[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน => ข้อความที่เริ่มโดย: ใบบุญ ที่ 24 มกราคม 2560 15:05:52



หัวข้อ: หลวงพ่อพระมหาผ่อง สะมะเลิก วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
เริ่มหัวข้อโดย: ใบบุญ ที่ 24 มกราคม 2560 15:05:52

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/64313391803039_14570986301457098665l_1_.jpg)

หลวงพ่อพระมหาผ่อง สะมะเลิก
พระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์

วันพุธที่ 7 ต.ค.2558 เวลา 17.11 น. หลวงพ่อพระมหาผ่อง สะมะเลิก พระสังฆราชแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ ประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์ สปป.ลาว ละสังขารอย่างสงบ

ภายหลังอาพาธและเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลมโหสถ ในกรุงเวียงจันทน์ สิริอายุ 100 ปี 6 เดือน พรรษา 81

พระมหาผ่อง เป็นพระเถระ 2 แผ่นดิน หรือ 2 ฝั่งโขง ด้วยเกิดที่ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2459

อายุ 14 ปี ย้ายจากบ้านเดิมไปอยู่บ้านโพนทอง เมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก ประเทศลาว

อายุครบ 20 ปี กลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ศรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์สระประทุม) บ้านกุศกร ต.กุศกร อ.ตระการพืชผล จ.อุบล ราชธานี เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2479 โดยมีพระฤทธิ์ หรือพระครูโสภิตพิริยคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ชู พระอาจารย์สวน พระอาจารย์พูน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และอนุสาวนาจารย์ ตามลำดับ (สำนวนล้านช้างคือพระอาจารย์สูตร) พร้อมด้วยพระสงฆ์อีก 41 รูป

ภายหลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาที่วัดบุรีรัตน์ บ้านกุงน้อย อ.ตระการพืชผล เป็นเวลา 6 เดือน เมื่อถึงวันที่ 8 เม.ย.2480 ย้ายไปศึกษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ เมื่อครั้งที่พระสุเมธมุนี (ลับ สังกิจโจ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม

เนื่องจากญาติพี่น้องสำทับว่า หากไม่ได้เป็นมหาเปรียญ อย่าได้กลับ จ.อุบลราชธานี ท่านจึงทุ่มเทเรียนปริยัติธรรมที่วัดชนะสงครามอย่างเต็มที่ สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค เข้ารับพระราชทานพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในปี พ.ศ.2489

นอกจากนี้ พระมหาผ่อง เคยเรียนบาลีชั้นประโยค ป.ธ.5 ร่วมห้องเรียนเดียวกับ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นสหธรรมิกที่มีความสนิทสนม

ภายหลังเรียนจบชั้นเปรียญธรรม 6 ประโยค ทำหน้าที่สอนพระปริยัติธรรมที่วัดชนะสงคราม 6 ปี รวมเวลาที่เป็นนักเรียนและครูที่วัดชนะสงคราม 16 ปี หลังจากนั้นเข้าร่วมขบวนปลดปล่อยประเทศลาวอย่างเต็มตัว และอยู่ฝั่ง สปป.ลาว นับแต่ปี พ.ศ.2495 เป็นต้นมา

ก่อนที่จะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ท่านได้เคลื่อนไหวร่วมกับเสรีไทยช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น ต่อมาเดินทางไปภาคอีสาน พบกับเจ้าเพชรราช มหาเสนาบดีลาว (วีรบุรุษของลาว ผู้จัดตั้งรัฐบาลลาวอิสระปลดแอกจากการปกครองของฝรั่งเศส) เมื่อปี พ.ศ.2489 ในช่วงนั้นได้พบกับโฮจิมินห์ หรือประธานโฮ ตอนนั้นพระมหาผ่องอายุ 35-36 ปี

พ.ศ.2495 กลับไปจำพรรษาที่วัดหลวงปากเซ เขตประเทศลาว จนกระทั่ง พ.ศ.2498 ได้รับอาราธนาให้ไปสอนหนังสือที่วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์

พ.ศ.2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะเมืองโพนทอง ครั้นถึงปี พ.ศ.2515 ได้เลื่อนเป็นเจ้าคณะแขวงจำปาสัก

พ.ศ.2519 ดำรงตำแหน่งรองประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว ประจำ ณ วัดพระเจ้าองค์ตื้อ นครหลวงเวียงจันทน์ ณ ที่แห่งนั้น ท่านได้สร้างผลงานโดดเด่นขึ้นมาในโลกพระพุทธศาสนา คือการประสานงานรอมชอมพระสงฆ์ 2 นิกาย อันได้แก่ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ซึ่งแตกแยกมานานนั้นให้สมานฉันท์ ยินยอมพร้อมใจกันรวมนิกายเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งยุบเลิกสมณศักดิ์และตำแหน่งทั้งปวง พระสงฆ์ลาวทั้งสองนิกายพร้อมใจกันทำสังฆสามัคคีอุโบสถ ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 1 มิ.ย.2523) ณ บัดนี้ ไม่มีนิกายสงฆ์ในลาวอีกต่อไปแล้ว มีแต่พระสงฆ์ลาวเท่านั้น

พ.ศ.2553 ญาท่านพระมหาวิจิตร วีรญาโณ (สิงหะราช) ประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว รูปที่ 3 ได้ถึงแก่มรณภาพพระมหาผ่องจึงได้รับการยกย่องขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศูนย์กลางองค์การพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว เป็นรูปที่ 4 ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวเทียบเท่ากับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของไทย

พระมหาผ่องเดินทางมาประเทศไทยเป็นนิจ เพื่อกิจการคณะสงฆ์สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างคณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์ลาว มีความสัมพันธ์ทางด้านการปกครอง-การศึกษา-การเผยแผ่ด้วยดีเสมอมา ส่งพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไทย ทั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก จบการศึกษาแล้วกลับไปพัฒนาบุคลากรชาวลาวต่อไป


อริยะโลกที่ 6