[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 สิงหาคม 2559 19:47:14



หัวข้อ: วิปัสสนาบนหน้าข่าว : จากสมมติ สู่วิมุติเข้าพรรษากับอุบาสิกาใจพระ(ธุดงค์)
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 สิงหาคม 2559 19:47:14
(http://media.komchadluek.net/img/size1/2016/07/26/c6k6ked6ad5686fak7f571.jpg)

(http://media.komchadluek.net/img/size1/2016/07/26/c6k6ked6ad5686fak7f57.jpg)

จากสมมติ สู่วิมุติเข้าพรรษากับอุบาสิกาใจพระ(ธุดงค์) : วิปัสสนาบนหน้าข่าว

โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่อง ทีมงานองค์กรมัคค์ ภาพ

           เข้าพรรษาปีนี้ ที่สวนยินดีทะเล อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งก่อตั้งโดยคุณแม่ยินดี พันธุนะ ( สุขสด) ได้จัดบวชอุบาสิกาใจพระเป็นปีที่ ๓ แล้ว โดยมี

           พระครูวินัยธรทรงศักดิ์ วิโนทโก (หลวงพ่อเอี้ยน) สำนักวิปัสสนาวังสันติบรรพต (วังเนียง) อ.เมือง จ.พัทลุง และอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม วิปัสสนาจารย์ เป็นผู้สอนตลอด ๓ เดือนนี้

           นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับลูกผู้หญิงที่มีพระนิพพานเป็นธงชัย และมีเป้าหมายที่จะพ้นทุกข์ในชาตินี้ ในวิถีนักบวชนั้นเป็นไปได้แล้ว แม้ว่า ประเทศไทย โดยมหาเถรสมาคมจะมีมติว่า ไม่มีภิกษุณีในประเทศไทยก็ตามที แต่นั่นก็เป็นเพียงการห้ามในนามของสมมติชื่อเรียก ส่วนในทางธรรม ลูกผู้หญิงที่เห็นทุกข์ และต้องการออกจากทุกข์ บนหนทางนักบวช ยังคงมีมาตลอดไม่ขาดสาย นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้กับพระน้านางของพระองค์เอง คือ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี หรือพระนามเดิม พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา และทรงเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์ ทรงปฏิบัติอย่างจริงจัง จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด ซึ่งพระพุทธจ้าทรงยกย่องท่านว่าเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (ผู้มีราตรีนาน คือ บวชก่อนผู้อื่น)

           นับจากนั้น ภิกษุณี หรือนักบวชหญิง ก็มีมาตลอดไม่เคยขาดหายไปจากบวรพระพุทธศาสนา จวบจนถึงปัจจุบันผ่านไป ๑,๖๐๔ ปี แต่อาจจะมีชื่อเรียกต่างกันไปในนามของแม่ชีบ้าง ศีลธารา บ้าง สิกขามนา บ้าง ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นในนามของสมมุติเท่านั้นเอง

           แล้ว “อุบาสิกาใจพระ” ล่ะเป็นอย่างไร

           อาจารย์ประเสริฐอธิบายว่า จากการที่เปิดคอร์สปฏิบัติธรรมที่สวนยินดีธรรม และสวนยินดีทะเล มาประมาณ ๑๐ ปี เห็นว่าผู้หญิงเข้าปฏิบัติธรรมประมาณ ๙๐%

           หรือมากกว่านั้น

           “ผมเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมไปสักพักจะมีความรู้สึกลึกๆ อย่างหนึ่งคือ ต้องการแสวงหาความพ้นทุกข์ ซึ่งเราอาจมองผู้ปฏิบัติธรรมว่าเขาอยากได้บุญ แต่จริงๆ แล้ว เขามาเพราะเห็นว่าสิ่งนี้ดี เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้มีความสุข สงบใจ เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น และเมื่อมาปฏิบัติในชั้นลึกๆ แล้วจะรู้สึกว่าปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ามีจริง ไม่ใช่ว่าทุกข์หนึ่งดับไป แล้วทุกข์ใหม่ก็เข้ามา แต่สามารถพ้นทุกข์ได้จริง

           “ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผมคิดว่าเราควรจะมีโครงการอะไรสักอย่างที่จะรองรับผู้หญิงกลุ่มที่มีความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ ในเมื่อผู้ชายสามารถเป็นพระได้ ผู้หญิงก็สามารถเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เดินตามรอยครูบาอาจารย์ไปบนอริยมรรคมีองค์ ๘ เช่นนั้นได้เหมือนกัน”

           โครงการอุบาสิกาใจพระจึงเกิดขึ้น

           อาจารย์ประเสริฐ กล่าวต่อมาว่า เริ่มต้นจากรุ่นที่ ๑ สามเดือน เมื่อปี ๒๕๕๗ มีผู้เข้ามาบวช ๑๗ คน เป็นผู้ที่มาช่วยงานอย่างใกล้ชิดส่วนใหญ่

           "พอมารุ่นที่ ๒ ปี ๒๕๕๘ เราลังเลว่าจะจัดเป็นปีสุดท้าย พอลังเลเลยเปิดรับไม่อั้น ผู้หญิงที่ทราบข่าวพอรู้ว่าจะเป็นปีสุดท้ายก็สมัครเข้ามากันใหญ่ ก็มีผู้เข้ามาบวชเกือบ ๕๐ คน พอปีนี้ ๒๕๕๙ เราเห็นประโยชน์ที่ลูกผู้หญิงได้รับ ผมเลยตัดสินใจว่าเราคงจะทำโครงการนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงเมื่อไรไม่รู้ ก็เลยจำกัดไว้แค่ปีละ ๒๐ คนก็พอ มีคนสมัครมากันเยอะครับ แต่เราขอให้เป็นรุ่นที่ ๔ ต่อไปแล้วกัน เพื่อเกื้อกูลในส่วนการภาวนาให้ได้คุณภาพกว่าปริมาณ แล้วคนที่สมัครมาเป็นคนที่ ๒๑ ในปีนี้ก็จะเป็นคนที่ ๑ ของปีหน้า ถ้าวันนั้นยังคิดจะบวชอยู่

           "บางคนอาจมองว่า ก็แค่ได้ไปบวชสามเดือน แล้วถ้าทางพ้นทุกข์ต้องการมากกว่านั้นล่ะ จะทำอย่างไร ก็ต้องไปว่ากันต่อ แต่นี่คือบันไดขั้นแรกและมีหนทางชัดเจนเพื่อเพียรออกจากทุกข์แล้ว  เพราะให้อุบาสิกาเข้ามาสัมผัสความเป็นพระ  ถือศีล ๑๐ แล้วก็รับศีลจากหลวงพ่อเอี้ยน ซึ่งหลวงพ่อเอี้ยนก็คือ ศิษย์ท่านอาจารย์พุทธทาส

           “พอรับศีลสิบก็กึ่งๆ จะเป็นสามเณรแล้ว เราอาศัยตรงจุดนี้ทำให้การปฏิบัติของผู้หญิงเป็นไปได้ คือ ฉันมื้อเดียว ตื่นตีสาม แล้วก็ปฏิบัติภาวนาอย่างเข้มข้น เหมือนกับพระที่ท่านมุ่งมั่นปรารถนาจริงๆ โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งเป็นรุ่นที่สาม ผมได้สร้าง "ธุดงคสถานมัคคานุคาวิเวก" อยู่บนยอดเขาของเกาะพะลวย หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ก็ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ที่นั่นยังเป็นลักษณะของป่าดิบอยู่ อุบาสิกากลุ่มนี้ จะไปใช้ชีวิตแบบพระธุดงค์ อยู่ในป่า ไม่มีไฟฟ้าที่นั่น ซึ่งปีนี้ก็จะปฏิบัติเข้มกว่าเดิมโดยมีหลักการปฏิบัติก็คือ อุบาสิกาใจพระ(ธุดงค์)”

           สำหรับผู้ที่ผ่านมาผู้ที่่ได้ผ่านสองโครงการไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างไรบ้าง อาจารย์ประเสริฐเล่าว่า พวกเธอสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ แล้วนำกลับไปใช้กับชีวิตได้ดี

           “บางคนก็มุ่งมั่นที่จะเข้ามาทางนี้ ตามเหตุ ตามปัจจัยที่เขาทำได้ บางคนมีครอบครัวแล้ว บางคนมีหน้าที่การงาน เขาก็จำเป็นต้องกลับไปทำ แต่เขาไม่เคยที่จะทิ้งทางนี้ ว่างเมื่อไรก็จะเข้ามาช่วยงานศาสนา เข้ามาปฏิบัติภาวนา แล้วนำพาครอบครัวเข้าสู่เส้นทางธรรมกันได้เกือบทั้งหมด เราก็เลยยังจะจัดไปเรื่อยๆ เท่าที่ยังมีคนสมัครมากันอยู่ ”

           อยู่อย่างไม่ประมาท๕๔ปี ของอาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม

           หลังจากเรียนจบปริญญาโทจากเมืองนอก อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม กลับมาทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรม แล้วก็ทำธุรกิจส่วนตัวมาเรื่อยๆ จนประสบความสำเร็จ และก็มาสู่การเป็นหนี้สินในยุคไอเอ็มเอฟ   จากนั้นเคยเฉียดตายระหว่างการทำฟาร์มกุ้ง จนได้กำลังใจจากหนังสือ “พระมหาชนก” ยอมว่ายแม้ไม่เห็นฝั่ง  กระทั่งมาคลิกชีวิตอีกครั้งจากการบวชเป็นศิษย์พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ จนพบความเป็นจริงของชีวิตในที่สุด   

           หลังจากลาสิกขา ก็มาช่วยคุณแม่ยินดี พันธุนะ (สุขสด) สร้างสวนยินดีธรรม และสวนยินดีทะเล ในเวลาต่อมา

           ปัจจุบันเป็นวิปัสสนาจารย์ ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้คนบนกองทุกข์ให้เห็นทางออกจากทุกข์ มากว่า ๑๐ ปีแล้ว

           อาจารย์ประเสริฐให้ข้อคิดสำหรับเพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายในช่วงเข้าพรรษาผ่านมาทางคมชัดลึก ไว้เป็นสติเตือนใจว่า ... 

           "พระพุทธองค์ตรัสว่า เรามีความตายเป็นที่สุดรอบ ไม่ว่าเราจะทำอะไรมามากมายแค่ไหน สุดท้ายเอาอะไรไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เราควรอาศัยสามเดือนในการเข้าพรรษาในการทำความเข้าใจกับชีวิตให้ถึงที่สุด สำหรับคนติดเหล้าก็อาจไปเลิกเหล้า ติดบุหรี่ก็เลิกบุหรี่ ติดอะไรก็อาศัยการรักตัวเองเพื่อเผากิเลสบ้าง อย่าปล่อยให้ชีวิตไหลไปเหมือนใบไม้ในน้ำตกที่ไหลไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ตกลงไปในน้ำตกเหวนรกทุกคน ไม่มีใครรอดพ้น เพราะฉะนั้นให้ทุกคนอาศัยการเข้าพรรษานี้เป็นเครื่องขัดเกลาและพัฒนาจิต ทำอะไรได้ก็รีีบทำเสีย เพราะเราไม่รู้ว่าวันไหนจะเป็นวันของเรา

           "เราเห็นวันของคนอื่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทีวีกันทุกวัน เป็นวันของคนอื่นที่ไปถึงจุดสุดท้าย แต่วันสุดท้ายของเรามาถึงแน่นะ ไม่ขึ้นกับอยากหรือไม่อยากของใคร อยากไม่อยาก แค่อยู่ในใจของเราเฉยๆ แต่วันสุดท้ายมาถึงแน่ๆ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท

           “สำหรับตัวผมเอง เมื่อก่อนเปิดคอร์สปฏิบัติธรรมแทบไม่มีวันหยุดเลย วันนี้จบคอร์ส พรุ่งนี้ต่ออีกที่หนึ่ง จนผ่านมาเกือบ ๑๐ ปี ก็เริ่มลดคอร์สปฏิบัติลง แต่ไปเพิ่มปริมาณคนในแต่ละคอร์สแทน เมื่อคอร์สลดลง ผมก็มีเวลามาสอนที่สถานปฏิบัติธรรมสวนยินดีทะเลและที่เกาะพะลวย ที่เป็นธุดงคสถาน ผมคงไปอยู่ทางนั้นมากขึ้น แล้วคอร์สปฏิบัติคงจะลดลง แต่ก็ยังไม่ทิ้งทีเดียว เพื่อประโยชน์ของผู้คนก็ยังช่วยได้อยู่  แล้วก็กลับมาอยู่กับตัวเอง ภาวนาส่วนตน และพักบ้าง”

จาก http://www.komchadluek.net/news/amulets/235372 (http://www.komchadluek.net/news/amulets/235372)