[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 08 เมษายน 2559 13:31:34



หัวข้อ: ทำไมต้องเจริญสติด้วย "การเคลื่อนไหว"
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 08 เมษายน 2559 13:31:34

(http://www.dmc.tv/images/Dhamma_for_people_banner.jpg)

ทำไมต้องเจริญสติด้วย "การเคลื่อนไหว"

           การเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นธรรมชาติของชีวิต มนุษย์เราจะอยู่นิ่งโดยปราศจากการเคลื่อนไหวไม่ได้ การเคลื่อนไหวอิริยาบถ เป็นการช่วยเปลี่ยนถ่ายบรรเทาทุกขเวทนา ให้เกิดความสบาย หรือให้อวัยวะส่วนนั้นได้พักผ่อนพอที่สังขารนี้ดำเนินไปโดยไม่เป็นทุกข์มากนัก ซึ่งนี่เป็นเพียงการเคลื่อนไหวส่วนเปลือกเท่านั้น  ยังไม่ใช่การเคลื่อนไหวของใจ

           แต่การเคลื่อนไหวของคนทั่วไป ส่วนมากเป็นไปตามสัญชาตญาณ เป็นไปตามความเคยชิน ความคิดอารมณ์ลากจูงไป ไม่ได้มีการกำหนดรู้  ไม่ได้ใส่ใจหรือส่งใจไปรับรู้ทุกข์ที่เกิดการเคลื่อนไหวนั้น จิตอยู่กับความคิดหรืออารมณ์ปรุงแต่งเป็นส่วนมาก 

           การเจริญสติ เป็นการทำให้สติมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สติเจริญเติบโตเร็ว มีพละกำลังเข้มแข็งสามารถรักษาจิตไม่ให้อ่อนไหวไปตามแรงของอารมณ์ที่กระทบ ไม่ไหลไปกับผัสสะสิ่งยั่วย้อมมอมเมาทั้งหลายได้ เมื่อจิตอยู่กับกายก็เกิดเป็นสมาธิตั้งมั่น สามารถเห็นธรรมชาติที่ปรากฏในกายและจิตนี้โดยไม่ถูกปรุงแต่ง  เรียกว่าจิตเกิดปัญญาเห็นตามความเป็นจริงได้

การเคลื่อนไหว ๕ แบบ
            ๑. การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เป็นอิริยาบถใหญ่  เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน
            ๒. การเคลื่อนไหวในอิริยาบถย่อย เช่น การหายใจ การกิน การดื่ม การกระพริบตา การคู้เหยียดอวัยวะ การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การหลับ การตื่น เป็นต้น
            ๓.การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจากสภาพธาตุขันธ์ในร่างกาย เช่น  ร้อน หนาว เจ็บปวด  หิว อิ่ม เมื่อย เพลีย เป็นต้น
            ๔.การเคลื่อนไหวทางจิต เช่น จิตนิ่ง จิตคิด จิตไม่คิด จิตปรุงแต่ง จิตฟุ้งซ่านทะยานอยาก เป็นต้น
            ๕.การลื่นไหลของจิต  ที่ไหลไปสู่ความพอใจไม่พอใจ ไหลไปสู่ราคะ โทสะ โมหะ ความผูกพันผสมกลมกลืนของจิตที่ติดอยู่กับอารมณ์ที่ยากจะแยกออก  การเคลื่อนตัวหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัด

การปลูกฝังโพธิ

           การพัฒนาวัตถุจำเป็นต้องหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์ฉันใด การเจริญสติก็จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ท่านเรียกว่า “นิมิต” หรือเครื่องหมายในการปลูกฝังสติ  เพื่อตัวโพธินี้จะได้เจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและให้มรรคผลในที่สุด

            การปลูกพืชโดยทั่วไปนั้น ก่อนอื่นต้องมีการเพาะเมล็ดก่อน อาจเพาะในแปลงเพาะ ในถุงดำ ในกระถาง หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ สำคัญว่ามีองค์ประกอบคือดิน แร่ธาตุต่างๆ ครบไหม และอีกอย่างต้องเพาะไว้ในที่ร่มก่อนที่จะนำออกปลูกในที่แจ้ง

            สติเมล็ดพืชพันธุ์แห่งโพธินี้ก็เช่นเดียวกัน การเพาะก็ย่อมอาศัยพื้นที่เช่นกัน และกายนี้ก็เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด เพราะเหตุว่าจะไม่ต้องมีการย้ายออกไปปลูกข้างนอกแต่ประการใด หากสติระลึกรู้อยู่กับกายมั่นคงดีแล้วก็ย่อมจะเจริญเติบโตเป็นร่มเงาให้สติย่อมเห็นจิตได้ เห็นทั้งกายที่เคลื่อนไหวและใจที่นึกคิดในคราวเดียวกันไปเลย ไม่ใช่ทำทีละอย่าง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อสตินี้เป็นมหาสติเสียก่อน ดังเช่นพุทธดำรัสความว่า“เมื่อเจริญกายคตาสติบริบูรณ์ย่อมทำให้สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ เมื่อทำสติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ เมื่อเจริญโพชฌงค์บริบูรณ์ย่อมทำเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติให้บริบูรณ์ได้”

            สำหรับการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ จะเอากายและจิตเป็นนิมิตพร้อมกันไปเลย เพียงแต่ในเบื้องต้นเน้นย้ำให้ผู้ใหม่อย่าพึ่งด่วนไปดูความคิด ให้ประคองสติอยู่กับกายมากกว่าจิต สัดส่วนประมาณ ๗๐/๓๐ ต่อเมื่อสัมผัสอารมณ์รูปนามได้แล้ว การดูจิตเห็นจิตจะเป็นไปเอง...อาการเช่นนี้บอกให้เรารู้ว่าสมถะและวิปัสสนาแท้จริงแล้ว หากปฏิบัติถูกต้องจะเหมือนหัวงูกับหางงู มันไม่ได้แยกหรือแตกต่างอะไรกันเลย เพียงแต่เมื่อประคองความเพียรมีสมาธิก็เป็นสมถะ แต่พอมรรคสมบูรณ์การรู้แจ้งปรากฏก็เป็นวิปัสสนาตรงนั้นทันที

 
การเจริญสติตามรู้กายในกายในพระไตรปิฎก
           หลายคนอาจยังไม่คุ้นหูชินตากับรูปแบบของการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว บางแห่งถึงกับยอมรับไม่ได้ที่จะสมาทานถือปฏิบัติก็มี แต่ก็คงเป็นธรรมดาสำหรับรูปแบบ เพราะนี้ไม่ใช่สัจธรรมของวิญญูชน  เป็นเพียงรูปแบบทางวัฒนธรรมเพื่อการปลูกฝังคุณธรรมคือสติสัมปชัญญะเท่านั้น  แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยระยะเวลาในการปลูกฝังกันนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตใจ ความยึดถือ ความเคารพ  ความศรัทธาที่ปราศจากปัญญาแล้วยิ่งจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ยาก

           ผู้มีปัญญาต้องมองกรรมฐานทุกรูปแบบเป็นเพียงอุบายฝึกสติให้ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เท่านั้น และมองที่อุบายไหนจะให้ได้สติสามารถนำมาแก้ทุกข์ได้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงมือพิสูจน์ และวิธีไหนที่จะเหมาะสมกับอินทรีย์ของตน แต่สำหรับผู้ปฏิบัติที่ได้สัมผัสผลแล้วก็จะไม่มีปัญหาใดๆ  ที่ต้องให้สงสัยอีกต่อไป

           การเจริญสติด้วยตามรู้อาการกาย เช่น การตามรู้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ทุกรูปแบบ การรู้อิริยาบถน้อยใหญ่  การตามรู้อาการของอวัยวะสามสิบสอง การตามรู้ความปฏิกูลของร่างกาย การตามดูตามรู้อาการกายนี้เป็นเพียงธาตุสี่ หรือระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของกายนี้เป็นอสุภะดุจซากศพในป่าช้าทั้งเก้  เป็นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดว่าด้วยการมีสติตามรู้เห็นอยู่กับฐานกาย หรือกายคตาสติ หมายถึงสติระลึกรู้อยู่กับอาการกายทั้งสิ้น รู้  ณ ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อมอันจะนำไปสู่ผลคือวิชชาและวิมุติในลำดับต่อไป

           การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวอิริยาบถ ที่มีการนั่งสร้างจังหวะและการเดินจงกรมจัดอยู่ในหมวดของอิริยาบถและสัมปชัญญะบรรพ แต่ความสำคัญของกรรมฐานทุกรูปแบบนั้นเป็นเพียงเครื่องมือให้ได้ตัวรู้  “สติแบบปรมัตถ์”  หรือมหาสติ  เป็นอาการรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ได้ทั้งกายและจิต

            “สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะฯ ปัสสะสิสสามีติ  สิกขะติ” คือรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทุกๆ อาการในร่างกาย แม้ว่าจะหายใจเข้าออก หรือเคลื่อนไหวอิริยาบถใด สติจะรู้เท่าทัน สติในวิปัสสนาจะเริ่มจากจุดนี้ไป และถูกพัฒนามาเป็นสมาธิแล้วนั่นเอง เพียงเตรียมสู่การรู้แจ้งเท่านั้น หรืออาจเกิดการรู้แจ้งได้ในขณะที่  “ ตัวรู้ ” เปลี่ยนสภาวะตรงนั้นเลยก็ได้

         หากสติได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนกายาคตาสติอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดอาการของอารมณ์วิปัสสนาตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรู้กับอาการกายส่วนใด เจริญสติบรรพะไหนก็ตาม, (ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ ตามรู้ลมหายใจ,กายคตาสติ ตามรู้อิริยาบถ) จุดสตาร์ทต่างกันแต่เมื่อขึ้นสู่เส้นทางอารมณ์กรรมฐานได้แล้วก็จะเหมือนกัน ดังนี้
            ๑. ช้าก็รู้
            ๒. เร็วก็รู้
            ๓. เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม(สัพพะกายะปฏิสังเวที)
            ๔. เกิดความเอิบอิ่มใจ (ปีติปะฏิสังเวที)
            ๕. เกิดความสุขในขณะเคลื่อนไหวกาย (สุขะปะฏิสังเวที)
            ๖. รู้ว่าจิตที่ปรุงแต่งสงบระงับแล้ว  (จิตตะสังขาระปฏิสังเวที)
            ๗. รู้ว่าไม่ปรุงแต่ง  (จิตตะปะฏิสังเวที)
            ๘. รู้ว่าดับความปรุงแต่งให้สงบระงับอยู่ (ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง)
            ๙. รู้จิตในขณะเคลื่อนไหวด้วย (จิตตะปฏิสังเวที)
            ๑๐ .จิตจะเกิดปราโมทย์ (อภิปปะโมจจะยัง จิตตัง)
            ๑๑. มีสมาธิตั้งมั่น (สมาทะหัง  จิตตัง)
            ๑๒ .เกิดการปล่อยวาง (วิโมจจะยัง จิตตัง)
            ๑๓. เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจา)
            ๑๔. ความจางคลาย (วิราคา)
            ๑๕. ความดับไม่เหลือ (นิโรธา)
            ๑๖. ความสลัดคืน (ปฏินิสสัคคา)