[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 08 กรกฎาคม 2559 03:05:29



หัวข้อ: Tara พระแม่ตารา พระนางตารา เป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 08 กรกฎาคม 2559 03:05:29
(http://www.dhresource.com/0x0s/f2-albu-g1-M01-40-34-rBVaGVUUOeOAPJLLAAHzUpbZ3QY209.jpg/tibetan-buddhism-tibetan-buddha-tibetan-thangka.jpg)
ตาราเขียว (ขทิรวนีตารา)

https://www.youtube.com/v/lqcWl6VAB_M

พระนางตาราเป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต คำว่าตารามาจากภาษาสันสกฤตหมายถึงข้าม การบูชาพระนางเริ่มเมื่อพุทธศตวรรษที่ 8 - 11 ในอินเดียเหนือและแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 17 โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ปัจจุบันมีนับถือในทิเบต ส่วนชาวพุทธในจีนจะนับถือเจ้าแม่กวนอิมที่เป็นภาคหญิงของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์แทน

          คาดว่าแนวคิดการนับถือพระนางตาราเริ่มเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 และกลายเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีผู้นับถือแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ 13-17 มีผู้นับถือมากในทิเบต เนปาล และมองโกเลีย เชื่อกันว่าแนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีพระนางตาราได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งจินตนาการมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี มารดาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (อ้างอิงจาก wikipedia.org)

มหาโพธิสัตว์อารยาตารา ภาษาทิเบต: เจซูน เตรอมา ภาษาสันสกฤตคือ ตารา (มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า ดารา) ถึง "ผู้นำทางไปสู่การหลุดพ้น" เป็นพระโพธิสัตว์แห่งความเมตตากรุณา ทรงกำเนิดจากน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวร เมื่อครั้งที่ทรงพระกรรแสงเนื่องจากทรงไม่สามารถช่วยเหลือสัตว์ทั้งโลกทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ได้ พระโพธิสัตว์ตาราทรงเป็นที่รักและกราบบูชาของชาวพุทธในทิเบต หิมาลัยและมองโกเลีย พวกเขามักสวดคาถาหัวใจ "โอม ตาเร ตุตาเร ตุเร โซฮา" และสวดบทสรรเสริญตารา ๒๑ องค์

แม้เราจะเรียก พระแม่ตารา ว่าเป็น พระโพธิสัตว์ แต่เพราะทรงหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายและเข้าถึงการรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ เราจึงสามารถเรียกพระองค์อีกอย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้า แต่สาเหตุที่พระองค์ยังได้รับการขนานนามว่า "พระโพธิสัตว์" ก็เพราะทรงตั้งมหาปณิธานที่จะไม่จากสังสารวัฏไปเพื่อการนิพพานจนกว่าสัตว์โลกไม่เว้นแม้แต่หนึ่งเดียวจะหลุดพ้นจากความทุกข์และเข้าถึงการตรัสรู้

ในหมู่ชาวทิเบตและผู้ปฏิบัติในวิถีแห่งพุทธวัชรยาน ไม่มีใครไม่รู้จักพระแม่ตารา รูปบูชาของพระองค์ในปางต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในวัดเกือบทุกวัด และตามบ้านเรือนของพุทธศาสนิกชน พระโพธิสัตว์ตาราทรงมี ๒๑ ปาง แต่ปางที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ตาราเขียว (ขทิรวนีตารา) และตาราขาว (จินดามณีจักรตารา)  ตาราเขียวเป็นปางคุ้มครองนักเดินทางจากภัยอันตราย ทรงประทานพรให้พ้นจากความทุกข์ ความกลัว และดลบันดาลให้การงานสำเร็จโดยเร็ว
 

(https://s-media-cache-ak0.pinimg.com/736x/eb/a3/4c/eba34c668bfa3f5459df46911d448e05.jpg)
ตาราขาว (จินดามณีจักรตารา) หรือ พระแม่ตาราขาวเจ็ดเนตร , พระโพธิสัตว์ตาราขาวเจ็ดเนตร

https://www.youtube.com/v/ZfXQ8ocJLhU

ตาราขาวเป็นปางประทานอายุยืนยาวและการบำบัดรักษาโรค ผู้เจ็บป่วยจึงมักสวดบูชาพระองค์เป็นพิเศษ พระแม่ตาราขาวทรงเป็นแรงบันดาลใจในการก่อตั้งมูลนิธิพันดารา ลักษณะพระแม่ตาราขาว ทรงมีเจ็ดพระเนตร (หนึ่งเนตรที่พระนลาฏ สองเนตรปกติ สองเนตรที่ฝ่าพระหัตถ์ และสองเนตรที่ฝ่าพระบาท) อยู่ในลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายถือก้านดอกบัวที่พระอุระ พระหัตถ์ขวาวางอยู่บนพระเพลาในมุทราประทานสิทธิสมประสงค์ สีขาวหมายถึงการปลอดจากอารมณ์บ่อนทำลายและการยึดติดในความคิดปรุงแต่ง นั่นคือทรงปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง และการคิดประเมินค่าเช่น ดี ไม่ดี เป็นต้น

การปฏิบัติบูชาพระพระแม่ตารา หรือพระโพธิสัตว์ตาราก่อนที่เราจะปฏิบัติบูชาพระแม่ตารา อย่างจริงจัง ถามตัวเองก่อนว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิบัติบูชาพระองค์ เพราะเราอยากหนีความทุกข์ เพราะเราอยากได้ที่พึ่ง เพราะเราสนใจพุทธทิเบต จึงสนใจการปฏิบัตินี้ด้วย หรือเพราะเราอยากบ่มเพาะความรักความกรุณา ทัศนคติในการปฏิบัติธรรมสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการสวดมนตร์ มนตราภาวนา กราบพระ นั่งสมาธิ อ่านพระคัมภีร์ หัวใจหลักเราต้องมีโพธิจิต จิตที่ปราถนาจะบรรลุธรรม เพื่อประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลาย

การปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราก็เช่นกันต้องมีโพธิจิตเป็นรากฐาน หากปราศจากโพธิจิต การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ต่างจากการกระทำในชีวิตของเรา ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของเราเท่านั้น แล้วถามว่าทำไมการคิดถึงความสุขของเราไม่ดี ไม่ผิดที่เราจะคิดถึงตัวเรา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้อื่นก็มีความทุกข์เช่นกัน พวกเขาก็ล้วนต้องการความสุขเหมือนกันเพราะฉะนั้นเราและเขาไม่ต่างกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมเราถึงจะคิดหรือทำเพียงเพื่อตัวเราเท่านั้น

เมื่อมีทัศนคติที่ถูกต้องและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราเป็นยีตัม (พระพุทธเจ้า/พระโพธิสัตว์ที่ยึดเป็นหลักในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติธรรม) แล้วเราหาครูที่จะช่วยชี้นำหนทางในการปฏิบัติธรรม เราขอมนตราภิเษกจากครูเพื่อให้เราปฏิบัติบูชาพระแม่ตาราได้ดี เมื่อได้มนตราภิเษกก็เท่ากับว่าเราได้รับอนุญาตให้สวดบูชาพระองค์ ให้นั่งสมาธิถึงพระองค์โดยมีครูเป็นผู้นำทาง ไม่ใช่การปฏิบัติบูชาแบบสะเปะสะปะ ไม่ใช่การเดินหลงอยู่ในป่า หรือการปิดตาเดินโดยไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะไปให้ถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย บางคนปฏิบัติเอง ลองผิดลองถูกซึ่งเป็นการเสียเวลามากๆ พยายามเก็บเวลาอันมีค่าของเราเพื่อการปฏิบัติที่มีพื้นฐานที่ถูกต้องอันนำไปสู่การตรัสรู้ธรรม (อ้างอิงจาก มูลนิธิพันดารา The Thousand Stars Foundation) ----- > facebook.

จาก http://amelie-jaaoo.blogspot.com/2012/06/green-tara.html (http://amelie-jaaoo.blogspot.com/2012/06/green-tara.html)


หัวข้อ: Re: Tara พระแม่ตารา พระนางตารา เป็นพระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 08 กรกฎาคม 2559 03:40:55
(https://ollinstarwalker.files.wordpress.com/2013/11/zeng-hao-green-tara-e7bbbfe5baa6e6af8d-paintings-oil-zoom-2.jpg)


พระแม่ทาราเขียว เทวีผู้ปกป้องคุ้มครอง

by :

“พระนางทาราเขียว ผู้เป็นพระแม่แห่งจักรวาลจะคอยปกป้องคุ้มครองสรรพชีวิตไว้ในอ้อมกอดอันเปี่ยมไปด้วยความรักของพระนาง ดั่งมารดาปกป้องบุตร พระแม่กรีนทาราคือหลักประกันทางจิตวิญญาณของเราในการต่อต้านภยันตรายทั้งมวลและเจตนาร้ายต่างๆ “


ร่วมตามรอย “หนทางแห่งพระแม่ทาราเขียว” ผู้เป็นที่สักการะบูชาอย่างยิ่งในพุทธศาสนานิกายมหายานของทิเบต และติดตามรายละเอียดเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่คุณไอรีน ออง ในนามของ WORLD OF FENG SHUI ประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มที่จะอัญเชิญองค์พระแม่ในรูปแบบของพระพิมพ์บูชามามอบให้แก่ผู้มีจิตเลื่อมใสศรัทธาได้นำไปสักการะบูชาเพื่อเป็นการต้อนรับปีชวดธาตุดินที่จะมาถึงนี้ ในงานบรรยายอัพเดทฮวงจุ้ยประจำปี Bangkok Feng Shui Spectacular 2008...

(http://i1.sndcdn.com/artworks-000034674394-deqfr9-t300x300.jpg)

พระศรีทาราเทวีคือผู้ใด?

พระนางทารา หรือ “อารยะ ทารา” คือพระโพธิสัตว์ฝ่ายหญิงในศาสนาพุทธตันตรยานหรือวัชรยาน (พุทธศาสนานิกายมหายานของทิเบต พระนางคือ “พระแม่แห่งการหลุดพ้น” ผู้เป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์และการกระทำที่นำไปสู่ความรู้แจ้ง คำว่า “ทารา” หรือบ้างก็เรียกว่า “ตารา” นั้นมีที่มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตของคำว่า “ตริ” ที่แปลว่า “ข้าม” ดังนั้นจึงสื่อความหมายถึง ผู้ที่พาสรรพสัตว์ข้ามพ้นมหานทีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดและความทุกขเวทนา กล่าวกันว่าความเมตตาต่อสรรพสัตว์ของพระนางทารา ซึ่งก็คือความปรารถนาที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์นั้นแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่เหนือกว่าความรักของแม่ที่มีต่อลูกเสียอีก

สันนิษฐานว่าแนวคิดเรื่องการนับถือพระนางทารานั้นเริ่มเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 – 11 โดยเชื่อว่าเริ่มมีขึ้นในประเทศอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตี และต่อมาก็ได้เป็นที่ยกย่องในฐานะพระโพธิสัตว์ผู้เป็นที่นับถือแพร่หลายทางแถบประเทศทิเบต เนปาล และมองโกเลียในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 17

(http://meditationincheshire.org/wp-content/uploads/2015/02/green-tara-carousel-750x499.jpg)


ผู้มีกำเนิดจากน้ำตาของพระโพธิสัตว์

ต้นกำเนิดของพระนางทารานั้นมีที่มาจากหลายตำนานทั้งในอินเดียและทิเบต แต่ตำนานหนึ่งที่เป็นที่เล่าขานถึงมากที่สุดก็คือเรื่องที่ว่า พระนางอุบัติขึ้นจากน้ำพระเนตรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่หลั่งลงมาด้วยความเวทนาในความทุกข์ยากของสรรพชีวิต เมื่อทรงทอดพระเนตรลงมาจากสวรรค์สู่โลกมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก และหยดน้ำพระเนตรที่หลั่งลงมาก็บังเกิดเป็นพระนางทาราสองพระองค์ ซึ่งก็คือพระนางทาราขาวผู้เปี่ยมไปด้วยสันติสุขจากพระเนตรซ้าย และพระนางทาราเขียวผู้คร่ำเคร่งจากพระเนตรขวา มักกล่าวกันว่าพระนางทารานั้นก็คือพระชายาของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ด้วยเหตุนี้พระนางทาราเขียว และพระนางทาราขาวจึงเป็นที่เคารพนับถือที่สุด ในฐานะพระโพธิสัตว์ผู้ขจัดความทุกข์ยาว

(http://66.media.tumblr.com/e11dadadb3efdee9a1d3ce607fc7f91d/tumblr_mley84joJm1rhb9f5o1_400.jpg)

พระนางทาราเขียว – อุดมคติแห่งความเป็นอิสตรีในพุทธศิลป์

พระนางทาราเขียว หรือ “กรีนทารา” คือภาคของพระนางทาราที่ทรงอิทธิฤทธิ์ที่สุด สีของพระนางเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลังและความมีชีวิตชีวาในวัยแรกรุ่น ซึ่งความหมายว่าพระนางคือพระแม่แห่งการกระทำนั่นเอง

พระนางมักจะอยู่ในปางประทับนั่งโดยเหยียดพระบาทข้างขวาออกมาข้างหน้า ซึ่งสื่อความหมายว่าพระนางพร้อมที่จะลุกออกไปปฏิบัติภารกิจนั่นเอง ส่วนพระบาทซ้ายพับไว้ในปางสมาธิบนปัทมอาสน์ (ฐานดอกบัว) ดังนั้นลักษณะของพระบาททั้งสองจึงเป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานระหว่างศิลป์และปัญญา
พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในปางโปรดสัตว์ โดยถือก้านดอกปทุมสีขาบ (สีน้ำเงินเข้ม) โดยที่ช่อดอกลอยอยู่เหนือพระอังสาข้างซ้ายเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์และอำนาจ ส่วนพระหัตถ์ขวาอยู่ในปางประทานพร

ในทางทัศนศิลป์ พระนางจะถูกแสดงอยู่ในรูปลักษณ์ที่มีความงดงามเลิศล้ำเหมือนกับมนุษย์หมดทุกอย่าง ยกเว้นแต่เพียงสีผิวและรัศมีอันงดงามของเครื่องทรงของพระนาง พระวรกายที่สะโอดสะองและยาวสมสัดส่วนของพระนางนั้นมีสีเขียวมะกอกออกคล้ำ ซึ่งสะท้อนตัดกับเบาะลายริ้วหลังอาสนะของพระนาง เทคนิคการวาดภาพนั้นมีความประณีตบรรจง สีที่ใช้ทั้งเนียนเรียบและเบาบาง และใช้วิธีการอันแยบยลอย่างยิ่งในการลงเส้นโครงร่างจนไม่ดูเป็นการเน้นย้ำ ลักษณะที่ดูลึกลับและน่าพิศวงของพระนางทาราเขียวถูกแสดงไว้ในสื่อจิตรกรรมด้วยการผสมผสานอันชาญฉลาดของภาพประติมานวิทยาต้นแบบเข้ากับการไล่เฉดสีอย่างน่ามหัศจรรย์

พระนางกรีนทาราทรงเครื่องประดับมากมายซึ่งแสดงถึงความเป็นกายทิพย์ที่เรียกว่าสัมโภคกาย (กายแห่งความรื่นเริง) อัญมณีสีทอง แดง และเขียวถูกนำมาประดับพระวรกายของพระนาง อันประกอบด้วยสร้อยพระกร สร้อยพระศอร้อยอัญมณีต่างๆ หลายเส้น สร้อยอัญมณียาวหลายเส้นที่ประดับพันรอบพระกายและที่พระพาหา (แขน) ข้างขวา ลักษณะดังกล่าวทั้งหมดนี้คือขนบในการสร้างรูปพระนางทาราที่ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

(http://www.buddhaweekly.com/wp-content/uploads/2014/04/Buddha-Weekly-green-Tara-Savior-medBuddhism.jpg)

พระนางทาราเขียวผู้ปัดเป่าอุปสรรคและความทุกข์
“โอม ทาเร ทุทาเร ทุเร โสหะ”
(มนตราบูชาพระแม่ทาราอย่างย่อ)

ผู้เลื่อมใสในพระนางทาราเขียวเชื่อว่าอำนาจวิเศษของพระนางจะช่วยเอาชนะภยันตราย ความหวาดกลัว และความวิตกกลัดกลุ้ม และพระนางจะประทานพรต่างๆ ให้สมปรารถนา และยังเชื่อกันว่าพระนางจะช่วยให้ผู้ที่บูชาพระนางข้ามพ้นห้วงทุกข์และอุปสรรคต่างๆ ไปสู่ความปลอดภัย และความสุขได้ ความเป็นอิสตรีในตัวพระนางทำให้พระนางเปี่ยมไปด้วยความอ่อนโยนและเมตตากรุณา พระนางคือตัวแทนแห่งความเมตตาอันทรงพลัง และอิทธิฤทธิ์ในการฟันฝ่าสถานะการณ์ที่ยากลำบากต่างๆ ของพระนางก็เป็นที่เคารพบูชาเป็นพิเศษ ดังที่องค์ดาไล ลามะ พระองค์แรกได้ทรงกล่าวถึงว่า เพียงแค่ได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือ พระนางก็จะรีบรุดไปช่วยเหลือผู้ที่เชื่อศรัทธาในพระนางให้พ้นจากการถูกโจมตีจากหายนะ 8 ประการ (อัษฏมหาภัย) ในทันที อันได้แก่ ความทิฐิลำพอง ความเขลา ความอาฆาตพยาบาท ความอิจฉาริษยา ความเห็นผิด ความโลภ ความยึดติด และความเคลือบแคลงสงสัย
ติดตามรายละเอียดได้ที่ นิตยสาร Feng Shui World (โลกฮวงจุ้ย)ฉบับที่ 17

จาก http://www.wofs.co.th/article_view.asp?arid=530 (http://www.wofs.co.th/article_view.asp?arid=530)