[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2559 17:11:33



หัวข้อ: พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่อันดับ ๒ ของโลก ติงสนิบาต อายุ ๕๔๕ ปี
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 01 พฤษภาคม 2559 17:11:33

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/93943566539221__3588_3633_3617_3616_3637_3619.jpg)

พบคัมภีร์ใบลานเก่าแก่อันดับ ๒ ของโลก
‘ติงสนิบาต’ อายุ ๕๔๕ ปี ที่วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง    

นายบุญเลิศ เสนานนท์ อดีตหัวหน้ากลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ เปิดเผยว่า กรณีที่ทีมสำรวจนำโดยนายยัน เปลซิงเงอร์ ทูตวัฒนธรรมเยอรมัน ประจำประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจดูคัมภีร์ใบลานตามวัดต่างๆ พร้อมทำเว็บไซต์ถวายความรู้แด่เจ้าอาวาส และสำรวจคัมภีร์ใบลาน พบว่า ที่วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ มีคัมภีร์ใบลานมากที่สุดในภาคเหนือของไทย โดยมีมากกว่า ๙,๐๐๐ ผูก ซึ่งมีบันทึกในเอกสารโบราณระบุว่า การที่วัดสูงเม่นมีคัมภีร์ใบลานมาก เนื่องจากครูบากัญจนอรัญวาสี นักบุญ และนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองแพร่ ซึ่งอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๑-๔ ได้เดินทางไปรวบรวมคัมภีร์ใบลานจากหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบน รวมถึงเมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อมาจารคัมภีร์ใบลานเพิ่มในช่วงที่มีชีวิตอยู่ จากนั้นทางวัดก็ได้เก็บคัมภีร์ใบลานไว้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์

นายบุญเลิศกล่าวอีกว่า ส่วนที่วัดไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง มีคัมภีร์ใบลานถูกเก็บอยู่ในหีบธรรม และตู้กระจกที่จัดเรียงแบ่งคัมภีร์ใบลานไว้เป็นหมวดหมู่ หนึ่งในนั้นเป็นคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดในไทย และเก่าแก่เป็นอันดับ ๒ ของโลก คือเรื่อง “ติงสนิบาต” จารโดยพระญาณรังษี เมื่อปี ๒๐๑๔ หรือมีอายุ ๕๔๕ ปีมาแล้ว คัมภีร์ติงสนิบาตจัดอยู่ในพระสุตันตปิฎกขุนทกนิกาย ขนาดหน้าลาน ๕ บรรทัด ยาว ๔๘ เซนติเมตร สารัตถะในคัมภีร์จะเน้นการรักษาอุโบสถศีล อานิสงส์ของการรักษาศีลและอุโบสถศีล เป็นตัวอักษรล้านนา ภาษาไทย-บาลี ซึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก

“นอกจากนี้ ยังสำรวจพบวัดพระธาตุศรีจอมทอง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีพระอาจารย์ที่รู้วิธีการเขียนอ่านคัมภีร์ใบลานอยู่มาก รวมถึงถ่ายคัมภีร์ใบลานในระบบดิจิตอลลงเว็บไซต์ และสาธิตวิธีการเขียนคัมภีร์ใบลาน ส่วนวัดดวงดี ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบคัมภีร์ใบลาน ๙๐๐ กว่าเรื่อง บรรจุอยู่ในหีบพระธรรม ๒๑ ตู้ ตั้งอยู่ในหอไตร เนื้อหาคัมภีร์ใบลานส่วนมากเป็นเรื่องประเพณีพุทธศาสนา และชาดก เก็บรักษาโดยลูกเหม็นดับกลิ่น และเมล็ดพริกไทยดิบ หรือแห้ง ๒๐-๓๐ เม็ด ห่อด้วยผ้าขาวบางวางไว้ตามมุมหีบธรรม เพื่อกันปลวก แมลง มอด และหนอนหนังสือ รวมทั้ง ทำความสะอาด” นายบุญเลิศกล่าว
    ที่มา: มติชนออนไลน์

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38176404063900_view_resizing_images_1_.jpg)
จารคัมภีร์ใบลาน

"คัมภีร์ใบลาน" บันทึกธรรมเนียมล้านนา

"คัมภีร์ใบลาน" เป็นเอกสารโบราณประเภทหนึ่งที่บันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ทั้งคดีโลกและคดีธรรม เช่น เรื่องราวและหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โหราศาสตร์ วรรณกรรม พงศาวดาร กฎหมายโบราณ ตำรายา และเวทมนตร์คาถา โดยใช้ "ตั๋วเมือง" หรือ "อักษร ล้านนา"

แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้กำลังสูญหายไป ทำให้ศาสตราจารย์ฮารัลด์ ฮุนดีอุส ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมไทยและลาว มหาวิทยาลัยพัซเซา ประเทศเยอรมนี เริ่มสำรวจคัมภีร์ใบลานล้านนา ในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๑๗ ด้วยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิการวิจัยเยอรมนี โดยจัดทำไมโครฟิล์ม ๔๐ ม้วน คัดเลือกคัมภีร์ใบลาน ๑,๓๕๐ เรื่อง

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๙ จึงจัดทำบัญชีรายชื่อเอกสารโบราณ ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นปี พ.ศ.๒๕๒๔ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างบัญชีรายชื่อ และถ่ายไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานมากกว่า ๔,๐๐๐ เรื่อง

กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๓๔ ศาสตราจารย์ฮารัลด์ ร่วมกับ ม.ร.ว. ดร.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มทำโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณภาคเหนือของไทย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ผ่านโครงการอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำให้เกิดสำเนาไมโครฟิล์มกว่า ๔๐๐ ม้วน ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่บันทึกธรรมเนียมล้านนาเอาไว้ ๔,๒๐๐ ชิ้น

จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๖ เริ่มโครงการหอสมุดดิจิตอลคัมภีร์ใบลานล้านนา สองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากมูลนิธิเฮนรี่ ลิวซ์ นิวยอร์ก ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและมูลนิธิแอนดรู ดับเบิลยู เมลล่อน โดยมีศาสตราจารย์จัสติน แมคเดเนียล เป็นหัวหน้าโครงการ

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยหอสมุดแห่งชาติลาว โดยมีศาสตราจารย์ฮารัลด์เป็นหัวหน้าโครงการท้องถิ่นรวบรวมคัมภีร์ใบลาน และนายเดวิด วอตัน หัวหน้าฝ่ายเทคนิคเซิร์ฟเวอร์ เป็นผู้รวบรวมถ่ายภาพดิจิตอลเอกสารโบราณตามวัดต่างๆ ทางภาคเหนือของไทย เพิ่มไว้ในเว็บไซต์ lanna manuscripts.net หอสมุดแห่งนี้ช่วยให้เข้าถึงคลังเอกสารโบราณภาคเหนือขนาดใหญ่ชุดแรก รวมถึงแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมพื้นถิ่นทางภาคเหนือของไทยได้อย่างครอบคลุม

ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี โดยนายยัน เปลซิงเงอร์ ทูตวัฒนธรรมเยอรมัน ประจำประเทศไทย, ศาสตราจารย์ฮารัลด์, นายเดวิด และ ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล อาจารย์ประจำวิชาพุทธศาสนาเถรวาท มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน และเลขาธิการสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ ลงพื้นที่ตรวจดูคัมภีร์ใบลานและผลการทำงานตามวัดต่างๆ พร้อมนำเว็บไซต์เสนอสอนแก่เจ้าอาวาส

เริ่มจากวัดไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง วัดเก่าแก่สมัยพระนางจามเทวี พบคัมภีร์ใบลานถูกเก็บอยู่ในหีบธรรมและตู้กระจกที่จัดเรียงแบ่งคัมภีร์ใบลานไว้เป็นหมวดหมู่ หนึ่งในนั้นพบคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและเป็นอันดับ ๒ ของโลก คือเรื่อง "ติงสนิบาต" จารโดยพระญาณรังษี เมื่อ พ.ศ.๒๐๑๔ หรือมีอายุ ๕๔๕ ปีมาแล้ว

คัมภีร์ติงสนิบาต จัดอยู่ในพระสุตตันตปิฎกขุนทกนิกาย ขนาดหน้าลาน ๕ บรรทัด ยาว ๔๘ เซนติเมตร สารัตถะในคัมภีร์เน้นเรื่องการรักษาอุโบสถศีล อานิสงส์ของการรักษาศีล เป็นตัวอักษรล้านนา ภาษาไทย-บาลี ซึ่งอยู่ในสภาพดีมาก

จากนั้นเดินทางไปวัดพระธาตุศรีจอมทอง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มีดอยจอมทองเด่นเป็นเอกลักษณ์ อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ วัดนี้เด่นเรื่องมีพระอาจารย์ที่รู้วิธีการเขียน อ่านคัมภีร์ใบลานอยู่มาก รวมถึงมีการถ่ายคัมภีร์ใบลานในระบบดิจิตอลลงเว็บไซต์

โดยพระอาจารย์ยังสาธิตวิธีการเขียนคัมภีร์ใบลานตั้งแต่ ขั้นตอนแรก นำใบลานใบที่ ๓ จากต้นตาล ที่มีขนาดและความหนาพอดี นำมาตัดก้านออก แล้วม้วนเสร็จเอาไปต้ม ก่อนเอามาตาก ๓-๕ ชั่วโมง

จากนั้นนำใส่ไม้ประกบเพื่อวัดขนาดใบลานให้เท่ากัน และใช้เหล็กแหลมจาร ก่อนทาน้ำมันมะกอก ถ่าน ยางสน ขี้เขม่า และน้ำดีปลาที่ผสมกัน ให้ตัวอักษรเป็นสีดำเด่นขึ้นมา แสดงให้เห็นว่ากว่าจะเขียนใบลานแต่ละแผ่นไม่ใช่เรื่องง่าย

ต่อมาเป็นวัดดวงดี ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัดที่คงสถาปัตยกรรมล้านนาไว้ได้เป็นอย่างดี พบคัมภีร์ใบลาน ๙๐๐ กว่าเรื่อง บรรจุอยู่ในหีบพระธรรม ๒๑ ตู้ ตั้งอยู่ในหอไตร โดยเนื้อหาส่วนมากเป็นเรื่องประเพณีพุทธศาสนาและชาดก เก็บรักษาโดยลูกเหม็นดับกลิ่น และเมล็ดพริกไทยดิบ หรือแห้ง ๒๐-๓๐ เม็ด ห่อด้วยผ้าขาวบางวางไว้ตามมุมหีบธรรม เพื่อกันแมลงต่างๆ ให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของวัดเก่าแก่ในภาคเหนือที่พบคัมภีร์ใบลาน และคงมีการเก็บรักษาอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ซึ่งยังมีอีกหลายสถานที่ที่มีเอกสารโบราณถูกเก็บอยู่อีกมาก

นายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเช่นนี้ ถือเป็นการกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้มากขึ้น ตนมีความยินดีที่ประเทศเยอรมนีให้ทุนสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ ทำให้เกิดผลอันน่าประทับใจ

ศาสตราจารย์ฮารัลด์กล่าวว่า วัฒนธรรมเปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่าของโลกที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป คัมภีร์ใบลานล้านนาก็เช่นกัน เนื่องจากมีคนสมัยก่อนบันทึกเรื่องราว ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาไว้ ถ้าใครอ่านออกจะเข้าใจ และสามารถเข้าถึงความรู้ของคนรุ่นก่อน ตนจึงอยากค้นคว้า เพื่อจะเผยแพร่ภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมล้านนาให้ปรากฏแก่ชาวโลก

ดร.พิบูลย์กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้ช่วยให้นักวิชาการทั่วโลกเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ในภาคเหนือว่าก้าวหน้าไปมากกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ ของประเทศไทย จึงต้องนำโครงการภาคเหนือไปเป็นตัวอย่างต่อไป
 ที่มา: นสพ.ข่าวสด