[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 17 พฤศจิกายน 2559 15:45:15



หัวข้อ: หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 17 พฤศจิกายน 2559 15:45:15
(http://www.gmwebsite.com/System_images/PicturePath_WEBBOARD/MSG-060703182318389.jpg)

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

"หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ" พระวิปัสสนาอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีวัตรปฏิบัติดี เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม วัตถุมงคลและเครื่องรางที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกโด่งดังไปไกลทั่วประเทศ

มีชาติกำเนิดในสกุล "หนูศรี" เกิดวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.2447 ตรงกับวันวิสาขบูชา ที่บ้านข้าวเม่า อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 3 คน

มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเป็นทารก ต่อมาบิดาจากไปเมื่ออายุเพียง 4 ขวบ จึงอาศัยอยู่กับยาย โดยมีพี่สาวเป็นผู้ดูแล เริ่มศึกษาเล่าเรียนที่วัดกลางคลองสระบัว วัดประดู่ทรงธรรม และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

อายุ 21 ปี อุปสมบทที่วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อฉาย วัดกลางคลองบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ในพรรษาแรก ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าวัดประดู่โรงธรรม กับเจ้าคุณเนื่อง, พระครูชม และหลวงพ่อรอด (เสือ) เป็นต้น

ด้านการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานศึกษากับหลวงพ่อกลั่น และหลวงพ่อเภา ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา รวมทั้งตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง ธรรมบทบ้าง และเดินทางไปหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์อีกหลายท่านที่ จ.สุพรรณบุรี และสระบุรี

พรรษาที่ 3 เดินธุดงค์จากอยุธยามุ่งตรงสู่สระบุรี กราบนมัสการพระพุทธฉาย และรอยพระพุทธบาท จากนั้นไปยังสิงห์บุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน กระทั่งอาพาธด้วยโรคเหน็บชาจึงพักธุดงค์

ทั้งนี้ ท่านตัดสินใจไม่รับกิจนิมนต์นอกวัด ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2490 และถือข้อวัตรฉันอาหารมื้อเดียวมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2500 ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.2525 ศิษย์ต้องกราบนิมนต์ให้ฉัน 2 มื้อ

ปกติจะอยู่ประจำที่กุฏิ ปีหนึ่งจะออกมาเพื่อลงอุโบสถเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันโมทนากฐิน

หลวงปู่ดู่ เป็นแบบอย่างของผู้มักน้อยสันโดษใช้ชีวิตเรียบง่าย แม้อาบน้ำไม่เคยใช้สบู่แต่ก็ไม่มีกลิ่นตัว แม้ในห้องที่ท่านจำวัดมีผู้ปวารณาจะถวายเครื่องใช้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ ส่วนใหญ่ท่านจะปฏิเสธ

คงรับไว้บ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เกินเลย อันจะเสียสมณสารูปและใช้สอยพอให้ผู้ถวายเกิดความปลื้มปีติก่อนยกให้เป็นของสงฆ์ส่วนรวม ข้าวของต่างๆ ที่เป็นสังฆทาน ถึงเวลาเหมาะควรก็จะระบายออกจัดสรรไปให้วัดต่างๆ ที่อยู่ในชนบทและยังขาดแคลน

ท่านย้ำเสมอว่า ท่านเป็นพระบ้านนอกไม่มีความรู้ ดังนั้นเวลาพูดจาสนทนากับลูกศิษย์ก็พูดกันแบบชาวบ้านๆ ไม่มีพิธีรีตองหรือวางเนื้อวางตัว

หากมีผู้สนใจการปฏิบัติกัมมัฏฐาน จะเมตตาสนทนาธรรมเป็นพิเศษอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย

ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ถึงกับเมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่จำวัดเป็นที่รับรองสานุศิษย์และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม

หากลูกศิษย์คนใดสนใจขวนขวายปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง จะส่งเสริมสนับสนุนและให้กำลังใจ ที่สำคัญไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติธรรมของสำนักอื่นในเชิงลบหลู่หรือเปรียบเทียบดูถูกดูหมิ่น

นอกจากความอดทนอดกลั้นอันเป็นเลิศ ยังเป็นแบบอย่างของผู้ไม่ถือตัว วางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ยกตนข่มผู้อื่น

ด้านวัตถุมงคล หลวงปู่ดู่ มิได้ตั้งตัวเป็นเกจิอาจารย์ ท่านสร้างหรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องด้วยเห็นประโยชน์ เนื่องจากบุคคลจำนวนมากยังขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ

หลวงปู่ดู่ เคยปรารภว่า "ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล"

พระเครื่องบูชาที่ท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกให้แล้วปรากฏผลแก่ผู้บูชาในด้านต่างๆ เป็นเพียงผลพลอยได้ แต่กุศโลบายที่แท้จริงคือมุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติภาวนา มีพุทธานุสติ เป็นต้น

วันอังคารที่ 17 ม.ค.2533 หลวงปู่ดู่มรณภาพอย่างสงบ ด้วยโรคหัวใจ สิริอายุ 85 ปี พรรษา 65


อริยะโลกที่ 6