[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สยาม ในอดีต => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 พฤศจิกายน 2559 12:37:21



หัวข้อ: “พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว ?
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 08 พฤศจิกายน 2559 12:37:21

“พระแก้วมรกต” เคยประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ก่อนย้ายเข้าวัดพระแก้ว ?


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/98112711020641_prakaew_696x553_tn.jpg)
พระแก้วมรกตเมื่อมิได้ประดับเครื่องทรง (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)


เหตุการณ์เกี่ยวกับ “พระแก้วมรกต” หลังถูกอัญเชิญมาจากกรุงเวียงจันท์ มีเอกสารโบราณหลายฉบับกล่าวไว้ตรงกันว่า
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษก และเสร็จสิ้นการสร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากโรงพระแก้วในวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

แต่ ดร. ศานติ ภักดีคำ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่งระบุว่า
ก่อนหน้าที่จะมีการย้ายพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระแก้วมรกตได้ถูกย้ายไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์
หรือวัดพระเชตุพนฯ ก่อน มิได้ย้ายจากวัดแจ้งเข้าวัดพระแก้วโดยตรงอย่างที่เอกสารหลายชิ้นระบุ

หลักฐานที่ว่านี้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า “สังคีติยวงศ์” แต่งโดย สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯในสมัยที่ยังเป็นพระพิมลธรรม
เมื่อปี พ.ศ. 2332 เป็นเอกสารที่เล่าถึงตำนานการสังคายนาพระไตรปิฎก ภาษาบาลี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ในส่วนที่กล่าวถึงการย้ายพระแก้วอยู่ใน สังคีติยวงศ์ ปริจเฉทที่ 8 เขียนเป็นภาษาบาลีว่า
“รตนพุทฺธพิมฺพํ อาราเธตฺวา นาวาสงฺฆาเฏน อติสกฺการปริปุณฺเณน โพธาราเมตํ ปติฏฺจฐาเปตฺวา ชยภูมึวิจาเรตฺวา” (ข้อความต้นฉบับใช้ “ฐ” ไม่มีเชิง)

ข้อความนี้ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้แปลว่า “…จึงให้อาราธนาพระพุทธพิมพ์แก้วปฏิมา ลงเรือขนานมา พร้อมด้วย
สักการบูชายิ่งครบถ้วนทุกประการมาประดิษฐานไว้ ณ วัดโพธาราม แล้วจึงให้เที่ยวพิจารณาหาสถานที่ชัยภูมิได้แล้ว…”

และในบทเดียวกันยังกล่าวถึงการอัญเชิญพระแก้วจากวัดโพธาราม หรือวัดโพธิ์ไปยังพระอุโบสถ วัดพระแก้วว่า

“อถโฃ นาคเสนตฺเถเรน สตฺถุธาตุปจฺจตฺถริตํ ปวรสุภนิลาภาสํ มรกฏพุทฺธพิมฺพํ นาชาปูชาสกฺกาเรหิ โพธารามโต อานยิตฺวา สิริรตนสาสฺตาราเม
ปวรสุนฺทรอุโปสถาคาเรตมฺปิ ฐปาเปสุํ…” (ข้อความต้นฉบับใช้ “ฐ” ไม่มีเชิง)

แปลโดยพระยาปริยัติธรรมธาดาได้ความว่า “…ครั้นแล้วโปรดเกล้า ให้เชิญพระพุทธพิมพ์มรกต อันพระนาคเสนเจ้า ได้บรรจุพระสัตถุธาตุไว้
ทรงรัศมีเขียวงามประเสริฐแห่ออกจากวัดโพธารามมาวัดพระศรีรัตนศาสดารามประดิษฐานไว้ในโรงอุโบสถอันงามประเสริฐนั้นแล้ว…”

ปัญหาที่ตามมาก็คือ หลักฐานตามที่ปรากฏใน สังคีติยวงศ์ มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เมื่อเทียบกับเอกสารอื่นๆ? ตรงนี้ ดร. ศานติ มองว่า สังคีติยวงศ์
ถูกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2332 หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เพียง 7 ปี จึงใกล้กับเหตุการณ์การย้ายพระแก้วมากกว่าเอกสารอื่นๆ
ที่เขียนขึ้นภายหลังเป็นเวลานาน “แม้กระทั่งพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ฉบับตัวเขียน” ซึ่งเป็นเอกสารที่ชำระขึ้นในปี พ.ศ. 2338
ก็ยังถืิอว่าหลัง สังคีติยวงศ์ อยู่หลายปี

ดร. ศานติ ยังเชื่อว่า สมเด็จพระพนรัตน์ น่าจะเป็น “ประจักษ์พยาน” ที่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายด้วยตาตนเองด้วย เพราะสมเด็จพระพนรัตน์
ซึ่งขณะนั้นมีสมณศักดิ์เป็นพระพิมลธรรมได้ครองวัดโพธิ์มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี แม้จะเคยถูกพระเจ้าตากลงทัณฑกรรม แต่เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์
พระองค์ได้ทรงคืนสมณศักดิ์และให้พระพิมลธรรมครองวัดโพธิ์ดังเดิม

และหากพิจารณาถึงความสำคัญของวัดโพธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งเคยถูกใช้จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วยแล้ว ความเป็นไปได้ที่
พระแก้วมรกตจะเคยถูกประดิษฐานที่วัดโพธิ์ ตามที่สมเด็จพระพนรัตน์กล่าวใน สังคีติยวงศ์จึงมีค่อนข้างสูง และยังอาจเป็นพระพุทธรูปประธาน
ในพระราชพิธีครั้งนั้นด้วย เหมือนเช่นการใช้พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประดิษฐานพระแก้วมรกต ในการประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ในลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ดร. ศานติ สรุปปิดท้ายว่า ข้อมูลดังกล่าว เพียงลำพังยังไม่อาจใช้เป็นข้อสรุปได้ว่า พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดโพธิ์จริง
แม้จะมี “ความเป็นไปได้สูง” แต่ก็ยังต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบกับเอกสารชั้นต้นอื่นๆ ในประเด็นนี้ต่อไป



อ้างอิง: “พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)? ข้อมูลที่ถูกหลงลืมใน ‘สังคีติยวงศ์'”. ดร. ศานติ ภักดีคำ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน 2553.



ผู้เขียน:เมฆา วิรุฬหก
เผยแพร่ผ่านหน้าเว็บศิลปวัฒนธรรม:              วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2559
ลิ้งค์ที่มาบทความ:www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_3985 (http://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_3985)