[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ => กระบวนการ NEW AGE => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 29 มิถุนายน 2559 21:17:14



หัวข้อ: ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมามีจริงได้อย่างไร (๑) รากเหง้าของความรุนแรง
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 29 มิถุนายน 2559 21:17:14
(http://www.visalo.org/images4article/komchadluek581225.jpg)

ศีลธรรมและสันติภาพจะกลับมามีจริงได้อย่างไร

(๑) รากเหง้าของความรุนแรง


พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

ระยะหลังอาตมาได้ยินหลายคนบ่นว่า นับวันจะอยู่ยากยิ่งขึ้น เพราะไหนจะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ฤดูกาลแปรปรวน อากาศวิปริต มลภาวะที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจที่ผันผวน รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ต้องแข่งขันกัน ผู้คนดิ้นรนเอารัดเอาเปรียบกันมากขึ้น เห็นแก่ตัวมากขึ้น  มิหนำซ้ำ ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับความรุนแรง ทั้งในบ้านเราเอง และล่าสุดก็มีเหตุสะเทือนขวัญ มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในสถานที่ๆ เราคิดว่าน่าจะปลอดภัย เช่นที่กรุงปารีส   

ปัญหาเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของวิกฤติระดับโลก  ซึ่งไม่ใช่แค่วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่วิกฤติด้านการเมือง วิกฤติด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นวิกฤติด้านจิตวิญญาณเลยทีเดียว ซึ่งเกิดจากทัศนคติ มุมมอง และพฤติกรรมของมนุษย์ จะถือว่านี้เป็นปัญหาทาง ‘ศีลธรรม’ก็ไม่ผิด

ความไม่มีศีลธรรม สะท้อนออกมาเป็นปัญหาหลายประการ แยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ๑. การเอารัดเอาเปรียบ การขูดรีด การคดโกง  การคอร์รัปชั่น ๒. การก่อความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายจนบาดเจ็บ พิกลพิการ หรือเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน  เช่น การก่ออาชญากรรม  ไปจนถึงการก่อการร้าย และการทำสงคราม นี่เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงปัญหาด้านศีลธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่สร้างความตื่นตระหนกให้ผู้คนในระยะหลัง คือความรุนแรง ที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์จนเลือดตกยางออก และสูญเสียชีวิต

หลายคนรู้สึกว่า ความรุนแรงเหล่านี้เกิดถี่ขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศของเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก

ย้อนหลังไปประมาณเกือบสามสิบปีที่แล้ว คือพ.ศ. ๒๕๓๒ (ค.ศ.๑๙๘๙) ในเดือนพฤศจิกายน มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้น นั่นคือ การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เกือบทั้งโลก ที่เหลือก็เป็นคอมมิวนิสต์แต่ในนาม เช่น ประเทศจีน เวียดนาม  เกาหลีเหนือ

ตอนนั้นผู้คนมีความหวังว่า โลกจะกลับคืนสู่ความสงบสุขเสียที เพราะว่าตราบใดที่ยังเกิดสงครามเย็น ระหว่างค่ายเสรีนิยมกับค่ายคอมมิวนิสต์ ก็จะเกิดสงครามทุกมุมโลก  ที่บ้านเราก็มีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของขบวนการคอมมิวนิสต์  ซึ่งทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นพัน บาดเจ็บกันเป็นหมื่น

คนที่อายุ ๒๐ ปีตอนนี้ อาจนึกไม่ออกว่าเมื่อสามสิบปีที่แล้วโลกนี้วุ่นวายอย่างไรบ้าง มีความรุนแรงอย่างไรบ้าง เมืองไทยเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ตามรอยเวียดนาม กัมพูชา และลาว  ขณะเดียวกันผู้คนก็กลัวว่าจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอเมริกากับรัสเซีย ซึ่งต่างมีระเบิดนิวเคลียร์นับพัน ๆ ลูก พอที่จะฆ่าคนทั้งโลกได้หลายครั้งอย่างสบาย   แต่เมื่อค่ายคอมมิวนิสต์ล่มสลาย รัสเซียหันมาปกครองแบบประชาธิปไตย ก็มีความหวังว่า โลกจะกลับคืนสู่ความสงบสุขเสียที มีนักวิชาการชาวอเมริกันคนหนึ่ง ถึงกับเขียนหนังสือชื่อว่า ‘จุดจบของประวัติศาสตร์‘ (The End of History ) ซึ่งชี้ว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์เป็นอันยุติแล้ว และชัยชนะเป็นของประชาธิปไตย หรืออุดมการณ์เสรีนิยม

แต่หลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปไม่นาน ถึงแม้ไม่มีการต่อสู้กันระหว่างคอมมิวนิสต์ กับประชาธิปไตยอีก แต่โลกก็ยังไม่มีความสงบ ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นตลอดมา แต่คราวนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมือง  กลับเป็นความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ โดยมีชาตินิยมกับศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่นในคาบสมุทรบอลข่าน เกิดสงครามในประเทศที่เคยยูโกสลาเวีย ระหว่างโครเอเชีย บอสเนีย เซอร์เบีย โคโซโว เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งความขัดแย้งอีกหลายแห่ง ทำให้คนเริ่มไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่า สันติภาพจะกลับมาได้จริงหรือ  ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔  แล้วก็เกิดสงครามที่อัฟกานิสถาน ลุกลามไปถึงตะวันออกกลาง เช่น อิรัก  ซีเรีย เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายหลายจุด และขยายมาถึงภาคใต้ของประเทศไทยด้วย

ตอนนี้ไม่มีใครคิดแล้วว่า สันติภาพจะกลับมาโดยเร็ว แต่กลับวิตกว่าจะเกิดสงครามโลกอีกครั้งหรือเปล่า

ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงปัญหาเชิงศีลธรรมด้วย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ทำให้หลายคนปริวิตก เพราะส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งต่อสายสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติซึ่งมีความแตกต่างด้านภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์

ถามว่า เราจะมองปัญหาเหล่านี้อย่างไร ถ้าเราต้องการให้ศีลธรรมกลับมา จะทำได้อย่างไร มีทางหรือไม่ที่จะทำให้สันติภาพ หรือ สันติสุข กลับคืนมาสู่โลก สู่ประเทศ สู่วิถีชีวิตของเรา

ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่กล่าวมา  เรียกรวมๆ ว่าความรุนแรง ล้วนมีที่มาจากความโกรธและ ความเกลียด ไม่ว่าจะมีสาเหตุจากอะไรก็ตาม  หากปราศจากซึ่งความโกรธ ความเกลียดแล้ว การจับอาวุธฆ่าฟันทำลายล้างกัน ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย อาจจะตายเพราะอุบัติเหตุ ตายเพราะความประมาท แต่ว่าไม่ใช่เพราะความโกรธ ความเกลียด     

ความโกรธ ความเกลียด ซึ่งเป็นที่มาของความรุนแรง เกิดจากอะไร ถ้ามองในมุมของพระพุทธศาสนา ความโกรธ ความเกลียด มีที่มาจากรากเหง้าสามอย่าง คือ ตัณหา มานะ และทิฐิ หรือจะแยกเป็น โลภะ โทสะ และโมหะก็ได้

‘ตัณหา’ คือความอยากเสพ อยากมี อยากได้ ซึ่งก็คือ ความโลภนั่นเอง เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว และไม่ได้อย่างที่อยาก ก็เกิดความไม่พอใจ และความไม่พอใจนั้นก็นำไปสู่ความโกรธและความเกลียดได้ ตัณหานำไปสู่การแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบ คดโกง กลั่นแกล้ง อิจฉาริษยา ในที่สุดก็มาลงเอยที่ความโกรธ ความเกลียด

‘มานะ’ ในที่นี้ไม่ใช่ความขยัน คนไทยมักจะแปลว่าความขยัน โดยเอามาใช้คู่กับคำว่าพยายามเป็น มานะพยายาม ที่จริงมานะเป็นกิเลส หลายคนไม่รู้ความหมายจึงตั้งชื่อลูกว่า มานะ เพราะคิดว่า เป็นคำดีหมายถึงบากบั่นพยายาม จริงๆ แล้วมานะคือความถือตัว แต่ก็สามารถจะทำให้เกิดความพยายามได้ เช่น พ่ออาจบอกลูกว่า เราก็คนเหมือนกัน  ทำไมจะสู้เขาไม่ได้ เราเป็นลูกผู้ชาย จะยอมแพ้ผู้หญิงหรือ  นี่คือการกระตุ้นมานะของลูกเพื่อให้เกิดความเพียรพยายาม  มานะนั้นมีประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วมานะคือกิเลส เรียกง่าย ๆว่า อัตตาหรืออีโก้ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความโกรธ ความเกลียดได้

เวลาเราถูกด่า ถูกต่อว่า เราโกรธ นั่นแสดงว่า มานะในใจเราถูกกระแทก เราจึงโกรธ เมื่อใดที่รู้สึกเสียหน้า นั่นแสดงว่ามานะหรืออัตตาถูกกระทบ มานะเป็นกิเลสที่ละยาก จำเพาะพระอรหันต์เท่านั้นจึงละได้อย่างเด็ดขาด พระอนาคามีก็ยังละได้ไม่หมด เรียกว่าเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่งที่สำคัญ แต่ว่าสามารถทำให้เบาบางได้ ถ้าเราไม่ตระหนักถึงโทษของมานะในใจตน พอเห็นใครคนเก่งกว่า เราก็จะไม่ชอบเขา เกลียดเขา  แค่เขาขยันกว่าเรา หรือเขาดีกว่าเรา บางทีเราก็ไม่ชอบขี้หน้าเขาแล้ว เพราะเขาทำให้เรารู้สึกว่าด้อยกว่า

ธรรมชาติของมานะ มันต้องการจะบอกว่า กูเก่ง กูดี กูแน่ และต้องเก่ง ต้องดี ต้องแน่กว่าคนอื่นด้วย ถ้ามีใครเก่งกว่า ดีกว่า แล้วเราไม่ระวังใจให้ดี มันจะเกิดมานะ เกิดความไม่พอใจ เกิดความอิจฉา หรือเวลาถูกดูถูก แล้วเราโกรธ นั่นก็เป็นเพราะมานะ

มานะทำให้เกิดความโกรธ ไม่เพียงแต่การถูกด่าทอ หรือถูกดูถูก บางทีความรู้สึกว่า เราเหนือกว่าคนอื่น เราเลิศกว่าคนอื่น ก็ทำให้เราเหยียดหยาม และโกรธ เกลียด คนที่ต่ำกว่าเราได้ด้วย

(โปรดติดตามตอนต่อไปวันพระหน้า )

จาก http://www.visalo.org/article/KomChadLuek581225.html (http://www.visalo.org/article/KomChadLuek581225.html)