[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ข้อความที่เริ่มโดย: มดเอ๊ก ที่ 07 ตุลาคม 2559 14:27:27



หัวข้อ: The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 5 ทุกรกิริยากถา
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 07 ตุลาคม 2559 14:27:27
(http://www.dhammatalks.net/images/vimuttisukha/a17.jpg)

ปริเฉทที่ 5 ทุกรกิริยากถา
(พระมหาบุรุษทรงกระทำทุกรกิริยา)

โดยรอบพระนคราชคฤห์ มีป่าไม้ห้อมล้อมไปด้วยภูเขา 5 ลูก ซึ่งเป็นขอบเขตอาณาจักรของพระเจ้าพิมพิสาร ภูเขา 5 ลูกนี้คือ เขาไพภาระ เขียวชอุ่มไปด้วยป่าหวายซึ่งมีรสสุคนธ์และต้นตาล เขาพิปุลล์ ซึ่ง ณ เชิงเขานั้นมีต้นน้ำสารสูติไหลเร็วจนเป็นฟอง เขาตโปวันอันร่มรื่นและมีบึงใหญ่หลายบึง แลดูน้ำขมุกขมัว มีเงาผาสีดำ และมีลำธารไหลจากยอดเขาลงมาสู่พระธรณี ณ ทิศใต้ก็ดูตระหง่านด้วยเขาไศลาคิรี สำนักแห่งหมู่แร้ง

และทางทิศตะวันออก คือเขารัตนคีรี เขาแห่งเพชรนิลจินดา มีวิถีทางขรุขระสายหนึ่ง ดาษไปด้วยหินซึ่งสึกหรอด้วยการเดินแห่งเท้า และซึ่งผ่านไปสู่ไร่หญ้าฝรั่นและป่าไผ่เป็นหย่อม ๆ เบื้องใต้แห่งต้นมะม่วงซึ่งมีกิ่งสาขาเป็นร่มและต้นพุทรา ใกล้กับก้อนศิลาสีเทาและหินอ่อนขาวดุจน้ำนม ก้อนศิลาชันและพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ป่า เป็นทางไปประจวบกับไหล่เขาทางทิศตะวันตก ซึ่งมีถ้ำอยู่หนึ่งปกคลุมด้วยต้นมะเดื่อป่าชะโงกออกมา ที่นั่นแหละ ท่านผู้สัญจรไปมาท่านจงถอดรองเท้าของท่านออก และน้อมเศียรท่านลง เพราะในโลกนี้ไม่มีที่ไหน ๆ ซึ่งประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าที่นั่นแล้ว

ณ ที่นั้นแหละเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าของเราเคยประทับอยู่ โดยทรงทรมานตรากตรำอยู่ตลอดฤดูร้อนอันอบอ้าว และฝนห่าใหญ่ แสงอรุณและอากาศอันเยือกเย็น เพื่อช่วยมนุษย์ให้พ้นจากกองทุกข์ โดยทรงคลุมพระองค์ด้วยพระภูษาเหลือง(เป็นสีที่นักบวชภิกขาจารเลือกใช้) เสวยพระกระยาหารอย่างเลวดุจยาจก ซึ่งสุดแต่จะมีผู้ศรัทธาถวายหรือไม่ กลางคืนก็บรรทมเหนือหญ้าโดยปราศจากที่ร่ม สันโดษเดี่ยวอยู่แต่ลำพังพระองค์

ฝ่ายหมู่สุนัขจิ้งจอกซึ่งยังไม่นอน ก็เห่าหอนโดยรอบถ้ำของพระองค์ หรือมิฉะนั้นเหล่าเสือหิวก็คำรามก้องอยู่ในป่าละเมาะ ที่นั่นแหละพระองค์ผู้ซึ่งมนุษยโลกบูชาประทับอยู่ทั้งกลางคืนและกลางวัน โดยสละพระวรกายซึ่งควรรับแต่ความสันติสุข มาถือการอดพระกระยาหาร และอดบรรทมเป็นเวลายืดยาวเพื่อสงบพิจารณาด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ นานจนในระหว่างซึ่งพระองค์กำลังประทับตรึกตรองพิจารณานิ่งแน่แม้นเหมือนดัง ศิลาอยู่นั้น มีกระรอกกระโดดไปบนพระชานุของพระองค์บ้าง มีไก่นา(นกชนิดสีเหลือง มีลายคล้ายไก่นา) ที่เปรียวมาฟักฟองในระหว่างพระบาท และมีนกพิราบป่ามาคอยกินเมล็ดข้าวในบาตรซึ่งตั้งอยู่เคียงข้างพระหัตถ์ของ พระองค์บ้าง

พระองค์ทรงรำพึงพิจารณาอยู่ดังนี้ ตั้งแต่เที่ยงวัน คราเมื่อความร้อนเผาพื้นธรณีให้ระอุ และกำแพงและศาลปูชนียสถานมีประกายแวววับ ในท่ามกลางอากาศร้อน จนกระทั่งถึงดวงอาทิตย์อัสดงคตโดยไม่ทรงสังเกต แม้แต่ดวงสุริโยทัยอันอร่ามเรืองซึ่งหมุนอยู่ในเวหา หรือแม้แต่เวลาสายัณห์ซึ่งตกไปอย่างรวดเร็ว และฉายแสงสีแดงเข้มเหนือทุ่งอันราบรื่น จนแม้แต่ยามสงัดหรือเหล่าดาราทั้งหลายปรากฏขึ้นมาแม้แต่สียงกลองในเมืองอัน กึกก้อง แม้แต่เสียงร้องของนกฮูก และการต่อสู้ใด ๆ ทั้งปวงในราตรีกาลเลย เพราะพระองค์กำลังผูกพระทัยพระองค์ในการที่จะใช้วิจารณญาณอย่างเข้มงวดของ พระองค์ เพื่อจะได้ทรงประจักษ์สภาพความเป็นจริงอันอเนกประการแห่งความเป็นอยู่ทั้ง ปวง

พระองค์ได้ประทับอยู่ดังนี้จนกระทั่งถึงกาลเที่ยงคืน ซึ่งธรรมชาติทุกอย่างบนธรณีสงบตนสิ้นแล้ว เว้นแต่สัตว์กลางคืนซึ่งเลื้อยคลานและร้องในป่ารก เสมือนดังความกลัวและความแค้น และตัณหา ความตระหนี่ ความโกรธ ซึ่งคลุกคลีอยู่ในป่าทึบแห่งความไม่รู้ของหมู่มนุษย์ ครั้นแล้วพระองค์ก็บรรทมเฉพาะชั่วเวลาพระจันทร์โคจรไปเหลือ 1 ใน 10 ของระยะทางจวนจะสิ้นสุดแห่งราตรี แล้วก็ทรงตื่นแต่เช้ามืด ประทับรำพึงเพียรต่อไปเหนือพระแท่นหิน ในเวลาที่ยังขมุกขมัวอยู่พลางพิจารณาพื้นแผ่นดินซึ่งสงบเงียบ ด้วยดวงพระเนตรอันขะมักเขม้นและความคิดซึ่งผูกพันในสัตวโลกซึ่งที่มีชีวิต ทั้งปวง คราเมื่อเหนือทุ่งก็บังเกิดเสียงเคลื่อนไหว ในเวลาเช้าซึ่งปลุกให้ปวงชนทั้งหลายตื่น และทางเบื้องบูรพาทิศก็ปรากฏจุดรัศมีมหัศจรรย์แห่งวันใหม่ กล่าวคือในชั้นต้นมีแสงขมุกขมัวยิ่งประหนึ่งว่าราตรีกาลนั้นจะไม่สำเหนียก เสียงในเวลาแรกอรุณ

แต่ภายในไม่ช้า ก่อนที่ไก่ป่าขัน 2 ครั้ง กระแสแสงเงินก็แผ่กว้าง และแจ่มจำรัสขึ้นทุกทีก็ปรากฏขึ้น สูงเทียมดาวประจำเมืองซึ่งถูกกลบเกลื่อนไปในห้วงสีเงินนั้น เกิดเป็นสีทองอ่อน ๆ ถูกปกคลุมด้วยหมอกอันสูงสุด ส่องแสงสว่างสีทอง ย้อมขอบเมฆหมอกเป็นสีขมิ้น สีแดงเข้ม สีกุหลาบ และสีม่วง ครั้นแล้วฟ้าก็กลายเป็นสีเขียวสดใสและเมื่อฟ้านั้นเปล่งปลั่งไปด้วยรัศมี แห่งแสงสว่างแล้ว ราชาแห่งชีวิต(พระอาทิตย์)ก็โคจรออกมาเปล่งรัศมีเต็มที่

ครั้นแล้วพระมหาบุรุษของเรา ซึ่งทรงกระทำอย่างฤาษีก็กระทำความเคารพดวงอาทิตย์ซึ่งปรากฏออกมานั้น, และเมื่อได้ทรงชำระพระวรกายแล้ว ก็เสด็จเข้าสู่ในเมืองโดยทางที่คดเคี้ยว และโดยอาการอย่างฤาษีรูปหนึ่ง พระองค์ก็เสด็จไปตามถนนต่าง ๆ มีบาตรอยู่เหนือพระหัตถ์สำหรับรับอาหารเล็กน้อยเท่าที่จำเป็นแก่การยังชีพ

ในไม่ช้าไม่นานเท่าใด บาตรของพระองค์ก็เต็ม เพราะพลเมืองมากมายต่างร้องเชิญว่า “เชิญพระองค์มารับอาหารจากที่นี่เจ้าข้า” และ “จงมารับข้างนี้ด้วย” ต่างคนต่างสังเกตเห็นพระวรพักตร์อันมีบุญบารมี และดวงพระเนตรอันคมคายของพระองค์

ฝ่ายสตรีผู้มีอายุ เมื่อแลเห็นพระองค์เสด็จผ่านมา ก็บอกให้ลูกหลานจูบพระบาทและเอาหน้าผากแตะขอบพระภูษาพระองค์ หรือเอาหม้อวิ่งไปใส่น้ำนมกับขนมจนเต็มนำไปถวาย

เมื่อพระองค์ผ่านไปทุกครั้งด้วยพระจรรยาอันน่าเคารพและสงบเสงี่ยม กอปรด้วยพระจรรยาอันมีเมตตาคุณอย่างยอดเยี่ยม เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ซึ่งพระองค์ทรงทราบแต่เพียงว่า เป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน บางทีก็มีดวงเนตรอันดำของนางสาวอินเดียบางคนมองดูด้วยความพิศวงและโดยความ ยินดีโดยปัจจุบัน แล้วตะลึงแลดูความสง่างามของพระองค์ด้วยอาการเสมือนหนึ่งว่า หล่อนกำลังเห็นความฝันอันสำราญบังเกิดเป็นความจริง แล้วความปรีดิ์เปรมก็พลันอุบัติขึ้นในดวงกมลของนาง

แต่ฝ่ายพระองค์ก็เสด็จผ่านไปพร้อมด้วยบาตรและพระภูษาเหลืองของพระองค์ ทรงตอบแทนทานอันมีผู้เต็มใจถวายซึ่งพระองค์ทรงรับมานั้นด้วยพระพรอันอ่อน หวาน แล้วก็เสด็จกลับคืนยังภูผาศิลาอาสน์อันวิเวกเพื่อประทับกับนักบวชอื่น ๆ แล้วฟังเขาเหล่านั้น ถามเขาเหล่านั้นในปรัชญาและในวิถีทางที่จะให้บรรลุปรัชญานั้นด้วย

ที่กลางทางซึ่งสงบเสงี่ยม ด้วยความร่มรื่นของรัตนคีรี ทางเหนือของพระนคร แต่เบื้องใต้แห่งถ้ำเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่ชนซึ่งเชื่อถือว่า กายเป็นศัตรูของวิญญาณ และเนื้อเป็นเหมือนสัตว์ที่ต้องจำโซ่ตรวน และต่อสู้กับความทรมานอันร้ายกาจจนกระทั่งความรู้สึกในความเจ็บปวดสิ้นสูญไป และซึ่งกระทำความทรมานแก่เส้นประสาทของตนดุจการกระทำของเพชฌฆาต

จำพวกมนุษย์เหล่านี้ คือโยคีพรหมจารี ภิกขุ (โยคี คือผู้หนึ่งที่บำเพ็ญ โยคะ หรือนัยหนึ่งมวลบัญญัติต่าง ๆ และหลักเกณฑ์หลายซึ่งนำไปสู่ปรัชญาอันสมบูรณ์<ความรู้จริง> โดยทำลายอำนาจภายนอกซึ่งมีอยู่เหนือวิญญาณ และทำลายความรู้สึกของบุคคลโดยสภาพแห่งพรหมจารี เป็นพวกใจบุญในสกุลพราหมณ์ ภิกขุเป็นพวกที่ปฏิญาณตนงดเว้นจากกิจปฏิบัติ 3 ประการ คือความสนุกสนาน ความมั่งคั่ง และความเพลิดเพลิน ทั้งนี้เพื่อจะได้ภาวนาหาความสงบระงับโดยแท้จริงและเพื่อทำลายเสียซึ่งความ อยาก ความกลัวและความหยิ่ง) เป็นจำพวกเศร้าและซูบซึ่งอยู่สันโดษ บ้างเหยียดแขนทั้งคู่ขึ้นข้างบนทั้งกลางคืนและกลางวัน จนกระทั่งถึงรูปกายปราศจากเลือดเนื้อ ซูบซีดด้วยพยาธิ ข้อกระดูกและอวัยวะ ง่องแง่ง ทุพพลภาพเห็นเด่นชัดอยู่ที่บ่าอันเหี่ยวแห้ง เหมือนดังกิ่งไม้ซึ่งตายติดอยู่บนต้นของมัน

บ้างก็กำมือของตนไว้แน่น นานแล้วนานเล่าและด้วยอาการกิริยาอย่างทิฏฐิมานะ น่าพึงสยองจนเล็บอันแหลมคมทะลุไปตามฝ่ามือซึ่งเปื่อยเน่า บ้างก็เดินด้วยรองเท้าอันมีตะปู บ้างก็กรีดอก กรีดหน้าผาก กรีดซี่โครงกับหินคม หรือลนลวกตนเองด้วยเพลิง ทิ่มแทงตัวเองด้วยหนามป่าและปลายเหล็กแหลม ถูทากายตนด้วยโคลนและขี้เถ้า นอนบนสิ่งโสโครก และพันสะเอวตนเองด้วยเศษผ้าซึ่งเก็บมาจากซากศพ บ้างอาศัยอยู่ ณ ที่สกปรกซึ่งใช้เป็นที่เผาศพ และดำรงตนอยู่เป็นเพื่อนกับซากศพ ห้อมล้อมไปด้วยนกแร้งซึ่งร้องก้องดังอยู่เหนือกองเศษซากศพแห่งป่าช้า บ้างก็ร้องออกนามพระศิวะ วันละ 500 ครั้ง มีงูขู่ฟ่อพันที่รอบคออันผอม และที่สีข้างอันมีแต่ซี่โครงของตน นั่งขัดสมาธิ

นี่แหละคือสภาพอันน่าอนาถทั้งสิ้น เบื้องบนศีรษะก็เต็มไปด้วยรอยแผลที่พุขึ้น โดยอำนาจของความร้อนตาโบ๋เป็นหลุมลึก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อหดเหี่ยว หน้าตาเหี่ยวแห้งและซีดเหมือนคนที่ตายมา 5 วันแล้ว บางคนก็นอนหมกอยู่กับฝุ่นละอองทุก ๆ เวลาบ่าย พยายามตวงเมล็ดหญ้าพันเมล็ด และกินทีละเมล็ดด้วยความมานะและหิว ในที่สุดก็ถึงซึ่งความมรณะโดยความอด บางคนกินถั่วกับใบไม้อันขม โดยเกรงว่าปากของตนจะได้รับรสอันโอชา เคียงข้างนั้นมีนักบุญอันน่าอนาถอีกคนหนึ่งซึ่งทำลายอวัยวะของตนเองจน กระทั่งไม่มีตา ไม่มีลิ้น ไม่มีเพศ แล้วก็ง่อยเปลี้ยและหูหนวก

นี่แหละคือความกระหายแห่งดวงจิตที่จะเสียสละกายของเขาเพื่อสร้างบุญกุศลด้วย การทรมาน และเพื่อจะได้รับความสุขซึ่งมีไว้ให้ในโลกหน้า ตามซึ่งกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า ความสุขนั้นเทพเจ้าสงวนไว้ให้แก่คนที่ทรมานกายด้วยยากเข็ญ จนทำให้เทพเจ้าซึ่งเป็นผู้ประทานเห็นความลำบากนั้น มีความสมเพชความลำบากชนิดนี้ จะทำให้มนุษย์มีฐานะเท่าเทียมพระเจ้าและแสดงว่าว่ามีความอดทนมากเกินขีด ทรมานในนรก

และมหาบุรุษของเราทอดพระเนตรเขาเหล่านี้บางคนซึ่งเป็นหัวหน้าด้วยความเศร้า แล้วตรัสว่า

“โอ! เธอทั้งหลายซึ่งทรมาน! ตั้งแต่หลายเดือนมาแล้วเราอาศัยอยู่บนภูเขานี้ เราซึ่งแสวงหาความจริง และเราเห็นญาติพี่น้องทั้งหลายของเราที่นี่ทำทุกข์ทรมานตนเองด้วยอาการอัน ร้ายกาจปานนี้เพื่ออะไร? เหตุไฉนเล่าเธอจึงเอาทุกข์มาเพิ่มพูนแก่ความดำรงชีพของเธอซึ่งมีความทุกข์ มากอยู่แล้วอีก”

อาจารย์ผู้ถูกถามจึงทูลตอบพระองค์ว่า “ในคัมภีร์มีกล่าวว่าถ้าคนใดทรมานเลือดเนื้อของตนจนกระทั่งความเจ็บปวด กำเริบร้ายแรงถึงกับเหลืออยู่แต่ลมปราณแห่งความทรงชีวิตและความหวังในความ ตายอย่างใจเย็นแล้ว ความทรมานดังนี้จะกำจัดเสียซึ่งมูลแห่งบาป แล้ววิญญาณซึ่งบริสุทธิ์ก็จักปลิวไปจากความเร่าร้อนปั่นป่วนไปยังสถานที่ รุ่งเรืองและมีบุญบารมีเหลือที่จะพรรณนา”

พระมหาบุรุษจึงทรงมีพระดำรัสต่อไปอีกว่า “โน่นเมฆซึ่งล่องลอยอยู่บนเวหา แผ่ออกเหมือนผืนผ้าสีทอง โดยรอบบัลลังก์พระอินทร์ของเธอนั้น ลอยขึ้นจากทะเลซึ่งปั่นป่วน แต่เมฆนั้นก็ต้องตกลงมาเป็นหยด ๆ เหมือนน้ำตา แล้วไหลไปตามทางอันกันดารแลขรุขระ ตามรอยแตกระแหงและห้วยหนองคลองซึ่งเป็นโคลน เพื่อไหลไปสู่แม่คงคาแล้วกลับไปสู่ทะเลซึ่งเป็นแห่งที่ได้จากมา เธอรู้แล้วหรือ พี่น้องทั้งหลายว่าสำหรับนักบุญและความสุขของเขาจะไม่เป็นเมฆเช่นนั้นบ้าง ในภายหลังที่ได้ทรมานมามากแล้ว เพราะสิ่งที่ลอยขึ้นก็ตกมาใหม่ สิ่งใดที่ซื้อก็ต้องมีการชำระราคา และไม่คิดบ้างหรือว่า ถ้าเธอซื้อสวรรค์ด้วยเลือดของเธอ ณ ตลาดทุกข์ทรมานแห่งนรก เมื่อการซื้อขายได้ตกลงกันแล้ว ความลำบากก็เริ่มมีขึ้นใหม่อีก”

“ความลำบากอาจมีใหม่ขึ้นอีกได้” ฤาษีนั้นทูล “โธ่เอ๋ย เราไม่ทราบข้อนี้ และเราก็ไม่มีความแน่ใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย แต่อย่างไรก็ดี ทิวากาลย่อมอุบัติขึ้นภายหลังราตรีกาล และความสงบมีทีหลังความทรมาน และเราเกลียดชังเลือดเนื้ออันเลวทรามซึ่งพัวพันอยู่กับวิญญาณที่ต้องการ อิสระ ดังนั้นสำหรับความสุขของวิญญาณ เราทรมานกายของเราให้ปรากฏแก่ทวยเทพเจ้าเพื่อพนันขันต่อแลกกับความสุขสุดที่ ไม่มีสิ้นสุด”

“แต่ว่า” พระสิทธัตถะตรัส “อุปมาว่าความสุขนั้นยืนยงอยู่ได้หลายล้านปี ก็คงจะเบื่อหน่ายไปทุก ๆ กาลอันยืดยาว หรือถ้ามิฉะนั้นมีความเป็นอยู่อย่างหนึ่งอย่างใดที่ต่ำก็ดี ที่สูงก็ดี รอบข้างเราก็ดี ที่ต่างกับเราก็ดี ไม่มีความเปลี่ยนแปลงบ้างหรือ จงบอกเราหน่อยว่า เทพเจ้าของท่านนั้นยั่งยืนอยู่ไม่รู้สิ้นสุดดังนั้นหรือ เธอเอ๋ย”

“เปล่า” พวกโยคีทูลตอบ “มีแต่พระพรหมเท่านั้นที่คงอยู่ ส่วนเทพเจ้าอื่น ๆ เป็นแต่เพียงมีชีวิตอยู่ภายในชั่วกำหนดเวลาอันหนึ่ง ๆ เท่านั้น” ดังนั้นพระมหาบุรุษตรัสว่า

“ ท่านต้องการเป็นนักปราชญ์เท่ากับที่ท่านเป็นนักบุญและมีใจเข้มแข็งหรือไม่ จงละประพฤติในการกระทำอันโหดร้ายนี้ซึ่งกระทำให้ท่านต้องคร่ำครวญหวนโหย เพื่อหวังในผลซึ่งบางทีเป็นแต่เพียงอย่างความฝันและไม่ยั่งยืนนั้นเสียเถิด”

สำหรับแสดงความรักในวิญญาณของท่านนั้น ท่านยังสมัครใจอยู่หรือที่จะเกลียดชังเนื้อหนังของท่าน ไม่สามารถที่จะเป็นที่พำนักของความมีปัญญาซึ่งต้องมีที่อาศัยจนถึงกับอับ ปัญญาลงกลางคัน ก่อนหน้ารัตติกาลเหมือนม้าที่เชื่องดีแต่ถูกใช้งานเกินกำลัง ท่านผู้น่าสมเพช ท่านมีความประสงค์ในการที่ปล้นทำลายเรือนอันงามนี้ซึ่งเราได้มาอาศัยอยู่ภาย หลังความลำบากและซึ่งเราได้อาศัยแสงสว่างโดยทางหน้าต่าง แสงสว่างอันเล็กน้อยซึ่งทำให้เรามองดูข้างนอก และรู้ว่าแสงอรุณจะมีมาหรือไม่ และเพื่อให้รู้ว่าที่ไหนเป็นทางเดินที่ดีที่สุดเสียฉะนั้นหรือ”

เหล่าโยคีจึงร้องขึ้นว่า “เราได้เลือกทางนี้แล้ว เราจะเดินให้ถึงที่สุด ดูกรพระราชบุตร ถึงแม้ว่าหินแห่งทางเหล่านี้จะกลายเป็นไฟไปหมด เราก็คงจะสู้ตายอยู่อย่างนี้แหละ นี่แน่! ถ้าท่านไม่มีทางใดที่ดีกว่านี้อีกก็จงกล่าวมา หรือมิฉะนั้นก็จงไปตามความพอใจในทางของท่าน”

พระองค์จึงเสด็จต่อไป เปี่ยมไปด้วยความเศร้าโศก โดยเหตุที่ทรงเห็นมนุษย์กลัวความตายมาก จนถูกครอบงำด้วยอำนาจแห่งความกลัว ต้องการมีชีวิตอยู่มากจนไม่กล้ารักชีวิตของตน แล้วก็กระทำการทรมานชีพอย่างร้ายกาจซึ่งบางทีก็เพื่อให้ถูกใจเหล่าเทพเจ้า ทั้งหลายซึ่งไม่ยินดีในความสุขของมนุษย์ หรือมิฉะนั้นก็เพื่อจะให้ตกไปยังนรก ภายหลังที่ได้จุดอัคคีแห่งนรกอย่างอื่นเพื่อตนเอง หรือบางทีจะทำเพราะฤทธิ์แห่งศรัทธาอันวิกลอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยนึกว่า วิญญาณจะหลุดพ้นไปจากเนื้อหนังทรมานนั้นได้สะดวก

 

“เออ! ดอกไม้เล็ก ๆ แห่งทุ่งทั้งหลาย” พระสิทธัตถะตรัส “เจ้าทั้งหลายซึ่งหันดอกอันงามไปสู่ดวงอาทิตย์ ยินดีในแสงสว่างและรู้ค่าแห่งกลิ่นสุคนธ์หอมชื่นเชย รวมทั้งรูปอันงามหรูหรา เป็นสีทอง สีเงิน สีแดงเข้มซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้ ไม่มีใครเลยในพวกเจ้าซึ่งไม่ปรารถนาในความเป็นอยู่อันบริสุทธิ์ของตน ไม่มีใครเลยที่ทำลายความงาม และความสุขของตนเอง” “โอ! หมู่ต้นตาลทั้งหลายซึ่งสูงตระหง่านดุจต้องการเจาะเวหา และดูดดื่มความรำเพยพัดของลมซึ่งมาจากเขาหิมาลัยและความเยือกเย็น แห่งมหาสมุทรอันเขียว ความลับอะไรเล่าซึ่งเจ้ารู้จนถึงกับอาจพูนเพาะความร่าเริงของเจ้าได้ถึงป่าน ฉะนี้ ตั้งแต่แรกงอกขึ้นจนกระทั่งมีลูกมีผล และใบอันเป็นพุ่มของเจ้ามีเสียงเป็นดุริยางค์อยู่กลางแดด? และเจ้าทั้งหลายซึ่งอยู่ด้วยความร่าเริงอยู่ในหมู่ไม้นั้นเล่า เจ้านกแก้วซึ่งบินเร็ว เจ้าตัวแตน บุลบุล(นกปรอดหัวโขน) และนกพิราบ ใน พวกเจ้าไม่มีใครเลยเกลียดชังความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่ฝืนตนเพื่อให้เป็นสุขยิ่งขึ้นไปอีกโดยการกระทำตนให้ได้รับความทรมาน แต่มนุษย์ซึ่งฆ่าเจ้าเพราะเขาเป็นผู้มีอำนาจ ทั้งเป็นนักปราชญ์ที่ดี แต่ความเป็นคนของเขาเจริญไปด้วยโลหิต เติบโตขึ้นท่ามกลางแห่งความทุกข์ยากซึ่งเขาทำแก่ตัวของเขาเอง”

ในขณะที่พระมหาบุรุษตรัสปรารภอยู่นั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นหมอกฝุ่นกลุ่มหนึ่งที่ภูเขาพุ่งลอยขึ้นเพราะฝูงแพะขา วกละแกะดำซึ่งค่อย ๆ เดินมา และหยุดช้าอยู่เพื่อเล็มใบไม้ใบหญ้า และหลีกจากทางแวะไปสู่ลำธารซึ่งมีน้ำใสกระจ่างและซึ่งที่มีผลมะเดื่อป่าห้อย ต่ำลงมา แต่เมื่อสัตว์ตัวใดในฝูงนั้นหลีกห่างไปแล้ว คนเลี้ยงก็ร้องขู่แล้วขึ้นกระสุนยิงอิฐไป แล้วก็ต้อนฝูงสัตว์อันเชื่องนั้นมาสู่ทุ่ง ในฝูงสัตว์นั้นมีแม่แกะตัวหนึ่งกับลูกสองตัว ตัวหนึ่งถูกตีจนพิการ และต้องเดินอาบเลือดตามฝูงของตนไปด้วยความลำบาก ในระหว่างที่อีกตัวหนึ่งกระโดดโลดเต้นไปข้างหน้า

ฝ่ายตัวที่เป็นแม่ซึ่งห่วงลูกก็ได้แต่รีรอร่ำร้องวิ่งไปทางนี้บ้างทางโน้นบ้าง เพราะกลัวว่าลูกตัวใดตัวหนึ่งจะหายไป

เมื่อพระมหาบุรุษของเราทอดพระเนตรเห็นดังนั้น พระองค์จึงอุ้มลูกแกะที่บาดเจ็บไว้ในวงพระหัตถ์แล้วตรัสว่า “แม่ผู้มีขนละมุนละไมอันน่าสงสาร จงนอนใจเถิด เจ้าไปที่ใด ข้าก็จะอุ้มลูกของเจ้าตามไปให้ เป็นการป้องกันมิให้สัตว์ตัวหนึ่งได้รับความทรมาน ดีกว่าที่จะนั่งดูทุกข์ทรมานของโลกในถ้ำนี้ในหมู่นักบวชซึ่งพร่ำสวดมนต์ ภาวนา”

“แต่นี่แน่” พระองค์ตรัสกับคนเลี้ยงแกะนั้น “เพื่อนรัก ทำไมจึงไล่ฝูงสัตว์มาที่ทุ่งต่อเมื่อตะวันตกดินเสียแล้วดังนี้ การไล่สัตว์มาเมื่อเวลาเย็น ๆ แล้วดังนี้ เขาทำกันมาตั้งแต่เมื่อใด”

พวกเลี้ยงแกะทูลตอบไปว่า “พวกเราได้รับคำสั่งให้ต้อนแพะ 100 ตัวกับแกะ 100 ตัว ซึ่งสมเด็จพระราชามีพระประสงค์จะทรงทำการบูชายัญถวายแก่เทพเจ้าทั้งหลายคืน วันนี้” ดังนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “เราจะไปกับท่าน” แล้วพระองค์ก็ทรงพยายามเสด็จตามไปพร้อมด้วยลูกแกะซึ่งทรงอุ้มไว้โดยทรงทน ตรากตรำฝุ่นและแสงแดดอันร้อนจัด ฝ่ายแกะตัวแม่ก็วิ่งร้องค่อย ๆ ตามอยู่ ณ ข้างพระบาทของพระองค์

เมื่อพากันมาถึงริมแม่น้ำ สตรีคนหนึ่งซึ่งมีดวงตาดุจนกพิราบ ใบหน้าอาบไปด้วยน้ำตาและมือประณมมากราบถวายบังคมพระองค์พลางทูลว่า “พระคุณ พระคุณนี้หรือซึ่งได้กรุณาแก่ข้าพเจ้าเมื่อวานนี้ในพุ่มต้นมะเดื่อซึ่ง ข้าพเจ้าอาศัยอยู่แต่โดดเดี่ยว เพื่อเลี้ยงลูกของข้าพเจ้า แต่ลูกนี้ ขณะที่กำลังเล่นอยู่ในระหว่างต้นไม้ดอกก็พบกับงูตัวหนึ่งซึ่งมารัดรอบแขน เจ้าเด็กก็หัวเราะและเอามือไปจ่อลิ้นที่แลบออกมาจากปากที่อ้าของเพื่อนที่ใจ จืด (คืองูตัวนั้น) แต่อนิจจา! ในประเดี๋ยวนั้นเอง เจ้าเด็กก็ซีดและแน่นิ่งไป

ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าทำไมเขาจึงหยุดเล่นและริมฝีปากหลุดจากนมของข้าพเจ้า จึงมีคนหนึ่งบอกว่า “มันถูกยาพิษ” อีกคนหนึ่งว่า “มันจะตายแล้ว” แต่ข้าพเจ้าผู้ซึ่งไม่อยากให้ลูกที่รักตายจึงถามหายาที่ศักดิ์สิทธิ์ทำให้ ลูกของข้าพเจ้าสามารถลืมตาดูแสงสว่างอีกต่อไป รอยแผลที่งูขบนั่นเล็กนิดเดียว และสัตว์นั้น ข้าพเจ้านึกว่าคงไม่อาจเกลียดและทำร้ายลูกอันน่ารักของข้าพเจ้าซึ่งเล่นกับ มัน และบางคนก็ว่า “มีฤาษีรูปหนึ่งที่บนเขา มองดูซิ กำลังจะผ่านมาเที่ยวที่ครองผ้าเหลืองนั้นแหละ จงถามแก่ฤาษีองค์นั้น เมื่อว่ามียาอะไรที่สามารถบำบัดความเจ็บปวดที่เป็นแก่ลูกของแกได้”

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงตัวสั่นมาหาพระคุณซึ่งพระนลาฏเหมือนดังพระเจ้าพระองค์ หนึ่งและในระหว่างข้าพเจ้าร้องไห้ ข้าพเจ้ายกผ้าซึ่งปิดหน้าของลูกข้าพเจ้าออก แล้ววิงวอนต่อพระคุณให้บอกวิธีซึ่งอาจกระทำให้หายได้สนิทสนมทีเดียว ฝ่ายพระคุณองค์ผู้เป็นเจ้า พระคุณก็ไม่ปัดคำวิงวอนของข้าพเจ้าทั้งได้มองดูลูกของข้าพเจ้าด้วยพระเนตร อันสงสารและแตะด้วยพระหัตถ์อันแสดงว่ามีหวัง

ครั้นเมื่อเอาผ้าปิดหน้าลูกของข้าพเจ้าใหม่แล้ว พระคุณก็แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า “นั่นแหละน้องหญิง มีของสิ่งหนึ่งที่อาจกระทำให้เจ้าหายได้ คือให้เจ้าหายก่อนและลูกของเจ้าด้วย สิ่งที่กล่าวนั้นถ้าเจ้าหาได้เจ้าก็จะรักษาได้ เพราะว่าผู้ใดมาหาหมอย่อมนำสิ่งซึ่งมีเกณฑ์กำหนดอยู่แล้วมาให้หมอ เพราะฉะนั้นขอให้เจ้าจงไปหาพันธุ์มัสตาดดำมาหนึ่งโตละ(โตละ 1 น้ำหนักเท่ากับ 1 รูปีหรือราว 8 กรัม<18/15ของบาทหนึ่ง >) แต่จงระวังไปหาให้ได้มาเฉพาะบ้านใดซึ่งพ่อแม่ลูกหลานหรือบ่าวไพร่ไม่ตายเลย ถ้าเจ้าได้เมล็ดมัสตาดดำอย่างที่ว่านี้มาแล้วก็จะสมหวัง ท่านได้แจ้งอย่างนี้แหละเจ้าประคุณ”

พระมหาบุรุษก็ตรัสตอบไปด้วยพระอาการอันยิ้มโดยทรงเมตตาอย่างเหลือล้นว่า “ถูกแล้ว เราได้บอกแก่เจ้าดังนั้นแต่เจ้าหาเมล็ดนั้นได้แล้วหรือ?”

พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้ากอดรัดอุ้มลูกของข้าพเจ้าซึ่งตัวเย็นลงแล้วนั้นไว้กับทรวงของ ข้าพเจ้าไปเที่ยวหา ข้าพเจ้าไปถามหาทุก ๆ ลังคาเรือน ในป่าบ้าง ตามชาวเมืองบ้าง โดยกล่าวว่า “ท่านเจ้า ได้จงกรุณาให้เมล็ดมัสตาดดำแก่ข้าพเจ้าหนึ่งโตละเถิด” ดังนั้นบรรดาผู้ซึ่งมีก็นำมาให้แก่ข้าพเจ้า เพราะคนจนย่อมมีใจเมตตาแก่คนจนด้วยกัน แต่เมื่อข้าพเจ้าถามว่า “ก็แต่ในเรือนของท่านนี้ได้เคยมีใครตายบ้างหรือเปล่า จะเป็นสามี ภรรยา ลูกหลานหรือบ่าวไพร่อะไรก็ตาม” เขาจึงตอบแก่ข้าพเจ้าว่า “โอ! พี่สาว แกมาถามอะไรแก่เราเช่นนี้ คนตายนั้นดกดื่นไป แต่ไม่ตายนั้นหายาก”

ดังนั้นเมื่อได้ขอบใจเขาอย่างเศร้าโศกแล้ว ข้าพเจ้าก็คืนเมล็ดมัสตาดให้เขาแล้วก็ไปหาที่อื่นต่อไป แต่ผู้ที่ไปหาเขาใหม่นั้นต่างก็บอกข้าพเจ้าว่า “นี่แน่ะเมล็ดมัสตาด แต่เรามีทาสของเราตายที่นี่” “นี่แน่ะเมล็ดมัสตาด แต่ผัวที่รักของฉันตาย” “นี่แน่ะเมล็ดมัสตาด แต่ผู้ที่เพาะต้นมัสตาดนี้ได้ตายไปเสียแล้วในระหว่างกาลฤดูฝนเก็บเกี่ยวข้าว ” “โธ่ พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สามารถหาเมล็ดมัสตาดจากบ้านซึ่งไม่มีผู้ใดตายเลยนั้นได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงวางลูกของข้าพเจ้าซึ่งไม่อยากกินนมและไม่อยากยิ้ม แล้วนั้นไว้ที่ต้นองุ่นป่าข้างริมแม่น้ำแล้วข้าพเจ้าก็มาดูพระพักตร์ของพระ คุณ จูบพระบาทของพระคุณแล้ววิงวอนพระคุณ ได้โปรดชี้แจงด้วยว่าข้าพเจ้าอาจหาเมล็ดมัสตาดดำนั้นได้ที่ไหนโดยไม่ได้พบ ไม่ได้ยินข่าวตายดังที่ข้าพเจ้าวิตกและดังที่เขาว่ากันนั้น”

“นี่แน่ะเจ้า” พระศาสดาจารย์ตรัส “ในระหว่างที่เจ้าเที่ยวหาสิ่งซึ่งไม่มีผู้ใดเลยจะหาได้นั้น เจ้าก็ได้พบโอสถอันขมขื่นซึ่งเราอยากให้แก่เจ้านั้นเหมือนกัน ผู้ซึ่งเจ้ารักนั้นหลับแล้ว วันนี้เจ้าก็ย่อมได้รู้แล้วว่า โลกอันกว้างใหญ่ทั้งมวลย่อมร้องไห้เพราะความเศร้าโศกเช่นเดียวกันกับเจ้า ความทรมานซึ่งดวงใจทุก ๆ คนได้รับนั้นของคน ๆ เดียวย่อมน้อยกว่าของคนอื่น ๆ จงดูเถิด! เราจะทำโลหิตของเราออกมาจากกายเป็นหยด ๆ หากว่าการกระทำของเราอาจสามารถยับยั้งการร้องไห้ของเจ้าได้ และหากว่าการกระทำของเรานั้นสามารถเผยความลับแห่งเคราะห์กรรมซึ่งพาให้ มนุษย์เจ้าของสัตว์เหล่านั้นข้าทุ่งเขียวชอุ่มนี้ไปสู่ที่บูชายัญกับฝูง สัตว์ที่พูดไม่ได้เหล่านี้ซึ่งเขานำไปบูชายัญนั้น เรากำลังค้นหาความลับอันนี้แหละ ส่วนเจ้านั้นจงฝังลูกของเจ้าเสียเถิด”

เมื่อคนเลี้ยงแกะกับพระสิทธัตถะบรรลุถึงในพระนครพร้อมกัน ณ กาลเมื่อดวงอาทิตย์เปล่งแสงสีทองสุดท้ายไปสู่ลำน้ำโสนะ และฉายเงาเหนือถนนและที่ทวารซึ่งมีทหารของพระราชารักษาการณ์อยู่ แต่เมื่อทหารเหล่านั้นเห็นพระศาสดาจารย์ของเราอุ้มลูกแกะ ทหารเหล่านั้นก็ถอยห่าง

ปวงชนซึ่งชุมนุมกันอยู่ที่ตลาดก็เรียงรายรอรถของตนเพื่อมองดูพระพักตร์อัน ทรงสง่า ณ ร้านขายของ ผู้ซื้อและผู้ขายก็หยุดต่อล้อต่อเถียงในการซื้อขายกัน ช่างเหล็กซึ่งยกค้อนขึ้นเพื่อตีเหล็กก็หยุดตี ช่างทอผ้าปล่อยฟืมของตน พวกเสมียนปล่อยม้วนกระดาษของตน ผู้แลกเงินลืมนับจำนวนเบี้ย โคขาวซึ่งถวายให้พระศิวะก็ถลามากินข้าวซึ่งไม่มีใครเฝ้า น้ำนมหกไหลออกจากหม้อทองแดง เพราะเจ้าของมัวเพลินไปชมดูพระดำเนินของพระศาสดาของเราซึ่งแม้จะมีพระอาการ สง่าน่าเคารพก็ยังละมุนละม่อมน่ารัก ฝ่ายหมู่สตรีซึ่งชุมนุมกันอยู่หน้าประตูก็ถามซึ่งกันและกันว่า “บุรุษซึ่งอุ้มสัตว์ที่จะบูชายัญมาโดยอาการอันเต็มไปด้วยความปรานียิ่งและทำ ให้เกิดความสงบสุขตามวิถีทางทั่วไปนั่นเป็นใครหนอ? เป็นบุรุษชั้นไหน? ทำไมดวงตาจึงงามชม้อยยิ่งนักดังนั้น? บางทีจะเป็นรูปเนรมิต(สากระ ร่างซึ่งไม่มีตัวตน รูปเนรมิต) หรือเทวราช(ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพดาทั้งหลาย)กระมัง? บางคนก็ว่า “นั่นคือนักบุญซึ่งอาศัยอยู่กับหมู่ฤาษีที่เบื้องเขา” ฝ่ายพระมหาบุรุษซึ่งกำลังใฝ่ฝันอยู่ในความพิจารณาทรงนึกว่า “อนิจจา! แกะ(หมายความว่าพวกราษฎรเหล่านั้น)ของเราเหล่านี้ไม่มีคนเลี้ยง เขาเดินอยู่ในที่มืดโดยปราศจากผู้นำทางแล้วก็ร่ำร้องในขณะหลับตา ค่อย ๆ เข้าไปใกล้พร้าแห่งความตายดุจดังสัตว์พูดไม่ได้ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมโลกของ เขาเหล่านี้”



หัวข้อ: Re: The Light of Asia ประทีปแห่งทวีปเอเชีย : ปริเฉทที่ 5 ทุกรกิริยากถา
เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 07 ตุลาคม 2559 14:28:43
ครั้นแล้วจึงมีผู้ไปทูลพระราชาว่า “มีฤาษีผู้ทรงบุญรูปหนึ่งพาฝูงสัตว์ซึ่งพระองค์จะทรงกระทำบูชายัญนั้นมา”

ขณะนั้นพระราชาประทับอยู่ ณ ที่สำหรับกระทำพิธี พวกพราหมณ์แต่งกายสีขาวกำลังสวดมนต์ พลางโหมเพลิงเหนือแท่นซึ่งอยู่กลางท้องพระโรง เปลวไฟแห่งกองฟืนอันหอมกำลังสะบัดและแลบเลียเครื่องบูชาที่เป็นไขมัน เครื่องหอมและเชื้อโสม (คือต้นเอื้องเถา เอายางหรือน้ำจากลำต้นมาปนกับข้าวชนิดหนึ่งและเนยใส ทำเป็นเหล้าสำหรับถวายพระเจ้า) ซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระอินทร์โดยรอบแห่งกองอัคคี ลำธารสีแดงเข้มอันหนาส่งกลิ่นและไหลช้า ๆ หายไปในทรายแต่แล้วก็มีไหลมาใหม่อีกไม่หยุดหย่อนนั้น คือโลหิตของสัตว์อันน่าอนาถที่ใช้บูชายัญ ในจำพวกสัตว์เคราะห์ร้ายเหล่านั้น แม่แพะตัวหนึ่งถูกมัดเขาด้วยหญ้ามุญช์(ต้นหญ้าชนิดหนึ่งมีดกดื่นในประเทศ อินเดียใช้ทำเป็นเชือก) ให้ศีรษะตวัดมาข้างหลัง วางนอนอยู่ นักบวชรูปหนึ่งถือมีดจ่อลงที่คอพลางกล่าวพึมพำว่า “โอ! ทวยเทพเจ้าผู้ศักดาทั้งหลาย ณ บัดนี้ตูข้าจะเริ่มทำการบูชายัญ(ยชญ เป็นคำสํสกฤต ตรงกับบาลี ยญญ) อันมากหลายซึ่งพระเจ้าพิมพิสารถวายแก่พระองค์ ขอพระองค์ทรงพระสำราญพระทัยที่ได้เห็นโลหิตไหลหลั่ง และจงทรงปลื้มด้วยรสแห่งเนื้อหอมมันซึ่งย่างอยู่กลางเปลวอัคคีอันคุร้อนนี้ เถิด ขอจงบันดาลให้บาปทั้งมวลของพระราชาตกไปอยู่ที่แม่แพะตัวนี้ แล้วให้อัคคีกำจัดบาปนั้นพร้อมกับที่เผาผลาญแม่แพะนี้จงสิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะลงมือประหารแล้ว”

แต่พระมหาบุรุษค่อย ๆ ตรัสว่า “มหาบพิตรรอย่าปล่อยให้ฆ่าสัตว์นี้เลย” ตรัสพลางเสด็จไปแก้สัตว์ตัวเคราะห์ร้ายนั้นออกโดยไม่มีใครห้ามปรามเพราะพระ อาการกิริยาที่ทรงกระทำนั้นมีสง่าเป็นเชิงบังคับ

ครั้นเมื่อพระองค์ตรัสขออนุญาตได้แล้วจึงทรงวิสัชนาถึงชีวิตใคร ๆ ก็อาจทำลายได้ แต่ว่าไม่มีใครเลยอาจนำมาให้ได้เรื่องชีวิตซึ่งทุกรูปทุกนามย่อมรัก และต้องต่อสู้เพื่อป้องกันชีวิตของตน ชีวิตซึ่งเป็นของประเสริฐ มีค่าและเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลทุกรูปทุกนามแม้จะเป็นผู้มักน้อยปานใดก็ดี นั้นแหละ ชีวิตเป็นลาภอันประเสริฐสำหรับสัตว์โลกทั้งปวงที่มีเมตตา เพราะความเมตตาเสริมให้โลกเป็นที่ร่มเย็นต่อผู้ที่อ่อนแอ และเป็นเกียรติศักดิ์สำหรับผู้ที่มีกำลัง

พระองค์ตรัสแทนฝูงสัตว์ซึ่งมีปากอันพูดไม่ได้ด้วยพระวาจาอันน่าเคารพ เพื่อช่วยโปรดสัตว์เหล่านั้นให้พ้นอันตราย พระองค์ทรงแสดงให้เห็นปรากฏว่า มนุษย์ซึ่งวิงวอนให้พระเจ้าโปรดเมตตาตนเองนั้น ไม่มีความเมตตาสำหรับสัตว์ทั้งหลายซึ่งอยู่ใต้อำนาจความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของมนุษย์

พระองค์ยังตรัสอีกว่า สิ่งใดที่มีชีวิตย่อมเกี่ยวข้องเป็นญาติกันทั้งสิ้น และว่าบรรดาสัตว์ซึ่งเราฆ่านั้น ได้อ่อนน้อมให้ประโยชน์แก่เรา คือน้ำนมและขนของมัน และมอบหมายความไว้วางใจให้อยู่ในมือของผู้ซึ่งพิฆาตฆ่ามัน อนึ่งพระองค์ได้ตรัสถึงสิ่งซึ่งพระคัมภีร์ได้สั่งสอนไว้โดยเที่ยงธรรมว่า “เมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว บ้างก็ไปได้กำเนิดเป็นนกเป็นสัตว์จตุบาท และนก หรือจตุบาทกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ประกายไฟที่ลอยไปในอากาศจะกลายมาเป็นเพลิงอันสว่างไสว ก็แลการบูชายัญนั้นอาจทำให้การเวียนเกิดเวียนตายของวิญญาณต้องหยุดชะงัก

พระองค์ตรัสเพิ่มเติม “ไม่มีใครเลยที่อาจจะทำให้ดวงจิตของตนบริสุทธิ์ได้โดยอาศัยโลหิต หาก เทพเจ้าทั้งหลายประเสริฐจริง โลหิตก็ไม่อาจทำให้เทพเจ้าเหล่านั้นสนุกสบายได้ หากเทพเจ้าไม่ดี โลหิตนี้ก็คงไม่ทำให้ดีขึ้นได้ การเอาบาปจนแม้แต่หนักสักเท่ากับผมเส้นหนึ่งของผู้ทำชั่วและทำผิดซึ่งต้อง รับผิดชอบได้แต่ด้วยตนเองไปใส่เหนือศีรษะของสัตว์ผู้หาความผิดมิได้นั้น ย่อมหาประโยชน์อะไรมิได้เลย เพราะต่างคนต่างต้องรับบาปบุญของตนด้วยตน เอง ตามส่วนมากหรือส่วนน้อยไม่เปลี่ยนแปลงของโลกซึ่งเป็นผู้แจกจ่ายความดีให้แก่ ผู้ที่ทำดี ความชั่วให้แก่ผู้ที่ทำชั่วตามขนาดเท่าที่คนหนึ่งพึงรับจากกิริยา วาจา และความคิดของตนซึ่งเป็นการถ้วนถี่ ถูกต้อง ไม่แปรปรวนและแน่นอน และซึ่งเป็นอันว่าอะไรทั้งปวงซึ่งเป็นไปในเบื้องหน้า ล้วนแต่เป็นผลซึ่งเนื่องมาจากสิ่งที่ล่วงมาแล้วแต่หนหลังทั้งสิ้น”

พระองค์ตรัสดังนี้ ด้วยพระวาจาอันแสดงเมตตาจิตอย่างยิ่ง และด้วยพระอาการอันมีสง่าราศีเกิดจากความสังเวชและความยุติธรรมจนเหล่านัก บวชนั้นทำลายเครื่องตกแต่งของตนเสียด้วยมือที่กำลังแปดเปื้อนไปด้วยเลือดแดง และจนพระราชาเสด็จเข้ามาใกล้แล้วและประณมหัตถ์วันทนาการ

ถึงกระนั้นพระศาสดาจารย์ของเราก็ตรัสต่อไปเป็นคำสั่งสอนว่า “โลกเรานี้ก็ถึงซึ่งสันติสุขเพียงใด หากธรรมชาติที่มีชีวิตทั้งปวงอยู่ร่วมกันด้วยความโอบอ้อมอารี” และหล่อเลี้ยงตนเองแต่ด้วยสิ่งซึ่งบริสุทธิ์โดยไม่ให้มีการถึงเลือดออก

ด้วยพันธุ์พืชสีเหลืองเป็นทอง ผลไม้สีงาม ๆ หญ้าที่มีรสโอชาซึ่งงอกขึ้นสำหรับสัตวโลกทั้งปวง น้ำอันสดใสก็พอที่จะหล่อเลี้ยงและแก้ความกระหายของโลกได้ด้วยอำนาจแห่งพระ โอวาทอันประเสริฐ กระทำให้บังเกิดมีความเลื่อมใสขึ้นในเหล่านักบวชจนถึงกับพากันทำลายโต๊ะบุชา ซึ่งมีไฟกำลังคุ และโยนเหล็กสำหรับทำการบุชายัญไปเสียให้ห่าง

ครั้นรุ่งขึ้นก็มีเจ้าพนักงานผู้ป่าวร้องประกาศพระราชดำรัสฉบับหนึ่งนำออก โฆษณาทั่วพระราชธานี และจารึกประโยคข้อความไว้บนศิลาว่า “ด้วยพระราชามีพระราชประสงค์ดังนี้:-

“ตั้งแต่เดิมมาจนกระทั่งบัดนี้ ต่างคนต่างพากันพิฆาตฆ่าสัตว์เพื่อทำการบูชายัญ หรือสำหรับเลี้ยงชีพของตนเอง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขออย่าผู้ใดทำโลหิตให้ออกจากกายของสิ่งซึ่งมีชีวิต และอย่าให้ใช้เนื้อเป็นอาหาร เพราะบัดนี้เราเห็นแจ้งแล้วว่าชีวิตย่อมเป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น และความเมตตา(ในเบื้องหน้า) จะมีแก่ผู้ซึ่งเมตตา” นี่แหละคือพระราชประสงค์ที่ทรงบัญญัติขึ้น ซึ่งตั้งแต่บัดนั้นสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวง คือมนุษย์ สัตว์เดรัจฉานซึ่งรับใช้มนุษย์และนกทั้งปวง ณ สองฟากแม่น้ำพระคงคาซึ่งพระมหาบุรุษเราเสด็จทรงสั่งสอนด้วยจิตเมตตาอัน บริสุทธิ์ และพระโอวาทอันอ่อนหวานของพระองค์ก็ได้ประสพความสันติสุขทั่วกัน

ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระทัยของพระศาสดาทรงมีเมตตายิ่งแก่สิ่งทั้งปวงซึ่งมี กระแสชีวิตอันไม่ถาวร และตกอยู่ในอำนาจแห่งความร่าเริง และความลำบากอย่างหนึ่งอย่างเดียวกันกับเราทั้งหลาย

อนึ่งในพระคัมภีร์ยังมีจารึกไว้อีกว่า “เมื่อกาลก่อนโน้น คราเมื่อพระพุทธเจ้าทรงกำเนิดเป็นพราหมณ์สำนักอยู่ ณ ยอดผานามว่ามุนดา ใกล้กับชนบทดาลิดด์ ความแห้งแล้งอุบัติขึ้นทั่วทั้งเมือง บรรดาต้นข้าวก็ตายเป็นต้นฟ่างก่อนที่มีความสูงพอที่ไก่นาจะอาศัยเป็นที่ร่ม เย็นได้ ณ ที่ลาดกลางป่า ดวงอาทิตย์ดูดเอาน้ำจากหนองไปสิ้นเชิง บรรดาหญ้าและพื้นที่เขียวชอุ่มแต่เดิมมาก็เหี่ยวแห้ง และสารพัดสัตว์ป่าทั้งหลายก็ซัดเซพเนจรเพื่อหาอาหารเลี้ยงตนไปทุกทิศานุทิศ”

ในกาลครั้งนั้น พระศาสดาจารย์ของเราทอดพระเนตรเห็นเสือตัวเมียตัวหนึ่งนอนเหยียดหิวโหย ทรมานอยู่เหนือก้อนศิลากลางแจ้ง ข้างเคียงหน้าผาอันร้อนจัด อำนาจแห่งความหิวกระทำให้ดวงตาของเสือตัวนั้นเป็นแววเขียว ลิ้นอันแห้งก็ยื่นออกมาข้างนอกปากอันหอบเหนื่อยราวหนึ่งคืบและคางแฟบ หนังเหี่ยวแห้งติดกับซี่โครง เฉกเช่นหลังคาจากที่ถูกน้ำฝนผุพังยุบไปจนถึงขื่อ กับมีลูก 2 ตัว ซึ่งโดยความหิวอันกระวนกระวายก็รบเร้าและดูดนมอันเหี่ยวแห้งปราศจากน้ำนม

ฝ่ายแม่เสือซึ่งผอมนั้นก็ลูบเลียลูกของมันซึ่งร้อนและยื่นสีข้างให้ และโดยความรักซึ่งแรงกล้ากว่าความแร้นแค้นกลับข่มกลืนเสียงคำรามคลั่งดุจฟ้า ผ่าด้วยความเจ็บปวดไว้เสียได้ กลายเป็นเสียงครางกระหึ่มลั่นเหมือนดังฟ้าร้อง พลางเอาปากซึ่งกำลังอดอยากจดลงกับพื้นทราย

เมื่อทอดพระเนตรเห็นทุกขเวทนาอันสุดแสนดังนั้นก็ทรงรู้สึกสงสารและเมตตา อย่างพระพุทธเจ้าแท้ พระองค์จึงทรงนึกว่า “มีวีอย่างเดียวที่จะช่วยแม่สัตว์ร้ายอาศัยป่าตัวนี้ได้ เมื่อถึงเวลาสายัณห์แล้ว สัตว์แม่ลูกเหล่านี้จะต้องตายเพราะไม่มีอะไรจะกินอย่างแน่นอน คงจะไม่มีดวงใจของผู้ซึ่งมีชีวิตคนใดมีความเมตตาแก่สัตว์ซึ่งมอมไปด้วยเลือด ของสัตว์ที่ถูกมันกัดฆ่า และซึ่งผอมลงก็เพราะมันไม่ได้ดูดดื่มรสของโลหิตนั้นเอง เอาเถิด! ถ้าเรายอมเป็นอาหารของมันก็ไม่ใช่ตัวคนอื่นที่ต้องทรมานนอกจากตัวเราเองใน การที่ตามใจตน ในวิถีที่แก่กล้าไปด้วยความเมตตาแล้วดังนี้”

เมื่อทรงรำพึงพังนั้นแล้ว พระมหาบุรุษ(ซึ่งเมื่อเวลานั้นเป็นฤาษี) จึงค่อย ๆ สละรองพระบาท ไม้เท้า สายธุรำ(ตรงกับภาษาสันสกฤต ยชฺโญปวิตร คือเส้นด้ายทำด้วยฝ้ายอย่างดี 3 เกลียวพันกันเป็นเส้นเชือก สำหรับบุคคลชั้นสูงใส่การทำสายธุรำ ทำให้เด็กใส่เมื่อมีอายุได้ 8 ขวบ ต้องทำกันมีพิธีใหญ่โต แล้วเด็กนั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นพราหมณ์(Dvija) คือทำให้เด็กเป็นผู้บริสุทธิ์ขึ้น) ผ้าโพกศีรษะกับเสื้อ และเสด็จออกจากพุ่มไม้ ตรงไปที่พื้นทรายพลางตรัสว่า “แน่นางพยัคฆี นี่แน่! อาหารสำหรับเจ้า”

ในบัดเดี๋ยวนั้น เจ้าสัตว์ร่อแร่จวนสิ้นใจก็ออกเสียงคำรามแหลม เผ่นไปห่างจากลูกของมัน ถาโถมไปตะครุบผู้สมัครรับอันตรายโดยเจตนาแล้วก็ฉีกกินเนื้อของพระองค์ด้วย เล็บเหลืองของมันซึ่งแม้นเหมือนกฤชอันงอที่อาบไปด้วยเลือด! เสียงลมหายใจอันเร่าร้อนของนางสัตว์ร้ายตัวนั้นได้ดังประสานกับเสียงหายใจ วาระที่สุดของพระองค์ผู้ทรงมีความเมตตาอันแก่กล้าพ้นประมาณ นี่แหละคือพระมหากรุณาธิคุณอันหนึ่งของพระองค์ ซึ่งพระองค์มีมาแล้วตั้งแต่นานแสนนานก่อนวันนี้ อันเป็นกาลซึ่งโดยพระเมตตาอันเต็มไปด้วยความสงสาร พระองค์จึงได้ทรงสั่งสอนให้เลิกการบูชายัญอันเหี้ยมโหดที่เคยทำถวายแด่ทวย เทพผู้เป็นเจ้าได้

ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อทรงทราบพระบรมราชตระกูลและการเสาะแสวงหาความตรัสรู้ของพระมหาบุรุษของ เรา พระองค์ก็ทรงอาราธนาให้ประทับอยู่ในราชธานีนั้น โดยพร่ำทูลแก่พระองค์ว่าดังนี้ “ท่านซึ่งเป็นเจ้า ท่านมาทรมานด้วยความอดอยากเช่นนี้มิได้ดอก พระหัตถ์ของท่านมีไว้สำหรับถือพระขรรค์หาใช่สำหรับถือบาตรแสวงทานไม่ จงอยู่กับข้าพเจ้าผู้ไร้บุตรเพื่อสืบราชสมบัตินี้เถิด แล้วจงเผยแผ่ความเป็นปราชญ์อยู่ในอาณาจักรของข้าพเจ้า จนถึงวัยมรณะของข้าพเจ้า ท่านจะได้อยู่ในวังของข้าพเจ้าและข้าพเจ้าจะหาสตรีที่สวยมาให้เป็นพระชายา”

แต่พระสิทธัตถะก็คงตรัสยืนคำเป็นอย่างเดียวอยู่เสมอว่าดังนี้ “มหาบพิตรผู้ทรงเกียรติคุณยิ่ง บรรดาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นอาตมาเคยมีมาแล้ว แต่อาตมาได้สละเสียเพื่อแสวงหาความจริงซึ่งอาตมากำลังหาและจะหาต่อไปเสมอโดย ไม่หยุดหย่อน จนแม้แต่พระราชวังสากระ (วังเนรมิตที่สวยและสุขยิ่ง) เปิดประตูรับรองอาตมาและปวงเทวีทั้งหลายวิงวอนให้อาตมาเข้าไปก็ดี

อาตมาต้องการสถาปนาวิทยาณาจักรแห่งธรรม อาตมาต้องการไปที่คยา (ตำบลที่ได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ) และไพรพฤกษ์ร่มรื่นซึ่งหวังว่า ความสว่างความสว่างคงจะให้ปรากฏแก่อาตมาเพราะความสว่างเช่นนี้ย่อมไม่ปรากฏ ณ ที่นี่ ซึ่งมีเหล่าฤาษีผู้รู้ศาสตร์ (ไตรเพทเพทางคศานตร์) และมีผู้บำเพ็ญตบะด้วยความทรมานทั้งปวงจนกระทั่งกายทุพลภาพลง อันกายนี้เป็นของจำเป็นที่วิญญาณพึงประสงค์ และถึงอย่างไรก็ตามมีความสว่างอันหนึ่งซึ่งอาจบรรลุถึงได้ แล้วก็จะเห็นความจริงและโดยแน่นอนทีเดียว “โอ! มหาบพิตรผู้มีไมตรีจิต ถ้าอาตมาได้พบความสว่างและความจริงนั้นแล้ว อาตมาก็จะกลับมาสนองคุณในการที่มหาบพิตรมีเจตนาดีแก่อาตมาดังนี้”

ครั้นแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ดำเนินช้า ๆ ไปสามก้าวรอบพระองค์แล้วน้อมกายเคารพที่พระบาท พลางอวยพรให้พระองค์ได้บรรลุถึงซึ่งผลสำเร็จ เมื่อเสร็จแล้ว พระองค์ก็ถวายพระพรลาเสด็จออกไปสู่อุรวิลฺวา (อุรุเวล) แต่พระวิญญาณของพระองค์ยังหาได้สำเร็จถึงซึ่งความตรัสรู้ไม่ ทั้งพระพักตร์ก็ซูบซีดและทรงมีพระวรกายอ่อนแอลงเพราะเหตุแห่งความบำเพ็ญ เพียรเป็นเวลาถึง 6 ปี

ถึงกระนั้นพระองค์ก็เสด็จแวะตามสำนักของอาฬารดาบสและอุทรดาบส (อุททกดาบส) กับที่ดาบสทั้ง 5 ซึ่งชี้แจงเรื่องราว

จาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/light_of_asia/05.html (http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/light_of_asia/05.html)

http://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm (http://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm)