดนี้ ก็ให้เข้าใจเถิดว่า ขณะนั้นความเพียรของเรากล้าแต่สมาธิหย่อนไป

ทีนี้ ถ้าหากว่าศรัทธากล้าแต่ปัญญาหย่อน ย่อมเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใส ย่อมลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ควรลุ่มหลง คนที่มีศรัทธากล้าปัญญาหย่อนนี้ บางทีฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ก็เกิดปีติตื้นตันใจขึ้นมา ต้องน้ำตาคลอเบ้าหรือร้องไห้ขึ้นมา

หรือตัวเองจะพูดจะบรรยายธรรมก็เกิดศรัทธาขึ้นมา ทำให้การพูดการบรรยายธรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเกิดความตื้นตันใจด้วยอำนาจปีติ และปีติก็เกิดด้วยอำนาจศรัทธา จึงไม่สามารถที่จะบรรยายธรรมต่อไปได้

คือคนที่มีศรัทธากล้ามักจะเป็นอย่างนี้ ชอบจะเลื่อมใสในสิ่งที่ไม่ควรเลื่อมใส ลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ควรลุ่มหลง สิ่งใดเลื่อมใสอยู่แล้วก็จะมีความเลื่อมใสยิ่งๆขึ้นไป ขาดการใคร่ครวญพิจารณา หรือว่าลุ่มหลงในอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น นึกว่าเป็นมรรค เป็นผล เป็นนิพพาน อยู่เรื่อย

คนที่มีศรัทธากล้าปัญญาหย่อนนี้ ส่วนมากมักตกอยู่ในอัตตกิลมถานุโยค ชอบจะทรมานตนให้ลำบาก บางทีก็ทำความเพียรตลอดทั้งวันทั้งคืนไม่ยอมนอนเลยก็มี บางทีก็อดอาหาร ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่ยอมฉันอาหาร ไม่บริโภคอาหาร บางทีก็นั่งตากแดด บางทีก็นั่งตากฝน บางทียืนขาเดียว เป็นต้น ชอบทรมานตนให้ได้รับความลำบากด้วยอำนาจของโลภะ เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี

แต่ถ้าปัญญากล้าศรัทธาหย่อน คือปัญญามากกว่าศรัทธา ย่อมตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก ปัญญานี้เป็นของที่ต้องการมากในการเจริญวิปัสสนา แต่ถ้าปัญญามากเกินไป ศรัทธาหย่อน เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็มักจะไม่ตั้งอยู่ตามกฎเกณฑ์ ไม่ตั้งอยู่ในหลักวิชาการที่ท่านครูบาอาจารย์แนะนำ

เช่นบอกว่าขณะนี้ให้เดิน ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง กลับเดินเพียง ๔ นาที ๕ นาที แล้วก็ไปนั่งเสีย ๒๐ นาที บางทีก็ไม่ยอมเดินจงกรม นั่งอย่างเดียว บางทีเดินจงกรมแล้วไม่นั่ง นอนกำหนดเอาอย่างเดียว บางทีเวลานั่งก็ไปนั่งพิงต้นไม้บ้าง พิงเสาพิงฝาผนังบ้าง หาแต่ความสบายใส่ตัวเอง ใครอยากไปนิพพานก็ไปเถิด เราไม่ไปดอก เท่านี้ก็พอแล้ว อะไรทำนองนี้

พวกนี้ส่วนมากเราเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เลย อยู่ตลอดพรรษา ประพฤติปฏิบัติตลอดพรรษาไม่ได้อะไรเลย ไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้มรรค ไม่ได้ผล พวกนี้อุปมาเหมือนกับคนที่แพ้ยาวิตามิน สมมติว่ายาวิตามินเป็นยาบำรุงอย่างนี้ แต่บังเอิญไปแพ้ยาวิตามินเข้า ก็ไม่รู้ว่าแพทย์จะทำอย่างไร หรือบางทียาขนานนี้เป็นยาที่ฉีดกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจทำงาน ทำให้หายจากช็อก แต่พอไปฉีดยากระตุ้นหัวใจเข้าเท่านั้น เกิดแพ้ยากระตุ้นหัวใจ แพ้ยาบำรุงหัวใจ หมอก็จนด้วยเกล้า ไม่รู้จะทำวิธีไหนจึงจะฟื้นขึ้นมาได้ ข้อนี้ฉันใด

ผู้มีปัญญากล้าศรัทธาหย่อนก็เหมือนกันฉันนั้น ส่วนมากตกในฝ่ายเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เสียเลย การประพฤติปฏิบัติมักไม่ค่อยได้ผล ไม่สามารถบรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน และมักตกไปในฝ่ายกามสุขัลลิกานุโยค คือหาความสุขความสบายใส่ตัวเอง

อินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ หากสมดุลกันเมื่อใด สมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ย่อมบังเกิดขึ้น แต่ถ้าว่าอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ไม่สมดุลกัน เราจะทำอย่างไรๆก็ตาม ไม่สามารถที่จะทำสมาธิ ปัญญา มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้เลย

วิธีปฏิบัติในอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ หรือว่าวิธีที่จะทำให้อินทรีย์ทั้ง ๕ นี้สมดุลกัน จะทำอย่างไร ทำอย่างนี้ คือ

ถ้าสมาธิกล้าความเพียรหย่อน พยายามลดสมาธิเพิ่มความเพียรขึ้น โดยกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้กว้างๆออกไป เช่นว่า เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เพิ่มอาการนั่ง อาการถูก ถูกก้นย้อยข้างขวา ถูกก้นย้อยข้างซ้าย ถูกเข่าขวา ถูกเข่าซ้าย ถูกตาตุ่มขวา ถูกตาตุ่มซ้าย กำหนดถูกที่นั้นบ้างที่นี้บ้าง ภายในร่ายกายของเรา คือกำหนดให้กว้างๆออกไป เมื่อกำหนดอย่างนี้ ความเพียรก็จะกล้าขึ้นมาๆ ผลสุดท้ายก็จะเท่ากับสมาธิ และทำให้ความง่วงเหงาหาวนอนนั้นหมดไปได้

ทีนี้ ถ้าความเพียรกล้าสมาธิหย่อน เราจะทราบได้อย่างไรว่าความเพียรกล้า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า การที่เราทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันนั้น อันนี้ยังไม่นับว่าเป็นความเพียรกล้า ความเพียรกล้าในที่นี้หมายความว่า มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือจะเดินจงกรมเพียง ๓๐ นาทีก็ตาม มันจะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ว่าเราตั้งอกตั้งใจว่าจะเดินทั้งวันจะเดินทั้งคืน หรือว่าจะนั่งสมาธิทั้งวันนั่งสมาธิทั้งคืน อันนี้เป็นขั้นปริยัติอยู่

แต่ความเพียรกล้าในที่นี้ หมายความว่า ความเพียรที่เกิดขึ้นด้วยภาวนาญาณ เป็นภาวนาญาณ เมื่อความเพียรกล้าเกิดขึ้นแล้ว เราสังเกตได้ง่ายๆ คือจะคิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปเป็นพันๆเรื่อง แต่งหนังสือจบเป็นเล่มๆ บางทีเดินจงกรมก้าวไป ๒ ก้าว ๓ ก้าวเท่านั้น คิดไปหลายๆเรื่อง นี่แสดงว่าความเพียรกล้าสมาธิของเรามันหย่อน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ให้ลดความเพียรลงและเพิ่มสมาธิขึ้น วิธีเพิ่มสมาธิก็คือ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้สั้นลงหรือให้น้อยลง เช่น เมื่อก่อนเราเคยกำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่งอาการถูก ถูกก้นย้อยข้างขวาข้างซ้าย เข่าขวาเข่าซ้าย ตาตุ่มขวาตาตุ่มซ้าย เราตัดออก เหลือแต่อาการพองอาการยุบ ท้องพองขึ้นมากำหนดว่า พุท ท้องยุบลงไปกำหนดว่า โธ หรือท้องพองกำหนดว่า พองหนอ ท้องยุบกำหนดว่า ยุบหนอ

ถึงขนาดนี้ยังคิดมากอยู่ เราก็กำหนดว่า พองยุบๆ กำหนดอย่างนี้ยังลดความเพียรลงไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ใช้กำหนดจิตอย่างเดียว ตั้งสติเอาไว้ที่หทัยวัตถุคือใต้ราวนมข้างซ้ายประมาณ ๒ นิ้ว จี้เข้าไปเท่าเหรียญบาทแล้วกำหนดว่า คิดหนอๆ เมื่อกำหนดอย่างนี้ร่ำไป สมาธิจะสูงขึ้นๆ ความเพียรจะลดลงไป ผลสุดท้ายความเพียรกับสมาธิก็จะเท่ากัน

ถ้าหากศรัทธากล้าปัญญาหย่อน ก็ให้พิจารณาว่า เราคิดว่าอย่างไร ศรัทธาของเราจึงเกิดกล้าขึ้นมาถึงปานนี้ จนทำให้ปัญญาหย่อนไป เกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระธรรมมากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงคุณพระสงฆ์มากเกินไป หรือเกิดขึ้นมาเพราะเรานึกถึงครูบาอาจารย์มากเกินไป หรือมันเกิดขึ้นเพราะเรานึกถึงคุณงามความดีที่เราได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน นึกถึงศีลถึงทานถึงการเจริญภาวนาที่ตนทำแล้ว จึงเป็นเหตุให้ศรัทธากล้าขึ้นมา

เมื่อเราสำรวจหรือพิจารณาอย่างนี้ก็จะรู้ได้ว่า เราคิดอย่างนี้ศรัทธาของเราจึงกล้าขึ้นมา จนทำให้ปัญญาหย่อนไป เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ก็พยายามอย่านึกไปถึงอารมณ์เช่นนั้นอีกต่อไป ให้ปล่อยวางอารมณ์เช่นนั้นเสีย คือศรัทธากล้านี่มันสำคัญ บางทีเรานึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ของเราเท่านั้น น้ำตามันคลอเบ้าไหลออกมาแล้ว หยิบกระดาษมาเขียนจดหมาย เขียนไปร้องไห้ไปด้วยๆ

บางทีนึกถึงคุณงามความดีของตนขึ้นมา ว่าเรานี้ก็เป็นผู้ที่มีโชคดี เกิดขึ้นมาแล้วมีศรัทธาได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ประกอบไปด้วยสัมมาทิฎฐิ ได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่เสียชาติเกิดที่เราได้มาบวชมาปฏิบัตินี้ นึกถึงคุณงามความดีของตนก็เกิดตื้นตันใจขึ้นมา น้ำตาคลอเบ้าร้องไห้ขึ้นมาก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็พยายามอย่านึกถึงอารมณ์เหล่านี้อีก พยายามปล่อยวางเสีย ศรัทธาจะได้ลดลง ปัญญาจะได้เพิ่มขึ้น

แต่ถ้าปัญญากล้าศรัทธาหย่อน ก็ให้เราพิจารณาว่า เราคิดเราตั้งใจเราพิจารณาอย่างไร ปัญญาจึงเกิดขึ้นมา ทำให้การปฏิบัติของเราย่อหย่อน เมื่อเราพิจารณาไปก็จะรู้ได้ว่า เราได้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์มากเกินไป เราพิจารณาแต่ว่า รูปนามนี้ คำว่า ตัวตน บุคคล เรา เขา นั้นไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น หรือว่าเราคิดมากเกินไปว่า รูปนามนี้มันไม่คงที่ มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาตั้งอยู่นิดหนึ่งก็ดับไป

หรือว่าเราพิจารณาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พิจารณาธรรมะข้อใด ปัญญาของเราจึงเกิดขึ้นมากถึงขนาดนี้ เมื่อเรารู้เช่นนี้ ก็พยายามอย่าพิจารณาถึงข้อนั้นอีกต่อไป

อันนี้เคยเจอมาเหมือนกัน ลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัติอยู่ที่นี้ ปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วคล้ายๆกับว่าจะพลิกแผ่นดินได้ บางท่านคิดแต่เพียงจะเทศน์เรื่องอวิชชาอย่างนี้ คิดอยู่ตั้ง ๖-๗ วันยังไม่จบ คิดจะแต่งโคลงแต่งฉันท์แต่งกาพย์แต่งกลอนก็แต่งได้ นั่งไปเดินไปก็มีแต่แต่งกาพย์แต่งกลอน สรภัญญ์ที่ลูกๆหลานๆเขาสวดอยู่ทุกวันนี้ ก็ได้จากพระอาจารย์ดำรง ที่ท่านอยู่ในห้องกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้แต่ง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วก็แต่งได้ดี แต่งขึ้นมาก็ไม่ผิดพลาด สัมผัสอะไรๆก็ถูกต้องทุกประการ

นี่แหละท่านทั้งหลาย ถ้าปัญญามากกว่าศรัทธาเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรารู้แล้วก็อย่าคิดเรื่องนั้นอีกต่อไป สำหรับสตินั้นให้อยู่กลางๆ คอยประคับประคองสมาธิกับความเพียร และศรัทธากับปัญญา ให้สม่ำเสมอกัน สตินี้มีมากเท่าไรยิ่งดี เพราะการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นต้องการสติมากที่สุด ถ้าผู้ใดมีสติมากกำหนดได้มาก ก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เร็ว

สตินี้ท่านต้องการมากที่สุด อุปมาเหมือนกันกับเกลือในรสอาหาร อาหารทุกชนิด แม้อาหารคาวก็ต้องการเกลือ อาหารประเภทของหวานก็ต้องการเกลือเหมือนกัน

หรืออุปมาเหมือนกันกับพระราชาต้องการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อมีอะไรๆเกิดขึ้น ผู้ที่ต้องการมากที่สุดก็คือผู้ที่มีความสามารถทำราชการแทนพระองค์ได้ หรือว่าเกิดสงครามขึ้นมาก็ต้องการทหารผู้กล้าหาญแกล้วกล้า ต้องการตำรวจผู้แกล้วกล้า ต้องการนักรบผู้แกล้วกล้าสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ฉันใด สตินี้ก็เป็นที่ปรารถนาเป็นที่ต้องการมากเหมือนกันฉันนั้น ในการที่จะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

เมื่ออินทรีย์ ๕ ประการนี้สมดุลกันเมื่อไร เมื่อนั้น ขณะนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพยายามปรับปรุงอินทรีย์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้สมดุลกัน ให้สม่ำเสมอกัน เมื่อเสมอกันแล้วเราก็สามารถบรรลุสามัญผลตามต้องการ.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 มกราคม 2561 11:47:54

(https://i1.wp.com/www.alanpeto.com/wp-content/uploads/2017/01/Buddhaandelephant.jpg?w=296&h=296&crop=1)

สติสัมโพชฌงค์

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

สติสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือสติ หมายความว่า การที่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือสติ

เมื่อเราขาดสติเสียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย เหตุนั้นสตินี้ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิด ที่เกิดแล้วก็จำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ ให้คงอยู่และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

สติจะเกิดได้ หรือที่เกิดแล้วจะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปนั้นด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ ๑) ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคายด้วยเหตุ ๙ ประการ และ ๒) ทำให้มากๆ ด้วยสติ

โยนิโสมนสิการ การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ๙ ประการนั้น คือ

๑. อุบาย แปลว่า ช่องแห่งความสำเร็จ หมายความว่า ถ้าทำตามที่แนะนำ ต้องสำเร็จแน่นอน คือหนึ่งไม่มีสอง ดุจพระอาทิตย์ที่อุทัยขึ้นในเวลาเช้า แล้วอัสดงคตตกไปในเวลาเย็น ฉะนั้น

๒. อุบาย แปลว่า ช่องแห่งความคิด หมายความว่า ถ้าทำตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำให้ จะเกิดความคิดแตกฉานจริงๆ สิ่งที่ไม่เคยคิดก็จะคิดขึ้นมา สิ่งที่ไม่รู้ก็จะรู้ขึ้นมา สิ่งที่ไม่เคยเห็นก็จะเห็นขึ้นมา เช่น เห็นอาการพอง อาการยุบ คิดว่าเป็นรูปเป็นนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น

๓. อุบาย แปลว่า การทำให้ได้ผล หมายความว่า ถ้าทำโดยมีอุบายอันดี คือถูกหลักอันดีแล้ว ย่อมได้ผลเกิดขึ้นตามลำดับตลอดเวลา เช่น

ก) เกิดปัจจุบันธรรม คือ สติทันรูปนาม

ข) เกิดรูปนาม คือ มีปัญญารู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

ค) เกิดพระไตรลักษณ์ คือ รู้เห็นไตรลักษณ์ได้ดี

ง) เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา

จ) เกิดมรรค เกิดผล เกิดพระนิพพาน

๔. อุบาย แปลว่า กลศึกสงคราม กลรบพิชัยสงคราม หมายความว่า ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานเป็นผู้เข้าสู่สงคราม เพื่อเอาชนะกิเลส ชนะตัวเอง ใครๆ ก็ตาม เมื่อเข้าสู่สงครามชั้นในคือการรบกับกิเลสนี้ ถ้าขาดหลักวิชาการแล้ว ก็ไม่สามารถสู้กับพญามารและเสนามารได้

เปรียบเหมือนนักรบในสงคราม ต้องชำนาญในสถานที่ ชำนาญในยุทธภูมิ ชำนาญในการใช้อาวุธ ต้องฝึกฝนในยุทธวิธีเป็นอย่างดีทุกวิถีทาง เพื่อจะเอาชนะข้าศึกให้ได้ ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็ฉันนั้น ต้องต่อสู้กับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดนานัปการ ผู้ที่จะต่อสู้ได้นั้นต้องเป็นผู้มีอุบายแยบคาย จึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้

อุบายนั้นคือ ให้มีสติมั่นอยู่กับสนามรบ แม้กระทั่งชีวิตก็ยอมเสียสละได้ ผู้ปฏิบัติต้องกล้าตายเหมือนดังสงครามจริงๆ อย่าให้ข้าศึกยึดสนามรบคือรูปนามได้ ผู้ปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะ กำหนดรูปนามให้ทันปัจจุบันพยายามให้สติอยู่กับรูปนามตลอดเวลา อย่าปล่อยให้ออกจากแนวรบคือร่างกายอันยาววาหนาคืบได้เป็นดีที่สุด และก็ปลอดภัยที่สุด

๕. อุบาย แปลว่า ทำเลียบเคียง หมายความว่า ต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะให้กิเลสตามไม่ทัน เช่น เดินกำหนด นั่งกำหนด นอนกำหนด กำหนดอิริยาบถย่อย มีคู้ เหยียด ก้ม เงย เหลียวซ้าย แลขวา ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ นุ่งห่ม กิน ดื่ม เป็นต้น เราก็มีสติกำหนดทุกขณะ อย่างนี้เรียกว่า ทำอุบายเลียบเคียงเพื่อหาทางหลุดพ้นจากกิเลส เพื่อจะไม่ให้กิเลสตามทัน

๖. อุบาย แปลว่า แตกหัก หมายความว่า หาวิธีทำให้กิเลสแตกหัก คือหาวิธีละกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน ให้หมดไปจากขันธสันดานของตนได้อย่างเด็ดขาด จนไม่สามารถกำเริบขึ้นอีก

๗. อุบาย แปลว่า แรงกล้า หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความเพียรอย่างแรงกล้า เข้ารุกรานหักโหมกับกิเลส เพื่อยึดเอามรรค ผล นิพพานให้ได้ ขับไล่กิเลสน้อยใหญ่ ให้หนีไปอย่างไม่มีวันกลับมาเกิดได้อีก

๘. อุบาย แปลว่า กลางๆ หมายความว่า ไม่หย่อนนักและไม่ตึงนัก ให้พอดีๆ ซึ่งเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือเดินสายกลาง จึงจะสามารถเอาชนะกิเลสได้

๙. อุบาย แปลว่า ให้ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องให้อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ เท่าๆ กัน สม่ำเสมอกัน เมื่อสม่ำเสมอกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะได้สิ่งที่ต้องการ คือ มรรค ผล นิพพาน อย่างแน่นอน ไม่ต้องสงสัย

คำว่า อุบาย แปลและหมายความได้ ๙ อย่าง ดังอธิบายมานี้

ส่วนการทำให้มากๆ ด้วยสตินั้น โดยอธิบายว่า ให้ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานนั้น จงหมั่นทำ ขยันทำ ทำบ่อยๆ ทำไม่ขาดระยะ ทำให้ติดต่อกันไป เช่น เดินจงกรมแล้ว นั่งกำหนด นอนกำหนด เป็นต้น อย่าเกียจคร้าน อย่าประมาท อย่ามัวแต่พูดคุย อย่ามัวแต่ห่วงสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ จงรีบพยายามจนสุดความสามารถ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์

หลักฐานประกอบในองค์ ๒ ประการนั้น มีปรากฏอยู่ในพระบาลีว่า

อตฺถิ ภิกฺขเว สติสมฺโพชฺฌงฺคฏฺฐานิยา ตตฺถ โยนิโสมนสิการพหุลีกาโร ฯเปฯ เวปุลฺลาย ภาวนาย ปริปูริยา สํวตฺตนฺติ

แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติสัมโพชฌงค์มีอยู่ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย และการกระทำให้มากในธรรมเหล่านั้น นี้นำมาซึ่งคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสติสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นไปพร้อมเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมยิ่งๆ ขึ้น แห่งสติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติต้องมีสติสัมปชัญญะ ในฐานะ ๗ ประการ

๑. มีสติสัมปชัญญะ ในการก้าวไปและถอยกลับ

๒. มีสติสัมปชัญญะ ในการเหลียวซ้ายแลขวา

๓. มีสติสัมปชัญญะ ในการคู้เข้าและเหยียดออก

๔. มีสติสัมปชัญญะ ในการถือนุ่ง ห่ม เป็นต้น

๕. มีสติสัมปชัญญะ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มรส

๖. มีสติสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ

๗. มีสติสัมปชัญญะ ในการยืน เดิน นั่ง นอน พูดคุย เป็นต้น
 

นอกจากนี้ พึงเว้นจากบุคคลผู้มีสติหลงลืม มิได้เจริญวิปัสสนา ควรคบหาสมาคมกับคนที่มีสติมั่นคงในพระกัมมัฏฐาน และให้น้อมจิตไปในอิริยาบถทั้ง ๔ และทุกๆ ทวาร เมื่อผู้ปฏิบัติ นำองค์คุณที่กล่าวมานี้มาประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดขึ้นมีขึ้นอย่างบริบูรณ์ดีแล้ว ก็ได้ชื่อว่ามีสติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นในขันธสันดานแห่งตนแล้ว สามารถที่จะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามสมควรแก่บุญวาสนาบารมี ที่ตนได้สั่งสมอบรมมา ตัวอย่าง นางรูปนันทาเถรี มีเรื่องเล่าใว้ในธัมมปทัฏฐกถา

นางรูปนันทานี้ ออกบวชเพราะความรักในพระญาติ ไม่ใช่ออกบวชด้วยศรัทธา เพราะมีรูปโฉมอันวิไล นางจึงได้นามว่ารูปนันทา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นางชนบทกัลยาณี แปลว่านางงามในชนบท ความงามของนางหาผู้เปรียบมิได้ จึงเป็นเหตุให้หลงใหลในรูปโฉม ไม่กล้าเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ด้วยกลัวว่าพระองค์จะทรงตำหนิรูปของนาง จนกระทั่งวันหนึ่ง นางได้ยินคำสรรเสริญจากพวกภิกษุณีที่ไปฟังธรรมกลับมาว่า พระศาสดาแสดงธรรมได้ดีเหลือเกิน วันรุ่งขึ้น นางจึงแอบไปกับด้วยนางภิกษุณีทั้งหลายเพื่อจะฟังธรรม นั่งอยู่ไกลๆ ท้ายแถว ด้วยเกรงว่าพระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นแล้วจะทรงติเตียน ฝ่ายพระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของนางเช่นนั้น ขณะกำลังแสดงพระสัทธรรมเทศนา พระองค์จึงเนรมิตหญิงรูปงามคนหนึ่งถือพัดอยู่ข้างๆ พระองค์

นางรูปนันทาเห็นแล้วตกตะลึง คิดขึ้นในใจว่า โอ นางนี้มาจากไหน ช่างงามเหลือเกิน รู้สึกเลื่อมใสเป็นยิ่งนักนึกละอายในใจตัวเองว่า ถ้าเราเปรียบกับนางนั้นแล้ว เรานี้ไม่ผิดอะไรกับกาดำ พระบรมศาสดา ในขณะที่เทศนาไปๆ ด้วยพุทธาภิสังขาร ก็ทรงบันดาลเปลี่ยนวัยหญิงรูปงามที่กำลังถวายงานพัดให้พระองค์อยู่นั้น ให้แก่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งล้มลง แล้วตายไปต่อหน้าต่อตา

ด้วยภาพนั้น ทำให้นางรูปนันทาภิกษุณีได้สติเกิดความสังเวชสลดใจ เป็นเหตุให้จิตใจของนางมุ่งต่อพระกัมมัฏฐาน พระศาสดาจึงตรัสคาถาเพื่อให้เป็นที่สบายแก่อัธยาศัยของนางว่า นันทา เธอจงดูกายนี้ที่อาดูร ไม่สะอาด เปื่อยเน่า ไหลเข้าไหลออกอยู่เป็นนิจ ที่พาลชนเขาปรารถนากันนัก สรีระของเธอฉันใด สรีระของนางนี้ก็ฉันนั้น สรีระของนางนี้ฉันใด สรีระของเธอก็ฉันนั้น เธอจงดูธาตุทั้งหลาย โดยความเป็นของสูญ อย่ากลับมาสู่ภพนี้อีก เธอคลี่คลายความพอใจในภพเสียแล้ว จักเป็นผู้เข้าไปสงบเที่ยวไป

นางรูปนันทาส่งใจ ส่งญาณ ไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบันบุคคล พระศาสดา ครั้นทรงทราบว่านางบรรลุโสดาปัตติผลเช่นนั้นแล้ว มีพุทธประสงค์จะทรงยกจิตของนางขึ้นสู่วิปัสสนา ให้นางบรรลุคุณสมบัติขั้นสูงสุดยอด จึงตรัสพระธรรมเทศนา สุญญตกัมมัฏฐาน ว่า

นันทา เธออย่าทำความเข้าใจว่าสาระแก่นสารในสรีระนี้มีอยู่ เพราะสาระแก่นสารในสรีระนี้แม้น้อยก็ไม่มี สรีระร่างกายนี้ อันกรรมยกกระดูก ๓๐๐ ท่อนขึ้น สร้างให้เป็นนครแห่งกระดูกทั้งหลาย แล้วตรัสพระคาถานี้อีกว่า สรีระอันกรรมทำให้เป็นนครแห่งกระดูก ฉาบด้วยเนื้อและโลหิต เป็นที่ตั้งลงแห่งชรา มานะ และ มักขะ เวลาจบพระสัทธรรมเทศนา นางรูปนันทาเถรีได้บรรลุอรหัตตผล

นี้แลท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สตินี้เป็นอุปการะแก่ธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ คนขาดสติย่อมเป็นคนประมาท เหมือนอย่างนางรูปนันทาในตอนแรก เป็นผู้ประมาทขาดสติ ปล่อยให้จิตใจหลงมัวเมาในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา มีการเข้าใจว่ารูปโฉมของตนงามเป็นต้น แต่ภายหลังกลับได้สติ เกิดธรรมสังเวชในรูปร่างกาย ปลงใจลงสู่พระไตรลักษณ์ ส่งจิตใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ผลสุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เหตุนั้น ขอท่านครูบาอาจารย์ ตลอดถึงท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท อย่าปล่อยสติสัมปชัญญะให้เผลอไปตามกิเลสตัณหาและบาปอกุศล หมั่นพยายามมีสติสัมปชัญญะ กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ทันปัจจุบัน

เมื่อใด สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์เต็มที่แล้ว โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ก็จะมาประชุมพร้อมกัน เมื่อประชุมพร้อมกันแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดมัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่อริยมรรคอริยผล พ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านทั้งหลายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 มกราคม 2561 11:43:34

(http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201606/20/41460d730.jpg)

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายถวายความรู้แด่ครูบาอาจารย์ ตลอดถึงเป็นแนวทางการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติสืบไป

คำว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือการวิจัยธรรม

การที่ผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกข้อหนึ่งก็คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือต้องมีการวิจัยธรรม สอดส่องธรรม ใคร่ครวญธรรม ตริตรองธรรม ธรรมะที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ธรรมะที่ได้ปฏิบัติมานี้เป็นอย่างไร เป็นอนิจจัง ทุกขัง หรืออนัตตาอย่างไร เพื่อให้เกิดความรู้ความฉลาด สามารถที่จะไปทำลายกิเลสตัณหาได้

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นั้นแยกออกเป็น ๕ ศัพท์ คือ ธมฺม ศัพท์หนึ่ง วิจย ศัพท์หนึ่ง สํ ศัพท์หนึ่ง โพชฺฌ ศัพท์หนึ่ง องฺค ศัพท์หนึ่ง

คำว่า ธมฺม แปลความหมายได้ถึง ๑๔ อย่างคือ

๑. ธรรมะ แปลว่า ทรงตนไว้ ทรงสัตว์ทั้งหลายไว้ ไม่ให้ตกไปในอบาย หมายความว่า รักษาสรรพสัตว์ไม่ให้ไหลไปสู่ที่ชั่ว คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถึงแม้ว่ามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็จะรักษาบุคคลนั้นไว้ไม่ให้ถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต เป็นต้น

๒. ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้เจริญวิปัสสนาไว้ จนได้บรรลุอริยมรรค อริยผล พระนิพพาน ไม่ให้ตกไปในอบายภูมิ หมายความว่า ผู้ใดบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้นั้นไปสู่พระนิพพาน จะไม่ไปสู่อบายภูมิเลยเด็ดขาด

๓. ธรรมะ แปลว่า ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน หรือว่าทรงลักษณะของตนไว้ หมายความว่า ถ้าเป็นธรรมะฝ่ายดีก็ทรงความดีไว้ ถ้าเป็นฝ่ายชั่วก็ทรงความชั่วไว้ ถ้าเป็นพระไตรลักษณ์ก็ทราบความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาไว้ ถ้าเป็นอริยสัจก็ทรงไว้ซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นต้น

๔. ธรรมะ แปลว่า เป็นธรรมอันผู้ประเสริฐมีพระโสดาบันเป็นต้นเป็นผู้ทรงไว้ หมายความว่า ธรรมะอันดีงาม ธรรมะอันสูงส่งนั้นๆ ผู้ที่จะทรงไว้ได้ต้องเป็นผู้ประเสริฐ คือถึงมรรคนับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไปจนถึงอรหัตมรรคอรหัตผล

๕. ธรรมะ แปลว่า ทรงไว้ซึ่งประโยชน์ ๓ หมายความว่า ธรรมะนั้นสามารถทรงผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้ได้บรรลุประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

๖. ธรรมะ แปลว่า กำจัดธรรมอันเลวอันเป็นอกุศลธรรม หมายความว่า ถ้าบุคคลมีธรรมะประจำใจแล้ว บาปอกุศลเป็นอันไม่มีแน่นอน

๗. ธรรมะ แปลว่า ทรงสัตว์ผู้ปฏิบัติตามพระดำรัสที่ตรัสไว้ไม่ให้ตกไปในอบายภูมิทั้ง ๔ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมะแล้วจะไม่ไปสู่ที่ชั่ว มีแต่จะไปสู่ที่ดีๆที่เจริญฝ่ายเดียว

๘. ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้ตกไปในสังสารทุกข์ หมายความว่า ทุกข์ในสงสารมีมาก หากผู้ใดปฏิบัติธรรมะแล้ว ธรรมะจะทรงผู้นั้นไว้ไม่ให้ตกไปในความทุกข์ในสังสารวัฏ

๙. ธรรมะ แปลว่า ทรงผู้ปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแนะนำพร่ำสอน จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ไม่ให้ตกไปในกองทุกข์ในอบาย และไม่ให้ตกไปในวัฏฏทุกข์ หมายความว่า ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ไปดีแล้ว ไม่มีโอกาสไปสู่ทุกข์ในอบายภูมิและทุกข์ในวัฏฏสงสารอย่างแน่นอน

๑๐. ธรรมะ แปลว่า เหตุ ได้แก่ เหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ยังผลให้บังเกิดขึ้น เช่น สมุทัยสัจเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเป็นต้น หมายความว่า ทุกข์ทั้งหลายมีสมุทัยเป็นแดนเกิด

๑๑. ธรรมะ แปลว่า ให้ถึง ได้แก่ อริยมรรคอันเป็นเหตุยังสรรพสัตว์ให้ถึงพระนิพพาน

๑๒. ธรรมะ แปลว่า เหตุให้ถึงแนวทาง ได้แก่ พุทธภาษิตบ้าง สาวกภาษิตบ้าง เป็นเหตุให้พุทธบริษัทรู้แนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง

๑๓. ธรรมะ แปลว่า ตัดกิเลส หมายความว่า ธรรมะเป็นเครื่องตัดราคะ ตัดโทสะ ตัดโมหะ เป็นต้น ได้แก่ กุศล “กุศล” แปลว่า ตัดบาปธรรมให้หมดไปจากขันธสันดาน

๑๔. ธรรมะ แปลว่า ทรงความชั่วความดีไว้ เช่น ถ้าใครทำความชั่ว ก็ทรงความชั่วของผู้นั้นไว้ คือรักษาไว้ให้ดี มิให้หายหนีไปไหน ยังติดตามให้ผลอยู่เสมอ ดุจล้อเกวียนหมุนติดตามรอยเท้าโคฉะนั้น แม้ฝ่ายดีที่เป็นบุญเป็นกุศล ธรรมะก็จะทรงความดีไว้เช่นกัน ยังติดตามให้ผลดุจเงาติดตามตนฉะนั้น

ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบแล้วว่า ธรรมะ แปลและหมายความได้ ๑๔ อย่าง ดังได้บรรยายมาแล้วนี้

คำว่า วิจย แปลความหมายได้ ๖ อย่าง ดังนี้ คือ

๑. วิจยะ แปลว่า สอดส่อง หมายความว่า เอาสติสอดเข้าไปกำหนดรูปนาม แล้วใช้สตินั้นส่องดูจนรู้หน้าตาของรูปนาม คือรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

๒. วิจยะ แปลว่า พิจารณา หมายความว่า ให้สติเที่ยวไปพิเศษในปัจจุบัน รูปนาม พระไตรลักษณ์

๓. วิจยะ แปลว่า วิจัย หมายความว่า เลือกคัดจัดสรรเอาแต่ธรรมะทั้ง ๕ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

๔. วิจยะ แปลว่า ค้นคว้า หมายความว่า ค้นหาสภาวธรรมแล้วคว้ามาถือไว้ในเงื้อมมือให้ได้ ดุจบุคคลแสวงหาเงิน ทอง เพชร พลอย แล้วคว้าเอา จับเอา ถือเอาเงิน ทอง เพชร พลอย นั้นๆไว้ให้ดี แล้วเก็บใส่ตู้ไว้

๕. วิจยะ แปลว่า สั่งสมให้แจ่มแจ้ง หมายความว่า สั่งสมปัญญาให้มากๆ จนเห็นอรรถเห็นธรรมชัดเจนแจ่มแจ้ง คือรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

๖. วิจยะ แปลว่า ก่อโดยวิเศษ หมายความว่า ก่อศีล ก่อสมาธิ ก่อปัญญา ให้สูงยิ่งๆขึ้นไป จนเป็นอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา จนถึงพระอมตมหานฤพาน

คำว่า สํ (สัม) แปลความหมายได้ ๓ อย่างคือ

๑. สัม แปลว่า พร้อม หมายความว่า ทำอริยสัจ ๔ ให้มีขึ้นพร้อมๆ กัน คือแทงตลอดพร้อมๆกัน ไม่ก่อนไม่หลังกัน ขณะเดียวกัน ดุจคนจุดตะเกียงต้องพร้อมด้วยองค์ ๔ ประการ คือ ๑. ไส้ตะเกียงหมดไป ๒. น้ำมันหมดไป ๓. แสงสว่างมีขึ้น ๔. มืดหายไป

๒. สัม แปลว่า กับ หมายความว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค ต้องเกิดพร้อมกัน ไปด้วยกัน ไปกับกัน คือ เกิดขึ้นมีขึ้นพร้อมกันฉะนั้น

๓. สัม แปลว่า ดี หมายความว่า ถ้าบุคคลทำบ่อยๆ ทำถูกๆ ทำได้มากเท่าไร ย่อมจะพบแต่ธรรมดีๆทั้งนั้น เช่น รูปนาม พระไตรลักษณ์ มรรค ผล นิพพาน

คำว่า โพชฺฌ แปลว่า เครื่องตรัสรู้ คือปัญญาที่ยังผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้นให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้ได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔

คำว่า องฺค แปลว่า องค์ หมายความว่า ธัมมวิจยะคือการสอดส่องธรรมนี้ เป็นองค์คุณข้อหนึ่งในองค์คุณของโพชฌงค์ที่มีทั้งหมด ๗ ข้อ ที่ยังผู้ปฏิบัติให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

เมื่อเอาศัพท์ทั้ง ๕ มาต่อกันเข้า จึงจะได้รูปเป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องยังผู้ปฏิบัติให้ได้ตรัสรู้พร้อมด้วยการวิจัยธรรม

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ โดยองค์ธรรมได้แก่ปัญญาเจตสิก ปัญญานั้นมีการรู้แจ้งสภาวธรรมเป็นลักษณะ มีการกำจัดความมืดคือตัวโมหะอันปิดสภาวธรรมไว้เป็นกิจ มีความไม่หลงเป็นผลปรากฎ มีสมาธิเป็นเหตุใกล้ชิดที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้น

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์จะเกิดขึ้นและเจริญยิ่งๆขึ้นไปนั้น ต้องพร้อมด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. โยนิโสมนสิกาโร การทำไว้ในใจในกุศลธรรมโดยอุบายอันแยบคาย คือจนถึงที่เกิดที่ดับของธรรมนั้น

๒. พหุลีกาโร ทำให้มากๆ ในธรรมที่เป็นกุศล ข้อนี้มีหลักฐานในบาลียืนยันอยู่ว่า อตฺถิ ภิกฺขเว กุสลา ธมฺมา ฯเปฯ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล ธรรมที่เปรียบด้วยธรรมดำธรรมขาว มีอยู่

การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย และการทำให้มากๆ ในธรรมนั้นๆ นี้นำมาซึ่งคุณอันประเสริฐ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดขึ้นแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นไปพร้อมเพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญ เพื่อความเต็มเปี่ยมโดยยิ่งๆขึ้นไปแห่งธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนี้

ในคัมภีร์อรรถกถา ท่านแสดงเหตุที่ให้เกิดธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ไว้ ๗ ประการคือ

๑. ปริปุจฺฉกตา หมั่นสอบถามธรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เป็นต้น ตลอดถึงองค์สมถะวิปัสสนา

๒. วตฺถุวิสทกิริยา ทำวัตถุทั้งภายในภายนอกให้สะอาด

๓. อินฺทฺริยสมตฺตปฏิปาทนา ทำอินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ ให้เท่าๆกัน ถ้าศรัทธาของผู้ใดมีมาก วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา จะมีกำลังอ่อน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะมีความบกพร่องดังนี้ คือ

๑) วิริยินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่ประคองจิตไว้ได้

๒) สตินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่อุปการะได้

๓) สมาธินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่มิให้จิตฟุ้งซ่านได้

๔) ปัญญินทรีย์ ไม่สามารถทำหน้าที่ให้เห็นไตรลักษณ์ได้

เพราะเหตุนั้น ท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานพึงลดสัทธินทรีย์นั้นลงโดยอุบายวิธี ๒ อย่าง คือ

๑) โดยการพิจารณาสภาวธรรม

๒) ให้พิจารณาว่า เราใส่ใจโดยวิธีใด สัทธินทรีย์คือศรัทธาความเชื่อจึงมีกำลังมาก แล้วพึงลดสัทธินทรีย์ลง โดยไม่ใส่ใจถึงวิธีนั้นๆอีกต่อไป

หมายความว่า เราคิดอย่างไร ศรัทธาของเราจึงเกิดกล้า จนทำให้อินทรีย์อื่นๆอ่อนกำลังลงไป หรือจนไม่เป็นอันทำกัมมัฏฐาน เวลาปฏิบัติกัมมัฏฐาน เดินจงกรมอยู่ก็มีแต่คิดอยากทำบุญทำทานตลอดทั้งชั่วโมง เวลานั่งกัมมัฏฐานก็คิดแต่จะทำบุญทำทานตลอดทั้งชั่วโมง เราต้องสำเหนียกว่า ทำไมถึงได้เป็นอย่างนี้ ศรัทธาของเราถึงได้กล้าอย่างนี้ จนการปฏิบัติของเราหย่อนลงไป ไม่ก้าวหน้า เมื่อเราพิจารณาเห็นแล้วก็พึงลดศรัทธา อย่าไปคำนึงถึงเรื่องนั้นอีกต่อไป

แต่ถ้าวิริยินทรีย์มาก สัทธินทรีย์ก็ไม่สามารถตัดสินอารมณ์ได้เด็ดขาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ศรัทธาก็ดี สติก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี ก็ไม่สามารถทำกิจของตนได้ เพราะเหตุนั้น พึงข่มด้วยปัสสัทธิให้มากๆ บรรดาอินทรีย์ทั้ง ๕ ข้อนี้ ถ้าข้อใดข้อหนึ่งมีกำลังมาก อินทรีย์นอกนั้นก็ไม่สามารถทำกิจของตนได้

แต่เมื่อกล่าวโดยพิเศษแล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมยกย่องสรรเสริญว่า ศรัทธากับปัญญาต้องเท่ากัน เพราะผู้มีศรัทธามากแต่ปัญญาน้อย ก็ย่อมเลื่อมใสลุ่มหลง ส่วนผู้มีปัญญามากแต่ศรัทธาน้อย ย่อมตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก บางทีก็เยียวยาไม่ได้เลย

ผู้มีปัญญามากศรัทธาหย่อนนี้ เวลาทำกัมมัฏฐาน ส่วนมากจะไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนหรือตักเตือน บางทีไม่อยากเดินจงกรม หรือเดินก็ไม่เดินตามที่แนะนำให้ เดินไปตามอัธยาศัย เวลานั่งก็เหมือนกัน อยากกำหนดอย่างไรก็กำหนด ไม่กำหนดตามหลักการที่ท่านให้ไว้ หรือบางทีก็นั่งพิงต้นเสาบ้าง พิงต้นไม้บ้าง บางทีไม่นั่งกำหนด มีแต่นอนกำหนดเท่านั้น

เหมือนดังพระรูปหนึ่งที่มาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เวลาเดินจงกรมเสร็จแล้วก็ไม่ยอมนั่ง ไปนอนกำหนดเลย พอดีนอนกำหนดตั้งแต่เช้า รู้สึกตัวขึ้นมาก็ได้เวลาฉันเพลพอดี ภาคบ่ายก็เหมือนกัน เดินจงกรมเสร็จแล้วก็นอนกำหนด รู้สึกตัวขึ้นมาก็ ๔ โมงเย็น ปฏิบัติทั้งปีก็ไม่ได้อะไรเลย เรียกว่าปัญญามากแต่ศรัทธาหย่อน ก็ตกไปในฝ่ายเกเรเยียวยาได้ยาก หรือเยียวยาไม่ได้เสียเลย

เหมือนกับพวกยาวิตามิน หรือยาบำรุงหัวใจ คือเวลาเหนื่อย เวลาแพ้ยา หรือเกิดอะไรฉุกเฉิน หัวใจทำงานไม่ปกติ เขาใช้ยาจำพวกนี้เข้าช่วยบำรุงหัวใจ แต่บังเอิญคนนั้นไปแพ้ยาที่ใช้ช่วยนี้เข้า หมอก็ไม่สามารถที่จะเยียวยารักษาได้ ข้อนี้ฉันใด ปัญญามากศรัทธาหย่อน ก็ฉันนั้น

เมื่ออินทรีย์ทั้งสองหมวด คือ ศรัทธากับปัญญา วิริยะกับสมาธิ สม่ำเสมอกัน บุคคลนั้นย่อมเลื่อมใสในวัตถุที่ควรเลื่อมใสเท่านั้น โกสัชชะคือความเกียจคร้านย่อมครอบงำผู้มีสมาธิกล้ามีความเพียรหย่อน เพราะสมาธิก็เป็นไปในฝ่ายโกสัชชะ ผู้มีสมาธิสูงอย่างเดียวแต่ความเพียรหย่อนนี้ ส่วนมากจะเกียจคร้าน อืดอาด ยืดยาด ทำความเพียรไม่กระฉับกระเฉง

เราจะสังเกตเห็นเวลาเรานั่งเจริญพระกัมมัฏฐานในชั่วโมงแรก นั่งสมาธิครบชั่วโมงแล้วจะลุกขึ้นเดินจงกรมอีก มันลำบากลำบน ไม่อยากเดิน กว่าจะลุกได้ต้องเหยียดแข้งเหยียดขา ยืดเส้นยืดสาย พลิกแล้วพลิกอีก กว่าจะลุกไปเดินได้ก็กินเวลา ๑๐ หรือ ๒๐ นาทีก็มี เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่าสมาธิยังมีอยู่ สมาธิยังไม่คลายตัวเต็มที่ ก็ทำให้เกียจคร้านขึ้นมา ไม่อยากเดินจงกรม นี่สำหรับผู้มีสมาธิมากจะเป็นอย่างนี้

ส่วนผู้มีความเพียรกล้าสมาธิน้อย อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านย่อมครอบงำ เพราะวิริยะย่อมเป็นไปในฝ่ายอุทธัจจะ จะเกิดความคิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง หรือว่าเดินจงกรมไป ๒-๓ ก้าว ก็คิดไปร้อยแปดพันประการ ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่า ความเพียรกล้าสมาธิหย่อน

เมื่อใดเราประคองวิริยะกับสมาธิให้สม่ำเสมอกัน และปัญญากับศรัทธาให้สม่ำเสมอกัน ส่วนสติเอาไว้กลางๆ คอยประคับประคองให้อินทรีย์ทั้งสองคู่เสมอกันแล้ว เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติย่อมสามารถยังสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานได้

อีกอย่างหนึ่ง ผู้เจริญสมถะมาก่อน ศรัทธามีกำลังกล้าจึงควร เพราะผู้นั้นเชื่ออยู่อย่างนั้นจึงจะถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำหรับผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา ปัญญามีกำลังกล้าจึงควร เพราะผู้นั้นรู้แจ้งแทงตลอดพระไตรลักษณ์ได้ด้วยอุบายอย่างนี้

ส่วนสติต้องการให้มีกำลังกล้าในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะสติย่อมรักษาจิตไว้ไม่ให้ตกไปในอุทธัจจะด้วยอำนาจของศรัทธา วิริยะ ปัญญา ซึ่งเป็นไปในฝ่ายอุทธัจจะ และรักษาจิตไว้ไม่ให้ตกไปในฝ่ายโกสัชชะด้วยอำนาจของสมาธิซึ่งเป็นไปในฝ่ายโกสัชชะ

เหตุนั้น สติ จึงจำเป็นต้องปรารถนาในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เหมือนคนปรารถนาเกลือในอาหารทุกชนิด ฉะนั้น และเหมือนกันกับพระราชาปรารถนาผู้สำเร็จราชการแทนในราชกิจทั้งปวง ฉะนั้น

จิตนี้มีสติเป็นที่พึ่งที่ระลึก สติทำหน้าที่ตามรักษาและอุปการะบำรุงจิต ถ้าเว้นสติเสียแล้ว ไม่มีผู้ยกย่องจิต ไม่มีผู้ข่มจิต จิตของเราก็ไม่สามารถดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ เหมือนกับทารกที่ขาดมารดาหรือขาดพี่เลี้ยง ไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ ฉันใด ผู้ปฏิบัติวิปัสสนา ถ้าขาดสติเสียอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาแห่งความพ้นทุกข์ได้ มิหนำซ้ำจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ด้วย

๔. ทุปฺปญฺญปุคฺคลปริวชฺชนา ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานพึงเว้นจากบุคคลผู้มีปัญญาทึบ ได้แก่ เว้นให้ห่างไกลจากบุคคลที่ไม่ฉลาด คือผู้ไม่มีปัญญาที่จะหยั่งรู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุ หรือ อริยสัจ

๕. ปญฺญวนฺตปุคฺคลเสวนา สมาคมกับผู้มีปัญญา คือให้คบหาสมาคมแต่ผู้ประกอบด้วยปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดดับของรูปนาม คือรู้ว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดรูปนาม อะไรเป็นปัจจัยให้รูปนามดับไป รู้อาการเกิดดับของรูปนามอันมีลักษณะ ๕๐ ถ้วน คือ

การเกิดของรูปนาม มีอยู่ ๒๕ ประการ คือ

รูปนี้เกิดมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

เวทนาเกิดขึ้นจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

สัญญาเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

สังขารเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

วิญญาณเกิดขึ้นมาจาก อวิชชา ตัณหา กรรม นามรูป และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ ๒๕ ประการ เมื่อรวมกันกับความดับของนามรูปที่เป็นปฏิปักษ์กันอีก ๒๕ ประการ จึงเป็น ๕๐ ประการพอดี

๖. คมฺภีรญาณจริยปจฺจเวกฺขณา พิจารณาประเภทแห่งปัญญาอันลึกซึ้ง เป็นไปตามวิปัสสนาภูมิ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ เป็นต้น อันสุขุมคัมภีรภาพ

๗. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในการกำหนดบทกัมมัฏฐาน คือมีจิตโอนไป โน้มไป ในสติปัฏฐาน ๔ หรืออิริยาบถต่างๆ มียืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เพื่อให้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เกิดขึ้น

ทั้ง ๗ ข้อที่ได้บรรยายมานี้ เป็นเหตุให้เกิดญาณสัมปยุตด้วยกุศล เมื่อใดได้บำเพ็ญวิปัสสนา ยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการนี้แล้ว ก็สามารถที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุอริยมรรรคอริยผลอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นี้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่ใช่เราจะไปใคร่ครวญหรือตริตรองพิจารณาในขณะที่นั่งกำหนดอยู่ ถ้าเรานำไปใช้พิจารณาขณะทำกัมมัฏฐานอยู่ หรือนั่งภาวนาอยู่ มันก็จะกลายเป็นปริยัติไป จะไม่เป็นภาคปฏิบัติหรือปฏิเวธ

ทีนี้เราจะใช้เวลาไหน ใช้เวลาว่างๆ เช่น เวลาเลิกจากการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เราก็นั่งตามสบาย หรือว่า เราสรงน้ำมาสบายๆ นั่งอยู่ที่กุฏิของเรา ดื่มน้ำร้อนน้ำชาหรือน้ำเย็น ทำให้จิตใจของเราสบายขึ้นมาแล้ว เราก็ยกธรรมะข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาพิจารณา จะเป็นธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ที่มาบรรยายก็ตาม เราก็ยกขึ้นมาพิจารณา เช่น เรื่องรูปนาม ขันธ์ ๕ ท่านว่ามันเป็นอสุภะ มันเป็นได้อย่างไรหนอ หรือพิจารณาว่า เรายังมีราคะกล้าอยู่ จะทำอย่างไรหนอจึงจะพ้นจากราคะ

เมื่อเราพิจารณาไปก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ราคะนี้เป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด เราบวชมาถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เราต่อสู้หนักที่สุดก็ต่อสู้กับพิษและอำนาจของราคะ ส่วนโลภะ โทสะ โมหะ มีอำนาจนิดหน่อย ราคะนี้ทำให้จิตใจของเราแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็อยากสึก เดี๋ยวก็อยากอยู่เผยแผ่พระพุทธศาสนา รบกวนอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้เราก็คิดว่า จะทำอย่างไรหนอ พิษของราคะจะหมดไปสิ้นไป เราพิจารณาไปเรื่อยๆ ก็เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดอุตสาหะวิริยะในการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

เรื่องการเอาชนะราคะนี้ เราจะทำอย่างไร

เราต้องเจริญกายคตาสติกัมมัฏฐาน ตามหลักมูลกัมมัฏฐาน คือ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ บางครั้งก็เจริญโดยพิสดาร ตลอดถึงอาการ ๓๒ พิจารณาอยู่ตลอดเวลา เจริญให้คล่องแคล่ว แล้วก็แยกส่วนไป คือ แยกส่วนหยาบๆออกไป ครั้งแรกก็นึกถอนเอาผมทั้งหมดนี้ไปกองไว้กะละมังหนึ่ง เสร็จแล้วก็ถอนเอาขนทั้งหมดไปกองไว้กะละมังหนึ่ง

แล้วก็ลอกเอาหนังทั้งหมดนี้ไปไว้กะละมังหนึ่ง เอาเนื้อทั้งหมดไปไว้อีกกะละมังหนึ่ง แล้วก็ตัดเอาเอ็นทุกเส้นไว้กองหนึ่ง เอาตับไว้กองหนึ่ง เอาปอดไว้กองหนึ่ง เอาม้ามไว้กองหนึ่ง เอากระเพาะไว้กองหนึ่ง ควักเอาอาหารใหม่อาหารเก่าอยู่ในลำไส้ไปไว้ในกะละมังหนึ่ง เอาเลือดไปไว้ในกะละมังหนึ่ง เอาน้ำดีไว้ทางหนึ่ง เอาเสลดไว้ทางหนึ่ง เอากระดูกไว้กองหนึ่ง กระจัดกระจายกันไว้

เราก็หลับตาพิจารณาว่า อันนั้นเป็นผม อันนั้นเป็นขน เป็นเนื้อ เป็นเอ็น เป็นเลือด เป็นเสลด เป็นต้น พิจารณาอยู่อย่างนี้ตลอดไป เช้าก็ต้องใช้ เพลก็ต้องใช้ เย็นก็ต้องใช้ กลางคืนก็ต้องใช้ พิจารณากลับไปกลับมาจนชำนาญช่ำชองแล้ว หากเราไปเห็นเพศตรงข้าม คิดชอบขึ้นมาเท่านั้น เราก็นึกแยกส่วนขึ้นทันที ก็จะเห็นกระจัดกระจายเรี่ยรายไปหมด ไม่เห็นบุคคลเหมือนเดิม เราต้องใช้อย่างนี้

นึกถึงคนโน้นรูปสวยหนอ คนนี้รูปสวยหนอ พอนึกแยกส่วน มันก็กระจัดกระจายกองใครกองมันทันที คือครั้งแรกต้องแยกตัวเองเสียก่อน เมื่อชำนาญแล้วก็สามารถแยกร่างของคนอื่นไปกองเป็นส่วนๆได้เหมือนกับร่างของเรา เมื่อออกจากการพิจารณาก็ประกอบเข้าเหมือนเดิม

ทีนี้ เมื่อพิจารณาจนชำนาญดีแล้ว เรายังเอาสิ่งที่ปรากฏในร่างกาย เช่น เห็นเลือดสีแดง ก็เอามาบริกรรมเป็นกสิณต่อไปจนเกิดฌานเกิดสมาบัติขึ้น เมื่อฌานมีกำลังกล้าขึ้น ก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้นมาแล้วก็สามารถตัดหรือข่มกามราคะลงไปได้

อันนี้เป็นหลักการที่นำมาเสนอแนะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์นี้ เราใช้เวลาว่างจากการปฏิบัติมาใคร่ครวญพิจารณาตริตรองถึงเนื้อหาสาระของมัน ด้วยอำนาจจินตาญาณ ทำให้เกิดปัญญา และสามารถที่จะเอาไปเทศน์ไปสอนได้ และเมื่อนำเอาไปเทศน์ คนก็เข้าใจ ใครจะมีมานะทิฎฐิสักปานใดก็ตาม เราเทศน์ไปในขณะที่เรายังบำเพ็ญอยู่นี้ คนนั้นจะมีจิตใจอ่อน พร้อมที่จะปฏิบัติตาม อันนี้ก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายนำเอาหลักธรรมะในธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ที่กล่าวมาแล้วนี้ไปเป็นแรงกระตุ้นในการปฏิบัติเพื่อให้ถึงมรรคผลเร็วขึ้นต่อไป

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 มกราคม 2561 10:37:04

(http://2.bp.blogspot.com/-nrMRLdIov0w/Uc963a7J_gI/AAAAAAAANuE/gXQm4ZYgm2E/s320/7473_549950598382129_733551119_n.jpg)

วิริยสัมโพชฌงค์

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง วิริยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า วิริยสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความเพียร หมายความว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราทั้งหลาย แม้ว่าอย่างอื่นจะสมบูรณ์ แต่ถ้าขาดความเพียรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสามัญผลได้

ความเพียรนั้น ท่านแปลไว้หลายนัย ดังนี้

๑.วิริยะ แปลว่า ความเพียรในการละความชั่ว ในการกระทำความดี

๒.วิริยะ แปลว่า กล้าหาญ หมายความว่า กล้าหาญในการละความชั่วและบำเพ็ญความดี

๓.วิริยะ แปลว่า บุกเข้าไป ได้แก่ การตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยไม่ถอยหลัง

๔.วิริยะ แปลว่า รุกเข้าไป หมายความว่า พยายามก้าวหน้าอยู่เสมอ ไม่ถอยหลัง

๕.วิริยะ แปลว่า เดช หมายความว่า การที่เราทั้งหลายตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐานจนเกิดเดช สามารถเผาผลาญกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดไปจากขันธสันดาน

๖.วิริยะ แปลว่า อำนาจ ได้แก่ การบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเกิดอำนาจ สามารถกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปจากจิตใจ

๗.วิริยะ แปลว่า ปราศจากความครั่นคร้าม หมายความว่า ไม่เกรงต่อกิเลสแม้แต่น้อย

๘.วิริยะ แปลว่า อาจหาญ หมายความว่า มีความองอาจ แกล้วกล้า สามารถเอาชนะข้าศึกคือกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้

๙.วิริยะ แปลว่า กำลัง หมายความว่า ความเพียรนี้ เป็นเหตุให้เกิดกำลัง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเข้มแข็ง คือทำให้เกิดศรัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ จนสามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

๑๐.วิริยะ แปลว่า อุตสาหะ ได้แก่ การพากเพียรเป็นพิเศษ สามารถเอาชนะความโลภโกรธหลงได้

๑๑.วิริยะ แปลว่า พยายาม หมายความว่า ตั้งหน้าทำ เอาชีวิตเข้าแลก เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ตายก็ยอมตาย ถ้าว่าไม่บรรลุอริยมรรคอริยผลสมกับความตั้งใจแล้ว จะไม่ละความเพียรพยายามเป็นอันขาด

๑๒.วิริยะ แปลว่า ไม่ถอยหลัง หมายความว่า ยอมตายเอาดาบหน้า ขาขาดเอาคางเกาะไป ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนกว่าจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

๑๓.วิริยะ แปลว่า พ้นทุกข์ ได้แก่ การตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถพ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกและทางธรรม ดังท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

๑๔.วิริยะ แปลว่า บ่อเกิดแห่งไตรสิกขา หมายความว่า ความเพียรนี้เป็นเหตุให้เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา

๑๕.วิริยะ แปลว่า ธรรมจักร หมายความว่า เป็นล้อนำให้ถึงซึ่งสมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน

สรุปความแล้วว่า ความเพียรนั้นเป็นสิ่งที่สามารถขุดเอาทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายในของพุทธบริษัทได้

ความเพียรภายนอกคือความเพียรทางโลกนั้น สามารถทำให้การงานของตัวเองสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตัวเองก็ได้รับความสุข ทั้งครอบครัวก็ได้รับความสุข พ้นจากความลำบากความเดือดร้อนเข็ญใจไร้ทรัพย์ ทำให้เกิดความร่ำรวยมั่งมีศรีสุขในปัจจุบันได้

ส่วนความเพียรภายในคือความเพียรทางธรรม สามารถทำให้ผู้ที่ประกอบความเพียรนั้นได้บรรลุสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ พรหมสมบัติ และสมบัติอย่างเยี่ยมคือพระนิพพาน ดังตัวอย่างพระมหาโมคคัลลานะเป็นอุทาหรณ์

กิระ ดังได้สดับมา พระมหาโมคคัลลานะนั้น เป็นบุตรพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อโกลิตะ มารดาชื่อโมคคัลลี เดิมท่านชื่อ โกลิตะ ตามโคตรของบิดา อีกอย่างหนึ่ง เพราะท่านเป็นบุตรของนางโมคคัลลี จึงเรียกท่านว่าโมคคัลลานะในเวลาที่ท่านมาบวชในพระศาสนาแล้ว

ท่านเกิดในตำบลไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ ได้เป็นสหายกันกับอุปติสสะมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ตระกูลของทั้งสองเป็นสหายเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ และเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน เมื่อเจริญวัยก็ได้ศึกษาศิลปวิทยาด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ทำหรือไปด้วยกัน

จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว คืออุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรมก่อน เพราะได้ฟังธรรมของพระอัสสชิ ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น แล้วเข้าใจว่า

ในพระศาสนานี้แสดงแล้วว่า ธรรมทั้งหลาย เมื่อจะเกิด ก็เพราะเหตุเกิดก่อน เมื่อจะดับ ก็เพราะเหตุดับก่อน พระศาสดาตรัสสอนให้ดับเหตุคือตัณหาอันเป็นตัวให้เกิดทุกข์ แล้วได้ดวงตาเห็นธรรมว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา

จึงอำลาพระอัสสชิ มาบอกแก่โมคคัลลานะถึงการที่ตนได้พบกับพระอัสสชิแล้วได้แสดงธรรมให้ฟัง เมื่อได้ฟังแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน แล้วพร้อมใจกันกับบริวาร ลาอาจารย์สัญชัยมาพบพระศาสดาที่เวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ขอบวชในพระพุทธศาสนา

จำเดิมแต่ท่านได้ขออุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ได้ ๗ วัน ท่านไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวาลคาม แขวงมคธชนบท อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระศาสดาได้เสด็จไปที่นั้น ทรงสั่งสอน แสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง[1]มีประการต่างๆ ว่า

ข้อที่ ๑ โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไรความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำสัญญาในใจถึงสิ่งนั้นให้มาก คืออย่านึกอย่าทำอย่างนั้นอีกต่อไป ก็จะเป็นเหตุละความโงกง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๒ ท่านควรตริตรองพิจารณาธรรมที่ท่านได้ฟังแล้วและเรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตัว ก็จะละความโงกง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๓ ท่านควรสาธยายธรรมที่ตัวได้ฟังแล้วได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร จะสามารถละความง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๔ ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรแยงหูทั้งสองข้าง ลูบตัวด้วยฝ่ามือ ก็จะละความง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๕ ถ้ายังละไม่ได้ ควรลุกขึ้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ ก็จะเป็นเหตุให้ละความง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๖ ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือทำความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิตใจให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ก็จะเกิดแสงสว่าง เป็นเหตุละความง่วงนั้นได้

ข้อที่ ๗ ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่ส่งไปในภายนอก ก็จะเป็นเหตุให้ละความง่วงนี้ได้

ข้อที่ ๘ ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นทำความเพียร โดยคิดว่าเราจะไม่ประกอบความสุขด้วยการนอนการเอนข้างเอนหลัง

ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความโงกง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอนให้สำเหนียกต่อไปอีกว่า โมคคัลลานะ เธอพึงสำเหนียกอยู่เสมอว่า เราจักไม่ชูงวง คือจักไม่ถือตัวไปในตระกูล เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน และตรัสสอนการให้ยินดีในที่นั่งที่นอนอันเงียบสงบ ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

เมื่อครั้นตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ว่าโดยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พระบรมศาสดาทรงตรัสต่อไปว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดซึ่งธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือเป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพึงพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้ ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ย่อมไม่สะดุ้งหวาดกลัว ย่อมดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตัว และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้ย่อมไม่มี ว่าโดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ท่านโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระองค์สั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

ที่นี้มีข้อแม้อยู่ว่า พวกเรานักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนี้ จะประกอบอยู่ในความเพียรประพฤติปฏิบัติในวิริยสัมโพชฌงค์นี้อย่างไร ให้ปฏิบัติดังนี้คือ เราทั้งหลายพึงสำรวมระวัง รักษาอินทรียสังวรศีล คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๖ ประตูนี้ อย่าให้ขโมยทั้ง ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ เข้าไปได้

วิธีรักษานั้นคือ ให้ปิดประตูใส่กุญแจให้เรียบร้อย แล้วยืนเฝ้า นั่งเฝ้า นอนเฝ้าอยู่เสมอ อย่าประมาท ปิดประตูอย่างไร ปิดประตูอย่างนี้คือ สมมติว่าเวลาเดินจงกรม ให้เอาสติปักไว้ที่เท้าขวาเท้าซ้าย ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในขณะนั้น

เวลานั่งก็เอาสติปักไว้ที่ตัวของเรา ให้รู้อาการนั่งตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า เวลานอนก็ให้ตั้งสติไว้ที่รูปนอน เวลายืนก็ตั้งสติไว้ที่ร่างกายของเรา คือที่รูปของเรา ระวังรักษาอยู่เสมอ ไม่ให้เผลอไปตามบาปอกุศล ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น

เวลาตาเห็นรูป ตั้งสติไว้ที่ตา โดยกำหนดว่า เห็นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ก็ได้ คำใดคำหนึ่ง ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะเกิด เวลาหูได้ยินเสียงก็ให้ตั้งสติกำหนดไว้ที่หู กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ก็ได้ ระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไป เวลาจมูกได้กลิ่นพยายามตั้งสติไว้ที่จมูกโดยกำหนดว่า กลิ่นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ อย่าให้เลยไปถึงว่ามันหอมหรือเหม็น อย่าให้เลยไปถึงดีถึงชั่ว

เวลาลิ้นได้รสก็ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ ร่ำไป เวลากายกระทบกับสัมผัสคืออาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง ก็ให้ตั้งสติไว้ที่กาย กำหนดว่า กระทบหนอๆ ถูกหนอๆ พุทโธๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้ เวลาใจรู้ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจก็เหมือนกัน ในขณะนั้นให้ตั้งสติไว้ที่ใจ กำหนดว่า คิดหนอๆ รู้หนอๆ หรือกำหนดว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง และระวังอย่าให้โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นได้ในขณะนั้น

สรุปเอาสั้นๆ ว่า เวลาเรากระทบกับอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี ให้มีสติสัมปชัญญะ ระวังให้ดี อย่าให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้น อย่าให้เลยไปถึงดีหรือชั่ว ถ้าเลยไป แสดงว่าเราปิดประตูกั้นประตูไม่อยู่ ขโมยคือกิเลสทั้ง ๑๒ ตัว ก็เข้าไปในขันธสันดานของเราได้

เมื่อกิเลสเข้าไปแล้ว มันก็จะแสดงอาการของมันออกมา บางทีก็ทำให้เกิดความคิดอยากคดโกงเอาสมบัติของเขาบ้าง หรือทำให้ค้าของเถื่อน ลักทรัพย์ ฆ่าคน ด่าคน วางเพลิง หัวดื้อ ฉุดคร่าอนาจาร ขี้เมา เนรคุณ ประมาท เกียจคร้าน กลุ้มใจบ้าง ทุกข์ใจบ้าง

แต่เมื่อปิดประตูกั้นประตูดีแล้ว กิเลสใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ กิเลสเก่าที่มีอยู่จะหมดไปตามลำดับๆ ด้วยอำนาจไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ บุญกุศลทั้งหลาย คือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ก็เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลตั้งแต่ขั้นโสดาบันไปจนถึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกๆท่านอย่าได้ประมาท หมั่นบำเพ็ญสติให้ระลึกรู้ทันปัจจุบันเสมอ จะได้ชื่อว่าเดินทางพร้อมด้วยวาสนาบารมีที่จะถึงพระนิพพานได้

อนึ่ง สำหรับองค์คุณของผู้มีความเพียรนั้น ท่านกล่าวไว้ดังนี้

๑.สมมติว่าเราจะเดินทางไกล ก่อนจะเดินทางไกลเราก็พิจารณาว่า ในขณะที่เราเดินทางนี้ ไม่มีโอกาสจะได้ประพฤติปฏิบัติ ไม่มีโอกาสจะบำเพ็ญความเพียรเต็มที่ ควรที่เราจะบำเพ็ญความเพียรเสียก่อนที่จะเดินทาง แล้วก็ตั้งใจบำเพ็ญความเพียร

๒.เมื่อเดินทางถึงที่แล้ว ก็ให้พิจารณาว่า ในขณะที่เดินทางอยู่นั้น เราไม่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ บัดนี้เราเดินทางถึงที่แล้ว สมควรที่จะลงมือปฏิบัติ แล้วรีบประพฤติปฏิบัติทันที

๓.เมื่อประสบกับความหนาว ก็ให้พิจารณาว่า ความหนาวนี้เป็นเพียงเล็กๆน้อยๆ เท่านั้น หากว่าหนาวนี้มากขึ้นกว่านี้ เราก็จะบำเพ็ญความเพียรไม่สะดวก ควรที่จะบำเพ็ญความเพียรเสียก่อนที่ความหนาวเหน็บอย่างแรงกล้าจะมาถึง แล้วก็รีบลงมือทำความเพียร

๔.เมื่อประสบกับความร้อน ก็ให้พิจารณาว่า ความร้อนนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะกล่าวความร้อนในอบายภูมิยิ่งมีมากกว่านี้เป็นพันๆล้านเท่า หรือว่าความร้อนที่ได้รับอยู่นี้เป็นความร้อนเพียงเล็กน้อย เป็นความร้อนภายนอก ส่วนความร้อนด้วยไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันยิ่งร้อนกว่านี้ บัดนี้เป็นโอกาสที่เราจะได้บำเพ็ญความเพียร ถ้าหากว่าเกิดความร้อนขึ้นมากกว่านี้ หรือว่าไฟคือราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นมาแล้ว เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสบำเพ็ญความเพียร ขณะนี้เป็นโอกาสเหมาะแท้ที่จะบำเพ็ญความเพียร แล้วรีบลงมือทำความเพียร

๕.เมื่ออากาศพอดี เย็นสบายๆ ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้อากาศพอดี เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วก็รีบทำทันที

๖.เมื่อได้อาหารน้อย ก็ให้พิจารณาว่า วันนี้เราได้อาหารน้อย ฉันได้น้อย ร่างกายของเราคล่องแคล่วสบายดี ไม่อืดอาด เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วรีบลงมือทำความเพียร

๗.เมื่อได้อาหารมาก ก็ให้พิจารณาว่า เราได้อาหารมาก รับทานอาหารได้มาก ร่างกายของเราก็แข็งแรงไม่เหน็ดเหนื่อย เหมาะแก่การทำความเพียร แล้วก็รีบลงมือทำความเพียร

๘.เมื่อมีอาพาธน้อย ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้เรามีอาพาธเล็กน้อยเท่านี้ ถ้าเรามีอาพาธหนักก็จะไม่มีโอกาสทำความเพียร ควรที่เราจะลงมือทำความเพียรขณะนี้ แล้วทำความเพียรทันที

๙.เมื่ออาพาธหนัก ก็ให้พิจารณาว่า ขณะนี้เรามีอาพาธหนักเต็มที่แล้ว หากว่าเราตายเพราะอาพาธนี้ ก็จะไม่มีโอกาสทำความเพียร เหตุนั้น เราควรรีบทำความเพียรในขณะที่เราอาพาธยังไม่ถึงซึ่งความตายนี้ แล้วรีบลงมือทำความเพียรทันที

ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายมาอยู่ในที่นี้ เรามีการฉันน้อย นอนน้อย แต่ทำความเพียรมาก ถือว่าเป็นโชคของเรา ในการที่มีโอกาสได้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเต็มที่ บุคคลอื่นภายนอกไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับเราเป็นส่วนมาก ดังนั้น ก็ขอให้รีบลงมือทำความเพียร

อีกอย่างหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาอยู่เสมอว่า การมาอยู่ที่นี้ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นเวลาของท่านทุกวินาที ครูบาอาจารย์และทางสำนักทุกคนทุกรูปมอบให้ท่านทั้งหลายหมดแล้ว เหมาะแก่การที่จะทำความเพียร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายรีบทำความเพียร อย่าได้เสียใจในภายหลังว่าเรามาอยู่ที่นี้ กลับไปวัดไปบ้านของเราไม่ได้คุณสมบัติอันใดติดตัวไป ไม่ได้คุณวิเศษ ไม่ได้บรรลุสามัญผลใดๆ เมื่อกลับไปแล้วเราก็ไม่ได้ความภูมิใจความดีใจเท่าที่ควร

แต่ถ้าเราได้บรรลุสามัญผลแม้เพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น เราก็จะยังได้ความภูมิใจว่า ไม่เสียทีที่ได้มาประพฤติปฏิบัติ ถึงแม้จะไม่ได้ผลขั้นสูงสุด แต่ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว เราจะได้ดีใจ ภูมิใจ และก็จะได้เกิดความอุตสาหะมุมานะในการที่จะแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมต่อไป

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ขอให้มีสติสัมปชัญญะเสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจอกุศล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทาน เป็นต้นได้เลย

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง วิริยสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

----------------------------------------------------------------------
[1] (องฺ อฏฺฐกนิปาต. ๒๓/๕๘/๘๗)


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 มกราคม 2561 14:22:47

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_%E1%CA%A7%CA%C7%E8%D2%A7%E1%CB%E8%A7%BB%D1%AD%AD%D2%201.jpg)

ปีติสัมโพชฌงค์

วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ปีติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ปีติสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือปีติ หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลายนั้น หากว่าขาดปีติเสียอย่างเดียว หรือว่าเวลาประพฤติปฏิบัติ ปีติไม่เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะปีตินี้เป็นอาหารของใจ สำหรับร่างกายนั้นมีกวฬิงการาหารอาหารคือคำข้าวเป็นเครื่องปรนเปรอให้ดำรงอยู่ได้

เมื่อใดใจของเราเกิดปีติหรือได้ปีติเป็นอาหารแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะดำเนินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ จนลุถึงจุดหมายปลายทางคืออริยมรรคอริยผล

ปีตินี้ถ้าให้เข้าใจง่าย เรียกว่า เป็นอาการของจิต จิตแสดงอาการขึ้นมา คือเวลาปฏิบัติธรรมไป เมื่อใจของเราสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือในขณะนั้นนิวรณ์ธรรม ๕ ไม่ครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจของเราก็เป็นอิสระ เมื่อเป็นอิสระแล้วก็แสดงอาการออกมา อาการที่จิตแสดงออกมานี้เรียกว่า ปีติ

ปีติ นี้แปลว่า ความเอิบอิ่ม ความอิ่มใจหรือความปราโมทย์ หรือแปลว่า ความตื้นตันใจ มีอยู่ด้วยกัน ๕ ประการ คือ

๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีลักษณะดังนี้คือ

๑) ในขณะที่เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น จะมีสีขาวเหมือนกันกับปุยนุ่นหรือสำลีมาปรากฏ คล้ายๆว่าจะมองเห็นแสงอะไรหรือมองเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ขึ้นมา แต่ก็ยังมองไม่เห็น

๒) บางทีก็มีอาการเยือกเย็นทั่วร่างกาย มีอาการขนลุก มึนตึง หนักๆ ตามร่างกาย

๓) บางทีก็ทำให้น้ำตาไหล หนังหัวพองสยองเกล้า

๔) บางทีก็มีอาการตัวชา คล้ายๆกับว่าเราจะเป็นโรคเหน็บชา บางทีปรากฏตัวของเราพองขึ้นๆจนเต็มกุฏิก็มี

๕) บางครั้งปรากฏเหมือนตัวของเราใหญ่ออกๆ หรือบางทีก็เล็กเข้าไปๆ เท่ากับเด็กๆก็มี

๖) บางครั้งก็ปรากฏว่า แขนยาว ขายาว ฟันยาว ออกไป

๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีลักษณะดังนี้

๑) จะมีสีแดงๆ ด่างๆ ปรากฏเฉพาะหน้า คล้ายกับสีจีวรของภิกษุสามเณรบ้าง คล้ายกับพระอาทิตย์แรกอุทัยบ้าง

๒) บางครั้งจะเกิดในจักษุทวารเหมือนกันกับสายฟ้าแลบ

๓) บางครั้งเป็นประกายเหมือนกันกับตีเหล็กไฟ

๔) บางทีมีอาการแสบทั่วร่างกาย บางทีก็ทำให้กายแข็ง คือร่างกายของเราแข็ง คล้ายกับว่ามีโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา เวลาจะก้มจะเงยก็เป็นไปไม่สะดวก

๕) บางครั้งเป็นดังแมลงมาจับแล้วไต่ตามตนตามตัว

๖) บางครั้งร้อนตามตัว แม้ฝนตกพรำอยู่ก็รู้สึกร้อนผิดปกติ

๗) บางทีก็ทำให้เกิดหัวใจสั่นๆ ไหวๆ คล้ายกับเป็นโรคหัวใจอ่อน

๘) ทำให้ขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก

๙) คันยุบยิบ คล้ายมดไต่ไรคลานตามหน้าตามตัว เราลูบข้างซ้ายก็ไต่มาข้างขวา ลูบข้างขวาไต่มาข้างซ้าย บางทีคล้ายๆกับจะไต่เข้าตาเข้าหู หรือไต่ขึ้นบนศีรษะของเราก็มี

๑๐) เป็นดังปลาตอด ดังเส้นเอ็นชัก มีอาการกระตุก

๑๑) มีอาการคล้ายๆกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่าน

๑๒) เหมือนกับปลาผุดขึ้นในเวลาโยนเศษอาหารลงไป

๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ มีลักษณะดังนี้

๑) ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลงไปมา

๒) มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า

๓) มีอาการสั่นๆ ไหวๆ บางทีมีอาการสูงๆ ต่ำๆ คล้ายกันกับว่าเตียงจะคว่ำ

๔) บางทีมีอาการคลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางทีอาเจียนออกมาจริงๆก็มี

๕) บางทีเป็นดุจระลอกซัด คือเหมือนเราไปยืนอยู่ในน้ำแล้วมีระลอกคลื่นเล็กๆซัดมาถูกตัวของเรา

๖) บางทีมีอาการสั่นระรัวๆ ดุจไม้ปักอยู่ในน้ำไหล

๗) กายโยกไปโยกมา

๘) มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว คล้ายจะเป็นไข้

๙) มีสีเหลืองอ่อนๆ มีสีดอกผักตบ

๑๐) บางครั้งมีอาการวูบวาบจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน บางครั้งวูบวาบจากข้างบนลงไปข้างล่าง เหมือนกับกลัวผีหลอก

๑๑) บางทีคล้ายกับแล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำ

๑๒) บางทีจะรู้สึกว่าร่างกายของเราผิดปกติ

๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน มีลักษณะดังนี้คือ

๑) กายสูงขึ้น ตัวเบา ตัวลอย คือในขณะที่เรานั่งอยู่นั้น ปรากฏว่ากายของเราสูงขึ้นๆ จนเท่าต้นไม้ก็มี จนครึ่งฟ้าก็มี บางทีตัวของเราเบาผิดปกติ บางทีเบาจนพ้นจากพื้นไปคืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง บางทีก็ลอยไปค้างอยู่บนขื่อเรือนบ้าง ต้นไม้บ้าง บางทีนั่งอยู่ตามบริเวณลานวัด นั่งไปๆ ตัวลอยวับขึ้นไปอยู่บนกุฏิก็มี

มีโยมชาวบ้านใกล้ๆวัด กลับไปประพฤติปฏิบัติอยู่ที่เรือน เมื่อปีติชนิดนี้เกิดขึ้น ลอยวับขึ้นไปค้างอยู่บนขื่อเรือน แต่เวลาลง ลงไม่ได้ ต้องหาบันไดพาดให้ลงก็มี

๒) บางครั้งถ่ายท้อง ท้องเดิน เป็นบิด บางทีถ่ายออกมาเป็นเลือดได้เต็มกระโถนก็มี

๔) บางครั้งคล้ายกับมีคนมาผลักข้างหลัง หน้าคะมำลงไปก็มี บางทีคล้ายกับคนมาผลักข้างหน้า หงายไปข้างหลังก็มี

๕) บางทีเหมือนมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายกับคอของเราไม่มีกระดูก

๖) บางครั้งมีอาการปากงับๆบ้าง อ้าปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง หุบปากบ้าง ในเวลาที่กำลังนั่งกัมมัฏฐานอยู่

๗) บางทีมีอาการตัวไหว โยกไปเอนมาดุจลมพัดต้นไม้

๘) บางครั้งกายหกคะเมนถลำไป คือเดินจงกรมไม่ตรง เดินไปๆ มีอาการหกคะเมนถลำไป เซถลาไปก็มี

๙) บางทีกายกระโดดขึ้นปลิวไปเหมือนเหาะได้ก็มี

๑๐) กายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า

๑๑) กายเงื้อมไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายบ้าง ข้างขวาบ้าง

๑๒) บางครั้งปรากฏเห็นเป็นสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น

๑๓) บางทีมือของเราอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับให้คว่ำลงไป หรือบางทีมือของเราวางอยู่ในท่าคว่ำ คล้ายกับมีคนมาจับให้หงายขึ้น บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คล้ายกับว่านั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก บางทีหันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายกับว่าเราหันหน้าไปทางทิศเหนือ เป็นต้น

๑๔) เวลาเรานั่งอยู่ตรงๆ จะรู้สึกว่ามีอาการโอนไปเอนมา คล้ายกับว่าเรานั่งไม่ตรง พอลืมตาดู ตัวของเราก็นั่งตรงๆตามเดิม คือคล้ายกับตัวโอนไปมา เหมือนต้นอ้อที่ลู่ไปตามลมฉะนั้น

๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน มีลักษณะดังนี้

๑) มีอาการเยือกเย็นไปตามร่างกาย

๒) มีอาการสงบไปเป็นพักๆ

๓) มีอาการคันยุบๆตามตัว

๔) มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา ไม่อยากพูดจากับใครๆ

๕) ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่อยากมองซ้ายแลขวา

๖) บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากปลายเท้าถึงศีรษะ บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะจนถึงปลายเท้า บางคนมีจิตใจอ่อน คิดว่าภูตผีปีศาจมาสิงมาเข้าทรงก็มี

๗) ร่างกายเย็นดุจอาบน้ำ หรือดุจถูกน้ำแข็ง

๘) มีอาการยิบๆแย็บๆ เหมือนไรไต่หน้า

๙) มีสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีแก้วมรกต

๑๐) ทำให้เพลิดเพลิน ไม่อยากกระดุกกระดิก

๑๑) แม้เปลือกตาที่ปิดอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย

นี้เป็นปีติที่เกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติธรรมในเวลาปฏิบัติ ปีติทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ บางท่านก็เกิดครบหมดทุกอย่าง บางท่านก็เกิดเพียง ๒-๓ อย่างเท่านั้น แต่จะเกิดเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดก็ใช้ได้ แสดงว่ามีปีติเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว จิตใจของเรามีปีติเป็นอาหารแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะสามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ถึงจุดหมายได้

ปีตินี้มีความชื่นชมยินดีเป็นลักษณะ มีความอิ่มกายอิ่มใจซาบซ่านไปทั่วกายเป็นกิจ มีความฟูกายฟูใจเป็นผลปรากฏ มีนามขันธ์ทั้ง ๓ คือ เวทนา สัญญา วิญญาณ เป็นเหตุใกล้ชิด

ปีตินี้ หากว่ายังไม่เกิด จำเป็นจะต้องให้เกิด ถ้าเกิดแล้วต้องรักษาให้คงอยู่ เพื่อว่าจะได้เป็นแรงสนับสนุนให้การประพฤติปฏิบัติของเราได้ผลเร็ว

ปีตินี้อุปมาเหมือนกับเสบียงเดินทาง ตามธรรมดานั้น คนเดินทางต้องมีเสบียง เช่นว่า มีสตางค์มีเงินสำหรับซื้อข้าวปลาอาหาร เป็นต้น จึงจะเดินทางได้ ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่จะเดินทางไปสู่อมตมหานิพพานก็ต้องมีปีติเป็นอาหารมีปีติเป็นเสบียงเหมือนกัน จึงจะเดินทางไปได้

ปีตินั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยอุบายวิธี ๑๒ อย่าง คือ

ข้อที่ ๑ ทำด้วยอุบายวิธีแยบคาย คือเวลากำหนดให้เอาใจใส่ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม พระไตรลักษณ์ เช่น เวลากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เอาสติปักลงไป ตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เอาสติปักลงไปตั้งแต่เริ่มยกขึ้นจนถึงเหยียบลง นอกจากนี้ให้มีสติพิจารณาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดถึงพิจารณาอานิสงส์ของการบรรลุอริยมรรคอริยผล ของพระนิพพาน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปีติเกิดขึ้น

ข้อที่ ๒ ทำความเพียรให้มากๆ คือหมั่นเจริญพระกัมมัฏฐานบ่อยๆ อย่าได้ขาด อย่าได้หยุด พยายามทำสติสัมปชัญญะให้ทันปัจจุบัน รูปนาม พระไตรลักษณ์

ข้อที่ ๓ พยายามระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ ว่าพระองค์เป็นผู้มีพระคุณเหลือล้นพ้นประมาณไม่สามารถจะนับได้ หรือระลึกว่า พระองค์เป็นผู้ประกอบไปด้วยปัญญา ชาญฉลาด สามารถตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง เป็นพระสยัมภู ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรม พ้นจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีพระบวรขันธสันดานบริสุทธิ์สะอาดหมดจดผ่องใส เป็นผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเอ็นดูปรานีสัตว์ทั้งหลายที่เร่าร้อนไปด้วยเพลิงกิเลสและกองทุกข์ ได้นำเอาธรรมที่พระองค์ตรัสรู้แล้วมาแนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้รู้แจ้งเห็นตามได้ เมื่อเราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นได้

ข้อที่ ๔ พยายามระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ คือให้ระลึกว่าพระธรรมนี้เป็นสภาวะที่ดี สามารถทรงผู้ปฏิบัติไว้ รักษาผู้ปฏิบัติไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว อยู่ในภพนี้ชาตินี้ก็ย่อมจะไม่มีโทษ ไม่มีภัย อยู่ที่ไหนก็จะมีความสุขใจอยู่ตลอดเวลา เพราะธรรมะรักษาไว้ ไม่ต้องได้รับโทษ ติดคุกติดตะราง ถูกประหารชีวิต

เมื่อตายไปแล้วพระธรรมก็ยังตามรักษาไว้ไม่ให้ตกไปสู่อบายภูมิมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และทำให้ได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พระนิพพานสมบัติ เมื่อระลึกถึงพระธรรมอย่างนี้เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดขึ้นได้

ข้อที่ ๕ พยายามระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ เช่น สังฆคุณ ๙ ที่เราสวดอยู่ทุกวันก็ได้ หรือจะระลึกโดยย่อก็ได้ว่า พระสงฆ์นี้เป็นผู้มีอุปการะมาก พระศาสนาที่เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้ก็ได้อาศัยพระสงฆ์ได้ช่วยกันศึกษาเล่าเรียนและช่วยกันเผยแผ่ธรรมอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระศาสนาจึงดำรงมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าจะล่วงเลยมาถึงสองพันปีเศษ แต่ธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ก็ยังบริบูรณ์ทุกประการ อันนี้ก็เพราะคุณของพระสงฆ์แท้ๆ เมื่อเราระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาได้

ข้อที่ ๖ พยายามระลึกศีลที่ตนรักษาไว้แล้วเนืองๆ คือระลึกว่า เรานี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าเราผิดพลาดไปบ้างเป็นบางครั้งบางคราว เราก็ได้ปลงอาบัติ หรือประพฤติวุฏฐานวิธี เป็นโชคดีของเราแล้วหนอที่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ จะทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ดี เมื่อระลึกดังนี้ก็จะทำให้เกิดปีติธรรมขึ้นมา

ข้อที่ ๗ พยายามนึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้วเนืองๆ ว่าเรานี้โชคดีแล้วที่ได้บริจาคทาน เพราะเป็นเหตุให้สมานมิตรไมตรีไว้ได้ อยู่ในโลกนี้ก็ไม่ว้าเหว่ มีมิตรมีสหายมาก มีผู้รักใคร่เอ็นดู ไปที่ไหนก็มีคนคบหาสมาคมยกย่องสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียงอันดีงาม ย่อมฟุ้งขจรไป หรือเราตายแล้วไปเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ก็จะเป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยสมบัตินานาประการ เป็นต้น เมื่อเราระลึกอยู่เนืองๆ ก็จะทำให้ปีติเกิดขึ้นได้

ข้อที่ ๘ พยายามระลึกถึงธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นเทวดาเนืองๆ เช่น ระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะการสดับรับฟังมาก จาคะการเสียสละ ปัญญาความรอบรู้ในกองสังขาร ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ เมื่อเราระลึกถึงก็จะเห็นได้ว่า เรานี้ก็เป็นคนมีศรัทธาเหมือนกัน มีศีลเหมือนกัน มีสุตะเหมือนกัน มีจาคะเหมือนกัน มีปัญญาเหมือนกัน

เมื่อเรามีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา อยู่ในโลกนี้ก็เท่ากับว่าเราเป็นเทวดาแล้ว หากว่าการปฏิบัติธรรมของเรา ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติ ไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เราก็จะไปเกิดในเทวโลก ในฉกามาวจรสวรรค์ เพราะว่าเรามีคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา เมื่อระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้ปีติเกิดได้

ข้อที่ ๙ พยายามระลึกถึงคุณของพระนิพพานอันเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์เนืองๆ คือระลึกว่า พระนิพพานนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นเอกันตบรมสุข เข้าถึงพระนิพพานแล้วก็พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณทุกข์ ไม่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป เมื่อระลึกอย่างนี้เนืองๆ ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้

ข้อที่ ๑๐ เว้นบุคคลผู้ไม่เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย

ข้อที่ ๑๑ สมาคมกับบุคคลผู้ที่เลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย

ข้อที่ ๑๒ พิจารณาพระสูตรที่เป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใส เช่น พระสูตรใดที่เราได้ฟังได้ศึกษาเล่าเรียนมา ก็นึกถึงพระสูตรนั้นๆ สมมติว่าเรานึกถึงเรื่องสังกิจจสามเณร เขาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นเด็ก หรือบัณฑิตสามเณร อายุ ๗ ปีเท่านั้น เขาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพราะเขาได้สั่งสมอบรมบุญกุศลไว้มาก เมื่อระลึกไปๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติได้

ทั้ง ๑๒ ข้อนี้ เป็นอุบายวิธีทำให้ปีติเกิดขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถที่จะระลึกถึงได้ดังกล่าวมานี้ เราจะหวนมาระลึกในระหว่างตัวเรากับครูบาอาจารย์ก็ได้ เช่น นึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ว่า ท่านนี้มีเมตตาธรรม มุ่งความสุขความเจริญ มุ่งประโยชน์แก่ศิษย์จริงๆ เราเห็นคุณงามความดีของครูบาอาจารย์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วก็น้อมเอามานึกถึง ก็จะเป็นเหตุให้ปีติเกิดได้

หรือมิฉะนั้นก็นึกถึงคุณของบิดามารดา หรือเพื่อนสหธรรมมิกที่ได้ชักชวนตนให้ตั้งอยู่ในคุณงามความดี หรือให้ได้เข้าประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเรานึกไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นได้

หรือมิฉะนั้นเราก็นึกน้อมเข้ามาหาตัวเราเอง ว่าเรานี้เป็นผู้ที่มีโชคดีแล้วหนอ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ยังมีโอกาสเข้ามาบวช เมื่อบวชแล้วก็ยังได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดิน เมื่อเราระลึกอยู่อย่างนี้ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปีติได้

อนึ่ง ปีติจะเกิด จะต้องประพฤติปฏิบัติในความบริสุทธิ์ ๔ ข้อ

๑. สำรวมอินทรีย์ ๖ ได้แก่ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือให้มีสติสัมปชัญญะ ระวังไว้ให้ดี เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ ระวังอย่าให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน เข้าไปในจิตใจของเราได้ เมื่อเราระวังอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ใจของเราก็จะเป็นอิสระจากกิเลส ใจของเราสะอาดผ่องใสบริสุทธิ์พอสมควรแล้วก็จะปรากฏปีติธรรมขึ้นมา

๒. แสวงหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ด้วยศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา และไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

๓. พิจารณาปัจจัย ๔ เสียก่อนแล้วจึงค่อยบริโภคใช้สอย คือ พิจารณาเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสียก่อนที่เราจะใช้สอยสิ่งนั้นๆ

๔. แสดงอาบัติหรือสมาทานศีลใหม่ หมายความว่า เมื่อเราเห็นว่าศีลของเรามันขาดตกบกพร่องไป เพลี่ยงพล้ำไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เห็นว่าเป็นอาบัติ เห็นว่าไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร ก็ปลงอาบัติเสีย หากว่าเรามีโอกาสมีเวลาก็ประพฤติวุฏฐานวิธีเสีย

เมื่อใดเราตั้งอยู่ในองค์คุณทั้ง ๔ ประการอันเป็นเหตุให้เกิดความบริสุทธิ์นี้ และตั้งอยู่ในอุบายวิธีให้เกิดปีติ ๑๒ ประการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นเหตุให้ปีติเกิดได้

ปีติ นั้น มีทั้งอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง

ปีติอย่างต่ำ เกิดขึ้นจากการนึกถึงคุณงามความดี ของตนบ้าง ของผู้อื่นบ้าง ระลึกถึงทาน ถึงศีลที่ตนรักษาบ้าง หรือเกิดขึ้นเพราะอุบายวิธี ๑๒ ประการ และความบริสุทธิ์ ๔ ข้อดังกล่าวมาแล้วนั้น

ปีติอย่างกลาง เกิดขึ้นเพราะการเจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน (จตุกนัย) หรือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนถึงญาณที่ ๓ อย่างแก่ และญาณที่ ๔ อย่างอ่อน ก็จะเกิดปีติขึ้น

ปีติอย่างสูง ได้แก่ ปีติในสัมโพชฌงค์ เมื่อเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ปีติสัมโพชฌงค์นี้ จะเกิดขึ้นเมื่อจิตของเราเข้าสู่มรรควิถี คือจะเกิดขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕

ปีติที่เกิดขึ้นในญาณทั้ง ๔ ญาณนี้ จึงเป็นปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อเกิดขึ้นก็เป็นอันว่า ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรคอริยผล อย่างน้อยที่สุดก็ได้ปฐมมรรค คือได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าปีติดังกล่าวมานี้ยังไม่เกิดขึ้น ก็จงพยายามให้เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี อีกอย่างหนึ่ง ต้องพยายามข่มให้ได้ด้วย เพราะบางทีมันเกิดขึ้นมารุนแรงเกินไป เช่น อาการสั่น หรืออาการตื้นตันใจจนน้ำตาไหลอย่างนี้ ก็ทำให้ร้องไห้ขึ้นมา บางทีก็ทำให้เกิดการหัวเราะ เดินจงกรมก็หัวเราะ เหมือนกับคนเป็นบ้า เพราะจิตของเราเกิดปีติขึ้นมา ต้องพยายามข่มไว้

จะเป็นปีติอย่างต่ำอย่างกลางก็ตาม ต้องข่มไว้ ถ้าข่มไม่ได้ก็ไม่สามารถบรรลุถึงปีติอย่างสูง คือไม่สามารถยังปีติสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเมื่อใดเราสามารถข่มปีติอย่างต่ำอย่างกลางได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ปีตินั้น ละเอียดเข้าไปๆ ตามลำดับๆ เมื่อปีติถึงที่แล้วก็จะเป็นปีติสัมโพชฌงค์ เข้าสู่มรรควิถี ดำเนินไปสู่มรรควิถี แล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ปีติสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 06 กุมภาพันธ์ 2561 14:39:32

(http://www.watpamahachai.net/Buddha1/2013-12-04_195331.jpg)

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือความสงบ หมายความว่า การที่ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะได้บรรลุสามัญผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ หากว่าขาดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เหตุนั้น หากว่าปัสสัทธิสัมโพชฌงค์นี้ยังไม่เกิด ก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้คงอยู่และให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

ปัสสัทธินั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ

กายปัสสัทธิ ความสงบกายคือเจตสิก เพราะการเจริญสมถะและวิปัสสนา ๑

จิตตปัสสัทธิ ความสงบจิต เพราะการสงบเจตสิกและการเจริญสมถะและวิปัสสนา ๑

ปัสสัทธินั้น โดยสภาวะ เกิดในเวลาปฏิบัติ เป็นอย่างนี้ คือ

๑. จะมีอาการสงบเงียบดุจเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้ หูยังได้ยินเสียงอยู่ บางท่านก็เข้าใจว่าเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้วก็มี บางท่านก็เข้าใจผิดว่าได้สมาบัติแล้วก็มี

๒. ไม่มีความฟุ้งซ่านรำคาญ คือความฟุ้งก็ไม่มี ความซ่านก็ไม่มี จิตใจจดจ่อต่อบทพระกัมมัฏฐานที่ใช้กำหนดอยู่ อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นมา ก็ไม่ทำให้เกิดรำคาญได้

๓. กำหนดรูปนามได้ดี เช่น กำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก กำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง หรือกำหนดทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ดีที่สุด

๔. มีอาการเยือกเย็นสบายๆเวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน คล้ายๆกับว่าเราหมดกิเลสแล้ว คือ โลภ โกรธ หลง ไม่ปรากฏได้เลย เดินก็สบายๆ นั่งก็สบายๆ จิตใจสบาย

๕. พอใจในการกำหนดรูปนาม ไม่เหมือนเมื่อก่อนนั้นต้องข่มใจกำหนด จะกำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ต้องข่มใจ เวลานั่งก็ต้องข่มใจนั่ง จะกำหนดอาการพองอาการยุบก็ข่มใจจึงจะกำหนดได้ก็มี แต่ถ้าปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้ว จะพอใจในการกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ไม่ต้องข่มใจหรือบังคับเหมือนเมื่อก่อน

๖. ความรู้สึกเงียบไป คล้ายๆหลับไป คือใจสงบเงียบไปนานๆ บางทีนั่งเพลินไปจนลืมเวลาก็มี

๗. กายเบา คล่องแคล่วดี คล้ายๆกับว่าร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก จะเป็นเวลาเดินจงกรมหรือเวลานั่งกัมมัฏฐานก็ตาม รู้สึกเบาเหมือนกับปุยนุ่น หรือเหมือนกับสำลี บางทีคล้ายๆกับว่าร่างกายของเรานั้นจะปลิวไป เราคิดว่าจะพลิกไปข้างซ้ายหรือข้างขวาเท่านั้น มันพลิกวับไปทันที เหมือนร่างกายนี้ไม่มีน้ำหนัก บางทีทำให้คิดว่าตัวเองจะเหาะได้ อะไรทำนองนี้

๘. สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม ไม่มีความกระวนกระวาย ใจสงบดี ทำให้กำหนดได้ติดต่อกัน ดุจด้ายสนเข็ม

๙. มีความคิดปลอดโปร่งดีมาก หมายความว่า เมื่อก่อนนั้นเราขบคิดปัญหาอะไร และมีความสงสัยอยู่ในจิตในใจ แต่เมื่อปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้ว ความสงสัยก็หมดไป ความคิดปลอดโปร่ง จะแต่งกาพย์แต่งกลอนก็สามารถที่จะแต่งได้ บางทีคิดจะแต่งคำโคลงคำฉันท์ก็สามารถที่จะแต่งได้

บางท่าน เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว คล้ายๆกับว่าเกิดปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ คือ เราคิดจะเทศน์ปฏิภาณโวหาร เช่น คิดจะเทศน์เรื่องโลภะอย่างเดียวเท่านั้น คิดเทศน์อยู่ตั้ง ๑๐ วัน โดยไม่ซ้ำกับเนื้อความเดิม หรือจะคิดเทศน์เรื่องอวิชชาอย่างนี้ เราคิดเทศน์อยู่ตั้ง ๙ วัน ๑๐ วัน ก็สามารถจะคิดได้ คล้ายๆกับว่าแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา คิดอะไรมันปลอดโปร่งทุกสิ่งทุกประการ แต่เมื่อปัสสัทธิมันสงบระงับไปแล้ว เราจะคิดเทศน์คิดสอนก็คิดไม่ได้

๑๐. ผู้มีนิสัยดุร้าย ทารุณ เหี้ยมโหด เคยฆ่าเคยประหารมาแล้ว เช่น เคยฆ่าคนบ้าง เคยฆ่าวัวฆ่าควายมาบ้าง ก็จะคิดขึ้นมาได้ว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นละเอียดยิ่งนัก ส่วนเรานั้นยังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่ว กระทำแต่ความดี สอนตัวเองได้เลย เมื่อปฏิบัติมาถึงปัสสัทธินี้

๑๑. คนที่เป็นพาลเกเร เคยติดเหล้าเมาสุรา เคยติดฝิ่นกินกัญชามาแล้ว ก็เลิกสิ่งเหล่านั้นได้ บางทีก็เลิกสูบบุหรี่เลิกกินหมากได้ หากว่าปัสสัทธิเกิดแล้วผู้ปฏิบัติจะมีนิสัยเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จะอ่อนเหมือนผักต้มน้ำร้อน ครูบาอาจารย์ไม่จำเป็นจะต้องขะมักเขม้นในการแนะนำพร่ำสอน ผู้ปฏิบัติจะสอนตัวเองแนะนำตัวเอง และก็ดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง

๑๒. บางครั้งก็ทำให้มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง เหมือนกับท่อนไม้ก็มี เวลาเข้าสมาธิ ถ้าผู้ใดปัสสัทธิสูงจะมีอาการแข็งมาก สมมติว่าให้เข้าสมาธิอิริยาบถนอน เมื่ออยู่ในสมาธิ ถ้าผู้ที่ปัสสัทธิสูง เรายกขึ้นแล้วเอาศีรษะไปพาดกับม้าตัวหนึ่ง เอาเท้าพาดกับม้าอีกตัวหนึ่ง สามารถพาดได้วางได้ เหมือนกันกับท่อนไม้ ไม่อ่อนลงเลย เข้าในอิริยาบถยืนก็เหมือนกัน เรายกมาแล้วสามารถหามไปที่ไหนก็ได้ เหมือนกับหามต้นไม้หรือต้นกล้วย

เหตุนั้น ปัสสัทธินี้จึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้เกิด ถ้าไม่เกิด เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไป ส่วนมากจะทำให้เกิดความกลุ้มใจ เกิดความคิดมาก เกิดความเบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติ บางทีก็คิดว่า เรานี้ตกนรกทั้งเป็นแล้ว

แต่ถ้าผู้ที่ปัสสัทธิเกิดแล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมจะเกิดความเพลิดเพลินไปเรื่อย มีความอุตสาหะพยายามในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี

ปัสสัทธิ มีความสงบจากความกระวนกระวายของจิตและเจตสิกเป็นลักษณะ มีความกำจัดความกระวนกระวายของจิตและเจตสิกเป็นกิจ มีความไม่ดิ้นรนแห่งจิตและเจตสิกทำให้จิตและเจตสิกเยือกเย็นเป็นผลปรากฏ มีกายคือเจตสิกและจิตเป็นเหตุใกล้ชิด

ปัสสัทธิจะเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยเหตุ ๙ ประการ คือ

๑. ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคาย คือให้เอาสติปักลงไปให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่นเรากำหนดอาการพองอาการยุบ ก็เอาสติปักลงไปตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง เริ่มยุบ กลางยุบ สุดยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน มีสติกำหนดให้ดี

๒. พยายามทำให้มากๆ อย่าให้ขาดระยะ พยายามทำให้ติดต่อกัน หมายความว่า ในชั่วโมงพักจากการปฏิบัติก็มิใช่ว่าเราจะหยุดการกำหนด เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม เราจะไปสรงน้ำอาบน้ำก็ตาม เราก็ต้องกำหนด เราจะถ่ายหนักถ่ายเบา จะนุ่งจะห่ม เราจะทำครัวทำอะไรก็ตาม เรากำหนด เรามีสติติดต่อกัน ไม่เผลอ ไม่ขาดสติในการทำงานนั้นๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัสสัทธิได้

๓. เสพโภชนะอันประณีต คำว่า โภชนะอันประณีต ในสำนักของเรานี้คงจะหาได้ยาก เอาเป็นเพียงว่า โภชนะเหล่าใดที่เราบริโภคเข้าไปแล้วทำให้เกิดความไม่สบายในร่างกายในจิตใจ เช่นว่า อาหารบางอย่างเป็นอาหารที่แสลงโรค เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วทำให้เกิดความไม่สบาย ควรเว้นอาหารพวกนั้นเสีย

หรืออาหารบางประเภททานแล้วทำให้เกิดลม เช่น พวกหัวหอม กระเทียม เป็นต้น ทำให้นั่งสมาธิไม่ค่อยสะดวก ตลอดถึงของดองประเภทต่างๆ หรือของที่มีรสเค็มจัด เปรี้ยวจัด ทานเข้าไปแล้วเวลานั่งสมาธิทำให้เกิดลมตีขึ้น นั่งไม่สบาย จิตใจก็ไม่สามารถสงบเป็นสมาธิได้

หรือว่าอาหารบางประเภททานเข้าไปแล้วทำให้เกิดความง่วง บางอย่างก็ทำให้เกิดราคะจัดเกินไป บางทีก็ทำให้เกิดความโกรธง่าย ดังนั้น จึงควรที่จะรับประทานอาหารที่เบาๆ เช่น พวกผักผลไม้ เป็นต้น เมื่อไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ร่างกายก็เบาสบายเกิดปัสสัทธิได้

๔. เสพฤดูอันเป็นที่สบาย ฤดูที่สบายที่สุดในสถานที่นี้ก็คือฤดูฝน ถือว่าเป็นฤดูที่สบายที่สุด แต่เวลาประพฤติปฏิบัติจริงๆเราถือเอาเพียงว่า สถานที่เหล่าใดที่เรานั่งเหมาะแก่อัธยาศัย มีลมพัดโชยผ่านไปมา ซึ่งไม่ทำให้เกิดความร้อนเกินไป คือมองดูแล้วสถานที่นี้มันน่าสบาย เรานั่งที่นี้คงจะเย็นดี เราก็ไปนั่งสถานที่นั้นๆ

และหากว่าไม่จำเป็นจริงๆ อย่านั่งอยู่ในห้องแคบๆ เช่น กุฏิกัมมัฏฐานเล็กๆของเรา เพราะการนั่งอยู่ในห้องแคบๆ ส่วนมากไม่ค่อยได้สมาธิ วิปัสสนาญาณไม่ค่อยเกิด นั่งไปนั่งมาก็เอนข้างลงนอนเท่านั้น ถ้านั่งในห้อง ส่วนมากนั่งไม่นาน นั่งไปนั่งมานอนแล้ว ถ้าว่าเรานั่งอยู่ข้างนอกบ้าง นั่งอยู่ตามพื้นดินบ้าง นั่งได้นาน ได้ตามกำหนด ทำให้จิตใจสงบ ทำให้เกิดปัสสัทธิได้ง่าย

๕. เสพอิริยาบถเป็นที่สบาย คำนี้หมายความว่า พยายามเดินจงกรมและนั่งสมาธิให้เท่ากัน ให้สม่ำเสมอกัน ไม่ใช่หมายความว่า อิริยาบถเป็นที่สบายก็มีแต่นอนเท่านั้น นอกจากนอนแล้วไม่สบายหรอก แล้วก็เอนข้างเอนหลังลงนอนหลับทั้งวันทั้งคืน ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

เหตุนั้น คำว่าเสพอิริยาบถอันเป็นที่สบาย คือพยายามเดินจงกรมนั่งสมาธิให้สม่ำเสมอกัน คือ เดิน ๓๐ นาที ก็นั่ง ๓๐ นาที เดิน ๑ ชั่วโมง ก็มานั่ง ๑ ชั่วโมง ให้สม่ำเสมอกัน

ถ้าทำให้สม่ำเสมอกันได้ดังนี้ก็จะได้ประโยชน์หลายประการ คือ ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราได้ผลเร็ว ทำให้โรคภัยไข้เจ็บหายไป เช่น โรคอัมพาต โรคเหน็บชา หายไปได้ หรือป้องกันไม่ให้โรคเหล่านี้เกิดได้ ถ้าเรานั่งอย่างเดียว ปฏิบัติทั้งปีก็ไม่สามารถบรรลุคุณวิเศษได้ ทั้งยังทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้นอีกด้วย

๖. วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติธรรม บางครั้งเราอาจจะนึกถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของเรา อยากให้ได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติปฏิบัติ เดินอยู่ก็นึกถึงแต่ผู้มีพระคุณ นั่งก็นึกถึงแต่ผู้มีพระคุณ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้คิดว่า เรานี้มาประพฤติปฏิบัติธรรม เรายังมีโอกาสที่จะแนะนำพร่ำสอนอยู่ ถ้ามีโอกาสจะให้มาปฏิบัติทีหลัง เราคิดพิจารณาอย่างนี้

ถ้ายังไม่หายก็ให้ปลงเสียว่า เราจะไปคิดถึงท่านทำไมหนอ ด้วยว่าท่านมาเกิดในที่นี้ก็เพราะกรรมของท่าน เมื่อจะจากโลกนี้ไปก็ไปเพราะกรรมของท่าน แม้เราเองเกิดมาในที่นี้ก็เพราะกรรมของเรา เมื่อจากโลกนี้ไปก็จะไปเพราะกรรมของเรา เราจะไปห่วงท่านเพื่อประโยชน์อะไร เราควรรีบทำประโยชน์ของตนดีกว่า เมื่อคิดดังนี้ ก็เป็นเหตุให้วางตนเป็นกลางได้

หรือบางทีเราเห็นคนทะเลาะกัน ผัวเมียทะเลาะกัน เราก็ไปคิดไปยึดข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้จิตใจของเราไขว้เขว ไม่สามารถทำสมาธิได้

เหตุนั้น เมื่อประสบเหตุใดๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะปลงจิตให้เป็นกลางได้ ก็ขอให้นึกถึงกรรม ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของตัว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็จะเป็นเหตุให้วางตนเป็นกลางได้ ทำให้เกิดปัสสัทธิ

๗. เว้นจากบุคคลที่เป็นพาล ผู้มีกาย วาจา ใจ ไม่สงบ ถ้าว่าเราไปคบคนประเภทนี้ นอกจากจะทำให้ไม่เกิดปัสสัทธิแล้ว ยังเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนด้วย

๘. พยายามคบหาแต่บุคคลผู้มีจิตและกายคือเจตสิกอันสงบระงับ

๙. น้อมใจไปในองค์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน ก้ม เงย คู้ เหยียด เหลียวซ้ายแลขวา สรงน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา นุ่งห่ม ดื่ม ฉัน เป็นต้น พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัสสัทธิเกิดขึ้น

สรุปแล้วว่า ปัสสัทธิ เป็นองค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้คือความสงบ หมายความว่า ผู้ที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ต้องมีความสงบจิตและเจตสิกเสียก่อน สมาธิจึงจะเกิด เมื่อสมาธิเกิดจึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้วจึงจะเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพยายามทำปัสสัทธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานโดยวิธีที่ได้บรรยายไปแล้วข้างต้น

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็คิดว่าเป็นเวลาสมควรแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 กุมภาพันธ์ 2561 09:31:58

(https://scontent-fbkk5-7.us-fbcdn.net/v1/t.1-48/1426l78O9684I4108ZPH0J4S8_842023153_K1DlXQOI5DHP/dskvvc.qpjhg.xmwo/w/data/898/898814-img.rcw7od.4.jpg)

สมาธิสัมโพชฌงค์

วันนี้ จะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

สมาธิสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือสมาธิ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรม นอกจากจะอาศัยธรรมะอย่างอื่นเป็นเครื่องประกอบแล้ว ยังต้องอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน เป็นเครื่องรองรับ จึงจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เพราะว่าสมาธินั้นเป็นองค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ คือถ้าไม่มีสมาธิแล้ว ปัญญาก็ไม่เกิด สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ก็จะไม่เกิด

เพราะว่า สมาบัติจะเกิดได้ก็ต้องมีจิตเป็นอัปปนาสมาธิ ทีนี้ อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานชวนะวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป แต่ถ้าหากว่าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับแห่งมัคควิถีวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอริยมรรคอริยผล เหตุนี้ สมาธินี้จึงเป็นองค์สำคัญแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมซึ่งเราจะขาดเสียมิได้อีกประการหนึ่ง

คำว่า สมาธิ นั้น แปลและหมายความได้ดังนี้ คือ

๑. สมาธิ แปลว่า ทรงจิตไว้ชอบ หมายความว่า ทรงจิตไว้ รักษาจิตไว้ ให้อยู่กับอารมณ์คือรูปนาม ไม่ให้เผลอ เช่น ในเวลาเดินจงกรม ให้จิตของเราอยู่กับอาการขวาย่างซ้ายย่าง ในเวลานั่ง ให้จิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ เป็นต้น

๒. สมาธิ แปลว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หมายความว่า ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ

๑) บัญญัติอารมณ์ ได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์สมถกัมมัฏฐาน ผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกัมมัฏฐานนั้นๆ ตามอัธยาศัย เช่น เราเพ่งดิน ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือดินนั้น แล้วก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ เป็นต้น

๒) ปรมัตถ์อารมณ์ ได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ เป็นต้น ย่อให้สั้นคือรูปกับนาม ย่อลงมาในเวลาปฏิบัติ ได้แก่ อาการพองอาการยุบ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาเอารูปนามเป็นอารมณ์ ก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์คือรูปนาม

๓. สมาธิ แปลว่า กำลัง เช่น ในหมวดพละ ๕ ท่านวางหลักไว้ว่า สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ หมายความว่า สมาธิเป็นกำลังทำให้ใจกล้าหาญในเวลาปฏิบัติธรรม เพื่อกำจัดกิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น

๔. สมาธิ แปลว่า ธรรมจักร หมายความว่า ล้อ คือพระธรรมสำหรับนำบุคคลไปสู่พรหมโลกและพระนิพพาน ดุจเครื่องจักรเครื่องยนต์ของเครื่องบิน เรือไฟ รถยนต์ รถไฟ สำหรับนำคนไปสู่ที่ตนปรารถนา เช่น ไปสู่ชนบท ตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ ตลอดจนไปสู่เมืองนอก ไปรอบโลก ฉันใด สมาธิก็ฉันนั้น เป็นบาทของวิปัสสนา สำหรับนำพาผู้ปฏิบัติให้รีบลัดตัดตรงไปสู่พระนิพพาน

๕. สมาธิ แปลว่า องค์แห่งปัญญา หมายความว่า ธรรมคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ถ้าขาดองค์ประกอบคือสมาธิเสีย ผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมวิเศษได้เป็นแน่นอน

๖. สมาธิ แปลว่า ยังจิตและเจตสิกให้ตั้งมั่น หมายความว่า จิตก็ดี เจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับจิตก็ดี จะตั้งอยู่ได้ต้องอาศัยสมาธิเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสมาธิมีหน้าที่ช่วยประคับประคองจิตและเจตสิกให้มั่นคง ดำรงอยู่ในรูปนาม มิให้เผลอ

สมาธิ นั้น มี ๓ อย่างก็มี มี ๔ อย่างก็มี สมาธิมี ๓ อย่าง คือ

๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วครู่ชั่วขณะ เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือ พุทโธๆ สติกับจิตจับอยู่ที่เท้าขวาเท้าซ้าย ไม่เผลอ เรียกว่าเกิดสมาธิขึ้นแล้ว สมาธิชนิดนี้จัดเป็นขณิกสมาธิ สมาธิอย่างนี้ใช้สำหรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เหมือนดังพวกเราทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ จึงจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๒. อุปจารสมาธิ สมาธิใกล้จะเป็นฌาน เฉียดฌานเข้าไป ทำให้ใจเกือบสงบแน่วแน่ไป สมาธิอย่างนี้ ผู้เจริญสมถะนั้นต้องการมาก เพราะว่าผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจะได้ฌาน ต้องอาศัยอุปจารสมาธินี้

๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิอันแน่วแน่ คือถึงความสงบเงียบ ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของฌานชวนวิถี ก็เป็นฌานเป็นสมาบัติไป ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมัคคจิตผลจิตติดต่อกัน ถ้าหากว่าเกิดในลำดับของผลวิถี ก็เป็นผลสมาบัติตลอดไป

ส่วนสมาธิมี ๔ อย่างนั้น คือ

๑. ขณิกสมาธิ

๒. ปริกัมมสมาธิ (บริกรรมสมาธิ)

๓. อุปจารสมาธิ

๔. อัปปนาสมาธิ
 

บริกรรมสมาธิ นั้น เช่น ภาวนาหรือบริกรรมกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมีดินเป็นต้น ก็บริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ ดังนี้เป็นต้น สมาธิที่เกิดขึ้นเพราะบริกรรมอย่างนี้ เรียกว่า บริกรรมสมาธิ

สมาธิ นั้น โดยองค์ธรรม ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก

สมาธิ มีลักษณะดังนี้ คือ

๑. อวิกฺเขปนลกฺขณา มีความไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ อธิบายว่า ฟุ้ง คือจิตหนีไปจับอารมณ์ข้างนอก ซ่าน คือจิตของเราจับอารมณ์หลายๆอย่าง ไม่ยอมหยุดอยู่หรือนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว

อุปมาเหมือนกันกับฝุ่นในเวลารถวิ่ง ฟุ้งขึ้นไปแรงๆ ฟุ้งขึ้นไปตรงๆ แล้วแผ่ซ่านปลิวกระจัดกระจายไป ดังนั้นท่านจึงไขข้อความต่อไปว่า

๒. อวิสารลกฺขณา สมาธิมีความไม่กระจัดกระจายเป็นลักษณะ คือถ้ามีสมาธิแล้ว ความฟุ้งซ่านก็ไม่มี ความกระจัดกระจายก็ไม่มี ทั้งนี้เพราะอำนาจของสมาธิ

๓. สหชาตานํ สมฺปิณฺฑนรสา สมาธิมีการประมวลมาซึ่งสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันเป็นกิจ อนึ่ง ในเวลาบำเพ็ญมหากุศลนั้น ย่อมมีเจตสิกเกิดขึ้นประกอบหลายดวง เจตสิกเหล่านั้นย่อมรวมกันเป็นประหนึ่งว่าเป็นอันเดียวกัน คือสมาธิแน่วแน่ได้ดี

๔. อุปสมาปจฺจุปฏฺฐานา สมาธิมีความสงบระงับเป็นผลปรากฏ หมายความว่า จิต เจตสิกสงบดี ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับกระส่าย ไม่กระวนกระวาย มีความสงบเงียบอยู่กับอารมณ์มีรูปนาม เป็นต้น

๕. สุขปทฏฺฐานา มีความสุขเป็นเหตุใกล้ชิด หมายความว่า สมาธิจะเกิดได้ต้องมีความสุขกายสบายใจก่อน คือเมื่อร่างกายเป็นสุขสบายดีแล้ว สมาธิเกิดได้ง่ายเกิดได้เร็ว

สมาธินั้นจะเกิดได้ต้องอาศัยเหตุ ๑๓ ประการ คือ

๑. โยนิโสมนสิกาโร การพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลานั่ง ให้สติกับจิตจับอยู่ที่อาการพองอาการยุบ เริ่มตั้งแต่ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ ไม่ให้เผลอ เรียกว่าทำให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม

๒. พหุลีกาโร ทำให้มากๆ คือทำให้บ่อยๆ ทำซ้ำๆซากๆ ทำกลับไปกลับมาอยู่เสมอ

๓. วตฺถุวิสทกิริยตา ทำวัตถุภายนอกให้สะอาด เช่น ปัดกวาดที่อยู่ ฟอกผ้านุ่งผ้าห่มให้สะอาด และทำวัตถุภายในให้สะอาด เช่น อาบน้ำ ฟอกสบู่ ชำระล้างเหงื่อไคลให้หมดจดสะอาดก่อนแล้วจึงทำกัมมัฏฐาน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็จะได้สมาธิเร็ว

๔. อินฺทริยสมตฺตปฏิปาทนา ปรับปรุงอินทรีย์ ๕ ให้เท่ากัน ให้สม่ำเสมอกัน คือให้ศรัทธากับปัญญาเท่าๆกัน วิริยะกับสมาธิเท่าๆกัน ส่วนสตินั้นให้อยู่กลางๆ ดุจนายสารถีควบม้าคู่ฉะนั้น

๕. นิมิตฺตกุสลตา ฉลาดในการแก้นิมิต คือเวลานั่งไปเกิดนิมิตต่างๆขึ้น บางครั้งเห็นพระพุทธรูป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นมนุษย์ชายหญิง ตลอดถึงเห็นภูตผีปีศาจ เห็นแสงสว่าง เหล่านี้เป็นต้น เราต้องรีบกำหนดทันทีว่า เห็นหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง จนกว่านิมิตนั้นๆจะหายไป

ถ้าหายไปช้า พึงรู้เถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ยังอ่อนอยู่ ควรลุกขึ้นไปเดินจงกรมใหม่อีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งกำหนดต่อไป สมาธิของเราจะดีขึ้น ญาณก็จะดีขึ้นโดยลำดับๆ

๖. สมเย จิตฺตสฺส ปคฺคณฺหนตา ยกจิตขึ้นในสมัยที่ควรยก เช่น สมัยใดจิตหดหู่ท้อถอยเพราะความเพียรหย่อนเกินไป สมัยนั้น ควรยกจิตขึ้นโดยยังธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น

๗. สมเย จิตฺตสฺส นิคฺคณฺหนตา ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม คือในสมัยใดจิตของเราฟุ้งซ่านมาก คิดมาก เพราะมีความเพียรเกินไป สมัยนั้นต้องข่มจิตไว้ โดยยังปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น โดยกำหนดบทพระกัมมัฏฐานให้สั้นๆ ลงไป เหลือแต่อาการพองอาการยุบ หรือยังไม่หายฟุ้งซ่านก็ให้กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ร่ำไป ก็จะทำให้สมาธิดีขึ้น

๘. สมเย สมปหํสนตา สมัยใด จิตของเราหมดความแช่มชื่นยินดี หมดความเพลิดเพลิน เพราะปัญญาน้อย หรือเพราะไม่ได้ความสุขอันเกิดจากความสงบ หรือไม่ได้ผลสมกับความตั้งใจ สมัยนั้น พึงยังจิตของเราให้สลดสังเวช โดยพิจารณาสังเวควัตถุ คือวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งความสลดสังเวชใจ ๘ ประการ คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ พยาธิ ๑ มรณะ ๑ ทุกข์ในอบายภูมิ ๑ วัฏฏมูลกทุกข์ คือทุกข์มีวัฏฏะเป็นมูลในอดีต ๑ ทุกข์มีอดีตเป็นมูลในอนาคต ๑ ทุกข์มีการแสวงหาอาหารเป็นมูลในปัจจุบัน ๑ ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการนี้ ก็จะทำให้จิตของเราเกิดสลดสังเวชขึ้นมา และจิตก็จะอาจหาญในการทำกัมมัฏฐานต่อไป

อนึ่ง แม้การยังความเลื่อมใสให้เกิดขึ้นโดยอนุสรณ์ย้อนระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ดี หรือระลึกถึงคุณงามความดีบารมีธรรมที่ตนได้สั่งสมอบรมมาก็ดี ก็จะสามารถยังจิตของเราให้ร่าเริงขึ้น มีอุตสาหะพยายามในการเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป

๙. สมเย อชฺฌุเปกฺขนตา วางเฉยในสมัยที่ควรวางเฉย คือ ในสมัยใด จิตอาศัยสัมมาทิฏฐิ ไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่าน แช่มชื่น เป็นไปสม่ำเสมอ ดำเนินไปสู่ทางแห่งความสงบ สมัยนั้น โยคีบุคคลไม่ต้องขวนขวายพยายามในการยกจิต ข่มจิต หรือยังจิตให้ร่าเริง เปรียบเหมือนนายสารถีวางเฉยในม้าคู่ที่วิ่งไปอย่างสม่ำเสมอบนถนนเรียบฉะนั้น เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ สมาธิก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว

๑๐. อสมาหิตปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น คือเว้นให้ห่างไกลจากบุคคลผู้มีจิตฟุ้งซ่านไม่ปฏิบัติให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

๑๑. สมาหิตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ

๑๒. ฌานวิโมกฺขปจฺจเวกฺขณตา พิจารณาฌานและวิโมกข์

ฌาน นั้นมี ๒ อย่าง คือ

๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น เป็นอารมณ์ จนเกิดอัปปนาสมาธิเกิดฌานขึ้นมา ด้วยวิธีเจริญกัมมัฏฐานอย่างนี้ ฌานนั้นเรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

๒) ลักขณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งรูปนามจนเห็นพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เหมือนกันกับพวกเราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานโดยเพ่งอาการพองอาการยุบ เพ่งเวทนา เพ่งจิต เพ่งธรรมเป็นอารมณ์ เกิดอัปปนาสมาธิ สำเร็จฌานขึ้นมา ฌานเช่นนี้เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ส่วน วิโมกข์ นั้นมี ๓ อย่างคือ

๑) อนิมิตตวิโมกข์

๒) อัปปณิหิตวิโมกข์

๓) สุญญตวิโมกข์

วิโมกข์ทั้ง ๓ อย่างนี้ ได้ชื่อต่างๆกันเพราะอำนาจพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะได้บรรลุวิโมกข์ คือ

๑) ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงอนุโลมญาณแล้วอนิจจังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข์ หรือ อนิมิตตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้

๒) ถ้าทุกขังปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ หรือ อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาความโกรธความหลงเป็นที่ตั้งมิได้

๓) ถ้าอนัตตาปรากฏชัด วิโมกข์ของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์ หรือ สุญญตนิพพาน แปลว่า พ้นแล้วหรือดับแล้วโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากโลภะ โทสะ โมหะ นั่นเอง

๑๓. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปตามอารมณ์นั้นๆ คือตั้งใจกำหนดไปตามกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เป็นต้น ก็จะสามารถทำจิตของเราให้เป็นสมาธิเร็ว

เหตุทั้ง ๑๓ ข้อดังกล่าวมาแล้วนี้ เป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้นได้โดยง่ายอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง เมื่อจะกล่าวโดยย่อแล้วก็ได้แก่การกำหนดท้องพองท้องยุบนั่นเอง ถ้าท่านผู้ใดใช้สติกำหนดท้องพองท้องยุบแล้ว ท่านผู้นั้นชื่อว่ากำหนดถูกหมดทั้ง ๑๓ ข้อ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจงพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดอาการพองอาการยุบติดต่อกันไปเถิด ไม่ช้าไม่นานญาณก็จะเกิดขึ้นโดยลำดับ ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญแก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป จนสามารถให้ผู้นั้นรู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพานได้อย่างแน่นอน

สมาธิ นั้น ถ้ายังไม่เกิดเราก็ต้องทำให้เกิด ถ้าเกิดแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี เพราะว่าสมาธิมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น

๑. ทำใจของเราให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ

๒. ทำให้ญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง เจริญขึ้น

๓. ทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ เราต้องต่อสู้อุปสรรคนานัปการที่จะเกิดขึ้น ไหนจะต้องต่อสู้กับความเมื่อยปวด ไหนจะต้องต่อสู้กับความเบื่อหน่าย ขี้เกียจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความกลุ้มใจ ไหนจะต้องต่อสู้กับความคิดฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์นานาประการ คือจะต้องมีอารมณ์ที่ไม่พอใจอยู่หลายสิ่งหลายประการเกิดขึ้นดังนี้

หากว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ใจไม่เข้มแข็งแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย แต่ถ้าท่านผู้ใดผู้มีความรักใคร่ ความประสงค์ ความปรารถนา ความมุ่งมั่นหวังที่จะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้ ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆที่เกิดขึ้น โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตายก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมเลิกละการประพฤติปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าจะตายในวินาทีนี้ นาทีนี้ ชั่วโมงนี้ หรือวันนี้ เราก็ยอมตาย ไม่ยอมพ่ายแพ้อุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จะฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น จนสามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เหมือนภิกษุใจเพชร

มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า มีพระภิกษุจำนวน ๓๐ รูป เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดา แล้วยกพวกออกป่าเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อไปถึงป่าแล้วก็ตั้งกติกาสัญญากันว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนพระกัมมัฏฐานมาจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด จงอุตสาหะพยายามตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อย่าพูดอย่าคุยกัน จงอยู่แห่งละรูป ๑๕ วันเรามาพบกันที่นี้ครั้งหนึ่งเพื่อลงอุโบสถ

เมื่อตั้งกติกาสัญญากันแล้ว ต่างรูปก็หลีกกันไปอยู่ที่อันเป็นสัปปายะเฉพาะตนๆ พยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปโดยไม่ประมาท แต่บังเอิญในป่านั้นมีเจ้าป่าคือเสือใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง ในเวลาเช้าๆ เมื่อพระภิกษุทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรม มาตลอดคืน จวนสว่างก็เอนกายลงนอนเพื่อเป็นการพักผ่อน

ในขณะที่พระภิกษุกำลังหลับไปด้วยความเพลียนั้น เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามา จับเอาพระภิกษุเหล่านั้นไปกินวันละรูปๆทุกวัน แต่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะได้ปริปากร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายก็หามิได้ เพราะเหตุไร เพราะว่ารักษาสัจจะที่ได้ให้แก่กันไว้แล้ว ดังนั้นจึงถูกเสือคาบไปกินวันละรูป

เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พวกภิกษุที่เหลืออยู่ก็รวมกัน ณ ที่นัดหมายเพื่อจะลงอุโบสถ แต่เมื่อมาถึงแล้วเห็นมีเพียง ๑๕ รูปเท่านั้น ถามรูปไหนๆก็ไม่รู้ว่าอีก ๑๕ รูปนั้นหายไปไหน รูปที่เป็นเถระในสงฆ์จึงพูดขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเหตุให้ผมเกิดความสงสัยยิ่งนัก ชะรอยในป่าใหญ่แห่งนี้จะมีอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่พวกเราเป็นแน่แท้ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่ามีอันตรายใดๆเกิดขึ้นแก่พวกเรา ขอจงให้ร้องบอกกันเพื่อจะได้ช่วยเหลือ เมื่อปรึกษาหารือกันแล้วก็ลงอุโบสถ

หลังจากเสร็จการลงอุโบสถแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไปเพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และในวันนั้นเอง เวลาจวนสว่าง พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาตลอดเกือบทั้งคืนจึงได้เอนกายลงเพื่อพักผ่อน ในขณะนั้นเอง เสือใหญ่ตัวนั้นก็ย่องเข้ามาคาบเอาพระภิกษุรูปนั้นไปเพื่อเป็นอาหาร ขณะที่ท่านรู้สึกตัวขึ้นมาก็อยู่ในปากเสือแล้ว จึงได้ร้องบอกเพื่อนสหธรรมิกว่า ท่านทั้งหลายช่วยผมด้วย เสือจะคาบผมไปกินเสียแล้ว

พอพระสงฆ์ทั้งหลายได้ยินเช่นนั้น บางองค์ก็ได้คบเพลิง บางองค์ก็ได้ท่อนไม้ได้ก้อนดินวิ่งไล่เสือไป แต่แทนที่เสือตัวนั้นจะได้วางภิกษุรูปนั้นลงกลับคาบแน่นกว่าเก่า แล้วก็วิ่งไปตามลำดับๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้ติดตามไปไม่ลดละ จนไปถึงเชิงเขาก็ไม่สามารถตามขึ้นไปบนภูเขาได้ หมดความสามารถที่จะช่วยได้ และขณะนั้น เสือที่คาบภิกษุไปถึงยอดเขาแล้วก็ได้วางภิกษุไว้บนเนินหิน

พวกภิกษุที่อยู่เชิงเขาจึงร้องบอกขึ้นไปว่า ท่านขอรับ ขอท่านอย่าได้น้อยใจ อย่าได้เสียใจว่า พวกผมทั้งหลายไม่ช่วยเหลือ พวกผมทั้งหลายตามมาช่วยเหลือจนหมดความสามารถแล้ว บัดนี้ไม่สามารถตามไปช่วยได้ เหตุนั้นขอให้ท่านคิดว่า พวกเราทั้งหลายได้เรียนกัมมัฏฐานจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอท่านจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด พระภิกษุรูปที่ถูกเสือคาบไปกินก็ได้สติขึ้นมา จึงยึดเอาพระกัมมัฏฐานในส่วนเวทนานุปัสสนานั้นเป็นอารมณ์

และในขณะนั้นเสือก็เริ่มกัดกินนิ้วเท้าของท่านเข้าไปๆ ท่านก็ตั้งใจใช้ความอดทนอย่างแรงกล้าเจริญพระกัมมัฏฐานกำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆ ปวดหนอๆ กำหนดไปๆ วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑, ๒, ๓, ๔ เป็นต้นไป จนครบญาณทั้ง ๑๖ ก็พอดีกันกับเสือกัดกินท่านถึงข้อเท้าก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็ยังไม่ลดละความพยายาม เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก และเสือก็กัดกินท่านไปตามลำดับ ท่านก็กำหนดว่า เจ็บหนอๆ ทุกข์หนอๆไป วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆต่อไปอีก ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ พอดีเสือกัดกินไปถึงหัวเข่าของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังไม่ลดละความพยายาม เป็นผู้มีความอดทนอย่างแรงกล้า มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ตามลำดับไปจนถึงญาณที่ ๑๑ พอดีเสือกัดกินถึงเนื้อสะดือของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

แต่พระภิกษุใจสิงห์ใจเพชรอย่างท่านจะได้ด่วนมรณภาพในขณะนั้นก็หามิได้ ท่านยังเป็นผู้มีอธิวาสนขันติ ความอดกลั้นชนิดแรงกล้า ใช้สติสัมปชัญญะอุตสาหะพยายามเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างไม่ลดละ ถึงตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทิ้งบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเกิดขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ ไป

พอดีเสือกำลังจะกัดกินเนื้อหัวใจของท่านเท่านั้น ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วท่านจึงได้พิจารณาศีลของท่านว่า

เรานี้เป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย แต่เพราะเราประมาทไปนิดหนึ่งเท่านั้นจึงถูกเสือคาบมากิน แต่ช่างเถิด เรื่องนั้นแล้วก็แล้วไป แต่บัดนี้ บังเอิญเราได้พระกัมมัฏฐานในส่วนทุกขเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ จนสามารถยึดเอาพระอรหัตต์ไว้ได้ เมื่อท่านสรรเสริญคุณของพระอรหันต์อยู่ไปมา ท่านก็ปรินิพพาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ของเราที่ได้รับอยู่ในขณะนี้ ถึงจะมีร้อยเท่าพันเท่า หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าส่วนหนึ่งของพระภิกษุใจเพชรรูปนั้น เพราะฉะนั้น พวกเราทั้งหลายที่ได้อุตสาหะพยายามละฆราวาสสมบัติ ละวัดวาอารามมาสู่สถานที่นี้ ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหาน เพื่อยกฐานะของตนให้สูงขึ้น เพื่อต้องการที่จะนำตนไปสู่สุคติ มนุษย์ สวรรค์ พรหม พระนิพพาน ก็ขอให้เป็นผู้ไม่ประมาทเถิด

ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายนี้ ถึงแม้เรามุ่งหวังที่จะเอาบรรลุมรรค ผล นิพพาน มุ่งหวังที่จะเอาโลกุตตรสมบัติมาเป็นของเราให้ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ย่อมมีอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

ส่วนวันนี้ จะนำอุปสรรคคือสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติมาแสดงแก่ท่านทั้งหลาย ๑๗ ประการ ให้ได้ทราบดังนี้

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือ ห่วงวัดห่วงวา ห่วงสถานที่อยู่ของตน ก็เป็นสิ่งขัดขวางการปฏิบัติของเราเหมือนกัน

๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัพย์สมบัติ

๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน

๕. โรคปลิโพธ ห่วงโรค คือหมายความว่า เกรงว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วย โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่จะกำเริบ หรือว่าเจริญพระกัมมัฏฐานไป กลัวว่าจะล้มหายตายไป ชีวิตจะสิ้นไป

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล

๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ

๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติ คือบางทีทำกัมมัฏฐานไปก็นึกถึงญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ผู้มีความสนิทสนมรักใคร่ อยากให้ท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติ

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์

๑๑. กัมมารามตา เวลาทำงานไม่มีสติ เช่น เวลานุ่งห่ม กวาดวิหารลานเจดีย์ ทำไปโดยไม่มีสติกำหนดให้ติดต่อกันไป

๑๒. นิททารามตา มัวนอน

๑๓. ภัสสารามตา มัวพูดคุยกับหมู่คณะ

๑๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๑๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส รู้ธรรมารมณ์ ก็ปล่อยให้เกิดชอบใจ ไม่ชอบใจ ดีใจ เสียใจ ก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติ

๑๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในการฉันอาหาร

๑๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิต คือจิตของเรามีราคะ โทสะ โมหะ ก็ไม่รู้ว่ามีราคะ โทสะโมหะ เป็นต้น

ทั้ง ๑๗ ประการดังกล่าวมา เป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติไม่ให้ได้ผลตามที่เราต้องการ ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายพึงกำจัดเสีย เมื่อใดกำจัดได้แล้ว ก็จะปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สมาธิสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 10:38:54
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcS9qs-z2M5Sp7QwqXLi9voqSpo6nNJkWT_NQxOKp7WiYFZWLztC)

อุเปกขาสัมโพชฌงค์

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

อุเปกขาสัมโพชฌงค์ แปลว่า องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คืออุเบกขา หมายความว่า การที่เราทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ อุเปกขาสัมโพชฌงค์

หากว่าธรรมอย่างอื่นสมบูรณ์หมดทุกข้อ แต่เราขาดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็ไม่สามารถจะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย เหตุนั้น อุเปกขาสัมโพชฌงค์ จึงเป็นองค์สำคัญในการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย หมายความว่า วางเฉยในรูปนาม โดยลักษณะ ๖ ประการ คือ

๑. ละความกลัว ละความยินดี มีใจเฉยอยู่กับรูปนาม

๒. ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ วางเฉยอยู่กับรูปนาม แต่มีสติมีสัมปชัญญะอยู่

๓. มีใจแน่วแน่อยู่กับการพิจารณารูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

๔. มีใจเป็นสมาธิแน่วแน่ได้นานๆ

๕. ยิ่งกำหนดรูปนามเท่าไหร่ ยิ่งละเอียดสุขุม ดุจคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด ฉะนั้น

๖. มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปทางอื่น อยู่กับรูปนาม อยู่กับพระไตรลักษณ์มากที่สุด

อุเบกขานั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑. ฉฬงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของพระอรหันต์ คือความวางเฉยต่ออารมณ์ทั้ง ๖ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย เมื่อกระทบกับอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่ายินดี และอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา

๒. พฺรหฺมวิหารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในพรหมวิหาร คือ การกระทำความเฉยๆในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสุข และทั้งที่เป็นทุกข์

๓. โพชฺฌงฺคุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในโพชฌงค์ คือความวางเฉยแต่สหชาตธรรมที่เกิดพร้อมกันในเวลาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้แก่ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม พระไตรลักษณ์

๔. วิริยุเปกฺขา ได้แก่ ความวางเฉยของวิริยะ คือความเพียรที่พอดีๆ ความเพียรอย่างกลางๆ ในการปฏิบัติธรรม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรอย่างกลางในมรรคมีองค์ ๘

๕. สงฺขารุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำจิตให้เฉยๆต่อรูปนาม ภายหลังที่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ เกิดแล้ว ต่อนั้นก็เป็นสังขารุเปกขาญาณ

๖. เวทนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาในเวทนา ๓ หรือเวทนา ๕ คือ ทุกขเวทนา สุขเวทนา อุเบกขาเวทนา โทมนัสสเวทนา โสมนัสสเวทนา คือวางเฉยต่ออารมณ์ที่ตนเสวยอยู่

๗. วิปสฺสนูเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของวิปัสสนา คือความวางเฉยต่อวิปัสสนูปกิเลส หมายความว่า เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเข้าเขตญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ แล้วเข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างอ่อน

มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น ๑๐ อย่าง ได้แก่ โอภาส แสงสว่าง ๑ ปีติ ความอิ่มใจ ๑ ปัสสัทธิ ความสงบ ๑ สุข ความสบาย ๑ อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ ๑ ปัคคาหะ ความเพียร ๑ อุปัฏฐานะ สติปรากฎชัด ๑ ญาณะ ความรู้ ๑ อุเปกขา ความวางเฉย ๑ นิกันติ ความใคร่ ๑ รวม ๑๐ อย่างนี้ วิปัสสนูปกิเลสอย่างที่ ๙ คือวิปัสสนูเปกขาในที่นี้

๘. ตตฺรมชฺฌตฺตุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก คือความทำจิตและเจตสิกให้สม่ำเสมอกันในกิจของตน ไม่มีการยิ่งหย่อน เช่น ทำอินทรีย์ ๕ ให้สม่ำเสมอกันเป็นต้น

๙. ฌานุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของท่านผู้ปฏิบัติธรรมที่ได้จตุตถฌาน คือความวางเฉยในสุข ไม่ยินดียินร้ายต่อสุข คำว่า สุข ในที่นี้ได้แก่ สุขเอกัคคตาของจตุตถฌาน

๑๐. ปริสุทฺธุเปกฺขา ได้แก่ อุเบกขาของปัญจมฌานลาภีบุคคล ทำความวางเฉยต่อความสุขของฌาน อุเบกขาดวงนี้ได้ในจิตที่เป็นปัญจมฌานเท่านั้น

อุเบกขานั้น มีลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐาน ดังนี้

จิตฺตเจตสิกานํ สมวาหิตลกฺขณา อุเบกขามีการทรงจิตเจตสิกไว้ให้เสมอภาคกัน คือทำให้จิตเจตสิกวางเฉยอยู่กับรูปนามเป็นลักษณะ

อูนาธิกตานิวารณรสา มีการห้ามความหย่อนและยิ่งของจิตและเจตสิกเป็นรส

มชฺฌตฺตปจฺจุปฏฺฐานา มีความวางเฉยของจิตและเจตสิกเป็นผลปรากฏ ดุจนายสารถีวางเฉยต่อม้าอาชาไนยที่วิ่งไปอย่างเรียบๆ ฉะนั้น

สมฺปยุตฺตปทฏฺฐานา มีสัมปยุตตธรรมที่ประกอบกันเป็นเหตุใกล้ชิด

เหตุให้เกิดอุเปกขาสัมโพชฌงค์ มีอยู่ ๗ ประการ คือ

๑. โยนิโสมนสิกาโร ทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือให้ถึงที่เกิดที่ดับของรูปนาม เช่น เวลาเดินจงกรม ให้กำหนดรู้ตั้งแต่เริ่มยก จนกระทั่งเหยียบลง เพียรมีสติสัมปชัญญะ รู้ทุกขณะ

๒. พหุลีกาโร พยายามทำให้มากๆ อย่าขี้เกียจ อย่าประมาท อย่าเล่น อย่าคุยกัน อย่าอ่านหนังสือดูหนังสือ ตั้งอกตั้งใจทำอย่างจริงๆ ทำอย่างเต็มที่ จนสุดความสามารถของตน

๓. สตฺตมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสัตว์โดยอาการ ๒ อย่างคือ

๑) กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาซึ่งความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตนอย่างนี้ว่า ท่านมาเพราะกรรมของท่าน และก็จะไปเพราะกรรมของท่านนั่นเอง แม้ผู้นี้เขาก็มาเพราะกรรมของเขา และก็จะไปเพราะกรรมของเขา จะมัวห่วงใยใคร

๒) นิสฺสตฺตปจฺจเวกฺขเณน พิจารณาโดยความไม่ใช่สัตว์บุคคลอย่างนี้ว่า ร่างกายนี้ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมัวห่วงใยใคร

๔. สงฺขารมชฺฌตฺตตา วางตนเป็นกลางในสังขารโดยอาการ ๒ อย่าง คือ

๑) อสฺสามิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาโดยความเป็นของไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้ จักเข้าถึงความมีสีเปลี่ยนแปลง และเข้าถึงความเป็นของเก่าโดยลำดับ ต่อไปจะเป็นผ้าเช็ดเท้า เป็นของที่บุคคลต้องเอาปลายเท้าเขี่ยทิ้งแน่นอน ก็ถ้าเจ้าของมีอยู่จริง ก็จะไม่พึงปล่อยให้ฉิบหายดังนี้

๒) ตาวกาลิกภาวปจฺจเวกฺขเณน ด้วยการพิจารณาถึงความเป็นของเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราวเป็นไปชั่วขณะอย่างนี้ว่า เครื่องนุ่งห่มนี้เป็นของที่ไม่ยั่งยืน เป็นไปชั่วขณะ เป็นไปชั่วกาล เป็นไปชั่วครู่ เหมือนของยืมมาชั่วคราวฉะนั้น ในบริขารอื่นๆ มีบาตรเป็นต้น ก็ให้พิจารณาโดยทำนองเดียวกันนี้

๕. สตฺตสงฺขารเกลายนปุคฺคลปริวชฺชนตา เว้นจากบุคคลผู้ถือมั่นอุปาทานต่อสัตว์และสังขาร คือผู้ใด จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมยึดปิยชนมีบุตรธิดาเป็นต้น หรือศิษย์ของตนว่าเป็นของตนจริงๆ หรือบรรพชิตย่อมยึดเอาอันเตวาสิกและผู้ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้น ว่าเป็นของตนจริงๆ ย่อมทำการงานต่างๆ ของชนเหล่านั้น มีการโกนผม เย็บผ้า ซักจีวร เป็นต้น ด้วยมือของตนแทบทุกอย่าง

เมื่อไม่เห็นสักครู่หนึ่งก็คิดว่า สามเณรองค์โน้นไปไหนหนอ ภิกษุรูปนั้นไปไหนหนอ แล้วแลดูข้างโน้นข้างนี้ เหมือนเนื้อตระหนกตกใจหนีศัตรูฉะนั้น ถึงแม้ผู้อื่นจะขอว่า ให้ท่านส่งสามเณรมาผมจะช่วยปลงผมให้ดังนี้ ก็ไม่ยอมให้เขาทำให้ พูดคัดค้านว่า ผมไม่ให้พวกท่านทำ พวกท่านจะลำบาก อันนี้เรียกว่า ผู้มีความเกาะเกี่ยวในสัตว์ มีอุปาทานยึดมั่นในสัตว์

ส่วนผู้ใดยึดถือเอาจีวร บาตร ถลกบาตร ไม้เท้า ตลอดถึงเครื่องนุ่งห่มเป็นต้นว่าเป็นของตนจริงๆ ใครๆจะมาขอยืมสักครู่ก็ไม่ได้ คอยห้ามไว้ว่า อันนี้ฉันเอาทรัพย์ของฉันซื้อมา ยังไม่ได้ทันใช้สอย จักให้ท่านเอาไปใช้ได้อย่างไร ผู้นี้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเกาะเกี่ยวในสังขาร มีอุปาทานยึดมั่นในสังขาร ให้เว้นจากบุคคลผู้มีความยึดมั่นในสัตว์และสังขารเห็นปานนั้นเสีย ให้ห่างไกล

๖. สตฺตสงฺขารมชฺฌตฺตปุคฺคลเสวนตา คบหาสมาคมกับบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขารดังกล่าวมาแล้ว

๗. ตทธิมุตฺตตา น้อมใจไปในอิริยาบถทั้ง ๔ และทุกๆอารมณ์ที่ตนกำหนด เพื่อยังอุเปกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้น

เมื่อบุคคลประพฤติได้ตามนี้แล้ว อุเปกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งปัญญาที่จะให้รู้แจ้งแทงตลอดมรรค ผล นิพพาน ก็จะเกิดขึ้นตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตน

อุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดแล้วมีประโยชน์อย่างนี้คือ

๑. ทำใจให้วางเฉยต่อรูปนาม

๒. มีสติ มีสัมปชัญญะ มีสมาธิดี

๓. ตั้งใจมั่นอยู่กับรูปนามได้นานๆ

๔. ทุกขเวทนาไม่รบกวน นั่งสบายเพลิดเพลินจนลืมเวลาก็มี

๕. ไม่อิ่มไม่เบื่อต่อการประพฤติปฏิบัติ

๖. โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคความดันสูง โรคประสาท โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น พลันหายไป

๗. ศีล สมาธิ ปัญญา แก่กล้าขึ้นตามลำดับ

๘. สามารถขยับขยายไปสู่ขั้นสูงๆขึ้นโดยง่าย จนถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นปริโยสาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์ของอุเปกขาสัมโพชฌงค์ เมื่อใดอุเปกขาสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานสามารถที่จะยังญาณขั้นต่ำ ขั้นกลาง ขั้นสูง ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน แล้วก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้แล้ว

สรุปความสังเขปของโพชฌงค์แต่ละข้อตั้งแต่ได้บรรยายมาครั้งแรก คือได้เริ่มบรรยายตั้งแต่เรื่องสติสัมโพชฌงค์เป็นลำดับๆมาจนถึงวันนี้ ก็ครบทั้ง ๗ ข้อพอดี จึงขอสรุปเนื้อความโดยสังเขปในสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนั้น ดังนี้คือ

๑. สติสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น จิตมีสติระลึกได้อยู่ว่า ตนกำลังปฏิบัติอย่างไร เช่น กำลังกำหนดอาการพองอาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก กำหนดเวทนา ตลอดถึงอาการคิดเป็นต้น ก็ระลึกถึงวัตรของตนได้โดยไม่เผลอในขณะนั้น เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

๒. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือในขณะนั้น ปัญญาหรือวิจารณญาณก็ทำงานอยู่ หมายความว่า ได้ใช้ปัญญาวิจัยธรรมที่เกิดขึ้น มิใช่มัวคิดเพลินไปทางอื่นหรือไม่ได้กำหนดอะไรเลย เช่น เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน หรือกำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรมก็ดี เราก็รู้ว่าอาการพองอาการยุบเป็นต้นของเรานั้นมันเป็นอย่างไร มีความรู้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

๓. วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเพียรพยายามในการใช้ปัญญาพิจารณา ที่เรียกว่าวิปัสสนานั้น จิตไม่ซบเซาเกียจคร้าน ไม่ท้อแท้ มีแต่ความอิ่มใจในความเพียรทุกขณะ

๔. ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความเอิบอิ่มใจในการบำเพ็ญวิปัสสนา เป็นความอิ่มใจที่ไม่อิงอามิส ไม่ข้องเกี่ยวกับกามารมณ์ ไม่ข้องติดในลาภ ยศ สรรเสริญ หรืออิฏฐารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นความเอิบอิ่มแห่งจิตอันบริสุทธิ์แท้ๆ

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความสงบระงับที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและจิตใจ ไม่มีอาการกระวนกระวายด้วยอำนาจกิเลสตัณหาอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความตั้งมั่นแห่งจิต คือในขณะนั้น จิตหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว ไม่วอกแวก ไม่ดุกดิก ไม่หวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่าน หากมั่นอยู่ในวิปัสสนา คือตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ที่ตนกำหนด เช่น อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่ซัดส่ายไปถึงเรื่องอดีตอนาคต

๗. อุเปกขาสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ความวางเฉยของจิต ตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ไม่กระเดียดไปข้างอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าปรารถนา ไม่กระเดียดไปข้างอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา แต่มีความวางเฉย ดุจยานพาหนะที่แล่นไปบนทางอันราบเรียบได้ที่แล้ว สารถีวางเฉยในการควบคุมได้

จากโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็จะเห็นได้ว่า จิตจะเข้าสู่จุดตรัสรู้และการบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้นมีอาการเป็นอย่างไร จิตจะเข้าไปสู่จุดตรัสรู้และบรรลุมรรคผลนั้น แท้ที่จริงไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่นึกเดา ไม่ใช่คาดคะเน และไม่แฝงด้วยความทะเยอทะยานใดๆทั้งสิ้น

ตามที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายนำเอาสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้ไปเปรียบเทียบว่า นับตั้งแต่เราปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาถึงวันนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราเข้าในลักษณะของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการนี้หรือไม่ ถ้าเข้าลักษณะ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนาได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ขั้นปฐมมรรค

แต่ว่า ถ้ารูปใดพิสูจน์แล้วว่า การประพฤติปฏิบัติของเรามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์ของสัมโพชฌงค์ทั้ง ๗ ประการ ดังที่หลวงพ่อนำมาบรรยายให้ฟังนี้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจ ได้แก้ตัว เพราะว่าเวลายังมีพอสมควร เราพอมีโอกาสที่จะแก้ตัวได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้น อย่าได้ประมาท พยายามทำไปจนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งไว้

เอาละ ท่านผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อุเปกขาสัมโพชฌงค์ มาบรรยายโดยสังเขปกถานี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มีนาคม 2561 11:48:22

(https://www.guitarthai.com/picpost/gtpicpost/A3237968.jpg)

อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทุกท่าน สำหรับเมื่อวานนี้ ได้บรรยายธรรมะเรื่องอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วก็มีคำพูดค้างไว้ว่า การที่จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ นั้น ต้องปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ

เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้นำเรื่อง อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ มาบรรยายถวายความรู้ และเป็นเครื่องประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ในทางพระพุทธศาสนาของเรา พระบรมศาสดาทรงสอนทางดำเนินชีวิตไว้ ๘ ประการ คือ มรรค ๘ แปลว่า ทาง หมายถึง ทางปฏิบัติหรือทางดำเนินชีวิต

มรรค ๘ นี้ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แปลว่า ปฏิปทาอันยังผู้ปฏิบัติให้ถึงความพ้นทุกข์ หมายความว่า เป็นทางสายเดียวที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุถึงนิพพาน หรือบรรลุถึงนิโรธ อันเป็นความดับทุกข์อย่างสนิท พระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระนิพพานก็ด้วยทางสายนี้ พระอรหันต์ทั้งหลายก็ปฏิบัติตามทางสายนี้ จึงได้บรรลุถึงนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง หมายความว่า ทางปฏิบัติของบรรดาเจ้าลัทธิอื่นๆ เมื่อว่าโดยย่อแล้วมี ๒ แบบ คือ แบบกามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้มัวเมาอยู่ในกาม ๑ และ อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนให้ได้รับความลำบากเกินไป ๑

พวกแรกหย่อนยานเกินไป พวกหลังตึงเกินไป ส่วนมรรค ๘ นั้น เป็นข้อปฏิบัติพอเหมาะ ไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป จึงเรียกว่า ทางสายกลาง

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อัฎฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘ หมายความว่า เป็นข้อปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ คือการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราจะเลือกปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งนั้นไม่ได้ ต้องปฏิบัติรวมกันทั้ง ๘ ข้อ ควบคู่กันไปจึงจะเป็นเหตุให้ได้บรรลุถึงพระนิพพาน

อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า อริยมรรค แปลว่า ทางอันประเสริฐ ทางของพระอริยะ ทางไปสู่ความเป็นอริยชน คือข้อปฏิบัติทั้ง ๘ ข้อนี้ ผู้ใดปฏิบัติได้อย่างสมบูรณ์ จิตใจของผู้นั้นก็จะหมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เปลี่ยนสภาพจากปุถุชนคนกิเลสหนามาเป็นอริยชน คือคนประเสริฐ เช่น อย่างพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย

มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ประการ ดังที่ได้บรรยายไปแล้ว

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือดำริในการที่จะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสัตว์อื่นให้ได้รับความลำบาก ๑ ความดำริทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่ เว้นจากการพูดโกหก เราพูดแต่คำสัตย์คำจริง เว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกันแตกร้าวสามัคคีกัน เราพูดแต่ถ้อยคำที่สมานสามัคคีระหว่างหมู่คณะ ชักจูงให้หมู่คณะมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เว้นจากการพูดถ้อยคำที่หยาบช้า เป็นคำที่แช่งชักหักกระดูก ทำให้ผู้ฟังไม่พอใจ ทำให้ผู้ฟังเจ็บใจ เราพูดแต่วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชวนให้ดูดดื่มไว้ในจิตในใจของผู้ฟัง เราเว้นจากการพูดถ้อยคำที่หาสารประโยชน์มิได้ พูดแต่ถ้อยคำที่ประกอบไปด้วยประโยชน์

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ คือเว้นจากกายทุจริต ๓ คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เราตั้งอยู่ในเมตตาความรักใคร่ เอ็นดู ปรานีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราตั้งอยู่ในสัมมาชีพ เลี้ยงชีวิตให้ถูกตามกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา เราเป็นผู้ประกอบไปด้วยสทารสันโดษ ยินดีเฉพาะในสามีภรรยาของตนเท่านั้น

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากการเลี้ยงชีวิตที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง และศีลธรรมอันดีงาม

๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน ได้แก่ เพียรในสัมมัปปธานทั้ง ๔ คือ สังวรปธาน เพียรระวังบาป อันได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ปหานปธาน เพียรละบาปคือความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเรา

ภาวนาปธาน เพียรพยายามอบรมสั่งสม บุญกุศล เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นต้น ให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดานของตน อนุรักขนาปธาน เพียรรักษาคุณงามความดีที่ตนได้บำเพ็ญมาแล้วให้ดำรงอยู่ ให้คงอยู่ เพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรคผล พระนิพพาน ให้อยู่กับตัวของเรา

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ได้แก่ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาร่างกายของตนเองและบุคคลอื่น ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ให้เห็นว่ากายนี้ก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ให้เห็นกายในกาย จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นในร่างกายด้วยอุปาทานจิต

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเวทนา ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ทั้ง ๕ ประการนี้ว่า เวทนานี้ก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จนเกิดความเบื่อหน่ายเวทนา ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาเห็นจิตในจิตว่า จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น จนเกิดความเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือพิจารณาตามเห็นธรรม ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ที่บังเกิดกับใจ จนเกิดความเบื่อหน่ายในธรรมเหล่านั้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเนื้อหาสาระในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการโดยย่อ ถ้าจะบรรยายโดยพิสดารแล้วต้องบรรยายวันละข้อ อย่างน้อยก็ ๘ วันจึงจะจบ เพราะวิจิตรพิสดารกว้างขวางมาก จึงกล่าวโดยย่อ และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาสาระในด้านปริยัติ แต่ในด้านปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เวลามาประพฤติปฏิบัติ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ เราเอาละเอียดเข้าไป มีปัญหาอยู่ว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ทำงานอย่างไร ใครเป็นผู้ทำงาน และบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้อย่างไร เราต้องศึกษาให้เข้าใจ

คือการทำงานของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนั้น มรรคสัจเป็นผู้ทำงาน ทำอย่างนี้คือ นำเอาทุกขสัจ คือรูปนามขันธ์ ๕ มาเป็นทางเดิน เช่นที่เราทั้งหลายกำหนด อาการพอง อาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนาทั้งที่เป็นสุข ทั้งที่เป็นทุกข์ ทั้งที่ดีใจ ทั้งที่เสียใจ ทั้งที่เฉยๆ กำหนดจิตที่คิดโน้นคิดนี้อยู่ตลอดเวลา กำหนดธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจ นี้เรียกว่าเรากำหนดรูปนามขันธ์ ๕ มัคคสัจทั้ง ๘ นั้นเป็นผู้เดินทาง

พร้อมกันนั้น ก็จะละสมุทัยคือตัณหาไปด้วย ละได้สิ้นเชิงเมื่อไร ทุกข์ก็ดับไปหมด ชื่อว่านิโรธสัจ ยกตัวอย่างเช่น เราอ้าปากพูดนี้เป็นตัวทุกขสัจแล้ว สติรู้ทันคือเราได้กำหนดเป็นมรรคสัจ หมายความว่าก่อนจะพูดนั้น เรากำหนดเสียก่อนว่าอยากพูดหนอๆ การที่มีสติรู้ทันอย่างนี้ เรากำหนดเสียก่อนแล้วจึงพูดอย่างนี้เป็นมรรคสัจ

ทีนี้หากว่าเราไม่ได้กำหนด เราพูดไปตามธรรมชาติ พอดีอยากพูดก็พูดเลยทีเดียว ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นตัวสมุทัยสัจคือตัณหา ถ้าในขณะพูด เราตั้งสติกำหนด เว้นโมหะตัวเผลอ คือไม่เผลอไม่สะเพร่า ไม่หลงลืม เรามีสติระลึกรู้ทันเสียก่อนแล้วจึงพูด เป็นสัมมาวาจาพูดชอบ

เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทำการใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นมรรคสัจ แต่ถ้าว่าเราไม่มีสติกำหนด เวลาเดินก็เดินไปตามธรรมชาติ จะนั่ง จะยืน จะนอน คู้ก็ดี เหยียดก็ดี หรือว่าเคลื่อนไหวทำงานใดๆ ก็ดี เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โมหะตัวเผลอก็เกิดขึ้นมา พร้อมกันกับสมุทัยคือตัณหาก็เกิดขึ้น ก็เป็นตัวสมุทัยสัจ

เหตุนั้น ท่านกล่าวไว้ว่า จะยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี จะคู้ เหยียด เคลื่อนไหวใดๆ ก็ดี เรามีสติกำหนด ในขณะที่เรามีสติกำหนดอยู่นั้น โมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อโมหะตัวเผลอเกิดขึ้นไม่ได้ สมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จัดเป็นสัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบ

เมื่อขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้รส ขณะรู้สัมผัส ขณะนึกคิด ขณะบริโภคอาหาร ขณะนุ่งห่ม เป็นต้น เรามีสติรู้ทัน เป็นมรรคสัจ พร้อมกับละสมุทัย คือความอยากเห็น อยากได้ยิน อยากรู้กลิ่น อยากรู้รส อยากรู้สัมผัส อยากนึกคิด อยากบริโภคอาหาร อยากนุ่งห่ม เป็นต้น เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสัมมาอาชีวะ คือเป็นอยู่ชอบ หมายความว่า ถ้าเราไม่ได้กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหา แต่ถ้าเรามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะ มีสติรู้ทัน ก็เป็นสัมมาอาชีวะ เป็นอยู่ชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นี้จัดเป็นศีล เพราะเว้นโมหะ คือตัวเผลอ ตัวหลง เป็นต้น

สติรู้ทันทุกขณะนั้นเป็นสัมมาสติระลึกชอบ ถ้ารู้ไม่ทันเป็นสมุทัยคือตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ วิริยะความเพียร ตั้งสติรู้ทันบ่อยๆ เป็นสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายความว่า เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เรารู้ทันอยู่ทุกขณะ เป็นสัมมาวายามะเพียรชอบ ถ้ารู้ไม่ทัน คือเราไม่กำหนด ปล่อยไปตามธรรมชาติ ก็เป็นตัวสมุทัยคือตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

สมาธิมั่นคง ไม่เผอเรอ เป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ คือในขณะใดที่เรามีสติ กำหนดในขณะนั้น เรียกว่าเรามีสมาธิ คือสมาธิมันเกิดพร้อม สมาธิขั้นนี้เราเรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้กำหนดสมาธิก็ไม่เกิด เหตุนั้น ขณะใดที่เราได้กำหนด ก็แสดงว่าสมาธิของเรามีอยู่ ไม่เผอเรอ จัดเป็นสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ

องค์มรรคทั้ง ๓ นี้คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้จัดเป็นสมาธิ เพราะมีสติกำหนดระลึกรู้ทันไม่เผลอ

ปัญญาอันเห็นรูปนามเกิดดับนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ วิตกรู้พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจังไม่เที่ยงต้องดับไป ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ ทนได้ยากต้องดับไป อนัตตาไม่ใช่ตน ไม่มีอำนาจอันใดที่จะบังคับบัญชา บังคับไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วต้องดับไป การเห็นพระไตรลักษณ์ทั้ง ๓ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งติดอยู่กับรูปนามนั้นตลอดเวลา เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

ธรรมะด้านปริยัติกับด้านปฏิบัตินี้ไกลกัน สัมมาสังกัปปะในด้านปริยัติท่านอธิบายว่า เราดำริในการออกจากกาม ในการไม่พยาบาท ในการไม่เบียดเบียน เป็นสัมมาสังกัปปะดำริชอบ

แต่เมื่อมาถึงเวลาปฏิบัติแล้ว หมายเอาละเอียดกว่านั้น คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีสติรู้ทันในการกำหนดรูปนามอยู่ตลอดเวลา การกำหนดรูปนามของเราได้ปัจจุบันดี เมื่อกำหนดทันปัจจุบันดีแล้ว ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม เห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การเห็นรูปนามเป็นพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เป็นสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

องค์มรรคทั้ง ๒ คือ สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นปัญญา เพราะกำหนดทันปัจจุบันจนเห็นพระไตรลักษณ์ การเห็นรูปนามดับไปๆ กับพระไตรลักษณ์พร้อมๆ กันเช่นนั้น จนสิ้นอาสวะอันเป็นตัวสมุทัยเมื่อใด เมื่อนั้นทุกข์จะดับไปหมดไม่เหลือให้เห็นในขันธสันดาน เรียกว่านิโรธสัจย่อมสมบูรณ์แล้วแก่พระอริยเจ้าอย่างแน่นอน ในด้านปฏิบัติถือเอาเนื้อความเท่านั้น

ก็พอสรุปได้ว่า หากว่าเรามีสติ กำหนดทันปัจจุบัน เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่างก็ดี กำหนดอาการพองอาการยุบก็ดี กำหนดเวทนา จิต ธรรม ก็ดี เรามีสติกำหนดรู้ทันปัจจุบันธรรม ก็ชื่อว่ากำหนดถูกอริยมรรคทั้ง ๘ ประการ คือหากว่าเรามีสติรู้ทันขณะใด ขณะนั้น อริยมรรคทั้ง ๘ ประการ ก็เกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อใด อริยมรรค ๘ นี้สมบูรณ์เต็มที่แล้ว ก็แสดงว่ากำลังของวิปัสสนาญาณของเราแก่เต็มที่ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่เต็มที่ ก็จะเข้าสู่มัคควิถีทันที เมื่อเข้าสู่มัคควิถีในวินาทีใด วินาทีนั้นก็เป็นอันว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้น โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล จนถึงขึ้นอรหัตมรรค อรหัตผล

อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ในแง่การปฏิบัตินี้นิดเดียวเท่านั้น เหตุนั้นก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงใช้สติสัมปชัญญะ พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม อย่าขี้เกียจ อย่าเบื่อหน่าย อย่าท้อใจ ต่อสภาวธรรมที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้

เพราะสภาวธรรมของวิปัสสนา ไม่เหมือนกันกับสภาวะของสมถะ สมถะนั้น ยิ่งปฏิบัติไปยิ่งสงบไปๆ ตามลำดับ จนได้ฌาน เข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เพียงแต่ได้ปฐมฌาน ความทุกข์ความอะไรก็หมดไป ยิ่งไปถึงขั้นจตุตถฌานแล้ว ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่มาปรากฏเลย เพราะเมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกก็หมดไป ลมหายใจหมดไป ร่างกายหยุดทำงานชั่วขณะ เมื่อเป็นเช่นนั้น ความสุขก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ความทุกข์ไม่มีปรากฏ ด้านสมถะเป็นอย่างนี้ ยิ่งปฏิบัติยิ่งมีความสุข

แต่ด้านการปฏิบัติวิปัสสนา ไม่เหมือนกันอย่างนี้ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราต้องเห็นรูปนาม เห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม ต้องเห็นรูปนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรูปนามแสดงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะมีแต่ความทุกข์ อะไรเกิดขึ้นมาทางร่างกาย ก็มีแต่ทุกข์ เกิดขึ้นมาทางจิตใจก็มีแต่ทุกข์ วันทั้งวันคืนทั้งคืน เราจะหาความสุขสัก ๕ นาทีก็หายาก แทบจะว่าไม่มีความสุขเลย

เพราะยิ่งใช้สติกำหนดทันปัจจุบันมากเท่าไรๆ ยิ่งเห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม เห็นแต่ความดับไปของรูปนาม เห็นรูปนามนั้นเป็นของน่ากลัว จนเบื่อหน่ายในรูปนาม เกิดความอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่มีความสุขเลย

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากว่าท่านทั้งหลายไม่ท้อใจ เป็นนักปฏิบัติใจสิงห์ ตายก็ยอมตาย หากว่าไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดแล้ว จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงว่าเนื้อและเลือดมันจะเหือดแห้งไปก็ตามที มันเหลืออยู่แต่เอ็นกับกระดูกนี้ เราก็จะปฏิบัติร่ำไป จะไม่เลิกละการประพฤติปฏิบัติ เมื่อเราตั้งปณิธานจิตอย่างนี้แล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมได้

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้ เวลาปฏิบัติมีแต่ทุกข์แต่โทษ เกือบจะว่าเอาชีวิตไม่รอด จนไปหาพึ่งพระพึ่งเณร ก็พึ่งไม่ได้ พระเณรเป็นสิบๆ มาล้อมก็ไม่สามารถที่จะให้มีความสุขได้ ไม่อาจที่จะระงับความกลัวได้ ไปนอนอยู่ที่ไหนๆ ทั้งกลางวันกลางคืนก็มีแต่ความกลัวมีแต่ความทุกข์ จะไปห้องน้ำก็ไม่กล้าไป จะเดินไปในบริเวณวัด จากกุฏินี้ไปหากุฏินั้น ห่างกัน ๒-๓ หลังเท่านั้น กลางวันแท้ๆ ก็ยังกลัวไม่กล้าไป มันเป็นถึงขนาดนี้

สภาวะของวิปัสสนา ความทุกข์อะไรๆ มันโหมเข้ามาหมด ปรากฏชัดทั้งนั้น หากว่าใจไม่สู้จริงๆ แล้วไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ และพระรูปนั้น ท่านก็ตั้งปณิธานจิต เพราะตอนนั้นนั่งไม่ได้แล้ว มีแต่เดินอย่างเดียว เหตุไรจึงนั่งไม่ได้ เพราะว่าเวลานั่งมันมีความกลัว สภาวะมันเกิดขึ้นมาเหมือนกับว่าแมลงผึ้งหรือว่าต่อแตนออกจากรังของมันแล้วก็โหมมาทิ่มมาแทงที่ร่างกายของเรา

มีแต่ทุกข์แต่โทษอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถนั่งได้ และเมื่อนั่งไป เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็เย็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดไปได้ เมื่อนั่งไม่ได้ จะทำอย่างไรจึงจะปฏิบัติต่อไปได้ เพราะว่าไปหาครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำ พูดให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เป็นที่พอใจ ไม่ถึงอกถึงใจ คิดว่าทำไมหนอครูบาอาจารย์จึงแก้อารมณ์ของเราไม่ได้

ผลสุดท้าย ท่านก็ตั้งปณิธานจิตอธิษฐาน เมื่อตั้งปณิธานจิตนั้นก็คิดว่า คำสัจจะที่ตั้งลงไปนั้น จะเป็นของที่ไม่แน่นอน จึงอธิษฐานเอาแผ่นดินทั้งแผ่นว่า

สาธุ ข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นที่แข็งเหมือนเพชรนี้ ไม่ละลายเป็นน้ำไป ข้าพเจ้าจะไม่หยุดการปฏิบัติเป็นอันขาด ถึงตายก็ยอมตาย ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ เรามอบถวายแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มอบถวายแก่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว ขณะนี้ เราเพียงแต่ยืมท่านมาใช้เท่านั้น ยืมมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเพื่อแลกเอาบุญเอากุศล แลกเอาโลกุตรธรรมเท่านั้น เหตุนั้นถึงเมื่อมันจะตายก็ยอมตาย

พอดีตั้งปณิธานจิตอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย แทนที่สิ่งที่เป็นอยู่ทั้งหลายมันจะหยุดไป กลับไม่หยุดเสียแล้ว โหมเข้ามาๆ มีอะไรๆ ในโลกนี้ คิดว่ามันโหมเข้ามาหมด ท่านก็ตั้งว่า ร่างกายและจิตใจทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้ามอบถวายพระรัตนตรัยครูบาอาจารย์หมดแล้ว จะตายในนาทีนี้ ชั่วโมงนี้ก็ยอมตาย ยอมเสียสละชีวิต เมื่อยอมเสียสละชีวิตแล้ว มันก็หมดปัญหา เมื่อปลงภาระแล้ว ไม่กลัวแล้วความตาย

เมื่อไม่กลัวความตาย ก็เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความกล้าหาญขึ้นมา ไม่ท้อใจ เมื่อสภาวะใดๆ เกิดขึ้นมาก็ยิ้มได้สู้ได้ ทำให้การปฏิบัติของท่านดำเนินไปตามลำดับๆ ผลสุดท้ายก็สามารถปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทาง

นี้แลท่านทั้งหลาย อุทาหรณ์ที่นำมาบรรยายให้ฟังนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงเรื่องที่สร้างขึ้น เป็นเรื่องจริง มีตัวตนบุคคลจริงๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้อุตสาหะพยายามประพฤติปฏิบัติร่ำไป จนกว่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทาง คือได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละจึงจะหยุดได้ ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ตราบใด ก็ยังขึ้นชื่อว่ายังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ เราจะประมาทไม่ได้ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

ภิกฺขุ วิสฺสาสมาปาทิ อปฺปตฺโต อาสวกฺขยํ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อใด ยังไม่ได้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะกิเลส อย่าพึ่งนอนใจ ดังนี้

แต่ถ้าไม่ได้ไม่ถึงที่สุดอย่างไร ก็ขอให้ได้ปฐมมรรคก็ยังดี เพราะว่าสามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะ เรื่องอริยมรรค ๘ ประการ มานี้ ก็สมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 15 มีนาคม 2561 09:40:52

(http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2012/04/Tien.jpg)

การฝึกสมาธิ (๑)

วันนี้ถือว่าเป็นวันคำรบ ๔ ของการปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติผ่านมา ๓ ราตรี การปฏิบัติอยู่ ๓ ราตรีที่ผ่านมาก็เหมือนกันกับเราสำรวจว่า

ตั้งแต่เราบวชมาในพระพุทธศาสนานี้ ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงวันนี้ เรามีความบกพร่องอย่างไร ที่ผ่านมานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับกายและวาจาของเราสมบูรณ์แล้วหรือไม่ หรือขาดตกบกพร่องอยู่อย่างไร เราสำรวจ เมื่อสำรวจแล้วก็จะรู้ทันทีว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับกายและวาจาซึ่งถือว่าเป็นศีล มันบกพร่องอยู่ตรงนี้ๆ เมื่อเราสำรวจครบทุกอย่างทุกประการ ก็จะตั้งอกตั้งใจทำให้ความบกพร่องนั้นให้สมบูรณ์ เรียกว่า มานัตต์ คือขึ้นมานัตต์

การขึ้นมานัตต์ ก็คือการขัดเกลาหรือทำสิ่งที่มันบกพร่องไปนั้นให้ดีขึ้นให้สมบูรณ์ขึ้น ถือว่าเป็นการขัดเกลา คือขัดให้มันหมดมลทิน มลทินเหล่าใดที่มีในทางกาย มีทางวาจา เราก็จะได้ขัดมลทินนั้นให้หมดไป เพื่อว่าจะให้กาย วาจา ใจ บริสุทธิ์และสะอาด

ถ้าว่าผู้ใดเอาใจใส่ในการขัดในการเกลา กาย วาจา และใจของเราก็บริสุทธิ์มาก ถ้าใครขัดใครเกลาไม่สมบูรณ์ กายและวาจาของเราเปอร์เซ็นต์ที่จะบริสุทธิ์สะอาดก็มีน้อย แต่ก็ขออัพภานได้เหมือนกัน เพราะถ้าว่าตามหลักของศีลก็ถือว่าเราสามารถที่จะขออัพภานกันได้ แต่ว่าความบริสุทธิ์ของเรา ความสะอาดของเรานั้น ส่วนมากจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

เหมือนกันกับเราขัดแก้ว แก้วของเรามันขัดแล้ว มันก็สวยอยู่งามอยู่ แต่ยังไม่ถึงที่ ต้องขัดแล้วขัดอีก ขัดแล้วขัดอีก ๒ ครั้ง หรือ ๓ ครั้ง แก้วของเราก็สะอาดงดงามน่าใช้น่าดู หรือว่าภาชนะต่างๆ เราเอาใจใส่ในการขัด การเกลา การถู ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ก็สะอาดน่าดูน่าใช้ ข้อนี้ฉันใด

การประพฤติวุฏฐานวิธีคือมานัตต์นี้ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราพยายามขัด พยายามเกลากายและวาจาของเรา ขัดแล้วขัดอีก เกลาแล้วเกลาอีก ผลสุดท้ายเราก็จะเป็นผู้มีกายอันบริสุทธิ์ มีวาจาอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องวิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน เป็นผู้องอาจกล้าหาญในท่ามกลางพุทธบริษัท

เหตุนั้น เราจึงใช้วิธีขัดเกลา การขัดเกลา หรือการขัดการเกลานี้ ในทางพระวินัยได้ทรงประทานไว้ ให้ใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี

เพราะเหตุไรจึงทำแบบนี้

เพราะว่าการขัดการเกลาของที่สกปรก หรือของไม่ดีไม่สะอาด ถ้าเป็นวัตถุอย่างมากก็จะใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่ ๖ วัน วัตถุนั้นก็สะอาดได้ น่าดูน่าชมได้ ข้อนี้ฉันใด กายวาจาของเราก็เหมือนกัน เราใช้เวลาขัดเวลาเกลาอยู่เป็นเวลา ๖ วัน หรือ ๖ ราตรี ก็ถือว่ากายของเราบริสุทธิ์ วาจาของเราบริสุทธิ์ สมควรแก่อัพภานกรรม

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายผู้มีความมุ่งหวังที่จะทำให้กายและวาจาของเราบริสุทธิ์ ก็พยายามเอาจิตเอาใจใส่ ในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์

คือการเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าอยากเดินหนอๆ กำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดเวทนา สุขหนอ ทุกข์หนอ เฉยหนอ กำหนดจิตว่า คิดหนอๆ ตลอดทั้งกำหนดทางตา เห็นหนอ ได้ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ ถูกหนอ เจ็บหนอ อะไรทำนองนี้ เพื่อเป็นการขัด อันนี้นะเป็นเครื่องขัด เราใช้อันนี้ เราใช้บทกัมมัฏฐานนี้แหละขัด

เอาอะไรไปขัด

เอาสติไปขัด

ไปขัดที่ไหน

ไปขัดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ หรือไปขัดที่อาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการยืน เวทนา ความคิดของเรา นี่คือเอาสติไปขัด มิใช่ว่าเอาอย่างอื่นไปขัด เอาสติของเราไปขัด

เพราะเหตุไรจึงขัด

เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานั้น เป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สกปรก

สกปรกเพราะอะไร

สกปรกเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นสภาวะที่ทำให้กายวาจาของเราสกปรก เป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความลามก เพราะฉะนั้นเราจึงขัดจึงเกลา

เมื่อใดเราขัดแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส เหตุนั้น การขัดการเกลาของเราจึงจำเป็นต้องมีกุศโลบาย รู้วิธีขัด รู้วิธีเกลา คือขัดด้วยสติ ขัดด้วยสัมปชัญญะ ขัดด้วยปัญญา เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว กาย วาจา และจิตใจของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส สมควรแก่การอัพภานกรรม

เพราะฉะนั้น หลวงพ่อขอพูดเพียงย่อๆ ขอให้ท่านไปคิดเอาไปพิจารณาเอา

ตามปกติ วันขึ้นมานัตต์ทุกปีที่ผ่านมา หรือทุกจุดที่มีการปฏิบัติธรรม จะมีการฝึกสมาธิ คือถึงวันนี้จะมีการฝึกสมาธิ ที่ไหนๆ ก็ฝึกสมาธิอย่างนี้เป็นร่ำไป

เพราะเหตุไรจึงฝึกสมาธิ

เพราะเราต่างก็ต้องการให้ความคิดของเรามีระบบ การฝึกสมาธินี้ คือการที่ทำให้จิตใจของเรามีระบบ คือทำให้ความคิดของเรามีระบบ พวกเราส่วนมากจะเป็นพระ เป็นเณร ปะขาว แม่ชี ญาติโยมชาวบ้าน อุบาสก อุบาสิกา ส่วนมากความคิดของพวกเรานั้น ไม่มีระบบ คิดอะไรเรื่อยเปื่อยไป อะไรจิปาถะ ร้อยแปดพันประการ

เพราะความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงทำให้คนเรานั้นเสียสติได้ เป็นบ้าได้ คนที่มีความคิดไม่มีระบบ บางทีหนักๆ เข้าทานอาหารไม่เอร็ดอร่อย นอนก็นอนไม่หลับ หลับก็ครึ่งๆ กลางๆ หลับๆ ตื่นๆ สิ่งที่ไม่ควรคิดก็คิด สิ่งที่คิดอยู่แล้วก็คิดมากขึ้นไป เพราะว่าคิดไม่มีระบบ

สาเหตุที่พวกเราทั้งหลายใช้ความคิดที่ไม่มีระบบนี่แหละ จึงมีการฝึกสมาธิ คือฝึกให้ความคิดของเรามีระบบ ถ้าความคิดของเรามีระบบแล้ว เราอยากคิดก็คิดได้ เลิกคิดก็เลิกคิดได้ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่กลุ้มใจ เพราะฉะนั้นจึงมีการฝึกสมาธิ

การฝึกสมาธิ ก็คือการรวมความคิดหลายๆ ความคิดให้เหลือความคิดเดียว คือจิตใจของเราตามปกตินั้นไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันจะคิดร้อยแปดพันประการ คิดไปเรื่อยเปื่อย บางทีมันก็คิดไปเรื่องรูป คิดไปเรื่องเสียง คิดไปเรื่องกลิ่น คิดไปในเรื่องรส คิดไปในเรื่องสัมผัส คือมันคิดไปตามอารมณ์ที่มากระทบ

อารมณ์ใดๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตของเราก็วิ่งไปตามกระแสของอารมณ์ เมื่อจิตของเราวิ่งไปตามกระแสของอารมณ์แล้ว ความคิดของเราก็ไม่มีระบบ คิดมาก บางทีก็เป็นประสาท เป็นบ้า เพราะเหตุนั้นเราจึงฝึกสมาธิ คือการรวมกระแสจิตหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว

จิตที่ฝึกดีแล้ว ฝึกฝนอบรมดีแล้ว ย่อมเป็นจิตที่มีอำนาจมีพลัง มีอานุภาพมีสมรรถนะสูง ก็เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนกล้วย ถ้าเราปล่อยให้ไหลไปตามกระแสน้ำ มันก็ไหลได้อยู่ แต่ว่ามันไม่มีกำลัง การลอยของท่อนไม้ท่อนกล้วยนั้นมันก็เอื่อยๆ ไป มันไม่เร็ว

แต่ถ้าเราปรับที่ที่จะต้องให้มันลงแล้ว เราปรับได้ที่ ท่อนไม้ก็ดีท่อนกล้วยก็ดี เราปรับให้ไหลลงตรงนี้ๆ น้ำมากๆ ที่เอ่อล้นไป ให้มันไหลลงที่เดียว เมื่อมันลงที่เดียว ต้นกล้วยมันก็ไหลเร็วขึ้น ท่อนไม้ก็ไหลเร็วขึ้น ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราใช้สติสัมปชัญญะ ใช้ปัญญาฝึกจิตฝึกใจของเราให้มันเหลือความคิดเดียว ให้จิตของเรามันไหลไปทางเดียว ไม่ให้มันไหลไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อจิตของเรามันไหลไปแนวเดียวแล้ว ก็มีพลัง มีอานุภาพ และมีสมรรถนะสูง

อุปมาเหมือนกันกับเราปรับไฟฉาย ถ้าเรามีไฟฉายอยู่นะ หากว่าเราไม่ปรับแสง มันก็สว่างอยู่เหมือนกัน แต่มันสว่างไม่มาก แต่ถ้าเราปรับแสงให้ดีแล้ว โดยเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ ปรับเข้าไปๆ ผลสุดท้ายแสงสว่างนั้นก็รวมแสงอยู่ในจุดเดียวกันเข้า เราสามารถรวมแสงให้เหลือจุดเดียว เมื่อเราสามารถรวมแสงให้อยู่ในจุดเดียว เหมือนกันกับแสงเลเซอร์นะ แสงเลเซอร์ก็คือการรวมแสงทั้งหลายทั้งปวงให้มันเหลือจุดเดียว เมื่อแสงเหลืออยู่จุดเดียว ก็สามารถไปผ่าตัดนิ่ว ไปผ่าตัดโน่นไปผ่าตัดนี่ ไม่ต้องใช้มีดในการผ่าตัด เอาแสงที่เขารวมแล้วไปผ่าตัด ก็สามารถทำลายนิ่ว ไต ทำลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำลายสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป ข้อนี้ฉันใด

ใจของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรารวมกระแสจิตของเราจนเหลือความคิดเดียว ความคิดนั้นก็เป็นความคิดที่มีอานุภาพ มีพลัง มีสมรรถนะสูง สามารถที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมได้

เหมือนกันกับพวกเราทั้งหลายได้เล่าเรียนมา เรื่อง อภิญญาจิต เรื่อง ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปหมดไปจากขันธสันดาน หรือว่า อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ ทิพพโสตอภิญญา มีหูทิพย์ ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ เจโตปริยญาณ รู้วาระจิตของผู้อื่น หรือปฏิสัมภิทา ๔ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

เพราะเหตุใดเรื่องอย่างนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะเหตุไรคนเราจึงระลึกชาติแต่หนหลังได้

เพราะเหตุไรคนทั้งหลายจึงรู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้ ตลอดถึงของตนเอง

เพราะเหตุไรคนเราจึงมีตาทิพย์ มีหูทิพย์ รู้วาระจิตของบุคคลอื่นได้

ก็เพราะว่าพวกเราใช้กรรมวิธีปรับความคิดของเราให้เหลือความคิดเดียว ดังที่พวกเราทั้งหลายได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา

ระบบการปรับจิตของเราให้เหลือความคิดเดียวนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ถึง ๘ ประการ เรียกว่า สมาบัติ ๘ คือท่านให้ปรับด้วยอำนาจของปฐมฌาน ปรับด้วยอำนาจของทุติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของตติยฌาน ปรับด้วยอำนาจของจตุตถฌาน คือใช้สมาธิเป็นขั้นๆ คือปรับเป็นขั้นๆ ต่อๆ กันขึ้นไป

เมื่อปรับขั้นรูปธรรมแล้วยังไม่พอ ยังปรับขั้นนามธรรมด้วย ดังที่เราเคยเรียนมาคือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มาปรับจนทำให้ร่างกายทั้งหลายนั้นมีกำลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง

เมื่อสามารถรวมกระแสจิตได้ตามหลักทั้ง ๘ ประการดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จิตของเราก็จะมีพลัง มีอานุภาพ มีสมรรถนะสูง สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

ก็เพราะอำนาจจิตใจที่ฝึกฝนอบรมแล้ว จึงมีพลัง มีอานุภาพ สามารถทำให้เกิดอภิญญาจิต ดังที่หลวงพ่อได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คนที่คิดมีระบบดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำจิตใจของตนให้เป็นสมาธิ หนักแน่น ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้ว

ในขั้นเบื้องต้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงใช้วิธีรวมกระแสจิตมาแล้ว ได้ทรงฝึกมาก่อนแล้ว จนได้เกิดวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา ดังกล่าวมาแล้ว กำลังของสมาธินี้ มิใช่ว่าเราจะเอาไปใช้เพียงแต่ทำให้เกิดอภิญญาจิตดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็หาไม่

เมื่อใดเรารู้หลักการวิธีการในการรวมกระแสจิตของตนให้สมบูรณ์จนได้อภิญญาจิตแล้ว เราก็สามารถนำจิตที่รวมนี้ไปใช้ในการที่จะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนา

การเจริญวิปัสสนานั้นก็คือ เบื้องต้นเรารวมกระแสจิตจนมีพลังจนมีอำนาจ เมื่อรวมกระแสจิตสมบูรณ์แล้ว กระแสจิตอันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า วิปัสสนาปัญญา

เมื่อวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้ว ปัญญาขั้นนี้ก็จะทำหน้าที่ทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ให้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน ตามกำลังที่เราได้ฝึกจิตมาดีแล้ว

เพราะเหตุอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม หลวงพ่อจึงชี้แนะให้มีการฝึกสมาธิ สมาธิที่ฝึกนั้น ก็ต้องการประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล สำหรับการฝึกสมาธิ ทุกสิ่งทุกอย่างท่านทั้งหลายก็ศึกษามาแล้ว

สำหรับท่านผู้เจริญพระกัมมัฏฐานใหม่ๆ เราต้องการการกำหนด เรากำหนดเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างที่กำหนดผ่านมาแล้วนั้น ครูบาอาจารย์ให้กำหนดอาการพอง อาการยุบ ขวาย่าง ซ้ายย่าง กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ท่านทั้งหลายเอาบททั้งหลายเหล่านี้แหละนำไปฝึกสมาธิ ไปทำจิตให้เป็นสมาธิ

หากว่าท่านต้องการให้เกิดสมาธิเร็ว ให้เกิดฌานเร็ว ท่านทั้งหลายก็เอาจิตของเรานี้ กำหนดที่จิตของเรา ตั้งสติไว้ที่ใต้ราวนมข้างซ้ายต่ำลงไปสัก ๓ นิ้ว หรือ ๒ นิ้ว กำหนด คิดหนอๆ ไปเรื่อยๆ ถ้าเราเอาจิตไปบริกรรมอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิเร็วและก็ได้ฌานเร็ว

สำหรับผู้ที่เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เข้าสมาธิ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เป็นต้น หากว่าท่านทั้งหลายต้องการที่จะอุ่นเครื่องให้จิตใจของเรามีระบบกว่าที่เป็นอยู่นี้ ท่านทั้งหลายจะนั่งสมาธิตามที่ท่านทั้งหลายเคยปฏิบัติมาก็ได้ แต่ต้องให้ผ่านครูฝึกคือแม่ชีเสียก่อน การปฏิบัติในครั้งนี้ หลวงพ่อได้มอบให้คุณแม่สว่าง และคุณแม่ชีเนียม และแม่ชีผู้ช่วยได้ช่วยดูแล

แต่เจตนาจริงๆ ของหลวงพ่อนั้น ต้องการอยากให้ท่านเจริญวิปัสสนา เพราะท่านทั้งหลายได้เคยเจริญสมาธิมาแล้ว เคยเข้าสมาธิมาแล้ว เคยฝึกมาแล้ว ต้องการอยากให้การปฏิบัติมันก้าวหน้าไปกว่านี้ ไม่อยากให้นั่งอยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นของไม่ดี เป็นของดี แต่ว่าของดีที่ได้อยู่ในขณะนี้ถือว่าเป็นของดีที่ยังประกันไม่ได้ ยังรับประกันไม่ได้ว่า ของดีที่มีอยู่ในขณะนี้ ที่ได้อยู่นี้ เราจะสามารถนำไปใช้จนถึงโลกุตตระหรือไม่

บางทีสมาธิของเราไม่ดี สมาธิของเราไม่สมบูรณ์ กิเลสตัณหามันยังมีอยู่ ยังไม่หมด (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ก็ยังจะไปเกิดอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานได้ (ผู้ได้) สมาธิขั้นนี้ ยังสามารถที่จะฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้ และยังสามารถที่จะทำบาปทำกรรมอื่นๆ อีกได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อรู้แล้วว่าเรามีสมาธิ ก็รักษาสมาธิไว้ อย่าให้เสื่อม ใช้ให้เป็นประโยชน์เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่อย่าไปใช้ทางทำลายผู้อื่น อย่าไปใช้ในทางสะกดลาภ เมื่อสมาธิที่เรามีอยู่นี้ แม้ว่าสมาธินี้มีอำนาจมีอานุภาพ จนสามารถระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่นได้ก็จริงอยู่ ท่านทั้งหลาย อภิญญาจิตนี้ยังไม่สามารถปิดประตูอบายภูมิได้

เหตุนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ วิธีปฏิบัติก็ใช้สมาธิหรือใช้ฌานทั้งหลายที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นั่นแหละ เรามากำหนดบทพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ เช่นว่า กำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่นแหละ แล้วก็ตั้งสติกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา จนกว่าจะนั่งหลับไป หรือว่านอนหลับไป หรือว่าจนกว่าจะส่งจิตส่งใจให้เกิดความรู้สึก

หากว่ามันอยากนอนก็ปล่อยให้มันนอนไป หน้าที่ของเราพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปตอนไหน หรือว่ามันจะขาดความรู้สึกไปตอนท้องพองหรือท้องยุบ ตอนหายใจเข้า หรือหายใจออก ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามจำสภาวะให้ได้ ในขณะที่เราทำกัมมัฏฐานอยู่นี้ บางทีมันง่วง อยากนอน ก็ปล่อยให้นอนไป แต่ว่าพยายามจำให้ได้ว่า เราจะนอนหลับไปหรือนั่งหลับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ขอให้จำให้ได้

หากว่าเราทำได้อย่างนี้ ท่านทั้งหลาย จิตใจของเราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาแทนที่ มีการสว่าง สงบ จิตใจร่าเริงเบิกบาน โลภ โกรธ หลง ก็จะเบาบางลงไป ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา ก็จะเบาบางไป จิตใจของเราก็จะเกิดความสะอาด สว่าง สงบเย็นขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก็ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การฝึกสมาธิโดยย่อ มาบรรยายถวายความรู้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจบารมีธรรม ขอให้ท่านทั้งหลายได้อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในพระสัทธรรม นำตนให้พ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพาน ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 มีนาคม 2561 13:55:22

(http://www.dhammada.net/wp-content/uploads/2012/04/Tien.jpg)

การฝึกสมาธิ (๒)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คืนที่ผ่านมาหรือราตรีที่ผ่านมา หลวงพ่อได้พูดถึงเรื่องสมาธิ ว่าสมาธินั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

สำหรับ ขณิกสมาธิ คือสมาธิในขั้นบริกรรม เช่นเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ การกำหนดอย่างนี้เรียกว่า เป็นสมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ

สำหรับ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ถึงฌาน เราจะสังเกตเวลาเรานั่งสมาธิ เรานั่งไปๆ จิตของเราละเอียดเข้าๆ แล้วก็ถอยออกมา แทนที่จะขาดความรู้สึกยังไม่ขาด คืนไป มันไหลเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันก็น้อยเข้าไปๆ แล้วก็ถอย ถอยกลับมา คล้ายๆ กับเราเข้าฌาน

คล้ายๆ กับเราเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป แล้วก็ถอยกลับมา แล้วก็ไปอีก แล้วก็ถอยกลับมา ตั้งอยู่ในลักษณะอย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไป ใกล้ฌานเข้าไป จวนๆ จะถึงฌาน แต่ยังไม่ได้ถึงฌาน แค่จวนๆ จะดับแต่ยังไม่ดับ อันนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ

สำหรับ อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิถึงจุดอันแน่นิ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่คิดไปเรื่องอดีต อนาคต ข้างหน้าข้างหลัง ไม่วิ่งไปหารูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ หรืออารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่จิตของเราหยุดนิ่งอยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน เช่น เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ จิตของเราก็หยุดอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐานนั้นๆ เรียกว่าอัปปนาสมาธิ

อัปปนาสมาธิ นี้ก็เป็นขั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ในขั้นเดียว คือ อัปปนาสมาธินั้น พูดให้รวบๆ ก็ได้แก่

๑. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นปฐมฌาน

๒. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นทุติยฌาน

๓. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นตติยฌาน

๔. อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นจตุตถฌาน

ถ้าพิสดารก็สมาธิอยู่ในขั้น ปัญจมฌาน เป็นขั้นๆ และประเภทที่สอง (อัปปนาสมาธิ) ที่เป็นอรูปฌาน หรืออรูปสมาธิ คือ

๑. อากาสานัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๑

๒. วิญญาณัญจายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๒

๓. อากิญจัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๓

๔. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อัปปนาสมาธิอยู่ในขั้นอรูปฌานที่ ๔

นี่เป็นขั้นๆ อยู่อย่างนี้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเรียกอัปปนาสมาธิแล้วจะเป็นสมาธิรวดเดียว อย่างเดียว ไม่ใช่

เพราะเหตุไร

เพราะว่า อัปปนาสมาธิแต่ละขั้นๆ นั้นไม่เหมือนกัน อานุภาพก็ไม่เหมือนกัน อานิสงส์ก็ไม่เหมือนกัน

แต่สำหรับวันนี้ หลวงพ่อจะไม่ได้กล่าวให้พิสดาร แต่จะแนะแนวทางอีกประการหนึ่ง คือ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะฝึกสมาธิดังที่ท่านทั้งหลายเคยฝึกมาแล้ว หรือขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฝึกอยู่ สมาธิที่จะนำมาฝึกนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะฝึกเอาเลย มันเป็นไปไม่ได้หรอกท่านทั้งหลาย คืออย่างน้อยๆ เราก็ต้องปฏิบัติกัมมัฏฐานมา อาจจะ ๓ วัน หรือ ๔ วัน แล้วแต่เหตุปัจจัย เมื่อใดเราปฏิบัติไปๆ อัปปนาสมาธิเกิดขึ้น เพียงแต่ขั้นปฐมฌานอย่างเดียวก็ได้ หรือเป็นสมาธิขั้นแรกก็ได้

เมื่อจิตใจของเราตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือได้สมาธิหรือได้ฌาน เราก็นำมาฝึกให้ชำนาญในวสี คือชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เข้าก่อนเวลา รักษาสมาธิไว้ไม่ให้เลยเวลาไป ฉลาดในการพิจารณาองค์ฌานนั้นๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วเอาไปฝึกเลยไม่ได้

ส่วนมากลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้นสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ พอปฏิบัติแล้วก็อยากให้ฝึกสมาธิทันที เป็นไปไม่ได้ท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าครูบาอาจารย์ปฏิเสธ แต่อยู่ที่เหตุปัจจัยของผู้ที่จะรับฝึก

เมื่อใดเราบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานจนสามารถทำจิตใจให้สงบอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะฝึกให้ วิธีฝึกก็คือ ฝึกให้ชำนิชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ ดังท่านทั้งหลายก็เคยศึกษามาแล้ว แต่หลวงพ่อจะไม่กล่าวถึงอีก วิธีฝึกนั้น ครูบาอาจารย์ต้องเป็นผู้ฉลาดในการฝึก ครั้งแรกเราเตือนให้ผู้ปฏิบัติทั้งหลายทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อาจารย์หรือหลวงพ่อจะได้ฝึกสมาธิให้แล้วนะ

แต่การฝึกสมาธินี้ ไม่ใช่ว่าเป็นการทำลายหรือเป็นการอวดอุตตริมนุสสธรรม ไม่ใช่ทำในเรื่องอกุศลอะไร ก็พูดให้เขาเข้าใจแล้วก็เริ่มฝึก ให้เขาอธิษฐานเสียก่อน เช่นให้ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เกรงว่ามันจะไม่ได้เราก็ให้อธิษฐานว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที

หลังจากนั้นก็ให้ผู้ปฏิบัติกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อย พอถึง ๕ นาที เราเตือนว่า ได้เวลาแล้ว ฟังให้ดีนะ ในขณะที่ได้เวลาแล้ว ก็ให้ผู้ปฏิบัติน่ะคลายออกจากสมาธิ ลืมตาขึ้นมา แต่ถ้าว่ายังไม่คลายออกจากสมาธิ คือสมาธิมาก มันเลยเวลาไป อาจารย์ต้องกำหนดให้ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไป

เสร็จแล้วก็ให้เข้าอีก ๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที ฝึกให้ชำนิชำนาญไปเสียก่อน จนสามารถเข้าได้ออกได้ภายใน ๕ นาที สามารถเข้าได้ภายใน ๑ นาที สามารถจะเข้าออกได้ภายใน ๕ นาที ให้ชำนาญเป็นขั้นๆ ไป

เมื่อเราชำนาญในขั้นนี้แล้ว ต่อไปอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๐ นาที ขณะนั้นเราจับเวลาไว้นะ จับเวลาไว้ พอดีครบ ๑๐ นาทีแล้วก็ ได้เวลาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะกำหนดจิตออกจากสมาธิ อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ตามลำดับๆ มา

ถ้าหากว่า ๑๐ นาทีนี้ยังออกไม่ได้ คือมันเลยเวลาไป เราก็ต้องช่วยด้วย กำหนดว่า อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ มา ครบ ๑๐ นาที ฝึกอยู่อย่างนี้ มิใช่ว่าวันเดียวก็เอาละใช้ได้ ต้องฝึกให้ชำนิชำนาญ ถ้าไม่ชำนาญก็ฝึกอยู่นี้ ๑๐ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ ๕ นาทีก็ฝึกอยู่อย่างนี้ จนชำนาญ เข้าได้ออกได้ๆ ตามเจตนารมณ์ แล้ววันต่อๆ ไป เราก็จึงฝึก ๑๐ นาที

เมื่อฝึก ๑๐ นาทีชำนิชำนาญแล้ว เข้าได้ออกได้ๆ ไม่ก่อนเวลาและก็ไม่หลังเวลา ออกก่อนก็ไม่ได้ ออกหลังก็ไม่ได้ ต้องให้ออกให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อฝึกชำนิชำนาญอย่างนี้แล้วก็ฝึก ๑๕ นาที สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที เราก็กำหนดเหมือนเดิม พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ จนถึง ๑๕ นาที

พอถึง ๑๕ นาที ก็จะออกจากสมาธิ คลายตัวออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป คือเคลื่อนมือเบื้องขวาไปวางที่บนเข่าขวา เสร็จแล้วก็ให้เอามือข้างซ้ายออกว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ แล้วเลื่อนมือไปวางที่เข่าซ้าย

หลังจากนั้นก็กำหนดเอาเท้าออก อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ ไป เหยียดขาขวาออกไปๆ เสร็จแล้วก็กำหนดเท้าซ้าย ขาซ้าย อยากออกหนอๆ แล้วก็ ออกหนอๆ ไปจนวางได้ที่ หลังจากนั้นก็กำหนด อยากลืมตาหนอๆ แล้วกำหนดว่า ลืมตาหนอๆ ค่อยๆ ลืมตาขึ้นๆ เมื่อลืมตาแล้ว ดูว่ามันยังไม่ได้ที่ ให้กำหนดตามแข้งตามขา กำหนดนวดแข้งนวดขาให้

แต่ในขณะที่นวดอยู่นั้น อย่าเพิ่งไปกำหนดนะว่า รู้หนอๆ หรือว่า ปวดหนอๆ ถ้าเรากำหนดอย่างนี้ มันเข้าอีกนะ เข้าสมาธิไปอีก คือสมาธิมันยังมากอยู่ ยังมียังสูงอยู่ มันก็จะเข้าอีก เหตุนั้น ในลักษณะอย่างนี้อย่าไปกำหนด ให้ออกไปตามที่กำหนดไว้ ออกแล้วก็แล้วไป อย่าไปกำหนดอีก เมื่อกำหนด ๑๕ นาทีได้แล้ว เรานั่งอธิษฐานใหม่ ตั้งใจใหม่ อธิษฐานใหม่ว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๕ นาที

เราฝึกอยู่อย่างนี้ กลับไปกลับมา จนสามารถเข้าได้ออกได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อชำนิชำนาญแล้วก็ฝึกขั้น ๒๐ นาที ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๐ นาที ลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันดังกล่าวมาแล้ว คือเหมือนเดิม

สำคัญนะการออก คือออกก่อนเวลาก็ไม่ได้ ออกเลยเวลาก็ไม่ได้ ต้องให้เข้าได้ออกได้ตามที่กำหนดไว้ทุกอย่างทุกประการ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่า ชำนาญในวสี คือ ชำนาญในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ชำนาญในการนึก ชำนาญในการเข้า ชำนาญในการออก ชำนาญในการอธิษฐาน ชำนาญในการพิจารณา

เมื่อชำนาญได้อย่างนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้ เรียกว่าชำนาญแล้ว เมื่อได้ ๒๐ นาทีแล้ว ฝึกให้ครบ ๓๐ นาที ทุกอย่างเหมือนเดิม ให้ครบ ๓๐ นาที เมื่อครบ ๓๐ นาทีแล้ว วันนั้นเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้นนะ ๓๐ นาทีนี้ เราอาจจะใช้เวลาฝึก ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วันก็แล้วแต่

ถ้าหากว่ายังไม่ชำนาญในการเข้าการออกอยู่อย่างนี้ ก็ฝึกร่ำไปจนกว่าจะชำนิชำนาญทุกอย่าง ที่ฝึกอย่างนี้ก็เพื่อให้ชำนาญ คือสามารถที่จะใช้สมาธิ สามารถที่จะเข้าสมาธิตามเจตนารมณ์ทุกประการ และก็พร้อมที่จะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

ถ้าเราไม่ชำนาญอย่างนี้ บางทีเราอยู่ตามกุฏิก็ดี หรือศาลาก็ดี หรือสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งก็ดี เราเข้าไปๆ มันเลยเวลาไป เช่นว่า เวลาที่มันเลยไปนั้น เราจะไปทำธุระอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไปทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไปสวดมาติกา ไปเจริญพระพุทธมนต์ หรือจะไปเทศน์ที่โน้นที่นี้ เราเข้าสมาธิอยู่ ไม่ออกตามเวลา ก็เสียการเสียงาน

เด็กๆ เมื่อก่อนโน้นมาฝึกอยู่ที่นี่ เวลาเขาไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตอนนี้แหละ ตอนเกี่ยวข้าว ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควายแล้วก็ว่า วันนี้เรามานั่งสมาธิด้วยกัน ไปนั่งสมาธิ ตอนนั้นก็ปล่อยควายไว้ ปล่อยวัวไว้ ก็พากันนั่งสมาธิ คิดว่าจะเข้าสมาธินิดเดียว คราวเดียว

แวบเดียวเท่านั้น ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สมาธิที่ไม่ฝึกให้ชำนิชำนาญ เลยเวลาไป บางคนก็ ๑ ชั่วโมง บางคนก็ ๒ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา วัวของเราหายไปไหน ควายของเราหายไปไหน ตามหาวัวควาย วัวควายไปกินข้าวเขาหมดแล้ว ตกลงเป็นได้รับโทษอีก เขาต้องปรับไหม เพราะข้าวเขาถูกวัวกินถูกควายกิน ถูกปรับไหมใส่โทษ เพราะฉะนั้น ต้องฝึก

หรือบางครั้ง เราอยู่ที่วัดของเรา อยู่ในกุฏิของเรา เราเข้าสมาธิไป ในขณะที่เข้าสมาธิไปบังเอิญไฟไหม้กุฏิของเรา หรือที่ตูบกัมมัฏฐาน (กุฏิกัมมัฏฐาน) ของเรา แต่ว่าเรายังไม่ได้ออกจากสมาธิ คือสมาธิยังไม่คลายตัว ไม่ได้ออกมาเลย ก็ถูกไฟไหม้ตายเท่านั้น ถ้าเราไม่อธิษฐานจิต มันเป็นนะ ถ้าเราอธิษฐานจิต ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องให้ชำนิชำนาญดังนี้

เมื่อเราชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ฝึกให้เข้าภายใน ๑ ชั่วโมง จนชำนิชำนาญ ๑ ชั่วโมงนี้ เข้าได้ออกได้ๆ ชำนาญแล้วท่านทั้งหลาย ทำชำนาญแล้วอย่างนี้แล้ว วันหลัง เราจะฝึกต่อทีนี้ เราก็เพิ่มเป็น ๒ ชั่วโมง พอดีเดินจงกรมเสร็จแล้วก็มานั่งอธิษฐานว่า ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒ ชั่วโมง หลักการปฏิบัติเหมือนกันทุกอย่าง แต่ว่าต้องทำให้ได้ตามเวลา คือสามารถเข้าได้ การเข้านี้ บางท่านก็ใช้เวลามาฝึกครั้งนี้ บางคนก็ใช้เวลา ๒ นาที หรือ ๓ นาทีจึงเข้าได้ บางคนก็เข้าได้ภายใน ๑ นาที บางคนยังไม่ถึง ๑ นาทีเลย มันเข้าไปก่อน คือสมาธิมันมีมาก ก็เข้าไปก่อน เพราะฉะนั้น เราต้องให้ชำนาญ

และก็ถึงเวลา ๑ ชั่วโมงแล้ว จะออกจากสมาธิ แต่เราจับเวลา มันออกไม่ได้ ยังไม่ออกเลย เราก็กำหนดให้ดังกล่าวมาแล้วว่า อยากออกหนอๆ ออกหนอๆ มาเรื่อย แต่ถ้ามันออกก่อนเวลาก็ไม่เอา ไม่ให้ลุก ถึงรู้สึกตัวขึ้นมาก็ไม่ลุก นั่งอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ให้กระดุกกระดิก ถ้ากระดุกกระดิกแล้วก็ถือว่า ทำไม่ถูก ทำไม่ได้

เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อชำนิชำนาญแล้ว วันหลังก็ค่อยเพิ่มเข้าไป ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง ทีนี้เพิ่มเป็น ๓ ชั่วโมง หลักการทุกสิ่งทุกอย่างก็เหมือนกัน แต่เวลาเข้าเวลาออกก็ต้องให้ตรงเวลา โดยเฉพาะเวลาออกนั้น ออกให้ตรงเวลา ถ้าออกไม่ตรงเวลาก็ฝึกไปอย่างนั้นแหละ จนตรงเวลา

เมื่อครบ ๓ ชั่วโมงแล้ว ให้พักทีนี้ ให้พัก ๓ วัน จำให้ดีนะ หากเข้าสมาธิได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังให้หยุด ไม่ฝึก ให้พักอยู่ ๒–๓ วัน ช่วงที่พักนี้ เลี้ยงไว้ ให้เลี้ยงอารมณ์ไว้ หากว่าจะไปที่โน้นจะไปที่นี้ ก็ต้องประคับประคองสติของเราให้ดี อย่าให้ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมไปด้วยอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ถ้าจะเข้าสมาธิ (ช่วงพัก) ตอนนี้ ก็เข้าได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ๒๐ นาที เข้าอยู่ในขั้นนี้ ไม่ให้ถึงชั่วโมง อย่าเพิ่งให้ถึงชั่วโมง หรือหากจำเป็นที่จะให้ถึงชั่วโมง ก็ให้ถึงได้ แต่ว่าไม่ให้เลย ๒ ชั่วโมง หากว่าอยู่ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้เข้าได้ แต่ไม่ให้เลยถึง ๒ ชั่วโมง เพราะว่าวันหลังเราจะฝึกอยู่แล้ว ดังนี้ก็เรียกว่าเราเลี้ยงอารมณ์ไว้

เมื่อครบ เมื่อทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว วันหลังจะทำต่อ คือหมายความว่า เราพัก ๒ วันแล้ว วันหลังจะทำต่อ ก็ให้อธิษฐานจิตใหม่เหมือนดังกล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๖ ชั่วโมง ทีนี้เอา ๖ ชั่วโมงแล้วนะ การเข้าการอธิษฐานทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน แต่เมื่อครบ ๖ ชั่วโมงแล้วยังไม่ออกจากสมาธิ เราก็ช่วยกำหนดให้ อยากออกหนอๆ เหมือนที่กล่าวมานั่นแหละ ฝึกขั้นนี้ก็เหมือนกัน

การเข้า การออก ท่านทั้งหลายอย่าให้ออกก่อนเวลา และก็อย่าให้เกินเวลาไป จนชำนิชำนาญ เมื่อชำนิชำนาญได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ต่อไปเราจะฝึกให้สูงขึ้นไป ครั้งนี้นะให้พักนะ ให้พักอยู่ ๕ วัน ขั้นที่ ๖ ชั่วโมงนี้ ให้พักอยู่ ๕ วัน ภายใน ๕ วันนี้ เราเลี้ยงอารมณ์ไว้ให้เข้าสมาธิไปตามปกติธรรมดา

เมื่อครบแล้ว จะฝึก ๑๒ ชั่วโมง อธิษฐานจิตเหมือนที่กล่าวมาแล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑๒ ชั่วโมง เมื่อถึง ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออกจากสมาธิออกจากฌาน เราก็ช่วยกำหนดให้ออก ให้ได้ออกทันเวลา

ถ้าว่าทำไม่ได้ ยังไม่ครบกำหนด ออกก่อนเวลาบ้าง เลยเวลาบ้าง หลังจากพักอยู่ ๗ วัน ขั้นนี้ก็พัก ๗ วันนะ ได้แต่เลี้ยงอารมณ์ไว้ จะเข้าใหม่ทีนี้ ก็ต้องเข้า ๑๒ ชั่วโมง เพราะขั้นนี้ยังไม่เรียบร้อย ขั้นนี้ยังไม่สามารถทำได้ สำหรับขั้นที่ผ่านๆ มาก็เหมือนกัน ๒ ชั่วโมงก็ดี ๓ ชั่วโมงก็ดี และก็ ๖ ชั่วโมงก็ดี

ถ้าเราทำแล้วยังไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ เราก็ฝึกใหม่ ฝึกชำนิชำนาญแล้วจึงฝึกขั้น ๑๒ ชั่วโมง ฝึก ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เข้าไม่ได้ออกไม่ได้ตามเจตนารมณ์ ตามที่เราฝึก ตามที่เราต้องการ ก็ให้ฝึกครบ ๗ วัน แล้วก็เข้า ๑๒ ชั่วโมงอีก ยังไม่ชำนิชำนาญการเข้า ครบ ๗ วันแล้วก็ฝึกอีก ให้เข้าอีกจนชำนิชำนาญ เข้าได้ออกได้ตามเจตนารมณ์ครบ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว เราจะฝึกต่อ

คือเราพักอยู่ ๗ วันแล้วเราจะฝึกต่อ การอธิษฐานจิตเหมือนเดิม ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๒๔ ชั่วโมง แล้วก็นั่งสมาธิไป การกำหนด การปฏิบัติ เหมือนกันทุกอย่าง ต่างแต่ว่าให้ได้ครบ ๒๔ ชั่วโมง เมื่อถึง ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ออก (ตามเวลา) เราก็ต้องกำหนดออกให้ อยากออกหนอๆ เสียก่อน ถ้าว่ามันออกก่อน ก็ไม่ได้ เลยเวลาไปก็ไม่ได้ ฝึกอยู่อย่างนั้นให้ชำนิชำนาญ

นี่หลักการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลวงพ่อไปฝึกมาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณ พระธรรมธีรราชมหามุนี วัดมหาธาตุฯ ท่านแนะวิธีให้ สอนให้ หลวงพ่อก็นำมาใช้จนตราบเท่าทุกวันนี้

ถามว่า ทีนี้สามารถเข้าได้ออกได้ ๗ วัน ไม่ใช่ของธรรมดานะ ถ้าฝึกให้ชำนิชำนาญแล้วทำได้ ๗ วันนี้ ตามหลักวิชาการที่ท่านแนะนำให้ แต่หลวงพ่อฝึกลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากก็ ๓๐ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมงแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าหมดความสามารถแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อว่าถึง อานิสงส์ ที่ท่านทั้งหลายจะได้นั้น คือ

๑) กามฉันทะ พอใจใฝ่หากามคุณ

๒) พยาบาท ไม่พอใจ แค้นเคืองคิดร้ายเขา

๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ ง่วงเหงา หดหู่ ซึมเซา กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ คิดมาก ฟุ้งซ่านรำคาญใจ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ

นิวรณธรรมทั้ง ๕ ประการนี้ สามารถที่จะข่มไว้ไม่ให้เกิดขึ้นมากลุ้มรุมจิตใจของเราได้ ในขณะที่อยู่ในสมาธิ หรืออยู่ในสมาธิของเราไม่เสื่อม

สิ่งที่เกิดขึ้นมาทดแทนก็คือความสุข อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุข ยืนอยู่ก็มีความสุข เดินไปเดินมาก็มีความสุข ทานอาหารฉันอาหารอยู่ก็มีความสุข นอนอยู่ก็มีความสุข มีแต่สุขกับสุข ถ้าอยู่ในขั้นนี้ ถือว่าเป็นความสุขในฌาน ความสุขขั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขชั้นสูงสุดยอดในทางสมถะ เมื่อสมาธิของเราหรือฌานของเราแก่กล้าแล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนา เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า สมาธินั้น หรือฌานนั้น มี ๒ ประการ คือ

๑. อัปปนาสมาธิ ญานที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นเป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ตามลำดับ สมาธิขั้นนี้ยังไม่สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปได้ ต่อเมื่อปฏิบัติวิปัสสนา อย่างน้อยยังขั้นปฐมมรรคให้เกิดขึ้นก่อนแล้วนั่นแหละ จึงจะสามารถทำลายกิเลสได้

๒. อัปปนาสมาธิ ที่เกิดในลำดับของมัคควิถี ก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมัคควิถี สมาธินั้นก็เป็นมรรคเป็นผล ถ้าว่าเกิดขึ้นได้ครั้งหนึ่ง ก็ถือว่าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล

ถ้าเกิดในลำดับของมัคควิถีครั้งที่ ๒ สมาธิที่ได้นั้นก็เป็นสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับมัคควิถีครั้งที่ ๓ อัปปนาสมาธิที่ได้นั้นก็เป็นอนาคามิมรรค อนาคามิผล ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดครั้งที่ ๔ อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นอรหัตตมรรค อรหัตตผล นี่อานิสงส์ที่ได้จากการเกิดของอัปปนาสมาธิมีอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย

สรุปแล้วว่า อัปปนาสมาธิ นี้เกิดขึ้นในลำดับของ ๒ วิถี คือ ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นฌาน เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถ้า อัปปนาสมาธิ เกิดขึ้นในลำดับของ มัคควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็เป็นมรรค เป็นผล เป็นโลกุตตระ หรือว่าถึงขั้นโลกุตตระ ขั้นโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ตามลำดับๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นหลักวิชาการที่ท่านทั้งหลายจะนำไปใช้เพื่อตัวเองด้วย และเพื่อสังคม ลูกศิษย์ลูกหา พระสงฆ์องค์เณร อุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส อยากประพฤติปฏิบัติ

เมื่อเขาต้องการประพฤติปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอนุเคราะห์เขาช่วยเหลือเขา ตามโอกาสตามเวลาที่มีอยู่ เราอย่าไปนอนหลับทับสิทธิ์ ดาบมีอยู่ในมือก็ใช้ดาบนั้นให้เป็น อาวุธมีอยู่ในมือใช้อาวุธนั้นให้เป็น สิ่งใดเป็นของที่ดีเป็นมงคลมีอยู่ในตัวของเรา ก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ดังนี้ เพื่อเราด้วยและเพื่อสังคมด้วย

นอกจากนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงใจ สงสัย ยังไม่เข้าใจ โอกาสหน้ามีอยู่ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย ขอเชิญท่านทั้งหลายได้มาไต่ถามความสงสัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นให้หมดไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะมา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 มีนาคม 2561 13:00:46

(http://www.austrianaviation.net/fileadmin/bilder/2017/12_DEZ/Kerze_C_Pixabay.jpg)

สมาธิ (๑)

ท่านผู้ใจบุญทั้งหลาย วันนี้ ตามกำหนดการของพวกเรา ก็ถือว่าเริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก จนกว่าจะครบกำหนด หรือจนกว่าจะหมดความสามารถหรือกำลังสมาธิ

คือผู้ที่ทำสมาธิได้แล้ว ๓๐ นาที ก็จะได้เริ่มฝึกสมาธิเป็น ๑ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๑ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๒ ชั่วโมงแล้ว จะได้ฝึกเป็น ๓ ชั่วโมง ผู้ที่ทำได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๖ ชั่วโมงผู้ที่ฝึกได้ ๖ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ที่ฝึกได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้ว ก็จะได้ฝึกเป็น ๒๔ ชั่วโมง

วันพระนี้ ถือว่าเราทำได้มากกว่า ๒๔ ชั่วโมง วันพระก่อนมีรายการธรรมเทศนา เลยไม่ได้ฝึก ฉะนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลายก็เริ่มฝึกสมาธิต่อไปอีก ก่อนอื่นที่จะได้ฝึกสมาธินั้น ก็ขอปรับความเข้าใจของบรรดาท่านทั้งหลายดังนี้

การฝึกสมาธิ มีธรรมะที่จะต้องประกอบกัน ส่วนใหญ่ๆ นั้นมี ๓ ประการ คือ ๑) จิต ๒) สติ ๓) สมาธิ

จิตกับสติ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน จิตกับสมาธิ ก็เป็นคนละอันไม่ใช่อันเดียวกัน คือสภาวะต่างกัน ธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ทั้งจิตก็ดี ทั้งสติก็ดี ทั้งสมาธิก็ดี เป็นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน

ขอให้เราทั้งหลายเข้าใจ อย่าคิดว่า เอ สติตามระลึกได้นี้ก็เป็นจิต สมาธิคือความตั้งใจมั่นก็เป็นจิต ที่จริงไม่ใช่ เพราะ สติกับสมาธินั้นเป็นตัวเจตสิก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นประกอบกับจิตเท่านั้น แต่ไม่ใช่จิต คือจิตนั้นเป็นสภาวะที่น้อมไปในอารมณ์ น้อมไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์

จิต เป็นสภาวะที่คิดอารมณ์ ทั้งดี ทั้งชั่ว

สติ มีหน้าที่ปกครองจิต มีหน้าที่ข่มจิต มีหน้าที่บังคับจิต มีหน้าที่อุปถัมภ์จิต มีหน้าที่เชิดชูจิต มีหน้าที่ยกย่องจิต

สมาธิ มีหน้าที่ทำจิตใจให้สงบ ทำจิตใจให้ตั้งมั่น สมาธินี้ หมายถึงธรรมชาติที่สงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว แล้วประกอบอยู่กับจิตตลอดเวลา

แต่ทำไมจึงไม่ช่วยในการจำ คือบางครั้ง แทนที่เราจะจำได้ดี เช่นว่า การที่เราท่องหนังสือ แทนที่เราจะท่องได้ดี หรือสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้วแทนที่จะจำได้ดี จะคิดได้ดี แต่กลับจำไม่ดี หรือจำไม่ได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอะไร

เพราะว่าจิตซึ่งเป็นธรรมชาติรับรู้อารมณ์ ถูกแต่งเติมเสริมแต่งให้เป็นไปตามลักษณะต่างๆ ของสิ่งที่เข้ามามีอิทธิพลครอบงำเหนือจิตใจ ถ้าจะชี้ชัดให้เข้าใจง่ายๆ ให้เปรียบเทียบเหมือนดัง น้ำบริสุทธิ์ เมื่อถูกแต่งเติมด้วยการนำสีมาใส่ น้ำบริสุทธิ์นั้นก็จะกลายเป็น น้ำสี ตามที่ถูกแต่งเติม ดังนั้น จิตที่คิดจะรับรู้อารมณ์ จึงเหมือนดังน้ำที่ถูกใส่สีตลอดเวลา ยากที่จะแสดงสภาพที่บริสุทธิ์ออกมาให้เห็นได้

แต่ถ้าเราพยายามไม่ผสมสีลงในน้ำนั้นอีก และในขณะเดียวกัน ก็พยายามกลั่นกรองน้ำเก่าให้บริสุทธิ์เช่น เดิม หรือมีสีน้อยลงไป น้ำนั้นก็จะสามารถกลับมาบริสุทธิ์ดังเดิม หรือมีความขุ่นมัวสกปรกน้อยลงได้ เมื่อความขุ่นมัวสกปรกน้อยลง สภาพความบริสุทธิ์เดิมของน้ำก็จะค่อยๆ ปรากฏตัวชัดขึ้น

จิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อพยายามปรุงแต่งจิตของเราให้น้อยลง พยายามไม่ปล่อยให้สิ่งภายนอกมามีอิทธิพลครอบงำจิตเราให้มากนัก ให้จิตเรารับแต่สภาพ เช่นว่า เห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็นรูป ได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยินเสียง ได้รสก็สักแต่ว่าได้รส ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ได้สัมผัสก็สักแต่ว่าได้สัมผัส คือให้รับก็สักแต่ว่ารับอารมณ์ รู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก ไม่ปรุงแต่งต่อไปให้มากกว่านั้น คือไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกชอบ ไม่ปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง หรือลุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

เมื่อทำได้เช่นนี้ จิตย่อมไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์เหล่านั้น จิตจะตั้งมั่นด้วยมีความรู้อยู่ตลอดเวลาว่า อะไรกำลังเกิดขึ้น สมาธิที่ประกอบกับจิตจะมีโอกาสออกมาแสดงบทบาทในทางที่เป็นประโยชน์ และใช้งานได้อย่างดี ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ธรรมชาติของจิตนั้นคือ ความคิด ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ดังนี้

ดังนั้น เมื่อคนเราประกอบไปด้วยกายกับใจ จึงทำให้คนเราต้องคิดไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา แต่โดยปกติ คนเรานั้นมักปล่อยให้ตนเองคิดไปตามความเคยชินของจิต นั่นคือมักคิดไปถึงเรื่องที่ผ่านเลยมาแล้วในอดีตบ้าง และคิดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึงซึ่งเรียกว่าอนาคตบ้าง การที่จิตไปอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอดีตอนาคต เรียกว่า จิตถูกปรุงแต่ง

ดังนั้น สมาธิที่ประกอบกับจิตซึ่งคิดถึงเรื่องอดีตและเรื่องอนาคต ก็จะติดอยู่กับเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น ซึ่งเรื่องที่เป็นอดีตหรืออนาคตนั้น จะปรุงแต่งจิตของเราให้เกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบกับเรื่องนั้นๆ ผลที่ตามมาคือความฟุ้งซ่าน คนที่คิดฟุ้งซ่านนานาประการนั่งอยู่ ๕ นาที หรือว่า เดินอยู่ ๕ นาที ก็คิดไปแล้วร้อยแปดพันประการ

เพราะอะไร เพราะว่าเราปล่อยจิตของเราให้นึกถึงแต่เรื่องอดีตบ้าง นึกถึงแต่เรื่องอนาคตบ้าง เมื่อเรานึกถึงแต่เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ดี หรือเรานึกถึงเรื่องอนาคตที่ยังไม่มาถึงก็ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน คิดมากกลุ้มใจ หนักๆ เข้าก็นอนไม่หลับ ทานอาหารไม่ได้ ทำให้เกิดโรคความดันสูง ทำให้เกิดโรคประสาทได้ ความฟุ้งซ่านจะเกิด เมื่อเรานึกถึงเรื่องอดีตเรื่องอนาคต ความฟุ้งซ่านก็จะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราไม่พยายามตั้งสติและ มีสมาธิอยู่กับปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า ความฟุ้งซ่านเป็นทั้งสาเหตุ เป็นทั้งผลอันเนื่องมาจากการที่เราไม่มีสมาธิอยู่ในปัจจุบัน เช่นในขณะปัจจุบัน เรากำลังเรียนหนังสืออยู่ในห้องเรียนหนังสือ และปัจจุบันเรากำลังอ่านหนังสืออยู่ แต่ว่าในขณะเดียวกันเราขาดสติขาดสมาธิ ปล่อยให้จิตเราคิดไปถึงเรื่องอดีต ฟุ้งเฟ้อไปถึงเรื่องอนาคต ที่เรียกว่าฝันกลางวัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน

สมมติว่า เราเป็นนักเรียน ฟังครูผู้สอนก็ไม่รู้เรื่อง ครูพูดอะไร สอนอะไรมาบ้าง หรือเรากำลังทำอะไรอยู่ ก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าในขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ สมมติว่า ท่านทั้งหลายฟังหลวงพ่อบรรยายธรรมะเรื่องสมาธิอยู่ในขณะนี้ หากว่าเรามัวแต่คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต ก็จะกำหนดจดจำไม่ได้เลยว่า หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร หรือพูดอย่างไร เราก็จำไม่ได้ หรือไม่รู้ความหมายของธรรมะที่บรรยาย ไม่รู้ความหมายของธรรมะที่เทศน์ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ไม่สามารถจำสิ่งเหล่านั้นได้ดี ทั้งนี้เพราะคุณภาพของจิตเราถูกบั่นทอนด้วยเรื่องอดีตเรื่องอนาคตเสียแล้ว

สมมติว่า เราอ่านหนังสือจนจบบท จบเล่ม แต่ไม่รู้ว่าอ่านเรื่องอะไร ตาอยู่ที่ตัวหนังสือ แต่ใจไปอยู่ที่ไหน ใจไปอยู่ที่อื่นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เราอ่านหนังสือจบแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ความหมาย จำไม่ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าสมาธิที่จะสามารถช่วยให้เกิดความจำได้ดีนั้น คือสมาธิจิตที่อยู่กับปัจจุบันคือในขณะนี้ เรียกได้ว่า ทันปัจจุบัน หรือว่าในขณะที่เราอ่านหนังสือ จิตของเราก็อยู่กับตัวหนังสือ นี้เรียกว่าปัจจุบัน

ในขณะที่ฟังหลวงพ่อบรรยายธรรม หลวงพ่อเทศน์ จิตใจของเราก็จะจดจ่ออยู่กับพระธรรมที่หลวงพ่อบรรยายที่เรียกว่า ปัจจุบัน เมื่อจิตของเรามีสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็สามารถที่จะกำหนดจดจำอะไรได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวดี เพราะว่าโดยปกติ สมาธิประกอบอยู่กับจิตของเราอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เราไม่พยายามทำสิ่งดีซึ่งมีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น ในทางตรงกันข้าม ยังพลอยบั่นทอนพลานุภาพให้ลดน้อยถอยลงด้วยการปล่อยให้จิตของเราฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตและเรื่องอนาคตเสียอีก

เหตุนั้น ต่อไปนี้ เราควรจะหันมาฝึกจิตของเราให้อยู่กับเรื่องปัจจุบัน ที่เรียกว่า ฝึกสมาธิ เช่นพวกเราทั้งหลายจะเริ่มฝึกกันในวันนี้ต่อไป

เพราะว่าการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในเรื่องซึ่งเรากำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน ในขณะนี้ วินาทีนี้ และเดี๋ยวนี้ มีสติอยู่ตลอดเวลา จิตย่อมมีพลานุภาพ ทำให้ความจำของเราดียิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาในขณะที่จิตมีสมาธิอยู่กับเรื่องปัจจุบันคือ สติ เมื่อสติกับสมาธิมีความสมดุลกัน สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาจะเกิดขึ้น ดังคำพูดที่เราพูดกันเสมอว่า สติปัญญา

เมื่อสติปัญญาจะเกิด ก็ต้องอาศัยสมาธิเสียก่อน เมื่อมีสมาธิเป็นปึกแผ่นแน่นหนา มีสมาธิเป็นพื้นฐานแล้วก็เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นก็สามารถจำแนกความผิดชอบชั่วดีได้ รู้ว่าอะไรควรทำอะไร ไม่ควรทำ ความชั่วจะเกิดขึ้นไม่ได้ ความดีย่อมเกิดขึ้นได้ฝ่ายเดียว

ในขณะที่เรามีสมาธิดี มีสมาธิเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับ ทำให้สติปัญญาเกิดขึ้นมา เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ความชั่วก็ไม่มีโอกาสจะไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา มีแต่คุณงามความดีคือ ศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้น ไหลเข้าไปในขันธสันดานของเรา นี้ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ

เราจะสังเกตได้อย่างไรว่า จิตของเราเป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิ หรือลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นเป็นอย่างไร ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ บรรดาลูกๆ ทั้งหลายจำไว้นะ บางทีปัญหานี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เราได้รับความรู้ความฉลาด หรือได้สิ่งที่เราต้องการขึ้นมาก็เป็นไปได้

บรรดาลูกๆ ทั้งหลายก็ลองคิดดูว่า บางสิ่งบางอย่างเราไม่นึก ไม่ฝึก แต่ตอบปัญหาหลวงพ่อได้เพียงนิดเดียว ก็ได้สร้อยทองคำหนักเป็นสองสลึงหรือเป็นบาทก็มี บางคนตอบปัญหาที่หลวงพ่อถามบางสิ่งบางประการได้ ก็ได้หัวใจหลวงพ่อไปครองก็มี เหตุนั้น การฟังธรรมะ ต้องฟังให้เป็นฟังแล้วจำไว้ หรือว่าหากมีโอกาสมีเวลา จะได้นำเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์

ลักษณะของจิตที่เป็นสมาธินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. แข็งแรงดี มีพลังมาก เหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมกัน ย่อมมีกำลังมากกว่าที่ปล่อยให้กำลังน้ำไหลกระจัดกระจายไปตามธรรมชาติของมัน ธรรมดาของน้ำนี้ ถ้าเราบังคับให้มันไหลพุ่งไปในทางเดียวกันนี้ กระแสของน้ำจะมีพลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้

อย่างเช่นไฟฟ้าที่พวกเราทั้งหลายใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เขาก็เอาพลังน้ำที่พุ่งลงไปนั้นเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก็ผลิตไฟฟ้ามาใช้อยู่ในทุกวันนี้ ทีนี้น้ำนั้น ถ้าเราปล่อยให้ไหลบ่าไปตามธรรมชาติของมัน เหมือนกับคลองที่ข้างวัดของเรานี้ ก็ไม่มีกำลังมาก เอามาใช้ประโยชน์อะไรก็ไม่ได้เท่าที่ควร

หรือเหมือนกันกับไฟฉาย ไฟฉายนี้ถ้าว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราใส่หัวเทียนเข้าไปแล้วเปิดสวิทซ์ก็จะสว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้มาก ถ้าเราเอากรวยปรับแสงเข้าไป แต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับแสงสว่างให้เพิ่มขึ้นจะไม่มีพลังมาก แต่ถ้าเราปรับปุ่มวิทยาศาสตร์ที่เขามีไว้ให้เราปรับแสงสว่างของไฟฟ้านั้น เราปรับเข้าไปตามลำดับๆ เมื่อปรับได้ถึงที่แล้ว ไฟฉายของเราก็มีแสงสว่างมาก สามารถส่องดูสถานที่ไกลๆ ได้ ข้อนี้ ฉันใด

จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยให้คิดไปแต่เรื่องอดีตอนาคตไป ร้อยแปดพันประการ จิตใจของเราก็ไม่มีพลังไม่มีอำนาจ แต่ถ้าเราคุมกระแสจิตของเราให้เหลือเป็นความคิดเดียว ยิ่งถ้าเรารวมให้เหลือน้อยได้เท่าไร จิตก็จะยิ่งมีพลังมาก

๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนกันกับกระแสน้ำในบึงที่สงบนิ่ง ไม่มีสิ่งใดมารบกวนให้เคลื่อนไหวได้

๓. ใสกระจ่าง ชัดเจน เหมือนน้ำที่บริสุทธิ์ ถึงแม้จะมีฝุ่นละอองอยู่บ้าง เมื่อตกตะกอนหมดแล้ว สภาพความบริสุทธิ์ย่อมกลับมาแสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่ง

๔. นุ่มนวล ควรแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่นวาย ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย ไม่ฟุ้งซ่าน

ทีนี้ มาว่าถึงความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิว่า เพราะเหตุไรจึงพากันฝึกสมาธิ หรือเพราะเหตุไร จึงพากันเจริญสมถกัมมัฏฐานทำจิตใจให้เป็นสมาธิ เพราะเหตุไรจึงเจริญวิปัสสนาภาวนา มีความมุ่งหมายอย่างไร หรือประโยชน์ที่เกิดจากการมีสมาธิมีอย่างไร

จุดมุ่งหมายหลักในการฝึกสมาธิก็คือ

ต้องการประโยชน์อย่างสูงสุด โดยมีพระนิพพานเป็นที่สุด มีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง

คือการฝึกสมาธิครั้งแรกเราก็ต้องเตรียมจิตให้พร้อมน้อมไปสู่การเกิดของปัญญา พิจารณาสิ่งต่างๆ ให้รู้แจ้งเห็นจริงตามธรรมชาติที่มีที่เป็น เป็นการที่จิตน้อมกลับไปสู่สภาพเดิม

อะไรเป็นสภาพเดิมของจิต

สภาพเดิมของจิตก็คือความบริสุทธิ์นั่นแหละ เป็นสภาพดั้งเดิมของจิต เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว จิตก็จะสะอาด สว่าง สงบ และเมื่อนั้นเราก็จะได้รับความสุขแท้จริง ซึ่งเป็นความสุขอันเกิดจากการที่จิตเกิดความสงบ ร่มเย็น เบา และปลอดโปร่ง

จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันคือเมื่อเราฝึกสมาธิได้แล้ว ก็นำสมาธิมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ที่เกิดจากสมาธิก็มีอยู่หลายอย่าง ดังนี้ คือ

๑. เพื่อช่วยทำให้จิตใจได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด เกิดความสงบ หายความกระวนกระวาย ยั้งหยุดจากความวิตกกังวล ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ได้รับการพักผ่อน ทำให้ใจสบาย และมีความสุข เมื่อส่วนใจรู้สึกสบายและมีความสุขก็จะส่งผลให้ส่วนกายได้รับความสุขตามไปด้วย เช่น ในเวลาที่จำเป็นต้องรอคอย หรือไม่มีอะไรจะทำ เวลาเราทั้งหลายไปกับรถโดยสารอย่างนี้ หรือไปกับรถประจำทาง ในขณะที่รถเกิดติด

ถ้าเราปล่อยจิตให้คิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเกิดความรู้สึกโกรธ หรือเกิดอาการเครียดขึ้นมา แต่ถ้าเราหันมากำหนดลมหายใจเข้าออก เช่น หายใจเข้าเรานับ หนึ่ง หายใจออกเรานับ สอง หรือ หายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนา พุทโธ อย่างนี้เป็นต้น สลับกันเรื่อยไปเราจะไม่เกิดความเครียด หรือจะไม่เกิดความชอบ หรือจะไม่เกิดความชังกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราไม่ได้เอาใจของเราไปจดจ่อกับสิ่งภายนอกที่กำลังวุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนั้น หรือจะใช้วิธีที่ปฏิบัติสลับแทรกไปในขณะที่เราต้องทำงานด้วยการใช้สมองอย่างหนัก

เช่นบางครั้ง เราอ่านหนังสืออย่างนี้ เราเอามาใช้ในเวลาอ่านหนังสือได้ สมมติว่า เราอ่านหนังสือไปได้สักสอง สามหน้า หรือสี่หน้าอย่างนี้ เราหยุดเสียก่อน หยุดทำจิตใจของเราให้เป็นสมาธิ โดยขณะนั้น เราหยุดเรื่องการอ่านหนังสือเสียโดยที่เรามาภาวนา พุทโธๆ หรือว่าหายใจเข้านับ หนึ่ง หายใจออกนับ สอง หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พุท ท้องยุบลงภาวนาว่า โธ หรือท้องพองขึ้นมาภาวนาว่า พองหนอ ท้องยุบลงมาภาวนาว่า ยุบหนอ อย่างนี้สัก ๓ นาที หรือ ๕ นาที เราค่อยอ่านหนังสือใหม่

การอ่านหนังสือของเราจะมีประสิทธิภาพ ทำให้จำได้ง่ายและไม่เกิดความตึงเครียดไม่ทำให้ปวดศีรษะหรือเวลาเราท่องหนังสือก็เหมือนกัน เมื่อเราท่องหนังสือไป เราใช้เวลาท่องหนังสืออยู่ ๑๕ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีประมาณนี้ แต่ละครั้งๆ ท่องหนังสือนี้ไม่เกิน ๓๐ นาที

เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที เราตั้งอกตั้งใจท่องหนังสือจริงๆ ไม่คิดเรื่องอดีต ไม่คิดเรื่องอนาคต เมื่อเราท่องหนังสือครบ ๓๐ นาที แล้ว เราทวนตั้งแต่ต้นถึงปลาย จำได้แม่นยำแล้วก็พักเสียก่อน ปล่อยวางการท่องหนังสือนั้น หันมาทำจิตใจให้เป็นสมาธิ โดยหายใจเข้าจะภาวนาว่า พุทโธ หายใจออกจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้

หรือท้องพองขึ้นมากำหนด พุทโธ ท้องยุบลงไปกำหนด พุทโธ ท้องพองขึ้นมากำหนด พองหนอ ท้องยุบลงไปกำหนด ยุบหนอ ก็ได้ ทำจิตใจให้เป็นสมาธิสัก ๕ นาที ครบกำหนดแล้ว หลังจากนั้นก็ท่องหนังสือต่อไปอีก ๓๐ นาที เราปฏิบัติสลับกันไปอยู่อย่างนี้ จะทำให้การท่องหนังสือนั้นจำได้ง่าย จะไม่เกิดความตึงเครียด จะไม่เกิดอาการปวดศีรษะ นี้ทำให้มีประสิทธิภาพในการท่องหนังสือหรือการทำงานทุกอย่าง

เราอาจจะใช้เวลานิดๆ หน่อยๆ หยุดพัก เวลาเราปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สลับกันไปกับการอ่านหนังสือ การท่องหนังสือ ถ้าทำได้เช่นนี้ จะทำให้สมองและจิตของเราได้รับการพักผ่อน ไม่เกิดการตึงเครียด ไม่ปวดศีรษะ ไม่กลุ้มใจ ไม่เกิดโรคประสาท ไม่เกิดความดันสูง

๒. ประโยชน์ของสมาธิที่จะต้องนำมาใช้ในปัจจุบันก็เพื่อช่วยส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การศึกษา การเล่าเรียนและการกระทำกิจต่างๆ ทำให้มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการกระทำนั้นๆ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวกไม่เลื่อนลอย ช่วยให้การกระทำทุกอย่างนั้นถูกต้อง ทำให้คำพูดทุกอย่างนั้น ถูกต้องไม่ผิดพลาด ไม่พลั้งเผลอและทำให้ความคิดทุกสิ่งอย่าง เป็นไปอย่างมีระเบียบและมีประสิทธิภาพ

คนที่มีจิตไม่เป็นสมาธิ ความคิดนั้นย่อมไม่เป็นระเบียบ ไม่ราบเรียบ บางทีคิดเรื่องนี้ยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องอื่นแล้ว คิดเรื่องนั้นยังไม่จบก็ไปคิดเรื่องโน้นแล้ว อะไรร้อยแปดพันประการ นี่เขาเรียกว่า ความคิดไม่มีระเบียบ ไม่มีระบบ เมื่อความคิดไม่มีระบบและไม่มีระเบียบ ความคิดนั้นก็ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีปัญหาอะไร เกิด ความเคลือบแคลงสงสัย ก็ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาได้

แต่เมื่อใดเรามีสมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิต ความคิดของเราย่อมมีระบบ หรือว่าความคิดของเราย่อมมีระเบียบตามที่เราคิดไว้ ที่เราวาดภาพไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคิดของเราก็มีประสิทธิภาพ การทำงานก็จะได้รับผลดี การงานเป็นไปด้วยความรอบคอบ ไม่ผิดพลาด และป้องกันอุบัติเหตุได้ผลดี

เช่นเราขับรถอย่างนี้ ถ้าจิตของเรามีสมาธิดี ไม่พลั้งเผลอ การขับรถก็ปลอดภัย เพราะเมื่อจิตมีสมาธิแล้ว แสงสว่างของจิตก็จะเกิดขึ้นมา จิตของเราก็จะมีกำลัง สามารถที่จะช่วยส่งเสริมการงานทุกอย่างให้สำเร็จลุล่วงไปโดยดี ได้ผลดี หรือมีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป

๓. ประโยชน์ของสมาธิที่เราจะต้องได้ในปัจจุบัน ก็เพื่อช่วยเสริมสุขภาพร่างกาย แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า บุคคลประกอบไปด้วย ๒ ส่วน คือ ๑) ส่วนกาย ๒) ส่วนจิตใจ ร่างกายและจิตใจ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและกัน และมีอิทธิพลต่อกัน

กล่าวคือ เมื่อส่วนของร่างกายไม่ผ่องใส จิตใจของเราก็จะอ่อนแอ ขุ่นมัวไปด้วย เมื่อส่วนจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง หรือขาดกำลังใจ ก็ยิ่งจะทำให้การกระทบกระเทือนโรคทางกายให้ทรุดหนักลงไปอีก แม้ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติก็ตาม แต่พอได้ประสบเรื่องราวที่ทำให้จิตใจของเราเศร้าโศกเสียใจหรือผิดหวังอย่างแรง ก็อาจทำให้ต้องเป็นไข้ล้มป่วยลงไปก็ได้

ส่วนผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งสมบูรณ์ ถึงจะมีความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บป่วยไม่สบายเฉพาะร่างกายเท่านั้น ส่วนจิตใจนั้นไม่พลอยต้องป่วยไปด้วย คือป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วย พร้อมกันนั้น ก็ใช้ใจที่สบายและเข้มแข็งนั้น มาช่วยสร้างกำลังใจและส่งอิทธิพล บรรเทาหรือผ่อนเบาโรคภัยไข้เจ็บทางกายนั้น ทำให้โรคทางกายนั้นหายง่าย หายไว หายเร็วขึ้นด้วย

ท่านทั้งหลายคงจะสังเกตเวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนี้ นี่ไม่ใช่ว่าสร้างอนุสาวรีย์ให้หลวงพ่อเองนะ ขออย่าเข้าใจอย่างนี้ และก็ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเองและก็ไม่ใช่ว่าเป็นการเชิดชูตัวเอง ขอให้บรรดาครูบาอาจารย์ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้ทราบไว้ด้วย อันนี้ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รำลึกถึงว่ามันเป็นจริงหรือไม่

เวลาที่หลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย เช่นว่า ในปีที่ผ่านมา เลือดกำเดาออกอย่างแรง ต้องเข้าโรงพยาบาล ถึงแม้การป่วยหนักถึงขนาดนั้นก็คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้ป่วยอะไร มันอยู่เฉยๆ ญาติโยมไปมาหาสู่ ไปเยี่ยมไข้ได้ป่วย ก็เฉยๆ อยู่ เหมือนกับว่าหลวงพ่อไม่ได้ป่วยอะไร ใครไปหาก็พูดคุยด้วย หลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด มาหาก็พูดคุยด้วย บรรดาลูกศิษย์ลูกหาไปหาก็พูดคุยกัน เหมือนกับไม่ได้เป็นอะไร

เวลาแพทย์เวลาหมอมาตรวจเช็คร่างกาย ก็พูดธรรมดา เขาถามว่าเป็นอย่างไรหลวงพ่อ ก็ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร ธรรมดา เพราะมันธรรมดาจริงๆ คือร่างกายนั้น มันก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง สำหรับจิตใจมันก็เป็นอีกส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่แยกกันอยู่ นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ถ้าว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ จิตใจของเราก็เข้มแข็ง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย สำหรับจิตใจของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วยด้วย แล้วก็นอกจากนี้ ยังสามารถทำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นรักษาโรคภัยไข้เจ็บของเราให้เบาบางลงไป หรือทุเลาลงไปและให้หายเร็วขึ้น

หลวงพ่อเลือดกำเดาออกอย่างหนัก แต่นอนพักที่โรงพยาบาลเพียงสองคืนเท่านั้นก็ออกมาได้ นี่เป็นเพราะว่าจิตใจของเรานั้นได้ฝึกฝนอบรมมาแล้ว ญาติโยมทุกท่านก็เหมือนกัน คนใดที่มีสมาธิแล้ว สามารถนำเอาสมาธิของตนมาใช้ มันก็ได้ประโยชน์มีประสิทธิภาพ สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เช่นว่า โรคประสาทอย่างนี้

คนที่เป็นโรคประสาทนี้จะมาบอกว่า ตนได้สมาธินั้น ขัดกันทั้งเพ คือเหตุผลไม่ตรงกัน คนที่ได้สมาธินั้นจะเกิดโรคประสาทได้อย่างไร เกิดไม่ได้ คนที่เป็นความดันสูง แต่บอกว่าตนสามารถนั่งสมาธิได้ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ ขัดต่อหลักการ ขัดต่อวิธีการ

เพราะว่าคนที่ฝึกสมาธิ ที่ได้สมาธิแล้ว จะไม่มีความดันสูง เพราะว่าถ้าความดันสูงเกิดขึ้นมา ถ้าจิตมีสมาธิอยู่ ความดันมันเกิดขึ้นไม่ได้ หรือว่าหากมีบ้างเป็นบางครั้งบางคราวเพราะการทำงาน เครียดกับการงานมาตลอดทั้งวัน เราก็นั่งสมาธิ ทำสมาธิ ความดันนั้นก็ลดลงไป

เหตุนั้น จิตใจที่เป็นสมาธิ จึงสามารถรักษาความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้ รักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะเหตุใด จึงสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหารได้ เพราะโรคกระเพาะอาหารนี้เกิดจากความคิด คนคิดมากเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระเพาะอาหารเกิดอาการเกร็งตัวขึ้นมา ทำให้ลำไส้เกิดความเกร็งตัวขึ้นมา เมื่อมันเกิดความเกร็งตัวขึ้นมา ก็เป็นโรคลำไส้ได้ เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่คนที่มีสมาธินี้ โรคกระเพาะอาหารไม่มี โรคลำไส้ไม่มี

ญาติโยมทั้งหลายทดลองคิดย้อนหลัง จากอดีตถึงปัจจุบันที่ผ่านมา หลวงพ่อได้มาอยู่กับญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อบางครั้งไม่ฉันเลย ไม่ฉันตั้ง ๗ วัน นี่เฉยๆ ไม่ได้ฉันข้าวปลาอาหารเลย ทำไมไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทำไมไม่เกิดโรคลำไส้ แพทย์เขาบอกว่าโรคกระเพาะนี้ เกิดเพราะฉันอาหารน้อย เกิดเพราะฉันอาหารไม่เป็นเวลา มันก็จริงตามกับแพทย์เขาบอกอยู่

แต่ถ้าเรามีสมาธิแล้ว ๗ วันเราไม่ฉันไม่เป็นไร ๑๕ วันไม่ฉันยังไม่เป็นไร เดือนหนึ่งไม่ฉันยังอยู่ได้ ๓ เดือนไม่ฉันก็ยังอยู่ได้ ไม่เกิดโรคลำไส้ ไม่เกิดโรคกระเพาะอาหาร ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่ายืมตำรับตำรามาพูด หรือไม่ใช่เรายืมคำของครูบาอาจารย์ที่เล่าสู่มาพูด แต่ว่าได้ทดลองมาด้วยตนเอง จิตใจของเราที่เป็นสมาธินี้แหละสามารถรักษาโรคได้ รักษาโรคกระเพาะได้ รักษาโรคลำไส้ได้ รักษาโรคความดันสูงได้ รักษาโรคประสาทได้

เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจเถิดว่า ที่เราบอกว่า เราฝึกสมาธิได้ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง แต่มีข่าวเกรียวกราวที่โน้นที่นี้ ที่อยุธยาเขามียาดี ที่พิจิตรเขามียาดี ที่อุทัยฯ มียาดี ที่สกลนคร นครพนม เขามียาดี ก็เฮโลกันไปเสียสะตุ้งสตังค์ ของดีที่ตนมีอยู่ใช้ไม่ได้ ของดีที่ตนมีอยู่ไม่นำมาใช้ประโยชน์

เราจะฝึกทำไม เมื่อฝึกสมาธิให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของเราแล้ว เวลาจำเป็นที่จะต้องใช้ เราไม่ใช้ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เวลาลูกผัวญาติพี่น้องล้มป่วย ล้มหายตายจากไป เรากลับมาร้องไห้โฮจนแทบจะหมดน้ำตา ตาแดงตาบวม คนที่ได้สมาธิ คนที่ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อพลัดพรากจากของรักของชอบใจ แต่มาร้องห่มร้องไห้ มันก็เสียเกียรติของนักปฏิบัติ เสียภูมิของผู้ปฏิบัติธรรม

เหตุนั้น หลวงพ่อขอกระซิบครั้งหนึ่งว่า สมาธิที่ฝึกไปแล้ว ขอให้นำมาใช้ คนที่มีของดีแล้ว ก็ขอให้ฉลาดใช้ มันก็ได้ผลประโยชน์ คนที่มีของดีอยู่แล้วไม่รู้จักใช้ ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ก็วกเข้ามาอีกว่า คนที่สมาธิดีแล้ว เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็เจ็บไข้ได้ป่วยแต่ร่างกาย แต่จิตใจไม่ป่วยด้วย มิหนำซ้ำ นำจิตใจที่เป็นสมาธินั้นมาช่วยรักษาโรคทางกายนั้นให้หายเร็วขึ้น ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างที่กล่าวมานี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้ฝึกสมาธิมาพอสมควรทีเดียว และในปัจจุบัน ดังที่เราได้ทราบกันดีว่า เรื่องสมาธินั้น ยังใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีจิตใจผ่องใสเบิกบานอยู่แล้ว พลังของสมาธิก็ยังช่วยทำให้ร่างกายของเราเอิบอิ่ม ผิวพรรณผ่องใส สุขภาพร่างกายดี มีภูมิต้านทานโรค ไม่เจ็บป่วยง่าย เราทั้งหลายนึกดูว่า เราออกไปสอนกัมมัฏฐานในภาคฤดูหนาว มันหนาวเหน็บจริงๆ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ นี่มันหนาวจริงๆ

แต่ทำไมคนที่ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่เป็นหวัดกัน ไม่เป็นไข้หวัด ตามปกติทุกวันนี้เราเป็นหวัดกันเมื่อวัน ๑๕ ค่ำที่ผ่านมา น้ำค้างลงมานิดเดียวเท่านั้น ไข้หวัดกันทั้งบ้าน จับไข้กันเกือบทั้งวัด เพราะเหตุใดจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าจิตใจขาดสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็งพอ แต่ถ้าจิตใจเข้มแข็งพอแล้ว จะไม่เป็นอย่างนี้

ในภาคฤดูหนาวเราไปสอนกัมมัฏฐาน ไปฝึกกัมมัฏฐานให้กับลูกศิษย์ลูกหาให้ญาติโยม มันหนาวเหน็บจริงๆ ตื่นแต่เช้าตั้งแต่ตี ๓ ครึ่ง บางวันก็ตื่นตั้งแต่ตี ๓ กว่าจะได้นอนก็ ๕ ทุ่ม ๖ ทุ่มจึงจะได้นอน แต่เราไม่เป็นไข้หวัดกัน ก็เพราะอำนาจของจิตที่เป็นสมาธิช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ให้เบาบางลง หรือว่าให้หายไป

ในปัจจุบันได้พิสูจน์เป็นที่แน่นอนแล้วว่า โรคทางกายหลายโรค ก็เป็นเรื่องกายสัมผัส คือเกิดจากความแปรปรวนของจิตใจ เช่น เป็นคนมักโกรธหรือเป็นคนชอบวิตกกังวล ความโกรธและความวิตกกังวลนั้นจะทำให้ใจ และสมองเกิดอาการตึงเครียด จึงทำให้เกิดโรคปวดศีรษะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น

แต่เมื่อปรับปรุงคุณภาพจิตใจให้ดีขึ้นแล้ว ไม่เป็นคนมักโกรธ หรือชอบวิตกกังวล คิดมากจนเกินขอบเขต เป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีสมาธิมีสติอยู่ในเรื่องปัจจุบัน ไม่คำนึงถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ถ้าอดคิดไม่ได้จริงๆ ก็คิดเพียงเพื่อนำสิ่งที่ผ่านเลยไปแล้วมาเป็นครู สิ่งที่ไม่ดีก็เลิกละเสีย สิ่งที่ดีก็ทำต่อไป หรือเรื่องของอนาคต ก็คิดเพียงเพื่อเป็นจุดมุ่งหมายให้เราเดินไปและเป็นกำลังใจให้เราก้าวเดินไป และจะสำเร็จหรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องของอนาคต

แต่ว่าให้คำนึงถึงเรื่องที่เป็นปัจจุบันนี้ว่า เราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร และเราได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง เราปฏิบัติอย่างสุดความสามารถของเราที่มีอยู่แล้วหรือยัง เมื่อปัจจุบันดีอนาคตก็ดีเอง คิดเพียงเท่านี้ และลงมือปฏิบัติทันที จิตใจของเราจะมีสมาธิอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น ไม่วิตกไม่กังวล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เกิดความรู้สึกชอบ ไม่เกิดความรู้สึกชัง อันจะทำให้เราต้องปรุงแต่ง หรือฟุ้งซ่านมากขึ้นไปอีก

วิธีฝึกสมาธิที่เราทั้งหลายทำอยู่ทุกวันนี้ ก็พอจะเป็นแบบอย่างในการฝึกได้ดีแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่ง การฝึกสมาธินี้ หรือการฝึกจิต อาจทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เราทำกันอยู่นี้ เรากำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งเรียกว่า อานาปานสติ แต่อานาปานสตินี้ เราใช้อยู่ ๓ วิธี คือ

วิธีที่ ๑ เอาต้นลมมาบริกรรม ต้นลมนั้นหายใจเข้า หายใจออก เราหายใจเข้าภาวนา พุทโธ หายใจออกภาวนาพุทโธ นี้กำหนดต้นลม หายใจเข้ากำหนดว่า รู้หนอ หายใจออกกำหนดว่า รู้หนอ ใช้การนับก็ได้ แบบต้นลม

วิธีที่ ๒ เอากลางลมมาบริกรรม กลางลมก็อยู่ที่หัวใจของเรา อยู่ที่ทรวงอกของเรา แต่กลางลมนี้ละเอียดมาก ส่วนมากไม่นิยมการปฏิบัติ เพราะถ้าผู้ที่ไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะกำหนดได้

วิธีที่ ๓ เราเอาที่สุดลมมาบริกรรม ที่สุดลมคือ ท้องพอง ท้องยุบ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพราะเหตุใด จึงหันมาใช้ท้องพองท้องยุบ อันเป็นที่สุดลมนี้ เพราะว่า ท้องพองท้องยุบนี้ เมื่อเรากำหนดไปเท่าไรๆ ยิ่งชัดยิ่งขึ้น จิตและเจตสิกของเราก็สามารถตั้งอยู่แนบสนิทได้นาน สามารถทำสมาธิได้ง่าย



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 มีนาคม 2561 13:02:39

(http://www.austrianaviation.net/fileadmin/bilder/2017/12_DEZ/Kerze_C_Pixabay.jpg)

สมาธิ (๒) - ต่อ

เหตุนั้น เมื่อเราฝึกสมาธิ เราจะจับที่ต้นลม หรือที่สุดลมก็ได้ เราทำอยู่อย่างนี้ร่ำไป ผลสุดท้ายก็จะทำให้จิตใจของเราเป็นสมาธิ สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการของเรา

ทีนี้ประโยชน์ของสมาธิที่เราได้ฝึกนั้น มีประโยชน์หลายสิ่งหลายประการ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และจะรู้สึกแปลกใจ ครั้งแรกๆ ก็จะเกิดความแปลกใจอยู่ ธรรมดา คือจิตใจของเรานั้นจะเกิดอาการดิ้นรนนานัปการ คือเมื่อก่อนโน้น เราปล่อยใจให้เป็นไปตามธรรมชาติ คิดเรื่องอดีตอนาคต ร้อยแปดพันประการ

แต่ขณะที่เรามาฝึกสมาธินี้ เราตั้งใจฝึกจิตของเราให้อยู่กับอาการพองอาการยุบ อยู่กับลมหายใจเข้าหายใจออก เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตของเราก็จะเกิดความดิ้นรน พยายามจะออกไปภายนอกร่างกาย เมื่อได้ยินเสียงภายนอก จิตก็จะไปเกาะอยู่กับเสียงนั้น หรือเมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะออกไปเกาะอยู่กับรูปนั้น ทำให้กระวนกระวาย ไม่สามารถจะสงบได้ง่ายๆ บางครั้งอาจทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หรือเกียจคร้านขึ้นมาก็มี บางทีก็ทำให้เกิดความผิดหวังขึ้นมา

ถ้าเราพยายามอดทนและปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลาสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๓๐ นาทีบ้าง ดังที่เราทั้งหลายเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็จะทำให้สามารถเพิ่มพูนสมาธิจิตให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อการประพฤติปฏิบัติดำเนินไปได้เป็นเวลานานพอสมควร จะทำให้เกิดความชำนาญ มีผลทำให้เกิดความสงบทางจิตใจ และมีพลังจิตสูงขึ้นตามลำดับๆ

ข้อสำคัญคือ อย่าลืมว่า ถ้าการปฏิบัตินี้ปราศจากสติสัมปชัญญะคอยควบคุมกำกับแล้ว จะปราศจากความตั้งใจที่แน่วแน่ จะไม่สามารถทำให้เกิดสมาธิจิตได้เลย สมาธิเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว คือทุกคนเกิดขึ้นมาแล้ว มีสมาธิด้วยกันทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่ที่พื้นเพ และสิ่งแวดล้อม ถ้ามีพื้นเพดีและสิ่งแวดล้อมดี ก็จะทำให้จิตใจของเรามีสมาธิได้ง่าย

สมมติว่า ภายในครอบครัวของเรานี้ ครอบครัวของเราไม่ค่อยทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่ค่อยผิดเถียงกัน อะไรๆ เกิดขึ้นก็ลงเอยกันด้วยดี เข้าใจกันได้ดี อันนี้เรียกว่า พื้นเพของเราดี อีกอย่างหนึ่ง ธรรมชาติจิตใจของเราก็เป็นธรรมชาติที่เยือกเย็นสุขุมลึกซึ้งอยู่แล้ว ประกอบกับสิ่งแวดล้อมคือ บรรดาญาติมิตร ครอบครัวของเราทุกคนล้วนแต่สนใจในเรื่องการทำสมาธิ ภายในบ้านของเราทุกคนสนใจเรื่องการประพฤติปฏิบัติ ในวัดของเราสนใจในการประพฤติปฏิบัติ อย่างที่วัดของเรา หรือบ้านของเรานี้ เรียกว่า สิ่งแวดล้อมดี พื้นเพบางอย่างในครอบครัวอาจจะไม่ดี แต่สิ่งแวดล้อมดี ถ้าสิ่งแวดล้อมดีอย่างเดียว แต่ภายในครอบครัวพื้นเพไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการ แต่ถ้าว่าพื้นเพดี แต่สิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ตามความต้องการเช่นกัน

เมื่อเราประกอบกันทั้งสองอย่าง คือพื้นเพดีด้วย สิ่งแวดล้อมดีด้วย ก็พลอยให้การทำสมาธิมีผลที่ดี มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสมาธิที่ได้ก็เป็นสมาธิที่ถูกต้อง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายสิ่งหลายประการ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

สมาธินี้ นอกจากจะใช้ในการรักษาโรคแล้ว ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพลังเกิดอานุภาพ คือ เกิดวิชชา เกิดปฏิสัมภิทา เกิดอภิญญาได้ เช่น

๑. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือระลึกชาติหนหลังได้ ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาน ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นี้ผลก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจะทำวิชชาทั้ง ๓ ประการนี้ให้เกิดขึ้นได้เลย หรือคนที่แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา ก็เกิดขึ้นจากสมาธิ

ถ้าคนไม่ได้สมาธิถึง ๘ ขั้น หรือสมาบัติ ๘ จะไม่สามารถทำปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ให้เกิดขึ้นได้เลย เพียงเราได้รูปสมาบัติ ๔ คือได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดสมาบัติ ­๘ ได้ ปฏิสัมภิทา ๔ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้สมาบัติ ๘ คือได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

เมื่อทำได้ดังนี้แล้ว สามารถจะทำให้เกิดปฏิสัมภิทา ๔ ได้ ส่วนคนที่ได้อภิญญา ๖ เช่นว่า มีหูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ก็เกิดจากสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิแล้ว อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้เลย

สรุปความว่า สมาธินี้มีประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีประโยชน์ตั้งแต่ขั้นต่ำที่สุดจนถึงขั้นสูงที่สุด

ขั้นต่ำ ก็สามารถใช้ในการประกอบการงาน สามารถใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้หายไปได้

ขั้นกลาง ก็สามารถทำให้จิตใจสงบสุข ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อจุติเพราะจิตดวงนี้ ก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้ ตามกำลังของสมาธิ

ขั้นสูง สามารถทำให้เกิดปัญญา สามารถนำไปทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดาน สามารถได้บรรลุอริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็เพราะอาศัยสมาธิเป็นพื้นฐาน อบรมบ่มปัญญาให้เกิดขึ้นจนสามารถได้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพราะอาศัยสมาธิ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามทำให้สมาธิเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของตน

ขอให้ภูมิใจดีใจว่า เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เป็นโชคดีของเราแล้วหนอ ที่พื้นเพและสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของเราดีครบหมดทุกอย่าง มีโอกาสได้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล มีโอกาสได้ฝึกสมาธิ มีครูบาอาจารย์เป็นผู้ช่วยแนะนำ ชี้แนะแนวทางให้ในการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียชาติเกิด ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา แล้วยังได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นสูง

ขอให้เราได้นึกถึงคุณงามความดีของเราอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา จะได้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญคุณงามความดีในการฝึกสมาธิ

เอาล่ะท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะเรื่องสมาธิ มาบรรยาย เพื่อประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 30 มีนาคม 2561 09:25:51

(https://mediartv1.freenode.ro/image/201311/w620/doliu_88552400.jpg)

สมาบัติ

การเข้าอยู่ใน ฌาน หรือการเข้าอยู่ใน ผล หรือการเข้าอยู่ใน นิโรธ เรียกว่า สมาบัติ

การเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกันกับหลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว หรืออุปมาเหมือน อาบน้ำเย็นๆ

สมาบัตินั้น มีอยู่ ๓ ประการ คือ

๑. ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน ผู้จะเข้าฌานสมาบัติ ต้องเป็นผู้เจริญสมถกัมมัฏฐาน มีบัญญัติเป็นอารมณ์ และได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป จนถึงจตุตถฌาน

ในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ที่ทำฌานได้มีอยู่ ๓๐ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการนี้ สามารถทำฌานได้ เพราะเป็นกัมมัฏฐานที่ปรากฏชัด อันจิตและเจตสิกสามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

อีก ๑๐ ประการนอกจากนี้ ทำได้เพียงอุปจารสมาธิ อุปจารฌานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ถึงอัปปนาสมาธิถึงฌานได้ เพราะกัมมัฏฐานทั้ง ๑๐ ประการนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ อันจิตและเจตสิกไม่สามารถแอบสนิทตั้งอยู่ได้นาน

สำหรับกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ทำฌานได้นั้น ก็ยังมีอานุภาพต่างๆ กัน คือ

กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ ทำให้ได้ถึงจตุตถฌาน(จตุกกนัย)

อุเบกขาพรหมวิหาร ได้เฉพาะจตุตถฌานอย่างเดียว

เมตตา กรุณา มุทิตา ทั้ง ๓ ประการนี้ ทำได้ถึงตติยฌาน (ตามจตุกกนัย มีองค์ ๒ คือ สุขและเอกัคคตา)

อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ ทำให้ได้เพียงปฐมฌาน

ผู้ได้ฌาน เมื่อจะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดเห็นความทุกข์ยากลำบากที่จะต้องรับรู้ปริตตารมณ์ คืออารมณ์เล็กๆ น้อยๆ สู้มหัคคตารมณ์ คืออารมณ์ในฌานไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงนำเอาพระกัมมัฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง อันถูกกับอัธยาศัยของตนขึ้นมาบริกรรม จนเกิดอุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต เป็นอุปจารสมาธิ ได้ถึงอัปปนาสมาธิ มีองค์ฌานประกอบ ข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้ เป็นไปตามฌานชวนวิถี คือบริกรรมแล้วขึ้นสู่อนุโลม จากอนุโลมขึ้นสู่โคตรภูฌาน ข้ามโคตรกาม ถึงฌาน แล้วแน่วแน่อยู่ในพระกัมมัฏฐาน

ตัวอย่าง การกำหนดอาการพองอาการยุบ โดยภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ เพ่งนิ่งอยู่กับอาการพอง อาการยุบ จนดับอารมณ์ทั้งปวงเสียได้ ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่มีง่วง ลืมจากอารมณ์ทั้งปวงเสียสิ้น มีแต่อิ่มใจอยู่ในฌานสุข แน่แน่วอยู่อย่างนั้น การเพ่งไม่ยอมปล่อยวางอยู่เช่นนี้ ชื่อว่า ฌานสมาบัติ การเข้าอยู่ในฌาน เป็นสันติสุขอยู่ในโลกนี้โดยแท้

ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ย่อมทำให้อรูปฌานเกิดขึ้นได้

จึงเป็นอันว่า ในกัมมัฏฐานทั้ง ๓๐ ประการ ที่ให้ได้ฌานนั้น กัมมัฏฐาน ๒๖ ประการ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อานาปานสติ ๑ กายคตาสติ ๑ พรหมวิหาร ๔ ให้สำเร็จรูปฌาน ส่วนอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ให้สำเร็จเฉพาะอรูปฌาน

ทั้งรูปฌานและอรูปฌานนี้ เป็นโลกิยฌาน โลกิยสมาบัติ มีอยู่ ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ซึ่งแยกออกแล้ว ก็เป็น ๒ ประเภท คือ

๑) อารัมมณูปนิชฌาน การเข้าไปเพ่งบัญญัติ ๔๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ฌาน

๒) ลักขณูปนิชฌาน คือฌานที่เพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนดังท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้ฌานเพราะการเพ่งรูปนาม เพ่งพระไตรลักษณ์อย่างนี้ เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

ฌานที่บุคคลได้แล้วนั้น เมื่อจะจุติจากโลกนี้ไป ฌานไม่เสื่อม จุติด้วยอำนาจฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก ดำรงอยู่ในพรหมโลกนั้นตามกำลังของฌาน หมดอำนาจของฌานเมื่อไรแล้ว ก็จุติจากพรหมโลก มาเกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก อย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจของบุญกรรมที่สั่งสมอบรมไว้

พรหมสิ้นบุญ จุติจากพรหมโลกในชาติที่ ๑ นี้ จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิเป็นอันขาด เพราะอานิสงส์ของฌานยังรักษาไว้อยู่ แต่เมื่อมาเกิดในมนุษย์ หรือเกิดในเทวโลกแล้ว มีความประมาท ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก หรือบาปกรรมเก่าให้ผล จึงจะไปสู่อบายภูมิในชาติต่อๆ ไป

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้เข้าใจว่า แม้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา หากทำบาปทำกรรมแล้ว ก็ไม่พ้นจากอบายภูมิได้ ยกเว้นพระอนาคามีเสีย ผู้ไปเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกแล้ว เว้นชาติที่ ๑ หรือชาติที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว ก็ยังมีโอกาสไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้อยู่ หากว่าเกิดความประมาท

เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราทั้งหลาย ผู้มีความมุ่งหวังตั้งใจ อยากจะพ้นจากอบายภูมิ เหมือนดังโจรที่ไม่ต้องการจะไปอยู่ในเรือนจำ ติดคุก ติดตะราง อยากมีความสุข อยากมีอิสระด้วยกัน ฉะนั้น

สรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกันทุกตัวตน ไม่ต้องการที่จะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงได้สละความสุขทุกอย่างทางเนื้อหนัง ต้องข่มจิตข่มใจเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่า หนทางที่จะปิดประตูอบายภูมิได้นั้น มีหนทางเดียว คือได้แก่ การเจริญพระวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันขึ้นไปแล้ว จึงจะสามารถปิดประตูอบายภูมิได้

๒. ผลสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ที่ได้จากอริยมัคคญาณที่เกิดขึ้นแล้ว ผลสมาบัตินี้ ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แม้ว่าจะได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ดี ก็ไม่อาจที่จะเข้าผลสมาบัติได้ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น

พระอริยบุคคลผู้ที่เข้าผลสมาบัติได้นั้น ก็เข้าได้เฉพาะผลของตนเท่านั้น เช่น

ผู้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือ พระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้

เพราะผลสมาบัติเป็นของใครของมัน เข้าของกันไม่ได้ อุปมาเหมือนกับพระราชาของเทวดาทั้งหลาย ย่อมมีทิพยสมบัติอันเป็นของส่วนพระองค์ เทวดาองค์อื่นนั้นไม่มีสิทธิ์ ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาเสวยทิพยสมบัติของเทวราชานั้นได้ ข้อนี้ฉันใด แม้ผลสมาบัติก็เหมือนกันฉันนั้น เข้าได้เฉพาะของตนเอง เข้าของคนอื่นไม่ได้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ความสุขที่ได้รับเป็นโลกุตตรสุข คือเป็นสุขที่พ้นจากกามโลก รูปโลก อรูปโลก เป็นความสุขที่พ้นจากโลกิยะทั้งหลายทั้งปวง เป็นความสุขที่เรียกว่า นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อิงอามิส เป็นความสุขที่อิงเนกขัมมะ

ท่านทั้งหลาย การที่เราจะถึงพระนิพพานนั้น ไม่ใช่ว่าตายแล้วจะไปถึงพระนิพพาน เราต้องถึงกันเดี๋ยวนี้เสียก่อน คือในภพนี้ชาตินี้ก็ต้องประพฤติปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเสียก่อน การบรรลุอริยมรรคอริยผลก็หมายความว่า จิตของเราเข้าสู่กระแสของพระนิพพานแล้ว เห็นพระนิพพาน ๑ ขณะจิตบ้าง ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง

คือจิตของเราเข้าถึงกระแสพระนิพพานแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ ๑ ขณะจิต หมายเอาเฉพาะมัคคจิต ถ้ารวมผลจิต ก็เข้าถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิตบ้าง ๔ ขณะจิตบ้าง อย่างนี้ชื่อว่า จิตของเราเข้าถึงโลกุตตรภูมิแล้ว

การที่จะเข้าผลสมาบัตินั้น โดยที่พระอริยเจ้ามาพิจารณาเห็นว่าความสุขในชั้นโลกิยะนี้ เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ สู้ความสุขในชั้นโลกุตตระไม่ได้ เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ยกเอา รูป นาม พระไตรลักษณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นมาเป็นตัวกำหนด จนสติสัมปชัญญะทันปัจจุบันรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ ขึ้นไปถึงอนุโลมญาณแล้วผ่านโวทาน ดับอารมณ์โลกิยะ ถึงผลสมาบัติ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้าสมาบัติโดยพิจารณารูปนาม เกิดวิปัสสนาญาณตามลำดับ จนถึงผลสมาบัตินั้น มัคคจิตเกิดไม่ได้ หมายความว่า แม้จะได้อัปปนาสมาธิเพราะอำนาจของวิปัสสนาดังกล่าวแล้วก็ตาม อัปปนาสมาธินั้นจะไม่เกิดในลำดับมัคควิถีเป็นอันขาด อัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในลำดับผลชวนวิถี คือเกิดในลำดับแห่งผล เมื่อเข้าถึงที่แล้วก็เป็นผลสมาบัติ เหตุที่มัคคจิตไม่เกิดขึ้นนั้น เพราะว่าอัชฌาสัยน้อมไปในผลสมาบัติแล้ว

การเข้าผลสมาบัตินั้น เป็นทิฏฐธัมมสุขวิหาร เป็นบรมสุขในปัจจุบันนี้โดยแท้ เป็นพระนิพพานอันสืบเนื่องมาแต่อารมณ์ของผลจิต

อนึ่ง พระอริยเจ้า เมื่อแรกได้บรรลุอริยมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ตั้งอยู่ในปฐมฌาน ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อริยผลที่ต่อเนื่องมาในมัคควิถีก็เป็นปฐมฌานด้วย และเมื่อเข้าสมาธิ ผลจิตอันมีพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็เป็นปฐมฌานเช่นเดียวกัน

หากว่าอริยมรรคที่ได้นั้นประกอบด้วยทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือปัญจมฌาน อันใดอันหนึ่ง เมื่อเข้าสู่ผลสมาธิ ก็เข้าด้วยฌานนั้นๆ (องค์ฌาน เมื่อแสดงตามปัญจกนัย : ทุติยฌานมีองค์ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา, ตติยฌานมีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา, จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา, ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ เอกัคคตา อุเบกขา)

สภาวะที่ตั้งอยู่ในผลสมาบัติ คือ ไม่เอาใจใส่ในนิมิตทั้งปวง ได้แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์นั้น ตั้งอยู่ด้วยหลัก ๓ ประการ คือ

๑) ไม่เอา รูป นาม ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์

๒) กำหนดเวลาเข้า และกำหนดเวลาออก

๓) เมื่อยังไม่หมดเวลาที่กำหนดไว้ ก็ยังอยู่ในผลสมาบัติ จนกว่าจะหมดเวลา

ในการที่จะออกจากผลสมาบัตินั้น เมื่อจะออกจากผลสมาบัติ จิตก็จะได้ อารมณ์ นิมิต รูปนาม อันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิต เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งภวังคจิต อันติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตไปยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน เหมือนในขณะนี้

การเข้าผลสมาบัตินั้น ก็คือการเข้าอยู่ในอารมณ์ของพระนิพพาน ซึ่งผู้ปฏิบัติได้บรรลุแล้ว เห็นแล้ว ซึ่งในขณะนั้น ผลจิตจะเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ดังนั้น ผลจิตจึงได้เกิดขึ้นในหลายลำดับ

ผลจิตนี้ บางทีเกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรคก็มี หมายความว่า ในขณะที่บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มัคควิถีย่อมเกิดขึ้นตามลำดับ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วมัคคจิตก็จะเกิดขึ้น หลังจากนั้น ไม่มีอะไรมาคั่นในระหว่างกลาง ผลจิตก็จะเกิดขึ้นทันที ผลจิตดวงนี้ เรียกว่า เกิดขึ้นในลำดับแห่งมรรค

อีกอย่างหนึ่ง ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า เมื่อผลจิตเกิดขึ้นต่อจากมัคคจิต โดยไม่มีระหว่างคั่นแล้ว ถ้าเป็นมันทบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นอีกหนึ่งขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตก็จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ๒ ขณะ ผลจิตที่เกิดขึ้นต่อจากผลจิตดวงแรก ที่ต่อจากมัคคจิตนั้น ชื่อว่า ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งผล คือผลในดวงหลังๆ เกิดในลำดับแห่งผลดวงก่อนๆ

บางที ผลจิตเกิดขึ้นในลำดับแห่งโคตรภูก็มี อันนี้หมายถึงการเข้าผลสมาบัตินั่นเอง หมายความว่า เมื่อต้องการจะเข้าผลสมาบัติ ก็ตั้งใจกำหนดรูปนาม จนเห็นพระไตรลักษณ์ เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นตามลำดับๆ ผลจิตดวงแรกนั้นก็เกิดในลำดับแห่งโคตรภู ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยมาจากอนุโลมจิต อนุโลมจิตของพระอรหันต์ ก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระอรหันต์ อนุโลมจิตของพระเสขบุคคลก็เป็นอนันตรปัจจัยแก่ผลสมาบัติของพระเสขบุคคล (อนันตรปัจจัย แปลว่า ธรรมที่ช่วยอุดหนุนโดยไม่มีระหว่างคั่น อนึ่ง คำว่า โคตรภู ในผลสมาบัติวิถีนั้นไม่เรียกชื่ออย่างนั้น คงมีแต่ชื่อว่า อนุโลม เหมือนกันทั้งหมด)

บางที ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผลก็มี หมายความว่า หลังจากที่ผลจิตเกิดขึ้นครบกำหนด ๒ หรือ ๓ ขณะจิตในมัคควิถี หรือหลังจากเข้าผลสมาบัติครบตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ ผลจิตที่เกิดติดต่อกันมา ก็เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายแล้วดับลง ต่อจากนั้นภวังคจิตก็จะเกิดขึ้นต่อกันทันที คือออกจากผลสมาบัติแล้วจิตก็จะลงสู่ภวังค์ อย่างนี้เรียกว่า ภวังคจิตเกิดในลำดับแห่งผล

บางที ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะก็มี อันนี้หมายถึงผลจิตที่เกิดขึ้น อยู่ในนิโรธสมาบัติวิถี คือเมื่อจะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องเข้าฌานสลับกับเจริญวิปัสสนา ตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นมาตามลำดับจนถึงฌานขั้นสุดท้าย คือเนวสัญญานาสัญญายตนะ

เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ จะเกิดขึ้นเพียง ๒ ขณะจิต แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นนิโรธสมาบัติ เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตจึงลงสู่ภวังค์ ผลจิตที่เกิดขึ้นภายหลังเนวสัญญานาสัญญายตนะอย่างนี้ เรียกว่า ผลจิตเกิดในลำดับแห่งเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะว่านิโรธสมาบัติที่เกิดขึ้นในระหว่างกลางนั้น เป็นการดับจิตและเจตสิกไปหมด จึงไม่นับว่ามีจิตอื่นคั่นในระหว่าง

๓. นิโรธสมาบัติ คือการเข้าอยู่ในความดับจิต และดับเจตสิก หมายถึงการเข้าฌานตามลำดับ ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้น

เมื่อออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาปฐมฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าทุติยฌาน ออกมาก็พิจารณาทุติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจึงเข้าตติยฌาน ออกมาก็พิจารณาตติยฌานจิตและเจตสิกที่ดับไปแล้ว โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ไปทุกๆ ฌาน จนกระทั่งถึงอากิญจัญญายตนฌาน

เมื่อออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ไม่ต้องเจริญวิปัสสนา คือไม่ต้องพิจารณาให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ต้องทำบุพพกิจ ๔ ประการ คือ

๑) อธิษฐานว่า บริขารทั้งหลายทั้งปวง อย่าได้เป็นอันตรายไป ด้วยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

๒) อธิษฐานว่า ถ้าในระหว่างที่อยู่ในนิโรธสมาบัตินี้ ถ้ามีประชุมสงฆ์ สงฆ์ต้องการตัว ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

๓) อธิษฐานว่า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระประสงค์จะรับสั่งหา ก็ให้ออกจากสมาบัติเถิด

บุพพกิจข้อ ๓ นี้ ในปัจจุบันนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำ เพราะพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว

๔) ต้องพิจารณาอายุสังขารของตน ถ้าอายุสังขารจะเป็นไปไม่ได้เกิน ๗ วัน ไม่ควรเข้านิโรธสมาบัติ

ในบุพพกิจทั้ง ๔ ข้อนี้ ๓ ข้อต้นไม่ต้องทำก็ได้ แต่ข้อ ๔ ผู้เข้านิโรธที่อยู่ในมนุสสภูมิต้องทำ ถ้าอยู่ในรูปภูมิ ไม่ต้องทำบุพพกิจก่อนเลยก็ได้

หลังจากทำบุพพกิจเสร็จแล้วก็เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ โดยมีวิถีจิตเกิดดังนี้ คือ บริกรรม อุปจาระ อนุโลม โคตรภู แล้วเนวสัญญานาสัญญายตนะก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ต่อจากนั้น จิตเจตสิก จิตตชรูป (รูปที่เกิดจากมีจิตเป็นเหตุให้เกิด) ก็ดับลง เป็นอันว่าสำเร็จการเข้านิโรธสมาบัติทุกประการ

ในมนุสสภูมินี้ สามารถที่จะเข้าอยู่ในนิโรธสมาบัติได้ถึง ๗ วัน โดยไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ส่วนในรูปภูมิ สามารถเข้าได้โดยไม่จำกัด และเมื่อออกจากนิโรธ ผลจิตย่อมเกิดขึ้นก่อน ๑ ขณะ

ต่อจากนั้นก็จะได้อารมณ์นิมิตรูปนามอันใดอันหนึ่ง มีกรรมนิมิตเป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของภวังคจิต ที่ติดมาแต่แรกปฏิสนธิในปัจจุบันภพนี้ เมื่อจิตยึดเอาอารมณ์นิมิตนั้นแล้ว ก็จะพรากออกจากอารมณ์ของพระนิพพาน ถอยมาสู่อารมณ์ปัจจุบัน คือหมายความว่า เมื่อจะออกจากนิโรธสมาบัติ ก็เกิดผลจิตขึ้น ๑ ขณะ แล้วจิตก็ลงสู่ภวังค์ เปลี่ยนจากอารมณ์พระนิพพาน มาเป็นอารมณ์ของภวังค์ มีกรรมนิมิตอารมณ์ เป็นต้น

การเข้านิโรธสมาบัตินี้ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น คือต้องได้สมาบัติ ๘ ด้วย ถ้าเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้สมาบัติมาก่อน ก็เข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ สมาบัติหรือฌานนี้ ได้ด้วยการเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อน หรือเกิดขึ้นมาพร้อมตอนได้บรรลุมรรคผล ก็ใช้ได้เหมือนกัน

ผู้ที่จะเข้านิโรธสมาบัติ ต้องประกอบด้วยปัญญาวสีสามารถชำนาญใน สัมปทา ๔ คือ

๑) มีกำลังในวิปัสสนา และมีกำลังในสมถะ

๒) ระงับไตรพิธสังขาร คือ กายสังขาร ระงับลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร ระงับวิตกวิจาร จิตตสังขาร ระงับสัญญาเวทนา เสียได้

๓) ประพฤติเป็นไปในโสฬสญาณ คือต้องผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว จนได้เป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์

๔) ประพฤติเป็นไปใน นวานุปุพพวิหารสมาบัติ คือต้องได้สมาบัติ ๘ มาแล้ว จึงจะขึ้นสู่สมาบัติที่ ๙ ซึ่งเรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธได้

การเข้าสู่สมาบัตินั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของ ผีเข้าเจ้าทรง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการสะกดจิต ไม่ใช่เป็นการนอนหลับ และในขณะที่เข้าอยู่ในสมาบัตินั้น จะเป็นฌานสมาบัติก็ตาม ผลสมาบัติก็ตาม นิโรธสมาบัติก็ตาม ไม่ใช่ว่า จิตลงสู่ภวังค์ หรืออยู่ในภวังค์

ส่วนมากนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจผิดว่า การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี หรือนิโรธสมาบัติก็ดี ก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์ ถ้าเข้าใจดังนี้ ชื่อว่าเข้าใจผิด เพราะการที่คนทั้งหลายนอนหลับสนิท จึงชื่อว่า จิตลงสู่ภวังค์ ถ้าจิตขึ้นจากภวังค์ก็เรียกว่า ตื่น ถ้าว่าการเข้าสมาบัติก็คือจิตเข้าสู่ภวังค์แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติให้เหน็ดเหนื่อย เพราะว่าตั้งแต่เราปฏิสนธิมาจนถึงบัดนี้ เรานอนทุกวันทุกคืน จิตก็เข้าสู่ภวังค์ทุกวัน ทุกคืนอยู่แล้ว

สรุปว่า การเข้าฌานสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบด้วยองค์ฌาน มีพระกัมมัฏฐานที่ตนใช้บริกรรมเป็นอารมณ์

การเข้าผลสมาบัติ ก็คือ การที่จิตประกอบไปด้วยองค์ฌาน มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

การเข้านิโรธสมาบัติ ก็คือ การที่จิต เจตสิก และจิตตชรูป (รูปที่เกิดจากจิต) ดับลง เป็นสภาพที่ปราศจากรูปนามโดยแท้ เป็นการเข้าสู่พระนิพพานในปัจจุบันนี้เลยทีเดียว ต่างจากผลสมาบัติ คือผลสมาบัตินั้นเป็นเพียงจิต คือผลจิต มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น

อนึ่ง ในการเข้าฌานสมาบัติ นั้น จิตที่ประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้น เป็นกุศลชาติ เป็นกุศลจิต เป็นตัวกรรมที่สามารถให้เกิดผลได้ แต่การเข้าผลสมาบัติ จิตคือผลจิตประกอบด้วยองค์ฌานมี วิตก วิจาร เป็นต้นนั้น เป็นวิปากชาติ เป็นวิปากจิต เป็นตัวผลของกรรมที่ได้รับผลมาจากได้บรรลุถึงมัคคจิต จึงมิได้เป็นตัวส่งผลที่จะให้ไปเกิดในภพภูมิใดๆ ตัวผลจิตเองเป็นผลที่ได้รับเท่านั้น

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ ในเรื่อง สมาบัติ มา ก็พอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 05 เมษายน 2561 14:26:04
(https://sc02.alicdn.com/kf/UT8el2UXvxaXXagOFbXd/Tealight-Citronella-candle-Tea-light-candle.jpg_350x350.jpg)

ฌาน - สมาบัติ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง ฌาน หรือ สมาบัติ

คำว่า ฌาน กับ สมาบัติ เป็นอันเดียวกัน คือ

คำว่า ฌาน ก็หมายถึง การเพ่ง คือเพ่งรูปนาม ที่เราทั้งหลายปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เราเพ่งรูปนาม ขันธ์ห้า คืออาการพองอาการยุบเป็นต้น การเพ่งอย่างนี้เรียกว่า ฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติของผู้ได้ฌาน ซึ่งหมายถึง ท่านผู้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน การได้ฌานอย่างนี้เขาเรียกว่า สมาบัติ คือสมบัติของผู้ได้ฌาน

สำหรับ ฌาน ก็ดี สมาบัติ ก็ดี ที่ท่านทั้งหลายเริ่มตั้งแต่วันปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้ หลวงพ่อขอทายหรือขอให้คำปฏิญญา หรือให้ความมั่นใจกับท่านทั้งหลายว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมา บางท่านก็ได้ฌาน บางท่านก็ได้มรรคได้ผล แต่จะได้มากได้น้อย ก็แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

ครั้งแรก หลวงพ่อจะพูดเรื่องฌานเสียก่อน พระเจ้าพระสงฆ์ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีก็ดี ลูกเณรก็ดี อุบาสกอุบาสิกา ลูกน้อยๆ ทั้งหลายที่ทำสมาธิก็ดี พูดโดยทั่วไปแล้ว ได้ฌานทุกคน หรือได้สมาบัติทุกคน แต่ว่าจะได้มากหรือได้น้อย แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือ ท่านทั้งหลาย การอยู่ในฌานนั้น บางท่านก็สามารถอยู่ในฌานได้นานๆ เป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง จนถึง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ก็แล้วแต่ อำนาจของสติสมาธิที่เราได้สร้างสมอบรมมา

สำหรับฌานนี้ ส่วนมากผู้ปฏิบัติที่เป็นพระภิกษุนี้ก็ได้ฌานเหมือนกัน แต่เรารักษาอารมณ์ของฌานไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง ก็เพราะว่าฌานที่เราได้นั้น เราไม่สามารถที่จะอยู่ในฌานได้นานๆ บางท่านก็อาจอยู่ในฌาน ๑ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๓๐ นาที ส่วนมากพระเราได้สมาธิได้ฌาน อย่างมากก็ ๔๕ นาที หลังจาก ๔๕ นาทีไป อีก ๑๕ นาที ต้องทนเอาเกือบตาย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ เพราะจิตของเรามันออกจากฌานแล้ว เมื่อจิตออกจากฌานแล้วเราก็ปวด อาการปวดอาการเจ็บหรือเวทนามันเกิดขึ้นมา

เมื่อพูดถึงนี้ เราปฏิญญาตนได้เลยว่า เราได้ฌาน หรือไม่ได้ฌาน ถ้าหากว่าเรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปตามลำดับๆ ตั้งแต่นาทีที่ ๑ ไปตามลำดับๆ จนถึง ๔๕ นาที เราไม่ปวด ไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ นั่งสมาธิเพลินไปๆ โน้นอีก ๑๕ นาที (จะครบ ๑ ชั่วโมง) จึงรู้สึกว่าเจ็บที่โน้นปวดที่นี้ อะไรจิปาถะ ลักษณะที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะว่าฌานของเรามันหมดอายุแล้ว หมดพลังแล้ว เราก็ต้องทนทุกข์ทรมาน

ครูบาอาจารย์บอกว่าให้เรานั่ง ตอนนี้เรานั่ง ๑ ชั่วโมง พยายามทำให้ได้ เราก็ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ได้ ส่วนมากท่านทั้งหลายทำได้ถึง ๑ ชั่วโมง แต่ ๑ ชั่วโมงนี้ เราไม่ได้เต็มอัตรา เราอยู่ในสมาธิ ๒๐ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ๔๕ นาทีบ้าง หรือว่า ๑ ชั่วโมงบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิเรา

ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ หลวงพ่อว่า ได้สมาธิๆ เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้สมาธิ ได้ฌาน ให้ท่านทั้งหลายจงสังเกต ในขณะที่กำหนด พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น หรือเราว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ คิดหนอ โกรธหนอ อยู่นั้น อะไรอย่างนี้ เรากำหนดไปๆ อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็จะละเอียดเข้าไปๆ จนสามารถจะควบคุมได้ ไม่คิดไปเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องสัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

คือเราไม่คิดเลย ไม่ได้คิดไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดไปข้างหลัง เราไม่ได้คิดไปข้างซ้ายข้างขวา เราไม่ได้คิดขึ้นเบื้องบน เราไม่ได้คิดลงข้างล่าง แต่จิตใจของเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ อยู่ตลอดเวลา และอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นก็ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเรามันละเอียดเข้าไปๆ เกือบจะไม่ได้ยินเสียง คือเสียงมันละเอียดลดลงไป ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของท่าน

ขณะนั้น เรายังกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่ แต่เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี มันละเอียดเข้าไปๆ จนความรู้สึกของเรามันเหลืออยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดที่โน้นที่นี้ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้สมาธิได้ฌานแล้ว ได้ขั้นปฐมฌานแล้ว

ท่านทั้งหลายอาจจะไม่เชื่อ อาจจะคิดว่าหลวงพ่อพูดปลอบใจ หลวงพ่อไม่ได้พูดปลอบใจ แต่พอที่จะสังเกตได้ ที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมานานพอสมควร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ มาจนถึงบัดนี้ มีผู้มาประพฤติปฏิบัติมากพอสมควร ส่วนมากพระเจ้าพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลาย ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทำได้เหมือนกันทุกคน

แต่ว่าการอยู่ในอารมณ์ของฌานนั้น เราบังคับไม่ได้ บางทีชั่วโมงนี้สามารถอยู่ในสมาธิได้ แต่ช่วงหลังเราทำไม่ ได้ คือเราไม่สามารถที่จะบังคับมันได้ เวลาเกิดมันก็เกิดเองอัตโนมัติ เวลาจิตของเรามันสงบมันก็สงบไป เวลาคิดมันก็คิดไป แต่เรากำหนดได้ ความคิดมันก็หมดไป ไม่คิด จิตใจของเรามันตั้งอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา

ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌานแล้ว ปฐมฌานนี้ ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา วิตกคือการตริ วิจารคือการตรอง คือยังมีวิตกวิจารอยู่ ยังได้ภาวนาอยู่ ยังได้กำหนดพองหนอยุบหนออยู่ แต่จิตของเราไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง อยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานตลอดเวลา ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ แล้ว ถ้าเราได้ฌาน เราเอาอารมณ์ของฌานนี้มาเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานเร็วขึ้น (หรือ) หากว่าเราจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานธรรมรักษาไว้

แต่หากว่า ถึงคราวที่เราจะดับชีวิตของเรา คือเราจะตาย ในขณะที่เราตาย เราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม ก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลาย ก่อนที่จิตของเราจะดับลงไป คือเราจะตายลงไป เราไม่ลืมอารมณ์ของพระกัมมัฏฐาน เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ไปเรื่อยๆ เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไป จิตของเรามันดิ่งลงไป ดิ่งเข้าๆ

ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือก่อนจะตายนั้นล่ะ เห็นอารมณ์ของพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับปั๊บลงไป ถ้ามันดับลงไปลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายตายด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ คือจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจมัคคญาณ

ถ้าจิตของเรามันดับลงไปด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผลอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าเราสามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน วันหนึ่งข้างหน้าหรือชาติต่อๆ ไป หากเรามีโอกาสที่จะได้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในวันข้างหน้า อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๑

ฌานที่ ๒ ทิ้งวิตก ทิ้งวิจาร เหลือแต่ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเราปฏิบัติมาจนถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว อารมณ์ของฌานที่ ๒ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ฌานที่ ๒ กับฌานที่ ๑ ไม่เหมือนกัน ฌานที่ ๑ ยังมีคำบริกรรม พองหนอ ยุบหนออยู่ แต่ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ จะไม่มีการบริกรรม

เมื่อก่อนเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ แต่พอมาถึงฌานที่ ๒ นี้แล้ว เราไม่ได้ว่า เรานั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ภาวนาพองหนอ ยุบหนอ ถ้าหากว่าในขณะใดเรายังกำหนด พองหนอ ยุบหนอ แสดงว่าฌานที่ ๒ นั้นมันเสื่อมลงไปแล้ว ลงถึงฌานที่ ๑ แล้ว แต่เรากำหนดไปๆ จิตของเราก็ขึ้นสู่ฌานที่ ๒ อีก เมื่อถึงฌานที่ ๒ จิตใจของเราก็หนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็ไม่บริกรรม พองหนอ ยุบหนอ นี่ไม่ได้ว่าเลย จิตใจหยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เมื่อถึงฌานนี้แล้ว ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดไปแล้ว เสียงก็ดี ความรู้สึกของเราก็ดี เหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านทั้งหลายทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๒ แล้ว ถ้าว่าฌานที่ ๒ นี้ไม่เสื่อม เวลาจุติในฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

หากว่าเอาจิตดวงนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรค อริยผลเร็วขึ้น นี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ นี้ ถ้าหากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาพอสมควรแล้ว ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ปีนี้หรือปีต่อไป หรือถึงวันสุดท้ายก่อนที่เราทั้งหลายจะจากโลกนี้ ท่านทั้งหลายคงเคยตายแล้วก็มี ผู้ไม่เคยตายก็มี

สมมติว่า ตอนที่จิตใจของเรามันจะดับจากโลกนี้ไป เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ ดังที่เราทั้งหลายเห็นปู่ย่าตายายของเรา ลูกๆ ก็อยู่ใกล้ๆ หลานๆ ก็อยู่ใกล้ๆ อย่าลืมเด้อ อย่าลืมพุทโธเด้อ อย่าลืม พองหนอ ยุบหนอเด้อ เตือนอยู่ตลอดเวลา หากว่า ในขณะนั้น คนเรามันไม่มีที่พึ่งแล้ว ผัวเมียก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ลูกๆ หลานๆ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ หาอะไรๆ ที่จะเป็นที่พึ่งของเราหาไม่ได้ เหลือแต่บุญที่เราสร้างสมอบรมไว้ เราก็ตั้งจิตตั้งใจ พุทโธๆ ไป บางทีก็ลูกๆ หลานๆ พี่ๆ น้องๆ ผู้เป็นผัวเป็นเมีย ก็ช่วยกำหนด พุทโธๆ หรือพองหนอ ยุบหนอ ไปเรื่อยๆ

ในขณะที่จิตของเรามันจะดับปั๊บลงไป หากว่ามันดับด้วยอำนาจของฌาน ดับแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ว่าถ้าจิตของเรามันดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ก่อนที่จิตของเราจะดับ มีพระไตรลักษณ์เกิดขึ้น คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น

และในขณะที่กำหนดพระไตรลักษณ์นั้น มัคคญาณผลญาณเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ดับปั๊บลงไป ก็แสดงว่าจิตของเรามันตายในมรรค หรือว่าดับด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ ถ้าจิตของเราดับด้วยลักษณะอย่างนี้ ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจมัคคญาณผลญาณ เราไม่ได้ตายอยู่ในโลกีย์ จิตของเรามันพ้นจากโลกีย์แล้วไปสู่โลกุตตระ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

หากว่าบุญวาสนาบารมีของเราได้สร้างสมอบรมมา มีพอสมควร เกิดภพใหม่ชาติใหม่ก็มีโอกาสจะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นลักษณะของฌานที่ ๒ เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๓

ท่านทั้งหลายจะรู้ได้อย่างไรว่า ฌานที่ ๓ นั้นมันเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร เพราะเราไม่ได้เรียนมา อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้รู้ชื่อของมัน คือฌานที่ ๓ มันเป็นอย่างไร เราก็ไม่ได้รู้ แต่เรารู้สภาวะของการอยู่ในฌาน แต่เราเองไม่รู้ความหมายของมัน เหมือนกันกับเราไม่เคยบริโภคผลไม้ต่างๆ สมมติว่า ทุเรียน หรือแอปเปิ้ล น้อยหน่า อะไรทำนองนี้ เราไม่รู้ชื่อของมัน แต่เราก็บริโภครสชาติของมันเราก็รู้ว่า (รส) มันเป็นอย่างนี้ๆ แต่เราไม่รู้จักชื่อของมัน ข้อนี้ ฉันใด

การที่จิตของเรามันจะถึงฌานที่ ๓ นี้ หมายความว่า จิตของเราเข้าถึงฌานที่ ๓ แล้ว เมื่อก่อนโน้น เรานั่งไม่ตรง เมื่อถึงฌานที่ ๓ นี้นั่งตรง เราจะก้มก็ไม่ได้ เราจะเงยก็ไม่ได้ เราจะมองซ้ายแลขวา ก็มองไม่ได้ เราจะกระดิกนิ้วมือนิ้วเท้าก็ไม่ได้ ตัวของเรานั่งตรงตลอดเวลา เหมือนกันกับเอาไม้แหลมๆ หรือเหล็กแหลมๆ มาตอกลงที่ศีรษะของเราไปตรึงให้แน่นกับพื้น เรากระดุกกระดิกไม่ได้

อาการเช่นนี้เกิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า จะทุรนทุราย เหมือนกันกับใจจะหลุดจะขาดอะไรลักษณะนี้ ไม่มี นั่งสมาธิได้สบายๆ ตอนนี้ได้เสวยสุข เป็นสุขในฌาน สุขในฌานนี้ถือว่า เป็นสุขขั้นสูงสุดยอดในทางโลกิยะ

เมื่อก่อนเคยปวดโน้นปวดนี้ เมื่อมาถึงนี้ ไม่ปวดแล้ว และความรู้สึกก็ดี เสียงที่ได้ยินก็ดี จะเหลือประมาณสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะหมดแล้ว ถ้าหากท่านทั้งหลายสามารถทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าท่านถึงฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าหากว่าฌานที่ ๓ ไม่เสื่อม เราจุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง หากว่าก่อนที่เราจะตาย เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้น จิตของเรามันเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ถ้าในลักษณะดังนี้ แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจของมัคคญาณผลญาณ คือว่าตายในมรรคตายในผล ถ้าจุติในลักษณะดังนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้ปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วจะไม่บังเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน อย่างน้อยเราก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เมื่อมีโอกาสมีเวลาได้กลับมายังโลกนี้ หรือได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พรหมโลกนู้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๓

เมื่อฌานที่ ๓ แก่กล้าสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งให้ฌานที่ ๔ ท่านทั้งหลาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า เราได้ฌานที่ ๔ลักษณะของฌานที่ ๔ มันเป็นอย่างไร มันเกิดขึ้นแก่เรานั้นอย่างไร เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้ คือเมื่อเราถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะไม่มีลมหายใจ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น มันไม่มี มีพระบาลีกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า

บุคคล ๔ ประเภท จะไม่มีลมหายใจ คือ

๑. คนตายก็จะไม่มีลมหายใจ

๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาก็จะไม่มีลมหายใจ

๓. บุคคลผู้ดำน้ำก็จะไม่มีลมหายใจ

๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานคือฌานที่ ๔ ก็ไม่มีลมหายใจ

บุคคล ๔ ประเภทนี้ เรียกว่า ไม่มีลมหายใจ ถ้าหากว่าเราได้สมาธิหรือว่าได้ฌานอย่างนี้ ก็แสดงว่า ท่านทั้งหลายถึงจตุตถฌานแล้ว หากว่าเอาฌานนี้มาเป็นบาทรับรองในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น อีกอย่าง หากว่าเราตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เราตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

อีกอย่างหนึ่ง ก่อนที่เราจะดับจิต จิตของเราจะดับไปจากโลกนี้ เราไม่ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ สัมมาอรหังๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง เรากำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดจนพระไตรลักษณ์ปรากฏ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ เมื่อปรากฏแล้ว จิตของเราเข้าไปยึดแล้วก็ดับลงไป ก็แสดงว่าเราตายด้วยอำนาจอริยมรรคอริยผล จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีพระนิพพานเป็นที่ได้เป็นที่ถึง

หากว่ามีบุญวาสนาบารมี เราก็จะได้เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่โน้น อยู่ในพรหมโลก บางทีก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เข้าสู่พระนิพพานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แต่บางท่านบารมียังไม่แก่กล้า อาจจะจุติลงมายังโลกมนุษย์ แล้วก็ได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ก็จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอรหันต์ อันนี้เป็นลักษณะของฌานที่ ๔

ท่านทั้งหลาย อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการ นี้มีพลัง มีอานุภาพ ที่จะให้เราผู้ฝักใฝ่ในการเจริญพระกัมมัฏฐาน คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน อานิสงส์ของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราทั้งหลายได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล ถึงฝั่งคือพระนิพพาน ตามบุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมไว้

เมื่อเราได้ฌานอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย หากว่าเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอภิญญาจิต เช่นว่า แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ สามารถทำอาสวะให้หมดไปสิ้นไปจากขันธสันดาน อภิญญาทั้ง ๖ ประการ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถที่จะเกิดขึ้นแก่เราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน

และสามารถที่จะได้วิชชา ๓ คือระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นว่า ผู้นี้เขามาจากไหน เขามาเกิดในที่นี้ และเมื่อตายแล้วเขาไปเกิดในที่ไหน และก็สามารถทำอาสวะให้หมดไปจากขันธสันดาน วิชชา ๓ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หมายความว่า ผู้นั้นได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อน เช่น เมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้ทำบุญทำทานอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ และก็ปรารถนาหรือตั้งใจ ดังที่เราทั้งหลายตั้งอธิษฐานจิตอยู่ทุกวันนี้ว่า

สาธุ ด้วยอานุภาพนี้ ด้วยอำนาจของการให้ทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ขอจงได้เป็นพลวปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน

เราได้ตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้ แต่ภพก่อนชาติก่อน ได้ตั้งใจไว้อย่างนี้ เมื่อถึงโอกาสได้เวลา เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา เราได้มาบวชในพระพุทธศาสนา เราได้โอกาสเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ประการ ตามบุญวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมไว้

แต่อำนาจของฌานทั้ง ๔ ประการนี้ คือ อำนาจของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานนี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือความแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในภาษา และปฏิภาณ ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการนี้ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้น แก่เราผู้ได้สำเร็จเพียงขั้นจตุตถฌาน

เมื่อใด เราได้เจริญพระกัมมัฏฐานต่อจนได้อรูปฌาน ๔ คืออากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เมื่อเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ฌานทั้ง ๘ ประการนี้ มีอำนาจ มีพลัง มีอานุภาพ สามารถที่จะทำให้เราได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้

ท่านทั้งหลาย เมื่อเราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมบารมีสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานทำให้เราไปบังเกิดในพรหมโลก บางท่านก็สามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในพรหมโลกชั้นนั้นๆ แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่บางท่านอาจจุติมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง ในเทวโลกบ้าง แต่ว่าจะไม่ไปบังเกิดในอบายภูมิ

คือหมายความว่า ถ้าพรหมหมดบุญแล้ว ก็จะมาเกิดในโลกนี้ ไม่จมไปสู่อบายภูมิ ไม่ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เพราะอะไร เพราะกำลังฌานรักษาไว้ ไม่ให้เราไปสู่อบายภูมิได้ นี่เป็นอานิสงส์ของฌาน

ผู้ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น หากว่าฌานสมบูรณ์แล้ว อานิสงส์ของฌานนี้จะสามารถรักษาไว้ถึง ๗ วัน ๗ คืน ไม่ตาย เพราะสมาธิหรือฌานนี้สามารถที่จะอยู่ได้ ๗ วัน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต

เพราะว่า อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้ว เกิดขึ้นเป็นโอชะ หล่อเลี้ยงร่างกายไว้ไม่ให้ตาย เมื่อถึงเวลาก็ออกจากฌาน และผู้ที่ได้ฌานดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จะเกิดเลือดฝาดหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีฉวีวรรณผุดผ่อง คนที่ได้ฌานนั้น หน้าตาอิ่มเอิบ เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เศร้าๆ โศกๆ เรามองดูก็น่าดู น่าชม น่ารัก น่านับถือ น่าบูชา เพราะเหตุไร เพราะอำนาจของฌานที่รักษาไว้ อันนี้เป็นลักษณะของฌาน

สรุปแล้วว่า ผู้ที่ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌานแล้ว หากว่าไปเกิดในภพใดภพหนึ่ง ก็ไม่ต้องไปสู่อบายภูมิ คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน เพราะอำนาจของฌานรักษาไว้

เมื่อเราได้สร้างสมอบรมบารมีจนสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตามบุญญาวาสนาบารมี ที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ฌาน-สมาบัติ มาโสรจสรงองค์ศรัทธาของท่านทั้งหลาย เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 เมษายน 2561 10:04:18

(http://www.elfenkueche.at/wp-content/uploads/2012/11/hand-kerze.jpg)

สมาบัติ ๘

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย ในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย คำว่า ฌาน กับคำว่า สมาบัติ นั้น ต่างกันโดยพยัญชนะ แต่โดยเนื้อความคือสภาวะแล้วเป็นทำนองเดียวกัน

คำว่า ฌาน แปลว่า เพ่ง ดังเช่นเราเอาดินมาเป็นอารมณ์ เราก็เอาสติกับจิตของเราเข้าไปตั้งไว้ที่ดวงกสิณคือดินนั้นแล้วบริกรรมว่า ปฐวีๆ ดินๆ อย่างนี้ จนสำเร็จเป็นอัปปนาสมาธิได้ เรียกว่า ฌาน หรือเราเพ่งอาการพองอาการยุบก็ดี เพ่งเวทนา เพ่งจิตก็ดี จนสามารถทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งนั้น ก็จัดว่าเป็นฌาน

ฌานนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ

๑. อารัมมณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ เช่น กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

การที่เราเอาอารมณ์เหล่านี้มาบริกรรมมาภาวนา หากว่าได้ฌานขึ้นมาเพราะการบริกรรมดังกล่าวมานี้ เรียกว่า อารัมมณูปนิชฌาน

๒. ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่ ฌานที่เพ่งรูปนามเพ่งพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ เช่น พวกเราท่านทั้งหลายเพ่งอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูก เพ่งเวทนาคือความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความเสียใจ ความเฉยๆ หรือเพ่งจิตคือความคิด เพ่งธรรมารมณ์ เหล่านี้เรียกว่า เพ่งรูป เพ่งนาม เพ่งพระไตรลักษณ์ ถ้าเราเพ่งหรือบริกรรมดังกล่าวมานี้จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิเป็นฌาน ฌานนั้นก็เรียกว่า ลักขณูปนิชฌาน

คำว่า สมาบัติ แปลว่า สมบัติ หมายถึง สมบัติของผู้ได้ฌาน

การเข้าอยู่ในฌานหรือเข้าสมาบัติ อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้หลบความร้อนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ตนสร้างไว้ดีแล้ว ผู้ที่จะเข้าสมาบัตินั้น โดยมาคิดว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากปริตตารมณ์ เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ สู้ความสุขในฌานไม่ได้ จึงหลีกออกจากหมู่ไปสู่ที่สงบแห่งใดแห่งหนึ่ง ยกจิตของตนขึ้นสู่อารมณ์กัมมัฏฐาน บริกรรมจนจิตสงบเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เข้าสู่ฌานธรรม

ฌานธรรมนั้นมี ๘ ประการ คือ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔

มีปัญหาอยู่ว่า จะสังเกตหรือทราบได้อย่างไรว่าเราได้ฌานหรือสมาบัติชั้นไหน ทราบได้อย่างนี้ คือ

ในส่วนของรูปฌาน ๔ หรือรูปสมาบัติ

๑. ปฐมฌาน เมื่อจิตเข้าถึงปฐมฌานจะข่มนิวรณ์ธรรมลงได้ นิวรณ์ แปลว่า ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดีมีศีล สมาธิ ปัญญา มรรค ผล พระนิพพาน เป็นต้น หรือกั้นศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ไม่ให้เข้าถึงตัวเรา นิวรณ์ธรรมนี้ เป็นอันตรายของปฐมฌานและของทุกๆฌานด้วย

นิวรณ์นั้นมีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) กามฉันทะ พอใจในอารมณ์ เช่น พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรืออารมณ์เหล่าใดที่เกิดขึ้นในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐาน จัดเป็นกามฉันทะ

๒) พยาบาท ไม่พอใจในอารมณ์ เช่น ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นตอนปฏิบัติ หรืออารมณ์ใดๆก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติ เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ จัดเป็นพยาบาท

๓) ถีนมิทธะ ความง่วงงุน ความหดหู่ ความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ เมื่อนึกถึงบาปหรือความชั่วที่ตนทำไว้ แต่บุญไม่ได้ทำ

๕) วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย เช่น สงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องนรก สวรรค์ พระนิพพาน เป็นต้น

เราจะรู้ได้อย่างไร สังเกตได้อย่างไร ว่าเราเข้าถึงปฐมฌาน หรือการฝึกสมาธิอยู่ในขณะนี้ หรือการอธิษฐานจิตอยู่ในขณะนี้ เราได้ปฐมฌานหรือไม่นั้น เราพึงสังเกตดังนี้ คือ

ในขณะเข้าถึงปฐมฌานนั้น ยังจะมีบริกรรมอยู่ ยังมีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ยังมีบริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธ คำใดคำหนึ่งอยู่ เสียงก็ยังได้ยินอยู่ แต่ได้ยินไม่เต็มที่ ไม่ได้ยินเหมือนอย่างธรรมดาที่เราได้ยินอยู่ในขณะนี้ คือว่าเสียงนั้นลดน้อยลงไป หรือมีความรู้สึกว่าน้อยลงไป แต่ว่าในขณะนั้นจิตใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต จิตใจของเราจดจ่ออยู่เฉพาะบทพระกัมมัฏฐาน

สมมติว่าเรากำหนดอาการพองอาการยุบ จิตใจนั้นก็อยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่นึกถึงเรื่องอดีตอนาคต หากว่ามีเสียงอะไรเกิดขึ้นในขณะที่นั่งอยู่นั้นก็ไม่สะดุ้งตกใจ เขาจะมาจุดประทัดอยู่ข้างๆก็ตาม จิตใจของเราเฉยอยู่ ไม่มีการสะดุ้ง ไม่มีการตกใจ ไม่มีการฟุ้งซ่าน หรือว่าในขณะนั้นมีมะพร้าวร่วงลงมาก็ดี กิ่งไม้ร่วงลงมาถูกสังกะสีก็ดี ก็เฉยอยู่ ไม่มีการสะทกสะท้าน ไม่มีการตกใจ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วก็แสดงว่าเข้าถึงปฐมฌานแล้ว

ถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างหยาบ ฌานไม่เสื่อม เวลาตายตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปาริสัชชา ในรูปพรหมชั้นที่ ๑ มีอายุยืน ๑ ใน ๓ ของมหากัป

ผู้ได้ปฐมฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นพรหมปุโรหิตา ในรูปพรหมชั้นที่ ๒ มีอายุ ๑ ใน ๒ มหากัป

ผู้ใดได้ปฐมฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดปฐมฌานวิบากปฏิสนธิจิต เกิดเป็นมหาพรหม ในรูปพรหมชั้นที่ ๓ มีอายุยืน ๑ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิขั้นปฐมฌานนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้นกว่าธรรมดา

๒. ทุติยฌาน หรือ ทุติยสมาบัติที่สอง เมื่อได้ปฐมฌานและฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ แล้ว ก็จะได้เจริญทุติยฌานต่อไป เมื่อเข้าถึงทุติยฌานแล้ว มีแต่เพ่งอารมณ์ จิตตั้งมั่นแน่วแน่กับอารมณ์ แต่ไม่ได้บริกรรมว่า พุทโธๆ หรือยุบหนอพองหนอเลย

เพราะเหตุไรจึงไม่ได้บริกรรม

สาเหตุที่ไม่ได้บริกรรมเพราะว่า ฌานที่ ๒ คือทุติยฌานนี้ละวิตกวิจารได้แล้ว เหลือแต่ปีติ สุข และเอกัคคตาเท่านั้น ปีติ ความอิ่มใจนั้นมี ๕ ประการ คือ

๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีอาการน้ำตาไหล หรือขนลุกขนชัน เป็นต้น

๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ มีอาการเกิดในจักษุทวารเหมือนกันกับสายฟ้าแลบหรือตีเหล็กไฟเป็นต้น

๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ มีอาการซู่ซ่าไปตามร่างกาย หรือเป็นดุจระลอกซัด เป็นต้น

๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน ทำให้ใจฟู ตัวเบา ตัวลอย เป็นต้น

๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ทำให้ตัวเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เป็นต้น

ปีตินั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้จิตใจอิ่มเอิบ ชุ่มชื่น เป็นสุข สงบแน่วแน่อยู่กับอารมณ์พระกัมมัฏฐาน

เราจะสังเกตอย่างไรว่าถึงฌานที่ ๒ แล้ว เราสังเกตเอาง่ายๆ คือ ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ แต่ว่าเราไม่ได้บริกรรมหรือภาวนา เพราะว่าผ่านวิตกวิจารไปแล้วจึงไม่มีการบริกรรม แต่เมื่อได้บริกรรมขึ้นมาเมื่อใด แสดงว่าจิตของเราตกจากทุติยฌานลงมาปฐมฌาน คือเมื่อจิตของเราตกลงมาอยู่ที่ฌานที่หนึ่ง ก็จะได้ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือพองหนอยุบหนอ อย่างนี้เรียกว่า จิตลงมาปฐมฌาน

ถ้าถึงทุติยฌานจะไม่มีบริกรรม แต่ว่าเราไม่ได้ตั้งใจหยุดบริกรรม หรือว่าเราไม่ได้คิดว่าเราจะหยุดบริกรรม แต่ว่าหยุดเองโดยธรรมชาติ เป็นไปตามอัตโนมัติ

อันตรายของทุติยฌาน คือ วิตก วิจาร หากวิตกวิจารเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ได้บริกรรมบทพระกัมมัฏฐานเมื่อนั้น และแสดงว่าจิตนี้ตกจากทุติยฌานแล้ว เหตุนั้น พึงตั้งสติสัมปชัญญะไว้ให้ดี

เมื่อได้ทุติยฌานแล้ว ก็พยายามประคับประคองจิตไว้ในทุติยฌานนั้น และถ้าหากว่าฌานไม่เสื่อม ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้ทุติยฌาน ถ้าหากว่าจุติด้วยอำนาจทุติยฌานกุศลอย่างต่ำคืออย่างหยาบ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๔ มีอายุยืนถึง ๒ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณาภา คือรูปพรหมชั้นที่ ๕ มีอายุยืนถึง ๔ มหากัป

ถ้าผู้ได้ทุติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอาภัสสรา คือรูปพรหมชั้นที่ ๖ มีอายุยืน ๘ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในขั้นทุติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานขั้นที่ ๑

๓. ตติยฌาน หรือ ตติยสมาบัติที่สาม เมื่อปฏิบัติได้ถึงฌานที่ ๓ นี้แล้ว ปีติ ๕ ประการดังกล่าวมาข้างต้นนั้นก็หมดไป เหลือแต่สุขกับเอกัคคตา ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงไม่มีแล้ว เมื่อมาถึงฌานนี้

เราจะนั่งสักกี่ชั่วโมง ความเจ็บปวดก็ไม่มี เพราะว่าเมื่อถึงฌานนี้ เหลือแต่ความสุขกับเอกัคคตาเท่านั้น ความสุขที่ได้รับในฌานธรรมนี้ จะหาความสุขใดที่เป็นโลกิยะมาเปรียบเทียบมิได้ หมายความว่า ความสุขในโลกิยะนั้น มีความสุขในฌานเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม

ธรรมอันเป็นข้าศึกของฌานที่ ๓ คือ ปีติ ขณะใดที่มีอาการขนลุกขนชัน น้ำตาไหล มีอาการเสียวแปลบปลาบตามร่างกายเหมือนมีคลื่นกระทบฝั่ง หรือใจฟู ตัวเบาตัวลอย มีอาการซาบซ่านทั่วสรรพางค์กายเป็นต้น นั่นแสดงว่าจิตของเราตกจากฌานที่ ๓ มาถึงฌานที่ ๒ แล้ว

เมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว เราจะสังเกตได้ง่ายๆ คือ จะมีอาการตึงหรือเครียดตามร่างกาย มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง นิ้วมือนิ้วเท้าไม่สามารถกระดิกได้ การก้มเงยคู้เหยียดก็ไม่อาจที่จะทำได้ ไม่สามารถที่เหลียวซ้ายแลขวาได้ เพราะในขณะนั้น เหมือนกันกับเอาเหล็กแหลมๆ ไม้แหลมๆ ตอกลงที่ศีรษะไปตามตัวแล้วตรึงแน่นไว้กับพื้น ไม่สามารถที่จะขยับเขยื้อนได้

และในขณะนั้น ความรู้สึกก็ยังมีอยู่นิดๆ เสียงก็ยังมีอยู่นิดๆ เกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ขอให้เข้าใจเถิดว่าถึงฌานที่ ๓ แล้ว และเมื่อถึงฌานที่ ๓ แล้ว ก็ขอให้พยายามประคับประคองตั้งสติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี อย่าให้ต้องถอยออกจากฌานที่ ๓ จนกว่าจะฝึกชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ เพื่อจะเป็นมรรคาไต่เต้าเข้าไปสู่จตุตถฌานที่ ๔ ต่อไป และผู้ที่ไม่เสื่อมจากฌานที่ ๓ ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้ คือ

ถ้าผู้ได้ตติยฌานอย่างหยาบหรืออย่างต่ำ ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมปริตตสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๗ มีอายุยืน ๑๖ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมอัปปมาณสุภา ในตติยฌานภูมิ คือรูปพรหมชั้นที่ ๘ มีอายุยืน ๓๒ มหากัป

ผู้ที่ได้ตติยฌานอย่างประณีต ฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ด้วยอำนาจของฌานกุศลนั้น ก็เป็นปัจจัยให้เกิดตติยฌานวิบากปฏิสนธิจิต บังเกิดเป็นพรหมสุภกิณหกา ในตติยฌานภูมิ คือ รูปพรหมชั้นที่ ๙ มีอายุยืน ๖๔ มหากัป

หากว่าเอาสมาธิในตติยฌานนี้มาเป็นพื้นฐานเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วกว่าสมาธิในฌานที่ ๒

๔. จตุตถฌาน หรือ จตุตถสมาบัติที่สี่ เมื่อถึงฌานที่ ๔ แล้ว จะละสุขได้ เหลือแต่เอกัคคตา และเกิดอุเปกขารมณ์เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่ง

เราจะทราบได้อย่างไรว่าถึงฌานที่ ๔

เราสังเกตได้ด้วยหลัก ๒ ประการ คือ

๑) ความรู้สึกหมดไป

๒) ลมหายใจไม่มี

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคท่านกล่าวไว้ว่า ลมหายใจจะไม่มีในบุคคล ๗ จำพวก คือ เด็กอยู่ในครรภ์มารดา ๑ คนตาย ๑ คนดำน้ำ ๑ ผู้เข้าถึงจตุตถฌาน ๑ พรหมในอสัญญีภพ ๑ รูปพรหมอรูปพรหม ๑ พระอริยเจ้าผู้เข้านิโรธ ๑

เมื่อเข้าถึงจตุตถฌานแล้ว ความรู้สึกจะไม่มี ลมหายใจก็ไม่มี เราจะเอาสำลีมาไว้ที่ปลายจมูกก็ไม่ปลิว หากว่าจับดูตามร่างกายจะรู้สึกเหมือนกับจับคนที่ตายไปแล้วหลายชั่วโมง เย็นเหมือนจับน้ำแข็ง ถ้าท่านทั้งหลายทำได้ดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายถึงฌานที่ ๔ แล้ว

สภาวธรรมที่เป็นข้าศึกแก่จตุตฌาน คือ ลมอัสสาสะปัสสาสะ คือถ้าปรากฏว่าหายใจเข้าหายใจออกขณะใด ขณะนั้น แสดงว่าจิตของเราถอยออกจากจตุตถฌานแล้ว เหตุนั้น ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงใช้สติสัมปชัญญะรักษาไว้ให้ดี ไม่ให้ถอยออกจากฌานที่ตนได้ และจตุตถฌานนี้มีอานิสงส์ดังนี้

ผู้ได้จตุตถฌานทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีต หากฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ก็จะปฏิสนธิเป็นพรหมเวหัปผลา อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ มีอายุยืน ๕๐๐ มหากัป

ผู้ได้จตุตถฌานที่เป็น พระอนาคามี ก็จะไปปฏิสนธิในขั้น สุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น ซึ่งมีอายุยืนตามลำดับ ดังนี้คือ

๑. ชั้นอวิหา มีอายุยืน ๑,๐๐๐ มหากัป

๒. ชั้นอตัปปา มีอายุยืน ๒,๐๐๐ มหากัป

๓. ชั้นสุทัสสา มีอายุยืน ๔,๐๐๐ มหากัป

๔. ชั้นสุทัสสี มีอายุยืน ๘,๐๐๐ มหากัป

๕. ชั้นอกนิษฐา มีอายุยืน ๑๖,๐๐๐ มหากัป

และอานิสงส์ที่จะได้พิเศษจากรูปฌานที่ ๔ คือ เป็นปัจจัยให้ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้แก่

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒. จุตูปปาตญาณ ปัญญารู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นได้

๓. อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

นอกจากนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้อภิญญา ๖ คือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้

๒. ทิพพโสตะ ได้หูทิพย์

๓. เจโตปริยญาณ รู้จักวาระจิตของผู้อื่น

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์

๖. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

อนึ่ง ผู้ที่ได้จตุตถฌานนี้ ผิวพรรณจะผ่องใส หน้าตาอิ่มเอิบ หากว่าเอาสมาธิขั้นจตุตถฌานนี้มาเป็นพื้นฐานรองรับในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้นกว่าฌานที่ ๓

ต่อไปเป็นอรูปฌาน

ส่วน อรูปฌาน หรือ อรูปสมาบัติ เป็นฌานหรือสมาบัติที่เอาสิ่งที่ไม่มีรูปมาเป็นอารมณ์ เช่น เอาอากาศมาเป็นอารมณ์ เป็นต้น ทีนี้เราจะทำอย่างไร ในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราใช้ท้องพองท้องยุบเป็นอารมณ์ หากว่าเราเจริญอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เราจะทำอย่างไร เราทำได้อย่างนี้คือ

เมื่อเราทำสมาธิคือรูปฌาน ๔ ให้คล่องแคล่วชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการดีแล้ว ในขณะที่เจริญอรูปกัมมัฏฐานเราก็เพิกอาการพองอาการยุบนั้นออกไป ไม่กำหนดอาการพอง อาการยุบ ให้เห็นที่ท้องพองท้องยุบนั้นว่างเปล่า มีแต่อากาศอยู่เท่ากับที่เรากำหนดเมื่อก่อนแล้วก็เอาสติปักไว้ที่อากาศนั้น แล้วก็บริกรรมภาวนาว่า อากาโส อนันโตๆ อากาศไม่มีที่สุดๆ จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ ก็แสดงว่าถึงอรูปฌานที่ ๑ แล้ว

ถ้าหากฌานไม่เสื่อม การตายในฌานนี้ก็จะไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คืออากาสานัญจายตนพรหม มีอายุยืนถึง ๒๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อเราชำนาญในอรูปฌานที่ ๑ แล้ว ก็เจริญอรูปฌานที่ ๒ ต่อไป หลังจากที่เห็นโทษของอากาสานัญจายตนะว่ายังไม่ดีนัก ยังเป็นอรูปฌานชั้นต่ำ ยังใกล้ชิดกับรูปฌานอยู่ จึงจะละอากาศเสีย ไม่เอาอากาศมาบริกรรมเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนเรารู้ว่าที่นี้เป็นอากาศ เราก็ทิ้งอากาศแล้วเอาสติมาจับเอาความรู้คือตัววิญญาณนั้นมาบริกรรมว่า วิญญาณัง อนันตังๆ วิญญาณไม่มีที่สุดๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าจิตของเราเข้าถึงอรูปฌานที่ ๒ คือวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌานนี้ก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนพรหม มีอายุยืน ๔๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๒ แล้ว พิจารณาเห็นโทษของอรูปฌานที่ ๒ จึงได้ตั้งใจเจริญอรูปฌานที่ ๓ ต่อไป โดยที่มาสำเหนียกถือเอาความว่างเปล่า ความไม่มี ซึ่งเรียกว่า นัตถิภาวบัญญัติ มาบริกรรมมาภาวนาว่า นัตถิ กิญจิๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี ร่ำไป จนสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้ดังนี้ ก็แสดงว่าเราได้สำเร็จซึ่งอรูปฌานที่ ๓ แล้ว หากว่าฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือชั้นอากิญจัญญายตนะอรูปพรหม มีอายุยืน ๖๐,๐๐๐ มหากัป

เมื่อชำนาญในอรูปฌานที่ ๓ แล้ว ไม่พอใจเพียงแค่อรูปฌานที่ ๓ นั้น จึงมาเจริญอรูปฌานที่ ๔ ต่อไป วิธีเจริญอรูปฌานที่ ๔ นี้ เราเอาอากิญจัญญายตนฌานนั้นมาเป็นอารมณ์ แล้วเพิกอากิญจัญญายตนฌานนั้นออกไป โดยบริกรรมหรือภาวนาว่า เอตัง สันตัง เอตัง ปณีตังๆ สงบหนอ ประณีตหนอๆ ร่ำไป จนสามารถทำจิตให้เป็นอัปปนาสมาธิ เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอุเปกขารมณ์

เมื่อทำได้อย่างนี้ แสดงว่าได้สำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน คือ อรูปฌานที่ ๔ แล้ว เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายในฌาน ตายแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม มีอายุยืน ๘๔,๐๐๐ มหากัป

ถ้าเอาสมาธิในอรูปฌานทั้ง ๔ นี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนา ก็จะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายกันกับวิปัสสนาภาวนา คือวิปัสสนาภาวนาท่านสอนให้ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆทั้งหมด ทั้งที่เป็นรูป ทั้งที่เป็นนาม

สำหรับอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ก็เหมือนกัน ท่านสอนให้ละรูปทิ้งไปให้หมด เอาแต่นามมาบริกรรม เอาอากาศเอาวิญญาณมาบริกรรม อากาศและวิญญาณที่เอามาบริกรรมนั้นก็จะละเอียดเข้าเรื่อยๆ จนถึงสภาวะที่ละเอียดประณีตที่สุด คือเอาวิญญาณเอาความรู้ที่ประณีตที่สุดเกือบจะว่าไม่มีในขณะนั้น เหตุนั้นเมื่ออารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาจึงเป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อได้อรูปฌานที่ ๔ แล้ว มีอานิสงส์เป็นพิเศษ คือทำให้ได้สำเร็จปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ หมายความว่า เราได้เพียงรูปฌาน ๔ ก็เป็นปัจจัยให้ได้วิชชา ๓ อภิญญา ๖ เท่านั้น ไม่สามารถที่จะบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ ได้ เมื่อใดเราได้ทั้งรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ รวมเป็นสมาบัติ ๘ เมื่อได้สมาบัติ ๘ ประการนี้ ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้ได้บรรลุปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ซึ่งได้แก่

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายความของภาษิตย่อๆ หรือหัวข้อธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือ สามารถที่จะรวบรวมธรรมะที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารมาสรุปให้เหลือสั้นๆลงได้ เหมือนกับธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสไว้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ วิจิตรพิสดารมาก แต่เมื่อย่อลงให้สั้นๆแล้วก็ได้แก่ อัปปมาทธรรม ความไม่ประมาทเพียงประการเดียว ผู้ได้ธัมมปฏิสัมภิทาก็เหมือนกัน สามารถย่อธรรมะหรือคำพูดที่ท่านพูดโดยพิสดารให้สั้นๆ เข้าใจได้ง่าย

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติคือภาษา คำว่า แตกฉานในภาษา ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราบรรลุแล้วเราสามารถจะพูดภาษาต่างประเทศได้ หรือภาษาอะไรต่อมิอะไรก็ได้ ไม่ได้หมายความอย่างนั้น คำว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษานี้ หมายถึง รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า สามารถที่จะเทศน์ปฏิภาณโวหารได้ ยกภาษิตขึ้นมาก็สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้ สามารถที่จะบรรยายได้ ปาฐกถาหรืออภิปรายได้

คนที่ปฏิภาณปฏิสัมภิทาไม่เกิด แม้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ไม่สามารถที่จะเทศน์จะแสดงได้ ถ้าจะเทศน์ให้ผู้อื่นฟังก็ต้องอดตาหลับขับตานอนท่องบ่นสาธยายตั้ง ๙ คืน ๑๐ คืนจึงจะมาเทศน์ได้ เทศน์ไป ๓๐ นาทีก็หมดคำเทศน์แล้ว เพราะว่าไม่แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทา แต่ถ้าผู้แตกฉานในปฏิภาณปฏิสัมภิทาแล้ว สามารถที่จะเทศน์ได้แสดงได้

ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อสำเร็จอรูปฌานที่ ๔ เสียก่อนจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อท่านทั้งหลายได้สมาธิดังกล่าวมาตั้งแต่ขั้นปฐมฌานเป็นต้นไป ครูบาอาจารย์ท่านก็จะมาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ เสียก่อน สมมติว่าเราได้เพียงปฐมฌานก็นำมาฝึกแล้ว เช่นที่คณะแม่ชีฝึกกันอยู่ในขณะนี้ บางท่านก็อยู่ในขั้นปฐมฌาน บางท่านก็อยู่ในขั้นทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

ถึงจะได้ฌานใดก็ตาม ก็ต้องเอามาฝึกให้ชำนิชำนาญเสียก่อน หากว่าไม่ชำนาญแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สมาธิได้ตามความประสงค์ เหตุนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี ชำนาญคล่องแคล่วในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ หรือว่าชำนาญในการพิจารณาองค์ฌาน เช่น เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มีความคล่องแคล่วหรือว่องไว ยกจิตขึ้นสู่อาการพองอาการยุบ และก็บริกรรมว่าพองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆ ได้ทันที

๒. สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌานเข้าสมาธิ อยากเข้าสมาธิภายใน ๓๐ วินาทีก็เข้าได้ อยากเข้าภายใน ๑ นาทีก็เข้าได้ ๒ นาทีก็เข้าได้ หรือเราอธิษฐานจิตไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้ากราบเป็นครั้งที่ ๓ แล้ว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที ก็สามารถเข้าได้ โดยกราบลงไปครั้งที่ ๑ เรากำหนดว่า กราบหนอ กราบลงไปครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ กำหนดว่า กราบหนอๆ พอกราบเสร็จก็เข้าสมาธิไปได้เลย

หรือเราอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าเดินจงกรมไปได้ ๗ ก้าว ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที เราก็กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พอถึงก้าวที่ ๗ ก็เข้าสมาธิไปเลย หมายความว่า อยากเข้าเวลาไหนก็ได้ การเข้าสมาธิได้ตามต้องการนี้เรียกว่า สมาปัชชนวสี

๓. อธิษฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้ออกจากฌานก่อนเวลา สมมติว่าเราต้องการจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็สามารถจะเข้าได้ครบ ๕ นาที ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าออกก่อนเวลา เรียกว่ายังไม่ชำนาญในอธิษฐานวสี ถ้าเราอยากอยู่ในสมาธิ ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ก็จะอยู่ได้ตามต้องการนั้นๆ ไม่ออกก่อนเวลา ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่าชำนาญในอธิษฐานวสี

๔. วุฏฐานวสี ชำนาญในการรักษาจิตไว้ไม่ให้เลยเวลาที่กำหนด สมมติว่าเรากำหนดจะเข้าสมาธิ ๕ นาที ก็ไม่ให้เลยไปแม้วินาทีหนึ่ง เราต้องการที่จะอยู่ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง ก็อยู่ได้ครบพอดี ไม่ให้เลยเวลาไปแม้แต่นาทีเดียว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ชื่อว่าชำนาญในวุฏฐานวสี

๕. ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณา คือชำนาญในการพิจารณาฌานที่ตนได้แล้ว ชำนาญในการเข้าการออก ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๘ ตามลำดับๆ ถ้าเราได้ฌานทั้ง ๘ ก็ชำนาญในการพิจารณาฌานทั้ง ๘ พูดเอาง่ายๆว่า ชำนาญในการพิจารณาฌานของตน ได้ทั้งการเข้าการออก เรียกว่า ชำนาญในปัจจเวกขณวสี

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อให้ท่านทั้งหลายฝึกสมาธิ ก็เพื่อให้ท่านชำนาญในการเข้าสมาธิออกสมาธิ เพื่อที่จะเข้าสมาธิได้ตามกำหนดกฎเกณฑ์ และอยู่ในฌานตามที่เรากำหนดไว้ เมื่อเราทั้งหลายชำนาญในวสีทั้ง ๕ นี้แล้ว เราก็สามารถใช้สมาธิใช้ฌานของเราได้ตามประสงค์

เอาละท่านทั้งหลายผู้พากเพียรภาวนา ธรรมะที่หลวงพ่อได้บรรยายมาในเรื่อง สมาบัติ ๘ ประการ ก็ได้ใช้เวลามาพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 03 พฤษภาคม 2561 10:18:38
(http://wareingcremation.ca/obituaries/wp-content/uploads/2016/09/beeswax-tealight-candles.jpg)

ไขข้อข้องใจเรื่องสมาบัติ

สำหรับวันนี้ จะได้นำธรรมะเบ็ดเตล็ดมาแก้ความข้องใจสงสัย ในเรื่องบางสิ่งบางอย่าง มีเรื่องสมาบัติเป็นต้น หรืออานิสงส์ของสมาบัตินั้น มีอยู่หลายประการดังที่ท่านทั้งหลายได้ทราบแล้ว

แต่วันนี้ ก็ขอสรุปเอาแต่เพียงย่อๆ ว่า ถ้าผู้ที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แต่ได้ฌานเสียก่อน เช่นรูปฌาน เมื่อได้รูปฌาน จุติในฌาน ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ๑๖ ชั้น ตามกำลังของฌาน แต่ถ้าได้อรูปฌาน ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่ง หากว่าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นอรูปพรหม

สำหรับพระอริยบุคคล อย่างเช่นพระโสดาบัน พระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน ถ้าพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ไม่ได้แม้แต่ปฐมฌาน เข้าผลสมาบัติก็ไม่ได้ เวลาจุติ ก็จุติจากโลกนี้ตามธรรมดาๆ เหมือนกับสามัญชน ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ พระโสดาบันนั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามภูมิ อาจจะเป็นมนุสสภูมิ เทวภูมิก็ได้ แต่ถ้าพระโสดาบันที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

แม้พระสกทาคามีก็เหมือนกัน ถ้าพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในกามาวจรภูมิ อาจจะเป็นมนุษย์ หรือฉกามาวจรสวรรค์ ชั้นใดชั้นหนึ่ง แล้วแต่กำลังบุญกุศลที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้ แต่ถ้าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

สำหรับพระอนาคามี จะได้สมาบัติหรือไม่ได้สมาบัติก็ตาม จุติแล้วก็ต้องไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่น ชั้นอวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา แล้วก็จะมีโอกาสได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมชั้นนั้นๆ บางองค์ก็ไปบรรลุในชั้นที่อุบัติขึ้น บางองค์ก็ต้องเลื่อนไปตามลำดับๆ จนถึงชั้นอกนิฏฐา จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

สำหรับพระอนาคามีนั้น เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว จะไม่กลับมาสู่กามาวจรภูมิอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการจุติอยู่ก็ตาม พรหมอนาคามี ไม่เหมือนพรหมจำพวกอื่น(ที่เมื่อ)จุติแล้ว ยังมีโอกาสมาบังเกิดในกามาวจรภูมิได้อยู่ เช่น จะมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาบ้างได้อยู่ แต่สำหรับพรหมอนาคามีนี้ ไม่มาบังเกิดในกามาวจรภูมิอีก

เพราะเหตุไร เพราะพระอนาคามีนั้น ตัดกามราคะและโทสะได้หมดแล้ว ออกจากเรือน ไม่เกี่ยวข้องด้วยเรือนแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพสู่กามภูมิอีก เมื่อไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสุทธาวาสพรหมนั่นเอง

ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานล่ะ จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร

ไปบังเกิดในสุทธาวาสได้อย่างนี้ คือ พระอนาคามีถึงจะได้ฌานหรือไม่ได้ฌานก็ตาม ก่อนที่ท่านจะมรณภาพนั้น แม้จะมรณภาพด้วยอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดี หรือจะเกิดอุบัติเหตุ ถูกยิง ถูกแทง หรือตกเครื่องบิน หรือตกจากที่สูง หรือถูกยาพิษ อะไรทำนองนี้ หมายความว่า จะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม

หากว่า มัคคสิทธิฌาณ ยังไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อมัคคสิทธิฌาณเกิดขึ้นเสียก่อน ท่านจึงจะมรณภาพ เพราะว่า มัคคสิทธิฌาณนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ จึงทำให้พระอนาคามีนี้สามารถไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้

ทีนี้ สำหรับพระอรหันต์ แม้จะได้ฌานเพียงแต่ขั้นปฐมฌานก็ตาม หรือจะได้ครบทั้งสมาบัติ ๘ ก็ตาม การเข้าฌานของพระอรหันต์นั้น เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือเป็นเพียงสักว่าเข้าฌานออกฌานเท่านั้น

เพราะเหตุใด จึงเป็นเพียงสักว่ากิริยา

เพราะผลของฌานนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้พระอรหันต์ไปเกิดในกามภพ รูปภพ หรืออรูปภพได้

เพราะเหตุไร

เพราะเมื่อท่านจุติจากอัตภาพนี้แล้ว ท่านก็เข้าสู่นิพพานเลย คือว่า การทำบุญทำทานของพระอรหันต์นั้น ถึงท่านจะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม การทำบุญทำทานนั้น ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา ผลของการทำบุญทำทานนั้นไม่สามารถที่จะอำนวยให้ท่านไปเกิดในกามภพ เช่นว่า โลกมนุษย์ หรือว่าเทวโลกได้(อีกต่อไปแล้ว)

เพราะเหตุไร

เพราะว่าท่านพ้นแล้วจากภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีอย่างเดียวเท่านั้น คือพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง

เหตุนั้น แม้ (พระอรหันต์) จะทำบุญหมดทรัพย์เป็นล้านๆ ก็ตาม ก็เป็นเพียงสักว่ากิริยา คือการทำบุญสร้างสมคุณงามความดี แต่ถึงกระนั้นท่านก็ต้องทำบุญ เพราะว่า วิสัยของนักปราชญ์ ท่านย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงอย่างไรก็ตาม ท่านก็รู้แล้วว่าการทำบุญนี้ ก็สักแต่ว่าเป็นการทำบุญ ไม่สามารถที่จะนำไปเกิดในกามภพได้ หรือว่าการรักษาศีลนี้ ก็เป็นแต่เพียงการรักษาศีล หรือว่าการเข้าฌาน ก็เป็นแต่เพียงการเข้าฌาน เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา ไม่สามารถที่จะทำให้ไปบังเกิดในภพ ในภูมิอีกต่อไปได้ ท่านก็ต้องทำ

เพราะเหตุไร เพราะเพื่อพระศาสนา เพื่อสงเคราะห์แก่ ปัจฉิมภวิกชน คือท่านทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อพระศาสนา เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้ที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เหตุนั้น แม้ท่านรู้อยู่ ท่านก็ต้องทำ เมื่อท่านจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพทั้งหลายทั้งปวง

ทีนี้สมาบัติ คำว่า สมาบัติ กับคำว่า ฌาน นั้นเป็นอันเดียวกัน ฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี ก็แบ่งออกเป็นขั้นๆ คือว่า

ฌานนี้ก็แบ่งออกเป็น ๒ ขั้น คือ

๑. ฌานที่เป็นขั้นโลกิยะ

๒. ฌานที่เป็นขั้นโลกุตตระ

แยกกันได้อย่างไร แยกกันได้อย่างนี้คือ หากว่าฌานหรือสมาบัติของผู้ที่ได้นั้น หากผู้นั้นยังไม่ได้บรรลุอริยมรรค อริยผล แม้แต่ขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุ แม้จะเข้าสมาบัติทั้ง ๘ ประการได้ สมาบัตินั้นก็ยังเป็นขั้นโลกิยะ เป็นขั้นธรรมดาอยู่

แต่ถ้าหากว่า ผู้ที่ได้ฌานนั้นได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล อย่างน้อยที่สุดก็ได้เป็นพระโสดาบัน ฌานที่ได้หรือสมาบัติ ๘ ที่ได้นั้นก็เป็นโลกุตตระ คือจะเป็นโลกิยะหรือโลกุตตระนั้นตามภูมิของจิต

ถ้ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย สมาบัติ ๘ ประการ หรือฌานใดฌานหนึ่งนั้น ก็ยังเป็นโลกิยะอยู่ แต่ถ้าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ชั้นพระโสดาบันแล้ว ฌานนั้นก็เป็นโลกุตตระไป ขอให้ท่านทั้งหลายจำเอาไว้ด้วยว่าแยกกันตรงไหน (ระหว่าง) โลกิยฌานกับโลกุตตรฌาน แยกกันตามภูมิของจิต

สำหรับ ผลสมาบัติ นั้นเป็นโลกุตตระ เพราะการเข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ที่ถึง ผลสมาบัติจึงเป็นโลกุตตระ และนิโรธสมาบัติ ก็เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิโรธสมาบัตินี้ก็ยิ่งละเอียด เพราะว่าปุถุชนทั่วไปตลอดถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามีเข้าไม่ได้ เข้าได้แต่เฉพาะพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้ เหตุนั้น นิโรธสมาบัติก็จึงเป็นโลกุตตระด้วย

สำหรับการเข้าฌานสมาบัติก็ดี การเข้านิโรธสมาบัติก็ดี บางท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นวิชชา หลวงพ่อคงใช้วิชชาแล้ว เพราะว่าเวลาจะเจริญกัมมัฏฐานทุกวันๆ นั้น ก็พากันสมาทานกัมมัฏฐานทุกวันๆ คงจะเป็นการเรียนวิชชา ใช่ เป็นวิชชาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องวิชชาหรือไสยศาสตร์ อย่างที่ท่านทั้งหลายเข้าใจ

หมายความว่า ไม่ได้สำเร็จด้วยเวทมนต์กลคาถาใดๆ ไม่แฝงด้วยมารยาสาไถยใดๆ ทั้งสิ้น การสมาทานของเรานั้น เป็นแต่เพียงหลักการ หลักวิชาการเท่านั้น เป็นแต่เพียงรูปแบบ เป็นแต่เพียงว่าทำให้จิตใจเข้มแข็ง เกิดความอุตสาหะ เกิดความมั่นใจว่า เราได้มอบกายถวายชีวิตแก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แก่ครูบาอาจารย์แล้ว

สรีระร่างกายของเราในขณะนี้ เพียงแต่ยืมท่านมา ยืมจากพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ยืมจากครูบาอาจารย์ (ยืม)มาสร้างสมอบรมคุณงามความดีเท่านั้น ที่จริงแล้วเรามอบถวายท่านหมดแล้ว เพื่อว่าจะได้มีกำลังจิตกำลังใจ และเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เกิดความอุตสาหะ

เช่นการเจริญเมตตาอย่างนี้ เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้เรามีเมตตาธรรมต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย การเจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เรานั้นมีความรักในผู้อื่น มีความสงสารต่อผู้อื่น ให้รู้จักสงสารกัน และช่วยเหลือกัน การเจริญอุเบกขาว่า กัมมัสสโกมหิ กัมมทายาโท (เป็นต้นนี้) ก็เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่า เราเกิดมานี้เพราะกรรม ทั้งกรรมดีกรรมชั่ว อาศัยกรรมเป็นสิ่งที่นำมาเกิด เราเกิดมานี้ก็ต้องรับมรดกของกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ ให้เราได้พิจารณาว่า คนเรานี้เกิดมาเพราะกรรม จากโลกนี้ไปก็เพราะกรรม จะได้ละกรรมชั่วเสีย กระทำแต่กรรมดีต่อไป เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

ก็การที่เรากล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็เพื่อให้เกิดปีติ เกิดความเอิบอิ่มใจ เกิดความปราโมทย์ เกิดความตื้นตันใจว่า เราได้บูชาพระรัตนตรัยอย่างยอดเยี่ยม เราได้บูชาด้วยการประพฤติการปฏิบัติธรรม เป็นการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์อย่างแท้จริง เราจะได้เกิดปีติในการประพฤติปฏิบัติธรรม

การเจริญธัมมานุสตินี้ ก็เพื่อให้เราได้พิจารณาว่า เราเกิดมานี้ ทางที่จะให้พ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนั้น มีทางเดียวเท่านั้น คือการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ไม่มีหนทางที่จะถึงพระนิพพานได้

ส่วนการเจริญสังฆานุสติ คือระลึกถึงพระอริยะสาวก ๘๐ องค์ ตลอดถึงอรหันตสาวกทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อให้เรานี้ได้ยึดถือไว้เป็นทิฏฐานุคติ คือเอาเป็นตัวอย่างในการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะได้เกิดความพากเพียรอุตสาหะพยายาม ในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เพื่อให้จิตใจของเราเข้มแข็งสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น

สำหรับการเจริญมรณสติ ก็เหมือนกัน อัทธุวัง เม ชีวิตัง ชีวิตของเราไม่แน่นอน เราต้องตายแน่ เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด ชีวิตไม่เที่ยง ความตายเที่ยง เป็นโชคดีที่เราได้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ก็เพื่อจะให้เป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจว่าเรานี้ แม้จะมีอายุยืนตั้ง ๑๐๐ ปี ก็ต้องตาย ทำอย่างไรๆ ก็ต้องตาย

แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา พระองค์ยังปรินิพพาน นับประสาอะไรกับเราที่เป็นปุถุชนแท้ๆ หรือเป็นกัลยาณชนแท้ๆ จะไม่ตายเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็จะเกิดความอุตสาหะ พยายามในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เพื่อบำเพ็ญบารมีก่อนที่ความตายจะมาถึงเรา นี่เพื่อให้เป็นความมั่นใจเท่านั้น

แต่สำหรับผู้มีธรรมเป็นเรือนใจแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องอธิษฐานก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสมาทานก็ได้ อันนี้เราทำเพื่อให้จิตใจของเราเกิดสมรรถภาพ เกิดความเข้มแข็ง ในการที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาปฏิบัติเท่านั้น

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของวิชชาหรือเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องเวทมนต์กลคาถา ที่คนทั้งหลายเข้าใจ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องสะกดจิต การเข้าสมาธิของบรรดาลูกเณรทั้งหลาย ตลอดถึงบรรดาแม่ชี อุบาสก อุบาสิกา ที่มาฝึกสมาธิ เป็นเรื่องสะกดจิต ใช่ เป็นการสะกดจิตเหมือนกัน

แต่ว่าไม่ได้สะกดจิตเหมือนดังที่คนทั้งหลายเข้าใจ แต่ว่าเราสะกดจิตแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย สมเด็จพ่อของพวกเรานั้นแหละเป็นอัจฉริยบุรุษ เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต เราลองคิดดูซิว่า ก่อนโน้น ตอนที่พระองค์ยังเป็นสิทธัตถกุมาร ครองราชสมบัติอยู่ถึง ๒๙ ปี จึงเสด็จออกทรงผนวช เมื่อทรงผนวชแล้วก็ยังใช้วิธีสะกดจิตอยู่ตั้ง ๖ ปี

สะกดจิตอย่างไร

การสะกดจิตของพระองค์นั้น พระองค์สามารถสะกดจิตของพระองค์เอง ให้หมดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน วิธีการสะกดจิตของพระองค์นั้น สามารถทำให้จิตของปุถุชนนี้ดับไป จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

เพราะเหตุไร พระองค์จึงได้ตรัสรู้

เพราะพระองค์เป็นผู้เลิศในทางสะกดจิต จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เหตุนั้น หลวงพ่อจึงได้นำเอาหลักการหรือวิธีการของสมเด็จพ่อมาแนะนำพร่ำสอนชี้แนะแนวทางให้ท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติตาม คือสอนให้ท่านทั้งหลายสะกดจิตตัวเอง แต่ไม่ใช่หลวงพ่อสะกดจิตให้

ท่านทั้งหลายต้องสะกดจิตตัวเอง คือสะกดให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน มันดับไป สิ้นไป สูญไปจากจิตจากใจของท่านทั้งหลาย จิตใจของท่านทั้งหลายจะได้สะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมา

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะสงสัยขึ้นมาว่า ทำไมการเข้าสมาบัตินี้ เพียงแต่เข้าถึงขั้นปฐมฌานเท่านั้นทั้งๆ ที่หูของเราก็ยังได้ยินเสียงอยู่ ใจของเราก็ยังรู้อยู่ แต่ทำไมพอมีเสียงอะไรๆ ดังขึ้นมา จึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง จึงไม่ตื่น แม้มะพร้าวหรือกิ่งไม้มันร่วงลงมาถูกสังกะสีก็เฉย ใครจะปิดประตูหน้าต่างแรงๆ ก็เฉย

เขาจะยิงปืน จุดประทัดดังเปรี้ยงๆ ก็ยังเฉยอยู่ ทำไมมันยังเฉยอยู่ได้ ไม่ตื่น ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้ง ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกามแล้ว พ้นจากนิวรณ์ทั้ง ๕ แล้ว ถึงแม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์อยู่ก็ตาม แต่จิตใจของเราไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์เลย

เมื่อใจไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เพราะพ้นจากอำนาจของกามแล้ว เมื่อพ้นจากอำนาจของกามแล้ว แม้มีอะไรเกิดขึ้นจึงไม่ตกใจ จึงไม่สะดุ้ง

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า ทำไมเวลาเข้าฌานเข้าถึงที่แล้วจึงไม่รู้สึก การเข้าฌานนั้นต้องพ้นจากพวกกาม ยิ่งถ้าเป็นขั้นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติแล้ว ก็ยิ่งพ้นจากขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อฌานนั้นพ้นจากขันธ์ ๕ แล้ว จะมารู้สิ่งภายนอกได้อย่างไร เพราะว่าฌานนั้นก็เป็นขันธวิมุติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ เหมือนกัน ถ้ายังมีขันธ์เหลืออยู่แม้ขันธ์เดียว ก็เป็นผลสมาบัติหรือนิโรธสมาบัติไม่ได้ ถ้ายังข้ามพวกกามไม่ได้ก็ยังเป็นฌานไม่ได้

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย การเข้าฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี เมื่อเข้าถึงที่แล้วจึงไม่มีความรู้สึก แต่จะบอกอีกอย่างหนึ่งว่า เวลาอยู่ในฌานนั้นรู้ไหม ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ เวลาอยู่ในฌานสมาบัติก็ดี ผลสมาบัติก็ดี นิโรธสมาบัติก็ดี นี้พูดถึงว่าเข้าถึงที่แล้วนะ ถ้าเป็นฌานก็เข้าถึงจตุตถฌานแล้ว

ที่ตอบว่ารู้ ก็คือรู้ในอารมณ์ของฌาน แต่ว่าไม่รู้โลกีย์อย่างคนธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่มันรู้อารมณ์ฌาน ถ้าอยู่ในผลสมาบัติ หรือนิโรธสมาบัติ ก็รู้ หมายความว่า รู้อารมณ์ของพระนิพพาน ไม่รู้อย่างคนธรรมดา คือคนธรรมดานั้นก็จะไม่รู้ ส่วนที่ว่ารู้นั้น หมายความว่า รู้อารมณ์เหนือพวกกาม รู้อารมณ์พระนิพพาน แต่ว่าคนทั้งหลายในโลกนี้จะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา (ผู้ได้ฌาน) นั้นรู้ คือรู้อารมณ์ของฌาน รู้อารมณ์ของพระนิพพาน

เราทั้งหลายลองคิดดูสิว่า อันนี้ยังเป็นขั้นฌาน ขั้นผลสมาบัติ หรือขั้นนิโรธสมาบัติ มันเป็นธรรมสูงสุดแล้ว เมื่อเราต้องการที่จะรู้อย่างคนธรรมดาๆ มันก็เป็นฌานไม่ได้ เป็นผลสมาบัติไม่ได้ เป็นนิโรธสมาบัติไม่ได้ เพียงแต่เป็นขั้นโลกีย์ตามธรรมดาๆ

ส่วนมากคนเราก็ยังไม่รู้กัน เราลองคิดดูว่า เวลานอนหลับอย่างนี้ การนอนหลับเป็นแต่เพียงจิตของเราลงสู่ภวังค์เท่านั้น ไม่ใช่จิตเข้าฌาน ขนาดจิตลงภวังค์เท่านั้นเราก็ยังไม่รู้ ยุงมากัดก็ยังไม่รู้ เฉยอยู่ตลอดเวลา จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดเกิดขึ้น ก็ยังไม่รู้ ขั้นธรรมดาๆ ที่เป็นขั้นโลกีย์ก็ยังไม่รู้ นับประสาอะไรถึงขั้นสูงกว่านี้ ซึ่งเป็นฌานสมาบัติ หรือผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติแล้วเราจะไปรู้กัน

เรื่องสมาบัติเราคิดเอาเองไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้ นอกจากจะทำได้เหมือนกัน เช่นว่าเห็นเขาเข้าสมาธิได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เราก็ต้องเข้าให้ได้เหมือนเขาจึงจะรู้กันได้ แต่ถึงกระนั้น การเข้าสมาบัติก็ยังไม่เหมือนกัน

เช่นว่า ผู้ที่เข้าสมาบัติได้ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง หรือ ๗๐ ชั่วโมงก็ตาม จะไม่เหมือนกัน มีความหยาบความละเอียดกว่ากัน เหตุนั้น เรื่องฌานนี้เราอยากจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร นั่ง ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๒๔ ชั่วโมงเป็นอย่างไร ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมงเป็นอย่างไร เราก็ต้องทำให้อยู่ในภูมิธรรมเดียวกัน อยู่ในขั้นเดียวกันจึงจะรู้ได้ หากว่าเราไม่สามารถทำได้อย่างนี้ ถึงอย่างไรๆ ก็ไม่รู้

ดังที่ท่านอุปมาไว้ว่า เหมือนปลากับเต่า เต่านั้นเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่ในน้ำก็ได้ อยู่บนบกก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว คือ อยู่แต่เฉพาะในน้ำเท่านั้น วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากจะทราบความเป็นไปบนบกนั้นว่า มีอะไรบ้าง จึงถามเต่าว่า เป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมมั้ย มีการไหวมั้ย มีสาหร่ายมั้ย ปลาก็เอาแต่ของที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า

เต่าก็ตอบว่า ไม่มีๆ เรื่อยไป ปลาก็เลยถามเป็นประโยคสุดท้ายว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างมีอยู่บนบก เต่าก็เลยตอบว่า สิ่งใดที่ไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายก็ลองคิดดูสิว่า ปลามันจะหมดความสงสัยไหม อันนี้ก็เหมือนกัน พวกเราทั้งหลายก็เหมือนกัน

การเข้าสมาธิ ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง เป็นอย่างไร แม้บอกกันก็ไม่รู้เรื่อง หรือว่าการบรรลุเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี พระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร บอกกันไม่ได้เลย คือคิดตามไปดูด้วยก็ไม่ได้ คาดคะเนเอาก็ไม่ได้ เดาเอาก็ไม่ได้

เหตุนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้ว่า เป็นอจินไตย เรื่องที่ไม่ควรคิด มีอยู่ ๔ ประการ คือ

๑. พุทธวิสัย คือ วิสัยของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ นอกจากว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าประเภทเดียวกัน

๒. ฌานวิสัย คือวิสัยของผู้ได้ฌาน ว่าการเข้าฌานเป็นอย่างไรหนอ การเข้าสมาบัติเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้ เราเดาเอาก็ไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด

๓. กรรมวิบาก คือผลของกรรม เช่น เราเห็นคนทั้งหลาย ผู้นี้เขาทำกรรมอย่างไรหนอ เขาจึงมาเกิดในภพนี้ชาตินี้ ผลของกรรมที่เขารับอยู่ในขณะนี้ เป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้อย่างไรหนอ ที่เขาได้เป็นนั่น ได้เป็นนี่ก็ดี เขาได้รับความทุกข์ยากลำบากนานัปการก็ดี นี้เป็นผลของกรรม เขาทำกรรมอย่างไรไว้หนอในอดีตนั้น คิดไม่ได้ หรือว่าผู้ที่ทำกรรมอย่างนี้แล้ว ตายแล้วเขาจะเป็นอย่างไรหนอ เราคิดตามไม่ได้

๔. เรื่องโลก คือเรื่องความเป็นไปของโลก ตลอดถึงการมองเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวที่เป็นอยู่นี้ มันอยู่ได้อย่างไร โลกของเรานี้ตั้งอยู่ได้อย่างไร เราคิดอย่างไร มันก็ไม่หมดความสงสัย

เหตุนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เรื่องทั้ง ๔ ประการนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรคิด คือ ๑) พุทธวิสัย ๒) ฌานวิสัย ๓) เรื่องวิบากคือผลของกรรม ๔) เรื่องโลก เรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรคิด ถ้าผู้ใดคิด พระองค์ตรัสว่า มีคติแห่งความฟุ้งซ่าน ความเป็นบ้า

พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า

เมื่อใดพุทธบริษัททั้งหลาย ยังพากันประพฤติมั่นอยู่ในศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอริยมรรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือในสถานที่แห่งใดยังมีการสนทนาปราศัยกันเรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องสมถะ และวิปัสสนาอยู่ สถานที่นั้นๆ ก็ยังมีผู้ทรงศีลทรงธรรม ยังมีผู้ที่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลอยู่

ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตราบใด ยังมีผู้เจริญสมถะอยู่ เจริญวิปัสสนาอยู่ และยังรักษาพระวินัยอยู่ หรือยังคลุกคลีกันด้วยการสนทนาเรื่องการปฏิบัติอยู่ พูดถึงการเข้าฌานบ้าง การออกจากฌานบ้าง พูดถึงการเข้าผลสมาบัติบ้าง พูดถึงการเข้านิโรธสมาบัติบ้าง สถานที่นั้นก็จะเจริญไปด้วยความสันติสุข คือมีความสงบเย็น มีความผาสุก

ดังที่ท่านทั้งหลายเห็นอยู่ทุกวันนี้ ความสุขที่ได้รับก็เกิดจากการประพฤติปฏิบัติธรรม

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง สมาบัติ มาแก้ข้อข้องใจของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 พฤษภาคม 2561 11:27:05
(https://pbs.twimg.com/profile_images/827539610599256064/WnKCwEZ9_400x400.jpg)

อานิสงส์ของการเจริญสมาธิ (๑)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อใคร่ขอเตือนจิตสะกิดใจญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะญาติโยมที่เคยประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมมา โดยเฉพาะผู้ที่เคยฝึกการทำสมาธิแต่ละปีๆ ที่ผ่านมาในหน้าพรรษา เราก็จะได้เพิ่มผลบุญบารมี ในช่วงหน้าแล้ง เราไม่มีโอกาสที่จะทำจิตทำใจให้สงบเป็นเวลานานได้ เรามีโอกาสที่จะเสวยความสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ได้เท่าที่ควร

ที่จริงสมาธินี้เขาใช้เพื่อเป็นการสร้างพลังจิตให้สูงขึ้น นี้ประการ ๑ ประการที่ ๒ เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดซึ่งเกิดขึ้นจากสภาวะที่ไม่ดี เช่นว่า

(กามฉันทะ) มีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่ทำให้เกิดความชอบใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำนอกรีตนอกรอย ผิดศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา

พยาบาท มีความไม่พอใจในสิ่งแวดล้อม ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไม่พอใจเพื่อน ไม่พอใจในครอบครัว ไม่พอใจในวงศาคณาญาติ ไม่พอใจในเพื่อนบ้าน ไม่พอใจพระเจ้าพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดในวา อะไรทำนองนี้ ความไม่พอใจทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ โอกาสที่เราจะทำให้มันน้อยลงไปก็หาได้ยาก

นอกจากนี้ ความผูกพันอยู่กับบางสิ่งบางประการในการหลับการนอน หรือบางทีก็คิดมากจนเป็นโรคประสาทเข้าโรงพยาบาล บางทีก็เกิดความไม่เข้าใจในธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติมาอย่างนี้

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ วิธีจะผ่อนคลายลงไปได้ ประการที่ ๑ คือ เราทำจิตทำใจของเราให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นจิตที่หนักแน่นมั่นคง ในเรื่องของการสร้างสมอบรมคุณงามความดี เป็นต้นว่า ให้ทาน รักษาศีล ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา นี่เป็นโอกาสเวลาในการที่จะทำให้จิตใจหนักแน่นมั่นคง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกปีที่ผ่านมาเราก็ทำตลอด แต่บางปีก็ฝึกได้มาก บางปีก็ฝึกได้น้อย แต่ปีนี้หลวงพ่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเอื้ออำนวย ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เหตุนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลวงพ่อคิดอยากให้ญาติโยมทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เคยทำสมาธิมาแล้ว ก็อยากให้ฝึกไว้เป็นบรรทัดฐาน เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมเกี่ยวกับเรื่องอย่างนี้ เพราะว่าสมาธินี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำเนินวิถีชีวิตของเรา

ถ้าคนที่มีจิตหนักแน่นเป็นสมาธิอยู่ก็สบาย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมาก็จะเป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ดี คนที่ไม่มีสมาธิหรือจิตใจมีสมาธิน้อย อะไรทำนองนี้ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมา เราก็จะกำจัดออกไปจากขันธสันดานของเรา ก็เป็นไปได้ยาก หรือไม่ได้เสียเลย แล้วก็สมาธินี้ ถ้าเราทำให้ดี ญาติโยมทั้งหลาย

หลวงพ่อเคยบอกว่า เวลาเรานั่งสมาธิ อยู่ในสมาธินี้ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจของเราเป็นพรหมแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นพรหมผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เป็นพรหมผู้หญิง ถ้าหากว่าเราจุติหรือตายเพราะจิตดวงนี้ เราก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของสมาธิ ตามกำลังของฌาน แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ

เมื่อเราไปเกิดเป็นพรหมแล้ว ก็เสวยสุขในพรหมโลกนั้นๆ ตามอำนาจของฌานหรือบุญกุศลที่ได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่าหมดบุญแล้ว ก็มาเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือจะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นอันว่าจะไม่ไปสู่อบายภูมิ เพราะเหตุใด เพราะว่า กำลังของฌานนั้นจะรักษาไว้ ไม่ให้ตกไปสู่อบายภูมิ อย่างน้อยที่สุดก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา อันนี้เป็นกำลังของสมาธิ

ถ้าหากว่าเราสามารถทำสมาธิได้ ท่านทั้งหลายอยู่ในโลกนี้ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ก็มีกำลังจิตกำลังใจต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่เกิดขึ้น ดั่งที่เราสังเกตเห็นชาวบ้านของเรานี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว สบายๆ บางทีจำเป็นที่จะต้องผ่าตัด การผ่าตัดก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกันกับเราฆ่ากบฆ่าเขียด เวลาถูกผ่าตัดก็เฉยๆ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหวเพราะอาการจะผ่าตัดนั้น

บางทีเวลาไปผ่าตัด ยาสำหรับช่วยในการผ่าตัด เป็นยาชาหรือยาสลบอย่างนี้ บางคนก็ไม่ใส่ซะเลย ไม่เหมือนเมื่อก่อน อย่างน้อยใส่ยาชา หรือบางครั้งหนักๆ ต้องใส่ยาสลบ แต่หลังจากที่ญาติโยมทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมะ สามารถทำสมาธิได้แล้ว บางครั้งไปโรงพยาบาลไม่ได้ใส่ยาสลบเลย ประสาทของเราก็ไม่สะทกสะท้านอะไร เราไปรับการผ่าตัด สบายๆ

อันนี้เพราะอานิสงส์ที่ได้พากันทำสมาธิ บางทีไปคลอดบุตรอย่างนี้ เวลาไปคลอดบุตร เมื่อก่อนเราสะทกสะท้านหวั่นไหว ทั้งผู้เป็นสามีทั้งผู้เป็นภรรยา ทั้งญาติโยมทั้งหลาย ทั้งพี่ๆ น้องๆ ต้องไปรุมกันหวั่นใจ แต่สมัยทุกวันนี้สบาย หลังจากพากันประพฤติวัตรปฏิบัติมา เวลาจำเป็นที่จะต้องคลอดหรืออะไรก็สบายๆ บางทีญาติพี่น้องไปด้วยเพียงคนสองคน บางทีก็มีแต่สามี บางทีมีแต่น้องสาวหรือพี่สาวที่ไปเฝ้าดูแล ไม่เหมือนเมื่อก่อน

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เกิดจากการที่ญาติโยมทั้งหลายไปประพฤติปฏิบัติมา ทำจิตให้หนักแน่นเป็นสมาธิไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคใดๆ ที่เกิดขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็ได้รู้ความเป็นจริงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นกฎของธรรมชาติ เกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นดังนี้ เมื่อเหตุใดๆ เกิดขึ้นจึงไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อก่อนโน้น เวลาจะเจ็บไข้ได้ป่วย เวลาตายอะไรอย่างนี้ ถึงคราวตายก็พากันร้องห่มร้องไห้ระงมไปทั้งบ้าน บางทีเวลาล้มหายตายไป บางทีร้องไห้ ๓-๔ ครอบครัว ด้วยอำนาจของโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส คิดถึงผู้ล้มหายตายไป พากันร้องห่มร้องไห้

แต่ทุกวันนี้ เสียงร้องไห้เกือบจะหาไม่ได้แล้ว เวลาเจ็บไข้ เวลาล้มหายตายไป เพราะทุกคนต่างก็รู้กฎของความเป็นจริง ก็ทำจิตทำใจได้ เราจะเห็นสมัยหนึ่งที่แม่ชีแขกถึงแก่กรรมนั้น ในขณะที่แม่ชีแขกถึงแก่กรรมนั้น ลูกๆ ทั้งหลาย เด็กๆ ทั้งหลายที่เคารพนับถือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแม่ชีแขก พอดีได้ยินเสียงสัญญาณเตือน ลูกๆ ทั้งหลายก็พากันเฮโลมา พอเห็นศพที่ตั้งอยู่ เด็กๆ ทั้งหลายก็พากันจะร้องไห้

วันนั้น หลวงพ่อตวาดเอาว่า ถ้าร้องไห้แล้วมันจะฟื้นขึ้นมาก็ร้องไห้กันไป แต่ถ้าร้องไห้แล้วมันไม่ฟื้นขึ้นมาก็อย่าร้องไห้ ถ้าการร้องไห้เป็นบุญก็ร้องไป ถ้าการร้องไห้มันไม่เป็นบุญ มีแต่เพิ่มความทุกข์ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องร้อง กัมมัฏฐานที่หลวงพ่อแนะนำพร่ำสอนมาหลายปีนั้นยังใช้ไม่ได้หรือ เวลาจะถึงคราวนี้จะใช้ไม่ได้หรือ ถ้าว่ามันใช้ไม่ได้ หลังจากงานเสร็จแล้วไปทำใหม่ แต่สำหรับงานของแม่ชีแขกนี้ หลวงพ่อจะสอบอารมณ์ว่า บรรดาลูกๆ หลานๆ ญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ได้ภูมิจิตภูมิใจถึงขนาดไหน อย่างไร

พอดีถึงเวลางาน ญาติพี่น้องทั้งหลายก็จะมาจากอยุธยา หลวงพ่อบอกความลับให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ควบคุมเสียงว่า วันนี้มีเสียงธรณีกรรแสง มีเท่าไรก็ให้เปิด เปิดให้มันเย็นๆ มีขยายเสียง ๔ เครื่อง ๕ เครื่อง ก็เปิดเลย คนละมุมๆ เปิดเลย พอดีถึงเวลาเคลื่อนศพก็พากันเปิดเสียงธรณีกรรแสง

เมื่อเปิดแล้ว หลวงพ่อก็จะสังเกตว่าจะมีคนร้องไห้ไหม ในงานศพนี้จะมีคนร้องไห้ไหม มีพระเณรร้องไห้ไหม มีลูกๆ หลานๆ ชาวบ้านร้องไห้ไหม ที่เคยเคารพนับถือกันมา หลังจากงานเสร็จปั๊บ หาคนหนึ่งที่จะร้องห่มร้องไห้ไม่มี แต่ญาติๆ ที่มาจากอยุธยาร้องไห้ปริ่มว่าจะขาดใจตาย เหมือนว่าจะตายไปด้วยกัน เขาคงคิดว่าชาวบ้านของเราไม่มีความเคารพ ไม่มีความรัก ไม่มีความนับถือ ปล่อยลูกๆ หลานๆ ไว้แล้วก็ตายไป ไม่มีใครร้องห่มร้องไห้

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ธรรมะนี้ถ้าเราประพฤติปฏิบัติแล้ว เราต้องใช้ให้เป็น มันได้ประโยชน์จากโลกนี้ไปแล้วก็มีประโยชน์ในโลกหน้า ในโลกนี้เราก็จะใช้ในการประกอบสัมมาอาชีวะในกิจวัตรประจำวัน ถ้าว่าจิตใจของเรามันหนักแน่นมั่นคง มีธรรมะอยู่ในจิตในใจของเราแล้ว ความโลภ โกรธ หลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา มันจะไม่ครอบงำจิตใจของเรา มันจะไม่เป็นนายเหนือหัวของเรา เราจะไม่เป็นทาสของมัน

ส่วนมากผู้คนทั้งหลายต่างพากันวิตกนานัปการ เพราะว่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลสตัณหา แต่เมื่อเราทำจิตทำใจให้หนักแน่นมั่นคงแล้ว เราไม่ตกอยู่ในอำนาจของสิ่งเหล่านี้ จิตใจของเราสบาย เมื่อจิตใจของเราสบาย ร่างกายของเราก็สบาย เมื่อกายวาจาใจของเราสบายแล้ว คนอื่นๆ ก็สบายไปด้วย สังคมของเราก็อยู่ร่มรื่น

ญาติโยมทั้งหลายคิดดูว่า เมื่อก่อนโน้นถึงฤดูนี้ขึ้นมา ชาวบ้านของเราตายเป็นจำนวนพอสมควร บางปีก็ ๕ คน บางปีก็ ๑๐ คน หลังจากพวกเราทั้งหลายประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ได้ชี้แนะแนวทางให้ฟังว่า การที่จะมีอายุยืนนี้ เราต้องปฏิบัติอย่างนี้ๆ ต้องตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เมื่อตั้งอยู่ในกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการแล้ว ก็จะมีอายุยืน ไม่ตายง่าย แล้วก็ได้ทำสมาธิ ได้แนะนำพร่ำเตือนกันมาตามลำดับๆ มาจนถึงทุกวันนี้ บางปีไม่มีคนตายเลย บางปีถ้าว่ามันจำเป็นที่จะต้องตาย ก็ไม่เกิน ๓ คน ๒ คน ๑ คน อะไรทำนองนี้

บางปีหลวงพ่อก็ขอร้องไปเลยว่า ปีนี้ขอให้อยู่ด้วยกันทุกคนๆ ขอร้องอย่าให้ตายจากกัน ขอร้องเป็นพิเศษว่า อย่าตายจากกัน อยู่ด้วยกันเสียก่อน ถ้าจำเป็นจะต้องตายก็ พ.ศ. ใหม่ค่อยตาย แล้วก็อยู่ได้ทั้งปีไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น

พวกเราทั้งหลาย นี่ธรรมะมันได้ประโยชน์อย่างนี้ ญาติโยมทั้งหลาย ทุกปีที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะหน้าพรรษานี้หลวงพ่อจะขอไว้ทุกปีๆ อยู่ด้วยกันซะก่อนจึงค่อยตาย ออกพรรษาแล้วค่อยตาย ก็อยู่กันได้ แต่ปีนี้ญาติโยมทั้งหลายคงจะสงสัยว่า เอ๊ะ ปีนี้หลวงพ่อไม่ว่าอะไรเลย ก็หวั่นใจว่าเจ้าของหรือใครน้อ จะตาย หรือกูน้อ จะตาย เช่นว่า นอกจากคนอื่นแล้วก็กลัวว่าตัวเองจะตายด้วย

สาเหตุที่ไม่ได้พูดอะไรในวันอาสาฬหบูชา เพราะว่าทางบ้านอีเติ่งเขาฉลองหอระฆัง ญาติโยมสร้างหอระฆัง เขาขอร้องให้ไปงานบ้านอีเติ่ง แล้วก็ประการที่ ๒ สำคัญที่ไม่พูดอะไร เพราะว่าปีนี้ ไหนๆ ก็จะต้องตาย มันเตรียมตัวว่าจะตายแล้ว ถ้าพูดไปแล้ว เดี๋ยวว่าวาจาหลวงพ่อไม่ศักดิ์สิทธิ์ อะไรทำนองนี้ ก็เลยเฉยๆ อยู่ ก็พอดี ไม่กี่วันก็ไป

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย ธรรมะที่เราประพฤติปฏิบัติแล้ว มันได้ประโยชน์เหลือที่จะคณานับ ญาติโยมหลายๆ คนที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อยู่บ้านของเราก็มี อยู่ที่อื่นก็มี เวลาผ่าตัด บางครั้งก็ผ่าตัดไตนี่ ก็ไม่ใส่ยาชายาสลบเลย บางคนไปผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่ใส่ยาสลบเลย กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ผ่าตัดสำเร็จไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันได้ประโยชน์อย่างนี้ท่านทั้งหลาย

สรุปสั้นๆ ว่า สมาธิที่เราได้แล้วในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็สบายๆ ญาติโยมทั้งหลายจะเห็นเวลาหลวงพ่อเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ได้หักดอกไม้บูชาตัวเองหรอกนะ คือเวลาหลวงพ่อเจ็บ เอ้า เจ็บก็เจ็บไป โยมก็นวดไปๆ แต่อยู่เฉยๆ เหมือนไม่มีอะไร

เวลาญาติโยมมาเยี่ยมยามเจ็บไข้ได้ป่วย หลวงพ่อจะคุยมากกว่าคนที่ป่วย หลวงพ่อจะพูดมากกว่าอย่างอื่น เพราะเหตุใด หลวงพ่อจะเฉลยว่ามันป่วยเฉพาะกาย แต่ใจมันไม่ป่วย เวลาเจ็บ เจ็บแต่ร่างกาย แต่ใจมันไม่เจ็บ เวลาทุกข์มันก็ทุกข์แต่ร่างกาย แต่ใจไม่เป็นทุกข์

คนเรา เมื่อสังขารร่างกายส่วนอื่นมันเป็นทุกข์ แต่จิตใจไม่ทุกข์ มันก็อยู่สบาย มีอะไรเกิดขึ้น ก็เหมือนกับไม่มีอะไร บางทีมันช็อกไป ๔ ครั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง ก็เฉยๆ ภูมิใจดีใจเสียด้วย หากว่าเรายังไม่ได้ตายซะก่อน เราจะได้รู้ว่า ก่อนจะตายมันจะเป็นอย่างไร

นี่แหละญาติโยมทั้งหลาย เราทั้งหลายคิดอยู่เสมอว่า ถึงอย่างไรๆ เราแม้อยู่ได้ถึงร้อยปี ก็ต้องตายอยู่ แม้มีอายุถึงร้อยปีก็จะต้องตาย แต่ขอให้พวกเราทั้งหลายตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตายอยู่ในห้วงแห่งพระธรรม แม้จะตายเราจะไม่ละพระธรรม ไม่ละการประพฤติปฏิบัติ

จะยึดเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งตลอดไป เมื่อเราตายในลักษณะอย่างนี้แล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า อย่างน้อยก็ไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกตามกำลังของฌาน

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ท่านทั้งหลายให้พากันเริ่มซะ วันนี้เดินจงกรมเสร็จแล้ว ตอนเย็นหลังจากทำวัตรแล้วก็อุ่นเครื่องซะ หลังจากทำวัตรหรือฟังเทศน์เสร็จแล้วก็อุ่นเครื่อง นั่งสมาธิสัก ๒ ชั่วโมง วันพระต่อไปก็ค่อยๆ เพิ่มไป วันพระละ ๓ ชั่วโมง วันพระละ ๖ ชั่วโมง วันพระละ ๑๒ ชั่วโมง

ตามปกติทางวัดของเราจะ(มีผู้)ทำได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง บางปีก็มีเวลามาก อาจจะถึง ๓๐ ชั่วโมง หาความสุขซึ่งเกิดจากธรรมะ ทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิ เป็นฌาน เป็นอนุสรณ์แก่บรรดาลูกๆ หลานๆ เขามาเห็นพ่อแม่พี่น้องทำอย่างนี้ได้ เขาก็จะได้ตั้งอกตั้งใจทำ คิดว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เริ่มซะ แล้วก็ขอให้คณะแม่ชีสัก ๒-๓ คนมาอยู่ประคับประคองเป็นเพื่อน จะได้ภูมิอกภูมิใจ

หลวงพ่อขอออกตัวว่า วันนี้หลวงพ่อก็ได้มาเทศน์ให้ท่านทั้งหลายตลอดถึงญาติโยมฟัง ได้มาเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมะ หากว่าท่านทั้งหลายและญาติโยมเสียเวลาไป ก็ขออภัยด้วย

เท่าที่ได้บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 พฤษภาคม 2561 14:54:37
(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQ3tpcekQ3pQjAZm6RbDy-8wrxK3katdbE_hoZcAj1rUZdd7Tj1)

อานิสงส์ของการเจริญสมาธิ (๒)

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

การทำสมาธิ ก็คือการรวมกระแสจิต คือจิตของเราก็มีกระแสเหมือนกันกับแม่น้ำ

แม่น้ำที่ไม่ได้รวมกระแส ก็จะไหลไปตามทางของมัน ไหลไปทางนั้นทางนี้ ไปตามห้วยหนองคลองบึง น้ำที่ไหลไปตามปกติธรรมชาติของมัน ไม่ได้รวมกระแสน้ำ น้ำก็จะไม่มีพลังหรือว่าไม่แรง ถ้าเรารวมกระแสน้ำให้ไหลไปทางเดียวกัน หรือในช่องเดียวกันตามที่เราต้องการ กระแสน้ำก็มีกำลังแรง สามารถนำไปใช้ในการเกษตรกรรมต่างๆ หรือสามารถที่จะเอามาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า

ดังที่พวกเราได้เห็นอยู่ทุกวันนี้ เช่น ไฟฟ้าที่ใช้อยู่บ้านเรา ก็ส่งมาจากเขื่อนโดมน้อยหรือเขื่อนสิรินธร ซึ่งน้ำโดมนั้นไหลอยู่ตลอดกาล ทั้งหน้าฝนหน้าแล้ง เขาก็รวมกระแสน้ำที่อยู่ในลำโดมน้อยทั้งหมดให้ไหลลงในช่องเดียวกันที่เขาต้องการ เมื่อไหลลงในช่องเดียวกัน ก็มีกำลังแรง จนสามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้ามาให้เราใช้จนทั่วภาคอีสานได้

แม่น้ำที่รวมกระแสจะมีกำลังมาก มีอานุภาพมาก สามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้เหลือที่จะพรรณนา แต่ถ้าไม่ได้รวมกระแส ก็จะไม่มีอานุภาพ ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร และอาจจะไหลบ่าไป ก่อให้เกิดความเสียหายได้อีกด้วย ข้อนี้ฉันใด จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าจิตใจไม่ได้รวมกระแส ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ก็ไม่มีกำลัง ไม่มีอานุภาพ

อะไรเป็นกระแสของจิต

ความคิด เป็นกระแสของจิต

ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วต้อง คิด ตื่นขึ้นมาก็ต้องคิดแล้ว ยังไม่ได้ลุกจากที่นอนก็คิดแล้ว อันนี้จิตของเราไม่ได้รวมกระแส มัวแต่คิดในเรื่องครอบครัว เรื่องสมบัติ เป็นต้น ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นไปในอนาคต ทั้งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า

เมื่อกระแสจิตนี้ไหลไปอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่มีอานุภาพ ไม่มีพลัง เหมือนกับไฟฉายอย่างนี้ หากว่าเราไม่ใส่กรวยปรับแสง เราเปิดสวิตซ์ขึ้นมา ไฟก็สว่างเหมือนกัน แต่สว่างไม่ได้ไกล ไม่สามารถจะมองเห็นไกลๆ หากว่าเราเอากรวยปรับแสงใส่เข้าไป แสงสว่างก็เพิ่มขึ้นมาอีก แต่ยังไม่อาจมองดูได้ไกลเท่าไรนัก แต่เมื่อใดเราปรับกรวยให้รวมแสงกันเข้าไปๆ เมื่อรวมกันได้ถึงที่แล้ว ก็สามารถฉายไปได้ไกลๆ ส่องดูไกลๆ เห็นได้

จิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อใดที่เราทั้งหลายรวมกระแสจิตลงไปๆ คือรวมความคิดหลายๆ ความคิดนั้นให้เหลือความคิดเดียว เช่น เราเอาอาการพองอาการยุบมาเป็นอารมณ์ ภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป จิตใจของเราก็อยู่ที่อาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่คิดไปเรื่องอดีต ไม่คิดไปเรื่องอนาคต กำหนดแต่ปัจจุบันธรรม คือ เรากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ได้อยู่ตลอดเวลา ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้แล้ว

เมื่อใด เรารวมกระแสจิตให้อยู่ในอารมณ์เดียว กำหนดอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ซึ่งเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ได้อย่างนี้ คือสามารถทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ ได้ จะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ดี เราทิ้งอารมณ์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นได้ ก็แสดงว่าเรารวมกระแสจิตได้มาก เมื่อรวมกระแสจิตได้มากแล้ว จิตก็จะเข้าสู่ฌานธรรมทันที คือฌานชวนวิถีจะเกิดขึ้นทันที เมื่อฌานชวนวิถีเกิดขึ้น ก็บรรลุถึงปฐมฌานคือฌานที่ ๑

เมื่อฌานที่ ๑ เกิดขึ้นแล้ว เราก็รวมกระแสจิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ทิ้งอารมณ์ที่เหลือออกไปอีก จิตก็จะเข้าสู่ ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒

เมื่อถึงฌานที่ ๒ แล้วก็รวมกระแสจิตให้ยิ่งเข้าไปอีก ทิ้งอารมณ์ออกไปอีก ผู้ใดทิ้งอารมณ์ได้มากเท่าไร และรวมกระแสจิตได้มากเท่าไร ก็สามารถเข้าสมาธิได้มากเท่านั้น จนกระทั่งถึงตติยฌาน คือฌานที่ ๓ จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ แล้วก็เข้าสู่อรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนะ อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนะ อรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปตามลำดับๆ

ทีนี้ หากว่าจิตของเราตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว อันเป็นเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ และพร้อมกันนั้น เราเคยได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านอนาคามิมัคคญาณ อนาคามิผลญาณ หรืออรหัตตมัคคญาณ อรหัตตผลญาณมาแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธได้

ผู้ที่เข้าสู่ สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้ว ชื่อว่าได้ ดับทั้งจิตทั้งเจตสิก ดับสัญญา ดับเวทนาได้ สามารถเข้าสมาธิอยู่ได้ถึง ๗ วัน ๗ คืน โดยที่ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต เพราะอาหารที่เราบริโภคเข้าไป เกิดเป็นโอชะหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่ชีวิต

นี้เป็นเรื่องสมาธิโดยคร่าวๆ หรือโดยหยาบๆ

สมาธิที่เราได้นี้ มีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ไพศาล เหลือที่จะนับจะประมาณ ถ้าเราได้สมาธิในขั้นรูปฌาน ๔ นี้ สามารถที่จะให้เกิดอภิญญาจิตได้ เช่น เตวิชโช สามารถยัง วิชชา ๓ ให้เกิดขึ้นได้ คือ

๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ สามารถระลึกชาติหนหลังได้ แต่จะระลึกได้กี่ชาตินั้น ก็ขึ้นอยู่ที่อำนาจสมาธิ และก็บุญญาวาสนาที่ได้สั่งสมอบรมมา

๒. จุตูปปาตญาณ สามารถรู้จักการตายการเกิด ของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น คืออยากทราบว่า ผู้นี้เขามาจากไหนจึงมาเกิดในที่นี้ ผู้นี้เขาตายแล้วจะไปเกิดในที่ไหน ก็สามารถรู้ได้

๓. อาสวักขยญาณ สามารถรู้วิธีหรือรู้หลักการ ที่จะทำลาย ความโลภ ความโกรธ ความหลง และอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานได้

นอกจากนี้ ก็สามารถให้เกิด อภิญญา ๖ คือ

๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ ดังตัวอย่างพระจูฬปันถกนี้รูปเดียว สามารถเนรมิตกายเป็นหลายๆ ร้อยรูปได้ คือสามารถแสดงฤทธิ์ได้ ล่วงสามัญชนธรรมดา

๒. ทิพพโสตอภิญญา คือสามารถที่จะฟังเสียงอมนุษย์ก็ได้ ฟังเสียงทิพย์ก็ได้ ฟังเสียงสัตว์เดรัจฉานก็ได้ คำว่า ฟังได้ ในที่นี้คือ รู้ความหมายของสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น นกร้องอย่างนี้ เราก็รู้ความหมายของมันว่าร้องอย่างไร รู้ภาษาของมันได้

ตลอดถึงสัตว์ทุกประเภท พวกจิ้งจก ตุ๊กแก พวกไก่ พวกสุนัข ที่เห่าหอนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เราสามารถฟังมันรู้เรื่องว่า มันหอนเรื่องอะไร มันว่าอย่างไร ก็เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในอภิญญาขั้นนี้ เสียงสัตว์ร้องจะเป็นเสียงมนุษย์ไปหมด

๓. เจโตปริยญาณ รู้ความคิดของผู้อื่นว่า ขณะนี้เขามีจิตใจเศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเขา หนาบางเท่าไร เป็นผู้ที่พอแนะนำได้หรือไม่ การประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะบรรลุได้ขั้นไหนหรือไม่ ก็สามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะคำนวณได้

๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕. ทิพพจักขุอภิญญา มีตาทิพย์ คือ สามารถมองดูสิ่งที่สามัญชนมองไม่เห็น และสามารถจะมองเห็นนรก เห็นเปรต เห็นอสุรกาย เห็นเทวโลก เห็นพวกพรหม เห็นสิ่งเร้นลับ ที่มีอยู่ตามบ้าน ตามเมือง เห็นพวกภูตฝีปีศาจ พวกอมนุษย์ ซึ่งปกติคนธรรมดาไม่สามารถเห็นได้ เพราะว่าเป็นพวกที่มีร่างกายทิพย์ เรียกว่า อทิสสมานกาย ตาธรรมดานี้มองไม่เห็น แต่ทิพพจักขุอภิญญาสามารถทำให้มองเห็นได้

๖. อาสวักขยญาณ รู้วิธีการทำอาสวะให้หมดไป

วิชชา ๓ และอภิญญา ๖ นี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้ที่ได้รูปฌานที่ ๔ เท่านั้น เพราะสมาธิมีกำลังกล้า แต่หากว่า เราเอาสมาธิในขั้นรูปฌานทั้ง ๔ ฌานใดฌานหนึ่งมาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะบรรลุซึ่ง มรรค ผล นิพพาน เร็วขึ้น ตามลำดับของฌาน

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รูปฌานทั้ง ๔ นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผิวพรรณผุดผ่องละอองใส เกิดโลหิตแดงมาหล่อเลี้ยงร่างกายไว้ คือเรามองดูหน้าตาก็อิ่มเอิบ ร่าเริงเบิกบานไม่เศร้าโศกเหมือนคนธรรมดา นี้เป็นอานิสงส์โดยย่อของการได้รูปฌาน ๔

ทีนี้หากว่าเราได้อรูปฌาน ๔ ด้วย ก็ยิ่งมีพลังมาก มีอานุภาพมาก เพราะอรูปฌาน ๔ สามารถให้เกิด ปฏิสัมภิทา ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ นี้ หากว่าเราได้แต่รูปฌานอย่างเดียว ยังไม่สามารถที่จะทำให้เกิดได้

อรูปฌานทั้ง ๔ นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือ

๑. อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ คือสามารถที่จะอธิบายธรรมย่อๆ ให้พิสดารได้ เทศน์ทั้งวันทั้งคืนไม่รู้จักจบ

๒. ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม คือสามารถที่จะรวบรวมธรรม ที่ท่านกล่าวไว้โดยพิสดารกว้างขวางนั้น ให้เหลือแต่เพียงย่อๆ กล่าวย่อๆ เพียงบรรทัดเดียวหรือสองบรรทัด ก็ทำให้รู้ความหมายของธรรมนั้นได้ สามารถย่อความหรือสรุปความของธรรมะที่เทศน์มาตั้ง ๓, ๔, ๕ ชั่วโมง ให้เหลือเพียงย่อๆ แค่บรรทัดเดียว หรือ ๒-๓ บรรทัดก็จบแล้ว ตีความหมายควบไปหมดแล้ว นี้เรียกว่า ธัมมปฏิสัมภิทา

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในนิรุตติ หมายความว่า รู้วิธีพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น ธรรมะเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ คนธรรมดาเข้าใจยาก ฟังยาก ก็สามารถที่จะพูดให้เข้าใจได้ง่าย

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ หมายความว่า จะเทศน์ปฏิภาณโวหาร หรือขบคิดปัญหาอะไรก็ได้ฉับไว มีอะไรเกิดขึ้นเฉพาะหน้าก็สามารถแก้ปัญหาได้คล่องแคล่วว่องไว สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้ทะลุปรุโปร่ง

อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากอรูปฌาน ๔ หากว่าเราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ยิ่งได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น เพราะเหตุไร เพราะว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ มีอารมณ์คล้ายคลึงกับวิปัสสนาญาณ คืออรูปฌานนี้ก็สอนให้ละรูปทิ้งไปแล้ว เมื่อมาถึงฌานขั้นนี้ รูปไม่เกี่ยว เกี่ยวเฉพาะนามเท่านั้น เวลาเจริญเอานาม คือพวก อากาศ วิญญาณ สัญญา มาเป็นเครื่องบริกรรมจนได้ฌาน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราเอาสมาธิขั้นนี้มาเป็นเครื่องรองรับการเจริญวิปัสสนา ก็เป็นเหตุให้บรรลุอริยมรรคอริยผลเร็วขึ้น

สมาธิที่เราได้นั้น ในขณะที่เราเข้าสมาธิอยู่ ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ คือจะเป็นพระ เป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชี หรือจะเป็นคฤหัสถ์ชาวบ้าน ผู้ชายผู้หญิงก็ตาม แต่ว่าจิตใจของเราเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว ถ้าเราจุติคือตายเพราะจิตอย่างนี้ คือเวลาตาย ตายในฌาน ฌานไม่เสื่อม เมื่อจุติแล้ว ก็จะไปเกิดในพรหมโลก ตามกำลังของฌาน

ถ้าได้ปฐมฌาน คือฌานที่ ๑ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๓

ถ้าได้ทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมที่ ๔ ทุติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๕ ทุติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๖

ถ้าได้ตติยฌาน คือฌานที่ ๓ อย่างหยาบ ก็ไปบังเกิดในรูปพรหม ชั้นที่ ๗ ตติยฌานอย่างกลาง ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๘ ตติยฌานอย่างละเอียด ก็ไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๙

ถ้าได้จตุตถฌาน คือฌานที่ ๔ ทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมชั้นที่ ๑๐ และถ้าผู้ได้จตุตถฌานนี้ เป็นพระอนาคามีด้วย ก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ชั้น อันเป็นรูปพรหมชั้นที่ ๑๒-๑๖ ถ้าไม่เป็นพระอนาคามี ถึงแม้จะได้จตุตถฌาน ก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมไม่ได้

ทีนี้หากว่าผู้ใดได้อรูปฌานที่ ๑ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๒ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๓ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓

ผู้ได้อรูปฌานที่ ๔ ฌานไม่เสื่อม จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ ตามกำลังของฌาน

ทีนี้ ในพรหมทั้งหมดนั้น มีพรหมประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า อสัญญีพรหม หรืออสัญญีสัตว์ อสัญญีพรหมนี้ ได้ธรรมะขั้นไหน จึงได้ไปบังเกิดในอสัญญีภูมิ (รูปพรหมชั้นที่ ๑๑)

อสัญญีพรหมนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติจนได้จตุตถฌาน คือได้รูปฌานที่ ๔ เมื่อครั้งเป็นเทวดาหรือมนุษย์อยู่ (จตุตถฌานที่ได้นี้ เกิดจากการเพ่งวาโยกสิณ) หลังจากได้จตุตถฌานแล้ว ก็มาพิจารณาเห็นโทษของนามธรรม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกง่ายๆ ก็คือ จิตใจ นี้เองว่า ความดีใจ เสียใจ ความทุกข์ ความเดือดร้อนใจ ความไม่สบายใจ ก็เกิดขึ้นเพราะมีจิตใจนี้ หรือเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือไม่สบายทางกาย ก็เพราะมีจิตใจนี้ จึงได้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าหากเราไม่มีจิตใจ ไม่มีความจำรู้สึกนึกคิดอะไร ก็คงจะไม่ทุกข์

เมื่อคิดเห็นเช่นนี้ก็เกิดความเบื่อหน่ายในนามธรรมนั้น ไม่อยากที่จะมีนาม จึงปรารถนาที่จะไม่มีนามอีกต่อไป แล้วก็เฝ้าคิดเฝ้าปรารถนา เฝ้าภาวนาอยู่ว่า อสัญญีๆ ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาๆ แล้วก็เข้าจตุตถฌานนั้นอีก หมายความว่า เมื่อผู้ได้จตุตถฌาน (เกิดจากเพ่งวาโยกสิณ) แล้ว มีความชอบใจพอใจในการไม่มีจิตใจขึ้นมา ก็พยายามรักษาจตุตถฌานไว้ ไม่ให้เสื่อม พอออกจากฌานมา ก็มีความเกลียดชังจิต ให้เกิดเบื่อหน่ายในจิตของตน เฝ้านึกเฝ้าภาวนาอยู่ว่า ขอข้าพเจ้าจงอย่ามีสัญญาเถิดๆ

พูดง่ายๆ ก็คือก่อนเข้าจตุตถฌานก็ปรารถนาไม่อยากจะมีนาม เข้าจตุตถฌานแล้ว ออกมาแล้ว ก็มีความปรารถนาที่จะไม่มีนามเหมือนกัน จตุตถฌานที่เกิดขึ้นมาด้วยอาการอย่างนี้นั้น ชื่อว่า เกิดขึ้นพร้อมด้วย สัญญาวิราคภาวนา (การบำเพ็ญเพื่อที่จะละนามธรรมนี้นั้นแม้ว่าจตุตถฌานที่บุคคลได้แล้วจะสำเร็จได้มาด้วยการเพ่งกสิณอย่างใดก็ตาม แต่เมื่อปรารถนาต้องการที่จะได้ภพชาติที่ไม่มีนามธรรมแล้ว จตุตถฌานที่ได้นั้นต้องสำเร็จมาจากการเพ่งวาโยกสิณเสมอไป มีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า จตุตถฌานที่สำเร็จมาจากอากาสกสิณ ก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน…จาก สมถทีปนี)

เมื่อผู้เจริญสัญญาวิราคภาวนา หมั่นเจริญ หมั่นนึกอธิษฐานอยู่อย่างนี้ เมื่อตายแล้วก็จะไปบังเกิดใน อสัญญสัตตภูมิ อันเป็นภูมิที่ไม่มีนาม มีแต่รูปขันธ์อย่างเดียว สมความปรารถนา

เกี่ยวกับเรื่องขันธ์ของสัตว์ทั้งหลายนี้ ที่พวกเด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เขาพากันสวดอยู่ทุกวันนี้ว่า สัตว์เหล่าใดมีขันธ์ ๕ ขันธ์ มีขันธ์ ๔ ขันธ์ มีขันธ์ขันธ์เดียว ขอจงได้รับบุญกุศลนี้เถิด เมื่อสวดแล้วหลวงพ่อก็ออกปัญหาถามพวกเด็กๆ ว่า สัตว์ประเภทใดมี ๕ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมี ๔ ขันธ์ สัตว์ประเภทใดมีขันธ์ ขันธ์เดียว คือขันธ์ ๕ ขันธ์นั้นมีขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ ๔ ขันธ์นั้นขันธ์ไหนบ้าง ขันธ์ขันธ์เดียวได้แก่ขันธ์อะไร เด็กๆ บางคนก็ตอบได้

ขันธ์ ๕ ขันธ์ ก็หมายความว่า พวกที่มีขันธ์ ๕ คือมีทั้งรูป มีทั้งเวทนา มีทั้งสัญญา มีทั้งสังขาร มีทั้งวิญญาณ ครบหมด ได้แก่พวกสัตว์ในอบายภูมิทั้ง ๔ พวกมนุษย์ พวกเทวดา และก็พวกรูปพรหม ยกเว้นอสัญญีพรหม พวกเหล่านี้จะมีขันธ์ ๕ ขันธ์

ทีนี้พวกไหนมีขันธ์ ๔ ขันธ์ ก็ได้แก่พวกอรูปพรหม มี ๔ ขันธ์ คือไม่มีรูปขันธ์ มีแต่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้น

ส่วนสัตว์ที่มีขันธ์เดียว ก็คือ อสัญญีพรหม มีแต่รูปขันธ์เท่านั้น

ที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเรื่องของอำนาจสมาธิ ผู้ที่ปฏิบัติได้แล้วส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ กัน

สมาธินั้น หรือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่ว่าเราจะเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งวันทั้งคืนจึงจะได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับว่า เรามีความรู้ความเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ และมีศรัทธาจริงแล้วก็ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง อยากได้จริงๆ แล้ว ก็สามารถที่จะทำได้

หากว่ามีศรัทธาครึ่งๆ กลางๆ ทำบ้างไม่ทำบ้าง เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ บางทีมาประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรมนั่งสมาธิทั้งวันทั้งคืน แต่ไม่เชื่อ ทำอยู่ก็ไม่เชื่อ เดินอยู่ก็ไม่เชื่อ นั่งอยู่ก็ไม่เชื่อ หนักๆ เข้าก็พูดว่า ถ้าไม่เห็นเหาะมาบนฟ้าแล้วจะไม่เชื่อ ถ้ามีผู้ปฏิบัติจริงได้ผลจริง เหาะมาให้ดูจึงจะเชื่อ อะไรทำนองนี้ ก็ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ ถ้าหากเรารู้วิธีทำ ก็ได้สมาธิในขณะที่นั่งฟังอยู่แหละ นั่งฟังทุกวัน วันละ ๒๕ นาทีบ้าง ๓๐ นาทีบ้าง ก็สามารถทำสมาธิได้

เราเคยได้ฟังมาในครั้งพุทธกาลว่า ผู้ที่ไปฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในขณะที่ฟังธรรมของพระองค์ นี่เราได้ฟังเรื่องในครั้งพุทธกาลเป็นส่วนมาก แต่ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่ได้สมาธิในขณะฟังการบรรยายธรรม ในขณะฟังเทศน์นี้ หลวงพ่อคิดว่านับไม่ถ้วนเป็นพันๆ คน บางปีก็ได้มาก บางปีก็ได้น้อย เช่น ในปีที่ผ่านมา ปี ๒๕๒๔ นั้น บรรยายธรรมเสร็จแล้ว เดินไปดูบรรดาสามเณร สามารถได้สมาธิทั้งหมด ๓๕ รูป ได้ในเวลาฟังบรรยายธรรมะ

ในขณะที่ทำวัตรสวดมนต์อยู่ ผู้บวชใหม่ทำวัตรไม่ได้ก็นั่งสมาธิเอา นั่งสมาธิฟังครูบาอาจารย์และเพื่อนๆ ทำวัตรสวดมนต์ พอสวดมนต์เสร็จมาดู ได้สมาธิกันแล้ว และก็เอาสามเณรน้อยๆ อายุ ๑๒ ปีนี้แหละ ได้สมาธิแล้ว ก็เอามาฝึกจนสามารถได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อยู่ที่บ้านเหมือดแอ่ และก็มีสามเณรอีกรูปหนึ่งอยู่ที่บ้านอีเติ่ง ในขณะที่ทำวัตรนี้ ก็นั่งสมาธิไปกำหนดไปๆ จนได้สมาธิ ก็เลยเอามาฝึกให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ จนได้สมาธิถึง ๒๔ ชั่วโมง อายุเพียง ๑๒ ปีเท่านั้น สามารถได้สมาธิตั้ง ๒๔ ชั่วโมง

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย หากว่าเรามีศรัทธา คือมีความเชื่อมั่นอย่างจริงจัง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง ก็จะสามารถได้สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานได้ ในขณะที่เราฟังนี้

แต่ส่วนมากที่ผ่านๆ มา เราฟังเทศน์ฟังธรรมไม่เป็น โดยเฉพาะเวลาเราไปในงานต่างๆ จะเป็นงานเทศกาล งานบุญมหาชาติ งานบุญบ้าน งานอะไรๆ ก็ตาม เวลาฟังเทศน์ส่วนมากคนเรานี้ไม่ค่อยสนใจ พระเณรก็เทศน์กันไป โยมก็คุยกันไป คนโน้นคุยกับคนนี้ คนนี้คุยกับคนนั้น ผู้ทำอาหารทำครัวก็ทำไป ผู้กินเหล้าก็กินไป เสิร์ฟเครื่องดื่มก็เสิร์ฟไป ผู้ถวายน้ำร้อนน้ำเย็นก็ถวายไป

หรือบางที พระแสดงธรรมอยู่ ครูบาอาจารย์ พระภิกษุ สามเณร ที่นั่งอยู่รอบๆ ก็พากันสูบบุหรี่ควันโขมงไปหมด หรือบางทีโยมชาวบ้านบางคนก็พากันสูบบุหรี่ บ้างก็พากันโขลกหมากด้วยกินหมากด้วย พร้อมๆ กันกับฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ได้เคารพในพระสัทธรรม ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฟังพระสัทธรรม

เมื่อเราไม่รู้วิธีฟังธรรม หรือว่าฟังธรรมไม่เป็นอย่างนี้ เราจะได้สมาธิมาจากไหน จะบรรลุได้อย่างไร แต่ถ้าเราฟังเป็น ก็สามารถที่จะได้สมาธิได้

สมาธิที่บุคคลได้แล้วนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ ถ้าสมาธิที่ได้เกิดขึ้นในลำดับแห่งฌานวิถี สมาธิที่ได้ก็เป็นฌานไป คือ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน และก็เป็นอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปตามลำดับ

แต่ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดนั้น เกิดในลำดับแห่งมัคควิถี ก็เป็นอริยมรรคอริยผลไป ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ การบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ อาจจะใช้เวลาไม่ถึง ๕ นาที ก็สามารถบรรลุได้ อันนี้แล้วแต่ประเภทว่าเป็น ขิปปาภิญญา หรือ ทันธาภิญญา คือตรัสรู้เร็ว ตรัสรู้ช้าเท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้

สำหรับวันนี้เป็นการบรรยายคร่าวๆ เป็นการทดสอบดูว่า บรรดาลูกพระ ลูกเณรที่ปฏิบัติกัมมัฏฐานอยู่นี้ ได้สมาธิมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เมื่อทดสอบดูแล้วก็เห็นว่าได้สมาธิพอสมควร ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีอนุโมทนาสาธุการ

คือการทดสอบนี้ หากว่ายังไม่มีผู้ได้สมาธิขณะที่ฟังนี้ เราก็จะจัดการอีกอย่างหนึ่ง มีหลักการที่จะประพฤติปฏิบัติฝึกหัดกันไปอีกทอดหนึ่ง ที่อยากให้ได้สมาธินี้ก็เพราะว่า สมาธินี้จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียน ทำให้การศึกษาเล่าเรียนได้ผลดี ทำให้จิตมีสมรรถภาพดี มีพลังมีอานุภาพ การงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการงานทางโลกทางธรรม ก็สำเร็จผลได้ตามต้องการ จึงต้องการให้ได้สมาธิกัน

แต่ขอให้ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเข้าใจว่า เวลาปฏิบัตินี้ ถึงแม้เราจะฟังธรรมกัณฑ์เดียวกันก็จริง แต่ก็แยกออกเป็น ๒ ประเภท ครูบาอาจารย์ที่อยู่ในห้องกัมมัฏฐานตลอดจนถึงคณะแม่ชีที่ประพฤติปฏิบัติเราก็หนักไปทางด้านวิปัสสนา คือต้องการที่จะปฏิบัติให้หมดกิเลส แต่สำหรับทางลูกพระลูกเณรที่นั่งฟังอยู่ในศาลา หรือพระที่มาบวชทีหลัง โยมที่มาบวชทีหลัง ก็หนักไปทางสมถะก่อน คือต้องการให้ได้สมาธิก่อน แล้วจึงค่อยยกขึ้นสู่วิปัสสนาในภายหลัง จึงไม่เหมือนกัน

ครูบาอาจารย์อาจคิดว่า เราปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน ไม่เห็นได้สมาธิ ไฉนหนอ สามเณรตัวเล็กๆ มาฟังธรรมเพียงวันละ ๒๕ นาที ๓๐ นาที ก็ได้สมาธิไป อันนี้ขึ้นอยู่กับหลักการ วิธีที่ประพฤติปฏิบัติ มันแยกกันอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับระบบการควบคุม

เหมือนกับเขาส่งยานอวกาศไปสำรวจอวกาศ สำรวจดวงจันทร์ ดาวอังคาร เป็นต้น เขาส่งยานไปสู่อวกาศ แต่สำหรับผู้ควบคุมอยู่ทางมนุษย์โลก อยู่ที่สถานีควบคุม อันนี้ก็เหมือนกัน หรือว่าการส่งคลื่นวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี คลื่นมันมาที่นี้ แต่ผู้ควบคุมอยู่ที่สถานีส่ง แต่เสียงหรือภาพของมันกระจายไปทั่ว ตามกำลังส่งรัศมีของมัน ข้อนี้ฉันใด

เรื่อง สมถะ วิปัสสนา ก็เหมือนกัน ฉันนั้น อยู่ที่หลักการและวิธีการปฏิบัติ ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย เข้าใจตามนี้ด้วย

เอาละพอสมควรแก่เวลา.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 มิถุนายน 2561 16:01:50

(https://i0.hippopx.com/photos/868/658/322/candlelight-candles-christmas-light-thumb.jpg)
รูป-นาม

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง รูปนาม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบต่อไป

ในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมคือผู้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องสำเหนียกพิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดในเรื่อง รูป เรื่อง นาม เพราะว่ารูปนามนั้นเป็นพื้นฐานรองรับในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

การเจริญวิปัสสนานี้มีรูปนามยืนให้วิปัสสนาดู มีรูปนามยืนให้วิปัสสนาพิสูจน์ ให้วิปัสสนาเห็น ให้วิปัสสนารู้ เหตุนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำเหนียกว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม

อุปมาเหมือนกับวิทยุก็ดี เครื่องขยายเสียงก็ดี ตู้เย็นก็ดี พัดลมก็ดี เราต้องสำเหนียกว่าอะไรเป็นอะไร จะเปิดปิดสวิตช์ไฟที่ตรงไหน เราจะต้องเรียนให้รู้ให้เข้าใจจึงจะใช้เครื่องไฟฟ้าเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์เต็มที่

ตลอดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่วิทยาการสมัยใหม่เจริญขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ นาฬิกาก็มีคอมพิวเตอร์ อะไรๆ ก็คอมพิวเตอร์ การคิดเลขเมื่อก่อนใช้ลูกคิด สมัยนี้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องเรียนให้รู้ ถ้าเราเรียนรู้มากก็ได้ประโยชน์มากจากการใช้สิ่งต่างๆ เหล่านั้น รู้น้อยก็ได้ประโยชน์น้อย แต่ถ้าเราไม่รู้อะไรเสียเลยก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในการที่มีสิ่งของทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น

เหตุนั้น เราทั้งหลายที่เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรามีรูปมีนามด้วยกันทุกท่านทุกคน และเราทุกท่านทุกคนที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ก็ใช้รูปใช้นาม เพราะรูปนามนี้เป็นเครื่องมือของเรา รูปนามนี้เป็นเครื่องใช้ของเรา หรือพูดง่ายๆ ว่า รูปนามนี้เป็นผู้รับใช้ของเรา เป็นทาสของเรา ถือว่าเป็นผู้ที่ทำให้ความดำริของเราสำเร็จได้ตามความประสงค์ เราต้องรู้ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ต้องสำเหนียกทุกครั้ง

ถ้าเรารู้รูปนามมากก็ได้ประโยชน์มาก ถ้าเรารู้รูปนามน้อยก็ได้ประโยชน์น้อย ถ้าเราไม่รู้รูปนามเสียเลย ก็ไม่ได้อะไรจากการมีรูปมีนาม จากการใช้รูปใช้นาม นอกจากจะมิได้ประโยชน์อะไรแล้ว มิหนำซ้ำยังจะเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง

สาเหตุที่ไม่รู้รูปรู้นาม บางครั้งก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำบาปทำกรรม ด้วยอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ทำให้เราต้องไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ นี้ก็อยู่ที่การรู้รูปรู้นาม หรือไม่รู้รูปรู้นามเป็นปัจจัย

การที่เราทั้งหลายกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ทุกวันนี้ เช่น กำหนดอาการขวาย่าง กำหนดอาการซ้ายย่าง กำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูกก็ดี ก็เพื่อจะให้ได้รู้รูปรู้นาม อะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม

ครั้งแรก เราก็จำเป็นที่จะต้องรู้รูปเสียก่อน เพราะว่ารูปนี้เป็นที่อาศัยของนาม ถ้าเราไม่รู้รูป ก็ไม่สามารถที่จะรู้นาม เมื่อเราไม่รู้นาม ก็ไม่สามารถที่จะรู้กิเลสที่นอนเนื่องในจิตในใจของเรา ว่ามันมีอะไรบ้าง ตัวไหนที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ความเดือดร้อนเราก็ไม่รู้

เหตุนั้น การรู้รูปก็เหมือนกันกับเห็นฝักดาบ การรู้นามก็เหมือนกันกับที่เราเห็นดาบที่ชักออกจากฝัก

รูปนามนี้อุปมาเหมือนกันกับเราสกัดน้ำมันงา ตามปกติเมล็ดงาที่เรามองด้วยตาเปล่า เราก็เห็นมันเป็นเมล็ดงาธรรมดาๆ แต่เมื่อเราใช้กรรมวิธีเอาเมล็ดงานั้นมาโขลกให้ละเอียดแล้วเราก็สกัดเอาน้ำมันงาออกมา ก็สามารถที่จะเห็นน้ำมันงา ข้อนี้ฉันใด

เมื่อเราเห็นรูปแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นนาม เมื่อเราเห็นนามแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เมื่อเห็นกิเลสแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สืบทอดกันไปตามลำดับ

และอีกอย่างหนึ่ง รูปนามนี้อุปมาเหมือนกันกับที่เราทำน้ำขุ่นให้ใส เช่น น้ำอยู่ในแก้วของเรา เรามองดูก็รู้ว่ามันใสเต็มที่แล้ว แต่ถ้าเราใช้กรรมวิธี โดยการเอาสารส้มลงไปแกว่งในน้ำ แล้ววางไว้สักครู่หนึ่ง เมื่อเราไปดูแล้วเราจะเห็นตะกอนมันนอนอยู่ที่ก้นแก้ว ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

รูปนามนี้ ถ้าเรามองดูเผินๆ ก็จะเห็นแต่รูปอย่างเดียว แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณา ด้วยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว จะเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นรูป ที่ตรงนี้เป็นนาม เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้เป็นตัวกิเลส เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ จะเห็นได้ทันที

อนึ่ง รูปนามนี้ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา เป็นแต่ธรรมชาติที่ประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ผสมกันเข้า ผลสุดท้ายชาวโลกก็ให้สมัญญาเรียกว่า คน เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ ถ้าเรามองดูผิวเผิน เราจะเห็นเป็นต้นไม้ทั้งต้น แต่ถ้าเรามาแยกต้นไม้นั้นออกไป เราจะเห็นว่าตรงนี้เป็นเปลือก ตรงนี้เป็นกระพี้ ตรงนี้เป็นแก่น ตรงนี้เป็นกิ่ง เป็นใบ เป็นดอก เป็นผล เมื่อเราแยกออกไปเช่นนี้ จะหาต้นไม้ที่ไหนไม่ได้ เพราะมันแยกกันคนละชิ้นละอัน ถ้าเราเอาไปทำอย่างอื่น เช่นว่า เอาไปทำบ้านทำเรือนอย่างนี้ คำว่าต้นไม้ก็ยิ่งหมดไป เราจะเห็นว่า อันนี้เป็นเสา เป็นคอสอง เป็นขื่อ เป็นจันทัน เป็นแป เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกันฉันนั้น

อุปมาหนึ่งเหมือนกันกับรถยนต์ที่เขาประกอบไปด้วยสัมภาระต่างๆ เมื่อประกอบไปแล้วก็ต้องให้สมบูรณ์แบบจึงจะให้ชื่อว่ารถยนต์ และก็จะมีพลังขึ้นมา สามารถที่จะขับเคลื่อนไปในที่ไหนๆ ได้ตามประสงค์ รูปนามของเราก็เหมือนกัน ถ้าแยกกันอยู่ก็ไม่มีพลัง แต่เพราะประกอบหรือคุมกันเข้าด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็เกิดพลังขึ้นมา

พลังที่ว่านี้ก็คือ นาม นั่นเอง เมื่อมีนาม รูปก็มีพลังขึ้นมา เหมือนรถยนต์ที่ประกอบกัน ทีนี้ถ้าเราแยกรถยนต์ออกเป็นชิ้นส่วน คำว่า รถยนต์ ก็ไม่มี จะเห็นว่านี้เป็นล้อ เป็นเพลา เป็นคลัตช์ เป็นเครื่องยนต์ เป็นต้น รูปนามก็เหมือนกัน เมื่อแยกออกเป็นสัดเป็นส่วนแล้ว ก็จะเห็นเพียงว่า นี้เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

รูปนาม นี้ไม่ใช่อันเดียวกัน ถึงจะรวมกันอยู่หรืออาศัยกันอยู่ก็จริง ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน ถึงว่ารูปนามนี้ประกอบกันเข้าเป็นธาตุทั้ง ๔ แล้วเกิดพลังขึ้นมา พลังที่เกิดขึ้นมา เราจะเห็นว่า เป็นอันเดียวกันกับธาตุทั้ง ๔ ก็ไม่ได้ ธาตุทั้ง ๔ เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกันกับพลังของธาตุทั้ง ๔ ก็ไม่ได้

รูปนาม นี้ อุปมาเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ คือ รูป นั้นเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ นาม อุปมาเหมือนแสงของดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่แสงสว่าง แสงสว่างก็ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ หรืออุปมาเหมือนกันกับพระจันทร์และแสงสว่างของพระจันทร์ พระจันทร์ไม่ใช่แสงสว่างของพระจันทร์ และแสงสว่างของพระจันทร์ก็ไม่ใช่พระจันทร์

อุปมาเหมือน ไฟฉายกับแสงสว่างของไฟฉาย ไฟฉายก็ไม่ใช่แสงสว่างของไฟฉาย แสงสว่างของไฟฉายก็ไม่ใช่ไฟฉาย หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงของกลอง กลองก็ไม่ใช่เสียงของกลอง เสียงของกลองก็ไม่ใช่กลอง แต่ก็ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ข้อนี้ฉันใด รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป แต่ต้องอาศัยกัน

เหตุนั้น การกำหนดแต่ละครั้งๆ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลายืน เวลาอยากกลับ เวลากลับ เวลาอยากเดิน เวลาเดิน เวลาอยากนั่ง เวลานั่ง เวลากำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการปวด อาการคิด กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการคู้ เหยียด เวลากำหนดอาการก้มเงย เป็นต้น เราต้องสำเหนียกทุกครั้งว่า ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ต้องรู้ต้องเข้าใจ

ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องขี้ผง ของเล็กๆ น้อยๆ ไม่น่านำมาบรรยาย ขออย่าได้เข้าใจเช่นนั้น เพราะว่าเรื่องรูปเรื่องนามนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจยากเหลือเกิน

บางท่านเรียนจบนักธรรมชั้นเอก มาปฏิบัติอยู่ ๑๔–๑๕ วัน กำหนดอาการพองอาการยุบเป็นต้น แต่ไปถามแล้วไม่รู้ว่า ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม บางท่านก็เรียนจบอภิธรรม มหาอภิธรรมบัณฑิต เวลามาประพฤติปฏิบัติ ทั้งๆ ที่ความรู้ประเภทนี้เราเรียนมาแล้วจนจบ ใช้เวลาตั้ง ๗-๘ ปี แต่เวลามาปฏิบัติ ถามว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม ตอบไม่ได้

แม้บางท่านจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก สำเร็จเป็นด๊อกเตอร์ มาบวชมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ อะไรๆ ก็รู้กันหมด จนเป็นครูเป็นอาจารย์เขาได้ แต่เวลาถาม เช่นว่า เวลากำหนดอาการเย็นอาการร้อน ตรงไหนเป็นรูปตรงไหนเป็นนาม ตอบไม่ได้ หรือบางทีจบเปรียญ ๙ ประโยค นี้ไม่ใช่ของธรรมดา จบเปรียญ ๗ เปรียญ ๘ ก็เคยมาประพฤติปฏิบัติ แต่เมื่อถาม ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม

บางทีมีฝรั่งมาปฏิบัติ จบปริญญาโท ปริญญาเอก ปริญญาตรี โท เอก นี้ไม่ใช่ของน้อย อย่างฝรั่งนี่ จบปริญญาเอก แต่ถามแล้ว ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม จนนึกสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนี้

คำถามสั้นๆ แต่มันชอบกล ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เกิดความสงสัยขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้ ขออย่าได้เข้าใจว่าเรื่องที่บรรยายมานี้เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องขี้ผง เป็นเรื่องของเด็กๆ ที่จะพูดกัน ความจริงเป็นของรู้ได้ยาก เป็นของละเอียด

การรู้รูปนามเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะเหตุไร เพราะว่าการรู้รูปรู้นามนี้ สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ ถ้ารู้มากก็ได้ประโยชน์มาก ถ้ารู้น้อยก็ได้ประโยชน์น้อย

รูปนามนี้ ต่างก็ไม่มีเดชไม่มีอำนาจในตัวเอง ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน อุปมาเหมือนกันกับ มัดไม้อ้อ ๒ มัดที่ค้ำยันกันไว้ ถ้ามัดหนึ่งล้ม อีกมัดหนึ่งก็ต้องล้ม ข้อนี้ก็เหมือนกัน ถ้ารูปดับ นามก็ต้องดับ ถ้านามดับ รูปก็ต้องดับ อยู่ต่อไปไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับเจ้าบอดกับเจ้าง่อย วันหนึ่ง เจ้าบอดมีความประสงค์ที่จะไปบ้านหนึ่ง ซึ่งได้ยินเขาเล่าลือกันว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ จึงอยากไป แล้วก็ใช้ไม้เท้านำทางเดินไปบ่นไปว่า ข้าพเจ้าอยากไปบ้านโน้นจริง จะทำอย่างไรหนอจึงจะไปได้ ใครหนอจะเป็นผู้นำทาง บ่นไปเดินไป

บังเอิญในขณะนั้นก็ไปพบกับเจ้าง่อย เจ้าง่อยนี้เป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด ไม่สามารถจะเดินได้ แต่ตาดี เจ้าบอดนี้ก็บอดมาแต่กำเนิด ไม่สามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ แต่ว่าร่างกายแข็งแรงดี พอเจ้าง่อยได้ยินเจ้าบอดบ่นดังนั้นก็ดีใจทันที จึงตอบขึ้นว่า ข้าพเจ้าก็อยากไปบ้านนั้นเหมือนกัน แต่เพราะข้าพเจ้าเป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด จึงไม่สามารถที่จะเดินได้ แต่ตาของข้าพเจ้าดีสามารถที่จะมองเห็นอะไรได้ทั้งหมด พอว่าเท่านั้นเจ้าบอดก็ดีใจ เข้าไปยกเจ้าง่อยขึ้นบนบ่า เดินไปตามมรรคา เพื่อที่จะไปสู่บ้านที่ทั้งสองประสงค์จะไป

ในขณะที่ไปนั้น เจ้าง่อยซึ่งอยู่บนบ่าเป็นตา บอกว่าที่นี้มันสูง ที่นี้มันต่ำ ที่นี้เป็นตมเป็นโคลน ที่นี้เป็นกรวด ที่นี้มีขวากมีหนาม ที่นี้มีหลักมีตอ เจ้าง่อยเป็นผู้บอกทาง เป็นตา ส่วนเจ้าบอดเป็นคนเดิน เป็นขา ผลสุดท้ายก็เดินไปถึงถิ่นฐานบ้านช่องที่ทั้งสองต้องการจะไป

รูปกับนามนี้ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่างก็ไม่มีเดช ไม่มีอำนาจ ต้องอาศัยกัน สมมติง่ายๆ เวลาอยากกินอย่างนี้ ใครเป็นผู้อยาก ใจเป็นผู้อยาก แต่กินไม่ได้ ต้องอาศัยรูปเป็นผู้นำมาให้กิน เป็นผู้กิน จึงจะได้ เวลาปวดอุจจาระปัสสาวะ ใครเป็นผู้ปวด ใจเป็นผู้ปวด แต่ว่าไปไม่ได้ ถึงจะปวดสักปานใดก็ตาม ก็ไปไม่ได้ต้องอาศัยรูปเป็นผู้พาไป จึงจะไปได้

เวลาท่านทั้งหลายอยากพ้นจากกิเลสตัณหา อยากพ้นจากความโลภ โกรธ หลง หรืออยากได้ฌานได้สมาบัติ อยากสำเร็จอริยมรรคอริยผล เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้อยาก ใจเป็นผู้อยาก แต่เวลาทำความเพียรนั้นต้องอาศัยรูป ถ้ารูปไม่พาเดินจงกรมนั่งสมาธิแล้ว ไม่สามารถที่จะสำเร็จได้ เหตุนั้น รูปกับนามจึงต้องอาศัยกัน จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้

รูปกับนามนี้ เวลาทำบุญทำกุศลต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เวลาทำบาปทำกรรมก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันเป็นอย่างนี้ เวลาทำบาปนี้ ใจเป็นผู้อยากทำบาป ใครเป็นผู้ทำ รูปเป็นผู้ทำ แต่เวลาตกนรก ใครเป็นผู้ตก ใจคือวิญญาณเป็นผู้ตกนรก

การรู้รูปรู้นาม นี้ มีประโยชน์อย่างไร

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การรู้รูปรู้นามนี้ ถ้าว่าเรารู้อย่างต่ำๆ ด้วยการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุคุณวิเศษอะไร ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาบัติ ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล เวลาตายมีรูปมีนามเป็นอารมณ์ กำหนดรูปกำหนดนาม ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธๆๆ ตายไปด้วยกัน เราก็ไม่ไปสู่อบายภูมิมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เรามีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าเรารู้รูปรู้นามสูงขึ้นไปหน่อย ก็เป็นจุลโสดาบัน เมื่อเป็นจุลโสดาบัน ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ๒-๓ ชาติ ตายแล้วไม่ไปสู่อบายภูมิ ถ้ารู้รูปนามขึ้นไปอีก ถึงขั้นมัชฌิมโสดาบัน ตายแล้วก็ไม่ไปอบายภูมิมากกว่านั้น มีสุคติโลกมนุษย์สวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าเรารู้รูปรู้นาม จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นอันว่าเราปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตัดกระแสวัฏสงสารลงไปจนนับไม่ถ้วน จะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติเท่านั้น แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ถ้าเรารู้รูปนามสูงขึ้นไปกว่านั้น ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ถ้าเรารู้รูปรู้นามสูงขึ้นไปกว่านั้นอีก จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เมื่อได้เป็นพระอนาคามีแล้ว ก็เป็นอันว่ากามภพนี้ตัดสิ้นแล้ว ไม่กลับมาสู่กามภพอีก ไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม และจะได้บำเพ็ญวิปัสสนา บรรลุเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานในสุทธาวาสพรหมนั้น

ถ้าเรารู้รูปนามสูงขึ้นไปจนจบ พูดง่ายๆ ว่าเรียนจบ ถ้าเขามีขั้นปริญญา ก็จบปริญญาเอก ถ้าเรียนจบอภิธรรม ก็เรียกว่าอภิธรรมบัณฑิต แต่การเรียนรู้รูปรู้นามจนจบอภิธรรมบัณฑิตนั้นยังไม่ได้บรรลุ ต้องเรียนในด้านการเจริญวิปัสสนา เมื่อเรียนรู้รูปรู้นามจบด้วยภาวนาปัญญาอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เมื่อใดสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราสามารถตัดกงกรรมของวัฏสงสารได้แล้ว ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดาร ถึงฝั่งฟากโน้นคือพระนิพพาน อันเป็นเอกันตบรมสุขที่กล่าวแล้วนั้น เป็นประโยชน์ของการรู้รูปรู้นาม อีกอย่างหนึ่ง การรู้รูปรู้นามนี้ ถ้าว่าเรารู้อย่างต่ำ ก็สามารถที่จะปกครองตัวเองได้ใช้ตัวเองเป็น ปกครองตัวเองได้ใช้ตัวเองฟัง ไม่ปล่อยให้ไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา

เราทั้งหลายลองนึกดูว่า บางคน ทำไมถึงดื่มสุรายาเมา สูบฝิ่น กินกัญชา เสพผงขาว เฮโรอีน หรือชอบมัวเมาเล่นการพนัน คบมิตรชั่ว เป็นต้น เพราะเหตุไร เพราะว่าไม่รู้รูปรู้นาม หากว่ารู้รูปรู้นามดีแล้ว สามารถบอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองฟัง บอกตัวเองได้ใช้ตัวเองเป็น ไม่ตกเป็นทาสกิเลสตัณหา มานะ ทิฏฐิ สามารถลดความเห็นแก่ตัวลงได้

แต่สำหรับผู้รู้รูปรู้นามไม่ชัด คือรู้อยู่ แต่ไม่ชัด จะมีความเห็นแก่ตัวมาก หลงยึดมั่นถือมั่นว่ารูปนี้เป็นอัตตะ เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ใครจะมาแตะต้องไม่ได้ บางทีมองหน้ากันหน่อยก็ไม่ได้ ถึงกับฆ่ากันยิงกันตาย บางทีถูกเหยียบเท้าหน่อย ก็ว่าทำไมมึงมาเหยียบเท้ากู เท่านั้นแหละ ฆ่ากันตายแล้ว

เวลาทำกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน ผู้ที่รูปนามไม่ชัด พอเจ็บนั่นปวดนี่ขึ้นมา ก็จะนึกว่า ทำไมหนอวันนี้เราจึงปวดเหลือเกิน เราจึงเมื่อยเหลือเกิน เราช่างไม่สบายเหลือเกิน คำว่า เราๆ นี้ มันจะโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยไม่มีความกระดากละอายในจิตในใจของตัวเอง แต่สำหรับผู้ที่รูปนามชัดแล้วจะไม่คิดอย่างนี้ จะไม่พูดอย่างนี้ เพียงแต่คิดว่า ทำไมหนอ วันนี้เราจึงปวด จึงเมื่อยเหลือเกิน เพียงคิดแค่นี้ก็จะเกิดความสลดสังเวชในจิตในใจขึ้นมาว่า ไม่น่าจะคิดอย่างนี้เลย เพราะคำว่า เรา ว่า เขา นี้ มันไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

ตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งลาราชการมาบวชปี ๒๕๑๕ เวลาประพฤติปฏิบัติ รูปนามของแกชัดดี จะเดินไปทางไหนแกจะบ่นว่า คนนี้มันไม่มี มันมีแต่รูปแต่นามเท่านั้น ผลสุดท้ายไปหาหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ คำว่า คน นี้ไม่มี เขาเรียกว่า คน แต่ประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเขมรเท่านั้น สำหรับประเทศอื่นเขาไม่เรียกคน ผมออกไปนี้ผมจะไปพิมพ์หนังสือตีแผ่ทั่วโลก ให้ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในรูปนามนี้ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรานั้น ให้รู้ว่าคนนั้นไม่มี มีแต่รูปแต่นามเท่านั้น

หลวงพ่อก็ได้แต่คิดว่า พระรูปนี้รูปนามชัดเจนดี นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นแล้วว่า ผู้รู้รูปนามชัดแล้วจะไม่เห็นแก่ตัว สามารถละทิฏฐิมานะลงได้ ทำให้สามารถรักษาจิตของตนให้เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้กิเลส เหตุนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ

ความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ ที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นธรรมดาอยู่เอง ในการเจริญพระกัมมัฏฐานต้องมีการเจ็บที่นั้นปวดที่นี้บ้าง บางทีเกิดความหวิวหวาม ตกใจง่าย บางทีมีอาการเบื่อ บางทีมีอาการกลุ้มใจ จิตฟุ้งซ่าน คิดมาก ท่านทั้งหลายก็จะคิดว่า ทำกัมมัฏฐานนี้เป็นทุกข์เหลือทน เราหลงมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อไรหนอ ถ้าคิดอย่างนี้ขึ้นมา ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า ความทุกข์ที่เราได้รับอยู่นี้เป็นทุกข์ก็จริง แต่เป็นทุกข์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น สมมติว่าเราเดินเป็นทุกข์ มันเจ็บ มันปวด เราไปนั่งก็หาย หรือขณะที่นั่งมันเจ็บมันปวด เราออกไปเดินมันก็หาย

ทุกข์นี้เป็นทุกข์นิดหน่อยเท่านั้น หากว่าเราไปตกในอบายภูมิ ไปเกิดในนรก ยิ่งจะมีความทุกข์มากกว่านี้เป็นหลายๆ พันล้านเท่า หากว่าไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ได้รับความลำบาก ไม่มีอาหารสำหรับที่จะบริโภค ไม่มีเครื่องนุ่งห่มเฉพาะตัว ต้องถูกทรมานด้วยอำนาจกรรมจนกว่าจะสิ้นกรรมหมดเวร ถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งร้ายกว่าปัจจุบันนี้ เพราะสัตว์เดรัจฉานไม่มีอิสระเฉพาะตัว ไม่มีโอกาสที่จะสั่งสมอบรมคุณงามความดี

นี่เป็นโชคดีแล้วหนอ ที่เราได้มีโอกาสเข้ามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล เราเชื่อมั่นได้ว่า ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติโลกมนุษย์สวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า หากเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ก็จะมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิ จะได้เข้าหานักปราชญ์อาจารย์ บางทีจะได้พบพระพุทธเจ้า สาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมปฏิบัติธรรม และจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในโอกาสข้างหน้า

ขอให้เราใช้ปัญญาเตือนสติตนอย่างนี้ตลอดเวลา เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจให้ดำเนินไปสู่ปฏิปทาคือหนทางปฏิบัติเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ ให้ท่านทั้งหลายได้ระลึกสำเหนียกอยู่เสมอว่า เราหลั่งน้ำตาในเวลาหนุ่ม จะได้ไม่กลุ้มใจเมื่อแก่

เรามีความทนทุกข์ทรมานเมื่อหนุ่ม แต่จะยิ้มได้เมื่อแก่ ขณะนี้เราทนทุกข์ทรมานในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แต่ผลสุดท้ายเราจะยิ้มได้ เราจะได้ความมั่นใจ ได้ใบประกันชีวิต ว่าเราจุติจากอัตตภาพนี้แล้วจะไม่บังเกิดในอบายภูมิ

สรุปแล้วว่า การไม่รู้จักรูปจักนามนี้ เป็นเหตุให้คนเราประพฤติชั่วช้านานาประการ คนที่หลงสิ่งเสพติด เข้าคลับเข้าบาร์ ฆ่ากัน ยิงกัน ฆ่าตัวตาย เป็นต้น ก็เพราะไม่รู้จักรูปนาม ไม่รู้จักถือเอาประโยชน์จากรูปนามนี้มาใช้ เหมือนกับเรารู้ว่า ยานี้กินเข้าไปแล้วเราจะหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่เราไม่กินก็ไม่ได้ประโยชน์จากยา

เมื่อท่านทั้งหลายรู้แล้วว่า รูปนามนี้เป็นบ่อเกิดแห่งบุญกุศลทั้งหลาย ส่วนที่เป็นบ่อเกิดของบาปจะไม่พูดถึง กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ตลอดถึงโลกุตตรกุศล ก็เกิดจากรูปนามนี้ อาศัยถือเอาประโยชน์จากการมีรูปมีนามนี้

ดังนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย ที่มีโอกาสมาบวชมาปฏิบัติในครั้งนี้ จงถือเอาประโยชน์จากการมีรูปมีนามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตั้งแต่ประโยชน์อย่างต่ำสุด จนถึงประโยชน์อย่างสูงสุดตามที่กล่าวมาแล้ว

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมะเรื่อง รูปนาม นี้ มาบรรยาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มิถุนายน 2561 11:36:36

(https://i.ytimg.com/vi/E6hiIdxo2Gc/hqdefault.jpg)

ขันธ์ 5

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ขันธ์ ๕ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย

คือร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรา ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านี้ เมื่อรวมลงแล้วเรียกว่า ขันธ์ ๕

ที่ได้ชื่อว่า ขันธ์ ๕ นั้น เพราะเป็นกอง ประชุมด้วยปรากฏการณ์ ๑๑ อย่าง คือ

เป็นสภาพที่มีแล้วในอดีต ๑

เป็นสภาพที่จะเป็นไปในอนาคต ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ภายใน ๑

เป็นสภาพที่มีอยู่ภายนอก ๑

เป็นสภาพที่หยาบ ๑

เป็นสภาพที่ละเอียด ๑

เป็นสภาพที่เลว ๑

เป็นสภาพที่ประณีต ๑

เป็นสภาพที่ไกล ๑

เป็นสภาพที่ใกล้ ๑

รวมเป็นสภาพที่ปรากฏได้ใน ๑๑ ประการ เรียกว่า ขันธ์ ได้แก่ เบญจขันธ์ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. รูปขันธ์ กองรูป มีหน้าที่แตกดับ

๒. เวทนาขันธ์ กองเวทนา มีหน้าที่เสวยอารมณ์รูปนามที่แตกดับ

๓. สัญญาขันธ์ กองสัญญา มีหน้าที่จำรูปนามที่แตกดับ

๔. สังขารขันธ์ กองสังขาร มีหน้าที่ปรุงแต่งรูปนามที่แตกดับ

๕. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ มีหน้าที่รู้รูปนามที่แตกดับ

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน ได้แก่พระปรมัตถธรรมนั่นเอง อุปมาเหมือนป่าไม้ เมื่ออยู่ในป่าเรียกว่าต้นไม้ เมื่อนำมาใช้ทำบ้านเรือน เรียกว่าเสาบ้าง เรียกว่าพื้นบ้าง เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด แม้ขันธ์ ๕ ก็เอาปรมัตถ์ทั้ง ๓ ประการ เว้นพระนิพพาน มาเป็นฉันนั้นเหมือนกัน

คำว่า ปรมัตถธรรม ทั้ง ๓ ประการ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑

สงเคราะห์พระปรมัตถธรรม ๓ ลงในขันธ์ ๕ ดังนี้

รูปขันธ์ คือรูป ๒๘ เวทนาขันธ์ คือเวทนาเจตสิก ๑ ดวง สัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก ๑ ดวง สังขารขันธ์ คือเจตสิกที่เหลือ ๕๐ ดวง วิญญาณขันธ์ คือจิต ๘๙ ดวง หรือกล่าวโดยพิสดารมี ๑๒๑ ดวง

ส่วนคำที่ว่า เว้นพระนิพพาน นั้น หมายความว่า พระนิพพานนั้น ไม่นับเข้าในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เรียกว่า ขันธวิมุตติ คือพ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ายังมีขันธ์ ๕ อยู่ก็ยังเป็นพระนิพพานไม่ได้

ขันธ์ ๕ นี้ คือ รูปนาม นั่นเอง มีการสงเคราะห์ดังนี้

รูปขันธ์ จัดเป็นรูปธรรม

เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ทั้ง ๓ นี้ คือ นามเจตสิก วิญญาณขันธ์ คือนามจิต รวมนามเจตสิกกับนามจิตเข้าด้วยกัน จัดเป็นนามธรรม

ขันธ์ ๕ นี้จึงได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม

เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อาการขวาย่างซ้ายย่าง แต่ละครั้งๆ นั้นก็ถูกขันธ์ ๕ หมดทุกขันธ์

รูปขันธ์ นั้นเป็นรูปที่ประกอบไปด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือประกอบไปด้วยธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อันเป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๔ มีเวทนาขันธ์เป็นต้น

เวทนาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่ด้านรับอารมณ์ทั้งที่ดีที่ชั่ว คือทำหน้าที่รับอารมณ์ และก็เสวยอารมณ์นั้นๆ

สำหรับ สัญญาขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่จำอารมณ์ คือ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำสัมผัส เป็นต้น

สังขารขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่คิดอารมณ์ทั้งที่ดีที่ชั่ว

วิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์ที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์

ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ นี้ รูปขันธ์เป็นที่อาศัยของนามขันธ์ทั้ง ๔ สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น เป็นทางที่จิตมาสู่อารมณ์ คือว่าเป็นวิญญาณของจิต แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต

ขอให้ท่านทั้งหลายคิดให้ซึ้งๆ คือ เวทนา การรับอารมณ์เสวยอารมณ์ก็ดี สัญญา การจำอารมณ์ก็ดี สังขาร คือสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้คิดดีคิดชั่วก็ดี วิญญาณ คือสภาวธรรมที่รู้อารมณ์ที่เกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ดี นั่นเป็นอาการของจิต แต่ไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับจิต

คือวิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เราคิดอย่างหนึ่ง คล้ายๆ กับว่าเป็นอันเดียวกัน แต่เป็นคนละอัน วิญญาณขันธ์ ๕ นั้น เป็นอาการของจิต ส่วนจิตนั้นเป็นวิญญาณธาตุ คือเป็นธาตุรู้ แต่ว่าไม่ใช่เป็นอันเดียวกันกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับพระจันทร์และแสงสว่างของพระจันทร์ พระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระจันทร์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับพระอาทิตย์กับแสงของพระอาทิตย์ พระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของพระอาทิตย์อุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

อุปมาเหมือนกันกับ ไฟฉายและแสงสว่างของไฟฉาย ไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณธาตุ แสงสว่างของไฟฉายอุปมาเหมือนกับวิญญาณขันธ์

มันเป็นคนละอัน คือ แสงสว่างของพระจันทร์ก็ดี พระอาทิตย์ก็ดี ไฟฉายก็ดี ก็ไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือกระบอกไฟฉาย ส่วนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และกระบอกไฟฉาย ก็ไม่ใช่แสงสว่างของดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือกระบอกไฟฉายเหล่านั้น

อุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงของกลอง เสียงกลองก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับกลอง กลองก็คนละอันกันกับเสียงกลอง ข้อนี้ฉันใด เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณขันธ์ ก็มิใช่อันเดียวกันกับ วิญญาณธาตุ วิญญาณธาตุ ก็ไม่ใช่อันเดียวกันกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ เป็นคนละอัน

เราจะสังเกตง่าย ๆ เวลานอน ว่าเป็นอันเดียวกันหรือคนละอัน เวลานอนหลับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นดับไปหมด แต่ จิต คือ วิญญาณธาตุ นั้นไม่ดับ มีอาการเกิดดับๆ อยู่ในห้วงแห่งภวังค์

เวลาถูกยาสลบ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์นั้นไม่เกิด มันดับไปหมด แต่จิตของเรายังไม่ดับขณะนั้น คือยังไม่ตาย ก็เพราะเหตุไรจึงไม่รู้ เพราะว่าจิตไม่ออกไปทำงาน (เมื่อจิตไม่ออกไปทำงาน) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ จึงไม่มี เมื่อไรที่จิตออกไปทำงานแล้ว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์ จึงมี

ทีนี้ เวลาตาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณขันธ์เหล่านั้นดับหมด ไม่มีเหลือ แต่จิตคือวิญญาณธาตุนี้ หากว่ายังมีกิเลสอยู่ก็ไม่ดับ ต้องไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่ ตามกำลังของบุญบาปที่ทำไว้

เช่นว่า ถ้ามีความโกรธมากก็ไปตกนรก มีความโลภมากก็ไปเกิดเป็นเปรต ถ้ามีความหลงมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีมนุษยธรรมมากก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าบำเพ็ญกามาวจรไว้มากก็ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา ถ้าบำเพ็ญรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในรูปพรหม ถ้าบำเพ็ญอรูปาวจรกุศลไว้มากก็ไปเกิดในอรูปพรหม

หมายความว่า ถ้ากิเลสยังไม่ดับ ก็ยังจะไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อยู่ แต่ถ้าหากว่ากิเลสดับหมดแล้ว ตัว วิญญาณธาตุ นี้ก็ถึงความบริสุทธิ์ เราเรียกความบริสุทธิ์นี้ว่า พระนิพพาน

เมื่อใด เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตของเราบริสุทธิ์สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกเลย เราเรียกผู้นั้นว่า ถึงพระนิพพานแล้ว

ขันธ์ ๕ นี้ ท่านจัดเป็น มาร ประการหนึ่ง เพราะเป็นสภาพผู้ทำลายล้าง เป็นผู้ทำให้เกิดความลำบากอยู่หลายประการ เช่น พวกเราทั้งหลายที่มีความลำบากลำบน ทนทุกข์ทรมาน เจ็บโน้นปวดนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่ามีขันธ์ ๕ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเหตุ จึงมีการเจ็บไข้ได้ป่วย เหตุนั้นขันธ์ ๕ ท่านจึงว่าเป็นมารประการหนึ่ง เรียกว่า ขันธมาร

อีกอย่างหนึ่ง ขันธ์ ๕ นี้ชื่อว่า เป็นผู้ฆ่า ฆ่าโดยไม่มีความรู้สึกตัวโดยไม่มีความสงสัย อุปมาเหมือนบุรุษคนหนึ่ง เขามีความประสงค์จะฆ่าคฤหบดีผู้มั่งคั่ง (มีกล่าวไว้ในเรื่อง มาร ๕ ประการ) เพราะเหตุนั้น ขันธ์ ๕ นี้จึงชื่อว่า เป็นผู้ฆ่าโดยไม่รู้สึกตัว โดยที่ไม่มีความสงสัยแต่ประการใด

ทีนี้ ขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติคือ ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานนี้ ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นพร้อมกันหมดทุกขันธ์

สมมติว่า ในขณะที่ตาเห็นรูปนั้น รูปขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็น มีความสุขความทุกข์ไหม ถ้ามีความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำรูปที่เห็นนั้นได้ว่าเป็นรูปอะไร เกิดขึ้นจากไหน สัญญาขันธ์เกิดแล้ว ในขณะที่เห็นรูปนั้น มีความชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี สังขารขันธ์เกิดแล้ว การที่รู้ว่ารูปนี้เกิดขึ้นได้เพราะอะไร เป็นรูปของอะไร มาจากไหน วิญญาณขันธ์เกิดแล้ว

ในขณะที่หูฟังเสียงก็เหมือนกัน สมมติว่าท่านทั้งหลายฟังการบรรยายธรรมของหลวงพ่ออยู่ในขณะนี้ ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น รูปขันธ์เกิดพร้อมแล้ว ขณะที่ได้ยินนั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาขันธ์เกิดแล้ว อาการที่จำได้ว่าเป็นเสียงของใคร สัญญาขันธ์เกิดแล้ว เมื่อได้ยินเสียงแล้วชอบใจก็ดี ไม่ชอบใจก็ดี เฉยๆ ก็ดี สังขารขันธ์เกิดแล้ว การที่รู้ว่าเสียงนี้มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเสียงของใคร วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นแล้ว

ในขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายได้สัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็เหมือนกัน ขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้เกิดขึ้นพร้อมกันเลย

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ขันธ์ ๕ นี้จะเกิดพร้อมกันได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติกำหนด ถ้าเราไม่มีสติกำหนด ขันธ์ ๕ นี้ก็ไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อใดเราพยายามทำขันธ์ทั้ง ๕ ประการนี้ให้เกิดขึ้นพร้อมกันทุกขณะๆ ไม่ว่าจะเป็น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ตาม เมื่อนั้น การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็สามารถที่จะดำเนินไปตามปฏิปทาที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

ที่กล่าวไปแล้ว เป็นการเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติ คือเป็นขันธ์ ๕ ในแนวปฏิบัติ ทีนี้เราจะปฏิบัติอย่างไรในการกำหนดขันธ์ ๕ นั้น เพราะว่า ขันธ์ ๕ นั้นเป็นภูมิธรรมที่เป็นพื้นฐาน หรือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน การปฏิบัติวิปัสสนานี้ ถ้าว่าเราไม่กำหนดขันธ์ ๕ หรือไม่มีขันธ์ ๕ เป็นพื้นฐานเป็นภูมิธรรม เราก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผ่านพ้นไปได้

การปฏิบัติในขันธ์ ๕ เราแบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง มีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

วิธีปฏิบัติขั้นต้น ก็ได้แก่ การใช้สติกำหนดขันธ์ ๕ ให้ทันปัจจุบันธรรม คือเมื่อลงมือกำหนดขันธ์ ๕ ทันปัจจุบัน จนใจเป็นสมาธิดี ไม่เผลอ หรือเผลอน้อยแต่กำหนดให้ได้มาก ถ้ากำหนดได้อย่างที่กล่าวมานี้แล้ว พยายามสังเกตดังนี้ว่า

๑. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนสั้น อันไหนยาว

๒. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนปรากฏชัด อันไหนไม่ชัด

๓. อาการพองกับอาการยุบ อันไหนหยาบ อันไหนละเอียด

๔. อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน

๕. อาการพองกับอาการยุบ ต่างกันหรือเหมือนกัน ต่างกันตรงไหน เหมือนกันตรงไหน

๖. อาการพองขึ้นครั้งหนึ่ง มีกี่ระยะ ท้องยุบลงไปครั้งหนึ่ง มีกี่ระยะ พยายามจำให้ได้ สังเกตให้ได้ นี้เป็นการปฏิบัติขั้นต้น

วิธีปฏิบัติขั้นกลาง เมื่อผู้ปฏิบัติสังเกต ๖ ข้อนั้นได้ดีแล้ว ให้สังเกตให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านั้นอีก ดังนี้

๑. อาการพองกับอาการยุบ เร็วเข้าหรือถี่เข้า มีไหม

๒. อาการพองกับอาการยุบ แผ่วเบา เหลือนิดๆ สม่ำเสมอกันดี มีไหม

๓. อาการพองกับอาการยุบ รู้สึกว่าแน่นๆ หรืออึดอัด หรือหายใจฝืดๆ เหมือนใจจะขาด มีไหม

เมื่ออาการทั้ง ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งมีแล้ว เกิดขึ้นแล้ว ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาดูอาการที่เกิดอย่างนั้นต่อไป จนกว่าจะขาดหรือดับวูบลงไป เมื่ออาการอย่างนี้เกิดขึ้นแล้ว อาจมีบ่อยๆ คือนั่งประมาณ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง อาจมี ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ๕ ครั้ง เบาบ้าง แรงบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสมาธิ โดยมากมักจะมีอาการผงะไปข้างหลังหรือข้างๆ หรือบางครั้งอาจจะสัปหงกลงไปข้างหน้าก็ได้ นี้เป็นวิธีปฏิบัติขั้นกลาง

วิธีปฏิบัติขั้นสูง ขั้นละเอียด คือเมื่อนักปฏิบัติผ่านขั้นต้นขั้นกลางมาแล้ว พยายามสังเกตให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อพิสูจน์ว่า ก่อนรูปนามจะขาดหรือดับวูบไปนั้น อาการพองกับอาการยุบมีลักษณะเป็นอย่างไร เร็วหรือช้า เบาหรือสม่ำเสมอดี หรือมีอาการแน่นอึดอัด หายใจฝืดเหมือนใจจะขาด และเวลาที่ขาดหรือดับไปนั้น ขาดหรือดับไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือท้องยุบ ดังนี้เป็นต้น

ต้องจับให้ทันปัจจุบันจริงๆ ให้ได้จริงๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง จับได้เพียงครั้งเดียวก็ยังดีกว่าจับไม่ได้เสียเลย ข้อสำคัญในการปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ตรงนี้ เมื่อทันปัจจุบันแล้ว หรือจับทันแล้ว จะได้ประโยชน์อะไร ประโยชน์ที่จะได้นั้นท่านกล่าวว่า อเนกสหัสสานิ มีอานิสงส์ตั้งหลายพัน นับไม่ถ้วน

ข้อนี้ท่านผู้ปฏิบัติได้ผลจริงแล้วจะรู้เห็นได้เองโดยไม่ต้องสงสัยเลยแม้แต่น้อย กิเลสตัณหาของผู้นั้นจะลดลงเอง ความโลภ โกรธ หลง ก็รู้สึกว่าเบาบางลงไปตามลำดับๆ โปรดพิจารณาพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเองแล้วก็จะรู้

ทั้งหมดนี้เป็นหลักปฏิบัติง่ายๆ ในขันธ์ ๕ ฉะนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พยายาม ใช้สติ กำหนดให้ทันปัจจุบันดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ไม่ใช่ว่าเราจะกำหนด พองหนอ ยุบหนอๆ หรือ พุทโธๆ ไปเฉยๆ เราต้องสำเหนียกรู้อาการพองอาการยุบให้ดีให้ละเอียด ตามวิธีปฏิบัติทั้ง ๓ ขั้นที่ได้บรรยายให้ฟังไปแล้วนั้น เมื่อทำได้ดังนั้น จะถือได้ว่าปฏิบัติถูกต้อง

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ขันธ์ ๕ มาบรรยายแด่ท่านทั้งหลายนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 มิถุนายน 2561 13:46:21

(https://avatars.mds.yandex.net/get-pdb/69339/203472834-iabloki-1457008786.98/orig)

อายตนะ ๑๒

วันนี้ จะได้นำเอาเรื่อง อายตนะ ๑๒ มาบรรยายเพื่อประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อายตนะ หมายถึง ความสัมพันธ์

การเรียนเรื่อง อายตนะ นี้ ก็คือการเรียนรู้เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ซึ่งจะสัมพันธ์กันได้ ก็ต้องอาศัยอายตนะ

อายตนะ นี้เป็น เครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างตัวเรากับโลกภายนอก ไม่เหมือนกันกับขันธ์ ๕ คือขันธ์ ๕ นั้น เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ภายในตัวของเราเอง

ท่านทั้งหลายอาจไม่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องอายตนะ เพราะใครๆ ก็มีอายตนะด้วยกันทั้งนั้น คือทุกท่านทุกคนมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทุกคน จึงอาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่ถ้าเรามองเข้าลึกๆ แล้ว จะเห็นว่าการเรียนรู้เรื่องอายตนะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เรามองดูวัตถุภายนอกจากตัวของเราไป เช่น วัตถุทางวิทยาศาสตร์แต่ละชิ้นละอันที่เขาทำขึ้นมา เขาต้องมี เครื่องตัด เครื่องต่อ เครื่องเชื่อม เครื่องโยง ระหว่างกันไว้ ตัวอย่างไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ต้องมี ที่ตัด ที่ต่อ ที่เชื่อมที่โยงระหว่างไฟฟ้าภายในบ้านกับนอกบ้านไว้ ซึ่งเรียกว่า คัทเอาท์

ถ้าต้องการที่จะตัดไฟภายนอกไม่ให้เข้ามาภายในบ้านก็ยกคัทเอาท์ลงเสีย ไฟก็เข้าในบ้านของเราไม่ได้ ถ้าต้องการให้ไฟเข้าก็ยกคัทเอาท์ขึ้น ไฟก็เข้ามา เราต้องการใช้ประโยชน์อะไร ก็ใช้ได้ ถ้าหากไม่มีคัทเอาท์นี้ หรือใช้คัทเอาท์ไม่เป็น บางทีไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นมา หรือไฟช็อตขึ้นมาในบ้านของเรา ทำให้เป็นอันตราย ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียทรัพย์สิน บางทีก็ต้องเสียชีวิต ข้อนี้ฉันใด การเรียนรู้เรื่องเครื่องตัด ต่อ เชื่อม โยง คือ อายตนะ นี้ ก็ฉันนั้น

สำหรับอย่างอื่น เช่น รถยนต์อย่างนี้ เขาก็ต้องมีเครื่องตัด เครื่องต่อ ถ้าต้องการให้รถยนต์วิ่งไป เมื่อติดเครื่องแล้ว ก็ต้องปล่อยคลัตช์ ให้เครื่องยนต์นั้นเชื่อมกับเครื่องภายนอก เมื่อต่อกันได้แล้ว รถก็สามารถวิ่งได้ ถ้าว่าต้องการที่จะตัดเครื่องยนต์ภายในออก ไม่ให้เชื่อมกับภายนอก ไม่ต้องการที่จะให้รถวิ่งต่อไป ก็ต้องเหยียบคลัตช์ลงไป เครื่องยนต์ภายในก็จะตัด ไม่เชื่อมกับเพลา รถก็วิ่งไม่ได้ เครื่องยนต์มันทำงานอยู่ก็จริง แต่เราตัดไม่ให้ต่อกันแล้วมันก็วิ่งไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ระหว่างอายตนะภายในของเรากับโลกภายนอก ก็เหมือนกัน หรือผู้ที่ใช้ วิทยุก็ดี ทีวีก็ดี เขาทำวิทยุ ทำทีวีขึ้นมาแล้ว เขาต้องมีที่ตัดที่ต่อ ถ้าต้องการที่จะฟังวิทยุหรือดูทีวี เราต้องเปิดสวิตช์ไฟขึ้น เมื่อเปิดแล้ว จึงจะได้หมุนหาคลื่นให้ตรงกับไซเกิ้ลของสถานีส่ง หรือกดทีวีให้ตรงช่องที่เขาส่งมา เราอยากดูช่องไหนก็เปิดช่องนั้น เมื่อเครื่องภายในกับภายนอกเชื่อมกันอย่างนี้แล้ว เราก็สามารถฟังวิทยุหรือดูทีวีได้ แต่ถ้าเราไม่ต้องการที่จะฟังหรือไม่ต้องการที่จะดูจะชม เราก็ปิดสวิตช์เครื่องวิทยุเครื่องทีวีนั้น เครื่องจะไม่เชื่อมไม่ต่อกัน เราก็ฟังไม่ได้ดูไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ตัวของเรานี้ ก็เหมือนกัน เป็นสรีระยนต์อันหนึ่ง ซึ่งธรรมชาติสร้างมาให้สมบูรณ์แบบแล้ว ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะดูจะชม เราก็สามารถที่จะดูหรือจะชมได้ สมมติว่าเราต้องการดู เราก็เปิดสวิตช์ คือเราเปิดสวิตช์ตา ก็สามารถที่จะดูจะชมได้ คือถ้าจะดู เราก็มีตาให้ดู เวลาเราดูนั่นแหละ ตาของเราเชื่อมกับโลกภายนอกแล้ว

ถ้าต้องการฟังเสียง เราก็ใช้หู เปิดหูขึ้นมา เสียงก็มากระทบกับหู ก็สามารถที่จะฟังได้ ถ้าเราอยากจะดมกลิ่น เราก็มีจมูกไว้พร้อมแล้ว สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอกคือกลิ่น หรือถ้าอยากลิ้มรสก็มีลิ้นไว้พร้อมแล้ว อยากถูกต้องสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็มีกายไว้สำหรับเป็นเครื่องต่อเครื่องโยงกับอายตนะภายนอก

คนที่มีเครื่องต่อ คือ อายตนะ แต่ว่าไม่รู้จักใช้อายตนะ หรือไม่รู้จักปกครอง ย่อมเป็นอันตราย เหมือนกับคนที่ใช้ไฟฟ้าไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ใช้รถยนต์ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ ไม่รู้จักเบรกรู้จักคลัตช์ คนที่ใช้วิทยุใช้ทีวี ไม่รู้จักที่ตัดที่ต่อ อย่างนี้ ย่อมได้รับความเดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด เราผู้มี อายตนะแต่ใช้อายตนะไม่เป็น ย่อมเป็นอันตราย

บางที หากว่าขาดสติสัมปัญญะ ปล่อยให้อายตนะของเรานี้เชื่อมกับอายตนะภายนอก ทำให้บางทีเกิดความโกรธขึ้นมา บางทีเกิดความโลภขึ้นมา บางทีทำให้ความหลงเกิดขึ้นมา ทำให้เกิดราคะความกำหนัดในเพศตรงข้ามขึ้นมา บางทีทำให้เกิดตัณหาความทะยานอยากอย่างแรงกล้า บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน เพราะว่าใช้ไม่เป็นอย่างนี้ก็เป็นอันตราย คนที่ฆ่ากัน เอารัดเอาเปรียบกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะอะไร เพราะใช้อายตนะไม่เป็น ไม่รู้วิธีใช้ อายตนะ

อายตนะ นี้เป็นสะพาน เครื่องเชื่อม เครื่องโยง เครื่องต่อ ทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ กัน มีอยู่ ๑๒ ประการ และอายตนะนี้เป็นภูมิพื้นวิปัสสนาญาณ แห่งการรู้แจ้งเห็นจริง เช่นเดียวกันกับขันธ์ ๕ และอายตนะทั้ง ๑๒ นี้ หาใช่อื่นไกลไม่ ได้แก่ ปรมัตถธรรม นั่นเอง ซึ่งจะแสดงดังต่อไปนี้

             อายตนะ ๑๒
อายตนะภายใน ๖                            อายตนะภายนอก ๖
จักขวายตนะ    อายตนะคือตา                รูปายนตะ        อายตนะคือรูป
จักขวายตนะ    อายตนะคือตา                รูปายนตะ        อายตนะคือรูป
โสตายตนะ      อายตนะคือหู                 สัททายตนะ     อายตนะคือเสียง
ฆานายตนะ      อายตนะคือจมูก              คันธายตนะ      อายตนะคือกลิ่น
ชิวหายตนะ      อายตนะคือลิ้น                รสายตนะ       อายตนะคือรส
กายายตนะ      อายตนะคือกาย               โผฏฐัพพายตนะ อายตนะคือการกระทบ
มนายตนะ        อายตนะคือใจ                 ธัมมายตนะ     อายตนะคือธรรม

สงเคราะห์ ปรมัตถธรรม ลงใน อายตนะ ๑๒ ดังนี้

๑) จักขวายตนะ ได้แก่ จักขุปสาทรูป

๒) โสตายตนะ ได้แก่ โสตปสาทรูป

๓) ฆานายตนะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป

๔) ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป

๕) กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป

๖) มนายตนะ ได้แก่ จิต ๘๙ ดวง

๗) รูปายตนะ ได้แก่ รูปารมณ์ คือสีต่างๆ

๘) สัททายตนะ ได้แก่ สัททารมณ์ คือเสียงต่างๆ

๙) คันธายตนะ ได้แก่ คันธารมณ์ คือกลิ่นต่างๆ

๑๐) รสายตนะ ได้แก่ รสารมณ์ คือรสต่างๆ

๑๑) โผฏฐัพพายตนะ ได้แก่ โผฏฐัพพารมณ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง

๑๒) ธัมมายตนะ ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน ๑

สงเคราะห์ อายตนะทั้ง ๑๒ ลงใน รูปนาม ดังนี้

จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ อายตนะนี้ ย่นลงใน รูปธรรม

มนายตนะ เป็น นามธรรม

ธัมมายตนะ เป็นทั้ง รูปธรรม เป็นทั้ง นามธรรม

อายตนะ ๑๒ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดในทวารทั้ง ๖ และอารมณ์ ๑ (ทวารหนึ่งเกิดได้อารมณ์เดียวเท่านั้น) เป็นบ่อเกิดของธรรมเหล่าอื่น เป็นที่ไหลมาแห่งบุญและบาป มีจิตและเจตสิกแอบอยู่ที่นี่ ย่อมไหลนำไปสู่ทุกข์ในสังสารวัฏ

อายตนะ นี้เป็น สัญชาติ คือประเทศของจิตและเจตสิก เป็นที่อยู่ที่อาศัยของจิตและเจตสิก เป็นที่ปะปนกัน เป็นที่สโมสรของจิตและเจตสิก อายตนะนี้ที่เป็นเฉพาะรูปธรรม ๑๐ นามธรรม ๑ เป็นทั้งรูปธรรมนามธรรม ๑ ฉะนั้น อายตนะ ๑๒ นี้ ก็คือ รูปนาม นั้นเอง

บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะเกิด ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ และบาปจะเกิดก็ต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ หมายความว่า กามาวจรกุศลก็ดี รูปาวจรกุศลก็ดี อรูปาวจรกุศลก็ดี โลกุตตรกุศลก็ดี ก็เกิดที่อายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ บาปคือกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด หรือ โลภะ โทสะ โมหะ อุทธัจจะ ถีนมิทธะ เป็นต้น เมื่อจะเกิดขึ้นก็เกิดที่อายตนะ ๑๒ ประการนี้

ทีนี้ วิธีปฏิบัติในอายตนะทั้ง ๑๒ ประการนี้ เราจะปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติดังนี้คือ ในขณะที่ตาเห็นรูป ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่ตา โดยกำหนดว่า เห็นหนอๆ หรือ พุทโธๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์ตา แล้ว ไม่สามารถที่จะต่อกับรูปภายนอก

ในขณะที่หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติกำหนดไว้ที่หู โดยกำหนดว่า ได้ยินหนอๆ หรือพุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ อย่างนี้เรียกว่า ปิดสวิตช์หรือปิดประตูหูไว้แล้ว เสียงไม่สามารถที่จะเข้าไปภายในได้

เวลาที่จมูกได้กลิ่น ก็ตั้งสติไว้ที่จมูก โดยที่กำหนดว่า กลิ่นหนอๆ อย่าให้เลยไปถึงกลิ่นดีหรือชั่ว หรือกำหนดว่า พุทโธๆ หรือ รู้หนอๆ เป็นต้น ก็เป็นอันว่าเราปิดจมูกไว้แล้ว

ถ้าลิ้นได้รส ก็ตั้งสติไว้ที่ลิ้น จะเป็นรสเปรี้ยว รสหวานรสเค็มก็ตาม ให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้น โดยกำหนดว่ารสหนอๆ หรือ พุทโธๆ หรือว่า รู้หนอๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

เวลากายถูกต้องเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เราก็ตั้งสติไว้ที่กายตรงที่ถูกกระทบ โดยกำหนดว่า ถูกหนอๆ หรือ กระทบหนอๆ หรือ รู้หนอๆ หรือ พุทโธๆ คำใดคำหนึ่งก็ได้

เวลาใจรู้ธรรมารมณ์ ให้ตั้งสติไว้ที่หทัยวัตถุ ใต้ราวนมข้างซ้ายลงไปประมาณ ๒ นิ้ว กำหนดว่า คิดหนอๆ หรือ พุทโธๆ ให้ระวังในขณะที่เราเอาสติไปตั้งไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ อย่าให้ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าไปได้ คืออย่าให้ความยินดียินร้ายเกิดขึ้น เมื่อเราทำได้อย่างนี้ แสดงว่าเราใช้อายตนะเป็นแล้ว

ขณะใดที่เรามีสติรู้ทัน กิเลสทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถเข้าไปในจิตในใจของเราได้ เป็นอันว่าเราระวังไม่ให้บาปใหม่เกิดขึ้น และสำหรับบาปเก่าที่มีอยู่แล้ว ก็จะหมดไปตามลำดับๆ เมื่อบาปเก่าหมดไป บาปใหม่เข้าไม่ได้ เช่นนี้ เรากำหนดนานไปๆ เมื่อใดพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน จิตของเราก็จะสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส สว่าง สงบเย็น ไม่มีตัณหาเข้าไปเป็นนายหรือผู้บัญชาการในจิตใจของเราก็ได้อยู่สบาย

เหมือนเรือนที่เขามุงหรือกั้นฝาไว้ดีแล้ว มีประตูหน้าต่างปิดมิดชิดดี เมื่อมีฝนมีลมหรือมีแดดส่องเข้ามา เราก็ปิดประตูหน้าต่างให้ดี ฝนก็ไหลรั่วรดเข้าไปภายในบ้านไม่ได้ แดดก็ส่องเข้าไปไม่ได้ ลมก็พัดเข้าไปภายในไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของบ้านหรือผู้ที่อยู่ในบ้าน ก็อยู่ในบ้านได้สบายๆ ไม่เดือดร้อน ข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีสติรักษาอายตนะดีแล้ว ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่เราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ในขณะนี้ ที่ต้องการอยากได้สมาธิ อยากเข้าสมาธิได้นานๆ ถึง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือว่า ๕ วัน ๕ คืน ๗ วัน ๗ คืนนี้ แต่เราไม่สามารถจะทำได้ เพราะอะไร ก็เพราะใช้อายตนะไม่เป็น หรือใช้อายตนะไม่สมบูรณ์แบบ คือเรายังเผลออยู่ ยังมีเวลาเผลอ ในเวลาที่ตาเห็นรูป เราปิดไม่ดี ทำให้ดูรูปแล้วเลยไปถึงดีถึงชั่ว เวลาหูได้ยินเสียง ใจมันออกไปแล้วไปตามเสียง วิ่งไปหาเสียง เวลาจมูกได้กลิ่น ใจก็วิ่งไปหากลิ่นแล้ว

เวลาถูกสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ใจมันวิ่งออกไปหาอาการสัมผัสนั้นแล้ว เวลาธรรมารมณ์เกิดขึ้น ใจก็วิ่งไปหาธรรมารมณ์แล้ว วิ่งไปโน้นไปนี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิได้ ไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ตามต้องการ หรืออีกอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่ใจของเราสมควรบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี สมควรบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เราระวังอายตนะของเราไม่ได้ ใช้อายตนะไม่เป็น หรือการใช้อายตนะของเราไม่คล่องแคล่ว ไม่สมบูรณ์แบบ เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล สมกับความต้องการได้

หมายความว่า เราต้องการที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ อาจจะได้บรรลุเพียงขั้นพระอนาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระอนาคามี อาจบรรลุเพียงขั้นพระสกทาคามี ต้องการบรรลุเป็นพระสกทาคามี อาจได้บรรลุเพียงขั้นโสดาบัน ต้องการบรรลุโสดาบัน อาจบรรลุเพียงมัชฌิมโสดาบัน ต้องการบรรลุมัชฌิมโสดาบัน อาจบรรลุได้เพียงจุลลโสดาบัน หรือต้องการบรรลุเพียงจุลลโสดาบัน แต่ก็เพียงแค่ได้ฌานได้สมาบัติเท่านั้น

หรือบางทีก็ไม่ได้เสียเลย ถ้าใช้อายตนะไม่เป็น บังคับอายตนะไม่เป็น มันเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าผู้ใดใช้อายตนะเป็นแล้ว หลวงพ่อขอรับรองว่า ท่านทุกคนทุกรูปทุกนาม สามารถที่จะบรรลุ สมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ท่านทั้งหลายได้สั่งสมอบรมมา

ท่านทั้งหลาย เมื่อหลวงพ่อได้บรรยายมาถึงตอนนี้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณาดูว่า การใช้อายตนะของเรานั้น เป็นหรือยัง สมบูรณ์แบบแล้วหรือ เราสามารถควบคุมปกครองบังคับอายตนะได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ในขณะตาเห็นรูป สามารถควบคุมใจไม่ให้วิ่งไปหารูปได้แล้วหรือยัง ในขณะที่หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส เวลากายถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ก็ดี เราสามารถควบคุมใจของเราไม่ให้วิ่งไปหา เสียง กลิ่น รสสัมผัส ธรรมารมณ์ ได้หรือยัง ถ้าสามารถรักษาได้ เวลาเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์ ใจของเราไม่ไปเลย เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้าย แสดงว่าปกครองอายตนะได้แล้ว ใช้อายตนะเป็นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

แต่ถ้าบังคับไม่ได้ใช้ไม่เป็น นอกจากจะไม่ได้บรรลุสามัญผลใดแล้ว บางทีอาจเสียผู้เสียคนได้ เหมือนกับเรามีรถ แต่ขับไม่เป็น หรือขับได้ไม่สมบูรณ์แบบ เผลอไปขณะใดขณะหนึ่ง รถของเราอาจวิ่งลงจากถนนก็ได้ อาจไปตกตมตกโคลนก็ได้ อาจไปชนคนชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้าก็ได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายใช้อายตนะให้เป็น โดยที่เอาสติไปปิดไว้ทันที

เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจ ขอให้เอาสติไปตั้งไว้ทันที แล้วกำหนดตามอาการของมัน เมื่อกำหนดได้ดีและคล่องแคล่วแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล

แต่ว่าในขณะแรกๆ ที่ควบคุมนี้ การที่จะใช้อายตนะให้สมบูรณ์แบบ หรือปกครองให้อยู่ในอำนาจ เป็นของทำได้ยาก เพราะว่า ธรรมชาติของจิต ไม่เคยอยู่ในอารมณ์เดียวนานๆ วิ่งไปที่โน้นวิ่งไปที่นี้อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยอยู่คงที่ เมื่อเราทั้งหลายมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องการที่จะให้ใจนี้อยู่กับรูปกับนาม หรืออยู่กับกาย กับเวทนา จิต ธรรม ก็เป็นของทำยากลำบากเหลือทนเหมือนกัน

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นของทำยากลำบาก เป็นของที่บังคับยาก ปกครองยาก หากว่าเราพยายามไปๆ ก็สามารถที่จะควบคุมได้ ใจคนเรานี้ ถ้าเราสามารถควบคุมได้แล้ว หากว่าเราต้องการคิดมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องโน้นมันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องนี้ มันจึงจะคิดไป เราต้องการคิดเรื่องใดมันก็คิดแต่เรื่องนั้น ไม่มีอะไรสับสนปนเปเข้ามา ไม่มีเรื่องอะไรที่จะเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราต้องการที่จะคิดเรื่องใดมันก็คิดเรื่องนั้น เมื่อเรามีอารมณ์เดียวอย่างนี้แล้ว จิตของเราก็มีพลังมีอานุภาพ สามารถที่จะคิดอะไรได้คล่องแคล่วว่องไวไม่มีอะไรติดขัด

แต่ถ้าจิตหลายๆ อารมณ์แล้วก็คิดยาก จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ลำบาก เมื่อใด เราสามารถทำจิตทำใจให้อยู่ในอารมณ์เดียวแล้ว เมื่อนั้น จิตของเราก็มีพลังมีอำนาจมาก สามารถที่จะนำไปประหารโลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดไปจากขันธสันดานของเราได้ ตัวอย่าง พระติสสะมหาเถระ1 ซึ่งมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมปทัฏฐกถาว่า

มีตระกูลๆ หนึ่ง อยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ สามี ภรรยาและบุตรสาว เป็นตระกูลที่ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องด้วยการเก็บผักหักฟืนมาขายเป็นวันๆ ไป วันหนึ่งสองสามีภรรยาได้ปรึกษากันว่า พวกเรานี้เกิดขึ้นมาก็ยากจนข้นแค้นอนาถา หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องฝืดเคือง ชะรอยในชาติปางก่อนโน้น เราคงไม่เคยทำบุญทำทานไว้บ้าง จึงเป็นเช่นนี้ อย่ากระนั้นเลย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราทั้งสองจะทำบุญทำทาน หากว่าทำทุกวันๆ ไม่ได้ ๗ วันเราควรทำครั้งหนึ่งหรือ ๑๕ วันควรทำครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นวันพระ

สองสามีภรรยาปรึกษาหารือกันแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะทำบุญให้ได้ ตั้งแต่นั้น พอตื่นแต่เช้ามืดขึ้นมา ภรรยาก็รีบหุงข้าวทำอาหาร ครั้นได้เวลาภัตตาหารเช้า ก็นำภัตตาหารไปถวายแก่พระสงฆ์ในวัด

แต่ในสมัยนั้นอติเรกลาภฟุ่มเฟือย พระสงฆ์สามารถที่จะเลือกภัตตาหารได้ตามต้องการ เมื่อไปถึงวัดแล้ว นางก็น้อมนำเอาภัตตาหารที่ตนทำจนเต็มความสามารถถวายแด่พระมหาเถระผู้เป็นประธานในสงฆ์ พระมหาเถระท่านก็รับ แต่เมื่อท่านรับแล้วท่านก็ไม่ได้ฉัน เททิ้งต่อหน้านาง

แต่นางก็ไม่โกรธ กลับมาถึงบ้านจึงเล่าให้สามีฟัง ฝ่ายสามีผู้เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธา เมื่อฟังแล้วจะได้มีความโกรธก็หาไม่ พูดกับภรรยาว่า แม่! เราเป็นตระกูลที่ยากจนเข็ญใจ เราไม่สามารถที่จะบังคับให้พระเถระฉันของเราได้ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะเอาใจพระเถระได้ เราจึงจะให้พระเถระฉันภัตตาหารของเราได้

ภรรยาจึงกล่าวขึ้นว่า พ่อ! ตระกูลใดที่ยังมีลูกสาวอยู่ จะถือว่าเป็นตระกูลที่ยากจนนั้นไม่ได้ เราควรที่จะเอาลูกสาวของเราไปขายฝากไว้กับตระกูลหนึ่ง เมื่อได้ทรัพย์แล้ว จึงค่อยเอาไปซื้อแม่โคนมมารีดเอาน้ำนมมาปรุงเป็นอาหารที่ประณีต คราวนี้คงเอาใจพระเถระให้ฉันภัตตาหารของเราได้

เมื่อสองสามีภรรยาปรึกษาตกลงกันแล้วจึงนำลูกสาวของตนนั้นไปขายฝากไว้ในตระกูลตระกูลหนึ่ง ได้เงินมา ๑๒ ตำลึง เมื่อได้เงิน ๑๒ ตำลึงมาแล้วก็นำไปซื้อแม่โคนม เมื่อได้แม่โคนมมาแล้ว ตื่นเช้าขึ้นมาทุกเช้าๆ สองสามีภรรยาก็ไปรีดเอานมวัวมาปรุงเป็นอาหารอันประณีต เพื่อจะนำไปถวายแก่พระสงฆ์ เมื่อนำไปถวาย ท่านรับแล้วทราบว่าเป็นภัตตาหารที่ประณีตก็ฉันภัตตาหารนั้น

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระสงฆ์ทั้งหลายทราบว่าตระกูลนี้ถวายอาหารอันประณีต ก็พูดกันต่อๆ ไป ชื่อเสียงอันนี้ก็ฟุ้งขจรไปในหมู่ของพระสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหลายที่มีเดชศักดาเดชานุภาพ เช่น พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น ยังปรากฏว่าเคยได้มารับภัตตาหารที่บ้านของสองสามีภรรยานี้

เมื่อสองสามีภรรยาสามารถเอาใจพระสงฆ์ได้แล้ว และพระสงฆ์ทั้งหลายก็มารับบิณฑบาตที่บ้านของสามีภรรยานี้อย่างสม่ำเสมอ ได้ทำบุญทำทานเต็มอิ่มเต็มอกเต็มใจแล้ว ก็ทำให้นึกถึงบุตรสาวของตน สามีจึงกล่าวขึ้นว่า แม่! พ่อคิดถึงลูกของเราเหลือเกิน เป็นห่วงลูกของเราเหลือเกิน ดังนั้นพ่อจะไปรับจ้าง ได้เงินมาแล้วจะได้ไปไถ่ลูกของเราให้เป็นไท แม่อยู่บ้านอย่าได้ประมาท พยายามทำบุญทำทานเหมือนที่ได้ทำมาแล้ว

เมื่อสั่งเสียภรรยาแล้ว สามีก็ออกไปทำงานรับจ้างหีบอ้อย ทำงานอยู่ ๖ เดือน ได้เงิน ๑๒ ตำลึง พอได้เงินครบ ๑๒ ตำลึงแล้วดีใจ ลาออกจากงาน เพื่อจะไปไถ่บุตรสาวของตนให้เป็นไท ในขณะที่เดินมาตามหนทางนั้นบังเอิญได้พบพระเถระรูปหนึ่งซึ่งมีนามว่า ติสสเถระ ท่านอยู่ที่อัมพวิหาร ออกจากวิหารนั้นเพื่อที่จะไปนมัสการพระมหาเจดีย์แห่งหนึ่ง จึงเดินมาตามหนทางนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายทุคตบุรุษนั้น มองเห็นพระเถระเจ้าแล้วเกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเดินให้ทันพระเถระดีกว่า เพื่อจะได้สนทนาไต่ถามธรรมะข้อปฏิบัติบ้าง เมื่อมาทันพระเถระแล้วก็เดินคุยกันมาตามทาง ในขณะที่คุยกันมาตามมรรคานั้น เป็นเวลาภัตตาหารเพลพอดี เป็นเหตุให้บุรุษนั้นเกิดความกระอักกระอ่วนใจว่าจะได้อาหารที่ไหนหนอถวายพระเถระ

เมื่อมองซ้ายแลขวาหน้าหลังกลับไปกลับมา ก็เห็นคนเลี้ยงโคผ่านมาถือห่อข้าวมาด้วย จึงกราบเรียนนิมนต์พระติสสเถระเจ้าว่า ท่านขอรับขอท่านจงไปรอกระผมที่ใต้ร่มพฤกษาข้างหน้านั้นเถิด เดี๋ยวกระผมจะตามไป เมื่อพระเถระไปแล้ว เขาก็เข้าไปหาคนเลี้ยงโคนั้น พูดขึ้นว่าขอท่านจงให้ห่อข้าวแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าจะให้ทรัพย์แก่ท่าน ๑ ตำลึง

คนเลี้ยงโคนั้นคิดว่า บุรุษนี้เป็นบ้าหรืออย่างไรหนอ ห่อข้าวของเรานี้ไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย แต่ทำไมจะให้เราตั้ง ๑ ตำลึง คงจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ถ้าอย่างนั้นเราจะโก่งราคาไว้ไม่ขาย เพื่อจะได้เงินมากๆ คิดดังนี้แล้วจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่ขาย เพราะว่าห่อข้าวนี้สำหรับข้าพเจ้าเท่านั้น หากว่าข้าพเจ้าไม่ได้บริโภคอาหารวันนี้อาจจะตายก็ได้ ถ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าให้ ๒ ตำลึง ๒ ตำลึงก็ไม่ขาย ให้ ๓ ตำลึง ๓ ตำลึงก็ไม่ขาย ทุคตบุรุษนั้นก็เพิ่มขึ้นให้เรื่อยๆ

ผลสุดท้ายก็ยกให้ทั้งถุงเลยว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาไปทั้ง ๑๒ ตำลึง ข้าพเจ้ามีเท่านี้ ถ้าข้าพเจ้ามีมากกว่านี้ ก็จะให้ท่านมากกว่านี้ แต่ขอให้ท่านทราบว่า ห่อข้าวนี้ข้าพเจ้ามิได้นำไปบริโภคด้วยตนเอง ข้าพเจ้าจะนำไปทำบุญทำทานถวายแก่พระเถระ พระเถระท่านรออยู่ข้างหน้าใต้ร่มไม้โน้น เสร็จแล้วก็ยื่นถุงทรัพย์ให้กับคนเลี้ยงโค รับเอาห่อข้าวมาด้วยความยินดีปีติปราโมทย์

เมื่อไปถึงพระเถระแล้ว ก็น้อมเอาห่อข้าวนั้นใส่ในบาตรของท่าน พอใส่ไปได้ครึ่งหนึ่งท่านก็ปิดบาตรเสีย ทุคตบุรุษนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ ภัตตาหารนี้สำหรับท่านผู้เดียวเท่านั้น ขอท่านจงสงเคราะห์คนยากจนเถิด ท่านพระติสสะก็รับทั้งหมด เมื่อรับแล้วก็ฉัน ในขณะที่ท่านกำลังฉันอยู่นั้น ทุคตบุรุษก็ไปกรองน้ำเพื่อจะได้นำมาถวาย

พระเถระก็คิดอยู่ในใจว่า เหตุอะไรหนอ ทั้งๆ ที่อุบาสกท่านนี้ก็หิวมาด้วยกัน แต่ทำไมไม่แบ่งห่อข้าวไว้รับประทาน ถวายเราทั้งหมด หากว่าได้โอกาสเราจะถามอุบาสกนี้ให้ได้ หลังจากฉันภัตตาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ออกเดินทางต่อ เมื่อได้โอกาสพระเถระจึงได้ถามถึงเรื่องที่ไม่แบ่งห่อข้าวไว้ บุรุษนั้นก็เล่าเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกประการ เริ่มตั้งแต่คิดจะทำบุญทำทาน แล้วเอาลูกสาวไปขายฝากไว้ แล้วไปทำงานหีบอ้อย ๖ เดือนได้เงิน ๑๒ ตำลึงว่าจะไปไถ่บุตรสาวแล้วได้นำเงินมาซื้อห่อข้าวหมด เล่าตั้งแต่ต้นจนจบ

พระเถระเมื่อได้ฟังแล้ว เกิดความสังเวชสลดใจว่า ภัตตาหารนี้ได้มาด้วยความยากลำบาก บุรุษนี้ทำงาน ๖ เดือนได้เงินมา ๑๒ ตำลึง จะไปไถ่บุตรสาวของเขา แต่แทนที่จะได้ไถ่บุตรสาวให้เป็นไท กลับมาซื้อห่อข้าวห่อเดียวถวายเรา บุรุษนี้บำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลที่บุคคลอื่นทำได้ยาก อย่ากระนั้นเลย เราจะทำให้ภัตตาหารของบุรุษนี้ เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เราไปถึงพระมหาเจดีย์ นมัสการแล้ว จะตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าเราไม่สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่ฉันภัตตาหารของบุคคลอื่นเลยเป็นอันขาด

เมื่อเดินมาถึงพระมหาวิหารแล้ว ทุคตบุรุษนี้ก็แยกทางไปบ้านของตน ฝ่ายท่านพระติสสเถระก็เข้าไปในมหาวิหาร นมัสการพระมหาเจดีย์ แล้วก็แสวงหาที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะสำหรับอัธยาศัยของตนในการที่จะเจริญวิปัสสนา เมื่อได้สถานที่สัปปายะแล้ว ท่านก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดทั้งคืน ก็ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

ท่านก็ตัดภัตตาหาร ไม่ไปบิณฑบาต ไม่ฉันภัตตาหารของใคร ถือว่าภัตตาหารที่อุบาสกนั้นถวายเป็นภัตตาหารครั้งสุดท้าย และจะทำให้ภัตตาหารนั้นเป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอรหันต์ เพื่อจะสงเคราะห์ให้ภัตตาหารของอุบาสกนั้นมีอานิสงส์มากๆ ท่านพยายามตั้งใจทำความเพียรอยู่อย่างนี้ เป็นเวลา ๗ วัน ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงพิจารณาถึงอายุสังขารว่าจะพอเป็นไปได้ หรือจะปรินิพพาน เมื่อพิจารณาดูก็ทราบด้วยญาณของท่านว่า เรานี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก เพราะร่างกายได้รับความบอบช้ำจากการทำความเพียรยิ่งนัก เราจะปรินิพพานวันนี้ เมื่อท่านทราบดังนี้แล้ว จึงรีบเก็บบริขารของท่านเข้าที่ ทำความสะอาดที่อยู่ เสร็จแล้วจึงเข้าไปในศาลา ตีระฆังให้สัญญาณพระสงฆ์ภายในวัดมารวมกัน

เมื่อพระสงฆ์มารวมกันแล้ว ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ หากว่าท่านรูปใดรูปหนึ่ง มีความสงสัยในเรื่องมรรคผลนิพพานแล้วไซร้ โปรดได้สอบถามกระผมเถิด กระผมยินดีที่จะวิสัชนาถวาย แต่ในที่นั้นไม่มีใครสอบถาม ไม่มีใครสงสัยเลย เพราะผู้ที่มาประชุมกันอยู่ที่นั้น อย่างต่ำสุดก็เป็นพระโสดาบัน อย่างสูงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่มีผู้ใดสงสัย

ดังนั้น พระมหาเถระที่เป็นประธานในสงฆ์จึงกล่าวขึ้นว่า ท่านขอรับ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ด้วยว่าพระสงฆ์ในที่นี้ไม่มีใครสงสัยในเรื่องอริยมรรคอริยผลเลย แต่ผมมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า เพราะเหตุใดท่านถึงได้บำเพ็ญความเพียรเรี่ยวแรงยิ่งนัก ท่านพระติสสเถระจึงเล่าเรื่องทั้งหมดที่ทุคตบุรุษนั้นเล่าให้ฟังโดยละเอียด

เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายได้ฟังแล้ว ท่านที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวช ท่านที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามีก็ไม่อาจที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้

ในขณะที่สนทนากันนั้น ก็เป็นเวลาที่ท่านพระติสสเถระจะปรินิพพาน และก่อนที่ท่านจะปรินิพพานท่านก็ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า เมื่อข้าพเจ้าปรินิพพานแล้ว คนอื่นหมื่นแสน แม้จะมีกำลังมากสักปานใด มายกศพของข้าพเจ้า ขออย่าให้เคลื่อนที่ได้ เมื่ออธิษฐานแล้วท่านก็เข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อท่านปรินิพพานแล้ว พระราชาพร้อมด้วยพระสงฆ์และประชาชนทั้งหลาย ก็เตรียมทำฌาปนกิจศพท่าน แต่เมื่อจะยกศพของท่านไปสู่จิตกาธาน (บ้านเราเรียกว่าเชิงตะกอน) ก็ไม่สามารถที่จะยกได้ จึงได้ให้พราหมณ์ ๘ คนอาบน้ำดำผมอย่างบริสุทธิ์ สมาทานศีล ๘ ไปยก แต่ก็ไม่สามารถที่จะยกให้เคลื่อนที่ได้

พระราชาจึงตรัสถามพระมหาเถระในสงฆ์ พระมหาเถระก็ถวายพระพรเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระราชาทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้วจึงรับสั่งให้ไปตามบุรุษนั้นมา เมื่อมาถึงแล้วพระราชาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนมหาทุคตะ นับตั้งแต่วันนี้ถอยหลังไป ๗ วัน เคยได้ทำบุญทำทานกับพระรูปหนึ่งรูปใดไว้บ้างหรือไม่ พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เคยถวายห่อข้าวแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาด้วยกัน

พระราชาจึงตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ไปดูพระเถระนั้นซิว่า เป็นผู้ที่ท่านได้ถวายภัตตาหารหรือไม่ เมื่อบุรุษนั้นไปเปิดดูแล้วจำได้ ก็เกิดความเศร้าโศก ร้องไห้ร่ำไร ว่าเพราะเหตุใดหนอ พระเถระเจ้าของเราจึงมาด่วนปรินิพพานเร็วนัก ใครหนอ มาทำร้ายพระเถระเจ้าของเรา ร้องไห้ร่ำไร ปิ่มว่าจะขาดใจตาย พระราชาจึงรับสั่งให้บุรุษนั้นไปอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด พระราชทานเครื่องนุ่งห่มให้ แล้วตรัสสั่งให้ยกศพพระเถระนั้นไปสู่จิตกาธาน

เมื่อทุคตบุรุษไปถึงศพแล้ว ก็ก้มลงกราบที่ศพของท่านที่เท้า ๓ ครั้ง พอกราบลงครั้งที่ ๓ เท่านั้น ศพของพระเถระก็ลอยขึ้นเคลื่อนไปในอากาศ ไปประดิษฐานที่จิตกาธานและในขณะนั้นเอง ไฟทิพย์ก็เกิดขึ้นเผาไหม้สรีระของท่านจนเป็นเถ้าถ่านไป เหลือแต่อัฐิธาตุ

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ความทุกข์ความลำบากในการที่เราควบคุมอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ยินดียินร้าย ไม่ให้ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำอยู่ทุกวันนี้ หรือการประพฤติปฏิบัติของเรานี้ ถึงว่าเหนื่อยยากลำบากสักปานใด หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เท่าความยากลำบาก ที่ท่านพระติสสเถระได้ใช้ความเพียรอย่างเรี่ยวแรงอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายถือเป็นทิฏฐานุคติ นึกถึงความเพียรที่พระติสสเถระเจ้าทำมา โดยที่มาเปรียบเทียบกับตัวเรา แล้วยึดเอาเป็นตัวอย่างแบบอย่างที่ดี เพื่อเป็นการกระตุ้นใจของเรา ให้เกิดความอุตสาหะในการบำเพ็ญความเพียร

เมื่อใด ที่เราตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญความเพียรแล้ว หลวงพ่อว่าการที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลนี้ ไม่ใช่เป็นของเหลือวิสัย เรามีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่นั่น หากว่าเราพอใจทำ ตั้งใจทำ แข็งใจทำ และก็ทำด้วยความฉลาดแล้ว มรรค ผล นิพพาน สมาธิ สมาบัติ เป็นของที่ไม่เหลือวิสัยที่ทุกๆ ท่านจะบรรลุ

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาธรรมะ เรื่อง อายตนะ ๑๒ ประการ มาบรรยายนี้ ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.



[1] (พระสุตตันตปิฎกแปล เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๔๙-๒๕๕)

พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 มิถุนายน 2561 09:23:04

(http://www.dhammathai.org/webbokboon/data/imagedb/23.jpg)

ธาตุ ๑๘

ธาตุ สิ่งที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตนจริงแท้ เป็นสภาวะที่ยืนให้พิสูจน์ ยืนให้รู้ ยืนให้เห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะหมายความว่า ปราศจากอาการของสัตว์ ปราศจากอาการของชีวะ คือไม่มีการไป การมา การกิน การนอน และการประกอบกิจอย่างอื่น ไม่มีชีวิตที่เที่ยงอยู่เสมอ ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธาตุ มีอยู่ ๑๘ ด้วยกัน คือ

๑. จักขุธาตุ (ธาตุตา)
๒. โสตธาตุ (ธาตุหู)
๓. ฆานธาตุ (ธาตุจมูก)
๔. ชิวหาธาตุ (ธาตุลิ้น)
๕. กายธาตุ (ธาตุกาย)
๖. มโนธาตุ (ธาตุใจ)
๗. รูปธาตุ (ธาตุสี)
๘. สัททธาตุ (ธาตุเสียง)
๙. คันธธาตุ (ธาตุกลิ่น)
๑๐. รสธาตุ (ธาตุรส)
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ (ธาตุกระทบ)
๑๒. ธัมมธาตุ (ธาตุธรรม)
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุเห็น)
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ (ธาตุได้ยิน)
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้กลิ่น)
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้รส)
๑๗. กายวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ถูกต้องทางกาย)
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ทางใจ)

รวมเป็น ธาตุ ๑๘ นี้ถือเอาสภาวะปรมัตถ์ ก็เหมือนกับ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ เช่นเดียวกัน ดังจะแสดงสงเคราะห์เข้ากันดังนี้
๑. จักขุธาตุ คือ จักขุปสาทรูป
๒. โสตธาตุ คือ โสตปสาทรูป
๓. ฆานธาตุ คือ ฆานปสาทรูป
๔. ชิวหาธาตุ คือ ชิวหาปสาทรูป
๕. กายธาตุ คือ กายปสาทรูป
๖. มโนธาตุ คือ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง กับ ปัญจทวาราวัชชนะ ๑ ดวง
๗. รูปธาตุ คือ รูปารมณ์
๘. สัททธาตุ คือ สัททารมณ์
๙. คันธธาตุ คือ คันธารมณ์
๑๐. รสธาตุ คือ รสารมณ์
๑๑. โผฏฐัพพธาตุ คือ โผฏฐัพพารมณ์
๑๒. ธัมมธาตุ คือ เจตสิก ๕๒ สุขุมรูป ๑๖ และพระนิพพาน ๑
๑๓. จักขุวิญญาณธาตุ คือ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๔. โสตวิญญาณธาตุ คือ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๕. ฆานวิญญาณธาตุ คือ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๖. ชิวหาวิญญาณธาตุ คือ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๗. กายวิญญาณธาตุ คือ กายวิญญาณจิต ๒ ดวง
๑๘. มโนวิญญาณธาตุ คือ มโนวิญญาณจิต ๗๖ ดวง

อนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ เมื่อจัดเป็นพวกๆ ได้ ดังนี้ คือ
๑. ธาตุรับ (ทวาร ๖)
๒. ธาตุกระทบ (อารมณ์ ๖)

ดังจะได้แสดงดังต่อไปนี้

ธาตุรับ              ธาตุกระทบ          ธาตุรู้
จักขุธาตุ            รูปธาตุ               จักขุวิญญาณธาตุ
โสตธาตุ            สัททธาตุ            โสตวิญญาณธาตุ
ฆานธาตุ            คันธธาตุ             ฆานวิญญาณธาตุ
ชิวหาธาตุ           รสธาตุ               ชิวหาวิญญาณธาตุ
กายธาตุ             โผฏฐัพพธาตุ       กายวิญญาณธาตุ
มโนธาตุ             ธัมมธาตุ             มโนวิญญาณธาตุ

สำหรับ ธาตุ ๑๘ นี้เมื่อย่นลงแล้ว คงเป็นรูป เป็นนามเท่านั้น ดังนี้ คือ
จักขุธาตุ เป็นรูปธรรม
รูปธาตุ เป็นรูปธรรม
จักขุวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
โสตธาตุ เป็นรูปธรรม
สัททธาตุ เป็นรูปธรรม
โสตวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ฆานธาตุ เป็นรูปธรรม
คันธธาตุ เป็นรูปธรรม
ฆานวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
ชิวหาธาตุ เป็นรูปธรรม
รสธาตุ เป็นรูปธรรม
ชิวหาวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
กายธาตุ เป็นรูปธรรม
โผฏฐัพพธาตุ เป็นรูปธรรม
กายวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม
มโนธาตุ เป็นนามธรรม
ธรรมธาตุ เป็นรูปธรรมและนามธรรม
มโนวิญญาณธาตุ เป็นนามธรรม

รวมความว่า ธาตุ ๑๘ จัดเป็นรูปธรรม ๑๐ เป็นนามธรรม ๗ เป็นทั้งรูปธรรม-นามธรรม ๑ หรือจะเรียกธาตุนี้ว่า รูปธาตุ-นามธาตุ ก็ได้

อีกอย่างหนึ่ง ธาตุ ๑๘ นี้ก็คือ ธาตุ ๖ นั่นเอง ได้แก่ ปฐวี-อาโป-เตโช-วาโย-อากาศ-วิญญาณธาตุ นั่นเอง

อัตตภาพร่างกายของคนและสัตว์ ถูกคุมเข้าจากธาตุทั้งหลายเหล่านี้ จะสูง จะต่ำ จะดำ จะขาว เป็นต้นก็แล้วแต่ ส่วนผสมของธาตุทางธรรม ยังไม่จัดว่าเป็นบุญเป็นบาป นับแต่ในขณะที่ธาตุผสมกัน มาถือปฏิสนธิในครรภ์มารดา เขาก็ให้สมัญญาว่า คน พอคลอดออกมาก็เป็น คน ทีเดียว แต่ยังไม่ดี ไม่ชั่ว จะให้ดี ให้ชั่ว ต้องหาใส่ใหม่

เหมือน แก้วเปล่า ถ้าเราหาน้ำมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำ เอายามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วยา ถ้าเอาน้ำฝนมาใส่เขาก็เรียกว่า แก้วน้ำฝน ถ้าเอาเครื่องดื่มมาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเครื่องดื่ม ถ้าหาเหล้ามาใส่ เขาก็เรียกว่า แก้วเหล้า ฉันใด คนเรา ก็เหมือนกัน จะให้ดีหรือชั่ว ต้องหาใส่ใหม่ ถ้าหาชั่วมาใส่ ก็เป็น คนชั่ว เป็นพาล เป็นนักเลง นักปล้น เป็นต้น ถ้าหาดีมาใส่ ก็เป็น คนดี

เหมือนกันกับพวกเราทำอยู่ทุกวันนี้ เราขนเอาความชั่วเก่าออกทิ้ง แล้วขนเอาความดี คือทาน ศีล สมาธิ ปัญญา สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน เข้าไปก็เรียกว่า คนดี คนมีทาน คนมีศีล ผู้ได้สมาธิ คนมีปัญญา คนเป็นพระอริยบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ ดังนี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 กรกฎาคม 2561 16:20:49

(https://2.bp.blogspot.com/-glL5J6AXnL4/V7vffqQ65oI/AAAAAAAAPFs/EV8KVI4UKew5z-Ol9GHBZexgRkFFulibwCLcB/s320/61.jpg)

อินทรีย์ ๒๒

ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ ปกครองทำกิจต่างๆ ในหน้าที่ของตนๆ เรียกว่า อินทรีย์ มี ๒๒ ประการ

ธรรมชาติเป็นภูมิเป็นพื้นที่ให้วิปัสสนาเจริญงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น จวบจนบรรลุโลกุตตรธรรมเป็นที่สุดได้ ดังจะได้แสดงให้ประจักษ์ชัดต่อไปนี้

 ๑.จักขุนทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของตา มีหน้าที่รับสี
 ๒.โสตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของหู มีหน้าที่รับเสียง
 ๓.ฆานินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของจมูก มีหน้าที่รับกลิ่น
 ๔.ชิวหินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของลิ้น มีหน้าที่รับรส
 ๕.กายินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของกาย มีหน้าที่รับสัมผัส
 ๖.มนินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของใจมีหน้าที่รู้อารมณ์
 ๗.อิตถินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของหญิง มีหน้าที่แสดงลักษณะ กิริยาอาการของหญิง
 ๘.ปุริสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของชาย มีหน้าที่แสดงลักษณะกิริยาอาการของชาย
 ๙.ชีวิตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของชีวิต มีหน้าที่รักษารูปนาม
๑๐.สุขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสุขเวทนา มีหน้าที่สบาย
๑๑.ทุกขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของทุกขเวทนา มีหน้าที่ไม่สบาย
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสมนัสสเวทนา มีหน้าที่ดีใจ
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโทมนัสสเวทนา มีหน้าที่เสียใจ
๑๔.อุเปกขินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของอุเบกขาเวทนา มีหน้าที่วางเฉย
๑๕.สัทธินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของศรัทธา มีหน้าที่เชื่อเลื่อมใส
๑๖.วิริยินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของวิริยะ มีหน้าที่เพียรพยายาม
๑๗.สตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสติ มีหน้าที่รู้ทันปัจจุบัน
๑๘.สมาธินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของสมาธิ ได้แก่ เอกัคคตา มีหน้าที่ตั้งมั่นแน่วแน่
๑๙.ปัญญินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของปัญญา มีหน้าที่รู้ไตรลักษณ์
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสตาปัตติมัคคญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพานที่ยังไม่เคยรู้ ตัดอกุศลจิตได้ ๕ ดวง
๒๑.อัญญินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของโสตาปัตติผลญาณ จนถึง อรหัตตมัคคญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพาน ตัดอกุศลจิตตามลำดับ
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ คือความเป็นใหญ่ของอรหัตตผลญาณ มีหน้าที่รู้พระนิพพานและตัดอกุศลจิต ๑๒ ดวง สิ้นเชิง

อินทรีย์ ๒๒ ประการนี้ ก็เป็นสภาวะปรมัตถธรรมเช่นเดียวกับขันธ์ ๕ โดยสงเคราะห์ ดังต่อไปนี้
 ๑.จักขุนทรีย์ ได้แก่ จักขุปสาทรูป
 ๒.โสตินทรีย์ ได้แก่ โสตปสาทรูป
 ๓.ฆานินทรีย์ ได้แก่ ฆานปสาทรูป
 ๔.ชิวหินทรีย์ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูป
 ๕.กายินทรีย์ ได้แก่ กายปสาทรูป
 ๖.มนินทรีย์ ได้แก่ จิตทั้งหมด
 ๗.อิตถินทรีย์ ได้แก่ อิตถีภาวรูป
 ๘.ปุริสินทรีย์ ได้แก่ ปุริสภาวรูป
 ๙.ชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ชีวิตรูป ชีวิตนาม
๑๐.สุขินทรีย์ ได้แก่ สุขเวทนาเจตสิก
๑๑.ทุกขินทรีย์ ได้แก่ ทุกขเวทนาเจตสิก
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ ได้แก่ โสมนัสสเวทนาเจตสิก
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ ได้แก่ โทมนัสสเวทนาเจตสิก
๑๔.อุเปกขินทรีย์ ได้แก่ อุเปกขาเวทนาเจตสิก
๑๕.สัทธินทรีย์ ได้แก่ ศรัทธาเจตสิก
๑๖.วิริยินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๗.สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก
๑๘.สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก
๑๙.ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกีย์)
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)
๒๑.อัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก (โลกุตตระ)

อินทรีย์ ๒๒ ประการนี้ เมื่อสรุปแล้ว ได้แก่ รูปธรรม กับ นามธรรม เหมือนกับภูมิอื่น สงเคราะห์ได้ดังนี้ คือ
 ๑.จักขุนทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๒.โสตินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๓.ฆานินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๔.ชิวหินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๕.กายินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๖.อิตถินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๗.ปุริสินทรีย์ เป็นรูปธรรม
 ๘.ชีวิตินทรีย์ เป็นรูปธรรม และ นามธรรม
 ๙.มนินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๐.สุขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๑.ทุกขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๒.โสมนัสสินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๓.โทมนัสสินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๔.อุเปกขินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๕.สัทธินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๖.วิริยินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๗.สตินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๘.สมาธินทรีย์ เป็นนามธรรม
๑๙.ปัญญินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๐.อนัญญตัญญัสสามีตินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๑.อัญญินทรีย์ เป็นนามธรรม
๒๒.อัญญาตาวินทรีย์ เป็นนามธรรม

อินทรีย์ ๒๒ แยกเป็น รูปธรรม ๗ เป็น นามธรรม ๑๔ เป็นทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ๑ รูปนามนี้เองที่นำมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เป็นตัวกัมมัฏฐาน.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 สิงหาคม 2561 15:11:46
(https://kptonn.files.wordpress.com/2014/01/e0b981e0b8aae0b8871.jpg)

อริยสัจ ๔

วันนี้ จะได้นำเรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อริยสัจ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ หมายความได้ ๓ อย่าง คือ

๑. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นธรรมะที่พระอริยเจ้าค้นพบ ไม่ใช่ค้นพบโดยปุถุชน จึงเรียกว่า อริยสัจ

๒. หมายความว่า ความจริงทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นกฎของการปฏิบัติ ซึ่งถ้าผู้ใดปฏิบัติให้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นจะเป็นอริยชน จึงเรียกว่า อริยสัจ

๓. หมายความว่า ธรรมะคือความจริงในโลกนี้มีอยู่เป็นอันมาก แล้วมีอยู่ในศาสนาต่างๆ แต่ความจริงเหล่านั้นเป็นเพียงสามัญสัจจะ คือความจริงสามัญธรรมดา ส่วนความจริง ๔ ข้อนี้ เป็นความจริงขั้นสูงสุด เหนือสามัญสัจจะ จึงเรียกว่า อริยสัจ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่ประเสริฐกว่าชนทั้งหลาย กล่าวความจริงทั้งหลายว่า สัจจะ ย่อมมี ๒ ประเภท คือ

๑. สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกัน

๒. ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นปรมัตถ์ ความจริงที่เหนือกว่าความจริงทั้งปวง

สมมติสัจจะ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมุติกันนั้น เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันนั้นเป็นอย่างไร เช่น สมมติกันว่า ผู้นี้เป็นพ่อ ผู้นี้เป็นแม่ ผู้นี้เป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้นี้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผู้นี้เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เป็นสัทธิวิหาริก เป็นอันเตวาสิก หรือว่า ผู้นี้มีสมณศักดิ์เป็นพระครูชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ความจริงทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ เป็นความจริงที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

สมมติว่า ในขณะที่เขาให้ชื่อเราว่า สมปอง พอเขาเรียกว่า สมปอง เราก็ขานรับทันที แต่ชื่อว่า สมปอง นี้ เราอาจเปลี่ยนได้ อาจจะเปลี่ยนเป็น สมฤดี ก็ดี สมประสงค์ ก็ได้ มันเปลี่ยนไปได้ เพราะว่ามันเป็นความจริงที่ชาวโลกเขาสมมติกันขึ้น เป็นความจริงพื้นๆ สามัญธรรมดา จึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้

แต่สำหรับ ปรมัตถสัจจะ ความจริงขั้นสูงสุดยอด เป็นความจริงแท้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ มีอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป เช่นว่ารูปอย่างนี้ เราจะเปลี่ยนไปเป็นนามก็ไม่ได้ นามนี้เราจะเปลี่ยนมาเป็นรูปก็ไม่ได้ เวทนาจะเปลี่ยนเป็นสัญญาก็เปลี่ยนไม่ได้ สัญญาความจำได้หมายรู้ ก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

สังขารความปรุงแต่งจิต หรือวิญญาณความคิดอารมณ์นี้ก็เหมือนกัน จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นก็เปลี่ยนไม่ได้ เมื่อมีธรรมชาติอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้นตลอดไป ความจริงเหล่าใดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เราเรียกว่าเป็นปรมัตถสัจจะ

ปรมัตถสัจจะนี้ เป็นธรรมที่พระอริยเจ้าได้รู้แล้ว ได้ทำให้แจ้งแล้ว ซึ่งเป็นสภาพความจริงที่พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมรู้ ย่อมเห็น เรียกว่า อริยสัจ ตามที่เทศนาไว้มี ๔ ประการ คือ

๑. ทุกขอริยสัจ คือเป็นทุกข์จริงๆ เช่น ความไม่สบายกายไม่สบายใจ เป็นสภาวะที่ทนได้ยาก

๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ เหตุให้เกิดทุกข์จริงๆ ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการคือ กามตัณหา ความทะยานอยากอย่างแรงกล้าในกาม ๑ ภวตัณหา ความทะยานอยากในความอยากมีอยากเป็น ๑ วิภวตัณหา ความทะยานอยากในความไม่อยากมีไม่อยากเป็น ๑

ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นสิ่งให้เกิดทุกข์ และตัวสมุทัยนี้เอง เป็นจุดแยกของศาสนาพุทธกับศาสนาอื่น

ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้จำไว้ว่า ศาสนาของเรากับศาสนาของลัทธิอื่นๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้ แยกกันที่ตรงไหน มีคำสอนที่แยกกันที่ตรงไหน

และอีกอย่างหนึ่ง อะไรเป็นกฎบัตรของศาสนา คือศาสนาทุกศาสนาต้องมีกฎบัตรของศาสนา เหมือนกันกับกฎบัตรของสหประชาชาติ ผู้ที่ร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตามกฎบัตรนี้ หรือว่าพวกค่ายคอมมิวนิสต์อย่างนี้ เขาก็มีกฎบัตรของเขาเหมือนกัน ตลอดถึงศาสนาต่างๆในโลกนี้ก็มีกฎบัตรในศาสนา

กฎบัตรของศาสนาก็เหมือนกันกับรัฐธรรมนูญ แต่ละประเทศนั้นต้องมีรัฐธรรมนูญ จึงจะมีกฎหมายขึ้นมาได้ และกฎหมายแต่ละมาตราที่ตราขึ้นมาใช้นั้น ต้องไม่ขัดกันกับรัฐธรรมนูญ จึงจะใช้ได้ ถ้าขัดกันกับรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ถือว่าเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

อริยสัจทั้ง ๔ ประการ นี้ถือว่าเป็นกฎบัตรของศาสนาพุทธ และ สมุทัยอริยสัจ นี้เอง เป็นจุดแยกศาสนาพุทธของเรากับศาสนาอื่น เพราะเหตุไร เพราะว่า ศาสนาที่มีอยู่ในโลกนี้ แบ่งเป็น ๒ ประการ คือ

๑) ศาสนาที่เรียกว่า เทวนิยม

๒) ศาสนาที่ถือ กรรมนิยม

ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้ ยกเว้นพุทธศาสนา เป็นฝ่าย เทวนิยม คือถือว่าความทุกข์ทั้งมวลที่คนเราหรือสัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าเกิดจากพระเจ้าผู้สร้างโลกบันดาลให้เป็นไปบ้าง เกิดจากพระเจ้าบนสวรรค์บันดาลให้เป็นไปบ้าง เป็นเพราะเทวดาบ้าง เป็นเพราะพระพรหมบ้าง เป็นเพราะพระภูมิเจ้าที่บ้าง เป็นเพราะภูตผีปีศาจบ้าง เป็นเพราะยักษ์มารบ้าง หรือเป็นเพราะสิ่งนั้นสิ่งนี้มาทำให้เกิดความลำบาก มาทำให้เกิดความทุกข์

ศาสนาต่างๆเป็นอย่างนี้ และสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังมีอยู่ในศาสนาพุทธของเรา และชาวบ้านของเราแต่ละบ้านนั้นก็ยังมีความยึดถืออยู่อย่างนี้ เพราะว่า ความยึดถืออย่างนี้ ยึดถือมาก่อนศาสนาพุทธของเราจะเกิดขึ้นมาในโลก เช่น บางครั้งเจ็บไข้ได้ป่วยมา หาว่าผีไท้มาให้โทษบ้าง หาว่าผีแถนมาให้โทษบ้าง บางทีก็ถือว่าผีปู่ย่าตายาย ผีพ่อผีแม่มาให้โทษบ้าง บางทีถือว่าผีไร่ผีนามาให้โทษบ้าง ผีปู่ตามาให้โทษบ้าง นี้แหละเรียกว่าเป็นฝ่าย เทวนิยม ถือว่าความทุกข์ที่ได้รับนั้นเกิดจากเหตุภายนอกเป็นสิ่งที่มาให้ร้าย

สำหรับ พุทธศาสนา ของเรานี้ ถือว่าความทุกข์ต่างๆนั้นเกิดขึ้นมาจากกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน กรรมทั้งหลายที่ทำลงไปนั้น ถ้าเป็นกรรมดีก็เป็นเหตุให้เกิดสุข ถ้าเป็นกรรมชั่วก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ยกอุปมาง่ายๆว่า การเกิดเป็นคนนี้ มันเป็นทุกข์ ก่อนจะเกิดมาเป็นคน ก็ต้องมีตัณหาเสียก่อน คือความทะยานอยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดเป็นคนแล้ว ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เพื่อจะให้ได้มาเกิดเป็นคน เสร็จแล้วบุญกรรมนั้นก็อำนวยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า การเกิดขึ้นมาเป็นคนนี้เป็นอย่างไร เป็นทุกข์ไหม

เกิดมาเป็นคนแล้วก็เป็นทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน อาบเหงื่อต่างน้ำ หาเช้ากินค่ำ ลำบากอยู่ตลอดเวลา มีความทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ เหตุนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์

ทีนี้ บางทีสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาแล้ว เห็นว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นทุกข์ การไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดานั้นเป็นสุข เพราะมีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของทิพย์ มีปราสาทอันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีอาภรณ์อันเป็นทิพย์ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมที่เป็นกามาวจรกุศล กามาวจรกุศลนั้นก็อำนวยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา แล้วแทนที่จะได้รับความสุข ก็ยังได้รับความทุกข์อยู่ เพราะการไปเกิดเป็นเทวดาก็ยังมีการแย่งลูกแย่งเมียกันอยู่ มีการตายอยู่ ก็ถือว่ายังเป็นทุกข์

บางทีก็อยากไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่ในพรหมโลก เมื่ออยากไปเกิดเป็นพรหม เพราะเห็นว่าเกิดเป็นมนุษย์เป็นเทวดาก็ยังมีความทุกข์อยู่ สู้การไปเกิดเป็นพรหมไม่ได้ ก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรมบำเพ็ญรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กุศลนั้นก็อำนวยให้ไปเกิดเป็นพระพรหม

เมื่อไปเกิดเป็นพระพรหมแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขตลอดไป ยังมีการจุติมีการตายอยู่ ยังไม่พ้นจากอบายภูมิ บางทีหมดบุญกุศลที่ตนสร้างสมอบรมไว้ เกิดความประมาทขึ้นมา ก็อาจไปเกิดในอบายภูมิได้ ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า ความทุกข์ที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอยู่ในโลก เกิดจากตัณหา ๓ ประการนี้เป็นเหตุ

๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ ดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ ดับตัณหาทั้ง ๓ ประการนั้นได้โดยสิ้นเชิง

๔. ทุกขนิโรธคามินีอริยสัจ ทางดับทุกข์จริงๆ ได้แก่ อริยมรรค ๘ หรือที่เรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค

ทุกข์ มีหน้าที่ให้รู้ เอามรรคมารู้

สมุทัย มีหน้าที่ให้ละ เอามรรคมาละ

นิโรธ มีหน้าที่ทำให้แจ้ง เอามรรคมาทำให้แจ้ง

มรรค มีหน้าที่ทำให้เจริญ เอามรรคมาเจริญมรรคเอง

ทุกขสัจ สมุทัยสัจ มรรคสัจ เว้นสัจจะวิมุตติ เป็นโลกิยสัจจะ นิโรธสัจเป็นโลกุตตรสัจจะ

อริยสัจทั้ง ๔ นี้ คือ ปรมัตถธรรม นั่นเอง

เอาสภาวะของปรมัตถธรรมมาเป็นดังนี้ คือ

ทุกขสัจ คือ โลกิยจิต ๘๑ เจตสิก ๕๑ เว้นโลภรูป ๒๘

สมุทัยสัจ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ดวง

นิโรธสัจ ได้แก่ พระนิพพาน

มรรคสัจ ได้แก่ เจตสิกอันเป็นองค์มรรค ๘ ดวง

อริยสัจทั้ง ๔ นี้ เมื่อย่อลงมา ได้แก่ รูปธรรมกับนามธรรม คือ

ทุกขสัจ เป็นทั้งรูปธรรม เป็นทั้งนามธรรม ได้ ๒ อย่าง

สมุทัยสัจ คือ ตัณหา ๓ ประการ เป็นนามธรรมอย่างเดียว

นิโรธสัจ คือ ความดับรูปนาม จัดเป็นนามธรรม

มรรคสัจ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา จัดเป็นนามธรรม

โลกุตตรจิต ๘ อันเป็นสัจจวิมุตติ คือพ้นจากสัจจะ จัดเป็นนามธรรม คำว่า โลกุตตรจิต ๘ นี้ ได้แก่ โสดาปัตติมัคคจิต ๑ โสดาปัตติผลจิต ๑ สกทาคามิมัคคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิมัคคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ อรหัตตมัคคจิต ๑ อรหัตตผลจิต ๑

สรุปว่า อริยสัจ ๔ ก็คือรูปธรรมนามธรรม การที่เราตั้งสติให้ทันปัจจุบัน จนเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง ทนได้ยาก อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ขณะที่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับไปๆ พร้อมอริยสัจทั้ง ๔ ก็ชื่อว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ข้อศึกษาโดยย่อมีเท่านี้

ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นอาจเข้าใจยากอยู่ ขอสรุปมาสั้นๆ ในแนวของการปฏิบัติล้วนๆ คือ

อริยสัจทั้ง ๔ เกิดขึ้นจากร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เกิดขึ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ก็ได้

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

สมมติว่า อริยสัจ ๔ นี้เกิดทางตา ในขณะที่เราเห็นรูป วินาทีแรกที่ตาเห็นรูป นี่คือตัวสมุทัย อันเป็นตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล คือรูปนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นตามลำดับๆ จนเรารู้ชัดว่า อันนี้เป็นรูปของผู้หญิง เป็นรูปของผู้ชาย เป็นรูปของอะไร อันนี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รูปพร้อมความรู้สึกของเราดับไป นี้เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เราเริ่มเห็นรูป เห็นรูปชัดเจนแจ่มแจ้งจนกระทั่งรูปพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาหูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นทางหู วินาทีแรกที่หูได้ยินเสียง เป็นตัวสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อได้ยินเสียงนั้น เสียงชัดเจนยิ่งขึ้น ทราบได้ว่านี้เป็นเสียงของอะไร เสียงผู้หญิงหรือเสียงผู้ชาย เสียงของเทปหรือวิทยุ เราทราบชัดขึ้นมา นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่เสียงพร้อมทั้งความรู้สึกดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้ยินเสียง จนกระทั่งเสียงพร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาจมูกได้กลิ่น อริยสัจเกิดขึ้นที่จมูก วินาทีแรกที่จมูกได้กลิ่น เป็นสมุทัย อาการที่กลิ่นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นจนสามารถรู้ได้ว่า อันนี้เป็นกลิ่นของอะไร เป็นกลิ่นหอมหรือเหม็น มาจากไหน นี้เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มได้กลิ่น จนถึงกลิ่นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

เวลาลิ้มรสก็เหมือนกัน อริยสัจเกิดที่ลิ้น วินาทีแรกที่ลิ้นได้รส เป็นตัวสมุทัย อาการที่รสปรากฏชัดเจนจนทราบว่าเป็นรสอะไร เปรี้ยวหรือหวาน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่รสนั้นพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่รสเกิดขึ้น จนถึงรสพร้อมทั้งความรู้สึกนั้นดับ เป็นมรรคสัจ

เวลากายของเราถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งก็เหมือนกัน วินาทีแรกที่มีการกระทบกับอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นตัวสมุทัย อาการที่เย็นร้อนอ่อนแข็งนั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับๆ จนรู้ว่าอาการกระทบนี้มันมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นตัวทุกขสัจ อาการที่กระทบกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่ได้กระทบสัมผัส จนถึงอาการกระทบสัมผัสกับเย็นร้อนอ่อนแข็ง พร้อมด้วยความรู้สึกดับไป เป็นมรรคสัจ

อริยสัจ ๔ เกิดทางใจ วินาทีแรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ เป็นสมุทัย อารมณ์นั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เป็นทุกขสัจ อารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่แรกที่ใจรู้อารมณ์หรือคิดอารมณ์ จนอารมณ์พร้อมด้วยความรู้สึกนั้นดับไป เป็นมรรคสัจ

ทีนี้ใกล้เข้ามา ในอาการที่เรากำหนด เช่นว่า เรากำหนดอาการยืน อาการอยากเดิน อาการขวาย่าง อาการซ้ายย่าง อาการนั่ง อาการนอน อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น และในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นได้ เช่น เรากำหนดอาการพองว่า พุทโธๆ หรือพองหนอ หรือว่ารู้หนอ คำใดคำหนึ่ง วินาทีแรกที่ท้องของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน อย่างนี้เป็นตัวสมุทัย อาการที่ท้องของเราพองสูงขึ้นๆ จวนๆ จะดับ เป็นทุกขสัจ อาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพองจนถึงอาการพองพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

อริยสัจ ๔ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการยุบ วินาทีแรกที่ท้องของเรายุบลงไปเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน เป็นต้น เป็นสมุทัย อาการยุบนี้แจ่มแจ้งขึ้นตามลำดับ จนจวนๆอาการยุบนั้นจะดับลง เป็นทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ เมื่อยุบลงไปก็ยุบลงเรื่อยๆ อาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มยุบ ตลอดถึงอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นมรรคสัจ

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อริยสัจ ๔ นั้น เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดขึ้นในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ได้ทั้งนั้น เหตุนั้น เวลาบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุได้ทุกโอกาส คือบรรลุในขณะที่ตาเห็นรูปก็ได้ ในขณะที่หูได้ยินเสียงก็ได้ หรือบรรลุในขณะที่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจรู้ธรรมารมณ์ ก็ได้ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็บรรลุได้

คือหมายความว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผล ก็บรรลุที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ มิใช่ว่าเราจะไปบรรลุที่อื่น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ใครที่เฝ้าเหม่อมองคิดว่า เมื่อไรหนอพระพุทธเจ้าจะมาโปรด เมื่อไรหนอพระอรหันต์จะมาโปรด เมื่อไรหนอเทพเจ้าบนสวรรค์ผู้มีฤทธิ์มากจะมาโปรดให้ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ถ้ามัวแต่คิดอย่างนั้น ก็หมายความว่าปฏิบัติผิดทาง เพราะว่าผู้มีฤทธิ์มีอำนาจมากสักปานใดก็ตาม มาดลบันดาลให้เราบรรลุนั้นไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมของศาสนานี้ ก็ยังไม่สามารถที่จะบันดาลให้ได้

พระองค์เป็นแต่ผู้ชี้แนะแนวทางให้ประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้น ส่วนความเพียรนั้นเราต้องทำเอาเอง แต่มีข้อแม้อยู่ว่า เวลาจะบรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น ต้องเห็นอริยสัจ ๔ และอริยสัจ ๔ นั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะใช้ได้ ถ้าเกิดไม่พร้อมกัน ก็ใช้ไม่ได้

อีกอย่างหนึ่ง ที่ว่าอริยสัจเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเกิดที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็ได้นี้ หมายความว่า ถ้าเรามีสติกำหนด อริยสัจ ๔ จึงจะเกิด ถ้าเราไม่มีสติกำหนด อริยสัจ ๔ ไม่เกิด ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เมื่ออริยสัจ ๔ มันเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราก็ได้ ที่อาการพองอาการยุบก็ได้ อริยสัจ ๔ อยู่ที่ตัวเรานี้แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ลำบาก

ถ้าคิดอย่างนี้ เรียกว่าคิดผิด ไม่ถูกทาง อุปมาเหมือนกันกับเรามีนาอยู่ เราก็รู้ว่านานี้เราเอาข้าวไปปลูกมันก็งอกขึ้นมา เมื่อมันผลิดอกออกผลเราก็เก็บเกี่ยวได้มาไว้รับประทาน แต่ถ้าหากว่าเราไม่เอาข้าวไปหว่าน ไม่เอาข้าวไปปลูกแล้ว มันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด

ที่ว่าอริยสัจ ๔ เกิดอยู่ในร่างกายอันยาววาหนาคืบของเราก็เหมือนกัน เราเรียนเรารู้อยู่ว่า อริยสัจ ๔ เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดที่อาการพองอาการยุบ แต่เราไม่มีสติกำหนด ไม่ใช้ความเพียรในการปฏิบัติ ไม่เอาสติไปกำหนด อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ และอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน จึงจะถือว่าเป็นการบรรลุ

อุปมาเหมือนกันกับเราจุดเทียน จะมีลักษณะ ๔ ประการเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ๑. ขี้ผึ้งหมดไป ๒. ไส้เทียนหมดไป ๓. แสงสว่างเกิดขึ้น ๔. ความมืดหายไป

ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันใด อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ฉันนั้น จึงจะถือได้ว่าบรรลุอริยมรรคอริยผล และในขณะที่อริยสัจทั้ง ๔ เกิดนั้น ก็ต้องมีพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดพร้อม จึงถือว่าเป็นการบรรลุ

สรุปแล้วว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบของเรานี้ เป็นก้อนอริยสัจทั้งก้อน เหตุใดจึงว่าเช่นนั้น สมมุติว่า

๑. ทุกขอริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ อะไรเป็นทุกข์ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ใครเป็นผู้เกิด ใครเป็นผู้แก่ ใครเป็นผู้ตาย เราเองเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้ตาย เหตุนั้น ทุกขอริยสัจ จึงรวมอยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้

๒. สมุทัย คือ ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหาคือความทะยานอยากอย่างแรงกล้า อยากไปเกิดเป็นมนุษย์ อยากเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา อยากไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ อยากไม่เป็นนั้นเป็นนี้ ใครเป็นผู้อยาก เราเองเป็นผู้อยาก เหตุนั้น สมุทัยสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้

๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน ความดับทุกข์นั้น คือการดับตัณหาทั้ง ๓ ประการ ใครเป็นผู้ดับ เราเองเป็นผู้ดับ ไม่มีใครมาดับให้ได้ เหตุนั้น นิโรธสัจจึงรวมอยู่ที่ร่างกายนี้

๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา นี้ ใครเป็นผู้ปฏิบัติ เราเองเป็นผู้ปฏิบัติ เหตุนั้น มรรคสัจก็จึงรวมอยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้

ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นก้อนอริยสัจ เป็นก้อนธรรมะล้วนๆ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สอดส่องธรรม ให้เห็นร่างกายนี้ประกอบไปด้วยอริยสัจทั้ง ๔ และตั้งอยู่ในกฎของพระไตรลักษณ์อันเป็นสามัญลักษณะ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

เมื่อใด เราพิจารณาร่างกายอันยาววาหนาคืบ เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในขณะเดียวกัน อริยสัจ ๔ ก็เกิดขึ้นพร้อมๆกัน ในขณะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ถือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ท่านทั้งหลาย ธรรมะที่ได้นำมาบรรยายนี้ เราฟังดูแล้วเหมือนกันกับง่ายนิดเดียวเท่านั้น ที่จริงมันก็เป็นของง่ายเหมือนกัน คือง่ายอยู่ที่รู้วิธีปฏิบัติ แต่ยากอยู่ที่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ ถ้าเรารู้วิธีปฏิบัติแล้ว และพยายามตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆ มีศรัทธาความเชื่อมั่นจริงๆ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะได้บรรลุสามัญผล

เพราะอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่สกนธ์ร่างกายนี้ทั้งหมด แต่เรามองไม่เห็น เหมือนกันกับเส้นผมบังภูเขา เพราะเหตุไร? เพราะโมหะคือความมืดบอด หรืออวิชชาความโง่ความหลง มาบังจักษุคือปัญญาของเราไว้ ไม่ให้มองเห็นอริยสัจ ๔ เหมือนกันกับขนตาของเรา ขนตาของเรามันอยู่ใกล้ตามากที่สุด แต่เรามองไม่เห็น ข้อนี้ฉันใด

อริยสัจ ๔ มันอยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ที่ตัวเรา แต่เราก็มองไม่เห็น เพราะโมหะมันบังไว้ ดังนี้เราต้องเพิก ต้องกำจัดโมหะออกไป ด้วยการใช้สติไปทำลายโมหะ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจอะไรๆ ต้องมีสติกำกับเสมอ เพื่อเป็นการฝึกสติให้มีพลัง มีอานุภาพ

เมื่อใดสติของเรามีพลังมีอานุภาพแล้ว สติตัวนี้ก็จะไปทำลายโมหะหรือกำจัดโมหะทันที เมื่อใดเรากำจัดโมหะที่ปิดบังอริยสัจ ๔ และพระไตรลักษณ์ได้แล้ว เราก็จะเห็นอริยสัจทั้ง ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ เมื่อเราเห็นอริยสัจ ๔ พร้อมด้วยพระไตรลักษณ์ ก็ได้ชื่อว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

๑. ก็ในการปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าไม่จำเป็น ขอร้องอย่าฉันหนเดียว โดยเฉพาะท่านที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร โรคประสาท โรคความดันสูงอย่างนี้ ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าฉันหนเดียว ให้ฉันสองหน แต่ว่าเราฉันไม่มากไม่เป็นไร เพราะว่า ถ้าเราฉันหนเดียว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้โรคเหล่านั้นกำเริบขึ้นมา

อีกอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เวลาเราฉันเสร็จ แทนที่จิตใจจะได้ร่าเริงเบิกบาน กระฉับกระเฉงในการประพฤติปฏิบัติ ฉันเข้าไปแล้วทำให้ง่วงนอนและอยากนอน การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เหตุนั้น เราฉันสองหนแต่ฉันอย่าให้เต็มที่ไม่เป็นไร เว้นแต่ท่านผู้ใดอ้วนเกินไป การประพฤติปฏิบัติอืดอาดยืดยาดไม่เดินหน้า นั่งก็ไม่สะดวกไม่สบาย อย่างนี้ท่านจะฉันหนเดียวก็ได้ ไม่เป็นไร

๒. อย่าให้เกิดอาการตึงเครียด คือถ้าอาการตึงเครียดเกิดขึ้นมา จะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง เมื่อเราไม่ระงับ ไม่กำหนด ปล่อยให้ความตึงเครียดเกิดขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เสียสติ เป็นบ้าได้ ดังนั้น เมื่อความตึงเครียดเกิดขึ้นมา ให้ไปสรงน้ำแล้วทำจิตใจให้สบาย จึงค่อยมาเดินจงกรมนั่งสมาธิ อย่าให้เกิดความตึงเครียดขึ้น

๓. อย่าให้หย่อนยานเกินไป คือนอกเวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิ จะไปไหนๆ ขอให้กำหนด เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ก็ขอให้รู้ทันทุกขณะ และในเวลาทำกิจอะไรๆ ก็พยายามทำให้เป็นอารมณ์เดียว เช่น ในขณะเดินเราก็ตั้งใจเดิน

ถ้าเราจะครองผ้าหรือห่มจีวรอย่างนี้ ก็หยุดห่มเสียก่อน ห่มจีวรเสร็จจึงค่อยไป ถ้าเราทั้งเดินด้วยทั้งห่มด้วย ก็ชื่อว่าเรามี ๒ อารมณ์ ๓ อารมณ์แล้ว ฉะนั้น จะทำอะไรๆ ก็ขอให้เป็นอารมณ์เดียว ถ้าแปรงฟันก็ตั้งใจแปรงฟัน ถ้าสรงน้ำก็ตั้งใจสรงน้ำ อย่าทำขณะเดียว ๒ อย่าง จิตกำหนดไม่ทัน

๔. ชั่วโมงที่ผ่านการปฏิบัติ (เวลาบรรลุผล) มากที่สุด เท่าที่หลวงพ่อได้สอนลูกศิษย์ลูกหามา ส่วนมากจะเป็นตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึงตี ๒ จะผ่านการปฏิบัติได้มากที่สุด เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หลังจากตีระฆังนอนตอน ๔ ทุ่มแล้ว ก็ให้เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อไปอีกพอสมควร แล้วจึงค่อยนอน เพราะช่วงนั้นจะทำให้ผ่านการปฏิบัติได้มากกว่าเวลาอื่น แต่เวลาอื่นก็มีอยู่ ภาคเช้าก็ดีหรือกลางวันก็ดี ก็มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าช่วง ๔ ทุ่มไปถึงตี ๒ นี้ ผ่านกันมากที่สุด

๕. ขอร้องเป็นพิเศษ อย่าพูดอย่าคุยกันในชั่วโมงปฏิบัติ ที่เพื่อนๆปฏิบัติเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราไปคุยกันก็ทำให้รบกวนผู้ที่ปฏิบัติ และเป็นเหตุให้ไม่พอใจกันขึ้นมา และเวลาฉันภัตตาหารก็เหมือนกัน ขอให้กำหนด อย่าปล่อยไปตามธรรมชาติ เพราะว่า เวลาฉันภัตตาหารนี้ บาปเกิดขึ้นได้มาก บางทีทะเลาะกันในเวลาฉันภัตตาหารนี้ก็มี

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อริยสัจ ๔ มาบรรยายนี้ ก็คิดว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 10 สิงหาคม 2561 11:44:44

(http://www.tddf.or.th/system/image.php?src=/images/upload/2017-06-26-725-0-60-06-26-12.jpg&w=400&h=267)

ปฏิจจสมุปบาท

ความประชุมพร้อมแห่งผล อาศัยความสามัคคีของปัจจัยทั้งหลายแล้วทำให้เกิดผลโดยพร้อมเพียงกันและสม่ำเสมอกัน เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท มี ๑๒ ประการ อันเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน ดังจะแสดงต่อไปนี้

อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ

สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา

ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ

ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ

ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ

ชรามรณะ เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา

๑. อวิชชา คือความไม่รู้ คือไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ตัวเผลอ ตัวหลง มืดมนในธรรม ธรรมที่ควรได้ย่อมไม่ได้ ธรรมที่ไม่ควรได้ย่อมได้ หมายความว่า ไม่รู้ปรมัตถ์ แต่ไปรู้บัญญัติ ได้แก่ โมหเจตสิก นั่นเอง

๒. สังขาร คือธรรมที่ปรุงแต่ง ได้แก่ สังขาร ๓ หรืออภิสังขาร ๓ องค์ปรมัตถ์ คือเจตนา ๒๙

๓. วิญญาณ คือความรู้ในอารมณ์ ได้แก่ จิตเป็นโลกีย์วิบาก ๓๒ ดวง

๔. นามรูป คือสภาพที่แตกดับ ยืนไว้ให้รู้ เรียกว่า รูป ได้แก่ รูปปรมัตถ์ ๒๘ สภาพที่น้อมไปหารูปที่แตกดับ คือผู้เข้าไปรู้ เรียกว่า นาม ได้แก่ เจตสิกทั้งหมด

๕. สฬายตนะ คืออายตนะ ๖ ซึ่งเป็นส่วนภายในองค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ ปสาทรูป ๕ กับจิตทั้งหมด

๖. ผัสสะ คือธรรมชาติที่กระทบอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้าง อันเนื่องจากการประชุมของอารมณ์กระทบปสาทรูปและเกิดวิญญาณขึ้น องค์ปรมัตถธรรมได้แก่ ผัสสเจตสิก

๗. เวทนา คือธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยๆ บ้างมี ๓ หรือ ๕ อันเกิดจากผัสสะเป็นปัจจัย มี ๖ ได้แก่ เวทนาเจตสิก

๘. ตัณหา คือความอยากอย่างแรงกล้า ได้แก่ตัณหา ๖ องค์ปรมัตถธรรม คือโลภเจตสิกนั้นเอง ซึ่งแยกออกตามเหตุปัจจัย มี ๓ บ้าง ๑๐๘ บ้าง

๙. อุปาทาน คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่น คือยึดถืออารมณ์ไว้ด้วยอำนาจแห่งตัณหาที่หนาแน่นขึ้นนั่นเอง องค์ธรรม ได้แก่ โลภเจตสิก

๑๐. ภพ คือกามภพ ซึ่งเป็นเจตนาของกุศลและอกุศลที่ทำให้เกิดวิบากและกฏัตตารูป เกิดในกามภพ รูปภพและอรูปภพ ได้แก่ อุปัตติภพทั้ง ๙ มีกามภพ เป็นต้น

คำว่า ภพ จึงได้แก่ กรรมใน ๓๑ ภูมินั้นเอง องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ เจตนาที่ประกอบด้วยจิต ๒๙ ดวง

๑๑. ชาติ คือความเกิด ความประสูติ ความเป็น ความปรากฏ แห่งขันธ์ทั้ง ๕ ได้แก่ ปฏิสนธิตามกำเนิด ๔ องค์ปรมัตถธรรม ได้แก่ นิปผันนรูป ๑๘ (รูปชาติ) วิปากจิต ๑๙ (นามชาติ)

๑๒. ชรามรณะ คือความแก่และความตาย อันเป็นผลของชาติ ซึ่งมีรวมด้วยกัน ๕ ประการ ได้แก่ ชรา ความแก่, มรณะ ความตาย, โสกะ ความเศร้าโศก, ปริเทวะ ความร้องไห้, ทุกขะ ความทุกข์กาย, โทมนัสสะ ความทุกข์ใจ, อุปายาสะ ความคับแค้นใจจนพูดไม่ออก ซึ่งหมายเอา ฐิติ ตั้งอยู่ ภังคะ ดับไป ตามความปรวนแปรของจิต เจตสิก และรูป อันไม่มีที่สิ้นสุด

ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นอัทธา ๓ (กาล ๓)

๑. อดีตธรรม คือ อวิชชา สังขาร

๒. อนาคตธรรม คือ ชาติ ชรา มรณะ

๓. ปัจจุบันธรรม คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ

ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นองค์ได้ ๑๒ ดังแสดงมาแล้วข้างต้น ถ้าจัดตามอาการได้ ๒๐ แบ่งออกเป็น ๔ หมวด คือ

๑. อดีตเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๒. ปัจจุบันผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓. ปัจจุบันเหตุ ๕ คือ อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔. อนาคตผล ๕ คือ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามสังเขป มี ๔ คือ

๑. อดีตกาลเหตุสังเขป ได้แก่ อวิชชา สังขาร

๒. ปัจจุบันผลสังเขป ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

๓. ปัจจุบันเหตุสังเขป ได้แก่ ตัณหา อุปาทาน ภพ

๔. อนาคตผลสังเขป ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ

ปฏิจจสมุปบาท ถ้าจัดตามวัฏฏะ มี ๓ คือ

๑. กิเลสวัฏฏะ ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

๒. กัมมวัฏฏะ ได้แก่ ภพ สังขาร

๓. วิปากวัฏฏะ ได้แก่ วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา

จัดเป็นมูลมี ๒ คือ

๑. อวิชชา คือ โมหะ ความหลงลืม ไม่รู้ธรรม

๒. ตัณหา คือ โลภะ ความอยากได้ในวัตถุกาม

อนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทธรรม นี้ ซึ่งเป็นภูมิพื้นที่ที่เจริญวิปัสสนานั้น จะเรียกว่า รูปและนาม ก็ได้ ดังจะสงเคราะห์ให้เห็นประจักษ์ชัด ต่อไปนี้

๑. อวิชชา เป็นนามธรรม

๒. สังขาร เป็นนามธรรม

๓. วิญญาณ เป็นนามธรรม

๔. นามรูป เป็นทั้ง นามธรรม และ รูปธรรม

๕. สฬายตนะ เป็นนามธรรม

๖. ผัสสะ เป็นนามธรรม

๗. เวทนา เป็นนามธรรม

๘. ตัณหา เป็นนามธรรม

๙. อุปาทาน เป็นนามธรรม

๑๐. ภพ เป็นนามธรรม

๑๑. ชาติ เป็นนามธรรม

๑๒. ชรามรณะ เป็นนามธรรม

ผู้เจริญวิปัสสนาโดยเอารูปนามเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เมื่อรู้ รูปนาม ก็คือรู้ ปฏิจจสมุปบาท จนละมูละ คือ อวิชชา ตัณหา ได้จริงแล้ว ก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้มีชาติชราสิ้นแล้ว เหตุที่ความประชุมพร้อมแห่งเหตุปัจจัยนั่นเอง

เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ, เมื่อสังขารดับ วิญญาณก็ดับ, เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ, เมื่อนามรูปดับ อายตนะก็ดับ, เมื่ออายตนะดับ ผัสสะก็ดับ, เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ, เมื่อเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ, เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ, เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ, เมื่อภพดับ ชาติก็ดับ, เมื่อชาติดับ ชรามรณะก็ดับ

เมื่อชรามรณะดับแล้วก็ไม่เกิดอีก ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องร้องไห้ ไม่ต้องทุกข์กาย ไม่ต้องทุกข์ใจ เป็นบรมสุขอย่างเยี่ยม.


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 สิงหาคม 2561 10:38:13
(http://blog.adw.org/wp-content/uploads/2015/11/blog11-22.png)

วิปัสสนา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย วันนี้หลวงพ่อจะได้พูดเรื่อง วิปัสสนา โดยสังเขปกถาย่อๆ พอเข้าใจ

การเจริญวิปัสสนานั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจะต้องรู้จักเหตุ รู้จักลักษณะ รู้จักกิจ และรู้จักผลของวิปัสสนา

๑. จิตที่ตั้งมั่นด้วยสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุของวิปัสสนา

๒. ความรู้ว่าสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะของวิปัสสนา

๓. ความขจัดความมืดคือโมหะอันปิดบังปัญญา มิให้เห็นตามความเป็นจริงของสังขาร เป็นกิจของวิปัสสนา

๔. ความเห็นจริงส่องสว่างทั่วไป ในความที่สังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปรากฏอยู่เฉพาะหน้าดั่งดวงประทีปส่องสว่างอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นผลของวิปัสสนา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายที่เจริญวิปัสสนาอยู่ ในขณะนี้ ควรทำความเข้าใจคำว่า วิปัสสนา เสียก่อนแยกออกเป็น ๒ ศัพท์คือ วิ ศัพท์หนึ่ง ปัสสนา ศัพท์หนึ่ง

คำว่า วิ แปลว่า แจ้ง

คำว่า ปัสสนา แปลว่า การเห็น

รวมความว่า วิปัสสนา แปลว่า การเห็นแจ้งซึ่งรูปนามตามความเป็นจริง

หมายความว่า การเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องทำให้ปัญญารู้แจ้งซึ่งรูปซึ่งนามว่า รูปเป็นอย่างไร นามเป็นอย่างไร เป็นต้น

เพราะเหตุไร จึงจำเป็นที่จะรู้แจ้งซึ่งรูปนาม

เพราะว่า การที่ไม่รู้รูปนาม ทำให้คนเราทั้งหลาย หลงรัก หลงใคร่ หลงอยากได้ หลงชัง หลงติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ไม่รู้ปรมัตถ์

เพราะความไม่รู้แจ้งซึ่งรูปนามนี้เอง จึงทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น การรู้รูปนาม ทำให้คนเราหมดตัณหา มานะ ทิฏฐิ สิ้นอาสวะกิเลส ให้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ตัดกำลังของวัฏสงสารได้เด็ดขาด ไม่หมุนเวียนต่อไป เหตุนั้น จึงจำเป็นต้องรู้รูปนาม ด้วยความเป็นจริง

ทำอย่างไรจึงจะรู้รูปนามด้วยความเป็นจริง เราต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลา เช่นว่า เรากำหนดอาการพอง อาการยุบว่า “พองหนอ” อย่างนี้ ต้นพองเป็นอย่างไร กลางพองเป็นอย่างไร สุดพองเป็นอย่างไร กำหนดว่า “ยุบหนอ”อย่างนี้ ต้นยุบเป็นอย่างไร กลางยุบ สุดยุบเป็นอย่างไร อาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร มันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด หรืออาการพอง อาการยุบ มันเร็วๆ หรือมันสั้น หรือมันยาว อะไรทำนองนี้

ผู้ปฏิบัติต้องรู้ ต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา และต้องสำเหนียกอยู่อย่างนี้ทุกครั้งๆ ที่กำหนด เมื่อเรากำหนดได้อย่างนี้และสำเหนียกได้อย่างนี้ ก็จะเห็นรูป เมื่อเห็นรูปแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เห็นนาม เพราะว่านามนั้นอาศัยอยู่ในรูป

อุปมาเหมือนกันกับน้ำมันงาในเมล็ดงาที่เรามองเห็นอยู่ เรามองเห็นแต่ภายนอก แต่ไม่รู้ว่าภายในนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเราเอาเมล็ดงาไปสกัดด้วยกรรมวิธีแล้ว ก็บีบหรือสกัดน้ำมันของงานั้นออกมา เราก็เห็นน้ำมันงาข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับเราทำน้ำขุ่นให้ใส ธรรมดาน้ำที่เราดื่ม เราก็เห็นว่ามันใสเต็มที่ แต่ถ้าเราใช้กรรมวิธี เช่น เอาสารส้มลงไปแกว่ง หรือไปแช่ไว้ แล้วก็ปล่อยไว้สักพักหนึ่ง เราก็จะเห็นตะกอนของน้ำอยู่ในขวด ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นกิเลส ซึ่งเกิดอยู่ในขันธสันดานของเรา

เมื่อก่อนโน้น เราไม่รู้ว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันเป็นอย่างไร มันอยู่ที่ไหน เราก็ไม่เห็นมัน แต่เมื่อใด เราเห็นรูปเห็นนามชัดด้วยปัญญาแล้ว เราเพ่งพิจารณาลึกๆ เข้าไปด้วยสติปัญญา ก็จะเห็นทันทีว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันมีอยู่ตรงนี้ๆ มันนอนอยู่ในจิตใจของเราอย่างนี้ๆ

เมื่อใดเราเห็นรูปเห็นนามชัดแล้ว ก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ไม่เห็นรวมๆ กันเหมือนเมื่อก่อน เราจะเห็นว่า ส่วนนี้เป็นรูป ส่วนนี้เป็นนาม เรากำหนดพองหนอ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เรากำหนดว่า ยุบหนอ อย่างนี้ ตรงนี้เป็นรูป ตรงนี้เป็นนาม เกิดความรู้ขึ้นมา เมื่อกำหนดว่า พองหนอ อย่างนี้ เราก็เห็นว่า อาการพองนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันพองนี้เป็นนาม ยุบหนอ ท้องยุบนี้เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันยุบนี้ มันเป็นนามเกิดขึ้นมาในจิตในใจ

เรากำหนดทางตาว่า เห็นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ มันก็รู้ทันทีว่า ตาก็ดี สีก็ดี นี่เป็นรูป ความรู้ว่าเป็นสีต่างๆ สีเหลือง สีดำ สีแดง หรือภาพต่างๆ ที่เราเห็นนี่ มันเป็นนาม หรือในขณะที่กำหนดหูว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม ในขณะที่เรากำหนดไป เมื่อเราใช้ปัญญาพิจารณาไป ก็จะเห็นทันทีว่า ในขณะที่เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ นี่ตาของเราก็เป็นรูป สำหรับความรู้สึกของเรานั้นเป็นนาม

เรากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไป กำหนดไปก็จะรู้ทันทีว่า หูนี่ก็เป็นรูป เสียงต่างๆ ที่ได้ยิน ก็เป็นรูป ความรู้สึกว่า อันนี้มันเป็นเสียง เป็นนาม เกิดความรู้ทันที ในขณะที่กำหนดทางจมูกว่า กลิ่นหนอๆ ตรงไหนมันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อเรากำหนดไปๆ ตามลำดับๆ มันก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาว่า จมูกนี่ก็เป็นรูป กลิ่นที่เราได้รับรู้ว่า มันเหม็น มันหอม นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่ามันหอม มันเหม็น หรือเป็นกลิ่นอะไร เราก็รู้ เป็นนาม มันเกิดขึ้นเอง

ในขณะที่ลิ้นลิ้มรส เรากำหนดว่า รสหนอๆ ตรงไหน มันเป็นรูป ตรงไหนมันเป็นนาม เมื่อกำหนดไปๆ ลิ้นก็เป็นรูป รสอาหารนั้นก็เป็นรูป ความรู้สึกของเราว่า มันเปรี้ยว มันหวาน มันเค็ม มันจืด เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรากำหนดว่า ถูกหนอๆ อาการถูกก็เป็นรูป อาการร้อน อาการอ่อน อาการแข็ง นี่เป็นรูป ความรู้สึกว่า มันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น นี่เป็นนาม มันก็เกิดขึ้นมาในทันที โดยที่ไม่ได้จำใครมา หรือไม่ได้จำตำรามาพูด

เมื่อเราเจริญวิปัสสนา กำหนดไปๆ มันจะเห็นอย่างนี้ คือเห็นรูปแล้วก็เห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนาม แล้วก็เห็นกิเลส เมื่อเห็นกิเลสแล้วก็ยังไปเห็นอีกว่า เรากำหนดบทกัมมัฏฐานแต่ละบทนั้น มันจะรู้ทันทีว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม แล้วก็สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

อุปมาเหมือนกันกับเราเฉือนหน่อตาล เรามองเห็นหน่อตาลที่มันเกิดขึ้นมาหลายๆ หน่อ หรือสองหน่ออย่างนี้ เราก็คิดว่า มันเป็นหน่อเดียวกัน แต่เมื่อเราเอามีดไปเฉือนออกมา เราจะเห็นว่า มันเป็นคนละหน่อ เกิดคนละขั้ว ข้อนี้ฉันใด รูปกับนามเหมือนกัน ฉันนั้น เรามองดู อย่างมองหยาบๆ เราจะเห็นว่า รูปนาม มันเป็นอันเดียวกัน การเดิน ขวาย่าง ซ้ายย่าง อาการพอง อาการยุบ อาการเจ็บ อาการปวด อาการคิด มันเป็นอันเดียวกัน เราจะเห็นอย่างนี้

แต่เมื่อใช้สติปัญญากำหนดไปๆ มันจะเห็นว่า มันเป็นคนละสิ่งคนละอันขึ้นมาทันที อาการพอง อาการยุบ นี่มันเป็นรูป อาการเจ็บ อาการปวด มันก็เป็นรูป อาการอ่อน อาการแข็งนี่เป็นรูป ความคิดนี่ โอ อะไรเป็นผู้คิด ใจคิด ใจนี่มันเป็นนามเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาทันที มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาทันที

สมมติว่า เรากำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ อะไรเป็นผู้กำหนด ใจเป็นผู้กำหนด ใครเป็นผู้ก้าว ขาเป็นผู้ก้าว ขาก็ดี ใจก็ดี สองอย่างนี้ อันเดียวกันหรือคนละอัน มันจะเห็นขึ้นมา ขานี่ก็เป็นรูป ใจที่กำหนดนั้นเป็นนาม แม้กัมมัฏฐานอื่นๆ ที่เราใช้สติสัมปชัญญะกำหนด มันจะรู้ขึ้นมาอย่างนี้ทันที แต่ถ้าเราไม่สำเหนียก ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา ไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยปัญญาแล้ว มันก็จะเห็นเป็นแต่อันเดียวกัน อันเดียวกันอยู่ตลอดเวลา

หากว่าเราเจริญพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ โอกาสที่จะรู้รูป รู้นาม โอกาสที่จะเห็นกิเลสตัณหานอนอยู่ในจิตของเรา โอกาสที่จะเห็นสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล นิพพานเกิดขึ้นในขันธสันดานของเรา ก็ยากนักยากหนา แต่เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนาด้วยปัญญาอย่างนี้ มันก็จะเห็นรูป เห็นนาม เห็นกิเลส เห็นมรรค ผล พระนิพพาน ขึ้นมาทันที

รูปนามนั้น ท่านเปรียบเสมือนเรือน ธรรมดาเรือนที่เอาทัพสัมภาระต่างๆ มาควบคุมกันเข้า เขาก็เรียกว่า เรือน แต่ถ้าเราแยกส่วนต่างๆ ของเรือนออกไป อันนั้นเป็นเสา อันนี้เป็นคาน อันนี้เป็นขื่อ อันนั้นเป็นแป อะไรเป็นต้น มันจะเห็นเป็นคนละอัน คนละชิ้น ข้อนี้ ฉันใด ร่างกายของเราก็เหมือนกัน เมื่อเรามองดูผิวเผิน เราจะเห็นว่า เป็นอันเดียวกัน แต่เราพิจารณาให้ลึกๆ เข้าไป เราจะเห็นว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นคนละสิ่งเป็นคนละอัน อาศัยส่วนประกอบต่างๆ ของรูป จึงปรากฏอยู่ในขณะนี้

อุปมาเหมือนกันกับรถ รถนั้นเรามองดูเผินๆ เราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน เป็นรถคันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกสัมภาระออกไป อันนี้เป็นคลัชซ์ อันนี้เป็นเพลา อันนี้เป็นล้อ เป็นพวงมาลัยเป็นต้น เราจะเห็นว่า รถเป็นคนละอัน เป็นคนละสิ่ง แต่ที่เขาเรียกว่าเป็นรถ เพราะถูกควบคุมด้วยสัมภาระ ประกอบด้วยสัมภาระ ข้อนี้ฉันใด รูปขันธ์ นามขันธ์ ก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับต้นไม้ เรามองดูผิวเผิน เราก็จะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราแยกออกไปเป็นส่วนๆ เราจะเห็นเป็นคนละอัน คืออันนี้เป็นเปลือก อันนี้เป็นกระพี้ อันนี้เป็นแก่น อันนี้เป็นกิ่ง อันนี้เป็นใบ อันนี้เป็นผล อะไรทำนองนี้ ข้อนี้ฉันใด ร่างกายอันยาววาหนาคืบก็เหมือนกัน ฉันนั้น

อุปมาเหมือนกันกับดวงจันทร์ที่เราเห็นอยู่นี้ เรามองเข้าไป เราจะเห็นว่า ดวงจันทร์ทั้งดวงนั้นเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่คนละอัน แต่ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาให้ซึ้งๆ ลงไปแล้ว เราจะเห็นว่า ดวงจันทร์นั้นเป็นคนละอัน ที่เรามองเห็นนั้น มันแยกกันได้ว่า นั่นเป็นดวงจันทร์ แต่แสงสว่างออกมานั้นไม่ใช่ดวงจันทร์ ดวงจันทร์ก็ไม่ใช่แสงสว่าง แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาเหมือนกันกับดวงอาทิตย์ เรามองดวงอาทิตย์ เราจะเห็นว่ามันเป็นดวงเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดด้วยปัญญาแล้ว ทีนี้เราจะเห็นเป็นคนละอัน ดวงอาทิตย์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แสงสว่างของดวงอาทิตย์นั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งมันเป็นคนละอัน แต่มันอาศัยกัน ข้อนี้ ฉันใด รูปนามของเราก็เหมือนกัน ฉันนั้น

รูปนามอาศัยกัน อุปมาเหมือนกันกับหุ่นกระบอก ธรรมดาเราไปดูหนังปโมทัย หรือดูโน้นดูนี้ เราจะเห็นหุ่นกระบอกที่ถูกเขาชักนี่ มันรำเป็นตัวท้าว ตัวนาง เราจะเห็นว่าเป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ เราจะเห็นว่าเป็นคนละอัน หุ่นกระบอกนั้นเป็นอันหนึ่ง บุคคลผู้ชักหุ่นกระบอกก็เป็นอันหนึ่ง ผู้ชักหุ่นก็ไม่ใช่หุ่นกระบอก หุ่นกระบอกก็ไม่ใช่ผู้ชักหุ่น ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น รูปก็ไม่ใช่นาม นามก็ไม่ใช่รูป แต่อาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาอีกอย่างหนึ่ง เหมือนกันกับไม้อ้อ ๒ มัดที่ค้ำยันกันอยู่ ไม้อ้อสองมัดนั้น แต่ละมัดๆ ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน คนละอัน ไม้อ้อมัดที่ ๑ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๒ มัดที่ ๒ ก็ไม่ใช่มัดที่ ๑ แต่มันอาศัยกันเกิดขึ้น หากว่าเราเอาไม้อ้อมัดที่ ๑ ออกไปเสีย มัดที่ ๒ ก็ต้องล้ม ถ้าเอามัดที่ ๒ ทิ้งไปเสีย มัดที่ ๑ ก็ต้องล้ม ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น ถ้ารูปดับ นามก็ดับ ถ้านามดับ รูปก็ดับ เพราะรูปกับนามอาศัยซึ่งกันและกัน

หรืออุปมาเหมือนกันกับกลองและเสียงกลอง กลองกับเสียงกลองนั้น ก็ไม่ใช่อันเดียวกัน กลองก็ไม่ใช่เสียง เสียงก็ไม่ใช่กลอง แต่อาศัยกันเกิดขึ้น

อุปมาเหมือนเจ้าบอดกับเจ้าง่อย คนหนึ่งบอดมาแต่กำเนิด แต่อีกคนหนึ่งง่อยมาแต่กำเนิด วันหนึ่ง เจ้าบอดจะไปสู่สถานตำบลแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะไปได้ เพราะตามองไม่เห็น ก็มีแต่บ่นไปว่า ข้าพเจ้าอยากไปบ้านโน้นๆ แต่ข้าพเจ้ามองไม่เห็นหนทาง ในขณะนั้น เจ้าง่อยนั่งฟังอยู่ รู้ทันทีว่า ข้าพเจ้าก็ต้องการจะไปบ้านโน้นเหมือนกัน แต่ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะเดินได้ ขาของข้าพเจ้าไม่ดี เป็นคนง่อยมาแต่กำเนิด

พอดีพูดกันเท่านั้น ทั้งสองก็เข้าใจกันแล้วก็ตกลงกันเพื่อจะไปสู่บ้านที่ตนต้องการ เจ้าบอดก็แบกเอาเจ้าง่อยขึ้นใส่บ่า ในขณะที่เดินตามทาง เจ้าง่อยเป็นผู้นำทาง สำหรับเจ้าบอดก็เป็นขา ผู้พาเดิน ผลสุดท้าย ทั้งสองนั้นก็ไปถึงตำบลที่ต้องการ ข้อนี้ ฉันใด รูปกับนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น รูปไม่มีเดชจำเพาะตน นามก็ไม่มีเดชจำเพาะตน ต้องอาศัย ซึ่งกันและกัน

อุปมาเหมือนกันกับมนุษย์กับเรือที่ข้ามแม่น้ำ มนุษย์ที่ข้ามแม่น้ำต้องอาศัยเรือ และเรือกับมนุษย์นั้น ก็ไม่เป็นอันเดียวกัน เพราะเรือก็ไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์ก็ไม่ใช่เรือ แต่ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ก็สามารถจะข้ามไปถึงฝั่ง ข้อนี้ ฉันใด รูปนามก็เหมือนกัน ฉันนั้น

ในเมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายก็จะพอเข้าใจว่า เราเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสำเหนียกบทพระกัมมัฏฐานแต่ละบท หรืออารมณ์กัมมัฏฐานแต่ละอย่างๆ ที่กำหนดอยู่นี้ ที่ภาวนาอยู่นี้ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นกิเลส อะไรเป็นบุญเป็นกุศล อะไรเป็นโทสะ อะไรเป็นโมหะ อะไรเป็นโลภะ อะไรเป็นทาน อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา เมื่อเราทั้งหลายสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม เห็นกิเลสตัณหา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติบทกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือพระนิพพาน แต่ว่าเวลาทำนี้ มันทำลำบากท่านทั้งหลาย บางท่านก็ทำลำบาก บางท่านก็ทำสบาย อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่บุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา คือว่า บางท่าน ทุกขังปรากฏชัด หรือในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ทุกขังมันเกิดมาก เราจะเห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี่ มันลำบากลำบนเหลือทน มันเจ็บที่โน้น มันปวดที่นี้ ร้อยแปดพันประการ

ถ้าหากว่าท่านผู้ใดเห็นอนิจจังชัด คือ อนิจจังปรากฏมากกว่าทุกขัง ก็จะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ ช่างเปลี่ยน แปลงไปเร็วเหลือเกิน เหมือนกันกับเรือที่เราขับขี่ไปในแม่น้ำ มันจะมีอาการกระเพื่อม แล้วก็ไหวอยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ ฉันใด

เมื่อพระไตรลักษณ์คืออนิจจังปรากฏขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแรงกล้าแล้ว เราจะเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างช่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก หรือว่าจิตของเราก็เปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ขณะนี้คิดอย่างนี้ ขณะนี้คิดอย่างนี้ เรากำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มันก็เปลี่ยนไปเร็วนัก เรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ ทำไมมันถึงเปลี่ยนไปเร็วนักอย่างนี้ มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ

แต่บางท่านที่ได้สั่งสมอบรมบารมีมามาก เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตามันปรากฏชัด ผู้ใดเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อนัตตาปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะเห็นว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่ มันช่างง่ายเหลือเกิน สะดวกสบายเหลือเกิน กำหนดง่ายเหลือเกิน เวลาเดินจงกรมก็กำหนดง่ายเหลือเกิน เมื่อพิจารณา ท่านก็เห็นว่า แม้เรากำหนดง่ายๆ สบายๆ แต่มันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

เช่นว่า ในขณะนี้ เวลาเดินจงกรม ต้องการจะให้ มันเป็นแต่อย่างนี้ๆ มันก็ไม่เป็นไปตามอำนาจของเรา เวทนาที่ปวดอยู่อย่างนี้ เราไม่อยากให้มันปวด มันก็ปวด เวลามีสุข เราอยากให้ความสุขตั้งอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันก็ไม่สุข เดี๋ยวก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา เจ็บที่โน้น ปวดที่นี้ขึ้นมา

อันนี้ที่พูด ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายนั้น จะเห็นไม่เหมือนกัน เห็นต่างกัน บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติลำบาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติยาก บางท่านก็เห็นว่าปฏิบัติสบาย อันนี้อยู่ที่ปฏิปทาของผู้ปฏิบัติ

ถ้าท่านผู้ใด เป็นประเภท สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ก็ปฏิบัติสบายแล้วก็รู้เร็ว ท่านผู้ใดเป็นประเภท สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ก็จะปฏิบัติสบาย แต่รู้ช้า บรรลุช้า แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้เร็ว เวลาจะบรรลุก็บรรลุเร็ว แต่บางท่านเป็นประเภท ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติก็ลำบาก รู้ก็ช้า กว่าที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นแต่ละอย่างๆ แต่ละขั้นๆ นั้นก็ต้องใช้เวลานาน กว่าจะรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มัคคญาณ ผลญาณ เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ยากเหลือทน อันนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ปฏิปทาของท่านผู้ปฏิบัติ

ตัวอย่าง พระปีติมัลลเถระ[1] มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์อรรถกถา ทีฆนิกายมหาวรรคว่า พระปีติมัลลเถระ ครั้งที่เป็นคฤหัสถ์เป็นโยมอยู่ ได้ฟังพระท่านสวดพระอภิธรรม ท่านท่องอภิธรรม สวดอภิธรรม รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน

พระปีติมัลลเถระในขณะที่เป็นโยมอยู่นั้น ท่านก็ฟัง ธรรมะแล้วก็รู้สึกว่า ธรรมที่สวดนั้นมันดื่มด่ำล้ำลึกอยู่ในจิตในใจ มันชุ่มฉ่ำในจิตในใจเป็นพิเศษ เกิดความเลื่อมใส อยากบวช แล้วก็เข้าไปขอบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้ว ได้ไปสู่ราวป่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เดินจงกรมจนเท้าแตก เมื่อเดินจงกรมเท้าแตกแล้วก็คุกเข่าเดินกลับไปกลับมา

อนิจจา...ในขณะนั้น(เวลาค่ำคืน) นายพรานเดินผ่านมาเห็น นึกว่าเป็นเนื้อเป็นกวาง ก็ยกศรขึ้นมายิง เลยไปถูกสีข้างของท่าน เมื่อท่านถูกลูกศรแล้ว ท่านก็พูดขึ้นว่า ใครหนอมายิงเรา โกรธเคืองเราเรื่องอะไรหนอ จึงมายิงเรา นายพรานได้ยินเท่านั้น ก็คิดว่าจะมีโทษ วิ่งหนีไปเลย นายพรานก็วิ่งแจ้นเลย เกรงว่าจะได้รับโทษ

ในขณะนั้น ท่านปีติมัลลเถระก็พยายามใช้พลังดึงลูกศรออก เมื่อดึงลูกศรออกแล้วก็เคี้ยวใบไม้อุดรูแผล เมื่ออุดรูแผลเสร็จแล้วก็ไปนั่งในที่สบายแห่งหนึ่ง แล้วก็เอาเวทนาในส่วนทุกขาวิปัสสนาสติปัฏฐานมาบริกรรม มาภาวนา มากำหนดว่า ทุกข์หนอๆ ไป

ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ในขณะนั้น ร่างกายของท่านนั้นถูกลูกศรแล้ว จะมรณภาพแหล่ไม่มรณภาพแหล่อยู่แล้ว คืออาการเกือบจะถึงที่สุดแล้ว เกือบจะหมดลมหายใจ ถึงกระนั้น ท่านก็ยังอดทน กัดฟันต่อสู้ ไม่ยอมแพ้ ตายก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอันขาด

ท่านก็กำหนดไปว่า ปวดหนอๆ ทุกข์หนอๆ ไปเรื่อยๆ ในขณะนั้นวิปัสสนาญาณก็เกิดในขันธสันดานของท่านไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ ที่ ๑๕ ที่ ๑๖ ผลสุดท้ายท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดไปจากขันธสันดาน

นี่แหละท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติ บางท่านแม้มีอุปนิสัยจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่เวลาประพฤติปฏิบัตินั้น ลำบากเหลืออดเหลือทน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายเวลาเจริญพระกัมมัฏฐาน ก็ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า เวลามันเกิดทุกข์ขึ้นมา เราก็คิดว่า เรานี้ เมื่อภพก่อน ชาติก่อน เราคงได้เจริญสมถกัมมัฏฐานมามากเสียแล้ว การประพฤติปฏิบัติมันจึงได้ลำบากอย่างนี้

บางท่าน เวลาปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วนัก ท่านก็อาจคิดพิจารณาว่า สังขารร่างกายทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันช่างไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหลือเกิน อะไรทำนองนี้ ก็ขอให้ท่านได้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ปลงธรรมสังเวชกถา ทุกสิ่งทุกอย่างคิดให้เป็นบุญเป็นกุศลที่ได้สั่งสมอบรมมาก็แล้วกัน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ต่อไปก็ขอเตือนสติ ท่านทั้งหลาย ที่ท่านพระอาจารย์ทองดีได้กล่าวไว้เมื่อก่อนโน้นว่า สิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดความห่วงกังวลในการประพฤติปฏิบัติ ทำให้การประพฤติของเรานั้นเนิ่นช้า ก็มีอยู่ ๑๐ ประการ คือ

๑) อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่

๒) กุลปลิโพธ ห่วงตระกูล

๓) ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๔) คณะปลิโพธ ห่วงศิษย์ห่วงหมู่คณะ

๕) กรรมปลิโพธ ห่วงงาน

๖) อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทาง

๗) ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง

๘) อาพาธปลิโพธ ห่วง(กลัวว่าจะมี)ความเจ็บไข้

๙) คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐) อิทธิปลิโพธ ห่วงฤทธิของปุถุชน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายระวังอันตรายทั้ง ๑๐ ประการนี้ อย่าให้ครอบงำจิตใจของเราได้

พร้อมกันนี้ หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลายด้วย และขออภัยคณะแม่ชีทั้งหลายด้วย ว่าการประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายในขณะนี้ มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เสียงโน้น เดี๋ยวก็เสียงนี้ อะไรจิปาถะ เราจะเห็นว่า ญาติโยมก็พากันมุงหลังคาโบสถ์ที่โน้นก็มี ทางโรงเรียนปริยัติก็ทำ แต่คงไม่หนักมากเกินไป แต่สำหรับหลังคาโบสถ์นี่รู้สึกว่า ลำบากลำบนเหลือเกิน หลวงพ่อก็ไม่อยากทำหรอก ไม่อยากให้เขาทำ แต่ว่าไม่รู้จะทำอย่างไรได้

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้อภัยหลวงพ่อด้วย คิดว่า อีกไม่ถึง ๔ - ๕ วัน เสียงที่ได้ยินอยู่นี้ก็คงจะหมดไปแล้ว พยายามปรับจิตปรับใจของเราให้ได้ เพราะว่าอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน เช่นว่า รูปที่เราเห็นทางตาก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน หูได้ยินเสียง เสียงนั้นก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน กลิ่นที่ได้รับก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน อาการเจ็บปวดที่โน้นที่นี้ ก็เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน

เหตุนั้น เมื่อเราได้ยินเสียง ก็เอาเสียงนั้นเป็นอารมณ์ กำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ หรือว่า เสียงหนอๆ ไปเรื่อยๆ หากว่าเราปรับให้ตัวเราสามารถกำหนดได้ จิตของเราจะไม่มีอาการหงุดหงิด จะไม่มีอาการโกรธ จะไม่มีอาการไม่พอใจ คือความท้อใจก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความหงุดหงิดก็ไม่มี ความคับแค้น ความแห้งผากใจก็ไม่มี

เรากำหนดเสียงว่า ได้ยินหนอๆ ไปเรื่อยๆ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้ฌาน ได้สมาบัติ บางทีก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้มรรค ได้ผล ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา

จึงขอสรุปว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมา เป็นอารมณ์ของกัมมัฏฐาน ให้เราคิดเสียว่า ขณะนี้เขาก็ทำงานของเขา เราก็ทำงานของเรา งานของเราก็คือปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน งานของเราก็คือการกำหนด ได้ยินเสียงขึ้นมา เราก็กำหนด ได้ยินหนอๆ ไปตามลำดับๆ

ถ้าฉลาดในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานั้นง่ายขึ้นมา แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมไว้

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิปัสสนา มา ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.




[1] พระสุตตันตปิฎกแปล ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๖๙

พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 กันยายน 2561 12:06:00
(http://www.bloggang.com/data/sdayoo/picture/1140128928.jpg)

อาการเกิดดับของวิปัสสนา

หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อาการเกิดดับเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มากล่าวเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจให้ท่านทั้งหลายได้ทราบ ได้สังวร ได้ระวัง เพราะอาการเกิดดับนี้ บางทีเราก็เข้าใจผิด เพราะอาการเกิดดับมันมีหลายสิ่งหลายประการ ดังนี้

๑. อาการดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานของเราจะไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า จิตใจเหี่ยวห่อท้อแท้ นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ตรง เอนข้างนั้นเอนข้างนี้ สัปหงกไปข้างซ้ายข้างขวา ขึ้นข้างบนลงข้างล่าง

การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันธรรม มีตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาพักหนึ่ง กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าในขณะที่มันสัปหงกวูบลงไป มันลงสู่ภวังค์ เมื่อมันลงสู่ภวังค์ก็เลยหายง่วง

อันนี้แหละเป็นอาการดับของถีนมิทธะ ชอบจะเป็นเวลาเราฉันข้าวใหม่ๆ ฉันเช้า ฉันเพลแล้วใหม่ๆ หรือว่าวันไหนที่ฉันของหวานมากๆ หรือวันไหนที่รับอาหารเข้าไปมากๆ เวลานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า เรากำหนดไปๆ มันสัปหงกลงไปเรื่อยๆ อันนี้ก็พึงสังวรพึงระวังให้มาก

อีกอย่างหนึ่ง พวกถีนมิทธะนี้ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ๕-๖ ทุ่ม ตี ๑ ตี ๒ ไปถึงโน่นแหละ ตี ๓ ตี ๔ ชอบจะเป็นตอนดึกๆ ถ้ามันเป็นขึ้นมาอย่างนี้ ท่านทั้งหลายต้องเดินจงกรมให้มากๆ มิฉะนั้นก็ต้องอาบน้ำชำระร่างกาย แหงนดูดาวนักขัตฤกษ์ ทำความสำคัญว่า ขณะนี้เราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ไม่ใช่เวลาหลับเวลานอน อะไรทำนองนี้ เมื่อเตือนจิตสะกิดใจแล้ว อาการถีนมิทธะจะหมดไป

๒. อาการดับด้วยอำนาจของปีติ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ ปีติมันเกิดขึ้นมา จะเป็นขณิกาปีติ ขุททกาปีติ โอกกันติกาปีติ อุพเพงคาปีติ หรือผรณาปีติก็ตาม เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วจะมีลักษณะอย่างเดียวกัน เมื่อมันเกิดจนถึงที่สุดแล้วมันจะสัปหงกวูบลงไป

บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ มันจะดับกันทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใหญ่ เด็กน้อย เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ปีติมันจะเกิดขึ้นบ่อยๆ

ปีติทั้ง ๕ ประการนี้ เวลามันเกิดขึ้นก็ดี เวลามันดับก็ดี มีอาการเหมือนกันหมด พอปฏิบัติไปๆ จิตใจจะร่าเริง เบิกบาน แจ่มใสไปเรื่อยๆ มันดีอกดีใจไปเรื่อยๆ ในขณะดีอกดีใจอยู่ มันก็สัปหงกวูบลงไป นี่เป็นลักษณะของปีติ เราอาจจะเข้าใจว่ามันเป็นมรรคผลพระนิพพาน ไม่ใช่นะ ปีตินี้มันก็เป็นกันทุกรูปทุกนาม

๓. อาการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธินี้ จิตและเจตสิกของเรามันจะสงบมาก คือกายก็สงบ จิตก็สงบ มันสงบผิดปกติ อารมณ์ภายนอกก็ไม่มารบกวนได้เลย ตัวก็เบาเป็นพิเศษ และก็เบาคล้ายกับไม่มีน้ำหนัก เบาเป็นพิเศษ แล้วก็สงบเป็นพิเศษ

ร่างกายของเราไม่เจ็บที่โน้น ไม่ปวดที่นี้ คล้ายๆกับว่าไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียน กำหนดไปๆ มันดิ่งเข้า ดิ่งเข้าไปๆ บางทีขาดความรู้สึกเลย ความรู้สึกไม่มี มันขาดความรู้สึกไป อันนี้ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ก็ขอได้สังวรระวัง อย่าได้เข้าใจว่าเป็นมรรคเป็นผล

๔. อาการดับด้วยอำนาจของสมาธิ ดับด้วยอำนาจของสมาธินี้ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานมันจะกำหนดได้ดี สมมติเรากำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ถูกหนอ จิตใจของเรามันอยู่กับอาการนั่ง อาการพอง อาการยุบ อาการถูก มันอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปที่ไหน จิตใจมันจ้องอยู่อย่างนี้ จับอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เผลอ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่เผลอ

เราตั้งใจกำหนดแล้วกำหนดได้ดี จ้องอยู่ กำลังจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไปเลย ทั้งๆที่เราไม่เผลอ สมาธิดีอยู่ มันจ้องอยู่กับอาการพองอาการยุบ ขณะที่เราจ้องอยู่นั้น มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยของมัน อันนี้มันก็ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เราอย่าเข้าใจว่าเป็นมรรคผลนิพพาน

๕. อาการดับด้วยอำนาจของอุเบกขา ดับด้วยอำนาจของอุเบกขานี้ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานจิตใจของเรามันจะเลื่อนลอยไป ลอยไปสู่อารมณ์ภายนอก กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ กำหนดไปเพลินไปๆ กำหนดไปคิดไปเพลินไปๆ บางทีมันก็เพลินไปตามรูป บางทีก็เพลินไปตามเสียง บางทีก็เพลินไปตามกลิ่น บางทีก็เพลินไปตามรส บางทีก็เพลินไปตามสัมผัส บางทีก็เพลินไปตามความคิด แล้วแต่มันจะเพลินไป คิดไปๆ เพลินไป กำลังเพลินๆ อยู่นั่นแหละ มันสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา ก็แล้วแต่จะเป็นไป เราอย่าได้คิดว่าเป็นมรรคผลนิพพาน อันนี้เป็นลักษณะของอุเบกขา

๖. อาการดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด คือเรากำหนดพระกัมมัฏฐานไป กำหนดไปๆ พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมา บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งก็แรง บางครั้งก็เบา แล้วแต่อำนาจของสมาธิ

ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบา แต่ในขณะที่มันดับลงไปนั้น เราจำสภาวะไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ เราก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่ามันเร็ว ในขณะนั้นอาการพองอาการยุบมันเร็ว อันนี้เรียกว่า สันตติขาด

สันตติ คือ ความสืบต่อ ความสืบต่อของรูปของนาม ตามปกติรูปนามของเรามันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา เช่น แสงไฟนีออนนี่ มันก็เกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันเร็วเกินไป คือมันเร็วเป็นพิเศษ เมื่อมันเร็วถึงที่แล้วก็คล้ายๆกับว่ามันไม่ดับเลย มันไม่เกิดไม่ดับ แต่ที่จริงมันดับอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับมันก็ไม่สว่าง จิตของเราก็เหมือนกัน มันเกิดมันดับๆ สลับกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดไม่ดับความคิดก็ไม่มี มันหมดความคิด ความคิดก็หมดไป แต่ว่ามันเกิดมันดับ ความคิดมันจึงเกิดขึ้นมา

เหมือนกันกับตะเกียง ตะเกียงเจ้าพายุอย่างนี้ ไส้แต่ละอันแต่ละช่องที่มันเป็น(ผ้า)ไหมเป็นอะไรอยู่นั้นก็ตาม มันต้องสัมผัสกันอยู่ตลอดเวลา มันเกิดดับๆอยู่ตลอดเวลา ไส้ตะเกียงเจ้าพายุนั้น ถ้ามันไม่มีการเกิดการดับมันก็ไม่สว่าง อันนี้ก็เหมือนกัน จิตใจของคนเรานี้ เมื่อสันตติขาด คือมันไม่มีการสืบต่อ รูปนามนี้ไม่มีการสืบต่อ

ลมหายใจเข้าหายใจออกไม่มีการสืบต่อ จิตของเราก็ไม่มีการสืบการต่อ มันหยุดชั่วขณะหนึ่ง ในขณะที่มันหยุดกึกนั้น มันก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา อันนี้เรียกว่า มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาด

พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมปรากฏชัด ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในพระบาลีว่า

สนฺตติยา วิโกปิตาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวสรสโต อุปฏฺฐาติ [1]

เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันตติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง ดังนี้

แต่อาการดับเช่นนี้ กิเลสยังไม่ตายนะ กิเลสยังไม่ตาย ยังไม่ดับ โลภะ โทสะ โมหะ ยังไม่ดับ แต่มันจะอ่อนกำลังลง เหมือนกันกับเราเอาไม้ไปเฆี่ยนงู ไปตีงู ตีๆลงไป งูไม่ตายทันที แต่มันก็เจ็บตัว กำลังของมันก็อ่อนลงไป แทนที่มันจะเลื้อยไปได้เร็ว มันก็ไปไม่ได้เร็ว บางทีก็หยุดอยู่กับที่ ไปไม่ได้ แต่มันยังไม่ตาย ข้อนี้ฉันใด กิเลสตัณหาก็เหมือนกัน ในขณะที่มันดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ สันตติขาดดังกล่าวมาแล้วนี้ กิเลสตัณหายังไม่ดับ แต่ว่ามันอ่อนกำลังลง

อนึ่ง การดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์นี้ แบ่งเป็น ๒ ภาค คือ

๑) ดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์ แต่ว่าเรายังจำสภาวะไม่ได้ คือสภาวะยังไม่ถึงที่ มันดับไปอยู่ มันดับด้วยอำนาจของอุทยัพพยญาณ แต่ว่าอริยมรรคอริยผลยังไม่เกิด แต่พระไตรลักษณ์มันเกิดแล้ว แต่มันยังไม่ถึงที่

๒) ดับด้วยฌาน คือดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ การดับด้วยอำนาจของรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ นี้ เมื่อมันดับลงไปๆ บางทีสามารถทรงอยู่ในฌานธรรมนั้นเป็น ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง หรือ ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๗ วัน ๗ คืนก็ตาม

อาการของมันดับลงไปน่ะ มันดับลงไปแล้ว แต่ว่ากิเลสตัณหายังไม่ดับ ยังอยู่ แต่เพราะว่าถูกข่มไว้ด้วยอำนาจของฌาน กิเลสตัณหาเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้เป็นการดับของฌาน คืออัปปนาสมาธิมันเกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี มันก็ดับไป แต่ว่าจะดับไปนานหรือไม่นาน ก็แล้วแต่บารมีที่เราสร้างสมอบรมมา ถ้าความเพียรและสมาธิมีมากเท่ากัน มันก็อยู่นานๆได้

๗. อาการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ อำนาจของผลสมาบัตินั้น เช่นว่า ในขณะที่เราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านมัคคญาณผลญาณไปแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ ไปแล้วนี่ หลังจากนั้น เวลาเรานั่งสมาธิเจริญภาวนา ถ้าหากว่าเรานั่งได้ถูกที่ ผลจิตหรือผลสมาบัติมันจะเกิดขึ้น บางทีก็เกิดขึ้นชั่วขณะๆ เกิดขึ้นแล้วดับไปๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ อาจจะเป็น ๑ นาที ๒ นาที หรือ ๓ นาทีก็แล้วแต่

แต่บางทีเราก็อยู่ได้นานๆ ถ้าสมาธิมาก ความเพียรมาก ถ้าสมาธิและความเพียรมันเท่าๆกัน เราอาจจะอยู่ได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง ๕ วัน ๕ คืน ก็สามารถที่จะอยู่ได้ นี่มันดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติ

การดับอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์ (แต่ฌานสมาบัติซึ่งกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น มันเกิดขึ้นแล้วมันดับลงไปในขณะนั้น ยังไม่ผ่านอริยมรรคอริยผล สมาธิที่ดับลงไปก็ยังเป็นฌานสมาบัติอยู่ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังไม่เป็นโลกุตตระ ยังเป็นโลกิยะอยู่ ยังมีรูป ยังมีนาม หรือยังมีบัญญัติเป็นอารมณ์อยู่) อันนี้เรียกว่าเป็นการดับด้วยอำนาจของผลสมาบัติหรือผลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์

๘. อาการดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัติ ดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี่เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือเป็นพระอรหันต์แล้ว อาการดับอย่างนี้มันจึงจะเกิดขึ้นมา และการดับหลังจากได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

นิโรธสมาบัตินี้ ดับได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นทำให้ดับไม่ได้ เพราะว่ากิเลสตัณหายังมียังหนาอยู่ ยังไม่เบาบางลง เช่นว่า โทสะก็ยังไม่เบาบางลง ยังไม่หมด โลภะก็ยังไม่หมด โมหะก็ยังไม่หมด เมื่อใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี โลภะก็หมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง โทสะหมดไปแล้ว ราคะก็หมดไป และโมหะหมดไปแล้วครึ่งหนึ่ง ก็สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ สำหรับพระอรหันต์นั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะกิเลสตัณหาดับไปหมดแล้ว

สรุปว่า การดับด้วยอำนาจของนิโรธสมาบัตินี้ จะดับได้หลังจากปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านอนาคามิมรรคอนาคามิผล หรือขึ้นสู่อรหัตตมรรคอรหัตตผลแล้ว อาการดับเช่นนี้จึงจะมีขึ้น อาการดับเช่นนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

นอกจากนี้ อาการดับด้วยอำนาจของอริยมรรคอริยผล คือเมื่อเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เมื่อมัคควิถีเกิดขึ้นมาแล้ว ผ่านอนุโลมโคตรภูแล้วก็ถึงอริยมรรคอริยผล คือหมายความว่า หลังจากอนุโลมญาณเกิดขึ้นแล้ว ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นโคตรภูญาณก็เกิดขึ้นมาอีก ๑ ขณะจิต หลังจากนั้นมัคคจิตผลจิตก็เกิดขึ้น เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้น อาการดับมันจะเกิดขึ้น

ในขณะที่อาการดับเช่นนี้เกิดขึ้น บางทีอาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา แต่ว่าก่อนมันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบมันจะเร็วขึ้นเสียก่อน ทีนี้บางครั้งอาการพองอาการยุบ มันจะฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนก็แน่นมาก จนไม่กล้านั่งกัมมัฏฐานต่อ กลัวว่าจะตายไป

บางคนก็กำหนดว่า แน่นหนอๆไป พอแน่นขึ้นๆแล้วมันจะดับวูบลงไป ในขณะที่มันดับวูบลงไปเราก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็จำได้ สามารถได้ปัจจุบันธรรม เรียกว่าดับด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์

การดับด้วยอำนาจของไตรลักษณ์นี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ผู้ดับได้ด้วยอาการอย่างนี้ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ จุติแล้วจะไม่ไปบังเกิดในนรก ไม่เกิดเป็นเปรตอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อำนาจของพระไตรลักษณ์ประเภทที่ ๓ คืออาการพอง อาการยุบ หรืออารมณ์ที่เรากำหนดนั้น มันจะสม่ำเสมอดี แล้วมันจะแผ่วเบา เบาเข้าๆ แล้วมันก็ดับวูบลงไป เราก็จำได้ว่ามันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก เราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ถือว่าเป็นโลกุตตระ การดับด้วยอาการหรือลักษณะอย่างนี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าทำได้ครั้งหนึ่ง ก็เรียกว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว สามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด เวลาจุติ เวลาตาย หากว่าเราไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน ก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์ หรือบางทีไปเกิดในเทวโลก ในฉกามาวจรสวรรค์ จะเกิดอีกอย่างมาก ๗ ชาติ ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราดับอย่างนี้ได้ครั้งที่ ๒ คือหลังจากวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นครบกำหนดครั้งที่ ๒ ผ่านเข้าสู่เขตมัคควิถี อาการดับเช่นนี้เกิดอีกครั้งที่ ๒ ก็ถือว่าเราได้สำเร็จเป็นสกทาคามี เมื่อได้สำเร็จเป็นสกทาคามีแล้ว หากว่าไม่ได้ฌาน ไม่ได้ตายในฌาน จุติแล้วก็จะมาเกิดในโลกมนุษย์บ้าง หรือไปเกิดในเทวโลกฉกามาวจรสวรรค์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แล้วแต่อำนาจของบุญกุศลที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

แต่ถ้าว่าพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน จะไปเกิดในรูปพรหมบ้าง ในอรูปพรหมบ้าง พระสกทาคามีนี้จะเกิดอีกอย่างมากเพียงชาติเดียวเท่านั้นก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วจะปรินิพพาน ทีนี้ ผู้ที่สามารถปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถดับรูปดับนามดับกิเลสตัณหาด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผล คือเมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนวิปัสสนาญาณแก่กล้าขึ้นไปตามลำดับๆ จนเข้าสู่เขตมัคควิถี เมื่อเข้าสู่เขตมัคควิถี อริยมรรคอริยผลก็จะเกิดขึ้น ดับวูบลงไป

เมื่อดับลงไป ถ้าหากว่าดับด้วยอำนาจอนาคามิมรรคอนาคามิผลแล้ว ผู้นั้นก็เป็นอันว่า โลกมนุษย์นี้ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายของท่าน คือพระอนาคามีนั้น เมื่อท่านจุติแล้วจะไม่มาเกิดในมนุษย์ และไม่ไปบังเกิดในเทวโลกอีก

เพราะเหตุอะไร เพราะพระอนาคามีนั้นท่านสามารถกำจัดโทสะและกามราคะได้แล้ว โทสะก็หมดไปแล้ว กามราคะก็หมดไปแล้ว เมื่อโทสะและกามราคะซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก่อภพก่อชาติในกามภพนั้นไม่มี เมื่อไม่มีแล้ว พระอนาคามีจุติแล้วก็ไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌาน คือเกิดในชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี หรือชั้นอกนิฏฐา แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ท่านสร้างสมอบรมไว้

ทีนี้ หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถยังวิปัสสนาญาณให้แก่กล้าขึ้นครบ ๔ ครั้ง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของท่านผู้นั้น ท่านผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่ก็เป็นแต่เพียงอากัปกิริยา แสดงว่าท่านได้บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานแล้ว เหลืออยู่แต่เพียงเบญจขันธ์เท่านั้น ส่วนกิเลสตัณหามันดับไปหมดแล้ว เมื่อมีชนมายุอยู่ครบอายุขัยแล้วก็ปรินิพพาน ไม่มาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่น ไม่ไปบังเกิดในโลกไหนๆ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง เป็นที่รู้ เป็นที่ทำให้แจ้ง เป็นที่ได้บรรลุ

เพราะฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าอาการดับลักษณะต่างๆดังกล่าวมาข้างต้นนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณาให้ดี อย่าได้ชะล่าใจและเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วในทันที มิฉะนั้นมันอาจจะได้ของปลอม จะได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม ได้นิพพานปลอม เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำไปจนกว่าจะได้ของจริง

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้นำเรื่องอาการเกิดดับมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.



[1] สมฺโมหวิโนทนี หน้า ๘๐


พระราชปริยัตยากร


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 กันยายน 2561 16:52:22
(http://www.tddf.or.th/system/image.php?src=/images/upload/2017-06-26-725-0-60-06-26-12.jpg&w=400&h=267)

การละอาสวะ

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาซึ่งพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง การละอาสวะคือสภาวะที่หมักดองอยู่ในขันธสันดาน มาบรรยาย

การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งคือการละอาสวะได้แก่กิเลสที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานหรือว่าในส่วนลึกของจิตใจเรา หากว่าเราไม่รู้วิธีการที่จะละอาสวะ หรือวิธีทำลายอาสวะ ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะให้หมดไปจากจิตใจของเราได้

วิธีละอาสวะนั้น มีอยู่ ๖ ประการ คือ [1]

๑. ทสฺสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเห็น คือ พิจารณาเห็นความเสื่อมสิ้นของสังขารทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ว่าเป็นของไม่เที่ยง มีอันสิ้นไปเป็นธรรมดา ถ้าเราพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อย่างหนึ่ง

๒. เสวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการส้องเสพ ด้วยการบำเพ็ญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ จนได้สมาธิดีแล้วเจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารธรรมว่า เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เบื่อหน่ายไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ละอาสวะได้อีกอย่างหนึ่ง

๓. อธิวาสเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยความอดทนเจริญกัมมัฏฐานจนจิตแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง อดกลั้น ละเสียได้ซึ่งอาสวะกิเลส อานิสงส์ของความอดทน จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายจากอาสวะโดยสิ้นเชิง

๔. ปริวชฺชเนน อาสวา ปหาตพฺพา การละอาสวะด้วยการเว้นเสีย คือเมื่อพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายดังกล่าวแล้วก็พึงละเว้นโดยเด็ดขาดด้วยปัญญา ดุจบุรุษเดินทางไกลหลีกหนีเวรให้ห่างไกล ฉะนั้น

๕. วิโนทเนน อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการบรรเทาเสีย กล่าวคืออบรมจิตด้วยสมถะวิปัสสนา เกิดปัญญารู้เห็นตามเป็นจริง เห็นว่าสังขารทั้งหลายเกิดดับดังนี้ เป็นดุจของที่ยืมเขามา ถอนความอาลัยเสียได้ด้วยการบรรเทาให้เบาบางลงได้หรือหมดไป

๖. ภาวนาย อาสวา ปหาตพฺพา ละอาสวะด้วยการเจริญสมถะวิปัสสนา ยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ พิจารณาตามเป็นจริง จิตย่อมผ่องแผ้ว ไม่ยึดถือสังขาร อาสวะย่อมสิ้นไป

เมื่อพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายได้เข้าพิสูจน์เพื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียร มีสติระลึกรู้ทันพร้อมทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ รู้ชัดว่ารูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจังตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขังทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้

อาสวะที่ไหลไปแล้วหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิ ความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์เสมอ ภวาสวะ อาสวะคือภพ ความอยากมีอยากเป็น ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ หมักดองไว้ในภวังคจิต

เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอๆ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้ามาไม่ได้ ภายในก็ถูกพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตสู่ใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนที่มากขึ้นๆ เท่าใดๆ อาสวะก็น้อยเบาบางลงไปเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ เมื่อใด

เมื่อนั้น ได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะ และกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงคือพระนิพพาน พ้นจากโลกิยะไปสู่โลกุตตระด้วยอนิมิตตเจโตสมาธิ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด และถึงพระนิพพาน ดับนาม ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน

เพราะพระโยคาวจรนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ได้บรรลุพระนิพพาน ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะแก้วคือพระธรรม ปิดประตูอบายทั้ง ๔ นับตั้งแต่เข้าถึงกระแสพระนิพพาน

พระนิพพานนี้มีความสงบเป็นลักษณะ มีความไม่คลาดเคลื่อนแปรผันเป็นกิจเป็นรส มีความไม่มีนิมิตเป็นเครื่องปรากฏ มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง ดังนี้

วิราโค ความคลายกำหนัด

นิโรโธ ความดับ

จาโค ความสละ

ปฏินิสฺสคฺโค ความเลิก

วิมุตฺติ ความพ้น

อนาลโย ความไม่เกาะเกี่ยว

มทนิมฺมทโน การย่ำยี่ความเมาเสีย

ปิปาสวินโย การกำจัดความหิวกระหาย

อาลยสมุคฺฆาโต การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย

วฏฺฏูปจฺเฉโท การตัดเครื่องหมุนเวียน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานแล้วไม่มี

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่อากิญจัญญายตนะ ไม่ใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์

อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์

อายตนะชนิดนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือ พระนิพพาน ธรรมคือพระนิพพานเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ด้วยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งความวิตก คือว่า ปุถุชนจะตรึกนึกเดาเอาคะเนเอาเองนั้นไม่ได้ เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต คือพระอริยเจ้าพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง

อุปมาเหมือนปลากับเต่า เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น คือ อยู่บนบกก็ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ แต่ปลานั้นเป็นสัตว์ถิ่นเดียว อยู่เฉพาะในน้ำ วันหนึ่งปลามีความอยากจะรู้ว่า อยู่บนบกนั้นมีอะไรบ้าง จึงได้ถามเต่าว่า บนบกนั้นมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็บอกว่าไม่มี มีสาหร่ายไหม ไม่มี ปลาก็เอาแต่สิ่งที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็บอกว่าไม่มี ไม่มี ปลาก็ย้อนถามว่า ถ้าเช่นนั้นอะไรบ้างที่มีอยู่บนบก เต่าก็บอกว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด

ท่านทั้งหลายลองคิดดูซิว่า เมื่อปลาถูกเต่าตอบเช่นนั้น ปลาก็ไม่หายสงสัยว่า อะไรหนอที่อยู่บนบก มีอะไรบ้างๆ ก็ไม่สามารถที่จะตอบได้ ข้อนี้ฉันใด พวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกัน

สมมติว่า เมื่อเราอยากรู้ว่าปฐมฌานเป็นอย่างไร ทุติยฌานเป็นอย่างไร ตติยฌานเป็นอย่างไร จตุตถฌานเป็นอย่างไร ปัญจมฌานเป็นอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีผู้อธิบายให้ฟังก็ไม่เข้าใจ หรือจะถามว่า อากาสานัญจายตนฌานเป็นอย่างไร วิญญาณัญจายตนฌานเป็นอย่างไร อากิญจัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ที่จะเข้าใจ หรือไม่รู้แจ้ง

แต่เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติธรรมจนสามารถได้ฌานได้สมาบัติ เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า ฌานนี้มันเป็นอย่างนี้ ปฐมฌานเป็นอย่างนี้ ทุติยฌานเป็นอย่างนี้ ตติยฌานเป็นอย่างนี้ จตุตถฌานเป็นอย่างนี้ ปัญจมฌานเป็นอย่างนี้ อรูปฌานมันเป็นอย่างนี้ๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปไต่ถามใคร เพราะว่ามารู้เฉพาะตนแล้ว

สำหรับเรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็เหมือนกัน เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติจนรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งพระนิพพาน โดยการประพฤติปฏิบัติจนบรรลุเอง ได้ตรัสรู้เอง ก็หมดความเคลือบแคลงสงสัยว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ว่าจะให้คนอื่นอธิบายให้ฟังว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ถึงแม้ว่าเราจะฟังก็ไม่รู้ คือไม่รู้ซึ้ง ไม่รู้จริงว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร

หากว่าเมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติได้สัมผัสด้วยจิตด้วยใจของเราแล้ว ด้วยปัญญาของเราแล้ว เมื่อนั้นเราก็รู้ทันทีว่า พระนิพพานมันเป็นอย่างนี้ๆ อนึ่ง ธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกนี้แท้ คือเป็น อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรา ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีกต่อไป นั่นแหละ มหาสันติสุขคือพระนิพพาน

พระนิพพานนั้น มีอยู่ ๓ ประการก็มี ๒ ประการก็มี

พระนิพพาน ๓ คือ

๑. อนิมิตตนิพพาน คือดับกิเลสและกองทุกข์ด้วยการเห็นอนิจจังชัด ดับกิเลสตัณหา คือ โลภะ โทสะ โมหะ ด้วยอำนาจของอนิจจัง

๒. อัปปณิหิตนิพพาน หรือว่า อัปปณิหิตวิโมกข์ ดับกิเลสทั้งหลายและกองทุกข์ด้วยอำนาจของทุกขัง คือหมายความว่า เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเห็นทุกขังชัดแล้วก็กำหนดอารมณ์ของกัมมัฏฐานคือทุกขังจนดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็สามารถทำลาย โลภะ โทสะ โมหะ โดยหาที่ตั้งของ โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ได้

๓. สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ คือดับจากกิเลสตัณหาด้วยอำนาจของอนัตตา คือหมายความว่า เมื่อใดเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณ

เมื่อสังขารุเปกขาญาณเกิดแล้วก็จะเข้าสู่มัคควิถี ผ่านสัจจานุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นไม่ให้เหลือหลออยู่ในขันธสันดาน เรียกว่าเป็นสุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

นิพพานมี ๒ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ เหมือนดังท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ในขณะนี้ ท่านทั้งหลายปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณไปตามลำดับๆ จนสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้ดับลงไป แต่ว่าขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ยังมีอยู่ อย่างนี้จัดว่าเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือหมายความว่า กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ก็ดับ ไม่มีเหลือหลออยู่ นี้แหละเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน แต่ส่วนพวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน การเข้าถึงกระแสพระนิพพานนั้นไม่เหมือนกัน

สมมติว่า ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งหนึ่ง ถือว่าเห็นพระนิพพานแล้ว ๑ ขณะจิต ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิต การที่ถึงกระแสพระนิพพาน ๑ ขณะจิตนี้ อานิสงส์คือสามารถปิดประตูอบายภูมิได้เด็ดขาด ตายแล้วไม่ตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นผู้มีคติเที่ยง จุติแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ถ้าผู้ใดถึงพระนิพพานด้วยลักษณะดังกล่าวนี้แล้ว ในขณะนั้น ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้เป็นพระโสดาบัน สมมติว่า พระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน ถึงกระแสนิพพานครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันที่ได้ฌานได้สมาบัติ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน พระโสดาบันจะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

แต่ถ้าผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านวิปัสสนาญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นพระสกทาคามี เมื่อเป็นพระสกทาคามีแล้ว พระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌานจุติแล้วก็ไปบังเกิดในโลกมนุษย์ตามกำลังบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามีที่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

แต่ถ้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ ดับลงไปถึงกระแสพระนิพพาน ๓ ขณะจิต (คือ พระโสดาบันถึงพระนิพพาน ๑ ขณะ พระสกทาคามีถึงพระนิพพาน ๒ ขณะ) พระอนาคามีถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีแล้ว ถึงวาระสุดท้ายคือนิพพานแล้ว จะไม่มาสู่กามภูมิ จะไม่มาสู่โลกมนุษย์ และไม่ไปเกิดในเทวโลก

เพราะเหตุไร เพราะว่าพระอนาคามีนี้สามารถทำลายกามราคะได้แล้ว เมื่อทำลายกามราคะ ก็ไม่มีเชื้อที่จะไปเกิดในกามภพอีกต่อไป เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

แต่มีข้อแม้อยู่ว่า พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในพรหมโลกได้อย่างไร พระอนาคามีที่ไม่ได้ฌาน ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกคือสุทธาวาสพรหม ตามกำลังของฌาน เกิดได้อย่างไร เกิดได้ด้วยอำนาจของ มรรคสิทธิฌาณ

คือพระอนาคามีก่อนที่จะปรินิพพาน แม้ว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม สมมติว่า จุติเพราะถูกรถชนบ้าง รถคว่ำบ้าง เครื่องบินตกบ้าง เรืออับปางบ้าง ถูกยิง ถูกแทง หรือถูกทำลายโดยประการใดๆก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิฌาณไม่เกิด พระอนาคามีก็จะไม่จุติ

เพราะเหตุอะไร เพราะมรรคสิทธิฌาณเป็นเหตุเป็นปัจจัย คือหมายความว่า ถึงว่าท่านจะไม่ได้ฌานก็ตาม แต่ในขณะที่ท่านจะจุตินั้น มรรคสิทธิฌานจะเกิดขึ้น มรรคสิทธิฌาณนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานเกิด เมื่อฌานเกิดแล้วท่านก็จุติ เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังของฌาน แล้วก็จะได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในพรหมโลกชั้นนั้นๆ บางทีก็นิพพานในชั้นที่ ๑ หรือที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ แล้วเลื่อนไปชั้นที่ ๕ แล้วก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ปรินิพพาน

แต่สำหรับท่านผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ยังมัคคจิตให้เกิดถึง ๔ ครั้ง ก็เป็นอันว่าท่านได้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำอีกอย่างอื่นไม่มี

หน้าที่ของท่านในขณะนี้ก็มีแต่ช่วยแนะนำพร่ำสอน พุทธบริษัททั้งหลาย เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ให้รู้ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการยกฐานะของตนเองให้พ้นจากโอฆะแอ่งแก่งกันดาร ให้ถึงที่สุดคือความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

สำหรับวิธีที่จะทำลายอาสวะที่กล่าวมาแล้วนี้ หลวงพ่อกล่าวโดยสังเขปกถา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ธรรมขั้นสูงนี้ถือว่าเป็นของละเอียดมาก บางทีฟังแล้วไม่เข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องนิพพาน ฟังแล้ววิจัยยาก บางทีเถียงกันตลอดทั้งวันก็ยังไม่เข้าใจ ยกภาษิตโน้นมาว่า ยกภาษิตนี้มาพูดกัน ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี สำหรับปุถุชนทั้งหลายหรือกัลยาณปุถุชนก็เหมือนกัน

เมื่อใดเราประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนสามารถยังมัคคญาณผลญาณ ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก็หมดไปโดยที่ไม่จำเป็นต้องเถียงกัน เพราะมารู้เฉพาะตนแล้ว

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว บางท่านก็สามารถเข้าสู่กระแสของพระนิพพาน ๑ ขณะจิต โดยอำนาจของโสดาปัตติมัคคญาณ บางท่านก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เข้าสู่พระนิพพาน ๒ ขณะจิต โดยอำนาจของสกทาคามิมัคคญาณ แต่บางท่านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานถึงพระนิพพาน ๓ ขณะจิต ตามอำนาจของอนาคามิมัคคญาณ

เพราะฉะนั้น หากว่าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสามารถได้ลิ้มรสของพระอมตมหานฤพาน จิตใจของเราถึงกระแสของพระนิพพานแล้วอย่างน้อย ๑ ขณะ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายภูมิใจดีใจว่า ชาตินี้เป็นโชคของเราดีแล้ว เมื่อเราจุติจากอัตตภาพนี้แล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ เพราะอบายภูมินั้นใครๆก็ไม่ปรารถนา มนุษย์ก็ไม่ปรารถนา เทวดา พระพรหม ก็ไม่ปรารถนา

ในเมื่อเราทั้งหลายสามารถปิดประตูอบายภูมิแล้ว ก็ขอให้ภูมิใจดีใจ เพราะว่าเรามีคติเที่ยง วันหนึ่งข้างหน้าเราจะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานยังพระอรหัตตมรรคอรหัตตผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแน่นอน

แต่หากว่าท่านผู้ใดยังไม่ได้สัมผัสธรรมขั้นสูง คือจิตยังไม่ถึงกระแสนิพพาน เวลาก็นานอยู่พอสมควร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายขะมักเขม้นอุตสาหะพยายามทำไป

หากว่าเราทั้งหลายมีอุตสาหะพยายามอันแรงกล้า เรื่องมรรค เรื่องผล เรื่องนิพพาน ก็ไม่เกินเอื้อม คือสามารถที่จะเอื้อมถึงได้ แต่ถ้าว่าเราชะล่าใจ หรือว่าไม่อยากปฏิบัติอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามเพื่อนบ้าง เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามบ้าง

แต่ศรัทธาคือความเชื่อนั้นมีน้อย หรือว่าไม่มีเอาเสียเลย เราทำก็สักแต่ว่าทำไปวันๆ พอที่จะได้จบภาคปฏิบัติ อะไรทำนองนี้ โอกาสที่จะบรรลุถึงโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผลนั้นทำได้ยาก ท่านทั้งหลาย อริยมรรคอริยผลนี้ ผู้ที่อยากได้จริงๆ ปรารถนาจริงๆ จึงจะได้ หากว่าไม่อยากได้จริงๆ หรือไม่ปรารถนาเอาเสียเลย ไม่มีโอกาสที่จะได้

เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติเป็นเรื่องยาก การที่จะทำตนเองให้พ้นจากมหรรณพภพสงสารเป็นของทำได้ยาก หรือว่าเราทั้งหลายจะปฏิบัติให้พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เป็นโลกิยะนี้ทำได้ยาก โอกาสที่จะทำนั้นบางทีก็ทำไม่ได้เอาเสียเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประพฤติปฏิบัติบางรูปบางท่านมีวาสนาบารมีสมควรที่จะได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล แต่เพราะความชะล่าใจ ไม่ตั้งอกตั้งใจรีบปฏิบัติก็ไม่ถึง หรือบางทีสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

สมมติว่า เราสมควรที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ไปทำอนันตริยกรรมเสีย เช่น ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า ทำสงฆ์ให้แตกกัน แทนที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ตกอเวจีมหานรก มันเป็นลักษณะอย่างนี้

หรือบางทีเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุพระอรหันต์อยู่ แต่ว่าเราเฒ่าเกินกาล แก่เกินกาล อายุแก่ขนาดนี้มาทำความเพียร ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เมื่อเราประพฤติปฏิบัติก็สักแต่ว่าปฏิบัติ เพราะสติสัมปชัญญะความเพียรของเราไม่พอ แม้มีวาสนาบารมีที่ได้สร้างสมอบรมมาสมควรที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ว่าไม่สามารถที่จะบรรลุได้ เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

เหตุนั้น ท่านผู้มีโอกาสมีเวลามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานในขณะที่อายุยังน้อยอยู่นะท่านทั้งหลาย หากว่าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ถือว่าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีโชคดี ไม่เหมือนกับท่านที่เป็นคนแก่ ๖๐ หรือ ๗๐ ล่วงแล้ว แก่เกินกาล สุขภาพไม่เอื้ออำนวย เมื่อคน ๗๐ ปีผ่านไปแล้ว สติก็พลั้งๆ เผลอๆ กำหนดก็ไม่ได้ดี

ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า ขนาดพวกเราทั้งหลายหรือหลวงพ่อนี่ อายุขนาดนี้ ก็ยังลืมหน้าลืมหลังพลั้งเผลอไป ทั้งๆที่ไม่ได้ตั้งใจจะลืม มันก็ลืมไปโดยธรรมชาติของสังขาร เหตุนั้น ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้มีโชคดีในขณะที่ร่างกายของเราทั้งหลายสุขภาพยังดีอยู่ โอกาสทุกสิ่งทุกอย่างก็เอื้ออำนวย ขอให้เราท่านทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะเวลายังเหลืออีกไม่นาน เรามีโอกาสแก้ตัวแค่ ๑๕ วัน ถือว่าเป็นเวลาของเราเต็มที่ ๑๕ วันนี้ หากว่าตั้งอกตั้งใจจริงก็สามารถที่จะผ่านได้

เพราะเท่าที่หลวงพ่อได้แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหามา บางท่านทำวันนั้นได้วันนั้น บางท่านผ่านไป ๒ วัน ๓ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๕ วันก็ทำได้ บางท่านผ่านไป ๗ วันก็ทำได้ อันนี้พูดเฉพาะอริยมรรคอริยผลขั้นต้น หรือว่าผู้มีบารมีช้าที่สุดน้อยที่สุดใช้เวลาอยู่เดือนหนึ่งก็สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้ เท่าที่สังเกตมา ยากที่สุดก็ไม่เกิน ๓ เดือน ก็สามารถที่จะทำได้

นี่หมายถึงผู้ที่มีปสาทะศรัทธาแรงกล้า บารมีก็บำเพ็ญมาสมบูรณ์ตามขั้นนั้นๆ แต่บางท่าน ๗ วันก็สามารถผ่านปฐมมรรคไปได้ แล้วก็ ๙ วันสามารถผ่านทุติยมรรคไปได้ เดือนหนึ่งก็สามารถผ่านตติยมรรคไปได้

แต่สำหรับผู้ที่ผ่านอริยมรรคอริยผล ๔ ครั้งนั้น หายากเต็มที เท่าที่หลวงพ่อได้สอนกัมมัฏฐานมานี้ ที่ผ่านการประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็เกือบจะหาไม่ได้ เอาเป็นว่ายังไม่ถึง ๕ รูปเลย แม้แต่ในสมัยที่สอบอารมณ์อยู่นั้นก็ดี ไม่ถึง ๕ ท่านเลย แต่สำหรับท่านทั้งหลายที่ทำได้อย่างนี้ ก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้วเป็นส่วนมาก คือต่างก็ถึงแก่กรรมไปแล้วเป็นส่วนมาก

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายมีโอกาสมีเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างเอื้ออำนวย ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบทุกสิ่งทุกอย่าง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ประมาท พยายามตั้งสติสัมปชัญญะอยู่เสมอๆ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อวิชชา หมั่นสั่งสมอบรมบารมีให้ภิญโญยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน

หลวงพ่อน้อมนำเอาธรรมะบางสิ่งบางประการมากล่าวถวายท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้.


----------------------------------------------------------------------
[1] สุตฺต ม. มูลปณฺณาสกํ ๑๒/๑๐-๑๙/๑๒-๒๐


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 28 กันยายน 2561 16:03:12

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_%E1%CA%A7%E0%B7%D5%C2%B9%201.jpg)

อานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนา

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง อานิสงส์และผลพลอยได้จากการเจริญวิปัสสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ในขณะที่เราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่นั้น อกุศลจิตชนิดอย่างหยาบ เช่น การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้นนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าจะเกิดขึ้นได้ แม้แต่อกุศลจิตชนิดละเอียด เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความหลง ความฟุ้งซ่าน ความนึกคิดต่างๆ โลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด หรือหากว่าเกิดขึ้นแล้วก็ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน

ทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่เจริญวิปัสสนาอยู่นั้น ย่อมมีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ปฏิบัติกระทำอยู่นั้น จะเป็นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ย่อมต้องมีสติรู้อยู่ทุกขณะ การมีสติรู้อยู่ทุกขณะนั้นแหละ จึงสามารถที่จะไม่ให้กิเลสต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

เพราะตามธรรมดาคนเรานั้น กิเลสต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะถูกต้อง ขณะนึกคิด ถ้ามีความพอใจอยากได้เกิดขึ้น ก็เป็นโลภะกิเลส ถ้าไม่พอใจ กลุ้มใจ เสียใจ กลัวเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโทสะกิเลส ถ้ามีความสงสัยหรือมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น อย่างนี้ก็จัดเป็นโมหะกิเลส ส่วนกิเลสที่นอกจากนี้ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปด้วยกันได้ตามสมควร

แต่สำหรับผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติสัมปชัญญะคือการกำหนดรู้อยู่เสมอ ในการเห็นการได้ยินเป็นต้นเหล่านั้นแล้ว กุศลจิต ได้แก่ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ที่มีสติเป็นหัวหน้า ย่อมได้โอกาสเกิดอยู่เสมอ อกุศลจิตคือกิเลสต่างๆ จึงไม่ได้โอกาสเกิด หรือหากว่ามีการเกิดบ้างก็ไม่สามารถตั้งอยู่ได้นาน

ถ้าผู้ปฏิบัติมีความเพียรปฏิบัติอยู่เรื่อยไป นามรูปปริจเฉทญาณที่เป็นภาวนามัยย่อมเกิดขึ้น และเมื่อเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ปัจจยปริคคหญาณก็เกิดขึ้น เมื่อผู้ปฏิบัติถึงปัจจยปริคคหญาณที่ ๒ นี้แล้ว ได้ชื่อว่า จุลลโสดาบัน

ถ้าเพียรพยายามปฏิบัติต่อไป วิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับ คือ สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ ผู้ปฏิบัติได้ญาณตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นมา จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ ได้ชื่อว่าเป็น มัชฌิมโสดาบันบุคคล

ถ้าพยายามปฏิบัติต่อไป ญาณอยู่ในมัคควิถี คือ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ และโสดาปัตติมัคคญาณ โสดาปัตติผลญาณ ก็เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัตินั้น ซึ่งนับว่าผู้ปฏิบัติได้บรรลุเป็น มหาโสดาบัน อย่างสมบูรณ์ ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา อันเป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเกิดจากการเพียรปฏิบัติวิปัสสนา

ผู้ใดได้บำเพ็ญเพียรปฏิบัติในวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกระทั่งได้บรรลุถึงขั้นมรรคผลแล้ว เป็นอันว่าผู้นั้นนอนใจได้แน่นอนว่า จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีกต่อไป และประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ย่อมปิดสนิทสำหรับพระอริยบุคคลนี้อย่างแน่นอน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในชาติต่อไป ย่อมไม่เกิดในตระกูลต่ำ ย่อมไม่ไปเกิดในตระกูลมิจฉาทิฏฐิ ย่อมไม่ไปเกิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา ย่อมไม่เกิดเป็นผู้มีอวัยวะบกพร่อง ย่อมไม่เกิดเป็นคนพาล ย่อมไม่เกิดเป็นคนโง่

และการเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาของโสดาบันบุคคลนี้ จะเกิดอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น นี้เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง

อนึ่ง แม้ผู้ปฏิบัติจะปฏิบัติยังไม่ถึงขั้นมหาโสดาบัน เป็นแต่เพียงได้วิปัสสนาญาณอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันหรือจุลลโสดาบันก็ดี หากว่าผู้นั้นตายลงในขณะที่ปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือว่าออกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว เมื่อถึงคราวทำกาลกิริยาตายไป และในขณะที่จะตายมีรูปนามเป็นอารมณ์ เช่นว่า เวลาจะตายเรากำหนดอาการพองอาการยุบว่า พุทโธๆ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ร่ำไป หรือกำหนดเวทนาว่า เจ็บหนอๆ หรือ ปวดหนอๆ หรือกำหนดจิตว่า คิดหนอๆ เรื่อยไป จนตายไปด้วยกัน ตายไปกับคำที่เราบริกรรมหรือภาวนา

ถ้าทำได้อย่างนี้ก็รับรองได้ว่า ผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และถ้าไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็จะไม่เกิดในตระกูลต่ำ จะเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล และมีความเลื่อมใสต่อพระธรรม และจะมีโอกาสพบกับสัตบุรุษผู้มีธรรมอันประเสริฐ มีอานิสงส์ที่ได้รับคล้ายกันกับมหาโสดาบันอันเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาเช่นกัน

ถ้าหากว่าผู้ปฏิบัติปฏิบัติยังไม่ได้ถึงขั้นจุลลโสดาบัน เป็นแต่เพียงว่ากำหนดรู้อยู่ มีสติและสมาธิดีแล้ว หากได้ตายลงในขณะนั้น หรือเลิกจากการเจริญวิปัสสนาแล้ว ภายหลังเจ็บไข้ได้ป่วยตายลงไป แต่ขณะที่จะตาย จิตมีรูปนามเป็นอารมณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็รับรองว่าจะไม่ไปอบายภูมิทั้ง ๔ อย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน และเมื่อเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ก็ไม่เป็นผู้ที่ไร้ปัญญา ย่อมเป็นผู้มีอุปนิสัยในเรื่องพุทธศาสนาติดตัวมา และเมื่อได้ยินได้ฟังธรรมะแล้วย่อมเกิดความยินดีเลื่อมใสสนใจในธรรมนั้น ซึ่งเป็นผลที่ได้รับคล้ายๆกับจุลลโสดาบัน และนี้ก็เป็นอานิสงส์ของการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั่นเอง

อนึ่ง ผู้ได้โสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล เป็นโสดาบันบุคคลแล้ว ถ้าปฏิบัติต่อไปอีก มัคคญาณ ผลญาณ ในอันดับต่อไปย่อมเกิดขึ้นอีกโดยลำดับๆ คือสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

ผู้ใดเพียรปฏิบัติจนได้บรรลุถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผล เป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว นับว่าผู้นั้นได้บำเพ็ญกิจในพระพุทธศาสนาจบแล้ว กิเลสาสวะทั้งหลายที่มีอยู่ในจิตตสันดานนั้น ได้ถูกประหารไปหมดแล้วโดยสิ้นเชิง ผู้นั้นได้พบพระนิพพานข้อแรก คือ สอุปาทิเสสนิพพาน หมายความว่า กิเลสทั้งหลายดับลงแล้วโดยไม่มีเศษเหลือ และเมื่อผู้นั้นตายลง ก็เป็นอันว่าถึงซึ่งพระนิพพานที่เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นการดับแล้วซึ่งขันธ์ทั้งหลาย ดับแล้วซึ่งภพชาติที่จะก่อเกิดต่อไปอีก

นับว่าผู้นั้นได้ถึงแล้วซึ่งมหาสันติสุขคือความสุขอย่างสงบ ปราศจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โทมนัส อุปายาส เป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสพโดยทั่วกัน และความสุขอย่างยอดเยี่ยมนี้ก็เป็นอานิสงส์ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น

การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีผลพลอยได้หลายประการซึ่งเกิดจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นคุณธรรมซึ่งมีประโยชน์แก่ชีวิต อันได้แก่

๑. มีความเพียร ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมจะต้องมีความเพียรอย่างยิ่ง ถ้าปราศจากความเพียรเสียแล้ว การปฏิบัติก็ปราศจากผล ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกฝนให้มีความเพียร ในการเดิน ในการนั่ง และการกำหนดอิริยาบถของตนเอง

บางทีต้องเดินเป็นเวลานานหรือนั่งเป็นเวลานาน หรือปฏิบัติภารกิจโดยไม่นอนในคืนหนึ่งหรือหลายคืน ซึ่งตามปกติแล้วผู้ปฏิบัติไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิตของตน ผลก็คือทำให้ตนรู้จักว่า ความเพียรยิ่งเป็นอย่างไร ได้ผลอย่างไร ความเพียรนี้จะต้องติดตัวไป เป็นสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่ง นี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง

๒. มีสติ ในการปฏิบัติธรรม ผู้ปฏิบัติจะต้องหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตน ให้รู้ว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ การใช้สติกำหนดนี้ต้องกำหนดอย่างละเอียด เช่นว่า เดิน ต้องให้รู้ว่า เท้าไหนย่าง ตรงไหนเหยียบ ตรงไหนกด หรือเวลากินต้องใช้สติกำหนดว่า กินหรือเคี้ยว หรือกลืน ซึ่งตามปกติเราไม่เคยทำเลย เมื่อได้ฝึกหัดใช้สติกำหนดอิริยาบถของตนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ความเคยชินในการใช้สติก็เกิดขึ้น

และยังคงใช้ได้ดีอยู่เมื่อออกจากการปฏิบัติธรรมแล้ว เช่น เมื่อเกิดโทสะเป็นต้นขึ้นมา สติก็จะกำหนดว่า โกรธหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ คำใดคำหนึ่ง ทำให้โทสะนั้นระงับยับยั้งหรือบรรเทาลงได้ ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานประการหนึ่ง

๓. มีความอดทน นอกจากความเพียรและความมีสติแล้ว ผู้ปฏิบัติยังต้องมีความอดทนอย่างยิ่งอีก กล่าวคือจะต้องทนต่อความเจ็บปวด ความเมื่อย การอดนอน อดทนต่อความหิว บางครั้งผู้ปฏิบัติอาจจะได้รับทุกขเวทนาอย่างยิ่งที่ไม่เคยได้รับมาก่อนเลยในชีวิต บางทีจะได้พบกับความเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก

บางครั้งก็อาจจะได้พบกับความเหี่ยวแห้งใจอย่างถึงขนาด บางทีก็อาจจะได้พบกับความอึดอัดกระวนกระวายใจแทบหัวใจระเบิด ถ้าปราศจากความอดทนแล้ว ก็จะต้องถึงเลิกการปฏิบัติ ความอดทนที่มีอยู่ในการปฏิบัตินี้ จะเป็นคุณสมบัติประจำตัวอีกอย่างหนึ่ง และนี่ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนาประการหนึ่ง

๔. มีสมาธิ คือการมีใจแน่วแน่ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งในการปฏิบัติธรรม ถ้าปราศจากสมาธิเสียแล้ว ก็เป็นการสุดวิสัยที่จะได้ดวงตาเห็นธรรมได้ เพราะปัญญาจะไม่เกิดขึ้น ตามปกติเราจะทำใจให้แน่วแน่ได้ยากมาก ในขณะที่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้ามีสิ่งภายนอกมารบกวน เช่น เสียง หรือร่างกายมีความเจ็บปวด หรือเกิดคิดฟุ้งซ่านใจ ใจก็ไม่แน่วแน่ แล้วทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี หรือบางทีก็อาจหยุดทำเสียชั่วครู่ชั่วคราวก็มี จนกว่าสิ่งที่มารบกวนรำคาญจะหายไป

แต่เมื่อใดได้มาปฏิบัติธรรมแล้ว จะได้รับการฝึกสมาธิ ซึ่งจะแก่กล้าหรือมีมากขึ้นเป็นลำดับ ผู้ปฏิบัติสามารถจะทำใจให้แน่วแน่อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งอื่นที่มารบกวนทำความรำคาญให้แต่อย่างใด นี้จะเป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถเอามาใช้ได้ในเวลาต้องการ นี้ก็เป็นผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาอีกอย่างหนึ่ง

๕. ความสงบใจ การฟังธรรมทำให้ใจสงบได้ ฉันใด การปฏิบัติธรรมก็ทำให้ใจสงบได้ ฉันนั้น แต่สงบยิ่งกว่ามาก จริงอยู่ ในการปฏิบัติอาจจะต้องพบกับทุกขเวทนา ความกระวนกระวาย ความเบื่อหน่าย ความเหี่ยวแห้งใจ ความอึดอัดใจ แต่ผลสุดท้ายก็จะพบกับความสงบอย่างยิ่งอย่างแท้จริง

ยิ่งสามารถทำผลสมาบัติได้แล้ว หรือสามารถเข้าสมาบัติได้แล้ว ผู้นั้นก็จะพบความสงบสุขเป็นพิเศษ ซึ่งบอกไม่ถูกว่ามีความสุขมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะว่านับตั้งแต่เกิดมายังไม่รู้เดียงสาจนถึงปานนี้ เราไม่เคยทำจิตของเราสงบได้ขนาดนี้เลย แต่เมื่อเราสามารถทำจิตของเราให้สงบแน่นิ่งได้ดังกล่าวมา ก็จะเกิดความสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ซึ่งไม่มีอื่นใดในไตรภพเสมือนได้ อันนี้ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

๖. ช่วยให้โลกมีความสงบ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ถ้าว่าได้ผล การเจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุธรรมวิเศษเกิดขึ้นในดวงจิต ได้มรรคผลนิพพานครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน

ถึงแม้จะเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่ำที่สุด แต่ก็มีจิตใจเหนือกว่าปุถุชนสามัญธรรมดา นับว่าเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกดำรงอยู่ด้วยความสงบ เพราะกิเลสเบาบางลงไปมาก ตามคติในทางพระพุทธศาสนาแล้ว บุคคลชั้นนี้มีกิเลสเบาบางลงจนถึงขนาดที่จะกลับมาเกิดในโลกนี้หรือโลกอื่นอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น

ถ้าหากว่าผู้นั้นมีศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้ายิ่งในขณะบรรลุมรรคผล ก็จะกลับมาโลกนี้อีกครั้งเดียว ซึ่งในการกลับมาครั้งนี้ ก็จะบรรลุมรรคผลถึงขั้นสูงสุด คือเป็นพระอรหันต์ และเมื่อชีวิตดับก็จะเข้าสู่พระนิพพาน ไม่กลับมาสู่โลกนี้หรือโลกไหนอีกต่อไป

สำหรับผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๒ เป็นอริยบุคคลชั้นพระสกทาคามีนั้น จะมีคุณธรรมพิเศษเกิดขึ้น และมีประจำอยู่ในดวงจิตเพิ่มขึ้นอีก ๒ ประการคือ

๑) ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เบาบางลงอย่างมาก ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อย่างหยาบสิ้นไป ไม่หมายเอาเฉพาะกามารมณ์คือความรักใคร่ในเพศตรงกันข้ามเท่านั้น แต่หมายถึงความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ทั้งหมด ซึ่งตามปกติมนุษย์เราอยากได้เห็นรูปที่สวยๆงามๆ อยากได้ฟังเสียงที่ไพเราะ อยากสูดดมกลิ่นที่หอมๆ อยากลิ้มรสอาหารที่อร่อยๆ อยากได้สัมผัสถูกต้องที่ดีๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศตรงกันข้าม

ความอยากเหล่านี้เป็นกิเลสตัณหาที่แผดเผาจิตใจคนเราให้เร่าร้อนและลุ่มหลง ครั้นเมื่อไม่ได้สมอยากก็อาจจะทำความชั่วช้าลงไปเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นมา โดยเฉพาะความลุ่มหลงในประการสุดท้ายคือการสัมผัสทางกามารมณ์นั้น ทำให้คนเสียคนมามากแล้วอย่างน่าอนาถใจ ทั้งในทางชื่อเสียงและศีลธรรม หน้าที่การงาน ตลอดถึงเสียชีวิต

กิเลสในเรื่องเหล่านี้มีลักษณะรุนแรงมาก ทำให้เบาบางลงแม้แต่เพียงเล็กน้อยก็เป็นการยากแสนยาก เพราะเหตุว่ารสของมันทำให้เกิดความสุขใจ ความเพลิดเพลิน และความซาบซึ้งตรึงใจอย่างดื่มด่ำล้ำลึก แต่เมื่อได้ปฏิบัติจนได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีแล้ว กิเลสในเรื่องเหล่านี้จะเบาบางลงอย่างมาก เมื่อได้ทราบเช่นนี้ บางท่านอาจจะพลอยเหี่ยวแห้งลงทันที เพราะยังอาลัยอาวรณ์หรือเสียดายในรสของกามราคะซึ่งเคยได้รู้ได้รับมาตั้งแต่จำความได้จนถึงบัดนี้

แต่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อกิเลสชนิดนี้เบาบางลง ความสงบใจก็มีมากขึ้น ทำให้มีความสุขมากขึ้น เราจึงไม่ควรจะอาลัยหรือเสียดายในกิเลสนั้นๆ และอันที่จริง พระสกทาคามีนั้น ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ยังคงมีอยู่ แต่ว่าเหลือน้อย ยังไม่ดับสูญสิ้นไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง

๒) ความโกรธลดน้อยลงมาก ความโกรธเป็นกิเลสที่ชั่วร้ายอีกอย่างหนึ่ง สามารถทำคนดีให้เป็นคนชั่วไปได้ในพริบตา ทั้งที่รู้กันว่าความโกรธเป็นกิเลสร้ายที่สุดอยู่ในดวงจิต คอยที่จะพลุ่งออกมาทุกขณะ พอจิตกระทบสิ่งที่ไม่พอใจก็จะพลุ่งออกมาทันที มากหรือน้อยก็แล้วแต่สาเหตุแห่งความไม่พอใจและความหนาบางของกิเลสซึ่งมีอยู่ของแต่ละบุคคล กว่าจะรู้สึกตัวว่าได้ทำอะไรไปก็เป็นการสายเกินแก้ สุดที่จะระงับยับยั้งไว้เสียแล้ว

หากกิเลสชนิดนี้ไม่พลุ่งออกมา ก็จะกลายเป็นความพยาบาทสุมอยู่ในอก และคอยหาโอกาสแก้แค้น รู้สึกเคียดแค้น ก่อให้เกิดความทุกข์ บุคคลผู้เป็นพระสกทาคามีนั้น ความโกรธได้บรรเทาเบาบางลงไปมาก ความโกรธขนาดเป็นฟืนเป็นไฟ หรือขนาดเอาเป็นเอาตาย ตลอดจนความพยาบาทและความผูกใจ เป็นอันไม่มีโดยเด็ดขาด แต่จะมีเหลืออยู่เพียง ความหงุดหงิด ไม่พอใจเล็กน้อยเท่านั้น

นี่ก็คือคุณธรรมของผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลเป็นพระสกทาคามี ตามคติในทางพระพุทธศาสนานั้น พระอริยบุคคลชั้นนี้จะมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และในชาตินั้นจะได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ และเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นที่ ๓ เป็นพระอนาคามีบุคคล กิเลสอันหนาทั้ง ๒ อย่างคือ ความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส และความโกรธ เป็นอันหมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งทั้งนี้หมายความว่า ย่อมจะหมดความโกรธและความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส รวมทั้งความใคร่ในกามารมณ์อย่างสิ้นเชิง

กิเลสที่ยังเหลืออยู่นั้นมีเพียง ๓ ประการ และเป็นกิเลสขั้นละเอียด แต่ถึงกระนั้นก็มีอย่างเบาบาง คือ

๑) ความยินดีในความสงบอันเกิดจากฌาน กิเลสประเภทนี้แบ่งออกเป็นสองประการ คือ ความยินดีในความสงบอันเกิดจากรูปฌานโดยเพ่งรูปธรรมเป็นอารมณ์ เช่นเพ่งให้เห็นรูปนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นจนสำเร็จรูปฌาน ๑ และความยินดีในความสงบอันเกิดขึ้นจากอรูปฌาน โดยเพ่งสิ่งที่ไม่มีรูปเช่นอากาศหรือความว่างเปล่าเป็นต้นเป็นอารมณ์ จนได้สำเร็จอรูปฌาน ๑ เช่นนี้เป็นการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่ทางบรรลุมรรคผลนิพพาน

แม้จะได้รูปฌาน อรูปฌาน ทำให้เกิดความสงบ ก็ไม่สามารถจะทำให้กิเลสหมดไป และยังต้องไปติดอยู่ในรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่มีรูป และอรูปภพอันเป็นภพของพรหมที่ไม่มีรูป ตามกำลังของฌาน กิเลสชนิดนี้ยังคงมีอยู่ในบุคคลที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ส่วนมากไม่มีแสดงออก นอกจากบุคคลที่เจริญสมถกัมมัฏฐานเท่านั้น

๒) ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือรู้สึกเข้าใจตนในฐานะ ในสภาวะ หรือความเป็นอยู่เช่นนั้น เป็นความพยายามที่จะติว่าตนเอง สำคัญตนว่าเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี สำคัญตนว่าเป็นคนสำคัญหรือเป็นคนไม่สำคัญ สำคัญตนว่าเป็นคนฉลาดหรือเป็นคนโง่เหล่านี้เป็นต้น ความรู้สึกอย่างนี้เป็นกิเลสที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพราะย่อมพยายามนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น

ผลก็คือจะรู้สึกต่อไปว่า ตนดีกว่าเขาหรือเลวกว่าเขา หรือพอกับเขา เมื่อเข้าใจว่าดีกว่าเขาก็เกิดความลำพองใจเลยคิดฟุ้งซ่าน หากเข้าใจว่ามีฐานะเท่ากับเขาก็จะเกิดความรำคาญใจเพราะมีคู่แข่ง หรือถ้าหากว่าเข้าใจว่าตนเลวกว่าเขา ก็จะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ มีปมด้อยเกิดขึ้น เลยไม่สบายใจ ทั้งนี้ล้วนแต่เป็นเรื่องทุกข์ทั้งสิ้น กิเลสชนิดนี้ยังมีอยู่ในพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามีเล็กน้อย

๓) ความไม่รู้แจ้ง กิเลสประการสุดท้ายนี้เป็นความหลง เพราะความไม่รู้แจ้งมีอยู่จึงชื่อว่า อวิชชา ความไม่รู้แจ้งในที่นี้หมายเอาความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แม้จะได้บรรลุมรรคผลมาถึง ๓ ขั้น จนได้เป็นพระอนาคามีแล้วก็ตาม หาได้ชื่อว่ารู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ โดยสมบูรณ์แล้วไม่ เพราะยังไม่ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล ยังไม่รู้ว่ามรรคผลขั้นสุดท้ายนั้นเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายแล้วนั้นแหละ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีอวิชชา

เหตุใด อวิชชา จึงจัดเป็นกิเลส ก็เพราะอวิชชาก่อให้เกิดอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ความฟุ้งซ่านก็ยังมีอยู่ ความฟุ้งซ่านอย่างหยาบ ได้แก่ ความอยากได้นั้นอยากได้นี้ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ หากไม่เป็นไปดังคิดก็เกิดความเสียใจ ไม่สบายใจ แต่กิเลสชนิดนี้จะเบาบางเป็นลำดับๆ

ในขั้นพระอนาคามี ยังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคืออยากได้ หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆ มีอวิชชาเป็นต้นนั้นก็สิ้นไป สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว

ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือแดนอันบริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากกามราคะ ซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์

ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะว่าเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้ เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น

และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่าเมื่อดับขันธ์แล้วก็เข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนานี้ยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง

หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานาที่เกิดขึ้นมารอบด้าน ก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้บรรยายธรรมะเพื่อประกอบการประพฤติปฏิบัติแก่ท่านทั้งหลายมานี้ ก็คิดว่าน่าจะพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 05 ตุลาคม 2561 10:22:18

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%E0%B7%D5%C2%B9%E4%A2.jpg)

วิสุทธิ ๗

สำหรับวันนี้ ก็จะขอปรับความเข้าใจบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมของเราทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เหตุไฉนหนอ การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ หลวงพ่อจึงให้อยู่กรรมด้วย หรือให้ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ทั้งๆที่เราก็เพิ่งบวชมาไม่กี่วันแล้วก็เข้าพรรษา แล้วเข้าปฏิบัติธรรม ยังไม่ได้ต้องครุกาบัติอะไรเลย แต่เหตุไฉนหลวงพ่อจึงให้ประพฤติวุฏฐานวิธีร่วมกันกับบรรดาท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายด้วย

ที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไปนั้น ก็ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ

ประการที่ ๑ ต้องการที่จะทำลายมานะทิฏฐิคือความเห็นผิดเป็นเหตุถือตัว ซึ่งเราทั้งหลายได้ประพฤติมาตั้งแต่เดียงสามาจนถึงบัดนี้ มีทิฏฐิ มีมานะ เห็นแก่ตัว จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนเป็นบางครั้งบางคราวก็มี เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เป็นเหตุให้เราได้ถ่อมตัวลงไป เมื่อเราถ่อมตัวลงไป ทำลายความเห็นแก่ตัวลงไป ทำลายทิฏฐิคือความเห็นผิดได้แล้ว การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็เจริญและก้าวหน้าได้

สรุปได้ว่า การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่กรรมควบคู่กันไป เพื่อต้องการที่จะให้ละกิเลสตัณหามีมานะทิฏฐิเป็นต้น นี้เป็นประการที่หนึ่ง

ประการที่ ๒ ก็เพื่อว่าให้ท่านทั้งหลายได้มีโอกาสชำระความชั่วช้าลามกที่เคยประพฤติปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ความชั่วเหล่าใดที่เราเคยประพฤติ ทางกายก็ดี ทางวาจาก็ดี ครั้งเป็นฆราวาสอยู่ ครั้งเป็นคฤหัสถ์อยู่ เมื่อเรามาประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ก็เป็นผลพลอยได้ด้วย คือทำให้ความชั่วช้าลามกหรือบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นหมดไป

สมมติว่า เมื่อก่อนโน้นเราเคยฆ่าคนอย่างนี้ หรือเคยล่วงเกินท่านผู้มีอุปการคุณเป็นต้น หากว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเดียว แต่ไม่ประพฤติวุฏฐานวิธีด้วย ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเรานี้ดำเนินไปได้ยาก หรือบางทีเมื่อครั้งเราเป็นฆราวาสเราไปล่วงเกินหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ชายไปข่มขืนชำเราพวกผู้หญิงอย่างนี้ ทั้งๆที่เขาไม่พอใจกับเรา ก็ไปข่มเหงจิตใจเขา เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติของเรานั้นดำเนินไปได้ยาก

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา โทษฆ่าคนให้ตายไปนี้ มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ยังไปได้ง่ายกว่า ยังข้ามไปได้ง่ายกว่าการข่มขืนชำเรา การข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิง การที่เราข่มขืนชำเราหรือข่มเหงน้ำจิตน้ำใจของผู้หญิงนี้ มาประพฤติปฏิบัตินี้ ข้ามไปได้ยากที่สุด ยากแสนยาก บางท่านตลอด ๓ เดือนข้ามไม่พ้นเลย ไม่สามารถที่จะข้ามพ้นไปได้ เวลานั่งไป อารมณ์นั้นมาติดเรื่อยๆ บางทีเห็นภาพเห็นนิมิตของผู้หญิงคนนั้นมานั่งอยู่ในที่เฉพาะหน้า เป็นต้น ผลสุดท้ายเลยทำให้การประพฤติปฏิบัติไปไม่ได้

เหตุนั้น จึงให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีหรืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย เมื่อใดเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ต้องครุกาบัติเลย แต่เราเคยทำบาปมาตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาสดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น (เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว) ก็เป็นผลพลอยได้ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของเรานั้นได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

ประการที่ ๓ การที่ให้ประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ก็ต้องการให้เกิดความบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับๆ จนกว่าจะถึงมรรคผลนิพพาน ถ้าเราไม่ประพฤติวุฏฐานวิธี ความบริสุทธิ์ขั้นต้นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อความบริสุทธิ์ขั้นต้นเกิดขึ้นไม่ได้ ความบริสุทธิ์ขั้นต่อๆไป จะเป็นขั้นที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อความบริสุทธิ์ไม่เกิดขึ้น การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น ก็จึงจัดให้มีการประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมควบคู่กันไปด้วย

เหตุนั้น วันนี้ เพื่อเป็นการชี้ชัดลงไปว่า การประพฤติวุฏฐานวิธีนั้นให้เกิดความบริสุทธิ์ได้อย่างไร และให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานได้อย่างไร หลวงพ่อจึงจะได้นำเรื่อง วิสุทธิ ๗ มาบรรยายประกอบ เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาควบคู่กันไป

ดำเนินความว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากจะศึกษาให้รู้จักธรรมะอันเป็นภูมิ เป็นอารมณ์ และธรรมอันเป็นรากเหง้า เป็นเหตุให้เกิดขึ้น และเป็นตัวของวิปัสสนาแล้ว ยังต้องศึกษาให้รู้จักลักษณะ กิจ ผล และเหตุ ของวิปัสสนา กับวิภาค ๖ อีกด้วย ดังนี้ คือ

๑. ความรู้สภาวะความเป็นจริงของสังขาร คือ เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังทนได้ยาก อนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ แจ้งชัดตามสภาวะความเป็นจริงของสังขารนั้น เป็นลักษณะของวิปัสสนา

๒. ความขจัดมืดคือโมหะนั้นเสียสิ้น ไม่หลงใหลในสังขารว่าเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน เป็นของงาม นั้นเป็นกิจของวิปัสสนา

๓. ความเห็นจริง ส่องสว่าง เห็นทั่วไปในความที่สังขารเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นั้นเป็นผลของวิปัสสนา

๔. จิตที่ไม่ฟุ้งซ่าน ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดขึ้นตั้งอยู่ของวิปัสสนา

วิปัสสนาภาวนานี้ย่อมอาศัยสมาธิจึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่เจริญให้สมาธิเกิดขึ้นก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดขึ้นได้ เพราะสมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา

ดังนั้น ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ มีจิตไม่บริสุทธิ์ จะกล่าวว่าได้สำเร็จในวิปัสสนา ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่า ศีลที่บริสุทธิ์เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดวิปัสสนา วิปัสสนาเป็นเหตุให้เกิดอริยมรรค อริยมรรคเป็นเหตุให้เกิดอริยผล เป็นธรรมดานิยม มีอยู่อย่างนี้

วิภาค ๖ นั้น คือ

(๑) อนิจจัง ของไม่เที่ยง

(๒) อนิจจลักขณัง เครื่องหมายที่กำหนดให้รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

(๓) ทุกขัง ของที่สัตว์ทนได้ยาก

(๔) ทุกขลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้รู้ว่าเป็นทุกข์

(๕) อนัตตา สภาวะที่มิใช่ตัวมิใช่ตน

(๖) อนัตตลักขณัง เครื่องหมายที่จะให้กำหนดรู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ภูมิธรรมที่เป็นรากเหง้าของวิปัสสนานั้น คือ

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ จตุปาริสุทธิศีล ๑ ศีลในอัฏฐังคิกมรรค ๑

สีลวิสุทธิ [1] นี้ มุ่งหมายเอาศีลในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการเป็นสำคัญ เพราะเป็นมูลเหตุ เป็นรากเหง้า ให้มีจตุปาริสุทธิศีลสมบูรณ์ และจตุปาริสุทธิศีลก็เป็นปัจจัยให้เกิดสีลวิสุทธิในองค์มรรค ๘ หรือจะว่าเป็นอันเดียวกันก็ได้ มาแยกแสดงเป็น ๒ ตอนก็เพื่อจะให้ความชัดเท่านั้น เมื่อชี้องค์ธรรมลงไปแล้วก็ได้แก่ วิรตีเจตสิก เว้นจากบาปธรรมที่เป็นทางกายและทางวาจานั่นเอง กล่าวคือ

๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล สำหรับภิกษุก็เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต ประพฤติมั่นอยู่ในสิกขาบท ๒๒๗ ประการ ซึ่งมาในพระปาฏิโมกข์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็ได้แก่ เว้นจากข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต จะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็ตาม

๒) อินทรียสังวรศีล คือสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ ประการ คือ สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย หรือว่าไม่ให้เกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ

๓) อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยความบริสุทธิ์ ถ้าเป็นฆราวาส ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิดกฎหมายของบ้านเมือง หรือผิดศีลธรรมอันดีงามของพระศาสนา ถ้าเป็นบรรพชิต ก็เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางผิดศีลผิดพระวินัยของพระ เช่นว่า ทำวิญญัติออกปากขอของต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ เป็นต้น

๔) ปัจจยสันนิสิตศีล คือการพิจารณาจตุปัจจัยที่ทายกทายิกาถวายขณะที่จะบริโภค หมายความว่า เราจะบริโภคปัจจัย ๔ จะต้องพิจารณาเสียก่อน เช่น เราจะบริโภคจีวรเครื่องนุ่งห่มอย่างนี้ เราก็พิจารณาว่า จีวรนี้ เราบริโภคเพื่อกันร้อนกันหนาว กันสัตว์เลื้อยคลาน เหลือบยุง เป็นต้น หรือจะบริโภคบิณฑบาตก็พิจารณาว่า บิณฑบาตนี้ เราไม่ได้บริโภค เพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่งสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และเพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อใช้สอยเสนาสนะก็พิจารณาว่า เรานั่ง เรานอน เราใช้เสนาสนะนี้ เราอาศัยใช้สอยเพื่อบำบัดความหนาวร้อน เพื่อป้องกันแดด ลม สัตว์เลื้อยคลาน เหลือบ ยุง เป็นต้น เมื่อบริโภคยาก็พิจารณาว่า ยานี้ เราบริโภคเพื่อรักษาความเจ็บไข้ ป้องกันโรคภัยอาพาธต่างๆ ไม่ใช่บริโภคด้วยอำนาจแห่งตัณหาความอยากใดๆ

เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ การบริโภคนั้นก็เป็นการบริโภคที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นบาป ไม่เป็นกรรม ไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราไม่พิจารณาเสียก่อน ขืนบริโภคเลยทีเดียว หรือในขณะที่บริโภคอยู่ เราไม่พิจารณา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบาปเป็นกรรมได้ ดังตัวอย่างพระติสสะ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบท ขุททกนิกายว่า

มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อติสสะ มีจีวรคร่ำคร่า จึงไปแสวงหาผ้ามาเพื่อทำจีวร ได้ผ้ากัมพลเนื้อหยาบๆมาแล้วส่งให้พี่สาว พี่สาวจึงพิจารณาว่า ผ้ากำพลเนื้อหยาบๆอย่างนี้ ไม่สมควรที่พระน้องชายของเราจะห่ม ก็จึงนำผ้านั้นไปทุบไปทอย้อมใหม่ เสร็จแล้วก็ส่งให้พระน้องชาย พระติสสะก็นิมนต์พระสงฆ์ทั้งหลายมาช่วยตัดช่วยเย็บจีวร เมื่อเย็บเสร็จแล้วก็เก็บพาดไว้บนราวจีวรนอนคิดว่า เมื่อไรหนอจะสว่าง จะได้ห่มจีวรนี้เสียที

ในเวลานั้น อาหารที่ฉันไปเมื่อกลางวันไม่ย่อย เลยถึงแก่มรณภาพไป เมื่อมรณภาพไปก็ไปเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร เพราะโทษที่ไม่ได้พิจารณาการบริโภคจีวรนั้น เมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายจะนำจีวรนั้นมาแจกกัน เล็นนั้นหวงจีวร ก็ร้องครวญครางเพื่อที่จะไม่ให้นำจีวรนั้นมาแจกกัน จนเสียงนั้นไปปรากฏในพระทิพพโสตของพระพุทธองค์ เมื่อพระองค์ทรงสดับเช่นนี้ จึงตรัสสั่งพระอานนท์ว่า

ดูก่อนอานนท์ เธอจงไปบอกภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเพิ่งแจกบริขารของพระติสสะ ล่วง ๗ วันเสียก่อนจึงค่อยแจก พระอานนท์ก็มาบอกภิกษุทั้งหลาย เมื่อล่วง ๗ วันแล้ว พระสงฆ์ทั้งหลายจึงได้นำบริขารของพระติสสะมาแจก

วันนั้น พระสงฆ์ทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมสภาศาลาว่า เหตุไฉนหนอ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงห้ามมิให้แจกบริขารของพระติสสะ ต่อเมื่อล่วง ๗ วันจึงทรงให้แจก ขณะนั้นพระองค์ทราบแล้วจึงเสด็จมา แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์สนทนากันด้วยเรื่องของพระติสสะว่า ทำไมหนอ พระองค์จึงทรงห้ามแจกบริขาร ต่อล่วง ๗ วันจึงค่อยทรงให้แจก

พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โทษที่พระติสสะไม่พิจารณาก่อนแล้วบริโภคจีวร เมื่อมรณภาพไปแล้ว บาปกรรมที่ไม่ได้พิจารณา จึงมาเกิดเป็นเล็นจับอยู่ที่จีวร หากว่าพวกเธอทั้งหลายนำบริขารของพระติสสะไปแจกกันในขณะนั้น เล็นตัวนั้นก็จักโกรธแก่พวกเธอทั้งหลาย เพราะโทษที่โกรธพวกเธอ ตายแล้วจักไปสู่อบายภูมิ พระสงฆ์ทั้งหลายจึงกราบทูลขึ้นว่า พระพุทธเจ้าข้า ชื่อว่าตัณหานี้หยาบหนอ (พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรับว่า)

อย่างนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าตัณหานี้เป็นของหยาบ ถ้าว่าตัณหานี้มีตัวตน เราจักขนมากองไว้ในพื้นพสุธานี้ พรหมโลกก็ยังต่ำไป ถ้าจักกองไว้บนพื้นพสุธานี้ จักรวาฬนี้ก็ยังแคบไป

นี้แล ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เหตุนั้น พวกเราทั้งหลาย ก่อนจะฉันภัตตาหารทุกๆวัน จึงมีการพิจารณาที่เรียกว่า ปฏิสังขา โยฯ เสียก่อนจึงฉัน ก็เพื่อป้องกันอันนี้เอง แต่ถ้าสำหรับท่านที่ไม่ได้บาลี ก็พิจารณาว่า เราบริโภคบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะบริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อเปล่งปลั่ง เพื่อสดใส เราบริโภคเพื่อบรรเทาเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ให้ชีวิตเป็นไป และอนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์

เมื่อใดเราพิจารณาอย่างนี้แล้วจึงบริโภคปัจจัย ๔ การบริโภคของเราก็เป็นการบริสุทธิ์ และเป็นเหตุให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

ท่านผู้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานทั้งหลายพึงปฏิบัติในจตุปาริสุทธิศีล คือให้บริสุทธิ์หมดจดเสียก่อน โดยตั้งอยู่ในสุทธิ ๔ ประการ คือ

๑) เทสนาสุทธิ แปลว่า ความบริสุทธิ์ด้วยการแสดง เช่น พวกเราทั้งหลายแสดงอาบัติทุกวันนี้ ก็เพื่อเทสนาสุทธินี้เอง คือต้องการให้บริสุทธิ์เสียก่อน หรือหากว่าเรามีโอกาสมีเวลาก็ประพฤติวุฏฐานวิธี เหมือนดังท่านทั้งหลายที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมในขณะนี้ ก็เพื่อที่ต้องการความบริสุทธิ์

๒) สังวรสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการสำรวม หมายความว่า ผู้ที่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเผลอไปแล้วจึงตั้งใจสำรวมอินทรีย์ใหม่แล้วอธิษฐานว่า แต่นี้ไปจักไม่ให้เป็นอย่างนี้แล้ว จักรักษาต่อไป คือในขณะใดที่เราเห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ได้ธรรมารมณ์

เผลอไป ทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา ได้โอกาสแทรกขึ้นมาในจิตในใจของเรา เมื่อเราได้สติเราก็กำหนดทันที เมื่อเรากำหนดแล้วก็ตั้งอธิษฐานในจิตในใจว่า ต่อแต่นี้เป็นต้นไป จักไม่เผลอไปอย่างนี้อีกแล้ว จะไม่ให้เป็นอย่างนี้อีกแล้ว นี้ก็เรียกว่า สังวรสุทธิ

๓) เอฏฐิสุทธิ แปลว่า การมีอาชีวะอันบริสุทธิ์ หมายความว่า ถ้าเราเป็นพระ ก็ไม่ประจบตระกูล ซึ่งเรียกว่า กุลทูสโก ประจบคฤหัสถ์เพื่อเป็นการเลี้ยงชีพ หรือว่าทำวิญญัติออกปากขอต่อคนที่ไม่ควรขอ หรือว่าขอในเวลาที่ไม่ควรขอ ไม่ทำศรัทธาไทยให้ตกไป ไม่เลี้ยงชีพด้วยอเนสนาจาร เลี้ยงชีวิตไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยอันดีของพระศาสนา

๔) ปัจจเวกขณสุทธิ แปลว่า การบริสุทธิ์ด้วยการพิจารณาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อได้ตั้งอยู่ในสุทธิ ๔ ประการของจตุปาริสุทธิศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ควรแก่การเจริญวิปัสสนา เมื่อถึงเวลาก็เข้าปฏิบัติพระวิปัสสนา ด้วยการตั้งอยู่ในศีลของมรรค ๘ คือการมีสติระลึกรู้ทันปัจจุบันทุกขณะที่รูปนามพูด ทุกขณะที่รูปนามทำงาน

เพียรเอาสติรู้ทันปัจจุบันของรูปนาม ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะรู้กลิ่น ขณะรู้รส ขณะรู้สึกทางกาย ขณะนึกคิด และขณะยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว คือเป็นอยู่ด้วยการมีสติ เว้นโมหะตัวเผลอ เป็นสีลวิสุทธิแล้ว เมื่อเรามีสีลวิสุทธิคือการมีศีลบริสุทธิ์ สีลวิสุทธินี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่จิตตวิสุทธิโดยสะดวกต่อไป

๒. จิตตวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดของจิต ได้แก่ จิตที่เข้าถึงสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็ชื่อว่าเข้าถึงจิตตวิสุทธิ มีจิตอันขาวสะอาด ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมองด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา โดยการเพ่งพิจารณาในกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ อันใดอันหนึ่ง จนเป็นอุปจารสมาธิ ใกล้ความเป็นฌาน หรือเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌานเลยทีเดียวก็ได้

หรือไม่ถึงอย่างนั้น เป็นเพียงตั้งสติรู้ทันรูปนามทุกขณะ ไม่เผลอ ระวังกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้เข้าไปในขันธสันดานของเรา เป็นขณิกสมาธิ มีใจบริสุทธิ์ ก็ชื่อว่าเป็นจิตต วิสุทธิ สามารถที่จะยังปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมอันเป็นทิฏฐิวิสุทธิความเห็นบริสุทธิ์ต่อไปโดยสะดวก

ธรรมทั้งสองประการนี้ (หมายถึง สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิ) เป็นรากเหง้าของวิปัสสนา หรือเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาภาวนา เมื่อเรามีศีลที่บริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ในขณะที่เรากำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง กำหนดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการพองอาการยุบอยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อต้องการจะให้จิตของเราบริสุทธิ์ขึ้นมา

คือในขณะใดที่เรากำหนด ในขณะนั้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราเห็นรูปสวยหรือไม่สวยก็ตาม เรากำหนดว่า เห็นหนอๆ โลภะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โทสะก็เกิดขึ้นไม่ได้ ราคะก็เกิดขึ้นไม่ได้ โมหะก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อเราประสบอารมณ์ใดๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เรากำหนดทุกขณะๆอยู่นั่นแหละ โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ก้าวขึ้นสู่ทิฏฐิวิสุทธิต่อไป

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งทิฏฐิ คือมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ คือได้เกิดญาณขึ้น รู้จักรูปนาม รู้จักเหตุใกล้ชิดของรูปนาม

อุปมาลักษณะของจิตนั้นคือรู้อารมณ์ อาการที่จิตเป็นประธาน คือไปก่อนหน้า เรียกว่า จิตตรส รสของจิต อาการที่จิตดวงหนึ่งดับต่อดวงหนึ่ง เรียกว่า ผล คือ ปัจจุปัฏฐาน ธรรมชาติคือจิต เจตสิก และหทัยวัตถุรูป เป็นเหตุใกล้ชิด เรียกว่าปทัฏฐาน ดังนี้เป็นต้น

เมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายบำเพ็ญวิปัสสนา มีญาณบังเกิดขึ้น เห็นรูปนามดังนี้แล้ว ก็จะประหารทิฏฐิซึ่งถือว่ารูปเป็นอัตตะนามเป็นอัตตะได้ การที่ปราศจากอัตตทิฏฐิเช่นนี้ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ และทิฏฐิวิสุทธินี้ ก็เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่กังขาวิตรณวิสุทธิได้ ทิฏฐิวิสุทธินี้ ถ้าจัดเป็นญาณก็ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ คือเป็นญาณที่ ๑

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการข้ามพ้นความสงสัย เป็นญาณที่สามารถรู้เหตุปัจจัยของรูปนาม อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม เป็นต้น พ้นจากความสงสัยได้ ก็เพราะอาศัยความรู้จากทิฏฐิวิสุทธิ เห็นว่า ขันธ์ ๕ รูปนามนี้ หาเป็นอัตตาไม่ มีการเกิดการดับอยู่เสมอ จนรู้ชัดว่า รูปนามนี้ ในอดีตกาลก็เป็นอย่างนี้ ในปัจจุบันก็กำลังเกิดดับอยู่อย่างนี้ ในอนาคตกาลก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เช่นเดียวกัน

เมื่อได้รู้ว่ารูปนามเป็นอยู่อย่างนี้ ความสงสัยต่างๆ ก็จะอันตรธานไป เช่น สงสัยว่า

๑) เรานี้เคยเกิดมาแล้วในอดีตหรือ

๒) เรานี้ไม่เคยเกิดมาในอดีตกาลหรือ

๓) เราเคยเกิดมาเป็นชาติใดในอดีต

๔) เราเคยเกิดมาเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

๕) เราเคยเกิดมาเป็นอะไรบ้างแล้ว

๖) เรานี้จะเกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

๗) เรานี้จะไม่เกิดไปในอนาคตกาลอีกหรือ

๘) เราจะเกิดเป็นชาติใดในอนาคต

๙) เราจะเกิดเป็นรูปร่างอย่างไรบ้าง

๑๐) เราจะเกิดเป็นอะไรอีกหนอ

๑๑) เดี๋ยวนี้เป็นเราหรือ

๑๒) เดี๋ยวนี้ไม่เป็นเราหรือ

๑๓) เดี๋ยวนี้เราเป็นชาติใดหนอ

๑๔) เดี๋ยวนี้เกิดเป็นรูปร่างอย่างไรหนอ

๑๕) เรามาจากไหน และ

๑๖) เราจะไปไหนหนอ

ความสงสัยดังแสดงมานี้ก็ไม่มี หมายความว่า เห็นรูปนามเกิดดับ สิ้นความสงสัยในเรื่องปัจจัยของรูปนาม ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต เพราะมารู้ปัจจุบันธรรมดังกล่าวมา เป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ อยู่ในลำดับของปัจจยปริคคหญาณ คือเป็นญาณที่ ๒ และก็เข้าเขตสัมมสนญาณอย่างอ่อนๆ และเมื่อสัมมสนญาณแก่กล้าแล้ว ก็จะก้าวขึ้นสู่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้ว่าทางหรือไม่ใช่ทาง คือญาณนี้เป็นญาณที่รู้เห็นว่าทางหรือมิใช่ทางของพระนิพพาน เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ วิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น คือ

โอภาส เห็นรัศมีและแสงสว่าง ปีติ มีความยินดีกล้า ปัสสัทธิ สงบมาก อธิโมกข์ มีความน้อมใจเชื่อมาก ปัคคาหะ มีความเพียรอย่างแก่กล้า สุขะ มีความสุขแก่กล้า ญาณะ มีความรู้แก่กล้า อุปัฏฐานะ มีสติปรากฏชัดทุกอย่าง อุเบกขา มีความวางเฉยมาก นิกันติ มีความชอบในรัศมีแสงสว่างนิมิต เป็นต้น รวมวิปัสสนูปกิเลสนี้ เป็นที่ตั้งที่อาศัยของตัณหา มานะ ทิฏฐิ นั่นเอง

เพราะเหตุนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องเป็นผู้มีความรู้ว่า เป็นอมัคคะ มิใช่หนทาง เป็นเรื่องของกิเลสในวิปัสสนาญาณเท่านั้น เมื่อพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสแล้วจึงเป็นปฏิปทาหนทางไปสู่พระนิพพาน เรียกว่า มัคคะ และเป็นปัญญาสามารถรู้ทางและมิใช่ทาง ทำลายความเข้าใจผิดเสีย คงทำความเห็นให้ตรงทาง คือรู้รูปนามที่มีลักษณะเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดดับๆ อยู่ทุกขณะ ชื่อว่ามัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ บริสุทธิ์หมดจดด้วยความรู้ความเห็นว่าทางหรือมิใช่ทาง อันเป็นเหตุก้าวขึ้นสู่ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งความรู้ความเห็นในปฏิปทา หนทางไปสู่พระนิพพานแน่นอน อาศัยมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ที่เกิดจากวิปัสสนูปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น

เพ่งถึงความเกิดดับของรูปนามตามนัยไตรลักษณ์ต่อไปอีก เห็นรูปนามดับไปๆ เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย ใคร่จะหนีจากรูปจากนาม หาทางหนีจากรูปจากนาม กระทั่งแน่ใจในอริยสัจธรรม มีจิตอันน้อมไปสู่พระนิพพานโดยส่วนเดียว อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่หนีภัยต่างๆ เมื่อมาถึงแม่น้ำแล้วก็จะกระโดดข้ามน้ำ หรือขึ้นต้นไม้ให้สุดยอด หรือเหมือนเชือกที่ตึงคล้ายจะขาด ฉะนั้น

ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณจนถึงโคตรภูญาณ มีความรู้ความเห็นว่าจะพ้นจากทุกข์ได้อย่างแน่นอน ทางหนีทางนี้เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นเหตุให้ก้าวขึ้นสู่ญาณทัสสนวิสุทธิต่อไป

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์หมดจดแห่งการรู้การเห็นพระนิพพาน เป็นวิสุทธิที่ปราศจากกิเลสตัณหาเครื่องมลทินทั้งมวล ด้วยวิปัสสนาญานแก่กล้าขึ้น อาศัยกำลังที่ได้รับจากปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถีอันเป็นอัปปนาวิถี ในขณะใด ไม่ขึ้นแก่กาลเวลาเลย

ต้องผ่านลำดับของวิถีทันที โดยจิตเกิดขึ้นครั้งแรกจากภวังค์ เป็นภวังคจลนะ ภวังค์ไหว ต่อจากนั้น เป็นภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ เมื่อดับลงแล้ว มโนทวาราวัชชนะก็เกิดขึ้น พิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง ส่งให้เกิดอุปจาระ ได้พระไตรลักษณ์เป็นอารมณ์แล้วดับลง เมื่อดับลงแล้วก็ส่งให้อนุโลมญาณ

วิปัสสนาญาณของท่านผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานถึงขั้นนี้แล้วเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือถึงยอดของวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อถึงยอดของวิปัสสนาแล้วก็ดับลง ส่งให้เป็นหน้าที่ของโคตรภูญาณ ทำกิจโอนโคตรปุถุชนให้เป็นอริยชน หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ไหลไปสู่อริยมรรคอริยผล

เมื่อโคตรภูญาณดับแล้วก็ส่งให้อริยมรรคเกิดขึ้นหนึ่งขณะจิต รู้เห็นพระนิพพานซึ่งเป็นที่สุดแห่งทุกข์ มีมัคคสัจประชุมพร้อมกันบริบูรณ์ทั้ง ๘ ประการแล้วก็ดับลง เมื่อมัคคจิตนี้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วดับลง ส่งให้อริยผลเกิด ๒ ครั้งบ้าง ๓ ครั้งบ้าง แล้วแต่มันทบุคคลหรือติกขบุคคล ถ้าหากเป็นมันทบุคคลแล้ว ผลจิตเกิดขึ้น ๒ ขณะ ถ้าเป็นติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะแล้วก็ดับลง

ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นเป็นปัจจเวกขณวิถีเกิดขึ้น พิจารณามรรคผลนิพพานและกิเลสที่ละแล้วและที่ยังเหลืออยู่ต่อไปอีก เรียกว่า ปัจจเวกขณญาณ คือญาณที่ ๑๖ อุปมาเหมือนกันกับบุรุษคนหนึ่ง ออกไปดูพระจันทร์ในเวลากลางคืน ทีแรกไม่เห็นพระจันทร์ เพราะว่าท้องฟ้าเต็มไปด้วยก้อนเมฆดำ ครั้นเมื่อลมพัดไป ๓ ครั้ง ก็สามารถที่จะเห็นพระจันทร์ได้ ฉันใด

ในมัคควิถีก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในขณะที่มัคคญาณได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ รู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพาน มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ จึงจัดเข้าในญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งความรู้ความเห็นพระนิพพาน

ผู้ปฏิบัติที่พ้นจากความเป็นปุถุชนด้วยการเห็นอนิจจังของรูปนามเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพาน ผู้นั้นเรียกว่า ถึงพระนิพพานด้วยอนิมิตตนิพพาน หรืออนิมิตตวิโมกข์ ผู้เห็นทุกขังชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรืออัปปณิหิตวิโมกข์ ส่วนผู้เห็นอนัตตาชัด นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือสุญญตวิโมกข์ ได้ทั้งสมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ

สรุปแล้วว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ รู้ทันปัจจุบันของรูปนามแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด สีลวิสุทธิ คือมีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อสีล วิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด จิตตวิสุทธิ คือมีจิตที่บริสุทธิ์ เมื่อจิตตวิสุทธิสมบูรณ์ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ทิฏฐิวิสุทธิ คือมีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์

ทิฏฐิวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด กังขาวิตรณวิสุทธิ ความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย กังขาวิตรณวิสุทธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ว่าทางนี้ทางผิด ทางนี้ทางถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูก

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับว่าทางนี้เป็นทางไปสู่พระนิพพาน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิก็จะเป็นปัจจัยให้เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ

เมื่อถึงญาณทัสสนวิสุทธิแล้ว ก็เป็นอันว่าเราถึงพระนิพพานแล้ว จิตมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่ถึง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ

เมื่อถึงพระนิพพานเพียงขั้นปฐมมรรคเท่านั้น ก็เป็นอันว่า เราสามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ต้องไปสู่อบายภูมิอีก และจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เข้าสู่ปรินิพพาน

เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่หลวงพ่อให้ประพฤติวุฏฐานวิธีคืออยู่กรรมนี้ ก็เพื่อต้องการที่จะให้เกิดวิสุทธิความบริสุทธิ์ทั้ง ๗ ประการดังกล่าวมา เมื่อใดความบริสุทธิ์คือวิสุทธิทั้ง ๗ ประการเกิดขึ้นในขันธสันดานของเราสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอันว่าเราได้บรรลุสามัญผล ได้ผลจากการประพฤติปฏิบัติ ไม่เสียทีที่เราได้สละเวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุสามัญผลสมประสงค์ เราได้ใบประกันชีวิตแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อน จะตายเวลาไหนก็ตายตาหลับ จะตายเวลาไหนก็ไม่ว่า

เพราะว่าเรามั่นใจแล้วว่า เมื่อตายแล้วเราจะไม่ไปตกนรก ไม่ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เรามีคติเที่ยง เรามีธรรมไม่กำเริบ จะไปสู่สุคติอย่างแน่นอน จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เราจักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้วก็ไว้ใจได้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนเหมือนเมื่อก่อน เหตุนั้น การประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่กรรมนี้ ต้องมีการบอกวัตรเป็นการซ้ำๆซากๆ ก็อย่าถือว่าเป็นเรื่องที่น่ารำคาญ ยิ่งเราได้บอกบ่อยๆเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากขึ้นเท่านั้น

อุปมาเหมือนกันกับเราเอาแก้วไปขัดไปล้าง เรายิ่งหมั่นขัดหมั่นล้างเท่าไร ก็ยิ่งสะอาดผ่องใสหมดมลทินมากขึ้น ข้อนี้ฉันใด เราบอกวัตรบ่อยมากเท่าไร ก็ทำให้เกิดความบริสุทธิ์มากเท่านั้น

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะเรื่อง วิสุทธิ ๗ มา ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา.



[1] ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๗๒-๓๗๕

วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 19 ตุลาคม 2561 15:45:28

(http://socjologia.amu.edu.pl/new/images/artykuly/Inne/candle-2038736__340.jpg)

วิมุตตายตนสูตร

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายได้มีการทำวัตรและเจริญพระพุทธมนต์ ที่ปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นการเสียเวลา บางท่านก็อาจจะคิดว่า อันนี้ไม่ใช่วิปัสสนา เป็นสมถะ อะไรทำนองนี้

ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ที่เราทั้งหลายกระทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นกัมมัฏฐานชนิดหนึ่ง เรียกว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานหมู่ คือเจริญร่วมกันหลายๆรูป และการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์นี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุสมาธิ สมบัติ มรรค ผล พระนิพพาน ได้เหมือนกัน

ดังท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร[๑] ซึ่งปรารภเหตุที่บุคคลจะได้บรรลุสามัญญผลนั้น ๕ ประการ คือ

๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม

๔. บรรลุในขณะที่พิจารณาธรรม

๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ

เหตุทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงขั้นพระอรหันต์ได้ อธิบายขยายความดังต่อไปนี้

๑. บรรลุในขณะที่ฟังธรรม หมายความว่า การฟังธรรม ถ้าว่าเราฟังเป็น ตั้งอกตั้งใจฟังจริงๆ และก็ส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดง ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระที่ท่านแสดงนั้น ก็สามารถที่จะได้บรรลุสามัญผลเหมือนกัน คือในขณะที่เราส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนา ไม่เผลอในขณะนั้น เป็นสมาธิติดต่อกัน ตั้งแต่ขั้นขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิตามลำดับๆ

ในขณะที่จิตใจเป็นสมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิหรืออุปจารสมาธิก็ตาม ในขณะนั้นนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เกิดขึ้นในจิตในใจของเราไม่ได้ จิตของเราก็บริสุทธิ์ผ่องใส เกิดความปีติปราโมทย์ เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ เกิดปีติความอิ่มใจ ดีใจ ความตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นเหตุให้จิตใจสงบ เมื่อจิตใจสงบก็เป็นเหตุให้เกิดความสุข เมื่อความสุขเกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดอุเบกขา ความวางเฉยในรูปนาม

หลังจากนั้นสมาธิก็จะก่อตัวขึ้นตามลำดับๆ เป็นสมาธิที่หนักแน่น เรียกว่า สมาหิโต จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการ เมื่อปราศจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการแล้ว ปริสุทโธ จิตของเราก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็จะเกิดปัญญา มีสติปัญญาว่องไว มีไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาที่ท่านแสดง เรียกว่า กัมมนิโย คือจิตควรแก่การงาน ว่องไวมีไหวพริบ

มีความฉลาดหลักแหลมดี ในการพิจารณาจนเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้ว จิตก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายความกำหนัดยินดี ก็หลุดพ้น หมดจดสะอาดและผ่องใส ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน อย่างนี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่ฟังธรรม

๒. บรรลุในขณะที่แสดงธรรม คือเราเองเป็นผู้แสดงธรรม ก็สามารถเป็นผู้บรรลุสามัญญผลได้เหมือนกัน หมายความว่า เราตั้งอกตั้งใจแสดงธรรมจริงๆ และหวังให้เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่ผู้ฟังจริงๆ และในขณะที่เราแสดงธรรมนั้น เราก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนาที่เราเป็นผู้แสดงเอง จะเห็นว่า แม้แต่ผลอย่างน้อยๆ ก็เกิดให้เราเห็นอยู่ทุกขณะ

ท่านทั้งหลายที่เคยแสดงธรรมมาแล้วก็คงจะรู้ บางทีเราเทศน์ไปๆ เกิดปีติ หนังหัวพองสยองเกล้า ขนลุกชูชันขึ้นมาก็มี บางทีก็เยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย บางทีก็ทำให้กายเบาขึ้นมา บางทีก็เกิดน้ำตาไหล อันนี้เรียกว่า เกิดปีติขึ้นมา ทั้งเราเองเป็นผู้แสดงก็เกิดด้วย เมื่อเกิดปีติแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งต่อกันตามลำดับๆ จนถึงมรรคผลพระนิพพาน

คือในขณะที่เราแสดงธรรมอยู่นั้น เราแสดงไปด้วยพิจารณาไปด้วย ส่งจิตส่งใจไปตามเนื้อหาสาระที่เราแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปีติความปราโมทย์ รื่นเริง บันเทิงใจ เบิกบานใจ อิ่มใจ เมื่อปีติเกิดก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ สมาธิก็เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาก็จะพิจารณารูปนามสังขารทั้งหลายทั้งปวงให้เห็นว่าตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป

เมื่อเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้แล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในรูปในนาม ในสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจิตก็บริสุทธิ์ สะอาด สงบเย็น บรรลุถึงพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุในขณะที่แสดงธรรม

๓. บรรลุในขณะที่สาธยายธรรม คือการสาธยายธรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุสามัญญผลเหมือนกัน เช่นที่พวกเราทั้งหลายพากันไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์อยู่ขณะนี้ เป็นภาษาบาลีบ้าง แปลเป็นภาษาไทยบ้าง ก็เป็นเหตุให้บรรลุสามัญผลได้เหมือนกัน

ยิ่งเป็นการสาธยายธรรมตอนทำวัตรเช้า เราสวด พุทโธ สุสุทโธ... ไปตามลำดับ มีอยู่บทหนึ่งว่า รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญาณัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา ดังนี้

เราสาธยายไปๆ สวดไปๆ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติขึ้นมาตามลำดับๆ บางท่านในขณะที่ปฏิบัติอยู่นี้ ไม่มีโอกาสที่จะทำวัตรเช้ากับบรรดาพระสงฆ์สามเณรที่เรียนปริยัติ พอดีหลังจากปิดการปฏิบัติก็มาทำวัตรรวมกัน เมื่อมาทำวัตรรวมกันเท่านั้น เมื่อทำมาถึง รูปัง อนิจจัง เวทนา อนิจจา นี้ ทำไม่ได้เลย เกิดปีติตื้นตันใจ มีแต่น้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลา

หรือบางที เวลาออกมาจากปฏิบัติกัมมัฏฐานใหม่ๆ มาเห็นญาติโยมที่มาถวายภัตตาหารเช้า สวดทำวัตรเช้า ก็สวด พุทโธ สุสุทโธ... ไป พอถึง รูปัง อนิจจัง เท่านั้น ฉันภัตตาหารไม่ได้ หรือบางทีขึ้นบทต้นว่า พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ เท่านั้นแหละ ตื้นตันใจ ฉันภัตตาหารไม่ได้ มีแต่น้ำตาไหลอยู่

นี่แหละท่านทั้งหลาย การที่สาธยายธรรมนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้เหมือนกัน คือเมื่อเราสาธยายธรรมไปๆ หรือว่าสวดมนต์ไป เจริญพระพุทธมนต์ไป เราสวดเราสาธยายด้วยใจด้วยสติปัญญา ไม่ใช่ว่าแต่ปาก เมื่อใดที่เราสาธยายธรรมด้วยใจ ด้วยสติปัญญาไปตามลำดับ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดปีติ ความปราโมทย์อิ่มใจ เบิกบานใจ ตื้นตันใจ เมื่อปีติเกิดแล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต คือมีสมาธิก่อตัวหนักแน่นขึ้น

เมื่อสมาธิก่อตัวหนักแน่นเป็นอธิจิตตสิกขาแล้ว หลังจากนั้น จิตใจก็จะสงบระงับจากนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ เมื่อนิวรณ์ธรรมสงบลงไป ไม่สามารถเกิดขึ้นมาครอบงำจิตใจของเราได้ จิตใจก็เป็นอิสระ เมื่อจิตใจเป็นอิสระ ก็มีความคล่องแคล่วว่องไวไหวพริบในการพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม เรียกว่า กัมมนิโย จิตว่องไวในการพิจารณา

เมื่อจิตมีความว่องไวไหวพริบในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมแล้ว ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง รู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรม เมื่อรู้สภาวะตามความเป็นจริงของธรรมแล้ว ก็จะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด ก็เป็นเหตุให้ถึงวิมุตติความหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น จิตใจก็เป็นวิสุทธิ สะอาดหมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตสะอาดหมดจด ก็เป็นปัจจัยให้ถึงสันติความสงบ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุพระนิพพาน นี้เรียกว่า บรรลุขณะที่กำลังสาธยายธรรม

๔. บรรลุขณะที่ตริตรองพิจารณาธรรม ซึ่งเรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายความว่า เราทั้งหลายได้ฟังธรรม ทุกเช้า ทุกเพล ทุกเย็น ทุกค่ำ แล้วก็น้อมนำเอาธรรมนั้นไปพิจารณาตริตรองดูว่า ธรรมที่ท่านกล่าวมานั้นจริงหรือ ท่านกล่าวว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นจริงหรือ

ท่านบอกว่าอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นอริยสัจ ๔ ก็อยู่ที่ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เป็นจริงอย่างนั้นหรือ เราก็พิจารณาไปๆ ตามลำดับๆ

เมื่อตริตรองพิจารณาค้นคว้าธรรมที่ได้ฟังมา ก็เป็นเหตุให้เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมา ทำให้เกิดปีติความอิ่มใจดีใจเบิกบานใจ เกิดความปราโมทย์ความตื้นตันใจว่า เป็นจริงตามที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์จริงๆ รูปนามขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริงๆ อริยสัจ ๔ ก็อยู่ในนี้จริงๆ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็อยู่ในนี้จริง เมื่อเกิดปีติแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดสมาธิ ที่เรียกว่า สมาหิโต จิตก่อตัวตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็ปราศจากนิวรณ์ธรรม ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา

เมื่อสมาธิตั้งมั่นหนักแน่นแล้ว จิตก็เป็นอิสระ ทำให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไวในการใช้ปัญญาพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมตามที่เราได้ยินได้ฟังมา เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมจนรู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรมก็ดี เป็นนามธรรมก็ดี ก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย ไม่เป็นไปตามความต้องการ เช่น สมมติว่าเราจะบังคับร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ว่า แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก หนังอย่าสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ขอจงมีความสุขความสบายอยู่อย่างนี้ตลอดไป ก็ไม่เป็นไปตามความปรารถนา รูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาจริงๆ

เราพิจารณาไปถึงบรรดาสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครอง เราก็จะเห็นสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วดับไป ทุกขังทนไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วดับไป เมื่อเห็นรูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา ด้วยปัญญาเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายทั้งปวงด้วยอำนาจอุปาทานใดๆ เมื่อเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายแล้วก็คลายกำหนัด

เมื่อคลายกำหนัดแล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากรูปนาม จากสังขารทั้งหลายทั้งปวง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เป็นวิสุทธิถึงความบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้วก็ถึงสันติคือพระนิพพาน จิตใจก็จะสงบด้วยอำนาจอริยมรรคบ้าง ด้วยอำนาจอริยผลบ้าง ก็เป็นอันว่า ถ้าบรรลุด้วยวิธีนี้ เรียกว่าบรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรม ผู้บรรลุโดยวิธีนี้ ในครั้งพุทธกาลมีมาก

๕. บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิ ได้แก่ การที่เราทั้งหลายตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เหมือนดังท่านทั้งหลายที่เจริญอยู่นี้แหละ เราเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งสมาธิ อันนี้เราฝึกให้จิตใจของเรามีสมาธิ ฝึกให้จิตใจตั้งมั่น ฝึกสติสัมปชัญญะให้มีกำลัง

เมื่อใดจิตใจมีกำลัง มีสติสัมปชัญญะ มีสมาธิ สมาธิก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เมื่อปัญญาเกิดขึ้นมาแล้ว ก็สามารถแทงตลอดอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พร้อมทั้งพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผล ด้วยอำนาจของสมาธิ ด้วยกำลังของสมาธิ คือสมาธิเป็นพื้นฐาน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เป็นอันสรุปได้ว่า การที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผล หรือว่าการที่จะบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์นั้น บรรลุได้ด้วยลักษณะ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ได้บรรลุในขณะที่ฟังธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่แสดงธรรมบ้าง บรรลุในขณะที่สาธยายธรรมบ้าง บรรลุด้วยการตริตรองพิจารณาเนื้อหาสาระของธรรมะบ้าง บรรลุด้วยอำนาจของสมาธิบ้าง นี้ตามที่ท่านกล่าวไว้ใน วิมุตตายตนสูตร

ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ขอร้องเป็นพิเศษ ให้เดินจงกรม ให้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ เช่นว่า เราฉันเช้าไปแล้ว หรือฉันเพลไปแล้ว ก็เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่งสมาธิ ถ้าเราฉันเช้าฉันเพลแล้วไปนั่งสมาธิเลยทีเดียว ส่วนมากเป็นสมาธิปลอมมากกว่า คือในขณะนั้นจะเกิดถีนมิทธะนิวรณ์คือความง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาครอบงำจิตใจ ทำให้ซึมๆเหมือนกับเป็นสมาธิเสียเป็นส่วนมาก และผลเสียส่วนมากก็ทำให้อาหารไม่ค่อยย่อย ทำให้ท้องอืด เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิ ให้เดินจงกรมเสียก่อนแล้วจึงมานั่งสมาธิ เพราะว่า การเดินจงกรมนั้น จะได้อานิสงส์ถึง ๕ ประการ[๒] คือ

๑. อทฺธานกฺขโม โหติ ทนต่อการเดินทางไกล

๒. ปธานกฺขโม โหติ ทนต่อการทำความเพียร

๓. อปฺปาพาโธ โหติ มีอาพาธน้อย บางทีโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ก็พลันหายไปก็มี

๔. อสิตํ ปิตํ ขายิตํ สายิตํ สมฺมาปริณามํ คจฺฉติ อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม แล้ว ย่อมย่อยดี

๕. จงฺกมาธิคโต สมาธิ จิรฏฺฐิติโก โหติ สมาธิที่ได้ในเวลาเดินจงกรม ย่อมตั้งมั่นอยู่ได้นาน ไม่เหมือนสมาธิที่ได้ในเวลานั่ง

นี้เป็นอานิสงส์ของการเดินจงกรม เหตุนั้น ก่อนที่จะนั่งสมาธิทุกครั้ง ขอให้ท่านทั้งหลายได้เดินจงกรมเสียก่อนจึงค่อยนั่ง ก็ขอสรุปเอาสั้นๆว่า ถ้าเรามีแต่นั่งอย่างเดียว มีแต่นั่ง ไม่มีการเดินจงกรมเลย หลวงพ่อขอบอกได้เลย ขอพยากรณ์ได้เลยว่า เราจะนั่งตลอดทั้งพรรษาก็ไม่มีโอกาสที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเลย มิหนำซ้ำ เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นโรคเหน็บชา เป็นอัมพาตได้ด้วย เพราะฉะนั้น ขอให้เดินจงกรม

สำหรับการนั่งสมาธิ เพราะเหตุไรจึงให้นั่งสมาธิ เพราะว่า ต้องการทำให้จิตใจของเรานี้สงบแล้วก็เกิดปัญญา อันเป็นมรรคาไต่เต้าไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผล เพราะว่า อานิสงส์ของสมาธินี้มีถึง ๘ ประการ คือ

๑. มีความสุขในปัจจุบัน

๒. ได้บรรลุสมบัติ ๓ ประการ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ

๓. ยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น

๔. มีสติสัมปชัญญะมั่นคง ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหา

๕. ไม่หลงทำกาลกิริยา คือเวลาจะตายนั้น สามารถระลึกถึงบุญถึงกุศลของตนได้ ไม่หลงตาย

๖. ได้ภพอันวิเศษ ได้แก่ สุคติภพ คือ มนุษย์ สวรรค์ พรหม เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

๗. ได้บรรลุวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง

๘. เมื่ออุปนิสัยแก่กล้า ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินั้นๆ

นี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิที่เราบำเพ็ญให้เกิดให้มีในขันธสันดาน

ต่อไปก็ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายพึงสังวรระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่า การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเรานี้ ถึงแม้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานก็จริง แต่เราก็ต้องผ่านอุปสรรค ผ่านด่านอันตรายจิปาถะ อะไรร้อยแปดพันประการ จึงจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางได้ เหมือนกับเราเดินทางนี้ กว่าเราจะถึงจุดหมายปลายทางได้ เราก็ต้องทนต่อความลำบากลำบน จึงจะถึงจุดหมายปลายทางได้ หรือว่าทหารจะเข้าสู่สนามรบ จะเอาชนะข้าศึกได้อย่างนี้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ จึงจะสามารถเอาชนะข้าศึกได้ ข้อนี้ฉันใด

เราท่านทั้งหลายที่ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อเอาชนะข้าศึกภายในคือกิเลสตัณหา ก็ต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคนานัปการ เมื่อใดเราสามารถเอาชนะอุปสรรคคือข้าศึกภายในได้แล้ว จึงจะได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

สำหรับอันตรายของการประพฤติปฏิบัติ วันนี้จะยกเอามาเตือนสติท่านทั้งหลายเพียง ๑๗ ประการ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงอาวาส คือห่วงที่อยู่ เราจากวัดจากวา จากบ้านจากเมืองมา ก็ห่วงวัดวาอาราม ห่วงบ้านห่วงเมืองของเรา อันนี้ก็เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุสามัญผลเหมือนกัน

๒. ลาภปลิโพธ ห่วงลาภสักการะ

๓. โภคปลิโพธ ห่วงทรัยพ์สมบัติ

๔. กัมมปลิโพธ ห่วงการงาน

๕. โรคปลิโพธ ห่วงว่าจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล

๗. คณปลิโพธ ห่วงหมู่ห่วงคณะ

๘. ญาติปลิโพธ ห่วงญาติพี่น้อง

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงฤทธิ์

๑๑. ทำการงานอย่างไม่มีสติ เช่น เรานุ่งสบง ทรงจีวร พาดสังฆาฏิ สรงน้ำ ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เป็นต้น ขาดสติ เราไม่ได้กำหนดติดต่อกันไป ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคเหมือนกัน

๑๒. นิททารามตา มัวนอน คือนอนมากเกินไป แต่ชั่วโมงปฏิบัติน้อย

๑๓. ภัสสารามตา มัวคุยกัน

๑๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีกับหมู่กับคณะ

๑๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวารทั้งหก คือไม่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา มันเกิดขึ้นในขณะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาเหมือนกัน

๑๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหารที่บริโภค

๑๗. จิตตัง วิมุตตัง นะ ปัจจเวกขติ ไม่พิจารณาจิตของตน คือไม่ตามรู้ความเป็นไปของจิต

จิตมีราคะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโลภะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโลภะ จิตมีโทสะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตมีถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตมีถีนะ หรือว่า จิตพ้นจากราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ถีนะ ก็ไม่รู้ว่าจิตพ้นแล้วจากสิ่งเหล่านี้ คือไม่พิจารณารู้จิตของตน ว่า

ขณะนี้ กิเลสตัณหาที่เกิดครอบงำจิตของเรามีอยู่หรือ หรือว่าขณะนี้ จิตของเราปราศจากกิเลสตัณหา ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้าครอบงำ เราก็ไม่ได้พิจารณา เมื่อเราไม่พิจารณาจิตของเราดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน

เหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงระมัดระวังอันตรายทั้ง ๑๗ ประการนี้ อย่าให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราทั้งหลาย หากว่าเราปล่อยให้อุปสรรคทั้ง ๑๗ ประการนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมา เราก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

เหตุนั้น ให้นักปฏิบัติธรรมพึงสำรวมให้ดี เมื่อเกิดขึ้นมาในขันธสันดานของเราแล้ว พึงพยายามกำจัดให้หมดไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดานของเรา แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเดินจงกรม นั่งสมาธิ บำเพ็ญเพียรต่อไป ผลสุดท้ายเราก็จะได้บรรลุสามัญญผลสมกับความตั้งใจ

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำธรรมะ เรื่อง วิมุตตายตนสูตร มาบรรยายเพื่อปรับความเข้าใจในการไหว้พระ ทำวัตร เจริญพระพุทธมนต์ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.



[๑] ที. ปาฏิกวคฺโค ๑๑/๔๑๙/๒๙๙

[๒] องฺ. ปญฺจกนิปาต ๒๒/๒๙/๓๑

วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 พฤศจิกายน 2561 09:20:18

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/657/44657/images/DSCF1814.jpg)

อารยธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะน้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมะของท่านทั้งหลายสืบไป

คำว่า อารยธรรม หมายความได้หลายอย่าง เช่น

๑. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ห่างไกลจากข้าศึกคือกิเลส อธิบายว่า อารยธรรมนี้ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะห่างไกลจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ความถือตัว ความเห็นผิด ความสงสัยลังเลใจ ความหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่าน ความไม่ละอายบาป ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป ผู้นั้นได้นามว่า เป็นอารยชน แปลว่า ชนผู้เจริญด้วยศีลธรรม

๒. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากโรค

คำว่า โรค นั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑) กายิกโรโค โรคทางกาย เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่ชาวโลกได้รับอยู่ทุกวันนี้ มีโรคตา โรคหู โรคจมูก เป็นต้น

๒) เจตสิกโรโค โรคทางใจ ได้แก่ กิเลส ถ้าร่างกายอ้วนแต่ใจผอม คือไม่มีธรรมเป็นเรือนใจ ฉันใดแล้ว บุคคลนั้นก็หาความสุขได้ยากมาก เช่น คนที่ฆ่าตัวตาย กินยาตาย โกงกัน ปล้นกัน ลักของกัน ข่มเหงกัน เบียดเบียนกัน ริษยากัน ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติผิดกฎหมายบ้านเมืองต่างๆนานา ก็เพราะใจเป็นโรค ใจขาดเรือนอยู่ ถ้าอารยธรรมมีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากโรค จะมีแต่ความสุขความเจริญฝ่ายเดียว

๓. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ปราศจากฝนคือกิเลสตัณหา เหมือนหลังคาบ้านที่รั่ว เจ้าของเรือนต้องเดือดร้อน นอนหลับก็ต้องตื่น ค่ำคืนก็ต้องลุกขึ้นมา ทนทุกข์ทรมาน ข้อนี้ฉันใด ใจที่ถูกฝนภายในคือกิเลสรั่วรด ก็ฉันนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนไว้ว่า

ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ  วุฏฺฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ  ราโค สมติวิชฺฌติ[1]

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด กิเลสมีราคะ โทสะ โมหะ ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมไม่ดี ฉันนั้น แต่ฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด กิเลสมีราคะเป็นต้น ย่อมรั่วรดจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

๔. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่ประเสริฐ คือ อารยธรรมนี้ ล้วนแต่เป็นธรรมที่ดีๆ ถ้ามีอยู่ในขันธสันดานของผู้ใด ก็จะทำให้ผู้นั้นมีกายงาม วาจางาม ใจงาม เป็นสง่าราศี เป็นที่เคารพบูชา เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักปราชญ์

๕. อารยธรรม หมายความว่า ธรรมที่สะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ปราศจากความลามก ปราศจากบาป มีแต่ความเจริญงอกงามไพบูลย์ ถ้ามีอยู่ในบุคคลใด ก็จะทำให้บุคคลนั้นเป็นอารยชน ถ้าบุคคลเช่นนี้มีอยู่ในบ้านใด เมืองใด ประเทศใด บ้านนั้น เมืองนั้น ประเทศนั้น ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ อยู่เย็นเป็นสุข ไม่ผูกพยาบาทฆ่าล้างผลาญกัน อาฆาตจองเวรแก่กัน และไม่ก่อภัย ก่อเวร ก่อทุกข์ ให้แก่ใครๆ

คำว่า อารยธรรม มีความหมายตามที่ได้บรรยายมานี้

อนึ่ง อารยธรรมนั้นมี ๖ ประการ ตามพระบาลีที่ว่า

อกฺโกธโน อนุปฺปนาหี  อมกฺขี สุทฺธตํ คโต
สมฺปนฺนทิฏฺฐิ เมธาวี  ตํ ชญฺญา อริโย อิติ.

แปลว่า อารยธรรม นั้น มีอยู่ ๖ ประการคือ

๑. อกฺโกธโน ความไม่โกรธ

๒. อนุปฺปนาหี ความไม่ผูกโกรธ

๓. อมกฺขี ความไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน

๔. สุทฺธตํ คโต ถึงความบริสุทธิ์

๕. สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นบริบูรณ์

๖. เมธาวี มีปัญญา

มีอธิบายดังนี้

๑. อกฺโกธโน ความไม่โกรธ ความไม่โกรธนี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก คือความเมตตานั่นเอง เมตตานี้มีความไม่ดุร้าย ความไม่พิโรธ ไม่แค้นเคือง ไม่ทารุณโหดร้าย เป็นลักษณะ เป็นดุจเพื่อนผู้อนุกูลกัน หวังดีต่อกัน ความไม่โกรธ มีหน้าที่กำจัดความพยาบาทอาฆาตจองเวรออกไปให้ห่างไกล ทำความเร่าร้อนต่างๆให้พินาศไป ดุจแก่นจันทน์ระงับความเร่าร้อนในกายให้เยือกเย็นลงได้ มีผลคือความร่มเย็นเป็นสุข ไม่ก่อทุกข์ให้แก่ใคร มีใจผ่องใส ดุจพระจันทร์วันเพ็ญลอยเด่นอยู่กลางนภา ฉะนั้น

ส่วนเหตุใกล้ชิดจะทำให้เมตตาเกิดขึ้นมีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่

๑) โยนิโสมนสิกาโร ใส่ใจโดยอุบายอันแยบคายในเหตุนั้นๆ คือพินิจพิจารณาอย่างละเอียดลออ ไม่ตัดสินใจเร็วนัก อย่าวู่วามโกรธง่าย ให้เป็นคนที่มีความลึกซึ้ง มีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ใคร่ครวญตริตรองพิจารณาถึงโทษของความโกรธเสียก่อน แล้วความโกรธก็จะไม่เกิดขึ้น เมตตาก็จะมาแทนที่

๒) เมตฺตานิมิตฺตสฺส อุคฺคโห เรียนวิธีแผ่เมตตาให้เข้าใจดี

๓) เมตฺตาภาวนานุโยโค เจริญเมตตาภาวนาทุกๆวัน

๔) กมฺมสฺสกตาปจฺจเวกขณา พิจารณากรรมของเราเอง

๕) ปฏิสงฺขานพหุลีกตา พิจารณากรรมของตนเองและกรรมของผู้อื่นสัตว์อื่นด้วย

๖) กลฺยาณมิตฺตตา คบแต่เพื่อนที่ดีๆ

๗) สปฺปายกถา สนทนาปราศรัยกันแต่คำที่สบายใจ

๘) เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นนิตย์

คุณธรรมทั้ง ๘ ข้อนี้ เป็นเหตุใกล้ชิดที่จะทำให้ความไม่โกรธเกิดขึ้น คุณธรรมคือความไม่โกรธนี้ พระสารีบุตรเถระได้ประพฤติปฏิบัติมาเป็นตัวอย่างดีเยี่ยม ดังมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทว่า

เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร พวกมนุษย์ได้พากันกล่าวยกย่องสรรเสริญคุณของพระสารีบุตรว่า น่าเคารพบูชาเหลือเกิน พระคุณเจ้าของเรา เต็มเปี่ยมไปด้วยความอดทน ใครๆจะด่าว่าจะประหารท่าน ท่านก็ไม่โกรธเลยแม้แต่นิดเดียว

ครั้งนั้น พราหมณ์มิจฉาทิฏฐิคนหนึ่งประสงค์จะยั่วยุให้ท่านโกรธ ในเวลาท่านไปบิณฑบาต แอบย่องไปข้างหลัง แล้วเอากำปั้นตีลงที่กลางหลังของท่าน ท่านไม่เหลียวมาดูเลย เดินไปเฉย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พราหมณ์นั้นก็เกิดความเดือดร้อนใจขึ้นมาว่า

น่าอัศจรรย์จริงหนอ พระผู้เป็นเจ้าองค์นี้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมอย่างดี สมกับที่ประชาชนเล่าลือกันจริงๆ จึงได้หมอบลงแทบเท้าของท่านแล้วขอขมาโทษ ท่านก็ยกโทษให้ พราหมณ์นั้นก็มีความเชื่อความเลื่อมใส มีความเคารพคารวะต่อพระเถระนั้น แล้วนิมนต์ท่านไปฉันบิณฑบาตที่บ้านของตน ปวารณาตนเป็นโยมอุปัฏฐาก เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความไม่โกรธเป็นอารยธรรมสำคัญข้อหนึ่ง

๒. อนุปฺปนาหี ความไม่ผูกโกรธ ความผูกโกรธกันไม่มีประโยชน์อะไร มีแต่โทษฝ่ายเดียวเท่านั้น ถ้าใครผูกโกรธบุคคลที่โกรธกัน พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า กลับจะเป็นคนเลวยิ่งกว่าบุคคลที่โกรธเสียอีก ดังพระบาลีว่า

ตสฺเสว เตน ปาปิโย  โย กุทฺธํ ปฏิกุชฺฌติ[2]
ผู้ใดโกรธตอบ ต่อบุคคลผู้โกรธก่อน คนนั้นเป็นคนเลวเสียยิ่งกว่า ดังนี้

เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทีเดียว เพราะว่าคนที่โกรธตอบ ก็เหมือนกันกับคนที่มุ่งจะประหารผู้อื่น แต่ตัวเองเหมือนเอามือไปจับก้อนเหล็กแดงอันร้อนโชนปราศจากเปลวฉะนั้น และเหมือนกันกับบุคคลเอามือไปจับมูตรคูถฉะนั้น เพราะเหตุนั้น นักปฏิบัติธรรมต้องไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรซึ่งกันและกัน ต้องให้อภัยกัน สงสารกัน รักใคร่กัน จึงจะดี เราเกิดมา ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้ากันสักคนเดียว ตายด้วยกันทั้งนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว อย่าไปผูกโกรธผูกเวรซึ่งกันและกันเลย ถ้าใครผูกโกรธกัน ก็เหมือนกันกับเอาปลาเน่า สุนัขเน่า หรือมูตรคูถเน่า มาผูกตัวเอง มีแต่จะทำให้ตัวเองจมลงสู่อบายภูมิ ให้ปฏิบัติตนอย่างนางอุตตราไม่ผูกโกรธในนางสิริมา ฉะนั้น

คือมีเรื่องเล่าไว้ว่า นางอุตตรานั้น ได้จ้างนางสิริมาไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่บำรุงสามีแทนตน เมื่อเวลาล่วงเลยไปนานเข้า นางสิริมาคิดสำคัญตัวเองว่าเป็นภรรยาจริงๆ วันหนึ่งเห็นสามีของนางอุตตรายิ้มให้นางอุตตรา เกิดความหึงหวง วิ่งไปตักเอาน้ำร้อนต้มเดือดๆ เทราดที่ศีรษะของนางอุตตรา แต่นางอุตตรากลับแผ่เมตตาจิต ไม่คิดที่จะโกรธตอบเลยแม้แต่เล็กน้อย น้ำร้อนนั้นก็กลับเย็นดุจน้ำแข็ง เพราะอานิสงส์ของความไม่ผูกโกรธ จึงจัดเป็นอารยธรรมข้อหนึ่ง

๓. อมกฺขี ความไม่ลบหลู่คุณท่าน คือความเป็นผู้กตัญญูกตเวทีนั่นเอง ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ

๑) พุทธบริษัท เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที มีความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

๒) ลูกมีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นท่าน

๓) ศิษย์มีความจงรักภักดี มีความกตัญญูกตเวทีต่อครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ไม่ลบหลู่ดูถูกท่าน

๔) ไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีความเคารพคารวะ มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีซื่อสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นพระองค์

คนมีความกตัญญูกตเวทีอย่างนี้ เรียกว่า อมักขี จะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่มีความเสื่อม จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความเดือดร้อน ย่อมจะได้รับแต่ความสุขกายสบายใจ ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ

๔. สุทฺธตํ คโต ถึงความบริสุทธิ์ มี ๓ ขั้น ได้แก่

๑) ความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ ได้แก่ บริสุทธิ์จากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ มโนทุจริต ๓ ความบริสุทธิ์นี้ย่อมได้ด้วยการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เพราะว่าศีลสามารถที่จะกำจัดกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายวาจาได้เท่านั้น เมื่อกิเลสหยาบไม่ล่วงออกมาทางกายวาจาแล้ว ก็ถือว่าถึงความบริสุทธิ์ขั้นต่ำ

๒) ความบริสุทธิ์ขั้นกลาง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากนิวรณ์ ๕ ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญสมถกัมมัฏฐาน เพราะว่าสมถกัมมัฏฐานสามารถกำจัดกิเลสอย่างกลางให้สงบระงับไปได้

๓) ความบริสุทธิ์ขั้นสูง ได้แก่ ความบริสุทธิ์จากอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ความบริสุทธิ์นี้จะมีได้ด้วยการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ไปได้ถึง ๔ ครั้งแล้ว ก็สามารถทำลายอนุสัยกิเลสซึ่งนอนดองอยู่ในส่วนลึกของจิตใจให้หมดไป เมื่อใดอนุสัยกิเลสหมดไปแล้ว จิตใจของเราก็สะอาด ถึงความบริสุทธิ์ขั้นสูง

๕. สมฺปนฺนทิฏฺฐิ มีความเห็นอันสมบูรณ์ คำว่า ความเห็น นี้เป็นคำกลางๆ อาจจะเห็นผิดก็ได้ เห็นถูกก็ได้ ถ้าเห็นผิดก็เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ ในอารยธรรมนี้ หมายเอาความเห็นถูก คือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง มีอยู่ถึง ๖ ประการคือ

๑) กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก ได้แก่ เห็นว่าบุคคลทุกๆคนมีกรรมเป็นของตน ตนทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ตนทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว แล้วละชั่วประพฤติดี

๒) ฌานสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าการเจริญสมถกัมมัฏฐานเป็นของดี เพราะการระงับปริยุฏฐานกิเลสอย่างกลางได้แล้วลงมือเจริญสมถกัมมัฏฐาน

๓) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือมีความเห็นว่าพระวิปัสสนาเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงพร่ำสอนเพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามได้พ้นทุกข์ แล้วลงมือปฏิบัติตาม จนเกิดวิปัสสนาญาณต่างๆ ตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๑๓ คือโคตรภูญาณ

๔) มัคคสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นมัคคจิต เห็นพระนิพพาน ตัดกิเลสขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ทำกิเลสให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน แล้วลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนยังมัคคญาณให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

๕) ผลสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือเห็นว่ามัคคจิต เห็นพระนิพพานเป็นผลของมรรคที่ประหารกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว

๖) ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูก คือพิจารณาเห็นกิเลสที่ละได้และยังเหลืออยู่ พิจารณามรรค ผล นิพพาน

๖. เมธาวี มีปัญญา ปัญญามีมากมายแต่จะยกมา ๓ ประการ คือ

๑) ปริตตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือเล่าเรียนนักธรรมชั้นตรี โท เอก เป็นต้น จัดเป็นมหากุศลชั้นกามาวจร มีผลให้ไปเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์

๒) มหัคคตปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้บรรลุปฐมฌาน เป็นต้น จัดเป็นรูปาวจรกุศล มีผลให้บังเกิดในพรหมโลก

๓) อัปปมาณปัญญา ได้แก่ ปัญญาของผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จัดเป็นโลกุตตรกุศล มีผลให้เข้าสู่พระนิพพาน

คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ เรียกว่า อารยธรรม หรืออริยธรรม บุคคลที่ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ จึงจะได้นามว่า อริยชน ตามหลักของทางพระพุทธศาสนา

อารยธรรมนั้น เมื่อจะกล่าวสรุปใจความที่ได้บรรยายมาแล้ว จะเห็นได้ว่า มีหลายอย่าง คือ

๑) อารยธรรม ทำคนให้เป็นคน

๒) อารยธรรม ทำคนให้ดีกว่าคน

๓) อารยธรรม ทำคนให้เลิศกว่าคน

๔) อารยธรรม ทำคนให้เด่นกว่าคน

๕) อารยธรรม ทำคนให้สูงกว่าคน

๖) อารยธรรม ทำคนให้ประเสริฐกว่าคน

๗) อารยธรรม ทำคนให้เป็นพระ

๘) อารยธรรม ทำให้บุคคลแต่ละคนสุขกายสบายใจ

๙) อารยธรรม ทำคนให้มีค่า ทำให้ประเทศชาติพระศาสนาเจริญรุ่งเรือง

๑๐) อารยธรรม ทำให้บุคคลบรรลุประโยชน์ ๓ คือ ประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน

๑๑) อารยธรรม ทำให้บุคคลได้สำเร็จสมบัติ ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และพระนิพพานสมบัติ

๑๒) อารยธรรม ทำให้บุคคลได้ถึงแก่นธรรม ได้พ้นจากกองทุกข์และเพลิงกิเลส

๑๓) อารยธรรม ทำให้ชาวโลกร่มเย็นเป็นสุข เช่น ตัวอย่าง นางลดากุมารี มีเรื่องเล่าไว้ในวิมานวัตถุว่า

สมัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหารเมืองสาวัตถี มีนางกุมารีคนหนึ่งชื่อว่าลดา เป็นนักปราชญ์ เฉลียวฉลาดพอสมควร มารดาบิดาขอให้อยู่ในตระกูลสามี นางได้ปรนนิบัติอุปัฏฐากสามีแม่ผัวเป็นอย่างดี ฉลาดในอันที่จะสงเคราะห์อันโตชนบริวารชน อโกธนา นางหาความโกรธมิได้ ประกอบไปด้วยศีลาจารวัตรเป็นอย่างดี นางยินดีในการจำแนกแจกทาน รักษาศีล ๕ เป็นนิจไม่ได้ขาด มิได้ประมาทมัวเมาในชีวิต ตั้งจิตรักษาอุโบสถศีลเป็นอันดี ครั้นทำกาลกิริยาตายไป นางได้บังเกิดในสวรรค์ สมเด็จพระจอมธรรม์ได้นำมาแสดงแก่พุทธบริษัท

คุณธรรมทั้ง ๖ อย่าง มีความไม่โกรธเป็นต้นนี้ เป็นอุปการะแก่การเจริญพระกัมมัฏฐาน ทั้งที่เป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะหากว่าเราขาดคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนี้ ก็มีแต่การเอารัดเอาเปรียบกัน มองดูกันไม่เป็นมิตร ขาดความเคารพ ขาดความนับถือ ขาดความรักใคร่ ขาดความสามัคคี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดความระส่ำระสาย คิดมาก อารมณ์ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด อยู่ด้วยกันเพียง ๕-๖ วัน ก็เหมือนกันกับว่าอยู่ด้วยกันตั้ง ๕-๖ ปี มีแต่คิดในด้านอกุศลเป็นต้น การที่เราทั้งหลายอยู่ร่วมกันนี้ ถ้าสมบูรณ์ด้วยธรรม ๖ ประการนี้ ยิ่งอยู่ด้วยกันก็ยิ่งมีความเคารพ มีความรักใคร่ มีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความสุข ไม่อยากจากกันไป ก็เป็นเหตุให้การประพฤติปฏิบัติได้ดี เป็นเหตุให้เกิดสมาธิสมาบัติ สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง อารยธรรม อันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.




[1] (ขุ. ขุทฺทก. ๒๕/๑๑/๑๖)
[2] (สํ.สคาถวคฺโค ๑๕/๖๓๓/๒๓๘)


วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 13 พฤศจิกายน 2561 09:18:52

(http://images.palungjit.org/attachments/19843-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%86-1f80717639-jpg)

ความงามของพระศาสนา

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ความงามของพระศาสนานี้ ท่านได้กล่าวไว้ในปฐมสามนต์ (สมันตปาสาทิกา) หน้า ๑๓๕ ว่า สกโลปิ สาสนธมฺโม พระธรรมคือศาสนาแม้ทั้งหมด มีความงามอยู่ ๓ ประการ คืองามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ท่านจำแนกแจกไว้เป็นหมวดๆ ดังต่อไปนี้ คือ

หมวดที่ ๑

อตฺตโน อตฺถภูเตน สีเลน อาทิกลฺยาโณ พระศาสนางามในเบื้องต้นด้วยศีลอันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง

สมถวิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยสมถะ วิปัสสนา มรรค

นิพฺพาเนนปิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยพระนิพพาน

หมวดที่ ๒

สีลสมาธีหิ อาทิกลฺยาโณ งามในเบื้องต้นด้วยศีลและสมาธิ

วิปสฺสนามคฺเคหิ มชฺเฌกลฺยาโณ งามในท่ามกลางด้วยวิปัสสนาและมรรค

ผลนิพฺพาเนหิ ปริโยสานกลฺยาโณ งามในที่สุดด้วยผลและนิพพาน

หมวดที่ ๓ ท่านแก้ต่อไปว่า

ก. เมื่อบุคคลกำลังฟังพระธรรมคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ นิวรณ์ ๕ อันกั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ก็สงบลงไป นิวรณ์ ๕ นั้น คือ

๑) กามฉันทะ พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

๒) พยาบาท ปองร้ายผู้อื่น ในเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ไม่พอใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่น่าชอบใจ ไม่น่าปรารถนา ก็เป็นเหตุให้เกิดความพยาบาทขึ้นมา

๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาเศร้าซึม กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดี

๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ เพราะนึกถึงบาปเก่าที่ตนได้เคยทำไว้ และบุญกุศลไม่ได้ทำ หรือทำก็ทำไว้น้อย ก็ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปในอารมณ์ต่างๆได้

๕) วิจิกิจฉา ความสงสัย ลังเลใจ ไม่ตกลงได้ เช่น สงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ สงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพาน สงสัยในเรื่องบาปเรื่องบุญเป็นต้น เมื่อนิวรณ์ ๕ สงบลงไปชั่วขณะที่ฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ ก็เป็นเหตุให้บุคคลนั้นได้รับความสุขอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนามีความงามในเบื้องต้น

ข. เมื่อบุคคลฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คือลงมือปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติตามสมควรแก่วาสนาบารมีของตนๆ นับตั้งแต่ขั้นต่ำเป็นต้นไป แต่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงอย่างนั้น ผู้นั้นก็ย่อมได้รับความสุขใจมิใช่น้อย ย่อมจะเกิดความเชื่อความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างดี อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในท่ามกลาง

ค. เมื่อบุคคลใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลดีคงที่ คือได้บรรลุผลแห่งการปฏิบัติ นับตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผล อย่างนี้เรียกว่า พระศาสนางามในที่สุด

ว่าด้วยภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัตินี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติที่จิต จะได้ผลน้อยหรือมากเราก็ดูที่จิตของเรา ถ้าว่าเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ลงไปได้เสี้ยวหนึ่งในส่วนสี่ (๑/๔) เราก็ชื่อว่าได้บรรลุขั้นปฐมมรรคแล้ว

หากว่าเราสามารถทำให้เบาบางไปถึงสองส่วน ก็ถือว่าเราได้บรรลุเป็นพระสกิทาคามีแล้ว แต่ถ้าว่าเราทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปครึ่งหนึ่ง เช่น ความโลภหมดไปถึง ๔ ตัว ความโกรธและกามราคะก็หมดไป ไม่มีเหลือหลออยู่ในขันธสันดาน

วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในข้อปฏิบัติ เป็นต้น ก็หมดไป ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ จิตใจของเราละได้อย่างนี้ ก็แสดงว่าเราได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เดินไปได้ครึ่งทางแล้ว จวนจะถึงนิพพานขั้นสูงสุดยอดแล้ว

ถ้าว่าเราสามารถทำลายกิเลสตัณหาได้หมด ไม่มีกิเลสตัณหา ไม่มีอาสวะเหล่าใดนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา ใครจะมายุมายั่วด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่โกรธ ใครจะมายกย่องสรรเสริญอย่างไรก็ไม่ยินดี เขาจะมีทรัพย์สินเงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ มีเงินเป็นล้านๆ มาวางไว้ มาถวาย ก็ธรรมดาๆ ไม่ตื่นเต้น ไม่ดีใจ แต่ไม่ใช่ใจจืดใจดำ หรือไม่ใช่ใจจืดใจจาง

หรือหากว่า (เรา) จะมีเงินทองกองแก้ว แต่มีอันเป็นไป ถูกโจรลักโจรขโมยไป ถูกเขาปล้นไปจี้ไป หรือตกหายอะไรทำนองนี้ ก็อยู่เฉยๆ ไม่มีความเสียใจ เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเราประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราบรรลุอริยมรรคอริยผลถึงขั้นพระอรหัตตมรรคพระอรหัตตผลแล้ว ถือว่าเราปฏิบัติธรรมะได้ผลขั้นสูงสุดยอดแล้ว

เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงสังเกตและพิจารณาดูที่จิตของเราว่า ขณะนี้ จิตใจของเราสามารถละราคะ โทสะ โมหะ ตัณหา อุปาทาน ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไร ก็ขอให้เราได้พิสูจน์เอาเอง

ธรรมดาจิตของบุคคลย่อมผูกพันอยู่กับอารมณ์ต่างๆ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ตลอดกาลนาน นับตั้งแต่อ้อนแต่ออกมา ตั้งแต่เราได้คลอดจากครรภ์ของมารดามาจนถึงป่านนี้ จิตใจของเราส่วนมากไม่อยู่กับเนื้อกับตัวซะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนมากจิตใจของเราวิ่งไปหารูปบ้าง วิ่งไปตามเสียงบ้าง วิ่งไปตามกลิ่นบ้าง วิ่งไปตามรสบ้าง วิ่งไปตามสัมผัสบ้าง วิ่งไปตามอารมณ์บ้าง อยู่ตลอดเวลา ไม่อยู่คงที่

เหมือนกันกับลิง ซึ่งอยู่ตามปกติไม่ได้ ต้องเกาที่โน้นหยิบที่นี้ กระโดดไปโน้น กระโดดมานี้อยู่ตลอดเวลา ข้อนี้ฉันใด ใจของคนเราก็เหมือนกัน นับตั้งแต่คลอดจากครรภ์มารดามาจนถึงป่านนี้ มันไม่อยู่กับที่ พูดตามประสาบ้านเราว่า ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว และก็วิ่งไปตามอารมณ์ต่างๆ เวลาอารมณ์ต่างๆมากระทบ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มากระทบ มันก็วิ่งไปตามอารมณ์นั้นๆแล้ว

เมื่อเรามาเจริญพระกัมมัฏฐาน (จิตนั้น) ก็ไม่ปรารถนาจะอยู่กับอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานเลย ย่อมออกนอกทางอยู่เสมอ เหมือนกันกับเกวียนที่เทียมด้วยโคโกง ย่อมพาออกนอกทางอยู่เป็นนิตย์ ฉะนั้น ถึงอย่างนั้น บุคคลผู้หวังความสุขแก่ตน ก็ต้องเพียรพยายามฝึกฝนตนอบรมตน จนหายโกง หายดื้อ หายพยศ

ท่านกล่าวอุปมาในการฝึกไว้ว่า อันนรชนผู้ใคร่ที่จะฝึกลูกโคที่กำลังติดนมแม่อยู่ ต้องเอาเชือกผูกล่ามไว้กับเสา ลูกโคนั้นจะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย เพื่อหาอุบายออกหนีไปให้ได้ เมื่อไม่สามารถจะหนีไปได้ตามที่ตนนึก ก็จำเป็นต้องยืนพิงเสาบ้าง นอนพิงเสาบ้าง ข้อนี้ฉันใด

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เหมือนกันน ผู้ประสงค์จะฝึกใจของตนเอง ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น เพราะว่าใจเคยได้ลิ้มรสแห่งอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ มานานต่อนานแล้ว พึงพรากใจของเราออกจากอารมณ์นั้นเสีย แล้วเอาเชือกคือสติผูกไว้ที่เสาคือพองยุบ เป็นต้น ดังบาลีกล่าวไว้ว่า

ตตฺถ อสฺสาสปสฺสาสถมฺเภ สติโยตฺเตน พนฺธิตพฺพํ ฯ

แปลว่า บุคคลพึงเอาเชือกคือสติ ล่ามจิตไว้ที่เสาคือพองยุบ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตก็จะต้องดิ้นรนกระวนกระวาย วิ่งไปข้างโน้น วิ่งมาข้างนี้ ไม่อยู่เป็นสุข ดุจลิง หรือดุจปลาที่บุคคลยกขึ้นมาจากน้ำวางไว้บนบก ย่อมดิ้นรนแส่หาน้ำฉันใด

เมื่อจิตใจไม่ได้อารมณ์ที่ตนเคยได้ในกาลก่อน ก็ประสงค์จะกัดเชือกคือสติหนีไปหาอารมณ์ที่ตนต้องการ เขาจะพยายามจนสุดความสามารถ ครั้นไม่อาจจะหนีไปได้ ก็จำเป็นต้องยึดมั่นอยู่กับรูปกับนามคือพองยุบ ด้วยอำนาจแห่งขณิกสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิบ้าง ด้วยอำนาจแห่งอัปปนาสมาธิบ้าง สมดังที่พระโบราณาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า

ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย  วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ  สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ[๑]

บุคคลใดในโลกนี้ เวลาจะฝึกลูกโค ต้องเอาเชือกผูกไว้กับเสาเสียก่อน แล้วจึงลงมือฝึกได้ตามชอบใจ ฉันใด อันบุคคลผู้จะฝึกจิตของตน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น คือพึงผูกจิตของตนไว้ให้มั่นที่อารมณ์คือพองยุบ เป็นต้น ด้วยสติ

อธิบายและขยายความดังต่อไปนี้ คือ

๑. อารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น กล่าวโดยนัยแห่งการปฏิบัติ ได้แก่ สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

๑) กำหนดกาย เช่น เวลาท้องพองท้องยุบ ภาวนาว่า พุทโธ หรือภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น ดังที่เคยได้บรรยายมาแล้วนั้น

๒) กำหนดเวทนา เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน

๓) กำหนดใจ เช่น เวลาคิดภาวนาว่า คิดหนอๆ หรือว่า พุทโธๆ เป็นต้น แม้เวลาโกรธ เวลาดีใจ เวลาเสียใจ ก็ให้ปฏิบัติเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจวิธีปฏิบัติแล้ว อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ จะเป็นข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน นักเรียน ทหาร ตำรวจ ก็ปฏิบัติได้ทั้งนั้น

๔) กำหนดธรรม เช่น นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ และโพชฌงค์ ๗ เป็นต้น

รวมความว่า อารมณ์ของวิปัสสนาคือสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

๒. ใช้สติเป็นเครื่องมือในการฝึก ในการกำหนด เอาสติกั้นกิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ ไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมนา หรือท่วมพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ

ฉะนั้น ในเวลาเจริญวิปัสสนาจริงๆแล้ว ไม่ต้องไปห่วงใยกังวลอะไรอย่างอื่น ขอแต่ให้ใช้สติกำหนดลงไปตรงที่ท้องพองท้องยุบแห่งเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔ ครบหมดทุกข้อ

เช่น ท้องที่พองยุบเป็นรูป รูปนี้เป็นกาย ในขณะนั้นเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งต้องมีอยู่ด้วยกันทุกคน คือไม่สุขก็ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์ก็สุข ถ้าไม่สุขไม่ทุกข์ก็เฉยๆ สุข ทุกข์ เฉยๆ เป็นเวทนา การที่รู้ว่าพองยุบอยู่นั้นเป็นจิต

ใจขณะที่กำหนดพองยุบอยู่นั้น ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่พร้อมมูลแล้ว ขันธ์ ๕ นี้เป็นธรรม สติที่กำหนดพองยุบอยู่นั้นก็เป็นธรรม แม้สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ก็มารวมอยู่ที่แห่งเดียวกันนี้

เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จึงเป็นของทำได้ปฏิบัติได้โดยไม่ยากนักและไม่ง่ายนัก ยากอยู่ที่บุคคลไม่กล้าตัดสินใจทำ หรือไม่ทำจริงเท่านั้น พระพุทธองค์ได้วางหลักไว้ว่า สตฺตนฺนํ ทิวสานํ ถ้าบุคคลมีศรัทธาจริง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริงแล้ว ภายใน ๗ วัน ก็จะได้ผล

นอกจากนี้ ในปฐมสามนต์นั่นเอง ท่านยังได้กล่าวสอนต่อไปอีกว่า ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต้องทำตนให้เป็นดุจพญาเสือโคร่ง คือตามธรรมดาพญาเสือโคร่งย่อมแอบอาศัยป่าหญ้ารกๆบ้าง อาศัยป่าไม้บ้าง อาศัยภูเขาบ้าง แล้วคอยจ้องตะครุบเนื้อ(สัตว์)กินเป็นอาหาร เช่น กระบือป่า โคป่า หมูป่า เป็นต้น ฉันใด

ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารหวังจะไปสู่พระนิพพาน ก็พึงปฏิบัติฉันนั้น พึงอาศัยป่าไม้บ้าง โคนไม้บ้าง เรือนว่างบ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วลงมือเจริญวิปัสสนาภาวนาจนสามารถยึดมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ไว้ในเงื้อมมือของตนได้ สมดังพระโบราณาจารย์กล่าวสอนเปรียบเทียบไว้ว่า

ยถาปิ ทีปโก นาม  นิลียิตฺวา คนฺถตี มิเค
ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต  ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหาติ ผลมุตฺตมํ.[๒]

ธรรมดาเสือโคร่ง ย่อมแอบซ่อนตัวคอยจับเนื้อกินเป็นอาหารอยู่ตามป่า ฉันใด บุตรของพระตถาคตเจ้าต้องเป็นผู้ประกอบด้วยความเพียร มิได้ประมาท เข้าไปสู่ป่าหรือโคนไม้แล้ว หรือเข้าไปอยู่ที่ว่างเปล่าแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว ลงมือเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉันนั้น

ที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็พอสรุปใจความว่า

ความงามของพระศาสนาในเบื้องต้น ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรารักษา แต่ว่ายังไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ความงามของพระศาสนาในขั้นกลาง ก็ได้แก่ การที่เราลงมือเจริญพระกัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีแล้ว แต่ยังไม่ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์

ความงามของพระศาสนาในขั้นสูงสุด ก็ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนได้บรรลุพระอรหัตตมรรค อรหัตตผล พ้นจากกิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวง พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ความงามของพระศาสนา มาบรรยายโดยย่อ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติลงแต่เพียงเท่านี้.



[๑] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๘
[๒] ขุททกนิกายอัฏฐกถา ปฏิสัมภิทามัคควัณณนา สัทธัมมปกาสินี ๒ หน้า ๙๔


วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 ธันวาคม 2561 16:25:34

(http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/152/686/medium_%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99.jpg?1352572950)

ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบต่อไป

ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

ฉหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุ นจิรสฺเสว มหนฺตํ เวปุลฺลํ ปาปุณาติ ธมฺเมสุ.[๑]

ใจความว่า ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสารประกอบด้วยคุณธรรม ๖ ประการ ย่อมถึงความไพบูลย์อันยิ่งใหญ่ในธรรม ต่อกาลไม่นานเลย

คุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้น คือ

๑. อาโลกพหุโล มากด้วยแสงสว่าง

๒. โยคพหุโล มากด้วยความเพียร

๓. เวทพหุโล มากด้วยปีติปราโมทย์

๔. อสนฺตุฏฺฐิพหุโล มากด้วยความไม่พอไม่หยุด

๕. อนิกฺขิตฺตธุโร ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม

๖. อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

มีอธิบายดังต่อไปนี้

๑. คำว่า มากไปด้วยแสงสว่าง หมายความว่า มีญาณมาก มีความรู้มาก มีปัญญามาก จำแนกเป็น ๓ ประการคือ

๑) ปริยัติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการศึกษา

๒) ปฏิปัตติญาณ ปัญญาคือความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติ

๓) ปฏิเวธญาณ ปัญญาคือความรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดวิสุทธิ ๗ ปัญญาซึ่งรู้แจ้งแทงตลอดลำดับญาณ ๑๖ จนได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ผู้ที่ประกอบไปด้วยญาณทั้ง ๓ นี้ชื่อว่า อาโลกพหุโล ผู้มากไปด้วยแสงสว่างคือปัญญา

๒. คำว่า มากไปด้วยความเพียร ได้แก่ มากไปด้วยความเพียร ทั้งทางโลก ทางธรรม ความเพียรทางโลกคือ พยายามให้การงานที่เราประกอบนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ส่วนความเพียรในทางธรรมนั้น จำแนกออกเป็น ๔ ประการคือ

๑) เพียรระวังบาป ไม่ให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ทางใจ ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม ภาวนาว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นต้น สติกับจิตไม่เผลอจากเท้าขวาเท้าซ้าย แม้เวลานั่ง สติกับจิตก็ให้อยู่กับท้องพองท้องยุบ เป็นต้น โดยภาวนาว่า พุทโธๆ หรือ ยุบหนอ พองหนอ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่เผลอจากรูปจากนาม ชื่อว่าได้ปัจจุบันธรรม

ในขณะนั้น บาปคือความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่เกิดขึ้นได้เลย เพราะว่าบาปคือความชั่วช้านั้น จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยทั้งอารมณ์อดีต ทั้งอารมณ์อนาคต ดังนั้น สมเด็จพระจอมธรรมจึงตรัสสอนไว้ (เป็นต้น) ว่า

อตีตํ นานฺวาคเมยฺย  นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ  อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ  ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ
[๒]

ซึ่งแปลความว่า ท่านทั้งหลายอย่านึกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว อย่ามุ่งหวังอารมณ์อนาคต คือที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่เป็นอดีต สิ่งนั้นก็ล่วงเลยไปแล้ว สิ่งใดเป็นอนาคต สิ่งนั้นก็ยังมาไม่ถึง ผู้ใดได้ปัจจุบันธรรม ผู้นั้นจึงจะสามารถเห็นแจ้งในที่นั้นๆได้ ดังนี้

ความเพียรที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ เรียกว่า เพียรระวังบาปไม่ให้เกิดขึ้นในขันธสันดานของตน

๒) เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นให้เสื่อมไป ด้วยการบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เช่น เวลาเดินจงกรม เวลานั่งภาวนาอยู่ สติกับจิตจับอยู่ที่ปัจจุบันธรรม เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ ขณะนั้นกิเลสต่างๆ จักสงบระงับดับไปโดยตทังคปหาน คือ ละกิเลสได้ด้วยองค์พระกัมมัฏฐาน และสงบระงับไปด้วยวิกขัมภนปหาน คือละกิเลสโดยการข่มได้ด้วยอำนาจ ศีล สมาธิ ปัญญา

อย่างนี้เรียกว่า เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสิ้นไป ทำให้กิเลสดับไปในขั้นต่ำและขั้นกลาง ส่วนในขั้นสูงนั้น ได้แก่ เพียรละโดยเด็ดขาด ไม่กลับเกิดขึ้นอีกต่อไป ด้วยการบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุถึงมัคคญาณผลญาณ

๓) เพียรบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้นในตน คือเพียรพยายามให้ศีลกุศล สมาธิกุศล ปัญญากุศล เกิดขึ้นในตนให้มากๆ จนสามารถตัดกิเลสได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน ได้แก่ ผู้เจริญพระวิปัสสนาจนได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง

๔) เพียรรักษากาย วาจา ใจ ให้อยู่กับศีล สมาธิ ปัญญา และเพียรรักษาศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และให้เจริญยิ่งๆขึ้น โดยลำดับๆ จนกว่าจะได้สิ้นอาสวะกิเลส

ผู้ใดประกอบไปด้วยความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า ผู้มากไปด้วยความเพียรในทางธรรม

ถ้าผู้ใดมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางโลกและมากไปด้วยความเพียรทั้งในทางธรรม ย่อมจะนำผู้นั้นให้ได้รับประโยชน์ในภพนี้ ประโยชน์ในภพหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือพระนิพพาน เหมือนดังเรื่องของนางปุณณา มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า

เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฎ ใกล้เมืองราชคฤห์ วันหนึ่ง นางปุณณา ได้ตามประทีปทำงานตลอดคืน เมื่อนางเหนื่อยจึงหยุดพักตากอากาศที่ข้างนอก ขณะนั้น พระทัพพมัลลบุตร ได้จัดแจงเสนาสนะถวายแก่พระภิกษุทั้งหลายที่พากันมาเฝ้าองค์สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ต่างก็ไปสู่ที่อยู่ของตนเพื่อเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป

นางปุณณาได้แลเห็นพวกภิกษุเที่ยวไปอยู่บนภูเขาด้วยแสงสว่าง คิดว่าท่านคงจะไม่สบาย หรือคงจะถูกงูกัดเป็นแน่ ครั้นใกล้รุ่ง นางจึงเอารำผสมกับน้ำทำเป็นก้อน ปิ้งไฟสุกแล้ว ใส่ชายพกผ้า เดินออกไปตักน้ำ ขณะนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดากำลังเสด็จออกบิณฑบาต เสด็จสวนทางมาพอดี

นางปุณณาจึงคิดว่า ในวันอื่นๆ เมื่อเราได้พบพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีไทยธรรมถวาย ถ้าเรามีไทยธรรม ก็ไม่พบพระพุทธเจ้า วันนี้เรามีโชคมากแล้วหนอ ไทยธรรมของเราก็มี พระพุทธองค์ก็อยู่ ณ ที่เฉพาะหน้านี้ จึงถวายบังคมกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์จงทรงรับขนมอันเศร้าหมองนี้ แล้วจงสงเคราะห์หม่อมฉันเถิด

พระบรมศาสดาทรงน้อมบาตรรับขนมของนางตามความประสงค์ นางใส่บาตรแล้ว กราบไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างเรียบร้อย ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ภนฺเต ตุมฺเหหิ ทิฏฺฐธมฺโมเยว เม สมิชฺฌตุ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระธรรมที่พระองค์ได้เห็นแล้ว จงสำเร็จแก่หม่อมฉันด้วยเถิด สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาว่า เอวํ โหตุ ขอความปรารถนาที่เธอตั้งไว้นั้น จงสำเร็จเถิด

ลำดับนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์เถระปูอาสนะถวาย ทรงนั่งเสวยภัตตาหาร ณ ที่ใกล้ๆนางนั้น เมื่อเสวยเสร็จจึงตรัสเรียกนางปุณณามารับสั่งว่า ปุณณา เธอไม่ได้หลับเพราะทุกข์ของตน ส่วนสาวกของเรา ไม่ได้หลับเพราะทำความเพียรตลอดวันยันรุ่ง แล้วแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางต่อไปว่า (๒๕/๒๗/๔๕)

สทา ชาครมานานํ  อโหรตฺตานุสิกฺขินํ
นิพฺพานํ อธิมุตฺตานํ  อตฺถํ คจฺฉนฺติ อาสวา ฯ


อาสวะทั้งหลายของบุคคลผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ปฏิบัติธรรมตลอดคืนและวัน มีใจน้อมไปสู่พระนิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือย่อมหมดไปสิ้นไปโดยไม่เหลือ

เมื่อนางปุณณาได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาแล้วเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ ไม่ช้าไม่นานนางก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีความเพียรในทางโลก ย่อมเป็นผลดลบันดาลให้ได้รับความสุขในทางโลก ผู้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม ย่อมนำตนให้พ้นทุกข์ ประสพสันติสุขอย่างแท้จริง และได้ชื่อว่า โยคพหุโล ผู้มากไปด้วยความเพียร ดังนี้

๓. คำว่า มากด้วยปีติปราโมทย์ หมายความว่า มีความอิ่มอกอิ่มใจต่อผลงาน ต่อความดีต่างๆ ที่ตนได้ทำมาได้ปฏิบัติมาทั้งทางโลกและทางธรรม ความอิ่มใจทางโลก ได้แก่ เมื่องานหรือสิ่งที่ตนประกอบทุกอย่างสำเร็จสมประสงค์ ส่วนความอิ่มใจทางธรรมนั้น แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น คือ

๑) ความอิ่มใจในขั้นต่ำ เกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้ปริยัติตามภูมิตามชั้นของตนแล้วสอบได้ ย่อมภาคภูมิใจ สุขใจมิใช่น้อย

๒) ความอิ่มใจในขั้นกลาง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรม เช่น เจริญสมถกัมมัฏฐาน หรือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอถึงญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณอย่างแก่ เข้าเขตอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน เกิดความอิ่มใจที่เรียกว่า ปีติ ๕ มีขุททกาปีติ ความอิ่มใจชั่วขณะ ทำให้ขนลุกน้ำตาไหล ใจเอิบอิ่มเยือกเย็น เป็นต้น

๓) ความอิ่มใจขั้นสูง เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติธรรมจนได้ผลเต็มที่แล้ว เกิดความอิ่มใจเป็นพิเศษ เช่น พระเจ้ามหากัปปินะ เป็นตัวอย่าง

ท่านได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน สละราชสมบัติออกบวช เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ ท่านมีความอิ่มใจสุขใจในธรรมมาก ย่อมเปล่งอุทานทั้งกลางคืนและกลางวันว่า อโห สุขํ อโห สุขํ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงได้ตรัสพระคาถาไว้ว่า[๓]

ธมฺมปีติ สุขํ เสติ  วิปฺปสนฺเนน เจตสา
อริยปฺปเวทิเต ธมฺเม  สทา รมติ ปณฺฑิโต ฯ


บุคคลผู้มีใจผ่องใส มีความอิ่มใจในธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมอันพระอริยเจ้าประกาศแล้ว คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

ผู้มีความอิ่มใจดังกล่าวมานี้ ได้สมญาว่า เวทพหุโล

๔. คำว่า ผู้มากไปด้วยความไม่พอไม่หยุด หมายความว่า ไม่พอใจเพียงเท่านั้น ไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ต้องพยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือพยายามทำทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล ไม่ลดละ

ในอรรถกถาท่านได้แก้ไว้ว่า กุสเลสุ ธมฺเมสุ อสนฺตุฏฺโฐ ไม่พอใจในกุศลธรรมเพียงเท่านั้น เช่น เราเคยทำทานกุศลอยู่แล้ว ก็อย่าทำความพอใจในกุศลเพียงเท่านั้น บุญกุศลอื่นๆ ที่ประเสริฐเลิศกว่านั้น ดีกว่านั้น สูงกว่านั้น ยังมีอยู่อีกมาก เช่น ศีลกุศล เป็นต้น เรื่องเช่นนี้ในอดีตกาลเคยมีมาแล้ว ตัวอย่าง

มีชายคนหนึ่ง ไม่อิ่ม ไม่พอใจ ไม่หยุดอยู่เพียงกุศลธรรมชั้นต่ำๆ พยายามทำให้ยิ่งขึ้นไป จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน คือ ครั้งที่ ๑ เห็นชายจีวรของพระภิกษุสงฆ์เปียกชุ่มน้ำค้าง ในเวลาที่ท่านยืนห่มจีวรไปบิณฑบาตในบ้าน จึงพยายามหาจอบมาดายหญ้า ทำให้เตียนและสะอาดดี ครั้งที่ ๒ นำเอาทรายมาเกลี่ยลง ณ ที่นั้น ทำให้สะอาดเรียบร้อยดี ครั้งที่ ๓ สร้างมณฑปกันแดดมุงด้วยใบไม้ ครั้งที่ ๔ สร้างศาลากันฝนมุงด้วยกระเบื้องอย่างดี

ครั้งที่ ๕ ทำการฉลองเป็นการใหญ่ โดยอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเป็นประธาน ครั้งที่ ๖ ถวายทาน ฟังธรรม ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน อย่างนี้เรียกว่า อสนฺตุฏิพหุโล ผู้มากด้วยความไม่พอไม่หยุดในกุศลธรรม ธรรมดากุศลนั้น มีมากเท่าไรก็ยิ่งเป็นของดี เพราะฉะนั้น ควรสร้างความดีไว้มากๆ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือ พระนิพพาน

๕. คำว่า ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นั้น กุศลธรรมแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น คือ

๑) กามาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากทาน ศีล เป็นต้น

๒) รูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญสมถกัมมัฏฐานในส่วนที่เป็นรูปกัมมัฏฐาน จนได้รูปฌาน

๓) อรูปาวจรกุศล ได้แก่ กุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จนได้สำเร็จอรูปฌาน

๔) โลกุตตรกุศล ได้แก่ บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผล

ผู้ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้ง ๔ นี้ ได้ชื่อว่า อนิกฺขิตฺตธุโร

๖. คำว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง หมายความว่า พยายามก้าวหน้าต่อไป ทั้งภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จนสามารถหลุดพ้นจากกิเลสาสวะทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่พยายามก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างนี้ ย่อมได้รับประโยชน์โสตถิผลทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น ทั้งภพนี้และภพหน้า ตั้งแต่ต่ำจนถึงสูงสุด

ดังนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงบุคคลไว้ ๗ จำพวก เพื่อให้นักปฏิบัติธรรมเปรียบเทียบดูว่า ขณะนี้ตัวเราอยู่ในประเภทไหน เมื่อไรจะพยายามก้าวหน้าต่อไป หรือได้พยายามเต็มที่แล้ว บุคคล ๗ จำพวกนั้น คือ

บุคคลจำพวกที่ ๑ ดำน้ำดิ่งลงไปฝ่ายเดียว ไม่ยอมโผล่ขึ้นมาอีกเลย ได้แก่ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมละทิฏฐิผิดนั้น

บุคคลจำพวกที่ ๒ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับดำดิ่งลงไปอีก ได้แก่ บุคคลผู้มีศรัทธาดี มีความเพียรดี แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา ไม่มีความเพียร เช่น บางท่านครั้งแรกมีศรัทธาในการเจริญวิปัสสนา แต่ภายหลังกลับไม่มีศรัทธา หมดความอุตสาหะที่จะเจริญวิปัสสนาต่อไป

บุคคลจำพวกที่ ๓ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วยืนอยู่เฉยๆ ได้แก่ บุคคลที่เคยทำทานมาแต่ก่อนก็ทำทานตลอดไป เคยรักษาศีลมาก็รักษาตลอดไป เคยฟังเทศน์มาก็ฟังเทศน์ตลอดไป ที่จะคิดปฏิบัติเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่มี พอใจเพียงเท่านั้น หยุดอยู่เพียงแค่นั้น

บุคคลจำพวกที่ ๔ ดำน้ำขึ้นมาแล้ว เหลียวดูข้างโน้น มองดูข้างนี้ ได้แก่ บุคคลผู้มีศีลมีศรัทธาดีอยู่แล้ว แต่ไม่พอใจอยู่เพียงแค่นั้น ได้พยายามก้าวหน้าต่อไปอีก คือลงมือเจริญสมถะและวิปัสสนาจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

บุคคลจำพวกที่ ๕ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว ข้ามน้ำต่อไปอีก ได้แก่ ผู้ที่เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วไม่พอใจเพียงเท่านั้น ตั้งใจปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี

บุคคลจำพวกที่ ๖ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้ว พยายามก้าวหน้าต่อไปอีกจนจวนจะถึงฝั่ง ได้ที่พึ่งที่อาศัยอันสมควรแล้ว ได้แก่ บุคคลผู้ไม่ละความเพียร พยายามปฏิบัติต่อไปจนผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ สำเร็จเป็นพระอนาคามี ไม่ต้องกลับมาเกิดในกามภูมิอีกต่อไป

บุคคลจำพวกที่ ๗ ดำน้ำโผล่ขึ้นมาแล้วพยายามก้าวหน้าต่อไปจนถึงฝั่ง ได้แก่ บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้เป็นพระอนาคามีแล้ว แต่ไม่พอใจหยุดอยู่เพียงแค่นั้น ตั้งใจปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่าเป็นผู้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน

บุคคลประเภทที่ ๔ ถึงประเภทที่ ๗ รวม ๔ จำพวกนี้ ได้ชื่อว่า อุตฺตริญฺจ ปตาเรติ ผู้พยายามก้าวหน้าต่อไป ไม่ถอยหลัง

เท่าที่บรรยายมา พอสรุปใจความได้ว่า ผู้จะเข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม นำตนให้พ้นจากชาติกันดาร ชรากันดาร พยาธิกันดาร และมรณกันดาร ต่อกาลไม่นานเลยนั้น ต้องเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรมทั้ง ๖ ประการดังกล่าวมา

ดังนั้น ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติธรรม บำเพ็ญตนอยู่ในคุณธรรมทั้ง ๖ ประการนั้นให้บริบูรณ์ เพิ่มพูนขึ้นไปโดยลำดับๆเถิด จะได้เกิดประโยชน์โสตถิผลอันยิ่งใหญ่ไพศาล จนถึงพระนิพพานอันเป็นเอกันตบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไป

กิเลสจะเบาบางเป็นลำดับๆไป ในขั้นพระอนาคามียังคงเหลืออยู่แต่อย่างละเอียด โดยเฉพาะคือ อยากได้หรือสนใจในมรรคผลชั้นสุดท้าย แล้วสงสัยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสต่างๆมีอวิชชาเป็นต้นก็สิ้นไป

สิ้นความสงสัย สิ้นความอยากได้ เพราะรู้แล้วได้แล้ว ตามคติในทางพระพุทธศาสนา ชาติปัจจุบันเป็นชาติสุดท้ายในโลกของพระอนาคามี

เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว อริยบุคคลชั้นนี้จะไปสู่แดนสุทธาวาส คือ แดนอันบริสุทธิ์สะอาด ปราศจากกามราคะซึ่งอยู่ในรูปภพ และสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในแดนสุทธาวาสนั้น

สำหรับผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุมรรคผลขั้นสุดท้ายสำเร็จเป็นพระอรหันต์นั้น กิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก ๓ ประการดังกล่าวมา ย่อมดับลงอย่างเด็ดขาด

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิเลสทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับลงอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตนั้นก็หมดสิ้นแล้วซึ่งราคะตัณหา ดับแล้วซึ่งมวลกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ ความหลง คงจะเหลือแต่เบญจขันธ์ ได้แก่ รูปคือร่างกาย เวทนาคือความรู้สึก สัญญาคือความจำได้ สังขารคือการปรุงแต่งจิต วิญญาณคือความนึกคิดรู้อารมณ์

ชีวิตของพระอรหันต์เป็นชีวิตที่บริสุทธิ์ยิ่ง เป็นที่เชื่อกันว่า ถ้าเป็นฆราวาสได้บรรลุพระอรหันต์แล้วจะอยู่ในเพศฆราวาสได้ไม่เกิน ๑ วัน จำต้องบวช มิฉะนั้นแล้วจะดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน เพราะเพศของคฤหัสถ์นั้นเป็นหีนเพศ ไม่สามารถที่จะทรงคุณของพระอรหันต์ได้

เหตุนั้น เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์จำเป็นต้องออกบวช ถ้าไม่บวชก็จะต้องปรินิพพานภายในวันนั้น และเมื่อประพฤติปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานแล้ว ก็เป็นอันว่า เมื่อดับขันธ์แล้วเข้าสู่พระนิพพาน พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ้นทุกข์ สิ้นชาติ สิ้นภพ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกต่อไปชั่วนิรันดร

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน และผลพลอยได้จากการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานยังมีมากกว่านี้ แต่นำมาบรรยายเพียงสังเขปกถา แต่คิดว่าท่านทั้งหลายคงพอที่จะรู้ได้ พอที่จะอนุมานได้ ว่าการมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานของเราครั้งนี้ เราได้ผลอย่างไร และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นนั้นมีอย่างไรบ้าง

หากว่าท่านเป็นนักสังเกตหรือเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะดี อะไรต่างๆนานา ที่เกิดขึ้นมารอบด้านก็สังเกตดู ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า การมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ได้ผลคุ้มค่า ได้ผลเกินค่า จนไม่สามารถที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงไปได้ นี้สำหรับผู้ที่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติจริงๆเท่านั้น แต่ถ้าว่าท่านใดที่ไม่ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติก็เหลือวิสัยที่จะช่วยเหลือได้

เอาละ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมเอาธรรมในเรื่อง ผู้เข้าถึงความไพบูลย์ในธรรม มาบรรยายโดยสังเขปกถา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงแค่นี้.




[๑] องฺ. ฉกฺกนิปาตา ๒๒ / ๓๕๑ / ๔๘๒
[๒] ม. อุปริปณฺณาสกํ ๑๔ / ๕๒๗ / ๓๔๘
[๓] ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา ๒๕ / ๑๖ / ๒๕

วัดพิชโสภาราม


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 20 ธันวาคม 2561 09:09:36
(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_%E1%CA%A7%E0%B7%D5%C2%B9%201.jpg)

สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติสืบไป

คือเมื่อท่านนักปฏิบัติธรรมท่านใดได้เข้าพิสูจน์ในการเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียรใช้สติระลึกรู้ทันทุกขณะของรูปธรรมนามธรรม จนเกิดญาณรู้แจ้งแทงตลอดในพระไตรลักษณ์ชัดว่า รูปนามเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้

อาสวะที่ไหลแล้วไปหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ได้แก่ ทิฏฐาสวะ อาสวะคือทิฏฐิความเห็นผิด ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์ กามาสวะ อาสวะคือกาม ได้แก่ ความใคร่ในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนา เมื่อมีความใคร่ในวัตถุกามมีรูปเป็นต้นแล้ว กามาสวะ อาสวะคือกามนั้นก็จะไหลเข้าสู่จิตใจ แล้วก็เก็บลงสู่ภวังค์เสมอ

ภวาสวะ อาสวะคือภพ ได้แก่ ความอยากมีอยากเป็น เช่นว่า อยากเป็นโน้นเป็นนี้ อยากเป็นข้าราชการ อยากเป็นกำนัน อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากเป็นนายอำเภอ อยากเป็นปลัด อยากเป็นผู้แทนราษฎร อยากเป็นรัฐมนตรี อยากเป็นนายก อะไรจิปาถะ ความอยากมีอยากเป็นนี้ก็ถือว่าเป็นภวาสวะ อาสวะคือภพ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะไหลเข้าสู่จิตใจของเรา แล้วเก็บลงสู่ภวังค์ หมักดองไว้ในขันธสันดาน ได้ชื่อว่า ภวานุสัย อนุสัยคือภพบ้าง ภวาสวะ อาสวะคือภพบ้าง

ก็เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว มีอารมณ์พระไตรลักษณ์ประหารอาสวะเหล่านี้อยู่เสมอ อาสวะที่เป็นภายนอกไหลเข้าไปไม่ได้ อาสวะที่เป็นภายในก็ถูกอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลเข้าสู่จิตใจแล้วเก็บลงสู่ภวังค์แทนมากขึ้นเท่าใดๆ อาสวะก็จะน้อยลงเท่านั้นๆ จนกระทั่งสิ้นอาสวะ คือเมื่อใดได้ผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร เมื่อนั้นชื่อว่า ถึงสันติลักษณะ สงบจากกองกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ถึงพระนิพพาน

หมายความว่า อาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะก็ดี ทิฏฐาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ภวังคจิตก็จะรักษาอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นไว้ในห้วงภวังค์ เป็นอนุสัยกิเลสนอนดองอยู่ เราไม่มีหนทางใดที่จะกำจัดได้ นอกจากการเจริญพระวิปัสสนาภาวนา

คือเราจะให้ทานจนหมดวัตถุสิ่งของที่มีอยู่ เราจะรักษาศีลตั้งแต่รู้เดียงสาจนถึงวันตาย เกิดชาติใดก็รักษาศีลตลอดไป หรือเราเจริญสมถภาวนาจนได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ ได้อภิญญาจิตก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะทำลายอาสวะทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ หรือไม่อาจที่จะทำลายอนุสัยเหล่านี้ให้หมดไปได้

เว้นไว้แต่ผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เหมือนที่พวกท่านทั้งหลายเจริญอยู่ในขณะนี้ เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะทันปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อใด เมื่อนั้นพระไตรลักษณ์ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงไปสู่ห้วงแห่งภวังค์ ในขณะนั้น

อาสวะหรืออนุสัยกิเลสที่มีอยู่ในห้วงแห่งภวังค์ก็จะหมดไปตามลำดับ อาสวะใหม่หรืออนุสัยใหม่ก็เข้าไปไม่ได้ เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไหลลงมากเท่าไหร่ อาสวะหรืออนุสัยก็หมดไปมากเท่านั้น จนกระทั่งหมดสิ้นอาสวะหรืออนุสัยเมื่อใด เมื่อนั้นท่านผู้ปฏิบัติได้ชื่อว่าผ่านญาณ ๑๖ โอนโคตรจากปุถุชนไปสู่อริยโคตร คือโคตรของพระอริยบุคคลโสดาบัน โดยสันติลักษณะ มีลักษณะสงบจากกิเลสาสวะและกองทุกข์ทั้งปวง คือพระนิพพาน

พ้นจากโลกีย์ไปสู่โลกุตตระ ด้วยอนิมิตตวิโมกข์ เพราะเห็นอนิจจังชัด พ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์ เพราะเห็นทุกขังชัด พ้นด้วยสุญญตวิโมกข์ เพราะเห็นอนัตตาชัด ถึงพระนิพพาน ดับนามรูป ถึงสันติอันถาวร เที่ยง เป็นบรมสุขแน่นอน ผู้นั้นได้ชื่อว่า ได้ถึง ได้บรรลุ ซึ่งพระนิพพาน เป็นผู้ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงธรรมรัตนะ แก้วคือพระธรรม จตูหปาเยหิ ปิดประตูอบายภูมิทั้ง ๔ ตั้งแต่ถึงกระแสนิพพาน

นิพพานนี้มีความสงบหรือความสุขเป็นลักษณะ มีความไม่แตกดับหรือเคลื่อนคลาดแปรผันเป็นกิจ มีความออกจากภพหรือไม่มีนิมิตเครื่องหมายเป็นอาการปรากฏ

พระนิพพานนี้มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่นว่า

วิราโค ความคลายกำหนัด

นิโรโธ ความดับ คือดับตัณหา

จาโค ความสละ ได้แก่ สละอุปธิคือกิเลส

ปฏินิสสัคโค การละเลิก การสละทิ้ง

มุตติ ความพ้น

อนาลโย ความไม่เกาะเกี่ยว ไม่อาลัย

มทนิมมทโน การย่ำยีความเมาเสีย

ปิปาสวินโย การกำจัดความหิวกระหาย

อาลยสมุคฆาโต การถอนเครื่องเกาะเกี่ยวเสีย

วัฏฏูปัจเฉโท การตัดเครื่องหมุนเวียน

พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นของเยี่ยม นิพพานว่างอย่างยิ่ง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ความสุขนอกจากพระนิพพานไม่มี

พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มีอายตนะอยู่ชนิดหนึ่ง แต่ว่าไม่ใช่ดิน ไม่ใช่น้ำ ไม่ใช่ไฟ ไม่ใช่ลม ไม่ใช่อากาสานัญจายตนะ ไม่ใช่วิญญาณัญจายตนะ ไม่ใช่ อากิญจัญญายตนะ หรือเนวสัญญานาสัญญายตนะ ไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่ดวงจันทร์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์ อายตนะชนิดนั้น เราไม่กล่าวว่าเป็นที่มาถึง เป็นที่ไปถึง เป็นที่ตั้งอยู่ ไม่เคลื่อน ไม่เกิด ไม่มีที่ตั้งอยู่ ไม่เป็นไป ไม่มีอารมณ์ อายตนะนั้นแหละเป็นที่สุดของทุกข์ คือพระนิพพาน

ธรรมคือพระนิพพานนั้นเป็นของลึก อันบุคคลเห็นได้ยาก อันบุคคลตรัสรู้ได้โดยยาก อันบุคคลตรัสรู้ตามโดยยาก เป็นของระงับ เป็นของประณีต ไม่เป็นที่หลงเที่ยวไปแห่งวิตก หมายความว่า ปุถุชนจะตรึกนึกคาดคะเนเอาเองไม่ได้ว่า พระนิพพานเป็นอย่างนั้น พระนิพพานเป็นอย่างนี้ ความคิดหรือความตรึกของปุถุชนนั้นไกลกันแสนไกล ก็ฟ้ากับดินถึงจะไกลกันแสนไกล แต่เราก็สามารถมองเห็นได้ แต่ความคิดว่าพระนิพพานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ของปุถุชนนั้น ไกลกันแสนไกล จนไม่สามารถมองเห็นได้

เพราะพระนิพพานนี้เป็นของละเอียด เป็นของบัณฑิต พระอริยะพึงรู้แจ้ง ปุถุชนไม่รู้แจ้ง เรื่องพระนิพพานนี้ จะพูดให้ปุถุชนฟังอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ อุปมาเหมือนกันกับปลาและเต่า ปลาเป็นสัตว์ถิ่นเดียว แต่เต่าเป็นสัตว์สองถิ่น อยู่ในน้ำก็ได้ บนบกก็ได้ วันหนึ่งปลามีความประสงค์อยากรู้ว่าบนบกนั้นเป็นอย่างไร จึงถามเต่าว่าเป็นอย่างไร บนบกมีการกระเพื่อมไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี บนบกมีสาหร่ายไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี มีอย่างนั้นมีอย่างนี้ไหม เต่าก็ตอบว่าไม่มี เพราะว่าปลาเอาแต่สิ่งที่ตนเห็นอยู่ในน้ำมาถาม เต่าจึงตอบว่าไม่มีร่ำไป

เมื่อเป็นเช่นนั้น ปลาจึงถามเป็นการรวบรัดว่า ถ้าเช่นนั้น อะไรมีอยู่บนบก เต่าก็ตอบว่า สิ่งใดไม่มีอยู่ในน้ำ สิ่งนั้นมีอยู่บนบกทั้งหมด ท่านทั้งหลายลองคิดดูสิว่า ปลาจะหายความสงสัยหรือไม่หายสงสัย ปลาย่อมนึกไม่ออกว่าบนบกนั้นมีอะไรบ้าง ก็มีความสงสัยร่ำไป ข้อนี้ ฉันใด พระนิพพานก็เหมือนกัน ปุถุชนที่ยังไม่รู้ไม่ได้บรรลุนั้น จะคาดคะเนเอา เดาเอา คิดเอา ย่อมไม่รู้ได้ นอกจากมาประพฤติปฏิบัติได้บรรลุแล้วเท่านั้นจึงรู้ได้

อนึ่ง ธรรมชาตินั้นที่มีอยู่โดยแท้คือ อชาตํ ไม่เกิดอีก อภูตํ ไม่เป็นอีก อกตํ ไม่กระทำต่อไปอีก อสงฺขตํ ไม่ปรุงแต่งอีกต่อไป อชรํ ไม่เข้าถึงความแก่ อมรณํ ไม่ตายอีก นั้นเป็นมหาสันติสุขคือพระนิพพาน

พระนิพพานนั้น ถ้ากล่าวโดยอาการบรรลุมี ๓ ประการ คือ

๑. อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยการหาอะไรเป็นนิมิตเครื่องหมายมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ ถึงญาณที่ ๓ ได้เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๔ ก็เห็นอนิจจังชัด ถึงญาณที่ ๑๒ ก็เห็นอนิจจังชัด เมื่อเห็นอนิจจังชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้

๒. อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า พ้นด้วยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ขณะที่ปฏิบัติอยู่ในญาณที่ ๓ ญาณที่ ๔ ญาณที่ ๑๒ เห็นทุกขังชัดกว่าอนิจจังและอนัตตา และอาศัยอารมณ์คือทุกขังเข้าสู่พระนิพพาน บรรลุพระนิพพาน เพราะเห็นทุกขังชัดอย่างนี้ พระนิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้

๓. สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า พ้นโดยอาการว่างเปล่า หมายความว่า ผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในญาณที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๑๒ เห็นอนัตตาชัดกว่าอนิจจังและทุกขัง แล้วบรรลุพระนิพพาน เพราะการเห็นอนัตตาชัดอย่างนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นเรียกว่า สุญญตนิพพาน ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างเปล่าจาก ราคะ โทสะ โมหะ

พระนิพพาน ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีมีอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หมายความว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน นั้นดับไปหมดแล้ว ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดาน มีขันธสันดานอันบริสุทธิ์ มีจิตใจบริสุทธิ์ หมดจดจากสังกิเลสธรรมทั้งหลายทั้งปวง แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ปรินิพพาน อย่างนี้ชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับทั้งกิเลส ดับทั้งเบญจขันธ์ คือ กิเลสก็ดับ เบญจขันธ์ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ดับ ไม่มีเหลือ คือพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว

เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ถือว่าถึงสันติคือความสงบสุข ความสุขนี้เรียกว่า เอกันตบรมสุข เป็นสุขอย่างยอดเยี่ยม เป็นสุขอย่างเอก ไม่มีสุขใดจะเสมอเหมือนได้ เหตุนั้น ในขณะนี้เวลาของเรายังพอมีอยู่ ที่จะประพฤติปฏิบัติให้ได้บรรลุถึงอริยมรรคอริยผลตามสมควรแก่วาสนาบารมี ก็ขอให้ตั้งอกตั้งใจ

การประพฤติปฏิบัตินี้ เท่าที่หลวงพ่อได้สังเกตมา บางท่านปฏิบัติ ๓ วันอย่างนี้ ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้ บางท่านก็ใช้เวลา ๕ วัน บางท่านก็ ๗ วัน หรืออย่างช้าที่สุดก็ไม่เกิน ๑ เดือน ก็สามารถผ่านการปฏิบัติขั้นปฐมมรรคได้

แต่ทั้งนี้ก็หมายความว่า มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนาอย่างเต็มความสามารถ อย่างช้าที่สุดเดือนหนึ่ง สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นปฐมมรรคได้ เมื่อผ่านขั้นที่หนึ่งไปแล้ว ขั้นที่ ๒ คือทุติยมรรคนี้ เท่าที่ประสบการณ์มา อย่างเร็วที่สุดก็ใช้เวลา ๙ วัน หรือ ๑๕ วัน หรือ ๑๙ วัน และบางท่านก็ใช้เวลา ๒๐ วัน จึงสามารถที่จะผ่านไปได้ อันนี้เท่าที่ประสบการณ์มา

แต่สำหรับขั้นที่ ๓ คือการที่จะบรรลุอนาคามิมรรค อนาคามิผล (ตติยมรรค) นี้ ต้องใช้เวลาพอสมควร บางท่านก็ใช้เวลา ๒ เดือน บางท่านก็ใช้เวลา ๓ เดือน บางท่านก็ใช้เวลาเป็นพรรษาๆ จึงจะสามารถบรรลุขั้นนี้ได้ คือมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกันกับสอบนักธรรมหรือสอบเปรียญธรรมอย่างนี้แหละ ชั้นสูงๆก็มีผู้สอบได้น้อย แต่ชั้นต่ำๆก็มีผู้สอบได้มาก

ทีนี้ หากว่าถึงขั้นสุดท้ายคือขั้นที่ ๔ (จตุตถมรรค) นี้ ต้องใช้เวลานานเป็นพิเศษ เท่าที่สังเกตลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ส่วนมากที่ปฏิบัติผ่านขั้นนี้ไปได้ บางรูปต้องใช้เวลา ๓ พรรษา บางรูปก็ต้อง ๔ พรรษา แต่หาได้น้อยมาก เกือบจะหาไม่ได้เสียเลย ผู้ที่ผ่านขั้น ๔ นี้ได้ เป็นของที่ทำได้ยาก เหมือนกับสอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคอย่างนี้แหละ แต่ส่วนมาก ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านไปแล้ว ก็มรณภาพไปแล้วเสียเป็นส่วนมาก ที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เกือบจะไม่มีในทุกวันนี้ ก็ยังพอจะหาได้อยู่ แต่เกือบจะไม่มี

อย่างไรก็ตาม ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับท่านผู้ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ขออย่าได้ชะล่าใจ อย่าได้ท้อใจ พยายามบุกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันสุดท้าย เพราะความเพียรนี้ แม้เทวดาก็พยากรณ์ไม่ได้ มีความเพียรอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น ส่วนผู้เพิ่งมาปฏิบัติในระยะ ๒-๓ เดือนนี้ หลวงพ่อว่าไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้ เพราะว่า ๓ เดือนนี้ หากว่าเราตั้งอกตั้งใจจริง มีศรัทธาจริง มีความเพียรจริง สามารถที่จะทำได้

ข้อสำคัญมีอยู่ว่า ต้องประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนให้ เช่นว่า เวลานอนนี้ พยายามจำให้ได้ว่า นอนหลับไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ตอนหายใจเข้าหรือหายใจออก ต้องพยายามจำจริงๆ ร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง ยังจำไม่ได้ ก็พยายามจำไป อย่าชะล่าใจ อย่าท้อแท้ใจ

หรือว่าในเวลานั่ง ถ้าอยากหลับก็ให้หลับไปเวลานั่งนี้ ไม่ว่าอะไร อย่าไปพิงเสา อย่าไปพิงต้นไม้ อย่าไปพิงอะไร แต่พยายามจำให้ได้ว่า สัปหงกหรือผงะไปตอนอาการพองหรืออาการยุบ หรือขณะหายใจเข้าหรือหายใจออก และนอกจากนี้ เวลายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม ขอให้มีสติสัมปชัญญะ กำหนดให้ติดต่อกันไป อย่าให้ขาดสายขาดระยะ ถ้าว่าเราทำตามหลักวิชาการดังกล่าวมาแล้วย่อๆนี้ หลวงพ่อคิดว่าคงไม่เหลือวิสัยเราสามารถทำได้

หากว่าในไตรมาสพรรษา ๓ เดือนนี้เราทำไม่ได้ ก็มีผลเสียหลายอย่าง เช่นว่า เราก็เสียเวลาไปเปล่าๆ ทั้งไม่ได้ความภูมิใจในการที่มาประพฤติปฏิบัติ เมื่อไปถึงบ้านถึงวัดแล้วก็ท้อใจ ไม่อยากสอนญาติโยม ไม่อยากสอนลูกศิษย์ลูกหา ด้วยว่าเรามีปมด้อย ถ้าหากสอน เมื่อลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติได้มากกว่าตัว หรือบางทีลูกศิษย์ลูกหาได้สมาธิไป ก็เกิดความท้อใจขึ้นมาแล้ว บางทีเกิดความเห็นผิดก็มี

ตัวอย่างท่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง เวลาทำวัตรแล้วก็นั่งสมาธิ เผอิญพระลูกศิษย์นั่งสมาธิ ๓๐ นาที เกิดได้สมาธิขึ้นมา อาจารย์ท่านก็ทึกทักโมเมขึ้นมาว่า ทำอย่างนี้ไม่ถูก อันนี้ไม่ใช่สมาธิ เป็นผีสิง อะไรทำนองนี้ ว่ากันไปว่ากันมา ทำไมมานั่งสมาธิเพียง ๓๐ นาทีจะมาได้สมาธิ ผมนี้ปฏิบัติมาตั้ง ๕-๖ ปีแล้วยังไม่ได้ คุณมาปฏิบัติ ๓๐ นาที จะไปได้อย่างไร อันนี้เป็นของปลอม ก็ว่าไป ผลสุดท้ายหลวงพ่อไปเทศน์โปรดเอา แล้วได้แนะนำให้มาประพฤติปฏิบัติ มาอยู่ที่นี้จึงเกิดความเชื่อปลงใจเชื่อ

นี่แหละท่านทั้งหลาย หากเราประพฤติปฏิบัติไม่ได้นี้ ทำให้มีปมด้อยอยู่ในตัวเอง และอีกอย่างหนึ่ง เมื่อเราปฏิบัติไม่ได้ เวลาไปเทศน์ไปสอนก็พูดไม่ได้เต็มปาก เราจะเทศน์เรื่องมรรคผลนิพพานนี้ เราก็มีความกระดากละอายในใจของตัวเอง ไม่มีความองอาจกล้าหาญ เกิดความวิปฏิสารอยู่ตลอดเวลา เกรงว่าคนนั้นจะถามอย่างนี้ คนนี้จะถามอย่างนั้น เกรงว่าเขาจะมองเราในแง่ผิด

แต่หากว่าเราประพฤติปฏิบัติไปได้พอสมควรแล้ว เราเทศน์ธรรมะภาคปฏิบัตินี้ได้สบาย ไม่ต้องสะทกสะท้านเดือดร้อน ไม่ต้องเกรงใครจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ และก็ทำให้เกิดความอุตสาหะพยายาม เกิดความองอาจกล้าหาญขึ้นมา

เหตุนั้น เวลาเหลืออยู่หลายวัน ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ตลอดนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าได้ชะล่าใจ พยายามอดทนกัดฟันต่อสู้ไป จนกว่าจะผ่านการประพฤติปฏิบัติไป อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้ขั้นปฐมมรรค หลวงพ่อก็พอใจแล้วดีใจแล้ว ที่ท่านทั้งหลายไม่เสียทีที่มาปฏิบัติ สามารถได้คุณธรรมวิเศษเป็นสมบัติของตัวเอง เป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกด้วย และก็เป็นศรีของพระศาสนาด้วย

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะมาบรรยายโดยย่อ ในเรื่อง สิ้นอาสวะถึงสันติลักษณะ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.




หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 04 มกราคม 2562 13:39:31
(https://updatetoday.in.th/wp-content/uploads/2018/02/c2.jpg)

ญาณโลกุตตระ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ ไม่ใช่ว่าจะประพฤติปฏิบัติครั้งเดียวแล้วก็ผ่านไปเลย หรือว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลขั้นสูงสุดเลยทีเดียวก็หาไม่ คือวิปัสสนาญาณต้องเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ครบทั้ง ๔ รอบ จึงจะถือว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานั้นถึงจุดหมายปลายทาง เพื่อประกอบการปฏิบัติ ยืนยันหลักฐานที่กล่าวมา จึงนำเรื่อง ญาณโลกุตตระ มาบรรยาย

ญาณโลกุตตระ คือความตรัสรู้ชอบ ความตรัสรู้โดยตลอดในโลกุตตระพ้นจากโลก เป็นส่วนปฏิเวธธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เกิดขึ้นพร้อมกับโลกุตตรจิต ดับพร้อมกันกับโลกุตตรจิต มีอารมณ์อันเดียวกันกับโลกุตตรจิต มีวัตถุที่อาศัยอันเดียวกันกับโลกุตตรจิต

ญาณโลกุตตระนี้ประชุมพร้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม ประกอบกับมัคคจิต เรียกว่า มัคคญาณ ประกอบกับผลจิต เรียกว่า ผลญาณ ฝ่ายมัคคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ต่างได้โลกุตตรอารมณ์ คือมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีพระนิพพานเป็นที่รู้ มีพระนิพพานเป็นที่เห็น มีพระนิพพานเป็นที่ได้ มีพระนิพพานเป็นที่พึ่ง มีพระนิพพานเป็นที่บรรลุ เป็นความรู้ที่ต่างจากโลกีย์ ไม่มีอะไรในโลกีย์นี้จะไปเทียบกับโลกุตตระให้ตรงกับความเป็นจริงได้

พระอริยเจ้าทั้งหลายจะไม่แสดงความเข้าไปรู้ไปเห็นของปุถุชนเลย เพราะไม่สามารถให้ปุถุชนรู้ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถึงให้บรรลุ การรู้ด้วยการอนุมาน ด้วยการฟัง ด้วยการคิด ด้วยการเจริญภาวนา แต่มัคคญาณผลญาณยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่สามารถจะรู้จริงได้ เมื่อใดได้มาเจริญพระกัมมัฏฐานจนข้ามโคตรปุถุชนไปสู่โคตรอริยะ เมื่อนั้น ได้มีญาณโลกุตตระเกิดขึ้นแล้ว ก็จะรู้แจ้งแทงตลอดในอารมณ์เหนือโลก ทิ้งสงสัยโดยไม่ต้องอนุมานเอาหรือคิดเอาคาดคะเนเอา

เมื่อใดได้รู้ด้วยปัญญาในโลกุตตระแท้ๆ เมื่อนั้นก็สิ้นความสงสัยที่จะไปไต่ถามในสำนักใดๆ เพราะมารู้เฉพาะตนเสียแล้ว ผู้ใดปฏิบัติถูกทาง บรรลุถึง ผู้นั้นเป็นผู้รู้เฉพาะตน จะรู้แทนกันไม่ได้ ญาณความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส อันประกอบไปด้วยโลกุตตระ ๘ ได้นิพพานเป็นอารมณ์นั้น จะแสดงโดยลำดับไป

๑. โสดาปัตติมัคคญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยมัคคจิต เกิดขึ้นเพราะญาณโลกีย์เป็นปัจจัยส่งต่อกันมาถึงโคตรภูญาณโดยไม่มีระหว่างขั้น โสดาปัตติมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ตั้งแต่เวียนว่ายตายเกิดมาในมหรรณพภพสงสาร เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ได้เห็นความสิ้นหมุนเวียน ไม่เกิดอีก ชื่อว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพาน ถึงกระแสพระนิพพานอยู่นั้นหนึ่งขณะจิต ไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง โสดาปัตติผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

๒. โสดาปัตติผลญาณ ปัญญาความรู้ที่ประกอบด้วยโสดาปัตติผลจิต เกิดขึ้นเพราะโสดาปัตติมัคคญาณส่งให้ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกัน เกิดขึ้น ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

เมื่อโสดาปัตติผลจิตเกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะแล้วดับลง พระพุทธองค์ทรงขนานนามผู้นั้นว่า พระโสดาบันอริยบุคคล ผู้เป็นหน่อแนวที่จะสิ้นทุกข์ ประหารโลภะที่จะนำไปสู่อบายภูมิได้สิ้น ทำให้สังสารวัฏเหี่ยวแห้ง ทำลายความเห็นผิดได้สิ้นเชิง ดับสิ้นจากเวรภัยทั้งหลาย เท่ากับเป็นบุตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง จะเกิดไปภายหน้าอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น เป็นผู้มีศีล ๕ อันไม่หัก ไม่รั่ว ไม่ด่าง ไม่มีจุด ไม่ปรารถนาโลกิยะ ควรแก่การสรรเสริญทั้งสิ้น เหมือนกันกับได้สมาธิอยู่

อกุศลที่พระโสดาบันตัดได้เด็ดขาดไม่เกิดในสันดานอีกนั้น คือ จิตโลภที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ ๔ ดวง กับวิจิกิจฉาความสงสัยอีก ๑ ดวง และละอกุศลเจตสิกได้ ๕ ดวง คือ วิจิกิจฉา ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ

ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย สีลัพพตปรามาส คือเห็นนอกพระพุทธศาสนา

ละนิวรณ์เครื่องกั้นได้ ๒ คือ วิจิกิจฉานิวรณ์ เครื่องกั้นคือความสงสัย และกุกกุจจนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรำคาญใจ

ละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานได้ ๒ คือ ทิฏฐิ ความเห็นผิด วิจิกิจฉา ความสงสัย

ละอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นได้ ๓ คือ ทิฏฐุปาทาน ยึดมั่นในความเห็น สีลัพพตุปาทาน ยึดมั่นในศีลพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในตน ถือตัวตน เช่น ถือว่าคำพูดของตนถูก ของผู้อื่นผิด

ละคันถะเครื่องผูกมัดได้ ๒ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ การประชุมแห่งศีลพรตเป็นเครื่องผูกมัด และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ การประชุมแห่งการยึดมั่นว่ามติของตนถูก ของผู้อื่นผิด

ละโยคะเครื่องประกอบสัตว์ไว้ได้ ๑ คือ ทิฏฐิโยคะ เครื่องประกอบคือความเห็นผิด

ละโอฆะ คือ ห้วงน้ำได้ ๑ คือ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือทิฏฐิ

และละอาสวะเครื่องดองได้ ๑ คือ ทิฏฐาสวะ เครื่องหมักดองคือทิฏฐิความเห็นผิด

พระโสดาบันได้ความแตกต่างกันด้วยความยิ่งหย่อนแห่งอิทธิบาท แบ่งออกเป็น ๓ จำพวก คือ

๑) เอกพีชีโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะปฏิสนธิเกิดอีกเพียงชาติเดียวก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๒) โกลังโกละโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วจะเกิดอย่างมากอีกไม่เกิน ๖ ชาติ จากสกุลไปสู่สกุล จากภพไปสู่ภพ แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพาน

๓) สัตตักขัตตุปรมะโสดาบัน คือบุคคลที่ได้เป็นพระโสดาบันแล้วต้องปฏิสนธิคือเกิดในกามสุคติภูมิอีกอย่างมากแค่ ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

สรุปแล้วว่า ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว แม้จะมีความประมาทสักปานใดก็ตาม ก็จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพาน

การที่คติของพระโสดาบันแตกต่างกันอย่างนี้ ก็เพราะด้วยอำนาจของอิทธิบาทภาวนา คือหมายความว่า ผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วมีความเพียรอย่างเรี่ยวแรง เช่นว่า วันหนึ่งมี ๒๔ ชั่วโมง ถือเอาเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเสีย ๒๐ ชั่วโมง พระโสดาบันประเภทนี้จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

แต่ถ้าท่านผู้ใดบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว มีความเพียรสืบต่อกันไปไม่ขาดระยะ ในวันหนึ่ง ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๑๒-๑๔ ชั่วโมง อยู่ในระดับนี้ จะเกิดอย่างมากอีกเพียง ๖ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน แต่ถ้าผู้ใดหลังจากได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ๒๔ ชั่วโมง ถือเป็นเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ๖ หรือ ๘ ชั่วโมง ก็จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๓. สกทาคามิมัคคญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่เกิดขึ้นประกอบกับสกทาคามิมัคคจิต ด้วยการเลิกละจากปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล และกิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ ตลอดการพิจารณาพระนิพพานที่พระโสดาบันเข้าไปเห็นทั้ง ๕ อย่างนี้อันใดอันหนึ่ง ด้วยการเว้นเสีย ไม่พิจารณาอีกต่อไป

กลับมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นั้นก็ดี ล่วงไปแล้ว ๑ วันก็ดี หรือในเวลาที่ล่วงไปแล้ว ๑ เดือนก็ดี ๑ ปีก็ดี ตั้งต้นมีสติกำหนดรู้ พิจารณารูปธรรมนามธรรมให้เห็นความเกิดดับเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏติดอยู่ที่รูปนามนั้น เบาละเอียดกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก แต่ถึงกระนั้นก็สามารถเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน

ผ่านญาณตั้งแต่อุทยัพพยญาณคือญาณที่ ๔ จนถึงสังขารุเปกขาญาณที่ ๑๑ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ ขึ้นสู่อนุโลมญาณ ๓ ขณะ หลังจากนั้นก็ผ่านโวทาน ต่อจากนั้นไม่มีอะไรคั่นระหว่าง สกทาคามิมัคคจิตก็เกิดขึ้นทันที

อันนี้ไม่เหมือนกับเราปฏิบัติครั้งแรก คือเราปฏิบัติครั้งแรก เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณ ผ่านอนุโลมญาณแล้วก็ขึ้นสู่โคตรภูญาณ ตัดขาดจากโคตรปุถุชนไปสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน แต่เมื่อสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว จะเข้าสู่สกทาคามิมรรค ไม่เรียกว่า โคตรภู เพราะโคตรปุถุชนหมดไปแล้ว สิ้นไปสูญไปแล้ว เรียกโคตรภูนั้นใหม่ว่า โวทานโคตร

คำว่า โวทานโคตร คือโคตรอันบริสุทธิ์ เมื่อผ่านโวทานโคตรคือโคตรของพระโสดาบันแล้ว ไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิมัคคญาณก็เกิดขึ้นทันที ๑ ขณะจิต ต่อจากนั้นไม่มีระหว่างคั่น สกทาคามิผลก็เกิดขึ้นมาทันที

๔. สกทาคามิผลญาณ ความรู้คือปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับสกทาคามิผลจิต ขณะที่สกทาคามิมรรคดับลงแล้วเมื่อใด ไม่ประกอบด้วยกาล เป็นอกาลิกธรรม ไม่มีอะไรคั่นระหว่างกลาง สกทาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง แล้วแต่ว่าเป็นประเภทมันทบุคคลหรือติกขบุคคล

คือ ประเภทมันทบุคคล ผลจิตก็เกิดขึ้น ๒ ขณะ ประเภทติกขบุคคล ผลจิตเกิดขึ้น ๓ ขณะ เมื่อผลจิตดับลงแล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่า พระสกทาคามีอริยบุคคล โดยสมบูรณ์ ทำลายกิเลสได้เป็นสมุจเฉทปหาน

พระสกทาคามีนี้ สามารถละกิเลสได้เท่ากันกับที่พระโสดาบันละไปแล้ว และทำ ราคะ โทสะ โมหะ ที่ยังเหลืออยู่ให้เบาบางลง

คติของพระสกทาคามีนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑) อิธ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้ หมายความว่า หลังจากได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ก็เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อ จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในปัจจุบันชาตินี้

๒) อิธ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในเทวโลก หมายความว่า เมื่อได้เป็นพระสกทาคามีแล้ว จุติคือตายไปจากมนุษย์โลกนี้ เมื่อไปบังเกิดในเทวโลกแล้วก็จะได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกนั้น

๓) ตตฺถ ปตฺวา ตตฺถ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานในเทวโลกชาตินั้นเอง หมายถึงเทวดาที่มาฟังเทศน์ฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจากสาวกของพระองค์ แล้วได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี หลังจากนั้นเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในเทวโลกชั้นนั้น

๔) ตตฺถ ปตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี จะได้สำเร็จพระนิพพานเมื่อจากเทวโลกมาปฏิสนธิในมนุษย์โลกแล้ว คือหมายความว่า ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีในเทวโลก แต่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ไม่สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลก ก็ได้เจริญพระกัมมัฏฐานจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

๕) อิธ ปตฺวา ตตฺถ นิพฺพตฺติตฺวา อิธ ปรินิพฺพายี คือท่านผู้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีบุคคลในมนุษย์โลกแล้วไปเกิดในเทวโลก จุติจากเทวโลกมาเกิดในมนุษย์โลกอีก แล้วเจริญพระกัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธ์ปรินิพพาน

การได้มาซึ่งสกทาคามิมัคคญาณ สกทาคามิผลญาณนั้น อุปมาเหมือนกับบุรุษผู้ปรารถนาจะถากถางทำสถานที่ให้เตียน จึงใช้มีด จอบ และเสียม ทำการถากถาง ขุดต้นไม้ต้นหญ้าให้ราบเตียนครั้งหนึ่งแล้ว แต่รากเหง้ายังไม่หมด เมื่อฝนตกพรำลงมา ไม่ช้าไม่นานรากเหง้านั้นก็เป็นปัจจัยให้เจริญเป็นต้น แตกกิ่งก้านสาขาใบขึ้นอีก บุรุษนั้นจึงนำจอบเสียมมาขุดรากเหง้าต่ออีก เพื่อจะให้รากเหง้าหมดสิ้นไปครั้งที่ ๒ และทำความสะอาดโล่ง ก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ อีก ข้อนี้ฉันใด

พระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ญาณบังเกิดขึ้นจนถึงขั้นโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ละไปบ้างแล้วแต่ยังไม่หมด ต่อมาจึงเจริญพระวิปัสสนาจนบรรลุพระสกทาคามิมรรคพระสกทาคามิผล ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ และทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง ฉันนั้น

๕. อนาคามิมัคคญาณ ญาณความรู้คือองค์ปัญญาประกอบกับอนาคามิมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อปัจจเวกขณญาณพิจารณาสกทาคามิมรรค สกทาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ มีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมเบื้องสูงยิ่งๆขึ้นไป จึงละจากปัจจเวกขณะ เริ่มบำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานใหม่ วิปัสสนาญาณก็จะเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่อุทยัพพยญาณที่ ๔ เป็นต้นขึ้นไป เห็นรูปนามเกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้รูปนามชั้นนี้จะละเอียดมาก แต่มีญาณเข้าไปรู้ชัดแจ่มแจ้งเหมือนกัน

เมื่อถึงสังขารุเปกขาญาณแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ๑ ขณะ แล้วขึ้นสู่อนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระสกทาคามีไปสู่อนาคามิมัคคญาณ ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ พร้อมกับความสิ้นไปแห่งกามราคะ พยาบาท สิ้นสุดลงเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีก

๖. อนาคามิผลญาณ ความรู้คือองค์ปัญญาที่ประกอบกับอนาคามิผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากอนาคามิมัคคญาณ เมื่ออนาคามิมัคคญาณดับลงโดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อนาคามิผลญาณก็เกิดขึ้นทันที มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ๒ หรือ ๓ ขณะจิต สำเร็จเป็นพระอนาคามีอริยบุคคล ละอกุศลธรรมได้เป็นสมุจเฉทปหาน

พระอนาคามีละกิเลสได้เพิ่มจากที่พระโสดาบันและพระสกทาคามีละแล้วอีก ดังนี้ คือ

ละโทสมูลจิตได้ ๒ ดวง และละโทสเจตสิกได้เด็ดขาดไม่กลับเกิดอีก

ละอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้เด็ดขาด ๓ คือ ปิสุณวาจา พูดส่อเสียด ผรุสวาจา พูดคำหยาบ และพยาบาท คิดปองร้าย

ละกิเลสคือโทสะกิเลสได้เด็ดขาด

ละสังโยชน์ได้ ๒ คือ กามราคสังโยชน์ ผูกความรักใคร่ในกามารมณ์ และปฏิฆสังโยชน์ การผูกโกรธ ได้เด็ดขาด

ละอนุสัยได้ ๒ คือ กามราคานุสัย ความรักใคร่ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน ปฏิฆานุสัย ความกระทบกระทั่งแห่งจิตด้วยอำนาจโทสะ ไม่เกิดขึ้นอีกเลย

ละนิวรณ์ได้ ๒ คือ กามฉันทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความรักใคร่พอใจในกาม พยาบาทนิวรณ์ เครื่องกั้นคือความชัง เสียสิ้น ไม่มาเป็นเครื่องกั้นได้อีกเลย

ละคันถะ คือ พยาปาทกายคันถะ เครื่องผูกมัดคือความโกรธ ได้เด็ดขาด

ละโยคะ คือ กามโยคะ การประกอบสัตว์ไว้ในกาม เสียได้

ละโอฆะ คือ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือความใคร่ ได้เด็ดขาด

ละอาสวะ คือ กามาสวะ เครื่องหมักดองคือกาม ได้เด็ดขาด

พระอนาคามีไม่กลับไปสู่บ้านเรือนสู่กามสุคติภูมิอีก มีพรหมโลกชั้นสุทธาวาสเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หมายความว่า เมื่อบรรลุเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ถือว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของพระอนาคามี คือพระอนาคามีจุติแล้วจะไม่มาเกิดในกามภพคือมนุษย์โลกและเทวโลกอีก จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสพรหม ๕ ชั้น ตามความแก่กล้าของอินทรีย์ทั้ง ๕ แห่งตน

ท่านแบ่งคติของพระอนาคามีไว้ ๕ ประเภท ดังนี้

๑) อันตราปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุแรก คือเมื่อไปเกิดในชั้นอวิหา และก็บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในกึ่งอายุแรก

๒) อุปหัจจปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในสุทธาวาสเมื่อกึ่งอายุหลัง

๓) สสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสมาก

๔) อสังขารปรินิพพายี สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานด้วยความเพียรเผากิเลสไม่มากนัก

๕) อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี สำเร็จเป็นพระอรหันต์เมื่อปฏิสนธิไปจนถึงชั้นอกนิฏฐภูมิ

หมายความว่า เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี เมื่อจุติจากอัตภาพนี้แล้วไปบังเกิดในสุทธาวาสชั้นอวิหา เมื่อบังเกิดในชั้นอวิหาแล้ว เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ยังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็เกิดในชั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คือชั้นอตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐพรหมชั้นสุดท้าย แล้วจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วปรินิพพานในชั้นอกนิฏฐภูมินั้นเอง

การปฏิบัติได้มาซึ่งพระอนาคามี อุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่พิจารณาเห็นความทุกข์ยากลำบากเป็นทาสของตัณหาและโทสะ จึงสลัดตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ละจากเคหสถานบ้านเรือนไปสู่สำนักบรรพชิต แล้วบำเพ็ญสมณธรรม ได้รับความสงบแล้วไม่กลับมาอีกเลย ฉันใด ผู้เจริญวิปัสสนาจนได้เป็นพระโสดาบันพระสกทาคามีแล้ว แต่ยังมีความรักความชอบใจในกามอยู่ ต่อมาเห็นภัยในความรัก ความใคร่ ความอาลัย จึงเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไปจนได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ฉันนั้น

๗. อรหัตตมัคคญาณ ญาณความรู้อันเป็นองค์แห่งปัญญาเจตสิกประกอบด้วยอรหัตมัคคจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ เมื่อมีความปรารถนาที่จะปฏิบัติให้บรรลุธรรมให้ถึงที่สุด จึงละปัจจเวกขณญาณที่พิจารณาอนาคามิมรรค อนาคามิผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่เสีย

เริ่มเจริญพระวิปัสสนากรรรมฐานในเวลาที่กำลังนั่งอยู่บ้าง ล่วงไปแล้ว ๑ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีบ้าง ในสุทธาวาสชั้นนั้นบ้าง เป็นต้น พิจารณารูปนามได้ด้วยวิปัสสนาญาณจนเกิดญาณหยั่งรู้รูปนาม แม้รูปนามละเอียดอ่อนสักปานใดก็ตาม วิปัสสนาญาณนั้นก็จะคมกล้า สามารถที่จะเห็นรูปนามได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง

ทุกเมื่อทุกขณะที่รูปนามเกิดดับ มีอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ และอนัตตลักษณะ ติดอยู่ ปรากฏอยู่ ผ่านอุทยัพพยญาณไปจนถึงสังขารุเปกขาญาณ หลังจากนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดอาวัชชนจิตทางมโนทวาร ขึ้นไปสู่อนุโลมญาณ ออกจากอนุโลมญาณ ผ่านโวทาน ข้ามโคตรของพระอนาคามี โดยไม่มีอะไรคั่นในระหว่าง อรหัตตมัคคญาณก็เกิดขึ้น ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ สิ้นอาสวะกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ประหนึ่งว่าสายฟ้าได้ผ่าลงสู่วัตถุธาตุมีต้นไม้เป็นต้นให้ขาดสะบั้นลงฉะนั้น แม้แต่โคตรเพชรที่ว่าแข็งสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ต้องแตกเป็นจุลไป ในเมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้น ๑ ขณะจิต โดยไม่มีคั่นในระหว่างกลาง เป็นอกาลิกธรรม ในขณะนั้นพระอรหัตตผลญาณก็เกิดขึ้นทันที

๘. อรหัตตผลญาณ ความรู้คือองค์แห่งปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับอรหัตตผลจิต ได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง ตามกำลังของมันทบุคคลหรือติกขบุคคล เป็นพระอรหันต์อริยบุคคลผู้ขีณาสพ มีกิเลสตัณหาอันสิ้นแล้ว ชาตินั้นเป็นชาติสุดท้าย ดับขันธ์แล้วจะเข้าสู่พระนิพพาน เป็นบรมสุข ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายอีกต่อไป

เมื่อเป็นพระอรหันตบุคคลแล้ว กิเลสที่เหลือจากพระอริยบุคคล ๓ เบื้องต้นที่ยังประหารไม่ได้ก็จะถูกประหารให้หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานของพระอรหันต์ ขันธ์ของพระอรหันต์ที่ยังไม่ดับเรียกว่า วิสุทธิขันธ์ ดุจน้ำมันที่กลั่นแล้วร้อยครั้งพันครั้งฉะนั้น

สรุปความแล้วว่า พระอรหันต์นั้นละกิเลสได้ทุกอย่าง ละอกุศลธรรมได้ทั้งหมด ยกเว้นพระอรหันตสาวก ละวาสนาที่ตนประพฤติจนชินแต่อดีตชาตินั้นไม่ได้ ส่วนพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ละได้ทั้งกิเลส ละได้ทั้งวาสนา สิ้นเชิงแน่นอน

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย กิเลสที่ไม่มีแล้ว แสนที่จะสบาย ไม่มีอะไรเปรียบได้ พระอรหันต์ทั้งหลายได้สร้างบารมีมาในอดีตชาติไม่เหมือนกัน เหตุนั้นจึงมีคุณพิเศษไม่เหมือนกัน ซึ่งแยกออกเป็น ๔ ประเภท คือ

๑. ปฏิสัมภิทัปปัตโต พระอรหันต์ผู้สำเร็จพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ คือ

๑) อัตถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ

๒) ธัมมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม

๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษา

๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ

เหล่านี้ จะเกิดขึ้นพร้อมกันกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์

๒. ฉฬภิญโญ พระอรหันต์ที่สำเร็จพร้อมด้วยอภิญญา ๖ คือเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อภิญญา ๖ สามารถที่จะเกิดพร้อม คือ

๑) อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้

๒) ทิพพโสตะ มีหูทิพย์

๓) เจโตปริยญาณ การรู้จักวาระจิตของผู้อื่น

๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้

๕) ทิพพจักขุ มีตาทิพย์

๖) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

อภิญญาทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่าตนได้บำเพ็ญบารมีมาแต่ภพก่อนชาติก่อน

๓. เตวิชโช พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิชชา ๓ ประการคือ

๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒) จุตูปปาตญาณ ปัญญาพิจารณาการเกิดและการตายของบุคคลอื่นสัตว์อื่นได้

๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้น

๔. สุกขวิปัสสโก พระอรหันต์ผู้สำเร็จวิปัสสนาญาณโดยแห้งแล้ง หมายความว่า ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นแต่เพียงสามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน แต่ไม่สามารถยังคุณวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ปฏิสัมภิทา ๔ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ได้บำเพ็ญบารมีมาทางนี้

ญาณในโลกุตตระทั้ง ๘ ประการนี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องจากญาณโลกีย์ทั้งหมด เมื่อรวมกันเข้าแล้วได้ ๒ คือ มัคคญาณ ผลญาณ รวมทั้งญาณโลกีย์ ๑๔ เป็น ๑๖ ด้วยกัน

ญาณทั้ง ๑๖ นี้ย่อมเป็นปัจจัยส่งต่อให้กัน คือ ญาณที่ ๑ ส่งต่อให้ญาณที่ ๒ ญาณที่ ๒ ส่งต่อให้ญาณที่ ๓ ส่งต่อกันไปตามลำดับจนถึงญาณที่ ๑๖ โดยอาศัยวิปัสสนาญาณเป็นบรรทัดฐาน ดังจะขอยกอุปมาเป็นบุคคลาธิษฐาน ดังต่อไปนี้ คือ

ยังมีบุรุษเจ้าของเรือนคนหนึ่ง รับประทานอาหารเย็นแล้วก็ขึ้นไปสู่ที่นอน นอนหลับไป ในคืนนั้นเกิดไฟไหม้ขึ้นในเรือนเป็นอันมาก บังเอิญบุรุษนั้นตื่นขึ้นมาเห็นไฟไหม้อยู่ในเรือนกำลังลุกโชติช่วงอยู่ก็สะดุ้งตกใจรำพึงว่า อนิจจา! เรานี้อยู่ท่ามกลางไฟทีเดียว จะตายเสียในกองไฟนี้ ทำอย่างไรหนอจึงจะออกจากไฟได้ ทางไหนหนอๆ เมื่อดำริดังนั้นแล้วก็ลุกออกจากที่แล้วรีบวิ่งออกไปโดยเร็วพลัน พอพ้นจากเพลิงไหม้แล้ว บุรุษนั้นก็ยืนอยู่ในที่ที่ไฟไหม้ไม่ถึง อันนี้ฉันใด

ท่านผู้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานไปตามลำดับญาณ ๑๖ ก็ฉันนั้น คือขณะเจ้าของเรือนพักอยู่ในเรือน เปรียบด้วยการปกครองรูปนามอยู่ ขณะที่เจ้าของเรือนบริโภคอาหารแล้วนอนในกลางคืนนั้น เปรียบเหมือนผู้ปฏิบัติวิปัสสนาอย่างอ่อน คือ มีญานที่ ๑ เห็นรูปนามเปรียบเหมือนกำลังนอน จนผ่านไปถึงญาณที่ ๒ เห็นปัจจัยของรูปนาม เหมือนกับใกล้จะตื่น จนผ่านไปถึงญาณที่ ๓ เห็นลักษณะของรูปนาม เหมือนตื่นขึ้นเห็นแสงไฟ ญาณที่ ๔ เห็นรูปนามเกิดดับ เหมือนเห็นไฟกำลังลุก

ญาณที่ ๕ เห็นรูปนามดับไป เหมือนกับเห็นไฟลุกใกล้เข้ามา ญาณที่ ๖ เห็นรูปนามเป็นภัย เหมือนเห็นไฟนั้นจะไหม้ น่ากลัว ญาณที่ ๗ เห็นรูปนามเป็นโทษ เหมือนเห็นไฟนั้นมีโทษอย่างร้ายกาจ ญาณที่ ๘ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย เหมือนเบื่อหน่ายต่อไฟนั้น ญาณที่ ๙ เห็นรูปนามใคร่อยากหนี เหมือนหาทางหนีจากไฟนั้น ญาณที่ ๑๐ เห็นรูปนามน่าเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนีแล้ว ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง เหมือนตั้งใจหนีออกจากไฟ

ญาณที่ ๑๑ มีใจวางเฉยต่อรูปนาม เหมือนกับหาทางหนียังไม่ได้ ยืนดูไฟรำพึงอยู่ ญาณที่ ๑๒ เห็นรูปนามมีกำลังชัดยิ่งขึ้น เหมือนกับเห็นไฟใกล้เข้ามา ญาณที่ ๑๓ เห็นทางไปพระนิพพาน เหมือนเห็นทางออกจากไฟ ญาณที่ ๑๔ เห็นพระนิพพาน เหมือนกำลังวิ่งออกจากไฟ ญาณที่ ๑๕ เห็นพระนิพพาน เหมือนพ้นไฟแล้ว ญาณที่ ๑๖ พิจารณามรรคผลนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ เหมือนบุรุษผู้ยืนดูไฟอยู่ รู้ว่าตนพ้นแล้ว ฉะนั้น

ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ย่อมเป็นปัจจัยของกันและกัน บางญาณก็เกิดในวิถีเดียวกัน เช่น ญาณที่ ๑๒ ถึงญาณที่ ๑๖ นี้ก็เกิดในวิถีเดียวกัน ถ้าญาณที่ ๑๒ เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นประมาณลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ญาณที่ ๑๖ ก็เกิดขึ้นสมบูรณ์เต็มที่

สรุปแล้วว่า ญาณทั้ง ๑๖ ประการนี้ ก็เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เมื่อใดปฏิบัติจนผ่านญาณทั้ง ๑๖ ไปแล้ว ก็ชื่อว่าบรรลุปฏิเวธธรรมคือมรรคผลนิพพานนั่นเอง.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 11 มกราคม 2562 09:31:09
(https://www.bloggang.com/data/i/itoursab/picture/1370377280.jpg)

คติของพระอริยบุคคล
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง คติของพระอริยบุคคล มาบรรยายถวายความรู้ แด่ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย ตามสมควรแก่เวลา

คติของพระอริยบุคคลทั้ง ๔ ประเภท คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ย่อมต่างกันตามประเภทดังต่อไปนี้

๑. พระโสดาบัน คำว่า พระโสดาบัน หมายความว่า ผู้ถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เพราะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ไปได้ครั้งที่ ๑ ละกิเลสได้ ๓ ตัว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส นี้เรียกว่าเป็นพระโสดาบัน

ทีนี้คติของพระโสดาบัน คือถ้าได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน หากว่าอินทรีย์แก่กล้า ในเวลาประพฤติปฏิบัติ คือมีอินทรีย์ ๕ สมบูรณ์แก่กล้า ก็จะเกิดอีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้ประพฤติปฏิบัติสำเร็จเป็นพระอรหันต์

แต่ถ้าอินทรีย์หย่อน เวลาประพฤติปฏิบัติ อินทรีย์มันหย่อนไป ถ้าอินทรีย์หย่อนก็จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ แล้วก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพาน แต่ถ้าต่ำลงมาก็จะเกิดอีก ๒ ชาติ ๓ ชาติ ๔ ชาติ ๕ ชาติ ๖ ชาติ ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพาน

เมื่อได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ถือว่าสามารถทำลายกิเลสที่เป็นอปายคามินีที่จะนำไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานได้เด็ดขาด เป็นผู้มีคติเที่ยงในการที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ จะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารอีกนานเกินไป

ทีนี้ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว หากว่าตอนที่จะมรณภาพ ได้สำเร็จรูปฌาน คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็จะได้ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน แต่ถ้าว่าได้สำเร็จอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม ตามกำลังของอรูปฌาน

ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๑ ก็ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๒ ก็ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๓ ก็จะได้ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนพรหม ถ้าได้สำเร็จอรูปฌานที่ ๔ ก็จะได้ไปเกิดในอรูปพรหมชั้นที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม

ทีนี้ ผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌานจะไปเกิดที่ไหน ฌานก็ไม่ได้เหมือนรูปอื่นเหมือนคนอื่น เป็นประเภทสุกขวิปัสสกะ ได้บรรลุด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณล้วนๆ ไม่ได้ฌาน

ถ้าว่าเป็นพระโสดาบันที่ไม่ได้ฌาน บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก คือในฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามกำลังของบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

พระโสดาบัน เมื่อมรณภาพแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่าผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถือว่ามีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับ จุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ อันนี้เป็นคติของพระโสดาบันโดยย่อ

๒. พระสกทาคามี หมายถึง ผู้กลับมาเกิดอีกเพียงครั้งเดียว สำหรับพระสกทาคามีที่ไม่ได้ฌาน บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก ในสวรรค์ ๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้

แต่ถ้าเป็นพระสกทาคามีที่ได้รูปฌาน ๔ ฌานใดฌานหนึ่ง ก็จะไปบังเกิดในรูปพรหมตามกำลังของฌานใดฌานหนึ่ง ถ้าพระสกทาคามีที่ได้อรูปฌาน จุติแล้วก็จะไปบังเกิดในอรูปพรหม ๔ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามกำลังของฌาน พระสกทาคามีนี้ทำลายกิเลสตัณหา(เพิ่มขึ้นจากที่โสดาปัตติมรรคทำลายแล้ว)ไม่ได้ เป็นแต่เพียงทำกิเลสที่เหลืออยู่นั้นให้เบาบางลง คือไม่มีกำลังพอที่จะทำลายกิเลสตัณหาที่เหลืออยู่ให้หมดไป

แต่ถึงกระนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ เหมือนกันกับคติของพระโสดาบัน พระสกทาคามี เมื่อจุติแล้วก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ ภพใดภพหนึ่ง บางทีก็มาเกิดในโลกมนุษย์ บางทีก็ไปเกิดในเทวโลก บางทีก็ไปเกิดในพรหมโลก เมื่อไปเกิดในสุคติภพ ภพใดภพหนึ่ง บางทีก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภพนั้นแล้วก็ปรินิพพาน

แต่เมื่อไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในภพนั้นๆ ถ้าไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลก จุติแล้วก็จะมาบังเกิดในโลกมนุษย์ แล้วก็จะปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะปรินิพพาน

แต่ถ้ามาเกิดในโลกมนุษย์เรานี้แล้วยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะกลับไปบังเกิดในเทวโลกอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้บรรลุพระนิพพาน

แต่ถ้าพระอริยบุคคลที่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีอยู่ในเทวโลกก็ดี หรือว่าในพรหมโลกก็ดี ทั้งที่เป็นรูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดี เมื่อไปเกิดในสุคติภพนั้น ก็ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีในเทวโลก

แต่ว่าไม่สำเร็จมรรคผลนิพพานขั้นต่อไป จุติจากเทวโลกแล้วก็มาเกิดในมนุษย์โลกของเราอีก เมื่อเกิดในมนุษย์ก็ยังไม่ได้บรรลุ จุติแล้วก็จะไปเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกอีก เมื่อเกิดแล้วก็จะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ปรินิพพานในเทวโลกหรือในพรหมโลกนั้นๆ

๓. พระอนาคามี แปลว่า ผู้ไม่เวียนกลับมาเกิดอีก คือผู้ไม่ไปสู่กามภพอีก คือหมายความว่า เมื่อได้เป็นพระอนาคามีแล้วก็ถือว่าเป็นภพสุดท้าย จุติแล้วจะไม่ไปเกิดในมนุษย์โลกหรือเทวโลก แต่จะไปบังเกิดในรูปพรหมหรืออรูปพรหมตามกำลังของฌาน

พระอนาคามีนี้ สามารถทำลายกิเลสตัณหาเพิ่มต่อจากพระโสดาบันอีก ๒ ประการ คือ ๑) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ๒) กามราคะ ความพอใจความกำหนัดในกามจะหมดไป คือกามราคะความคิดอยากมีลูก มีเมีย มีผัว มีครอบครัว มันหมดไปแล้ว ไม่คิดจะสร้างครอบครัวอีกต่อไปแล้ว

แม้ว่าผู้ที่สำเร็จพระอนาคามีในขณะเป็นฆราวาสก็จะอยู่เหมือนกันกับพระกับเณร จะไม่มีการร่วมสังวาสกัน สามีภรรยาจะเป็นเหมือนกันกับพ่อกับลูกอยู่ด้วยกัน เหมือนแม่กับลูกอยู่ด้วยกัน จะไม่มีการร่วมสังวาส เพราะกามราคะมันหมดไปแล้ว และปฏิฆะก็หมดไปแล้ว คือหมดไปทั้งความโกรธ หมดไปทั้งราคะ นี้เป็นกิเลสที่พระอนาคามีละได้

ทีนี้ ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้ฌาน ก็จะไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน พระอนาคามีนั้นจะไม่ไปเกิดในรูปพรหมชั้นต่ำๆ แต่จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหมชั้นเบื้องบนชั้นใดชั้นหนึ่ง คือไปเกิดในชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสา ชั้นสุทัสสี หรือชั้นอกนิฏฐา ทั้ง ๕ ชั้นเหล่านี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง เมื่อไปเกิดในแต่ละชั้นๆแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปรินิพพานในชั้นนั้นๆ

บางองค์ที่ไปเกิดในชั้นที่ ๑ คือชั้นอวิหาแล้ว ถ้ายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไปๆ แต่จะเลื่อนไปถึงชั้นใดๆก็ตาม เมื่อไปถึงชั้นอกนิฏฐาแล้ว ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน (จะไม่มีการเลื่อนชั้นต่อไปอีก) ส่วนพระอนาคามีที่ได้อรูปฌาน ๔ จุติแล้วก็จะไปเกิดในอรูปฌานตามกำลังของฌาน

ทีนี้สำหรับพระอนาคามีที่ไม่ได้ฌานจะทำอย่างไร พระอนาคามี เมื่อไม่ได้ฌานจะไปบังเกิดในสุทธาวาสพรหมได้อย่างไร เพราะว่าผู้ที่จะไปเกิดในสุทธาวาสพรหมนั้นต้องได้ฌานจึงจะไปเกิดได้ ถ้าไม่ได้ฌานก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดในชั้นสุทธาวาสพรหมได้มิใช่หรือ

อันนี้ ถึงแม้ว่าพระอนาคามีจะเป็นประเภทสุกขวิปัสสกะก็ดี ประเภทที่ไม่ได้ฌานก็ดี หากว่าท่านจะจุติจากอัตภาพนี้ มรรคสิทธิญาณก็จะเกิดขึ้นก่อน เมื่อมรรคสิทธิญาณเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌาน เมื่อฌานเกิดแล้วก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌาน อันนี้ไปด้วยอำนาจของมรรคสิทธิญาณ พระอนาคามีนั้น ในคราวที่จะมรณภาพนั้น จะมรณภาพอย่างไรก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิญาณไม่เกิดแล้ว ท่านจะไม่มรณภาพ

สมมติว่าในขณะนั้น พระอนาคามี เครื่องบินตก ตกต้นไม้ รถคว่ำ ถูกคนยิง หรือถูกยาพิษ หรือประสบอุบัติเหตุโดยประการใดประการหนึ่งก็ตาม หากว่ามรรคสิทธิญาณไม่เกิด ท่านจะไม่มรณภาพ เมื่อใดมรรคสิทธิญาณเกิดแล้วท่านจึงจะมรณภาพ คือเมื่อมรรคสิทธิญาณเกิดขึ้นมา มรรคสิทธิญาณก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยเป็นพลังส่งต่อให้เกิดฌาน และฌานนั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุทธาวาสพรหมตามกำลังของฌานที่ตนได้ เมื่อไปเกิดในสุทธาวาสพรหมแล้ว ก็จะได้บำเพ็ญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานจนได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ปรินิพพาน นี้เป็นคติของพระอนาคามี

๔. พระอรหันต์ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง คือพระอรหันต์นั้นท่านละกิเลสได้ทุกอย่าง คือกิเลสที่เหลืออยู่ ๕ ประการ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา ท่านละได้หมดแล้ว

สรุปสั้นๆว่า พระอรหันต์นั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ท่านก็ละได้หมดแล้ว จะเป็นสังโยชน์ ๑๐ ท่านก็ละได้หมดแล้ว หรืออนุสัย ๗ ประการ ท่านก็ละได้หมดแล้ว หรือพูดเอาสั้นๆว่า พระอรหันต์นั้น ท่านละกิเลสได้ทุกอย่าง

เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว อรหัตตมรรคนั้นก็สามารถที่จะประหารกิเลสทุกสิ่งทุกประการที่เหลืออยู่ให้หมดไปสิ้นไป ไม่มีกิเลสตัวใดที่จะเหลืออยู่ หรือยังค้างในจิตในใจอยู่ หรือยังมีให้เห็นในจิตในใจอยู่เลย และกิเลสเหล่าใดที่ละได้แล้ว ก็จะละได้เด็ดขาด ไม่กลับคืนมาอีก

เพราะว่าพระอรหัตตมัคคญาณนั้น เป็นประเภท วชิรูปมาธรรมะ คือเป็นธรรมะอุปมาด้วยขวานฟ้า ธรรมดาว่าขวานฟ้าหรือว่าสายฟ้า ถ้าว่าฟาดลงต้นไม้ต้นใด ต้นไม้ต้นนั้นก็ดับไป ต้นไม้ต้นนั้นก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นอีก อันนี้ฉันใด คติของพระอรหันต์ก็ฉันนั้น

เมื่ออรหัตตมรรคเกิดขึ้นแล้ว กิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงก็จะดับไป สิ้นไป สูญไป จากสันดาน ด้วยอรหัตตมรรคอรหัตตผล เมื่อท่านดำรงชนมายุอยู่จนถึงอายุขัยแล้วก็จะเข้าสู่ปรินิพพานไปเลย นี้เป็นคติของพระอรหันต์ พระอรหันต์นั้น เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ จะให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา เจริญทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา อันมีอานิสงส์เป็นอเนกประการก็ตาม

กำลังบุญทั้งหลายทั้งปวง และอานิสงส์ของบุญทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในภพในภูมิต่างๆได้ เพราะเวลาท่านให้ทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา เจริญสมถะเจริญวิปัสสนาก็ตาม ก็เป็นแต่สักว่าเพียงกิริยา คือเป็นเพียงสักแต่ว่าทำ เพราะว่า พระอรหันต์นั้น ท่านพ้นแล้วจากบุญจากบาป พ้นแล้วจากภพทั้งหลายทั้งปวง จึงไม่มีโอกาสที่จะไปสู่ภพทั้งหลายทั้งปวงได้

สมมติว่าท่านเข้าฌาน จะเป็นฌานใดฌานหนึ่งก็ตาม หรือจะเข้าทั้งสมาบัติ ๘ ประการได้ก็ตาม การเข้าฌานการเข้าสมาบัติของท่านก็เป็นแต่สักว่ากิริยา อานิสงส์ของการเข้าฌานก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในรูปพรหมและอรูปพรหมได้อีก การเข้าฌานของท่านก็เป็นแต่เพียงสักว่ากิริยา

สมมติว่าท่านได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน (ตามธรรมดาบุคคลอื่นๆ เมื่อ) จุติแล้วก็ต้องไปเกิดในรูปพรหมตามกำลังของฌาน แต่(พระอรหันต์นี้)หาเป็นเช่นนั้นไม่ อานิสงส์ของการเข้าฌานก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในรูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น ชั้นใดชั้นหนึ่งได้เลย

หรือว่าท่านได้สำเร็จอรูปฌาน ๔ แล้ว คือตามคติของอรูปฌาน ๔ ผู้ที่ได้จุติแล้วต้องไปเกิดในอรูปพรหมชั้นใดชั้นหนึ่งตามกำลังของฌาน แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการเข้าอรูปฌานของท่านก็สักแต่เพียงกิริยา ให้ได้รับความสุขในภพนี้ชาตินี้เท่านั้น จุติแล้วฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะนำท่านไปเกิดในอรูปพรหมภูมิได้ เพราะพระอรหันต์นั้นท่านดับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือดับทั้งรูป ดับทั้งนาม ดับทั้งกิเลสตัณหา

กิเลสตัณหาเหล่าใดที่จะนำไปสู่ภพสู่ชาติ กิเลสตัณหาเหล่านั้นไม่สามารถที่จะนำท่านไปสู่ภพสู่ชาติได้ พูดง่ายๆว่า พระอรหันต์ท่านดับหมดแล้ว ดับทั้งบุญดับทั้งบาป พ้นทั้งบุญพ้นทั้งบาปทั้งหลายทั้งปวงแล้ว พ้นจากภพทั้งหลายทั้งปวงได้หมดแล้ว เหตุนั้น พระอรหันต์นั้น เมื่อท่านดำรงอยู่จนถึงอายุขัยแล้วท่านก็ปรินิพพาน เหมือนกันกับประทีปที่หมดเชื้อแล้วดับไป คือเหมือนเทียนที่เราจุดแล้ว หมดเชื้อแล้วก็ดับไป คติของพระอรหันต์ก็เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ในสมัยทุกวันนี้ เราได้ยินว่าที่สำนักทรงเจ้าเข้าเทพที่ว่า เอาวิญญาณของพระมหาโมคคัลลานะ ของพระสารีบุตร ของพระมหากัสสปะ มาทรงอย่างนี้ อันนั้นสร้างนรกใส่ตัวเอง เพราะว่าการพูดเช่นนั้น ถือว่าเป็นการหมดทุกสิ่งหมดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือหลออีกแล้ว

เพราะว่าผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีโอกาสที่จะมาเกิดในภพนี้ชาตินี้อีก และก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเกิดในภพใดๆอีก ฉะนั้น ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ อย่างเขาแต่งหนังสือ หลวงพ่อขอออกนอกเรื่องสักหน่อย เช่น หนังสือหลวงปู่บางรูป ที่จริงไม่ใช่ท่านแต่งหรอก ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ภายหลังนั้นแต่งขึ้นมา ท่านเขียนหนังสือหน้าปกว่า หลวงปู่.... ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

ความจริงแล้วพระโพธิสัตว์นี้เป็นผู้สร้างบารมีเพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าต่อไป แต่หนังสือเล่มนั้น ในบรรทัดในสารบัญว่า หลวงปู่เป็นพระอริยบุคคลผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ขัดกันแล้ว ๒ ประโยคนี้ขัดกันแล้ว

เพราะว่า พระโพธิสัตว์นี้ยังไม่ตรัสรู้เลย พระโพธิสัตว์นี้ แม้พระโสดาบันก็ยังไม่ได้บรรลุเลย สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ก็ยังไม่ได้ คือท่านยังต้องสร้างบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันข้างหน้า เมื่อใดบารมียังไม่สมบูรณ์ก็ยังไม่ตรัสรู้(และจะยังไม่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดๆทั้งสิ้น) เมื่อใดบารมีสมบูรณ์แล้ว จึงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณได้

ฉะนั้น บรรทัดที่ ๑ กับบรรทัดที่ ๒ ก็ขัดกันแล้ว บรรทัดที่ ๓ ว่าหลวงปู่นั้นเมื่อชาติก่อนเป็นพระมหากัสสปะ เมื่อได้ทำการฌาปนกิจพระศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จุติจากชาติที่เป็นพระมหากัสสปะจึงได้มาเกิดเป็นหลวงปู่ท่านนี้

ผิดหมด ไม่มีอะไรเหลือหลอเลย เพราะว่าพระมหากัสสปะท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาเกิดอีกได้อย่างไร พระอรหันต์ท่านตัดภพตัดชาติได้หมดแล้ว ทำลายกงกำสงสารจักรสังสารวัฏได้หมดแล้ว ไม่ไปเกิดในภพน้อยภพใหญ่อีกต่อไป

เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย การที่สำนักทรงเจ้าเข้าเทพอย่างทุกเมื่อเชื่อวันนี้ เอาวิญญาณของพระอรหันต์องค์นั้นมาทรง เอาวิญญาณของพระอรหันต์องค์นี้มาทรง หรือว่าเอาวิญญาณของพระพุทธเจ้ามาทรง อะไรทำนองนี้

ผิดทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย เหตุนั้น ท่านทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ประพฤติวัตรปฏิบัติมาแล้ว ก็ขอให้ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา อย่าเชื่ออะไรลมๆแล้งๆ อย่าเป็นคนศรัทธาอธิโมกข์ เชื่ออย่างงมงาย ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล พิจารณาเหตุผลมันสมดุลกันหรือไม่ ถ้ามันสมดุลกันจึงค่อยเชื่อ ให้เป็นคนศรัทธาญาณสัมปะยุตต์ เป็นความเชื่อที่ประกอบไปด้วยปัญญาคือความรู้

อันนี้อีกอย่าง สำนักหนึ่งที่เราได้ยิน คือสำนักของอาจารย์ท่านหนึ่งอีกละ พูดอย่างนี้ ไม่ได้มุ่งติฉินนินทาเขานะ และก็ไม่ได้โจมตีเขา แต่ว่าพูดความจริง

เมื่อก่อนอาจารย์ท่านนั้น หลวงพ่อติดตามเขามาตั้งแต่โน้น ตั้งแต่เป็นสามเณรแน่ะ เมื่อก่อนโน้น เขาเล่นละครวิทยุ ละครวิทยุที่เขาเล่นมา ไม่มีเรื่องไหนที่ตำรวจไม่เซ็นเซอร์ เพราะมันรุนแรง เป็นคนหัวรุนแรง ชอบโจมตีคนโน้นคนนี้ สำนักโน้นสำนักนี้ อยู่ตลอดเวลา ได้ติดตามมาตั้งแต่เป็นสามเณร

ถ้าเขาแต่งหนังสือเล่มใด หลวงพ่อก็เขียนจดหมายไปขอ หลังจากนั้นหนังสือเล่มใดๆ ที่เขาเขียนละก็ เขาก็จะส่งมาให้หลวงพ่อ ส่งมาๆ หลวงพ่ออ่านหมดทุกเล่มแหละ อาจารย์ท่านนี้ อย่าว่าเป็นคนร้อยแปด เป็นคนล้านแปด เขาทำทุกอย่าง ทรงเจ้าเข้าผี เวทมนต์กลคาถา เป็นหมอธรรมหมออะไร ปราบผีปราบอะไร เอาหมดทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่มีเหลือหลอ ในทางประพฤติปฏิบัติ ไสยเวทย์ ไสยศาสตร์ อะไรครบหมด พอเบื่อทางนั้นแล้วก็มาบวช

ครั้งแรกก็บวชอยู่ในมหานิกาย เห็นว่ามหานิกายไม่ดีพอ ก็บวชเป็นธรรมยุต เห็นว่าธรรมยุตไม่ดีพอ ก็เลยไปตั้งสำนักเอาเอง บวชเอง บรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อบวชแล้วไปอยู่กับอาจารย์ท่านนั้นก็มี ไปอยู่กับเขาหลายๆปี ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี ก็มี พอกลับมา (วัดพิชฯ) แล้วก็ว่า หลวงพ่อๆ จะให้ผมทำอย่างไร จะให้ปฏิบัติเหมือนกับหลวงพ่อ หรือจะให้ผมปฏิบัติเหมือนกันกับอาจารย์ท่านนั้น

หลวงพ่อก็ว่า แล้วแต่คุณจะตัดสินใจเอา คุณก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าคุณเห็นว่าธรรมะที่หลวงพ่อสอนอยู่นี้เป็นธรรมะที่จะทำผู้ปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ หรือไปสู่สุคติภพได้ ก็ปฏิบัติไปอย่างนี้ก็ได้ หรือถ้าคุณพอใจพร้อมใจที่จะแยกหมู่แยกคณะไปตั้งคณะใหม่ต่างหาก เป็นการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ก็แล้วแต่คุณจะพิจารณาเอา หลวงพ่อไม่ว่าดอก เพราะว่า คนเราน่ะ ถึงจะทำดีทำชั่วอย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางก็เหมือนกันน่ะแหละ ถ้าไม่ตกนรกก็ไปเกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นเปรตก็ไปเกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นอสุรกายก็ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน หรือไม่ก็ไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพบุตร เป็นเทพธิดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็แล้วแต่คุณจะเลือกเอา เพราะว่าได้ศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว ก็แล้วแต่จะเลือกเอา

เมื่อฟังหลวงพ่อพูดอย่างนี้แล้ว บางคนก็ไม่กลับไป บางคนก็กลับไปอีก หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร คือหลวงพ่อมีปกติอยู่ว่า ไม่ว่าให้ใครๆ ไม่โจมตีสำนักโน้น ไม่ได้โจมตีสำนักนี้ ขอร้องไว้อย่างเดียวว่า อย่าโจมตีกันก็เป็นพอ ลูกศิษย์ลูกหาที่ปฏิบัติได้แล้ว แม้จะมีฤทธิ์ มีอำนาจ บำเพ็ญธุดงควัตร อย่างนั้นก็ไม่ฉัน อย่างนี้ก็ไม่ฉัน ปฏิบัติอย่างนั้นปฏิบัติอย่างนี้ ในธุดงค์ทั้ง ๑๓ ประการ หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร

ขอร้องอย่างเดียวว่า เมื่อเราประพฤติปฏิบัติในธุดงควัตร หรือประพฤติปฏิบัติจนมีฤทธิ์มีเดช ได้ฌาน ได้อภิญญา เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ดี ก็ขออย่าเอาวัตรนั้นมาข่มผู้อื่น แล้วก็อย่าไปโจมตีผู้อื่น ขออย่าว่าผู้อื่น คือว่าเราประพฤติปฏิบัติได้แล้วก็เป็นเรื่องของเรา อย่าไปทำคนอื่นให้เขาเดือดร้อน ก็ขอแต่อย่างนี้อย่างเดียว แนะนำลูกศิษย์ลูกหาอย่างเดียว

บางครั้ง มีบางรูปบางองค์มาเทศน์ ก็เทศน์ว่าให้ทานก็ไม่ได้บุญ ให้พระกินหมด มันจะได้บุญที่ตรงไหน แต่ผลสุดท้าย (เจ้าตัว) ก็กินของเขาอยู่ ว่าไม่ได้บุญก็ไปกินของเขาทำไม ไปฉันของเขาทำไม (เมื่อมี) คนไม่รู้จักบุญ ไม่รู้จักอานิสงส์ของบุญ ได้ยินเขาพูด ก็พอใจในคำพูด พอใจในโวหารของเขา ก็ไปเชื่อเขา แล้วก็มาโจมตีผู้อื่น อย่างนี้มันก็ไม่ใช่ หลวงพ่อว่า

หรือว่าดอกไม้ธูปเทียนที่เขาบูชาก็ว่า ดอกไม้ธูปเทียนเอาไปบูชาทำไม บูชาแล้วก็ไปจุดแล้วก็ไหม้เสียของไปเปล่าๆ เหมือนกับเราจุดตอไม้จุดขอนไม้ตามไร่ตามนาของเรา ไม่เห็นมันจะได้บุญที่ตรงไหน หลวงพ่อก็บอกว่า บ้าบ่พอปัว มันเป็นบ้าแท้ๆ ไปเชื่อไปชอบแต่โวหารที่เขาพูด จำคำเขาก็เอามาพูด โดยที่ไม่ได้ศึกษาให้รู้ว่า การที่เขาจุดตอจุดขอนไม้อยู่ที่ตามไร่ตามนาน่ะ มันไม่มีอานิสงส์ หรือจุดตอจากไร่จากนานั้น จุดแล้วมันเป็นอย่างไร และผลที่เกิดจากการจุดตอนั้นมันเป็นอย่างไร มันได้ผลอย่างไร

เขาลืมคิดไป ดอกไม้ธูปเทียนที่เราจุดบูชา ในชาดกก็ได้กล่าวไว้ว่า มีอานิสงส์อย่างโน้นมีอานิสงส์อย่างนี้ ได้พรรณนาอานิสงส์บุญของการที่บูชาดอกไม้ธูปเทียน เขาก็ยังกล้ามาว่าอย่างนั้น ฯลฯ เอาไปเอามาก็ไม่มีโยมมาถวายอาหารเลย ดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะอะไรๆ เขาก็ไม่นำมาถวาย ผลสุดท้าย ผ้านุ่งผ้าห่มเขาก็ไม่ถวาย เพราะว่าถวายแล้วก็ไม่ได้บุญ อันนี้แหละท่านทั้งหลาย จงคิดให้ซึ้งๆ ได้ยินเขาพูดแล้วก็อย่าไปพอใจติดใจในโวหารของเขา ขอให้คิดให้กว้างๆ ให้มีเหตุมีผล

อีกรูปหนึ่ง ก็เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อนี่แหละ ก่อนเขาจะบวชก็มาหาหลวงพ่อ เขามาด่าหลวงพ่อเสียก่อนนะว่า หลวงพ่อ พระที่ฉันเนื้อฉันปลาน่ะ มันเป็นการทำปาณาติบาตนะ มันไม่ผิดวินัยหรือ ก็เลยบอกไปว่า โยม เอาอย่างนี้ดีกว่า เอาหนังสือนี้ไปอ่านเสียก่อน หลวงพ่อก็เปิดหนังสือนวโกวาทให้ โยมอ่านจากนี้มาถึงนี้ๆเสียก่อนนะ อ่านจบแล้วค่อยมาพูดกันคุยกันใหม่ เขาก็ไปอ่าน อ่านแล้วก็กลับมา ดูซิว่าอ่านแล้วเป็นอย่างไร มีไหมที่ว่าห้ามไม่ให้พระฉันเนื้อฉันปลา มันมีไหม ไม่มี

หลวงพ่อก็ถือตามนี้ ศีล ๒๒๗ ถ้าหนังสือบ่งไว้(ว่าผิดวินัย)ก็ถือว่าหลวงพ่อผิด ถ้าไม่ได้บ่งไว้ ก็แสดงว่าหลวงพ่อไม่ผิด เขาก็ย้อนว่า มันไม่เป็นปาณาติบาตหรือ ถ้าว่าพระไม่ฉันเนื้อ โยมเขาก็ไม่ฆ่าสัตว์ (หลวงพ่อตอบว่า) คุณ โยมเขาไม่ได้ตั้งใจว่าจะฆ่ามาถวายพระนะ เขาไม่ได้ว่า วันนี้ไปหาปลามาให้พระฉัน ไปฆ่าวัวฆ่าควายมาปรุงอาหารมาให้พระฉัน เขาไม่ได้(ตั้งใจ)ว่าอย่างนั้นนะ

ที่จริงอาหารที่เขาทำมาถวายพระตอนเช้าก็ตาม ตอนเพลก็ตาม เป็นอาหารส่วนแบ่งที่เขาแบ่งไว้แล้ว เช่น เขาทำอาหารตามปกติ เขาก็เหลือไว้แบ่งไว้ว่า ถ้วยนี้ จานนี้ หม้อนี้ จะเอาไปถวายพระ จะเอาไปถวายภัตตาหารเช้า จะถวายภัตตาหารเพล เขาแบ่งไว้ต่างหาก เขาไม่ได้บอกเลย ไม่ได้คิดในใจเลยที่จะไปฆ่า(สัตว์)มาถวายพระ จะเอาปลามาถวายพระ เอาเนื้อวัวเนื้อควายมาถวายพระ เอากุ้งเอาหอยมาถวายพระอย่างนี้ เขาไม่ได้คิดเลย

เรา(พระนี้)กินส่วนแบ่งเท่านั้น มันจะเป็นบาปที่ตรงไหน ในหลักวินัยก็ว่าไว้ว่า เมื่อไม่ได้รู้ ไม่เห็น ไม่สงสัย ว่าเขาทำมา มันก็ไม่เป็นอาบัติ ก็บอกไปอย่างนี้ ฯลฯ คุณไปคิดใหม่ซะไป ถ้าว่าจะบวช การอยู่ร่วมอุปัชฌาย์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าว่าเราได้อุปัชฌาย์ผิด เราจะไปบวชกับอุปัชฌาย์ใหม่ก็เกรงใจท่าน เป็นเรื่องยากลำบาก การเป็นอุปัชฌาย์กันก็ถือว่าเป็นพ่อเป็นลูกกัน การจะตัดพ่อตัดลูกกันภายหน้าท่าจะลำบากนะ หรือจะหาอุปัชฌาย์ที่มันถูกใจถูกจริตแล้วก็บวชกับท่าน หลวงพ่อก็บอกให้กลับไป

วันหลังมาใหม่ มาขอบวช หลวงพ่อว่า คุณคิดดีแล้วหรือยัง จะมาบวชที่นี้ คิดไว้ดีหรือยัง เขาว่า คิดดีแล้วๆ ว่าจะมาบวชที่นี้ แต่ผมขอพรจากหลวงพ่อว่า ผมบวชแล้วผมขอฉันอาหารเจ หลวงพ่อว่า อาหารเจมันลำบากนะ ไม่เหมือนกับอาหารมังสวิรัตินะ

คุณเข้าใจนะว่า คำว่า เจ กับ มังสวิรัติ มันไม่เหมือนกัน มังสวิรัติ นั้นเว้นจากการฉันเนื้อฉันปลา เว้นจากการฉันของที่มีชีวิต คำว่า อาหารเจ มันมีความหมายกว้าง พวกกระเทียม พวกต้นหอมนี่ ก็ฉันไม่ได้ ผักบางชนิดก็ฉันไม่ได้ มันหลายสิ่งหลายประการ

เพราะฉะนั้น อาหารเจน่ะมันลำบาก ถ้าคุณจะถือฉันอาหารมังสวิรัติน่ะได้อยู่ (เขาว่า) ถ้าจะฉันอาหารมังสวิรัติล่ะ หลวงพ่อจะอนุญาตไหม หลวงพ่อว่า คุณ คนขออย่างนี้ หลวงพ่อต้องการมานานแล้ว หลวงพ่อปรารถนา ถ้าใครบวชมามีความต้องการที่จะประพฤติปฏิบัติจริงๆ อย่างนั้นละก็ หลวงพ่อสาธุ อนุโมทนา

คุณมองเข้าไปทางในวัดซิ คุณจะฉันอะไรก่อน จะฉันใบมะม่วงก็เอาสิ หมดใบมะม่วง ก็เอาสิใบมะขาม หมดใบมะขามก็มีใบพิกุล หมดใบพิกุลละก็ใบอโศก หมดใบอโศกก็เอาใบมะพร้าว คุณจะฉันอย่างไร(ฉันใบอะไร)ก็แล้วแต่จะถนัด หรือว่าใบไม้ในวัดมันหมดแล้ว นั่นใบหญ้าที่เรานั่งอยู่นี้ มันมีแต่สูงๆ แค่ศอกๆ คุณจะฉันจะกัดกินเหมือนวัวเหมือนควายละก็ หลวงพ่อไม่ว่ากระไร แล้วแต่คุณจะถนัด คุณจะปรุงรสหรือไม่ปรุงรส หลวงพ่อไม่ว่า เขาก็นิ่งอึ้ง ไม่กล้าพูด

เมื่อบวชแล้วก็มาถามอยู่บ่อยๆ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เขียนหนังสือมาถามว่า พระนั้นฉันเนื้อฉันปลามันผิดไหม เวลาบรรยายธรรม หลวงพ่อก็เพียงแต่ว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นช่วงตอบปัญหา หลังจากประพฤติปฏิบัติแล้วจึงเป็นช่วงตอบปัญหา ครั้นมีอะไรข้องใจเคลือบแคลงสงสัยในจิตในใจ ก็ขอให้กำหนดว่า สงสัยหนอๆ ไปเรื่อยๆ มันจะได้ทำให้เกิดความสว่างในดวงใจ แล้วก็จะหมดความเคลือบแคลงสงสัยไปเอง

จนกระทั่งแกบวชมาหลายๆปี วันหนึ่ง เวลาที่พระรูปนั้นมาเทศน์ พอดีขึ้นเทศน์ปั๊บเท่านั้นละ ก็เทศน์ไปๆ ก็มายกตัวเอง ก็เชิดตัวเองว่า อาตมามาพิจารณาวินัยพระเณรแล้ว ดูไม่ค่อยเคร่งครัด ประพฤติปฏิบัติไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ว่าให้พระให้เณรในวัด อาตมานี้นับแต่บวชมาจนบัดนี้ยังไม่เคยใส่รองเท้าเลย ยังไม่ได้กั้นร่มเลย

เสร็จกัน ประโยคเดียวเท่านั้น เสร็จเลย ฆ่าตัวเองเลย ไม่ได้ฟื้นเลย เป็นการเชิดตัวเอง ติเตียนผู้อื่น นินทาผู้อื่น ใช้ไม่ได้

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ขอให้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณาถึงเหตุและผลของสิ่งนั้นๆด้วย เมื่อประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เขาพูดอย่างนั้น เขาพูดอย่างนี้ จะไปเชื่อทันทีนั้นไม่ได้ เราต้องใคร่ครวญเสียก่อน

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายธรรมะ เรื่อง คติของพระอริยบุคคล ๔ ประเภท โดยสังเขปกถา พอที่จะเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของท่านทั้งหลายได้แล้วพอสมควร จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 มกราคม 2562 09:23:56
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/635/8635/images/candlelight.jpg)

การประพฤติวุฏฐานวิธี
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ ขออนุสรณ์ย้อนกลับไปใหม่ ตั้งแต่วันแรกที่เราได้เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ ยังไม่ได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาถวายความรู้แด่ท่านทั้งหลาย เพราะโอกาสและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
เหตุนั้น วันนี้จึงจะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
สำหรับการประพฤติวุฏฐานวิธีนี้ ท่านครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะพูดมาก เพราะว่าเราได้รู้ได้เข้าใจในเรื่องประพฤติวุฏฐานวิธีแล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้บวชใหม่ บางรูปก็บวชยังไม่ถึงเดือน หรือสองเดือนก็มี หรือสามเดือนก็มี
บางท่านบวชแล้วก็เข้าพรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้บางสิ่งบางประการอาจจะขาดตกบกพร่อง เกี่ยวกับการประพฤติวุฏฐานวิธี เหตุนั้น ครูบาอาจารย์ผู้เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ให้ถือเสียว่าเป็นการสงเคราะห์แก่ผู้บวชใหม่ก็แล้วกัน
คำว่า วุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเพื่อออกจากอาบัติ ท่านแจกไว้ ๔ ประการ คือ
๑. ปริวาส คือผู้ที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ คือ อาบัติสังฆาทิเสส หากว่าตนไม่ได้ปกปิดอาบัติไว้ เราจะขอปริวาส ไม่ต้องนับราตรี เสร็จแล้วก็ขอขึ้นมานัตต์ แล้วก็อยู่มานัตต์ แต่สำหรับผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วปกปิดไว้ ๓ วัน ก็จะต้องอยู่ปริวาสครบ ๓ วันเสียก่อนจึงจะขอมานัตต์ได้
หรือว่าเราบวชมาแล้ว ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ได้ปกปิดอาบัติไว้ เมื่อเราปกปิดอาบัติไว้อย่างนี้ ก็ต้องอยู่ให้ครบที่เราปกปิดไว้ ๑ ปี ๒ ปี หรือ ๓ ปี ครบแล้วจึงขอมานัตต์ ขึ้นมานัตต์ได้
แต่บางท่านที่เคยบวชเคยปฏิบัติมาแล้ว ก็อาจจะสงสัยเป็นบางสิ่งบางประการ คือตนได้บวชมาแล้ว อาจจะบวชมาเป็นหลายๆ ปี แต่ไม่มีโอกาสจะประพฤติวุฏฐานวิธี เมื่อมีโอกาสมีเวลาประพฤติวุฏฐานวิธี แต่บังเอิญครูบาอาจารย์ผู้เป็นประมุขประธานงานนั้น ให้เราอยู่ปริวาสเพียง ๓ วัน ทั้งๆ ที่ต้องอาบัติมาหลายวัน หลายเดือน หลายปี แต่เมื่อมีการอยู่ปริวาสแล้ว ก็ให้เข้าปริวาสเพียง ๓ วัน เสร็จแล้วก็ให้ขอมานัตต์ ให้ขึ้นมานัตต์ ท่านทั้งหลาย เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก หลายๆ ท่านก็คิดว่าการอยู่ปริวาสเพียง ๓ วันนั้นจะไม่บริสุทธิ์
ข้อนี้ หากว่าเราบวชมาแล้ว เคยปลงอาบัติทุกวันๆ เหมือนดังปลงอยู่ในขณะนี้แหละ บางทีท่านผู้ที่เข้าปริวาส ทำวัตรเสร็จแล้วก็ปลงอาบัติว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ....เป็นต้น
หากว่าเราไม่มีโอกาสที่จะบอกในขณะนี้ เพราะเหตุบางสิ่งบางอย่างไม่เอื้ออำนวย หรือมันขัดข้อง แต่เจตนาที่จะปกปิดไม่มี เช่น เราต้องครุกาบัติแล้ว เราตั้งใจที่จะบอก จะไม่ปกปิด แต่สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย แม้อยากบอกอยู่ แต่ไม่สามารถที่จะบอกได้ อย่างนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิดอาบัติ เมื่อเราได้ปลงอาบัติไว้อย่างนี้ๆ เหมือนอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ถือว่าเราบอกไว้แล้ว บอกอาบัติไว้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด
เพราะเหตุไร
เพราะว่าการที่ว่าปลงอาบัตินั้น ก็ถือว่าบอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ บอกทั้งที่เป็นครุกาบัติแล้ว ข้อนี้ ถ้าว่าเราทั้งหลายเรียนรู้และเข้าใจ เราจะรู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ เช่น พระอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์อย่างนี้ เราจะซึ้งในพระคุณของท่านผู้ที่ได้แต่งโคลงเกี่ยวกับปลงอาบัติไว้ คือท่านมีเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ปลงอาบัตินั้น ได้บอกทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งครุกาบัติ
เมื่อได้บอกว่า สัพพา ตา...แล้ว ในส่วนที่เป็นลหุกาบัตินั้น ก็เป็นอันว่าหมดไป บริสุทธิ์ไป หมายความว่า อาบัติเหล่าใดที่เป็นลหุกาบัติ เช่นว่า ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต ก็ถือว่าบริสุทธิ์ แต่ในส่วนใดที่เป็นครุกาบัติ ก็ถือว่าได้บอกไว้แล้ว ไม่ได้ปกปิด
เพราะเหตุไร
เพราะว่า ที่เราปลงอาบัติว่า สัพพา ครุลหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ นั้น ความหมายก็คือ เราขอเปิดเผยบอกอาบัติทั้งปวง ทั้งที่เป็นลหุกาบัติ ทั้งที่เป็นครุกาบัติ เหตุนั้น แม้ว่าเราอยากปกปิด ก็ไม่เป็นอันปกปิด คือว่า ได้บอกไว้แล้ว
สำหรับองค์ประกอบของการอยู่ปริวาส คือ
๑) สหวาโส ห้ามเข้าอยู่ร่วมชายคากับพระที่เป็นปกตัตตะ บ้านเราเรียกว่า อาจารย์กรรม (หมายถึงพระที่ไม่ได้เข้าปริวาสด้วย) เราจะอยู่ร่วมกับอาจารย์กรรมนั้นไม่ได้ ต้องแยก เว้นไว้แต่เราปลงวัตร(เก็บวัตรแล้ว) เหมือนกับที่เราได้ปลงกันทุกวันนี้ ในขณะที่เราปลงวัตรนั้น เราอาจจะอยู่ร่วมชายคา ปะรำ หรือกุฏิ อะไรทำนองนี้ได้
หากว่าจำเป็น เราก็อยู่ร่วมได้ ไม่ถือว่าขาด แต่ถ้าว่าไม่จำเป็น ก็อย่าอยู่ร่วม แม้ว่าเราปลงวัตรแล้ว เราต้องลดทิฐิมานะ ต้องถ่อมตัว จะทำให้การประพฤติวุฏฐานวิธีมันบริสุทธิ์เร็วขึ้น ข้อนี้แม้แต่พวกเราทั้งหลาย ผู้เข้าปริวาสด้วยกัน เช่นพวกเราทั้งหลาย ขณะนี้เราขึ้น(สมาทาน)วัตรแล้ว เมื่อเราขึ้นวัตรแล้ว เราจะอยู่ร่วมชายคากับพระอาจารย์กรรม หรือปกตัตตะภิกษุนั้นไม่ได้
ถ้าอยู่ร่วมชายคากัน ก็ถือว่าวัตรขาด แต่ชายคานี้ ไม่ได้หมายเอาร่มไม้ ร่มไม้น่ะท่านไม่ได้ห้าม แต่อีกอย่างหนึ่ง สำหรับท่านที่เข้าปริวาสด้วยกัน ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่เราจะไปนอนร่วมกุฏิที่อยู่ปริวาสร่วมกัน ถึงมันมีโอกาสมีเวลาอยู่ หมายความว่า แม้พระวินัยไม่ปรับอาบัติก็จริงอยู่ แต่เราต้องสังวรระวัง
ถ้าไม่จำเป็น เราอย่าไปอยู่ร่วมชายคา แม้กับผู้ที่อยู่ปริวาสด้วยกัน ขอให้ต่างคนต่างอยู่ เพราะว่าเราสมาทานและก็บอกวัตรแล้ว ถ้าไม่จำเป็นเราอย่าไปอยู่ร่วมกุฏิเดียวกัน และก็ห้ามเหยียดกายร่วมกัน ในกุฏิที่เราอยู่นั้น
สมมติว่า กุฏิห้องกัมมัฏฐานเราเล็กๆ อย่างนี้ ขึ้นไปแล้วก็ไปนอนเหยียดกายร่วมกันอยู่ในกุฏินั้น ก็ถือว่าขาด ท่านครูบาอาจารย์ท่านถือขลังกัน(คือถือเข้มงวดไว้ก่อน) เพราะเหตุนั้น ตอนเย็นเราสมาทานวัตรแล้ว ก็รักษาวัตรให้ดี หากว่าไม่จำเป็น ก็อย่าไปขึ้นกุฏิร่วมกัน อย่าไปอยู่ในกุฏิร่วมกัน เพราะว่ามันไม่สวยไม่งาม หรือมองแล้วมันทะแม่ง ทะแม่ง ให้ต่างคนต่างอยู่ สังวร ระวังให้ดี
๒) วิปปวาโส อยู่ปราศจากสงฆ์ ในขณะที่อยู่ปริวาสนี้ เราอยู่กับพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะรูปเดียวนั้นได้ คือว่าเราอยู่ที่ไหนๆ ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะหรือพระที่เป็นปกตินั้นอย่างน้อย ๑ รูปอยู่เป็นเพื่อน
เราอยู่ปราศจากภิกษุรูปใดรูปหนึ่งนั้นไม่ได้ หรือว่าจำเป็นที่เราจะไปธุระที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง เช่นว่าเราจะไปเขมราฐ ไปอุบลฯ อย่างนี้ ต้องมีพระภิกษุผู้ปกตัตตะ หรือว่าอาจารย์กรรมนั้นไปด้วย ๑ รูป จึงจะใช้ได้
ถ้าว่าเราไปแต่เราคนเดียว ก็ถือว่าบกพร่อง เรื่องอย่างนี้ก็ขอให้สังวรให้ดี บางทีไปบางแห่งในเครือข่ายของพวกเราทั้งหลาย หลวงพ่อเคยท้วงติงหลายๆ ครั้ง เวลาเราปลงวัตรแล้ว เห็นมีแต่พระลูกกรรมนั่นแหละ ไปอุบลฯ บ้าง ไปเขมราฐบ้าง ไปตระการฯบ้าง ไปโน้นไปนี้บ้าง เสร็จแล้วก็กลับมา แล้วก็มาขอสมาทานวัตร ขึ้นวัตรใหม่ อย่างนี้ไม่สมควร เพราะเวลาที่เราปลงวัตรแล้ว เราจะไปที่ไหนๆ ก็ต้องมีพระภิกษุผู้เป็นปกตัตตะอย่างน้อย ๑ รูปไปด้วย แต่ถ้าเป็นมานัตต์แล้ว ต้องมี ๔ รูปไปเป็นเพื่อน จึงจะใช้ได้
๓) อนาโรจนา หมายความว่า ผู้ที่เข้าปริวาสนั้น ต้องบอกวัตรที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น แก่พระภิกษุผู้ที่ตนยังไม่ได้บอก เช่นว่ามีพระอาคันตุกะมา มาจากโน้นจากนี้ เราก็ต้องบอกท่าน เหมือนกับเราบอกวัตรทุกวันนี้แหละ แต่พระรูปใดที่เราบอกแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกอีก เพราะปริวาสนี้บอกเพียงครั้งเดียว ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เว้นไว้แต่พระภิกษุอาคันตุกะจรมา พระภิกษุจรมาแต่ที่โน้นบ้างที่นี้บ้าง เราก็ต้องบอก
องค์ประกอบทั้ง ๓ ประการนี้ ผู้ที่ประพฤติวุฏฐานวิธีอยู่ปริวาสต้องทำให้สมบูรณ์ ถ้าบกพร่องข้อใดข้อหนึ่ง ก็ถือว่าขาด ต่อไปก็
๒. มานัตต์ แปลว่า นับราตรี คือ มานัตต์นี้ต้องประพฤติอยู่ ๖ ราตรี หมายความว่า ต้องอยู่ ๖ ราตรี เมื่อครบ ๖ ราตรีแล้วจึงจะขออัพภานได้
อีกอย่างหนึ่ง สมมุติว่า เราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว แต่เราเผื่อไว้เป็นราตรีที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ก็ได้ ท่านไม่ว่ากระไร ไม่เป็นรัตติเฉท คือว่าเราอยู่ครบ ๖ ราตรีแล้ว ราตรีที่ ๗ นี้ หากว่าขาดตกบกพร่อง ท่านก็ไม่ปรับอาบัติ ไม่ถือว่าขาด เพราะที่กำหนดก็เพียง ๖ ราตรี ถ้าเป็นราตรีที่ ๗ ไม่ปรับอาบัติ ก็ไม่ถือว่าวัตรขาด เพราะเป็นเพียงเราชดเชย
๓. ปฏิกัสสนา กิริยาที่เรียกเข้าหาอาบัติเดิม หมายความว่า ในขณะที่เราอยู่ปริวาส ในขณะที่อยู่ปริวาสนั้น บังเอิญเราต้องครุกาบัติใหม่อีกตัวใดตัวหนึ่ง แล้วก็ปกปิดไว้ ถ้าเราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องเข้าปฏิกัสสนา คือ เรียกเข้าหาอาบัติเดิม เราปกปิดไว้ ๕ วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสไปอีก ๕ วัน ครบ ๕ วันแล้ว จึงจะขอมานัตต์ได้
(ในห้วงมานัตต์) ถ้าว่าเราต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งแล้วไม่ได้ปกปิดไว้ คือไม่ได้ข้ามคืน ไม่ได้ข้ามราตรี ไม่ได้ปกปิดไว้ เราบอกว่าเราต้องอาบัติ แล้วก็ขอมานัตต์ แล้วก็ประพฤติมานัตต์ได้ ท่านไม่หักราตรี เพราะว่ายังไม่ข้ามคืน เพราะไม่ได้ปกปิด
แต่ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าแม้ไม่ข้ามคืนก็ตาม ต้องขอปริวาส อย่างน้อยต้องอยู่ปริวาส ๑ คืนเสียก่อน แล้วจึงขอมานัตต์ได้ อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราอยู่ปริวาสครบกำหนดแล้วก็ขึ้นมานัตต์ ในขณะที่ประพฤติมานัตต์นั้น บังเอิญไปต้องครุกาบัติซ้อนอีก จึงต้องขอปฏิกัสสนา คือ เรียก(ชัก)เข้าหาอาบัติเดิมอีก
ถ้าเราต้องครุกาบัติอีก ในขณะที่ประพฤติมานัตต์อยู่นั้น หากว่าปกปิดไว้เท่าไร กี่วัน เราก็ต้องขอปฏิกัสสนาประพฤติมานัตต์อยู่ให้ครบกับราตรีที่เราปกปิดไว้เสียก่อน ครบกำหนดเสียก่อนแล้วจึงจะขึ้น(เริ่มนับราตรีใน)มานัตต์ได้ อันนี้เป็นกฎของปฏิกัสสนา
๔. อัพภาน นี้คือ การเรียกเข้าหาหมู่ เป็นความรับผิดชอบของสงฆ์ เมื่อเราทั้งหลายประพฤติมานัตต์ครบกำหนดแล้ว ต้องไปขออัพภานในสงฆ์ วีสติวรรค คือมีพระภิกษุจำนวน ๒๐ รูป(เป็นอย่างน้อย) แล้วก็ขออัพภาน อันนี้เป็นลักษณะของการประพฤติวุฏฐานวิธีโดยย่อ
ทีนี้ ถ้าการประพฤติวุฏฐานวิธีไม่สำเร็จ สมมติว่าเราต้องอาบัติแล้ว อยู่ปริวาสกรรม ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์เลย เราอยู่ปริวาสกรรม ยังอีก ๕ วันจะครบกำหนด จึงจะขึ้นมานัตต์ได้ บังเอิญเราสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็อยู่ปริวาสเท่ากับที่เราปกปิดไว้ ๕ วันเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้
พระพุทธบัญญัตินี่เด็ดขาดนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ทรงให้อภัย แต่ว่าทรงให้เกียรติ ราตรีเท่าใดที่เราได้บอกแล้ว ได้เข้าปริวาสแล้ว ก็ถือว่าแล้วไป สมมุติว่าเราต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ ปกปิดไว้ ๗ วันอย่างนี้ หากว่าเข้าปริวาสไปแล้ว ๒ วัน แล้วกลับมาบวชใหม่ มาขออยู่ปริวาสใหม่ เราก็ขอปริวาสเพิ่มอีก ๕ วัน เพื่ออยู่ให้ครบกำหนด ๗ วันเสียก่อน จึงจะขอมานัตต์ได้
นี่นะพระพุทธเจ้าไม่ยอม คือไม่ทรงอนุญาต แต่ทรงให้เกียรติ ที่เข้าปริวาสแล้วก็ถือว่าเป็นเข้าไปแล้ว แต่ที่เหลืออยู่ ก็ต้องอยู่อีกให้ครบกำหนดเสียก่อนจึงจะขอขึ้นมานัตต์ได้
อีกอย่างหนึ่ง ในขณะที่เราอยู่มานัตต์มา ๓ ราตรีแล้ว อีกสามราตรีก็จะได้ขออัพภาน แต่บังเอิญในขณะนั้น เราสึกขาลาเพศไปเสียก่อน ภายหลังกลับมาบวชใหม่ เราก็ต้องขอมานัตต์และก็อยู่มานัตต์ให้ครบ ๓ วันที่เราปกปิดไว้เสียก่อน จึงจะขออัพภานได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงให้เกียรติ คือที่อยู่มานัตต์แล้วสามราตรีนั้น ก็ถือว่าผ่านไป ให้เกียรติไป แต่ ๓ ราตรีที่ยังเหลืออยู่ ต้องประพฤติมานัตต์ใหม่ให้ครบ แล้วจึงจะขออัพภานได้
โทษของครุกาบัติ สมมุติว่าเราทั้งหลายที่บวชมาแล้ว ต้องครุกาบัติ ไม่ได้อยู่ปริวาสเลย หมายถึงว่า ไม่ได้อยู่มานัตต์ อะไรก็ไม่ได้อยู่ หากว่าเราสึกขาลาเพศไป แล้วก็ไปมีครอบครัว บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เรากระทำไว้เมื่อเป็นพระ ก็จะติดตามเราไป
หากว่าบุญวาสนาบารมีของเรามันน้อย ไม่สามารถจะคุ้มครองครอบครัวได้ บาปครุกาบัติตัวนี้จะให้ผลทันที บางทีไปมีครอบครัวแล้ว ครอบครัวระส่ำระสาย อยู่ไม่มีความผาสุก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นปวดนี้ อะไรจิปาถะ บ้านแตกสาแหรกขาด อะไรร้อยแปดพันประการ
หลวงพ่อเคยเตือนบ่อยๆ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาที่บวชเข้ามาแล้วสึกขาลาเพศไป ไปมีครอบครัว ครอบครัวอยู่ไม่เป็นสุข ระส่ำระส่าย หลวงพ่อก็ได้แนะนำพร่ำเตือนว่า ถ้าว่าเป็นไปได้ เรามาบวชสัก ๑๕ วัน หรือ ๑๐ วัน เข้าปริวาสกับครูบาอาจารย์เสียก่อน แล้วค่อยสึกไป บางทีจะเป็นเหตุปัจจัยให้เราอยู่ได้สบายอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป
บางคนก็มาบวชด้วยอยู่ปริวาสด้วย เสร็จแล้วก็สึกขาลาเพศไป เมื่อสึกขาลาเพศไป ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข อยู่กันอย่างผาสุก อันนี้บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง เล็กๆ น้อยๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ส่วนมากพวกเรามองข้าม เหตุนั้น ญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ครองฆราวาส ส่วนมากครอบครัวจะระส่ำระส่าย เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ ทำมาค้าขายก็ไม่ขึ้น ทำมาค้าขายไม่มีร่ำรวย อะไรจิปาถะ เพราะว่าบาปกรรมตัวนี้มันติดตามไป
เหตุนั้น ก็พึงสังวรให้ดี ถ้าว่าเราจะสึกขาลาเพศ หรือว่าลูกศิษย์ลูกหาเราจะสึกขาลาเพศ ก็ขอให้เขาได้บวชประพฤติวุฏฐานวิธีจบเสียก่อน แล้วจึงค่อยสึกขาลาเพศไป ครอบครัวจะอยู่เป็นสุข
อีกอย่างหนึ่ง หากว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ได้ทำให้บริสุทธิ์ คือยังไม่ได้อยู่กรรม หากว่าเรามีโอกาสไปเจริญสมถกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ฌาน หากเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่เมื่อเราต้องครุกาบัติแล้ว ได้อยู่ปริวาสเหมือนกันกับอยู่ในขณะนี้แหละ เมื่อเราอยู่ปริวาสอย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ก็สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องขึ้นมานัตต์หรืออัพภาน
คือเวลาเราเข้าปริวาส เราขอปริวาสแล้วก็อยู่ปริวาส(ครบราตรีตามที่ปกปิดไว้)แล้ว เราก็ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานผ่านไปได้ หากว่าเป็นสมถกัมมัฏฐานก็สามารถที่จะได้ฌาน หากว่าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
สรุปว่า อานิสงส์ของการอยู่ปริวาสกรรมมีเป็นอเนกประการ แต่ขอสรุปสั้นๆ ว่า การที่เราอยู่ปริวาสกรรมอย่างนี้ สามารถที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
๑. สีลวิสุทธิ คือทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ จะเป็นศีล ๕ ก็ตาม ศีลอุโบสถ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ตาม ศีลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เมื่อเราอยู่ปริวาสแล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ เรียกว่า สีลวิสุทธิ ทำให้ศีลของเราบริสุทธิ์ได้
๒. จิตตวิสุทธิ ทำให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เมื่อใดเราต้องครุกาบัติแล้ว เราได้อยู่ปริวาสแล้ว เมื่อเราอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปด้วยอย่างนี้ จิตใจของเราก็ไม่ระส่ำระสาย ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน จิตใจเป็นปกติ จิตใจสงบ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ได้ เรียกว่า จิตตวิสุทธิ และเมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด
๓. ทิฏฐิวิสุทธิ คือเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นรูป เห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ มีความเห็นบริสุทธิ์ ทำความเห็นของเราให้บริสุทธิ์ได้
๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ เมื่อทิฏฐิของเราวิสุทธิ์แล้ว ทิฏฐิวิสุทธิตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีความเห็นถูกต้อง ไม่กังขาสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัยในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติ ไม่หลงใหลอยู่ในอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส จะทำความเห็นของเราให้ถูกต้องและดำเนินไปในทางที่ถูกได้
๕. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อกังขาวิตรณวิสุทธิสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือความเห็นว่า การปฏิบัติอยู่นี้ มันถูกหรือมันผิด จะรู้ทันทีว่า เอ้อ ทางที่เราปฏิบัติอยู่นี้ถูก ทางนี้ผิด แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
และก็เห็นความเกิดความดับของรูปนาม รูปนามเกิดก็รู้ รูปนามดับก็รู้ หมดความเคลือบแคลงสังสัย หลังจากนั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ดำเนินไปตามลำดับ จะเห็นความดับของรูปนาม เห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เบื่อหน่ายในรูปในนาม หาทางออก ทางหนี ทางหลุด ทางพ้นไปจากรูป จากนาม
จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย เพื่อบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน หลังจากนั้น เมื่อปฏิบัติไป จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะสงบ เยือกเย็น ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่ระส่ำระสาย จิตใจก็เป็นปกติ ร่าเริง เบิกบาน อยู่ตลอดเวลา มีความวางเฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่ถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ
เมื่อมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ มีความรู้ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔ ไป หลังจากนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคควิถี เมื่อมัคควิถีเกิดโดยสมบูรณ์ เรียกว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ คือมีความเห็นบริสุทธิ์ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมัคคญาณ ผลญาณ สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของมรรคได้ อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการประพฤติวุฏฐานวิธี
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับบางท่านที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน แล้วก็อยู่ต่อมาอายุครบบวชพระ ก็บวชพระอย่างนี้ เมื่อเราบวชพระเสร็จแล้ว มีเวลาก็ควรประพฤติวุฏฐานวิธี คืออยู่ปริวาสกรรมเสียด้วย
การอยู่ปริวาสกรรมครั้งแรกนี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์เฉพาะในสมัยที่เราเป็นพระเท่านั้น ส่วนสมัยที่เป็นสามเณรยังไม่บริสุทธิ์ เหตุนั้น เมื่อเราออกจากอัพภานกรรมแล้ว ต้องอยู่ปริวาสเป็นการชดเชยอีกครั้งหนึ่ง ครบแล้วขึ้นมานัตต์ แล้วก็ขออัพภาน จึงจะบริสุทธิ์ได้ทั้งที่เป็นพระทั้งที่เป็นเณร อันนี้เรียกว่าเป็นเกร็ดความรู้พิเศษ
ท่านทั้งหลาย สำหรับครูบาอาจารย์ก็พอที่จะทำเนา เมื่อเราประพฤติวุฏฐานวิธี เข้าปริวาส อยู่มานัตต์ ขออัพภานแล้ว จึงจะบริสุทธิ์ แต่สำหรับญาติโยม เช่นอุบาสก อุบาสิกา เป็นปะขาว แม่ชีก็ดี เป็นสามเณรก็ดี เราไม่มีโอกาสที่จะบอกวัตรกับท่าน เหมือนกันกับที่บอกทุกวันนี้ เราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ศีลของเราจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร และบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เราทำมาก่อนแล้ว จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราต้องคิดอีกอย่างหนึ่ง
ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แม้ว่าเราจะเป็นพระก็ตาม เป็นสามเณรก็ตาม เป็นโยมผู้หญิง ผู้ชายก็ตาม เป็นอุบาสก อุบาสิกาก็ตาม เป็นปะขาว แม่ชีก็ตาม เหตุปัจจัยจะให้เกิดความบริสุทธิ์นั้น ดำเนินไปตามวิถีเดียวกัน ดำเนินไปในทางเดียวกัน คือจะเป็นพระก็ตาม เป็นเณรก็ตาม เป็นโยมผู้ชาย ผู้หญิง ปะขาว แม่ชี ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้
บางทีในขณะที่เราบอกวัตรก็ตาม ในขณะที่เราเดินจงกรม นั่งสมาธิอยู่ก็ตาม ในขณะนั้น เมื่อสติสัมปชัญญะของเราแก่กล้าแล้ว องค์ประกอบต่างๆ สมบูรณ์แล้ว คือศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิถีของเราเกิดขึ้นตามลำดับของมันได้ เช่น ในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ในขณะนั้น รูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นรูปนามปรากฏชัดเจนขึ้นมา เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมาในขณะใด
ขณะนั้น ชวนจิต ของเราดวงที่ ๑ ก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้จิตดวงที่ ๒ เกิดขึ้นมาคือ สัมปฏิจฉนจิต เกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วโวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป
เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมา เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเสพพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่ชั่ว ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต นำเอาไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ลงสู่ภวังค์ เมื่อพระไตรลักษณ์ลงสู่ภวังค์แล้ว ภวังคจิต นั้นก็ทำหน้าที่รักษาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาไว้ในภวังคจิต
และในขณะที่พระไตรลักษณ์ปวัตติไปจนถึงภวังคจิต (พระไตรลักษณ์นั้น)ก็จะทำหน้าที่ประหารกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เช่นว่า อนุสัย ๑๐ หรือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ที่ติดตามเรามาแต่หลายภพ หลายชาติ หลายกัป หลายกัลป์ ก็จะถูกพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นทำลายหรือประหัตประหารให้ดับไป สิ้นไป สูญไป ตามกำลังของมรรค
อันนี้เป็นลักษณะ หรือว่าเป็นการ(ตอบคำถามที่ว่า) ที่เราอยู่ปริวาสปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจ
สรุปว่า เมื่อใดเราเข้าปริวาส ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างนี้แล้ว จนสามารถยังพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เกิดขึ้น เมื่อพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต ลงสู่ภวังค์ เมื่อถึงภวังค์แล้ว ก็จะทำหน้าที่ประหารหรือทำลายกิเลสทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในขันธสันดานของเราให้ดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดานของเราได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่บวชเป็นสามเณรก็ดี เป็นปะขาว แม่ชี ทายก อุบาสก อุบาสิกาก็ดี อย่าได้น้อยใจว่าเราไม่ได้เป็นพระ ไม่มีโอกาสเข้ากรรมหรือบอกวัตรกับท่านได้อย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้น เพราะว่าการที่เราทั้งหลายอยู่ปริวาสปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ได้ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ท่านทั้งหลาย สำหรับการบอกวัตรเหมือนกัน ท่านทั้งหลายอาจรู้สึกรำคาญในการบอกวัตร เดี๋ยวก็บอกวัตรๆ เช้าก็บอกวัตร ค่ำก็บอกวัตร ท่านทั้งหลายอาจจะถือว่าเป็นเรื่องลำบากยุ่งยาก บางทีก็ไม่มีการปลง(เก็บ)วัตรเลย ทั้งวันทั้งคืน ก็อยู่ปริวาสตลอดไป หรืออยู่มานัตต์ตลอดไป
บางท่านอาจเกิดความเครียดขึ้นมา ไม่สบาย เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้นเลย เพราะว่าการบอกวัตรนี้ ยิ่งบอกเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เกิดความบริสุทธิ์ อย่างวันนี้ ครูบาอาจารย์รูปโน้นมา รูปนี้มา มาจากวัดโน้น มาจากวัดนี้ ก็เหมือนกันกับพระเจ้ามาโปรด เพราะว่า ในขณะที่เราบอกวัตรแก่ท่านนั้น จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศีลของเราบริสุทธิ์ขึ้น
เหมือนกันกับเราซักผ้าอย่างนี้ เราซักผ้า ซักบ่อยๆ ผ้าของเราก็บริสุทธิ์ หรือว่าเราอาบน้ำถูสบู่ ถูบ่อยๆ ก็ทำให้คราบสกปรกของเรามันหมดไป มันก็สะอาดขึ้นมาแทนที่ หรือว่าแก้วของเรามันสกปรก มันเลอะเทอะ เราเอาผงซักฟอกมาขัดบ่อยๆ ขัดไปๆ คราบสกปรกมันก็หมดไปๆ ความสะอาดก็เกิดขึ้นมาแทนที่ ข้อนี้ฉันใด
เมื่อเราทั้งหลาย ต้องครุกาบัติแล้วประพฤติวุฏฐานวิธีอย่างนี้ เราบอก(วัตร)บ่อยเท่าไรๆ ก็ยิ่งเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บริสุทธิ์ ให้ศีลของเราบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป เหตุนั้น การบอกวัตรนั้น ท่านทั้งหลายอย่าคิดว่า มันเป็นของพร่ำเพรื่อ ทำให้เกิดความเครียดความเบื่อหน่าย ไม่อยากมาบอกอะไรทำนองนี้ ขอให้ระวังให้ดี
เอาล่ะท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้นำเอาเรื่อง การประพฤติวุฏฐานวิธี มาบรรยายเพื่อประกอบความรู้ของท่านทั้งหลาย เล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หากว่ายังมีปัญหาอะไรขัดข้องในจิตในใจ มีโอกาสมีเวลาก็ค่อยไถ่ถามกัน สำหรับวันนี้ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.
 



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 14:53:56

(https://i0.hippopx.com/photos/515/540/843/candle-christmas-advent-candlelight-thumb.jpg)

ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๑)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

วันนี้ หลวงพ่อจะได้น้อมเอาธรรมะอันเป็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายถวายความรู้แด่ท่าน ครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา และผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

ท่านทั้งหลาย การที่เราทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจมาแต่วัด แต่บ้าน สู่สถานที่แห่งนี้ ก็เพื่อว่าจะได้บำเพ็ญสมณธรรม คือธรรมที่จะทำให้เกิดความสงบ ทั้งที่เป็นอย่างต่ำ อย่างกลาง และอย่างสูง

ธรรมที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง โดยเฉพาะก็คือ สมาธิ สมาบัติ ถ้าสงบอย่างกลาง ก็คือสงบด้วยกำลังฌาน ถ้าสงบอย่างสูงก็คือสงบด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ

การเจริญกัมมัฏฐานที่ท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้ โดยที่ผ่านมหาเถรสมาคม ท่านให้ดำเนินตามหลัก มหาสติปัฏฐานสูตร คือเมื่อก่อนโน้นยังไม่ได้เป็นล่ำเป็นสัน ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการ ต่างรูปต่างคนหรือต่างสำนัก ก็ต่างปฏิบัติไปตามอัธยาศัย แล้วก็ปฏิบัติไปตามกุศโลบายของอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทให้

เรื่องการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ สมัยก่อนที่หลวงพ่อยังเป็นสามเณรน้อยๆ อยู่ ในสมัยนั้น มีครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็ไม่มากเท่าไร สรุปว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นจะหยุดชะงักไปอยู่ช่วงหนึ่ง เหมือนกันกับเข้าปริวาส มันหยุดชะงักไปอยู่พักใหญ่ๆ ในสมัยที่หลวงพ่อยังเป็นสามเณรอยู่ การอยู่ปริวาสกรรม ก็สักแต่ว่าอยู่ อยู่กันตามประสาที่โบราณาจารย์ทั้งหลายที่ทำสืบๆ กันมา แต่ว่ายังไม่เป็นล่ำเป็นสัน ไม่แผ่ขยายออกไปในวงกว้างๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้

หลังจาก หลวงพ่อเจ้าคุณกิตติวุฑโฒ ได้ขอร้องบรรดาพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายให้ไปอบรมในจิตตภาวัน แล้วก็มีการอยู่ปริวาสควบคู่กันไป หลังจากนั้นมา พระที่เป็นหน่วยพัฒนาการทางจิต เมื่อออกมาสู่วัด สู่ตำบล สู่อำเภอของตน ก็พากันจัดงานปริวาสขึ้นมา นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ การเข้าปริวาส ก็แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปจนทั่วประเทศ นี่เป็นเรื่องของปริวาสกรรม

สำหรับกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน สมัยหลวงพ่อยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านก็ปฏิบัติกันสักแต่ว่าปฏิบัติ แต่ปฏิบัติไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ก็ไม่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นปัจจัตตัง ผู้ใดปฏิบัติแล้วก็รู้เฉพาะตน ไม่ได้บอกว่า ฉันทำได้อย่างนั้น ฉันทำได้อย่างนี้ ไม่ได้พูดกัน ไม่ได้ประกาศ ไม่ได้โฆษณา ตัวเองรู้เฉพาะตัวเอง

สำหรับญาติโยม ก็สังเกตอากัปกิริยา ตลอดถึงการเทศน์การสอน แล้วก็มาคำนวณเอาว่า องค์นี้คงได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว องค์นี้คงได้สกทาคามี อนาคามี องค์นี้คงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว องค์นี้คงไม่ได้ฌาน องค์นี้คงไม่ได้สำเร็จอริยมรรคอริยผล เป็นแต่เพียงว่าได้สมาบัติเท่านั้น คำนวณเอา

สำหรับภาควิปัสสนาก็เหมือนกัน เมื่อก่อนก็ปฏิบัติเหมือนกัน แต่มันส่วนน้อยมาก ถ้าคิดทั่วๆ ไปแล้ว สมมติว่า ร้อยคนนี่อยากปฏิบัติ หาเอา ๑ เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ สมมติว่าพันคนซะ พันคนนี่จะมีปฏิบัติสัก ๑ คนก็ยังหายาก คือการปฏิบัติยังไม่แพร่หลาย แล้วก็ใช้บทภาวนา พุทโธๆ แล้วก็ สัมมาอะระหัง, ไหว นิ่ง อะไรทำนองนี้มากกว่า

แต่มาสมัยนี้ วิปัสสนากัมมัฏฐานนี่เป็นที่แพร่หลายไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อก่อนที่หลวงพ่อเริ่มสอนในสถานที่แห่งนี้ รู้สึกว่ามันเป็นความลำบาก กระแสต่อต้านนี่มากที่สุด ในหมู่บ้านของเราก็ต่อต้าน

ส่วนพวกจารย์ครู สึกแล้วก็เป็นจารย์ครู เป็นทิด เป็นจารย์ซา ครั้งนั้นเรียกว่า จารย์ครู เวลาสอนกัมมัฏฐานนี่ต่อต้านอย่างหนัก บางทีก็เถียงกันหน้าดำหน้าแดง หลวงพ่อไม่ได้เถียงกับเขา ครูบาอาจารย์เป็นผู้เถียงให้ ส่วนมากหลวงพ่อมีแต่นั่งฟัง

(เขา)ว่าภาวนาอย่างนี้มันจะได้อะไร อย่างผมนี่ภาวนาตั้ง ๓ ชั่วโมงก็ยังไม่ได้อะไร เขาว่า เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ เรื่องมรรค เรื่องผล พระนิพพาน มันหมดสมัยแล้ว เขาก็ว่าเอา หนักๆ เข้าครูบาอาจารย์ผู้เป็นประมุขประธานก็แอนตี้ (Anti-คัดค้าน)

หลวงพ่อนี้ถูกฟ้องร้องอย่างเป็นทางการ คือสมัยก่อนโน้น ขออภัยที่พูดเรื่องนี้ มีหลวงพ่อรูปหนึ่ง ท่านไปฟ้องทางเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดรับเรื่อง สั่งระดมพระเถระทั้งหลาย นับตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส ไปถึงเจ้าคณะตำบลทั้งอำเภอเลย ไปประชุมกันแล้วเจ้าคณะจังหวัดก็เทศน์เอาๆ พูดแล้วก็เทศน์ด่านั่นแหละ แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร ในสมัยนั้น

ผลสุดท้าย หลวงพ่อรูปนั้น ภายหลังก็ยอมแพ้ มาขออยู่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานด้วย นี่แหละท่านทั้งหลายเมื่อก่อนโน้นมันมีกระแสต่อต้านมาก บางทีสารวัตร มัคคนายกวัดนี่ ต่อต้านอย่างหนัก จนไม่ยอมเข้าวัดเข้าวาก็มี ไปโพนทะนาว่ากล่าวที่โน้นที่นี้ อะไรร้อยแปดพันประการ แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร

หนักๆ เข้าผู้ใหญ่บ้านก็ต่อต้านไม่ให้ทำ ถึงกับมากราบที่วัดว่า ทางชาวบ้านขอร้องว่า ไม่อยากให้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทำวัตรก็ไม่อยากให้ทำวัตรแปล อยากให้ทำวัตรธรรมดา เขาว่างั้น แต่หลวงพ่อก็ชี้แจงเหตุผลทุกสิ่งทุกอย่างให้ฟังแล้วก็จึงค่อยทำตาม ครั้งแรกก็ไม่ยอมทำ แต่พอนานมาก็ทำไป

สรุปแล้วว่า ท่านทั้งหลาย การที่วิปัสสนากัมมัฏฐานจะเจริญมาถึงขนาดนี้ เหมือนเดี๋ยวนี้ เป็นสิ่งที่กระเสือกกระสนดิ้นรนมาพอสมควร เนื่องจากแรงต่อต้านนั้นมีมาก สมัยนี้ยุคนี้แหละครูบาอาจารย์ โดยความเห็นของมหาเถรสมาคม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ให้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ดำเนินตามแนวทางมหาสติปัฏฐาน ๔

เพราะเหตุใด จึงให้ดำเนินตามแนวทางของมหาสติปัฏฐาน ๔

คือ มหาสติปัฏฐาน ๔ นี่ เป็นหนทางที่จะนำพาผู้ปฏิบัติให้บรรลุอริยมรรคอริยผล นับตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น มีทางเดียว มีแนวเดียว มีวิธีเดียว มีหลักการเดียว ที่จะทำให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน ผู้ประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี่จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนี่ ก็มีทางเดียวเท่านั้น คือวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ส่วนกสิณ ๑๐ ทั้งหลาย ดังที่เราทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้น เป็นสมถกัมมัฏฐาน คือไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้ แต่ผู้ใดมีความฉลาดมีความสามารถที่จะแยกแยะ หรือยกอารมณ์เหล่านั้นขึ้นสู่วิปัสสนา จึงจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน แต่สำหรับมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นข้อปฏิบัติที่จะนำให้บรรลุถึงมรรคผลพระนิพพานได้

ครั้งอดีตโน้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอัครสาวกซ้าย-ขวา พระอรหันต์ทั้งหลายได้ดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็เพราะว่าท่านได้ปฏิบัติตามมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ นอกจากการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้นั้นบรรลุอริยมรรคอริยผลได้เลย

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติวิปัสสนานี้ จึงไม่ต้องแยกแยะว่าจะถูกจริตหรือไม่ถูกจริต ไม่ได้ว่าเหมือนสมถกัมมัฏฐาน สมถกัมมัฏฐานก็ต้องเอากัมมัฏฐานที่ถูกกับจริตมาบริกรรม มาเจริญ มาปฏิบัติ จึงจะได้สมาธิ สมาบัติ ได้ฌาน แต่สำหรับวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ไม่ได้ว่าอย่างนั้น หมายความว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จะเอาข้อใดข้อหนึ่งหรือ ทั้งหมดก็ตามมาปฏิบัตินั้น เป็นหนทางที่จะทำให้บรรลุมรรคผล พระนิพพาน เหมือนกันหมด ไม่เลือกจริต

ผู้ปฏิบัตินั้น จะเป็นจริตอย่างไรไม่เกี่ยว คือเป็นหนทางดำเนินไปทางเดียวกัน คือการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ นี้ ท่านให้พิจารณาให้รู้กายในกาย ทั้งที่เป็นภายในและภายนอก ให้รู้เวทนาในเวทนา ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ให้รู้จิตในจิต ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก ให้รู้ธรรมทั้งเป็นภายในและภายนอก นี่เป็นหลักของสติปัฏฐาน ๔

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ ท่านให้เอาสติมาไว้ในกาย เวทนา จิต ธรรม พวกกาย เวทนา จิต ธรรมนี้ เป็นที่ตั้งของสติ คือสติของเรานี้ต้องมีที่ตั้ง จึงจะเป็นสภาวะที่มั่นคงถาวรและหนักแน่นได้ เหมือนกับของทั้งหลายทั้งปวง เช่นว่า โต๊ะก็ดี เก้าอี้ก็ดี ธรรมาสน์ก็ดี ต้องมีขามีเท้าเป็นที่ตั้ง จึงจะตั้งอยู่ได้ ถ้าไม่มีเท้ามีขา มันก็ตั้งไม่ได้ ข้อนี้ฉันใด สติของเราก็เหมือนกัน ต้องมีที่วาง ต้องมีที่ตั้ง

อะไรเป็นที่ตั้งของสติ

กาย เวทนา จิต ธรรม นี้เป็นที่ตั้งของสติ

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็ยกจิตและสติของเราสู่สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม แล้วจึงเจริญต่อไป

ที่ว่าเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม มันเห็นอย่างไร

คือ กายนี้มันมีอยู่ ๒ ประเภท คือ กายภายนอก กายภายใน เวทนาก็เหมือนกัน มีเวทนาภายนอก มีเวทนาภายใน จิตก็มีจิตที่เป็นภายนอก จิตที่เป็นภายใน ธรรมก็มีธรรมที่เป็นภายนอก เป็นภายใน มันเป็นของคู่กัน

อุปมาเหมือนกันกับดาบและฝักของดาบ เรามองดูดาบเผินๆ เราก็จะเห็นแต่ฝักของมัน แต่ถ้าเราชักดาบออกจากฝัก เราก็จะเห็นเล่มของดาบ ข้อนี้ ฉันใด สติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเรามองด้วยตาเนื้อเปล่าๆ เรามองด้วยตาเนื้อมันก็เห็นกายธรรมดา เห็นเวทนาธรรมดา เห็นจิตธรรมดา เห็นธรรมเป็นธรรมดา ไม่เห็นลึกซึ้งว่าเป็นภายใน คือไม่เห็นกายในกาย ไม่เห็นเวทนาในเวทนา ไม่เห็นจิตในจิต ไม่เห็นธรรมในธรรม

เพราะเหตุใด ท่านจึงให้เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม

คือเมื่อใดเราเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่าย คือเบื่อหน่ายทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม เมื่อเบื่อหน่ายแล้วก็จะคลายกำหนัด ไม่มีความกำหนัด ก็ไม่มีความใคร่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เมื่อไม่มีความใคร่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จิตของเราก็บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ ไม่มีกิเลสใดๆ เข้ามาครอบงำจิตใจของเราได้

เมื่อจิตของเราบริสุทธิ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดสันติ คือความสงบ ด้วยอำนาจของมัคคญาณ ผลญาณ เมื่อใดเรามีสติมีสัมปชัญญะ เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการนี้อยู่ทุกขณะจิต ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของเรามันสมบูรณ์ เมื่อสติของเราสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ คือจะเกิดปัญญาความรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งกายนี้ ทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก หรือพูดง่ายๆ ว่า เห็นรูป เห็นนาม

คือเมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อใดเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติมีสัมปชัญญะทันปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะทำให้ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อ่อนกำลังลงไป ทำให้ความเห็นแก่ตัว ว่าเลิศกว่าเขา เสมอเขา หรือเลวกว่าเขานั้น อ่อนกำลังลงไปหรือเบาบางลงไป เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นแก่เรา บังเอิญเราตายไปในขณะที่เจริญกัมมัฏฐานอยู่พอดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้ว หลายวัน หลายเดือน หลายปีจึงตาย เวลาจะตายนั้น มีรูปนามเป็นอารมณ์ เช่น เราได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือคิดหนอๆ ทุกข์หนอๆ หรือโกรธหนอๆ หรือว่าสุขหนอๆ อย่างนี้

เราบริกรรมบทใดบทหนึ่งแล้ว ก็บังเอิญตายลงไปในขณะนั้น ถ้าตายในลักษณะอย่างนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ผู้นั้นจะไม่ไปสู่อบายภูมิอย่างน้อย ๑ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นไปเกิดในสุคติภพ แล้วจะได้พบพระพุทธเจ้าหรือว่าสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรมแล้วก็จะได้รู้ธรรม เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๒ ซึ่งเรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่พิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เราจะมีความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดรูป อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดนาม มันจะรู้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เรียกว่า รู้ด้วยอำนาจของภาวนามยปัญญา

เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราตายไปในขณะที่เจริญกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือว่าออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปี จึงตาย ในขณะที่จะตายนั้น เรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เช่น เราได้ภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ หรือ พุทโธ สัมมาอรหัง บทใดบทหนึ่งก็ตาม แล้วก็บังเอิญตายลงไป ถ้าตายในลักษณะอย่างนี้ ผู้นั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติอย่างน้อย ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น จุลลโสดาบัน

จุลละ แปลว่า น้อย, โสตะ แปลว่า กระแส, อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ

ถ้าหากพยายามประพฤติปฏิบัติต่อไป ก็จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็น มหาโสดาบัน ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ปัญญาขั้นนี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วตรัสว่า ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น จุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ หากว่าผู้นั้นจุติลงไปแล้ว ก็จะไปบังเกิดในสุคติภพ จะได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม และจะได้บรรลุธรรม

จุลลโสดาบันนี้ ผู้มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ตั้งแต่ ๑ วัน ๒ วัน ๓ วันขึ้นไป ผู้นั้นมีหวังจะได้สำเร็จกันทุกรูป อันนี้เป็นปัญญาขั้นที่ ๒ เมื่อปัญญาขั้นที่ ๒ แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๓

สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จะเริ่มเห็นรูปนามนั้นเป็นทุกขัง เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง เห็นรูปนามเป็น อนัตตาแล้ว เมื่อมาถึงนี้ ถือว่ากำลังจะเดินเข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป ปัญญาญาณขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๔ คือ

อุทยัพพยญาณ เมื่อปัญญาขั้นนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านกล่าวไว้ในพระบาลีว่า

โย จ วสฺสสตํ ชีเว  อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  ปสฺสโต อุทยพฺพยํ[1]

ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญา ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม แม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี

เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนี้

เพราะว่า ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงขั้นนี้แล้ว จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อพระไตรลักษณ์เกิดขึ้นมาในครั้งที่ ๒ แล้ว เราเดินจงกรมไปก้าวเดียว ขวาย่างหนอ ก้าวเดียวเท่านั้น สามารถตัดชาติ คือความเกิดในภพหน้าลงได้ตั้ง ๖ ชาติ เราเดินต่อไป ซ้ายย่างหนอ ตัดลงไปอีก ๖ ชาติ ขวาย่างหนอ ตัดออกไปอีก ๖ ชาติ ตัดไปตามลำดับๆ ภพชาติมันจะน้อยลงไป น้อยลงไปๆ

เพราะเหตุไร ภพชาติมันจึงน้อยลงไป

เพราะว่า เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงนี่แล้ว พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นแล้วตอนนี้ เมื่อพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะปวัตติไปตามวิถีของจิต แล้วลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ เมื่อถึงห้วงแห่งภวังค์แล้ว มันก็จะทำหน้าที่ทำลายกิเลสตัณหาให้เบาบางลงๆ ตามลำดับ เพราะฉะนั้น ภพชาติจึงได้น้อยลงไปๆ บาปกรรมที่เราเคยทำมาแล้วก็จะค่อยหมดไปๆ ตามลำดับๆ

แต่ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานยังไม่ถึงนี้ ภพชาติมันก็ยังมีอยู่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเราจุติแล้ว โอกาสที่จะไปสู่อบายภูมินั้นก็ยังเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หากว่า เมื่อใดเราปฏิบัติธรรมมาถึงนี้แล้ว ภพชาติมันจะน้อยลงไป บาปกรรมก็จะน้อยลงไป กิเลสตัณหาก็จะน้อยลงไป น้อยลงไปตามลำดับๆ

หากว่าผู้เจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย หากตายไปในขณะที่เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่พอดี หรือว่าออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือนหลายปีจึงตาย แต่ในขณะที่จะตายนั้น มีรูปมีนามเป็นอารมณ์ ถ้าหากว่าตายในลักษณะอย่างนี้ เมื่อจุติแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ จะมีสุคติภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า หากว่าไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็จะเป็นเทพบุตร เทพธิดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นเทพบุตร เทพธิดาที่มีศักดา เดชานุภาพกว่าเทวดาทั้งหลายทั้งปวง

หากว่า มาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลพระราชา มหาราชา เกิดในตระกูลของพระเจ้าจักรพรรดิราช เกิดในตระกูลพราหมณ์ ตระกูลคฤหบดี และเมื่อเกิดมาแล้วก็จะได้พบพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมของท่านแล้วก็จะได้บรรลุอริยมรรค อริยผล

แต่ถ้าหากว่าไปเกิดในสมัยที่เป็นสุญญกัป คือกัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี่เป็นอานิสงส์ของปัญญาขั้นที่ ๔ นะท่านทั้งหลาย เมื่อปัญญาขั้นที่ ๔ แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญา ขั้นที่ ๕ คือ

ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม หลังจากนั้นก็จะเกิดปัญญาขั้นที่ ๖ คือ

ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว ก้าวเข้าสู่ปัญญาขั้นที่ ๗ คือ

อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษของรูปนาม ผ่านเข้าสู่ปัญญาขั้นที่ ๘ คือ

นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อนิพพิทาญาณแก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๙ คือ

มุญจิตุกัมยตาญาณ เห็นรูปนามเป็นทุกข์เป็นโทษ เกิดความเบื่อหน่าย อยากออกอยากหนี อยากหลุดอยากพ้นไปจากรูปนาม ไม่อยากมีรูปมีนามอีกต่อไป เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้วก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๑๐ คือ

ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ปัญญาขั้นที่ ๑๑ คือ

สังขารุเปกขาญาณ จะมีความวางเฉยในรูปในนาม การเจริญพระกัมมัฏฐานก็ร่าเริง เบิกบาน แจ่มใส กระปรี้กระเปร่า กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็สบายๆ เมื่อมาถึงนี้โรคภัยไข้เจ็บก็จะหายไปตามลำดับๆ

เมื่อปัญญาขั้นนี้แก่กล้าแล้ว ท่านทั้งหลายก็จะเข้าสู่มัคควิถี คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผลผ่าน สัจจานุโลมิกญาณ (ปัญญาขั้นที่ ๑๒) แล้วก็ผ่านโคตรภูญาณ (ปัญญาขั้นที่ ๑๓) ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน (มัคคญาณ ผลญาณ ปัญญาขั้นที่ ๑๔ และ ๑๕ และปัญญาขั้นที่ ๑๖ คือ ปัจจเวกขณญาณ)

เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย กิเลสตัณหาดับไปไม่รู้ว่าเท่าไร ในแนวของพระอภิธรรมว่ากิเลส ๑๒ ตัว โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โลภะมันดับไปตั้ง ๔ ตัวแล้ว แต่โทสะยังดับไม่ได้ สำหรับโมหะก็ดับไปตัวหนึ่งแล้ว คือวิจิกิจฉา

นี่แหละท่านทั้งหลาย หนทางที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุอริยมรรคอริยผลนั้น มีหนทางเดียวเท่านี้ คือ การดำเนินตามหลักมหาสติปัฏฐาน ๔ เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหลักของมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔ ประการแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติ ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมมา

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรค ผลพระนิพพานนั้นก็จริงอยู่ แต่ว่าหลักการและวิธีการที่ครูบาอาจารย์ในแต่ละสำนักพาประพฤติปฏิบัติในทุกวันนี้ไม่เหมือนกัน แต่ละสำนักๆ นั้นปฏิบัติไม่เหมือนกัน สำนักหนึ่งเอาอย่างหนึ่ง สำนักหนึ่งเอาอีกอย่างหนึ่ง

บางสำนักว่า พุทโธๆ บางสำนักว่า สัมมา อะระหัง บางสำนักก็ นะมะพะทะ บางสำนักก็ พองหนอ ยุบหนอ อะไรร้อยแปดพันประการ แต่จะประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม การปฏิบัติ การบริกรรม การภาวนานั้นจะต่างกันอย่างไรก็ตาม แต่ความประสงค์หรือความต้องการนั้นเหมือนกันหมด คือทุกคนเกิดมาแล้วต้องการจะพ้นทุกข์ ต้องการจะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรค ผล พระนิพพาน เหมือนกันหมด แต่เพราะธรรมะมีมาก การประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

เหมือนกับคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วต้องการเงิน แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ผู้ทำไร่ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้ทำสวนก็ต้องการเงิน พวกทำมาค้าขายก็ต้องการเงิน หนักๆ เข้า ไปลักไปขโมย ไปปล้นไปจี้ เพราะต้องการเงินกันทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว หรือบุคคลทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องการอยากจะพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ต้องการอยากจะบรรลุสุขอันไพบูลย์ คือมรรค ผล พระนิพพานเหมือนกันทั้งนั้น แต่ธรรมะมีมากการประพฤติปฏิบัติจึงไม่เหมือนกัน

เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตามที่ครูบาอาจารย์สอนให้ อาจจะไม่สบายใจ ไม่เหมือนที่ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ถ้าเกิดความรู้สึกทำนองนี้ ก็ขออย่าได้คิดอย่างนั้น ครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนอย่างไร ก็ปฏิบัติไปตามอย่างนั้นก่อน เมื่อกลับไปวัดแล้วเราจะปฏิบัติอย่างไรนั้นก็แล้วแต่เรา

สำหรับข้อปฏิบัตินั้น ถ้าหากว่าเรารู้วิธีการและรู้หลักการในการปฏิบัติแล้ว เราจะทำอย่างไรๆ มันก็ไปเหมือนกันหมด หลวงพ่อเคยทดลองให้เขานั่งมองดูเสื่อน้ำมันหรือพื้นดิน แล้วไม่ต้องภาวนาก็ได้ มองดูเฉยๆ ก็สามารถได้สมาธิ ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง เหมือนกัน หรือบางครั้งก็ให้เขาภาวนาว่า ขี้เกียจหนอๆ แต่เราไม่ขี้เกียจ ก็สามารถทำสมาธิได้เหมือนกัน

บางทีให้ภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่ว่าเรายังไม่อยากตายหรอก ก็สามารถทำสมาธิสมาบัติได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ข้อนี้ ถึงแม้ว่าการปฏิบัติจะต่างกันก็ตาม ท่านทั้งหลายขอให้เข้าใจ ถึงแม้การปฏิบัติจะต่างกัน แต่ความประสงค์นั้นเหมือนกันหมด คือต้องการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน เหมือนกันหมดนั่นแหละ

สรุปแล้วว่า การภาวนา จะภาวนาอย่างไรก็ตาม จะกำหนดอย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้ว เราไม่ได้เอาคำภาวนานี้ เราไม่เอา คำบริกรรมนี้เราไม่เอา เช่นเราภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอๆ ก็ดี หรือ พุทโธๆ ก็ดี หรือ สัมมา อะระหัง ก็ดี เราไม่เอา คำภาวนานี้ไม่เอา

เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ เราภาวนาเพื่อรอการเกิดขึ้นของมรรคผลพระนิพพานต่างหาก เมื่อใดสมาธิ มรรค ผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำภาวนานี้เราก็สลัดทิ้งไปทันที เหมือนกับเราข้ามแม่น้ำ เช่นว่าเราข้ามแม่น้ำโขง เราต้องอาศัยเรือขี่เรือข้ามฟาก เมื่อไปถึงฝั่งโน้นแล้ว เราก็สลัดเรือทิ้ง เดินขึ้นไปสู่บ้านหรือตำบลที่เราต้องการ ข้อนี้ฉันใด

พวกเราทั้งหลายต้องการที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพาน แต่ว่าต้องอาศัยคำบริกรรมหรือคำภาวนา เมื่อเราได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ได้บรรลุสมาธิ สมาบัติแล้ว คำบริกรรม คำภาวนานี้เราทิ้งไป เราไม่เอา เราเอาสมาธิ สมาบัติ เอามรรค เอาผล เอาพระนิพพานต่างหาก คำบริกรรมนี้เราไม่เอา

อุปมาเหมือนกับเราอยากดื่มเครื่องดื่มสักขวดหนึ่ง เช่นว่า ต้องการอยากดื่มโค้กสักขวดหนึ่ง เวลาเราไปซื้อ เราก็ต้องเอามาทั้งขวดมัน เมื่อเอามาแล้วเราก็เปิดดื่ม ดื่มแต่น้ำของมัน ขวดเราก็ทิ้งไป ข้อนี้ฉันใด การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน ฉันนั้น ขณะที่เราบริกรรม เราภาวนาอยู่นี้ เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ก็เหมือนกัน

คำภาวนา คำบริกรรมนี่เราไม่เอา พองหนอ ยุบหนอ พุทโธๆ สัมมา อะระหัง นี่เราไม่เอา เราภาวนาหรือกำหนดเพื่อรอการเกิดขึ้นของสมาธิ เราภาวนาหรือกำหนดเพื่อรอการเกิดขึ้นของมรรค ผล พระนิพพานต่างหาก เมื่อใดสมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานเกิดขึ้นมาแล้ว คำบริกรรมหรือคำภาวนานี้ก็สลัดทิ้งไป

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะมีความเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ยังไม่เคยปฏิบัติ หรือไม่เคยฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์ หรือไม่เคยฟังธรรมะที่หลวงพ่อบรรยายอาจจะเกิดความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ก็ได้ เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงจะน้อมนำเอาหลักฐาน ที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า

๑. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่หนึ่งเป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือพระศาสนาล่วงเลยมา ๑ พันปี ในช่วงพันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว หากตนได้เคยสร้างสมอบรมบารมีมา ก็สามารถให้เกิดปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ได้ คือแตกฉานในอรรถ แตกฉานในธรรม แตกฉานในปฏิภาณ แตกฉานในภาษา

๒. ฉฬภิญฺเญหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สอง เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปี ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดได้มาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญา ๖ ให้เกิดขึ้นได้

หมายความว่า เมื่อก่อนโน้น ในปุเรกชาติโน้น ตนได้เคยบำเพ็ญบารมีมาแล้ว ได้อธิษฐานจิตให้เกิดอภิญญาทั้ง ๖ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเรามาภพนี้ชาตินี้ เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังอภิญญาทั้ง ๖ ประการให้เกิดขึ้นได้

คือแสดงฤทธิ์ได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้จักวิธีที่จะทำให้อาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน อภิญญาจิตทั้ง ๖ ประการนี้ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ หากได้บำเพ็ญบารมีทางนี้มาแล้ว แต่ถ้าหากว่าเราไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก็ไม่เกิด

๓. เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สาม เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๓ พันปี ในช่วง ๓ พันปีนี้ ถ้าหากว่าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถยังวิชชา ๓ ประการ ให้เกิดขึ้นได้ ได้แก่

๑) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ปัญญาระลึกชาติหนหลังได้

๒) จุตูปปาตญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดและความตายของบุคคลอื่น ว่าผู้นี้เขามาจากไหน มาเกิดที่นี้ด้วยกรรมอะไร ผู้นี้ตายแล้วเขาไปเกิดที่ไหนด้วยกรรมอะไร สามารถที่จะรู้ได้

๓) อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป

๔. สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่สี่ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสกะ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว ก็สามารถทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน

แต่ไม่สามารถยังคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งให้เกิดขึ้นได้ เช่น ปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงสามารถทำอาสวะกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน ท่านเรียกว่า บรรลุโดยแห้งแล้ง

๕. ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ห้า เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๕ พันปี ในช่วง ๕ พันปีนี้ ผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงแม้จะใช้ความเพียรเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เพียงแต่ให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามีเท่านั้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาค ๓


[1] (ขุ. ขุทฺทกปาฐ-ธมฺมปทคาถา ๒๕/๑๘/๓๐)


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 15:01:13

(https://i0.hippopx.com/photos/515/540/843/candle-christmas-advent-candlelight-thumb.jpg)

ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๑) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายเมื่อกล่าวมาถึงนี้แล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าเคลือบแคลงสงสัย หรือน้อยใจว่า สมัยนี้สมาธิ สมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานไม่มี ขออย่า ได้คิดอย่างนี้ ต่อไป คุณสมบัติของผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต้องเพียบพูนสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ ๔ ประการ คือ

๑. มีสติทันปัจจุบัน คือยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทำกิจอันใดๆ ก็ตามให้ทันปัจจุบัน

๒. มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม คือ ในขณะที่เรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม ให้มีสัมปชัญญะความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา

๓. วิริยะ ความเพียร เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียร มีความเพียรในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พอใจในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แข็งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฉลาดในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

๔. สัทธา ความเชื่อ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญพิเศษท่านทั้งหลาย เมื่อว่าเราไม่มีศรัทธา ก็ต้องหาวิธีที่จะทำให้เกิดศรัทธา ถ้าศรัทธาของเรามีแล้วก็พยายามรักษาไว้ให้ดี

ถ้าศรัทธาของเราไม่เกิด หรือศรัทธาของเราไม่มีแล้ว เราจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานตลอดไตรมาส ๓ เดือนนี้ ก็ไม่ สามารถที่จะบรรลุสมาธิ สมาบัติ อริยมรรค อริยผลได้เลย เพราะฉะนั้น หากว่าเราไม่มีศรัทธา เราก็ต้องคิดถึงคุณพระพุทธเจ้าบ้าง พระธรรมบ้าง พระสงฆ์บ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง เรานึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีอย่างนั้นๆ มา นึกไปๆ เพื่อให้เกิดศรัทธา

หรือเรานึกถึงคุณของพระธรรมว่า พระธรรมนี้เป็นสภาวธรรมที่รักษาบุคคลไว้ไม่ให้ตกนรก ไม่ให้เกิดเป็นเปรต ไม่ให้เกิดเป็นอสุรกาย ไม่ให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อยู่ในโลกนี้ก็ไม่ต้องถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ ติดคุกตะราง ไม่ถูกประหารชีวิต

พระสงฆ์ก็เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งพระศาสนา พระศาสนาล่วงเลยมาถึงทุกวันนี้ก็เพราะพระสงฆ์เป็นผู้สืบต่อ สืบทอดกันมาตามลำดับ นึกถึงอย่างนี้ หรือระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดศรัทธา เราก็ระลึกไป ถ้าศรัทธามีแล้วท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัตินี้ ก็จะดำเนินปฏิปทาไปได้ถูกต้อง แล้วก็สามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

ถ้าไม่มีศรัทธาแล้ว เราจะทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถยังสามัญผลให้เกิดได้เลย โดยเฉพาะถ้าว่าไม่เชื่อครูบาอาจารย์ สมมุติว่า หลวงพ่อแนะนำพร่ำสอนท่านทั้งหลายทุกวันๆ อยู่ แต่ท่านไม่เชื่อ ทำอย่างไรก็ไม่เชื่อ พอสอนอย่างนี้ ก็ไม่เชื่อ ทำอย่างนั้นก็ไม่เชื่อ บรรยายธรรมะอะไรให้ฟังก็ไม่เชื่อ เพียงแต่ว่าไม่เชื่อครูบาอาจารย์อย่างเดียวเท่านั้น หมดเลยท่านทั้งหลาย การปฏิบัตินี้ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้

นั่งกัมมัฏฐานไปก็นึกเห็นแต่ครูบาอาจารย์ แล้วก็ไม่พอใจ การพูดจาปราศรัยก็ไม่พอใจ การเทศน์การสอนก็ไม่พอใจ การอยู่การฉันก็ไม่พอใจ อะไรๆ ไม่พอใจครูบาอาจารย์ทั้งหมด ถ้าว่าไม่พอใจ ไม่ศรัทธาแล้วท่านทั้งหลาย การประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะได้ผลเลย เพราะฉะนั้น หากว่าในขณะนี้ ท่านไม่ศรัทธาในหลวงพ่อ ก็ขอให้ข่มใจกำหนดว่า รู้หนอๆ

ถึงจะไม่ศรัทธาในหลวงพ่อก็ขอให้ศรัทธาในธรรมะว่า ธรรมะที่หลวงพ่อนำมาบรรยายทุกวันๆ นี้ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ธรรมะของหลวงพ่อ เราไม่ศรัทธาหลวงพ่อแล้ว เราศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้า หากว่า เกิดไม่พอใจขุ่นเคืองในครูบาอาจารย์ขึ้นมา เมื่อกำหนดว่า รู้หนอๆ หรือ หยุดหนอๆ หยุดทันที

อันนี้ คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ต้องพยายามให้เกิดให้มีขึ้นในขันธสันดาน ต่อไปก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลายในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นี้

๑. ระวัง อย่าให้เกิดอาการเครียด ไม่ใช่ว่าตึงเครียด เกิดอาการเครียด ถ้าหากว่าเกิดอาการเครียดขึ้นมาแล้วมันจะเกิดโรคประสาท ทำให้เป็นบ้าได้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะไม่ได้สมาธิ สมาบัติ ไม่สามารถยังมรรคผลพระนิพพานให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้น อย่าให้เกิดความเครียด

๒. อย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น เช่น เราคิดว่า วันนี้เราจะนั่งกัมมัฏฐานให้ได้สมาธิ ให้ได้ฌาน เราจะนั่งกัมมัฏฐานวันนี้ ให้ได้มรรค ผล พระนิพพาน นั่งไปๆ ถ้ามันเกิดตามความตั้งใจ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะความโลภ ถ้ามันไม่เกิดตามความต้องการ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน เกิดความท้อแท้ เกิดความหดหู่ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป เหตุนั้น ระวังอย่าให้ความต้องการเกิดขึ้น

๓. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ เช่นว่า อยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้อะไรทำนองนี้ ขออย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าผู้ใดอยากเป็นผู้วิเศษ ร้อยทั้งร้อยมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เป็นบ้า ท่านทั้งหลาย

เท่าที่ผ่านๆ มา บางรูปปฏิบัติ มีแต่อยากได้โน้น อยากได้นี้ เมื่อก่อนโน้นเห็นเป็นบ้าไปหลายๆ รูปเหมือนกัน บางรูปก็ถึงตายๆ ไปก็มี ไปรักษาไม่หาย คือมันเป็นอย่างแรง กลับไปบ้านรักษาไม่หายก็มี

เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายขออย่าอยากเป็นผู้วิเศษ เรื่องคุณวิเศษทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา เช่น แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ ก็ดี วิชชา ๓ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี หากว่าเราเคยสร้างสมอบรมบารมีมาแล้ว ไม่อยากให้เกิดมันก็เกิด ไม่อยากให้มีมันก็มี แต่ถ้าเราไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก่อน แม้ว่าเราอยากให้เกิดก็ไม่เกิด อยากให้มีก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายคิดว่า แล้วแต่บุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมาเถิด เราตั้งจิตตั้งใจไว้อย่างนี้ก็ปฏิบัติไปๆ หากว่าเราเคยสร้างบารมีมาแล้ว หูทิพย์ ไม่อยากได้มันก็ได้ ตาทิพย์ไม่อยากได้มันก็ได้ การที่รู้จิตรู้ใจของผู้อื่น ไม่อยากได้มันก็ได้ ระลึกชาติหนหลังได้ก็ดี รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่นก็ดี ไม่อยากได้มันก็ได้ ถ้าหากว่าเราเคยบำเพ็ญบารมีมา แต่ถ้าหากไม่เคยบำเพ็ญบารมีมาก่อน จะทำอย่างไร มันก็ไม่ได้

เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะ กระท่อนกระแท่นมา ไม่สะดวกสบาย การฟังไม่รื่นหู ภาษาที่ใช้ก็กระท่อนกระแท่นอะไรทำนองนี้ ก็ขออภัยหลายๆ ด้วย แล้วก็ขอเตือนสติพิเศษอีกอย่างหนึ่งว่า

การเจริญกัมมัฏฐานในหน้าพรรษานี้ เราหนักไปทางวิปัสสนา แล้วก็วิธีการเจริญวิปัสสนาก็ต้องใช้วิธีกำหนด ก็ขออธิบายสั้นๆ ถ้าการเจริญสมถกัมมัฏฐานนั้นใช้วิธีบริกรรม คือตั้งจิตตั้งใจจะบริกรรมให้จิตของเราสงบ ตั้งมั่น เป็นอัปปนาสมาธิ

ถ้าเจริญวิปัสสนาใช้วิธีกำหนด เช่นว่า พองหนอ ต้นพอง กลางพอง สุดพองมันเป็นอย่างไร ให้รู้ นี่เรียกว่า วิธีกำหนด ยุบหนอ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ มันเป็นอย่างไร ต้องรู้ ขวาย่างหนอ เริ่มยกขึ้น กับก้าวไป แล้วเหวี่ยงลง มันเป็นอย่างไรก็ต้องรู้

ปวดหนอๆ หรือว่าทุกข์หนอๆ อาการปวดเป็นอย่างไร กำหนดแล้วเป็นอย่างไร สุขหนอๆ เมื่อเรากำหนดแล้ว ความสุขมันเป็นอย่างไร หรือว่า เราคิดหนอๆ เมื่อเรากำหนดแล้ว มันเป็นอย่างไร ความคิดมันเกิดขึ้นเมื่อไร มันดับไปเมื่อไร ต้องรู้ การที่รู้อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ก็พอ แล้วก็พยายามประพฤติปฏิบัติต่อไปจนกว่าครูบาอาจารย์จะเปลี่ยนวาระให้ ขออย่าเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ

สำหรับครูบาอาจารย์ที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ก็ขออย่าว่า เราเคยเดินจงกรมมาถึงระยะที่ ๖ แล้ว แล้วจะไปเดินเอาระยะที่ ๔ ที่ ๕ ไม่ได้นะ ท่านทั้งหลาย ต้องตั้งต้นใหม่ เพราะว่า สติของเรายังไม่สมบูรณ์ ออกจากห้องปฏิบัติไปแล้ว มีภาระธุระทางวัดทางอะไรร้อยแปดพันประการ สติมันอ่อนกำลังลงไป สมาธิก็อ่อนกำลังลงไป

เราต้องทำเพิ่มใหม่ เราจะไปเดินจงกรม หรือภาวนาตามใจชอบเหมือนที่เราเคยปฏิบัติมาครั้งแรกนั้นไม่ได้ ต้องค่อยเป็นค่อยไป มันจึงจะได้ แต่สำหรับผู้ใหม่ก็คิดว่า อยากเดินระยะจงกรมโน้น อยากเดินระยะจงกรมนี้ ก็อย่าคิดเช่นนั้น เพราะว่า ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างมันยังไม่สมดุลกันก็ไปไม่ได้

เท่าที่ได้บรรยายมา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 มีนาคม 2562 09:31:06

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRVOKah_iB9iIzVI-raK6H5JqmxvEWDzFz1Lz8-N62bNH76f48-)

ปรับความเข้าใจเรื่องปริวาส (๒)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งยินดี ปีติ ตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นท่านหลวงปู่ หลวงตา ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์ องค์เณร ปะขาว แม่ชี ที่สละความห่วงใยทั้งหมดมาร่วมปฏิบัติธรรมด้วยกันในหน้าพรรษา

การปฏิบัติธรรมในหน้าพรรษานี้ ถือว่าปฏิบัติตามมติที่ประชุม ท่านทั้งหลายก็อย่าได้คิดว่าหลวงพ่อจัดงานปริวาสในหน้าพรรษา หรือว่าจัดงานปริวาสหลังจากสอบธรรมสนามหลวงแล้ว อะไรทำนองนี้ ขออย่าได้คิดอย่างนั้น

ก่อนอื่นที่จะเข้าสู่หัวเรื่อง ก็ขอประชาสัมพันธ์ให้รู้ให้ทราบเป็นบางสิ่งบางประการ เกี่ยวกับสถานที่อยู่ ท่านทั้งหลายอาจจะไม่สะดวก ก็คิดว่าพอที่จะอยู่ได้ตามที่พวกเราทั้งหลายเป็นผู้สันโดษ ถ้าว่าจะทำกุฏิเป็นหลังๆ ไปก็ทำไม่ได้ หรือว่าในขณะนี้เราไม่เห็นญาติโยมทั้งหลายมาช่วยเหลือ เราก็อย่าได้คิดว่า ญาติโยมเขาใจจืดใจดำ ไม่นึกถึงพระสงฆ์องค์เจ้าที่มาสู่สำนัก ขออย่าได้คิดอย่างนี้

เพราะถือว่าเป็นเรื่องของพวกเราทั้งหลาย เป็นนักปฏิบัติธรรมสมัครเล่น หรือว่าเข้าปริวาสกรรมสมัครเล่น คือมาด้วยความพอใจ มาด้วยความชอบใจ ไม่ได้เกี่ยวกับญาติโยม เขาจะมาช่วยหรือไม่ช่วยก็ไม่ว่า เขาจะมาถวายภัตตาหารเช้า ภัตตาหารเพล ก็ไม่ว่า จะไม่มาก็ไม่ว่า มาก็สาธุอนุโมทนา ไม่มาก็ไม่ว่ากระไร คือจะไม่ยุ่งกับการทำงาน เรื่องการทำนาทำไร่ของเขา ปล่อยให้เขาทำไปโดยสะดวกใจ

ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เรามาอยู่ด้วยกันตั้งหลายรูป หลวงพ่อคงจะหนักใจ คงจะเป็นภาระเพราะพวกเราทั้งหลาย อะไรทำนองนี้ ขอร้องท่านทั้งหลายอย่าได้คิดเช่นนั้นเลย หลวงพ่อไม่ได้หนักใจ ถึงจะหนักใจก็ไม่เท่ากับคนขี้เหล้าเมายาคนเดียวมาหา มันหนักใจกว่า

ส่วนท่านทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรมมาหา แม้จะมาเป็นร้อยๆ หรือเป็นพันๆ หลวงพ่อก็ไม่หนักใจ มีแต่จะปลื้มใจ ดีใจ เกิดความยินดีปราโมทย์ในจิตในใจ เอ หลวงพ่อจะมีอะไร จะมีข้าวปลาอาหารภัตตาหารเช้าภัตตาหารเพลเลี้ยงหรือ อะไรทำนองนี้ อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย

หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายที่มาสู่สถานที่นี้ล้วนแต่เป็นผู้ทรงศีลทรงธรรม ล้วนแต่เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว เมื่อท่านผู้ทรงศีลทรงธรรม ท่านผู้มีบารมีธรรม ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้ว คิดว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่ปล่อยให้หลวงพ่อตาย

เทวดาทั้งหลาย คงจะมีหูแก้วตาทิพย์ว่า ขณะนี้พระสงฆ์ผู้ทรงศีลาจารวัตรเป็นอันดี ได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่สำนักวัดพิชโสภาราม เทวดารู้แล้วก็คงจะคิดอะไรๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เราทั้งหลาย เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงไม่หนักใจเรื่องการอุปถัมภ์อุปัฏฐาก หากว่ามามากกว่านี้ ก็คิดว่า คงอุปถัมภ์อุปัฏฐากได้ แต่ถ้าจะให้เหลือเฟือก็คงเป็นไปไม่ได้

เพราะว่างานนี้ หลวงพ่อทำมาหลายๆ ปีแล้ว ในแต่ละปีๆ ก็เห็นว่า ครูบาอาจารย์ก็ยังพอเป็นไปได้ อันนี้ก็ขอเกริ่นๆ บอกล่วงหน้า ขออย่าได้คิดหวั่นใจและหนักใจว่า เราจะเป็นภาระของหลวงพ่อไหม อย่าคิดว่าหลวงพ่อจะเลี้ยงอุปถัมภ์อุปัฏฐากบรรดาท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ขออย่าได้คิดเช่นนั้นเลย เรื่องอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ขอพวกท่านอย่าได้เป็นกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านทั้งหลาย การเข้าปริวาสกรรมนี้ เราทำกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่โบราณาจารย์มาถึงรุ่นทวด รุ่นปู่ รุ่นพ่อของพวกเรา ท่านก็ทำกันอยู่อย่างนี้ แต่มันหยุดมันขาดไปพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มเกิดมีขึ้นในสมัยที่ หลวงพ่อกิตติวุฑโฒ ท่านไปจัดการอบรมพระสงฆ์ภายในประเทศของเราที่ จิตตภาวัน และก็มีงานปริวาสอยู่ที่นั้นด้วย หลังจากนั้นมางานปริวาสก็จัดติดต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้

ส่วนงานปริวาสดั้งเดิมที่จัดขึ้นยุคใหม่นี้ มีอยู่ที่ จิตตภาวัน แต่กิจกรรมและวิธีกรรมที่จัดขึ้นก็แตกต่างกันไป แล้วแต่กุศโลบายของครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์สำนักหนึ่งหรือที่หนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่สำหรับคำขอคำอะไรทุกอย่างเหมือนกันหมด

แต่ระเบียบแบบแผนที่จัดขึ้นมาไม่เหมือนกันเหมือนกับที่เราจัดอยู่นี้แหละ ก็จะไม่เหมือนที่อื่น แต่เข้าปริวาสเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน อย่างอยู่สำนักนี้ (วัดพิชฯ) เวลาเข้าปริวาสแล้วจะไม่ออกบิณฑบาต แล้วก็ส่วนมากจะไม่ได้เก็บวัตร เว้นไว้แต่บางปี เช่น ปีที่แล้วผ่านมาแล้ว ได้เก็บวัตร เพราะเห็นว่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในระเบียบแบบแผนอันดี

แม้เก็บวัตรแล้วก็ไม่ออกไปนอกวัด ยังอยู่ในวัด เห็นว่าลูกศิษย์ลูกหาพากันตั้งอยู่ในจริยาวัตรอันดีเช่นนี้ ก็เลยให้เก็บวัตร เพื่อสะดวกกับพระเจ้าพระสงฆ์ที่จรไปๆ มาๆ เราจะไม่เป็นภาระเรื่องการบอกวัตร หรือครูบาอาจารย์พาญาติพาโยมมาถวายภัตตาหารเช้า-เพล ก็จะไม่เป็นภาระธุระในการบอกวัตร ก็เลยเก็บวัตร ก็เห็นว่ามันสะดวกขึ้นมา แต่ส่วนมากไม่ได้เก็บวัตร

การอยู่ปริวาสกรรมที่เราอยู่นี้ ปริวาสนี้เป็นแต่เพียงองค์ประกอบ แต่ความมุ่งหมายที่จริงๆ นั้น มุ่งหนักไปทางปฏิบัติ คือต้องการให้ผู้มาประพฤติปฏิบัตินั้น ได้ความรู้ความเข้าใจ เกิดปัญญาในภาคปฏิบัติ เข้าใจในภาคปฏิบัติจนสามารถทำสมาธิ ทำฌาน ยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา อันนั้นเป็นความประสงค์หลักที่สุด แต่ปริวาสนี้เป็นเพียงองค์ประกอบ หากว่าไม่มีปริวาส การปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลคุ้มค่า คือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เลยให้มีปริวาสประกอบขึ้นมาอีก

ท่านทั้งหลาย ที่พูดๆ กันว่า เข้ากรรม นี่ภาษาบ้านเราตื้นๆ ว่า เข้ากรรม คำว่า เข้ากรรม ก็คือ เข้าทำงานเพื่อความบริสุทธิ์ หมายความว่า เราทำงานทางใจ ต้องการที่จะให้เกิดความบริสุทธิ์ นับตั้งแต่สีลวิสุทธิขึ้นมา จนถึง จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ ไปตามลำดับๆ

การงานใดที่เรามากระทำเพื่อต้องการความบริสุทธิ์ หรือว่างานใดที่เราเข้าอยู่หรือเข้าค่ายหรือเข้าอยู่ในสถานที่ ที่จำกัดให้อยู่ ก็เรียกว่า อยู่กรรม คืออยู่ทำงานเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์

คำว่า ปริวาส ที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน ปริวาสนี้ท่านแบ่งเป็นภาค เป็นปริวาส มานัตต์ ปฏิกัสสนา และอัพภาน มีองค์ประกอบ ๔ องค์

คำว่า ปริวาส แปลว่า อยู่ใช้ให้ครบกำหนดที่ปกปิดไว้ก่อน สมมุติว่าเราต้องครุกาบัติ เช่น เราได้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสมาแล้ว ๕ วันอย่างนี้ เราต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๕ วันเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้ นี่เรียกว่า ปริวาส หรือว่าบางท่านบวชมาเป็นปี ปกปิดอาบัติไว้เป็นปี ก็ต้องอยู่ปริวาสครบปีเสียก่อนจึงจะขึ้นมานัตได้ อันนี้เรียกว่า ปริวาส

ท่านทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้อาจจะเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาว่า ทำอย่างไร เรานี้บวชมาตั้ง ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี หรือ ๓๐ ปีแล้ว เรามาอยู่ปริวาสเพียง ๓ วันแล้วก็ขึ้นมานัตต์ มันจะบริสุทธิ์ได้ไหม อะไรทำนองนี้ ท่านทั้งหลายขออย่าได้คิดเช่นนั้น เพราะว่าพวกเราทั้งหลาย ส่วนมาก เราปลงอาบัติเกือบจะทุกวัน หรืออย่างช้าที่สุด ๒ วัน หรือ ๓ วัน ก็ปลงอาบัติ

แม้จะต้องหรือไม่ต้อง(อาบัติสังฆาทิเสส)ก็ตาม เราเผื่อเหนือตกใต้ เราก็ได้ปลงอาบัติตามปกตินั้น ๓ วันเราต้องปลงอาบัติแล้ว หรือหากว่าประมาทมากกว่านี้ ๗ วันเราก็ปลงอาบัติ วันพระเราก็ปลงอาบัติ หรือแม้จะช้าสักปานใดก็ตาม คงไม่เกิน ๑๕ วัน เราก็ปลงอาบัติ เพราะ ๑๕ วันเราลงอุโบสถ เราก็ปลงอาบัติกัน

แต่เท่าที่เห็น โดยเฉพาะในภาคอีสานนี่ เท่าที่หลวงพ่อไปๆ มาๆ แล้วสังเกต ในสมัยที่เป็นเณรจนมาถึงปานนี้ พวกเรานั้นส่วนมากปลงอาบัติกันทุกวันๆ อย่างช้าก็ ๓ วันก็ปลงอาบัติ ท่านทั้งหลาย เมื่อ ๒-๓ วัน เราปลงอาบัติอย่างนี้ ก็ถือว่าเราไม่ได้ปกปิด ถือว่าเราปกปิดได้เพียง ๓ วัน เราอยู่ปริวาส ๓ วันก็ขึ้นมานัตต์ได้

อีกอย่างหนึ่ง ท่านทั้งหลาย หากว่าเราปลงอาบัติทุกวันๆ อยู่ก็ดี หรือว่า ๓-๔ วันปลงอาบัติครั้งก็ดี ในขณะที่ปลงอาบัตินั้น ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้วนะ เราได้บอกแล้ว เราไม่ได้ปกปิด ท่านทั้งหลายก็คิดดูว่า คำที่ปลงอาบัตินั้นนะว่า สัพพา ตา อาปัตติโย อาโรเจมิ, สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ

คือเราได้บอก(เปิดเผย)ทั้งครุกาบัติ ทั้งลหุกาบัติ ส่วนที่เป็นลหุกาบัติ เช่น ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ ทุพภาษิต ก็เป็นอันว่าพ้นไปบริสุทธิ์ไป ส่วนที่เป็นครุกาบัติ เช่น อาบัติสังฆาทิเสส นี่ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้ว ไม่ถือว่าปกปิดไว้แต่อย่างใด

มีพระเถระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี่ ท่านบวชมาแล้ว ๒๐ กว่าปี ปฏิบัติมา ๒๐ กว่าปีแล้ว ปฏิบัติไปๆ ได้ ๓ วัน สภาวะธรรมมันก็เกิดขึ้น เมื่อสภาวะธรรมเกิดขึ้น ดวงจิตนี่ เหมือนกับมันมีตนมีตัว มันพูดขึ้นมาเหมือนกันกับเราเปิดวิทยุฟัง เหมือนเอาวิทยุนี่ไปไว้ในร่างกายของเรา ไปไว้ที่หัวใจของเรา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไป ก็ร้องขึ้นมาว่า กรรมขาดแล้วๆ

พระเถระรูปนั้นก็บอกว่า มันขาดได้อย่างไรหว่า หรือว่าเราอยู่ปริวาส เรารักษาวัตรไว้ไม่ดี สำรวจไปสำรวจมา มันก็ไม่ขาดนี่นา เราไม่ได้ล่วงละเมิดกฎของการเข้าปริวาส แต่ท่านก็ไม่สามารถที่จะตัดสินได้ว่า เพราะอะไร มันจึงเป็นอย่างนี้ ปฏิบัติไปๆ นั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี มันอุทานขึ้นมาว่า กรรมขาดแล้วๆ ขึ้นมานัตต์ได้ๆ

เมื่อปัญญาแก่กล้า ก็รู้ขึ้นมาว่า คำว่า กรรมขาด นี่ ก็หมายความว่า เราอยู่ปริวาสกรรมจนครบกำหนดแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนโน้น แม้ว่าเราจะบวชมานานสักปานใดก็ตาม เราปลงอาบัติเกือบทุกวัน เมื่อปลงอาบัติเกือบทุกวันแล้ว ก็เป็นอันว่า เราไม่ได้ปกปิดอาบัติไว้ เราเข้าปริวาสมา ๓ วันนี้ ก็ครบอายุของปริวาสแล้ว ขึ้นมานัตต์ได้แล้ว เกิดความรู้ขึ้นมา

มีบางรูปมาถามหลวงพ่อ มาจากส่วนกลางก็มี อย่างอาจารย์มหาวิเลิศ กับ อาจารย์มหาฝ้าย อาจารย์มหาวิเลิศนี่ประโยค ๗ อาจารย์มหาฝ้ายก็ประโยค ๙ ขึ้นเครื่องบินมาลงที่อุบลฯนี่ แล้วต่อรถมา มาถามเลยว่า หลวงพ่อ ผมนี่บวชมา ๑๐ กว่าปีแล้ว มาเข้าปริวาส ๓ วันเท่านั้น มันจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร อายุของปริวาสน่ะ มันจะครบได้อย่างไร เพราะว่าผมไม่เคยได้บอกได้เปิดเผยเลย

หลวงพ่อเลยบอกว่า อาจารย์มหาจบเปรียญธรรม ๗ ประโยค เปรียญธรรม ๙ ประโยค ก็ลองคิดถึงโครงอุโบสถบทที่ท่านแต่งไว้ให้ปลงอาบัตินั่นว่า สัพพา คะรุละหุกา อาปัตติโย อาโรเจมิ... คือเราบอก ทั้งที่เป็นครุกาบัติ ทั้งที่เป็นลหุกาบัติ เวลา สัพพา ตา...เราบอกทั้งส่วนที่เป็นครุกาบัติ ทั้งที่เป็นลหุกาบัติแล้ว

ส่วนที่เป็นลหุกาบัติก็เป็นอันพ้นไป ส่วนที่เป็นครุกาบัติ เราก็ได้บอกไว้แล้ว เราไม่ได้ปกปิดดอกท่านอาจารย์มหา อาจารย์มหาทั้ง ๒ รูปนั้นยกมือท่วมหัวเลยว่า หลวงพ่อครับ ผมนี้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ผมนี้เป็นเปรียญธรรม ๗ ประโยค ผมยังไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย เรื่องอย่างนี้ๆ ผมยังไม่ได้คิดเลย พอได้ฟังหลวงพ่อพูดเท่านั้น ผมจึงเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา

นี่แหละท่านทั้งหลาย อย่าได้คิดว่าเราเข้าปริวาสเพียง ๓ วัน จะไม่บริสุทธิ์ อะไรทำนองนี้ อย่าได้คิดอย่างนั้นเลย ถ้าว่าเราได้ปลงอาบัติบ่อยๆ ก็ถือว่าเราได้บอกไว้แล้ว

ทีนี้เมื่อเราเข้าปริวาสแล้ว สมบูรณ์แล้ว ก็จะได้ขึ้นมานัตต์ คำว่า มานัตต์ นี่แปลว่า นับราตรี คือต้องอยู่ให้ครบทั้ง ๖ ราตรีเสียก่อน จึงจะขออัพภานกรรมได้

การขึ้นมานัตต์นี่ หากว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม เหมือนทำอยู่ทุกวันนี้ เราประพฤติมานัตต์อยู่ ๓ วันก็บริสุทธิ์แล้ว แต่ก็ยังอัพภานกรรมไม่ได้ เพราะว่ามานัตต์นี่ต้องสำเร็จด้วยสงฆ์ คือสงฆ์เป็นผู้ตัดสิน เมื่อเราประพฤติมานัตต์ครบ ๖ ราตรีแล้ว จึงจะอัพภานกรรมได้

คำว่า อัพภาน นี่แปลว่า กิริยาที่เรียกเข้าหมู่ คือสงฆ์เป็นผู้รับรอง สงฆ์ ๒๐ รูป(เป็นอย่างน้อย)เป็นผู้รับรองว่าบริสุทธิ์แล้ว ก็เรียกเข้าหมู่ได้

ทีนี้ท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าในขณะที่เราอยู่ปริวาสอยู่ก็ดี ปฏิบัติมานัตต์อยู่ก็ดี บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งซ้ำเข้าอีก ก็จำเป็นต้องขอปฏิกัสสนา ปฏิกัสสนา คือ กิริยาที่เรียกเข้าหาอาบัติเดิม

สมมติว่า เราอยู่ปริวาสมา ๓ วันแล้ว สมมติว่า เราปกปิดอาบัติไว้ ๖ ราตรีนะ เราเข้าปริวาสมาถึง ๓ ราตรีแล้ว อีก ๓ ราตรีก็จะขึ้นมานัตต์ได้ บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งอีก เมื่อเราต้องครุกาบัติอย่างนี้ก็ต้องขอปฏิกัสสนา คือต้องอยู่ปริวาสกรรมใหม่ ถ้าสมมติว่าเราต้องครุกาบัติ สมมติว่าเราปกปิดไว้ ๑ คืน ๑ วัน ก็ต้องอยู่ปฏิกัสสนา ๑ วัน แล้วก็รวมกันทั้งปริวาสที่เหลืออยู่อีก ๓ วัน เราอยู่ปริวาสทั้ง ๖ ราตรี เราก็ขอมานัตต์ได้

แต่ทีนี้เราอยู่มาได้ ๓ วัน ไปต้องครุกาบัติซ้ำเข้าไปอีก เราก็ต้องปฏิกัสสนาปริวาส ๑ วัน ๑ คืนแล้วก็อยู่ปริวาสต่ออีก ๓ วัน ก็เป็นอันว่าปีนั้น เราเข้าปริวาส ๗ ราตรี จบแล้วจึงจะขึ้นมานัตต์ได้

อีกเหตุหนึ่ง ถ้าหากว่า ในขณะที่เราอยู่มานัตต์อยู่ ในขณะที่เราประพฤติมานัตต์อยู่ได้ ๕ ราตรี เหลืออีก ๑ ราตรี ก็จะได้อัพภานกรรม บังเอิญไปต้องครุกาบัติตัวใดตัวหนึ่งซ้อนเข้าอีก ก็ต้องปฏิกัสสนาในมานัตต์ หากว่าเราต้องครุกาบัติแล้วปกปิดไว้คืนหนึ่ง ก็ต้องปฏิกัสสนามานัตต์อีก ๑ คืน ก็อยู่ชดเชยอีกคืนหนึ่ง จึงจะได้อัพภานกรรม

พวกเราทั้งหลายส่วนมาก ไม่ได้ปฏิกัสสนาหรอก แต่หากว่าจำเป็นจึงจะได้ปฏิกัสสนา ถ้าอยู่เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายอยู่อย่างนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิกัสสนา

ข้อสำคัญ ขอให้ท่านทั้งหลายระวังตัวเอง ขอให้เอาชนะตัวเองให้ได้ อย่าแพ้ตัวเอง อย่างไรๆ ก็พยายามเอาชนะตัวเอง อย่าให้ปฏิกัสสนา หากว่าอารมณ์ทางเพศมันรุนแรง วิธีแก้ไขก็ง่ายนิดเดียว เอายาทิงเจอร์มาเก็บไว้เลย เวลามันเกิดปฏิกิริยาขึ้นมา มันทนไม่ไหวจริงๆ เทยาทิงเจอร์ลงไปใส่เลย หดเข้าเหมือนดักแด้เลย

แล้วก็ไม่เป็นไรหรอก การที่ล่วงทางเพศไม่มี วิธีแก้มันง่าย ไม่ต้องกำหนดมันหรอก แข็งหนอๆ ก็ไม่ต้องกำหนดหรอก ไม่ต้องกำหนดอะไรทั้งนั้น แสดงปฏิกิริยาขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องกำหนด รู้หนอๆ ก็ไม่ต้องกำหนด มันจะเอากูจริงๆ หรือนี่ เปิดขวดยาทิงเจอร์มาแล้วเทใส่เลย

เหมือนกับพระรูปหนึ่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ที่อุบลฯนี่ ปีนั้นไปผ่านิ่ว แต่ขอร้องว่า ไม่เอ่ยชื่อเขา เวลาไปผ่านิ่ว นางพยาบาลก็มาจับดู พอดีจับดู มันก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมา ก็พูดว่าอย่ากำหนัดสิๆ มันยิ่งขึ้นมาก อย่ากำหนัดฉันสิๆ มันก็ยิ่งมีปฏิกิริยาขึ้นๆ ของกายสิทธิ์มันตึงขึ้นๆ เขาบอกอย่างไรก็ยังไม่ยอมลดราวาศอก

ผลสุดท้าย เขาเอายาทิงเจอร์เทใส่ให้ พอมันถูกยา ทิงเจอร์เท่านั้น มันก็หดปานดักแด้ แทนที่เราจะต้องอาบัติสังฆาทิเสส ไม่เป็นอะไร เจ็บแสบนิดๆ หน่อยๆ อันนี้วิธีแก้ง่ายๆ เรายังไม่ได้ใช้กัมมัฏฐานตอนนี้ แต่ว่าใช้วิธีแก้ง่ายๆ ทำไปตามประสาชาวบ้าน

มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ในห้องกัมมัฏฐาน แต่ขอร้องอย่าทำเหมือนพระรูปนั้น เวลาทำไปทำไป แล้วก็บอกว่า หลวงพ่อ ผีมาเสพผม ผมเดินจงกรมอยู่ ผีมาเสพผม อย่างโน้นอย่างนี้ นั่งสมาธิอยู่ ผีมาเสพผมอย่างนั้นอย่างนี้ คืออารมณ์ทางเพศมันแรงเวลาปฏิบัติขึ้นมา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปนี่ พวกนิพพิทาญาณมันเกิดขึ้นมา พวกปฏิสังขาญาณ พวกนิพพิทาญาณมันเกิดขึ้นมา มันจะเกิดรุนแรงขึ้นมา ผลสุดท้ายแกเอาเข็มแทงเลย แทงด้านหลังทะลุเลย หลวงพ่อๆ เสร็จผมแล้วๆ อะไร เสร็จผมแล้ว ผมเอาเข็มแทงเอา ว่างั้น

เรื่องอย่างนี้ก็อย่าให้มี เพราะเป็นการทำร้ายตัวเอง ต้องอาบัติ เป็นอันว่าเมื่อเราขึ้นมานัตต์ครบ ๖ ราตรีแล้ว ก็จึงจะได้อัพภานกรรม เมื่อสงฆ์อัพภานกรรมแล้ว ก็ถือว่าสมบูรณ์ ก็ถือว่าศีลของเราก็สมบูรณ์ขึ้นมาแล้ว

ทีนี้ หากว่าการอยู่ปริวาสยังไม่ได้อัพภานกรรม เช่นอยู่ปริวาสไปแล้วยังเหลืออยู่อีก ๑๐ วัน จะได้ขอขึ้นมานัตต์อย่างนี้ บังเอิญเราสิกขาลาเพศไปซะ ยังไม่ได้ขึ้นมานัตต์ ยังไม่ได้ขึ้นอัพภานกรรมเลย เราอยู่ปริวาสกรรมมานานพอสมควร เหลืออีก ๑๐ วัน จะครบอายุของปริวาสแต่เราสิกขาลาเพศไปซะ เมื่อสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็ต้องอยู่ปริวาสอีก ๑๐ วัน ต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๑๐ วัน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้

นี่พระพุทธเจ้าเด็ดขาดนะ คือไม่ยอมให้เข้าหมู่ได้ง่ายๆ หากว่ายังไม่บริสุทธิ์แล้ว ไม่ทรงรับรอง แต่พระองค์ก็ทรงให้เกียรติ แทนที่เรามาบวชใหม่ จะต้องอยู่ปริวาสนับ ๑ ใหม่ ก็ไม่ต้องนับใหม่ (ให้นับบวกราตรีได้เลย) ที่อยู่ปริวาสมาแล้วก็ถือว่าเป็นอันแล้วไป แต่ที่ยังไม่ได้อยู่ยังอีก ๑๐ ราตรีนี่ยังไม่ได้อยู่ ก็ต้องอยู่ปริวาสให้ครบ ๑๐ ราตรีเสียก่อน จึงจะขึ้นมานัตต์ได้

หรือบางที ในขณะที่เราประพฤติมานัตต์อยู่ ยังอีก ๑ ราตรีจะครบ ๖ ราตรี แล้วจะได้อัพภานกรรม บังเอิญสิกขาลาเพศไปซะ เมื่อสิกขาลาเพศไป ภายหลังกลับมาบวชใหม่ ก็ต้องอยู่มานัตต์อีก ๑ ราตรีเสียก่อน แล้วจึงจะขออัพภานกรรมได้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่อะลุ่มอล่วยให้ แล้วก็แล้วไป ไม่ใช่อย่างนั้น ถึงว่าสึกไปแล้วก็จริงอยู่ แต่ภายหลังกลับมาบวชใหม่ก็ต้องมาอยู่มานัตต์ใหม่ คิดว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจ

โทษของครุกาบัติที่ยังชำระไม่สิ้นสุด


ทีนี้ท่านทั้งหลาย เรื่องโทษของการต้องครุกาบัตินี้ ถ้าตามตำรับตำราก็ไม่อยากพูดหรอก ในวิมานวัตถุสูตรมีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ผู้ต้องครุกาบัติแล้ว ถ้าว่ายังไม่ทำให้บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเราตายไปแล้ว ก็ต้องไปตกนรกชื่อว่า มหาตาปะนรก

มหาตาปะนรกนั้นนะ สมมติว่าเรายืนอยู่ หอกนั้นก็จะพุ่งมาทางด้านหน้าแทงที่หน้าอกเล่มหนึ่ง พุ่งมาด้านหลังเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางซ้ายเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางขวาเล่มหนึ่ง ไปจุกกันอยู่ตรงกลางแล้ว ก็เกิดเป็นไฟลุกโชติช่วงโชตนาการขึ้นมา ไหม้ร่างกายให้เป็นจุณวิจุณไป กรรมไม่สิ้นก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี่ท่านกล่าวไว้ในวิมานวัตถุ ที่เอามาพูดนี่ไม่ใช่ว่าพูดให้ไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าท่านกล่าวไว้อย่างนี้

แต่ที่ได้ประสบมาในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วยังไม่ได้ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมียแล้ว บาปกรรมตัวนี้จะตามสนอง ส่วนมากตามสนองในภพนี้ชาตินี้แหละ เท่าที่หลวงพ่อเห็นมา บางทีก็มันเดือดร้อนทางครอบครัวว่างั้นเถอะ หากว่าบุญเก่าที่สร้างสมอบรมไว้ไม่มากจริงๆ แล้วเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ เดี๋ยวก็เป็นอย่างโน้น เดี๋ยวก็ไปหาหมอปัจจุบัน เดี๋ยวก็ไปหาหมอธรรมปราบผี อะไรร้อยแปดพันประการ

คือมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนกันกับอยู่ในนรก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ ตัวเองไม่ป่วย ลูกเมียก็ป่วย ลูกเมียไม่ป่วย ตัวเองก็ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอผี เขาก็ว่าเป็นผี ไปหาหมอผีไท้ผีแถน ก็ว่าเป็นผีไท้ผีแถน เดี๋ยวก็ผีโน้นผีนี้ บ้างก็ไปสะเดาะเคราะห์ที่โน้นบ้าง สะเดาะเคราะห์ที่นี้บ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่โน้นบ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่นี้บ้าง แล้วก็ไปขอให้หมอนั้นถอนบ้าง หมอนี้ถอนบ้าง อะไรร้อยแปดพันประการ

ท่านทั้งหลายคงจะรู้ดี ที่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายว่าผีเป็นผี ว่ายักษ์เป็นยักษ์ ว่ามารเป็นมาร ว่ากรรมเป็นกรรม ว่าเคราะห์เป็นเคราะห์ ว่าเข็ญเป็นเข็ญ (คือพอมีใครทักว่าเป็นอะไร เราก็จะน้อมใจเชื่อไปตามนั้น) หมอ ๕ คน ๑๐ คนมาดู ก็พูดไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ ทำอย่างไรก็ไม่หาย

หลวงพ่อเคยได้ช่วยเขาหลายๆ คน เมื่อเขาเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่ามันเป็นอย่างไรหนอ มันจึงเป็นอย่างนี้ คิดไปคิดมาๆ พิจารณาไป มันเป็นเพราะต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว ก็เป็นอันว่า เอาบาปตัวนี้ไปหาครอบหาครัว หลวงพ่อก็ชักชวนว่า คุณโยมหรือทิด หรือจารย์ ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านเข้ากรรม หากเป็นไปได้ก็ขอให้ถือโอกาสมาบวช ไปเข้ากรรมกับเขาซักแห่งสองแห่งก็จะดีขึ้น บางทีครอบครัวของเราจะมีความสุขขึ้นไปกว่านี้

แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า คุณต้อง(อาบัติ)คุณเป็นกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่บอก บางคนเขาเชื่อ เขาก็มาบวช พอบวชแล้ว ก็ให้เข้าปริวาส เมื่อเขาออกจากปริวาสมาแล้วก็สิกขาลาเพศไป เย็นเหมือนกับถูกแช่อยู่ในน้ำแข็ง เหมือนกับอยู่ในห้องเย็นแน่ะ เพราะบาปที่ทำไว้มันหมดแล้ว มันหมดไปแล้ว ครอบครัวก็มีความสุข การดำเนินวิถีชีวิตก็ราบรื่น

แต่บางคนก็ไม่เอาเลย ไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ยอมทำ บอกว่ามีข้อขัดข้องทางครอบครัวอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ผลสุดท้ายก็อาภัพ ไฟไหม้บ้านบ้าง อย่างนี้ก็มี บางทีก็นอนไหลตายนะ บางทีหัวใจวายตาย นั่งตายก็มี แต่เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าจะพูดบอกเขาว่า มันเป็นเพราะกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เกิดความกระทบกระเทือน เป็นแต่เพียงปลงธรรมสังเวชเท่านั้น

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว แต่ยังไม่ทำให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย บาปกรรมเหล่านี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในเวลาครองฆราวาสอยู่ เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หากว่าเราอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ อยู่ไม่ได้อีกต่อไป เกิดความกระสันอยากสิกขาลาเพศ

เมื่ออยากสิกขาลาเพศแล้วก็พิสูจน์ดูว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม เห็นว่าไม่บริสุทธิ์ ก็ไปหาเข้าปริวาสกรรมในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งสักครั้งเสียก่อนแล้ว จึงค่อยสึกขาลาเพศ เมื่อเราเป็นญาติเป็นโยมไปแล้ว วิถีชีวิตของเราจะได้ราบรื่นดี อันนี้เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 05 เมษายน 2562 10:55:27

(https://www.bloggang.com/data/bluekey/picture/1284885310.jpg)

โทษของครุกาบัติที่ยังชำระไม่สิ้นสุด
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ทีนี้ท่านทั้งหลาย เรื่องโทษของการต้องครุกาบัตินี้ ถ้าตามตำรับตำราก็ไม่อยากพูดหรอก ในวิมานวัตถุสูตรมีกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ผู้ต้องครุกาบัติแล้ว ถ้าว่ายังไม่ทำให้บริสุทธิ์ ถ้าหากว่าเราตายไปแล้ว ก็ต้องไปตกนรกชื่อว่า มหาตาปะนรก

มหาตาปะนรกนั้นนะ สมมติว่าเรายืนอยู่ หอกนั้นก็จะพุ่งมาทางด้านหน้าแทงที่หน้าอกเล่มหนึ่ง พุ่งมาด้านหลังเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางซ้ายเล่มหนึ่ง พุ่งมาทางขวาเล่มหนึ่ง ไปจุกกันอยู่ตรงกลางแล้ว ก็เกิดเป็นไฟลุกโชติช่วงโชตนาการขึ้นมา ไหม้ร่างกายให้เป็นจุณวิจุณไป กรรมไม่สิ้นก็เกิดขึ้นมาใหม่ นี่ท่านกล่าวไว้ในวิมานวัตถุ ที่เอามาพูดนี่ไม่ใช่ว่าพูดให้ไม่สบายใจ เพียงแต่ว่าท่านกล่าวไว้อย่างนี้

แต่ที่ได้ประสบมาในปัจจุบัน ผู้ที่ต้องครุกาบัติแล้วยังไม่ได้ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมียแล้ว บาปกรรมตัวนี้จะตามสนอง ส่วนมากตามสนองในภพนี้ชาตินี้แหละ เท่าที่หลวงพ่อเห็นมา บางทีก็มันเดือดร้อนทางครอบครัวว่างั้นเถอะ หากว่าบุญเก่าที่สร้างสมอบรมไว้ไม่มากจริงๆ แล้วเดือดร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ เดี๋ยวก็เป็นอย่างโน้น เดี๋ยวก็ไปหาหมอปัจจุบัน เดี๋ยวก็ไปหาหมอธรรมปราบผี อะไรร้อยแปดพันประการ

คือมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหมือนกันกับอยู่ในนรก เดี๋ยวก็เจ็บโน้นเจ็บนี้ ตัวเองไม่ป่วย ลูกเมียก็ป่วย ลูกเมียไม่ป่วย ตัวเองก็ป่วย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ไปหาหมอผี เขาก็ว่าเป็นผี ไปหาหมอผีไท้ผีแถน ก็ว่าเป็นผีไท้ผีแถน เดี๋ยวก็ผีโน้นผีนี้ บ้างก็ไปสะเดาะเคราะห์ที่โน้นบ้าง สะเดาะเคราะห์ที่นี้บ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่โน้นบ้าง ไปรดน้ำมนต์ที่นี้บ้าง แล้วก็ไปขอให้หมอนั้นถอนบ้าง หมอนี้ถอนบ้าง อะไรร้อยแปดพันประการ

ท่านทั้งหลายคงจะรู้ดี ที่มันเป็นอย่างนี้ ท่านทั้งหลายว่าผีเป็นผี ว่ายักษ์เป็นยักษ์ ว่ามารเป็นมาร ว่ากรรมเป็นกรรม ว่าเคราะห์เป็นเคราะห์ ว่าเข็ญเป็นเข็ญ (คือพอมีใครทักว่าเป็นอะไร เราก็จะน้อมใจเชื่อไปตามนั้น) หมอ ๕ คน ๑๐ คนมาดู ก็พูดไม่ตรงกัน เป็นเหตุให้ครอบครัวเดือดเป็นฟืนเป็นไฟ ทำอย่างไรก็ไม่หาย

หลวงพ่อเคยได้ช่วยเขาหลายๆ คน เมื่อเขาเป็นอย่างนี้ ก็คิดว่ามันเป็นอย่างไรหนอ มันจึงเป็นอย่างนี้ คิดไปคิดมาๆ พิจารณาไป มันเป็นเพราะต้องครุกาบัติแล้ว ยังไม่ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว ก็เป็นอันว่า เอาบาปตัวนี้ไปหาครอบหาครัว หลวงพ่อก็ชักชวนว่า คุณโยมหรือทิด หรือจารย์ ถ้าหากว่าท่านปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ท่านเข้ากรรม หากเป็นไปได้ก็ขอให้ถือโอกาสมาบวช ไปเข้ากรรมกับเขาซักแห่งสองแห่งก็จะดีขึ้น บางทีครอบครัวของเราจะมีความสุขขึ้นไปกว่านี้

แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า คุณต้อง(อาบัติ)คุณเป็นกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่บอก บางคนเขาเชื่อ เขาก็มาบวช พอบวชแล้ว ก็ให้เข้าปริวาส เมื่อเขาออกจากปริวาสมาแล้วก็สิกขาลาเพศไป เย็นเหมือนกับถูกแช่อยู่ในน้ำแข็ง เหมือนกับอยู่ในห้องเย็นแน่ะ เพราะบาปที่ทำไว้มันหมดแล้ว มันหมดไปแล้ว ครอบครัวก็มีความสุข การดำเนินวิถีชีวิตก็ราบรื่น

แต่บางคนก็ไม่เอาเลย ไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ยอมทำ บอกว่ามีข้อขัดข้องทางครอบครัวอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ผลสุดท้ายก็อาภัพ ไฟไหม้บ้านบ้าง อย่างนี้ก็มี บางทีก็นอนไหลตายนะ บางทีหัวใจวายตาย นั่งตายก็มี แต่เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ถ้าจะพูดบอกเขาว่า มันเป็นเพราะกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็จะทำให้เกิดความกระทบกระเทือน เป็นแต่เพียงปลงธรรมสังเวชเท่านั้น

อันนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่าเราต้องครุกาบัติแล้ว แต่ยังไม่ทำให้บริสุทธิ์ สิกขาลาเพศไปมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย บาปกรรมเหล่านี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนในเวลาครองฆราวาสอยู่ เหตุนั้น ท่านทั้งหลาย หากว่าเราอยู่ในเพศพรหมจรรย์นี้ อยู่ไม่ได้อีกต่อไป เกิดความกระสันอยากสิกขาลาเพศ

เมื่ออยากสิกขาลาเพศแล้วก็พิสูจน์ดูว่า ศีลของเราบริสุทธิ์ดีไหม เห็นว่าไม่บริสุทธิ์ ก็ไปหาเข้าปริวาสกรรมในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งสักครั้งเสียก่อนแล้ว จึงค่อยสึกขาลาเพศ เมื่อเราเป็นญาติเป็นโยมไปแล้ว วิถีชีวิตของเราจะได้ราบรื่นดี อันนี้เป็นเกร็ดความรู้ที่นำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 เมษายน 2562 13:12:36

(http://www.watpitch.com/images/book/relative.png)

การสงเคราะห์ญาติ
ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะได้น้อมเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดง เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา เพิ่มพูนกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติของท่านทั้งหลาย

ด้วยว่าวันนี้ ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา คือวันสำคัญในทางพุทธศาสนานั้นที่ท่านจัดไว้ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และก็วันอาสาฬหบูชา แต่สำหรับวันนี้เป็นวันญาติ เป็นวันที่พวกเราทั้งหลายไว้อาลัยถึงญาติ หรือว่านึกถึงญาติ

ญาติ นั้น หมายเอาทั้งญาติที่อยู่ด้วยกันในปัจจุบันชาตินี้ และหมายรวมไปถึงญาติที่ล่วงมาแล้วแต่ในอดีตไกลๆ โน้น นี่นับว่าเป็นญาติ

วันนี้ เรามาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เพื่อบำเพ็ญกตัญญูกตเวทิตาธรรม อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปถึงญาติทั้งหลายที่ล่วงลับวายชนม์ไปยังปรโลกเบื้องหน้าบ้าง และเป็นการสงเคราะห์อนุเคราะห์ญาติมิตรทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันในโลกนี้บ้าง เพราะว่าการที่เราทั้งหลายมีความกตัญญูกตเวทีต่อกันนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายของคนดี ดังพระธรรมภาษิตที่ว่า

นิมิตตํ สาธุรูปานํ  กตญฺญูกตเวทิตา
ความกตัญญูกตเวที เป็นนิมิตคือเครื่องหมายของคนดี

เขาจะดูคน ว่าคนนี้เป็นคนดีหรือคนไม่ดี เขาต้องดูกันที่ว่าคนนี้เป็นคนมีความกตัญญูกตเวทีหรือไม่ ถ้ามีความกตัญญูกตเวที รู้อุปการคุณของผู้อื่น แล้วก็ตอบแทนคุณของผู้อื่น ก็จัดว่าเป็นคนดีได้ แต่ถ้ารู้คุณของผู้อื่นอยู่ แต่ไม่ตอบบุญสนองคุณของผู้อื่น ก็ยังจัดว่าเป็นคนดีไม่ได้

สำหรับญาตินั้น ในทางพระพุทธศาสนาจัดไว้เป็น ๗ ชั้น คือ

๑) ชั้นเราเอง ชั้นเราเองนี้ ก็รวมทั้งพี่หญิง พี่ชายน้องหญิง น้องชาย

๒) ชั้นบน คือพ่อ แม่ และก็พี่หญิง พี่ชายของพ่อของแม่ น้องหญิง น้องชายของพ่อของแม่

๓) ชั้นปู่ ก็หมายเอา ทั้งปู่ ทั้งย่า ทั้งตา ทั้งยาย พี่หญิง พี่ชายของปู่ของย่า น้องหญิง น้องชายของปู่ของย่า ตายาย

๔) ทวด แล้วก็พี่หญิง พี่ชาย ของปู่ทวด ตาทวด น้องหญิง น้องชาย ของปู่ทวด ตาทวด ย่าทวด ยายทวด

๕) ชั้นล่าง ก็หมายเอาลูกหญิงลูกชายของเรา

๖) หมายเอาหลานหญิง หลานชาย

๗) หมายเอาเหลนหญิง เหลนชาย

คนทั้งหลายจะเห็นกันได้ก็เพียง ๗ บุพชนก หรือชั่ว ๗ โคตรนี้เท่านั้น นอกนั้นก็ไม่เห็นกัน คือสูงขึ้นไปเราจะเห็นกันอย่างมากที่สุดก็ถึงทวด ต่ำลงไปเราก็จะเห็นได้ก็เฉพาะเหลนเท่านั้น คนที่นับเนื่องกันชั่ว ๗ บุพชนก บุพชนนีนี่แหละ เรียกว่า เป็นญาติ

ทีนี้ สำหรับ เขยและสะใภ้ ไม่นับว่าเป็นญาติ เว้นไว้แต่ผู้นั้นจะเกี่ยวเป็นญาติด้วย คือหมายความว่า ถ้าเขยหรือสะใภ้ที่ไม่อยู่ในวงศ์ตระกูลชั่ว ๗ บุพชนก บุพชนนี ชั่ว ๗ โคตรนี้ ไม่นับว่าเป็นญาติ แต่ว่าถ้าผู้ที่เป็นเขยเป็นสะใภ้นั้นอยู่ในวงศ์เดียวกัน บ้านเราเรียกว่า ญาติพี่น้องแต่งงานกัน เช่นว่า ลูกป้า ลูกลุง ลูกน้า ลูกอา แต่งงานกัน อันนี้ เขยหรือสะใภ้นั้นก็นับว่าเป็นญาติด้วย

การที่เราทั้งหลายสงเคราะห์ญาตินั้น ก็แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

ประเภทที่หนึ่ง สงเคราะห์ด้วยอามิส (มีลักษณะคือ)

๑) ได้แก่สงเคราะห์ด้วยเครื่องนุ่งเครื่องห่ม เครื่องประดับประดาตกแต่งร่างกาย เท่าที่เราทั้งหลายจะหาได้ หรือหากว่าญาติพี่น้องทั้งหลายเกิดความเดือดร้อนขึ้นมา แล้วมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเหลือไปตามฐานะเท่าที่เราจะทำได้ หรือว่าลูกๆ หลานๆ ญาติพี่น้องของเราไปศึกษาเล่าเรียน ไม่มีเงินเสียค่าเทอม ไม่มีเงินซื้อเครื่องแต่งตัว ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์การเรียน มาขอร้องเพื่อขอความช่วยเหลือ เราก็ช่วยเหลือไปตามฐานะที่เราจะทำได้ สรุปแล้วว่า การที่เราช่วยเหลือกันด้วยสิ่งของต่างๆ นานาประการ ตามเกิดตามมีนี้ เรียกว่า ช่วยเหลือกันด้วยอามิส

๒) ช่วยเหลือกันด้วยอาหารการบริโภค คือคนเรานั้นเกิดขึ้นมาแล้ว จะเป็นผู้ที่มั่งมีศรีสุขเหมือนกันทั้งหมด หามิได้ หรือเรามั่งมีศรีสุขแล้ว จะมั่งมีศรีสุขตลอดไปนั้น ก็เป็นสิ่งไม่แน่นอนเหมือนกัน หรือว่า ถึงเรายากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคืองก็นึกว่าตนจะได้รับความทนทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้ตลอดไป ก็เป็นของที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น หากญาติพี่น้องของเราเป็นคนที่ยากจน ขาดอาหารการบริโภค คือหมายความว่า ข้าวจะรับประทาน ข้าวจะบริโภคระหว่างครอบครัวก็ไม่มี แล้วก็มาหาเราผู้เป็นญาติ ผู้มีอันจะอยู่จะกิน เราก็ช่วยสงเคราะห์กันตามเกิดตามมี มีข้าวปลาอาหาร เราก็หยิบยื่นส่งให้กัน

เมื่อก่อนโน้น ในสมัยที่อาตมายังเป็นเด็กอยู่ รู้สึกว่าญาติพี่น้องทั้งหลายนี้มีความรักใคร่กลมเกลียวเป็นอันดี มีอะไรก็ส่งเสียกันไม่เหมือนกับสมัยนี้ เดี๋ยวนี้ คุณค่านิยมอันดีๆ นั้นก็เลือนหายไปแล้ว ไม่ยักจะมี คือเมื่อก่อนโน้น พวกเราชาวบ้านพากันไปหาอยู่หากินมา ได้อาหารการกินการอยู่มาแล้วก็แบ่งสันปันส่วนกันตามเกิดตามมี

ส่วนนี้ไปให้พ่อให้แม่ ส่วนนี้ไปให้ป้าให้ลุง ส่วนนี้ให้น้าให้อา ส่วนนี้ไปให้มิตรที่มีความรักใคร่นับถือกัน คนเราเมื่อได้รับการสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน ก็เป็นที่รักใคร่นับถือกัน ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ เพราะว่าผู้ให้นั้นย่อมเป็นที่รักใคร่ของผู้รับ ผู้รับย่อมเคารพนับถือต่อผู้ให้ เหตุนั้น การที่เราสงเคราะห์กันด้วยอาหารการบริโภคนี้ ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยอามิสประการหนึ่ง

๓) เราสงเคราะห์ด้วยที่อยู่ที่อาศัย สมมติว่า ญาติพี่น้องของเราเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่มีที่จะทำอยู่ทำกิน เรามีพอจะแบ่งสันปันส่วนหรือมีทุนมีรอนก็ช่วยเหลือกัน จะรวบรวมทุนรอนนั้นซื้อที่ทำอยู่ทำกินให้บ้าง หรือว่าญาติพี่น้องไม่มีที่ปลูกบ้าน เราก็ช่วยกันออกทุนออกรอนให้ โดยให้กู้ให้ยืมก็ยังดีกว่าไม่ให้เสียเลย

ถ้าว่าญาติพี่น้องของเรามีธุระเกิดขึ้น เช่น จะปลูกบ้าน ปลูกเรือน หรือทำกิจทำการต่างๆ เช่น ทำไร่ ทำนา เป็นต้น เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนกว่าการงานจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยอามิสประการหนึ่ง

๔) เมื่อญาติพี่น้องของเรามีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เราก็ไม่นิ่งดูดาย ไม่เป็นคนใจจืดใจดำ เป็นคนที่ประกอบด้วยเมตตาอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน เยี่ยมป่วยเยี่ยมไข้กัน เฝ้าป่วยเฝ้าไข้กัน มีหยูกมียาก็หามารักษา พยาบาลกัน หรือว่าจำเป็นที่จะต้องไปหาแพทย์ หาหมอ เพราะถ้าว่าหมอบ้านเรา แพทย์บ้านเราไม่สามารถจะรักษาได้ เราก็ช่วยนำพาไปหาแพทย์หาหมอ(ร.พ.)เพื่อเยียวยารักษา พยาบาลให้โรคภัยไข้เจ็บนั้นหายไป

แต่ประเพณีอันนี้ก็เสียอยู่อย่างหนึ่ง คือสมมติว่า มีญาติโกโหติกาของเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ไปรักษาที่โรงพยาบาลเขมราฐบ้าง ตระการบ้าง อำนาจบ้าง หรือเมืองอุบลบ้าง พวกญาติพี่น้องทั้งหลายก็เฮโลกันไปเป็นคันรถ ๒ คันรถ แต่เมื่อไปแล้ว แทนที่จะช่วยเหลือกัน ก็ไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่การกินก็อยู่กับเจ้าทุกข์ ค่ารถค่ารา การไปการมาก็อยู่กับเจ้าทุกข์ คืออะไรๆ ภารธุระทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ที่เจ้าทุกข์ แทนที่เจ้าทุกข์จะได้ใช้เงินใช้ทองเหล่านั้นมาเป็นเครื่องพยาบาล กลับตาลปัตรตรงกันข้าม กลับต้องมาใช้เป็นค่าอาหาร ค่ารถค่าราให้ญาติพี่น้องที่ไปเยี่ยมไปยามเสีย

อันนี้ก็ขอกระซิบชาวบ้านของเราทั้งหลาย ต่อไปก็ขออย่าได้ทำอย่างนี้ ขอให้ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน เพราะคนเราเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ส่วนมากก็ไม่มีสะตุ้งสตังค์ เชือกเวลามันจะขาด มันก็ขาดที่มันกิ่ว คนเราเมื่อทรัพย์สินเงินทองไม่มี เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้น ให้ช่วยเหลือกัน ถ้าเราช่วยเหลือกันได้อย่างนี้ เรียกว่าเราได้สงเคราะห์ญาติด้วยอามิสเป็นประการที่ ๔

ประเภทที่ ๒ (สงเคราะห์ด้วยธรรม) ทีนี้ นอกจากเราจะสงเคราะห์ญาติของเราด้วยอามิสแล้ว ก็สงเคราะห์ด้วยธรรมะ หมายความว่าช่วยแนะนำพร่ำสอนตักเตือนกัน ให้รู้จักความผิดชอบชั่วดี บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ แนะนำตักเตือนกันให้รู้จักประโยชน์โลกนี้ ให้รู้จักประโยชน์โลกหน้า ให้รู้จักประโยชน์อย่างยิ่ง คือพระนิพพาน ให้รู้จักการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ ให้รู้จักวิธีเจริญสมถะและวิปัสสนาภาวนา

หากว่าเห็นลูกๆ หลานๆ ของเราไปทำผิด เราก็ช่วยตักเตือนกัน ไม่ใช่ว่าจะปล่อยไปตามเลย พวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ขาดธรรมะข้อนี้เสียเป็นส่วนมาก กระทั่งผู้เป็นพ่อเป็นแม่ ส่วนมากก็ไม่นำพาในลูกในหลาน สมมติว่า ลูกหลานของเราไปดมกาวก็ดี ไปดมทินเนอร์ก็ดี สูบกัญชาก็ดี สูบฝิ่นก็ดี ไปสูบเฮโรอีนก็ดี ไปกินเหล้าเมาสุราก็ดี ไปติดการพนันก็ดี เป็นคนเจ้าชู้ก็ดี สำหรับผู้ที่เป็นพ่อเป็นแม่นั้น ควรที่จะเอาใจใส่ แนะนำ พร่ำสอน ตักเตือนผู้เป็นลูกเป็นหลานของเรา

หากว่าลูกที่บังเกิดในหัวอกของเราแล้ว หากเราไม่เตือนแล้ว ใครล่ะจะมาเป็นผู้มาตักเตือน เหตุนั้น ข้อนี้ถือว่าเป็นการบกพร่องของผู้เป็นพ่อเป็นแม่เท่าที่หลวงพ่อมาอยู่ด้วยหลายปีมานี้ ส่วนมากสังเกตเห็นว่าข้อนี้บกพร่อง ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ส่วนมากนั้นบกพร่องกัน ไม่เอาใจใส่ในลูกในหลาน

บางทีบวชเข้ามาในวัดในวาแล้ว ก็ยังเป็นสิงห์เฮโรอีนอยู่ ต้องให้สิกขาลาเพศไป บวชมาแล้วแทนที่ว่า เราไม่ให้สูบกัญชา ไม่ให้สูบฝิ่น ไม่ให้สูบเฮโรอีน ไม่ให้เสพของมึนเมา แต่บางคนบวชเข้ามาแล้ว ก็เอายาแก้ปวดหายนี่แหละมาผสมกันมาบวกกันกับยากรุงทอง สามิตร สายฝน รวงทองอะไรทำนองนี้ ก็พากันสูบ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ นี้หากว่าเมื่อมาบวชแล้วไม่ดี ก็หาว่าหลวงพ่อนี้ไม่เอาใจใส่แนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา หลวงพ่อหายใจทุกลมหายใจนั้น เป็นของลูกศิษย์ลูกหา เป็นของญาติของโยมไปทั้งหมด มันก็เป็นมาแต่ก่อนบวชโน้น เมื่อเราจะมาดัดแปลงเอาเป็นเวลา ๑ เดือน หรือ ๒ เดือนนี้ บางทีมันก็ทำได้ บางทีก็ทำไม่ได้

เหตุนั้น การที่เราทั้งหลายตักเตือนญาติพี่น้องของเราให้รู้จักผิดชอบชั่วดี ให้รู้จักประโยชน์ชาตินี้ ประโยชน์ชาติหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ให้รู้ว่าสิ่งใดประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งโทษทุกข์ สิ่งใดประพฤติปฏิบัติแล้วจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญ เราก็สงเคราะห์กันอย่างนี้ด้วยตักเตือนกัน ก็เรียกว่าเป็นการสงเคราะห์ญาติด้วยธรรมะ

ทีนี้หากว่าผู้ใดไม่สงเคราะห์ญาติล่ะ ไม่เอาใจใส่ในการสงเคราะห์ญาติ เมินเฉยต่อการสงเคราะห์ญาติ ผู้นั้นก็จะมีแต่ความล่มจมไปตามลำดับ ดังที่เห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ญาติพี่น้องหันหน้าเข้าหากันไม่ได้ ป้าลุง น้าอา หันหน้าเข้าหากันไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่มีการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เมื่อเราไม่มีการสงเคราะห์กัน ก็มีแต่ความเสื่อมทรามลงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายก็ตัดญาติขาดมิตร ไม่รู้จักกัน ไม่รู้ว่าใครเป็นญาติ ใครไม่เป็นญาติ

เมื่อเราไม่ไปหามาสู่กัน บ้านเฮาเพิ่นว่า แก้วบ่ขัดสามปีเป็นแฮ่ พี่น้องบ่แหว่สามปีเป็นเพิ่น หมายความว่าถ้าเราไม่มีการสงเคราะห์กัน เราไม่มีการไปหามาสู่กัน ผลสุดท้ายก็ลืมเลือนกัน จำกันไม่ได้ การสงเคราะห์ญาตินี้ ถือว่าเป็นมงคลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ถ้าว่าเรามีการสงเคราะห์กันนี้ ก็นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุด ดังพระพุทธพจน์ที่ได้ยกไว้เป็นนิกเขปบทในเบื้องต้นนั้นว่า

ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ. การสงเคราะห์ญาติ เป็นมงคลอันประเสริฐสุด

ส่วนการไม่สงเคราะห์ญาตินี้ ถือว่าเป็นการตัดอนาคตอีกเหมือนกัน ถ้าว่าเราคิดว่าอนาคตจึงจะสงเคราะห์ญาติ คือตายไปแล้วเกิดชาติใหม่โน้นจึงจะมาสงเคราะห์ญาติ มันก็สงเคราะห์กันไม่ได้ หรือว่าบางครั้ง ผู้นั้นอาจจะเคยเป็นญาติของเรามาก่อน เราอาจจะระลึกได้อยู่ว่าคนนี้เคยเป็นญาติของเรามาก่อน เราก็ทำการสงเคราะห์ แต่เมื่อสงเคราะห์ไปแล้ว ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสองฝ่าย ถ้าว่าเราไม่สงเคราะห์ญาตินั้น ปัจจุบันก็ไม่มีการสงเคราะห์ญาติ วันหน้าเราก็ไม่มีการสงเคราะห์ญาติของเรา ก็มีแต่จะได้รับความอับเฉาเสื่อมโทรมลงไปตามลำดับ

อุปมาเหมือนกับพระจันทร์ในข้างแรม มีแต่มืดเข้าไปทุกวันๆ แต่ละวันๆ ก็มืดเข้าไปทุกวันๆ ผลสุดท้ายก็ถึงวันพระจันทร์ดับ ไม่มีแสงสว่างโผล่ออกมาให้เราเห็น ฉันใด ถ้าว่าพวกเราทั้งหลายไม่มีการสงเคราะห์ญาติแล้ว ก็จะมีแต่ความอับเฉาเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน บ้านเมืองก็ระส่ำระสาย ไม่มีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ถ้าพวกเราทั้งหลายมีการสงเคราะห์ญาติ เอาใจใส่ในการสงเคราะห์ญาติ ไปหามาสู่กัน ช่วยเหลือสงเคราะห์กัน ด้วยอามิสบ้าง ด้วยธรรมะบ้าง ผู้นั้นก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง วัฒนาถาวรตลอดไป

อุปมาเหมือนพระจันทร์ในข้างขึ้น มีแต่จะส่องแสงสว่างขึ้นไปตามลำดับๆ วันนี้สว่างแค่นี้ วัน ๒ ค่ำสว่างขึ้นไปอีก ๓ ค่ำสว่างขึ้นไปอีก ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ๗ ค่ำ สว่างขึ้นไปอีก แล้วก็สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จนพระจันทร์วันเพ็ญ แล้วก็แผ่รัศมีคือแสงสว่างนั้นเต็มทั่วไปทั้งหมด ฉันใด

การที่เราทั้งหลายเอาใจใส่สงเคราะห์ญาติของเรา ด้วยการให้อามิสสิ่งของก็ดี ด้วยการให้ธรรมะก็ดี ย่อมจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง วัฒนาสถาพรตลอดไป แล้วก็จะมีความสามัคคีปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อระหว่างหมู่ญาติต่อหมู่ญาติมีความสามัคคีกัน บ้านก็สามัคคีกัน ระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้านก็มีความสามัคคีกัน ระหว่างตำบลต่อตำบล อำเภอต่ออำเภอ จังหวัดต่อจังหวัด ก็มีความสามัคคี ปรองดอง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ญาติโยม ท่านสาธุชนทั้งหลาย คนเราทั้งหลายนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มีทรัพย์สินเงินทองพอจะอยู่จะกิน มีพอจะอยู่จะใช้ แต่เราไม่ใช้ไม่กิน และก็ไม่ทำบุญกุศลศีลทาน ถึงจะมีทรัพย์มากสักปานใด ก็ถือว่า เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ไม่มีเงินไม่มีทอง ไม่สามารถที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากการมีทรัพย์สมบัตินั้น ในโลกนี้เราก็ยังไม่ได้รับความสุขจากการมีทรัพย์

เมื่อตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ เราก็ยิ่งจะเป็นคนจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง ต้องขอบ้านขอเมืองเขากินจึงจะได้กิน ตัวอย่าง เรื่อง อปุตตกเศรษฐี

มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่ไม่มีบุตร เศรษฐีคนนั้นเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวทรัพย์สมบัติ เวลาจะรับประทานอาหารก็รับประทานแต่ของบูดๆ ราๆ เวลาจะบริโภคผลไม้ ก็บริโภคแต่ผลไม้ที่เน่าๆ เสียๆ เวลาจะนุ่งจะห่มก็นุ่งห่มแต่ของเก่าๆ อันหาราคาค่างวดมิได้ เป็นคนตระหนี่มาก หลังจากนั้นมาไม่นานเศรษฐีคนนั้นก็ถึงแก่กรรม

ตทา ราชา ครั้งนั้น สมเด็จพระราชาทรงทราบว่าเศรษฐีคนนี้เขาไม่มีบุตร จึงสั่งเจ้าหน้าที่คลังหลวงทั้งหลายไปขนทรัพย์ทั้ง ๘๐ โกฏิของเศรษฐีนั้นมาไว้ในคลังหลวง สำหรับอปุตตกเศรษฐีนั้น เมื่อจุติจากอัตภาพนั้นแล้วก็ไปบังเกิดในท้องคนขอทาน เมื่อไปเกิดในท้องคนขอทานนั้น ระหว่างคนขอทานนั้นมีเป็นจำนวนมาก เขาก็แบ่งกันเป็นกลุ่มๆ วันนี้กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านโน้น กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านนี้ กลุ่มนี้ไปขอทานบ้านนั้น สลับกันไป

ทีนี้วันไหนที่มารดาของทารก(อดีตชาติคืออปุตตกเศรษฐี)นั้นไปด้วย วันนั้นก็ขอไม่ได้ คนขอทานทั้งกลุ่มนั้นแหละ จะขออะไรไม่ได้เลย แม้แต่ข้าวขันเดียว เงินหนึ่งบาทก็ขอไม่ได้ ผลสุดท้ายเขาก็เลยไม่ให้ไปด้วย ไม่ให้ไปขอทานกับเขา เขาให้อยู่บ้าน ให้อยู่ที่พัก เมื่อคนขอทานทั้งหลายเหล่านั้นไปขอทานได้แล้ว จึงแบ่งข้าวปลาอาหารเงินทองให้อยู่ให้กินสืบไปวันๆ พอประทังชีวิตไว้

ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อถือครรภ์ถึง ๙ เดือนแล้ว ก็คลอดบุตรออกมา เมื่อคลอดบุตรออกมาแล้ว วันไหนเอาบุตรไปขอทานด้วย วันนั้นก็เป็นอันว่าไม่ได้ แม้แต่ข้าวขันเดียว เงินบาทเดียวก็ไม่ได้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุที่(ชาติก่อน)อปุตตกเศรษฐีนั้นมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่แม้สตางค์เดียวก็ไม่เคยทำบุญทำทานเลย

เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว จะรับประทานอาหาร ก็รับประทานแต่ของที่มันบูดๆ ราๆ จะบริโภคผลไม้ ก็บริโภคแต่ผลที่มันเน่าๆ เสียๆ แล้วจะนุ่งจะห่ม ก็นุ่งห่มแต่ของที่เก่าหาราคาค่างวดมิได้ เขาเรียกว่า เศรษฐีขี้ทุกข์ มีทรัพย์สมบัติ แต่ก็ไม่สามารถทำทรัพย์สมบัติให้เกิดประโยชน์ได้

ครั้นทารกนั้นเจริญวัยขึ้นมา เวลาจะไปขอทาน ทีนี้มารดาต้องเอาไปฝากไว้กับพวกเด็กชาวบ้านทั้งหลาย แล้วก็ไปขอทาน กลับมาแล้วจึงมารับเอาลูกของตนไป วันหนึ่ง ในขณะที่จะไปขอทานในเมือง แล้วก็เอาบุตรของตนนี้ไปฝากไว้กับทารกทั้งหลาย ใกล้ประตูเมือง

สตฺถา ปิณฺฑาย อาคนฺตฺวา วันนั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร เมื่อพระองค์เสด็จไปถึงที่ที่เด็กทารกนั้นเล่นอยู่กับเด็กทั้งหลาย ทรงแย้มพระโอษฐ์ บ้านเราว่า ทรงยิ้ม คือพระพุทธเจ้านั้นไม่หัวเราะเหมือนกับพวกเรานะ ไม่ยิ้มเหมือนพวกเรา จะมีอาการเฉยอยู่ตลอดเวลา แต่อาการเฉยของพระองค์นั้น ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะมีใจจืดใจดำนะ แต่ว่าทรงเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา เมื่อมีเหตุอะไรๆ เกิดขึ้น พระองค์จึงแย้มพระโอษฐ์

ในเมื่อพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ คือยิ้มออกมาเท่านั้นแหละ พระอานนท์ก็รู้ทันที พระพุทธเจ้าข้า มีเหตุอะไรหรือพระองค์จึงทรงแย้มพระโอษฐ์ ดูกรอานนท์ อปุตตกเศรษฐีมาเกิดในครรภ์ของคนขอทานในที่นี้แล้ว ดูสินี่ เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นอปุตตกเศรษฐี มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ แต่เขาไม่ทำบุญทำทาน ตายแล้วจึงมาเกิดอยู่ในท้องคนขอทาน เกิดมาแล้วก็มีรูปร่างอัปลักษณ์ ไม่เหมือนกับคนทั้งหลายชาวบ้านเขา

ขณะนั้นพระอานนท์จึงกราบทูลไปว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะเหตุไร เรื่องนี้จึงเป็นอย่างนี้ พระพุทธองค์ก็จึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนโน้น อปุตตกเศรษฐีนี้ สาเหตุที่เขาได้เป็นเศรษฐี หรือเกิดในตระกูลเศรษฐีนั้น ก็เพราะว่าเขาได้ทำบุญทำทานไว้ในชาติปางก่อน แต่ที่เขาไม่มีบุตรนั้น เพราะว่าเขาได้ฆ่าบุตรของพี่ชายของเขา แล้วพระองค์ก็ทรงนำเอาอดีตนิทานแต่ปางก่อนโน้นมาเล่าสู่พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมานานแล้ว เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ยังบำเพ็ญบารมีอยู่ ได้เกิดในตระกูลเศรษฐี มีน้องชายคนหนึ่ง น้องชายนั้นก็คืออปุตตกเศรษฐีคนนี้แหละ และเศรษฐีนั้นก็มีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อจำเนียรกาลล่วงมา บิดามารดาตาย ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ตกเป็นมรดกของพี่ชายและน้องชาย สำหรับพระโพธิสัตว์เจ้าผู้เป็นพี่ชายก็แบ่งมรดกนั้นออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งก็ให้น้องชาย ส่วนหนึ่งก็เป็นของตัวเอง

ครั้นจำเนียรกาลนานมา พระโพธิสัตว์เจ้าแต่งงานแล้ว ก็ได้บุตรชายคนหนึ่ง เมื่อได้บุตรชายแล้ว อยู่มาวันหนึ่งก็มาพิจารณาเห็นว่า การอยู่ครองฆราวาสนี้ เต็มไปด้วยโทษทุกข์ มีความคับแค้นมาก เกิดความเบื่อหน่ายในการครองฆราวาส เห็นว่าการบรรพชานี้มีช่องว่างพอมีทางที่จะแสวงหาบุญกุศลให้ภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว จิตใจก็น้อมไปในการบรรพชา

จึงได้เรียกน้องชายนั้นมาว่า ดูกรน้องที่รักของพี่ สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหมด พร้อมทั้งบุตรชายและภรรยาของพี่นี้ พี่ขอมอบให้แก่เธอ คือมอบให้ทั้งภรรยาด้วย มอบให้ทั้งบุตรด้วย และก็มอบให้ทรัพย์สมบัติด้วย แต่สำหรับพี่นั้นจะขอลาบวช เสร็จแล้วก็ออกไปบวชเป็นฤๅษีดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์ เจริญพรหมวิหารจนได้ฌาน ได้อภิญญาโลกีย์ เหาะเหินเดินอากาศได้

แต่สำหรับน้องชายที่อยู่ทางบ้าน เมื่อได้พี่สะใภ้มาเป็นภรรยาแล้ว ก็มีบุตรเกิดขึ้นมาอีกคนหนึ่ง เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาแล้วก็มาคิดว่า เรามีบุตร ๒ คนแล้ว เป็นบุตรของพี่ชายคนหนึ่ง และก็เป็นบุตรของเราคนหนึ่ง ถ้าว่าบุตรของพี่ชายยังอยู่นี้ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็จะต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน เป็นของบุตรชายของพี่ชายนั้นส่วนหนึ่ง เป็นมรดกของบุตรเราส่วนหนึ่ง อย่ากระนั้นเลย เราฆ่าบุตรพี่ชายนั้นดีกว่า เราเหลือไว้แต่บุตรของเรา

วันหนึ่ง ก็เลยชักชวนหลานชายนั้นลงไปท่าน้ำ เมื่อไปถึงท่าน้ำแล้วก็ชวนลงอาบน้ำ เมื่อลงอาบน้ำแล้วก็กดหลานชายนั้นให้จมน้ำตายไป เมื่อหลานตายไปแล้ว ก็กลับมาถึงบ้าน เล่าให้ภรรยาฟังว่า บุตรของท่านตายแล้ว สำหรับภรรยาผู้เป็นพี่สะใภ้นั้นก็ร้องห่มร้องไห้ มีความอาลัยอาวรณ์นึกถึงบุตรของตน

ขณะนั้น ก็ร้อนถึงพระโพธิสัตว์ ซึ่งไปบำเพ็ญพรตเป็นฤๅษีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เพราะได้สำเร็จอภิญญาแล้วก็รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จึงมาสู่บ้านน้องชาย เพื่อจะแสดงโทษของกรรมทั้งปวงให้ปรากฏ เมื่อมาถึงบ้านน้องชายแล้ว ก็พักอยู่ที่บ้านของน้องชาย บรรดาญาติโยมทั้งหลายก็พากันเลื่อมใส พากันมาถวายจตุปัจจัยไทยธรรม

เมื่อฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็เรียกน้องชายเข้ามาใกล้ว่า ดูกรน้องชาย เรื่องหลานที่ตายไป หรือบุตรของเราที่ตายไปนั้น มันเป็นเพราะเหตุไร สำหรับน้องชายก็เรียนว่า บุตรของท่านนั้นมันตกน้ำตาย ฤๅษีพี่ชายก็พูดขู่ทันทีว่า เจ้าทำบาปทำกรรมถึงขนาดนี้ยังจะมาโกหกพี่อยู่หรือ ความเป็นไปทั้งหมดนั้น พี่รู้หมดแล้วนะ

ก็เธอเองเป็นผู้กดคอหลานชาย กดคอลูกชายของฉันให้จมน้ำตายไป ไฉนยังมีหน้ามาหาว่าเขาตกน้ำตาย เธอไม่รู้หรือว่าการฆ่าคนนี้ โทษของเธอที่ฆ่าคนที่มีชาติเสมอกันนี้ เมื่อตายไปแล้วต้องตกอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ในนรกโน้น พ้นจากนรกแล้วจึงจะมาเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสาร ทนทุกข์ทรมานอยู่อีกนาน ไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธออย่าได้ทำบาปทำกรรมเช่นนี้อีกเลย

เธอจงพยายามทำบุญทำทานเถิด สำหรับทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้น จงนำออกมาใช้ให้มันเป็นประโยชน์ จงนำออกมาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศลจนกว่าเราจะจากโลกนี้ไป เพราะว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่เธอมีอยู่นี้ เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นของกลางสำหรับโลก เรายังไม่เกิดขึ้นมา มันก็มีอยู่อย่างนี้ เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ได้ใช้ได้สอยทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าเรารู้จักใช้จักจ่าย มันก็เกิดประโยชน์โสตถิผลแก่เรา ถ้าเราไม่รู้จักใช้จักจ่าย ไม่รู้จักเอามาให้เกิดประโยชน์ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ และทรัพย์สมบัตินี้มันก็ตกอยู่ในภัยทั้ง ๔ คือ

๑. บางครั้งพระราชามายึดเอาสมบัติไปนี้ เธอจะห้ามได้หรือ

๒. บางครั้งเกิดโจรภัย โจรมาฉกชิงวิ่งราว หรือมาจี้มาปล้นเอา เธอจะขัดขวางเขาได้หรือ

๓. บางทีเกิดไฟไหม้ป่าบ้าง เกิดไฟไหม้บ้านบ้าง ไหม้ทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนี้ให้ฉิบหายวายวอดไป เธอจะห้ามไฟได้หรือ

๔. บางทีเกิดอุทกภัย น้ำท่วมทรัพย์ทั้งปวงเหล่านี้ เธอจะห้ามได้หรือ หรือบางทีเราขนเอาทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ไปค้าในทางเรืออย่างนี้ เกิดเรือแตกเรืออับปาง เธอจะสามารถห้ามเรือของเราไม่ให้แตก เธอจะสามารถห้ามทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ไม่ให้มันจมไปในน้ำได้หรือ

เมื่อน้องชายจำนนต่อเหตุผล จึงกล่าวต่ออีกว่า ดูกรน้องที่รักของพี่ นอกจากทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงมันจะเป็นของไม่มีแก่นสาร จะต้องอันตรธานไปด้วยภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย และอุทกภัยแล้ว แม้แต่ร่างกายของเราก็ไม่เป็นแก่นสารเหมือนกัน เพราะว่าอัตภาพร่างกายนี้ เป็นเหมือนกับของที่ยืมเขามาใช้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น เหมือนกับของที่ยืมเขามาบำเพ็ญประโยชน์ บำเพ็ญกุศล แต่เมื่อเรายืมเขามาแล้วกลับไม่รู้จักใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ก็ไม่เป็นประโยชน์สำหรับเรา ไม่กี่วันเราก็ต้องส่งคืนเขาไป คือร่างกายทั้งปวงนี้ก็จะเปื่อยเน่าทับถมลงไปในพื้นแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของเดิมของเขา

เพราะฉะนั้น ร่างนี้มันก็มีภัยเหมือนกัน อะไรเป็นภัยของร่างกาย คือ

๑. ชาติภัย คือความเกิด การเกิดบ่อยๆ นี้ก็เป็นทุกข์เหลือทน ญาติโยมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายที่เคยเห็นการเกิดแล้วก็คงนึกได้ว่า การเกิดนี้มันเป็นทุกข์มากน้อยแค่ไหนเพียงไร แม่ก็เป็นทุกข์ สำหรับทารกที่จะเกิดก็เป็นทุกข์ นึกดูสิว่าเรามาถือปฏิสนธิในครรภ์มารดานั้น ๙ เดือน๑๐ เดือนนั้น มันเป็นทุกข์ทรมานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เพราะฉะนั้น การเกิดนี้ก็เป็นภัย

๒. ชราภัย ความแก่ก็เป็นภัย เพราะว่าคนเราเมื่อแก่ขึ้นมาแล้ว กำลังวังชาก็หมดไป สติปัญญาก็เสื่อมไป การงานทุกอย่างที่เราเคยทำด้วยเรี่ยวแรงกำลังของเราก็เสื่อมไป ความแก่นี้ก็ถือว่าเป็นภัยของเราเหมือนกัน

๓. พยาธิภัย ความเจ็บก็เป็นภัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีแก่ มีแก่แล้วก็มีเจ็บ ความเจ็บนี้แหละก็ถือว่าเป็นภัยอันน่ากลัวเหมือนกัน เรามีอะไรมันเจ็บอันนั้น เรามีตามันเจ็บตา มีหูมันเจ็บหู มีหัวมันเจ็บหัว มันปวดศีรษะ มีปากเจ็บปาก มีจมูกเจ็บจมูก มีแขนมีขาเจ็บแขนเจ็บขา มีตับ มีไต มีกระเพาะอาหาร มีดี มีไส้ใหญ่ ไส้น้อย มันเจ็บทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ความเจ็บนี้ก็ถือว่าเป็นภัยของร่างกาย

๔. มรณภัย ความตายก็ถือว่าเป็นภัย เป็นภัยอันยิ่งใหญ่ไพศาล เพราะว่าความตายนี้ไม่ไว้ชีวิตแก่ใครผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะว่ามฤตยูราชนี้เป็นผู้มีอำนาจกล้า มีเสนาใหญ่ อันความตายนี้ เราจะไปหลีกลี้หนีความตายอยู่ที่ไหนก็ไม่ได้ เราจะไปจมอยู่ในน้ำ ไปอยู่ในถ้ำ หรือจะเหาะเหินเดินอากาศอยู่ก็ตาม หรือจะมาบวชเป็นพระเป็นเณร เป็นปะขาวแม่ชี เพื่อจะหนีความตายนั้น หนีไม่ได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระจอมไตรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราก็ยังนิพพาน เหตุนั้น ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ จึงถือว่าเป็นภัยของชีวิต

เมื่อพระโพธิสัตว์ให้โอวาทแก่น้องชายเช่นนี้แล้ว ก็ให้โอวาทต่อไปว่า เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด พยายามทำบุญทำทานไป อย่าได้ประมาท พยายามให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ เจริญสมถภาวนา เจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อให้เห็นร่างกาย รูป นาม ขันธ์ ๕ นี้ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงต้องดับไป เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ต้องดับไป เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ต้องดับไป

อย่าได้เป็นคนประมาท อย่ามัวคิดว่าทรัพย์สมบัติ สามี ภรรยา เรือกสวนไร่นาทั้งหมดนี้เป็นของเรา ให้ถือว่าอันนี้เป็นของกลางสำหรับโลก วันหนึ่งเราก็จะจากไป เรามาเกิดนี้ เรามาด้วยบุญบาปของเรา เราจะตายจากโลกนี้ไป เราก็อาศัยแต่บุญบาปเท่านั้นไป

สำหรับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สามี ภรรยา ถึงจะมีความรักความหวงแหนสักเท่าใด ก็ไม่มีใครที่จะป้องกันเราได้เลย พ่อแม่แสนที่จะรักก็จะต้องจากไป ลูกๆ หลานๆ แสนที่จะรักจะหวงแหนก็ต้องจากไป สามีภรรยาแสนที่จะห่วง แสนที่จะหวงแหน แสนที่รักก็จะจากไป ฉะนั้น เธออย่าเป็นผู้ประมาท พยายามสั่งสมคุณงามความดีต่อไปเถิด

เมื่อฤๅษีดาบสพระโพธิสัตว์เจ้าให้โอวาทแก่น้องชายแล้ว ก็กลับไปสู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เศรษฐีนั้นก็ตั้งอกตั้งใจบำเพ็ญทาน คือตั้งโรงทานไว้ที่หน้าบ้านของตน แล้วก็ให้ทานตลอดเรื่อยๆ มาจนหมดอายุขัย ก็อานิสงส์ที่เขาได้ทำบุญทำทานนั้นแหละ เมื่อเขาเกิดขึ้นมาในชาตินี้ เขาจึงได้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ

เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลาย หลวงพ่อเคยสอนอยู่เสมอๆ ว่า คนเราเกิดขึ้นมาแล้วอย่าตระหนี่ มีทรัพย์สมบัติพอที่ทำบุญทำทาน ก็จงทำบุญทำทาน การทำบุญทำทานนี้ อยู่ในโลกนี้มันก็ได้ประโยชน์ได้อานิสงส์ คือ

๑. ปิโย จะเป็นที่รักใคร่นับถือของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

๒. ภโช ย่อมเป็นที่สมาคมคบหาของบุคคลทั้งหลายทั้งปวง และเทวดาทั้งหลายทั้งปวงย่อมรักษา

๓. กิตฺติสทฺโท ชื่อเสียงอันดีงามย่อมฟุ้งขจรไปในทิศานุทิศ

๔. วิสารโท ย่อมเป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญแกล้วกล้า ไม่สะทกสะท้านในเวลาเข้าสมาคมบริษัท

๕. สุคติ เวลาจะตายนั้น ย่อมเป็นผู้ที่มีสติ สัมปชัญญะ ไม่หลงตาย คือเวลาจะตายนั้น ก็นึกถึงบุญถึงกุศลของตนได้อยู่ เมื่อตายแล้วไปเกิดภพใหม่ชาติใหม่ ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 เมษายน 2562 13:18:26

การสงเคราะห์ญาติ
(ต่อ)

ญาตกานญฺจ สงฺคโห เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


เหตุนั้น เศรษฐีที่เขาทำบุญทำทานไว้แล้วแต่ในชาติปางก่อน เมื่อมาเกิดในชาติศาสนาของพระพุทธเจ้าของเรานี้ เขาจึงได้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์ถึง ๘๐ โกฏิ เมื่อเขาเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกชาติๆ นั้น รวม ๖ ชาติ ไม่เคยมีบุตรเลย ๖ ชาติถัดๆ กันมานี้ ไม่เคยมีบุตรเลย เพราะเหตุไร เพราะโทษที่ฆ่าหลานชายที่เป็นบุตรของพี่ชายตนในชาติปางก่อน เมื่อเกิดมาในชาติไหนๆ ก็ไม่มีบุตรกับเขา จนตลอดถึงชาติที่ ๗ นั้นก็ยังไม่มีบุตรอยู่ นี้ก็เป็นโทษเพราะการที่ฆ่าผู้อื่นและสัตว์อื่น เมื่อฆ่าแล้ว นอกจากจะไปตกนรกแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วก็ยังไม่มีบุตร

เพราะฉะนั้น วันนี้คณะญาติโยมทั้งหลาย เราจึงได้พร้อมเพรียงกันมาบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เพื่อระลึกถึงญาติของเรา เพื่อเป็นการสงเคราะห์ญาติของเราที่อยู่ร่วมกันในภพนี้ชาตินี้ ให้มีความจงรักภักดี มีความสามัคคีพร้อมเพรียง เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน นอกจากนั้นก็เป็นการสงเคราะห์ญาติของเรา ที่ล่วงลับวายชนม์ไปแล้ว ในปรโลกเบื้องหน้า เพื่อที่จะได้อนุโมทนาสาธุการในส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้สั่งสมอบรมมานี้

เราทั้งหลายอย่าคิดว่า ญาติของเราตายไปแล้ว จะไปสู่สุคติโลกมนุษย์สวรรค์ หรือไปเกิดไปสู่พรหมโลก หรือจะไปสู่พระนิพพานได้ทั้งหมด บางทีญาติของเราอาจจะมีความชั่วช้าบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งไม่เปิดเผยแก่เราให้เรารู้ก็ได้ เมื่อตายไปแล้ว ก็อาจจะไปตกนรก ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉานไปก็ได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ซึ่งเป็นวันกตัญญู เป็นวันระลึกถึงญาติ เราก็มาทำบุญทำทาน กล่าวสังฆทาน เป็นการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ญาติของเรา เมื่อญาติของเราได้รับได้อนุโมทนาแล้ว ก็จะหายจากความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะไปบังเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ต่อไป เหมือนกันกับญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นเปรตอดอาหารมาถึง ๙๑ กัป นับตั้งแต่ภัทรกัปนี้ถอยหลังไป เพราะอะไร จึงเกิดเป็นเปรต เพราะการกินของสงฆ์นี้เอง

ญาติโยมชาวบ้านเราทั้งหลาย ก็ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะที่เราทั้งหลายพากันทำงานปริวาสหรือทำบุญปริวาสกรรมนี้ ขอให้เรานั้นได้ตระหนัก เพราะว่า ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ญาติโยมนำมาถวายไว้ในโรงครัวนั้น เขาไม่ได้นำมาไว้เฉยๆ เขากล่าวคำถวายสังฆทานเสียก่อนว่า สงฺฆสฺส โอโณชยาม คือหมายความว่า ของทุกสิ่งทุกอย่างนั้น ถวายเป็นสงฆ์

เมื่อถวายเป็นสงฆ์แล้ว ทีนี้ พระรูปใดรูปหนึ่งเอาไปฉันโดยพลการแล้ว ก็ฉันไม่ได้ สามเณร ปะขาว แม่ชีผู้ใดผู้หนึ่งจะเอาไปฉันโดยพลการ ก็ฉันไม่ได้ โยมคนใดคนหนึ่งจะเอาไปรับประทานโดยพลการนั้นไม่ได้ ต้องทำถวายสงฆ์เสียก่อน เมื่อถวายสงฆ์ไปแล้ว เมื่อเหลือจากส่วนของสงฆ์นั้น เราจึงเอามารับประทานต่อไป จึงจะไม่เป็นบาป จึงจะไม่เป็นกรรมต่อไป

สำหรับญาติของพระเจ้าพิมพิสารก็เหมือนกัน เมื่อก่อนโน้น เป็นเจ้าหน้าที่คลังหลวง คือพระญาติทั้งหลายที่เป็นเปรตนั้น เมื่อพระราชาไม่สามารถจะมาเลี้ยงพระเจ้าพระสงฆ์ได้ ก็มอบทรัพย์สมบัติทั้งหลายให้ผู้รักษาคลังของพระเจ้าแผ่นดินนั้น ให้นำทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้มาทำภัตตาหารเช้าเพลถวายแก่พระสงฆ์

แต่เมื่อได้ทรัพย์แล้ว ไม่นำมาทำภัตตาหารถวายแก่พระสงฆ์ ไปใช้เสียอย่างอื่น นำไปใช้อย่างโน้นบ้าง นำไปใช้อย่างนี้บ้าง ผลสุดท้าย ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต อดอาหารอยู่ถึง ๙๑ กัป

เมื่อถึงศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ เวลาพระเจ้าพิมพิสารทำบุญทำทานนั้น พระองค์ไม่ได้ทรงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ เปรตทั้งหลายนั้น ก็มาส่งเสียงร้องให้พิลึกสะพรึงกลัว หนังหัวพองสยองเกล้า น่ากลัว น่าขยาด น่าเกรงขาม พระเจ้าพิมพิสารจึงเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงทรงแสดงให้ฟัง เสร็จแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ทำบุญสุนทาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเป็นสังฆทานไปให้ เมื่อเปรตทั้งหลายได้อนุโมทนาแล้ว ก็ได้รับอาหารอิ่มหนำสำราญ ได้เครื่องนุ่งห่มอันเป็นทิพย์ ก็ไปบังเกิดในเทวโลกหายจากบาปจากอกุศลนั้น

และการทำบุญทำทานที่พวกเราทั้งหลายทำกันนี้ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือเราทั้งหลายส่วนมากก็มีห่อข้าวน้อย มาวางไว้ตามโบสถ์ ตามวิหาร ตามกำแพงวัด อันนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่มันได้จำพวกหนึ่ง พวกนี้เขาเรียกว่าอมนุษย์ หลวงพ่อจะขอเลยออกนอกเรื่องสักหน่อย พวกอมนุษย์นี้ คือเป็นเปรตจำพวกหนึ่งเหมือนกัน เปรตจำพวกนี้อาศัยอยู่ตามวัดตามวาเสียเป็นส่วนมาก อยู่ในวัดของเราก็มีเยอะเหมือนกัน

หลวงพ่อขอยกเรื่องที่เคยประพฤติปฏิบัติมาสาธกให้เห็นง่ายๆ แต่อย่าได้เข้าใจว่า หลวงพ่ออวดอุตตริมนุสสธรรมนะ คือบางครั้ง เวลานั่งสมาธิไปๆ มีเสียงใครมาขออะไรกินด้วยกันว่า ขอกินด้วยๆ อยู่ข้างโบสถ์ อยู่ข้างวัดของเรานี่แหละ หลวงพ่อนั่งสมาธิหลับตาอยู่ ก็มองไป เอ๊ มันเด็กที่ไหนมันมาขอกินอะไรด้วยกันนี้

บางครั้งก็มองไปว่า โอ๊ มันมีเนื้อมาแต่ที่ไหนหนอ ได้เนื้อแต่ที่ไหนมาแบ่งกันกิน เรามองไปๆ โอ๊ อันนี้ไม่ใช่เนื้อสัตว์ เป็นเนื้อมนุษย์ ถ้าเรารู้ดังนี้ว่ามันเป็นเนื้อมนุษย์ ตื่นขึ้นมา ก็หมายถึงว่าคนโน้นตายแล้ว เจ้าของเนื้อน่ะตายแล้ว คือคนตายไปมันก็เอาเนื้อมากิน แต่บางครั้งมันไปเอาเนื้อวัวเนื้อควายมาแบ่งกันกิน ถ้าว่าเราเห็นว่าเป็นเนื้อวัวเนื้อควายนั้น เราก็รู้ว่า ชาวบ้านของเราพากันฆ่าวัวฆ่าควายแล้ว นี่มันเป็นอย่างนี้

ทีนี้ถ้าเราเอา ห่อข้าวน้อย นี้แหละมาวางตามโบสถ์ ตามวิหาร ตามสถานที่ต่างๆ ภายในวัด ก็พวกนี้แหละได้กิน แต่ญาติของเราไม่ได้กินหรอก แต่พวกนี้ได้กิน เขาได้กิน ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นอานิสงส์เหมือนกัน ไม่ได้เป็นบาป ถือว่าเป็นบุญเหมือนกัน นี่พวกนี้ได้กิน เราอย่าหาว่าไม่ได้กิน ว่าแต่ว่าเรื่องนี้มันพูดกันยาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องกายทิพย์

หลวงพ่อขอยกเรื่องโยมคนหนึ่ง ที่อยู่ข้างบ้านของเรานี้แหละ เมื่อก่อนโน้นเขาเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในวัด ทั้งๆ ที่มีทรัพย์มากนะ ได้ข้าวปีหนึ่งเป็นพันสองพัน มีเงินทองจ่ายเหลือเฟือ แต่ว่าไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา

อยู่มาปีหนึ่ง เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งในมดลูก เมื่อเป็นโรคมะเร็งในมดลูก มันรักษาไม่หาย มันก็เน่าไปๆ ทุกวัน ก็มีกลิ่น กลิ่นนั้นก็เหม็นคาวฟุ้งไปทั้งบ้าน บ้านอยู่ใกล้ๆ กัน ขนาดสองสามหลังคาบ้านนี้ ก็ยังถูกกลิ่นเหม็นๆ นั้น บรรดาสามีและลูกๆ หลานๆ ก็เมินเฉย ไม่เอาใจใส่ เขาก็สะบักสะบอม นอนติดเสื่อติดหมอนอยู่นั่นหละ คือหมายความว่าเป็นคนครึ่งคนครึ่งผี

เวลามีคนจะตายในบ้านอีเติ่ง บ้านหัวนา บ้านห้วยยาง บ้านม่วงเฒ่า บ้านตาแหลว หรือบ้านด่านหม่วน แถวๆนี้แหละ แกรู้ทุกคน เมื่อแกตื่นเช้าขึ้นมา แกพูดกับลูกกับหลานว่า โอ๊ วันนี้ คนโน้นตายแล้วเด้อ คนนั้นจะตาย คนนี้จะตาย แล้วก็ตายทุกคน

เพราะเหตุไร จึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่าตอนกลางคืนนั้น มันจะมีพวกอมนุษย์พวกนี้แหละมาชวนว่า วันนี้ไปเอาเนื้อที่โน้นเถอะ วันนี้ไปเอาเนื้อที่นี้เถอะ ถ้าเขามาชวนแล้ว แกก็ไปกับเขา เมื่อไปแล้วก็เห็นเขาเอาเนื้อ แกก็สังเกตว่า เอ๊ มันจะเนื้อที่ไหน มันก็เป็นคนนี่เอง มันเป็นนายสี มันเป็นนางมี มันเป็นนางลำดวนต่างหาก ไม่ใช่เนื้อที่ไหน แกก็ไม่เอากับเขา แต่ก็ไปกับเขา มากับเขา ตื่นขึ้นมา คนนั้นก็ตายทุกคน นี้มันเป็นอย่างนี้

หลังจากนั้นมา วันหนึ่งแกสลบไป สลบไปเป็นเวลานาน จนข้ามคืนข้ามวันนั่นแหละ ญาติโกโหติกาทั้งหลายก็พากันหาไม้มาทำหีบ แต่ในขณะที่ยังไม่ได้ใส่โลงนั่นหละ แกก็ฟื้นขึ้นมา เมื่อแกฟื้นขึ้นมาแล้ว แกก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังว่า โอ๊ย เมื่อฉันสลบไปเมื่อตะกี้นี้ ที่จริงฉันไปนรก เขามาเอาฉันไปนรก นายนิรยบาลนั้นมาเอาไปนรกเมื่อเขาเอาไปนรก เขาบอกว่าจับตัวมาผิด เขาก็เลยมาส่ง

แต่ตอนไปนรกนั้น ฉันได้ไปดูนรกหลายๆ ขุม โอ๊ย พวกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตตายไปตกนรก ทนทุกข์ทรมาน ต้องมีหอกอันเป็นทิพย์ มีความร้อนโชน เขามาทิ่มมาแทง มีกามีแร้งมาจิกมาตอด อะไรนานาประการ ที่ท่านกล่าวไว้ในตำรา ที่เราเคยฟังเทศน์ฟังธรรมนั้น ไม่ผิดกันเลย แล้วก็สำหรับผู้ตกนรกนั้น เมื่อก่อนโน้นฉันคิดว่าจะตกนรก ก็เฉพาะชาวบ้านเท่านั้น เฉพาะญาติเฉพาะโยม เฉพาะคฤหัสถ์เท่านั้น ที่ไหนได้ พระเณรก็ตกนรกเหมือนกัน

แกว่าอย่างนี้ แล้วสังฆาฏิ สบง จีวรนั้น เขาเอาไปกองพะเนินกันจนสูงเท่าปลายต้นมะพร้าว ปลายตาล พระเณรทั้งหลายนั้นต้องลอยแหวกว่ายอยู่ในนรก ได้รับความทนทุกข์ทรมาน แต่ฉันก็ไม่สามารถที่ทนดูต่อไปได้ ก็จึงขอกลับบ้าน เขาก็มาส่ง ฉันจึงฟื้นขึ้นมานี้

เมื่อแกฟื้นขึ้นมาแล้ว ญาติโยมทั้งหลาย ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แกเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะอันแรงกล้า ทำบุญทำทานไม่รู้จักหมดไม่รู้จักสิ้น สร้างภาพพระเวส สร้างผ้าป่า สร้างมหากฐิน หลวงพ่อนี้ยังได้รับกฐินของเขาด้วย ปีนั้น โยมคนนั้นทำบุญกฐิน ไม่มีใครรับกฐินของแก อาตมาก็เลยได้รับผ้ากฐิน เป็นองค์ที่กรานกฐินให้แกด้วยในปีนั้น อันนี้พูดกันเรื่องปัจจุบัน เราเอาห่อข้าวน้อยมาวางก็ พวกนี้ได้รับ

ทีนี้เรื่องนี้ก็มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้เป็นหลักฐานยืนยันเหมือนกัน อยู่ในเรื่องการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน เวลาพระจะไปเจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้น พระองค์ทรงตรัสว่า เราอย่าไปข้างทิศเหนือ เพราะอมนุษย์ที่สิงอยู่ในศพนั้นจะโกรธ เราให้เลี่ยงๆ ไปในทิศใดทิศหนึ่ง ที่ไม่มีกลิ่นอสุภะรบกวน คือไม่มีกลิ่นศพนั้นรบกวน เราจึงเจริญอสุภกัมมัฏฐานต่อไป นี่ก็หมายถึงอมนุษย์พวกนี้แหละ พวกที่กินซากกินศพนี้แหละ

สำหรับเรื่องนี้ ก็ขอจบไว้เพียงแค่นี้ ทีนี้หันมาเรื่องญาติของเราบ้าง เมื่อตายไปแล้ว หากว่าเป็นพวกปรทัตตูปชีวีสัตว์ คือหมายความว่า พวกไปเกิดเป็นพวกปรทัตตูปชีวีสัตว์นี้ เป็นสัตว์หรือเป็นอมนุษย์ที่มีชีวิตเนื่องอยู่ด้วยญาติ ถ้าว่าญาติมิตรไม่ทำบุญทำทานไปให้ พวกนี้ก็ไม่ได้รับ ต้องได้รับความทนทุกข์ทรมานอยู่ร่ำไป

เมื่อเราทั้งหลายทำบุญอุทิศไปให้แล้ว พวกนี้ก็ได้รับ เมื่อรับแล้วก็อนุโมทนา เมื่ออนุโมทนาแล้วก็พ้นจากความทุกข์ทรมานทรกรรมมา ก็ไปบังเกิดในสุคติโลกมนุษย์สวรรค์ ตามบุญญาธิการที่ตนได้สั่งสมอบรมไว้แต่เมื่อก่อน และด้วยบุญญาธิการที่ญาติมิตรอุทิศไปให้ด้วย เหตุนั้น วันนี้พวกเราทั้งหลาย จึงได้มารวมกันทำบุญ เพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม นึกถึงญาติของเราทั้งหลายที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว จึงมาทำบุญทำกุศลแล้วอุทิศไปให้

เอาละ เท่าที่หลวงพ่อได้บรรยายมา ก็เห็นว่า พอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 พฤษภาคม 2562 14:17:03

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/87/30087/images/General4/2011.09candle1.jpg)

การทำทรัพย์ให้มีแก่นสาร
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ.

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะรับประทานวิสัชนาในอสารกสูตร เพิ่มเติมเฉลิมศรัทธาของท่านทานาธิบดี และพุทธศาสนิกเมธีทั้งหลาย แต่บรรดามาสู่สถานที่นี้ วิถีจิตคิดจะทำประโยชน์แก่ตนขวนขวาย ซึ่งกองการกุศล เป็นต้นว่าได้สร้าง…… และได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา ถวายอาหารบิณฑบาตจัดเป็นกุศลอย่างอุกฤษฏ์ แต่ไม่เต็มศรัทธา แล้วยังคิดกระทำมหกรรมการฉลองอีกด้วย อานิสงส์สร้างและฉลองทั้งสองนี้ ย่อมมีผลอันมาก อาจอำนวยวิบากผลให้แก่สาธุชนผู้ทำเช่นนั้น องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสประทานไว้ว่า บุคคลผู้ทำเช่นนี้ ชื่อว่าทำของโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระ ไม่วิบัติอันตรธาน เป็นแก่นสารสาระประโยชน์สำหรับตัว ทำของชั่วให้เป็นของดี

ข้อนี้ ย่อมถูกต้องตามอนุสาสนี อันมีมาในอสารกสูตรว่า
          โภโค ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
          กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ
          ชีวิตํ ภิกฺขเว อสารํ สารํว กาตพฺพนฺติ ฯ

 
แปลความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์สมบัติไม่เป็นแก่นสาร ท่านทั้งหลายพึงทำให้เป็นแก่นสาร

อธิบายตามพุทธสุภาษิตว่า ทรัพย์ได้แก่วัตถุเครื่องปลื้มใจ สมบัติได้แก่ วัตถุอันถึงพร้อม ทั้งสองนัยนี้เมื่อเกิดมีแก่ผู้ใด ย่อมยังใจผู้นั้น ให้ปลื้มและเอิบอิ่ม จึงเรียกว่า ทรัพย์สมบัติ จัดโดยประเภทมี ๒ อย่างคือ ทรัพย์มีวิญญาณครอง ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ สามี ภรรยา ปศุสัตว์มี เป็ด ไก่ เป็นต้น เรียกตามบาลีว่า สวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง อวิญญาณกทรัพย์อย่างหนึ่ง ได้แก่ แก้วแหวน เงินทอง ผ้าผ่อนแพรพรรณ แยกประเภทออกไป คือ สังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ได้หนึ่ง อสังหาริมทรัพย์ เคลื่อนที่ไม่ได้หนึ่ง รวมสองอย่างนี้เรียกตามบาลีว่า อวิญญาณกทรัพย์

ทรัพย์สองประเภทที่ได้แสดงมานี้ พระชินสีห์ตรัสว่า ไม่เป็นแก่นสาร เพราะตกอยู่ในอำนาจของภัยทั้ง ๔ คือ ราชภัย โจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย มาย่ำยีทรัพย์เหล่านี้ให้อันตรธานวิบัติไป เช่น ถูกราชการยึดทรัพย์ ถูกโจรฉกชิงวิ่งราว ฉ้อโกง เกิดไฟไหม้ให้ย่อยยับไป อุทกภัย น้ำท่วมให้ฉิบหาย หากจะคิดหาอุบายเอาทรัพย์เหล่านี้ไปฝังไว้ในดิน จมไว้ในน้ำ ถ้าฝังตื้นพวกโจรมาลักเอาไปเสีย ถ้าฝังลึกนักภูตผีปีศาจอาจทำให้เคลื่อนที่ได้

หากจมไว้ในอุทกวารี ย่อมมีนายพรานแหเอาไปกินเสีย ถึงแม้จะเก็บหอมรอมริบใส่กำปั่นลั่นกุญแจ หรือฝากไว้ในคลังและธนาคาร ปรารถนาจะไม่ให้อันตรธาน ก็เป็นอันไม่พ้นย่อมผุพังไปเป็นธรรมดา ท่านกล่าวว่า เป็นสาธารณะทั่วไปแก่บุคคลทุกจำพวก มิได้เฉพาะบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งจะถือกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ทั้งชีวิตก็จะดับไป ทรัพย์แม้นิดหนึ่ง ย่อมติดตามไปไม่ได้ สมตามเทศนัยอันมีมาในมัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกายนั้นว่า

น นิยฺยมานํ ธนมนฺเวติ กิญฺจิ ทรัพย์นิดหนึ่งย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ เมื่อดับชีวิตินทรีย์แล้ว มิได้หอบหิ้ว หาบหามทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดไป อย่าว่าแต่ทรัพย์ภายนอกเลย ถึงทรัพย์ภายในคือสรีระร่างกาย เมื่อสิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะแล้ว ย่อมเป็นเฉทกกรรม ขาดกระเด็นเด็ดออกจากกัน ทรัพย์ฟาดฟันบั่นรอนผู้หาปัญญามิได้ สมตามเทศนานัยอันมีมาในธรรมบทรับสมอ้างว่า

โภคตณฺหาย ทุมฺเมโธ หนฺติ อญฺเญว อตฺตานํ คนมีปัญญาทรามย่อมฆ่าตนเสีย เหมือนฆ่าผู้อื่นเพราะความอยากได้โภคทรัพย์ นับว่าเป็นเหตุให้ถึงความเศร้าโศกโศกา ดังอนุสาสนีอันมีมาในธรรมบทเป็นพยานว่า

กามโต ชายเต โสโก กามโต ชายเต ภยํ ความโศกก็ดี ภัยก็ดี เกิดจากของที่รัก เนื่องด้วยทรัพย์สมบัติเป็นของที่รัก ซึ่งเป็นของมนุษย์ก็ดี ของทิพย์ก็ดี อันเที่ยงยั่งยืนไม่มี

พระชินสีห์ทราบดังนี้จึงตรัสว่า ทรัพย์ไม่เป็นแก่นสาร ทรงตักเตือนเหล่าพุทธศาสนิกชนว่า ให้ทำทรัพย์อันไม่เป็นแก่นสารให้เป็นแก่นสารโดยบริหารแสดงว่า ให้บริจาคทรัพย์ออกไปเป็นทานแก่ยาจก วณิพก คนกำพร้า อนาถา สละออกซึ่งจตุปัจจัยทั้ง ๔ มี จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ทำให้เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมือนปัจจัยท่านทานาธิบดีสละทรัพย์ออกสร้างบูชาพุทธฎีกา เช่นนี้ชื่อว่าทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสารไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น เป็นอสาธารณมัญเญสังฝังไว้ในใจไม่บรรลัยด้วยน้ำประลัยกัลป์ ซึ่งจะมาทำให้หวั่นไหวไปด้วยภัยทั้ง ๔ มีโจรภัยเป็นต้น ตามนิพนธ์ภาษิตรับสมอ้างว่า

ปุญฺญํ โจเรหิ ทูหรํ บุญอันโจรนำไปด้วยยาก มีแต่จะแต่งวิบากสมบัติให้แก่ผู้สละทรัพย์ ย่อมได้สุขอันไพศาล ดังบริหารภาษิตเตือนใจว่า

โลกามิสํ ปชเห สนฺติเปกฺโข ผู้เพ่งความสงบ พึงละโลกามิสในโลกเสีย พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร เป็นข้อที่ ๑

คำว่าร่างกายนั้น หมายเอาประชุมธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อายตนะภายใน ๖ นี้กล่าวโดยสุตตันตนัย ถ้ากล่าวโดยปรมัตถนัยนั้น จิตเจตสิกธรรม รวมเข้าเป็นกาย เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม

สภาพทั้งหลายเหล่านี้ไม่เที่ยง เพราะตกอยู่ในสามัญลักษณ์ทั้ง ๓ คือ ทุกขํ ความเป็นทุกข์ คือความไม่สบายใจสบายกาย ทุรนทุรายด้วยร้อนและเย็น ซึ่งเป็นมาแต่ชาติกำเนิด อนิจจํ เป็นของไม่เที่ยง คือ เกิดแล้วไม่เที่ยงถาวร เป็นเด็กแล้วเป็นหนุ่มเป็นสาวปานกลางคน แล้วแก่ชรา หูตามืดหนวก เนื้อหนังเหี่ยวแห้งทรุดโทรม ผมหงอก แก้มตอบ ฟันหัก เนื้อหนังสะพรั่งพร้อมไปด้วยเส้นเอ็น เป็นที่สังเวชทั้งตนและคนอื่น ย่อมเป็นไปตามปัจจัย ดังเทศนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า

ยถา ปจฺจยํ ปวตฺตนฺติ สิ่งที่ปัจจัยปรุงขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปตามปัจจัย หาสังขารอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี ดังวาระพระบาลีสมอ้างไว้ว่า

สงฺขารา สสฺสตา นตฺถิ สังขารทั้งหลายอันเที่ยงแท้ยั่งยืนไม่มี เพราะสิ่งเหล่านี้มีเกิดในเบื้องต้นมีความแปรในท่ามกลาง มีความดับในที่สุด ดุจอนุสาสนีซึ่งมีในมหาวรรค สังยุตตนิกายรับสมอ้างว่า

ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีอันดับไปเป็นธรรมดา นี้เป็นเครื่องหมายของอนิจจัง การบังคับไม่ได้ว่า ผมอย่าหงอก แก้มอย่าตอบ ฟันอย่าหัก ห้ามไม่ได้ ว่าไม่ฟัง ย่อมเฒ่าแก่ไปตามลักษณะของอนัตตา ถ้าเป็นของเราคงสั่งสอนได้ไม่ฝ่าฝืนโอวาท แต่นี่ไม่ใช่ตัวของเรา เป็นของว่างหาเจ้าของไม่ได้ ขัดต่ออัตตา เป็นแต่ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ประชุมกันเข้าแล้วก็สมมติกันว่า เป็นตัวเป็นตน แต่ความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นสมมติบัญญัติ

ข้อความที่กล่าวนี้ เป็นเครื่องหมายของร่างกายไม่เป็นแก่นสาร พระอนาวรญาณทรงประทานแก่พวกเราว่า ให้ทำร่างกายที่ไม่เป็นแก่นสาร ให้เป็นแก่นสาร ทรงประทานภาษิตไว้ดังนี้ คือ ให้ตั้งอยู่ในอปจายนมัย เคารพนบน้อมต่อวุฒิบุคคลสามจำพวก คือ วยวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยวัย คุณวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยคุณ คือ ศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ปุญฺญาวุฑฺโฒ ผู้เจริญด้วยบุญ เช่นเจ้านายเป็นต้น ตั้งตนอยู่ในเวยยาวัจจมัย ช่วยขวนขวายการกุศลของผู้อื่น มีตักน้ำ หักฟืน เป็นต้น

น้อมตนเคารพต่อพระรัตนตรัย ได้ในบาลีว่า พุทฺธคารวตา ธมฺมคารวตา สงฺฆคารวตา เคารพนบน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ชื่อว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ถ้ากล่าวโดยธรรม คือ ตั้งตนอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ กรรมบถ ๑๐ ศีล ๒๒๗ เหมือนสาธุชนทำอยู่เดี๋ยวนี้จัดเข้าในบาลีว่า ทำร่างกายให้เป็นแก่นสาร ไม่เป็นคนรกโลก

อีกประการหนึ่งพิจารณาร่างกายให้เห็นว่า เป็นสวากขาตธรรม คือธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ย่อมรวมอยู่ในที่ตัวตนสกนธ์ร่างกายอันนี้เป็นก้อนธรรม คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ทั้งที่เป็นโลกีย์ และโลกุตตระไม่ใช่อื่นไกล คือตัวตนนี่เองเป็นก้อนอริยสัจ ๔ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งเป็น ทุกขสัจ ตนเป็นผู้เกิด ผู้แก่ ผู้เจ็บ ผู้ตาย

ความอยากในวัตถุกาม รูป เสียง กลิ่น รส อยากเป็น อยากมี ก็ตัวเป็นผู้อยากชื่อว่าตัวเป็นสมุทัยสัจ กิริยาที่ดับทุกข์ ดับตัณหา ซึ่งเรียกว่า พระนิพพาน ก็ตัวตนนี้เองเป็นผู้ดับ จึงเรียกว่า นิโรธสัจ การปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ก็ตัวเป็นผู้ปฏิบัติ จึงเรียกว่าเป็นมรรคสัจ เมื่อมาเห็นสกนธ์ร่างกายเป็นทัสสนานุตตริยะอย่างนี้ ชื่อว่าทำร่างกายให้เป็นแก่นสารเป็นข้อที่ ๒

ข้อที่ ๓ ต่อไป คำว่า ชีวิตไม่เป็นแก่นสาร คำว่า ชีวิต ได้แก่ ความเป็นอยู่ คือ สันตติ การสืบต่อระบบหายใจเข้าออก ชื่อว่า ชีวิต ชีวิตเช่นนี้ไม่เป็นแก่นสาร โดยอธิบายว่า ความไม่มีกำหนดปริมาณ กำหนดไม่ได้ จะรู้ได้ก็แต่วันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เท่านั้น ส่วนวันตายกำหนดไม่ได้ แม้จะอยู่ในวัยใดก็ตาม ดังบรรยายภาษิตซึ่งมีมาในมหาวรรค ทีฆนิกาย นั้นว่า

อฑฺฒา เจว ทลิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

สพฺพํ เภทปริยนฺตํ เอวํ มจฺจาน ชีวิตํ ภาชนะดินทั้งปวงมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์เป็นของน้อยท่านเปรียบไว้ดุจหนึ่งว่า น้ำค้างติดปลายหญ้า เมื่อต้องแสงอาทิตย์เข้าแล้วพลันที่จะแห้งไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ก็ดุจเดียวกันฉันนั้น วันคืนล่วงไป ชีวิตของสัตว์ก็ล่วงไปใกล้ต่อความตายเข้าทุกที ๆ

ถ้าจะเป็นประมาณอายุของสัตว์ เพียงร้อยปีเป็นประมาณ ถ้าล่วงไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็ขาดร้อยปีไปวันหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ถ้าเปรียบให้เห็นแจ้งในข้อนี้ เหมือนหนึ่งว่า สตรีทอหูกข้างหน้าน้อยเข้าไปฉันใด ชีวิตของสัตว์ ก็น้อยไปทุกวัน ไม่ว่างเว้นบุคคลว่าคนจน คนมี เศรษฐี กฎุมภี ไพร่ฟ้า พระมหากษัตริย์ สมณะชีพราหมณ์ ย่อมตายทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกลี้หนีความตายไปได้ ถึงจะทำยุทธ์ชิงชัยต่อสู้กับมฤตยูผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมปราชัยพ่ายแพ้ แม้จะมีคาถาเวทมนตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องป้องกันความตายนั้น ไม่มีเลยเป็นอันขาดเมื่อมีชาติเกิดมาแล้ว ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีเป็นธรรมดา หาอุบายหลบหลีกมิได้ นี้เป็นเครื่องหมายของชีวิตไม่เป็นแก่นสาร

องค์สมเด็จพระอนาวรญาณทรงประทานให้เรา ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร วิธีทำอย่างนี้คือ ให้มีความเพียรทั้ง ๔ ประการนี้ ในสันดานของบุคคลใด ชื่อว่า ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร มีชีวิตอยู่วันเดียวดีกว่าผู้เกียจคร้านมีชีวิตอยู่ร้อยปี สมด้วยวาระพระบาลีว่า
          โย จ วสฺสสตํ ชีเว  กุสีโต หีนวีริโย
          เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย  วิริยํ อารภโต ทฬฺหํ


แปลความว่า ผู้มีความเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อนมีชีวิตอยู่ร้อยปี สู้ผู้มีความเพียรหมั่นเป็นอยู่วันเดียวไม่ได้

พระจอมไตรตรัสว่า ผู้มีความเพียรทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร สมาทานอยู่ในอัปมาทธรรม ความไม่ประมาท ไม่ปราศจากสติระลึกได้อยู่ว่า เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา มีกรรมเป็นของของตน ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่มัวเมาอยู่ในวัยทั้ง ๓ คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ไม่ไว้ใจต่อชีวิต คิดบำเพ็ญกุศลอยู่เสมอ เหมือนอย่างท่านทานาธิบดีทั้งหลายทำอยู่เดี๋ยวนี้ ชื่อว่าทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ปัจจัยท่านทานาธิบดีได้บำเพ็ญกองการกุศล

ณ เพลาวันนี้ ชื่อว่า ทำทรัพย์ให้เป็นแก่นสาร ทำชีวิตให้เป็นแก่นสาร ย่อมประกอบไปด้วยอานิสังสผล ทำให้ตนพ้นจากมารและบ่วงของมาร เป็นสะพานไต่เต้าเข้าสู่มรรคผลนฤพาน ดังรับประทานแสดงมา ก็สมควรด้วยเวลาเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 มิถุนายน 2562 11:17:47

(http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/%E0%B7%D5%C2%B9%E4%A2.jpg)

สมาทานสัมมาทิฏฐิ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ญาติโยมทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของเราทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า

สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา

บุคคลจะพ้นจากปวงทุกข์ได้ด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐิ

คำว่า ทุกข์ ในที่นี้หมายถึง ความทนได้ยาก ซึ่งเกิดขึ้นแก่เราทั้งหลาย แต่ทุกข์นั้นเมื่อสรุปลงสั้นๆ พอจำง่ายก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ ๑) ความทุกข์ทางกาย ๒) ความทุกข์ทางใจ คือเป็นของที่เราต้องอดต้องทนอยู่ตลอดเวลา

๑. ความทุกข์ทางกาย ก็เพราะว่า ความทุกข์ทางกาย เมื่อได้รับเวทนาคือความเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดนั้นปวดนี้ ในตนที่มีในร่างกายของเรา ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาหยูกหายามารักษามาพยาบาล กว่าจะหายได้ ก็ต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมากพอสมควร บางทีก็ไม่หายเสียเลย อันนี้เป็นความทุกข์ทางกาย ซึ่งทุกๆ คนก็ได้รับเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่ไม่ได้รับ จะเป็นพระเป็นเณร เป็นญาติเป็นโยม ก็ได้รับด้วยกันทั้งนั้น

๒. ทุกข์ใจ ทุกข์ใจนี้ คือทุกข์เพราะไฟกิเลสมาเผาผลาญ ทุกข์เพราะไฟคือราคะ ทุกข์เพราะไฟคือโทสะ ทุกข์เพราะไฟคือโมหะ มาเผาอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตใจของเรานี้ไหม้และเหี้ยมเกรียมไป เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในจิตในใจ ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูว่า เวลาราคะคือความกำหนัดชอบพอในเพศตรงกันข้ามเกิดขึ้น มันทุกข์เท่าใด

มันทุกข์จนเหลือทน บางคนก็ต้องเสียผู้เสียคนไป เกิดขึ้นมาแล้วลืมผัวลืมเมีย ลืมพ่อลืมแม่ ลืมลูกลืมหลาน ผลสุดท้ายก็ร่วมสังวาสกันเหมือนสัตว์เดรัจฉาน ทั้งนี้ก็เพราะถูกอำนาจไฟราคะเผาผลาญ

ทีนี้ ถ้าถูกไฟคือโทสะความโกรธเผาผลาญ มันจะเป็นอย่างไร ถ้าไฟโทสะเผาผลาญ ยิ่งได้รับความทุกข์ขึ้นไปอีกกว่านี้นะ ยิ่งขณะมีความโกรธขึ้นในจิตในใจ เราจะรู้สึกว่า จิตใจของเราจะทุรนทุรายร้อนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เราจะพูดจาปราศรัยกัน หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เริ่มตั้งแต่ไม่น่าดูไม่น่าฟัง การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นที่น่ากลัว น่าขยาด น่าเกรงขาม เพราะไฟโทสะมันเผาผลาญ

หากว่าไฟคือโมหะมาเผาผลาญจิตใจของเรา เราก็จะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชอบเป็นผิด เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี อย่างที่ชาวบ้านชาวเมืองเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ ทำไมจึงพากันกิน พากันสูบยา ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันเคี้ยวหมาก เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบกัญชา ก็เพราะคิดว่ามันดี

ทำไมจึงพากันสูบฝิ่น ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันสูบผงขาว กินยาม้า ดมกาว ก็เพราะคิดว่ามันดี ทำไมจึงพากันฆ่ากัน ตีกัน เบียดเบียนกัน ข่มเหงกัน เอารัดเอาเปรียบกัน ทำไมจึงพากันลักขโมยกัน ปล้นจี้กัน ทำไมจึงพากันพูดโกหกพกลมต้มตุ๋นกัน

ทำไมจึงพากันพูดจาไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง พูดคำหยาบ ทำไมจึงพูดคำส่อเสียดยุยงให้ผู้อื่นแตกความสามัคคี ผิดกัน ทำไมจึงพูดถ้อยคำที่ไม่มีสารประโยชน์ ก็เพราะเราคิดว่ามันดี มันถูกแล้ว ทำไมมันไม่ดีจึงเห็นว่ามันดี ก็เพราะอำนาจของโมหะมันครอบงำจิตใจของเรา มันจึงเป็นเหตุให้เราคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่ว นานัปการ

จึงสรุปลงสั้นๆ ว่า ถ้าไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ มันเผาจิตใจของเราในขณะใด ในขณะนั้นมีความร้อนเหลือทน ทำให้เราคิด เราทำ เราพูด ในทางที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม นี้ไฟที่เกิดขึ้นทางใจ ได้แก่ ไฟคือกิเลส มันเกิดขึ้นทางใจ

สรุปแล้วว่า ไฟคือความทุกข์ ไฟคือกิเลส ที่มันเผาจิตใจของเราอยู่ตลอดเวลา ทีนี้เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ องค์สมเด็จพระสุคตเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า สมฺมาทิฏฺิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา เราต้องสมาทานสัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ ความเห็นถูก

คำว่า ทิฏฐิ นี่แปลว่า ความเห็น แต่ถ้าแปลตามความหมายก็จะแปลได้ ๒ อย่างคือ ๑) มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ๒) สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นถูกเห็นชอบ

คนเราจะทำดีจะละชั่วแล้วทำดีได้ก็เพราะมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเสียก่อน ถ้าหากว่ามีความเห็นถูกแล้ว ก็สามารถที่จะคิดในทางที่ดีที่ชอบได้ เช่นว่า

ทานสัมมาทิฏฐิ เห็นว่าการให้ทานนี่ดี มีผล อย่างน้อยที่สุด ทำให้เรามีความสุขใจ เรามีความสบายใจ เรามีความร่าเริงบันเทิงใจ เรามีปีติ เรามีความปราโมทย์ เบิกบาน ในเมื่อได้ทำบุญทำทานไว้แล้ว นี่ก็ต้องมีความเห็นถูกเสียก่อน ต่อไปเราก็จะคิดว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำให้ผู้อื่นรักได้ เป็นเสน่ห์ขั้นพิเศษ สามารถผูกมิตรไมตรีจิตของกันและกันไว้ได้ เพราะผู้ให้ก็ต้องเป็นที่ถูกใจของผู้รับ ผู้รับย่อมมีความรักใคร่นับถือผู้ให้

ญาติโยมทั้งหลายลองคิดดูสิว่า เราอยู่ด้วยกันทุกวันนี้ สามีภรรยาอยู่ด้วยกันได้ ก็ต้องอาศัยการให้กัน ให้สิ่งของกัน ระหว่างพ่อแม่กับลูกๆ หลานๆ รักใคร่นับถือกันก็เพราะว่ามีการให้กัน มีการเสียสละระหว่างเพื่อนบ้านของเรา ตลอดถึงตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ และโลกทั้งโลกนี้ จะมีความเคารพนับถือกัน มีความรักกัน ไม่ทำสงครามประหัตประหารกัน ก็เพราะว่าอาศัยการให้กัน การเสียสละ การให้กัน จึงอยู่เป็นสุข นี่เราต้องมีความเห็นอย่างนี้เสียก่อน จึงจะให้ทานได้

หรือสูงๆ ขึ้นไป เราก็จะเห็นว่า การให้ทานนี่ดี สามารถทำลายความโลภ ทำลายมัจฉริยะคือความตระหนี่ลงได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเราทำได้อย่างดี ประกอบด้วยไตรเหตุ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สำเร็จซึ่งสุคติ โลกมนุษย์ สวรรค์ ตลอดถึงพระนิพพาน

ในเมื่อเราเห็นถูกอย่างนี้แล้ว เราจึงจะสามารถทำบุญทำทานได้ แต่ถ้าเรามีความเห็นว่า ทำทานไปทำไมหนอ ทำทานไปก็ไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ทำทานไปแล้ว ไปวัดยามใดๆ ทำทานไปแล้วมีแต่พระเณรฉันหมด เหลือมาแต่กล่องเปล่า เหลือมาแต่กระติบข้าวเปล่า เหลือมาแต่ถ้วยเปล่า มิหนำซ้ำถ้วยเราก็แตก ถ้วยเราก็หาย

ตะกร้าเราก็หาย กล่องข้าวเราก็หาย ให้ทานไปแล้วก็ไม่เห็นได้บุญสักที มาซื้อเลขก็ไม่ถูกสักที ไปทำมาค้าขายก็ไม่ร่ำรวยสักที ว่าจะเป็นเศรษฐีก็ไม่เห็นเป็นสักที ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิแบบนี้ ก็ทำบุญทำทานไม่ได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อนจึงจะทำบุญทำทานได้

สีลสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการรักษาศีลนี่มีบุญ มีอานิสงส์อย่างน้อยๆ ที่สุด คนที่รักษาศีลดีแล้ว เรามองดูก็งดงาม สำหรับตัวเราเองนี้ ถ้าเรารักษาศีลแล้ว เราก็มีความสุขใจ เราไม่ได้ไปฆ่าผู้อื่น ไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้พยาบาทอาฆาตจองล้างจองผลาญผู้อื่น ไม่ได้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราก็ไม่มีเวรไม่มีภัย

เราก็จะไม่คิดว่าใครจะมาฆ่าเรา ผู้นี้จะมาตีเรา ผู้นั้นจะมาทำร้ายเรา เราก็ไม่ได้คิด เพราะเราไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ได้ทำร้ายผู้อื่น เราไม่ได้ลักขโมยของใครเลย ผู้อื่นจะมาลักขโมยของเราก็ไม่ได้ เราไม่ได้ล่วงเกินผัวเขาเมียเขาลูกเขา เราไม่ได้โกหกหลอกลวงต้มตุ๋นเอาทรัพย์สมบัติของคนอื่น เราไม่ได้เสพยาเสพติด มีสุรายาฝิ่นกัญชาเป็นต้น

เราคิดมาแค่นี้ก็มีความสุขใจแล้ว เพียงแต่ว่าเราเคยติดหมากมา เรางดเคี้ยวหมากได้ เป็นสุขดีหนอ แต่ก่อนไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ต้องหาตะกร้าหมาก เตรียมตะกร้าหมากตะกร้าพลูเสียก่อน กว่าจะออกจากบ้านได้ก็ลำบากลำบน เดี๋ยวนี้เราละได้แล้ว มันสุขหลาย

อย่างเมื่อก่อนเราสูบบุหรี่ เราเป็นทุกข์ ตอนนี้เราไม่ได้สูบบุหรี่แล้ว เราเลิกแล้วยิ่งเป็นสุขมากขึ้น ไปไหนก็สบายๆ ไม่ต้องถือห่อบุหรี่ ไม่ต้องถือเงินไปซื้อบุหรี่สูบ ไม่ต้องลำบากลำบน นี่ถ้าเรามีความเห็นถูกอย่างนี้เสียก่อน ไปวัดทุกวันนี้ก็สบายๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ตะกร้าหมากตะกร้ายาก็ไม่ได้พกไปด้วย

พระเณรไม่ได้สูบบุหรี่ ไม่กินหมาก เรายิ่งสบายหลาย ไม่เหมือนแต่ก่อน ไม่จำเป็นต้องเสียค่าหมากค่าบุหรี่ เราต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะรักษาศีลได้ ในเมื่อเราเห็นว่าการรักษาศีลนี่ การไม่ฆ่ากัน การไม่เบียดเบียนกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบกัน การไม่ขโมยของกัน การไม่ล่วงเกินผัวกันเมียกันลูกกัน การไม่พูดโกหกกัน ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นแตกความสามัคคีกัน การละเว้นจากยาเสพติด มันเป็นสุข มันสบายแล้ว

ศีลที่เรารักษาได้ดีแล้ว เมื่อเราอยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข ไปที่ไหนก็มีแต่คนรักคนหอม ชื่อเสียงอันดีงามก็ย่อมฟุ้งขจรไป เราเข้าสมาคมใดๆ ก็มีความองอาจ มีความกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน ไม่วิปฏิสาร ไม่เดือดร้อน ไม่คิดว่าคนนั้นจะว่าอย่างนั้น คนนี้จะว่าอย่างนี้ เราก็ยังรักษาศีลได้

ญาติโยมทั้งหลาย คนที่ไม่มีศีลนี้ หรือคนที่มีศีลไม่สมบูรณ์ หรือคนที่ทุศีลนี้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ไม่สง่าผ่าเผย ไม่มีความสง่าผ่าเผย มีความสะดุ้ง มีความหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนกับควายสันหลังมันหวะ ตัวมันหวะ แค่ได้ยินเสียงการ้องก็ตื่นตระหนกแล้ว มันเป็นทำนองนี้ ด่าอย่างไร ด่าคนนี่ก็ไม่เจ็บเท่ากับเอาศีลนี้มาด่า

หลวงพ่อเห็นเขาด่ากันตอนอยู่ที่บ้านอีเติ่ง เขาด่าพ่อจารย์คู สำหรับผู้ด่าก็เป็นโยมอุปัฏฐากของหลวงพ่อนี่แหละ คนที่ด่าอาจารย์คูนี่นะ อาจารย์คูนี่ท่านพูดเก่ง พูดได้มากกว่าผู้อื่น พูดอย่างนั้นอย่างนี้เก่งกว่าผู้อื่น ฝ่ายแม่ออก (โยมอุปัฏฐาก) ก็ว่าอยู่คำเดียวเท่านั้นว่า เฮ้ย มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก จารย์คูหน้าไม่มีเลือดเลย ไม่มีเลือดไม่มียางเลย หน้าขาวเลย พูดก็ไม่ออกเลย สักนิดเดียวก็ไม่มี

มึงอย่าพูดมาก บักปาราชิก ด่าอย่างนี้มันเจ็บกว่าอย่างอื่น ด่าพระด่าเณรก็เหมือนกัน ด่าอย่างไรๆ ก็ไม่เจ็บ ถ้าด่าว่า บักพระปาราชิก ห่มผ้าเหลืองเฉยๆ เณรปาราชิกนี้ พระปาราชิกนี้ ถ้าด่าคำนี้ เจ็บกว่าอย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายที่มีศีลแล้ว อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุขใจ คนที่มีศีลแล้วย่อมเป็นที่หลั่งไหลมาของโภคสมบัติทั้งหลายทั้งปวง ดังที่ท่านว่า สีเลนะ โภคะสัมปะทา คือผู้ที่จะมีสมบัติได้ ก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ สุคะติง ยันติ คือ คนที่จะได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้าก็เพราะรักษาศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ คือคนจะถึงพระนิพพานได้ก็เพราะรักษาศีล

ตัสมา สีลัง วิโสธะเย เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด เรามีความเห็นดีเห็นชอบกันเสียแล้ว มีความเห็นถูกเห็นชอบกันเสียแล้ว จึงจะได้รักษาศีล ก็เนื่องมาจากสัมมาทิฏฐิ

ภาวนาสัมมาทิฏฐิ บุคคลจะเจริญภาวนาได้ก็ต้องมีสัมมาทิฏฐิเสียก่อน คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่า การเจริญภาวนานี่ดีหนอ ทำให้จิตใจสบาย ในเมื่อเจริญภาวนาแล้ว กามฉันทะคือ ความกำหนัด หรือพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็ไม่มี ความพยาบาทก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี

จิตใจของเราก็ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่าย ไม่คิดมากเหมือนแต่ก่อน บางทีก็ไม่คิดเสียเลย นั่งสมาธิสงบไปเลย แล้วก็ไม่มีวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยในข้อวัตรปฏิบัติ มีความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย การเจริญภาวนานี่ทำให้มีความสุขใจมาก มีความสบายใจมาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่สามารถเข้าครอบงำจิตใจของเราได้เลย ท่านว่ามันเป็นบุญ เป็นบุญจริงๆ นะนี่

ท่านว่าผู้นั่งสมาธิได้นี่ ผู้เข้าสมาธิได้ในโลกนี้ ท่านว่า ในร่างกายนี้เป็นมนุษย์ธรรมดาๆ แต่จิตใจเป็นพรหมแล้ว มันเข้าถึงพรหมแล้ว เพราะว่าพระพรหมนั้นไม่มีการเสพกาม ไม่มีการบริโภคกาม ไม่ข้องอยู่ในกาม ไม่ยินดีในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลาเราอยู่ในสมาธิ จิตใจมันไม่ข้องอยู่ในกามคุณ มันเป็นสุขจริงๆ

แต่ก่อนนั้น เราหลงชอบคนนั้น หลงชอบคนนี้ จนนอนก็ไม่หลับ นอนหลับไปก็ฝันเห็นหน้า เหมือนว่าเขามานอนอยู่ด้วย เหลียวหน้าแลหลัง มองหาแต่คนที่เรารัก คิดแต่ว่าเขาจะเดินมาหาอยู่เรื่อยๆ นั่งอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย นอนอยู่ก็เหมือนว่าเขาจะมาหาอยู่เรื่อย เหลียวหน้าแลหลังอยู่ตลอดเวลา มันเป็นทุกข์ขนาดนี้

ถ้าไปรักผู้นั้นไปหลงผู้นี้แล้ว มันก็เหมือนไฟสุมแกลบ มันไม่รู้จักหยุดสักที มันยังไหม้อยู่ มันกรุ่นอยู่ในจิตในใจ โยมผู้หญิงก็เหมือนกัน ถ้าเคยไปหลงรักผู้ชาย โยมผู้ชายทั้งหลายที่เคยไปรักผู้หญิง ก็คงรู้ว่ามันเป็นทุกข์

ทำไมจึงว่ามันเป็นทุกข์ ก็เพราะหลวงพ่อก็เคยรักเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มน้อย ยังไม่ได้บวช มีดอกปอ ดอกซ่อน ปลูกไว้ที่บ้าน เวลาดอกไม้บาน ตอนเย็นก็ไปเก็บใส่จานไว้แจกสาวๆ ที่มาขอ สาวคนไหนที่ชอบก็ให้เยอะ คนไหนชอบน้อยก็ให้น้อยๆ ให้ไปแล้วก็ยังไม่จบ ก็ยังนึกถึงเขาอยู่นั่นแหละ

ได้ยินเสียงใครเดินผ่านมา ก็นึกแต่ว่าสาวคนนั้นจะมาหา ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้รักเราหรอก มีแต่เรารักเขา นอนหลับไปก็มีแต่ฝันเห็นแต่เขา ยามออกไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เหมือนกับว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย นั่งเหลียวหน้าแลหลังคิดว่าเขาจะมาอยู่เรื่อย มันเป็นแบบนี้ มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไปหลงรักเขา

ทีนี้ถ้าเราอยู่ในสมาธิ ความรัก ความชังก็ไม่มี ความโกรธก็ไม่มี ความคิดมากก็ไม่มี ความง่วงเหงาหาวนอนก็ไม่มี เราก็คิดได้ทันทีว่า การอยู่ในสมาธิมันเป็นความสุขดีหนอ มันถึงพรหมจริงๆ หนอ ท่านว่า ตายจากชาตินี้ภพนี้ ไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

เราก็ต้องมีความคิดดี มีความเห็นดีเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เริ่มเจริญภาวนา ดังเช่นญาติโยมทั้งหลายที่พากันมาฝึกสมาธิ ก็เพราะดีอย่างนี้ หลวงพ่อจึงให้ฝึกสมาธิ แต่หมายถึงว่าผู้ได้สมาธิแล้วนะ แต่ถ้าไม่ได้สมาธิ เอาคนดิบๆ มาฝึกแล้ว ตายๆ มีแต่ตาย นั่งชั่วโมงหนึ่งก็คิดว่าขาจะขาด เอวเกือบจะขาด ขืนนั่งต่อไปตายแน่ๆ เตรียมบอกให้พ่อแม่เตรียมโลงศพไว้ให้ก่อน หมายถึงว่า เอาคนดิบๆ มานั่ง เมื่อมันยังไม่เป็นสมาธิ มันก็นั่งไม่ได้

เพราะฉะนั้น วันนี้ก็ขอเกริ่นไว้สักเรื่องหนึ่งก่อน สำหรับผู้ที่จะฝึกต่อไปก็ฝึกต่อไป สำหรับผู้ที่มาใหม่ สมาธิยังไม่มาก ก็ให้ฝึก ๓๐ นาที ผู้ได้ ๓๐ นาทีแล้วก็นั่ง ๑ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑ ชั่วโมงแล้วก็นั่งเป็น ๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๒ ชั่วโมงก็เป็น ๓ ชั่วโมง

ผู้ได้ ๓ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๖ ชั่วโมง ครั้งนี้เราก็กระโดดไกลเลย ผู้ได้ ๖ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๑๒ ชั่วโมง ผู้ได้ ๑๒ ชั่วโมงแล้วก็เป็น ๒๔ ชั่วโมง

แต่อย่าลืมว่า การที่เราฝึกสมาธินี้ สมมติว่าเราเคยนั่ง ๓๐ นาทีแล้ว เมื่อเรามานั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอไปถึง ๓๐ นาที ใจของเราหรือจิตของเรามันออกจากสมาธิก่อน เวลามันจะออกจากสมาธิ ก็ทุรนทุรายเหมือนดังจะขี้จะอ้วก ร้อนใจจนใจจะขาด ถ้ามันทนไม่ได้ก็จะออกอย่างเดียว ถ้าอดได้ก็ให้กำหนดต่อ กำหนดต่อไปๆ ภาวนาต่อไปๆ มันก็เข้าสมาธิจิตต่อไปอีก มันก็ได้เต็มอีก ๓๐ นาทีๆ หลังมันก็เลยเต็ม

ทีนี้ ถ้าว่าเรานั่งชุดที่ ๒ หากว่าเรานั่ง ๑ ชั่วโมงได้แล้ว เราผ่านพ้นอุปสรรคได้แล้ว เราสามารถนั่ง ๑ ชั่วโมงได้ ทีนี้ชุดที่ ๒ เราก็นั่ง ๑ ชั่วโมงก็สบาย สงบเงียบไปทั้ง ๑ ชั่วโมงเลย ถ้าผู้ที่เคยฝึก ๑ ชั่วโมงแล้วก็มาฝึก ๒ ชั่วโมง ทีนี้พอถึง ๑ ชั่วโมง จิตใจของเราก็จะออกจากสมาธิเสียก่อน จะทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด แต่เราข่มใจกำหนดต่อไปอีกๆ มันก็เข้าสมาธิไปอีกในชั่วโมงหลัง

ในชั่วโมงหลังนี้มันจะเข้าๆ ออกๆ เดี๋ยวเข้าไปเดี๋ยวออกมา แต่ครั้งหน้านี้เรามานั่งอีก ๒ ชั่วโมงเรียบไปเลย ถ้าสมมติเราไปฝึก ๖ ชั่วโมงนี่ ครั้งแรกเรานั่งได้ ๓ ชั่วโมงแล้ว เมื่อนั่งไปถึง ๓ ชั่วโมงแล้ว จิตใจของเราจะออกจากสมาธิเสียก่อน เมื่อจะออกจากสมาธิแล้ว เราก็ต้องอดต้องทน กำหนดไปๆ เดี๋ยวก็เข้าสมาธิไปอีก มันก็ครบ ๖ ชั่วโมง

ถ้าเราไปฝึก ๑๒ ชั่วโมง เวลาไปถึง ๖ ชั่วโมงที่เราเคยนั่ง มันก็ออกเสียก่อน จิตใจออกมาเสียก่อน พอออกจากสมาธิแล้วมันทุรนทุรายมาก เพราะมันใช้เวลานาน ใจทุรนทุรายเหมือนใจจะขาด เหมือนจะขี้จะเยี่ยวเลย แต่ถ้าเราทนนั่งไปอีก กำหนดไปอีก มันก็เข้าไปอีกแล้วก็สบาย ถึงเวลาก็จะออกมา

การฝึก ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง ๕๐ ชั่วโมง ๗๐ ชั่วโมง ก็ทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น เรากำหนดมันทันใจ เวลามันออกจากสมาธิ อุปมาเหมือนกับว่าเราไปเขมราฐ สมมุติว่าเราเดินไปเขมราฐ พอไปถึงบ้านดอนเย็น เราก็พักให้หายเมื่อยเสียก่อน กินข้าวกินน้ำแล้วจึงไป ไปครั้งหน้าพอไปถึงบ้านดอนเย็นก็อยากพักอีก มันเป็นทำนองนี้

เหมือนเราขี่เกวียนไปถึงกลางทาง เราหยุด ชุดหน้าพอไปถึงกลางทาง เราก็หยุด ชุดต่อไปมีธุระรีบร้อน เรากะว่าจะไม่หยุด เราจะไปเลย วัวมันก็หยุดเอง ถ้าเราพัดมันออกมันก็สลัดออกจากเกวียนเรา ไม่ยอมเทียมเกวียนต่อไป ข้อนี้ฉันใด

ใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับวัวดื้อวัวด้าน ไปถึงที่มันเคยออก เคยเข้าสมาธิ ๑ ชั่วโมง พอถึง ๑ ชั่วโมงมันก็ออกเสียก่อน เราคุมไว้ๆ มันก็จะเข้าไปอีก เราเคยฝึก ๖ ชั่วโมง พอถึง ๖ ชั่วโมงมันก็ออก เราเคยฝึก ๑๒ ชั่วโมง พอถึง ๑๒ ชั่วโมงมันก็ออก เรากำหนดต่อไป มันก็จะเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ก็ขอให้จำไว้ ก็ขอให้พากันฝึกต่อๆ ไป มันก็จะไปถึงจุดหมายปลายทาง

ทีนี้ ในเมื่อเรามีความเห็นดีเห็นชอบว่า การทำสมาธิ การฝึกสมาธินี้ เป็นบุญเป็นอานิสงส์ อยู่ในโลกนี้ก็ทำให้เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกกิเลสครอบงำ ถึงมันไม่ดับก็ตาม กิเลส มันก็ครอบงำจิตใจของเราไม่ได้ เมื่อจุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก เราจึงจะได้เจริญสมถภาวนา จึงจะได้เจริญสมาธิต่อไป

วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูกเห็นชอบว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนานี่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ให้ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เราก็ต้องมีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้เสียก่อน จึงจะได้เจริญวิปัสสนาภาวนาได้ ถ้าเราไม่มีความเห็นถูกเห็นชอบอย่างนี้ เราก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้

ตลอดถึงการทำมาค้าขายเหมือนกัน การปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร การทำไร่ทำนา ทำสวนครัว ปลูกหมากอึ (ฟักทอง) หมากแตง(แตงกวา) บักหุ่ง (มะละกอ) ตะไคร้ แมงลัก หัวข่า หัวขิง อะไรก็ตาม เราก็ต้องมีความเห็นดีเห็นชอบเสียก่อน เราจึงจะปลูกหรือทำสวนเราได้ ตลอดถึงเราจะกินว่านกินยา เราก็ต้องรู้ว่ายาที่กินแล้วนี่จะถูกโรคถูกพยาธิ เราจึงจะกินว่านกินยา ถ้าเราคิดว่ามันไม่ถูกโรคถูกพยาธิ เราก็ไม่ยอมกิน

สรุปสั้นๆ ว่า ญาติโยมทั้งหลาย คนเราจะพ้นจากความทุกข์ทั้งทางโลกก็ดี ทั้งทางธรรมก็ดี หรือว่าจะพ้นจากทุกข์ทั้งทางกายก็ดี ทางใจก็ดี ก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูก เห็นดี เห็นชอบเสียก่อนแล้ว เราจึงจะได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐินี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งที่พาให้พ้นทุกข์ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสว่า สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพทุกฺขา อปจฺจคา การสมาทานสัมมาทิฏฐิ เป็นเหตุให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ขอให้ญาติโยมพยายามปรับใจให้ดี พยายามให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ตลอดเวลา

เอาล่ะ เท่าที่หลวงพ่อได้นำเรื่อง สัมมาทิฏฐิ มาบรรยายให้ฟังเพื่อเป็นแนวการประพฤติปฏิบัติ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 กรกฎาคม 2562 10:47:10

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRk_f4Mm9EXtPPES0W8P1ZfWf6AWOWKSgplU_X2D8DfcUs165mDmQ)

การเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ (เหตุทำให้อายุยืน)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

หลวงพ่อคิดว่า ท่านทั้งหลายสดับรับฟังเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติไปพอสมควรแล้ว ธรรมะเกี่ยวกับวิปัสสนากัมมัฏฐานก็จะไม่พูดถึง แต่ขอชี้แนะแนวทางธรรมะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินเวลาการปฏิบัติมา ๒ พรรษากับพรรษานี้ คือ ธรรมะอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อายุยืน ดังที่พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ผู้ใดเจริญให้ยิ่งด้วยอิทธิบาทภาวนาแล้ว แม้มีความประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ยิ่งๆ ก็สามารถที่จะทำได้ คือทรงสอนพระอานนท์เรื่องการเจริญอิทธิบาทภาวนา

          ท่านทั้งหลายคงพอจะรู้ว่า วันที่จะเกิดแผ่นดินไหว เพราะเหตุอันใด พระองค์ก็ทรงชี้แจงให้รู้ว่า แต่นี้ต่อไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพานที่ต้นสาละทั้งคู่ เมืองกุสินารา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยอยากให้พระองค์มีพระชนมายุยาวนาน เพื่อโปรดแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ก็ไม่รับอาราธนา

          พระองค์ทรงชี้แจงให้พระอานนท์ทราบว่า ดูกรอานนท์ อีก ๓ เดือนนี้ ตถาคตจะปรินิพพาน หากจะอยู่อีกถึง ๑ กัป พระองค์ก็สามารถที่จะอยู่ได้ สมัยครั้งพุทธกาลถือว่า ๑ กัป คือ ๑๐๐ ปี สมัยนี้ ๑ กัปถือเอา ๗๕ ปี โดยประมาณ เหตุที่จะทำให้อายุยืนยาวนั้น พระองค์ทรงให้น้อมนำเอาอิทธิบาท ๔ มาเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ คือ

          ๑.    ฉันทาภิสังขาร มีความพอใจอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๒.    วิริยาภิสังขาร มีความเพียรอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๓.    จิตตาภิสังขาร มีความตั้งใจอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          ๔.    วิมังสาภิสังขาร มีความฉลาดอย่างยิ่งในการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ

          การเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ถือเอาสิ่งไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย มาบริกรรม ในโลกนี้อะไรที่ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย สรุปลงอยู่ ๒ประการ คือ

          ๑.    จิตใจของเรา ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย เช่นสามารถไปอเมริกาได้ โดยไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย

          ๒.    นิพพานนั้นก็ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย

          เหตุนั้น เราจะเจริญธรรมะบทนี้ เราก็เอาสิ่งไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมายมาบริกรรม จนสามารถทำจิตใจให้ตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิ ถ้าเราสามารถทำได้อย่างนี้ อายุของเราก็จะยั่งยืนไปตามลำดับๆ

          หากว่าร่างกายหรือสังขารของเรานี้ไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ สมมติว่าร่างกายของเรานี้มีพลังอยู่ได้ประมาณ ๖๕ ปีอย่างนี้ เราจะพยายามใช้ส่วนที่เหลือนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เราก็เพิ่มบารมีด้วยการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ อาจจะอยู่ได้สัก ๗๐ ปี หรือ ๗๕ ปี

          วิธีเจริญนั้น ญาติโยมทั้งหลาย ก่อนที่เราจะเจริญก็ให้สมาทานพระกัมมัฏฐาน แล้วก็อธิษฐานว่า

          สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปในอนิมิตตเจโตสมาธิ เป็นเวลา ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงก็แล้วแต่ โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายจงหายไป มีอายุอยู่ชั่วกัปหนึ่งหรือยิ่งกว่า

          เราก็นั่งภาวนา เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย กายตั้งตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดลมหายใจที่จมูกก็ได้ ท้องพองยุบก็ได้ ภาวนาว่า จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตังๆ ไปเรื่อยๆ คือ จิต นิพพาน ไม่มีนิมิตๆ เราภาวนาไปเรื่อยๆ จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นฌาน

          ถ้าเราทำสมาธิขณะที่เป็นฌานนี้ อายุของเราจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมันหมดพลังทุกอณู ทุกเซลล์ เมื่อมันหมดสภาพแล้ว อาการเกิดดับของจิตใจเราหมดสภาพ จะเกิดอีกต่อไปไม่ได้ สมมติจะตายภายใน ๗๐ ปี แต่สมองและร่างกายจิตใจมันยังพอไปไหวอยู่ และการเจริญพระกัมมัฏฐานดำเนินก้าวหน้า ทำให้สำเร็จอัปปนาสมาธิ ก็จะสามารถมีอายุยืน ๗๐-๘๐ ปี หรือมากกว่า

          สรุปว่า การเจริญกัมมัฏฐานบทนี้ ให้เราสมาทานกัมมัฏฐาน เสร็จแล้วอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปในอนิมิตตเจโตสมาธิ เป็นเวลา ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมงก็แล้วแต่ ตอนนี้ขอให้โรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่ในร่างกายหายไป เสื่อมไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน อย่าให้เกิดขึ้นมาใหม่ ให้มีอายุยืนชั่วกัปหนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปหนึ่ง

          ให้ภาวนาไป จะนั่งภาวนาก็ได้ นอนภาวนาก็ได้ ภาวนาว่า จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตัง จนสามารถทำจิตให้สงบเป็นอัปปนาสมาธิ จนขาดความรู้สึกไป

          ทีนี้ ถ้าเวลานอน เราจะลุกตี ๓ ตี ๔ ก็อธิษฐานจิตซะก่อนว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปจนถึงตี ๔ พร้อมกันนี้ ขอให้โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายที่มีอยู่ ขอให้หายไป สิ้นไป เสื่อมไป สูญไปจากขันธสันดาน อย่าได้กลับมาเป็นอีก และให้มีอายุยืน ๑ กัป หรือเกินกว่ากัปหนึ่ง แล้วก็ภาวนา จิตตัง นิพพานัง อนิมิตตัง ต่อไปจนถึงตี ๔ นั่นแหละจึงจะลุก

          อันนี้เป็นหัวข้อที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เวลานอนก็ขอให้ภาวนา รู้สึกตัวขึ้นมาก็ภาวนาต่อ มันหลับไปอีก รู้สึกตัวขึ้นมาก็ภาวนาต่อไปจนกว่าจะได้เวลาที่อธิษฐานไว้ จึงออก หากว่าทำให้ยิ่ง เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์แล้ว จะมีอายุยืนอยู่ชั่วกัปหนึ่ง หรือยิ่งกว่ากัปหนึ่ง

          อันนี้หลวงพ่อได้น้อมนำมาปฏิบัติ และได้แนะนำลูกศิษย์ลูกหาเป็นเวลา ๒ ปี สมัยนั้นโยมบางคนคิดว่าจะตายเร็ว ก็ยังไม่ตาย โยมบางคนหมอบอกว่าจะตายภายใน ๗ วัน ทุกวันนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ยังอยู่ได้อีก ๔ เดือน ๕ เดือนก็มี บางคนเป็นอัมพาต หลวงพ่อก็แนะนำพร่ำสอนให้เจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ไปบิณฑบาตเห็นโยมลุกขึ้นมา เดินมาใส่บาตร ยังไม่ตาย โยมจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ได้ประโยชน์และให้ผลทันตาเห็น

          ไม่ใช่ธรรมะอันใดอื่น เป็นธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ในพระไตรปิฎก นำมาแนะนำพร่ำสอนญาติโยมทั้งหลาย จะได้มีอุปการะแก่พระศาสนาไปได้มากกว่านี้ และจะได้สร้างบารมีเพื่อให้เป็นบุญกุศลไปให้มากกว่านี้

          เพราะว่า ไม่อยากให้ใครตายง่ายๆ อยากให้อยู่นานๆ เพราะฉะนั้น ในหน้าพรรษา หลวงพ่อจะอธิษฐานว่า ตั้งแต่ภายในหน้าพรรษานี้ ห้ามใครตายเป็นอันขาด ขอให้อยู่ด้วยกันก่อน ทุกๆ ปีที่ผ่านมา หลวงพ่อก็ว่าอย่างนี้ ส่วนมากก็อยู่ด้วยกันถึงตลอดพรรษา ไม่ตายก่อน

          เอาละ ญาติโยมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อได้แนะนำแนวทางของการปฏิบัติ เรื่องการเจริญอนิมิตตเจโตสมาธิ ก็คิดว่าพอจะเป็นแนวทางของการปฏิบัติได้แล้ว ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 26 กรกฎาคม 2562 09:58:36

(https://www.globall.ro/media/catalog/product/cache/1/small_image/300x300/9df78eab33525d08d6e5fb8d27136e95/t/r/triplast-9463_1.jpg)

กวนข้าวทิพย์
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย…

          เมื่อต้องการอยากให้ข้าวนั้นเป็นของดีมีคุณภาพ เราจึงประกอบพิธีขึ้นมา นิมนต์พระสงฆ์มาร้อยกว่ารูปมาเจริญพระพุทธมนต์ ก็เพื่อต้องการอยากได้ของที่ดี อยากได้แต่พี่น้องที่เป็นคนดี อยากได้อุบาสกอุบาสิกาที่ดี ที่มีคุณภาพ คือมีศีล ๘ ประการ

          เมื่อเราทั้งหลายต่างก็ดีกันทุกคน ญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา ก็มีศีล ๘ ประการ นี่ก็ถือว่าเป็นคนดีทุกคน พระสงฆ์องค์เณรก็มีศีลบริสุทธิ์ เพราะปลงอาบัติ สัพพา ตา… สมาทานศีล ก็ถือว่าเป็นพระเป็นเณรที่ดีแล้ว ญาติโยมทั้งหลายก็มาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ แล้วก็สมาทานศีล ๘ ประการ ก็ล้วนแต่เป็นคนดีทั้งนั้น ไม่มีคนผู้ใดผู้หนึ่งเลยที่เป็นคนไม่ดี

         พวกเราทั้งหลายดีกันทุกคน พระสงฆ์องค์เณร ปะขาวแม่ชีก็ดี อุบาสกอุบาสิกาก็ดี ล้วนแต่เป็นคนดีกันทุกคน เมื่อต่างคนต่างก็ต้องการอะไรที่ดีๆเหมือนกัน ดังนั้น เราก็พร้อมเพรียงกันประกอบยัญวิธีกวนข้าวทิพย์

          ข้าวทิพย์ที่มากวนนั้นก็เป็นของดี พวกน้ำตาล น้ำอ้อย หรือข้าวเม่า ข้าวอะไรๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่หามา ล้วนแต่หาของดีๆมา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ลักขโมยมา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องทุกสิ่งทุกอย่าง

          สรุปแล้วว่า ข้าวของอุปกรณ์ที่เอามากวนข้าวทิพย์นี้ ก็ล้วนเป็นของดีๆ ผู้ที่มากวนข้าวทิพย์ก็เป็นคนดี เหตุนั้น ข้าวทิพย์ก็จะเป็นของดีไปด้วย พวกเราทั้งหลายมีแต่คนดีๆ เมื่อคนดีๆทำของอะไรๆ มันก็เป็นของดี

          ที่หลวงพ่อกล่าวก่อนกวนข้าวทิพย์ทุกปีๆว่า พิธีกรรมที่จะทำ เราใช้สมาธิเป็นเกณฑ์ นอกจากมีศีลเป็นพื้นฐานแล้วก็ต้องมีสมาธิเป็นเกณฑ์ คือเราทั้งหลายทำพิธีกรรมเจริญพระพุทธมนต์ สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ สวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

          ก็ในขณะที่สวด บางท่านก็นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ บางท่านก็สวดพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ทำจิตใจให้สงบ ตกลงผู้สวดก็เป็นผู้มีจิตใจสงบ ผู้นั่งสมาธิก็มีใจสงบ เมื่อต่างท่านต่างมีสมาธิแล้ว สมาธินั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยยกฐานะจิตใจของเราให้ดีขึ้น

          บางท่านที่เป็นผู้สวด อาจจะได้สมาธิในขั้นบริกรรมสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือบางท่านจิตใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ สำหรับผู้ที่นั่งสมาธิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ คือได้สมาธิเป็นสมาธิขั้นสูง เป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธินั้นก็ทำพิธีกรรมให้พิเศษขึ้นมา คือเป็นพิธีกรรมที่เสกจิตเสกใจของเรา ให้เป็นจิตใจที่หนักแน่นมั่นคง เป็นสมาธิ เป็นฌาน

          เมื่อจิตใจของเราเป็นสมาธิเป็นฌานแล้ว จิตใจนั้นก็ก้าวล่วงจากปุถุชนคนธรรมดา แล้วจิตใจนั้นก็เป็นพรหมขึ้นมา หมายความว่า ในขณะที่เราสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณอยู่นี้ จิตใจของเรามันก้าวพ้นจากความเป็นคนธรรมดามาเป็นมนุษย์ ออกจากมนุษย์แล้วก็มาเป็นพรหม

          เพราะเหตุไร

          เพราะว่าจิตใจของเราเป็นพรหม จิตใจที่เป็นสมาธิก็คือจิตใจที่เป็นพรหม นั่นมันสูงขึ้นมาแล้ว จิตใจของเราเป็นพรหมแล้ว แม้ร่างกายของเราเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นพรหมแล้ว

          เมื่อจิตใจเป็นพรหมแล้ว จิตใจของเรามันสูงขึ้นๆไปตามลำดับๆ จนเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (เมื่อนั้น) จิตใจดวงนี้ก็พ้นจากความเป็นมนุษย์ พ้นจากความเป็นพรหม แล้วก็เข้าถึงความเป็นอริยะ อาจจะเป็นพระโสดาบัน หรือสกทาคามี แล้วแต่บุญวาสนาบารมีของเรา

          เมื่อเราทั้งหลายมาทำพิธีกวนข้าวทิพย์ในวันนี้ ก็คือเรามาทำจิตทำใจของเรานั้นให้เป็นทิพย์ ให้เป็นพรหม ให้เป็นพระอริยะ ถือว่าฐานะความเป็นอยู่ของเราสูงขึ้น

          สำหรับข้าวทิพย์ที่เรากวนเราประกอบกันอยู่ในขณะนี้ เป็นของที่ดี เป็นของที่เลิศ เป็นของที่ประเสริฐ สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราไม่คิดให้ลึกซึ้ง เราก็จะคิดว่ามันก็เป็นของธรรมดา แต่ถ้าเราคิดให้ซึ้งๆ ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล………
 .


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 สิงหาคม 2562 17:24:34

(http://www.tddf.or.th/system/image.php?src=/images/upload/2017-06-26-725-0-60-06-26-12.jpg&w=400&h=267)

การปฏิบัติพระกรรมฐาน
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ขอเรียนท่านพระอาจารย์เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมบ้านคอนสายทรายมูล หลวงพ่อรู้สึกซาบซึ้งยินดี ปีติ และตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาทำงานถวายท่านพระอาจารย์และญาติโยมทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรม

          วันนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้มาโปรดญาติโยมทั้งหลาย แต่ที่จริง บ้านคอนสายทรายมูลเป็นที่ที่หลวงพ่อไปๆ มาๆ อยู่เดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนโน้นก็มาสอนกัมมัฏฐานอยู่ที่วัดกุดน้ำเที่ยง หลวงปู่เกษม มาสอนวิชาปฏิบัติธรรมพระกัมมัฏฐานอยู่ที่นั้น ๓ ครั้ง คือ ๓ ปี แต่ไม่รู้ ไม่ทราบว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่สัปปายะ น่าอยู่น่าอาศัย น่าที่จะเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

          มาเห็นครั้งแรก มาเห็นที่นี้ ภูมิใจดีใจว่า เรานี้คงมีวาสนาน้อย จึงไม่เห็นสถานที่แห่งนี้ ถ้าเมื่อก่อนหลวงพ่อได้เห็นสถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อจะตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม หรือเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม สอนทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ทั้งปริยัติ แต่บุญน้อยเลยสู้พระอาจารย์ไม่ได้ พระอาจารย์ท่านคงเคยสร้างสมอบรมบารมีมา จึงได้มาอยู่สถานที่นี้

          วันนี้มาแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ที่ได้มาทำงานเพื่อเป็นการโสรจสรงองค์ศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกา ที่มีปสาทะศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้พร้อมเพรียงกันมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ท่านทั้งหลายคงจะรู้คงจะทราบว่า การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร การปฏิบัตินั้นจะได้ผลอย่างไร อะไรทำนองนี้ เราได้เรียนมาพอสมควร และได้ปฏิบัติมาพอสมควรแล้ว เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อเพียงแต่จะมาชี้แนะแนวทางของการปฏิบัติบางสิ่งบางประการ เพื่อเหมาะแก่เวลา

          การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ปกติคณะครูบาอาจารย์ที่สอนการเจริญพระกัมมัฏฐาน ท่านจะสอนทั้งสมถะ สอนทั้งวิปัสสนา ส่วนมากจะเป็นอย่างนี้ บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นวิปัสสนา บางอาจารย์ก็สอนเฉพาะที่เป็นสมถะ แต่สำหรับหลวงพ่อ สอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้มีบุญวาสนาบารมีที่ได้สั่งสมอบรมมาแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้าอยู่ในสายงานของหลวงพ่อ ผู้ปฏิบัติจะได้ทั้งสมถะได้ทั้งวิปัสสนา

          คำว่า ได้สมถะ ก็หมายความว่า ผู้ที่มาปฏิบัติ หากว่าได้เคยสั่งสมอบรมบารมีในทางสมถะ คือให้ทานมามาก และเจริญสมถะมามาก เมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเราสงบแล้ว สามารถข่มนิวรณ์ธรรมได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราบริสุทธิ์ ประณีต สามารถข่มนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา ลงได้แล้ว

          (เมื่อข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ลงได้แล้ว) ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด(องค์ฌานคือ) วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อจิตใจของเราได้ปีติ สุข เอกัคคตาแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิได้ฌาน สามารถที่จะข่มจิตข่มใจทำจิตทำใจให้ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน นี่สำหรับผู้เจริญสมถะมามาก หรือผู้ที่ให้ทานรักษาศีลมามาก จะได้ผลเป็นอย่างนี้

แต่สำหรับผู้มีวาสนาบารมี ที่ได้สร้างสมอบรมมาในทางวิปัสสนา คือเมื่อก่อนโน้นเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว เมื่อจิตใจสงบแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ สามารถที่จะทำจิตใจของตัวเองให้แน่วแน่ จนสามารถเกิดพลังเกิดอานุภาพ ทำให้เกิดสมรรถนะสูง สามารถทำจิตทำใจให้ตั้งมั่นอยู่ในแนวทางของการปฏิบัติ

          เมื่อสมาธิเกิดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เห็นอนิจจัง คือเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เห็นทุกขัง คือเห็นสภาวธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้

          เห็นอนัตตา คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป

          เมื่อเจริญวิปัสสนามาดังนี้แล้ว ก็จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นพระไตรลักษณ์ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือได้เฉพาะทางที่เป็นวิปัสสนา

          แต่ในสำนักที่หลวงพ่อสอนอยู่ หลวงพ่อเอาทั้งสองอย่าง คือสอนทั้งสมถะสอนทั้งวิปัสสนา ผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางสมถะ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สมาธิ ได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ผู้นั้นก็จะได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ตามบุญญาธิการที่ได้สร้างสมอบรมมา

          เหตุนั้น ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็เป็นอันสรุปว่า เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เราเอาทั้ง ๒ อย่าง คือเอาทั้งสมถะ เอาทั้งวิปัสสนา อย่างไหนแก่กล้า หรือเราเคยสั่งสมอบรมบารมีมาทางไหนก็เอาทางนั้น คือเหมือนกับว่าเราเกิดมาแล้วอยากได้ทรัพย์สินวัตถุสิ่งของเงินทองนานัปการ

          ก็สิ่งของทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้ สรุปลงว่า สิ่งที่คนเราอยากได้ที่สุด ก็คืออยากได้เงินอยากได้ทอง คนเกิดขึ้นมาแล้ว ก็อยากได้ทั้งเงิน อยากได้ทั้งทอง ไม่มีใครที่ไหนจะเอาแต่เงินอย่างเดียว และก็ไม่มีใครที่จะเอาแต่ทองอย่างเดียว ต้องเอาทั้งสองอย่าง ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่ได้เคยสร้างสมอบรมมา จะได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนานั้น เป็นของที่เราบังคับบัญชาไม่ได้ ว่าเออ เรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราเจริญสมถะ เราจะให้ได้ฌาน หรือว่าเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ เราไม่เอาละสมถะ ไม่เอาฌาน เราจะเอามรรคเอาผล เพื่อทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เป็นของที่บังคับบัญชาไม่ได้ หรือว่าเป็นของที่เราจะปฏิบัติให้ได้ตามใจของเรานั้นไม่ได้ ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่เราได้สร้างสมอบรมมา

          ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลแล้วก็เจริญสมถะมาก่อน ผู้นั้นก็จะได้สมถะได้ฌาน แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือว่าเมื่อก่อนโน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ทั้งวิปัสสนา คือได้มรรคได้ผล สามารถที่จะทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดาน

          สำหรับแนวทางการปฏิบัติ ส่วนมากครูบาอาจารย์ได้ดำเนินตามหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แล้วก็ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานใดๆ ทั้งสิ้น

          สติปัฏฐาน ๔ นั้น เมื่อพูดสรุปลงให้พอเหมาะแก่พวกเราทั้งหลายผู้มีเวลาน้อย ก็คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ คือร่างกายของเรานี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้า มันมีของสองอย่างเท่านั้นคือ ๑.มีกาย ๒.มีใจ ท่านทั้งหลายก็คิดดูว่า ร่างกายอันยาววาหนาคืบนี้ เมื่อสรุปลงมา ก็มีแค่กายกับใจ

          เหตุนั้น เมื่อเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราก็เจริญที่กายที่ใจ เราก็ดูที่กายที่ใจของเรา เมื่อเราดูกายดูใจของเราให้ดีแล้ว และก็ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ในสิ่งที่เราต้องการปรารถนา หรือได้ในสิ่งที่เราได้สั่งสมอบรมมา จะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา ก็แล้วแต่บุญกรรมที่ได้สร้างสมอบรมมา

          ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ หลวงพ่อ สมัยนี้ล่วงเลยมาตั้ง ๒ พันกว่าปีแล้ว จะมีผู้ที่ได้ฌาน ได้มรรคได้ผล ได้นิพพานอยู่หรือ ส่วนมากพวกเราทั้งหลาย ผู้ที่ได้ศึกษาน้อย หรือผู้ที่วิ่งตามกระแสโลกที่เขาพูดกัน กระแสของโลกเขาว่า สมัยนี้ไม่มีมรรคผลนิพพานดอก หรือว่าสมัยนี้ไม่มีผู้ที่จะได้ฌานได้สมาบัติดอก อะไรทำนองนี้ เพราะว่ามีความรู้น้อย มีความฉลาดน้อย ศึกษามาน้อย ก็จะวิ่งตามกระแสของสังคม

          แต่ถ้าผู้มีสติปัญญาใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ก็ถือว่า เออ สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานได้มรรคได้ผลอยู่ อย่างนี้ก็มี การที่จะตัดสินใจว่า สมัยนี้ยังมีผู้ได้ฌานอยู่หรือ ยังมีผู้ได้มรรคได้ผลอยู่หรือ สมัยนี้ยังมีพระอริยบุคคลอยู่หรือ ก็ไม่สามารถจะตัดสินใจได้

          เมื่อตัดสินใจไม่ได้ ท่านทั้งหลายก็พยายามทำจิตใจให้เป็นกลาง ไม่รับและไม่ปฏิเสธ คือไม่ปลงใจเชื่อว่ามันมีอยู่หรือไม่มี ก็ทำจิตใจเป็นกลางๆ นี่คนเราผู้ปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรท่านทั้งหลาย ผลของการปฏิบัตินั้นยังมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าบริษัททั้ง ๔ หรือถ้าผู้ใดยังปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการอยู่ เมื่อนั้น โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์

          ก็หมายความว่า พระศาสนาจะไม่ว่างจากพระอริยบุคคล ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งท่านทั้งหลายได้เรียนมาแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามปฏิปทาของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ผู้นั้นย่อมจะได้ฌาน ได้มรรคได้ผลอยู่ ข้อนี้ก็ขอยกจากหลักฐานที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ภาคที่ ๓ ว่า

          พันปีที่ ๑ ปฏิสมฺภิทปฺปตฺเตหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือในช่วง ๑ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้นั้นก็จะสามารถได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือแตกฉานในอรรถ ในธรรม ในปฏิภาณ ในภาษา

          พันปีที่ ๒ ฉฬภิญฺเฐหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ คือพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๒ พันปีแล้ว ในช่วง ๒ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน หากว่าผู้นั้นเคยสร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว ก็สามารถที่จะได้อภิญญาทั้ง ๖ ประการ คือได้หูทิพย์ ตาทิพย์ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ แล้วก็สามารถทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๓ เตวิชฺเชหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๓ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้ได้วิชชา ๓ คือผู้ได้สร้างสมอบรมบารมีมาก่อนแล้ว คือหากว่าได้เจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน ก็สามารถที่จะได้วิชชา ๓ ประการ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกรู้ชาติในหนหลังได้จุตูปปาตญาณ รู้จักการเกิดการตายของบุคคลอื่นและสัตว์อื่น อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไปจากขันธสันดาน

          พันปีที่ ๔ สุกฺขวิปสฺสเกหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ เป็นยุคของพระอรหันต์ผู้สุกขวิปัสสก คือเมื่อพระศาสนาล่วงเลยมาถึง ๔ พันปี ในช่วง ๔ พันปีนี้ ถ้าผู้ใดมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่จะได้ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และวิชชา ๓ ไม่สามารถที่จะให้เกิดขึ้นได้ เป็นแต่เพียงสามารถทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลายทั้งปวง คือบรรลุโดยแห้งแล้ง ไม่สามารถที่จะได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา เป็นแต่เพียงว่า สามารถทำให้จิตใจหมดจากกิเลสตัณหา ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

          พันปีที่ ๕ ปาฏิโมกฺเขหิ วสฺสสหสฺสํ อฏฺฐาสิ พันปีที่ ๕ นี้ เป็นยุคของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ไม่มีใครสามารถที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าจะทำความเพียรด้วยเรี่ยวแรงสักปานใดก็ตาม ก็จะได้บรรลุเฉพาะทั้งสามประการเบื้องต้นเท่านั้น คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล, สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล, อนาคามิมรรค อนาคามิผล ได้เพียงเท่านี้

          ท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์สุมังคลวิสาลินี อัฏฐกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ท่านกล่าวไว้อย่างนี้

          แต่ทุกวันนี้ ประชาชนคนไทยเราหรือต่างชาติจะเห็นว่าเป็นสมัยที่ไม่มีพระอริยบุคคล สมัยนี้ไม่มีผู้ใดที่จะได้ฌาน คิดกันอย่างนี้ แล้วก็เชื่อปรัมปราไปอย่างนี้ ก็เลยโมเมขึ้นว่า สมัยนี้ไม่มีพระอริยบุคคลดอก ไม่มีใครที่จะได้ฌาน ไม่มีใครที่ปฏิบัติจนได้มรรคได้ผล ส่วนมากเราเชื่อตามนิทานปรัมปราที่ท่านครูบาอาจารย์เขียนไว้ที่โน้นบ้าง เขียนไว้ที่นี้บ้าง เขียนหนังสือไว้บ้าง

          หรือว่าเขียนไว้ในหนังสือสุบินนิมิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า พระศาสนาล่วงไปเท่านั้นๆ แล้วเป็นอย่างนั้นๆ เราก็เชื่อเขา คือเป็นความเชื่อที่ปฏิเสธเหตุผล เป็นความเชื่อที่ขาดปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่มั่นใจในแนวทางของการปฏิบัติ แต่ท่านทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่มั่นใจว่ามีหรือไม่มี ฌานก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี ถ้าหากว่า ท่านทั้งหลายยังไม่เชื่อ ยังไม่มั่นใจ

          ท่านทั้งหลาย สมัยนี้ครูบาอาจารย์รุ่นทวดรุ่นปู่ของเรา แล้วก็รุ่นพ่อของเรา ท่านได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนพวกเราทั้งหลาย และพวกเราเป็นผู้เกิดมาภายหลัง เราก็อนุวัตตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียน หรือดูประวัติของครูบาอาจารย์ว่ามันมีหรือไม่มี ถ้าเราใคร่ครวญตริตรองพิจารณา ใช้ปัญญาตริตรองพิจารณา ก็สามารถที่จะรู้ได้

          เรื่องนี้ เพื่อเป็นการแก้ความสงสัย หลวงพ่อจะขอยกหลักฐานที่หลวงพ่อได้สอนพระกัมมัฏฐานมา ไม่นับรวมเวลาที่หลวงพ่อปฏิบัติเอง นับแต่เริ่มสอนมาปี พ.ศ.๒๕๑๔ จนถึงบัดนี้ ก็พอที่จะทราบได้ว่า มรรคผลนั้นมีอยู่ ผู้ที่ได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผลนั้นมีอยู่

          เพราะเหตุไร เพราะอาศัยหลักที่ครูบาอาจารย์นั้นสอนไว้ แล้วก็นำมาสอนลูกศิษย์ลูกหา ลูกศิษย์ลูกหาที่มาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ได้ฌานสามารถเข้าสมาธิได้ถึง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมง หรือ ๓๐ ชั่วโมง สามารถทำได้ ในวัดที่หลวงพ่อสอนมา จะเป็นอย่างนี้

          สมมติว่าได้สมาธิ ๒๔ ชั่วโมง ก็หมายความว่านั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิอยู่อย่างนี้ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน ปฏิบัติไปๆ จิตของเราก็ดิ่งเข้าๆ เข้าสมาธิไป เข้าฌานไป ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยินเสียง ลมหายใจเข้าลมหายใจออกไม่มี นั่งอยู่อย่างนี้เหมือนพระพุทธรูป นั่งอยู่อย่างนี้ ๒๔ ชั่วโมง ๓๐ ชั่วโมง เท่าที่หลวงพ่อสอนมา แต่หลักฐานที่ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมาก่อน ถึง ๗๒ ชั่วโมง คือ ๓ วัน ๓ คืนก็มี นี่ตามที่หลวงพ่อได้ศึกษามา

          แต่ที่หลวงพ่อสอนลูกศิษย์ลูกหาออกตนญาติโยมทุกวันนี้ อย่างมากหลวงพ่อฝึกให้ได้เพียง ๓๐ ชั่วโมง เพราะว่า ๓๐ ชั่วโมงนี้ก็เหลือกินแล้ว เพราะว่าอานิสงส์ของการได้สมาธิได้ฌานนั้น แม้เพียง ๑ นาที ถ้าตายปั๊บ เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อตายในฌาน ตายแล้วจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ จะไปเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน

          นี่หลวงพ่อทุกวันนี้ก็ยังสอนอยู่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เหมือนกับที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติอยู่นี้ ในช่วงฤดูหนาวนี้ ในสถานที่หลวงพ่อไปสอนอยู่ ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติจะได้ฌาน ท่านทั้งหลายก็คงเคยไปปฏิบัติในวัดที่ผ่านๆ มา วัดที่หลวงพ่อมาสอนอยู่ ๓ ปี ชื่อวัดพันสูง ผู้ที่มาปฏิบัติได้สมาธิได้ฌานนั้น ท่านที่นั่งรวมอยู่นี้ก็คงมี

          เป็นอันสรุปได้ว่า เรื่องได้สมาธิได้ฌานนี้ หลวงพ่อขอเอาคอประกันว่า สมัยนี้ ผู้ได้ฌานได้สมาบัติยังมีอยู่ เรามาทดลองหรือทดสอบอย่างไรว่า สมัยนี้ผู้ได้ฌานยังมีอยู่หรือ หลวงพ่อก็เอามาปฏิบัติแล้วก็เอามาทดสอบพิสูจน์ ให้โยมมานั่งสมาธิอย่างนี้แหละ นั่งสมาธิเอาผ้าขาว ๖ ชั้นมามัดตา แล้วก็เอาหนังสือวางไว้ตรงหน้า แล้วให้อ่านหนังสือ หลับตาอ่านหนังสือก็สามารถทำได้ จนได้อัดเป็น วีดีโอซีดี ส่งไปต่างประเทศ ซึ่งปีนี้ทางวัดได้ส่งไป ๒๐
 ประเทศส่ง วีซีดี ชุดนี้ไป เป็นอันว่าสมาธิคือฌานยังมีอยู่

          สมัยหนึ่งที่หลวงพ่อจัดงานปฏิบัติธรรมฤดูหนาวนี้ มีสามเณรจำนวน ๗๓ รูปมาปฏิบัติ ในขณะที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะให้ฟังอยู่นี้ ลูกเณรทั้งหลาย ก็ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอไปๆ ๓๐ นาทีเศษๆ ก็หยุดบรรยายธรรม เมื่อหยุดบรรยายเสร็จแล้วก็ไปดูสามเณร ที่ไหนได้ท่านทั้งหลาย สามเณร ๓๐ รูปนั้นได้เข้าสมาธิไปหมดแล้ว

          ต่อจากนั้นมาก็ฝึกมาตามลำดับๆ ปีนั้น ปฏิบัติธรรมอยู่หนึ่งเดือน มีสามเณรสามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้เกือบหมด ๑๐ รูปเท่านั้นที่ไม่ได้ เหลือจากนั้นเข้าสมาธิเข้าฌานได้หมด อันนี้เป็นหลักฐานที่ปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้

          ก็ขอปรับความเข้าใจของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายว่า สมัยนี้สมาธิหรือฌานนั้นยังมีอยู่ เหตุนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้ ท่านทั้งหลายก็สามารถที่จะทำได้

          อีกประการหนึ่ง หากว่าผู้ใดได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน คือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คือจะมีสติสัมปชัญญะ มีสติแก่กล้าสามารถเห็นรูปเห็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้ว ก็สามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

          เมื่อใดเราเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น ก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วจะไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะในขณะที่เมื่อมัคคจิตผลจิตเกิดขึ้นแก่เราเพียง ๑ ขณะจิตเท่านั้น ก็ถือว่าอย่างน้อยเราก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นปฐมมรรคแล้ว คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเราได้สำเร็จแม้เพียงพระโสดาบันก็สามารถปิดประตูอบายภูมิได้แล้ว ตายแล้วไม่ได้ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

          เพราะอะไร

          เพราะมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว เมื่อมีพระนิพพานเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายแล้วไม่จมลงสู่อบายภูมิ เหมือนกันกับเรามีเรือรองรับ ตอนที่เรากระโดดน้ำลงไป เราไปค้างอยู่ในเรือ เมื่อค้างอยู่ในเรือเราก็ไม่จมไปอยู่ในน้ำ เพราะมีเรือเป็นเครื่องรองรับ ข้อนี้ฉันใด

          พวกเราประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อมีพระนิพพานมาเป็นเครื่องรองรับแล้ว ตายไปแล้วก็ไม่ไปสู่อบายภูมิ สามารถปิดประตูอบายภูมิได้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลายก็รู้ดีทราบดี แล้วคิดว่ามันเป็นของจริง คือได้ฌานได้มรรคได้ผล ท่านก็คิดว่าพร้อมที่จะปฏิบัติต่อไปจนกว่าชีวิตของเราจะหาไม่

          แต่ขอเตือนท่านนักปฏิบัติทั้งหลายว่า เวลาประพฤติปฏิบัตินั้นเราต้องมีคุณสมบัติของนักปฏิบัติ ถ้าขาดคุณสมบัติ ก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติผ่านไปได้

          คุณสมบัติของนักปฏิบัตินั้นมีอยู่ ๔ ประการ คือ

          ๑. ฉันทะ พอใจในการปฏิบัติ คือพอใจในการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ในการกำหนด พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          ๒. วิริยะ แข็งใจปฏิบัติ ยอมสู้ตาย มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ วินาทีนี้ หรือจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ ก็ยอมตาย แต่จะไม่ยอมลด ละ เลิก การประพฤติปฏิบัติเป็นเด็ดขาด

          ๓. จิตตะ ตั้งใจปฏิบัติ คือตั้งใจเดินจงกรม ตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน ตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

          ๔. วิมังสา ฉลาดในการปฏิบัติ เข้าใจปฏิบัติ

          เมื่อผู้ใดตั้งอยู่ในองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นก็สามารถที่จะได้สำเร็จผล ตามบุญวาสนาบารมีที่ตนได้สร้างสมอบรมมา

          ขอเตือนสติของท่านทั้งหลายอย่างนี้ว่า

          การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ต้องการความสงบ ต้องการฌาน ต้องการมรรคผลนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินตามหลักวิชาการ คือมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติให้เป็นกลางๆ ไม่เร่งเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเทิบทาบเกินไป คือถ้าหากว่าเราเร่งเกินไป ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมากจิตใจของเราก็ไม่สงบ เมื่อไม่สงบแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุผลที่เราต้องการได้ มิหนำซ้ำ อาจทำให้เสียประสาท คือเป็นบ้าไปได้ คนคิดมากนี่ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าได้

          เพราะอะไร จึงเป็นเช่นนี้

          เพราะว่าขาดสติ คนที่ขาดสติก็คือคนเป็นบ้า คนเป็นบ้าก็คือคนขาดสติ เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติ ต้องมีสติสมบูรณ์ เหตุนั้น เมื่อพวกเราประพฤติปฏิบัตินี้ ให้พอดีๆ ถ้าเราเร่งเกินไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เมื่อคิดมาก จิตของเราก็ไม่เป็นสมาธิ นอกจากจะไม่เป็นสมาธิแล้วยังจะเป็นบ้าไปได้

          นอกจากนี้ เราอย่าหย่อนยานจนเกินไป แล้วก็ระวัง อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าอยากเป็นผู้วิเศษ ร้อยทั้งร้อยที่มาปฏิบัติธรรม ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นบ้าไปได้ เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัตินั้น อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ

          สมมติว่า เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เออ เราจะเดินจงกรม ขณะนี้เราจะให้ได้มรรคได้ผล หรือว่าในขณะที่เรานั่งเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่นี้ เราจะให้สมาธิมันเกิด ให้ฌานมันเกิด ให้มรรคให้ผลเกิด เราจะเอาเดี๋ยวนี้วันนี้ เสร็จเลย ท่านทั้งหลาย ถ้าปฏิบัติธรรมอย่างนี้ นอกจากไม่ได้ผลเลย อาจเป็นบ้าก็ได้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังให้ดี

          นอกจากนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ มันเป็นบุญหรือเป็นบาป มันจะได้บุญหรือบาป บุญอยู่ที่ไหนบาปอยู่ที่ไหน มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ท่านทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ถ้าหากว่าจิตของเราไม่มีศรัทธา ปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเขาไปเฉยๆ เห็นเขาเดินจงกรมก็เดินจงกรมกับเขา เห็นเขานั่งสมาธิก็นั่งสมาธิกับเขา คือไม่มีศรัทธา

          ถ้าผู้ใดไม่มีศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติร้อยทั้งร้อยก็ไม่ได้ผล นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะเกิดในภูมิที่เป็นอบายภูมิได้ คนเราที่ปฏิบัติธรรมนี้ ผู้ให้ทานรักษาศีลนั้นไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ

          สมมติว่า เราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งสมาธิ เห็นเพื่อนเขาแล้วก็ว่า มาเดินจงกรมนั่งสมาธิทำไมหนอ จะปฏิบัติทำไมหนอ มันไม่ได้บุญหรอก แต่ก็ยังปฏิบัติอยู่

          เพราะเหตุไร จึงปฏิบัติ

          เพราะว่า เห็นเพื่อนปฏิบัติก็ปฏิบัติตามเพื่อน ถ้าไม่ปฏิบัติเหมือนเขา เขาก็จะว่าเอาอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ก็เลยข่มใจปฏิบัติอยู่ ถ้าเขาตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทวดาอยู่ แต่เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย เห็นคนโน้นมาปฏิบัติ เห็นคนนี้มาปฏิบัติ ก็หาวิธีขัดขวางกั้นกาง ไม่ให้การประพฤติปฏิบัติของเขาได้ผล นี่คนที่ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิเป็นอย่างนี้

          เหตุนั้น ญาติโยมทั้งหลาย เวลาเราทำบุญทำทาน เราทำบุญสลากภัตก็ดี บุญเข้าพรรษาก็ดี บุญโน้นบุญนี้ เราก็สมาทานศีลใช่ไหม บางคนก็คิดว่า เอ จะสมาทานศีลไปทำไมหนอ รับศีลไปทำไมหนอ รับไปแล้วก็ไม่ได้บุญ ไม่เห็นเป็นบุญที่ตรงไหน อะไรทำนองนี้ คนนี้ถ้าหากว่าตายเพราะจิตดวงนี้ ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดา แต่เป็นเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เลื่อมใสในพระศาสนา

          เพราะเหตุไร จึงเป็นอย่างนี้

          เพราะในขณะที่เรารับศีลอยู่นั้นเราคิดว่า เออ เราข่มใจทำตามเขา เขารับศีลก็รับตามเขา เขาว่าอย่างนั้นก็ว่าตามเขา จิตดวงนี้มันเป็นบุญอยู่ ถ้าตายเพราะจิตดวงนี้ ก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ท่านทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้แหละ เราจะได้ผลไม่เหมือนกันก็ตรงนี้

          ถ้าว่า เราทำจิตทำใจของเราครึ่งๆ กลางๆ ห้าสิบๆ มันได้ทั้งบุญทั้งบาป จำไว้นะ ถ้าเราทำใจ ห้าสิบๆ เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ได้ผล ห้าสิบๆ คือ มันได้ครึ่งๆ กลางๆ คือในขณะใด จิตของเรามันคิดไม่ถูก คิดไม่ดี แต่ปฏิบัติตามเขา ถ้าหากว่าจิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ในขณะที่จิตของเราเป็นอกุศลอย่างนี้ ชวนจิตดวงแรกของเราจะนึก จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๒  สัมปฏิจฉนจิต ก็จะตัดสินรับเอาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบาปของเรานั้น ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตก็เกิดขึ้นมา ตัดสินรับเอาบาปนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          เมื่อดับลงไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๗ก็จะเกิดขึ้น เสวยบาปอยู่ ๗ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๗ ขณะ แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิต ก็จะเก็บเอาบาปนั้นๆ ลงไปสู่ห้วงแห่งภวังคจิต ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ภวังคจิตนั้น ก็รักษาบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นไว้ในจิตในใจ รักษาไว้อย่างนั้น ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาลบล้างได้ ติดตามเราไปทุกชาติทุกภพ ทุกกัปทุกกัลป์ นี่ถ้าจิตของเราเป็นอกุศลดังกล่าวมาแล้ว

          สรุปเอาสั้นๆ ว่า เมื่อจิตของเราเป็นอกุศลปั๊บ ขึ้นมา คิดว่าให้ทานไปก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าสมาทานศีลก็ไม่ได้ผลดอก หรือว่าเจริญภาวนา พองหนอ ยุบหนอ นี้ไม่ได้ผลดอก ถ้าจิตของเรามันคิดอย่างนี้ เมื่อจิตของเรา(ปวัตติ)ดำเนินไปตามวิถีของจิต ลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          ภวังคจิตนั้น ก็จะทำหน้าที่รักษาบาปไว้ในจิตในใจของเรา รักษาไว้อย่างนี้แล้วก็ไม่มีอำนาจใดๆ จะมาทำลายได้ แล้วก็รักษาไว้อย่างนี้ บางทีก็ไปตกนรกอเวจี ตามบาปกรรมของเราได้

          แต่ถ้าว่าพวกเราทั้งหลายมาเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เรามีสัมมาทิฏฐิตั้งแต่เริ่มจะออกจากบ้านจะมาปฏิบัติ จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นดีเห็นชอบ เรามาถึงวัดแล้วจิตของเราก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มาถึงวัดแล้วก็พากันไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ

          นี่จิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เมื่อจิตของเราเป็นสัมมาทิฏฐิในขณะใด ขณะนั้น ชวนจิตของเราดวงที่ ๑ ก็จะนึก จะคิด จะสั่ง แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับไป จิตดวงที่ ๒ คือสัมปฏิจฉนจิต ก็จะเกิดขึ้นมารับเอาบุญนั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป

          ชวนจิต ดวงที่ ๓ สันตีรณจิต ก็จะเกิดขึ้นมา พิจารณาบุญที่เราบำเพ็ญมาแล้ว ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต ก็จะเกิดขึ้นมาตัดสินรับเอาบุญที่เราบำเพ็ญมานั้น ๑ ขณะจิตแล้วก็ดับลงไปแล้ว

          ชวนจิตก็จะเกิดขึ้นมาเสพบุญ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๑ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๒ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๓ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๔ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๕ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๖ ขณะจิต, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ๗ ขณะจิต


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 สิงหาคม 2562 17:26:27


(http://www.tddf.or.th/system/image.php?src=/images/upload/2017-06-26-725-0-60-06-26-12.jpg&w=400&h=267)

การปฏิบัติพระกรรมฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


         เหมือนกับเมื่อเราได้ธนบัตรใบละหนึ่งพันบาท เมื่อได้มาแล้วเราก็พิจารณาว่า เอ ธนบัตรนี้จะใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่หนอ หรือว่าเป็นธนบัตรปลอม เมื่อเราพลิกไปพลิกมา ข้างหน้าข้างหลังจึงว่า เออ เป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย เมื่อเห็นว่าเป็นธนบัตรที่ใช้ได้ตามกฎหมาย จึงเก็บไว้ในตู้ในเซฟ ในห้องหับของเรา ข้อนี้ฉันใด บุญกุศลก็เหมือนกันฉันนั้น

          เมื่อชวนจิตเกิดขึ้นมาเสพบุญคือเสวยบุญแล้ว ๗ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว ตทาลัมพนจิตนี้ก็จะเก็บเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมานั้นลงสู่ห้วงแห่งภวังค์ ๑ ขณะจิต แล้วก็ดับลงไป แล้วภวังคจิตก็จะรักษาเอาบุญกุศลที่เราสร้างสมอบรมมาไว้อยู่ในจิต ในใจและก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาทำลายบุญของเราได้ เก็บไว้อย่างไร ท่านทั้งหลาย

          สมมติว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นสมเด็จพ่อของพวกเรา เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกในชีวิตที่พระองค์ทรงปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่โน้นแหละ การปรารถนาพุทธภูมิก็ถือว่าเป็นบุญ และบุญเหล่านั้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยติดต่อกันมาตามลำดับๆ จนพระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ แล้วจะมาตรัสรู้เอาเองนั้นมันเป็นไปไม่ได้

          พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี ท่านต้องบำเพ็ญบารมีอยู่โน้น ตั้ง ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัป จึงได้ตรัสรู้ และบุญที่สร้างสมอบรมมาตลอด ๒๐ อสงไขย กำไรแสนมหากัปนั้น ก็ติดตามมาตามลำดับๆ ผู้ที่จะมาทำลายพระองค์ สมมติว่า พระเทวทัตจะมาทำลายอย่างนั้นอย่างนี้จิปาถะ ก็ทำลายไม่ได้

          เพราะอะไร

          เพราะว่าบุญมันอยู่ภายในอยู่ในจิต

          เหตุนั้น บุญกุศลที่เราท่านทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมานี้ วิถีจิตของเรา เมื่อเราทั้งหลายมีจิตใจปสาทะศรัทธา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา จิตของเรานั้นก็จะปวัตติไปตามวิถีของมัน จนลงสู่ห้วงแห่งภวังค์

          แล้วก็บุญกุศลเหล่านั้น ภวังคจิตก็ทำหน้าที่รักษาไว้ เมื่อบุญกุศลของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้อานิสงส์ เช่นว่า เกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินศฤงคาร บริวารนานา ไม่อดไม่อยาก หรือว่าเมื่อเราเกิดมา บุญของเราที่ทำไว้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย อายุยืน ไม่ตายง่าย หรือบุญกุศลเหล่านั้น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี

          สรุปแล้วว่า คนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเศรษฐีก็ดี อภิมหาเศรษฐีก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้เป็นเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ เป็นพระราชา มหาราชา หรือพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี หรือเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ฌานก็ดี ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี หรือว่าเกิดขึ้นมาแล้ว ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกในโลกก็ดี

          ก็ล้วนต้องอาศัยบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่ได้สร้างสมอบรมไว้แล้ว อยู่ในจิตใจ เมื่อบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยดลบันดาลให้เราทั้งหลายได้สำเร็จสุข ทั้งที่เป็นสุขในมนุษย์ สุขในสวรรค์ สุขในพรหมโลก และสุขคือพระนิพพานได้

          อีกอย่างหนึ่ง ขอเตือนสติท่านทั้งหลายว่า เราผู้มาปฏิบัตินั้นต้องมีศรัทธา ถ้าศรัทธาของเราสมบูรณ์แล้วการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ได้สำเร็จสามัญผลตามที่เราต้องการ หากว่าศรัทธาของเราไม่มีการปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายทำอย่างไรศรัทธาของเราจึงจะสมบูรณ์แบบ บ้านเราว่าศรัทธาหัวเต่า ผุดออกผุดเข้า มันก็ไม่สำเร็จ การที่จะเพิ่มศรัทธาของเรานี้มีอยู่ว่า

          ๑. เรานึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นร่มพุทธธรรม ร่มโพธิ์ ร่มไทร อภิบาลปกป้องรักษาเราให้ได้มีความสุขอยู่ทุกวันนี้ หรือว่าระลึกถึงคุณของครูบาอาจารย์ ว่าอาจารย์นั้นเป็นผู้มีคุณูปการ เรามีความรู้ความฉลาดความสามารถอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะครูอาจารย์

          หรือว่าเรานึกถึงบุญคุณของพ่อของแม่ว่า พ่อแม่นั้นท่านเป็นผู้มีอุปการคุณ หากว่าเราไม่อาศัยพ่อแม่แล้วเราก็ไม่ได้เกิด หรือเกิดมาแล้วก็ไม่สามารถเป็นอยู่ได้เพราะไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดูปูเสื่อ หรืออีกอย่างหนึ่งเราก็นึกถึงคุณสมบัติของเราว่า เออ เราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาถึงปานนี้ก็เป็นโชคล้นฟ้าล้นดินจึงเกิดมาเป็นคนได้ เมื่อเรานึกถึงไปอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดศรัทธา เมื่อเกิดศรัทธาแล้วก็สามารถยังการปฏิบัติให้ได้ผลตามเจตนารมณ์ที่เราตั้งไว้

          ๒. อย่าเร่งเกินไป หรืออย่าอยากได้จนเกินไปจนขาดเหตุผล ถ้าว่าเราเร่งเกินไป เช่นว่า วันนี้เราจะเดินจงกรมให้ได้สมาธิได้ฌาน หรือว่าวันนี้เราจะนั่งสมาธิภาวนาให้ได้ฌาน หรือว่าเราจะนั่งภาวนาให้บรรลุมรรค ผล พระนิพพาน นี้ก็ถือว่าเร่งเกินไป จิตใจของเราก็ไม่สงบคือมันจะคิดมาก

          ถ้ามันคิดมากจิตของเราก็ไม่สงบ เมื่อจิตไม่สงบ ก็ไม่เป็นสมาธิ เมื่อไม่เป็นสมาธิ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุสมาบัติ มรรค ผล พระนิพพานได้ เหตุนั้นให้เราปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ให้พอดิบพอดี

          ๓. อย่าหย่อนเทิบทาบจนเกินไป ถ้าหย่อนเกินไปมันก็ไม่ได้ผล เช่นว่า เราเดินจงกรม ก็เดินไปตามธรรมชาติ ไม่กำหนด ตาเห็นรูปก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ หูฟังเสียงก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ จมูกดมกลิ่นก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ ลิ้นลิ้มรสก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ กายถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ เราไม่กำหนด เราไม่กำหนดสภาวะที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เรียกว่าหย่อนเทิบทาบ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรค ผล พระนิพพานได้

          ๔. อย่าอยากเป็นผู้วิเศษ ถ้าท่านใดอยากเป็นผู้วิเศษ เออ นั่งสมาธิไปอยากได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ หรือว่านั่งสมาธิไปอยากเห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นพระอินทร์ เห็นพระพรหม เห็นโน้นเห็นนี้อะไรจิปาถะ เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์

          ถ้าผู้มีจิตใจลักษณะอย่างนี้ ท่านทั้งหลาย เวลามาประพฤติปฏิบัติ ร้อยทั้งร้อยเป็นบ้าได้ เหตุนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติเราต้องมีสติ ถ้ามีสติสมบูรณ์แล้ว สติของเรานี้แหละ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌาน ให้เกิดมรรค เกิดผล

          ขอให้ท่านทั้งหลายจดจำไว้เสมอว่า สมาธิที่เกิดแก่เรานั้น มี ๒ ประการ คือ

          ๑. สมาธิที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของฌานชวนวิถี ถ้าอัปปนาสมาธิที่เกิดขึ้นในลำดับของฌานชวนวิถี สมาธินั้นได้ฌาน ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

          ๒. ถ้าอัปปนาสมาธิเกิดขึ้นในลำดับของมรรควิถี อัปปนาสมาธินั้นก็จะเป็นเหตุให้เกิดมรรค เกิดผล ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้

          เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบรรยายถวายความรู้แก่ท่านหลวงปู่ ท่านหลวงตา และชี้แนะแนวทางการปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.

          อะหัง สุขิโต โหมิ ขอให้ข้าพเจ้า จงถึงสุข นิราศทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความลำบาก มีความสุข รักษาตนอยู่เถิด

          ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ ให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป

          ด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วนี้ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ขอจงได้เป็นพลวะปัจจัย เป็นอุปนิสัยตามส่ง ให้เกิดปัญญาญาณ ได้บรรลุฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ นิโรธสมาบัติ วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ อตีตังสญาณ ปัจจุปปันนังสญาณ อนาคตังสญาณ มโนมยิทธิ ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ตลอดชาติอย่างยิ่ง จนถึงความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน เทอญ.



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 สิงหาคม 2562 14:43:45
(https://f.ptcdn.info/440/002/000/1361454717-DSC1672JPG-o.jpg)

ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


ท่านครูบาอาจารย์ที่เคารพทุกท่าน……….

          หากว่าหลวงพ่อได้กล่าวพลั้งพลาดประมาทท่านทั้งหลายด้วยกายวาจาและจิตใจแล้ว หลวงพ่อก็ขออโหสิกรรมด้วย เพราะว่าบางสิ่งบางประการที่หลวงพ่อพูดจาปราศรัยไป อาจทำให้ท่านทั้งหลายไม่สบอารมณ์ หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่พูดไปแล้ว(ทำให้)ไม่สบายหู ไม่รื่นหู ไม่ถูกอกถูกใจ ก็ขออภัยหลายๆ

          สำหรับวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าหลวงพ่อจะมาจับผิดอย่างนั้นอย่างนี้ วันนี้ที่ได้นัดกันเป็นกรณีพิเศษ ที่ผ่านๆมา ๒-๓ วัน ไม่มีโอกาส ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย วันนี้จะได้ถือโอกาสพูดจาปราศรัยกับท่านทั้งหลาย เพราะว่านับตั้งแต่เรามาอยู่ร่วมกันเกือบ ๓ เดือน บางท่านก็ไม่ได้คุยกันพูดกันในเรื่องส่วนตัวอะไรต่างๆ

          เหตุนั้น วันนี้หลวงพ่อจึงขอโอกาส ท่านทั้งหลายมีอะไรจะพูดจาปราศรัยกัน ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ดำเนินการตามอัธยาศัย นับตั้งแต่เข้าพรรษามาจนถึงบัดนี้ หากว่าท่านทั้งหลายมีความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติ หรือไม่สบอารมณ์กับหลวงพ่ออย่างไร ก็ขอเปิดโอกาส ขอจัดให้ท่านทั้งหลายได้ปรับความเข้าใจกัน

          ก่อนอื่น หลวงพ่อขอพูดว่า หากว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมาแล้ว ยังมีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่เข้าใจในบางสิ่งบางประการ ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายได้ไต่สวนทวนถาม แต่ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจ แม้สิ่งทั้งหลายที่ไต่สวนทวนถามไว้แล้วทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อขออนุโมทนา เอาอย่างนี้ท่านอาจารย์มหา อย่างเรื่องพระติสสเถระ [1]

          พระติสสเถระนั้น ท่านออกเดินทางจากทวีปมคธ มานมัสการมหาวิหาร ผ่านมาตามทางได้พูดจาปราศรัยกับทุคตบุรุษคนหนึ่ง พอได้ทราบเรื่องราวแล้ว ผลสุดท้ายเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านปฏิบัติธรรมตลอด ๗ วัน จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านได้ถามพระเจ้าพระสงฆ์ทั้งหลายว่า พระคุณเจ้ามีความเคลือบแคลงสงสัยอะไรเกี่ยวกับมรรคผล ก็ขอนิมนต์ท่านทั้งหลายถามได้ ผมพร้อมที่จะบอกที่จะวิสัชนา

          พระสงฆ์ทั้งหลายอยู่ในมหาวิหาร ไม่มีแม้แต่รูปเดียวที่จะถามเรื่องมรรคผล สุดท้ายก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระมหาเถระที่เป็นประธานเกิดอัศจรรย์ใจว่า โอ เรื่องนี้ผมอัศจรรย์ใจจริง เพราะว่าพระทั้งหมดไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องมรรคเรื่องผล

          ท่านทั้งหลาย ถ้าเคลือบแคลงสงสัยบางสิ่งบางประการก็ขอนิมนต์ หลวงพ่อจะไม่ถาม ให้ท่านทั้งหลายถามเอา อย่าได้เป็นอย่างหลวงพ่อพระครูท่านหนึ่ง ตอนที่ท่านมาอยู่วัดนี้แหละ ท่านเป็นประธานดำเนินการเกี่ยวกับกัมมัฏฐาน

          หลวงพ่อก็ไม่รู้ว่าท่านมาสังเกตการณ์ ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน ท่านก็เดินธรรมดา นั่งไปธรรมดา เล็กๆน้อยๆ ผลสุดท้ายก็หมดพรรษา หลวงพ่อก็ไม่รู้ไม่เฉลียวใจว่าท่านมาอย่างนี้ เพราะว่าปกติก็เป็นธรรมชาตินิสัยของหลวงพ่อเป็นอยู่อย่างนั้น จนกว่าท่านจะเปิดความในใจให้ฟัง ท่านพูดกับญาติกับโยมกับลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายว่า

          หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาเพื่อสังเกตทุกสิ่งทุกอย่างของหลวงพ่อพระครู(หลวงพ่อใหญ่) ว่าท่านพอที่จะเป็นผู้ที่เราจะมอบกายถวายชีวิตเป็นลูกศิษย์ลูกหาได้หรือไม่

          ท่านมาดู มาคอยสังเกตการณ์ตลอดไตรมาสพรรษา ๓ เดือน หลังจากกฐินเสร็จแล้ว ท่านขึ้นธรรมาสน์ สั่งลาญาติโยมทั้งหลายแหละ ท่านก็เปิดความในใจว่า ที่มานี้ไม่ได้มาปฏิบัติ แต่มาดูหลวงพ่อของญาติโยมทั้งหลาย ว่าพอที่จะมอบกายถวายตัวได้หรือไม่

          พอท่านได้เปิดความในใจทุกสิ่งทุกอย่าง หลวงพ่อก็ไม่นึกว่าท่านจะมาสังเกตการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ดี เพราะว่าปีนั้น ตลอดพรรษาไม่ได้พูดจาปราศรัยกันเป็นกรณีพิเศษเหมือนกับปีนี้ หลวงพ่อพูดอะไรกับลูกพระลูกเณร เล็กๆน้อยๆ บางทีก็ไม่พอใจ อะไรทำนองนี้ ถ้าในลักษณะนี้ หลวงพ่อก็เข็ดเลย แต่ที่ผ่านมาไม่มีลักษณะอย่างนี้ เรื่องส่วนมากก็มีเรื่องมรรค เรื่องผล ก็แล้วแต่จะพูด

          ถ้าไม่สงสัยหลวงพ่อก็ขออนุโมทนา แต่ถ้าสงสัยก็นิมนต์ หรือว่าท่านทั้งหลายที่สงสัยว่าออกไปแล้ว ปีนี้จะไปทำหน้าที่การเผยแผ่ธรรมะเรื่องการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิสมาบัติ ที่พวกเราทั้งหลายทำอยู่ หากว่าสงสัย หรือว่าจะดำเนินการอย่างไรก็ขอนิมนต์

          ถาม ขอโอกาสกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เรื่องการประพฤติปฏิบัตินี้ ไม่ทราบว่า หลังจากการประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านไปแล้ว ความฝันที่เราฝันนั้นจะมาช่วยยืนยันว่าเราผ่านขั้นนั้นขั้นนี้ มีเหตุมีปัจจัยบ้างไหมครับ คือหลังจากที่ผู้ประพฤติปฏิบัติผ่านชั้นภูมิชั้นนั้นชั้นนี้แล้วมีความฝันที่เรียกว่าเป็นนิมิตมาบอกบ้างไหมครับ

          ตอบ อันนี้สังขารมันปรุงแต่งมาหลอก ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สังขารตัวนี้แหละเป็นตัวที่ทำให้เกิดการปรุงแต่ง อยากฝันอย่างโน้นฝันอย่างนี้ อะไรจิปาถะ แล้วแต่มันจะฝัน บางทีมันก็มาบอกว่า โอ คุณได้พระโสดาปัตติผลแล้ว หรือว่าคุณได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ตัวนี้ตัวสังขาร

          เหตุนั้น เราผู้เป็นเจ้าของความฝันก็ต้องดูตัวเราเองว่า เราผ่านแล้วหรือยัง ที่มันฝันอย่างนี้กระซิบอย่างนี้ เป็นความจริงไหม เราเองที่รู้ตัวเราเอง หลวงพ่อเคยบอกว่า อภิชัปปา แปลว่า กิเลสกระซิบที่จิต แล้วแต่มันจะกระซิบอะไร เช่นว่า เมื่อชาติก่อนโน้น เคยเป็นผัวเมียกันอย่างนั้นๆ ปรุงจิตปรุงใจจนจะไปแต่งงานกับเขา สภาวะที่เกิด กิเลสกระซิบที่จิตนี้ มันไม่ใช่ธรรมดาๆ เป็นพันๆเรื่อง

          เหตุนั้น เราทั้งหลายเรียนมาแล้ว นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก เป็นมหาเปรียญแล้ว เราก็พอจะรู้ได้ว่าเขาโกหก อุปกิเลสในจิตมันโกหก หรือว่ามันความจริง เออ ถ้าว่ามันเป็นความจริง บ่ปาก(ไม่พูด) ถ้ามันเป็นความจริงก็บ่ปาก ก็ภูมิใจ ดีใจว่า เออ เราผ่านมาได้จริงๆ

          หรือจะพูดอย่างหลวงปู่หลวงตาบางรูปว่า เราได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วนะ อยากเว้าจังซี่บ้อ (อยากพูดอย่างนี้หรือ) พอได้ยินท่านว่า ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วอย่างนั้นอย่างนี้ โอย หลวงพ่อเหนื่อย(ใจ) แต่ไม่ได้ว่าท่านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้หรอก ลักษณะนี้ เหนื่อยหัวใจว่า โอ หลวงปู่ไม่น่าจะว่าอย่างนี้เลย ทำให้ลูกศิษย์ลูกหา ลูกๆหลานๆเขาหมั่นไส้เอาได้

          ถาม ถ้าเราได้สมาธิแล้ว สมาธิเสื่อมไป จะทำอย่างไรดีครับ

          ตอบ เอ้า สมาธิเสื่อมไป เราก็ปฏิบัติใหม่ ทำใหม่สิ

          ถาม เพราะเหตุอะไร ทำให้เสื่อมไปครับ

          ตอบ เพราะขาดการสังวร เพราะขาดความสำรวมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเราไม่สำรวม มันก็เสื่อมได้ ไม่มีเทวดาองค์ไหนที่จะมาทำให้มันเสื่อมได้หรอก เข้าใจไหม

          แต่สมาธินี้ (เมื่อ)มันเสื่อมได้ มันก็ฟื้นได้ เห็นว่ามันเสื่อมไปแล้ว เราก็หลีกเร้นอยู่ในเสนาสนะที่ใดที่หนึ่งที่วิเวก เป็นสถานที่สัปปายะ เราก็ภาวนา มันเสื่อมอย่างไรก็ตาม สมาธิมันจะเสื่อมถึงไหนๆก็ตาม วันสุดท้ายมันก็จะต้องเกิดขึ้นมาอีก

          อะไรคือวันสุดท้าย วันสุดท้ายคือวันที่เราจะตายจากโลกนี้แหละ คนจะตายมันก็ต้องเตรียมตัวก่อนตาย ไหนๆก็จะตายแล้ว แล้วมันก็จะคิดจะนึกเห็นกัมมัฏฐานที่เคยปฏิบัติมาแล้ว มันนึกถึงเลย มันก็เตรียมตัวแหละ มันจะตายอยู่รอมร่อแล้ว ไม่มีใครจะอยู่เป็นเพื่อน มันก็เตรียมตัว กำหนดขึ้นมา พองหนอ ยุบหนอ หรือว่าอะไรก็ว่าไป

          เพราะในขณะที่เราเตรียมตัวจะตายนั้น ก่อนที่จะตาย หากเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ หรือ สัมมาอรหัง บทใดบทหนึ่งก็ตามแต่ แล้วเกิดสมาธิขึ้นมา ถ้าเกิดสมาธิแล้วมันตายเท่านั้นแหละ มันดับปั๊บลงไปตรงนี้ ในลำดับฌานชวนวิถี เราก็ไปเกิดบนพรหมโลกตามกำลังของสมาธิหรือของฌาน

          แต่ถ้ามันดับโดยอำนาจของมัคควิถี พองหนอ ยุบหนอๆ ก็เห็นพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดับพึบลงไป เราได้บรรลุพั้บ ก็ถึงแก่มรณกรรมทันที ส่วนมากเราปฏิบัติมาแล้ว แล้วตอนนี้เรายังไม่บรรลุเลย แต่บางทีมันก็ไปบรรลุตอนเราจะตาย เข้าใจไหม

          ถาม ญาณนี้มันจะเกิดขึ้นตามลำดับๆไป ถึงแม้ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ใช่ไหมครับ

          ตอบ มันก็เกิดตามลำดับๆไป แล้วไม่ใช่ว่านั่งกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ จะกระโดดไปเลย ปฏิสังขาญาณ มันกระโดดข้ามไปได้ (ไม่ใช่นะ) มันไปเรื่อยๆ มันก็ ๑ – ๒ – ๓ – ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ มันก็ไปตรงๆอย่างนี้

          แต่ถ้ามันไปไม่ได้ มันก็กลับหลัง (จากญาณที่) ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ – ๓ – ๒ – ๑ นี่มันกลับ คือว่ามัน อนุโลม ปฏิโลม ถ้าว่ามันไปเรื่อยๆ ตรงไปตามลำดับๆ เมื่อกำลังของเราพอ ญาณของเราแก่กล้าแล้ว มันก็เข้าสู่มัคคญาณผลญาณ บรรลุมรรคผลนิพพานเลย

          แต่พอไปถึงสังขารุเปกขาญาณ ถ้ากำลังพอแล้ว กำลังทุกสิ่งนั้นพอแล้ว มันก็ข้ามไปเลย แต่ถ้ากำลังไม่พอ มันก็ปฏิโลมกลับมาใหม่ ๑๑ – ๑๐ – ๙ – ๘ – ๗ – ๖ – ๕ – ๔ พอมาถึง(ญาณที่) ๔ แล้วก็ ๔ – ๕ – ๖ – ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ – ๑๑ กลับไป แล้วก็หมุนอยู่อย่างนั้น

          อย่าลืมว่า เวลาเรานอนหลับมันก็หมุนอยู่อย่างนี้นะ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายของเรา ของรูปของนาม มันเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา เรานอนหลับมันก็หมุนอยู่ เหมือนกับเข็มนาฬิกา มันหมุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่มันอยู่เฉยๆ

          ถ้ามันอยู่เฉยๆ มันไม่หมุน ไม่เดิน มันก็มีอยู่สองอย่าง คือ ๑) มันเข้าฌานไปเลย ๒) มันดับ ถ้ามันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนอยู่ตลอดเวลานี่ เราก็อยู่ได้ ถ้ามันหมุนไปถึงอุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๔ มันผ่านไป ถ้าไปถึงอุทยัพพยญาณนี่ มันจะเกิดอารมณ์ขึ้นมา เพราะตอนนี้ เป็นญาณที่รวมหมด รวมสภาวะทุกสิ่งทุกอย่างมารวมกัน หลวงพ่อจึงบอกว่า ชุมทางกัมมัฏฐาน

          ถ้ามันมาถึงญาณนี้ จิตใจว่าง บางทีก็ร่าเริงเบิกบาน บางทีอยากร้องเพลงอย่างนั้น อยากเทศน์อย่างนี้ อะไรจิปาถะ มันเพลินไปเรื่อย แต่ถ้ามันผ่านไป มันก็ผ่านไปตามลักษณะของมัน

          ถาม (มีอาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นมาเวลาปฏิบัติ)

          ตอบ บางทีมันก็เหมือนผีจับหัวเราหมุนไปหมุนมา นั่นเป็นอาการของปีติ บางทีรู้สึกเหมือนตัวใหญ่ขึ้นๆ อยู่ในศาลาก็ใหญ่จนเต็มศาลา เรานั่งอยู่ในกลดมันเต็มกลดของเรา อยู่ในกุฏิใหญ่ๆ ก็จนเต็มกุฏิใหญ่ๆ คือมันโตออกๆ ส่วนในทางกลับ บางทีมันก็น้อยเข้าไปๆ เล็กเข้าไปๆ จนเท่าเด็กน้อย จนเท่ากบเท่าเขียด บางครั้งมันพองออกข้างนอก พองออกๆ แต่บางครั้งปรากฏฟันยาว แขนยาว ขายาว นี่เป็นตัวปีติ

          ถาม ถ้าหากว่าญาณนี้เกิดขึ้นแล้ว บางครั้งปิดประตูหน้าต่างไว้แล้ว ก็เหมือนมีคนมาเปิดดู ไม่ทราบเป็นสภาวะอะไรจึงเป็นอย่างนี้

          ตอบ นั่นเป็นอาการของปีติอันเดียวกัน บางครั้งเรานั่งอยู่ในกุฏิในห้องกัมมัฏฐาน ก็เหมือนกับมีคนมาเปิดประตูหรือหน้าต่างดู มันเปิดออกๆ บางทีลืมตา คิดว่าเขามาเปิดจริงๆ พอนั่งหลับตาเขาก็มาเปิด บางทีก็ถึงกับลุกขึ้นเดินไปๆ จะไปปิดประตูหรือหน้าต่าง อันนี้เป็นลักษณะของปีติ

          ถาม เวลานั่งหรือนอนนี่ กำหนดเหมือนเดิมครับ กำหนดแล้วมันขาดสติ แล้วก็หลับไป แต่ทีนี้ บางทีก็เป็นนิมิตโอภาสเกิดขึ้นมา แล้วก็กำหนดแล้วก็หลับไป อย่างนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติหรือไม่

          ตอบ ถ้าอาการเป็นอย่างนี้ๆ ก็จะมีนิมิตอย่างนี้ ถ้าอาการอย่างนี้ไม่เกิด ลักษณะอย่างนี้ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น หลวงพ่อว่าสภาวะนี้พร้อมแล้วที่จะเกิด มันจะเกิดเพราะเรามีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรานอนหลับอยู่นั้น จิตของเรามันตื่นอยู่ตลอดเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆๆ อยู่ในวิถี มันเกิดขึ้นมา จิตดวงนี้มันตกภวังค์แล้วก็เกิดขึ้นอีก ตกลงอีก เกิดขึ้นอีก ก็รู้สึกตัว อาการเกิดขึ้นตั้งอยู่นี้แหละเป็นความฝัน เรียกว่าเป็นนิมิต คืออาการเกิดขึ้นในเวลาที่เรานอนหลับ

          ถาม สำหรับผู้ปฏิบัติถึงญาณที่ ๔ ไปจนถึงญาณที่ ๑๑ แล้วแต่ยังไม่ดับ แล้วกลับมาปฏิบัติใหม่ ญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะเกิดขึ้นหรือเปล่าครับ

          ตอบ เกิด มันก็ต้องเกิด เพราะว่ามันยังมีรูปมีนามอยู่ ถ้าไม่มีรูปมีนาม มันก็ไม่เกิด เราปฏิบัติไปจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ สภาวะอย่างนี้ก็จะเกิดตามมา

          เพราะฉะนั้น เราเกิดมาทั้งที และได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือมาศึกษาตัวเองให้รู้ให้เข้าใจ ว่าร่างกายจิตใจของเรามันเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อศึกษารูปก็รู้เรื่องรูปคือ รู้หมดแล้วไปเลย ได้สำเร็จก็รู้หมดแล้ว ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เรารู้หมดแล้ว

          ถ้าทวนญาณเราจะรู้ว่า อะไรที่จะเกิดขึ้นมันจะสะดุด เมื่อสะดุด… รูปมันตายไปแล้ว นามก็ตายไปแล้ว กิเลสที่มันติดกันมาก็ตายไปแล้ว ความเป็นปุถุชนมันตายไปแล้ว เข้าใจไหม เมื่อเรามาปฏิบัติอีก สภาวะอย่างนี้มันก็เกิดอีก ถ้าว่าเราตายอีกครั้งที่ ๒ กิเลสมันก็จะอ่อนกำลังลงไปอีก

          หากว่าปฏิบัติต่อไปอีก มันตายครั้งที่ ๓ เมื่อตายครั้งที่ ๓ ภาวะที่เราจะไปทำอะไรๆ เช่นความดีใจหรือขัดใจมันก็เบาบางลง ถ้าทำไปๆ ถึง ๔ ครั้ง ดับวูบเลย มันก็หมดเลย เพราะฉะนั้น หลวงพ่อจึงพูดเสมอว่า คนเรานี้เกิดขึ้นมาแล้วจะต้องตาย ๔ ครั้ง ถ้าคนไหนสามารถตายได้ ๔ ครั้ง คนนั้นก็ถือว่าได้สำเร็จถึงฝั่งแล้ว กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็หมดสิ้นไป หากว่าตายแล้ว ๔ ครั้ง ครบหมด หลวงพ่อขออนุโมทนา แต่หลวงพ่อว่ามันไม่ตายครบ ๔ ครั้ง ครั้งเดียวก็ยังไม่ตาย

          ถาม ตอนกำลังปฏิบัติมันมีแต่ความคิด ก็กำหนดว่า คิดหนอๆขณะที่กำหนดอยู่ๆ เกิดหูอื้อขึ้นมาแล้ววูบลงไป ก็ตกใจว่า อะไร ใจเต้นตึกๆเลย

          ตอบ อาการเกิดนั้นมันมี ๕ ประการ คือ ๑) ปีติ ก็ทำให้ดับได้ ๒) ปัสสัทธิ ก็ทำให้ดับได้ ๓) สมาธิ ก็ทำให้ดับได้ ๔) ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ก็ทำให้ดับได้ ๕) อุเบกขา ก็ทำให้ดับได้ แต่การดับอย่างที่ว่ามานี้ ไม่สามารถที่จะละกิเลสตัณหาได้

          ถ้าหากว่าการเกิดดับเกิดขึ้นด้วยอำนาจของพระไตรลักษณ์ เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานว่า พองหนอ ยุบหนอ อยู่ดีๆ อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆ แล้วก็วืบ ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ถือว่า เราได้บรรลุถึงขั้นปฐมมรรคแล้ว เพราะฉะนั้น รูปนามและกิเลสมันดับไปครั้งที่ ๑ แล้ว

          แต่บางครั้ง เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบมันฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ หายใจไม่ออก เหมือนใจจะขาด บางทีต้องกำหนดว่า แน่นหนอๆ กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับ เพราะรูปนามมันดับ และพร้อมกันนั้นกิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็ได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามีแล้ว ตาย ๒ ครั้งแล้วนะ ถ้าหากว่าเรากำหนด พองหนอ ยุบหนอ อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราเหลือแค่เส้นด้าย ในขณะที่เรากำหนดอยู่มันดับวูบไปเลย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่า เราได้ผ่านญาณ ๑๖ มาแล้ว

          ถาม การดับในขั้นมรรคขั้นผลนี่ ต้องผ่านพระไตรลักษณ์ ต้องจำให้ได้ ถ้าจำไม่ได้ถือว่าไม่ผ่าน ใช่ไหมครับ

          ตอบ ไม่ผ่าน เพราะว่าอาการดับโดยพระไตรลักษณ์นั้นมี ๓ อย่าง

          บางทีถ้าเราปฏิบัติผ่าน อาการดับนั้นปรากฏชัด ไม่ต้องพิจารณาละ มันรู้อยู่ แต่ถ้าดับด้วยอาการทุกขังมันปรากฏชัด กำหนดไปๆ มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบไปเลย เพราะตอนนี้สติของเรามันสมบูรณ์แล้ว แต่ว่าการดับของอนัตตานั้นมันละเอียด จิตใจของเรา เวลากำหนดอาการพองยุบของเรามันจะค่อยๆอ่อนแผ่วเบาๆไปเรื่อยๆ ความรู้สึกของเรามันเหลือประมาณเส้นด้าย แล้วก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วเราจะรู้สึกว่า มันดับหรือไม่ดับ คือมันบอกไม่ได้ เมื่อมันไปอย่างนี้ก็ถือว่าใช้ได้

          ถาม อยากทราบว่า อาการดับในขณะเดินจงกรมมีไหมครับ แล้วมันจะมีอาการเป็นอย่างไรครับ

          ตอบ อาการที่เกิดขึ้นนั้นก็ไปเรื่อยๆ แต่ในขณะนั้นยังมีสภาวะที่เป็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้ และในขณะที่กำหนดว่า ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ในขณะที่กำหนด มันดับไปเลย ดับในขณะเดินจงกรม บางทีมันก็ดับในขณะยืนก็มี แม้เวลานอนมันก็ดับได้ ในขณะกินข้าวมันก็ดับได้ เพราะว่าเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล ความรู้คือสติสมบูรณ์เมื่อใด มันก็ดับลงเมื่อนั้น เป็นอย่างนี้

          ถาม ปฏิบัติไปๆ เกิดขนลุกซู่ขึ้นทั่วสรรพางค์กาย ก็คิดว่า เอ๊ะ เราเป็นอะไร ปฏิบัติแล้วเป็นสภาวะอย่างนี้ใช้ได้ไหมครับ

          ตอบ นี่ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆ รู้สภาวะจริงๆ เป็นสภาวะจริงๆ เรียกว่าใช้ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราอย่าไปสงสัย ครูบาอาจารย์ที่สอบอารมณ์เขาไม่บอกหรอกว่า คุณทำได้อย่างนั้น คุณทำได้อย่างนี้ ไม่บอก

          เพราะเหตุไรจึงไม่บอก? เพราะถ้าไปบอก มันก็จะเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเกิดจิตปรุงแต่ง เกิดปลื้มใจภูมิใจขึ้นมา มันสุขจนเกินขอบเขต เหมือนคนได้เงินมาเป็นแสนๆ เป็นล้านๆ ไม่ได้ไปทำอะไร ไม่ได้หาอะไร เขาก็โยนให้ เอ้า คุณเอาไปใช้เลย เงิน ๑ ล้านบาท พอได้รับก็ฟูใจ

          อีกอย่างหนึ่ง หากว่าบอกแล้ว ก็จะไปอวดไปอ้างว่า ดีอย่างนั้น ได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้ก็ได้ ทำอย่างนั้นก็ได้ ก็จะเกิดมานะทิฏฐิขึ้นมา เพราะเหตุไร เพราะว่าจะตั้งตนอวดอ้างลักษณะอย่างนี้มันมีอยู่ ความถือตัวยังมีอยู่

          ทีนี้ถ้าบอกตรงๆว่า คุณไม่เหลืออย่างนั้น คุณไม่เหลืออย่างนี้ หากว่าเราพยากรณ์ผิดล่ะ เขาก็ตกนรก แม้เราก็ตกนรกเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น ครูบาอาจารย์จึงไม่บอก แต่เวลาสอน คือจะสั่งว่าให้พิจารณาอย่างนี้ ลูกศิษย์ลูกหาที่ฟังทั้งหลาย ที่หลวงพ่อไม่พูดว่า คุณนั้นได้อย่างนั้น คุณนั้นได้อย่างนี้ มีแต่เทศน์ให้ฟัง

          คุณทำนายความหลุดพ้นของตนเองดูว่า ความโลภ ความโกรธ ตอนนี้มีอยู่เท่าไร สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉามีไหม มีเท่าไหร่ ตามองค์ของมัน เรากล้าตัดสินสิ่งเหล่านี้เอง เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านจึงไม่ให้บอก แต่ว่าให้เราผู้ปฏิบัติเป็นผู้ตัดสิน เพราะว่า เวลาที่มันเกิดขึ้นมา บางทีเราอาจถูกอุปกิเลสที่นอนเนื่องอยู่หลอกเอาว่า คุณได้ผ่านโสดาปัตติผลไปแล้วนะ เราจะติดอยู่นี้ เหตุนั้น พึงสังวรระวังไว้ให้ดี ถ้าเราดับลงไปจริงๆ แล้วก็จำได้ด้วย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้ามันผ่านไปได้ แต่ระวังว่า เจ้าตัวนี้มันจะหลอกเอา มันจะยึดตัวเราไว้เป็นเจ้าของ

          ถาม ขออนุญาตถามหลวงพ่อ คือว่าช่วงที่เรานั่งสมาธิสบายๆ ช่วงนั้น นั่งประมาณ ๒ ชั่วโมง แล้วก็คลายออกจากสมาธิแล้ว กำลังจะเก็บกลด ก็มีอาการคล้ายหน้ามืด จึงกำหนดถี่ๆ ก็มีอาการคล้ายหน้ามืดแล้วก็วูบไป ก็กำหนดไปเรื่อยๆ มีอาการแน่นเข้าๆ อยากทราบว่า เป็นอะไรครับ

          ตอบ อันนี้เป็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง คือเวลาเรากำหนด อาการพองอาการยุบจะเร็วขึ้นๆ เป็นลักษณะของอนิจจังมันเกิดขึ้นแล้ว อาการพองยุบที่กำหนดแล้วรู้สึกอึดอัดแน่นๆ นี้เป็นลักษณะของทุกขัง อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี แล้วแผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วู้บ อันนี้เป็นลักษณะของอนัตตา

          ถาม การเกิดดับในผลสมาบัติ จะมีนิมิตเกิดร่วมด้วยไหมครับ

          ตอบ ญาณที่เกิดขึ้นๆ เรื่อยๆ เวลามันดับ มันก็วูบไปเลย แล้วก็เข้ามาอยู่ในผลสมาบัติสัก ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ตาม นิมิตไม่มี เพราะเป็นโลกุตตระ ถ้าหากว่าจิตของเราออกจากสมาธิมาแว้บนึง อาจจะ ๕ วินาที หรือ ๑๐ วินาที นิมิตก็เกิดได้ เพราะว่ามันออกมาแล้ว เดี๋ยวมันก็แพ้บเข้าไปอีก ไม่มีนิมิต

          ถาม การอวดอุตตริมนุสสธรรมจะเกิดขึ้นมาได้โดยนับจากการปฏิบัติถึงตั้งแต่ญาณไหนขึ้นไปครับ

          ตอบ ไม่ต้องญาณไหนหรอก พวกเรานั่งกันอยู่นี่ พวกเราประชุมกัน มันตั้งใจจะบอกก็เดินตามมา หลวงพ่อ หนูได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้วนะ ถ้าคิดต้องการจะพูด แต่เป็นโยมก็ไม่เป็นอะไร ถ้าเป็นพระเป็นเณรถือว่าอวดอุตตริมนุสสธรรม ปรับอาบัติปาราชิกทันที

          พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์จะไม่อวด แต่ถ้าเป็นปุถุชนนั้นอวดได้ ถ้ามีเจตนาจะอวด แล้วก็พูดให้ผู้ฟังเข้าใจ ปรับอาบัติปาราชิกทันที [2]

          ถาม ถ้าโยมมาปฏิบัติแล้ว แต่วิปัสสนาญาณ ๔ ก็ไม่เกิด และตอนที่กำหนดพระกัมมัฏฐานก็ปล่อยตามธรรมชาติ หรือว่ากำหนดหยาบๆล่ะครับ

          ตอบ ถ้าเรากำหนดอย่างธรรมชาติ มันก็ไปอย่างธรรมชาติ ถ้าเราปล่อยไปตามธรรมชาติ มันก็เป็นไปอย่างธรรมชาตินะสิ หนักๆเข้ามันก็เป็นบ้า จะไปผูกคอตาย กินยาตาย เพราะเราปล่อยไปตามธรรมชาติ เอ้า กลุ้มใจเว้ย ตายซะดีกว่า ระวังเถอะ ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติ เราต้องใช้สติบังคับควบคุมจิตใจของเรา มีสติเป็นผู้บังคับ มีสติเป็นผู้เชิดชู มีสติเป็นผู้อุปถัมภ์

          ถ้าไม่มีสติ จิตของเรามันก็ซ่านไปนะ เพราะฉะนั้น เหตุที่พูดกันว่าปฏิบัติกัมมัฏฐานแล้วเป็นบ้า ก็เพราะว่าปล่อยไปตามธรรมชาติ พอรู้สึกตัวขึ้นมา อาย อะไรครับ ขณะนี้ผมเดินจงกรมอยู่ อาจารย์อยู่ที่ไหน นี่แหละธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้

          ถาม พอกำหนดไปๆ ความรู้สึกมันเงียบไป มีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราสัปหงกไปอย่างนี้

          ตอบ นี้มันเป็นสมาธิ เพราะมันไม่ผ่านพระไตรลักษณ์ จัดเป็นสมาธิ

          ถาม เวลาเรานั่งกำหนดอยู่ ขณะนั้นจิตรู้สึกสบายปลอดโปร่งอยู่ กำหนดไปๆ พองยุบสม่ำเสมอแล้วก็ค่อยเร็วเข้าๆ ความรู้สึกยิบๆ แล้วตัวก็งุ้มลงไป ในขณะนั้นมันวูบลงไปนิดเดียว ไม่เกิน ๒ วินาทีก็ปรากฏ

          ตอบ ลักษณะอย่างนี้หลวงพ่อได้เฉลยมาหลายรุ่นแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ตัดสินเอาเอง

          ถาม ในพรรษานี้ผมนั่งสมาธิกับนอนพิจารณาเหมือนกัน ซึ่งไม่รู้ว่ากำหนดถูกหรือไม่ครับ คือผมกำหนดไป จะถือว่าขาดสติไป แล้วนอนหลับฝันว่าได้ไปเที่ยวที่นั้นที่นี้ เห็นพระพุทธรูปบ้าง เห็นป่าไม้บ้าง ก็เอามือไปจับ แล้วก็มีสติขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆอย่างนี้ การเกิดดับแบบพระไตรลักษณ์จะเกิดขึ้นยากไหมครับ

          ตอบ คำถามนี้มันไม่เกิดเลย มีแต่ปีติเท่านั้นที่เกิด คำถามที่ท่านถามนั้น มัคคจิตผลจิตมันไม่เกิดเลย เป็นแต่เพียงปีติเท่านั้น มีแต่กำหนดนิทรารมย์ เขาเกิดเอง ไม่ใช่อารมณ์ของฌานเลย วิธีแก้ปัญหาก็คือทำสติเพิ่มสติให้มากอย่าให้หลับนาน

          ถาม เมื่อผู้ปฏิบัติในตอนเช้า หลังจากฉันเช้าแล้วก็นั่งภาวนา ไม่ได้หลับ อยู่ในท่านั่งแล้วก็เห็นอาหารที่อยู่ในกระเพาะอย่างนี้

          ตอบ มันเกิดขึ้นด้วยอำนาจของปีติ ไม่ใช่ญาณ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ถ้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นพร้อม และในขณะนั้น อาการที่มันดับไปนั้น เราจำไม่ได้ อาการดับลงไปนั้นก็เป็นโลกิยะ และการเข้าสมาธินั้นก็เป็นโลกิยฌาน

          แต่ถ้าพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เกิดขึ้นพร้อมและดับพรึบลงไป เราจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน เราจำได้ว่าตอนพองหรือตอนยุบ หรือว่าในขณะปฏิบัติอยู่นั้น วัตรของเราที่ทำอยู่นั้น เราตั้งจิตไว้ที่ตรงไหน จิตของเราเป็นอย่างไร เรารู้เลย ถ้าเรารู้เลย ไม่ได้คาดเดาเอาหรือคะเนเอา เราจำได้จริงๆ มันดับวูบลงไป สมาธิหรือฌานนั้นเป็นโลกุตตระ มีนิพพานเป็นอารมณ์

          ถาม ในขณะที่นั่งภาวนาปฏิบัติไป อาการตรงนั้นชัดเจน แล้วก็มีอาการสับ (กายผงกลงไปอย่างเร็ว) คือที่มันดับไปแล้ว รู้ว่ามันดับ แต่จำไม่ได้ว่าลักษณะที่มันดับลงไปเป็นยังไง อยากถามว่าอาการดับอย่างนี้ ถือว่าดับโดยมีพระไตรลักษณ์เกิดร่วมได้ไหมครับ

          ตอบ ทีนี้หลวงพ่อจะถามกลับว่า ก่อนที่มันจะดับนั้น อาการพองอาการยุบที่เรากำหนดอยู่นั้น เร็วขึ้นๆแล้วก็ดับไป มีไหม

          หรือว่าก่อนที่จะมีอาการอย่างนี้ อาการพองอาการยุบของเรามันฝืนๆ อึดอัดแน่นๆ มันแน่นเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วเราก็รู้จักอาการที่มันวูบลงไป จะเป็นตอนท้องพองท้องยุบก็ตาม เรารู้ในขณะที่เรากำหนดอยู่นั้น เรารู้ว่าจิตใจของเราเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน ตรงจมูกหรือตรงศีรษะ เราจำได้ หรือในขณะนั้น อาการพองอาการยุบของเรามันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็วูบลงไป แล้วในขณะนั้นเราจำได้ไหม ว่าสติกับจิตของเรามันอยู่ตรงไหน ไม่ต้องถามอาการพองอาการยุบละ มันอยู่ตรงไหน เอาสติไว้ที่ตรงไหน ถ้าท่านยังจำได้ สภาวะที่กล่าวมานี้ก็เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ถ้าเราจำไม่ได้ สภาวะนี้ก็เป็นโลกิยะ ยังไม่เป็นโลกุตตระ

          ถาม ขอถามเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า สภาวะอย่างนี้ ถ้าเรายังจำไม่ได้ สภาวะอย่างนี้จะยังเกิดขึ้นอีกไหมครับ

          ตอบ ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ มันก็เกิดอีก หากว่าเรายังปฏิบัติอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ หากว่าบารมีของเรายังไม่พอ เราก็อาจใช้เวลาชั่วโมงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ หากว่าเราพร้อมแล้วเมื่อไหร่ มันก็เกิดขึ้นทันที สำหรับผู้ที่ผ่านการปฏิบัติมาแล้วครั้งที่ ๑ ก็ดี ครั้งที่ ๒ ก็ดี ครั้งที่ ๓ ก็ดี ครั้งที่ ๔ ก็ดี ลักษณะอย่างนี้ เมื่อเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิดขึ้นทันที

          อาการที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการเกิดการดับซึ่งเป็นผลสมาบัติ เป็นโลกุตตระ เราปฏิบัติผ่านครั้งที่ ๑ ลักษณะอย่างนี้ก็เกิดขึ้นได้ตลอด แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว ถ้าเรานั่งได้ถูกที่เมื่อไร มันก็เกิด บางทีก็เกิดช้า บางทีก็เกิดเร็ว เพราะเหตุไร เพราะรูป นาม ขันธ์ ๕ มันมีอยู่อย่างนี้ พระไตรลักษณะก็มีอยู่อย่างนี้

          ถาม ถ้าหากว่าญาณมันเกิดขึ้นแล้ว เราควรจะรักษาไว้อย่างไร เพราะเวลาเราออกไปข้างนอก ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงปฏิบัติ เราควรจะรักษาไว้อย่างไรเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แล้วญาณแต่ละญาณนี่เกิดขึ้นตลอดหรือเปล่าครับ

          ตอบ ถ้าสมาธิของเราดี มันก็จะเกิดขึ้นมาเอง ถ้าสมาธิไม่พอ มันก็ไม่เกิด แต่ถ้าสมาธิพอ มันก็เกิดขึ้นทันที บางทีนั่งคุยๆกันอยู่อย่างนี้ เพียงแค่เราตั้งใจสำรวมระวัง (ญาณ)มันก็ขึ้นมาแล้ว

          พูดให้เข้าใจสั้นๆว่า การทวนญาณนี่ เราดูความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ มันจะเปลี่ยนแปลงไป เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เราอยู่อย่างนี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างนี้ เราจะทำงานอะไร หรือท่องมนต์ หรือทำงานอะไรๆ มันก็อยู่อย่างนี้ เวลาเรานอนหลับ มันก็อยู่อย่างนี้ สภาวะก็อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

          การที่เราทวนญาณก็คือว่าให้รู้จักสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ญาณที่ ๔ มันเกิดอย่างไร ญาณที่ ๕ มันเกิดอย่างไร เพื่อจะได้แยกแยะกันออกมา คนเราน่ะ เวลาจะตายมันก็ตายอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะว่าความเป็นไปของร่างกายและจิตใจมันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนไปๆ มันถึงที่แล้วก็ถอยๆลงมา มาถึงนี่แล้วก็ไปอีก


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 สิงหาคม 2562 14:48:11
(https://f.ptcdn.info/440/002/000/1361454717-DSC1672JPG-o.jpg)

ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


         ทางเดินของรูปนามมันมี ๘ ประการ มันหมุนเปลี่ยนไป ถอยลงมาญาณที่ ๔ เมื่อตัวนี้แก่กล้า ก็ขึ้นไปอีก เลยขึ้นไป เป็นอย่างนี้ๆ ถ้าเราไปดูคนป่วยก็จะเห็น หากว่าเราเรียนรู้มัน เราก็จะรู้ว่า โอ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายจิตใจมันมาถึงจุดนี้ ถึงแล้ว ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว เราก็ดูอยู่ แต่เวลามันถอยนี่ มันถอยพรวดเลยนะ ไม่ใช่ ๑ ๒ ๓ ๔ นะ มันถอยพรวดเดียวเลย

          มันถอยลงมาตั้งตัวใหม่ อาจจะใช้เวลาหลายนาที ถ้าสมาธิของเรามีมากมันก็ขึ้นเร็ว ถ้าสมาธิของเราไม่พอ มันก็จะค่อยขึ้นไปๆ มาถึงภยตูปัฏฐานญาณ เป็นอย่างนี้ อาทีนวญาณเป็นอย่างนี้ ไปเรื่อยๆ จนถึงสังขารุเปกขาญาณนั่น สบายๆ เราจะไปที่ไหนๆก็สบายๆ

          เพราะฉะนั้น เหตุที่เรายังไปไม่ได้ ก็เพราะว่าเรายังต้องปฏิบัติต่อไป เลยไปไม่ได้ พอไปไม่ได้ มันก็ถอยกลับมา เหมือนเราตกต้นไม้ เมื่อตกลงแล้ว ถ้าจะขึ้นไปอีก ก็ต้องเตรียมตัว จึงจะขึ้นไปได้

          ถ้าเราไปดูคนป่วยเราจะรู้ทันทีเลยว่า เดี๋ยวนี้การเปลี่ยนแปลงของกายและของใจน่ะ มันเป็นอย่างไร คือมาศึกษาวิปัสสนา มาศึกษาตนเอง ไม่ไปศึกษาทางโลก มาศึกษาตนเอง เราก็(รู้)ขึ้นมาทันทีว่า การเปลี่ยนแปลงของกายของใจมันเป็นอย่างนี้ แต่มันมีอีก ๘ ระดับ เมื่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของใจ ๘ ระดับนี้มันชัดเต็มที่แล้ว พอมันเต็มที่ก็พรวดไปเลย กระโดดข้ามไปเลย

          ฉะนั้น พอเรากำลังดูเพลินๆอยู่ก็วืบไปเลย นิดเดียวเท่านั้น รวดเดียวก็ถึงสัจจานุโลมิกญาณ อนุโลมิกญาณ ๑ โคตรภูญาณ ๑ มัคคญาณ ๑ มันชัด จิตมันเกิดขึ้น ๓ ครั้ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอดีออกจากตัวเห็นชัด มันก็ขึ้นผล ผลนี้มีอยู่ ๓ ขณะ แล้วแต่บุญ

          ถ้าผู้ใดเป็นติกขบุคคล ก็จะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆ ๓ ขณะ แล้วก็ตกภวังค์ขึ้นมา แล้วก็พิจารณาธรรมต่อไปว่า มันเป็นยังไงนะ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือว่ามันตายไปเมื่อตะกี้ บางทีก็ว่ากัมมัฏฐานบ้าๆบอๆ แบบนี้ไม่ปฏิบัติต่อแล้ว ลักษณะมันเป็นอย่างนี้

          ปัจจเวกขณะมันเป็นอย่างนี้ ไม่เหมือนที่เราเรียนมาว่า ปัจจเวกขณะพิจารณาถึงมรรค ผล พระนิพพาน ตัดกิเลสแล้ว กิเลสที่เกิดขึ้นและตั้งอยู่ ว่าตอนนี้ โลภะ โทสะ โมหะไปหมดแล้ว พิจารณาอย่างนี้เป็นแนวทางของปริยัติ

          แต่แนวทางของการปฏิบัตินั้นไม่ใช่ ดีดนิ้วมือนี้ มันยังช้ากว่า พูดง่ายๆว่า เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่นี่มันดับแล้ว อะไรดับ? รูป คือลมหายใจเข้าหายใจออกดับแล้ว นาม คือความรู้สึกมันดับไปแล้ว และก็กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานมันดับไป

          เมื่อมันดับปั๊บไป ลักษณะนั้น ตามหลักการก็ถือว่าเป็นการบรรลุ คือเมื่อก่อนเราคิดว่า เวลาบรรลุเราก็จะได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ต้องเทศน์ได้สอนได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น คนละอย่างกัน อันนั้นเป็นปริยัติ

          ถาม บุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้วผ่านญาณ ๑๖ ไปครั้งแรกนี้ ในเบื้องต้น เขาผู้นั้นสามารถตัดสินตัวเองได้เด็ดขาดไหมว่าเขาได้บรรลุเป็นโสดาบัน

          ตอบ อ้าว เขาก็ต้องรู้ ไม่ใช่ของทำแล้วไม่รู้ ของอันนี้ไม่ใช่เป็นของเป็นเรื่องปกปิด

          เราปฏิบัติผ่านไปๆ เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางแล้ว กำลังของเราก็พอแล้ว ตอนนั้นสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็จะมารวมกันตรงนี้ เมื่อรวมกันแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิด มัคควิถี

          เมื่อเกิดมัคควิถีแล้ว ไม่มีอันใดที่จะไปปิดบังเรา ไม่มีอะไรเป็นเครื่องปิดบัง เพราะในขณะนั้น บางทีพระไตรลักษณ์มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็ดับวูบลงไป บางทีทุกขังมันเกิดขึ้นๆ แล้วก็ดับไป บางทีอนัตตามันก็ปรากฏขึ้น และก่อนมันจะดับลง เราก็รู้ ตอนที่มันลงเราก็รู้ เวลามันลง มันดับไปเลย ก่อนที่มันจะดับมันไม่ใช่ของธรรมดา สติของเรามันใสแจ๋วกว่าปกติ

          เมื่อก่อนโน้นสติของเรามันไม่ใสเท่าไร แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ สติของเรามันก็ใสแจ๋ว เราจะรู้ทันทีเลยว่ามันจะดับแล้ว นี่ตามปกตินะ ถ้าผู้ที่ได้เรียนปริยัติมา (พอปฏิบัติมา)ถึงนี่แล้วละ โอ มันจะดับแล้วนี่ ตั้งใจไว้เลย ถึงไม่อยากให้ดับมันก็ดับไป พอผ่านไปแล้วก็ภูมิใจดีใจว่า ผ่านแล้ว และไม่มีเคลือบแคลงสงสัย แต่ที่ผ่านๆมา ๑) เราไม่ได้เรียนปริยัติมา เราเลยไม่รู้ ๒) สภาวะที่เกิดขึ้น (เพราะเห็นด้วยอำนาจของ) อนัตตานี่

          อนัตตาเกิดขึ้นมา มันก็จะเห็นอาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ อุปมาเท่ากับเส้นด้าย ตอนนั้นแหละ แว้บไปเลย ขาดความรู้สึกไปเลย พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาจึงว่า โอ มันเป็นอะไรหนอนี่ มันทำไมจึงเป็นอย่างนี้ สภาวะมันชัดถึงที่คือมันละเอียดถึงที่แล้ว ละเอียดเข้าๆ ถึงที่แล้วมันก็ดับไป บางทีมันก็เบาไปๆๆ บางทีมันก็หนักๆ บางทีก็ผงะไปข้างหลังเลย บางทีก็ผงะไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างซ้ายผงะไปข้างขวา บางทีก็ดิ่งเข้าๆ พั้บไปเลย

          ถาม ครูบาอาจารย์ที่เป็นสหธรรมิกกัน ที่ท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านก็ปฏิบัติดำเนินมาแล้ว มันดับไป แต่เมื่อมันดับไปแล้ว บางครั้งท่านก็ยังสงสัยว่าตนเองเป็นอริยะ บางครั้งก็สงสัยว่าตนเองเป็นปุถุชน ไม่ทราบว่าทำไมจึงมีความลังเล

          ตอบ เพราะว่าไม่กล้าตัดสินใจ สภาวะมัน ๕๐/๕๐ คือว่าไม่กล้าตัดสินใจ มัน ๕๐/๕๐ มันไม่ชัดเจน

          ถาม อาการดับนี้ มันเริ่มมีในญาณอะไรครับ

          ตอบ อ้าว ถ้าตอนปฏิบัติธรรมดาๆ ก็โน้นแหละ มันเริ่มดับตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ญาณที่ ๓ มันก็เริ่มดับแล้ว แต่ในญาณที่ ๓ ถ้ามันดับด้วยอำนาจของปีติ ของปัสสัทธิ ของสมาธิ ของอุเปกขา ของถีนมิทธะ เราไม่นับ อันนั้นมันก็ดับเป็นเหมือนกัน ปีติบางทีมันก็ดับ ผงะไปจนอะไรเป็นอะไร เราต้องสังเกตให้ดี ทีนี้ถ้าญาณที่ ๔ มันก็ดับ ญาณที่ ๕ มันก็ดับ มันก็ดับทุกญาณ

          ถาม เวลาครูบาอาจารย์พูดคุยกัน ส่วนมากก็บอกว่า ดับๆ

          ตอบ ไม่มีใครที่ไหนจะรู้จักเท่ากับตัวเราเองเป็นผู้รู้จัก ถ้าเรายังไม่กล้าตัดสินใจ เราก็ยกเรื่อง ธัมมาทาส ๔ ประการ คือ (สุตฺต ที. มหาวคฺโค หน้า ๑๑๑)

          ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

          ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

          ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

          ๔. อริยกนฺเตหิ สีเลหิ สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ

          ถ้าเราพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่ (มีใคร) เขาบอกว่าไม่บรรลุ มันก็บรรลุ เพราะองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี่เป็นเครื่องตัดสิน เราเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ใครจะว่าอย่างไรๆก็ตาม เราก็ยังเลื่อมใสอยู่

          เรื่องพระธรรมก็เหมือนกัน หากมีใครมาพูดว่า พระธรรมเป็นของปฏิรูปอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ใครยังวิพากษ์วิจารณ์อยู่อย่างนี้ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ แต่เราไม่วิพากษ์วิจารณ์เลย มีแต่จะคิดว่า โอ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีจริง วิเศษจริง เลิศจริง ผู้ใดปฏิบัติตามก็ได้บรรลุอย่างนี้จริง เมื่อประกอบไปด้วยความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหวแล้ว

          ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ถ้าว่าเราผ่านจริง เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ โอ ดีใจ เหมือนกันกับได้เห็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ก็สาธุอนุโมทนา อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่มีความระแวงอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมีใครทำไม่ดีอย่างนั้นๆๆ มันก็เฉยๆ ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว

          เมื่อพร้อมด้วยองค์คุณทั้ง ๔ ประการนี้ ก็สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราผ่านมาแล้ว แต่ก่อนว่า ๕๐/๕๐ เมื่อผ่านมาถึงแล้ว โอ มันผ่านไปแล้ว

          ถาม ขอถามพระเดชพระคุณหลวงพ่ออีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อมรรคเกิดขึ้น ผลจะเกิดขึ้นต่อกันเลยหรือ

          ตอบ จะว่ามรรคเกิดขึ้นแล้ว ผลเกิดขึ้นต่อเลยหรือ ไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ในมัคควิถี เอ้า จะอธิบายละนะ

          วิถีจิตก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น พอดีจังหวะที่ ๑ ชวนจิตดวงที่ ๑ ดับพั้บไป ชวนจิตดวงที่ ๒ คือ โคตรภู ดับพั้บไป หลังจากนั้นทรงอยู่ ๑ ขณะจิต มัคคญาณดับพั้บไป หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้ว ทรงอยู่ ๑ ขณะจิต ผลจิตก็ดับพั้บไป

          พอเรารู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณา เอ มันเป็นอะไรหนอ มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง นี่มันผ่านไปแล้ว เวลาไม่นาน เวลาบรรลุเท่านั้นแหละ ๑ – ๒ (วินาที)เท่านั้นนะ เวลาได้บรรลุมันมีเท่านั้นนะ ไม่ใช่ว่าพองหนอ ยุบหนอ (ลากเสียงยาว) มันผิดเท่านั้น เพราะอะไร เพราะว่าเวลาดับลงไป เราจะรู้เลยว่า รูปคืออาการพองอาการยุบมันก็ดับ นามคือความรู้สึกของเรามันก็ดับ และกิเลสก็ดับไปด้วยกัน

          ถาม บางท่านดับพร้อมเห็นกิเลสด้วย บางท่านเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับ ต่างกันอย่างไรครับผม

          ตอบ มันอยู่ด้วยกันนะ และถ้ามันดับไป มันยังแข็งตัวอยู่หรือ หรือดับไปแล้วแข็งขึ้นมาเลย ถือว่ามันไม่ดับ มันต้องเห็นนะ

          เพราะอะไร? เพราะคำว่า เห็น ในที่นี้ เราแยกประเภทไม่ได้ สมมติว่าชวนจิตทั้ง ๗ ดวงนี้ ดวงที่ ๑ อนุโลม โคตรภู มรรค ผล และปัจจเวกขณ์ มันใช้เวลาไม่นานเท่าไร เราจะไปรู้ได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าจะค่อยดับไปๆ ไม่ใช่อย่างนั้น พองหนอ ยุบหนอ เท่านั้นเสร็จแล้ว

          วิถีจิตมันเสร็จไปแล้วนี่ ผ่านไปแล้วนี่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ พรึ้บลงเลย มันดับลงไปเลย รูปดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับ ไม่ใช่ว่านานๆค่อยดับลงไปๆ ค่อยๆดับไปทีหนึ่ง ง่วงนอนค่อยๆดับลงไป พองหนอๆ ดับลงไปนี่ถีนมิทธะ ถ้ามันดับไปอย่างนี้ก็ถือว่าดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ

          ถาม ทำไมบางคนเวลาดับลงไปแล้วก็รู้ว่ากิเลสดับลงไปด้วย แต่บางคนทำไมเพียงแต่ดับ แต่ไม่เห็นกิเลสดับไปด้วย ต้องใช้เวลาดับพร้อมกันไหมครับ

          ตอบ เพราะว่ากิเลสนั้นเป็นนามธรรม มันเลยไม่เห็น ถ้ามันเป็นรูปธรรมเราจึงจะเห็น เพราะกิเลสมันเป็นนามธรรม แต่ถ้าเข้าใจหรือรู้ว่ามันอยู่ในจังหวะแบบเดียวกัน มันก็แปลว่าใช้ได้ รูปก็ดับ นามก็ดับ กิเลสมันก็ดับไปด้วยกัน ถ้ามันดับก็ดับไปพร้อมกัน เพราะว่าใจเป็นนามธรรม กิเลสมันก็เป็นนามธรรม มันก็เลยไม่เห็น

          ถาม อาการเกิดดับ เพียงแต่เราจ้องอยู่แล้วก็ดับลงเรื่อยๆ จนเราเห็นอาการพองอาการยุบเกิดขึ้น แต่มันเบามาก และจำได้ว่ามันพองขึ้นหรือยุบลง สามารถตัดสินได้

          ตอบ ก็ตัวเองนั่นแหละสามารถตัดสินได้ มันจริงหรือไม่จริง ดับหรือไม่ดับ ครูบาอาจารย์ตัดสินให้ไม่ได้นะ เราต้องตัดสินเอาเอง

          เพียง คิดหนอ คำเดียว เราผู้ปฏิบัติก็จะรู้ทันทีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดดับชัดเจนไหม ถ้าอาการเกิดดับเกิดขึ้นในขณะที่ทวนญาณ อาการเกิดดับที่เกิดมานั้นถือว่าเป็นผลสมาบัติ บางท่านที่มีสมาธินั่งอยู่ได้นานๆ หรือนั่งได้ทน สมาธิดีก็สามารถอยู่ได้นานๆ อาจจะห้าวันเจ็ดวันก็ได้

          ใครที่มีความเพียรไม่พอ โดยเฉพาะสมาธิไม่มาก สมาธิมีนิดเดียว อาจจะเข้าผลสมาบัติไม่มาก มีประโยชน์เหมือนกัน เหมือนอาหาร ไม่ใช่ว่าต้องกินเยอะๆจึงจะถือว่ามีประโยชน์ ไม่ใช่ เราจะกินคำเดียว สองคำ สี่คำ ก็ถือว่าได้ประโยชน์เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด

          ผลสมาบัติก็เหมือนกัน เราได้เข้าไปนิดเดียวเท่านั้น อาจจะนาน ๑ นาที ๒ นาที ๓ นาที ก็ถือว่าเป็นประโยชน์เหมือนกัน เพราะว่า อำนาจของผลสมาบัตินี้ หากว่าเราจุติในผลสมาบัติ หรือว่าจุติในฌาน เข้าได้เพียง ๑ นาทีเท่านั้น เมื่อจุติแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ มีสุคติเป็นที่ได้ที่ถึงตามกำลังผลสมาบัติของเรา

          มีอะไรอีก สงสัยไหมต่อคำตอบนี้

          เมื่อเราปฏิบัติกัมมัฏฐานถึงญาณที่ ๔ สภาวะอย่างนี้มันจะเกิด เมื่อเกิดแล้วมันจะไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะบางคนน้ำลายไหล แล้วมันก็หมุนๆอยู่อย่างนั้น จนบางครั้งอยากร้องไห้ บางทีเอาผ้ามาเช็ด เพราะไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้ ยิ่งเอาผ้าเช็ดก็ยิ่งไปกันใหญ่ กลับเป็นหนักขึ้น มันเป็นสภาวะอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

          สภาวะอย่างนี้ เราปฏิบัติครั้งแรกนี่มันทนทุกข์ทรมาน แต่เมื่อสภาวะมันผ่านไปๆ ถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว การปฏิบัติมันจะมีความรู้สึกสบายๆ เพลิดเพลิน กำหนดได้ง่าย ถ้าสภาวะนี้ไม่เกิดเราก็ไม่ได้สมาธิ ถ้าสมาธิเกิดขึ้นมา มันหมุนขึ้นๆ กำหนดไปๆ มันนิ่ง เมื่อมันนิ่งแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเกิดเป็นสมาธิ

          อาการอย่างนี้เวลามันเกิดขึ้น อาการพองยุบนั้น บางทีมันมาพองยุบอยู่ด้านหลัง สภาวะอย่างนี้มันเกิดชัดแต่ละท่าน เมื่อเกิดจากญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ลักษณะนี้ มันยืนพื้นอย่างนี้ แต่อะไรที่เป็นปลีกย่อย มันก็มีตามญาณ แต่ตัวนี้มันเป็นตัวยืนพื้น พื้นฐานของความเกิดดับ

          หลวงพ่อเองก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ปฏิบัติเมื่อก่อนต้องเอาเทปมาฟังจึงเริ่มเข้าใจ มันเป็นสภาวะเริ่มตั้งแต่ญาณที่ ๔ ถึงสังขารุเปกขาญาณ ส่วนญาณที่ ๔ – ๕ ก็ยังไม่เป็นไร พอมาถึงญาณที่ ๖ เริ่มหนักแล้วทีนี้ พอถึงอาทีนวญาณ และ นิพพิทาญาณ ก็หนักเข้าไปๆ เมื่อมาถึง มุญจิตุกัมยตาญาณ เหมือนเจออุปสรรค ไม่อยากปฏิบัติต่อไป อยากเลิกอย่างเดียว

          แต่เมื่อปฏิบัติไปถึง ปฏิสังขาญาณ จิตใจมันก็เข้มแข็ง มันจะเป็นอะไรก็ยอมตาย ไม่ว่ามันจะเป็นอย่างไรก็จะไม่ยอมหยุดการปฏิบัติ จิตใจก็มั่นคงหนักแน่นยอมตาย พอดีมาถึงสังขารุเปกขาญาณ ที่มันทนทุกข์ทรมานมามาก มันนุ่มมันนวล สบายๆ อันนี้แหละดี

          ถาม หลวงพ่อครับ ถ้าบุคคลไม่ได้ผ่านปฐมมรรคแล้ว ถ้าอธิษฐานการเกิดดับอีก จะสามารถเห็นการเกิดดับได้ไหมครับ

          ตอบ ถ้าไม่ผ่านนะ โอ เป็นไปไม่ได้

          ถาม แล้วการเกิดดับ ถ้าสมมุติว่าอธิษฐานการเกิดดับ การเกิดดับจะเกิดมากน้อยขนาดไหนครับ

          ตอบ แล้วแต่ บางทีเรานั่งอยู่นี่มันเกิดได้สัก ๑๐ ครั้ง หรือ ๑๕ ครั้งก็ได้ ถ้ามันถี่ คือมันละเอียด คือสภาวะมันปรากฏชัด สมมุติว่า พองหนอ ยุบหนอ มันมีลักษณะนี้แล้วมีอาการเกิดดับ ที่ให้อธิษฐานนั้น เรานั่งพองหนอยุบหนออยู่ มันไปแล้ว จะตั้งใจดีๆนี่ไปแล้ว มันดับพรึบๆไปเลย อย่างบางท่านก็ตั้ง ๑๕ – ๑๖ ครั้งนะ อันนี้แหละถือว่าผ่านแล้ว ถ้าเราไม่ผ่าน ลักษณะอย่างนี้ไม่มี

          ถาม แล้วถ้าเราอธิษฐานทุกครั้ง มันจะเกิดทุกครั้งหรือเปล่าครับหลวงพ่อ

          ตอบ อันนี้แล้วแต่สมาธิ ตัวที่จะพาให้เกิดคือสมาธิ ถ้าสมาธิของเรามันพร้อม มันก็เกิด ถ้าสมาธิไม่พร้อม คือสมาธิมันอ่อน มันก็ไม่เกิด เวลาเราทวนญาณก็เหมือนกัน เพราะว่าเราปฏิบัติมาแล้ว สมาธิของเรามันเต็ม มันก็จะปรากฏ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติมา อย่างน้อยที่สุด ๗ วัน ยังไม่เกิดนะ ยังไม่เห็นอาการ ยังไม่ได้เกิด

          ถ้ามันผ่านพ้นประมาณสัก ๑๕ วัน เวลาเราทวนญาณเข้าไปมันก็อาจปรากฏ คือว่ามันเร็ว เรียกว่าปฐมมรรคนี่มันเร็ว มันผ่านไว ผ่านไปเร็ว บางทีเวลาเราไปทวนญาณนี่ มันก็ไม่ค่อยชัด คือว่าสมาธิของเราไม่พอ มันยังไม่เต็มอัตราส่วน แต่ถ้าสมาธิพอ เหมือนกับที่เราท่านทั้งหลายทวนญาณกันอยู่นี่ มันก็ดูกันสบายๆ เราก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะว่าสมาธินี้มันเป็นพื้นฐานที่จะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

          ถาม อยากจะรู้ว่า ถ้าเราจะเจริญวิปัสสนานี้ จำเป็นจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกถึงระยะที่ ๖ ตลอดเวลาหรือเปล่า

          ตอบ ไม่ต้องหรอก อยู่ที่ว่าสติของเรามันดี ที่ผ่านๆมานี่ หลวงพ่อกำหนด พองหนอ ยุบหนอ  นั่งหนอ ถูกหนอ (ระยะที่ ๓ ที่ ๔) ส่วนมากหลวงพ่อทำไม่ค่อยได้ (ได้แต่)พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ส่วนมากหลวงพ่อทำได้เพียงระยะ ๓ นี้เท่านั้นแหละ ๖ ระยะนั้น มันก็ทำได้อยู่ แต่มันทำได้พักหนึ่งมันก็เลิก คือมันก็หยุดทำ มันก็เหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ ส่วนมากหลวงพ่อเหลือแต่ พองหนอ ยุบหนอ

          แต่ว่าข้อสำคัญคือ สติของเราดีแค่ไหน ถ้าสติดีมันก็ใช้ได้ หลวงพ่อพูดเตือนอยู่ตลอดเวลาว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป [3] เพราะความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นสายกลาง ความเป็นกลางของเรามันอยู่ตรงไหน เรียกว่า ในพองหนอยุบหนอ ๖ ระยะนี่ ชวนะของเรามันก็ไม่ทัน มันไม่พอ มันก็แล้วแต่ความพอดีของเรา บางทีมันยาวไป มันเหนือความพอดีของเรา

          หลวงพ่อใช้เพียงแค่ พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอๆ เพียงเท่านี้ หรือบางที่มันหนักเข้าๆ สภาวะมันเร็วขึ้น มีแต่พอง มีแต่ยุบ พอมันเร็วถึงที่กำหนดไม่ไหว ได้แต่ รู้หนอๆ เข้าใจไหม ไม่ใช่ว่ากางแบบออกไปเลย นั่นมันเป็นหลักวิชาการที่ครูบาอาจารย์สอนให้พวกเรา

          แต่ว่าพวกเราทั้งหลายต้องใช้คำว่า อาสวักขยญาณ ปัญญารู้ทัน รู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป ทำอย่างไรมันจึงจะหมดจะสิ้นไป นี้อยู่ที่ความฉลาดของเรา บางทีเราว่า พองหนอ ยุบหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ แล้วใจจะขาดตาย เราต้องฉลาดในอุบาย ในการกำหนด บางทีก็ สัมมาอะระหังๆ มันก็อยู่ที่ความพอดีของเรา บางทีก็ไม่เลย ไม่พองหนอยุบหนอเลย เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้น อย่างนี้ก็ไปได้

          สรุปได้ว่า ถ้าเรารู้หลักการ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ทำตามจังหวะต่างๆ ตามวิธีการของการบริกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ตามหลักวิชาการหมดทุกอย่างก็ยังได้ แต่ต้องมีสตินะ บางทีหลวงพ่อทดลองให้เขานั่งอยู่ ให้เพ่งแต่ดิน เพ่งอยู่นั่น เพ่งอยู่ตลอดเวลา มันก็ดับได้

          บางครั้งภาวนาว่า อยากตายหนอๆ แต่เราไม่อยากตายจริงนะ เรามีสติสัมปชัญญะ มันก็ดับได้ อันนี้เรียกว่า มันอยู่ที่สติของเรา อาจารย์บางท่านกำหนด ไหวนิ่งๆ หรืออวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งมันเคลื่อนไหว ส่วนมากเขาใช้มือบริกรรม ไหวนิ่งๆ มันก็ไปได้

          เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติที่เห็นแล้วจะไม่กล่าวว่า สำนักนั้นไม่ดีๆ สำนักนั้นดี ไม่ใช่ มันยังไม่ถูก หมายความว่า จุดหมายปลายทางของเราอยู่โน้น อยู่ที่ดับกิเลสตัณหา ดับทุกข์ มันอยู่โน้น เราจะทำอะไร เดินได้ด้วยวิธีไหน มันก็ไปถึงจุดนั้น เรียกว่า ผ่าน เดินไปมันก็ไปๆ ตามทางไป มันผ่านอย่างนั้น มันก็ถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกัน

          ก็เหมือนที่หลวงพ่อพาโยมมาปฏิบัติ บางทีมันได้ ๒๔ ชั่วโมงแล้ว สอบอารมณ์ดู โอ มันผ่านไปไม่ได้ มันได้แต่ฌาน เมื่อมันมีแต่ฌานแล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เวลาก่อนนั่งสมาธิไม่ต้องอธิษฐานนะ ไม่ต้องว่า ขอให้สมาธิของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป เท่านั้นนาที เท่านั้นชั่วโมง ไม่ต้องว่านะ ให้เอาอย่างนี้เลย คือต้องสังเกตว่ามันจะเข้าสมาธิไปตอนไหน ตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ ให้สังเกต ผู้ที่ได้ฌานอยู่แล้วนี้ เวลาจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันง่ายๆ แว้บเดียว

          เพราะอะไร? เพราะว่า สมาธิของเรามันเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว ในขณะที่ผ่านๆมานั้น เราก็มีพระไตรลักษณ์อยู่แล้ว อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรามีอยู่แล้ว มันมีอยู่ แต่ว่าเราเพลินในฌาน มีการเพลินไปๆ สนุกสนานไปเรื่อยๆ แต่ทีนี้เรามาตั้งใจใหม่ว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เวลาจะเข้าสมาธิหรือจะเข้าฌานนั้น ไม่ต้องอธิษฐานนะ พยายามจำสภาวะให้ได้ว่า เวลาเข้าสมาธิ เข้าฌาน มันจะเข้าสมาธิหรือเข้าฌานไปตรงจุดไหน ตอนไหน เราจะจำได้ไหม ถ้ามันจำได้ ทำถูก ก็ถือว่าใช้ได้

          หลวงพ่อท้าเลยว่า ถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด ต่อให้เทวดาพูด มันก็ไม่ถูก เพราะว่าถ้ามัคคจิตผลจิตไม่เกิด มันไม่มีโอกาสที่จะจำได้เลย

          เพราะอะไร? เพราะสติยังไม่สมบูรณ์มันก็จำไม่ได้ แต่ถ้าว่าสติของเราสมบูรณ์ อินทรีย์ ๕ มันสมบูรณ์ มันก็จำได้ เพราะมันเป็นมัคคสามัคคี มันรวมกันเลย เมื่อสภาวะทั้งปวง (คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗) มีสัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ มารวมกัน พอเกิดมัคควิถี มันก็จำได้ทันที

          หลวงพ่อเคยบอกว่า การดับนั้นมี ๕ ประการ คือ

          ๑. ดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ จิตและเจตสิกของเรามันสงบมาก ดิ่งเข้าไปๆ ดับพั้บไป แต่เราจำไม่ได้ นี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ

          ๒. ดับด้วยอำนาจของปีติ เดินอยู่ นั่งอยู่ เรากำหนดไปๆๆ ปีติบางอย่างมันเกิดขึ้น ก็สงบไป บางอย่างก็ผงะไป อันนี้มันดับพร้อมกับปีติ

          ๓. ดับด้วยอำนาจของสมาธิ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ เราทำได้สบายๆ กำหนดได้สบายๆ ดับพรึ้บไปเลย แต่พระไตรลักษณ์ไม่มี ไม่ปรากฏ

          ๔. ดับด้วยอำนาจของอุเบกขา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่นั้น เรานั่งไปๆ จิตใจมันเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ เพลินไปๆ สงบไปๆ กำลังเพลินอยู่นั่นแหละ สงบลงไป อันนี้คือดับด้วยอุเบกขา

          ๕. ดับด้วยอำนาจถีนมิทธะ เวลากำหนดพองหนอยุบหนอ ก็ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา นั่งไปๆ มันง่วง นั่งไปๆ สงบลงไป แล้วก็ตาใสขึ้นมา ผลสุดท้ายเลยไม่อยากนอน อันนี้มันดับด้วยอำนาจของถีนมิทธะ

          ดังนั้น จึงให้ตัดสินใจเอาเองว่า เออ บัดนี้ความโกรธมันยังเหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความอยากได้ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ความโง่ คือไม่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นี่ยังอีกกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราที่มาปฏิบัติธรรมถึงปานนี้ รับรองว่าอย่างน้อยๆนี่ ๖ ชาติ ๗ ชาติ ไม่ตกนรก

          ถาม เวลาที่เราอธิษฐานทวนญาณ สภาวะจะเกิดทุกอย่างเลยหรือเปล่าครับ

          ตอบ ถ้าเราอธิษฐานอย่างนั้นอย่างนี้ มันจะตอบสภาวะอย่างนั้นขึ้นมา มันอาจจะคล้ายคลึงกัน คล้ายๆกัน ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราอธิษฐานแล้วไม่มีอะไรเกิดเลย ก็ถือว่าใช้ได้ ถ้าเราทวนเข้าไปๆ เออ อันนั้นมันเกิดอย่างนั้นเกิดอย่างนี้ นี่ก็ใช้ได้

          บางทีมันปรู๊ด ไปถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ มันจะแก่กล้าถึงที่แล้ว มันผ่านวูบ แวบเดียวเท่านั้นนะ บางที ๕ นาที มันครบวงจรแล้ว บางทีเรายังรู้อยู่ๆ มันก็ค่อยไปๆ บางทีรู้สึกตั้งแต่ญาณที่ ๔ เหลือจากนั้นมันไม่รู้เลย โน้น ไปรู้ญาณที่ ๘ ญาณที่ ๙ ญาณที่ ๑๐ มันไปรู้โน้น มันเร็ว ถ้ามันเกิดก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

          ถาม ถ้าเราไม่เคยสร้างบารมีมาก่อน ต้องใช้เวลาทำความเพียรนานสักเท่าไหร่ครับ

          ตอบ ตามหลักฐานที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอานิสงส์แห่งการเจริญสติปัฏฐาน [4] ๔ ว่า ๗ ปี ผู้ปฏิบัติธรรมที่บารมีมันน้อย ต้องปฏิบัติไปโน้น ๗ ปี แต่ถ้าบารมีเราไม่มีเลย มันก็ไม่ได้บรรลุ

          หรือว่าท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิ เมื่อเวลาเจริญกัมมัฏฐานไป จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ก็จบลงแค่นี้ เจริญกัมมัฏฐานอยู่จนวันตายมันก็อยู่แค่นี้ แม้ชาติหน้ามาปฏิบัติอีก มันก็เริ่มตั้งแต่ญาณ ๔ ไปถึงญาณที่ ๑๑ มันก็ยังไม่บรรลุ เพราะอะไร? เพราะว่าเราปรารถนาพุทธภูมิ ต้องบำเพ็ญบารมีให้เต็มเสียก่อนมันจึงจะได้บรรลุ

          ถาม สำหรับผู้ที่ไม่มีบารมีทางสมาธิทางสมาบัติ ต้องใช้ความเพียรในการปฏิบัติอยู่นานแค่ไหนครับ

          ตอบ ถ้าไม่สร้างบารมีมา กะคือจั่งคนพายติบข้าวเปล่า (เหมือนกับคนสะพายกระติบข้าวเปล่า) ลูกศิษย์บางรูปนะ ปฏิบัติอยู่ บอกว่าชาตินี้บ่อเอาดอก ชาติหน้าชาติใดแสดงฤทธิ์ได้เก่งค่อยเอา

          ถ้าเราได้สร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะมาก่อน ถึงอย่างไรๆมันก็เกิด ส่วนมากเวลาปฏิบัติ มันพั้บ เอาละ เกิดแล้ว นี่มันเกิดแล้ว แต่ถ้าเราไม่เคยสร้างสมอบรมบารมีมา ฌานมันก็ไม่เกิด เป็นประเภทสุกขวิปัสสกะ บรรลุโดยแห้งแล้ง มันก็มีเท่านั้นแหละ

          ถาม คนที่เข้าสมาธิ(ฌาน)ได้นานกว่าเพื่อน เช่น ๓๐ นาทีก็ดี ๑ ชั่วโมงก็ดี หรือ ๒๔ ชั่วโมงก็ดี ผลจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนครับ เกี่ยวกับการเกิดอภิญญา

          ตอบ เราก็มีความสุขหลายกว่าหมู่ (มีความสุขกว่าเพื่อน) สบายกว่าหมู่ เวลานั่งก็ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เกร็ง นั่งไปมีความสุขสบายๆ เพราะว่าฌานมันมีกำลังภายในอยู่

          ส่วนเรื่องอภิญญาจิต หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตของผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ รู้การเกิดการตายของคนอื่นบุคคลอื่น สำหรับพวกเรียนอภิญญาจิต เมื่อเราไม่เคยสร้างสมบารมีมาเลย ไม่เคยอธิษฐานในเรื่องอภิญญา วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ เราไม่เคยอธิษฐานมาก่อนเลย บอกให้เกิดมันก็ไม่เกิด เราไม่มีมูล ไม่มีมูลเก่า เห็นไหม คนบางคนพอนั่งสมาธิไปๆ ก็เห็นผีแล้ว

          หลวงพ่อว่า เห็นพวกเผิ่นนั่งเห็นผี อยากให้มาปฏิบัติ ทำไมถึงอยากให้มาปฏิบัติ เพราะว่าเราจะได้อาศัยการทำงาน ช่วยกันทำงาน เพราะว่าพวกที่เคย บ้านเราว่า นั่งธรรม ถ้ามันนั่งได้จริงนี่ เวลามาปฏิบัติกัมมัฏฐาน โอย  แจ้งจ่างป่างเลย นั่งหมดวัน ยุงตัวเดียวก็ไม่กัด

          ถาม ขอโอกาสถามหลวงพ่อถึงวิธีแก้ความกำหนัดซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปฏิบัติพระกัมมัฏฐานว่า ควรทำอย่างไร

          ตอบ เอาอย่างนี้ สำหรับราคะกับพระกัมมัฏฐาน ถ้าพิจารณาพระกัมมัฏฐานแล้วผ่านไปได้ ถ้าเราตั้งใจ มันก็ผ่อนลดลงไปได้ แต่ถ้าคิดว่าจะตัดทิ้ง มันก็ยังไม่หมด ถ้าเราไปตัดอวัยวะเพศทิ้งมันก็ยังไม่หมด เพราะอะไร เพราะเชื้อมันยังมีอยู่

          เพราะฉะนั้น วิธีของเรา หลวงพ่อก็ให้เจริญอสุภกัมมัฏฐาน เอาซากศพมาเป็นอารมณ์บ้าง เอาร่างกายมาเป็นอารมณ์บ้าง มันก็จะผ่อนลงไปๆ หรือว่าเราจะหนีเข้าสมาธิไป มันก็บรรลุได้ หากว่าเรารู้สึกตัวขึ้นมาแล้วมันยังไม่เกิด แต่เมื่อเราประสบกับอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส มันก็เกิดขึ้นอีก

          แต่ถ้าเราตั้งจิตตั้งใจ ตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา อารมณ์เหล่านั้นมันก็รบกวนเราไม่ได้ สิ่งที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ ก็คือเราไม่ได้ดำริ เมื่อไม่ดำริ ความกำหนัดก็ไม่เกิด แต่ถ้าเราดำริมันก็เกิดขึ้นทันที โอ้ คืองามแท้ เออคนนั้นสวย คนนี้สวย ตาก็สวย แก้มก็สวย อะไรๆก็สวย เพียงแค่นึกว่าคนนั้นสวยนา มันก็มีอาการขึ้นมา ถ้าเราไม่ดำริ คือไม่ปลุกมันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะว่าเท่าที่สังเกต ที่สำคัญๆ ลักษณะเช่นนี้มันจะเกิดตอนเช้า ตี ๓ ตี ๔ มันจะเกิดขึ้นมาทันที หรือตอนกลางคืนดึกๆ มันจะแสดงปฏิกิริยาขึ้นมา



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 สิงหาคม 2562 14:50:32
(https://f.ptcdn.info/440/002/000/1361454717-DSC1672JPG-o.jpg)

ถาม-ตอบ ปัญหากัมมัฏฐาน (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


                   เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรา พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาแล้วให้รีบลุกขึ้นจากที่นอนทันที แล้วไปอาบน้ำชำระร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า แล้วก็ไปทำงานทำการ นี่เราต้องแก้มัน

          ถาม ทำไมอุปกิเลส ๑๐ ถึงเกิดได้ครับ

          ตอบ อันนี้หลวงพ่อไม่เฉลย ท่านเรียนจนเป็นมหาเปรียญแล้ว มหาก็จบแล้ว นักธรรมเอกก็จบ หลวงพ่อไม่เฉลยนะ อุปกิเลสอะไรๆนั้น สมัยปฏิบัติอยู่ปีก่อนโน้น บางองค์อุปกิเลสแกล้วกล้าที่สุด ตกลงเอาเอง ว่า(ตน)สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อก่อนบอกว่า ผมสำเร็จพระอรหันต์แล้ว ครูบาอาจารย์รูปใดๆจะมาเทศน์มาบอกให้ก็ไม่ยอมฟัง หลวงพ่อโขกเอา เออ มันไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์นะ มันเป็นพระจับหัน อาจารย์พระครูของท่าน จะไปเทศน์อย่างนั้นเทศน์อย่างนี้ก็ไม่ยอมฟัง ยังว่า ผมสำเร็จอรหันต์แล้ว

          ถาม ถ้าเคยปฏิบัติแล้วว่างเว้นไปนาน หลังจากปฏิบัติเวลาผ่านไป ๗ ปี ญาณยังคงรวบรวมอยู่ไหมครับ

          ตอบ ตลอดเวลา เพราะว่ามีการเปลี่ยนแปลงของรูปนามอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ถึงเราไม่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมันก็เปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าเราไม่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เราไม่กำหนด มันก็ไม่รู้ แต่ถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันจึงรู้ รู้ว่ามันอย่างนี้ๆอยู่ตลอดเวลา

          ถาม กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อ การอธิษฐานให้จิตแน่นิ่งไป ในเวลาที่แน่นิ่งตลอด ๒ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง บางทีนั่งไป ๙ ชั่วโมงก็มี ๑๒ ชั่วโมงก็มี ๕ – ๖ ชั่วโมงก็มี แต่มันยังไม่ดับเลย ถือว่าใช้ได้ไหมครับ

          ตอบ ใช้ได้ บางทีสมาธิของเราดี เพียงแค่ปฐมฌานอย่างเดียวมันก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกัน ทุติยฌานก็อยู่ได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมงคือกัน ตติยฌานก็อยู่ได้ ๒๔ ชั่วโมง

          แต่มีข้อสำคัญว่า ความเพียรของเรา สติของเรา สมาธิของเรา มันพอไหม ถ้าพอก็ใช้ได้ บางคนนั่งสมาธิได้แต่ฌานที่ ๑ อยู่นั่นแหละ หมดพรรษาจึงข้ามได้ก็มี แต่ถ้ามันมีแล้ว หน้าที่ของเราคือพยายามทำให้สมาธิมันดีขึ้นๆ เพิ่มขึ้นๆ มันก็จะขยับขึ้นไปฌานที่ ๒ ที่ ๓ ไป

          ถาม เวลาเรานั่งไปครับ มันขาดความรู้สึกไป แล้วรู้สึกตัวขึ้นมาอีกที เวลามันผ่านนานไปแล้ว จำไม่ได้ว่ามันเป็นตอนไหน มันดับหรือเปล่า นี่เป็นการดับไหม

          ตอบ จิตมันเข้าสมาธิไป ทีนี้มันจะเข้าเร็วหรือช้า มันก็แล้วแต่สมาธิของเรา บางทีก็โน้น ขาดความรู้สึกไปเป็น ๓๐ นาทีก็มี บางท่านก็ ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที ก็แล้วแต่ บางท่านก็ดับไปโน้น ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวขึ้นมา โอ มัน ๑ ชั่วโมงแล้ว มันเป็นสมาธิ ถ้าการปฏิบัติเคยผ่านปฐมมรรคมา มันก็เป็นผลสมาบัติ

          ถาม กระผมมีความไม่สบายใจ (ที่ได้เคยรู้สึกหรือคิดในแง่ไม่ดีต่อครูบาอาจารย์) กราบขออภัยพระเดชพระคุณหลวงพ่อ และขออภัยเพื่อนนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยครับผม

          ตอบ เท่านั้นหรือ มีแต่ขออภัยๆ ถ้าในเรื่องในสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไรดอก ครูบาอาจารย์ให้อภัยอยู่ตลอดเวลา แต่เราจะให้อภัยครูบาอาจารย์ไหม

          ถ้าครูบาอาจารย์ให้อภัย เราก็ต้องให้อภัยท่านเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จึงจะใช้ได้ ส่วนมากเวลามาประพฤติปฏิบัติ ก็จ้องจับผิดครูบาอาจารย์ นี่เบอร์ ๑ เลย ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ เราปฏิบัติผ่านไปไม่ได้ เพราะจิตใจไม่ตรงกัน มันใกล้ครูบาอาจารย์อยู่ตลอดเวลา จิตใจไม่ตรงกัน ไปไม่ได้ ถ้าจิตใจมันตรงกัน มันก็ไปตามวิถีไปเรื่อยๆ

          ลูกศิษย์ลูกหามาปฏิบัติหลายๆท่าน เวลาปฏิบัติหลวงพ่อทักเอาเรื่อยว่า โอย ทำจิตใหม่ ให้ทำจิตทำใจใหม่หน่อยเถอะ อย่ามีแต่หมั่นไส้หลวงพ่อ หมั่นไส้ครูบาอาจารย์ตลอดเวลา มันไปไม่ได้หรอก

          เขาเลยสะดุ้งขึ้นมาว่า เอ๊ะ หลวงพ่อรู้เรานี่ มันลักษณะอย่างนี้ ถ้าจับผิดครูบาอาจารย์ ส่วนมากมันไปไม่ได้ เพราะจิตใจมันไม่ตรงกัน มันค้านกันอยู่ตลอดเวลา

          หลวงปู่ที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ถ้าภาษาบ้านเราว่า ซอมอารมณ์ มีแต่นั่งเบิ่ง นั่งเบิ่ง นั่งไปนั่งมา เดี๋ยวภาวนา พองหนอ ยุบหนอๆ เอ้า นั่งไปนั่งมา เดี๋ยว(เปลี่ยน)ภาวนา สัมมาอรหังๆ  นั่งไปนั่งมาก็ว่า ไหวนิ่งๆ

          หลวงพ่อเลยเตือนว่า หลวงปู่ อย่าภาวนาหลายคำหลาย(หลายอย่าง) เดี๋ยวก็จับนั่นใส่นี่ เดี๋ยวจับนี่ใส่นั่น มันไปไม่ได้ หลวงปู่ค่อยได้สติ แล้วก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติต่อ

          ถาม เมื่อช่วงปฏิบัติในฤดูหนาวปีที่แล้ว ที่นาห้วยแดง เจอเหตุการณ์ว่า เด็กนักเรียนที่เข้ามาประพฤติปฏิบัตินั้น สามารถเข้าสมาธิได้ แต่ว่าอาการของสมาธินั้น มีอาการแสดงลักษณะอาการต่างๆ เด็กบางคนเข้าใจว่าตัวเองเป็นเสือ บางคนเข้าใจว่าเป็นกบ บางคนเข้าใจว่าเป็นวัว แล้วที่เข้าใจว่าเป็นวัวกระทิง ลุกขึ้นชกครูบาอาจารย์ ทั้งที่ยังหลับตาอยู่ ไม่ทราบว่า อาการเหล่านี้เกิดจากเหตุอะไรครับ

          ตอบ มันมีเหตุมีปัจจัย อุปาทานจิตมันเกิดขึ้น ถ้าจะพูดว่าเป็นกรรมที่เขาสร้างไว้อย่างนั้น เขาสร้างไว้อย่างนี้ มันก็นานจบ(ไม่จบง่ายๆ) ถ้าจะว่าเป็นไปตามกรรมๆ มันนานจบ เพราะเรื่องกรรมนี่มันเป็นอจินไตย ถึงเราจะว่าอย่างไร คนเขาก็ไม่เชื่อ แต่ถ้าเราพูดว่า อุปาทานจิต มันก็หมดเรื่องแค่นี้

          เมื่อก่อน เวลาปฏิบัติ หลวงพ่อปล่อยเลย อยู่ในโบสถ์นั่น ปิดโบสถ์ไว้เลย บางทีมันก็ร้องเป็นหมู อู๊ดๆ บางทีก็เป็นเสือ มันร้องเป็นเสียงเสือเลย บางทีก็เป็นช้าง บางทีก็เป็นวัว ปีที่แล้วทั้งเตะทั้งต่อยพระอาจารย์กรรมทั้งชั่วโมง บางทีขี้เกียจไปยุ่ง หลวงพ่อปล่อยไปเลย ปล่อยไปๆ เวลามันถึงที่มันก็หายเองมัน

          ถาม อาการอย่างนี้จะแก้อย่างไร หรือปล่อยไปเลย

          ตอบ มันไม่ยาก มันสั่นมือ หรือไม่สั่น

          ถาม สั่นครับ สั่นไม่หยุด สาวหมัดใส่เรา จะแก้อย่างไรดี

          ตอบ จับมือเลย จับให้แน่น บอกว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด ถ้ามันไม่หยุด ตบแรงๆมันก็หยุด ทำไมมันจะไม่หยุด อย่างพระที่อยู่นาหนองตาลนั้น เริ่มตั้งแต่เช้าเลย ยังไม่ได้ฉันเช้า ทำวัตรเสร็จก็เอาแล้ว มันสั่นๆ จนเพลก็ไม่ได้ฉัน มาทำวัตรตอนค่ำก็ยังไม่หาย

          เขามารายงานหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ มันไม่หาย ถามว่า หมดแล้วหรือ หมดวิชาแล้วหรือ เขาว่า หมดแล้วหลวงพ่อ หลวงพ่อก็เดินไป เดินไปถึงก็ว่า เอ้า ตั้งสติ หยุด! ลืมตาขึ้นมา เท่านั้น ต้องฉลาดแก้อารมณ์

          ถาม สมัยก่อน ตอนอายุยังน้อยๆ ผมนั่งอยู่ ขณะนั้นจิตมันนิ่งแล้วปรากฏภาพนิมิตเป็นรูปภูเขาลอยเข้ามาในตัวของเรา ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวไม่ได้ มันเป็นอาการของอะไร

          ตอบ อ้าว ตัวเองก็ปฏิบัติมาแล้วนี่ ไม่จำเป็นที่จะต้องถาม อันนี้มันเป็นสภาวะบุญที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว ที่นั่งๆกันอยู่นี่ มันจะเป็นอย่างไรๆ มันเป็นที่บุญกรรมที่เขาสร้างสมอบรมมาแล้ว บางทีมันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ๆ คือว่ามันมีอุปนิสัย สิ่งที่เกิดมา แล้วแต่มันจะแสดงอาการ

          อันนี้มันไม่ได้เป็นมรรคเป็นผลอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมา ก็บอกเขาสั้นๆว่า เออ เป็นอุปนิสัยที่เคยสร้างสมอบรมมาตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อน อันนี้เป็นอย่างนี้ แต่เราอย่าพูดออกไปว่า ชาติก่อนนั้น เจ้าทำอย่างนั้น ชาติก่อนทำอย่างนี้ ชาติก่อนโน้นเคยเป็นลูกเป็นผัวกัน อย่างนั้นอย่างนี้ เสร็จกันแหละ

          บางทีคนที่มาหาหลวงพ่อนั้นเป็นร้อยๆคน พอมาหาก็ว่า เมื่อภพก่อนชาติก่อน เคยเป็นเมียหลวงพ่อ อย่างนั้นอย่างนี้ หลวงพ่อก็เฉย เมียก็เมีย ผัวก็ผัว แล้วแต่จะว่า หลวงพ่อก็ไม่ได้เฉลย เฉย จะว่าเมียก็เมีย จะว่าผัวก็ผัว ว่าไป  แต่จะมาเฮ็ดสะเอาะสะแอะนำเฮาบ่ได้ แต่ส่วนมาก (พระเรา) พอเขามาพูดอย่างนี้ และเขาก็สวยด้วย พูดถูกจริตด้วย ก็ทึกทัก (เชื่อไปตามที่เขาว่า) มันเลยไปกันใหญ่

          เอาละ  หลวงพ่อขอปวารณาไว้เป็นการส่วนตัว มีอะไรๆที่เกิดขึ้นภายหลัง มีความสงสัยอย่างนั้นสงสัยอย่างนี้ หลวงพ่อขอปวารณา ถามหลวงพ่อได้ตลอดเวลา

          สำหรับวันนี้ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อขออนุโมทนาสาธุการที่ท่านนักปฏิบัติธรรมและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้มีโอกาสมีเวลาพูดจาปราศรัยกัน แล้วก็อะไรที่ขาดตกบกพร่องไป หลวงพ่อก็ขออภัยท่านทั้งหลาย

          ขอให้ท่านทั้งหลายได้ดำเนินวิถีชีวิตไปด้วยความสดชื่นสมหวัง ขอให้ท่านทั้งหลายได้บรรลุสมาธิ สมาบัติ วิชชา ปฏิสัมภิทา อภิญญา อริยมรรค อริยผล จนถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพานด้วยกันจงทุกท่านๆ เทอญ.

------------------------
[1] อ่านรายละเอียดได้ในเรื่อง อายตนะ ๑๒ เล่มที่ ๔

[2] วินย.  มหาวิภงฺโค   ๑/๒๓๒/๑๗๒

[3] คือฉลาดในการปฏิบัติ, รู้จักยักย้ายวิธีการเพื่อประหารกิเลส

[4] สุตฺต  ที.  มหาวคฺโค  ๑๐/๓๐๐/๓๔๕-๖


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 ตุลาคม 2562 16:05:50
(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/753/9753/images/candlelight.jpg)

นามรูปปริจเฉทญาณ – ปัจจยปริคคหญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      วันนี้จะพูดเรื่อง นามรูปปริจเฉทญาณ คือเมื่อเราทั้งหลายตั้งใจเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์

       เมื่อใดสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปเห็นนาม ว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม เมื่อเห็นรูปเห็นนามแล้วก็สามารถที่จะแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       เช่นเวลาเรากำหนด “ยืนหนอๆๆ” นี้ เราต้องรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม เมื่อเรากำหนดว่า “ยืนหนอๆ” ยืนเป็นรูป รู้เป็นนาม “อยากเดินหนอๆ” อยากเดินเป็นนาม เดินเป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ขวาย่างซ้ายย่าง เป็นรูป อยากก้าวเท้าขวาอยากก้าวเท้าซ้าย เป็นนาม คือตัวนามนั้นเป็นตัวอยาก “อยากนั่งหนอๆ” อยากนั่ง เป็นนาม นั่ง เป็นรูป “นั่งหนอๆ” นั่งเป็นรูป อยากนั่งเป็นนาม “พองหนอ” พองเป็นรูป รู้เป็นนาม “ยุบหนอ” ยุบเป็นรูป รู้เป็นนาม “ปวดหนอๆ” อาการปวดนั้นเป็นรูป รู้ว่าปวดนั้นเป็นนาม “คิดหนอๆๆ” คิดเป็นรูป คิดหนอเป็นนาม คือใจเป็นผู้อยากคิด

       เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองกับอาการยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน “คนละอัน” อาการพองอาการยุบเป็นรูป รู้ว่าพองว่ายุบนั้นเป็นนาม เวลากำหนด “ได้ยินหนอๆ” เสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาจมูกได้กลิ่น “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาบริโภคอาหาร “รสหนอๆๆ” รสเป็นรูป รู้เป็นนาม เวลากายสัมผัส ถูกหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ แข็งหนอ อ่อนหนอ อาการที่เกิดขึ้นเป็นรูป รู้เป็นนาม คือรู้ว่ามันเย็น มันอ่อน มันแข็ง มันร้อน มันเย็น ตัวรู้เป็นตัวนาม แต่อาการที่มันแสดงออกมันเป็นรูป

       แล้วก็ในขณะที่กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” กำหนดอยู่นั้นมันแยกกัน เราก็จะรู้ว่าตรงไหนเป็นรูป ตรงไหนเป็นนาม คือในขณะที่เห็นหนอๆ สีที่เราเห็นก็ดี ตาของเราก็ดี เป็นรูป รู้เป็นนาม เวลาหูได้ยินเสียง “ได้ยินหนอๆ” เสียงก็ดี หูก็ดี เป็นรูป ใจที่รู้นั้นเป็นนาม จมูกได้กลิ่น เรากำหนดว่า “กลิ่นหนอๆๆ” กลิ่นเป็นรูป จมูกก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลาเราได้รับรสอาหารว่า “รสหนอๆ” รสอาหารก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม เวลากายถูกต้องอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง เรากำหนดว่า “อ่อนหนอ” “แข็งหนอ” “ร้อนหนอ” “เย็นหนอ” อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นรูป ใจที่รู้เป็นนาม

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความรู้สึกขึ้นมาอย่างนี้ เรียกว่า เราได้ลุถึงญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว ทีนี้สภาวะที่ ๑ นี้ท่านแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. รูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้

       ๒. นามปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกนามออกจากกันได้

       คือหมายความว่าเราแยกออกเป็นชิ้นๆๆ เวลาเรากำหนด “คิดหนอๆ” ตัวคิดนั้นเป็นนาม เวลาทำบุญก็เหมือนกัน ขณะที่เราทำบุญ ใจที่อยากทำบุญนั้นเป็นนาม ในขณะที่เราทำบุญอยู่นั้น วัตถุต่างๆ ที่เราใช้ทำบุญเป็นรูป

       สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ตั้งแต่เท้าถึงศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะถึงเท้านั้น มีของสองอย่างเท่านั้น คือ มีรูปกับนามเท่านั้น เมื่อเราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานรู้และเข้าใจอย่างนี้ หากว่าเราตายไปในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีก็ดี จึงจุติคือตายไป เมื่อตายไปในขณะตายนั้นเรามีรูปมีนาม ไม่เผลอจากรูป จากนาม คือ อาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดอยู่ในขณะนี้ ถ้าเราทำได้อย่างนี้จุติแล้วคือตายแล้วเราก็จะไม่ไปอบายภูมิ คือไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในสุคติตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ หากมาเกิดในมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ ยินดีในการสร้างสมอบรมคุณงามความดี แล้วก็จะได้นั่งใกล้พระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้รู้ธรรม

       นี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญพระกัมมัฏฐาน เริ่มตั้งแต่เจริญพระกัมมัฏฐาน หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็ถือว่าชีวิตนี้ทั้งชีวิตตั้งแต่วันนี้ถึงวันตาย หากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่เราก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปสู่สุคติภพได้ เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปอีก ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป เมื่อสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์แล้ว สมาธิของเราสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ขึ้นตามลำดับๆ คือความรู้จะเพิ่มปริมาณขึ้นไปเรื่อยๆ ความรู้นี้จะเฉียบแหลมคมคายขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมันก็เห็นขึ้นมา สิ่งใดที่ไม่รู้ก็จะรู้ขึ้นมา สิ่งใดไม่เข้าใจก็จะเข้าใจขึ้นมา

       เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานมาถึงอันดับที่ ๒ นี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ท่านเรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม เช่นเวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการยุบนั้นเป็นรูป สมมติว่าเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นี้ จนอาการพองมันพองขึ้นมา คือมันพองขึ้นมาแล้วเราจึงรู้ทีหลังนี้เรียกว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม คือใจที่รู้นั้นเป็นตัวเหตุ อาการพองที่มันเกิดขึ้นมาทีหลังนั้นเป็นตัวผล มันมีเหตุมีผลขึ้นมาแล้ว เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน บางครั้งใจของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วขาของเราจึงก้าวไป อย่างนี้เรียกว่านามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่บางครั้งรูปเป็นเหตุนามเป็นผล คือเท้าของเรามารอคอยอยู่ก่อนแล้วเราจึงรู้ทีหลัง นี้เรียกว่ารูปเป็นเหตุนามเป็นผล มันวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แต่เราผู้ปฏิบัติเราจะไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุ อันนี้เป็นผล ไม่รู้ หรือว่าอันนี้มันทันกัน อันนี้มันไม่ทันกัน

       บางครั้งเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ จะเห็นว่ามันกำหนดยาก เช่นนั่งกัมมัฏฐานอยู่มันมีอาการปวดมาก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆๆ” แล้วก็ “อยากพลิกหนอๆ” ไป อาการปวดนั้นแหละเรียกว่าเป็นรูป ใจที่อยากพลิกเป็นนาม สภาวะที่เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติบางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” อย่างนี้ อาการพองมันพองขึ้นมาถึงที่แล้วค้างอยู่ไม่ยุบลงไปก็มี บางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” มันยุบลงไปลึกๆ แล้ว ค้างอยู่ไม่ยอมพองขึ้นมาก็มี

       บางครั้งก็มีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานไป มันปวดที่โน้นมันปวดที่นี้อะไรร้อยแปดพันประการ เราผู้ที่มาบวชก็คิดว่า “เอ เรานี้คงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว เพราะโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นแก่เราหลายวัน หลายเดือน หลายปีที่ผ่านมามันก็เกิดขึ้นมาอีก เราคงจะทำกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ เราคงไม่มีบุญวาสนาบารมีเสียแล้ว” อย่างนี้ก็มี

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานพองหนอยุบหนออยู่นั้น มันสะดุ้งฟุบไปข้างหน้าบ้าง มันสะดุ้งฟุบไปข้างหลังบ้าง บางทีสะดุ้งฟุบไปข้างซ้าย บางทีก็สะดุ้งฟุบไปข้างขวา หรือบางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบเป็น ๒ ระยะ คือ ต้นพอง สุดพอง แล้วก็ต้นยุบ สุดยุบ

       ตกลงท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อๆ ไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน อุปมาเหมือนกันกับเราไปขุดบ่อน้ำ กำลังเห็นน้ำไหลซึมเข้ามา ถ้าเราพยายามขุดต่อไปก็จะได้น้ำมาก ข้อนี้ฉันใด เมื่อผู้ปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ก็จะได้ความเบาใจได้ที่พึ่งในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท

       ในครั้งพุทธกาลโน้น มีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม แล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญพระกัมมัฏฐานอยู่บ้าน เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงตรัสว่า “เป็นผู้ได้ที่พึ่งอย่างดีในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน”

       เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลายผู้นั้นถือว่าเป็นจุลโสดาบันแล้วนะ หากว่าเราตายลงขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ก็ดี หรือออกจากห้องกัมมัฏฐานไปแล้วหลายวัน หลายเดือน หลายปีจึงตายก็ดี แต่ในขณะที่จะตายนั้นเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เช่นว่าเรากำหนดว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือ “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” บทใดบทหนึ่งที่เราเคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ถ้าตายในลักษณะดังนี้ ผู้นั้นตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน อย่างน้อย ๒-๓ ชาติ จุติแล้วก็จะไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่ตนได้สร้างสมอบรมไว้ หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะมาเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ แล้วก็จะมีความเลื่อมใสในพระศาสนา จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า หรือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรม จะได้ปฏิบัติธรรม จะได้บรรลุธรรม

       อันนี้เป็นอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนมีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจมาถึงอันดับนี้ คืออันดับที่ ๒ ถือว่าเข้าใจในการประพฤติปฏิบัติ ในอันดับที่ ๒ คือการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้มันเป็นอันดับๆๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงอันดับสุดท้าย แต่ที่หลวงพ่อเอามาเล่าโดยสังเขปวันนี้เป็นอันดับที่ ๒ ถ้าผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงอันดับที่ ๒ นี้แล้วก็ถือว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนาตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลโสดาบัน “จุลละ” แปลว่า “น้อย” “โสตะ” แปลว่า “กระแส” “อาปันนะ” แปลว่า “ถึง” หมายความว่าเป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบันในวันข้างหน้า

       เอาละ ท่านทั้งหลาย สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะขอพูดโดยสังเขปกถา เพียง ๒ ประการ หากว่ามีโอกาส มีเวลา จะค่อยนำมาชี้แจงให้เข้าใจอีกครั้งหนึ่ง สำหรับวันนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้.
               


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 21 ตุลาคม 2562 10:29:13
(https://img.youtube.com/vi/AANTBk071UA/0.jpg)

อุทยัพพยญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      ๑. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเรามันปรากฏอยู่ข้างนอก มันไปพองไปยุบอยู่ข้างนอก เหมือนกับว่าเป็นคนละกาย บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบมันไปยุบอยู่ข้างหลังของเรา บางทีไปยุบอยู่ข้างขวา บางทีไปยุบอยู่ข้างซ้าย ในขณะนั้นสติของเรามันวิปริต คล้ายๆ กับเป็นบ้า แต่ไม่ใช่ท่านนะทั้งหลาย เป็นลักษณะของวิปัสสนาญาณต่างหาก คือเห็นอาการพองอาการยุบมันดับลงไป ถ้าผู้มีปัญญาดีก็จะเห็นไปถึง ๖ ระยะ มันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆๆ ลงไปเหมือนกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับหายใจเป็น ๒ จังหวะ ผู้มีปัญญามากจะเห็นในลักษณะอย่างนี้

       ๒. ในขณะที่เราเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” นี้ เวลาเรายกขึ้นกับเหยียบลงมันปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็เหมือนกัน ต้นพองสุดพองนี้ปรากฏชัดเจนดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น บางทีจะเห็นอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับๆ คือบางทีเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบมันขาดไปเรื่อยๆ คือมันไม่สม่ำเสมอ อาการยุบมันไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวก็เห็นเดี๋ยวก็หายไปๆ เวลากำหนด “พองหนอ” เหมือนกัน อาการพองเดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็หายไป เรียกว่าอาการพองอาการยุบมันขาดๆ หายๆ ไปตามลำดับ

       ๓. บางทีมีเวทนามาก เรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๕ นาที เจ็บที่โน้นปวดที่นี้เหมือนใจจะขาด เมื่อเรากำหนดมันหายเร็ว ไม่เหมือนกับญาณที่ ๓ ญาณที่ ๓ เมื่อกำหนดแล้วไม่ค่อยหาย กำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางที ๑ ชั่วโมงนี้ไม่หายเลย

       สรุปแล้วว่าเวลาเรากำหนดเวทนามันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเราตั้งใจกำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หรือ “ทุกข์หนอๆ” กำลังจะกำหนดเท่านั้นมันหายวับไปเลย เหมือนกับมีตนมีตัว

       ๔. มีนิมิตมากแต่หายเร็ว เช่นว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้  ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์อันหุ้มด้วยทองคำอร่ามเรืองก็มี บางทีก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไปแล้ว เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวโลก เห็นพรหมโลก เห็นพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ตายไปแล้วเป็นต้น แต่นิมิตนี้มันหายเร็ว เรากำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีเรากำลังจะตั้งสติกำหนด “เห็นหนอๆ” เท่านั้นล่ะหายวับไปเลย

       ๕. สว่างมาก มีแสงสว่างมาก คือแสงสว่างนี้ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ มันจะสว่างเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับแสงหิ่งห้อย แสงเทียนไข วับๆ แวบๆ เกิดแล้วหาย แต่ถ้าว่าถึงอุทยัพพยญาณนี้จะสว่างมาก บางทีสว่างทั้งห้อง บางทีสว่างจนเห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงจันทร์ เห็นดวงอาทิตย์ แต่แสงสว่างนี้มันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

       ๖. ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ พองหนอ ยุบหนอ ดับวูบลงไป พองหนอยุบหนอ ดับวูบลงไป เหมือนกันกับหายใจไม่พอ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศ เหมือนกันกับเราเหยียบบันไดข้ามขั้น เวลาเราลงบันได เราเหยียบบันไดข้ามขั้นมันวาบลงไป เหมือนกับเราตกบันไดมันวูบไปเลย มันวับไปเลย มันขาดช่วงกัน

       ๗. ผู้ปฏิบัติจะสามารถกำหนดติดต่อกันเป็นสายไม่ขาดระยะเหมือนด้ายสนเข็ม คือเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” มันติดต่อกันไปเลย เหมือนกับเราเย็บผ้า ตะเข็บมันติดต่อกันไม่มีการขาดช่วง อันนี้ก็เหมือนกันในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ เมื่อกำหนดไปๆ อาการเกิดดับมันเกิดขึ้นมา ดับพรึบๆๆ ไป พองหนอยุบหนอดับพรึบลงไปๆๆ เหมือนกันกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆ วัน หลายๆ เดือน ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาบางคนก็เห็นว่า เออ สนุก บางคนก็รำคาญ บางทีคล้ายกับภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน นั่งลงไปวับไปๆๆๆ เหมือนกับเราเย็บผ้าดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

       ๘. อาการเกิดดับกับอารมณ์ที่กำหนดนั้นปรากฏชัด กำหนดได้สะดวกสบายดีและมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก คือ อารมณ์ที่เกิดทางตาก็ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ดี ปรากฏชัด เวลากำหนดก็กำหนดสบายๆๆ แล้วก็จิตใจของผู้ปฏิบัติก็จะผ่องแผ้วขึ้นเป็นอันมาก บางคนเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุแล้ว บางทีเรากำหนด “รู้หนอๆ” ความรู้นี้หายวับไป บางทีเรากำหนด “คู้หนอๆๆ” จะเห็นอาการคู้นั้นหายวับไปทันที เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” จะเห็นอาการเหยียดนั้นหายวับไปทันทีไม่ติดต่อกัน เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้? เพราะรูปปรมัตถ์ รูปเกิดที่ไหนดับที่นั้น นามเกิดที่ไหนดับที่นั้น เพราะฉะนั้นเวลาเรากำหนดเหยียดแขน เรากำหนดว่า “เหยียดหนอๆๆ” หายวับไป เรากำหนดว่า “ยุบหนอๆๆ” หายวับไป ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่ารูปนามในขั้นปรมัตถ์นี้เกิดที่ไหนดับที่นั้น

       ๙. การปฏิบัติให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเข้าใจว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด เมื่อเราทำได้อย่างนี้การปฏิบัตินั้นจะได้ดีขึ้น

       ๑๐. มีอาการสัปหงกไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ แล้วแต่อำนาจของสมาธิ อาการที่มันสัปหงกวูบลงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ข้างซ้ายหรือข้างขวานี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือผู้ปฏิบัติพระกรรมฐานเมื่อมาถึงนี้แล้วจะเห็นพระไตรลักษณ์ เริ่มแล้วตอนนี้ คือ พระไตรลักษณ์นั้นจะเห็นครั้งหนึ่ง เห็นอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๓ กับญาณที่ ๔ ไม่เหมือนกัน คือ ญาณที่ ๓ อาการพองอาการยุบของเราบางทีมันเร็วขึ้นๆๆๆ คือ อนิจจัง ลักษณะของอนิจจังมันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วก็หายไปจางไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓ บางทีพองหนอ ยุบหนอ นี้ อาการพองอาการยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้อยู่ในญาณที่ ๓

       บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตาที่ปรากฏอยู่ในญาณที่ ๓ แต่ในญาณที่ ๔ นี้ไม่เป็นอย่างนั้น คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันจะดับวูบลงไปเสียก่อน ที่มันเป็นอย่างนี้เป็นอำนาจของพระไตรลักษณ์ คืออาการที่พองยุบนั้นเร็วขึ้นๆๆ นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง บางทีพองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาดเป็นลักษณะของทุกขัง ขอย้ำอีกที อาการพองยุบสม่ำเสมอดี แล้วก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไปนี้เป็นลักษณะของพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในอุทยัพพยญาณ

       อุทยัพพยญาณนี้เกิดในลักษณะต่างกัน คือ ผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง เช่น ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาจจะไปข้างหน้า อาจจะไปข้างหลัง อาจจะไปข้างซ้ายข้างขวา อย่างนี้เรียกว่าอนิจจังปรากฏชัด ดังพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สนฺตติยา วิโกปิฏาย อนิจฺจลกฺขณํ ยาถาวาสรสโต อุปฏฺฐาติ เมื่อใดนักปฏิบัติมาเพิกสันสติได้แล้ว อนิจจลักษณะย่อมปรากฏชัดตามความเป็นจริงดังนี้

       ทุกขัง ถ้าผู้ใดในชาติปางก่อนโน้นเคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะเห็นทุกขังชัด เช่นว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางคนถึงกับกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” เหมือนดังโยมชีน้องสาวผู้มีบุญสร้างสมอบรมมาแต่ภพก่อนชาติก่อนได้ปรารถนา เกิดชาติหน้าชาติใดขอให้ได้นั่งกินนอนกิน สมัยนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานอยู่บ้านอีเติ่ง เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วไม่ยอมปฏิบัติ ก็จะเห็นว่าจะมายุให้ตาย มาทำให้ตาย พอภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไป ใจจะขาด มันแน่นเข้าๆๆ มีแต่จะตายอย่างเดียว ตกลงหลวงพ่อเลยบอกว่า “ตายก็ตาย หลวงพ่อจะนั่งอยู่นี้ละ จะดูอยู่นี้ ว่ามันจะตายจริงหรือ ถ้ามันจะตายจริงละก็สาธุอนุโมทนา กลัวแต่ว่ามันไม่ตายจริงเท่านั้นละ” ก็พากันประพฤติปฏิบัติเจริญพระกัมมัฏฐาน ในสมัยนั้นก็มีโยมน้องสาว ๒ คน คือโยมแม่ชีเขี่ยม และโยมแม่เนียม พากันประพฤติปฏิบัติ ใช้เวลาปฏิบัติไม่ถึง ๗ วัน ก็สามารถทำสมาธิได้ ผลสุดท้ายได้มาบวชอยู่ที่วัด อย่างแม่ชีเขี่ยมก็อยู่ตลอดจนทุกวันนี้ แต่สำหรับแม่เนียมนั้นกลับไป เพราะมีครอบครัวอยู่

       นี่แหละท่านทั้งหลาย เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนมากผู้ปฏิบัติกลัวตาย ไม่อยากปฏิบัติ อย่างหลวงปู่พึ่ง บ้านนาแวง เวลาปฏิบัติมา ไม่ยอม กลัวตาย ถ้าปฏิบัติก็ขอให้หลวงพ่อไปนั่งเฝ้าด้วย ผลสุดท้ายก็ไปนั่งเฝ้า นี้แหละท่านทั้งหลายลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้มีอาการฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เมื่อมันแน่นขึ้นแล้วแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างซ้ายบางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่างเหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน นี้ทุกขังเกิดขึ้นมาแล้วมีลักษณะดังนี้

       อนัตตา ผู้ใดได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่โน้นตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้วจะเห็นอนัตตาชัด ลักษณะของอนัตตาเมื่อเกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ ความรู้สึกของเราก็น้อยเข้าไป เล็กเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปๆ ความรู้สึกของเราอุปมาเหมือนกับเหลือแค่เส้นด้ายเท่านั้น เกือบจะขาดความรู้สึกแต่ยังไม่ขาดความรู้สึก และในขณะมันละเอียดเข้าไปๆๆ น้อยเข้าไปๆๆ ในขณะที่มันน้อยเข้าไปๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวืบลงไปข้างล่าง นี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ไม่ทราบว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ทราบแต่เพียงเท่านี้ คือ เราทราบแต่เพียงว่า อ๋อ อันนี้มันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป อ๋อ อันนี้มันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ อันนี้มันสม่ำเสมอดี เมื่อสม่ำเสมอไปตามลำดับๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป รู้แต่เพียงเท่านี้ท่านทั้งหลาย คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้แต่เพียงเท่านี้ เพราะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคปฏิบัติ แต่ถ้าภาคปริยัติไม่รู้อย่างนี้

       เราเรียนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราท่องเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา เป็น ๑๕ วัน เป็น ๑ เดือนก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแวบเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ท่านทั้งหลาย เวลาเกิดขึ้นมีเท่านี้ แต่ส่วนมากผู้ปฏิบัติไม่รู้ เพราะครูบาอาจารย์ไม่บอก ไม่บอกว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา ท่านไม่บอกเลย ปิดเป็นความลับ เพราะเหตุไร เพราะจะเกิดอุปาทานจิต เมื่อเกิดอุปาทานจิตขึ้นแล้วเกรงว่าจะได้ของปลอม คือ จะได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม ฌานปลอม อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นท่านจึงไม่บอก ถึงอย่างไรก็ตามถึงไม่บอกมันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำนั่นแหละ

       เหมือนกันกับไมโครโฟนที่หลวงพ่อพูดอยู่นี้ จะมีใครรู้ว่าเป็นไมโครโฟน หรือไม่มีผู้รู้ว่าเป็นไมโครโฟนก็ตาม มันก็เป็นไมโครโฟนวันยังค่ำ ข้อนี้ฉันใด เรื่องพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะรู้หรือไม่รู้ มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วันยังค่ำ

       ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด สมมุติว่าผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือว่าเป็นพระต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด หรือผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือ ไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ เพียงแต่ให้สำเร็จซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ ไม่ได้ปรารถนานิพพานสมบัติ หรือโลกุตตรสมบัติ สภาวะนี้จะไม่เกิด เรียกว่าเป็นทวิเหตุ ไม่ได้ไตรเหตุ เมื่อใดทำบุญครบไตรเหตุแล้ว พระไตรลักษณ์จึงจะเกิดขึ้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลายเวลาให้ทาน “ทานํ เม ปริสุทฺธํ, นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ, นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” “ทานของข้าพเจ้าบริสุทธิ์แล้ว ขอจงเป็นปัจจัยให้ถึงพระนิพพานเถิด” นี้ถือว่าไตรเหตุ ได้ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และโลกุตตรสมบัติ หรือบางทีว่า “สุทินฺนํ วต เม ทานํ, อาสวกฺขยาวหํ โหตุ” เท่านี้ก็เรียกว่าได้ไตรเหตุ ถ้าทำบุญได้ไตรเหตุอย่างนี้ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ความเกิดดับจึงจะเกิดขึ้น ถ้าว่าทำบุญทำทานไม่ได้ไตรเหตุ สภาวะคือพระไตรลักษณ์ดังกล่าวมาแล้วไม่เกิดเป็นเด็ดขาด

       สรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญ ไม่เกิด สมมุติว่าพระไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้วญาณนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิดผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ ถ้าไม่ประมาท นี้เป็นอานิสงส์ของญาณนี้ท่านทั้งหลาย เมื่อถึงญาณนี้แล้วผู้นั้นชื่อว่าเป็นมัชฌิมโสดาบัน เวลาจุติจากอัตภาพนี้ไปเรามีรูปมีนามเป็นอารมณ์ เคยภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “พุทโธ” “สัมมาอะระหัง” หรืออย่างไรก็ตาม จุติแล้วจะไม่ไปอบายภูมิอย่างน้อย ๗ ชาติ

       หรือหากว่าไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ก็จะได้เป็นเทพบุตรเทพธิดาที่มีศักดานุภาพมาก คือ จะเป็นเทพบุตรก็เป็นเทพบุตรที่มีศักดานุภาพมาก มีอานุภาพมาก ถ้าเป็นเทพธิดา ก็เป็นเทพธิดาที่มีศักดิ์มาก มีอานุภาพมาก หากว่ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดในตระกูลสูง เกิดในตระกูลสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า เกิดในตระกูลกุฎุมพี เกิดในตระกูลพราหมณ์ เกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นคฤหบดีมหาศาล เกิดในตระกูลเศรษฐี มหาเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี ไปเกิดในตระกูลพระราชา มหาราชา หรือพระราชาธิราช

       แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีสัมมาทิฏฐิ ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ จะเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ จะสร้างสมอบรมแต่คุณงามความดี และจะได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า หรือจะได้ฟังธรรมของพระอริยบุคคล แล้วก็ได้รู้ธรรม แล้วก็บรรลุธรรม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ ได้พบพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม แล้วก็บรรลุธรรม แล้วก็จะได้มาเกิดในกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

       หากว่าเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้า ไม่พบพระพุทธเจ้า บังเอิญไปเกิดในกัปที่เป็นสุญญกัป คือไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สำเร็จหรือตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นี้เป็นอานิสงส์ของอุทยัพพยญาณ

       อาการดับนี้ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะเวลานั่งสมาธินะท่านทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ตลอดถึงนอนหลับไปมันก็ยังเกิดอยู่นะ เรานอนหลับอยู่ก็เกิดอย่างนี้ หากว่าเกิดในขณะที่นอนหลับนั้น บางทีเราก็เห็น ในลักษณะที่เรียกว่าฝัน เพราะว่าเวลาจิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ไปแล้วขึ้นมา ขึ้นมาแล้วก็ลงไปๆ เลยกลายเป็นฝัน เราเห็นความดับในเวลาฝัน นอกจากนี้สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็มีมาก

       อันนี้ก็เป็นเพียงสังเขปกถาให้ท่านทั้งหลายไปเปรียบเทียบแล้วก็ไปตัดสินเอาเองว่า เราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ เราลุถึงอุทยัพพยญาณแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าได้แล้วก็สาธุอนุโมทนา หากว่ายังไม่ได้ไม่ถึงก็พยายามทำต่อไป สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เหลือวิสัย บุญกุศลเราสร้างสมอบรมมาแล้วจึงได้มีโอกาสมาบวชนี้ เมื่อมาบวชแล้วนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้วิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อเราปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน สภาวะของอุทยัพพยญาณนี้ก็จะเกิด แต่ว่าสภาวะของอุทยัพพยญาณนี้บางทีก็เกิดมาก บางทีก็เกิดน้อย บางทีเกิดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ บางทีก็เกิดเพียงอนิจจัง บางทีก็เกิดเพียงทุกขัง บางทีก็เกิดเพียงอนัตตา คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะไม่เกิดพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง แต่มันก็มีอยู่ทั้ง ๓ อย่างนั่นแหละแต่มันจะปรากฏชัดอย่างเดียวเท่านั้น บางทีอนิจจังปรากฏชัดแต่ขณะนั้นทุกขังและอนัตตายังมีอยู่ บางทีทุกขังปรากฏชัดแต่อนิจจังและอนัตตาก็ยังมีอยู่ แต่บางครั้งอนัตตาปรากฏชัด แต่อนิจจัง ทุกขังก็มีอยู่ หากว่าอย่างไหนมีมากแล้วก็ปรากฏชัดเราก็ถือเอาอย่างนั้นเป็นเกณฑ์

       เอาละท่านทั้งหลายวันนี้หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมมะ เรื่อง อุทยัพพยญาณ มาให้ท่านทั้งหลายได้รู้ได้เข้าใจ ได้หมดความสงสัย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 ธันวาคม 2562 09:38:16
.

(http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/87/30087/images/General4/2011.09candle1.jpg)
ภังคญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      สำหรับวันนี้หลวงพ่อก็ขอน้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภังคญาณ มาบรรยายถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี และญาติโยมทั้งหลาย จนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       คำว่า ภังคญาณ คือ ญาณที่เห็นความดับของรูปนาม เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ในขณะอาการพองอาการยุบเกิดขึ้นนั้น เราจะเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม ไม่เหมือนอุทยัพพยญาณ อุทยัพพยญาณนั้น เกิดก็เห็น ดับก็เห็น แต่ภังคญาณนี้ เกิดไม่เห็น เห็นแต่เฉพาะดับอย่างเดียว เหมือนกันกับฝนที่ตกมาในท้องฟ้า ตกมาครั้งแรกเรามองเห็นเม็ดฝน การที่มองเห็นเม็ดฝนนี้เหมือนกันกับอุทยัพพยญาณ คือเห็นทั้งเกิด เห็นทั้งดับ คือหมายความว่า หยาดฝนนั้นตกลงมาเราก็เห็น มันถึงพื้นเราก็รู้ แต่สำหรับภังคญาณนี้ไม่เห็นเบื้องต้น เห็นแต่ดับ เม็ดฝนก็เห็นเมื่อเวลามันตกถึงที่แล้ว แต่ว่าครั้งแรกฝนนี้มันเกิดจากไหนเราไม่รู้เลย แต่พอเห็นสายฝนมันหลั่งลงมาเราจึงเห็น ข้อนี้ฉันใด ภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       สภาวะของภังคญาณ

       ๑. เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้สุดพองสุดยุบปรากฏชัดเจนดี แต่เบื้องต้นท่ามกลางไม่ชัด เช่นว่าเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบนี้ปรากฏชัดเจนดี เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เริ่มยกกับก้าวไปนี้ไม่ชัด แต่เวลาเราเหวี่ยงหรือเหยียบเท้าลงไปนั้นปรากฏชัด บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง เหมือนกันกับมีภูติผีปิศาจหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือตัวอะไรมาค้ำเท้าของเราไว้ เหวี่ยงไม่ลง จนเหวี่ยงอย่างแรงหัวคะมำลงไปก็มี หรือบางทีเรากำหนด “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ในขณะที่เราเหวี่ยงเท้าลงไปจะเหยียบ เหวี่ยงเท้าลงไปเหมือนกันกับมีอะไรมาดูดเอาเท้าของเราวูบไปติดแนบกับพื้น เหมือนกับว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออาถรรพ์อย่างใดอย่างหนึ่งมันดูดเอาเท้าของเราไปติดอยู่กับพื้น

       ๒. อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดแจ้ง เช่น เรากำหนด “พองหนอ” อาการพองของเราก็ไม่ชัดแจ้ง กำหนดว่า ”ยุบหนอ” ก็ไม่ชัดแจ้ง เหมือนกันกับหลวงพ่ออธิบายมาเมื่อตะกี้นี้ ซึ่งอุปมาเหมือนกันกับเม็ดฝนนั้น คือ เรามองไม่ชัด หมายความว่ากำหนดอาการพองอาการยุบก็เลือนๆลางๆ พองหนอ คล้ายๆ กับเห็นพองแต่ก็ยังไม่มั่นใจ ยุบหนอ มันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆ กับเห็นอาการยุบ แต่คิดอย่างหนึ่งคล้ายๆ กับไม่เห็นอาการยุบ มันไม่ชัดแจ้ง

       ๓. บางทีกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบหายไป “พองหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น “ยุบหนอ” อาการยุบก็ไม่เห็น จนผู้ปฏิบัติจะกำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายอาการ “รู้หนอๆ” นั้นก็หายไป

       ๔. คล้ายกับไม้ได้กำหนดอะไร เราเดินจงกรมก็ดี นั่งกัมมัฏฐานก็ดี “พองหนอ” ”ยุบหนอ” ก็ดี คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆ กับนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนกับว่านั่งอยู่ทื่อๆ ไม่ได้กำหนดอะไรทั้งนั้น บางคนจะพิจารณาเห็นหรือคิดว่า เอ๊ะ เรามานั่งอยู่เฉยๆ เราไม่ได้ภาวนาว่ากระไร ไม่ได้กำหนดว่าอะไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน

       ๕. พองยุบกับจิตผู้รู้หายไป เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองยุบมันหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๖. พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี มันห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี กำหนดไม่ได้ดี

       ๗. ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่เห็นสันฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆอยู่ เหมือนกันกับไม่ได้หายใจ เหมือนกับไม่มีอาการพองอาการยุบในขณะนั้น

       ๘. บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองก็ไม่เห็น อาการยุบก็ไม่เห็น เหมือนกับว่าเราไม่ได้หายใจในขณะนั้น บางทีต้องเอามือไปคลำดูไปแตะดูว่า มันมีพองไหมมันมียุบไหม อย่างนี้ก็มี

       ๙. พองยุบหายไปนาน เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบบางคนก็หายไปนาน ๔ วัน ๕ วัน ๖ วัน ๗ วัน ไม่เห็นอาการพองอาการยุบเลย ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้นท่านทั้งหลาย เดินจงกรมให้มากๆ จึงมานั่งต่อไป อาการพองอาการยุบจะได้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

       ๑๐. กำหนดไม่ได้ดี เรากำหนด “ขวาย่างหนอ” ”ซ้ายย่างหนอ” ไม่ได้ดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดเวทนา “เจ็บหนอๆ” “ปวดหนอๆ” หรือ “สุขหนอๆ” หรือ “สบายหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี กำหนดว่า “คิดหนอๆ” ก็ไม่ได้ดี เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะล่วงบัญญัติมีแต่อารมณ์ปรมัตถ์ ล่วงอารมณ์บัญญัติไปแล้วตอนนี้ มีแต่ปรมัตถ์

       ๑๑. บางทีวูบๆ ไปตามตัว มันมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย เหมือนกันกับมีภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน หรือเหมือนกันกับผีสิง บางทีมันวูบขึ้นที่เท้าของเรา วูบไปตามตัวของเรา บางทีวูบขึ้นศีรษะ บางทีมันมีอาการวูบวาบตั้งแต่ศีรษะไปตามร่างหายแล้วก็วิ่งไปตามเท้า เหมือนกันกับผีสิงในขณะนั้น

       ๑๒. เมื่อเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะมีอาการชาๆ มึนๆ ไปตามร่างกายจนถึงศีรษะ เสร็จแล้วก็คล้ายๆ มีคนเอาร่างแหมาครอบตัวเรา เหมือนกันกับเอาเสื้อนวมมาห่มตัวเรา เหมือนเอาจีวรมาห่มตัวเรา อยากกระดุกกระดิกก็กระดุกกระดิกไม่ได้ อยากเงยก็เงยไม่ได้ อยากก้มก็ก้มไม่ได้ ภาษาบ้านเราว่า เหมือนกับถูกผีอำ เหมือนกันกับภูตผีปิศาจมันมากอดตัวของเรามัดตัวของเรา บางทีนั่งอยู่ถึง ๕ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย บางทีต้องนั่งอยู่ตั้ง ๗-๘ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย

       สมัยหนึ่งมีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่สถานที่แห่งนี้ ท่านก็บอกว่า “หลวงพ่อ ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมปฏิบัติไป นั่งเท่านั้นละ ผีมันมากอดแล้ว ผีมันมาห่มแล้ว กระดุกกระดิกไม่ได้ ทีนี้ก็เห็นว่ามีแม่ชีคนหนึ่ง โน้น จะสว่างแล้ว ลืมตาก็ “พองหนอ” “ยุบหนอ” เหมือนกับผีมันเดินมาวูบๆๆ ผลสุดท้ายก็ทุบหัวเข่าเลย ต้องร้องโวยวายให้คนโน้นคนนี้ช่วย นี้แหละลักษณะอย่างนี้มันเหมือนกันกับผีสิง ท่านทั้งหลาย

       ๑๓. อารมณ์กับจิตหายไปพร้อมกัน ครั้งแรกรูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ก็หายไปพร้อมกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” หายไป อาการพองอาการยุบหายไป เรากำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ความรู้ก็หายไป

       ๑๔. อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของรูปนามนั้นมีอยู่ คือ ของอาการพอง อาการยุบยังมีอยู่ อาการพองหนอ ยุบหนอ นี้ยังมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจ ไปสนใจเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น

       ๑๕. อารมณ์ภายใน เช่น พองยุบไม่ชัด เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้อาการพองอาการยุบมันไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีพอเรามองดูกุฏิวิหาร ต้นไม้ ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูศาลาการเปรียญ โบสถ์ วิหาร ก็ปรากฏสั่นๆ คือเหมือนๆ กับว่าร่างกายของเราผิดปกติ คล้ายๆ กับว่ามีอะไรมาสิงในขณะนั้น เรามองดูกุฏิของเรามันก็สั่นๆ เรามองดูต้นไม้ก็สั่นๆ เรามองดูโบสถ์ ดูศาลา หรืออะไรก็ตาม ปรากฏสั่นๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับตัวของเราก็เหมือนกัน คล้ายๆ กับว่ามันสั่นระรัวๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่สั่น มันอยู่เฉยๆ แต่ปรากฏเหมือนสั่นๆ

       ๑๖. ดูอะไรๆ คล้ายๆ กับดูสนามหญ้าในฤดูหมอกลง ปรากฏสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง แม้จะดูท้องฟ้าอากาศ ก็สลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง บางทีต้องขยี้ตา คิดว่าเราไม่ได้ล้างหน้าไม่ได้ล้างตา ไม่ได้ทำความสะอาด คล้ายๆ ว่าเรามองอะไรไม่เห็น

       ๑๗. พองยุบหายไป พองยุบที่เรากำหนดหายไป บางทีก็หายไปนาน บางทีก็หายไปไม่นาน

       ๑๘. บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบนี้ไม่ปรากฏชัด คล้ายๆ กับว่าเราไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน บางทีเราตั้งนาฬิกาไว้ ว่าวันนี้จะนั่ง ๓๐ นาทีก็ตั้งนาฬิกาไว้ แต่ไม่ได้ตั้งปลุกนะ ตั้งนาฬิกาไว้แล้วก็นั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ถึงเวลาออกจากสมาธิมาไม่รู้ว่าเราตั้งเข็มนาฬิกาไว้ใช้เวลาเท่าไร เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วก็ เราจำไม่ได้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน อาการสภาวะมันชัดเจนแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย เราคิดว่าเออ วันนี้เราจะนั่ง ๔๕ นาที ตั้งนาฬิกาไว้ พอดีรู้สึกตัวขึ้นมาไม่รู้ว่าเราตั้งนาฬิกาไว้ที่ตรงไหน มันเป็นอย่างนี้

       ลักษณะอย่างนี้มันเกิดขึ้นท่านทั้งหลาย บางทีร้องห่มร้องไห้นะ ลักษณะอย่างนี้บางทีก็เป็นอยู่นานตั้ง ๗ วันก็มี พอเรานั่งไป นั่งกำหนด ตั้งนาฬิกาไว้อย่างดี “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปรู้สึกตัวขึ้นมาเราคิดทบทวนว่าเรากำหนดอย่างไร ก่อนจะนั่งเรากำหนดอารมณ์กัมมัฏฐานอย่างไร เราตั้งนาฬิกาไว้อย่างไรไม่รู้เลย บางทีเรานั่งไปทางทิศเหนือ รู้สึกตัวขึ้นมาเห็นว่าเรานี้นั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก รู้สึกตัวขึ้นมาคล้ายๆ กับว่าเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คือจำสภาวะไม่ได้

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งอาทิตย์กว่าๆ จนแกร้องห่มร้องไห้ มาปฏิบัตินี้ก็ไม่ได้อะไร มีแต่นั่งหลับ กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่กี่คำก็หลับไปแล้ว ตื่นมาก็ไม่รู้อะไร เสียอกเสียใจน้อยอกน้อยใจ ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา

       ๑๙. รูปนามที่ปรากฏอยู่นั้นปรากฏเร็ว “พองหนอ” “ยุบหนอ” ก็ปรากฏเร็ว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ปรากฏเร็ว คล้ายๆ กับว่ารูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้น มารอคอยจะให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลาย เดินจงกรมก็ซึมเหมือนกับง่วงนอน เดินไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอน เหมือนกับเราง่วงนอนมาทั้งคืนทั้งวัน มานั่งกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งไปหลับไปๆๆ เหมือนกับง่วงนอนแต่ไม่ใช่ง่วงนอน อันนี้เป็นลักษณะของภังคญาณ

       อานิสงส์ของภังคญาณนี้ ก็มีเหมือนกันกับอุทยัพพยญาณที่กล่าวมาแล้ว จัดว่าอยู่ในขั้นมัชฌิมโสดาบันเหมือนกัน แต่ว่า อานิสงส์ของภังคญาณนี้จะแก่กล้า คือ มีอานิสงส์มาก ได้บุญมากกว่าอุทยัพพยญาณ สำหรับภังคญาณนี้เมื่อแก่กล้าแล้ว ก็จะส่งให้ภยตูปัฏฐานญาณตามลำดับๆ เหมือนกันกับต้นไม้ เมื่อใบไม้นั้นแก่แล้ว ก็จะสลัดใบทิ้งแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมาใหม่ ข้อนี้ฉันใด อุทยัพพยญาณกับภังคญาณก็เหมือนกันฉันนั้น

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่องภังคญาณมาถวายความรู้ แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชี ทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:44:28
.

(https://i0.hippopx.com/photos/868/658/322/candlelight-candles-christmas-light-thumb.jpg)
ภยตูปัฏฐานญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


       สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้เพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลายสืบไป

       คำว่า ภยตูปัฏฐานญาณ คือ ปัญญาที่ทำให้เกิดความกลัว ปัญญาชนิดนี้เกิดขึ้นมาแล้วเกิดความกลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ตื่นง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท คนโน้นพูดอย่างนี้ คนนี้พูดอย่างนี้ กระทบเสียงดังเกินไปก็ตกใจ ใจมันหวิวลงไปทันที เหมือนกับคนเป็นโรคหัวใจอ่อน เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท ตกใจง่าย

       ลักษณะของภยตูปัฏฐานญาณมีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ ทันกัน หายไปพร้อมกัน เช่น เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการกำหนดก็ทัน สำหรับจิตผู้รู้ก็ทัน หายไป เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ เหมือนกันกับเราจุดไฟเกิดเพลิงขึ้นมาแล้วก็หายวับไป เกิดเปลวขึ้นมาหายวับไปๆ ท่านทั้งหลายคงจะเคยจุดไฟ เมื่อเปลวไฟมันลุกขึ้นมาแล้วก็หายวับไปๆ ลุกขึ้นมาหายวับไป อันนี้สำหรับอารมณ์ของญาณนี้ก็ลักษณะเดียวกัน เช่นว่า เรากำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กำหนดอาการพองอาการยุบ กำหนดเวทนา กำหนดจิตก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว อารมณ์ที่เรากำหนดก็ดี จิตที่รู้ก็ดี เกิดขึ้นพร้อมกันแล้วก็หายไปพร้อมกัน เหมือนกันกับเราจุดไฟ

       ๒. มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวผี ไม่ใช่กลัวเปรต ไม่ใช่กลัวศัตรู คือหมายความว่า เป็นอารมณ์ที่บอกไม่ถูกว่ากลัวอะไร คือมันเกิดความกลัวขึ้นมา แต่ความกลัวนั้นเรากลัวอะไรก็ยังบอกไม่ถูก จะว่ากลัวผีก็ไม่ใช่ จะกลัวเปรตก็ไม่ใช่ จะกลัวศัตรูก็ไม่ใช่ แต่มันมีความกลัว แต่บอกสิ่งที่กลัวแล้วไม่รู้ว่ามันกลัวอะไร แต่มันก็กลัว

       ๓. เห็นรูปนามหายไป คือเห็นว่ารูปนามที่กำหนดอยู่นั้น หายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว เช่นกำหนด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้ว ดับไป สิ้นไป สูญไป จะกำหนดที่ไหนก็ตาม ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม เมื่อเรากำหนดแล้วทั้งรูปทั้งนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป ผู้ปฏิบัติก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมา เอ๊ะ ทำไมอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ อย่างนี้ก็มี

       ๔. รู้สึกเสียวๆ เรากำหนดพระกัมมัฏฐาน กำหนดที่นู้น กำหนดที่นี้ ก็รู้สึกเสียวๆ คือหมายความว่า เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแข้ง ตามตนตามตัว ก็รู้สึกเสียวๆ เราทั้งหลายกำหนดที่ศีรษะก็ปรากฏเสียวๆ อาการเสียวนั้นมีลักษณะอย่างไร ท่านทั้งหลายก็คงเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมา เช่นว่า เราเป็นไข้ เราปวดหัวตัวร้อน เรามาลูบตามศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบตามแขนตามตัวของเราก็เสียวๆ อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะของญาณนี้ก็เหมือนกัน

       ๕. บางครั้งนึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เรานึกถึงพ่อก็ดี นึกถึงแม่ก็ดี ถึงพี่ ถึงน้อง ถึงคนที่เคยรู้จักกัน เมื่อนึกขึ้นมาก็ร้องห่มร้องไห้

       มีหญิงคนหนึ่งยังเป็นโสดอยู่ ที่บ้านเหมือดแอ่นี้แหละ เวลามาปฏิบัติอาการอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ร้องห่มร้องไห้ จะปลอบจะโยนอย่างไรก็ไม่เอา มีแต่ร้องไห้คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ หลวงพ่อบอกว่าอย่าไปเลย อันนี้คือลักษณะหนึ่ง หรือเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ถ้าว่าเราเลิกภาวนาเท่านั้นมันก็หาย เราไม่ได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยๆ แล้วก็อาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร เดี๋ยวมันก็หายไป หรือว่าเราไปที่โน้นบ้าง ไปที่นี้บ้าง หรือว่าซื้อของที่ตลาดบ้าง หรือไปเอาโน้นเอานี้ที่ร้านนั้นหรือบ้านนี้ก็ตามมันก็หายไป เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็บอกว่า มันไปไม่นานหรอก หากว่าเราพ้นสะพานไปมันก็หายไปสภาวะอย่างนี้ แต่เขาก็ไม่เชื่อ หลวงพ่อก็เลยว่า ไปแล้วค่อยกลับมาใหม่นะ เลยให้ไป ไปยังไม่ถึงบ้าน พ้นสะพานแล้วก็หายแล้ว แล้วก็กลับมาปฏิบัติใหม่ นี้ท่านทั้งหลายถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อเรานึกถึง พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่ป้าน้าอา ใครก็ตามที่เราเคยรู้จัก เคยเคารพ เคยนับถือ เคยรักกัน นึกถึงแล้วก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมาเหมือนกับคนเป็นบ้า

       ๖. บางคนกลัวมากจริงๆ เห็นอะไรๆ ก็กลัว ชั้นที่สุดเห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย เห็นอะไรก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า บางคนก็กลัวมากจริงๆ

       ๗. เพียงแต่นึกในใจว่าน่ากลัวแต่ไม่กลัวจริงๆ คืออะไรเกิดขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัว” แต่ไม่ใช่กลัวจริงๆ แต่มันนึกกลัวขึ้นมา ภาษาบ้านเราเรียกว่านึกกลัวขึ้นมาแต่ก็ไม่ใช่กลัวจริงๆ เกิดขึ้นมาแล้วก็หายไปๆ สมมุติว่าเรานั่งกัมมัฏฐานไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” ดับฟุบลงไป คือสัปหงกวูบลงไป หรือดับวูบลงไป รู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ จะไม่ตายไปเลยหรือนี่” บางทีก็ไม่ยอมทำกัมมัฏฐานคิดว่าตัวเองนี้จะตายไปเลย มันสัปหงกวูบลงไป มันดับวูบลงไปนี้คิดว่ามันจะตายไปเลย สมัยก่อนหลวงพ่อก็เป็นในลักษณะอย่างนี้ เวลาปฏิบัติมันดับวูบลงไปรู้สึกตัวขึ้นมา กลัว กลัวจะตายไปเลย กลัวจะไม่ฟื้น ลักษณะอย่างนี้จะมีมาก

       ๘. เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เช่นว่านั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” คล้ายๆ กับมีภูตผีปิศาจมันไปสิงอยู่ในทรวงอกของเรา ไปสิงอยู่ในท้องของเรา สิงอยู่หน้าอกของเรา เวลาเรากำหนดว่า “รู้หนอๆ” สมมุติเรากำหนดรู้ที่ตรงไหนก็ตาม กำหนด “รู้หนอๆ” ตรงคอของเรามันก็มาดูดเหมือนกับมีตนมีตัว มันก็มาดูดที่คอของเรา หรือบางทีเรานึกกำหนดที่แขนมันก็มาดูดที่แขนของเรา เหมือนกันกับพวกปิศาจพวกผีมันดูดเลือดอย่างนี้แหละ ลักษณะคล้ายๆกับมันดูดเลือด กำหนด “รู้หนอๆ” มันดูดเอาเลย เราก็คิดว่าเป็นภูตผีปิศาจจริงๆ

       หรือบางทีมันเหมือนกันกับพวกเปรตที่สูงครึ่งต้นไม้ก็มี หรือท่วมกุฏิก็มี เมื่อก่อนปฏิบัติอยู่สมัยหนึ่ง เรานั่งอยู่ในกุฏิพวกภูติพวกผีพวกเปรตนี้มันมายืนอยู่ตรงหน้าต่าง มันปล่อยของขึ้นมา เป่าขึ้นมาที่ศีรษะของเรา มันหมุนไปๆๆ ถึงทรวงอกแล้วก็หมุนลงไปเป่าเข้าไปหมุนเข้าไปแล้ว โอย ตายแล้วเราทีนี้ตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันถึงจะหาย เราจะหาคาถาอะไรมาป้องกัน มันก็ป้องกันไม่ได้ คิดไปคิดมา เอ๊ะ พวกคุณไสยที่เขาใส่ของอย่างนั้นใส่ของอย่างนี้ ท่านว่าเอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาแล้วมันจะหายไป มันจะออกไป เราคิดอย่างนี้นะ เราก็เอาขี้ผึ้งบริบูรณ์มาทาเต็มตัว พวกผี พวกปิศาจ หรือของที่มันปล่อยเข้ามาอยู่ในร่างกายของเรามันหมุนออกมาๆๆ บางทีก็ออกจากศีรษะ บางทีมันออกมาแรง พรึบไปจนเราสัปหงกไปก็มีพอดีมันหายไปแล้วก็ เออ คงจะได้เจริญกัมมัฏฐานต่อไปแล้วตอนนี้ พวกผีปิศาจคงจะหายไป กำลังว่า “พองหนอๆ” เป่ามาเลย หมุนเข้าทางศีรษะเลย มันไปอยู่ในทรวงอกของเรา อยู่ในท้องของเรา

       บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ เหมือนกับพวกปีศาจพวกผีนั่นแหละปล่อยเข้ามาทางศีรษะของเรา หรือตรงหน้าอกของเรา หรือที่ช่วงท้องของเรา มันปล่อยเข้ามา เอ้า อยู่ในนี้ละ ไม่ไปไหน ผีตัวนี้ไม่ไปไหน มันนอนอยู่อย่างนี้ละ เรานั่งกัมมัฏฐานไปตลอดคืนยันรุ่ง นั่งไปๆ เอ้อ ๑ ชั่วโมงนี้ ๒ ชั่วโมงนี้ ตัวนี้มันอยู่ตรงนี้ พอดีครบชั่วโมงมันหายไป เอ้า คงจะสบายแล้วหนอ พอดีกำลังจะสบาย ตัวใหม่เข้ามาอีก ตัวนี้ก็อยู่เป็นชั่วโมง ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วก็หายไป ออกไปแล้วก็ตัวใหม่ก็มา จนสว่าง เมื่อสว่างแล้วเราก็คิดว่า เออ คงจะสบายแล้ววันนี้ ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานคงจะได้ดี คงจะได้สบาย กำลังคิดว่าจะสบาย มันปล่อยฟับเข้ามา ตัวสุดท้ายนี้มันอยู่ตลอดทั้งวัน เต็มวันนี้มันอยู่เลย โน้น ถึงเวลา หกโมงได้เวลา เหมือนกับเขาอยู่ยาม นายยามมันก็ปล่อยตัวนี้ไป ตัวใหม่เข้ามาอีก ก็ปล่อยตัวนี้ไปอีก เป็นลักษณะอย่างนี้ แล้วก็บางทีก็เหมือนกับมีพวกปิศาจหรือพวกภูตผีมันสิงอยู่ในร่างกายของเรา เราคิดว่า เออ เรามียาดี ถ้ายานี้กินเข้าไป หรือเอามาถูที่ไหนๆ มันกลัวแล้วก็ออกไป มันไม่อยู่ เราก็เอายาชนิดนี้แหละมาถูๆ แทนที่มันจะกลัว เราเอายาไปถูๆ มันหายวืบ มาหอมยา โอ้เรานี่ตายแล้ว คงจะไม่รอดซะแล้ว คงจะตายแล้ว ทำอย่างไรหนอมันจะหายไปได้ แต่ว่าเราก็ตั้งอกตั้งใจกำหนด พอดีกำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” เท่านั้นละ คือปัญญา เวลาได้ที่มันถึงจะเกิดนะ ทั้งๆที่เรายังกำหนดอยู่ตลอดเวลา แต่มันก็มีช่วงพลาดไปได้ อยู่ที่สภาวะ เรากำหนด “รู้หนอๆๆๆ” ผีเก้าตัว สิบตัว หรือเป็นร้อยๆ ตัวที่อยู่ในท้องของเรา อยู่ในหน้าอกของเรามันหายปึ๊บปั๊บๆๆๆ ไป เราก็รู้ได้ว่าเออ จิตเอ๋ยจิต เจ้ายุตัวเองให้กลัว แล้วเจ้าก็กลัวเอง เจ้านึกแต่เรื่องให้กลัว เจ้าสร้างภาพ สร้างพจน์ สร้างเรื่องขึ้นมาแล้วก็กลัวเอง นี่มันเป็นอย่างนี้ท่านทั้งหลาย นี้ลักษณะที่ว่า มันเกิดขึ้นแล้วเราทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา

       บางทีเรามองดูต้นไม้ชายคา เหมือนกับภูตผีปิศาจเป็นร้อยๆ ตัว เป็นพันๆ ตัวมันปีนป่ายอยู่ตามต้นไม้ กลางวันมันก็ลอยเคว้งคว้าง เพ่นพ่านอยู่ตามปลายไม้ จะเดินออกกุฏิไปก็ไม่กล้าไป กลัว มันถึงขนาดนั้นนะ หรือบางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เหมือนกันกับพวกจิ้งจกเป็นหมื่นๆ ตัวจับอยู่ที่ต้นไม้ ต้นนั้นบ้างต้นนี้บ้างต้นละร้อยสองร้อยมันจับอยู่ เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันร้องขึ้นมาจิ๊บจั๊บๆๆๆ ขึ้นมา มันมาร้องสนั่นไปหมด เหมือนกับว่ามันมีตนมีตัวจริงๆ แต่ว่าเรากางกลดไว้แล้วก็ พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ ไปเรื่อยๆ เวลาจิตใจของเราใกล้สงบแล้ว จิ้งจกมันเอาแล้ว แจ๊ะๆๆ ขึ้นมา โอ้ยมันอยู่อย่างไรหนอ เราก็ลุกขึ้นไปดูมันมีกี่ตัว ไปดูตัวนั้น ไปดูตัวนี้ ไปดูแล้วก็ไม่เห็น เวลามันร้องอยู่ตามต้นไม้หลายๆ พันตัวเราก็ไปดู แต่ไปดูแล้วมันก็ไม่เห็น อ้าวมันอะไรกัน คือนิสัยของหลวงพ่อก็ชอบค้นคว้า อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ชอบค้นคว้า แต่ลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นลักษณะที่น่ากลัว

       บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ ใกล้ๆจิตจะสงบ มันดิ่งไปๆ มันตบลงมาเลย ตบที่พื้นที่เราเหยียบ รองเท้าที่เราเหยียบ มันตบขั้นมา แต๊บๆๆๆ เราก็ลืมตาขึ้นมา เรานั่งกัมมัฏฐานไปจิตใจของเรามันจะดิ่งลงไปมันตบขึ้นมาอีก บางทีก็ตบที่โต๊ะบูชา บางทีก็ตบที่เช็ดเท้าของเรา แต่ขณะที่มันตบอยู่น่ะเราไม่รู้ว่ามันตบที่ไหน แต่คำนวณว่าอาจจะเป็นที่นั้น อาจจะเป็นที่นี้ แต่ที่จริงไม่รู้ว่าตบที่ไหน แต่ว่าจิตใจของเราจะสงบมันตบปั๊บๆๆๆ ขึ้นมา ไม่ใช่ธรรมดานะท่านเป็นอาทิตย์นะ ลักษณะอย่างนี้เป็นอาทิตย์เหมือนกัน ตกลงเราแก้ปัญหาไม่ได้ นั่งหย่อนเท้าแล้วก็ลืมตา “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ เมื่อปัญญาแก่กล้าขึ้นมามันรู้ท่านทั้งหลาย มันตบแพ๊บๆๆๆ ขึ้นมาเราก็รู้ทันที ใจนี้มันรู้ทันที โอ้ จิตเอ๋ยจิต เจ้าก็หลอกตัวเองแล้วก็กลัวตัวเอง มันสับปลับท่านทั้งหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือจิตนั่นแหละเป็นตัวหลอก แล้วก็จิตตัวนั้นแหละเป็นตัวกลัว นี่มันทำให้ชัดเจนนะ จิตหลอกเองแล้วก็กลัวเอง บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ นั่งไปๆๆ พองหนอยุบหนอขึ้นมา มันมาเคาะกุฏิของเรา มันมาเคาะประตูของเราหรือข้างฝาของเรา เราก็เดินไปดู เดินไปดูมันก็เดินไป เราเห็นเดินนะ เดินไปก็ตามไป มันเดินไปเราก็ตามไป มันล้อมรอบกุฏินั้นละ ล้อมกุฏิที่เราอยู่ เดินไปก็ล้อมไป เดินตามกันไปเรื่อยๆ ตามจนทัน บางทีก็เห็นรูปเห็นร่าง บางทีก็ไม่เห็น เราก็เดินไปๆ บางทีมันก็เบ่งลมขึ้นมา บางทีมันก็หัวเราะขึ้นมา หัวเราะกึกๆๆๆ ขึ้นมา เราก็รู้ทัน เอ๊ะ จิตเอ๋ย เจ้าหลอกตัวเองเจ้าก็กลัวเอง นี่เมื่อปัญญาแก่กล้ามันก็รู้เลยนะว่า ลักษณะอย่างนี้ไม่ใช่ภูตผีปิศาจ จิตมันสร้างขึ้นมาเองแล้วก็กลัวเอง

       บางทีเรานั่งอยู่บนแคร่ “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่บนแคร่ เหมือนกันกับมีพวกหมูบ้า หรือหมาบ้า หรือว่าภูตผีปิศาจมันจะมาหลอกมาหลอนเรา เราก็ให้พระมา ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน ข้างนี้นอนสองคน กำหนดไปๆ คิดว่ามันจะช่วยไม่ให้กลัว แต่ผลสุดท้ายเรานั่งไปๆๆ เหมือนกันกับพวกมันมาพลิกแคร่ของเรา มาพลิกเตียงของเราให้คว่ำไป แต่เมื่อเราลืมตาขึ้นมาก็นั่งอยู่เฉยๆ ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลาย หากว่าจิตใจของเราไม่เข้มแข็งพอ ก็ไม่สามารถที่จะผ่านพ้นไปได้ หรือบางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันสั่นขึ้นมา สั่นขึ้นมาเหมือนกับเขาลงธรรมหรือปลุกคาถา หรืออะไรที่เขาทรงกัน ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายเมื่อสภาวะแก่กล้าแล้วเรากำหนดทันปัจจุบันแล้วก็หายไปเอง คือลักษณะอย่างนี้มันจะเกิดความกลัวโดยที่หาสาเหตุอะไรกับตนเองไม่ได้ เหมือนกับเราเดินไปในป่าชัฏ บังเอิญเห็นสิงโต พบเสือ พบงูพิษขึ้นมาโดยบังเอิญ ก็เกิดความกลัวขนลุกขนชันขึ้นมา

       ๙. รูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัว เช่นบางครั้งเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ มันจะร้อนตามตัว ร้อนเหมือนกับอังไฟ บางทีทั้งร้อนทั้งเย็น ทางหน้าอกมันร้อน แต่ข้างหลังมันเย็น บางทีข้างศีรษะของเรามันร้อน แต่ร่างกายมันเย็น บางทีร่างกายร้อนแต่ว่าศีรษะมันเย็น ลักษณะอย่างนี้มันทำให้เกิดอาการกลัวขึ้นมา

       ๑๐. ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันก็ดี รูปนามที่เป็นอนาคตก็ดี เกิดดับอยู่ตลอดเวลา อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตร ๓ คน ตายไปแล้ว ๒ คน อีกคนหนึ่งกำลังตายคามืออยู่ การที่สตรีคนนั้นเห็นลูกของตนตายไปแล้ว ๒ คน ก็เหมือนกันกับเราเห็นความดับ การเห็นลูกคนที่ ๓ กำลังตายคามืออยู่ ก็เหมือนกับเรากำลังเห็นความดับที่เป็นปัจจุบัน คือทันปัจจุบัน หรือว่าเป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่าลูกคนต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน หรือว่าอุปมาเหมือนกับหญิงคนหนึ่งมีบุตร ๑๐ คน ตายไปแล้ว ๙ คน คนที่ ๑๐ กำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ผู้นั้นพิจารณาว่า เออ ลูกที่ตายไปแล้ว ๙ คนนั้นก็เหมือนกับเรากำลังเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว การเห็นคนที่ ๑๐ กำลังตายคามืออยู่ก็เท่ากับเราเห็นความดับเกิดอยู่เฉพาะหน้า การที่ทอดอาลัยคนอยู่ในท้องว่าจะเป็นอย่างนี้เหมือนกัน ก็เหมือนกับเราเห็นรูปนามที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใกล้ๆ นี้ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า ภพทั้ง ๓ นี้ เหมือนกันกับว่าบุรุษตาดีมองดูเห็นหลุมหลาว ๓ เล่ม เช่น หลาวไม้ตะเคียน หลาวเหล็ก หลาวทองแดงอยู่หน้าประตูเมืองแต่ตัวเองหากลัวไม่ เป็นแต่เพียงพิจารณาเห็นว่า ผู้ใดตกไปในหลุมหลาวนั้นจะได้รับความทุกข์ไม่ใช่น้อย

       บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ รูปนามที่อยู่ในภูมิทั้ง ๓๑ ภูมินี้ มีการเกิดดับเป็นภัยเฉพาะตัว ไม่น่าปรารถนาไม่น่าจับต้อง เมื่อพิจารณาเห็นอนิจจัง รูปนามที่เป็นอดีต ปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อพิจารณาเห็นทุกขัง รูปนามที่เป็นสุขย่อมเห็นว่าเป็นทุกข์ เมื่อพิจารณาเห็นเรื่องอนัตตา รูปนามที่เป็นของว่าง ของสูญ ของเปล่า ของไม่มีหัวหน้า เหมือนกับบ้านร้าง เหมือนกับพยับแดด เหมือนกับเมืองลับแล ย่อมปรากฏเป็นของน่ากลัว

       สรุปว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลาย จะทำให้จิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย ถ้าว่าจิตใจไม่เข้มแข็งพอ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าขึ้นไปได้ บางทีก็หยุดเอาเสียเลย ไม่ยอมปฏิบัติ อันนี้เป็นสภาวะของภยตูปัฏฐานญาณ

       อย่างอื่นนอกจากนี้ที่ไม่ได้นำมาเล่าสู่ฟังมีมากกว่านี้ แต่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อะไรเกิดขึ้นมาก็ขอให้เปรียบเทียบ หรือใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา มันอาจจะไม่เหมือนอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อเราพิจารณาแล้วว่ามันน่ากลัว เป็นสภาวะที่น่ากลัวหรือจะทำให้เกิดความกลัว สภาวะอย่างนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าผู้ใดไม่มีบุญไม่มีกุศลที่สร้างสมอบรมไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด สภาวะนี้เกิดชัดเจนเท่าไร ก็ถือว่าเราได้สร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก คือถ้าสร้างสมอบรมบุญกุศลมามาก สภาวะอย่างนี้ก็ปรากฏชัดมาก และผลอานิสงส์ที่จะได้พิเศษในญาณนี้ก็เหมือนกันกับญาณที่ ๔ ที่ ๕ ญาณที่ ๔ เป็นอย่างไร ญาณที่ ๕ เป็นอย่างไร อานิสงส์ของญาณนี้ก็เหมือนกัน แต่ว่ามีพลังมากกว่า เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วท่านทั้งหลายสภาวะของภังคญาณก็จะดับลงไป เหมือนกันกับใบไม้ที่แก่ถึงที่แล้วก็ร่วงไป เมื่อร่วงไปแล้วใบใหม่ก็จะงอกขึ้นมา ข้อนี้ฉันใด เมื่อภังคญาณแก่กล้าแล้วจะดับไป เมื่อดับไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดภยตูปัฏฐานญาณ

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง ภยตูปัฏฐานญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 17 มีนาคม 2563 11:12:21
.

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/dhAAgu5f6joeWSNY7Bt0nqZpyk-a2b0UzkdnlEKZKgSLcnG86NeMzk1lAr1863iCBpS4G8n6Ms_oDA0QITIA-2oubdnbM3maTb3QXi_juQBJbbUpkR9Q2PmOmoLedb7DddHZYP4lsmv-UfqFlgVDX2UiRuM6T8HL7M2oLqhQ)
มุญจิตุกัมยตาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาบรรยายถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายสืบไป

       มุญจิตุกัมยตาญาณ คือปัญญาพิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม คือในญาณที่ ๗ เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม มาถึงญาณที่ ๘ คือนิพพิทาญาณ ก็เบื่อหน่ายในรูปในนาม เมื่อมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณก็เป็นญาณที่อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากรูปจากนาม ไม่อยากมีรูปมีนามอีกต่อไป ญาณนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นญาณใจน้อย ญาณกลุ้มใจ คือ เมื่อสภาวะมาถึงญาณนี้แล้วใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ ครูบาอาจารย์จะพูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่พอใจเอาเสียเลย บางทีครูบาอาจารย์พูดโน้นพูดนี้ หรือว่าเวลาสอบอารมณ์พูดนั้นพูดนี้เป็นการปรับความเข้าใจ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา

       สรุปแล้ว ญาณนี้เป็นญาณที่กลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย เป็นสภาวธรรมที่ตัดสินใจเร็ว อะไรๆ เกิดขึ้นมาบางทีมันตัดสินใจเลย บางทีก็ผิด บางทีก็ถูก อย่างที่อยู่ที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานส่วนกลาง คณะ ๕ วัดมหาธาตุ วันหนึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระธีรญาณมหามุนี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน วันนั้นสอบอารมณ์พระรูปหนึ่ง “เป็นอย่างไรท่าน เวลาเดินจงกรมมันเป็นอย่างไร” ถามโน้นถามนี้ ถามหาข้อวัตรปฏิบัติ เวลาเดินจงกรมทำอย่างไร เขาก็ว่า “เอาตีนเดิน” ไม่ได้ว่าเอาเท้าเดิน เอาตีนเดิน พูดกวนๆ แล้วเวลากำหนดหละ ท่านกำหนดอย่างไร ทั้งที่ถามดีๆ “เอาปากกำหนด” ท่านเอาปากกำหนดก็ดีละ ขอให้ท่านตั้งอกตั้งใจ ขอให้มีสติกำหนด เวลาเดินจงกรมก็กำหนด เวลายืนก็กำหนด เวลานั่งก็กำหนด “เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน” ท่านก็ถาม “เอาไว้ที่ส้นตีน” มันสำคัญนะญาติโยม ทั้งๆ ที่ครูบาอาจารย์ถามดีๆ เวลาเดินจงกรมเอาสติไว้ที่ไหน “เอาไว้ส้นตีน” เผลอแป๊บเดียวเท่านั้น ลุกขึ้นมาเอาเท้าเตะขากรรไกร พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จจนได้เข้าโรงพยาบาล รักษาอยู่หลายวันจึงหาย

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอนกัมมัฏฐานใหม่ๆ ส่วนมากหลวงพ่อไม่ได้ไปรูปเดียว ต้องมีพระหรือมีเณรไปด้วย ลูกศิษย์ลูกหาก็มองหลวงพ่อในแง่ที่ไม่ดี หลวงพ่อก็ปฏิบัติมาแล้ว แทนที่ไปสอบอารมณ์น่าจะไปรูปเดียวทำไมถึงเอาพระไปด้วย หรือเอาเณรไปด้วย หรือว่าเอาไปเพื่อเสริมบารมีอย่างนั้นอย่างนี้ก็ว่า แต่หลวงพ่อก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าไปเพื่อเป็นการป้องกันตัว คือในขณะที่เราสอบอารมณ์ส่วนมากเรานั่งอยู่ตัวต่อตัว บางทีอาจจะมีคนใดคิดไม่ซื่อ แต่หลวงพ่อไม่กลัวหรอก ไม่กลัวคิดไม่ซื่อ แต่ที่ระวังๆ ก็ระวังเมื่ออารมณ์พระกัมมัฏฐานมันเกิดขึ้นมาแล้ว หากว่าเราเผลอแป๊บเดียวเท่านั้นอันตราย

       มีตำรวจคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ แล้วก็มีพระรูปหนึ่ง เป็นผู้ตีระฆังตียาม ทั้งๆ ยังไม่ทำอะไรเลยกำลังตีระฆัง เม้งๆๆ พระตำรวจรูปนั้นก็มาเอาเท้าเตะคางกระต่ายเลย ล้มหงายเลย มันเป็นอย่างนี้ถ้าลักษณะอย่างนี้

       บางทีมีสามเณรไปถวายน้ำปานะ เมื่อก่อนโน้นใช้ล้อ (รถเข็ญ) เข็นไปๆๆ พอเห็นเณรมาถวายน้ำปานะก็วิ่งลงมาจากกุฏิเอาค้อนทุบเอาเลย บางทีก็เอาไม้เรียวเฆี่ยนเอาเลย ถ้าสภาวะอย่างนี้หลวงพ่อจะให้ชื่อว่า “ญาณใจน้อย” “ญาณกลุ้มใจ” พูดอะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่ได้ บางทีเราพูดนิดเดียวเท่านั้นร้องไห้อยู่ทั้งวัน ดังที่เราเห็นพระน้องชาย นายเจียม สมัยนั้นลาราชการมาบวชมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เมื่อถึงนี้ละ พะวักพะวนตั้งแต่หลวงปู่หนูแหละ น้อยใจจึงว่ากิริยามารยาทผู้เป็นพ่อไม่ถูกอกถูกใจอย่างนั้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ ไปร้องเรียนว่า “หลวงพ่อจะทำอย่างไร” “โอย เรื่องนี้เราอย่าไปจับผิดท่านเลย เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีครูบาอาจารย์เป็นผู้รักษา เป็นผู้คุ้มกัน เป็นผู้แนะนำ เป็นผู้สอน ตอนนี้ถือว่าเรามาปฏิบัติ เมื่อในขณะที่ปฏิบัตินี้เราก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติ เพราะในขณะนี้เราไม่ใช่มาเป็นครูสอน เราพูดเราสอนมันก็ผิดกฎกติกาครูบาอาจารย์” เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งที่คิดว่าเราพูดอย่างนี้พระน้องชายจะไม่ใจน้อยหรือ ก็คิดเสียก่อนจึงพูด แล้วก็ไม่ได้เอ็ดไม่ได้ว่า นิดเดียวเท่านั้นท่านทั้งหลาย ร้องห่มร้องไห้อยู่ทั้งวัน ร้องห่มร้องไห้คิดจะไปตาย ไปเชือดคอตาย ไปกินยาตาย อย่างท่านหลวงปู่รูปหนึ่ง ที่ผมเคยพูดให้ฟัง เมื่อเวลามาถึงนี้เราพูดอะไรไม่ได้ “หลวงปู่ฉันยาปวดหายก็อย่าฉันมากเกินไปสิ มันบีบหัวใจ” เอาแล้ว “อ้าว คุณเป็นปุถุชน ผมเป็นพระอรหันต์แล้วนะ ปุถุชนจะมาสอนพระอรหันต์ได้อย่างไร” อ้าว ไปอีกแล้ว คิดในใจ พูดอะไรไม่ได้ มันกลุ้มใจ ใจน้อยก็ใจน้อย ผลสุดท้ายกลุ้มใจยังไม่พอละ เผลอๆ ประมาณตี ๔ ย่องๆ เอามีดโกนเชือดคอตัวเองตาย มันลักษณะอย่างนี้ละท่าน ใจน้อยก็ใจน้อย กลุ้มใจก็กลุ้มใจ

       เพราะฉะนั้น สมัยก่อนที่หลวงพ่อสอบอารมณ์ หรือสอนกัมมัฏฐาน หลวงพ่อหวั่นนักหวั่นหนาที่สุด เรื่องสอนกัมมัฏฐาน ว่าเมื่อลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงมุญจิตุกัมยตาญาณนี้ เราจะทำอย่างไรหนอ เราจะปกครองลูกศิษย์ลูกหาไหวไหมหนอ ทำอย่างไรถึงจะสามารถแก้อารมณ์ของลูกศิษย์ลูกหาได้เมื่อมันเกิดขึ้นมา หวั่นใจที่สุด สมัยนั้นเวลาเข้าห้องกัมมัฏฐานหลวงพ่อเอาอาวุธออกหมด มีดปาดผลไม้ มีดสั้น มีดอะไรเอาออกหมด เข็มก็ไม่ให้มี มีดโกนก็ไม่ให้มี มีอะไรๆ กวาดหมด ให้อยู่ตัวเปล่า มีแต่จีวร สบง อังสะ กาน้ำ เท่านั้น เพราะระวัง มันเห็นมาแล้วก็ระวัง คือเมื่อสอนกัมมัฏฐานมา เมื่อถึงนี้ก็ลำบากจริงๆ เวลาสภาวะเกิดขึ้นมาพูดนิดพูดหน่อยไม่ได้ เราก็ต้องพยายามทำจิตทำใจพยายามจะไม่พูดให้กระทบกระทั่งจิตใจเป็นอันขาด อันนี้เป็นสภาวะอย่างหนึ่งที่เล่าสู่ฟังแล้วก็จำไว้ เมื่อเราไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา ระวังสภาวะอย่างนี้ให้ได้

       แม้แต่เราเองก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ไปสอนผู้อื่นไปสอบอารมณ์ผู้อื่นเราเองใจน้อยไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเมื่อมาถึงนี้เราผู้เป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งเกิดหนัก เพราะว่าตอนที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะที่ลูกศิษย์ลูกหาปฏิบัตินั้น มันก็เป็นเหตุพ่วงกันกับเราด้วย ถ้าลูกศิษย์ลูกหานั้นมีจิตใจเป็นอย่างไร เราผู้เป็นครูบาอาจารย์จิตใจก็จะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราระวังไม่ไหวทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ก็ลงมวยกัน ทะเลาะกัน เหตุนั้นพึงสังวร เรื่องมันมีมากท่านทั้งหลาย เหตุนั้นท่านทั้งหลายเวลาไปสอนกัมมัฏฐานเรื่องนี้ระวังให้ดี

       แม้เราตั้งใจว่าจะทำจิตใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว แต่เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเปลี่ยนทันที สมมุติว่าเราตั้งใจจะนั่งสมาธิ จะนั่ง ๑ ชั่วโมง กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จะนั่ง ๑ ชั่วโมง แต่พอนั่งไป “พองหนอ ยุบหนอ” ไป ยังไม่ถึง ๒ นาทีมันอยากลุกแล้วนะท่าน มันอยากลุกแล้วก็ข่มใจไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๕ นาที ก็อยากลุกแล้ว ข่มไว้ กำหนดไปๆ ยังไม่ถึง ๓ นาที มันจะลุก ข่มไว้ๆ ผลสุดท้ายก็ข่มไม่ไหว คือไม่ได้กำหนดเลย เมื่อถึงที่แล้วสภาวะแก่กล้าเวลามันอยากลุกก็ลุกไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลายจำไว้นี้เป็นสภาวะของมุญจิตุกัมยตาญาณ สภาวะของญาณนี้มีดังนี้ท่านทั้งหลาย

       ๑. มีอาการคันตามเนื้อตามตัว เหมือนมดกัด คือเหมือนมีมดมากัด มีไรมาไต่มาตอมอยู่เรื่อยๆ คืออาการคันนี้ถ้ามันอยู่ในสภาวะของญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดมาไต่มาตอมตามร่างกาย แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้ คันก็คันแรง เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มโปนขึ้นมาทั้งตัว บางทีเหมือนกันกับมีมด มีตะขาบ มีแมงป่อง มีงูมันเลื้อยขึ้นมาตามร่างกายของเรา แต่เสร็จแล้วก็ไม่มี สมมุติว่าหลวงพ่อนั่งอยู่ใต้แสงไฟนีออนนี้ เรานั่งอยู่นี้คิดว่ามันเป็นมดมากัด แต่เราลูบดูแล้วก็ไม่มี เหมือนกับมีมดมากัดที่นั้นที่นี้อยู่ตลอดเวลา เรื่องแบบนี้หลวงพ่อระวัง แต่เวลามันเกิดขึ้นมา มันเผลอนะ ทั้งเวลาไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ หลวงพ่อก็ตั้งใจว่าจะไม่กระดุกกระดิก จะตั้งใจไม่กระดุกกระดิก จะไม่คันที่นั้นจะไม่เกาที่นี้ แต่เวลามันเกิดขึ้นมามันไปแต่เมื่อไร ไปลูบไปคลำแล้ว อ้าว มันผิดอีกแล้ว มันเป็นอีกแล้ว คือสภาวะมันเวียนอยู่ตลอดเวลา เราไหว้พระสวดมนต์ไปนิดๆ ก็เอาแล้ว ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะไม่เกามันก็เกาเอง แต่ว่าเสร็จแล้วมันก็ไม่ใช่ อย่างนี้แหละมันเป็นเองท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้มันเหมือนกับลิง มันเกิดเหมือนกับลิง คันยุกๆยิกๆ อยู่ตลอดเวลา มันมีอาการคันตามเนื้อตามตัวเหมือนกันกับมดกัด

       ๒. ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี ยืนกำหนดก็ไม่ได้ดี เดินกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี เหมือนกับคนเป็นบ้า เหมือนกับลุกลี้ลุกลนผุดลุกผุดนั่งอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็จับโน้นเดี๋ยวก็ฉวยนี้ เดี๋ยวก็ทำโน้นทำนี้ ลักษณะของลิงเป็นอย่างไร สภาวะนี้เกิดขึ้นมาก็เหมือนลักษณะอย่างนั้น คือ ไม่อยู่ปกติ จับนั้นฉวยนี้อยู่ตลอดเวลา

       ๓. กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ไม่ได้ดี คือจะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ไม่ได้ดี ทั้งๆตั้งใจจะกำหนดให้ดี แต่มันก็ไม่ได้ดี

       ๔. ใจคอหงุดหงิดเอือมๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร ลักษณะอย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ส่วนมากเราทำกันไม่ได้ คือเมื่อมาถึงนี้จะมีอาการหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร บางทีก็เก็บสิ่งเก็บของกลับบ้าน เห็นครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ว่าเออ ตอนนี้จะไปอยู่เขาลูกนี้ พอดีอยู่เขาลูกนี้ไม่กี่ชั่วโมง อ้าว อยากไปแล้ว เราลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้น ลงเขาลูกนี้ก็ไปเขาลูกโน้นอยู่ตลอดเวลา มีแต่แสวงหาโมกขธรรม แต่ไปแล้วไปที่ไหนที่ไหนก็ไม่พอใจ พวกธุดงค์มีลักษณะดังนี้ สภาวะนี้มันชอบที่สุด คือถ้าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วจะอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องออกจากวัดนี้ไปวัดโน้น ออกจากวัดโน้นไปวัดโน้น ออกจากเขาลูกนี้ไปขึ้นเขาลูกนั้น ออกจากเขาลูกนั้นไปขึ้นเขาลูกนี้นั่งกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี นั่งอยู่นี้ไม่ถึง ๒ นาทีลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ นั่งที่ใหม่ยังไม่ถึง ๕ นาที ลุกไปแล้วไปนั่งที่ใหม่ บางทีคืนทั้งคืน ถอดกลดอยู่ทั้งคืน อย่างอาจารย์รูปหนึ่ง อยู่ทางอำเภอนาตาลปฏิบัติอยู่ร่วมกัน แต่ละคืนๆ ท่านจะถอดกลดไปปักใหม่อย่างน้อย ๕ แห่ง หรือ ๖ แห่ง สรุปแล้วว่าสภาวะนี้ทำให้จิตใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

       ๕. กลุ้มใจคิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว นี้ก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่งทำให้การปฏิบัติไม่ได้ผล หลายๆ คนที่มาปฏิบัติ มาจากภาคกลางบ้าง มาจากภาคตะวันออกบ้าง ภาคเหนือบ้าง มีโยมยายคนหนึ่งอยู่ที่บางกอกน้อยฝั่งธนบุรี เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กลุ้มอกกลุ้มใจ จะกลับบ้านเก็บสิ่งของไปหา “หลวงพ่อ วันนี้ยายจะกลับแล้วนะ อยู่ไม่ได้หรอก” เราก็ปลอบก็โยน “ยาย ก็ต้องข่มจิตข่มใจปฏิบัติไปหน่อย เราปฏิบัติไม่ถึงชั่วโมงหรอกมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ผ่านหนี” ปลอบอกปลอบใจ แล้วก็มีแต่จะไปให้ได้ หลวงพ่อจะให้ไปหรือไม่ให้ไป ถ้าไม่ให้ไปจะไปกระโดดน้ำตายเดี๋ยวนี้ เอากันถึงขนาดนั้นนะ พูดสบายๆ ทำจิตปลอบโยนอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ แต่แกไม่ยอมอยู่ มีแต่จะกลับบ้านๆ

       พระสงฆ์สามเณรก็เหมือนกัน บางปีเมื่อก่อนโน้นเวลาปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางทีพากันข้ามกำแพงไปไม่บอกลาครูบาอาจารย์ ไม่ว่าปริวาสหรือไม่ปริวาส มานัตต์หรือไม่มานัตต์ ไม่สนใจ ข้าขอไปแล้วก็พอ ก็ไปเลย บางปีก็ ๔ รูป บางปีก็ ๒ รูป บางปีก็ ๕ รูป แต่ผมก็ไม่ว่ากระไร เพราะว่าเราปลอบเราโยนแล้วแต่ว่ายังไม่อยู่ บางปีไม่ได้ปลอบไม่ได้โยน ไปเอง

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมา มีแต่กลุ้มอกกลุ้มใจ มีแต่คิดแต่จะกลับบ้านอยู่ตลอดเวลา โบราณเรียกว่าถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอนแล้ว มันถึงญาณม้วนเสื่อม้วนหมอน เก็บสิ่งเก็บของจะกลับบ้านลักษณะเช่นนี้เรียกว่าเป็นอำนาจของอวิชชา เรากำหนดไม่ทันลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์ต้องรู้จักปลอบต้องรู้จักโยน ต้องรู้จักชี้แจงแสดงไขให้ลูกศิษย์ลูกหาเข้าใจในการปฏิบัติแล้วก็จะได้ปฏิบัติต่อๆ ไป

       ๖. มีเวทนามาก เช่นอาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก คัน เป็นต้น แต่เมื่อเรากำหนด อาการเมื่อย อาการปวด “ปวดหนอๆ” หรือมันจุก มันคัน เรากำหนดๆ เมื่อกำหนดไปแล้วเราจะเห็นว่าเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นชิ้นๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ เหมือนกันกับเราหยิบเอาเวทนานั้นออกไป สมมุติว่าเราปวดศีรษะเรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่หัวเข่า เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่เท้า เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ท้อง เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป ไปปวดที่ข้างหลัง นี้เหมือนกันกับว่ามีภูตผีปิศาจมาสิง เรากำหนดที่หนึ่งมันไปปวดอีกที่หนึ่ง เมื่อเรากำหนดแล้ว คล้ายๆกับเวทนามันหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายเป็นซีกๆ ถ้าหากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นแก่กายจะรู้ทันที ส่วนมากผู้ปฏิบัติจะคิดว่าผีสิง แต่บางคนก็คิดว่า โอ้ ปัญญาของเรามันแก่กล้า เรากำหนดปวดที่นี้มันหายวับไป ไปปวดที่โน้น กำหนดแล้วมันหายวับไป ไปปวดที่นี้ บางคนก็จิตใจเข้มแข็งก็เพลิน แต่ในขณะเพลินๆนั้น ก็คล้ายๆ กับเป็นบ้าเหมือนกัน คือลักษณะเหมือนกับเราวิ่งไล่หิ่งห้อย เดือนหงาย มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปหาก็ไม่เห็น มันเห็นแวบขึ้นมาเราก็วิ่งไปอีก แวบขึ้นมาก็วิ่งไปอีก อันนี้ก็เหมือนกัน สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว กำหนดที่นี้มันไปเกิดที่นั้น กำหนดที่นั้นมันไปเกิดที่นี้อยู่ตลอดเวลาจนมันผ่านไปจึงจะหาย

       ๗. คันยุบๆ ยิบๆ ที่โน้นที่นี้ จนเหลือที่จะอด เหลือที่จะทน เหมือนกันกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยมาโรยลงบนที่นอน คือเหมือนมันคันที่โน้นเจ็บที่นี้อยู่ตลอดเวลา ท่านทั้งหลายเคยถูกหมามุ่ยหรือตำแยก็จะรู้ทันทีว่า เออ ลักษณะอย่างนี้มันเป็นอย่างนี้ บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ลุกขึ้นยืนสลัดสบง จีวร เครื่องนุ่งห่มจนโกลาหลขึ้นมา แล้วก็เข้าใจว่ามีเรือดมีไร มีมดมีแมลงมาไต่มาตอมอยู่ในร่างกาย

       ๘. จิตใจไม่แน่นอน คิดอยากเปลี่ยนคำกำหนดอยู่ร่ำไป เช่นว่า กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เอ พองหนอยุบหนอนี้สู้พุทโธเราไมได้ ไปกำหนดพุทโธ “พุทโธๆ” กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! พุทโธ นี้ก็สู้ อิติปิโส ภะคะวา ไม่ได้ กำหนด “อิติปิโส ภะคะวา อิติปิโส ภะคะวา” เอ๊ะ! กำหนดอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้ นะมะพะธะ นะมะพะธะ ไม่ได้ ก็กำหนดไป “นะมะพะธะ นะมะพะธะ” ไป เอ้า อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้เรามองดูจิตไม่ได้ ก็มองดูจิตของตัวเอง เห็นความเคลื่อนไหวของจิตใจ กำหนดไปๆ เอ๊ะ ! อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อันนี้สรุปแล้วว่าจิตใจไม่แน่นอน กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่โน้น เดี๋ยวก็เปลี่ยนที่นี้อยู่ตลอดเวลา ส่วนมากผู้ที่เคยไปปฏิบัติอยู่ในสำนักโน้นบ้าง ปฏิบัติอยู่ในสำนักนี้บ้าง เมื่อเรามาปฏิบัติจริงๆ ลักษณะอย่างนี้จะเกิดขึ้น

       ๙. กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ความทุกข์ความเสื่อมจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปอย่างจริงจัง หรือบางทีเมื่อสภาวะคือความทุกข์ ความเสื่อมเกิดขึ้นในจิตในใจก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติกลุ้มใจ ทุกข์ใจ อยากให้ความทุกข์ อยากให้ความเสื่อม อยากให้เวทนาที่เป็นสังขารทุกข์นี้หมดไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน คือไม่อยากให้สภาวะอย่างนี้เกิด ความทุกข์ก็ไม่อยากให้เกิด ความเสื่อมก็ไม่อยากให้เกิด เวทนาก็ไม่อยากให้เกิด จิตใจคิดโน้นคิดนี้จิปาถะก็ไม่อยากให้คิด อยากให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้หายไป โดยคิดว่าถ้าสิ่งนี้หายไปการปฏิบัติของเราจะได้ดีกว่านี้ เอาไปเอามา เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันชุลมุนวุ่นวายอย่างนี้แล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติเห็นทุกข์อย่างร้ายแรง เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นคิดอยากถึงพระนิพพาน ว่าถ้าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันหมดไปสิ้นไปสูญไปจากตัวของเราแล้ว เราจะได้ถึงพระนิพพาน ถ้าอยู่ในพระนิพพานคงไม่มีความทุกข์อย่างนี้ ก็อยากถึงนิพพาน และจิตที่อยากถึงนิพพานนั้น โดยที่เราไม่ได้คำนึงมาก่อน ไม่ได้คิดมาก่อนว่าเราจะไปนิพพานหรือจะถึงนิพพาน แต่เมื่อปฏิบัติไปๆ สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อยากถึงพระนิพพาน

       ๑๐. กำหนดครั้งใด คือหมายความว่าเราจะกำหนดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายก็ตาม จะกำหนดอาการพอง อาการยุบ อาการนั่ง อาการถูกก็ตาม จะกำหนดเวทนาก็ตาม จะกำหนดทางจิตใจก็ตาม เรากำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนามอย่างจริงจัง

       ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้น ไปจากข่าย จากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกับไก่ป่าที่ถูกขังอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับเนื้อที่ติดอยู่ในบ่วง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากบ่วงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับงูที่อยู่ในมือของหมองู อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากมือของหมองูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับพญานาคที่ติดอยู่ในปากของครุฑ อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากปากของครุฑฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       หรืออุปมาเหมือนกันกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       สรุป ท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ใจน้อยก็ใจน้อย งอแงก็งอแง โกรธง่าย เมื่อก่อนโน้นเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ แต่เมื่อมาถึงนี้นั่งไม่ได้นานท่านทั้งหลาย ๕ นาทีก็ยังไม่ได้ แล้วก็เดิน แล้วก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรม เดินไม่นานก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา คือสรุปแล้วว่าเราอยากนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ ก็นั่งไม่ได้ เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นสภาวะของญาณนี้ท่านทั้งหลาย

       เหตุนั้น เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา ทำจิตใจให้หนักแน่นมั่นคง อย่าโอนเอนไปตามสภาวะที่เกิดขึ้น และเมื่อท่านทั้งหลายไปแนะนำพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหา สภาวะอย่างนี้ขอให้อยู่ใกล้ชิด เวลาปฏิบัติถ้าหากว่าสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้อยู่ใกล้ชิด อย่าปล่อย อย่าละเลย ให้อยู่ดู หากว่าเราไม่นั่งด้วยก็อยู่ห่างๆ มองดูอาการปฏิบัติ เพราะว่าสภาวะอย่างนี้ ถ้าเป็นเด็กหรือเป็นหนุ่มเป็นสาว ส่วนมาก ไม่เอาแล้ว เกิดขึ้นมาแล้วเลิกเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป บางทีคนเฒ่าคนแก่ก็ยังเลิก ยังไม่ปฏิบัติ ก็คิดว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อะไร จะมาทำให้เราเป็นบ้า กัมมัฏฐานบ้าๆ บอๆ อย่างไร มันจึงเป็นอย่างนี้

       โยมหลายๆคนอยู่ข้างวัดของเรานี้แหละ ข้างวัดทางทิศเหนือก็มี ทางทิศใต้ก็มี สภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ตั้งแต่วันโน้นถึงวันนี้ยังไม่ยอมปฏิบัติกัมมัฏฐานเลย มันล่วงเลยมากี่ปีท่านทั้งหลาย ๒๕๑๔, ๒๕๑๕, ๒๕๑๖ มาถึงป่านนี้ก็ยังไม่ยอมเดินจงกรมนั่งสมาธิ ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติเลย เข็ดไปเลย ส่วนมากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วผู้ปฏิบัติจะคิดว่า ภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน สิ่งที่คิดมาก เกิดมาก แล้วก็มีมาก เป็นมากที่สุดสำหรับผู้ปฏิบัติ ภาษาอีสานเรียกว่า ผิดของรักษา บ้านเฮาว่า ผิดผี ผิดของรักษา ทางภาคกลางก็คงจะรู้ พูดง่ายๆว่า ผิดของ หรือว่าเคยถือเวทย์มนต์กลคาถาอย่างโน้นอย่างนี้มาก็ผิดของ นี้จะเกิดมากสำหรับภาคอีสานของเรา บางทีเมื่อก่อนโน้นเคยถือ พวกผีกะไท้ พวกผีแถนผีอะไร เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่เอาแล้วท่านทั้งหลาย นั่งซึมๆ อยู่ตลอดเวลา มีแต่ร้องห่มร้องไห้ ผลสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ ก็ไป แต่ถ้าจิตใจสู้หน่อยก็สามารถเอาชนะได้ สภาวะอย่างนี้เกิดไม่นานหรอกท่านทั้งหลาย บางทีวันนั้นก็ผ่านเลย บางที ๕ นาทีผ่านเลย ถ้าสติสัมปชัญญะของเราดีๆ หน่อยก็ผ่านเร็ว แต่ถ้าสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีเท่าที่ควร ลักษณะอย่างนี้อาจจะเป็นอยู่ ๑ วัน หรือ ๒ วัน ๓ วัน แต่เท่าที่สังเกตมาไม่เกิน ๗ วันมันก็ผ่านไป แล้วก้าวขึ้นสู่ญาณใหม่

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มุญจิตุกัมยตาญาณ มาถวายความรู้ และเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 25 มีนาคม 2563 09:21:00
.

(https://image.shutterstock.com/image-photo/candles-flame-close-on-dark-260nw-1265531293.jpg)

ปฏิสังขาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี


      หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ปฏิสังขาญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร ลูกชีทั้งหลาย พอสมควรแก่เวลา

       ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้

       คือญาณที่ ๙ เป็นญาณที่กลุ้มใจ ใจน้อย งอแง โกรธง่าย ภาษาบ้านเราว่า เจ็บใจง่าย ทำอะไรนิดอะไรหน่อยก็มีแต่งอแงอยู่ตลอดเวลา มีแต่จับผิด อะไรก็จับผิดๆ ครูบาอาจารย์พูดอะไรก็จับผิด ครูบาอาจารย์เคลื่อนไหวร่างกายหน่อยก็จับผิด ครูบาอาจารย์พูดกับญาติกับโยมก็จับผิด อะไรๆ ก็มีแต่จับผิด สรุปแล้วว่าเป็นญาณใจน้อย ญาณกลุ้มใจ เป็นญาณที่จับผิดคนอื่นอยู่ตลอดเวลา

       สำหรับปฏิสังขาญาณนี้ไม่เป็นอย่างนั้น ปฏิสังขาญาณนี้จิตใจจะเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ บางทีเวลาปฏิบัตินี้ การปฏิบัติของตนไม่สมใจ อยากได้เดี๋ยวนี้ๆ บางทีก็ยืนขาเดียว ขาหนึ่งเหยียบไว้ที่เข่า ข้างหนึ่งก็เอาเชือกหรือเอาด้ายมัดหัวแม่มือรวมกันแล้วก็เอาผูกขื่อกุฏิไว้อย่างนี้ก็มี

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ เมื่อถึงนี้แล้วใจฮึดใจสู้ขึ้นมา วันนั้นไม่ยอมเดินจงกรมตั้งใจทำวัตรเย็นเสร็จแล้วก็ยืนขาเดียว แล้วก็เอาเชือกผูกหัวแม่มือทั้งสองรวมกัน แล้วก็อีกข้างหนึ่งก็ผูกที่แปรไว้ เป็นเวลาตั้ง ๒ ชั่วโมง เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ครูบาอาจารย์สบายใจแล้ว ถึงอย่างไรๆ ก็จะไม่งอแงเหมือนเมื่อก่อน มีแต่สู้กับสู้ มันอยู่ในลักษณะอย่างนี้

       บางทีนั่งตากแดดเป็นชั่วโมงหรือหลายๆ ชั่วโมง บางทีก็นอนตากแดดเป็นเวลาหลายชั่วโมง บางทีก็นั่งตากฝน นอนตากฝน ก็เหมือนพวกเราทั้งหลาย ฝนตกพรำๆ แทนที่จะไปหลบไปซ่อนอยู่ในที่ดีๆ แต่ออกมายืนอยู่กลางฝน นอนอยู่กลางฝนไม่ยอมเข้าร่มอย่างนี้ก็มี บางทีก็เอากะละมังมา  นั่งอยู่ในกะละมัง บางทียืนอยู่ในห้วยนั้นจนน้ำมันถึงสะดือ หรือพ้นสะดือขึ้นมา อยู่อย่างนั้นแหละ ชั่วโมง สองชั่วโมงก็อยู่อย่างนั้น คือมีแต่จะเอาให้ได้ๆ มีแต่จะให้บรรลุๆ จิตใจมันเข้มแข็ง อย่างอื่นที่หลวงพ่อไม่ได้นำมาเล่า ถ้าเกิดขึ้นมาแล้วก็จะมีลักษณะเดียวกัน

       พระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ มันคิดสู้ขึ้นมา หมายความว่ามันออกนอกเรื่อง สภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้วเอามีดผ่าผลไม้มากรีดแขน สามเณรวิ่งมาหาแล้วว่า “หลวงพ่อๆ เสร็จแล้วๆ” “เอ้า เสร็จอะไร” “เป็นแผลแล้ว” “อ้าว เป็นแผลก็เย็บสิ” “ไม่ได้ไปเย็บหลวงพ่อ เขาเย็บเอาเอง” “เย็บกี่แผลหละ” “๑๕ แผล” ถึงขนาดนั้นท่าน ใจดวงนี้มันเข้มแข็ง

       บางทีเราเดินทางไปพวกสุนัขตัวใหญ่ๆ สุนัขฝรั่งวิ่งแจ้นเข้ามาจะมากัด เฉย บางทีพวกหมาบ้า มันวิ่งมามันจะกัด หรือพวกควายถึกวัวถึกมันวิ่งมามันจะชน เฉย ไม่สนใจอะไร จิตใจมันจะเข้มแข็งหนักแน่นมั่นคง ยอมสู้ตาย เวลาพูดก็เหมือนกัน เวลามีการปาฐกอย่างนั้นปาฐกอย่างนี้ สามารถที่จะโต้คารมแบบสู้ตาย

       ลักษณะของญาณนี้

       ๑. บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี จะมีอาการเสียว แปลบๆๆ บนร่างกายของเรา เหมือนกันกับคนเอาเหล็กแหลมๆ เอาไม้แหลมๆ เอาเข็มแหลมๆ มาจี้ลงบนร่างกายเสียวแปลบๆๆ ขึ้นมา ภาษาอีสานว่า “เสี้ยนบ่ง” มันเหมือนเสี้ยนบ่ง เหมือนกับถูกเข็มมาทิ่ม ถูกไม้มาทิ่ม ถูกเหล็กแหลมๆ มาทิ่ม ท่านทั้งหลายสังเกตเวลาเดินกัมมัฏฐานจะเสียวแปลบๆๆ ตามร่างกาย เหมือนกับมีคนเอาเข็มมาทิ่มมาแทง บางทีก็เสียวแปลบๆ ขึ้นมาบนฝ่าเท้า บางทีก็เสียวแปลบๆ ขึ้นมาบนฝ่ามือ หลังมือ หน้ามือ เราก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรไป นึกว่าเป็นภูตผีปิศาจอย่างนี้ก็มี ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นก็แสดงว่า การปฏิบัติของเราผ่านมาถึงปฏิสังขาญาณแล้ว บางทีมีอาการเสียวแปลบๆๆๆ ตามร่างกาย เหมือนกับมีคนเอาเลื่อยมาตัดตามร่างกายของเรา เสียวแปลบๆ ขึ้นมา บางทีเหมือนกับมีคนเอาเลื่อยมาตัดตามขาของเรา บางทีเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดตามแข้งของเรา บางทีเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดที่คอของเราเสียวแปลบๆๆ ขึ้นมา

       ๒. มีเวทนามาก เดินอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี มันเจ็บที่โน้นมันปวดที่นี้อะไรจิปาถะ แต่เวลาเรากำหนดมันหายเร็ว เรากำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

       ๓. มีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา เหมือนกันกับเราไปกินยาประสาท นั่งซึมๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเวลาเดินก็เดินซึมๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระปรี้กระเปร่า คล้ายๆ กับคนตื่นนอนใหม่ๆ นั่งซึมอยู่ตลอดเวลา เวลามีผู้มาพูดมาคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เฉยๆ ซึมๆอยู่ เขาถามก็ไม่พูด เขาถามอย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่พูด บางทีผู้อยู่ใกล้ชิดก็ไม่กล้าถามไม่กล้าพูด เกิดความเกรงขึ้นมา

       ๔. ตัวแข็ง มือแข็ง แขนแข็ง เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ มีอาการแข็งขึ้นมา บางคนก็เข้าใจว่าพวกภูตผีปิศาจมาสิง เข้ามาสิงในร่างกาย ส่วนมากจะคิดอย่างนี้เข้าใจอย่างนี้ แต่สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้มือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง คอแข็ง อยากกระดุกกระดิกก็กระดุกกระดิกไม่ได้ เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

       ๕. บางทีมีอาการตึงๆ หนักๆ ตามร่างกาย เหมือนกันกับคนเอาเหล็ก แท่งเหล็กหนักๆ ท่อนไม้หนักๆ ก้อนดินหนักๆ มาทับลงบนร่างกาย เราอยากเงยขึ้นก็ไม่ได้ สมมุติว่ามันมาทับเราฟุบลงไป ตัวของเรามันฟุบลงไปอย่างนั้น เราอยากเงยขึ้นมาก็เงยขึ้นไม่ได้ มันเหมือนกับเราถูกของหนักๆ มาทับ บางทีอาการตึงๆ หนักๆ อย่างนี้ ไม่ใช่มันหายเร็วนะท่านทั้งหลาย บางที ๑ ชั่วโมงไม่ยอมหาย คือเรายังเงยขึ้นไม่ได้ บางที ๒ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย บางที ๓ ชั่วโมงก็ยังไม่หาย

       ส่วนมากสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาผู้ปฏิบัติจะเข้าใจว่าถูกผีสิง คือมันมาเต็งที่ตัวของเรามาทับที่ตัวของเรา แต่มันดีหน่อยสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วสู้ ไม่กลัวเรื่องเปรต เรื่องผี เรื่องศัตรูทั้งหลายทั้งปวงจะมาทำร้ายนี่ไม่กลัวเลย เอาเลย มึงไม่ตายกูตาย กูไม่ตายมึงตาย ยอมสู้ตาย บางทีเวลาปฏิบัติไม่สมใจนึก ยืนขาเดียวเป็นชั่วโมงก็ยังไม่สมใจ บางทีนั่งเป็น ๒-๓ ชั่วโมงก็ยังไม่สมใจ ทำอย่างไรก็ไม่สมใจ อยากให้บรรลุเดี๋ยวนี้ๆ ก็ไม่สมใจ อยากได้ฌานได้สมาบัติเดี๋ยวนี้ก็ไม่สมใจ บางทีก็ตั้งปณิธานในจิตในใจของตัวเองเลยว่า อยากให้การปฏิบัติมันผ่านไปเร็วๆ สาธุข้าพเจ้าขออธิษฐานแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ให้แข็งเหมือนเพชร เมื่อใดแผ่นดินทั้งแผ่นแข็งเหมือนเพชรไม่ละลายเป็นน้ำไปข้าพเจ้าจะไม่ลดละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด มันสู้ถึงขนาดนั้นนะท่านทั้งหลาย ไม่เหมือนญาณที่ ๙ ญาณที่ ๙ มีแต่งอแง โกรธง่าย ใจน้อย มีแต่จะไปกับจะไปเท่านั้น มีแต่จะเลิกกับเลิก

       ๖. มีอาการแน่นอึดอัดเหมือนใจจะขาด คือลักษณะอย่างนี้เรียกว่าพระไตรลักษณ์มันเกิดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จะมีอาการเร็วๆ ของสภาวะท้องพองท้องยุบ หรืออาการสม่ำเสมอกำหนดได้ดีก็ดี ส่วนมากสภาวะที่ทำให้เกิดอาการอึดอัด มันจะเกิดขึ้นมาเอง อึดอัดเหมือนกับใจจะขาด เหมือนจะตายเดี๋ยวนี้ๆๆ นี้เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นตอนปฏิบัติส่วนมากสภาวะนี้เกิดขึ้นมา ถ้าอยู่ในญาณอื่นไม่ยอมปฏิบัติต่อไป ถ้าว่าญาณนี้ยอมตาย มันจะตายก็ตาย ดูไปเรื่อย

       ๗. ร้อนทั่วสรรพางค์กาย ร้อนเหมือนกับอังไฟ แต่บางทีลักษณะอาการร้อนมันเปลี่ยนแปลง มันเป็นอาการเย็นด้วย บางทีมันร้อน บางทีมันเย็น บางทีเราเดินจงกรมอยู่ เหมือนกันกับพวกภูตผีปิศาจมันลอยมาดันข้างหลังพรึบเข้ามาด้านหลังของเรา เย็นเหมือนกันกับใจจะขาด สะบั้นขึ้นมาในขณะนั้น สั่นตึกๆๆ ขึ้นมา แล้วในขณะที่มันเย็นๆ อยู่นั้นล่ะมันเย็นๆ เหมือนใจจะขาด

       บางทีเกิดความร้อนขึ้นมาหน้าอกเหมือนกับไฟเผา เหมือนกับอยู่บนกองไฟ ความร้อนมันจะไปเผาความเย็นให้หายไปๆๆ แล้วใจก็สบายขึ้นมาแล้วก็เดินจงกรม คิดว่า เออ ถ้าอาการอย่างนี้มันหายไปก็จะได้ดีใจ เดินจงกรมไปไม่ถึง ๗ ก้าวเย็นพรึบขึ้นมาด้านหลัง เหมือนกันกับเปรตกับผีมาทับที่ร่างกายของเรา มันเย็นเหมือนกันกับถูกน้ำแข็ง มันเย็นยิ่งกว่าอยู่ในห้องเย็น อาการเย็นมันเย็นถึงที่แล้ว ใจไม่สบาย อะไรหนออย่างนี้ ไม่สบาย พอดีในขณะที่มันเย็นๆอยู่นั่นแหละ ความร้อนมันเกิดขึ้นด้านหน้า หน้าอกก็ดี ท้องก็ดี ความร้อนนี้จะไปเผาความเย็นมันหายไป

       เวลาเรานั่งกัมมัฏฐานก็เหมือนกัน เรานั่งกัมมัฏฐานนี้มันร้อนขึ้นมาบนที่นั่งของเรา ร้อนเหมือนกับใจจะขาด บางทีเราร้อนๆอยู่นั้นมันเย็นขึ้นมาผิดปกติ เหมือนกับเรานั่งอยู่บนน้ำแข็ง ลักษณะอย่างนี้ก็ส่วนมากผู้ปฏิบัติสมาธิดี ปัญญาแก่กล้า สภาวะอย่างนี้เกิดชัดเจนมาก แต่บางทีท่านทั้งหลาย เวลามันเกิดขึ้นมา เวลามันร้อนขึ้นมา ร่างกายเรามันร้อนขึ้นมาเหมือนกันกับโยมแม่ของหลวงพ่อ ตอนมาปฏิบัติ เวลามันร้อนขึ้นมาวิ่งไปหาน้ำจะไปอาบน้ำ กำลังๆ จะอาบน้ำอยู่นั้นมันเย็นขึ้นมา วิ่งเข้าไปหาผ้าห่ม หาผ้านวมเอามาคลุม กำลังคลุมไปนิดเดียวเท่านั้นแหละเกิดร้อนขึ้นมาวิ่งไปหาโอ่งน้ำอีก เหมือนกับคนเป็นบ้า แต่ยังไม่พอ ยังไม่ทำเนาท่านทั้งหลาย นอกจากมันเย็นมันร้อนแล้วยังไม่พอ กลับไปเจ็บท้องอีก บางทีทั้งร้อนทั้งเย็นทั้งเจ็บท้อง แต่ยังไม่พอ บางทีทั้งเย็นทั้งร้อนทั้งเจ็บท้องทั้งอาเจียนเหมือนจะตายไปในขณะนั้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

       และสภาวะที่คล้ายคลึงกันนี้ก็มีมากท่านทั้งหลาย ที่หลวงพ่อไม่นำมาชี้แนะให้ฟัง อาการอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากแต่ท่านทั้งหลายเมื่อมันเกิดขึ้นมาเราเทียบเคียง เปรียบเทียบกันว่า มันเป็นลักษณะของสภาวะไหน เกิดขึ้นมาเพราะอะไร สภาวะอย่างนี้ส่วนมากเกิดไม่นาน บางทีก็ผ่านไปในชั่วโมงนั้นเลย ไม่เหมือนสภาวะอย่างอื่น เช่น อาทีนวญาณก็ดี นิพพิทาญาณก็ดี มันอยู่นาน อยู่นานที่สุดก็คืออุทยัพพยญาณ บางทีมีลักษณะอย่างนี้อยู่ตั้ง ๗ วัน บางทีตั้ง ๑๕ วันจึงจะผ่านได้ แต่เมื่อมันผ่านอุทยัพพยญาณไปแล้ว ภังคญาณหรืออาทีนวญาณก็ผ่านไปได้เร็ว

       เท่าที่หลวงพ่อได้ชี้แนะสภาวะของปฏิสังขาญาณมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 01 เมษายน 2563 15:17:01

(http://www.tddf.or.th/system/image.php?src=/images/upload/2017-06-26-725-0-60-06-26-12.jpg&w=400&h=267)

สังขารุเปกขาญาณ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สำหรับวันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง สังขารุเปกขาญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกชีทั้งหลายสืบไป

       สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม คือหมายความว่า เมื่อประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดำเนินมาตามลำดับๆ จนถึงมุญจิตุกัมยตาญาณ คือญาณที่พิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนาม เมื่อพิจารณาหาทางหลุดพ้นไปจากรูปจากนามแล้วจิตใจก็เข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย หวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ เมื่อไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน คือหมายความว่าใช้ความพยายามจนถึงที่แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถจะข้ามได้ จิตดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็จะดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้ว สังขารุเปกขาญาณก็จะเกิดขึ้นมาพิจารณา

       การประพฤติปฏิบัติ เราจะบังคับบัญชาให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ คือหมายความว่า ต้องการจะให้รูปนามนี้เป็นอย่างนั้น ต้องการที่จะให้รูปนามเป็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะวางเฉยต่อรูปต่อนาม เมื่อมาถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว สภาวะต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในช่วงสังขารุเปกขาญาณนี้ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ลักษณะที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้

       ๑. ไม่กลัว ไม่ยินดี ใจเฉยอยู่กับรูปกับนาม คือเฉยอยู่กับอาการพองอาการยุบ คือกลัวก็ไม่กลัว ยินดีก็ไม่ยินดี จิตใจวางเฉยแล้วตอนนี้ มองดูรูปดูนาม เฉยๆอยู่ มันจะเป็นอย่างไรก็ดูเฉยอยู่ สภาวะจะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือเวทนาจะเกิดขึ้น หรือจิตมันจะคิดอย่างไรก็ตาม ก็มีแต่มองเฉยดูรูปดูนามอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความยินดียินร้ายอะไรทั้งสิ้น

       ๒. ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ แต่มีสติสัมปชัญญะดี ไม่เผลอจากรูปจากนาม คือเมื่อมาถึงนี้กำหนดรูปนามได้สบายๆ เดินก็กำหนดได้สบายๆ ไม่เหมือนเมื่อก่อน เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็สบายๆ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้แล้วรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างมันสบายไปหมด เมื่อก่อนนั้นจิตใจของเรามันกวัดแกว่งหวั่นไหว อะไรจิปาถะมันเกิดขึ้นมา รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ใดๆ ก็จะเกิดขึ้นมา จิตใจก็จะเป็นไปตามอาการของสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นๆ แต่เมื่อมาถึงนี้ จิตใจจะวางเฉยต่อรูปต่อนาม คล้ายๆกับว่าบรรลุแล้วตอนนั้น ไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ อยากได้ก็ไม่เชิง ไม่อยากได้ก็ไม่เชิง แต่การกำหนดพระกัมมัฏฐานรู้สึกว่ามันทันทุกอย่าง กำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กำหนดอาการพอง อาการยุบ ทุกสิ่งทุกอย่างมันกำหนดได้ เรากำหนดได้หมด และกำหนดไม่ยาก และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องขะมักเขม้น ไม่จำเป็นที่จะบังคับ แต่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

       ๓. จำง่าย กำหนดสะดวกสบายดีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

       ๔. สมาธิดี ใจสงบไปได้นานๆ ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่งละเอียด ยิ่งกำหนดไปเท่าไรๆ ก็ยิ่งละเอียด เหมือนกันกับเราร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด และการกำหนดพระกัมมัฏฐานก็กำหนดได้ดี กำหนดไปเพลินไปๆๆ เหมือนกันกับรถยนต์ที่วิ่งบนถนนลาดยางที่เรียบๆ ทำให้ผู้ขับนั้นเพลิดเพลินไปจนลืมเวลาไป

       ๕. ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ รูปเสียงไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย เมื่อก่อนโน้นได้ยินเสียงที่โน้นก็รำคาญ ได้ยินเสียงที่นี้ก็รำคาญ สรุปแล้วว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ เกิดขึ้น เมื่อก่อนนั้นรำคาญ หงุดหงิด แต่เมื่อมาถึงนี้ รูปก็ดี เสียงก็ดี อะไรก็ดีจะเกิดก็ไม่รำคาญไม่หงุดหงิด

       สมมุติว่าเขามาเล่นละคร มาฉายภาพยนตร์ หรือลำเรื่อง หรือตั้งวงดนตรีที่ข้างวัดของเรา หรือที่ใกล้ๆ บ้านของเรา ก็ไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหวไม่รำคาญอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับว่ามันอยู่คนละชิ้น อยู่คนละอัน เสียงก็อยู่กับเสียง ใจของเราก็อยู่ที่ใจของเรา มันไม่รำคาญหงุดหงิดอะไรทั้งนั้น ในขณะนั้นคล้ายๆกับว่าเราสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว คล้ายๆกับว่าเราบรรลุมรรคผลพระนิพพานเป็นพระอริยบุคคลได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วในขณะนั้น

       มีพระรูปหนึ่งมาปฏิบัติอยู่ที่นี้ วันนั้นเขาเล่นหมอลำหมู่ หมอลำเรื่อง เพื่อนๆก็ชวนกัน วันนี้พวกเรามาแข่งสมาธิกัน ใครจะเอาชนะเสียงนี้ได้ ถ้าว่าใครเอาชนะเสียงไม่ได้ก็ลุกไป ผู้ใดที่เอาชนะเสียงได้ก็นั่งไป ปฏิบัติไปๆ ในขณะนั้นหมอลำเรื่องเขาก็ลำ เขาก็แสดง ครูบาอาจารย์ที่นั่งอยู่ในห้องร่วมกัน รูปนั้นก็ไปๆๆๆ เหลือแต่พระหลวงตารูปหนึ่งนั่งสมาธิจิตใจสงบ โน้น จนตอนเช้าเพื่อนๆ ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาก็ถามว่า หมอลำหมู่ไปไหน เขาไปไหนกันหมอลำหมู่ คือหมายความว่าหมอลำที่เขาแสดงแล้วเขาก็กลับไปแล้ว

       นี่แหละท่านทั้งหลาย หากว่าสภาวะของญาณนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้จิตใจสบายๆ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสอารมณ์ใดๆ ไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย แล้วก็เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่นโรคกระเพาะอาหาร โรคลมบ้าหมู โรคประสาทเป็นต้น เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้หายไป บางท่านก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว บางท่านก็หายไปเลย ไม่กลับอีก

       ดังที่ท่านหลวงปู่รูปหนึ่งปฏิบัติมาถึงนี้ แกเป็นโรคกระเพาะอาหารอย่างแรง เมื่อปฏิบัติมาอาการอย่างนี้ก็เกิดขึ้น ท้องร่วงอย่างหนักจนถ่ายเป็นสีดำ เพื่อนๆ หามส่งโรงพยาบาล แต่แกก็เฉยๆ ไม่ว่ากระไร บอกว่าตายก็ตาย ตายก็ยอมตาย แต่ใจไม่สะทกสะท้านไม่หวั่นไหว ตามปกติ อาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้ว คนอื่นจะหวั่นไหวในจิตในใจ เกรงว่าจะล้มหายตายจากไป แต่แกก็เฉยๆ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี โรคภัยไข้เจ็บหายจากวันนั้นจนวันนี้ ไม่กลับเกิดขึ้นอีกเลย

       แล้วก็มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่บ้านเหมือดแอ่ ปีนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐาน พอดีไปสอบอารมณ์ แกบอกว่า “หลวงพ่อ ฉันเป็นโรคอย่างนี้ๆๆ เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีอาการชัก อาการกระตุกแล้วก็ลืมสติเป็นเวลา ๑ วัน หรือ ๑ วัน ๑ คืน อาการเช่นนี้มันเกิดขึ้น ลูกๆ หลานๆ พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายก็เอาน้ำมารด บางที ๕ ถัง บางที ๑๐ ถัง ๑๕ ถังมาเทมาราด” ภาษาอีสานว่า “เอาน้ำมาหด” แต่โรคภัยไข้เจ็บนั้นก็ไม่หาย สามีของแกก็ไปเรียนธรรม ส่วนมากคนก็จะว่าผีสิง เป็นโรคผีสิง เมื่อเวลาผีมันสิงแล้วก็จะมีลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น พูดโน้นพูดนี้อะไรจิปาถะ คนทั้งหลายก็คิดว่าเป็นผีสิง แกก็ไปเรียนวิชาอาคมมาปราบผี ผลสุดท้ายไม่หาย ไปเรียนมาจากอาจารย์โน้นอาจารย์นี้ รักษา แต่ก็ไม่หาย แล้วก็อยู่มาก็ไปเรียนแพทย์แผนโบราณมารักษาก็ไม่หาย ไปเรียนแพทย์แผนปัจจุบันหายาฉีดยาอะไรมาฉีดกันก็ไม่หาย ป่วยอย่างนี้มาเป็นเวลาพอสมควร

       หลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานวันนั้น เมื่อสอบอารมณ์ขึ้นมาแล้วแกก็บอกว่า “ฉันป่วยอย่างนั้น ฉันป่วยอย่างนี้” หลวงพ่อก็บอกว่า “คุณโยม ที่ป่วยอย่างนี้ไม่ใช่อื่นไกลหรอก ไม่ใช่ภูตผีปิศาจ ไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บอะไร แต่เรากำหนดไม่ทัน เวลาสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาเราก็กำหนดไม่ทัน หวั่นใจว่าจะเป็นอย่างนั้น หวั่นใจว่าจะเป็นอย่างนี้ จิตของเราเลยอุปาทาน” เมื่อจิตอุปาทานแล้ว จิตอุปาทานนั้นก็จะสร้างอาการอย่างนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นมาให้คุณโยมกำหนดว่า “สั่นหนอๆๆ” ถ้าว่ายังไม่หายก็กำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ไป หากยังไม่หายให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆ หยุด!” แกก็ปฏิบัติ เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแกกำหนดดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆๆ” เมื่อกำหนดไปมันก็หายท่านทั้งหลาย เราบอกว่าถ้ากำหนดว่า “สั่นหนอๆๆ” ถ้าไม่หาย ให้กำหนด “รู้หนอๆๆ” ถ้าไม่หายให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆๆ หยุด !” ถ้ามันยังเกิดขึ้นมาเราว่า “หยุด !” เกิดขึ้นมาก็ “หยุด!” เกิดขึ้นมาก็ “หยุด !” เดี๋ยวมันจะหายเอง แกก็ไปปฏิบัติตาม ผลสุดท้ายหายเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ เป็นเวลาถึง ๒๐ กว่าปีแล้ว คนทั้งหลายในละแวกนี้เขาก็ว่าหลวงพ่อมีเวทย์มนต์กลคาถาดี เขาว่าธรรมท่านแก่ ไม่ต้องทำอะไรให้ภาวนาอย่างเดียวเท่านั้น ผีก็หายไป

       นี้แหละท่านทั้งหลาย สภาวะอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วโรคภัยไข้เจ็บมันหายไปได้ โรคที่จะหายก่อนเพื่อนคือโรคประสาท โรคประสาทนี้มันก็หายไปได้ โรคความดันสูงนี้ก็หายไปได้ ถ้าว่าเราเจริญกัมมัฏฐานจนสามารถเข้าสมาธิเข้าฌานได้ หรือจนมาถึงสังขารุเปกขาณาณนี้ หากว่ายังมีโรคประสาทมันยังเกิดขึ้นอยู่ หรือโรคความดันสูงยังเกิดอยู่ แสดงว่าเราปฏิบัติยังไม่ถูก การปฏิบัติยังไม่ถูกเต็มที่ ถ้าว่าการปฏิบัติของเรามันถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเราปฏิบัติถูกทุกสิ่งทุกอย่างตามครูบาอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอนไว้ โรคความดันสูงนี้มันจะหายเลยทันที หรือว่าโรคประสาทมันก็หายทันที แต่ส่วนมากพวกเราทั้งหลายไม่ค่อยสำเหนียก เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นมาแล้วก็ หวั่นใจ มันอยากเป็นอย่างนั้นอยากเป็นอย่างนี้ อุปาทานจิตมันก็เกิดขึ้นมา ผลสุดท้ายก็แสวงหาเอายาโน้นมากิน เอายานี้มากิน เอายาระงับประสาทมากินอะไรทำนองนี้มันก็ไม่หาย แต่ว่าถ้าเราปฏิบัติจริง ตั้งใจจริง ยอมสู้ตาย เราปฏิบัติเอาชีวิตเป็นเดิมพัน สภาวะอย่างนี้มันหายไปได้

       เพราะฉะนั้นเวลามาปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ก็ดี พระก็ดี เณรก็ดี แม่ชี หรือชาวบ้านก็ดี ถ้าเล่าเรื่องอย่างนี้ให้ฟังหลวงพ่อก็บอกทันทีว่าเราปฏิบัติยังไม่ถูก ถ้าเราปฏิบัติถูกแล้วโรคประสาทนี่มันหาย โรคความดันสูงนี้มันหาย ที่มันไม่หายก็แสดงว่าเราไม่สามารถทำลายอุปาทานจิตให้หมดไปได้ และเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนั้น บางทีมันหายไปเลย บางครั้งก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว แล้วแต่เหตุปัจจัย สรุปแล้วท่านทั้งหลายเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ เราจะเดินจงกรมอยู่ก็เพลินๆ เดินไปเรื่อย เพลินไปเรื่อย จนลืมเวลาก็มี เช่นว่า เราจะเดินจงกรมสัก ๓๐ นาที เลยเวลาไปจนถึง ๑ ชั่วโมงก็มี คือมันเพลินไปเรื่อย เวลานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เราตั้งใจว่าจะนั่งอยู่ ๓๐ นาที แต่มันเพลินไป จนถึง ๑ ชั่วโมงก็มี ๒ ชั่วโมงก็มี ๓ ชั่วโมงก็มี

       เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ทุกขเวทนาจะไม่มารบกวนได้เลย เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้นสมบูรณ์แล้ว ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานจะรู้ว่ามันสนุกสนาน มันเพลิดเพลินทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อสภาวะนี้แก่กล้าแล้ว ท่านทั้งหลายสภาวะอย่างนี้ก็จะดับไป เหมือนกันกับใบไม้ที่แก่ถึงที่แล้วก็สลัดใบ แล้วก็ใบใหม่ก็จะเกิดขึ้นมา ข้อนี้ฉันใด เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมดำเนินไปตามลำดับ เริ่มตั้งแต่อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ มาตามลำดับๆ เมื่อสังขารุเปกขาญาณดับแล้ว อนุโลมญาณก็จะเกิดขึ้น หรือว่ามรรควิถีก็จะเกิดขึ้น เมื่อมรรควิถีเกิดขึ้นแล้วก็จะดำเนินไปตามทางจนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน

       ท่านทั้งหลาย สภาวะที่กล่าวมานี้ สภาวะของญาณที่ ๔ ญาณที่ ๕ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ถ้าโดยพยัญชนะแล้วแยกกัน ถ้าโดยอรรถนั้นเป็นอันเดียวกัน คือถ้าญาณที่ ๔ ชัดแล้ว ญาณที่ ๕ ถึงเลย แล้วก็ญาณที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ขอให้ญาณที่ ๖ ชัดเถอะ เมื่อญาณที่ ๖ ชัดถึงที่แล้ว ญาณที่ ๗ ที่ ๘ ถึงกันเลย แล้วก็ญาณที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ โดยอรรถเป็นอันเดียวกัน ขอแต่ว่าญาณที่ ๙ ชัดเต็มที่แล้ว ญาณที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ถึงเลย เหตุนั้นเวลาสอบอารมณ์ท่านทั้งหลาย หากว่าญาณที่ ๔ มันชัดเต็มที่แล้วก็ถือว่าญาณที่ ๕ มันก็ถึงกันเลยพวกนี้ บางทีเราสอบอารมณ์ญาณที่ ๖ ที่ ๗ ไม่ทราบเลย ไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไรไม่ทราบเลย โน้นไปถึงญาณที่ ๘ จึงรู้ บางทีเมื่อถึงญาณที่ ๙ คือมุญจิตุกัมยตาญาณแล้ว เราไปสอบญาณที่ ๑๐ นี่ก็ไม่รู้เลย เมื่อถึงญาณที่ ๑๑ ถึงรู้ว่า เออ ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเราผ่านมาแล้ว สรุปแล้วว่าถ้าญาณที่ ๔ ชัด ญาณที่ ๕ ถึงเลย ถ้าญาณที่ ๖ ชัด ญาณที่ ๗ ที่ ๘ ถึงเลย ถ้าญาณที่ ๙ ชัด ญาณที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ถึงเลย เมื่อญาณที่ ๑๑ ดับลงไปแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถี คือทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์ คือได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน

       ที่กล่าวมาทั้งหมด ๘ ประการตั้งแต่ต้นจนวันนี้ก็ถือว่า การทวนญาณหรือทวนสภาวะเราได้ทำแล้ว และสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย ใคร่ครวญตริตรองพิจารณา แยกแยะแล้วก็บันทึกไว้เป็นการกันลืม

         แต่ถ้าพูดโดยความจริงแล้ว สภาวะหรือญาณดังกล่าวมาแล้วข้างต้นไม่มีวันลืมท่านทั้งหลาย เพราะสภาวะนี้มันเกิดขึ้นมามันเกิดขึ้นโดยปัญญา เกิดขึ้นมาแล้วก็ประทับใจไม่ลืม ไม่เหมือนกันกับเราท่องหนังสือ เราท่องหนังสือสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ฉบับหลวงอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ท่องทุกวันๆ มันลืมได้ แต่สภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัตินี้ไม่มีลืม ถ้าเป็นของจริงแล้วไม่ลืม ถ้าเกิดแล้วก็เกิดอยู่อย่างนี้ไม่เหมือนอย่างอื่น บางคนก็ฝันเวลากลางคืนฝันอย่างโน้นฝันอย่างนี้ ที่ฝันไปๆ ว่า เออ มันมาบอกหวยอย่างนั้นอย่างนี้ ตื่นเช้ามาคิดว่าจะบันทึกไว้ โน้ตไว้ มันลืมไปแล้ว อารมณ์ใดๆ ที่มันเกิดขึ้นในเวลาฝันมันลืมไปแล้ว แต่สภาวะที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนานี้ไม่ลืม เกิดอย่างไรก็เกิดอยู่อย่างนั้นตลอดไป สำหรับวันนี้ก็ขอจบเพียงแค่นี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 เมษายน 2563 16:19:13

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcQMHZEJYpiyGil5SImOUlMlWBnHgKje2PzrWSGqQne-axLhzXWt&usqp=CAU)

อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง อนุโลมญาณ หรือ สัจจานุโลมิกญาณ มาบรรยายถวายความรู้แด่ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ลูกพระ ลูกเณร และลูกชีทั้งหลายสืบไปจนกว่าจะสมควรแก่เวลา

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อเราทั้งหลายได้ลงมือเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้เห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นับตั้งแต่ญาณที่ ๓ ขึ้นมาตามลำดับๆ ถึงญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ ญาณที่ ๕ ภังคญาณ ญาณที่ ๖ ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณที่ ๗ อาทีนวญาณ ญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ ญาณที่ ๙ มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณที่ ๑๐ ปฏิสังขาญาณ ญาณที่ ๑๑ สังขารุเปกขาญาณ

       เมื่อสังขารุเปกขาญาณถึงวิถีสมบูรณ์แล้ว ก็จะส่งต่อเข้าอนุโลมญาณ หรือว่าเมื่อสังขารุเปกขาญาณสมบูรณ์แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถี ดำเนินไปสู่การดับกิเลสและกองทุกข์ให้หมดไปจากขันธสันดาน อนุโลมญาณนั้นท่านแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

       ๑. อนุโลมญาณต่ำ คือ จะย้อนไปเอาญาณที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ เมื่อกำลังพอแล้วก็จะเข้าสู่อนุโลมญาณทันที เพื่อจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานทันที

       ๒. อนุโลมญาณสูง คือ อนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ต่างก็จะมารวมกันตรงญาณนี้ ญาณอื่นไม่รวม

       อนุโลมญาณนั้นผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้คือ                            

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้นได้เคยให้ทานรักษาศีลมาโดยสมบูรณ์แล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ชัดเจนด้วยปัญญา คือหมายความว่า ถ้าเราทำบุญทำทานมาด้วยการให้ทานรักษาศีล เวลามาประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน อนิจจังก็จะปรากฏชัด

       อนิจจังนั้นมีลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ ว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” “นั่งหนอ” “ถูกหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป คือ รูปนามขันธ์ ๕ มันดับลงไปในขณะนั้น เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของอนิจจัง

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดานตามกำลังของมรรค อันนี้เรียกว่า อนิจจัง

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ หาอะไรเป็นเครื่องหมายไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นเครื่องหมายไม่ได้

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดได้เคยเจริญสมถกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ”   “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆๆ” แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ !  เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันหลับไปเมื่อตะกี้ หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งไม่ได้

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว หรือตั้งแต่โน้น ตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น ได้เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาแล้วจะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

       ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราจะสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป หรือรูปนามมันดับลงไป เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

       หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

       หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

       พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี๊นี้ บางท่านก็ปวดหัว บางท่านก็งง ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะท่านทั้งหลาย ปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าเอาปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้

       สมมุติว่าเอาปริยัติมาจับวิถีจิตของมัณทบุคคล ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ เวลาจะเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน วิถีจิต อตีตังภวังค์ ภวังค์ของอดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือลงทางหัวใจ เมื่อขึ้นจากมโนทวารแล้ว จึงจะได้บริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ” ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ เมื่อขึ้นจากภวังค์มาแล้วจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ ในขณะที่เราจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้น วิถีจิตอตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังค์สะเทือน ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร พอดีขึ้นจากมโนทวารมา กำลังจะบริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ไม่ได้ว่า มันไปก่อนแล้ว คือมันเฉียดมรรคเข้าไปแล้ว ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา จึงจะเป็นญาณที่ ๑๖

       ติกขบุคคลนี้หายากท่านทั้งหลาย ๑๐๐ คนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัตินั้นจะดำเนินไปได้ง่ายๆ บางทีเราปฏิบัติชั่วโมงนั้นก็ผ่านไปชั่วโมงนั้น บางทีปฏิบัติอยู่ ๓ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ก็สามารถที่จะผ่านการปฏิบัติไปได้

       ติกขบุคคลนี้ เวลาประพฤติปฏิบัติผ่านการปฏิบัติไปแล้ว บางคนก็สามารถเข้าผลสมาบัติอยู่ได้ ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้าง ๘ ชั่วโมงบ้าง ๑๒ ชั่วโมงบ้าง ๒๔ ชั่วโมงบ้าง หรือ ๗ วัน ๗ คืนบ้าง อันนี้เป็นลักษณะของการบรรลุมรรคผลพระนิพพาน

       ต่อไป เมื่อกล่าวมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย บางท่านอาจจะเข้าใจว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าผมหรือฉันได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้วละซิ อาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้ ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดเช่นนั้น อย่าเพิ่งพยากรณ์เช่นนั้น เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น

       ๑. ปีติ ในญาณ ๓ เวลาเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปๆ เกิดปีติขึ้นมาสัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปีติ

       ๒. ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก เรากำหนดไปๆๆ ปัสสัทธิเกิดขึ้นมาดับวูบลงไป คือมันสัปหงกวูบลงไป เหมือนกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ อันนี้เป็นการดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิ

       ๓. สมาธิ เวลากำหนดบทพระกัมมัฏฐานเรากำหนดได้สบายๆ จิตใจของเราจดจ่ออยู่กับอาการพองอาการยุบ ไม่เผลอเลย พองหนอยุบหนอ พองหนอยุบหนอ ไม่เผลอเลย กำหนดได้สบายๆ ในขณะที่เรากำหนดได้สบายๆ แล้วจิตใจของเราดิ่งลงในสมาธิ ตั้งอยู่ในสมาธิอยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไปโดยไม่รู้สึกตัว อันนี้เรียกว่ามันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณ ๓

       ๔. อุเบกขา ในญาณ ๓ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน พองหนอยุบหนอไป จิตใจของเราลอยๆ เลือนๆ ไปตามอารมณ์ กำหนดไปเพลินไปๆๆ ในขณะที่เรากำหนดเพลินๆ อยู่นั้นแหละ สัปหงกวูบลงไป คือ มันดับลงไป อันนี้เรียกว่าดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓

       ๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนรับประทานอาหารฉันภัตตาหารแล้วใหม่ๆ เวลาไปเจริญพระกัมมัฏฐาน กำหนดไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไปตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะเวลามันสัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเราก็ลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง ท่านทั้งหลายจะเอาอาการดับเพียงแค่นี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วนั้นไม่ได้นะ คือการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ แล้วก็ต้องจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้

       คือพระไตรลักษณ์นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง

       ครั้งที่ ๑ ปรากฏในญาณที่ ๓ ถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง โดยมากคิดเอาเอง

       ครั้งที่ ๒ ปรากฏในญาณที่ ๔ ถูก ๙๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จำไม่ได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ก็ยังจำไม่ได้ คือจำไม่ได้ว่ามันดับลงไปเวลาไหนอย่างไร จำไม่ได้

       ครั้งที่ ๓ ปรากฏในญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ ถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ สามารถจำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองก็รู้ ดับลงไปตอนยุบก็รู้ รู้จริงๆ ไม่ใช่คาดคะเนเอา ไม่ใช่คิดเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา อย่างนี้จึงจะใช้ได้

       สรุปอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน จะมีลักษณะ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อาการท้องพองท้องยุบของเรา เร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง พองยุบฝืดๆ อึดอัดแน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง พองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ นี้ลักษณะของอนัตตา เสร็จแล้วก็จะดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ส่วนญาณที่ ๑๔, ๑๕ นั้นไม่รู้

       บางคนเคยถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๔, ๑๕ รู้ไหม” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่ารู้ คือ มันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขาก็บอกว่ารู้ ที่ตอบว่าไม่รู้คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุติ พ้นจากขันธ์ ๕ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ มีพระบาลีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า ฉนฺทชาโต อนกฺขาเต มนสา จ ผุโฐ สิยา ผู้มีฉันทะถึงพระนิพพานซึ่งใครๆบอกไม่ได้ บอกไม่ได้ว่าพระนิพพานเหมือนรถ เหมือนเรือ เหมือนแม่น้ำ ทะเลหลวงชลาลัย เหมือนดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ไหม บอกไม่ได้ทั้งนั้น บอกได้แต่ว่ามันดับ คือ ขณะนั้นรูปนาม ขันธ์ ๕ มันดับไป

       ต่อไปเมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย อาจารย์ก็จะให้อธิษฐานว่าธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด เดินจงกรมไป นั่งไป ปฏิบัติไป ถ้ามีแล้วก็จะไม่เกิด แต่ถ้าไม่มีก็จะเกิด คือ หมายความว่าถ้ายังไม่ได้บรรลุก็จะได้บรรลุ แต่ถ้าบรรลุแล้วก็ไม่ได้บรรลุอีก เว้นไว้แต่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณรอบต่อไป

       เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย ท่านก็จะให้อธิษฐาน “สาธุ ธรรมวิเศษที่เกิดแล้วขออย่าได้เกิดอีก ธรรมวิเศษเบื้องสูงที่ยังไม่เกิดขอให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้เถิด นั่งไปๆๆ สัปหงกวูบลงไปเราจำได้ หลังจากนั้นครูบาอาจารย์ก็จะอธิษฐานว่า “ภายใน ๒๔ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” นี้เราอธิษฐานดูผลสมาบัติว่าเราปฏิบัติมานี้ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง เราก็จะดูผลจิต คือ ผลจิตนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่มรรคจิตนั้นจะเกิดเพียงหนเดียว ในชีวิตหนึ่งเกิดขึ้นหนเดียว แต่ผลจิตนี้จะเกิดบ่อยๆ กำหนดครั้งใดเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันสมบูรณ์มันถูกที่แล้วก็จะเกิดขึ้นบ่อยๆ

       หลังจากนั้นอธิษฐานสั้นลงไปว่า “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ขอให้ความเกิดดับ เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้ามากๆ” ใน ๑ ชั่วโมงนี้ถ้าว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ คือถ้ามันดับลงไป ๕ นาทีถือว่าใช้ได้ ถือว่ามีสมาธิสูงพอสมควร แต่บางท่าน ๑ ชั่วโมงนี้เกิดขึ้น ๓๐ ครั้งก็มี

       เสร็จแล้ววันหลังท่านก็อธิษฐานต่อไปว่า “ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป” ถ้านั่ง ๑ ชั่วโมงท่านก็อธิษฐาน “ภายใน ๑ ชั่วโมงนี้ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๑ ชั่วโมง” เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วก็ย่อลงไป “ภายใน ๓๐ นาทีนี้ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓๐ นาที” อันนี้เรียกว่าดูผลจิต หรือดูผลสมาบัติ ที่พาปฏิบัติมานี้เราปฏิบัติมาถูกหรือไม่ ได้สมาธิได้สมาบัติหรือไม่ คือการอธิษฐานอย่างนี้ อธิษฐานดูผลสมาบัติ สมาบัตินั้นจะมีอยู่ ๓ ประการ คือ

       ๑. ฌานสมาบัติ ปุถุชนทั่วไปที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ได้ฌานแล้วสามารถที่จะเข้าได้

       ๒. ผลสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอริยบุคคลเท่านั้น ปุถุชนทั่วไปเข้าไม่ได้ แต่พระอริยบุคคลที่จะเข้าผลสมาบัตินี้ ต้องเข้าของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ สมมุติว่าผู้ที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วจะมาเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะมาเข้าผลสมาบัติของพระโสดาบันก็ไม่ได้ หรือว่าพระโสดาบันจะไปเข้าผลสมาบัติของพระสกทาคามีก็ไม่ได้ พระสกทาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอนาคามีก็ไม่ได้ พระอนาคามีจะไปเข้าผลสมาบัติของพระอรหันต์ก็ไม่ได้ เพราะผลสมาบัตินี้เป็นผลของใครของมัน เข้าผลของกันไม่ได้ การเข้าผลสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ๓. นิโรธสมาบัติ เข้าได้เฉพาะพระอนาคามีกับพระอรหันต์ที่เป็นฌานลาภีบุคคลเท่านั้น นอกนั้นจะเข้าไม่ได้ คือหมายความว่า ก่อนที่จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นี้ได้เจริญสมถกัมมัฏฐาน ได้สมาบัติ ๘ มาก่อน เมื่อเราได้สมาบัติ ๘ มาอย่างนี้แล้วเวลาเราบรรลุหรือว่าสำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ หรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อก่อนโน้นไม่เคยได้สมาบัติ ๘ มาก่อนเลย แต่ว่าเป็นประเภทฌานลาภีบุคคล คือฌานเกิดพร้อม เวลาได้สำเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์นั้น ฌานเกิดพร้อมเลยเรียกว่าฌานลาภีบุคคล คือบุคคลผู้มีลาภฌานเกิดพร้อม อย่างนี้ก็สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ นิโรธสมาบัตินี้เป็นโลกุตตระมีพระนิพพานเป็นอารมณ์

       ต่อไปอริยสัจ ๔

       อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น อริยสัจ ๔ เวลาเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั้น อาการพองอาการยุบของเราพองขึ้นมาเส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน หรือสามเส้นขนนี้เป็นตัวสมุทัยสัจ คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุแล้วก็มีผล คือ อาการพองนั้นจะสูงขึ้นๆๆ จวนๆจะดับ ตอนนี้เป็นตัวทุกขสัจ คือ มันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองอาการยุบพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง จนถึงอาการพองอาการยุบมันดับพร้อมกับความรู้สึกของเราดับไปเป็นตัวมรรคสัจ นี้อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย ไม่เหมือนกับเราเรียนมาในภาคปริยัติ แต่ว่าอริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ ถ้าไม่พร้อมกันใช้ไม่ได้

       อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้ สมมุติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้

       อะไรมันทนอยู่ไม่ได้

       รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ รวมเป็นทุกขสัจ

       เจตสิก ๕๒ คือ อัญสมานเจตสิก ๑๒ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๕ ดวง รูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวม ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       ย่อให้สั้นได้แก่ขันธ์ ๕ คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์

       ย่อให้สั้นได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิกเป็นนามขันธ์

       กว่าเราทั้งหลายจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจทั้งพรรษาก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติแป๊บเดียวเท่านั้นผ่านไปแล้ว แต่อริยสัจ ๔ นี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันนะจึงจะใช้ได้ อุปมาเหมือนกับว่าเราจุดเทียนไขจะมีลักษณะ ๔ อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันคือ

       ๑. ไส้เทียนไขหมดไป

       ๒. ไขสัตว์หมดไป

       ๓. แสงสว่างโผล่ออกมา

       ๔. ความมืดหายไป

       ลักษณะทั้ง ๔ ประการนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเหมือนกันฉันนั้นจึงจะใช้ได้ แต่ถ้าอริยสัจทั้ง ๔ นี้ไม่เกิดพร้อมกันก็ใช้ไม่ได้

       ต่อไป วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ กับวิปัสสนาญาณ ๑๖ เป็นอันเดียวกัน แต่ถ้าเทศน์พิสดาร เรียกว่า เทศน์วิปัสสนาญาณ ถ้าเทศน์ย่อ เรียกว่า วิสุทธิ ๗

       วิสุทธิ ๗ นั้นดังนี้ คือ

       ๑. สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ ในขณะที่เราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์นี้เป็นศีล ศีลนี้เป็นศีลในองค์มรรค เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สีลวิสุทธินี้มีรูปนามเป็นอารมณ์ สีลวิสุทธิ มีศีลอันบริสุทธิ์ คือ หมายความว่าในขณะที่เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งภาวนาอยู่ก็ดี กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของเราบริสุทธิ์ดี นี้เป็นศีล ศีลนี้เรียกว่าเป็นปรมัตถศีล เป็นศีลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ไม่เหมือนกันกับศีลทั้งหลายที่พวกเราทั้งหลายสมาทานและปฏิบัติมา ศีลนั้นเรียกว่ายังเป็นปกติศีลอยู่ สมมติว่าเราไม่ฆ่าไก่ก็มีไก่เป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าปลาก็มีปลาเป็นอารมณ์ ไม่ฆ่าเนื้อก็มีเนื้อเป็นอารมณ์

       ๒. จิตตวิสุทธิ มีจิตอันบริสุทธิ์ คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จิตของเราตั้งมั่นอยู่ในสมาธิ กำหนดได้มาก เผลอน้อย จิตของเราบริสุทธิ์ เป็นจิตตวิสุทธิ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๓. ทิฏฐิวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ คือ เห็นรูปเห็นนาม สามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ได้แก่ญาณที่ ๑

       ๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ก็คือเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนาม ได้แก่ญาณที่ ๒ คือ ปัจจยปริคคหญาณ

       ๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเห็นเป็นเครื่องข้ามพ้นความสงสัย ได้แก่ญาณที่ ๓ อย่างอ่อน เข้าสู่เขตญาณที่ ๓ อย่างแก่เข้าสู่ญาณที่ ๔ หรือพูดเอาสั้นๆ ว่า ได้แก่ญาณที่ ๓ จนถึงญาณที่ ๔ อ่อนๆ เรียกว่ามีความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ว่า ทางนี้ผิด ทางนี้ถูก แล้วละทางผิดยึดทางถูกต่อไป ก็ได้แก่ ญาณที่ ๔  คืออุทยัพพยญาณ

       ๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ ความเห็นดำเนินไปตามลำดับ ก็ได้แก่ญาณที่ ๔ อย่างแก่ แล้วก็เข้าสู่ญาณที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ที่ ๑๐ ที่ ๑๑ ที่ ๑๒ เป็นโลกิยะ มีรูปนามเป็นอารมณ์

       ๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้อันบริสุทธิ์ ก็ได้แก่ ญาณที่ ๑๔ ญาณที่ ๑๕ คือมรรคญาณ ผลญาณ เป็นโลกุตระ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ สำหรับญาณที่ ๑๖ เป็นโลกิยะ แต่ใช้จิตมหากุศลพิจารณา ญาณที่ ๑๓ อยู่ระหว่างโลกิยะและโลกุตระต่อกัน วิสุทธิ ๗ เวลาปฏิบัติมีเท่านี้ท่านทั้งหลาย

       ต่อไปกิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

       กิเลสถ้าดื้อมีอยู่ ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะละได้ ๔ ตัว โทสะละไม่ได้ โมหะละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละไม่ได้แต่อ่อนกำลังลง โมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือวิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟอย่างไรก็ตาม เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นจะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิมคือ วิจิกิจฉา

       ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะก็จึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี้แลท่านทั้งหลาย ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า เออ ขีณนิรโยมฺหิ เรานี้พ้นแล้วจากนรก ขีณปิตฺติวิสโย เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย ขีณติรจฺฉานโยนิ เราพ้นแล้วจากกำเนิดดิรัจฉาน โสตาปนฺโน นาม เราเป็นพระโสดาบัน อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมที่ไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาถึงนี้ ท่านผู้ใดสามารถจำสภาวะดังกล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ถ้าท่านทั้งหลายจำได้ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรค อริยผล ตามบุญญาธิการที่ท่านได้สั่งสมอบรมมา แต่หากว่าท่านไม่สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าคิดว่าเราจำไม่ได้ก็คล้ายๆ กับจำได้ แต่ถ้าจะตัดสินว่าจำได้ก็คล้ายๆ จำไม่ได้ คือ มัน ๕๐/๕๐ อยู่ คือไม่กล้าตัดสินใจ ถ้าลักษณะอย่างนี้ยังมีอยู่หลวงพ่อจะได้น้อมนำเอาเรื่องธรรมาทาสะ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมใครได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุมีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมมีอยู่ ๔ ประการ คือ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ

       ๑. พุทฺเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ถ้าผู้ใดประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยของเราเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ แต่ถ้าว่ามีคนเขามาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ว่า เออ ศาสนานั้นเขาดีอย่างนั้นนะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ หรือว่าลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาพุทธของเราไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะว่ายังเป็นปกติศรัทธาอยู่

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว เราปฏิบัติไปๆ สัปหงกวูบลงไป แล้วก็อุทานว่า เออ เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ชีวิตของเราถือว่าประเสริฐแล้ว

       ตัวอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ บุรุษโรคเรื้อน คือทั้งจนด้วย ทั้งเป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับด้วยเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆ โน้นไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ ฟังธรรมไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติที่ตนได้ในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไปเกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 เมษายน 2563 16:27:06

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcQMHZEJYpiyGil5SImOUlMlWBnHgKje2PzrWSGqQne-axLhzXWt&usqp=CAU)

อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      ในขณะนั้นพระอินทร์ทราบก่อนแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลองว่า ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ว่าซิ จนๆ อย่างเธอนี้ ถ้าว่าได้ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้ สุปปพุทธกุฏฐิก็กล่าวขึ้นว่า “เอ๊ะ ! นี่ท่าน ท่านเป็นใครมาจากไหน” “ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”  “ไปๆ เทวดาอันธพาลอย่ามาพูดกับข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านซิเป็นคนจน” พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรม ถึงจะจนแสนจนสักเท่าไรก็ตาม เพียงแต่ให้พูดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้พูดเท่านี้ก็ไม่เอา แม้ว่าเราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอาพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า

       สทฺธาธนํ สีลธนํ          หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ

       สุตธนญฺจ จาโค จ      ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

       อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

       ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ   อิตฺถิยา วา ปุริสสฺส วา

       ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตาม

       อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ      อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

       ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด คือร่ำรวยทรัพย์ภายใน คืออริยทรัพย์ ๗ ประการ

       นี่แหละท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า ร่ำรวยนะ ถ้าผู้ใดสมบูรณ์ด้วยอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ ถือว่าเป็นผู้ร่ำรวย เพราะฉะนั้น อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ จึงถือ เป็นข้อปฏิบัติมาจนถึงตราบเท่าทุกวันนี้

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับพวกเราชาวไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีเราก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติจริงก็ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างนี้

       ตัวอย่างนางวิสาขา วันหนึ่งไปฟังเทศน์ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อปฏิบัติไปๆ ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุธรรมาภิสมัย ตื่นเช้าพญามารมันมาทดลอง คือพญามารนั้นแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน การพูดจาปราศัยเหมือนพระพุทธเจ้าเลย ตี ๔ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารมันก็บอกว่า แน่ะเธอ เมื่อวานนี้เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้เราตถาคตเทศน์ว่ารูปนามขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขังเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวใช่ตน เป็นอสุภะเป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ว่า รูปนามขันธ์ ๕ เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาคือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ เป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะ แก้อย่างนี้ นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ! นี่ๆ นี่ท่านเป็นมารรึ เท่านั้นพญามารก็บอกว่า อย่าๆๆ อย่าถามชื่อกันสิ แล้วก็หายเตลิดไปเลย นี้แหละท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มี ๒ ประการ คือ

       ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเลื่อมใสเป็นปกติธรรมดา เช่น ทุกวันนี้เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์องค์เณรเราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าเราไปเห็นพระสงฆ์องค์เณรประพฤติอย่างนั้นประพฤติอย่างนี้ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ เหมือนดังคนทั้งหลายโดยเฉพาะพวกหนุ่มๆ สาวๆ เวลามาจากส่วนกลาง มาคุยกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ หนูไม่เลื่อมใสในพระสงฆ์แล้วทุกวันนี้ เพราะว่าเห็นว่าพระสงฆ์ไปพูดอย่างนั้นไปชวนอย่างนี้ บางทีก็มาพูดชีกอกับหนูอย่างนั้นอย่างนี้ หนูไม่เลื่อมใส หนูขอเคารพนับถือเฉพาะพระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อ ได้ไหม” เช่นนี้เราก็รู้ทันทีว่า เออ อันนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่ ยังไม่ได้เป็นภาวนาศรัทธา

       ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผ่านญาณ ๑๖ วับไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง เป็นผู้ปฏิบัติสมควรจริง แล้วก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ เมียถือพุทธ ผัวถือพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธรรมบทขุทกนิกายว่า

       สมัยที่นางเป็นโสดเป็นสาวอยู่ได้ไปฟังธรรม ได้ปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ร้อยแปด ก็พูดกับภรรยาว่า “แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้” นางก็บอกว่า “เอ๊ะ ! ฉันเคารพ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดจะผิดที่ตรงไหน” แต่ผู้เป็นสามีก็ไม่ว่ากระไร

       ตื่นเช้าพราหมณ์ ๑๐๘ ก็มาสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ ผู้เป็นภรรยาแม้ว่าตนจะนับถือพระพุทธเจ้า ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ กลับไปกลับมาๆ บังเอิญเท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ด้วยความตกใจก็เปล่งอุทานขึ้นมาว่า “ช่วยด้วยๆ คุณพระช่วยด้วยๆ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”

       พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการ แล้วก็หลีกไปไม่ยอมบริโภคอาหาร ผู้เป็นสามีก็พิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราจะทำอย่างไร ถ้าเราฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปคิดกลับมาๆ เอ๊ะ ! เราไปถามครูของมันดีกว่า ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อไปถึงแล้วก็ถามเลยว่า พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข

       พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก

       เอ๊ะ ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด มีความเลื่อมใสขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิจ ศีลนี้ถ้าว่าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้ เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เหล้าก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนผู้ถึงธรรมนี้ สัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกินเป็นเด็ดขาด มันจะตายในชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมทำลายศีลของตนให้ขาดเป็นเด็ดขาด รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไทไม่ถูกตัณหาแตะต้อง เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่ เป็นศีลที่พระอริยเจ้าชอบใจ

       ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราพ้นแล้วจากนรก เราพ้นแล้วจากกำเนิดเปรต อสุรกาย เราพ้นแล้วจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน นิยโต เราเป็นผู้มีคติเที่ยง อกุปฺปธมฺโม เราเป็นผู้มีธรรมอันไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้ปฏิบัติธรรมบรรลุมรรคผลพระนิพพานในวันข้างหน้า สามารถที่จะพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ธรรมาทาสะ กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายสามารถจะปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายคิดว่า เอ๊ะ ! หลวงพ่อ ข้อปฏิบัติทั้ง ๔ ประการนี้กระผมทำได้ หรือ ฉันทำได้ แล้วก็สามารถปฏิบัติได้สะดวกสบาย ไม่ต้องคับแค้นใจ หรือไม่ต้องแห้งผากใจหรืออะไรทั้งสิ้น ถ้าท่านทั้งหลายสามารถพยากรณ์ตนเองได้ดังนี้ ก็ถือว่าท่านทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าว่าท่านทั้งหลายไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามหลักของธรรมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็แสดงว่าท่านทั้งหลายยังไม่สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้ ถ้าหากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติไปได้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้พยายามตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติไปเรื่อยๆ วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมมา

       ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้

       ๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ เพราะว่าการไปอวดกันว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นนั้นอย่างนั้นอย่างนี้ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าเราจะไปอวดว่าเราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้ทำลายโลภะ โทสะ โมหะได้แล้วอย่างนี้ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าสามารถทำลายนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ประการได้ ก็อวดไม่ได้ หรือว่าข้าพเจ้าได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือข้าพเจ้าได้บรรลุอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อวดไม่ได้นะท่านทั้งหลาย ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริง ไปอวด ปรับอาบัติปาราชิก พระพุทธเจ้าเด็ดขาดไปเลยนะ ถ้าไม่ได้จริงไม่ถึงจริงปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าเป็นญาติเป็นโยมก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง คือไม่สามารถบรรลุมรรคผลพระนิพพานในขั้นสูงๆ ต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะจับผิดเรา เช่นเราไม่เคยเรียนปริยัติเขาก็เอาปริยัติมาจับ ว่าเป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เห็นปฏิจสมุปบาทไหม เราก็ตอบไม่ได้เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! กัมมัฏฐานอย่างไรนี้ ใครเป็นผู้สอน แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร เขาจะว่าเอานะ

          ๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีศรัทธา เขาหาทางที่จะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะสามีภรรยา เวลามาประพฤติปฏิบัติ ภรรยาก็ตั้งใจปฏิบัติดี สามีก็งอแง ใจน้อย คอยจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ พอภรรยาโกรธหนเดียวเท่านั้น ก็ว่า ไหน เพียงแค่นี้ก็โกรธแล้ว จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร เดี๋ยวเขาจะว่าอย่างนี้นะ

          ๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธา อยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาก็จะจำได้ว่าดับๆ เมื่อปฏิบัติไปๆ เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะ ดับวูบลงไป เขาก็จะทึกทักว่า เออ ฉันได้แล้ว ฉันบรรลุแล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้สมาธิปลอม ได้ฌานปลอม ได้มรรคปลอม ได้ผลปลอม เหตุนั้นเราไปบอกเขาก็เป็นบาปแก่เขา เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่จะแนะนำพร่ำสอนกันนั้นได้

       ๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ

            ๑) อุลลปนโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนเลย หรือได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อนแต่ยังไม่สามารถยังคุณธรรม เช่น โสดาบัน สกิทาคามี เป็นต้น ให้เกิดขึ้นในขันธสันดาน ก็ไปหลอกเขา โดยที่อยากให้เขาถวายจตุปัจจัยไทยธรรมอย่างโน้นอย่างนี้ ตามที่เราต้องการ ดังที่เราเคยผ่านๆ มา เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกันอยู่วัดนี้ละ เดี๋ยวก็เขียนหนังสือไปโปรดโยมว่า ต้องการกลดเท่านั้นหลัง ต้องการกลดเท่านี้หลัง ต้องการจีวรอย่างนั้น ต้องการบาตรอย่างนี้ อะไรทำนองนี้ เรียกว่าเป็นอุลลปนโสดาบัน คือโสดาบันขี้หลอก

              ๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน แต่เรียนปริยัติมามาก ก็เอาปริยัติไปอวดเขา เห็นเขาเข้าผลสมาบัติก็ไปอวดเขาว่า เอ๊ะ ! ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ แล้วก็แกล้งเกร็งตัวไป ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบมันก็เกิดขึ้นมาอีกก็ทำกรรมไปอีก อย่างนี้เรียกว่าอธิมามิกโสดาบัน

              ๓) มหาโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันที่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานจริงๆ เป็นลูกของพระพุทธเจ้า

         ๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วเขาจะถามนะ เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม ดีอย่างไร ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน อะไรทำนองนี้ เหตุนั้นเราต้องตอบให้เป็น

       “เป็นอย่างไรไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดีไหม”

       “ดี”

       “ดีอย่างไร”

       “ทำให้ใจสบาย”

       “ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน”

       “การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าวกินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”

       “เห็นนรกสวรรค์ไหม”

       “เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ก็ขอเชิญได้ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”

        นี้เราต้องตอบให้เป็น พูดแต่น้อย อย่าไปใส่ไคล้พระศาสนา อย่าไปเชิดตัวเอง

       ๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย พวกเราทั้งหลายถือว่าเป็นหนี้บุญหนี้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระองค์ได้ทรงเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ตั้งแต่โน้นมาจนถึงนี้ อยู่สิริรวมเป็น ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปจึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้วก็นำเอาธรรมะที่พระองค์ทรงบรรลุแล้วนั้นมาแนะนำพร่ำสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้ประพฤติตาม ให้รู้ตาม ให้สามารถทำลายกิเลสตัณหาให้หมดไปจากขันธสันดาน เหตุนั้นเราทั้งหลายควรอย่างยิ่งที่เราจะแสดงตนเป็นบุคคลผู้เต็มเปี่ยมด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม คือ รู้พระคุณของผู้มีพระคุณแล้วก็ตอบแทนคุณของท่าน อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เราไปที่ไหนๆ ก็ช่วยแนะนำพร่ำสอนกัน ได้มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติ คือ มีหนทางไหนอย่างไรที่จะทำงานพระศาสนาได้ ช่วยศาสนาได้เราก็ทำ ดีกว่าไม่ทำประโยชน์อะไรให้แก่สังคม เรียกว่ารู้แต่ตนเองก็ยังไม่ครบวงจร คือตนเองก็รู้ด้วยแล้วก็แนะนำพร่ำสอนให้ผู้อื่นรู้ด้วย ถือเป็นบุญเป็นกุศลแก่ตนเองและสังคม

       ๖. ขอให้ช่วยแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่อย่างไรๆ นั้นก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราเอาผ้าผ่อนแพรพรรณรัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินกันให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา แม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ หรือเวลาท่านจะไปไหนๆ ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะอาบน้ำ หรือเราจะสรงน้ำก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหารก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอนก็ให้ท่านอยู่บนบ่าของเรานั้นแหละ เวลาท่านจะขี้จะเยี่ยวก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไปจนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้ เว้นไว้แต่ผู้ใดมาบวชมาปฏิบัติธรรมเหมือนดังท่านทั้งหลายได้มาปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ เมื่อเราประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมยังบุญกุศลให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนี้ไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา เราก็ให้พ่อให้แม่ของเราได้มาประพฤติปฏิบัติ

       ๗. ขอให้ท่านนักประพฤติปฏิบัติทั้งสามัคคีกัน พวกเราทั้งหลายนั่งรวมกันอยู่นี้ถือว่าเราเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เป็นลูกศิษย์ลูกหาร่วมครูบาอาจารย์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายได้เคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะไม่ช้าไม่นานไม่ถึง ๑๐๐ ปี เราก็จะจากกันไปแล้ว จะตายจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       ๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่า ไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร การพูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี สมัยครั้งพุทธกาลแม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังทำบุญทำทานอยู่

       ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคน ๒ คน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไรพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน มหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรต้องไปของ้อของอนเขาใช้ ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายแล้วไปเกิดชาติใหม่ก็จะเป็นคนร่ำรวยมั่งมีศรีสุข เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณรก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบงจีวรมีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติ ศฤงคารบริวารนานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากว่าปรารถนาสิ่งใด ต้องการสิ่งใดได้สิ่งนั้นตามความปรารถนา แต่ว่าไม่สวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้รักษาศีลไม่ได้เจริญภาวนา ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้เป็นคนที่มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีเสียงไพเราะ มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืนไม่ตายง่าย แต่ว่าไม่รวยและไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดดี มีความหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาเจริญภาวนาอย่างเดียว” เหตุนั้นแหละ พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วอยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือให้ทั้งทาน รักษาทั้งศีล เจริญทั้งภาวนา

       ๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ไม่ดีนะท่านทั้งหลาย เป็นการด่าตัวเองด้วย เป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่โอกาสเวลาจะเอื้ออำนวย สำหรับผู้ปฏิบัติจริงเขาก็ได้ตั้งเยอะ เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่าได้พูดว่าทำกัมมัฏฐานแล้วไม่ได้อะไร เพราะงานทุกงานสำเร็จอยู่ในตัว เขียนหนังสือได้หนังสือ ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน ได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะมันเป็นนามธรรม

       ๑๐. นักปฏิบัติธรรมออกไปแล้วอย่าไปเล่นการพนัน

         ๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่น สำนักอื่น การติเตียนผู้อื่นสำนักอื่นเหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอตัวเราเอง ถ้าเราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เหตุนั้น เห็นคนอื่นประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนตนเราก็พูดให้เป็นว่า “เออ ที่คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้เป็น เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมาก มีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ใครจะเอาที่ไหนมาปฏิบัติก็ตาม การปฏิบัติอาจต่างกัน แต่ผลที่ต้องการเหมือนกันหมด เพราะว่าทุกคนเกิดมาแล้วต้องการอยากพ้นจากทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน

       เหมือนกับคนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วต้องการเงิน แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ผู้ทำไร่ทำนาก็ต้องการเงิน ผู้เย็บปักถักร้อยก็ต้องการเงิน ผู้ค้าขายก็ต้องการเงิน ผู้ทำโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องการเงิน ผู้ผลิตอาวุธปืนนู้นปืนนี้เพื่อทำลายกันต้องการเงินทั้งนั้น แต่วิธีหาเงินไม่เหมือนกัน ข้อนี้ฉันใด พวกเราทั้งหลายเวลาประพฤติปฏิบัติ เห็นว่าผู้อื่นเขาทำไม่เหมือนเราก็ขออย่าไปว่าเขา เราต้องปลอบต้องโยน ต้องชี้แจงแสดงไขให้เข้าใจว่า “เออ คุณปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีละ คุณพยายามปฏิบัติต่อๆ ไปซิ การปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” ต้องว่าให้เป็น

         ๑๒. ขอให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายรักษาชื่อเสียงตัวเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของวัด รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้วินาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมคิดชั่ว ทำชั่ว พูดชั่วเป็นเด็ดขาด

       ๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป การปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายปฏิบัติต่อๆ ไป

       วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๘ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๑๐ ชั่วโมง เหลืออีก ๖ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย คุยกับลูกกับหลานที่ไปมาหาสู่ อ่านหนังสือดูหนังสือเสีย ๕ ชั่วโมง เหลืออยู่อีก ๑ ชั่วโมงนี้ เอาเป็นเวลาไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาเสียอย่างน้อย ๓๐ นาที

       โดยเฉพาะเวลาเราจะหลับจะนอนนั้น เราเข้าห้องพระแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ตามที่โอกาสและเวลามีอยู่ เสร็จแล้วเราก็ลองนึกถึงบุญกุศลที่ได้สร้างสมอบรมมาว่า เออ เราเกิดมาในภพนี้ชาตินี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนาได้มากน้อยแค่ไหนเพียงไรหนอ เสร็จแล้วเราก็จึงนั่งภาวนากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” “พุทโธๆ” “สัมมาอะระหัง” ไปซะ อย่างน้อย ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๑๕ นาที หรือน้อยที่สุด ๕ นาทีก็ยังดี

       ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตายบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นขันข้าวที่เราเคยใส่บาตร เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่ไปทำบุญทำทาน เห็นโบสถ์เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดาเป็นต้น จิตของเราก็ดับลงไป เมื่อดับลงไปแล้วก็ไปบังเกิดในสุคติภพตามบุญญาธิการที่เราได้สร้างสมอบรมไว้ อุปมาเหมือนกับเราหัดว่ายน้ำไว้ให้ชำนิชำนาญ เมื่อถึงคราวเรือล่มก็สามารถที่จะว่ายเข้าฝั่งได้ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกไว้อย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะ

       ๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ

       ๒) ไม่อยากตาย

       ๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง

       ๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ

       เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้บาปกรรมทั้งหลายที่เราทำไว้มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่นเห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตม เห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรกเป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็จะไปเกิดในนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกายบ้าง ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามบาปกรรมที่เราได้สร้างสมอบรมมา เหมือนกันกับคนที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ อย่าให้เผลอไปตามอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง

       ๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงนี้เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่ในขณะนี้ ขณะนี้เราสามารถเข้าสมาธิได้ สมามารถเข้าฌานได้ ๑ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมง ๑๒ ชั่วโมง แต่ถ้าว่าเราไม่ทำทุกวันๆ เสื่อมได้ท่านทั้งหลาย เมื่อสมาธิเสื่อมหรือฌานเสื่อมแล้ว เราจะกลับมาทำใหม่มันได้ยากท่านทั้งหลาย อาจจะไม่ได้เสียเลย เมื่อสมาธิหรือฌานมันเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ แทนที่เวลาเราจะตายจากโลกนี้ สมาธิของเราไม่เสื่อม ฌานของเราไม่เสื่อม เราตายในสมาธิในฌาน เมื่อตายแล้วก็สามารถไปบังเกิดในพรหมโลกได้

       แต่ถ้าฌานของเราเสื่อมหรือสมาธิของเราเสื่อม ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน คือ หมายความว่าในขณะที่จิตของเราจะดับลงไปนั้น ถ้าเราไปนึกถึงนรก นึกถึงเปรต ถึงอสุรกาย ถึงสัตว์ดิรัจฉาน เราก็ไปสู่อบายภูมิเท่านั้น ถ้าเรานึกถึงทานที่เราได้บริจาคแล้ว จะไปสู่สุคติภพ หรือว่าเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยถ้าว่ามีสมาธิมีฌานอยู่ ก็สามารถที่จะเป็นที่พึ่งได้ แต่สมาธิหรือฌานเสื่อม สมาธิที่ได้ก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ หรือว่ามีเหตุอะไรที่เกิดขึ้นไม่ดี เช่นว่า เขาจะมาทำโน้นบ้าง ทำนี้บ้าง หรือจะใส่ของเราบ้าง ลองของเราอย่างนี้บ้าง ถ้าสมาธิของเราไม่เสื่อมเราก็สามารถป้องกันตัวได้


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 16 เมษายน 2563 16:28:56

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcQMHZEJYpiyGil5SImOUlMlWBnHgKje2PzrWSGqQne-axLhzXWt&usqp=CAU)

อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ) (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

             สมมุติเวลาเราเข้าสมาธิ สาธุ ขอให้จิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไปเท่านั้นนาที เท่านี้ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายแก่ชีวิต นี่ถ้าเราอธิษฐานอย่างนี้แล้วเราก็เข้าสมาธิ เมื่อเข้าสมาธิไป ในขณะที่อยู่ในสมาธิก็ดี ออกจากสมาธิก็ดี ไม่มีอะไรที่จะทำลายเราได้ หรือว่าเวลาเราจะหลับจะนอนอธิษฐานจิตว่าสาธุขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป จนกว่าจะถึงตี ๔ พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต หากผู้ใดคิดว่าจะมาลักมาขโมย มาปล้น มาจี้ จับไปเรียกค่าไถ่ ทำร้ายร่างกายหรือชีวิตเป็นต้น ขออย่าเป็นอันตรายได้เป็นเด็ดขาด เราก็นอนสมาธิไป เมื่อในขณะที่เราหลับอยู่ในสมาธิหรืออยู่ในสมาธินั้นก็ไม่มีอันตรายเกิดขึ้นแก่เรา ถือว่าเป็นเกราะที่พึ่งได้

       หรือพูดง่ายๆ สมมุติว่าเรานอนอยู่นี้ อยู่ที่กุฏิของเราก็ดี อยู่ที่บ้านของเรา เราอยากนอน มันง่วงเป็นกรณีพิเศษ มันเหนื่อยเป็นกรณีพิเศษ เราอธิษฐานจิตว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๕ นาที หรือ ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที พร้อมกันนั้นขออย่าให้ผู้ใดมาแตะต้องร่างกายของข้าพเจ้าได้เป็นเด็ดขาด เราก็กำหนดไป “พองหนอ” “ยุบหนอ” แล้วก็หลับไป หรือไม่หลับก็ตามแต่หลับตาอยู่ เราไม่หลับสนิทก็ตาม หรือเราหลับไปก็ตามในขณะนั้น ถ้าหากว่าใครจะมาแตะต้องร่างกายของเราหรือมาจับต้องร่างกายของเรา มันจะรู้ตัวทันที หรือบางทีขานี้คู้ขึ้นมา เขาจะมาจับนิ้วตีนของเราคู้ขึ้นมาเลย มันรู้ตัวก่อนถ้าเราฉลาด

       หรือเวลาเราจะไปผ่าตัด เช่นว่าผ่าตัดไส้ติ่งก็ดี กระเพาะอาหารก็ดี นิ่วไตก็ดี หรือจะไปผ่ามดลูกก็ดี หากว่าเรามีสมาธิอยู่ มีฌานอยู่ เราอธิษฐานจิตของเราให้เข้าสมาธิเข้าฌาน ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต เขาก็ไม่จำเป็นต้องใส่ยาสลบใส่ยาชา เขาก็ผ่าตัดไปได้สบาย เราก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน ฟื้นขึ้นมาแล้วก็ไม่มีอันตราย คือไม่ต้องรักษาอยู่เป็นเวลานาน หรือไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเกินไป เพราะอานิสงส์ที่เรามีสมาธิอยู่เป็นกำลังป้องกันและสนับสนุนให้ร่างกายของเรามันสมบูรณ์ขึ้นมา

       มีหลายๆ คนที่อยู่ในวัดของเราก็ดี ในบ้านก็ดี ที่ปฏิบัติได้มาอย่างนี้ ไปผ่าตัดไส้ติ่งบ้าง ผ่าตัดอย่างโน้นอย่างนี้บ้าง ไม่ได้ใส่ยาชา ไม่ได้ใส่ยาสลบ แล้วก็การผ่าตัดนั้นก็ไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะเหตุไรจึงไม่ทนทุกข์ทรมาน เพราะว่าเราอยู่ในสมาธิ เหมือนกับโยมคนหนึ่งเวลาไปผ่าตัดไส้ติ่งถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าไร หมอว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกก็อธิษฐานจิตเข้าสมาธิ ๓ ชั่วโมง ว่า สาธุ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทแน่นิ่งไป ๓ ชั่วโมง พร้อมนี้อย่าให้เป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิต ก็เข้าสมาธิไป แล้วก็ในตอนนั้น ขอร้องคุณหมออย่าใส่ยาชา อย่าใส่ยาสลบ หมอก็ปฏิบัติตาม พอรู้สึกตัวขึ้นมา คุณหมอไปไหนแล้ว กลับไปแล้ว คือผ่าตัดครบ ๑ ชั่วโมง แล้วหมอก็กลับแต่แกยังไม่ฟื้น พอครบ ๓ ชั่วโมงแล้วฟื้นขึ้นมา เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วเหมือนกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้ใส่ นี้ท่านทั้งหลายสมาธินี้มันได้ประโยชน์อย่างนี้

       แล้วก็มีอาจารย์รูปหนึ่งไปผ่าไส้ติ่งที่เขมราฐของเรานั้นแหละ ขอคุณหมอว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขออย่าใส่ยาสลบ แล้วก็ทำการผ่าตัด ในขณะที่ผ่าตัดนั้นใช้เพียงขั้นขณิกสมาธิ และขั้นอุปจารสมาธิ กลับไปกลับมาอยู่นั้น เวลาผ่าตัดไปคุยกันไปกับหมอ ผ่าตัดไปคุยไปๆๆ ผ่าตัดเสร็จเท่านั้น หมอลงกราบพระอาจารย์รูปนั้นเลย “ท่านขอรับ ตั้งแต่ผมเป็นหมอมายี่สิบกว่าปี ผมไม่เห็นใครเป็นเช่นนี้เลย ผมเลื่อมใส ขอนิมนต์ท่านอยู่ในโรงพยาบาลนี้ ๑ เดือน” ดูสิท่านทั้งหลายแทนที่เราสบายๆ จะให้เรากลับบ้าน ขอให้อยู่โรงพยาบาลนั้น ๑ เดือน เพราะเหตุไรจึงให้อยู่ ๑ เดือน เพราะว่าจะได้สอนพวกพยาบาลทั้งหลาย อบรมพวกพยาบาลทั้งหลาย นี้แหละท่านทั้งหลาย อานิสงส์ของสมาธิมันเหลือที่จะพรรณนา เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือธรรมะที่ปฏิบัติแล้วอย่าให้เสื่อมเป็นอันขาด

       ๑๕. ขอให้ท่านทั้งหลายดำเนินต่อไป จนกว่าจะถึงฝั่งคือพระอมตมหานฤพาน ถ้าว่าเราไม่ถึงฝั่ง คือไม่ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน กิเลสตัณหาของเราก็ยังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ เราต้องเกิดๆตายๆ ไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะถึงฝั่งคือพระนิพพานได้ ข้อนี้ให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       พระเจ้าภัททิยะเป็นพระราชาสำเร็จเป็นพระสกทาคามี นั่งอยู่บนคอช้างก็ยังทำ วันหนึ่งมีความสงสัยไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เห็นฝูงช้างฝูงม้า บางครั้งก็เห็นฝูงรถ บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไปจะไม่ไปอบายภูมิหรือพระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์ต้องการที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆ ต่อไปนั้น ปฏิบัติดังนี้คือ

       ๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

       ๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

       ๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ

       ๔) ระลึกถึงทานที่ตนได้บริจาคแล้วเนืองๆ

       ๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาไว้แล้วเนืองๆ

       ๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำให้บุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ

       ถ้าผู้ใดเพียบพูนไปด้วยองค์คุณธรรมดังนี้แล้ว ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท

       หลวงพ่อได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง มรรควิถี ตลอดถึงเตือนสติท่านทั้งหลายมาก็เห็นว่าพอสมควรจึงขอยุติ

       อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาตั้งแต่เริ่มพรรษาจนถึงบัดนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆ ขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอครูบาอาจารย์ทุกท่าน ญาติโยมผู้ปฏิบัติทุกคน จงเจริญสุขสวัสดีพิพัฒนมงคลในบวรพุทธศาสนาเป็นนิจ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนฤพานด้วยกันจงทุกท่านเทอญ.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 พฤษภาคม 2563 16:14:51

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/SWU0J_PEgCHLtNh5Y9m0lhQCbpyE8i-ryXwMofyyE9SpoFIYxad16V_7-j5fKDjwVGIGQDGyYLW06mBiFgvTIqhdeGIUWp3BXxXBZxn8t3WUtuGQGC4O3MDDSJoebJEiVNko3v7pxVM-JuqLJr4LRFOw5PKtvLp4XQ-bLEtA)

วิปัสสนาญาณ ๑๖
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

       นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส.

       จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ   ยถาภูตํ อทสฺสนา

       สํสริตํ สงฺขมทฺธานํ   ตาสุ ตาเสฺวว ชาติสูติ.

       ณ โอกาสบัดนี้ จักได้แสดงพระสัทธรรมเทศนา เรื่อง วิปัสสนาญาณ ๑๖ พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาแด่ท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายสืบไป

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การเทศน์หรือการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เป็นของเทศน์ยาก เป็นของฟังยาก คือยากทั้งผู้ที่เทศน์ ยากทั้งผู้ที่จะฟัง คือหมายความว่า ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ต้องใช้ความเพียร อดตาหลับขับตานอนมาเป็นหลายๆวันจึงได้ฟัง ถ้าว่าตนเองไม่ได้ปฏิบัติมาก่อนก็ไม่ได้ฟัง ฟังก็ไม่รู้เรื่อง ฟังก็เบื่อ แต่ถ้าตนเองได้ปฏิบัติมาก่อนแล้ว และได้ผลพอสมควร ฟังก็เข้าใจ ฟังก็เพลิน ก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนั้น ก็ขอเตือนสติท่านทั้งหลายดังนี้ คือ

       ๑. ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจฟัง ถ้าไม่จำเป็น อย่าพูดอย่าคุยกัน

       ๒. ถ้าเหนื่อย เอามือลงเสีย ไม่ต้องประนมมือ เพราะเทศน์นาน

       ๓. ผู้ที่ได้สมาธิ เข้าสมาธิได้ พยายามยกจิตไว้ อย่าให้เข้าสมาธิไป เพราะตอนนี้เราฟังเอาความรู้ เพื่อเป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ

       อีกอย่างหนึ่ง ความมุ่งหมายของการเทศน์มีหลายประการคือ

          ๑) พระอาจารย์ผู้เทศน์ เหมือนกับเอากระจกมาวางไว้ให้ผู้ปฏิบัติส่องดู คือพระอาจารย์จะได้น้อมนำเอาพระธรรมแต่ละหมวดๆ มาวางไว้ แล้วก็ว่าให้ฟังไปตามนั้น

          ๒) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเรียกชื่อญาณถูก เช่น เวลาปฏิบัติ พองกับยุบอันเดียวกันหรือคนละอัน ผู้ตอบก็ตอบได้ว่าอันเดียวกันหรือคนละอัน แต่ไม่ทราบว่าเป็นญาณอะไร เหตุนั้น พระอาจารย์ก็จะได้บอกให้รู้

          ๓) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเปรียบเทียบกับพระธรรมที่พระอาจารย์เทศน์ ว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน

       ๔. ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณจบแล้ว ขออย่าได้เข้าใจว่าตนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามีแล้ว เพราะว่า การฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณนี้ เราฟังเพื่อเป็นความรู้ พอที่จะได้เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติสืบไป

       ๕. ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอาเอง ไม่ใช่พระอาจารย์ตัดสินให้

       อันนี้เป็นความมุ่งหมายของการฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ

       ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้ฟังธรรมะเรื่องวิปัสสนาญาณ

       คำว่า ญาณ แปลว่า ปัญญา แต่ถ้าคำว่า ปัญญา หมายรวมหมด ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ แต่ถ้าคำว่า ญาณ หมายเอาความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเท่านั้น แต่ที่จริงก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ แต่เป็นปัญญาคนละขั้น

       ญาณนั้นมีอยู่ ๑๖ ประการ คือ

       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม

       ๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามขันธ์ห้าเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม

       ๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม

       ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว

       ๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

       ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษแล้วเบื่อหน่ายในรูปในนาม

       ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม

       ๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่เข้มแข็ง ตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้

       ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม

       ๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เตรียมตัวเข้าสู่มรรคผลพระนิพพาน โดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

       ๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่ตัดขาดจากปุถุชนเข้าสู่โคตรของพระอริยเจ้าคือพระโสดาบัน

       ๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่ตัดกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานตามกำลังของมรรค

       ๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่สืบเนื่องมาจากมรรค เสวยผลกำไรที่มรรคประหารกิเลสไว้แล้ว

       ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาพิจารณามรรคผลพระนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

       อันนี้เป็นเนื้อความโดยย่อในเรื่องวิปัสสนาญาณ ๑๖ ประการ

       ต่อไปก็ขอให้ท่านทั้งหลายได้โปรดฟังอธิบาย

       ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาพิจารณาแยกรูปแยกนามออกจากกันได้

       ญาณนี้ถือว่าเป็นญาณขั้นต้นในพระพุทธศาสนา ผู้มาปฏิบัติ จะเป็นพระภิกษุสามเณร ปะขาวแม่ชี เด็กหรือผู้ใหญ่ ชาติไหนภาษาใดก็ตาม ต้องเกิดญาณนี้เสียก่อนจึงจะใช้ได้ ถ้าญาณนี้ไม่เกิด ใช้ไม่ได้

       ลักษณะของนามรูปปริจเฉทญาณ มีดังนี้ คือ

          ๑) ในขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบ อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน ถ้าญาณเกิดแล้วจะเห็นเป็นคนละอันนะ แต่ไม่ได้ถามหนังท้องนะ ถ้าหนังท้อง เป็นอันเดียวกัน นี้เราถามอาการว่า อาการพองกับอาการยุบ อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ๒) ในขณะที่เรากำหนดทางตา เห็นหนอๆๆๆ ตาของเราก็ดี สีต่างๆที่เราเห็นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาหูได้ยินเสียง เสียงกับหู อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาจมูกได้กลิ่น จมูกก็ดี กลิ่นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          เวลาลิ้นได้รส รสก็ดี ลิ้นก็ดี อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ในขณะที่เราถูกต้องอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อาการเย็นร้อนอ่อนแข็งกับร่างกายของเรา อันเดียวกันหรือคนละอัน คนละอัน

          ถ้าตอบได้อย่างนี้ หรือเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่าเข้าใจในรูปปริจเฉทญาณถูกต้อง แต่ก็ยังไม่พอนะ ต่อไปถ้าหากว่ามีการสอบอารมณ์ พระอาจารย์ก็จะสอบอารมณ์ ท่านก็จะถามเรื่องนาม ว่าท่าน เวลากำหนดอาการพองอาการยุบ พองหนอง ยุบหนอ เอาอะไรกำหนด เอาปากกำหนด

       คนตายมีปากไหม “มี”

       ว่าเป็นไหม “ไม่เป็น”

       เพราะอะไร “เพราะไม่มีใจ”

       ท่านเอาอะไรว่า “เอาใจว่า”

       ใจที่รู้ท้องพองกับใจที่รู้ท้องยุบ ใจเดียวกันหรือคนละใจ “ใจเดียวกัน”

       เอ๊ะ ท่าน ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ

       ใจที่มาเข้าวัดถือศีลกินเพลนี้ เป็นใจบุญหรือใจบาป “ใจบุญ”

       ใจบุญกับใจบาป ใจเดียวกันหรือคนละใจ “คนละใจ เกิดคนละขณะ”

          ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ตอบได้แจ๋วๆอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้จำตำรามาว่า หรือไม่ได้ฟังใครมา เรียกว่าเข้าใจในนามปริจเฉทญาณถูกต้อง ตกลงก็ไม่มีอะไรดีเลย ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม วันยังค่ำ ก็มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เรียกว่า เราปฏิบัติพระวิปัสสนากรรมฐานถึงนามรูปปริจเฉทญาณ คือญาณที่ ๑ แล้ว ญาณที่ ๑ จบ เอาเพียงหยาบๆเท่านี้ก่อน

       ๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปนาม

       ภาษาบาลีเรียกว่าเหตุกับผล บางครั้ง รูปเป็นเหตุ นามเป็นผล คือท้องของเราพองขึ้นมาก่อนแล้วใจก็จึงวิ่งมากำหนดรู้ อย่างนี้เรียกว่า รูปเห็นเหตุ นามเป็นผล แต่บางครั้ง นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล เช่นว่า ใจของเราวิ่งมารอกำหนดอยู่ก่อนแล้ว ท้องของเราก็จึงพองขึ้นมาทีหลัง อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นเหตุ รูปเป็นผล แต่ผู้ปฏิบัติไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นเหตุอันนี้เป็นผล เพราะนี่ปฏิบัติ แต่ถ้าปริยัตินั้นไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ อะไรเป็นเหตุ เป็นเหตุของอะไร

       ชาติก่อนโน้น อวิชชาคือความโง่ เป็นเหตุให้อยากเกิดขึ้นมาเป็นคน เมื่ออยากเกิดขึ้นมาเป็นคนแล้วก็ลงมือสร้างบุญสร้างกรรม เป็นกรรมแล้ว กรรมก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมาเป็นคน เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วก็มีอาหารกิน เมื่อมีอาหารกินแล้วก็โตวันโตคืนขึ้นมาเรื่อยๆ

       รูปนี้มันเกิดขึ้นมาจากเหตุ ๕ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว

       เวทนาเกิดขึ้นมาจากอะไร เวทนาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างเดียว

       สัญญาเกิดขึ้นมาจากอะไร สัญญาเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างเดียว

       สังขารเกิดขึ้นมาจากอะไร สังขารเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของสังขารอย่างเดียว

       วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอะไร วิญญาณเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม ผัสสะ และความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างเดียว

       เรียกว่า นิพพัตติลักษณะ คืออาการเกิดของคนเรา มีถึง ๒๕ อย่าง นี่ ปริยัติต้องว่าอย่างนี้ จึงจะเข้าใจ แต่สำหรับปฏิบัติแล้วไม่ใช่อย่างนั้น อันนั้นเป็นปริยัติ จำตำรามาว่า เอาแต่เพียงว่า ท่านทั้งหลายนั่งกรรมฐานนานๆไปก็ปวดแข้งปวดขา แล้วก็กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” แล้วก็กำหนด “อยากพลิกหนอๆ” แล้วก็ “พลิกหนอๆ” ใจที่อยากพลิกนั้นมันเกิดก่อน ใจที่อยากพลิกนั้น อันนี้แหละเป็นตัวเหตุ แล้วพลิกหนอๆๆ นั้นเป็นตัวผล คือมันเกิดทีหลัง

       แต่ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ

       บางครั้ง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราหายไป ผู้ปฏิบัติเอามือไปคลำดูก็มี กำหนดพองหนอยุบหนอนี่ อาการพองยุบหายเงียบไปเลย ไม่มี ผู้ปฏิบัติก็เอามือไปคลำดูว่า เอ๊ะ! มันเป็นอะไร พองยุบมันเป็นอะไรถึงเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ก็มี เช่นนี้ก็เรียกว่าเหตุผลของรูปนามเหมือนกัน

       แต่บางครั้ง เรากำหนดพองหนอยุบหนอนั้น อาการพองของเรามันพองมาถึงที่สุดแล้วไม่ยุบลงไป แต่บางครั้งเรากำหนดว่า “ยุบหนอ” อาการยุบของเรามันยุบไปถึงที่แล้วค้างอยู่ ไม่พองขึ้นมาก็มี บางทีมีเวทนามากบ้างน้อยบ้าง ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจว่าเคราะห์ร้าย คือหมายความว่า เราเคยเจ็บไข้ได้ป่วยมาแล้ว แล้วก็หายไปหลายวัน หลายเดือน หลายปี ไม่แสดงอาการ แต่เวลามาปฏิบัติพระกรรมฐาน ยังไม่ถึงห้านาทีหรือสิบนาที โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายนั้นก็เกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะพิจารณาว่า เรานี้คงเคราะห์ร้ายเสียแล้ว คงไม่มีบุญวาสนาบารมีที่จะปฏิบัติพระกรรมฐานต่อไปได้แล้ว คิดอย่างนี้นะ

       บางครั้ง เรากำหนดบทพระกรรมฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่ จะมีอาการสะดุ้งไปข้างหน้าบ้าง ไปข้างหลังบ้าง บางทีผู้ปฏิบัติจะมีความเห็นว่า ภพนี้ก็ดี ภพหน้าก็ดี ไม่มีอะไรเลย มีแต่เหตุแต่ผล มีแต่รูปแต่นาม เกิดดับๆอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       ถึงญาณขั้นนี้ ไม่ใช่เลวนะท่านทั้งหลาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ดังพระบาลีกล่าวไว้ว่า

       อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏฺโฐ นิยตคติโก จุลฺลโสตาปนฺโน นาม โหติ

       ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานถึงญาณที่สองนี้แล้ว ชื่อว่าได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน

       จุลละ แปลว่า น้อย โสตะ แปลว่า กระแส อาปันนะ แปลว่า ถึง หมายความว่า เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพานน้อยๆ ถ้าพยายามประพฤติปฏิบัติต่อไปก็จะได้บรรลุเป็นมหาโสดาบัน

       ครั้งพุทธกาลโน้นมีสตรีนางหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นางก็เอาลูกน้อยไปด้วย ลูกน้อยมันก็ร้องงอแงกวนแม่อยากกินนม นางก็เจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปไม่ได้ กลับไปเจริญอยู่บ้าน ถึงญาณที่ ๒ นี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติ ถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่า เป็นจุลลโสดาบัน ญาณที่ ๒ จบ

       ๓. สัมมสนญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามทางทวารทั้ง ๕ เป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยแยกเป็น ๔ กลาป คือ

          ๑) กลาปสัมมสนนัย คือ พิจารณารวมกันทั้งก้อน และทั้ง ๕ ขันธ์เลย เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตก็ดี รูปนามในปัจจุบันก็ดี รูปนามในอนาคตก็ดี รูปนามที่หยาบก็ดี รูปนามที่ละเอียดก็ดี รูปนามที่ประณีตก็ดี ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาอย่างนี้

          ครั้งพุทธกาลโน้น มีท่านมหาปาละเคยพิจารณามาก่อนแล้ว คือวันหนึ่ง เขาเอาศพผู้หญิงมาเผาในป่าช้า ไปนิมนต์ท่านมาปลงพระกัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านบอกว่า ยังไม่เอา มันยังสวยอยู่ ให้ไฟไหม้ไปกว่านี้เสียก่อนนะ จึงไปเตือนฉันใหม่ เมื่อไฟไหม้มือเท้างอหงิกดำปานตอตะโกไปแล้ว เขาจึงไปเตือนท่านใหม่ เพื่อมาเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เมื่อท่านมาถึงแล้วท่านก็จ้องดูศพ เจริญวิปัสสนา

                    อนิจฺจา วต สงฺขารา                  อุปฺปาทวยธมฺมิโน

                    อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺชนฺติ               เตสํ วูปสโม สุโข.

          รูปนามขันธ์ห้า ไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปอย่างนี้ ถ้าดับไปหมดทั้งรูปทั้งนาม ทั้งกิเลส เป็นสุขที่สุดในโลก ดังนี้

          เสร็จแล้วท่านก็เข้าไปในกุฏิ เจริญพระกัมมัฏฐานต่อ คือท่านเอาทั้งก้อนมาปราบจิตดื้อ เสียก่อนแล้วจึงจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลในวันนั้น อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า พิจารณาในแง่กลาปสัมมสนนัย

          ๒) อัทธานสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณารูปนามที่ล่วงมาแล้วแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า รูปนามในอดีตไม่เกิดเป็นรูปนามในปัจจุบัน รูปนามในปัจจุบันไม่เกิดเป็นรูปนามในอนาคต แต่มีเหตุมีผลสืบเนื่องกันอยู่ ถ้าเหตุดีผลก็ดี ถ้าเหตุชั่วผลก็ชั่ว เหมือนกันกับเราเอาดวงตราประทับลงบนแผ่นกระดาษ รูปดวงตราย่อมติดอยู่ที่แผ่นกระดาษ แต่ดวงตราหาได้ติดอยู่ที่แผ่นกระดาษไม่ ข้อนี้ฉันใด รูปนามขันธ์ห้าก็เหมือนกันฉันนั้น นี้เรียกว่า พิจารณาในแง่อัทธานสัมมสนนัย

          ๓) สันตติสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความสืบต่อของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆ เช่นผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เมื่อตอนเช้านี้ แสงสว่างมันก็ดี อากาศมันก็ดี ฝนก็ไม่ตก แต่ตอนสายมาฝนกลับตกแล้ว เอ๊ะ! อาการสว่างมันหายไป อาการฝนตกมันเกิดขึ้นมา หรือเมื่อก่อนโน้นเรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวนี้เราเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นคนเฒ่าคนแก่แล้ว เอ๊ะ! รูปนามขันธ์ ๕ ที่ท่านว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ หรือบางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราอยู่ในครรภ์ของมารดา เสร็จแล้วก็คลอดออกมาเป็นเด็กแบเบาะ เสร็จแล้วความเป็นเด็กแบเบาะมันหายไป ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันเกิดขึ้นมา ความเป็นคนหนุ่มคนสาวมันดับไป ความเป็นคนเฒ่าคนแก่มันเกิดขึ้นมา เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่สันตติสัมมสนนัย

          ๔) ขณสัมมสนนัย ได้แก่ การพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นดับไปของรูปนามชั่วขณะหนึ่งๆซึ่งนิยมเรียกว่า อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็มีแต่รูปแต่นามเกิดดับๆตลอดเวลา บางครั้งผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เท้าของเรานี้ ไม่ให้ยกมันก็ยก ยกขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ย่างมันก็ย่าง เมื่อย่างไปแล้ว ไม่ให้เหยียบมันก็เหยียบ ท้องของเราก็เหมือนกัน ไม่ให้พองมันก็พอง เมื่อพองขึ้นมาแล้ว ไม่ให้ยุบมันก็ยุบ เมื่อยุบแล้ว ไม่ให้พองมันก็พอง เอ๊ะ! ที่ท่านว่ารูปนามขันธ์ห้ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นอย่างนี้ๆ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของผู้ปฏิบัติ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาในแง่ขณสัมมสนนัย การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในลักษณะทั้ง ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เรียกว่าเห็นพระไตรลักษณ์เหมือนกัน เป็นวิปัสสนา แต่ยังไม่เป็นวิปัสสนาญาณแท้ คะแนนเต็มร้อยได้เพียง ๑๕ เท่านั้น แต่ก็ยังดี เป็นมหากุศล หาได้ยากอยู่

       ถ้าผู้ที่จะดูสภาวะของญาณนี้ มีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. ถ้าผู้ดูพองจะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ผู้ดูยุบก็จะเห็นเป็น ๓ ระยะ คือ ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ

       ๒. มีเวทนามาก เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ เรากำหนดตั้ง ๕ ครั้ง ๖ ครั้ง หรือ ๘ ครั้งจึงหาย บางทีเรากำหนดเต็ม ๓๐ นาทีก็ยังไม่หาย บางทีเรากำหนดทั้งชั่วโมงก็ยังไม่หาย คือเวทนามันเกิดขึ้นมาแล้วมันหายยาก

       ๓. มีนิมิตมาก เรานั่งกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่หายช้า เรากำหนดตั้ง ๗-๘ ครั้งจึงหาย บางทีก็ไม่หายเสียเลย

       ๔. เรากำหนดพองหนอยุบหนออยู่ บางทีอาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบที่เรากำหนดอยู่นั้นมันฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป บางทีอาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป อันนี้เรียกว่า เป็นพระไตรลักษณ์  คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ๕. จิตใจฟุ้งซ่านมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปแล้วร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้ก็แสดงว่า จิตใจของเราเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกัน

       ๖. บางครั้งมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะเกิดอุปกิเลส ๑๐ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นในญาณนี้

       อุปกิเลสนั้นมี ๑๐ ประการ คือ

          ๑) โอภาส แสงสว่าง เรานั่งกัมมัฏฐาน บางทีเห็นแสงสว่างเท่าแสงหิ่งห้อย เท่าแสงเทียนไข เท่าตารถยนต์ เท่าตารถไฟ

          บางครั้งมีแสงสว่างทั้งห้อง จนสามารถมองเห็นตัวเอง

          บางทีสว่างคล้ายๆกับไม่มีฝากั้น เรานั่งอยู่ในห้องกัมมัฏฐานหรือกลดกัมมัฏฐาน เห็นสถานที่ต่างๆ มาปรากฏอยู่ในที่ใกล้ๆ

          บางทีผู้ที่นั่งอยู่กุฏิ เห็นประตูเปิดออกๆ บางทีลืมตาดูก็มี ยกมือไปปิดก็มี เดินไปปิดก็มี

          บางทีเห็นดอกไม้ มีสี มีกลิ่น สวยสดงดงาม อยู่หน้าพระเจดีย์ก็มี

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากหัวใจของเรา

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากลูกตาทั้งสอง

          บางทีเห็นแสงสว่างพุ่งออกจากศีรษะของเรา แล้วก็ลอยไปสู่ข้างนอก

          บางทีเห็นแสงสว่างเกิดอยู่ข้างนอก พุ่งเข้ามาสู่ตัวของเราก็มี

          อันนี้ถ้าผู้ใดเกิดก็ขอให้ทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

          ๒) ปีติ ความอิ่มใจ ความเอิบอิ่ม มีลักษณะดังนี้ คือ

             (๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ

                 (๒) ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ

              (๓) โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ

              (๔) อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน

              (๕) ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน

              อธิบาย

              (๑) ขุททกาปีติ ปีติเล็กๆน้อยๆ จะมีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน พองหนอ ยุบหนอ อยู่นั้น จะเห็นสีขาวๆ เหมือนปุยฝ้ายหรือสำลีปรากฏ ในขณะนั้นคล้ายๆจะมองเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่ยังไม่เห็น

                 ๒. มีอาการเยือกเย็น น้ำตาไหล หนังหัวพองสยองเกล้า

                 เวลาประพฤติปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา บางคนเคยมาพูดกับหลวงพ่อว่า หลวงพ่อ ผมนี้มีจิตใจเข้มแข็งพอสมควร พ่อตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แม่ตาย ผมก็ไม่เคยร้องไห้ แต่ทำไมเวลามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน นั่งอยู่เฉยๆ น้ำตามันก็ไหลออกมาแล้ว นี่เป็นลักษณะของปีตินี้

                 ๓. บางครั้งมีตัวชา ตัวพองขึ้น

             ๔. บางทีปรากฏตัวของเรามันใหญ่ออกๆๆ จนเต็มห้องกัมมัฏฐานก็มี บางทีปรากฏตัวของเรามันเล็กลงไปๆๆ เท่าเด็กน้อย เท่ากบ เท่าเขียด ก็มี

             ๕. บางครั้งปรากฏขายาว แขนยาว ฟันยาว อันนี้เป็นลักษณะของขุททกาปีติ

              (๒) ขณิกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ในขณะที่เรากำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะปรากฏเห็นสีแดงๆด่างๆ เหมือนกันกับพระอาทิตย์แรกอุทัย หรือเหมือนกันกับจีวรของพระภิกษุสามเณร

                 บางครั้งปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับสายฟ้าแลบ

                 บางทีปรากฏในจักขุทวารเหมือนกับตีเหล็กไฟ

                 บางทีแสบทั่วกาย

                 บางครั้งเหมือนกับมีแมลงเม่ามาจับหรือไต่ตามตัว

                 บางทีร้อนตามตัว

                 บางครั้งหัวใจสั่นๆไหวๆ เหมือนกันกับจะเป็นโรคหัวใจอ่อน

                 บางทีขนลุกขนชันบ่อยๆ แต่ไม่มากนัก

                 บางทีคันยุบๆ ที่โน้นบ้าง คันยิบๆ ที่นี้บ้าง เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว

                 บางครั้งปรากฏเหมือนมีปลามาตอด บางทีคล้ายๆกับน้ำร้อนที่กำลังเดือดพล่านเกิดขึ้นมา

              (๓) โอกกันติกาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเห็นแสงเหลืองๆเหมือนกันกับดอกผักตบ

                 ๒. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง

                 ๓. มีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า

                 ๔. บางทีมีอาการสั่นๆ บางทีมีอาการสูงๆต่ำๆ เรานั่งอยู่บนเตียงบนตั่ง คล้ายกับเตียงกับตั่งจะคว่ำ

                 ๕. คลื่นไส้ดุจจะอาเจียน บางครั้งอาเจียนออกมาจริงๆก็มี

                 ๖. เป็นดุจระรอกซัด

                 ๗. บางทีสั่นระรัวๆ เหมือนกับไม้ปักไว้ในน้ำไหล

                 ๘. กายโยกไปโยกมา นั่งไม่ตรง

                 ๙. มีอาการสะบัดร้อนสะบัดหนาว คล้ายๆกับจะเป็นไข้

                 ๑๐. มีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย

                 ๑๑. บางครั้งเหมือนกับแล่นโต้คลื่นอยู่ในน้ำไหล

                 ๑๒. ปรากฏว่าร่างกายของเราผิดปกติ

                 ๑๓. บางทีมีเสียงคล้ายๆกับพรายกระซิบ ตีสี่ คล้ายกับมีคนมาปลุกว่า “ลุกๆ ลุกขึ้นเดินจงกรม ลุกขึ้นปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน” เสียงนี้ ถ้าผู้ใดสนใจในเสียงอะไรก็จะได้ยินเสียงนั้น

                    ผู้สนใจในเสียงแคน ก็จะได้ยินเสียงแคน

                    ผู้สนใจในเสียงพิณ ก็จะได้ยินเสียงพิณ

                    ผู้สนใจในเสียงดนตรี ก็จะได้ยินเสียงดนตรี

                    ผู้สนใจในเสียงทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสัตว์นรก เสียงเทพบุตรเทพธิดา

                    ผู้สนใจในเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ก็จะได้ยินเสียงไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์

                    ผู้สนใจในเสียงเทศน์ ก็จะได้ยินเสียงเทศน์

                    บางคน เมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา นึกว่าภูตผีปิศาจมาหลอกมาหลอน เกิดอาการกลัวขึ้นมาก็มี แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติต่างหาก

              (๔) อุพเพงคาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. ในขณะที่เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่ ปรากฏเหมือนกันกับมีสีไข่มุก สีขี้รม สีนุ่น มาปรากฏเฉพาะหน้า

                 ๒. บางครั้งปรากฏกายของเรามันสูงขึ้นๆ จนเสียดฟ้าก็มี

                 ๓. บางครั้งลงท้อง ท้องเดิน เป็นบิด ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนเจ็บท้อง แต่ว่าเวลาประพฤติปฏิบัติไป อาการเหล่านี้หายไป คือแทนที่มันจะปวดอย่างนี้ตลอดเวลา เรากำหนด “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีมันเกิดขึ้นมาอีก เรากำหนดว่า “ปวดหนอๆ” หายวับไป บางทีปวดอย่างหนักจนถ่ายออกมาเป็นเลือดก็มี ตกอกตกใจจนให้ลูกให้หลานเอาล้อ (รถเข็น) เข็นไปไว้ที่บ้านก็มี แต่เมื่อไปถึงบ้านแล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แทนที่มันจะกำเริบก็ไม่กำเริบ แล้วก็กลับมาปฏิบัติอีกก็มี

                 ๔. มีอาการสัปหงกไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง

                 ๕. บางครั้งคล้ายๆกับมีคนมาจับศีรษะของเราหมุนไปหมุนมา คล้ายๆกับคอของเราไม่มีกระดูก

                 ๖. บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหน้า ผงะไปข้างหลัง บางครั้งคล้ายกับคนมาผลักข้างหลัง คะมำไปข้างหน้า

                 ๗. บางครั้งปรากฏปากงับๆบ้าง อ้าปากบ้าง หุบปากบ้าง เคี้ยวปากบ้าง

                 ๘. ตัวไหว ตัวเอน โยกโคลง

                 ๙. กายหกคะเมน ถลำไป คือเดินจงกรมไม่ตรง

                 ๑๐. บางครั้งกายกระโดดขึ้นปลิวไป คล้ายๆว่าจะเหาะได้ในขณะนั้น

                 ๑๑. กายกระดุกกระดิก ยกแขนยกเท้า

                 ๑๒. กายเงื้อมไปมาข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ข้างซ้ายข้างขวาบ้าง

                 ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น หากว่าเราเป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้สอนเขา หรือเราปฏิบัติธรรมร่วมกัน ก็ขอให้ช่วยกัน พยายามไปผลักไว้ ไปดันไว้เสียก่อน ให้ตัวมันตรงเสียก่อนแล้วจึงค่อยปล่อย ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะได้สมาธิสมาบัติหรือมรรคผลนั้น ไม่ได้ เหตุนั้นต้องช่วยกัน

                 ๑๓. บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าหงาย คล้ายกับมีคนมาจับคว่ำลง บางครั้งมือของเราวางอยู่ในท่าคว่ำ คล้ายกับมีคนมาหงายขึ้น บางทีเรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก คล้ายกับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เรานั่งหันหน้าไปทางทิศใต้ คล้ายๆกับนั่งหันหน้าไปทางทิศเหนือ

                 ๑๔. เรานั่งตัวตรงๆอยู่ คล้ายๆกับร่างกายของเรามันโอนไปเอนมา เหมือนกันกับต้นอ้อที่ลู่ไปตามลมฉะนั้น



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 พฤษภาคม 2563 16:20:34

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/SWU0J_PEgCHLtNh5Y9m0lhQCbpyE8i-ryXwMofyyE9SpoFIYxad16V_7-j5fKDjwVGIGQDGyYLW06mBiFgvTIqhdeGIUWp3BXxXBZxn8t3WUtuGQGC4O3MDDSJoebJEiVNko3v7pxVM-JuqLJr4LRFOw5PKtvLp4XQ-bLEtA)

วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

(๕) ผรณาปีติ มีลักษณะดังนี้ คือ

                 ๑. จะปรากฏในจักษุทวารเหมือนกับสีคราม สีเขียวใบตองอ่อน สีเขียวมรกต มาปรากฏเฉพาะหน้า

                 ๒. มีอาการแผ่ซ่านเยือกเย็นไปทั่วสรรพางค์กาย

                 ๓. สงบเป็นพักๆ

                 ๔. ซึมๆ ไม่อยากลืมตา

                 ๕. ไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย

                 ๖. บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากเท้าถึงศีรษะ บางครั้งมีอาการซู่ซ่าจากศีรษะถึงเท้า คล้ายๆกับมีภูตผีปีศาจมันวิ่งมาตามร่างกายของเรา

                 ๗. ทำให้เพลิดเพลิน สนุกสนาน อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่ได้นานๆ

                 ๘. บางที เปลือกตาที่ปิดอยู่ก็ไม่อยากเปิดขึ้นเลย บางครั้งเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติเข้าใจว่าตนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปีติ

          ปีติ ๕ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ถึงจะเป็นอย่างไรก็ใช้ได้ ถ้าท่านผู้ใดเป็น ก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

          ๓) ปัสสัทธิ จิตและเจตสิกสงบมาก มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีอาการสงบเงียบเหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่

             (๒) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด

              (๓) พอใจในการกำหนด และกำหนดได้ดี

              (๔) เยือกเย็น สบายๆ ไม่กระวนกระวายใจ

              (๕) ความรู้สึกเงียบไป คล้ายๆกับหลับไป

              (๖) บางทีมีอาการคล่องแคล่วดีมาก คล้ายๆกับร่างกายของเราไม่มีน้ำหนัก

              (๗) สมาธิดี ไม่เผลอ ไม่ลืม

              (๘) ความคิดปลอดโปร่งดีมาก คือเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ก็ดี เดินจงกรมอยู่ก็ดี จิตใจของเราปลอดโปร่งผิดปกติ

              (๙) บางที คนที่เคยเป็นคนดุร้ายทารุณ เคยฆ่าเคยประหารมาแล้ว ก็จะพิจารณาเห็นว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ละเอียดมาก ส่วนเรายังไกลมาก ต่อไปเราจะละความชั่วกระทำแต่ความดี บางคนที่เคยเป็นพาลเกเร เคยติดเหล้าติดสุรา เคยติดฝิ่นติดกัญชามาแล้ว ก็จะเลิกละนิสัยเดิมได้ เลิกสูบบุหรี่ได้ เลิกกินหมากได้ นิสัยจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนกับหน้ามือเป็นหลังมือ

          ๔) สุข ความสบายกายสบายใจ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีความสุขความสบายใจดีมาก อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย

              (๒) มีความยินดี เพลิดเพลิน สนุกสนานในการประพฤติปฏิบัติ

              (๓) อยากพูดอยากคุยเรื่องที่ตนปฏิบัติมานั้นให้ผู้อื่นรู้ บางทีก็ภูมิใจ ดีใจ อยากพูดอยากคุย อยากพูดกับคนโน้นคนนี้ว่า “คุณ ฉันปฏิบัติไป ฉันเห็นนู้น ฉันเห็นนี้” ชอบเอาสภาวะที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติมาเล่าสู่ผู้อื่นฟัง

              (๔) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ที่ได้แนะนำพร่ำสอน

              (๕) บางทีเห็นหน้าของครูบาอาจารย์มาอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆกับท่านจะมาช่วยเรา

              (๖) บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระอรหันต์ ดังที่เราทั้งหลายได้ฟังทางวิทยุบ้าง ทางทีวีบ้าง จากหนังสือพิมพ์บ้างว่า นั่งกัมมัฏฐานไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปฟังเทศน์พระพุทธเจ้า นั่งกัมมัฏฐานไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า อะไรทำนองนี้ ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องของสุขอุปกิเลสต่างหาก คือเมื่อสภาวะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เราคิดอยากเห็นอะไรก็เห็นสิ่งนั้น เราคิดถึงสวรรค์ก็เห็นสวรรค์ คิดถึงพรหมโลกก็เห็นพรหมโลก คิดถึงครูบาอาจารย์ก็เห็นครูบาอาจารย์ คิดถึงพระอรหันต์เห็นพระอรหันต์ นึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อสภาวะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวัง อย่าวิ่งไปตามอำนาจสุขอุปกิเลสดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

              เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ท่านทั้งหลาย สีหน้าของผู้ปฏิบัติจะอิ่มเอิบ ร่าเริง เบิกบานเป็นอย่างมาก บางครั้งก็เข้าใจว่าตนได้บรรลุวิชชา ปฏิสัมภิทา ได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

          ๕) ศรัทธา ความเชื่อ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) เชื่อและเลื่อมใสมากเกินไป อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๒) อยากให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๓) อยากให้ทุกคนได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๔) อยากทำบุญทำทาน อยากสร้าง อยากปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ

              (๕) อยากให้การปฏิบัตินั้นก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

              (๖) บางทีนึกอยากไปชวนคนโน้นคนนี้มาปฏิบัติ

              (๗) อยากนำของไปถวายครูบาอาจารย์

              (๘) อยากออกบวช อยากอยู่ที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ อยากอยู่นานๆ ไม่อยากออกง่าย

              (๙) บางทีก็อยากไปประกาศไปโฆษณาให้คนทั้งหลายได้รู้ว่า สมัยนี้มรรคผลพระนิพพานยังมีอยู่ พระอริยบุคคลยังมีอยู่ อยากให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

              (๑๐) บางทีก็เกิดความเชื่อมั่นขึ้นว่า ธรรมะที่เราปฏิบัติอยู่นี้ เป็นธรรมะที่วิเศษที่สุด ไม่มีธรรมะอื่นใดจะเสมอเหมือนได้ และเป็นธรรมะที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน

              (๑๑) บางครั้งก็นึกถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์ ที่ได้อุตส่าห์พยายามแนะนำพร่ำสอนให้ตนได้รู้ได้เข้าใจ โดยที่ไม่คำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากของตนเองเลย อันนี้เป็นลักษณะของศรัทธา

          ๖) ปัคคัยหะ ความเพียร มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ขยันมากเกินไป ครูบาอาจารย์จะยุไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นบ้าได้ ความเพียรในภาคปริยัติกับความเพียรในภาคปฏิบัตินั้นไม่เหมือนกันท่านทั้งหลาย ความเพียรในด้านปริยัตินี้ เราต้องคิดเอาว่า วันนี้จะเดินจงกรมเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง วันนี้จะนั่งเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง ต้องคิดเอา แต่ความเพียรด้านปฏิบัตินี้ไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะทำให้คิดมาก นั่งอยู่ ๕ นาที คิดไปร้อยเรื่องพันเรื่อง อย่างนี้แสดงว่า ปัคคัยหะคือความเพียรนั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านทั้งหลายต้องมีสติ ถ้าขาดสติอาจจะเป็นบ้าไปก็ได้

              (๒) ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ บางทีเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจแกล้วกล้าในการประพฤติปฏิบัติ ขยันลุกขึ้นปฏิบัติ ทั้งอาจหาญ อดทน ไม่เกียจคร้าน ไม่ถอยหลัง ไม่มีใครบอก ไม่มีใครเตือน ขยันเองตามธรรมชาติ บางทีก็มีความพยายามดี ประคองใจไว้มั่นคง บางทีก็อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากพูดจากับใครๆ อันนี้เป็นลักษณะของความเพียร

          ๗) อุปัฏฐาน สติเข้าไปปรากฏชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) มีสติมากเกินไป ทำให้ผู้ปฏิบัตินึกถึงแต่เรื่องอดีต อนาคต ทิ้งอารมณ์ปัจจุบันเสียเป็นส่วนมาก

              (๒) บางครั้งนึกถึงแต่อดีตที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่นานๆโน้น เช่น ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้นเราเป็นเด็กเป็นเล็ก เคยทำอย่างนั้นพูดอย่างนี้ เป็นต้น

              (๓) บางครั้งคล้ายๆกับจะระลึกชาติหนหลังได้ บางท่านระลึกได้จริงๆ ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้างก็มี

              (๔) นึกถึงแต่ข้างหน้า คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อเราออกจากห้องกัมมัฏฐานนี้ไป เราจะไปสร้างห้องกัมมัฏฐาน เราจะสอนกัมมัฏฐาน เราจะเทศน์ให้ดีสอนให้ดี เป็นต้น บางทีก็คิดอยากจะส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติให้ได้ผลมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

          ๘) ญาณ ความรู้ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ความรู้ด้านปริยัติกับปฏิบัติเข้าผสมกัน ทำให้ผู้ปฏิบัติอวดดีสู้ครู เหตุนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่สอนยากเบอร์หนึ่งก็คือพระ เบอร์สองก็คือโยมผู้ชาย ผู้สอนง่ายก็คือโยมผู้หญิง เพราะเหตุไรพระเราจึงสอนยาก เพราะว่า พระเรานี้เคยศึกษาเล่าเรียนมาแล้ว จบนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก มหาเปรียญ พระอภิธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติก็จะเอาปริยัติมาจับ พิจารณาทบทวนว่าตรงกันไหม หรือขัดแย้งกันตรงไหน เป็นต้น

              (๒) ชอบวิพากษ์วิจารณ์อารมณ์ต่างๆ เช่น พองเป็นเกิด ยุบเป็นดับ เป็นต้น

              (๓) ผู้ปฏิบัติจะนึกถึงหลักฐานที่ตนเคยศึกษาเล่าเรียนมาจากสำนักครูบาอาจารย์ มาเปรียบเทียบกันว่าจะตรงกันไหม หรือจะขัดแย้งที่ตรงไหน

              (๔) ไม่ได้ปัจจุบัน ส่วนมากเป็นวิปัสสนึก คือนึกเอาเอง ไม่ใช่วิปัสสนา แต่ตนเองเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

          ๙) อุเปกขา มีลักษณะดังนี้ คือ

              ใจเฉยๆ ไม่ดีใจไม่เสียใจ บางทีก็หลงๆลืมๆ พองยุบก็ปรากฏมัวๆ ลางๆ บางครั้งไม่เห็นอาการพองอาการยุบ บางครั้งใจลอยๆเลือนๆ คล้ายๆกับไม่ได้คิดอะไร บางทีพองยุบนี้ ประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีไม่มีอาการกระวนกระวายใจ ใจสงบดี บางครั้งไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น เมื่อก่อนโน้นเราอยากเป็นโน้นอยากเป็นนี้ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้ปฏิบัติไม่อยากได้ดิบได้ดีอะไรทั้งนั้น บางครั้งคล้ายๆกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ขณะนั้นคล้ายๆว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน มันหมดไปสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว คือกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายไม่มารบกวน เลยทำให้เข้าใจว่าตนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

          ๑๐) นิกันติ ความใคร่ มีลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) พอใจในอารมณ์ต่างๆ เช่น แสงสว่าง ปีติ ปัสสัทธิ สุข ศรัทธา สติ ความเพียร ญาณ อุเปกขา เป็นต้น

              (๒) พอใจในนิมิต เช่นว่า เรานั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเจดีย์ เห็นพระพุทธรูปที่หุ้มด้วยทองคำอร่ามเรือง ก็อยากเห็นอีก หายไปแล้วก็อยากเห็นอีก บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา ก็อยากเห็นอีก สมกับเป็นอุปกิเลสแท้

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย อุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางท่านก็เป็นครบหมดทุกอย่าง แต่บางท่านก็เป็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ใช้ได้ ท่านผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๓ แล้ว

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่ออุปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ให้ผู้ปฏิบัติรีบกำหนด ถ้ากำหนด ๒-๓ ครั้งไม่หาย ให้เข้าใจเถิดว่า สติ สมาธิ ปัญญา ของเรายังหย่อน รีบไปเดินกำหนดเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป แต่ถ้ากำหนดครั้งเดียวหายไปเลย ตนเองก็ผงะไปข้างหลัง ตกใจบ้างเล็กน้อย อย่างนี้ดี เข้าเขตญาณที่ ๔ อย่างแก่ๆ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สมถะกัมมัฏฐานกับวิปัสสนากัมมัฏฐานแยกกันนะ แยกกันที่ตรงนี้ คือญาณที่ ๑ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๒ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ ญาณที่ ๓ ก็ยังอยู่ในเขตสมถะ เป็นวิปัสสนาเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ ไป เป็นวิปัสสนาญาณล้วน ได้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์

       ๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ถ้าผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ระยะ เช่น เรากำหนด “ยุบหนอ” อย่างนี้ จะเห็นอาการยุบของเรามันยุบลงไปเป็นหยักๆ เป็นห้วงๆลงไป เหมือนเราหายใจไม่พอ คล้ายๆกับเราหายใจเป็นสองจังหวะ ผู้มีปัญญามากจะมีลักษณะดังนี้

          ๒) เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลาเรากำหนด ยกขึ้นกับเหยียบลงนั้นปรากฏชัด แต่ท่ามกลางไม่ชัด

          ๓) เวทนาหายเร็ว เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่เวลากำหนด “ปวดหนอๆ” ๒-๓ ครั้งก็หาย

          ๔) มีนิมิตมาก นั่งกัมมัฏฐานไป เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เป็นต้น แต่เวลากำหนดมันหายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย

          ๕) มีแสงสว่างคล้ายไฟฟ้า คล้ายไฟนีออน แสงสว่างนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะสว่างเล็กๆน้อยๆ เท่าเทียนไข เท่าไฟฉาย แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะสว่างมาก บางครั้งเรานั่งไป เห็นไฟฟ้า เห็นไฟนีออน เห็นตะเกียงเจ้าพายุ เห็นดวงดาว เห็นดวงอาทิตย์ เป็นต้น

          ๖) ผู้มีสมาธิดีจะดับวูบลงไปบ่อยๆ เหมือนกันกับตกหลุมอากาศหรือเหยียบบันไดข้ามขั้น

          ๗) ผู้ปฏิบัติจะกำหนดติดต่อไปเป็นสายไม่ขาดระยะ เหมือนกับด้ายสนเข็ม

          ๘) อาการเกิดดับที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น

          ๙) เวลาเรากำหนด “คู้หนอ” จะเห็นอาการคู้หายวับไปทันที ไม่สืบเนื่องกันเลย เวลาเรากำหนด “เหยียดหนอ” จะเห็นอาการเหยียดหายวับไปเลย ไม่สืบเนื่องกันเลย เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะว่า รูปปรมัตถ์เกิดที่ไหนดับที่นั้น

          ๑๐) อารมณ์ที่เรากำหนดและอาการเกิดดับนั้นปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และกำหนดได้สะดวกสบายดี และมีจิตใจผ่องแผ้วขึ้นอีกเป็นอันมาก

          ให้ผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นว่า ดีชั่วไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็คือ (๑) ปฏิบัติ (๒) กำหนด การปฏิบัติจึงจะได้ดีขึ้น

          ๑๑) มีอาการสัปหงกไปมา ข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง แรงบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่อำนาจของสมาธิ ถ้าสมาธิดีก็ปรากฏแรง ถ้าสมาธิไม่ดีก็ปรากฏเบาๆ ท่านเรียกว่า สันตติขาด พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ

              (๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “แน่นหนอๆ” มันแน่นขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน

                   (๒) บางครั้งเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป อย่างนี้เรียกว่า อนัตตาปรากฏชัด แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้ ไม่รู้ว่าอันนี้เป็นอนิจจัง อันนี้เป็นทุกขัง อันนี้เป็นอนัตตา

          สรุปแล้วท่านทั้งหลาย

          อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง

          อาการพองยุบของเราฝืดๆอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด เป็นลักษณะของทุกขัง

          อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ เป็นลักษณะของอนัตตา

          แต่ผู้ปฏิบัติจะไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่า อันนี้มันเร็ว อันนี้มันใจจะขาด อันนี้สม่ำเสมอ ถึงจะรู้หรือไม่รู้ก็เป็นพระไตรลักษณ์

       อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ผู้ใดไม่มีบุญไม่เกิด ผู้ใดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด พระเราถ้าไปต้องอาบัติปาราชิกมาแล้ว ญาณนี้ก็ไม่เกิด ผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ไตรเหตุ คือไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ ญาณนี้ก็ไม่เกิด แต่ถ้าญาณนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้มรรคผลพระนิพพานในชาตินี้

       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าเป็นก็ขอได้โปรดทายเถิดว่า เราได้ถึงญาณที่ ๔ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็ขออย่าได้ประมาท พยายามทำต่อไป

       ๕. ภังคญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเฉพาะความดับไปของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น สุดพอง สุดยุบ ปรากฏชัดดี แต่ท่ามกลางไม่ชัด เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน เวลายกขึ้นและก้าวไปไม่ปรากฏชัด แต่เวลาเราเหยียบลงปรากฏชัดเจนดี บางทีเหมือนกันกับมีอะไรมาสูบเอาเท้าของเราไปติดแน่นอยู่กับพื้นก็มี บางทีเรากำหนด “เหยียบหนอ” อยู่นี้ เท้าของเรามันค้างอยู่ ต้องเหวี่ยงอย่างแรง หัวคะมำไปก็ดี

          ๒) อารมณ์ที่กำหนดไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

          ๓) พองยุบหายไป ผู้ปฏิบัติกำหนดว่า “รู้หนอๆ” เสร็จแล้วความรู้ก็หายไป

          ๔) คล้ายๆกับไม่ได้กำหนดอะไร คล้ายๆกับนั่งอยู่เฉยๆ บางท่านพิจารณาเห็นว่า เอ๊ะ! เรามานั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ภาวนาว่ากระไร มันจะได้บุญที่ตรงไหน อย่างนี้ก็มี

          ๕) พองยุบกับจิตผู้รู้หายไปๆ ผู้ปฏิบัติก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ผลสุดท้ายความรู้ก็หายไป

          ๖) พองยุบห่างๆ จางๆ ไม่ชัดเจนดี

          ๗) ไม่เห็นสัณฐานหน้าท้อง มีแต่อาการตึงๆ อยู่ตลอดเวลา

          ๘) บางครั้งไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ ไม่เห็นพองไม่เห็นยุบ

          ๙) บางครั้งอาการพองอาการยุบหายไปตั้งหลายวันจนเกิดความเบื่อหน่าย ถ้าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้ท่านทั้งหลายพยายามลุกขึ้นไปเดินจงกรมเพิ่มอีกสัก ๕ นาที ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที จึงมานั่งต่อไป สติ สมาธิ หรือญาณ จะได้ดีขึ้น

          ๑๐) บางครั้งมีอาการวูบวาบไปตามร่างกาย บางทีก็มีอาการชาๆ ไปตามร่างกาย คล้ายๆกับคนเอาร่างแหมาครอบ

          ๑๑) บางทีอารมณ์กับจิตหายไปพร้อมๆกัน ครั้งแรก รูปหายไปก่อน ใจยังรู้อยู่ ครั้งต่อมาอารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่กำหนดก็หายไปพร้อมกัน

          ๑๒) บางครั้ง อุปปาทะ ฐิติ ภังคะ คือ ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนามมีอยู่ แต่ผู้ปฏิบัติไม่สนใจดู ไปสนใจดูเฉพาะความดับไปของรูปนามเท่านั้น บางครั้งเรากำหนดอะไรๆไม่ปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้ง คล้ายๆกับเราอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆหรือโล่งๆ ปรากฏเห็นแต่หมอกสลัวๆ มัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง เรามองดูต้นไม้ก็ปรากฏสั่นๆ เรามองดูกุฏิวิหารก็ปรากฏสั่นๆ เรากำหนดอาการพองอาการยุบก็มัวๆ ลางๆ ไม่เห็นอาการพองอาการยุบก็มี บางทีเรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อาการพองอาการยุบประเดี๋ยวเห็นประเดี๋ยวหาย บางทีรูปนามที่เรากำหนดอยู่นั้นปรากฏเร็ว คล้ายๆกับรูปนามเหล่านั้นจะมารอคอยให้เรากำหนดอยู่ก่อนแล้ว

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ สภาวะของญาณนี้ชัดเจนแล้ว เราเดินจงกรมอยู่ก็ปรากฏง่วงๆ เดินไปหลับไปๆ เรานั่งสมาธิก็เหมือนกัน คล้ายๆกับนั่งหลับ นั่งไปหลับไปๆ เหมือนกับเราง่วงนอนมาแต่หลายๆวัน แต่ไม่เป็นอาการหลับนะ คือรูปนามขันธ์ห้ามันดับไป มีแต่อาการดับปรากฏชัด ถ้าลักษณะดังนี้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านเข้าใจเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๕ แล้ว

       ๖. ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) อารมณ์ที่กำหนดกับจิตที่รู้ทันกัน หายไปพร้อมกัน จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว

          ๒) มีความกลัว แต่ไม่ใช่กลัวเปรต กลัวผี กลัวศัตรู

          ๓) เห็นรูปนามหายไป ดับไป สิ้นไป สูญไป จึงปรากฏเป็นของน่ากลัว

          ๔) รู้สึกเสียวๆ ตามร่างกาย เราลูบตามแขนของเราก็ปรากฏเสียวๆ เราลูบบนศีรษะของเราก็ปรากฏเสียวๆ คล้ายกับเป็นไข้ คล้ายกับเป็นโรคประสาท

          ๕) นึกถึงพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติมิตร ที่จากมาแต่นานๆโน้น ก็ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนจะเป็นบ้า

          ๖) บางครั้งกลัวมากจริงๆ ชั้นที่สุด เห็นตุ่มน้ำ เห็นเสาเตียง เห็นกบ เห็นเขียด เห็นวัว เห็นควาย ก็กลัว ร้องห่มร้องไห้ขึ้นมา เหมือนกับคนเป็นบ้า

          ๗) บางคนเพียงแต่ว่า เอ๊ะ ทำไมมันน่ากลัวอย่างนี้ แต่ไม่กลัวจริงๆ ก็มี

          ๘) เกิดอาการกลัวต่อความเป็นไปของรูปนามอย่างแปลกประหลาด เหมือนกับเราไปในป่าชัฏ บังเอิญไปพบกับสิงโต หรือเสือ หรืองูพิษ โดยบังเอิญ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสะดุ้งตกใจกลัวขึ้นมา

          ๙) บางทีรูปนามแสดงลักษณะอันน่ากลัวขึ้นมา เช่น นั่งกัมมัฏฐานไป สั่นระรัวๆ เหมือนกับเป็นไข้จับสั่น เหมือนกับเขาลงธรรม บางทีเหมือนกับภูตผีปีศาจมาสิงอยู่ในร่างกายของเรา บางครั้งคล้ายๆกับร่างกายของเรานี้แบ่งเป็นสองซีก ซีกหนึ่งเย็นสบาย ซีกหนึ่งร้อนจนเหงื่อออกก็มี อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖

          ๑๐) ผู้ปฏิบัติเห็นอยู่ว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบันกำลังดับอยู่ แม้รูปนามที่เป็นอนาคตก็จักดับเหมือนกัน อุปมาเหมือนกันกับผู้หญิงคนหนึ่ง มีบุตรสามคน ตายไปแล้วคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งกำลังตายอยู่คามือ ก็เป็นเหตุให้ทอดอาลัยว่า ผู้อยู่ในท้องก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน

          การที่เห็นลูกคนที่หนึ่งตายไปแล้ว เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่ดับไปแล้ว

          การที่เห็นลูกคนที่สองกำลังตายคามืออยู่ เท่ากับผู้ปฏิบัติเห็นรูปนามที่กำลังดับอยู่ในปัจจุบัน

          การที่หมดอาลัยในลูกที่อยู่ในท้อง คล้ายกับผู้ปฏิบัติพิจารณาเห็นความดับของรูปนามในอนาคต

       สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย เหมือนกับคนเป็นโรคประสาท บางทีเราเคยนั่งกัมมัฏฐานได้ตั้ง ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ นั่งเพียง ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๖

       ๗. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ผู้ดูพองดูยุบ จะเห็นอาการพองอาการยุบหายไปทีละนิดๆ

          ๒) พองยุบปรากฏมัวๆ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง

          ๓) เห็นรูปนามไม่ดี น่าเบื่อหน่าย เป็นของปฏิกูล เป็นรังของโรคนานาชนิด

          ๔) เห็นรูปนามปรากฏเร็ว แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่

          ๕) เห็นรูปนามเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์โทษ ไม่จีรังยั่งยืน บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา

          ๖) จะกำหนดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ไม่ดี เพราะล่วงปริยัติ มีแต่ปฏิบัติ

          ๗) บางทีผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติวันนี้สู้วันก่อนๆไม่ได้

          ๘) มีอาการหงุดหงิดหวาดผวา ซ้ำแลเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเสมือนเต็มไปด้วยเลือดด้วยหนอง ขึ้นอืด เน่าเฟอะ

          ๙) ผู้ปฏิบัติเห็นว่ารูปนามเป็นของปฏิกูลน่าเกลียด น่าเบื่อหน่าย ไม่น่ายินดี เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นรังของโรคนานาชนิด

          ๑๐) ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติกำหนดลงไป ณ ที่ใด ก็เห็นแต่เป็นของไม่ดีไม่งามไม่สวยทั้งนั้น

          ๑๑) ผู้ปฏิบัติจะพิจารณาเห็นว่า เมื่อก่อนโน้น เราเห็นว่ารูปนามเป็นของดี เคยชอบใจติดใจหลงใหลมานานแล้ว แต่บัดนี้เห็นว่ารูปนามเป็นของไม่ดี เป็นของปฏิกูล น่าเกลียด โสโครก ทั้งร่างกายตน ทั้งร่างกายผู้อื่น

       ท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ หากว่าสภาวะนี้เกิดชัดเจนแจ่มแจ้งดีแล้ว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ บางทีคันคอ บางทีจาม บางทีไอ บางทีน้ำลายไหล บางทีหิว บางทีกระหาย อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๗

       ๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) เกิดความเบื่อหน่ายในอารมณ์ที่กำหนดอยู่นั้นยิ่งนัก จะหาความรื่นเริงสักนิดก็ไม่มี

          ๒) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับขี้เกียจ แต่ยังกำหนดได้ดีอยู่

          ๓) ไม่เบิกบานแจ่มใส เอือมๆ เบื่อๆ เหมือนกันกับพลัดพรากจากของรักของชอบใจ

          ๔) เมื่อก่อนได้ยินเขาพูดกันว่าเบื่อ แต่ไม่รู้ว่าเบื่ออย่างไร บัดนี้รู้แล้วว่าเบื่อจริงๆ

          ๕) เมื่อก่อนเห็นว่าอบายภูมิเท่านั้นไม่ดี ส่วนมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก ยังดีอยู่ บัดนี้เห็นว่า แม้มนุษย์ แม้สวรรค์ แม้พรหมโลก ก็ไม่มีอะไรดีเลย เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น

          ๖) กำหนดรูปนามไม่เพลิดเพลินเลย ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นว่าเป็นของไม่ดีไม่สวยไปทั้งนั้น

          ๗) ไม่อยากพูดจากับใครๆ อยากอยู่ในห้องเงียบๆ แต่เพียงคนเดียวเท่านั้น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากเห็น แม้ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากให้มาสอบอารมณ์ อยากให้หยุดเสียก่อน

          ๘) รู้สึกแห้งแล้ง คล้ายกับอยู่ในสนามหญ้ากว้างๆ โล่งๆ ในฤดูร้อน ซึ่งไม่มีต้นไม้ ไม่มีเงาไม้มาบัง มีแต่แดดมาแผดเผาให้หญ้าเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น

          ๙) รู้สึกหงอยเหงา ไม่เบิกบาน ไม่รื่นเริง ไม่อยากแต่งเนื้อแต่งตัว หน้าตาหม่นหมอง เศร้าๆโศกๆ เหมือนกันกับลูกตาย ผัวตาย เมียตาย ของหาย ฉะนั้น

          ๑๐) เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีรับประทานอาหารไปแล้วอาเจียนอยู่ทั้งวันก็มี คือเบื่ออาหาร นอนก็น้อย พูดก็น้อย

          ๑๑) บางคนพิจารณาเห็นว่า ลาภยศที่ตนต้องการเมื่อก่อนโน้น ไม่เห็นมีอะไรดีเลย ที่ได้ลาภได้ยศ เป็นเจ้านาย เป็นเศรษฐี เป็นคุณหญิงคุณนายมีสายสะพายโตๆ ไม่เห็นแปลกอะไร เกิดขึ้นมาแล้วก็ตายไปด้วยกันทั้งนั้น

          ๑๒) กำหนดอารมณ์ครั้งใดก็มีแต่ความเอือมระอา หมดความรู้สึกเพลิดเพลินยินดี ไม่เบิกบานใจ แต่ยังไม่ละการกำหนด ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก

       ญาณนี้สำคัญนะท่านทั้งหลาย เบื่อแล้วก็ยังไม่เลิก ยังพยายามกำหนดต่อไปอีก
 



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 พฤษภาคม 2563 16:22:54

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/SWU0J_PEgCHLtNh5Y9m0lhQCbpyE8i-ryXwMofyyE9SpoFIYxad16V_7-j5fKDjwVGIGQDGyYLW06mBiFgvTIqhdeGIUWp3BXxXBZxn8t3WUtuGQGC4O3MDDSJoebJEiVNko3v7pxVM-JuqLJr4LRFOw5PKtvLp4XQ-bLEtA)

วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สรุปแล้วว่า เมื่อปฏิบัติมาถึงญาณนี้ท่านทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจะมีอาการเบื่อมาก

       บางทีผู้อยู่ในครอบครัวจะเบื่อครอบครัวอยากออกบวช พระสงฆ์สามเณรก็เบื่อหน่ายวัดวาอาราม เบื่อหน่ายญาติโยม อยากไปอยู่ในที่สงัด อยากประพฤติปฏิบัติจริงๆ ไม่อยากให้ใครมารบกวน บางทีก็เบื่ออาหาร เบื่อเมืองมนุษย์ เบื่อเทวโลก เบื่อพรหมโลก หนักเข้าก็เบื่อการปฏิบัติ ไม่อยากประพฤติปฏิบัติ แต่ยังไม่ละการปฏิบัติ ยังพยายามปฏิบัติต่อไปอีก อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๘

       ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม เกิดความเบื่อหน่ายแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น ไปจากรูปจากนาม มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) มีอาการคันยุบๆ ที่โน้นที่นี้ เหมือนกันกับมดไต่ไรคลานตามเนื้อตามตัว คืออาการคันนี้ ถ้าอยู่ในญาณที่ ๓ จะคันเล็กๆน้อยๆ เหมือนกันกับมีตัวเรือดตัวไรมาไต่มาตอม แต่ถ้าถึงญาณที่ ๙ นี้จะคันมาก เกาก็เกาแรง บางทีเป็นตุ่มขึ้นมาทั้งตัวก็มี

          ๒) ลุกลี้ลุกลน ผุดลุกผุดนั่ง จะนั่งกำหนดก็ไม่ได้ดี นอนกำหนดก็ไม่ได้ดี

          ๓) กำหนดอิริยาบถน้อยใหญ่ก็ไม่ได้ดี

          ๔) ใจหงุดหงิด เอือมๆ เบื่อๆ อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน เห็นว่าทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

          ๕) กลุ้มใจ คิดอยากกลับบ้าน นึกว่าตนหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว บางคนก็เก็บบริขารกลับวัดกลับบ้านก็มี บางคนก็มาลากลับบ้าน ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ให้จะกระโดดน้ำตาย อย่างนี้ก็มี ที่เป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของปฏิจจสมุปบาทอวิชชา ความโง่เป็นเหตุให้เกิดสังขาร แต่ผู้ปฏิบัติกำหนดไม่ทัน อาการเช่นนี้จึงเกิดขึ้น เหตุนั้น อาจารย์ต้องเป็นผู้มีจิตวิทยา รู้จักปลอบโยน รู้จักชี้แจงแสดงไขให้ผู้ปฏิบัติยินดีในการประพฤติปฏิบัติ

          ๖) บางทีมีเวทนามารบกวนมาก เช่น อาการขบเมื่อย ปวด ชา จุก เสียด คัน แต่เวลาเรากำหนดจะเห็นว่าเวทนาหายไปเป็นท่อนๆ หายไปเป็นเสี่ยงๆ หายไปเป็นซีกๆ คล้ายๆกับเราหยิบเอาเวทนาออกทิ้งไปแล้ว

          ๗) มีอาการคันยุบๆยิบๆ ที่โน้นบ้าง ที่นี้บ้าง จนเหลือที่จะอดเหลือที่จะทน เหมือนกับคนเอาหมามุ่ยหรือตำแยไปโรยบนที่นอนก็มี

          ๘) จิตใจไม่แน่นอน อยากให้ความทุกข์ ความเสื่อม และเวทนาที่เป็นสังขารทุกข์ที่มารบกวนอยู่นี้หายไป

          ๙) อยากถึงพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะอยากถึงพระนิพพาน แต่การอยากถึงพระนิพพานนั้น อยากถึงเอง ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

          ๑๐) กำหนดครั้งใดก็เห็นแต่ทุกข์แต่โทษของรูปนาม จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัตินั้นอยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากรูปนามอย่างจริงจัง

          ท่านอุปมาเหมือนกันกับปลาที่ติดอยู่ในข่ายในแห อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากแหฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนกันกับกบที่อยู่ในปากของงู อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากปากของงูฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนไก่ป่าที่ติดอยู่ในกรง อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากกรงฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนช้างที่ติดหล่ม อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากหล่มฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

          หรืออุปมาเหมือนกับบุรุษที่อยู่ในวงล้อมของข้าศึก อยากออก อยากหนี อยากพ้นไปจากวงล้อมของข้าศึกฉันใด ใจของผู้ปฏิบัติก็เหมือนกันฉันนั้น

       สรุปแล้วท่านทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตใจของผู้ปฏิบัติไม่แน่นอน เดินจงกรมก็ไม่อยากเดิน บางทีเดินจงกรมแล้วก็ไม่ยอมกำหนด เดินก็สักแต่ว่าเดิน กำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้นาน เมื่อก่อนโน้นเคยกำหนดได้ ๑ ชั่วโมง หรือ ๒-๓ ชั่วโมงก็มี แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กำหนด ๕ นาทีก็ไม่ได้ อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๙

       ๑๐. ปฏิสังขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) จะปรากฏเหมือนกันกับคนเอาเข็มแหลมๆ ไม้แหลมๆ เอาเหล็กแหลมๆ มาแทงที่ร่างกายของเรา ปรากฏเสียวแปลบๆขึ้นมาก็มี

          ๒) บางครั้งปรากฏเหมือนกับคนเอาเลื่อยมาตัดตามร่างกายของเรา เสียวแปลบๆขึ้นมา

          ๓) บางทีมีเวทนามาก ปวดที่โน้น เจ็บที่นี้ แต่หายเร็ว กำหนดเพียง ๒-๓ ครั้งก็หาย บางทีมีอาการซึมๆ ไม่อยากลืมตา

          ๔) บางทีมือแข็ง แขนแข็ง ตัวแข็ง เหมือนกันกับเข้าผลสมาบัติ แต่ใจยังรู้อยู่ หูยังได้ยินเสียงอยู่ บางทีมีอาการตึงๆ หนักๆ เหมือนกับคนเอาท่อนเหล็กหนักๆ ท่อนไม้หนักๆ หรือก้อนดินหนักๆ มาทับบนร่างกายของเรา

          ๕) บางทีมีอาการอึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด

          ๖) บางทีร้อนทั่วสรรพางค์กาย

          ๗) บางทีทั้งร้อน ทั้งเย็น ทั้งเจ็บท้อง ทั้งอาเจียน

       อันนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๐

       ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) ไม่กลัว ไม่ยินดี ใจเฉยๆอยู่กับรูปกับนาม บางครั้งอาการพองอาการยุบก็ปรากฏชัด

          ๒) ไม่ยินดี ไม่เสียใจ มีสติสัมปชัญญะดี ไม่เผลอจากรูปนาม

          ๓) จำง่าย กำหนดได้สะดวกสบายดี

          ๔) ผู้มีสมาธิดีจะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้นานๆ เหมือนกันกับคนขี่รถบนถนนลาดยางที่เรียบๆ ทำให้เพลิดเพลินจนลืมเวลาไปก็มี

          ๕) ยิ่งนานยิ่งละเอียด เหมือนกับคนร่อนแป้ง ยิ่งร่อนยิ่งละเอียด

          ๖) ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่รำคาญ ไม่หงุดหงิด รูป เสียง กลิ่น รส ไม่ปรากฏมารบกวนได้เลย เมื่อก่อนโน้น เรานั่งกัมมัฏฐานก็หงุดหงิดอย่างโน้นบ้าง หงุดหงิดอย่างนี้บ้าง เขามาแสดงดนตรีใกล้บ้านใกล้ที่อยู่ของเราก็หงุดหงิดขึ้นมา แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ท่านทั้งหลาย อาการดังกล่าวมาแล้วข้างต้นก็ไม่มีเลย บางทีเขามาเล่นภาพยนตร์อยู่ใกล้วัดของเราใกล้บ้านของเรา สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้สบายๆ

          มีพระภิกษุรูปหนึ่ง มาปฏิบัติอยู่ที่นี่ วันนั้นเขาก็มีมหรสพอยู่นี้แหละ เขามาแสดงหมอลำเรื่อง หมอลำหมู่ ขณะนั้นครูบาอาจารย์หลายๆรูปมาอยู่ด้วยกัน มาอยู่ในห้องหลวงพ่อ พอดีพอเขาแสดงหมอลำเรื่อง ก็พูดกันว่า “วันนี้เรามาแข่งสมาธิกัน ถ้าใครแพ้ก็ลุกไป ถ้าใครไม่แพ้ก็นั่งไป” คือนั่งสมาธิแข่งกัน ว่าผู้ใดจะทำสมาธิได้ ก็พากันกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “ได้ยินหนอๆๆ” ผู้ที่ทำไม่ได้ก็หายไปทีละรูปสองรูป ผลสุดท้ายเหลือแต่หลวงตาสังข์รูปเดียว นั่งสมาธิขาดความรู้สึกอยู่นั้นจนหมอลำเรื่องเขากลับ เมื่อแกรู้สึกตัวขึ้นมา ถามว่า หมอลำเรื่องไปไหน หมอลำหมู่ไปไหน เขากลับบ้านแล้ว นี้แหละท่านทั้งหลาย ถ้าอุเบกขานี้มากๆแล้ว ผู้ปฏิบัติจะไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญกับรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ใดๆทั้งสิ้น

          ๗) บางที โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคลมบ้าหมู โรคกระเพาะอาหาร โรคความดันสูง เป็นต้น เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ บางท่านก็หายเด็ดขาดไปเลยก็มี บางท่านก็หายไปชั่วครั้งชั่วคราว มีหลายๆคนหายในลักษณะดังนี้

          มีโยมคนหนึ่ง เมื่อก่อนเขาเป็นกุมภัณฑยักษ์ เวลาเกิดขึ้นมาแล้วต้องเอาน้ำมารด บางครั้งตั้งแต่หัวค่ำจนย่ำรุ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา คนทั้งหลายว่าเป็นกุมภัณฑยักษ์ สำหรับสามีของแกนั้นบอกว่า ภูตผีปีศาจมาหลอกมาหลอน สามีของแกไปเรียนแพทย์แผนโบราณบ้าง ไปเรียนแพทย์แผนปัจจุบันบ้าง มารักษาก็ไม่หาย ไปเรียนมนต์กลคาถา ไปเรียนธรรมมาปราบก็ไม่หาย

          ปีนั้นหลวงพ่อไปสอนกัมมัฏฐานที่บ้านเหมือดแอ่ แกมาปฏิบัติ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมา หลวงพ่อก็บอกว่า คุณโยม อันนี้ไม่ใช่ภูตผีปีศาจ ไม่มีอะไรหรอก แต่ว่าเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ทัน อาการอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อไปเมื่อลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น ให้กำหนดว่า “หยุดหนอๆ หยุด!” หรือว่าอย่างนี้มันยังไม่หาย เวลามันเกิดขึ้นมาเรากำหนด “หยุด!” มันจะได้หายไป แล้วแกเอาไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติดังนั้นก็หายมาจนถึงบัดนี้ คือลักษณะดังกล่าวนั้นไม่เกิดขึ้นเลย คนทั้งหลายก็หาว่าหลวงพ่อมีเวทมนต์กลคาถาศักดิ์สิทธิ์ คนโน้นก็มาปฏิบัติ คนนี้ก็มาปฏิบัติ แต่ที่จริงไม่ใช่นะท่านทั้งหลาย เรามีสติ เพียงเท่านั้นก็พอ

       ดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ท่านทั้งหลาย เป็นลักษณะของอุเปกขา คือเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ โรคภัยไข้เจ็บนั้นสามารถจะหายไปได้ แล้วก็สามารถนั่งกัมมัฏฐานได้นานๆ สมมติว่าเราจะนั่งกัมมัฏฐานเพียง ๓๐ นาที ทำให้เพลิดเพลิน เลยเวลาไป ๑ ชั่วโมงบ้าง ๓ ชั่วโมงบ้าง ๖ ชั่วโมงบ้างก็มี อันนี้เป็นลักษณะของอุเปกขา

       ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้ใดเป็นบ้าง ถ้าผู้ใดเป็นก็โปรดทายเถิดว่า เราถึงญาณที่ ๑๑ แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้ไม่ถึง ก็อย่าประมาท พยายามทำต่อไป ญาณที่ ๑๑ จบ

       ๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นอริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เตรียมตัวเข้าสู่พระนิพพานโดยอาการ ๓ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

       ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสินนะท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ว่าเรามาปฏิบัติธรรมครั้งนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นไหนอย่างไรนั้น ให้ผู้ปฏิบัติตัดสินเอา หรือว่านับตั้งแต่เราได้เกิดมา ได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาจนถึงบัดนี้ เราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วหรือยัง ญาณนี้เป็นญาณขั้นตัดสิน เหตุนั้นขอให้ท่านทั้งหลายโปรดเทียบให้ดี ญาณนี้มีลักษณะดังนี้ คือ

          ๑) อนิจจัง ผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด มีลักษณะดังนี้ คือ

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วก็สัปหงกลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ลงข้างล่าง เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

          หลังจากนั้นทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามเรามาแต่หลายชาติหลายภพ หลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน ตามกำลังของมรรค

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเลย

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตไม่ได้

          ๒) ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ภพก่อนชาติก่อนโน้น เคยเจริญสมถะกัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางทุกขัง คือ จะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางท่านก็แน่นมากจริงๆ จนถึงขั้นกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” แล้วก็ดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีก็ทรุดวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้ เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็ปวดหัว บางทีก็งง บางทีก็เลิก ไม่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นที่ตั้งมิได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นที่ตั้งมิได้

          ๓) อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อน หรือตั้งแต่ปุเรกชาติโน้น เคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมา จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้

          ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบเราก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ 

          หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้

            หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ

          พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ

          ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้น ชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ ในแนวทางของการปฏิบัติรู้เท่านี้ แต่ถ้าปริยัติไม่รู้อย่างนี้ สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ

       วิถีจิตของมันทบุคคล คือคนที่มีปัญญาน้อย ชวนจิตดวงที่ ๑ จะมีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๒ ขณะ

       วิถีจิตเวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร คือมันลงหัวใจไปเสียก่อน ขึ้นจากมโนทวารมาจึงจะได้กำหนด ชวนจิตดวงที่ ๑ บริกรรม ชวนจิตดวงที่ ๒ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๓ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๔ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๕ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๖ ที่ ๗  สองขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์

       แต่ถ้าเป็นวิถีจิตของติกขบุคคล คือคนที่มีปัญญามาก มีบุญมาก ชวนจิตดวงที่ ๑ จะไม่มีบริกรรม แต่ผลจิตจะมี ๓ ขณะ คือในขณะที่จะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อตีตังภวังค์ ภวังค์อดีต ภวังคจลนะ ภวังค์สะเทือน ภวังคุปัจเฉทะ ตัดกระแสภวังค์ มโนทวาราวัชชนะ ลงทางมโนทวาร ขึ้นจากมโนทวารมา การกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้ไม่ได้ว่าเลย มันเฉียดมรรคไปแล้ว ใกล้มรรคไปแล้ว

       ชวนจิตดวงที่ ๑ อุปจาระ ชวนจิตดวงที่ ๒ อนุโลม ชวนจิตดวงที่ ๓ โคตรภู ชวนจิตดวงที่ ๔ มรรค ชวนจิตดวงที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ สามขณะนี้ ผล เสร็จแล้วจึงจะลงภวังค์ ขึ้นจากภวังค์มาจึงจะได้พิจารณา

       ผู้เป็นติกขบุคคลนี้หายาก ร้อยคนจึงจะมีสักคนหนึ่ง ติกขบุคคลนี้ บางทีวันเดียวผ่านการปฏิบัติไปแล้ว แล้วก็สามารถเข้าผลสมาบัติไปได้นานๆ

       เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่า ผม หรือ ฉัน ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานแล้วละสิ อาจจะคิดอย่างนี้นะท่านทั้งหลาย เหตุนั้น ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดอย่างนี้ เพราะว่าการดับเหมือนมรรคผลพระนิพพานนั้นมีมาก เช่น

       ๑. ปีติในญาณสาม เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” เกิดปีติขึ้นมา สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับไปด้วยอำนาจของปีติในญาณสาม

       ๒. ปัสสัทธิในญาณสาม เมื่อกำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” จิตและเจตสิกสงบมาก กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สงบเงียบ ขาดความรู้สึกลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของปัสสัทธิในญาณสาม

       ๓. สมาธิในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ” “ยุบหนอ” เรากำหนดได้ดี ไม่เผลอ ไม่ลืม กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ทั้งๆสติของเรามันดีอยู่ มันสงบวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของสมาธิในญาณสาม

       ๔. อุเบกขาในญาณสาม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐาน ใจลอยๆเลือนๆ ใจของเรามันเพลินไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส เพลินไปๆ สัปหงกวูบลงไป นี้มันดับด้วยอำนาจของอุเบกขาในญาณ ๓

       ๕. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ชอบจะเป็นตอนดึกๆ หรือตอนที่เรารับประทานอาหารอิ่มๆ กำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี เวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ตาซึมๆอยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป ตาใสขึ้นมาแล้ว เพราะในขณะที่สัปหงกวูบลงไปนั้น จิตของเรามันลงภวังค์ เมื่อลงภวังค์ก็หายง่วง     

        ท่านทั้งหลายจะเอาอาการเพียงเท่านี้มาตัดสินว่าเราได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นไม่ได้นะ เพราะว่าการบรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นต้องจำได้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา คือมันจำได้จริงๆ ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูก ต้องรู้จริงๆ ไม่ใช่เดาเอา ไม่ใช่คาดคะเนเอา จึงจะใช้ได้ คือหมายความว่า ตอนจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะใช้ได้ พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติ ๓ ครั้ง

       คือในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราเร็วขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนิจจัง

       อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง

       อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วดับวูบลงไป สัปหงกวูบลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา

       สรุปอีกครั้งหนึ่ง เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้นอาการพองอาการยุบของเรามีอาการเร็วขึ้นๆๆ สัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ แน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป อาการพองยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้เฉพาะญาณที่ ๑๒ กับญาณที่ ๑๖ เท่านั้น ญาณที่ ๑๔, ๑๕ จำไม่ได้ เพราะว่ามันดับไปแล้ว

       บางคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ เวลาอยู่ในญาณที่ ๑๕, ๑๖ นั้นรู้ไหม ?” ตอบว่า “รู้” ก็ได้ “ไม่รู้” ก็ได้ ที่ตอบว่า “รู้” คือมันรู้เหนือโลก แต่คนทั้งหลายในโลกจะเห็นว่าไม่รู้ แต่วิถีจิตของเขา เขาบอกว่ารู้ ที่ตอบว่า “ไม่รู้” คือไม่รู้โลกีย์ ไม่รู้อย่างคนธรรมดา ถ้ารู้อย่างคนธรรมดาก็เป็นพระนิพพานไม่ได้ เพราะพระนิพพานนั้นเป็นขันธวิมุตติ ถ้ามีขันธ์ ๕ อยู่เพียงขันธ์เดียวก็เป็นพระนิพพานไม่ได้

       ต่อไป อริยสัจ ๔ ผู้ปฏิบัติต้องเห็นอริยสัจ ๔ จึงจะใช้ได้ อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณไหน ?  อริยสัจ ๔ เห็นตรงญาณที่ ๑๒ ญาณอื่นไม่เห็น

       อริยสัจ ๔ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน อาการพองยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆ เป็นลักษณะของอนิจจัง เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันพองขึ้น เส้นขนหนึ่ง สองเส้นขน สามเส้นขน นี้เป็นลักษณะของสมุทัย คือตัวเหตุ เมื่อมีเหตุก็มีผล อาการพองสูงขึ้นๆ นั้นเป็นตัวทุกขสัจ คือมันทนอยู่ไม่ได้ อาการพองยุบกับความรู้สึกของเราดับไป เป็นตัวนิโรธสัจ ปัญญาที่ทราบชัดตั้งแต่เริ่มพอง กลางพอง สุดพอง จนถึงอาการพองอาการยุบดับลงไป เป็นตัวมัคคสัจ นี่อริยสัจ ๔ เวลาปฏิบัติรู้เท่านี้ท่านทั้งหลาย แต่ถ้าเอาปริยัติมาจับ ไม่รู้อย่างนี้

       สมมติว่าเราเอาปริยัติมาจับ เวลาจะบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ในอริยสัจ ๔ ทุ แปลว่า ชั่วหยาบ ทุ แปลว่า ปราศจากของสวยของงามคือตัวตน ขะ แปลว่า ทน คือมันทนอยู่ไม่ได้ อะไรทนอยู่ไม่ได้

       รูป ๒๘ เจตสิก ๕๒ โลกิยจิต ๘๑ รวมเป็น ๑๖๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       รูป ๒๘ คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       เจตสิก ๕๒ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       โลกิยจิต ๘๑ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง รวมเป็น ๘๑ นี้เป็นตัวทุกขสัจ

       ย่อให้สั้น ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูป ๒๘ เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิก เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ เป็นสังขารขันธ์ จิตทั้งหมด เป็นวิญญาณขันธ์

       ย่อให้สั้น ได้แก่ รูปกับนาม คือ รูปทั้งหมด เป็นรูปขันธ์ นามจิตกับนามเจตสิก เป็นนามขันธ์

       กว่าเราจะเรียนให้รู้ให้เข้าใจ ทั้งปีก็ยังไม่จบท่านทั้งหลาย แต่เวลามาประพฤติปฏิบัติ เพียงแป๊บเดียวเท่านั้นก็ผ่านไปแล้ว

       ต่อไป กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่ กิเลสถ้าดื้อ มี ๑๒ ตัว คือ โลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒

       ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๑ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๑ ถึงนิพพานครั้งที่ ๑ โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๒ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๒ ถึงนิพพานครั้งที่ ๒ โลภะ ละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม แต่โทสะละไม่ได้ แต่อ่อนกำลังลง โมหะ ก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๓ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๓ ถึงนิพพานครั้งที่ ๓ โลภะ ก็ยังละได้ ๔ ตัวเท่าเดิม โทสะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ นี้แหละท่านทั้งหลาย ความโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ความโกรธนั้นดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน

       สำหรับกามราคะ คิดอยากมีครอบมีครัว มีลูกมีเมีย มีลูกมีผัว อยากสร้างครอบสร้างครัว เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ กามราคะนั้นก็ดับไป สิ้นไป สูญไป จากขันธสันดาน สำหรับโมหะก็ยังละได้ ๑ ตัวเท่าเดิม คือ วิจิกิจฉา

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานผ่านญาณ ๑๖ ครั้งที่ ๔ เห็นอริยสัจ ๔ ครั้งที่ ๔ ถึงนิพพานครั้งที่ ๔ โลภะจึงจะละได้ครบทั้ง ๘ ตัว โมหะ ละได้เกลี้ยงไม่มีเหลือ

       นี่แหละท่านทั้งหลาย คนเราจะดื้อหรือไม่ดื้ออยู่ที่ตรงนี้ ถ้าปฏิบัติถึงนี้ รับรองว่าหายดื้อ แต่ถ้าปฏิบัติไม่ถึงนี้ รับรองว่าไม่หายดื้อ ดังที่เราทั้งหลายเห็นลูกๆหลานๆของเราทำไม่ดี พ่อกำนันบ้าง พ่อสารวัตบ้าง กรรมการวัดบ้าง จับมาปฏิญาณตน สาบานตน ต่อหน้าพระประธาน ต่อหน้าครูบาอาจารย์ ว่าตั้งแต่บัดนี้ข้าพเจ้าจะไม่ก่อกรรมทำเข็ญอีกต่อไปแล้ว จะตั้งอกตั้งใจรักษาศีล ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แล้วก็ปล่อยไป ยังไม่ถึงอาทิตย์ ไปขโมยไก่เขามาต้มกินแล้ว ไปตีหัวเขาแล้ว เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ เพราะเวลามันว่ามันว่าแต่ปาก ใจมันไม่ว่า เพราะเหตุไรจึงไม่ว่า เพราะใจยังมีกิเลส เพราะเหตุไรจึงไม่เขี่ยออก เราจะเอาอะไรไปเขี่ย เราจะเอาไม้หรือก้านไม้ขีดไฟไปเขี่ยมันเขี่ยไม่ออก ต้องเอาธรรมะไปเขี่ยจึงจะออก แต่ถ้าปฏิบัติมาถึงนี้รับรองว่าหายดื้อ

       มีบุรุษคนหนึ่งตีกันกับตำรวจ เขาจับไปไว้ในคุกบางขวาง ยังอีก ๒ เดือน หมายหัวไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าออกไปนี้จะไปฆ่าล้างแค้น ๕ ศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย ดี! เขามีข้าวให้กิน มันคิดอย่างนี้นะ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่า เอ๊ะ! เขามีกัมมัฏฐานให้ปฏิบัติ อยากทดลองปฏิบัติพระกัมมัฏฐานดู ไปจับสลากถูก ๒ เดือน ให้ปฏิบัติเดือนเดียว เมื่อปฏิบัติผ่านไปแล้วลุกขึ้นยืนสารภาพต่อหน้านักโทษสามพันคนเศษว่า ท่านทั้งหลาย เมื่อก่อนโน้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าบุญบาปไม่มี ข้าพเจ้าพ้นโทษไปนี้ข้าพเจ้าจะไปฆ่าล้างแค้นห้าศพ ฆ่าเลย คุกตะรางเป็นของเล็กน้อย แต่บัดนี้ข้าพเจ้าขอยกให้เป็นอโหสิกรรม ไม่ก่อกรรมทำเข็ญต่อผู้ใดอีกต่อไปแล้ว หากข้าพเจ้าพ้นโทษไป ข้าพเจ้าขอบวชในพระพุทธศาสนา จะช่วยครูบาอาจารย์เผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้รับรองว่าหายดื้อ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น บางท่านอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! หลวงพ่อ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ถ้าจะว่าเราจำได้ก็คล้ายๆกับจำไม่ได้ แต่ถ้าจะว่าจำไม่ได้ก็คล้ายๆกับว่าจำได้ มันห้าสิบห้าสิบ ไม่กล้าตัดสิน

       ถ้าว่าลักษณะดังนี้ยังมีอยู่ หลวงพ่อขอน้อมเอาธรรมะ คือ ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มาให้ท่านทั้งหลายเปรียบเทียบอีกครั้งหนึ่ง ดังที่พระองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ตสฺมาติหานนฺท ธมฺมาทาสํ ธมฺมปริยายํ เป็นอาทิ ดูก่อนอานนท์ ผู้ปฏิบัติธรรมผู้ใดได้บรรลุหรือไม่ได้บรรลุ มีเครื่องตัดสิน นิยมเรียกว่า ธัมมาทาสะ กระจกคือพระธรรม มี ๔ ประการ คือ

       ๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว

       ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยศีลอันเป็นที่รักของพระอริยบุคคล

       ผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว

       ข้อที่ ๑. พุทเธ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามี ๒ ประการ คือ

          ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสอย่างปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ เราก็กราบก็ไหว้ แต่ถ้าว่ามีผู้ใดใครผู้หนึ่งมาประกาศมาโฆษณาว่า ศาสนานั้นเขาดีอย่างนี้นะ ศาสนานี้เขาดีอย่างนี้นะ ลัทธินั้นเขาดีอย่างนั้นนะ เราอาจจะผละจากศาสนาของเราไปถือศาสนาอื่นก็ได้ เพราะยังเป็นปกติศรัทธาอยู่

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง ดีจริง อย่างนี้ ตัวอย่าง เช่น สุปปพุทธกุฏฐิ

          สุปปพุทธกุฏฐินี้เป็นคนจนด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย วันหนึ่งไปฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับเหล่าประชาชนทั้งหลาย นั่งอยู่ไกลๆโน้น ไม่กล้าเข้ามาใกล้ เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ เมื่อฟังธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ส่งจิตส่งใจไปตามกระแสธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็คิดอยากจะเข้าไปกราบทูลคุณสมบัติเฉพาะพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่กล้าเข้าไป เกรงคนอื่นเขาจะรังเกียจ

          ในขณะนั้นพระอินทร์ทรงทราบแล้วแปลงร่างเป็นคนแก่ๆ มาทดลอง “ดูก่อนสุปปพุทธกุฏฐิ จนๆอย่างเธอนี้ ว่าซิ ว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรมไม่ใช่พระธรรม พระสงฆ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเรา พระธรรมไม่ใช่ของเรา พระสงฆ์ไม่ใช่ของเรา ถ้าเธอพูดได้ ฉันจะให้เงินให้ทอง เธอจะเอาเท่าไรฉันจะหาให้”

       


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 29 พฤษภาคม 2563 16:25:13

(https://lh3.googleusercontent.com/proxy/SWU0J_PEgCHLtNh5Y9m0lhQCbpyE8i-ryXwMofyyE9SpoFIYxad16V_7-j5fKDjwVGIGQDGyYLW06mBiFgvTIqhdeGIUWp3BXxXBZxn8t3WUtuGQGC4O3MDDSJoebJEiVNko3v7pxVM-JuqLJr4LRFOw5PKtvLp4XQ-bLEtA)

วิปัสสนาญาณ ๑๖ (ต่อ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      สุปปพุทธกุฏฐิพูดว่า “เอ๊ะ! ท่านเป็นใครมาจากไหน?”

          “ฉันเป็นเทวดา ฉันเป็นพระอินทร์ ฉันมาจากเทวโลก”

          “ไปๆ เทวดาอันธพาล อย่ามาพูดกับขัาพเจ้าว่าข้าพเจ้าเป็นคนจน ข้าพเจ้าไม่จน ส่วนท่านนี้เป็นคนจน”

          พระอินทร์หายวับเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า วิสัยของคนถึงธรรมนี้ ถึงจะจนแสนจน เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า เพียงแต่ให้ว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเลย พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่ของเรา เพียงแต่ให้ว่าเท่านี้ก็ไม่ว่า แม้เราจะให้เงินให้ทองสักเท่าไรก็ไม่เอา พระพุทธเจ้าข้า

          พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ลูกของอาตมภาพไม่จน จนก็จนแต่ทรัพย์ภายนอกเท่านั้น ส่วนทรัพย์ภายในนั้นไม่จน เสร็จแล้วพระองค์จึงทรงยกอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการมาตรัสเทศนาว่า

                           สทฺธาธนํ สีลธนํ                หิริโอตฺตปฺปิยํ ธนํ

                           สุตธนญฺจ จาโค จ             ปญฺญา เว สตฺตมํ ธนํ

          อริยทรัพย์ ๗ ประการ ทรัพย์คือศรัทธา ทรัพย์คือศีล ทรัพย์คือหิริ ทรัพย์คือโอตตัปปะ ทรัพย์คือสุตะ ทรัพย์คือจาคะ ทรัพย์คือปัญญา

                           ยสฺส เอตา ธนา อตฺถิ          อิตฺถิยา ปุริสสฺส วา

          ผู้ใดมีอริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จะเป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม

                           อทฬิทฺโทติ ตํ อาหุ             อโมฆํ ตสฺส ชีวิตํ

          ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าจากประโยชน์เลย เป็นคนร่ำรวยที่สุด

          เหตุนั้น อริยทรัพย์ทั้ง ๗ ประการนี้ จึงถือเป็นข้อปฏิบัติมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างไม่หวั่นไหว

       ข้อที่ ๒. ธมฺเม อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมอย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระธรรมก็มีอยู่ ๒ ประการคือ

          ๑) ปกติศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ บางทีก็สร้างพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์พระคาถา ฉลองกันอย่างมโหฬารก็มี แต่เป็นปกติศรัทธา อาจจะเปลี่ยนแปลงก็ได้ อาจจะหมดความเลื่อมใสในพระศาสนาก็ได้

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมของพระองค์ดีจริง มีจริง ผู้ใดประพฤติจริงก็ได้บรรลุอย่างนี้ ตัวอย่างนางวิสาขามหาอุบาสิกา

          วันหนึ่งไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมาภิสมัย กลับมาบ้าน พญามารมันแปลงร่างมาทดลอง คือพญามารนั้นมันแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วน ตีสี่ ไปเคาะประตูบ้านนางวิสาขา ปังๆๆ นางวิสาขาเปิดประตูออกมา พญามารก็บอกว่า

          แน่ะเธอ เมื่อวานนี้ เธอไปฟังเราตถาคตเทศน์ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ผิดไปนะ เมื่อวานนี้ เราตถาคตเทศน์ว่า รูปนามขันธ์ห้า เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกขัง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอสุภะ เป็นของไม่สวยไม่งาม ผิดแล้วนะ แก้เสียใหม่ แก้อย่างนี้ ว่ารูปนามขันธ์ห้า เป็นนิจจัง คือเที่ยง เป็นสุขัง คือเป็นสุข เป็นอัตตา คือเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะ คือเป็นของสวยของงาม แก้เสียใหม่นะแก้อย่างนี้

          นางวิสาขาก็บอกว่า เอ๊ะ นี่ท่านเป็นมารหรือ เท่านั้นแหละพญามารก็ว่า อย่าถามชื่อกันสิ ก็หายเตลิดไปเลย

          นี้แลท่านทั้งหลาย วิสัยของคนถึงธรรม แม้ว่าพญามารจะแปลงร่างเหมือนพระพุทธเจ้าทุกสัดทุกส่วนไปทดลองก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว เพราะรู้เฉพาะตนแล้ว

       ข้อที่ ๓. สงฺเฆ อเวจฺจปฺปสาเทน สมนฺนาคโต ประกอบไปด้วยความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว ความเชื่อความเลื่อมใสในพระสงฆ์ก็มีอยู่ ๒ ประการ คือ

          ๑) ปกติศรัทธา ความเชื่อความเลื่อมใสตามปกติธรรมดา เหมือนกันกับประชาชนคนไทยเราทั้งหลายเลื่อมใสอยู่ทุกวันนี้ เราเห็นพระเจ้าพระสงฆ์ เราก็เคารพ กราบไหว้ สักการะบูชา ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามกำลังศรัทธาของเรา แต่ถ้าว่าพระเจ้าพระสงฆ์ไปทำอะไรผิดเล็กๆน้อยๆ อาจจะหมดความเลื่อมใสก็ได้ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ “หลวงพ่อ หนูไม่อยากนับถือพระสงฆ์ หนูขอนับถือแต่พระพุทธเจ้า พระธรรม กับหลวงพ่อได้ไหม” แค่นี้เราก็รู้ทันทีว่า คนนี้ยังเป็นปกติศรัทธาอยู่

          ๒) ภาวนาศรัทธา เป็นความเชื่อความเลื่อมใสที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนาผ่านญาณ ๑๖ ไปแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เป็นผู้ปฏิบัติตรงจริง เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์จริง ก็มีความเลื่อมใส ตัวอย่างภรรยาของภารทวาชพราหมณ์ คือมีเรื่องเล่าไว้ในพระธัมมบท ขุททกนิกายว่า

          ภรรยาของภารทวาชพราหมณ์นี้ สมัยที่ยังเป็นสาวอยู่ ไปฟังเทศน์ ไปปฏิบัติธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เมื่อเจริญวัยขึ้นมา ได้แต่งงานกับภารทวาชพราหมณ์ผู้ถือศาสนาพราหมณ์ วันหนึ่งผู้เป็นสามีจะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ คน ก็พูดกับภรรยาว่า แม่หนู พรุ่งนี้พี่จะเลี้ยงพราหมณ์ ๑๐๘ นะ ห้ามหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์นะ ถ้าหนูพูดเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พี่จะตัดคอหนูด้วยดาบเล่มนี้ นางก็พูดว่า เอ๊ะ ฉันนับถือ ฉันเลื่อมใส ฉันพูดมันจะผิดที่ตรงไหน แต่สามีก็ไม่ว่ากระไร

          ตื่นเช้าขึ้นมา พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ เข้าไปสู่ตระกูลของสองสามีภรรยา ผู้เป็นสามีก็ยกสำรับกับข้าวถวายพราหมณ์คนโน้น ถวายพราหมณ์คนนี้ แต่ผู้เป็นภรรยา แม้ว่าตนจะนับถือศาสนาพุทธ ก็ต้องช่วยสามียกสำรับกับข้าวให้คนโน้นคนนี้กลับไปกลับมา เท้าไปสะดุดกับพื้นกระดาน ตกใจเปล่งอุทานขึ้นว่า ช่วยด้วยคุณพระช่วยด้วย นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส พอพราหมณ์ ๑๐๘ ได้ฟังเท่านั้นก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำลังเคี้ยวอาหารอยู่ก็บ้วนทิ้ง กำหลังถือคำข้าวอยู่ก็ขว้างทิ้ง ด่าปริภาสสองสามีภรรยาเป็นอเนกประการแล้วก็หลีกไป ไม่ยอมบริโภค

          ผู้เป็นสามีก็คิดว่า เอ๊ะ! เราจะทำอย่างไรดี ถ้าเราจะฆ่ามันก็ตายเปล่าๆ คิดกลับไปกลับมาๆ เราไปถามครูของมันดีกว่า ออกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปแล้วก็ยืนถามเลย

          พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะอยู่เป็นสุข ?

          โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะอยู่เป็นสุข

          พระสมณะโคดม ฆ่าอะไรได้จึงจะไม่เศร้าโศก ?

          โกธํ ฆตฺวา น โสจติ ฆ่าความโกรธได้จึงจะไม่เศร้าโศก

          เอ๊ะ! เก่งจริงๆ เราถามอะไรก็ตอบได้หมด เลื่อมใส ขอบวชในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชแล้วได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน บรรลุเป็นพระอรหันต์ บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต

       อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย เรียกว่า เคารพเลื่อมใสในพระสงฆ์อย่างไม่หวั่นไหว

       ข้อที่ ๔. อริยกนฺเตน สีเลน สมนฺนาคโต มีศีลมั่นเป็นนิตย์ ศีลนี้ถ้าผู้ใดไม่ถึงธรรม สัตว์ก็อาจจะฆ่าได้  เจ็บท้อง เขาบอกว่ากินเหล้าจึงจะหาย เราก็อาจจะกินได้ แต่วิสัยของคนถึงธรรมสัตว์ตัวเดียวไม่ยอมฆ่า เจ็บท้องเขามาว่ากินเหล้าจึงจะหาย ไม่ยอมกิน มันจะตายชั่วโมงนี้นาทีนี้ก็ไม่ยอมกิน รักษาศีลยิ่งกว่าชีวิต เป็นไท ไม่ถูกตัณหาแตะต้อง  เป็นไปพร้อมเพื่อสมาธิ

       ผู้ใดเพียบพูนสมบูรณ์ด้วยองค์คุณสมบัติทั้ง ๔ ประการนี้ ผู้นั้นพึงพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เราได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว อย่างน้อยได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เราเป็นผู้มีคติเที่ยง มีธรรมไม่กำเริบ สมฺโพธิปรายโน เราจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า สามารถพยากรณ์ตนเองได้เลย

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อกล่าวมาถึงนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองว่า เราสามารถทำได้ไหม กระจกคือพระธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ไหม ถ้าท่านทั้งหลายสามารถประพฤติปฏิบัติได้ หรือคิดว่า ธัมมาทาสะทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องสบายๆ สำหรับเรา เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ไม่ต้องลำบากลำบนอะไร ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า เราได้บรรลุอริยมรรคอริยผลแล้ว อย่างน้อยก็ได้เป็นพระโสดาบัน แต่ถ้าเรายังไม่อาจ คือไม่กล้าจะประพฤติปฏิบัติในธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ได้ ก็ถือว่าเรายังไม่ได้บรรลุ

       เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาท พยายามเพียรปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่งข้างหน้าเรามีโอกาสจะได้บรรลุ เราอาจจะได้บรรลุในชาตินี้ หรือว่าชาตินี้เราไม่สามารถจะบรรลุ ถ้าเราพยายามทำอยู่อย่างนี้ วันหนึ่งข้างหน้าเราสามารถจะบรรลุได้ หรือว่าวันนี้เราไม่สามารถจะบรรลุได้ เวลาตายเราอาจจะบรรลุได้ หรือเวลาตายยังไม่บรรลุ อนาคตเราสามารถจะบรรลุได้

       ต่อไปขอเตือนสติท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดังนี้ คือ

       ๑. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ออกไปแล้วอย่าไปอวดกันนะ อย่าไปอวดว่าข้าพเจ้าสามารถละนิวรณ์ ๕ ประการได้ สามารถละความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน อย่างโน้นอย่างนี้ได้ ไปอวดกันไม่ได้นะ หรืออย่าไปอวดว่าข้าพเจ้านั่งสมาธิ เข้าฌานได้ ๕ นาที ๑๐ นาที ๖๐ นาที ก็ไม่ได้นะท่านทั้งหลาย หรือว่าจะไปอวดว่าข้าพเจ้าได้สำเร็จโสดาบัน อนาคามี สกิทาคามี อะไรทำนองนี้ อวดไม่ได้ ถ้าไปอวด หากว่าตนไม่ได้ไม่ถึงจริง ปรับอาบัติปาราชิก ขาดจากพระไปเลย แต่ถ้าว่าญาติโยมไปอวด ก็เป็นการตัดหนทางของตัวเอง ไม่สามารถจะประพฤติปฏิบัติให้บรรลุธรรมะขั้นสูงๆต่อไปได้ เหตุนั้นอย่าไปอวดกัน

       ๒. นักปฏิบัติธรรมจะถูกคนถามเป็น ๓ จำพวก คือ

          ๑) ถามเพื่อจับผิด ส่วนมากผู้ถามนั้นไม่มีศรัทธา เขาหาวิธีที่จะจับผิดเรา เช่น เราไม่เคยเรียนปริยัติ เขาก็เอาปริยัติมาถาม “เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นพระไตรลักษณ์ไหม เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นปฏิจจสมุปบาทไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม” เราก็ตอบไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนมา เขาก็จะว่าเอาว่า เอ๊ะ! กัมมัฏฐานบ้าๆบอๆอย่างไร แค่นี้ก็ตอบไม่ได้ เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้รู้กุศโลบายของผู้ถาม เขาถามเพื่ออะไร

          ๒) ถามเพื่อยั่วกิเลส ส่วนมากผู้ถามก็ไม่มีความเลื่อมใส เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ โดยเฉพาะระหว่างสามีภรรยา เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอย่างนั้นเห็นอย่างนี้อะไรไหม ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานอย่างไร อะไรทำนองนี้ เขาหาวิธีจะยุจะยั่วให้เราโกรธ หากว่าเราโกรธนิดเดียวเท่านั้นแหละ เขาจะทักขึ้นมาว่า ไหนว่าไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แค่นี้ก็โกรธแล้ว มันจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานอย่างไร นี่เสร็จแล้วเรา เพราะฉะนั้น เราต้องรู้กุศโลบายของผู้ถาม

          ๓) ถามเพื่อเอาอย่าง ส่วนมากผู้ถามนั้นมีศรัทธาอยากปฏิบัติ แต่อยากรู้เสียก่อนว่า เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานมันเป็นอย่างไร ถ้าเราไปบอกเขาว่ามันดับ เขาจะจำได้ว่าดับ เมื่อปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดอุเบกขา เกิดถีนมิทธะขึ้นมา เขาก็จะทึกทักขึ้นมาว่า เออ เราได้แล้ว เราดับได้แล้ว คือมันได้ของปลอมท่านทั้งหลาย ได้มรรคปลอม ผลปลอม นิพพานปลอม เหตุนั้นเราอย่าไปบอกกัน แต่ว่าแนะนำพร่ำสอนกันได้

       ๓. พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ

          ๑) อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปหลอกเขา หรือบางทีเราประพฤติปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่ได้บรรลุอริยมรรคอริยผล ก็ไปหลอกเขา เพื่อต้องการให้เขาเลื่อมใส จะได้ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมตามความประสงค์ของเรา นี้แหละ อุลลปนโสดาบัน โสดาบันขี้หลอก มีทั่วบ้านทั่วเมืองทุกวันนี้ โสดาบันประเภทนี้

          ๒) อธิมานิกโสดาบัน ได้แก่ พระโสดาบันผู้ยิ่งด้วยมานะ คือตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติมาก่อน ก็ไปอวดเขา เห็นเขาเข้าสมาธิเข้าผลสมาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปอวดเขาว่า ทำอย่างนี้ฉันทำให้ดูก็ได้ ก็แกล้งเกร็งตัวขึ้นมา ไม่ช้าไม่นานกิเลสหยาบก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วก็ทำบาปทำกรรมต่อไปอีก

          ๓) มหาโสดาบัน หมายถึงท่านผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้บรรลุอริยมรรคอริยผลจริงๆ อย่างนี้เรียกว่าเป็นมหาโสดาบัน เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       ๔. วิธีตอบผู้อื่นเวลาถูกถาม ท่านทั้งหลายออกไปแล้วจะถูกเขาถามนะ เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เห็นอริยสัจ ๔ ไหม เห็นวิสุทธิ ๗ ไหม เขาจะถามเอา ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม อะไรทำนองนี้ เขาจะถามนะ เหตุฉะนั้น เราต้องรู้วิธีตอบ

       เป็นอย่างไร ไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ดีไหม ?

       “ดี”

       ดีอย่างไร ?  

       “ทำให้ใจสบาย”

       เห็นนรกเห็นสวรรค์ไหม ?

       “เรื่องนี้ถ้าคุณอยากรู้ คุณก็ไปพิสูจน์ด้วยตนเอง”

       ได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานชั้นไหน ?

       “เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว เหมือนกับเรากินข้าว กินเองจึงจะอิ่ม กินเองจึงจะอ้วน อิ่มแทนกันอ้วนแทนกันไม่ได้”

       นี่เราตอบให้เป็น พูดแต่น้อย แต่ให้ความหมาย

       ๕. ขอให้ช่วยกันเผยแผ่สาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเราทั้งหลายได้รับความสุขอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ ก็เพราะว่าเราทั้งหลายตั้งอยู่ในร่มพุทธธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราทั้งหลายเป็นผู้ประกอบไปด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรม รู้คุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วตอบแทนบุญคุณของพระองค์ด้วยการช่วยกันแนะนำคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนทั้งหลายได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติ

       ๖. ขอให้ช่วยกันแนะนำบิดามารดาและญาติมิตร บิดามารดาของเรานั้นท่านเป็นผู้มีคุณูปการคุณแก่เรามาก เราจะหาวิธีตอบบุญสนองคุณพ่อแม่ด้วยวิธีอย่างไรก็ไม่สามารถจะตอบแทนบุญคุณของท่านได้

       แม้ว่าเราจะเอาเงินเอาทอง ผ้าผ่อนแพรพันธ์ รัตนะ ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ มากองพะเนินให้เทียมปลายพร้าวปลายตาลเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ ก็ไม่สามารถที่จะทดแทนบุญคุณของท่านได้ แม้ว่าเราจะเอาพ่อของเรานั่งบ่าขวา เอาแม่ของเรานั่งบ่าซ้าย เวลาเราไปไหนหรือท่านไปไหน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะรับประทานอาหารหรือเราจะรับประทานอาหาร ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ เวลาท่านจะหลับจะนอน ก็ให้ท่านนั่งอยู่บนบ่าของเรานั่นแหละ หรือเวลาท่านจะขี้จะเยี่ยว ก็ให้ท่านขี้ท่านเยี่ยวรดตัวเราไป จนเราตายไปหรือท่านตายไป ก็ไม่สามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้

       เว้นไว้แต่ท่านผู้ใดมาบวช หรือมาปฏิบัติเหมือนท่านทั้งหลายปฏิบัติอยู่ขณะนี้ เราปฏิบัติแล้วยังศีล ยังสมาธิ ยังปัญญา ยังบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นในขันธสันดานแล้ว เราจึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้พ่อให้แม่ จึงจะสามารถทดแทนบุญคุณของท่านได้ หรือว่ามีโอกาสมีเวลา ขอให้พ่อให้แม่ของเรามาปฏิบัติ อย่างนี้แหละท่านทั้งหลาย จึงจะทดแทนบุญคุณของพ่อของแม่ได้

       ๗. ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เรานั่งอยู่รวมกันนี้ ถือว่าเราทั้งหลายเป็นลูกพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน เราเคารพกัน นับถือกัน รักกัน ช่วยเหลือกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ดีกว่าเราชังกันเป็นไหนๆ เพราะอีกไม่ช้าไม่นาน ไม่ถึงร้อยปี เราก็จะจากกันไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

       ๘. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ต้องทำบุญทำทานอะไร พูดอย่างนี้ผิดนะท่านทั้งหลาย เพราะการทำบุญทำทานนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี ครั้งพุทธกาล แม้ท่านผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ทำบุญทำทานอยู่

       เรื่องนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระนางมหาสุมนาไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า มีคนสองคน เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน แต่คนหนึ่งชอบทำบุญทำทาน อีกคนหนึ่งไม่ชอบทำบุญทำทาน ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนมหาสุมนา คนที่ไม่ชอบทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถา ถือกระเบื้องขอทาน ถือกะลาขอข้าว หากินฝืดเคือง หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะขัดสนไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร ต้องไปของ้อของอนญาติโยมจึงจะได้ใช้

       แต่ผู้ที่ทำบุญทำทานนั้น ตายไปแล้วไปเกิดชาติใหม่ ก็จะเป็นผู้เพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติ ศฤงคาร บริวาร นานาประการ ไม่อดไม่อยาก หากออกบวชเป็นพระเป็นเณร ก็จะเพียบพูนสมบูรณ์ไปด้วยปัจจัยทั้ง ๔ สบง จีวร มีญาติมีโยมมาของ้อของอนให้ใช้

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนร่ำรวย มั่งมีศรีสุข ต้องการเครื่องประดับประดา เพชรนิลจินดาอะไร ได้ทั้งหมดตามความประสงค์ แต่ว่าไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขาให้ทานอย่างเดียว แต่ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นผู้มีรูปงาม มีทรวดทรงงาม มีผิวพรรณงาม มีโรคภัยไข้เจ็บน้อย มีอายุยืน แต่ว่าไม่รวย และไม่มีปัญญา เพราะชาติปางก่อนโน้นเขารักษาศีลอย่างเดียว แต่ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้เจริญภาวนา

       ดูก่อนมหาสุมนา บางคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้ เป็นคนที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เปรื่องปราดชาติกวี มีไหวพริบดี มีปฏิภาณดี มีความฉลาดหลักแหลมดี แต่ว่าไม่รวยและไม่สวย เพราะชาติปางก่อนโน้น เขาเจริญภาวนาอย่างเดียว แต่ว่าไม่ได้ให้ทาน ไม่รักษาศีล”

       เหตุนั้น พวกเราทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว อยากดี อยากรวย อยากสวย อยากมีสติปัญญาด้วยกันทั้งนั้น ก็จงพยายามทำบุญให้ครบทั้ง ๓ อย่าง คือ ทั้งให้ทาน ทั้งรักษาศีล ทั้งเจริญภาวนา

       ๙. ทำกัมมัฏฐานแล้วขออย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร การพูดอย่างนี้ถือว่าเป็นการด่าตนเองด้วยเป็นการด่าครูบาอาจารย์ด้วย ครูบาอาจารย์ท่านก็แนะนำพร่ำสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เท่าที่โอกาสและเวลาจะเอื้ออำนวย เพราะฉะนั้น ทำกัมมัฏฐานแล้วอย่าได้พูดว่าไม่ได้อะไร เพราะว่าการทำงานทุกสิ่งทุกอย่าง มันได้ผลในตัว ทำงานได้งาน ทำกัมมัฏฐานได้กัมมัฏฐาน ได้ศีล ได้สมาธิ ได้ปัญญา ได้มรรค ได้ผล ได้นิพพาน มันได้ตั้งเยอะ แต่เราอาจไม่รู้ เพราะเป็นนามธรรม

       ๑๐. นักปฏิบัติออกไปแล้วอย่าเล่นการพนัน เพราะลูกหลานเขาจะว่าเอา

       ๑๑. อย่าติเตียนผู้อื่นและสำนักอื่น การติเตียนบุคคลอื่นและสำนักอื่น เหมือนกันกับยื่นดาบให้เขาตัดคอเรา เราติเตียนเขา เขาก็ติเตียนเรา เราว่าให้เขา เขาก็ว่าให้เรา เพราะฉะนั้น เห็นผู้อื่นปฏิบัติไม่ดี เราต้องพูดให้เป็นว่า “คุณ ปฏิบัติอยู่นี้ก็ดีนะ พยายามทำต่อไปสิ การประพฤติปฏิบัติจะได้ดีกว่านี้” เราต้องพูดให้ดีจะได้พวกมาก เพราะฉะนั้น เราอย่าไปติเตียนบุคคลอื่นหรือสำนักอื่นเป็นเด็ดขาด

       ๑๒. ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาชื่อเสียงของตนเอง รักษาชื่อเสียงของครูบาอาจารย์ รักษาชื่อเสียงของสำนัก รักษาชื่อเสียงของพระศาสนา เราเป็นลูกของพระพุทธเจ้า ก็ขอให้เค็มเหมือนพระพุทธเจ้า มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ เราก็ยอมตาย แต่เราไม่ยอมทำความชั่วเป็นเด็ดขาด

       ๑๓. ขอให้ท่านทั้งหลายประพฤติปฏิบัติต่อๆไป เพราะว่าการปฏิบัติครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนเพียงไร เหตุนั้น เราพยายามปฏิบัติต่อๆไป วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง เราเอาเป็นเวลาทำมาหากินสัก ๑๐ ชั่วโมง เอาเป็นเวลาพักผ่อนหลับนอนสัก ๘ ชั่วโมง ยังเหลืออีก ๖ ชั่วโมง ๖ ชั่วโมงที่ยังเหลืออยู่นี้ เอาเป็นเวลาอาบน้ำชำระร่างกาย รับประทานอาหาร คุยกับลูกกับหลานญาติมิตรไปหามาสู่สัก ๕ ชั่วโมง ยังเหลือ ๑ ชั่วโมง ๑ ชั่วโมงที่เหลืออยู่นี้ ให้เอาเป็นเวลาของเราให้ได้อย่างน้อย ๓๐ นาที โดยที่เรามานึกถึงบุญกุศลที่เราได้สร้างสมอบรมมา ว่าเออ เราเกิดขึ้นมานี้ เราได้ให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนา ได้มากน้อยแค่ไหนหนอ นึกไปๆๆ นึกให้ทั่วแล้วเราจึงไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ นั่งเจริญภาวนาสัก ๓๐ นาที หรือ ๒๐ นาที หรือ ๕ นาที หรือ ๑ นาทีก็ยังดี

       ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเราเตรียมตัวก่อนตาย ถึงคราวตาย บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงจะมาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เวลาเรากำลังจะตายนั้น เราจะเห็นขันข้าวที่เคยไปใส่บาตร เห็นโบสถ์ เห็นวิหาร เห็นศาลาการเปรียญ เห็นเจดีย์ เห็นพระภิกษุสามเณร เห็นเทวดา เห็นที่อยู่ของเทวดา เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปสู่สุคติภพตามบุญญาธิการที่เราสร้างสมอบรมไว้ เหมือนกันกับเราหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญแล้ว เมื่อถึงคราวเรือล่ม ก็สามารถว่ายเข้าฝั่งได้ ไม่จมน้ำตาย แต่ถ้าเราไม่หัดระลึกให้ชำนิชำนาญอย่างนี้ ถึงคราวตายจึงจะมาระลึก มันระลึกไม่ได้นะท่านทั้งหลาย เพราะ

          ๑) ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ

          ๒) ไม่อยากตาย

          ๓) ห่วงผู้อยู่ข้างหลัง

          ๔) ห่วงทรัพย์สมบัติ

          เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ระลึกไม่ได้ เมื่อระลึกไม่ได้ อกุศลกรรมที่เราทำไว้ก็มาปรากฏเป็นกรรมบ้าง เป็นกรรมนิมิตบ้าง เป็นคตินิมิตบ้าง เช่น เห็นสัตว์กำลังฆ่ากัน เห็นคนกำลังฆ่ากัน เห็นหนองน้ำ เห็นตมเห็นโคลน เห็นเปลวเพลิง เห็นนายนิรยบาล เห็นนรก เป็นต้น จิตของเราก็ไปยึด เมื่อไปยึดแล้วจิตนี้ก็ดับลงไป คือตายลงไป เมื่อตายแล้วเราก็ไปบังเกิดในอบายภูมิ เหมือนกันกับบุคคลที่ไม่เคยหัดว่ายน้ำให้ชำนิชำนาญ ถึงคราวเรือล่มจึงจะมาหัดว่ายน้ำ มันก็ว่ายน้ำไม่เป็น จมน้ำตายเท่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท หมั่นสร้างสมอบรมคุณงามความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป

       ๑๔. นักปฏิบัติธรรมะขั้นสูงเสื่อม ท่านนักปฏิบัติธรรมขั้นสูง เสื่อมได้เหมือนกันนะท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะสมาธิหรือฌานที่ท่านทั้งหลายได้อยู่นี้ ถ้าเราไม่ทำทุกวันๆ มันเสื่อมได้ เมื่อเสื่อมแล้ว สมาธิหรือฌานนั้นก็ไม่สามารถที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ เวลาเราตาย เราไม่ได้ตายในฌาน ก็ไม่สามารถที่จะไปบังเกิดในพรหมโลกได้

       สมาธิหรือฌานนี้มีอานิสงส์เป็นอเนกประการ ไม่สามารถจะนับจะพรรณนาได้ เราสามารถจะนำมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์ทุกอย่าง ถ้าเรามีความฉลาดในการใช้ แต่ใช้ให้เป็นอย่าเป็นแต่ใช้ คือสมาธินี้ หากว่าจำเป็นจริงๆ เราปวดท้องอย่างหนัก จะผ่าตัดไส้ติ่ง หรือโรคไส้เลื่อนอย่างนี้ ไม่จำเป็นที่จะใส่ยาชายาสลบ เราอธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ไม่เป็นอันตรายแก่ชีวิต

       โยมคนหนึ่งมาปฏิบัติอยู่นี้ เขาได้สมาธิ สามารถเข้าสมาธิออกสมาธิได้ตามต้องการ วันหนึ่งไปผ่าตัดไส้ติ่ง ถามคุณหมอว่า คุณหมอ จะใช้เวลานานเท่าใด หมอบอกว่าใช้เวลา ๑ ชั่วโมง แกบอกว่า คุณหมอ ขอร้องอย่าใส่ยาชา ขอร้องอย่าใส่ยาสลบ แล้วก็อธิษฐานจิตเข้าสู่สมาธิ ขอให้สมาธิจิตของข้าพเจ้าดับสนิทไปเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง พร้อมนี้ขออย่าเป็นอันตรายแก่ชีวิต ก็เข้าสมาธิไป หมอก็ทำการผ่าตัด ครบ ๒ ชั่วโมงแล้วรู้สึกตัวขึ้นมา หมอไปไหน นี่แหละท่านทั้งหลาย เหมือนกันกับไม่ได้ผ่าตัด โลหิตแม้แต่หยดเดียวก็ไม่ได้เพิ่ม

       นี่แหละท่านทั้งหลาย สมาธินี้มีประโยชน์อเนกอนันต์ เหลือที่จะนับจะพรรณนาได้ ถ้าผู้มีสมาธิดี สามารถทำสมาธิได้ โรคประสาทก็จะไม่เกิด โรคความดันสูงก็จะไม่เกิด เรานั่งสมาธิเข้าสมาธิได้ โรคความดันสูง โรคประสาทนี้ ระงับไปทันที เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายรักษาสมาธิหรือฌานนี้ไว้ อย่าได้ประมาท เวลาตายก็ขอให้ตายในสมาธิตายในฌาน

       ๑๕. ขอให้ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายดำเนินต่อๆไป จนกว่าจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพาน ทำลายกิเลสให้หมดไปจากขันธสันดานแล้วนั่นแหละ จึงจะนิ่งนอนใจได้ ถ้ากิเลสตัณหายังมีอยู่ ภพชาติของเราก็ยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าเราจะเกิดกี่ภพ กี่ชาติ กี่กัป กี่กัลป์ จึงจะถึงนิพพาน เหตุนั้นขอให้เราทั้งหลายปฏิบัติต่อๆไป

       ข้อนี้ขอให้ถือปฏิบัติตามที่พระเจ้าภัททิยะเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์นั่งอยู่บนคอช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงช้าง บางครั้งก็เห็นฝูงม้า บ้างครั้งก็เห็นไพร่ฟ้าประชาชน บางครั้งก็เผลอไป หากว่าข้าพเจ้าตายไป จะไม่ไปสู่อบายภูมิหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

       พระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทำไว้ให้ชำนิชำนาญแล้ว มหาบพิตรตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ดูก่อนมหาบพิตร ผู้มีความประสงค์จะบรรลุมรรคผลพระนิพพานขั้นสูงๆต่อไปนั้น พึงปฏิบัติดังนี้ คือ

          ๑) ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนืองๆ

          ๒) ระลึกถึงคุณของพระธรรมเนืองๆ

          ๓) ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์เนืองๆ            

          ๔) ระลึกถึงทานที่ตนบริจาคไว้เนืองๆ

          ๕) ระลึกถึงศีลที่ตนรักษาแล้วเนืองๆ

          ๖) ระลึกถึงเทวธรรม คือธรรมที่ทำบุคคลให้เป็นเทวดาเนืองๆ

          ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติได้ดังนี้ ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า

       เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อแสดงธรรมเทศนาเรื่อง โสฬสญาณ มา ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา

       อิทํ เม ธมฺมทานํ สาธุ ด้วยอานิสงส์ธรรมทานที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาแล้วในวันนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้แก่บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดท่านผู้มีอุปการคุณทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร มนุษย์ อมนุษย์ อบายสัตว์ เทวดา มาร พรหม พระยายมราช และนายนิรยบาลทั้งหลาย โดยเฉพาะบุรพาจารย์ที่สร้างวัดวาอารามแห่งนี้มา และทวยเทพนิกรเจ้าทั้งหลายที่รักษาวัดวาอารามแห่งนี้มา ขอท่านทั้งหลายได้รู้ได้รับอนุโมทนา เหมือนดังที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้ว ถ้าตกทุกข์ขอให้พ้นจากทุกข์ ถ้ามีความสุขขอให้มีความสุขยิ่งๆขึ้นไป สทา โสตฺถี ภวนฺตุ โน ขอคณะครูบาอาจารย์ทุกรูป นักปฏิบัติธรรมทุกท่าน ญาติโยมที่ปฏิบัติธรรมทุกคน จงเจริญสุขสวัสดี พิพัฒนมงคลในพระบวรพุทธศาสนาเป็นนิตย์ สถิตมั่นในสัจธรรม นำตนให้พ้นทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกท่านเทอญ

       รับประทานวิปัสสนามา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 มิถุนายน 2563 15:37:10
(https://sites.google.com/site/sirinyaroonjai/_/rsrc/1467865000794/phu-cad-tha-1/prapheni-laea-wathnthrrm-phakh-tang-khxng-thiy/p17c49hah01r0e1c45ump1gk2l8h5.jpg?height=213&width=320)

สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะ เรื่อง ธรรมที่เป็นส่วนอกุศลที่กั้นกางผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ให้ดำเนินไปในทางที่ดี ที่ถูก หรือว่าไม่สามารถที่จะดำเนินไปสู่ปฏิปทาทำให้พ้นทุกข์ได้ สำหรับอุปสรรค สิ่งขัดขวางการประพฤติปฏิบัติ วันนี้หลวงพ่อจะได้น้อมนำมาเล่าโดยสังเขปกถา

       สิ่งที่เป็นสภาวะกั้นกางจิตใจ ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถที่จะดำเนินไปในปฏิปทาที่ถูกต้อง หรือดำเนินไม่ได้เสียเลย มีดังนี้ คือ

       ๑. กามฉันทะ พอใจในกาม คือ พอใจในรูปที่สวยๆ พอใจในเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต หรือพอใจในรสที่เอร็ดอร่อย พอใจในสัมผัสที่ดีๆ

       การที่เราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจ อันนี้ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน ในเวลาประพฤติปฏิบัติ กามฉันทะนี้จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราพอใจในอารมณ์ คือ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้น ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าใคร่น่าพอใจ จะมีความพอใจ รักใคร่ ติดอยู่ในอารมณ์นั้นทันที เช่น เรานั่งกัมมัฏฐานไป บางทีเกิดนิมิตมา เรามองเห็นรูปที่สวยๆ มองเห็นปราสาทที่สวยๆ หรือมองเห็นป่าไม้ที่สวยๆ ก็มีความใคร่ความพอใจขึ้นมาทันที

       หรือบางทีเกิดแสงสว่างขึ้นมา ก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา บางทีได้ยินเสียงที่ไพเราะเสนาะโสต บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มีคนมาเรียกอย่างโน้นมาเรียกอย่างนี้ หลวงพี่อย่างนั้น หลวงพี่อย่างนี้ หรือบางทีได้ยินเสียงเทพบุตรเทพธิดา ก็มีความพอใจ บางทีก็มีเสียงพวกอมนุษย์ เช่น พวกเปรต พวกอสุรกาย มาขอส่วนบุญ หรือขอให้ช่วยอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความพอใจขึ้นมา บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานไป เกิดความสงบเป็นพิเศษ จิตและเจตสิกของเราสงบเป็นพิเศษ สงบมาก จนทำให้ผู้ปฏิบัติหลงใหลเข้าใจว่าตนได้ฌาน ได้สมาบัติ ได้มรรค ได้ผล เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความใคร่ความพอใจในสิ่งนั้นๆ หรือบางทีเกิดความอิ่มใจ เกิดความปลื้มใจความปราโมทย์ขึ้นมาในจิตในใจ ก็เกิดความพอใจชอบใจในสิ่งนั้นๆ ด้วยอำนาจของกามฉันทะ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมะของเราไม่ได้ผลเหมือนกัน

       หรือบางที เดินจงกรมนั่งสมาธิทำกัมมัฏฐานไป เกิดความพอใจในการสร้างสมอบรมบุญกุศล เมื่อก่อนตนได้เคยสร้างสมอบรมไว้ เมื่อนึกถึงบุญเก่ากุศลเก่าก็พอใจ ปลื้มใจ ดีใจ แล้วก็อยากทำบุญใหม่ไปเรื่อยๆ แต่เรานั่งกัมมัฏฐานเป็นวันๆ ก็นึกถึงแต่บุญเก่ากุศลเก่าที่เราทำ นึกแต่ในการที่จะทำบุญใหม่ กุศลใหม่ไปเรื่อยๆ การที่มีความใคร่ความพอใจในสิ่งที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะเหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติของเรามันดีผิดปกติ คือมันดีเกินไป เรานึกอะไรก็ได้ดังใจหมาย นึกอย่างโน้นก็ได้ นึกอย่างนี้ก็ได้ เราจะนึกอย่างไรก็สามารถนึกถึงสิ่งต่างๆได้ตามความพอใจก็เกิดความใคร่ความพอใจขึ้นมา หรือบางทีเราเดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่ เกิดความหมั่นความขยันขึ้นมา การเดินจงกรมก็ดี การนั่งกำหนดก็ดี มีความขยันเป็นพิเศษ แต่ว่าสติของเรามันหย่อน เมื่อมีความเพียรขึ้นมาอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจในความเพียรนั้นๆ ไม่ได้กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะ พอใจในอารมณ์เหมือนกัน

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป สติมาก เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงแต่เรื่องอดีต นึกถึงแต่เรื่องอนาคต บางทีก็คล้ายๆ กับระลึกชาติได้ บางทีก็ระลึกได้จริง อะไรทำนองนี้ ก็มีความใคร่ความพอใจในอารมณ์นั้นๆ ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะความพอใจในอารมณ์ได้เหมือนกัน หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป มันสบายผิดปกติ เดินอยู่ก็สบาย นั่งอยู่ก็สบาย นอนอยู่ก็สบาย เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พอใจติดใจ หลงใหลชอบใจอยู่ในความสบายนั้น ก็ถือว่าเป็นกามฉันทะได้เหมือนกัน สรุปสั้นๆแล้วว่า กามฉันทะนี้ หมายถึงความพอใจในอารมณ์ อารมณ์ใดๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็พอใจหลงใหลติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ ถือว่าเป็นกามฉันทะ

       ๒. พยาบาท พยาบาทในที่นี้หมายถึงว่า ไม่พอใจในอารมณ์ อารมณ์กัมมัฏฐานใดๆ ก็ตาม เราปฏิบัติไป เราเดินจงกรมก็ดี นั่งสมาธิอยู่ก็ดี ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ อารมณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ไม่พอใจในอารมณ์นั้นๆ ด้วยอำนาจอนิษฐารมณ์เกิดขึ้นในขันธสันดาน

       บางทีเวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น เห็นเพื่อนๆเดินจงกรมก็ไม่พอใจ เพื่อนๆ พูดกันก็ไม่พอใจ เพื่อนกระแอมก็ดี ไอก็ดี ก็ไม่พอใจ เวลาสรงน้ำหรือเวลาเข้าห้องสุขาอย่างนี้ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา เห็นเพื่อนคลุกคลีกันเกินไปก็ไม่พอใจขึ้นมา สรุปแล้วว่า อะไรๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นมาแล้วไม่พอใจอารมณ์นั้น ทุกสิ่งทุกประการ ก็ถือว่าเป็นพยาบาท คือ ไม่พอใจในอารมณ์ นี่พูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าพูดในเรื่องปริยัติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ คำว่า “พยาบาท” คือ ไม่พอใจในอารมณ์

       ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ท้อแท้ คือ เวลาเราทำกัมมัฏฐานกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า นั่งกัมมัฏฐานตาซึมๆ อยู่ตลอดเวลา กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดไปๆ สัปหงกวูบลงไป กำหนดกัมมัฏฐานไม่กระฉับกระเฉง ไม่กระชุ่มกระชวย ไม่กระปรี้กระเปร่า ขาดสติ สติไม่พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน เมื่อใดเรามีถีนมิทธะครอบงำอยู่ เมื่อนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ปัจจุบันธรรม ไม่สามารถจะเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหตุนั้น ถีนมิทธะนี้ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานเหมือนกัน

       ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและคิดมาก คำว่าฟุ้งซ่านและคิดมากในที่นี้ ส่วนมากจะเป็นด้วยอำนาจของอกุศลกรรมที่ตนได้สร้างสมอบรมมาแล้ว ตั้งแต่นานๆ หรือตั้งแต่ปุเรกชาติ คือเมื่อนั่งกัมมัฏฐานไป นึกถึงแต่บาปแต่กรรมที่ตนได้ทำไว้ บางทีเคยล่วงเกินพ่อ เคยล่วงเกินแม่ บางทีเคยล่วงเกินครูบาอาจารย์ เมื่อมานั่งกัมมัฏฐานก็เป็นเหตุให้คิดมาก เรานี้ทำกรรมมามากแล้ว ล่วงเกินครูบาอาจารย์พ่อแม่มากแล้ว อย่างนั้นอย่างนี้ ก็เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา คิดมากทันที                    

       บางทีเราล่วงเกินผู้มีพระคุณ หรือเคยล่วงเกินอะไรก็ตามมันทำให้คิดมาก บางทีเราเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เคยลัก เคยขโมย เคยล่วงเกินผัวเขา เมียเขา ลูกเขา เคยพูดโกหกพกลม หรือเคยพูดวาจาที่ไม่เพราะหู เป็นวาจาที่หยาบคาย พูดวาจาที่ไม่มีสาระประโยชน์ พูดวาจาที่ส่อเสียดให้ผู้อื่นแตกร้าวสามัคคีกัน เมื่อเรานึกถึงคำพูดเช่นนี้มาก็ทำให้คิดมาก ฟุ้งซ่าน หรือบางทีเราเคยละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่งมา สมมุติว่าเรารักษาศีล ๕ ก็ละเมิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง เมื่อเรามาทำกัมมัฏฐานอย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นึกถึงบาปที่เราทำไว้แล้ว ก็เลยเป็นเหตุให้คิดมาก

       สรุปแล้วว่า อุทธัจจกุกกุจจะนี้คือว่าฟุ้งซ่านรำคาญเพราะนึกถึงบาปเก่า เหตุนึกถึงแต่บาปเก่าแล้วบุญไม่ได้ทำ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก ส่วนมากการคิดมากนั้นก็ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ผลเหมือนกัน เหตุนั้น เมื่ออุทธัจจกุกกุจจะเกิดขึ้นมาคือทำให้ฟุ้งซ่านคิดมากเมื่อไร ก็ขอให้ท่านทั้งหลายกำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “คิดหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าอาการคิดนี้จะสงบไปหรือหยุดไปเสียก่อน จึงกำหนดบทพระกัมมัฏฐานใหม่ต่อไป

       ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย คือมีความสงสัยในเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม พระธรรมมีจริงไหม พระอริยสงฆ์มีจริงไหม สมัยนี้ยังมีพระอริยสงฆ์อยู่หรือ นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม พรหมโลกมีจริงไหม ชาตินี้ชาติหน้ามีจริงไหม เกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลา หรือบางที เมื่อเรามีความสงสัยอยู่อย่างนี้ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความท้อใจ ขี้เกียจในการทำกัมมัฏฐาน นึกว่าบุญบาปไม่มี หรือว่าอะไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินเอาเองได้ อะไรๆ เกิดขึ้นมาก็มีความสงสัย อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็มีความสงสัยขึ้นมา ความสงสัยนี้ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำกัมมัฏฐานไม่ได้ผล เหตุนั้น นิวรณ์ ๕ ประการ ข้อสุดท้ายคือ วิจิกิจฉา ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเหมือนกัน

       เมื่อเราทั้งหลายเจริญพระกัมมัฏฐานไปๆ จนมาถึงวิจิกิจฉาคือความสงสัย ความสงสัยพูดแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ เช่นว่าเรามีอะไรเกิดขึ้นมาก็เอะใจสงสัย สมมติว่านั่งกัมมัฏฐานไปเห็นแสงสว่างขึ้นมา เอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! มันอะไรกัน” นี่เป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีนิมิตเกิดขึ้นมาก็เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วแต่นานๆ เห็นครูบาอาจารย์ เห็นโน้นเห็นนี้ ก็มีความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ! มันอะไรกัน”

       หรือบางทีทำกัมมัฏฐานไป มันมีอาการสะบัดหน้า สะบัดมือ สะบัดเท้า หรือว่าบางทีมีการสัปหงกวูบไปข้างหน้าข้างหลังขึ้นมาอย่างนี้ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน นี้มันอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นวิจิกิจฉาแล้วนะ หรือว่าเราทำกัมมัฏฐานไปๆ บางทีความรู้สึกของเรามันสงบไป ขาดความรู้สึกไปชั่วครู่ชั่วขณะ ก็มีความสงสัยเอะใจว่า “เอ๊ะ อันนี้มันอะไรกัน” หรือว่านั่งกัมมัฏฐานอยู่ ๑๐ นาที ๒๐ นาที หรือ ๓๐ นาที นั่งไปจิตใจมันสงบเงียบไป พอดีรู้สึกตัวขึ้นมา “เอ๊ะ ! มันเรื่องอะไรกัน” คือเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดไม่ รู้เพียงแต่ว่า เอ๊ะ มันเป็นเรื่องอะไรกัน นี้ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉา

       สรุปเอาสั้นๆ ว่า อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราเอะใจสงสัยเรื่องนั้นๆ ว่า “เอ๊ะ! มันเรื่องอะไรกัน” ก็ถือว่าเป็นตัววิจิกิจฉาแล้ว เมื่อตัววิจิกิจฉาเกิดขึ้นมาแล้ว ผู้ปฏิบัติก็จะเพ่งลึกลงไป เอ๊ะ อันนี้มันเรื่องอะไรกัน ก็เพ่งดู พิจารณาดู ใคร่ครวญดู ตริตรองดูว่า มันอะไรกัน มีแต่พิจารณาไปเรื่อย นี้อะไรกันหนอ อันนี้มันเป็นอะไรหนอ มันเรื่องอะไรหนอ เพราะเหตุใดหนอมันจึงเกิดอย่างนี้ เพ่งลึกลงไปๆๆ

       เมื่อเราเพ่งลึกลงไปแล้ว มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเรามีสมาธิ คือมันอยู่ในอารมณ์ที่เราเพ่งอย่างเดียวว่ามันอะไรกัน ใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อันเดียว เมื่อใจของเรามันอยู่ในอารมณ์อย่างเดียว ถึงว่ามิจฉาสมาธิก็ตามนะ เราเพ่งอะไรๆ ก็ตาม จะเป็นเรื่องอกุศลก็ตาม เป็นกุศลก็ตาม เราเพ่งลึกลงไป ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิมันสมบูรณ์แล้ว มันก่อตัวเต็มที่แล้ว จะเป็นมิจฉาสมาธิก็ตาม สัมมาสมาธิก็ตาม ถูกหรือผิดก็ตาม จิตใจของเรามันก็สงบแน่นิ่งขึ้นมา เมื่อจิตใจของเรามันสงบแน่นิ่งขึ้นไปแล้ว มันก็จะสร้างอะไรต่างๆ ขึ้นมา สร้างโน้นขึ้นมา สร้างนี้ขึ้นมา เห็นโน้นเห็นนี้อะไรร้อยแปดพันประการ แต่เมื่อสรุปแล้วก็มีอยู่ ๕ ประการคือมันจะสร้างภาพอะไรเกิดขึ้นมาในขณะนั้น

       ๑. มันจะสร้างภาพล้อขึ้นมา คำว่าภาพล้อนี้คือภาพที่ล้อเลียนเรา เราเดินจงกรมอยู่ก็ดี นั่งสมาธิก็ดี จะเป็นภาพล้อเลียนเรา สมมติว่าเราเดินจงกรมอยู่ จะเห็นภาพนั้นมันเดินจงกรมด้วย “ขวาย่างหนอ” มันก็ “ขวาย่างหนอ” ตาม เรากำหนดว่า “ซ้ายย่างหนอ” มันก็ “ซ้ายย่างหนอ” ตาม เวลาเราเดินจงกรมมันก็เดินด้วย เวลาเราหยุดมันก็หยุดด้วย เวลาเรานั่งมันก็นั่งด้วย บางทีเรานึกอยากใช้ให้มันไปเอาโน้นเอานี้มาให้ เราใช้ให้ไปเอาน้ำมาให้ดื่ม เอาดอกไม้มาให้บูชา หรือเอานั้นเอานี้ ภาพนั้นก็ลุกขึ้นไปทันทีตามเราคิด เรานึกอย่างไรมันเป็นไปตามนั้น

       มีโยมพัฒนากรคนหนึ่ง ลาราชการมาบวชอยู่นี้แหละ เวลาเดินจงกรมภาพนี้มันเดินตามไป ก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” มันก็ “เห็นหนอๆ” ตาม กำหนดว่า “รู้หนอๆ” มันก็กำหนดว่า “รู้หนอๆ” ตาม ผลสุดท้ายก็กำหนด “จิตสัมผัสจิตหนอๆ” มันก็ไปตาม เมื่ออาการเช่นนี้เกิดขึ้นมาจิตใจกำหนดไม่ทันก็ทำให้เกิดอาการเหนื่อยขึ้นมา นี้ท่านทั้งหลายมันเป็นไปได้ บางทีเราเดินจงกรมด้านหน้า มันกลับเดินไปด้านหลัง เราเดินจงกรมด้านหลังมันกลับเดินไปข้างหน้า

       บางทีเราเดินจงกรมตรงๆ อยู่นี้ มันเดินผละออกจากเราไป หรือว่าเราเดินจงกรม มันเดินมาหาเรา ก็แล้วแต่มันจะเป็นไป ชื่อว่าภาพมันล้อเลียนเรา เหมือนกับคนที่เลี้ยงม้าอย่างนี้ มันเห็นเจ้าของเป็นคนขาเผลก ม้ามันก็เดินกะเผลกๆด้วย อะไรทำนองนี้ อันนี้ภาพล้อมันก็เหมือนกัน คือมันจะล้อเลียนเรา ส่วนมากพวกนี้เมื่อก่อนโน้นชอบไปล้อเลียนคนโน้นบ้าง ล้อเลียนคนนี้บ้าง เห็นเขาพูดไม่ชัดก็ล้อเลียนเขา เขาทำโน้นไม่ดีทำนี้ไม่ดีก็ล้อเลียนเขา คือชอบล้อเลียนผู้อื่น ส่วนมากก็ชอบล้อเลียนผู้อื่น เมื่อผู้ใดชอบล้อเลียนผู้อื่นอย่างนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ภาพที่ล้อเลียนผู้อื่นซึ่งมันบันทึกอยู่ในภวังคจิตมันก็แสดงนิมิตนี้ขึ้นมาให้เห็น

       ท่านทั้งหลายก็คิดว่าภาพล้อเลียนทั้งหลายนี้มันอยู่ภายนอก มันเกิดขึ้นจากเทวดาฟ้าดิน หรือยมยักษ์อะไรทำนองนี้ ไม่ใช่ มันเกิดอยู่ที่จิตของเรา เพราะจิตของเราเมื่อก่อนโน้นไปล้อเลียนคนอื่น ล้อเลียนคนโน้น ล้อเลียนคนนี้ เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน จิตใจของเรามันสงบเป็นสมาธิ มันก็แสดงปฏิกิริยาขึ้นมา คือจิตดวงนี้มันแสดงขึ้นมามันก็มีอาการ เวลาเราทำกัมมัฏฐานก็เหมือนกับคนโน้นมาล้อคนนี้มาล้อเลียน

       อันนี้ก็เป็นภาพที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นมา เมื่อภาพนี้เกิดขึ้นมาแล้วให้ท่านทั้งหลายกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” อย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง ทีนี้ถ้ามันไม่หาย ภาพนี้ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย อย่าเอาใจใส่ในภาพนั้น ตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๒. ภาพล่อ ภาพล่อคือเป็นภาพที่สวยงาม เรานั่งหลับตากำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป ภาพที่เกิดขึ้นมาเป็นภาพที่สวยสดงดงาม เห็นต้นไม้ที่สวยๆ เห็นต้นข้าวที่สวยๆ เห็นผ้าผ่อนแพรพรรณที่สวยๆ เห็นปราสาทวิมานที่สวยๆ เห็นคนที่สวยๆ เห็นผู้หญิงที่สวยๆ เห็นผู้ชายที่สวยๆ อะไรๆก็มีแต่เห็นภาพที่สวยๆ หากว่าเราผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไปติดใจในภาพนี้ เห็นภาพที่สวยๆ บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นรูปผู้หญิงที่สวยๆ ๓ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ๔ วันก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น ปีหนึ่งก็ยังนั่งอยู่อย่างนั้น เพราะว่าเราไปติดในภาพนี้ ภาพนี้มันเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ยิ่งเราไปติดเท่าไรๆ มันก็แสดงอาการอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา

       แต่ว่าบางท่านก็เป็นบางท่านก็ไม่เป็นนะ บางทีภาพนี้ติดตาอยู่อย่างนี้ ๑ ปีก็มี ๒ ปีก็มี บางคนก็ ๓ ปี บางคนก็ ๕ ปี ๖ ปี ก็มี บางรูปเคยมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ เวลาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน มันเกิดขึ้นมาทันที โน้น เห็นภาพคนที่ชอบพอกันเมื่อก่อน เคยเป็นแฟนกัน ผลสุดท้ายผู้หญิงคนนั้นเขาก็มีครอบมีครัว เราก็มาบวช เมื่อมาบวชภาพนี้ก็เกิดขึ้นมาในเวลาประพฤติปฏิบัติ เลยทำให้การประพฤติปฏิบัติมันดำเนินไปไม่ได้ คือไม่สามารถที่จะให้สมาธิสมาบัติมันสูงไปกว่านี้ได้ สิ่งนี้ก็สำคัญท่านทั้งหลาย

       วิธีที่จะปฏิบัติให้มันหายไปคือให้เราตั้งสติว่า “เห็นหนอๆ” หรือว่า “รู้หนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไป แต่ถ้ามันไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ในนิมิตนั้นเลย นั่งกำหนดอาการพองอาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๓. ภาพหลอก ภาพหลอกนี้คือเป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเรานั่งกัมมัฏฐานอยู่ เห็นเปรตมันยื่นมือมาจะบีบคอเรา หรือบางทีเห็นยักษ์มันยื่นมือมาจะบีบคอเรา บางทีก็เห็นหมาบ้ามันวิ่งเข้ามาจะกัดเรา บางทีเห็นช้าง เห็นเสือ เห็นราชสีห์ เห็นงูพิษมันเลื้อยมาจะกัดเรา บางทีเห็นตะขาบ เห็นแมงป่องมันไต่ขึ้นมาตามร่างกาย หรือบางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เหมือนกับกิ้งกือมันไต่ขึ้นมาตามร่างกายของเรา สรุปแล้วว่า ภาพนี้เป็นภาพที่ทำให้ตกใจกลัว บางทีเป็นยักษ์เป็นมารมาจะมาทำร้าย

       มีพระรูปหนึ่งมาบวชอยู่ที่นี้ มาบวชแล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐาน นั่งกัมมัฏฐาน เห็นยักษ์สูงเทียมปลายตาลมันยื่นมือมาจะบีบคอ ทำอย่างไรก็ไม่หาย กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย นึกถึงเวทย์มนต์กลคาถาที่เคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา กำหนดอย่างไรก็ไม่หาย มีแต่จะบีบคอให้ตาย ผลสุดท้ายไม่เอาใจใส่ในนิมิตนั้น ตั้งอกตั้งใจกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไป “รู้หนอๆๆ” ไป ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง ภาพนี้เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมันทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่อยากทำกัมมัฏฐาน กลัวว่าภูตผีปิศาจหรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นมาทำร้าย หรือมาบีบคอเราให้ตาย

       แต่ถึงอย่างไรก็ตามท่านทั้งหลาย หากว่ามันเป็นของจริง มันเป็นภูตผีปิศาจจริง เป็นยักษ์เป็นมารจริงๆ มันจะมาบีบคอเรา มันไม่มีโอกาสจะบีบได้หรอก หากว่าเรามีศีลดีอยู่ มีสมาธิอยู่ พวกนี้มันจะมาใกล้เราอย่างมาก ๑ วา ใกล้ที่สุดก็ ๑ วา ๑ วานี้มันยื่นมือมาบีบคอเราไม่ได้ เหตุนั้นเมื่อภาพอย่างนี้เกิดขึ้นมาท่านทั้งหลายอย่าตกใจ กำหนดไปเรื่อยๆ กำหนดว่า “รู้หนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ หรือกำหนดอาการพองอาการยุบไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็จะหายไปเอง

       ๔. ภาพลวง คือภาพลวงนี้พูดอย่างหนึ่งว่าเป็นปฏิภาคนิมิต คือเมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว เรานึกถึงอะไรมันจะเห็นสิ่งนั้น เรานึกถึงนรกก็จะเห็นนรก เรานึกถึงพวกเปรตก็จะเห็นพวกเปรต เรานึกถึงพวกอสุรกายก็จะเห็นอสุรกาย เรานึกถึงเมืองพญานาคก็จะเห็นพวกพญานาค เรานึกถึงเทวโลกจะเห็นเทวดา เห็นพระอินทร์ เรานึกถึงพรหมโลกก็จะเห็นพรหมโลก เรานึกถึงครูบาอาจารย์ก็จะเห็นครูบาอาจารย์ บางทีเห็นครูบาอาจารย์ท่านมานั่งอยู่ใกล้ๆ คล้ายๆ กับจะมาคุยกับเรา พูดกับเราหรือมาเทศน์ให้เราฟัง

       บางทีนั่งกัมมัฏฐานไป เห็นพ่อแม่ที่ตายไปแล้วถึงแก่กรรมไปแล้วหลายปี เรานึกถึงพ่อถึงแม่ก็เห็นพ่อเห็นแม่ที่ตายไป เรานึกถึงลูกถึงหลานที่ตายไปแล้วก็เห็นลูกเห็นหลาน เรานึกถึงโบสถ์วิหารศาลาการเปรียญที่เราเคยสร้าง เราก็เห็น นึกถึงหลวงปู่โน้น นึกถึงหลวงปู่นี้จะเห็น เรานึกถึงพระพุทธเจ้าเห็นพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระอรหันต์ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็เห็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า เรานึกถึงพระฤษีก็เห็นพระฤษี อันนี้เรียกว่า ภาพลวง บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วเห็นพระพุทธเจ้า นั่งไปเห็นพระพุทธเจ้าหรือสาวกของพระพุทธเจ้า นั่งไปแล้ว เอ้อ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราอยากฟังเทศน์ฟังธรรมจะไม่ฟังเทศน์ฟังธรรมครูบาอาจารย์ละ เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์พระพุทธเจ้า เราจะนั่งสมาธิมาฟังเทศน์ของพระอรหันต์ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระสังกัจจายนะ มันคิดอย่างนี้นะ ทำให้เข้าใจผิดขึ้นมา

       หรือบางทีก็นั่งสมาธิจะเอาข้าวไปใส่บาตรพระพุทธเจ้า เอาภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้า ถ้าว่านิมิตนี้ยังไม่หาย การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราก็จะไม่ก้าวหน้า เหตุนั้น เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้วท่านทั้งหลายพยายามตั้งจิตตั้งใจกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆ” ไปเรื่อยๆ ถ้ากำหนด “เห็นหนอๆ” แล้วยังไม่หาย อย่าเอาใจใส่เลย อย่าเอาใจใส่ เอาสติมาปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอ รู้หนอ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายมันก็หายไปเอง

       ๕. ภาพล้าง ภาพล้างนี้เป็นภาพที่ทำลายล้างวิปัสสนาให้เสื่อมไป สมมุติว่าเราประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน แทนที่มันจะก้าวหน้า แทนที่มันจะได้ผลมากกว่านี้ แต่เวลาปฏิบัติไปๆ กลับไม่ได้ มีแต่ภาพนี้ทำลายล้างสติสัมปชัญญะของเราอยู่ตลอดเวลา คือภาพที่ทำลายล้างนี้บางทีก็เกิดจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ บางทีก็เกิดจากพวกเปรตอสุรกายมาขอส่วนบุญ แล้วแต่เหตุปัจจัย

       บางทีพวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ แต่เราต้องสำเหนียกดูก่อนว่ามันเป็นเปรตจริงหรือ หรือเป็นภาพที่มันล้อเลียนเรา มันทำให้เข้าใจผิด มาทำลายล้างเรา เราต้องคิดเสียก่อน เราเอาใจปักลงไปเสียก่อนเป็นเปรตจริงหรือ ถ้าเป็นเปรตจริงๆ เราจะรู้เองหรอก เป็นเปรตจริงๆ เราก็อุทิศส่วนกุศลให้มันก็หายไปเอง หรือว่าเราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แล้วยังไม่หายก็อย่าเอาใจใส่ กำหนดบทพระกัมมัฏฐาน “พองหนอ ยุบหนอ” ไปเรื่อยๆ ก็จะหายไปเอง

       สมัยที่หลวงพ่อมาอยู่ที่นี่ พวกนี้มันเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด ไปนั่งอยู่ที่โน้น ไปนั่งอยู่ที่นี้ เห็นแต่พวกเปรตเดินไปเดินมา หลังจากมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ทุกวันๆ เหมือนกับพวกเราทั้งหลายอุทิศอยู่ทุกวันนี้ละ มันหายไปทีละน้อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้เกือบจะไม่มีเสียเลย นี้พวกเปรตมันมาขอส่วนบุญ

       บางทีก็เกิดขึ้นจากเทวดามิจฉาทิฏฐิ คือมันไม่เลื่อมใสผู้ประพฤติปฏิบัติ เรามาเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือมาให้ทาน รักษาศีล รักษาอุโบสถศีล มันก็ไม่เลื่อมใส ก็หาวิธีขัดขวางและกีดกันการประพฤติปฏิบัติของเรานี้

       ท่านทั้งหลายอาจจะเข้าใจผิดว่า เอ๊ะ หลวงพ่อ เป็นเทวดาแล้วยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่หรือ มันเป็นได้ท่านทั้งหลาย เทวดาก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้เหมือนกัน เกิดจากอะไร พวกเทวดามิจฉาทิฏฐิเกิดจากมิจฉาทิฏฐิของตัวเองนั้นแหละ คือมันเกิดจากจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ สมมุติว่าเวลามาทำบุญทำทาน พวกเราทั้งหลายทำบุญทำทานไปตอนเช้านี้แหละ พวกที่เป็นประเภทนี้ โอ้ะ ทำไปทำไมหนอ ทำทานนี้ ทานมันก็ไม่ได้บุญ ทำไปทำไมทำทานก็ไม่ได้บุญ ไม่ได้บุญทำไมถึงทำอยู่ พอเพื่อนพาทำเราก็ทำถ้าไม่ทำก็อายเพื่อน เท่านั้นแหละท่าน เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้ว เวลาเราทำบุญทำทานมันก็ได้อยู่ ได้บุญอยู่ บุญนี้ได้อยู่ แต่จิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นมันก็ติดตามบุคคลผู้นั้นไป บุญที่ทำแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทวดาได้อยู่ แต่เพราะจิตที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเกิดเป็นเทวดาแล้วก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันเกิดได้อย่างนี้นะ

       หรือบางทีเห็นเพื่อนมารักษาศีลหรือมารักษาอุโบสถศีลอย่างนี้ รับทำไมหนอศีลนี้รับทำไมหนอ รักษาศีลนี้รักษาทำไม เพราะรักษาแล้วไม่ได้บุญ เอ้า ถ้าไม่ได้บุญแล้วรักษาทำไม สมาทานศีลกับท่านทำไม ถ้าไม่สมาทานก็กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนั้น กลัวเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ก็เลยสมาทาน แต่ที่จริงเป็นว่ามันไม่ได้บุญ เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิได้ คือในขณะที่เราสมาทานศีลอยู่นี้ ก็เป็นบุญแล้ว บุญนี้สามารถที่จะให้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นมาเพราะอำนาจที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิว่า สมาทานศีลก็ไม่ได้บุญ รับศีลก็ไม่ได้บุญ ตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเทวดาเป็นมิจฉาทิฏฐิไป นี้มันเป็นได้อย่างนี้

       หรือเวลาเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างนี้ เราเดินจงกรมนั่งสมาธิ โอย เดินจงกรมไปทำไมหนอ นั่งสมาธิไปทำไมหนอ มาปฏิบัติคงไม่ได้อะไรหรอก อ้าว ไม่ได้ทำไมถึงเดินจงกรมกับเพื่อนอยู่ ทำไมถึงปฏิบัติกับเพื่อนอยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติเพื่อนก็จะว่า เช่นพวกเราทั้งหลายไปประชุมโน้นไปประชุมนี้ ครูบาอาจารย์ให้เดินจงกรม เดินไปทำไมหนอ เดินจงกรมนั่งสมาธินี้มันไม่ได้บุญอะไรหรอก จิตมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นมา ถ้าไม่ได้บุญทำไปทำไม ถ้าไม่ทำครูบาอาจารย์ก็ว่า เพื่อนจะว่าอย่างนั้นเพื่อนจะว่าอย่างนี้ ครูบาอาจารย์จะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ญาติโยมจะว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จำเป็นต้องทำ ในเวลาเราทำมันก็เป็นบุญอยู่นะ เวลาทำบุญมันก็เป็นบุญอยู่ แต่จิตมันเป็นบาป เป็นมิจฉาทิฏฐิ เวลาทำบุญ มันก็ได้บุญ บุญนี้ก็สามารถที่จะนำไปเกิดเป็นมนุษย์ได้ เป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่เมื่อเกิดเป็นเทวดามาแล้ว เทวดานั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าในขณะที่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้นจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่แล้ว เห็นว่าทำกัมมัฏฐานไม่ได้บุญแต่ข่มใจทำเกรงเพื่อนจะว่า เกรงครูบาอาจารย์จะว่า บุญส่วนนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาได้ แต่ว่าเกิดมาแล้วก็เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ เมื่อเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอย่างนี้แล้วท่านทั้งหลาย เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐินี้ก็มาทำโน้นทำนี้ ทำให้เรากลัวอย่างนั้นกลัวอย่างนี้ ทำให้การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานของเราไม่ได้ผลเท่าที่ควร

       ขอออกนอกเรื่องไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีคนถามหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ  เจ้าปู่นี้ทำไมถึงอายุยืนเหลือเกิน ปู่ทวด ตาทวด ตายไปแล้ว แต่เจ้าปู่นั้นยังไม่ตาย” หรือบ้านเราภาคอีสานเรียกว่า “ผีปู่ตา” ถ้าอยู่ในเมืองก็เรียกว่าศาลเจ้า หรือในเมืองเขาว่าอะไร ศาลเจ้าหลักเมืองอะไรทำนองนี้ เอาภาษาบ้านเราซะ พวกเจ้ากวน พวกผีปู่ตา เรียกว่าเจ้าปู่ เจ้าผีปู่ตา พวกเจ้าปู่นี้ พวกนี้ไปเกิดเป็นเจ้าปู่ได้อย่างไร พวกนี้หลวงพ่อว่าเป็นภุมมเทวดา พวกนี้เป็นภูมิต่ำๆ แต่เทวดาพวกนี้ก็เกิดจากอำนาจมิจฉาทิฏฐิเหมือนกัน

       สมมุติว่าเมื่อก่อนเขาตั้งให้เป็นเจ้ากวน ให้เป็นผู้รักษา เป็นกวนบ้านเป็นผู้รักษา ต้องเลี้ยงนู้นเลี้ยงนี้ เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู เลี้ยงเหล้า คนมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นมาต้องมาหาปู่ตา จะลงดำนาก็หาปู่ตา จะทำบุญทำทานก็ไปหาเจ้ากวนนั้นแหละ เจ้ากวนก็พาไป พาไปกราบไปไหว้ ไปเซ่นไปสรวงนู้นๆ นี้ๆ ทีนี้บุคคลประเภทนี้ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นผีปู่ตา แต่ถ้าพูดภาษาให้เพราะๆ หน่อยก็เรียกว่า ภุมมเทวดา ทีนี้เมื่อบุคคลนั้นเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่อย่างนั้น เป็นภุมมเทวดาอยู่นั่น

       ทีนี้เมื่อคนนั้นตายไปเขาก็ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติเจ้ากวน หรือว่าเป็นผู้ทำงานเกี่ยวกับศาลเจ้า คนนี้ก็ทำงาน มีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องไปหาคนนี้ คนนี้เขาก็เป็นหัวหน้าหัวตา พาทำอย่างโน้นพาทำอย่างนี้ ทำพิธีอย่างโน้นทำพิธีอย่างนี้ ในขณะที่ทำจิตมันเป็นมิจฉาทิฏฐินะท่านทั้งหลาย การทำอย่างนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 09 มิถุนายน 2563 15:39:14
(https://sites.google.com/site/sirinyaroonjai/_/rsrc/1467865000794/phu-cad-tha-1/prapheni-laea-wathnthrrm-phakh-tang-khxng-thiy/p17c49hah01r0e1c45ump1gk2l8h5.jpg?height=213&width=320)

สิ่งขวางกั้นการปฏิบัติธรรม (จบ)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       ทีนี้เมื่อผู้นี้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิอยู่นั้นแหละ ได้เทวดามิจฉาทิฏฐิ ๒ ตนแล้วนะ เขาก็ตั้งคนใหม่อีก ตั้งคนใหม่เป็นผู้ปฏิบัติศาลเจ้า ผู้นี้เขาตายแล้วก็มาเกิดในที่นี้อีก ตั้งคนใหม่อีก คนใหม่ตายแล้วก็ไปเกิดในที่นี้ พวกภุมมเทวดาที่อยู่ที่นี้ ผู้ใดที่หมดบาปก่อนก็ไปเกิดในภพใหม่ ผู้ใดบาปหมดก่อนเพื่อน บาปมิจฉาทิฏฐินี้หมดก่อนเพื่อนก็ไปเกิดในภพในภูมิตามกรรมของตนเอง ทีนี้พวกยังอยู่ก็เหลืออยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้คนทั้งหลายไม่เข้าใจก็ดูเหมือนว่าอายุยืน แต่ที่จริงมันต้องผลัดเปลี่ยนกัน ตนหนึ่งไปตนหนึ่งอยู่ เทวดาพวกนี้ก็เหมือนกันท่านทั้งหลาย เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมก็เป็นสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางพวกเราผู้ปฏิบัติธรรม

       เช่นว่าเราไปทำกัมมัฏฐานใกล้ดอนเจ้าปู่หรือเสาหลักเมืองที่นู้นที่นี้ก็มีเรื่องอย่างนี้มันเกิดขึ้นมา หรือไปตามป่าดงพงพี เมื่อพวกนี้รักษาอยู่ ลักษณะเช่นนี้ก็เกิดขึ้นมา เมื่อเราทำกัมมัฏฐานหากว่าลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นมาหรือว่ามีเทวดามิจฉาทิฏฐิมันทำร้ายเรา หรือว่าทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราดำเนินช้า หรือดำเนินไปไม่ได้ ทำให้การปฏิบัติของเรานี้ไม่ก้าวหน้า เราก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เขา บางทีเขารับส่วนบุญส่วนกุศลแล้วก็เลิกจองกรรมจองเวรหรือไม่ทำลายเรา

       หรือบางทีเราอุทิศส่วนกุศลให้แล้วก็ยังไม่เลิกละ ยังหาวิธีขัดขวางกีดกันอยู่ตลอดเวลา เราก็อย่าเอาใจใส่ เอาสติปักลงที่ท้องพองท้องยุบ “พองหนอ ยุบหนอๆ” ไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อเราไม่เอาใจใส่มันก็หลีกไปเอง นี้แหละท่านทั้งหลาย สิ่งทั้งหลายที่หลวงพ่อกล่าวมาข้างต้นนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานของพวกเราไม่ให้ก้าวไปเท่าที่ควร หรือว่าไม่ให้ได้ผลเลย

       เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังอุปสรรคทั้ง ๑๐ ประการดังกล่าวมาแล้ว เมื่อเกิดขึ้นให้ท่านทั้งหลายมีสติสัมปชัญญะกำหนดบทพระกัมมัฏฐานอย่าเอาใจใส่ ผลสุดท้ายก็จะหมดไปเอง

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อได้น้อมนำมาซึ่งอุปสรรคสิ่งที่ขัดขวางกั้นกางการประพฤติปฏิบัติ ๑๐ ประการมาเล่าถวายท่านทั้งหลาย ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.      


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 18 มิถุนายน 2563 16:19:42

(https://i.pinimg.com/originals/2f/2b/0d/2f2b0d99649a321c1a48849b3f402ba8.png)

กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       สำหรับวันนี้ จะได้น้อมนำเอาธรรมะเรื่อง กิเลสทำให้จิตตกไปฝ่ายต่ำ มาบรรยายเพื่อเป็นการประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายสืบไป

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะของพวกเราทั้งหลายก็เพื่อดำเนินไปสู่ปฏิปทา ความพ้นทุกข์ เพื่อบรรลุอริยมรรคอริยผล แต่บางครั้งกิเลสได้โอกาส เพราะเราขาดสติสัมปชัญญะ กิเลสอาจจะเข้าแทรกในจิตใจของเรา ผลสุดท้ายก็ทำให้จิตใจของเราหวนระลึกกลับหลัง หรือถอยหลังเข้าคลองก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติธรรมะของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้น จึงจะได้นำเรื่องกิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำมาบรรยายเพื่อท่านทั้งหลายจะได้สดับรับฟัง พอเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจในการประพฤติปฏิบัติธรรม

       กิเลสที่ทำให้จิตตกไปในฝ่ายต่ำนั้นมีดังนี้ คือ

       ๑. โลภะ เมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้หมดอาลัยหมดความหวังในการปฏิบัติ โดยคิดว่าชาตินี้หรือปีนี้เราคงได้แค่นี้แหละ คงหมดบุญวาสนาบารมีแล้ว ทำไปก็คงไม่ได้อะไรอีก เลยทำให้เกิดความท้อใจ ทำให้เกียจคร้าน ทำให้เบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติ ทำให้กลุ้มใจ เลิกการปฏิบัติ หรือมิฉะนั้นก็ลดเวลาของการปฏิบัติลง โดยคิดว่าหมดหนทางแล้วเรา โดยลืมพุทธพจน์ที่เคยได้ท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจจำได้คล่องแคล่วว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร หรือว่าความเพียรมีอยู่ ณ ที่ไหน ความสำเร็จย่อมมีอยู่ ณ ที่นั้น ความเพียรแม้เทวดาก็ไม่สามารถพยากรณ์ได้ พุทธพจน์ที่ดีๆ ที่เคยท่องได้ จำได้จนขึ้นใจ ทำให้ลืมไปหมด เลยคิดแต่จะหวนกลับหรือถอยหลังเข้าคลอง อันนี้เป็นลักษณะของโลภะ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็ทำให้จิตใจของเราถอยหลัง

       ๒. โทสะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ไม่พอใจ ไม่ชอบใจในการปฏิบัติ ในเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกัน ในญาติโยม ในที่อยู่ ในอาหาร ในครูอาจารย์เป็นต้น เลยให้คิดแส่ไปว่า ออกจากนี้เราจะไปปฏิบัติที่โน้น เราจะปฏิบัติที่นี้ คงจะดีกว่าที่นี้ ที่นี้คงหมดแค่นี้แหละอะไรทำนองนี้ อันนี้เป็นลักษณะของโทสะ

       ๓. โมหะ ก็ทำให้มืดมนอนธการ ทำให้มืดบอดเหมือนหมู่เมฆที่ปิดบังสุริยะแสง ทำให้มืดครึ้มฉะนั้น ไม่สามารถที่จะขบคิดปัญหาธรรมะอันเป็นมรรคาที่จะนำพาไปสู่การบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ เลยทำให้เห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี กลับกันเหมือนหน้ามือกับหลังมือ เช่น เห็นรูปนามเป็นนิจจัง คือ เที่ยง เห็นรูปนามเป็นสุขัง คือ เป็นสุข เห็นรูปนามเป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เห็นรูปนามเป็นสุภะเป็นของสวยของงาม ทำให้เกิดจิตวิปลาส คือ คิดผิด ทำให้เกิดทิฏฐิวิปลาส คือ เห็นผิด ทำให้เกิดสัญญาวิปลาส คือ จำผิด ทำให้เกิดญาณวิปลาส คือ รู้ผิด เป็นต้น

       ๔. ถีนมิทธะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็มีแต่ทำให้ท้อแท้ใจ ทำให้ติดอยู่กับการหลับการนอน การเอนข้างเอนหลัง ทำให้โงกงุ่น เคลิบเคลิ้ม ง่วงเหงาหาวนอน จะเดิน จะนั่ง จะกำหนดอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยก็ไม่ได้ดี ไม่กระฉับกระเฉง ตกลงก็เลยถูกเจ้าถีนมิทธะผลักหัวลงปลงพระกัมมัฏฐานว่า นิทราดีกว่าเรา เช้านี้เราตื่นดึกๆ ก็พอ แต่เมื่อถึงคราวจะตื่นขึ้นทำความเพียร มันกลับบอกว่า เอาอีกก่อนๆ อีกหน่อยค่อยลุกไม่เป็นไร ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้จิตใจของเราถอยหลังในการประพฤติปฏิบัติ

       ๕. อหิริกะ

       ๖. อโนตตัปปะ

       สำหรับตัวอหิริกะกับตัวอโนตตัปปะ ก็เหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้จิตใจของเราไม่ละอายบาป ไม่กลัวต่อบาป ไม่กลัวต่อผลของบาป กล้าทำบาปทั้งในที่ลับทั้งในที่แจ้ง ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทั้งๆบางทีเราก็รู้อยู่ว่า คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ พูดอย่างนี้ มันผิด ไม่สมควรกับเพศภูมิ หรือฐานะของเรา ผิดศีลผิดธรรม ผิดกฎหมาย ผิดกฎผิดกติกา เป็นต้น แต่เจ้าอหิริกะหรืออโนตตัปปะนี้มันก็จะกระซิบขึ้นมาว่า “ไม่เป็นไรๆ ครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าผิดศีลเราปลงอาบัติเอาก็ได้ หรืออยู่ปริวาสกรรมก็ได้” อะไรทำนองนี้ มันกระซิบขึ้นมา ผลสุดท้ายก็ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน เจ้าอหิริกะและเจ้าอโนตตัปปะนี้ เมื่อเกิดขึ้นอย่างแรงกล้าแล้วมันจะพาทำบาปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่อย่างเบาถึงอย่างหนัก สามารถที่จะต้องอาบัติได้ตั้งแต่เบาจนถึงที่สุด

       ๗. ทิฏฐิ ก็จะทำให้เราเข้าใจผิด คิดผิด เห็นผิดจากกฏของธรรมชาติ เห็นผิดต่อการปฏิบัติ เห็นผิดต่อผลของการปฏิบัติ เป็นคนเห็นผิด ขาดเหตุผล ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้คิดผิดอะไรร้อยแปดพันประการ เห็นว่าบาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี มรรคผลพระนิพพานไม่มี อะไรทำนองนี้

       เหมือนกันกับข้าราชการคนหนึ่งที่ลามาบวช เป็นตำรวจลามาบวช เดินจงกรม นั่งสมาธิ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนโน้นละ เดินจงกรมระยะ ๖ ตอนนั้นครูบาอาจารย์ก็อยู่ใกล้ชิด ก็ขอร้องว่า  เดี๋ยวนี้มันก็ใกล้จะหมดเวลาปฏิบัติแล้ว อีกไม่กี่วันเราก็จะเลิกแล้ว ก็ขอให้ท่านทั้งหลายที่ยังไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ ได้ตั้งอกตั้งใจได้ประพฤติปฏิบัติ ก็ขอร้องเป็นพิเศษ

       พอดีคนนั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติสภาวธรรมตัวนี้เกิดขึ้นมา ทิฏฐิมันหายไปจนถึงกับร้องห่มร้องไห้ว่า ผมนี้เสียเวลามาตั้งนาน เข้าใจผิดมาตั้งแต่นาน คิดว่าผลของการประพฤติปฏิบัตินี้ไม่มี เมื่อก่อนโน้นหลวงพ่อไม่เตือนผมเลย ทั้งๆ ที่เราเตือนทุกวันนั่นแหละ แต่เขาก็ไม่เอาใจใส่ นี่แหละท่านทั้งหลาย ตัวทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญ ที่ขัดขวางการประพฤติปฏิบัติของเราไม่ให้ได้ผล เป็นตัวที่ทำให้กำลังใจของเราตก ทำให้การปฏิบัตินี้ถอยหลัง

       ๘. มานะ ตัวมานะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราสำคัญตัวว่าอยู่ในฐานะนั้น อยู่ในฐานะนี้ ทำให้สำคัญว่าเลิศกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง เลวกว่าเขาบ้าง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลิศกว่าเขา ก็ทำให้ลำพองตัว ตีค่าตัวว่าเราก็หนึ่งละ คนอื่นสู้เราไม่ได้ ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเสมอเขา ก็ทำให้ไม่สบายใจเพราะมีคู่แข่ง ถ้าขณะใดเข้าใจว่าเลวกว่าเขาด้อยกว่าเขา ก็จะทำให้เกิดโทมนัส เกิดความทุกข์ใจ น้อยใจ แห้งผากใจ คับแค้นใจ ผลก็คือทำให้การปฏิบัติของเราไม่ได้ผล

       ๙. อุทธัจจะ ตัวอุทธัจจะนี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้จิตใจของเราฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งอดีต อนาคต เมื่อก่อนยังไม่ได้บวช ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน เจ้ากิเลสตัวนี้ก็จะทำทีประจบประแจง อยากให้มาบวชอยากให้มาปฏิบัติ แต่พอเข้ามาปฏิบัติจริงๆ เราจะพ้นจากอำนาจของมัน มันก็จะดั้นด้นเอาเรื่องนั้นมาให้คิด เอาเรื่องนี้มาให้คิด บางทีเรื่องนี้คิดยังไม่จบ มันก็เอาเรื่องใหม่มาให้เราคิดต่ออีกแล้ว

       บางทีหนักๆ เข้ามันก็ทำเหมือนเรามีหัวใจหรือว่ามีจิตใจเป็นสองดวง ดวงหนึ่งบริกรรมว่า “พุทโธๆ” หรือว่าบริกรรมว่า “พองหนอ” “ยุบหนอ”  เป็นต้น อีกดวงหนึ่งทำให้เราคิดเรื่องนั้นบ้าง ทำให้เราคิดเรื่องนี้บ้าง อะไรจิปาถะ หรืออีกดวงหนึ่งถามปัญหา อีกดวงหนึ่งวิสัชนาปัญหา อะไรร้อยแปดพันประการ หนักๆเข้าเราจะกำหนดจิตว่า “คิดหนอๆ” มันก็กระซิบว่า “ไม่ต้องกำหนดๆ ปล่อยให้มันคิดไปลองดู มันจะคิดไปถึงไหน” ผลสุดท้ายชะล่าใจก็เลยปล่อยให้จิตใจนี้ฟุ้งซ่านไปตามอำนาจของมัน เจ้าตัวอุทธัจจะนี้ร้ายกาจมาก มันทำให้เราไม่ได้สมาธิ ไม่ได้สมาบัติหรือวิปัสสนาญาณ คือวิปัสสนาญาณไม่เกิด ก็เพราะไม่มีสมาธิเป็นเครื่องรองรับ มัวแต่คิดไปตามอำนาจของตัวอุทธัจจะ

       ตัวอุทธัจจะนี้นอกจากจะทำให้เสียผลดังกล่าวมา ยังทำให้เกิดโรคความดันสูง เกิดโรคประสาท เกิดโรคกระเพาะอาหาร เกิดโรคหัวใจอ่อน เกิดโรคลมบ้าหมูเป็นต้น ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ นอกจากนี้ก็ทำให้เกิดวิปลาส ทำให้เกิดประสาทหลอน บางทีก็ทำให้เห็นนิพพานอยู่ใกล้ๆ จะไปนิพพานเดี๋ยวนี้ให้ได้ เลยเอามีดเชือดคอตัวเองตาย กินยาตาย แล้วจะไปนิพพานให้ได้เดี๋ยวนี้ ผลก็คือเป็นบาปตกอเวจีมหานรก

       สรุปความว่า ที่ทำกัมมัฏฐานไม่สำเร็จ ก็เพราะเจ้าตัวนี้เป็นตัวสำคัญเบอร์ ๑ เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลายพึงสังวรพึงระวัง แล้วก็ลองพิจารณาดูว่าเหมือนกับหลวงพ่อกล่าวมาหรือไม่ เพราะตัวนี้มันเกิดขึ้นมาแล้วมันจะทำให้คิดอะไรร้อยแปดพันประการ เดินจงกรมอยู่ก็คิด นั่งอยู่ก็คิด คิดไปเรื่องโน้นคิดไปเรื่องนี้ เมื่อเรามัวแต่คิดๆ แล้ว จิตก็พรากจากสมาธิ ไม่มีสมาธิ เมื่อไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐานวิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด เมื่อวิปัสสนาญาณไม่เกิด การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นตัวนี้จึงถือว่าเป็นตัวที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การประพฤติปฏิบัติของเราไม่ได้ผล ทำให้จิตใจของเราตกไปในฝ่ายต่ำ

       ๑๐. วิจิกิจฉา ตัววิจิกิจฉานี้เมื่อเกิดขึ้นก็จะทำให้เราเกิดความสงสัยในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน เช่น สงสัยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือ ถ้ามี ใครไปรู้มา มรรคผลนิพพานมีจริงหรือ ถ้ามี มีใครบ้างได้บรรลุ บรรลุแล้วเป็นอย่างไร นรก เปรต อสุรกาย ภูตผีปิศาจ เทวดา มาร พรหม มีจริงหรือ ถ้ามี มีใครไปเห็นมา โลกหน้ามีจริงหรือ ถ้ามี ผู้ไปแล้วไม่เห็นใครมาบอก คนตายแล้วเกิดจริงหรือ ถ้าเกิด ไม่เห็นมีใครจำชาติได้ ระลึกชาติก่อนได้ อะไรทำนองนี้ เจ้าตัววิจิกิจฉานี้มันทำให้เกิดความสงสัยทุกสิ่งทุกประการ

       สรุปความว่า ที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ได้ดี ไม่ถึงดี หรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะเจ้ากิเลสหรือเพื่อนชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ ชักจูงจิตใจเราให้ตกไปฝ่ายต่ำอยู่เสมอ ทำให้ขาดความตั้งใจ ที่ตั้งใจไว้เดิม ทำให้ขาดทมะ ความข่มใจ ขาดขันติความอดทน ขาดฉันทะความพอใจ ขาดวิริยะความเพียร ขาดสติ ขาดสัมปชัญญะ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาเป็นต้น เลยเสียทั้งทุนสูญทั้งกำไร กว่าจะรู้ตัวได้เราก็ถูกมันทำลายเสียอย่างยับเยินแล้ว

       เหตุนั้นก็ขอให้ท่านครูบาอาจารย์ ได้สำเหนียกได้พิจารณา ได้ตั้งใจใหม่ว่า ขณะนี้เวลาก็ยังมีอยู่มาก หลวงพ่อคิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ หากว่าเรารู้ตัวว่าเราตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ หรือว่าถูกกิเลสทั้ง ๑๐ ตัวนี้ชักพาหรือนำพาจิตใจของเราให้ตกไปในฝ่ายต่ำ หากว่าเรารู้อย่างนี้เราได้สติอย่างนี้ หลวงพ่อก็คิดว่ายังไม่สายจนเกินแก้ เพราะยังอีกหลายวัน จึงจะถึงวันมหาปวารณา หากเราขะมักเขม้น ตั้งใจทำ คงมีทางผ่านการปฏิบัติไปได้ไม่มากก็น้อย

       หลวงพ่อคิดว่าเราควรจะคิดสู้มันบ้าง เพราะขณะนี้กองสนับสนุน กองเสบียงของเราก็ถวายอุปการะอยู่อย่างเต็มที่ ด้วยอำนาจเมตตาธรรมของบรรดาครูบาอาจารย์นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สายธารศรัทธาก็ยังหลั่งไหลมาจากสารทิศอยู่มิได้ขาด เราควรจะได้ปลื้มใจดีใจในสายธารศรัทธา และปลงธรรมสังเวชว่า ถึงอย่างไรๆ เราก็จะทำให้ภัตตาหารที่มีผู้ศรัทธาถวายมานี้เป็นภัตตาหารที่ถวายแก่พระอริยบุคคลให้จงได้ ขอให้เราคิดดังนี้ จิตใจของเราจะได้เกิดอุตสาหะพยายามในการประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป

       ดังมีพระรูปหนึ่งซึ่งมาปฏิบัติภาคฤดูหนาว เวลาประพฤติปฏิบัติไป ญาติโยมทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น เจริญพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร แล้วก็พรรณนาไปถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เมื่อพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ที่บุคคลอื่นควรเคารพนับถือ กราบไหว้ สักการะ ถวายเครื่องสักการะสัมมานะ ควรรับทักษิณาทานของผู้อื่น

       พระภิกษุรูปนั้นก็พิจารณาว่า เอ๊ะ เรานี้บวชมาในพระพุทธศาสนา มาประพฤติปฏิบัติธรรมะครั้งนี้ เราก็ยังไม่อยู่ในขั้นที่เรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีถึงที่ หรือปฏิบัติตรงหรือปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์เต็มที่ หรือว่ายังไม่เป็นผู้ปฏิบัติที่สมควรที่จะเคารพยกย่องสรรเสริญ การปฏิบัติของเรายังไม่ได้บรรลุสามัญผลขั้นใดเลย ถ้าคิดให้ซึ้งๆไป เรานี้ไม่สมควรที่จะรับสักการะของเขา ไม่สมควรที่จะฉันภัตตาหารของเขา ค่อนขอดตัวเองในขณะนั้น นึกว่าเรานี้ยังไม่ได้บรรลุคุณสมบัติอะไรเลย

       เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้วก็ปลีกออกจากหมู่ ปลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว พยายามตั้งอกตั้งใจเจริญพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ไม่ช้าไม่นานก็สามารถยังความประสงค์ของตนให้สำเร็จได้ เลยเข้ามากราบหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อ บัดนี้ผมดีใจผมภูมิใจในการประพฤติปฏิบัติแล้ว” แกก็เล่าสภาวะทั้งหมดที่ประพฤติปฏิบัติมาให้ฟัง

       นี่แหละท่านทั้งหลาย ความเพียรนี้แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ ดังในเรื่องที่กล่าวไว้ในธัมมปทัฏฐกถา ที่พระราชาส่งราชบุรุษไปถามพระฤาษีว่า การรบกันครั้งนี้ ใครจะแพ้ ใครจะชนะ พระฤาษีก็พยากรณ์ว่าทางฝ่ายโน้นจะชนะฝ่ายนี้จะแพ้ เพราะเหตุไรพระฤาษีจึงพยากรณ์เช่นนั้น ก็เพราะว่ามีเทวดามาบอก เทวดามาบอกว่าฝ่ายนี้จะแพ้ ฝ่ายนี้จะชนะ

       ราชบุรุษทราบแล้วก็ไปกราบทูลพระราชา เมื่อพระราชาทรงทราบแล้วก็ฮึดใจสู้ว่ามันจะแพ้ก็ให้รู้แล้วรู้รอดไป ปลุกระดมบรรดากองทัพทั้งหลายทั้งปวงให้สามัคคีปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตายก็ขอให้ตายอย่างสมเกียรติผู้ชาย เราไม่ทิ้งบ้านทิ้งเมืองเป็นอันขาด รักบ้านรักเมืองรักประเทศนี้ยิ่งกว่าชีวิต ผลสุดท้ายพระราชาพร้อมด้วยราชบริวารทั้งหลายก็ฮึดสู้ เมื่อฮึดสู้ ผลสุดท้ายก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้ ทั้งๆที่เทวดาพยากรณ์ว่า พระราชาพร้อมทั้งราชบริวารทั้งหลายจะแพ้ข้าศึก ฝ่ายข้าศึกจะเป็นผู้ชนะ แต่ผลสุดท้าย เพราะความพยายามอุตสาหะวิริยภาพอันแรงกล้า ก็สามารถเอาชนะข้าศึกได้

       อันนี้ก็เป็นเครื่องสรุปให้เห็นว่า ความเพียรนี้ แม้เทวดาก็ไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ สมมุติว่าเทวดาจะมาพยากรณ์ว่าเราจะทุกข์อย่างนั้น เราจะจนอย่างนี้ เราจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่เรามีความอุตสาหะ มุมานะ สร้างสมอบรมคุณงามความดี บำเพ็ญความเพียรเรื่อยไป ก็สามารถที่จะตั้งตัวได้ สามารถจะเป็นตัวของตัวได้ เหตุนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้น้อยใจ อย่าได้ท้อถอย ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอยู่ในอิทธิบาทธรรมทั้ง ๑๐ ประการ

       ดังที่หลวงพ่อได้เคยบรรยายสู่ฟังว่า การประพฤติปฏิบัตินี้เราต้องมีฉันทะ คือพอใจในการปฏิบัติ ต้องมีวิริยะ แข็งใจในการประพฤติปฏิบัติ มีจิตตะ ตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติ แล้วก็มีวิมังสา ฉลาดในการประพฤติปฏิบัติ เมื่อใดเราตั้งอยู่คุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็สามารถที่จะบรรลุสามัญผล สมกับที่เราตั้งใจไว้แต่เดิม

       เอาละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เท่าที่หลวงพ่อบรรยายธรรมะมาวันนี้โดยสังเขปกถาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา
      


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 24 มิถุนายน 2563 16:22:34

(https://wp.s3.nakamole.com/blog/wp-content/uploads/2019/08/28085006/%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-1.jpg)

สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๑)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

      วันนี้จะได้นำมหาภัย ๒๓ ประการซึ่งจะเกิดขึ้นขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานของท่านทั้งหลาย มาบรรยายโดยสังเขปกถา

       ดำเนินความว่า อันตรายทั้ง ๒๓ ประการนั้นคือ

       ๑. วิจิกิจฉา ความสงสัย แต่ความสงสัยนี้ ถ้าพูดในแง่ปริยัติก็หมายความว่าสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า สงสัยในเรื่องพระธรรม สงสัยในเรื่องพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป สงสัยในเรื่องนรก เปรต อสุรกาย สงสัยในเรื่องสวรรค์ พรหมโลก มรรคผลนิพพาน ว่ามีจริงไหม เหล่านี้เป็นต้น นี้เป็นในแง่ปริยัติ

       แต่สำหรับการปฏิบัตินั้นไม่ได้หมายความอย่างนั้น เพียงแต่อะไรเกิดขึ้นมาในขณะปฏิบัติ เช่น มีนิมิตเกิดขึ้น เห็นป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำธาร สถานที่ เห็นพระพุทธรูป เห็นเจดีย์ หรือเห็นอะไรต่างๆ เราก็เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรหนอ” เพียงแต่เอ๊ะ เท่านั้นแหละ ยังไม่ได้คิดว่าอันนี้มันอะไรกันหนอ ยังไม่ได้ว่าเลย  ก็เป็นวิจิกิจฉาแล้ว

       คือหมายความว่า ในขณะที่เรามีความเอะใจสงสัยว่า “เอ๊ะ ! อันนี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละท่านทั้งหลาย สมาธิก็จะตกทันที เหมือนกันกับเราขึ้นไปบนต้นไม้ เรากำลังจะยื่นแขนของเราไปจับกิ่งไม้ เพียงเรายื่นแขนไปเท่านั้นแหละ ปรากฏว่ามีสัตว์ร้ายมีอะไรอยู่ก็เกิดความเอะใจ และเกิดความกลัวขึ้นมา แล้วก็วางมือทันที และในขณะที่เราวางมือเท่านั้นแหละ เราก็ต้องร่วงลงจากต้นไม้ลงมาสู่พื้นดิน ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่เราเกิดความเอะใจสงสัยในเวลาประพฤติปฏิบัติ อะไรเกิดขึ้นมาแล้วก็ลืมกำหนด เราไม่ได้กำหนด เกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาว่า “เอ๊ะ ! นี้มันอะไรกันหนอ” เพียงเท่านี้แหละ ก็เป็นวิจิกิจฉา เมื่อเกิดความเอะใจสงสัยขึ้นมาแล้วสมาธิก็ตก เมื่อสมาธิตกปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล นี้เป็นประการที่ ๑

       ๒. อมนสิการ เมื่อปฏิบัติไป ทำใจไม่ดี ประคองใจไว้ไม่ตรง จิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็คิดเรื่องโน้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ ไม่ได้ประคับประคองจิต ไม่ได้ข่มจิต ไม่ได้เชิดชูจิต ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ขาดโยนิโสมนสิการ เวลากำหนดอาการพองอาการยุบนี้ก็ไม่ได้เอาจิต ไม่เอาสติหยั่งลงไปจนถึงที่เกิดที่ดับของอาการพองอาการยุบ เวลาเดินจงกรมก็เหมือนกัน ไม่ได้เอาสติ ไม่ได้เอาจิตปักลงไปในขณะเดินตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก เราก็ไม่ได้ใคร่ครวญ ไม่ได้ตริตรอง ไม่ได้เอาสติกับจิตหยั่งลงไปถึงที่เกิดที่ดับของรูปของนาม เราเดินไปตามธรรมชาติ เราฉันไปตามธรรมชาติ บริโภคไปตามธรรมชาติ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เมื่อเราไม่ได้ประคองใจเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เหตุนั้นเราจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆก็ตาม เราก็ต้องตั้งสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา

       ๓. ฉัมภิตัตตะ จิตเกิดความสะดุ้ง คือหมายความว่า ในขณะที่เราปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น บางครั้งจิตของเรากำลังจะสงบเป็นสมาธิ ก็ปรากฏมีนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เห็นสัตว์ร้ายที่น่ากลัว เช่น ปรากฏเห็นพวกตะขาบบ้าง พวกงูบ้าง พวกแมงป่องบ้าง เห็นยักษ์ เห็นภูตผีปิศาจบ้าง เหล่านี้เป็นต้น จิตก็เกิดความสะดุ้งขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา บางทีก็กลัวจะเป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ บางครั้งก็กลัว่าถ้าประพฤติปฏิบัติต่อไปเกรงว่าจะเป็นบ้า เกรงจะเสียสติอะไรทำนองนี้ เมื่อจิตเกิดความสะดุ้ง เกิดความกลัว เกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตของตนอย่างใดอย่างหนึ่งเช่นนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล เพราะผู้ปฏิบัติไม่กล้าตัดสินใจ

       หมายความว่าเมื่อก่อนที่เรายังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมชาติ พวกนิมิตอะไรก็ไม่เกิดขึ้น ในขณะที่เรามาปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ บางทีนั่งไปเห็นนิมิตอะไรต่างๆ นานาประการ บางครั้งก็เห็นแสงสว่าง บางครั้งก็เห็นดวงแก้ว บางครั้งเห็นพระพุทธรูป บางครั้งเห็นเจดีย์ บางครั้งเห็นพวกเปรต พวกอสุรกาย บางครั้งเห็นพ่อเห็นแม่ที่ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้วยังปรโลกเบื้องหน้า บางครั้งก็เห็นบรรดาญาติหรือคนที่เคยรู้จักกันซึ่งตายไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมาว่า เออ เราเห็นอย่างนั้น เราเห็นอย่างนี้ เมื่อเกิดความตื่นเต้นขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราพรากจากสมาธิ เมื่อจิตพรากจากสมาธิแล้วปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๔. บางครั้งเกิดความง่วงเหงาหาวนอน คือเกิดถีนมิทธะเข้าครอบงำจิต เมื่อถีนมิทธะครอบงำจิต การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่ได้ดี การกำหนดบทพระกัมมัฏฐานก็ไม่กระฉับกระเฉง กำหนดไม่ได้ดีเท่าที่ควร จิตจับอารมณ์ไม่มั่น สติไม่สามารถที่จะตัดสินอารมณ์ได้ เช่น เวลานั่งไป มันผงกไปข้างหน้าข้างหลัง และข้างซ้ายข้างขวา หรือบางทีนั่งไป บังเอิญเข้าสมาธิไปหรือหลับไปอะไรทำนองนี้ เราก็ไม่สามารถจะตัดสินใจหรือไม่สามารถที่จะจำได้ว่า มันสัปหงกหรือผงะไปตอนท้องพองหรือตอนท้องยุบ หรือตอนนั่งตอนถูก หรือว่ามันนั่งหลับไปตอนท้องพอง ท้องยุบ หรือว่าตอนเรากำหนดอาการนั่งอาการถูก หรือว่ามันหลับไปในขณะที่เราบริกรรมว่าอย่างไร หรือว่าเวลาเข้าสมาธิมันเข้าสมาธิไปตอนท้องพองท้องยุบ หรือเข้าสมาธิไปตอนเรากำหนดอารมณ์พระกัมมัฏฐานอย่างไร ไม่สามารถที่จะตัดสินใจได้ ไม่สามารถที่จะจำได้ ไม่สามารถที่จะจับปัจจุบันธรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

       ๕. ทุฏฐุลละ ความที่จิตหยาบ คือหมายความว่า การปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ ที่จริงยิ่งประพฤติปฏิบัติเท่าไร จิตก็ยิ่งจะประณีตขึ้นไปตามลำดับๆ เพราะกิเลสตัณหามันลดลงไป แต่ตรงกันข้าม บางท่านเวลาประพฤติปฏิบัติแทนที่กิเลสหยาบทั้งหลายทั้งปวง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันจะหมดไป หรือจะเบาบางลงไป หรือสงบระงับลงไปจากขันธสันดาน แต่ยิ่งปฏิบัติไปจิตก็ยิ่งเกิดหยาบขึ้นมา พวกความโลภก็ยิ่งเกิดขึ้นหลายเท่าตัว พวกโทสะก็เพิ่มทวีขึ้น พวกโมหะก็เพิ่มขึ้น พวกราคะแทนที่จะเบาบางลง ยิ่งกลับเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนนั้นไม่เคยเป็นอย่างนี้ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้พวกราคะยิ่งเกิดขึ้นรุนแรง เหมือนกับว่าเกิดขึ้นเป็น ๓๐,  ๔๐  หรือ ๕๐  เท่าตัว อะไรทำนองนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะเหตุไร ? เพราะว่าจิตของเรามันหยาบ เพราะอำนาจของ โลภะ โทสะ โมหะ ราคะเป็นต้น เข้าครอบงำจิตผลสุดท้ายการประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล

       ๖. อัจจารัทธวิริยะ กระทำความเพียรเกินพอดี ความเพียรนี้เป็นของที่ดี แต่ถ้าหากว่ามันเกินพอดีก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ความเพียรนี้ถ้าเกินพอดีแล้วทำให้เกิดความตึงเครียด ทำให้เป็นบ้า เสียสติไปได้ เราจะสังเกตได้อย่างไรว่าความเพียรของเรามันเกินพอดี เราสังเกตเอาง่ายๆ เวลาเราเดินจงกรมอยู่ก็ดี เวลาเรานั่งสมาธิอยู่ก็ดีจะคิดมาก ๕ นาทีคิดไปร้อยแปดพันประการ บางที ๑๐ นาทีนี้คิดแต่งหนังสือ คิดสร้างหนังสือจบเป็นหลายๆ สิบเล่ม หรือบางทีนั่งอยู่ ๕ นาทีนี้คิดสร้างถาวรวัตถุ คิดสร้างกุฏิวิหารเสร็จไปเป็นหลายๆ หลัง บางทีนั่งอยู่ไม่ถึง ๕ นาทีสามารถที่จะเนรมิตกุฏิวิหาร ปราสาท วิมานตลอดถึงวัดวาอารามอะไรร้อยแปดพันประการ เกิดสร้างวิมานในอากาศ อันนี้เรียกว่าสร้างสมบัติบ้าขึ้นมาแล้ว

       ถ้าว่าจิตของเราอยู่ในลักษณะดังกล่าวมาแล้วนี้ ก็ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายเข้าใจเถิดว่า ความเพียรของเรามันเกินพอดีเสียแล้ว มันเกิดความตึงเครียดขึ้นมาแล้วทำให้คิดมากเสียแล้ว เหตุนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะควบคู่กันไป เพราะว่าถ้าความเพียรมากเกินไปแต่สติสัมปชัญญะหย่อน อาจจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ จะทำให้เป็นบ้าเสียสติไปได้ เหตุนั้น เมื่อความเพียรเกิดขึ้น ท่านทั้งหลายต้องเป็นผู้ฉลาด พยายามมีสติสัมปชัญญะจับปัจจุบันธรรมให้ได้ จำอารมณ์ให้ได้

       ๘. อติลีนวิริยะ มีความเพียรหย่อนเทิบทาบ นอกจากจะมีความเพียรเกินพอดีแล้ว หากว่าความเพียรของเรามันหย่อนเทิบทาบจนเกินไป การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน เช่นว่า วันหนึ่งนี้อย่างน้อยควรที่จะประพฤติปฏิบัติได้ ๘ ชั่วโมง หรือ ๑๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่การปฏิบัติของเรามันย่อหย่อนกว่านั้น หรือบางทีเราออกจากเดินจงกรมนั่งสมาธิ เราจะเดินไปสรงน้ำ เดินไปห้องสุขา เดินไปฉันภัตตาหาร หรือว่าเราจะกวาดเอาวิหารลานพระเจดีย์ ปัดกวาดกุฏิที่อยู่เป็นต้น เราก็ไม่กำหนด ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีก็คลุกคลีด้วยหมู่คณะ คุยกัน ลืมกำหนดบทพระกัมมัฏฐานไปก็มี เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติก็ไม่ได้ผล

       ๙. อภิชัปปา ความกระซิบที่จิต คือหมายความว่า กิเลสกระซิบที่จิต ข้อนี้สำคัญ เวลามาประพฤติปฏิบัติ ส่วนมากหากว่าเรากำหนดไม่ทันจะทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ คือหมายความว่า อภิชัปปานี้พวกกิเลสกระซิบที่จิต บางทีเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป มีเสียงมากระซิบว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” “การกำหนดอย่างนี้ไม่ถูก กำหนดอย่างนั้นจึงจะถูก” อะไรทำนองนี้ หรือบางทีเวลาเดินจงกรม “อย่าเดินๆ เรานั่งเอาดีกว่า” เวลานั่งก็บอกว่า “อย่านั่งๆ เรานอนเอาดีกว่า” กระซิบอยู่ตลอดเวลา

       บางทีก็กระซิบว่า “เจ้าเป็นพระโพธิสัตว์นะ” “เจ้าเป็นพระอรหันต์ประเภทพระโพธิสัตว์นะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุโสดาปัตติผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุสกิทาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุอนาคามิผลญาณไปแล้วนะ” “ขณะนี้เจ้าบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้วนะ” อะไรทำนองนี้

       หรือบางทีมันกระซิบว่า “เอ๊ะ ! เจ้านี้ เมื่อก่อนโน้นทำบาปทำกรรมมาก เอาเป็ดเอาไก่มาฆ่า หากว่าอยากได้ผลจากการประพฤติปฏิบัตินี้ ต้องไปเอาเป็ดเอาไก่มาฟังเทศน์ฟังธรรม” ก็ไปหาซื้อเอาเป็ดเอาไก่ หรือไปหาขอเป็ดขอไก่ชาวบ้านเขามาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

       บางทีก็กระซิบว่า “เมื่อก่อนโน้นเจ้าทำบาปฆ่าหมูไว้มาก หากว่าต้องการจะประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล ต้องไปเอาหมูมาฟังเทศน์ฟังธรรม” เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็จูงหมูขึ้นมาฟังเทศน์ฟังธรรม เหมือนดั่งแม่ชีคนหนึ่งมาจากอำเภอตระการฯ บางวันก็เอาหมูขึ้นมาฟังธรรม บางครั้งก็เอาเป็ดเอาไก่มาฟังธรรม บางครั้งก็เอานกมาฟังธรรม

       นี้เขาเรียกว่าอภิชัปปา กิเลสกระซิบที่จิต มันจะกระซิบไปร้อยแปดพันประการ หากว่าเรากระทำไปตามอำนาจของอภิชัปปานี้ ก็จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ บางทีเรานั่งสมาธิ เรานั่งขัดสมาธิดีๆ ไม่ยอม “โอ้ นั่งอย่างนี้ไม่ดี เราหาหมอนมาพิงดีกว่า” มันกระซิบขึ้นมานะ กระซิบขึ้นมาเอง

       เหมือนกันกับปู่เดชาที่สึกแล้วกลับบ้านไปวันนี้นี่ เวลาปฏิบัติ อภิชัปปากระซิบที่จิตมากที่สุด เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างโน้น เดี๋ยวก็ให้ทำอย่างนี้ ท่านหลวงปู่เดี๋ยวก็ทำไปอย่างโน้นบ้าง ทำไปอย่างนี้บ้าง ผลสุดท้ายไปเล่าให้ฟัง เออ ไม่ได้แล้ว นี้ตกอยู่ในอำนาจของอภิชัปปา ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้เสียผู้เสียคนได้ อย่าทำอะไรไปตามที่จิตสั่ง อย่าทำอะไรไปตามอำนาจของอภิชัปปามันกระซิบที่จิต ผลสุดท้ายหากว่าเรากำหนดไม่ทันมันจะทำให้เสียผู้เสียคนได้ ทำให้ทำอัตวินิบาตกรรมได้

       อันนี้แหละท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เวลาประพฤติปฏิบัตินี้ พวกอภิชัปปานี้ท่านทั้งหลายพึงสังวรให้มาก บางทีมันจะกระซิบว่า “เราหยุดการปฏิบัติเสียก่อนเถอะ ปฏิบัติในชาตินี้เพียงแค่นี้ละ เพียงขั้นสังขารุเปกขาญาณเท่านี้แหละ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยผลหรอก เพราะว่าเราได้ปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้ว เราได้ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องออกไปบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อนจึงจะได้ตรัสรู้ ชาตินี้ก็หยุดเพียงแค่นี้แหละ การประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานด้านวิปัสสนานี้เต็มเปี่ยมแล้ว เราทำบุญทำทานอย่างอื่น บำเพ็ญบารมีอย่างอื่น” อย่างนี้ก็มี

       บางทีประพฤติปฏิบัติไปก็กระซิบว่า “เอ๊ะ ! คุณ คุณไม่สามารถที่จะทำไปได้ดอก เพราะว่ายังขาดผู้ที่บำเพ็ญบารมีร่วมกัน ภรรยาของคุณ โน้น อยู่บ้านโน้น อยู่ตำบลโน้น อยู่อำเภอโน้น จังหวัดโน้น ที่เมื่อชาติก่อนโน้นได้เคยบำเพ็ญบารมีร่วมกัน ถ้าคุณอยากประพฤติปฏิบัติให้ได้ผล คุณก็ต้องกลับไปโปรดเขาเสียก่อน” เอาแล้ว สะพายบาตรแบกกลดเพื่อจะไปโปรดญาติโปรดโยมแล้ว

       บางทีก็กระซิบขึ้นมาว่า “ไม่ได้ดอก ต้องไปโปรดพ่อโปรดแม่เสียก่อน พ่อแม่นี้ได้บำเพ็ญบารมีร่วมกันมา ปรารถนาร่วมกันมา ต้องกลับไปโปรดโยมพ่อโยมแม่เสียก่อนจึงจะได้ผล” เราก็ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ต้องเป็นภาระ ต้องออกจากห้องปฏิบัติ ต้องไปขอร้องโยมพ่อโยมแม่ให้มาประพฤติปฏิบัติ

       อันนี้แหละท่านทั้งหลาย ขอสรุปสั้นๆว่า พวกอภิชัปปานี้มันจะกระซิบที่จิตของเราให้ทำอย่างโน้น ให้ทำอย่างนี้อะไรร้อยแปดพันประการ ถ้าเราทำตามอำนาจของมัน บางทีก็ทำให้เสียผู้เสียคนไปได้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี

       ๑๐. นานัตตสัญญา เมื่อปฏิบัติไป จิตมุ่งไม่แน่ คือมุ่งอารมณ์โน้นบ้าง มุ่งอารมณ์นี้บ้าง หลายอย่างสับสนกัน คือหมายความว่า จิตจับอารมณ์ไม่มั่น เช่นเรากำหนดว่า “พุทโธๆๆ” อย่างนี้ “เอ๊ะ ! มันใช้ไม่ได้หรอก สู้พองหนอยุบหนอของเราไม่ได้” กำหนด “พองหนอยุบหนอ” ไป “เอ๊ะ ! พองหนอยุบหนอนี้ก็ใช้ไม่ได้ สู้กำหนดรู้หนอๆ ไม่ได้” ก็กลับมากำหนด “รู้หนอๆ” ไป “เอ๊ะ ! รู้หนอๆ ก็ไม่ได้ สู้สัมมาอะระหังไม่ได้” มาภาวนาใหม่ “สัมมาอะระหังๆ” “เอ๊ะ ! สัมมาอะระหังก็ไม่ได้ สู้นะมะพะธะไม่ได้” อะไรทำนองนี้ เดี๋ยวก็ภาวนาบทโน้น เดี๋ยวก็ภาวนาบทนี้

       บางทีก็ “เอ๊ะ ! การภาวนาการบริกรรมนี้ใช้ไม่ได้ มันเป็นปริยัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ สู้มองดูความเคลื่อนไหวของรูปของนามของเวทนาไม่ได้ เพราะการตั้งสติจับอยู่หรือดูอยู่ พิจารณาอยู่ซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้มันเป็นปรมัตถ์แท้ เป็นทางที่จะให้พ้นทุกข์” ผลสุดท้ายก็ไม่ได้บริกรรม ไม่ได้กำหนดอะไร นั่งเฉยๆ อยู่ตลอดทั้งวันตลอดทั้งคืน นั่งเฉยๆอยู่ อันนี้เมื่อจิตมุ่งอารมณ์โน้นอารมณ์นี้ มีอารมณ์หลายอย่างสับสนกัน จะบริกรรมบทไหนก็ไม่เอา เดี๋ยวก็ว่าบทโน้นเดี๋ยวก็ว่าบทนี้ อะไรร้อยแปดพันประการ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประพฤติปฏิบัติของท่านทั้งหลายก็ไม่ได้ผล

       ๑๑. อตินิชฌายิตัตตะ เพ่งเกินไป เร่งเกินไป คือเพ่งเกินควร คือหมายความว่า เวลานั่งพระกัมมัฏฐาน ก็ตั้งในจิตในใจว่า “เอ้อ เรานั่งกัมมัฏฐานครั้งนี้ เราจะทำให้วิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้น นั่งครั้งนี้เราจะทำให้สมาธิสมาบัติเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดเราจะทำให้สำเร็จปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน” อะไรทำนองนี้ เมื่อเราเพ่งเกินไป หรือเร่งเกินไป หรือว่าเพ่งเกินควรเช่นนี้ ก็ทำให้จิตใจของเรากระสับกระส่ายฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผล

       เอาละท่านทั้งหลาย หลวงพ่อคิดว่าจะบรรยายธรรมะให้ครบทั้ง ๒๓ ประการ แต่บรรยายมานี้ก็เห็นว่าเป็นเวลายาวนานพอสมควร ประกอบกับสังขารวันนี้ไม่เอื้ออำนวย ถ้าจะบรรยายไปอีกก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยก็ต้อง ๔๐ นาทีจึงจะจบ ก็จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้.


หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 30 กรกฎาคม 2563 09:18:13

(https://i1.wp.com/www.blendernation.com/wp-content/uploads/2006/11/candle.jpg)

สิ่งที่เป็นอันตรายต่อการเจริญวิปัสสนา (ตอนที่ ๒)
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

       วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะอันเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องอันตรายซึ่งเกิดขึ้นมาขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระวิปัสสนาไม่ให้ได้ผล สืบต่อจากเมื่อวานนี้
       อันตรายของวิปัสสนานั้นคือ
       ๑. กัมมารามตา ทำงานไม่มีสติ ไม่ได้หมายถึงการทำงานออกกำลังกายทั่วๆ ไป หมายถึงตั้งแต่เรา ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำกิจใดๆ ก็ตาม เราจะมองซ้ายแลขวา เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังก็ดี ตลอดถึง นุ่งสบง ห่มจีวร พาดสังฆาฏิ ดื่ม ฉัน เป็นต้น เราไม่กำหนด เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างนี้เรียกว่าทำงานไม่มีสติ
       เมื่อเราไม่กำหนดอิริยาบถ หรือการทำงานทุกสิ่งทุกประการเราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ การปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล แม้แต่การปัดกวาด ทำความสะอาดห้องนอนก็ดี หรือว่า กุฏิวิหารอันเป็นที่อยู่ที่อาศัย ตลอดถึงบริเวณวัดก็ดี เราไม่มีสติ เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เช่นนี้การปฏิบัติก็ไม่ได้ผลเหมือนกัน การทำความสะอาด จะเป็นความสะอาดภายในหรือภายนอกก็ตาม ถ้าว่าเรารู้จักใช้มาเป็นคติเตือนใจ นอกจากเราจะมีสติทันปัจจุบันแล้ว เราพิจารณาควบคู่กันไปโดยใช้ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือวิจัยธรรม สอดส่องธรรมในขณะนั้นก็ได้
       เช่นว่า ร่างกายของเรา หากว่าเราอาบน้ำชำระร่างกายฟอกสบู่แล้ว ก็หมดจากภาวะความสกปรก ข้อนี้ฉันใด หากว่าใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความผ่องใสมากกว่านี้ หรือแม้แต่เราจะทำความสะอาดบริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ก็ดี เครื่องนุ่งห่มก็ดี เราพิจารณาควบคู่กันไปว่า บริเวณวัดก็ดี กุฏิที่อยู่ที่อาศัยก็ดี แม้แต่เครื่องนุ่งห่มของเรา เมื่อเราซักเราฟอกทำความสะอาดแล้ว แม้เราจะมองดูก็สวยสดงดงามน่าดู แม้จะมานุ่งมาห่มก็ไม่มีกลิ่นอันไม่พึงปรารถนาเป็นต้น หากว่าจิตใจของเราสามารถทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ ตัณหา อุปาทาน ให้หมดไปแล้ว ยิ่งจะได้รับความสุขความสบาย หรือความชื่นชมมากกว่านี้ เมื่อเราพิจารณาอย่างนี้ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ทำให้เกิดอุตสาหพยายามในการที่จะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐาน เหตุนั้นการทำงานนอกจากท่านทั้งหลายจะต้องกำหนดอิริยาบถให้ติดต่อกันไปแล้ว ก็ต้องพิจารณาควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นจิตใจของเรา หรือกระตุ้นการประพฤติปฏิบัติของเราให้ได้ผลเร็วขึ้น
       ๒. นิททารามตา มัวนอน นักปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ ท่านกำหนดไว้วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะเหตุไรจึงว่านอน ๔ ชั่วโมงพอแล้ว เพราะว่ามันหลับอยู่ในตัว บางครั้งเรานั่งพระกัมมัฏฐานไป จิตมันตกภวังค์ไปเป็นบางครั้งบางคราว จิตมันตกภวังค์ไปวับเดียวเท่านั้น ความง่วงก็หายไป บางทีเราเดินจงกรมอยู่ จิตของเรามันตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไปแล้ว หรือบางทีเรานอนกำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ครั้งหนึ่งหรือสองครั้งสามครั้งเท่านั้นแหละ ความง่วงมันก็หายไป เรานั่งสมาธิอยู่เหมือนกัน เรานั่งไปๆ กำหนดไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไป ความง่วงก็หายไป นั่งไปๆ จิตตกภวังค์วับลงไปอีก รู้สึกตัวขึ้น มาความง่วงก็หายไปแล้ว คือมันอิ่มอยู่ในตัว
       ท่านทั้งหลายลองนึกดู สมมติว่าตอนบ่าย ตอนบ่ายนั้นก็เดินจงกรมแล้วมานั่งสมาธิ ในชั่วโมงแรกจะรู้สึกว่านั่งสมาธิดี จิตใจสงบดี พอได้เวลาแล้วก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรม ลุกขึ้นไปเดินจงกรมครบกำหนดแล้วเรามานั่งชั่วโมงที่ ๒ นี้ นั่งไม่ค่อยได้ดี จิตใจไม่สงบ จิตใจไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยขาดความรู้สึก นั่งกำหนดอยู่อย่างนั้นร่ำไป อาการครึ่งหลับครึ่งตื่นก็ไม่มีอะไรทำนองนี้ เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าจิตของเรามันอิ่มมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกแล้ว เมื่อจิตอิ่มแล้วชั่วโมงแรก ชั่วโมงที่สองก็ไม่สามารถที่จะทำให้ขาดความรู้สึกลงไปได้ หรือไม่สามารถที่จะเข้าสมาธิไปได้ เพราะจิตมันอิ่มแล้ว
       เหตุนั้นนักปฏิบัติธรรมนี้ หากว่าธรรมะเกิดจริงๆ บางที ๒๔ ชั่วโมงนี้ เรานอน ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง พอแล้ว สิ่งที่พึงสังวรที่สุดสำหรับท่านนักปฏิบัติธรรมคือ ไม่ควรจำวัดกลางวัน ถ้าว่าเราจำวัดกลางวันแล้ว การปฏิบัติของเราจะไม่ได้ผลเลย เพราะว่าจิตอิ่มอยู่ตลอดเวลา แล้วก็การจำวัดกลางวันนี้มีโทษหลายสิ่งหลายประการ โดยเฉพาะทำให้จิตใจไม่เบิกบาน ไม่แช่มชื่น ทำให้หงุดหงิดโกรธง่ายอะไรทำนองนี้ เหตุนั้น หากว่าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว อย่าไปจำวัดกลางวัน
       ๓. ภัสสารามตา มัวคุย คือหมายความว่า เลิกจากภาคปฏิบัติแล้วก็คุยกัน ถ้าว่าเป็นภาคค่ำก็คุยกันจนถึงเวลาทำวัตร ทำวัตรเสร็จแล้วก็คุยกันอีก กว่าจะเริ่มประพฤติปฏิบัติก็ต้องกินเวลาไปหลายนาทีหรือกินเวลาไปเป็นชั่วโมงๆ เราเลิกจากปฏิบัติก็เดินแวะเข้าไปหากัน เดินเข้าไปคุยกัน การคุยบางทีก็เป็นอุปการะแก่การปฏิบัติ บางทีก็คุยออกนอกเรื่องของพระ ออกนอกเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ คุยเรื่องชาวบ้านอะไรทำนองนี้ ผลสุดท้าย การประพฤติปฏิบัติของเราก็ไม่ได้ผล เพราะในขณะนั้นหากว่าเราไม่ได้กำหนด สติของเราก็ขาดไป สมาธิก็ไม่เกิด ปัญญาก็ไม่เกิด การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       ๔. สังคณิการามตา มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ การคลุกคลีกับหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายที่เกิดแก่การประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติอยู่ในวัดของเราก็เหมือนกัน หลวงพ่อเห็นใจ นึกไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา “ทำไมหนอ เรามาตั้งหลักลง ณ ที่นี้ มาสอนธรรมะภาคปฏิบัติที่นี้ เพราะว่าที่นี้พระเณรก็อยู่กันเป็นจำนวนมาก เสียงก็ไม่ค่อยสงบ เสียงนอกจากไม่สงบภายในวัดแล้ว ภายนอกก็ไม่สงบเหมือนกัน เมื่อก่อนที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ก็ค่อยยังชั่ว ขณะนี้มีไฟฟ้าใช้แล้วก็ไม่รู้ว่าเสียงอะไรต่อเสียงอะไร เสียงรถเสียงราเกลื่อนกล่นไปหมด ก็เป็นเหตุให้ไม่สบายใจเหมือนกัน เห็นใจท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย”
       เหตุนั้นแหละท่านทั้งหลาย การคลุกคลีด้วยหมู่คณะนี้ก็ถือว่าเป็นอันตรายสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นมาขัดขวางกั้นกางการปฏิบัติของเรา สิ่งที่เราจะเอาชนะได้ก็ขอให้พิจารณาว่า ช่างมันเถอะ ทุกคนเกิดขึ้นมาแล้วก็มีภาระมีหน้าที่ของตน ทุกคนก็ทำภาระของตน พระก็ทำหน้าที่ของพระ เณรก็ทำหน้าที่ของเณร พวกนักศึกษาก็ทำหน้าที่ของนักศึกษา พวกโยมชาวบ้านก็ทำหน้าที่ของโยมชาวบ้าน มีเสียงอะไรเกิดขึ้น เราเอาเสียงนั้นแหละมากำหนด “ได้ยินหนอๆๆ” ร่ำไป จนกว่าจะสามารถทำจิตใจให้สงบเป็นสมาธิได้ ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เสียงนี้ก็เป็นอารมณ์ของพระกัมมัฏฐานได้เหมือนกัน ผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้บรรลุอริยมรรคอริยผลได้เหมือนกัน หรือว่าผู้กำหนดเสียงอย่างเดียวก็สามารถได้สมาธิสมาบัติเหมือนกัน
       เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตรายแก่การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติให้ถูกแล้ว การกำหนดเสียงนี้แหละได้สมาธิเร็วที่สุด เท่าที่ได้ทดลองมา การกำหนดเสียงนี้รู้สึกว่าได้ผลเร็วที่สุด โดยเฉพาะเวลาฝึกสมาธิ หากว่ามีเสียงธรรมะบรรยายควบคู่กันไปด้วย หรือว่าใช้เทปเปิดธรรมะเบาๆ ฟังก็นั่งสมาธิไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหมือนกันกับแม่หรือพี่เลี้ยง หรือพ่อกล่อมบุตรของตน กล่อมไปกล่อมมาเด็กก็หลับไป ข้อนี้ฉันใด เมื่อเรากำหนดเสียงไปๆ ผลสุดท้ายก็สามารถเข้าสมาธิได้ เหตุนั้น อย่าถือว่าเสียงนี้เป็นอันตราย ถ้าว่าเรารู้จักใช้ให้มันเป็นประโยชน์มันก็เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราไม่รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ มัวคลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีอะไรเกิดขึ้นก็เกิดความรำคาญขึ้นมาในจิตในใจ คิดแต่อยากไปอยู่ตามภูเขาลำเนาไพรอะไรทำนองนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       ๕. อคุตตทวารตา ไม่สำรวมทวาร ๖ คือไม่สำรวมตา ไม่สำรวมหู ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย ไม่สำรวมใจ ปล่อยให้โลภะ โทสะ โมหะ ราคะ ตัณหา อุปาทานเกิดขึ้นในเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็ทำให้เกิดโลภะ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เกิดโมหะเป็นต้น ถ้าว่าเป็นอนิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ไม่พอใจ มีความคับแค้นใจ มีความแห้งผากใจ อะไรทำนองนี้
       เหตุนั้นการสำรวมทวาร คือ สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้ปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน โดยเฉพาะผู้ที่เจริญสมถะกัมมัฏฐาน ไม่สามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ ไม่สามารถที่จะเข้าฌานได้ ตัวการสำคัญก็คือขาดการสำรวมระวัง ไม่สำรวมในทวารทั้ง ๖ นี้ ปล่อยให้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่กระทบอารมณ์ คือหมายความว่า ในขณะที่เรากระทบอารมณ์ เวลาได้ยินเสียงอย่างนี้ จิตใจของเรามันออกไปแล้ว เวลาตาเห็นรูป จิตใจของเรามันวิ่งออกไปหารูปแล้ว เวลาได้กลิ่น จิตใจของเรามันวิ่งไปหากลิ่นแล้ว เวลาได้รส จิตใจของเรามันวิ่งไปหารสแล้ว เวลาสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ทางกาย จิตของเรามันวิ่งออกไปแล้ว เวลาใจรู้ธรรมารมณ์หรือธรรมารมณ์เกิดขึ้นในใจจิตของเรา มันวิ่งออกไปแล้ว วิ่งไปหาอารมณ์โน้นบ้าง วิ่งไปหาอารมณ์นี้บ้าง ไม่มีเวลาอยู่ปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่สามารถที่จะทำสมาธิให้เกิดขึ้นได้ เมื่อสมาธิไม่เกิด ปัญญาก็ไม่สามารถที่จะเจริญขึ้นได้ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเสื่อมไป เมื่อสมาธิและปัญญาไม่เกิด การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ได้ผล
       เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรระวังให้ดี เวลากระทบอารมณ์ พยายามตั้งสติไว้ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ให้กำหนดทันที ในขณะที่เรากำหนดนั้น จิตของเรามันวิ่งออกไปไม่ได้ เมื่อวิ่งออกไปไม่ได้ จิตของเราก็จะสงบเป็นสมาธิ และเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญญาเกิด เมื่อปัญญาเกิดแล้ว วิปัสสนาญาณก็จะเกิดตามมา เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นถึงที่แล้ว เราก็สามารถที่จะได้บรรลุอริยมรรคอริยะผลสมกับความตั้งใจ
       ๖. อโภชเนมัตตัญญุตา ไม่รู้จักประมาณในอาหาร อาหารนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าว่ายิ่งเป็นอาหารที่แสลงแก่โรคภัยไข้เจ็บแล้ว การประพฤติปฏิบัติก็จะไม่ได้ผลเสียเลย ทีนี้อาหารบางอย่างไม่แสลงแก่โรค แต่ว่าเป็นอาหารที่มีรสจัดเกินไป เช่นว่ารสเปรี้ยวเกินไป เผ็ดเกินไป เค็มเกินไปอะไรทำนองนี้ ก็ทำให้จิตใจไม่สงบ เวลาเราบำเพ็ญความเพียร เจริญพระกัมมัฏฐาน ทีนี้ อาหารบางอย่าง เช่น พวกหอม พวกกระเทียม พวกนม พวกเนย พวกน้ำตาล พวกของหวานประการต่างๆ นี้ก็ทำให้เกิดราคะ เมื่อเกิดราคะ การประพฤติปฏิบัติก็ใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เคยผ่านมา หรือใฝ่หาแต่อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คืออารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ราคะมันเกิดขึ้น
       อาหารบางอย่างบริโภคเข้าไปหรือฉันเข้าไปแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดถีนมิทธะ เกิดโมหะ คือเกิดความง่วงเหงาหาวนอน โดยเฉพาะพวกของหวาน พวกกะทิข้นๆ พวกของหวานปรุงด้วยพวกนมพวกเนยอะไรทำนองนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอน เกิดถีนมิทธะเกิดโมหะได้เหมือนกัน เหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสังวรเรื่องอาหารนี้ อะไรบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจสบาย อาหารประเภทใดบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายทำให้จิตใจไม่สบาย ก็ขอให้ได้ใคร่ครวญ ตริตรอง พิจารณา อาหารประเภทใดมันเป็นประโยชน์แก่ร่างกายแก่การปฏิบัติ ก็ขอให้บริโภคสิ่งนั้น หากว่าสิ่งไหนมันไม่เป็นประโยชน์แก่การประพฤติปฏิบัติ ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ก็ขออย่าบริโภค เพราะเป็นสิ่งสำคัญ
       ที่จริงพวกที่ฉันนมฉันโอวัลตินเวลาวิกาลนี้หลวงพ่อไม่ค่อยส่งเสริม เพราะว่าเป็นบ่อเกิดของราคะ พวกนี้เป็นสิ่งที่ให้เกิดราคะ พวกนม พวกโอวัลติน พวกไมโล พวกไข่ดาว อะไรทำนองนี้ ทำให้เกิดราคะ ทำให้เสียศีลได้เหมือนกัน เมื่อก่อนโน้น อยู่ที่นี่หลวงพ่อห้ามเด็ดขาด เวลาตั้งแต่เที่ยงไปแล้วห้ามฉันนม ห้ามฉันอาหารพวกโอวัลตินนี้เป็นเด็ดขาด เคยห้ามไว้เมื่อก่อนนี้ เพราะเห็นว่าพระเณรเสียศีลเพราะอาหารประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และบางแห่งที่เขาปฏิบัติเคร่งครัด เขาก็ไม่ฉันประเภทนี้ หลวงพ่อห้าม เมื่อก่อน
       ต่อมาไม่รู้ว่าลูกศิษย์ลูกหามาแต่ไหน มาจากทิศใต้ ทิศเหนือ ตะวันตก ตะวันออก หนักๆ เข้ามีพระผู้เฒ่าหลวงปู่หลวงตา ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะว่าแก่แล้ว เราจะไปห้ามเด็ดขาดก็ไม่ได้ ก็เลยอนุญาตให้เฉพาะพระหลวงตา เพราะหลวงปู่หลวงตาร่างกายต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่รู้ว่าจะหาอะไรมาเยียวยาเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เมื่ออนุญาตให้พระหลวงปู่หลวงตา ผลสุดท้ายพระเล็กเณรน้อยก็เอาด้วย ผลสุดท้ายหลวงพ่อก็ ช่างเถอะ ใครอยากตกนรกก็ตกไป หากบริโภคเข้าไปแล้วกำหนดไม่อยู่ บังคับไม่อยู่ ปล่อยให้เป็นไปตามอำนาจกิเลส ก็ไปนรกกันไป ดี ยมบาลจะได้มีงานทำ เลยมาปลงธรรมสังเวชเอา เลยไม่ว่ากระไร ปล่อยเลยตามเลยจนถึงทุกวันนี้
       เหตุนั้นท่านทั้งหลาย ขอให้เป็นเรื่องส่วนตัวของใครของมันก็แล้วกัน เห็นว่า “เอ๊ะ ! บริโภคเข้าไปแล้วมันเป็นการส่งเสริมกามราคะ ทำราคะให้เกิด” ก็งดได้ ไม่ว่าอะไร เห็นว่าร่างกายมันสะบักสะบอมเหลือเกินเพราะว่าได้รับความลำบากในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มันอ่อนปวกเปียกเหลือเกิน มันอ่อนเพลียเหลือเกิน ควรที่จะดื่มจะฉันได้ ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอา ให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเอง
       ๗. กิเลสมิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด คือหมายความว่าความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญ คือถ้าเราเห็นผิดแล้วการประพฤติปฏิบัติทุกอย่างก็พลอยผิดไปด้วย เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปลาสได้ เช่นว่า จิตตวิปลาส คิดผิด สัญญาวิปลาส สำคัญผิด ทิฏฐิวิปลาส เห็นผิด เห็นผิดว่ารูปนามขันธ์ ๕ นี้เป็นนิจจังคือเที่ยง เป็นสุขังคือเป็นสุข เป็นอัตตาเป็นตัวเป็นตน เป็นสุภะเป็นของสวยของงาม เป็นต้น ตลอดถึงว่ามีความเห็นผิดว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ไม่มี นรกสวรรค์ พระนิพพานไม่มี อริยมรรค อริยผลไม่มี พระอริยบุคคลไม่มี ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีอะไรทำนองนี้
       เมื่อเราเห็นผิดแล้วก็เป็นอันว่าปิดกั้นทุกอย่าง การทำความดีไม่สามารถสำเร็จผลได้ตามความต้องการ เพราะการงานทุกสิ่งทุกประการไม่ว่าทางโลกทางธรรม ความเห็นนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าเห็นถูกก็เป็นเหตุให้ทำถูก พูดถูก คิดถูก ถ้าเห็นผิดก็เป็นเหตุให้คิดผิด ทำผิด พูดผิด ผลที่เกิดขึ้นมาก็เป็นไปตามอำนาจของความคิด เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังวรให้ดี บางทีมันเกิดขึ้นมาแล้วสงสัย ขอให้ไต่ถามครูบาอาจารย์ที่อยู่ใกล้กัน
       ๘. กรรม คืออนันตริยกรรม ถือว่าเป็นกรรมหนักที่สุด อนันตริยกรรมนี้มีอยู่ ๕ ประการ คือมาตุฆาต ฆ่ามารดา ๑ ปิตุฆาต ฆ่าบิดา ๑ อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ ๑ โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงทำโลหิตให้ห้อขึ้นไป ๑ สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกกัน ๑ ผู้ทำกรรมทั้ง ๕ ประการนี้ถือว่าเป็นอนันตริยกรรม เป็นกรรมหนักที่สุด
       แม้ว่าเมื่อก่อนโน้นเราจะบำเพ็ญบุญบำเพ็ญกุศล เจริญสมถะภาวนา ได้สมาบัติ ๘ ได้อภิญญาจิต เหาะเหินเดินอากาศได้ก็จริง แต่เมื่อมาทำอนันตริยกรรมนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เป็นอันว่า หมดเลย ฌานนั้นก็เสื่อม อภิญญาจิตนั้นก็เสื่อม อนันตริยกรรมก็ให้ผลทันที แล้วก็เริ่มให้ผลตั้งแต่ภพนี้แหละเป็นต้นไป ให้ผลทันที สมมติว่าเมื่อก่อนนั้นเราสามารถเข้าสมาธิได้ แต่ไปทำอนันตริยกรรมซะอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสมาธิไม่ได้เลย เมื่อก่อนโน้นมีอภิญญาจิต ไปทำอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง อภิญญาจิตไม่เกิดขึ้นเลย เพราะว่าอนันตริยกรรมนี้ต้องให้ผลก่อน เมื่ออนันตริยกรรมให้ผลเสร็จแล้วกรรมอื่นจึงจะให้ผล
       ถ้าว่าเราทำกรรมไม่ถึงอนันตริยกรรม เช่นว่า เราไม่ได้ฆ่าพ่อไม่ได้ฆ่าแม่ แต่เราทำให้ท่านต้องเจ็บใจ พ่อก็ดี แม่ก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ท่านผู้มีพระคุณแก่เราก็ดี เราไม่ได้ฆ่าท่านให้ถึงตาย แต่เราทำให้ท่านเจ็บใจ บางทีถึงหลั่งน้ำตาก็มี หากว่าเป็นเช่นนี้ ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ก็ขอจงจำไว้ว่า เมื่อเรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานแล้ว ไม่สามารถผ่านการปฏิบัติได้เลย ในขณะที่จิตของเรากำลังจะเข้าสู่จุดแห่งความสงบ หรือกำลังจะเข้าสู่มรรควิถีนั้นแหละ อนันตริยกรรมประเภทนี้จะเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตทันที เมื่อเกิดขึ้นมากั้นกระแสจิตของเราแล้ว จิตของเราก็พรากจากสมาธิ การปฏิบัติก็ไม่ได้ผล
       แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไร หากว่าพ่อแม่ยังมีอยู่ เราก็ขอขมาโทษท่าน ไปขอขมาโทษท่าน หากว่าอยู่ต่างบ้านต่างตำบล ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ในหน้าพรรษา เราก็เขียนหนังสือไปขอขมาโทษท่าน อย่างนี้ก็ได้ เพียงแต่ท่านรับทราบเท่านั้นแหละ ก็เป็นอันว่ากรรมนั้นหายไปแล้ว แต่ทีนี้หากว่าท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว เราก็ต้องไปขอขมาโทษที่หลุมฝังศพ หรือที่อัฏฐิ ถ้าหลุมฝังศพเราก็จำไม่ได้ อัฏฐิก็จำไม่ได้ ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ไม่มี หาไม่เห็น หาไม่เจอเสียแล้ว นิมนต์พระสงฆ์สัก ๔ รูป หรือ ๕ รูปมาเป็นสักขีพยาน แล้วก็ขอขมาโทษท่าน ต่อหน้าพระประทาน ต่อหน้าพระสงฆ์ คือหมายความว่า ขอขมาโทษลับหลัง เช่นนี้ก็สามารถที่จะทำให้การประพฤติปฏิบัตินั้นผ่านพ้นไปได้ นี้เฉพาะการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนะท่านทั้งหลาย
       ทีนี้ถ้าว่าเป็นการเจริญสมถะกัมมัฏฐานยิ่งละเอียดกว่านั้น เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ตั้งใจทำให้ท่านต้องเจ็บอกเจ็บใจหรือไม่สบายใจ แต่คำพูดบางสิ่งบางประการ ต้องทำให้ท่านเจ็บใจ หรือทำให้ท่านไม่พอใจ เช่นคำพูดกระแนะกระแหนอะไรทำนองนี้ เวลาเรามาเจริญสมถะกัมมัฏฐาน เช่นว่าเราจะฝึกอภิญญา เราเพ่งกสิณ ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถที่จะเกิดอุคคหนิมิตขึ้นได้เลย อุคคหนิมิตนี้ไม่เกิด ปฏิภาคนิมิตก็ไม่เกิด เราจะบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานทุกประเภท เช่นว่า เราเพ่งไปๆ แล้วทำให้เกิดอุคคหนิมิต ทำให้เกิดปฏิภาคนิมิต เมื่อเราทำกรรมอย่างนี้ไว้แล้ว เรามาเพ่งกัมมัฏฐานมาเจริญพระกัมมัฏฐานเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะยังอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตให้เกิดขึ้นเลย นี่ ละเอียดท่านทั้งหลาย
       โดยเฉพาะบางครั้งเรานั่งอยู่กับพ่อกับแม่ของเรา เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้ท่านต้องเจ็บใจหรือไม่ตั้งใจจะพูดให้ท่านเจ็บใจ แต่พูดไปพูดมาพูดทีเล่นทีจริงขึ้นมา สมมติว่าพ่อกับลูกนี้แหละ ขี่รถไปด้วยกัน สนิทสนมกัน พูดกันไปสนุกสนานไป บางทีลูกไปพูดกับพ่อว่า “เสี่ยวๆ เอานี้ให้แหน่ เสี่ยว เอาตังค์นี้ไปจ่ายให้ผู้นั้นแหน่” พ่อก็เกิดความไม่สบายใจ เกิดความเจ็บใจขึ้นมา เท่านั้นแหละท่านทั้งหลาย เสร็จเลย การปฏิบัตินี้ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิต
       หรือคำพูดทุกประเภท พูดเอาง่ายๆ คำพูดทุกประเภท เราไม่ตั้งอกตั้งใจจะทำให้พ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ของเราต้องเจ็บใจ แต่พูดออกไปแล้วทำให้ท่านไม่สบายใจ เป็นคำล้อเลียนเป็นคำพูดกระแนะกระแหน ถึงว่าเราจะพูดด้วยเจตนาดีก็ตาม แต่ว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่ทำให้เกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจ เป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสม เป็นคำพูดที่ไม่อยู่ในกาลเทศะ ไม่อยู่ในกาลที่จะพูด แล้วก็การพูดนั้นเป็นคำที่ไม่สมมาพาควร เป็นการพูดเล่น เป็นการพูดกระแนะกระแหน เป็นคำพูดที่ล้อเลียน ก็ขอบอกเลยว่า ถ้าเราไปเจริญพระสมถะกัมมัฏฐาน ก็ไม่สามารถจะได้อุคคหนิมิต ไม่สามารถจะได้ปฏิภาคนิมิตเลย นี้ขอให้ท่านทั้งหลายจำไว้ เวลาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน บุญก็เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ บาปก็เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติได้เหมือนกัน สำหรับอย่างอื่นเนื้อความก็ชัดอยู่แล้ว จึงจะไม่ขอบรรยาย
       ๙. วิบาก คำว่าวิบากในที่นี้คือ ผลของกรรม คือหมายความว่า การเจริญพระกัมมัฏฐานนี้ เราตั้งอกตั้งใจจะทำลายความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้หมดไปจากขันธสันดานของเรา แต่ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปเท่าไรๆ ความโลภมันยิ่งเกิดขึ้นมา ความโกรธมันยิ่งเกิดขึ้นมา โมหะคือความหลงก็ยิ่งเกิดขึ้นมา ยิ่งประพฤติปฏิบัติไปยิ่งกำเริบ พวกเหล่านี้ยิ่งกำเริบขึ้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อวิบากคือผลของความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดขึ้นมาอย่างนี้แล้ว การปฏิบัติจะไม่ได้ผลเสียเลย เหตุนั้นท่านทั้งหลาย เมื่อโลภ โกรธ หลง หรือราคะ ตัณหา อุปาทาน มันเกิดขึ้นมา พยายามกำหนดให้ทันปัจจุบันทันที แล้วมันจะได้สงบระงับไป จะทำให้การปฏิบัติของเราได้ผลเร็วขึ้น
       ๑๐. อริยุปวาท กล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือหมายความว่าเราไปด่าพระอริยะเจ้า ไปใส่ร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ใครเป็นผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า ก็พวกเราทั้งหลายนี้แหละ รวมทั้งพระสงฆ์ สามเณร ปะขาวแม่ชี นี้เรียกว่าปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้า คือ ปฏิบัติเพื่อจะนำตนให้พ้นจากกิเลสและทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ทีนี้เราไปกล่าวร้ายท่าน หรือใส่ร้ายท่านด้วยถ้อยคำที่ไม่ดี เป็นถ้อยคำผรุสวาจาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่สามารถจะผ่านการปฏิบัติไปได้เลย
       ดังตัวอย่างครั้งพุทธกาล มีพระหลวงตากับพระหนุ่มรูปหนึ่ง ไปปฏิบัติพระกัมมัฏฐานร่วมกัน วันหนึ่งไปบิณฑบาตด้วยกัน สำหรับพระหลวงตานั้นก็เจ็บท้องปวดท้องเวลาเช้า พอดีไปบิณฑบาต โยมก็เอายาคูคือข้าวต้มกำลังร้อนๆ อยู่นั้นแหละมาถวาย หลวงตาก็คิดว่า “เอ๊ะ ! ขณะนี้เราก็กำลังเจ็บท้องอยู่ กำลังปวดท้องอยู่ เราฉันข้าวยาคูกำลังร้อนๆ นี้ ชะรอยจะทำให้อาการเจ็บท้องของเรานี้มันหายไป” เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้วก็มองซ้ายแลขวาหาที่นั่ง เมื่อเห็นท่อนไม้อันหนึ่งแล้วก็ไปนั่งลง เมื่อนั่งแล้วก็ล้วงเอาถ้วยข้าวยาคูอยู่ในบาตรนั้นมาซดเอาๆๆ
       พระหนุ่มที่เดินมาตามหลังก็เกิดความละอายใจ เป็นคนหนุ่ม มีความละอายเป็นเจ้าเรือนอยู่แล้ว พอดีเดินไปถึงก็ตวาดทันทีว่า “เอ๊ะ ! หลวงตาทำไมถึงตะกละตะกรามถึงขนาดนี้ กลับถึงวัดเสียก่อนจึงค่อยฉันไม่ได้หรือ ทำไมถึงหิวเหมือนกับไม่ได้ฉัน เหมือนกับเปรต” อะไรๆ ก็ว่าเอาๆ พระหลวงตาท่านก็เฉย ไม่ตอบว่ากระไร ท่านก็ซดยาคูของท่านซดเอาๆๆ หมดแล้วก็วางถ้วยยาคูใส่บาตรแล้วก็เดินไปบิณฑบาต พอดีกลับถึงวัดฉันเสร็จแล้ว พระหลวงตาก็ถามว่า “คุณ ที่คุณมาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้ คุณได้บรรลุมรรคผลขั้นไหนแล้ว” “กระผมได้บรรลุโสดาบันครับ” “เออ ถ้าอย่างนั้นคุณไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติต่อไปดอก” ท่านก็ว่าเท่านั้นแหละ พระภิกษุหนุ่มก็ได้สติทันที ถามว่า “ท่านหลวงตา เมื่อตะกี้นี้ท่านหลวงตาโกรธผมหรือ” อย่างนั้นอย่างนี้ก็คะยั้นคะยอ แต่ท่านหลวงตาก็ว่า “ผมไม่โกรธดอก” เพราะว่าขณะนั้นท่านหลวงตาท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็เฉย
       เมื่อพระภิกษุหนุ่มไปประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน ปฏิบัติอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถจะยังสภาวธรรมให้เกิดขึ้น ไม่สามารถยังอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ต้องมาขอขมาโทษพระหลวงตา เมื่อขอขมาโทษแล้วจึงสามารถประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐานให้ผ่านพ้นไปได้
       นี่แหละท่านทั้งหลาย การกล่าวร้ายพระอริยะเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเหมือนพระอริยะเจ้านี้ ถือว่าเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการประพฤติปฏิบัติกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลเหมือนกัน
       ๑๑. ปรารถนาพุทธภูมิ คือหมายความว่า ผู้ใดที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เวลามาประพฤติปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สภาวธรรมจะเกิดขึ้นตามลำดับๆ ไปถึงสังขารุเปกขาญาณ คือญาณที่ ๑๑ ก็หมดแล้ว จะปฏิบัติไปอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ จนกว่าบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมเสียก่อน ต้องเกิดอีกหลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ บำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมให้สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าครั้งเดียว ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสาวกได้ เพราะว่าได้ปรารถนาพุทธภูมิแล้ว เมื่อใดบำเพ็ญบารมีให้สมบูรณ์เสียก่อนแล้วนั่นแหละจึงจะได้ตรัสรู้ครั้งเดียว
       แต่ว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ก็แก้ได้เหมือนกัน หากว่าเราคิดว่า “เอ๊ะ ! เกิดมาภพนี้ชาตินี้ การบำเพ็ญพระกัมมัฏฐานก็ลำบากลำบนขนาดนี้ เพียงชาติเดียวเท่านี้เราก็เห็นแล้วว่าเป็นทุกข์เหลือทน หากว่าเราจะเวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร กว่าเราจะบำเพ็ญบารมีให้เต็มเปี่ยมนี้ไม่รู้ว่าจะกี่ชาติกี่ภพ กี่กัปกี่กัลป์ จะได้รับความทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส”
       เรานึกถึงความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นแก่เรา ในการที่เราเที่ยวไปในวัฏสงสารเพื่อบำเพ็ญโพธิสัตว์บารมีนี้ เห็นว่ามันลำบากเหลือเกิน เราก็แก้คำอธิษฐานใหม่ โดยที่เราเข้าไปในโบสถ์ กราบพระประธานแล้วกล่าวสัคเคขึ้นมา แล้วก็ตั้งอธิษฐานใหม่ว่า “ข้าพเจ้าเมื่อก่อนโน้นได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าได้ปรารถนาพุทธภูมิ มีความประสงค์ที่จะบำเพ็ญบารมีให้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า แต่บัดนี้ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้  ข้าพเจ้าจึงขอแก้คำอธิษฐาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอเลิกการปรารถนาพุทธภูมิ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปข้าพเจ้าขอเลิก คำปรารถนาพุทธภูมิ ขอให้ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติพระวิปัสสนากัมมัฏฐานได้บรรลุอริยมรรคอริยผลสูงสุดถึงขั้นพระอรหันต์ก็พอแล้ว ขอทวยเทพพนิกรเจ้าทั้งหลายได้เป็นสักขีพยานด้วย”
       เมื่อเราตั้งสัจจะอธิษฐานเปลี่ยนคำอธิษฐานในจิตในใจอย่างนี้แล้ว ก็สามารถปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้สำเร็จอริยมรรคอริยผลได้ ทั้งนี้หมายความว่าเป็นประเภทที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้พยากรณ์นะ หรือว่าไม่ได้รับพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมา นี้เราแก้ได้ แต่ถ้าได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งมาแล้ว ไม่สามารถที่จะแก้ได้ สมมุติว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ในภพก่อนชาติก่อนโน้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ทำบุญทำทานแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้พยากรณ์ว่า ผู้นี้ ในอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านามว่าอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์แล้วอย่างนี้ ไม่มีโอกาสที่จะแก้คำอธิษฐานได้ เพราะพระวาจาของพระพุทธเจ้านั้นเป็นพระวาจาสิทธิ์ ไม่มีใครที่จะสามารถแก้พระวาจาสิทธิ์ที่พระองค์ได้ทรงตรัสแล้วได้
       แต่เราก็มองดูง่ายๆ ว่าเราปรารถนาพุทธภูมิแล้วหรือ หรือยังไม่ได้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็อยู่ที่จิตที่ใจของเรานั่นแหละ หากว่าจิตใจของเรายังคลอนแคลนอยู่ ยังไม่มั่นใจอยู่ ก็แสดงว่าเรายังไม่ได้รับพยากรณ์ แต่ถ้าจิตใจมันไม่ง่อนแง่นไม่คลอนแคลน มั่นคงแล้ว และพร้อมกัน ทิฏฐิมานะก็กล้า ไม่ยอมฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้ใดผู้หนึ่ง ถือว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้สูงกว่าพระธรรมดาๆ แล้ว เพราะว่าเราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเรามีคุณธรรมสูงกว่าพระสูงกว่าเณรธรรมดา ไม่ยอมฟังธรรมะจากครูบาอาจารย์รูปใดรูปหนึ่งเลย ทิฏฐิมานะกล้าเช่นนี้ก็แสดงว่าได้เคยรับพยากรณ์มาแล้ว เหตุนั้นก็ขอให้ท่านทั้งหลายพึงสังเกตเอา
       เอาละท่านทั้งหลาย เท่าที่ได้น้อมนำเอาธรรมะคืออันตราย ๑๒ ประการซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางหรือกั้นกางการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานไม่ให้ได้ผลมาบรรยายประกอบการปฏิบัติของท่านทั้งหลายในวันนี้ ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลาจึงขอยุติ.



หัวข้อ: Re: แสงสว่างทางปฏิบัติ
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 23 สิงหาคม 2563 11:54:28

(https://encrypted-tbn0.gstatic.com/images?q=tbn%3AANd9GcQEqE3ftO2DJXB0tnS0VLXci5blSl7an8acbQ&usqp=CAU)

สมถะกับวิปัสสนา
หลวงพ่อบุญเรือง สารโท
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย สำหรับแนวทางของการประพฤติปฏิบัติธรรมะนั้น ส่วนมากเราปฏิบัติตามแนวทางของมหาสติปัฏฐานสูตร คือ กำหนดกาย เวทนา จิต และธรรม ดังท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา แต่ผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน

       เพราะเหตุไร? เพราะบางท่านก็ได้สมาธิ ได้ฌาน บางท่านก็ดำเนินตามวิปัสสนา คือ มันมีทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ควบคู่กันไป เท่าที่ได้สังเกตและเท่าที่เห็นและพิจารณาที่ท่านทั้งหลายมาปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ โดยเฉพาะในภาคฤดูหนาว หรือภาคฤดูร้อน ส่วนมากผู้ที่มาปฏิบัติได้สมถะซะเป็นส่วนมาก วิปัสสนานั้นมีน้อย ถ้าในพรรษาสมถะนี้หายาก แต่วิปัสสนานี้มีมาก มันอยู่ที่เหตุปัจจัยหลายสิ่งหลายประการ แล้วแต่บุญวาสนาบารมีที่เราทั้งหลายได้สร้างสมอบรมมา

       สำหรับด้านสมถะที่เกิดแก่ท่านหรือที่ท่านทั้งหลายได้ปฏิบัติมา ก็พอที่จะพิจารณาและเข้าใจแนวทางของการประพฤติปฏิบัติว่า เราปฏิบัติมาแล้วเราได้ฌานหรือได้มรรคผลนิพพาน เราจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้

       วินาทีแรกที่เราตั้งอกตั้งใจเจริญพระกัมมัฏฐาน “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” “เจ็บหนอ” “ปวดหนอ” “เฉยหนอ” หรือว่า “คิดหนอๆ” หรือว่า “โกรธหนอ” “อยากได้หนอ” “ง่วงหนอ” อะไรทำนองนี้ เป็นบทกำหนดพระกัมมัฏฐานรวมกันอยู่ในนั้น ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนามันรวมกันอยู่ในนั้น พอผลที่ออกมามันไม่เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเคยสร้างสมอบรมบารมีมาทางสมถะ มันก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ถ้าผู้ใดสร้างสมอบรมบารมีมาในทางวิปัสสนา ก็ได้มรรคได้ผล ทีนี้เราจะสังเกตได้ จะรู้ได้อย่างไรว่าการปฏิบัติมาครั้งนี้เราได้สมถะ คือ ได้ฌาน เราได้วิปัสสนา คือมรรคผลนิพพาน เราจะสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ

       ขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น ในขณะนั้นจิตใจของเราหนักแน่นมั่นคง ตั้งมั่นอยู่กับอาการพองอาการยุบไม่วอกแวกหวั่นไหวไปตามอารมณ์ใดๆทั้งสิ้น ในขณะนั้น สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดเวลา และในขณะนั้นวิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้า สมถะเริ่มแก่กล้าขึ้นมา ในขณะนั้นเรากำหนดบทพระกัมมัฏฐานได้ดี กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” สบายๆ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา และในขณะนั้นจิตของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบตลอดไป ไม่วิ่งไปหารูป หาเสียง หากลิ่น หารส หาสัมผัส หาธรรมารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะนั้นความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงที่ได้ยินก็ยังมีอยู่ แต่มันละเอียดเข้าไป ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เกือบจะไม่มีความรู้สึกแล้ว คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ในขณะนั้นเขาเอาปะทัดมาจุด เปรี้ยงๆๆ ใกล้ๆตัวของเราก็ดี หรือเขาเอาปืนมายิง เปรี้ยงๆๆ ใกล้ตัวของเรา หรือว่ากิ่งไม้มันหักลง ดังขึ้นมาก็ดี สติของเราอยู่กับอาการพองอาการยุบ ก็เฉยอยู่ตลอดเวลา ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว บ้านเราเรียกว่า “บ่ตื่น” นั่งได้สบายๆ ถ้าเราทั้งหลายทำได้อย่างนี้ก็ให้รู้ทันทีว่า อันนี้เป็นปฐมฌาน เราได้ฌานที่ ๑ คือ ได้ปฐมฌานแล้ว

       เมื่อปฐมฌานมันแก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดทุติยฌาน ทุติยฌานนั้นจะมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น เมื่อก่อนโน้นเราได้กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” แต่เมื่อมาถึงนี้เราไม่ได้กำหนดเลย นั่งเฉยอยู่ตลอดเวลา บ้านเราเรียกว่า “บ่ได้ภาวนาว่าจังได๋” นั่งเฉยอยู่กับอาการพองอาการยุบ และในขณะนั้น ความรู้สึกก็มีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ที่มันต่างกันที่สุดก็คือ เราไม่ได้ภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” นั่งเฉยอยู่เหมือนกันกับพระพุทธรูป ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ แล้ว เมื่อฌานที่ ๒ แก่กล้าแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ตติยฌาน

       ตติยฌานนั้นมีลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่กำหนดบทพระกัมมัฏฐานอยู่นั้น ความรู้สึกก็ดี เสียงก็ดี มันเหลืออยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะนั้น เหมือนกันกับคนเอาเหล็กแหลมๆ เอาไม้แหลมๆ มาตอกลงบนศีรษะไปตรึงไว้กับพื้น เราจะกระดุกกระดิก ก็กระดุกกระดิกไม่ได้ เราอยากก้มก็ก้มไม่ได้ เราอยากเงยก็เงยไม่ได้ เราอยากมองซ้ายแลขวาก็มองไม่ได้ เราจะยกมือยกเท้าไปวางที่โน้นที่นี้ก็ยกไม่ได้ คือหมายความว่า เหมือนกันกับถูกมัดไว้ หรือตรึงร่างกายของเราให้แน่นกับพื้น ลักษณะอย่างนี้ท่านทั้งหลายอาจจะคิดว่า โอ้ มันลำบากลำบนเหลือทน มันทนทุกข์ทรมานเหลือทน ท่านทั้งหลาย ลักษณะอย่างนี้ไม่มี คือปวดที่โน้นเจ็บที่นี้ไม่มี

       เมื่อก่อนเรานั่งอยู่ไม่ถึง ๑๕ นาทีก็พลิกแล้ว พลิกซ้ายพลิกขวาๆ ๓๐ นาทีไม่รู้ว่าพลิกไปกี่ครั้ง เมื่อก่อน ๕ นาที พลิก ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ถ้า ๓๐ นาทีไม่รู้ว่ากี่ครั้ง แต่เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ไม่มีพลิกขาเหมือนเมื่อก่อน เพราะอะไรจึงไม่พลิกขา เพราะในขณะนั้นทุกขเวทนาไม่มีแล้ว เจ็บที่โน้น เจ็บที่นี้ ไม่มี ใจเฉยอยู่กับอารมณ์กัมมัฏฐาน ความรู้สึกของเราก็ยังมีอยู่ เสียงก็ยังมีอยู่ แต่มันมีอยู่ประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ คือมันละเอียดเข้าไปแล้ว ถ้าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงตติยฌานคือ ฌานที่ ๓ แล้ว ถ้าจุติเพราะจิตดวงนี้ จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไป มีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียรหนักแน่นไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ขึ้นสู่ฌานที่ ๔

       ฌานที่ ๔ นั้นมีลักษณะดังนี้คือ ลมหายใจเข้าหมดไป ลมหายใจออกหมดไป คือลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้หมดไป ไม่มี ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า ลมหายใจเข้าหายใจออกนั้นจะไม่มีในบุคคล ๔ ประเภท คือ

       ๑. คนตายก็ไม่มีลมหายใจ

       ๒. เด็กที่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ไม่มีลมหายใจ

       ๓. คนดำน้ำก็ไม่มีลมหายใจ

       ๔. ผู้เข้าถึงจตุตถฌานก็ไม่มีลมหายใจ

       ถ้าว่าเราทำได้อย่างนี้ก็แสดงว่าเราถึงฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌานแล้ว ถ้าฌานไม่เสื่อม จุติในฌาน จุติแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลกตามกำลังของฌาน และฌานนี้ก็ยังเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ผลเร็วขึ้น หรือว่าฌานของเราในแต่ละฌานๆ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนา ถ้าว่าเอาฌานทั้ง ๔ ประการ ฌานใดฌานหนึ่งที่เราได้แล้วมายกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา ก็สามารถให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น

       สมมุติว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา เกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้นมา คือ จะเห็นรูปเห็นนาม “ขวาย่างหนอ” เอ้อ นี่เป็นรูป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เอ้อ นี่มันเป็นรูป ความรู้สึกของเราเป็นนาม มันเกิดความรู้ขึ้นมาแล้วตอนนี้ ขวาย่างซ้ายย่างนั้นเป็นรูป ใจที่รู้สึกเป็นนาม ถ้ามีสติปัญญาเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนื้ คือเกิดวิปัสสนาญาณแล้วตอนนี้ เราจะรู้ แล้วก็จะรู้ต่อไปว่า เอ้อ ตานี่เป็นรูป หูนี่ก็เป็นรูป จมูกนี่ก็เป็นรูป ลิ้นก็เป็นรูป พวก ตา หู จมูก ลิ้น นี่มันเป็นรูปธรรม สำหรับใจของเราที่รู้นั้นเป็นนาม เอ้อ แสดงว่าเราเห็นรูปเห็นนามแล้ว เกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาแล้วตอนนี้

       เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ จะรู้ว่า เอ้อ นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยของรูปของนาม เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ “พองหนอ” “ยุบหนอ” นี้มันไม่ทันกัน “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว หรือว่าการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เมื่อก่อนโน้นเรากำหนด “พุทโธๆ” มันสบายๆ แต่เวลานี้เรากำหนดลำบาก เรากำหนด “พองหนอ” มันยุบไปแล้ว เรากำหนด “ยุบหนอ” มันพองขึ้นมาแล้ว เอ๊ะ! กัมมัฏฐานนี้มันลำบากลำบนเหลือทน เดี๋ยวก็เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ บางทีสัปหงกวูบไปข้างหน้าบ้าง ผงะไปข้างหลังบ้าง กำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ค่อยดีแล้วตอนนี้ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้อะไรจิปาถะ ก็แสดงว่าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามแล้ว

       ถ้าเราเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามในลักษณะดังนี้ ก็ถือว่าเราได้ขึ้นสู่ความเป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปอบายภูมิ ๒-๓ ชาติถ้าไม่ประมาท ผู้นั้นชื่อว่าเป็นจุลลโสดาบัน ถึงญาณที่ ๒ นี้ องค์พระประทีปแก้วทรงตรัสว่า เป็นจุลลโสดาบัน ได้ที่พึ่งอย่างดี ได้ความเบาใจในพระศาสนา ตายแล้วจะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๒-๓ ชาติ เริ่มแล้วนะตอนนี้ ถือว่าขึ้นสู่ตำแหน่งของจุลลโสดาบันแล้ว

       เมื่อเราเจริญพระกัมมัฏฐานต่อไปตามลำดับๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะของเราแก่กล้า โดยเฉพาะให้สติของเรามีพลัง มีอำนาจ มีสมรรถนะสูง จนสามารถเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

       ท่านครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย ขอให้ท่านได้สังเกต ได้รู้ได้เข้าใจว่า เราทั้งหลายที่มาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น ส่วนมากเราต้องการอยากเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะเหตุไรจึงอยากเห็น เพราะว่าครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านสอนไว้ว่า ผู้เจริญพระกัมมัฏฐานต้องเห็นพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าผู้ใดเห็นพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ผู้นั้นก็จะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายท่านบอกไว้อย่างนั้น เหตุนั้นพวกเราทั้งหลาย เมื่อเจริญพระกัมมัฏฐานแล้ว เมื่อวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ที่ ๒ เกิดขึ้นมาแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๓ เราจะรู้อย่างไรว่า พระไตรลักษณ์เกิดขึ้นแก่เราแล้ว จะรู้ได้ในลักษณะดังนี้

       ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็หายไป

       บางท่านเวลากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น จะเห็นอาการพองอาการยุบ รู้สึกว่าฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีมันก็แน่นขึ้นๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของทุกขัง

       บางครั้งเวลาประพฤติปฏิบัติ เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็หายไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา

       ท่านหลวงปู่หลวงตาออกตนญาติโยมทั้งหลาย ลักษณะดังนี้ท่านทั้งหลายมีไหม เวลากำหนดพระกัมมัฏฐานลักษณะอย่างนี้มีไหม เกิดขึ้นแก่เราไหม ลักษณะที่ว่า อาการพอง อาการยุบ มันเร็วขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพอง อาการยุบรู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆ แล้วก็หายไป หรือว่าอาการพองอาการยุบมันสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆ แล้วก็หายไป ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งท่านทั้งหลายมีไหม  ถ้ามีก็แสดงว่าท่านทั้งหลายได้เห็นพระไตรลักษณ์แล้ว เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เพราะว่าถ้าเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ถือว่าเราเห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว เรามาถึงต้นทางแล้ว

       การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารไม่รู้กี่ชาติกี่กัปกี่กัลป์ เรายังไม่เห็นต้นทางของวัฏสงสารเลย หรือยังไม่เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานเลย ชีวิตของเรามันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารจักรไม่รู้จักหนทางที่จะไปสู่พระนิพพาน ไม่รู้จักหนทางที่จะทำให้พ้นทุกข์ มันลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารวัฏนี้ตลอดเวลา

       แต่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ ถือว่าเรามีบุญล้นฟ้าล้นดิน ที่เรามาปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้เห็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานแล้ว ลักษณะอย่างนี้ถ้าว่าเกิดแก่ท่านผู้ใดก็ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า เอ้อ เราเกิดมาภพนี้ชาตินี้ ถือว่าเป็นผู้มีโชคดี เป็นผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ ได้เห็นหนทางที่จะไปสู่พระนิพพานแล้ว ก็แสดงว่าเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จิตของเรา หรือว่าบุญกุศลของเราทั้งหลายที่สั่งสมอบรมไว้ก็จะดำเนินไปตามวิถีของมัน ไหลเอื่อยไปสู่พระนิพพาน เหมือนกันกับท่อนไม้หรือท่อนฟืน หรือท่อนซุงที่เราทิ้งลงในแม้น้ำโขงหรือแม่น้ำมูลอย่างนี้ ท่อนซุงหรือท่อนไม้นั้น เมื่อเราทิ้งลงไปมันก็ไหลไปตามลำดับ เอื่อยไปๆๆ จนถึงแม่น้ำโขง ไหลออกจากแม่น้ำโขง ก็ไหลไปสู่ทะเล เมื่อไปถึงทะเลแล้วก็ถือว่าเป็นจุดหมายปลายทาง ถ้าถึงทะเลหรือถึงมหาสมุทร ก็ถือว่าถึงที่แล้ว ข้อนี้ฉันใด

       พวกเราทั้งหลายเมื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐานมาถึงนี้ เราเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ไหลไปตามวิถีของมัน ไหลไปตามลำดับ ผ่านภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆๆๆ ผลสุดท้ายก็ถึงจุดหมายปลายทาง อะไรเป็นจุดหมายปลายทาง คือ ไปถึงพระนิพพาน

       สรุปแล้วว่า การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารนี้ มันมีอวิชชาเป็นต้นทาง มีพระนิพพานเป็นปลายทางหรือเป็นที่สุดท้าย เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้ก็ถือว่าเรามีบุญมีกุศลล้นฟ้าล้นดินแล้ว พร้อมแล้ว เราจะถึงพระนิพพานในวันหนึ่งข้างหน้า เมื่อเราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเห็นพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ อะไรเป็นพระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ คือความเกิดความดับของรูปนาม ถ้าผู้ใดเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้น ประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนามมีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ดังพระบาลีว่า

                        โย จ วสฺสสตํ ชีเว                 อปสฺสํ อุทยพฺพยํ

                        เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย               ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.

       ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเห็นความเกิดดับของรูปนามชัดด้วยปัญญาแล้ว ผู้นั้นมีชีวิตเป็นอยู่เพียงวันเดียวเท่านั้นประเสริฐกว่าผู้ที่ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม มีชีวิตอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี

       ลักษณะของพระไตรลักษณ์ในขั้นที่ ๒ นี้ ขอท่านหลวงปู่หลวงตา ครูบาอาจารย์ ออกตนญาติโยมจำไว้นะ พระไตรลักษณ์ขั้นที่ ๒ จะมีลักษณะดังนี้ คือ

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทาน รักษาศีล ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ เจริญเมตตาภาวนามาก่อนแล้ว ก็จะผ่านทางอนิจจัง คือจะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป นี้เป็นตัวอนิจจัง

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ ในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรารู้สึกฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ คล้ายกับใจจะขาด บางทีก็แน่นมากจริงๆ จนถึงกำหนดว่า “แน่นหนอๆๆ” มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป นี้เรียกว่าเป็นลักษณะของทุกขัง

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้ว จะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเราสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วก็ดับวูบลงไป ขาดความรู้สึกลงไป นี้เป็นลักษณะของอนัตตา ขั้นที่ ๒ นะ

       ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติธรรมะมาถึงนี้ ถือว่าตัดกระแสของวัฏสงสารได้แล้วอย่างน้อย ๗ ชาติ ผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ ผู้นั้นมีโอกาสจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าตายพร้อมจิตดวงนี้ ตายแล้วก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ ๗ ชาติ จะไม่ไปสู่อบายภูมิ คือ ไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๗ ชาติ แล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้นั้นได้บรรลุพระนิพพานในวันข้างหน้า

       สภาวะอย่างนี้ไม่ใช่ของเลวนะท่านทั้งหลาย ผู้ใดมีบุญจึงจะเกิด ถ้าผู้ใดไม่มีบุญจะไม่เกิด สมมุติว่าพระเราไปต้องอาบัติปาราชิกมาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด หากว่าผู้ใดเคยฆ่าพ่อฆ่าแม่มาก่อนแล้ว สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าผู้ใดทำบุญไว้ในชาติปางก่อนไม่ได้ปรารถนามรรคผลพระนิพพานไว้ สภาวะอย่างนี้ก็ไม่เกิด ถ้าสภาวะอย่างนี้เกิด ผู้นั้นมีหวังจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในชาตินี้ถ้าไม่ประมาท มาถึงขั้นที่ ๒ แล้วนะตอนนี้

       เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว ภพชาติของเรามันก็น้อยลงไปๆๆ เพราะเหตุไรจึงว่าน้อยลงไป เพราะว่ามันตัดชาติตัดภพไปนับไม่ถ้วน เพราะเหตุไร เพราะว่าในขณะที่เรากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองก็ดี อาการยุบก็ดี อาการสม่ำเสมอก็ดี มันดับวูบลงไปหรือมันสัปหงกวูบลงไป มันตายแล้วตอนนั้น รูปก็ดับ อาการพองอาการยุบก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรามันก็ดับ กิเลสคือโลภะ โทสะ โมหะ มันก็ดับ มันดับทั้ง ๓ อย่าง รูปดับ นามดับ กิเลสดับ เมื่อรูปดับ นามดับ กิเลสดับ กิเลสตัณหาทั้งหลายทั้งปวงมันก็อ่อนกำลังลงไป อ่อนกำลังลงไป แทนที่เราจะได้เกิดเป็นกี่ร้อยชาติพันชาติ มันจะเกิดอีกไม่นานก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานขั้นสุดท้ายแล้ว ถ้าผู้ใดปฏิบัติมาถึงนี้ก็ขอให้ท่านทั้งหลายพยากรณ์ตนเองได้เลยว่า เออ เราประพฤติปฏิบัติมาถึงนี้แล้ว เรามีโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในวันข้างหน้า หากว่าเราตายไปในขณะที่จิตของเรามันอยู่ในลักษณะดังนี้ เราก็จะไม่ตกนรก ไม่เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานอย่างน้อย ๗ ชาติ แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันข้างหน้า

       เมื่อเราเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาญาณแก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นความดับของรูปนาม เห็นความดับลงไป นั่งสมาธิไปมันดับวูบไปเรื่อยๆ หรือว่าเดินจงกรมไป “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ดับวูบไปเรื่อยๆ เหมือนกับคนง่วงนอน มันวูบไปเรื่อยๆๆ เหมือนกับคนง่วงนอน ที่มันเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในขณะนั้นเราเห็นความดับของรูปนาม ความเกิดไม่เห็น เห็นแต่ความดับ คือนั่งไปหลับไปๆๆ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” เดินไปหลับไปๆ “พองหนอ” “ยุบหนอ” กำหนดไปๆ หลับไปเรื่อยๆๆ มันคือลำบากลำบนแท้ นั่งไปนิดเดียวหลับไปแล้วๆ อันนี้เราเห็นเฉพาะความดับของรูปนาม

       เมื่อเห็นความดับของรูปนามชัดแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นรูปนามนั้นปรากฏเป็นของน่ากลัว ใจหวิวๆ หวามๆ ตกใจง่าย นั่งกัมมัฏฐานไปก็เกรงว่าจะล้มจะตายไป มันสัปหงกวูบลงไป เอ๊ะ ! ทำไมมันเป็นอย่างนี้ มันจะไม่ตายไปเลยหรือนี่ ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน กลัวตาย คือเห็นรูปนามปรากฏเป็นของน่ากลัว เมื่อญาณนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เห็นทุกข์เห็นโทษของรูปของนาม นั่งกัมมัฏฐานอยู่ เจ็บที่นู้นปวดที่นี้ บางทีหิว บางทีกระหาย บางทีอย่างโน้นอย่างนี้อะไรจิปาถะ เจ็บที่โน้นปวดที่นี้ร้อยแปดพันประการ บางทีจาม บางทีคันคอ บางทีน้ำตาไหล บางทีก็ปวดศีรษะ เห็นว่าการปฏิบัติลำบาก นี้ถือว่าการเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนาม

       เมื่อเราเห็นทุกข์เห็นโทษของรูปนามชัดด้วยปัญญาอย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเบื่อหน่ายรูปนาม บางทีก็เบื่ออาหาร ไม่อยากรับประทานอาหาร บางทีก็เบื่อผัว เบื่อเมีย เบื่อวัดวาอาราม บางทีก็เบื่อวัฏสงสาร บางทีก็เบื่อการประพฤติปฏิบัติ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป แต่ก็ยังข่มใจปฏิบัติอยู่ นี้มันเกิดความเบื่อ บางท่านไม่อยากรับประทานอาหารเลย ไม่อยากพบอยากเห็นใคร ครูบาอาจารย์ก็ไม่อยากพบอยากเห็น อยากอยู่เงียบๆ เพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อสภาวะนี้แก่กล้าแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาของเรามันแก่กล้าขึ้นมา มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นอยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร นี้อวิชชามันเกิดขึ้นมากั้นแล้วตอนนี้ บางคนก็ไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไปอีกเลย อยากออก อยากหนี อยากเลิก ไม่ยอมทำ เห็นว่าการทำกัมมัฏฐานนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เมื่อเราข่มจิตข่มใจแล้วก็พออยู่ได้ แต่บางท่านข่มจิตข่มใจไม่ได้ ลากลับบ้าน ใจน้อยงอแง ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ว่าอย่างนี้ ก็โกรธก็ขัดใจ ไม่อยากปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ส่วนมากปฏิบัติมาถึงนี้ผู้ปฏิบัติยังทำไม่ได้ บางทีก็ลากลับบ้านเลยไม่ยอมปฏิบัติต่อไป ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เป็นอวิชชา ความโง่ เป็นเหตุให้เกิดสังขาร เรากำหนดพระกัมมัฏฐานไม่ทัน มันจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทุลี้ทุลน ผุดลุกผุดนั่ง อยากออก อยากหนี อยากเลิก อยากหยุด ไม่อยากทำกัมมัฏฐานต่อไป

       ถ้าเราข่มจิตข่มใจได้แล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิปัสสนาญาณของเรามันแก่กล้า จิตใจก็จะเข้มแข็ง ตั้งใจจริง ปฏิบัติจริง ยอมสู้ตาย มุ่งหวังจะเอาบรรลุมรรคผลพระนิพพานให้ได้ มันจะตายชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือมันจะตายในเสี้ยววินาทีนี้ก็ยอมตาย แต่ไม่ยอมละการปฏิบัติเป็นเด็ดขาด นี่จิตใจเข้มแข็งตั้งใจจริงปฏิบัติจริง ถ้าเราปฏิบัติมาถึงนี้ เมื่อผ่านสภาวะอย่างนี้แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความสบายขึ้นมา เดินจงกรมก็สบายๆ นั่งสมาธิก็สบายๆ บางทีเราคิดว่าจะนั่งอยู่ ๓๐ นาที ลืมเวลาไป ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมงก็มี

       ในขณะนั้นสภาวะที่มันเกิดขึ้นเหมือนกันกับว่าเราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง ราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน ของเรานั้นไม่มีแล้ว มันหมดไปแล้ว เหมือนกันกับว่าได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว นั่งก็สบาย นอนก็สบาย กำหนดก็สบาย มันสบายทุกอย่าง อันนี้เป็นสภาวะของวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑๑ เมื่อสภาวะอย่างนี้แก่กล้าแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดมรรควิถีคือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์ คือหนทางที่จะดำเนินไปสู่การบรรลุมรรคผลพระนิพพาน ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้คือ

       ๑. อนิจจัง ถ้าผู้ใดเคยให้ทานรักษาศีลมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนิจจัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนิจจังชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ ท่านทั้งหลายสังเกตให้ดีนะ จะได้บรรลุหรือไม่บรรลุนี่อยู่ตรงนี้ การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานได้ผลหรือไม่ได้ผลอยู่ตรงนี้ เหตุนั้นท่านทั้งหลายพึงสังเกตให้ดี

       ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป บางทีก็ไปข้างหน้า บางทีก็ผงะไปข้างหลัง บางทีก็ไปข้างซ้าย บางทีก็ไปข้างขวา บางทีก็ขึ้นข้างบน บางทีสัปหงกวูบลงไปข้างล่าง เหมือนกันกับกระดูกสันหลังของเราไม่ต่อกัน เสร็จแล้วผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายชาติ หลายภพ หลายกัป หลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ ดับไป สิ้นไป สูญไป จากจิตจากใจของเรา หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้ว ทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดศีรษะ บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน หรือ อนิมิตตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยหาอะไรเป็นนิมิตไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะ เป็นนิมิตเป็นเครื่องหมายมิได้

       ๒. ทุกขัง ถ้าผู้ใดเคยเจริญสมถะกรรมฐานมาก่อน จะผ่านทางทุกขัง คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นทุกขังชัด ผู้ปฏิบัติจะสังเกตได้โดยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบของเรามันเร็วขึ้นๆๆๆ ฝืดๆ อึดอัด แน่นๆ เหมือนกับใจจะขาด มันแน่นขึ้นๆๆ แล้วสัปหงกวูบลงไป คือมันดับลงไป ผู้ปฏิบัติก็จะจำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบ ตอนนั่งหรือตอนถูกก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาหลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ ดับไปสิ้นไปสูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีก็ปวดหัว บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน หรือ อัปปณิหิตวิโมกข์ แปลว่าดับโดยที่หาอะไรเป็นที่ตั้งไม่ได้ คือหาราคะ โทสะ โมหะเป็นที่ตั้งมิได้

       ๓. อนัตตา ถ้าผู้ใดเคยเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานมาก่อนแล้ว จะผ่านทางอนัตตา คือจะได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานเพราะเห็นอนัตตาชัด ผู้ปฏิบัติจะพึงสังเกตได้ด้วยลักษณะดังนี้ คือ ในขณะที่กำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” อยู่นั้น อาการพองอาการยุบสม่ำเสมอดี บางทีก็แผ่วเบาเข้าๆๆ แล้วดับวูบลงไป คือขาดความรู้สึกลงไป ผู้ปฏิบัติก็จำได้ จำได้ว่ามันดับลงไปตอนไหน มันดับลงไปตอนพองหรือตอนยุบก็รู้ การที่รู้อย่างนี้เป็นลักษณะของญาณที่ ๑๒ หลังจากขาดความรู้สึกไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๓ โคตรภูญาณ หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๑ ขณะจิต เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๔ มรรคญาณ กิเลสขาดตรงญาณนี้ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดที่ติดตามมาแต่หลายภพหลายชาติหลายกัปหลายกัลป์ เมื่อปฏิบัติมาถึงนี้ จะดับไป สิ้นไป สูญไปจากขันธสันดาน หลังจากขาดความรู้สึกลงไปแล้วทรงอยู่อีก ๒ ขณะจิตบ้าง ๓ ขณะจิตบ้าง เงียบ ไม่รู้สึกอะไร เป็นญาณที่ ๑๕ ผลญาณ พอรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาว่า เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไป มันง่วงนอนหรืออย่างไร หรือมันตายไปเมื่อตะกี้นี้ บางทีก็งง บางทีไม่ยอมปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ถ้าผ่านโดยวิธีนี้ นิพพานของท่านผู้นั้นชื่อว่า สุญญตนิพพาน หรือ สุญญตวิโมกข์ แปลว่า ดับโดยอาการว่างเปล่า คือ มันว่างจากราคะ โทสะ โมหะ

       ท่านหลวงปู่หลวงตา ออกตนญาติโยมทั้งหลาย เวลาได้บรรลุมรรคผลพระนิพพานนั้นมีเท่านี้นะ มันมีเท่านี้ เดี๋ยวจะว่า “เอ๊ะ หลวงพ่อ ทำไมง่ายจัง การบรรลุมรรคผลพระนิพพานทำไมง่ายจัง” มันไมใช่ของง่ายท่านทั้งหลาย บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๑๐ ปีก็ไม่เห็นลักษณะอย่างนี้ บางทีปฏิบัติกัมมัฏฐานมา ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี เกือบจะตายก็ยังไม่เห็นลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้น

       ที่มันเป็นอย่างนี้เพราะเหตุไร อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้นๆๆๆ แล้วก็สัปหงกวูบลงไป ที่มันเป็นลักษณะนี้ เพราะในขณะนั้นมันตายแล้ว กิเลสมันตาย รูป คืออาการพองอาการยุบนี้ก็ดับ คือมันตายลงไป นามคือความรู้สึกของเรา จิตของเรามันก็ดับลงไป กิเลสคือโลภะ โทสะ ก็ดับลงไป มันดับเด็ดขาดไปเลย ไม่เกิดอีก ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่เกิด

       เหมือนกันกับฟ้าผ่าเปรี้ยงลงที่ต้นไม้ หรือโคตรเพชรโคตรหิน ต้นไม้ต้นนั้นก็ดับไปเลย ตายไปเลย เอาเคมี เอายาดีมาใส่มันก็ไม่เกิดอีก ดับไปเลย ข้อนี้ฉันใด ในขณะที่รูปนามมันดับลงไป มันก็ดับไปเลยไม่กลับเกิดอีก

       ถ้ามันดับไปครั้งที่ ๑ ก็ชื่อว่า โลภะ ละได้ ๔ ตัว โทสะ ละยังไม่ได้ โมหะ ละได้ ๑ ตัว คือ วิจิกิจฉา ถ้าเราเจริญพระกัมมัฏฐานเห็นทุกขังปรากฏชัด ที่กำหนดไปๆ ดับวูบลงไป หรือสัปหงกวูบลงไป คือ ในขณะนั้น รูป คืออาการพองอาการยุบของเรามันก็ดับ นาม คือความรู้สึกของเรา คือจิตของเรามันก็ดับ และในขณะนั้น กิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง มันก็ดับลงไป แล้วก็ดับไปเล