[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 09 พฤศจิกายน 2559 19:52:05



หัวข้อ: พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ลพบุรีอาจสร้างขึ้นครอบ “ไม้กางเขน” โบราณของชาวคริสต์
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 09 พฤศจิกายน 2559 19:52:05

(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2016/11/5-696x449.jpg)
พระวิหารวัดเสาธงทอง (ก่อนบูรณะ) ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2509

พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่ลพบุรี
อาจสร้างขึ้นครอบ “ไม้กางเขน” โบราณของชาวคริสต์

อยุธยาในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นยุคสมัยที่มีการติดต่อกับตะวันตกอย่างใกล้ชิด รวมถึงด้านศาสนา เมื่อพระองค์ทรงยอมให้นักบวชในคริสต์ศาสนาดำเนินกิจกรรมทางศาสนาได้ในดินแดนของพระองค์ และลพบุรีศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองในรัชสมัยของพระองค์ก็น่าจะมีร่องรอยของคริสต์ศาสนาหลงเหลืออยู่ไม่น้อย

เมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไปหลายร้อยปี ปัจจุบันมีคำร่ำลือกันว่า ในลพบุรีมีศาสนวัตถุสำคัญของชาวคริสต์ในยุคก่อนชิ้นหนึ่งนั่นคือ “ไม้กางเขน” ซึ่งอาจถูกทิ้งร้างไปเมื่อศาสนาคริสต์เสื่อมลง ถูกช่างฝีมือยุคหลังนำมาใช้เป็นแกนกลางในการสร้างพระพุทธรูป!

เรื่องนี้ ส.สีมา ผู้เขียนบทความเรื่อง “พระประธานในวิหารวัดเสาธงทอง” กล่าวว่า พระพุทธรูปดังกล่าว [หากมีจริง] น่าจะประดิษฐานอยู่ในวัดที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ หรือเกี่ยวโยงกับกิจกรรมของราชสำนักที่เกี่ยวเนื่องกับชาวต่างชาติอีกที ซึ่งวัดดังกล่าวก็น่าจะเป็น “วัดเสาธงทอง” หรือไม่ก็ “วัดรวก” ที่อยู่ติดกัน และอยู่ห่างจากประตูวิเศษไชยศรี พระนารายณ์ราชนิเวศน์เพียง 50 เมตร


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2016/11/14.jpg)
หลวงพ่อโตภายในพระวิหารเสาธงทองในปัจจุบัน

และหากเทียบกันระหว่างพระประธานในอุโบสถของวัดรวกกับหลวงพ่อโตในพระวิหารวัดเสาธงทองแล้ว ส.สีมา เชื่อว่า น่าจะเป็นหลวงพ่อโตมากกว่าเนื่องจากหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง สกุลช่างอู่ทอง-อยุธยาปางมารวิชัย เป็นพระประธานขนาดใหญ่มาก พระเกศามาลาสูงเสมอไม้เครื่องบนพระวิหาร ขณะที่พระประธานในอุโบสถของวัดรวกเป็นพระยืนไม่เหมาะกับการก่อรูปโดยมีไม้กางเขนเป็นแกนกลาง

ต่อมา ส.สีมา ได้พบหลักฐานในหนังสือ “ที่ระลึกกฐินพระราชทานของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทอด ณ วัดเสาธงทอง อำเภอเมืองลพบุรี ๓๑ ตุลาคม ๒๕๓๐” ซึ่งกล่าวว่า พระธรรมรามมุนี (ขุน) เจ้าอาวาสวัดเสาธงทองเมื่อช่วงปี 2478-2506 เคยกล่าวกับพระภิกษุในวัดว่า พระพุทธรูปองค์นี้ (หลวงพ่อโต) สร้างหุ้มไม้กางเขนเหล็กของคริสต์ศาสนาเอาไว้ และเชื่อว่าเจ้าอาวาสรูปนี้น่าจะได้เห็นหลักฐานกับตาตัวเองจึงได้กล่าวเช่นนั้น

นอกจากนี้ หนังสือเล่มดังกล่าวยังกล่าวว่า พระวิหารหลังนี้อาจเคยเป็นที่ทำการหรือโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย

ข้อมูลดังกล่าว ส.สีมา ได้ตรวจสอบซ้ำกับพระครูประภัสร์สุตคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง (พระครูสุทัศน์) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 ได้ความว่า เรื่องไม้กางเขนในหลวงพ่อโตเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาช้านาน โดยไม่มีเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือหลักฐานอื่นใดมายืนยัน แต่มีข้อประหลาดประการหนึ่งก็คือ หลวงพ่อโตมีพระเกศสูงเกินระดับเพดานพระวิหาร ต่างไปจากปกติที่จะอยู่เสมอหรือต่ำกว่า “จึงชวนให้สงสัยกันเป็นพิเศษ!”

สรุปรวมความได้ว่า เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันปากต่อปาก ยังขาดหลักฐานที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่า “หลวงพ่อโต” สร้างขึ้นเมื่อใด ใครสร้าง และมีแรงจูงใจอะไรที่จะเอาไม้กางเขนมาเป็นแกนกลางในองค์พระ มีเอกสารเพียงชิ้นเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงตำนานดังกล่าว ซึ่งก็อาจจะเป็นการเอาตำนานที่เล่ากันอยู่แล้วมาพิมพ์ลงหนังสือเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ใช่หลักฐานร่วมสมัย จึงต้องมีการสืบค้นหาหลักฐานอื่นๆ มาประกอบการพิจารณากันต่อไป


(https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2016/11/11-217x300.jpg)
พระธรรมารามมุนี (2478-2506)
ภาพวาดโดย ม. วรพินิต

อ้างอิง (เรื่อง-ภาพ) - ศิลปวัฒนธรรม