[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 พฤษภาคม 2559 11:20:48



หัวข้อ: สามเณร 'สรณังกร' ผู้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในทวีปลังกา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 พฤษภาคม 2559 11:20:48

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/38041111951072__3614_3619_3632_.gif)
ลายเส้นรูปพระสงฆ์สมัยอยุธยา จากบันทึกของนิโกลาส์ แชร์เวส
นิโกลาส์ แชร์เวส เป็นชาวฝรั่งเศสผู้อยู่ในคณะทูตของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์
ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เข้ามาเจริญพระราชไมตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ และพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาถึง ๔ ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๒๘ ถึง พ.ศ. ๒๒๓๒



สามเณรสรณังกร
ผู้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกาย 'สยามวงศ์' หรือ 'ลังกาวงศ์' ในทวีปลังกา

สามเณรที่จะพูดถึงต่อไปนี้เป็น “สามเณรสังฆราช” แห่งลังกาทวีปเชียวแหละครับ

หมายความว่าสามเณรรูปนี้ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชแห่งเกาะศรีลังกา มีประวัติน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง

คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อการพระศาสนาในเมืองไทยถดถอยลง พระสงฆ์ไทยได้เดินทางไปศึกษาและปฏิบัติที่ลังกาทวีป แล้วกลับมาสั่งสอนพระพุทธศาสนา “แบบลังกา” ณ ประเทศสยาม จนได้รับความนิยมแพร่หลาย

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงขึ้นครองราชย์ ทรงได้ยินเกียรติศัพท์พระพุทธศาสนาแบบลังกา จึงอาราธนาพระสงฆ์ลังกาวงศ์ขึ้นไปจากนครศรีธรรมราชไปเผยแผ่ที่กรุงสุโขทัย

พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จึงได้เจริญแพร่หลายมาแต่บัดนั้น  จนกระทั่งสมัยอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ พระพุทธศาสนาก็เป็นแบบลังกาวงศ์

ต่อมาพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป อันเป็นต้นแบบลังกาวงศ์ในประเทศไทยได้เสื่อมลง ว่ากันว่า พระสงฆ์ได้หมดสิ้นไปจากประเทศ เหลือเพียงสามเณรรูปเดียวนามว่า สรณังกร ว่าอย่างนั้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๒๘๒ ในรัชสมัยพระเจ้าศรีวีรปรักกมนเรนทรสิงห์  เนื่องจากพระราชาองค์นี้ มิได้เอาพระทัยใส่ในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ศาสนวงศ์จึงทำท่าจะสูญสิ้น

ประวัติศาสตร์กระซิบเล่าว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ทำปิตุฆาตคือแย่งราชสมบัติจากพระราชบิดา และปลงพระชนม์พระราชบิดาของตน เมื่อครองราชย์แล้วมีความเร่าร้อนพระทัยบรรทมไม่หลับ เพราะบาปอกุศลที่ตนก่อไว้ พระองค์ทรงปรึกษาบรรดาสมณะชีพราหมณ์ทั้งหลายว่า จะมีวิธี “ล้างบาป” ได้อย่างไร

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาถวายพระพรว่า บาปใครทำคนนั้นก็รับไป ยิ่งเป็นอนันตริยกรรม นับว่ามีโทษหนักล้างไม่ได้ ตกนรกถ่ายเดียว  

ส่วนนักบวชศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า บาปที่ทำแล้ว จะด้วยความจงใจหรือไม่จงใจก็ตาม บาปเล็กน้อย หรือบาปหนักหนาสาหัสอย่างไรก็ตาม ถ้ามีเจตจำนงแน่วแน่จะล้าง ย่อมล้างให้หมดไปได้ด้วยการอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์

พระเจ้านเรนทรสิงห์ ทรงพอพระทัยในคำตอบของพวกนักบวชศาสนาพราหมณ์ จึงทรงหันไปนับถือศาสนาพราหมณ์ และให้ความอุปถัมภ์บำรุงศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างดี  ขณะเดียวกันก็ไม่พอพระทัยบรรดาภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา รับสั่งให้จับพระสงฆ์สึกเป็นจำนวนมาก ทำลายเจดีย์วิหาร เผาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาจำนวนมาก พระสงฆ์ต่างก็หนีกระเจิดกระเจิง เพราะกลัวราชภัย  การพระศาสนาจึงทำท่าจะสูญสิ้นไม่มีเหลือ เพราะถูกเบียดเบียนดังกล่าวข้างต้น

เดชะบุญพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้านเรนทรสิงห์  ทรงสนพระทัยในพระพุทธศาสนา ได้ทะนุบำรุงสังฆมณฑลด้วยดี สามเณรสรณังกรจึงถวายพระพรให้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้สถาปนาพระสงฆ์ขึ้นอีก

พระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงแต่งทูตานุทูตให้เข้ามายังกรุงสยาม เพื่อขอคณะสงฆ์ออกไปให้อุปสมบทแก่กุลบุตรลังกา เมื่อคณะทูตลังกามาถึงสยามก็ได้ข่าวว่าพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะสวรรคต ไม่ทราบพระราชประสงค์ของพระราชาองค์ใหม่ จึงเดินทางกลับลังกาทวีป

ครั้นพระเจ้ากิตติราชสิงหะเสวยราชสมบัติต่อมา สามเณรสรณังกรก็ได้ถวายพระพรขอให้ส่งคณะทูตมายังกรุงสยามอีกครั้ง พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงเห็นชอบด้วย ได้ส่งคณะทูตมาขอพระสงฆ์จากกรุงสยาม เพื่อไปทำการอุปสมบทแก่กุลบุตรลังกา

ว่ากันว่าเหตุการณ์นี้ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงสยามทรงส่งพระสงฆ์คณะหนึ่งอันมีพระอุบาลีเถระเป็นประธานไปยังลังกาทวีป ท่านพระอุบาลีกับคณะได้ไปถึงลังกาทวีป อุปสมบทให้กุลบุตรชาวลังกาจำนวนมาก ก่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้น ณ วันเพ็ญเดือน ๘ ในปีพุทธศักราช ๒๒๙๖

สามเณรสรณังกร ได้รับการอุปสมบทในคราวนั้นด้วย ว่ากันว่าสามเณรสรณังกรกว่าจะได้บวชเป็นพระก็อายุปาเข้าไปถึง ๕๔ ปี เป็นสามเณรเฒ่าอยู่เป็นเวลานาน เพราะหาอุปัชฌาย์บวชให้ไม่ได้

พระพุทธศาสนาในลังกาทวีปเป็นแบบ “สยามวงศ์” มาแต่บัดนั้นเพราะก่อตั้งหรือฟื้นฟูขึ้นโดยพระเถระชาวสยาม เนื่องจากหัวหน้าคณะสงฆ์มีนามว่า พระอุบาลี จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า “อุบาลีวงศ์”

ในขณะที่เมืองไทยมีพระลังกาวงศ์ ที่เมืองศรีลังกาก็มีพระสยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ ด้วยประการฉะนี้

เมื่อพระอุบาลีมรณภาพลง พระเจ้ากิตติราชสิงหะจึงทรงสถาปนาพระสรณังกรขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์แรก

พระสังฆราชสรณังกร ได้เอาเป็นธุระทะนุบำรุงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี การปริยัติศาสนาที่เสื่อมโทรมลงแต่ก่อน ได้รับการฟื้นฟูให้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง พระสังฆราชสรณังกร เป็นพระเถระนักปราชญ์ได้รจนาตำราขึ้นหลายเล่ม และได้ใช้กันแพร่หลายมาจนปัจจุบันหลายเล่ม

อาทิ
๑.มุนีคุณาลังการะ แต่งเป็นคาถาภาษามคธ (ภาษาบาลี)
๒.สารัตถสังคหะ (แปลเป็นภาษาสิงหฬ)
๓.อรรถกถาโพธิวังสะ แต่งเป็นภาษาสิงหฬ
๔.จตุภาณวาร แปลเป็นภาษาสิงหฬ
๕.รูปมาลา ในไวยากรณ์ภาษามคธ
๖.เภสัชชมัญชุสะ (ตำรายา) เป็นภาษาสิงหฬ

พระสังฆราชองค์นี้อดีตก็เป็นบุตรข้าราชการชั้น “มุททลิยา” (ไม่ทราบว่าชั้นไหน สงสัยจะเป็นเสมียน) ชื่อ กุละตุงคะ ในสกุลโควิ เกิดที่หมู่บ้านเวฬิวิตะ แขวงเมืองตุมปาเณ ตำบลเวฬิวิตะ

ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๖ ปี ในสำนักพระสุริยโคทมมหาเถระ ในแผ่นดินพระเจ้านเรทรสิงหะ หลังจากบวชแล้วก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนมีความเชี่ยวชาญในภาษามคธ

ท่านชอบจาริกไปสอนธรรมยังสถานที่ต่างๆ ถือการบิณฑบาตเลี้ยงชีพอย่างเคร่งครัด จนได้รับสมญานามว่า “ปิณฑปาติกะ” (ผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร)

บังเอิญว่าท่านบวชเณรในยุคที่การพระพุทธศาสนากำลังสับสนอลหม่าน เพราะพระสงฆ์องค์เจ้าถูกเบียดเบียนรังแกจากพระราชามหากษัตริย์ผู้มีบาปหยาบช้า จึงพากันหลบลี้หนีภัยไปหมด สามเณรสรณังกรจึงเป็นสามเณร “เฒ่า” อยู่รูปเดียว ไม่ได้รับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเสียที จนอายุถึง ๕๔ ปี จึงได้บวชเป็นพระโดยพระอุบาลีมหาเถระจากสยามประเทศดังกล่าวมาแล้ว

เพราะสามเณรหนุ่มรูปเดียวแท้ๆ พระพุทธศาสนาจึงมิได้เสื่อมสูญไปจากประเทศศรีลังกา



ที่มา : สามเณรสรณังกร โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก หนังสือมติชนรายสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๘๖๔ ประจำวันที่ ๖-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙