[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ จิบกาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 กันยายน 2559 17:28:14



หัวข้อ: “วัดเสียวสวาท” ปมดราม่า ทำชาวต่างถิ่นกังขาไม่กล้าทำบุญ
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 กันยายน 2559 17:28:14

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/26160555415683_1.jpg)
“วัดเสียวสวาท”
ปมดราม่า ทำชาวต่างถิ่นกังขาไม่กล้าทำบุญ


ปมดราม่าชื่อ “วัดเสียวสวาท” ทำชาวต่างถิ่นกังขาไม่กล้าทำบุญ สังคมวิจารณ์หนักประเด็นศีลธรรม

เรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อใหม่!!!

ร้อนถึงเจ้าอาวาส ต้องออกมาแจงว่า ชื่อวัดแห่งนี้มีมานานกว่า ๑๐๐ ปี บรรพบุรุษคนภูไทในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นผู้ตั้งให้

“ชื่อวัดเป็นคำศัพท์โบราณภายท้องถิ่น คำว่า ‘เสียว’ มากจากต้นเสียวตามภาษาชาวบ้านท้องถิ่นเรียกกัน ซึ่งมักจะขึ้นอยู่ริมน้ำ มีรากที่แตกแขนงแผ่ไพศาล ทนต่อทุกสภาพอากาศ ทั้งร้อน แล้ง หนาว หรือแม้กระทั่งน้ำท่วมขัง ส่วนคำว่า ‘สวาท’ มาจากคำว่า สะว่ะสะเหว่ย เป็นภาษาภูไทดั้งเดิม หมายถึง ความสุข ความเจริญ” เป็นคำอธิบายของ พระวีระพงษ์ อินทโชโต เจ้าอาวาสรุ่นที่ ๗ ของวัดเสียวสวาท

ทั้งนี้ มติชนสืบค้นที่มาของต้นเสียวตามที่เจ้าอาวาสกล่าวถึงนั้น เป็นพืชที่ชาวอีสานรู้จักดี โดยมีการเรียกชื่อทั้งเสียวใหญ่ เสียวน้อย เสียวเล็ก เสียวป่า เป็นต้น


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/62927464023232_2.jpg)
ต้นเสียวใหญ่
ภาพจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี


ข้อมูลจากฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ระบุว่า เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒ เมตร เปลือกลำต้นเรียบ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนเป็นสันเหลี่ยมสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว ปลายใบมนและเป็นติ่ง โคนใบมนเบี้ยว หลังใบเรียบเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า แผ่นใบแผ่บาง ใบอ่อนสีแดง ผลแห้งแตกแบบแคปซูล ออกเป็นกระจุกหรือเดี่ยว ทรงค่อนข้างกลม พบที่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐๐-๘๐๐ เมตร ออกดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ติดผลราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม

สรรพคุณตามตำรายาพื้นบ้านอีสาน ราก ต้มน้ำดื่ม แก้มดลูกอักเสบ

ทั้งยังมีข้อมูลว่าชาวบ้านยังตัดลำต้นมาทำฟืน และเผาถ่านด้วย

นอกจากคำว่า เสียว จะเป็นชื่อต้นไม้ตามที่เจ้าอาวาสวัดเสียวสวาทระบุแล้ว เสียวสวาท ยังเป็นชื่อวรรณกรรมสำคัญเรื่องหนึ่งของชาวบ้านลุ่มฝั่งโขง ทั้งทางภาคอีสานของไทยและในฝั่งลาวอีกด้วย โดยสะกดเป็น “เสียวสะหวาด” ซึ่งในภาษาถิ่นอีสานและภาษาลาวหมายถึง “เฉลียวฉลาด”


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58902603429224_3.jpg)
นิทานเสียวสะหวาด ของลาว
ภาพจากเวปไซต์นิตยสารทางอีศาน

ข้อมูลจาก ชมรมศึกษาศิลปวัฒนธรรมอีสาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “เสียวสวาด” เป็นนิทานสุภาษิตที่คนลาวให้ความสำคัญหลายกะคือ วรรณคดีเรื่อง “ท้าวเสียวสวาด” หรือ “ศรีเสลียว เสียวสวาด” หรือแยกย่อยออกมาเป็น “ปัญหาเสียวสวาด” “ผญาเสียวสวาด” ซึ่งหากฟังชื่อเผินๆ อาจเข้าใจผิดว่าเป็นนิทานตลกโปกฮา สองแง่สองง่าม แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของท้าวเสียวสวาดซึ่งเป็นผู้มีปัญหาหลักแหลม ฉลาดในการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นที่ปรึกษาของพระราชา จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งหลาย ปัจจุบันยังมีการนำผญา หรือสุภาษิต คำพังเพย ที่ปรากฏในเรื่องเสียวสวาดใช้สืบทอดต่อมา เช่น “นกอีเอี้ยงกินหมากโพธิ์ไทร แซวแซว เสียง บ่มีโตฮ้อง แซวแซวฮ้อง โตเดียวเหมิดหมู่..”

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/78980078506800_14359203_10154548665992733_461.jpg)
คัมภีร์ใบลาน เรื่อง เสียวสวาด เขียนด้วยอักษรไทเขิน
ภาพจากสำนักหอสมุด ม.เชียงใหม่

นอกจากนี้ คัมภีร์ใบลานในภาคอีสาน ก็พบการจดจารวรรณกรรมเรื่องเสียวสวาด บรรจุอยู่ในหอไตรของวัดเป็นจำนวนมาก ส่วนทางภาคเหนือ ก็มีเรื่อง “เสียวสวาด” จารด้วยอักษรไทเขิน ด้านฝั่งลาว ก็ยังมีการตีพิมพ์วรรณกรรมเรื่อง เสียวสวาด เผยแพร่มาจนถึงปัจจุบัน

นายสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวว่า เสียวสวาดเป็นชื่อท้องถิ่นทางลุ่มน้ำโขง คนอื่นต้องทำความเข้าใจท้องถิ่น ไม่ใช่ไปบอกให้คนท้องถิ่นเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนตัวเองด้วยการศึกษาภาษาถิ่นอีสาน อย่าเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ปัญหาประวัติศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนทุกวันนี้ก็มาจากการนำภาคกลางหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นตัวตั้ง จึงเกิดทรรศนะดูถูกผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว คิดว่าตนถูกที่สุด ในอดีตมีการเปลี่ยนชื่อในท้องถิ่นโดยกระทรวงหาดไทย ไม่ใช่เฉพาะภาคอีสาน แต่ยังมีภาคใต้อีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เลอะเทอะอย่างมาก

“ชื่อบ้านนามเมืองเขาใช้คำท้องถิ่น ดังนั้น เราต้องทำความเข้าใจภาษาท้องถิ่นต่างหาก ไม่ใช่สั่งให้เขาเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ไปศึกษาให้เข้าใจ ประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อน ก็เพราะไปดูถูกท้องถิ่น มองไม่เห็นท้องถิ่น เอาแต่ภาคกลาง ยึดแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นตัวตั้ง เอาเมืองหลวงเหนือท้องถิ่น เสียวสวาทเป็นชื่อในวัฒนธรรมประเพณีลุ่มน้ำโขง อย่าเอาคำว่า สวาท ที่แปลว่า เงี่ยน ตามพจนานุกรมมาเทียบ เพราะเป็นแค่เสียงพ้อง นี่คือความอับเฉาของการศึกษาไทย ชื่อบ้านนามเมืองผิดเพี้ยนมาทั่วประเทศเพราะกระทรวงมหาดไทยไปเปลี่ยนตามใจชอบจนเละเทะ เลอะไปหมด ไม่ใช่เฉพาะอีสาน ภาคใต้ก็ด้วย นี่คือการเอาส่วนกลางเป็นหลัก ทั้งที่ความเป็นไทย คือ เจ๊ก ปนลาว ปนเขมร แต่กลับดูถูกคนอื่นหมด จึงมีทรรศนะชุ่ยๆ คิดว่าที่ตัวเองรู้ ถูกที่สุด เหมือนท่าเต้นทศกัณฐ์ มาจากท่ากบ เซิ้งบั้งไฟ แบบนี้อินเดียไม่มี” นายสุจิตต์กล่าว


ที่มา : มติชนออนไลน์ - ๒๕ ก.ย.๕๙