[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 09 ธันวาคม 2559 21:07:06



หัวข้อ: ปราสาทนครหลวง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 09 ธันวาคม 2559 21:07:06

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43593567775355_1.jpg)

ปราสาทนครหลวง
ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกล่าวกันว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นตำหนักที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เจ้านายผู้สูงศักดิ์ และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทที่เมืองสระบุรี และเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จไปเมืองลพบุรี  สันนิษฐานว่า สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่มาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในปี พ.ศ. ๒๑๔๗ พระเจ้าปราสาททองโปรดฯ ให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทหิน "พระนครหลวง" (นครธม) ในกรุงกัมพูชามาสร้างหลังตำหนักของพระเจ้าทรงธรรม ใกล้วัดเทพจันทร์ และโปรดให้เรียกชื่อตำหนักนี้ว่า “พระตำหนักนครหลวง”  เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีกครั้ง แต่สร้างไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ด้วยเหตุประการใดไม่ปรากฏต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและพระบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ ส่วนตำหนักที่สร้างข้างปราสาทนี้ได้ปรักหักพังหมดไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานทางโบราณคดีได้พบว่าวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการสร้างปราสาท เป็นการสร้างเพื่อให้เป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา มิใช่ที่ประทับแรมระหว่างทางในการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทดังที่เข้าใจกันมาแต่เดิม

ลักษณะของสถาปัตยกรรมของปราสาทนครหลวง เป็นองค์ปราสาทพุทธสถานจตุรมุข ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๒ มีซุ้มระเบียงล้อมรอบ ชั้นบนมีมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ในปัจจุบันเปลี่ยนสภาพเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีมณฑปอยู่ตรงกลางแทนพระปรางค์ซึ่งสร้างยังไม่เสร็จมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง มณฑปนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอย ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์โดยพระภิกษุชื่อ “ปิ่น” นำแบบมาจากพระพุทธบาทเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สร้างเป็นอ่างรอยพระพุทธบาท ๔ รอย เหยียบซ้อนกันอยู่กลางมณฑป รอยใหญ่สุดเป็นรอยตั้งขอบกว้าง ๔ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ยาว ๑๑ ศอก ๖ นิ้ว รอยเล็กสุดกว้าง ๑ ศอก ๖ นิ้ว ยาว ๓ ศอกคืบ ๖ นิ้ว กล่าวกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้แล้วในภัทรกัลป์นี้ทั้ง ๔ พระองค์ คือ รอยที่ ๑ เป็นรอยพระพุทธบาทของพระกกุสันโธ รอยที่ ๒ คือ รอยพระบาทของพระโกนาคมน์ รอยที่ ๓ เป็นรอยพระพุทธบาทของพระกัสสปะและรอยที่ ๔ เป็นรอยพระพุทธบาทของพระโคตมะ นอกจากนี้ในวิหารหลังกลางชั้นบนและที่ระเบียงชั้นที่ ๒ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์

พระพุทธบาทที่วัดแห่งนี้เป็นที่เคารพของชาวนครหลวง ได้จัดให้มีงานนมัสการไหว้พระบาท ๓ ครั้งในรอบปี คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/89076368427938_5.jpg)
ศาลาพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่บนเนินเตี้ย มีบันไดปูอิฐให้เดินขึ้นไปนมัสการพระจันทร์ลอย
ที่ประดิษฐานในอาคารจตุรมัขได้อย่างสะดวกสบาย

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/84515605991085_7.jpg)
แผ่นหิน พระจันทร์ลอย เป็นแผ่นหินแกรนิตทรงกลมคล้ายดวงจันทร์
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ เมตร หนา ๖ นิ้ว บนแผ่นหินมีรูปแกะสลัก
ด้านหนึ่งสลักเป็นรูปพระเจดีย์สององค์และพระพุทธรูปสามองค์ ส่วนอีกด้านหนึ่ง
สลักเป็นรูปปลาคล้ายสัญลักษณ์ราศีมีน ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นต่างเชื่อกันว่าเป็น
แผ่นหินศักดิ์สิทธิ์

ศาลาพระจันทร์ลอย ตั้งอยู่ห่างจากปราสาทนครหลวงประมาณ ๙๐ เมตร  จากการดำเนินการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ พบแนวพื้นปูอิฐ ทำให้ทราบว่าศาลาพระจันทร์ลอยสร้างคร่อมทับสิ่งก่อสร้างเก่าหลังหนึ่งและจากหลักฐานเอกสารสันนิษฐานว่า ซากสิ่งก่อสร้างนั้น คือ ตำหนักนครหลวง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประทับร้อนระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย จังหวัดสระบุรี แต่ก่อนมาจากสภาพซากตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๑ ทำให้สันนิษฐานว่าตำหนักนครหลวงคงจะมีลักษณะเป็นตำหนักยาวอย่างพระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี

ศาลาพระจันทร์ลอยที่เห็นกันในปัจจุบันเป็นอาคารจตุรมุข ที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระปลัด (ปลื้ม) ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูวิหารกิจจานุการ อาคารทรงจตุรมุขดังกล่าวเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีบันไดทางขึ้น ภายในประดิษฐานพระจันทร์ลอยแผ่นศิลาที่ชาวบ้านเรียกกันว่า พระจันทร์ลอย ซึ่งประดิษฐานอยู่ในมณฑปจตุรมุขนี้เดิมอยู่ที่วัดเทพพระจันทร์ (ปัจจุบันชื่อวัดเทพพระจันทร์ลอย) ตำบลนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่พระวิหารกิจจานุการ (ปลื้ม) ได้นำมาประดิษฐานไว้ที่อาคารหลังนี้พระจันทร์ลอยนี้เป็นแผ่นหินแกรนิตรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เมตร หนา ๖ นิ้ว ด้านหน้าสลักเป็นรูปเจดีย์ ๒ องค์ พระพุทธรูป ๓ องค์



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/81760171097185_12.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/47924733575847_4.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39758322719070_2.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/42642216508587_3.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/97604201402929_16.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/29383400330940_14.jpg)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/72822501468989_15.jpg)
ปราสาทนครหลวง ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถานและประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘